Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

ดีแคลน ไรซ์ นักเตะอิงลิชค่าตัวแพงที่สุดในพรีเมียร์ลีก

ดีแคลน ไรซ์ นักเตะอิงลิชค่าตัวแพงที่สุดในพรีเมียร์ลีก

ตลาดนักเตะซัมเมอร์ปีนี้ มีดีลที่เรียกเสียงฮือฮาเกิดขึ้น เมื่ออาร์เซน่อล ยอมทุ่มเงินทุบสถิติสโมสร 100 ล้านปอนด์ (แอดออน 5 ล้านปอนด์) ดึงตัวดีแคลน ไรซ์ กองกลางทีมชาติอังกฤษจากเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

มิดฟิลด์ตัวรับอนาคตไกลวัย 24 ปี รายนี้ กลายเป็นแข้งเลือดผู้ดีที่มีค่าตัวแพงที่สุดในพรีเมียร์ลีก แซงหน้าแจ็ค กรีลิช ที่ย้ายจากแอสตัน วิลล่า มาอยู่กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยค่าตัว 100 ล้านปอนด์ เมื่อปี 2021

ไรซ์ เป็นนักเตะรายที่ 3 ของอาร์เซนอล ที่เสริมทัพในช่วงหน้าร้อนปี 2023 ใช้เงินไปร่วม 200 ล้านปอนด์ ต่อจาก ไค ฮาแวตซ์ จากเชลซี 65 ล้านปอนด์ และยูเลี่ยน ทิมเบอร์ จากอาแจกซ์ 34 ล้านปอนด์

ถูกเชลซีปล่อยตัวจากอดาเดมี่

ดีแคลน ไรซ์ เกิดเมื่อ 14 มกราคม 1999 ที่คิงสตัน อัพอน เทมส์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน เริ่มต้นเส้นทางลูกหนังด้วยการเข้าไปอยู่ในทีมเยาวชนของเชลซี เมื่อปี 2006 ขณะอายุได้ 7 ขวบ

ช่วงเวลาที่เจ้าหนูไรซ์ได้เข้ามาอยู่กับอคาเดมี่ของเชลซี เป็นช่วงที่โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เพิ่งเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรได้ไม่นาน และมีโชเซ่ มูรินโญ่ รับหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมชุดซีเนียร์

อย่างไรก็ตาม ในปี 2013 หลังจากที่ไรซ์อยู่กับอคาเดมี่ของเชลซีนานถึง 7 ปี เขาได้รับแจ้งมาว่าต้องออกไปจากสโมสร ทำให้รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพต่อไป

ไรซ์ ให้สัมภาษณ์กับ Sky Sports ว่า “ผมต้องเอาชนะความผิดหวังครั้งใหญ่ หลังเชลซีปล่อยตัวออกจากอคาเดมี่ ผมฝึกซ้อมเป็นประจำทุกวัน แล้วมีคนมาบอกว่าผมไม่ได้ไปต่อกับที่นี่ มันน่าตกใจอย่างมาก”

“ผมรู้ดีว่ามันยาก แต่ตอนเด็กผมอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ไม่มีอะไรมาหยุดความฝันของผมได้ ผมมีแรงผลักดันและอยากจะทำงานให้หนักที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมต้องย้ายออกจากบ้าน และเริ่มต้นชีวิตใหม่”

สถานีต่อไปของไรซ์คือ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ทีมคู่แข่งร่วมเมืองหลวง โดยอยู่ในทีมเยาวชนเป็นเวลา 2 ปี ก่อนก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ตำนานบทใหม่ของเขากับสโมสรจากลอนดอนฝั่งตะวันออก กำลังจะเริ่มต้นขึ้น

ช่วงเวลาที่ดีกับเดอะ แฮมเมอร์ส

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/WestHam

เมื่ออายุได้ 16 ปี ดีแคลน ไรซ์ ได้รับสัญญาเป็นนักเตะอาชีพกับเวสต์แฮม ยูไนเต็ด โดยเล่นกับทีมชุดสำรองอยู่ 1 ซีซั่น ก่อนที่จะได้ลงเล่นในทีมชุดใหญ่ครั้งแรกในซีซั่น 2016/17 ฐานะตัวสำรองในเกมที่พบกับเบิร์นลี่ย์

ฤดูกาล 2017/18 และ 2018/19 ไรซ์ได้ลงเล่นสม่ำเสมอ ภายใต้กุนซือ 3 คน ทั้งสลาเวน บิลิช, เดวิด มอยส์ และมานูเอล เปเยกรินี่ ฟอร์มการเล่นยังไม่โดดเด่นมากนัก ผลงานของทีมจบในอันดับ 13 และ 10 ตามลำดับ

จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2019 เวสต์แฮม ตัดสินใจปลดเปเยกรินี่ ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม และได้แต่งตั้งเดวิด มอยส์ กลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิมอีกครั้ง และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของสโมสรอย่างแท้จริง

การคัมแบ็กของกุนซือชาวสกอตแลนด์ ช่วยให้เกมรับของเวสต์แฮมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งปลุกศักยภาพของไรซ์ ให้ฉายแววเก่งมากขึ้นเรื่อยๆ จนพาทีมขุนค้อนทำอันดับไปเล่นฟุตบอลยุโรป 2 ฤดูกาลติดต่อกัน

และในฤดูกาล 2022/23 คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของไรซ์ ในการเป็นกัปตันทีมผู้พาเดอะ แฮมเมอร์ส คว้าแชมป์ยุโรปใบเล็กสุดอย่าง คอนเฟอเรนซ์ ลีก ซึ่งถือเป็นการได้ชูโทรฟี่เป็นรายการแรกในรอบ 43 ปีของสโมสร

“เขา (เดวิด มอยส์) เข้ามาช่วยทีมเราถึงสองครั้ง จากนั้นก็ได้ไปฟุตบอลถ้วยยุโรป 2 ปีติดต่อกัน และตอนนี้ก็คว้าแชมป์ได้แล้ว เขาคือผู้จัดการทีมที่ดีที่สุดตลอดกาลของเวสต์แฮม” ไรซ์ กล่าวกับ BT Sport

ผลงานของไรซ์ ตลอดเวลา 7 ฤดูกาลที่อยู่กับทีมซีเนียร์ของเวสต์แฮม ยิงได้ 15 ประตู 13 แอสซิสต์ จากการลงสนาม 245 นัด รวมทุกรายการ ปิดตำนานอย่างยิ่งใหญ่ ก่อนที่จะเป็นนักเตะใหม่ของอาร์เซน่อลในที่สุด

อาร์เตต้า จะใช้งานไรซ์อย่างไร

มิเกล อาร์เตต้า เฮดโค้ชอาร์เซน่อล ได้ลั่นวาจาไว้ว่า ต้องการตัวดีแคลน ไรซ์ มาให้ได้ แม้จะมีแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ร่วมแจมแย่งตัวด้วย แต่เป็นเดอะ กันเนอร์ส ที่กัดฟันยอมทุ่มเงินมหาศาลแตะหลัก 100 ล้านปอนด์

การมาของไรซ์ สิ่งแรกที่อาร์เตต้าจะได้รับอย่างแน่นอนคือ “ความเป็นผู้นำ” เพราะเขารับหน้าที่กัปตันทีมตั้งแต่อยู่ในทีมสำรองของเวสต์แฮม ก่อนจะเป็นกัปตันทีมชุดใหญ่เต็มตัวแทนมาร์ค โนเบิ้ล ที่ประกาศเลิกเล่น

ตำแหน่งการเล่นหลักของไรซ์คือ “มิดฟิลด์ตัวรับ” ยืนต่ำสุดในแดนกลางทั้งระดับสโมสรและทีมชาติ ซึ่งมีโอกาสค่อนข้างสูงในการเข้ามาเสียบแทนโธมัส ปาร์เตย์ ที่เล่นในตำแหน่งนี้ได้ดีมาเกือบตลอดซีซั่นที่แล้ว

สถิติจากฤดูกาล 2022/23 ไรซ์ มีสถิติการตัดบอลจากคู่แข่ง (Interceptions) 63 ครั้ง มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก เหนือกว่าปาร์เตย์ นักเตะอาร์เซน่อลที่ตัดบอลมากที่สุดในทีม 28 ครั้ง หรือแตกต่างกันมากกว่า 2 เท่า

ส่วนสถิติอื่นๆ ในเกมรับ อย่างเช่น แย่งบอลกลับคืน (Possesion won) มากที่สุด 334 ครั้ง, ถูกคู่แข่งเลี้ยงผ่านน้อยที่สุด เฉลี่ย 0.6 ครั้งต่อเกม อีกทั้งชนะการดวลตัวต่อตัว 58.3 เปอร์เซ็นต์ ติดท็อป 5 ของพรีเมียร์ลีก

อย่างไรก็ตาม อาร์เซน่อลคือทีมที่เน้นเกมรุกเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากสมัยอยู่กับเวสต์แฮม ทำให้ไรซ์ต้องเพิ่มสกิลมากขึ้น จากเดิมที่เป็นโฮลดิ้ง มิดฟิลด์ มาเป็นแบบ “บ็อกซ์ ทู บ็อกซ์” และจังหวะการเล่นเร็วขึ้นกว่าเดิม

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Arsenal

ซึ่งในจุดนี้ ตัวของไรซ์เองก็พัฒนามากขึ้นในฤดูกาลที่แล้ว เพราะเขาสัมผัสบอลในพื้นที่สุดท้าย (Final-third) เฉลี่ย 12.4 ครั้ง ต่อเกม และยิงได้ 4 ประตูในพรีเมียร์ลีก มากที่สุดต่อซีซั่น นับตั้งแต่เล่นในระดับอาชีพ

ด้านการจ่ายบอล ไรซ์ทำได้ 2,083 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการจ่ายบอลขึ้นด้านหน้า 51 ครั้ง สะท้อนว่า ไรซ์นิยมการจ่ายบอลออกด้านข้างมากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์กับบูกาโย่ ซาก้า และกาเบรียล มาร์ติเนลลี่

อาร์เซน่อล ละเมิดกฎ FFP หรือไม่

การซื้อนักเตะของอาร์เซน่อล ถ้านับเฉพาะช่วงซัมเมอร์ 3 รอบล่าสุด (2021-2023) ใช้เงินไปแล้วกว่า500 ล้านปอนด์ คำถามที่ตามมาก็คือ “เดอะ กันเนอร์ส” กำลังสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดกฎไฟแนนเชี่ยล แฟร์เพลย์ หรือไม่

สำหรับกฎ FFP ของยูฟ่าที่มีการปรับปรุงใหม่ จะกำหนดเพดานของแต่ละสโมสร ในการใช้เงินจ่ายค่าตัวนักเตะ, ค่าจ้าง และค่าเอเย่นต์ เป็นเปอร์เซนต์ของรายได้ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่ฤดูกาล 2022/23 ที่ผ่านมา

เมื่อซีซั่นที่แล้ว ทุกสโมสรในยุโรป สามารถใช้เงินได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในซีซั่นปัจจุบัน (2023/24) จะลดเหลือ 90 เปอร์เซ็นต์, ซีซั่น 2024/25 เหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ และซีซั่น 2025/26 เป็นต้นไป เหลือ 70เปอร์เซ็นต์

กฎ FFP เวอร์ชั่น 2.0 ยอมให้สโมสรขาดทุนเพิ่มจากเดิม 30 ล้านยูโร เป็น 60 ล้านยูโร ในรอบ 3 ปี ส่วนสโมสรในอังกฤษ จะอยู่ภายใต้กฎ P&S ของพรีเมียร์ลีก ที่ยอมให้ติดลบได้สูงสุด 105 ล้านปอนด์ ในรอบ 3 ปี ด้วยเช่นกัน

ในรอบปีบัญชี 2021/22 ระบุว่า อาร์เซน่อลขาดทุน 45.5 ล้านปอนด์ เป็นการติดลบ 4 ปีติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 2018-19 (27.1 ล้านปอนด์), ปี 2019-20 (47.8 ล้านปอนด์) และปี 2020-21 (107.3 ล้านปอนด์)

อย่างไรก็ตาม อาร์เซน่อลได้ประเมินรายรับตลอดซีซั่น 2022/23 คาดว่าน่าจะสูงถึง 419 ล้านปอนด์ ส่วนหนึ่งจากการกลับคืนสู่เวทียูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก, รายได้จากการถ่ายทอดสด รวมถึงรายได้จากแมตช์เดย์ที่มากขึ้น

คีแรน แม็กไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินฟุตบอล และผู้เขียนหนังสือ The Price Of Football วิเคราะห์ว่า “ผมไม่กังวลเกี่ยวกับการเงินของอาร์เซน่อลเลย แม้จะใช้เงินมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ซีซั่นที่แล้วก็มีรายได้เข้ามามาก”

“ถ้าดูจากค่าจ้างในปี 2022 อาร์เซน่อลจ่ายไปแค่ 58 เปอร์เซนต์ และสิ่งที่ผมได้เห็นตลอดช่วง 5-6 ฤดูกาลที่ผ่านมาคือ พวกเขาสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างดี แม้ว่าช่วงนั้นจะไม่เคยเข้าร่วมแชมเปี้ยนส์ ลีก เลยก็ตาม”

เมื่อฤดูกาลที่แล้ว อาร์เซน่อลเบียดกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้มาตลอดทาง ก่อนแผ่วลงช่วงท้ายซีซั่น การมาของดีแคลน ไรซ์ ในซีซั่นใหม่ พวกเขาย่อมหวังถึงการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกที่ห่างหายไปนานถึง 2 ทศวรรษ

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/4652018/2023/07/15/declan-rice-arsenal-arteta-deal/

https://theathletic.com/4631250/2023/06/27/arsenal-rice-transfers-ffp/

https://theathletic.com/4646911/2023/06/29/why-declan-rice-transfer-is-vital-to-artetas-arsenal/

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-8258103/Declan-Rice-shocked-Chelsea-release-days-hinted-transfer-move.html

– https://www.premierleague.com/news/3572110

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.