Categories
Column Special Content

ชาบีกับงานสร้าง “บาร์เซโลนา 2.0” ลงมือทันทีหลังคืนสู่บัลลังก์ ลา ลีกา

ชาบี เอร์นานเดซ เคยนิยามสโมสรบาร์เซโลนาไว้หลายวาระว่า เป็นทีมฟุตบอลที่อยู่ยากมากที่สุดในโลก ซึ่งตัวเขาเคยผ่านประสบการณ์มาแล้วทั้งสถานะหัวหน้าโค้ชในตอนนี้และนักฟุตบอลเมื่อครั้งอดีต (1998 – 2015) ก่อนย้ายไปแขวนสตั๊ดที่กาตาร์ (2015 – 2019) หรืออาจย้อนกลับไปขณะอายุเพียง 11 ขวบที่เขาเข้าไปอยู่ในศูนย์ฝึกเยาวชนลา มาเซีย

ตำนานมิดฟิลด์ทีมชาติสเปน ซึ่งปัจจุบันอายุ 43 ปี ขยายความว่า ชัยชนะอย่างเดียวยังไม่เพียงพอสำหรับบาร์เซโลนา แต่ต้องชนะด้วยจิตวิญญาณหรือดีเอ็นเอของสโมสร

แซม มาร์สเดน ผู้สื่อข่าวพิเศษของอีเอสพีเอ็น สื่อใหญ่ระดับโลก กล่าวว่าคงต้องถกเรื่องนี้กันหลายชั่วโมงและต้องย้อนกลับไปรื้อฟื้นวิวัฒนาการช่วง 35 ปีที่ผ่านมาผ่านยุคสมัยของโยฮัน ครัฟฟ์ และเป๊ป กวาร์ดิโอลา แต่สามารถสรุปลักษณะดีเอ็นเอของบาร์เซโลนาด้วย 3 P’s คือ positioning, possession และ pressure

กล่าวคือ บาร์เซโลนาเป็นทีมที่เน้นการบุกและสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ บิลด์อัพเกมจากแบ็คไลน์ไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ, เพรสไฮ, อินเตอร์เพลย์น้อยจังหวะเพียง 1-2 ครั้ง จนทำให้แฟนบอลดูการแข่งขันแบบก้นแทบไม่ติดเก้าอี้ ทำประตูสวยๆที่เหลือเชื่อ แน่นอนต้องชนะแมตช์และคว้าถ้วยชนะเลิศ

ซีซันที่แล้ว (2022-23) ชาบีเพิ่งพาบาร์เซโลนาคว้าแชมป์ลา ลีกา สมัยแรกนับตั้งแต่ปี 2019 แต่ได้รับเสียงวิจารณ์มากมายว่า บาร์เซโลนาชุดนี้ไม่ผ่านครบทุกข้อของดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน (KPI : Key Performance Indicator) โดยเฉพาะโกปา เดล เรย์ รอบรองชนะเลิศ นัดแรก ในเดือนมีนาคม 2023 แม้ลูกทีมของชาบีบุกเฉือนเรอัล มาดริด 1-0 ที่ซานติอาโก เบร์นาเบว

นัดนั้น ชาบีจำเป็นต้องปรับรูปแบบการเล่นเพราะนักเตะบาดเจ็บหลายคน ส่งผลให้ทีมราชันชุดขาวครองบอลมากกว่า 60%แม้นัด 2 ที่สปอติฟาย คัมป์ นู บาร์ซาครองบอลเพิ่มขึ้นเป็น 53% แต่โดนทีมเยือนถลุงยับ 0-4

งานใหญ่ที่รอชาบีอยู่หลังจบซีซัน 2022-23 คือ การสร้างทีมบาร์เซโลนาขึ้นมาใหม่ในเวอร์ชัน 2.0 โดยแหล่งข่าวสโมสรเปิดเผยกับอีเอสพีเอ็นว่า ชาบีต้องการให้ทีมพัฒนาการครองบอลให้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไปนับตั้งแต่เข้ามาคุมทีมแทนโรนัลด์ คูมัน ในเดือนพฤศจิกายน 2021 แม้ซีซันแรก ชาบีสามารถขยับตำแหน่งบนตารางลา ลีกา จากอันดับ 9 ขณะนั้นขึ้นมาจบด้วยอันดับ 2 (แต่ตามหลังเรอัล มาดริด ถึง 13 คะแนน ส่วนซีซันที่ 2 บาร์ซาเข้าวินและอยู่ห่างคู่แข่งเอล กลาซิโก 10 คะแนน)

ชาบีเริ่มวางฐานรากให้ทีมด้วยเกมรับ

ย้อนกลับไปดูการยกเครื่องบาร์เซโลนาในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว ดูเหมือนชาบีเริ่มโฟกัสงานวางฐานรากของทีมกับแนวรับด้วยการซื้อ ฌูลส์ กุนเด และ อันเดรียส คริสเตนเซน เข้ามาเสริม ขณะที่ โรนัลด์ อาเราโฮ และ อเลฆานโดร บัลเด 2 ดาวรุ่งจากทีมสำรอง ได้กลายเป็นกำลังสำคัญของทีมชุดใหญ่ นี่เป็นโฉมหน้าใหม่ของแบ็คโฟร์ โดยผู้รักษาประตูยังเป็น มาร์ค-อันเดร แทร์ ชเตเกน ซึ่งย้ายมาจากโบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค ตั้งแต่ปี 2014 ก่อนที่ อิญญิโก มาร์ติเนซ จะตามมาจากแอธเลติก บิลเบา ในตลาดซัมเมอร์ปีนี้

ซีซันที่ผ่านมา อาซูลกรานาเสียเพียง 20 ประตูในลา ลีกา ถือว่าต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสรเมื่อนับเฉพาะฤดูที่เตะ 38 นัด โดยพวกเขาเฉือนชนะคู่แข่ง 1-0 ถึง 11 นัด บวกกับโชคเข้าข้างในบางนัด เกมรับพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดเทียบกับ 3 ซีซันก่อนหน้าที่เสีย 38 ประตูต่อฤดูกาล โดยเฉพาะกุนเดที่เล่นแบ็คขวา หรืออาเราโฮในบางกรณี เอื้อประโยชน์ให้บาร์ซาปรับแผงหลังเป็นเซ็นเตอร์แบ็ค 3 คนเมื่อจำเป็น

เกมรับดีขึ้นแต่เกมบุกกลับอ่อนลงแม้ได้ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี และ ราฟินญา เข้ามาเสริม แต่บาร์เซโลนาทำได้เพียง 70 ประตูในเกมลีกซีซัน 2022-23 (น้อยกว่าเรอัล มาดริด 5 ประตู) นี่เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 15 ซีซันย้อนกลับไปซีซัน 2008-09 ที่กวาร์ดิโอลาคุมทีมปีแรก ที่พวกเขาทำสกอร์ต่ำกว่า 80 ประตู อีกครั้งคือซีซัน 2021-22 (68 ประตู) ซึ่งชาบีเพิ่งรับงานต่อจากคูมัน โดยช่วงดังกล่าว บาร์ซาถล่มตาข่ายทะลุหลัก 100 ถึง 7 ซีซัน

อย่างไรก็ตาม ชาบีได้ผลวิเคราะห์ออกมาว่า สิ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุงในตลาดกลางปี 2023 คือ หาตัวแทนของ เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาหลังสิ้นซีซัน 2022-23 และหาผู้เล่นที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงสำหรับแดนกลาง แต่ด้วยข้อจำกัดทางการเงินและเงื่อนไขไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ ชาบีจำเป็นต้องลดขนาดทีมลง เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ส่งผลให้ซีซัน 2023-24 มีนักเตะเพียง 19 คนที่ลงทะเบียนในทีมชุดใหญ่ของบาร์เซโลนา แม้กระทั่ง ลามีน ยามาล (อายุ 16 ปี) และ เฟอร์มิน โลเปซ (อายุ 20 ปี) ยังถูกดึงมาใช้งาน

“กานเซโล” สร้างอิมแพ็คต่อรูปแบบการเล่น

แซม มาร์สเดน มองว่า การยืมตัว ชูเอา กานเซโล จากแมนเชสเตอร์ ซิตี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 เป็นตัวบ่งชี้ว่าชาบีต้องการให้รูปแบบการเล่นของบาร์ซาออกไปในรูปแบบไหน กานเซโลสามารถยืนตำแหน่งแบ็คขวา ส่วนกุนเดย้ายไปเป็นเซ็นเตอร์แบ็ค 

ฟูลแบ็คโปรตุกีสสามารถเล่นริมสนามเหมือนเป็นปีก และยังตัดเข้าในเพื่อรับหน้าที่มิดฟิลด์ โดยซีซันนี้ กานเซโลพยายามเลี้ยงบอลผ่านคู่แข่งเฉลี่ย 3.94 ครั้งต่อ 90 นาที ประสบความสำเร็จ 68% ดีกว่ากุนโดที่ซีซันก่อนมีตัวเลข 1.11 ครั้ง และ 50% กานเซโลยังสร้างโอกาส 1.26 ครั้งต่อ 90 นาที ทำ 2 ประตู 1 แอสซิสต์จาก 7 นัด เทียบกับซีซันที่แล้วของกุนโดที่สร้างโอกาส 0.59 ครั้ง ทำ 1 ประตู 3 แอสซิสต์จาก 29 นัดบอลลีก แต่ยิ่งกว่านั้น กานเซโลส่งอิมแพ็คต่อทีมอย่างชัดเจนในพื้นที่ final third

แต่อีกด้านหนึ่งยังมีจุดที่ชาบีต้องหาสมดุลระหว่างเกมบุกและรับ บาร์เซโลนาเสียไปแล้ว 10 ประตูจาก 10 นัดในลา ลีลา ซีซันนี้ ขณะที่ซีซันที่แล้ว กว่าที่พวกเขาจะเสียประตูถึงตัวเลขนี้ต้องรอถึง 31 นัด

ยังมีข้อมูลอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ซีซันที่แล้ว บาร์เซโลนามีค่า xGa (Expected goals against) หรือความเป็นไปได้ที่จะเสียประตูสูงถึง 33.61 แต่ที่เสียจริงเพียง 20 ประตู ส่วนหนึ่งมาจากความเหนียวของแทร์ ชเตเกน แต่ค่า xGa ซีซันนี้เพียง 9.88 เทียบกับเสียจริง 10 ประตู

“บุสเก็ตส์” อำลาสโมสรทำให้ชิ้นส่วนหายไป

ชาบีเปิดเผยว่า ตัวแปรสำคัญในตลาดซัมเมอร์คือ บาร์เซโลนาจะหาตัวแทนบุสเก็ตส์ ซึ่งตอนนี้ย้ายไปเล่นกับอินเตอร์ ไมอามี ได้ดีแค่ไหน แต่เพราะข้อจำกัดเรื่องเงิน ทีมจึงไม่สามารถซื้อเป้าหมายต้นๆอย่าง มาร์ติน ซูบิเมนดี (เรอัล โซเซียดัด) และ โจชัว คิมมิช (บาเยิร์น) แต่กลับต้องนำ โอริโอล โรเมว กลับมาหลังจากมิดฟิลด์ตัวรับวัย 31 ปี ตระเวนเล่นให้กับเชลซี, บาเลนเซีย, ซตุ๊ตการ์ท, เซาแธมป์ตัน และกีโรนา

โรเมวเริ่มซีซันได้ดีก่อนมีเครื่องหมายคำถามเมื่อการแข่งขันผ่านไปโดยเฉพาะเมื่อ เฟรงกี เดอ ยอง บาดเจ็บ โรเมวถุกมองว่าฝีเท้าต่างระดับจากมิดฟิลด์คนอื่นในทีม เดอ ยอง, เปดรี, กาบี และ อิลคาย กุนโดกัน นักวิจารณ์มองว่าบาร์เซโลนาดีขึ้นในจังหวะครองบอลเมื่อไม่มีโรเมว พิจารณาจากผลต่างประตู +17 รวมทุกรายการ เทียบกับ +1 ประตูเมื่อโรเมวลงสนาม

นั่นทำให้มีข่าวออกมาว่า ชาบีต้องการเสริม deep-lying midfielder ซึ่งการแก้ปัญหาระยะสั้น ถ้าเดอ ยอง และเปดรีกลับมาฟิตพร้อมลงสนาม สตาฟฟ์โค้ชยังต้องการให้โรเมวยืนหน้าแบ็คโฟร์ต่อไปหรือไม่

“กุนโดกัน” เผชิญงานท้าทาย creative midfielder

แม้ได้ อิลคาย กุนโดกัน ในวัย 33 ปีมาแบบฟรีๆ แต่นั่นไม่ได้ตอบโจทย์ชาบีที่ต้องการ creative midfielder แหล่งข่าววงในระบุว่า ชาบีรู้สึกถึงความจำเป็นที่ต้องมีตัวเชื่อมระหว่างแนวรับกับแนวรุกในลักษณะของ ซานติ กาซอร์ลา อดีตมิดฟิลด์อาร์เซนอล ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า แบร์นาโด ซิลวา ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยังคงเป็นเป้าหมายของกุนซือวัย 43 ปี แต่คงยากในสภาพเงินกองคลังตอนนี้

กุนโดกันสามารถรับหน้าที่นั้นได้เช่นเดียวกับ เปดรี ซึ่งพลาดลงสนามเพราะบาดเจ็บไปแล้ว 25 นัดนับตั้งแต่ต้นซีซันที่แล้ว บาร์เซโลนาจึงต้องพึ่งพาผลงานสร้างสรรค์ในแดนกลางของกุนโดกัน เขามีสถิติ xA (expected assists) 2.35 ครั้ง อยู่อันดับ 7 ของลา ลีกา และมีจำนวน chances created 21 ครั้ง อยู่อันดับ 5 ซึ่งไม่มีเพื่อนร่วมทีมบาร์ซาคนไหนที่มีผลงานใกล้เคียงเขา เฟร์ราน ตอร์เรส และ กาบี ตามมาห่างๆที่ตัวเลข 10 ครั้งเท่ากัน ขณะที่ ชูเอา เฟลิกซ์, เลวานดอฟสกี และกานเซโล สร้างโอกาสได้คนละ 8 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม สตาฟฟ์โค้ชของชาบีมั่นใจว่า ถ้ากุนโดกันและเปดรีลงสนามด้วยกันนานขึ้น ผลงานน่าจะยกระดับเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้

เกมรุกที่หลากหลายและเหนือการคาดเดา

แม้ปราศจาก เปดรี ดาวรุ่งวัย 20 ปี แต่การเข้ามาของ ชูเอา เฟลิกซ์ และกานเซโล ช่วยให้เกมบุกดีขึ้นผิดหูผิดตาถึงขั้นชาบียกให้เป็นฟอร์มที่ดีที่สุดของบาร์เซโลนานับตั้งแต่คุมทีม ซึ่งเขาหมายถึงการลงตัวจริง 2 นัดแรกของ 2 นักเตะโปรตุกีส ในเกมที่ชนะ 5-0 ติดต่อกันในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบเรอัล เบตีส และรอยัล อันท์เวิร์ป

ชัยชนะดังกล่าวบ่งชี้ถึงสิ่งที่ชาบีพยายามเพิ่มเติมให้ทีมในซีซันนี้ได้แก่ ความหลากหลายและความสร้างสรรค์จากตำแหน่งแบ็คขวาของกานเซโล, การเปิดเกมรุกที่คาดเดาได้ยากของเฟลิกซ์ และความเฉลียวฉลาดของกุนโดกัน แม้ยังขาดความสม่ำเสมอแต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีของทีม

โชคร้ายที่เลวานดอฟสกีและราฟินญาบาดเจ็บ แต่กลับทำให้ชาบีค้นพบ “ความกล้าหาญ” จากนักเตะอะคาเดมี ซึ่งตรงกับคุณลักษณะของลูกทีมที่เขาต้องการคือ พร้อมเสี่ยงไปกับลูกฟุตบอล, ไม่ลังเลที่จะวิ่งเข้าหาฝ่ายตรงข้าม, พยายามผ่านบอลเข้าไประหว่างไลน์ และเล่นโดยปราศจากความกลัว

หนึ่งในตัวอย่างที่ชาบีออกปากเองคือ มาร์ก กุย ซึ่งอายุเพียง 17 ปี ลงสนามให้ชุดใหญ่เป็นครั้งแรกเพียง 30 วินาที กลายเป็นคนทำประตูชัยนาทีที่ 80 ให้บาร์เซโลนาชนะแอธเลติก บิลเบา 1-0 ในบอลลีกนัดที่ 10 ของซีซัน

กุยเป็นผลผลิตล่าสุดที่ได้รับการปลูกฝังดีเอ็นเอจากศูนย์ฝึกลา มาเซีย ก่อนหน้านี้ก็คือ ยามาล ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญที่ทำให้ทีมกลับมาในแมตช์กับกรานาดา และโลเปซ ซึ่งลุกจากเก้าอี้ข้างสนามเพื่อช่วยทีมในเกมกับมายอร์กา ขณะที่ กาบี (อายุ 19 ปี) และ บัลเด (อายุ 20 ปี) ต่างเป็นตัวจริงขาประจำของทีมไปแล้ว

เฟลิกซ์ ซึ่งยืมตัวจากแอตเลติโก มาดริด ตลอดซีซันนี้ มีบทบาทสำคัญอีกคนหนึ่งโดยเฉพาะในสภาวะที่บาร์เซโลนาไม่มีเลวานดอฟสกีและราฟินญาที่บาดเจ็บ ขณะที่ฟอร์มตอร์เรสยังไม่คงเส้นคงวา รวมถึง อุสมาน เดมเบเล และ อันซู ฟาติ ซึ่งย้ายออกจากสโมสร เฟลิกซ์สามารถถอยลงไปในแดนกลาง สร้างสรรค์พื้นที่ว่างและเกมรุก แม้เพิ่งทำได้ 1 ประตูจาก 7 นัดแต่มีค่า xG ถึง 3.07 กระนั้นเชื่อได้ว่าบาร์ซาสามารถคาดหวังจากแนวรุกวัย 23 ปี ได้มากกว่านี้แน่นอน

ชาบีคุมทีมบาร์เซโลนาลงสนามเกิน 100 นัดแล้ว และกำลังจะทำงานครบ 2 ปีเต็มในเดือนพฤศจิกายน 2023 แม้เพิ่งพาทีมกลับมาครองบัลลังก์ลีกสเปนได้หลังว่างเว้นมา 3 ปี แต่นั่นไม่ได้รับประกันได้เลยว่า เขาจะประสบความสำเร็จในซีซันนี้และซีซันต่อๆไป โดยเฉพาะเรอัล มาดริด ยังแสดงถึงความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการสร้างทีม “บาร์เซโลนา 2.0” จึงมีความสำคัญต่ออนาคตของสโมสรยักษ์ใหญ่แห่งแคว้นคาตาลูญญา

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Column

เบนเซม่า VS เลวานดอฟสกี้ : การเริ่มต้นที่ดีของ 2 ดาวยิง “เบอร์ 9” ที่ดีที่สุดในโลก

หากพูดถึงกองหน้าตัวเป้า หรือ Lone striker ที่สามารถยีนระยะในเกมฟุตบอลระดับสูงนานกว่า 10 ปี ก็จะนึกถึงคาริม เบนเซม่า และโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ แม้ว่าอายุจะล่วงเลยมาถึงช่วง 34 – 35 ปีแล้วก็ตาม

และเมื่อบาร์เซโลน่า ได้อาวุธหนักอย่างเลวานดอฟสกี้มาเสริมแนวรุก ดวลความคมกับคาริม เบนเซม่า ดาวเตะเรอัล มาดริด ทำให้ “เอล กลาซิโก้” ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้นอีกหลายเท่าเลยทีเดียว

เหตุการณ์สำคัญจากเกมลาลีกา สเปน นัดที่ 2 ของฤดูกาล 2022/23 ทั้งเบนเซม่า และเลวานดอฟสกี้ ดาวยิงที่สวมเสื้อหมายเลข 9 ด้วยกันทั้งคู่ ต่างเริ่มต้นทำประตูได้เป็นนัดแรก ในสุดสัปดาห์เดียวกัน

ก่อนที่จะมาดวลกันในลีกแดนกระทิงดุ ซีซั่นนี้ ทั้งเบนเซม่า และเลวานดอฟสกี้ ต่างก็พาสโมสรต้นสังกัดประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์ พร้อมทั้งได้รับรางวัลส่วนบุคคลมาครอบครอง จากซีซั่นที่แล้ว

เริ่มจากเบนเซม่า ที่พาเรอัล มาดริด คว้าดับเบิลแชมป์ ทั้งลาลีกา และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก พ่วงด้วยตำแหน่งดาวซัลโว ประจำการแข่งขันทั้ง 2 รายการ ด้วยผลงาน 27 ประตู กับ 15 ประตู ตามลำดับ

ด้วยผลงานที่โดดเด่นสุดๆ กับเรอัล มาดริด เมื่อซีซั่นก่อน ทำให้ดาวยิงชาวฝรั่งเศสวัย 35 ปีรายนี้ มีโอกาสสูงมากๆ ที่จะคว้ารางวัล “บัลลง ดอร์” รวมถึงรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของฟีฟ่า ประจำปีนี้ด้วย

ทางฝั่งของเลวานดอฟสกี้ ที่พาบาเยิร์น มิวนิค คว้าแชมป์บุนเดสลีกา พร้อมกับคว้ารางวัลส่วนตัว ทั้งดาวซัลโวลีกเยอรมัน (35 ประตู) และรางวัลดาวซัลโวลีกยุโรป (โกลเด้น ชูส์) เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน

ตลอด 8 ฤดูกาลที่อยู่กับ “เสือใต้” ศูนย์หน้าชาวโปแลนด์วัย 34 ปี เคยได้รับรางวัลส่วนตัวอื่นๆ เช่น นักเตะยอดเยี่ยมของฟีฟ่า 2 สมัยซ้อน ในปี 2020 และ 2021 รวมถึงกองหน้ายอดเยี่ยมบัลลง ดอร์ ในปี 2021

จนกระทั่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ลาลีกา เดินทางมาถึงนัดที่ 2 ของฤดูกาลนี้ กองหน้าหมายเลข 9 ของ 2 สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งวงการฟุตบอลสเปน สามารถทำประตูได้เป็นนัดแรกให้กับต้นสังกัดของแต่ละคน

เริ่มจากวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม เรอัล มาดริด บุกไปเยือน เซลต้า บีโก้ เบนเซม่า ยิงจุดโทษให้ “ราชันชุดขาว” ขึ้นนำก่อนตั้งแต่นาทีที่ 14 และท้ายที่สุด ทีมของคาร์โล อันเชล็อตติ เก็บชัยชนะด้วยสกอร์ 4 – 1

ต่อด้วยวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม บาร์เซโลน่า บุกไปเยือน เรอัล โซเซียดัด เลวานดอฟสกี้ ได้ลงสนามในวันคล้ายวันเกิดของตัวเอง ยิง 2 ประตู กับ 1 แอสซิสต์ พา “เจ้าบุญทุ่ม” ชนะ 4 – 1 เช่นเดียวกัน

ส่วนนักเตะคนอื่นๆ นอกจากจะเป็นผู้ป้อนบอลให้กองหน้าอันดับ 1 ของแต่ละทีมยิงประตูแล้ว พวกเขาก็สามารถทำประตูด้วยตัวเองได้เช่นกัน และมีสิทธิ์ที่จะแข่งขันในอันดับดาวซัลโวของลาลีกาได้ตลอดเวลา

หลังผ่านไป 2 นัด ผู้นำดาวซัลโวลาลีกาในเวลานี้ คือ บอร์ฆา อิกเลเซียส ของเรอัล เบติส ทำได้ 3 ประตู ส่วน 2 ประตูของเลวานดอฟสกี้ ทำได้เท่ากับอัลบาโร่ โมราต้า, ยาโก้ อัสปาส, ชิมี่ เอบิล่า, อเล็กซ์ บาเอน่า และฆวนมี่

สำหรับนัดต่อไป ทั้งบาร์เซโลน่า และเรอัล มาดริด จะลงเตะในคืนวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม โดย “เจ้าบุญทุ่ม” เปิดบ้านพบเรอัล บายาโดลิด (00.30 น.) ต่อด้วย “ราชันชุดขาว” ออกไปเยือนเอสปันญ่อล (03.00 น.)

ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของคาริม เบนเซม่า และโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ และดูเหมือนว่าทั้งคู่จะมีโอกาสมากที่สุด สำหรับการท้าชิงรางวัล “ปิชิชี่” หรือดาวซัลโวลาลีกา ที่จะทราบผลอย่างแน่นอน ในเดือนมิถุนายน ปีหน้า

Categories
Special Content

นิโก้ กอนซาเลซ : มิดฟิลด์ดาวรุ่ง กับการพิสูจน์ตัวเองครั้งใหม่ที่บาเลนเซีย

นิโก้ กอนซาเลซ ถือเป็นนักเตะดาวรุ่งพุ่งแรงของบาร์เซโลน่า ถูกดันขึ้นมาตั้งแต่ยุคของโรนัลด์ คูมัน และได้กลายมาเป็นผู้เล่นคนสำคัญมาอย่างต่อเนื่องจนถึงยุคของอย่างซาบี้ เอร์นานเดซ กุนซือคนปัจจุบัน

ทว่า “เจ้าบุญทุ่ม” ได้ตัดสินใจปล่อยตัวมิดฟิลด์ดาวรุ่งชาวสเปนวัย 20 ปีรายนี้ ไปให้บาเลนเซีย คู่แข่งร่วมลาลีกา ยืมตัวไปใช้งานจนจบฤดูกาล 2022/23 แม้ว่าจะเพิ่งต่อสัญญาฉบับใหม่ออกไปจนถึงปี 2026 ก็ตาม

ประวัติส่วนตัวของนิโก้ เป็นลูกชายแท้ ๆ ของ ฟราน กอนซาเลซ อดีตกัปตันทีมเดปอร์ติโบ ลา คอรุนญ่า ชุดคว้าแชมป์ลีกสูงสุด เมื่อซีซั่น 1999/2000 รวมทั้งแชมป์โคปา เดล เรย์ 2 สมัย และสแปนิช ซูเปอร์ คัพ 3 สมัย

ความฝันของนิโก้ คือการคว้าแชมป์ลาลีกาตามรอยคุณพ่อของเขา ซึ่งเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า “คุณพ่อดูแลผมอยู่ตลอดเวลา ประสบการณ์ในระดับสูงของคุณพ่อ สามารถช่วยผมได้”

เส้นทางนักฟุตบอลของนิโก้ เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 7 ขวบ กับทีมเยาวชนของมอนตาเนรอส และอีก 4 ปีต่อมา ก็ได้เข้าสู่ “ลา มาเซีย” ศูนย์ฝึกของบาร์เซโลน่า เขาเติบโตอย่างรวดเร็วจนได้ลงเล่นกับทีมสำรองครั้งแรกในวัย 17 ปี

ฟอร์มการเล่นที่โดดเด่นกับทีมสำรอง ทำให้ โรนัลด์ คูมัน เทรนเนอร์ของบาร์ซ่าในเวลานั้น ตัดสินใจดันนิโก้ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่แบบเต็มตัว และได้ลงสนามเป็นนัดแรก ในเกมเปิดฤดูกาล 2021/22 ที่เอาชนะเรอัล โซเซียดัด 4 – 2

เมื่อซีซั่นที่แล้ว บาร์เซโลน่าได้มองถึงนโยบายระยะยาว โดยได้ใช้งานผู้เล่นดาวรุ่งมากขึ้น เพื่อพาสโมสรกลับคืนสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง ทำให้พวกเขาคือทีมที่มีอายุเฉลี่ยของนักเตะน้อยที่สุดเป็นอันดับ 3 ของลาลีกา

ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงกุนซือจากคูมัน มาเป็น ซาบี้ เอร์นานเดซ อดีดตำนานมิดฟิลด์ของเจ้าบุญทุ่ม แต่นิโก้ก็ยังเป็นผู้เล่นคนสำคัญมาโดยตลอด ซึ่งเจ้าตัวลงเล่นไปทั้งหมด 37 นัดรวมทุกรายการ ทำได้ 2 ประตู

สไตล์การเล่นของนิโก้ เป็นนักเตะที่มีวิสัยทัศน์ในการอ่านเกมพื้นที่บริเวณกลางสนาม เล่นได้หลากหลายตำแหน่งในแผงกองกลาง ทั้งมิดฟิลด์ตัวรับที่คอยคุมจังหวะของเกม หรือมิดฟิลด์ตัวรุกที่ขึ้นไปโจมตีแนวรับคู่แข่ง

สโมสรยักษ์ใหญ่จากคาตาลัน ยังคงมั่นใจในศักยภาพของนิโก้ ที่จะสามารถพัฒนาฝีเท้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต จึงตัดสินใจขยายสัญญาฉบับใหม่ อยู่โยงในถิ่นสปอติฟาย คัมป์ นู ต่อไปจนถึงปี 2026

แต่ทางบาร์ซ่า ต้องการให้นิโก้สั่งสมประสบการณ์การค้าแข้งในลีกระดับสูงสุดให้มากขึ้น ด้วยการปล่อยให้ บาเลนเซีย ของเจนนาโร่ กัตตูโซ่ เฮดโค้ชคนใหม่ชาวอิตาเลียน ยืมตัวไปใช้งานจนจบซีซั่นนี้ โดยไม่มีออปชั่นซื้อขาด

นิโก้ ได้โอกาสลงสนามให้กับบาเลนเซียในลาลีกา ฤดูกาลใหม่ ในฐานะตัวสำรองทั้ง 2 นัด รวมทั้งสิ้น 44 นาที เริ่มจากเกมเปิดซีซั่นที่เปิดบ้านชนะกิโรน่า 1 – 0 และนัดล่าสุดที่บุกไปแพ้แอธเลติก บิลเบา 0 – 1

สำหรับบาเลนเซีย ในฤดูกาลใหม่ ยังคงเน้นไปที่การสร้างทีมด้วยนักเตะดาวรุ่งเป็นหลัก ต่อเนื่องจากฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งในเวลานี้ “โลส เช” เป็นทีมที่มีอายุเฉลี่ยของนักเตะน้อยที่สุดในลาลีกา เพียง 23.4 ปีเท่านั้น

นักเตะดาวรุ่งของบาเลนเซียในซีซั่นนี้ อาทิเช่น อูโก้ ดูโร่, ซามูเอล ลิโน่, ยูนุส มูซ่าห์, เธียร์รี่ คอร์เรอา, อูโก้ กิลลามอน และจอร์จี้ มามาร์ดาชวิลี่ ซึ่งนิโก้ กอนซาเลซ ก็พร้อมแล้วกับโอกาสครั้งใหม่ในถิ่นเมสตาย่า

Categories
Special Content

“เลวานดอฟสกี้” ดาวยิงคนใหม่บาร์ซ่า กับ 5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดกองหน้าจอมถล่มประตูที่โดดเด่นและดีที่สุดในศตวรรษที่ 21 การันตีด้วยผลงาน 8 ฤดูกาลกับบาเยิร์น มิวนิค 344 ประตู จาก 375 นัด และคว้าแชมป์ 19 โทรฟี่

แต่ทว่า ดาวยิงทีมชาติโปแลนด์รายนี้ ได้ออกมาประกาศว่า ไม่ขออยู่ค้าแข้งกับบาเยิร์นต่อไป ทั้ง ๆ ที่ยังเหลือสัญญาอยู่อีก 1 ปี ซึ่งทางยักษ์ใหญ่แห่งมิวนิค ก็พยายามที่จะรั้งตัวเขาอย่างสุดความสามารถแล้ว

และในที่สุด เจ้าของรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของฟีฟ่า 2 สมัยซ้อน ตัดสินใจลงจากหลังเสือใต้ที่บาวาเรีย มาเป็นนักเตะคนใหม่ของบาร์เซโลน่าเป็นที่เรียบร้อย ด้วยค่าตัว 45 ล้านยูโร เซ็นสัญญา 4 ปี

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

เลวานดอฟสกี้ เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 8 ขวบ กับทีมเยาวชนของปาร์ติซาน เลซโน่ และวาร์โซเวีย วอร์ซอ ก่อนที่ในปี 2005 จะได้เซ็นสัญญาในระดับอาชีพกับเดลต้า วอร์ซอ, และลีเกีย วอร์ซอ ทีมสำรอง

ปีถัดมา เลวานดอฟสกี้ ย้ายไปค้าแข้งกับซนิคซ์ พรูสซ์คอฟ ลงเล่น 59 นัด ยิง 36 ประตู และอีก 2 ปีให้หลัง ได้ย้ายไปค้าแข้งกับเลช พอซนาน ก็ยังรักษามาตรฐานการจบสกอร์ได้ดี ลงเล่น 58 นัด ยิง 32ประตู

ต่อมาในปี 2010 เลวานดอฟสกี้ ได้เริ่มต้นหาประสบการณ์ค้าแข้งนอกประเทศบ้านเกิด กับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรชั้นนำในบุนเดสลีกา เยอรมนี ที่จ่ายเงินค่าตัว 4.5 ล้านยูโร ให้กับเลซ พอซนาน

ตลอด 4 ปี ของเลวานดอฟสกี้กับดอร์ทมุนด์ ยิงได้ 103 ประตู จากการลงสนาม 187 นัด คว้าแชมป์ได้ 5 รายการ ก่อนที่จะย้ายมาค้าแข้งกับทีมคู่ปรับอันดับ 1 อย่างบาเยิร์น มิวนิค แบบไม่มีค่าตัวในปี 2014

เดือนกันยายน ปี 2015 เลวานดอฟสกี้ ได้สร้างสถิติที่ใครยากจะเทียบได้ ด้วยการยิงคนเดียว 5 ประตู ภายในเวลา 9 นาที เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ลีกสูงสุดเยอรมัน พาบาเยิร์น แซงเอาชนะโวล์ฟบวร์ก 5 – 1

และอีกสถิติหนึ่งที่สำคัญ เกิดขึ้นในซีซั่น 2020/21 เลวานดอฟสกี้ ทำประตูในบุนเดสลีกาได้ 41 ประตู ทุบสถิติเดิมของแกร์ด มุลเลอร์ อดีตตำนานดาวยิงเสือใต้ ที่ทำไว้ 40 ประตู ในซีซั่น 1971/72

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

ในส่วนของการรับใช้ทีมชาติ เลวานดอฟสกี้ ลงเล่นให้กับโปแลนด์มาตั้งแต่ปี 2008 เป็นเจ้าของสถิติอันดับ 1 ตลอดกาล ทั้งการลงสนามมากที่สุด 132 นัด และเป็นดาวซัลโวสูงสุด โดยยิงไป 76 ประตู

เลวานดอฟสกี้ ปิดฉากกับบาเยิร์นอย่างเป็นทางการ พร้อมที่จะเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่กับบาร์ซ่า และนี่คือ 5 เรื่องราวของเขา ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

เป็นครอบครัวนักกีฬาแบบยกบ้าน

ครอบครัวของโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ถือเป็นครอบครัวนักกีฬาอย่างแท้จริง เริ่มจากคุณพ่อคริสตอฟ เป็นอดีตแชมป์ยูโด, คุณแม่อีโวน่า เป็นนักวอลเลย์บอล, มิลีน่า น้องสาว เป็นนักวอลเลย์บอลทีมชาติโปแลนด์รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี แม้กระทั่งแอนนา เลวานดอฟสก้า ภรรยาของเขา เป็นอดีตนักคาราเต้ดีกรีเหรียญทองแดง ในการแข่งขันชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2009

 ไม่ได้ไปอังกฤษ เพราะภัยธรรมชาติ

เมื่อปี 2010 เลวานดอฟสกี้ มีแผนที่จะเดินทางไปที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเยี่ยมชมสโมสรแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส และอาจจะตัดสินใจเซ็นสัญญาค้าแข้งกับ “กุหลาบไฟ” แต่ไม่สามารถเดินทางได้ เนื่องจากเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศไอซ์แลนด์ เป็นอุปสรรคในเส้นทางการบินของยุโรปเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทำให้โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้ตัวเขาไปร่วมทีมในที่สุด

เคยยิง “ราชันชุดขาว” คนเดียว 4 ประตู

เลวานดอฟสกี้ เป็นนักเตะที่รู้จักคุ้นเคยกับเรอัล มาดริดเป็นอย่างดี เพราะได้เผชิญหน้าในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ถึง 8 นัดด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพบกันในรอบรองชนะเลิศ นัดแรก ฤดูกาล 2012/13 เขายิงคนเดียว 4 ประตู ในเกมที่ดอร์ทมุนด์ เปิดบ้านชนะ 4 – 1 ถึงแม้ในนัดสอง “เสือเหลือง” จะบุกไปแพ้ 0 – 2 แต่ยังได้ผ่านเข้าชิงชนะเลิศ ด้วยสกอร์รวม 4 – 3

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

เป็นนักเตะที่ดูแลตัวเองได้ดีเยี่ยม

ซีซั่นสุดท้ายกับบาเยิร์น มิวนิค เลวานดอฟสกี้ ในวัยย่างเข้า 34 ปี ลงเล่น 46 นัด ยิงได้ 50 ประตู ฆาบี มาร์ติเนซ อดีตเพื่อนร่วมทีมของเลวานดอฟสกี้ สมัยที่ค้าแข้งกับ “เสือใต้” เปิดเผยว่า “ในช่วงพรี-ซีซั่น ผมพยายามนำขนมที่เอามาจากสเปน ไปให้เลวานดอฟสกี้ทาน แต่เขาปฎิเสธมาตลอด แม้กระทั่งการเลือกท่านอนหลับ เพื่อรักษาสภาพร่างกายที่ดีไว้”

ชื่นชอบ “ฟอร์มูล่า วัน” ตั้งแต่ยังเด็ก

นอกจากความสนใจในกีฬาฟุตบอลแล้ว เลวานดอฟสกี้ ยังติดตามกีฬาที่เกี่ยวกับความเร็วอย่างฟอร์มูล่า วัน และมีโอกาสได้ไปชมการแข่งขันที่โมนาโก กรังปรีซ์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเจ้าตัวให้สัมภาษณ์ว่า “ผมติดตามฟอร์มูล่า วัน มาตั้งแต่เด็ก และผมยังจดจำมิชาเอล ชูมัคเกอร์ ได้เสมอ สิ่งที่เขาประสบความสำเร็จ มันเป็นอะไรที่เหลือเชื่อจริง ๆ”

บาร์เซโลน่า ได้อาวุธหนักอย่างเลวานดอฟสกี้มาเสริมแนวรุก วัดความคมกับคาริม เบนเซม่า ดาวเตะเรอัล มาดริด เชื่อว่าศึก “เอล กลาซิโก้” ในซีซั่น 2022/23 จะเพิ่มดีกรีความเดือดมากขึ้นอย่างแน่นอน