Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

วันฟ้าหม่นของ “เอฟเวอร์ตัน” หลังถูกตัดแต้มจากกฎการเงินพรีเมียร์ลีก

วันฟ้าหม่นของ “เอฟเวอร์ตัน” หลังถูกตัดแต้มจากกฎการเงินพรีเมียร์ลีก
  • กฎ Profitability and Sustainability (P&S) เป็นกฎการเงินที่บังคับใช้กับสโมสรในพรีเมียร์ลีก และเดอะ แชมเปี้ยนชิพ 
  • งบการเงิน 4 ปีหลังสุด เอฟเวอร์ตัน ขาดทุนสูงถึง 417.3 ล้านปอนด์ หรือเกินกว่าที่พรีเมียร์ลีกกำหนดไว้เกือบ 4 เท่า
  • เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรที่ 3 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก ที่ถูกลงโทษตัดแต้ม ต่อจากมิดเดิลสโบรช์ และพอร์ทสมัธ

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สื่อทุกสำนักพาดหัวข่าวใหญ่ เอฟเวอร์ตัน ถูกพรีเมียร์ลีกสั่งตัด 10 คะแนน จากกรณีละเมิดกฎการเงินที่เรียกว่า Profitability and Sustainability หรือ P&S

แน่นอนว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสโมสร ต่างแสดงความผิดหวัง และไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินที่ออกมา แม้จะรับรู้มาตลอดว่าสักวันหนึ่งทีมจะต้องถูกลงโทษ ซึ่งพวกเขาจะขอต่อสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อไป

หากอุทธรณ์ไม่สำเร็จ สโมสรก็ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรม กลับมามุ่งมั่นในสนามเพื่อเก็บชัยไปเรื่อยๆ และหลีกเลี่ยงการร่วงตกชั้นจากลีกบนยอดพีระมิดเมืองผู้ดี ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานกว่า 7 ทศวรรษ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ถูกมองว่าเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการตัดสินคดีละเมิดกฎการเงินในอนาคต และต่อไปนี้คือเรื่องราวเบื้องลึกสู่การลงโทษหักแต้มที่หนักที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรีเมียร์ลีก

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

รู้จักกับ P&S กฎคุมการเงินลูกหนังเมืองผู้ดี

กฎ Profitability and Sustainability หรือเรียกย่อๆ ว่า P&S คือกฎที่ว่าด้วยเรื่องความสามารถในการทำกำไรและความยั่งยืน เพื่อควบคุมการเงินของ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก และ 24 สโมสรในเดอะ แชมเปี้ยนชิพ

สำหรับกฎ P&S เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2016 ซึ่งในฤดูกาลปัจจุบัน กฎดังกล่าวจะระบุไว้ในหมวด E. ข้อ 47-52 ของระเบียบการแข่งขัน (PL Handbook) โดยทุกสโมสรจะต้องส่งงบการเงินให้พรีเมียร์ลีกตรวจสอบทุกปี

หัวใจสำคัญข้อหนึ่งของกฎ P&S คือ “สโมสรในพรีเมียร์ลีก จะได้รับอนุญาตให้ขาดทุนสูงสุดได้ไม่เกิน105 ล้านปอนด์ ภายในระยะเวลา 3 รอบปีบัญชีหลังสุด หากมีสโมสรใดขาดทุนเกินกำหนดจะต้องถูกลงโทษ”

ซึ่งคำว่า “ขาดทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 105 ล้านปอนด์” ความจริงแล้วมีเพดานอยู่ที่ 15 ล้านปอนด์เท่านั้น ส่วนอีก 90 ล้านปอนด์ที่เหลือ ทางพรีเมียร์ลีกอนุโลมให้เจ้าของสโมสรนำเงินส่วนนี้มาช่วยเหลือทางอ้อมได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าสโมสรใดตกชั้นลงไปเล่นลีกแชมเปี้ยนชิพ กฎ P&S จะเข้มงวดมากกว่าพรีเมียร์ลีก เพราะจะทำให้ลิมิตการขาดทุน ลดลงเหลือเพียง 39 ล้านปอนด์ ในระยะเวลา 3 รอบปีบัญชีหลังสุดเช่นกัน

นับตั้งแต่กฎ P&S หรือไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ฉบับพรีเมียร์ลีก บังคับใช้มาแล้ว 7 ปี ยังไม่มีสโมสรใดเคยถูกลงโทษมาก่อน แต่ในที่สุด เอฟเวอร์ตัน ก็กลายเป็นสโมสรแรกที่ได้รับผลกรรมจากการละเมิดกฎดังกล่าว

ตรวจสุขภาพการเงินเอฟเวอร์ตัน 3 งวดล่าสุด

จากรายงานงบการเงินของเว็บไซต์ Company House ระบุว่า รอบปีบัญชี 2021/22 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2022 เอฟเวอร์ตันมีรายได้จากสื่อ, การค้า และแมตช์เดย์ รวม 181 ล้านปอนด์ ขาดทุน 44.7 ล้านปอนด์

และเมื่อบวกกับยอดขาดทุนใน 3 ปีบัญชีก่อนหน้า เริ่มจากปี 2019 จำนวน 111.8 ล้านปอนด์, ปี 2020 จำนวน 139.9 ล้านปอนด์ และปี 2021 จำนวน 120.9 ล้านปอนด์ รวม 4 ปีหลังสุด เท่ากับ 417.3 ล้านปอนด์

แต่ในปี 2020 และ 2021 เป็นช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ทางพรีเมียร์ลีกอนุญาตให้รวบเป็นงวดเดียวกัน โดยการนำยอดมารวมกัน แล้วหารด้วย 2 นั่นเท่ากับว่า เอฟเวอร์ตันขาดทุนโดยเฉลี่ย 130.4 ล้านปอนด์ต่อปี

นั่นหมายความว่า การคำนวณหายอดขาดทุนตามกฎ P&S ใน 3 งวดบัญชีล่าสุด คือ 2019, 2020-21และ 2022 “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ติดลบ 287 ล้านปอนด์ ยังเกินกว่าที่ทางพรีเมียร์ลีกกำหนดไว้ถึง 182 ล้านปอนด์

ในส่วนของค่าจ้างนักเตะ เฉพาะ 4 ปีบัญชีหลังสุด เอฟเวอร์ตันจ่ายเงินสูงถึง 582 ล้านปอนด์ เป็นรองสโมสรบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก แต่ไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดๆ แม้กระทั่งโควตายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ก็ไม่เคยสัมผัส

เมื่อนำค่าจ้างมาคำนวณสัดส่วนเมื่อเทียบกับรายได้รวมในช่วงเวลาเดียวกัน (746 ล้านปอนด์) จะพบว่าเอฟเวอร์ตันจ่ายค่าจ้างคิดเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ ของรายรับ ซึ่งนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโมสรมีปัญหาการเงิน

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

สแกนกรรมทอฟฟี่สีน้ำเงิน ทำการเงินเข้าขั้นวิกฤต

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่นำมาสู่การลงโทษหัก 10 คะแนน ก็คือการที่เอฟเวอร์ตันขาดทุนเกินกว่ากำหนดในรอบ 3 ปีหลังสุด ซึ่งพวกเขารอดตกชั้นในฤดูกาล 2021/22 และ 2022/23 แต่กลับไม่ถูกลงโทษใดๆ เลย

นั่นทำให้บรรดาทีมคู่แข่งสำคัญที่สูญเสียผลประโยชน์จากการตกชั้น ทั้งเบิร์นลีย์ (2021/22), เลสเตอร์ ซิตี้ และลีดส์ ยูไนเต็ด (2022/23) รวมตัวกันไปร้องเรียนพรีเมียร์ลีก เพื่อหวังเอาผิดกับทีมทอฟฟี่สีน้ำเงินให้ได้

ต่อมาในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระของพรีเมียร์ลีก ได้ใช้เวลาไต่สวนนานถึง 5 วัน และตรวจสอบพบความผิดอีกข้อหาหนึ่ง นอกเหนือจากการมียอดติดลบเกินกว่าที่ทางลีกเมืองผู้ดีกำหนด

ความผิดปกติที่ว่านั้นคือ เอฟเวอร์ตันส่งข้อมูลงบการเงินอันเป็นเท็จในรอบปีบัญชี 2021/22 โดยแจ้งว่าขาดทุนเพียง 44.7 ล้านปอนด์ แต่ยอดขาดทุนจริงที่ P&S คำนวณได้คือ 124.7 ล้านปอนด์ ต่างกันถึง 80 ล้านปอนด์

ทางคณะกรรมการอิสระของพรีเมียร์ลีก ชี้แจงว่า เอฟเวอร์ตันได้มีการผ่องถ่ายรายจ่ายบางส่วนออกไปกับการสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ที่แบรมลีย์ มัวร์ ที่คาดว่าน่าจะเปิดใช้งานภายในปี 2024 ถือเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต

เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเงินของเอฟเวอร์ตันเข้าขั้นวิกฤต ประการแรก จ่ายเงินซื้อนักเตะจำนวนมาก แต่รายรับจากการขายนักเตะ รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ และส่วนแบ่งรายได้จากผลงานในตารางคะแนน ได้กลับมาไม่มาก

อีกประการหนึ่งคือ การสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้มหาศาลจากการขายสิทธิ์ชื่อสนามให้กับกลุ่มทุน USM ของอลิเซอร์ อุสมานอฟ นักธุรกิจชาวรัสเซีย อันเนื่องมาจากรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากการรุกรานยูเครน

ชดใช้ความผิดพลาด มองปัจจุบันและอนาคต

จากคำตัดสินของคณะกรรมการอิสระ ทำให้เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรที่ 3 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก ที่ได้รับบทลงโทษด้วยการตัดคะแนน และมีผลทันที ทำให้เหลือ 4 คะแนน หล่นไปอยู่อันดับรองสุดท้ายของตาราง

ก่อนหน้านี้ มิดเดิลสโบรช์ ในฤดูกาล 1996/97 เคยถูกตัด 3 แต้ม เนื่องจากไม่ลงแข่งขันกับแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส และพอร์ทสมัธ เมื่อซีซั่น 2009/10 ที่โดนหัก 9 แต้ม จากกรณีที่สโมสรถูกควบคุมกิจการ ท้ายที่สุดก็ตกชั้นทั้งคู่

นักวิเคราะห์สถิติจาก Opta ประเมินว่า ทีมของกุนซือฌอน ไดซ์ มีโอกาสตกชั้นในซีซั่นนี้ 34 เปอร์เซ็นต์ (เพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนถูกหัก 10 คะแนน) แต่ก็ยังน้อยกว่าเบิร์นลีย์, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และลูตัน ทาวน์

ย้อนกลับไปเมื่อฤดูกาล 1994/95 เอฟเวอร์ตันก็มีแค่ 4 แต้ม จาก 12 เกมแรก เช่นเดียวกับซีซั่นนี้ แต่ก็เอาตัวรอดด้วยการจบอันดับที่ 15 พร้อมกับคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ มาครอง ซึ่งอาจจะเป็นลางดีของพวกเขาก็ได้

ขณะเดียวกัน เอฟเวอร์ตันกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเจ้าของทีมรายใหม่ จากฟาฮัด โมชิริ นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน มาเป็น 777 Partners กลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา หลังเข้าซื้อหุ้น 94.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

สำหรับ 777 Partners เป็นบริษัทด้านการลงทุนที่มีกีฬาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก โดยได้เข้าไปลงทุนกับทีมฟุตบอลชื่อดังในยุโรป เช่น เซบีย่า (สเปน), เจนัว (อิตาลี), แฮร์ธ่า เบอรฺลิน (เยอรมนี) และสตองดาร์ด ลีแอช (เบลเยียม)

ซึ่งขั้นตอนการเทคโอเวอร์ อยู่ระหว่างรอทางพรีเมียร์ลีกอนุมัติอยู่ ซึ่งคาดว่าไม่เกินสิ้นปี 2023 แต่หลังจากเอฟเวอร์ตันถูกตัด 10 แต้ม และสุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้น โมชิริอาจจะมีการทบทวนดีลการซื้อกิจการอีกครั้ง

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

เชือดท็อฟฟี่ สะเทือนถึงแมนฯ ซิตี้ และเชลซี

เมื่อเอฟเวอร์ตันได้รับบทลงโทษตัดแต้มหนักที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งพรีเมียร์ลีก คำถามที่ตามมาก็คือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี 2 สโมสรยักษ์ใหญ่ที่กำลังถูกกล่าวหาเรื่องละเมิดกฎการเงิน จะโดนลงโทษหรือไม่ อย่างไร

กรณีของแมนฯ ซิตี้ ถูกตั้งข้อหาทำผิดกฎการเงิน 115 กระทง ตั้งแต่ปี 2009 – 2018 เช่น แจ้งข้อมูลการเงินไม่ถูกต้อง, ไม่ปฎิบัติตามกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ ของยูฟ่า อีกทั้งไม่ให้ความร่วมมือกับพรีเมียร์ลีกในการสอบสวน

ขณะที่เชลซี เป็นข้อกล่าวหาเรื่องการใช้เงินที่ไม่โปร่งใสในช่วงปี 2012-2019 สมัยที่โรมัน อบราโมวิช ยังเป็นเจ้าของสโมสร เช่น ค่าจ้างอันโตนิโอ คอนเต้, ค่าตัวเอแดน อาซาร์,ที่ถูกโอนไปยังแหล่งฟอกเงินที่บริติช เวอร์จิ้นส์ เป็นต้น

ความเป็นไปได้ของบทลงโทษที่แมนฯ ซิตี้ และเชลซี จะได้รับจากพรีเมียร์ลีก มีตั้งแต่ปรับเงิน, ตัดแต้มสถานหนัก, ปรับตกชั้น หรือร้ายแรงที่สุด อาจถึงขั้นถูกขับพ้นจากลีกอาชีพ เหมือนที่สโมสรในลีกล่างเคยเจอมาแล้ว

ในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลอังกฤษ ลูตัน ทาวน์ คือทีมที่ถูกตัดแต้มมากที่สุดถึง 30 แต้ม เมื่อฤดูกาล 2008/09 สมัยที่อยู่ในลีก ทู (ดิวิชั่น 4) หลังถูกตรวจพบความผิดปกติทางการเงิน และตกชั้นเมื่อจบซีซั่น

หรือกรณีของบิวรี่ สโมสรในลีก วัน (ดิวิชั่น 3) ถูกขับออกจากลีกอาชีพของอังกฤษ หลังจากไม่สามารถหากลุ่มทุนมาเทคโอเวอร์ เพื่อเคลียร์หนี้สิน 2.7 ล้านปอนด์ ได้ทันตามกำหนดเวลา ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้นซีซั่น 2019/20 ไปไม่กี่นัด

การตัดคะแนนเอฟเวอร์ตัน 10 แต้ม เสมือนเป็นการส่งสัญญานเตือนเรือใบสีฟ้า และสิงห์บูลส์ ให้เตรียมรับมือกับข่าวร้ายระดับสะเทือนวงการลูกหนัง ซึ่ง “มีโอกาสเป็นไปได้” ตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายได้วิเคราะห์ไว้

เรื่องราวการถูกลงโทษของเอฟเวอร์ตัน ถือเป็นกรณีศึกษาที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี ต้องจับตาดูว่าพรีเมียร์ลีก จะใช้กฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมหรือไม่

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/67448714

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/11/17/everton-deducted-10-points-premier-league-financial-rules/

https://theathletic.com/5072039/2023/11/17/everton-points-deduction-punishment-written-reasons/

https://theathletic.com/5071224/2023/11/18/everton-10-point-penalty-explained/

https://theathletic.com/5072612/2023/11/18/everton-ffp-chelsea-manchester-city/

https://resources.premierleague.com/premierleague/document/2023/08/31/132475d9-6ce7-48f3-b168-0d9f234c995a/PL_Handbook_2023-24_DIGITAL_29.08.23.pdf

– https://swissramble.substack.com/p/financial-fair-play-202122

https://swissramble.substack.com/p/everton-finances-202122

https://www.financialfairplay.co.uk/financial-fair-play-explained.php

– https://find-and-update.company-information.service.gov.uk/company/00036624/filing-history

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.