Categories
Special Content

ความกังวลของ “แกเร็ธ เซาท์เกต” กับปัญหาแข้งอังกฤษในพรีเมียร์ลีกลดลง

โปรแกรมฟุตบอลในช่วงกลางสัปดาห์นี้ ยาวไปจนถึงกลางสัปดาห์หน้า จะสลับฉากจากระดับลีก เป็นทีมชาติ ในส่วนฝั่งยุโรป จะเป็นรอบคัดเลือก ของฟุตบอลชิงแชมป์ระดับทวีป หรือ “ยูโร 2024”

สำหรับยูโร 2024 รอบคัดเลือก มี 53 ชาติเข้าร่วม (ยกเว้นเยอรมนี ในฐานะเจ้าภาพ และรัสเซีย ที่ยังติดโทษแบนจากยูฟ่า) แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม โดยมี 7 กลุ่ม ที่มีกลุ่มละ 5 ชาติ และอีก 3 กลุ่ม ที่มีกลุ่มละ 6 ชาติ

แต่ละกลุ่ม คัดเอา 2 อันดับแรก เข้ารอบสุดท้ายอัตโนมัติ ส่วนอีก 3 ชาติที่เหลือ จะเอามาจากชาติที่ตกรอบคัดเลือกยูโร แต่มีผลงานดีที่สุด ในยูฟ่า เนชันส์ ลีก เฉพาะลีก A, B และ C ลีกละ 4 ชาติ มาเตะเพลย์ออฟกันในแต่ละลีก

ในส่วนของทีมชาติอังกฤษ จะประเดิม 2 นัดแรก ด้วยการ “รีแมตช์” คู่ชิงชนะเลิศยูโรครั้งที่แล้ว ในการบุกไปเยือนทีมชาติอิตาลี ที่เนเปิ้ลส์ 23 มีนาคม และจะกลับมาเล่นในเวมบลีย์ พบกับทีมชาติยูเครน 26 มีนาคม

อย่างไรก็ตาม แกเร็ธ เซาท์เกต กุนซือ “ทรี ไลออนส์” ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนนักเตะอังกฤษที่ได้ลงเล่นเป็นตัวหลักในพรีเมียร์ลีกลดลง เหตุใดเขาจึงออกมาพูดเช่นนี้

ส่องไลน์-อัพอังกฤษ ก่อนประเดิมคัดยูโร

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ทีมชาติอังกฤษประกาศรายชื่อ 25 นักเตะชุดสู้ศึกยูโร 2024 รอบคัดเลือก 2 นัดแรกกับอิตาลี ในวันที่ 23 มีนาคม และยูเครน ในวันที่ 26 มีนาคม โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

– ผู้รักษาประตู : จอร์แดน ฟิคฟอร์ด (เอฟเวอร์ตัน), นิค โป๊ป (นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด), อารอน แรมส์เดล (อาร์เซน่อล)

– กองหลัง : เบน ชิลเวลล์ (เชลซี), เอริค ดายเออร์ (ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์), มาร์ค เกฮี (คริสตัล พาเลซ), รีช เจมส์ (เชลซี), แฮร์รี่ แม็กไกวร์ (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), ลุค ชอว์ (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), จอห์น สโตนส์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), ไคล์ วอล์คเกอร์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), คีแรน ทริปเปียร์ (นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด)

– กองกลาง : จู๊ด เบลลิงแฮม (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์), คอเนอร์ กัลลาเกอร์ (เชลซี), จอร์แดน เฮนเดอร์สัน (ลิเวอร์พูล), เจมส์ แมดดิสัน (เลสเตอร์ ซิตี้), คัลวิน ฟิลลิปส์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), ดีแคลน ไรซ์ (เวสต์แฮม), เมสัน เมาท์ (เชลซี)

– กองหน้า : ฟิล โฟเด้น (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), แจ็ค กริลิช (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), แฮร์รี่ เคน (ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์), บูกาโย่ ซาก้า (อาร์เซน่อล), อิวาน โทนีย์ (เบรนท์ฟอร์ด), มาร์คัส แรชฟอร์ด (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)

แต่ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มี 3 แข้งขอถอนตัวออกไป เริ่มจากนิค โป๊ป ที่ได้รับบาดเจ็บจากเกมที่นิวคาสเซิล ชนะฟอเรสต์ 2 – 1 ในเกมลีกนัดล่าสุด โดยเฟเซอร์ ฟอร์สเตอร์ นายทวารจากสเปอร์ เสียบแทน

รายต่อมาคือเมสัน เมาท์ ที่ไม่ได้ลงเล่นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บที่กระดูกเชิงกราน และล่าสุดเป็นรายของแรชฟอร์ด ที่ได้รับบาดเจ็บจากเกมที่เอาชนะฟูแล่ม 3 – 1 ในถ้วยเอฟเอ คัพ

นักเตะผู้ดีในพรีเมียร์ลีกน้อยลงเรื่อย ๆ

“ตัวเลขก็คือตัวเลข และมันก็ไม่เพิ่มขึ้นเลย ตอนนี้ตัวเลขอยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ ตอนที่ผมรับงานอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ และปีก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นชัดเจนเลยว่า มันคือกราฟขาลงแบบไม่มีข้อโต้แย้ง”

“จำนวนนักเตะอังกฤษที่ลดลงอย่างรวดเร็วในพรีเมียร์ลีก มันไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลในอีก 18 เดือนข้างหน้า แต่ในอีก 4-5 ปีต่อจากนี้ มันอาจจะเป็นปัญหา โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เหลือแค่ 28 เปอร์เซ็นต์”

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือคำพูดของแกเร็ธ เซาท์เกต กุนซือทีมชาติอังกฤษ ที่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนนักเตะชาวอังกฤษที่เป็นตัวหลักในพรีเมียร์ลีก กำลังน้อยลงเรื่อย ๆ และอาจจะส่งผลเสียในระยะยาว

สำหรับในฤดูกาล 2022/23 มีนักเตะอังกฤษลงเล่นในพรีเมียร์ลีก 161 คน ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ฤดูกาลหลังสุด และอีก 22 คน ลงเล่นใน 4 ลีกใหญ่ของยุโรป (เยอรมัน, อิตาลี, สเปน, ฝรั่งเศส)

เมื่อมาดูตัวเลขของนักเตะสัญชาติอังกฤษ ที่ลงเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาลนี้ คำนวณออกมาเป็นจำนวนนาที พบว่าอยู่ในอันดับที่ 6 น้อยกว่าฝรั่งเศส, เยอรมัน, สเปน, โปรตุเกส และบราซิล ตามลำดับ

และถ้าเจาะลึกลงไปสำหรับเปอร์เซ็นต์การลงสนามในพรีเมียร์ลีก ของ 23 นักเตะสิงโตคำรามที่ติดทีมในการคัดเลือกยูโร 2 เกมแรก ปรากฏว่า ในจำนวนนี้ มีอยู่ 7 คน ที่ลงเล่นไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ไคล์ วอล์คเกอร์, คอเนอร์ กัลลาเกอร์, รีช เจมส์, เบน ชิลเวลล์, เฟเซอร์ ฟอร์สเตอร์, แฮร์รี่ แม็กไกวร์ และคัลวิน ฟิลลิปส์

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4 ซีซั่นหลังสุด นักเตะจากสโมสร “บิ๊ก 6” พรีเมียร์ลีก (อาร์เซน่อล, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยูไนเต็ด, สเปอร์) ลงเล่นคิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 16 เปอร์เซ็นต์ ของ 4 ซีซั่นก่อนหน้านั้น

ไม่ใช่แค่เซาท์เกตเท่านั้นที่กังวล โรแบร์โต้ มันชินี่ เทรนเนอร์ของ “อัซซูรี่” คู่แข่งของอังกฤษในเกมเปิดหัว คืนวันพฤหัสบดีนี้ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาก็เจอปัญหาขาดแคลนนักเตะชาติตัวเองในลีกสูงสุดเช่นกัน

แม้สโมสรจากเซเรีย อา จะผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ถึง 3 ทีม แต่มีนักเตะอิตาลีรวมกันไม่ถึง 10 คน จำนวนนาทีที่นักเตะลงเล่นในถ้วยใหญ่ยุโรป อยู่ในอันดับที่ 8 ต่ำกว่าอังกฤษเสียอีก

อีกไม่นานคงต้องหานักเตะจากลีกรอง

แกเร็ธ เซาท์เกต นายใหญ่สิงโตคำราม ชี้ว่า ตลาดนักเตะหน้าหนาวปีนี้ ที่ใช้เงินมากถึง 815 ล้านปอนด์ คือการตัดโอกาสนักเตะอังกฤษในพรีเมียร์ลีก และเขาอาจจะต้องหานักเตะจากลีกแชมเปี้ยนชิพมาทดแทน

และนี่คือหน้าตาของทีมชาติอังกฤษ ถ้าเซาท์เกตอยากหานักเตะฝีเท้าดีจากลีกรอง (แผนการเล่น 4-3-3หรือ 4-2-3-1)

– เฟรดดี้ วูดแมน (เปรสตัน นอร์ทเอนด์) : อดีตผู้รักษาประตูนิวคาสเซิล วัย 26 ปี เล่นตำแหน่งเดียวกับแอนดี้ วูดแมน คุณพ่อของเขา เก็บคลีนชีตได้ 16 นัด จาก 38 นัด ให้กับเปรสตันในฤดูกาลนี้

– ไรอัน ไจล์ส (มิดเดิลสโบรช์) : ฟูลแบ็กฝั่งซ้ายวัย 23 ปี ที่ยืมตัวมาจากวูล์ฟแฮมป์ตัน ทำ 11 แอสซิสต์ จาก 38 นัด ให้กับมิดเดิลสโบรช์ ในลีกแชมเปี้ยนชิพ ฤดูกาลนี้ ภายใต้การคุมทีมของไมเคิล คาร์ริก

– เทย์เลอร์ ฮาร์วูด-เบลลิส (เบิร์นลีย์) : เซ็นเตอร์แบ็กวัย 21 ปี ที่ยืมตัวมาจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ สามารถสอดแทรกขึ้นมาเล่นเกมรุกได้ และเคยติดทีมชาติอังกฤษชุดเยาวชนทุกรุ่น ตั้งแต่ชุดยู-16 จนถึงยู-21

– ชาร์ลี เครสเวลล์ (มิลล์วอลล์) : เซ็นเตอร์แบ็กวัย 20 ปี ที่ยืมตัวมาจากลีดส์ ยูไนเต็ด ลูกชายของริชาร์ด เครสเวลล์ อดีตกองหน้าชื่อดัง กำลังพามิลล์วอลล์ลุ้นพื้นที่เพลย์ออฟ เพื่อเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก

– แม็กซ์ อารอนส์ (นอริช ซิตี้) : ฟูลแบ็กฝั่งขวาวัย 23 ปี เพชรเม็ดงามจากอคาเดมี่ของนอริช ลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2018 และเคยตกเป็นเป้าหมายของบาร์เซโลน่า ยักษ์ใหญ่จากสเปนมาแล้ว

– เจมส์ แม็คอาธี (เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด) : มิดฟิลด์วัย 20 ปี ยิง 5 ประตู กับ 2 แอสซิสต์ ในลีก ซึ่งเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ทีมของเขา จับสลากพบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต้นสังกัดที่แท้จริง ในเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ

– อเล็กซ์ สกอตต์ (บริสตอล ซิตี้) : มิดฟิลด์วัย 19 ปี มีจุดเด่นในเรื่องแอสซิสต์ให้เพื่อนยิงประตู ได้รับการคาดหมายว่าเป็นหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดของลีกรอง โดยมีทีมจากพรีเมียร์ลีกหลายทีมให้ความสนใจเขา

– จอร์จ ฮอลล์ (เบอร์มิงแฮม ซิตี้) : มิดฟิลด์วัย 18 ปี เติบโตจากอคาเดมี่ของเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ที่เดียวกับจู๊ด เบลลิ่งแฮม ซึ่งทรอย ดีนี่ย์ กองหน้าเพื่อนร่วมทีม บอกว่า เขาจะเป็นซูเปอร์สตาร์คนใหม่ของอังกฤษแน่นอน

– นาธาน เทลล่า (เบิร์นลีย์) : มิดฟิลด์วัย 23 ปี ที่ยิมตัวมาจากเซาแธมป์ตัน ยิง 17 ประตู กับ 3 แอสซิสต์ ช่วยให้ทีมของกุนซือแว็งซองต์ กอมปานี จ่อเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฐานะแชมป์ลีกรองเต็มที

– โจ เกลฮาร์ดท์ (ซันเดอร์แลนด์) : ศูนย์หน้าวัย 20 ปี ยืมตัวมาจากลีดส์ ยูไนเต็ด ในช่วงตลาดซื้อขายนักเตะเดือนมกราคมที่ผ่านมา ลงเล่นให้ซันเดอร์แลนด์ 10 นัด ในลีกรอง ทำได้ 1 ประตู กับ 2 แอสซิสต์

– ชูบา อัคปอม (มิดเดิลสโบรช์) : อดีตกองหน้าอาร์เซน่อล วัย 27 ปี ทำได้ 24 ประตู จาก 31 นัด ในลีก มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ “เดอะ โบโร่” มีลุ้นเลื่อนชั้นแบบอัตโนมัติ ทั้ง ๆ ที่อยู่ท้ายตารางเมื่อช่วงต้นซีซั่น

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/64988328

– https://www.bbc.com/sport/football/65014530

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/03/17/what-england-team-would-look-like-filled-current-championship/

– https://www.skysports.com/football/news/11095/12835452/gareth-southgate-admits-concern-over-englands-shrinking-talent-pool-with-only-32-per-cent-of-starters-in-premier-league-eligible

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11885279/We-worse-Southgate-Roberto-Mancini-bemoans-lack-homegrown-talent-Italy.html

Categories
Special Content

อุดมการณ์ที่แตกต่าง : เรอัล มาดริด – บาร์เซโลน่า คู่อริที่เป็นมากกว่าเกมฟุตบอล

มาดริด และบาร์เซโลน่า 2 เมืองที่ใหญ่ที่สุดของสเปน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ และความขัดแย้งนั้น ก็ได้ส่งต่อสู่เกมฟุตบอล ที่ดวลบนสนามหญ้ามานานกว่า 100 ปี

การพบกันของ 2 สโมสรลูกหนังที่ดีที่สุดในสเปน และอาจจะดีที่สุดในโลก ระหว่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ถูกเรียกว่า “เอล กลาซิโก้” (El Clásico) เจอกันครั้งใดก็สัมผัสได้ถึงความคลาสสิก

แมตช์นี้ มีความหมายมากกว่าเกมฟุตบอลธรรมดา ๆ เพราะเป็นการต่อสู้ของ 2 เมืองใหญ่ ที่มีความแตกต่างกันทั้งเรื่องเชื้อชาติ และอุดมการณ์ทางการเมืองจากประวัติศาสตร์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

“ราชันชุดขาว” ถูกมองว่าเป็นทีมของฝ่ายอำนาจนิยม ส่วน “เจ้าบุญทุ่ม” คือตัวแทนแห่งเสรีนิยม ที่ต้องการปลดแอกจากเมืองหลวง ทำให้ตกเป็นเป้าหมายในการเล่นงานจากรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งก่อนที่ทั้ง 2 ทีม จะเผชิญหน้ากันในวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคมนี้ ก็มีประเด็นของบาร์เซโลน่า ที่ถูกลาลีกากล่าวหาว่าติดสินบนกรรมการ และเรอัล มาดริด อริตัวแสบ ก็ไม่พลาดที่จะร่วมฟ้องร้องด้วย

“เอล กลาซิโก้” ซีซั่นนี้ ชิ้ทิศทางลุ้นแชมป์

ก่อนการต่อสู้ในยกสอง ที่สปอติฟาย คัมป์ นู สถิติการพบกันในลาลีกา เรอัล มาดริด ชนะ 77 ครั้ง บาร์เซโลน่า ชนะ 73 ครั้ง และเสมอกัน 35 ครั้ง ส่วนจำนวนแชมป์ลีกสูงสุด เรอัล มาดริด 35 สมัย และบาร์เซโลน่า 26 สมัย

สถานการณ์ล่าสุดของการลุ้นแชมป์ลาลีกา 2022/23 บาร์เซโลน่า นำเป็นจ่าฝูง มี 65 คะแนน นำห่างเรอัล มาดริด ทีมอันดับที่ 2 อยู่ 9 แต้ม ผลแข่ง “เอล กลาซิโก้” ครั้งที่ 186 ในลีก จะเป็นตัวชี้ทิศทางการลุ้นแชมป์ของทั้ง 2 ทีม

การจัดอันดับคะแนนในลาลีกา ถ้ามีทีมที่คะแนนเท่ากัน (2 ทีมหรือมากกว่า) จะพิจารณาผลการแข่งขันที่ในแมตช์ที่พบกันเอง (เฮด-ทู-เฮด) เป็นลำดับแรก ซึ่งการใช้กฎเฮด-ทู-เฮดนั้น จะมีผลหลังจากจบฤดูกาลเรียบร้อยแล้ว

การดู “เฮด-ทู-เฮด” ของลีกสเปน จะไม่มีการนับประตูทีมเยือน (อเวย์โกล) ถ้าเฮด-ทู-เฮด เท่ากัน ให้ข้ามไปพิจารณาที่ประตูได้-เสียนับรวมทั้งซีซั่น ซึ่งแมตช์แรกที่ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว เป็นราชันชุดขาว เอาชนะ 3 – 1

ความเป็นไปได้ของผลการแข่งขันในสุดสัปดาห์นี้ ถ้าเรอัล มาดริด เก็บชัยได้ จะจี้บาร์เซโลน่าเหลือ 6 แต้ม และผลงาน “เฮด-ทู-เฮด” ดีกว่า หรือผลเสมอ ก็ตามหลังบาร์เซโลน่า 9 แต้มเท่าเดิม แต่ “เฮด-ทู-เฮด” ยังเหนือกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากบาร์เซโลน่า เป็นฝ่ายชนะ ต้องแยกออกเป็น 3 กรณี ดังต่อไปนี้

– ชนะด้วยผลต่าง 1 ประตู : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม แต่ผลงานเฮด-ทู-เฮด เรอัล มาดริด ยังได้เปรียบ

– ชนะด้วยผลต่าง 2 ประตู : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม ผลงานเฮด-ทู-เฮด เท่ากับเรอัล มาดริด ต้องไปวัดที่ประตูได้-เสีย โดยในตอนนี้ “เจ้าบุญทุ่ม” ได้ 47 เสีย 8 (ผลต่าง +39) ส่วน “ราชันชุดขาว” ได้ 50 เสีย 19 (ผลต่าง +31)

– ชนะด้วยผลต่าง 3 ประตู หรือมากกว่า : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม แถมผลงานเฮด-ทู-เฮด เหนือกว่าเรอัล มาดริด อีกด้วย

เริ่มต้นจากการเป็นมิตร

ก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงมาดริด และเมืองบาร์เซโลน่าจะเป็นศัตรูกันแบบในปัจจุบันนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นมิตรที่ดี เกื้อหนุนกันมาก่อน อาจจะมีการแข่งขันกันบ้างในบางเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งรุนแรง

ในอดีต แคว้นคาตาลุญญ่า คือส่วนหนึ่งของอาณาจักรอารากอน มีเมืองบาร์เซโลน่าเป็นเมืองท่าสำคัญ มีภาษาเป็นของตัวเอง เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสถาปัตยกรรม

ส่วนอาณาจักรกาสติลญ่า ที่มีเมืองมาดริดเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุด เป็นศูนย์กลางในด้านการเมืองการปกครอง มีจุดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ มีมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งรวมผลงานศิลปะ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1469 เมื่อเจ้าชายเฟอร์ดินันด์ที่ 2 แห่งอารากอน ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอิซาเบลลา แห่งกาสติลญ่า ทำให้เกิดการผนวกระหว่าง 2 อาณาจักรใหญ่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิสเปน

จักรวรรดิสเปน คือการหลอมรวมอานาจักรต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งหลังจากจักรวรรดิสเปนเกิดขึ้น เมืองบาร์เซโลน่าเจริญขึ้นมากจากการค้าขายทางเรือ ส่วนเมืองมาดริดค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเมืองหลวงในปี 1561

รอยร้าวเล็ก ๆ ที่ใหญ่ขึ้น

แม้ 2 อาณาจักรใหญ่จะรวมกันเป็นสเปนแล้ว การปกครองก็ยังเป็นอิสระต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างมาดริด และบาร์เซโลน่า ดูเหมือนจะราบรื่น แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นความแตกแยกระหว่างสองเมือง

เหตุการณ์ที่ว่านั้นก็คือ สงครามชิงบัลลังก์ราชวงศ์ ในปี 1714 คาตาลุญญ่าเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ ทำให้ถูกริบสิทธิและอำนาจการปกครองของตัวเอง รวมถึงภาษา วัฒนธรรมของแคว้น ก็ถูกอำนาจของสเปนกดทับไว้

ต่อมาในปี 1808 สงครามคาบสมุทร ที่เกี่ยวเนื่องไปถึงสงครามนโปเลียน เมื่อกองทัพของจักรวรรดิฝรั่งเศส นำโดยจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต ได้ถอนกำลังจากโปรตุเกส และเข้าโจมตีเมืองบาร์เซโลน่า ของสเปนแทน

ทว่าในช่วงเวลาของสงครามคาบสมุทรนั้น สเปนกำลังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้ทหารนับแสนนายไม่สามารถทำอะไรได้ ปล่อยให้จักรวรรดิฝรั่งเศสยึดเมืองบาร์เซโลน่า และส่งคนเข้ามาปกครองสเปนในที่สุด

แม้ในภายหลัง สเปนจะได้เมืองบาร์เซโลน่ากลับคืนมา แต่ความรู้สึกของชาวคาตาลัน ที่ถูกทอดทิ้งจากการต่อสู้กับจักรวรรดิฝรั่งเศส ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายในจิตใจให้คนในเมืองนี้ไปแล้ว

ชิงความเป็นหนึ่งด้วยเกมลูกหนัง

ความขัดแย้งของทั้ง 2 เมือง ก็ได้ส่งต่อไปยังกีฬาฟุตบอลด้วย การก่อตั้งสโมสรเรอัล มาดริด กับบาร์เซโลน่า ที่เป็นตัวแทนของ อุดมการณ์ ซึ่งผลงานในสนาม คือการพิสูจน์ว่าเมืองของตัวเองเหนือกว่าอีกเมืองหนึ่ง

สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่า ก่อตั้งเมื่อปี 1899 และอีก 3 ปีให้หลัง สโมสรฟุตบอลเรอัล มาดริด ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ทั้งคู่ได้พบกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 เมษายน 1902 จบลงด้วยชัยชนะ 3 – 1 ของบาร์เซโลน่า

หลายคนเข้าใจว่า เมืองบาร์เซโลน่าถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียวมาตลอด จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะในบางครั้ง กรุงมาดริดก็เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเทียบเหตุการณ์และความรุนแรงแล้ว ฝ่ายบาร์เซโลน่าโดนหนักกว่ามาก

เหตุการณ์ที่ทำให้ฝ่ายมาดริดโกรธแค้น มีอยู่ 2 เหตุการณ์หลัก ๆ คือเหตุการณ์ที่นักเตะเรอัล มาดริดรายหนึ่ง ถูกลอบสังหารในคาตาลุญญ่า เมื่อปี 1916 แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า เป็นฝีมือของชาวคาตาลันหรือไม่

อีกเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นในนัดชิงชนะเลิศ โคปา เดล เรย์ เมื่อปี 1930 ที่เรอัล มาดริด แพ้ให้กับแอธเลติก บิลเบา ซึ่งต้นเหตุมาจากผู้ตัดสินในนัดดังกล่าว เป็นชาวคาตาลัน ที่ทำหน้าที่ตัดสินแบบค้านสายตา

แตกหักเพราะสงครามกลางเมือง

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของนายพลฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการของสเปน จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองในช่วงปี 1936-1939 ก็ยิ่งทำให้เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ไม่มีวันที่จะญาติดีกันอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

นายพลฟรังโก้ เข้ามาปกครองสเปนตั้งแต่ปี 1936 นิยมแนวคิดแบบขวาจัด ต้องการสร้างสเปนให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งแน่นอนว่า ฝ่ายบาร์เซโลน่าต่อต้านอย่างหนัก เพราะเป็นการลดทอนอัตลักษณ์ของคาตาลุญญ่า

ความคับแค้นของบาร์เซโลน่า ที่มีต่อเรอัล มาดริด เริ่มจากโฆเซป ซูโยล ประธานสโมสรบาร์เซโลนา และสมาชิกของพรรคการเมืองเสรีนิยมแห่งคาตาโลเนียในขณะนั้น ถูกฝ่ายของนายพลฟรังโก้ลอบสังหาร

เท่านั้นยังไม่พอ นายพลจอมฟาสซิสต์รายนี้ ได้จัดการเอาธงคาตาลันออกจากโลโก้ของบาร์ซ่า เปลี่ยนชื่อสโมสรเป็นภาษาสเปน สั่งห้ามพูดภาษาคาตาลัน และส่งคนของตัวเองเข้าไปควบคุมสโมสรแบบเบ็ดเสร็จ

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RealMadrid

สงครามกลางเมืองของสเปน เกิดจากทหารที่เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลฝ่ายซ้าย นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนเผด็จการ กับผู้สนับสนุนเสรีนิยม ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของนายพลฟรังโก้ ในปี 1939

และในปี 1943 เกมโคปา เดล เรย์ ที่เรอัล มาดริด เปิดบ้านถล่มบาร์เซโลน่า 11 – 1 สร้างสถิติชนะขาดลอยที่สุดใน “เอล กลาซิโก้” แต่ชัยชนะในครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีอำนาจมืดจากนายพลฟรังโก้อยู่เบื้องหลัง

ตำนานชิงตัว “ดิ สเตฟาโน่ – ฟิโก้”

นอกจากการแข่งขันในสนามแล้ว ยังมีเหตุการณ์การแย่งชิงนักเตะฝ่ายตรงข้ามที่ถูกเล่าขานระดับตำนาน คือกรณีของอัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ และหลุยส์ ฟิโก้ ซึ่งเป็นเรอัล มาดริด ที่กระทำกับบาร์เซโลน่าถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก เมื่อปี 1953 บาร์เซโลน่า เป็นฝ่ายที่ทาบทามตัว ดิ สเตฟาโน่ ก่อน โดยอ้างว่าได้เซ็นสัญญาล่วงหน้าไปแล้ว แต่เรอัล มาดริด ได้อาศัยช่องว่างด้วยการอ้างกฎอีกฉบับหนึ่ง ที่อาจเป็นอำนาจมืดจากนายพลฟรังโก้

กฎของฟุตบอลลีกสเปนในเวลานั้น คือ การซื้อผู้เล่นต่างชาติ ต้องมีลายเซ็นจากสโมสรต้นสังกัดที่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าเท่านั้น แต่รัฐบาลสเปน กลับออกกฎใหม่โดยให้มีลายเซ็นจากสโมสรต้นสังกัดที่แท้จริง แม้จะไม่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าก็ตาม

ยื้อกันไปยื้อกันมา ทำให้ฟุตบอลลีกสเปน ตัดสินใจให้ทั้ง 2 ทีม สลับกันใช้งาน ดิ สเตฟาโน่ ตลอดเวลา 4 ฤดูกาล และหลังจากนั้น เป็นราชันชุดขาว ที่ได้ตัวไปร่วมทีมอย่างถาวร และกลายเป็นตำนานในถิ่นซานติอาโก้ เบอร์นาเบวในที่สุด

ต่อมาในปี 2000 เรอัล มาดริด สร้างปรากฏการณ์ช็อกวงการฟุตบอลอีกครั้ง ด้วยการดึงตัว หลุยส์ ฟิโก้ นักเตะบาร์เซโลน่า สโมสรคู่ปรับตลอดกาล หลังจากฟลอเรนติโน่ เปเรซ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสโมสร

อันที่จริง เปเรซได้วางแผนฉกฟิโก้ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งประธานของเรอัล มาดริดแล้ว โดยเดิมพันผ่านเอเย่นต์ส่วนตัวของดาวเตะโปรตุกีสรายนี้ว่า ถ้าตัวเขาแพ้เลือกตั้ง ยินดีจ่ายเงินให้ 4 ล้านยูโร แต่ถ้าชนะ ต้องย้ายมาค้าแข้งกับ “โลส บลังโกส” ทันที

ซึ่งเปเรซก็ชนะการเลือกตั้งจริงๆ และได้ตัวฟิโก้มาร่วมทีมสมใจอยาก เรียกว่าเป็นการตบหน้าบาร์เซโลน่าครั้งใหญ่ ทำเอาแฟนๆ อาซุลกราน่าโกรธแค้น ถึงขั้นสาปส่งฟิโก้ว่าเป็น “จูดาส” หรือคนทรยศ เหยียบเมืองบาร์เซโลน่าไม่ได้อีกต่อไป

ถึงอย่างไรก็ขาดกันไม่ได้อยู่ดี

หลังหมดยุคนายพลฟรังโก้ สเปนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในปี 1983 จังหวัดมาดริดได้แยกออกจากแคว้นกาสติย่า จัดตั้งเป็น “แคว้นมาดริด”

แต่จากความขัดแย้งที่สะสมมานานตั้งแต่สมัยนายพลฟรังโก้เรืองอำนาจ ความพยายามของคาตาลุญญ่าที่ต้องการจะแยกตัวออกจากรัฐบาลกลางก็ไม่มีทางสิ้นสุด เพราะพวกเขาคือคาตาลัน ไม่ใช่ชาวสเปน

กระแสการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน รุนแรงขึ้นในการลงประชามติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2017 มีชาวคาตาลันประมาณ 2 ล้านคน ไปลงคะแนนโหวต ผลที่ออกมาคือ เสียงส่วนใหญ่ประมาณ 90% สนับสนุนให้คาตาลุญญ่าเป็นเอกราช

แน่นอนว่าการทำเช่นนี้ ผิดกฎหมายรัฐบาลกลางสเปน ทำให้สเปนส่งเจ้าหน้าที่มายึด และทำลายคูหาที่ใช้ในการลงประชามติ รวมถึงสลายผู้คนที่รวมตัวกันในบริเวณนั้น จนเกิดการปะทะขึ้นกลายเป็นเหตุรุนแรง

อีก 26 วันต่อมา (27 ตุลาคม 2017) แกนนำที่เคลื่อนไหวการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน ได้อ่านคำประกาศอิสรภาพในการเป็นเอกราชของคาตาลุญญ่า แต่ก็ถูกรัฐบาลกลางสเปนตอบโต้ด้วยการยึดอำนาจการปกครองจากคาตาลันทันที

มีการวิเคราะห์ว่า การแยกตัวของคาตาลุญญ่าออกจากสเปน อาจจะส่งผลกระทบต่อลาลีกาไม่น้อย เพราะรู้ดีว่าบาร์เซโลน่า และเรอัล มาดริด คือแม่เหล็กที่ช่วยดึงดูดผลประโยชน์มหาศาลให้กับวงการฟุตบอลสเปน

แม้บาร์เซโลน่า จะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต่อต้านมาดริด และอาจถึงเวลาที่ต้องแยกจากกัน แต่การที่ศึกเอล กลาซิโก้ ยังมีเสน่ห์ที่น่าติดตามเช่นนี้ ลาลีกาก็อาจจะรู้สึกดีกว่าก็ได้ที่ทั้งคู่ยังได้พบกันต่อไป

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.the101.world/the-rivalry-ep-1/

https://www.barcablaugranes.com/2017/4/21/15381184/the-transfers-of-figo-and-di-stefano

https://en.wikipedia.org/wiki/2017_Catalan_independence_referendum

Categories
Football Business

เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียว ? : เมื่อ “พรีเมียร์ลีก” เริ่มเป็นที่น่าจับตามอง ของกุนซือเลือดกระทิง

การถือกำเนิดของพรีเมียร์ลีก เมื่อปี 1992 คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการฟุตบอลอังกฤษ เพราะเป็นการเปิดประตูให้เม็ดเงิน ผู้เล่น และผู้จัดการทีมจากต่างชาติ ได้หลั่งไหลเข้ามาในเมืองผู้ดีมากขึ้น

ตลอดเวลากว่า 30 ปี ของพรีเมียร์ลีก ได้มีโค้ชต่างชาติหลายๆ คน ก้าวเข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนาความสนุกเร้าใจ และสร้างความสำเร็จให้เป็นที่ยอมรับ จนทำให้ลูกหนังเมืองผู้ดีได้รับความนิยมไปทั่วโลก

โดยเฉพาะบรรดากุนซือสัญชาติ “สเปน” ที่ได้เข้ามาคุมทีมในพรีเมียร์ลีกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลังๆ นั้น มีเหตุผลมาจากเรื่องเงินเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ? ติดตามไปพร้อมกันได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

ราฟา เบนิเตซ ผู้เปิดตำนานโค้ชสเปนในลีกผู้ดี

ผู้จัดการทีมชาวสเปนคนแรกในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ คือ ราฟาเอล เบนิเตซ ที่เข้ามาคุมทีมลิเวอร์พูล ในฤดูกาล 2004/05 และสร้างปาฏิหาริย์ด้วยการชนะเอซี มิลาน คว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นโทรฟี่แรก

ตามมาด้วยแชมป์ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ, แชมป์เอฟเอ คัพ, แชมป์คอมมูนิตี้ ชิลด์ และเกือบพา “หงส์แดง” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2008/09 ก่อนที่ในซีซั่นถัดมา จบเพียงแค่อันดับที่ 7 จนถูกปลดออกจากตำแหน่ง

หลังจากนั้น ราฟาก็ได้รับงานคุมสโมสรในพรีเมียร์ลีกอีก 3 ทีม คือ เชลซี ช่วยทีมคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ต่อด้วยการพานิวคาสเซิล เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฐานะแชมป์ลีกแชมเปี้ยนชิพ และปิดท้ายที่เอฟเวอร์ตัน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/ChelseaFC

ราฟา เบนิเตซ ถือเป็นผู้ที่ปูทางให้กับโค้ชชาวสเปนคนอื่นๆ ในเวลาต่อมา ยังมีอีก 5 เทรนเนอร์เลือดกระทิง ที่ได้เข้ามาพิสูจน์ฝีมือในลีกยอดนิยมอย่างพรีเมียร์ลีก ในช่วงกลางยุค 2000s ถึงกลางยุค 2010s ดังนี้

– ฆวนเด้ รามอส (ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์) : เข้ามาคุมทีมไก่เดือยทองในฤดูกาล 2007/08 และคว้าแชมป์ลีก คัพ ซึ่งนั่นคือแชมป์รายการล่าสุดของสโมสร ก่อนจะถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนธันวาคม ปี 2008

– โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ (วีแกน / เอฟเวอร์ตัน) : รับงานกับวีแกนในพรีเมียร์ลีกเมื่อปี 2009 และสร้างเทพนิยายคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ปี 2013 แม้จะตกชั้นจากลีกสูงสุด ก่อนจะย้ายไปคุมทีมเอฟเวอร์ตัน จนถึงปี 2016

– เปเป้ เมล (เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน) : เข้ามารับงานในเดือนมกราคม 2014 เซ็นสัญญา 18 เดือน พา “เดอะ แบ็กกี้ส์” ได้ที่ 17 รอดตกชั้นหวุดหวิด แต่การทำทีมชนะแค่ 3 จาก 17 เกม เขาจึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง

– กิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส (วัตฟอร์ด) : เปิดประสบการณ์คุมทีมบนเวทีพรีเมียร์ลีกกับ “เดอะ ฮอร์เน็ตส์” เมื่อฤดูกาล 2015/16 ก่อนแยกทางหลังจบซีซั่น แล้วกลับมารับงานอีกครั้งในปี 2019 แต่อยู่ได้เพียง 3เดือน ก็ถูกปลด

– ไอตอร์ การันก้า (มิดเดิลสโบรช์) : กุนซือผู้พา “เดอะ โบโร่” เลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2016/17 และได้ยืมตัวอัลบาโร่ เนเกรโด้ กองหน้าเพื่อนร่วมชาติ ช่วยยิงได้ถึง 10 ประตู แต่ไม่สามารถช่วยให้ทีมรอดตกชั้น

ช่วงทศวรรษแรก กับกุนซือชาวสเปน 6 คน ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลว จนกระทั่งการมาของชายที่ชื่อ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่เข้ามาเปลี่ยนวงการฟุตบอลอังกฤษ และสร้างความยิ่งใหญ่ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้

ปรากฏการณ์ความสำเร็จของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า

คนที่ติดตามฟุตบอลอังกฤษมายาวนาน จะทราบดีว่า สไตล์การเล่นของฟุตบอลอังกฤษขนานแท้ คือเน้นการโยนบอลยาว แล้วอาศัยความแข็งแกร่ง ในการดวลลูกกลางอากาศ หรือเสียบสกัดคู่แข่งแบบถึงลูกถึงคน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/mancity

แต่การมาถึงของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลูกหนังเมืองผู้ดี ด้วยแท็กติกการเล่นบอลสั้น ขึ้นเกมรุกจากแดนหลัง แทนที่จะใช้ลูกโด่ง แย่งบอลวัดดวงเหมือนในอดีต

โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้รักษาประตู เป๊ปตัดสินใจลดบทบาทของโจ ฮาร์ท ไปเป็นตัวสำรอง โดยให้เหตุผลว่า อดีตนายทวารทีมชาติอังกฤษรายนี้ ไม่ใช่สเปกที่ตัวเองต้องการ เพราะออกบอลสั้นด้วยเท้าไม่เก่ง

ทำให้อดีตกุนซือบาร์เซโลน่า และบาเยิร์น มิวนิค ตัดสินใจดึงตัวเคลาดิโอ บราโว่ มาแทน แต่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับแท็กติกได้ จึงซื้อตัวเอแดร์ซอน มาร่วมทีม และกลายเป็นตัวหลักจนถึงปัจจุบันนี้

ก่อนที่เป๊ปจะเข้ามาคุมทีมแมนฯ ซิตี้ ผู้รักษาประตูพรีเมียร์ลีก มีสัดส่วนการเล่นบอลยาวมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วง 7 ปีหลังสุด ลดลงเหลือ 63 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนี่คือนายทวารสมัยใหม่ตามแนวคิดของเขา

เมื่อการเล่นบอลยาวจากผู้รักษาประตูลดลง ทำให้ค่าเฉลี่ยการผ่านบอลจากแดนหลัง ในช่วง 7 ปี หลังสุด เพิ่มขึ้นเป็น 912 ครั้งต่อเกม เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่เป๊ปเข้ามาทำงานในอังกฤษ มีค่าเฉลี่ย 869 ครั้งต่อเกม

วิธีการของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ได้แสดงให้แฟนบอลทั่วโลกเห็นถึงความยอดเยี่ยม ด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย และแชมป์รายการอื่นๆ รวม 11 โทรฟี่ ขาดเพียงแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่ยังต้องตามหาต่อไป

ใครจะเชื่อว่า ฟุตบอลที่เน้นการต่อบอลสั้น ที่หลายคนมองว่ามีความเสี่ยงต่อการผิดพลาดถึงขั้นเสียประตู จะได้รับความนิยมมากขึ้น หลายๆ ทีมในลีกรองของอังกฤษ และในยุโรป เริ่มเปลี่ยนมาเอาอย่างแมนฯ ซิตี้

แต่ถ้ามีใครสักคนบอกว่า แมนฯ ซิตี้ ยิ่งใหญ่แบบทุกวันนี้ได้เพราะเงินล้วนๆ มันไม่เป็นเช่นนั้นเลย เพราะ 5 ฤดูกาลหลังสุด เรือใบสีฟ้า ไม่เคยครองอันดับ 1 ทีมที่ใช้เงินซื้อนักเตะมากที่สุดในลีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ต่อจากเป๊ป ก็มีกุนซือเลือดสแปนิชตามมาเรื่อยๆ

หลังจากที่สุดยอดกุนซืออย่างเป๊ป กวาร์ดิโอล่า เข้ามาเขย่าพรีเมียร์ลีก ในช่วงเวลาแค่ 7 ปีหลังสุด ก็ได้มีโค้ชชาวสเปน เข้ามาคุมทีมในลีกสูงสุดของอังกฤษอีก 6 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เท่ากับช่วงระหว่างปี 2004-2015

นอกเหนือจากเป๊ปแล้ว ยังมีกุนซือจากแดนกระทิงดุที่รับงานอยู่ในปัจจุบันอีก 5 คน ประกอบด้วย มิเกล อาร์เตต้า (อาร์เซน่อล), อูไน เอเมรี่ (แอสตัน วิลล่า), ฆูเลน โลเปเตกี (วูล์ฟส์แฮมป์ตัน), รูเบน เซลเลส (เซาแธมป์ตัน) และฆาบี้ กราเซีย (ลีดส์ ยูไนเต็ด)

ความจริงยังมีซิสโก้ มูนญอซ โค้ชอิมพอร์ตจากสเปนอีกหนึ่งคน ที่เคยรับงานคุมทีมในพรีเมียร์ลีกกับวัตฟอร์ด ในช่วงเดือนตุลาคม 2020 ถึงกันยายน 2021 แต่ถูกปลดออกไป เนื่องจากทำผลงานได้ย่ำแย่ ชนะแค่ 2 จาก 7 นัดแรกของฤดูกาล 2021/22

นั่นแสดงให้เห็นว่า โค้ชฟุตบอลเลือดสแปนิช เริ่มที่จะมองลีกอังกฤษเป็นเป้าหมายต่อไปในการสร้างชื่อเสียง และค่าจ้างที่มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากทีมในพรีเมียร์ลีกหลายทีม ได้มีการลงทุนในสโมสรอย่างเต็มที่

เมื่อเร็วๆ นี้ ดีลอยด์ (Deloitte) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก ได้มีการจัดอันดับสโมสรฟุตบอลที่ทำเงินเข้ามามากที่สุด (Deloitte Football Money League) ประจำปี 2023 โดยวัดจากรายรับในฤดูกาล 2021/22

ปรากฏว่า ใน 30 อันดับแรก มีทีมจากพรีเมียร์ลีก ติดเข้ามาถึง 16 ทีม ซึ่งแตกต่างจากลาลีกา สเปน ที่มีเพียง 5 ทีมเท่านั้น ถือเป็นครั้งแรกที่สโมสรในลีกสูงสุดอังกฤษติดอันดับเกินครึ่งหนึ่ง นับตั้งแต่มีการจัดอันดับมา 26 ปี

ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้พรีเมียร์ลีก เป็นที่น่าสนใจของผู้จัดการทีมฟุตบอลชาวสเปนมากขึ้น คือคุณภาพของผู้เล่น การเคลื่อนที่เป็นจังหวะเร็ว เกมที่มีความเข้มข้นสูง และบรรยากาศการเชียร์ของแฟนบอลที่คึกคัก

การที่ผู้จัดการทีมฟุตบอลสัญชาติสเปน เข้ามาแสวงหาความท้าทายบนแผ่นดินอังกฤษมากกว่าในอดีต เป็นข้อพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า พรีเมียร์ลีกกำลังจะไปอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าลาลีกาในอีกไม่นานนี้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/03/03/why-spaniards-dream-managing-england-not-just-money/

https://theathletic.com/3327242/2022/05/24/guardiola-premier-league-change/

https://thegodofsports.com/how-pep-guardiola-transformed-man-city-into-a-giant/

https://sport360.com/article/football/english-premier-league/283343/how-spanish-managers-have-fared-in-the-premier-league-as-unai-emery-takes-the-reins-at-arsenal

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Premier_League_managers

https://www2.deloitte.com/uk/en/pages/sports-business-group/articles/deloitte-football-money-league.html

Categories
Football Business

เมื่อรัฐบาลอังกฤษตั้ง “องค์กรอิสระ” ดูแลความยั่งยืนลูกหนังเมืองผู้ดี

เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา วงการฟุตบอลอังกฤษมีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักร ไฟเขียวประกาศจัดตั้งองค์กรอิสระ ในการกำกับดูแลเกมลูกหนังของประเทศ

ตลอดช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา แฟนฟุตบอลอังกฤษได้ทำงานร่วมกับรัฐบาล ในการรวบรวมความคิดเห็น และกลั่นกรองเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเกมลูกหนังเมืองผู้ดีเสียใหม่

ไข่มุกดำ x SoccerSuck จะมาขยายให้ฟังถึงรายละเอียดของการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ ที่มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงฟุตบอลอังกฤษครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนต่อไป

“สมุดปกขาว” นำไปสู่การปฏิรูป

จุดเริ่มต้นการปฏิรูปฟุตบอลของประเทศอังกฤษครั้งนี้ เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2021 เมื่อเทรซีย์ เคราช์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อว่า “Review of Football Governance”

เบื้องหลังของรายงานฉบับดังกล่าว มาจากแฟนฟุตบอลและรัฐบาลที่ต่างเห็นตรงกันว่า ต้องหาวิธีการที่จะมีการควบคุมการบริหารงานของทีมฟุตบอล ไม่ให้ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งกระทบต่อส่วนรวม

ข้อเสนอแนะการยกเครื่องที่ตกผลึกแล้ว ได้รวมอยู่ในสมุดปกขาว (White Paper) เรื่อง “A Sustainable Future – Reforming Club Football Governance” ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ซึ่งหนึ่งในเนื้อหาสำคัญของเอกสารสมุดปกขาว อยู่ที่การผลักดันให้รัฐบาล จัดตั้ง “ผู้ควบคุมกิจการด้านฟุตบอล” (Football regulator) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่มีอำนาจควบคุมดูแลลูกหนังในประเทศ

วัตถุประสงค์หลักของ Football regulator ได้กำหนดกฎเหล็กไว้ 5 ข้อ ได้แก่ ป้องกันความล้มเหลวด้านการเงินของสโมสรฟุตบอล, กำหนดคุณสมบัติเจ้าของทีมและผู้บริหารที่เข้มงวดขึ้น, หยุดแนวคิดการเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์ที่ไม่ชอบธรรม, ให้อำนาจแฟนบอลในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของสโมสร และการจัดสรรเงินที่ยุติธรรมตามลำดับขั้นแบบพิระมิด

“การปฎิรูปครั้งใหม่ แฟนบอลคือหัวใจสำคัญในการปกป้องรากฐานที่ยาวนานของวงการฟุตบอลในประเทศ และส่งต่อเกมฟุตบอลที่สวยงามให้กับคนรุ่นหลังสืบไป” ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุ

ด้านลูซี่ เฟรเซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬาของอังกฤษ กล่าวว่า “สมุดปกขาวฉบับนี้ แสดงถึงการปฎิรูปกีฬาฟุตบอลที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ซึ่งมีมานานกว่า 165 ปี”

กรณีศึกษาของบิวรี่ และแม็คเคิลฟิลด์ ทาวน์

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นฤดูกาล 2019/20 บิวรี่ สโมสรในลีก วัน (ดิวิชั่น 3) ถูกขับออกจากลีกอาชีพของอังกฤษ หลังจากไม่สามารถหากลุ่มทุนมาเทคโอเวอร์ เพื่อเคลียร์หนี้สิน 2.7 ล้านปอนด์ ได้ทันตามกำหนดเวลา

สาเหตุสำคัญที่บิวรี่หลุดออกจากลีกอาชีพ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายนักเตะ และพนักงานของสโมสร นับเป็นสโมสรแรกในรอบ 27 ปี ที่ต้องพบกับจุดจบดังกล่าว ปิดฉาก 134 ปี ที่โลดแล่นอยู่ในลีกฟุตบอลระดับอาชีพ

อีกทีมหนึ่งที่ประสบกับชะตากรรมเดียวกัน คือแม็คเคิลฟิลด์ ทาวน์ ที่อยู่ในเนชั่นแนล ลีก (ดิวิชั่น 5) เมื่อฤดูกาล 2020/21 แต่ยังไม่ทันเปิดซีซั่น สโมสรถูกศาลสั่งให้ล้มละลาย จนต้องเริ่มใหม่ที่ดิวิชั่นต่ำสุดในซีซั่นถัดไป

อย่างไรก็ตาม ก็มีบางสโมสรที่โชคดี ยังรักษาสถานภาพทีมระดับอาชีพไว้ได้ เช่น ดาร์บี้ เคาน์ตี้ และโบลตัน วันเดอเรอร์ส แต่ต้องแลกด้วยการถูกตัดแต้มอยู่หลายครั้ง ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการบริหารที่ผิดพลาด

ซึ่งหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่จากรัฐบาล จะมีการสร้างระบบออกใบอนุญาต เพื่อบังคับให้สโมสรต่าง ๆ แสดงรูปแบบทางธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อช่วยป้องกันความล้มเหลวด้านการเงิน ซ้ำรอยเหมือนที่เคยเกิดกับหลายสโมสร

ทดสอบนายทุนเมื่อมีการเทคโอเวอร์

ตัวอย่างจากการซื้อสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เมื่อเดือนตุลาคม 2021 แอมเนสตี้ แถลงประณามกลุ่มทุนจากซาอุดีอารเบีย ที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่สุดท้ายก็เทคโอเวอร์เป็นผลสำเร็จ

เช่นเดียวกับการยื่นข้อเสนอซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของมหาเศรษฐีจากกาตาร์ ที่ทำให้เกิดความกังวลกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

ส่วนกรณีของโรมัน อับราโมวิช เจ้าของทีมเชลซี ที่ถูกรัฐบาลอังกฤษประกาศคว่ำบาตร จากกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน จนถูกบังคับขายสโมสรในเดือนมีนาคม 2022 และท็อดด์ โบห์ลี่ กลายเป็นเจ้าของทีมคนใหม่

โดยหน่วยงานอิสระของรัฐบาล จะมีกระบวนการกำหนดคุณสมบัติเจ้าของทีมและผู้บริหารที่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพื่อพิสูจน์หลักประกันว่า เจ้าของทีมและผู้บริหารมีความตั้งใจที่จะลงทุนในสโมสรจริง ๆ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

ดับฝันกบฏที่เป็นภัยต่อฟุตบอลอังกฤษ

จากการก่อตั้ง “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก” ในเดือนเมษายน 2021 สโมสรบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก ได้ตัดสินใจเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์ดังกล่าว จนเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง และพวกเขาก็ยอมถอนตัวออกมาในที่สุด

แม้จะออกมายอมรับความผิดพลาด แต่บรรดาแฟนบอลต้องการทำให้แน่ใจว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก จึงเรียกร้องให้มีการออกกฎเพื่อหยุดสโมสรที่พยายามจะทำลายพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ได้คืนชีพอีกครั้ง กับรูปแบบใหม่ โดยตั้งเป้ามี 60 – 80 ทีมเข้าร่วม แบ่งออกเป็น 4 ดิวิชั่น มีเลื่อนชั้น-ตกชั้น แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่ามีสโมสรใดเข้าร่วมบ้าง

การถือกำเนิดของ “องค์กรอิสระ” จากรัฐบาลอังกฤษ จะมีอำนาจในการหยุดความพยายามของสโมสรในอังกฤษ เข้าร่วมการแข่งขันในทัวร์นาเมนท์ใดๆ ที่เป็นผลเสียต่อเกมฟุตบอลในประเทศ

ป้องกันการเปลี่ยนแปลงรากเหง้าที่ไม่เข้าท่า

เมื่อปี 2012 กรณีของวินเซนต์ ตัน เจ้าของสโมสรคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ จัดการเปลี่ยนสีเสื้อทีมเหย้าจากสีน้ำเงิน เป็นสีแดง และเปลี่ยนโลโก้จากนก เป็นมังกร ตามความเชื่อแบบเอเชีย จนถูกแฟนบอลตำหนิอย่างรุนแรง

ผ่านไป 3 ปี วินเซนต์ ตัน ทานกระแสต่อต้านจากแฟนบอลไม่ไหว จนต้องกลับสู่สิ่งเดิมทั้งเสื้อ และโลโก้ ซึ่งเจ้าตัวรู้สึกได้ว่าบรรยากาศภายในสโมสรกลับมาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แฟนบอลกลับมาสนับสนุนทีมเต็มที่

หรือกรณีของฮัลล์ ซิตี้ ในปี 2013 อัสเซม อัลลัม เจ้าของทีม พยายามเปลี่ยนชื่อสโมสรใหม่เป็น “ฮัลล์ ซิตี้ ไทเกอร์ส” แต่ถูกสมาคมฟุตบอลอังกฤษปฏิเสธคำขอ ทำให้ตัวเขาตัดสินใจขายสโมสรในปีถัดมา

สำหรับหน่วยงานอิสระที่จัดตั้งใหม่ จะมอบอำนาจให้แฟนบอลในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของสโมสร ถ้าไม่ได้รับความยินยอม ทั้งการเปลี่ยนชื่อสโมสร, โลโก้ของสโมสร, สีประจำสโมสร และอื่นๆ

การกระจายเงินทุนอย่างเป็นธรรม

ประเด็นเรื่องการเงินระหว่างพรีเมียร์ลีก กับลีกแชมเปี้ยนชิพ ที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดข้อตกลงในการลดช่องว่างตรงนี้ ด้วยการจัดสรรเงินที่ยุติธรรม เพื่อให้ทีมระดับล่าง ๆ ได้ประโยชน์มากขึ้น

ริค แพร์รี่ ประธานอีเอฟแอล (EFL) ต้องการส่วนแบ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้จากการออกอากาศรวมกับพรีเมียร์ลีก อีกทั้งขอให้ยกเลิกกฎการจ่ายเงินแบบชูชีพ (Parachute Payment) สำหรับทีมที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก

“พรีเมียร์ลีกฤดูกาลแรก (1992/93) ช่องว่างระหว่างพรีเมียร์ลีกกับลีกรองอยู่ที่ 11 ล้านปอนด์ ความเหลื่อมล้ำมันกว้างขึ้นตลอดเวลา จุดประสงค์ของเราคือการทำให้สโมสรมีความยั่งยืนในระยะยาว” อดีตซีอีโอของลิเวอร์พูล กล่าว 

จนถึงเวลานี้ การเจรจาระหว่างพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งหากยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงนี้ได้ ทางเลือกสุดท้ายที่จะใช้คือ ให้หน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล เข้ามาแทรกแซงเพื่อแก้ไขปัญหา

ปฏิกิริยาจากผู้คนในแวดวงลูกหนัง

จากการที่รัฐบาลอังกฤษ เปิดทางให้มีการตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อควบคุมดูแลฟุตบอลในประเทศ ก็ได้มีปฏิกิริยาจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตามมามากมาย และนี่คือส่วนหนึ่งของความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

ริชาร์ด มาสเตอร์ส (ประธานพรีเมียร์ลีก) : “เรารู้สึกชื่นชมในความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปกป้องวงการฟุตบอลอังกฤษ แต่กฎระเบียบของรัฐบาล จะต้องไม่ทำลายการแข่งขัน หรือความสามารถในการดึงดูดเงินลงทุน”

สตีฟ แพริช (เจ้าของร่วมคริสตัล พาเลซ) : “มันเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อังกฤษจะเป็นประเทศแรกของโลกที่ฟุตบอลถูกควบคุมโดยรัฐบาล แน่อนว่าสมุดปกขาวเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจมีปีศาจซ่อนอยู่”

เดวิด ซัลลิแวน (ประธานสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด) : “ผมคิดว่าเป็นความพยายามโปรโมตผลงานของรัฐบาลมากกว่า รัฐบาลนี้แย่มากที่มาจัดการทุกอย่าง ผมไม่ยอมรับการแทรกแซงของรัฐบาล”

องค์กรควบคุมฟุตบอลของรัฐบาลอังกฤษ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2024 คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นความตั้งใจที่จะปกป้อง รักษาวัฒนธรรมฟุตบอลที่ดีงามไว้ให้คงอยู่ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.gov.uk/government/publications/fan-led-review-of-football-governance-securing-the-games-future/fan-led-review-of-football-governance-securing-the-games-future

– https://www.gov.uk/government/publications/a-sustainable-future-reforming-club-football-governance/a-sustainable-future-reforming-club-football-governance

– https://researchbriefings.files.parliament.uk/documents/CBP-9255/CBP-9255.pdf

– https://theathletic.com/4245991/2023/02/24/explained-white-paper-regulation-epl-efl/

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/02/22/football-regulator-should-not-have-needed-game-has-blame/

Categories
Special Content

บิลลี่ เมเรดิธ : ตำนานแข้งแมนฯ ซิตี้ ผู้มีเอี่ยวคดีแหกกฎการเงินยุคโบราณ

ข่าวใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลอังกฤษเมื่อสัปดาห์ก่อน คือกรณีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ถูกทางพรีเมียร์ลีก ตั้งข้อหาทำผิดกฎการเงินมากกว่า 100 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2009 – 2018 จากการสืบสวนที่ใช้เวลานานถึง4 ปี

พรีเมียร์ลีกกล่าวหาว่า ตลอด 9 ปีดังกล่าว แมนฯ ซิตี้ ไม่ได้ให้ข้อมูลการเงินที่ถูกต้อง, ไม่ปฎิบัติตามกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP) ของยูฟ่า และไม่ให้ความร่วมมือกับลีกสูงสุดเมืองผู้ดีในการสอบสวนอีกด้วย

ซึ่งบทลงโทษที่แมนฯ ซิตี้ จะได้รับจากพรีเมียร์ลีก มีตั้งแต่ปรับเงิน, ตัดแต้ม, ริบแชมป์ หรือร้ายแรงที่สุด อาจถึงขึ้นถูกขับพ้นจากลีกอาชีพ แต่บทสรุปของคดีนี้ คงต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือนานนับปีกว่าจะรู้ผล

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 แมนฯ ซิตี้ เคยถูกยูฟ่าลงโทษ จากกรณีผิดกฎ FFP ทำให้พวกเขาถูกแบนจากถ้วยยุโรป 2 ฤดูกาล แต่ขอยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี จนได้รับโทษเพียงแค่ปรับเงิน 10 ล้านยูโรเท่านั้น

แต่มีเหตุการณ์หนึ่งในอดีต ที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อน คือ “เรือใบสีฟ้า” เคยทำผิดกฎการเงินในโลกลูกหนังยุคเก่าแก่ เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

ต้นตำรับ “ปีกพ่อมดแห่งเวลส์”

หากพูดถึงนักเตะที่มีฉายาว่า “The Welsh Wizard” หรือปีกพ่อมดแห่งเวลส์ แฟนฟุตบอลส่วนใหญ่จะนึกถึงไรอัน กิกส์ ตำนานดาวเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่บิลลี่ เมเรดิธ คือแข้งคนแรกของโลกที่ได้ฉายานี้

เมเรดิธ เกิดที่ย่านแบล็ก พาร์ค ในประเทศเวลส์ อาชีพแรกในชีวิตของเขา คือการเป็นคนงานเหมืองถ่านหินในบ้านเกิด แต่มีความสนใจในกีฬาฟุตบอล จึงได้รวมตัวกับเพื่อนคนงาน เล่นฟุตบอลในเวลาว่าง

ซึ่งฝีเท้าของเมเรดิธ ก็ไปเข้าตาหลายสโมสรในอังกฤษ อีกทั้งคุณแม่อยากให้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ แม้ตัวเขาไม่ปรารถนาที่จะอยู่ห่างจากครอบครัวก็ตาม และได้รับโอกาสเซ็นสัญญากับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 1894

เมเรดิธ ลงสนามเป็นครั้งแรกให้กับแมนฯ ซิตี้ ในเกมบุกแพ้นิวคาสเซิล 4 – 5 ก่อนที่จะเริ่มฉายแววเก่งด้วยการยิง 2 ประตู ใส่นิวตัน ฮีธ (ปัจจุบันคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) ในศึกดาร์บี้แมตช์ แต่ทีมของเขาแพ้คาบ้าน 2 – 5

ด้วยสไตล์การเล่นที่เน้นการใช้ความเร็วสูง และวิ่งกระชากลากเลื้อยตัดเข้าในกรอบเขตโทษ จึงเป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลซิตี้ ซีซั่นแรกของเมเรดิธ ทำผลงานได้น่าประทับใจ ลงสนามแค่ 18 นัด แต่ยิงไปถึง 12 ประตู

ตลอด 5 ฤดูกาลแรกที่อยู่กับแมนฯ ซิตี้ เมเรดิธ เป็นดาวซัลโวของสโมสรถึง 3 ฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูกาล 1898/99 เจ้าตัวยิงได้ถึง 30 ประตู มีส่วนพาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดของอังกฤษเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ช่วงเวลาที่เรือใบสีฟ้า โลดแล่นอยู่ในลีกสูงสุด เมเรดิธ และบิลลี่ กิลเลสพี ถูกยกให้เป็นดาวเด่นของทีม อย่างไรก็ตาม สโมสรตกชั้นกลับสู่ดิวิชั่น 2 ในฤดูกาล 1901/02 แต่ก็คว้าแชมป์ลีกรองได้ในฤดูกาลถัดมา

หลังเลื่อนชั้นกลับมาแค่ซีซั่นเดียว แมนฯ ซิตี้ สร้างความตื่นตะลึงเมื่อจบตำแหน่งรองแชมป์ดิวิชั่น 1 และคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ เอาชนะโบลตัน วันเดอเรอร์ส ในนัดชิงชนะเลิศ 1 – 0 ซึ่งเมเรดิธ คือผู้ทำประตูชัยของเกมนี้

เงิน 10 ปอนด์ พาซวยครั้งใหญ่

ฟุตบอลดิวิชั่น 1 (เดิม) ฤดูกาล 1904/05 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นหนึ่งในทีมที่มีลุ้นแชมป์ในนัดปิดซีซั่น แต่ท้ายที่สุดพวกเขาแพ้แอสตัน วิลล่า 2 – 3 ไม่เพียงแค่ชวดแชมป์เท่านั้น เพราะมีเรื่องฉาวโฉ่ตามมาด้วย

โดยหลังจบเกม อเล็กซ์ ลีค กัปตันทีมวิลล่า บอกว่า บิลลี่ เมเรดิธ จ้างวานให้ล้มบอลด้วยเงิน 10 ปอนด์ แม้ได้ต่อสู้คดีถึงที่สุด แต่เอฟเอก็สั่งแบนเมเรดิธ ห้ามลงเล่น 1 ซีซั่น ส่วนแมนฯ ซิตี้ ถูกปรับเงิน

คดีล้มบอลของเมเรดิธ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่คดีใหญ่ของแมนฯ ซิตี้ ในปี 1906 ทอม ฮินเดิล นักบัญชีที่ได้รับการว่าจ้างจากเอฟเอ ได้มาตรวจสอบการเงินที่น่าสงสัยของสโมสร และพบความผิดปกติจนได้

สาระสำคัญคือ แมนฯ ซิตี้ ได้มีการถ่ายเทเงินผ่านบัญชีลับ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎการเงินของเอฟเอ ที่กำหนดไว้ว่า ห้ามไม่ให้บุคคลใดนำเงินเข้ามาสู่สโมสรด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ที่อาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับทีมอื่นๆ

จากการสืบสวนของเอฟเอ พบว่า แมนฯ ซิตี้เจอข้อกล่าวหาติดสินบน กรณีได้แชมป์เอฟเอ คัพ ในฤดูกาล 1903/04 รวมทั้งการจ่ายเงินโบนัสให้กับนักเตะรวม 681 ปอนด์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากผิดปกติ

โดยในช่วงที่เมเรดิธชดใช้โทษแบน ได้รับค่าจ้างมากกว่าเพดานเงินเดือนสูงสุดอีก 50% จากเดิม 4 ปอนด์ เป็น 6 ปอนด์ แต่เจ้าตัวไม่เชื่อว่า มีนักเตะเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าเขาแน่นอน

นอกจากนี้ เรือใบสีฟ้ายังถูกตรวจพบว่า มียอดเงินจำนวนมากเข้าไปในบัญชีส่วนตัวของผู้อำนวยการสโมสร ที่มีการกระจายไว้หลายบัญชี และมีการโยกย้ายเงินส่วนนี้ไปยังบัญชีของนักเตะในสโมสรด้วย

จากรายงานของเอฟเอ สรุปได้ว่า “ตอนนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สโมสรทำผิดกฎอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบมาพากลอย่างมาก” ซึ่งคำซัดทอดของเมเรดิธ ก็ได้นำไปสู่การลงโทษแมนฯ ซิตี้ในที่สุด

บทสรุปของคดีนี้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกลงโทษด้วยการปรับเงิน ขณะที่บอร์ดบริหาร สตาฟโค้ช รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสโมสรที่เกี่ยวข้อง โดนแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอล และถูกบีบให้ออกจากสโมสร

ส่วนนักฟุตบอล 17 คนที่เกี่ยวข้องกับคดีทำผิดกฎการเงิน ถูกแบนยาว และไม่สามารถลงเล่นให้กับสโมสรได้อีกต่อไป บิลลี่ เมเรดิธ ได้ทิ้งผลงาน 147 ประตู จาก 338 นัด ให้แฟนบอลซิติเซนส์ได้จดจำ

สลับขั้วสู่ยูไนเต็ด และรีเทิร์นที่ซิตี้

หลังจากที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เจอมรสุมคดีแหกกฎการเงิน บิลลี่ เมเรดิธ ก็ได้ย้ายสู่อีกฟากของเมือง ในการไปค้าแข้งให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมน้องใหม่ที่ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุด ฤดูกาล 1906/07

ในช่วงครึ่งซีซั่นแรก เมเรดิธ และแซนดี้ เทิร์นบูลส์ อดีตนักเตะซิตี้อีกคนที่ย้ายมาด้วยกัน ยังอยู่ในช่วงชดใช้โทษแบน กระทั่งเข้าสู่ศักราชใหม่ ในปี 1907 ทั้งคู่ได้ลงสนามเป็นนัดแรก ในเกมที่พบกับแอสตัน วิลล่า

เมเรดิธ แอสซิสต์ให้เทิร์นบูลส์ ยิงประตูเดียวของเกม เฉือนเอาชนะวิลล่า 1 – 0 เปิดตัวกับสโมสรใหม่ได้อย่างสวยงามทั้งคู่ และกลายมาเป็นผู้เล่นกำลังสำคัญของปีศาจแดง ช่วยทีมจบในอันดับที่ 8 ของตาราง

ขณะที่สโมสรเก่าของเมเรดิธ หลังจากทีมแตกสลาย ผลงานก็ร่วงลงไปอย่างน่าใจหาย จากอันดับ 3 เมื่อ 1 ฤดูกาลก่อน มาอยู่อันดับ 17 แม้ในซีซั่นถัดมาจะขึ้นสูงในอันดับ 3 อีกครั้ง แต่ก็มีอันต้องตกชั้นในซีซั่น1908/09

ตลอดช่วงเวลาที่สวมเสื้อแมนฯ ยูไนเต็ด เมเรดิธ และเทิร์นบูลส์ คว้าแชมป์ลีกสูงสุด 2 สมัย และแชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย ก่อนที่เทิร์นบูลส์ จะถูกแบนตลอดชีวิต จากคดีล้มบอลในเกมแดงเดือดกับลิเวอร์พูล เมื่อปี 1915

ส่วนเมเรดิธ ตัดสินใจย้ายกลับไปแมนฯ ซิตี้ เป็นคำรบสอง ในฤดูกาล 1921/22 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนรอบแรก ทำได้แค่ 2 ประตู ตลอด 3 ปีที่ลงเล่น และประกาศแขวนสตั๊ดหลังจบซีซั่น 1923/24 ขณะอายุ 49 ปี

เมเรดิธ เสียชีวิตเมื่อ 19 เมษายน 1958 ด้วยวัย 83 ปี และหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปหลายปี สโมสรแมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยูไนเต็ด และสมาคมฟุตบอลเวลส์ ได้ร่วมกันทำป้ายสุสาน เพื่อระลึกถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอล

การที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกพรีเมียร์ลีกตั้งข้อกล่าวหาละเมิดกฎการเงิน ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร ซึ่งพวกเขาขอต่อสู้ด้วยพลังทั้งหมดที่มี เพื่อหวังหลุดพ้นจากวิบากกรรมในครั้งนี้ให้ได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.theguardian.com/football/2020/feb/26/manchester-city-falling-foul-of-ffp-in-1906-forgotten-story

https://playupliverpool.com/1906/06/01/the-billy-meredith-case/

– https://playupliverpool.com/1906/05/31/suspensions-of-manchester-city-players-and-officials/

https://www.manchestereveningnews.co.uk/news/nostalgia/billy-meredith-manchester-city-united-7409284

https://en.wikipedia.org/wiki/Billy_Meredith

Categories
Football Business

ลาลีกา กับการก้าวไปอีกขั้น ด้วยโมเดลวิเคราะห์ข้อมูล

วงการฟุตบอลในยุคปัจจุบัน ได้นำ “วิทยาศาสตร์” ที่มีความละเอียด และลึกซึ้ง มาช่วยในการกลั่นกรองให้ได้ข้อมูลเชิงลึก และสามารถสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้ ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ

การใช้วิทยาศาสตร์ เข้ามาประยุกต์กับข้อมูลที่เกิดขึ้นในสนามฟุตบอล นอกจากจะช่วยสร้างความสำเร็จให้กับทีมฟุตบอลแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด และยกระดับลีกฟุตบอลขึ้นไปอีกขั้น

ลาลีกา ลีกฟุตบอลของสเปน ได้วางรากฐานสำหรับโลกยุคใหม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเก็บข้อมูล และพัฒนาโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อขับเคลื่อนลูกหนังแดนกระทิงดุสู่อนาคต

LaLiga Tech ก้าวแรกสู่การยกระดับลีกสเปน

การวิเคราะห์ข้อมูล กำลังกลายเป็นรากฐานสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอลตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งลีกชั้นนำอย่างลาลีกา ก็ได้นำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุง และพัฒนาวงการลูกหนังสเปน

นับตั้งแต่ฆาเบียร์ เตบาส เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานลาลีกา เมื่อปี 2013 ได้มียุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์

โดยเริ่มต้นจากการเพิ่มแผนก “ลาลีกา เทค” (LaLiga Tech) มีทีมงานเริ่มแรกเพียง 8 คน และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งแยกตัวออกไปเป็นบริษัท ลาลีกา เทค จำกัด ในปี 2021 ปัจจุบันทีทีมงานมากกว่า 150 คน

ภารกิจสำคัญของลาลีกา เทค คือการสร้างพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่ ไว้ใช้รองรับข้อมูลดิบที่จะไหลเข้ามาด้วยปริมาณมหาศาล และทุกสโมสรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์จากแหล่งเดียวกันได้

“ก่อนหน้านี้ เราไม่เคยเห็นความสำคัญของข้อมูลเลย จึงไม่เข้าใจว่าข้อมูลคือสินทรัพย์ที่มีค่า ทำให้เราได้คิดหาทางที่จะจัดการกับข้อมูลที่มากมายเหล่านี้” กิลเยร์โม่ รอลดาน หัวหน้าแผนกสถาปัตยกรรม กล่าว

“ตอนนี้เราได้สร้างที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Lakehouse) ขึ้นมา สามารถทำสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ให้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก พลังของข้อมูลช่วยมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับแฟน ๆ ที่ติดตามการแข่งขัน”

ด้านราฟาเอล ซามบราโน่ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ข้อมูล เปิดเผยว่า “ประโยชน์หลักของการขับเคลื่อนฟุตบอลด้วยข้อมูล คือช่วยให้เราได้เข้าใจพฤติกรรมของแฟนฟุตบอลที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต”

“สำหรับแฟน ๆ บางคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่หันไปดูฟุตบอลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลแทน แต่ด้วยพลังของข้อมูล ช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับพวกเขาได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกีฬาอื่น ๆ ด้วย”

ขณะที่ทอม วูดส์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารกลยุทธ์ กล่าวว่า “ลาลีกา เทค กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทุกสิ่งที่ได้สร้างขึ้น กำลังเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมกีฬา ทำให้เราได้ตระหนักมากขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล”

“เราจำเป็นต้องมีสโมสรที่ก้าวหน้ามากกว่า 2-3 สโมสร และมีระดับที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้การแข่งขันมีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้วงการฟุตบอลเติบโต” วูดส์ ปิดท้าย

Mediacoach เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลตัวแรก

ก่อนที่ลูกหนังลีกแดนกระทิงดุ ฤดูกาล 2022/23 จะเริ่มขึ้น ได้มีการจัดประชุมในหัวข้อ “การวิเคราะห์ข้อมูลฟุตบอลขั้นสูง” โดยลาลีกา ร่วมกับ Sport Data Campus, มีเดียโค้ช (Mediacoach) และลาลีกา เทค

สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือการนำเสนอความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากฤดูกาล 2021/22 รวมถึงแง่มุมต่างๆ ของงานวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรมฟุตบอล และเปิดตัวเครื่องมือใหม่ที่จะใช้ในฤดูกาลนี้

เมื่อซีซั่นที่แล้ว ลาลีกา เทค ได้เปิดตัว Mediacoach แพลตฟอร์มวิเคราะห์การเล่นแบบเรียลไทม์ ทั้งการเคลื่อนที่ของผู้เล่นและลูกฟุตบอล เสร็จแล้วส่งผลออกมา เพื่อนำไปวิเคราะห์ในช่วงพักครึ่ง และหลังจบเกม

ข้อมูลจาก Mediacoach เป็นข้อมูลที่ใช้ติดตามการเคลื่อนที่ระหว่างแข่งขัน โดยมีการติดตั้งกล้องไว้รอบสนามทั้งหมด 19 ตัว จับภาพผู้เล่น, ผู้ตัดสิน และลูกฟุตบอล ในอัตรา 25 เฟรมต่อวินาที

โดยรายละเอียดต่างๆ ที่ Mediacoach ได้ทำการวิเคราะห์ออกมา อย่างเช่น ผู้เล่นวิ่งเยอะแค่ไหน, ผู้เล่นจ่ายบอลสำเร็จ/พลาดกี่ครั้ง รวมไปถึงการตรวจจับความผิดพลาดของผู้เล่นเป็นรายบุคคลด้วย

ริคาร์โด เรสต้า ผู้อำนวยการของ Mediacoach กล่าวว่า “Mediacoach เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี ทุกสโมสรจาก 2 ดิวิชั่นของลาลีกา สามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกันทั้งหมดได้”

นอกเหนือจากข้อมูลด้านแท็กติก Mediacoach ยังมีประโยชน์สำหรับทีมงานสตาฟฟ์โค้ช ในการประเมินสภาพร่างกายของผู้เล่น และประเมินโอกาสที่จะตรวจพบความผิดปกติใด ๆ ทุกช่วงเวลาได้ทันที

ฟาบิโอ เนวาโด้ นักวิเคราะห์ทางเทคนิคของ Mediacoach กล่าวว่า “หากมีนักเตะที่เพิ่งกลับมาจากอาการบาดเจ็บเป็นเวลานานๆ บางทีอาจจะส่งลงเล่นช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย แต่ไม่อยากให้ทำแบบนั้น มันฝืนเกินไป”

“ข้อมูลจากแพลตฟอร์มของเรา สามารถตรวจสอบข้อมูลแบบนาทีต่อนาที ช่วยลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บของนักเตะ อีกทั้งช่วยให้นักเตะลงเล่นได้ใกล้เคียงกับประสิทธิภาพสูงสุดที่เคยมี”

ขณะที่ซิลเวสเตอร์ จอส ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Mediacoach เสริมว่า “ข้อมูล และกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล คือสิ่งที่สำคัญในวงการฟุตบอล เทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โอกาสจะมีเข้ามาอย่างไม่รู้จบ”

Beyond Stats ช่วยเพิ่มพลังข้อมูลด้วย 24 ตัวชี้วัดใหม่

ทีมงานส่วนหนึ่งของลาลีกา เทค เป็นทีมงานที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล เช่น โค้ช, นักวิเคราะห์ฟุตบอล, นักพัฒนาโปรแกรม, วิศวกรข้อมูล (Data Engineer) รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist)

เมื่อเดือนมกราคม ปี 2022 ลาลีกาได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลก เพื่อช่วยทำสถิติ และข้อมูลต่าง ๆ ในการแข่งขัน ภายใต้โปรเจค “Beyond Stats” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ต่อยอดมาจาก Mediacoach

การทำงานของ Beyond Stats จะประมวลผลข้อมูลในรูปแบบ Cloud Platform ด้วยเครื่องมือของไมโครซอฟท์ อย่าง Microsoft Azure ซึ่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning)

ซึ่งในเฟสแรกของ Beyond Stats ได้มีการสร้างโมเดล Goal Probability ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้สำหรับบอกค่าความน่าจะเป็นในการทำประตู เมื่อมีการรีเพลย์ภาพจังหวะการลุ้นยิงประตูระหว่างถ่ายทอดสด ซึ่งใช้เวลาประมวลผลแค่ 30 วินาทีเท่านั้น

ต่อมาในซีซั่น 2022/23 Beyond Stats ได้เพิ่มตัวชี้วัดใหม่ขึ้นมาอีก 24 ตัว ในด้านสมรรถภาพทางกาย, การป้องกันประตู, การเคลื่อนที่, การผ่านบอล, การยืนตำแหน่ง, การเพรสซิ่ง, การเลี้ยงบอล และการครองบอล

ทีมงานของลาลีกา ได้นำข้อมูลต่างๆ เข้ามาประมวลผ่านอัลกอริทึมที่กำหนดไว้ และแสดงผลลัพธ์ออกมา สำหรับตัวอย่างของตัวชี้วัดที่เพิ่มเติมขึ้นมาใน Beyond Stats มีดังนี้

– การผ่านบอลพร้อมถูกกดดันแบบประกบคู่ (Double pressure passes) คือ จำนวนการผ่านบอลระหว่างเพื่อนร่วมทีม 2 คน ที่ต่างคนต่างมีผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเข้ามากดดันด้วย เช่น ระยะทางที่เปลี่ยนแปลงของกองหลัง (เมื่อเข้ามากดดัน ระยะทางจะลดลง 50 เปอร์เซ็นต์) รวมถึงทิศทางและความเร็วของการโจมตี (ด้วยความเร็วสูงถึง 21 กม./ชม.) สำหรับการผ่านบอลแบบนี้ จะนับจำนวนก็ต่อเมื่อ มีผู้เล่นคู่แช่งเข้ามากดดันผู้จ่ายบอล และผู้รับบอล ภายในระยะ 3 เมตร

– การตั้งกำแพง (Walls) คือ ตรวจจับการผ่านบอลแบบรูปสามเหลี่ยม ของเพื่อนร่วมทีม 2 คน พร้อมกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม 1 คน ตำแหน่งของผู้เล่นจะถูกคำนวณทีละเฟรม โดยนับจำนวนเฉพาะการผ่านบอลไปยังผู้เล่นที่ใช้เวลาไม่เกิน 12 เฟรม (0.5 วินาที) แล้วผ่านบอลคืนให้เพื่อนร่วมทีมคนเดิมในทิศทางที่ต่างกัน ให้เป็นลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม

– การวิ่ง (Runs) คือ การติดตามระยะทาง และความเร็วในการวิ่งของผู้เล่น ผ่านกล้องที่ติดตั้งบริเวณรอบสนาม โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ปกติ, ยาว, ช้าแบบสั้น และเร็ว จะนับจำนวนเฉพาะการวิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อวิ่งจากครึ่งสนามมาถึงกรอบเขตโทษฝ่ายตรงข้าม อย่างน้อย 3 วินาที และวิ่งด้วยระยะทางอย่างน้อย 10 เมตร จากนั้นจบด้วยการยิงประตูภายใน 10 วินาที หลังจากหยุดวิ่ง

– การแย่งบอลคืนในช่วงเวลาที่ได้เปรียบ (recoveries in advantage) คือ การบุกไปยังกรอบเขตโทษของฝ่ายตรงข้าม เมื่อเพื่อนร่วมทีมมีจำนวนมากกว่าคู่แข่ง หลังแย่งบอลจากผู้เล่นคู่แข่งกลับคืนมา

โลกธุรกิจยุคใหม่ “ข้อมูล” คือสินทรัพย์ที่มีความสำคัญอย่างมาก หากได้นำมาวิเคราะห์จนเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ และนำข้อมูลมาใช้งานอย่างจริงจัง จะทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจแบบคาดไม่ถึงได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://laligatech.com/who-is-laliga-tech

– https://www.laliga.com/en-GB/beyondstats

– https://www.laliga.com/en-GB/news/laliga-paves-the-way-for-the-future-of-bi-and-analytics-in-football-thanks-to-mediacoach-and-the-beyond-stats-project

https://www.laliga.com/en-GB/news/laliga-takes-pioneering-step-by-adding-advanced-near-real-time-goal-probability-graphics-to-its-broadcasts-thanks-to-microsoft-technology

– https://www.laliga.com/en-GB/news/laliga-transforms-marketing-strategy-thanks-to-microsoft-and-the-potential-of-hundreds-of-terabytes-of-data

https://www.sportbusiness.com/2021/07/laligas-mediacoach-harnessing-the-power-of-match-data/

https://newsletter.laliga.es/global-futbol/laliga-mediacoach-clubs-compete-using-data

Categories
Football Business

ตลาดนักเตะพรีเมียร์ลีกหน้าหนาว 2023 ที่จ่ายหนักสุดในประวัติศาสตร์

การซื้อขายแลกเปลี่ยนนักฟุตบอลระหว่างสโมสร ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงทีมให้มีผลงานที่ดีขึ้น และเป็นสิ่งที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกจับตามอง ซึ่งระบบการซื้อขายผู้เล่น ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ฤดูกาล 2022/23 ถือเป็นวาระคอบรอบ 20 ปี “Transfer Window” หรือตลาดซื้อขายนักเตะแบบ 2 ช่วง คือฤดูร้อน (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) และฤดูหนาว (เดือนมกราคม ปีถัดไป) ที่ใช้กันในปัจจุบัน

เมื่อมาดูตลาดนักเตะวินเทอร์ของพรีเมียร์ลีก ปี 2023 ซึ่งปิดทำการไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 31มกราคมที่ผ่านมา สโมสรในลีกสูงสุดอังกฤษเกือบทุกสโมสร ได้มีการเสริมผู้เล่นใหม่ในรอบนี้อย่างคึกคัก

แม้ว่าตลาดนักเตะหน้าหนาว จะเปิดทำการแค่ 31 วัน แต่จำนวนเงินในการซื้อขายในตลาดนักเตะรอบนี้ สโมสรในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ใช้จ่ายรวมกันสูงถึง 815 ล้านปอนด์ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ตลาดนักเตะทั้ง 2 รอบ ของซีซั่นนี้ มียอดการใช้จ่ายรวมประมาณ 2.8 พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับยอดรวมตลอด 20 ปี ในการซื้อขายเฉพาะเดือนมกราคม ที่มีเกือบ 3 พันล้านปอนด์

สุดยอดบิ๊กดีลฤดูหนาว ที่รอพิสูจน์ความคุ้มค่า

เชลซี สร้างความฮือฮาในตลาดนักเตะหน้าหนาวปีนี้ ด้วยการเซ็นสัญญาเอ็นโช่ เฟอร์นานเดซ จากเบนฟิก้า ด้วยค่าตัว 105 ล้านปอนด์ แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร และวงการฟุตบอลอังกฤษ

เอ็นโซ่ เฟร์นานเดซ
ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนที่แล้ว “สิงห์บลูส์” ได้ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อคว้าตัวไคโล มูดริค กองหน้าดาวรุ่งยูเครนวัย 22 ปี ค่าตัวเบื้องต้น 62 ล้านปอนด์ บวกแอดออนอีก 27 ล้านปอนด์ รวม 89 ล้านปอนด์

นิวคาสเซิล เสริมความแกร่งด้วยแอนโธนี่ กอร์ดอน ปีกดาวรุ่งชาวอังกฤษวัย 21 ปี จากเอฟเวอร์ตัน ที่อาจมีค่าตัวสูงถึง 45 ล้านปอนด์ เพื่อหวังลุ้นโควตาไปยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

ลิเวอร์พูล ที่ผลงานตกลงไปอย่างไม่น่าเชื่อในซีซั่นนี้ ตกลงเซ็นสัญญากับโคดี้ กักโป กองหน้าทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ชุดฟุตบอลโลก ครั้งล่าสุด จากพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น ด้วยค่าตัวราว 44 ล้านปอนด์

อาร์เซน่อล ดึงตัวเลอันโดร ทรอสซาร์ กองหน้าทีมชาติเบลเยียมจากไบรท์ตัน ด้วยค่าตัว 21 ล้านปอนด์ พร้อมกับยาคุบ กีเวียร์ เซ็นเตอร์แบ็กโปแลนด์ จากสเปเซีย ในอิตาลี ค่าตัว 17.6 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/Arsenal

ส่วนทีมครึ่งล่างของตาราง ก็เสริมหนักไม่แพ้กัน อย่างเช่นลีดส์ ยูไนเต็ด ที่ดึงตัวจอร์จินิโอ รัทเทอร์ กองหน้าชาวฝรั่งเศสวัย 20 ปี จากฮอฟเฟ่นไฮม์ ด้วยค่าตัว 36 ล้านปอนด์ เป็นสถิติของสโมสร

บอร์นมัธ ดึงตัวดังโก้ อูอาตตารา กองหน้าบูร์กินาฟาโซจากลอริยองต์ ค่าตัวราว 20 ล้านปอนด์ ส่วนทางด้านเลสเตอร์ ซิตี้ จ่ายเงิน 17 ล้านปอนด์ ให้กับวิคตอร์ คริสเตียนเซ่น แบ็กซ้ายเดนมาร์ก จากโคเปนเฮเกน

เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ซื้อแดนนี่ อิงส์ กองหน้าชาวอังกฤษจากแอสตัน วิลล่า ค่าตัว 15 ล้านปอนด์ และในขณะเดียวกัน วิลล่าก็ดึงตัวจอน ดูแรน กองหน้าดาวรุ่งโคลอมเบียจากชิคาโก ไฟร์ ค่าตัว 18 ล้านปอนด์

รวมดีลในวันเดดไลน์ ที่วุ่นวายไม่ต่างจากอดีต

ถ้านับเฉพาะการซื้อขายที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของตลาดนักเตะรอบนี้ คือวันที่ 31 มกราคม 2023 จะพบว่ามีดีลที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว โดยมี 19 จาก 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก ที่มีการปิดดีลในวันตลาดวาย

ดีลของเอ็นโช่ เฟอร์นานเดซ กองกลางดาวรุ่งวัย 22 ปี ของทีมชาติอาร์เจนติน่า ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ย้ายจากเบนฟิกา ไปเชลซี คือหนึ่งในดีลที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของตลาดนักเตะเดือนมกราคมปีนี้

อีกดีลที่เซอร์ไพรส์ไม่แพ้กัน คือแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ตัดสินใจปล่อยเจา กานเซโล่ ไปให้บาเยิร์น มิวนิค ด้วยสัญญายืมตัวจนจบฤดูกาลนี้ ก่อนที่จะย้ายมาร่วมทีมอย่างถาวรในซัมเมอร์นี้ ค่าตัว 61 ล้านปอนด์

อาร์เซน่อล เสริมความแข็งแกร่งด้วยการซื้อจอร์จินโญ่ มิดฟิลด์อิตาลีจากเชลซี ค่าตัว 12 ล้านปอนด์ ในขณะที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขอยืมตัวมาร์เซล ซาบิตเซอร์ กองกลางชาวออสเตรียจากบาเยิร์น มิวนิค

ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ ประกาศเซ็นสัญญากับเปโดร ปอร์โร่ ฟูลแบ็กจากสปอร์ติ้ง ลิสบอน ด้วยสัญญายืมตัวจนจบฤดูกาลนี้ และมีออพชั่นซื้อขาดที่ 40 ล้านปอนด์ หวังช่วยทีมลุ้นท็อปโฟร์ในครึ่งซีซั่นหลัง

น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ยังเสริมต่อเนื่อง โดยคว้าตัวเฟลิเป้ กองหลังชาวบราซิลจากแอตเลติโก้ มาดริด, จอนโจ เชลวีย์ กองกลางจากนิวคาสเซิล รวมทั้งยืมตัวเคเลอร์ นาบาส ผู้รักษาประตูจากปารีส แซงต์-แชร์กแมง

เลสเตอร์ ซิตี้ ได้ดึงตัวแฮร์รี่ ซัตตาร์ กองหลังจากสโตค ซิตี้ ด้วยค่าตัวประมาณ 20 ล้านปอนด์ และคริสตัล พาเลซ ที่คว้าตัวนาอูอิรู อาฮามาด้า มิดฟิลด์ดาวรุ่งทีมชาติฝรั่งเศสจากสตุ๊ดการ์ท ค่าตัว 11 ล้านปอนด์

บอร์นมัธ เซ็นสัญญากับอิลเลีย ซาบาร์นยี่ เซ็นเตอร์แบ็กทีมชาติยูเครน ด้วยค่าตัว 24 ล้านปอนด์ และฮาเหม็ด ตราโอเร่ กองกลางไอเวอรี่โคสต์ ด้วยสัญญายืมตัวจนจบซีซั่น และย้ายอย่างถาวรช่วงซัมเมอร์ ค่าตัว 20 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/afcbournemouth

ปิดท้ายด้วย เซาแธมป์ตัน เสริมทัพหวังอยู่รอด ด้วยการคว้าตัวกามัลดีน ซูเลมานา ปีกชาวกานาจากแรนส์ ค่าตัว 22 ล้านปอนด์ เป็นสถิติของสโมสร และปอล โอนูอาชู กองหน้าชาวไนจีเรียจากเกงค์ 18.5 ล้านปอนด์

ครองแชมป์ลีกลูกหนัง ช็อปบ้าคลั่งที่สุดในโลก

จากข้อมูลของดีลอยด์ (Deloitte) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก ระบุว่า ยอดใช้จ่ายเฉพาะตลาดหน้าหนาวปีนี้ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (295 ล้านปอนด์)

ตัวเลข 815 ล้านปอนด์ เป็นการทุบสถิติเดิมที่ทำไว้เมื่อปี 2018 (430 ล้านปอนด์) เมื่อนำไปรวมกับช่วงซัมเมอร์ปีที่ผ่านมา ก็จะเป็น 2 เท่า ของยอดใช้จ่ายในตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ปี 2017 (1.4 พันล้านปอนด์)

และถ้านับเฉพาะวันปิดทำการซื้อขาย (31 มกราคม) สโมสรในพรีเมียร์ลีกใช้เงินรวมกันมากถึง 275 ล้านปอนด์ ทำลายสถิติเดิมของวันตลาดวายเมื่อปี 2018 ที่ทำไว้ 150 ล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้น 83เปอร์เซ็นต์

เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรเดียวในพรีเมียร์ลีก ที่ไม่เซ็นสัญญานักเตะใหม่ในตลาดซื้อขายรอบนี้เลยแม้แต่คนเดียว เนื่องจากกำลังเจอปัญหาทางการเงิน และอาจจะตัดสินใจขายสโมสรถ้ามีข้อเสนอที่เหมาะสม

พรีเมียร์ลีก เป็นลีกที่ใช้จ่ายในตลาดหน้าหนาวปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 79 เปอร์เซนต์ ของยอดรวมทั้ง 5 ลีกใหญ่ยุโรป ซึ่งสวนทางกับอีก 4 ลีกที่เหลือ ที่สัดส่วนลดลงไป 35 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรากฎการณ์ “ช็อปตลาดแตก” ของเชลซี ยุคที่ท็อดด์ โบห์ลี่ เข้ามาเป็นเจ้าของทีมในซีซั่นแรก ได้ใช้เงินไปมากกว่ายอดรวมของทุกสโมสรในบุนเดสลีกา, เซเรีย อา, ลาลีกา และลีก เอิง เสียอีก

ตลาดเดือนมกราคมปีนี้ เขลซีใช้เงินไปร่วม 300 ล้านปอนด์ คิดเป็นสัดส่วน 37 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเงินที่สโมสรพรีเมียร์ลีกใช้จ่ายทั้งหมด แลกกับนักเตะใหม่อายุน้อย 8 คน และเซ็นสัญญาในระยะยาวทั้งสิ้น

ในจำนวนนี้คือ เอ็นโช่ เฟอร์นานเดซ นักเตะค่าตัว 105 ล้านปอนด์ แพงสุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร และพรีเมียร์ลีก รวมทั้งจ่ายค่ายืมตัวเจา เฟลิกซ์ จากแอตเลติโก้ มาดริด เป็นเงินเกือบ 10 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

ยอดใช้จ่ายของ “สิงห์บลูส์” ในตลาดนักเตะฤดูหนาว แซงหน้าฤดูร้อนที่ใช้เงินไป 270 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นยอดใช้จ่ายในช่วงซัมเมอร์ที่สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเรอัล มาดริด ในปี (292 ล้านปอนด์) ในปี 2019

“ตลาดนักเตะเดือนมกราคมปีนี้ สโมสรในพรีเมียร์ลีกได้ใช้จ่ายมากที่สุดใน 5 ลีกใหญ่ยุโรป เป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันเกือบ 4 เท่า มันไม่เคยมากขนาดนี้มาก่อน” ทิม บริดจ์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจการกีฬาของ Deloitte กล่าว

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสโมสรในพรีเมียร์ลีกจะมีการลงทุนมหาศาลในการยกระดับทีม แต่ก็ยังให้ความสำคัญในเรื่องของความสมดุลที่ดีทั้งเรื่องของความสำเร็จในสนาม และความยั่งยืนทางการเงิน”

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.bbc.com/sport/football/64473758

– https://www.premierleague.com/news/2891053

Categories
Special Content

7 ปีที่ล้มเหลว : ย้อนรอยความผิดพลาด “เอฟเวอร์ตัน” ในยุคฟาฮัด โมชิริ

นับตั้งแต่ฟาฮัด โมชิริ นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน เข้ามาเทกโอเวอร์เอฟเวอร์ตันเมื่อช่วงต้นปี 2016 พร้อมกับความทะเยอทะยานที่จะพาสโมสรแห่งนี้ ประสบความสำเร็จในระดับสูงให้ได้

โมชิริได้ลงทุนไปมหาศาลในการดึงผู้จัดการทีมบิ๊กเนม และซื้อนักเตะคุณภาพเข้ามาหลายคนเพื่อหวังยกระดับเอฟเวอร์ตัน แต่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา กับโค้ช 7 คน กลับไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ เลย

ช่วงเวลาดังกล่าว เอฟเวอร์ตันเปรียบเสมือนพายเรือในอ่างมานาน วนเวียนอยู่กับการซื้อนักเตะที่ล้มเหลว และเปลี่ยนตัวกุนซือ ยังหาทิศทางที่ถูกต้องไม่เจอเสียที ยิ่งไล่ตามยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ

ผลงานของทีมไม่ดี การเงินของสโมสรก็มีปัญหาอย่างหนัก เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากโควิด-19 แต่การบริหารที่ผิดพลาดในยุคโมชิริ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ตกอยู่ในความเลวร้ายเช่นนี้

วอลซ์ และคูมัน เข้ากันไม่ได้

โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ คือผู้จัดการทีมเอฟเวอร์ตันคนแรก ภายใต้การบริหารของฟาฮัด โมชิริ ในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาล 2015/16 แม้จะพาทีมไปถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลถ้วย 2 รายการ แต่ผลงานในพรีเมียร์ลีกจบแค่อันดับที่ 11

และการตัดสินใจครั้งแรกของโมชิริ คือการปลดมาร์ติเนซออกจากตำแหน่งกุนซือ จากนั้นได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารทีม ด้วยการดึงตัวสตีฟ วอลซ์ เป็นผู้อำนวยการสโมสร และโรนัลด์ คูมัน เป็นเฮดโค้ชคนใหม่

แม้ในซีซั่นแรกของคูมัน ทำผลงานได้ดีจบอันดับที่ 7 แต่ในซีซั่นที่สอง วอลซ์และคูมัน กลับมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องการเสริมผู้เล่นหลายเรื่อง เช่นการซื้อนักเตะ 3 คนมาเล่นมิดฟิลด์ คือกิลฟี่ ซิกูร์ดส์สัน, ดาวี่ คลาสเซ่น และเวย์น รูนี่ย์

ในช่วงซัมเมอร์ปี 2017 เอฟเวอร์ตันใช้เงินซื้อนักเตะมากถึง 140 ล้านปอนด์ ทว่าผลงานกลับย่ำแย่ในการออกสตาร์ท 9 นัดแรกของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017/18 จนเฮดโค้ชชาวดัตช์ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ตลาดนักเตะของเอฟเวอร์ตัน ในฤดูกาล 2016/17 และ 2017/18 ใช้เงินซื้อนักเตะร่วม 220 ล้านปอนด์ แต่ไม่ได้ใกล้เคียงการลุ้นแชมป์ และโควตายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก สัญญาณแห่งความหายนะ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

ปลดบิ๊กแซม หลังทำงานได้แค่ครึ่งปี

หลังจากหมดยุคของโรนัลด์ คูมัน การสรรหากุนซือใหม่ก็เกิดขึ้น ในตอนแรก ฟาฮัด โมชิริ อยากได้มาร์โก้ ซิลวา โค้ชวัยหนุ่มของวัตฟอร์ด แต่สตีฟ วอลซ์ กลับบอกให้เลือกแซม อัลลาไดซ์ กุนซือวัยเก๋า มารับหน้าที่แทน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/Everton

เอฟเวอร์ตันได้แต่งตั้งอัลลาไดซ์ มาสานต่อในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2017 เซ็นสัญญา 1 ปีครึ่ง และสามารถกอบกู้ผลงานที่ย่ำแย่ในยุคของคูมันได้อย่างยอดเยี่ยม เข็นเอฟเวอร์ตันจบในอันดับที่ 8 ของตาราง

อย่างไรก็ตาม แฟนบอลของทอฟฟี่สีน้ำเงิน กลับไม่ปลื้มกับสไตล์การทำทีมของบิ๊กแซม ทำให้เจ้าของทีมต้องตัดสินใจปลดออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ทำงานได้แค่ 6 เดือน ส่วนวอลซ์ ผอ.สโมสร ก็ตกงานด้วยเช่นกัน

โมชิริ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับอดีตกุนซือทีมชาติอังกฤษ และจ่ายค่าชดเชยอีก 4 ล้านปอนด์ให้กับวัตฟอร์ด จากกรณีที่มีการร้องเรียนว่าไปติดต่อมาร์โก้ ซิลวา ให้มารับงานกุนซือแบบผิดกฎ

แต่ในที่สุด ซิลวาก็เข้ามารับหน้าที่โค้ชคนใหม่ของเอฟเวอร์ตัน ดูเหมือนว่า แนวทางของสโมสรกำลังจะเปลี่ยนไป จากการทุ่มเงินเพื่อความสำเร็จครั้งใหญ่ มาเน้นการวางอนาคตในระยะยาวแทน

ดึงอันเชล็อตติเข้ามา จนผอ. สโมสรอยู่ไม่ได้

ในปี 2018 นอกจากเอฟเวอร์ตันจะแต่งตั้งมาร์โก้ ซิลวา เป็นกุนซือคนใหม่แล้ว ยังได้ดึงตัวมาร์เซล แบรนด์ มาเป็นผอ. สโมสรคนใหม่ด้วย ในการพยายามชดใช้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจาก 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา

การเสริมผู้เล่นในยุคของซิลวา และแบรนด์ ได้เน้นไปที่นักเตะอายุน้อย และเซ็นสัญญาแบบระยะยาว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของสโมสร และสามารถทำกำไรมหาศาล เมื่อมีการขายนักเตะไปให้ทีมอื่น

ริชาร์ลิสัน, ลูคัส ดีญ และเยอร์รี่ มิน่า คือ 3 นักเตะดาวรุ่งที่เซ็นสัญญาเข้ามาช่วงตลาดซัมเมอร์ แน่นอนว่า แนวทางนี้ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างสูง ซึ่งเอฟเวอร์ตันก็ทำได้ดี จบอันดับที่ 8 ในซีซั่น 2018/19

แต่ในซีซั่นต่อมา จุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้น เมื่อซิลวาทำผลงานได้ย่ำแย่ และการแพ้ลิเวอร์พูล ในเมอร์ซี่ย์ไซด์ ดาร์บี้ ต้นเดือนธันวาคม 2019 พาทีมหล่นไปอยู่โซนตกชั้น นั่นคือฟางเส้นสุดท้าย นำไปสู่การตกงานของเขาในที่สุด

ซึ่งโมชิริ ก็ได้ทำเซอร์ไพรส์ให้กับแฟนๆ ทอฟฟี่สีน้ำเงิน ด้วยการดึงตัวคาร์โล อันเชล็อตติ กุนซือมากประสบการณ์ มาคุมทีมแทน และดึงตัวนักเตะค่าเหนื่อยแพงอย่างฮาเมส โรดริเกวซ มาร่วมทีมในช่วงซัมเมอร์ปี 2020

เมื่อแบรนด์รู้ว่า โมชิริได้กลับไปใช้นโยบายเดิม คือการใช้เงินมหาศาลเพื่อความสำเร็จอีกครั้ง ซึ่งขัดกับแนวทางของตัวเอง ที่เน้นการสร้างทีมในระยะยาว จึงตัดสินใจอำลาตำแหน่งผอ. สโมสร ในเดือนธันวาคม 2021

เล่นกับไฟด้วยการดึงราฟา เบนิเตซ คุมทีม

คาร์โล อันเชล็อตติ ขอลาออกจากเอฟเวอร์ตัน หลังจบฤดูกาล 2020/21 และฟาฮัด โมชิริ เจ้าของทีม ได้สร้างความฮือฮา ด้วยการแต่งตั้งราฟาเอล เบนิเตซ อดีตกุนซือลิเวอร์พูล ทีมคู่ปรับร่วมเมือง

แน่นอนว่า การเดิมพันของโมชิริในครั้งนี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างหนักจากแฟนๆ เอฟเวอร์ตันว่า ทำไมสโมสรถึงเลือกโค้ชที่เคยมีประเด็นพูดหมิ่นทอฟฟี่สีน้ำเงินว่าเป็น “ทีมเล็ก” เมื่อปี 2007

ตลาดนักเตะทั้ง 2 รอบ ในฤดูกาล 2021/22 ยุคของเบนิเตซ เอฟเวอร์ตันได้ผู้เล่นใหม่ 10 คน แต่ใช้เงินรวมกันแค่ 30 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นยอดใช้จ่ายซื้อนักเตะที่น้อยที่สุด นับตั้งแต่โมชิริเป็นเจ้าของสโมสร

แม้จะเริ่มต้นซีซั่นในพรีเมียร์ลีกได้ดี ชนะ 4 จาก 6 เกมแรก ทำเอาแฟนๆ ทอฟฟี่สีน้ำเงินเริ่มฝันไกล แต่ความจริงที่โหดร้ายก็เข้ามา เพราะ 13 เกมหลังจากนั้น ชนะแค่เกมเดียว เสมอ 3 และแพ้ถึง 9 เกม

เกมสุดท้ายของ “เอล ราฟา” คือนัดแพ้นอริช ซิตี้ 1 – 2 เมื่อ 15 มกราคม 2022 อยู่อันดับที่ 15 มีแต้มมากกว่าโซนตกชั้นแค่ 6 แต้ม ท่ามกลางความสะใจของแฟนๆ “เดอะ ค็อป” ที่เขาไปทำให้เอฟเวอร์ตันเละเทะเข้าไปอีก

การตัดสินใจดึงตัวราฟา เบนิเตซ มารับงานที่เอฟเวอร์ตัน ผลลัพธ์ที่ออกมาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่า ฟาฮัด โมชิริ มีความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการทีม และเรียนรู้วัฒนธรรมของสโมสรที่ยังไม่มากพอ

คำพูดของโมชิริ ที่เรียกเสียงวิจารณ์อื้ออึง

ด้วยความที่ฟาฮัด โมชิริ มีแพสชั่นในการยกระดับเอฟเวอร์ตัน ให้ขึ้นมายิ่งใหญ่ทัดเทียมกับบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก แต่บางคำพูด หรือการให้สัมภาษณ์ของเขา ก็สร้างความไม่พอใจให้กับหลาย ๆ คน ที่เกี่ยวข้อง

อย่างเช่น เมื่อเดือนมกราคม 2018 โมชิริได้กล่าวพาดพิงโรเมลู ลูกากู ดาวยิงเบลเยียม ที่ไม่ยอมต่อสัญญาในถิ่นกูดิสัน พาร์ค ทั้งๆ ที่ ตกลงรายละเอียดไปแล้ว โดยอ้างว่าสาเหตุมาจากเชื่อเรื่องไสยศาสตร์วูดู

หรือเมื่อเดือนมีนาคม 2019 โมชิริอ้างว่า เอฟเวอร์ตันก็มี “Fab 4” อย่างกิลฟี่ ซิกูร์ดส์สัน, เวย์น รูนี่ย์, ยานนิค โบลาซี่ และเซงค์ โทซุน เป็นคู่แข่งกับฟิลิปเป้ คูตินโญ่, ซาดิโอ มาเน่, โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ และโรแบร์โต้ ฟีร์มีโน่ ของลิเวอร์พูล

และล่าสุด หลังเกมที่บุกแพ้เวสต์แฮม ยูไนเต็ด 0 – 2 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โมชิริได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงอนาคตในตำแหน่งกุนซือของแฟรงค์ แลมพาร์ด โดยพูดเพียงสั้น ๆ ว่า “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผม”

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 วันก่อนเกมกับเวสต์แฮม โมชิริยังให้คำมั่นว่าแลมพาร์ดจะยังคุมทีมต่อไป แต่เมื่อกระแสความไม่พอใจของแฟนบอลพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องตัดสินใจแยกทางกับตำนานมิดฟิลด์เชลซีในที่สุด

อนาคตของเอฟเวอร์ตันที่พอจะคาดหวังได้ อยู่ที่สนามเหย้าแห่งใหม่ในแบรมลีย์ มัวร์ ความจุ 52,888 ที่นั่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเปิดใช้งานภายในปี 2024 แม้แฟนบอลของสโมสรจะไม่เห็นด้วยกับการบริหารของโมชิริก็ตาม

บทเรียนแห่งความล้มเหลว ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาของเอฟเวอร์ตัน ในยุคของฟาฮัด โมชิริ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรก คือแผนงานที่ถูกต้อง ชัดเจน และตัดสินใจในเรื่องสำคัญแบบชาญฉลาด

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Categories
Special Content

 คิงส์ ลีก : ทัวร์นาเมนท์ลูกหนังนอกกรอบ ในแบบฉบับเคราร์ด ปิเก้

หลังจากที่เคราร์ด ปิเก้ ยุติอาชีพนักฟุตบอลในสีเสื้อของบาร์เซโลน่า เมื่อปลายปีที่แล้ว และได้เริ่มต้นบทบาทใหม่ ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลให้เป็นที่สนใจของคนรุ่นหลัง

ซึ่งโปรเจคแรกของอดีตดาวเตะทีมชาติสเปนวัย 35 ปี คือการจัดตั้งฟุตบอล “คิงส์ ลีก” การแข่งขันสุดประหลาด ที่เป็นการรวมตัวกันระหว่างอดีตนักฟุตบอล กับคนดังในโลกออนไลน์

ไข่มุกดำ จะมาเล่าถึงศึกลูกหนังคิงส์ ลีก เกี่ยวกับที่มาที่ไป รูปแบบการแข่งขัน และสามารถเรียกความสนใจจากผู้คนได้มากน้อยแค่ไหน

ฉีกกติกาลูกหนังแบบดั้งเดิม

เคราร์ด ปิเก้ สุดยอดตำนานกองหลังของบาร์เซโลน่า เห็นด้วยกับมุมมองของฟลอเรนติโน่ เปเรซ ประธานสโมสรเรอัล มาดริด ที่เชื่อว่า ฟุตบอลจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อดึงดูดความสนใจของเยาวชนให้มากขึ้น

“ความรู้สึกของผมคือ ฟุตบอลมันล้าสมัยแล้ว คุณต้องพยายามทำอะไรสักอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่ใช้กันมาหลายสิบปี ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องยากมากๆ และเกิดขึ้นในกีฬาทุกประเภท” ปิเก้ กล่าวกับอิไบ แอลยานอส สตรีมเมอร์ชื่อดังชาวสเปน

“คุณต้องหาวิธีดึงดูดความสนใจ ผมมองว่ามีการทำคอนเทนท์มากมายที่นอกเหนือจากฟุตบอล สร้างเกมฟุตบอลที่สั้น และน่าตื่นเต้น 90 นาทีสำหรับผมมันมากเกินไป ลองมองหากฎกติกาใหม่ๆ ที่สนุกสนานมากกว่าเดิม”

ปิเก้ยังเสริมอีกว่า มิลาน ลูกชายของเขา เป็นคนที่รักฟุตบอล แต่ไม่ดูการแข่งขันครบ 90 นาที และหันไปเล่นโซเชียลมีเดียแทน

“มันเป็นเรื่องยากมากที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ ผมจำเป็นต้องทำลายกรอบเดิมๆ ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง ที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดจะทำ”

ส่วนประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาในเกมฟุตบอล ปิเก้ได้เสนอไอเดียเรื่องการต่อเวลาพิเศษรูปแบบใหม่ แต่เรื่องของการดวลจุดโทษตัดสินหาผู้ชนะ ยังคงไว้เช่นเดิม

“การเล่น 11 ต่อ 11 ในช่วงต่อเวลา 30 นาที ผมเสนอให้ผู้เล่นออกจากสนามภายใน 3 นาที จนกว่าจะยิงประตูได้ ส่วนการดวลจุดโทษ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ผมเข้าใจที่มีคนพูดว่า จะยิงให้เข้าอย่างไร แล้วเป็นอะไรที่เสี่ยงมากๆ แต่ผมชอบนะ”

อย่างไรก็ตาม ก็มีบางคนที่เห็นต่างกับโปรเจคของปิเก้ หนึ่งในนั้นคือ ฆาเบียร์ เตบาส ประธานลาลีกา โดยกล่าวว่า “นี่คือละครสัตว์ชัดๆ มันไม่เกี่ยวกับการดึงดูดผู้ชมอายุน้อยหรือไม่ เขากำลังเข้าใจอะไรบางอย่างผิดไป”

ทำความรู้จักโปรเจค “คิงส์ ลีก”

บทบาทของเคราร์ด ปิเก้ ในวงการธุรกิจกีฬา เข่น เป็นเจ้าของทีมฟุตบอล เอฟซี อันดอร์ร่า, ผู้ร่วมก่อตั้งคอสมอส โฮลดิ้ง บริษัทสื่อกีฬาของสเปน รวมถึงเป็นผู้จัดตั้งรายการฟุตบอล 7 คน ที่ชื่อว่า “คิงส์ ลีก”

คิงส์ ลีก เริ่มการแข่งขันไปแล้วเมื่อช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา มีทีมเข้าร่วม 12 ทีม แต่ละทีมมีผู้เล่น 12 คน โดย 10 คนแรก เป็นผู้สมัครที่ได้รับเลือกเข้าทีม คนที่ 11 จะเป็นอดีตนักฟุตบอลอาชีพ และคนที่ 12 จะเป็นคนดังที่ได้รับเชิญมาในแต่ละสัปดาห์

ในจำนวนนี้ มีประธานทีมที่เป็นอดีตนักเตะดังรวมอยู่ด้วย เช่น วันเค เอฟซี ทีมของอิเคร์ กาซิยาส ตำนานนายทวารเรอัล มาดริด หรือทีมอย่างคูนิสปอร์ตส์ ของเซร์คิโอ กุน อเกวโร่ อดีตกองหน้าแมนเชสเตอร์ ซิตี้

รวมถึงฮาเวียร์ เฮอร์นานเดซ “ชิชาริโต้” อดีตดาวเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ได้เข้าร่วมทีมปอร์ซินอส เอฟซี จากการเชิญของอิไบ แอลยานอส สตรีมเมอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 8 ล้านคนบนอินสตาแกรม

การแข่งขันแต่ละแมตช์ ทุกทีมส่งผู้เล่นตัวจริงได้ 7 คน และสามารถเปลี่ยนตัวสำรองได้แบบไม่จำกัด โดยการคิกออฟ จะให้ผู้เล่นทั้ง 2 ทีม ยืนเรียงหน้ากระดานหันหน้าเข้าหากันจากเส้นประตู แล้ววิ่งเข้ามาแย่งลูกบอลที่อยู่กลางสนามให้ได้

แข่งขันครึ่งเวลาละ 20 นาที ถ้าหากเสมอกัน จะต้องตัดสินหาผู้ชนะด้วยการดวลจุดโทษ แต่การดวลจุดโทษในแบบฉบับของ “ลีกแห่งราชา” นั้น จะต้องยิงจุดโทษจากบริเวณกึ่งกลางสนาม คล้ายกับกีฬาฝั่งอเมริกัน และมีเวลาเพียง 5 วินาทีเท่านั้น

ส่วนการได้จุดโทษในเวลาปกติ จะมีการให้ใบเหลือง หรือใบแดงกับผู้เล่นที่ทำเสียจุดโทษด้วย ถ้าเป็นใบเหลือง จะถูกเชิญไปพักที่ข้างสนาม 2 นาที แต่ถ้าเป็นใบแดง จะเพิ่มเป็น 5 นาที ก่อนกลับเข้ามาในสนามได้ตามเดิม

และทั้ง 2 ทีม สามารถร้องขอ VAR เพื่ออุทธรณ์คำตัดสินได้ทีมละ 1 ครั้ง ถ้าอุทธรณ์ผ่าน จะสามารถรักษาสิทธิ์ใช้ VAR ได้อีก แต่ถ้าหากอุทธรณ์ไม่ผ่าน จะเสียสิทธิ์การใช้ VAR ทันที ในช่วงเวลาที่เหลือของแต่ละแมตช์

นอกจากนี้ ยังเพิ่มความตื่นเต้นด้วย “โกลเด้น การ์ด” ซึ่งมีอยู่ 5 ใบ ตัวแทนของทั้ง 2 ทีม จะเลือกการ์ดก่อนเริ่มเกมได้เพียงทีมละ 1 ใบ ซึ่งภายในจะมีกติกาสุดแปลกประหลาดอยู่ในนั้น เลือกใช้ในนาทีใดก็ได้ แต่ใช้ได้เพียงแค่ครั้งเดียวตลอดเกม

ตัวอย่างกติกาในโกลเด้น การ์ด เช่น ได้จุดโทษพร้อมสั่งพักผู้เล่นคู่แข่ง 1 คน ออกมาที่ข้างสนาม 2 นาที, ประตูใดๆ ที่ทำได้ในนาทีถัดไป นับเป็น 2 เท่า, ผู้รักษาประตูใช้มือไม่ได้ 1 นาที รวมถึงการ์ดโจ๊กเกอร์ที่สามารถเลือกได้ว่าจะใช้การ์ดใบใดก็ได้

รูปแบบการแข่งขัน ในแต่ละสัปดาห์จะแข่งขันครบทั้ง 6 คู่ จบในวันเดียว และเป็นแบบ Round-robin หรือพบกันหมด เป็นเวลา 11 สัปดาห์ คัดเอาทีมที่ผลงานดีสุด 8 ทีม เข้ารอบน็อกเอาต์ และคัดออกจนเหลือทีมที่ชนะเลิศเพียง 1 ทีม

สำหรับฟุตบอล 7 คน คิงส์ ลีก จะมีการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 22.00 – 04.00 น. ตามเวลาประเทศไทย สามารถรับชมได้ฟรี บนแพลตฟอร์ม Twitch และ Youtube

ชมไฮไลท์การแข่งขันสัปดาห์แรก ได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=tvgzbHvb6FQ

Enigma69” ตัวละครลับสุดยอด

เพียงสัปดาห์แรกของการแข่งขันคิงส์ ลีก ก็มีประเด็นฮือฮาให้พูดถึง เมื่อมีนักเตะนิรนาม อายุไม่เกิน 30 ปี ที่ยังมีสัญญากับสโมสรแห่งหนึ่งของลาลีกา สเปน มาปรากฏตัวใน ตามที่เคราร์ด ปิเก้ ได้ประกาศไว้

แข้งคนดังกล่าว ลงแข่งขันฟุตบอล 7 คน ให้กับเอ็กซ์บายเออร์ พบกับ คูนิสปอร์ตส์ แต่มาแบบลึกลับสุดๆ ด้วยการสวมหน้ากากมวยปล้ำปิดบังใบหน้า และสวมเสื้อผ้ามิดชิดเพื่อปกปิดรอยสัก

สาเหตุที่ต้องทำเช่นนั้น เนื่องจากสัญญาของต้นสังกัดของนักเตะรายนี้ ระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่อนุญาตให้ไปลงแข่งขันฟุตบอลรายการใดๆ ก็ตาม ในช่วงที่ยังเหลือสัญญาการเป็นนักเตะอาชีพกับสโมสร

นักเตะนิรนามคนนี้ ใช้นามแฝงว่า “Enigma69” ซึ่งถึงแม้จะมีเสียงเรียกร้องให้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของนักเตะคนนี้ แต่ปิเก้ยืนยันว่า ขอเก็บเป็นความลับไว้ก่อน และจะเปิดเผยหลังแข้งคนดังกล่าวหมดสัญญาแล้ว

แน่นอนว่า แฟนๆ ในโลกโซเชี่ยล ก็อดไม่ได้ที่จะพยายามคาดเดาไปต่างๆ นานาว่า นักเตะภายใต้หน้ากากมวยปล้ำ คือใคร

มีบางคนเดาว่า น่าจะเป็นอิสโก้ อดีตเพลย์เมกเกอร์เรอัล มาดริด ที่เพิ่งแยกทางกับเซบีย่าเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว หรือเดนิส ซัวเรซ อดีตนักเตะบาร์เซโลน่า ที่ปัจจุบันอยู่กับเซลต้า บีโก้

แต่นักเตะที่อิไบ แอลยานอส บอกใบ้ในการสตรีมมิ่งสดผ่าน Twitch ว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าคนอื่นๆ ได้ชี้เป้าไปที่ นาโน เมซ่า ที่เพิ่งยกเลิกสัญญากับกาดิซ เมื่อช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา

โปรเจคคิงส์ ลีก ของปิเก้ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ในระหว่างการออกอากาศสด มีการรับชมขึ้นจุดสูงสุดอยู่ที่ 413,000 วิว และยอดผู้ชมใน Youtube ทะลุ 1 ล้านวิว ภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์

ส่วนเป้าหมายต่อไปของอดีตแนวรับอาซุลกราน่า คือการจัดทัวร์นาเมนท์ “ควีนส์ ลีก” หรือฟุตบอล 7 คน สำหรับทีมหญิง ซึ่งจะใช้รูปแบบเดียวกับทีมชาย คาดว่าจะเปิดตัวในเดือนพฤษภาคมนี้

การที่เคราร์ด ปิเก้ มีแนวความคิดที่นอกกรอบ แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าผู้คนจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ชายคนนี้ ได้ประสบความสำเร็จจากการที่ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองคิดไปเรียบร้อยแล้ว

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.bbc.com/sport/football/64266765

– https://www.givemesport.com/88082161-gerard-pique-believes-football-needs-radical-changes-after-ending-barcelona-career

https://www.givemesport.com/88104037-kings-league-what-is-gerard-piques-new-competition-and-how-does-it-work

https://www.hitc.com/en-gb/2023/01/12/what-are-golden-cards-in-kings-league-gerard-piques-7-a-side-concept-explained/

https://en.as.com/soccer/who-is-enigma-69-the-masked-player-in-gerard-piques-seven-a-side-kings-league-n/

– https://newsrebeat.com/sports/133546.html

https://www.allsoccer.co.uk/news/kings-league-gerard-pique-7-a-side-football-league/

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11623503/Gerard-Piques-7-league-hands-fans-identity-hunt-mysterious-masked-LaLiga-star.html

https://www.sportbible.com/football/gerard-pique-kings-league-barcelona-629207-20230111

https://www.besoccer.com/new/everything-you-need-to-know-about-the-kings-league-1202045

Categories
Football Business

นโยบาย “อายุน้อย สัญญายาว” ของเชลซี ในยุคท็อดด์ โบห์ลี่ย์

ตลาดซื้อขายนักเตะเดือนมกราคม ปี 2023 เริ่มมาได้เพียง 1 สัปดาห์ ก็มีข่าวที่น่าฮือฮาของ “เชลซี” หลังคว้าตัว เบอนัวต์ บาเดียชิล กองหลังดาวรุ่งวัยย่าง 22 ปี จากโมนาโก ด้วยค่าตัว 35 ล้านปอนด์

โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ บาเดียชิล ตกลงเซ็นสัญญายาวถึง 7 ปีครึ่ง หรือสิ้นสุดช่วงซัมเมอร์ปี 2030 ท่ามกลางคำถามที่ตามมาว่า คุ้มเสี่ยงหรือไม่ กับการที่สโมสรเลือกที่จะผูกมัดสัญญานักเตะยาวๆ แบบนี้

บาเดียชิล เป็นหนึ่งในนักเตะใหม่ “สิงห์บูลส์” ที่เซ็นสัญญามากกว่า 5 ปี ซึ่ง ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ เจ้าของทีม ได้นำแนวคิดเรื่องสัญญากีฬาอาชีพในสหรัฐอเมริกามาใช้ ไข่มุกดำ จะมาขยายประเด็นนี้ให้ฟัง

โมเดลอเมริกัน แก้ปัญหา FFP

โดยทั่วไปแล้ว สัญญาของนักฟุตบอลอาชีพในลีกอังกฤษ มักจะกำหนดระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี แต่เมื่อท็อดด์ โบห์ลี่ย์ เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรเชลซี ก็ได้วางนโยบายใหม่เรื่องสัญญาทั้งนักเตะใหม่ และนักเตะเก่า

นโยบายใหม่ของโบห์ลี่ย์ คือ “ให้ผู้เล่นที่อายุไม่เกิน 25 ปี ทำสัญญากัน 6 – 7 ปี” ซึ่งเป็นการนำแนวคิดเรื่องสัญญาระยะยาวของกีฬาอาชีพในสหรัฐอเมริกามาใช้ เพื่อรั้งนักเตะอายุน้อยฝีเท้าดีให้อยู่กับสโมสรไปนานๆ

ตลาดนักเตะเชลซี ในยุคของโบห์ลี่ย์ ได้คว้าตัวแข้งอายุต่ำกว่า 25 ปี และมอบสัญญายาว 6 – 7 ปี มาแล้ว 5 คน คือ มาร์ค คูคูเรย่า, คาร์นี่ย์ ชุควูเมก้า, เวสลี่ย์ โฟฟาน่า, เซซาเร่ คาซาเด และเบอนัวต์ บาเดียชิล คือรายล่าสุด

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

เมื่อรวมกับนักเตะรายอื่นๆ ในฝั่งขาเข้า ทำให้โบห์ลี่ย์ ใช้เงินรวม 2 รอบตลาด ทะลุ 300 ล้านปอนด์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งยอดใช้จ่ายที่มากขนาดนี้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP)

อย่างไรก็ตาม ฝั่งขาออกก็ได้ปล่อยนักเตะไปมากกว่า 10 ราย เพื่อปรับสมดุลของงบการเงิน โดยไม่ให้ขัดกับกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ อย่างเช่น ติโม แวร์เนอร์, เอเมอร์สัน, บิลลี่ กิลมัวร์ เป็นต้น

โมเดลสัญญาระยะยาวของโบห์ลี่ย์ ช่วยให้เชลซีลดต้นทุนในการเซ็นสัญญานักเตะใหม่ และต่อสัญญานักเตะเก่า ซึ่งอาจช่วยให้สโมสรใช้เงินซื้อนักเตะใหม่ได้มากขึ้น โดยไม่ผิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์

รู้ว่าเสี่ยง แต่เป็นผลดีกับนักเตะ

ก่อนที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์เชลซี ท็อดด์ โบห์ลี่ย์เคยมีประสบการณ์การบริหารทีมกีฬา ด้วยการเป็นหุ้นส่วนของสโมสรเบสบอลลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส ในลีก MLS เมื่อปี 2013 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ในยุคที่โบห์ลี่ย์เข้ามาบริหารลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส ได้พลิกฟื้นทีมจากความตกต่ำให้กลับมายิ่งใหญ่ ด้วยการคว้าแชมป์กลุ่มตะวันตก 8 ครั้ง, แชมป์เนชั่นแนล ลีก 3 ครั้ง และแชมป์เวิลด์ ซีรี่ส์ ในปี 2020

ดร. แดน พลัมลี่ย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน วิเคราะห์ว่า แม้แนวคิดสัญญาระยะยาวของเจ้าของทีมสิงห์บูลส์จะมีความเสี่ยง แต่ก็จะทำให้นักเตะลดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตการค้าแข้งในสโมสรได้ไม่น้อย

“สำหรับนักฟุตบอลดาวรุ่งแล้ว พวกเขาจะให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากที่สุด มันทำให้นักเตะอายุน้อยหลายๆ คน มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองในระยะเวลาที่นานขึ้น” ดร. พลัมลี่ย์ กล่าวกับ Football Insider

“ด้วยโมเดลสัญญานักกีฬาแบบอเมริกัน เป็นการชี้ให้เห็นถึงภูมิหลังของโบห์ลี่ ในกีฬาอเมริกัน เขาสามารถใช้กลยุทธ์นี้ ในการลงทุนเพื่อพัฒนานักเตะดาวรุ่ง ซึ่งเป็นผลดีอย่างแท้จริงสำหรับเชลซี”

“แต่สิ่งที่ต้องคิดสำหรับเชลซีคือ วงการฟุตบอลในยุคปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ คำถามคือ พวกเขาจะจัดการผลลัพธ์ระยะสั้น ให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวได้อย่างไร ?”

แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เห็นว่าดี

นโยบายที่ให้นักเตะอยู่กับสโมสรใดสโมสรหนึ่งในระยะยาว มีมุมบวกอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว กระนั้น ก็มีอีกมุมหนึ่งที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า การเสี่ยงเซ็นสัญญานักเตะยาวหลายปี อาจไม่ใด้เป็นเรื่องที่ดีเสมอไป

เมื่อเชลซี ประกาศคว้าตัวเบอนัวต์ บาเดียชิล ได้มีความเห็นส่วนหนึ่งของแฟนบอลบนโลกออนไลน์ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเซ็นสัญญานักเตะรายนี้ ในทำนองว่า “สัญญา 7 ปีครึ่ง มันบ้าเกินไปแล้ว”

ส่วนแฟนบอลทีมอื่นๆ อย่างเช่นแฟนบอลแอตเลติโก้ มาดริดรายหนึ่ง คอมเมนท์ว่า “ซาอูล นิเกซ เซ็นสัญญาใหม่นาน 9 ปี ตอนแรกยังเล่นดีอยู่เลย ตอนนี้เหลือสัญญาอีกถึง 3 ปีครึ่ง ยังต้องเจอกับความเสี่ยงต่อไป”

ด้านแฟนบอลเวสต์แฮม ยูไนเต็ดรายหนึ่ง เสริมว่า “เราเคยทำแบบนี้มาแล้วในอดีตกับแอนดี้ แคร์โรลล์ และวินสตัน รีด ทั้งคู่ต่อสัญญายาวคนละ 6 ปี แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่”

และไม่ใช่แค่ผู้เล่นเท่านั้น ยังมีผู้จัดการทีมอย่างอลัน พาร์ดิว เมื่อปี 2012 ที่ประกาศต่อสัญญาคุมทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ยาวถึง 8 ปี แต่อยู่ได้เพียง 2 ปี ก็ลาออกไปคุมทีมคริสตัล พาเลซ

การนำแนวคิดสไตล์อเมริกันของท็อดด์ โบห์ลี่ย์ จะพาเชลซีไปในทิศทางไหน และผลงานในสนามซีซั่นแรกของการเป็นเจ้าของทีมจะเป็นอย่างไร นี่คือคำถามที่แฟนบอลจะได้ทราบคำตอบในอีกไม่นานนี้

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11116957/New-Chelsea-owner-Todd-Boehly-looking-implement-style-contract-policy-club.html

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11603161/Chelseas-decision-hand-Benoit-Badiashile-seven-half-year-deal-called-absolutely-INSANE.html

– https://www.cityam.com/heres-why-chelsea-could-benefit-from-handing-33m-signing-badiashile-a-mammoth-seven-year-contract/

– https://www.footballinsider247.com/chelsea-stars-thrilled-as-seven-year-deal-on-the-cards-finance-guru/

– https://boardroom.tv/benoit-badiashile-chelsea-contract/