Categories
Special Content

พรีเมียร์ลีกกับปรากฎการณ์ Goal Explosion ในซีซั่น 2023-24

เกมพรีเมียร์ลีกนัดตกค้างเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2024 ที่วิทาลิตี สเตเดียม ลูตัน ทาวน์ ทีมเยือนที่อยู่เหนือโซนตกชั้น ขึ้นนำบอร์นมัธ 3-0 เมื่อจบครึ่งแรก แต่ครึ่งหลังเริ่มไปได้เพียง 5 นาที เจ้าบ้านก็ตีไข่แตก ตามด้วยประตูที่ 2-3 นาทีที่ 62 และ 64ก่อนแซงนำนาทีที่ 83 และเป็นฝ่ายชนะลูตัน 4-3 เป็นอีกหนึ่งนัดที่ถูกบันทึกฐานะ the greatest comebacks ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก

หากวางเงินข้างบอร์นมัธ 10 เหรียญสหรัฐระหว่างพักครึ่ง จะได้เงินตอบแทนถึง 150 เหรียญสหรัฐจากการแข่งขัน ซึ่งเป็นนัดแรกในรอบ 21 ปี ของพรีเมียร์ลีกที่ทีมพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะหลังตามอยู่ 0-3 เมื่อจบครึ่งแรก และยังเป็นครั้งที่ 5 เท่านั้นในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก

ขอบคุณภาพจาก  https://www.premierleague.com/news/3930809

4 ทีมที่ทำสำเร็จก่อนหน้านี้ได้แก่ ลีดส์ (ชนะดาร์บี ในเดือนพฤศจิกายน 1997), วิมเบิลดัน (ชนะเวสต์แฮม ในเดือนกันยายน 1998), แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (ชนะทอตแนม ฮอทสเปอร์ส ในเดือนกันยายน 2001) และวูลฟ์แฮมป์ตัน (ชนะเลสเตอร์ ในเดือนตุลาคม 2003)

ไรอัน โอ‘แฮนลอน นักข่าวของเว็บไซต์ ESPN.com ยกเกมระหว่างบอร์นมัธกับลูตันเป็นตัวอย่างเพื่อจะบอกว่า การทำสกอร์กันมากมายไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023-24 ยืนยันด้วยสถิติย้อนหลังกลับไป 15 ปีถึงซีซัน 2008-09

แนวโน้มพรีเมียร์ลีกยิง 200 ประตูเพิ่มจากซีซัน 2022-23

จากกราฟแสดงค่าการทำประตูเฉลี่ยต่อนัดในพรีเมียร์ลีกช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จำนวนค่อนข้างใกล้เคียงกันระหว่าง 1.24ประตู ถึง 1.43 ประตูต่อนัด ไม่สามารถเบรกหรือทะลุแนว 1.5 ประตูได้เลย จนกระทั่งซีซันนี้ (นับจนถึงก่อนเบรกฟุตบอลทีมชาติในเดือนมีนาคม 2024) พบว่าตัวเลขพุ่งถึง 1.63 ประตูต่อนัด 

เราสามารถมองปรากฏการณ์ Goal Explosion ได้อีกรูปแบบหนึ่งด้วยการคำนวณค่าเฉลี่ยตลอด 15 ซีซันที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับ 1.37 ประตูต่อนัด หรืออีกนัยหนึ่ง ทีมๆหนึ่งจะทำสกอร์ได้ 52 ประตูจากการลงสนาม 1 ซีซัน 38 นัด ดังนั้นซีซันปัจจุบันใช้ตัวเลข 1.63 ประตูมาคำนวณ ทีมๆหนึ่งจะทำสกอร์ได้ประมาณ 62 ประตูเมื่อแข่งครบโปรแกรม 38 นัด

เมื่อนำ 52 ลบจาก 62 จะได้ว่า ทีมๆหนึ่งสามารถทำสกอร์ในซีซันนี้ได้มากกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 10 ประตู และเมื่อพรีเมียร์ลีกมี 20 สโมสร เท่ากับว่าฤดูกาล 2023-24 แฟนบอลอังกฤษจะได้เห็นการทำประตูเพิ่มขึ้นถึง 200 ลูกทีเดียว!!! ลองนึกภาพว่ามันมากมายขนาดไหนหากนำจังหวะการทำสกอร์ทั้งหมดรวมเป็นวิดิโอไฮไลท์ 1 คลิป ซึ่งสามารถอธิบายให้เห็นภาพ Goal Explosion ได้ชัดเจนขึ้น

จริงหรือประตูเพิ่มเพราะสิงห์เชิ้ตดำเพิ่มเวลาทดเจ็บ

หนึ่งในเหตุผลที่จำนวนประตูในพรีเมียร์ลีกเพิ่มเป็นเพราะเวลาแข่งขันเพิ่มขึ้น หรือ More time equals more goalsเนื่องจากฟุตบอลลีกอังกฤษตัดสินใจทำตามฟีฟาในฤดูกาล 2023-24 หลังจากมีการทดลองเพิ่มเวลาให้กับช่วงทดเวลาเจ็บในศึกลูกหนังเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ 

ฮาวเวิร์ด เวบบ์ ประธานของคณะกรรมการผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพในอังกฤษ (PGMOL) เคยให้สัมภาษณ์ก่อนเปิดซีซันนี้ว่า เวลาที่เพิ่มขึ้นจะโฟกัสจากจังหวะการทำประตู การเปลี่ยนตัวผู้เล่น การให้ใบแดงและการลงโทษใดๆ ทุกอย่างยังเป็นไปเหมือนเดิมยกเว้นแทคติกถ่วงเวลาจะได้รับการเฝ้ามองแบบเข้มข้นขึ้น โดยซีซันที่แล้ว พรีเมียร์ลีกทดเวลาเจ็บประมาณ 8.5นาที แต่หากนำวิธีการใหม่เข้าไปใช้ ช่วงเวลาเจ็บซีซันที่แล้วน่าจะอยู่ที่ 11.5 นาที หรือเพิ่มขึ้นราว 3 นาที

ณ เวลาที่โอ’แฮนลอน เขียนบทความชิ้นนี้ พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2023-24 แข่งขันถึงแมตช์วีคที่ 28 ซึ่งพบว่า กรรมการได้เพิ่มเวลาพิเศษเข้าไปเฉลี่ย 11.9 นาทีต่อนัด ซึ่งถือได้ว่าเวบบ์ประมาณการได้ใกล้เคียงความจริงมาก

11.9 นาทีต่อเกมที่เพิ่มจากเวลาแข่งขันปกติ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยตลอด 15 ซีซันก่อนหน้านี้  เส้นกราฟที่สร้างจะเข้าข่าย Added-Time Explosion ได้เช่นกัน เพราะระหว่างซีซัน 2008-09 ถึง 2021-22 ค่าเฉลี่ยของเวลาทดเจ็บอยู่ในกรอบ 6-8 นาที ก่อนจะทะลุเพดานขึ้นไปเกือบ 9 นาทีในซีซัน 2022-23 ที่ผ่านมา และเฉียด 12 นาทีในซีซันปัจจุบันที่ยังแข่งไม่จบโปรแกรม

สถิติพรีเมียร์ลีกซีซันนี้ระบุว่า มีสกอร์เกิดขึ้นรวมแล้ว 119 ประตูระหว่างช่วงทดเวลาเจ็บของครึ่งแรกและครึ่งหลัง เทียบกับ 84 ประตูที่เกิดขึ้นเต็มซีซัน 2022-23 และมากกว่าค่าเฉลี่ยจาก 15 ซีซันที่ผ่านมา 16 ประตู โดยสถิติสูงสุดเท่ากับ 103 ประตู ซึ่งเกิดขึ้นในซีซัน 2016-17 และอย่าลืมว่าซีซันนี้ยังเหลือการแข่งขันเกือบ 100 นัด

ดูเหมือนเป็นความจริงที่ว่า More time equals more goals เพราะเทียบกับ 15 ซีซันก่อนหน้า การทดเวลาเจ็บซีซันนี้เพิ่มขึ้น 73% ขณะที่ค่าเฉลี่ยที่ประตูเกิดขึ้นระหว่างทดเวลาเจ็บยังเพิ่มจากนัดละ 0.11 ประตูเป็น 0.21 ประตู หรือประมาณ 90% ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล เคลีย์ นักวิเคราะห์เกม ได้แสดงความเห็นผ่านจดหมายข่าว Expecting Goals ของเขาว่า อย่างที่ทราบกัน ประตูไม่ได้เกิดขึ้นกระจายไป ณ เวลาต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน ประเมินอย่างหยาบๆ 56% ของประตูทั้งหมดเกิดขึ้นในครึ่งหลัง โดยความน่าจะเป็นของประตูจะเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อเริ่มคิกออฟครึ่งหลัง แต่ค่าจะทรงตัวเกือบตลอดเวลาที่ผ่านไป ก่อนขึ้นถึงค่าสูงสุดระหว่างการทดเวลาเจ็บ

นั่นจึงไม่แปลกเลยหากสรุปว่า เวลาที่เพิ่มขึ้นของครึ่งหลัง จะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ของการเกิดประตูหรือ Expecting Goals ในแต่ละนัด แต่คงไม่มีใครคาดหวังว่า เวลา 73% ที่เพิ่มขึ้นจาก 15 ซีซันก่อนหน้า จะส่งผลให้จำนวนประตูเพิ่มขึ้น 73% เช่นกัน

ไม่ใช่เพียงช่วงทดเวลาเจ็บ แต่สกอร์ยังเกิดเพิ่มขึ้นในเวลาแข่งขันปกติด้วย จากค่าเฉลี่ย 15 ซีซันก่อนหน้านี้คือนัดละ 1.26ประตู กลายเป็น 1.41 ประตูซีซันนี้ เทียบกับ 1.32 ประตูในซีซัน 2022-23 ถือว่าเพิ่มขึ้นพอสมควร นั่นเท่ากับว่าทีมๆหนึ่งสามารถทำสกอร์เพิ่ม 5.7 ประตูต่อซีซัน หรือ 114 ประตูเมื่อรวมทั้งพรีเมียร์ลีก

เมื่อเวลาแข่งปกติยังคงเป็น 90 นาที แล้วอะไรทำให้ประตูเพิ่มขึ้น สัญชาตญาณแรกของโอ’แฮนลอน บอกว่า “จุดโทษ”

เนื่องจาก VAR โฟกัสการฟาวล์ที่ถูกกรรมการมองข้ามหรือไม่เห็น VAR ย่อมทำให้การยิงจุดโทษเพิ่มขึ้น แต่สถิติก็ชี้ว่าผู้เล่นในพรีเมียร์ลีกยิงแม่นขึ้นเช่นกัน โดย 10 ซีซันนับจากปี 2008 มีเพียง 3 ซีซันที่ conversion rate สูงกว่า 80% ส่วนใหญ่อยู่แถวๆ 78% แต่ 5 ซีซันที่ผ่านมา มีการเบรก 80% เกิดขึ้น 3 ซีซัน ขณะที่ซีซันนี้ ผู้เล่นยิงลูกโทษสำเร็จ 88.5%

อย่างไรก็ตามแม้นักเตะพรีเมียร์ลีกจบสกอร์จาก 12 หลาด้วย conversion rate ที่ดีขึ้น แต่ความจริงแล้วในซีซันนี้ penalty goals เกิดขึ้นในเวลาแข่งปกติเพียงนัดละ 0.11 ประตูเท่านั้น เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 0.09 ประตู ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยจาก 15 ซีซันก่อนหน้านี้ นั่นหมายความว่า จุดโทษไม่ใช่ตัวแปรที่ทำให้พรีเมียร์มีประตูเพิ่มขึ้นมากมายอย่างมีนัยยะ

ถ้าตัดจุดโทษออกไป สัญชาตญาณที่ 2 ของโอ’แฮนลอนบอกว่าอาจเป็น “ลูกเซตพีช” พิจารณาจากสโมสรต่างๆเริ่มให้ความสำคัญกับโค้ชที่เชี่ยวชาญลูกตั้งเตะมากกว่า แต่สถิติปฏิเสธการสันนิษฐานข้อนี้เพราะความจริงแล้ว ประตูส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาจากโอเพน เพลย์

แทคติกเพรสสูงเพิ่มโอกาสรุกทำสกอร์ให้ทั้ง 2 ฝั่ง

นักข่าวของ ESPN.com ยกเครดิตให้กับ เยอร์เกน คลอปป์ และเป๊ป กวาร์ดิโอลา เป็นผู้ส่งอิทธิพลให้ทีมต่างๆในพรีเมียร์ลีกจ่ายบอลและเพรสซิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลที่ตามมาคือ เพรสซิ่งช่วยให้ทีมมีโอกาสทำประตูหลังจากแย่งบอลกลับมาครองบนพื้นที่ด้านบนหรือฝั่งของคู่แข่ง แต่อีกความเป็นไปได้หนึ่ง ทีมที่สามารถแก้เพรสได้แล้วสวนกลับอย่างรวดเร็ว ทะลวงผ่านแนวรับที่ดันตัวเองขึ้นสูง นำไปสู่การทำประตูเช่นกัน

พรีเมียร์ลีกซีซันนี้ จากความพยายามยิงลุ้นประตูทั้งหมดเป็นจำนวน shots ในเขตโทษถึง 67.1% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008เทียบกับ 59% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยช่วง 15 ซีซันก่อนหน้า อีกทั้งยังระยะการยิงเฉลี่ยยังใกล้โกล์มากที่สุดด้วย รวมถึงค่าเฉลี่ย xG ที่สูงขึ้นเช่นกัน

big chances หรือโอกาสทองที่จะเป็นประตู เป็นอีกสถิติที่เพิ่มขึ้นโดยมีผลจากประสิทธิภาพของเพรสซิ่งและการแก้เพรสซิ่งแล้วสวนกลับ แม้ข้อมูลอาจไม่มากนักเมื่อเทียบกับสถิติอื่นๆเพราะการรวบรวมสถิติ big chances เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2010 

พรีเมียร์ลีกซีซันนี้ ทีมๆหนึ่งสร้างโอกาสทองที่ไม่รวมจุดโทษ (non-penalty big chances) เฉลี่ยนัดละ 1.8 เทียบกับ 1.54 ในซีซันที่แล้ว ขณะที่ค่าเฉลี่ยจาก 12 ซีซันก่อนหน้าเท่ากับ 1.33 ซึ่งมองหยาบๆได้ว่า ซีซันนี้เกิด extra big chance ต่อนัดราว 0.5 ประตู

โอ’แฮนลอน ประมวลปรากฎการณ์ Goal Explosion ทั้งหมดและขมวดปมตบท้ายว่า “สถานการณ์พิเศษ” (extra situation) ที่เกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีกช่วง 1-2 ปีล่าสุด ต่างส่งผลต่อจำนวนประตู ไม่ว่าเป็นการเพิ่มเวลาของแต่ละครึ่ง รวมถึงประสิทธิภาพการเพรสซิ่งและครอบครองบอล ล้วนส่งผลกระทบต่อมิติต่างๆของเกมฟุตบอลตามทฤษฏี “ผีเสื้อขยับปีก” (Butterfly Effect) 

นั่นทำให้พรีเมียร์ลีกเป็นการแข่งขันฟุตบอลที่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับแฟนบอลทั่วโลก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ระดับอารมณ์ของผู้ชมจะขึ้นสู่จุดสูงเมื่อได้เห็นจังหวะเข้าทำประตูและการส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

“แชงคลีย์ vs บัสบี้” รักในรอยแค้น กับสงครามสีแดงที่ดีที่สุดตลอดกาล

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงศตวรรษที่ 18 ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ 2 เมืองใหญ่ของอังกฤษ ที่มีระยะทางห่างกันเกือบ 60 กิโลเมตร ต่างพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกัน และไม่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหากันเลย

ทว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จุดแตกหักของทั้งคู่ เกิดขึ้นเพราะผลประโยชน์เรื่องค้าขายที่ไม่ลงตัว จนกระทั่งลามไปถึงเรื่องของกีฬาฟุตบอล และกลายเป็นคู่แค้นที่ไม่มีทางกลับมาลงเอยด้วยดีอีกต่อไป

แม้ว่าลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมลูกหนังที่เป็นตัวแทนแห่งปฏิปักษ์ของ 2 เมือง จะชิงดีชิงเด่นในสนามมาตลอด แต่ในความขัดแย้ง มักมีมุมโรแมนติกแอบซ่อนอยู่ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

ซึ่งหนึ่งในประเด็น “รักในรอยแค้น” นั่นคือ บิลล์ แชงคลีย์ กับเซอร์แมตต์ บัสบี้ 2 ตำนานกุนซือผู้ล่วงลับที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และช่วยสร้างยุคสมัยที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ศึกแดงเดือดของ 2 สโมสร

ลิเวอร์พูลคือขวัญใจ แมนเชสเตอร์คือตำนาน

แมตต์ บัสบี้ เกิดในหมู่บ้านทำเหมืองถ่านหินที่สกอตแลนด์ คุณพ่อเป็นคนงานเหมืองที่ถูกเรียกไปช่วยชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และเสียชีวิตในสงคราม ส่วนคุณแม่อพยพมาจากไอร์แลนด์ช่วงปลายศตวรรษที่ 19

แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักฟุตบอลให้ได้ บัสบี้ได้ใช้เวลาว่างจากงานประจำมาเล่นฟุตบบอล ต่อมาเขาขอปฏิเสธไปใช้ชีวิตกับคุณแม่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเลือกที่จะออกจากบ้านเกิดไปตามหาความฝันที่อังกฤษ

บัสบี้ เริ่มต้นการเป็นนักเตะระดับอาชีพกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 1928 ได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละ 5 ปอนด์ โชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม และหลายสโมสรได้ให้ความสนใจในตัวเขา แต่ก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากค่าตัวที่แพงเกินไป

จนกระทั่งในปี 1936 ลิเวอร์พูลทุ่มเงิน 8,000 ปอนด์ กระชากตัวบัสบี้มาอยู่ในรั้วแอนฟิลด์ เก่งกาจจนกลายเป็นดาวเด่นในทีม จนได้รับการยกย่องจากสื่อว่า เขาคือเซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และสง่างามที่สุดของอังกฤษ

ต่อมาในปี 1939 บัสบี้ ในฐานะกัปตันทีมหงส์แดง ได้ต้อนรับเพื่อนร่วมทีมคนใหม่ที่ชื่อ บ็อบ เพสลี่ย์ ที่ย้ายมาจากสโมสรบิช็อป โอ๊คแลนด์ ซึ่งไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า เพสลี่ย์จะได้ทำงานเป็นกุนซือลิเวอร์พูลในอีกหลายสิบปีต่อมา

กัปตันบัสบี้ อยู่ค้าแข้งในถิ่นแอนฟิลด์จนกระทั่งเลิกเล่นในปี 1945 เขาคือบุคคลเพียงไม่กี่คนที่เป็นขวัญใจของลิเวอร์พูล ก่อนจะเป็นตำนานตลอดกาลที่แมนเชสเตอร์ ส่วนเพสลี่ย์รีไทร์จากอาชีพนักเตะในอีก 9 ปีหลังจากนั้น

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บัสบี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ดแบบเต็มตัว ได้เข้ามาฟื้นฟูสโมสรที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม แถมติดหนี้ธนาคาร พร้อมกับสร้างทีมจนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

คนงานเหมืองถ่านหิน ที่วาดฝันอยากเป็นนักเตะ

บิลล์ แชงคลีย์ เป็นชาวสกอตแลนด์เช่นเดียวกับแมตต์ บัสบี้ เมื่ออายุ 14 ปี เขาจำเป็นต้องลาออกจากโรงเรียน เพื่อไปเป็นคนงานในเหมืองถ่านหินซึ่งเต็มไปด้วยมลพิษ สิ่งสกปรก และอันตรายจากเครื่องจักรกล

แชงคลีย์เคยเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองว่า “สมัยยังเด็ก ผมกับเพื่อนๆ เคยขโมยผัก ขนมปัง หรือแม้แต่ผลไม้เน่าๆ จากเกวียนที่อยู่ในเหมือง ผมยอมรับว่ามันผิด แต่จำเป็นต้องทำเพราะความหิวโหย”

“ผมได้เจอปัญหามากมายที่เหมือง เช่น งานหนัก หนู ความยากลำบากในการกินและดื่ม และที่แย่ที่สุดคือความสกปรก เพราะคนงานในเหมืองไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองสะอาด แม้จะได้ล้างตัวหลังออกจากกะแต่ละครั้งก็ตาม”

ในขณะที่แชงคลีย์เป็นคนงานในเหมือง มักจะใช้เวลาว่างเพื่อเล่นฟุตบอลให้ได้บ่อยที่สุด ที่จริงแล้วการทำงานในเหมืองเป็นเพียงแค่การฆ่าเวลาเท่านั้น เพราะความฝันสูงสุดของเขาคือการได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ

ความมุ่งมั่นบวกกับแพสชั่นในกีฬาลูกหนัง แชงคลีย์ก็ผลักดันตัวเองจนได้เป็นนักเตะอาชีพในที่สุด โดยเล่นตำแหน่งกองหลัง เขาเริ่มจากการเซ็นสัญญากับคาร์ไลส์ ยูไนเต็ด สโมสรระดับดิวิชั่น 3 ของอังกฤษ ในปี 1932

แต่ด้วยความสามารถที่ไม่ธรรมดา ทำให้ในปีต่อมา เพรสตัน นอร์ท เอนด์ ตัดสินใจดึงแชงคลีย์เข้ามาด้วยเงิน 500 ปอนด์ เป็นกำลังสำคัญที่พาทีมขึ้นสู่ดิวิชั่น 1 ตั้งแต่ซีซั่นแรกที่ลงเล่น แถมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ในปี 1938

หลังจากเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ แชงคลีย์ผันตัวมาเป็นผู้จัดการทีมให้กับคาร์ไลส์ ยูไนเต็ด, กริมสบี้ ทาวน์, เวิร์กคิงตัน และฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ หลังจากนั้นไม่นาน ชายคนนี้ก็กลายเป็นสุดยอดกุนซือผู้ยิ่งใหญ่ที่ลิเวอร์พูล

ความรักที่ลึกลับซับซ้อน ซ่อนในความเป็นคู่อริ

ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 เกิดเหตุโศกนาฏกรรมเครื่องบินตกที่สนามบินในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ทำให้มีเจ้าหน้าที่และนักเตะชุด “บัสบี้ เบ็บส์” ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้รวม 23 คน

เมื่อลิเวอร์พูลได้รับทราบถึงความสูญเสียของฟากแมนเชสเตอร์ ก็ได้ยื่นข้อเสนอให้ยืมตัวผู้เล่นไปใช้งาน แต่ทางยูไนเต็ดปฏิเสธ และขอสู้ด้วยนักเตะที่มีอยู่ ในสถานการณ์ที่ต้องใช้เวลาไม่น้อยในการฟื้นฟูสโมสรขึ้นมาใหม่

หลังจากคืนฟ้าโศกที่มิวนิคผ่านไปเกือบ 2 ปี บิลล์ แชงคลีย์ ที่กำลังคุมทีมฮัดเดอร์ฟิลด์ ได้รับการแนะนำจากคนสนิทอย่างบัสบี้ ให้เข้ามารับงานที่ลิเวอร์พูล และในที่สุดแชงคลีย์ก็ตอบรับโอกาสนี้ในเดือนธันวาคม 1959

ลิเวอร์พูลในขณะนั้น มีแต่ปัญหารุมเร้าทั้งในและนอกสนาม แชงคลีย์ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างสูงเพื่อเปลี่ยนแปลงทีมให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นผู้ที่เปลี่ยนชุดแข่งขันให้เป็นสีแดง ซึ่งกลายเป็นสีประจำสโมสรจนถึงทุกวันนี้

แชงคลีย์ ใช้เวลา 2 ฤดูกาลครึ่ง ในการพาลิเวอร์พูลเลื่อนชั้นขึ้นสู่ดิวิชั่น 1 เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี จบซีซั่น 1962/63 ในอันดับที่ 8 ด้านแมนฯ ยูไนเต็ดของเซอร์แมตต์ บัสบี้ คว้าแชมป์เอฟเอ คัพ และรอดตกชั้นอย่างฉิวเฉียด

จนกระทั่งในช่วงปี 1964 – 1967 คือช่วงเวลาที่ 2 สโมสรคู่ปรับสีแดง ยึดครองความยิ่งใหญ่ สลับกันคว้าแชมป์ลีกทีมละ 2 สมัย โดยลิเวอร์พูลได้ฉลองในปี 1964 กับ 1966 ส่วนทางฝั่งยูไนเต็ด สุขสมหวังในปี 1965 และ 1967

ในปี 1968 เมื่อปิศาจแดงผ่านเข้าชิงชนะเลิศยูโรเปี้ยน คัพ Liverpool Echo สื่อประจำเมืองลิเวอร์พูล ได้ออกมาเขียนชื่นชมในความยอดเยี่ยมของคู่แข่ง และทุกคนจะยินดี หากพวกเขาเป็นทีมแรกของอังกฤษที่ทำสำเร็จ

และสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจริงๆ ด้วยการล้มยักษ์อย่างเบนฟิกา จากโปรตุเกส ในช่วงต่อเวลาพิเศษ แน่นอนว่าความสำเร็จครั้งนี้ ได้อุทิศให้กับผู้วายชนม์จากเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น

ปิศาจแดงเสื่อมถอย หงส์แดงก้าวสู่ยุคยิ่งใหญ่

เมื่อช่วงเวลาของการต่อสู้เพื่อแย่งแชมป์ลีกที่เข้มข้นที่สุดในประวัติศาสตร์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เซอร์แมตต์ บัสบี้ กับบิลล์ แชงคลีย์ ก็เข้าสู่ช่วงท้ายของอาชีพผู้จัดการทีม ซึ่งจุดสิ้นสุดของทั้งคู่นั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

บัสบี้ หลังพาแมนฯ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ ฤดูกาล 1967/68 อย่างยิ่งใหญ่ แต่ในซีซั่นถัดมา เขาทำทีมจบแค่อันดับที่ 11 และตัดสินใจอำลาสโมสรหลังจบซีซั่น ยุติช่วงเวลา 24 ปี ที่คุมทีมในถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด

ซึ่งผู้ที่เข้ามาสานต่ออย่างวิลฟ์ แม็คกินเนสส์ ก็ทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก อยู่ในตำแหน่งแค่ 1 ฤดูกาลครึ่ง ทำให้ยูไนเต็ดต้องเรียกบัสบี้ กลับมากู้วิกฤตชั่วคราวอีกครึ่งฤดูกาล ก่อนเข็นทีมปิศาจแดงให้จบซีซั่น 1970/71 ในอันดับที่ 8

การคุมทีมนัดสุดท้ายในชีวิตของบัสบี้ เกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อ เมื่อมีแฟนบอลฮูลิแกนเข้ามาปามีดลงมาตกที่อัฒจันทร์ฝั่งทีมเยือน ทำให้ยูไนเต็ดถูกลงโทษห้ามเล่นที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด 2 เกม ในช่วงต้นฤดูกาล 1971/72

สำหรับ 2 เกมที่แมนฯ ยูไนเต็ดต้องใช้สนามอื่นลงเตะนัดเหย้า คือเกมพบกับเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ที่วิคตอเรีย กราวด์ ของทีมสโตค ซิตี้ และดวลกับอาร์เซน่อลที่แอนฟิลด์ รังเหย้าของลิเวอร์พูล ทีมคู่ปรับตลอดกาล

ยูไนเต็ด หลังยุคของบัสบี้ ก็ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม สโมสรก็เข้าสู่ขาลงเรื่อยๆ จนกระทั่งร่วงตกชั้นจากดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 1973/74 หลังถูกอดีตนักเตะเก่าอย่างเดนิส ลอว์ ยิงประตูชัยให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด

ฟากแชงคลีย์ ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี ในการพาลิเวอร์พูลกลับมาทวงแชมป์ลีกอีกครั้งในปี 1973 พ่วงด้วยแชมป์ยูฟ่า คัพ และรีไทร์อาชีพกุนซือด้วยแชมป์เอฟเอ คัพ ในปีถัดมา ก่อนส่งไม้ต่อให้กับอดีตมือขวาคู่ใจอย่างบ็อบ เพสลี่ย์

ในปี 1977 ปิศาจแดงดับฝันเทรบเบิลแชมป์ของหงส์แดง ในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ แต่แฟนๆ เรด อาร์มี่ ที่เวมบลีย์ ได้ร่วมกันตะโกนเชียร์ศัตรูที่รักก่อนไปชิงชนะเลิศยูโรเปี้ยน คัพ พร้อมกับอวยพรว่า “โชคดีนะ ลิเวอร์พูล”

ท้ายที่สุด ลิเวอร์พูลของเพสลี่ย์ เอาชนะโบรุสเซีย มึนเช่นกลัคบัค คว้าแชมป์ถ้วยใหญ่สุดของยุโรปเป็นสมัยแรก รากฐาน “บูทรูม สตาฟฟ์” ที่แชงคลีย์ได้สร้างไว้ ตอบแทนด้วยแชมป์ลีกสูงสุด 11 สมัย และยูโรเปี้ยน คัพ 4 สมัย

อีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่แปลกประหลาด

แม้ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะเป็น 2 ทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของอังกฤษ แต่ก็น่าประหลาดใจไม่น้อย ที่ทั้งคู่ไม่ค่อยอยู่ในช่วงพีคที่สุดแบบพร้อมกัน ส่วนใหญ่จะต้องมีฝั่งหนึ่งขาขึ้น และอีกฝั่งหนึ่งขาลง

หลังสิ้นสุดยุคของแชงคลีย์และบัสบี้ 2 คู่ปรับสีแดง จบฤดูกาลอยู่ใน 2 อันดับแรก แค่ 3 ครั้งเท่านั้น ได้แก่ฤดูกาล 1979/80, 1987/88 และ 2008/09 แถมเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยกันเองเพียง 3 ครั้ง ในรอบ 40 ปีหลังสุด

เจมี่ คาราเกอร์ คอลัมนิสต์ของ The Telegraph ได้เขียนบทวิเคราะห์ถึงหงส์แดง และปิศาจแดง คู่ปรับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการลูกหนังเมืองผู้ดี แต่มีโมเมนต์แย่งแชมป์ลีกโดยตรงเพียงไม่กี่ครั้งตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

คาราเกอร์ ระบุว่า ประการแรก “ปกป้องเกียรติประวัติมากเกินไป” เช่น เมื่อยูไนเต็ดหมดหนทางคว้าแชมป์ลีก แฟนบอลก็เอาจำนวนแชมป์ 20 สมัยมาข่ม ราวกับถากถางเดอะ ค็อปว่า พวกเขาคือทีมเดียวที่อยู่เหนือกว่า

อดีตตำนานหงส์แดงรายนี้ ยังได้พูดถึงเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สมัยที่ยังคุมปิศาจแดงว่า เป็นกุนซือที่ให้ความสำคัญที่สุดกับการไปเยือนแอนฟิลด์ในทุกๆ ฤดูกาล ไม่ว่ายักษ์ใหญ่แห่งเมอร์ซี่ย์ไซด์จะอยู่ในอันดับไหนของตารางก็ตาม

ประการต่อมา “ชี้ชะตาอนาคตทั้งผู้ชนะและผู้แพ้” เช่น เกมที่แอนฟิลด์เมื่อต้นปี 2020 แฟนลิเวอร์พูลต่างร้องเพลง ‘พวกเราจะเป็นแชมป์ลีก’ เพราะเริ่มมั่นใจแล้วว่าใกล้ปลดล็อกคว้าแชมป์ครั้งแรกในรอบ 30 ปี

แถมในบางครั้ง ชัยชนะของลิเวอร์พูล ก็ทำให้กุนซือยูไนเต็ดบางคน หมดความชอบธรรมในหน้าที่การงาน แต่ลิเวอร์พูลเองก็เคยมีปัญหาในยุคของรอย ฮ็อดจ์สัน ความพ่ายแพ้ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ทำให้เดอะ ค็อป ไม่เชื่อมั่นในตัวเขา

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว เอริค เทน ฮาก อยู่ภายใต้ความกดดัน หลังจากแพ้ 2 นัดแรกของฤดูกาล แต่พอเอาชนะในศึกแดงเดือด โมเมนตัมก็เข้าทางยูไนเต็ด สวนทางกับลิเวอร์พูลที่เจอกับอุปสรรคตลอดทั้งซีซั่น

และสุดท้าย “แอนฟิลด์คือนรกของยูไนเต็ด” เพราะไม่ว่าลิเวอร์พูลจะอยู่ในช่วงที่ยิ่งใหญ่หรือตกต่ำ แต่การที่ยูไนเต็ดมาเยือนแอนฟิลด์ พวกเขาจะต้องเจอความยากลำบากเป็นพิเศษในการที่จะเก็บชัยชนะกลับออกไป

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://en.wikipedia.org/wiki/Bill_Shankly

https://en.wikipedia.org/wiki/Matt_Busby

https://en.wikipedia.org/wiki/Liverpool_F.C.%E2%80%93Manchester_United_F.C._rivalry

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-9098701/Man-United-challenge-Liverpool-title-look-rivalry.html

https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/matt-busby-manchester-liverpool-star-8816963

https://www.liverpoolfc.com/news/features/374742-story-of-bill-shankly-journey-to-liverpool

https://www.telegraph.co.uk/football/2018/03/08/manchester-united-vs-liverpool-anatomy-rivalry1/

https://www.nbcsports.com/bayarea/soccer/why-liverpool-fc-manchester-united-rivalrys-glory-days-seem-far-away

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/03/03/man-utd-liverpool-englands-two-greatest-clubs-why-dont-compete/

Categories
Special Content

วันฟ้าหม่นของ “เอฟเวอร์ตัน” หลังถูกตัดแต้มจากกฎการเงินพรีเมียร์ลีก

  • กฎ Profitability and Sustainability (P&S) เป็นกฎการเงินที่บังคับใช้กับสโมสรในพรีเมียร์ลีก และเดอะ แชมเปี้ยนชิพ 
  • งบการเงิน 4 ปีหลังสุด เอฟเวอร์ตัน ขาดทุนสูงถึง 417.3 ล้านปอนด์ หรือเกินกว่าที่พรีเมียร์ลีกกำหนดไว้เกือบ 4 เท่า
  • เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรที่ 3 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก ที่ถูกลงโทษตัดแต้ม ต่อจากมิดเดิลสโบรช์ และพอร์ทสมัธ

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สื่อทุกสำนักพาดหัวข่าวใหญ่ เอฟเวอร์ตัน ถูกพรีเมียร์ลีกสั่งตัด 10 คะแนน จากกรณีละเมิดกฎการเงินที่เรียกว่า Profitability and Sustainability หรือ P&S

แน่นอนว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสโมสร ต่างแสดงความผิดหวัง และไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินที่ออกมา แม้จะรับรู้มาตลอดว่าสักวันหนึ่งทีมจะต้องถูกลงโทษ ซึ่งพวกเขาจะขอต่อสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อไป

หากอุทธรณ์ไม่สำเร็จ สโมสรก็ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรม กลับมามุ่งมั่นในสนามเพื่อเก็บชัยไปเรื่อยๆ และหลีกเลี่ยงการร่วงตกชั้นจากลีกบนยอดพีระมิดเมืองผู้ดี ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานกว่า 7 ทศวรรษ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ถูกมองว่าเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการตัดสินคดีละเมิดกฎการเงินในอนาคต และต่อไปนี้คือเรื่องราวเบื้องลึกสู่การลงโทษหักแต้มที่หนักที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรีเมียร์ลีก

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

รู้จักกับ P&S กฎคุมการเงินลูกหนังเมืองผู้ดี

กฎ Profitability and Sustainability หรือเรียกย่อๆ ว่า P&S คือกฎที่ว่าด้วยเรื่องความสามารถในการทำกำไรและความยั่งยืน เพื่อควบคุมการเงินของ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก และ 24 สโมสรในเดอะ แชมเปี้ยนชิพ

สำหรับกฎ P&S เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2016 ซึ่งในฤดูกาลปัจจุบัน กฎดังกล่าวจะระบุไว้ในหมวด E. ข้อ 47-52 ของระเบียบการแข่งขัน (PL Handbook) โดยทุกสโมสรจะต้องส่งงบการเงินให้พรีเมียร์ลีกตรวจสอบทุกปี

หัวใจสำคัญข้อหนึ่งของกฎ P&S คือ “สโมสรในพรีเมียร์ลีก จะได้รับอนุญาตให้ขาดทุนสูงสุดได้ไม่เกิน105 ล้านปอนด์ ภายในระยะเวลา 3 รอบปีบัญชีหลังสุด หากมีสโมสรใดขาดทุนเกินกำหนดจะต้องถูกลงโทษ”

ซึ่งคำว่า “ขาดทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 105 ล้านปอนด์” ความจริงแล้วมีเพดานอยู่ที่ 15 ล้านปอนด์เท่านั้น ส่วนอีก 90 ล้านปอนด์ที่เหลือ ทางพรีเมียร์ลีกอนุโลมให้เจ้าของสโมสรนำเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือทางอ้อมได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าสโมสรใดตกชั้นลงไปเล่นลีกแชมเปี้ยนชิพ กฎ P&S จะเข้มงวดมากกว่าพรีเมียร์ลีก เพราะจะทำให้ลิมิตการขาดทุน ลดลงเหลือเพียง 39 ล้านปอนด์ ในระยะเวลา 3 รอบปีบัญชีหลังสุดเช่นกัน

นับตั้งแต่กฎ P&S หรือไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ฉบับพรีเมียร์ลีก บังคับใช้มาแล้ว 7 ปี ยังไม่มีสโมสรใดเคยถูกลงโทษมาก่อน แต่ในที่สุด เอฟเวอร์ตัน ก็กลายเป็นสโมสรแรกที่ได้รับผลกรรมจากการละเมิดกฎดังกล่าว

ตรวจสุขภาพการเงินเอฟเวอร์ตัน 3 งวดล่าสุด

จากรายงานงบการเงินของเว็บไซต์ Company House ระบุว่า รอบปีบัญชี 2021/22 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2022 เอฟเวอร์ตันมีรายได้จากสื่อ, การค้า และแมตช์เดย์ รวม 181 ล้านปอนด์ ขาดทุน 44.7 ล้านปอนด์

และเมื่อบวกกับยอดขาดทุนใน 3 ปีบัญชีก่อนหน้า เริ่มจากปี 2019 จำนวน 111.8 ล้านปอนด์, ปี 2020 จำนวน 139.9 ล้านปอนด์ และปี 2021 จำนวน 120.9 ล้านปอนด์ รวม 4 ปีหลังสุด เท่ากับ 417.3 ล้านปอนด์

แต่ในปี 2020 และ 2021 เป็นช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ทางพรีเมียร์ลีกอนุญาตให้รวบเป็นงวดเดียวกัน โดยการนำยอดมารวมกัน แล้วหารด้วย 2 นั่นเท่ากับว่า เอฟเวอร์ตันขาดทุนโดยเฉลี่ย 130.4 ล้านปอนด์ต่อปี

นั่นหมายความว่า การคำนวณหายอดขาดทุนตามกฎ P&S ใน 3 งวดบัญชีล่าสุด คือ 2019, 2020-21และ 2022 “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ติดลบ 287 ล้านปอนด์ ยังเกินกว่าที่ทางพรีเมียร์ลีกกำหนดไว้ถึง 182 ล้านปอนด์

ในส่วนของค่าจ้างนักเตะ เฉพาะ 4 ปีบัญชีหลังสุด เอฟเวอร์ตันจ่ายเงินสูงถึง 582 ล้านปอนด์ เป็นรองสโมสรบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก แต่ไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดๆ แม้กระทั่งโควตายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็ไม่เคยสัมผัส

เมื่อนำค่าจ้างมาคำนวณสัดส่วนเมื่อเทียบกับรายได้รวมในช่วงเวลาเดียวกัน (746 ล้านปอนด์) จะพบว่าเอฟเวอร์ตันจ่ายค่าจ้างคิดเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ ของรายรับ ซึ่งนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโมสรมีปัญหาการเงิน

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

สแกนกรรมทอฟฟี่สีน้ำเงิน ทำการเงินเข้าขั้นวิกฤต

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่นำมาสู่การลงโทษหัก 10 คะแนน ก็คือการที่เอฟเวอร์ตันขาดทุนเกินกว่ากำหนดในรอบ 3 ปีหลังสุด ซึ่งพวกเขารอดตกชั้นในฤดูกาล 2021/22 และ 2022/23 แต่กลับไม่ถูกลงโทษใดๆ เลย

นั่นทำให้บรรดาทีมคู่แข่งสำคัญที่สูญเสียผลประโยชน์จากการตกชั้น ทั้งเบิร์นลีย์ (2021/22), เลสเตอร์ ซิตี้ และลีดส์ ยูไนเต็ด (2022/23) รวมตัวกันไปร้องเรียนพรีเมียร์ลีก เพื่อหวังเอาผิดกับทีมทอฟฟี่สีน้ำเงินให้ได้

ต่อมาในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระของพรีเมียร์ลีก ได้ใช้เวลาไต่สวนนานถึง 5 วัน และตรวจสอบพบความผิดอีกข้อหาหนึ่ง นอกเหนือจากการมียอดติดลบเกินกว่าที่ทางลีกเมืองผู้ดีกำหนด

ความผิดปกติที่ว่านั้นคือ เอฟเวอร์ตันส่งข้อมูลงบการเงินอันเป็นเท็จในรอบปีบัญชี 2021/22 โดยแจ้งว่าขาดทุนเพียง 44.7 ล้านปอนด์ แต่ยอดขาดทุนจริงที่ P&S คำนวณได้คือ 124.7 ล้านปอนด์ ต่างกันถึง 80 ล้านปอนด์

ทางคณะกรรมการอิสระของพรีเมียร์ลีก ชี้แจงว่า เอฟเวอร์ตันได้มีการผ่องถ่ายรายจ่ายบางส่วนออกไปกับการสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ที่แบรมลีย์ มัวร์ ที่คาดว่าน่าจะเปิดใช้งานภายในปี 2024 ถือเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต

เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเงินของเอฟเวอร์ตันเข้าขั้นวิกฤต ประการแรก จ่ายเงินซื้อนักเตะจำนวนมาก แต่รายรับจากการขายนักเตะ รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ และส่วนแบ่งรายได้จากผลงานในตารางคะแนน ได้กลับมาไม่มาก

อีกประการหนึ่งคือ การสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้มหาศาลจากการขายสิทธิ์ชื่อสนามให้กับกลุ่มทุน USM ของอลิเซอร์ อุสมานอฟ นักธุรกิจชาวรัสเซีย อันเนื่องมาจากรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากการรุกรานยูเครน

ชดใช้ความผิดพลาด มองปัจจุบันและอนาคต

จากคำตัดสินของคณะกรรมการอิสระ ทำให้เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรที่ 3 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก ที่ได้รับบทลงโทษด้วยการตัดคะแนน และมีผลทันที ทำให้เหลือ 4 คะแนน หล่นไปอยู่อันดับรองสุดท้ายของตาราง

ก่อนหน้านี้ มิดเดิลสโบรช์ ในฤดูกาล 1996/97 เคยถูกตัด 3 แต้ม เนื่องจากไม่ลงแข่งขันกับแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส และพอร์ทสมัธ เมื่อซีซั่น 2009/10 ที่โดนหัก 9 แต้ม จากกรณีที่สโมสรถูกควบคุมกิจการ ท้ายที่สุดก็ตกชั้นทั้งคู่

นักวิเคราะห์สถิติจาก Opta ประเมินว่า ทีมของกุนซือฌอน ไดซ์ มีโอกาสตกชั้นในซีซั่นนี้ 34 เปอร์เซ็นต์ (เพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนถูกหัก 10 คะแนน) แต่ก็ยังน้อยกว่าเบิร์นลีย์, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และลูตัน ทาวน์

ย้อนกลับไปเมื่อฤดูกาล 1994/95 เอฟเวอร์ตันก็มีแค่ 4 แต้ม จาก 12 เกมแรก เช่นเดียวกับซีซั่นนี้ แต่ก็เอาตัวรอดด้วยการจบอันดับที่ 15 พร้อมกับคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ มาครอง ซึ่งอาจจะเป็นลางดีของพวกเขาก็ได้

ขณะเดียวกัน เอฟเวอร์ตันกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเจ้าของทีมรายใหม่ จากฟาฮัด โมชิริ นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน มาเป็น 777 Partners กลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา หลังเข้าซื้อหุ้น 94.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

สำหรับ 777 Partners เป็นบริษัทด้านการลงทุนที่มีกีฬาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก โดยได้เข้าไปลงทุนกับทีมฟุตบอลชื่อดังในยุโรป เช่น เซบีย่า (สเปน), เจนัว (อิตาลี), แฮร์ธ่า เบอรฺลิน (เยอรมนี) และสตองดาร์ด ลีแอช (เบลเยียม)

ซึ่งขั้นตอนการเทคโอเวอร์ อยู่ระหว่างรอทางพรีเมียร์ลีกอนุมัติอยู่ ซึ่งคาดว่าไม่เกินสิ้นปี 2023 แต่หลังจากเอฟเวอร์ตันถูกตัด 10 แต้ม และสุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้น โมชิริอาจจะมีการทบทวนดีลการซื้อกิจการอีกครั้ง

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

เชือดท็อฟฟี่ สะเทือนถึงแมนฯ ซิตี้ และเชลซี

เมื่อเอฟเวอร์ตันได้รับบทลงโทษตัดแต้มหนักที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรีเมียร์ลีก คำถามที่ตามมาก็คือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี 2 สโมสรยักษ์ใหญ่ที่กำลังถูกกล่าวหาเรื่องละเมิดกฎการเงิน จะโดนลงโทษหรือไม่ อย่างไร

กรณีของแมนฯ ซิตี้ ถูกตั้งข้อหาทำผิดกฎการเงิน 115 กระทง ตั้งแต่ปี 2009 – 2018 เช่น แจ้งข้อมูลการเงินไม่ถูกต้อง, ไม่ปฎิบัติตามกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ ของยูฟ่า อีกทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับพรีเมียร์ลีกในการสอบสวน

ขณะที่เชลซี เป็นข้อกล่าวหาเรื่องการใช้เงินที่ไม่โปร่งใสในช่วงปี 2012-2019 สมัยที่โรมัน อบราโมวิช ยังเป็นเจ้าของสโมสร เช่น ค่าจ้างอันโตนิโอ คอนเต้, ค่าตัวเอแดน อาซาร์,ที่ถูกโอนไปยังแหล่งฟอกเงินที่บริติช เวอร์จิ้นส์ เป็นต้น

ความเป็นไปได้ของบทลงโทษที่แมนฯ ซิตี้ และเชลซี จะได้รับจากพรีเมียร์ลีก มีตั้งแต่ปรับเงิน, ตัดแต้มสถานหนัก, ปรับตกชั้น หรือร้ายแรงที่สุด อาจถึงขั้นถูกขับพ้นจากลีกอาชีพ เหมือนที่สโมสรในลีกล่างเคยเจอมาแล้ว

ในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลอังกฤษ ลูตัน ทาวน์ คือทีมที่ถูกตัดแต้มมากที่สุดถึง 30 แต้ม เมื่อฤดูกาล 2008/09 สมัยที่อยู่ในลีก ทู (ดิวิชั่น 4) หลังถูกตรวจพบความผิดปกติทางการเงิน และตกชั้นเมื่อจบซีซั่น

หรือกรณีของบิวรี่ สโมสรในลีก วัน (ดิวิชั่น 3) ถูกขับออกจากลีกอาชีพของอังกฤษ หลังจากไม่สามารถหากลุ่มทุนมาเทคโอเวอร์ เพื่อเคลียร์หนี้สิน 2.7 ล้านปอนด์ ได้ทันตามกำหนดเวลา ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้นซีซั่น 2019/20 ไปไม่กี่นัด

การตัดคะแนนเอฟเวอร์ตัน 10 แต้ม เสมือนเป็นการส่งสัญญานเตือนเรือใบสีฟ้า และสิงห์บูลส์ ให้เตรียมรับมือกับข่าวร้ายระดับสะเทือนวงการลูกหนัง ซึ่ง “มีโอกาสเป็นไปได้” ตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายได้วิเคราะห์ไว้

เรื่องราวการถูกลงโทษของเอฟเวอร์ตัน ถือเป็นกรณีศึกษาที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี ต้องจับตาดูว่าพรีเมียร์ลีก จะใช้กฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมหรือไม่

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/67448714

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/11/17/everton-deducted-10-points-premier-league-financial-rules/

https://theathletic.com/5072039/2023/11/17/everton-points-deduction-punishment-written-reasons/

https://theathletic.com/5071224/2023/11/18/everton-10-point-penalty-explained/

https://theathletic.com/5072612/2023/11/18/everton-ffp-chelsea-manchester-city/

https://resources.premierleague.com/premierleague/document/2023/08/31/132475d9-6ce7-48f3-b168-0d9f234c995a/PL_Handbook_2023-24_DIGITAL_29.08.23.pdf

– https://swissramble.substack.com/p/financial-fair-play-202122

https://swissramble.substack.com/p/everton-finances-202122

https://www.financialfairplay.co.uk/financial-fair-play-explained.php

– https://find-and-update.company-information.service.gov.uk/company/00036624/filing-history

Categories
Football Business

เปิดแหล่งขุมทรัพย์ 24 เจ้าของทีมลีกแชมเปี้ยนชิพ 2023/24

  • สัญชาติของเจ้าของทีม มาจาก 12 สัญชาติ อังกฤษมีจำนวนมากที่สุด 9 ทีม ตามด้วยสหรัฐอเมริกา 7 ทีม
  • ประเภทการถือหุ้น ทีมที่เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว และทีมที่เป็นเจ้าของร่วม (แบ่งเปอร์เซ็นต์การถือหุ้น) มีอย่างละ 12 ทีม
  • ในซีซั่นปัจจุบัน มี 5 ทีมที่ไม่เคยสัมผัสเวทีพรีเมียร์ลีก คือ บริสตอล ซิตี้, มิลล์วอลล์, พลีมัธ, เปรสตัน และร็อตเตอร์แฮม

เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ลีกระดับที่ 2 ของระบบพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ แม้ระดับการแข่งขันจะเป็นรายการรองจากพรีเมียร์ลีก แต่นี่คือลีกลูกหนังที่สู้กันอย่างเข้มข้น และไม่สามารถคาดเดาผลการแข่งขันได้เลย

การขึ้นสู่จุดสุงสุดของพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ คือสิ่งที่หลายๆ ทีม ต้องการจะเอื้อมให้ถึง แต่การจะไปถึงเป้าหมายนั้น ต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจของทุกคนในสโมสร รวมถึงทุนทรัพย์ที่เจ้าของสโมสรได้ลงทุนไป

เมื่อพูดถึงการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในลีกแชมเปี้ยนชิพ มีแนวโน้มไปในทางเดียวกับพรีเมียร์ลีก กล่าวคือนักธุรกิจท้องถิ่น ถูกแทนที่ด้วยนายทุนจากต่างชาติมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา, มาเลเซีย, ไทย เป็นต้น

มีบางสโมสร ที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องเงินทุนที่มีไม่อั้น ซึ่งมากกว่าเจ้าของสโมสรหลายสโมสรในพรีเมียร์ลีกด้วยซ้ำ และยินดีที่จะจ่ายเงินก้อนโตต่อเนื่องทุกปี เพื่อแลกกับผลตอบแทนมหาศาลจากการได้เลื่อนชั้น

แหล่งเงินทุนของเจ้าของทีมลูกหนัง ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ซึ่งหลายๆ คน อาจยังไม่เคยรู้มาก่อน และต่อไปนี้คือเบื้องหลังขุมทรัพย์ของทั้ง 24 สโมสร ในการแข่งขันลีกรองเมืองผู้ดี ฤดูกาล 2023/24

เบอร์มิงแฮม ซิตี้ – บริษัทด้านการลงทุน

ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ในปัจจุบัน คือ Birmingham Sports Holdings ที่เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรต่อจากคาร์สัน หยาง นักธุรกิจชาวฮ่องกง ที่ถูกศาลตัดสินให้มีความผิดในคดีฟอกเงิน จนต้องยุติบทบาทการเป็นเจ้าของทีม

ในเวลาต่อมา ทอม วากเนอร์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้ง Shelby Companies Limited เข้ามาซื้อหุ้นเป็นจำนวน 45.6 เปอร์เซนต์ ได้สิทธิ์บริหารสโมสรอย่างเต็มรูปแบบ และมีทอม เบรดี้ ยอดตำนานควอเตอร์แบ็ก NFL เป็นหุ้นส่วนด้วย

วากเนอร์ เคยทำงานที่ Goldman Sachs ธนาคารชื่อดังระดับโลก ก่อนจะมาก่อตั้ง Shelby Companies Limited ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Knighthead Capital Management ทำธุรกิจด้านการลงทุน และดูแลสินทรัพย์ของเบอร์มิงแฮม ซิตี้

ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ “เดอะ บูลส์” เพิ่งแต่งตั้งเวย์น รูนีย์ อดีตตำนานดาวยิงพรีเมียร์ลีก และทีมชาติอังกฤษ เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ เพื่อเป้าหมายพาทีมกลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลหน้าทันที หลังจากห่างหายไปนานถึง 13 ปี

แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส – ฟาร์มเลี้ยงไก่ และวัคซีนสำหรับไก่

อดีตแชมป์พรีเมียร์ลีก เมื่อซีซั่น 1994/95 ปัจจุบันบริหารงานโดย Venkateshwara Hatcheries Groupของตระกูลราโอ จากอินเดีย เข้ามาซื้อกิจการของแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ต่อจากครอบครัวของแจ็ค วอล์คเกอร์ เมื่อปี 2010

แหล่งเงินทุนของราโอ แฟมิลี่ มาจากธุรกิจค้าไก่, อาหารแปรรูปจากไก่ รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคในไก่ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย มีการขยายกิจการไปในหลายๆ ทวีปทั่วโลก อีกทั้งยังมีรายได้เพิ่มเติมจากการทำธุรกิจผลิตเครื่องจักรอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การบริหารสโมสรของครอบครัวราโอ สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนบอลแบล็คเบิร์นเป็นอย่างมาก ถึงขั้นสร้างตำนานด้วยการขว้างไก่สดลงมาในสนามเพื่อประท้วงเจ้าของทีม ในเกมที่พบกับวีแกน เมื่อปี 2012

หลังตกชั้นจากลีกสูงสุดเมื่อฤดูกาล 2011/12 “เดอะ ริเวอไซเดอร์ส” ไม่เคยกลับมาอยู่บนยอดพีระมิดอีกเลย แม้กระทั่งเพลย์ออฟเพื่อลุ้นเลื่อนชั้น พวกเขาก็ไม่เคยสัมผัสแม้แต่ครั้งเดียว แถมเคยลงลึกไปสู่ลีกดิวิชั่น 3 เมื่อ 6 ปีก่อน

บริสตอล ซิตี้ – บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน

เจ้าของทีมบริสตอล ซิตี้ คนปัจจุบันคือ สตีเฟ่น แลนสดาวน์ นักธุรกิจชาวเมืองบริสตอล และผู้บริหาร Hargreaves Lansdown เข้ามาเทคโอเวอร์เมื่อปี 2007 และจอน แลนสดาวน์ ลูกชายของเขา ดำรงตำแหน่งประธานสโมสร

ในเดือนเมษายน 2009 สตีเฟ่นขายหุ้น 4.7 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท Hargreaves Lansdown เพื่อเป็นทุนในการสร้างสนามใหม่ของ “เดอะ โรบินส์” ชื่อว่า Ashton Gate ปัจจุบันนี้เขาอาศัยอยู่ในเกิร์นซีย์ ในหมู่เกาะแชนแนลส์ 

แหล่งทำเงินของครอบครัวแลนสดาวน์ มาจากการก่อตั้ง Hargreaves Lansdown บริษัทการจัดการกองทุนและการวางแผนภาษี เมื่อปี 1981 ก่อนที่สตีเฟ่นจะลาออกในปี 2012 เพื่อมาเปิดบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ

สตีเฟ่น แลนสดาวน์ เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีไม่กี่คนในลีกแชมเปี้ยนชิพ จากการจัดอันดับของ Sunday Times Rich List ระบุว่าเขาร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 152 ของสหราชอาณาจักร โดยมีสินทรัพย์สุทธิ 1.18 พันล้านปอนด์

คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ – เจ้าของแฟรนไชส์, อสังหาริมทรัพย์, โรงแรม และโทรคมนาคม

เมื่อปี 2010 วินเซนต์ ตัน มหาเศรษฐีขาวมาเลเซีย ในนามของ Berjaya Group ได้เข้าซื้อหุ้นของคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ เป็นจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นค่อยๆ ซื้อหุ้นจากรายย่อย จนถึง 51 เปอร์เซ็นต์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของสโมสร

เงินทุนของวินเซนต์ ตัน มีที่มาจากการเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งแมคโดนัลด์, สตาร์บักส์, เซเว่น อีเลฟเว่น และร้านหนังสือในมาเลเซีย อีกทั้งก่อตั้งบริษัท Berjaya Corporation เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์, โรงแรม และโทรคมนาคม

นอกจากลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ด และบริษัทโฮลดิ้งแล้ว วินเซนต์ ตัน ยังเป็นเจ้าของเอฟเค ซาราเยโว สโมสรฟุตบอลในลีกสูงสุดของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา รวมถึงลอส แอนเจลิส เอฟซี ในเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ของสหรัฐอเมริกา

ในยุคที่วินเซนต์ ตัน เป็นเจ้าของทีม “เดอะ บลูเบิร์ดส์” เคยได้ขึ้นไปอยู่ในพรีเมียร์ลีกแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือฤดูกาล 2013/14 และ 2018/19 ขณะที่เมื่อฤดูกาลที่แล้ว พวกเขาจบในอันดับที่ 21 รอดพ้นการตกชั้นสู่ลีก วัน อย่างหวุดหวิด

โคเวนทรี ซิตี้ – น้ำมันพืช และอาหารสัตว์

เมื่อเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา โคเวนทรี ซิตี้ ได้เจ้าของทีมรายใหม่ หลังจากดั๊ก คิง นักธุรกิจชาวอังกฤษ เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรต่อจากกองทุนเอสไอเอสยู (SISU) ที่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากแฟนบอลของสโมสร

แหล่งทำเงินของคิง มาจาก Yelo Enterprises ที่เขาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตรในอังกฤษ มีผลิตภัณฑ์หลักคือน้ำมันพืชจากเรพซีด (คาโนลา) รวมถึงอาหารสัตว์

ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา โคเวนทรีประสบปัญหาเรื่องสนามเหย้าบ่อยครั้ง เนื่องจากมีข้อพิพาททางกฎหมายกับเจ้าของสนาม รวมถึงถูกใช้จัดแข่งรักบี้คอมมอนเวลธ์ เกมส์ จึงต้องย้ายไปเล่นที่นอร์ทแธมป์ตัน และเบอร์มิงแฮม

สำหรับ “เดอะ สกายบลูส์” เป็นหนึ่งในสโมสรผู้ร่วมก่อตั้งพรีเมียร์ลีก ก่อนที่จะตกชั้นในซีซั่น 2000/01 โดยเมื่อซีซั่นที่แล้ว พวกเขาเกือบคัมแบ็กสู่ลีกสูงสุด แต่พ่ายให้กับลูตัน ทาวน์ ในเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

ฮัดเดอร์ฟิสด์ ทาวน์ – สุขภาพและเวชกรรม, บริษัทร่วมลงทุน และทีมกีฬา

ฮัดเดอร์ฟิสด์ ทาวน์ คือทีมล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสร หลังจากเควิน นาเกิล นักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาเทคโอเวอร์ต่อจากดีน ฮอยล์ นักธุรกิจชาวอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา

แหล่งทำเงินของนาเกิล มาจากธุรกิจด้านดูแลสุขภาพและเวชกรรม โดยเริ่มจากการก่อตั้ง HMN Health Services เมื่อปี 1999 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Envision Pharmaceutical Holdings

นอกจากนี้ นาเกิลยังก่อตั้งบริษัทร่วมลงทุนในธุรกิจสุขภาพและอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง เช่น The Nagle Company, Moneta Ventures และ Jaguar Ventures อีกทั้งยังเป็นเจ้าของ Sacramento Republic FCทีมฟุตบอลในลีกรองของอเมริกา

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของ “เดอะ เทอร์ริเออส์” คือการได้เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017/18 แต่ตกชั้นในฤดูกาลต่อมา ซึ่งแฟนๆ ของสโมสรต่างคาดหวังถึงยุคสมัยของนาเกิล ในการพาทีมคัมแบ็กสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

ฮัลล์ ซิตี้ – สื่อโทรทัศน์ และสตรีมมิ่ง

หลังจากอาสเซ็ม อัลลาม มหาเศรษฐีชาวอียิปต์ เสียชีวิตเมื่อเดือนธันวาคม 2022 และครอบครัวของอัลลามตัดสินใจไม่ไปต่อ ฮาคาน อิลคาลี่ เจ้าพ่อธุรกิจทีวีจากตุรกี ได้กลายเป็นเจ้าของทีมรายใหม่ของฮัลล์ ซิตี้

อิลคาลี่ สร้างรายได้จากสื่อโทรทัศน์ในตุรกี ผู้เป็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังรายการดัง เช่น Deal or No Deal, Fear Factor, Survivor และ MasterChef นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของฟรีทีวีช่อง TV8 และ Exxenบริษัทผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง

นอกจากนี้ อิลคาลี่เป็นผู้ถือหุ้นของฟอร์ทูน่า ซิททาร์ด สโมสรฟุตบอลในเนเธอร์แลนด์ และล่าสุดได้เข้าไปซื้อหุ้นของเชลบอร์น ทีมลูกหนังในไอร์แลนด์ ที่มีเดเมียน ดัฟฟ์ อดีตปีกชื่อดังของพรีเมียร์ลีก เป็นผู้จัดการทีม

หนล่าสุดที่ “เดอะ ไทเกอร์ส” อยู่ในพรีเมียร์ลีก คือฤดูกาล 2016/17 แถมเคยร่วงลงไปไกลถึงระดับดิวิชั่น 3 เมื่อซีซั่น 2020/21 การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในครั้งนี้ จะทำให้แฟนบอลของสโมสรมีความหวังมากขึ้น

อิปสวิช ทาวน์ – กองทุนบำเหน็จบำนาญ

แบรตต์ จอห์นสัน, เบิร์ก บาร์เคย์ และมาร์ค เดตเมอร์ บอร์ดบริหารของ Phoenix Rising ทีมฟุตบอลในลีกรองของอเมริกา ได้เข้ามาเทคโอเวอร์อิปสวิช ทาวน์ ต่อจากมาร์คัส อีแวนส์ นักธุรกิจชาวอังกฤษ เมื่อเดือนเมษายน 2021

แหล่งเงินทุนที่มาเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับสโมสร คือ Gamechanger 2020 กลุ่มการลงทุนจากรัฐโอไฮโอ ซึ่งดูแลกองทุนบำเหน็จบำนาญรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจากซื้อหุ้นบางส่วน ก่อนที่จะเป็นเจ้าของทีมแบบเด็ดขาด

ผลงานดีที่สุดในยุคพรีเมียร์ลีกของอิปสวิช ทาวน์ คือการจบในอันดับที่ 5 เมื่อฤดูกาล 2000/01 แต่ฤดูกาลถัดมาทรุดลงแบบไม่น่าเชื่อ ตกชั้นหลังจบในอันดับที่ 18 และจนถึงเวลานี้ก็ไม่เคยกลับคืนสู่ยอดพีระมิดอีกเลย

อย่างไรก็ตาม หาก “เดอะ แทร็กเตอร์ บอยส์” ภายใต้การคุมทีมของคีแรน แม็คเคนน่า กุนซือผู้พาทีมจบอันดับที่ 2 ในลีกวัน เมื่อซีซั่นที่แล้ว มีความสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสที่จะยุติช่วงเวลาที่ห่างหายจากลีกสูงสุดในซีซั่นนี้

ลีดส์ ยูไนเต็ด – บริษัทด้านการลงทุน และทีมกีฬา

มาเรีย เดนิเซ่ เดบาร์โตโล่ ยอร์ค นักธุรกิจสุภาพสตรีขาวอเมริกัน ในนามของกลุ่ม 49ers Enterprises บรรลุดีลซื้อกิจการของลีดส์ ยูไนเต็ด จากอันเดรีย ราดริซซานี่ เจ้าสัวชาวอิตาลี เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา

เมื่อปี 2018 49ers Enterprises เข้ามาซื้อหุ้นลีดส์จำนวน 15 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ในปี 2021 จะเพื่มสัดส่วนเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ราดริซซานี่ตกลงขายหุ้นทั้งหมดที่เหลือ และกลายเป็นเจ้าของสโมสรรายใหม่ในที่สุด

แหล่งเงินทุนของ 49ers Enterprises มาจากการก่อตั้ง DeBartolo Corporation บริษัทที่ลงทุนในกิจการที่ไม่ใช่กีฬา และเป็นเจ้าของซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนน์เนอร์ส ทีมดังในศึกอเมริกันฟุตบอล (NFL) ของสหรัฐอเมริกา

ในฤดูกาล 2020/21 “เดอะ พีค็อกส์” ได้รีเทิร์นสู่พรีเมียร์ลีกอีกครั้ง หลังห่างหายไป 16 ปี แต่อยู่ได้เพียง 3 ฤดูกาล ก็กระเด็นตกชั้นแบบน่าผิดหวัง ทำให้ในฤดูกาลนี้ พวกเขาหวังที่จะแก้ตัวเพื่อกลับมาอยู่ในลีกสูงสุดให้ได้

เลสเตอร์ ซิตี้ – สินค้าดิวตี้ ฟรี

วิชัย ศรีวัฒนประภา และครอบครัว ในนามของกลุ่มบริษัท King Power ประเทศไทย เข้ามาซื้อกิจการของเลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2010 ต่อจากมิลาน แมนดาริช มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย ด้วยมูลค่า 39 ล้านปอนด์

แหล่งรายได้หลักของตระกูลศรีวัฒนประภา มาจากสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน (Duty Free) นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในภาคส่วนอื่นๆ เช่น โรงแรม, การบิน และยังเป็นเจ้าของสโมสร OH Leuven ในลีกสูงสุดของเบลเยียม

ภายใต้การบริหารงานของครอบครัวนักธุรกิจชาวไทย ได้สร้างตำนานเทพนิยายคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบช็อกโลก เมื่อปี 2016 แต่อีก 2 ปีต่อมา วิชัยเสียชีวิตจากเหตุโศกนาฏกรรมเฮลิคอปเตอร์ตกนอกสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม

ในเวลาต่อมา อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายของวิชัย ก็ได้สานต่องานของคุณพ่อ และสร้างความสำเร็จเพิ่มเติมจากการคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ เมื่อปี 2021 ส่วนในซีซั่นปัจจุบัน “เดอะ ฟ็อกซ์” ตั้งเป้ากลับคืนสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

มิดเดิลสโบรช์ – ขนส่งของเหลว, ก๊าซ, ผงแป้ง และโรงแรม

สตีฟ กิ๊บสัน เจ้าสัวชาวอังกฤษ ได้เข้ามาเป็นบอร์ดบริหารของมิดเดิลสโบรช์ สโมสรในบ้านเกิดตั้งแต่ปี 1986 พร้อมกับการซื้อหุ้นส่วนน้อย จากนั้นในปี 1994 เพิ่มสัดส่วนเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นเจ้าของทีมรายใหม่ในที่สุด

กิ๊บสัน ติดอยู่ใน 500 อันดับแรกนักธุรกิจรวยที่สุดของ Sunday Times Rich List เขาทำเงินจากการก่อตั้งบริษัท Bulkhaul Limited เมื่อปี 1981 ขนส่งของเหลว, ก๊าซ รวมถึงผงแป้ง และเป็นเจ้าของโรงแรม Rockliffe Hall

ในฤดูกาล 2008/09 มิดเดิลสโบรช์ถูกหยุดสถิติสถานะทีมระดับพรีเมียร์ลีกไว้ที่ 11 ฤดูกาลติดต่อกัน หลังจากนั้นพวกเขากลับขึ้นมายอดพีระมิดลีกเมืองผู้ดีได้แค่ครั้งเดียว จาก 15 ฤดูกาลหลังสุด ในซีซั่น 2016/17

ส่วนเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ไมเคิล คาร์ริก เข้ามาคุมทีม “เดอะ โบโร่” ช่วงปลายเดือนตุลาคม ไต่จากท้ายตาราง ขึ้นมาจบในอันดับที่ 4 คว้าสิทธิ์ลุ้นเลื่อนชั้น ก่อนจะแพ้โคเวนทรี ในเกมเพลย์ออฟ รอบรองชนะเลิศ

มิลล์วอลล์ – การลงทุนในหุ้นนอกตลาด

จอห์น เบริลสัน มหาเศรษฐีจากสหรัฐอเมริกา ในนามของ Chestnut Hill Ventures ร่วมกับริชาร์ด สมิธ ลูกเขยของเขา เข้ามาเทคโอเวอร์มิลล์วอลล์ ในปี 2007 และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 93 เปอร์เซ็นต์

สำหรับ Chestnut Hill Ventures แหล่งทำเงินของเบริลสัน เป็นบริษัทร่วมลงทุนสัญชาติอเมริกัน มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มุ่งเน้นลงทุนในหุ้นที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ เช่น การเงิน, สื่อ และโทรคมนาคม

เบริลสัน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2023 ด้วยวัย 70 ปี และทายาทของครอบครัวเบริลสัน ได้เข้ามาสานต่อการบริหาร “เดอะ ไลออนส์” แต่ก็ไม่ปิดโอกาสที่จะขายสโมสรให้กับนักลงทุนที่สนใจ

ตลอด 16 ปีของเบริลสัน แฟมิลี่ ในการเป็นเจ้าของสโมสร ผลงานของทีมสิงโตแห่งลอนดอน ขึ้น-ลงระหว่างเดอะ แชมเปี้ยนชิพ กับลีก วัน สลับกันเป็นช่วงๆ ส่วนการแข่งขันเมื่อฤดูกาลที่แล้ว จบในอันดับที่ 8 ของตาราง

นอริช ซิตี้ – หนังสือตำราอาหาร

ผู้ถือหุ้นหลักของนอริช ซิตี้ในปัจจุบัน ประกอบด้วยคู่สามี-ภรรยาอย่างไมเคิล วินน์-โจนส์ กับเดเลีย สมิธ มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 53 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมาร์ค แอตตานาสโอ นักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่ซื้อหุ้น 18 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2022

วินน์-โจนส์ ได้นำประสบการณ์ในการเป็นเชฟทางโทรทัศน์ของสมิธ มาเขียน ตีพิมพ์ และจำหน่ายหนังสือสอนทำอาหาร ที่ขายดีเป็นเวลากว่า 20 ปี ขณะที่แอตตานาสโอ เป็นเจ้าของทีม Milwaukee Brewers ในเมเจอร์ลีกเบสบอล

นอริช คือหนึ่งในสโมสรผู้ก่อตั้งพรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาล 1992/93 ก่อนตกชั้นรอบแรกในอีก 3 ปีต่อมา หลังจากนั้นพวกเขาก็ใช้ชีวิตอยู่ในลีกรองเสียเป็นส่วนใหญ่ และเคยตกต่ำถึงขั้นลงไปอยู่ในลีก วัน เมื่อฤดูกาล 2009/10 

ถ้านับเฉพาะ 5 ฤดูกาลหลังสุด “เดอะ คานารีส์” ขึ้นลงระหว่างพรีเมียร์ลีก กับลีกแชมเปี้ยนชิพ สลับกันไป ส่วนผลงานฤดูกาลที่แล้ว จบแค่อันดับที่ 13 ถ้าจะหวังลุ้นเลื่อนชั้นในซีซั่นนี้ คงต้องพยายามให้มากขึ้นกว่าเดิม

พลีมัธ อาร์ไกล์ – บริษัทการจัดการกองทุน

เมื่อปี 2019 ไซม่อน ฮัลเลียตต์ ได้สิทธิ์ในการบริหารสโมสรพลีมัธ อาร์ไกล์ หลังเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 97 เปอร์เซ็นต์ ก่อนขายหุ้น 20 เปอร์เซนต์ให้ Argyle Green LLC บริษัทการจัดการกองทุนของอเมริกา เมื่อปี 2020

สำหรับกลุ่ม Argyle Green LLC มีไมเคิล มินค์เบิร์ก เป็นผู้จัดการกองทุน นอกจากนี้ยังมีจอน เฮิร์สท์ ผู้บริหารลีกบาสเกตบอล NBA รวมถึงวิคเตอร์ เฮดแมน อดีตนักกีฬาฮอกกี้ NHL ของอเมริกา ดีกรีแชมป์ออล สตาร์ 4 สมัย

ฮัลเลียตต์ เป็นขาวเมืองพลีมัธโดยกำเนิด แต่ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุยังน้อย และสร้างรายได้จากการก่อตั้ง Harding Loevner บริษัทการจัดการกองทุนในรัฐนิวเจอร์ซีย์ จนได้รับสัญชาติอเมริกัน

ผลงานของ “เดอะ พิลกริมส์” เมื่อฤดูกาลที่แล้ว คว้าแชมป์ลีก วัน ด้วยคะแนนทะลุ 100 แต้ม ได้กลับสู่ลีกแชมเปี้ยนชิพเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี แต่ยังต้องรอเวลาสั่งสมความแข็งแกร่งก่อนลุ้นขึ้นพรีเมียร์ลีกในอนาคตต่อไป

เปรสตัน นอร์ทเอนด์ – ที่ดินเชิงพาณิชย์, ผับ และโรงแรม

เทรเวอร์ เฮมมิ่งส์ นักธุรกิจที่เกิดในกรุงลอนดอน แต่ไปเติบโตที่แลงคาเชียร์ ได้ซื้อกิจการของเปรสตัน นอร์ทเอนด์ ในปี 2010 ก่อนที่จะเสียชีวิตในวัย 86 ปี เมื่อปี 2021 ปัจจุบันนี้ เคร็ก ลูกชายของเขาเข้ามาบริหารงานแทน

แหล่งความมั่งคั่งหลักของครอบครัวเฮมมิ่งส์ มาจาก Northern Trust บริษัททำธุรกิจที่ดินเชิงพาณิชย์ พื้นที่กว่า 5,000 เอเคอร์ ทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งในปัจจุบันมีร้านค้า และสำนักงานมาเช่าพื้นที่แล้วกว่า 183 เอเคอร์

นอกจากนี้ Northern Trust ยังได้เข้าไปลงทุนใน Trust Inns บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสถานบันเทิง ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยแห่งในสหราชอาณาจักร และ Classic Lodges บริษัทที่ทำธุรกิจโรงแรม มีทั้งหมด 12สาขา ทั่วยูเค 

ในศตวรรษที่ 21 (นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา) “เดอะ ลิลลี่ไวส์” เคยเข้าชิงชนะเลิศ เกมเพลย์ออฟลุ้นเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 2 ครั้ง และจบลงด้วยความผิดหวังทั้งหมด ซึ่งพวกเขาก็หวังที่จะปลดล็อกให้ได้ในซีซั่นนี้

ควีนส์พาร์ค เรนเจอร์ส – บริษัทผลิตเหล็ก, ขนส่ง และบริษัทโฮลดิ้ง

ผู้ถือหุ้นหลักของควีนส์พาร์ค เรนเจอร์สในปัจจุบัน คือรูเบน เกนานาลิงแกม เจ้าสัวชาวมาเลเซีย และลาคซมี มิททาล มหาเศรษฐีชาวอินเดีย ซึ่งนำอามิต พาเทีย ลูกเขยของมิททาล เข้ามาเป็นประธานสโมสรตั้งแต่ปี 2018

เกนานาลิงแกม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของควีนส์พาร์ค สร้างรายได้จากธุรกิจในมาเลเซีย ทั้ง Westports Malaysia บริษัทที่ทำธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้ารายใหญ่ และ Total Soccer Growth บริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนด้านกีฬา

ขณะที่มิททาล ทำรายได้จากการก่อตั้ง ArcelorMittal บริษัทผลิตเหล็กในประเทศลักเซมเบิร์ก และเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 1.6 หมื่นล้านปอนด์ รวยสุดเป็นอันดับที่ 6 จากการจัดอันดับของ Sunday Times Rich List

แต่ความมั่งคั่งของเกนานาลิงแกม และมิททาล ไม่อาจช่วยให้ “คิวพีอาร์” กลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกได้เลย นับตั้งแต่ตกชั้นเมื่อซีซั่น 2014/15 สมัยที่โทนี่ เฟอร์นานเดส ผู้ก่อตั้งสายการบิน AirAsia ยังเป็นเจ้าของสโมสร

ร็อตเตอร์แฮม ยูไนเต็ด – อุปกรณ์ให้แสงสว่าง

เมื่อปี 2008 โทนี่ สจ๊วต และโจน สจ๊วต นักธุรกิจชาวอังกฤษ ได้ช่วยให้ร็อตเตอร์แฮม ยูไนเต็ด หลุดพ้นจากการถูกควบคุมกิจการ ด้วยการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร พร้อมกับถือหุ้นจำนวน 49 และ 46 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

โทนี่ สจ๊วต เริ่มต้นจากการเป็นช่างไฟฟ้าฝึกหัด ก่อนจะสร้างรายได้จากการก่อตั้ง ASD Lighting บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ให้แสงสว่างในเมืองร็อตเตอร์แฮม มีผลิตภัณฑ์หลักคือ หลอดไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้าน, สำนักงาน และถนน

ในยุคการบริหารของ 2 นักธุรกิจเมืองผู้ดี ร็อตเตอร์แฮมเริ่มต้นจากระดับลีก ทู หรือ ดิวิชั่น 4 ใช้เวลานานถึง 5 ฤดูกาล เลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 3 ตามมาด้วยการเลื่อนชั้นสู่ลีกระดับที่ 2 ด้วยการชนะเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

ผลงาน 7 ฤดูกาลหลังสุดของ “เดอะ มิลเลอร์ส” คือโย-โย่ คลับ ขึ้นลงสลับกันระหว่างลีกแชมเปี้ยนชิพ กับลีก วัน มาโดยตลอด ซึ่งเมื่อฤดูกาลที่แล้ว พวกเขาต้องลุ้นหนีตกชั้นจนถึงช่วงท้ายของซีซั่น ก่อนเอาตัวรอดได้สำเร็จ

เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ – อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง

เดชพล จันศิริ ประธานกรรมการบริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเทคโอเวอร์เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ เมื่อปี 2015 ต่อจากมิลาน แมนดาริช มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย ด้วยมูลค่า 37.5 ล้านปอนด์

แหล่งรายได้หลักของกลุ่มไทยยูเนี่ยน คือธุรกิจผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลก โรงงานของบริษัทตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีผลิตภัณฑ์อย่างเช่น ปลาทูน่ากระป๋อง, อาหารทะเลแปรรูป

เชฟฯ เวนส์เดย์ ในยุคของเดชพล จันศิริ แพ้เพลย์ออฟเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 2 ครั้ง แถมหล่นไปเล่นลีก วัน (ดิวิชั่น 3) อยู่ 2 ฤดูกาล ก่อนจะได้กลับคืนสู่ลีกแชมเปี้ยนชิพอีกครั้งในฤดูกาลนี้ หลังชนะเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

แต่การออกสตาร์ทซีซั่นนี้ของ “เดอะ เอาส์” ทำได้อย่างน่าผิดหวัง ส่งผลให้แฟนบอลกลุ่มหนึ่งของสโมสรได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้หัวเรือใหญ่ไทยยูเนี่ยน ออกมาประกาศไม่ให้เงินเพื่อสนับสนุนสโมสรอีกต่อไป

เซาแธมป์ตัน – เคเบิลทีวี และรายการโทรทัศน์

ทีมอันดับสุดท้ายของพรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาลที่แล้ว ปัจจุบันบริหารงานโดย ดราแกน โซลัค นักธุรกิจชาวเซอร์เบีย ที่ได้เข้ามาซื้อกิจการของสโมสรเซาแธมป์ตัน ต่อจากเกา จื้อเฉิง นักธุรกิจชาวจีน เมื่อเดือนมกราคม2022

โซลัค เข้าไปลงทุนใน Sport Republic บริษัทด้านการลงทุนในกรุงลอนดอน กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ และแคทเธอรีน่า เลียบเฮอร์ นักธุรกิจสุภาพสตรีชาวสวิตเซอร์แลนด์ ถือหุ้นอีก 20 เปอร์เซนต์

รายได้หลักของโซลัค มาจากการขายลิขสิทธิ์รายการทีวีและภาพยนตร์ ต่อมาได้เปิดตัวธุรกิจเคเบิลทีวีในเซอร์เบีย และจากนั้นได้ก่อตั้ง United Group บริษัทผู้ขายลิขสิทธิ์รายการทีวีในหลายประเทศแถบยุโรปตะวันออก

สำหรับ “เดอะ เซนต์ส” เคยอยู่ในพรีเมียร์ลีก 24 ฤดูกาล มากที่สุดในบรรดาสมาชิก 24 ทีมของลีกแชมเปี้ยนชิพ ซีซั่นนี้ แน่นอนว่า รุสเซลล์ มาร์ติน ผู้จัดการทีม ขอตั้งเป้าหมายพาทีมเลื่อนชั้นกลับมาภายในซีซั่นเดียว

สโตค ซิตี้ – บริษัทรับพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย

ครอบครัวของปีเตอร์ โคตส์ มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ผู้ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 16 จากการจัดอันดับของ Sunday Times Rich List ซึ่งมีสินทรัพย์สุทธิ 8.8 พันล้านปอนด์ ได้เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรสโตค ซิตี้ เมื่อปี 2006

เงินทุนของปีเตอร์ โคตส์ มาจาก Bet365 บริษัทรับพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย ซึ่งก่อตั้งโดยเดนิส ลูกสาวของเขา เมื่อปี 2000 เพราะมองเห็นโอกาสที่ว่าอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนโลกของการพนัน ซึ่งก็เป็นจริงตามที่คาดไว้

ช่วงเวลาที่โคตส์ แฟมิลี่ เข้ามาครอบครองสโตค ซิตี้ พวกเขาได้เลื่อนขั้นสู่พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร เมื่อฤดูกาล 2008/09 และรักษาสถานะบนยอดพีระมิด 10 ฤดูกาลติดต่อกัน จนถึงฤดูกาล 2017/18

หลังตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก “เดอะ พอตเตอร์ส” ไม่เคยกลับมาอยู่ในลีกสูงสุดอีกเลย จบซีซั่นในลีกรองระหว่างอันดับที่ 14, 15 และ 16 มาโดยตลอด แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ในการต่อสู้เพื่อกลับมาอยู่บนยอดพีระมิดในสักวันหนึ่ง

ซันเดอร์แลนด์ – การเกษตร และอาหารแปรรูป

คีริล หลุยส์-เดรย์ฟุส นักธุรกิจชาวฝรั่งเศสเชื้อสายสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาซื้อหุ้นส่วนน้อยของซันเดอร์แลนด์เมื่อปี 2021 ด้วยวัยเพียง 24 ปี ปัจจุบันกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 64 เปอร์เซ็นต์

สำหรับแหล่งรายได้ของหลุยส์-เดรย์ฟุส มาจากการสืบทอดกิจการของ Louis-Dreyfus Group ทำธุรกิจการเกษตร และอาหารแปรรูปรายใหญ่ของฝรั่งเศส โดยมีมาการิต้า คุณแม่ของคีริล ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท

ซันเดอร์แลนด์ เคยทำสถิติอยู่ในพรีเมียร์ลีก 10 ฤดูกาลติดต่อกัน ตั้งแต่ฤดูกาล 2007/08 จนถึงฤดูกาล 2016/17 และเคยดำดิ่งลงไปอยู่ในลีกวัน นานถึง 4 ปี ก่อนที่ในซีซั่น 2021/22 ชนะเพลย์ออฟคัมแบ็กลีกแชมเปี้ยนชิพ

ส่วนผลงานเมื่อฤดูกาลที่แล้ว “เดอะ แบล็กแคตส์” จบในอันดับที่ 6 แต่พลาดการเลื่อนชั้น หลังแพ้ลูตัน ทาวน์ ในเกมเพลย์ออฟ รอบรองชนะเลิศ ซึ่งในฤดูกาลนี้พวกเขาขอทุ่มสุดตัว เพื่อกลับสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งให้ได้

สวอนซี ซิตี้ – เอเย่นต์นักกีฬา และทีมกีฬา

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 สติเฟ่น แคปเลน และเจสัน เลวีน 2 นักธุรกิจชาวอเมริกัน ซื้อหุ้นสวอนซี ซิตี้ จำนวน 68 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมี Swansea City Supporters Trust ที่ถือหุ้นอยู่ 21 เปอร์เซ็นต์

แคปเลน มีรายได้จากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Oaktree Capital Management บริษัทจัดการสินทรัพย์ระดับโลกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทของเขา ยังได้เข้าไปซื้อหุ้นส่วนน้อยของเมมฟิส กริซลี่ส์ ทีมบาสเกตบอล NBA ด้วย

ทางด้านเลวีน มีเงินทุนจากกการเปิดบริษัทเอเย่นต์กีฬา ซึ่งดูแลนักกีฬาในวงการอเมริกันเกมส์หลายคน พร้อมกับเป็นเจ้าของ DC United ทีมฟุตบอลในศึกเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ (MLS) ของอเมริกา ร่วมกับแคปเลน

สำหรับ “เดอะ สวอน” เคยอยู่ในพรีเมียร์ลีก 7 ฤดูกาลติดต่อกัน ตั้งแต่ฤดูกาล 2011/12 ถึง 2017/18 หลังจากนั้น พวกเขาเคยเฉียดเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดในซีซั่น 2020/21 แต่แพ้เบรนท์ฟอร์ด ในเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

วัตฟอร์ด – เครื่องมือไฟฟ้า และทีมฟุตบอล

ครอบครัวปอซโซ่ เจ้าสัวจากประเทศอิตาลี ได้เข้ามาเทคโอเวอร์วัตฟอร์ด ต่อจากลอเรนซ์ บาสซินี่ นักธุรกิจชาวอังกฤษ เมื่อช่วงซัมเมอร์ปี 2012 โดยจิโน่ ปอซโซ่ ลูกชายของจามเปาโล ปอซโซ่ รับหน้าที่เป็นเจ้าของสโมสร

จามเปาโล ปอซโซ่ เริ่มต้นสร้างรายได้จากการก่อตั้ง Freud บริษัทผลิตโลหะและวิศวกรรมเครื่องกลในอิตาลี เมื่อปี 1960 ก่อนจะควบรวมกิจการกับ Bosch บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องมือไฟฟ้าของเยอรมนี ตั้งแต่ปี 2008

ต่อมา ปอซโซ่ แฟมิลี่ ได้หันมาลงทุนในสโมสรฟุตบอล โดยก่อนที่จะมาซื้อวัตฟอร์ด ได้ซื้ออูดิเนเซ่ ในอิตาลี เมื่อปี 1986 และกรานาด้า ในสเปน เมื่อปี 2009 แต่ในภายหลังได้ขายกิจการของอูดิเนเซ่ และกรานาด้าไปแล้ว

ในยุคที่จิโน่ ปอซโซ่ เป็นเจ้าของ “เดอะ ฮอร์เนตส์” เคยโลดแล่นอยู่ในพรีเมียร์ลีก 6 ฤดูกาล แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมไม่น้อยกว่า 10 คนก็ตาม ซึ่งหนล่าสุดที่พวกเชาได้เล่นในลีกสูงสุด คือฤดูกาล 2020/21

เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน – การออกแบบและก่อสร้าง

เมื่อปี 2016 ไล่ กั๋วฉวน มหาเศรษฐีจากประเทศจีน ได้เข้ามาซื้อกิจการของเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน สโมสรระดับพรีเมียร์ลีกในเวลานั้น ต่อจากเจเรมี่ เพียร์ซ นักธุรกิจชาวอังกฤษ ด้วยมูลค่าราว 175 ล้านปอนด์

แหล่งทำรายได้ของไล่ กั๋วฉวน มาจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Palm Eco Town Development บริษัทด้านการออกแบบและก่อสร้าง ก่อนที่อีกไม่กี่ปีต่อมา จีนได้เกิดภาวะฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ตลอด 7 ปี ภายใต้นายทุนจากแดนมังกร มีประเด็นที่ถูกวิจารณ์อยู่หลายเรื่อง แถมผลงานในสนามก็น่าผิดหวัง ตกชั้นในซีซั่น 2017/18 แม้จะกลับขึ้นพรีเมียร์ลีกในซีซั่น 2020/21 แต่อยู่ได้แค่ซีซั่นเดียวก็กลับสู่ลีกรองอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม “เดอะ แบ็กกีส์” อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของทีมในอีกไม่ช้า หลังมีข่าวว่า โมฮัมเหม็ด เอลกาชาชี่ นักธุรกิจชาวอียิปต์ กำลังเจรจาซื้อหุ้นบางส่วน ก่อนจะเทคโอเวอร์เต็มรูปแบบในอนาคต

ทั้ง 24 สโมสรในลีกแชมเปี้ยนชิพ ต่างอยู่ห่างจากยอดบนสุดของพีระมิดฟุตบอลอังกฤษเพียงก้าวเดียวเท่านั้น การเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก คือขุมทรัพย์ที่จะทำให้การเงินสโมสรมีความมั่นคงไปอีกหลายปี

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://theathletic.com/4667669/2023/07/17/championship-owners-money/

– https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_owners_of_English_football_clubs

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Premier_League_clubs

– https://en.wikipedia.org/wiki/Sunday_Times_Rich_List_2023

Categories
Football Business

การกลับมาของ “ฟีฟ่า เอเย่นต์” เพื่อจัดระเบียบนายหน้าลูกหนังครั้งใหม่

  • รายได้ต่อปีของเอเย่นต์ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษในปัจจุบัน อยู่ระหว่าง 2 หมื่นปอนด์ ถึง 26.8 ล้านปอนด์
  • ฟีฟ่า กลับมาใช้กฎระเบียบการสอบใบอนุญาตเอย่นต์ฟุตบอลอีกครั้ง หลังยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2015
  • ในปัจจุบัน ผู้ที่ผ่านการสอบทั้ง 2 รอบ ในปี 2023 และผู้ที่มีใบอนุญาตเดิม มีประมาณ 4,500 คน

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 เป็นต้นไป สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้นำระบบ “FIFA Agent” กลับมาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อการจัดระเบียบเอเย่นต์ในวงการฟุตบอลที่เข้มงวดมากขึ้น

โดยผู้ที่สอบผ่านตามกฎ FIFA Agent Regulations ที่มีการปรับปรุงใหม่ จะได้รับใบอนุญาตให้ทำหน้าที่ตัวแทนของนักฟุตบอล รวมถึงผู้ฝึกสอน และสโมสรฟุตบอล ในการทำธุรกรรมต่างๆ ระหว่างประเทศ

วงการฟุตบอลในปัจจุบันที่มีความเป็นธุรกิจมากขึ้น และด้วยเม็ดเงินที่เพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การแข่งขันที่เข้มข้นกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของอาชีพ “เอเย่นต์” ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล

หลายๆ คน ที่ได้เข้ามาทำอาชีพนายหน้าในวงการกีฬา อาจได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง “เจอร์รี่ แม็คไกวร์” ที่ทอม ครูซ พระเอกของเรื่อง รับบทเป็นเอเย่นต์นักกีฬาผู้มีความทะเยอทะยาน

ซูเปอร์เอเย่นต์ในวงการฟุตบอล ที่มีอิทธิพลอย่างมาก เช่น ฮอร์เก้ เมนเดส หรือมิโน่ ไรโอล่า (ผู้ล่วงลับ) ถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบรรดาเอเย่นต์ในปัจจุบัน และผู้ที่ต้องการจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในอนาคต

กว่าจะมาเป็น “นายหน้าค้านักเตะ”

ในวงการฟุตบอล เอเย่นต์ คือตัวแทนหรือคนกลางที่เป็นที่ปรึกษา และรับผิดชอบในด้านต่างๆ ของนักฟุตบอล หรือผู้ฝึกสอน เช่น การเจรจาสัญญา, การดูแลสิทธิประโยชน์, การดูแลภาพลักษณ์ เป็นต้น

คุณสมบัติที่สำคัญของเอเย่นต์ฟุตบอล จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย, การจัดการธุรกิจฟุตบอลทั้งในและนอกสนาม รวมถึงสายสัมพันธ์กับนักฟุตบอลคนอื่น ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัว, สื่อมวลชน ฯลฯ

การเป็นเอเย่นต์ฟุตบอล อาจเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเอเย่นต์ให้ผ่าน หรือจะจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจากฟีฟ่า โดยที่ผู้ก่อตั้งบริษัทไม่จำเป็นต้องสอบใบอนุญาตเอเย่นต์ก็ได้

รายได้ของเอเย่นต์ฟุตบอล จะขึ้นอยู่กับจำนวนนักฟุตบอลที่เป็นลูกค้าประจำตัว รวมถึงชื่อเสียงของนักฟุตบอลแต่ละคน ถ้าหากเป็นนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ ก็มีโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งมหาศาลเลยทีเดียว

ขอบคุณภาพ : https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6

ตามกฎของฟีฟ่า เอเย่นต์จะได้ส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการเซ็นสัญญา แต่ก็มีบ้างที่มาจากค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนที่ตกลงกับสโมสร แต่โดยรวมแล้วต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสัญญาทั้งหมดต่อปี

อ้างอิงจากข้อมูลในเว็บไซต์ของ Sports Management Worldwide ระบุว่า เอเย่นต์ของนักเตะในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 2 หมื่นปอนด์ แต่เอเยนต์บางคนอาจมีรายได้สูงถึง 26.8ล้านปอนด์

ฤดูกาล 2022/23 ทั้ง 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก ได้จ่ายเงินให้ “นายหน้าค้านักเตะ” รวมกัน 318.2 ล้านปอนด์ โดยทีมที่เสียเงินมากที่สุดคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (51.5 ล้านปอนด์) และทีมที่เสียเงินน้อยที่สุดคือ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ (4.3 ล้านปอนด์)

ในปัจจุบันนี้ มีเอเย่นต์นักฟุตบอลมากกว่า 2,000 คน ที่ลงทะเบียนกับเอฟเอ เมื่อมีดีลย้ายสโมสร, ต่อสัญญา หรือยกเลิกสัญญา แต่จากนี้ไป ผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตเอเย่นต์ต้องเข้ารับการสอบตามกฎระเบียบใหม่ของฟีฟ่า

จากระบบคนกลาง กลับสู่ระบบสอบ

ในอดีต ฟีฟ่าเคยมีการจัดสอบเอเยนต์นักฟุตบอลมาก่อน แต่ได้ยกเลิกไปในปี 2015 และนำระบบคนกลาง (Intermediaries) มาใช้แทน เนื่องจากพบปัญหาสำคัญในระบบเอเยนต์นักฟุตบอล 3 ประการ ได้แก่

– ความไม่มีประสิทธิภาพในการออกใบอนุญาตฟีฟ่า เอเย่นต์ ของสมาคมฟุตบอลในหลาย ๆ ประเทศ

– การโยกย้ายนักฟุตบอลที่กระทำโดยฟีฟ่า เอเย่นต์ มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้

– ความไม่ชัดเจนในเรื่องข้อบังคับระหว่างคนที่ทำหน้าที่เอเย่นต์ของนักฟุตบอล กับตัวแทนของสโมสรต่าง ๆ

สำหรับ “ระบบคนกลาง” มีเป้าหมายในการสร้างความโปร่งใส โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้ จะต้องลงทะเบียนกับฟีฟ่า และมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรกับสโมสร หรือนักฟุตบอลที่ตนเองเกี่ยวข้อง

ส่วนค่าตอบแทนของคนกลาง ฟีฟ่าแนะนำว่า ให้เรียกได้ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสัญญา หรือค่าจ้าง แต่ก็สามารถเรียกค่าตอบแทนเท่าที่ต้องการ และต้องเปิดเผยค่าตอบแทนที่ได้รับจากสัญญาให้ฟีฟ่าทราบด้วย

แต่ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ระบบคนกลางมีการกอบโกยผลประโยชน์อย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้ฟีฟ่าตัดสินใจยกเครื่องอาชีพเอเย่นต์เสียใหม่ ด้วยการกลับมาใช้ระบบจัดสอบฟีฟ่า เอเยนต์อีกครั้งในรอบ 8 ปี

ผู้ที่มีใบอนุญาตจากฟีฟ่าเท่านั้น ที่จะสามารถทำหน้าที่เอเย่นต์ได้ ทำให้สมาชิกในครอบครัวของนักฟุตบอล ที่เคยเป็นเอเย่นต์จากระบบคนกลาง จำเป็นจะต้องสอบฟีฟ่า เอเย่นต์ให้ผ่านตามกฎระเบียบใหม่ด้วย

เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เมื่อฟีฟ่ามีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่สำหรับผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนเจรจาในวงการฟุตบอล โดยใช้วิธีการสอบเพื่อให้ได้รับใบอนุญาต จึงไม่ใช่เรื่องง่ายของหลาย ๆ คน ที่ต้องการจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในวงการลูกหนัง

วิธีการเตรียมตัวสอบ ยกตัวอย่างเช่น ดาวน์โหลดคู่มือการเป็นเอเย่นต์นักฟุตบอลที่มีความหนาประมาณ 500 หน้าจากเว็บไซต์มาศึกษาเอง หรือการเปิดติวสอบทั้ง Online และ On-site คิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมง เป็นต้น

ในวันสอบ ผู้เข้าสอบจะต้องทำข้อสอบในรูปแบบปรนัย หรือมีตัวเลือก ตามชุดข้อสอบที่ระบบสุ่มเลือกมาให้แต่ละคน จำนวน 20 ข้อ ภายในเวลา 1 ชั่วโมง และต้องตอบถูกอย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15 ข้อ จึงจะถือว่าสอบผ่าน

สำหรับในการสอบครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน 2023 มีผู้สมัครเข้ามาในระบบ 6,586 คน จาก 138 สมาคมฟุตบอลทั่วโลก ในจำนวนนี้ เข้ามาทำการสอบ 3,800 คน และสอบผ่าน 1,962 คน (คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์)

และการสอบครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน 2023 มีผู้สมัครเข้ามาในระบบ 10,383 คน จาก 157 สมาคมฟุตบอลทั่วโลก ซึ่งนับจนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจากการสอบทั้ง 2 รอบ และผู้ที่มีใบอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว รวมกันไม่น้อยกว่า 4,500 คน

ผู้ที่สอบไม่ผ่าน ก็สามารถสอบใหม่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนกว่าจะสอบผ่าน เพียงแต่ไม่ได้จัดสอบบ่อยๆ ในแต่ละปี ซึ่งพวกเขาต้องเตรียมตัวให้ดีกว่าเดิม เพราะคนที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ ต้องเป็นคนที่เจ๋งจริง ๆ เท่านั้น

ขอบคุณภาพ : https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6

เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนลุยสนามสอบ

หลังจากการสอบ FIFA Football Agent Examination ในปี 2023 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และยังมีอีกหลายคนที่สนใจจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในวงการฟุตบอล ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ก่อนเข้าสู่ห้องสอบ

สำหรับปี 2024 ก็จะมีการเปิดรับสมัคร และสอบ 2 ครั้งเช่นเดิม ครั้งที่ 1 รับสมัครระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม (สอบประมาณเดือนพฤษภาคม) ส่วนครั้งที่ 2 รับสมัครระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน (สอบประมาณเดือนพฤศจิกายน)

เมื่อถึงช่วงเวลาที่เปิดรับสมัคร ให้สมัครผ่านเว็บไซต์ agents.fifa.com และจะแจ้งรายละเอียดในการสอบให้ทราบอีกครั้งผ่านอีเมลของผู้สมัครสอบ และระบบ FIFA Agent Platform ส่วนภาษาที่ใช้สอบ มีให้เลือกระหว่างอังกฤษ, สเปน หรือ ฝรั่งเศส

คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครสอบเพื่อขอใบอนุญาตการเป็นเอเย่นต์ฟุตบอลตามระเบียบของ FIFA (Eligibility Requirement)

a) คุณสมบัติ ณ วันที่ยื่นใบสมัคร

– กรอกใบสมัครตามความจริงอย่างครบถ้วนทุกประการ

– ไม่เคยได้รับโทษในคดีอาญา

– ไม่เคยถูกลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมกีฬาจากองค์กรกีฬาใดเป็นเวลามากกว่า 2 ปี อันเนื่องมาจากละเมิดกฎระเบียบและจริยธรรมทางวิชาชีพ

– ไม่เป็นพนักงานของ FIFA, สหพันธ์ฟุตบอลของทวีป, สมาคมกีฬาฟุตบอลของประเทศต่างๆ, ฟุตบอลลีก, สโมสรฟุตบอล รวมถึง องค์กรใดๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานข้างต้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

– ไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ สโมสร, อคาเดมี และ ฟุตบอลลีก

b) ไม่เคยตรวจพบว่าทำหน้าที่เอเยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมาก่อนยื่นใบสมัคร

c) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือ กรรมการบริษัทขององค์กรที่ถูกฟ้องล้มละลาย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

d) ไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์หรือส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันกีฬาทุกชนิดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา 

ผู้ที่สอบผ่าน จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตเป็นจำนวนเงิน 600 ฟรังก์สวิส (คิดเป็นเงินไทย ประมาณ 24,000บาท) ภายใน 90 วัน หลังจากสอบผ่าน และเป็นค่าใช้จ่ายแบบรายปี เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ก็สามารถทำงานได้ทันที

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เอเย่นต์คือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฟุตบอลให้เดินหน้าต่อไป อีกทั้งเป็นช่องทางสำหรับผู้มีความฝันที่ต้องการจะทำงานในวงการฟุตบอล เพื่อกอบโกยรายได้มหาศาลจากอาชีพนี้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://thaipublica.org/2016/04/tpl-10/

https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6

– https://theathletic.com/4420448/2023/04/19/agents-exams-fifa/

https://www.thefa.com/news/2023/mar/31/publication-of-payments-and-transactions-310323

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11987207/Agents-futures-line-sit-FIFA-exam-fears-80-cent-fail.html

https://digitalhub.fifa.com/m/1e7b741fa0fae779/original/FIFA-Football-Agent-Regulations.pdf

https://digitalhub.fifa.com/m/1c21b25b00c6dec8/original/FIFA-Football-Agent-Exam-Study-Materials.pdf

Categories
Football Business

เมื่อ “ลิเวอร์พูล” จับมือพาร์ทเนอร์ใหม่ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน

นับตั้งแต่กลุ่มเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) เข้ามาซื้อกิจการของลิเวอร์พูล เมื่อปี 2010 ในช่วงที่สโมสรเกือบจะล้มละลาย แต่ด้วยการบริหารที่ชาญฉลาด ทำให้สถานการณ์ทางการเงินดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ลิเวอร์พูลสูญเสียรายได้ราว 100 ล้านปอนด์ แถมมีการลงทุนเพื่อพัฒนาสโมสรในเรื่องที่จำเป็นอยู่หลายเรื่อง ทำให้พวกเขาต้องการหาเงินทุนเพิ่มเติม

ล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา หงส์แดงได้รับข่าวดี เมื่อตกลงขายหุ้นส่วนน้อยให้กับไดนาสตี้ อิควิตี้ (Dynasty Equity) บริษัทลงทุนด้านกีฬาระดับโลก ซึ่งมีมูลค่าอยู่ระหว่าง 82-164 ล้านปอนด์

หากคำนวณจากมูลค่าของลิเวอร์พูล อ้างอิงจากการประเมินของ Forbes ซึ่งอยู่ที่ 4.3 พันล้านปอนด์ (5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) พบว่าหุ้นส่วนน้อยคิดเป็น 2 – 4 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสโมสรในปัจจุบัน

ส่องสถานะการเงินลิเวอร์พูล

เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา Company House เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทในอังกฤษ ได้เผยแพร่เอกสารงบการเงินของ 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก รอบปีบัญชี 2021/22 สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2022

ลิเวอร์พูล มีรายได้รวมทั้งสิ้น 594.3 ล้านปอนด์ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยแบ่งเป็นรายได้จากสื่อ 260.8 ล้านปอนด์, รายได้เชิงพาณิชย์ 246.7 ล้านปอนด์ และรายได้จากแมตช์เดย์ 86.8 ล้านปอนด์

รายได้รวมของฤดูกาล 2021/22 เพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 2020/21 ถึง 107 ล้านปอนด์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่แฟนบอลสามารถกลับเข้าชมเกมในสนามได้ตลอดทั้งซีซั่น หลังจากต้องแข่งขันแบบปิดสนามในซีซั่นก่อนหน้า

ขณะที่ต้นทุนขาย, ค่าใช้จ่ายในการบริหาร และดอกเบี้ยจ่าย มียอดรวมทั้งหมด 615.8 ล้านปอนด์ ซึ่งเมื่อรวมกับผลประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับทั้งในและนอกสนาม ทำให้เหลือกำไรก่อนหักภาษี 7.5 ล้านปอนด์

ในส่วนของการจ้างงานภายในสโมสร ลิเวอร์พูลมีพนักงานประจำ 1,005 คน แบ่งเป็นพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล 713 คน, ผู้เล่น ผู้จัดการทีม สต๊าฟโค้ช 225 คน และเจ้าหน้าที่สนามดูแลสนามอีก 67 คน

ด้านพนักงานพาร์ท-ไทม์ ซึ่งมักจะทำงานเฉพาะวันที่มีการแข่งขัน มีทั้งหมด 1,930 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 2020/21 ที่มีเพียง 945 คน หรือคิดเป็น 51 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากไม่มีการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19

แต่การเพิ่มขึ้นของพนักงาน ก็ส่งผลถึงค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยลิเวอร์พูล ได้จ่ายค่าจ้างรวมกัน 366 ล้านปอนด์ เมื่อมาคำนวณสัดส่วนของค่าจ้างเมื่อเทียบกับรายได้ จะคิดเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้

มีการคาดการณ์ว่า ในรอบปีบัญชี 2022/23 ที่จะประกาศในช่วงต้นปี 2024 ค่าจ้างของลิเวอร์พูล จะเพิ่มขึ้นจากฤดูกาลก่อนหน้าราว 50 ล้านปอนด์ สวนทางกับรายได้รวมที่ลดลง จากผลงานในสนามที่ล้มเหลว

แม้ว่าในซีซั่น 2023/24 สนามแอนฟิลด์มีความจุมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ผลงานในสนามของลิเวอร์พูล 2.0 มีทิศทางที่ดีขึ้นมากกว่าซีซั่นที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด

เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่การเงินของลิเวอร์พูลจะกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง คือการได้สิทธิ์ไปยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาลหน้า ซึ่งมีการเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันใหม่ ที่จะมีรายได้เข้าสู่สโมสรมากขึ้นกว่าเดิม

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ทำความรู้จัก “ไดนาสตี้ อิควิตี้” 

สำหรับประวัติของไดนาสตี้ อิควิตี้ เป็นบริษัทด้านการลงทุนในกีฬาระดับโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกาถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2022 โดยมีโจนาธาน เนลสัน และดอน คอร์นเวลล์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

เนลสัน มีประสบการณ์การบริหารงานมาไม่น้อยกว่า 35 ปี เป็นผู้ก่อตั้ง Providence Equity Partners ที่ได้ลงทุนกับ Yankees Entertainment and Sports Network (YES) และยังทำงานร่วมกับเมจอร์ลีก ซอคเกอร์ด้วย

ทางด้านคอร์นเวลล์ อดีตหัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจของ Morgan Stanley บริษัทการเงินระดับโลก และมีประสบการณ์ในการทำข้อตกลงด้านกีฬาหลายประเภทในสหรัฐอเมริกา เช่น อเมริกันฟุตบอล, บาสเก็ตบอล และอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีเดวิด กินส์เบิร์ก รองประธานของเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (เอฟเอสจี) ที่เคยช่วยวิเคราะห์การหาเงินทุน เพื่อเจรจาการเทคโอเวอร์สโมสรลิเวอร์พูล เมื่อปี 2010 มาเป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้กับไดนาสตี้ อิควิตี้

ในเว็บไซต์ของไดนาสตี้ อิควิตี้ ได้อธิบายถึงแนวทางการดำเนินงาน ภายใต้เสาหลัก 4 ประการ ได้แก่

– ความซื่อสัตย์ : สร้างความร่วมมือที่ยั่งยืน โดยรักษาไว้ซึ่งความซื่อสัตย์, ความไว้วางใจ อีกทั้งมีความเคารพในทุกด้านของกระบวนการ และการโต้ตอบกับปัญหา

– ความรอบคอบ : ลงทุนด้วยความรอบคอบ เน้นวินัยในด้านการประกันความเสี่ยง, เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ, การวิเคราะห์ที่เข้มงวด, และการตัดสินใจที่ชาญฉลาด

– ความหลากหลาย : นำประสบการณ์และภูมิหลังที่หลากหลาย มาสู่การลงทุนด้านกีฬา ทำให้สามารถประเมินโอกาสและสถานการณ์จากมุมมองที่หลากหลาย

– การทำงานเป็นทีม : เชื่อว่าผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นได้ เมื่อยอมรับในจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการ และแนวทางการดำเนินกิจการที่เน้นการทำงานเป็นทีม

หลังจากบรรลุข้อตกลงในการร่วมทุน เนลสัน เปิดเผยว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นพันธมิตรกับเอฟเอสจี และสนับสนุนเกียรติประวัติอันน่าทึ่งของลิเวอร์พูล เพื่อเป็นการต่อยอดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างเรากับสโมสร”

ขณะที่คอร์นเวลล์ กล่าวเสริมว่า “ลิเวอร์พูลคือหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่โดดเด่นที่สุดในโลก ซึ่งมีฐานแฟนบอลทั่วโลกที่หลงใหลในสโมสร เราจะทำงานร่วมกับเอฟเอสจี เพื่อโอกาสในการเติบโตที่ยิ่งใหญ่สำหรับอนาคต”

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ไม่ได้ใช้ซื้อนักเตะและขายทีม

ก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2022 มีข่าวลือว่า เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป จะพิจารณาหานักลงทุนรายใหม่เพื่อเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร แต่ผ่านไป 3 เดือน เอฟเอสจีแถลงว่าเป็นเพียงการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เท่านั้น

การสูญเสียรายได้ในช่วงโควิด-19 ระบาด คือเหตุผลที่ไดนาสตี้ อิควิตี้ ได้เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนรายใหม่ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้สิน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อนักเตะใหม่ และไม่ใช่การส่งสัญญาณสู่การขายสโมสร

จากรายงานงบการเงินของ Company House ในรอบปีบัญชีล่าสุด (2021/22) ระบุว่า ลิเวอร์พูลมีหนี้สินจากสถาบันการเงิน 87.1 ล้านปอนด์ ลดลงจากรอบปีบัญชี 2020/21 ที่มีหนี้สิน 126.9 ล้านปอนด์

อย่างไรก็ตาม เงินจำนวน 50 ล้านปอนด์ ที่ใช้ในการสร้างเคิร์กบี้ สนามซ้อมแห่งใหม่ รวมถึง 12 ล้านปอนด์ ที่ซื้อเมลวูด สนามซ้อมเดิมเพื่อให้ทีมฟุตบอลหญิงได้ใช้งานนั้น ไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในหนี้สินแต่อย่างใด

ส่วนการซื้อผู้เล่นใหม่ในตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ ปี 2023 ทีมของเจอร์เก้น คลอปป์ ใช้เงินไป 145 ล้านปอนด์ กับมิดฟิลด์ใหม่ 4 คน คือ โดมินิค โซบอสซไล, อเล็กซิส แม็คอลิสเตอร์, ไรอัน กราเวนเบิร์ช และวาตารุ เอ็นโด

ปัจจุบันนี้ ลิเวอร์พูลมีภาระค่าใช้จ่ายราว 80 ล้านปอนด์ ในการขยายอัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์ โร้ด ซึ่งเดิมทีจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม แต่ต้องล่าช้าออกไปเพราะ Buckingham Group บริษัทคู่สัญญาเกิดล้มละลาย

ไมค์ กอร์ดอน ประธานของเอฟเอสจี ยังคงยึดมั่นกับการมีส่วนร่วมในการบริหารลิเวอร์พูลเหมือนที่เคยเป็นมากว่า 13 ปี พร้อมมองว่า ไดนาสตี้ อิควิตี้ คือพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสมกับการเข้ามาร่วมลงทุนในระยะยาว

“คำมั่นสัญญาในระยะยาวของเรากับลิเวอร์พูล ยังคงเหมือนเดิม เราพูดอยู่เสมอว่า หากมีหุ้นส่วนที่เหมาะสมสำหรับสโมสร เราก็จะตามหาโอกาสเพื่อความคล่องตัวทางการเงินในระยะยาว และการเติบโตในอนาคต”

“เราเฝ้ารอที่จะสร้างความสัมพันธ์อันยาวนานกับไดนาสตี้ อิควิตี้ เพื่อเสริมสร้างสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และรักษาความทะเยอทะยานเพื่อสร้างความสำเร็จทั้งในและนอกสนาม” กอร์ดอน กล่าวปิดท้าย

แม้แฟนบอลบางส่วนจะผิดหวังที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสร แต่การปลดภาระหนี้สิน ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ลิเวอร์พูลมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง และความสำเร็จในสนามที่จะเดินหน้าต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://theathletic.com/4909947/2023/09/28/liverpool-investment-explained-fsg-dynasty-equity/

– https://www.telegraph.co.uk/football/2023/09/28/liverpool-us-investment-dynasty-equity-jurgen-klopp/

https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/who-dynasty-equity-fsg-sell-27804761

https://find-and-update.company-information.service.gov.uk/company/00035668/filing-history

https://swissramble.substack.com/p/liverpool-finances-202122

– https://find-and-update.company-information.service.gov.uk/company/00035668/filing-history

Categories
Special Content

ตลาดนักเตะพรีเมียร์ลีก 2023 ทุบสถิติใหม่ เปย์ทะลุ 2 พันล้านปอนด์

ตลาดซื้อขายนักเตะช่วงซัมเมอร์ปี 2023 ของพรีเมียร์ลีก ปิดทำการลงเรียบร้อย เมื่อคืนวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ตามเวลาของอังกฤษ ทั้ง 20 สโมสรในลีกสูงสุดเมืองผู้ดี ต่างเสริมทัพผู้เล่นกันอย่างคึกคัก

ยอดใช้จ่ายของทุกทีมในการซื้อนักเตะใหม่ในตลาดรอบนี้ รวมกันทะลุ 2 พันล้านปอนด์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดี อยู่ที่ 2.36 พันล้านปอนด์ ทุบสถิติเดิมที่ทำไว้เมื่อปี 2022 ลงอย่างราบคาบ

นั่นหมายความว่า ในฤดูกาล 2023/24 มีโอกาสสูงมากที่ยอดใช้จ่ายรวมทั้ง 2 รอบตลาด จะมากกว่าเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ที่ใช้เงินไป 2.74 พันล้านปอนด์ อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่ยอดรวมจะแตะถึง 3 พันล้านปอนด์

พรีเมียร์ลีก ยังคงเป็นลีกฟุตบอลที่มีเงินสะพัดเหนือกว่าลีกอื่นๆ ในโลก และนี่คือบทสรุปทุกประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้น รวมถึงตัวเลข สถิติที่น่าสนใจ ตลอดช่วงเวลาการซื้อขายของตลาดนักเตะฤดูร้อนปีนี้

สุดยอดบิ๊กดีลในแดนกลาง

ภาพรวมการซื้อขายนักเตะในตลาดช่วงซัมเมอร์ 2022 เรียกได้ว่าจ่ายหนักที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะผู้เล่นในตำแหน่งกองกลาง หรือมิดฟิลด์ ที่ทุกสโมสรจ่ายเงินรวมกันเกิน 1 ฟันล้านปอนด์

บิ๊กดีลประจำตลาดรอบนี้ คือ มอยเซส ไกเซโด้ มิดฟิลด์ที่ย้ายจากไบรท์ตันไปเชลซี 115 ล้านปอนด์ ทุบสถิตินักเตะค่าตัวแพงสุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก แซงหน้าเอ็นโช่ เฟอร์นานเดซ ที่ซื้อมา 105 ล้านปอนด์

ตามมาด้วยอาร์เซน่อล ที่ทุ่มเงินมหาศาล เพื่อกระชากตัว 2 มิดฟิลด์อย่างดีแคลน ไรซ์ ที่ย้ายมาจากเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ด้วยค่าตัว 105 ล้านปอนด์ รวมถึงไค ฮาแวร์ตซ์ จากเชลซี ด้วยค่าตัว 65 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ลิเวอร์พูล กับปฏิบัติการผ่าตัดแดนกลางครั้งใหญ่ ได้มาถึง 4 คน คือ โดมินิค โซบอสซไล 60 ล้านปอนด์, อเล็กซิส แม็คอลิสเตอร์ 35 ล้านปอนด์, ไรอัน กราเวนเบิร์ช 34 ล้านปอนด์ และวาตารุ เอ็นโด 16 ล้านปอนด์

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้นักเตะใหม่ทดแทนในแดนกลางหลายคน อย่างเช่น มาเธอุส นูเนส จากวูล์ฟแฮมป์ตัน 55 ล้านปอนด์, เจเรมี่ โดคู จากแรนส์ 55 ล้านปอนด์ รวมถึงมาเตโอ โควาซิซ จากเชลซี 25 ล้านปอนด์

บรรดาทีมใหญ่อย่างเช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ดึงตัวเมสัน เมาท์ 65 ล้านปอนด์, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ในดีลของซานโดร โตนาลี่ 55 ล้านปอนด์ และท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ที่ได้ลายเซ็นของเจมส์ แมดดิสัน 45 ล้านปอนด์

ส่วนบิ๊กดีลในตำแหน่งอื่นๆ เช่น ยอสโก กวาร์ดิโอล กองหลังค่าตัว 77.6 ล้านปอนด์ (จากแอร์เบ ไลป์ซิก ไปแมนฯ ซิตี้) รวมถึงราสมุส ฮอยลุนด์ กองหน้าค่าตัว 72 ล้านปอนด์ (จากอตาลันตา ไปแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)

แข้งอายุน้อยค่าตัวไม่ธรรมดา

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของตลาดนักเตะฤดูร้อนปีนี้ คือดีลของนักเตะอายุน้อยอนาคตไกล ที่มีค่าฉีกสัญญาสูงขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งหลายสโมสรก็ยอมลงทุนเพื่อแลกกับการใช้งานไปอีกหลายปี

อายุเฉลี่ยของการเซ็นสัญญานักเตะใหม่ในตลาดซื้อขายของพรีเมียร์ลีก ช่วงซัมเมอร์ ปี 2023 อยู่ที่ 24.3ปี โดยมี 6 สโมสร ที่มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 23 ปี และมีเพียง 3 สโมสรเท่านั้น ที่มีอายุเฉลี่ยอย่างน้อย 26 ปี

ดีลหลักๆ อย่างเช่น เชลซี ที่ได้ 2 กองกลางดาวรุ่งอย่างโรมิโอ ลาเวีย (19 ปี) ย้ายมาจากเซาธ์แธมป์ตัน จ่ายค่าตัวไป 58 ล้านปอนด์ อีกคนคือโคล พาลเมอร์ (21 ปี) ย้ายมาจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ 45 ล้านปอนด์

ส่วนดีลอื่นๆ อย่างเช่น อเล็กซ์ สกอตต์ กองกลางบอร์นมัธ (20 ปี), เจมส์ แทร็ฟฟอร์ด ผู้รักษาประตูเบิร์นลี่ย์ (20 ปี) และคาเมรอน อาร์เชอร์ (21 ปี) กองหน้าเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ซึ่ง 3 คนนี้ มีค่าตัวรวมกัน 62.5 ล้านปอนด์ 

ซึ่งท็อป 5 ของนักเตะพรีเมียร์ลีกที่มีค่าตัวแพงสุดในตลาดรอบนี้ ล้วนมีอายุต่ำกว่า 25 ปีทั้งหมด คือ มอยเซส ไกเซโด้ (21 ปี), ดีแคลน ไรซ์ (24 ปี), ยอสโก กวาร์ดิโอล (21 ปี), ราสมุส ฮอยลุนด์ (20 ปี) และไค ฮาแวร์ตซ์ (24 ปี)

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/manchesterunited

ส่วนนักเตะอายุเกิน 25 ปี ที่ซื้อเข้ามาแพงที่สุด คือ อันเดร โอนาน่า ผู้รักษาประตูวัย 27 ปี ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (47.5 ล้านปอนด์) อีกคนคือเจมส์ แมดดิสัน กองกลางวัย 26 ปี ของสเปอร์ส (45 ล้านปอนด์)

หลายๆ สโมสร มักจะใช้วิธีซื้อนักเตะดาวรุ่งมาร่วมทีม และเซ็นสัญญายาวหลายปี เนื่องจากมองว่าค่าจ้างยังไม่แพง และเป็นการลงทุนในระยะยาว ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ค่าตัวจะแพงกว่าฝีเท้าหรือไม่

พลังดูดจากลีกซาอุดิอารเบีย

ในตลาดซื้อขายนักเตะช่วงซัมเมอร์ ปี 2023 มีปรากฎการณ์สำคัญเกิดขึ้น เมื่อสโมสรฟุตบอลจากประเทศซาอุดีอารเบีย ได้ดูดผู้เล่นดาวดังจากสโมสรในยุโรปไปมากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งพรีเมียร์ลีก อังกฤษ

ตัวอย่างเช่น ลิเวอร์พูล ปล่อย 3 นักเตะให้สโมสรในลีกซาอุฯ คือ โรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ กองหน้าวัย 31 ปี ไปอัล-อาห์ลี, ฟาบินโญ่ มิดฟิลด์ตัวรับวัย 29 ปี ไปอัล-อิตติฮัด และ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน อดีตกัปตันทีมวัย 33 ปี ไปอัล-เอตติฟาค

ส่วนกรณีของ โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ กองหน้าตัวเก่ง ที่ตกเป็นข่าวย้ายทีมเขย่าขวัญแฟนๆ “เดอะ ค็อป” รายวัน เนื่องจากอัล-อิตติฮัด ได้ยื่นข้อเสนอแบบจัดหนักระดับหลักร้อยล้านปอนด์ เพื่อหวังกระชากตัวไปร่วมทีมให้ได้

เชลซี ก็ปล่อยนักเตะสู่แดนเศรษฐีน้ำมัน 3 คนเช่นกัน ได้แก่ เอดูอาร์ เมนดี้ ผู้รักษาประตูวัย 31 ปี ไปอัล-อาห์ลี, เอ็นโกโล ก็องเต้ มิดฟิลด์ตัวรับวัย 32 ปี ไปอัล-อิตติฮัด และคาลิดู คูลิบาลี่ เซ็นเตอร์แบ็กวัย 32 ปี ไปอัล-ฮิลาล

ขณะที่ดีลอื่นๆ อย่างเช่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ปล่อยอายเมอริค ลาปอร์กต์ ไปให้อัล-นาสเซอร์ กับริยาด มาห์เรซ ไปให้อัล-อาห์ลี รวมถึงอัลลัน แซงต์-แม็กซิแมง จากนิวคาสเซิล ไปอัล-อาห์ลี และรูเบน เนเวส จากวูล์ฟส์ ไปอัล-ฮิลาล

รวมดีลสำคัญในวันเดดไลน์

ถ้านับเฉพาะการซื้อขายที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของตลาดนักเตะรอบนี้ คือวันที่ 1 กันยายน 2023 จะพบว่ามีดีลที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งหลายๆ สโมสรในพรีเมียร์ลีก ก็มีการปิดดีลนักเตะในวันตลาดวาย

น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ เซ็นสัญญานักเตะเข้ามาถึง 7 คน ซึ่งในจำนวนนี้ มีชื่อของอิบราฮิม ซานกาเร่ กองกลางจากพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น, คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย กองกลางจากเชลซี รวมถึงนิโคลัส โดมิงเกวซ กองกลางจากโบโลญญ่า

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปิดดีล 4 นักเตะ ได้แก่ อัลไต บายินดีร์ ผู้รักษาประตูจากเฟเนร์บาห์เช่, โซฟียาน อัมราบัต กองกลางจากฟิออเรนติน่า, เซร์คิโอ เรกีลอน ฟูลแบ็กซ้ายจากสเปอร์ส และจอนนี่ อีเวนส์ กองหลังฟรีเอเยนต์

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ลิเวอร์พูล เสริมผู้เล่นเพิ่มอีก 1 คนในวันปิดตลาด คือ ไรอัน กราเวนเบิร์ช มิดฟิลด์จากบาเยิร์น มิวนิค ขณะที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็ได้มิดฟิลด์ตัวใหม่อย่างมาเธอุส นูเนส ดาวเตะทีมชาติโปรตุเกส จากวูล์ฟแฮมป์ตัน

ส่วนดีลอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น เบรนแนน จอห์นสัน ย้ายจากฟอเรสต์ ไปสปอร์ส 45 ล้านปอนด์, อเล็กซ์ อิโวบี้ ย้ายจากเอฟเวอร์ตัน ไปฟูแล่ม 22 ล้านปอนด์ รวมถึงอันซู ฟาติ จากบาร์เซโลน่า ไปไบรท์ตัน ด้วยสัญญายืมตัว

ลีกลูกหนังช็อปบ้าคลั่งต่อเนื่อง

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ คือลีกที่ใช้เงินมากที่สุดในตลาดซื้อขายนักเตะช่วงซัมเมอร์ ปี 2023 เมื่อเทียบกับ 5 ลีกใหญ่ยุโรป นอกจากนี้ ยังเป็นตัวเลขที่ทุบสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดีอีกด้วย

เชลซี ยังคงเป็นทีมที่ครองแชมป์ช็อปช่วงฤดูร้อนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังทุ่มไปร่วม 400 ล้านปอนด์ แลกกับผู้เล่นใหม่ 10 คน ทุบสถิติเดิมของเรอัล มาดริด ที่ใช้ไป 292 ล้านปอนด์ ในช่วงเดียวกันของปี 2019

ซึ่งนับตั้งแต่ท็อดด์ โบห์ลี่ มหาเศรษฐีจากสหรัฐอเมริกา เข้ามาเป็นเจ้าของทีมคนใหม่ของสิงห์บูลส์เมื่อปี 2022 ได้ใช้เงินซื้อนักเตะใหม่เฉพาะ 3 รอบตลาดหลังสุด รวมกันแตะ 1 พันล้านปอนด์เรียบร้อยแล้ว

จากข้อมูลของดีลอยด์ (Deloitte) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก ระบุว่า ตัวเลข 2.44 พันล้านปอนด์ ในตลาดรอบนี้ ทำลายสถิติเดิมจากช่วงเดียวกันเมื่อปี 2022 ที่มียอดใช้จ่าย 1.92 พันล้านปอนด์

ข้อมูลสำคัญของ Deloitte จากตลาดซื้อขายนักเตะซัมเมอร์ปี 2023 มีดังต่อไปนี้

– ทีมในพรีเมียร์ลีก มียอดค่าใช้จ่ายคิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ ของการใช้เงินทั้งหมดใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป (อังกฤษ, เยอรมนี, อิตาลี, สเปน, ฝรั่งเศส)

– ทีมในพรีเมียร์ลีก ได้เงินค่าตัวนักเตะจากสโมสรในต่างประเทศ รวมกัน 550 ล้านปอนด์ ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2022 ที่ทำไว้ 210 ล้านปอนด์ หรือมากกว่ากันกว่า 2 เท่า

– ใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป มีเพียงลาลีกา สเปน ที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อนักเตะต่ำกว่าช่วงเดียวกันเมื่อฤดูกาลที่แล้ว

– ใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป มีเพียงพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และลีกเอิง ฝรั่งเศส ที่ใช้เงินซื้อนักเตะโดยเฉลี่ย มากกว่าการทำเงินจากการขายนักเตะ

– มีดีลนักเตะในพรีเมียร์ลีกที่ย้ายทีมด้วยค่าตัวอย่างน้อย 50 ล้านปอนด์ขึ้นไป ถึง 13 ดีล ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2021 และ 2022

ทิม บริดจ์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจการกีฬาของ Deloitte กล่าวว่า “การใช้จ่ายในตลาดนักเตะปีนี้ ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่า ทีมในพรีเมียร์ลีกอาจกลับมามีรายได้ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง หลังจากช่วงโควิด”

“มี 14 จาก 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก ที่เสริมผู้เล่นมากกว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มข้นของการแข่งขันที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากความกดดันที่สโมสรต่างๆ ได้กำหนดเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้น”

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/66688894

https://theathletic.com/4827472/2023/09/03/premier-league-spending-transfer-window/

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/09/02/transfer-window-2023-done-deals-premier-league-club-by-club/

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-12473083/Premier-League-clubs-SMASHED-gross-spending-record-one-transfer-window-single-league-summer-2-4-BILLION-splashed-players-end-deadline-day.html

https://www.transfermarkt.com/saudi-professional-league/transfers/wettbewerb/SA1

Categories
Special Content

จากเด็กติดพ่อที่หายใจเป็นฟุตบอล สู่ฉายา “เดอะ เน็กซ์ ปุสกัส” ของโซบอสไล

โดมินิก โซบอสไล (Dominik Szoboszlai) เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่คนที่ 2 ของลิเวอร์พูลในตลาดซัมเมอร์ปี 2023 ด้วยค่าตัว 60 ล้านปอนด์ แพงเป็นอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์สโมสร รองจากดาร์วิน นูนเญซ 85.36 ล้านปอนด์, เวอร์กิล ฟาน ไดจ์ค 75 ล้านปอนด์ และอลิสซง เบคเกอร์ 65 ล้านปอนด์

แม้อายุเพิ่ง 22 ปี แต่โซบอสไลมีดีกรีเป็นถึงกัปตันทีมชาติฮังการีโดยสวมปลอกแขน C นัดแรกกลางเดือนพฤศจิกายน 2022 เป็นแมตช์อุ่นเครื่องเสมอลักเซมเบิร์ก 2-2 และก่อนบอลยูโร 2024 รอบคัดเลือกในเดือนกันยายน 2023 โซบอสไลเล่นให้ทีมชาติ 32 นัด ทำ 7 ประตู 

ลิเวอร์พูลยังได้มอบเสื้อเบอร์ 8 ให้กับโซบอสไล ซึ่งเป็นหมายเลขที่ตำนานนักเตะ สตีเวน เจอร์ราร์ด ครอบครองยาวนานตั้งแต่ปี 2004 ถึง 2015 ก่อนว่างเว้น 3 ปี และถูกส่งต่อให้ นาบี กิเอตา ในปี 2018 จนกระทั่งมิดฟิลด์ทีมชาติกินีออกจากทีมเมื่อหมดสัญญากับสโมสรกลางปี 2023 นอกจากนี้ “สตีวี จี” ยังเป็น 1 ใน 2 นักเตะไอดอลวัยเด็กของโซบอสไล อีกคนคือ คริสเตียโน โรนัลโด

เจสซี มาร์ช อดีตผู้จัดการทีมลีดส์ ยูไนเต็ด ซึ่งเคยเป็นนายใหญ่ของโซบอสไลที่เรด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก เคยเปรียบเปรยอดีตลูกทีมชาวฮังกาเรียนว่า “โมเดิร์น-เดย์ เดวิด เบคแฮม” เพราะยามใดที่บอลอยู่เท้าขวา โซบอสไลสามารถส่งไปที่ไหนก็ได้ตามใจปรารถนา ด้วยความแม่นยำและความเร็วที่เหลือเชื่อ ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้คำว่า “สมัยใหม่” เนื่องจากโซบอสไลเคลื่อนที่มากกว่าและคล่องตัวมากกว่าเมื่อเทียบกับการเล่นฟุตบอลครั้งอดีต

มาร์ชยังเล่าด้วยว่า ช่วงพักผ่อนกับครอบครัวที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เขาเห็นใบหน้าโซบอสไลปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโซบอสไลดังขนาดไหนในบ้านเกิด ว่ากันว่าโซบอสไลเป็นความหวังและความภูมิใจของชาวฮังกาเรียนจนได้รับสมญานามว่า “เดอะ เน็กซ์ ปุสกัส” ซึ่งหมายถึง เฟเรนซ์ ปุสกัส ตำนานนักเตะผู้ยิ่งใหญ่ที่ทำ 83 ประตูจากการติดทีมชาติฮังการี 84 นัด

โซบอสไลถือว่าเติบโตบนถนนลูกหนังอาชีพอย่างรวดเร็ว ลงเตะให้ทีมชาติฮังการีชุดใหญ่นัดแรกตอนอายุ 19 ปี หลังจากเคยถูกเรียกตัวร่วมฝึกซ้อมตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี ส่วนระดับเยาวชน เขาเล่นให้ 10 นัดให้ทีมชาติ ยู-17, 5 นัดให้ทีมชาติ ยู-19 และ 8 นัดให้ทีมชาติ ยู-21

ขอบคุณภาพจาก  https://www.hungarianconservative.com/articles/opinion/dominik_szoboszlai_country_image_nonpolitics_historical_success/

เกียรติประวัติระดับสโมสร ที่เรด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก ครองแชมป์ ออสเตรียน บุนเดสลีกา 4 สมัยติดต่อกันในซีซัน 2017–18, 2018–19, 2019–20, 2020–21 ครองแชมป์ออสเตรียน คัพ 3 สมัยติดต่อกันในซีซัน 2018–19, 2019–20, 2020–21 และที่แอร์เบ ไลป์ซิก ชนะเลิศเดเอฟเบ โพคาล 2 สมัยติดต่อกันในซีซัน 2021–22, 2022–23

เริ่มออกผจญภัยในโลกฟุตบอลอันกว้างใหญ่ในวัย 16 ปี

ด้วยวัย 22 ปี โซบอสไลถือว่ามีฝีเท้าทักษะความสามารถเหนือมาตรฐานเฉลี่ยของนักเตะอายุใกล้เคียงกัน เล่นได้หลายตำแหน่งทั้ง บ็อกซ์-ทู-บ็อกซ์ มิดฟิลด์, มิดฟิลด์ตัวขวา และมิดฟิลด์ตัวรุก ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และสะสมประสบการณ์กีฬาลูกหนังตั้งแต่อายุยังน้อยร่วมกับ ซอลซ์ โซบอสไล คุณพ่อของเขาที่เคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เรื่องราวของ 2 พ่อลูกโซบอสไลมีแง่มุมที่น่าสนใจไม่น้อย แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวของซอลซ์และโดมินิก ขอใช้เนื้อที่ช่วงต้นบทความนี้ไปกับประวัติโดยย่อของโซบอสไลผู้ลูกกันก่อน

โดมินิก โซบอสไล เกิดวันที่ 25 ตุลาคม 2000 ที่เมืองซีแกชแฟแฮร์วาร์ (Székesfehérvár) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี ลงไปทางใต้ประมาณ 40 ไมล์ ชีวิตนักฟุตบอลเติบโตผ่านระบบเยาวชนของ วิดีโอตัน (2006–2007), โฟนิกซ์ โกลด์ (2007-2015), เอ็มทีเค บูดาเปสต์ (2015-2016) และ ลีฟแฟร์ริง (2016-2017) ซึ่งเป็นทีมสำรองของ เรด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก ในดิวิชัน 2 ประเทศออสเตรีย 

โซบอสไลได้เลื่อนขึ้นไปร่วมทีมชุดใหญ่ของ ลีฟแฟร์ริง ซึ่งแข่งขันอยู่ในลีกา 2 ประเทศออสเตรีย ซีซัน 2017-18 ประเดิมลงสนามในเดือนกรกฎาคม 2017 และจบซีซันด้วยสถิติ 33 นัด 10 ประตู แต่ปลายซีซัน มิดฟิลด์ดาวรุ่งได้รับโอกาสจากซัลซ์บวร์ ลงสัมผัสเกมออสเตรียน บุนเดสลีกา 1 นัด ถูกเปลี่ยนลงไปนาทีที่ 57 ของแมตช์กับออสเตรียน เวียนนา วันที่ 27พฤษภาคม 2018

ซีซัน 2018-19 โซบอสไลยังเล่นควบ 2 ทีม สถิติเฉพาะบอลลีก ลีฟแฟร์ริง 9 นัด 6 ประตู และซัลซ์บวร์ก 16 นัด 3 ประตู ซึ่งประตูแรกเกิดขึ้นในแมตช์กับแวคเกอร์ อินส์บรุค วันที่ 17 มีนาคม 2019 

ซีซัน 2019-20 โซบอสไลกลายเป็นตัวหลักของซัลซ์บวร์ก เล่นบอลลีก 27 นัดจากทั้งหมด 32 นัด ทำ 9 ประตู 14 แอสซิสต์ อีกทั้งได้ประเดิมสนามแชมเปียนส์ ลีก เป็นครั้งแรก ทำ 1 ประตูจาก 5 นัด และยังได้เตะรอบน็อคเอาท์ ยูโรปา ลีก อีก 2 นัด ที่สำคัญเขาได้รับตำแหน่งนักฟุตบอลยอดเยี่ยมประจำฤดูกาลของออสเตรียน บุนเดสลีกา

ซีซัน 2020-21 โซบอสไลอยู่กับทีมซัลซ์บวร์กได้ครึ่งฤดูกาล ก่อนมีข่าวเซ็นสัญญา 4 ปีครึ่งกับ แอร์เบ ไลป์ซิก เมื่อวันที่ 17ธันวาคม 2020 ด้วยค่าตัว 20 ล้านยูโร สร้างสถิติเป็นนักเตะฮังกาเรียนค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่โชคร้ายได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถลงสนามให้ Die Roten Bullen แม้แต่นัดเดียว

โซบอสไลเปิดตัวในยูนิฟอร์มไลป์ซิกนัดแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2021 เป็นการแข่งขันเดเอฟเบ โพคาล กับเอสเฟา ซานด์เฮาเซน เขาถูกเปลี่ยนตัวลงมานาทีที่ 78 และทำประตูแรกได้อีก 3 นาทีถัดมา โดย 2 ซีซัน โซบอสไลเล่นให้ไลป์ซิกรวมทุกรายการ 45 นัด 10 ประตูใน ซีซัน 2021-22 และ 46 นัด 10 ประตูใน ซีซัน 2022-23 พร้อมคว้าแชมป์เยอรมัน คัพ ทั้ง 2 ปี ก่อนย้ายไปร่วมทีม ลิเวอร์พูล ในเดือนกรกฎาคม 2023 ด้วยค่าฉีกสัญญา 70 ล้านยูโร

มีรายงานว่า ลิเวอร์พูลใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์จบดีลนี้ เริ่มต้นเปิดโต๊ะเจรจากับ มัตยาส เอสเตอร์ฮาซี ตัวแทนของโซบอสไลในวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2023 ก่อนเงื่อนไขฉีกสัญญาหมดอายุที่เยอรมนีเพียง 5 วัน และได้ข้อสรุปในวันศุกร์ ทำให้โซบอสไลต้องยกเลิกโปรแกรมวันหยุดพักผ่อนที่โครเอเชียก่อนกำหนด 

โซบอสไลเล่าว่า “พวกเรากำลังสนุกสนานกัน แต่จู่ๆเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เอเยนต์ของผมแจ้งว่า ตอนนี้นายต้องหยุดกิจกรรมบันเทิงเริงรมย์ ต้องดูแลตัวเองดีๆ เพราะนายต้องย้ายสโมสรแล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก แค่ 2-3 วันเท่านั้นเอง แต่ผมสัมผัสได้ตั้งแต่วันแรกแล้ว ผู้จัดการ (เยอร์เกน คลอปป์) โทรคุยกับผม ซึ่งนั่นเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายแล้วว่า โอเค ผมต้องการไปอยู่กับลิเวอร์พูล จากนั้นเอเยนต์ก็คุยกับสโมสร แล้ว 2 สโมสรก็คุยกัน”

โซบอสไลให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาถึงเป้าหมายว่า “ผมคิดว่าทุกคนในพรีเมียร์ลีกที่มีโอกาสชนะ พวกเขาต่างปรารถนาคว้าชัยชนะเสมอ พวกเราต่างคิดเหมือนๆกัน ผมก็คิดเหมือนกัน ผมเป็นคนประเภทนั้น คนที่ชอบชนะ ผมจะทำทุกอย่างเพื่อทีม ถ้าถามว่าผมต้องการครองแชมป์พรีเมียร์ลีกไหม แน่นอน ผมต้องการชนะเลิศ เช่นเดียวกับยูโรปา ลีก และเอฟเอ คัพ ผมต้องการแชมป์ ทุกอย่างที่เราสามารถทำได้ในปีนี้ ผมต้องการชนะทุกสิ่งเพราะไม่มีใครมาถามคุณหรอกว่า รู้สึกอย่างไรที่ได้อันดับ 2”

อายุ 3 ขวบ พ่อจับหัดเลี้ยงบอลหลบขวดพลาสติก

ตอนที่โซบอลไลเกิด คุณพ่อ (ซอลท์) อายุ 23 ปี คุณแม่ (ซาเนตต์) อายุเพิ่ง 19 ปี ซอลท์เริ่มหัดลูกชายเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ให้เลี้ยงบอลหลบขวดพลาสติกที่วางอยู่บนพื้นภายในบ้านเพราะไม่มีสวนหรือสนามหญ้า

“ถ้าขวดมีน้ำเต็ม มันค่อนข้างง่ายกว่า ถ้าขวดล้ม ผมก็ต้องเริ่มต้นเลี้ยงลูกใหม่ ผมเลี้ยงไปเรื่อยๆจนกว่ามันจะไม่ล้ม ผมทุ่มเทความพยายามจนกระทั่งการเลี้ยงสมบูรณ์แบบ พ่อยังให้ผมเล่นบอลขณะมือกำลูกกอล์ฟด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าผมไม่ทำฟาวล์ด้วยการใช้มือไปดึงเสื้อใคร พ่อไม่อยากให้ผมเติบโตด้วยนิสัยชอบทำฟาวล์ พ่อชอบให้ทำอะไรเพี้ยนๆแบบนั้นแหละ”

โซบอสไลเปิดเผยว่า คริสเตียโน โรนัลด์ และ สตีเวน เจอร์ราร์ด เป็นไอดอลหรือแบบอย่างในเรื่องความทุ่มเททำงานและแพสชันฟุตบอล “แต่พ่อเป็นแรงบันดาลมีอิทธิพลยิ่งใหญ่ต่อตัวผมมากที่สุด เราแทบจะทำทุกอย่างด้วยกัน คนเกือบ 90เปอร์เซ็นต์อาจเติบโตด้วยการอยู่กับแม่ แต่ผมอยู่กับพ่อทั้งวัน ผมเจอแม่แค่ตอนเช้า จากนั้นก็ไปขลุกอยู่กับพ่อ”

“ผมฝึกซ้อมกับพ่อมายาวนานมาก เขาเป็นโค้ชของผม สิ่งที่เรียนรู้เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องเทคนิคและการยิง จนกระทั่งย้ายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเรด บูลล์ ทั้งที่ซัลซ์บวร์กและไลป์ซิก ผมจึงได้เรียนรู้การเล่นกับลูกบอล แล้วก็เรื่องระบบ ทำให้ผมรู้จักยืนตำแหน่งเบอร์ 8 เบอร์ 10 บางทีครั้งก็เบอร์ 6 ผมเพียงพยายามเรียนรู้ทุกอย่างจากตรงนั้น แต่ชีวิตช่วงแรกค่อนข้างยากที่ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีเพื่อนฝูง ผมมีแฟนแล้วตอนนั้น ผมพูดภาษาไม่ได้ทั้งอังกฤษหรือเยอรมัน” โซบอสไลย้อนอดีตเมื่อครั้งต้องออกจากประเทศบ้านเกิดขณะอายุเพียง 16 ปี

มาอ่านเรื่องราวที่เล่าจากปากของซอลท์ โซบอสไล ซึ่งเคยเล่นฟุตบอลอาชีพลีกล่างในตำแหน่งหน้าต่ำ กันบ้าง “ทันทีที่โดมินิกเดินได้ ผมก็ให้ลูกบอลกับเขา เขามักมาดูผมแข่งขันด้วย เหมือนเขาจะสนุกกับมันนะ”

ประมาณปี 2007 ตอนโดมินิกอายุ 7 ขวบ หลังถูกวิดีโอตันปล่อยออกจากทีม ซอลท์ได้ร่วมก่อตั้งสถานบันสอนฟุตบอลที่ชื่อว่า โฟนิกซ์ โกลด์ ซึ่งที่นี่ โดมินิกมีโอกาสร่วมฝึกซ้อมทุกวัน “ถ้าไม่อยู่ที่โรงเรียน โดมินิกก็จะอยู่ที่สนามซ้อม” ขณะที่โดมินิกเล่าถึงชีวิตวัยเด็กว่า “ผมจำไม่ได้นะว่าเคยมีตัวต่อเลโกหรือตุ๊กตาหรือเปล่า สิ่งที่ผมสนใจมีอย่างเดียวคือ ลูกฟุตบอล”

โซบอสไลเป็นคนที่ชอบรอยสัก มีรอยสักมากมายทั้งภาพและตัวอักษรบนเรือนร่าง รวมถึงประโยคของเจอร์ราร์ดที่เขาชื่นชอบ “Talent is a blessing from God, but without incredible will and humility, it is worthless.” เขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงรอยสักว่า “ตอนนั้นผมยังเป็นวัยรุ่นและชอบรอยสักข้อความ ผมจึงใช้มันเป็นเดิมพันกับพ่อ พ่อก็โอเคแล้วพูดว่า ลูกไปหาประโยคที่ต้องการมา ซึ่งผมตอบกลับทันทีว่า ผมมีอยู่แล้ว เรามาคุยเรื่องพนันกันเลยดีกว่า

เดิมพันครั้งนั้นเกี่ยวกับการทดสอบการวิ่งช่วงที่โดมินิกอยู่ในอะคาเดมีของซัลซ์บวร์ก ซอลท์บอกว่าเขายินดีจ่ายค่าสักให้หากโดมินิกทำลายสถิติการวิ่ง ซึ่งโซบอสไลคนลูกทำสำเร็จแล้วได้รอยสักสมใจนึก 

“เราพนันกันเล็กๆน้อยๆตลอดเวลา ผมเป็นคนชอบรถยนต์ พ่อจะพูดบ่อยๆว่า ลูกจะเอารถอะไรก็ได้อย่างที่ต้องการ แต่อันดับแรก ลูกต้องประสบความสำเร็จอะไรก่อน ผมเข้าทีมไลป์ซิก ผมก็ได้รถ พอผมย้ายไปลิเวอร์พูล ผมก็ได้รถอีก”

ซอลท์บอกว่า โดมินิกเหมือนเกิดมาเพื่อทำการแข่งขัน “บางครั้ง เขาก็เพียงท้าผมวิ่งแข่ง ว่าใครไปถึงประตูบ้านก่อนกัน แต่ผมไม่เคยปล่อยให้เขาชนะหรอกนะ เขายังเคยซ้อมเตะลูกฟรีคิกทุกวัน วันละ 100 หรือ 200 ครั้ง ความปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆไม่เคยหมดไปจากเขาเลย”

เห็นได้ชัดว่า โซบอสไลใช้ชีวิตร่วมกับฟุตบอลตลอด สำหรับเขาในวัยเด็ก ลูกบอลคือออกซิเจน บ้านคือสนามฟุตบอล โซบอสไลเคยให้สัมภาษณ์กับ เนมเซติ สปอร์ต ว่า เขาไม่เคยใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป ขณะที่เด็กคนอื่นไปโรงหนัง เขาอยู่สนามฟุตบอล

อะคาเดมีที่วิธีสอนแหวกแนว ยิ่งเทคนิคดี ยิ่งเล่นบอลสนุก

ซีแกชแฟแฮร์วาร์ อยู่ห่างจากกรุงบูดาเปสต์ประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยโรงงานบริษัทใหญ่อย่างฟอร์ดและไอบีเอ็ม จนกระทั่งทศวรรษ 1980 เมืองนี้กลายเป็นที่รู้จักของแฟนบอลเมื่อสโมสรท้องถิ่น วิดีโอตัน เข้าไปเล่นรอบชิงชนะเลิศยูฟา คัพ แพ้ต่อเรอัล มาดริด ด้วยสกอร์รวม 1-3 ในเดือนพฤษภาคม 1985

วิดีโอตัน ซึ่งปัจจุบันคือ โมล แฟแฮร์วาร์ เอฟซี สโมสรใน NB I ลีกสูงสุดของฮังการี กลายเป็นหนึ่งในทีมยักษ์ใหญ่ของประเทศ หนึ่งในแฟนบอลคือ วิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีประเทศฮังการี ซึ่งช่วยสนับสนุนให้สโมสรก่อตั้งอะคาเดมีที่ผลิตนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีเข้าสู่ระบบ

สำหรับซอลท์ เขาได้ก่อตั้ง โฟนิกซ์ โกลด์ ซึ่งเป็นทั้งสโมสรและอะคาเดมีฟุตบอลในเมืองซีแกชแฟแฮร์วาร์ โรงยิมตั้งอยู่ท่ามกลางเขตโรงงานที่เต็มไปด้วยอาคารสภาพทรุดโทรมถ้ามองจากภายนอก ข้างในมีสนามฟุตบอลหญ้าเทียม 7 คน 2สนาม ที่นี่เป็นที่ที่โดมินิกใช้ชีวิตวัยเด็กเป็นส่วนใหญ่

รูปแบบการฝึกสอนของโฟนิกซ์ โกลด์ แตกต่างจากอะคาเดมีทั่วไป ซึ่งได้รับการสร้างสรรค์และพัฒนาโดยซอลท์และโค้ชกลุ่มเล็กๆ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่สมัยนั้น นั่นคือโฟกัสไปที่เทคนิค ซึ่งเป็นสิ่งที่โดมินิกคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก

ที่โฟนิกซ์ โกลด์ สตาฟฟ์โค้ชเริ่มสอนเด็กๆตั้งแต่อายุยังน้อยและสอนกลุ่มเล็กๆด้วยไอเดียที่ค่อนข้างแปลกเช่น แทนสวมเสื้อเอี๊ยม พวกเขาให้เด็กคาดเฮดแบนด์ที่ศีรษะเพื่อบังคับให้เงยหน้าขึ้นมอง หรือให้กำลูกกอล์ฟไว้ในมือเพื่อไม่ให้ดึงเสื้อซึ่งกันและกัน เป็นทริกเล็กๆเพื่อสร้างนิสัยที่ดีสำหรับนักฟุตบอล

ซอลท์ให้สัมภาษณ์ว่า “ความมุ่งมั่นของเราอยู่ที่การเรียนรู้ทักษะทางเทคนิค ปรัญชาของเราคือ เมื่อมีทักษะทางเทคนิคที่ดี ก็จะมีความสนุกมากขึ้นเวลาลงเล่นฟุตบอล

โฟนิกซ์ โกลด์ ไม่เพียงสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการลูกหนังฮังการีแทบจะทันทีแต่ยังประสบความสำเร็จด้วย ทีมฟุตบอลรุ่นอายุเดียวกับโดมินิกครองแชมป์ คอร์เดียล คัพ ในปี 2011 และ 2013 หลังจากผ่านคู่แข่งที่มีชื่อเสียงอย่าง บาเยิร์น มิวนิก, นอริช ซิตี, เอฟซี บาเซิล และเรด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก

บรรดาแมวมองพากันให้ความสนใจเด็กๆของโฟนิกซ์ โกลด์ หลายคนถูกดึงตัวเข้าร่วมอะคาเดมีของสโมสรใหญ่ต่างประเทศ หลายคนเล่นอยู่ในลีกสูงสุดของฮังการีตอนนี้ ขณะที่โดมินิก ซึ่งได้รับฉายาว่า the small one หรือ “ตัวเล็ก” มักเล่นอยู่ในรุ่นอายุที่สูงกว่าเสมอแต่ทำผลงานได้โดดเด่น เขามีโอกาสไปทดสอบฝีเท้าที่อิตาลีและเนเธอร์แลนด์ แต่ท้ายที่สุดเป็นออสเตรีย

ซอลท์เล่าว่า “ซัลซ์บวร์กเห็นเขาขณะเล่นให้ทีมชาติรุ่น ยู-15 นัดหนึ่ง ตอนนั้นเขาอายุเพิ่ง 15 ปี จึงไม่สามารถเซ็นสัญญาได้” ซัลซ์บวร์กเฝ้าติดตามพัฒนาการและเชิญโดมินิกไปทดสอบฝีเท้าอยู่หลายครั้งจนกระทั่งอายุ 16 ปี กฎระเบียบจึงอนุญาตให้ซัลซ์บวร์กนำเขาเข้าสู่สโมสรได้ โดยโดมินิกถูกส่งตัวไปอยู่กับลีฟแฟร์ริงเป็นอันดับแรก

ลงซ้อมมื้อแรกที่ซัลซ์บวร์ก ทำคู่แข่งเลือดกลบปาก

ที่โฟนิกซ์ โกลด์ โดมินิกแทบไม่เคยเจอการท้าทายหรือการแข่งขันระดับที่เข้มข้นเลย แต่สถานการณ์ต่างไปเมื่อมาอยู่ซัลซ์บวร์ก ซึ่งในการซ้อมครั้งแรก สตาฟฟ์โค้ชจับจ้องว่าโดมินิกเป็นอย่างไรเมื่อเผชิญหน้ากับเพื่อนร่วมทีมใหม่ เขาเจอการต้อนรับแบบดุดันถึงขั้นเสื้อเอี๊ยมฉีกขาด แต่เด็กใหม่จากฮังการีไม่เบือนหน้าหนี การซ้อมวันนั้นจบลงด้วยคู่แข่งของโดมินิกออกจากสนามในสภาพปากเลือดไหล สร้างความพึ่งพอใจให้เหล่าโค้ช

คริสตอฟ ฟรอยด์ ผู้อำนวยการกีฬาของซัลซ์บวร์ก ยังจำเมื่อครั้งโดมินิกมาถึงสโมสรใหม่ๆได้ “เขามาอยู่เรด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก ตอนเป็นหนุ่มน้อยมากๆ แต่เต็มไปด้วยทักษะความสามารถและความเชื่อมั่นในตัวเอง แต่ยังมีเรื่องต้องเรียนรู้อีกมากในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ดังนั้นการไปเล่นให้ลีฟแฟร์ริงจึงช่วยโดมินิกได้มากทั้งสกิลและสภาพจิตใจจนกลายเป็นนักฟุตบอลอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้”

ช่วงแค่ 2-3 เดือนที่อยู่กับซัลซ์บวร์ก โดมินิกทำผลงานได้ประทับใจในการลงแข่งขัน อัล คาสส์ อินเตอร์เนชันแนล คัพ ซึ่งเป็นฟุตบอลเยาวชนอายุไม่เกิน 17 ปี ที่กรุงดาฮา ประเทศกาตาร์ ที่มีสโมสรชั้นนำรุ่น ยู-17 จากทั่วโลกลงประชันฝีเท้า โดมินิกทำให้ผู้พบเห็นฮือฮาจากการยิงระยะไกล ส่วนที่ลีฟแฟร์ริง โดมินิกเพลิดเพลินกับการทำสกอร์ ลงแข่งขันยูฟา ยูธ ลีก และเลื่อนขึ้นมาเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของสโมสร ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนเขาอายุ 18 ปี

โดมินิก โซบอสไล ยังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จากซัลซ์บวร์ก สู่ไลป์ซิก และลิเวอร์พูลในปัจจุบัน ด้วยวัยที่จะครบ 23 ปีบริบูรณ์ในเดือนตุลาคม 2023 สตาร์ฮังกาเรียน ผู้ได้รับฉายาว่า “เดอะ เน็กซ์ ปุสกัส” ยังสามารถพัฒนาความสามารถไปได้อีกไกล พร้อมสร้างเรื่องราวชีวิตในฐานะซูเปอร์สตาร์ลูกหนังได้อีกมาก นี่เป็นเพียงช่วงต้นของชีวิตค้าแข้งเท่านั้น

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ดาบิด รายา นายทวารสำรองอาร์เซนอล sweeper keeper ที่รอวันฉายแสง

ผู้รักษาประตูชั้นดี 2 คน จะอยู่ร่วมทีมเดียวกันได้หรือไม่? เรื่องนี้ต้องรอพิสูจน์หลังล่าสุด อาร์เซนอล โดย มิเกล อาร์เตตา ให้โอกาสครั้งแรกแก่ ดาวิด รายา เป็นตัวจริงในเกมบุกชนะเอฟเวอร์ตัน 1-0 ซูเปอร์ซันเดย์ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา

อาร์เตตา มีแผนอะไรในใจ? อลัน เชียเรอร์ อดีตตำนานลูกหนังก็ตั้งคำถามเช่นกันว่า “จะเวิร์กไหม? เสือ 2 ตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน และจะทำงานร่วมกันอย่างไร? สลับกันเล่นแบบไหน?”

ก่อนจะไปค้นคำตอบซึ่งต้องรอเวลาคลี่คลาย บทความนี้จะพามาทำความรู้จักผู้รักษาประตูยุคปัจจุบันในแบบเบื้องต้นกันก่อน

sweeper keeper หนึ่งใน 3 ประเภทหลักของผู้รักษาประตู ถูกนำมาอ้างถึงอย่างแพร่หลายเป็นพิเศษในซีซั่นนี้หลัง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จ่ายเงินราว 51 ล้านยูโร (43.8 ล้านปอนด์) ยังไม่รวมแอด-ออนส์ 4 ล้านยูโร (3.4 ล้านปอนด์) ซื้อ อองเดร โอนานา มาจากอินเตอร์ มิลาน เพื่อรับตำแหน่งนายทวารมือ 1 แทนดาบิด เด เคอา ซึ่งเพิ่งหมดสัญญาหลังยืนเฝ้าประตูให้ทีมปีศาจแดงนาน 12 ปี

เด เคอา เป็นนายด่านประเภท shot stopper ระดับโลกที่มีช็อตป้องกันประตูที่เหลือเชื่อให้เห็นบ่อยครั้งแต่เขาไม่ใช่ sweeper keeper อย่างที่เอริก เทน ฮาก ต้องการ เนื่องจากกุนซือดัตช์ต้องการให้ผู้รักษาประตูของเขามีส่วนบิลด์อัพการเล่น สามารถจ่ายบอลหรือเลี้ยงบอลออกไปนอกกรอบเขตโทษด้วยตัวเองประหนึ่งเป็นนักเตะเอาท์ฟิลด์คนที่ 11 รวมถึงอ่านเกมขาด ออกไปตัดเกมรุกของคู่แข่งขัน ทำหน้าที่สวีปเปอร์อยู่ด้านหลังของแบ็คโฟร์

ผู้รักษาประตูอีกประเภทคือ ball playing keeper ซึ่งไม่เพียงปกป้องการเสียประตู แต่มีทักษะขว้างหรือเตะบอลได้ไกลและแม่นยำแม้ไม่ถึงขั้นพาบอลออกไปบิลด์อัพเพลย์เองเหมือน sweeper keeper โดย อลิสซอน เบคเกอร์ ของลิเวอร์พูล และ เอแดร์ซอน ของแมนเชสเตอร์ ซิตี เป็นตัวอย่างของนายทวารยอดฝีมือประเภทนี้

ขณะที่ผู้รักษาประตูที่จ่ายบอลเฉลี่ยมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 ปรากฎเป็นชื่อของ ดาบิด รายา จากทีมเบรนท์ฟอร์ด

ฤดูกาลที่แล้ว รายาลงเล่นให้เบรนท์ฟอร์ด 38 นัด ผ่านบอลรวม 1,475 ครั้ง ส่วนอันดับที่เหลือของท็อป-5 ได้แก่ เอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ (แอสตัน วิลลา) 36 นัด 1,248 ครั้ง เฉลี่ย 34.7 ครั้ง, อลิสซอน เบคเกอร์ (ลิเวอร์พูล) 37 นัด 1,239 ครั้ง เฉลี่ย 33.5 ครั้ง, แบร์นด์ เลโน (ฟูแลม) 36 นัด 1,205 ครั้ง เฉลี่ย 33.5 ครั้ง และ เจสัน สตีล (ไบรท์ตัน) 15 นัด 490 ครั้ง เฉลี่ย 32.7 ครั้ง

แม้ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังแต่รายาเป็นผู้รักษาประตูที่ใช้เท้าได้โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งในพรีเมียร์ลีก นายด่านสเปนวัย 27ปี มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจทีเดียว เล่นอยู่นอกลีกในซีซัน 2014-15 ก่อนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญช่วยแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส เลื่อนชั้นจากลีกวันขึ้นมาแชมเปียนชิพ, พาเบรนท์ฟอร์ดเลื่อนชั้นจากแชมเปียนชิพขึ้นมาพรีเมียร์ลีก และในตลาดซัมเมอร์ที่ผ่านมา อาร์เซนอลจ่ายเงิน 3 ล้านปอนด์ ยืมตัวรายาพร้อมออปชั่นซื้อขาด 27 ล้านปอนด์ เพื่อมาเป็นตัวสำรองของ แอรอน แรมส์เดล นับเป็นนักเตะใหม่รายที่ 4 ของอาร์เซนอล ต่อจาก เดแคลน ไรซ์ มิดฟิลด์ตัวรับทีมชาติอังกฤษ, ไค ฮาแวร์ตซ์ กองหน้าทีมชาติเยอรมนี และ เยอร์เรียน ทิมเบอร์ กองหลังสารพัดประโยชน์ทีมชาติเนเธอร์แลนด์

สะสมทักษะใช้เท้าบนสนามฟุตซอล

ดาบิด รายา มาร์ติน เกิดวันที่ 15 กันยายน 1995 ที่นครบาร์เซโลนา และเติบโตในเมืองปัลเลจา (Pallejà) เขาเคยเล่นฟุตซอลทั้งผู้รักษาประตูและตำแหน่งเอาท์ฟิลด์ก่อนเข้าอะคาเดมีของ ยูอี คอร์เนลลา ทีมฟุตบอลสเปนระดับเทียร์ 3 จุดเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่ออาชีพค้าแข้งเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2012 เมื่อรายาเดินทางไปใช้ชีวิตในอังกฤษหลังได้รับทุนการศึกษาจาก แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส

สองปีต่อมา การย้ายเข้าสู่ถิ่นอีวู้ด พาร์ค ของฮูโก แฟร์นานเดซ ส่งผลให้เกิดข้อตกลงระหว่าง 2 สโมสร ให้สิทธิ์นักเตะของคอร์เนลลาทดสอบฝีเท้ากับแบล็คเบิร์น ว่ากันว่ารายา ซึ่งตอนนั้นกำลังเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในอะคาเดมีสโมสร “สอบผ่าน” เพียงครั้งเดียวและได้เซ็นสัญญานักฟุตบอลอาชีพเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2014

สตีเวน เดรนช์ ซึ่งตอนนั้นทำหน้าที่เพลเยอร์-โค้ชอยู่ในทีมผู้ฝึกสอน เห็นพัฒนาการของรายาจากระดับเยาวชนถึงทีมชุดใหญ่ ให้สัมภาษณ์กับสกาย สปอร์ตส์ ว่า แม้เคลื่อนไหวได้ดีรอบกรอบเขตโทษเหมือนผู้รักษาประตูจากสเปน แต่ทักษะที่ทำให้รายาโดดเด่นคือ เทคนิค, การหยุดลูกยิง และความสามารถเชิงกีฬา นอกจากนี้รายายังเล่นฟุตซอลมามากที่สเปน เขาจึงใช้เท้าได้อย่างคล่องแคล่ว สโมสรตระหนักดีถึงจุดแข็งดังกล่าว จึงมีการเล่นฟุตบอลกอล์ฟและเฮดเทนนิสระหว่างฝึกซ้อม

เดรนช์ นายด่านวัย 37 ปีของทีมคอร์ลีย์ในเนชันแนล ลีก นอร์ธ กล่าวเสริมว่า “การเล่นฟุตบอลด้วยเท้าทำให้ผมเล่นฟุตบอลมาถึงตอนนี้ สำหรับฟุตบอลสมัยใหม่แล้ว ผู้รักษาประตูที่ใช้เท้าได้ดีเป็นเช็คพอยต์ลำดับแรกๆที่โค้ชมองหา เซฟลูกได้ดีไหม ตัดลูกครอสได้ดีไหม ใช้เท้าเล่นบอลได้ดีไหม ล้วนเป็นคุณสมบัติที่สำคัญ”

“การผ่านบอลของดาบิดถือเป็นข้อได้เปรียบ ยิ่งมาเล่นให้เบรนท์ฟอร์ดที่มีสไตล์บอลเหมาะกับเขามาก แต่ความจริงแล้ว ดาบิดสามารถเล่นให้ทีมไหนก็ได้ในท็อปลีกของยุโรป เขาเป็นเสมือนผู้เล่นเอาท์ฟิลด์คนที่ 11 ของทีม” และตอนนี้ นายทวารวัย 27 ปี ได้รับโอกาสจากอาร์เซนอล หนึ่งในทีมเต็งแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023-24

เพิ่มพูนประสบการณ์กับสโมสรนอกลีก

ครึ่งแรกของฤดูกาล 2014-15 แบล็คเบิร์นส่งรายาให้ เซาธ์พอร์ต สโมสรนอกลีกในคอนเฟอเรนซ์ พรีเมียร์ ยืมใช้งานเป็นเวลา 4 เดือน เขามีโอกาสลงสนามทีมชุดใหญ่ 24 นัดรวมทุกรายการ 

ขอบคุณภาพจาก  https://southportfc.net/david-raya-martin-good-luck-tonight/

มีความเชื่อว่า ฟุตบอลนอกลีกสามารถเป็นสนามฝึกซ้อมที่ยอดเยี่ยมสำหรับนักเตะอายุน้อย ซึ่งรายาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่าความเชื่อนี้เป็นความจริงแม้ต้องเล่นให้ทีมที่อยู่ก้นตารางของลีกระดับเทียร์ 6 

แกรี บราบิน ผู้จัดการทีมเซาธ์พอร์ตขณะนั้น ย้อนอดีตไปยังช่วงกลางปี 2014 ว่า รายาเป็นเพียงผู้รักษาประตูหนุ่มจากแบล็คเบิร์น ผู้คนต่างสงสัยว่าเขาจะมีประสบการณ์เพียงพอรับมือสถานการณ์หนีตกชั้นหรือเปล่า นักเตะคนนั้นต้องมีแคแรกเตอร์ที่แข็งแกร่งมาก

“สถานการณ์ตอนนั้น ทีมอยู่อันดับรั้งท้ายของลีก เพิ่งเซ็นสัญญากับผู้จัดการทีมใหม่ ทุกคนคอตกและหวั่นวิตกว่าอะไรจะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไป แต่นั่นไม่ใช่ดาบิด เขามีบุคลิกภาพที่เหลือเชื่อเอามากๆ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งถูกส่งต่อและหล่อเลี้ยงไปยังนักเตะคนอื่นในทีม ทำให้ทีมมีสปิริตที่ยอดเยี่ยมจริงๆ”

“และเป็นการใช้เท้าของดาบิดที่ทำให้ผมประทับใจมากที่สุด เซาธ์พอร์ตเป็นทีมที่เล่นบอลบนพื้นดินมากกว่าทีมอื่นๆในระดับเดียวกัน นั่นจึงทำให้ทีมขึ้นมาจากท้ายตารางถึง 4 อันดับภายในเวลาอันรวดเร็ว ความเก่งของเขามีส่วนสำคัญอย่างแน่นอน ทีมรู้สึกปลอดภัยเมื่อมีเขาอยู่ข้างหลัง ไม่ใช่แค่ป้องกันการเสียประตู แต่ยังทำหน้าที่เริ่มต้นเพลย์ให้เราอีกด้วย ดาบิดจึงเป็นสารตั้งต้นของเราที่นำไปสู่ความสำเร็จ”

นายทวารใช้เท้าที่มีมือเหมือนพลั่ว

รายากลับต้นสังกัดหลังหมดสัญญายืมตัวกับเซาธ์พอร์ต นายด่านหนุ่มมีโอกาสลงสนามให้แบล็คเบิร์นเพียง 2 นัดในแชมเปียนชิพ ซีซัน 2014-15 แต่ยังได้รับเสนอสัญญาใหม่ 3 ปีในเดือนเมษายน 2015 อย่างไรก็ตาม รายาลงเล่นรวม 13 นัดเท่านั้นในซีซัน 2015-16 และ 2016-17 โดยเป็นตัวสำรองของเจสัน สตีล

ชอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/48894390

แบล็คเบิร์นตกไปอยู่ลีกวัน ซีซัน 2017-18 สตีลย้ายไปอยู่ทีมซันเดอร์แลนด์ รายาจึงเลื่อนขึ้นมาเป็นนายทวารมือ 1 และพลาดบอลลีกเพียงนัดเดียวจากทั้งหมด 46 นัด ช่วยทีมกุหลาบไฟคว้ารองแชมป์ลีกวัน ใช้เวลาแค่ปีเดียวกลับไปอยู่แชมเปียนชิพอีกครั้ง

“เดอะ ริเวอร์ไซเดอร์ส” จบลีกเทียร์ 2 ซีซัน 2018-19 ด้วยอันดับ 15 รายายังเป็นนายทวารมือ 1 ของทีม เล่นบอลลีก 41นัดจากทั้งหมด 46 นัด อย่างไรก็ตาม รายาอำลาถิ่นอีวู้ดในเดือนกรกฎาคม 2019 ด้วยสถิติลงสนาม 108 นัดรวมทุกรายการ

รายาอาจได้รับคำชมเรื่องการใช้เท้าและปฏิกิริยาตอบสนองที่รวดเร็วราวกับแมว แต่มีอีกหนึ่งคุณลักษณะที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนักคือ ขนาดมือที่ใหญ่ ซึ่ง สตีเวน เดรนช์ เปรียบเปรยว่า รายามีมือเหมือนพลั่ว!!!

รายามีส่วนสูงเพียง 6 ฟุตบอลแต่อดีตโค้ชที่แบล็คเบิร์นมองเห็นอีกด้านหนึ่ง “ดาบิดไม่ใช่ผู้รักษาประตูที่มีความสูง 6 ฟุต 4นิ้ว หรือ 6 ฟุต 5 นิ้ว เขาต้องต่อสู้กับทัศนคติพวกนี้มาตลอด ซึ่งเขาทดแทนด้วยการเพิ่มเติมเรื่องสปริงตัว พละกำลัง และทักษะทางกีฬา รวมถึงการเคลื่อนที่รอบๆกรอบเขตโทษและวิธีการเล่นด้วยเท้า สิ่งเหล่านี้ทำให้ดาบิดกลายเป็นนักฟุตบอลที่ครบเครื่อง”

“พวกคุณน่าจะเคยเห็นการเซฟของดาบิดมาบ้าง เขาสามารถเซฟบอลที่ห่างจากตัวเขา 2-3 หลาได้อย่างสบายเพราะเคลื่อนไหวได้เร็วมาก ความคล่องตัวบวกพละกำลังช่วยให้เขาครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขึ้น ทำให้การเซฟยากๆกลายเป็นเรื่องง่ายไปเลย”

ภาพ sweeper keeper ชัดเจนที่เบรนท์ฟอร์ด

หลังจากเป็นนายด่านตัวจริงของแบล็คเบิร์น 2 ปี รายาได้เซ็นสัญญา 4 ปี กับ เบรนท์ฟอร์ด เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2019ค่าตัวไม่เปิดเผยแต่มีรายงานว่าน่าจะอยู่ที่ 3 ล้านปอนด์ 

รายาทำผลงานได้โดดเด่นระหว่างครึ่งแรกของซีซัน 2019-20 ในลีกแชมเปียนชิพ ได้รับเสนอชื่อลุ้นตำแหน่งผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมแห่งปีในงาน ลอนดอน ฟุตบอล อะวอร์ดส์ ประจำปี 2020 รายายังเก็บคลีนชีทในบอลลีกเทียร์ 2 ซีซันแรกกับ “เดอะ บีส์” รวม 16 นัด และครองรางวัลถุงมือทองคำของอีเอฟแอล ร่วมกับ บาร์ตอซ เบียลคาวสกี ขณะที่เบรนท์ฟอร์ดพลาดโอกาสเลื่อนชั้นเนื่องจากแพ้ฟูแลม ทีมร่วมลอนดอนตะวันตก 1-2 ในนัดชิงชนะเลิศ แชมเปียนชิพ เพลย์ออฟ ปี 2020

ฤดูกาล 2020-21 รายาทำคลีนชีทได้ 17 นัด พร้อมพาเบรนท์ฟอร์ดขึ้นไปเล่นพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จหลังจากชนะสวอนซี ซิตี 2-0 ในนัดชิงขนะเลิศ แชมเปียนชิพ เพลย์ออฟ ปี 2021 เขาได้รับสัญญาใหม่ยาว 4 ปีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2020 หลังจากมีปัญหาบาดเจ็บและประเด็นย้ายทีมทำให้พลาดลงสนามช่วงพรี-ซีซันและต้นซีซัน นอกจากนี้รายาพัฒนาทักษะนายทวารสไตล์ sweeper keeper ให้เห็นเด่นชัด มีสถิติพาสบอลมากกว่าผู้รักษาประตูทุกคนในแชมเปียนชิพฤดูกาลนั้นกว่า 300 ครั้ง

รายาสัมผัสชัยชนะพรีเมียร์ลีกนัดแรกในการแข่งขันกับอาร์เซนอลเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2021 และได้สักตัวเลข 13/08/21 ไว้ที่ต้นคอเพื่อเป็นอนุสรณ์ ก่อนโชคร้ายบาดเจ็บเอ็นไขว้หลังเข่าเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2021 จากแมตช์กับเลสเตอร์ ซิตี ใช้เวลากว่า 3 เดือนเพื่อกลับมาเฝ้าประตูให้เบรนท์ฟอร์ดอีกครั้งในรอบ 4 เอฟเอ คัพ ที่แพ้ต่อเอฟเวอร์ตัน 1-4 ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 รายาลงเล่นพรีเมียร์ลีกทั้งสิ้น 24 นัด และเบรนท์ฟอร์ดจบซีซัน 2021-22 ด้วยอันดับ 13

ฤดูกาลที่ 2 ในพรีเมียร์ลีก รายาลงสนามครบ 38 นัด และเคยถูกเสนอชื่อลุ้นรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของพรีเมียร์ลีกประจำเดือนมกราคม 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่เบรนท์ฟอร์ดไม่แพ้ทีมไหนจนไต่อันดับขึ้นไปอยู่โซนช่วงชิงโควตาฟุตบอลสโมสรยุโรป แต่ช่วงนี้เช่นกันที่รายาปฏิเสธต่อสัญญาใหม่กับ “เดอะ บีส์” ซึ่งปิดฉากซีซัน 2022-23 ด้วยอันดับ 9 มีแต้มสะสมตามหลังแอสตัน วิลลา ที่ได้ไปเล่นยูฟา คอนเฟอเรนซ์ ลีก เพียง 2 คะแนน

ในส่วนของการรับใช้ชาติ รายามีชื่อร่วมทีมชาติสเปนที่มีคิวเตะอุ่นเครื่อง 2 นัดในเดือนมีนาคม 2022 ประเดิมลงเป็นตัวจริงในแมตช์ชนะอัลบาเนีย 2-1 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม แต่นั่งอยู่ข้างสนามในแมตช์ต่อมา เขายังมีชื่อติดทีมชาติสเปนที่ทำการแข่งขัน ยูฟา เนชันส์ ลีก ประจำปี 2022-23 ซึ่งทีมกระทิงดุครองแชมป์ในบั้นปลาย และเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ ซึ่งสเปนไปได้ไกลเพียงรอบ 16 ทีมสุดท้าย โดยระหว่างนี้ รายาได้สัมผัมเกมเพียงครั้งเดียวเมื่อถูกเปลี่ยนตัวลงสนามครึ่งหลังของเกมอุ่นเครื่องก่อนฟุตบอลโลกกับจอร์แดน

ศักดิ์ศรีที่สูงกว่านายด่านสำรองอาร์เซนอล

วันที่ 15 สิงหาคม 2023 อาร์เซนอล เซ็นสัญญยืมตัวนายทวารวัย 27 ปี เป็นเวลา 1 ซีซันด้วยค่าตัว 3 ล้านปอนด์พร้อมออปชั่นซื้อขาด 27 ล้านปอนด์ และภายใต้เงื่อนไขยืมตัว รายาได้ต่อสัญญากับเบรนท์ฟอร์ดอีก 2 ปี รวมถึงออปชั่นเพิ่มอีก 12 เดือน

แอรอน แรมส์เดล เป็นผู้รักษาประตูมือ 1 ของอาร์เซนอลตลอด 2 ซีซันที่ผ่านมานับตั้งแต่ย้ายจากเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2021 เขาไม่ได้เฝ้าประตูในเกมพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2021-22 เพียง 4 นัด และลงสนามทั้ง 38 นัดในซีซันที่ผ่านมา ซึ่งอาร์เซนอลเป็นรองแชมป์ลีกสูงสุด

มิเกล อาร์เตตา ให้สัมภาษณ์ว่าการเข้ามาของรายาเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้การแข่งขันอยู่ในระดับสูง “เราไม่มีทางเลือกอื่น มีความแตกต่างกว้างมากระหว่างผู้เล่นเทียร์ 1 กับเทียร์ 2 อย่างที่นักข่าวเปรียบเปรย เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร โชคร้ายที่ตอนนี้เราไม่มีนักเตะที่มีฝีมือยอดเยี่ยมจากอะคาเดมีให้ดึงขึ้นมาใช้งาน”

“ถ้ามองไปที่สโมสรอื่น พวกเขามีผู้รักษาประตูที่เก่งมาก 2 คนอยู่ในทีม บางทียอมจ่ายเงิน 60 ล้านปอนด์ 80 ล้านปอนด์ 85ล้านปอนด์ เพื่อซื้อผู้รักษาประตู นั่นมันหมายถึงอะไรล่ะ ผมมีความสุขมากกับทีมที่กำลังสร้างขึ้น เราพยายามสร้างกลุ่มผู้เล่นที่ดีขึ้นเรื่อยๆ”

มีข้อมูลที่น่าสนใจ ตัวแทนของรายาคือ เจาเม มูเนลล์ ชาวสเปน ซึ่งทำหน้าที่เอเยนต์ให้ อินากิ คานา โค้ชผู้รักษาประตูของอาร์เซนอลด้วย รายากับคานาเคยทำงานด้วยกันที่เบรนท์ฟอร์ด และเมื่อปี 2020 อาร์เซนอลเคยติดต่อขอซื้อรายาถึง 4 ครั้ง ก่อนลงเอยด้วยการคว้าตัวแรมส์เดลอีก 12 เดือนต่อมา ดังนั้นการตัดสินใจยืมตัวรายาของอาร์เตตาคงไม่ใช่เพียงมองหานายทวารสำรองธรรมดาแน่นอน

เอดู ผู้อำนวยการกีฬาของอาร์เซนอล กล่าวต้อนรับรายาว่า “ดาบิดเป็นผู้รักษาประตูที่มีคุณภาพระดับท็อป เขาทำผลงานระดับสูงอย่างสม่ำเสมอในพรีเมียร์ลีกกับเบรนท์ฟอร์ด การเข้ามาของดาบิดจะเพิ่มคุณภาพให้กับทีมของเรา เพื่อให้เราโชว์ฟอร์มในระดับสูงได้ทุกรายการที่ร่วมแข่งขัน”

ย้อนกลับไปเกมพรีเมียร์ลีกเดือนกันยายน 2012 หลังจากลิเวอร์พูลเสมอ 3-3 ที่เบรนท์ฟอร์ด คอมมูนิตี สเตเดียม เยอร์เกน คลอปป์ พูดถึงรายาว่า ผู้รักษาประตูของเบรนท์ฟอร์ดสามารถสวมเสื้อหมายเลข 10 ได้เลย เขาผ่านบอลได้เหลือเชื่อหลายครั้ง

ไม่ว่าอนาคตในทีมอาร์เซนอลของรายาเป็นเช่นไร แต่ด้วยเทรนด์ sweeper keeper ที่กำลังมาแรงในฟุตบอลยุคใหม่ รายาในวัยเพียง 27 ปี จึงเป็นผู้รักษาประตูที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เชื่อว่าถ้าไม่ได้รับโอกาสจากอาร์เซนอล นายด่านเมืองกระทิงดุผู้นี้จะกลายเป็นสินค้าเนื้อหอมในตลาดซัมเมอร์ปีหน้าอย่างแน่นอน … จำชื่อของเขาไว้ให้ดี “ดาบิด รายา”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ที่มาของตราสัญลักษณ์, ฉายา และชื่อสนามเหย้า 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก 2023/24

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สโมสรฟุตบอล เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกีฬาที่บ่งบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งแต่ละสโมสรล้วนมีเบื้องหลังความเป็นมาแตกต่างกัน ซึ่งแฟนฟุตบอลทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้

เพราะบริบทของฟุตบอล ไม่ได้มีเพียงการแข่งขันในสนามเท่านั้น แต่ผูกติดกับประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนถึงตัวตนของสโมสรฟุตบอลแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ฉายา, ตราสัญลักษณ์ หรือแม้กระทั่งชื่อสนามแข่งขัน

เริ่มจากฉายา ก็เปรียบเสมือนชื่อเล่น ที่ใช้เรียกแทนชื่อจริงของสโมสรฟุตบอลนั้นๆ เพื่อให้จดจำง่าย พร้อมกับข่มขวัญคู่ต่อสู้ไปในตัวด้วย ถือเป็นสีสัน และช่วยเพิ่มอรรถรสในการติดตามการแข่งขันมากขึ้น

ต่อด้วยโลโก้ ที่สโมสรได้ออกแบบขึ้นมา ไม่ได้มีแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ต้องโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งส่งผลถึงการรับรู้ และการจดจำของแฟนลูกหนัง อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในระยะยาว

อีกทั้งแต่ละสโมสร ก็มีสนามเหย้าที่ได้ตั้งชื่อขึ้นมาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะมาจากชื่อสถานที่ตั้ง, ชื่อบุคคลสำคัญ, ประวัติศาสตร์, ธุรกิจ หรือเหตุผลอื่นๆ ที่แปลกประหลาด ทำเอาหลายคนคาดไม่ถึง

ต่อไปนี้คือเบื้องหลังที่หลายคนอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับฉายา, โลโก้ และสนามเหย้าทั้ง 20 สโมสร ในการแข่งขันพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023/24 ที่นำมาฝากกัน เพื่อเป็นเกร็ดความรู้สำหรับแฟน ๆ ลูกหนังอังกฤษ

อาร์เซน่อล

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Arsenal

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน เป็นรูปทรงคล้ายโล่สามเหลี่ยม พื้นสีแดง มีขอบเล็กๆ สีขาว และสีน้ำเงินเข้ม หมายถึงสีประจำสโมสร ตรงกลางมีชื่อสโมสร (Arsenal) และรูปปืนใหญ่ สะท้อนถึงสโมสรที่ทรงพลังและมีอิทธิพล

– ฉายา : “The Gunners” หมายถึง ปืนใหญ่ เหตุผลที่ได้รับฉายานี้ ก็เพราะว่า ก่อนที่สโมสรจะย้ายมาอยู่ในกรุงลอนดอน เดิมทีเคยอยู่ในย่าน “โบโร่ ออฟ วูลวิช” ซึ่งเป็นย่านของกลุ่มคนงานผลิตปืนใหญ่เพื่อส่งให้กองทัพของสหราชอาณาจักร

– สนามเหย้า : สังเวียนลูกหนังที่ชื่อว่า “เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม” สร้างขึ้นเมื่อปี 2004 และเปิดใช้งานครั้งแรกในอีก 2 ปีต่อมา โดยชื่อสนามมีที่มาจาก Emirates บริษัทสายการบินแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สปอนเซอร์หลักของสโมสร

แอสตัน วิลล่า

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/avfcofficial

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ใหม่ล่าสุด กลับไปใช้แบบวงแหวนเหมือนช่วงยุค 1980-1990 มีสีเลือดหมู และสีฟ้า สื่อถึงสีประจำสโมสร มีชื่อสโมสร (Aston Villa) และปีที่ก่อตั้ง (1874) ตัวหนังสือสีเหลือง ตรงกลางมีรูปสิงโตหันหน้าไปทางขวา และมีรูปดาวห้าแฉก 1 ดวง อยู่ในระดับเดียวกับสายตาของสิงโต สื่อถึงการคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ เมื่อปี 1982

– ฉายา : ฉายาแรก “The Lions” หมายถึง สิงโตที่อยู่ในธง Royal Standard ของสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของจอร์จ แรมซีย์ และวิลเลียม แม็กเกรเกอร์ 2 ผู้ก่อตั้งสโมสร อีกฉายาคือ “The Villans” ที่สื่อถึงสโมสรแอสตัน วิลล่า

– สนามเหย้า : ชื่อสนามเหย้าที่แท้จริงคือ Aston Lower Grounds แต่ถูกมองว่าสื่อความหมายไปในทางลบ จึงได้เรียกชื่อใหม่ว่า “วิลล่า พาร์ค” (Villa Park) มาจากชื่อของ Aston Hall ที่ตั้งของสนามในปัจจุบัน ซึ่งเคยถูกใช้เป็นสวนสนุกมาก่อน

บอร์นมัธ

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นรูปทรงคล้ายโล่สามเหลี่ยม พื้นสีแดงเชอร์รี่ และมีแถบสีดำ 2 แถบอยู่ด้านขวา สื่อถึงสีประจำสโมสร ด้านบนมีชื่อสโมสร (AFC Bournemouth) สีขาว ตรงกลางมีรูปผู้ชาย และมีลูกฟุตบอลอยู่เหนือศีรษะ ซึ่งผู้ชายที่อยู่ในโลโก้ของสโมสร คือ ดิกกี้ ดอว์เซตต์ ตำนานดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของบอร์นมัธ ทำได้ 79 ประตู

– ฉายา : ที่มาของฉายา “The Cherries” มีความเป็นไปได้อยู่ 2 ทาง คือมาจากสีประจำสโมสร ที่เป็นโทนสีแดงเชอร์รี่ หรือมาจากในสมัยก่อนมีสวนเชอรืรี่ที่อยู่ติดกับสนามเหย้าของสโมสร ซึ่งไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เหตุผลใดคือเหตุผลที่แท้จริง

– สนามเหย้า : เดิมมีชื่อว่าดีน คอร์ต (Dean Court) เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 1910 ต่อมาในปี 2015 Vitality บริษัทด้านประกันสุขภาพของอังกฤษ ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสร และเปลี่ยนชื่อสนามเป็น “ไวตาลิตี้ สเตเดี้ยม”

เบรนฟอร์ด

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ที่ใช้ในปัจจุบัน ประกอบด้วยวงแหวนสีแดง มีชื่อเต็มของสโมสร (Brentford Football Club) แบ่งเป็นด้านบนและด้านล่าง และปีที่ก่อตั้ง (1889) พื้นหลังมีสีขาว ตรงกลางมีรูปผึ้ง สื่อถึงสีและสัญลักษณ์ประจำสโมสร

– ฉายา : “The Bees” ที่หมายถึง ผึ้ง แต่จริงๆ แล้วมีที่มาจากนักเรียนของ Borough Road College ที่ร้องเพลงประจำสถาบัน ชื่อว่า “Buck up Bs” แต่สื่อท้องถิ่นเข้าใจผิดว่าเป็นชื่อเพลง “Buck up Bees” และกลายเป็นฉายาของทีมในที่สุด

– สนามเหย้า : เดิมใช้ชื่อว่า เบรนท์ฟอร์ด คอมมูนิตี้ สเตเดี้ยม ต่อมาในปี 2022 Grey Technologgy(Gtech) บริษัทด้านเทคโนโลยีของอังกฤษ ได้สนับสนุนสโมสรมาครบ 10 ปี จึงเปลี่ยนชื่อสนามเหย้ามาเป็น “จีเทค คอมมูนิตี้ สเตเดี้ยม”

ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/officialbhafc

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นวงแหวนสีขาว มีชื่อเต็มของสโมสร (Brighton & Hove Albion) ส่วนตรงกลางเป็นพื้นสีน้ำเงิน และมีรูปนกนางนวลหันหน้าไปทางขวา สื่อถึงเมืองแห่งชายทะเล เป็นที่อยู่อาศัยของนกนางนวล และมีความตั้งใจที่จะพัฒนาเพื่ออนาคต

– ฉายา : “The Seagulls” มาจากแนวคิดของแฟนบอลไบรท์ตันกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามจะตอบโต้ “The Eagles” ของคริสตัล พาเลซ ทีมคู่ปรับของพวกเขา และโลโก้ของสโมสรก็เปลี่ยนจากปลาโลมา เป็นนกนางนวล นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

– สนามเหย้า : เอเม็กซ์ สเตเดี้ยม (Amex stadium) โดย “Amex” ย่อมาจาก American Expressบริษัทด้านการเงินของสหรัฐอเมริกา แต่ในฤดูกาล 2023/24 ชื่อรังเหย้าได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อเต็มคือ “อเมริกัน เอ็กซ์เพรส สเตเดี้ยม”

เบิร์นลี่ย์

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน มีพื้นสีแดงอมม่วง มาจากตราประจำเมืองเบิร์นลี่ย์ ด้านบนมีรูปนกกระสา สื่อถึงตระกูล Starkie ตระกูลที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมือง นกตัวนี้ยืนอยู่บนเนินเขาและต้นฝ้าย สื่อถึงเมืองที่นิยมปลูกต้นฝ้าย 

ถัดลงมา มีผึ้ง 2 ตัว เป็นตัวแทนของการทำงานหนัก ตรงกลางมีรูปมือ สื่อถึงคำขวัญประจำเมือง “Hold to the truth” (จงยึดมั่นในความจริง) ส่วนด้านล่างสุด มีสิงโต ซึ่งเป็นตัวแทนของราชวงศ์ อยู่ภายในบั้ง ที่สื่อถึงแม่น้ำบรูนที่ไหลผ่านเมืองนี้

– ฉายา : “The Clarets” แปลว่า สีแดงอมม่วง ซึ่งเป็นสีชุดแข่งหลักของสโมสร เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1911 โดยได้แรงบันดาลใจจากชุดแข่งของแอสตัน วิลล่า ที่คว้าแชมป์ลีกเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้น และยังเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในโลโก้ของสโมสรอีกด้วย

– สนามเหย้า : ชื่อของ “เทิร์ฟ มัวร์” มาจากคำที่ประกอบกัน 2 คำ คือคำว่า Turf ที่แปลว่า สนามหญ้า และคำว่า Moor ซึ่งหมายถึง ที่โล่งแจ้ง เนื่องจากในสมัยก่อน พื้นที่ของสนามแห่งนี้เป็นที่ดินเปล่า ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ

เชลซี

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ChelseaFC

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นวงแหวนสีน้ำเงิน แสดงถึงตราประจำเขตเชลซี ต่อด้วยรูปลูกฟุตบอลสีแดง แสดงถึงความมุ่งมั่นในกีฬาฟุตบอล และดอกกุหลาบสีแดง สื่อถึงราชวงศ์แลงคาสเตอร์

ด้านในมีรูปสิงโตถือไม้เท้าสีน้ำเงิน ได้แรงบันดาลใจมาจากแขนเสื้อของเอิร์ล คาโดแกน (เอิร์ล คือระดับชั้นของขุนนางในสมัยก่อน) ซึ่งเป็นประธานสโมสรเชลซีในยุค 1950s สื่อถึงความรู้ และความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า

– ฉายา : ฉายาแรก “The Blues” หมายถึงสีประจำสโมสร คือ สีน้ำเงิน อีกฉายาหนึ่งคือ “The Pensioners” ที่แปลว่า ผู้เกษียณอายุ เนื่องจากในอดีต มีทหารผ่านศึกที่ผ่านสงครามโลก มารับเงินบำนาญในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับสโมสรเชลซี

– สนามเหย้า : ชื่อสนามเหย้าของสโมสร มีที่มาจากการนำชื่อลำธาร Stanford Creek กับชื่อสะพานอีก 2 แห่ง Sanford Bridge และ Stanbridge มารวมกันเป็น สแตนฟอร์ด บริดจ์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “สแตมฟอร์ด บริดจ์” ในปัจจุบัน

คริสตัล พาเลซ

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน ด้านบนเป็นรูปนกอินทรีสีน้ำเงิน อยู่เหนือลูกฟุตบอลสีแดง สื่อถึงสีประจำสโมสร ส่วนด้านล่างเป็นรูปอาคารกระจกขนาดใหญ่ลายเส้นสีเทา เพื่อใช้จัดงานนิทรรศการ (The Great Exhibition) เมื่อปี 1851 ส่วนตัวเลข 1861 คือปีที่มีการก่อตั้งทีมสมัครเล่นของคริสตัล พาเลซ (ทีมชุดใหญ่ก่อตั้งในปี 1905)

– ฉายา : “The Eagles” หรือ นกอินทรี มีที่มาจากฉายาของเบนฟิก้า สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ในประเทศโปรตุเกส ซึ่งมัลคอล์ม อัลลิสัน ผู้จัดการทีมในช่วงกลางยุค 1970s ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสโมสรดังกล่าว จึงได้นำฉายานี้มาใช้

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “เซลเฮิสต์ พาร์ค” มาจากชื่อย่าน “Selhurst” ในแถบชานกรุงลอนดอน อยู่ห่างจากใจกลางเมืองหลวงประมาณ 9 ไมล์ สำหรับรังเหย้าของสโมสร ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของย่านนี้ เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 1924

เอฟเวอร์ตัน

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

– ตราสัญลักษณ์ : พื้นของโลโก้ มีสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร บนโลโก้มีรูปหอคอยที่ชื่อว่า “พรินซ์ รูเพิร์ต ทาวเวอร์” ซึ่งในอดีตเคยถูกใช้เป็นสถานที่คุมขังนักโทษ และพวงหรีดที่ขนาบข้าง ก็ถือเป็นการไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตในหอคอยนี้ ส่วนด้านล่างมีคำขวัญเป็นภาษาละติน “Nil satis nisi optimum” ที่แปลว่า ไม่มีอะไรต้องกลัว เราจะทำแต่สิ่งที่ดีที่สุด

– ฉายา : ฉายาแรก “The Blues” หมายถึงสีประจำสโมสร คือ สีน้ำเงิน อีกฉายาหนึ่งคือ “The Toffees” มีที่มาจากเจ้าของร้านขายลูกอมที่ชื่อ มา บูแชล (Ma Bushell) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการแจกลูกอมให้กับแฟนบอลก่อนที่จะเข้าชมเกมในสนาม

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “กูดิสัน พาร์ค” มาจากชื่อของ จอร์จ วิลเลียม กูดิสัน (George William Goodison) วิศวกรโยธาผู้วางระบบระบายน้ำเสีย สนามแห่งนี้เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 1892 และกำลังจะกลายเป็นอดีตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ฟูแล่ม

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสร มีโครงสร้างที่เรียบง่าย เป็นรูปทรงคล้ายโล่สามเหลี่ยม ประกอบด้วยสีขาว 1 ส่วน และสีดำ 2 ส่วน สื่อถึงสีประจำสโมสร ตรงกลางบนพื้นสีขาว มีตัวอักษร FFC สีแดง ที่ย่อมาจาก Fulham Football Club

– ฉายา : “The Cottagers” ที่แปลว่า ผู้อาศัยอยู่ในกระท่อม เนื่องจากในช่วงศตวรรษที่ 19 มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายคน เข้ามาอาศัยอยู่ในกระท่อมของวิลเลียม คราเวจ แต่กระท่อมหลังนี้ได้ถูกไฟไหม้จนเสียหายทั้งหมดในปี 1888

– สนามเหย้า : ที่มาของชื่อสนาม “คราเวน คอทเทจ” ต้องย้อนไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 วิลเลียม คราเวน ขุนนางลำดับที่ 6 ของยุคบารอน ได้สร้างกระท่อมที่มีป่าล้อมรอบ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว คือรังเหย้าของสโมสรในปัจจุบัน

ลิเวอร์พูล

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

– ตราสัญลักษณ์ : ด้านบนสุดเป็นซุ้มประตู Shankly Gates หน้าทางเข้าสนามแอนฟิลด์ พร้อมกับคำขวัญประจำสโมสร “You’ll never walk alone” ส่วนสัตว์ที่อยู่บนโลโก้ คือนกไลเวอร์เบิร์ด (Liver bird) สัญลักษณ์ของเมืองลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่มีอยู่จริง ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง มีเปลวไฟ สื่อถึงการไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ฮิลส์โบโร่ เมื่อปี 1989

– ฉายา : “The Reds” หมายถึงสีแดง มาจากสีของเสื้อแข่งขันที่เริ่มใช้ครั้งแรก หลังก่อตั้งสโมสรเพียง 4 ปี ก่อนที่ในปี 1964 ยุคที่บิล แชงคลีย์ เป็นผู้จัดการทีม ได้ตัดสินใจให้ผู้เล่นสวมชุดแข่งขันสีแดงทั้งเสื้อและกางเกงเป็นครั้งแรก

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “แอนฟิลด์” (Anfield) มีที่มาจากชื่อของ Annefield ย่านเก่าแก่ที่อยู่ชานเมืองนิวรอสส์ เคาน์ตี้ ในเว็กซ์ฟอร์ด ประเทศไอร์แลนด์ และชาวไอริชได้หลั่งไหลย้ายมาตั้งถิ่นฐานในเมืองลิเวอร์พูลตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต

ลูตัน ทาวน์

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสร ด้านบนสุดเป็นรูปหมวก สื่อถึงอุตสาหหรรมที่สำคัญของเมือง ส่วนด้านล่างมาจากตราประจำเมืองลูตัน ตรงกลางมีรูปผึ้งที่อยู่บนไม้กางเขน เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการทำงานอย่างหนัก

นอกจากนี้ยังมีลัญลักษณ์อีก 4 อย่าง ประกอบด้วย มัดข้าวสาลี สื่อถึงอุตสาหกรรมการถักทอด้วยฟาง, รังผึ้ง คือตัวแทนของการถักทอด้วยฟาง, ดอกกุหลาบ สื่อถึงตระกูลเนเปียร์ (Napier) ผู้นำอุตสาหกรรมการถักทอด้วยฟางเข้ามาในเมือง  และดอกธิสเซิล คือสัญลักษณ์ของชาวสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตระกูลเนเปียร์

– ฉายา : “The Hatters” แปลว่า ช่างทำหมวก เนื่องจากเมืองลูตัน เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมของการผลิตหมวก ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่แพร่หลายมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และสินค้าสำคัญของเมืองนี้ ก็คือหมวกที่ทำจากฟางนั่นเอง

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “เคนิลเวิร์ธ โรด” มีที่มาจากชื่อถนน Kenilworth ที่เป็นจุดปลายทางอีกฟากหนึ่งของสนามเหย้า แต่ที่ตั้งของสโมสร อยู่ที่ถนนเมเปิล (Maple) ได้ชื่อว่าเป็นสนามที่เล็กที่สุดในบรรดา 20 ทีม ของซีซั่น 2023/24

แมนเชสเตอร์ ซิตี้

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/mancity

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นวงแหวนสีขาว ด้านในมีลักษณะคล้ายโล่ ครึ่งบนของโล่เป็นรูปเรือ สื่อถึงสัญลักษณ์ของเมืองแมนเชสเตอร์ ส่วนครึ่งล่างของโล่ มีรูปดอกกุหลาบสีแดง สื่อถึงราชวงศ์แลงคาสเตอร์ และพื้นหลังสีฟ้าเข้ม มีแถบสีฟ้าอ่อนอยู่ 3 แถบ หมายถึงแม่น้ำ 3 สายที่ไหลผ่าน คือ แม่น้ำไอร์เวลล์, แม่น้ำเมดล็อก และแม่น้ำอิรค์

– ฉายา : “The Citizens” มีที่มาจากการเปรียบเทียบฐานแฟนบอลในเมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีจำนวนที่มากกว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรืออีกนัยหนึ่งคือ “เรือใบสีฟ้า” มีความเป็นท้องถิ่นมากกว่าทีมคู่ปรับร่วมเมืองนั่นเอง

– สนามเหย้า : ชื่อสนามเหย้าอย่างเป็นทางการคือ “ซิตี้ ออฟ แมนเชสเตอร์ สเตเดี้ยม” แต่มีอีกชื่อหนึ่งคือ “เอติฮัด สเตเดี้ยม” ที่มาจาก Etihad บริษัทสายการบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สปอนเซอร์หลักของสโมสร

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ในปัจจุบัน มีเพียง 2 สีหลัก คือสีเหลือง และสีแดง ด้านนอกมีชื่อสโมสร Manchester United ขนาบด้วยลูกฟุตบอล 2 ลูก ด้านในมีลักษณะคล้ายโล่ ครึ่งบนของโล่เป็นรูปเรือ สื่อถึงสัญลักษณ์ของเมืองแมนเชสเตอร์ ส่วนด้านล่างเป็นรูปปิศาจถือสามง่าม ซึ่งนำมาไว้ในโลโก้เป็นครั้งแรกในช่วงยุค 1970s

– ฉายา : “The Red devils” หรือ ปิศาจแดง มีที่มาจากฉายาของทีมรักบี้ซัลฟอร์ด เรด (Salford Red) ที่เคยโด่งดังในอดีต ทำให้ในปี 1973 เซอร์ แมตต์ บัสบี้ ผู้จัดการทีมในขณะนั้น ได้นำมาเป็นฉายาเพื่อใช้ข่มขวัญทีมคู่แข่ง

– สนามเหย้า : สังเวียนลูกหนัง “โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด” อยู่ที่ย่าน Trafford ในเกรเทอร์ แมนเชสเตอร์ มีที่มาจากในสมัยก่อน มีครอบครัวตระกูล de Trafford อาศัยอยู่ใน Old Trafford Hall ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งสนามแข่งขันของสโมสร

นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสร ดัดแปลงมาจากตราประจำเมืองนิวคาสเซิล ด้านบนประกอบด้วยสิงโต สื่อถึงราชวงศ์ของอังกฤษ, ปราสาท สื่อถึงป้อมปราการของกษัตริย์นอร์แมน และธงที่อยู่บนยอดปราสาท คือธงของโบสถ์เซนต์ จอร์จ

ส่วนด้านล่าง มีม้าน้ำ 2 ตัว ทางซ้ายและขวา สื่อถึงความผูกพันระหว่างเมืองกับทะเล เพราะเป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลเป็นจำนวนมาก ตรงกลางมีโล่ลายทางสีขาว-ดำ หมายถึง สีประจำสโมสร

– ฉายา : “The Magpies” คือนกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะของลำตัวเป็นลายทางสีขาว-ดำ คล้ายกับเสื้อแข่งขันชุดเหย้าของสโมสร ซึ่งในอดีตเคยเชื่อกันว่า มีนกชนิดนี้หลายตัว บินมาทำรังบริเวณสนามแข่งขันของสโมสร

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “เซนต์ เจมส์ พาร์ค” มาจากชื่อของโรงพยาบาล และโบสถ์เซนต์ เจมส์ (St. James) ที่สร้างมาตั้งแต่ยุคอดีต ตั้งอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์แฮนค็อก ก่อนจะนำไปใช้ตั้งชื่อรังเหย้าของสโมสร ที่เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 1892

น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน มีลายเส้นสีแดง ซึ่งหมายถึงสีประจำสโมสร เป็นรูปต้นโอ๊คที่อยู่ในป่าเชอร์วูด ด้านล่างมีเส้นหยัก 3 เส้น สื่อถึงแม่น้ำเทรนท์ (Trenr River) ที่ไหลผ่านเมือง ส่วนด้านบนมีดาว 2 ดวง สื่อถึงการคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 1979 และ 1980

– ฉายา : ฉายาแรก “Forest” มาจากที่ตั้งของสโมสรในปัจจุบัน เคยเป็นพื้นที่ป่ามาก่อน และอีกฉายาหนึ่งคือ “The Reds” ซึ่งมาจากชื่อของจูเซ็ปเป้ การิบัลดี้ นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพชาวอิตาลี ที่มักจะสวมเสื้อสีแดงเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “ซิตี้ กราวน์” มีที่มาจากเหตุการณ์สำคัญในปี 1898 สโมสรได้ย้ายรังเหย้าจาก Town Ground เป็น City Ground เพื่อเฉลิมฉลองในวาระที่น็อตติ้งแฮม ได้รับการยกฐานะให้เป็น “เมือง” เมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้น

เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสร มีลักษณะเป็นวงแหวนสีแดง ด้านในเป็นพื้นสีดำ มีดอกกุหลาบสีขาว สื่อถึงราชวงศ์ยอร์ค และดาบคู่สีขาว สื่อถึงสัญลักษณ์ของสโมสร ซึ่งสีทั้ง 3 สีที่อยู่บนโลโก้ ก็อยู่ในชุดแข่งขันของสโมสรด้วย

– ฉายา : “The Blades” แปลว่า ดาบคู่ เนื่องจากเมืองเชฟฟิลด์ เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่แพร่หลายมาตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ นำไปใช้ผลิตสินค้าที่สำคัญ นั่นคือมีด และดาบ

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “บรามอลล์ เลน” มีที่มาจากตระกูลบรามอลล์ (Bramall family) ซึ่งเป็นครอบครัวที่ทำธุรกิจผลิตตะไบ และเครื่องมือแกะสลัก อีกทั้งยังเป็นเจ้าของ The Ole White House ซึ่งปัจจุบันเป็นผับที่ตั้งอยู่ชั้นบนของสนาม

ทอตแน่ม ฮอตสเปอร์

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/TottenhamHotspur

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ในปัจจุบัน เป็นรูปไก่ตัวผู้มีเดือยแหลมอยู่ข้างหลังเท้ากำลังเหยียบลูกฟุตบอล สื่อถึงเซอร์ เฮนรี่ เพอร์ซีย์ (Sir Henry Percy) ขุนนางผู้ปกครองนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ ในช่วงศตวรรษที่ 14 ซึ่งชื่นชอบกีฬาชนไก่เป็นอย่างมาก

– ฉายา : “The Lilywhites” หมายถึง สีขาว มาจากสีของเสื้อแข่งขันที่เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1898 โดยได้แรงบันดาลใจจากสโมสรเปรสตัน นอร์ทเอนด์ ที่สวมชุดแข่งสีขาว และสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ลีกสูงสุดแบบไร้พ่ายในฤดูกาล 1888/89

– สนามเหย้า : ชื่อสนามแข่งขันในปัจจุบันคือ “ทอตแน่ม ฮอทสเปอร์ สเตเดี้ยม” ซึ่งสร้างขึ้นใหม่แทนที่ไวท์ ฮาร์ท เลน บางคนอาจเรียกว่า “นิว ไวท์ ฮาร์ท เลน” แต่ในอนาคตอาจมีการขายสิทธิ์ชื่อสนามให้กับสปอนเซอร์ทางธุรกิจ

เวสต์แฮม ยูไนเต็ด

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน เป็นรูปทรงคล้ายโล่สามเหลี่ยม มีขอบสีฟ้า และพื้นสีแดงอมม่วง ซึ่งสื่อถึงสีประจำสโมสร ตรงกลางมีรูปค้อนคู่ไขว้กัน เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมต่อเรือที่เฟื่องฟูในสมัยก่อน

– ฉายา : ฉายาแรก “The Irons” มาจากชื่อของสโมสรในยุคเริ่มก่อตั้ง คือ Thames Ironworks FCและอีกฉายาคือ “The Hammers” หรือ ค้อน เนื่องจากในอดีต ผู้คนจะได้ยินเสียงค้อนทุบดังไปทั่วบริเวณอู่ต่อเรือเป็นประจำ

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “ลอนดอน สเตเดี้ยม” เดิมใช้ชื่อว่า โอลิมปิก สเตเดี้ยม ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2012 ของสหราชอาณาจักร ปัจจุบันกลายเป็นรังเหย้าของสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน ใช้ 2 สีหลัก คือสีเหลือง-ดำ ซึ่งหมายถึงสีประจำสโมสร มีโครงสร้างเป็นกรอบรูปหกเหลี่ยมสีดำ ข้างในมีพื้นสีเหลือง และรูปหมาป่าสีดำ ซึ่งมีส่วนของสีขาวแทรกอยู่ หมายถึงดวงตาของหมาป่า

– ฉายา : “Wolves” ย่อมาจากชื่อเต็มของเมือง Wolverhampton ซึ่งพ้องกับคำว่า wolves ที่แปลว่า ฝูงหมาป่า และได้นำหมาป่ามาอยู่ในโลโก้ของสโมสรตั้งแต่ปี 1979 และฉายา “The Wanderrers” มาจากชื่อทีมในอดีต คือ Wanderrers FC

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “โมลินิวซ์ สเตเดี้ยม” มีที่มาจากชื่อของ Benjamin Molineux นักธุรกิจที่เข้ามาอาศัยในเมืองวูล์ฟแฮมป์ตันตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 และได้ซื้อที่ดินซึ่งกลายมาเป็นที่ตั้งรังเหย้าของสโมสรในปัจจุบัน

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง