Categories
Special Content

22 ปีของเลเวอร์คูเซน กับการลบล้างภาพ NEVERKUSEN

วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2024 ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน ชนะเลิศบุนเดสลีกาสมัยแรกในประวัติศาสตร์สโมสรที่ยาวนานเกือบ 120 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร วันที่ 1 กรกฎาคม 1904 โดยมีสารตั้งต้นจาก Wilhelm Hauschild เขียนจดหมายที่มีลายเซ็นของเพื่อนร่วมงาน 170 คน ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 1903 เพื่อขอการสนับสนุนในการก่อตั้งทีมกีฬาจากบริษัท Friedrich Bayer and Co. (ชื่อขณะนั้น หรือ Bayer AG ในปัจจุบัน) ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเคมีและยา ในเมืองเลเวอร์คูเซน ประเทศเยอรมนี

ในวันแห่งประวัติศาสตร์สโมสร เลเวอร์คูเซนถล่มทีมเยือน แวร์เดอร์ เบรเมน 5-0 คว้าแชมป์ลีกสูงสุดเมืองเบียร์แม้ฤดูกาล 2023-24 ยังเหลือการแข่งขันอีก 5 นัด แต่เพราะมีแต้มสะสม 79 คะแนน มากกว่ารองจ่าฝูง บาเยิร์น มิวนิก 16 คะแนน

นี่ถือเป็นผลงานที่เหลือเชื่อภายในเวลา 1 ปีครึ่งของ ชาบี อลอนโซ ซึ่งเพิ่งเข้ามาคุมทีมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2022 ขณะที่เลเวอร์คูเซนรั้งอันดับ 2 จากท้ายตารางบุนเดสลีกา ก่อนพาทีมจบซีซัน 2022-23 ด้วยอันดับ 6 และได้สิทธิเล่นยูโรปา ลีก รอบแบ่งกลุ่ม

เป็นเรื่องดีสำหรับฟุตบอลเยอรมนีที่การครองแชมป์ติดต่อกันยาวนานของบาเยิร์นมาถึงจุดสิ้นสุดเสียที” แฟนบอลเบรเมนคนหนึ่งที่สวมเสื้อที่มีชื่อของเคลาดิโอ ปีซาร์โร พิมพ์อยู่ด้านหลังเปิดใจกับนักข่าว

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/68812971

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ชนะเลิศบุนเดสลีกาซีซัน 2011-12 ซึ่งนับจากนั้น บาเยิร์นครอบครองบัลลังก์ติดต่อกันถึง 11 ปี ซึ่งระหว่างนี้ หลายสโมสรผลัดเปลี่ยนขึ้นมาท้าทายไม่ว่าจะทีมแข็งแกร่งอย่างดอร์ทมุนด์, แอร์เบ ไลป์ซิก, เลเวอร์คูเซน หรือทีมที่มีประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่และมีแฟนบอลสนับสนุนระดับบิ๊กอย่าง ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต, โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค หรือทีมที่มีเรื่องเล่าไม่มากนักอย่างอูนิโอน เบอร์ลิน, ไฟรบวร์ก, ฮอฟเฟนไฮม์ แต่ก็ไม่มีใครล้มยักษ์ใหญ่แห่งแคว้นบาวาเรียได้จนกระทั่งอลอนโซและลูกทีม Die Werkself (หรือ factory 11) ร่วมกันทำลายเป้าหมาย “12 ปีซ้อน” ของ Die Bayern ได้สำเร็จ

เลเวอร์คูเซนยังแชมป์ใหม่ป้ายแดงของบิ๊ก 5 ลีกของยุโรป นับตั้งแต่เลสเตอร์ ซิตี ซึ่งได้รับราคาต่อรอง 500-1 ชนะเลิศพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2015-16 และไม่เพียงเป็นแชมป์บุนเดสลีกาสมัยแรกของสโมสร ทีมห้างขายยายังลบล้างฉายา “Neverkusen” ลงได้อีกด้วย

11 วันขยี้ฝันทริปเปิลแชมป์กับฉายา Neverkusen

แม้ก่อนหน้านี้ เลเวอร์คูเซนไม่เคยนั่งบัลลังก์ลีกสูงสุดเมืองเบียร์ แต่สังเวียนระดับทวีป พวกเขาเคยครองแชมป์ยูฟา คัพ (หรือยูโรปา ลีก) ซีซัน 1987-88 และรองแชมป์แชมเปียนส์ ลีก ซีซัน 2001-02 ส่วนภายในประเทศ Die Werkself เคยเป็นแชมป์เดเอฟเบ โพคาล ซีซัน 1992-93 และรองแชมป์อีก 3 สมัย รวมถึงครั้งหลังสุด ซีซัน 2019–20 พวกเขายังชนะเลิศบุนเดสลีกา 2 นอร์ธ ซีซัน 1978–79 และเลื่อนชั้นขึ้นมาแข่งขันสนามบุนเดสลีกาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ส่วนบุนเดสลีกา เลเวอร์คูเซนทำได้ดีที่สุดเพียง “รองแชมป์” ในซีซัน 1996–97, 1998–99, 1999–2000, 2001–02 และ 2010–11 รวม 5 ครั้งระหว่าง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้โดนล้อเลียน แปลงชื่อสโมสรจาก Leverkusenกลายเป็น Neverkusen (หรือ Visekusen ในภาษาเยอรมัน) เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อโลกเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียม วันที่ 20 พฤษภาคม 2000 เลเวอร์คูเซนต้องการเพียงเสมอในบ้านของทีมกลางตาราง อุนเตอร์ฮัคคิงก์ ในเกมสุดท้ายของซีซันเพื่อครอบครองถาดแชมป์ Die Meisterschale แต่ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ 0-2 หนึ่งประตูที่เสียเกิดจากการทำลูกเข้าประตูตัวเองของมิชาเอล บัลลัค ซึ่งต่อมากลายเป็นตำนานมิดฟิลด์ทีมชาติเยอรมนี ส่งให้บาเยิร์นเข้าป้ายวินเนอร์ มี 73 คะแนนเท่ากับเลเวอร์คูเซนแต่ประตูได้เสียเหนือกว่า 7 ลูก

ฉายา Neverkusen เกิดขึ้นอีก 2 ปีต่อมาในซีซัน 2001-02 เลเวอร์คูเซนประกอบด้วยสตาร์นักเตะอย่าง บัลลัค, ลูซิโอ, เซ โรแบร์โต, แบรนด์ ชไนเดอร์, อูล์ฟ เคียร์สเทน และดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ พวกเขากำลังลุ้น “ทริปเปิล แชมป์” แต่ความฝันพังมลายเพียงเวลา 11 วัน

ขอบคุณภาพจาก  https://twitter.com/BTLvid/status/1623058080446423041/photo/1

Die Schwarzroten (หรือ The Black and Reds) นำ 5 คะแนนก่อนเข้าสู่ 3 นัดสุดท้าย แต่กลับแพ้เบรเมน 1-2 (เหย้า) และแพ้เนิร์นแบร์ก 0-1 (เยือน) ก่อนปิดท้ายด้วยชนะแฮร์ธา เบอร์ลิน 2-1 (เหย้า) ทำให้ถาดแชมป์ตกเป็นของดอร์ทมุนด์ที่เหนือกว่าแค่ 1 คะแนน ขณะที่เลเวอร์คูเซนมีประตูได้เสียดีกว่าถึง 10 ลูก

แค่นั้นยังไม่พอ เลเวอร์คูเซนยังแพ้ชาลเก 04 ด้วยสกอร์ 2-4 ในนัดชิงเดเอฟเบ โพคาล และแพ้เรอัล มาดริด 1-2 ในนัดชิงแชมเปียนส์ ลีก จากประตูชัยที่สวยระดับตำนานของซีเนอดีน ซีดาน ทั้งที่รอบก่อนๆ สามารถผ่านทีมแข็งๆอย่างบาร์เซโลนา, ยูเวนตุส, ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาได้

เหตุผลที่ความอาภัพอับโชคของ Neverkusen มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับผู้ถูกถามเป็นใคร แต่บัลลัคเชื่อว่ามาจากสภาพจิตใจที่ไม่สามารถรับมือกับแรงกดดันได้ ขณะที่โธมัส เบอร์ดาริช กองหน้าชาวเยอรมัน พูดถึง 11 วันนั้นว่าเป็นช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุดในชีวิตนักฟุตบอลอาชีพ

แต่ 22 ปีต่อมา อลอนโซและลูกทีมในฤดูกาล 2023-24 สามารถเปลี่ยนฉายา Neverkusen ให้กลายเป็น Winnerkusen และยังเดินบนเส้นทาง “ทริปเปิล แชมป์” โดยจะชิงแชมป์เดเอฟเบ โพคาล กับไกเซอร์สเลาเทิร์น คู่แข่งเทียร์ 2 วันที่ 25 พฤษภาคม 2024 ขณะที่ยูโรปา ลีก พวกเขาผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศและพบกับโรมา

อลอนโซเป็นคนที่ใช่แม้อ่อนประสบการณ์โค้ช

ในวันแห่งประวัติศาสตร์สโมสร 6 ชั่วโมงก่อนคิกออฟกับเบรเมน บาร์ใกล้ไบอารีนาคลาคล่ำไปด้วยแฟนบอลเจ้าถิ่น พลุสีแดงถูกจุดส่งควันอบอวลไปทั่วบริเวณ ป้ายชื่อถนนที่เลี้ยวเข้าสู่สนามเหย้าของเลเวอร์คูเซนถูกแฟนบอลใช้ป้ายสติกเกอร์ที่พิมพ์ว่า Xabi-Alonso-Allee.” มาปิดทับเพื่อเป็นเกียรติแก่กุนซือสเปนวัย 42 ปี ซึ่งผ่านประสบการณ์เพียงโค้ชเรอัล โซเซียดาด ทีม บี ระหว่างปี 2019 – 2022 ก่อนรับงานทีมห้างขายยา

ย้อนกลับไปซีซัน 2021-22 เคราร์โด เซโอเน พาเลเวอร์คูเซนจบด้วยอันดับ 3 หลังจาก 5 ซีซันก่อนหน้าขึ้นถึงอันดับ 4ครั้งเดียว นั่นทำให้เกิดความหวังสูงกับซีซัน 2022-23 แต่เหตุการณ์ต่างราวหน้ามือหลังมือ กุนซือชาวสวิสพาทีมชนะ 2 นัด เสมอ 2 นัด แพ้ 8 นัดจาก 12 เกมแรกรวมทุกรายการ แถมพ่ายต่อเอลเวอร์สเบิร์ก ทีมดิวิชัน 3 ในเดเอฟเบ โพคาล รอบแรก และแพ้ 3 จาก 4 นัดแรกของแชมเปียนส์ ลีก สโมสรปลดเซโอเนพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2022 ขณะทีมอยู่อันดับรองโหล่ของบุนเดสลีกา

ไซมอน โรลเฟส อดีตมิดฟิลด์เลเวอร์คูเซน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกีฬาของสโมสร ให้สัมภาษณ์ว่า “มันน่าแปลกใจมากทั้งที่เราเก็บนักเตะดีๆไว้ได้หมด จบอันดับ 3 ซีซันที่แล้ว เล่นได้ดีมากๆด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเราทำได้ถึง 80 ประตู มากที่สุดในประวัติศาสตร์เลย แต่จู่ๆเราก็ออกสตาร์ทได้ย่ำแย่”

“จากการวิเคราะห์ได้ข้อสรุปว่า เราจะหลุดพ้นสถานการณ์แย่นี้ได้อย่างไร เรารู้สึกว่าโค้ชคงไม่เวิร์กเหมือนเดิมแล้ว นั่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

และวันเดียวกับที่เซโอเนจากไป สโมสรประกาศแต่งตั้งอลอนโซเป็นเทรนเนอร์คนใหม่ ซึ่งหลายคนมองว่า การให้โค้ชที่ไม่มีประสบการณ์คุมทีมชุดใหญ่เลยเป็นความเสี่ยง แต่โรลเฟสเฝ้ามองอลอนโซอย่างใกล้ชิดระยะเวลาหนึ่งแล้ว และหลังผ่านขั้นตอนสัมภาษณ์ เขาก็มั่นใจว่า อลอนโซเป็นคนที่ใช่

“เรามีข้อมูลดีๆเกี่ยวกับเขาอยู่ในมือแล้ว การพูดคุยกันช่วยยืนยันในสิ่งที่ผมคิด เราวิเคราะห์สไตล์การเล่นและการทำทีมของเขา อะไรบ้างที่สามารถคาดหวังได้ มันจะเข้ากับนักเตะที่มีอยู่อย่างไร รวมถึงบุคลิกภาพ”

“เขาสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่นี่ เราเป็นสโมสรที่สามารถสนับสนุนเขา เราเป็นสโมสรที่ดีมีเสถียรภาพ มีสตาฟโค้ชที่ดีคอยช่วยเหลือเขาได้ เป็นกลุ่มคนที่ดีมากๆ ต่อมาก็เป็นตำแหน่งของผม ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับเขา ผมพร้อมสนับสนุนเขาเต็มที่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ”

แต่แมตช์แรกที่อลอนโซคุมทีม เลเวอร์คูเซนแพ้ชาลเกยับ 0-4 ตามด้วยปราชัยต่อปอร์โตและแฟรงค์เฟิร์ตด้วยสกอร์รวม 1-8 โดย 7 นัดแรกรวมทุกรายการ (บุนเดสลีกากับแชมเปียนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม) ทีมของอลอนโซเก็บมาได้เพียง 6คะแนนเท่านั้น 

ผู้อำนวยการกีฬาย้อนความรู้สึกตอนนั้นว่า “1 เดือนแรก มันเป็นช่วงเวลาที่หนาหนัก แต่ข้อดีคือช่วยให้เราเรียนรู้และรู้จักกันดีขึ้น ช่วยให้เราตระหนักว่าควรทำงานด้วยกันอย่างไร”

ทุกอย่างดีขึ้นเมื่อถลุงทีมอันดับ 4 ซีซันนั้น อูนิโอน เบอร์ลิน 5-0 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2022 โดยถ้วยสโมสรยุโรปที่ตกลงไปเล่นยูโรปา ลีก เลเวอร์คูเซนเอาชนะโมนาโก, เฟเรนซ์วารอส และยูเนียน แซงต์ กิลลัวส์ ผ่านเข้าถึงรอบรองขนะเลิศและแพ้โรมา ส่วนบุนเดสลีกา อลอนโซดันทีมจากอันดับ 17 ขึ้นมาปิดซีซันด้วยอันดับ 6 และจบซีซันต่อมาด้วยถาดแชมป์ทั้งที่ยังเหลือโปรแกรม 5 นัด

เหตุปัจจัย 4 ข้อ สู่ความสำเร็จของทีมห้างขายยา

ESPN สื่อใหญ่ในอเมริกา ได้วิเคราะห์รากฐานสำคัญ 4 ข้อที่ส่งให้เลเวอร์คูเซนไปสู่ความสำเร็จเหนือความคาดหมาย

ข้อ 1 เป็นการขาย ไค ฮาแวร์ตซ์ ให้เชลซีเมื่อปี 2020 ด้วยค่าตัวถึง 70 ล้านยูโร ซึ่งถูกนำมาลงทุนต่อได้อย่างสุดคุ้ม ขณะที่นักเตะจากยุคเดียวกันอย่าง โยนาธาน ทาห์ และเอเซเกล ปาลาซิออส ยังมีบทบาทสำคัญกับทีมจนถึงตอนนี้

ข้อ 2 ต้องมอบเครดิตมากมายให้กับ ไซมอน โรลเฟส สำหรับผลงานในตลาดซัมเมอร์ที่ผ่านมาเช่น อเล็กซ์ กรีมัลโด,กรานิต ชากา, โยนาส ฮอฟมันน์, เนธาน เทลลา และวิคเตอร์ โบนิเฟซ ทุกคนต่างให้ผลลัพธ์เชิงบวกแก่เลเวอร์คูเซนในฤดูกาลนี้

ข้อ 3 ฟลอเรียน เวิร์ตซ์ เป็นอัญมณีเม็ดสำคัญของเลเวอร์คูเซนนับตั้งแต่เลื่อนชั้นจากทีม ยู-17 ขึ้นมาเล่นให้ชุดใหญ่ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2020 ในเกมเยือนที่เบรเมน ทำลายสถิตินักเตะอายุน้อยที่สุดของสโมสรที่เล่นบุนเดสลีกาของฮาแวร์ตซ์ ที่ 17 ปี 15 วัน และต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน ก็ทำประตูแรกให้ทีมห้างขายยาและเป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดที่ทำสกอร์ได้ในประวัติศาสตร์บุนเดสลีกาที่ 17 ปี 34 วัน จากเกมเหย้าที่แพ้บาเยิร์น 2-4 ประตูเกิดขึ้นนาทีที่ 89

ข้อ 4 แน่นอนย่อมเป็น ชาบี อลอนโซ ซึ่งหลายคนเห็นตรงกันว่าสโมสรโขคดีมากที่ได้ตัวตำนานมิดฟิลด์ ซึ่งเล่นให้ทีมชาติสเปนถึง 114 นัด และเคยร่วมบิ๊กทีมอย่างลิเวอร์พูล, เรอัล มาดริด และบาเยิร์น

ลูกัส ฮราเด็ตสกี นายทวารทีมชาติฟินแลนด์ ซึ่งร่วมทีมมาตั้งแต่ปี 2018 เปิดใจกับ ESPN ว่า “ผมเคยคิดว่ารถไฟแล่นออกไปแล้วเสียอีก แต่พอเราได้โค้ชและการเสริมผู้เล่นจากตลาด นั่นทำให้ผมเกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาอีกครั้ง”

เลเวอร์คูเซนยังจะประสบความสำเร็จอีกได้ไหม

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การเฉลิมฉลองของเลเวอร์คูเซนย่อมมีวันสุดสิ้น คำถามคือ Die Werkself จะไปได้ไกลกว่าซีซัน 2023-24 ไหม หรือเป็นเพียงซินเดอเรลลาผู้เลอโฉมก่อนเวลาเที่ยงคืน

บิล คอนเนลลี นักข่าว ESPN มองว่าขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยบางข้อ เริ่มจากเวิร์ตซ์ ซึ่งถูกตีราคาไว้สูงถึง 100 ล้านยูโร แม้แนวรุกดาวรุ่งวัย 20 ปี ยังมีสัญญากับสโมสรถึงกลางปี 2027 และน่าจะเป็นเป้าหมายเนื้อหอมในตลาดซัมเมอร์ปีหน้า ถ้าเลเวอร์คูเซนจะรักษาความสำเร็จได้นานๆ ควรรักษาเวิร์ตซ์ให้ได้

สถิติรวมทุกรายการซีซันนี้ สิ้นสุดที่แมตช์กับเบรเมน เวิร์ตซ์ลงสนาม 42 นัด ทำ 17 ประตู สูงเป็นอันดับ 2 ของทีม และ 18แอสซิสต์ มากที่สุดในทีม แต่เหนือกว่านั้น เวิร์ตซ์พาบอลเข้าไปยังโซน final third ถึง 426 ครั้งทั้งการจ่ายบอลและเลี้ยงบอลแบบ progressive เป็นตัวเลขที่เหนือกว่าเพื่อนทุกคน ทิ้งห่างอันดับ 2-3 เจเรมี ฟริมปง 304 ครั้ง และกรีมัลโด 250ครั้ง

แม้มีปัญหาเอ็นไขว้หน้าเข่า ถูกจำกัดด้วยจำนวนการลงสนาม แต่ค่าเฉลี่ยต่อ 90 นาทีกลับดีขึ้นอย่างเหลือเชื่อ 12.2 ครั้งในซีซันนี้เทียบกับ 6.8 ครั้ง ซีซันที่แล้ว และ 7.5 ครั้ง ซีซัน 2021-22 

แม้เวิร์ตซ์ยังจะอยู่ในทีมป้องกันแชมป์บุนเดสลีกา แต่เลเวอร์คูเซนจะสามารถรักษาขุนพลสำคัญไว้ครบไหมในซีซัน 2024-25 อย่างเช่น ชากา, กรีมัลโด, ฮอฟมันน์, โรเบิร์ต อันดริช รวมถึงนักเตะที่อยู่กับทีมยาวนานอย่างทาห์และฮราเด็ตสกี ขณะที่มีข่าวออกมาว่า สโมสรพรีเมียร์ลีกให้ความสนใจอย่างจริงจังกับเอ็ดมงด์ ทัปโซบ และฟริมบง แต่คอนเนลลีเชื่อว่า ปกติแล้วสโมสรมักไม่หวั่นหากเสียสตาร์ไปสัก 1-2 คน แล้วก็จ่ายเงินน้อยกว่าไปซื้อผู้เล่นที่มีความแตกต่างไม่มากนัก

แต่ตัวแปรที่สำคัญสูงสุดคือ อลอนโซ ซึ่งตัดสินใจสานต่อโปรเจ็คท์ที่เลเวอร์คูเซน ไม่ย้ายไปคุมทีมลิเวอร์พูลหรือบาเยิร์น อย่างน้อยก็ซีซัน 2024-25 คงต้องติดตามต่อไปว่า อลอนโซจะทำได้เหมือนเยอร์เกน คลอปป์ ไหม ซึ่งนำแชมป์บุนเดสลีกามาให้ดอร์ทมุนด์ 2 ปีติดต่อกันในซีซัน 2010-11 และ 2011-12 

อย่างไรก็ตาม เลเวอร์คูเซนจะทำให้เป็นจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับบาเยิร์นไม่ใช่น้อย แม้ทีมเสือใต้จะเพลี่ยงพล้ำเสียถาดแชมป์ที่รักษาไว้นาน 11 ปี แต่บาเยิร์นยังเป็นบาเยิร์น ซึ่งล่าสุดล้มอาร์เซนอล ผ่านเข้าไปตัดเชือก แชมเปียนส์ ลีก กับเรอัล มาดริด รวมถึงดอร์ทมุน์กับไลป์ซิก ซึ่งเพียรพยายามล้มบัลลังก์ของบาเยิร์น แม้กระทั่งอาจมีทีมที่สร้างปาฏิหาริย์เหลือเชื่อปรากฎขึ้นอย่างซตุ๊ตการ์ท ซึ่งอยู่อันดับ 3 ตอนนี้ทั้งที่ซีซันที่แล้ว จบอันดับ 16 แต่สามารถต่ออายุบุนเดสลีกาได้ด้วยการชนะฮัมบวร์ก จากลีก 2 ในแมตช์เพลย์ออฟ

ทั้งหมดนี้ทำให้การแย่งถาดแชมป์ Die Meisterschale มีความสนุกสนานขึ้นในรอบหลายๆปีสำหรับแฟนบอลบุนเดสลีกาที่ไม่ใช่กองเชียร์บาเยิร์น

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ติอาโก มอตตา กับปรัชญาลูกหนังล้ำสมัยที่ซ่อนอยู่ใน 2-7-2

ติอาโก มอตตา เทรนเนอร์ชาวบราซิลวัยเพียง 41 ปี เป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมฟุตบอลคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองแม้ยังไม่เคยพาทีมประสบความสำเร็จใดๆ ผลงานดีที่สุดเพียงพาโบโลญญาจบซีซันด้วยเลขตัวเดียวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นมาเล่นกัลโช เซเรียอา ฤดูกาล 2015–16 และตอนนี้กำลังพารอสโซบลู (ทีมแดงน้ำเงิน) ลุ้นโควตาทัวร์นาเมนท์ยุโรป

ยิ่งกว่านั้น มอตตาเคยตกเป็นข่าวดังในสื่อฟุตบอลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 มอตตา ซึ่งเพิ่งแขวนสตั๊ดราวครึ่งปีก่อนหน้า ให้สัมภาษณ์กับสื่อยักษ์อิตาลี ลา กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต ขณะรับตำแหน่งโค้ชใหม่ของทีมปารีส แซงต์-แยร์กแมง รุ่นยู-19 ว่า เขาต้องการปฏิวัติฟุตบอลผ่านรูปแบบการเล่น 4-3-3 ด้วยการตีความใหม่เป็น 2-7-2 (ซึ่งบทความนี้จะขยายความและวิเคราะห์ทางแทคติกภายหลัง)

ต้นเมษายนที่ผ่านมามีรายงานว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สนใจที่จะดึงมอตตามาคุมทีมแทนเอริก เทน ฮาก เพราะพอใจผลงานและรูปแบบการเล่นนับตั้งแต่เป็นเทรนเนอร์ให้โบโลญญาในเดือนกันยายน 2022 มอตตาพารอสโซบลูจบซีซันแรกด้วยอันดับ 9 และมีลุ้นจบซีซันนี้ด้วยท็อป-4 

นอกจากแมนฯยูไนเต็ด ยูเวนตุสเป็นอีกทีมที่ต้องการอดีตมิดฟิลด์ทีมชาติบราซิล/อิตาลี ซึ่งกำลังจะหมดสัญญากับโบโลญญาหลังซีซันนี้จบลง ดาริโอ คาโนวี เอเยนต์ของมอตตาเคยกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า มอตตาปรารถนาจะคุมทีมลงแข่งแชมเปียนส์ ลีก สักวันหนึ่ง ซึ่งนั่นทำให้โอกาสของแมนฯยูไนเต็ดเป็นไปได้น้อยกว่ายูเวนตุส อย่างไรก็ตาม “เรด เดวิลส์” ยังมีข่าวเชื่อมโยงกับแกรห์ม พอตเตอร์ และแกเรธ เซาธ์เกต ในฐานะผู้จัดการทีมใหม่ด้วย แม้กระทั่งเทน ฮาก จะทำหน้าที่ต่อไปเป็นปีที่ 3 ยังไม่สามารถขีดทิ้งได้

มิดฟิลด์สารพัดประโยชน์ ชาญฉลาดเชิงเทคนิค

มอตตาเกิดวันที่ 28 สิงหาคม 1982 ที่เซา เบอร์นาโด ดู คัมโป ในรัฐเซา เปาโล ประเทศบราซิล ย้ายจากคลับ แอตเลติโก ยูเวนตุส ทีมลูกหนังในเซา เปาโล มาอยู่บาร์เซโลนาเมื่อปี 1999 ขณะอายุ 17 ปี แต่เริ่มกับทีมชุด บี มีสถิติ 12 ประตูจาก 84 นัดเฉพาะบอลลีก ก่อนถูกโปรโมทขึ้นชุดใหญ่ในปี 2001

มอตตาค้าแข้งที่บาร์เซโลนาระหว่างปี 2001 – 2007  ทำ 9 ประตูจาก 139 นัดรวมทุกรายการ โชคร้ายที่บาดเจ็บเป็นระยะๆ รวมถึงเอ็นเข่าซ้ายจากเกมกับเซบีญา วันที่ 11 กันยายน 2004 ต้องพักรักษาตัวถึง 7 เดือน นอกจากนี้ยังเคยตกเป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อจากยูฟา คัพ รอบ 4 นัดแรก วันที่ 11 มีนาคม 2004 ซึ่งบาร์เซโลนาแพ้ 0-1 ในบ้านเซลติก เมื่อเขาและโรเบิร์ต ดักลาส นายทวารเจ้าบ้าน ได้รับใบแดงจากเหตุทะเลาะวิวาทในอุโมงค์ขณะพักครึ่ง

หลังถอดยูนิฟอร์มบาร์ซา มอตตาย้ายไปเล่นให้อัตเลติโก มาดริด ซีซัน 2007-08 และเจนัว ซีซัน 2008-09 ตามด้วยอีก 2 ซีซันครึ่งกับอินเตอร์ มิลาน ก่อนย้ายไปอยู่ปารีส แซงต์-แยร์กแมง ด้วยค่าตัวประมาณ 10 ล้านยูโรในตลาดฤดูหนาวปี 2012 มอตตาเล่นให้เปแอสเช 6 ซีซันครึ่ง ทำ 12 ประตูจาก 232 นัดรวมทุกรายการ และคว้าแชมป์กับยักษ์ใหญ่แห่งปารีสถึง 19รายการ รวมถึงแชมป์ลีกเอิง 5 สมัย ก่อนแขวนสตั๊ดหลังจบซีซัน 2017-18 และผันตัวเองไปเป็นโค้ช ยู-19 ของสโมสร

ตลอดอาชีพค้าแข้ง มอตตาชนะเลิศถึง 27 รายการ รวมถึงแชมป์ลา ลีกา 2 สมัยซ้อน และชนะเลิศแชมเปียนส์ ลีก ปี 2006 กับบาร์เซโลนา และอยู่ในทีมอินเตอร์ มิลาน ชุดทริปเปิล แชมป์ ซีซัน 2009-10 (เซเรีย อา, โคปปา อิตาเลีย และแชมเปียนส์ ลีก)

สำหรับทีมชาติ มอตตาเคยเล่นให้ทีมบราซิล ยู-17 และ ยู-23 ก่อนติดชุดใหญ่ไปแข่งขันคอนคาเคฟ โกลด์ คัพ ปี 2003 ซึ่งได้ลงสำรอง 2 นัดกับเม็กซิโกและฮอนดูรัสในรอบแบ่งกลุ่มรวมเพียง 71 นาที 

หลายปีต่อมา มีข่าวระบุว่ามอตตาอาจถูกทีมชาติอิตาลีเรียกตัวและอาจได้ไปเล่นเวิลด์คัพ 2010 เนื่องจากเขาถือ 2 สัญชาติ (dual nationality)  โดยปู่ของเขาเป็นชาวอิตาเลียนเนื่องจากปู่ทวดย้ายถิ่นฐานจาก Polesella ในอิตาลีมาอยู่ทวีปอเมริกาใต้ช่วงต้นทศวรรษ 1900

มอตตาเล่นให้อิตาลีนัดแรก วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2011 ถูกเปลี่ยนลงมานาทีที่ 63 ของเกมกระชับมิตรที่เสมอเยอรมนี 1-1 รวมแล้วเขาแข่งขันให้ทีมอัซซูรี 30 นัด ทำ 1 ประตูระหว่างปี 2011 – 2016 และได้รับเหรียญรองแชมป์ยูโร 2012 รวมถึงติดทีมชาติไปแข่งเวิลด์ คัพ 2014

สไตล์การเล่นของมอตตาเป็นประเด็นน่าสนใจเพราะอาจส่งผลต่อแนวคิดในฐานะเทรนเนอร์ มอตตาได้รับนิยามว่าเป็น combative player หรือนักเตะแนวนักสู้พันธุ์ดุ เล่นได้ทั้ง defensive midfielder และ central midfielder แต่ความจริงเล่นได้หลากหลายหน้าที่ในกองกลางด้วยความเฉลียวฉลาดเชิงเทคนิคและสารพัดประโยชน์

กับทีมชาติอิตาลี โค้ชเซซาเร ปรานเดลลี ให้เล่นเป็น deep-lying playmaker หรือ attacking midfielder เพราะมองว่ามอตต้าสามารถจ่ายบอลเพื่อเซตจังหวะการเล่นในแดนกลางได้ดี หรือในยูโร 2012 มอตตาทำหน้าที่ใหม่เป็น false attacking midfielder ในฟอร์เมชัน 4–3–1–2 ของปรานเดลลี บทบาทของเขาเปรียบเสมือน metodista ในภาษาอิตาเลียนหรือเซ็นเตอร์ฮาล์ฟนั่นเอง เนื่องจากเป็นตัวควบคุมการเล่นในกองกลางและช่วยเหลือแนวรับของทีม

แม้ได้รับเสียงชื่นชมเรื่องแทคเกิล, การอ่านเกม และคุณสมบัติเกมรับอย่างเช่น ball winner แต่จุดเด่นที่สุดของมอตตาเป็นการคอนโทรลบอล, เทคนิค, วิสัยทัศน์ และระยะการจ่ายบอล อีกทั้งมอตตายังมีสรีระแข็งแกร่ง, ลูกโหม่งดี และสามารถวิ่งตัดหลังเข้าไปในเขตโทษ จึงเป็นตัวโจมตีทางอากาศที่อันตราย รวมถึงการซัดบอลจากระยะไกล แต่มักโดนวิจารณ์เรื่องความก้าวร้าวในสนามและขาดความเร็ว

ประกาศปฏิวัติฟุตบอลแม้ยังไม่มีโปร ไลเซนซ์

ปารีส แซงต์-แยร์กแมงให้มอตตาคุมทีมยู-19 หลังแขวนสตั๊ดไม่กี่เดือน มอตตาสมัครเข้าเรียนคอร์สยูฟา โปร ไลเซนซ์ ที่ Centro Tecnico Federale di Coverciano ในเดือนสิงหาคม 2019 และได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2020 แต่ระหว่างนั้นในเดือนตุลาคม 2019 เจนัว ซึ่งรั้งอันดับรองบ๊วยของเซเรีย อา ได้แต่งตั้งมอตตาเป็นผู้จัดการทีมแทนออเรลิโอ อันเดรียสโซลี แต่ไล่ออกอย่างรวดเร็วปลายธันวาคมหลังคุมทีมเพียง 10 นัด เจนัวชนะ 2 นัด เสมอ 3 นัด แพ้ 5 นัด

กรกฎาคม 2021 มอตตาได้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมของสเปเซียแทนวินเซนโซ อิตาเลียโน ซึ่งลาออกไปคุมทีมฟิออเรนตินา เขาทำงานเต็มซีซัน มีผลงานชนะ 11 นัด เสมอ 6 นัด แพ้ 23 นัด, เคยได้รับรางวัลเทรนเนอร์ยอดเยี่ยมของเซเรีย อา ประจำเดือนมกราคม 2022 เมื่อสเปเซียชนะ 3 นัดรวด และท้ายสุดช่วยให้ทีมรอดตกชั้นหวุดหวิด 

มอตตาตกลงยกเลิกสัญญากับสเปเซีย วันที่ 28 มิถุนายน 2022 ก่อนรับตำแหน่งผู้จัดการทีมโบโลญญา วันที่ 12 กันยายน 2022 แทนซินิซา มิไฮจ์โลวิช สามารถพาทีมรอซโซบลูจบซีซันด้วยอันดับ 9 เป็นเลขตัวเดียวครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นมาเล่นเซเรียอา ฤดูกาล 2015–16 และยังได้รางวัลเทรนเนอร์ยอดเยี่ยมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2023

มอตตาเป็นหนึ่งในเทรนเนอร์คลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองจากไอเดียการทำทีม เคยเรียกเสียงฮือฮาเมื่อให้สัมภาษณ์กับลา กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต ในเดือนพฤศจิกายน 2018 ทั้งที่เพิ่งรับงานโค้ชครั้งแรกในชีวิตกับทีมยู-19 ของเปแอสเช และยังไม่ได้ยูฟา โปร ไลเซนซ์ ด้วยซ้ำ เมื่อเขาประกาศว่ามีเป้าหมายปฏิวัติฟุตบอลผ่านรูปแบบการเล่น 4-3-3 ด้วยการตีความใหม่เป็น 2-7-2

“ความคิดของผมคือ เล่นเกมบุก คอนโทรลเกมได้ ไฮ-เพรสซิ่ง และเต็มไปด้วยการเคลื่อนที่ทั้งขณะมีและไม่มีบอล ผมต้องการให้ลูกทีมที่กำลังครองบอลมีวิธีแก้เกมอยู่ในหัว 3-4 รูปแบบเสมอ พร้อมทั้งมีเพื่อนร่วมทีม 2 คนอยู่ใกล้ๆเพื่อช่วยเหลือ”

“ผมไม่ชอบตัวเลขในสนาม (ฟอร์เมชันต่างๆ) เพราะมันหลอกคุณได้ บางทีทีมสามารถเปิดเกมรุกได้สุดๆด้วยระบบการเล่น 5–3–2 และสามารถตั้งรับได้เหนียวแน่นจาก 4–3–3 ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับคุณภาพของนักฟุตบอล”

“ผมมีแมตช์หนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ที่ฟูลแบ็ค 2 คนลงเอยด้วยการเล่นตำแหน่งเบอร์ 9 และ 10 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมไม่ชอบนักเตะอย่างซามูเอลและคิเอลลินีที่เป็นกองหลังธรรมชาติ ถ้าอย่างนั้นมันควรเป็นฟอร์เมชัน 2–7–2 หรือเปล่า ผู้รักษาประตูถูกนับเป็นหนึ่งในกองกลาง 7 คน สำหรับผมแล้ว กองหน้าคือกองหลังคนแรก และผู้รักษาประตูเป็นกองหน้าคนแรก ผู้รักษาประตูเป็นคนเริ่มการเล่นด้วยเท้า กองหน้าเป็นคนแรกที่เข้ากดดันเพื่อแย่งบอลกลับคืนมา”

ตีความปรัชญาฟุตบอลของมอตตาผ่านฟอร์เมชัน 2-7-2

โทนี โรเบิร์ตสัน นักข่าวดิจิตอลของ The Sun อธิบายปรัชญาฟุตบอลของกุนซือวัย 41 ปีว่า ตัวเลข 2-7-2 ดูแปลกเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะมอตตามองผู้รักษาประตูเป็นเหมือนผู้เล่นมิดฟิลด์คนหนึ่งของเขา

แต่ความจริงแล้ว มอตตาอ่านแผนผัง 2-7-2 จากข้างสนามด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่จากกรอบประตูของทีมตัวเองไปยังฝั่งตรงข้ามเหมือนมุมมองปกติ ดังนั้นตัวเลข 2 จึงเป็นแบ็คขวาและปีกขวา กับแบ็คซ้ายกับปีกซ้าย โดยกองกลาง 7 คนประกอบด้วยผู้รักษาประตู, เซ็นเตอร์แบ็ค 2 คน, ดีเฟนซีพ มิดฟิลด์, เซ็นทรัล มิดฟิลด์ 2 คน และศูนย์หน้า

โรเบิร์ตสันสรุปว่า อีกนัยหนึ่ง 2-7-2 สำหรับมอตตาก็เป็นฟอร์เมชันปกติของ 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 นั่นเอง หากวิเคราะห์จากรูปแบบการเล่นซีซันนี้ของโบโลญญา เห็นได้ชัดตรงกับปรัชญาข้อหนึ่งที่มอตตาพูดไว้เมื่อปี 2018 คือ โดดเด่นเรื่องการครองบอล รอสโซบลูจ่ายบอลแม่นยำสูงถึง 85.2% มากเป็นอันดับ 2 ของเซเรีย อา ณ ต้นเดือนเมษายน 2024 

การบิลด์อัพเพลย์ของโบโลญญาเริ่มที่ 1-3-2-5 แต่สามารถปรับเปลี่ยนเป็น 2-3-5 ตามด้วยอะไรที่คล้ายกับ 4-3-3 ซึ่งมิดฟิลด์เบอร์ 8 สองคนจะออกด้านข้างเพื่อสนับสนุนปีกและฟูลแบ็ค แต่โบโลญญามีจำนวนครอสบอลเข้ากรอบเขตโทษอยู่อันดับท้ายๆของลีกเมืองมะกะโรนี มอตตาชอบให้ลูกทีมเล่นกับพื้นที่ว่างและสร้างสรรค์จากตำแหน่งการยืนที่แคบๆ ซึ่งจะเห็นจากกองหน้าอย่างโจชัว ซีร์กเซ ถอยลงไปในพื้นที่ว่างเพื่อช่วยลำเลียงบอลจาก box midfield ของทีม

สำหรับเกมรับ โบโลญญาจะใช้แทคติกไฮ-เพรส ก่อนปรับรูปแบบเป็น 4-1-4-1 mid-block นั่นทำให้ทีมของโบโลญญามีสไตล์การเล่นที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนและทำให้คู่แข่งงุนงงสับสนได้

วิเคราะห์รูปแบบการเล่นที่สลับซับซ้อนของทีมโบโลญญา

เว็บไซต์ The Football Analyst ได้จัดทำบทความวิเคราะห์แทคติกของมอตตาไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มจากการสร้างเกมที่แบ่งออกเป็น low build-up และ high build-up

มอตตาจะวางฟอร์เมชัน 4-2-5 สำหรับ low build-up โดยให้เซ็นเตอร์แบ็ค 2 คนยืนด้านข้าง ผู้รักษาประตูจะยืนบริเวณเสาข้างหนึ่ง อีกข้างมีผู้เล่นคนหนึ่ง โดยมีผู้เล่นอีก 2 คนอยู่ด้านหน้า ทำให้ฟอร์มตัวเป็น box-midfield ตรงกลางบริเวณกรอบเขตโทษ บ่อยครั้งมิดฟิลด์ตัวรุกจะถอยลงมาร่วมด้วยเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เล่นที่สามารถร่วมช่วยกันแก้เพรสของฝ่ายตรงข้าม

ส่วน high build-up รูปแบบจะเปลี่ยนเป็น 1-3-2-5 คล้ายกับ low build-up ต่างกันเพียงผู้รักษาประตูยืนหน้าโกล์คนเดียวเหมือนปกติ เซ็นเตอร์แบ็ค 2 คนกับผู้เล่นอีก 1 คนดันตัวขึ้นไปข้างหน้า 

อย่างไรก็ตาม โบโลญญาของมอตตามักโรเตชันรูปแบบบิลด์อัพเพื่อสร้างความสับสนให้คู่แข่งขัน หรือปรับตัวเองไปตามฟอร์เมชันของฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้จำนวนผู้เล่นมีความได้เปรียบตามพื้นที่หรือโซนต่างๆ หวังผลในการทำลายเกมรับและเข้าไปทำประตูได้มากขึ้น แต่การปรับเปลี่ยนที่ใช้บ่อยที่สุดเป็นการดันเซ็นเตอร์แบ็คคนหนึ่งขึ้นไปยังกองกลางเป็นรูปแบบ 1-2-3-5 

สำหรับการเข้าโจมตี โบโลญญาเป็นทีมหนึ่งที่ยอดเยี่ยมในพื้นที่ final third มักสร้างโอกาสได้เสมอ หลักๆคือโจมตีพื้นที่ว่างของคู่แข่งระหว่างเซ็นเตอร์แบ็คกับฟูลแบ็คหรือ half-space นั่นเอง ลูกทีมของมอตตามักโจมตีบริเวณด้านข้างของสนามด้วยการโอเวอร์แลปของผู้เล่นมิดฟิลด์

นอกเหนือโจมตี half-space แล้ว มอตตายังมีแทคติกเกมบุกอีกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์คือผู้เล่นในแดนกลางให้มีจำนวนเหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งปกติมักวางผู้เล่น 4 คนเพื่อต่อกรกับ box-midfield ของรอสโซบลู โดยมอตตาจะแก้เกมด้วยการให้กองหน้าถอยลงมา สร้างความได้เปรียบในจำนวนผู้เล่นกองกลาง และมักจะประสบความสำเร็จในการทำลายแนวรับของคู่แข่ง ซึ่งเป็นไปได้ที่เซ็นเตอร์แบ็คจะตามไปประกบกองหน้า นั่นเป็นโอกาสให้โบโลญญาเข้าไปทะลวงพื้นที่ว่างที่อยู่ข้างหลัง

The Football Analyst มองว่าการเล่นของโบโลญญาเป็นไปในลักษณะที่มอตตาเคยให้สัมภาษณ์ปลายปี 2018 คือ เล่นเกมบุก คอนโทรลเกมได้ ไฮ-เพรสซิ่ง และเต็มไปด้วยการเคลื่อนที่ทั้งขณะมีหรือไม่มีบอล ส่วนใหญ่จะทำเช่นนั้นไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะใช้รูปแบบไหนมาต่อกร หลักการสำคัญข้อหนึ่งที่มอตตาทำได้สำเร็จคือ สร้างความไหลเวียนภายในระบบของทีมผ่านinterchanges และ rotations หลายรูปแบบ

ตัวอย่างเช่น มอตตาต้องการให้เซ็นเตอร์แบ็คของโฮลดิ้งมิดฟิลด์โรเตทและเปลี่ยนตำแหน่งกันเพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามสับสน บ่อยครั้งที่มิดฟิลด์ตัวรับถอยลงเพื่อลากกองกลางคู่แข่งขันตามมา ซึ่งจะเปิดพื้นที่ว่างตรงกลาง เซ็นเตอร์แบ็คจะวิ่งเข้าไปใน open space นั้นเพื่อรับบอลและลำเลียงขึ้นไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การเล่นลักษณะนี้ได้ต้องอาศัยทักษะเชิงแทคติกและเทคนิคจากนักเตะเป็นอันมาก การไหลเวียนภายในระบบจะสร้างไดนามิกใหม่และหลากหลายให้กับเกมบุกของโบโลญญา อีกทั้งยังช่วยเพิ่มทางออกใหม่ๆในการเอาชนะเพรสซิ่งของทีมคู่แข่งด้วย

ในส่วนของเกมรับก็ไม่แตกต่างจากบิลด์อัพและเกมบุก โบโลญญาจะมีทั้ง high press และ low press ทีมของมอตตาจะดูดุดันแม้ทั้งจังหวะไม่มีบอลเช่น high press มอตตาต้องการให้นักเตะตามประกบคู่แข่งแบบ man-to-man และเข้าเพรสซิ่งอย่างเข้มข้น ทีมรอสโซบลูมักจะแย่งบอลได้บริเวณพื้นที่ด้านบนของสนามเสมอ แน่นอนบ่อยครั้งที่พวกเขาได้ประตูจากไฮเพรส

สำหรับ low press โบโลญญาจะปรับฟอร์เมชันเป็น 1-4-5-1 สร้าง mid-block เพื่อปิดพื้นที่บริเวณกลางสนาม บีบให้คู่แข่งออกบอลไปด้านข้าง มอตตาต้องการให้ลูกทีมประกบมิดฟิลด์ฝ่ายตรงข้ามแบบ man-mark อย่างไรก็ตามโบโลญญามีเกมรับที่ไดนามิกสูง แปรเปลี่ยนไปตามการเล่นของคู่แข่ง นอกจาก 1-4-5-1 ยังอาจเป็น 1-4-1-4-1 หรือ 1-4-2-3-1 ได้อีกด้วย

2-7-2 อาจเป็นการจิกกัดด้วยอารมณ์ขันของโค้ชหัวก้าวหน้า

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ transfermarkt ในการแข่งขันฤดูกาล 2023-24 ฟอร์เมชันที่โบโลญญาใช้เป็นหลักคือ 4-2-3-1รองลงมาคือ 4-1-4-1 บางครั้งเป็น 4-3-3 Attacking ซึ่งก็ตรงอย่างที่มอตตาพยายามสื่อปรัชญาฟุตบอลของเขากับลา กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต เมื่อกว่า 5 ปีที่แล้วว่า เขาเพียงต้องการตีความฟอร์เมชันให้แตกต่างจากลักษณะเดิมๆที่ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะการเล่นที่แท้จริงเลย เขาจึงอ่านฟอร์เมชันด้วยวิธีใหม่คือจากด้านข้างของสนาม ซึ่งเมื่อเวลาผ่านเลยจนถึงตอนนี้ 2-7-2 อาจเป็นเพียงอารมณ์ขันเชิงจิกกัดตามประสาโค้ชใหม่ไฟแรงที่มีความเป็นศิลปินซุกซ่อนอยู่

เราสามารถมองอีกมุมหนึ่งได้ว่า แนวคิดที่ให้สัมภาษณ์ปลายปี 2018 ถือเป็นไอเดียหัวก้าวหน้าเพราะทุกวันนี้ ไฮเพรสซิ่ง, การให้ความสำคัญกับเปอร์เซ็นต์การครองบอล, โรเตชันและทรานซิชันตำแหน่งระหว่างผู้เล่น ถือเป็นแทคติกปกติและได้รับความนิยมในหมู่สโมสรชั้นนำไปแล้ว

ดังที่ The Football Analyst ได้สรุปบทวิเคราะห์แทคติกของโบโลญญาว่า เห็นได้ชัดมอตตามีกลยุทธ์ที่ซับซ้อน ซึ่งสามารถยกให้เป็นวิวัฒนาการของปรัชญาฟุตบอลก็ไม่ผิดความจริงนัก สร้างสรรค์ให้เกิดรูปแบบการเล่นใหม่ๆที่ทันสมัยและมีชีวิตชีวา นำไปสู่เกมฟุตบอลที่สวยงามมอบแก่ผู้ชม

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

หรือว่า “ผู้จัดการทีม” เป็นต้นเหตุ บราซิลยังรอคอยแชมป์โลกสมัยที่ 6

หลังตีเตพ้นตำแหน่งเมื่อจบเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ ทีมชาติบราซิลใช้บริการของกุนซือรักษาการไป 2 คนคือ รามอน เมเนเซส (3 นัด ช่วงกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2023) และ แฟร์นานโด ดินิซ (6 นัด ช่วงกรกฎาคม 2023 ถึง มกราคม 2024) ระหว่างรอ คาร์โล อันเซลอตติ ตอบรับข้อเสนอ แต่ท้ายสุดไม่เป็นดังหวัง ยอดกุนซืออิตาเลียนวัย 64  ปี ต่อสัญญาคุมทีมเรอัล มาดริด ไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2026

นั่นทำให้สมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลเบนเข็มไปดึง โดริวัล จูเนียร์ มาจากสโมสรเซา เปาโล ทั้งที่เฮดโค้ชวัย 61 ปี เพิ่งเข้าทำงานให้สโมสรเป็นรอบ 2 เมื่อเดือนเมษายน 2023 โดยประกาศแต่งตั้งโดริวัลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

จากโปรแกรมแข่งขันของอดีตแชมป์โลก 5 สมัย โดริวัลจะคุมทีมบราซิลอุ่นเครื่อง 4 นัดกับอังกฤษ, สเปน, เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา ก่อนเข้าร่วมโคปา อเมริกา หรือศึกลูกหนังชิงแชมป์แห่งชาติทวีปอเมริกาใต้ ครั้งที่ 48 ระหว่างวันที่ 20มิถุนายน ถึง 14 กรกฎาคม 2024 ที่สหรัฐอเมริกา

หลังจบโคปา อเมริกา โดริวัลยังมีภารกิจสำคัญคือ เวิลด์คัพ 2026 รอบคัดเลือก โซนอเมริกาใต้ ซึ่งยังเหลืออีก 12 นัด ที่จบโปรแกรมในเดือนกันยายน 2025 แต่บราซิลทำผลงาน 6 นัดแรกต่ำกว่ามาตรฐาน ชนะ 2 นัด เสมอ 1 นัด และแพ้ถึง 3นัด มีเพียง 7 คะแนน รั้งอันดับ 6 ตามหลังจ่าฝูง อาร์เจนตินา 8 คะแนน

อย่างไรก็ตามด้วยชื่อชั้นและเกรดฝีเท้าของนักเตะ บวกการแข่งขันที่ยังเหลือ 12 นัด โดริวัลน่าจะพาบราซิลไต่ขึ้นไปอันดับสูงๆ ไม่ถึงขั้นต้องพึ่งอันดับ 6 ซึ่งเป็นโควตาสุดท้ายของตั๋วอัตโนมัติไปบอลโลก หรืออันดับ 7 ซึ่งต้องแข่งขันเพลย์ออฟกับทีมชาติจากทวีปอื่น

แม้บราซิลเป็นอดีตแชมป์โลก 5 สมัย แต่ว่างเว้นยาวนานกว่า 2 ทศวรรษนับตั้งแต่ชนะเยอรมนี 2-0 นัดชิงชนะเลิศเวิลด์คัพ 2002 ที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นยุคทองของ 3 ประสาน โรนัลโด-ริวัลโด-โรนัลดินโญ รวมถึงตำนานวิงแบ็ค คาฟู-โรแบร์โต คาร์ลอส ทั้งที่บราซิลไม่เคยขาดแคลนนักเตะฝีเท้าระดับซูเปอร์สตาร์ แม้แต่ขุนพลชุดบอลโลกแต่ละสมัยก็แข็งแกร่งเป็นหนึ่งในทีมเต็งแชมป์อันดับต้นๆ

บางทีจุดอ่อนที่ไม่สามารถพา Seleção Canarinha หรือ Canary Squad (ทีมนกคีรีบูน) ไปถึงฝั่งฝันคือ “ผู้จัดการทีม”เพราะนับตั้งแต่ ลุยซ์ เฟลิเป สโคลารี นำถ้วยฟีฟา เวิลด์ คัพ มาสู่มาตุภูมิ บราซิลใช้ผู้จัดการทีมถึง 11 คน รวมรักษาการ และโดริวัลเป็นคนที่ 12 ในรอบ 22 ปี แม้กระทั่งดึงสโคลารีกลับมาคุมทีมรอบที่ 2 ระหว่างกุมภาพันธ์ 2013 ถึงกรกฎาคม 2014

ผลงานของผู้จัดการทีมระหว่าง 2 ทศวรรษล่าสุดที่นำขุนพลแซมบาสู่สมรภูมิบอลโลกได้แก่ คาร์ลอส อัลแบร์โต เปเรยรารอบ 8 ทีมสุดท้าย ปี 2006 ทั้งที่เคยพาทีมชนะเลิศเวิลด์คัพ 1994, ดุงกา รอบ 8 ทีมสุดท้าย ปี 2010, สโคลารี อันดับ 4ปี 2014 และ ตีเต รอบ 8 ทีมสุดท้าย ปี 2018 และ 2022

จะเห็นได้ว่า ฟุตบอลโลก 5 ครั้งหลังสุด บราซิลตกรอบก่อนรองชนะเลิศถึง 4 ครั้ง และผลงานดีที่สุดคือ อันดับ 4 ซึ่งแพ้เนเธอร์แลนด์ 0-3 ในแมตช์ชิงอันดับ 3

กาเบรียล มาร์กอตติ นักข่าวอาวุโสของ ESPN FC เขียนบทวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจถึงสาเหตุว่า ทำไมผู้จัดการทีมชาวบราซิลไม่ประสบความสำเร็จเทียบเท่านักฟุตบอลบราซิล

สโมสรลีกบิ๊ก 5 ยุโรปเมินโค้ชอินพอร์ตจากบราซิล

มาร์กอตติเริ่มต้นด้วยการอธิบายให้เห็นภาพใหญ่ของโค้ชบราซิล … ตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติบราซิลเป็นงานโค้ชงานที่ 26 ของโดริวัลภายในเวลา 22 ปี คิดเป็นค่าเฉลี่ยทำงานแต่ละแห่งไม่ถึง 1 ปีเต็ม แต่โดริวัลก็ไม่ได้แปลกแยกไปจากเพื่อนร่วมชาติที่ทำงานอาชีพโค้ชฟุตบอล

ดินิซ ซึ่งคุมทีมฟลูมิเนนเซก่อนเข้ารักษาการผู้จัดการทีมชาติบราซิลในเดือนกรกฎาคม 2023 ก็ทำงาน 17 แห่งในช่วง 13ปี ขณะที่กุนซือคนก่อนหน้า เมเนเซส ทำงาน 11 แห่งในช่วง 10 ปี แม้กระทั่งตีเต ซึ่งนำทัพ Seleção Canarinha สู่เวิลด์คัพ 2 สมัย เป็นโค้ชทีมชาติบราซิลที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 6 ปี 3 เดือน ก็ยังคุมทีม 17 แห่งในช่วง 25 ปี ก่อนได้รับสัญญาจากสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิล

แน่นอน สมาพันธ์ฯย่อมมองหาตัวเลือกที่ดีที่สุดเพื่อคุมทีมชาติบราซิลที่มีเกียรติประวัติอดีตแชมป์โลก 5 สมัย แต่บางทีอาจเป็น best available ณ ช่วงเวลานั้นที่อยู่ระหว่างคำว่า good กับ great เพราะข้อจำกัดคือ โค้ชดีๆมักติดอยู่กับงานที่กำลังทำ สโมสรจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาโค้ชคนนั้นไว้ ถึงไม่ได้คุมทีมชาติและถูกต้นสังกัดไล่ออกในเวลาต่อมา โค้ชบราซิลไม่ลำบากที่จะหางานใหม่ในระดับใกล้เคียงกัน

วงจรชีวิตของโค้ชบราซิลแตกต่างจากยุโรป การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติ อย่างโดริวัล ระยะคุมทีมนานที่สุดคือไม่ถึง 2 ปีที่ซานโตส ระหว่างกรกฎาคม 2015 ถึงมิถุนายน 2017 เขาเข้ามารับงานกลางฤดูกาล พาซานโตสขึ้นอันดับ 7 และจบอันดับ 3 ในปีต่อมา ก่อนโดนปลดฟ้าผ่าหลังปี 2017 เล่นไปได้เพียง 4 นัด นั่นเป็น 1 จาก 2 ครั้งที่โดริวัลทำงานนานกว่า 1 ปี

เห็นได้ชัดว่า วัฒนธรรมของโค้ชบราซิลแตกต่างจากยุโรปและส่วนใหญ่ของโลก ซึ่งเชื่อว่าโค้ชต้องการเวลาสร้างทีม พัฒนานักเตะ และติดตั้งแนวคิดสไตล์การเล่น แต่โค้ชในเมืองกาแฟไม่ได้มีประสบการณ์เช่นนั้น และถูกมองว่าคงไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมทำทีมในยุโรป

ดังนั้นโค้ชบราซิลน้อยรายมากที่ทำงานใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป สโคลารีไม่ประสบความสำเร็จกับเชลซีในซีซัน 2008-09, วานเดอร์ไล ลักเซมบูร์โก คุมทีมเรอัล มาดริด ไม่ถึง 12 เดือนเมื่อปี 2005, ริคาร์โด โกเมซ มีช่วงเวลาไม่นานนักที่บอร์กโดซ์และโมนาโก, เลโอนาร์โด โค้ชให้กับเอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน ระหว่างปี 2009 ถึง 2011 และติอาโก มอตตา คุมทีมโบโลญญาตั้งแต่กันยายน 2022 ถึงปัจจุบัน

ในโปรไฟล์ต้องใส่เครื่องหมายดอกจันไว้หลังชื่อนั้นๆ สโคลารีได้รับความสนใจจากยุโรปหลังพาบราซิลชนะเลิศเวิลด์คัพ 2002 เริ่มจากสมาคมฟุตบอลโปรตุเกสตามด้วยเชลซี, เลโอนาร์โดเบนเข็มทิศไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการหลังทำหน้าที่โค้ชเพียง 2 ปี, มอตตาเล่นให้บาร์เซโลนาขณะอายุ 17 และประสบความสำเร็จกับอาชีพค้าแข้งในสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เคยเล่นให้ทีมชาติอิตาลี และได้รับโค้ชไลเซนซ์ที่ยุโรป

ดูแล้วเป็นเรื่องไม่สมเหตุผลในแง่ความกว้างใหญ่มหาศาลของบราซิล เพียงภาคเหนือก็มีประชากรกว่า 200 ล้านคน มากกว่า 4 ประเทศอดีตแชมป์โลกรวมกันคือ เยอรมนี อาร์เจนตินา อิตาลี และอุรุกวัย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บราซิลผลิตนักฟุตบอลเพื่อส่งออกได้มากมาย จากการศึกษาพบว่ามีนักฟุตบอล 14,405 คนที่เล่นอยู่ในลีกนอกประเทศบ้านเกิดของตัวเอง 135 ลีกทั่วโลก ซึ่งจำนวน 1,289 คนมาจากบราซิล เป็นส่วนสัด 1 ต่อ 11 ทีเดียว

เป็นใครอาจสันนิษฐานต่อว่า ในเมื่อเป็นประเทศที่ผลิตนักเตะเปี่ยมพรสวรรค์ได้มากผ่านองค์ความรู้และประเพณี บราซิลจึงควรผลิตโค้ชระดับท็อปได้มากเช่นกัน ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นตรรกะที่ผิด

และจากการที่นักข่าวอาวุโสของ ESPN FC ได้พูดคุยกับนักข่าว ผู้บริหาร เอเยนต์ และโค้ชที่เคยทำงานในบราซิล ได้พบความจริงคือ ฟุตบอลบราซิลเป็นโลกที่แตกต่าง และไม่ได้สัมพันธ์เพียงยุโรปแต่รวมถึงชาติอื่นในทวีปอเมริกาใต้ด้วย โดยมีหลายตัวแปรที่ทำให้โค้ชบราซิลไม่ได้รับการยกย่องเหมือนนักฟุตบอลร่วมชาติ

แนวคิด “จ้างแล้วไล่ออก” เหนี่ยวรั้งพัฒนาการของโค้ชบราซิล

ข้อสำคัญคือ สโมสรบราซิลมีแนวคิด “hire-and-fire” หรือ “จ้างแล้วไล่ออก” เนื่องจากหมกหมุ่นอยู่กับผลลัพธ์ระยะสั้น ตัวอย่างเห็นได้ชัดจากโดริวัล สโมสรสามารถปลดโค้ชออกหลังผลแข่งแย่ไม่กี่นัด บ่อยครั้งสโมสรจึงเซ็นสัญญาแค่ระยะสั้น แม้มีข้อดีเอื้อต่อสภาพคล่องในการปรับเปลี่ยน แต่ถ้าโค้ชเกิดทำผลงานได้ดี ก็อาจถูกสโมสรอื่นแย่งตัวไปง่ายเช่นกัน

เบื้องหลังแนวคิด “จ้างแล้วไล่ออก” มาจากทีมส่วนใหญ่ในบราซิลใช้ระบบเลือกตั้งประธานสโมสรและบอร์ดบริหาร (ต่างกับยุโรปที่กลุ่มหรือบริษัทเจ้าของพิจารณาแต่งตั้งเอง) จึงต้องอาศัยคะแนนนิยมจากแฟนบอล ผลแข่งขันย่ำแย่ไม่กี่นัดสามารถดึงเสียงโหวตไปให้กับคู่แข่งขัน แม้บราซิลออกกฎหมายใหม่เมื่อปี 2021 เปิดประตูให้แหล่งเงินทุนต่างประเทศเข้ามาครอบครองสโมสร แต่ยังมีจำนวนน้อยนิดได้แก่ วาสโก ดา กามา, โบตาโฟโก, มิไนโร และครูไซโร

ขอบคุณภาพจาก  https://en.as.com/en/2017/12/15/soccer/1513337545_179071.html

ขอบคุณภาพจาก  https://en.as.com/en/2017/12/15/soccer/1513337545_179071.html

เทียบกับสโมสรยุโรปที่เจ้าของทีมคือเจ้าของเงินลงทุน จึงอาจอดทนกับโค้ชได้นานเพราะการไล่ออกหมายถึงเสียค่าชดเชยหรือต้องจ่ายค่าจ้างต่อทั้งที่มีโค้ชใหม่เข้ามาทำงานแทน แต่ที่บราซิล ประธานสโมสรและบอร์ดบริหาร ซึ่งได้รับเลือกจากฐานแฟนบอล ไม่ได้ใช้เงินตัวเองในการทำทีมฟุตบอล พวกเขาเป็นเพียงบุคลากรที่ถูกว่าจ้างและบริหารทีมฟุตบอลด้วยทรัพย์สินของสโมสร

แนวคิด “จ้างแล้วไล่ออก” ที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกของคะแนนเสียง สามารถสะท้อนผ่านตัวอย่างของเรนาโต เกาโช ซึ่งเข้าๆออกๆตำแหน่งโค้ชของเกรมิโอเป็นรอบที่ 4 ขณะนี้ และยังมีอีก 4 รอบที่ฟลูมิเนนเซ แม้กระทั่ง 1 ครั้งกับฟลาเมงโก ทีมคู่อริของฟลูมิเนนเซ ส่วนโดริวัลก็คุมทีมฟลาเมงโก 3 รอบ และเซา เปาโล กับซานโตส ทีมละ 2 รอบ เป็นความแตกต่างชัดเจนเทียบกับวงจรชีวิตโค้ชในยุโรป

ในเมื่ออาชีพไม่มีความมั่นคง จึงไม่มีเหตุผลเลยที่โค้ชต้องเสี่ยงกับวิสัยทัศน์สร้างทีมระยะยาว ทำไมต้องทำเมื่อผลแย่ๆไม่กี่นัดสามารถส่งให้ตกงาน การใส่ไอเดียใหม่ๆและพัฒนานักเตะหนุ่มๆล้วนต้องอาศัยเวลาที่ไม่เคยมีสำหรับโค้ชบราซิล ซึ่งคนอื่นไม่สามารถตัดสินว่าผิดหรือถูกเพราะเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนยุโรป ซึ่งเอื้อให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์กับงานแทคติกและนวัตกรรมมากกว่า

ไลเซนส์-ภาษา-เหยียดเชื้อชาติ เป็นอุปสรรคขวางในทวีปยุโรป

นอกเหนือลักษณะโครงสร้างการบริหารของสโมสรบราซิล ยังมีตัวแปรเล็กๆน้อยๆที่มีผลต่อพัฒนาของผู้มีอาชีพโค้ช

เริ่มจากค่านิยมของยุโรปที่มีต่อโค้ชอิมพอร์ตจากเมืองกาแฟ สโมสรที่เล่นในแชมเปียนส์ ลีก ไม่สนใจว่าจ้างโค้ชบราซิลแล้ว (อาจยกเว้นหากบราซิลชนะเลิศเวิลด์คัพ 2026) โค้ชที่มีรีซูเมกับทีมระดับบิ๊กในบราซิลอาจได้งานจากสโมสรกลางตารางค่อนไปทางด้านล่างของลีกบิ๊ก 5 ยุโรป (ถ้าพาทีมรอดตกชั้นได้ อาจมีสโมสรที่ใหญ่ขึ้นหันมามอง)

ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าโค้ชบราซิลออกจากบ้านเกิด พวกเขามีโอกาสมากกว่าที่ตะวันออกกลางหรือเอเชียเช่น สโคลารี ซึ่งเพิ่งอำลามิไนโร สถานที่ทำงานแห่งที่ 31 ในรอบ 42 ปี เคยคุมทีมในซาอุดิ อาระเบีย, คูเวต, ญี่ปุ่น, อุซเบกีสถาน และจีน

สโมสรยุโรปไม่ยอมรับไลเซนส์ที่ออกในบราซิล โค้ชที่ได้รับการพิจารณาจึงมักมีความสำเร็จให้จับต้องได้ระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นช่วงเล่นฟุตบอลก็ได้ดังตัวอย่างที่ยกข้างต้น แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่โค้ชหนุ่มไฟแรงจากบราซิลจะค่อยๆไต่เต้าจากฐานของโค้ชพีรามิดในยุโรป ดังนั้นโค้ชบราซิลบางส่วนจึงเดินทางไปร่ำเรียนโค้ชคอร์สในต่างประเทศ อาร์เจนตินาเป็นตัวเลือกหนึ่ง บางคนอาจเป็นโค้ชหลังเลิกเล่นฟุตบอลในยุโรป

ภาษาเป็นอุปสรรคหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เชื่อ โปรตุกีสเป็นภาษาหลักที่ใช้ในบราซิล เชื่อหรือไม่โค้ชบราซิลแทบพูดภาษาอังกฤษหรือสแปนิชไม่ได้เลย เหตุผลคือบราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาต่างชาติ ดังนั้นลำพังหาโค้ชบราซิลที่ผลงานดีๆยังยาก สโมสรยุโรปยิ่งไม่อยากเสียเงินเพิ่มด้วยการจ้างล่าม

โปรตุเกสน่าจะเป็นเป้าหมายที่ดีสำหรับโค้ชบราซิล แต่กลับเป็นนักฟุตบอลที่แห่แหนไปค้าแข้งในลีกแดนฝอยทอง ส่วนโค้ชนั้นแทบนับนิ้วได้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แถมยิ่งเป็นไปได้ยากเพราะตอนนี้โปรตุเกสผลิตโค้ชเก่งๆมากขึ้นเรื่อยๆ 

ปิดท้ายด้วยผลสำรวจจากสโมสร 96 ทีมที่แข่งขันในลีกบิ๊ก 5 ของยุโรป พบว่ามีผู้จัดการทีมที่ไม่ใช่คนยุโรปแค่ 8 คนเท่านั้น จึงแทบไม่มีโอกาสเลยสำหรับโค้ชต่างทวีป และน้อยมากถึงมากที่สุดสำหรับโค้ชบราซิล

3 คนเป็นอดีตนักบอลที่เล่นอย่างยาวนานในยุโรปและไม่เคยออกไปจากพื้นแผ่นดินใหญ่หลังแขวนสตั๊ดได้แก่ ติอาโก มอตตา ของโบโลญญา, เมาริซิโอ โปเชตติโน ของเชลซี และ เปลเลกริโน มาตาราซโซ ของฮอฟเฟนไฮม์, 2 คนเป็นผู้จัดการทีมที่มีผลงานเข้าตาในฟุตบอลโลกได้แก่ อังเก ปอสเตโคกลู ของสเปอร์ส และ ฮาเวียร์ อากีร์เร ของมายอร์กา, อีก 2 คนคือ ดีเอโก ซีเมโอน ของแอตเลติโก มาดริด กับ เมาริซิโอ เปลเลกริโน ของคาดีซ ต่างเคยเล่นในยุโรปเป็นเวลาหลายปีและพิสูจน์ฝีมือคุมทีมในอาร์เจนตินา ก่อนกลับมาใช้ชีวิตในยุโรป ส่วน มานูเอล เปลเลกรินี ของเบตีส เป็นคนเดียวที่ไม่เคยค้าแข้งในยุโรป และไม่เคยคุมทีมชาติหรือกระทั่งสโมสรในลีกบิ๊ก 5 ยุโรป

ปูมประวัติศาสตร์ทีมชาติบราซิล มีผู้จัดการทีมทั้งหมด 84 คน (กลุ่มสตาฟฟ์โค้ชนับเป็น 1 เช่น รูเบน ซัลเลส และซัลวิโอ ลาเกรกา ซึ่งร่วมกันคุมบราซิลเตะแมตช์ทางการนัดแรกในปี 1914 เป็นเกมกระชับมิตรกับสโมสร เอ็กซ์เซเตอร์ ซิตี) พบว่าไม่ใช่ชาวบราซิลเพียง 3 คน คือ รามอน พลาเตโร (อุรุกวัย) ที่คุมทีมกับโจอาคิม กิมาเรส เมื่อปี 1925, โฮเรกา (โปรตุเกส) ที่คุมทีมกับฟลาวิโอ คอสตา เมื่อปี 1944 และ ฟิลโป นูเญซ (อาร์เจนตินา) ซึ่งคุมทีมแค่นัดเดียวในเดือนกันยายน 1965 

แต่ละคนมีช่วงเวลาสั้นมากกับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติบราซิล และนับจากนูเญซนานเกือบ 60 ปีที่สมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลไม่เคยเซ็นสัญญากับโค้ชต่างชาติ แม้กระทั่งความพยายามล่าสุดที่จะปฏิวัติครั้งใหญ่ด้วยการดึงกุนซือระดับโลกอย่างอันเซลอตติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Seleção Canarinha ชูถ้วยฟีฟา เวิลด์คัพ สมัยที่ 6 ยังล้มเหลว

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Our Work

ลาลีกา ร่วมบูรณะสนามฟุตซอล โรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส เกาะเกร็ด เตะบอลกระชับมิตร พร้อมเปิดตัวโลโก้ใหม่ และหาเงินสมทบทุนปรับปรุงโรงอาหารโรงเรียน

“เกาะเกร็ด” หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดนนทบุรี เป็นชุมชนคนมอญที่มีชื่อเสียงในเรื่องของเครื่องปั้นดินเผา และยังคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมแบบพื้นบ้านดั้งเดิม

การท่องเที่ยวในเกาะเกร็ด จะครึกครื้นช่วงวันเสาร์ – อาทิตย์ รวมถึงวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพราะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย ร้านค้า ร้านอาหาร ขนมไทยต่าง ๆ ของคนในพื้นที่ มีร้านกาแฟให้นักท่องเที่ยวได้แวะพักผ่อน รวมไปถึงก็การนั่งเรือชมรอบเกาะ ก็ยังมีอีกเช่นกัน

แต่อีกหนึ่งเรื่องน่าสนใจคือ บนเกาะเกร็ด จะมีสนามฟุตซอลที่ค่อนข้างมาตรฐานที่สุด เพียงสนามเดียว ซึ่งอยู่ในโรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส เดิมทีเกาะเกร็ด และสนามแห่งนี้ เมื่อถึงเวลาหน้าฝน หรือช่วงที่มีน้ำท่วมนาน ๆ สนามก็จะทรุดโทรมไปตามสภาพ และจากเหตุอุทกภัยจากน้ำท่วมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ทำให้สภาพสนามแห่งนี้ ได้รับความเสียหายอย่างมาก นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางเราทีม ไข่มุกดำ และ ลาลีกา เร่งเห็น จึงติดต่อทางผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อบูรณะสนาม ภายใต้โปรเจคต์ Second Chance นี้

โดยเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2556 ที่ผ่านมา “ลาลีกา ประเทศไทย” นำโดย มร.จอร์โจ ปอมปิลิ รอสซี ตัวแทน ลาลีกา ได้จัดกิจกรรมส่งมอบงานบูรณะสนามฟุตซอล โรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส (แสนสวัสดิ์วิทยาคาร) เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยได้ศิลปินกราฟฟิติ-สตรีทอาร์ท ที่ได้รับการยอมรับสูงที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย “มวย” ปิยศักดิ์ เขียวสะอาด มารังสรรค์ผลงาน พร้อมต้อนรับโลโก้ใหม่ ลาลีกา และประเดิมการใช้สนามด้วยแมตช์พิเศษ หาเงินสมทบทุนปรับปรุงโรงอาหารโรงเรียน 

โดย มร.จอร์โจ ปอมปิลิ รอสซี กล่าวว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำโปรเจคต์ลักษณะนี้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย มันแสดงให้เห็นว่า ลาลีกา ไม่ได้นำแค่ฟุตบอลสเปนเข้ามาใกล้แฟนฟุตบอลไทย แต่เป็นประโยชน์ที่ทำให้แก่ชุมชนด้วยเช่นกัน ภายใต้รูปลักษณ์โลโก้ใหม่ ลาลีกาต้องการจะสร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลกผ่านคุณค่าของเกมฟุตบอล และหวังจะขยายโปรเจคต์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนด้วยเช่นกัน”

ขณะที่ นาย จิราปรัชญ์ ณ ป้อมเพชร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส (แสนสวัสดิ์วิทยาคาร) กล่าวว่า “ผมขอเป็นตัวแทนขอบคุณลาลีกาสำหรับการบูรณะสนามกีฬาของโรงเรียนในครั้งนี้ที่ไม่เพียงแต่เกิดประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ยังเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อชุมชนให้ได้ใช้เป็นสถานที่ออกกำลัง สันทนาการ จัดงานพิธี และด้วยการออกแบบที่อิงกับชุมชน พื้นที่นี้ยังสามารถเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ผู้คนจดจำเกาะเกร็ด และอยากแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนได้อีกด้วย”

สนามฟุตซอลแห่งนี้ ได้รับการเพนท์ ด้วยลวดลายที่สวยงาม มีทั้งภาพช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย ลูกฟุตบอลที่พุ่งตรงเข้าไปในตาข่าย ภาพเจดีย์เอียง ที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ด รวมไปถึงภาพลิง ที่เป็นเสมือนลายเส้นสำคัญของศิลปินอย่างคุณมวย ภายใต้สีหลัก แดง และฟ้า สอดคล้องไปกับสีของโลโก้ใหม่ลาลีกา แทรกด้วยสีอื่น ๆ ตามสไตล์ของศิลปิน และความสอดคล้องของพื้นผิวสนาม ต่อเนื่องไปถึงกำแพงซึ่งสามารถกลายเป็นจุดเช็คอิน และสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่จะมาเยี่ยมเยือนเกาะ นอกเหนือจากการมาชมแหล่งที่ปั้นดินเผา เจดีย์เอียง แวะทานอาหารท้องถิ่น อย่าง ทอดมันหน่อกะลา  

บนสนามยังได้เห็นตัวหนังสือ #OneHumanity ซึ่งเป็นแคมเปญของลาลีกา และ UNAOCโปรโมตไปทั่วโลกเพื่อสนับสนุนความสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียว ความเคารพ ในโลกของกีฬา และมีสโลแกน THE POWER OF OUR FÚTBOL” อยู่บนสนาม 

สำหรับโลโก้ใหม่นี้ ตัวอักษรย่อ LL ในสีแดงคอรัล จะเริ่มใช้ในฤดูกาล 2023/24 นี้แทนที่โลโก้เดิมที่ถูกใช้มายาวนานกว่า 30 ปี โดยแฟนฟุตบอลชาวไทยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดครบทุกแมตช์ ผ่านทางแอพลิเคชั่น ‘LALIGA+’ และมีการบรรยายเป็นภาษาไทยด้วยในบางแมตช์ โดยสามารถสมัครสมาชิกแบบรายเดือน หรือทั้งฤดูกาล บนโทรศัพท์มือถือทั้งระบบ iOS และ Android” 

สำหรับคอนเทนท์ที่จะมีอยู่ใน LaLiga Plus มีทั้งรายการสั้น, สารคดี และแมตช์ลาลีกาสุดคลาสสิก ที่สามารถรับชมได้ฟรี นอกจากนี้ ยังมีคอนเทนท์ที่จัดทำขึ้นเฉพาะในประเทศไทย กับรายการใหม่ “LaLiga Pass Show” วิเคราะห์เจาะลึกลาลีกาในทุกสัปดาห์ โดยกูรูฟุตบอลสเปนชาวไทย นำโดย ขวัญ ลามาเซีย, เจมส์ ลาลีกา เบน บาร์ซ่าเข้าเส้น และท่านอื่น ๆ อีกมากมาย

ซึ่งก่อนเกมกระชับมิตรวันเสาร์ที่ 22 ก.ค.จะมีการพาสื่อมวลชนเดินเที่ยวชมเกาะเกร็ด นำโดย ขวัญ ลามาเซีย, เบน บาร์ซ่าเข้าเส้น, อาย Poprock On Field, เบน ฟรีคิ๊ก (เบน Soccer Suck), ต่อ ณ ระนอง และท่านอื่น ๆ อีกมากมาย โดยมีมัคคุเทศก์น้อย ที่เป็นเด็กนักเรียนของโรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส พาเดินเที่ยว ไปไหว้พระที่วัดปรมัยยิกาวาส ชมเจดีย์เอียง แล้วเดินตลาด ทานอาหารขึ้นชื่อของเกาะเกร็ด อย่าง ทอดมันหน่อกะลา รวมทั้งขนม หรือ อาหาร อื่น ๆ อีกด้วย

และเดิมทีตามแพลน น้อง ๆ มัคคุเทศก์ตั้งใจจะพาสื่อมวลชนไปชมและลองปั้นเครื่องปั้นดินเผา ที่เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ประจำเกาะเกร็ดด้วย แต่ด้วยสถานการณ์ฝนฟ้าที่เราไม่อาจควบคุมได้ไม่เป็นใจนัก บวกกับเวลาที่มีจำกัด จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ได้แวะเข้าไปทำกิจกรรมส่วนนี้กัน

ส่วนช่วงเย็นจะเป็นการเตะบอลกระชับมิตรการกุศล ระหว่างทีมสื่อมวลชน กับ ทีมของคุณครู นักเรียน และตัวแทนหน่วยงานของท้องถิ่น ร่วมกับชาวบ้าน ภายใต้บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ จากความสุขของการได้ทำกิจกรรม และได้การร่วมกันสมทบกองทุนทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา และปรับปรุงโรงอาหารให้กับนักเรียน เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่ได้มีโรงอาหารเป็นสัดเป็นส่วนให้นักเรียน และเมื่อถึงเวลาหน้าฝน หรือช่วงที่มีน้ำท่วม นักเรียนจะไม่มีพื้นที่สำหรับนั่งทานอาหารกัน ทางโรงเรียนจึงเห็นสมควร และอยากสร้างโรงอาหารให้แก่นักเรียน

✍️ ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย (แนน)

Categories
Football Tactics

recap มุมมอง ของ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ กับเรื่องราว เมื่อ PEP แปลง (TRANSFORM) แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไปสู่ทีมฟุตบอลแห่งอนาคตกาล

บันทึกกว่า 7 หน้ากระดาษที่ส่งตรงมาจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ทีมชาติไทย ยู-23 ปี ถึงเรื่องราว เมื่อ PEP แปลง (TRANSFORM) แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไปสู่ทีมฟุตบอลแห่งอนาคตกาล บันทึกนี้เปี่ยมไปด้วย “คุณค่า” ที่น่าติดตาม ซึ่งทาง ไข่มุกดำ ก็พร้อมที่บอกต่อเรื่องราวนี้ ให้กับทุก ๆ คนได้อ่าน ในเว็ปไซต์กัน

Categories
Football Tactics

เปิด Scrapbook โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ ถึง เออร์ลิง ฮาลันด์ และแมนฯซิตี้ของเป๊ป

จบจากแมตช์กดไลป์ซิก 7-0 ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในศึก UCL และได้เห็น เออร์ลิง ฮาลันด์ ซัลโว 5 ประตูภายใน 60 นาที ทางทีม KMD Content ได้รับโทรศัพท์ และสมุดบันทึก 7 หน้ากระดาษเขียนด้วยลายมือจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ทีมชาติไทย ยู-23 ปี

อาจารย์ได้ฝากให้ถอดรหัสพิมพ์ออกมา อย่างไรก็ดี ด้วย “คุณค่า” ของภาษาที่แท้จริง และงานเขียนมือ ที่หาได้ไม่ง่ายแล้วในยุคดิจิตอลแบบปัจจุบัน ทางทีมงานจึงคิดว่า จะนำเสนอในรูปแบบเว็ปไซต์ และนำกระดาษทั้ง 7 แผ่นมาเรียงร้อยให้กับทุก ๆ คนได้ค่อย ๆ แกะอ่านแบบใช้เวลากันจะดีกว่า

โดยทางทีมได้สรุปหัวข้อแต่ละแผ่นโน้ตบุ๊คเอาไว้ให้ เพื่อให้ recap มุมมองได้ง่ายขึ้น และโอกาสเหมาะที่สุดที่จะเผยแพร่เรื่องราวนี้คงหนีไม่พ้นหลังการสังหารแฮตทริก ที่ 6 ในฤดูกาลนี้ และสร้างยอดรวมทุก ๆ ถ้วยเป็น 42 ประตูหลังปราบเบิร์นลีย์ได้สำเร็จ 6-0 ในศึกเอฟเอ คัพ รอบ 8 ทีมที่ผ่านมาของเจ้าตัวฉายาที่สื่อขนานนามให้เป็น “ไอ้ปิศาจ” เออร์ลิง ฮาลันด์

แผ่น 1: 

ทฤษฎีความคิดนอกกรอบ (Lateral Thinking) และ 4 วาระการเล่น (Phase of Play) คือ อะไร? รวมถึงการแตะถึงการที่ เป๊ป มีนักเตะประเภท technical skill ดี ๆ รวมกับ mindset ที่เยี่ยมของผู้เล่นจนนำสู่การเล่นที่ประสบความสำเร็จ

แผ่น 2:

 ทำความรู้จักนักเตะประเภท Hybrid Working และระบบ 4:1:4:1 หรือ 4:5:1 ก่อนปรับเป็น “แบ็คทรี” ในระหว่างการเล่น

แผ่น 3:

การสร้างความได้เปรียบเรื่องตัวผู้เล่น (Numerical Superior) ให้เกิดขึ้น และการปรับฟอร์เมชั่นยามรุก เพื่อสร้างการยืนตำแหน่งแบบพิเศษ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้ตัวเอง และกดดันให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นลำบากตามหลักการของ Positional Play ผ่าน Style of Play ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ยังปิดกั้นเกมรุกของคู่แข่ง (ไม่ให้โต้กลับ) ได้อีกด้วย

แผ่น 4:

พูดถึงการให้ 3 เซนเตอร์ฮาล์ฟ (ดิอาซ, อาเก้, อคานจี) สร้างเกม ออกบอลแรก พาบอลขึ้นไปเอง (พร้อมกันอีกต่างหาก) อันสะท้อนผ่านตัวเลขการเปิดบอลสูงสุดของทีมใน 3 อันดับแรก และติดท็อป 5 ระยะการเคลื่อนที่ทั้ง 3 คน

แผ่น 5:

เปิดมุมมองให้ร่วมกันคิดว่า บทบาทพิเศษในเกมรุกของ 3 เซนเตอร์ฯ เกิดขึ้นเพราะสถานการณ์ หรือเป็นแท็คติกส์ที่ได้วางมารวมถึงการแตะเรื่องระบบอสมมาตรที่เกิดขึ้น (Asymetrical Formation) ด้วกการใช้แบ็คหุบใน (Inverted Full Back) และปีกหุบใน (Inverted Winger) ทำงานร่วมกับ Playmaker

แผ่น 6:

ข้อมูลเชิงสถิติที่ตอกย้ำผลงานที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ได้เห็น โดยทั้ง 5 ประตูของ ฮาลันด์ เกิดจาก 1 จุดโทษ และที่เหลือ 4 ประตูเกิดจากการยืนถูกที่ถูกเวลาซึ่งไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญ

แผ่น 7:

เหตุผลในมุมของเป๊ป ผ่านอาจารย์ โค้ชน้อย ว่าทำไมจึงเปลี่ยน ฮาลันด์ ออกตั้งแต่นาทีที่ 62 เท่านั้น และปิดโอกาสการทำ “ดับเบิ้ล แฮตทริก” ในเกมเดียวกัน

เรื่อง : โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ (ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ทีมชาติไทย ยู-23 ปี)

เรียบเรียง : KMD Content Team

Categories
Special Content

33 ปีที่เฝ้ารอ “สคูเดตโต” สมัยที่สาม ? นาโปลีเฉียดล่มสลายยุคโพสต์-มาราโดนา

ยูเวนตุส มหาอำนาจลูกหนังอิตาลีแห่งทศวรรษ 2010 ไม่สามารถครองตำแหน่งสคูเดตโตเป็นสมัยที่ 10 ติดต่อกันเมื่ออินเตอร์ มิลาน ขึ้นเถลิงบัลลังก์แทนในซีซัน 2020-21 ตามด้วยเอซี มิลาน ในซีซันต่อมา และทั้งสองฤดูกาล ทีมม้าลายจบด้วยอันดับสี่ของตารางกัลโช เซเรีย อา และซีซันนี้ สถานการณ์ของพวกเขายิ่งย่ำแย่ แต่แชมป์มีโอกาสสูงมากที่จะเปลี่ยนมือไปอยู่กับนาโปลี ซึ่งครองสคูเดตโตเพียงสองสมัย และครั้งหลังสุดคือปี 1990 หรือ 33 ปีที่แล้ว

นาโปลีเพิ่งผงาดเหนือแผ่นดินรูปท็อปบู๊ทช่วงกลางทศวรรษ 1980 เมื่อทุ่มเงินมหาศาลซื้อดีเอโก มาราโดนา มาจากบาร์เซโลนา เพียงเจ็ดปีที่มี G.O.A.T ชาวอาร์เจนไตน์อยู่ในทีม นาโปลีครองแชมป์เซเรีย อา 2 สมัย, แชมป์อิตาเลียน คัพ 1 สมัย และแชมป์ยูฟา คัพ 1 สมัย แต่หลังจากมาราโดนาโดนแบน 15 เดือนเพราะถูกตรวจพบสารโคเคน “เดอะ บลูส์” ไม่เพียงฟอร์มในสนามย่ำแย่ ฐานะการเงินยังตกต่ำถึงขั้นล้มละลาย ต้องลงไปเตะระดับเทียร์สามในซีซัน 2004-05 แต่โชคดีสโมสรได้ อูเรลิโอ เด ลอเรนติส พระเอกขี่ม้าขาวจากวงการภาพยนตร์เข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤติทันที

นาโปลีใช้เวลาเพียงสามปีกลับขึ้นมาเซเรีย อา ในซีซัน 2007-08 แต่ยังต้องปรับตัวจูนทีมช่วง 2-3 ปีแรกก่อนผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาสใกล้เคียงแชมป์ลีกมากที่สุดในซีซัน 2017-18 กับตำแหน่งรองแชมป์ ที่แม้ทำแต้มรวมสูงสุดในประวัติศาสตร์สโมสรคือ 91 คะแนน แต่ยังเป็นรองยูเวนตุสอยู่ 4 คะแนน

แน่นอน “สคูเดตโต” ย่อมเป็นเป้าหมายความสำเร็จของเด ลอเรนติส ที่มุ่งมั่นทำให้นาโปลียิ่งใหญ่สมฐานะทีมที่มีฐานแฟนบอลจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของอิตาลี และรั้งอันดับห้าของสโมสรเซเรีย อา ที่มีรายได้สูงสุดจากตัวเลข 182 ล้านเหรียญสหรัฐในซีซัน 2017-18

จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นเมื่อนาโปลีแต่งตั้ง ลูเซียโน สปัลเล็ตติ คุมทีมแทนเจนนาโร กัตตูโซ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2021 สปัลเล็ตติพาทีมจบซีซันแรกด้วยอันดับ 3 บนตารางเซเรีย อา ตามหลังแชมป์ เอซี มิลาน 7 คะแนน แต่ทิ้งอันดับ 4-5 ยูเวนตุสและลาซิโอถึง 9 และ 15 คะแนนตามลำดับ

สปัลเล็ตติประเดิมงานฤดูกาล 2021-22 ได้สวยหรูเก็บชัยชนะ 7 นัดรวด แต่เหมือนมีลางบอกเหตุก่อนนัดที่ 8 รถคันโปรด “เฟียต แพนดา” ของเขาโดนขโมย แม้ยังชนะนัดที่ 8 แต่สถิติหยุดแค่นั้นเพราะนัดต่อมา นาโปลีเสมอโรมา 0-0 ที่กรุงโรม ซ้ำร้ายต่อมาสปัลเล็ตติเจอปัญหานักเตะหลักเจ็บระนาวรวมถึงกองหน้า วิคเตอร์ โอซิมเฮน แถมผู้เล่นบางส่วนต้องไปแข่งขันแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ ทำให้ผลงานในสนามดร็อปลงจนแฟนบอลกลุ่มอัลตราทำป้ายขู่ว่า ถ้าอยากได้แพนดาที่หายไปคืนมา สปัลเล็ตติควรลาออกไปเสีย ซึ่งสื่อนำไปอำขำๆว่า เป็นตัวกระตุ้นให้สปัลเล็ตติรีดกึ๋นเค้นความสามารถของลูกทีมจนสถานการณ์ดีขึ้นจนปิดจ็อบปีแรกด้วยอันดับสาม

โมเมนตัมยังส่งผลต่อเนื่องถึงซีซันต่อมา ซึ่งขณะนี้เตะมา 23 จาก 38 นัด นาโปลีแพ้นัดเดียวเพราะโดนอินเตอร์ มิลาน เฉือน 0-1 เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเสมอ 2 นัด ชนะมากถึง 20 นัด มี 62 คะแนน ทิ้งห่างรองจ่าฝูง ทีมงูใหญ่ 15คะแนน อีกทั้งยังได้ 56 ประตู เสีย 15 ประตู ผลต่างบวก 41 ประตู ตัวเลขดีที่สุดในเซเรีย อา ทั้งสามหมวดหมู่

ล่าสุดนาโปลีถูกยกเป็นเต็งหนึ่งที่จะครองตำแหน่งสคูเดตโตเป็นสมัยที่สาม และมีโอกาสไม่น้อยที่จะเก็บแต้มทะลุหลักร้อย หรืออย่างน้อยควรทำลายสถิติสูงสุดเดิมของสโมสรคือ 91 คะแนน

ประวัติศาสตร์สโมสรเริ่มต้นที่กะลาสีเรืออังกฤษ

สโมสรนาโปลี มีชื่อเต็มว่า Società Sportiva Calcio Napoli (S.S.C. Napoli) ตั้งอยู่ในเมืองเนเปิลส์ (หรือนาโปลีในภาษาอิตาเลียน) เมืองหลวงของแคว้น Campania ทางตอนใต้ของอิตาลี เป็นเมืองใหญ่อันดับสามของประเทศรองจากโรมและมิลาน ถ้ามองอิตาลีเป็นรองเท้าบู๊ท เนเปิลส์จะตั้งอยู่บริเวณหน้าแข้ง นาโปลีมีฉายาว่า Gli Azzurri (The Blues), Ciucciarelli (The Little Donkeys)

นาโปลีมีจุดเริ่มต้นเมื่อเกือบ 120 ปีที่แล้วจาก Naples Foot-Ball & Cricket Club (Naples FBC) สโมสรฟุตบอลแห่งแรกในเนเปิลส์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1905 โดยวิลเลียม พอธส์ กะลาสีเรือชาวอังกฤษ กับเพื่อน เฮคเตอร์ เอ็ม เบยอน และคนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่ง รวมถึงอเมดีโอ ซัลซี ที่เป็นประธานสโมสรคนแรก

ต่อมา กลุ่มชาวต่างชาติได้แยกตัวออกจากสโมสรในปี 1911 และก่อตั้งสโมสรใหม่ชื่อว่า Unione Sportiva Internazionale Napoli (U.S. Internazionale Napoli) แต่ช่วงกลางปี 1914 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และหลังจากฟุตบอลกลับมาแข่งต่อ สภาพเศรษฐกิจและวิกฤติการเงินทำให้สองสโมสรยุบรวมกันในชื่อ Foot-Ball Club Internazionale-Naples หรือ FBC Internaples เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1922 โดยสีชุดแข่งเป็นส่วนผสมระหว่างเสื้อสีฟ้าของเนเปิลส์และกางเกงสีขาวของนาโปลี

สโมสรได้เปลี่ยนชื่อเป็น Associazione Calcio Napoli เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1926 ในยุคจิออร์จิโอ อัสคาเรลลี เป็นประธานสโมสร ซึ่งเชื่อว่าถูกกดดันจากรัฐบาลฟาสซิสต์ใหม่ที่ต้องการให้สโมสรมีชื่อแสดงความเป็นอิตาเลียน ก่อนเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1964 เป็น Società Sportiva Calcio Napoli จวบจนปัจจุบัน

ครึ่งศตวรรษแรกบนถนนลูกหนังเซเรีย อา-บี

ยุคแรกเริ่ม นาโปลีไม่ประสบความสำเร็จอะไร ต้องรอถึงปี 1962 จึงสามารถคว้าถ้วยโคปปา อิตาเลีย ซึ่งเพิ่งจัดแข่งขันเป็นปีที่ 15 หลังจากเฉือนสปาล 2-1 ในนัดชิงชนะเลิศ ส่วนสคูเดตโตต้องรอถึงปี 1987

ในส่วนของประวัติศาสตร์ฟุตบอลลีกหากเริ่มจากยุคกัลโช เซเรีย อาและบี ซึ่งเริ่มฤดูกาล 1929-30 เป็นปีแรกเมื่อนำ Divisione Nazionale ซึ่งแบ่งเป็นสองกลุ่มๆละ 16 ทีม นำผลอันดับตารางคะแนนฤดูกาล 1928-29 มาจัดทีมลงแข่งขัน Divisione Nazionale Serie A (เทียร์หนึ่ง) และ Divisione Nazionale Serie B (เทียร์สอง) โดยนาโปลีจบอันดับ 8 ร่วมกับลาซิโอ ทั้งคู่เตะเพลย์ออฟเสมอ 2-2 หลังต่อเวลา แต่แมตช์เป็นโมฆะเนื่องจากสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี (เอฟไอจีซี) ให้ทั้งสองเข้าไปเล่นเซเรีย อา เพื่อเพิ่มโควตาให้กับสโมสรจากภาคใต้

แม้ไม่เคยสัมผัสแชมป์แต่นาโปลีทำผลงานในเซเรีย อา ได้ไม่เลว เคยขึ้นสูงสุดอันดับสามในซีซัน 1933–34 ดาวเด่นของยุคนี้คือ อัตติลา ซาลลุสโตร ซึ่งเล่นให้นาโปลีระหว่างปี 1926 – 1937 สถิติรวมทุกรายการ 266 นัด 108 ประตู ปัจจุบันรั้งอันดับ 5 ดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของสโมสร

หลังได้อันดับ 15 รองบ๊วยฤดูกาล 1941-42 นาโปลีก็ตกไปเล่นเซเรีย บี หนึ่งซีซัน ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนซีซันแรกที่กลับมาหลังสงตราม ฟุตบอลลีกอิตาลี ซีซัน 1945-46 ถูกแบ่งใหม่เป็นสองกลุ่มคือ ภาคเหนือ เซเรีย อา และ ภาคกลาง-ภาคใต้ เซเรีย อา-บี ซึ่งนาโปลีจบอันดับหนึ่งของกลุ่มร่วมกับบารี ได้เตะเซเรีย อา ซีซัน 1946-47 โดยอัตโนมัติ

เล่นได้เพียงสองซีซัน นาโปลีก็ตกไปอยู่เซเรีย บี แต่ใช้เวลาสองซีซันเช่นกันกลับขึ้นมาอยู่เซเรีย อา หลังจากครองแชมป์เซเรีย บี ซีซัน 1949-50 ซึ่งเป็นความสำเร็จครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรหากไม่นับ Campionato Centro-Sud Serie A-Bทัวร์นาเมนท์พิเศษหลังสงครามที่ครองร่วมกับบารี

นับจากนั้น นาโปลีก็อยู่ในลีกสูงสุดเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นซีซัน 1961-62, 1963-64 และ 1964-65 ที่ร่วงไปลีกรอง) จนถึงยุคทองเมื่อได้ดีเอโก มาราโดนา เข้ามากลางทศวรรษ 1980 

ยุคทองกับมาราโดนา เจ็ดปี ห้าแชมป์

ก่อนหน้าการมาถึงของดีเอโก มาราโดนา กลางปี 1984 นาโปลีครองแชมป์อิตาเลียน คัพ สองสมัยในปี 1962 และ 1976แต่เพียงเจ็ดปีที่มีมาราโดนา “เดอะ บลูส์” ครองตำแหน่งสคูเดตโต ซึ่งรอคอยมานาน 61 ปี ในซีซัน 1986-87, 1989-90 แชมป์โคปปา อิตาเลีย ซีซัน 1986-87 แชมป์ยูฟา คัพ ซีซัน 1988-89 และแชมป์ซูเปอร์โคปปา อิตาเลีย ปี 1990

ช่วงสองปีที่บาร์เซโลนา แม้มีปัญหาบาดเจ็บรบกวน มาราโดนายังมีผลงาน 38 ประตูจาก 58 นัด แต่ด้วยความขัดแย้งกับฝ่ายบริหารโดยเฉพาะโจเซป หลุยส์ นูนเนซ ประธานสโมสร ทำให้เขาขอย้ายออกจากทีม และเป็นนาโปลีที่ยอมทุ่มเงินราว 10.48 ล้านปอนด์ ซื้อไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1984 โดยมาราโดนาเดินทางถึงเมืองเนเปิลส์และปรากฏตัวต่อสายตาคนทั้งโลกในฐานะนักเตะนาโปลีครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม มีแฟนบอลมากถึง 75,000 คน รอต้อนรับเขาที่สนามซาน เปาโล

ไม่เพียงมาราโดนา นาโปลียังสร้างทีมใหม่ผ่านนักเตะอย่างซีโร แฟร์รารา, ซัลวาตอเร บาญนี และแฟร์นานโด เด นาโปลี จนทีมลาน้อยทะยานขึ้นอันดับสามของซีซัน 1985-86 แต่สิ่งที่เหนือกว่ายังมาไม่ถึง ด้วยมาราโดนา, บรูโน กีออร์ดาโน และกาเรกา สามแนวรุกที่ถูกตั้งฉายาว่า Ma-Gi-Ca (มนต์วิเศษ) พานาโปลีไปถึงจุดพีคของประวัติศาสตร์สโมสร เป็นทีมที่สามที่ทำ “ดับเบิลแชมป์” สำเร็จในซีซัน 1986-87 ชนะเลิศเซเรีย อา ห่างยูเวนตุส 3 แต้ม และถลุงอตาลันตา 4-0 ในนัดแชมป์โคปปา อิตาเลีย

ฤดูกาลต่อมา นาโปลีได้เพียงรองแชมป์เซเรีย อา ตามหลังเอซี มิลาน 3 คะแนน และผ่านไปเล่นยูฟา คัพ ซีซัน 1988-89 ซึ่งมาราโดนาและผองเพื่อนสามารถปักธงบนสังเวียนยุโรปได้สำเร็จ ผ่านพีเอโอเค, โลโกโมทีฟ ไลปซิก, บอร์กโดซ์, ยูเวนตุส และบาเยิร์น มิวนิก เข้าไปชิงแชมป์กับซตุ๊ตการ์ตในเดือนพฤษภาคม 1989 นาโปลีชนะด้วยสกอร์รวม 5-4 ขณะที่เซเรีย อา นาโปลีได้รองแชมป์เป็นปีที่สองติดต่อกัน ถูกอินเตอร์ มิลาน ทิ้งขาด 11 แต้ม

นาโปลีครองสคูเดตโตสมัยที่สองในฤดูกาล 1989-90 โดยเฉือนมิลานเพียงสองคะแนน แต่ในปี 1991 มาราโดนาถูกตรวจพบว่าใช้โคเคน โดนโทษแบนนานถึง 15 เดือน ตั้งแต่เมษายน 1991 ถึงมิถุนายน 1992 ซึ่งมาราโดนาอ้างว่าเป็นการแก้แค้นของเอฟไอจีซี ที่เขาและอาร์เจนตินาเขี่ยอิตาลีตกรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 1990 ที่เมืองเนเปิลส์ โดยก่อนหน้าลงสนาม มาราโดนาขอร้องแฟนบอลเจ้าถิ่นช่วยเชียร์อาร์เจนตินา

นับจากถูกตัดสินโทษแบนครั้งนั้น มาราโดนาก็ไม่ได้เล่นให้นาโปลีอีกเลยก่อนย้ายไปเล่นให้เซบีญาในซีซัน 1992-93 แม้มีข่าวว่าเรอัล มาดริด และมาร์กเซย์ ต้องการตัวเขา มาราโดนาใช้เวลาอาชีพค้าแข้งที่เหลือในอาร์เจนตินากับนีเวลส์ โอลด์บอยส์ (1993 – 1994) และโบคา จูเนียร์ส (1995 – 1997)

ไร้มาราโดนา ทีมเสื่อมถอยทั้งการเล่นและการเงิน

ยุคโพสต์-มาราโดนา เริ่มในซีซัน 1991-92 นาโปลียังจบด้วยอันดับสี่บนตารางเซเรีย อา ก่อนเข้าช่วงขาลงจนกระทั่งรั้งก้นตารางของซีซัน 1997-98 ร่วงไปเล่นเซเรีย บี สองปี และกลับขึ้นมาอยู่ลีกสูงสุดในซีซัน 2000-01 แต่จบด้วยอันดับรองโหล่ ตกไปลีกรองอีกครั้งแถมรอบนี้ไหลลงไปถึงเทียร์สาม

หลังฤดูกาลแรกที่ไม่มีมาราโดนา นาโปลีเริ่มเสื่อมถอยทั้งผลงานในสนามและสภาพการเงิน นักเตะแกนหลักอย่างจิอันฟรังโก โซลา, ดาเนียล ฟอนเซกา, ซีโร แฟร์รารา และกาเรกา ต่างจากไปช่วงปี 1993 – 1994 แฟนๆพอมีรอยยิ้มบ้างกับบอลถ้วย เข้ารอบสามยูฟา คัพ ซีซัน 1994-95, เข้าชิงโคปปา อิตาเลียน ซีซัน 1996-97 แต่แพ้วิเซนซา 1-3 ต่างกับฟุตบอลลีกที่ย่ำแย่จนกระทั่งฤดูกาล 1997-98 นาโปลีชนะแค่สองนัด ร่วงลงไปเซเรีย บี สองซีซัน กลับขึ้นมาเซเรีย อา หนึ่งซีซัน และลงไปอีกครั้งในซีซัน 2001-02 

เดือนสิงหาคม 2004 นาโปลีถูกประกาศล้มละลาย อูเรลิโอ เด ลอเรนติส มหาเศรษฐีโปรดิวเซอร์หนังคนดัง ขี่ม้าขาวกอบกู้วิกฤติช่วยไม่ให้นาโปลีกลายเป็นตำนานทีมลูกหนังแห่งเนเปิลส์ แม้ต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่อ “นาโปลี ซอคเกอร์” ชั่วคราวและโดนปรับตกไปอยู่เซเรีย ซี1/บี แม้ฤดูกาล 2003-04 จะจบด้วยอันดับ 13 ของเซเรีย บี ก็ตาม

ถึงตกไปอยู่เทียร์สาม นาโปลียังมีแฟนๆติดตามให้กำลังใจอย่างเหนียวแน่น มีคนดูเฉลี่ยต่อนัดมากกว่าทีมส่วนใหญ่ในเซเรีย อา เคยสร้างสถิติคนดูสูงสุดในประวัติศาสตร์เซเรีย ซี ถึง 51,000 คนในหนึ่งนัด

แฟนบอลให้กำลังใจ “เด ลอเรนติส” ให้กำลังเงิน

นาโปลีครองแชมป์เซเรีย ซี1/บี ฤดูกาล 2005-06 ใช้เวลาเพียงสองปีขึ้นมาเซเรีย บี และกลับไปใช้ชื่อสโมสร Società Sportiva Calcio Napoli อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2006 “เดอะ บลูส์” จบซีซัน 2006-07 ด้วยอันดับสอง กลับขึ้นมาอยู่บนเซเรีย อา อีกครั้งหลังใช้เวลาอยู่ในลีกรองนานหกปี

ลีกสูงสุดสามซีซันแรก นาโปลีจบด้วยอันดับ 8,12 และ 6 ซึ่งได้สิทธิแข่งยูโรปา ลีก ซีซัน 2010-11 แม้หยุดเส้นทางรอบ 32 ทีมสุดท้าย แต่ภายใต้การคุมทีมของวอลเตอร์ มาซซาร์รี นาโปลีรั้งอันดับสามบนตารางเซเรีย อา

ซีซัน 2011-12 นาโปลีได้อันดับห้าของเซเรีย อา แต่ตะลุยถึงนัดชิงโคปปา อิตาเลีย เจอกับยูเวนตุส เจ้าของตำแหน่งสคูเดตโตไร้พ่ายปีนั้น นาโปลีชนะ 2-0 ครองแชมป์รายการนี้เป็นสมัยที่สี่ ซึ่งรอคอยมานาน 25 ปี ทีมลาน้อยยังชนะเลิศเพิ่มอีกสองครั้งในซีซัน 2013-14 ชนะฟิออเรนตินา 3-1 และซีซัน 2019-20 เสมอยูเวนตุส 0-0 ก่อนชนะดวลจุดโทษ 4-2

สำหรับเซเรีย อา นาโปลีเป็นรองแชมป์ ฤดูกาล 2012-13 ตามหลังยูเวนตุส 9 คะแนน และนับจากนั้นเป็นเวลาเก้าปี นาโปลีหลุดอันดับท็อป-5 แค่ปีเดียว โดยเป็นรองแชมป์ 3 ครั้ง, อันดับสาม 3 ครั้ง, อันดับห้า 2 ครั้ง และอันดับเจ็ด 1 ครั้ง

เครดิตต้องยกให้เต็มๆสำหรับการบริหารงานและเงินของเด ลอเรนติส ที่ไม่ใช่มหาเศรษฐีสายเปย์ แถมยังวางแผนและคิดรอบคอบเสียจนแฟนบอลมองว่าเป็นเจ้าของทีมที่มัธยัสถ์(หรือขี้เหนียว)เกินเหตุ

ฟาบริซิโอ โรมาโน นักข่าวคนดังเคยให้สัมภาษณ์ว่า เด ลอเรนติส และผู้อำนวยการ คริสเตียโน จิอันโตลี ร่วมกันตัดสินใจขายนักเตะที่เป็นขวัญใจของแฟนบอลและว่าที่ตำนานสโมสร ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างเช่น อเรนโซ อินซิเญ, คาลิดู คูลิบาลี, ดรีส์ เมอร์เทนส์ และฟาเบียน รูอิซ

สำหรับฝั่งขาเข้าเนื่องจากนาโปลีเป็นทีมระดับกลางของยุโรป จึงไม่มีแรงดึงดูดสตาร์ดังด้วยเงินและชื่อเสียง กลุ่มนักเตะใหม่จึงได้แก่ คิม มิน-แจ เซ็นเตอร์แบ็ควัย 26 ทีมชาติเกาหลีใต้ ซึ่งเล่นสามปีในจีนก่อนย้ายมาอยู่เฟเนอร์บาห์เช, มาเธียส โอลิเวรา แบ็คซ้ายทีมชาติอุรุกวัยที่ข่วยให้เตกาเฟรอดตกชั้นลาลีกา, เลโอ ออสติการ์ด เซ็นเตอร์แบ็คชาวนอร์เวย์ของไบรท์ตัน ซึ่งสร้างผลงานได้ดีระหว่างที่เจนัวเซ็นยืมหกเดือนครึ่ง รวมถึงยืมตัวต็องกี อึนดอมเบเล จากสเปอร์ส, โจวานนี ซิเมโอเน จากเวโรนา และจีอาโกโม รัสปาโดรี จากซาสซูโอโล โดยตัวความหวังใหม่จริงๆคือ ควิชา ควารัทสเคเลีย ปีกดาวรุ่งทีมชาติจอร์เจีย ซึ่งซื้อจากดีนาโม บาตูมิ ด้วยสนนราคาเพียง 10 ล้านยูโร ส่วนหนึ่งเพราะสงครามในยูเครน

นั่นทำให้ตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว นาโปลีสามารถลดค่าเหนื่อยผู้เล่นลงได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และทำกำไรได้ 13 ล้านยูโร แต่ที่สำคัญกว่าคือ การบริหารตลาดนักเตะรอบใหญ่ครั้งนั้นทำให้สปัลเล็ตติได้นักเตะที่ใช่สำหรับแนวทางของเขา ซึ่งชื่นชอบเกมบุกที่มีการครองบอลเป็นรากฐาน โดยกุนซือวัย 63 ปี ชอบระบบ 4-2-3-1 หรือ 4-3-3 ที่มี inverted wingers โดยปีกตัวในทั้งสองฝั่งคือ ควารัทสเคเลีย และมัตเตโอ โปลิตาโน ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำความสำเร็จมาสู่นาโปลีในซีซันนี้ และต้องไม่ลืม วิคเตอร์ โอซิมเฮน ศูนย์หน้าเนื้อหอมทีมชาติไนจีเรีย ซึ่งเฉพาะบอลลีกทำไป 18 ประตู 4 แอสซิสต์จาก 19 นัด

ถ้าเปรียบมาราโดนาเป็นคนนำนาโปลีไปสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล เด ลอเรนติส ถือเป็นบุคคลที่กอบกู้สโมสรขึ้นมาจากซากปรักหักพังนับจากล้มละลายในปี 2004 ไม่เพียงพากลับเซเรีย อา อย่างรวดเร็วเพียงสามปี แต่ยังบริหารนาโปลีจนใกล้ที่จะครองสคูเดตโตสมัยที่สามที่รอนานกว่าสามทศวรรษ

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ความลับที่ไม่ลับ : ฟุตบอลอังกฤษ กับการเปิดรับความหลากหลายทางเพศ

#SSxKMD | ในเดือนมิถุนายนของทุกปี กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จะออกมาเฉลิมฉลองและรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกกันว่า “Pride month”

ถ้าจะโฟกัสเฉพาะวงการฟุตบอล มีนักเตะระดับอาชีพเพียงไม่กี่คน ที่ตัดสินใจก้าวข้ามความเงียบ ด้วยการประกาศตัวเองว่า เป็นชาวสีรุ้ง หรือ LGBTQ+ ในยุคที่สังคมปัจจุบันเปิดกว้างมากกว่าในอดีต

แล้วลูกหนังเมืองผู้ดี มีส่วนเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศได้อย่างไร ? วันนี้ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

ทำความรู้จักกับ “Pride month”

Pride month หมายถึง เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ โดยจะมีการจัดกิจกรรมเดินขบวนพาเหรด รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ตลอดเดือนมิถุนายนของทุกปี

สาเหตุที่ Pride month เกิดขึ้นในมิถุนายนนั้น เนื่องจากเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลที่ “สโตนวอลล์ อินน์” (Stonewall Inn) ซึ่งเป็นบาร์เกย์ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1969

ในช่วงเวลานั้น การรักร่วมเพศ หรือการแต่งตัวที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม สโตนวอลล์ อินน์ จึงถือเป็นบาร์เกย์เพียงไม่กี่แห่ง ที่เปิดกว้างสำหรับคนรักร่วมเพศ

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปตรวจค้น และทำการควบคุมตัวกลุ่มคนรักร่วมเพศในบาร์เกย์แห่งนี้ ทำให้กลุ่มคนรักร่วมเพศ แสดงการต่อต้านเจ้าหน้าที่ และเกิดการปะทะกัน จนลุกลามกลายเป็นจลาจลอยู่หลายวัน

1 ปีต่อมา หลังจากเหตุการณ์ที่สโตนวอลล์ อินน์ ผู้คนในสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นครั้งแรก และกลายเป็นต้นแบบของ Pride month ในปัจจุบัน

ในส่วนของวงการฟุตบอล พรีเมียร์ลีก ลีกสูงสุดของอังกฤษ ได้สนับสนุนแคมเปญรณรงค์ต่อต้านการเหยียดบุคคลที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ มาตั้งแต่ปี 2016 โดยทั้ง 20 สโมสรต่างก็ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี

แต่ละทีมได้แสดงสัญลักษณ์ความหลากหลายทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนสีพื้นหลังบนสื่อโซเชี่ยลมีเดียเป็นสีรุ้ง, กัปตันทีมสวมปลอกแขนสีรุ้ง หรือผูกเชือกรองเท้าสตั๊ดสีรุ้งในวันแข่งขัน เป็นต้น

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/Everton/

ตัวอย่างจากฟาชานู และฮิตเซิลสแปร์เกอร์

หลายคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ฟุตบอลเป็นเรื่องของชายชาตรีเท่านั้น แต่นักเตะอย่างจัสติน ฟาชานู และโธมัส ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ กลับตัดสินใจเปิดเผยตัวเองว่าเป็นกลุ่มชายรักชาย หรือ “เกย์” (Gay)

ฟาชานู อดีตกองหน้ายุค 1980s ถือเป็นนักเตะระดับอาชีพชาวอังกฤษคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ออกมาประกาศว่าเป็นเกย์ เขาเคยค้าแข้งกับหลายสโมสรในอังกฤษทั้งระดับดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2

แต่จุดเปลี่ยนของฟาชานู เกิดขึ้นในปี 1990 เมื่อ “เดอะ ซัน” แท็บลอยด์จอมแฉเมืองผู้ดี พาดหัวหน้าหนึ่งว่า “นักเตะค่าตัว 1 ล้านปอนด์ ยอมรับแล้ว ผมเป็นเกย์” สร้างความตกตะลึงไปทั้งวงการลูกหนัง

ในช่วงยุค 1980s ถึง 1990s รสนิยมความหลากหลายทางเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับ ฟาชานูพยายามที่จะปกปิดไว้ไม่ให้ใครรู้ว่าตัวเองไปเที่ยวที่บาร์เกย์ แต่ภายหลังก็ออกมายอมรับกับความจริงในที่สุด

ฟาชานู ประกาศแขวนสตั๊ดในปี 1997 และในเดือนพฤษภาคม ปีต่อมา อดีตนักเตะผิวสีคนแรกของลีกอังกฤษที่มีค่าตัวถึง 1 ล้านปอนด์ ก็ตัดสินใจจบชีวิตด้วยการแขวนคอตัวเอง จากไปในวัยเพียง 37 ปี

ขณะที่ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติเยอรมัน เคยค้าแข้งกับ 3 สโมสรในพรีเมียร์ลีกกับแอสตัน วิลล่า, เวสต์แฮม ยูไนเต็ด และเอฟเวอร์ตัน ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกีฬาของสตุ๊ตการ์ท ในบุนเดสลีกา

หลังจากประกาศแขวนสตั๊ดเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพได้ไม่นาน ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อเดือนมกราคม 2014 โดยเปิดใจถึงเรื่องของรสนิยมชายรักชาย ที่เก็บเป็นความลับมานานหลายปี

“มันเป็นช่วงเวลาที่ยากและยาวนาน ในการคิดและทบทวนเรื่องที่อยากจะบอกกับทุกคน หลังจากประกาศว่าตัวตนที่แท้จริงคือการมีความรักกับผู้ชาย ผมคิดว่าชีวิตของผมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นนะ”

“ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว คนที่ยังไม่ได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงให้คนอื่นๆ รู้ มันเป็นอะไรที่เจ็บปวด คุณจะเป็นเพศอะไรไม่สำคัญ แต่ขอให้กล้าที่จะบอกว่า เราไม่ยอมรับการเหยียดเพศ”

แข้งเกย์เลือดผู้ดีคนแรกรอบ 32 ปี

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจค แดเนียลส์ กองหน้าดาวรุ่งวัย 17 ปี จากสโมสรแบล็คพูล ในลีกแชมเปี้ยนชิพ เป็นนักเตะอาชีพชาวอังกฤษคนแรกนับตั้งแต่จัสติน ฟาชานู เมื่อ 32 ปีก่อน ที่ออกมาประกาศตัวว่าเป็นเกย์

แดเนียลส์ เพิ่งได้ประเดิมลงสนามให้กับทีมชุดใหญ่ของแบล็คพูลเป็นนัดแรก ในเกมนัดปิดซีซั่นที่พบกับปีเตอร์โบโร่ โดยเจ้าตัวถูกเปลี่ยนลงมาเป็นตัวสำรองในช่วง 10 นาทีสุดท้าย ซึ่งทีมของเขา จบอันดับที่ 16

ข้อความของแดเนียลส์ ที่ระบุไว้บนเว็บไซต์ของ “เดอะ ซีไซเดอร์ส” ความว่า “เรื่องนอกสนามผมต้องปิดบังมาตลอดว่าผมเป็นใครกันแน่ ผมรู้อยู่แล้วว่าเป็นเกย์ และผมก็พร้อมแล้วที่จะเปิดเผยเรื่องนี้เสียที”

“แต่การจะมาถึงจุดนี้ได้ ผมได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำจากครอบครัว เอเย่นต์ และองค์กร Stonewall อีกทั้งกำลังใจจากเพื่อนร่วมทีมแบล็กพูล ที่ยอมรับการตัดสินใจในการเปิดเผยตัวตนของผม”

“คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวตนของคุณ เพียงเพื่อให้เข้ากับคนอื่น ขอแค่ให้คุณเป็นตัวของตัวเองและมีความสุข นี่แหละคือสิ่งสำคัญที่สุด”

การออกมาเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของแดเนียลส์ วงการฟุตบอลอังกฤษได้ออกมาชื่นชมในความกล้าหาญ แทบทุกสโมสรรวมถึงนักฟุตบอลหลายๆ คน ต่างส่งกำลังใจให้กับดาวรุ่งวัย 17 ปีรายนี้

ทางด้านพรีเมียร์ลีก ก็ออกมาแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เราขอสนับสนุนเจค และเชื่อว่าเกมฟุตบอลเป็นของทุกคน นี่คือเหตุผลที่เราต่อต้านการเหยียดเพศ รวมถึงให้การสนับสนุนกลุ่มคนที่เป็น LGBTQ+”

การที่นักฟุตบอลเริ่มกล้าที่จะเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเอง ช่วยส่งแรงกระเพื่อมต่อสังคม ทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษและทั่วโลก เปิดใจยอมรับนักเตะที่อยู่ในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยในการพิสูจน์กับบทดสอบที่ยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างความเข้าใจ และยอมรับรสนิยมทางเพศที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3313956/2022/05/16/jake-daniels-blackpool/

https://theathletic.com/2991105/2021/12/03/how-to-be-an-ally-for-lgbt-community-in-football/

https://theathletic.com/1561229/2020/01/26/thomas-hitzlsperger-stuttgart-villa-everton-west-ham/

https://www.premierleague.com/news/511487

https://www.blackpoolfc.co.uk/news/2022/may/16/a-message-from-jake-daniels/

https://www.bbc.co.uk/newsround/52872693

Categories
Special Content

พรีวิว ลิเวอร์พูล เอฟเอ คัพ ไฟนอล 2022: ย้อนรอยความกล้าหาญ เจอร์รี่ เบิร์น ตำนานฮาร์ดแมน หงส์แดง 117 นาทีไหปลาร้าหัก คว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ สมัยแรกที่เฝ้ารอ 73 ปี

Everybody loves a hardman” ว่ากันว่านักเตะสไตล์ฮาร์ดแมนชนะใจแฟนบอลเสมอ พวกเขาแสดงออกผ่านร่างกาย เล่นบอลเข้าบอลด้วยพลังเกินร้อยไม่หวั่นกระดูกหัก อยู่ในสนามพร้อมสภาพกล้ามเนื้อปูดหนังฉีกเลือดชะโลม วิ่งพล่านประหนึ่งรับยาม้าก่อนคิกออฟ พวกเขาแสดงออกผ่านจิตวิญญาณ ทุ่มเททั้งกายทั้งใจตั้งแต่วินาทีแรก ไม่รู้จักคำว่ายอมแพ้ยกธงขาวจนเสียงนกหวีดสุดท้ายดังขึ้น

แม้วงการลูกหนังคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเตะมากขึ้น แต่บ่อยครั้งที่ยังเห็นนักฟุตบอลฝืนวิ่งในสภาพทั้งที่บาดเจ็บ มีเลือดไหลออกมาจากผ้าที่พันไว้ แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปกว่าครึ่งศตวรรษ ภาพพวกนี้คือความปกติที่เกิดขึ้นบนสนามหญ้าเพราะยุคนั้นมีนักเตะต้องเล่นต่อทั้งที่กระดูกหักหรือร้าวให้เห็นบ่อยครั้ง

ยุคสมัยไร้ผู้เล่นสำรองให้เปลี่ยนตัว

เชื่อหรือไม่ว่าช่วง 11 ปี ระหว่างกลางทศวรรษ 1950 – 1960 มีถึง 5 ครั้งของนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ของอังกฤษ ที่นักเตะอย่างน้อยหนึ่งคนต้องเล่นต่อทั้งที่กระดูกชิ้นใดชิ้นหนึ่งแตกร้าวระหว่างเกม ค่าเฉลี่ยปีเว้นปี สาเหตุเนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีกฎการเปลี่ยนตัวผู้เล่น อีกนัยหนึ่งคือแต่ละทีมต้องใช้ผู้เล่น 11 คนเท่าที่ส่งรายชื่อก่อนเกม ไม่มีผู้เล่นสำรองเพื่อเปลี่ยนตัวระหว่างการแข่งขัน

ฟุตบอลลีกเมืองผู้ดีเพิ่งให้เปลี่ยนนักเตะลงแทนคนที่บาดเจ็บในฤดูกาล 1965-66 คนแรกคือ คีธ พีค็อก ของชาร์ลตัน ที่ลงมาแทนนายทวารร่วมทีมเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 1965 หลังเกมเริ่มไปแค่ 11 นาที 

ขณะที่ เอฟเอ คัพ ออกกฎนี้ตามมาในซีซั่น 1967-68 ทำให้เกิดหนึ่งในเรื่องราวยอดตำนานฮาร์ดแมนขึ้นใน เอฟเอ คัพ รอบชิงชนะเลิศ ปี 1965 ซึ่งเป็นครั้งที่ลิเวอร์พูลครองแชมป์รายการนี้เป็นสมัยแรกในประวัติศาสตร์หลังจากรอคอยยาวนานถึง 73 ปี  โดย เจอร์รี่ เบิร์น แบ็คซ้ายทีมหงส์แดง ต้องฝืนทนความเจ็บปวดอยู่ในสนามเพราะกระดูกไหปลาร้าหักเกือบ 120 นาที แถมเก็บอาการไม่ให้คู่แข่งรู้อีกด้วย 

ขอบคุณภาพจาก : https://www.pinterest.es/pin/496592296409986126/

แชมป์ เอฟเอ คัพ ที่เฝ้ารอคอยถึง 73 ปี

แม้ลิเวอร์พูลกวาดแชมป์ ดิวิชั่น 1 มาแล้ว 6 สมัย รวมถึงซีซั่นก่อนหน้านี้ (1963–64) แต่กับบอลถ้วย (ตอนนั้นยังไม่มีลีกคัพ) พวกเขายังไม่สามารถนำ เอฟเอ คัพ มาประดับตู้โชว์ได้เลยหลังจากทำได้ดีที่สุดเพียงรองแชมป์เมื่อแพ้ เบิร์นลีย์ ปี 1914 และ อาร์เซนอล ปี 1950 ตรงข้ามกับเพื่อนบ้าน เอฟเวอร์ตัน ที่ชนะเลิศมาแล้วในปี 1906 และ 1933 ส่วนลีกสูงสุด ท็อฟฟี่สีน้ำเงินครอบครองแชมป์ในจำนวนเท่ากัน รวมถึงครั้งหลังสุด ฤดูกาล 1962–63 ก่อนเสียตำแหน่งให้ลิเวอร์พูลในซีซั่นถัดมา

ลิเวอร์พูลจึงหมายมั่นปั่นมือกับนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ที่สนามเวมบลีย์ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 1965 เพื่อลดช่องว่างกับคู่อริแห่งเมอร์ซี่ย์ไซด์ แต่คู่แข่งขันคือทีมพลังหนุ่ม ลีดส์ ยูไนเต็ด ของยอดกุนซือ ดอน เรวี่ ที่ฟอร์มกำลังร้อนแรง

มีเกร็ดเล็กน้อยก่อนคิกออฟเมื่อพระราชินีเสด็จมายังสนามเวมบลีย์พร้อมทรงแต่งชุดสีแดง แฟนหงส์แดงพากันตะโกนลั่นสนามว่า “Ee aye addio, the Queen’s wearing red!” (นัดนั้น ลิเวอร์พูลสวมเสื้อแดงกางเกงแดง ลีดส์ใส่ชุดขาวล้วน)

เกมเริ่มไปเพียงสามนาทีก็เกิดเหตุปะทะรุนแรงบริเวณหน้าประตูฝั่งลิเวอร์พูล บ็อบบี้ คอลลินส์ กองกลางที่สูงเพียง 5 ฟุต 3 นิ้ว แต่โดดเด่นด้วยสไตล์ถึงลูกถึงคน ซึ่งเคยเล่นให้เอฟเวอร์ตันระหว่างปี 1958 – 1962 ปราดเข้าแย่งบอล เท้าขวาปะทะหน้าแข้งของ เจอร์รี่ เบิร์น อย่างจัง กรรมการไม่รีรอมอบใบเหลืองให้คอลลินส์

บ็อบ เพรสลีย์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นผู้ช่วยของ บิล แชงคลีย์ ผู้จัดการทีม รีบลงไปดูอาการของไบรน์ที่นอนอยู่บนสนามในสภาพเหมือนไม่บาดเจ็บหนักหนา แต่มุมมองจากข้างสนามของเพรสลีย์ที่ได้รับใบประกาศนักกายภาพบำบัด เขามีลางสังหรณ์ว่า เหตุร้ายเกิดกับแบ็คซ้ายรายนี้แล้ว

กระดูกไหปลาร้าหักตั้งแต่นาทีที่ 3

เพรสลีย์เขียนไว้ในหนังสือ My 50 Golden Reds ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1990 ว่า “ผมรู้ทันทีว่าเกิดเรื่องร้ายแรงกับ เจอร์รี่ เบิร์น แน่นอน ด้วยประสบการณ์หลายปีสอนให้ผมแยกแยะระหว่างผู้เล่นที่นอนบนสนามเพื่อพักกับเพราะบาดเจ็บได้ ทันทีที่เข้าถึงตัวเจอร์รี่ ผมมั่นใจว่าสิ่งที่คิดข้างสนามนั้นถูกต้อง แกร์รี่ไหปลาร้าหัก แต่เขารู้ดีว่าไม่มีทางที่ลิเวอร์พูลจะเอาชนะลีดส์ด้วยผู้เล่นสิบคน”

“ปฏิกิริยาแรกที่ผมควรทำตอนนั้นคือ โบกมือไปที่ข้างสนามเพื่อร้องขอเปลหาม แต่เจอร์รี่มองมาที่ผมด้วยสายตาวิงวอน ‘อย่าบอกใคร’ ผมพูดกลับไปว่า ‘นายรู้ใช่ไหมว่ากระดูกหัก’ แน่นอนแกร์รี่รู้แต่เขายืนยันที่จะเล่นต่อตลอด 87 นาทีที่เหลือ หรืออาจต้องบวกเพิ่มอีกครึ่งชั่วโมงหากเกมต้องต่อเวลา”

“เขาเอ่ยกับผมอย่างท้าทายว่า ‘ผมทำได้แน่’ และเขาก็ทำได้จริงๆ เป็นหนึ่งความห้าวหาญที่ผมประจักษ์ด้วยสายตาตัวเองในเวมบลีย์”

ความลับที่ห้ามฝั่งลีดส์ระแคะระคายเด็ดขาด

“ผมกลับไปนั่งข้างสนามแล้วบอกแชงคลีย์และทุกคนว่า เจอร์รี่กระดูกไหปลาร้าหัก แต่ไม่มีใครเชื่อผมเลยสักคนจนกระทั่งแพทย์ยืนยันนั่นแหละ พวกเขาจึงเชื่อ ส่วนฝั่งทีมลีดส์ ผมสาบานจะเก็บเป็นความลับไม่ให้ใครรู้ทั้งสตาฟฟ์โค้ชหรือนักเตะ เราหลอกพวกเขาด้วยการพูดเอะอะโวยวายเรื่องที่เจอร์รี่โดนอัดหน้าแข้งเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ”

ทางด้านไบรน์กล่าวถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า “ตอนแรกผมห่วงหน้าแข้งมากกว่าเพราะบ็อบบี้ คอลลินส์ เข้าบอลหนักและถลกหนังหน้าแข้งผม ถ้าเป็นสมัยนี้คงเป็นใบแดง ส่วนผมคงโดนหามออกนอกสนามไปแล้ว แต่สมัยนั้นยังไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่น ผมไม่ได้ตระหนักว่าจะเกิดเรื่องเสียหายตามมาอย่างไรแต่ยอมรับว่ามันเจ็บมาก”

“บ็อบ เพรสลีย์ ตรวจอาการผมอีกครั้งช่วงพักครึ่งและยืนยันว่าอะไรเกิดขึ้น ทั้งเขาและบิล แชงคลีย์ ต่างแปลกใจว่าผมทนเล่นต่อได้อย่างไร แต่ผมยืนยันต้องการเล่นต่อ บ็อบเอาสำลีกับเทปมายึดไหปลาร้าแล้วผมก็ลงสนามไปพร้อมกับคนอื่น”

ทำแอสซิสต์ในสภาพไหปลาร้าหัก

ทั้งสองฝ่ายต้องดวลสตั๊ดท่ามกลางฝนและไม่สามารถส่งลูกหนังซุกก้นตาข่ายได้ นั่นหมายความว่าไบรน์ต้องข่มความเจ็บปวดเพิ่มอีก 30 นาที แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อแบ็คซ้ายผู้เติบโตในย่านสกอตแลนด์โร้ดของเมืองลิเวอร์พูลได้บอลจาก วิลลี่ สตีเว่น ก่อนโยนจากฝั่งซ้ายไปให้ โรเจอร์ ฮันท์ ทำสกอร์ขึ้นนำในนาทีที่ 93 ฮันท์ถูกแวดล้อมด้วยทีมเมทที่ร่วมแสดงความยินดีรวมถึงไบรน์ที่โอบกอดด้วยแขนข้างเดียว

เพียงเจ็ดนาทีต่อมา บิลลี่ เบรมเมอร์ ซัดฮาล์ฟวอลเลย์ลูกพุ่งเสียบมุมบนสุดปัญญาที่ ทอมมี่ ลอว์เรนซ์ ป้องกันได้ สกอร์เป็น 1-1 อย่างไรก็ตาม เอียน เซ็นต์จอห์น ปิดโอกาสไม่ให้แมตช์ยืดเยื้อถึงนัดรีเพลย์หลังจากโขกบอลระยะเผาขนเข้าไปในนาทีที่117 ทำให้ลิเวอร์พูลเฉือนชนะลีดส์ 2-1

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

แชงคลีย์ยอมรับว่าแชมป์ เอฟเอ คัพ สมัยแรก เป็นชัยชนะที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตคุมทีมลิเวอร์พูลของเขา และไม่เคยสงสัยเลยที่จะระบุฮีโร่ตัวจริงของเกมนี้

“มันเกิดจากความกล้าหาญของ เจอร์รี่ เบิร์น เขาควรรับเหรียญรางวัลทั้งหมดไปคนเดียว ไม่มีใครอีกแล้วที่จะทำได้แบบเขา หนุ่มคนนี้ต้องเล่นร่วมหนึ่งชั่วโมงครึ่งทั้งที่กระดูกไหปลาร้าหัก”

“เราเห็นตอนพักครึ่งแล้ว กระดูกไหปลาร้าเขาหักชัดเจน แพทย์ประจำทีมพยายามจัดให้มันเข้าที่แต่ไม่สำเร็จ เราทำได้เพียงซ่อนไม่ให้ลีดส์รับรู้ นี่เป็นตัวอย่างของเกมจิตวิทยาที่ช่วยให้เราชนะรายการนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร แกร์รี่คือวีรบุรุษและเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่”

โบกมืออำลาวงการด้วยวัยเพียง 30 ปี

ไบรน์รักษาอาการบาดเจ็บและหายทันลงสนามฤดูกาลต่อมา (1965-66) ซึ่งลิเวอร์พูลจบซีซั่นด้วยแชมป์ ดิวิชั่น 1 สมัยที่สองในรอบสามปี โดยไบรน์มีสถิติลงสนาม 53 นัดรวมทุกรายการ และมีโอกาสโชว์ธาตุทรหดอีกครั้งเมื่อต้องเล่นทั้งที่กระดูกข้อศอกเคลื่อนในการแข่งขัน ยูโรเปี้ยน คัพวินเนอร์ส คัพ รอบรองชนะเลิศ นัดแรก กับ กลาสโกว์ เซลติก ที่สนามปาร์คเฮด

“ผมต้องกลับเข้าห้องพักนักกีฬาเพื่อให้แพทย์ของทีมจับกระดูกแขนให้กลับเข้าที่ มันปวดระยำเลยและผมต้องออกจากสนามก่อนจบเกมสิบนาที แขนของผมดำคล้ำตั้งแต่ข้อมือถึงหัวไหล่ ผมยังจำแชงคลีย์ทำท่าประหลาดใจเมื่อผมบอกว่าพร้อมที่จะเล่นบอลลีกกับสโต๊คในวันเสาร์”

อย่างไรก็ตาม ไบรน์ต้องแขวนสตั๊ดเร็วกว่าวัยอันควรเนื่องจากบาดเจ็บหัวเข่าหลังฟุตบอลโลก 1966 รอบสุดท้าย และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เขาสิ้นสุดอาชีพค้าแข้งในปี 1969 ขณะวัยเพียง 30 ปี เขายอมรับว่าไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้เหมือนปกตินับจากนั้น

ปิดฉากตำนานเจ้าของฉายา The Crunch

ปีต่อมา สโมสรจัดเทสติโมเนียลแมตช์ให้กับเบิร์นเป็นกรณีพิเศษ ทำให้เขาประหลาดใจมากที่ได้รับเกียรติครั้งนี้ “คืนนั้นฝนตกที่แอนฟิลด์ ผมคิดว่าคงไม่มีใครมาแน่ แต่กลับมีแฟนบอลถึง 42,000 คนเข้ามา พวกเขาตะโกนเรียก The Crunch (ฉายาของไบรน์)”

เบิร์นมีโอกาสทำงานในสตาฟฟ์โค้ชที่แอนฟิลด์ระยะหนึ่งก่อนลาออกเนื่องจากเป็นโรคอัลไซเมอร์ เขาเสียชีวิตด้วยวัย 77 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 2015

ขอบคุณภาพจาก : https://www.skysports.com/football/news/11669/10081959/liverpool-legend-gerry-byrne-passes-away-at-the-age-of-77

วันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ลิเวอร์พูล จะลงแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ กับ เชลซี หากทำสำเร็จจะเป็นแชมป์สมัยที่ 8 ของหงส์แดง กับถ้วยใบนี้ที่เคยต้องรอคอยนานถึง 73 ปี กับแมตช์ระดับตำนานของชายที่ชื่อว่า แกร์รี่ ไบรน์ ผู้ไม่เพียงกัดฟันต่อสู้ในสภาพกระดูกไหปลาร้าหักเกือบ 120 นาที แต่ยังเป็นคนทำแอสซิสต์ประตูนำร่องให้กับลิเวอร์พูลด้วย

อ้างอิง : https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/never-nutmeg-him-think-you-23794612

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา

Categories
Football Business

ราล์ฟ รังนิก กับการปฏิวัติเงียบบอร์ดบริหารฯ ความสำเร็จเบื้องหลังที่รอการพิสูจน์

บางทีตัวแปรสำคัญอันดับแรกที่ทำให้สโมสรฟุตบอลประสบความสำเร็จและผงาดอยู่แถวหน้าของวงการอาจไม่ใช่การเข้ามาของผู้จัดการทีมที่เก่งฉกาจ แต่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางบริหารของเจ้าของสโมสร

เหมือนกับที่ ลิเวอร์พูล ตัดสินใจยกเลิกวัฒนธรรม The Boot Room ที่นำความยิ่งใหญ่มาสู่แอนฟิลด์ระหว่างทศวรรษ 1960ถึงต้นทศวรรษ 1990 หรือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งขายสโมสรให้กับชาวต่างชาติอย่าง ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2007 ก่อนตกมาอยู่ในมือของ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน นักการเมืองและนักธุรกิจชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน รวมถึง โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ที่เทคโอเวอร์ เชลซี เมื่อปี 2003

ด้วยเหตุนี้ แฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด  จึงเริ่มมีความหวังเล็กๆที่จะปีนกลับขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งนับตั้งแต่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ล้างมือในอ่างทองคำหลังจบซีซั่น 2012-13 แม้เจ้าของสโมสรยังคงเป็นตระกูลเกลเซอร์แห่งสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ มัลคอล์ม เกลเซอร์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในเดือนกันยายน 2003

ช่วง 8 ฤดูกาลในยุค โพสต์-เฟอร์กี้ ปีศาจแดงคว้าแชมป์มาครอง 3 รายการคือ ลีกคัพ, เอฟเอ คัพ และ ยูโรป้า ลีก แต่กับลีกระดับเทียร์หนึ่ง พวกเขาทำได้ดีที่สุดคือ รองแชมป์ พรีเมียร์ลีก 2 สมัย แถมเคยร่วงลงไปอยู่อันดับ 7 ในสมัย เดวิด มอยส์ และอันดับ 6 อีกสองครั้ง ส่วนซีซั่นปัจจุบัน พวกเขามีโอกาสรูดม่านด้วยอันดับ 6, 7 หรือกระทั่ง 8

เดวิด มอยส์ บุรุษผู้ถูกเลือก อาจเป็นความผิดพลาดเพราะฝีมือและบารมีไม่ถึง แต่กุนซือระดับ หลุยส์ ฟาน กัล และ โชเซ่ มูรินโญ่ กึ๋นคงไม่ใช่ข้ออ้าง แม้มีความพยายามคืนสู่จิตวิญญาณแห่งปีศาจแดงด้วยการมอบหมายงานให้ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ก็ยังล้มเหลว

เป้าถล่มย้ายจากผู้จัดการทีมสู่บอร์ดบริหาร

เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงหลัง เสียงด่าทอของแฟนบอลเปลี่ยนทิศจากผู้จัดการทีมไปยังบอร์ดบริหารและเจ้าของทีม ถึงขั้นเคยมีการประท้วงขับไล่ในสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด จนแมตช์แดงเดือดต้องเลื่อนออกไป รวมทั้งสับแหลกการบริหารที่ผิดพลาด วางเป้าหมายผลกำไรทางธุรกิจเหนือความสำเร็จของทีมฟุตบอล เจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่มีความรู้ในกีฬาลูกหนัง การดื้อดึงซื้อนักเตะที่กุนซือไม่ได้ต้องการ การต่อสัญญานักเตะที่ไม่ใช้งานเพียงเพื่อเพิ่มมูลค่า การกระหายเงินจนเข้าร่วมก่อตั้ง ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก  เป็นต้น 

“ภัย” เริ่มขยับใกล้ตระกูลเกลเซอร์เข้ามาเรื่อยๆ จนมหาเศรษฐีจากเมืองลุงแซมต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” เพื่อพา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คืนสู่ความยิ่งใหญ่ ซึ่งจะทำให้การธุรกิจของพวกเขากลับมาสงบสุขอีกครั้ง

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2021 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยกเลิกสัญญากับ โซลชาร์ ท่ามกลางการกดดันของแฟนๆและสื่อมวลชน แต่พลาดได้ตัว อันโตนิโอ คอนเต้ กุนซือมือดีที่เพิ่งตอบตกลงคุมทีม ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ ก่อนหน้าไม่กี่สัปดาห์ โดยมอบหมายให้ ไมเคิล คาร์ริก คุมทีมเพียง 3 นัด ก่อนสร้างเซอร์ไพรส์แต่งตั้ง ราล์ฟ รังนิก ปรามาจารย์ลูกหนังชาวเยอรมัน ทำหน้าที่จนจบซีซั่นก่อนนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาสโมสรเป็นเวลาสองปี

คงไม่มีใครแปลกใจหาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปล่อยให้คาร์ริกคุมทีมช่วงที่เหลือของซีซั่นเพื่อรอเจรจาช่วงซัมเมอร์กับเป้าหมายที่ตกเป็นข่าวอย่าง เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่, เบรนแดน ร็อดเจอร์ส, ซีเนอดีน ซีดาน หรือกระทั่งรังนิกเอง

เท็ดดี้ เชอริงแฮม อดีตศูนย์หน้าทีมปีศาจแดง ให้ความเห็น “คุณตัดสินใจปลดผู้จัดการทีม แล้วให้คาร์ริกทำหน้าที่ชั่วคราว แล้วแทนเขาด้วยผู้จัดการทีมชั่วคราวอีกคนหนึ่ง สำหรับผมแล้ว เป็นการกระทำที่น่าตกใจเอามากๆสำหรับสโมสรที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก”

“นั่นทำให้นักเตะขาดความมั่นใจและไร้ความต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักเตะคนไหนที่กำลังเจอช่วงเวลาที่เลวร้าย ก็เหมือนกับโดนทอดทิ้งไร้อนาคต เขารู้ดีว่านายใหญ่จะต้องไปภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า” 

“เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับสโมสรอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คุณต้องการให้ทุกคนมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับผมแล้ว มันวุ่นวายตั้งแต่บนลงล่าง นักเตะได้แค่เล่นไปในสนาม ผมคงรับมือกับสถานการณ์ไร้สาระแบบนี้ไม่ได้”

เหมือนอย่างที่เชอริงแฮมพูดไว้ รังนิกไม่สามารถใส่สไตล์ “เกเก้น เพรสซิ่ง” ให้กับลูกทีมใหม่ ผลงานในสนามก็ลุ่มๆดอนๆ ตกรอบ เอฟเอ คัพ และ แชมเปี้ยนส์ลีก อันดับบนตารางพรีเมียร์ลีกก็ไหลลงจนอาจได้เพียงโควต้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก สภาพทีมเหมือนเล่นให้ครบโปรแกรมเพื่อรอนายใหญ่คนใหม่เข้ามารับหน้าที่อย่างถาวร

รังนิกชี้ปัญหาที่ถูกมองข้ามผ่านเพรสคอนเฟอเรนซ์

แม้ผลแข่งอาจดูย่ำแย่ที่สุดในบรรดาผู้จัดการทีมยุคหลังเฟอร์กูสัน แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดของรังนิกกลับอยู่ที่การให้สัมภาษณ์หลังเกมและวาระต่างๆ

รังนิกมักอธิบายเหตุผลการทำอะไรไม่ทำอะไรระหว่างเกม 90 นาทีในเชิงเทคนิคและแทคติคอย่างเช่น ทำไมถึงเปลี่ยนตัวนักเตะคนนี้ออกส่งคนนั้นเข้า จุดไหนที่นักเตะไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ก่อนเกม พูดเหมือนเป็นคอมเมนเตเตอร์หรือครูที่กำลังสอนนักเรียนผ่านเกมแข่งขันจริงๆ

ท้ายซีซั่น รังนิกเริ่มให้สัมภาษณ์ไปไกลถึงโครงสร้างการบริหารทีม แนวทางการฝึกซ้อม การทำงานของทีมแพทย์ แนวคิดการซื้อขายนักเตะในตลาด คุณลักษณะนักเตะที่พึงมี ฯลฯ ไม่ใช่ความเห็นต่อภาพที่เกิดขึ้นบนสนามหญ้าเท่านั้น ยิ่งช่วงก่อนหน้าและหลัง เอริค เทน ฮาก ได้รับการประกาศเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ รังนิกแสดงวิสัยทัศน์ราวกับกำลังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ซีอีโอ หรือ ผู้บริหารสูงสุดที่จะเข้ามา “ปฏิวัติ” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

สื่อบางสำนักระบุว่า โครงการปรับปรุงสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ครั้งใหญ่เกิดขึ้นก็เพราะฝีปากของเดอะ โปรเฟสเซอร์ นั่นเอง

“เรด อาร์มี่” ทั่วโลกต่างซึมซับคำพูดช่วง 4-5 เดือนของรังนิกไว้ในสมองอย่างไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่เห็นด้วยถึงเวลาแล้วที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่เพียง “ไมเนอร์ เชนจ์” แต่ต้อง “ยกเครื่อง” ฐานรากของสโมสรเสียใหม่ ไม่ใช่เพียงจ้างผู้จัดการทีมระดับ เอ พลัส เข้ามาสร้างความสำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว พวกเขาพร้อมให้เวลา 3-4 ปี สำหรับ เทน ฮาก

ความคิดลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อาจมีแค่ด่าทอระบายอารมณ์กับสไตล์การทำงานของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด และบอร์ดบริหารบ้าง จนกระทั่งรังนิกเข้ามาจุดประกายและขายไอเดียนับตั้งแต่ย้ายเข้ามาทำงานในโอลด์ แทรฟฟอร์ด 

เปลี่ยนโครงสร้างฝ่ายปฏิบัติการรอการมาของเทน ฮาก

ล่าสุด รังนิกเซ็นสัญญาคุมทีมชาติออสเตรียโดยเชื่อมั่นว่าสามารถทำงานควบคู่กับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นไปได้หลังจากรังนิกได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาไปเรียบร้อยแล้ว แถมปูทางสะดวกให้กับการทำงานของเทน ฮาก ซึ่งเป็นบุคคลที่เขาออกแรงเชียร์เต็มที่แม้เป็นโปเช็ตติโน่ต่างหากที่บอร์ดบริหารต้องการตัว

มุมมองที่รังนิกพูดออกไปสร้างอิมแพ็คให้กับสโมสรจริงๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายอย่างนอกเหนือก่อนหน้านี้ที่วู้ดเวิร์ดประกาศอำลาเก้าอี้ซีอีโอหลังจบซีซั่น แมตต์ จัดจ์ มือขวาของเขา ก็ยุติบทบาทหัวหน้าฝ่ายพัฒนาองค์กรและหัวหน้าฝ่ายเจรจาซื้อขายนักเตะ หลังจากสโมสรมีคำสั่งปลดหัวหน้าแมวมอง 2 คน โดยมีข่าวลือว่า รังนิกได้แนะนำสโมสรให้ทาบทาม พอล มิทเชลล์ ผู้อำนวยการกีฬาของ โมนาโก เข้ามานั่งเก้าอี้แทนจัดจ์และมีบทบาทสำคัญในตลาดซื้อขายฤดูร้อนนี้

เพราะการแผ้วถางทางเดินเกือบครึ่งปีของรังนิก ทำให้บอร์ดบริหารจำใจเซย์เยสกับเงื่อนไขสุดท้ายของเทน ฮาก นั่นคืออำนาจเด็ดขาดในการซื้อขายนักเตะ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยหลังเฟอร์กูสันอำลาสโมสร อดีตกุนซืออย่างฟาน กัล และมูรินโญ่ ล้วนเคยแฉว่าฝ่ายบริหารไม่ได้ตอบสนองความต้องการของพวกเขา 

รอย คีน อดีตกัปตันทีมปีศาจแดง เห็นด้วยกับทิศทางที่เปลี่ยนแปลงในถิ่นเก่า

“เราเห็นตัวอย่างของ ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ได้รับประโยชน์มากขนาดไหนที่ผู้จัดการทีมมีอำนาจเต็มในทุกภาคส่วน สิ่งที่ผู้จัดการทีมต้องการคือ อำนาจและการควบคุมในสโมสร ทั้ง (เจอร์เก้น) คล็อปป์, เป๊ป (กวาร์ดิโอล่า) และ (โธมัส) ทูเคิล ต่างมีสิ่งนี้ ดังนั้นไม่ว่าใครเข้ามาคุมทีม สโมสรต้องหนุนหลังเขา ให้อำนาจและการควบคุมแก่เขา ให้เขามีส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อขายนักเตะ แต่ที่ผมได้ยินช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน มา การตัดสินใจซื้อขายผู้เล่นมาจากคนข้างบน”

ทั้งหมดนี้ แม้รังนิกอาจลัมเหลวกับตัวเลขบนสกอร์บอร์ดและแต้มสะสมในเกมพรีเมียร์ลีก แต่เขาได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงให้กับตระกูลเกลเซอร์และบอร์ดบริหาร จนอาจกล่าวได้ว่า เทน ฮาก มี “แต้มต่อ” ณ จุดสตาร์ท เหนือกว่า มอยส์, ฟาน กัล, มูรินโญ่ และโซลชาร์ พร้อมเวลาให้พิสูจน์ฝีมือ 2-3 ปี

และถ้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สามารถกลับไปยืนโดดเด่นที่แถวหน้าอีกครั้ง ก็จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จที่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงแนวคิดบริหารงานของเบื้องบน