Categories
Football Business

การกลับมาของ “ฟีฟ่า เอเย่นต์” เพื่อจัดระเบียบนายหน้าลูกหนังครั้งใหม่

  • รายได้ต่อปีของเอเย่นต์ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษในปัจจุบัน อยู่ระหว่าง 2 หมื่นปอนด์ ถึง 26.8 ล้านปอนด์
  • ฟีฟ่า กลับมาใช้กฎระเบียบการสอบใบอนุญาตเอย่นต์ฟุตบอลอีกครั้ง หลังยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2015
  • ในปัจจุบัน ผู้ที่ผ่านการสอบทั้ง 2 รอบ ในปี 2023 และผู้ที่มีใบอนุญาตเดิม มีประมาณ 4,500 คน

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 เป็นต้นไป สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้นำระบบ “FIFA Agent” กลับมาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อการจัดระเบียบเอเย่นต์ในวงการฟุตบอลที่เข้มงวดมากขึ้น

โดยผู้ที่สอบผ่านตามกฎ FIFA Agent Regulations ที่มีการปรับปรุงใหม่ จะได้รับใบอนุญาตให้ทำหน้าที่ตัวแทนของนักฟุตบอล รวมถึงผู้ฝึกสอน และสโมสรฟุตบอล ในการทำธุรกรรมต่างๆ ระหว่างประเทศ

วงการฟุตบอลในปัจจุบันที่มีความเป็นธุรกิจมากขึ้น และด้วยเม็ดเงินที่เพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การแข่งขันที่เข้มข้นกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของอาชีพ “เอเย่นต์” ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล

หลายๆ คน ที่ได้เข้ามาทำอาชีพนายหน้าในวงการกีฬา อาจได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง “เจอร์รี่ แม็คไกวร์” ที่ทอม ครูซ พระเอกของเรื่อง รับบทเป็นเอเย่นต์นักกีฬาผู้มีความทะเยอทะยาน

ซูเปอร์เอเย่นต์ในวงการฟุตบอล ที่มีอิทธิพลอย่างมาก เช่น ฮอร์เก้ เมนเดส หรือมิโน่ ไรโอล่า (ผู้ล่วงลับ) ถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบรรดาเอเย่นต์ในปัจจุบัน และผู้ที่ต้องการจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในอนาคต

กว่าจะมาเป็น “นายหน้าค้านักเตะ”

ในวงการฟุตบอล เอเย่นต์ คือตัวแทนหรือคนกลางที่เป็นที่ปรึกษา และรับผิดชอบในด้านต่างๆ ของนักฟุตบอล หรือผู้ฝึกสอน เช่น การเจรจาสัญญา, การดูแลสิทธิประโยชน์, การดูแลภาพลักษณ์ เป็นต้น

คุณสมบัติที่สำคัญของเอเย่นต์ฟุตบอล จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย, การจัดการธุรกิจฟุตบอลทั้งในและนอกสนาม รวมถึงสายสัมพันธ์กับนักฟุตบอลคนอื่น ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัว, สื่อมวลชน ฯลฯ

การเป็นเอเย่นต์ฟุตบอล อาจเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเอเย่นต์ให้ผ่าน หรือจะจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจากฟีฟ่า โดยที่ผู้ก่อตั้งบริษัทไม่จำเป็นต้องสอบใบอนุญาตเอเย่นต์ก็ได้

รายได้ของเอเย่นต์ฟุตบอล จะขึ้นอยู่กับจำนวนนักฟุตบอลที่เป็นลูกค้าประจำตัว รวมถึงชื่อเสียงของนักฟุตบอลแต่ละคน ถ้าหากเป็นนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ ก็มีโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งมหาศาลเลยทีเดียว

ขอบคุณภาพ : https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6

ตามกฎของฟีฟ่า เอเย่นต์จะได้ส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการเซ็นสัญญา แต่ก็มีบ้างที่มาจากค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนที่ตกลงกับสโมสร แต่โดยรวมแล้วต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสัญญาทั้งหมดต่อปี

อ้างอิงจากข้อมูลในเว็บไซต์ของ Sports Management Worldwide ระบุว่า เอเย่นต์ของนักเตะในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 2 หมื่นปอนด์ แต่เอเยนต์บางคนอาจมีรายได้สูงถึง 26.8ล้านปอนด์

ฤดูกาล 2022/23 ทั้ง 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก ได้จ่ายเงินให้ “นายหน้าค้านักเตะ” รวมกัน 318.2 ล้านปอนด์ โดยทีมที่เสียเงินมากที่สุดคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (51.5 ล้านปอนด์) และทีมที่เสียเงินน้อยที่สุดคือ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ (4.3 ล้านปอนด์)

ในปัจจุบันนี้ มีเอเย่นต์นักฟุตบอลมากกว่า 2,000 คน ที่ลงทะเบียนกับเอฟเอ เมื่อมีดีลย้ายสโมสร, ต่อสัญญา หรือยกเลิกสัญญา แต่จากนี้ไป ผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตเอเย่นต์ต้องเข้ารับการสอบตามกฎระเบียบใหม่ของฟีฟ่า

จากระบบคนกลาง กลับสู่ระบบสอบ

ในอดีต ฟีฟ่าเคยมีการจัดสอบเอเยนต์นักฟุตบอลมาก่อน แต่ได้ยกเลิกไปในปี 2015 และนำระบบคนกลาง (Intermediaries) มาใช้แทน เนื่องจากพบปัญหาสำคัญในระบบเอเยนต์นักฟุตบอล 3 ประการ ได้แก่

– ความไม่มีประสิทธิภาพในการออกใบอนุญาตฟีฟ่า เอเย่นต์ ของสมาคมฟุตบอลในหลาย ๆ ประเทศ

– การโยกย้ายนักฟุตบอลที่กระทำโดยฟีฟ่า เอเย่นต์ มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้

– ความไม่ชัดเจนในเรื่องข้อบังคับระหว่างคนที่ทำหน้าที่เอเย่นต์ของนักฟุตบอล กับตัวแทนของสโมสรต่าง ๆ

สำหรับ “ระบบคนกลาง” มีเป้าหมายในการสร้างความโปร่งใส โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้ จะต้องลงทะเบียนกับฟีฟ่า และมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรกับสโมสร หรือนักฟุตบอลที่ตนเองเกี่ยวข้อง

ส่วนค่าตอบแทนของคนกลาง ฟีฟ่าแนะนำว่า ให้เรียกได้ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสัญญา หรือค่าจ้าง แต่ก็สามารถเรียกค่าตอบแทนเท่าที่ต้องการ และต้องเปิดเผยค่าตอบแทนที่ได้รับจากสัญญาให้ฟีฟ่าทราบด้วย

แต่ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ระบบคนกลางมีการกอบโกยผลประโยชน์อย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้ฟีฟ่าตัดสินใจยกเครื่องอาชีพเอเย่นต์เสียใหม่ ด้วยการกลับมาใช้ระบบจัดสอบฟีฟ่า เอเยนต์อีกครั้งในรอบ 8 ปี

ผู้ที่มีใบอนุญาตจากฟีฟ่าเท่านั้น ที่จะสามารถทำหน้าที่เอเย่นต์ได้ ทำให้สมาชิกในครอบครัวของนักฟุตบอล ที่เคยเป็นเอเย่นต์จากระบบคนกลาง จำเป็นจะต้องสอบฟีฟ่า เอเย่นต์ให้ผ่านตามกฎระเบียบใหม่ด้วย

เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เมื่อฟีฟ่ามีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่สำหรับผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนเจรจาในวงการฟุตบอล โดยใช้วิธีการสอบเพื่อให้ได้รับใบอนุญาต จึงไม่ใช่เรื่องง่ายของหลาย ๆ คน ที่ต้องการจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในวงการลูกหนัง

วิธีการเตรียมตัวสอบ ยกตัวอย่างเช่น ดาวน์โหลดคู่มือการเป็นเอเย่นต์นักฟุตบอลที่มีความหนาประมาณ 500 หน้าจากเว็บไซต์มาศึกษาเอง หรือการเปิดติวสอบทั้ง Online และ On-site คิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมง เป็นต้น

ในวันสอบ ผู้เข้าสอบจะต้องทำข้อสอบในรูปแบบปรนัย หรือมีตัวเลือก ตามชุดข้อสอบที่ระบบสุ่มเลือกมาให้แต่ละคน จำนวน 20 ข้อ ภายในเวลา 1 ชั่วโมง และต้องตอบถูกอย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15 ข้อ จึงจะถือว่าสอบผ่าน

สำหรับในการสอบครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน 2023 มีผู้สมัครเข้ามาในระบบ 6,586 คน จาก 138 สมาคมฟุตบอลทั่วโลก ในจำนวนนี้ เข้ามาทำการสอบ 3,800 คน และสอบผ่าน 1,962 คน (คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์)

และการสอบครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน 2023 มีผู้สมัครเข้ามาในระบบ 10,383 คน จาก 157 สมาคมฟุตบอลทั่วโลก ซึ่งนับจนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจากการสอบทั้ง 2 รอบ และผู้ที่มีใบอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว รวมกันไม่น้อยกว่า 4,500 คน

ผู้ที่สอบไม่ผ่าน ก็สามารถสอบใหม่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนกว่าจะสอบผ่าน เพียงแต่ไม่ได้จัดสอบบ่อยๆ ในแต่ละปี ซึ่งพวกเขาต้องเตรียมตัวให้ดีกว่าเดิม เพราะคนที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ ต้องเป็นคนที่เจ๋งจริง ๆ เท่านั้น

ขอบคุณภาพ : https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6

เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนลุยสนามสอบ

หลังจากการสอบ FIFA Football Agent Examination ในปี 2023 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และยังมีอีกหลายคนที่สนใจจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในวงการฟุตบอล ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ก่อนเข้าสู่ห้องสอบ

สำหรับปี 2024 ก็จะมีการเปิดรับสมัคร และสอบ 2 ครั้งเช่นเดิม ครั้งที่ 1 รับสมัครระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม (สอบประมาณเดือนพฤษภาคม) ส่วนครั้งที่ 2 รับสมัครระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน (สอบประมาณเดือนพฤศจิกายน)

เมื่อถึงช่วงเวลาที่เปิดรับสมัคร ให้สมัครผ่านเว็บไซต์ agents.fifa.com และจะแจ้งรายละเอียดในการสอบให้ทราบอีกครั้งผ่านอีเมลของผู้สมัครสอบ และระบบ FIFA Agent Platform ส่วนภาษาที่ใช้สอบ มีให้เลือกระหว่างอังกฤษ, สเปน หรือ ฝรั่งเศส

คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครสอบเพื่อขอใบอนุญาตการเป็นเอเย่นต์ฟุตบอลตามระเบียบของ FIFA (Eligibility Requirement)

a) คุณสมบัติ ณ วันที่ยื่นใบสมัคร

– กรอกใบสมัครตามความจริงอย่างครบถ้วนทุกประการ

– ไม่เคยได้รับโทษในคดีอาญา

– ไม่เคยถูกลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมกีฬาจากองค์กรกีฬาใดเป็นเวลามากกว่า 2 ปี อันเนื่องมาจากละเมิดกฎระเบียบและจริยธรรมทางวิชาชีพ

– ไม่เป็นพนักงานของ FIFA, สหพันธ์ฟุตบอลของทวีป, สมาคมกีฬาฟุตบอลของประเทศต่างๆ, ฟุตบอลลีก, สโมสรฟุตบอล รวมถึง องค์กรใดๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานข้างต้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

– ไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ สโมสร, อคาเดมี และ ฟุตบอลลีก

b) ไม่เคยตรวจพบว่าทำหน้าที่เอเยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมาก่อนยื่นใบสมัคร

c) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือ กรรมการบริษัทขององค์กรที่ถูกฟ้องล้มละลาย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

d) ไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์หรือส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันกีฬาทุกชนิดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา 

ผู้ที่สอบผ่าน จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตเป็นจำนวนเงิน 600 ฟรังก์สวิส (คิดเป็นเงินไทย ประมาณ 24,000บาท) ภายใน 90 วัน หลังจากสอบผ่าน และเป็นค่าใช้จ่ายแบบรายปี เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ก็สามารถทำงานได้ทันที

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เอเย่นต์คือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฟุตบอลให้เดินหน้าต่อไป อีกทั้งเป็นช่องทางสำหรับผู้มีความฝันที่ต้องการจะทำงานในวงการฟุตบอล เพื่อกอบโกยรายได้มหาศาลจากอาชีพนี้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://thaipublica.org/2016/04/tpl-10/

https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6

– https://theathletic.com/4420448/2023/04/19/agents-exams-fifa/

https://www.thefa.com/news/2023/mar/31/publication-of-payments-and-transactions-310323

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11987207/Agents-futures-line-sit-FIFA-exam-fears-80-cent-fail.html

https://digitalhub.fifa.com/m/1e7b741fa0fae779/original/FIFA-Football-Agent-Regulations.pdf

https://digitalhub.fifa.com/m/1c21b25b00c6dec8/original/FIFA-Football-Agent-Exam-Study-Materials.pdf

Categories
Football Business

ยุคโมเดิร์นฟุตบอลที่สถิติท่วมล้น สถิติไหนคัดกรองยอดนักเตะแม่นที่สุด

โลกฟุตบอลยุคปัจจุบันเอ่อล้นไปด้วยข้อมูลสถิติที่เกิดจาก data point จำนวนหลายล้านต่อแมตช์ การสัมผัสบอลแต่ละครั้งและทุกการเคลื่อนไหวของนักฟุตบอลได้รับการจดบันทึก พรีเมียร์ลีกเป็นหนึ่งในสมรภูมิลูกหนังระดับอาชีพที่เป็นผู้นำด้านสถิติ เป็นลีกหนึ่งที่เก็บรวบรวมข้อมูลมากที่สุดในโลก

ดิวิชัน 1 ประเทศอังกฤษ เปลี่ยนชื่อเป็นพรีเมียร์ชิพ (ก่อนมาเป็นพรีเมียร์ลีก) ในฤดูกาล 1992-93 สถิติยุคนั้นถือว่าน้อยมากและเป็นสถิติพื้นฐานอย่างเช่น ใครทำประตู ใครเป็นคนแอสซิสต์ และใครได้รับใบเหลืองใบแดง ยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ฟอร์มการเล่นส่วนบุคคลหรือทีม ไม่มีสถานีโทรทัศน์ช่องไหนสนใจสถิติเชิงลึกดังเช่นปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงมาถึงในซีซัน 1997-98 หรืออีก 5 ปีต่อมาเมื่อ Opta ได้เซ็นสัญญาเป็นบริษัทเก็บรวบรวมสถิติเชิงประสิทธิภาพของนักฟุตบอลให้กับพรีเมียร์ลีกอย่างเป็นทางการ โดย Opta บริษัทสัญชาติอังกฤษ เพิ่งก่อตั้งในปี 1996 สร้างชื่อเสียงขึ้นมาจากเป็นพันธมิตรของช่อง Sky Sports ในการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกทางโทรทัศน์ตั้งแต่ซีซั่น 1996-97

สถิติยุคแรกค่อนข้างเรียบง่ายพื้น ๆ จนกระทั่งซีซั่น 2006-07 Opta เริ่มเก็บรวบรวบสถิติหลากหลายและมีจำนวนเพิ่มขึ้น อาทิ key passes, tackle success, shooting accuracy สำหรับนักเตะ และ passes per match, errors leading to a goal, goals from counter attacks สำหรับทีม เป็นต้น

ตั้งแต่ซีซัน 2021-22 พรีเมียร์ลีกได้ร่วมงานกับ Oracle บริษัทเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่จากอเมริกา ซึ่งให้บริการเมตริกชั้นสูง รวมถึงระบบยอดนิยมอย่าง Momentum Tracker ส่งผลให้พรีเมียร์ลีกมีข้อมูลสถิติที่สลับซับซ้อนกว่าลีกหลายประเทศที่ยังคงใช้เพียง event data เหมือน Opta เช่น การจ่าย การโหม่ง การเซฟ โดย Oracle ใช้เมตริกและโมเดลที่ซับซ้อนนำไปวัดปริมาณส่วนต่าง ๆ ของเกมการแข่งขัน จนได้ข้อมูลที่มีความลึกซึ้ง สามารถนำไปต่อยอดวิเคราะห์เกมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ Opta เซ็นสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์ของพรีเมียร์ลีกในปี 1997 แต่สโมสรต่างๆยังต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติของตัวเอง หนึ่งในยุคบุกเบิกคือ โบลตัน วันเดอเรอร์ส ยุคแซม อัลลาร์ไดซ์ ซึ่งคุมทีมทรอตเตอร์สระหว่างปี 1999 – 2007 โดยอัลลาร์ไดซ์เห็นประโยชน์ของข้อมูลสถิติในวงการกีฬาเมื่อครั้งเล่นฟุตบอลให้ทีมแทมปา เบย์ ราวดีส์ ที่อเมริการาวปี 1983 เขานำไปไอเดียมาใช้เพื่อพัฒนาการเล่นของนักเตะโบลตัน อัลลาร์ไดซ์ถึงขนาดสร้างสถานที่ที่เรียกว่า War Room ซึ่งเขาและสตาฟฟ์โค้ชใช้เป็นออฟฟิศเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลบนจอขนาดใหญ่ ซึ่งถูกใช้เพื่อวางแผนกลยุทธ์การเล่นอีกด้วย

สโมสรแรกที่ลงทุนด้านข้อมูลสถิติอย่างจริงจังได้แก่ ลิเวอร์พูล หลังจากเฟนเวย์ สปอร์ตส์ กรุ๊ป บริษัทกีฬาข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน เข้ามาเทคโอเวอร์เมื่อปี 2010 เนื่องจากเฟนเวย์ฯ ตระหนักถึงศักยภาพของการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติจากการเป็นเจ้าของทีมเบสบอล บอสตัน เรด ซอกซ์ ซึ่งความจริงแล้ว data analysis เป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากสำหรับกีฬาเมืองลุงแซม

นับจากปี 2010 แผนกข้อมูลเป็นหน่วยงานที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีบทบาทสำคัญต่อความก้าวหน้าของสโมสรพรีเมียร์ลีก ได้ถูกใช้งานตั้งแต่การเลือกสรรผู้เล่นไปจนถึงการวางแท็คติก ข้อมูลเชิงลึกที่ถูกสร้างขึ้นมาส่งผลกระทบและสร้างสีสันให้กับเกมลูกหนังเป็นอย่างมาก

สถิติเว็บพรีเมียร์ลีก 4 กลุ่มใหญ่ 40 หมวดย่อย

ในส่วนของการรวบรวม event data ระหว่างการแข่งขันพรีเมียร์ลีกแต่ละนัด Opta ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Stats Perform ใช้ทีมงานทั้งหมด 3 คน เจ้าหน้าที่ 2 คนมีหน้าที่ดูวิดีโอฟุตเตจและบันทึกข้อมูลทุกครั้งเมื่อเกิดการสัมผัสลูกบอล นักเตะคนไหนเข้ามาเกี่ยวข้อง และเกิดตรงตำแหน่งไหนของสนาม เจ้าหน้าที่คนที่ 3 เป็นผู้ควบคุมคุณภาพหรือ QC กรอกกลับวิดีโอฟุตเตจเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ถูกต้อง ทั้งนี้ live-match data จะถูกนำไปตรวจสอบอีกครั้งหลังการแข่งขันเพื่อให้มั่นใจว่าถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์

อ้างอิงจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพรีเมียร์ลีก ในหมวด stats แบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ ได้แก่ สถิติทั่วไป, สถิติเกมบุก, สถิติเกมรับ และสถิติผู้รักษาประตู ซึ่งแต่ละประเภทจะมีแยกย่อยลงไปประกอบด้วย

GENERAL : Goals, Assists. Appearances. Minutes Played, Yellow Cards, Red Cards. Substituted On. Substituted Off

ATTACK : Shots, Shots On Target, Hit Woodwork, Goals From Header, Goals From Penalty, Goals From Freekick, Offsides, Touches, Passes, Through Balls, Crosses, Corners Taken

DEFENCE : Interceptions. Blocks, Tackles, Last Man Tackles, Clearances, Headed Clearances, Aerial Battles Won, Own Goals, Errors Leading To Goal, Penalties Conceded, Aerial Battles Lost

GOALKEEPER : Clean Sheets, Goals Conceded, Saves, Penalties Saved, Punches, High Claims, Sweeper Clearances, Throw Outs, Goal Kicks

จากสถิติข้างบนเป็นเพียง event data ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ๆ ด้วยสายตามนุษย์ ยังมีมากมายขนาดนี้ ไหนจะมีสถิติที่เกิดจากการคำนวณ และสถิติได้จากระบบเมตริกและโมเดลที่ซับซ้อน จนหลายคนอาจตั้งคำถามในใจว่า คิดวิเคราะห์ให้มันยุ่งยากวุ่นวายเกินไปหรือเปล่าเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ฟอร์มการเล่นของตัวนักเตะและทีมว่าดีหรือแย่เพียงใด

ดังนั้น จึงมีผู้คิดแบบสุดขั้วอย่าง ไรอัน โอ’แฮนลอน นักข่าวของอีเอสพีเอ็น ดอท คอม สื่อกีฬาระดับโลกจากอเมริกา ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าต้องเลือกใช้ตัวเลขสถิติเพียงชนิดเดียวเพื่อจัดทีมฟุตบอลรวมดาราจากการแข่งขันยูฟา แชมเปียนส์ ลีก และลีกท็อป-5 ของยุโรป (พรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา, กัลโช เซเรีย อา, ลา ลีกา, ลีกเอิง) ประจำฤดูกาล 2022-23 ที่เพิ่งจบไป สถิติไหนจะจัดทีม Best XI ได้ดีหรือใกล้เคียงกับสุดยอดทีมในโลกแห่งความเป็นจริงมากที่สุด ทั้งนี้เป็นการจัดทีมด้วยแผนการเล่น 4-3-3 และจัดเฉพาะผู้เล่นเอาท์ฟิลด์ ไม่รวมผู้รักษาประตูที่มีการบันทึกสถิติเฉพาะตัว ต่างจากผู้เล่น 10ตำแหน่งที่เหลือ

SHOTS คัดกรองฟอร์มนักเตะแม่นกว่า GOALS

ฟุตบอลตัดสินแพ้ชนะกันที่จำนวนประตู โอ’แฮนลอนจึงเลือก GOALS เป็นสถิติเดี่ยวในการฟอร์มทีมรวมดาราชุดแรก นักเตะแต่ละตำแหน่งในระบบ 4-3-3 จะคัดเลือกจากผู้เล่นที่ทำสกอร์รวมมากที่สุดในฟุตบอลลีกและแชมเปียนส์ ลีกฤดูกาลที่แล้ว

ศูนย์หน้า : เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ (แมนฯซิตี)

ปีกซ้าย : คีลิยัน เอ็มบัปเป (เปแอสเช)

ปีกขวา : โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ (ลิเวอร์พูล)

มิดฟิลด์กลาง : มาร์ติน โอเดการ์ด (อาร์เซนอล)

มิดฟิลด์กลาง : จูด เบลลิ่งแฮม (ดอร์ทมุนด์)

มิดฟิลด์ตัวรับ : ปาสกาล กรอสส์ (ไบรท์ตัน)

แบ็คซ้าย : ราฟาเอล เกร์เรโร (ดอร์ทมุนด์)

เซ็นเตอร์แบ็ค : ชานเซล เอ็มเบมบา (มาร์กเซย์)

เซ็นเตอร์แบ็ค : เอแดร์ มิลิเตา (เรอัล มาดริด)

แบ็คขวา : สเตฟาน พอสช์ (โบโลญา)

พิจารณารายชื่อ Best XI ที่เลือกจากสถิติการทำประตู โอ’แฮนลอนมองว่าไม่เลวนัก แต่มีบางจุดที่ไม่เห็นด้วย คำว่าเบสต์ใช้ได้กับฮาลันด์และซาลาห์ รวมถึงโอเดการ์ดและเบลลิ่งแฮม แต่เอ็มบัปเปยังไม่ใช่ถ้าหมายถึงซีซั่นที่แล้ว ทีมนี้อาจทำสกอร์ได้เยอะแต่อาจเสียประตูไม่น้อย ฟอร์มของกรอสส์ไม่ค่อยได้รับคำชมเท่าไร เช่นเดียวกับเกร์เรโร เอ็มเบมบาก็ไม่ใกล้เคียงคำว่าเบสต์ไม่ว่าเป็นสายตาใคร มิลิเตาอาจโอเค แต่แฟนบอลนอกลีกอิตาลีเคยได้ยินชื่อพอสช์บ้างไหม

ขอบคุณภาพจาก  https://www.premierleague.com/news/3486228

กูรูจากเว็บไซต์อีเอสพีเอ็น มองว่า GOALS ยังไม่สามารถจัดทีมรวมดาราได้ใกล้เคียงความจริง โดยเฉพาะแนวรับ ประตูที่ทำได้แปรเปลี่ยนได้แต่ละซีซั่น และสถิติยังรวมประตูจากจุดโทษด้วย ดังนั้นโอ’แฮนลอนจึงลองเปลี่ยนตัวคัดกรองที่ 2 เป็น SHOTS หรือจำนวนรวมของลูกยิงและลูกโหม่งที่พุ่งไปยังกรอบประตู ใครทำได้มากที่สุดของแต่ละตำแหน่งจะเข้าไปอยู่ในทีมรวมดารา

ศูนย์หน้า : ฮาลันด์

ปีกซ้าย : เอ็มบัปเป

ปีกขวา : ซาลาห์

มิดฟิลด์กลาง : โอเดการ์ด

มิดฟิลด์กลาง : บรูโน แฟร์นันเดส (แมนฯยูไนเต็ด)

มิดฟิลด์ตัวรับ : โรดรี (แมนฯซิตี)

แบ็คซ้าย : เตโอ แอร์กน็องเดซ  (เอซี มิลาน)

เซ็นเตอร์แบ็ค : ฟาเบียน ชาร์ (นิวคาสเซิล)

เซ็นเตอร์แบ็ค : คอนสแตนตินอส มาฟโรปานอส (สตุ๊ตการ์ท)

แบ็คขวา : เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ (ลิเวอร์พูล)

เมื่อผลการคัดเลือกด้วยการยิงหรือโหม่งเข้ากรอบออกมา โอ’แฮนลอนมองว่าพัฒนาตัวผู้เล่นดีขึ้น กองหน้ายอดเยี่ยม มิดฟิลด์ดีทีเดียวแม้ขัดใจชื่อของแฟร์นันเดสที่เขารู้สึกว่ายังไม่ถึงขั้นดีมาก ต่างกับโรดรีที่เป็นมิดฟิลด์ตัวรับที่อยู่อันดับสูงสุดของ “เอฟซี 100” ซึ่งเป็นการจัดแรงกิ้งนักเตะของอีเอสพีเอ็น 

ฟูลแบ็คสองฝั่งมีฝีเท้าระดับเวิลด์คลาสในสายตาของโอ’แฮนลอน ชาร์เป็นแกนหลักของหนึ่งในทีมที่มีเกมรับดีที่สุดในพรีเมียร์ลีกซีซันที่ผ่านมา ส่วนมาฟโรปานอสเป็นเซ็นเตอร์แบ็คที่ดีพอใช้ แต่เล่นให้ทีมครึ่งล่างของบุนเดสลีกา และเคยถูกอาร์เซนอลปล่อยหลังลงตัวจริงบอลลีกแค่ 3 นัด แต่ความจริงแล้ว จำนวนการยิงไม่สามารถประเมินคุณค่าที่แท้จริงของเซ็นเตอร์แบ็คอยู่แล้ว

PASSING เป็นสถิติที่มีนัยยะสำคัญทั้งเกมบุกและรับ

ข้างต้นเป็นสถิติในส่วนของเกมบุก ซึ่งเห็นได้ชัดว่า SHOTS เป็นตัวคัดกรองที่ดีกว่า GOALS แต่ยังไม่สามารถจัดผู้เล่นได้สมเหตุสมผลอยู่ดีแม้ดึงมิดฟิลด์ตัวรับดีที่สุดติดทีมเข้ามาได้ แต่กลับได้แผงหลังที่อ่อนยวบ โอ’แฮนลอนจึงเปลี่ยนมาใช้PASSING เป็นเงื่อนไขบ้างเพราะเป็นคุณสมบัติสำคัญของทั้งผู้เล่นเกมรุกเกมรับ แต่ตัดตัวเลขในส่วนของแอสซิสต์ออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงการให้น้ำหนักกับผู้เล่นเกมบุก

ศูนย์หน้า : อองตวน กรีซมันน์ (แอตฯมาดริด)

ปีกซ้าย : แจ็ค กรีลีช (แมนฯซิตี)

ปีกขวา : ลิโอเนล เมสซี (เปแอสเช)

มิดฟิลด์กลาง : เควิน เดอ บรอยน์ (แมนฯซิตี)

มิดฟิลด์กลาง : บรูโน แฟร์นันเดส

มิดฟิลด์ตัวรับ : โยซัว คิมมิช (บาเยิร์น)

แบ็คซ้าย : คริสเตียโน บิรากี  (ฟิออเรนตินา)

เซ็นเตอร์แบ็ค : อเลสซานโดร บาสโตนี (อินเตอร์ มิลาน)

เซ็นเตอร์แบ็ค : ดาวิด อลาบา (เรอัล มาดริด)

แบ็คขวา : คีแรน ทริปเปียร์ (นิวคาสเซิล)

โอ’แฮนลอนให้ความเห็นถึง Best XI ทีมที่ 3 ว่า อาจดูแปลก ๆ ไปบ้างสำหรับฟรอนท์ไลน์ แต่ทั้งสามมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างเกมรุกน่าสะพรึงกลัว แผงมิดฟิลด์อาจเน้นความปลอดภัยมากเกินไปแทนที่จะสร้างสรรค์เกมรุกหรือดอดขึ้นไปลุ้นทำประตู แต่เดอ บรอยน์ และแฟร์นันเดส น่าจะช่วยให้บาเยิร์นอุ่นใจกว่าเมื่อเทียบกับสองคนที่อยู่ข้างหน้าคิมมิชในเกมสโมสร

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/63200405

สำหรับแบ็คไลน์ โอ’แฮนลอนมองว่า บิรากีอาจไม่ใช่แบ็คซ้ายดีที่สุดในโลกแต่ไม่ใช่แบ็คซ้ายที่แย่เช่นกัน อย่างน้อยมีประสบการณ์ตัวจริงเกือบ 250 นัดในเซเรีย อา บาสโตนีกับอลาบาเป็นการจับคู่ปราการหลังที่เวิร์ก ทริปเปียร์เพิ่งผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตแบ็คขวาของตัวเอง

PASSING ช่วยให้การจัดทีมมีสมดุลขึ้น แต่โอ’แฮนลอนอยากปรับเงื่อนไขที่เน้นเกมรับขึ้นมาอีกเล็กน้อย ตัวกรองที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างผลงานโจมตีกับการแย่งบอลคืนมา ซึ่งได้แก่ TACKLES + INTERCEPTIONS และผลลัพธ์ที่ได้คือ

ศูนย์หน้า : กรีซมันน์

ปีกซ้าย : จาค็อบ แรมเซย์ (แอสตัน วิลลา)

ปีกขวา : เฟลิเป อันแดร์สัน (ลาซิโอ)

มิดฟิลด์กลาง : วาล็องแต็ง รงชีเยร์ (มาร์กเซย์)

มิดฟิลด์กลาง : มอร์เทน ฮูลมันด์ (เลชเช)

มิดฟิลด์ตัวรับ : ชูเอา ปาลินญา (ฟูแลม)

แบ็คซ้าย : แมลแว็ง บาร์  (นีซ)

เซ็นเตอร์แบ็ค : อันเดร จิรอตโต (นองต์ส)

เซ็นเตอร์แบ็ค : เลโอนาร์โด บาเลร์ดี (มาร์กเซย์)

แบ็คขวา : โมฮาเหม็ด ยูซซุฟ (อฌักซิโอ)

หลังทราบรายชื่อทีมรวมดาราเวอร์ชันที่ 4 ซึ่งมีกรีซมันน์คนเดียวที่มาจาก 3 ทีมแรก ที่เหลือเป็นหน้าใหม่และครึ่งหนึ่งมาจากลีกเอิง นั่นทำให้กูรูอีเอสพีเอ็น ดอท คอม ถึงกับอุทานว่า I, uh, yeah, no.

MINUTES PLAYED ถ้าฟอร์มดี โค้ชย่อมเลือกใช้งานบ่อย

บางคนอาจมองข้ามความจริงข้อหนึ่งไป ถึงสถิติจะถูกบันทึกในฐานะผลงานของคนๆเดียว แต่เพื่อนร่วมทีมมีส่วนทำให้ event data เหล่านั้นเกิดขึ้น ทุกการยิงหรือโหม่งเพื่อหวังประตู จะมาจากการผ่านหรือเหตุการณ์สักอย่างที่ทำให้ลูกบอลเดินทางมาถึง ทุกการผ่านบอลล้วนมีต้นทางมาจากการผ่านบอลก่อนหน้าหรือไม่ก็เทิร์นโอเวอร์หรือฟาวล์ ไม่มีแทคเกิลหรืออินเตอร์เซปท์เกิดขึ้นหากเพื่อนร่วมทีมไม่เสียบอลแล้วจากนั้นมีใครสักคนของทีมคู่แข่งเห็นโอกาสที่จะเข้าไปแย่งบอลหรือเสียบสกัด

เกือบทุกสถิติมีลักษณะเช่นนั้น หนึ่งในข้อยกเว้นคือ จำนวนนาทีที่ลงสนาม ซึ่งหากไม่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพความฟิต ตัวเลขที่เกิดขึ้นมาจากวิจารณญาณของผู้จัดการทีมหรือหัวหน้าโค้ช ซึ่งเห็นนักเตะทุกครั้งที่สนามฝึกซ้อม มีนักวิเคราะห์เกมคนหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าคุณดีพอ ผู้จัดการทีมก็จะใช้งานคุณบ่อยเอง” และแน่นอนว่า MINUTES PLAYED จึงเป็นสถิติที่รวบรวมสถิติอื่น ๆ ไว้ด้วยกัน

แต่ซีซั่นที่แล้วมีฟุตบอลโลกที่กาตาร์คั่นกลางฤดูแข่งขัน อาจส่งผลต่อเวลารวมของนักเตะฝีเท้าเยี่ยม ๆ ดังนั้นโอ’แฮนลอนจึงเพิ่มเงื่อนไขพิเศษเข้าไปเล็กน้อยด้วยการใช้สถิติของ 2 ซีซันที่ผ่านมาแทนซีซันเดียว

ศูนย์หน้า : แฮร์รี เคน (สเปอร์ส)

ปีกซ้าย : วินิซีอุส จูเนียร์ (เรอัล มาดริด)

ปีกขวา : ซาลาห์

มิดฟิลด์กลาง : ดาเนียล ปาเรโฆ (บีญาร์เรอัล)

มิดฟิลด์กลาง : นิโกโล บาเรลลา (อินเตอร์ มิลาน)

มิดฟิลด์ตัวรับ : โรดรี

แบ็คซ้าย : เตโอ แอร์กน็องเดซ 

เซ็นเตอร์แบ็ค : ฟาน ไดจ์ค

เซ็นเตอร์แบ็ค : เอแดร์ มิลิเตา

แบ็คขวา : เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์

6 คนมาจากทีมรวมดาราชุดก่อน ๆ เคนกับวินิซีอุสที่เข้ามาใหม่ในแผงหน้า ไม่มีใครกล้าค้านว่าทั้งคู่เป็นนักเตะเวิลด์คลาส ปาเรโฆกับบาเรลลาเป็นคู่มิดฟิลด์เบอร์ 8 ที่โค้ชคนไหนก็น่าจะพอใจ ดังนั้นเวลารวมในสนาม ซึ่งผ่านการคิดวิเคราะห์ของบุคคลผู้อยู่ใกล้ชิดนักเตะมากที่สุด จึงเป็นตัวเลือกสมเหตุสมผลหากจะอ้างอิงสถิติเพียงข้อเดียวเพื่อนำมาสร้างทีมรวมดารา

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

วิวัฒนาการของฟูลแบ็ค สู่เทรนด์ที่มาแรงในฟุตบอลสมัยใหม่

แกรี เนวิลล์ กับ เจมี คาร์ราเกอร์ ตำนานกองหลังร่วมทศวรรษ 1990-2010 ซึ่งตอนนี้เลิกปะทะแข้งหันมาปะทะฝีปากกันในฐานะกูรูลูกหนังของค่ายสกาย สปอร์ตส์ เคยคุยกันขำๆว่า ฟุตบอลอาจใกล้หมดยุคฟูลแบ็คที่เล่นแต่เกมรับแล้ว และไม่แค่นั้น อดีตเซ็นเตอร์แบ็คลิเวอร์พูลวัย 45 ยังเอ่ยแซวอดีตฟูลแบ็คแมนฯยูไนเต็ดที่มีอายุมากกว่า 3 ปีว่า เด็กสมัยนี้คงไม่มีใครฝันอยากเดินตามรอยสตั๊ดแกรี เนวิลล์ กันแล้ว

คาริม ชาฮีน นักวิเคราะห์เกมอิสระของสื่อโททัล ฟุตบอล อนาไลซิส เคยให้ทรรศนะว่า ฟูลแบ็คน่าจะเป็นตำแหน่งในสนามฟุตบอลที่มีสีสันน้อยที่สุด อดีตกาลเคยมีผู้นิยามฟูลแบ็คแบบเหน็บแนมว่า เป็นนักฟุตบอลที่ไม่แข็งแกร่งสำหรับเซ็นเตอร์แบ็ค และไม่มีทักษะเพียงพอจะเล่นตำแหน่งปีก

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ถูกวิวัฒนาการไปมากตั้งแต่รอยต่อของศตวรรษที่ 20-21 หลายตำแหน่งได้รับการปรับแต่งและถูกเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผู้รักษาประตูที่เล่นสวีปเปอร์, เซ็นเตอร์แบ็คที่บิลด์อัพเกม, ปีกตัดเข้าใน และฟอลส์ ไนน์ แต่ฟูลแบ็คยังทำหน้าที่เดิมๆเป็นส่วนใหญ่จนกระทั่งหนึ่งทศวรรษหลังจึงพบเห็นวิวัฒนาการอย่างมีนัยยะ และกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงในโมเดิร์นฟุตบอล

ชาฮีนพลิกปูมประวัติศาสตร์เล่าเพิ่มเติมว่า งานหลักของฟูลแบ็คคือเกมรับ สนับสนุนเซ็นเตอร์แบ็ค รักษาพื้นที่ป้องกันให้แคบที่สุด และคอยขวางไม่ให้ปีกฝ่ายตรงข้ามครอสบอลไปยังกรอบเขตโทษ ฮาเวียร์ ซาเนตติ และ เปาโล มัลดินี เป็นตัวอย่างของดีเฟนซีพ ฟูลแบ็ค ระดับโลก

ความจริงแล้ว โมเดิร์น ฟูลแบ็ค ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเพราะย้อนไปต้นทศวรรษ 1950 ฌาลมา ซานโตส และ นิลตัน ซานโตส ซึ่งไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกัน เคยลุยเปิดเกมบุกให้ทีมชาติบราซิลได้อย่างน่าทึ่งในเวิลด์คัพ 1958 หรือคู่ฟูลแบ็คแซมบาที่ยังอยู่ในความรับรู้ของแฟนบอลสมัยนี้คือ คาฟู กับ โรแบร์โต คาร์ลอส จากเวิลด์คัพ 2002 แต่ฟูลแบ็คเริ่มมีวิวัฒนาการให้เห็นเด่นชัดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันกลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญของกลยุทธ์เกมรุก จนอาจเป็นผู้เล่นที่มีการเคลื่อนที่และถูกใช้งานสารพัดประโยชน์มากที่สุดบนสนามฟุตบอล

ประจักษ์พยานคือ ค่าตัวฟูลแบ็คเริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าจัดอันดับท็อป-10 เฉพาะดีลธุรกิจที่ทำตั้งแต่ปี 2016 ลูคัส เอร์นานเดซเป็นฟูลแบ็คราคาแพงที่สุดในโลกตอนนี้คือ 80 ล้านยูโรตอนที่บาเยิร์น มิวนิก ซื้อจากแอตเลติโก มาดริด เมื่อปี 2019 ตามด้วย มาร์ค กูกูเรยา ซึ่งเชลซีเพิ่งทุ่มเงิน 70.1 ยูโร ซื้อจากไบรท์ตันในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว และ อาชราฟ ฮาคิมี 66.5 ล้านยูโร ที่ปารีส แซงต์-แยร์กแมง ซื้อเมื่อปี 2021 จากอินเตอร์ มิลาน โดยก่อนหน้านั้น ปี 2020 ทีมเนรัซซูรีเพิ่งซื้อฮาคิมีจากเรอัล มาดริด ที่ตัวเลข 43 ล้านยูโร รั้งอันดับ 10 ของตารางค่าตัว คือปีเดียว อินเตอร์ฯทำกำไรถึง 23,5 ล้านยูโร

อาร์เซนอลซื้อเซ็นเตอร์เพื่อเล่นฟูลแบ็ค

ตลาดซัมเมอร์รอบนี้ อาร์เซนอลได้ซื้อ เยอร์เรียน ทิมเบอร์ ปราการหลังทีมชาติเนเธอร์แลนด์จากอาแจ็กซ์ด้วยราคา 40 ล้านปอนด์ หลังจากได้ ไค ฮาเวิร์ทซ์ แนวรุกทีมชาติเยอรมนีของเชลซี มูลค่า 65 ล้านปอนด์ และถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด มิเกล อาร์เตตา จะได้ลูกทีมใหม่คนที่ 3 ที่ค่าตัวสูงลิ่ว 105 ล้านปอนด์คือ ดีแคลน ไรซ์ มิดฟิลด์ทีมชาติอังกฤษจากเวสต์แฮม ถือเป็นการลงทุนเสริมขุมกำลังครั้งสำคัญของอาร์เซนอลที่ฟอร์มแผ่วปลายซีซันที่แล้ว ปล่อยให้แชมป์พรีเมียร์ลีกตกเป็นของแมนฯซิตี

ทิมเบอร์ กองหลังดาวรุ่งดัตช์ เคยตกเป็นข่าวแรงในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้วเพราะเป็นเป้าหมายเบอร์แรกๆของ เอริก เทน ฮาก ที่เพิ่งอำลาอาแจ็กซ์มาคุมทีมแมนฯยูไนเต็ด แต่ทิมเบอร์เลือกค้าแข้งในลีกแดนกังหันลมต่ออีกหนึ่งปี

แม้อายุเพียง 22 ปีแต่ทิมเบอร์ลงสนามให้อาแจ็กซ์มาแล้วกว่า 200 นัด ถูกยกย่องเป็นกองหลังที่น่าจับตามอง เพียบพร้อมทั้งความแข็งแกร่งและความสุขุมเกินวัย แถมยังจ่ายบอลมากที่สุดในเอเรอดีวีซี ฤดูกาล 2022-23 ทั้งที่ยืนตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็คตัวขวา

กูรูลูกหนังมองว่า การผ่านบอลเป็นทักษะอันดับ 1 ที่อาร์เซนอลพิจารณาดึงทิมเบอร์เข้าเอมิเรตส์ สเตเดียม โดยอ้างอิงจากสถิติด้าน passing ในลีกเนเธอร์แลนด์ซีซันที่แล้ว ทิมเบอร์สัมผัสบอลรวม 3,129 ครั้ง, จ่ายบอลคอมพลีท 2,501 ครั้ง และจ่ายบอลขึ้นหน้า 902 ครั้ง ซึ่งทั้งสามหมวด ทิมเบอร์ทำได้มากกว่าใครในเอเรอดีวีซี เขายังจ่ายบอลคอมพลีทในพื้นที่ final third 544 ครั้ง สูงเป็นอันดับ 9 และมีความแม่นยำการจ่ายบอล 92 เปอร์เซ็นต์ หรืออันดับ 14 ของลีก

แต่ประเด็นที่น่าสนใจตามมุมมองของนักวิเคราะห์เกม ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่า อาร์เตตาต้องการใช้งานทิมเบอร์ในตำแหน่งแบ็คขวาของระบบ 4-3-3 Attacking แม้ตลอดซีซันที่ผ่านมา ทิมเบอร์เป็นแบ็คขวาตัวจริงเพียงนัดเดียวคือฟุตบอลยุโรป รอบคัดเลือก เนเธอร์แลนด์แพ้ฝรั่งเศส 0-4

จากข้อมูลของ transfermarkt เฉพาะบอลลีกซีซันที่แล้ว จากการลงสนาม 34 นัด 3,034 นาที ทำ 2 ประตู 2 แอสซิสต์ ทิมเบอร์ยืนเซ็นเตอร์แบ็คทุกนัด หรือดูสถิตินับตั้งแต่ขึ้นชุดใหญ่อาแจ็กซ์ ทิมเบอร์เล่นทั้งหมด 85 นัด ยืนเป็นแบ็คขวา 10 นัดเท่านั้น นั่นเท่ากับว่า ตำแหน่งถนัดของเขาคือเซ็นเตอร์แบ็คที่สามารถย้ายไปเล่นแบ็คขวาได้

เพราะอะไร อาร์เตตาจึงมีไอเดียย้ายทิมเบอร์ไปอยู่ตำแหน่งขวาสุดของแบ็คโฟร์ เบื้องหลังคงหนีไม่พ้นเทรนด์ในพรีเมียร์ลีกที่เกิดจากวิวัฒนาการของฟูลแบ็ค

สามแท็คติกที่ฟูลแบ็คยุคใหม่ร่วมลุยเกมบุก

อดัม เบท คอมเมเตเตอร์ที่ทำงานให้กับสกาย สปอร์ตส์ ให้ความเห็นว่า พรีเมียร์ลีกมีการเปลี่ยนแปลงทางแท็คติกหรือกลยุทธ์การวางหมากเกมลูกหนังไปอย่างรวดเร็ว บทบาทของฟูลแบ็คหลากหลายและซับซ้อนขึ้น ความรับผิดชอบไปไกลกว่าโมเดิร์น ฟูลแบ็ค ที่รับผิดชอบเกมรับและรุกด้านข้างสนามอย่างไม่กี่ทศวรรษที่แล้ว เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ และ แอนดี โรเบิร์ตสัน ของลิเวอร์พูล ถือเป็นแบบอย่างของฟูลแบ็คแห่งอนาคต

ชาฮีนจากโททัล ฟุตบอล อนาไลซิส ได้ใช้แท็คติกการขึ้นเกมเป็นตัวแบ่งประเภทของฟูลแบ็คไว้ 3 รูปแบบหลักได้แก่ Overlapping full-back, Inverted full-back และ Wing-back

วิงแบ็คน่าจะเป็นลักษณะที่แฟนบอลคุ้นเคยยาวนาน มักใช้กับระบบกองหลัง 3 คนหรือ 3-5-2 ผู้เล่นมีทักษะของฟูลแบ็คและปีกผสมผสานกัน เน้นการบุก และตัดทอนงานเกมรับ เคยได้รับความนิยมสูงสุดในลีกท็อป-5 ของยุโรปโดยเฉพาะซีซัน 2020-21 มี 10 ทีมที่ใช้วิงแบ็คในกัลโช เซเรีย อา, 10 ทีมในบุนเดสลีกา, 7 ทีมในลีก เอิง, 5 ทีมในลา ลีกา และ 5 ทีมในพรีเมียร์ลีก

ฟูลแบ็คหุบในหรือฟูลแบ็คกลับด้าน แฟนบอลเห็นบ่อยในช่วงหลังๆ เป็นฟูลแบ็คที่ขยับเข้าด้านในของสนามเวลาขึ้นเกม ช่วยเพิ่มจำนวนผู้เล่นแดนกลาง เปิดโอกาสให้มิดฟิลด์คนอื่นกำหนดจังหวะเกมบุกในโซน half-space หรือระหว่างไลน์ อีกทั้งยังดึงคู่แข่งเข้ามาประกบ ช่วยให้ปีกร่วมทีมได้ดวลตัวต่อตัวกับคู่แข่ง ฟูลแบ็คสไตล์นี้จะต้องเก่งเรื่องการเล่นในพื้นที่แคบและครองบอลจ่ายบอลได้ดีอเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ และ โรเบิร์ตสัน เป็นตัวอย่างที่ซาฮีนยกให้เป็นไอดอลที่ใครที่ต้องการเล่นหรือเรียนรู้เกี่ยวกับโอเวอร์แลป ฟูลแบ็ค ซึ่งวิ่งอ้อมหลังเพื่อนร่วมทีมไปยังพื้นที่ว่างเพื่อรับบอลหรือทำเกมรุกต่อ หรืออันเดอร์แลป วิ่งอ้อมหลังผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามก็ได้ นักเตะต้องมีความฟิตสูง มีความเร็วและคล่องตัวที่จะทรานซิชันเกมบุกเกมรับ

เยอร์เกน คลอปป์ ได้พัฒนาอเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ เป็นฟูลแบ็คจอมบุกแถวหน้าของยุโรป จุดแข็งคือระยะและวิสัยทัศน์การจ่ายบอล ครอสลูกจากด้านข้าง และการเตะลูกเซตพีซ เขาได้รับการยกย่องจากบทบาทโอเวอร์แลป ฟูลแบ็ค ก่อนถูกคลอปป์ใช้งานที่ซับซ้อนขึ้นอย่างฟูลแบ็คหุบในและงานไฮบริดที่ขึ้นไปเป็น double pivot ยืนมิดฟิลด์คู่กับฟาบินโญในระบบ 3-2-2-3 ช่วงท้ายฤดูกาล 2022-23 ที่ผ่านมา

ความเก่งฉกาจของการจ่ายบอลของสองแบ็คลิเวอร์พูล ยืนยันได้จากอันดับแอสซิสต์ของกองหลังพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่ซีซัน 2018-19 อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์และโรเบิร์ตสันนำโด่งด้วยจำนวน 53 และ 48 ครั้ง อันดับ 3 คือ ลูกาส์ ดีญ 22 ครั้ง, อันดับ 4 เซซาร์ อัซปิลิกวยตา และ เบน ชิลเวลล์ 15 ครั้งเท่ากัน

ทิมเบอร์ ตัวอย่างล่าสุดของฟูลแบ็คสายเทคนิค

เบทจากสกาย สปอร์ตส์ ให้ทรรศนะว่า การปรับอเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ขึ้นไปเล่นมิดฟิลด์ เป็นเสมือนภาพสะท้อนของ โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก แบ็คซ้ายทีมอาร์เซนอล ซึ่งตามปกติยืนตำแหน่งมิดฟิลด์ให้ทีมชาติยูเครน ขณะที่แมนฯซิตีก็ใช้นักเตะหลายคนทำงานไฮบริด

ฟิลลิป ลาห์ม อดีตนักเตะทีมชาติเยอรมัน ซึ่งถูกบันทึกว่าเป็นผู้บุกเบิกฟูลแบ็คหุบใน ให้สัมภาษณ์กับสกาย สปอร์ตส์ ว่า “ช่วง 10 ปีหลังสุด ฟูลแบ็คเป็นผู้เล่นที่มีทักษะเชิงกีฬาสูงและสภาพร่างกายที่แข็งแกร่ง แต่ตอนนี้ผมคิดว่ามันเปลี่ยนไปตรงที่มีเทคนิคมากขึ้น”

วิวัฒนาการของฟูลแบ็คที่ขยับขึ้นไปเล่นกองกลาง ไม่เพียงเปลี่ยนชุดทักษะพื้นฐานเพื่อรองรับหน้าที่รับผิดชอบแบบไฮบริดตามใบสั่งของหัวหน้าโค้ช แต่ยังส่งกระทบไปถึงนักเตะตำแหน่งอื่นด้วยเช่นเดียวกับกรณีทิมเบอร์ ซึ่งอาร์เตตาอาจปรับให้ย้ายมาเล่นฟูลแบ็คและขึ้นไปเติมมิดฟิลด์ยามทีมเป็นฝ่ายครองบอล หรือที่ลิเวอร์พูล โรเบิร์ตสันต้องขยับเข้าในและมีพื้นที่แดนหลังให้รับผิดชอบมากขึ้นเป็นระบบเซ็นเตอร์แบ็ค 3 คน แต่การปรับตัวไม่ได้สร้างปัญหาให้กับกัปตันทีมชาติสกอตแลนด์วัย 29 ปี ซึ่งไม่ต้องขึ้นไปครอสบอลมากหรือวิ่งขึ้นลงตลอด 90 นาทีเหมือนเมื่อก่อน

เนวิลล์ อดีตกัปตันทีมแมนฯยูไนเต็ด กล่าวถึงแมนฯซิตี ซึ่งชนะเลิศพรีเมียร์ลีก 5 สมัยในรอบ 6 ปีหลังสุดว่า เป๊ป กวาร์ดิโอลา มีฟูลแบ็คที่เล่นเกมรุกได้เหลือเชื่อเป็นเวลาหลายปี พวกเขาสามารถขึ้นไปเล่นแดนกลางหรือทะยานไปข้างหน้าจากบริเวณริมสนาม จนตอนนี้แท็คติกกลายเป็นกระแสไปแล้ว

ในฐานะอดีตผู้ช่วยของกวาร์ดิโอลา จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นอาร์เตตาใช้ไอเดียที่คล้ายคลึงกันหลายอย่างเช่น เบน ไวท์ ซึ่งเคยเล่นเซ็นเตอร์แบ็คให้ไบรท์ตันและช่วงแรกที่ย้ายมาอาร์เซนอล แต่ซีซัน 2022-23 อาร์เตตาเปลี่ยนให้เล่นแบ็คขวา และสามารถหุบเข้าในฟอร์มเซ็นเตอร์แบ็ค 3 คนเพื่อรักษาสมดุลให้แผงหลังของทีมขณะที่ซินเชนโกขึ้นไปร่วมไลน์ของมิดฟิลด์ และบ่อยครั้งที่ได้เห็นไวท์ขึ้นไปโอเวอร์แลปในแดนหน้ากับบูกาโย ซากา

แต่อีกด้านหนึ่ง แผงหลังของอาร์เซนอลทำผิดพลาดให้คู่แข่งมีโอกาสส่องประตูมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก หรือมีจำนวนมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับอีก 3 ในทีมอันดับท็อป-4 บนตารางลีก นั่นเนื่องจากพวกเขาครองบอลหละหลวมและเปิดช่องว่างในจังหวะทรานซิชันระหว่างเกมรุกและรับ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่อาร์เตตาต้องเร่งแก้ไข

นักวิเคราะห์หลายสื่อเชื่อว่า ทิมเบอร์น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวของอาร์เตตาได้ด้วยความครบเครื่องรอบจัด สามารถย้ายจากแบ็คขวามายืนเป็นเซ็นเตอร์แบ็คตัวที่ 3 หรือแม้กระทั่งขึ้นไปเล่นเป็นมิดฟิลด์เอง โดยสกาย สปอร์ตส์ ได้คาดหมายแผงหลังแบ็คโฟร์ระบบ 4-3-3 ของอาร์เซนอลในซีซัน 2023-24 ดังนี้ ทิมเบอร์, ซาลิบา, กาเบรียล และ ซินเชนโก

ทิมเบอร์จึงเป็นตัวอย่างล่าสุดที่มีความสำคัญอย่างมากในการแสดงถึงวิวัฒนาการครั้งใหญ่ของฟูลแบ็คสมัยใหม่ ซึ่งกลายเป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพลต่อกลยุทธ์การโจมตีและสร้างสีสันให้กับเกมลูกหนังยุคปัจจุบันมากที่สุด

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Our Work

เปิดศึกดวลแข้งแฟนบอล “BDMS presents THAI LEAGUE FANS’ CUP 2023” ชิงเงินรางวัลกว่า 2 แสนบาท

ครั้งแรก! กับการเปิดโอกาสให้แฟนบอลไทยลีกได้เข้าร่วมฟาดแข้งกันในฐานะของตัวแทนสโมสรที่ตัวเองรัก ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท นอกจากนี้ ยังได้ร่วมอบรมทักษะพื้นฐานฟุตบอลโดยโค้ชมืออาชีพ และมีรางวัลพิเศษมากมายสำหรับกองเชียร์และแฟน ๆ ที่มาร่วมสนุก งานเดียวคุ้ม! ลุ้นมัน สะใจ เชียร์สนุกได้ยกแก๊ง 

การแข่งขันฟุตบอล 7 คน รายการ “BDMS presents THAI LEAGUE FANS’ CUP 2023” เป็นการแข่งขันแบบพบกันหมด โดยจะมีการกำหนดอายุผู้เล่นตัวจริงแต่ละทีมที่จะลงแข่งขันเพื่อความเท่าเทียม แบ่งเป็น อายุไม่เกิน 30 ปี ไม่เกิน 2 คน, อายุ 30 – 40 ปี อย่างน้อย 3 คน และ อายุ 41 ปี ขึ้นไป อย่างน้อย 2 คน การแข่งขันจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ณ สนามฟุตบอลในร่ม Super Star Arena ซอยลาดพร้าว 80 เริ่มคิกออฟแมตช์แรก 4 มิถุนายน 2566 

การแข่งขัน BDMS Presents Thai League Fans’ Cup 2023 รอบแรก มีเหล่าแฟนคลับไทยลีกรวม 16 ทีม เข้าร่วมดวลแข้ง โดยแบ่งสายเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่ม A : บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด / การท่าเรือ เอฟซี (ทีมเอ) / บีจี ปทุม ยูไนเต็ด / ขอนแก่น ยูไนเต็ด

กลุ่ม B : แบงค็อก ยูไนเต็ด (ทีมบี) / ชลบุรี เอฟซี / ลำพูน วอริเอร์ / นครปฐม ยูไนเต็ด

กลุ่ม C : การท่าเรือ เอฟซี (ทีมบี) / โปลิส เทโร / แบงค็อก ยูไนเต็ด (ทีมเอ) / ตราด เอฟซี

กลุ่ม D : เมืองทอง ยูไนเต็ด / ราชบุรี เอฟซี / เชียงราย ยูไนเต็ด / สุโขทัย เอฟซี

นอกจากนั้น ในการเปิดสนามวันแรกยังมีแมตซ์กระชับมิตร ระหว่าง ทีม PPTV นำโดย คุณพลากร สมสุวรรณ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการผลิตและรายการ ร่วมด้วย ป๊อป วีระพล, ซีน อาณัติ ฯลฯ พร้อมนักเตะรับเชิญพิเศษ โค้ชจุ่น อนุรักษ์ ปะทะแข้งกับ ทีมสื่อมวลชนสายกีฬา นำโดย คุณโอฬาร เชื้อบาง ผู้บริหารหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ที่มาพร้อมเหล่า Influencer กีฬาฟุตบอล ได้แก่ จอม บอบู๋, เม้ง ซัมเมอร์ฮิลล์, กุ่ย ตังกุย, ฟ่าง พาสต้า, ท็อป ไข่มุกดำ, จอน เพจจอน, เบน ฟรีคิก ซ็อคเกอร์ซัค, โฟน โฟนตุง, เบน ฟรีคิก, ต่อ ณ ระนอง, อ๊อฟ สปิโนซ่า โดยจบสกอร์มิตรภาพ เสมอ 2-2

รางวัลพิเศษที่คึกคักไม่แพ้นักเตะในสนามก็คือ “กองเชียร์ยอดเยี่ยมประจำสัปดาห์” ซึ่งทีมเชียร์ของ เชียงราย ยูไนเต็ด คว้ารางวัลนี้ไปครองได้แบบที่ไม่มีใครคัดค้าน เพราะมาทั้งกลอง แบนเนอร์ เรียกว่าจัดเต็มจริง ๆ

การแข่งขันสัปดาห์ที่สอง เป็นรอบ 12 ทีม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม แต่ละทีมลงแข่งทั้งหมด 3 นัด ทีมที่เก็บคะแนนได้มากที่สุด 4 อันดับแรกในแต่ละกลุ่ม ผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย

โดยคู่ที่น่าสนใจเป็นการเจอกันระหว่าง บีจี ปทุม ยูไนเต็ด พบ ชลบุรี เอฟซี ผลการแข่งขันฝั่งแฟนคลับ “ฉลามชล” จบที่สกอร์คมกว่า ชนะไป 3-1 ทำให้ ชลบุรี เอฟซี มี 6 แต้ม จากการลงเล่น 3 นัด ผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมต่อไป ส่วน บีจี ปทุม ยูไนเต็ด แม้จะแพ้ แต่หลังแข่งครบ 3 นัด มี 3 แต้มเพียงพอที่จะผ่านเข้ารอบตามไปด้วยเช่นกัน ขณะที่อีก 6 ทีมที่ได้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ประกอบด้วยทีมแฟนคลับ การท่าเรือ เอฟซี A นครปฐม ยูไนเต็ด ตราด เอฟซี การท่าเรือ เอฟซี B สุโขทัย เอฟซี และ เมืองทอง ยูไนเต็ด

ส่วนรางวัลกองเชียร์ยอดเยี่ยมประจำสัปดาห์ที่สอง คือเชียงราย ยูไนเต็ด อีกเช่นเคย ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท ด้านรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมตกเป็นของ นายกิตติชัย ลี้สุวัฒนา จาก ตราด เอฟซี ซึ่งมีผลงานยิงไปทั้งหมด 5 ประตู ได้รับเงินรางวัล คอมแพค เบรก ไปครอง

สำหรับการแข่งขันในรอบ 8 ทีม จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน ซึ่งตั้งแต่รอบนี้ จะมีถ่ายทอดสดทาง Facebook และ YouTube LIVE ช่อง PPTV HD 36

และสัปดาห์สุดท้าย ปิดฉากสุดมันส์! รอบ 4 ทีมสุดท้าย นำโดย นครปฐม ยูไนเต็ด, สุโขทัย เอฟซี ตราด เอฟซีและ การท่าเรือ เอฟซีทีมเอ ร่วมฟาดแข้งลุ้นแชมป์ชิงเงินรางวัลรวมกว่า1 แสนบาท

โดยก่อนเปิดแมตซ์ชิงแชมป์ ได้มีการจัดฟุตบอลนัดพิเศษ BDMS All Star Friendly Match ระหว่าง ทีมสีแดง นำโดย เก้า – จิรายุ ละอองมณี, เดอะตุ๊ก – ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, โค้ชเตี้ย – สะสม พบประเสริฐ เจอกับ ทีมสีน้ำเงิน นำทีมโดย เป๊ก – เปรมณัช สุวรรณานนท์, ลีซอ – ธีรเทพ วิโนทัย, โค้ชจุ่น – อนุรักษ์ ศรีเกิด ร่วมด้วยเหล่า Influencer กีฬาฟุตบอลชื่อดังคับคั่ง อาทิ เจมส์ ลาลีกา, โจ้ เต็มข้อ, ปาล์ม 3 บาท 5 บาท, ท็อป ไข่มุกดา, ต่อ ณ ระนอง ฯลฯ แม้จะเป็นเพียงแมตช์กระชับมิตร แต่ละคนมีฝีเท้าจัดจ้านแบบไม่มีใครยอมใคร เปิดศึกดวลฝีเท้าแบบสนุก สูสี แถมได้รับเสียงเชียร์ทั้งสนาม โดยเสมอกันไป 4-4 ในเวลาปกติ ก่อนที่ทีมสีแดงจะเอาชนะไปได้จากการดวลจุดโทษตัดสิน ด้วยผลสกอร์รวม 9-8 ประตู 

ส่วนเกมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเป็นการเจอกันของทีมแฟนคลับ ทีมการท่าเรือ เอฟซี ทีมเอ พบ นครปฐม ยูไนเต็ด โดยในการพบกันในรอบเก็บแต้ม การท่าเรือ เอฟซีทีมเอ ถล่ม นครปฐม ยูไนเต็ด ขาดลอย 7-0 แต่ว่าในรอบชิงฯ แฟนคลับเสือป่าราชา ก็ล้างตาได้สำเร็จ เอาชนะแฟนคลับสิงห์เจ้าท่า ไปได้ 2-0 ทำให้ทีมนครปฐม ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ BDMS Presents THAI LEAGUE FANS CUP 2023 ครั้งนี้ไปครอง รับเงินรางวัล 1 แสนบาท

ส่วน การท่าเรือ เอฟซีทีมเอ รองแชมป์ รับเงินรางวัล 40,000 บาท และอันดับ 3 ได้แก่ ตราด เอฟซี รับเงินรางวัล 20,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลให้กับนักเตะยอดเยี่ยมประจำสัปดาห์ ได้แก่ นายทรงโปรด เวสกิจ จาก นครปฐม ยูไนเต็ด ส่วนแชมป์การแข่งขันรายการพิเศษ ยิงฟรีคิกประเภทบุคคล ได้แก่ นายอำนาจ รอบแคว้น ของ นครปฐม ยูไนเต็ด และประเภททีม ได้แก่ทีมสุโขทัย เอฟซีปิดท้ายด้วยรางวัลกองเชียร์ยอดเยี่ยมประจำสัปดาห์สุดท้าย โดยกองเชียร์การท่าเรือ เอฟซี และ นครปฐม ยูไนเต็ด รับรางวัลร่วมกัน 5,000 บาท

Categories
Our Work

ElClasico VIP Party : ครั้งแรก! ลาลีกา จัดกิจกรรมรับศึก “ElClasico” เต็มอิ่ม ประสบการณ์ และอรรถรสการรับชมแมตช์สุดยิ่งใหญ่ลีกสเปน จบเกม เรอัล มาดริด ถล่ม บาร์เซโลน่า 3-1

ผ่านไปแล้วกับงานสุดพิเศษ ที่ลาลีกา ประเทศไทย จัดให้ตามคำเรียกร้องของแฟนบอล “ElClasico VIP Party powered by beIN Sports” 16 ตุลาคม 2565 ในงานพบกับประสบการณ์การดูบอล ฟังดนตรีสดจากศิลปิน ชีส เดอะ วอยซ์ วิเคราะห์เกมโดยสุดยอดกูรู กิน ดื่มสุดชิลล์ เอนจอยกิจกรรมพร้อมของรางวัลจัดเต็มสนุก ในโดมกลางกรุงเทพมหานคร Pearl Bangkok ชมบิ๊กแมตช์ ElClasico ไปด้วยกันกับแขก VIP, สื่อมวลชน, อินฟลูอินเซอร์ และแฟนบอลผู้โชคดี ซึ่งผลการแข่งขันเกมนี้ จบลงด้วยชัยชนะของ “เรอัล มาดริด” ที่เอาชนะ “บาร์เซโลน่า” ไปถึง 3-1

บรรยากาศภายในงานสุดคึกคัก มีผู้คนเข้าร่วมงานถูกรับเชิญ และถูกเลือกผ่านกิจกรรมกว่า 200คน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากสถานทูตสเปน, หอการค้าสเปน, อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง สื่อมวลชนสายกีฬา และแฟนฟุตบอลที่ร่วมสนุกลุ้นรับสิทธิ์เข้าร่วมงานจากกิจกรรมออนไลน์ นำโดย เจมส์ ลาลีกา, ขวัญ ลามาเซีย, เบน บาร์ซ่าเข้าเส้น by แฟนพันธุ์แท้บาร์ซ่า และ ลูกชิ้น เสพติดบอลสเปน 4 กูรูฟุตบอลสเปน ที่มาร่วมพูดคุยวิเคราะห์เกมการแข่งขัน ทั้งก่อนเกม ช่วงพักครึ่ง และหลังเกม

นอกจากนี้ยังมี ต่อ ณ ระนอง, เดอะนัทซัดหมดแมกซ์, มายด์เปี๊ยกบางใหญ่, แตง Top4Official, แม็ก3เม็ด, ซันนี่ ธัญญารัตน์ พร้อมทีม Ari, สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาออนไลน์ นำมาโดยนายกสมาคมฯ วันกล้า ขวัญแก้ว และเหล่าพาร์ตเนอร์ของงาน ที่มาร่วมสนุก สร้างสีสัน และความมันส์ไปด้วยกัน

งานนี้ได้นั่งชิลล์ กิน ดื่ม ฟรี!! ผ่อนคลายไปกับดนตรีสดเพราะ ๆ จาก ชีส เดอะวอยซ์ ในช่วงหัวค่ำ พร้อมทานอาหารร่วมกัน ดื่มเครื่องดื่มอีกเล็กน้อย เข้ากับบรรยากาศภายในงาน และอากาศด้านนอกโดมในวันนี้ที่เย็นขึ้นมาเล็กน้อย ยิ่งทำให้ทุกอย่างดูลงตัวมาก

ภายในงานยังมีโซนโชว์เสื้อของ บาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด พร้อมลูกฟุตบอล PUMA ORBITA LaLiga ฤดูกาลนี้, โซนสตรอรี่ บอกเล่าเรื่องราวของ 2 เมืองที่ใหญ่ที่สุดของสเปน กับศึก เอล กลาซิโก้ เหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โซนเล่นเกม เตะฟุตบอลกรง และอีกหนึ่งไฮไลท์เลยคือ โซนโชว์ถ้วย ออฟฟิเชียล ลาลีกา โทรฟี ส่งตรงจากสเปน

ก่อนจะถึงช่วงเวลาสำคัญชมฟุตบอล เวลา 21.15 น. ภาพการเชียร์บอลร่วมกันของกลุ่มแฟนบอล สร้างสีสันและความคึกคักให้กับงานเป็นอย่างมาก จังหวะสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ความรู้สึกต่อเกมการแข่งขัน ทุกคนแสดงออกมา อย่างชัดเจน และคำตอบรับจากงานนี้ ทำให้รู้เลยว่า ทุกคนเอนจอยกับกิจกรรมนี้มาก

หลังจบฟุตบอล และพูดคุยหลังเกมกับกูรูฟุตบอลสเปนทั้ง 4 ท่าน ก็ปิดท้ายงานด้วยการลุ้นรางวัล lucky draw มากมาย นำโดย ลูกฟุตบอล PUMA ORBITA LaLiga, กระเป๋าถุงผ้า กระบอกน้ำ ลูกฟุตบอล ส่งตรงจาก beIN Sports และเสื้อที่ระลึก ElClasico

กิจกรรมนี้ ถือเป็นการนำประสบการณ์ดี ๆ สร้างการรับรู้ถึงฟุตบอล ลาลีกา สเปน และสร้างสัมพันธ์กับแฟนบอลให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ จะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกแน่นอน โปรดติดตามกันต่อไป

📝 ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย (แนน)

Categories
Football Business

สรุปการรับชม “พรีเมียร์ลีก” ฤดูกาลใหม่ 2022/23 ผ่าน 4 วิธีการหลักจาก “กลุ่มทรู”

ปีนี้เป็นปีที่สำคัญของคอบอล เพราะเป็นปี “ฟุตบอลโลก” ซึ่งจะทำการแข่งขันระหว่าง 21 พ.ย. ถึง 18 ธ.ค.2022 อันทำให้ฤดูกาลแข่งขันฟุตบอลลีกต่าง ๆ ยุโรปเริ่มเร็วกว่าปกติ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก็เช่นกันที่จะคิกออฟซีซั่นใหม่ 6 ส.ค. นี้ (พักเบรกให้เวิลด์คัพ 12 พ.ย.) โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ในประเทศไทยยังคงเป็นผู้เล่นตัวเก๋า “ทรูวิชั่นส์” ซึ่งครองการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในประเทศไทยมาแทบจะทุกยุคทุกสมัยทั้งทางตรง (ซื้อตรงผ่านพรีเมียร์ลีก) หรือทางอ้อม (ซื้อผ่านเจ้าของสิทธิ์ที่ได้สิทธิ์ตรงจากพรีเมียร์ลีกอีกทอดหนึ่ง)

โดยเมื่อ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์สยามพารากอน ทรู วิชั่นส์ เป็นเจ้าภาพของ “กลุ่มทรู” จัดแถลงข่าวอย่างยิ่งใหญ่เพื่อป่าวประกาศความมันส์ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ยิงสดต่อไปอีก 3 ฤดูกาลเต็ม ๆ 2022/23 – 2024/25 อย่างเป็นทางการในฐานะ Official Broadcaster 

นอกจากนี้ “กลุ่มทรู” ยังจัดหนักแพ็คเกจหลากหลายเพื่อตอบสนองการรับชมทุกช่องทางผ่านทุก Business Units ของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มทีวี (ทรู วิชั่นส์), สมาร์ตโฟน (ทรูมูฟ เอช), ทรูไอดี (ระบบอินเทอร์เน็ต – ทรู ออนไลน์) รวมถึงการสื่อสารถึงคอนเทนต์พรีเมียร์ลีกในรุปแบบสมัยใหม่ผ่าน โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์ม อย่าง เฟซบุ๊ก, ยูทูป, tiktok, IG ฯลฯ เพื่อให้แฟนฟุตบอลเข้าถึง และมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

รวมไปถึงในปีนี้จะมีกิจกรรมร่วมกับแฟนบอลผ่านเกมแฟนตาซี พรีเมียร์ลีก ที่มีคนเล่นทั่วโลกกว่า 9 ล้านคน มาเปิดลีกพิเศษสำหรับคนไทยอย่าง “ทรู วิชั่นส์ ลีก” ที่มีของรางวัลสุดพรีเมี่ยมให้ลุ้นทุกสัปดาห์อีกด้วย

ว่าแล้ว ไปรับชมโปรโมชั่นสำหรับรับชมพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ในแต่ละช่องทางของ “กลุ่มทรู” กันค่ะ:

1. ทรู วิชั่นส์ หรือกล่องทรู ดีที่สุด มีให้ดูครบถ้วนทุกอย่าง เหมาะสำหรับครอบครัว

– แพ็กเกจแพลตินัม เอชดี เริ่มต้นเพียง 2,155.15 บาท/เดือน ชมฟรี EPL 3 ฤดูกาล (2022/23 – 2024/25 

) และชมฟรี beIN SPORTS  2 ฤดูกาล (2022/23 – 2023/24) พร้อมรับ 1,000 True Point  และ True Black Card

– แพ็กเสริม ทรูพรีเมียร์ ฟุตบอล เอชดี พลัส (True Premier Football HD+) สมาชิกทรู วิชั่นส์ แพลตินัม ชมฟรีตลอด 3 ฤดูกาล สิ้นสุด 31 พฤษภาคม 2568 สมาชิกแพ็กอื่น ๆ พิเศษ ผูกเบอร์ทรูมูฟ เอช เพียง 299 บาทต่อเดือน (จากปกติ 399 บาท)

– แพ็กเสริม “EPL Season Pass” เหมาจ่ายตลอดฤดูกาล พิเศษสุด!! เฉพาะสมาชิกทรู วิชั่นส์ 1 ฤดูกาล เพียง 2,500.- บาท (จากปกติ 3,990 บาท )พร้อมชมฟรี beIN Sports 3 เดือน (90 วัน) หรือสมัคร 3 ฤดูกาล เพียง 7,000.- บาท (จากปกติ 11,970 บาท) สมัครด่วน!! วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2565 เท่านั้น

2. ทรูมูฟ เอช ดูบอลสด ผ่านมือถือ สะดวก สบาย ดูบอลได้ทุกที่ ทุกเวลา

– ดูฟรี! ครบ 380 แมตช์ ตลอดฤดูกาล เพียงเปิดเบอร์ใหม่ หรือย้ายค่าย แบบรายเดือน แพ็กเกจ 5G Ultra Max Speed 1,199 บาทต่อเดือน เล่นเน็ตไม่อั้น เต็มสปีด โทรฟรีไม่อั้นในเครือข่าย โทรนอกเครือข่าย 350 นาที Wi-Fi ฟรีไม่จำกัด

– แพ็กเกจเสริม ดูฟุตบอล ทรูพรีเมียร์ลีก ครบทุกแมตซ์ ตลอดฤดูกาล สำหรับลูกค้าทรูมูฟเอช แบบรายเดือนและเติมเงิน ราคา 2,700 บาท พิเศษ!ราคา Early Bird เพียง 2,200 บาทเท่านั้น เมื่อสมัครภายใน 31 ก.ค.นี้ 

– แพ็กเกจเสริมดูฟุตบอล ทรูพรีเมียร์ลีก พร้อมเน็ตดูทรูไอดีไม่อั้น แบบ 30 วัน ราคา 399บาท, แบบ 7 วัน ราคา 219 บาท

– สิทธิพิเศษ! ลูกค้าทรูมูฟ เอชทั้งแบบรายเดือน และเติมเงิน ทั้งลูกค้าใหม่ และลูกค้าปัจจุบัน ดูฟรี ทีมโปรด บนมือถือ ครบทุกแมตช์ ตลอดฤดูกาล (ก็คือ 38 นัดตามทีมโปรด) ผ่านแอปทรูไอดี กับแพ็กเกจทรูอันล็อก ลูกค้าทรูมูฟ เอช รับสิทธิ์ กด *555*56# โทรออก (และติดตามรายละเอียดการเลือกทีมโปรด ได้บนแอปทรูไอดี ส.ค. นี้) มาเป็นลูกค้าทรูมูฟเอชแบบเติมเงินง่ายๆ แค่เปิดซิมใหม่ “ซิมทรูไอดี” เพียง 49.- บาท หรือเปิดซิมรายเดือนแพ็กเกจ 299 บาทขึ้นไป

3. ทรูออนไลน์ ทางเลือกเพื่อการรับชมบนจอทีวี กับไลฟ์สไตล์แบบ OTT ยุคปัจจุบัน

– แพ็กเกจ True Gigatex Fiber 999 บาทต่อเดือน ดูฟรี สดครบทุกแมตช์ มาพร้อมเน็ตบ้านไฟเบอร์1000/500Mbps, ซิมทรูมูฟ เอช 15GB 60 นาที, อุปกรณ์เราเตอร์อัจฉริยะ และ อุปกรณ์กระจายสัญญาณ Gigatex Mesh WiFi, กล่องทรูไอดีทีวี พร้อมดูฟรี TrueID+ 24 เดือน (สำหรับลูกค้าทรูมูฟ เอช รับส่วนลด 200 บาท สมัครราคาพิเศษเพียง 799 บาทต่อเดือน)

– แพ็กเกจ True Gigatex Unlock TV เริ่มเพียง 599 บาทต่อเดือน ดูฟรีทีมโปรด สด ครบทุกแมตช์ ปลด
ล็อกทุกแมตช์ทีมโปรด ตลอดฤดูกาล (ฟรี! 38 นัดเกาะติดทีมรัก) และความบันเทิงทั้งหนังดัง ซีรีส์ฮิต อนิเมะ สารคดีดังระดับโลก คมชัดบนทีวี และดูได้ทุกที่ผ่านมือถือ พร้อมความเร็วเน็ตบ้าน 1000/300Mbps, กล่องทรูไอดีทีวี พร้อมซิมทรูมูฟ เอช 2 ซิม

4. ทรูไอดี เริ่มเพียง 179 บาทต่อวันเท่านั้น ไม่จำกัดค่ายก็รับชมได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และกล่องทรูไอดี ซึ่งแน่นอนว่า เป็นการเชื่อมต่อเพื่อรับชมโดยใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต ดังนั้นหากใช้กล่องทรูไอดี ควบคู่ไปกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทรูออนไลน์ แพ็คเกจต่าง ๆ (ตามข้อ 3 ข้างต้น) ก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ทว่าหากไม่สะดวกก็สามารถเลือกค่ายได้ตามต้องการ แต่ราคาค่าบริการจะแพงกว่านะคะ

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ภาพรวมช่วยให้เพื่อน ๆ คอบอลไปเสาะแสวงหาช่องทางเพื่อติดตาม และรับชมทีมโปรดผ่านลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลกได้ในรูปแบบวิธีตามถนัดของตัวเอง

อย่างไรก็ดี ในฐานะแฟนบอลผู้ชาญฉลาด (Smart Supporters) การเจาะศึกษาข้อมูลโปรโมชั่นที่ “กลุ่มทรู” มีอยู่มากมาย กับคอนเทนท์ที่มากมาย (มากกว่าแค่ พรีเมียร์ลีก แต่เป็นแทบทุกลีก และทุกประเภทกีฬาหลัก รวมถึงภาพยนตร์, สารคดี, การ์ตูน ฯลฯ) เพื่อตอบโจทย์การรับชมส่วนตัว หรือครอบครัว หรือที่พักอาศัย หรือตามไลฟ์สไตล์ คือ สิ่งที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุด และอรรถรสดีที่สุดในการติดตามพรีเมียร์ลีก เช่น การ unlock (ทรู ออนไลน์ หรือทรูมูฟ เอช) หรือ season pass ราคาพิเศษ 1 หรือ 3 ฤดูกาลรวด ไปจนถึง “เต็มแมกซ์” ไม่พลาดอะไรแน่นอนกับ ทรู วิชั่นส์ แพลตินัม เอชดี ที่จะได้รับชมความคมชัดในแมตช์ หรือคอนเทนท์พิเศษถึงระดับ 4K ด้วยซ้ำไป

สุดท้าย หวังว่า ข้อมูลครั้งนี้จะช่วยทุกคนได้บ้าง และแน่นอนว่า ขอให้สนุกที่สุดกับพรีเมียร์ลีก ซีซั่นใหม่ 2022/23 กันถ้วนหน้าค่ะ

📝ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย (แนน)

Categories
Football Business

“ลิเวอร์พูล” กับการไปต่ออีก 4 ปี ของ “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด”

ในช่วงปลายทศวรรษ 1970s ฟุตบอลอังกฤษได้เปิดรับให้มีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อแข่งขันของสโมสร ซึ่งลิเวอร์พูล ถือเป็นสโมสรแรก ๆ ที่นำร่อง และเป็นภาพจำในแต่ละยุคสมัย

ท่ามกลางความไม่แน่นอนในเรื่องสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อรายเดิมที่กำลังจะหมดสัญญา และมีการเจรจากับหลายราย แต่ในที่สุด “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” ยังอยู่กับลิเวอร์พูลไปอีก 4 ปี

เรื่องราวของ “หงส์แดง” กับสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กับการไปต่อของ “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” วันนี้ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

โลกฟุตบอลยุคเก่าถูกทำลายล้าง

24 มกราคม 1976 “เคทเทอริ่ง ทาวน์” สโมสรแรกในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดี ที่มีสปอนเซอร์บนเสื้อแข่ง โดยสวมเสื้อที่มีคำว่า “Kettering Tyres” ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจศูนย์บริการยางรถยนต์ อยู่บนหน้าอกลงแข่งขัน

แต่ทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ สั่งให้เคทเทอริ่ง ทาวน์ เอาสปอนเซอร์ “Kettering Tyres” ที่อยู่บนหน้าอกเสื้อออกไป เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีกฎที่อนุญาตให้ทีมฟุตบอลมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน

ทางเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็พยายามที่จะเลี่ยงบาลี เปลี่ยนเป็น “Kettering T” ที่มาจากคำว่า Town แต่ทางเอฟเอบอกว่า จะปรับเงิน 1,000 ปอนด์ ถ้ายังฝ่าฝืนกฏ สุดท้ายแล้วเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็ยอมเอาออกแต่โดยดี

หลังจากเคสของเคทเทอริ่ง ทาวน์ ผ่านไปไม่นาน ดาร์บี้ เคาน์ตี้ สโมสรในดิวิชั่น 1 กับโบลตัน วันเดอเรอร์ส ทีมระดับดิวิชั่น 2 ตัดสินใจทำหนังสือไปยังเอฟเอ เพื่อขอให้มีสปอนเซอร์ทางธุรกิจ ไปอยู่บนเสื้อแข่งขัน

ที่สุดแล้ว ในเดือนมิถุนายน 1977 เอฟเอจึงอนุมัติให้สโมสรฟุตบอลมีสปอนเซอร์อยู่บนเสื้อได้ แต่ได้เพิ่มเงื่อนไขว่า ถ้ามีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ห้ามสวมชุดแข่งที่มีสปอนเซอร์บนหน้าอกลงแข่งขันโดยเด็ดขาด

ซึ่งสโมสรแรกในลีกสูงสุดเมืองผู้ดี ที่ประเดิมสวมชุดแข่งขันที่มีสปอนเซอร์อยู่บนหน้าอก คือ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ในฤดูกาล 1977/78 โดยมี “SAAB” บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสวีเดน เป็นผู้สนับสนุน

ย้อนรอยสปอนเซอร์บนเสื้อ “หงส์แดง”

ลิเวอร์พูล ได้เริ่มสวมเสื้อที่มีสปอนเซอร์อยู่บนหน้าอก ลงแข่งขันในแมตช์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อปี 1979 ซึ่งรายชื่อแบรนด์สินค้าทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

👉 Hitachi (1979-1982) : บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของญี่ปุ่น สปอนเซอร์รายแรกที่อยู่บนหน้าอกเสื้อชุดแข่งของลิเวอร์พูล ในยุคที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างความรุ่งเรือง ช่วงปลายยุค 1970s ถึงต้นยุค 1980s

👉 Crown Paints (1982-1988) : บริษัทผลิตสีทาบ้านจากอังกฤษ เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อ ช่วงที่ลิเวอร์พูลยังครองความยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง ในปีแรกแยกเป็น 2 บรรทัด แต่หลังจากนั้นยุบเหลือบรรทัดเดียว

👉 Candy (1988-1992) : ไม่ได้เกี่ยวกับลูกอม แต่เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากอิตาลี อยู่บนหน้าอกเสื้อในช่วงที่ลิเวอร์พูล เข้าสู่ช่วงท้ายๆ ของความยิ่งใหญ่ในยุค “บูทรูม สต๊าฟฟ์” ก่อนที่จะเผชิญกับขาลง

👉  Carlsberg (1992-2010) : แบรนด์เครื่องดื่มจากประเทศเดนมาร์ก ถึงแม้ในช่วงเวลานั้น ลิเวอร์พูลได้ห่างหายแชมป์ลีกสูงสุดเป็นเวลานาน แต่สปอนเซอร์รายนี้ก็ยังจงรักภักดีกับสโมสรยาวนานถึง 18 ปี

👉 Standard Chartered (2010-ปัจจุบัน) : ธนาคารชื่อดังระดับโลก ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในยุคที่ลิเวอร์พูล ค่อย ๆ กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง โดยเฉพาะยุคของเจอร์เก้น คล็อปป์ ที่คว้าแชมป์รายการใหญ่ 6 โทรฟี่

สปอนเซอร์หน้าอกเสื้อแข่งขัน ถือเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวในแต่ละช่วงเวลาของสโมสรฟุตบอลนั้น ๆ ว่า ได้ผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง ซึ่งทั้งสปอนเซอร์และสโมสร ต่างก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ตัดสินใจต่อสัญญากับเจ้าเดิมอีก 4 ปี

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า ลิเวอร์พูลพยายามเจรจากับบริษัทคริปโตเคอเรนซี่ เพื่อมาเป็นสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อของสโมสรรายใหม่ แทนที่รายเดิมที่จะหมดสัญญาในปีหน้า

แต่ในที่สุด ยักษ์ใหญ่แห่งเมอร์ซีย์ไซด์ทีมนี้ ตัดสินใจต่อสัญญากับธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกไปอีก 4 ปี มีผลถึงปี 2027 คาดว่าได้รับเงินปีละ 50 ล้านปอนด์ รวมทั้งสิ้น 200 ล้านปอนด์

บิลล์ วินเทอร์ส ซีอีโอของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กล่าวว่า “ตอนที่เราเริ่มสนับสนุนลิเวอร์พูลมาตั้งแต่ปี 2010 นึกไม่ถึงเลยว่าลิเวอร์พูลจะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกันต่ออีก 4 ปี”

ขณะที่ บิลลี่ โฮแกน ซีอีโอของลิเวอร์พูล กล่าวว่า “การเข้ามาสนับสนุนของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จทั้งในและนอกสนามช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเราหวังว่าจะได้ร่วมกันสนับสนุนแฟน ๆ ต่อไป”

ส่วนประเด็นที่มีการเจรจากับบริษัทคริปโตเคอเรนซี่ ในการเป็นสปอนเซอร์ใหม่นั้น โฮแกนมองว่า วงการคริปโตเคอเรนซี่ ยังไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน และมีความเสี่ยงสูง จึงยังไม่ถึงเวลาที่จะเจรจาเรื่องนี้

“สำหรับคริปโตเคอเรนซี่แล้ว มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างกว้าง มีองค์ประกอบต่างๆ มากมาย ที่อยู่ในนั้น มันยังเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน ซึ่งตอนนี้กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก”

“ผมไม่ได้พูดว่า จะไม่สนใจอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี่ แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ใช่ตอนนี้ ถ้าในอนาคตได้พบกับพันธมิตรที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมนั้น ผมจะดูเรื่องนี้อย่างแน่นอน” โฮแกน กล่าวปิดท้าย

การมีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อ นอกจากจะเป็นการหารายได้เข้าสู่สโมสรแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยให้แฟนฟุตบอลจดจำ และกลายเป็นภาพที่ติดตาจนไม่สามารถลบเลือนออกจากความทรงจำของแฟนฟุตบอลได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://sportslens.com/news/on-this-day-jan-24/

https://www.liverpoolfc.com/news/history-liverpools-shirt-sponsors

https://theathletic.com/3422768/2022/07/14/liverpool-standard-chartered-crypto/

Categories
Football Business

เปิดเบื้องหลังชื่อสนามเหย้า 20 ทีมลาลีกา 2022/23

เหตุผลของการตั้งชื่อสนามฟุตบอลของแต่ละสโมสรนั้น ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะมาจากชื่อสถานที่ตั้ง, ชื่อบุคคลสำคัญ หรือมีเหตุผลอื่นๆ ที่แปลกประหลาด ทำเอาหลายคนคาดไม่ถึง

อย่างเช่นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บาร์เซโลน่า และอัลเมเรีย ได้เปลี่ยนแปลงชื่อสนามแข่งขัน เพื่อต้อนรับการแข่งขันลาลีกา 2022/23 ที่กำลังจะเริ่มขึ้น ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

สังเวียนแข้งของบาร์ซ่า เปลี่ยนชื่อเป็น “สปอติฟาย คัมป์ นู” ส่วนชื่อรังเหย้าใหม่ของอัลเมเรีย คือ “เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม” ซึ่งทั้ง 2 สโมสร ต่างเปลี่ยนชื่อด้วยเหตุผลเดียวกันคือเรื่อง “ธุรกิจ”

ลาลีกา ได้นำเรื่องราวเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่ของชื่อสนามเหย้าทั้ง 20 สโมสร ในการแข่งขันซีซั่นใหม่มาฝากกัน เพื่อเป็นเกร็ดความรู้สำหรับแฟน ๆ ลูกหนังลีกสเปน

Descripcion de la juada

อัลเมเรีย – เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม

สนามเหย้าของอัลเมเรีย เดิมมีชื่อว่า “เอสตาดิโอ เด ลอส ฆูเอกอส เมดิเตร์ราเนออส” สร้างขึ้นเมื่อปี 2004 เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติในปีต่อมา และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 เป็นต้นไป ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม” โดยมาจากชื่อของ “Power Horse” แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังจากประเทศออสเตรีย

แอธเลติก บิลเบา – ซาน มาเมส

“ซาน มาเมส” สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1913 ก่อนทุบทิ้งในปี 2010 จากนั้นได้สร้างสนามใหม่ทดแทน และเปิดใช้งานในปี 2013 หรือ 100 ปี หลังจากสร้างสนามแห่งแรก สำหรับชื่อของ “ซาน มาเมส” นั้น มีที่มาจากชื่อของ San Mamés (Saint Mammes) ซึ่งเป็นนักบุญไบแซนไทน์ และเป็นชื่อของโบสถ์ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสนามเหย้าของบิลเบา

แอตเลติโก มาดริด – เอสตาดิโอ เมโทรโปลิตาโน่

“เอสตาดิโอ เมโทรโปลิตาโน่” สร้างขึ้นเมื่อปี 1990 แต่ได้ถูกใช้เป็นสนามเหย้าของแอต. มาดริด มาตั้งแต่ปี 2017 แทนที่ บิเซนเต้ กัลเดร่อน รังเหย้าแห่งเดิม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ว่านต๋า เมโทรโปลิตาโน่” ตามชื่อของ Wanda กลุ่มทุนจากประเทศจีนที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ส่วนชื่อ “Metropolitano” คือชื่อสนามเหย้าแห่งแรกของสโมสร

บาร์เซโลน่า – สปอติฟาย คัมป์ นู

นี่คือครั้งแรกในรอบ 65 ปี ที่บาร์เซโลน่า ได้มีการเปลี่ยนชื่อสนามเหย้าจาก “คัมป์ นู” มาเป็น “สปอติฟาย คัมป์ นู” โดยชื่อ สปอติฟาย (Spotify) มาจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชื่อดังของประเทศสวีเดน ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ใหม่ให้กับสโมสร เพื่อนำเงินทุนไปดำเนินโครงการ Espai Barca ในการปรับปรุงสนามเหย้า และพื้นที่โดยรอบ

เรอัล เบติส – เอสตาดิโอ เบนิโต บียามาริน

ชื่อสนามเหย้าของเบติส มาจากชื่อของ “เบนิโต บียามาริน” อดีตประธานสโมสรที่ดำรงตำแหน่งในช่วงระหว่างปี 1955 – 1965 และเคยเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอสตาดิโอ มานูเอล รุยซ์ เด โลเปร่า” ตามชื่อของมานูเอล รุยซ์ เด โลเปร่า ที่เข้ามาเป็นประธานสโมสรในช่วงปี 1997 – 2010 แต่ในภายหลัง แฟนบอลของสโมสรได้ลงมติโหวตให้กลับไปใช้ชื่อเดิมอีกครั้ง

กาดิซ – เอสตาดิโอ นูเอโบ มิรันดิลย่า

เดิมมีชื่อว่า “เอสตาดิโอ ราม่อน เด การ์รันซ่า” เป็นชื่อของอดีตนายกเทศมนตรีเมืองกาดิซ ก่อนที่ในปี 2021 แฟนบอลของสโมสร ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนชื่อสนามเหย้าใหม่ ผลปรากฏว่า ชื่อที่ได้รับการโหวตมากที่สุด คือ “เอสตาดิโอ นูเอโบ มิรันดิลย่า” ซึ่งมาจาก “Mirandilla” ชื่อสโมสรในอดีต ก่อนเปลี่ยนเป็นกาดิซในปัจจุบัน

เซลต้า บีโก้ – อาบังก้า บาลาอิโดส

สนามเหย้าของเซลต้า บีโก้ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลากาเรส (Lagares) สร้างขึ้นเมื่อปี 1924 โดยบริษัท Stadium de Balaídos ซึ่งกลายมาเป็นชื่อสนามของสโมสรในเวลาต่อมา จนกระทั่งในปี 2018 ABANCA สถาบันการเงินของประเทศสเปน ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ทำให้ชื่อสนามในปัจจุบัน มีชื่อว่า “อาบังก้า บาลาอิโดส”

เอลเช่ – เอสตาดิโอ มาร์ติเนซ บาเยโร่

สนาม “เอสตาดิโอ มาร์ติเนซ บาเยโร่” มาจากชื่อของ มานูเอล มาร์ติเนซ บาเยโร่ อดีตประธานสโมสรเอลเช่ (ผู้ล่วงลับ) สร้างขึ้นในปี 1976 และถูกใช้ในการแข่งขันรายการใหญ่อย่างฟุตบอลโลก 1982 มาแล้ว นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกจากแฟนฟุตบอลลาลีกา ให้รับรางวัลสนามฟุตบอลที่ดีที่สุด ในฤดูกาล 2013/14

เอสปันญ่อล – อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม

สร้างขึ้นเมื่อปี 2009 เริ่มแรกใช้ชื่อว่า “เอสตาดี้ คอร์เนลล่า-เอล ปราต” เนื่องจากที่ตั้งของสนาม อยู่ระหว่างย่าน Cornellà  กับ El Prat ต่อมาเปลี่ยนเป็น “พาวเวอร์ เอท สเตเดี้ยม” (Power8 Stadium) จนกระทั่งในปี 2016 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม” ซึ่งมาจากตัวอักษร 4 ตัวแรกของชื่อสโมสร “RCD Espanyol”

เกตาเฟ่ – โคลิเซียม อัลฟอนโซ เปเรซ

สนาม “โคลิเซียม อัลฟอนโซ เปเรซ” มาจากชื่อของ อัลฟอนโซ เปเรซ อดีตกองหน้าทีมชาติสเปน ยุค 1990s ที่เกิด และเติบโตในย่านเกตาเฟ่ ชานกรุงมาดริด เขาเริ่มต้นจากการเป็นนักเตะเยาวชนของเกตาเฟ่ ต่อมาได้ลงเล่นกับทีมชุดใหญ่ของเรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า และเรอัล เบติส แต่ไม่เคยลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ของเกตาเฟ่เลยแม้แต่นัดเดียว

กิโรน่า – เอสตาดี้ มอนตีลีบี้

ที่ตั้งของสนาม อยู่ที่ย่าน Montilivi ในเมืองกิโรน่า ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นคาตาลัน และได้กลายมาเป็นชื่อสนาม “เอสตาดี้ มอนตีลีบี้” ในเวลาต่อมา สร้างขึ้นเมื่อปี 1968 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา สโมสรกิโรน่าได้ย้ายมาใช้สนามแห่งนี้ เป็นรังเหย้า แทนที่สนาม “เอสตาดิโอ วิสต้า อัลเอเกร” ที่ใช้งานมาเกือบ 50 ปี

เรอัล มายอร์ก้า – บิซิต มายอร์ก้า เอสตาดี้

สนามแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี 1999 เพื่อใช้จัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ที่ประเทศสเปน ภายใต้ชื่อ “เอสตาดิโอ เด ซอน โมอิกซ์” ก่อนที่สโมสรฟุตบอลเรอัล มายอร์ก้า จะมารับช่วงต่อ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 จึงมีการเปลี่ยนชื่อสนามเป็น “บิซิต มายอร์ก้า เอสตาดี้” โดยความร่วมมือของสภาเมืองมายอร์ก้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

เรอัล มาดริด – เอสตาดิโอ ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว

“ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว” เป็นชื่อของอดีตผู้เล่น, อดีตผู้จัดการทีม และอดีตประธานสโมสรของเรอัล มาดริด ความสำเร็จในยุคที่เขาเป็นประธานสโมสรตั้งแต่ปี 1943 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1978 คือแชมป์ลาลีกา 16 สมัย และแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 6 สมัย โดยชื่อของเขาได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสนามเหย้าของสโมสร ตั้งแต่ปี 1955 เป็นต้นมา

โอซาซูน่า – เอล ซาดาร์

สนาม “เอล ซาดาร์” ของโอซาซูน่า มาจากชื่อของแม่น้ำ “Sadar” ที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งของสโมสร แต่ในช่วงระหว่างปี 2005 – 2011 เคยถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เรย์โน เด นาวาร์ร่า” (Reyno de Navarra) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นนาวาร์ (Navarre) ดินแดนปกครองตนเองที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศสเปน

ราโย บาเยกาโน่ – เอสตาดิโอ เด บัลเยกาส

ชื่อสนามเหย้าของราโย บาเยกาโน่ มาจากชื่อ “Vallecas” ซึ่งเป็นย่านที่อยู่ในกรุงมาดริด สร้างขึ้นเมื่อปี 1972 และเคยเป็นสถานที่ที่ใช้จัดแสดงคอนเสิร์ตของวง Queen วงดนตรีร็อกชื่อดังจากอังกฤษ ในปี 1986 อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 สนามแห่งนี้เคยถูกระงับไม่ให้ใช้งานเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย

เรอัล โซเซียดัด – เรอาเล่ อารีน่า

ชื่อเดิมคือ “เอสตาดิโอ เด อาโนเอต้า” สร้างขึ้นเมื่อปี 1993 หลังจากทุบทิ้งสนามเหย้าเก่า ที่ใช้งานมานานกว่า 80 ปี จนกระทั่งในปี 2019 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เรอาเล่ อารีน่า” ซึ่งมาจากชื่อของ เรอาเล่ เซกูรอส (Reale Seguros) บริษัทประกันภัยของสเปน ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับโซเซียดัด

เซบีย่า – เอสตาดิโอ รามอน ซานเชซ ปิซฆวน

สนามแห่งนี้ มีที่มาจากชื่อของ “รามอน ซานเชซ ปิซฆวน” อดีตประธานสโมสรเซบีย่า ที่ดำรงตำแหน่งถึง 2 รอบ รอบแรกช่วงปี 1932 – 1941 และอีกรอบในปี 1948 – 1956 สนามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1958 หรือ 2 ปีหลังจากรามอน ซานเชซ ปิซฆวน เสียชีวิต และได้นำชื่อของเขามาตั้งเป็นชื่อสนามเหย้า เพื่อเป็นเกียรติให้กับเขา

บาเลนเซีย – เมสตาย่า

ชื่อรังเหย้าของบาเลนเซีย มาจากชื่อคลองเมสตาย่า (Mestalla) ที่ติดอยู่ทางด้านทิศใต้ของสนาม ในสมัยก่อนแฟนบอลต้องกระโดดข้ามคลองเพื่อไปที่สนาม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หลยุส์ คาสโนว่า” ตามชื่อของประธานสโมสรที่เข้ามาบริหารในช่วงปี 1969 ถึง 1994 แต่หลังจากนั้นก็กลับไปใช้ชื่อ “เมสตาย่า” ตามเดิม

เรอัล บายาโดลิด – เอสตาดิโอ โฆเซ่ โซรีย่า

ชื่อสนามเหย้าของเรอัล บายาโดลิด มาจากชื่อของ โฆเซ่ โซรีย่า อี โมรัล (José Zorrilla y Moral) กวีชาวเมืองบายาโดลิด ผู้มีผลงานการประพันธ์ไว้มากมาย จนได้รับรางวัลระดับประเทศ และเหรียญเชิดชูเกียรติในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา สนามแห่งนี้ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสังเวียนจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 1982 ที่สเปนเป็นเจ้าภาพ

บียาร์เรอัล – เอสตาดิโอ เด ลา เซรามิก้า

เดิมใช้ชื่อว่า “เอล มาดริกัล” และในปี 2017 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอสตาดิโอ เด ลา เซรามิก้า” สำหรับชื่อสนามในปัจจุบัน มีที่มาจากอุตสาหกรรมเซรามิค ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของท้องถิ่น รวมทั้งสนามเหย้าของบียาร์เรอัล ถูกตกแต่งด้วยเซรามิคสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ดูโดดเด่นสะดุดตาอีกด้วย

บริบทของฟุตบอล ไม่ได้มีเพียงแค่การแข่งขันในสนามเท่านั้น แต่ผูกติดกับประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนถึงตัวตนของสโมสรนั้นๆ ด้วย นี่คือสิ่งที่แฟนฟุตบอลต้องรู้จัก และเข้าใจความเป็นท้องถิ่นให้มากขึ้น

Categories
Football Business

พรี-ซีซั่น 2022 : เรื่องเงินๆ ทองๆ ของยักษ์ใหญ่ลีกยุโรป

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลามากว่า 2 ปี ทำให้สโมสรฟุตบอลชั้นนำจากยุโรป ต้องงดการเดินทางไปเตะอุ่นเครื่อง “พรี-ซีซั่น” ที่ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นตามลำดับ ดูเหมือนว่าบรรดาทีมลูกหนังยักษ์ใหญ่ ต่างมีแผนที่จะกลับมาเตะอุ่นเครื่องนอกยุโรป เพื่อหวังชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งการตะลอนทัวร์เพื่อเตะอุ่นเครื่องในปีนี้ มีเกม “บิ๊กแมตช์” ระดับโลก เกิดขึ้นถึง 2 แมตช์ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือศึก “แดงเดือด” ในประเทศไทย กับ “เอล กลาซิโก้” ที่สหรัฐอเมริกา

เกมพรี-ซีซั่นในต่างแดนของลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า หรืออื่น ๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อย่างไร วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เปิดตำนาน “แดงเดือด” นอกเมืองผู้ดี

ลิเวอร์พูล กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ว่าจะเจอกันที่ไหน ถือว่าเป็นแมตช์ที่ยิ่งใหญ่ สมกับเป็นคู่ปรับที่แย่งชิงความสำเร็จมาตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ 2 ทีมคู่ปรับตลอดกาล เคยพบกันนอกเกาะอังกฤษมาแล้ว 3 ครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 1983 ในเกมอุ่นเครื่อง “เทสติโมเนียล แมตช์” ให้บิลลี่ เดรนแนน เลขาธิการสมาคมฟุตบอลไอร์แลนด์ โดยจัดแข่งที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายชนะ 4 – 3

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2014 ในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพหรือ “ไอซีซี คัพ” ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศ ปิศาจแดง เอาชนะได้อีกครั้ง ด้วยสกอร์ 3 – 1

ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในปี 2018 ในรายการไอซีซี คัพ เช่นเดียวกัน ที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางผู้ชมกว่า 1 แสนคน คราวนี้เป็นฝ่ายหงส์แดง ที่ล้างแค้นได้สำเร็จ เอาชนะไป 4 – 1

สำหรับเกมพรี-ซีซั่น “แดงเดือด” ครั้งที่ 4 ศึกอุ่นเครื่องรายการพิเศษ “เดอะ แมตช์ แบงค็อก เซ็นจูรี่ คัพ 2022” ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เป็นการพบกันนอกเมืองผู้ดีครั้งแรกในประเทศไทย และทวีปเอเชีย

และหลังจากจบแมตช์ที่กรุงเทพมหานคร ลิเวอร์พูลจะเดินทางต่อไปที่สิงคโปร์, เยอรมัน และออสเตรีย ขณะที่ยูไนเต็ด จะไปต่อที่ออสเตรเลีย และนอร์เวย์ ก่อนที่จะกลับสู่ประเทศอังกฤษ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/manchesterunited

ย้อนรอย “เอล กลาซิโก้” ในต่างแดน

ทางด้านเรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า 2 ทีมยักษ์ใหญ่ของ ลาลีกา สเปน ก็เคยมีประวัติศาสตร์การพบกันในเกมอุ่นเครื่อง “พรี-ซีซั่น” นอกแดนกระทิงดุมาแล้ว 3 ครั้ง เท่ากับศึกแดงเดือดนอกอังกฤษ

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 1982 ในรายการพิเศษ “เวเนซูเอล่า คัพ” อุ่นเครื่องก่อนฟุตบอลโลก ที่ประเทศเวเนซูเอล่า รอบชิงอันดับ 3 เรอัล มาดริด เอาชนะไป 1 – 0 จากประตูชัยของบิเซนเต้ เดล บอสเก้

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2017 ในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพหรือ “ไอซีซี คัพ” ที่สนามฮาร์ด ร็อก สเตเดี้ยม รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เป็นบาร์เซโลน่า ที่เอาชนะด้วยสกอร์ 3 – 2

ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในรายการ “สแปนิช ซูเปอร์ คัพ” ที่ประเทศซาอุดีอารเบีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการพบกันในแมตช์อย่างเป็นทางการ ที่จัดขึ้นนอกประเทศสเปนอีกด้วย

เกมในรอบรองชนะเลิศ ที่สนามคิง ฟาฮัด อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดี้ยม ในกรุงริยาดห์ ผลปรากฏว่า “ราชันชุดขาว” ชนะ “เจ้าบุญทุ่ม” 3 – 2 หลังต่อเวลาพิเศษ เฟเดริโก้ บัลเบร์เด้ เป็นผู้ยิงประตูชัยในเกมนี้

และในครั้งที่ 4 ของ “เอล กลาซิโก้” นอกแผ่นดินสเปน จะมีขึ้นที่สนามแอลลีเจียนท์ สเตเดี้ยม ในลาส เวกัส สหรัฐอเมริกา วันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นการกลับมาอุ่นเครื่องที่อเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

EL CLÁSICO 2017 at Santiago Bernabéu
ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/fcbarcelona

ทีมบอลยุโรปได้อะไรจาก “พรี-ซีซั่น”

การเดินทางมาเตะอุ่นเครื่องในต่างประเทศ เป็นวิธีหนึ่งในการทำเงิน เพราะนอกจากจะได้ค่าจ้างแล้ว ยังได้ขยายฐานแฟนบอล ทำให้สโมสรเป็นที่รู้จักมากขึ้น ชนิดที่ไม่ต้องประเมินเลยว่าคุ้มค่าหรือไม่

เท่านั้นยังไม่พอ ได้สายสัมพันธ์กับบริษัทระดับชั้นนำในประเทศนั้น ๆ และมีโอกาสได้มาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรในอนาคตเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุผลเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทั้งสิ้น

หลายทีมในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะเน้นเไปที่ทวีปเอเชีย ส่วน 2 ยักษ์ใหญ่ลาลีกา สเปน อย่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า จะเน้นเจาะตลาดที่สหรัฐอเมริกา ผ่านรายการอุ่นเครื่องไอซีซี คัพ (ปัจจุบันยกเลิกแล้ว)

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือเกมอุ่นเครื่องไอซีซี คัพ เมื่อปี 2014 ระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับเรอัล มาดริด ที่มิชิแกน สเตเดี้ยม สร้างสถิติมีผู้เข้าชมการแข่งขันสูงสุดถึง 109,138 คน

แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด และยักษ์ใหญ่บางทีมในยุโรป ได้ค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 2 ล้านปอนด์ ต่อการจัดแข่งขันฟุตบอลพรี-ซีซั่นในต่างประเทศ 1 นัด

แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา ทั่วโลกมีข้อจำกัดในด้านการเดินทางข้ามประเทศ ทำให้ไม่สามารถจัดเกมพรี-ซีซั่นในต่างแดนได้ ส่งผลกระทบกับทีมฟุตบอลที่ต้องสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไป

มีรายงานว่า แมนฯ ยูไนเต็ด มีรายได้ในรอบปัญชีปี 2020-2021 (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2021) ลดลงเกือบ 50 ล้านปอนด์ จาก 279 ล้านปอนด์ เหลือ 232.2 ล้านปอนด์ จากผลกระทบโควิด-19

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สโมสรฟุตบอลในปัจจุบัน เป็น “ธุรกิจ” เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ ที่พร้อมจะหาเงินทุกทางที่สามารถทำได้ เพื่อนำผลประโยชน์เข้าสู่สโมสรให้ได้มากที่สุด

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/fcbarcelona

และมุมคนจ่ายสตางค์ คุ้มค่าแค่ไหน ?

การเชิญสโมสรฟุตบอลชื่อดังของยุโรป มาเตะอุ่นเครื่องในประเทศของตัวเอง ผู้ที่จ่ายเงินเป็นลำดับแรก คือ “เจ้าภาพจัดการแข่งขัน” ซึ่งต้องมีทุนหนามากพอในการจ้างทีมเหล่านี้มาแข่งขัน

กรณีของลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มาเตะอุ่นเครื่องในไทย แน่นอนว่า การจ้าง 2 สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ต้องใช้เงินมหาศาล แต่ก็มีการหารายได้มาจากเงินที่เสียไปเช่นเดียวกัน

ซึ่งคุณวินิจ เลิศรัตนชัย ในฐานะผู้จัด “แมตช์แห่งศตวรรษ” ก็ไม่ได้คาดหวังว่าการลงทุนในครั้งนี้จะต้องคืนทุน แต่ที่แน่ ๆ ขื่อของผู้บริหารเฟรชแอร์ เฟสติวัล ได้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ “แฟนบอล” ในฐานะลูกค้าคนสำคัญ ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินแบบไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะรู้ดีว่าโอกาสที่จะได้ดูทีมที่ตัวเองรัก นักเตะที่ตัวเองชอบ แบบไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ คงไม่ได้มีบ่อย ๆ

แต่ก็มีนักเตะระดับบิ๊กเนม หรือซูเปอร์สตาร์บางคน ก็เลือกที่จะไม่เดินทางมากับทีม หรือมาด้วยแต่ไม่ขอลงเล่น เพราะมองว่าการไปอุ่นเครื่องต่างแดน อาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายก่อนเปิดซีซั่นใหม่

ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีนักเตะระดับดาวดังลงสนามในเกมอุ่นเครื่อง แต่ชื่อ “แบรนด์” ของสโมสรระดับโลก ที่มาแข่งขันในประเทศของตัวเอง ยังไงก็ดึงดูดแฟนบอลให้เข้ามาชมแบบเต็มสนามได้ไม่ยาก

ซึ่งราคาบัตรเข้าชมการแข่งขัน แมตช์ “แดงเดือด” ในไทย ต่ำสุด 5,000 บาท สูงสุด 25,000 บาท ส่วนเกม “เอล กลาซิโก้” ที่อเมริกา ต่ำสุด 9,000 บาท สูงสุด 32,400 บาท โดยประมาณ (1 USD = 36 THB)

เกมอุ่นเครื่องพรี-ซีซั่นในต่างประเทศ ทีมฟุตบอลได้ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ส่วนผู้จัดและแฟนบอล ต่างก็คาดหวังว่า การแข่งขันจะมอบความสุขมาให้ โดยที่ไม่ต้องมาคิดเสียดายเงินที่จ่ายไปในภายหลัง

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3392107/2022/07/01/premier-league-preseason-fixture-revenue/

https://www.si.com/soccer/2022/06/10/soccer-champions-tour-real-madrid-barcelona-clasico-las-vegas

https://www.si.com/soccer/2020/07/02/la-liga-north-america-usa-market-tv-deal-barcelona-real-madrid-icc

https://www.sportingfree.com/football/how-much-money-do-clubs-make-during-pre-season/

https://www.totalsportal.com/football/how-much-do-football-clubs-earn-in-the-preseason-tours/

https://www.thenationalnews.com/business/football-s-preseason-season-is-a-major-money-spinner-for-some-1.616477

Categories
Football Business

เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของ “ลิเวอร์พูล” จากกรณีศึกษา “ไตโว อโวนิยี่”

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเล็ก ๆ ที่อาจไม่น่าสนใจสำหรับแฟนบอลอังกฤษส่วนใหญ่ยกเว้นสาวกเจ้าป่า น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ซึ่งกำลังใจจดจ่อกับประเด็นปรับปรุบขุมกำลังต้อนรับการกลับขึ้นมายังลีกสูงสุดนับจากตกชั้นดิวิชั่น 1 (เดิม) เมื่อปี 1999 หรืออาจรวมถึงเดอะ ค็อป บางส่วนที่คลิกอ่านเพราะสะดุดตาคำว่า ex-Liverpool striker บนพาดหัวข่าวหรือท่อนโปรยนำ

กองเชียร์ที่กำลังรอฟอเรสต์ปิดดีลสัญญายืมตัว ดีน เฮนเดอร์สัน ผู้รักษาประตูจอมหนึบของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งน่าจะช่วยให้ทีมมีโอกาสเสียประตูน้อยลง ต่างตื่นเต้นกับข่าวสโมสรสร้างสถิติซื้อผู้เล่นแพงที่สุดขึ้นมาใหม่ด้วยการทุ่มเงิน 17.5 ล้านปอนด์ คว้าตัว ไตโว อโวนิยี่ ศูนย์หน้าไนจีเรียวัย 24 ปีมาจากยูเนี่ยน เบอร์ลิน ทีมอันดับ 5 ในบุนเดสลีกา เพื่อทะลุทะลวงเกมรับท็อปคลาสของคู่แข่งร่วมลีก

อโวนิยี่เป็น “อดีต” สไตรคเกอร์ของลิเวอร์พูลและมีชื่อเป็นสมาชิกคนหนึ่งของแอนฟิลด์ยาวนานหกปี แต่เขาไม่เคยลงเล่นให้หงส์แดงสักนัดแม้กระทั่งเกมอุ่นเครื่องปรีซีซั่นก็ยังไม่มีโอกาส เพราะเกือบทันทีหลังซื้อตัวมาจาก อินพีเรียล ซอคเกอร์ อะคาเดมี่ ปลายเดือนสิงหาคม 2015 ลิเวอร์พูลได้ส่งเขาไปให้เอฟเอสเฟา แฟรงค์เฟิร์ต ยืมตัวในซีซั่น 2015-16

และเหมือนสัญญายืมตัวกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่อโวนิยี่ต้องเซ็นชื่อทุกซีซั่น เขาจึงกลายเป็นนักเตะพเนจรย้ายถิ่นทุกปี ไปให้เล่นให้ เอ็นอีซี ไนจ์เมเกน, รัวยา แล็กแซล มูครง, เคเอเอ เกนท์, ไมน์ซ 05 และ ยูเนี่ยน เบอร์ลิน ตามลำดับ

จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนของชีวิตอโวยินี่ เมื่อยูเนี่ยน เบอร์ลิน พอใจผลงานของศูนย์หน้าไนจีเรียระหว่างยืมตัวในซีซั่น 2020-21 จึงตัดสินใจซื้อขาดจากลิเวอร์พูลเป็นเงิน 6.5 ล้านปอนด์ ซึ่งอโวนิยี่ไม่ทำให้ต้นสังกัดผิดหวัง ช่วงสองปีที่ค้าแข้งในเมืองเบียร์ เขาทำผลงาน 25 ประตู 9 แอสซิสต์จาก 65 นัด ไม่มีเพื่อนร่วมทีมคนไหนทำสกอร์ได้มากเท่าเขาในช่วงเวลานั้น

ศึกลูกหนังบุนเดสลีกา ฤดูกาล 2021-22 ที่ผ่านมา อโวนิยี่ส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย 15 ประตูจาก 31 นัด แถมยังถูกเรียกตัวติดทีมชาติไนจีเรีย 4 นัด ทำ 1 ประตูนับตั้งแต่ประเดิมยูนิฟอร์มอินทรีมรกตในเดือนตุลาคม 2021 ซึ่งด้วยฟอร์มร้อนแรง เขาจึงถูกดึงให้เป็นชิ้นส่วนหนึ่งในการสร้างทีมของ สตีฟ คูเปอร์ กุนซือเวลส์วัย 42 ปี ด้วยค่าตัวที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์น็อตติงแฮม ฟอเรสต์

ฤดูกาลหน้า อโวนิยี่จะได้รับโอกาสพิสูจน์ตัวเองบนสังเวียนพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรก และแน่นอนจะได้เผชิญหน้ากับทีมเก่า ลิเวอร์พูล ในวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคมที่สนามซิตี้ กราวน์ เป็นนัดแรก

สไตล์การเล่นของอโวยินี่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ ราชิดี เยกินี่ ตำนานผู้ทำประตูรวมได้มากที่สุดตลอดกาลของไนจีเรีย ขณะที่ เยอร์เกน คล็อปป์ ก็เคยชื่นชมการยิงที่เฉียบคมและพละกำลังของศูนย์หน้าวัย 24 ปีจากกาฬทวีปรายนี้

“หงส์แดง” ทำเงินเฉียดแปดล้านปอนด์จากนักเตะที่ไม่เคยใช้งาน

หาก ไตโว อโวนิยี่ เป็นการลงทุนก็ถือว่าสร้างผลกำไรงามให้กับลิเวอร์พูลถึงแม้ไม่เคยถูกใช้งานในฐานะนักเตะเลยสักนัดเดียว เชื่อหรือไม่ว่า “เดอะ เรดส์” มีรายได้เข้ากองคลังเกือบ 8 ล้านปอนด์จากศูนย์หน้าไนจีเรียผู้นี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 ขณะอายุ 13 ปี อโวนิยี่ได้รับตำแหน่งเอ็มวีพีหรือผู้เล่นทรงคุณค่าของการแข่งขันฟุตบอลระดับเยาวชนรายการหนึ่งที่กรุงลอนดอน ซึ่งมี โคคา-โคลา เป็นสปอนเซอร์ บวกกับฟอร์มฉายแววจึงถูกเชิญเข้าร่วมฝึกซ้อมและลงแข่งขันให้กับ อินพีเรียล ซอคเกอร์ อะคาเดมี่

อีกห้าปีต่อมา อโวนิยี่เซ็นสัญญาอาชีพกับลิเวอร์พูลเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2015 หลังจากหงส์แดงเคาะราคาซื้อจากอิมพีเรียล ซอคเกอร์ อะคาเดมี่ เป็นเงินประมาณ 400,000 ปอนด์ แต่ถูกปล่อยให้ เอฟเอสเฟา แฟรงค์เฟิร์ต ยืมตัวทันที และคล้อยหลังไม่กี่เดือน เยอร์เกน คล็อปป์ ได้เข้ามาเริ่มงานผู้จัดการทีมในแอนฟิลด์

ตลอดหกฤดูกาล อโวนิยี่ต้องไปเล่นที่อื่นด้วยสัญญายืมตัวทั้งหมด 6 สโมสรไม่ซ้ำกัน ก่อนยูเนี่ยน เบอร์ลิน ขอซื้อขาดในราคา 6.5 ล้านปอนด์ ทำกำไรให้กับลิเวอร์พูลถึง 6.1 ล้านปอนด์ แต่ “ดิ ไอรอน วันส์” ใช้งานศูนย์หน้าไนจีเรียแค่ปีเดียวก็ขายต่อให้น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ 17.5 ล้านปอนด์ ฟันกำไรเหนาะ ๆ 11 ล้านปอนด์ แต่สโมสรต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปให้ลิเวอร์พูล

ส่วนหนึ่งในสัญญาเมื่อปี 2021 ระหว่างลิเวอร์พูลกับยูเนี่ยน เบอร์ลิน เป็นเงื่อนไขส่วนแบ่งการขายหรือ Sell-on Clause ทำให้สโมสรเมืองเบียร์ต้องแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าตัวที่ขายได้ให้กับทีมหงส์แดง ซึ่งเท่ากับ 1.75 ล้านปอนด์นั่นเอง

นั่นเท่ากับว่า ลิเวอร์พูลได้เงินจากอโวยินี่ทั้งทางตรงทางอ้อมรวมกัน 7.85 ล้านปอนด์ ซึ่งยังไม่รวมรายได้จากการปล่อยยืมให้กับ 6 สโมสรเข้าไปด้วย ลิเวอร์พูลสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อนักเตะดาวรุ่งแววดีที่ผ่านการพิสูจน์ผลงานแล้วได้หนึ่งคน หรือเก็บสะสมเพื่อเอาไปทุ่มซื้อ จู้ด เบลลิงแฮม มิดฟิลด์ว่าที่ซูเปอร์สตาร์ของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในตลาดซัมเมอร์รอบหน้าก็ยังได้

เงื่อนไข “เซลล์-ออน” แหล่งรายได้ส้มหล่นของเหล่าสโมสรเล็ก

เซลล์-ออน มักเป็นแหล่งรายได้ของสโมสรเล็ก ๆ จากการขายนักเตะที่พวกเขามองว่าน่าจะไปได้ไกลในอนาคต ตัวอย่างที่เกิดขึ้นประมาณสองปีที่แล้วกับ แมทท์ โดเฮอร์ตี้ ฟูลแบ็คชาวไอริช ซึ่งย้ายจากวูลฟ์แฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส ไปอยู่กับท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2020 ด้วยค่าตัวระหว่าง 18-21 ล้านปอนด์หลังจากเล่นให้กับวูลฟ์สยาวนานหนึ่งทศวรรษ ลงสนาม 260 นัด

วูลฟ์แฮมป์ตันค้นพบโดเฮอร์ตี้ระหว่างเตะอุ่นเครื่องปรีซีซั่นกับ โบฮีเมี่ยนส์ เอฟซี ทีมในลีกไอร์แลนด์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2010 แม้โดเฮอร์ตี้ไม่เคยเล่นทีมชุดใหญ่ของโบฮีเมี่ยนส์เลยสักนัด แต่ถูกเรียกตัวเข้ามาทดสอบฝีเท้าและได้เซ็นสัญญาสองปีกับทีมหมาป่า ซึ่งจ่ายค่าตัวให้ต้นสังกัดไปครั้งนั้น 75,000 ปอนด์

โดเฮอร์ตี้ย้ายไปค้าแข้งในพรีเมียร์ลีกกับวูลฟ์สและแฟนบอลโบฮีเมี่ยนส์อาจลืมชื่อเขาไปแล้วจนกระทั่งตกเป็นข่าวย้ายไปทีมสเปอร์สด้วยค่าตัว 18-21 ล้านปอนด์ เนื่องจากสัญญาเมื่อสิบปีที่แล้วระหว่างโบฮีเมี่ยนส์กับวูลฟ์สมีเงื่อนไขเซลล์-ออน 10เปอร์เซ็นต์รวมอยู่ด้วย ทำให้โบฮีเมี่ยนส์รับส่วนแบ่งไป 1.8-2.1 ล้านปอนด์ ซึ่งจำนวนอาจดูเล็กน้อยแต่มันคือรายได้ก้อนใหญ่มากของสโมสรไอริชแห่งนี้ที่มีแฟนบอลเป็นเจ้าของ และเมื่อปี 2016 มีรายได้รวมทั้งปีแค่ 945,000 ปอนด์ (ยังไม่หักหนี้สิน)

ยังมีสโมสรเล็กๆอีกหลายทีมที่ได้รับประโยชน์จากเงินส่วนแบ่งการขายอย่างเช่นเมื่อครั้ง อายเมริค ลาปอร์เต้ เซ็นเตอร์แบ็คชาวฝรั่งเศส ย้ายจากแอธเลติค บิลเบา ไปแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2018 ด้วยค่าตัว 57 ล้านปอนด์

ขณะอายุ 12 ปี ลาปอร์เต้เข้าร่วมทีมเยาวชนอะคาเดมี่ของ อาแฌ็ง ซึ่งแข่งขันในดิวิชั่น 8 ของลีกฝรั่งเศส และใช้เวลาที่นั้นนานสี่ปีก่อนย้ายไปอยู่กับอะคาเดมี่ของแอธเลติก บิลเบา เมื่อปี 2010 ด้วยวัย 16 ปี โดยอาแฌ็งจะได้รับส่วนแบ่ง 1เปอร์เซ็นต์ของการขยายลาปอร์เต้ในอนาคต

เซ็นเตอร์แบ็คดาวรุ่งจากเมืองน้ำหอมสามารถแจ้งเกิดได้สำเร็จบนแผ่นดินกระทิงดุ ลาปอร์เต้เล่นให้ทีมชุดใหญ่ของบิลเบาระหว่างปี 2012-2018 ลงสนาม 116 นัด ก่อนถูกแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อตัวไปในตลาดหน้าหนาวปี 2018 ด้วยราคา 57 ล้านปอนด์ ทำให้เงินเกือบหกแสนปอนด์ถูกโอนเข้าบัญชีของอาแฌ็ง ช่วยให้สโมสรรอดพ้นจากการล้มละลายได้

“หงส์แดง” ลุ้นรอรับเงินจาก “เซลล์-ออน” ในสัญญาอีกหลายราย

เซลล์-ออน ไม่ได้คำนวณจากเปอร์เซ็นต์ของเงินขายนักเตะเท่านั้น แต่อาจคิดจากผลกำไรได้อีกด้วยอย่างเช่น ดาร์วิน นูนเยซ กองหน้าดาวรุ่งทีมชาติอุรุกวัยที่เพิ่งย้ายไปอยู่ลิเวอร์พูลด้วยค่าตัวเมื่อรวมเงื่อนไขแอด-ออนแล้วตก 85 ล้านปอนด์ เคยมีเงื่อนไขเซลล์-ออนที่กำหนดว่า เบนฟิก้าต้องจ่าย 20 เปอร์เซ็นต์ของกำไรการขายให้กับ อัลเมเรีย ต้นสังกัดเก่าของนูนเยซในสเปนก่อนย้ายเข้าเบนฟิก้าเมื่อปี 2020 

สัญญาซื้อขายนักฟุตบอลก็คือเอกสารทางกฎหมายอย่างหนึ่งแต่มีเงื่อนไขผูกมัดหลายประเด็น แต่ข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าสื่อมักเป็นเพียงค่าตัว ค่าเหนื่อย และระยะเวลา ช่วงหลังๆจะพบอ็อปชั่นซื้อขาด, อ็อปชั่นต่อสัญญา และโบนัสแอด-ออน ซึ่งเป็นเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มตามผลงานของนักเตะหรือสโมสรใหม่ แต่ความจริงแล้วยังมีเงื่อนไขปลีกย่อยอื่นๆอีกดังเช่น เซลล์-ออน ที่ถูกหยิบมาพูดถึงจากกรณีของ ไตโว อโวนิยี่

ในอนาคต ลิเวอร์พูลอาจได้เงินส้มหล่นลักษณะนี้อีกเพื่อนำไปใช้จ่ายซื้อนักเตะใหม่เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บไล่ล่าแชมป์พรีเมียร์และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก สองเป้าหมายใหญ่ของสโมสร เพราะเท่าที่ได้รับการเปิดเผยยังมีอดีตผู้เล่นของลิเวอร์พูลมีพันธะเซลล์-ออนกับสโมสรที่ซื้อไปรวม 15 คนคือ

  • หลุยส์ อัลแบร์โต้ (ลาซิโอ) – 30 เปอร์เซ็นต์
  • แดนนี่ วอร์ด (เลสเตอร์) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • ไรอัน เคนท์ (เรนเจอร์ส) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • ราฟา คามาโช (สปอร์ติ้ง ลิสบอน) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • โดมินิค โซแลงเก้ (บอร์นมัธ) – 20 เปอร์เซ็นต์ จากกำไร
  • อัลแลน โรดริเกวส (แอตเลติโก ไมเนียโร)  – 10 เปอร์เซ็นต์
  • ไรอัน บริวสเตอร์ (เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด) – 15 เปอร์เซ็นต์
  • ไค-จานา ฮูเวอร์ (วูลฟ์แฮมป์ตัน) – 15 เปอร์เซ็นต์
  • โอวี่ อียาเรีย (เรดดิ้ง) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • เฮอร์บี เคน (บาร์สลีย์) – 15 เปอร์เซ็นต์
  • คามิล กราบารา (โคเปนเฮเกน) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • เลียม มิลลาร์ (บาเซิล) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • แฮร์รี่ วิลสัน (ฟูแลม) – 15 เปอร์เซ็นต์
  • มาร์โก กรูซิช (ปอร์โต) – 10 เปอร์เซ็นต์

ในอดีต ลิเวอร์พูลเคยได้รับประโยชน์ทั้งจากส่วนแบ่งการขายและเงื่อนไขเซลล์-ออนหมดอายุมาแล้วกับกรณีของ ไอบ์, เซอร์ไก คานอส, แบรด สมิธ, ติอาโก อิลอรี, บ็อบบี้ ดันแคน และ มาริโอ บาโลเตลลี่

ลิเวอร์พูลยังมีช่องทางใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขเซลล์-ออนที่เคยทำไว้กับหลายทีม รวมถึงตัวอย่างที่ไม่ได้พบบ่อยกับการซื้อตัวกลับมาเช่น รายของแฮร์รี่ วิลสัน ปีกชาวเวลส์ ซึ่งฟูแลมเพิ่งซื้อขาดหลังประทับใจผลงานช่วงยืมตัว สมมุติว่าวันหนึ่ง ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ เจรจาขอซื้อจากฟูแลมที่ค่าตัว 25 ล้านปอนด์ ลิเวอร์พูลสามารถขอซื้อด้วยราคาหลังหักส่วนลด 15เปอร์เซ็นต์ หรือ 21.25 ล้านปอนด์ เพื่อเซ็นสัญญากับอดีตผู้เล่นที่ไม่เคยได้เล่นกับทีมเลยระหว่างมีสัญญาในแอนฟิลด์ระหว่างปี 2015-2022 เพราะถูกปล่อยยืมตลอดเหมือนกับอโวนิยี่ หรือถ้าไม่ต้องการตัวกลับ ลิเวอร์พูลก็ยังได้ส่วนแบ่ง 15เปอร์เซ็นต์เมื่อฟูแล่มขายให้สเปอร์ส

บางทีการซื้อขายนักเตะสักคนหนึ่งใช้เวลาเนิ่นนานเยิ่นเย้อไม่ใช่เพราะตกลงค่าตัวค่าเหนื่อยกันไม่ได้ แต่อาจเป็นเงื่อนไขเล็กๆน้อยๆที่แทรกอยู่ในสัญญาก็เป็นได้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา