Categories
Football Business

ส่องเบื้องหลังท่อน้ำเลี้ยง 20 เจ้าของทีมพรีเมียร์ลีก 2023/24

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดีลอยท์ (Deloitte) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก เปิดเผยว่า พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เป็นลีกฟุตบอลที่โดดเด่นในเรื่องการเงิน โดย 11 จาก 20 สโมสร ติดอันดับทีมกีฬาที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลก

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของแต่ละสโมสร ไม่ใช่ผู้เล่น หรือผู้จัดการทีม แต่เป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า “เจ้าของสโมสร” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของสโมสรในระยะยาว

ความเข้าใจในธุรกิจฟุตบอล และความหลงใหลในสโมสรที่ครอบครอง คือคุณสมบัติที่เจ้าของสโมสรพึงมี แต่ก็มีบางสโมสรที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องเงินทุนที่มีมหาศาล แม้จะจ่ายเงินก้อนโตต่อเนื่องทุกปีก็ตาม

แหล่งเงินทุนของเจ้าของทีมลูกหนัง ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ซึ่งหลาย ๆ คน อาจยังไม่เคยรู้มาก่อน และนี่คือเบื้องหลัง “ท่อน้ำเลี้ยง” ของทั้ง 20 สโมสรในการแข่งขันลีกสูงสุดเมืองผู้ดี ฤดูกาล 2023/24

อาร์เซน่อล – ครอบครัวมหาเศรษฐี, อสังหาริมทรัพย์ และปศุสัตว์

รองแชมป์พรีเมียร์ลีก ซีซั่นที่แล้ว ปัจจุบันบริหารงานโดยกลุ่ม Kroenke Sports & Entertainment (KSE) นำโดยสแตน โครเอนเก้ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ที่เข้ามาเทคโอเวอร์อาร์เซน่อล ตั้งแต่ปี 2007

โครเอนเก้ สมรสกับแอน วอลตัน สมาชิกครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดของสหรัฐฯ เป็นทายาทของเจ้าของวอลมาร์ท (Walmart) บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ระดับโลก และมีสินทรัพย์มากกว่า 12 พันล้านปอนด์

แหล่งเงินทุนของโครเอนเก้ มาจากการก่อตั้ง THF Realty ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์, ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน รวมถึงเป็นเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาอีกด้วย

เจ้าสัววัย 75 ปี ยังเป็นเจ้าของทีมกีฬาในสหรัฐฯ หลายทีม ได้แก่ ลอส แอนเจลลิส แรมส์ (อเมริกันฟุตบอล), โคโลราโด้ ราปิดส์(เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์), โคโลราโด้ อวาลันเช่ (ฮอกกี้) และเดนเวอร์ นักเกตส์ ที่เพิ่งคว้าแชมป์บาสเกตบอล NBA ในปีนี้

แอสตัน วิลล่า – ปุ๋ยไนโตรเจน และอสังหาริมทรัพย์

แอสตัน วิลล่า สโมสรดังจากย่านมิดแลนด์ บริหารงานโดยบริษัท NSWE ซึ่งมีนาสเซฟ ซาวิริส และเวส อีเดนส์ เป็นเจ้าของร่วมกัน ทั้งคู่ได้ซื้อกิจการของสโมสรต่อจากโทนี่ เซีย นักธุรกิจชาวจีน เมื่อปี 2018

ซาวิริส เป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดแห่งอียิปต์ ปัจจุบันเป็นผู้บริหารของ Orascom Construction บริษัทผู้ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนรายใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนี้ยังซื้อหุ้นสโมสรนิว ยอร์ก นิกส์ (บาสเกตบอล NBA) และสโมสรนิว ยอร์ก เรนเจอร์ส (ฮฮกกี้ NHL)

ด้านอีเดนส์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ปล่อยเงินกู้ อีกทั้งได้ซื้อหุ้นของ Morrisons เครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของอังกฤษ และเป็นเจ้าของทีมมิลวอล์คกี้ บัคส์ ซึ่งคว้าแชมป์บาสเกตบอล NBA ในปี 2021

ความมั่งคั่งของเจ้าของทีมวิลล่า ซาวิริส มีสินทรัพย์ 5 พันล้านปอนด์ จากการจัดอันดับของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ในขณะที่อีเดนส์ มีสินทรัพย์ 0.86 พันล้านปอนด์ จากการจัดอันดับของฟอร์บส์ (Forbes)

เบรนท์ฟอร์ด – บริษัทรับพนันถูกกฎหมาย

นับตั้งแต่เบรนท์ฟอร์ดเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2021/22 พวกเขาเอาตัวรอดอยู่ในลีกสูงสุดแบบสบาย ๆ 2 ซีซั่นติดต่อกันแล้ว ซึ่งนักพนันอย่างแมทธิว เบนแฮม คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสโมสรนี้

หลังลาออกจาก Premier Bet บริษัทของโทนี่ บลูม (เจ้าของทีมไบรท์ตันในปัจจุบัน) เบนแฮมได้ตั้งบริษัทพนันของตัวเอง ในชื่อ SmartOdds จากนั้นได้ไปซื้อกิจการของ Matchbook ซึ่งเป็นบริษัทพนันเช่นเดียวกัน

จุดเริ่มต้นสู่การเป็นเจ้าของ “เดอะ บีส์” เกิดขึ้นในปี 2006 จากการเป็นนายทุนลับให้ Bees United กลุ่มแฟนบอลของสโมสร ซื้อทีมและชำระหนี้จากรอน โนเดส เข้ามาถือหุ้น และบริหารเต็มตัวตั้งแต่ปี 2012

การบริหารของเบนแฮม ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดนักเตะ ซื้อมาถูก ขายออกไปแพงอยู่หลายดีล เช่น โอนลี่ วัตกิ้นส์, ซาอิด เบนราห์มา เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นเจ้าของทีมมิดทิลแลนด์ ในลีกเดนมาร์ก

ไบรท์ตัน – บริษัทรับพนันถูกกฎหมาย

ไบรท์ตัน สโมสรที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์เข้าร่วมฟุตบอลยุโรปเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ก่อตั้งมา 122 ปี ต้องยกเครดิตให้กับโทนี่ บลูม เซียนพนันที่ได้วางรากฐาน และสู้กับทีมยักษ์ใหญ่เงินทุนหนาแบบน่าเหลือเชื่อ

บลูม ได้เปิดตัว Premier Bet บริษัทแรกที่ทำธุรกิจด้านการพนัน ซึ่งมีพนักงานคนสำคัญคือ แมทธิว เบนแฮม เจ้าของทีมเบรนฟอร์ดในปัจจุบัน ก่อนจะเปลี่ยนสถานะจากเจ้านาย-ลูกน้อง มาเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ

ต่อมาในปี 2006 บลูมแยกไปเปิดบริษัทด้านการพนันที่ชื่อว่า Starlizard บทบาทของเขาคือเป็นที่ปรึกษา และวิเคราะห์ให้กับลูกค้า เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจเลือกเดิมพันที่ได้เปรียบที่สุด และสามารถทำเงินได้

ด้วยความที่บลูม เกิดและเติบโตที่ไบรท์ตัน และเป็นแฟนบอลของไบรท์ตันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก อีก 3 ปีต่อมา เขาตัดสินใจทุ่มเงิน 93 ล้านปอนด์ ซื้อหุ้นของ “เดอะ ซีกัลส์” สมัยที่ยังอยู่ในระดับลีก วัน (ดิวิชั่น 3)

บอร์นมัธ – ประกันภัย, สื่อบันเทิง, สนามกอล์ฟ และโรงแรม

เมื่อปลายปี 2022 บอร์นมัธ คือทีมล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของทีมรายใหม่ โดย บิลล์ โฟลี่ย์ นักธุรกิจชาวอเมริกัน ได้ซื้อสโมสรต่อจากมักซิม เดมิน นักธุรกิจชาวรัสเซีย ด้วยราคาประมาณ 120 ล้านปอนด์

โฟลี่ย์ ดำรงตำแหน่งประธานของ Fidelity National Financial บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ในฟลอริด้า ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งติดอันดับบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500 Companies

นอกจากจะลงทุนด้านสื่อบันเทิง, สนามกอล์ฟ และโรงแรมแล้ว โฟลี่ย์ ยังเป็นเจ้าของทีมเวกัส โกลเด้น ไนท์ส ที่เพิ่งคว้าแชมป์ลีกฮอกกี้ NHL เมื่อเร็วๆ นี้ อีกทั้งยังได้ซื้อหุ้นของสโมสรลอริยองต์ ในลีกเอิง ฝรั่งเศส

แม้ “เดอะ เชอรี่ส์” จะอยู่รอดปลอดภัยในลีกสูงสุด เมื่อซีซั่นที่ผ่านมา แต่โฟลี่ย์ ตัดสินใจปลดแกรี่ โอนีล ออกจากตำแหน่งกุนซือ และแต่งตั้งอันโดนี่ อิราโอล่า เฮดโค้ชชาวสเปน เพื่อเป้าหมายไปเล่นฟุตบอลยุโรป

เบิร์นลีย์ – บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินในสหรัฐอเมริกา

แชมป์ลีกแชมเปี้ยนชิพ จากฤดูกาลที่แล้ว ปัจจุบันบริหารงานโดย ALK Capital กลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา นำโดย อลัน เพซ ที่เข้ามาซื้อกิจการของสโมสร ในเดือนธันวาคม 2020 ในราคา 150 ล้านปอนด์

สำหรับ ALK Capital ตั้งอยู่ในนิว ยอร์ก เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินให้กับลูกค้ารายใหญ่อย่างเลห์แมน บราเธอร์ส และซิติ กรุ๊ป และตัวของอลัน เพซ ก็เคยบริหารทีมเรียล ซอลต์ เลค ในเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์อยู่ 2 ปี

ช่วงที่เบิร์นลี่ย์ยังอยู่ในพรีเมียร์ลีก ใช้เงินลงทุนไปไม่น้อย อีกทั้งยังต้องกู้เงินจากธนาคารเป็นจำนวน 65 ล้านปอนด์ และเมื่อพวกเขาตกชั้นจากลีกสูงสุดในซีซั่น 2021/22 การเงินของสโมสรก็ได้รับผลกระทบ

แต่ด้วยมันสมองที่ชาญฉลาดของแว็งซองต์ กอมปานี ผู้จัดการทีม “เดอะ คลาเร็ตส์” ก็ช่วยให้สโมสรเอาตัวรอดจากวิกฤต พาทีมคัมแบ็กสู่พรีเมียร์ลีก ส่งผลถึงการเงินที่กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในที่สุด

เชลซี – บริษัทจัดการสินทรัพย์

ท็อดด์ โบห์ลี่ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เข้ามาเทกโอเวอร์เชลซีเมื่อปี 2022 หลังจากโรมัน อบราโมวิช นักธุรกิจชาวรัสเซีย ถูกบังคับให้ขายสโมสร เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษประกาศคว่ำบาตร กรณีรัสเซียบุกยูเครน

โบห์ลี่ มีหุ้นส่วนรายสำคัญที่มาร่วมลงทุน คือ Clearlake Capital บริษัทด้านการลงทุนที่ตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีบีฮ์ดาด เอ็กห์เบลี่ เป็นผู้บริหารของบริษัท มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับ Clearlake Capital มีลูกค้ารายสำคัญที่ได้เข้าไปดูแลสินทรัพย์ นั่นคือ กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ หรือ PIF ของซาอุดีอารเบีย ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่ไปเทคโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด คู่แข่งร่วมพรีเมียร์ลีก

นอกจากจะเป็นเจ้าของทีมเชลซีแล้ว โบห์ลี่ยังเป็นเจ้าของทีมกีฬาในอเมริกา คือ ลอส แอนเจลิส ดอดเจอร์ส ในเมเจอร์ลีก เบสบอล รวมทั้งถือหุ้นในลอส แอนเจลิส เลเกอร์ส ทีมบาสเกตบอลชื่อดังของ NBAด้วย

คริสตัล พาเลซ – บริษัทจัดการการลงทุน, อสังหาริมทรัพย์, สื่อและบันเทิง

เจ้าของทีมคริสตัล พาเลซ ในปัจจุบัน มีทั้งหมด 4 คน เริ่มจาก สตีฟ แพริช นักธุรกิจชาวอังกฤษ อดีตผู้ก่อตั้ง TAG Worldwide บริษัทสื่อโฆษณา และเป็นแกนนำในการซื้อสโมสร “ปราสาทเรือนแก้ว” เมื่อปี 2010

จอร์ช ฮาริส ผู้ก่อตั้ง Apollo Global Management บริษัทจัดการการลงทุนในหุ้นภาคเอกชน และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และยังเป็นเจ้าของทีมฮอกกี้ นิว เจอร์ซีย์ เดวิลส์ และทีมบาสเกตบอล NBA ฟิลาเดลเฟีย เซเว่นตี้ซิกเซอร์ส 

เดวิด บลิทเซอร์ เคยอยู่ใน Blackstone Group บริษัทจัดการการลงทุนเช่นเดียวกับ Apollo Global Management นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของทีมนิว เจอร์ซีย์ เดวิลส์ และฟิลาเดลเฟีย เซเว่นตี้ซิกเซอร์ส ร่วมกับฮาริสอีกด้วย

ปิดท้ายที่จอห์น เท็กซ์เตอร์ เคยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทสื่อและบันเทิง และเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลโบตาโฟโก้ ในบราซิล, อาร์ดับเบิ้ลยูดี โมเลนบีค ในเบลเยียม และล่าสุดคือโอลิมปิก ลียง ในฝรั่งเศส

เอฟเวอร์ตัน – เหมืองแร่ และโทรคมนาคม

ฟาฮัด โมชิริ นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน เข้ามาเทกโอเวอร์เอฟเวอร์ตันเมื่อปี 2016 ด้วยความทะเยอทะยานที่ต้องการเห็นสโมสรประสบความสำเร็จ แต่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา คือการลงทุนที่สูญเปล่า

โมชิริ ได้รู้จักกับอลิเซอร์ อุสมานอฟ มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เจ้าของ USM Holdings บริษัทที่ลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ และโทรคมนาคม โดยนั่งในตำแหน่งประธานบริษัท พร้อมได้รับหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ USM ยังถือลิขสิทธิ์สนามซ้อมฟินซ์ ฟาร์ม ของเอฟเวอร์ตัน แต่ในปี 2022 อุสมานอฟ ถูกรัฐบาลอังกฤษสั่งอายัดทรัพย์สิน หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน และถูกบีบให้ถอนการสนับสนุนออกไป

สถานการณ์ของเอฟเวอร์ตันในเวลานี้ กำลังมองหาเงินทุนที่จะเข้ามาช่วยเหลือสโมสร เพื่อสานต่อโครงการสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ อีกทั้งต่อสู้เพื่ออยู่รอดในพรีเมียร์ลีก และกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP) 

ฟูแล่ม – ชิ้นส่วนยานยนต์

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2013 ซาฮิด ข่าน นักธุรกิจอเมริกันเชื้อสายปากีสถาน ได้เจรจาเทคโอเวอร์ฟูแล่ม ต่อจากโมฮาเหม็ด อัล ฟาเยด มหาเศรษฐีชาวอียิปต์ ปัจจุบันให้โทนี่ ข่าน ลูกชายของเขาบริหารงานแทน

แหล่งทำเงินของซาฮิด ข่าน คือการเป็นเจ้าของ Flex-N-Gate บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของอเมริกา ที่ซื้อกิจการต่อจากอดีตเจ้านายของตัวเองเมื่อปี 1980 ปัจจุบันนี้บริษัทของเขามีโรงงานอยู่ 69 แห่งทั่วโลก

นอกจากจะทำธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว ซาฮิด ข่าน ยังเป็นเจ้าของทีมแจ็คสันวิลล์ จากัวร์ ในอเมริกันฟุตบอล (NFL) และเป็นเจ้าของร่วมในสมาคมมวยปล้ำ All Elite Wresting (AEW) ร่วมกับโทนี่ ลูกชายของเขา

ในปี 2018 ซาฮิด ข่าน เคยตกเป็นข่าวฮือฮา ด้วยการยื่นข้อเสนอเพื่อซื้อสนามเวมบลีย์ มูลค่า 600 ล้านปอนด์ แต่ภายหลังเจ้าตัวขอถอนข้อเสนอออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดกระแสต่อต้านจากแฟนบอล

ลิเวอร์พูล – สิ่อโทรทัศน์, ถั่วเหลือง และเจ้าของหนังสือพิมพ์

Fenway Sports Group (FSG) นำโดยจอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี่ และ ทอม เวอร์เนอร์ ซื้อสโมสรลิเวอร์พูล ด้วยมูลค่า 300 ล้านปอนด์ ในปี 2010 ปัจจุบันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากความสำเร็จทั้งในและนอกสนาม

เวอร์เนอร์ ทำธุรกิจสื่อโทรทัศน์ เคยผลิตรายการที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น The Cosby Show, 3rd Rock From The Sun และ That 70s Show อีกทั้งเคยเป็นเจ้าของทีมซาน ดิเอโก้ พาเดรส ในเมจอร์ลีก เบสบอล (MLB)

ส่วนเฮนรี่ ครอบครัวของเขาทำไร่ถั่วเหลือง, ก่อตั้ง JW Henry & Co ทำระบบ Mechanical tradingรวมถึงเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ Boston Globe ที่มีลินดา พิซซูติ ภรรยาของจอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี่ เป็นกรรมการผู้จัดการ

ปัจจุบัน FSG เป็นเจ้าของทีมบอสตัน เรด ซอกซ์ ในเมจอร์ลีก เบสบอล (MLB) โดยเมื่อปลายปี 2022 เคยตกเป็นข่าวว่าจะขายสโมสรลิเวอร์พูล แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนเป็นการหาผู้ร่วมทุนแทน

ลูตัน ทาวน์ – แฟนบอลของสโมสร

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/LutonTown

ในฤดูกาลใหม่ที่จะถึงนี้ ลูตัน ทาวน์ คือสโมสรลำดับที่ 51 ของอังกฤษ ที่จะได้สัมผัสบรรยากาศลีกสูงสุดในยุค “พรีเมียร์ลีก” แต่ก่อนที่จะมาถึงจุดสุดยอดปิระมิด พวกเขาเคยตกลงไปเล่นนอกลีกอาชีพเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

ช่วงกลางฤดูกาล 2007/08 แฟนบอลกลุ่มหนึ่งของสโมสรที่มีกำลังทรัพย์ ประกาศก่อตั้งบริษัท Luton Town 2020 จำกัด โดยถือหุ้นในบริษัท 50,000 หุ้น และมีสิทธิ์ที่จะยับยั้งการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของสโมสร

ก่อนเริ่มต้นซีซั่นต่อมา (2008/09) “เดอะ แฮตเตอร์ส” ทีมในลีก ทู (ดิวิชั่น 4) ในเวลานั้น ถูกตรวจพบความผิดปกติทางการเงินย้อนหลังหลายปี จากอดีตเจ้าของทีมคนก่อนๆ ทำให้ถูกตัด 30 แต้ม และตกชั้นหลังจบซีซั่น

การที่ไม่มีนายทุนเข้ามาซื้อสโมสร ทำให้ลูตัน ทาวน์ มีข้อจำกัดทางด้านการเงิน เพราะค่าใช้จ่ายในการบริหารทีมจะสูงกว่าตอนที่อยู่ในลีกแชมเปี้ยนชิพ แต่ก็มีบางทีมที่แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถเอาตัวรอดในพรีเมียร์ลีกได้

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ – บริษัทน้ำมัน, การขนส่ง, และการท่องเที่ยว

เมื่อปี 2008 ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นายาน สมาชิกราชวงศ์อาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเจ้าของ Abu Dhabi United Group ทุ่มเงิน 200 ล้านปอนด์ เข้าเทกโอเวอร์สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้

แหล่งรายได้หลักของชีค มานซูร์ คือ บริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี (Abu Dhabi National Oil Company : ADNOC) ทำธุรกิจผลิตน้ำมันดิบ แต่ก็มีการลงทุนในแหล่งอื่น ๆ เช่น ธุรกิจการขนส่ง และธุรกิจการท่องเที่ยว

ต่อมาในปี 2013 แมนฯ ซิตี้ ได้ก่อตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ในชื่อ City Football Group (CFG) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นคือ Abu Dhabi United Group (81 เปอร์เซนต์), Silver Lake (18 เปอร์เซนต์) และ CITIC Group (1 เปอร์เซนต์)

งานหลักของ CFG คือการไปซื้อกิจการของสโมสรฟุตบอลขนาดกลางหรือเล็ก ด้วยโมเดล “มัลติ-คลับ” เพื่อแบ่งปัน หมุนเวียนทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ร่วมกัน ปัจจุบันมีพันธมิตรกับ 12 สโมสร จากทุกทวีปทั่วโลก

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด – อสังหาริมทรัพย์ และศูนย์การค้าในสหรัฐอเมริกา

ในเวลานี้ เกลเซอร์ แฟมิลี่ ยังคงเป็นเจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ครอบครองมาตั้งแต่ปี 2005 ยกเว้นจะมีการตัดสินใจขายสโมสรไปให้ชีค ยาสซิม หรือเซอร์จิม แรดคลิฟฟ์ ซึ่งยืดเยื้อมาแล้วหลายเดือน

มัลคอล์ม เกลเซอร์ เป็นแกนนำในการเทคโอเวอร์สโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด เคยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ แต่หลังจากเสียชีวิตในอีก 9 ปีต่อมา บรรดาลูก ๆ ของเขาก็เข้ามาบริหารสโมสรต่อจากคุณพ่อ

ธุรกิจอื่นๆ ที่ทำเงินให้ครอบครัวเกลเซอร์ คือการเป็นเจ้าของพื้นที่ศูนย์การค้าระดับพรีเมียมที่มีมากกว่า 6.7 ล้านตารางฟุตทั่วสหรัฐฯ และยังเป็นเจ้าของทีมแทมป้าเบย์ บัคคาเนียร์ ในอเมริกันฟุตบอล NFL

ตลอด 18 ปี ในการบริหารของเกลเซอร์ แฟมิลี่ ไม่เป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ ปีศาจแดง เพราะมองว่าไม่เคยลงทุนกับสโมสรเลย อีกทั้งมีประเด็นการเข้าร่วมยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก จนเกิดการประท้วงอย่างรุนแรง

นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด – บริษัทน้ำมัน, ลีกฟุตบอล

เมื่อเดือนตุลาคม 2021 กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ หรือ PIF จากซาอุดีอารเบีย ประกาศเทกโอเวอร์นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด จากไมค์ แอชลี่ย์ ที่ครอบครองสโมสรมานานถึง 14 ปี ด้วยมูลค่า 300 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/newcastleunited

โดยบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่กองทุน PIF คือ ยาซีร์ อัล รูมายัน และมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอารเบีย เป็นกองทุนที่สนับสนุนหลายโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

รายได้มหาศาลของกองทุน PIF มาจากแหล่งน้ำมันดิบสำรองขนาดใหญ่ลำดับต้น ๆ ของโลก แต่ในอนาคตน้ำมันย่อมมีวันหมด กองทุนนี้จึงต้องหารายได้ทางอื่นเพิ่ม เช่น การลงทุนในต่างประเทศ, ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น

นอกจากนี้ กองทุน PIF ยังได้เข้าไปถือหุ้น 4 สโมสรฟุตบอลในซาอุ โปร ลีก ได้แก่ อัล นาสเซอร์ ทีมของคริสเตียโน่ โรนัลโด้, อัล อิตติฮัด ทีมของคาริม เบนเซม่า, อัล อาห์ลี และอัล ฮิลาล สโมสรละ 75 เปอร์เซนต์

น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ – เรือบรรทุกน้ำมัน และเรือคอนเทนเนอร์

ในช่วงกลางปี 2017 เอวานเจลอส มารินาคิส นักธุรกิจชาวกรีซ เข้าซื้อสโมสรน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ จากตระกูลอัล-ฮาซาวี มหาเศรษฐีชาวคูเวต โดยเมื่อซีซั่นที่แล้ว ได้กลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี

รายได้หลักของมารินาคิส มาจากการก่อตั้ง Capital Maritime & Trading บริษัทที่ทำกิจการเรือบรรทุกน้ำมัน และเรือคอนเทนเนอร์หลายสิบลำ รวมถึงอยู่ในวงการสื่อ ด้วยการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์หลายช่อง

นอกจากนี้ มารินาคิสได้เข้าสู่การเมือง โดยเป็นสมาชิกสภาเมืองปิเรอุส เมืองในเขตชานกรุงเอเธนส์ และได้ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือปิเรอุส ให้เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นจุดหมายปลายทางของเรือสำราญ

นอกจากจะบริหารทีม “เจ้าป่า” แล้ว มารินาคิส ยังได้ซื้อโอลิมเปียกอส สโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในลีกบ้านเกิด ตั้งแต่ปี 2010 โดยยุคที่เขาเป็นเจ้าของสโมสร คว้าแชมป์ซูเปอร์ลีก 7 ซีซั่นติดต่อกัน

เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด – บริษัทผลิตกระดาษชำระ

ปี 2013 อับดุลลาห์ บิน มูซาอัด บิน อับดุลาซิซ อัล ซาอัด เข้ามาซื้อหุ้นเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด 50 เปอร์เซ็นต์ จากเควิน แมคเคบ ก่อนที่อีก 5 ปีต่อมา เจ้าชายจากซาอุดีอารเบีย ได้ควบคุมกิจการของสโมสรแบบเต็มตัว

รายได้ของเจ้าชายอับดุลลาห์ มาจากบริษัทผลิตกระดาษในซาอุดีอารเบีย, ที่มีผลิตภัณฑ์อย่างกระดาษชำระ, ม้วนกระดาษชำระ และผ้ากันเปื้อน ซึ่งจะนำสินค้าเหล่านี้ไปขายทั่วตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ

นอกจากจะครอบครอง “ดาบคู่” แล้ว เจ้าชายอับดุลลาห์ ยังเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลอย่างแบร์ช็อต ในลีกเบลเยียม, เกราล่า ยูไนเต็ด ในลีกอินเดีย, อัล-ฮิลาล ยูไนเต็ด ในลีกยูเออี และชาโตรูซ์ ในลีกฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม เจ้าชายอับดุลลาห์ มีความต้องการที่จะขายสโมสร แม้ว่าเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ดจะได้เลื่อนชั้นกลับมาเล่นในพรีเมียร์ลีกก็ตาม ซึ่งโดซี่ เอ็มโมบูโอซี่ นักธุรกิจชาวไนจีเรีย เคยยื่นข้อเสนอมาแล้ว แต่ไม่เป็นผล

ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ – นักค้าสกุลเงิน, ซอฟท์แวร์ และความบันเทิง

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/TottenhamHotspur

เจ้าของทีมท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ คนปัจจุบัน คือ โจ ลูอิส นักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้ง ENIC Group บริษัทด้านการลงทุน ที่เข้ามาซื้อหุ้นจำนวน 27 เปอร์เซ็นต์ จากเจ้าของเดิมอย่างเซอร์อลัน ชูการ์ ตั้งแต่ปี 1991

วันที่ 16 กันยายน ปีถัดมา เกิดเหตุการณ์ Black Wednesday หรือวิกฤตค่าเงินปอนด์ในสหราชอาณาจักรที่อ่อนค่าลง จนต้องถอนตัวจากกลไกอัตราแลกเปลี่ยนของยุโรป (ERM) ลูอิส ในฐานะนักค้าสกุลเงิน ทำเงินได้ประมาณ 1 พันล้านปอนด์

ENIC Group ได้ลงทุนกับทีมฟุตบอลหลายสโมสร เช่น สลาเวีย ปราก ของเช็ก, เรนเจอร์ส ของสกอตแลนด์ และเออีเค เอเธนส์ ของกรีซ อีกทั้งยังลงทุนในด้านธุรกิจซอฟท์แวร์, ความบันเทิง และธุรกิจอื่น ๆ

ปี 2001 แดเนียล เลวี่ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสโมสร และในปี 2007 ลูอิสได้ซื้อหุ้นจากชูการ์ที่เหลืออยู่ 12 เปอร์เซ็นต์ ก่อนครอบครองสเปอร์สแบบเบ็ดเสร็จ ปัจจุบัน ENIC Group ถือหุ้นอยู่ที่ 85 เปอร์เซ็นต์

เวสต์แฮม ยูไนเต็ด – นิตยสารเรท R และอสังหาริมทรัพย์

ปี 2010 เดวิด โกลด์ และเดวิด ซัลลิแวน ร่วมกันเทกโอเวอร์เวสต์แฮม ยูไนเต็ด หลังจากขายสโมสรเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ที่ครองมาตั้งแต่ปี 1993 ให้กับคาร์สัน หยาง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง เมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้น

รายได้ของโกลด์ ได้จากธุรกิจที่เกี่ยวกับนิตยสารสำหรับผู้ใหญ่ (Restricted) อย่างเช่น Sunday Sport แท็บลอยด์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการนำเสนอภาพโป๊เปลือย ส่วนซัลลิแวนมีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เดือนพฤศจิกายน 2021 แดเนียล เครตินสกี้ นักธุรกิจชาวเช็ก เจ้าของ EPH บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศ ซื้อหุ้นของเวสต์แฮม 27 เปอร์เซ็นต์ พร้อมดึงนักเตะร่วมชาติ 3 คน คือ โธมัส ซูเซ็ค, วลาดิเมียร์ คูฟาล และอเล็กซ์ คราล

เดวิด โกลด์ เสียชีวิตเมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วยวัย 86 ปี ทำให้หุ้นจำนวน 25.1 เปอร์เซ็นต์ ตกเป็นของทายาทของเขา โดยเดวิด ซัลลิแวน ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นสูงสุดที่ 38.8 เปอร์เซ็นต์ และมีนักลงทุนรายอื่น ๆ อีก 9.1 เปอร์เซนต์

วูล์ฟแฮมตัน – แฟชั่น, ยา, ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์

ในปี 2016 โฟซุน อินเตอร์เนชั่นแนล กลุ่มทุนจากประเทศจีน นำโดยกั๋ว กวงชาง ได้เข้ามาซื้อกิจการของวูล์ฟแฮมป์ตัน ทีมลีกแชมเปี้ยนชิพ (ในขณะนั้น) ต่อจากสตีฟ มอร์แกน ด้วยมูลค่าราว 30 ล้านปอนด์

โฟซุน อินเตอร์เนชั่นแนล มีรายได้จากธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร, แฟชั่น, ค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเป็นผู้พัฒนาและทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในนามของโฟซุน ฟาร์มาซูติคอล เมื่อ 3 ปีก่อน

นับตั้งแต่เทคโอเวอร์วูล์ฟแฮมตัน โฟซุน กรุ๊ป ได้ทุ่มเงินให้กับทีมชุดใหญ่ และมีความทะเยอทะยานอย่างสูงที่จะเปลี่ยนสโมสรดังจากย่านเวสต์ มิดแลนด์ ให้เป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ในด้านแฟชั่น, อีสปอร์ต และอื่น ๆ

เดือนตุลาคม 2021 โฟซุนฯ ขายหุ้นบางส่วนให้กับ PEAK6 บริษัทจัดการการลงทุนของสหรัฐอเมริกา และมีข่าวลือว่ากำลังมองหาผู้ร่วมลงทุนใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้วูล์ฟแฮมตันสามารถสู้กับทีมอื่น ๆ ในพรีเมียร์ลีก 

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://theathletic.com/4545002/2023/07/16/premier-league-owners-money/