Categories
Special Content

ความกังวลของ “แกเร็ธ เซาท์เกต” กับปัญหาแข้งอังกฤษในพรีเมียร์ลีกลดลง

โปรแกรมฟุตบอลในช่วงกลางสัปดาห์นี้ ยาวไปจนถึงกลางสัปดาห์หน้า จะสลับฉากจากระดับลีก เป็นทีมชาติ ในส่วนฝั่งยุโรป จะเป็นรอบคัดเลือก ของฟุตบอลชิงแชมป์ระดับทวีป หรือ “ยูโร 2024”

สำหรับยูโร 2024 รอบคัดเลือก มี 53 ชาติเข้าร่วม (ยกเว้นเยอรมนี ในฐานะเจ้าภาพ และรัสเซีย ที่ยังติดโทษแบนจากยูฟ่า) แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม โดยมี 7 กลุ่ม ที่มีกลุ่มละ 5 ชาติ และอีก 3 กลุ่ม ที่มีกลุ่มละ 6 ชาติ

แต่ละกลุ่ม คัดเอา 2 อันดับแรก เข้ารอบสุดท้ายอัตโนมัติ ส่วนอีก 3 ชาติที่เหลือ จะเอามาจากชาติที่ตกรอบคัดเลือกยูโร แต่มีผลงานดีที่สุด ในยูฟ่า เนชันส์ ลีก เฉพาะลีก A, B และ C ลีกละ 4 ชาติ มาเตะเพลย์ออฟกันในแต่ละลีก

ในส่วนของทีมชาติอังกฤษ จะประเดิม 2 นัดแรก ด้วยการ “รีแมตช์” คู่ชิงชนะเลิศยูโรครั้งที่แล้ว ในการบุกไปเยือนทีมชาติอิตาลี ที่เนเปิ้ลส์ 23 มีนาคม และจะกลับมาเล่นในเวมบลีย์ พบกับทีมชาติยูเครน 26 มีนาคม

อย่างไรก็ตาม แกเร็ธ เซาท์เกต กุนซือ “ทรี ไลออนส์” ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนนักเตะอังกฤษที่ได้ลงเล่นเป็นตัวหลักในพรีเมียร์ลีกลดลง เหตุใดเขาจึงออกมาพูดเช่นนี้

ส่องไลน์-อัพอังกฤษ ก่อนประเดิมคัดยูโร

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ทีมชาติอังกฤษประกาศรายชื่อ 25 นักเตะชุดสู้ศึกยูโร 2024 รอบคัดเลือก 2 นัดแรกกับอิตาลี ในวันที่ 23 มีนาคม และยูเครน ในวันที่ 26 มีนาคม โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้

– ผู้รักษาประตู : จอร์แดน ฟิคฟอร์ด (เอฟเวอร์ตัน), นิค โป๊ป (นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด), อารอน แรมส์เดล (อาร์เซน่อล)

– กองหลัง : เบน ชิลเวลล์ (เชลซี), เอริค ดายเออร์ (ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์), มาร์ค เกฮี (คริสตัล พาเลซ), รีช เจมส์ (เชลซี), แฮร์รี่ แม็กไกวร์ (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), ลุค ชอว์ (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), จอห์น สโตนส์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), ไคล์ วอล์คเกอร์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), คีแรน ทริปเปียร์ (นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด)

– กองกลาง : จู๊ด เบลลิงแฮม (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์), คอเนอร์ กัลลาเกอร์ (เชลซี), จอร์แดน เฮนเดอร์สัน (ลิเวอร์พูล), เจมส์ แมดดิสัน (เลสเตอร์ ซิตี้), คัลวิน ฟิลลิปส์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), ดีแคลน ไรซ์ (เวสต์แฮม), เมสัน เมาท์ (เชลซี)

– กองหน้า : ฟิล โฟเด้น (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), แจ็ค กริลิช (แมนเชสเตอร์ ซิตี้), แฮร์รี่ เคน (ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์), บูกาโย่ ซาก้า (อาร์เซน่อล), อิวาน โทนีย์ (เบรนท์ฟอร์ด), มาร์คัส แรชฟอร์ด (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)

แต่ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มี 3 แข้งขอถอนตัวออกไป เริ่มจากนิค โป๊ป ที่ได้รับบาดเจ็บจากเกมที่นิวคาสเซิล ชนะฟอเรสต์ 2 – 1 ในเกมลีกนัดล่าสุด โดยเฟเซอร์ ฟอร์สเตอร์ นายทวารจากสเปอร์ เสียบแทน

รายต่อมาคือเมสัน เมาท์ ที่ไม่ได้ลงเล่นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บที่กระดูกเชิงกราน และล่าสุดเป็นรายของแรชฟอร์ด ที่ได้รับบาดเจ็บจากเกมที่เอาชนะฟูแล่ม 3 – 1 ในถ้วยเอฟเอ คัพ

นักเตะผู้ดีในพรีเมียร์ลีกน้อยลงเรื่อย ๆ

“ตัวเลขก็คือตัวเลข และมันก็ไม่เพิ่มขึ้นเลย ตอนนี้ตัวเลขอยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ ตอนที่ผมรับงานอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ และปีก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นชัดเจนเลยว่า มันคือกราฟขาลงแบบไม่มีข้อโต้แย้ง”

“จำนวนนักเตะอังกฤษที่ลดลงอย่างรวดเร็วในพรีเมียร์ลีก มันไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลในอีก 18 เดือนข้างหน้า แต่ในอีก 4-5 ปีต่อจากนี้ มันอาจจะเป็นปัญหา โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เหลือแค่ 28 เปอร์เซ็นต์”

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือคำพูดของแกเร็ธ เซาท์เกต กุนซือทีมชาติอังกฤษ ที่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนนักเตะชาวอังกฤษที่เป็นตัวหลักในพรีเมียร์ลีก กำลังน้อยลงเรื่อย ๆ และอาจจะส่งผลเสียในระยะยาว

สำหรับในฤดูกาล 2022/23 มีนักเตะอังกฤษลงเล่นในพรีเมียร์ลีก 161 คน ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ฤดูกาลหลังสุด และอีก 22 คน ลงเล่นใน 4 ลีกใหญ่ของยุโรป (เยอรมัน, อิตาลี, สเปน, ฝรั่งเศส)

เมื่อมาดูตัวเลขของนักเตะสัญชาติอังกฤษ ที่ลงเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาลนี้ คำนวณออกมาเป็นจำนวนนาที พบว่าอยู่ในอันดับที่ 6 น้อยกว่าฝรั่งเศส, เยอรมัน, สเปน, โปรตุเกส และบราซิล ตามลำดับ

และถ้าเจาะลึกลงไปสำหรับเปอร์เซ็นต์การลงสนามในพรีเมียร์ลีก ของ 23 นักเตะสิงโตคำรามที่ติดทีมในการคัดเลือกยูโร 2 เกมแรก ปรากฏว่า ในจำนวนนี้ มีอยู่ 7 คน ที่ลงเล่นไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ไคล์ วอล์คเกอร์, คอเนอร์ กัลลาเกอร์, รีช เจมส์, เบน ชิลเวลล์, เฟเซอร์ ฟอร์สเตอร์, แฮร์รี่ แม็กไกวร์ และคัลวิน ฟิลลิปส์

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4 ซีซั่นหลังสุด นักเตะจากสโมสร “บิ๊ก 6” พรีเมียร์ลีก (อาร์เซน่อล, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยูไนเต็ด, สเปอร์) ลงเล่นคิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 16 เปอร์เซ็นต์ ของ 4 ซีซั่นก่อนหน้านั้น

ไม่ใช่แค่เซาท์เกตเท่านั้นที่กังวล โรแบร์โต้ มันชินี่ เทรนเนอร์ของ “อัซซูรี่” คู่แข่งของอังกฤษในเกมเปิดหัว คืนวันพฤหัสบดีนี้ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาก็เจอปัญหาขาดแคลนนักเตะชาติตัวเองในลีกสูงสุดเช่นกัน

แม้สโมสรจากเซเรีย อา จะผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ถึง 3 ทีม แต่มีนักเตะอิตาลีรวมกันไม่ถึง 10 คน จำนวนนาทีที่นักเตะลงเล่นในถ้วยใหญ่ยุโรป อยู่ในอันดับที่ 8 ต่ำกว่าอังกฤษเสียอีก

อีกไม่นานคงต้องหานักเตะจากลีกรอง

แกเร็ธ เซาท์เกต นายใหญ่สิงโตคำราม ชี้ว่า ตลาดนักเตะหน้าหนาวปีนี้ ที่ใช้เงินมากถึง 815 ล้านปอนด์ คือการตัดโอกาสนักเตะอังกฤษในพรีเมียร์ลีก และเขาอาจจะต้องหานักเตะจากลีกแชมเปี้ยนชิพมาทดแทน

และนี่คือหน้าตาของทีมชาติอังกฤษ ถ้าเซาท์เกตอยากหานักเตะฝีเท้าดีจากลีกรอง (แผนการเล่น 4-3-3หรือ 4-2-3-1)

– เฟรดดี้ วูดแมน (เปรสตัน นอร์ทเอนด์) : อดีตผู้รักษาประตูนิวคาสเซิล วัย 26 ปี เล่นตำแหน่งเดียวกับแอนดี้ วูดแมน คุณพ่อของเขา เก็บคลีนชีตได้ 16 นัด จาก 38 นัด ให้กับเปรสตันในฤดูกาลนี้

– ไรอัน ไจล์ส (มิดเดิลสโบรช์) : ฟูลแบ็กฝั่งซ้ายวัย 23 ปี ที่ยืมตัวมาจากวูล์ฟแฮมป์ตัน ทำ 11 แอสซิสต์ จาก 38 นัด ให้กับมิดเดิลสโบรช์ ในลีกแชมเปี้ยนชิพ ฤดูกาลนี้ ภายใต้การคุมทีมของไมเคิล คาร์ริก

– เทย์เลอร์ ฮาร์วูด-เบลลิส (เบิร์นลีย์) : เซ็นเตอร์แบ็กวัย 21 ปี ที่ยืมตัวมาจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ สามารถสอดแทรกขึ้นมาเล่นเกมรุกได้ และเคยติดทีมชาติอังกฤษชุดเยาวชนทุกรุ่น ตั้งแต่ชุดยู-16 จนถึงยู-21

– ชาร์ลี เครสเวลล์ (มิลล์วอลล์) : เซ็นเตอร์แบ็กวัย 20 ปี ที่ยืมตัวมาจากลีดส์ ยูไนเต็ด ลูกชายของริชาร์ด เครสเวลล์ อดีตกองหน้าชื่อดัง กำลังพามิลล์วอลล์ลุ้นพื้นที่เพลย์ออฟ เพื่อเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก

– แม็กซ์ อารอนส์ (นอริช ซิตี้) : ฟูลแบ็กฝั่งขวาวัย 23 ปี เพชรเม็ดงามจากอคาเดมี่ของนอริช ลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2018 และเคยตกเป็นเป้าหมายของบาร์เซโลน่า ยักษ์ใหญ่จากสเปนมาแล้ว

– เจมส์ แม็คอาธี (เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด) : มิดฟิลด์วัย 20 ปี ยิง 5 ประตู กับ 2 แอสซิสต์ ในลีก ซึ่งเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ทีมของเขา จับสลากพบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต้นสังกัดที่แท้จริง ในเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ

– อเล็กซ์ สกอตต์ (บริสตอล ซิตี้) : มิดฟิลด์วัย 19 ปี มีจุดเด่นในเรื่องแอสซิสต์ให้เพื่อนยิงประตู ได้รับการคาดหมายว่าเป็นหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดของลีกรอง โดยมีทีมจากพรีเมียร์ลีกหลายทีมให้ความสนใจเขา

– จอร์จ ฮอลล์ (เบอร์มิงแฮม ซิตี้) : มิดฟิลด์วัย 18 ปี เติบโตจากอคาเดมี่ของเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ที่เดียวกับจู๊ด เบลลิ่งแฮม ซึ่งทรอย ดีนี่ย์ กองหน้าเพื่อนร่วมทีม บอกว่า เขาจะเป็นซูเปอร์สตาร์คนใหม่ของอังกฤษแน่นอน

– นาธาน เทลล่า (เบิร์นลีย์) : มิดฟิลด์วัย 23 ปี ที่ยิมตัวมาจากเซาแธมป์ตัน ยิง 17 ประตู กับ 3 แอสซิสต์ ช่วยให้ทีมของกุนซือแว็งซองต์ กอมปานี จ่อเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฐานะแชมป์ลีกรองเต็มที

– โจ เกลฮาร์ดท์ (ซันเดอร์แลนด์) : ศูนย์หน้าวัย 20 ปี ยืมตัวมาจากลีดส์ ยูไนเต็ด ในช่วงตลาดซื้อขายนักเตะเดือนมกราคมที่ผ่านมา ลงเล่นให้ซันเดอร์แลนด์ 10 นัด ในลีกรอง ทำได้ 1 ประตู กับ 2 แอสซิสต์

– ชูบา อัคปอม (มิดเดิลสโบรช์) : อดีตกองหน้าอาร์เซน่อล วัย 27 ปี ทำได้ 24 ประตู จาก 31 นัด ในลีก มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ “เดอะ โบโร่” มีลุ้นเลื่อนชั้นแบบอัตโนมัติ ทั้ง ๆ ที่อยู่ท้ายตารางเมื่อช่วงต้นซีซั่น

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/64988328

– https://www.bbc.com/sport/football/65014530

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/03/17/what-england-team-would-look-like-filled-current-championship/

– https://www.skysports.com/football/news/11095/12835452/gareth-southgate-admits-concern-over-englands-shrinking-talent-pool-with-only-32-per-cent-of-starters-in-premier-league-eligible

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11885279/We-worse-Southgate-Roberto-Mancini-bemoans-lack-homegrown-talent-Italy.html

Categories
Special Content

ตามรอยบทบาทใหม่ของ “จอร์จี ฮาจี” กับเป้าหมายพาโรมาเนียครองแชมป์โลก

ทีมชาติโรมาเนียไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายตั้งแต่ปี 1998 ถ้านับถึงเวิลด์คัพครั้งล่าสุดที่กาตาร์ก็เป็นเวลา 24 ปี ส่วนรายการชิงแชมป์แห่งชาติทวีปยุโรป ทีมสามสีหรือ The Tricolours ได้ลงสนามรอบสุดท้ายแค่สองครั้งนับจากปี 2000 แถมตกรอบแบ่งกลุ่มทั้งสองสมัย ตอนนี้พวกเขากำลังพยายามครั้งใหม่กับศึกลูกหนังยูโร 2024 รอบคัดเลือก กลุ่มไอ ประเดิมแข้งกับอันดอร์ราและเบลารุส

ผลงานดีที่สุดในเวิลด์คัพของโรมาเนียเกิดขึ้นเมื่อปี 1994 ที่สหรัฐอเมริกา จอร์จี ฮาจี (Gheorghe Hagi) เป็นผู้ส่องแสงสว่างนำทีมไปถึงรอบแปดทีมสุดท้าย ซึ่งเสมอสวีเดน 2-2 ก่อนแพ้ดวลจุดโทษหวุดหวิด 4-5 โดยรอบแรก โรมาเนียยืนแป้นอันดับหนึ่งกลุ่มเอ ชนะโคลอมเบีย 3-1, แพ้สวิตเซอร์แลนด์ 1-4 และเฉือนเจ้าภาพ 1-0 ส่วนรอบ 16 ทีมสุดท้าย โรมาเนียชนะอาร์เจนตินา รองแชมป์เก่า 3-2 ฮาจีทำสามประตูในทัวร์นาเมนท์นี้

ที่โรมาเนีย แฟนบอลพร้อมใจกันตะโกน “Hagi for President” ขณะส่งเสียงเชียร์ทีมชาติที่กำลังสร้างผลงานยิ่งใหญ่ในเวิลด์คัพ 1994 แม้ว่าสองปีต่อมา ฮาจีไม่ได้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโรมาเนียในปี 1996 แต่เชื่อหรือไม่ ชาวโรมาเนียเขียนชื่อซูเปอร์สตาร์แห่งชาติลงบนบัตรเลือกตั้งประมาณ 2-3 พันคน มากกว่าผู้สมัครบางคนด้วยซ้ำ

แม้แขวนสตั๊ดอำลาวงการไปกว่าสองทศวรรษ ฮาจี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าของและผู้จัดการทีมของสโมสรฟารูล คอนสตันตา ใน Liga I หรือ SuperLiga ลีกสูงสุดประเทศโรมาเนีย กำลังสร้างนักเตะรุ่นใหม่เพื่อพาโรมาเนียไม่ใช่เพียงไปเล่นรอบสุดท้ายเวิลด์คัพ แต่ก้าวสู่เป้าหมายยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือแชมป์ฟุตบอลโลก

ปฏิเสธโอกาสไปค้าแข้งในพรีเมียร์ลีกสองครั้ง

ราวสองทศวรรษบนถนนนักฟุตบอลอาชีพตั้งแต่ปี 1982 ที่เอฟซี คอนสตันตา ซึ่งฟูมฟักฮาจีในฐานะนักเตะเยาวชน จนกระทั่งแขวนสตั๊ดกับกาลาตาซรายในปี 2001 ฮาจีได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของโลกช่วงทศวรรษ 1980 ถึง 1990 เขาเคยเล่นให้สองสโมสรยักษ์ใหญ่สเปน เรอัล มาดริด (1990 – 1992) และ บาร์เซโลนา (1994 – 1996) พร้อมรับใช้ชาติ 124 นัด ทำสกอร์รวม 35 ประตู เป็นดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของโรมาเนียร่วมกับเอเดรียน มูตู

แฟนบอลกาลาตาซารายในตุรกีตั้งฉายาให้ฮาจีว่า Comandante หรือ The Commander ในภาษาอังกฤษ ส่วนที่โรมาเนีย เขาถูกเรียกขานว่า Regele หรือ The King และยังมีอีกหนึ่งสมญานาม The Maradona of the Carpathians (มาราโดนาแห่งคาร์พาเธียนส์) เนื่องจากฮาจีถนัดเท้าซ้ายและยืนตำแหน่งเบอร์ 10 เป็นเพลย์เมคเกอร์ระดับโลกที่ครบเครื่องทั้งการเลี้ยง เทคนิค สายตา จินตนาการ การจ่ายบอล และการยิง ผู้คนมักนำเขาไปเปรียบเทียบกับดีเอโก มาราโดนา ตลอดชีวิตค้าแข้ง ฮาจีเคยครองอันดับสี่ของบัลลงดอร์ประจำปี 1994 และเปเล่ได้ใส่ชื่อเขาไว้ในลิสต์ 125 สุดยอดนักเตะของโลกที่ยังมีชีวิตอยู่เมื่อปี 2004

ฮาจียอมรับว่าเคยมีโอกาสเล่นพรีเมียร์ลีกสองครั้ง “ผมเสียใจนะที่พลาดทั้งสองครั้ง ผมชอบประเทศอังกฤษและมั่นใจว่าแฟนบอลที่นั่นจะสนุกกับสไตล์การเล่นของผม”

ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ และนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เคยพยายามเซ็นสัญญากับฮาจีช่วงทศวรรษ 1990 แต่โยฮัน ครัฟฟ์ และบาร์เซโลนา เข้ามาในปี 1994 และอีกสองปีต่อมา กาลาตาซารายยื่นเสนอโปรเจ็กต์ใหญ่ที่อยู่ใกล้บ้านเกิดของเขา

“สมัยเด็กผมชอบเควิน คีแกน เขาเป็นไอดอลคนหนึ่ง แน่นอนผมอยากเล่นให้ทีมของเขาที่นิวคาสเซิล แต่ครัฟฟ์โทรหาผมเป็นการส่วนตัวและชวนไปอยู่บาร์เซโลนา มันยากนะในการตอบปฏิเสธ ครัฟฟ์ยังบอกด้วยว่า ผมเป็นนักเตะเบอร์ 10 คนโปรดของเขาทีเดียว”

“จากนั้นคือกาลาตาซาราย พวกเขาต้องการสร้างทีมที่สามารถประสบความสำเร็จระดับทวีป แถมสโมสรยังอยู่ใกล้โรมาเนียอีก ผมคิดอยากกลับไปอยู่ประเทศบ้านเกิดเสมอหลังชีวิตนักฟุตบอล”

ฮาจีเลิกเล่นฟุตบอลอย่างเป็นทางการในวัย 36 ปี และได้รับเกียรติมีแมตช์อำลา “เทสติโมเนียล เกม” ที่ชื่อว่า Gala Hagi เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2001 ระหว่างทีมรวมดาราโรมาเนียกับทีมรวมดารานานาชาติ

คล้อยหลังไม่กี่เดือน ฮาจีกลับเข้าสู่วงการลูกหนังอีกครั้ง ไม่ใช่นักฟุตบอลแต่เป็นผู้จัดการทีม … ผู้จัดการทีมชาติโรมาเนีย !!!

บาดแผลจากความล้มเหลวงานกุนซือทีมชาติ

วันที่ 1 กันยายน 2001 ฮาจีรับตำแหน่งใหญ่แทน ลาสซ์โล โบโลนี ซึ่งลาออกไปคุมทีมสปอร์ติง ลิสบอน ในโปรตุเกส แต่โดนปลดพ้นตำแหน่งไม่กี่เดือนต่อมาหลังจากไม่สามารถพาโรมาเนียเข้าไปเล่นเวิลด์คัพ 2002 

งานแรกเป็นสองนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม ฮาจีพาโรมาเนียบุกชนะฮังการี 2-0 และเสมอจอร์เจีย 1-1 ในบ้าน รั้งอันดับสอง กลุ่มแปด ตามหลังอิตาลี 4 คะแนน ได้สิทธิเตะรอบเพลย์ออฟแต่แพ้สโลเวเนียด้วยสกอร์รวม 2-3 แพ้นัดเยือน 1-2 และเสมอนัดเหย้า 1-1 เป็นสมัยแรกที่โรมาเนียไม่ได้ไปเวิลด์คัพนับตั้งแต่ปี 1986

ฮาจีกลับมาคุมทีมอีกครั้งหลังว่างเว้นเกือบสองปี เซ็นสัญญาเป็นโค้ชให้กับ บูร์ซาสปอร์ ทีมในลีกสูงสุดตุรกี ในเดือนกรกฎาคม 2003 แต่ทำงานไม่ถึงสิ้นปีก็แยกทางกับสโมสร มีสถิติชนะ 2 นัด เสมอ 4 นัด แพ้ 6 นัด

ฮาจีมีผลงานดีขึ้นที่สโมสรถัดไป กาลาตาซาราย ระหว่างเดือนมีนาคม 2004 ถึงพฤษภาคม 2005 พาทีมไปไกลถึงแชมป์ตุรกีช คัพ ปี 2005 ด้วยการถล่มเฟเนร์บาห์เช 5-1 แต่สโมสรไม่ต่อสัญญาใหม่เพราะจบได้เพียงอันดับสามบนตารางลีก ฤดูกาล 2004-05 ตามหลังแชมป์ เฟเนร์บาห์เช 4 คะแนน

สเตอัว บูคาเรสต์ ยักษ์ใหญ่โรมาเนีย พยายามดึงตัวฮาจีในฤดูร้อนปี 2005 แต่สู้ค่าจ้างไม่ไหว ฮาจีจึงเซ็นสัญญากับ โพลิเทคนิกา ตีมีซัวรา แทนในเดือนพฤศจิกายน แต่ทำงานได้ซีซันเดียวก็เลิกราเพราะผลงานไม่ดีแถมแนวคิดไม่ลงรอยกับฝ่ายบริหาร

ในที่สุด ฮาจีก็ลงเอยกับ สเตอัว บูคาเรสต์ กลางปี 2007 สามารถพาทีมเข้ารอบแบ่งกลุ่ม แชมเปียนส์ลีก หลังผ่านเกมควอลิฟายด์สองรอบ แต่ทำงานได้ไม่กี่เดือน เขาก็เปิดหมวกอำลาเนื่องจากขัดแย้งอย่างรุนแรงกับจีจี เบคาลี เจ้าของสโมสร โดยยื่นใบลาออกแค่ไม่กี่ชั่วโมงหลังแพ้สลาเวีย ปราก 1-2 ในนัดเยือนของแชมเปียนส์ลีก

ฮาจีกลับมาที่ กาลาตาซาราย อีกครั้งในเดือนตุลาคม 2010 ทำหน้าที่แทนแฟรงค์ ไรจ์การ์ด ซึ่งถูกไล่ออก เขาเซ็นสัญญาระยะสั้นเพียงหนึ่งปีครึ่ง แต่ก็อยู่ไม่ครบสัญญาเช่นเดิม โดนปลดในเดือนมีนาคม 2011 หลังกาลาตาซารายทำผลงานได้ย่ำแย่ในบอลลีก

หลังล้มเหลวมาตลอดหนึ่งทศวรรษในฐานะผู้จัดการทีม แต่จุดหักเหสำคัญกำลังจะเกิดขึ้นกับชีวิตของฮาจีที่ วิโตรูล คอนสตันตา (Viitorul Constanta) สโมสรใหม่ในโรมาเนียที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2009 โดยตัวของฮาจีเอง

ก่อตั้งสโมสรเพื่อทำความฝันให้เป็นจริง

ฮาจีเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเป็นคนมีบุคลิกภาพและทัศนคติที่ดี ควบคุมลูกบอลได้ดี และยังมีความเร็วด้วย ผมเติบโตในยุคเรืองรองของทีมชาติเนเธอร์แลนด์ช่วงทศวรรษ 1970 ผมมีโยฮัน ครัฟฟ์ เป็นไอดอล ผมสวมเสื้อหมายเลข 10 เกือบตลอด ผมตระหนักดีว่านั่นหมายถึงการสร้างสรรประตูหรือทำสกอร์”

“ผมสวมเสื้อเบอร์ 10 ทั้งของเรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา สองสโมสรที่ดีที่สุดในโลก ผมมีความทะเยอทะยานเสมอที่จะเป็นคนเก่งที่สุด และนั่นเป็นแรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตผม”

หลังประสบความสำเร็จในฐานะนักฟุตบอล ในตอนนี้เป้าหมาย “เดอะ เบสต์” ของฮาจีย้ายไปที่บทบาทผู้จัดการทีมและผู้บริหารสโมสร

ฮาจีก่อตั้งสโมสรวิโตรูล คอนสตันตา ช่วงฤดูร้อนปี 2009 ที่โอวิดิอู (Ovidiu) ในเมืองคอนสตันตา ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ รองจากกรุงบูดาเปสต์ เป็นทั้งเมืองเก่าแก่ เมืองท่าสำคัญ และเมืองตากอากาศชายทะเล ตั้งอยู่ริมทะเลดำ

วิโตรูลเข้าร่วม Liga III ลีกเทียร์สามของโรมาเนีย ซีซัน 2009-10 ด้วยการสวมสิทธิ์แทนทีม CSO Ovidiu และเพียงปีเดียว ทีมฉายา Pustii lui Hagi หรือ Hagi’s Kids ก็ครองแชมป์ Liga III และเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่น Liga II ซีซัน 2010-11 พวกเขาใช้เวลาแค่สองปีครองตำแหน่งรองชนะเลิศระดับเทียร์สอง ทะยานสู่ลีกสูงสุดโรมาเนียเป็นครั้งแรกในซีซัน 2012-13

วิโตรูลจบซีซันแรกบนตาราง Liga I ด้วยอันดับ 13 อยู่เหนือโซนตกชั้นถึง 36 คะแนน ก่อนตกอยู่ในสภาพหนีโซนสีแดงระหว่างสองปีต่อมา ทีมเด็ก ๆ ของฮาจีกลับมามีชีวิตชีวิตอีกครั้งในซีซัน 2015-16 รั้งอันดับ 5 ได้สิทธิควอลิฟายด์รอบสามของยูโรปาลีก

ความมหัศจรรย์เกิดขึ้นในซีซันต่อมา วิโตรูลชนะเลิศ Liga I ซีซัน 2016-17 หลังจากเฉือน CFR Cluj 1-0 ในเกมเหย้าเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2017 โดยเป็นแชมป์ลีกในยุโรปฤดูกาลนั้นที่นักเตะอายุเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ 22.2 ปี ทีมเด็ก ๆ ของฮาจีได้เล่นควอลิฟายด์รอบสามของแชมเปียนส์ลีก ซีซัน 2017-18 แต่แพ้ต่อ APOEL สโมสรไซปรัส

ในเดือนมิถุนายน 2021 ฮาจี, จอร์จี โปเปสคู ประธานสโมสรวิโตรูล คอนสตันตา และ คีปรีอัน มาริกา เจ้าของสโมสรฟารูล คอนสตันตา (Farul Constanta) ในลีกเทียร์สอง แถลงข่าวรวมสโมสรกันโดย วิโตรูล คอนสตันตา เข้าไปรวมกับฟารูล คอนสตันตา สโมสรเก่าแก่ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1920 และใช้สิทธิของทีมวิโตรูลลงแข่งขัน Liga I ซีซัน 2021-22

ฟารูล คอนสตันตา มีชื่อเดิมว่า เอฟซี คอนสตันตา สโมสรที่ฮาจีเริ่มฝึกปรือวิชาลูกหนังตั้งแต่อายุสิบขวบ และเลื่อนขึ้นอยู่ในทีมชุดใหญ่เมื่อปี 1982 นั่นเอง

ทุ่มเงินสร้างรากฐานที่มั่นคงจากอะคาเดมี

สามปีต่อมาในเดือนกันยายน 2014 ไม่เพียงควบตำแหน่งเจ้าของและประธานสโมสร (ขณะนั้น) ฮาจียังแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้จัดการทีมของวิโตรูล คอนสตันตา เพิ่มอีกด้วย เพื่อลงไปคลุกคลีใกล้ชิดกับนักเตะหลังจากวางรากฐานสโมสรผ่านอะคาเดมีที่เขาลงทุนไปมากกว่าสิบล้านปอนด์

ทุกวันนี้ ฮาจียังสนุกสนานระหว่างฝึกซ้อมด้วยการเลี้ยงบอล เตะลูกฟรีคิก และโชว์สกิลผ่านบอล เขาเปรียบเสมือนราชันย์ในปราสาทที่มีเด็กๆเงยขึ้นไปมองความยิ่งใหญ่ในอดีตของเขาด้วยสายตาเลื่อมใสศรัทธา

ฮาจีดึงดูดเด็กกว่าสองร้อยคนจากทั่วโรมาเนียเข้าร่วมอะคาเดมีตอนที่เพิ่งก่อตั้ง เขายังรับสตาฟฟ์เข้ามาทำงานประมาณร้อยคน และผู้เล่นจากอะคาเดมีก็เป็นนักเตะที่เล่นในนามวิโตรูล คอนสตันตา ตั้งแต่ Liga III จนกระทั่งคว้าแชมป์ Liga I ภายในเวลาเพียงแปดปี และสองปีต่อมายังครองแชมป์บอลถ้วยโรมาเนีย ซีซัน 2018-19 ตามด้วยแชมป์ซูเปอร์คัพโรมาเนีย ปี 2019

เงินส่วนใหญ่ที่ได้รับสมัยเป็นผู้เล่นของฮาจีถูกนำมาลงทุนกับสโมสร ฟารูล คอนสตันตา ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่อายุเฉลี่ยน้อยที่สุดในยุโรป และให้ความสำคัญอย่างสูงกับการพัฒนานักเตะเยาวชน ฮาจีถึงขนาดเปิดโอกาสในนักเตะอายุแค่ 14 ปี ลงแข่งขันในลีกสูงสุดได้

หลายปีที่ผ่านมา นักเตะวัยรุ่นของฟารูลได้รับความสนใจจากต่างชาติ ย้ายไปเล่นกับอาแจ็กซ์, ฟิออเรนตินา, ไบรท์ตัน และเรนเจอร์ส อีกทั้งเกือบครึ่งหนึ่งของทีมชาติโรมาเนียก็มาจากทีมเด็ก ๆ ของฮาจี 

ฮาจีวางเป้าหมายกับอะคาเดมีไว้ว่า แต่ละปีจะต้องมีนักเตะอย่างน้อยสองคนถูกโปรโมทขึ้นไปร่วมทีมชุดใหญ่ เขาไม่ให้ความสำคัญกับตัวเลขอายุของลูกทีม “ผมโชคดีที่เคยมีครูดี ๆ ช่วยเร่งพัฒนาการด้านฟุตบอล นั่นจึงเป็นสิ่งที่ผมต้องการทำด้วยมือตัวเองด้วย อะคาเดมีเป็นวิธีหนึ่งที่ผมสามารถตอบแทนวงการฟุตบอลที่ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุญเสมอ”

อะคาเดมีของฟารูลตั้งอยู่นอกตัวเมืองคอนสตันตา สมัยก่อนเคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เต็มไปด้วยฝูงวัวและแกะ นอกจากนี้ฮาจียังมีแผนสร้างสนามฟุตบอลใหม่ในคอนสตันตา ความจุราวสองหมื่นคน มากกว่าสนามปัจจุบันที่ตั้งอยู่ภายในอะคาเดมีถึงสี่เท่า โดยรัฐบาลโรมาเนียร่วมลงทุนด้วยเกือบร้อยล้านปอนด์โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2025

“ผมกลับมาเมืองคอนสตันตาเพราะผมเกิดที่นี่ นี่เป็นที่ที่ของผม ฟารูลสร้างผมขึ้นมา” ฮาจีกล่าว “ผมกำลังทำงานนี้เพื่อสร้างแชมป์ ผมต้องการสร้างแชมป์โลก ผมเชื่อในสิ่งนี้ ผมเชื่อมั่นในงานที่กำลังลงมือทำ รวมถึงทักษะฝีเท้าของนักฟุตบอลโรมาเนีย”

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/64920773

“คุณจำเป็นต้องวางเป้าหมายให้ใหญ่ที่สุด พร้อมมีศรัทธาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า มิเช่นนั้นคุณจะไปไม่ได้ไกลเท่าไร”

เป้าหมายของฮาจีไม่ได้อยู่เพียงความสำเร็จของฟารูล แต่รวมถึงทีมชาติโรมาเนียที่เขาเคยมีบทบาทสำคัญ ยิงประตูที่สามของนัดเฉือนอาร์เจนตินา 3-2 ลอยลำเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศเวิลด์คัพที่สหรัฐอเมริกา

แน่นอน ฮาจีต้องการพาโรมาเนียขึ้นไปถึงบัลลังก์เวิลด์คัพ … เป้าหมายใหญ่เกินตัวไปไหม? … ใช่! ใหญ่ที่สุดสำหรับโรมาเนีย … แต่อย่างที่ฮาจีพูดไว้ “คุณจำเป็นต้องวางเป้าหมายให้ใหญ่ที่สุด พร้อมมีศรัทธาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า มิเช่นนั้นคุณจะไปไม่ได้ไกลเท่าไร”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

อุดมการณ์ที่แตกต่าง : เรอัล มาดริด – บาร์เซโลน่า คู่อริที่เป็นมากกว่าเกมฟุตบอล

มาดริด และบาร์เซโลน่า 2 เมืองที่ใหญ่ที่สุดของสเปน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ และความขัดแย้งนั้น ก็ได้ส่งต่อสู่เกมฟุตบอล ที่ดวลบนสนามหญ้ามานานกว่า 100 ปี

การพบกันของ 2 สโมสรลูกหนังที่ดีที่สุดในสเปน และอาจจะดีที่สุดในโลก ระหว่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ถูกเรียกว่า “เอล กลาซิโก้” (El Clásico) เจอกันครั้งใดก็สัมผัสได้ถึงความคลาสสิก

แมตช์นี้ มีความหมายมากกว่าเกมฟุตบอลธรรมดา ๆ เพราะเป็นการต่อสู้ของ 2 เมืองใหญ่ ที่มีความแตกต่างกันทั้งเรื่องเชื้อชาติ และอุดมการณ์ทางการเมืองจากประวัติศาสตร์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

“ราชันชุดขาว” ถูกมองว่าเป็นทีมของฝ่ายอำนาจนิยม ส่วน “เจ้าบุญทุ่ม” คือตัวแทนแห่งเสรีนิยม ที่ต้องการปลดแอกจากเมืองหลวง ทำให้ตกเป็นเป้าหมายในการเล่นงานจากรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งก่อนที่ทั้ง 2 ทีม จะเผชิญหน้ากันในวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคมนี้ ก็มีประเด็นของบาร์เซโลน่า ที่ถูกลาลีกากล่าวหาว่าติดสินบนกรรมการ และเรอัล มาดริด อริตัวแสบ ก็ไม่พลาดที่จะร่วมฟ้องร้องด้วย

“เอล กลาซิโก้” ซีซั่นนี้ ชิ้ทิศทางลุ้นแชมป์

ก่อนการต่อสู้ในยกสอง ที่สปอติฟาย คัมป์ นู สถิติการพบกันในลาลีกา เรอัล มาดริด ชนะ 77 ครั้ง บาร์เซโลน่า ชนะ 73 ครั้ง และเสมอกัน 35 ครั้ง ส่วนจำนวนแชมป์ลีกสูงสุด เรอัล มาดริด 35 สมัย และบาร์เซโลน่า 26 สมัย

สถานการณ์ล่าสุดของการลุ้นแชมป์ลาลีกา 2022/23 บาร์เซโลน่า นำเป็นจ่าฝูง มี 65 คะแนน นำห่างเรอัล มาดริด ทีมอันดับที่ 2 อยู่ 9 แต้ม ผลแข่ง “เอล กลาซิโก้” ครั้งที่ 186 ในลีก จะเป็นตัวชี้ทิศทางการลุ้นแชมป์ของทั้ง 2 ทีม

การจัดอันดับคะแนนในลาลีกา ถ้ามีทีมที่คะแนนเท่ากัน (2 ทีมหรือมากกว่า) จะพิจารณาผลการแข่งขันที่ในแมตช์ที่พบกันเอง (เฮด-ทู-เฮด) เป็นลำดับแรก ซึ่งการใช้กฎเฮด-ทู-เฮดนั้น จะมีผลหลังจากจบฤดูกาลเรียบร้อยแล้ว

การดู “เฮด-ทู-เฮด” ของลีกสเปน จะไม่มีการนับประตูทีมเยือน (อเวย์โกล) ถ้าเฮด-ทู-เฮด เท่ากัน ให้ข้ามไปพิจารณาที่ประตูได้-เสียนับรวมทั้งซีซั่น ซึ่งแมตช์แรกที่ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว เป็นราชันชุดขาว เอาชนะ 3 – 1

ความเป็นไปได้ของผลการแข่งขันในสุดสัปดาห์นี้ ถ้าเรอัล มาดริด เก็บชัยได้ จะจี้บาร์เซโลน่าเหลือ 6 แต้ม และผลงาน “เฮด-ทู-เฮด” ดีกว่า หรือผลเสมอ ก็ตามหลังบาร์เซโลน่า 9 แต้มเท่าเดิม แต่ “เฮด-ทู-เฮด” ยังเหนือกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากบาร์เซโลน่า เป็นฝ่ายชนะ ต้องแยกออกเป็น 3 กรณี ดังต่อไปนี้

– ชนะด้วยผลต่าง 1 ประตู : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม แต่ผลงานเฮด-ทู-เฮด เรอัล มาดริด ยังได้เปรียบ

– ชนะด้วยผลต่าง 2 ประตู : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม ผลงานเฮด-ทู-เฮด เท่ากับเรอัล มาดริด ต้องไปวัดที่ประตูได้-เสีย โดยในตอนนี้ “เจ้าบุญทุ่ม” ได้ 47 เสีย 8 (ผลต่าง +39) ส่วน “ราชันชุดขาว” ได้ 50 เสีย 19 (ผลต่าง +31)

– ชนะด้วยผลต่าง 3 ประตู หรือมากกว่า : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม แถมผลงานเฮด-ทู-เฮด เหนือกว่าเรอัล มาดริด อีกด้วย

เริ่มต้นจากการเป็นมิตร

ก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงมาดริด และเมืองบาร์เซโลน่าจะเป็นศัตรูกันแบบในปัจจุบันนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นมิตรที่ดี เกื้อหนุนกันมาก่อน อาจจะมีการแข่งขันกันบ้างในบางเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งรุนแรง

ในอดีต แคว้นคาตาลุญญ่า คือส่วนหนึ่งของอาณาจักรอารากอน มีเมืองบาร์เซโลน่าเป็นเมืองท่าสำคัญ มีภาษาเป็นของตัวเอง เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสถาปัตยกรรม

ส่วนอาณาจักรกาสติลญ่า ที่มีเมืองมาดริดเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุด เป็นศูนย์กลางในด้านการเมืองการปกครอง มีจุดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ มีมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งรวมผลงานศิลปะ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1469 เมื่อเจ้าชายเฟอร์ดินันด์ที่ 2 แห่งอารากอน ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอิซาเบลลา แห่งกาสติลญ่า ทำให้เกิดการผนวกระหว่าง 2 อาณาจักรใหญ่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิสเปน

จักรวรรดิสเปน คือการหลอมรวมอานาจักรต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งหลังจากจักรวรรดิสเปนเกิดขึ้น เมืองบาร์เซโลน่าเจริญขึ้นมากจากการค้าขายทางเรือ ส่วนเมืองมาดริดค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเมืองหลวงในปี 1561

รอยร้าวเล็ก ๆ ที่ใหญ่ขึ้น

แม้ 2 อาณาจักรใหญ่จะรวมกันเป็นสเปนแล้ว การปกครองก็ยังเป็นอิสระต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างมาดริด และบาร์เซโลน่า ดูเหมือนจะราบรื่น แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นความแตกแยกระหว่างสองเมือง

เหตุการณ์ที่ว่านั้นก็คือ สงครามชิงบัลลังก์ราชวงศ์ ในปี 1714 คาตาลุญญ่าเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ ทำให้ถูกริบสิทธิและอำนาจการปกครองของตัวเอง รวมถึงภาษา วัฒนธรรมของแคว้น ก็ถูกอำนาจของสเปนกดทับไว้

ต่อมาในปี 1808 สงครามคาบสมุทร ที่เกี่ยวเนื่องไปถึงสงครามนโปเลียน เมื่อกองทัพของจักรวรรดิฝรั่งเศส นำโดยจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต ได้ถอนกำลังจากโปรตุเกส และเข้าโจมตีเมืองบาร์เซโลน่า ของสเปนแทน

ทว่าในช่วงเวลาของสงครามคาบสมุทรนั้น สเปนกำลังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้ทหารนับแสนนายไม่สามารถทำอะไรได้ ปล่อยให้จักรวรรดิฝรั่งเศสยึดเมืองบาร์เซโลน่า และส่งคนเข้ามาปกครองสเปนในที่สุด

แม้ในภายหลัง สเปนจะได้เมืองบาร์เซโลน่ากลับคืนมา แต่ความรู้สึกของชาวคาตาลัน ที่ถูกทอดทิ้งจากการต่อสู้กับจักรวรรดิฝรั่งเศส ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายในจิตใจให้คนในเมืองนี้ไปแล้ว

ชิงความเป็นหนึ่งด้วยเกมลูกหนัง

ความขัดแย้งของทั้ง 2 เมือง ก็ได้ส่งต่อไปยังกีฬาฟุตบอลด้วย การก่อตั้งสโมสรเรอัล มาดริด กับบาร์เซโลน่า ที่เป็นตัวแทนของ อุดมการณ์ ซึ่งผลงานในสนาม คือการพิสูจน์ว่าเมืองของตัวเองเหนือกว่าอีกเมืองหนึ่ง

สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่า ก่อตั้งเมื่อปี 1899 และอีก 3 ปีให้หลัง สโมสรฟุตบอลเรอัล มาดริด ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ทั้งคู่ได้พบกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 เมษายน 1902 จบลงด้วยชัยชนะ 3 – 1 ของบาร์เซโลน่า

หลายคนเข้าใจว่า เมืองบาร์เซโลน่าถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียวมาตลอด จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะในบางครั้ง กรุงมาดริดก็เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเทียบเหตุการณ์และความรุนแรงแล้ว ฝ่ายบาร์เซโลน่าโดนหนักกว่ามาก

เหตุการณ์ที่ทำให้ฝ่ายมาดริดโกรธแค้น มีอยู่ 2 เหตุการณ์หลัก ๆ คือเหตุการณ์ที่นักเตะเรอัล มาดริดรายหนึ่ง ถูกลอบสังหารในคาตาลุญญ่า เมื่อปี 1916 แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า เป็นฝีมือของชาวคาตาลันหรือไม่

อีกเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นในนัดชิงชนะเลิศ โคปา เดล เรย์ เมื่อปี 1930 ที่เรอัล มาดริด แพ้ให้กับแอธเลติก บิลเบา ซึ่งต้นเหตุมาจากผู้ตัดสินในนัดดังกล่าว เป็นชาวคาตาลัน ที่ทำหน้าที่ตัดสินแบบค้านสายตา

แตกหักเพราะสงครามกลางเมือง

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของนายพลฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการของสเปน จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองในช่วงปี 1936-1939 ก็ยิ่งทำให้เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ไม่มีวันที่จะญาติดีกันอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

นายพลฟรังโก้ เข้ามาปกครองสเปนตั้งแต่ปี 1936 นิยมแนวคิดแบบขวาจัด ต้องการสร้างสเปนให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งแน่นอนว่า ฝ่ายบาร์เซโลน่าต่อต้านอย่างหนัก เพราะเป็นการลดทอนอัตลักษณ์ของคาตาลุญญ่า

ความคับแค้นของบาร์เซโลน่า ที่มีต่อเรอัล มาดริด เริ่มจากโฆเซป ซูโยล ประธานสโมสรบาร์เซโลนา และสมาชิกของพรรคการเมืองเสรีนิยมแห่งคาตาโลเนียในขณะนั้น ถูกฝ่ายของนายพลฟรังโก้ลอบสังหาร

เท่านั้นยังไม่พอ นายพลจอมฟาสซิสต์รายนี้ ได้จัดการเอาธงคาตาลันออกจากโลโก้ของบาร์ซ่า เปลี่ยนชื่อสโมสรเป็นภาษาสเปน สั่งห้ามพูดภาษาคาตาลัน และส่งคนของตัวเองเข้าไปควบคุมสโมสรแบบเบ็ดเสร็จ

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RealMadrid

สงครามกลางเมืองของสเปน เกิดจากทหารที่เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลฝ่ายซ้าย นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนเผด็จการ กับผู้สนับสนุนเสรีนิยม ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของนายพลฟรังโก้ ในปี 1939

และในปี 1943 เกมโคปา เดล เรย์ ที่เรอัล มาดริด เปิดบ้านถล่มบาร์เซโลน่า 11 – 1 สร้างสถิติชนะขาดลอยที่สุดใน “เอล กลาซิโก้” แต่ชัยชนะในครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีอำนาจมืดจากนายพลฟรังโก้อยู่เบื้องหลัง

ตำนานชิงตัว “ดิ สเตฟาโน่ – ฟิโก้”

นอกจากการแข่งขันในสนามแล้ว ยังมีเหตุการณ์การแย่งชิงนักเตะฝ่ายตรงข้ามที่ถูกเล่าขานระดับตำนาน คือกรณีของอัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ และหลุยส์ ฟิโก้ ซึ่งเป็นเรอัล มาดริด ที่กระทำกับบาร์เซโลน่าถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก เมื่อปี 1953 บาร์เซโลน่า เป็นฝ่ายที่ทาบทามตัว ดิ สเตฟาโน่ ก่อน โดยอ้างว่าได้เซ็นสัญญาล่วงหน้าไปแล้ว แต่เรอัล มาดริด ได้อาศัยช่องว่างด้วยการอ้างกฎอีกฉบับหนึ่ง ที่อาจเป็นอำนาจมืดจากนายพลฟรังโก้

กฎของฟุตบอลลีกสเปนในเวลานั้น คือ การซื้อผู้เล่นต่างชาติ ต้องมีลายเซ็นจากสโมสรต้นสังกัดที่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าเท่านั้น แต่รัฐบาลสเปน กลับออกกฎใหม่โดยให้มีลายเซ็นจากสโมสรต้นสังกัดที่แท้จริง แม้จะไม่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าก็ตาม

ยื้อกันไปยื้อกันมา ทำให้ฟุตบอลลีกสเปน ตัดสินใจให้ทั้ง 2 ทีม สลับกันใช้งาน ดิ สเตฟาโน่ ตลอดเวลา 4 ฤดูกาล และหลังจากนั้น เป็นราชันชุดขาว ที่ได้ตัวไปร่วมทีมอย่างถาวร และกลายเป็นตำนานในถิ่นซานติอาโก้ เบอร์นาเบวในที่สุด

ต่อมาในปี 2000 เรอัล มาดริด สร้างปรากฏการณ์ช็อกวงการฟุตบอลอีกครั้ง ด้วยการดึงตัว หลุยส์ ฟิโก้ นักเตะบาร์เซโลน่า สโมสรคู่ปรับตลอดกาล หลังจากฟลอเรนติโน่ เปเรซ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสโมสร

อันที่จริง เปเรซได้วางแผนฉกฟิโก้ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งประธานของเรอัล มาดริดแล้ว โดยเดิมพันผ่านเอเย่นต์ส่วนตัวของดาวเตะโปรตุกีสรายนี้ว่า ถ้าตัวเขาแพ้เลือกตั้ง ยินดีจ่ายเงินให้ 4 ล้านยูโร แต่ถ้าชนะ ต้องย้ายมาค้าแข้งกับ “โลส บลังโกส” ทันที

ซึ่งเปเรซก็ชนะการเลือกตั้งจริงๆ และได้ตัวฟิโก้มาร่วมทีมสมใจอยาก เรียกว่าเป็นการตบหน้าบาร์เซโลน่าครั้งใหญ่ ทำเอาแฟนๆ อาซุลกราน่าโกรธแค้น ถึงขั้นสาปส่งฟิโก้ว่าเป็น “จูดาส” หรือคนทรยศ เหยียบเมืองบาร์เซโลน่าไม่ได้อีกต่อไป

ถึงอย่างไรก็ขาดกันไม่ได้อยู่ดี

หลังหมดยุคนายพลฟรังโก้ สเปนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในปี 1983 จังหวัดมาดริดได้แยกออกจากแคว้นกาสติย่า จัดตั้งเป็น “แคว้นมาดริด”

แต่จากความขัดแย้งที่สะสมมานานตั้งแต่สมัยนายพลฟรังโก้เรืองอำนาจ ความพยายามของคาตาลุญญ่าที่ต้องการจะแยกตัวออกจากรัฐบาลกลางก็ไม่มีทางสิ้นสุด เพราะพวกเขาคือคาตาลัน ไม่ใช่ชาวสเปน

กระแสการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน รุนแรงขึ้นในการลงประชามติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2017 มีชาวคาตาลันประมาณ 2 ล้านคน ไปลงคะแนนโหวต ผลที่ออกมาคือ เสียงส่วนใหญ่ประมาณ 90% สนับสนุนให้คาตาลุญญ่าเป็นเอกราช

แน่นอนว่าการทำเช่นนี้ ผิดกฎหมายรัฐบาลกลางสเปน ทำให้สเปนส่งเจ้าหน้าที่มายึด และทำลายคูหาที่ใช้ในการลงประชามติ รวมถึงสลายผู้คนที่รวมตัวกันในบริเวณนั้น จนเกิดการปะทะขึ้นกลายเป็นเหตุรุนแรง

อีก 26 วันต่อมา (27 ตุลาคม 2017) แกนนำที่เคลื่อนไหวการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน ได้อ่านคำประกาศอิสรภาพในการเป็นเอกราชของคาตาลุญญ่า แต่ก็ถูกรัฐบาลกลางสเปนตอบโต้ด้วยการยึดอำนาจการปกครองจากคาตาลันทันที

มีการวิเคราะห์ว่า การแยกตัวของคาตาลุญญ่าออกจากสเปน อาจจะส่งผลกระทบต่อลาลีกาไม่น้อย เพราะรู้ดีว่าบาร์เซโลน่า และเรอัล มาดริด คือแม่เหล็กที่ช่วยดึงดูดผลประโยชน์มหาศาลให้กับวงการฟุตบอลสเปน

แม้บาร์เซโลน่า จะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต่อต้านมาดริด และอาจถึงเวลาที่ต้องแยกจากกัน แต่การที่ศึกเอล กลาซิโก้ ยังมีเสน่ห์ที่น่าติดตามเช่นนี้ ลาลีกาก็อาจจะรู้สึกดีกว่าก็ได้ที่ทั้งคู่ยังได้พบกันต่อไป

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.the101.world/the-rivalry-ep-1/

https://www.barcablaugranes.com/2017/4/21/15381184/the-transfers-of-figo-and-di-stefano

https://en.wikipedia.org/wiki/2017_Catalan_independence_referendum

Categories
Special Content

“เรอัล โซเซียดาด” กับภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าแชมป์

โซเซียดาดเป็นหนึ่งในสโมสรร่วมก่อตั้งลาลีกาเมื่อปี 1929 เคยไปถึงจุดสูงสุดของลีกสเปนในฤดูกาล 1980-81 และ 1981-82 สองสมัยติดต่อกัน สำหรับซีซันปัจจุบันหลังแข่งขันนัดที่ 24 “ลา เรอัล” มี 44 คะแนน อยู่อันดับสี่ ตามหลังท็อป-3 บาร์เซโลนา 18 คะแนน, เรอัล มาดริด 9 คะแนน และแอตเลติโก มาดริด 1 คะแนนตามลำดับ อีกทั้งพวกเขายังเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูโรปา ลีก มีคิวเตะกับอาแอส โรมา ส่วนโกปา เดล เรย์ เพิ่งออกไปแพ้บาร์เซโลนา 0-1 รอบก่อนรองชนะเลิศปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

“ท้องถิ่นนิยม” จึงเป็นสายใยสำคัญที่เชื่อมโยงแฟนบอลเข้ากับสโมสรอย่างเหนียวแน่นเหมือนเป็นดีเอ็นเอ แม้เวลาต่อมาความนิยมกีฬาลูกหนังจะแพร่กระจายไปทั่วโลก มีแฟนบอลจากทั่วทุกมุมโลก แม้แต่กลุ่มผู้ถือหุ้นหลัก บอร์ดบริหาร และเจ้าของสโมสร ก็เปลี่ยนไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติที่มองฟุตบอลเป็นธุรกิจ แต่แฟนบอลหลักที่จ่ายเงินซื้อตั๋วปีเข้ามาส่งเสียงเชียร์ในสนามตลอดซีซันยังเป็นคนในเมืองและประเทศอังกฤษอยู่ดี นั่นจึงทำให้สโมสรเล็กในลีกรองๆสามารถขับเคลื่อนทีมไปได้เรื่อย ๆ

ไม่ใช่เพียงอังกฤษ “ท้องถิ่นนิยม” ยังมีความสำคัญต่อความนิยมในวงการฟุตบอลประเทศอื่นๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ค่อยๆแปรเปลี่ยนสโมสรที่ใช้ชื่อองค์กรหรือบริษัทหลายสิบปีมาเป็นชื่อจังหวัดอย่างเช่น ทีมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหลังถูกนายเนวิน ชิดชอบ เทคโอเวอร์ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น บุรีรัมย์ พีอีเอ ก่อนเป็นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทุกวันนี้

เรื่องราวของสโมสรฟุตบอลผ่านมุมมองท้องถิ่นนิยมมีตัวอย่างให้อ่านมากมาย แต่ดูเหมือน “เรอัล โซเซียดาด” เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเพราะมีระดับความเข้มข้นของท้องถิ่นนิยมเหนือกว่ามาตรฐานทีมส่วนใหญ่

เรอัล โซเซียดาด หรือ “ลา เรอัล” หรือทีมราชันย์ เป็นสโมสรในซาน เซบาสเตียน (San Sebastian) เมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในจังหวัดกีปุซโกอา (Gipuzkoa) ของแคว้นบาสก์ (Basque Country) เขตปกครองอิสระที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสเปน 

ทีมก่อตั้งเมื่อปี 1909 พร้อมกฎเหล็กข้อหนึ่งเช่นเดียวกับแอธเลติก บิลเบา ทีมคู่อริร่วมแคว้น ที่จะเซ็นสัญญาเฉพาะกับนักเตะชาวบาสก์เท่านั้น ก่อนกำแพงเชื้อชาติถูกทำลายในเดือนกันยายน 1989 เมื่อโซเซียดาดซื้อตัวจอห์น อัลดริดจ์ กองหน้าทีมชาติไอร์แลนด์จากลิเวอร์พูลด้วยค่าตัว 1 ล้านปอนด์ ทำให้ปัจจุบัน ทีมราชันย์น้ำเงินขาวมีทั้งนักเตะบาสก์ สเปน และต่างชาติคละเคล้ากันไป อย่างไรก็ตาม ทีมเยาวชนของสโมสรยังสืบทอดนโยบายออล-บาสก์ ไม่ยกเลิกตามทันที สามารถพัฒนาผู้เล่นจนถึงระดับชาติหลายคนเช่น ชาบี อลอนโซ และอองตัว กรีซมันน์ เป็นต้น

โซเซียดาดเป็นหนึ่งในสโมสรร่วมก่อตั้งลาลีกาเมื่อปี 1929 เคยไปถึงจุดสูงสุดของลีกสเปนในฤดูกาล 1980-81 และ 1981-82 สองสมัยติดต่อกัน สำหรับซีซันปัจจุบันหลังแข่งขันนัดที่ 24 “ลา เรอัล” มี 44 คะแนน อยู่อันดับสี่ ตามหลังท็อป-3 บาร์เซโลนา 18 คะแนน, เรอัล มาดริด 9 คะแนน และแอตเลติโก มาดริด 1 คะแนนตามลำดับ อีกทั้งพวกเขายังเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูโรปา ลีก มีคิวเตะกับอาแอส โรมา ส่วนโกปา เดล เรย์ เพิ่งออกไปแพ้บาร์เซโลนา 0-1 รอบก่อนรองชนะเลิศปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ความสำเร็จทั้งเงินทั้งกล่อง และความรักจากคนท้องถิ่น

หลุยส์ มิเกล เอกีกาเรย์ ผู้สื่อข่าวสายฟุตบอลสเปนของอีเอสพีเอ็น เคยตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นนิยมในกีฬาลูกหนังไว้ว่า ในยุคที่ฟุตบอลเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีความคิดโน้มเอียงไปทางบริโภคนิยม แม้ไม่มีการประกาศอย่างชัดเจนแต่เห็นได้ชัดว่า กลุ่มทุนเจ้าของสโมสรวางเป้าหมายหาเงินเป็นหลัก ลดน้ำหนักของความสำเร็จในสนามแข่งขัน

เอกีกาเรย์กล่าวเสริมว่า ตัวเขาไม่ได้ต้องการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ แต่เป็นเพียงยกข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การตั้งคำถามว่า ขณะกำลังทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จทางการเงิน สโมสรยังสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประชาชนในชุมชนซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทีมฟุตบอลนั้นๆผ่านประวัติศาสตร์ที่ยาวนานได้หรือไม่ ชุมชนท้องถิ่นยังจะเป็นหัวใจของสโมสรต่อไปหรือเปล่า เป็นไปได้ไหมที่จะยังรักษาการเต้นของหัวใจโดยไม่เสียหลักการตามพันธกิจข้อพื้นฐานของสโมสร

อย่างไรก็ตามคอลัมนิสต์แห่งสื่อใหญ่ อีเอสพีเอ็น ยังมั่นใจว่าถ้าจะมีสโมสรที่ประสบความสำเร็จทั้งเงินทั้งกล่องและรักษาความผูกพันของแฟนบอลท้องถิ่นไว้ได้ หนึ่งในนั้นคือ เรอัล โซเซียดาด ซึ่งยังไม่เคยจบลาลีกาต่ำกว่าอันดับหกนับตั้งแต่ไวรัสโควิดเริ่มระบาดไปทั่วโลก และระหว่างนั้น “ลา เรอัล” ยังเฉือนทีมใหญ่ร่วมแคว้นบาสก์ แอธเลติก บิลเบา 1-0 ในนัดชิงชนะเลิศโกปา เดล เรย์ ซีซัน 2019-20 ที่แข่งวันที่ 3 เมษายน 2021 ครองแชมป์เมเจอร์เป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปี (ไม่นับแชมป์ลีกเซกุนดา ฤดูกาล 2009-10)

ถ้าซีซันนี้ โซเซียดาดจบลาลีกาด้วยอันดับท็อป-4 พวกเขาจะได้ลงสนามยูฟา แชปเปียนส์ ลีก เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ฤดูกาล 2013-14 หลังจากก่อนหน้าได้โควตาแข่งขันยูโรปา ลีก สามปีติดต่อกันกับอันดับ 6, 5, 6 บนตารางลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ หากโซเซียดาดเบียดขึ้นไปจบด้วยอันดับสาม ถือเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งของทีมที่จ่ายค่าเหนื่อยรวม 134.2 ล้านยูโรต่ออันดับสถิติ เทียบกับ 683.5 ล้านยูโรของเรอัล มาดริด และ 656.4 ล้านยูโรของบาร์เซโลนา แม้กระทั่งยังน้อยกว่าเมื่อนำไปเทียบกับเซบีญาและบีญาร์เรอัล สองทีมที่อยู่อันดับต่ำกว่า

สโมสรฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างเชิงสังคมของชุมชน

บทความนี้ไม่ใช่เรื่องของความสำเร็จในฐานะทีมฟุตบอลหรือบริษัทธุรกิจ แต่ว่าด้วยสโมสรแห่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อชุมชนไว้ ณ ระดับที่สูงมาก

อันโดนี อิราโอลา ผู้อำนวยการและประธานบอร์ดบริหารของสโมสร ให้สัมภาษณ์กับอีเอสพีเอ็นว่า “เรอัล โซเซียดาด ไม่ใช่เป็นเพียงโครงการทางกีฬาแต่ยังเป็นโครงการเชิงสังคมอีกด้วย ทำไมหรือ? ก็เพราะนั่นเป็นวิถีแห่งความเป็นอยู่หรือการกระทำ มันไม่เกี่ยวกับชนะลาลีกาหรือยูโรปาลีก แต่เป็นภาพสะท้อนของประชาชนในชุมชนผ่านพฤติกรรมของพวกเรา เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของพวกเขา ซึ่งอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็อยู่ในสังคมของเราเช่นกัน ตรงนี้จึงทำให้เรอัล โซเซียดาด เป็นสโมสรทางสังคมเอามาก ๆ”

วิถีชีวิตของสโมสรเป็นมากกว่าฟุตบอล อีมานอล อัลกวาซิล ผู้จัดการทีมวัย 51 ปีของโซเซียดาด เกิดและเติบโตในจังหวัดกีปุซโกอา อยู่กับโซเซียดาดตั้งแต่ระดับเยาวชน ขึ้นมาเล่นทีมสำรองจนกระทั่งติดทีมชุดใหญ่ระหว่างปี 1990 ถึง 1998 มีสายเลือดน้ำเงินขาวหรือ Txuri-Urdin (ฉายาทีมในภาษา Euskera ของชาวบาสก์) อย่างเข้มข้น หลังแขวนสตั๊ดยังกลับมาเริ่มต้นอาชีพโค้ชที่โซเซียดาด เมื่อปี 2011 ไต่เต้าจากโค้ชทีมเยาวชน, ผู้ช่วยโค้ชทีมสำรอง, เฮดโค้ชทีมสำรอง ก่อนคุมทีมชุดใหญ่แทนอาเซียร์ การิตาโน ในเดือนธันวาคม 2018 และพาทีมชนะเลิศโกปา เดล เรย์

ซาน เซบาสเตียน เป็นเมืองเล็ก ๆ มีประชากรไม่ถึงสองแสนคน แต่มีความเข้มข้นทางวัฒนธรรมและการประกอบอาหาร เอกีกาเรย์กล่าวว่า ถ้าต้องการทำความเข้าใจสโมสรเรอัล โซเซียดาด ก็ต้องรู้จักจังหวัดกีปุซโกอา พวกเขาภาคภูมิใจในสายเลือดที่เก่าแก่สลับซับซ้อน มีความหวงแหนวิถีชีวิตและภาษาของตนเอง ทั้งหมดนี้สะท้อนและแสดงออกมาผ่านเรอัล โซเซียดาด และซูเบียตา (Zubieta) อะคาเดมีของสโมสร อย่างที่อิราโอลา ผู้อำนวยการและประธานบอร์ดบริหาร พูดกับนักข่าวไว้ข้างต้น

เรอัล โซเซียดาด เป็นสโมสรฟุตบอลระดับลาลีกาที่ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่หุ้นสโมสรถูกกระจายอยู่ในมือของคนมากกว่า14,000 คน ไม่มีใครถือหุ้นเกินสองเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการตัดสินใจใด ๆ จึงทำผ่านกระบวนการลงคะแนน

อิราโอลากล่าวเพิ่มเติมว่า “เราต้องการให้เรอัล โซเซียดาด เป็นของทุกคน เป็นสโมสรที่หยั่งรากลึกลงไปผ่านรูปแบบกีฬา ผู้เล่นเยาวชนในอะคาเดมีล้วนเกิดในจังหวัดกีปุซโกอา นั่นจึงทำให้สโมสรใกล้ชิดกับประชาชนมาก เราพยายามแสดงตัวเองในฐานะชาวบาสก์และชาวกีปุซโกอา”

เมืองท่องเที่ยวชายทะเล และอาหารอร่อย ไม่แพง หาง่าย

ซาน เซบาสเตียน อยู่ในจังหวัดกีปุซโกอาทางภาคเหนือของแคว้นบาสก์ ตั้งอยู่ริมชายฝั่งใต้ของทะเลกันตาเบรียที่แสนสวยงาม ทำให้เมืองนี้เป็นสถานตากอากาศชายหาดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศสเปน ซาน เซบาสเตียนยังมีความโดดเด่นไปด้วยอาคารทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมเมืองได้ด้วยการเดินเท้าหรือขี่จักรยานเนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก

จุดขายที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงเมื่อมาเยือนซาน เซบาสเตียน คืออาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเลถึงขั้น “เคเตอร์วิงส์” บริษัทผู้ให้บริการด้านการจัดเลี้ยงชั้นแนวหน้าของอังกฤษ ยกให้ซาน เซบาสเตียน ครองแชมป์เมืองอาหารชั้นนำของโลก เพราะเต็มไปด้วยสีสันอันหลากหลายของสตรีทฟูด ตลาดสด บาร์ คาเฟ ภัตตาคารไฮเอนด์ และอาหารติดดาวมิชลิน ภายใต้บรรยากาศที่งดงามของสถาปัตยกรรมแบบเบล เอปอค (Belle Époque) ที่สำคัญคือ อาหารอร่อย ราคาไม่แพง และหาได้ง่าย 

ใครที่ชอบรับประทานอาหารติดดาว ซาน เซบาสเตียน เป็นเมืองที่ครอบครองดาวมิชลินมากเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงกรุงโตเกียว และนำหน้านิวยอร์กที่รั้งอันดับสาม

สำหรับสโมสรโซเซียดาดมีชื่อเต็มว่า Real Sociedad de Fútbol, S.A.D. เรียกสั้น ๆ ว่า Real Sociedad (หรือ Royal Society ในภาษาอังกฤษ) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 กันยายน 1909 “ลา เรอัล” เคยครองแชมป์ลาลีกาสองสมัยติดต่อกันในซีซัน1980-81 และ 1981-82 เป็นรองแชมป์สามสมัยในซีซัน 1979-80, 1987-88, 2002-03 เคยเป็นแชมป์โก เดล เรย์ สามสมัยในปี 1909, 1987, 2020 

โซเซียดาดเคยมีช่วงเวลาในลีกสูงสุดยาวนานถึงสี่สิบฤดูกาลตั้งแต่ปี 1967 ถึง 2007 ตกลงไปเล่นเซกุนดาสามปีจนกระทั่งชนะเลิศลีกเทียร์สองในซีซัน 2009-10 ซึ่งเป็นแชมป์สมัยที่สามหลังเคยสัมผัสมาในซีซัน 1948-49, 1966-67 ทำให้โซเซียดาดกลับมาอยู่ลาลีกาตั้งแต่ซีซัน 2010-11 จวบจนปัจจุบัน

นอกจากฟุตบอลทั้งทีมชายและหญิง โซเซียดาดยังมีกีฬาอีกหลายประเภทอาทิ กรีฑาลู่และลาน ฮ็อกกี และบาสก์ เปโลตา (basque pelota) ซึ่งเป็นกีฬาที่ใช้ไม้ตีลูกใส่กำแพง คล้ายรวมสควอชและแฮนด์บอลเข้าด้วยกัน

โซเซียดาดไม่เพียงพัฒนาด้านกีฬาแต่รวมถึงความเป็นมนุษย์

อาจกล่าวได้ว่า ศูนย์ฝีกซ้อมและอะคาเดมีซูเบียตาเปรียบได้กับสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงองค์กรแห่งนี้ นับตั้งสโมสรกำเนิดขึ้นในปี 1909 ต้องมีเด็กท้องถิ่นอย่างน้อยหนึ่งคนเล่นให้ทีมชุดใหญ่ เนื่องจากสโมสรให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการพัฒนาเยาวชน ซึ่งดูได้จากตัวเลขรายได้ของ “ลา เรอัล” ที่นำไปใช้กับทีมซีเนียร์ประมาณ 55-60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของลาลีกาที่ตกราว 75 เปอร์เซ็นต์ นั่นเท่ากับว่า ส่วนที่เหลือถูกใช้กับอะคาเดมี การศึกษา และการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น

เอกีกาเรย์ นักข่าวเชื้อสายบาสก์ของอีเอสพีเอ็น เล่าประสบการณ์ว่า ถ้าเดินไปรอบเมืองซาน เซบาสเตียน จะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศสนับสนุนทีมโซเซียดาดแม้ไม่ใช่แฟนบอลทีมนี้ก็ตาม เนื่องจากคนท้องถิ่นต่างตระหนักดีว่าสโมสรให้ความช่วยเหลือทั้งชุมชนและสโมสรเล็ก ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างเช่นการให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกซ้อมและโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับนักฟุตบอลเยาวชนจะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษา มีครูพิเศษมาช่วยติว เกือบครึ่งหนึ่งมีโอกาสเรียนระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท ขณะที่ขุมกำลังระดับซีเนียร์ 26 คน มีถึง 16 คนเคยเล่นให้ Sanse หรือทีมสำรอง และผู้เล่นใช้เวลาในทีมสำรองราว 8.2 ปีก่อนถูกโปรโมทขึ้นชุดใหญ่ มีเพียงแอธเลติก บิลเบา ทีมเดียวเท่านั้นที่มีนักเตะชุดใหญ่ที่ขึ้นมาจากทีมสำรองมากกว่า แม้กระทั่ง La Masia อะคาเดมีอันโด่งดังของบาร์เซโลนา ยังพัฒนาตัวเองจนติดทีมชุดใหญ่น้อยกว่าโซเซียดาด

โรแบร์โต โอลาเบ ผู้อำนวยการด้านกีฬาของสโมสร ให้ความเห็นว่า “เวลาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง” โอลาเบเป็นคนยืมตัวและให้โอกาสกับ มาร์ติน โอเดการ์ด ช่วงที่เรอัล มาดริด มองข้ามความสามารถ ก่อนโอเดการ์ดถูกปล่อยตัวให้อาร์เซนอลยืมและเซ็นสัญญาย้ายทีมถาวร ปัจจุบันเขาเป็นกัปตันทีมเดอะกันเนอร์สและมีโอกาสชูถ้วยชนะเลิศพรีเมียร์ลีกซีซันนี้

“แน่นอนมันมีเงินเป็นตัวเชื่อมโยง คุณต้องให้ทรัพยากรบุคคลกับทีม แต่คุณยังต้องลงทุนให้เวลากับผู้เล่นอายุน้อยด้วย มันเป็นความรับผิดชอบของสโมสรที่จะให้โอกาสแก่พวกเขา นักเตะดัง ๆ เก่ง ๆ เป็นความต้องการที่วิเศษสุดของทีมอยู่แล้ว แต่สโมสรมีความรับผิดชอบที่จะเปิดประตูให้กับคนหนุ่ม ๆ ด้วยเช่นกัน” 

“ในมุมมองส่วนตัว เรามีหน้าที่ต้องสร้างทีมและทำให้เติบโตไม่ใช่แค่เซ็นสัญญานักเตะใหม่เข้ามาทุกปี แต่ยังต้องสร้างนักเตะปีแล้วปีเล่า พวกเขาจะดีขึ้นด้วยการอดทนรอคอยและให้เวลาพวกเขาพัฒนาความสามารถ นี่รวมถึงอีมานอล (อัลกวาซิล ผู้จัดการทีม) ด้วยเช่นกัน”

ตัวอย่างหนึ่งของความอดทนคือ มิเกล โอยาร์ซาบัล แนวรุกและกัปตันทีม ซึ่งเล่นให้โซเซียดาดเกือบ 250 นัดแล้วในบอลลีก เขาเป็นคนสังหารจุดโทษนาทีที่ 63 ให้ต้นสังกัดครองแชมป์โกปา เดล เรย์ น่าเสียดายที่ไม่ติดทีมชาติสเปนชุดเวิลด์คัพ 2022 เพราะบาดเจ็บสาหัสที่หัวเข่า เขาเพิ่งต่อสัญญาใหม่ไปถึงปี 2028 หลังจากเข้ามาเพาะบ่นฝีเท้ากับโซเซียดาดตั้งแต่อายุเพิ่ง 14 ปี

โอยาร์ซาบัลพูดถึงต้นสังกัดว่า “คนที่นี่ทำงานกันได้เจ๋งมาก พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้นทั้งในฐานะมนุษย์ธรรมดาและนักฟุตบอล แน่นอนเพื่อพลักดันจนติดทีมชุดใหญ่”

“ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาสโมสร คุณจะได้รับการปกป้องและเฝ้าดูแลเอาใจใส่ พวกเขาช่วยคุณทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่เพียงด้านกีฬา ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้กระทั่งชีวิตหลังฟุตบอล พวกเขายังมอบสิ่งที่จำเป็นมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เขามอบเครื่องไม้เครื่องมือให้เราทั้งฟุตบอลและด้านอื่นของชีวิต”

เมื่อเสียงตะโกน “We will always be with you.” ดังก้องสนาม

Real Sociedad Femenino หรือทีมฟุตบอลหญิงของเรอัล โซเซียดาด ก่อตั้งในปี 2004 ตอนนี้เล่นอยู่ในลีกสูงสุด Primera División de la Liga de Fútbol Femenino หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Liga F หลังจากเลื่อนชั้นสองปีติดต่อกันและยังเดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง พวกเธอครองแชมป์บอลถ้วย โกปา เดอ ลา เรย์นา (Copa de la Reina) ปี 2019 และครองตำแหน่งรองแชมป์ Liga F ฤดูกาลที่แล้ว ได้สิทธิลงเตะแชมเปียนส์ลีกฤดูกาลนี้ แต่พลาดเข้าไปเล่นรอบแบ่งกลุ่มหลังจากแพ้บาเยิร์น มิวนิก

ทีมหญิงโซเซียดาดมี นาตาเลีย อาร์โรโย วัย 36 ปี เป็นผู้จัดการทีมที่ถือว่าอายุน้อยมาก เธอเคยทำงานสื่อมวลชนเป็นอดีตนักข่าวและนักวิเคราะห์เกม ส่วนบอลลีกหลังแข่งขันนัดที่ 20 สาว ๆ “ลา เรอัล” มี 26 คะแนน รั้งอันดับ 8 จากทั้งหมด 16ทีม ตามหลังเลบันเต ทีมอันดับ 3 ซึ่งได้โควตารอบแรกแชมเปียนส์ลีก มากถึง 24 คะแนน ดูเหมือนเป็นปีที่ไม่ดีนักสำหรับพวกเธอ อย่างไรก็ตาม สโมสรยังเดินหน้าสนับสนุนทีมฟุตบอลหญิงต่อไปโดยมีโครงการระดับเอ็กซ์คลูซีพในซูเบียตาที่ประกอบไปด้วยสนามฟุตบอลความจุคนดูสี่พันคน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เหมือนทีมฟุตบอลชาย

อิราโอลา ผู้อำนวยการและประธานบอร์ดบริหาร กล่าวว่า “เรามีจำนวนนักฟุตบอลหญิงมากที่สุดในลีกสเปน  นี่เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจและดีเอ็นเอของสโมสร มันไม่มีทางเบี่ยงเบนหันเหไปทิศทางอื่นเพราะนี่ก็เป็นหนึ่งในความปรารถนาของชุมชนท้องถิ่น”

ทั้งหมดนี้เป็นประจักษ์พยานชัดเจนที่แสดงให้เห็นแล้วว่าในซาน เซบาสเตียน เมืองหลวงของจังหวัดกีปุซโกอา สายใยลายน้ำเงินขาวของเรอัล โซเซียดาด สามารถเชื่อมโยงยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์กับผู้คนท้องถิ่นได้อย่างเหนียวแน่น ความจริงไม่เพียงซาน เซบาสเตียน แต่รวมถึงเทศบาลทั้งหมด 89 แห่งในจังหวัดกีปุซโกอา มีเพียงสามเทศบาลเท่านั้นที่ไม่มีสมาชิกอย่างเป็นการทางของสโมสรอยู่

ในส่วนภารกิจบนสนามแข่งขัน โซเซียดาดมุ่งมั่นให้จบลาลีกาด้วยอันดับสาม รวมถึงเข้าไปให้ลึกที่สุดบนเส้นทางยูโรปาลีกที่มีลูกทีมของยอดกุนซือ โชเซ มูรินโญ เป็นคู่แข่งรอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่ไม่ว่าความสำเร็จจะมากหรือน้อย โซเซียดาดยังคงมั่นใจได้ว่าสโมสรมีผู้คนมากมายเดินเคียงข้างให้การสนับสนุนดังเช่นท่อนหนึ่งของเพลงเชียร์ beti egongo gara zurekin.” ซึ่งแปลว่า We will always be with you.”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

กระจกหกด้านส่อง “เอมิเลียโน มาร์ติเนซ” ยอดนายประตูที่คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ

ไม่ว่ารักหรือเกลียดเอมิเลียโน มาร์ติเนซ นายทวารจอมหนึบของสโมสรแอสตัน วิลลาและทีมชาติอาร์เจนตินา แต่ปฏิเสธได้ว่า “เอมิ” เป็นผู้รักษาประตูคนหนึ่งที่มีฝีมือระดับเวิลด์คลาสในทศวรรษ 2020

มาร์ติเนซเป็นหนึ่งในกุญแจดอกสำคัญที่ไขประตูพาอาร์เจนตินาครองแชมป์โลกที่รอคอยเป็นเวลา 36 ปี ซึ่งทำให้เขารับรางวัลถุงมือทองคำในฐานะผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมของเวิลด์คัพ 2022 ที่ประเทศกาตาร์ และล่าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มาร์ติเนซได้รับเลือกให้เป็นผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมประจำปี 2022 ของฟีฟา

ระหว่างพิธีมอบรางวัล ช่างภาพจับสีหน้าที่ไร้อารมณ์ของคิลิยัน เอ็มบัปเป ยอดกองหน้าทีมชาติฝรั่งเศส ซึ่งทำแฮททริกในนัดชิงชนะเลิศก่อนแพ้อาร์เจนตินาในการดวลจุดโทษ เปรียบเทียบกับใบหน้ายิ้มแย้มชื่นชมของลิโอเนล เมสซี กัปตันทีมชาติอาร์เจนตินา เป็นหลักฐานยืนยันที่ก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนฝรั่งเศสเคยตีตราประทับนายด่านวัย 30 ปีว่า The most hated Argentine.

เหตุผลไม่ใช่เพราะเคืองแค้นที่มาร์ติเนซดับความหวังฝรั่งเศสที่จะชูถ้วยเวิลด์คัพสมัยที่สองติดต่อกันหลังจากงัดฟอร์มซูเปอร์เซฟป้องกันลูกยิงของร็องดาล โกโล มูอานี ก่อนหมดเวลาพิเศษ แถมยังเซฟลูกจุดโทษของคิงส์เลย์ โกมัน แต่เป็นการโยนบอลทิ้งเพื่อก่อกวนสมาธิจนโอเรเลียง ชูอาเมนี ซัดบอลออกข้าง

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/64115904

หลังจากรับรางวัลถุงมือทองคำบนแท่นพิธี มาร์ติเนซยังแสดงกิริยาไม่สุภาพด้วยการเอาโทรฟีไปจ่อเป้ากางเกง ต่อจากนั้นยังเรียกร้องให้ยืนไว้อาลัยหนึ่งนาทีให้กับเอ็มบัปเปในห้องแต่งตัวนักกีฬาด้วย แค่นั้นยังไม่พอหลังกลับไปประเทศอาร์เจนตินา เขายังถือตุ๊กตาหน้าเอ็มบัปเปขณะร่วมขบวนพาเหรดฉลองความสำเร็จกลางกรุงบัวโนสไอเรสต์

ภายหลังงานประกาศผลรางวัลของฟีฟา มาร์ติเนซพยายามบรรเทาความเกลียดชังของคนฝรั่งเศสด้วยการพูดผ่าน TMC สถานีโทรทัศน์ของฝรั่งเศส ว่า “ด้วยความสัตย์ ผมรักประเทศฝรั่งเศส ผมเคยไปพักผ่อนช่วงวันหยุดที่นั่นหลายครั้ง ผมรักคนฝรั่งเศส ผมยังนอนห้องเดียวกับนักเตะฝรั่งเศสสองคนจากแอสตัน วิลลา”

“สำหรับทีมชาติฝรั่งเศส พวกเขาเกือบทำสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้คือ รักษาแชมป์โลก พวกเขายังชนะเลิศเนชันส์ ลีก เมื่อปี 2021เชื่อเถอะพวกเขามีอนาคตที่ยิ่งใหญ่รออยู่เบื้องหน้า”

ถึงกระนั้นยังคงเป็นไปได้ว่า มาร์ติเนซยังเป็นคนอาร์เจนไตน์ที่โดนเกลียดมากที่สุดในฝรั่งเศสอยู่ดี

สองปีครึ่ง จากตัวสำรองเป็นนายประตูเวิลด์คลาส

มาร์ติเนซใช้เวลาสองปีครึ่งเปลี่ยนตัวเองจากดินกลายเป็นดาว จุดเริ่มต้นอยู่ในเดือนกันยายน 2020 เมื่อย้ายมาอยู่แอสตัน วิลลา ด้วยค่าตัว 20 ล้านปอนด์ (รวมแอดออน) หลังจากมีโอกาสลงเป็นตัวจริงเกมพรีเมียร์ลีกแค่ 13 นัดให้กับอาร์เซนอลระหว่างปี 2012 ถึง 2020

ขอบคุณภาพ https://www.premierleague.com/news/1832188

ที่ตู้ล็อคเกอร์ มาร์ติเนซติดรายการเป้าหมายที่เขามีไว้พุ่งชน หนึ่งในลิสต์คือต้องเป็นผู้รักษาประตูที่เก่งที่สุดในโลก ซึ่งตอนนั้นดูเหมือนเป็นเป้าหมายที่เกินความจริงไปหน่อยสำหรับนายทวารที่ไม่เคยเป็นมือหนึ่งของต้นสังกัด แถมระหว่างอยู่ในสัญญากับอาร์เซนอล เขาถูกปล่อยยืมตัวให้หกสโมสรคือ ออกซ์ฟอร์ด, เชฟฟิลด์ เวนสเดย์, รอตเธอร์แฮม, วูลฟ์แฮมป์ตัน, เกตาเฟ และเรดดิง มีสถิติเล่นบอลลีกรวมกันเพียง 16 นัด

แต่นับจากเซ็นสัญญากับวิลลา มาร์ติเนซไม่เพียงได้สองรางวัลใหญ่ของผู้รักษาประตู แต่ยังมีเหรียญชนะเลิศโคปา อเมริกา และเวิลด์คัพ คล้องคอ

นีล คัทเลอร์ อดีตโค้ชผู้รักษาประตูที่ทำงานให้วิลลามายาวนาน เป็นคนหนึ่งที่เห็นพัฒนาการของมาร์ติเนซตลอดสองปีครึ่ง เขาเป็นคนชวนนายทวารอาร์เจนไตน์มาร่วมทีมเดอะ ไลออนส์ แห่งมิดแลนด์ส ก่อนกลายเป็นเพื่อนสนิทและนักจิตวิทยาอย่างไม่เป็นทางการให้มาร์ติเนซ

คัทเลอร์ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี สปอร์ต ว่า “การเปลี่ยนตัวเองจากสถานภาพนายประตูตัวสำรองในพรีเมียร์ลีกมาชนะเลิศเวิลด์คัพภายในเวลาอันสั้นเป็นเส้นทางชีวิตที่ไม่เหมือนใครแน่นอน แต่ก็มีหลายเหตุผลที่ทำให้เอมิก้าวหน้าเร็วขนาดนี้ ซึ่งเริ่มจากความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าและการทำงานอย่างหนัก”

“ความตั้งใจที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองไปถึงจุดที่ต้องการนั้น มันยิ่งใหญ่มาก เขามีความปรารถนาที่ชัดเจน ซึ่งล้วนเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ผมพยายามอย่างมากเพื่อดึงเอมิมาที่วิลลา แต่อีกด้านหนึ่งได้สร้างปัญหาใหญ่มากแก่เขา เพราะบางครั้งเอมิก็ทำอะไรมากเกินไปซึ่งเกิดจากการขาดประสบการณ์ เขาเคยบาดเจ็บเนื่องจากฝึกซ้อมรับลูกโทษมากเกินไป”

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของมาร์ติเนซกับอาร์เซนอลคือชีวิตช่วงสุดท้ายที่เอมิเรตส์ สเตเดียม เป็นช่วงที่ไวรัสโควิดระบาดและนายประตูมือหนึ่ง เบิร์นด์ เลโน บาดเจ็บ เชาได้รับโอกาสลงตัวจริง 11 นัดติดต่อกันรวมทุกรายการ รวมถึงนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2020 ซึ่งอาร์เซนอลชนะเชลซี 2-1

แต่หลังจากลงตัวจริงในคอมมูนิตี ชิลด์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมปีเดียวกัน ซึ่งอาร์เซนอลชนะลิเวอร์พูลจากการดวลลูกโทษ อนาคตของมาร์ติเนซเริ่มไม่มั่นคงเพราะเลโนกลับมาและต้องการตำแหน่งมือหนึ่งหรือไม่ก็ย้ายทีม นั่นทำให้มาร์ติเนซเลือกเป็นฝ่ายไป ขณะที่คัทเลอร์จับตาดูสถานการณ์ใกล้ชิด

คัทเลอร์กล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า “เรามีรายชื่อผู้รักษาประตู ผม, โยฮัน แลงเก (ผู้อำนวยการด้านกีฬาของวิลลา) และแผนกคัดเลือก นัดประชุมกันบ่อยมาก โยฮันและทีมสเกาท์มุ่งไปที่สถิติอย่างคลีทชีนหรือเปอร์เซ็นต์การเซฟ ซึ่งชื่อเอมิอยู่ลำดับล่างๆของลิสต์เพราะลงเล่นน้อย เมื่อนำไปเทียบกับผู้รักษาประตูรายอื่นในยุโรปที่เราจับตามองอยู่”

“โชคดีที่พวกเขาเปิดรับแนวคิดของผม ซึ่งมองไปที่สไตล์การเล่นและรูปร่างสรีระ ถ้าเป็นเรื่องชีวกลศาสตร์ (bio-mechanics) นั้น เอมิจัดอยู่ระดับที่เยี่ยมมาก เขาถูกกาเครื่องหมายถูกทุกช่องเลย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะโน้มน้าวให้ฝ่ายบริหารจ่ายเงิน 18 ล้านปอนด์เพื่อซื้อนายประตูที่ไม่ค่อยได้ลงตัวจริง แต่ผมก็ทำสำเร็จ ผมถึงขนาดเอาพาวเวอร์พอยท์มาอธิบายให้พวกเขาฟังเลย ว่าเอมิจะนำอะไรมาให้ทีมบ้าง รวมถึงแคแร็กเตอร์ของเขา”

“จากนั้นเป็นงานที่ผมต้องขายสโมสรให้เอมิบ้าง ผมคุยกับเขาทางโทรศัพท์หลายครั้งเพื่อเล่าให้ฟังว่าผมทำอะไรทำอย่างไร และอะไรที่เราจะประสบความสำเร็จร่วมกันได้ เอมิรู้ดีว่าผมจะทำทุกอย่างเต็มที่เพื่อให้เขาดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาต้องการเช่นกัน นี่เป็นจุดที่ทำให้เราเชื่อมต่อกัน จนกระทั่งเอมิรู้สึกได้แล้วว่า โอเค ผมจะย้ายไปวิลลา”

ด้านสว่างของนายทวารที่ถูกมองว่าไร้สปิริตนักกีฬา

คัทเลอร์ย้ายออกจากวิลลาในเดือนตุลาคมปีที่แล้วเมื่ออูไน เอเมรี ผู้จัดการทีมคนใหม่ ย้ายเข้ามาพร้อมสตาฟฟ์โค้ชส่วนตัว รวมถึงซาบี การ์เซีย ผู้ชำนาญการด้านผู้รักษาประตู ซึ่งเคยทำงานกับมาร์ติเนซมาแล้วที่อาร์เซนอล แต่สายใยระหว่างมาร์ติเนซกับคัทเลอร์ยังเหนียวแน่น นายทวารได้โพสต์ข้อความบนสื่อโซเชียลว่า คัทเลอร์เป็นโค้ชชาวอังกฤษที่ดีที่สุด หรือหลังจบพิธีมอบรางวัลเวิลด์คัพ 2022 เขาก็โทรศัพท์จากสนามลูเซลไปหาคัทเลอร์

“สิ่งแรกที่ผมสัมผัสได้จากเอมิหลังนัดชิงชนะเลิศครั้งนั้นคือความผ่อนคลาย ผมภูมิใจกับเขาอย่างที่สุดเพราะรู้ดีว่าทุกอย่างที่เขาทุ่มเทมาตลอดชีวิตก็เพื่อสิ่งนั้น”

“เอมิทุ่มเททุกสิ่งเพื่อได้ไปเล่นฟุตบอลและคว้าแชมป์ด้วย เขามีนักโภชนาการส่วนตัวเช่นเดียวกับนักโยคะและครูสอนพิลาติส (การออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง เน้นเสริมสร้างความแข็งแรงและเสริมความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ) ผมรู้มาว่าเขาออกไปว่ายน้ำกลางดึกเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายให้พร้อมสำหรับการแข่งขันนัดต่อไป”

“งานของผมคือหาว่าอะไรจะช่วยให้เอมิเติบโต ดังนั้นผมจึงรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตนอกเหนือฟุตบอลของเขา เช่นเดียวกับรายละเอียดทั้งในและนอกสนามฝึกซ้อม คนอาจตำหนิเรื่องที่เขาทำระหว่างดวลจุดโทษกับฝรั่งเศสหรือตอนรับรางวัลถุงมือทองคำ แต่ผมมองเขาต่างจากคนอื่น จริงๆแล้วเอมิมีนิสัยเห็นอกเห็นใจคนอื่น เขาพร้อมทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือคนรอบตัว ต้องการให้คนอื่นมีความสุข อย่างที่วิลลา เขามักจัดงานเลี้ยงบาร์บีคิว พยายามชวนเพื่อนนักฟุตบอลและครอบครัวมาอยู่ร่วมกัน เพราะนั่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขา”

คัทเลอร์กล่าวถึงการกระทำที่เหมือนไม่มีน้ำใจนักกีฬาของมาร์ติเนซที่กาตาร์ว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของเกมแพลน แต่เขามีส่วนผิดเช่นกันเพราะพวกเขาทำงานร่วมกันมานาน จึงทำให้เขาแสดงบุคลิกภาพและตัวตนอย่างนั้นออกไปในสถานการณ์เช่นนั้น

“แทนที่จะแสดงอารมณ์หงุดหงิดหรือหดหัวเข้าในกระดอง เราต้องการให้เขาแสดงถึงความมุ่งมั่นความเชื่อมั่น และล้อมรอบไปด้วยความเย่อหยิ่ง ซึ่งส่งผลต่อเกมหรือสถานการณ์นั้นๆในทางบวก”

“จากสถิติ มีความเป็นไปได้มากที่จุดโทษ คนยิงจะทำประตูได้ ดังนั้นประเด็นคือจะทำอย่างไรให้เขาหลุด ผมจำได้ครั้งแรกที่เราโฟกัสเรื่องไซโคคู่แข่งเป็นแมตช์วิลลากับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในเดือนกันยายน 2021 บรูโน แฟร์นันเดส ยิงจุดโทษพลาดหลังจากเอมิเข้าไปพูดกับเขาว่า คริสเตียโน โรนัลโด น่าจะเป็นคนยิงนะ ผมรู้จักนักเตะดี ผู้เล่นอย่างแฟร์นันเดสนั้น เขาเป็นคนแบบทำให้ลมออกหูง่าย คุณรู้ดีว่าไม่ต้องใช้ความพยายามมากนักหรอก”

เส้นทางสุดทุรกันดารกว่าถึงวันรับมอบตำแหน่งมือหนึ่ง

“เอมิ” มีชื่อเต็มว่า ดาเมียน เอมิเลียโน มาร์ติเนซ เกิดวันที่ 2 กันยายน 1992 ที่เมือง Mar del Plata ประเทศอาร์เจนตินา เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลกับทีมเยาวชนของอินดีเพนเดียนเต ก่อนได้รับเทียบเชิญให้ไปทดสอบฝีเท้าที่อะคาเดมีของอาร์เซนอลหลังจากวันเกิดปีที่ 17 ไม่นานนัก ผลรับดีเกินคาด อาร์เซนอลเสนอสัญญานักเตะระดับเยาวชนให้เขา

สมัยเล่นให้ทีมอินดีเพนเดียนเต มาร์ติเนซมีฉายาว่า “ดิบู” (Dibu) ด้วยความที่มีลักษณะหน้าตาท่าทางคล้ายกับ “ดิบูโฮ” (Dibujo) จากหนังการ์ตูนทีวีในอาร์เจนตินาเรื่อง Mi familia es un dibujo และเขาก็ยินดีให้ทุกคนเรียกเขาด้วยชื่อเล่นนั้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

มาร์ติเนซอยู่ในทีมเยาวชนอาร์เซนอลระหว่างปี 2010 – 2012 ก่อนถูกปล่อยตัวให้ออกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด ทีมในลีกทู แบบกะทันหันเนื่องจากไรอัน คลาร์ก และเวย์น บราวน์ ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่คอนเนอร์ ริปลีย์ หมดสัญญายืมตัว นายประตูวัย 22ปี (ขณะนั้น) มีโอกาสสัมผัสบอลลีกอังกฤษครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2012 เป็นแมตช์ปิดซีซันพบกับพอร์ทเวล ซึ่งเป็นฝ่ายชนะ 3-0

ต้นซีซันถัดมา 2012-13 มาร์ติเนซถูกใส่ชื่อเป็นตัวสำรองในเกมเยือนสโตค ซิตี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2012 และพบลิเวอร์พูล เมื่อวันที่ 2 กันยายน จนกระทั่งวันที่ 26 กันยายน นายทวารอาร์เจนไตน์ได้โอกาสเล่นนัดแรกให้เดอะ กันเนอร์ส เป็นเกมลีกคัพ รอบสาม ซึ่งอาร์เซนอลถล่มโคเวนทรี ซิตี ทีมเยือน 6-1 และรอบต่อมา มาร์ติเนซได้เฝ้าประตูอีกครั้ง อาร์เซนอลเดินทางไปชนะเรดดิง 7-5

ฤดูกาล 2013-14 มาร์ติเนซถูกส่งให้เชฟฟิลด์ เวนสเดย์ ทีมในแชมเปียนชิพ ยืมตัวแบบฉุกเฉินนาน 28 วันเมื่อวันที่ 15ตุลาคม 2013 ก่อนมีการขยายสัญญาไปจนจบซีซัน ชีวิตช่วงที่เหลือ มาร์ติเนซต้องระหกระเหินไปเล่นให้ทีมในแชมเปียนชิพได้แก่ รอตเธอร์แฮม, วูลฟ์แฮมป์ตัน และเรดดิง ยกเว้นกับเกตาเฟที่อยู่ในลาลีกา สเปน ซีซัน 2017-18 ซึ่งมาร์ติเนซได้เล่นแค่ 7 นัดรวมทุกรายการ

หลังหมดสัญญายืมตัวกับเรดดิงในซีซัน 2018-19 มาร์ติเนซก็ได้ปักหลักกับทีมชุดใหญ่อาร์เซนอลเป็นครั้งแรกในซีซัน 2019-20 ซึ่งเขาได้ลงสนามมากถึง 23 นัดรวมทุกรายการ ก่อนย้ายไปเฝ้าประตูให้วิลลาในซีซัน 2020-21 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแจ้งเกิดในอาชีพนักฟุตบอล

มาร์ติเนซเก็บคลีนชีท 4 นัดจาก 7 นัดแรกในพรีเมียร์ลีก ก่อนปิดซีซันแรกกับวิลลาด้วย 15 คลีนชีท โดยเดอะ ไลออนส์ จบด้วยอันดับ 11 มาร์ติเนซลงเฝ้าเสาทั้ง 38 นัด เสีย 46 ประตู ส่งผลให้เขาได้ลงตัวจริงให้ทีมอาร์เจนตินาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2021 เป็นเกมรอบคัดเลือก ฟุตบอลโลก 2022 เสมอชิลี 1-1 ก่อนกลายเป็นผู้เล่นหลักของทีมนับจากนั้น รวมทั้งสิ้น 26 นัด ณ วันนัดชิงชนะเลิศเวิลด์คัพ

หนึ่งใน wishlist ที่ติดไว้กับตู้ล็อคเกอร์ที่วิลลาคือ การเล่นให้อาร์เจนตินา คัทเลอร์กล่าวว่า “ตอนมาถึงวิลลา เขาวางเป้าหมายไว้เยอะแยะ ทุกวันเมื่อเปิดตู้ เขาก็จะกาบางข้อออกไป รวมถึงการเป็นมือหนึ่งของทีมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขามากที่ได้เล่นนัดแรกในเดือนมิถุนายน 2021”

“เขาเป็นคนประเภทขับเคลื่อนด้วยสถิติ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน การตัดลูกครอส หรือการจ่ายบอลคอมพลีทของตัวเขาเอง เขาไม่เสียประตูมากที่สุดในโคปา อเมริกา 4 จาก 6 เกม”

“บางครั้งงานของผมก็เป็นแค่นักจิตวิทยา ต้องเข้าใจอารมณ์ของเขาหรือสิ่งที่เขากำลังคิด เขากระหายที่จะเก็บคลีทชีท เขาต้องการเซฟทุกอย่าง แม้กับสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ ดังนั้นอีกด้านหนึ่ง เขาต้องเรียนรู้การรับมือเมื่อไม่สมหวังหรือไม่ประสบความสำเร็จกับบางเรื่องด้วย”

แล้วอะไรคือเป้าหมายที่มาร์ติเนซวางไว้ในอนาคต โค้ชคู่บารมีตอบว่า “สิ่งที่ยิ่งใหญ่ในตัวเอมีคือ ความกระหาย และที่ผ่านมาเขาได้เล่นน้อย นั่นทำให้เขาเป็นนักฟุตบอลอายุ 30 ปีในร่างของคนอายุ 22 ปี เขาจึงยังทำอะไรได้อีกมาก และยังยืนอยู่บนจุดสูงสุดได้อีกหลายปี”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

อูนิโอน เบอร์ลิน คลื่นลูกใหญ่จากตะวันออก กับความหวัง..สี่ปีสู่แชมป์บุนเดสลีกาสมัยแรก

Footballing Fairytale ช่วยเพิ่มสีสันความสวยงามและเสน่ห์ให้กับกีฬาลูกหนัง ที่แฟนบอลจะได้เห็นทีมเล็ก ๆ ทีมรองบ่อนประสบความสำเร็จอย่างเช่น เดนมาร์กกับแชมป์ยูโร 1992 และกรีซในรายการเดียวกันอีก 12 ปีต่อมา

ปอร์โตกับถ้วยบิ๊กเอียร์ปี 2004 ถือเป็นเทพนิยายเรื่องหนึ่งก็ได้แม้ “เดอะ ดรากอนส์” จะเป็นมหาอำนาจลูกหนังในโปรตุเกส แต่บนสังเวียนระดับทวีป พวกเขาเป็นเพียงม้านอกสายตา ส่วนเอฟเอ คัพ บอลถ้วยเก่าแก่อายุ 152 ปี ช่วงศตวรรษใหม่ ก็มีตัวอย่างให้เห็นสองครั้ง ปี 2008 พอร์ตสมัธ ซึ่งเล่นในพรีเมียร์ลีกตอนนั้น ชนะคาร์ดิฟ คู่แข่งจากแชมเปียนชิพ1-0 และปี 2013 วีแกนเฉือนแมนฯซิตี 1-0 ได้สิทธิเล่นยูโรปาลีกแต่ตกชั้นเพราะจบพรีเมียร์ลีกด้วยอันดับ 18

บอลถ้วยและทัวร์นาเมนท์ที่ใช้เวลาแข่งขันสั้นๆราวหนึ่งเดือน ว่ายากแล้วที่จะเกิดเรื่องเล่าชวนฝัน กลับยากขึ้นไปอีกกับฟุตบอลลีกที่ต้องรักษาฟอร์มให้สม่ำเสมอนานถึง 8-9 เดือน ซึ่งหากทีมไหนทำสำเร็จ สามารถใช้คำว่า “ปฏิหาริย์” ได้ไม่เกินจริงดังที่เคยเกิดขึ้นกับ เวโรนา แชมป์เซเรีย อา ซีซัน 1984-85, ซามพ์โดเรีย เจ้าของสคูเดตโต ซีซัน 1990-91, โวล์ฟส์บวร์ก แชมป์บุนเดสลีกา ซีซัน 2008-09, มงต์เปลลิเยร์ แชมป์ลีกเอิง ซีซัน 2011-12 และเลสเตอร์ ซิตี แชมป์พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2015-16 ซึ่งเป็นตำนานที่ถูกหยิบขึ้นมาอ้างบ่อยครั้งที่สุดในฟุตบอลต้นศตวรรษที่ 21

เลสเตอร์เป็นเทพนิยายลูกหนังที่ใกล้ชิดคนไทยมากที่สุดเพราะก่อนหน้านั้นหกปี กลุ่มทุน Asian Football Investments ซึ่งนำโดยบริษัทคิง พาวเวอร์ กรุ๊ป เข้าเทคโอเวอร์สโมสรในเดือนสิงหาคม 2010 และสื่อไทยได้ตั้งฉายา “เดอะ ฟ็อกซ์” ว่า “จิ้งจอกสยาม”

ซีซัน 2009-10 เลสเตอร์เพิ่งเลื่อนจากลีกวันขึ้นมาอยู่แชมเปียนชิพเป็นปีแรก ใช้เวลาห้าปีครองแชมป์ลีกเทียร์สองในฤดูกาล 2013-14 และจบพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2014-15 ด้วยอันดับ 14 ก่อนที่ฤดูกาลต่อมา เคลาดิโอ รานิเอรี ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งผู้จัดการทีมปีแรก พาลูกทีมจิ้งจอกสยามสร้างประวัติศาสตร์ ชนะเลิศลีกสูงสุดสมัยแรก โกยแต้มทิ้งรองแชมป์ อาร์เซนอล 10คะแนน

ฤดูกาลนี้เชื่อว่าแฟนบอลทั่วโลกกำลังจับตามองไปที่ลีกเยอรมนีว่า จะเกิดเทพนิยายเรื่องใหม่ขึ้นหรือไม่ แต่ไม่ใช่คู่แข่งเจ้าประจำอย่างโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่มีสิทธิ์โค่นบาเยิร์น มิวนิก ลงจากบัลลังก์บุนเดสลีกาที่ครองยาวนานหนึ่งทศวรรษติดต่อกัน แต่ทีมนั้นเป็นแค่อดีตสโมสรจากเยอรมนีตะวันออก เพิ่งเข้ามาอยู่ระบบฟุตบอลลีกเมืองเบียร์ในปี 1990 และลงแข่งสังเวียนบุนเดสลีกาครั้งแรกในซีซัน 2019-20 แถมทำเซอร์ไพรส์จบด้วยอันดับ 11 ก่อนพัฒนาขึ้นเป็นอันดับ 7, อันดับ 5 และซีซันนี้เป็นการแข่งขันบุนเดสลีกาปีที่ 4 ของพวกเขาในประวัติศาสตร์สโมสรที่มีอายุเพียง 57 ปี (นับเฉพาะช่วงที่ใช้ชื่อทีมปัจจุบัน)

ทีมนั้นคือ “อูนิโอน เบอร์ลิน” ซึ่งเคยยืนแป้นจ่าฝูงบุนเดสลีกาครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังชนะโคโลญจน์ ซึ่งเป็นแมตช์เดย์ที่ 6 ของซีซัน 2022-23 สามารถรักษาอันดับหนึ่งต่อเนื่องถึงนัดที่ 13 และล่าสุดนัดที่ 22 พวกเขาแพ้บาเยิร์น 0-3 ที่มิวนิก รั้งอันดับสาม มี 43 คะแนน ตามหลังแชมป์เก่าและดอร์ทมุนด์ทีมละสามคะแนน ส่วนยูโรปาลีก “ดิ ไอออน วันส์” เข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายแล้ว เจอโรยัล ยูเนียน แซงต์-กิลลัวส์ จากเบลเยียม

งบทำทีมน้อย ใช้สอยประหยัดและชาญฉลาด

เว็บไซต์ข้อมูลสถิติสัญชาติเยอรมัน Transfermarkt เคยประเมินมูลค่านักเตะของสองทีมม้ามืดที่กำลังมาแรง อูนิโอน เบอร์ลิน กับ ไฟร์บวร์ก รวมกันอยู่ที่ 294 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับเหล่ายักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ บาเยิร์น มิวนิก (967 ล้าน), อาร์เบ ไลป์ซิก (533 ล้าน), โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ (531 ล้าน) และไบเออร์ เลเวอร์คูเซน (517 ล้าน)

อูนิโอน เบอร์ลิน เป็นเพียงแจ็คท่ามกลางเหล่าโกไลแอธ โอลิเวอร์ รูห์เนิร์ต ผู้อำนวยการด้านกีฬาของสโมสร ไม่มีงบมากพอจะซื้อผู้เล่นระดับแชมเปียนส์ลีกหรือยูโรปาลีก และแทบไม่เคยเซ็นสัญญากับนักเตะหนุ่มๆอายุน้อยกว่า 23 ปีเลย เขาวางเป้าไปที่ลีกยุโรประดับรองๆอย่างเบลเยียม, โปแลนด์ และเนเธอร์แลนด์

เก้าปีที่แล้ว เซรัลโด เบ็คเกอร์ ไม่สามารถพาตัวเองจากอะคาเดมีของอาแจ็กซ์ขึ้นมาอยู่ทีมชุดใหญ่ เขาต้องใช้เวลากับทีม PEC Zwolle และ ADO Den Haag จนกระทั่งซัมเมอร์ปี 2019 รูห์เนิร์ตได้เบ็คเกอร์มาแบบฟรีๆ โดยบอลลีกซีซันนี้ กองหน้าวัย 28 ปี ทำ 7 ประตู 4 แอสซิสต์จาก 21 นัด (สถิติก่อนนัดที่ 22 กับบาเยิร์น) ตอนนี้เบ็คเกอร์ถูกตีค่าตัวไว้ราว 16 ล้านเหรียญสหรัฐ

ซัมเมอร์ปีที่แล้ว จอร์แดน ซีบาตรเชอ ย้ายจากยัง บอยส์ เบิร์น ในสวิตเซอร์แลนด์ด้วยค่าตัว 6 ล้านเหรียญสหรัฐ ศูนย์หน้าอเมริกันวัย 26 ปี ที่มีส่วนสูง 191 เซนติเมตรลงสนามบุนเดสลีกา 19 นัด ทำ 4 ประตู 3 แอสซิสต์

เควิน แบห์เรนส์ กองหน้าวัย 32 ปี เล่นในลีกเทียร์สี่จนถึงปี 2018 ก่อนย้ายมาเอสเฟา ซานด์เฮาเซ่น ในบุนเดสลีกา 2 และเซ็นสัญญากับอูนิโอน เบอร์ลิน กลางปี 2021 โดยซีซันนี้ เขาลงบอลลีก 21 นัด ทำไป 4 ประตู 1 แอสซิสต์

“ดิ ไอออน วันส์” ยังเก็บรักษาผู้เล่นเก่าทรงคุณค่าด้วย หนึ่งในนั้นคือ คริสโตเฟอร์ ทริมเมล กัปตันทีมวัย 35 ปี ที่เล่นได้ทั้งแบ็คและวิงแบ็คฝั่งขวา เขาอยู่ราปิด เวียนนา ในลีกบ้านเกิด ออสเตรีย นานหกปีก่อนย้ายมาเล่นให้อูนิโอน เบอร์ลิน ในซีซัน 2014-15 สมัยยังอยู่บุนเดสลีกา 2 ปัจจุบันทริมเมลรับใช้สโมสรรวมทุกรายการ 287 นัด สำหรับบอลลีกซีซันนี้ เขาทำ 5แอสซิสต์จาก 17 นัด

กลางปีที่แล้ว อูนิโอน เบอร์ลิน ยังจ่ายราคาเบาๆได้สองมิดฟิลด์ใหม่เพื่อรับบทกองหนุนสำคัญคือ ยานิค ฮาเบเรอร์ จากไฟร์บวร์ก ที่ลงสนามบุนเดสลีก 19 นัด 1,351 นาที ทำ 5 ประตู 1 แอสซิสต์ และ มอร์เตน ธอร์สบี จากซามพ์โดเรีย ที่โชคร้ายบาดเจ็บ จำกัดผลงานไว้เพียง 14 นัด 452 นาที 1 ประตู 1 แอสซิสต์

อูนิโอน เบอร์ลิน ยังเซ็นยืมตัวหนึ่งปี ดีโอโก ไลเต กองหลังวัย 23 ปีจากปอร์โต มาช่วยเสริมแกร่งให้เกมรับ เขาเล่นบอลลีกไปแล้ว 17 นัด 1,459 นาที จ่ายให้เพื่อนจบหนึ่งสกอร์

โค้ชโลว์โปรไฟล์ ยึดหลัก “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”

อีกหนึ่งบุคคลสำคัญโดยตำแหน่งที่พาทีมมาถึงจุดนี้ได้แก่ อูร์ส ฟิสเชอร์ โค้ชชาวสวิสวัย 57 ปี ซึ่งเซ็นสัญญาสองปีกับอูนิโอน เบอร์ลิน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2018 และเพียงปีเดียวเขาก็พาทีมจากบุนเดสลีกา 2 ขึ้นมาลีกเทียร์หนึ่ง อีกทั้งยังทำเซอร์ไพรส์จบซีซัน 2019-20 ด้วยอันดับ 11 

ยูเลียน เยอร์สัน แบ็คขวาชาวนอร์เวเจียน ที่ร่วมทีมสมัยอยู่ในบุนเดสลีกา 2 ก่อนย้ายไปเล่นกับดอร์ทมุนด์ในตลาดฤดูหนาวที่ผ่านมา ย้อนถึงการเล่นของอูนิโอน เบอร์ลิน ว่า “ทุกนัดเราทำเหมือนกับที่เคยๆทำนั่นแหละ ยึดมั่นในสิ่งที่เราทำได้ดี ยึดมั่นกับแผน เล่นด้วยความกล้าหาญ การจัดระเบียบเกมรับที่อยู่ระดับต้นๆ การโต้กลับฉับพลันที่เราใช้ได้ผลมาตลอด และแน่นอน เราทำงานกันหนัก”

สไตล์ทำทีมของฟิสเชอร์สามารถนิยามด้วยสองคำคือ defending และ transition ภายใต้การรักษาระเบียบวินัยอย่างเข้มข้น อูนิโอน เบอร์ลิน ใช้ฟอร์แมทพื้นฐาน 3-5-2 หรือ 5-3-2 พร้อมหาจังหวะจู่โจมด้วยเคาน์เตอร์แอ็ทแท็ค ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญพาทีมจบซีซันที่แล้วด้วยอันดับห้า พลาดโควตาแชมเปียนส์ลีกเพียงคะแนนเดียว ส่วนซีซันปัจจุบัน ทีมยังไม่เคยหลุดท็อป-5 ของบุนเดสลีกาเลย แต่กระนั้น ฟิสเชอร์ยังให้สัมภาษณ์ว่าเขาแค่ทำงานไปสัปดาห์ต่อสัปดาห์ด้วยเป้าหมายให้ทีมยังได้เล่นในลีกสูงสุดต่อไป

คำพูดกับสื่ออธิบายตัวตนในการทำงานของฟิสเชอร์ได้ดี เขาบริหารจัดการทีมแบบไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน ชอบโรเตชันผู้เล่น 11 คนแรกบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างความงุนงงต่อเฮดโค้ชคู่แข่ง กุนซือสวิสยังรักษาบรรยากาศแข่งขันที่เข้มข้นในสนามฝึกซ้อม แต่ทำให้ห้องแต่งตัวนักกีฬาอบอวลไปด้วยความสุข

คริสโตเฟอร์ บีเออร์มานน์ นักเขียนเยอรมันเจ้าของหนังสือ Football Hackers: The Science and Art of a Data Revolution พูดถึงฟิสเชอร์ว่า “เขาเป็นโค้ชระดับท็อปแต่คนไม่ค่อยรู้จักเขานัก”

ตามประวัติ ฟิสเชอร์ไม่เคยออกจากสวิตเซอร์แลนด์ทั้งฐานะนักเตะและโค้ชจนกระทั่งบาเซิลไม่ต่อสัญญาใหม่กับเขาแม้เพิ่งพาทีมชนะเลิศสวิส คัพ ปี 2017 เขาว่างงานปีเศษก่อนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อคุมทีมอูนิโอน เบอร์ลิน

บีเออร์มานน์เล่าต่อว่า “คนไม่รู้จักอูร์สเพราะเขาไม่ค่อยเก่งเรื่องทำการตลาดให้ตัวเอง เขามักปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ บางครั้งก็ให้ทีมงานรับหน้าที่แทน ขณะที่เยอร์เกน คล็อปป์ เป็นอีกปลายด้านหนึ่งของลำแสง เขามักมีวลีเด็ดๆนำมาอธิบายสถานการณ์เรื่องราวต่างๆได้ดี แต่อูร์สเป็นคนฝั่งตรงข้าม เขาดูน่าเบื่อกว่าที่ตัวเองเป็นจริงๆ สิ่งที่เขาทำคือเรื่องในสนามซ้อมและห้องแต่งตัวนักกีฬา”

บีเออร์มานน์ ซึ่งทำงานให้นิตยสารฟุตบอล 11Freunde เกาะติดอูนิโอน เบอร์ลิน มาตั้งแต่เลื่อนชั้นจากบุนเดสลีกา 2 “อูร์สมีอิทธิพลต่อนักเตะของเขามากดูอย่างเคดีรา เคยเป็นแค่นักเตะที่พอเล่นได้ แต่ฝีเท้าตอนนี้ยกระดับอยู่ในบุนเดสลีกาคลาสไปแล้วเพราะทำงานร่วมกับอูรส์”

รานี เคดีรา มิดฟิลด์ตัวรับวัย 26 ปี เล่นอยู่กับเอาส์บวร์กนานสี่ปีก่อนเซ็นสัญญากับอูนิโอน เบอร์ลิน เมื่อปี 2021 ซีซันนี้เขาเล่นบุนเดสลีกา 20 นัด และยูโรปาลีก 8 นัด เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งของทีม

“อูร์สและสตาฟฟ์โค้ชเปิดวิดีโอเทปอธิบายให้เคดีรารู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรในฐานะมิดฟิลด์ จากนั้นเขาก็ปรับการเล่นให้ได้ คุณจะเห็นพัฒนาการของผู้เล่นเกือบทุกคนที่ทำงานกับอูร์ส เพราะถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องออกจากทีม”

“อูนิโอน เบอร์ลิน เป็นทีมที่มีการจัดวางเกมรับดีมาก คู่ต่อสู้ที่ครองบอลจะถูกกดดันเสมอ ทุกคนในทีมจะคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ให้เกิดช่องว่าง ไม่มีทีมไหนในบุนเดสลีกาที่จัดระบบเกมรับได้ดีแบบนี้อีกแล้ว นี่เป็นทีมที่ดีที่เปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่น พวกเขาเป็นนักเตะมีคุณภาพแต่ใช่ว่าจะมีสโมสรในพรีเมียร์ลีกเข้าคิวหวังซื้อพวกเขาหรอกนะ แต่พวกเขาล้วนมีทัศนคติที่ดี แล้วแฟนๆก็ไม่โห่นักเตะตัวเองในวันที่เล่นแย่ด้วย”

ความรักของเรา ทีมของเรา ความภูมิใจของเรา สโมสรของเรา

“Unsere liebe. Unsere mannschaft. Unser stolz. Unser verein.” เป็นเพลงเชียร์ประจำเพื่อให้กำลังใจนักเตะ ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Our love. Our team. Our pride. Our club.”

ยูเลียน เยอร์สันเปิดใจถึงการสนับสนุนที่ได้รับจากแฟนๆตลอดสี่ปีครึ่งที่อยู่กับอูนิโอน เบอร์ลิน ว่า “มันมอบพลังงานให้กับเรามากเลย คุณสัมผัสมันได้ตั้งแต่ตอนลงวอร์มอัพ การได้เล่นโดยมีแฟนบอลคอยหนุนหลังช่วยเราได้เยอะ เราจึงมีความเชื่อมั่นเสมอว่าสามารถเอาชนะใครก็ได้โดยเฉพาะที่นี่”

ที่นี่ก็คือ “สตาดิโอน อัน แดร์ อัลเทน เฟิร์สเตอร์ไอ” (Stadion An der Alten Försterei) ซึ่งมีความหมายว่า Stadium at the old forester’s house อยู่ในเมือง Köpenick ในเบอร์ลิน

สนามแห่งนี้เปิดใช้เมื่อปี 1920 สมัยทีมยังใช้ชื่อ SC Union Oberschöneweide เคยได้รับการปรับปรุงสามครั้งในปี 1955, 2000, 2009 ซึ่งสองครั้งหลังสุดเกิดขึ้นหลังการรวมประเทศเยอรมนีตะวันออกกับตะวันตก ซึ่งอูนิโอน เบอร์ลิน ถูกจัดให้เล่นเทียร์สามของลีกเมืองเบียร์ และสนามเหย้าที่เก่าคร่ำคร่าตกยุคเป็นปัจจัยหนึ่งที่ขวางไม่ให้ทีมเลื่อนชั้นทั้งที่ทำผลงานได้ดี

กลางปี 2008 สโมสรตัดสินใจปรับปรุงสนามครั้งใหญ่แต่ขาดงบประมาณ นั่นทำให้เกิด “ปรากฎการณ์” แฟนบอล 2,333คนร่วมกันลงแรงทำงานนับ 140,000 ชั่วโมง เพื่อสร้างสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในนครเบอร์ลินตั้งแต่ปี 2009 และมีการจัดงานฉลองเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2013 ทีมเตะนัดพิเศษกับเซลติก แชมป์ลีกสกอตแลนด์ สนามมีความจุ 22,012 คน แบ่งเป็น 3,617 คนที่มีเก้าอี้ให้นั่ง ส่วนที่เหลือยืนบนเทอร์เรซ

จาค็อบ สวีทแมน นักข่าวชาวอังกฤษที่ย้ายมาอยู่นครเบอร์ลินตั้งแต่ปี 2007 กล่าวว่า “ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อนในชีวิต มันสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์ด้วยน้ำมือของแฟน ๆ”

“ผมอยู่ในแมตช์สุดท้ายของสนามเก่าด้วย ผู้คนต่างกอดกันและกัน ผมไม่อยากขยับตัวออกไปจากที่นั่นเลย มันเป็นอะไรที่โรแมนติกมาก”

“ที่นี่ให้บรรยากาศเหมือนชุมชน แฟนบอลยืนตำแหน่งเดิมบนเทอร์เรซที่พวกเขายืนมาเกือบสามสิบปี ยืนข้าง ๆ คนเดิม จากรุ่นสู่รุ่น นั่นจึงเป็นเรื่องเศร้าเมื่อผมเข้าทำงานที่ออฟฟิศสโมสร เพราะนั่นทำให้ผมเสียตำแหน่งที่เคยยืนไป”

“พนักงานทุกคนในออฟฟิศสโมสรล้วนเป็นแฟนบอล ตั้งแต่ฝ่ายการตลาดยันคนขายตั๋ว คนเหล่านี้ใช้ชีวิตที่นี่มาทั้งชีวิต แปดสิบเปอร์เซ็นต์อยู่ในเมือง Kopenick รวมถึงเดิร์ค ซิงค์เลอร์ ก็สืบทอดตำแหน่งประธานสโมสรมาจากคุณปู่ ทั้งหมดทำให้สโมสรแห่งนี้มีความพิเศษ”

“ความรักของเรา ทีมของเรา ความภูมิใจของเรา สโมสรของเรา” จึงประโยคที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของทุกคนเกี่ยวข้องกับอูนิโอน เบอร์ลิน

แจ็คจากตะวันออก หาญท้าล้มยักษ์แห่งตะวันตก

อูนิโอน เบอร์ลิน มีจุดกำเนิดมาจาก FC Olympia Oberschöneweide ที่ก่อตั้งสโมสรเมื่อปี 1906 (เยอรมนีแบ่งแยกดินแดนตะวันตกและตะวันออกระหว่างปี 1949 ถึง 1990) ใน Oberschöneweide ซึ่งสมัยนั้นเป็นชานเมืองเบอร์ลิน ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น SC Union 06 Oberschöneweide ในปี 1910 อูนิโอนเป็นหนึ่งในทีมแกร่งของเบอร์ลินตอนนั้น ครองแชมป์ระดับท้องถิ่นหลายสมัย และยังเข้าถึงรอบชิงแชมป์แห่งชาติเยอรมนี ปี 1923 แต่แพ้ฮัมบวร์ก เอสเฟา 0-3

สโมสรเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งด้วยหลายเหตุผลโดยเฉพาะระหว่างทศวรรษ 1940 ถึง 1950 ก่อนมาเป็น TSC Berlin ในปี 1963 และ 1. FC Union Berlin (ชื่อเต็มอย่างเป็นทางการ) ในปี 1966 ซึ่งถูกใช้ยาวนานถึงปัจจุบัน แต่อูนิโอน เบอร์ลิน ไม่มีผลงานน่าประทับใจนัก ขึ้นๆลงๆระหว่างฟุตบอลลีกเทียร์ 1-2 ของเยอรมนีตะวันออก DDR-Oberliga และ DDR-Ligaส่วนบอลถ้วย อีสต์ เยอรมัน คัพ “ดิ ไอออน วันส์” เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศสองครั้งคือ ปี 1968 ชนะ FC Carl Zeiss Jena 2-1 และปี 1986 แพ้ FC Lokomotive Leipzig 1-5

หลังจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) รวมประเทศกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 1990 อูนิโอน เบอร์ลิน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบฟุตบอลลีกเยอรมนี เริ่มแข่งในลีกภูมิภาคNOFV-Oberliga Mitte ซึ่งเป็นระดับเทียร์สาม ก่อนถูกย้ายไปเล่นลีก Regionalliga Nordost และ Regionalliga Nord โดยทีมมนุษย์เหล็กชนะเลิศถึงห้าสมัยระหว่างปี 1991 ถึง 2001 แต่ไม่สามารถเลื่อนชั้นขึ้นไปแข่งขันในบุนเดสลีกา 2 เนื่องจากสโมสรมีปัญหาทางการเงินโดยเฉพาะปี 1997 ที่เจอวิกฤติถึงขั้นเกือบล้มละลาย

ในที่สุดก็ถึงวันสดใส อูนิโอน เบอร์ลินได้เล่นบุนเดสลีกา 2 หลังจากครองแขมป์ Regionalliga Nord ซีซัน 2000-01 แถมปีนั้นยังได้ชิงชนะเลิศ เยอรมัน คัพ กับชาลเก 04 แต่แพ้ 0-2 อย่างไรก็ตาม พวกเขาอยู่เทียร์สองได้แค่สามปีก็ตกไปอยู่ Regionalliga Nord (เทียร์สาม) ในซีซัน 2004-05 ตามด้วย NOFV-Oberliga Nord (เทียร์สี่) ซีซัน 2005-06 ซึ่งท้ายสุด อูนิโอน เบอร์ลิน เข้าวินและกลับขึ้นมาอยู่เทียร์สามอีกครั้งในซีซัน 2006-07

ฤดูกาล 2008-09 ลีกา 3 ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นปีแรกในฐานะลีกเทียร์สามที่อยู่ระหว่าง 2. Bundesliga กับ Regionalliga (ที่กลายเป็นเทียร์สี่) โดยอูนิโอน เบอร์ลิน ซึ่งรั้งอันดับ 4 ของ Regionalliga Nord ในซีซันก่อนหน้านี้ ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นมาเล่นลีกา 3 ด้วย

อูนิโอน เบอร์ลิน กลายเป็นแชมป์ทีมแรกในประวัติศาสตร์ลีกเทียร์สามใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2009 เลื่อนขึ้นมาอยู่บุนเดสลีกา 2 อย่างสง่างาม แต่พวกเขาต้องใช้เวลาถึงสิบปีจึงได้สัมผัสลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกหลังจบบุนเดสลีกา 2 ซีซัน 2018-19 ด้วยอันดับสาม ได้สิทธิเตะเพลย์ออฟกับซตุ๊ตการ์ต ทีมจากโซนตกชั้น (อันดับ 16) ของบุนเดสลีกา ผลเสมอกัน 2-2 แต่ทีมมนุษย์เหล็กชนะด้วยกฎการยิงประตูของทีมเยือน ส่งให้ทีมม้าขาวหล่นลงมาเทียร์สองแทน

นั่นทำให้ อูนิโอน เบอร์ลิน เป็นสโมสรจากเบอร์ลินตะวันออกทีมแรกที่ได้แข่งขันบุนเดสลีกา และเป็นทีมที่หกจากเยอรมนีตะวันออกต่อจาก ดีนาโม เดรสเดน, ฮันซา รอสต็อก, วีเอฟเบ ไลป์ซิก, เอเนอร์ยี คอตต์บัส และอาร์เบ ไลป์ซิก

ในการเตรียมทีมเพื่อร่วมสมรภูมิลีกสูงสุด ฤดูกาล 2019-20 อูนิโอน เบอร์ลิน คว้าตัว เนเวน ซูโบติซ ปราการหลังจากแซงต์ เอเตียน, แอนโธนี อูจาห์ กองหน้าจากไมน์ซ 05 และคริสเตียน เกนท์เนอร์ มิดฟิลด์จากซตุ๊ตการ์ต รวมถึงต่อสัญญากับมาร์วิน ฟรีดริช ผู้ยิงประตูสำคัญในเกมเพลย์ออฟกับซตุ๊ตการ์ต

อูนิโอน เบอร์ลิน พัฒนาผลงานในบุนเดสลีกตลอดสามซีซันแรก จบโปรแกรมแข่งด้วยอันดับ 11, 7, 5 ตามลำดับ และกำลังมีโอกาสคว้าแชมป์สมัยแรกในการแข่งขันบุนเดสลีกาเพียงฤดูกาลที่สี่ของพวกเขา

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

33 ปีที่เฝ้ารอ “สคูเดตโต” สมัยที่สาม ? นาโปลีเฉียดล่มสลายยุคโพสต์-มาราโดนา

ยูเวนตุส มหาอำนาจลูกหนังอิตาลีแห่งทศวรรษ 2010 ไม่สามารถครองตำแหน่งสคูเดตโตเป็นสมัยที่ 10 ติดต่อกันเมื่ออินเตอร์ มิลาน ขึ้นเถลิงบัลลังก์แทนในซีซัน 2020-21 ตามด้วยเอซี มิลาน ในซีซันต่อมา และทั้งสองฤดูกาล ทีมม้าลายจบด้วยอันดับสี่ของตารางกัลโช เซเรีย อา และซีซันนี้ สถานการณ์ของพวกเขายิ่งย่ำแย่ แต่แชมป์มีโอกาสสูงมากที่จะเปลี่ยนมือไปอยู่กับนาโปลี ซึ่งครองสคูเดตโตเพียงสองสมัย และครั้งหลังสุดคือปี 1990 หรือ 33 ปีที่แล้ว

นาโปลีเพิ่งผงาดเหนือแผ่นดินรูปท็อปบู๊ทช่วงกลางทศวรรษ 1980 เมื่อทุ่มเงินมหาศาลซื้อดีเอโก มาราโดนา มาจากบาร์เซโลนา เพียงเจ็ดปีที่มี G.O.A.T ชาวอาร์เจนไตน์อยู่ในทีม นาโปลีครองแชมป์เซเรีย อา 2 สมัย, แชมป์อิตาเลียน คัพ 1 สมัย และแชมป์ยูฟา คัพ 1 สมัย แต่หลังจากมาราโดนาโดนแบน 15 เดือนเพราะถูกตรวจพบสารโคเคน “เดอะ บลูส์” ไม่เพียงฟอร์มในสนามย่ำแย่ ฐานะการเงินยังตกต่ำถึงขั้นล้มละลาย ต้องลงไปเตะระดับเทียร์สามในซีซัน 2004-05 แต่โชคดีสโมสรได้ อูเรลิโอ เด ลอเรนติส พระเอกขี่ม้าขาวจากวงการภาพยนตร์เข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤติทันที

นาโปลีใช้เวลาเพียงสามปีกลับขึ้นมาเซเรีย อา ในซีซัน 2007-08 แต่ยังต้องปรับตัวจูนทีมช่วง 2-3 ปีแรกก่อนผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาสใกล้เคียงแชมป์ลีกมากที่สุดในซีซัน 2017-18 กับตำแหน่งรองแชมป์ ที่แม้ทำแต้มรวมสูงสุดในประวัติศาสตร์สโมสรคือ 91 คะแนน แต่ยังเป็นรองยูเวนตุสอยู่ 4 คะแนน

แน่นอน “สคูเดตโต” ย่อมเป็นเป้าหมายความสำเร็จของเด ลอเรนติส ที่มุ่งมั่นทำให้นาโปลียิ่งใหญ่สมฐานะทีมที่มีฐานแฟนบอลจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของอิตาลี และรั้งอันดับห้าของสโมสรเซเรีย อา ที่มีรายได้สูงสุดจากตัวเลข 182 ล้านเหรียญสหรัฐในซีซัน 2017-18

จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นเมื่อนาโปลีแต่งตั้ง ลูเซียโน สปัลเล็ตติ คุมทีมแทนเจนนาโร กัตตูโซ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2021 สปัลเล็ตติพาทีมจบซีซันแรกด้วยอันดับ 3 บนตารางเซเรีย อา ตามหลังแชมป์ เอซี มิลาน 7 คะแนน แต่ทิ้งอันดับ 4-5 ยูเวนตุสและลาซิโอถึง 9 และ 15 คะแนนตามลำดับ

สปัลเล็ตติประเดิมงานฤดูกาล 2021-22 ได้สวยหรูเก็บชัยชนะ 7 นัดรวด แต่เหมือนมีลางบอกเหตุก่อนนัดที่ 8 รถคันโปรด “เฟียต แพนดา” ของเขาโดนขโมย แม้ยังชนะนัดที่ 8 แต่สถิติหยุดแค่นั้นเพราะนัดต่อมา นาโปลีเสมอโรมา 0-0 ที่กรุงโรม ซ้ำร้ายต่อมาสปัลเล็ตติเจอปัญหานักเตะหลักเจ็บระนาวรวมถึงกองหน้า วิคเตอร์ โอซิมเฮน แถมผู้เล่นบางส่วนต้องไปแข่งขันแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ ทำให้ผลงานในสนามดร็อปลงจนแฟนบอลกลุ่มอัลตราทำป้ายขู่ว่า ถ้าอยากได้แพนดาที่หายไปคืนมา สปัลเล็ตติควรลาออกไปเสีย ซึ่งสื่อนำไปอำขำๆว่า เป็นตัวกระตุ้นให้สปัลเล็ตติรีดกึ๋นเค้นความสามารถของลูกทีมจนสถานการณ์ดีขึ้นจนปิดจ็อบปีแรกด้วยอันดับสาม

โมเมนตัมยังส่งผลต่อเนื่องถึงซีซันต่อมา ซึ่งขณะนี้เตะมา 23 จาก 38 นัด นาโปลีแพ้นัดเดียวเพราะโดนอินเตอร์ มิลาน เฉือน 0-1 เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเสมอ 2 นัด ชนะมากถึง 20 นัด มี 62 คะแนน ทิ้งห่างรองจ่าฝูง ทีมงูใหญ่ 15คะแนน อีกทั้งยังได้ 56 ประตู เสีย 15 ประตู ผลต่างบวก 41 ประตู ตัวเลขดีที่สุดในเซเรีย อา ทั้งสามหมวดหมู่

ล่าสุดนาโปลีถูกยกเป็นเต็งหนึ่งที่จะครองตำแหน่งสคูเดตโตเป็นสมัยที่สาม และมีโอกาสไม่น้อยที่จะเก็บแต้มทะลุหลักร้อย หรืออย่างน้อยควรทำลายสถิติสูงสุดเดิมของสโมสรคือ 91 คะแนน

ประวัติศาสตร์สโมสรเริ่มต้นที่กะลาสีเรืออังกฤษ

สโมสรนาโปลี มีชื่อเต็มว่า Società Sportiva Calcio Napoli (S.S.C. Napoli) ตั้งอยู่ในเมืองเนเปิลส์ (หรือนาโปลีในภาษาอิตาเลียน) เมืองหลวงของแคว้น Campania ทางตอนใต้ของอิตาลี เป็นเมืองใหญ่อันดับสามของประเทศรองจากโรมและมิลาน ถ้ามองอิตาลีเป็นรองเท้าบู๊ท เนเปิลส์จะตั้งอยู่บริเวณหน้าแข้ง นาโปลีมีฉายาว่า Gli Azzurri (The Blues), Ciucciarelli (The Little Donkeys)

นาโปลีมีจุดเริ่มต้นเมื่อเกือบ 120 ปีที่แล้วจาก Naples Foot-Ball & Cricket Club (Naples FBC) สโมสรฟุตบอลแห่งแรกในเนเปิลส์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1905 โดยวิลเลียม พอธส์ กะลาสีเรือชาวอังกฤษ กับเพื่อน เฮคเตอร์ เอ็ม เบยอน และคนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่ง รวมถึงอเมดีโอ ซัลซี ที่เป็นประธานสโมสรคนแรก

ต่อมา กลุ่มชาวต่างชาติได้แยกตัวออกจากสโมสรในปี 1911 และก่อตั้งสโมสรใหม่ชื่อว่า Unione Sportiva Internazionale Napoli (U.S. Internazionale Napoli) แต่ช่วงกลางปี 1914 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และหลังจากฟุตบอลกลับมาแข่งต่อ สภาพเศรษฐกิจและวิกฤติการเงินทำให้สองสโมสรยุบรวมกันในชื่อ Foot-Ball Club Internazionale-Naples หรือ FBC Internaples เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1922 โดยสีชุดแข่งเป็นส่วนผสมระหว่างเสื้อสีฟ้าของเนเปิลส์และกางเกงสีขาวของนาโปลี

สโมสรได้เปลี่ยนชื่อเป็น Associazione Calcio Napoli เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1926 ในยุคจิออร์จิโอ อัสคาเรลลี เป็นประธานสโมสร ซึ่งเชื่อว่าถูกกดดันจากรัฐบาลฟาสซิสต์ใหม่ที่ต้องการให้สโมสรมีชื่อแสดงความเป็นอิตาเลียน ก่อนเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1964 เป็น Società Sportiva Calcio Napoli จวบจนปัจจุบัน

ครึ่งศตวรรษแรกบนถนนลูกหนังเซเรีย อา-บี

ยุคแรกเริ่ม นาโปลีไม่ประสบความสำเร็จอะไร ต้องรอถึงปี 1962 จึงสามารถคว้าถ้วยโคปปา อิตาเลีย ซึ่งเพิ่งจัดแข่งขันเป็นปีที่ 15 หลังจากเฉือนสปาล 2-1 ในนัดชิงชนะเลิศ ส่วนสคูเดตโตต้องรอถึงปี 1987

ในส่วนของประวัติศาสตร์ฟุตบอลลีกหากเริ่มจากยุคกัลโช เซเรีย อาและบี ซึ่งเริ่มฤดูกาล 1929-30 เป็นปีแรกเมื่อนำ Divisione Nazionale ซึ่งแบ่งเป็นสองกลุ่มๆละ 16 ทีม นำผลอันดับตารางคะแนนฤดูกาล 1928-29 มาจัดทีมลงแข่งขัน Divisione Nazionale Serie A (เทียร์หนึ่ง) และ Divisione Nazionale Serie B (เทียร์สอง) โดยนาโปลีจบอันดับ 8 ร่วมกับลาซิโอ ทั้งคู่เตะเพลย์ออฟเสมอ 2-2 หลังต่อเวลา แต่แมตช์เป็นโมฆะเนื่องจากสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี (เอฟไอจีซี) ให้ทั้งสองเข้าไปเล่นเซเรีย อา เพื่อเพิ่มโควตาให้กับสโมสรจากภาคใต้

แม้ไม่เคยสัมผัสแชมป์แต่นาโปลีทำผลงานในเซเรีย อา ได้ไม่เลว เคยขึ้นสูงสุดอันดับสามในซีซัน 1933–34 ดาวเด่นของยุคนี้คือ อัตติลา ซาลลุสโตร ซึ่งเล่นให้นาโปลีระหว่างปี 1926 – 1937 สถิติรวมทุกรายการ 266 นัด 108 ประตู ปัจจุบันรั้งอันดับ 5 ดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของสโมสร

หลังได้อันดับ 15 รองบ๊วยฤดูกาล 1941-42 นาโปลีก็ตกไปเล่นเซเรีย บี หนึ่งซีซัน ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนซีซันแรกที่กลับมาหลังสงตราม ฟุตบอลลีกอิตาลี ซีซัน 1945-46 ถูกแบ่งใหม่เป็นสองกลุ่มคือ ภาคเหนือ เซเรีย อา และ ภาคกลาง-ภาคใต้ เซเรีย อา-บี ซึ่งนาโปลีจบอันดับหนึ่งของกลุ่มร่วมกับบารี ได้เตะเซเรีย อา ซีซัน 1946-47 โดยอัตโนมัติ

เล่นได้เพียงสองซีซัน นาโปลีก็ตกไปอยู่เซเรีย บี แต่ใช้เวลาสองซีซันเช่นกันกลับขึ้นมาอยู่เซเรีย อา หลังจากครองแชมป์เซเรีย บี ซีซัน 1949-50 ซึ่งเป็นความสำเร็จครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรหากไม่นับ Campionato Centro-Sud Serie A-Bทัวร์นาเมนท์พิเศษหลังสงครามที่ครองร่วมกับบารี

นับจากนั้น นาโปลีก็อยู่ในลีกสูงสุดเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นซีซัน 1961-62, 1963-64 และ 1964-65 ที่ร่วงไปลีกรอง) จนถึงยุคทองเมื่อได้ดีเอโก มาราโดนา เข้ามากลางทศวรรษ 1980 

ยุคทองกับมาราโดนา เจ็ดปี ห้าแชมป์

ก่อนหน้าการมาถึงของดีเอโก มาราโดนา กลางปี 1984 นาโปลีครองแชมป์อิตาเลียน คัพ สองสมัยในปี 1962 และ 1976แต่เพียงเจ็ดปีที่มีมาราโดนา “เดอะ บลูส์” ครองตำแหน่งสคูเดตโต ซึ่งรอคอยมานาน 61 ปี ในซีซัน 1986-87, 1989-90 แชมป์โคปปา อิตาเลีย ซีซัน 1986-87 แชมป์ยูฟา คัพ ซีซัน 1988-89 และแชมป์ซูเปอร์โคปปา อิตาเลีย ปี 1990

ช่วงสองปีที่บาร์เซโลนา แม้มีปัญหาบาดเจ็บรบกวน มาราโดนายังมีผลงาน 38 ประตูจาก 58 นัด แต่ด้วยความขัดแย้งกับฝ่ายบริหารโดยเฉพาะโจเซป หลุยส์ นูนเนซ ประธานสโมสร ทำให้เขาขอย้ายออกจากทีม และเป็นนาโปลีที่ยอมทุ่มเงินราว 10.48 ล้านปอนด์ ซื้อไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1984 โดยมาราโดนาเดินทางถึงเมืองเนเปิลส์และปรากฏตัวต่อสายตาคนทั้งโลกในฐานะนักเตะนาโปลีครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม มีแฟนบอลมากถึง 75,000 คน รอต้อนรับเขาที่สนามซาน เปาโล

ไม่เพียงมาราโดนา นาโปลียังสร้างทีมใหม่ผ่านนักเตะอย่างซีโร แฟร์รารา, ซัลวาตอเร บาญนี และแฟร์นานโด เด นาโปลี จนทีมลาน้อยทะยานขึ้นอันดับสามของซีซัน 1985-86 แต่สิ่งที่เหนือกว่ายังมาไม่ถึง ด้วยมาราโดนา, บรูโน กีออร์ดาโน และกาเรกา สามแนวรุกที่ถูกตั้งฉายาว่า Ma-Gi-Ca (มนต์วิเศษ) พานาโปลีไปถึงจุดพีคของประวัติศาสตร์สโมสร เป็นทีมที่สามที่ทำ “ดับเบิลแชมป์” สำเร็จในซีซัน 1986-87 ชนะเลิศเซเรีย อา ห่างยูเวนตุส 3 แต้ม และถลุงอตาลันตา 4-0 ในนัดแชมป์โคปปา อิตาเลีย

ฤดูกาลต่อมา นาโปลีได้เพียงรองแชมป์เซเรีย อา ตามหลังเอซี มิลาน 3 คะแนน และผ่านไปเล่นยูฟา คัพ ซีซัน 1988-89 ซึ่งมาราโดนาและผองเพื่อนสามารถปักธงบนสังเวียนยุโรปได้สำเร็จ ผ่านพีเอโอเค, โลโกโมทีฟ ไลปซิก, บอร์กโดซ์, ยูเวนตุส และบาเยิร์น มิวนิก เข้าไปชิงแชมป์กับซตุ๊ตการ์ตในเดือนพฤษภาคม 1989 นาโปลีชนะด้วยสกอร์รวม 5-4 ขณะที่เซเรีย อา นาโปลีได้รองแชมป์เป็นปีที่สองติดต่อกัน ถูกอินเตอร์ มิลาน ทิ้งขาด 11 แต้ม

นาโปลีครองสคูเดตโตสมัยที่สองในฤดูกาล 1989-90 โดยเฉือนมิลานเพียงสองคะแนน แต่ในปี 1991 มาราโดนาถูกตรวจพบว่าใช้โคเคน โดนโทษแบนนานถึง 15 เดือน ตั้งแต่เมษายน 1991 ถึงมิถุนายน 1992 ซึ่งมาราโดนาอ้างว่าเป็นการแก้แค้นของเอฟไอจีซี ที่เขาและอาร์เจนตินาเขี่ยอิตาลีตกรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 1990 ที่เมืองเนเปิลส์ โดยก่อนหน้าลงสนาม มาราโดนาขอร้องแฟนบอลเจ้าถิ่นช่วยเชียร์อาร์เจนตินา

นับจากถูกตัดสินโทษแบนครั้งนั้น มาราโดนาก็ไม่ได้เล่นให้นาโปลีอีกเลยก่อนย้ายไปเล่นให้เซบีญาในซีซัน 1992-93 แม้มีข่าวว่าเรอัล มาดริด และมาร์กเซย์ ต้องการตัวเขา มาราโดนาใช้เวลาอาชีพค้าแข้งที่เหลือในอาร์เจนตินากับนีเวลส์ โอลด์บอยส์ (1993 – 1994) และโบคา จูเนียร์ส (1995 – 1997)

ไร้มาราโดนา ทีมเสื่อมถอยทั้งการเล่นและการเงิน

ยุคโพสต์-มาราโดนา เริ่มในซีซัน 1991-92 นาโปลียังจบด้วยอันดับสี่บนตารางเซเรีย อา ก่อนเข้าช่วงขาลงจนกระทั่งรั้งก้นตารางของซีซัน 1997-98 ร่วงไปเล่นเซเรีย บี สองปี และกลับขึ้นมาอยู่ลีกสูงสุดในซีซัน 2000-01 แต่จบด้วยอันดับรองโหล่ ตกไปลีกรองอีกครั้งแถมรอบนี้ไหลลงไปถึงเทียร์สาม

หลังฤดูกาลแรกที่ไม่มีมาราโดนา นาโปลีเริ่มเสื่อมถอยทั้งผลงานในสนามและสภาพการเงิน นักเตะแกนหลักอย่างจิอันฟรังโก โซลา, ดาเนียล ฟอนเซกา, ซีโร แฟร์รารา และกาเรกา ต่างจากไปช่วงปี 1993 – 1994 แฟนๆพอมีรอยยิ้มบ้างกับบอลถ้วย เข้ารอบสามยูฟา คัพ ซีซัน 1994-95, เข้าชิงโคปปา อิตาเลียน ซีซัน 1996-97 แต่แพ้วิเซนซา 1-3 ต่างกับฟุตบอลลีกที่ย่ำแย่จนกระทั่งฤดูกาล 1997-98 นาโปลีชนะแค่สองนัด ร่วงลงไปเซเรีย บี สองซีซัน กลับขึ้นมาเซเรีย อา หนึ่งซีซัน และลงไปอีกครั้งในซีซัน 2001-02 

เดือนสิงหาคม 2004 นาโปลีถูกประกาศล้มละลาย อูเรลิโอ เด ลอเรนติส มหาเศรษฐีโปรดิวเซอร์หนังคนดัง ขี่ม้าขาวกอบกู้วิกฤติช่วยไม่ให้นาโปลีกลายเป็นตำนานทีมลูกหนังแห่งเนเปิลส์ แม้ต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่อ “นาโปลี ซอคเกอร์” ชั่วคราวและโดนปรับตกไปอยู่เซเรีย ซี1/บี แม้ฤดูกาล 2003-04 จะจบด้วยอันดับ 13 ของเซเรีย บี ก็ตาม

ถึงตกไปอยู่เทียร์สาม นาโปลียังมีแฟนๆติดตามให้กำลังใจอย่างเหนียวแน่น มีคนดูเฉลี่ยต่อนัดมากกว่าทีมส่วนใหญ่ในเซเรีย อา เคยสร้างสถิติคนดูสูงสุดในประวัติศาสตร์เซเรีย ซี ถึง 51,000 คนในหนึ่งนัด

แฟนบอลให้กำลังใจ “เด ลอเรนติส” ให้กำลังเงิน

นาโปลีครองแชมป์เซเรีย ซี1/บี ฤดูกาล 2005-06 ใช้เวลาเพียงสองปีขึ้นมาเซเรีย บี และกลับไปใช้ชื่อสโมสร Società Sportiva Calcio Napoli อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2006 “เดอะ บลูส์” จบซีซัน 2006-07 ด้วยอันดับสอง กลับขึ้นมาอยู่บนเซเรีย อา อีกครั้งหลังใช้เวลาอยู่ในลีกรองนานหกปี

ลีกสูงสุดสามซีซันแรก นาโปลีจบด้วยอันดับ 8,12 และ 6 ซึ่งได้สิทธิแข่งยูโรปา ลีก ซีซัน 2010-11 แม้หยุดเส้นทางรอบ 32 ทีมสุดท้าย แต่ภายใต้การคุมทีมของวอลเตอร์ มาซซาร์รี นาโปลีรั้งอันดับสามบนตารางเซเรีย อา

ซีซัน 2011-12 นาโปลีได้อันดับห้าของเซเรีย อา แต่ตะลุยถึงนัดชิงโคปปา อิตาเลีย เจอกับยูเวนตุส เจ้าของตำแหน่งสคูเดตโตไร้พ่ายปีนั้น นาโปลีชนะ 2-0 ครองแชมป์รายการนี้เป็นสมัยที่สี่ ซึ่งรอคอยมานาน 25 ปี ทีมลาน้อยยังชนะเลิศเพิ่มอีกสองครั้งในซีซัน 2013-14 ชนะฟิออเรนตินา 3-1 และซีซัน 2019-20 เสมอยูเวนตุส 0-0 ก่อนชนะดวลจุดโทษ 4-2

สำหรับเซเรีย อา นาโปลีเป็นรองแชมป์ ฤดูกาล 2012-13 ตามหลังยูเวนตุส 9 คะแนน และนับจากนั้นเป็นเวลาเก้าปี นาโปลีหลุดอันดับท็อป-5 แค่ปีเดียว โดยเป็นรองแชมป์ 3 ครั้ง, อันดับสาม 3 ครั้ง, อันดับห้า 2 ครั้ง และอันดับเจ็ด 1 ครั้ง

เครดิตต้องยกให้เต็มๆสำหรับการบริหารงานและเงินของเด ลอเรนติส ที่ไม่ใช่มหาเศรษฐีสายเปย์ แถมยังวางแผนและคิดรอบคอบเสียจนแฟนบอลมองว่าเป็นเจ้าของทีมที่มัธยัสถ์(หรือขี้เหนียว)เกินเหตุ

ฟาบริซิโอ โรมาโน นักข่าวคนดังเคยให้สัมภาษณ์ว่า เด ลอเรนติส และผู้อำนวยการ คริสเตียโน จิอันโตลี ร่วมกันตัดสินใจขายนักเตะที่เป็นขวัญใจของแฟนบอลและว่าที่ตำนานสโมสร ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างเช่น อเรนโซ อินซิเญ, คาลิดู คูลิบาลี, ดรีส์ เมอร์เทนส์ และฟาเบียน รูอิซ

สำหรับฝั่งขาเข้าเนื่องจากนาโปลีเป็นทีมระดับกลางของยุโรป จึงไม่มีแรงดึงดูดสตาร์ดังด้วยเงินและชื่อเสียง กลุ่มนักเตะใหม่จึงได้แก่ คิม มิน-แจ เซ็นเตอร์แบ็ควัย 26 ทีมชาติเกาหลีใต้ ซึ่งเล่นสามปีในจีนก่อนย้ายมาอยู่เฟเนอร์บาห์เช, มาเธียส โอลิเวรา แบ็คซ้ายทีมชาติอุรุกวัยที่ข่วยให้เตกาเฟรอดตกชั้นลาลีกา, เลโอ ออสติการ์ด เซ็นเตอร์แบ็คชาวนอร์เวย์ของไบรท์ตัน ซึ่งสร้างผลงานได้ดีระหว่างที่เจนัวเซ็นยืมหกเดือนครึ่ง รวมถึงยืมตัวต็องกี อึนดอมเบเล จากสเปอร์ส, โจวานนี ซิเมโอเน จากเวโรนา และจีอาโกโม รัสปาโดรี จากซาสซูโอโล โดยตัวความหวังใหม่จริงๆคือ ควิชา ควารัทสเคเลีย ปีกดาวรุ่งทีมชาติจอร์เจีย ซึ่งซื้อจากดีนาโม บาตูมิ ด้วยสนนราคาเพียง 10 ล้านยูโร ส่วนหนึ่งเพราะสงครามในยูเครน

นั่นทำให้ตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว นาโปลีสามารถลดค่าเหนื่อยผู้เล่นลงได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และทำกำไรได้ 13 ล้านยูโร แต่ที่สำคัญกว่าคือ การบริหารตลาดนักเตะรอบใหญ่ครั้งนั้นทำให้สปัลเล็ตติได้นักเตะที่ใช่สำหรับแนวทางของเขา ซึ่งชื่นชอบเกมบุกที่มีการครองบอลเป็นรากฐาน โดยกุนซือวัย 63 ปี ชอบระบบ 4-2-3-1 หรือ 4-3-3 ที่มี inverted wingers โดยปีกตัวในทั้งสองฝั่งคือ ควารัทสเคเลีย และมัตเตโอ โปลิตาโน ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำความสำเร็จมาสู่นาโปลีในซีซันนี้ และต้องไม่ลืม วิคเตอร์ โอซิมเฮน ศูนย์หน้าเนื้อหอมทีมชาติไนจีเรีย ซึ่งเฉพาะบอลลีกทำไป 18 ประตู 4 แอสซิสต์จาก 19 นัด

ถ้าเปรียบมาราโดนาเป็นคนนำนาโปลีไปสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล เด ลอเรนติส ถือเป็นบุคคลที่กอบกู้สโมสรขึ้นมาจากซากปรักหักพังนับจากล้มละลายในปี 2004 ไม่เพียงพากลับเซเรีย อา อย่างรวดเร็วเพียงสามปี แต่ยังบริหารนาโปลีจนใกล้ที่จะครองสคูเดตโตสมัยที่สามที่รอนานกว่าสามทศวรรษ

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

บิลลี่ เมเรดิธ : ตำนานแข้งแมนฯ ซิตี้ ผู้มีเอี่ยวคดีแหกกฎการเงินยุคโบราณ

ข่าวใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลอังกฤษเมื่อสัปดาห์ก่อน คือกรณีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ถูกทางพรีเมียร์ลีก ตั้งข้อหาทำผิดกฎการเงินมากกว่า 100 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2009 – 2018 จากการสืบสวนที่ใช้เวลานานถึง4 ปี

พรีเมียร์ลีกกล่าวหาว่า ตลอด 9 ปีดังกล่าว แมนฯ ซิตี้ ไม่ได้ให้ข้อมูลการเงินที่ถูกต้อง, ไม่ปฎิบัติตามกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP) ของยูฟ่า และไม่ให้ความร่วมมือกับลีกสูงสุดเมืองผู้ดีในการสอบสวนอีกด้วย

ซึ่งบทลงโทษที่แมนฯ ซิตี้ จะได้รับจากพรีเมียร์ลีก มีตั้งแต่ปรับเงิน, ตัดแต้ม, ริบแชมป์ หรือร้ายแรงที่สุด อาจถึงขึ้นถูกขับพ้นจากลีกอาชีพ แต่บทสรุปของคดีนี้ คงต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือนานนับปีกว่าจะรู้ผล

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 แมนฯ ซิตี้ เคยถูกยูฟ่าลงโทษ จากกรณีผิดกฎ FFP ทำให้พวกเขาถูกแบนจากถ้วยยุโรป 2 ฤดูกาล แต่ขอยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี จนได้รับโทษเพียงแค่ปรับเงิน 10 ล้านยูโรเท่านั้น

แต่มีเหตุการณ์หนึ่งในอดีต ที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อน คือ “เรือใบสีฟ้า” เคยทำผิดกฎการเงินในโลกลูกหนังยุคเก่าแก่ เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

ต้นตำรับ “ปีกพ่อมดแห่งเวลส์”

หากพูดถึงนักเตะที่มีฉายาว่า “The Welsh Wizard” หรือปีกพ่อมดแห่งเวลส์ แฟนฟุตบอลส่วนใหญ่จะนึกถึงไรอัน กิกส์ ตำนานดาวเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่บิลลี่ เมเรดิธ คือแข้งคนแรกของโลกที่ได้ฉายานี้

เมเรดิธ เกิดที่ย่านแบล็ก พาร์ค ในประเทศเวลส์ อาชีพแรกในชีวิตของเขา คือการเป็นคนงานเหมืองถ่านหินในบ้านเกิด แต่มีความสนใจในกีฬาฟุตบอล จึงได้รวมตัวกับเพื่อนคนงาน เล่นฟุตบอลในเวลาว่าง

ซึ่งฝีเท้าของเมเรดิธ ก็ไปเข้าตาหลายสโมสรในอังกฤษ อีกทั้งคุณแม่อยากให้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ แม้ตัวเขาไม่ปรารถนาที่จะอยู่ห่างจากครอบครัวก็ตาม และได้รับโอกาสเซ็นสัญญากับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 1894

เมเรดิธ ลงสนามเป็นครั้งแรกให้กับแมนฯ ซิตี้ ในเกมบุกแพ้นิวคาสเซิล 4 – 5 ก่อนที่จะเริ่มฉายแววเก่งด้วยการยิง 2 ประตู ใส่นิวตัน ฮีธ (ปัจจุบันคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) ในศึกดาร์บี้แมตช์ แต่ทีมของเขาแพ้คาบ้าน 2 – 5

ด้วยสไตล์การเล่นที่เน้นการใช้ความเร็วสูง และวิ่งกระชากลากเลื้อยตัดเข้าในกรอบเขตโทษ จึงเป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลซิตี้ ซีซั่นแรกของเมเรดิธ ทำผลงานได้น่าประทับใจ ลงสนามแค่ 18 นัด แต่ยิงไปถึง 12 ประตู

ตลอด 5 ฤดูกาลแรกที่อยู่กับแมนฯ ซิตี้ เมเรดิธ เป็นดาวซัลโวของสโมสรถึง 3 ฤดูกาล โดยเฉพาะฤดูกาล 1898/99 เจ้าตัวยิงได้ถึง 30 ประตู มีส่วนพาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดของอังกฤษเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ช่วงเวลาที่เรือใบสีฟ้า โลดแล่นอยู่ในลีกสูงสุด เมเรดิธ และบิลลี่ กิลเลสพี ถูกยกให้เป็นดาวเด่นของทีม อย่างไรก็ตาม สโมสรตกชั้นกลับสู่ดิวิชั่น 2 ในฤดูกาล 1901/02 แต่ก็คว้าแชมป์ลีกรองได้ในฤดูกาลถัดมา

หลังเลื่อนชั้นกลับมาแค่ซีซั่นเดียว แมนฯ ซิตี้ สร้างความตื่นตะลึงเมื่อจบตำแหน่งรองแชมป์ดิวิชั่น 1 และคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ เอาชนะโบลตัน วันเดอเรอร์ส ในนัดชิงชนะเลิศ 1 – 0 ซึ่งเมเรดิธ คือผู้ทำประตูชัยของเกมนี้

เงิน 10 ปอนด์ พาซวยครั้งใหญ่

ฟุตบอลดิวิชั่น 1 (เดิม) ฤดูกาล 1904/05 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นหนึ่งในทีมที่มีลุ้นแชมป์ในนัดปิดซีซั่น แต่ท้ายที่สุดพวกเขาแพ้แอสตัน วิลล่า 2 – 3 ไม่เพียงแค่ชวดแชมป์เท่านั้น เพราะมีเรื่องฉาวโฉ่ตามมาด้วย

โดยหลังจบเกม อเล็กซ์ ลีค กัปตันทีมวิลล่า บอกว่า บิลลี่ เมเรดิธ จ้างวานให้ล้มบอลด้วยเงิน 10 ปอนด์ แม้ได้ต่อสู้คดีถึงที่สุด แต่เอฟเอก็สั่งแบนเมเรดิธ ห้ามลงเล่น 1 ซีซั่น ส่วนแมนฯ ซิตี้ ถูกปรับเงิน

คดีล้มบอลของเมเรดิธ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่คดีใหญ่ของแมนฯ ซิตี้ ในปี 1906 ทอม ฮินเดิล นักบัญชีที่ได้รับการว่าจ้างจากเอฟเอ ได้มาตรวจสอบการเงินที่น่าสงสัยของสโมสร และพบความผิดปกติจนได้

สาระสำคัญคือ แมนฯ ซิตี้ ได้มีการถ่ายเทเงินผ่านบัญชีลับ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎการเงินของเอฟเอ ที่กำหนดไว้ว่า ห้ามไม่ให้บุคคลใดนำเงินเข้ามาสู่สโมสรด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ที่อาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับทีมอื่นๆ

จากการสืบสวนของเอฟเอ พบว่า แมนฯ ซิตี้เจอข้อกล่าวหาติดสินบน กรณีได้แชมป์เอฟเอ คัพ ในฤดูกาล 1903/04 รวมทั้งการจ่ายเงินโบนัสให้กับนักเตะรวม 681 ปอนด์ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากผิดปกติ

โดยในช่วงที่เมเรดิธชดใช้โทษแบน ได้รับค่าจ้างมากกว่าเพดานเงินเดือนสูงสุดอีก 50% จากเดิม 4 ปอนด์ เป็น 6 ปอนด์ แต่เจ้าตัวไม่เชื่อว่า มีนักเตะเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าเขาแน่นอน

นอกจากนี้ เรือใบสีฟ้ายังถูกตรวจพบว่า มียอดเงินจำนวนมากเข้าไปในบัญชีส่วนตัวของผู้อำนวยการสโมสร ที่มีการกระจายไว้หลายบัญชี และมีการโยกย้ายเงินส่วนนี้ไปยังบัญชีของนักเตะในสโมสรด้วย

จากรายงานของเอฟเอ สรุปได้ว่า “ตอนนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สโมสรทำผิดกฎอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบมาพากลอย่างมาก” ซึ่งคำซัดทอดของเมเรดิธ ก็ได้นำไปสู่การลงโทษแมนฯ ซิตี้ในที่สุด

บทสรุปของคดีนี้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกลงโทษด้วยการปรับเงิน ขณะที่บอร์ดบริหาร สตาฟโค้ช รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสโมสรที่เกี่ยวข้อง โดนแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอล และถูกบีบให้ออกจากสโมสร

ส่วนนักฟุตบอล 17 คนที่เกี่ยวข้องกับคดีทำผิดกฎการเงิน ถูกแบนยาว และไม่สามารถลงเล่นให้กับสโมสรได้อีกต่อไป บิลลี่ เมเรดิธ ได้ทิ้งผลงาน 147 ประตู จาก 338 นัด ให้แฟนบอลซิติเซนส์ได้จดจำ

สลับขั้วสู่ยูไนเต็ด และรีเทิร์นที่ซิตี้

หลังจากที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เจอมรสุมคดีแหกกฎการเงิน บิลลี่ เมเรดิธ ก็ได้ย้ายสู่อีกฟากของเมือง ในการไปค้าแข้งให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมน้องใหม่ที่ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุด ฤดูกาล 1906/07

ในช่วงครึ่งซีซั่นแรก เมเรดิธ และแซนดี้ เทิร์นบูลส์ อดีตนักเตะซิตี้อีกคนที่ย้ายมาด้วยกัน ยังอยู่ในช่วงชดใช้โทษแบน กระทั่งเข้าสู่ศักราชใหม่ ในปี 1907 ทั้งคู่ได้ลงสนามเป็นนัดแรก ในเกมที่พบกับแอสตัน วิลล่า

เมเรดิธ แอสซิสต์ให้เทิร์นบูลส์ ยิงประตูเดียวของเกม เฉือนเอาชนะวิลล่า 1 – 0 เปิดตัวกับสโมสรใหม่ได้อย่างสวยงามทั้งคู่ และกลายมาเป็นผู้เล่นกำลังสำคัญของปีศาจแดง ช่วยทีมจบในอันดับที่ 8 ของตาราง

ขณะที่สโมสรเก่าของเมเรดิธ หลังจากทีมแตกสลาย ผลงานก็ร่วงลงไปอย่างน่าใจหาย จากอันดับ 3 เมื่อ 1 ฤดูกาลก่อน มาอยู่อันดับ 17 แม้ในซีซั่นถัดมาจะขึ้นสูงในอันดับ 3 อีกครั้ง แต่ก็มีอันต้องตกชั้นในซีซั่น1908/09

ตลอดช่วงเวลาที่สวมเสื้อแมนฯ ยูไนเต็ด เมเรดิธ และเทิร์นบูลส์ คว้าแชมป์ลีกสูงสุด 2 สมัย และแชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย ก่อนที่เทิร์นบูลส์ จะถูกแบนตลอดชีวิต จากคดีล้มบอลในเกมแดงเดือดกับลิเวอร์พูล เมื่อปี 1915

ส่วนเมเรดิธ ตัดสินใจย้ายกลับไปแมนฯ ซิตี้ เป็นคำรบสอง ในฤดูกาล 1921/22 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนรอบแรก ทำได้แค่ 2 ประตู ตลอด 3 ปีที่ลงเล่น และประกาศแขวนสตั๊ดหลังจบซีซั่น 1923/24 ขณะอายุ 49 ปี

เมเรดิธ เสียชีวิตเมื่อ 19 เมษายน 1958 ด้วยวัย 83 ปี และหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปหลายปี สโมสรแมนฯ ซิตี้, แมนฯ ยูไนเต็ด และสมาคมฟุตบอลเวลส์ ได้ร่วมกันทำป้ายสุสาน เพื่อระลึกถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอล

การที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถูกพรีเมียร์ลีกตั้งข้อกล่าวหาละเมิดกฎการเงิน ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร ซึ่งพวกเขาขอต่อสู้ด้วยพลังทั้งหมดที่มี เพื่อหวังหลุดพ้นจากวิบากกรรมในครั้งนี้ให้ได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.theguardian.com/football/2020/feb/26/manchester-city-falling-foul-of-ffp-in-1906-forgotten-story

https://playupliverpool.com/1906/06/01/the-billy-meredith-case/

– https://playupliverpool.com/1906/05/31/suspensions-of-manchester-city-players-and-officials/

https://www.manchestereveningnews.co.uk/news/nostalgia/billy-meredith-manchester-city-united-7409284

https://en.wikipedia.org/wiki/Billy_Meredith

Categories
Special Content

Game of Thrones สู้ด้วยคมดาบ สู่สงครามลูกหนังบนสนามหญ้า

นาน ๆ ครั้งที่จะมีสองทีมแข่งติดกัน ส่วนใหญ่เป็นเพราะบังเอิญเกมบอลถ้วยถูกจัดแทรกใกล้บอลลีก แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่สองทีมจะเตะพรีเมียร์ลีกแบบ back-to-back แถมยังเป็น rivalry match ระดับห้าดาวอย่าง The War of Roses ระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ลีดส์ ยูไนเต็ด ถือได้ว่าเป็นไปได้ยากที่สุดแต่ก็เป็นไปแล้วเมื่อทั้งคู่แข่งขันที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ในวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนเจอกันอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ที่เอลแลนด์ โรด ซึ่งตั้งอยู่ห่างโรงละครแห่งความฝันประมาณ 64 กิโลเมตร

ตามคิวเตะแรกเริ่ม แมตช์ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ต้องแข่งช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินี อลิซาเบธที่สอง และเนื่องจากแมนฯยูไนเต็ด ยังอยู่บนเส้นทางลุ้นแชมป์ทั้งสี่รายการ พรีเมียร์ลีกจึงพยายามให้ทั้งคู่แข่งด้วยกันเร็วที่สุดเมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของซีซัน 2022-23 

เดือนกุมภาพันธ์ 2023 แมนฯยูไนเต็ดต้องเล่นรอบ 16 ทีมสุดท้าย ยูโรปา ลีก กับบาร์เซโลนา มิดวีคสองสัปดาห์ติดกัน คั่นกลางด้วยบอลลีกกับเลสเตอร์ และต่อด้วยนัดชิงชนะเลิศคาราบาว คัพ กับนิวคาสเซิลในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่งทำให้เกมกับเบรนท์ฟอร์ดถูกเลื่อนออกไป ทีมปีศาจแดงยังต้องเตะรอบ 5 เอฟเอ คัพ กับเวสต์แฮมในวันที่ 1 มีนาคมอีก แมนฯยูไนเต็ดจึงเหลือคิวว่างเดียวกลางสัปดาห์ให้พรีเมียร์ลีกใส่โปรแกรมที่เลื่อนมาจากปีที่แล้ว ซึ่งเกมยังสนุกเข้มขัน ลีดส์ออกนำ 2-0 ก่อนเจ้าบ้านไล่ทันและยังเหลือเวลาร่วมยี่สิบนาทีให้ทั้งสองคลำเป้าหาประตูชัย แต่เกมลงเอยที่ผลเสมอ 2-2 

ก่อนแมตช์สองที่เอลแลนด์ โรด สงครามกุหลาบเกิดขึ้น 112 ครั้งรวมทุกรายการ แมนฯยูไนเต็ดชนะ 49 นัด ลีดส์ชนะ 26นัด และเสมอกัน 37 นัด แต่ถ้าเฉพาะเกมลีก แมนฯยูไนเต็ดชนะ 40 นัด ลีดส์ชนะ 23 นัด และเสมอ 34 นัด โดยลีกคัพ แมนฯยูไนเต็ดชนะทั้ง 5 นัดที่เจอกัน ส่วนเอฟเอ คัพ แมนฯยูไนเต็ดชนะ 4 นัด ลีดส์ชนะ 3 นัด และเสมอ 3 นัด

สามแมตช์ความทรงจำ “สงครามกุหลาบ”

ต้นเดือนกุมภาพันธ์เพื่อพรีวิวสงครามกุหลาบ สื่อฟุตบอลดัง 90min ได้จัดสามเกมแห่งความทรงจำระหว่างแมนฯยูไนเต็ดและลีดส์เอาไว้ ซึ่งเป็นการดวลสตั๊ดช่วงหลังที่แฟนบอลส่วนใหญ่ยังพอเชื่อมโยงกับการติดตามกีฬาลูกหนังได้

1998: แมนฯยูไนเต็ด 3 ลีดส์ 2

เป็นฤดูกาลที่แมนฯยูไนเต็ดทำทริปเปิลแชมป์ ซึ่งมีโมเมนต์ให้น่าจดจำมากมาย รวมถึงแมตช์หนึ่งที่หลายคนอาจลืมไปแล้วช่วงต้นซีซัน 1998-99 คือเฉือนชนะคู่อริเก่าแก่ในบ้าน เป็นเกมที่สองฝ่ายเปิดเกมบุกมอบความบันเทิงให้ผู้ชมทั้งในสนามและทางบ้าน เกมน่าจะลงเอยด้วยผลเสมอจกระทั่งนิคกี บัตต์ ส่งกองเชียร์ทีมเยือนกลับบ้านด้วยความผิดหวัง

2002: แมนฯยูไนเต็ด 4 ลีดส์ 3

ลีดส์เป็นทีมหนึ่งที่สร้างผลงานได้โดดเด่นขณะเปลี่ยนผ่านศตวรรษใหม่ ส่วนแมนฯยูไนเต็ดก็ครองความยิ่งใหญ่ภายใต้การกุมบังเหียนของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทั้งสองเตะกันอย่างดุเดือดที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด สกอร์ยันกันที่ 3-3 ก่อนโอเล กุนนาร์ โซลส์ชาร์ จะทำประตูชัยให้ทีมปีศาจแดง

2010: แมนฯยูไนเต็ด 0 ลีดส์ 1

ลีดส์เริ่มเจอวิกฤติการเงินราวปี 2001 แถมรายได้หดหายเพราะไม่ได้เล่นแชมเปียนส์ ลีก สองปี ถึงขนาดยอมขายริโอ เฟอร์ดินานด์ ให้แมนฯยูไนเต็ดในราคาเฉียด 30 ล้านปอนด์ ปัญหานอกสนามส่งผลต่อฟอร์มในสนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลีดส์ลงไปอยู่แชมเปียนชิพ ซีซัน 2004-05 และลีกวัน ซีซัน 2007-08 ก่อนกลับมาเล่นลีกสูงสุดในซีซัน 2020-21 

เดือนมกราคม 2010 ลีดส์ ซึ่งเล่นอยู่ในลีกวันและได้แชมป์ซีซันนั้น ถูกจับสลากไปเยือนโอลด์ แทรฟฟอร์ด รอบสาม เอฟเอ คัพ แต่ลีดส์ล้มยักษ์ด้วยประตูเดียวของเยอร์เมน เบคฟอร์ด เป็นครั้งแรกที่เซอร์เฟอร์กูสันแพ้ทีมต่ำลีกกว่าในบอลถ้วยเก่าแก่รายการนี้ แต่แมนฯยูไนเต็ด ยังจบซีซัน 2009-10 ด้วยแชมป์ลีกคัพและรองแชมป์พรีเมียร์ลีก

สงครามกุหลาบยังเกี่ยวข้องกับสองพี่น้องตำนานทีมชาติอังกฤษ แจ็คกีและบ็อบบี ชาร์ลตัน ซึ่งอายุต่างกันสองปี แจ็คกีเป็นวันแมนคลับ เล่นให้ลีดส์ทีมเดียวระหว่างปี 1952 ถึง 1973 บ็อบบีเล่นให้แมนฯยูไนเต็ดระหว่างปี 1956 ถึง 1973 ก่อนย้ายไปเพรสตัน นอร์ธ เอนด์ และทีมอื่น ๆ 

พี่น้องชาร์ลตันเป็นนักเตะที่เล่นเกม Pennines derby มากที่สุดของสองสโมสร แจ็คกี 27 นัดรวมทุกรายการเท่ากับพอล เรียนีย์ ซึ่งอยู่กับลีดส์ระหว่างปี 1962 ถึง 1978 ส่วนบ็อบบีลงสนาม 29 นัดรวมทุกรายการ และยังทำสกอร์ได้มากที่สุดคือ 9ประตู ส่วนเจ้าของสถิติสูงสุดฝั่งลีดส์ได้แก่ มิค โจนส์ 7 ประตู

สำหรับสถิติน่าสนใจอื่น ๆ ของสงครามกุหลาบ

พบกันครั้งแรก: 20 มกราคม 1923 ฟุตบอลดิวิชั่นสอง (หรือแชมเปียนชิพในปัจจุบัน) เจ้าบ้าน แมนฯยูไนเต็ดเสมอลีดส์ 0-0 

ชนะมากที่สุดรวมทุกรายการ: ลีดส์ชนะแมนฯยูไนเต็ด 5-0 ฟุตบอลดิวิชั่นหนึ่ง ที่เอลแลนด์ โรด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1930 และแมนฯยูไนเต็ดชนะลีดส์ 6-0 ฟุตบอลดิวิชั่นหนึ่ง ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด เมื่อวันที่ 9 กันยายน 1959

คนดูในสนามมากที่สุด: ที่เอลแลนด์ โรด 52,368 คน ลีดส์แพ้แมนฯยูไนเต็ด 0-1 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 1965 และที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด 74,526 คน แมนฯยูไนเต็ด แพ้ลีดส์ 0-1 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2010

คนดูในสนามน้อยที่สุด: ที่เอลแลนด์ โรด 10,596 คน ลีดส์ชนะแมนฯยูไนเต็ด 3-1 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1930 และที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด 9,512 คน แมนฯยูไนเต็ดแพ้ลีดส์ 2-5 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 1931

ทำประตูมากที่สุดในหนึ่งนัด (3 ประตู): มิค โจนส์ (ลีดส์) วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1972, สแตน เพียร์สัน (แมนฯยูไนเต็ด) วันที่ 27 มกราคม 1951, เดนนิส ไวโอลเลต (แมนฯยูไนเต็ด) วันที่ 21 มีนาคม 1959, แอนดี ริทชี (แมนฯยูไนเต็ด) วันที่ 24 มีนาคม 1979, บรูโน แฟร์นานเดส (แมนฯยูไนเต็ด) วันที่ 14 สิงหาคม 2021

การย้ายทีมระหว่างคู่อริตะวันตกเฉียงเหนือ

เป็นที่รู้กันดีว่าแฟนบอลจะไม่พอใจมาก ๆ ถ้านักเตะย้ายไปเล่นให้ทีมคู่อริโดยเฉพาะย้ายแบบตรง ๆ ไม่แวะเล่นให้ทีมอื่นก่อน ตัวอย่างช่วงตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว คัลวิน ฟิลลิปส์ มิดฟิลด์ตัวรับทีมชาติอังกฤษของลีดส์ ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งที่แมนฯยูไนเต็ดต้องการเอาไปแก้ปัญหากองกลาง แต่สื่อมองว่าเป็นไปได้ยากเพราะฟิลลิปส์ไม่ใช่เป็นนักเตะในทีมลีดส์ แต่ยังเกิดในเมืองลีดส์ และพัฒนาฝีเท้ากับอะคาเดมีของลีดส์ (2010-2014) ก่อนเล่นให้ทีมชุดใหญ่ครั้งแรกในปี 2015 และในที่สุด ฟิลลิปส์ก็เซ็นสัญญากับแมนฯซิตีด้วยค่าตัว 49 ล้านยูโร

บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมลีดส์ไม่เป็นคู่อริกับแมนฯซิตี เพื่อนบ้านของแมนฯยูไนเต็ด ซึ่งมีคำตอบจากฝั่งแฟนบอลลีดส์ว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” และอีกอย่างสีเสื้อของแมนฯยูไนเต็ดเป็นปัจจัยที่สร้างประวัติศาสตร์สงครามกุหลาบขึ้นมา

อลัน สมิธ เป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจน เขาเกิดในรอธเวลล์ เมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของซิตี ออฟ ลีดส์ เติบโตจากอะคาเดมีของลีดส์ และเล่นทีมชุดใหญ่ในปี 1998 แถมเปิดตัวได้แจ๋วในวัยเพียง 18 ปี สามารถทำประตูลิเวอร์พูลได้ด้วย สมิธจบซีซันแรกด้วย 9 ประตูจาก 26 นัดรวมทุกรายการ

ปี 2002 นักข่าวถามสมิธว่าถ้ามีสักสโมสรที่ไม่คิดอยากเล่นให้บ้างไหม เขาตอบว่า “มีซิ แมนฯยูไนเต็ด ไงล่ะ” และกระทั่งลีดส์ตกพรีเมียร์ลีกในปี 2004 สมิธยังให้สัมภาษณ์ว่าเขาจะลงเล่นแชมเปียนชิพเพื่อกอบกู้สโมสรขึ้นมาใหม่ แต่ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา สมิธเซ็นสัญญาย้ายไปสวมยูนิฟอร์มปีศาจแดง ทำให้แฟนบอลโกรธมากเหมือนถูกนักเตะขวัญใจทรยศ

จากข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ นักเตะลีดส์ที่ย้ายไปอยู่โอลด์ แทรฟฟอร์ด โดยตรงมีจำนวน 6 คน เริ่มจากโจ จอร์แดน วันที่ 4มกราคม 1978 ค่าตัว 350,000 ปอนด์ ตามด้วยกอร์ดอน แม็คควีน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1978 ค่าตัว 500,000 ปอนด์, อาร์เธอร์ เกรแฮม วันที่ 1 สิงหาคม 1983 ค่าตัว 65,000 ปอนด์, เอริค คันโตนา วันที่ 12 พฤศจิกายน 1992 ค่าตัว 1.2 ล้านปอนด์, ริโอ เฟอร์ดินานด์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2002 ค่าตัว 29.1 ล้านปอนด์ และอลัน สมิธ วันที่ 26 พฤษภาคม 2004 ค่าตัว 7 ล้านปอนด์

ส่วนที่ย้ายจากแมนฯยูไนเต็ดไปอยู่เอลแลนด์ โรด มีจำนวน 10 คน คนแรกคือ เฟรดดี กู้ดวิน วันที่ 16 มีนาคม 1960 ค่าตัว 10,000 ปอนด์ ตามด้วยจอห์นนี กิลส์ วันที่ 1 สิงหาคม 1963 ค่าตัว 33,000 ปอนด์, ไบรอัน กรีนฮอฟฟ์ วันที่ 1 สิงหาคม 1979 ค่าตัว 350,000 ปอนด์, กอร์ดอน สตรัคคัน วันที่ 2 มีนาคม 1989 ค่าตัว 300,000 ปอนด์, ลี ชาร์ป วันที่ 14 สิงหาคม 1996 ค่าตัว 4.5 ล้านปอนด์, แดนนี พัคห์ วันที่ 27 พฤษภาคม 2004 เป็นส่วนในดีลของอลัน สมิธ, เลียม มิลเลอร์ วันที่ 4พฤศจิกายน 2005 ยืมตัว, สกอตต์ วูตตัน วันที่ 21 กันยายน 2013 ไม่เปิดเผยข้อมูล, แคเมรอน บอร์ธวิก-แจ็คสัน วันที่ 7สิงหาคม 2017 ยืมตัว และดาเนียล เจมส์ วันที่ 31 สิงหาคม 2021 ค่าตัว 25 ล้านปอนด์

ลีดส์หวังซื้อเออร์วิน แต่กลับเสียคันโตนา

มีนักเตะคนหนึ่งที่น่าพูดถึงแม้ไม่ได้อยู่ในลิสต์ 16 คนแต่เคยเล่นทั้งลีดส์และแมนฯยูไนเต็ดเพียงไม่ได้ย้ายทีมโดยตรง แถมเป็นผู้เล่นที่ประสบสำเร็จสูง ได้รับการยกย่องในฝีเท้า เขาคือ เดนิส เออร์วิน ซึ่งว่ากันว่าเป็นหนึ่งในฟูลแบ็คยอดเยี่ยมตลอดกาลของพรีเมียร์ลีก แต่ขณะเดียวกัน เขาถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริงมาก 

เออร์วินเคยอยู่ในทีมเยาวชนของลีดส์เมื่อปี 1983 และขึ้นชุดใหญ่ปีเดียวกัน เล่นให้ลีดส์ 72 นัดในบอลดิวิชันสอง ก่อนย้ายไปอยู่โอลด์แฮมแบบฟรีค่าตัวในปี 1986 เขาช่วยทีมเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศลีกคัพปี 1990 แต่แพ้ฟอเรสต์ 0-1 ซึ่งปีเดียวกัน แมนฯยูไนเต็ดซื้อแบ็คชาวไอริชด้วยรคา 625,000 ปอนด์

เออร์วินเป็นนักเตะปีศาจแดง 12 ปี ลงเล่นพรีเมียร์ลีก 296 นัด คว้าแชมป์ 7 สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 2 สมัย, แชมป์ลีก คัพ 1 สมัย และแชมป์แชมเปียนส์ลีก ปี 1999 ลีดส์เคยพยายามซื้อตัวเออร์วินกลับถิ่นประมาณปลายปี 1992 แต่การเจรจาครั้งนั้นนำไปสู่การที่แมนฯยูไนเต็ดได้เพชรเม็ดงามจากเอลแลนด์ โรด เขาคือ เอริค คันโตนา

คันโตนาย้ายถิ่นฐานมาอยู่พรีเมียร์ลีกหลังประสบปัญหาวุ่นวายในฝรั่งเศส ก่อนพบบ้านใหม่ที่ลีดส์หลังทดสอบฝีเท้ากับเชฟฟิลด์ เวนสเดย์ เขาครองแชมป์ดิวิชันหนึ่งกับลีดส์ในซีซัน 1991-92 แต่กลับไม่สามารถแย่งตำแหน่งตัวจริง นั่นเปิดโอกาสให้เซอร์เฟอร์กูสันคว้าตัวไป

มีเรื่องเล่าวว่า ลีดส์อยากซื้อเออร์วินและถูกปฏิเสธ แต่ตอนนั้น เซอร์เฟอร์กูสันต้องการกองหน้าตัวใหม่ ข้อเสนอซื้อตัวเดวิด เฮิร์สต์, แมทท์ เลอ ทิสซิเยร์ และไบรอัน ดีน โดนปฏิเสธ การติดต่อกับลีดส์ทำให้ยอดกุนซือชาวสกอตต์เห็นโอกาสเซ็นสัญญากับคันโตนา เรื่องราวจากนั้นถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เรียบร้อย

แม้คันโตนาอยู่กับแมนฯยูไนเต็ดไม่ถึงห้าปีเพราะตัดสินใจแขวนสตั๊ดหลังจบซีซัน 1996-97 แต่มีส่วนในความสำเร็จ แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย และแชมป์เอฟเอ คัพ 2 สมัย แต่ที่สำคัญเป็นรากฐานสำคัญที่สร้างให้แมนฯยูไนเต็ดครองความยิ่งใหญ่นานถึงสองทศวรรษโดยสโมสรจ่ายเงินซื้อตัวจากลีดส์แค่ 1.2 ล้านปอนด์

Game of Thrones จุดเริ่มต้นของสงครามกุหลาบ

ประวัติศาสตร์ความเป็นคู่อริของลีดส์กับแมนฯยูไนเต็ด ต้องย้อนกลับไปไกลถึงกลางศตวรรษที่ 1500 เมื่อราชวงศ์แลงคัสเตอร์กับราชวงศ์ยอร์คสู้รบเพื่อแย่งความเป็นใหญ่ในอังกฤษ ทั้งสองต่างอ้างสิทธิ์ครองบัลลังก์เนื่องจากต่างสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ที่ปกครองอังกฤษช่วงปี 1327 ถึง 1377

ราชวงศ์แลงคัสเตอร์มีสัญลักษณ์เป็นกุหลาบแดง ส่วนราชวงศ์ยอร์คมีสัญลักษณ์เป็นกุหลาบขาว สงครามชิงบัลลังก์ครั้งนั้นจึงถูกเรียกขานว่า The War of Roses และต้องเพิ่มข้อมูลด้วยว่า แมนเชสเตอร์เป็นดินแดนส่วนหนึ่งในแลงคัสเชียร์ แมนฯยูไนเต็ดใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ ส่วนลีดส์ใช้สีขาวและอยู่ในยอร์คเชียร์

หลังหมดยุคสงครามที่ใช้ดาบและหอก การต่อสู้ระหว่างแมนเชสเตอร์กับลีดส์ยังดำเนินต่อไปในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ ทั้งสองเมืองใหญ่อยู่ใกล้กันและเป็นคู่แข่งกันโดยตรงเพื่อสร้างเสริมความมั่งคั่งของภูมิภาค บ่อยครั้งที่ความสำเร็จของเมืองหนึ่งหมายถึงความล้มเหลวของอีกเมือง

ในส่วนของฟุตบอล ถึงแม้สองสโมสรจะแข่งขันครั้งแรกเมื่อต้นปี 1923 ในดิวิชันสอง แต่สงครามบนสนามหญ้าจริง ๆ น่าจะเกิดขึ้นในอารมณ์แฟนบอลตอนที่มีผู้จัดการทีมชื่อ แมทท์ บัสบี และ ดอน เรวี

ทศวรรษที่ 1960 แมนฯยูไนเต็ดและลีดส์ถูกสร้างทีมโดยสุดยอดผู้จัดการทีม สองฝ่ายห่ำหั่นกันดุเดือดราวกับทำสงครามเมื่อเจอกัน หนึ่งในตำนานคือรอบรองชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ปี 1965 เมื่อเกิดเหตุวิวาทระหว่างสองดาวดัง เดนิส ลอว์ และแจ็คกี ชาร์ลตัน ซึ่งหนังสือพิมพ์ยอร์คเชียร์ตีข่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายทำตัวเหมือนสุนัขตะคอกและคำรามใส่กันเพื่อแย่งกระดูก”

ลีดส์ชนะสงครามกุหลาบนัดรีเพลย์ก่อนไปแพ้ลิเวอร์พูลในนัดชิงชนะเลิศ ขณะที่แมนฯยูไนเต็ดครองแชมป์ดิวิชั่นหนึ่งด้วยการเฉือนลีดส์เพียงผลต่างประตู

สงครามกุหลาบยังดำเนินต่อไป ทั้งสองทีมยังใส่กันเกินร้อยทุกครั้งที่พบกัน ไม่ว่าทศวรรษที่ 1970 ซึ่งลีดส์เป็นทีมชั้นนำของอังกฤษ แมนฯยูไนเต็ดได้ลุ้นเพียงบอลถ้วย หรือทศวรรษ 2000 ที่แมนฯยูไนเต็ดครองความยิ่งใหญ่ ลีดส์เจอวิกฤติการเงินและร่วงลงไปถึงเทียร์สาม

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

บันทึกความสำเร็จของ “โชเซ มูรินโญ” ในวัยแซยิดกับการก้าวสู่ปีที่ 23 บนถนนกุนซือ

เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา โชเซ มูรินโญ มีอายุครบแซยิดหรือ 60 ปี ผ่านชีวิตผู้จัดการทีมกว่าสองทศวรรษนับตั้งแต่นั่งเก้าอี้ตำแหน่งใหญ่ที่เบนฟิการะยะสั้น ๆ สองเดือนครึ่งช่วงปลายปี 2000 “เดอะ สเปเชียล วัน” เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญที่สร้างสีสันทั้งโทนสว่างและมืดให้วงการลูกหนังโลก

ถ้าเทียบกับวัฏจักรชีวิตเฮดโค้ชอาชีพแถวหน้าโดยเฉลี่ย มูรินโญเพิ่งเดินบนถนนสายนี้แค่ครึ่งทาง ยังสามารถคุมทีมต่อไปสองทศวรรษไม่ยาก แต่เท่าที่ผ่านมาต้องถือว่ากุนซือชาวโปรตุกีสประสบความสำเร็จสูงกว่าคนวัยเดียวกัน มูรินโญเป็นผู้จัดการทีมให้เก้าสโมสร คว้าโทรฟีไปแล้ว 26 ใบ นับตั้งแต่เป็นนายใหญ่ที่ปอร์โตเมื่อปี 2002 จนถึงปัจจุบัน มีเพียงท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ที่เขาไม่สามารถนำถ้วยรางวัลมาประทับตู้โชว์สโมสร

ความสำเร็จระดับทวีป มูรินโญชูโทรฟีมาแล้วทั้งแชมเปียนส์ ลีก (สองสมัย), ยูฟา คัพ (ชื่อขณะนั้น), ยูโรปา ลีก แม้กระทั่งยูโรปา คอนเฟอเรนซ์ คัพ ในซีซันแรกที่จัดแข่งรายการนี้ ส่วนสังเวียนในประเทศ มูรินโญนำแชมป์ลีกสูงสุด 4 ชาติรวม 8 ซีซันมามอบให้กับปอร์โต (2002–2004), เชลซี 2004–2007 และ 2013-2015), อินเตอร์ มิลาน (2008–2010) และเรอัล มาดริด (2010–2013)

มูรินโญยังมีเกียรติประวัติส่วนตัวมากมายเช่น FIFA World Coach of the Year ปี 2010, Premier League Manager of the Season สามสมัย, Serie A Coach of the Year สองสมัย, UEFA Manager of the Year สองสมัย, Portuguese Coach of the Century เมื่อปี 2015 เป็นต้น เขายังครอบครองสถิติโลกจากการบันทึกของกินเนสส์อาทิ ผู้จัดการทีมอายุน้อยที่สุดที่คุมทีมแข่งขันแชมเปียนส์ ลีก 100 นัด (49 ปี 12 เดือน), ไม่แพ้แมตช์เหย้าบอลพรีเมียร์ลีกติดต่อกันมากที่สุด (77 นัด), เสียประตูน้อยที่สุดในพรีเมียร์ลีกหนึ่งซีซัน (15 ประตู) เป็นต้น

แต่มูรินโญเคยมีช่วงที่ถูกสบประสาทว่าเป็นผู้จัดการตกยุคพ้นสมัยไปแล้ว (ทั้งที่อายุห้าสิบปีเศษ) เริ่มจากที่แมนฯยูไนเต็ด (2016–2018) ซึ่งแม้คว้าแชมป์ลีกคัพและยูโรปา ลีก แต่ไม่สามารถนำถ้วยพรีเมียร์ลีกกลับสู่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ตามมาที่ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ (2019–2021) ซึ่งมูรินโญเก็บข้าวของออกจากกรุงลอนดอนโดยไม่มีเหรียญรางวัลใดๆติดมือ ก่อนกู้ศรัทธาคืนสู่โปรไฟล์ที่โรมาหลังจากชนะเลิศคอนเฟอเรนซ์ คัพ คัพ ในซีซันแรกที่คุมทีมจัลโลรอสซี เขายังเหลือสัญญากับโรมาถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2024 หรือหลังจบซีซันหน้า

5 อันดับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอาชีพผู้จัดการทีม

แจ็ค ออตเวย์ นักข่าวเซ็คชันเอ็กซ์เพรสส์ สปอร์ต ของสื่อเดลี เอ็กซ์เพรสส์ ได้จัดความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาชีพผู้จัดการทีมของมูรินโญไว้ 5 อันดับดังนี้

⚽️ อันดับ 5 : ดับเบิลแชมป์ของแมนฯ ยูไนเต็ด

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2015 เชลซีแถลงข่าวแยกทางเป็นครั้งที่สองกับมูรินโญหลังจากทีมแพ้ 9 จาก 16 นัดบอลพรีเมียร์ลีก แต่แค่ครึ่งปี มูรินโญกลับมาเดินบนถนนอังกฤษอีกครั้ง เซ็นสัญญาสามปีพร้อมออปชันปีที่สี่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2016และเพียงสองเดือนเศษ กุนซือโปรตุกีสก็นำโทรฟีใบแรกมาให้ทีมปีศาจแดงเมื่อเอาชนะเลสเตอร์ 2-1 ในเกมเอฟเอ คอมมูนิตี ชิลด์

นั่นเป็นความสำเร็จเล็กๆในซีซันแรกของมูรินโญที่แมนเชสเตอร์โดยฤดูกาล 2016-17 เขายังพาทีมชนะเลิศอีเอฟแอล คัพ และยูโรปา คัพ ส่วนปีที่สอง แมนฯยูไนเต็ดได้รองแชมป์พรีเมียร์ลีกและเอฟเอ คัพ ก่อนพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2018 แต่ถือว่าเป็นมูรินโญเป็นกุนซือที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคโพสต์-เฟอร์กี เพราะนอกจากมูรินโญแล้ว มีหลุยส์ ฟาน กัล คนเดียวที่ชนะเลิศรายการเมเจอร์คือ เอฟเอ คัพ ซีซัน 2015-16 แต่สี่วันต่อมา แมนฯยูไนเต็ดก็ปลดขรัวเฒ่าชาวดัตช์ และเลือกมูรินโญมาสานงานต่อ

⚽️ อันดับ 4: โค่นบัลลังก์ของบาร์เซโลนา

มูรินโญเซ็นสัญญาสี่ปีกับเรอัล มาดริด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2010 เป็นผู้จัดการทีมคนที่ 11 ในรอบเจ็ดปีของโลส บลังโกส แต่ก่อนกุนซือแดนฝอยทองมาที่กรุงมาดริด ดูเหมือนทีมราชันชุดขาวมีโอกาสเพลี่ยงพล้ำปล่อยให้บาร์เซโลนาครองความยิ่งใหญ่บนสังเวียนลีกแดนกระทิงดุ ลิโอเนล เมสซี และเพื่อนๆชนะเลิศลา ลีกา สองสมัยติดต่อกันในซีซัน 2008–09, 2009–10 ก่อนเพิ่มเป็นครั้งที่สามในซีซัน 2010–11 ปีแรกของมูรินโญกับทีมเรอัล มาดริด ซึ่งมีแต้มตามหลังบาร์เซโลนา 4คะแนน

ซีซัน 2011-12 หรือปีที่สองของการทำงาน มูรินโญนำโลส บลังโกส นั่งบัลลังก์ลีกสเปนได้สำเร็จ ชนะถึง 32 นัด เสมอ 4 นัด แพ้เพียง 2 นัด สะสมแต้มได้แตะ 100 คะแนน ทิ้งบาร์เซโลนา 9 คะแนน ลูกทีมของมูรินโญยังทำสกอร์สูงถึง 121 ประตู มีผลต่าง +32 ประตู ทั้งที่ฤดูเดียวกัน บาร์เซโลนายังโชว์ฟอร์มระดับท็อป ได้ 114 ประตู เสียเพียง 29 ประตู ผลต่าง +29ประตู และเมสซีได้ตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดที่ตัวเลข 50 ประตู ขณะที่คริสเตียโน โรนัลโด ตามมาติด ๆ เป็นรองแค่ 4 ประตู ทั้งสองทิ้งอันดับสาม ราดาเมล ฟัลเกา ของแอตเลติโก มาดริด ที่ทำได้ 24 ประตู

วันที่ 22 พฤษภาคม 2012 มูรินโญเซ็นสัญญาใหม่สี่ปีกับมาดริด แต่หลายเดือนต่อมาในห้องแถลงข่าวหลังรอบรองชนะเลิศ นัดสอง ของแชมเปียนส์ ลีก ที่เพิ่งโดนโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เขี่ยตกรอบ มูรินโญพูดเป็นนัยๆว่า นี่อาจเป็นฤดูกาลสุดท้ายของเขาที่มาดริด นักข่าวระบุว่าเขาไม่กินเส้นกับขาใหญ่ของทีมอย่างกัปตันทีม อิเกร์ กาซิยาส, เซร์คิโอ รามอส และโรนัลโด รวมถึงมีความสัมพันธ์ค่อนข้างแย่กับสื่อมวลชนสเปน

หลังแพ้แอตเลติโก มาดริด นัดชิงชนะเลิศโกปา เดล เรย์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2013 มูรินโญยอมรับว่า ซีซัน 2012-13 เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในอาชีพ และถัดจากนั้นสามวัน ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสร ประกาศแยกทางกับมูรินโญหลังจบฤดูกาลนี้ ซึ่งแชมป์ลา ลีกา ก็กลับไปอยู่ในมือของบาร์เซโลนาอีกครั้ง

⚽️ อันดับ 3: ฤดูกาลแรกที่สโมสรเชลซี

มูรินโญมาถึงสแตมฟอร์ดบริดจ์กลางปี 2004 พร้อมสถาปนาตัวเองเป็น The Special One และลงมือพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเขาเป็นคนพิเศษตัวจริงเสียงจริงเพราะแค่ซีซันแรกที่ทำงานในอังกฤษ เขานำเหล่าขุนพลเชลซีคว้าแชมป์ อีเอฟแอล คัพ และพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2004-05 โดยลิ้มรสความปราชัยแค่นัดเดียว ก่อนที่ปลุกปั้นแฟรงค์ แลมพาร์ด และจอห์น เทอร์รี เป็นนักเตะระดับตำนานของเดอะบลูส์

ไม่กี่เดือนก่อนใช้ชีวิตที่ลอนดอน มูรินโญส่งสัญญาณท้าทายไปยังเซอร์เฟอร์กูสันด้วยการนำทีมปอร์โตส่งแมนฯยูไนเต็ดตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย แชมเปียนส์ ลีก ซีซัน 2003-04 ด้วยสกอร์รวม 3-2 และเขาเซ็นสัญญาสามปีกับเชลซีเมื่อวันที่ 2มิถุนายน 2004 เป็นกุนซือชาวโปรตุกีสคนแรกในพรีเมียร์ลีก มูรินโญพูดในห้องแถลงข่าวว่า “เชลซีมีนักเตะระดับท็อปหลายคน แต่ขอโทษนะถ้าผมดูเหมือนหยิ่งโอหังไปหน่อย (ที่จะบอกว่า) เราก็มีผู้จัดการทีมระดับท็อป แต่ผมเป็นแชมป์ยุโรป (กับปอร์โต) และ I think I’m a special one.”

มูรินโญดึงสตาฟฟ์โค้ชจากปอร์โตมาร่วมงานที่อังกฤษด้วยอย่างเช่น ผู้ช่วยผู้จัดการทีม, โค้ชด้านฟิตเนสส์, หัวหน้าแมวมอง และโค้ชผู้รักษาประตู แต่ยังให้ สตีฟ คลาร์ก ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการทีมต่อไป

โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย สนับสนุนการทำงานของมูรินโญเต็มที่ อนุมัติเงินให้ซื้อนักเตะใหม่กว่า 50 ล้านปอนด์ รวมถึง ดิดิเยร์ ดร็อกบา ที่ย้ายจากมาร์กเซย์ด้วยค่าตัว 24 ล้านปอนด์ มูรินโญพัฒนาทีมใหม่ของเขาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทะยานขึ้นแป้นจ่าฝูงพรีเมียร์ลีกช่วงต้นเดือนธันวาคม 2004 และฉลุยเข้ารอบน็อคเอาท์ แชมเปียนส์ ลีก

มูรินโญนำถ้วยอีเอฟแอล คัพ มาใส่ตู้โชว์ของสโมสรหลังจากชนะลิเวอร์พูล 3-2 (ต่อเวลา) ในนัดชิงชนะเลิศที่คาร์ดิฟฟ์ ส่วนแชมเปียนส์ ลีก เชลซีผ่านบาร์เซโลนาและบาเยิร์น มิวนิก ก่อนหยุดเส้นทางที่รอบรองชนะเลิศเพราะแพ้ลิเวอร์พูลด้วยสกอร์รวม 0-1 จากลูกปัญหาของหลุยส์ การ์เซีย ที่เรียกขานในชื่อระดับตำนานว่า Ghost Goal

เท่านั้นยังไม่พอ มูรินโญเขย่าบัลลังก์เซอร์เฟอร์กูสันด้วยการนำเชลซีชนะเลิศลีกสูงสุดเป็นสมัยแรกในรอบครึ่งศตวรรษ พร้อมสร้างสถิติใหม่เก็บแต้มสูงสุด (ขณะนั้น) สูงถึง 95 คะแนน มากกว่ารองแชมป์ อาร์เซนอล 12 คะแนน แถมยังเสียประตูน้อยที่สุดเพียง 15 ลูกจากชัยชนะ 29 นัด เสมอ 8 นัด แพ้ 1 นัด

⚽️ อันดับ 2 อินเตอร์คว้าทริปเปิลแชมป์ทีมแรกในอิตาลี

แม้คว้าถ้วยแชมป์หกใบในสามปีให้กับเชลซี แต่เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2007 เดอะบลูส์ตัดสินใจแยกทางกับมูรินโญที่มีความเห็นขัดแย้งกับอบราโมวิชและบอร์ดบริหาร ยอดกุนซือว่างงานเกือบปีก่อนเซ็นสัญญาสามปีกับอินเตอร์ มิลาน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2008 หลังจากโรแบร์โต มันชินี ถูกไล่ออกไม่กี่วัน

เช่นเดียวกับมูรินโญ มันชินีประสบความสำเร็จที่อินเตอร์ มิลาน ได้สคูเดตโต 3 สมัยและโคปปา อิตาเลีย 2 สมัย แต่ “เดอะ สเปเชียล วัน” ก็ทำผลงานไม่น้อยหน้าในช่วงสองปีที่อิตาลี แชมป์เซเรีย อา 2 สมัยและโคปปา อิตาเลีย 1 สมัย แต่ที่เหนือกว่าคือ ชนะเลิศแชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาล 2009-10 ด้วยชัยชนะเหนือบาเยิร์น มิวนิก 2-0 เป็นสโมสรแรกของอิตาลีที่ทำทริปเปิลแชมป์ได้สำเร็จ

เพียงวันเดียวหลังนำถ้วยหูใหญ่มาให้อินเตอร์ มูรินโญให้สัมภาษณ์ว่า “น่าเศร้าใจแต่เกือบแน่นอนแล้ว นี่เป็นเกมสุดท้ายของผมกับอินเตอร์ และหากไม่ได้คุมทีมเรอัล มาดริด คุณจะเหมือนมีช่องว่างในอาชีพ” ซึ่งหลังจากนั้น มาดริดและอินเตอร์เริ่มเจรจากันก่อนตกลงค่าชดเชยลงตัวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2010 อินเตอร์ยกเลิกสัญญาให้มูรินโญไปเป็นนายใหญ่ของโลส บลังโกส

กลับมาตอนรับงานที่อินเตอร์ มูรินโญยังใช้สูตรความสำเร็จเดิม ดึงทีมงานเก่าที่คุ้นเคยจากเชลซีและปอร์โต พร้อมเลือกคนในมาเป็นผู้ช่วยได้แก่ จูเซปเป บาเรซี อดีตนักเตะและอดีตเฮดโค้ชอะคาเดมี แต่ต่างจากที่เชลซี มูรินโญประกาศความตั้งใจซื้อผู้เล่นเมเจอร์ไม่กี่คนในตลาดซัมเมอร์ปี 2008 ซึ่งเขาทำตามที่ลั่นวาจาเพียงเซ็นสัญญามันชินี ปีกบราซิล 13 ล้านยูโร, ซัลลีย์ มุนตารี มิดฟิลด์กานา 14 ล้านยูโร และริคาร์โด ควาเรสมา ปีกโปรตุกีส 18.6 ล้านยูโรพ่วงแถมเปเล่ มิดฟิลด์ดาวรุ่งโปรตุกีส

มูรินโญประเดิมซีซัน 2008-09 ด้วยถ้วยซูเปอร์โคปปา อิตาเลีย ก่อนปิดฤดูกาลด้วยตำแหน่งสคูเดตโต ทิ้งห่างเอซี มิลาน ถึง 10 คะแนน แต่แพ้ซามพ์โดเรียในรอบตัดเชือกโคปปา อิตาเลีย และสุดทางแชมเปียนส์ ลีกแค่รอบแรกของการน็อคเอาท์เพราะแพ้แมนฯยูไนเต็ดด้วยสกอร์รวม 0-2 ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แฟนบอลอย่างมาก แต่มูรินโญก็แก้ตัวด้วยสามแชมป์ในซีซัน 2009-10

⚽️ อันดับ 1 : ปอร์โตผงาดครองเจ้าสโมสรทวีปยุโรป

ก่อนหน้าปี 2004 ไม่มีใครคิดว่าทีมอย่างปอร์โตจะชนะเลิศถ้วยใบใหญ่ที่สุดของยุโรปแม้ฤดูก่อนหน้า มูรินโญเพิ่งพาทีมครองแชมป์ยูฟา คัพ ฤดูกาล 2002-03 แต่เขาสร้างปาฏิหาริย์ เดินผ่านแมนฯยูไนเต็ด เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศแชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาล 2003-04 ในสภาพที่คู่แข่งอย่างโมนาโกต้านทานไหวและแพ้ไป 0-3

มูรินโญรับตำแหน่งผู้จัดการทีมปอร์โตเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2002 ตอนนั้น “เดอะ ดรากอนส์” อยู่อันดับ 5 บนตารางลีก แต่มูรินโญพาปอร์โตจบซีซัน 2001-02 ด้วยอันดับ 3 หลังชนะ 11 จาก 15 นัด และให้สัญญาว่าจะพาสโมสรสู่ตำแหน่งแชมป์ปีหน้า 

ช่วงเตรียมทีมก่อนฤดูกาล 2002-03 มูรินโญติวเข้มยกระดับความฟิตของลูกทีมเพื่อรองรับการเล่นแบบ “pressão alta” หรือไฮเพรสส์นั่นเอง ผลลัพธ์คือ ปอร์โตชนะ 27 นัด เสมอ 5 นัด แพ้ 2 นัด ครองแชมป์ปรีไมรา ลีกา ด้วย 86 คะแนน เป็นสถิติใหม่ของลีกแดนฝอยทอง แถมทิ้งห่างรองแชมป์ เบนฟิกา ทีมเก่าของเขา 11 คะแนน แค่นั้นยังไม่พอในเดือนพฤษภาคม 2003 ปอร์โตยังชนะเลิศบอลถ้วยโปรตุเกสและยูฟา คัพ ด้วยชัยชนะเหนือเซลติก

ฤดูกาลต่อมา มูรินโญนำดับเบิลแชมป์แบบเต็มแม็กซ์มาให้ปอร์โต ปรีไมรา ลีก และแชมเปียนส์ ลีก จากนั้นต้นเดือนมิถุนายน 2004 มูรินโญออกไปหาความท้าทายที่อังกฤษกับเชลซีเป็นรอบแรก

หากอยากพัก ผู้จัดการทีมชาติเป็นทางเลือกที่ดี

ไม่มีใครปฏิเสธความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของมูรินโญตลอด 22 ปีเศษในฐานะผู้จัดการทีม แต่ยอดกุนซือวัย 60 ยังไม่เคยลงสมรภูมิลูกหนังระดับนานาชาติ ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่น้อยหากมูรินโญรู้สึกเหนื่อยล้าจากงานและความรับผิดชอบที่หนักแบบวันต่อวัน การคุมทีมชาติเป็นตัวเลือกที่ดี

ที่ผ่านมา มีข่าวมูรินโญถูกทาบทามจากสมาคมฟุตบอลแห่งชาติของบางประเทศ รวมถึงข่าวลือล่าสุดที่อาจคุมทีมชาติโปรตุเกสแทนเฟร์นันโด ซานโตส ที่ล้มเหลวจากเวิลด์คัพที่กาตาร์ แต่แล้วตำแหน่งกลับตกเป็นของชาวสเปนอย่างโรแบร์โต มาร์ตีเนซ ทั้งที่นับแต่ปี 1935 โปรตุเกสมีเฮดโค้ชเป็นคนต่างชาติแค่สองคนคือ ออตโต กลอเรีย และเฟลิเป สโกลารี ทั้งคู่เป็นชาวบราซิล

อีกทางที่เป็นไปได้คือทีมชาติอังกฤษ หากแกเรธ เซาธ์เกต พ้นตำแหน่งในวันข้างหน้า แม้หลายคนมีความเชื่อมั่น ทีมชาติอังกฤษควรคุมทีมโดยคนอังกฤษ แต่มูรินโญเป็นโค้ชยอดฝีมือและผ่านประสบการณ์พรีเมียร์ลีกอย่างโชกโชน อาจได้รับการยกเว้น

แต่ไม่ว่าจะเลือกเดินต่อไปบนเส้นทางแบบไหน มูรินโญยังเป็นผู้จัดการทีมที่สร้างสีสันให้กับวงการอย่างแน่นอน แถมยังไม่มีข่าวหลุดออกมาว่าเขาคิดจะเลิกอาชีพนี้ในระยะเวลาอันใกล้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)