Categories
Special Content

ติอาโก มอตตา กับปรัชญาลูกหนังล้ำสมัยที่ซ่อนอยู่ใน 2-7-2

ติอาโก มอตตา เทรนเนอร์ชาวบราซิลวัยเพียง 41 ปี เป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมฟุตบอลคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองแม้ยังไม่เคยพาทีมประสบความสำเร็จใดๆ ผลงานดีที่สุดเพียงพาโบโลญญาจบซีซันด้วยเลขตัวเดียวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นมาเล่นกัลโช เซเรียอา ฤดูกาล 2015–16 และตอนนี้กำลังพารอสโซบลู (ทีมแดงน้ำเงิน) ลุ้นโควตาทัวร์นาเมนท์ยุโรป

ยิ่งกว่านั้น มอตตาเคยตกเป็นข่าวดังในสื่อฟุตบอลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 มอตตา ซึ่งเพิ่งแขวนสตั๊ดราวครึ่งปีก่อนหน้า ให้สัมภาษณ์กับสื่อยักษ์อิตาลี ลา กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต ขณะรับตำแหน่งโค้ชใหม่ของทีมปารีส แซงต์-แยร์กแมง รุ่นยู-19 ว่า เขาต้องการปฏิวัติฟุตบอลผ่านรูปแบบการเล่น 4-3-3 ด้วยการตีความใหม่เป็น 2-7-2 (ซึ่งบทความนี้จะขยายความและวิเคราะห์ทางแทคติกภายหลัง)

ต้นเมษายนที่ผ่านมามีรายงานว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สนใจที่จะดึงมอตตามาคุมทีมแทนเอริก เทน ฮาก เพราะพอใจผลงานและรูปแบบการเล่นนับตั้งแต่เป็นเทรนเนอร์ให้โบโลญญาในเดือนกันยายน 2022 มอตตาพารอสโซบลูจบซีซันแรกด้วยอันดับ 9 และมีลุ้นจบซีซันนี้ด้วยท็อป-4 

นอกจากแมนฯยูไนเต็ด ยูเวนตุสเป็นอีกทีมที่ต้องการอดีตมิดฟิลด์ทีมชาติบราซิล/อิตาลี ซึ่งกำลังจะหมดสัญญากับโบโลญญาหลังซีซันนี้จบลง ดาริโอ คาโนวี เอเยนต์ของมอตตาเคยกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า มอตตาปรารถนาจะคุมทีมลงแข่งแชมเปียนส์ ลีก สักวันหนึ่ง ซึ่งนั่นทำให้โอกาสของแมนฯยูไนเต็ดเป็นไปได้น้อยกว่ายูเวนตุส อย่างไรก็ตาม “เรด เดวิลส์” ยังมีข่าวเชื่อมโยงกับแกรห์ม พอตเตอร์ และแกเรธ เซาธ์เกต ในฐานะผู้จัดการทีมใหม่ด้วย แม้กระทั่งเทน ฮาก จะทำหน้าที่ต่อไปเป็นปีที่ 3 ยังไม่สามารถขีดทิ้งได้

มิดฟิลด์สารพัดประโยชน์ ชาญฉลาดเชิงเทคนิค

มอตตาเกิดวันที่ 28 สิงหาคม 1982 ที่เซา เบอร์นาโด ดู คัมโป ในรัฐเซา เปาโล ประเทศบราซิล ย้ายจากคลับ แอตเลติโก ยูเวนตุส ทีมลูกหนังในเซา เปาโล มาอยู่บาร์เซโลนาเมื่อปี 1999 ขณะอายุ 17 ปี แต่เริ่มกับทีมชุด บี มีสถิติ 12 ประตูจาก 84 นัดเฉพาะบอลลีก ก่อนถูกโปรโมทขึ้นชุดใหญ่ในปี 2001

มอตตาค้าแข้งที่บาร์เซโลนาระหว่างปี 2001 – 2007  ทำ 9 ประตูจาก 139 นัดรวมทุกรายการ โชคร้ายที่บาดเจ็บเป็นระยะๆ รวมถึงเอ็นเข่าซ้ายจากเกมกับเซบีญา วันที่ 11 กันยายน 2004 ต้องพักรักษาตัวถึง 7 เดือน นอกจากนี้ยังเคยตกเป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อจากยูฟา คัพ รอบ 4 นัดแรก วันที่ 11 มีนาคม 2004 ซึ่งบาร์เซโลนาแพ้ 0-1 ในบ้านเซลติก เมื่อเขาและโรเบิร์ต ดักลาส นายทวารเจ้าบ้าน ได้รับใบแดงจากเหตุทะเลาะวิวาทในอุโมงค์ขณะพักครึ่ง

หลังถอดยูนิฟอร์มบาร์ซา มอตตาย้ายไปเล่นให้อัตเลติโก มาดริด ซีซัน 2007-08 และเจนัว ซีซัน 2008-09 ตามด้วยอีก 2 ซีซันครึ่งกับอินเตอร์ มิลาน ก่อนย้ายไปอยู่ปารีส แซงต์-แยร์กแมง ด้วยค่าตัวประมาณ 10 ล้านยูโรในตลาดฤดูหนาวปี 2012 มอตตาเล่นให้เปแอสเช 6 ซีซันครึ่ง ทำ 12 ประตูจาก 232 นัดรวมทุกรายการ และคว้าแชมป์กับยักษ์ใหญ่แห่งปารีสถึง 19รายการ รวมถึงแชมป์ลีกเอิง 5 สมัย ก่อนแขวนสตั๊ดหลังจบซีซัน 2017-18 และผันตัวเองไปเป็นโค้ช ยู-19 ของสโมสร

ตลอดอาชีพค้าแข้ง มอตตาชนะเลิศถึง 27 รายการ รวมถึงแชมป์ลา ลีกา 2 สมัยซ้อน และชนะเลิศแชมเปียนส์ ลีก ปี 2006 กับบาร์เซโลนา และอยู่ในทีมอินเตอร์ มิลาน ชุดทริปเปิล แชมป์ ซีซัน 2009-10 (เซเรีย อา, โคปปา อิตาเลีย และแชมเปียนส์ ลีก)

สำหรับทีมชาติ มอตตาเคยเล่นให้ทีมบราซิล ยู-17 และ ยู-23 ก่อนติดชุดใหญ่ไปแข่งขันคอนคาเคฟ โกลด์ คัพ ปี 2003 ซึ่งได้ลงสำรอง 2 นัดกับเม็กซิโกและฮอนดูรัสในรอบแบ่งกลุ่มรวมเพียง 71 นาที 

หลายปีต่อมา มีข่าวระบุว่ามอตตาอาจถูกทีมชาติอิตาลีเรียกตัวและอาจได้ไปเล่นเวิลด์คัพ 2010 เนื่องจากเขาถือ 2 สัญชาติ (dual nationality)  โดยปู่ของเขาเป็นชาวอิตาเลียนเนื่องจากปู่ทวดย้ายถิ่นฐานจาก Polesella ในอิตาลีมาอยู่ทวีปอเมริกาใต้ช่วงต้นทศวรรษ 1900

มอตตาเล่นให้อิตาลีนัดแรก วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2011 ถูกเปลี่ยนลงมานาทีที่ 63 ของเกมกระชับมิตรที่เสมอเยอรมนี 1-1 รวมแล้วเขาแข่งขันให้ทีมอัซซูรี 30 นัด ทำ 1 ประตูระหว่างปี 2011 – 2016 และได้รับเหรียญรองแชมป์ยูโร 2012 รวมถึงติดทีมชาติไปแข่งเวิลด์ คัพ 2014

สไตล์การเล่นของมอตตาเป็นประเด็นน่าสนใจเพราะอาจส่งผลต่อแนวคิดในฐานะเทรนเนอร์ มอตตาได้รับนิยามว่าเป็น combative player หรือนักเตะแนวนักสู้พันธุ์ดุ เล่นได้ทั้ง defensive midfielder และ central midfielder แต่ความจริงเล่นได้หลากหลายหน้าที่ในกองกลางด้วยความเฉลียวฉลาดเชิงเทคนิคและสารพัดประโยชน์

กับทีมชาติอิตาลี โค้ชเซซาเร ปรานเดลลี ให้เล่นเป็น deep-lying playmaker หรือ attacking midfielder เพราะมองว่ามอตต้าสามารถจ่ายบอลเพื่อเซตจังหวะการเล่นในแดนกลางได้ดี หรือในยูโร 2012 มอตตาทำหน้าที่ใหม่เป็น false attacking midfielder ในฟอร์เมชัน 4–3–1–2 ของปรานเดลลี บทบาทของเขาเปรียบเสมือน metodista ในภาษาอิตาเลียนหรือเซ็นเตอร์ฮาล์ฟนั่นเอง เนื่องจากเป็นตัวควบคุมการเล่นในกองกลางและช่วยเหลือแนวรับของทีม

แม้ได้รับเสียงชื่นชมเรื่องแทคเกิล, การอ่านเกม และคุณสมบัติเกมรับอย่างเช่น ball winner แต่จุดเด่นที่สุดของมอตตาเป็นการคอนโทรลบอล, เทคนิค, วิสัยทัศน์ และระยะการจ่ายบอล อีกทั้งมอตตายังมีสรีระแข็งแกร่ง, ลูกโหม่งดี และสามารถวิ่งตัดหลังเข้าไปในเขตโทษ จึงเป็นตัวโจมตีทางอากาศที่อันตราย รวมถึงการซัดบอลจากระยะไกล แต่มักโดนวิจารณ์เรื่องความก้าวร้าวในสนามและขาดความเร็ว

ประกาศปฏิวัติฟุตบอลแม้ยังไม่มีโปร ไลเซนซ์

ปารีส แซงต์-แยร์กแมงให้มอตตาคุมทีมยู-19 หลังแขวนสตั๊ดไม่กี่เดือน มอตตาสมัครเข้าเรียนคอร์สยูฟา โปร ไลเซนซ์ ที่ Centro Tecnico Federale di Coverciano ในเดือนสิงหาคม 2019 และได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2020 แต่ระหว่างนั้นในเดือนตุลาคม 2019 เจนัว ซึ่งรั้งอันดับรองบ๊วยของเซเรีย อา ได้แต่งตั้งมอตตาเป็นผู้จัดการทีมแทนออเรลิโอ อันเดรียสโซลี แต่ไล่ออกอย่างรวดเร็วปลายธันวาคมหลังคุมทีมเพียง 10 นัด เจนัวชนะ 2 นัด เสมอ 3 นัด แพ้ 5 นัด

กรกฎาคม 2021 มอตตาได้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมของสเปเซียแทนวินเซนโซ อิตาเลียโน ซึ่งลาออกไปคุมทีมฟิออเรนตินา เขาทำงานเต็มซีซัน มีผลงานชนะ 11 นัด เสมอ 6 นัด แพ้ 23 นัด, เคยได้รับรางวัลเทรนเนอร์ยอดเยี่ยมของเซเรีย อา ประจำเดือนมกราคม 2022 เมื่อสเปเซียชนะ 3 นัดรวด และท้ายสุดช่วยให้ทีมรอดตกชั้นหวุดหวิด 

มอตตาตกลงยกเลิกสัญญากับสเปเซีย วันที่ 28 มิถุนายน 2022 ก่อนรับตำแหน่งผู้จัดการทีมโบโลญญา วันที่ 12 กันยายน 2022 แทนซินิซา มิไฮจ์โลวิช สามารถพาทีมรอซโซบลูจบซีซันด้วยอันดับ 9 เป็นเลขตัวเดียวครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นมาเล่นเซเรียอา ฤดูกาล 2015–16 และยังได้รางวัลเทรนเนอร์ยอดเยี่ยมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2023

มอตตาเป็นหนึ่งในเทรนเนอร์คลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองจากไอเดียการทำทีม เคยเรียกเสียงฮือฮาเมื่อให้สัมภาษณ์กับลา กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต ในเดือนพฤศจิกายน 2018 ทั้งที่เพิ่งรับงานโค้ชครั้งแรกในชีวิตกับทีมยู-19 ของเปแอสเช และยังไม่ได้ยูฟา โปร ไลเซนซ์ ด้วยซ้ำ เมื่อเขาประกาศว่ามีเป้าหมายปฏิวัติฟุตบอลผ่านรูปแบบการเล่น 4-3-3 ด้วยการตีความใหม่เป็น 2-7-2

“ความคิดของผมคือ เล่นเกมบุก คอนโทรลเกมได้ ไฮ-เพรสซิ่ง และเต็มไปด้วยการเคลื่อนที่ทั้งขณะมีและไม่มีบอล ผมต้องการให้ลูกทีมที่กำลังครองบอลมีวิธีแก้เกมอยู่ในหัว 3-4 รูปแบบเสมอ พร้อมทั้งมีเพื่อนร่วมทีม 2 คนอยู่ใกล้ๆเพื่อช่วยเหลือ”

“ผมไม่ชอบตัวเลขในสนาม (ฟอร์เมชันต่างๆ) เพราะมันหลอกคุณได้ บางทีทีมสามารถเปิดเกมรุกได้สุดๆด้วยระบบการเล่น 5–3–2 และสามารถตั้งรับได้เหนียวแน่นจาก 4–3–3 ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับคุณภาพของนักฟุตบอล”

“ผมมีแมตช์หนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ที่ฟูลแบ็ค 2 คนลงเอยด้วยการเล่นตำแหน่งเบอร์ 9 และ 10 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมไม่ชอบนักเตะอย่างซามูเอลและคิเอลลินีที่เป็นกองหลังธรรมชาติ ถ้าอย่างนั้นมันควรเป็นฟอร์เมชัน 2–7–2 หรือเปล่า ผู้รักษาประตูถูกนับเป็นหนึ่งในกองกลาง 7 คน สำหรับผมแล้ว กองหน้าคือกองหลังคนแรก และผู้รักษาประตูเป็นกองหน้าคนแรก ผู้รักษาประตูเป็นคนเริ่มการเล่นด้วยเท้า กองหน้าเป็นคนแรกที่เข้ากดดันเพื่อแย่งบอลกลับคืนมา”

ตีความปรัชญาฟุตบอลของมอตตาผ่านฟอร์เมชัน 2-7-2

โทนี โรเบิร์ตสัน นักข่าวดิจิตอลของ The Sun อธิบายปรัชญาฟุตบอลของกุนซือวัย 41 ปีว่า ตัวเลข 2-7-2 ดูแปลกเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะมอตตามองผู้รักษาประตูเป็นเหมือนผู้เล่นมิดฟิลด์คนหนึ่งของเขา

แต่ความจริงแล้ว มอตตาอ่านแผนผัง 2-7-2 จากข้างสนามด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่จากกรอบประตูของทีมตัวเองไปยังฝั่งตรงข้ามเหมือนมุมมองปกติ ดังนั้นตัวเลข 2 จึงเป็นแบ็คขวาและปีกขวา กับแบ็คซ้ายกับปีกซ้าย โดยกองกลาง 7 คนประกอบด้วยผู้รักษาประตู, เซ็นเตอร์แบ็ค 2 คน, ดีเฟนซีพ มิดฟิลด์, เซ็นทรัล มิดฟิลด์ 2 คน และศูนย์หน้า

โรเบิร์ตสันสรุปว่า อีกนัยหนึ่ง 2-7-2 สำหรับมอตตาก็เป็นฟอร์เมชันปกติของ 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 นั่นเอง หากวิเคราะห์จากรูปแบบการเล่นซีซันนี้ของโบโลญญา เห็นได้ชัดตรงกับปรัชญาข้อหนึ่งที่มอตตาพูดไว้เมื่อปี 2018 คือ โดดเด่นเรื่องการครองบอล รอสโซบลูจ่ายบอลแม่นยำสูงถึง 85.2% มากเป็นอันดับ 2 ของเซเรีย อา ณ ต้นเดือนเมษายน 2024 

การบิลด์อัพเพลย์ของโบโลญญาเริ่มที่ 1-3-2-5 แต่สามารถปรับเปลี่ยนเป็น 2-3-5 ตามด้วยอะไรที่คล้ายกับ 4-3-3 ซึ่งมิดฟิลด์เบอร์ 8 สองคนจะออกด้านข้างเพื่อสนับสนุนปีกและฟูลแบ็ค แต่โบโลญญามีจำนวนครอสบอลเข้ากรอบเขตโทษอยู่อันดับท้ายๆของลีกเมืองมะกะโรนี มอตตาชอบให้ลูกทีมเล่นกับพื้นที่ว่างและสร้างสรรค์จากตำแหน่งการยืนที่แคบๆ ซึ่งจะเห็นจากกองหน้าอย่างโจชัว ซีร์กเซ ถอยลงไปในพื้นที่ว่างเพื่อช่วยลำเลียงบอลจาก box midfield ของทีม

สำหรับเกมรับ โบโลญญาจะใช้แทคติกไฮ-เพรส ก่อนปรับรูปแบบเป็น 4-1-4-1 mid-block นั่นทำให้ทีมของโบโลญญามีสไตล์การเล่นที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนและทำให้คู่แข่งงุนงงสับสนได้

วิเคราะห์รูปแบบการเล่นที่สลับซับซ้อนของทีมโบโลญญา

เว็บไซต์ The Football Analyst ได้จัดทำบทความวิเคราะห์แทคติกของมอตตาไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มจากการสร้างเกมที่แบ่งออกเป็น low build-up และ high build-up

มอตตาจะวางฟอร์เมชัน 4-2-5 สำหรับ low build-up โดยให้เซ็นเตอร์แบ็ค 2 คนยืนด้านข้าง ผู้รักษาประตูจะยืนบริเวณเสาข้างหนึ่ง อีกข้างมีผู้เล่นคนหนึ่ง โดยมีผู้เล่นอีก 2 คนอยู่ด้านหน้า ทำให้ฟอร์มตัวเป็น box-midfield ตรงกลางบริเวณกรอบเขตโทษ บ่อยครั้งมิดฟิลด์ตัวรุกจะถอยลงมาร่วมด้วยเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เล่นที่สามารถร่วมช่วยกันแก้เพรสของฝ่ายตรงข้าม

ส่วน high build-up รูปแบบจะเปลี่ยนเป็น 1-3-2-5 คล้ายกับ low build-up ต่างกันเพียงผู้รักษาประตูยืนหน้าโกล์คนเดียวเหมือนปกติ เซ็นเตอร์แบ็ค 2 คนกับผู้เล่นอีก 1 คนดันตัวขึ้นไปข้างหน้า 

อย่างไรก็ตาม โบโลญญาของมอตตามักโรเตชันรูปแบบบิลด์อัพเพื่อสร้างความสับสนให้คู่แข่งขัน หรือปรับตัวเองไปตามฟอร์เมชันของฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้จำนวนผู้เล่นมีความได้เปรียบตามพื้นที่หรือโซนต่างๆ หวังผลในการทำลายเกมรับและเข้าไปทำประตูได้มากขึ้น แต่การปรับเปลี่ยนที่ใช้บ่อยที่สุดเป็นการดันเซ็นเตอร์แบ็คคนหนึ่งขึ้นไปยังกองกลางเป็นรูปแบบ 1-2-3-5 

สำหรับการเข้าโจมตี โบโลญญาเป็นทีมหนึ่งที่ยอดเยี่ยมในพื้นที่ final third มักสร้างโอกาสได้เสมอ หลักๆคือโจมตีพื้นที่ว่างของคู่แข่งระหว่างเซ็นเตอร์แบ็คกับฟูลแบ็คหรือ half-space นั่นเอง ลูกทีมของมอตตามักโจมตีบริเวณด้านข้างของสนามด้วยการโอเวอร์แลปของผู้เล่นมิดฟิลด์

นอกเหนือโจมตี half-space แล้ว มอตตายังมีแทคติกเกมบุกอีกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์คือผู้เล่นในแดนกลางให้มีจำนวนเหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งปกติมักวางผู้เล่น 4 คนเพื่อต่อกรกับ box-midfield ของรอสโซบลู โดยมอตตาจะแก้เกมด้วยการให้กองหน้าถอยลงมา สร้างความได้เปรียบในจำนวนผู้เล่นกองกลาง และมักจะประสบความสำเร็จในการทำลายแนวรับของคู่แข่ง ซึ่งเป็นไปได้ที่เซ็นเตอร์แบ็คจะตามไปประกบกองหน้า นั่นเป็นโอกาสให้โบโลญญาเข้าไปทะลวงพื้นที่ว่างที่อยู่ข้างหลัง

The Football Analyst มองว่าการเล่นของโบโลญญาเป็นไปในลักษณะที่มอตตาเคยให้สัมภาษณ์ปลายปี 2018 คือ เล่นเกมบุก คอนโทรลเกมได้ ไฮ-เพรสซิ่ง และเต็มไปด้วยการเคลื่อนที่ทั้งขณะมีหรือไม่มีบอล ส่วนใหญ่จะทำเช่นนั้นไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะใช้รูปแบบไหนมาต่อกร หลักการสำคัญข้อหนึ่งที่มอตตาทำได้สำเร็จคือ สร้างความไหลเวียนภายในระบบของทีมผ่านinterchanges และ rotations หลายรูปแบบ

ตัวอย่างเช่น มอตตาต้องการให้เซ็นเตอร์แบ็คของโฮลดิ้งมิดฟิลด์โรเตทและเปลี่ยนตำแหน่งกันเพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามสับสน บ่อยครั้งที่มิดฟิลด์ตัวรับถอยลงเพื่อลากกองกลางคู่แข่งขันตามมา ซึ่งจะเปิดพื้นที่ว่างตรงกลาง เซ็นเตอร์แบ็คจะวิ่งเข้าไปใน open space นั้นเพื่อรับบอลและลำเลียงขึ้นไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การเล่นลักษณะนี้ได้ต้องอาศัยทักษะเชิงแทคติกและเทคนิคจากนักเตะเป็นอันมาก การไหลเวียนภายในระบบจะสร้างไดนามิกใหม่และหลากหลายให้กับเกมบุกของโบโลญญา อีกทั้งยังช่วยเพิ่มทางออกใหม่ๆในการเอาชนะเพรสซิ่งของทีมคู่แข่งด้วย

ในส่วนของเกมรับก็ไม่แตกต่างจากบิลด์อัพและเกมบุก โบโลญญาจะมีทั้ง high press และ low press ทีมของมอตตาจะดูดุดันแม้ทั้งจังหวะไม่มีบอลเช่น high press มอตตาต้องการให้นักเตะตามประกบคู่แข่งแบบ man-to-man และเข้าเพรสซิ่งอย่างเข้มข้น ทีมรอสโซบลูมักจะแย่งบอลได้บริเวณพื้นที่ด้านบนของสนามเสมอ แน่นอนบ่อยครั้งที่พวกเขาได้ประตูจากไฮเพรส

สำหรับ low press โบโลญญาจะปรับฟอร์เมชันเป็น 1-4-5-1 สร้าง mid-block เพื่อปิดพื้นที่บริเวณกลางสนาม บีบให้คู่แข่งออกบอลไปด้านข้าง มอตตาต้องการให้ลูกทีมประกบมิดฟิลด์ฝ่ายตรงข้ามแบบ man-mark อย่างไรก็ตามโบโลญญามีเกมรับที่ไดนามิกสูง แปรเปลี่ยนไปตามการเล่นของคู่แข่ง นอกจาก 1-4-5-1 ยังอาจเป็น 1-4-1-4-1 หรือ 1-4-2-3-1 ได้อีกด้วย

2-7-2 อาจเป็นการจิกกัดด้วยอารมณ์ขันของโค้ชหัวก้าวหน้า

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ transfermarkt ในการแข่งขันฤดูกาล 2023-24 ฟอร์เมชันที่โบโลญญาใช้เป็นหลักคือ 4-2-3-1รองลงมาคือ 4-1-4-1 บางครั้งเป็น 4-3-3 Attacking ซึ่งก็ตรงอย่างที่มอตตาพยายามสื่อปรัชญาฟุตบอลของเขากับลา กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต เมื่อกว่า 5 ปีที่แล้วว่า เขาเพียงต้องการตีความฟอร์เมชันให้แตกต่างจากลักษณะเดิมๆที่ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะการเล่นที่แท้จริงเลย เขาจึงอ่านฟอร์เมชันด้วยวิธีใหม่คือจากด้านข้างของสนาม ซึ่งเมื่อเวลาผ่านเลยจนถึงตอนนี้ 2-7-2 อาจเป็นเพียงอารมณ์ขันเชิงจิกกัดตามประสาโค้ชใหม่ไฟแรงที่มีความเป็นศิลปินซุกซ่อนอยู่

เราสามารถมองอีกมุมหนึ่งได้ว่า แนวคิดที่ให้สัมภาษณ์ปลายปี 2018 ถือเป็นไอเดียหัวก้าวหน้าเพราะทุกวันนี้ ไฮเพรสซิ่ง, การให้ความสำคัญกับเปอร์เซ็นต์การครองบอล, โรเตชันและทรานซิชันตำแหน่งระหว่างผู้เล่น ถือเป็นแทคติกปกติและได้รับความนิยมในหมู่สโมสรชั้นนำไปแล้ว

ดังที่ The Football Analyst ได้สรุปบทวิเคราะห์แทคติกของโบโลญญาว่า เห็นได้ชัดมอตตามีกลยุทธ์ที่ซับซ้อน ซึ่งสามารถยกให้เป็นวิวัฒนาการของปรัชญาฟุตบอลก็ไม่ผิดความจริงนัก สร้างสรรค์ให้เกิดรูปแบบการเล่นใหม่ๆที่ทันสมัยและมีชีวิตชีวา นำไปสู่เกมฟุตบอลที่สวยงามมอบแก่ผู้ชม

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

พรีเมียร์ลีกกับปรากฎการณ์ Goal Explosion ในซีซั่น 2023-24

เกมพรีเมียร์ลีกนัดตกค้างเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2024 ที่วิทาลิตี สเตเดียม ลูตัน ทาวน์ ทีมเยือนที่อยู่เหนือโซนตกชั้น ขึ้นนำบอร์นมัธ 3-0 เมื่อจบครึ่งแรก แต่ครึ่งหลังเริ่มไปได้เพียง 5 นาที เจ้าบ้านก็ตีไข่แตก ตามด้วยประตูที่ 2-3 นาทีที่ 62 และ 64ก่อนแซงนำนาทีที่ 83 และเป็นฝ่ายชนะลูตัน 4-3 เป็นอีกหนึ่งนัดที่ถูกบันทึกฐานะ the greatest comebacks ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก

หากวางเงินข้างบอร์นมัธ 10 เหรียญสหรัฐระหว่างพักครึ่ง จะได้เงินตอบแทนถึง 150 เหรียญสหรัฐจากการแข่งขัน ซึ่งเป็นนัดแรกในรอบ 21 ปี ของพรีเมียร์ลีกที่ทีมพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะหลังตามอยู่ 0-3 เมื่อจบครึ่งแรก และยังเป็นครั้งที่ 5 เท่านั้นในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก

ขอบคุณภาพจาก  https://www.premierleague.com/news/3930809

4 ทีมที่ทำสำเร็จก่อนหน้านี้ได้แก่ ลีดส์ (ชนะดาร์บี ในเดือนพฤศจิกายน 1997), วิมเบิลดัน (ชนะเวสต์แฮม ในเดือนกันยายน 1998), แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (ชนะทอตแนม ฮอทสเปอร์ส ในเดือนกันยายน 2001) และวูลฟ์แฮมป์ตัน (ชนะเลสเตอร์ ในเดือนตุลาคม 2003)

ไรอัน โอ‘แฮนลอน นักข่าวของเว็บไซต์ ESPN.com ยกเกมระหว่างบอร์นมัธกับลูตันเป็นตัวอย่างเพื่อจะบอกว่า การทำสกอร์กันมากมายไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023-24 ยืนยันด้วยสถิติย้อนหลังกลับไป 15 ปีถึงซีซัน 2008-09

แนวโน้มพรีเมียร์ลีกยิง 200 ประตูเพิ่มจากซีซัน 2022-23

จากกราฟแสดงค่าการทำประตูเฉลี่ยต่อนัดในพรีเมียร์ลีกช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จำนวนค่อนข้างใกล้เคียงกันระหว่าง 1.24ประตู ถึง 1.43 ประตูต่อนัด ไม่สามารถเบรกหรือทะลุแนว 1.5 ประตูได้เลย จนกระทั่งซีซันนี้ (นับจนถึงก่อนเบรกฟุตบอลทีมชาติในเดือนมีนาคม 2024) พบว่าตัวเลขพุ่งถึง 1.63 ประตูต่อนัด 

เราสามารถมองปรากฏการณ์ Goal Explosion ได้อีกรูปแบบหนึ่งด้วยการคำนวณค่าเฉลี่ยตลอด 15 ซีซันที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับ 1.37 ประตูต่อนัด หรืออีกนัยหนึ่ง ทีมๆหนึ่งจะทำสกอร์ได้ 52 ประตูจากการลงสนาม 1 ซีซัน 38 นัด ดังนั้นซีซันปัจจุบันใช้ตัวเลข 1.63 ประตูมาคำนวณ ทีมๆหนึ่งจะทำสกอร์ได้ประมาณ 62 ประตูเมื่อแข่งครบโปรแกรม 38 นัด

เมื่อนำ 52 ลบจาก 62 จะได้ว่า ทีมๆหนึ่งสามารถทำสกอร์ในซีซันนี้ได้มากกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 10 ประตู และเมื่อพรีเมียร์ลีกมี 20 สโมสร เท่ากับว่าฤดูกาล 2023-24 แฟนบอลอังกฤษจะได้เห็นการทำประตูเพิ่มขึ้นถึง 200 ลูกทีเดียว!!! ลองนึกภาพว่ามันมากมายขนาดไหนหากนำจังหวะการทำสกอร์ทั้งหมดรวมเป็นวิดิโอไฮไลท์ 1 คลิป ซึ่งสามารถอธิบายให้เห็นภาพ Goal Explosion ได้ชัดเจนขึ้น

จริงหรือประตูเพิ่มเพราะสิงห์เชิ้ตดำเพิ่มเวลาทดเจ็บ

หนึ่งในเหตุผลที่จำนวนประตูในพรีเมียร์ลีกเพิ่มเป็นเพราะเวลาแข่งขันเพิ่มขึ้น หรือ More time equals more goalsเนื่องจากฟุตบอลลีกอังกฤษตัดสินใจทำตามฟีฟาในฤดูกาล 2023-24 หลังจากมีการทดลองเพิ่มเวลาให้กับช่วงทดเวลาเจ็บในศึกลูกหนังเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ 

ฮาวเวิร์ด เวบบ์ ประธานของคณะกรรมการผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพในอังกฤษ (PGMOL) เคยให้สัมภาษณ์ก่อนเปิดซีซันนี้ว่า เวลาที่เพิ่มขึ้นจะโฟกัสจากจังหวะการทำประตู การเปลี่ยนตัวผู้เล่น การให้ใบแดงและการลงโทษใดๆ ทุกอย่างยังเป็นไปเหมือนเดิมยกเว้นแทคติกถ่วงเวลาจะได้รับการเฝ้ามองแบบเข้มข้นขึ้น โดยซีซันที่แล้ว พรีเมียร์ลีกทดเวลาเจ็บประมาณ 8.5นาที แต่หากนำวิธีการใหม่เข้าไปใช้ ช่วงเวลาเจ็บซีซันที่แล้วน่าจะอยู่ที่ 11.5 นาที หรือเพิ่มขึ้นราว 3 นาที

ณ เวลาที่โอ’แฮนลอน เขียนบทความชิ้นนี้ พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2023-24 แข่งขันถึงแมตช์วีคที่ 28 ซึ่งพบว่า กรรมการได้เพิ่มเวลาพิเศษเข้าไปเฉลี่ย 11.9 นาทีต่อนัด ซึ่งถือได้ว่าเวบบ์ประมาณการได้ใกล้เคียงความจริงมาก

11.9 นาทีต่อเกมที่เพิ่มจากเวลาแข่งขันปกติ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยตลอด 15 ซีซันก่อนหน้านี้  เส้นกราฟที่สร้างจะเข้าข่าย Added-Time Explosion ได้เช่นกัน เพราะระหว่างซีซัน 2008-09 ถึง 2021-22 ค่าเฉลี่ยของเวลาทดเจ็บอยู่ในกรอบ 6-8 นาที ก่อนจะทะลุเพดานขึ้นไปเกือบ 9 นาทีในซีซัน 2022-23 ที่ผ่านมา และเฉียด 12 นาทีในซีซันปัจจุบันที่ยังแข่งไม่จบโปรแกรม

สถิติพรีเมียร์ลีกซีซันนี้ระบุว่า มีสกอร์เกิดขึ้นรวมแล้ว 119 ประตูระหว่างช่วงทดเวลาเจ็บของครึ่งแรกและครึ่งหลัง เทียบกับ 84 ประตูที่เกิดขึ้นเต็มซีซัน 2022-23 และมากกว่าค่าเฉลี่ยจาก 15 ซีซันที่ผ่านมา 16 ประตู โดยสถิติสูงสุดเท่ากับ 103 ประตู ซึ่งเกิดขึ้นในซีซัน 2016-17 และอย่าลืมว่าซีซันนี้ยังเหลือการแข่งขันเกือบ 100 นัด

ดูเหมือนเป็นความจริงที่ว่า More time equals more goals เพราะเทียบกับ 15 ซีซันก่อนหน้า การทดเวลาเจ็บซีซันนี้เพิ่มขึ้น 73% ขณะที่ค่าเฉลี่ยที่ประตูเกิดขึ้นระหว่างทดเวลาเจ็บยังเพิ่มจากนัดละ 0.11 ประตูเป็น 0.21 ประตู หรือประมาณ 90% ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล เคลีย์ นักวิเคราะห์เกม ได้แสดงความเห็นผ่านจดหมายข่าว Expecting Goals ของเขาว่า อย่างที่ทราบกัน ประตูไม่ได้เกิดขึ้นกระจายไป ณ เวลาต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน ประเมินอย่างหยาบๆ 56% ของประตูทั้งหมดเกิดขึ้นในครึ่งหลัง โดยความน่าจะเป็นของประตูจะเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อเริ่มคิกออฟครึ่งหลัง แต่ค่าจะทรงตัวเกือบตลอดเวลาที่ผ่านไป ก่อนขึ้นถึงค่าสูงสุดระหว่างการทดเวลาเจ็บ

นั่นจึงไม่แปลกเลยหากสรุปว่า เวลาที่เพิ่มขึ้นของครึ่งหลัง จะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ของการเกิดประตูหรือ Expecting Goals ในแต่ละนัด แต่คงไม่มีใครคาดหวังว่า เวลา 73% ที่เพิ่มขึ้นจาก 15 ซีซันก่อนหน้า จะส่งผลให้จำนวนประตูเพิ่มขึ้น 73% เช่นกัน

ไม่ใช่เพียงช่วงทดเวลาเจ็บ แต่สกอร์ยังเกิดเพิ่มขึ้นในเวลาแข่งขันปกติด้วย จากค่าเฉลี่ย 15 ซีซันก่อนหน้านี้คือนัดละ 1.26ประตู กลายเป็น 1.41 ประตูซีซันนี้ เทียบกับ 1.32 ประตูในซีซัน 2022-23 ถือว่าเพิ่มขึ้นพอสมควร นั่นเท่ากับว่าทีมๆหนึ่งสามารถทำสกอร์เพิ่ม 5.7 ประตูต่อซีซัน หรือ 114 ประตูเมื่อรวมทั้งพรีเมียร์ลีก

เมื่อเวลาแข่งปกติยังคงเป็น 90 นาที แล้วอะไรทำให้ประตูเพิ่มขึ้น สัญชาตญาณแรกของโอ’แฮนลอน บอกว่า “จุดโทษ”

เนื่องจาก VAR โฟกัสการฟาวล์ที่ถูกกรรมการมองข้ามหรือไม่เห็น VAR ย่อมทำให้การยิงจุดโทษเพิ่มขึ้น แต่สถิติก็ชี้ว่าผู้เล่นในพรีเมียร์ลีกยิงแม่นขึ้นเช่นกัน โดย 10 ซีซันนับจากปี 2008 มีเพียง 3 ซีซันที่ conversion rate สูงกว่า 80% ส่วนใหญ่อยู่แถวๆ 78% แต่ 5 ซีซันที่ผ่านมา มีการเบรก 80% เกิดขึ้น 3 ซีซัน ขณะที่ซีซันนี้ ผู้เล่นยิงลูกโทษสำเร็จ 88.5%

อย่างไรก็ตามแม้นักเตะพรีเมียร์ลีกจบสกอร์จาก 12 หลาด้วย conversion rate ที่ดีขึ้น แต่ความจริงแล้วในซีซันนี้ penalty goals เกิดขึ้นในเวลาแข่งปกติเพียงนัดละ 0.11 ประตูเท่านั้น เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 0.09 ประตู ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยจาก 15 ซีซันก่อนหน้านี้ นั่นหมายความว่า จุดโทษไม่ใช่ตัวแปรที่ทำให้พรีเมียร์มีประตูเพิ่มขึ้นมากมายอย่างมีนัยยะ

ถ้าตัดจุดโทษออกไป สัญชาตญาณที่ 2 ของโอ’แฮนลอนบอกว่าอาจเป็น “ลูกเซตพีช” พิจารณาจากสโมสรต่างๆเริ่มให้ความสำคัญกับโค้ชที่เชี่ยวชาญลูกตั้งเตะมากกว่า แต่สถิติปฏิเสธการสันนิษฐานข้อนี้เพราะความจริงแล้ว ประตูส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาจากโอเพน เพลย์

แทคติกเพรสสูงเพิ่มโอกาสรุกทำสกอร์ให้ทั้ง 2 ฝั่ง

นักข่าวของ ESPN.com ยกเครดิตให้กับ เยอร์เกน คลอปป์ และเป๊ป กวาร์ดิโอลา เป็นผู้ส่งอิทธิพลให้ทีมต่างๆในพรีเมียร์ลีกจ่ายบอลและเพรสซิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลที่ตามมาคือ เพรสซิ่งช่วยให้ทีมมีโอกาสทำประตูหลังจากแย่งบอลกลับมาครองบนพื้นที่ด้านบนหรือฝั่งของคู่แข่ง แต่อีกความเป็นไปได้หนึ่ง ทีมที่สามารถแก้เพรสได้แล้วสวนกลับอย่างรวดเร็ว ทะลวงผ่านแนวรับที่ดันตัวเองขึ้นสูง นำไปสู่การทำประตูเช่นกัน

พรีเมียร์ลีกซีซันนี้ จากความพยายามยิงลุ้นประตูทั้งหมดเป็นจำนวน shots ในเขตโทษถึง 67.1% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008เทียบกับ 59% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยช่วง 15 ซีซันก่อนหน้า อีกทั้งยังระยะการยิงเฉลี่ยยังใกล้โกล์มากที่สุดด้วย รวมถึงค่าเฉลี่ย xG ที่สูงขึ้นเช่นกัน

big chances หรือโอกาสทองที่จะเป็นประตู เป็นอีกสถิติที่เพิ่มขึ้นโดยมีผลจากประสิทธิภาพของเพรสซิ่งและการแก้เพรสซิ่งแล้วสวนกลับ แม้ข้อมูลอาจไม่มากนักเมื่อเทียบกับสถิติอื่นๆเพราะการรวบรวมสถิติ big chances เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2010 

พรีเมียร์ลีกซีซันนี้ ทีมๆหนึ่งสร้างโอกาสทองที่ไม่รวมจุดโทษ (non-penalty big chances) เฉลี่ยนัดละ 1.8 เทียบกับ 1.54 ในซีซันที่แล้ว ขณะที่ค่าเฉลี่ยจาก 12 ซีซันก่อนหน้าเท่ากับ 1.33 ซึ่งมองหยาบๆได้ว่า ซีซันนี้เกิด extra big chance ต่อนัดราว 0.5 ประตู

โอ’แฮนลอน ประมวลปรากฎการณ์ Goal Explosion ทั้งหมดและขมวดปมตบท้ายว่า “สถานการณ์พิเศษ” (extra situation) ที่เกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีกช่วง 1-2 ปีล่าสุด ต่างส่งผลต่อจำนวนประตู ไม่ว่าเป็นการเพิ่มเวลาของแต่ละครึ่ง รวมถึงประสิทธิภาพการเพรสซิ่งและครอบครองบอล ล้วนส่งผลกระทบต่อมิติต่างๆของเกมฟุตบอลตามทฤษฏี “ผีเสื้อขยับปีก” (Butterfly Effect) 

นั่นทำให้พรีเมียร์ลีกเป็นการแข่งขันฟุตบอลที่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับแฟนบอลทั่วโลก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ระดับอารมณ์ของผู้ชมจะขึ้นสู่จุดสูงเมื่อได้เห็นจังหวะเข้าทำประตูและการส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

หรือว่า “ผู้จัดการทีม” เป็นต้นเหตุ บราซิลยังรอคอยแชมป์โลกสมัยที่ 6

หลังตีเตพ้นตำแหน่งเมื่อจบเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ ทีมชาติบราซิลใช้บริการของกุนซือรักษาการไป 2 คนคือ รามอน เมเนเซส (3 นัด ช่วงกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2023) และ แฟร์นานโด ดินิซ (6 นัด ช่วงกรกฎาคม 2023 ถึง มกราคม 2024) ระหว่างรอ คาร์โล อันเซลอตติ ตอบรับข้อเสนอ แต่ท้ายสุดไม่เป็นดังหวัง ยอดกุนซืออิตาเลียนวัย 64  ปี ต่อสัญญาคุมทีมเรอัล มาดริด ไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2026

นั่นทำให้สมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลเบนเข็มไปดึง โดริวัล จูเนียร์ มาจากสโมสรเซา เปาโล ทั้งที่เฮดโค้ชวัย 61 ปี เพิ่งเข้าทำงานให้สโมสรเป็นรอบ 2 เมื่อเดือนเมษายน 2023 โดยประกาศแต่งตั้งโดริวัลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

จากโปรแกรมแข่งขันของอดีตแชมป์โลก 5 สมัย โดริวัลจะคุมทีมบราซิลอุ่นเครื่อง 4 นัดกับอังกฤษ, สเปน, เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา ก่อนเข้าร่วมโคปา อเมริกา หรือศึกลูกหนังชิงแชมป์แห่งชาติทวีปอเมริกาใต้ ครั้งที่ 48 ระหว่างวันที่ 20มิถุนายน ถึง 14 กรกฎาคม 2024 ที่สหรัฐอเมริกา

หลังจบโคปา อเมริกา โดริวัลยังมีภารกิจสำคัญคือ เวิลด์คัพ 2026 รอบคัดเลือก โซนอเมริกาใต้ ซึ่งยังเหลืออีก 12 นัด ที่จบโปรแกรมในเดือนกันยายน 2025 แต่บราซิลทำผลงาน 6 นัดแรกต่ำกว่ามาตรฐาน ชนะ 2 นัด เสมอ 1 นัด และแพ้ถึง 3นัด มีเพียง 7 คะแนน รั้งอันดับ 6 ตามหลังจ่าฝูง อาร์เจนตินา 8 คะแนน

อย่างไรก็ตามด้วยชื่อชั้นและเกรดฝีเท้าของนักเตะ บวกการแข่งขันที่ยังเหลือ 12 นัด โดริวัลน่าจะพาบราซิลไต่ขึ้นไปอันดับสูงๆ ไม่ถึงขั้นต้องพึ่งอันดับ 6 ซึ่งเป็นโควตาสุดท้ายของตั๋วอัตโนมัติไปบอลโลก หรืออันดับ 7 ซึ่งต้องแข่งขันเพลย์ออฟกับทีมชาติจากทวีปอื่น

แม้บราซิลเป็นอดีตแชมป์โลก 5 สมัย แต่ว่างเว้นยาวนานกว่า 2 ทศวรรษนับตั้งแต่ชนะเยอรมนี 2-0 นัดชิงชนะเลิศเวิลด์คัพ 2002 ที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นยุคทองของ 3 ประสาน โรนัลโด-ริวัลโด-โรนัลดินโญ รวมถึงตำนานวิงแบ็ค คาฟู-โรแบร์โต คาร์ลอส ทั้งที่บราซิลไม่เคยขาดแคลนนักเตะฝีเท้าระดับซูเปอร์สตาร์ แม้แต่ขุนพลชุดบอลโลกแต่ละสมัยก็แข็งแกร่งเป็นหนึ่งในทีมเต็งแชมป์อันดับต้นๆ

บางทีจุดอ่อนที่ไม่สามารถพา Seleção Canarinha หรือ Canary Squad (ทีมนกคีรีบูน) ไปถึงฝั่งฝันคือ “ผู้จัดการทีม”เพราะนับตั้งแต่ ลุยซ์ เฟลิเป สโคลารี นำถ้วยฟีฟา เวิลด์ คัพ มาสู่มาตุภูมิ บราซิลใช้ผู้จัดการทีมถึง 11 คน รวมรักษาการ และโดริวัลเป็นคนที่ 12 ในรอบ 22 ปี แม้กระทั่งดึงสโคลารีกลับมาคุมทีมรอบที่ 2 ระหว่างกุมภาพันธ์ 2013 ถึงกรกฎาคม 2014

ผลงานของผู้จัดการทีมระหว่าง 2 ทศวรรษล่าสุดที่นำขุนพลแซมบาสู่สมรภูมิบอลโลกได้แก่ คาร์ลอส อัลแบร์โต เปเรยรารอบ 8 ทีมสุดท้าย ปี 2006 ทั้งที่เคยพาทีมชนะเลิศเวิลด์คัพ 1994, ดุงกา รอบ 8 ทีมสุดท้าย ปี 2010, สโคลารี อันดับ 4ปี 2014 และ ตีเต รอบ 8 ทีมสุดท้าย ปี 2018 และ 2022

จะเห็นได้ว่า ฟุตบอลโลก 5 ครั้งหลังสุด บราซิลตกรอบก่อนรองชนะเลิศถึง 4 ครั้ง และผลงานดีที่สุดคือ อันดับ 4 ซึ่งแพ้เนเธอร์แลนด์ 0-3 ในแมตช์ชิงอันดับ 3

กาเบรียล มาร์กอตติ นักข่าวอาวุโสของ ESPN FC เขียนบทวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจถึงสาเหตุว่า ทำไมผู้จัดการทีมชาวบราซิลไม่ประสบความสำเร็จเทียบเท่านักฟุตบอลบราซิล

สโมสรลีกบิ๊ก 5 ยุโรปเมินโค้ชอินพอร์ตจากบราซิล

มาร์กอตติเริ่มต้นด้วยการอธิบายให้เห็นภาพใหญ่ของโค้ชบราซิล … ตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติบราซิลเป็นงานโค้ชงานที่ 26 ของโดริวัลภายในเวลา 22 ปี คิดเป็นค่าเฉลี่ยทำงานแต่ละแห่งไม่ถึง 1 ปีเต็ม แต่โดริวัลก็ไม่ได้แปลกแยกไปจากเพื่อนร่วมชาติที่ทำงานอาชีพโค้ชฟุตบอล

ดินิซ ซึ่งคุมทีมฟลูมิเนนเซก่อนเข้ารักษาการผู้จัดการทีมชาติบราซิลในเดือนกรกฎาคม 2023 ก็ทำงาน 17 แห่งในช่วง 13ปี ขณะที่กุนซือคนก่อนหน้า เมเนเซส ทำงาน 11 แห่งในช่วง 10 ปี แม้กระทั่งตีเต ซึ่งนำทัพ Seleção Canarinha สู่เวิลด์คัพ 2 สมัย เป็นโค้ชทีมชาติบราซิลที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 6 ปี 3 เดือน ก็ยังคุมทีม 17 แห่งในช่วง 25 ปี ก่อนได้รับสัญญาจากสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิล

แน่นอน สมาพันธ์ฯย่อมมองหาตัวเลือกที่ดีที่สุดเพื่อคุมทีมชาติบราซิลที่มีเกียรติประวัติอดีตแชมป์โลก 5 สมัย แต่บางทีอาจเป็น best available ณ ช่วงเวลานั้นที่อยู่ระหว่างคำว่า good กับ great เพราะข้อจำกัดคือ โค้ชดีๆมักติดอยู่กับงานที่กำลังทำ สโมสรจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาโค้ชคนนั้นไว้ ถึงไม่ได้คุมทีมชาติและถูกต้นสังกัดไล่ออกในเวลาต่อมา โค้ชบราซิลไม่ลำบากที่จะหางานใหม่ในระดับใกล้เคียงกัน

วงจรชีวิตของโค้ชบราซิลแตกต่างจากยุโรป การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติ อย่างโดริวัล ระยะคุมทีมนานที่สุดคือไม่ถึง 2 ปีที่ซานโตส ระหว่างกรกฎาคม 2015 ถึงมิถุนายน 2017 เขาเข้ามารับงานกลางฤดูกาล พาซานโตสขึ้นอันดับ 7 และจบอันดับ 3 ในปีต่อมา ก่อนโดนปลดฟ้าผ่าหลังปี 2017 เล่นไปได้เพียง 4 นัด นั่นเป็น 1 จาก 2 ครั้งที่โดริวัลทำงานนานกว่า 1 ปี

เห็นได้ชัดว่า วัฒนธรรมของโค้ชบราซิลแตกต่างจากยุโรปและส่วนใหญ่ของโลก ซึ่งเชื่อว่าโค้ชต้องการเวลาสร้างทีม พัฒนานักเตะ และติดตั้งแนวคิดสไตล์การเล่น แต่โค้ชในเมืองกาแฟไม่ได้มีประสบการณ์เช่นนั้น และถูกมองว่าคงไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมทำทีมในยุโรป

ดังนั้นโค้ชบราซิลน้อยรายมากที่ทำงานใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป สโคลารีไม่ประสบความสำเร็จกับเชลซีในซีซัน 2008-09, วานเดอร์ไล ลักเซมบูร์โก คุมทีมเรอัล มาดริด ไม่ถึง 12 เดือนเมื่อปี 2005, ริคาร์โด โกเมซ มีช่วงเวลาไม่นานนักที่บอร์กโดซ์และโมนาโก, เลโอนาร์โด โค้ชให้กับเอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน ระหว่างปี 2009 ถึง 2011 และติอาโก มอตตา คุมทีมโบโลญญาตั้งแต่กันยายน 2022 ถึงปัจจุบัน

ในโปรไฟล์ต้องใส่เครื่องหมายดอกจันไว้หลังชื่อนั้นๆ สโคลารีได้รับความสนใจจากยุโรปหลังพาบราซิลชนะเลิศเวิลด์คัพ 2002 เริ่มจากสมาคมฟุตบอลโปรตุเกสตามด้วยเชลซี, เลโอนาร์โดเบนเข็มทิศไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการหลังทำหน้าที่โค้ชเพียง 2 ปี, มอตตาเล่นให้บาร์เซโลนาขณะอายุ 17 และประสบความสำเร็จกับอาชีพค้าแข้งในสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เคยเล่นให้ทีมชาติอิตาลี และได้รับโค้ชไลเซนซ์ที่ยุโรป

ดูแล้วเป็นเรื่องไม่สมเหตุผลในแง่ความกว้างใหญ่มหาศาลของบราซิล เพียงภาคเหนือก็มีประชากรกว่า 200 ล้านคน มากกว่า 4 ประเทศอดีตแชมป์โลกรวมกันคือ เยอรมนี อาร์เจนตินา อิตาลี และอุรุกวัย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บราซิลผลิตนักฟุตบอลเพื่อส่งออกได้มากมาย จากการศึกษาพบว่ามีนักฟุตบอล 14,405 คนที่เล่นอยู่ในลีกนอกประเทศบ้านเกิดของตัวเอง 135 ลีกทั่วโลก ซึ่งจำนวน 1,289 คนมาจากบราซิล เป็นส่วนสัด 1 ต่อ 11 ทีเดียว

เป็นใครอาจสันนิษฐานต่อว่า ในเมื่อเป็นประเทศที่ผลิตนักเตะเปี่ยมพรสวรรค์ได้มากผ่านองค์ความรู้และประเพณี บราซิลจึงควรผลิตโค้ชระดับท็อปได้มากเช่นกัน ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นตรรกะที่ผิด

และจากการที่นักข่าวอาวุโสของ ESPN FC ได้พูดคุยกับนักข่าว ผู้บริหาร เอเยนต์ และโค้ชที่เคยทำงานในบราซิล ได้พบความจริงคือ ฟุตบอลบราซิลเป็นโลกที่แตกต่าง และไม่ได้สัมพันธ์เพียงยุโรปแต่รวมถึงชาติอื่นในทวีปอเมริกาใต้ด้วย โดยมีหลายตัวแปรที่ทำให้โค้ชบราซิลไม่ได้รับการยกย่องเหมือนนักฟุตบอลร่วมชาติ

แนวคิด “จ้างแล้วไล่ออก” เหนี่ยวรั้งพัฒนาการของโค้ชบราซิล

ข้อสำคัญคือ สโมสรบราซิลมีแนวคิด “hire-and-fire” หรือ “จ้างแล้วไล่ออก” เนื่องจากหมกหมุ่นอยู่กับผลลัพธ์ระยะสั้น ตัวอย่างเห็นได้ชัดจากโดริวัล สโมสรสามารถปลดโค้ชออกหลังผลแข่งแย่ไม่กี่นัด บ่อยครั้งสโมสรจึงเซ็นสัญญาแค่ระยะสั้น แม้มีข้อดีเอื้อต่อสภาพคล่องในการปรับเปลี่ยน แต่ถ้าโค้ชเกิดทำผลงานได้ดี ก็อาจถูกสโมสรอื่นแย่งตัวไปง่ายเช่นกัน

เบื้องหลังแนวคิด “จ้างแล้วไล่ออก” มาจากทีมส่วนใหญ่ในบราซิลใช้ระบบเลือกตั้งประธานสโมสรและบอร์ดบริหาร (ต่างกับยุโรปที่กลุ่มหรือบริษัทเจ้าของพิจารณาแต่งตั้งเอง) จึงต้องอาศัยคะแนนนิยมจากแฟนบอล ผลแข่งขันย่ำแย่ไม่กี่นัดสามารถดึงเสียงโหวตไปให้กับคู่แข่งขัน แม้บราซิลออกกฎหมายใหม่เมื่อปี 2021 เปิดประตูให้แหล่งเงินทุนต่างประเทศเข้ามาครอบครองสโมสร แต่ยังมีจำนวนน้อยนิดได้แก่ วาสโก ดา กามา, โบตาโฟโก, มิไนโร และครูไซโร

ขอบคุณภาพจาก  https://en.as.com/en/2017/12/15/soccer/1513337545_179071.html

ขอบคุณภาพจาก  https://en.as.com/en/2017/12/15/soccer/1513337545_179071.html

เทียบกับสโมสรยุโรปที่เจ้าของทีมคือเจ้าของเงินลงทุน จึงอาจอดทนกับโค้ชได้นานเพราะการไล่ออกหมายถึงเสียค่าชดเชยหรือต้องจ่ายค่าจ้างต่อทั้งที่มีโค้ชใหม่เข้ามาทำงานแทน แต่ที่บราซิล ประธานสโมสรและบอร์ดบริหาร ซึ่งได้รับเลือกจากฐานแฟนบอล ไม่ได้ใช้เงินตัวเองในการทำทีมฟุตบอล พวกเขาเป็นเพียงบุคลากรที่ถูกว่าจ้างและบริหารทีมฟุตบอลด้วยทรัพย์สินของสโมสร

แนวคิด “จ้างแล้วไล่ออก” ที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกของคะแนนเสียง สามารถสะท้อนผ่านตัวอย่างของเรนาโต เกาโช ซึ่งเข้าๆออกๆตำแหน่งโค้ชของเกรมิโอเป็นรอบที่ 4 ขณะนี้ และยังมีอีก 4 รอบที่ฟลูมิเนนเซ แม้กระทั่ง 1 ครั้งกับฟลาเมงโก ทีมคู่อริของฟลูมิเนนเซ ส่วนโดริวัลก็คุมทีมฟลาเมงโก 3 รอบ และเซา เปาโล กับซานโตส ทีมละ 2 รอบ เป็นความแตกต่างชัดเจนเทียบกับวงจรชีวิตโค้ชในยุโรป

ในเมื่ออาชีพไม่มีความมั่นคง จึงไม่มีเหตุผลเลยที่โค้ชต้องเสี่ยงกับวิสัยทัศน์สร้างทีมระยะยาว ทำไมต้องทำเมื่อผลแย่ๆไม่กี่นัดสามารถส่งให้ตกงาน การใส่ไอเดียใหม่ๆและพัฒนานักเตะหนุ่มๆล้วนต้องอาศัยเวลาที่ไม่เคยมีสำหรับโค้ชบราซิล ซึ่งคนอื่นไม่สามารถตัดสินว่าผิดหรือถูกเพราะเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนยุโรป ซึ่งเอื้อให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์กับงานแทคติกและนวัตกรรมมากกว่า

ไลเซนส์-ภาษา-เหยียดเชื้อชาติ เป็นอุปสรรคขวางในทวีปยุโรป

นอกเหนือลักษณะโครงสร้างการบริหารของสโมสรบราซิล ยังมีตัวแปรเล็กๆน้อยๆที่มีผลต่อพัฒนาของผู้มีอาชีพโค้ช

เริ่มจากค่านิยมของยุโรปที่มีต่อโค้ชอิมพอร์ตจากเมืองกาแฟ สโมสรที่เล่นในแชมเปียนส์ ลีก ไม่สนใจว่าจ้างโค้ชบราซิลแล้ว (อาจยกเว้นหากบราซิลชนะเลิศเวิลด์คัพ 2026) โค้ชที่มีรีซูเมกับทีมระดับบิ๊กในบราซิลอาจได้งานจากสโมสรกลางตารางค่อนไปทางด้านล่างของลีกบิ๊ก 5 ยุโรป (ถ้าพาทีมรอดตกชั้นได้ อาจมีสโมสรที่ใหญ่ขึ้นหันมามอง)

ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าโค้ชบราซิลออกจากบ้านเกิด พวกเขามีโอกาสมากกว่าที่ตะวันออกกลางหรือเอเชียเช่น สโคลารี ซึ่งเพิ่งอำลามิไนโร สถานที่ทำงานแห่งที่ 31 ในรอบ 42 ปี เคยคุมทีมในซาอุดิ อาระเบีย, คูเวต, ญี่ปุ่น, อุซเบกีสถาน และจีน

สโมสรยุโรปไม่ยอมรับไลเซนส์ที่ออกในบราซิล โค้ชที่ได้รับการพิจารณาจึงมักมีความสำเร็จให้จับต้องได้ระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นช่วงเล่นฟุตบอลก็ได้ดังตัวอย่างที่ยกข้างต้น แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่โค้ชหนุ่มไฟแรงจากบราซิลจะค่อยๆไต่เต้าจากฐานของโค้ชพีรามิดในยุโรป ดังนั้นโค้ชบราซิลบางส่วนจึงเดินทางไปร่ำเรียนโค้ชคอร์สในต่างประเทศ อาร์เจนตินาเป็นตัวเลือกหนึ่ง บางคนอาจเป็นโค้ชหลังเลิกเล่นฟุตบอลในยุโรป

ภาษาเป็นอุปสรรคหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เชื่อ โปรตุกีสเป็นภาษาหลักที่ใช้ในบราซิล เชื่อหรือไม่โค้ชบราซิลแทบพูดภาษาอังกฤษหรือสแปนิชไม่ได้เลย เหตุผลคือบราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาต่างชาติ ดังนั้นลำพังหาโค้ชบราซิลที่ผลงานดีๆยังยาก สโมสรยุโรปยิ่งไม่อยากเสียเงินเพิ่มด้วยการจ้างล่าม

โปรตุเกสน่าจะเป็นเป้าหมายที่ดีสำหรับโค้ชบราซิล แต่กลับเป็นนักฟุตบอลที่แห่แหนไปค้าแข้งในลีกแดนฝอยทอง ส่วนโค้ชนั้นแทบนับนิ้วได้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แถมยิ่งเป็นไปได้ยากเพราะตอนนี้โปรตุเกสผลิตโค้ชเก่งๆมากขึ้นเรื่อยๆ 

ปิดท้ายด้วยผลสำรวจจากสโมสร 96 ทีมที่แข่งขันในลีกบิ๊ก 5 ของยุโรป พบว่ามีผู้จัดการทีมที่ไม่ใช่คนยุโรปแค่ 8 คนเท่านั้น จึงแทบไม่มีโอกาสเลยสำหรับโค้ชต่างทวีป และน้อยมากถึงมากที่สุดสำหรับโค้ชบราซิล

3 คนเป็นอดีตนักบอลที่เล่นอย่างยาวนานในยุโรปและไม่เคยออกไปจากพื้นแผ่นดินใหญ่หลังแขวนสตั๊ดได้แก่ ติอาโก มอตตา ของโบโลญญา, เมาริซิโอ โปเชตติโน ของเชลซี และ เปลเลกริโน มาตาราซโซ ของฮอฟเฟนไฮม์, 2 คนเป็นผู้จัดการทีมที่มีผลงานเข้าตาในฟุตบอลโลกได้แก่ อังเก ปอสเตโคกลู ของสเปอร์ส และ ฮาเวียร์ อากีร์เร ของมายอร์กา, อีก 2 คนคือ ดีเอโก ซีเมโอน ของแอตเลติโก มาดริด กับ เมาริซิโอ เปลเลกริโน ของคาดีซ ต่างเคยเล่นในยุโรปเป็นเวลาหลายปีและพิสูจน์ฝีมือคุมทีมในอาร์เจนตินา ก่อนกลับมาใช้ชีวิตในยุโรป ส่วน มานูเอล เปลเลกรินี ของเบตีส เป็นคนเดียวที่ไม่เคยค้าแข้งในยุโรป และไม่เคยคุมทีมชาติหรือกระทั่งสโมสรในลีกบิ๊ก 5 ยุโรป

ปูมประวัติศาสตร์ทีมชาติบราซิล มีผู้จัดการทีมทั้งหมด 84 คน (กลุ่มสตาฟฟ์โค้ชนับเป็น 1 เช่น รูเบน ซัลเลส และซัลวิโอ ลาเกรกา ซึ่งร่วมกันคุมบราซิลเตะแมตช์ทางการนัดแรกในปี 1914 เป็นเกมกระชับมิตรกับสโมสร เอ็กซ์เซเตอร์ ซิตี) พบว่าไม่ใช่ชาวบราซิลเพียง 3 คน คือ รามอน พลาเตโร (อุรุกวัย) ที่คุมทีมกับโจอาคิม กิมาเรส เมื่อปี 1925, โฮเรกา (โปรตุเกส) ที่คุมทีมกับฟลาวิโอ คอสตา เมื่อปี 1944 และ ฟิลโป นูเญซ (อาร์เจนตินา) ซึ่งคุมทีมแค่นัดเดียวในเดือนกันยายน 1965 

แต่ละคนมีช่วงเวลาสั้นมากกับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติบราซิล และนับจากนูเญซนานเกือบ 60 ปีที่สมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลไม่เคยเซ็นสัญญากับโค้ชต่างชาติ แม้กระทั่งความพยายามล่าสุดที่จะปฏิวัติครั้งใหญ่ด้วยการดึงกุนซือระดับโลกอย่างอันเซลอตติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Seleção Canarinha ชูถ้วยฟีฟา เวิลด์คัพ สมัยที่ 6 ยังล้มเหลว

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

“แชงคลีย์ vs บัสบี้” รักในรอยแค้น กับสงครามสีแดงที่ดีที่สุดตลอดกาล

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงศตวรรษที่ 18 ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ 2 เมืองใหญ่ของอังกฤษ ที่มีระยะทางห่างกันเกือบ 60 กิโลเมตร ต่างพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกัน และไม่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหากันเลย

ทว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จุดแตกหักของทั้งคู่ เกิดขึ้นเพราะผลประโยชน์เรื่องค้าขายที่ไม่ลงตัว จนกระทั่งลามไปถึงเรื่องของกีฬาฟุตบอล และกลายเป็นคู่แค้นที่ไม่มีทางกลับมาลงเอยด้วยดีอีกต่อไป

แม้ว่าลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมลูกหนังที่เป็นตัวแทนแห่งปฏิปักษ์ของ 2 เมือง จะชิงดีชิงเด่นในสนามมาตลอด แต่ในความขัดแย้ง มักมีมุมโรแมนติกแอบซ่อนอยู่ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

ซึ่งหนึ่งในประเด็น “รักในรอยแค้น” นั่นคือ บิลล์ แชงคลีย์ กับเซอร์แมตต์ บัสบี้ 2 ตำนานกุนซือผู้ล่วงลับที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และช่วยสร้างยุคสมัยที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ศึกแดงเดือดของ 2 สโมสร

ลิเวอร์พูลคือขวัญใจ แมนเชสเตอร์คือตำนาน

แมตต์ บัสบี้ เกิดในหมู่บ้านทำเหมืองถ่านหินที่สกอตแลนด์ คุณพ่อเป็นคนงานเหมืองที่ถูกเรียกไปช่วยชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และเสียชีวิตในสงคราม ส่วนคุณแม่อพยพมาจากไอร์แลนด์ช่วงปลายศตวรรษที่ 19

แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักฟุตบอลให้ได้ บัสบี้ได้ใช้เวลาว่างจากงานประจำมาเล่นฟุตบบอล ต่อมาเขาขอปฏิเสธไปใช้ชีวิตกับคุณแม่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเลือกที่จะออกจากบ้านเกิดไปตามหาความฝันที่อังกฤษ

บัสบี้ เริ่มต้นการเป็นนักเตะระดับอาชีพกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 1928 ได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละ 5 ปอนด์ โชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม และหลายสโมสรได้ให้ความสนใจในตัวเขา แต่ก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากค่าตัวที่แพงเกินไป

จนกระทั่งในปี 1936 ลิเวอร์พูลทุ่มเงิน 8,000 ปอนด์ กระชากตัวบัสบี้มาอยู่ในรั้วแอนฟิลด์ เก่งกาจจนกลายเป็นดาวเด่นในทีม จนได้รับการยกย่องจากสื่อว่า เขาคือเซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และสง่างามที่สุดของอังกฤษ

ต่อมาในปี 1939 บัสบี้ ในฐานะกัปตันทีมหงส์แดง ได้ต้อนรับเพื่อนร่วมทีมคนใหม่ที่ชื่อ บ็อบ เพสลี่ย์ ที่ย้ายมาจากสโมสรบิช็อป โอ๊คแลนด์ ซึ่งไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า เพสลี่ย์จะได้ทำงานเป็นกุนซือลิเวอร์พูลในอีกหลายสิบปีต่อมา

กัปตันบัสบี้ อยู่ค้าแข้งในถิ่นแอนฟิลด์จนกระทั่งเลิกเล่นในปี 1945 เขาคือบุคคลเพียงไม่กี่คนที่เป็นขวัญใจของลิเวอร์พูล ก่อนจะเป็นตำนานตลอดกาลที่แมนเชสเตอร์ ส่วนเพสลี่ย์รีไทร์จากอาชีพนักเตะในอีก 9 ปีหลังจากนั้น

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บัสบี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ดแบบเต็มตัว ได้เข้ามาฟื้นฟูสโมสรที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม แถมติดหนี้ธนาคาร พร้อมกับสร้างทีมจนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

คนงานเหมืองถ่านหิน ที่วาดฝันอยากเป็นนักเตะ

บิลล์ แชงคลีย์ เป็นชาวสกอตแลนด์เช่นเดียวกับแมตต์ บัสบี้ เมื่ออายุ 14 ปี เขาจำเป็นต้องลาออกจากโรงเรียน เพื่อไปเป็นคนงานในเหมืองถ่านหินซึ่งเต็มไปด้วยมลพิษ สิ่งสกปรก และอันตรายจากเครื่องจักรกล

แชงคลีย์เคยเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองว่า “สมัยยังเด็ก ผมกับเพื่อนๆ เคยขโมยผัก ขนมปัง หรือแม้แต่ผลไม้เน่าๆ จากเกวียนที่อยู่ในเหมือง ผมยอมรับว่ามันผิด แต่จำเป็นต้องทำเพราะความหิวโหย”

“ผมได้เจอปัญหามากมายที่เหมือง เช่น งานหนัก หนู ความยากลำบากในการกินและดื่ม และที่แย่ที่สุดคือความสกปรก เพราะคนงานในเหมืองไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองสะอาด แม้จะได้ล้างตัวหลังออกจากกะแต่ละครั้งก็ตาม”

ในขณะที่แชงคลีย์เป็นคนงานในเหมือง มักจะใช้เวลาว่างเพื่อเล่นฟุตบอลให้ได้บ่อยที่สุด ที่จริงแล้วการทำงานในเหมืองเป็นเพียงแค่การฆ่าเวลาเท่านั้น เพราะความฝันสูงสุดของเขาคือการได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ

ความมุ่งมั่นบวกกับแพสชั่นในกีฬาลูกหนัง แชงคลีย์ก็ผลักดันตัวเองจนได้เป็นนักเตะอาชีพในที่สุด โดยเล่นตำแหน่งกองหลัง เขาเริ่มจากการเซ็นสัญญากับคาร์ไลส์ ยูไนเต็ด สโมสรระดับดิวิชั่น 3 ของอังกฤษ ในปี 1932

แต่ด้วยความสามารถที่ไม่ธรรมดา ทำให้ในปีต่อมา เพรสตัน นอร์ท เอนด์ ตัดสินใจดึงแชงคลีย์เข้ามาด้วยเงิน 500 ปอนด์ เป็นกำลังสำคัญที่พาทีมขึ้นสู่ดิวิชั่น 1 ตั้งแต่ซีซั่นแรกที่ลงเล่น แถมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ในปี 1938

หลังจากเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ แชงคลีย์ผันตัวมาเป็นผู้จัดการทีมให้กับคาร์ไลส์ ยูไนเต็ด, กริมสบี้ ทาวน์, เวิร์กคิงตัน และฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ หลังจากนั้นไม่นาน ชายคนนี้ก็กลายเป็นสุดยอดกุนซือผู้ยิ่งใหญ่ที่ลิเวอร์พูล

ความรักที่ลึกลับซับซ้อน ซ่อนในความเป็นคู่อริ

ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 เกิดเหตุโศกนาฏกรรมเครื่องบินตกที่สนามบินในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ทำให้มีเจ้าหน้าที่และนักเตะชุด “บัสบี้ เบ็บส์” ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้รวม 23 คน

เมื่อลิเวอร์พูลได้รับทราบถึงความสูญเสียของฟากแมนเชสเตอร์ ก็ได้ยื่นข้อเสนอให้ยืมตัวผู้เล่นไปใช้งาน แต่ทางยูไนเต็ดปฏิเสธ และขอสู้ด้วยนักเตะที่มีอยู่ ในสถานการณ์ที่ต้องใช้เวลาไม่น้อยในการฟื้นฟูสโมสรขึ้นมาใหม่

หลังจากคืนฟ้าโศกที่มิวนิคผ่านไปเกือบ 2 ปี บิลล์ แชงคลีย์ ที่กำลังคุมทีมฮัดเดอร์ฟิลด์ ได้รับการแนะนำจากคนสนิทอย่างบัสบี้ ให้เข้ามารับงานที่ลิเวอร์พูล และในที่สุดแชงคลีย์ก็ตอบรับโอกาสนี้ในเดือนธันวาคม 1959

ลิเวอร์พูลในขณะนั้น มีแต่ปัญหารุมเร้าทั้งในและนอกสนาม แชงคลีย์ต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างสูงเพื่อเปลี่ยนแปลงทีมให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นผู้ที่เปลี่ยนชุดแข่งขันให้เป็นสีแดง ซึ่งกลายเป็นสีประจำสโมสรจนถึงทุกวันนี้

แชงคลีย์ ใช้เวลา 2 ฤดูกาลครึ่ง ในการพาลิเวอร์พูลเลื่อนชั้นขึ้นสู่ดิวิชั่น 1 เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี จบซีซั่น 1962/63 ในอันดับที่ 8 ด้านแมนฯ ยูไนเต็ดของเซอร์แมตต์ บัสบี้ คว้าแชมป์เอฟเอ คัพ และรอดตกชั้นอย่างฉิวเฉียด

จนกระทั่งในช่วงปี 1964 – 1967 คือช่วงเวลาที่ 2 สโมสรคู่ปรับสีแดง ยึดครองความยิ่งใหญ่ สลับกันคว้าแชมป์ลีกทีมละ 2 สมัย โดยลิเวอร์พูลได้ฉลองในปี 1964 กับ 1966 ส่วนทางฝั่งยูไนเต็ด สุขสมหวังในปี 1965 และ 1967

ในปี 1968 เมื่อปิศาจแดงผ่านเข้าชิงชนะเลิศยูโรเปี้ยน คัพ Liverpool Echo สื่อประจำเมืองลิเวอร์พูล ได้ออกมาเขียนชื่นชมในความยอดเยี่ยมของคู่แข่ง และทุกคนจะยินดี หากพวกเขาเป็นทีมแรกของอังกฤษที่ทำสำเร็จ

และสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดจริงๆ ด้วยการล้มยักษ์อย่างเบนฟิกา จากโปรตุเกส ในช่วงต่อเวลาพิเศษ แน่นอนว่าความสำเร็จครั้งนี้ ได้อุทิศให้กับผู้วายชนม์จากเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น

ปิศาจแดงเสื่อมถอย หงส์แดงก้าวสู่ยุคยิ่งใหญ่

เมื่อช่วงเวลาของการต่อสู้เพื่อแย่งแชมป์ลีกที่เข้มข้นที่สุดในประวัติศาสตร์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เซอร์แมตต์ บัสบี้ กับบิลล์ แชงคลีย์ ก็เข้าสู่ช่วงท้ายของอาชีพผู้จัดการทีม ซึ่งจุดสิ้นสุดของทั้งคู่นั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

บัสบี้ หลังพาแมนฯ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ ฤดูกาล 1967/68 อย่างยิ่งใหญ่ แต่ในซีซั่นถัดมา เขาทำทีมจบแค่อันดับที่ 11 และตัดสินใจอำลาสโมสรหลังจบซีซั่น ยุติช่วงเวลา 24 ปี ที่คุมทีมในถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด

ซึ่งผู้ที่เข้ามาสานต่ออย่างวิลฟ์ แม็คกินเนสส์ ก็ทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก อยู่ในตำแหน่งแค่ 1 ฤดูกาลครึ่ง ทำให้ยูไนเต็ดต้องเรียกบัสบี้ กลับมากู้วิกฤตชั่วคราวอีกครึ่งฤดูกาล ก่อนเข็นทีมปิศาจแดงให้จบซีซั่น 1970/71 ในอันดับที่ 8

การคุมทีมนัดสุดท้ายในชีวิตของบัสบี้ เกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อ เมื่อมีแฟนบอลฮูลิแกนเข้ามาปามีดลงมาตกที่อัฒจันทร์ฝั่งทีมเยือน ทำให้ยูไนเต็ดถูกลงโทษห้ามเล่นที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด 2 เกม ในช่วงต้นฤดูกาล 1971/72

สำหรับ 2 เกมที่แมนฯ ยูไนเต็ดต้องใช้สนามอื่นลงเตะนัดเหย้า คือเกมพบกับเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ที่วิคตอเรีย กราวด์ ของทีมสโตค ซิตี้ และดวลกับอาร์เซน่อลที่แอนฟิลด์ รังเหย้าของลิเวอร์พูล ทีมคู่ปรับตลอดกาล

ยูไนเต็ด หลังยุคของบัสบี้ ก็ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม สโมสรก็เข้าสู่ขาลงเรื่อยๆ จนกระทั่งร่วงตกชั้นจากดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 1973/74 หลังถูกอดีตนักเตะเก่าอย่างเดนิส ลอว์ ยิงประตูชัยให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด

ฟากแชงคลีย์ ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี ในการพาลิเวอร์พูลกลับมาทวงแชมป์ลีกอีกครั้งในปี 1973 พ่วงด้วยแชมป์ยูฟ่า คัพ และรีไทร์อาชีพกุนซือด้วยแชมป์เอฟเอ คัพ ในปีถัดมา ก่อนส่งไม้ต่อให้กับอดีตมือขวาคู่ใจอย่างบ็อบ เพสลี่ย์

ในปี 1977 ปิศาจแดงดับฝันเทรบเบิลแชมป์ของหงส์แดง ในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ แต่แฟนๆ เรด อาร์มี่ ที่เวมบลีย์ ได้ร่วมกันตะโกนเชียร์ศัตรูที่รักก่อนไปชิงชนะเลิศยูโรเปี้ยน คัพ พร้อมกับอวยพรว่า “โชคดีนะ ลิเวอร์พูล”

ท้ายที่สุด ลิเวอร์พูลของเพสลี่ย์ เอาชนะโบรุสเซีย มึนเช่นกลัคบัค คว้าแชมป์ถ้วยใหญ่สุดของยุโรปเป็นสมัยแรก รากฐาน “บูทรูม สตาฟฟ์” ที่แชงคลีย์ได้สร้างไว้ ตอบแทนด้วยแชมป์ลีกสูงสุด 11 สมัย และยูโรเปี้ยน คัพ 4 สมัย

อีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่แปลกประหลาด

แม้ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะเป็น 2 ทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของอังกฤษ แต่ก็น่าประหลาดใจไม่น้อย ที่ทั้งคู่ไม่ค่อยอยู่ในช่วงพีคที่สุดแบบพร้อมกัน ส่วนใหญ่จะต้องมีฝั่งหนึ่งขาขึ้น และอีกฝั่งหนึ่งขาลง

หลังสิ้นสุดยุคของแชงคลีย์และบัสบี้ 2 คู่ปรับสีแดง จบฤดูกาลอยู่ใน 2 อันดับแรก แค่ 3 ครั้งเท่านั้น ได้แก่ฤดูกาล 1979/80, 1987/88 และ 2008/09 แถมเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยกันเองเพียง 3 ครั้ง ในรอบ 40 ปีหลังสุด

เจมี่ คาราเกอร์ คอลัมนิสต์ของ The Telegraph ได้เขียนบทวิเคราะห์ถึงหงส์แดง และปิศาจแดง คู่ปรับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการลูกหนังเมืองผู้ดี แต่มีโมเมนต์แย่งแชมป์ลีกโดยตรงเพียงไม่กี่ครั้งตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

คาราเกอร์ ระบุว่า ประการแรก “ปกป้องเกียรติประวัติมากเกินไป” เช่น เมื่อยูไนเต็ดหมดหนทางคว้าแชมป์ลีก แฟนบอลก็เอาจำนวนแชมป์ 20 สมัยมาข่ม ราวกับถากถางเดอะ ค็อปว่า พวกเขาคือทีมเดียวที่อยู่เหนือกว่า

อดีตตำนานหงส์แดงรายนี้ ยังได้พูดถึงเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สมัยที่ยังคุมปิศาจแดงว่า เป็นกุนซือที่ให้ความสำคัญที่สุดกับการไปเยือนแอนฟิลด์ในทุกๆ ฤดูกาล ไม่ว่ายักษ์ใหญ่แห่งเมอร์ซี่ย์ไซด์จะอยู่ในอันดับไหนของตารางก็ตาม

ประการต่อมา “ชี้ชะตาอนาคตทั้งผู้ชนะและผู้แพ้” เช่น เกมที่แอนฟิลด์เมื่อต้นปี 2020 แฟนลิเวอร์พูลต่างร้องเพลง ‘พวกเราจะเป็นแชมป์ลีก’ เพราะเริ่มมั่นใจแล้วว่าใกล้ปลดล็อกคว้าแชมป์ครั้งแรกในรอบ 30 ปี

แถมในบางครั้ง ชัยชนะของลิเวอร์พูล ก็ทำให้กุนซือยูไนเต็ดบางคน หมดความชอบธรรมในหน้าที่การงาน แต่ลิเวอร์พูลเองก็เคยมีปัญหาในยุคของรอย ฮ็อดจ์สัน ความพ่ายแพ้ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ทำให้เดอะ ค็อป ไม่เชื่อมั่นในตัวเขา

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว เอริค เทน ฮาก อยู่ภายใต้ความกดดัน หลังจากแพ้ 2 นัดแรกของฤดูกาล แต่พอเอาชนะในศึกแดงเดือด โมเมนตัมก็เข้าทางยูไนเต็ด สวนทางกับลิเวอร์พูลที่เจอกับอุปสรรคตลอดทั้งซีซั่น

และสุดท้าย “แอนฟิลด์คือนรกของยูไนเต็ด” เพราะไม่ว่าลิเวอร์พูลจะอยู่ในช่วงที่ยิ่งใหญ่หรือตกต่ำ แต่การที่ยูไนเต็ดมาเยือนแอนฟิลด์ พวกเขาจะต้องเจอความยากลำบากเป็นพิเศษในการที่จะเก็บชัยชนะกลับออกไป

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://en.wikipedia.org/wiki/Bill_Shankly

https://en.wikipedia.org/wiki/Matt_Busby

https://en.wikipedia.org/wiki/Liverpool_F.C.%E2%80%93Manchester_United_F.C._rivalry

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-9098701/Man-United-challenge-Liverpool-title-look-rivalry.html

https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/matt-busby-manchester-liverpool-star-8816963

https://www.liverpoolfc.com/news/features/374742-story-of-bill-shankly-journey-to-liverpool

https://www.telegraph.co.uk/football/2018/03/08/manchester-united-vs-liverpool-anatomy-rivalry1/

https://www.nbcsports.com/bayarea/soccer/why-liverpool-fc-manchester-united-rivalrys-glory-days-seem-far-away

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/03/03/man-utd-liverpool-englands-two-greatest-clubs-why-dont-compete/

Categories
Special Content

“คิโรนา” ซินเดอเรลลาลูกหนังแห่งคาตาลูญญา

ไม่ว่าคิโรนา ทีมลูกหนังเล็กๆ จะลงเอยศึกลูกหนังลา ลีกา ฤดูกาล 2023-24 อย่างไร แต่เชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 9 เดือนจะได้รับการจารึกไว้ในหน้าต้นๆของประวัติศาสตร์สโมสรและฟุตบอลสเปน พร้อมถูกเล่าขานไปอีกนานในฐานะซินเดอเรลลาลูกหนังแห่งแคว้นคาตาลูญญา

คิโรนา (Girona Futbol Club, S.A.D.) ก่อตั้งสโมสรในเดือนกรกฎาคม 1930 หรือ 93 ปีที่แล้ว ฤดูกาล 2023-24 เป็นเพียงซีซันที่ 4 ที่ Blanquivermells หรือทีมขาวแดง ได้สัมผัสบรรยากาศลีกสูงสุดของสเปน หากย้อนกลับไปปี 1999 คิโรนายังเล่นฟุตบอลเทียร์ 5 หรือระดับเขตกับทีมท้องถิ่นของคาตาลูญญาต่อหน้าผู้ชมเพียง 200 คน จนกระทั่งปี 2008 จึงสามารถกลับมาแข่งขันระดับเทียร์ 2 หรือเซกุนดาหลังจากเล่นอยู่นอกดิวิชันท็อป-2 เกือบครึ่งศตวรรษ

คิโรนาคว้ารองแชมป์เซกุนดา ซีซัน 2016-17 ได้เลื่อนขึ้นมาแข่งขันลา ลีก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร แต่อยู่ได้เพียง 2 ปี ก็หล่นไปอยู่เทียร์ 2 อีกครั้งหลังจากรั้งอันดับ 18 ซีซัน 2018-19

ตลอด 3 ซีซัน คิโรนาได้สิทธิแข่งขันเซกุนดา เพลย์ออฟ ในฐานะทีมอันดับ 5, 5 และ 6 ตามลำดับ แต่เป็นซีซัน 2021-22 ที่ทีมขาวแดงประสบความสำเร็จเมื่อชนะเตเนริเฟ 3-1 (สกอร์รวม) ในรอบชิงชนะเลิศ กลับขึ้นสู่ลา ลีกา เป็นรอบที่ 2 และสร้างเซอร์ไพรส์รูดม่านซีซัน 2022-23 ด้วยอันดับ 10 ตามหลังอันดับ 7 โอซาซูนา ที่ได้สิทธิคอนเฟอเรนซ์ ลีก เพียง 4 คะแนน

ถ้าซีซันที่แล้วเป็นเซอร์ไพรส์ ฤดูกาล 2023-24 ต้องเรียกว่าคือปาฏิหาริย์เมื่อคิโรนาขึ้นแท่นจ่าฝูงของสัปดาห์ที่ 7 หลังออกไปเฉือนบีญาร์เรอัล 2-1 แต่นั่นอาจเทียบไม่ได้เลยกับเกมที่ 16 วันที่ 10 ธันวาคม คิโรนามีชัย “คาตาลูญญา ดาร์บี แมตช์” เหนือแชมป์เก่า บาร์เซโลนา 4-2 หนีรองจ่าฝูง เรอัล มาดริด 2 คะแนน และอยู่หน้าอันดับ 4 บาร์ซา 7 คะแนน

เติบโตภายใต้ร่มเงาใหญ่ของซิตี ฟุตบอล กรุ๊ป

ย้อนกลับไปช่วงพรีซีซัน เป้าหมายของคิโรนาน่ายังเป็นการอยู่รอดในลา ลีกา ด้วยความหวั่นจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ซึ่งซีซัน 2017-18 ที่ขึ้นมาเล่นเทียร์ 1 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พวกเขาจบด้วยอันดับ 10 เช่นกัน ก่อนตกชั้นในซีซันต่อมาด้วยอันดับ 3 จากท้ายตาราง

ขอบคุณภาพ : https://www.theguardian.com/football/2023/dec/02/city-football-group-who-are-the-13-clubs-and-how-are-they-faring

แต่ตอนนี้ เป้าหมายคงถูกเปลี่ยนไปแล้วในความคิดของกลุ่มเจ้าของสโมสรได้แก่ ซิตี ฟุตบอล กรุ๊ป (ซีเอฟจี) บริษัทโฮลดิ้งที่ครอบครองสโมสรฟุตบอลอาชีพ 13 แห่ง อาทิ แมนเชสเตอร์ ซิตี, นิวยอร์ก ซิตี, เมลเบิร์น ซิตี และโยโกฮามา เอฟ.มารินอส เป็นต้น

วันที่ 23 สิงหาคม 2017 ไม่กี่เดือนหลังคิโรนาได้สิทธิเลื่อนชั้นขึ้นลา ลีกา มีการประกาศข่าว ซีเอฟจี บริษัทย่อยของ อาบู ดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป บริษัทเอกชนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เจ้าของคือ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน สมาชิกราชวงศ์อาบูดาบี ได้เข้ามาซื้อหุ้นสโมสร 44.3% ก่อนเพิ่มเป็น 47%

มาร์เซโล แคลร์ ประธานสโมสร คลับ โบลิวาร์ ทีมลูกหนังในโบลิเวีย ถือหุ้นสโมสรมากรองลงมาคือ 35% ซึ่งครอบครองตั้งแต่ปี 2020 แคลร์เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับซีเอฟจี และเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับไมอามี อินเตอร์ ทีมลูกหนังในสหรัฐอเมริกาด้วย

คิโรนา ฟุตบอล กรุ๊ป ซึ่งนำทีมบริหารโดย เปเร กวาร์ดิโอลา น้องชายของเป๊ป กวาร์ดิโอลา ผู้จัดการทีมแมนฯซิตี ถือหุ้นสโมสร 16% เปเรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรตั้งแต่ปี 2015 ช่วยกู้วิกฤติล้มละลายของคิโรนา ก่อนมีส่วนสำคัญทำให้ดีลธุรกิจของซีเอฟจีลุล่วงไปด้วยดี

กิเก คาร์เซล ผู้อำนวยการกีฬาของคิโรนา ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทของซีเอฟจีว่า “พวกเขาเข้ามาจัดระเบียบสิ่งต่างๆมากขึ้น แน่นอนการได้สิทธิเลื่อนชั้นขึ้นลา ลีกา (ก่อนการเข้ามาของซีเอฟจี) มีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาหลายสิ่งหลายอย่าง โครงสร้างพื้นฐานภายในเติบโตทันสมัยขึ้นมากๆ เจ้าของสโมสรเป็นคนฟุตบอล พวกเขามีความรู้เรื่องเกมลูกหนัง และได้สร้างโปรเจกต์ที่ดีมีประโยชน์ด้วย”

สไตล์การเล่นที่เป็นเหมือนเงาของแมนฯซิตี

นอกจากซิตี ฟุตบอล กรุ๊ป บุคคลที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์เหลือเชื่อของคิโรนีหนีไม่พ้น มิเกล แองเจิล ซานเชซ มูโนซ หรือ “มิเชล” หัวหน้าโค้ชวัย 48 ปี ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2021 เพียงซีซันแรกเขาพาทีมชนะเตเนริเฟในรอบชิงชนะเลิศ เซกุนดา เพลย์ออฟ เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุด และยังเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย โกปา เดล เรย์ แต่แพ้ต่อราโย บาเยกาโน 1-2

ย้อนกลับไป 2 ปีที่แล้ว 10 นัดแรกในฐานะเฮดโค้ชใหม่ มิเชลคุมทีมคิโรนาเก็บชัยชนะได้แค่ 2 นัดในเซกุนดา ส่งผลให้ตำแหน่งของเขาตกอยู่ในอันตราย คาร์เซลให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ตอนนั้นว่า

“ผมพูดบ่อยๆว่า ทีมกำลังพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นไปในทิศทางที่ผมชื่นชอบ ผลแข่งขันไม่ได้สะท้อนในสิ่งที่พวกเราเห็นในทุกๆนัด ผมเห็นนักฟุตบอลเติบโตและมีพัฒนาการ เราเชื่อมั่นว่าความคิดและวิธีเล่นที่เป็นอยู่สามารถนำทีมไปสู่อะไรบางอย่างที่ดี จริงอยู่ที่ผมเคยไล่โค้ชออกแต่นั่นเนื่องจากผมไม่เห็นความเชื่อมโยงกับผู้เล่นหรือสิ่งที่ผมต้องการให้เกิดขึ้นในสนาม แต่กับมิเชลไม่ได้เป็นอย่างนั้น และไม่กี่เดือนต่อมา คิโรนาก็ได้รับการเลื่อนดิวิชัน”

คิโรนาไม่เพียงเป็นทีมลุ้นแชมป์ลีกสเปน แต่ยังทำประตูได้มากอีกด้วย ซึ่งหลังเตะ 16 นัดแรก คิโรนาทำสกอร์ได้สูงที่สุดในลา ลีกา คือ 38 ประตู ตามด้วยเรอัล มาดริด 34 ประตู และแอตเลติโก มาดริด 32 ประตู คิโรนาอยู่อันดับสูงเกือบทุกสถิติของเกมบุก คาร์เซลมองว่า สไตล์การเล่นของคิโรนาคล้ายคลึงกับแมนฯซิตี

เอริก กราเซีย เซ็นเตอร์แบ็ควัย 22 ปี ที่ยืมมาจากบาร์โซโลนาและเคยเล่นให้แมนฯซิตีระหว่างปี 2018 – 2021 ให้สัมภาษณ์ว่า “ปรัชญาการเล่นของ 2 สโมสรเหมือนกันมากๆ เราพยายามเริ่มตั้งเกมจากแบ็คไลน์, เข้าเพรสให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นได้เมื่อเสียบอล และเน้นเกมรุก ซึ่งคล้ายกับแมนฯซิตี”

ทั้งนี้เคยมีข่าวว่า มิเชลได้รับการติดต่อเพื่อสืบทอดงานของเป๊ปที่เอติฮัด สเตเดียม อิกนาซิโอ มาส-บากา ซีอีโอของคิโรนา กล่าวถึงความสัมพันธ์ของ 2 กุนซือชาวสเปนว่า “กวาร์ดิโอลาคุยกับมิเชล เวลาที่ว่างจากการทำงาน ทั้งคู่จะคุยเรื่องฟุตบอลกันเพราะต่างมีชีวิตเพื่อฟุตบอล พวกเขามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เชื่อมโยงกันได้ดี และพูดภาษาเดียวกัน”

มาส-บากาเสริมว่า แม้มีความพยายามเล่นให้เหมือนแมนฯซิตี แต่มีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่น งบประมาณและขนาดสโมสร ซึ่งมีส่วนพลักดันให้ประสบความสำเร็จได้มากกว่า “งบทำทีมเป็นตัววัดที่ดีเสมอ ใครลงทุนมากมักทำผลงานได้ดีกว่าบนสนาม แต่ก็เยี่ยมนะที่มีสตอรีแบบเรา สโมสรเล็กๆที่กล้าเล่นด้วยวิธีเดียวกันไม่ว่าเจอคู่แข่งท้ายตารางหรือมาดริดและบาร์ซา”

“วัตถุประสงค์ของสโมสรตอนนี้ก็คืออยู่ในลา ลีกา ต่อไปเรื่อยๆ มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ขึ้นเป็นทีมนำ เรารักมันที่ได้เขียนประวัติศาสตร์สโมสรได้น่าตื่นเต้นเร้าใจ แต่เรายึดถือความเป็นจริงด้วย เราตระหนักดีว่ากำลังอยู่ข้างหน้าของจุดที่ควรอยู่จริงๆ”

แต่ด้วยกฎระเบียบด้านการเงินที่เข้มงวดของลา ลีกา คิโรนาจึงระมัดระวังเรื่องการจ่ายเงินเกินตัว ซึ่งตัวเลขลิมิตของคิโรนาอยู่ที่ 52 ล้านยูโรในซีซันนี้ อยู่อันดับ 14 ของลีก อยู่ระหว่างราโยและคาดีซ

ดอกผลจากการดีลที่ฉลาดในตลาดซัมเมอร์

ส่วนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จราวความฝันของคิโรนาคือการคัดเลือกผู้เล่นในตลาดซัมเมอร์ทั้งขาออกขาเข้า โอริโอล โรเมอู กองกลาง ย้ายไปอยู่บาร์เซโลนา, โรดรีโก ริเกลเม (แอตเลติโก มาดริด) และ วาเลนติน กาสเตยานอส (ลาซิโอ) กลับไปอยู่ต้นสังกัดหลังหมดสัญญายืมตัว, ซานเตียโก บูเอโน กองหลัง ไปเล่นให้วูลฟ์แฮมป์ตัน

แต่คิโรนาไม่ได้รู้สึกถึงความเสียหายหรือเสียดายเมื่ออ้าแขนรับ เดลีย์ บลินด์, เอริก กราเซีย, ซาวิโอ และอาร์เต็ม ดอฟบิคเข้ามาสู่คาตาลูญญา ทั้งหมดใช้เวลาน้อยที่จะปรับตัวกับแผนการเล่นของมิเชลได้อย่างลงตัว 

แซม มาร์สเดน คอลัมนิสต์พิเศษของอีเอสพีเอ็น ตั้งข้อสังเกตการทำงานของทีมรีครูทเมนต์ว่า ซาวิโอและยาน เคาโต สองนักเตะบราซิล ถูกยืมมาจากสโมสรในเครือซีเอฟจีคือ ทรัวส์และแมนนซิตี เช่นเดียวกับฤดูกาลที่แล้วที่ยืมกาสเตยานอสผ่านนิวยอร์ก ซิตี ขณะที่ ยันเคล เอร์เรรา เพิ่งเซ็นสัญญา 4 ปีกลางปีนี้หลังจากขอยืมใช้งานจากแมนฯซิตีในฤดูกาล 2022-23 รวมถึง อเล็กซ์ การ์เซีย ดาวมิดฟิลด์ตัวรับ ย้ายมาอยู่ถาวรกับคิโรนา ซึ่งเคยยืมจากแมนฯซิตี 2 ซีซัน

ซาวิโอ กองหน้าดาวรุ่งวัย 19 ปี ซึ่งทำ 4 ประตู 5 แอสซิสต์จาก 16 นัดแรกในบอลลีกซีซันนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งในความสำเร็จของทีมงานคิโรนา คาร์เซลเป็นคนเจอเพชรเม็ดงามในบราซิลก่อนทรัวส์ซื้อซาวิโอจากแอตเลติโก มิไนโร กลางปี 2022 โดยมีรายงานว่า บาร์เซโลนาเป็นทีมหนึ่งที่ให้ความสนใจ ล่าสุดมีการเจรจาเบื้องต้นว่าซาวิโออาจย้ายไปแมนฯซิตีสักวันหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม คิโรนายังต้องแข่งขันในตลาดกับสโมสรชั้นนำของยุโรปเช่นกัน ไม่ได้ใช้เส้นทางเชื่อมโยงในเครือข่ายซีเอฟจีเท่านั้น ตัวอย่างคือ ดอฟบิคและวิคตอร์ ซิกันคอฟ สองนักเตะทีมชาติยูเครนที่มีค่าตัว 7.75 ล้านยูโร และ 5 ล้านยูโรตามลำดับ รวมถึงบลินด์ กองหลังวัย 33 ปี ซึ่งย้ายมาจากบาเยิร์น มิวนิก หลังเคยค้าแข้งที่อาแจ็กซ์ และแมนฯยูไนเต็ด ถูกดึงเข้ามาเพิ่มประสบการณ์ภายในทีมเช่นเดียวกับ ดาบิด โลเปซ และคริสเตียน สตูอานี

ความสุขที่ได้เห็นเสื้อคิโรนาในบาร์เซโลนา

ผู้อำนวยการกีฬาให้สัมภาษณ์กับอีเอสพีเอ็นว่า “เห็นได้ชัดเลยว่าเป้าหมายซีซันนี้เปลี่ยนไปแล้ว เราไม่เคยคาดหวังอะไรอย่าง 38 คะแนนจาก 15 นัดแรก มันสร้างประวัติศาสตร์ และคงไม่น่าจะเกิดขึ้นอีกเพราะเป็นเรื่องยากมากๆ”

เป้าหมายตอนนี้ก็คือพยายามให้อยู่ในพื้นที่โควตาสโมสรยุโรป (7 อันดับแรก) เพราะจากแต้มที่ได้มาแล้วทำให้เราเชื่อว่าสามารถต่อสู้เพื่อเป้าหมายนั้นได้”

คิโรนาเป็นเมืองตอนเหนือของคาตาลูญญา อยู่ห่างจากบาร์เซโลนาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 99 กิโลเมตร คิโรนาเป็นเมืองเก่าแก่มีเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ถูกใช้เป็นโลเคชันถ่ายทำโปรดักชันมากมายรวมถึงทีวีซีรี่ส์สุดฮิต Game of Thrones

ถ้าเป็นมุมด้านฟุตบอลไม่มีการขับเคี่ยวที่เข้มข้นในแคว้นคาตาลูญญา ที่ผ่านมามีเพียงบาร์เซโลนากับเอสปันญอลที่ลงไปเล่นเซกุนดาในฤดูกาลนี้ จึงเหลือคิโรนาทีมเดียวแถมสร้างความฮือฮาด้วยการบดบาร์ซา 4-2 คาบ้าน

คาร์เซลกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “การที่คิโรนามาอยู่ ณ จุดนี้ ได้ต่อสู้กับบรรดาสโมสรใหญ่ ช่วยดึงให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับทีมมากขึ้น เราสะสมความสำเร็จทีละเล็กละน้อย ปัจจุบันมีเด็กมากมายเดินบนท้องถนนโดยสวมเสื้อทีมคิโรนา ต่างกับเมื่อครั้งผมมาที่เมืองนี้ราว 10 ปีที่แล้ว ไม่เจอใครสักคน ทุกคนสวมเสื้อบาร์ซา และนี่คือสิ่งที่เราพยายามต่อสู้เพื่อให้เติบโตงอกงาม ตอนนี้ผมเห็นเสื้อคิโรนาในบาร์เซโลนาด้วย ซึ่งมีความสำคัญมากเพราะแสดงให้เห็นว่า เราไม่ใช่ทีมฟุตบอลจากชายขอบอีกแล้ว”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

วันฟ้าหม่นของ “เอฟเวอร์ตัน” หลังถูกตัดแต้มจากกฎการเงินพรีเมียร์ลีก

  • กฎ Profitability and Sustainability (P&S) เป็นกฎการเงินที่บังคับใช้กับสโมสรในพรีเมียร์ลีก และเดอะ แชมเปี้ยนชิพ 
  • งบการเงิน 4 ปีหลังสุด เอฟเวอร์ตัน ขาดทุนสูงถึง 417.3 ล้านปอนด์ หรือเกินกว่าที่พรีเมียร์ลีกกำหนดไว้เกือบ 4 เท่า
  • เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรที่ 3 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก ที่ถูกลงโทษตัดแต้ม ต่อจากมิดเดิลสโบรช์ และพอร์ทสมัธ

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สื่อทุกสำนักพาดหัวข่าวใหญ่ เอฟเวอร์ตัน ถูกพรีเมียร์ลีกสั่งตัด 10 คะแนน จากกรณีละเมิดกฎการเงินที่เรียกว่า Profitability and Sustainability หรือ P&S

แน่นอนว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสโมสร ต่างแสดงความผิดหวัง และไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินที่ออกมา แม้จะรับรู้มาตลอดว่าสักวันหนึ่งทีมจะต้องถูกลงโทษ ซึ่งพวกเขาจะขอต่อสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อไป

หากอุทธรณ์ไม่สำเร็จ สโมสรก็ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรม กลับมามุ่งมั่นในสนามเพื่อเก็บชัยไปเรื่อยๆ และหลีกเลี่ยงการร่วงตกชั้นจากลีกบนยอดพีระมิดเมืองผู้ดี ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานกว่า 7 ทศวรรษ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ถูกมองว่าเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการตัดสินคดีละเมิดกฎการเงินในอนาคต และต่อไปนี้คือเรื่องราวเบื้องลึกสู่การลงโทษหักแต้มที่หนักที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรีเมียร์ลีก

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

รู้จักกับ P&S กฎคุมการเงินลูกหนังเมืองผู้ดี

กฎ Profitability and Sustainability หรือเรียกย่อๆ ว่า P&S คือกฎที่ว่าด้วยเรื่องความสามารถในการทำกำไรและความยั่งยืน เพื่อควบคุมการเงินของ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก และ 24 สโมสรในเดอะ แชมเปี้ยนชิพ

สำหรับกฎ P&S เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2016 ซึ่งในฤดูกาลปัจจุบัน กฎดังกล่าวจะระบุไว้ในหมวด E. ข้อ 47-52 ของระเบียบการแข่งขัน (PL Handbook) โดยทุกสโมสรจะต้องส่งงบการเงินให้พรีเมียร์ลีกตรวจสอบทุกปี

หัวใจสำคัญข้อหนึ่งของกฎ P&S คือ “สโมสรในพรีเมียร์ลีก จะได้รับอนุญาตให้ขาดทุนสูงสุดได้ไม่เกิน105 ล้านปอนด์ ภายในระยะเวลา 3 รอบปีบัญชีหลังสุด หากมีสโมสรใดขาดทุนเกินกำหนดจะต้องถูกลงโทษ”

ซึ่งคำว่า “ขาดทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 105 ล้านปอนด์” ความจริงแล้วมีเพดานอยู่ที่ 15 ล้านปอนด์เท่านั้น ส่วนอีก 90 ล้านปอนด์ที่เหลือ ทางพรีเมียร์ลีกอนุโลมให้เจ้าของสโมสรนำเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือทางอ้อมได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าสโมสรใดตกชั้นลงไปเล่นลีกแชมเปี้ยนชิพ กฎ P&S จะเข้มงวดมากกว่าพรีเมียร์ลีก เพราะจะทำให้ลิมิตการขาดทุน ลดลงเหลือเพียง 39 ล้านปอนด์ ในระยะเวลา 3 รอบปีบัญชีหลังสุดเช่นกัน

นับตั้งแต่กฎ P&S หรือไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ฉบับพรีเมียร์ลีก บังคับใช้มาแล้ว 7 ปี ยังไม่มีสโมสรใดเคยถูกลงโทษมาก่อน แต่ในที่สุด เอฟเวอร์ตัน ก็กลายเป็นสโมสรแรกที่ได้รับผลกรรมจากการละเมิดกฎดังกล่าว

ตรวจสุขภาพการเงินเอฟเวอร์ตัน 3 งวดล่าสุด

จากรายงานงบการเงินของเว็บไซต์ Company House ระบุว่า รอบปีบัญชี 2021/22 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2022 เอฟเวอร์ตันมีรายได้จากสื่อ, การค้า และแมตช์เดย์ รวม 181 ล้านปอนด์ ขาดทุน 44.7 ล้านปอนด์

และเมื่อบวกกับยอดขาดทุนใน 3 ปีบัญชีก่อนหน้า เริ่มจากปี 2019 จำนวน 111.8 ล้านปอนด์, ปี 2020 จำนวน 139.9 ล้านปอนด์ และปี 2021 จำนวน 120.9 ล้านปอนด์ รวม 4 ปีหลังสุด เท่ากับ 417.3 ล้านปอนด์

แต่ในปี 2020 และ 2021 เป็นช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ทางพรีเมียร์ลีกอนุญาตให้รวบเป็นงวดเดียวกัน โดยการนำยอดมารวมกัน แล้วหารด้วย 2 นั่นเท่ากับว่า เอฟเวอร์ตันขาดทุนโดยเฉลี่ย 130.4 ล้านปอนด์ต่อปี

นั่นหมายความว่า การคำนวณหายอดขาดทุนตามกฎ P&S ใน 3 งวดบัญชีล่าสุด คือ 2019, 2020-21และ 2022 “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ติดลบ 287 ล้านปอนด์ ยังเกินกว่าที่ทางพรีเมียร์ลีกกำหนดไว้ถึง 182 ล้านปอนด์

ในส่วนของค่าจ้างนักเตะ เฉพาะ 4 ปีบัญชีหลังสุด เอฟเวอร์ตันจ่ายเงินสูงถึง 582 ล้านปอนด์ เป็นรองสโมสรบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก แต่ไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดๆ แม้กระทั่งโควตายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็ไม่เคยสัมผัส

เมื่อนำค่าจ้างมาคำนวณสัดส่วนเมื่อเทียบกับรายได้รวมในช่วงเวลาเดียวกัน (746 ล้านปอนด์) จะพบว่าเอฟเวอร์ตันจ่ายค่าจ้างคิดเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ ของรายรับ ซึ่งนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโมสรมีปัญหาการเงิน

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

สแกนกรรมทอฟฟี่สีน้ำเงิน ทำการเงินเข้าขั้นวิกฤต

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่นำมาสู่การลงโทษหัก 10 คะแนน ก็คือการที่เอฟเวอร์ตันขาดทุนเกินกว่ากำหนดในรอบ 3 ปีหลังสุด ซึ่งพวกเขารอดตกชั้นในฤดูกาล 2021/22 และ 2022/23 แต่กลับไม่ถูกลงโทษใดๆ เลย

นั่นทำให้บรรดาทีมคู่แข่งสำคัญที่สูญเสียผลประโยชน์จากการตกชั้น ทั้งเบิร์นลีย์ (2021/22), เลสเตอร์ ซิตี้ และลีดส์ ยูไนเต็ด (2022/23) รวมตัวกันไปร้องเรียนพรีเมียร์ลีก เพื่อหวังเอาผิดกับทีมทอฟฟี่สีน้ำเงินให้ได้

ต่อมาในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระของพรีเมียร์ลีก ได้ใช้เวลาไต่สวนนานถึง 5 วัน และตรวจสอบพบความผิดอีกข้อหาหนึ่ง นอกเหนือจากการมียอดติดลบเกินกว่าที่ทางลีกเมืองผู้ดีกำหนด

ความผิดปกติที่ว่านั้นคือ เอฟเวอร์ตันส่งข้อมูลงบการเงินอันเป็นเท็จในรอบปีบัญชี 2021/22 โดยแจ้งว่าขาดทุนเพียง 44.7 ล้านปอนด์ แต่ยอดขาดทุนจริงที่ P&S คำนวณได้คือ 124.7 ล้านปอนด์ ต่างกันถึง 80 ล้านปอนด์

ทางคณะกรรมการอิสระของพรีเมียร์ลีก ชี้แจงว่า เอฟเวอร์ตันได้มีการผ่องถ่ายรายจ่ายบางส่วนออกไปกับการสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ที่แบรมลีย์ มัวร์ ที่คาดว่าน่าจะเปิดใช้งานภายในปี 2024 ถือเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต

เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเงินของเอฟเวอร์ตันเข้าขั้นวิกฤต ประการแรก จ่ายเงินซื้อนักเตะจำนวนมาก แต่รายรับจากการขายนักเตะ รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ และส่วนแบ่งรายได้จากผลงานในตารางคะแนน ได้กลับมาไม่มาก

อีกประการหนึ่งคือ การสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้มหาศาลจากการขายสิทธิ์ชื่อสนามให้กับกลุ่มทุน USM ของอลิเซอร์ อุสมานอฟ นักธุรกิจชาวรัสเซีย อันเนื่องมาจากรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากการรุกรานยูเครน

ชดใช้ความผิดพลาด มองปัจจุบันและอนาคต

จากคำตัดสินของคณะกรรมการอิสระ ทำให้เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรที่ 3 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก ที่ได้รับบทลงโทษด้วยการตัดคะแนน และมีผลทันที ทำให้เหลือ 4 คะแนน หล่นไปอยู่อันดับรองสุดท้ายของตาราง

ก่อนหน้านี้ มิดเดิลสโบรช์ ในฤดูกาล 1996/97 เคยถูกตัด 3 แต้ม เนื่องจากไม่ลงแข่งขันกับแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส และพอร์ทสมัธ เมื่อซีซั่น 2009/10 ที่โดนหัก 9 แต้ม จากกรณีที่สโมสรถูกควบคุมกิจการ ท้ายที่สุดก็ตกชั้นทั้งคู่

นักวิเคราะห์สถิติจาก Opta ประเมินว่า ทีมของกุนซือฌอน ไดซ์ มีโอกาสตกชั้นในซีซั่นนี้ 34 เปอร์เซ็นต์ (เพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนถูกหัก 10 คะแนน) แต่ก็ยังน้อยกว่าเบิร์นลีย์, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และลูตัน ทาวน์

ย้อนกลับไปเมื่อฤดูกาล 1994/95 เอฟเวอร์ตันก็มีแค่ 4 แต้ม จาก 12 เกมแรก เช่นเดียวกับซีซั่นนี้ แต่ก็เอาตัวรอดด้วยการจบอันดับที่ 15 พร้อมกับคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ มาครอง ซึ่งอาจจะเป็นลางดีของพวกเขาก็ได้

ขณะเดียวกัน เอฟเวอร์ตันกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเจ้าของทีมรายใหม่ จากฟาฮัด โมชิริ นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน มาเป็น 777 Partners กลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา หลังเข้าซื้อหุ้น 94.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

สำหรับ 777 Partners เป็นบริษัทด้านการลงทุนที่มีกีฬาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก โดยได้เข้าไปลงทุนกับทีมฟุตบอลชื่อดังในยุโรป เช่น เซบีย่า (สเปน), เจนัว (อิตาลี), แฮร์ธ่า เบอรฺลิน (เยอรมนี) และสตองดาร์ด ลีแอช (เบลเยียม)

ซึ่งขั้นตอนการเทคโอเวอร์ อยู่ระหว่างรอทางพรีเมียร์ลีกอนุมัติอยู่ ซึ่งคาดว่าไม่เกินสิ้นปี 2023 แต่หลังจากเอฟเวอร์ตันถูกตัด 10 แต้ม และสุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้น โมชิริอาจจะมีการทบทวนดีลการซื้อกิจการอีกครั้ง

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

เชือดท็อฟฟี่ สะเทือนถึงแมนฯ ซิตี้ และเชลซี

เมื่อเอฟเวอร์ตันได้รับบทลงโทษตัดแต้มหนักที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรีเมียร์ลีก คำถามที่ตามมาก็คือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี 2 สโมสรยักษ์ใหญ่ที่กำลังถูกกล่าวหาเรื่องละเมิดกฎการเงิน จะโดนลงโทษหรือไม่ อย่างไร

กรณีของแมนฯ ซิตี้ ถูกตั้งข้อหาทำผิดกฎการเงิน 115 กระทง ตั้งแต่ปี 2009 – 2018 เช่น แจ้งข้อมูลการเงินไม่ถูกต้อง, ไม่ปฎิบัติตามกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ ของยูฟ่า อีกทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับพรีเมียร์ลีกในการสอบสวน

ขณะที่เชลซี เป็นข้อกล่าวหาเรื่องการใช้เงินที่ไม่โปร่งใสในช่วงปี 2012-2019 สมัยที่โรมัน อบราโมวิช ยังเป็นเจ้าของสโมสร เช่น ค่าจ้างอันโตนิโอ คอนเต้, ค่าตัวเอแดน อาซาร์,ที่ถูกโอนไปยังแหล่งฟอกเงินที่บริติช เวอร์จิ้นส์ เป็นต้น

ความเป็นไปได้ของบทลงโทษที่แมนฯ ซิตี้ และเชลซี จะได้รับจากพรีเมียร์ลีก มีตั้งแต่ปรับเงิน, ตัดแต้มสถานหนัก, ปรับตกชั้น หรือร้ายแรงที่สุด อาจถึงขั้นถูกขับพ้นจากลีกอาชีพ เหมือนที่สโมสรในลีกล่างเคยเจอมาแล้ว

ในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลอังกฤษ ลูตัน ทาวน์ คือทีมที่ถูกตัดแต้มมากที่สุดถึง 30 แต้ม เมื่อฤดูกาล 2008/09 สมัยที่อยู่ในลีก ทู (ดิวิชั่น 4) หลังถูกตรวจพบความผิดปกติทางการเงิน และตกชั้นเมื่อจบซีซั่น

หรือกรณีของบิวรี่ สโมสรในลีก วัน (ดิวิชั่น 3) ถูกขับออกจากลีกอาชีพของอังกฤษ หลังจากไม่สามารถหากลุ่มทุนมาเทคโอเวอร์ เพื่อเคลียร์หนี้สิน 2.7 ล้านปอนด์ ได้ทันตามกำหนดเวลา ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้นซีซั่น 2019/20 ไปไม่กี่นัด

การตัดคะแนนเอฟเวอร์ตัน 10 แต้ม เสมือนเป็นการส่งสัญญานเตือนเรือใบสีฟ้า และสิงห์บูลส์ ให้เตรียมรับมือกับข่าวร้ายระดับสะเทือนวงการลูกหนัง ซึ่ง “มีโอกาสเป็นไปได้” ตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายได้วิเคราะห์ไว้

เรื่องราวการถูกลงโทษของเอฟเวอร์ตัน ถือเป็นกรณีศึกษาที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี ต้องจับตาดูว่าพรีเมียร์ลีก จะใช้กฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมหรือไม่

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/67448714

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/11/17/everton-deducted-10-points-premier-league-financial-rules/

https://theathletic.com/5072039/2023/11/17/everton-points-deduction-punishment-written-reasons/

https://theathletic.com/5071224/2023/11/18/everton-10-point-penalty-explained/

https://theathletic.com/5072612/2023/11/18/everton-ffp-chelsea-manchester-city/

https://resources.premierleague.com/premierleague/document/2023/08/31/132475d9-6ce7-48f3-b168-0d9f234c995a/PL_Handbook_2023-24_DIGITAL_29.08.23.pdf

– https://swissramble.substack.com/p/financial-fair-play-202122

https://swissramble.substack.com/p/everton-finances-202122

https://www.financialfairplay.co.uk/financial-fair-play-explained.php

– https://find-and-update.company-information.service.gov.uk/company/00036624/filing-history

Categories
Special Content

สองเสือผู้ยิ่งใหญ่ : ดอร์ทมุนด์ vs บาเยิร์น ศัตรูที่รักแห่งบุนเดสลีกา

บาเยิร์น มิวนิค และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 2 สโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของประเทศเยอรมนี ซึ่งความขัดแย้งระหว่างคู่ปรับคู่นี้ เกิดขึ้นจากการชิงดีชิงเด่นในสังเวียนลูกหนังล้วน ๆ

นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา การคว้าแชมป์บุนเดสลีกา ว่ากันแค่ “เสือใต้แห่งบาวาเรีย” กับ “เสือเหลืองแห่งรูห์” เท่านั้น ที่ผลัดกันฉลองโทรฟี่ลีกสูงสุด ไม่มีสโมสรอื่นเบียดขึ้นมาครองบัลลังก์ได้เลย

อย่างไรก็ตาม 11 ปีหลังสุด บาเยิร์น ผูกขาดแชมป์ลีกเยอรมันอยู่ทีมเดียว เมื่อฤดูกาลใหม่มาถึง ดอร์ทมุนด์ก็ยังถูกมองว่าเป็นผู้ท้าชิงอันดับหนึ่งเช่นเดิม และหมายมั่นปั้นมือที่จะโค่นยักษ์จากมิวนิคให้ได้

ด้วยความที่ระยะทางระหว่าง 2 เมือง (มิวนิค-ดอร์ทมุนด์) ห่างกันประมาณ 500 กิโลเมตร ทำให้ไม่ค่อยมีภูมิหลังความเกลียดชังรุนแรงตั้งแต่ยุคอดีต ซึ่งจะแตกต่างจากคู่ปรับคู่อื่นๆ ในโลกฟุตบอล

แม้ดีกรีความดุเดือดจะไม่มากเท่ากับบิ๊กแมตช์อื่น แต่เจอกันครั้งใดก็คลาสสิกอยู่เสมอ จนถูกเรียกว่า “Der Klassiker” และนี่คือเรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำระหว่าง 2 เสือผู้ยิ่งใหญ่แห่งบุนเดสลีกา

สกอร์ 11 – 1 ชัยชนะขาดลอยที่สุดของ “เสือใต้”

บุนเดสลีกา ฟุตบอลลีกสูงสุดของเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นในปี 1963 และอีก 2 ปีหลังจากนั้น บาเยิร์น มิวนิค และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้พบกันเป็นครั้งแรกที่มิวนิค แต่เป็นดอร์ทมุนด์ที่บุกมาชนะ 2 – 0

พอเข้าสู่ยุค 1970s ได้ไม่นาน เกิดเหตุการณ์สำคัญในแมตช์ “แดร์ กลาซิเกอร์” ที่เอาชนะกันแบบขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์ของบุนเดสลีกา เป็นบาเยิร์นเปิดบ้านถล่มดอร์ทมุนด์ 11 – 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1971

11 ประตูของ “เสือใต้” มาจากแกร์ด มุลเลอร์ คนเดียว 4 ประตู, อูลี เฮอเนส กับฟรานซ์ โรธ คนละ 2 ประตู, ฟรานซ์ เบคเค่นบาวเออร์, พอล ไบรท์เนอร์ และวิลไฮม์ ฮอฟมันน์ ส่วน “เสือเหลือง” ตีไข่แตกจากดีเทอร์ ไวน์คอฟฟ์

หลังจากสิ้นสุดฤดูกาล 1971/72 แกร์ด มุลเลอร์ ศูนย์หน้าบาเยิร์น คว้าตำแหน่งดาวซัลโวด้วยผลงาน 40 ประตู เป็นตัวเลขสูงสุดภายในซีซั่นเดียว (ก่อนจะถูกโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ทุบสถิติในซีซั่น 2020/21 ที่ทำได้ 41 ลูก)

ขณะที่ดอร์ทมุนด์ หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งบุนเดสลีกาตั้งแต่ฤดูกาลแรก ตกชั้นไปเล่นลีกระดับดิวิชั่น 2 หลังจากอยู่ในบุนเดสลีกาได้เพียง 9 ฤดูกาล และใช้เวลานานถึง 4 ปี กว่าจะได้กลับสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

นับตั้งแต่ช่วงกลางยุค 1960s จนถึงช่วงต้นยุค 1990s บาเยิร์นคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ถึง 12 สมัย ดูเหมือนว่า “เสือใต้” กำลังจะผูกขาดความยิ่งใหญ่ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีทีมไหนเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อเลย

ยุคทอง “เสือเหลือง” จากแชมป์เยอรมันสู่เจ้ายุโรป

หลังจากต้องมองดูบาเยิร์น มิวนิค ฉลองแชมป์ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ถึงทีของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ได้สร้างยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาบ้าง โดยเริ่มจากการเข้ามาของกุนซืออ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ ตั้งแต่ปี 1991

ซึ่งฤดูกาลแรกของฮิตช์เฟลด์กับดอร์ทมุนด์ ทำได้ดีมากในการลุ้นแย่งแชมป์บุนเดสลีกาจนถึงนัดสุดท้าย จบซีซั่นด้วยตำแหน่งรองแชมป์ มีคะแนนเท่ากับสตุ๊ดการ์ท แพ้เพียงแค่ผลต่างประตูได้-เสีย

แม้หลังจากนั้น ฮิตช์เฟลด์จะทำได้เพียงอันดับ 4 ในลีก 2 ซีซั่นติดต่อกัน แต่การคว้าตัวมัทธีอัส ซามเมอร์ มิดฟิลด์สตุ๊ดการ์ท ที่เคยหักอกดอร์ทมุนด์เมื่อปี 1992 มาร่วมทีม และกลายเป็นคีย์แมนคนสำคัญในยุคทองของสโมสร

ศึกบุนเดสลีกา นัดปิดฤดูกาล 1994/95 ดอร์ทมุนด์ ลุ้นแย่งแชมป์กับแวร์เดอร์ เบรเมน ซึ่งสถานการณ์ก่อนลงสนามเกมสุดท้าย “นกนางนวล” มีคะแนนนำอยู่ 1 แต้ม (สมัยนั้นยังใช้ระบบชนะได้ 2 แต้ม)

ผลปรากฏว่า ดอร์ทมุนด์ ชนะ ฮัมบวร์ก 2 – 0 และได้รับโชคชั้นที่ 2 เมื่อบาเยิร์น มิวนิค ทีมอันดับ 6ปล่อยทีเด็ด ถล่มเบรเมน 3 – 1 ช่วย “เสือเหลือง” แซงคว้าแชมป์ลีกสูงสุดหนแรกในยุค “บุนเดสลีกา”

ความสำเร็จจากแชมป์บุนเดสลีกาสมัยแรก ยังต่อยอดสู่การป้องกันถาดแชมป์ได้สำเร็จในซีซั่นถัดมา และก้าวสู่จุดสูงสุดของยุโรป ในการคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซีซั่น 1996/97 ที่มิวนิค

อย่างไรก็ตาม หลังจากคว้าแชมป์ยุโรป ฮิตช์เฟลด์ประกาศอำลาทีม ยุคทองของดอร์ทมุนด์ก็ได้สิ้นสุดลง และไปเข้าทางบาเยิร์น ที่ต้องการดึงตัวกุนซือรายนี้มาร่วมงาน หวังทวงความยิ่งใหญ่กลับคืน

“ท่านนายพล” ผู้ทำลายล้าง “เอฟซี ฮอลลีวูด”

ช่วงกลางยุค 1990s คือยุครุ่งเรืองของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ อย่างแท้จริง แต่อีกด้านหนึ่ง บาเยิร์น มิวนิค ล้มเหลวแบบสุด ๆ เพราะนับตั้งแต่ปี 1995-1998 คว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้เพียงสมัยเดียวเท่านั้น

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะนักเตะบาเยิร์นหลายคน สนใจกอสซิปนอกสนาม ราวกับดาราฮอลลีวูด มากกว่าผลงานในสนาม ทำให้สื่อในเยอรมัน ตั้งฉายาให้กับทีมยักษ์ใหญ่แห่งมิวนิคว่า “เอฟซี ฮอลลีวูด”

บาเยิร์น ในฤดูกาล 1994/95 โจวานนี่ ตราปัตโตนี่ เทรนเนอร์ชาวอิตาลี ทำทีมจบแค่อันดับ 6 ถูกปลดออกไป แล้วอ็อตโต้ เรห์ฮาเกล เข้ามาสานต่อในฤดูกาลถัดมา แต่ก็โดนเชือดก่อนจบซีซั่นไม่กี่นัด

แม้ตราปัตโตนี่ จะรีเทิร์นอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการพา “เสือใต้” คว้าถาดแชมป์ในฤดูกาล 1996/97 ทว่าในซีซั่นต่อมา กลับถูกไกเซอร์สเลาเทิร์น ทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้น ปาดหน้าคว้าแชมป์ “อิล แทร็ป” ก็ไม่ได้ไปต่อ

ก่อนที่ฤดูกาล 1998/99 จะเริ่มขึ้น บาเยิร์นตัดสินใจเลือกอ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ ผู้เคยพาดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัย และแชมป์แชมเปี้ยนส์ ลีก 1 สมัย มาคุมบังเหียน เพื่อฟื้นฟูทีมให้แข็งแกร่งอีกครั้ง

และความเฮี้ยบของ “ท่านนายพล” ก็ช่วยปลุกเสือใต้ที่หมดสภาพในยุคเอฟซี ฮอลลีวูด ให้กลับมาเป็นเสือใต้ที่น่าเกรงขามเหมือนที่ทุกคนเคยรู้จักอีกครั้ง ด้วยแชมป์บุนเดสลีกา 4 สมัย จาก 6 ฤดูกาลที่คุมทีม

แถมด้วยการเข้าชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาล 1998/99 แพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดแบบเจ็บปวด แต่ก็แก้ตัวคว้าแชมป์ได้ในอีก 2 ซีซั่นถัดมา พร้อมกับเอาคืน “ปิศาจแดง” ชนะทั้ง 2 นัด ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย

เสือเหลืองกำลังจะจมน้ำ เสือใต้ยื่นมือเข้าช่วย

เข้าสู่ยุค Y2K มัทธีอัส ซามเมอร์ ที่เพิ่งแขวนสตั๊ดได้ไม่นาน เข้ารับตำแหน่งกุนซือคนใหม่ของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในปี 2000 และใช้เวลา 2 ซีซั่น พาทีมกลับมาคว้าแชมป์บุนเดสลีกาหนแรกในรอบ 6 ปี

ซามเมอร์ อดีตดาวเตะเจ้าของฉายา “เจ้าชายผมแดง” กลายเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของดอร์ทมุนด์ ที่ได้ถาดแชมป์ทั้งในฐานะผู้เล่นและโค้ช ซึ่งนั่นคือโทรฟี่ใบเดียวของเขา ตลอดเวลา 4 ฤดูกาลที่คุมทีม

กระนั้น แชมป์บุนเดสลีกาปี 2002 ของ “เสือเหลือง” กลับไม่ช่วยอะไรพวกเขามากนัก เพราะสโมสรเริ่มที่จะเจอปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จากการลงทุนขยายสนามเหย้า และการทุ่มเงินเพื่อสู้กับ “เสือใต้”

อีกทั้งการพลาดเข้ารอบแบ่งกลุ่มยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2003/04 ทำให้ดอร์ทมุนด์ขาดรายได้ก้อนโต หนี้สินก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องปล่อยนักเตะตัวหลักออกไปหลายคน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

ด้วยหนี้สินที่ล้นพ้นตัว เสี่ยงต่อการถูกฟ้องล้มละลาย และการถูกปรับตกชั้น ทำให้ดอร์ทมุนด์ ต้องยอมให้บาเยิร์น มิวนิค คู่แข่งสำคัญ ยื่นมือเข้ามาช่วย ด้วยการให้ยืมเงินจำนวน 2 ล้านยูโร เพื่อเป็นเงินหมุนเวียน

เงิน 2 ล้านยูโรของบาเยิร์น มิวนิค แม้มันจะน้อยนิด เมื่อเทียบกับจำนวนหนี้สินของดอร์ทมุนด์ แต่ก็ช่วยให้ “Yellow Wall” รอดพ้นจากการล้มละลาย พร้อมกับได้รับบทเรียนสำคัญจากความผิดพลาดในครั้งนี้

การเข้ามาของคล็อปป์ เปลี่ยนชีวิตดอร์ทมุนด์

จุดเริ่มต้นการสร้างความสำเร็จของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ในยุคใหม่ เกิดขึ้นในปี 2005 เมื่อฮานส์ โยฮาคิม วัตช์เก้ เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ ด้วยนโยบายที่จะช่วยให้สโมสรมีความยั่งยืนทางการเงิน

จากสโมสรที่เคยติดหนี้มากกว่า 100 ล้านยูโร ทำให้วัตช์เก้ ได้เปลี่ยนแนวคิดการบริหารสโมสรเสียใหม่ โดยเน้นการสร้างทีมด้วยนักเตะดาวรุ่งเป็นหลัก และผู้จัดการทีมคนหนุ่มที่กระหายความสำเร็จ

แน่นอนว่า นโยบายเช่นนี้ช่วยให้สถานะทางการเงินของสโมสรดีขึ้น แม้จะต้องแลกกับผลงานในสนามที่ตกต่ำลงจนกลายเป็นทีมระดับกลางตาราง และต้องหนีตกชั้นในฤดูกาล 2007/08 ที่จบอันดับ 13

และในซีซั่นต่อมา ดอร์ทมุนด์ ได้โค้ชวัยหนุ่มอย่างเจอร์เก้น คล็อปป์ อดีตกุนซือทีมเล็กๆ อย่าง ไมนซ์ 05เข้ามาเป็นผู้นำในการกอบกู้สโมสร พร้อมกับแพชชั่นที่สูงมากในการเปลี่ยนทีมให้เต็มไปด้วยพลัง

คล็อปป์ได้สร้างยุคทองครั้งใหม่ ด้วยการคว้าถาดแชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 2011 และ 2012 พร้อมกับแชมป์เดเอฟเบ โพคาล อีก 1 ถ้วย ในปี 2012 ด้วยการถล่มบาเยิร์นขาดลอย 5 – 2

นอกจากความสำเร็จในสนามแล้ว นโยบายการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย ก็ช่วยให้ดอร์ทมุนด์ประสบความสำเร็จทางธุรกิจด้วย หนิ้สินก็ลดลง จนกลายเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง

ชีวิตการเป็นผู้จัดการทีม แขวนอยู่บนเส้นด้าย

บาเยิร์น มิวนิค และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 2 สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมัน แต่ก็มาพร้อมกับความคาดหวังที่สูงมาก ส่งผลถึงอายุงานของกุนซือที่ไม่ยาวนานมากนัก พลาดเมื่อไหร่ มีสิทธิ์ตกงานได้ทุกเมื่อ

ยกตัวอย่างเช่น นิโก้ โควัช ถูกปลดจากกุนซือบาเยิร์น ในเดือนพฤศจิกายน 2019 หลังผลงานแย่ในบุนเดสลีกา แล้วฮันซี่ ฟลิค เข้ามาสานต่อ จบซีซั่นด้วย “เทรบเบิลแชมป์” เที่ยวที่ 2 ต่อจากซีซั่น 2012/13

กรณีของโควัช ก็คล้ายกับนาเกลส์มันน์ เมื่อซีซั่นที่แล้ว ที่ผู้บริหารบาเยิร์นประเมินแล้วว่า ถ้าพบแนวโน้มที่จะล้มเหลว มากกว่าจะประสบความสำเร็จ ก็จะแสดงความเด็ดขาด ด้วยการยื่นซองขาวให้กุนซือทันที

ทางฝั่งดอร์ทมุนด์ ก็มีกรณีของเจอร์เก้น คล็อปป์ ในฤดูกาล 2014/15 ซีซั่นสุดท้ายในการทำงาน จบแค่อันดับที่ 7 เจ้าตัวแสดงความรับผิดชอบกับความล้มเหลว ด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่ง

เรื่องผลงานในสนาม อาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้กุนซือต้องแยกทาง อย่างเช่นในปี 2017 โธมัส ทูเคิ่ล มีปัญหากับบอร์ดบริหาร และนักเตะบางคน แม้จะพาดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาลก็ตาม

ในประวัติศาสตร์ 60 ฤดูกาลที่ผ่านมาของฟุตบอลบุนเดสลีกา บาเยิร์นมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมทั้งหมด 33 ครั้ง จาก 26 คน ขณะที่ดอร์ทมุนด์ มีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมทั้งหมด 49 ครั้ง จาก 43 คน

อ๊อตมาร์ ฮิตช์เฟลด์ คือโค้ช “เสือใต้” ที่คุมทีมนานสุด (6 ปี) หลังจากนั้น โค้ชมีอายุงานเฉลี่ย 1.58 ปี ด้านเจอร์เก้น คล็อปป์ คือโค้ช “เสือเหลือง” ที่คุมทีมนานสุด (7 ปี) หลังจากนั้น โค้ชมีอายุงานเฉลี่ย 1.14 ปี

ฉากจบที่สุดแสนดราม่า เสือใต้ซิวแชมป์ 11 ปีซ้อน

ย้อนกลับไปในนัดสุดท้ายของฤดูกาล 2022/23 ดอร์ทมุนด์ มีโอกาสทองที่จะหยุดยั้งความยิ่งใหญ่ของบาเยิร์น มิวนิค ที่กินเวลายาว 1 ทศวรรษ เมื่อได้เป็นผู้กุมชะตากรรมด้วยตัวเอง ในการลุ้นแชมป์บุนเดสลีกา

สถานการณ์ก่อนลงเตะเกมปิดซีซั่น ดอร์ทมุนด์มีคะแนนนำบาเยิร์นอยู่ 2 แต้ม ถ้าพวกเขาเปิดบ้านชนะไมนซ์ 05 ได้ ก็จะคว้าแชมป์ทันที ส่วนเสือใต้ต้องบุกไปชนะโคโลญจน์ และลุ้นให้เสือเหลืองไม่ชนะด้วย

สกอร์ของทั้ง 2 สนาม หลังจบครึ่งแรก ดอร์ทมุนด์ ตามหลัง 0 – 2 ส่วนบาเยิร์น ขึ้นนำ 1 – 0 นั่นหมายความว่าใน 45 นาทีหลัง เสือเหลืองต้องยิง 3 ประตู หรือลุ้นให้เสือใต้ถูกตีเสมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายทั้ง 2 ทาง

เมื่อเข้าสู่ 10 นาทีสุดท้าย ดอร์ทมุนด์ ไล่ตามมาเป็น 1 – 2 ส่วนบาเยิร์น ถูกตีเสมอ 1 – 1 ถ้าจบด้วยสกอร์นี้ ทีมของเอดิน แทร์ซิซ จะคว้าแชมป์ทันที ทว่าก่อนถึงนาทีสุดท้าย จามาล มูเซียล่า ยิงให้เสือใต้ขึ้นนำ 2 – 1

เมื่อบาเยิร์นพลิกกลับมาเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบ ความกดดันก็ตกไปอยู่ที่ดอร์ทมุนด์ ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ นิคลาส ชูเล่ ยิงตีเสมอให้เสือเหลืองเป็น 2 – 2 ในนาทีที่ 90+6 ยังมีเวลาอีกเล็กน้อย เพื่อทำประตูสู่แชมเปี้ยน

แต่จนแล้วจนรอด ดอร์ทมุนด์ยิงเพิ่มไม่สำเร็จ และอีกสนาม จบลงด้วยชัยชนะ 2 – 1 ของบาเยิร์น ทำให้ทีมของโธมัส ทูเคิ่ล คว้าแชมป์ลีกเยอรมัน 11 ปีซ้อน โดยมี 71 คะแนนเท่ากัน แต่ผลต่างประตูได้เสียดีกว่า

เคน VS ฟุลล์ครุก ดวลความคมครั้งแรกในศึกใหญ่

ก่อนศึกใหญ่ที่ซิกนัล อิดูน่า พาร์ค ในสุดสัปดาห์นี้ ทั้งดอร์ทมุนด์ และบาเยิร์น มิวนิค ยังไม่แพ้ใคร มีคะแนนห่างกัน 2 แต้ม แต่ลูกได้เสีย เสือใต้ตุนไว้เยอะพอสมควร บวกถึง 27 ส่วนเสือเหลือง บวกแค่ 9

ศึก “แดร์ กลาซิเกอร์” 108 ครั้งที่ผ่านมา ยิงประตูเฉลี่ย 3.26 ประตูต่อเกม มีเพียง 5 เกมเท่านั้น ที่จบลงด้วยผลเสมอ 0 – 0 ซึ่งหนล่าสุดที่เสมอแบบไร้สกอร์ ต้องย้อนกลับไปในปี 2016 ที่ซิกนัล อิดูน่า พาร์ค

ซึ่งนักเตะที่ถูกยกให้เป็นความหวังสูงสุดในแนวรุกของทั้ง 2 ฝั่ง นั่นคือ นิคลาส ฟุลล์ครุก ของดอร์ทมุนด์ และแฮร์รี่ เคน ของบาเยิร์น มิวนิค ที่กำลังจะเผชิญหน้ากันในเกมใหญ่ที่สุดของฤดูกาลเป็นครั้งแรก

เคน ย้ายจากท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ ด้วยค่าตัว 100 ล้านยูโร แพงสุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร เริ่มต้นฤดูกาลได้อย่างร้อนแรงสุดๆ กดไปแล้ว 12 ประตู กับ 5 แอสซิสต์ จาก 9 นัดแรก เฉพาะในบุนเดสลีกา

สไตล์การเล่นของดาวยิงทีมชาติอังกฤษวัย 30 ปี ไม่ได้มีดีแค่เรื่องทำประตูได้ทุกรูปแบบเท่านั้น เขายังลงมาต่ำเพื่อหาช่องว่าง และผ่านบอลไปให้ลีรอย ซาเน่ รวมถึงตัวรุกคนอื่นๆ เข้าไปยิงประตูได้อีกด้วย

ขณะที่ฟุลล์ครุก ย้ายจากแวร์เดอร์ เบรเมน พร้อมพกดีกรีดาวซัลโวร่วมบุนเดสลีกา เมื่อฤดูกาลที่แล้ว ด้วยผลงาน 16 ประตู กับ 5 แอสซิสต์ ส่วน 9 นัดแรกเฉพาะในลีก ซีซั่นนี้ เริ่มต้นด้วย 2 ประตู กับ 2 แอสซิสต์

กองหน้าทีมชาติเยอรมนี วัย 30 ปี ก็มีสไตล์การเล่นที่คล้ายคลึงกับเคน คือนอกเหนือจากยิงประตูแล้ว ยังสามารถเปิดบอลไปให้ผู้เล่นแนวรุกที่มีความเร็ว เช่นดอนเยลล์ มาเล็น และยูเลี่ยน บรันด์ท ลุ้นจบสกอร์

และพลาดไม่ได้ที่จะรับชมบิ๊กแมตช์นี้ ซึ่งทาง พีพีทีวี เอชดี 36 ยิงสด ศึกโค่นแชมป์! ที่ทุกคนรอคอย กับ บุนเดสลีกา “แดร์ คลาสสิเคอร์” โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ พบ บาเยิร์น มิวนิค วันเสาร์ที่ 4 พ.ย. นี้ เวลาเที่ยงคืนครึ่ง แฟน ๆ “เสือเหลือง” และ “เสือใต้” ห้ามพลาด

ทางสถานีโทรทัศน์ PPTV HD ช่อง 36
ทางออนไลน์ช่องที่ 1 >> https://www.pptvhd36.com/live
และ Application : PPTVHD36 สามารถดาวน์โหลดได้ที่
– iOS : http://goo.gl/Jt1qMA
– Android : http://goo.gl/nTWUS2

ชมไฮไลท์ บุนเดสลีกา และติดตามข่าวสาร ได้แล้วที่ >>
https://www.pptvhd36.com/sport/บุนเดสลีกา

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://fcbayern.com/en/news/2021/12/11-1-50-years-ago-fc-bayern-celebrated-their-biggest-ever-bundesliga-win

– https://sqaf.club/why-bayern-munich-called-fc-hollywood/

https://bvbbuzz.com/2018/01/24/look-back-borussia-dortmunds-remarkable-financial-recovery/

https://en.wikipedia.org/wiki/Der_Klassiker

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/borussia-dortmund-1994-95-remembering-first-title-12164

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/fullkrug-harry-kane-tactical-comparison-klassiker-dortmund-bayern-25177

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/5-reasons-to-watch-der-klassiker-borussia-dortmund-bayern-munich-kane-neuer-21421

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/10-things-on-der-klassiker-bayern-munich-borussia-dortmund-lewandowski-haaland-7885

https://www.bundesliga.com/en/bundesliga/news/joy-and-despair-for-bayern-munich-and-borussia-dortmund-in-klassiker-campaign-like-no-other-25160

Categories
Our Work

เนรมิตศึก ElClasico คอนเซปต์ “สปอร์ต-เทนเมนท์” ย้อมบรรยากาศ แสง สี เสียง จัดเต็ม ดูบอลยักษ์ 8 เมตร ชมบิ๊กแมตช์ยิ่งใหญ่ที่สุดของลาลีกา จบเกม เรอัล มาดริด บุกแซงชนะ บาร์เซโลน่า 2-1

หนึ่งในงานหลักของ “ไข่มุกดำ” (KMD) ในพาร์ต Sport Services ที่เป็นอีกครั้งในความร่วมมือกับลาลีกา ประเทศไทย จัดอีเวนต์ชมฟุตบอลโดยครีเอตคอนเซปต์ การจัดการงานทั้งหมด การวางแผนโปรโมต และประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ออกมาเป็นงานกิจกรรมการตลาดแบบครบวงจรที่สุดอีกครั้งหนึ่ง

อีเวนต์ศึกแห่งศักดิ์ศรียิ่งใหญ่ที่สุด “เอลกลาสซิโก” บาร์เซโลนา ปะทะ เรอัล มาดริด วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566 จัดขึ้นที่สนามฟุตบอลในร่ม ขอบสนาม อารีนา พระราม 9 โดยประเทศไทยเป็น 1 ในประมาณ 50 ประเทศทั่วโลก ด้วยคอนเซปต์ “สปอร์ต-เทนเทนท์” ย้อมสนามด้วยแสง สี เสียง เต็มพิกัดชมเกมสุดมันส์บนจอยักษ์ 8 เมตร เวทีใหญ่ 15 เมตร พร้อมกิจกรรมร่วมสนุกมากมายก่อน จู๊ด เบลลิงแฮม เป็นตัวแสบพามาดริดบุกแซงชนะ 2-1

ฟุตบอลแมตช์นี้ ถ่ายทอดสดประสบการณ์การรับชมผ่าน LaLiga Plus เว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นลาลีกาอย่างเป็นทางการ โดยเปิดฉากกิจกรรมบนเวทีหลักด้วย ดนตรีแนวป๊อปร็อค จากศิลปินดาวรุ่ง ‘iODEEN’ วงโมเดิร์นป็อปร็อก เป็นออเดิร์ฟเริ่มความมันส์ ตามด้วยกิจกรรมตอบคำถาม จาก ทีมขอบสนาม และพรีวิวเกมโดยสุดยอดกูรูบอลสเปนที่ทุกคนชื่นชอบ เจมส์ ลาลีกา, ขวัญ ลามาเซีย และ เบน บาร์ซ่าเข้าเส้น by แฟนพันธุ์แท้บาร์ซ่า ก่อนเริ่มเชียร์บอลพร้อมกัน เวลา 21.15 น.

“ต้องขอขอบคุณทุก ๆ คนที่มาร่วมงาน และพาร์ตเนอร์ทุกราย ประเทศไทยเป็น 1 ใน 40-50 ประเทศทั่วโลกที่จัดอีเวนต์ชมเกมฟุตบอลนัดนี้ ผมรู้สึกดีใจ และยินดีทุกครั้งที่ได้มีโอกาสสร้างประสบการณ์การเชื่อมโยงระหว่างฟุตบอลสเปนมาให้กับแฟนบอลไทยแบบนี้ และก็จะมีครั้งต่อ ๆ ไปอีกแน่นอน”

จอร์โจ ปอมปิลี รอสซี ตัวแทนลาลีกา ในประเทศไทย กล่าว

เกมส์ และกิจกรรมถูกนำมาให้แฟนบอลกว่า 200 คนที่ลงทะเบียนมาร่วมงานได้สนุกสนานกัน ทั้งจาก EA Sports, เกมยิงประตูล่าแต้ม, Lucky Draw ให้ลุ้นรับรางวัลน้อยใหญ่อีกมากมาย ทั้งเสื้อสกรีนโลโก้ลาลีกา เสื้อกีฬาและเสื้อยืดจาก Ari, รางวัลจาก EA Sport, เสื้อแท้บาร์เซโลน่า และเรอัล มาดริด ปิดท้ายด้วยรางวัลไฮไลท์ เสื้อบาร์เซโลน่า พร้อมลายเซ็นของอดีตนักฟุตบอลบาร์เซโลน่า ‘Gaizka Mendieta’ ซึ่งมาร่วมกิจกรรม Meet and Greet ล่วงหน้า 1 วัน

นอกจากแฟนบอลแล้ว เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ฟุตบอลมากมาย อาทิ เบลล์ ขอบสนาม, เกมส์เอง, มายด์ เปี๊ยกบางใหญ่, แตง Top4Official, ปาล์ม เพจ Real Madrid Thailand Fanclub, เพจ Real Betis Thailand แฟนคลับ, เพจ El Golazo : รู้ลึกบอลสเปน, ดูบอลกับแนท, และเหล่าพาร์ตเนอร์ของงาน ทั้ง ขอบสนาม, Ari, EA Sports และ Mahou ที่มาร่วมสนุก ออกบู๊ธ สร้างสีสัน และความมันส์ไปด้วยกัน

สำหรับศึก ElClasico ที่จัดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน นอกจากกิจกรรมดูบอลแล้ว ทางลาลีกา ยังจัดฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างสื่อ และอินฟลูเอนเซอร์ฟุตบอล วันที่ 26 ตุลาคม ตามด้วย Meet and Greet ของตำนานฟุตบอลสเปน ‘Gaizka Mendieta’ ในวันถัดมาเพื่อโหมโรงก่อนศึกใหญ่ครั้งนี้

สำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจกิจกรรมครั้งต่อไปของ “ไข่มุกดำ” เตรียมพบกับงานกางเต็นท์ ดูบอล ชมดาว ฟังเพลง ในชื่อ Go2Camp ชมเกม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ – ลิเวอร์พูล และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ – โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค ไปด้วยกันที่นครนายก สนใจ…รออีกเล็กน้อยค่ะ

คลิกดูภาพบรรยากาศงานดูบอลที่นี่ได้เลย https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1iFoGCbA4p5pXQEd1vuWEBUV6qYJYzN6f

คลิกชมภาพบรรยากาศงานเตะบอลกระชับมิตรระหว่างสื่อ และอินฟลูเอนเซอร์ ที่นี่ https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1WA1NCU2nm2IOKOB6UZaNKZpvmRyCEiHb

เรื่อง: ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย (แนน)

Categories
Column Special Content

ชาบีกับงานสร้าง “บาร์เซโลนา 2.0” ลงมือทันทีหลังคืนสู่บัลลังก์ ลา ลีกา

ชาบี เอร์นานเดซ เคยนิยามสโมสรบาร์เซโลนาไว้หลายวาระว่า เป็นทีมฟุตบอลที่อยู่ยากมากที่สุดในโลก ซึ่งตัวเขาเคยผ่านประสบการณ์มาแล้วทั้งสถานะหัวหน้าโค้ชในตอนนี้และนักฟุตบอลเมื่อครั้งอดีต (1998 – 2015) ก่อนย้ายไปแขวนสตั๊ดที่กาตาร์ (2015 – 2019) หรืออาจย้อนกลับไปขณะอายุเพียง 11 ขวบที่เขาเข้าไปอยู่ในศูนย์ฝึกเยาวชนลา มาเซีย

ตำนานมิดฟิลด์ทีมชาติสเปน ซึ่งปัจจุบันอายุ 43 ปี ขยายความว่า ชัยชนะอย่างเดียวยังไม่เพียงพอสำหรับบาร์เซโลนา แต่ต้องชนะด้วยจิตวิญญาณหรือดีเอ็นเอของสโมสร

แซม มาร์สเดน ผู้สื่อข่าวพิเศษของอีเอสพีเอ็น สื่อใหญ่ระดับโลก กล่าวว่าคงต้องถกเรื่องนี้กันหลายชั่วโมงและต้องย้อนกลับไปรื้อฟื้นวิวัฒนาการช่วง 35 ปีที่ผ่านมาผ่านยุคสมัยของโยฮัน ครัฟฟ์ และเป๊ป กวาร์ดิโอลา แต่สามารถสรุปลักษณะดีเอ็นเอของบาร์เซโลนาด้วย 3 P’s คือ positioning, possession และ pressure

กล่าวคือ บาร์เซโลนาเป็นทีมที่เน้นการบุกและสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ บิลด์อัพเกมจากแบ็คไลน์ไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ, เพรสไฮ, อินเตอร์เพลย์น้อยจังหวะเพียง 1-2 ครั้ง จนทำให้แฟนบอลดูการแข่งขันแบบก้นแทบไม่ติดเก้าอี้ ทำประตูสวยๆที่เหลือเชื่อ แน่นอนต้องชนะแมตช์และคว้าถ้วยชนะเลิศ

ซีซันที่แล้ว (2022-23) ชาบีเพิ่งพาบาร์เซโลนาคว้าแชมป์ลา ลีกา สมัยแรกนับตั้งแต่ปี 2019 แต่ได้รับเสียงวิจารณ์มากมายว่า บาร์เซโลนาชุดนี้ไม่ผ่านครบทุกข้อของดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน (KPI : Key Performance Indicator) โดยเฉพาะโกปา เดล เรย์ รอบรองชนะเลิศ นัดแรก ในเดือนมีนาคม 2023 แม้ลูกทีมของชาบีบุกเฉือนเรอัล มาดริด 1-0 ที่ซานติอาโก เบร์นาเบว

นัดนั้น ชาบีจำเป็นต้องปรับรูปแบบการเล่นเพราะนักเตะบาดเจ็บหลายคน ส่งผลให้ทีมราชันชุดขาวครองบอลมากกว่า 60%แม้นัด 2 ที่สปอติฟาย คัมป์ นู บาร์ซาครองบอลเพิ่มขึ้นเป็น 53% แต่โดนทีมเยือนถลุงยับ 0-4

งานใหญ่ที่รอชาบีอยู่หลังจบซีซัน 2022-23 คือ การสร้างทีมบาร์เซโลนาขึ้นมาใหม่ในเวอร์ชัน 2.0 โดยแหล่งข่าวสโมสรเปิดเผยกับอีเอสพีเอ็นว่า ชาบีต้องการให้ทีมพัฒนาการครองบอลให้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไปนับตั้งแต่เข้ามาคุมทีมแทนโรนัลด์ คูมัน ในเดือนพฤศจิกายน 2021 แม้ซีซันแรก ชาบีสามารถขยับตำแหน่งบนตารางลา ลีกา จากอันดับ 9 ขณะนั้นขึ้นมาจบด้วยอันดับ 2 (แต่ตามหลังเรอัล มาดริด ถึง 13 คะแนน ส่วนซีซันที่ 2 บาร์ซาเข้าวินและอยู่ห่างคู่แข่งเอล กลาซิโก 10 คะแนน)

ชาบีเริ่มวางฐานรากให้ทีมด้วยเกมรับ

ย้อนกลับไปดูการยกเครื่องบาร์เซโลนาในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว ดูเหมือนชาบีเริ่มโฟกัสงานวางฐานรากของทีมกับแนวรับด้วยการซื้อ ฌูลส์ กุนเด และ อันเดรียส คริสเตนเซน เข้ามาเสริม ขณะที่ โรนัลด์ อาเราโฮ และ อเลฆานโดร บัลเด 2 ดาวรุ่งจากทีมสำรอง ได้กลายเป็นกำลังสำคัญของทีมชุดใหญ่ นี่เป็นโฉมหน้าใหม่ของแบ็คโฟร์ โดยผู้รักษาประตูยังเป็น มาร์ค-อันเดร แทร์ ชเตเกน ซึ่งย้ายมาจากโบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค ตั้งแต่ปี 2014 ก่อนที่ อิญญิโก มาร์ติเนซ จะตามมาจากแอธเลติก บิลเบา ในตลาดซัมเมอร์ปีนี้

ซีซันที่ผ่านมา อาซูลกรานาเสียเพียง 20 ประตูในลา ลีกา ถือว่าต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรเมื่อนับเฉพาะฤดูที่เตะ 38 นัด โดยพวกเขาเฉือนชนะคู่แข่ง 1-0 ถึง 11 นัด บวกกับโชคเข้าข้างในบางนัด เกมรับพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดเทียบกับ 3 ซีซันก่อนหน้าที่เสีย 38 ประตูต่อฤดูกาล โดยเฉพาะกุนเดที่เล่นแบ็คขวา หรืออาเราโฮในบางกรณี เอื้อประโยชน์ให้บาร์ซาปรับแผงหลังเป็นเซ็นเตอร์แบ็ค 3 คนเมื่อจำเป็น

เกมรับดีขึ้นแต่เกมบุกกลับอ่อนลงแม้ได้ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี และ ราฟินญา เข้ามาเสริม แต่บาร์เซโลนาทำได้เพียง 70 ประตูในเกมลีกซีซัน 2022-23 (น้อยกว่าเรอัล มาดริด 5 ประตู) นี่เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 15 ซีซันย้อนกลับไปซีซัน 2008-09 ที่กวาร์ดิโอลาคุมทีมปีแรก ที่พวกเขาทำสกอร์ต่ำกว่า 80 ประตู อีกครั้งคือซีซัน 2021-22 (68 ประตู) ซึ่งชาบีเพิ่งรับงานต่อจากคูมัน โดยช่วงดังกล่าว บาร์ซาถล่มตาข่ายทะลุหลัก 100 ถึง 7 ซีซัน

อย่างไรก็ตาม ชาบีได้ผลวิเคราะห์ออกมาว่า สิ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุงในตลาดกลางปี 2023 คือ หาตัวแทนของ เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาหลังสิ้นซีซัน 2022-23 และหาผู้เล่นที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงสำหรับแดนกลาง แต่ด้วยข้อจำกัดทางการเงินและเงื่อนไขไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ ชาบีจำเป็นต้องลดขนาดทีมลง เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ส่งผลให้ซีซัน 2023-24 มีนักเตะเพียง 19 คนที่ลงทะเบียนในทีมชุดใหญ่ของบาร์เซโลนา แม้กระทั่ง ลามีน ยามาล (อายุ 16 ปี) และ เฟอร์มิน โลเปซ (อายุ 20 ปี) ยังถูกดึงมาใช้งาน

“กานเซโล” สร้างอิมแพ็คต่อรูปแบบการเล่น

แซม มาร์สเดน มองว่า การยืมตัว ชูเอา กานเซโล จากแมนเชสเตอร์ ซิตี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 เป็นตัวบ่งชี้ว่าชาบีต้องการให้รูปแบบการเล่นของบาร์ซาออกไปในรูปแบบไหน กานเซโลสามารถยืนตำแหน่งแบ็คขวา ส่วนกุนเดย้ายไปเป็นเซ็นเตอร์แบ็ค 

ฟูลแบ็คโปรตุกีสสามารถเล่นริมสนามเหมือนเป็นปีก และยังตัดเข้าในเพื่อรับหน้าที่มิดฟิลด์ โดยซีซันนี้ กานเซโลพยายามเลี้ยงบอลผ่านคู่แข่งเฉลี่ย 3.94 ครั้งต่อ 90 นาที ประสบความสำเร็จ 68% ดีกว่ากุนโดที่ซีซันก่อนมีตัวเลข 1.11 ครั้ง และ 50% กานเซโลยังสร้างโอกาส 1.26 ครั้งต่อ 90 นาที ทำ 2 ประตู 1 แอสซิสต์จาก 7 นัด เทียบกับซีซันที่แล้วของกุนโดที่สร้างโอกาส 0.59 ครั้ง ทำ 1 ประตู 3 แอสซิสต์จาก 29 นัดบอลลีก แต่ยิ่งกว่านั้น กานเซโลส่งอิมแพ็คต่อทีมอย่างชัดเจนในพื้นที่ final third

แต่อีกด้านหนึ่งยังมีจุดที่ชาบีต้องหาสมดุลระหว่างเกมบุกและรับ บาร์เซโลนาเสียไปแล้ว 10 ประตูจาก 10 นัดในลา ลีลา ซีซันนี้ ขณะที่ซีซันที่แล้ว กว่าที่พวกเขาจะเสียประตูถึงตัวเลขนี้ต้องรอถึง 31 นัด

ยังมีข้อมูลอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ซีซันที่แล้ว บาร์เซโลนามีค่า xGa (Expected goals against) หรือความเป็นไปได้ที่จะเสียประตูสูงถึง 33.61 แต่ที่เสียจริงเพียง 20 ประตู ส่วนหนึ่งมาจากความเหนียวของแทร์ ชเตเกน แต่ค่า xGa ซีซันนี้เพียง 9.88 เทียบกับเสียจริง 10 ประตู

“บุสเก็ตส์” อำลาสโมสรทำให้ชิ้นส่วนหายไป

ชาบีเปิดเผยว่า ตัวแปรสำคัญในตลาดซัมเมอร์คือ บาร์เซโลนาจะหาตัวแทนบุสเก็ตส์ ซึ่งตอนนี้ย้ายไปเล่นกับอินเตอร์ ไมอามี ได้ดีแค่ไหน แต่เพราะข้อจำกัดเรื่องเงิน ทีมจึงไม่สามารถซื้อเป้าหมายต้นๆอย่าง มาร์ติน ซูบิเมนดี (เรอัล โซเซียดัด) และ โจชัว คิมมิช (บาเยิร์น) แต่กลับต้องนำ โอริโอล โรเมว กลับมาหลังจากมิดฟิลด์ตัวรับวัย 31 ปี ตระเวนเล่นให้กับเชลซี, บาเลนเซีย, ซตุ๊ตการ์ท, เซาแธมป์ตัน และกีโรนา

โรเมวเริ่มซีซันได้ดีก่อนมีเครื่องหมายคำถามเมื่อการแข่งขันผ่านไปโดยเฉพาะเมื่อ เฟรงกี เดอ ยอง บาดเจ็บ โรเมวถุกมองว่าฝีเท้าต่างระดับจากมิดฟิลด์คนอื่นในทีม เดอ ยอง, เปดรี, กาบี และ อิลคาย กุนโดกัน นักวิจารณ์มองว่าบาร์เซโลนาดีขึ้นในจังหวะครองบอลเมื่อไม่มีโรเมว พิจารณาจากผลต่างประตู +17 รวมทุกรายการ เทียบกับ +1 ประตูเมื่อโรเมวลงสนาม

นั่นทำให้มีข่าวออกมาว่า ชาบีต้องการเสริม deep-lying midfielder ซึ่งการแก้ปัญหาระยะสั้น ถ้าเดอ ยอง และเปดรีกลับมาฟิตพร้อมลงสนาม สตาฟฟ์โค้ชยังต้องการให้โรเมวยืนหน้าแบ็คโฟร์ต่อไปหรือไม่

“กุนโดกัน” เผชิญงานท้าทาย creative midfielder

แม้ได้ อิลคาย กุนโดกัน ในวัย 33 ปีมาแบบฟรีๆ แต่นั่นไม่ได้ตอบโจทย์ชาบีที่ต้องการ creative midfielder แหล่งข่าววงในระบุว่า ชาบีรู้สึกถึงความจำเป็นที่ต้องมีตัวเชื่อมระหว่างแนวรับกับแนวรุกในลักษณะของ ซานติ กาซอร์ลา อดีตมิดฟิลด์อาร์เซนอล ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า แบร์นาโด ซิลวา ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยังคงเป็นเป้าหมายของกุนซือวัย 43 ปี แต่คงยากในสภาพเงินกองคลังตอนนี้

กุนโดกันสามารถรับหน้าที่นั้นได้เช่นเดียวกับ เปดรี ซึ่งพลาดลงสนามเพราะบาดเจ็บไปแล้ว 25 นัดนับตั้งแต่ต้นซีซันที่แล้ว บาร์เซโลนาจึงต้องพึ่งพาผลงานสร้างสรรค์ในแดนกลางของกุนโดกัน เขามีสถิติ xA (expected assists) 2.35 ครั้ง อยู่อันดับ 7 ของลา ลีกา และมีจำนวน chances created 21 ครั้ง อยู่อันดับ 5 ซึ่งไม่มีเพื่อนร่วมทีมบาร์ซาคนไหนที่มีผลงานใกล้เคียงเขา เฟร์ราน ตอร์เรส และ กาบี ตามมาห่างๆที่ตัวเลข 10 ครั้งเท่ากัน ขณะที่ ชูเอา เฟลิกซ์, เลวานดอฟสกี และกานเซโล สร้างโอกาสได้คนละ 8 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม สตาฟฟ์โค้ชของชาบีมั่นใจว่า ถ้ากุนโดกันและเปดรีลงสนามด้วยกันนานขึ้น ผลงานน่าจะยกระดับเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้

เกมรุกที่หลากหลายและเหนือการคาดเดา

แม้ปราศจาก เปดรี ดาวรุ่งวัย 20 ปี แต่การเข้ามาของ ชูเอา เฟลิกซ์ และกานเซโล ช่วยให้เกมบุกดีขึ้นผิดหูผิดตาถึงขั้นชาบียกให้เป็นฟอร์มที่ดีที่สุดของบาร์เซโลนานับตั้งแต่คุมทีม ซึ่งเขาหมายถึงการลงตัวจริง 2 นัดแรกของ 2 นักเตะโปรตุกีส ในเกมที่ชนะ 5-0 ติดต่อกันในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบเรอัล เบตีส และรอยัล อันท์เวิร์ป

ชัยชนะดังกล่าวบ่งชี้ถึงสิ่งที่ชาบีพยายามเพิ่มเติมให้ทีมในซีซันนี้ได้แก่ ความหลากหลายและความสร้างสรรค์จากตำแหน่งแบ็คขวาของกานเซโล, การเปิดเกมรุกที่คาดเดาได้ยากของเฟลิกซ์ และความเฉลียวฉลาดของกุนโดกัน แม้ยังขาดความสม่ำเสมอแต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีของทีม

โชคร้ายที่เลวานดอฟสกีและราฟินญาบาดเจ็บ แต่กลับทำให้ชาบีค้นพบ “ความกล้าหาญ” จากนักเตะอะคาเดมี ซึ่งตรงกับคุณลักษณะของลูกทีมที่เขาต้องการคือ พร้อมเสี่ยงไปกับลูกฟุตบอล, ไม่ลังเลที่จะวิ่งเข้าหาฝ่ายตรงข้าม, พยายามผ่านบอลเข้าไประหว่างไลน์ และเล่นโดยปราศจากความกลัว

หนึ่งในตัวอย่างที่ชาบีออกปากเองคือ มาร์ก กุย ซึ่งอายุเพียง 17 ปี ลงสนามให้ชุดใหญ่เป็นครั้งแรกเพียง 30 วินาที กลายเป็นคนทำประตูชัยนาทีที่ 80 ให้บาร์เซโลนาชนะแอธเลติก บิลเบา 1-0 ในบอลลีกนัดที่ 10 ของซีซัน

กุยเป็นผลผลิตล่าสุดที่ได้รับการปลูกฝังดีเอ็นเอจากศูนย์ฝึกลา มาเซีย ก่อนหน้านี้ก็คือ ยามาล ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญที่ทำให้ทีมกลับมาในแมตช์กับกรานาดา และโลเปซ ซึ่งลุกจากเก้าอี้ข้างสนามเพื่อช่วยทีมในเกมกับมายอร์กา ขณะที่ กาบี (อายุ 19 ปี) และ บัลเด (อายุ 20 ปี) ต่างเป็นตัวจริงขาประจำของทีมไปแล้ว

เฟลิกซ์ ซึ่งยืมตัวจากแอตเลติโก มาดริด ตลอดซีซันนี้ มีบทบาทสำคัญอีกคนหนึ่งโดยเฉพาะในสภาวะที่บาร์เซโลนาไม่มีเลวานดอฟสกีและราฟินญาที่บาดเจ็บ ขณะที่ฟอร์มตอร์เรสยังไม่คงเส้นคงวา รวมถึง อุสมาน เดมเบเล และ อันซู ฟาติ ซึ่งย้ายออกจากสโมสร เฟลิกซ์สามารถถอยลงไปในแดนกลาง สร้างสรรค์พื้นที่ว่างและเกมรุก แม้เพิ่งทำได้ 1 ประตูจาก 7 นัดแต่มีค่า xG ถึง 3.07 กระนั้นเชื่อได้ว่าบาร์ซาสามารถคาดหวังจากแนวรุกวัย 23 ปี ได้มากกว่านี้แน่นอน

ชาบีคุมทีมบาร์เซโลนาลงสนามเกิน 100 นัดแล้ว และกำลังจะทำงานครบ 2 ปีเต็มในเดือนพฤศจิกายน 2023 แม้เพิ่งพาทีมกลับมาครองบัลลังก์ลีกสเปนได้หลังว่างเว้นมา 3 ปี แต่นั่นไม่ได้รับประกันได้เลยว่า เขาจะประสบความสำเร็จในซีซันนี้และซีซันต่อๆไป โดยเฉพาะเรอัล มาดริด ยังแสดงถึงความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการสร้างทีม “บาร์เซโลนา 2.0” จึงมีความสำคัญต่ออนาคตของสโมสรยักษ์ใหญ่แห่งแคว้นคาตาลูญญา

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Football Business

เปิดแหล่งขุมทรัพย์ 24 เจ้าของทีมลีกแชมเปี้ยนชิพ 2023/24

  • สัญชาติของเจ้าของทีม มาจาก 12 สัญชาติ อังกฤษมีจำนวนมากที่สุด 9 ทีม ตามด้วยสหรัฐอเมริกา 7 ทีม
  • ประเภทการถือหุ้น ทีมที่เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว และทีมที่เป็นเจ้าของร่วม (แบ่งเปอร์เซ็นต์การถือหุ้น) มีอย่างละ 12 ทีม
  • ในซีซั่นปัจจุบัน มี 5 ทีมที่ไม่เคยสัมผัสเวทีพรีเมียร์ลีก คือ บริสตอล ซิตี้, มิลล์วอลล์, พลีมัธ, เปรสตัน และร็อตเตอร์แฮม

เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ลีกระดับที่ 2 ของระบบพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ แม้ระดับการแข่งขันจะเป็นรายการรองจากพรีเมียร์ลีก แต่นี่คือลีกลูกหนังที่สู้กันอย่างเข้มข้น และไม่สามารถคาดเดาผลการแข่งขันได้เลย

การขึ้นสู่จุดสุงสุดของพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ คือสิ่งที่หลายๆ ทีม ต้องการจะเอื้อมให้ถึง แต่การจะไปถึงเป้าหมายนั้น ต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจของทุกคนในสโมสร รวมถึงทุนทรัพย์ที่เจ้าของสโมสรได้ลงทุนไป

เมื่อพูดถึงการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในลีกแชมเปี้ยนชิพ มีแนวโน้มไปในทางเดียวกับพรีเมียร์ลีก กล่าวคือนักธุรกิจท้องถิ่น ถูกแทนที่ด้วยนายทุนจากต่างชาติมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา, มาเลเซีย, ไทย เป็นต้น

มีบางสโมสร ที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องเงินทุนที่มีไม่อั้น ซึ่งมากกว่าเจ้าของสโมสรหลายสโมสรในพรีเมียร์ลีกด้วยซ้ำ และยินดีที่จะจ่ายเงินก้อนโตต่อเนื่องทุกปี เพื่อแลกกับผลตอบแทนมหาศาลจากการได้เลื่อนชั้น

แหล่งเงินทุนของเจ้าของทีมลูกหนัง ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ซึ่งหลายๆ คน อาจยังไม่เคยรู้มาก่อน และต่อไปนี้คือเบื้องหลังขุมทรัพย์ของทั้ง 24 สโมสร ในการแข่งขันลีกรองเมืองผู้ดี ฤดูกาล 2023/24

เบอร์มิงแฮม ซิตี้ – บริษัทด้านการลงทุน

ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ในปัจจุบัน คือ Birmingham Sports Holdings ที่เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรต่อจากคาร์สัน หยาง นักธุรกิจชาวฮ่องกง ที่ถูกศาลตัดสินให้มีความผิดในคดีฟอกเงิน จนต้องยุติบทบาทการเป็นเจ้าของทีม

ในเวลาต่อมา ทอม วากเนอร์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้ง Shelby Companies Limited เข้ามาซื้อหุ้นเป็นจำนวน 45.6 เปอร์เซนต์ ได้สิทธิ์บริหารสโมสรอย่างเต็มรูปแบบ และมีทอม เบรดี้ ยอดตำนานควอเตอร์แบ็ก NFL เป็นหุ้นส่วนด้วย

วากเนอร์ เคยทำงานที่ Goldman Sachs ธนาคารชื่อดังระดับโลก ก่อนจะมาก่อตั้ง Shelby Companies Limited ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Knighthead Capital Management ทำธุรกิจด้านการลงทุน และดูแลสินทรัพย์ของเบอร์มิงแฮม ซิตี้

ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ “เดอะ บูลส์” เพิ่งแต่งตั้งเวย์น รูนีย์ อดีตตำนานดาวยิงพรีเมียร์ลีก และทีมชาติอังกฤษ เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ เพื่อเป้าหมายพาทีมกลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลหน้าทันที หลังจากห่างหายไปนานถึง 13 ปี

แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส – ฟาร์มเลี้ยงไก่ และวัคซีนสำหรับไก่

อดีตแชมป์พรีเมียร์ลีก เมื่อซีซั่น 1994/95 ปัจจุบันบริหารงานโดย Venkateshwara Hatcheries Groupของตระกูลราโอ จากอินเดีย เข้ามาซื้อกิจการของแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ต่อจากครอบครัวของแจ็ค วอล์คเกอร์ เมื่อปี 2010

แหล่งเงินทุนของราโอ แฟมิลี่ มาจากธุรกิจค้าไก่, อาหารแปรรูปจากไก่ รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคในไก่ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย มีการขยายกิจการไปในหลายๆ ทวีปทั่วโลก อีกทั้งยังมีรายได้เพิ่มเติมจากการทำธุรกิจผลิตเครื่องจักรอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การบริหารสโมสรของครอบครัวราโอ สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนบอลแบล็คเบิร์นเป็นอย่างมาก ถึงขั้นสร้างตำนานด้วยการขว้างไก่สดลงมาในสนามเพื่อประท้วงเจ้าของทีม ในเกมที่พบกับวีแกน เมื่อปี 2012

หลังตกชั้นจากลีกสูงสุดเมื่อฤดูกาล 2011/12 “เดอะ ริเวอไซเดอร์ส” ไม่เคยกลับมาอยู่บนยอดพีระมิดอีกเลย แม้กระทั่งเพลย์ออฟเพื่อลุ้นเลื่อนชั้น พวกเขาก็ไม่เคยสัมผัสแม้แต่ครั้งเดียว แถมเคยลงลึกไปสู่ลีกดิวิชั่น 3 เมื่อ 6 ปีก่อน

บริสตอล ซิตี้ – บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน

เจ้าของทีมบริสตอล ซิตี้ คนปัจจุบันคือ สตีเฟ่น แลนสดาวน์ นักธุรกิจชาวเมืองบริสตอล และผู้บริหาร Hargreaves Lansdown เข้ามาเทคโอเวอร์เมื่อปี 2007 และจอน แลนสดาวน์ ลูกชายของเขา ดำรงตำแหน่งประธานสโมสร

ในเดือนเมษายน 2009 สตีเฟ่นขายหุ้น 4.7 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท Hargreaves Lansdown เพื่อเป็นทุนในการสร้างสนามใหม่ของ “เดอะ โรบินส์” ชื่อว่า Ashton Gate ปัจจุบันนี้เขาอาศัยอยู่ในเกิร์นซีย์ ในหมู่เกาะแชนแนลส์ 

แหล่งทำเงินของครอบครัวแลนสดาวน์ มาจากการก่อตั้ง Hargreaves Lansdown บริษัทการจัดการกองทุนและการวางแผนภาษี เมื่อปี 1981 ก่อนที่สตีเฟ่นจะลาออกในปี 2012 เพื่อมาเปิดบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ

สตีเฟ่น แลนสดาวน์ เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีไม่กี่คนในลีกแชมเปี้ยนชิพ จากการจัดอันดับของ Sunday Times Rich List ระบุว่าเขาร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 152 ของสหราชอาณาจักร โดยมีสินทรัพย์สุทธิ 1.18 พันล้านปอนด์

คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ – เจ้าของแฟรนไชส์, อสังหาริมทรัพย์, โรงแรม และโทรคมนาคม

เมื่อปี 2010 วินเซนต์ ตัน มหาเศรษฐีขาวมาเลเซีย ในนามของ Berjaya Group ได้เข้าซื้อหุ้นของคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ เป็นจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นค่อยๆ ซื้อหุ้นจากรายย่อย จนถึง 51 เปอร์เซ็นต์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของสโมสร

เงินทุนของวินเซนต์ ตัน มีที่มาจากการเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งแมคโดนัลด์, สตาร์บักส์, เซเว่น อีเลฟเว่น และร้านหนังสือในมาเลเซีย อีกทั้งก่อตั้งบริษัท Berjaya Corporation เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์, โรงแรม และโทรคมนาคม

นอกจากลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ด และบริษัทโฮลดิ้งแล้ว วินเซนต์ ตัน ยังเป็นเจ้าของเอฟเค ซาราเยโว สโมสรฟุตบอลในลีกสูงสุดของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา รวมถึงลอส แอนเจลิส เอฟซี ในเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ของสหรัฐอเมริกา

ในยุคที่วินเซนต์ ตัน เป็นเจ้าของทีม “เดอะ บลูเบิร์ดส์” เคยได้ขึ้นไปอยู่ในพรีเมียร์ลีกแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือฤดูกาล 2013/14 และ 2018/19 ขณะที่เมื่อฤดูกาลที่แล้ว พวกเขาจบในอันดับที่ 21 รอดพ้นการตกชั้นสู่ลีก วัน อย่างหวุดหวิด

โคเวนทรี ซิตี้ – น้ำมันพืช และอาหารสัตว์

เมื่อเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา โคเวนทรี ซิตี้ ได้เจ้าของทีมรายใหม่ หลังจากดั๊ก คิง นักธุรกิจชาวอังกฤษ เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรต่อจากกองทุนเอสไอเอสยู (SISU) ที่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากแฟนบอลของสโมสร

แหล่งทำเงินของคิง มาจาก Yelo Enterprises ที่เขาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตรในอังกฤษ มีผลิตภัณฑ์หลักคือน้ำมันพืชจากเรพซีด (คาโนลา) รวมถึงอาหารสัตว์

ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา โคเวนทรีประสบปัญหาเรื่องสนามเหย้าบ่อยครั้ง เนื่องจากมีข้อพิพาททางกฎหมายกับเจ้าของสนาม รวมถึงถูกใช้จัดแข่งรักบี้คอมมอนเวลธ์ เกมส์ จึงต้องย้ายไปเล่นที่นอร์ทแธมป์ตัน และเบอร์มิงแฮม

สำหรับ “เดอะ สกายบลูส์” เป็นหนึ่งในสโมสรผู้ร่วมก่อตั้งพรีเมียร์ลีก ก่อนที่จะตกชั้นในซีซั่น 2000/01 โดยเมื่อซีซั่นที่แล้ว พวกเขาเกือบคัมแบ็กสู่ลีกสูงสุด แต่พ่ายให้กับลูตัน ทาวน์ ในเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

ฮัดเดอร์ฟิสด์ ทาวน์ – สุขภาพและเวชกรรม, บริษัทร่วมลงทุน และทีมกีฬา

ฮัดเดอร์ฟิสด์ ทาวน์ คือทีมล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสร หลังจากเควิน นาเกิล นักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาเทคโอเวอร์ต่อจากดีน ฮอยล์ นักธุรกิจชาวอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา

แหล่งทำเงินของนาเกิล มาจากธุรกิจด้านดูแลสุขภาพและเวชกรรม โดยเริ่มจากการก่อตั้ง HMN Health Services เมื่อปี 1999 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Envision Pharmaceutical Holdings

นอกจากนี้ นาเกิลยังก่อตั้งบริษัทร่วมลงทุนในธุรกิจสุขภาพและอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง เช่น The Nagle Company, Moneta Ventures และ Jaguar Ventures อีกทั้งยังเป็นเจ้าของ Sacramento Republic FCทีมฟุตบอลในลีกรองของอเมริกา

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของ “เดอะ เทอร์ริเออส์” คือการได้เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017/18 แต่ตกชั้นในฤดูกาลต่อมา ซึ่งแฟนๆ ของสโมสรต่างคาดหวังถึงยุคสมัยของนาเกิล ในการพาทีมคัมแบ็กสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

ฮัลล์ ซิตี้ – สื่อโทรทัศน์ และสตรีมมิ่ง

หลังจากอาสเซ็ม อัลลาม มหาเศรษฐีชาวอียิปต์ เสียชีวิตเมื่อเดือนธันวาคม 2022 และครอบครัวของอัลลามตัดสินใจไม่ไปต่อ ฮาคาน อิลคาลี่ เจ้าพ่อธุรกิจทีวีจากตุรกี ได้กลายเป็นเจ้าของทีมรายใหม่ของฮัลล์ ซิตี้

อิลคาลี่ สร้างรายได้จากสื่อโทรทัศน์ในตุรกี ผู้เป็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังรายการดัง เช่น Deal or No Deal, Fear Factor, Survivor และ MasterChef นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของฟรีทีวีช่อง TV8 และ Exxenบริษัทผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง

นอกจากนี้ อิลคาลี่เป็นผู้ถือหุ้นของฟอร์ทูน่า ซิททาร์ด สโมสรฟุตบอลในเนเธอร์แลนด์ และล่าสุดได้เข้าไปซื้อหุ้นของเชลบอร์น ทีมลูกหนังในไอร์แลนด์ ที่มีเดเมียน ดัฟฟ์ อดีตปีกชื่อดังของพรีเมียร์ลีก เป็นผู้จัดการทีม

หนล่าสุดที่ “เดอะ ไทเกอร์ส” อยู่ในพรีเมียร์ลีก คือฤดูกาล 2016/17 แถมเคยร่วงลงไปไกลถึงระดับดิวิชั่น 3 เมื่อซีซั่น 2020/21 การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในครั้งนี้ จะทำให้แฟนบอลของสโมสรมีความหวังมากขึ้น

อิปสวิช ทาวน์ – กองทุนบำเหน็จบำนาญ

แบรตต์ จอห์นสัน, เบิร์ก บาร์เคย์ และมาร์ค เดตเมอร์ บอร์ดบริหารของ Phoenix Rising ทีมฟุตบอลในลีกรองของอเมริกา ได้เข้ามาเทคโอเวอร์อิปสวิช ทาวน์ ต่อจากมาร์คัส อีแวนส์ นักธุรกิจชาวอังกฤษ เมื่อเดือนเมษายน 2021

แหล่งเงินทุนที่มาเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับสโมสร คือ Gamechanger 2020 กลุ่มการลงทุนจากรัฐโอไฮโอ ซึ่งดูแลกองทุนบำเหน็จบำนาญรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจากซื้อหุ้นบางส่วน ก่อนที่จะเป็นเจ้าของทีมแบบเด็ดขาด

ผลงานดีที่สุดในยุคพรีเมียร์ลีกของอิปสวิช ทาวน์ คือการจบในอันดับที่ 5 เมื่อฤดูกาล 2000/01 แต่ฤดูกาลถัดมาทรุดลงแบบไม่น่าเชื่อ ตกชั้นหลังจบในอันดับที่ 18 และจนถึงเวลานี้ก็ไม่เคยกลับคืนสู่ยอดพีระมิดอีกเลย

อย่างไรก็ตาม หาก “เดอะ แทร็กเตอร์ บอยส์” ภายใต้การคุมทีมของคีแรน แม็คเคนน่า กุนซือผู้พาทีมจบอันดับที่ 2 ในลีกวัน เมื่อซีซั่นที่แล้ว มีความสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสที่จะยุติช่วงเวลาที่ห่างหายจากลีกสูงสุดในซีซั่นนี้

ลีดส์ ยูไนเต็ด – บริษัทด้านการลงทุน และทีมกีฬา

มาเรีย เดนิเซ่ เดบาร์โตโล่ ยอร์ค นักธุรกิจสุภาพสตรีขาวอเมริกัน ในนามของกลุ่ม 49ers Enterprises บรรลุดีลซื้อกิจการของลีดส์ ยูไนเต็ด จากอันเดรีย ราดริซซานี่ เจ้าสัวชาวอิตาลี เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา

เมื่อปี 2018 49ers Enterprises เข้ามาซื้อหุ้นลีดส์จำนวน 15 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ในปี 2021 จะเพื่มสัดส่วนเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ราดริซซานี่ตกลงขายหุ้นทั้งหมดที่เหลือ และกลายเป็นเจ้าของสโมสรรายใหม่ในที่สุด

แหล่งเงินทุนของ 49ers Enterprises มาจากการก่อตั้ง DeBartolo Corporation บริษัทที่ลงทุนในกิจการที่ไม่ใช่กีฬา และเป็นเจ้าของซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนน์เนอร์ส ทีมดังในศึกอเมริกันฟุตบอล (NFL) ของสหรัฐอเมริกา

ในฤดูกาล 2020/21 “เดอะ พีค็อกส์” ได้รีเทิร์นสู่พรีเมียร์ลีกอีกครั้ง หลังห่างหายไป 16 ปี แต่อยู่ได้เพียง 3 ฤดูกาล ก็กระเด็นตกชั้นแบบน่าผิดหวัง ทำให้ในฤดูกาลนี้ พวกเขาหวังที่จะแก้ตัวเพื่อกลับมาอยู่ในลีกสูงสุดให้ได้

เลสเตอร์ ซิตี้ – สินค้าดิวตี้ ฟรี

วิชัย ศรีวัฒนประภา และครอบครัว ในนามของกลุ่มบริษัท King Power ประเทศไทย เข้ามาซื้อกิจการของเลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2010 ต่อจากมิลาน แมนดาริช มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย ด้วยมูลค่า 39 ล้านปอนด์

แหล่งรายได้หลักของตระกูลศรีวัฒนประภา มาจากสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน (Duty Free) นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในภาคส่วนอื่นๆ เช่น โรงแรม, การบิน และยังเป็นเจ้าของสโมสร OH Leuven ในลีกสูงสุดของเบลเยียม

ภายใต้การบริหารงานของครอบครัวนักธุรกิจชาวไทย ได้สร้างตำนานเทพนิยายคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบช็อกโลก เมื่อปี 2016 แต่อีก 2 ปีต่อมา วิชัยเสียชีวิตจากเหตุโศกนาฏกรรมเฮลิคอปเตอร์ตกนอกสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม

ในเวลาต่อมา อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายของวิชัย ก็ได้สานต่องานของคุณพ่อ และสร้างความสำเร็จเพิ่มเติมจากการคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ เมื่อปี 2021 ส่วนในซีซั่นปัจจุบัน “เดอะ ฟ็อกซ์” ตั้งเป้ากลับคืนสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

มิดเดิลสโบรช์ – ขนส่งของเหลว, ก๊าซ, ผงแป้ง และโรงแรม

สตีฟ กิ๊บสัน เจ้าสัวชาวอังกฤษ ได้เข้ามาเป็นบอร์ดบริหารของมิดเดิลสโบรช์ สโมสรในบ้านเกิดตั้งแต่ปี 1986 พร้อมกับการซื้อหุ้นส่วนน้อย จากนั้นในปี 1994 เพิ่มสัดส่วนเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นเจ้าของทีมรายใหม่ในที่สุด

กิ๊บสัน ติดอยู่ใน 500 อันดับแรกนักธุรกิจรวยที่สุดของ Sunday Times Rich List เขาทำเงินจากการก่อตั้งบริษัท Bulkhaul Limited เมื่อปี 1981 ขนส่งของเหลว, ก๊าซ รวมถึงผงแป้ง และเป็นเจ้าของโรงแรม Rockliffe Hall

ในฤดูกาล 2008/09 มิดเดิลสโบรช์ถูกหยุดสถิติสถานะทีมระดับพรีเมียร์ลีกไว้ที่ 11 ฤดูกาลติดต่อกัน หลังจากนั้นพวกเขากลับขึ้นมายอดพีระมิดลีกเมืองผู้ดีได้แค่ครั้งเดียว จาก 15 ฤดูกาลหลังสุด ในซีซั่น 2016/17

ส่วนเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ไมเคิล คาร์ริก เข้ามาคุมทีม “เดอะ โบโร่” ช่วงปลายเดือนตุลาคม ไต่จากท้ายตาราง ขึ้นมาจบในอันดับที่ 4 คว้าสิทธิ์ลุ้นเลื่อนชั้น ก่อนจะแพ้โคเวนทรี ในเกมเพลย์ออฟ รอบรองชนะเลิศ

มิลล์วอลล์ – การลงทุนในหุ้นนอกตลาด

จอห์น เบริลสัน มหาเศรษฐีจากสหรัฐอเมริกา ในนามของ Chestnut Hill Ventures ร่วมกับริชาร์ด สมิธ ลูกเขยของเขา เข้ามาเทคโอเวอร์มิลล์วอลล์ ในปี 2007 และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 93 เปอร์เซ็นต์

สำหรับ Chestnut Hill Ventures แหล่งทำเงินของเบริลสัน เป็นบริษัทร่วมลงทุนสัญชาติอเมริกัน มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มุ่งเน้นลงทุนในหุ้นที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ เช่น การเงิน, สื่อ และโทรคมนาคม

เบริลสัน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2023 ด้วยวัย 70 ปี และทายาทของครอบครัวเบริลสัน ได้เข้ามาสานต่อการบริหาร “เดอะ ไลออนส์” แต่ก็ไม่ปิดโอกาสที่จะขายสโมสรให้กับนักลงทุนที่สนใจ

ตลอด 16 ปีของเบริลสัน แฟมิลี่ ในการเป็นเจ้าของสโมสร ผลงานของทีมสิงโตแห่งลอนดอน ขึ้น-ลงระหว่างเดอะ แชมเปี้ยนชิพ กับลีก วัน สลับกันเป็นช่วงๆ ส่วนการแข่งขันเมื่อฤดูกาลที่แล้ว จบในอันดับที่ 8 ของตาราง

นอริช ซิตี้ – หนังสือตำราอาหาร

ผู้ถือหุ้นหลักของนอริช ซิตี้ในปัจจุบัน ประกอบด้วยคู่สามี-ภรรยาอย่างไมเคิล วินน์-โจนส์ กับเดเลีย สมิธ มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 53 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมาร์ค แอตตานาสโอ นักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่ซื้อหุ้น 18 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2022

วินน์-โจนส์ ได้นำประสบการณ์ในการเป็นเชฟทางโทรทัศน์ของสมิธ มาเขียน ตีพิมพ์ และจำหน่ายหนังสือสอนทำอาหาร ที่ขายดีเป็นเวลากว่า 20 ปี ขณะที่แอตตานาสโอ เป็นเจ้าของทีม Milwaukee Brewers ในเมเจอร์ลีกเบสบอล

นอริช คือหนึ่งในสโมสรผู้ก่อตั้งพรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาล 1992/93 ก่อนตกชั้นรอบแรกในอีก 3 ปีต่อมา หลังจากนั้นพวกเขาก็ใช้ชีวิตอยู่ในลีกรองเสียเป็นส่วนใหญ่ และเคยตกต่ำถึงขั้นลงไปอยู่ในลีก วัน เมื่อฤดูกาล 2009/10 

ถ้านับเฉพาะ 5 ฤดูกาลหลังสุด “เดอะ คานารีส์” ขึ้นลงระหว่างพรีเมียร์ลีก กับลีกแชมเปี้ยนชิพ สลับกันไป ส่วนผลงานฤดูกาลที่แล้ว จบแค่อันดับที่ 13 ถ้าจะหวังลุ้นเลื่อนชั้นในซีซั่นนี้ คงต้องพยายามให้มากขึ้นกว่าเดิม

พลีมัธ อาร์ไกล์ – บริษัทการจัดการกองทุน

เมื่อปี 2019 ไซม่อน ฮัลเลียตต์ ได้สิทธิ์ในการบริหารสโมสรพลีมัธ อาร์ไกล์ หลังเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 97 เปอร์เซ็นต์ ก่อนขายหุ้น 20 เปอร์เซนต์ให้ Argyle Green LLC บริษัทการจัดการกองทุนของอเมริกา เมื่อปี 2020

สำหรับกลุ่ม Argyle Green LLC มีไมเคิล มินค์เบิร์ก เป็นผู้จัดการกองทุน นอกจากนี้ยังมีจอน เฮิร์สท์ ผู้บริหารลีกบาสเกตบอล NBA รวมถึงวิคเตอร์ เฮดแมน อดีตนักกีฬาฮอกกี้ NHL ของอเมริกา ดีกรีแชมป์ออล สตาร์ 4 สมัย

ฮัลเลียตต์ เป็นขาวเมืองพลีมัธโดยกำเนิด แต่ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุยังน้อย และสร้างรายได้จากการก่อตั้ง Harding Loevner บริษัทการจัดการกองทุนในรัฐนิวเจอร์ซีย์ จนได้รับสัญชาติอเมริกัน

ผลงานของ “เดอะ พิลกริมส์” เมื่อฤดูกาลที่แล้ว คว้าแชมป์ลีก วัน ด้วยคะแนนทะลุ 100 แต้ม ได้กลับสู่ลีกแชมเปี้ยนชิพเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี แต่ยังต้องรอเวลาสั่งสมความแข็งแกร่งก่อนลุ้นขึ้นพรีเมียร์ลีกในอนาคตต่อไป

เปรสตัน นอร์ทเอนด์ – ที่ดินเชิงพาณิชย์, ผับ และโรงแรม

เทรเวอร์ เฮมมิ่งส์ นักธุรกิจที่เกิดในกรุงลอนดอน แต่ไปเติบโตที่แลงคาเชียร์ ได้ซื้อกิจการของเปรสตัน นอร์ทเอนด์ ในปี 2010 ก่อนที่จะเสียชีวิตในวัย 86 ปี เมื่อปี 2021 ปัจจุบันนี้ เคร็ก ลูกชายของเขาเข้ามาบริหารงานแทน

แหล่งความมั่งคั่งหลักของครอบครัวเฮมมิ่งส์ มาจาก Northern Trust บริษัททำธุรกิจที่ดินเชิงพาณิชย์ พื้นที่กว่า 5,000 เอเคอร์ ทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งในปัจจุบันมีร้านค้า และสำนักงานมาเช่าพื้นที่แล้วกว่า 183 เอเคอร์

นอกจากนี้ Northern Trust ยังได้เข้าไปลงทุนใน Trust Inns บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสถานบันเทิง ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยแห่งในสหราชอาณาจักร และ Classic Lodges บริษัทที่ทำธุรกิจโรงแรม มีทั้งหมด 12สาขา ทั่วยูเค 

ในศตวรรษที่ 21 (นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา) “เดอะ ลิลลี่ไวส์” เคยเข้าชิงชนะเลิศ เกมเพลย์ออฟลุ้นเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 2 ครั้ง และจบลงด้วยความผิดหวังทั้งหมด ซึ่งพวกเขาก็หวังที่จะปลดล็อกให้ได้ในซีซั่นนี้

ควีนส์พาร์ค เรนเจอร์ส – บริษัทผลิตเหล็ก, ขนส่ง และบริษัทโฮลดิ้ง

ผู้ถือหุ้นหลักของควีนส์พาร์ค เรนเจอร์สในปัจจุบัน คือรูเบน เกนานาลิงแกม เจ้าสัวชาวมาเลเซีย และลาคซมี มิททาล มหาเศรษฐีชาวอินเดีย ซึ่งนำอามิต พาเทีย ลูกเขยของมิททาล เข้ามาเป็นประธานสโมสรตั้งแต่ปี 2018

เกนานาลิงแกม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของควีนส์พาร์ค สร้างรายได้จากธุรกิจในมาเลเซีย ทั้ง Westports Malaysia บริษัทที่ทำธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้ารายใหญ่ และ Total Soccer Growth บริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนด้านกีฬา

ขณะที่มิททาล ทำรายได้จากการก่อตั้ง ArcelorMittal บริษัทผลิตเหล็กในประเทศลักเซมเบิร์ก และเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 1.6 หมื่นล้านปอนด์ รวยสุดเป็นอันดับที่ 6 จากการจัดอันดับของ Sunday Times Rich List

แต่ความมั่งคั่งของเกนานาลิงแกม และมิททาล ไม่อาจช่วยให้ “คิวพีอาร์” กลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกได้เลย นับตั้งแต่ตกชั้นเมื่อซีซั่น 2014/15 สมัยที่โทนี่ เฟอร์นานเดส ผู้ก่อตั้งสายการบิน AirAsia ยังเป็นเจ้าของสโมสร

ร็อตเตอร์แฮม ยูไนเต็ด – อุปกรณ์ให้แสงสว่าง

เมื่อปี 2008 โทนี่ สจ๊วต และโจน สจ๊วต นักธุรกิจชาวอังกฤษ ได้ช่วยให้ร็อตเตอร์แฮม ยูไนเต็ด หลุดพ้นจากการถูกควบคุมกิจการ ด้วยการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร พร้อมกับถือหุ้นจำนวน 49 และ 46 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

โทนี่ สจ๊วต เริ่มต้นจากการเป็นช่างไฟฟ้าฝึกหัด ก่อนจะสร้างรายได้จากการก่อตั้ง ASD Lighting บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ให้แสงสว่างในเมืองร็อตเตอร์แฮม มีผลิตภัณฑ์หลักคือ หลอดไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้าน, สำนักงาน และถนน

ในยุคการบริหารของ 2 นักธุรกิจเมืองผู้ดี ร็อตเตอร์แฮมเริ่มต้นจากระดับลีก ทู หรือ ดิวิชั่น 4 ใช้เวลานานถึง 5 ฤดูกาล เลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 3 ตามมาด้วยการเลื่อนชั้นสู่ลีกระดับที่ 2 ด้วยการชนะเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

ผลงาน 7 ฤดูกาลหลังสุดของ “เดอะ มิลเลอร์ส” คือโย-โย่ คลับ ขึ้นลงสลับกันระหว่างลีกแชมเปี้ยนชิพ กับลีก วัน มาโดยตลอด ซึ่งเมื่อฤดูกาลที่แล้ว พวกเขาต้องลุ้นหนีตกชั้นจนถึงช่วงท้ายของซีซั่น ก่อนเอาตัวรอดได้สำเร็จ

เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ – อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง

เดชพล จันศิริ ประธานกรรมการบริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเทคโอเวอร์เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ เมื่อปี 2015 ต่อจากมิลาน แมนดาริช มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย ด้วยมูลค่า 37.5 ล้านปอนด์

แหล่งรายได้หลักของกลุ่มไทยยูเนี่ยน คือธุรกิจผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลก โรงงานของบริษัทตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีผลิตภัณฑ์อย่างเช่น ปลาทูน่ากระป๋อง, อาหารทะเลแปรรูป

เชฟฯ เวนส์เดย์ ในยุคของเดชพล จันศิริ แพ้เพลย์ออฟเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 2 ครั้ง แถมหล่นไปเล่นลีก วัน (ดิวิชั่น 3) อยู่ 2 ฤดูกาล ก่อนจะได้กลับคืนสู่ลีกแชมเปี้ยนชิพอีกครั้งในฤดูกาลนี้ หลังชนะเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

แต่การออกสตาร์ทซีซั่นนี้ของ “เดอะ เอาส์” ทำได้อย่างน่าผิดหวัง ส่งผลให้แฟนบอลกลุ่มหนึ่งของสโมสรได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้หัวเรือใหญ่ไทยยูเนี่ยน ออกมาประกาศไม่ให้เงินเพื่อสนับสนุนสโมสรอีกต่อไป

เซาแธมป์ตัน – เคเบิลทีวี และรายการโทรทัศน์

ทีมอันดับสุดท้ายของพรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาลที่แล้ว ปัจจุบันบริหารงานโดย ดราแกน โซลัค นักธุรกิจชาวเซอร์เบีย ที่ได้เข้ามาซื้อกิจการของสโมสรเซาแธมป์ตัน ต่อจากเกา จื้อเฉิง นักธุรกิจชาวจีน เมื่อเดือนมกราคม2022

โซลัค เข้าไปลงทุนใน Sport Republic บริษัทด้านการลงทุนในกรุงลอนดอน กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ และแคทเธอรีน่า เลียบเฮอร์ นักธุรกิจสุภาพสตรีชาวสวิตเซอร์แลนด์ ถือหุ้นอีก 20 เปอร์เซนต์

รายได้หลักของโซลัค มาจากการขายลิขสิทธิ์รายการทีวีและภาพยนตร์ ต่อมาได้เปิดตัวธุรกิจเคเบิลทีวีในเซอร์เบีย และจากนั้นได้ก่อตั้ง United Group บริษัทผู้ขายลิขสิทธิ์รายการทีวีในหลายประเทศแถบยุโรปตะวันออก

สำหรับ “เดอะ เซนต์ส” เคยอยู่ในพรีเมียร์ลีก 24 ฤดูกาล มากที่สุดในบรรดาสมาชิก 24 ทีมของลีกแชมเปี้ยนชิพ ซีซั่นนี้ แน่นอนว่า รุสเซลล์ มาร์ติน ผู้จัดการทีม ขอตั้งเป้าหมายพาทีมเลื่อนชั้นกลับมาภายในซีซั่นเดียว

สโตค ซิตี้ – บริษัทรับพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย

ครอบครัวของปีเตอร์ โคตส์ มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ผู้ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 16 จากการจัดอันดับของ Sunday Times Rich List ซึ่งมีสินทรัพย์สุทธิ 8.8 พันล้านปอนด์ ได้เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรสโตค ซิตี้ เมื่อปี 2006

เงินทุนของปีเตอร์ โคตส์ มาจาก Bet365 บริษัทรับพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย ซึ่งก่อตั้งโดยเดนิส ลูกสาวของเขา เมื่อปี 2000 เพราะมองเห็นโอกาสที่ว่าอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนโลกของการพนัน ซึ่งก็เป็นจริงตามที่คาดไว้

ช่วงเวลาที่โคตส์ แฟมิลี่ เข้ามาครอบครองสโตค ซิตี้ พวกเขาได้เลื่อนขั้นสู่พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร เมื่อฤดูกาล 2008/09 และรักษาสถานะบนยอดพีระมิด 10 ฤดูกาลติดต่อกัน จนถึงฤดูกาล 2017/18

หลังตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก “เดอะ พอตเตอร์ส” ไม่เคยกลับมาอยู่ในลีกสูงสุดอีกเลย จบซีซั่นในลีกรองระหว่างอันดับที่ 14, 15 และ 16 มาโดยตลอด แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ในการต่อสู้เพื่อกลับมาอยู่บนยอดพีระมิดในสักวันหนึ่ง

ซันเดอร์แลนด์ – การเกษตร และอาหารแปรรูป

คีริล หลุยส์-เดรย์ฟุส นักธุรกิจชาวฝรั่งเศสเชื้อสายสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาซื้อหุ้นส่วนน้อยของซันเดอร์แลนด์เมื่อปี 2021 ด้วยวัยเพียง 24 ปี ปัจจุบันกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 64 เปอร์เซ็นต์

สำหรับแหล่งรายได้ของหลุยส์-เดรย์ฟุส มาจากการสืบทอดกิจการของ Louis-Dreyfus Group ทำธุรกิจการเกษตร และอาหารแปรรูปรายใหญ่ของฝรั่งเศส โดยมีมาการิต้า คุณแม่ของคีริล ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท

ซันเดอร์แลนด์ เคยทำสถิติอยู่ในพรีเมียร์ลีก 10 ฤดูกาลติดต่อกัน ตั้งแต่ฤดูกาล 2007/08 จนถึงฤดูกาล 2016/17 และเคยดำดิ่งลงไปอยู่ในลีกวัน นานถึง 4 ปี ก่อนที่ในซีซั่น 2021/22 ชนะเพลย์ออฟคัมแบ็กลีกแชมเปี้ยนชิพ

ส่วนผลงานเมื่อฤดูกาลที่แล้ว “เดอะ แบล็กแคตส์” จบในอันดับที่ 6 แต่พลาดการเลื่อนชั้น หลังแพ้ลูตัน ทาวน์ ในเกมเพลย์ออฟ รอบรองชนะเลิศ ซึ่งในฤดูกาลนี้พวกเขาขอทุ่มสุดตัว เพื่อกลับสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งให้ได้

สวอนซี ซิตี้ – เอเย่นต์นักกีฬา และทีมกีฬา

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 สติเฟ่น แคปเลน และเจสัน เลวีน 2 นักธุรกิจชาวอเมริกัน ซื้อหุ้นสวอนซี ซิตี้ จำนวน 68 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมี Swansea City Supporters Trust ที่ถือหุ้นอยู่ 21 เปอร์เซ็นต์

แคปเลน มีรายได้จากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Oaktree Capital Management บริษัทจัดการสินทรัพย์ระดับโลกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทของเขา ยังได้เข้าไปซื้อหุ้นส่วนน้อยของเมมฟิส กริซลี่ส์ ทีมบาสเกตบอล NBA ด้วย

ทางด้านเลวีน มีเงินทุนจากกการเปิดบริษัทเอเย่นต์กีฬา ซึ่งดูแลนักกีฬาในวงการอเมริกันเกมส์หลายคน พร้อมกับเป็นเจ้าของ DC United ทีมฟุตบอลในศึกเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ (MLS) ของอเมริกา ร่วมกับแคปเลน

สำหรับ “เดอะ สวอน” เคยอยู่ในพรีเมียร์ลีก 7 ฤดูกาลติดต่อกัน ตั้งแต่ฤดูกาล 2011/12 ถึง 2017/18 หลังจากนั้น พวกเขาเคยเฉียดเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดในซีซั่น 2020/21 แต่แพ้เบรนท์ฟอร์ด ในเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

วัตฟอร์ด – เครื่องมือไฟฟ้า และทีมฟุตบอล

ครอบครัวปอซโซ่ เจ้าสัวจากประเทศอิตาลี ได้เข้ามาเทคโอเวอร์วัตฟอร์ด ต่อจากลอเรนซ์ บาสซินี่ นักธุรกิจชาวอังกฤษ เมื่อช่วงซัมเมอร์ปี 2012 โดยจิโน่ ปอซโซ่ ลูกชายของจามเปาโล ปอซโซ่ รับหน้าที่เป็นเจ้าของสโมสร

จามเปาโล ปอซโซ่ เริ่มต้นสร้างรายได้จากการก่อตั้ง Freud บริษัทผลิตโลหะและวิศวกรรมเครื่องกลในอิตาลี เมื่อปี 1960 ก่อนจะควบรวมกิจการกับ Bosch บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องมือไฟฟ้าของเยอรมนี ตั้งแต่ปี 2008

ต่อมา ปอซโซ่ แฟมิลี่ ได้หันมาลงทุนในสโมสรฟุตบอล โดยก่อนที่จะมาซื้อวัตฟอร์ด ได้ซื้ออูดิเนเซ่ ในอิตาลี เมื่อปี 1986 และกรานาด้า ในสเปน เมื่อปี 2009 แต่ในภายหลังได้ขายกิจการของอูดิเนเซ่ และกรานาด้าไปแล้ว

ในยุคที่จิโน่ ปอซโซ่ เป็นเจ้าของ “เดอะ ฮอร์เนตส์” เคยโลดแล่นอยู่ในพรีเมียร์ลีก 6 ฤดูกาล แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมไม่น้อยกว่า 10 คนก็ตาม ซึ่งหนล่าสุดที่พวกเชาได้เล่นในลีกสูงสุด คือฤดูกาล 2020/21

เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน – การออกแบบและก่อสร้าง

เมื่อปี 2016 ไล่ กั๋วฉวน มหาเศรษฐีจากประเทศจีน ได้เข้ามาซื้อกิจการของเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน สโมสรระดับพรีเมียร์ลีกในเวลานั้น ต่อจากเจเรมี่ เพียร์ซ นักธุรกิจชาวอังกฤษ ด้วยมูลค่าราว 175 ล้านปอนด์

แหล่งทำรายได้ของไล่ กั๋วฉวน มาจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Palm Eco Town Development บริษัทด้านการออกแบบและก่อสร้าง ก่อนที่อีกไม่กี่ปีต่อมา จีนได้เกิดภาวะฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ตลอด 7 ปี ภายใต้นายทุนจากแดนมังกร มีประเด็นที่ถูกวิจารณ์อยู่หลายเรื่อง แถมผลงานในสนามก็น่าผิดหวัง ตกชั้นในซีซั่น 2017/18 แม้จะกลับขึ้นพรีเมียร์ลีกในซีซั่น 2020/21 แต่อยู่ได้แค่ซีซั่นเดียวก็กลับสู่ลีกรองอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม “เดอะ แบ็กกีส์” อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของทีมในอีกไม่ช้า หลังมีข่าวว่า โมฮัมเหม็ด เอลกาชาชี่ นักธุรกิจชาวอียิปต์ กำลังเจรจาซื้อหุ้นบางส่วน ก่อนจะเทคโอเวอร์เต็มรูปแบบในอนาคต

ทั้ง 24 สโมสรในลีกแชมเปี้ยนชิพ ต่างอยู่ห่างจากยอดบนสุดของพีระมิดฟุตบอลอังกฤษเพียงก้าวเดียวเท่านั้น การเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก คือขุมทรัพย์ที่จะทำให้การเงินสโมสรมีความมั่นคงไปอีกหลายปี

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://theathletic.com/4667669/2023/07/17/championship-owners-money/

– https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_owners_of_English_football_clubs

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Premier_League_clubs

– https://en.wikipedia.org/wiki/Sunday_Times_Rich_List_2023