Categories
Special Content

อุดมการณ์ที่แตกต่าง : เรอัล มาดริด – บาร์เซโลน่า คู่อริที่เป็นมากกว่าเกมฟุตบอล

มาดริด และบาร์เซโลน่า 2 เมืองที่ใหญ่ที่สุดของสเปน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ และความขัดแย้งนั้น ก็ได้ส่งต่อสู่เกมฟุตบอล ที่ดวลบนสนามหญ้ามานานกว่า 100 ปี

การพบกันของ 2 สโมสรลูกหนังที่ดีที่สุดในสเปน และอาจจะดีที่สุดในโลก ระหว่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ถูกเรียกว่า “เอล กลาซิโก้” (El Clásico) เจอกันครั้งใดก็สัมผัสได้ถึงความคลาสสิก

แมตช์นี้ มีความหมายมากกว่าเกมฟุตบอลธรรมดา ๆ เพราะเป็นการต่อสู้ของ 2 เมืองใหญ่ ที่มีความแตกต่างกันทั้งเรื่องเชื้อชาติ และอุดมการณ์ทางการเมืองจากประวัติศาสตร์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

“ราชันชุดขาว” ถูกมองว่าเป็นทีมของฝ่ายอำนาจนิยม ส่วน “เจ้าบุญทุ่ม” คือตัวแทนแห่งเสรีนิยม ที่ต้องการปลดแอกจากเมืองหลวง ทำให้ตกเป็นเป้าหมายในการเล่นงานจากรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งก่อนที่ทั้ง 2 ทีม จะเผชิญหน้ากันในวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคมนี้ ก็มีประเด็นของบาร์เซโลน่า ที่ถูกลาลีกากล่าวหาว่าติดสินบนกรรมการ และเรอัล มาดริด อริตัวแสบ ก็ไม่พลาดที่จะร่วมฟ้องร้องด้วย

“เอล กลาซิโก้” ซีซั่นนี้ ชิ้ทิศทางลุ้นแชมป์

ก่อนการต่อสู้ในยกสอง ที่สปอติฟาย คัมป์ นู สถิติการพบกันในลาลีกา เรอัล มาดริด ชนะ 77 ครั้ง บาร์เซโลน่า ชนะ 73 ครั้ง และเสมอกัน 35 ครั้ง ส่วนจำนวนแชมป์ลีกสูงสุด เรอัล มาดริด 35 สมัย และบาร์เซโลน่า 26 สมัย

สถานการณ์ล่าสุดของการลุ้นแชมป์ลาลีกา 2022/23 บาร์เซโลน่า นำเป็นจ่าฝูง มี 65 คะแนน นำห่างเรอัล มาดริด ทีมอันดับที่ 2 อยู่ 9 แต้ม ผลแข่ง “เอล กลาซิโก้” ครั้งที่ 186 ในลีก จะเป็นตัวชี้ทิศทางการลุ้นแชมป์ของทั้ง 2 ทีม

การจัดอันดับคะแนนในลาลีกา ถ้ามีทีมที่คะแนนเท่ากัน (2 ทีมหรือมากกว่า) จะพิจารณาผลการแข่งขันที่ในแมตช์ที่พบกันเอง (เฮด-ทู-เฮด) เป็นลำดับแรก ซึ่งการใช้กฎเฮด-ทู-เฮดนั้น จะมีผลหลังจากจบฤดูกาลเรียบร้อยแล้ว

การดู “เฮด-ทู-เฮด” ของลีกสเปน จะไม่มีการนับประตูทีมเยือน (อเวย์โกล) ถ้าเฮด-ทู-เฮด เท่ากัน ให้ข้ามไปพิจารณาที่ประตูได้-เสียนับรวมทั้งซีซั่น ซึ่งแมตช์แรกที่ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว เป็นราชันชุดขาว เอาชนะ 3 – 1

ความเป็นไปได้ของผลการแข่งขันในสุดสัปดาห์นี้ ถ้าเรอัล มาดริด เก็บชัยได้ จะจี้บาร์เซโลน่าเหลือ 6 แต้ม และผลงาน “เฮด-ทู-เฮด” ดีกว่า หรือผลเสมอ ก็ตามหลังบาร์เซโลน่า 9 แต้มเท่าเดิม แต่ “เฮด-ทู-เฮด” ยังเหนือกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากบาร์เซโลน่า เป็นฝ่ายชนะ ต้องแยกออกเป็น 3 กรณี ดังต่อไปนี้

– ชนะด้วยผลต่าง 1 ประตู : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม แต่ผลงานเฮด-ทู-เฮด เรอัล มาดริด ยังได้เปรียบ

– ชนะด้วยผลต่าง 2 ประตู : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม ผลงานเฮด-ทู-เฮด เท่ากับเรอัล มาดริด ต้องไปวัดที่ประตูได้-เสีย โดยในตอนนี้ “เจ้าบุญทุ่ม” ได้ 47 เสีย 8 (ผลต่าง +39) ส่วน “ราชันชุดขาว” ได้ 50 เสีย 19 (ผลต่าง +31)

– ชนะด้วยผลต่าง 3 ประตู หรือมากกว่า : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม แถมผลงานเฮด-ทู-เฮด เหนือกว่าเรอัล มาดริด อีกด้วย

เริ่มต้นจากการเป็นมิตร

ก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงมาดริด และเมืองบาร์เซโลน่าจะเป็นศัตรูกันแบบในปัจจุบันนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นมิตรที่ดี เกื้อหนุนกันมาก่อน อาจจะมีการแข่งขันกันบ้างในบางเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งรุนแรง

ในอดีต แคว้นคาตาลุญญ่า คือส่วนหนึ่งของอาณาจักรอารากอน มีเมืองบาร์เซโลน่าเป็นเมืองท่าสำคัญ มีภาษาเป็นของตัวเอง เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสถาปัตยกรรม

ส่วนอาณาจักรกาสติลญ่า ที่มีเมืองมาดริดเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุด เป็นศูนย์กลางในด้านการเมืองการปกครอง มีจุดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ มีมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งรวมผลงานศิลปะ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1469 เมื่อเจ้าชายเฟอร์ดินันด์ที่ 2 แห่งอารากอน ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอิซาเบลลา แห่งกาสติลญ่า ทำให้เกิดการผนวกระหว่าง 2 อาณาจักรใหญ่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิสเปน

จักรวรรดิสเปน คือการหลอมรวมอานาจักรต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งหลังจากจักรวรรดิสเปนเกิดขึ้น เมืองบาร์เซโลน่าเจริญขึ้นมากจากการค้าขายทางเรือ ส่วนเมืองมาดริดค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเมืองหลวงในปี 1561

รอยร้าวเล็ก ๆ ที่ใหญ่ขึ้น

แม้ 2 อาณาจักรใหญ่จะรวมกันเป็นสเปนแล้ว การปกครองก็ยังเป็นอิสระต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างมาดริด และบาร์เซโลน่า ดูเหมือนจะราบรื่น แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นความแตกแยกระหว่างสองเมือง

เหตุการณ์ที่ว่านั้นก็คือ สงครามชิงบัลลังก์ราชวงศ์ ในปี 1714 คาตาลุญญ่าเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ ทำให้ถูกริบสิทธิและอำนาจการปกครองของตัวเอง รวมถึงภาษา วัฒนธรรมของแคว้น ก็ถูกอำนาจของสเปนกดทับไว้

ต่อมาในปี 1808 สงครามคาบสมุทร ที่เกี่ยวเนื่องไปถึงสงครามนโปเลียน เมื่อกองทัพของจักรวรรดิฝรั่งเศส นำโดยจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต ได้ถอนกำลังจากโปรตุเกส และเข้าโจมตีเมืองบาร์เซโลน่า ของสเปนแทน

ทว่าในช่วงเวลาของสงครามคาบสมุทรนั้น สเปนกำลังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้ทหารนับแสนนายไม่สามารถทำอะไรได้ ปล่อยให้จักรวรรดิฝรั่งเศสยึดเมืองบาร์เซโลน่า และส่งคนเข้ามาปกครองสเปนในที่สุด

แม้ในภายหลัง สเปนจะได้เมืองบาร์เซโลน่ากลับคืนมา แต่ความรู้สึกของชาวคาตาลัน ที่ถูกทอดทิ้งจากการต่อสู้กับจักรวรรดิฝรั่งเศส ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายในจิตใจให้คนในเมืองนี้ไปแล้ว

ชิงความเป็นหนึ่งด้วยเกมลูกหนัง

ความขัดแย้งของทั้ง 2 เมือง ก็ได้ส่งต่อไปยังกีฬาฟุตบอลด้วย การก่อตั้งสโมสรเรอัล มาดริด กับบาร์เซโลน่า ที่เป็นตัวแทนของ อุดมการณ์ ซึ่งผลงานในสนาม คือการพิสูจน์ว่าเมืองของตัวเองเหนือกว่าอีกเมืองหนึ่ง

สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่า ก่อตั้งเมื่อปี 1899 และอีก 3 ปีให้หลัง สโมสรฟุตบอลเรอัล มาดริด ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ทั้งคู่ได้พบกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 เมษายน 1902 จบลงด้วยชัยชนะ 3 – 1 ของบาร์เซโลน่า

หลายคนเข้าใจว่า เมืองบาร์เซโลน่าถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียวมาตลอด จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะในบางครั้ง กรุงมาดริดก็เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเทียบเหตุการณ์และความรุนแรงแล้ว ฝ่ายบาร์เซโลน่าโดนหนักกว่ามาก

เหตุการณ์ที่ทำให้ฝ่ายมาดริดโกรธแค้น มีอยู่ 2 เหตุการณ์หลัก ๆ คือเหตุการณ์ที่นักเตะเรอัล มาดริดรายหนึ่ง ถูกลอบสังหารในคาตาลุญญ่า เมื่อปี 1916 แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า เป็นฝีมือของชาวคาตาลันหรือไม่

อีกเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นในนัดชิงชนะเลิศ โคปา เดล เรย์ เมื่อปี 1930 ที่เรอัล มาดริด แพ้ให้กับแอธเลติก บิลเบา ซึ่งต้นเหตุมาจากผู้ตัดสินในนัดดังกล่าว เป็นชาวคาตาลัน ที่ทำหน้าที่ตัดสินแบบค้านสายตา

แตกหักเพราะสงครามกลางเมือง

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของนายพลฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการของสเปน จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองในช่วงปี 1936-1939 ก็ยิ่งทำให้เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ไม่มีวันที่จะญาติดีกันอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

นายพลฟรังโก้ เข้ามาปกครองสเปนตั้งแต่ปี 1936 นิยมแนวคิดแบบขวาจัด ต้องการสร้างสเปนให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งแน่นอนว่า ฝ่ายบาร์เซโลน่าต่อต้านอย่างหนัก เพราะเป็นการลดทอนอัตลักษณ์ของคาตาลุญญ่า

ความคับแค้นของบาร์เซโลน่า ที่มีต่อเรอัล มาดริด เริ่มจากโฆเซป ซูโยล ประธานสโมสรบาร์เซโลนา และสมาชิกของพรรคการเมืองเสรีนิยมแห่งคาตาโลเนียในขณะนั้น ถูกฝ่ายของนายพลฟรังโก้ลอบสังหาร

เท่านั้นยังไม่พอ นายพลจอมฟาสซิสต์รายนี้ ได้จัดการเอาธงคาตาลันออกจากโลโก้ของบาร์ซ่า เปลี่ยนชื่อสโมสรเป็นภาษาสเปน สั่งห้ามพูดภาษาคาตาลัน และส่งคนของตัวเองเข้าไปควบคุมสโมสรแบบเบ็ดเสร็จ

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RealMadrid

สงครามกลางเมืองของสเปน เกิดจากทหารที่เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลฝ่ายซ้าย นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนเผด็จการ กับผู้สนับสนุนเสรีนิยม ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของนายพลฟรังโก้ ในปี 1939

และในปี 1943 เกมโคปา เดล เรย์ ที่เรอัล มาดริด เปิดบ้านถล่มบาร์เซโลน่า 11 – 1 สร้างสถิติชนะขาดลอยที่สุดใน “เอล กลาซิโก้” แต่ชัยชนะในครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีอำนาจมืดจากนายพลฟรังโก้อยู่เบื้องหลัง

ตำนานชิงตัว “ดิ สเตฟาโน่ – ฟิโก้”

นอกจากการแข่งขันในสนามแล้ว ยังมีเหตุการณ์การแย่งชิงนักเตะฝ่ายตรงข้ามที่ถูกเล่าขานระดับตำนาน คือกรณีของอัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ และหลุยส์ ฟิโก้ ซึ่งเป็นเรอัล มาดริด ที่กระทำกับบาร์เซโลน่าถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก เมื่อปี 1953 บาร์เซโลน่า เป็นฝ่ายที่ทาบทามตัว ดิ สเตฟาโน่ ก่อน โดยอ้างว่าได้เซ็นสัญญาล่วงหน้าไปแล้ว แต่เรอัล มาดริด ได้อาศัยช่องว่างด้วยการอ้างกฎอีกฉบับหนึ่ง ที่อาจเป็นอำนาจมืดจากนายพลฟรังโก้

กฎของฟุตบอลลีกสเปนในเวลานั้น คือ การซื้อผู้เล่นต่างชาติ ต้องมีลายเซ็นจากสโมสรต้นสังกัดที่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าเท่านั้น แต่รัฐบาลสเปน กลับออกกฎใหม่โดยให้มีลายเซ็นจากสโมสรต้นสังกัดที่แท้จริง แม้จะไม่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าก็ตาม

ยื้อกันไปยื้อกันมา ทำให้ฟุตบอลลีกสเปน ตัดสินใจให้ทั้ง 2 ทีม สลับกันใช้งาน ดิ สเตฟาโน่ ตลอดเวลา 4 ฤดูกาล และหลังจากนั้น เป็นราชันชุดขาว ที่ได้ตัวไปร่วมทีมอย่างถาวร และกลายเป็นตำนานในถิ่นซานติอาโก้ เบอร์นาเบวในที่สุด

ต่อมาในปี 2000 เรอัล มาดริด สร้างปรากฏการณ์ช็อกวงการฟุตบอลอีกครั้ง ด้วยการดึงตัว หลุยส์ ฟิโก้ นักเตะบาร์เซโลน่า สโมสรคู่ปรับตลอดกาล หลังจากฟลอเรนติโน่ เปเรซ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสโมสร

อันที่จริง เปเรซได้วางแผนฉกฟิโก้ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งประธานของเรอัล มาดริดแล้ว โดยเดิมพันผ่านเอเย่นต์ส่วนตัวของดาวเตะโปรตุกีสรายนี้ว่า ถ้าตัวเขาแพ้เลือกตั้ง ยินดีจ่ายเงินให้ 4 ล้านยูโร แต่ถ้าชนะ ต้องย้ายมาค้าแข้งกับ “โลส บลังโกส” ทันที

ซึ่งเปเรซก็ชนะการเลือกตั้งจริงๆ และได้ตัวฟิโก้มาร่วมทีมสมใจอยาก เรียกว่าเป็นการตบหน้าบาร์เซโลน่าครั้งใหญ่ ทำเอาแฟนๆ อาซุลกราน่าโกรธแค้น ถึงขั้นสาปส่งฟิโก้ว่าเป็น “จูดาส” หรือคนทรยศ เหยียบเมืองบาร์เซโลน่าไม่ได้อีกต่อไป

ถึงอย่างไรก็ขาดกันไม่ได้อยู่ดี

หลังหมดยุคนายพลฟรังโก้ สเปนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในปี 1983 จังหวัดมาดริดได้แยกออกจากแคว้นกาสติย่า จัดตั้งเป็น “แคว้นมาดริด”

แต่จากความขัดแย้งที่สะสมมานานตั้งแต่สมัยนายพลฟรังโก้เรืองอำนาจ ความพยายามของคาตาลุญญ่าที่ต้องการจะแยกตัวออกจากรัฐบาลกลางก็ไม่มีทางสิ้นสุด เพราะพวกเขาคือคาตาลัน ไม่ใช่ชาวสเปน

กระแสการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน รุนแรงขึ้นในการลงประชามติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2017 มีชาวคาตาลันประมาณ 2 ล้านคน ไปลงคะแนนโหวต ผลที่ออกมาคือ เสียงส่วนใหญ่ประมาณ 90% สนับสนุนให้คาตาลุญญ่าเป็นเอกราช

แน่นอนว่าการทำเช่นนี้ ผิดกฎหมายรัฐบาลกลางสเปน ทำให้สเปนส่งเจ้าหน้าที่มายึด และทำลายคูหาที่ใช้ในการลงประชามติ รวมถึงสลายผู้คนที่รวมตัวกันในบริเวณนั้น จนเกิดการปะทะขึ้นกลายเป็นเหตุรุนแรง

อีก 26 วันต่อมา (27 ตุลาคม 2017) แกนนำที่เคลื่อนไหวการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน ได้อ่านคำประกาศอิสรภาพในการเป็นเอกราชของคาตาลุญญ่า แต่ก็ถูกรัฐบาลกลางสเปนตอบโต้ด้วยการยึดอำนาจการปกครองจากคาตาลันทันที

มีการวิเคราะห์ว่า การแยกตัวของคาตาลุญญ่าออกจากสเปน อาจจะส่งผลกระทบต่อลาลีกาไม่น้อย เพราะรู้ดีว่าบาร์เซโลน่า และเรอัล มาดริด คือแม่เหล็กที่ช่วยดึงดูดผลประโยชน์มหาศาลให้กับวงการฟุตบอลสเปน

แม้บาร์เซโลน่า จะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต่อต้านมาดริด และอาจถึงเวลาที่ต้องแยกจากกัน แต่การที่ศึกเอล กลาซิโก้ ยังมีเสน่ห์ที่น่าติดตามเช่นนี้ ลาลีกาก็อาจจะรู้สึกดีกว่าก็ได้ที่ทั้งคู่ยังได้พบกันต่อไป

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.the101.world/the-rivalry-ep-1/

https://www.barcablaugranes.com/2017/4/21/15381184/the-transfers-of-figo-and-di-stefano

https://en.wikipedia.org/wiki/2017_Catalan_independence_referendum

Categories
Special Content

“เรอัล โซเซียดาด” กับภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าแชมป์

โซเซียดาดเป็นหนึ่งในสโมสรร่วมก่อตั้งลาลีกาเมื่อปี 1929 เคยไปถึงจุดสูงสุดของลีกสเปนในฤดูกาล 1980-81 และ 1981-82 สองสมัยติดต่อกัน สำหรับซีซันปัจจุบันหลังแข่งขันนัดที่ 24 “ลา เรอัล” มี 44 คะแนน อยู่อันดับสี่ ตามหลังท็อป-3 บาร์เซโลนา 18 คะแนน, เรอัล มาดริด 9 คะแนน และแอตเลติโก มาดริด 1 คะแนนตามลำดับ อีกทั้งพวกเขายังเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูโรปา ลีก มีคิวเตะกับอาแอส โรมา ส่วนโกปา เดล เรย์ เพิ่งออกไปแพ้บาร์เซโลนา 0-1 รอบก่อนรองชนะเลิศปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

“ท้องถิ่นนิยม” จึงเป็นสายใยสำคัญที่เชื่อมโยงแฟนบอลเข้ากับสโมสรอย่างเหนียวแน่นเหมือนเป็นดีเอ็นเอ แม้เวลาต่อมาความนิยมกีฬาลูกหนังจะแพร่กระจายไปทั่วโลก มีแฟนบอลจากทั่วทุกมุมโลก แม้แต่กลุ่มผู้ถือหุ้นหลัก บอร์ดบริหาร และเจ้าของสโมสร ก็เปลี่ยนไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติที่มองฟุตบอลเป็นธุรกิจ แต่แฟนบอลหลักที่จ่ายเงินซื้อตั๋วปีเข้ามาส่งเสียงเชียร์ในสนามตลอดซีซันยังเป็นคนในเมืองและประเทศอังกฤษอยู่ดี นั่นจึงทำให้สโมสรเล็กในลีกรองๆสามารถขับเคลื่อนทีมไปได้เรื่อย ๆ

ไม่ใช่เพียงอังกฤษ “ท้องถิ่นนิยม” ยังมีความสำคัญต่อความนิยมในวงการฟุตบอลประเทศอื่นๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่ค่อยๆแปรเปลี่ยนสโมสรที่ใช้ชื่อองค์กรหรือบริษัทหลายสิบปีมาเป็นชื่อจังหวัดอย่างเช่น ทีมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหลังถูกนายเนวิน ชิดชอบ เทคโอเวอร์ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น บุรีรัมย์ พีอีเอ ก่อนเป็นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทุกวันนี้

เรื่องราวของสโมสรฟุตบอลผ่านมุมมองท้องถิ่นนิยมมีตัวอย่างให้อ่านมากมาย แต่ดูเหมือน “เรอัล โซเซียดาด” เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเพราะมีระดับความเข้มข้นของท้องถิ่นนิยมเหนือกว่ามาตรฐานทีมส่วนใหญ่

เรอัล โซเซียดาด หรือ “ลา เรอัล” หรือทีมราชันย์ เป็นสโมสรในซาน เซบาสเตียน (San Sebastian) เมืองท่องเที่ยวชายทะเลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในจังหวัดกีปุซโกอา (Gipuzkoa) ของแคว้นบาสก์ (Basque Country) เขตปกครองอิสระที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสเปน 

ทีมก่อตั้งเมื่อปี 1909 พร้อมกฎเหล็กข้อหนึ่งเช่นเดียวกับแอธเลติก บิลเบา ทีมคู่อริร่วมแคว้น ที่จะเซ็นสัญญาเฉพาะกับนักเตะชาวบาสก์เท่านั้น ก่อนกำแพงเชื้อชาติถูกทำลายในเดือนกันยายน 1989 เมื่อโซเซียดาดซื้อตัวจอห์น อัลดริดจ์ กองหน้าทีมชาติไอร์แลนด์จากลิเวอร์พูลด้วยค่าตัว 1 ล้านปอนด์ ทำให้ปัจจุบัน ทีมราชันย์น้ำเงินขาวมีทั้งนักเตะบาสก์ สเปน และต่างชาติคละเคล้ากันไป อย่างไรก็ตาม ทีมเยาวชนของสโมสรยังสืบทอดนโยบายออล-บาสก์ ไม่ยกเลิกตามทันที สามารถพัฒนาผู้เล่นจนถึงระดับชาติหลายคนเช่น ชาบี อลอนโซ และอองตัว กรีซมันน์ เป็นต้น

โซเซียดาดเป็นหนึ่งในสโมสรร่วมก่อตั้งลาลีกาเมื่อปี 1929 เคยไปถึงจุดสูงสุดของลีกสเปนในฤดูกาล 1980-81 และ 1981-82 สองสมัยติดต่อกัน สำหรับซีซันปัจจุบันหลังแข่งขันนัดที่ 24 “ลา เรอัล” มี 44 คะแนน อยู่อันดับสี่ ตามหลังท็อป-3 บาร์เซโลนา 18 คะแนน, เรอัล มาดริด 9 คะแนน และแอตเลติโก มาดริด 1 คะแนนตามลำดับ อีกทั้งพวกเขายังเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายยูโรปา ลีก มีคิวเตะกับอาแอส โรมา ส่วนโกปา เดล เรย์ เพิ่งออกไปแพ้บาร์เซโลนา 0-1 รอบก่อนรองชนะเลิศปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ความสำเร็จทั้งเงินทั้งกล่อง และความรักจากคนท้องถิ่น

หลุยส์ มิเกล เอกีกาเรย์ ผู้สื่อข่าวสายฟุตบอลสเปนของอีเอสพีเอ็น เคยตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นนิยมในกีฬาลูกหนังไว้ว่า ในยุคที่ฟุตบอลเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีความคิดโน้มเอียงไปทางบริโภคนิยม แม้ไม่มีการประกาศอย่างชัดเจนแต่เห็นได้ชัดว่า กลุ่มทุนเจ้าของสโมสรวางเป้าหมายหาเงินเป็นหลัก ลดน้ำหนักของความสำเร็จในสนามแข่งขัน

เอกีกาเรย์กล่าวเสริมว่า ตัวเขาไม่ได้ต้องการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ แต่เป็นเพียงยกข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การตั้งคำถามว่า ขณะกำลังทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จทางการเงิน สโมสรยังสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประชาชนในชุมชนซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทีมฟุตบอลนั้นๆผ่านประวัติศาสตร์ที่ยาวนานได้หรือไม่ ชุมชนท้องถิ่นยังจะเป็นหัวใจของสโมสรต่อไปหรือเปล่า เป็นไปได้ไหมที่จะยังรักษาการเต้นของหัวใจโดยไม่เสียหลักการตามพันธกิจข้อพื้นฐานของสโมสร

อย่างไรก็ตามคอลัมนิสต์แห่งสื่อใหญ่ อีเอสพีเอ็น ยังมั่นใจว่าถ้าจะมีสโมสรที่ประสบความสำเร็จทั้งเงินทั้งกล่องและรักษาความผูกพันของแฟนบอลท้องถิ่นไว้ได้ หนึ่งในนั้นคือ เรอัล โซเซียดาด ซึ่งยังไม่เคยจบลาลีกาต่ำกว่าอันดับหกนับตั้งแต่ไวรัสโควิดเริ่มระบาดไปทั่วโลก และระหว่างนั้น “ลา เรอัล” ยังเฉือนทีมใหญ่ร่วมแคว้นบาสก์ แอธเลติก บิลเบา 1-0 ในนัดชิงชนะเลิศโกปา เดล เรย์ ซีซัน 2019-20 ที่แข่งวันที่ 3 เมษายน 2021 ครองแชมป์เมเจอร์เป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปี (ไม่นับแชมป์ลีกเซกุนดา ฤดูกาล 2009-10)

ถ้าซีซันนี้ โซเซียดาดจบลาลีกาด้วยอันดับท็อป-4 พวกเขาจะได้ลงสนามยูฟา แชปเปียนส์ ลีก เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ฤดูกาล 2013-14 หลังจากก่อนหน้าได้โควตาแข่งขันยูโรปา ลีก สามปีติดต่อกันกับอันดับ 6, 5, 6 บนตารางลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ หากโซเซียดาดเบียดขึ้นไปจบด้วยอันดับสาม ถือเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งของทีมที่จ่ายค่าเหนื่อยรวม 134.2 ล้านยูโรต่ออันดับสถิติ เทียบกับ 683.5 ล้านยูโรของเรอัล มาดริด และ 656.4 ล้านยูโรของบาร์เซโลนา แม้กระทั่งยังน้อยกว่าเมื่อนำไปเทียบกับเซบีญาและบีญาร์เรอัล สองทีมที่อยู่อันดับต่ำกว่า

สโมสรฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างเชิงสังคมของชุมชน

บทความนี้ไม่ใช่เรื่องของความสำเร็จในฐานะทีมฟุตบอลหรือบริษัทธุรกิจ แต่ว่าด้วยสโมสรแห่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อชุมชนไว้ ณ ระดับที่สูงมาก

อันโดนี อิราโอลา ผู้อำนวยการและประธานบอร์ดบริหารของสโมสร ให้สัมภาษณ์กับอีเอสพีเอ็นว่า “เรอัล โซเซียดาด ไม่ใช่เป็นเพียงโครงการทางกีฬาแต่ยังเป็นโครงการเชิงสังคมอีกด้วย ทำไมหรือ? ก็เพราะนั่นเป็นวิถีแห่งความเป็นอยู่หรือการกระทำ มันไม่เกี่ยวกับชนะลาลีกาหรือยูโรปาลีก แต่เป็นภาพสะท้อนของประชาชนในชุมชนผ่านพฤติกรรมของพวกเรา เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของพวกเขา ซึ่งอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็อยู่ในสังคมของเราเช่นกัน ตรงนี้จึงทำให้เรอัล โซเซียดาด เป็นสโมสรทางสังคมเอามาก ๆ”

วิถีชีวิตของสโมสรเป็นมากกว่าฟุตบอล อีมานอล อัลกวาซิล ผู้จัดการทีมวัย 51 ปีของโซเซียดาด เกิดและเติบโตในจังหวัดกีปุซโกอา อยู่กับโซเซียดาดตั้งแต่ระดับเยาวชน ขึ้นมาเล่นทีมสำรองจนกระทั่งติดทีมชุดใหญ่ระหว่างปี 1990 ถึง 1998 มีสายเลือดน้ำเงินขาวหรือ Txuri-Urdin (ฉายาทีมในภาษา Euskera ของชาวบาสก์) อย่างเข้มข้น หลังแขวนสตั๊ดยังกลับมาเริ่มต้นอาชีพโค้ชที่โซเซียดาด เมื่อปี 2011 ไต่เต้าจากโค้ชทีมเยาวชน, ผู้ช่วยโค้ชทีมสำรอง, เฮดโค้ชทีมสำรอง ก่อนคุมทีมชุดใหญ่แทนอาเซียร์ การิตาโน ในเดือนธันวาคม 2018 และพาทีมชนะเลิศโกปา เดล เรย์

ซาน เซบาสเตียน เป็นเมืองเล็ก ๆ มีประชากรไม่ถึงสองแสนคน แต่มีความเข้มข้นทางวัฒนธรรมและการประกอบอาหาร เอกีกาเรย์กล่าวว่า ถ้าต้องการทำความเข้าใจสโมสรเรอัล โซเซียดาด ก็ต้องรู้จักจังหวัดกีปุซโกอา พวกเขาภาคภูมิใจในสายเลือดที่เก่าแก่สลับซับซ้อน มีความหวงแหนวิถีชีวิตและภาษาของตนเอง ทั้งหมดนี้สะท้อนและแสดงออกมาผ่านเรอัล โซเซียดาด และซูเบียตา (Zubieta) อะคาเดมีของสโมสร อย่างที่อิราโอลา ผู้อำนวยการและประธานบอร์ดบริหาร พูดกับนักข่าวไว้ข้างต้น

เรอัล โซเซียดาด เป็นสโมสรฟุตบอลระดับลาลีกาที่ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่หุ้นสโมสรถูกกระจายอยู่ในมือของคนมากกว่า14,000 คน ไม่มีใครถือหุ้นเกินสองเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการตัดสินใจใด ๆ จึงทำผ่านกระบวนการลงคะแนน

อิราโอลากล่าวเพิ่มเติมว่า “เราต้องการให้เรอัล โซเซียดาด เป็นของทุกคน เป็นสโมสรที่หยั่งรากลึกลงไปผ่านรูปแบบกีฬา ผู้เล่นเยาวชนในอะคาเดมีล้วนเกิดในจังหวัดกีปุซโกอา นั่นจึงทำให้สโมสรใกล้ชิดกับประชาชนมาก เราพยายามแสดงตัวเองในฐานะชาวบาสก์และชาวกีปุซโกอา”

เมืองท่องเที่ยวชายทะเล และอาหารอร่อย ไม่แพง หาง่าย

ซาน เซบาสเตียน อยู่ในจังหวัดกีปุซโกอาทางภาคเหนือของแคว้นบาสก์ ตั้งอยู่ริมชายฝั่งใต้ของทะเลกันตาเบรียที่แสนสวยงาม ทำให้เมืองนี้เป็นสถานตากอากาศชายหาดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศสเปน ซาน เซบาสเตียนยังมีความโดดเด่นไปด้วยอาคารทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมเมืองได้ด้วยการเดินเท้าหรือขี่จักรยานเนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก

จุดขายที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงเมื่อมาเยือนซาน เซบาสเตียน คืออาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเลถึงขั้น “เคเตอร์วิงส์” บริษัทผู้ให้บริการด้านการจัดเลี้ยงชั้นแนวหน้าของอังกฤษ ยกให้ซาน เซบาสเตียน ครองแชมป์เมืองอาหารชั้นนำของโลก เพราะเต็มไปด้วยสีสันอันหลากหลายของสตรีทฟูด ตลาดสด บาร์ คาเฟ ภัตตาคารไฮเอนด์ และอาหารติดดาวมิชลิน ภายใต้บรรยากาศที่งดงามของสถาปัตยกรรมแบบเบล เอปอค (Belle Époque) ที่สำคัญคือ อาหารอร่อย ราคาไม่แพง และหาได้ง่าย 

ใครที่ชอบรับประทานอาหารติดดาว ซาน เซบาสเตียน เป็นเมืองที่ครอบครองดาวมิชลินมากเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงกรุงโตเกียว และนำหน้านิวยอร์กที่รั้งอันดับสาม

สำหรับสโมสรโซเซียดาดมีชื่อเต็มว่า Real Sociedad de Fútbol, S.A.D. เรียกสั้น ๆ ว่า Real Sociedad (หรือ Royal Society ในภาษาอังกฤษ) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 กันยายน 1909 “ลา เรอัล” เคยครองแชมป์ลาลีกาสองสมัยติดต่อกันในซีซัน1980-81 และ 1981-82 เป็นรองแชมป์สามสมัยในซีซัน 1979-80, 1987-88, 2002-03 เคยเป็นแชมป์โก เดล เรย์ สามสมัยในปี 1909, 1987, 2020 

โซเซียดาดเคยมีช่วงเวลาในลีกสูงสุดยาวนานถึงสี่สิบฤดูกาลตั้งแต่ปี 1967 ถึง 2007 ตกลงไปเล่นเซกุนดาสามปีจนกระทั่งชนะเลิศลีกเทียร์สองในซีซัน 2009-10 ซึ่งเป็นแชมป์สมัยที่สามหลังเคยสัมผัสมาในซีซัน 1948-49, 1966-67 ทำให้โซเซียดาดกลับมาอยู่ลาลีกาตั้งแต่ซีซัน 2010-11 จวบจนปัจจุบัน

นอกจากฟุตบอลทั้งทีมชายและหญิง โซเซียดาดยังมีกีฬาอีกหลายประเภทอาทิ กรีฑาลู่และลาน ฮ็อกกี และบาสก์ เปโลตา (basque pelota) ซึ่งเป็นกีฬาที่ใช้ไม้ตีลูกใส่กำแพง คล้ายรวมสควอชและแฮนด์บอลเข้าด้วยกัน

โซเซียดาดไม่เพียงพัฒนาด้านกีฬาแต่รวมถึงความเป็นมนุษย์

อาจกล่าวได้ว่า ศูนย์ฝีกซ้อมและอะคาเดมีซูเบียตาเปรียบได้กับสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงองค์กรแห่งนี้ นับตั้งสโมสรกำเนิดขึ้นในปี 1909 ต้องมีเด็กท้องถิ่นอย่างน้อยหนึ่งคนเล่นให้ทีมชุดใหญ่ เนื่องจากสโมสรให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการพัฒนาเยาวชน ซึ่งดูได้จากตัวเลขรายได้ของ “ลา เรอัล” ที่นำไปใช้กับทีมซีเนียร์ประมาณ 55-60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของลาลีกาที่ตกราว 75 เปอร์เซ็นต์ นั่นเท่ากับว่า ส่วนที่เหลือถูกใช้กับอะคาเดมี การศึกษา และการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น

เอกีกาเรย์ นักข่าวเชื้อสายบาสก์ของอีเอสพีเอ็น เล่าประสบการณ์ว่า ถ้าเดินไปรอบเมืองซาน เซบาสเตียน จะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศสนับสนุนทีมโซเซียดาดแม้ไม่ใช่แฟนบอลทีมนี้ก็ตาม เนื่องจากคนท้องถิ่นต่างตระหนักดีว่าสโมสรให้ความช่วยเหลือทั้งชุมชนและสโมสรเล็ก ๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างเช่นการให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกซ้อมและโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับนักฟุตบอลเยาวชนจะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษา มีครูพิเศษมาช่วยติว เกือบครึ่งหนึ่งมีโอกาสเรียนระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท ขณะที่ขุมกำลังระดับซีเนียร์ 26 คน มีถึง 16 คนเคยเล่นให้ Sanse หรือทีมสำรอง และผู้เล่นใช้เวลาในทีมสำรองราว 8.2 ปีก่อนถูกโปรโมทขึ้นชุดใหญ่ มีเพียงแอธเลติก บิลเบา ทีมเดียวเท่านั้นที่มีนักเตะชุดใหญ่ที่ขึ้นมาจากทีมสำรองมากกว่า แม้กระทั่ง La Masia อะคาเดมีอันโด่งดังของบาร์เซโลนา ยังพัฒนาตัวเองจนติดทีมชุดใหญ่น้อยกว่าโซเซียดาด

โรแบร์โต โอลาเบ ผู้อำนวยการด้านกีฬาของสโมสร ให้ความเห็นว่า “เวลาเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง” โอลาเบเป็นคนยืมตัวและให้โอกาสกับ มาร์ติน โอเดการ์ด ช่วงที่เรอัล มาดริด มองข้ามความสามารถ ก่อนโอเดการ์ดถูกปล่อยตัวให้อาร์เซนอลยืมและเซ็นสัญญาย้ายทีมถาวร ปัจจุบันเขาเป็นกัปตันทีมเดอะกันเนอร์สและมีโอกาสชูถ้วยชนะเลิศพรีเมียร์ลีกซีซันนี้

“แน่นอนมันมีเงินเป็นตัวเชื่อมโยง คุณต้องให้ทรัพยากรบุคคลกับทีม แต่คุณยังต้องลงทุนให้เวลากับผู้เล่นอายุน้อยด้วย มันเป็นความรับผิดชอบของสโมสรที่จะให้โอกาสแก่พวกเขา นักเตะดัง ๆ เก่ง ๆ เป็นความต้องการที่วิเศษสุดของทีมอยู่แล้ว แต่สโมสรมีความรับผิดชอบที่จะเปิดประตูให้กับคนหนุ่ม ๆ ด้วยเช่นกัน” 

“ในมุมมองส่วนตัว เรามีหน้าที่ต้องสร้างทีมและทำให้เติบโตไม่ใช่แค่เซ็นสัญญานักเตะใหม่เข้ามาทุกปี แต่ยังต้องสร้างนักเตะปีแล้วปีเล่า พวกเขาจะดีขึ้นด้วยการอดทนรอคอยและให้เวลาพวกเขาพัฒนาความสามารถ นี่รวมถึงอีมานอล (อัลกวาซิล ผู้จัดการทีม) ด้วยเช่นกัน”

ตัวอย่างหนึ่งของความอดทนคือ มิเกล โอยาร์ซาบัล แนวรุกและกัปตันทีม ซึ่งเล่นให้โซเซียดาดเกือบ 250 นัดแล้วในบอลลีก เขาเป็นคนสังหารจุดโทษนาทีที่ 63 ให้ต้นสังกัดครองแชมป์โกปา เดล เรย์ น่าเสียดายที่ไม่ติดทีมชาติสเปนชุดเวิลด์คัพ 2022 เพราะบาดเจ็บสาหัสที่หัวเข่า เขาเพิ่งต่อสัญญาใหม่ไปถึงปี 2028 หลังจากเข้ามาเพาะบ่นฝีเท้ากับโซเซียดาดตั้งแต่อายุเพิ่ง 14 ปี

โอยาร์ซาบัลพูดถึงต้นสังกัดว่า “คนที่นี่ทำงานกันได้เจ๋งมาก พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้นทั้งในฐานะมนุษย์ธรรมดาและนักฟุตบอล แน่นอนเพื่อพลักดันจนติดทีมชุดใหญ่”

“ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาสโมสร คุณจะได้รับการปกป้องและเฝ้าดูแลเอาใจใส่ พวกเขาช่วยคุณทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ไม่ใช่เพียงด้านกีฬา ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้กระทั่งชีวิตหลังฟุตบอล พวกเขายังมอบสิ่งที่จำเป็นมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เขามอบเครื่องไม้เครื่องมือให้เราทั้งฟุตบอลและด้านอื่นของชีวิต”

เมื่อเสียงตะโกน “We will always be with you.” ดังก้องสนาม

Real Sociedad Femenino หรือทีมฟุตบอลหญิงของเรอัล โซเซียดาด ก่อตั้งในปี 2004 ตอนนี้เล่นอยู่ในลีกสูงสุด Primera División de la Liga de Fútbol Femenino หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Liga F หลังจากเลื่อนชั้นสองปีติดต่อกันและยังเดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง พวกเธอครองแชมป์บอลถ้วย โกปา เดอ ลา เรย์นา (Copa de la Reina) ปี 2019 และครองตำแหน่งรองแชมป์ Liga F ฤดูกาลที่แล้ว ได้สิทธิลงเตะแชมเปียนส์ลีกฤดูกาลนี้ แต่พลาดเข้าไปเล่นรอบแบ่งกลุ่มหลังจากแพ้บาเยิร์น มิวนิก

ทีมหญิงโซเซียดาดมี นาตาเลีย อาร์โรโย วัย 36 ปี เป็นผู้จัดการทีมที่ถือว่าอายุน้อยมาก เธอเคยทำงานสื่อมวลชนเป็นอดีตนักข่าวและนักวิเคราะห์เกม ส่วนบอลลีกหลังแข่งขันนัดที่ 20 สาว ๆ “ลา เรอัล” มี 26 คะแนน รั้งอันดับ 8 จากทั้งหมด 16ทีม ตามหลังเลบันเต ทีมอันดับ 3 ซึ่งได้โควตารอบแรกแชมเปียนส์ลีก มากถึง 24 คะแนน ดูเหมือนเป็นปีที่ไม่ดีนักสำหรับพวกเธอ อย่างไรก็ตาม สโมสรยังเดินหน้าสนับสนุนทีมฟุตบอลหญิงต่อไปโดยมีโครงการระดับเอ็กซ์คลูซีพในซูเบียตาที่ประกอบไปด้วยสนามฟุตบอลความจุคนดูสี่พันคน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เหมือนทีมฟุตบอลชาย

อิราโอลา ผู้อำนวยการและประธานบอร์ดบริหาร กล่าวว่า “เรามีจำนวนนักฟุตบอลหญิงมากที่สุดในลีกสเปน  นี่เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจและดีเอ็นเอของสโมสร มันไม่มีทางเบี่ยงเบนหันเหไปทิศทางอื่นเพราะนี่ก็เป็นหนึ่งในความปรารถนาของชุมชนท้องถิ่น”

ทั้งหมดนี้เป็นประจักษ์พยานชัดเจนที่แสดงให้เห็นแล้วว่าในซาน เซบาสเตียน เมืองหลวงของจังหวัดกีปุซโกอา สายใยลายน้ำเงินขาวของเรอัล โซเซียดาด สามารถเชื่อมโยงยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์กับผู้คนท้องถิ่นได้อย่างเหนียวแน่น ความจริงไม่เพียงซาน เซบาสเตียน แต่รวมถึงเทศบาลทั้งหมด 89 แห่งในจังหวัดกีปุซโกอา มีเพียงสามเทศบาลเท่านั้นที่ไม่มีสมาชิกอย่างเป็นการทางของสโมสรอยู่

ในส่วนภารกิจบนสนามแข่งขัน โซเซียดาดมุ่งมั่นให้จบลาลีกาด้วยอันดับสาม รวมถึงเข้าไปให้ลึกที่สุดบนเส้นทางยูโรปาลีกที่มีลูกทีมของยอดกุนซือ โชเซ มูรินโญ เป็นคู่แข่งรอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่ไม่ว่าความสำเร็จจะมากหรือน้อย โซเซียดาดยังคงมั่นใจได้ว่าสโมสรมีผู้คนมากมายเดินเคียงข้างให้การสนับสนุนดังเช่นท่อนหนึ่งของเพลงเชียร์ beti egongo gara zurekin.” ซึ่งแปลว่า We will always be with you.”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Football Business

ลาลีกา กับการก้าวไปอีกขั้น ด้วยโมเดลวิเคราะห์ข้อมูล

วงการฟุตบอลในยุคปัจจุบัน ได้นำ “วิทยาศาสตร์” ที่มีความละเอียด และลึกซึ้ง มาช่วยในการกลั่นกรองให้ได้ข้อมูลเชิงลึก และสามารถสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้ ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ

การใช้วิทยาศาสตร์ เข้ามาประยุกต์กับข้อมูลที่เกิดขึ้นในสนามฟุตบอล นอกจากจะช่วยสร้างความสำเร็จให้กับทีมฟุตบอลแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด และยกระดับลีกฟุตบอลขึ้นไปอีกขั้น

ลาลีกา ลีกฟุตบอลของสเปน ได้วางรากฐานสำหรับโลกยุคใหม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเก็บข้อมูล และพัฒนาโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อขับเคลื่อนลูกหนังแดนกระทิงดุสู่อนาคต

LaLiga Tech ก้าวแรกสู่การยกระดับลีกสเปน

การวิเคราะห์ข้อมูล กำลังกลายเป็นรากฐานสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอลตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งลีกชั้นนำอย่างลาลีกา ก็ได้นำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุง และพัฒนาวงการลูกหนังสเปน

นับตั้งแต่ฆาเบียร์ เตบาส เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานลาลีกา เมื่อปี 2013 ได้มียุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์

โดยเริ่มต้นจากการเพิ่มแผนก “ลาลีกา เทค” (LaLiga Tech) มีทีมงานเริ่มแรกเพียง 8 คน และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งแยกตัวออกไปเป็นบริษัท ลาลีกา เทค จำกัด ในปี 2021 ปัจจุบันทีทีมงานมากกว่า 150 คน

ภารกิจสำคัญของลาลีกา เทค คือการสร้างพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่ ไว้ใช้รองรับข้อมูลดิบที่จะไหลเข้ามาด้วยปริมาณมหาศาล และทุกสโมสรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์จากแหล่งเดียวกันได้

“ก่อนหน้านี้ เราไม่เคยเห็นความสำคัญของข้อมูลเลย จึงไม่เข้าใจว่าข้อมูลคือสินทรัพย์ที่มีค่า ทำให้เราได้คิดหาทางที่จะจัดการกับข้อมูลที่มากมายเหล่านี้” กิลเยร์โม่ รอลดาน หัวหน้าแผนกสถาปัตยกรรม กล่าว

“ตอนนี้เราได้สร้างที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Lakehouse) ขึ้นมา สามารถทำสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ให้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก พลังของข้อมูลช่วยมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับแฟน ๆ ที่ติดตามการแข่งขัน”

ด้านราฟาเอล ซามบราโน่ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ข้อมูล เปิดเผยว่า “ประโยชน์หลักของการขับเคลื่อนฟุตบอลด้วยข้อมูล คือช่วยให้เราได้เข้าใจพฤติกรรมของแฟนฟุตบอลที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต”

“สำหรับแฟน ๆ บางคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่หันไปดูฟุตบอลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลแทน แต่ด้วยพลังของข้อมูล ช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับพวกเขาได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกีฬาอื่น ๆ ด้วย”

ขณะที่ทอม วูดส์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารกลยุทธ์ กล่าวว่า “ลาลีกา เทค กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทุกสิ่งที่ได้สร้างขึ้น กำลังเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมกีฬา ทำให้เราได้ตระหนักมากขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล”

“เราจำเป็นต้องมีสโมสรที่ก้าวหน้ามากกว่า 2-3 สโมสร และมีระดับที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้การแข่งขันมีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้วงการฟุตบอลเติบโต” วูดส์ ปิดท้าย

Mediacoach เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลตัวแรก

ก่อนที่ลูกหนังลีกแดนกระทิงดุ ฤดูกาล 2022/23 จะเริ่มขึ้น ได้มีการจัดประชุมในหัวข้อ “การวิเคราะห์ข้อมูลฟุตบอลขั้นสูง” โดยลาลีกา ร่วมกับ Sport Data Campus, มีเดียโค้ช (Mediacoach) และลาลีกา เทค

สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือการนำเสนอความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากฤดูกาล 2021/22 รวมถึงแง่มุมต่างๆ ของงานวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรมฟุตบอล และเปิดตัวเครื่องมือใหม่ที่จะใช้ในฤดูกาลนี้

เมื่อซีซั่นที่แล้ว ลาลีกา เทค ได้เปิดตัว Mediacoach แพลตฟอร์มวิเคราะห์การเล่นแบบเรียลไทม์ ทั้งการเคลื่อนที่ของผู้เล่นและลูกฟุตบอล เสร็จแล้วส่งผลออกมา เพื่อนำไปวิเคราะห์ในช่วงพักครึ่ง และหลังจบเกม

ข้อมูลจาก Mediacoach เป็นข้อมูลที่ใช้ติดตามการเคลื่อนที่ระหว่างแข่งขัน โดยมีการติดตั้งกล้องไว้รอบสนามทั้งหมด 19 ตัว จับภาพผู้เล่น, ผู้ตัดสิน และลูกฟุตบอล ในอัตรา 25 เฟรมต่อวินาที

โดยรายละเอียดต่างๆ ที่ Mediacoach ได้ทำการวิเคราะห์ออกมา อย่างเช่น ผู้เล่นวิ่งเยอะแค่ไหน, ผู้เล่นจ่ายบอลสำเร็จ/พลาดกี่ครั้ง รวมไปถึงการตรวจจับความผิดพลาดของผู้เล่นเป็นรายบุคคลด้วย

ริคาร์โด เรสต้า ผู้อำนวยการของ Mediacoach กล่าวว่า “Mediacoach เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี ทุกสโมสรจาก 2 ดิวิชั่นของลาลีกา สามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกันทั้งหมดได้”

นอกเหนือจากข้อมูลด้านแท็กติก Mediacoach ยังมีประโยชน์สำหรับทีมงานสตาฟฟ์โค้ช ในการประเมินสภาพร่างกายของผู้เล่น และประเมินโอกาสที่จะตรวจพบความผิดปกติใด ๆ ทุกช่วงเวลาได้ทันที

ฟาบิโอ เนวาโด้ นักวิเคราะห์ทางเทคนิคของ Mediacoach กล่าวว่า “หากมีนักเตะที่เพิ่งกลับมาจากอาการบาดเจ็บเป็นเวลานานๆ บางทีอาจจะส่งลงเล่นช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย แต่ไม่อยากให้ทำแบบนั้น มันฝืนเกินไป”

“ข้อมูลจากแพลตฟอร์มของเรา สามารถตรวจสอบข้อมูลแบบนาทีต่อนาที ช่วยลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บของนักเตะ อีกทั้งช่วยให้นักเตะลงเล่นได้ใกล้เคียงกับประสิทธิภาพสูงสุดที่เคยมี”

ขณะที่ซิลเวสเตอร์ จอส ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Mediacoach เสริมว่า “ข้อมูล และกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล คือสิ่งที่สำคัญในวงการฟุตบอล เทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โอกาสจะมีเข้ามาอย่างไม่รู้จบ”

Beyond Stats ช่วยเพิ่มพลังข้อมูลด้วย 24 ตัวชี้วัดใหม่

ทีมงานส่วนหนึ่งของลาลีกา เทค เป็นทีมงานที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล เช่น โค้ช, นักวิเคราะห์ฟุตบอล, นักพัฒนาโปรแกรม, วิศวกรข้อมูล (Data Engineer) รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist)

เมื่อเดือนมกราคม ปี 2022 ลาลีกาได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลก เพื่อช่วยทำสถิติ และข้อมูลต่าง ๆ ในการแข่งขัน ภายใต้โปรเจค “Beyond Stats” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ต่อยอดมาจาก Mediacoach

การทำงานของ Beyond Stats จะประมวลผลข้อมูลในรูปแบบ Cloud Platform ด้วยเครื่องมือของไมโครซอฟท์ อย่าง Microsoft Azure ซึ่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning)

ซึ่งในเฟสแรกของ Beyond Stats ได้มีการสร้างโมเดล Goal Probability ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้สำหรับบอกค่าความน่าจะเป็นในการทำประตู เมื่อมีการรีเพลย์ภาพจังหวะการลุ้นยิงประตูระหว่างถ่ายทอดสด ซึ่งใช้เวลาประมวลผลแค่ 30 วินาทีเท่านั้น

ต่อมาในซีซั่น 2022/23 Beyond Stats ได้เพิ่มตัวชี้วัดใหม่ขึ้นมาอีก 24 ตัว ในด้านสมรรถภาพทางกาย, การป้องกันประตู, การเคลื่อนที่, การผ่านบอล, การยืนตำแหน่ง, การเพรสซิ่ง, การเลี้ยงบอล และการครองบอล

ทีมงานของลาลีกา ได้นำข้อมูลต่างๆ เข้ามาประมวลผ่านอัลกอริทึมที่กำหนดไว้ และแสดงผลลัพธ์ออกมา สำหรับตัวอย่างของตัวชี้วัดที่เพิ่มเติมขึ้นมาใน Beyond Stats มีดังนี้

– การผ่านบอลพร้อมถูกกดดันแบบประกบคู่ (Double pressure passes) คือ จำนวนการผ่านบอลระหว่างเพื่อนร่วมทีม 2 คน ที่ต่างคนต่างมีผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเข้ามากดดันด้วย เช่น ระยะทางที่เปลี่ยนแปลงของกองหลัง (เมื่อเข้ามากดดัน ระยะทางจะลดลง 50 เปอร์เซ็นต์) รวมถึงทิศทางและความเร็วของการโจมตี (ด้วยความเร็วสูงถึง 21 กม./ชม.) สำหรับการผ่านบอลแบบนี้ จะนับจำนวนก็ต่อเมื่อ มีผู้เล่นคู่แช่งเข้ามากดดันผู้จ่ายบอล และผู้รับบอล ภายในระยะ 3 เมตร

– การตั้งกำแพง (Walls) คือ ตรวจจับการผ่านบอลแบบรูปสามเหลี่ยม ของเพื่อนร่วมทีม 2 คน พร้อมกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม 1 คน ตำแหน่งของผู้เล่นจะถูกคำนวณทีละเฟรม โดยนับจำนวนเฉพาะการผ่านบอลไปยังผู้เล่นที่ใช้เวลาไม่เกิน 12 เฟรม (0.5 วินาที) แล้วผ่านบอลคืนให้เพื่อนร่วมทีมคนเดิมในทิศทางที่ต่างกัน ให้เป็นลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม

– การวิ่ง (Runs) คือ การติดตามระยะทาง และความเร็วในการวิ่งของผู้เล่น ผ่านกล้องที่ติดตั้งบริเวณรอบสนาม โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ปกติ, ยาว, ช้าแบบสั้น และเร็ว จะนับจำนวนเฉพาะการวิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อวิ่งจากครึ่งสนามมาถึงกรอบเขตโทษฝ่ายตรงข้าม อย่างน้อย 3 วินาที และวิ่งด้วยระยะทางอย่างน้อย 10 เมตร จากนั้นจบด้วยการยิงประตูภายใน 10 วินาที หลังจากหยุดวิ่ง

– การแย่งบอลคืนในช่วงเวลาที่ได้เปรียบ (recoveries in advantage) คือ การบุกไปยังกรอบเขตโทษของฝ่ายตรงข้าม เมื่อเพื่อนร่วมทีมมีจำนวนมากกว่าคู่แข่ง หลังแย่งบอลจากผู้เล่นคู่แข่งกลับคืนมา

โลกธุรกิจยุคใหม่ “ข้อมูล” คือสินทรัพย์ที่มีความสำคัญอย่างมาก หากได้นำมาวิเคราะห์จนเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ และนำข้อมูลมาใช้งานอย่างจริงจัง จะทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจแบบคาดไม่ถึงได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://laligatech.com/who-is-laliga-tech

– https://www.laliga.com/en-GB/beyondstats

– https://www.laliga.com/en-GB/news/laliga-paves-the-way-for-the-future-of-bi-and-analytics-in-football-thanks-to-mediacoach-and-the-beyond-stats-project

https://www.laliga.com/en-GB/news/laliga-takes-pioneering-step-by-adding-advanced-near-real-time-goal-probability-graphics-to-its-broadcasts-thanks-to-microsoft-technology

– https://www.laliga.com/en-GB/news/laliga-transforms-marketing-strategy-thanks-to-microsoft-and-the-potential-of-hundreds-of-terabytes-of-data

https://www.sportbusiness.com/2021/07/laligas-mediacoach-harnessing-the-power-of-match-data/

https://newsletter.laliga.es/global-futbol/laliga-mediacoach-clubs-compete-using-data

Categories
Column

ย้อนอดีต มองอนาคต : 5 ประเด็นที่น่าจับตา ก่อนลาลีกา รีสตาร์ท

ในช่วงที่ฟุตบอลลีกยุโรปพักเบรก แฟนฟุตบอลต่างจดจ่อกับ 64 นัดของฟุตบอลโลก ที่กาตาร์ อาจทำให้หลายคนลืมไปแล้วว่า 14 นัดแรกของลาลีกา สเปน อันดับในตารางเป็นอย่างไร

ศึกลูกหนังลีกกระทิงดุ จะกลับมาทำการแข่งขันอีกครั้งในช่วงส่งท้ายปีเก่า เริ่มตั้งแต่ 29 ธันวาคม หลังจากห่างหายไป 7 สัปดาห์ เพราะต้องหลีกทางให้เวิลด์ คัพ เช่นเดียวกับลีกอื่น ๆ ในยุโรป

เมื่อทัวร์นาเมนท์เวิลด์ คัพ สิ้นสุดลง แฟน ๆ จะได้กลับสู่การติดตามความตื่นเต้นของลีกกระทิงดุ และนี่คือ 5 ประเด็นสำคัญ จาก 14 นัดที่ผ่านมา และช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของฤดูกาลนี้

⚽️ “บาร์ซ่า-ชุดขาว” ผู้ท้าชิงแชมป์ในซีซั่นนี้

บาร์เซโลน่า และเรอัล มาดริด ถูกมองว่าเป็น 2 ทีมที่มีโอกาสคว้าแชมป์ในฤดูกาลนี้มากที่สุด ตอนนี้ทั้งคู่แพ้แค่ทีมละ 1 นัด และมีคะแนนห่างกันแค่ 2 แต้มเท่านั้น (บาร์เซโลน่า 37, เรอัล มาดริด 35)

บาร์ซ่า เปิดซีซั่นด้วยการเสมอราโย บาเยกาโน่ 0 – 0 หลังจากนั้นชนะ 7 นัดรวด ก่อนจะแพ้นัดสำคัญในเกม “เอล กลาซิโก้” กับเรอัล มาดริด 1 – 3 แต่ก็กลับมาชนะ 5 นัดติดต่อกัน ก่อนลีกหยุดพัก

ด้านราชันชุดขาว เริ่มต้นได้สวยงาม ชนะ 10 จาก 11 นัดแรกของซีซั่น แต่อีก 3 นัดหลังจากนั้น เก็บคะแนนเพิ่มได้แค่ 4 แต้ม หนึ่งในนั้นคือการบุกไปแพ้ทีมฟอร์มแรงอย่างราโย บาเยกาโน่ 2 – 3

บาร์เซโลน่า หวังจะกลับมาคว้าแชมป์ลีกสูงสุดให้ได้ นับจากปี 2019 แนวรับของพวกเขาทำได้ดีขึ้นมาก เสียไปเพียง 5 ประตู และเก็บคลีนชีตถึง 11 จาก 14 นัดแรก ส่วนแนวรุกได้อาวุธหนักอย่างโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ที่ยิงไปแล้ว 13 ลูก

อย่างไรก็ตาม เรอัล มาดริด ก็ตั้งเป้าที่จะป้องกันแชมป์ให้ได้อีกครั้ง ความน่าสนใจอยู่ที่ขุมกำลังเชิงลึก นักเตะอย่างเฟเดริโก บัลเบร์เด้ และโรดริโก้ สามารถก้าวขึ้นมาทดแทนการขาดหายไปของคาริม เบนเซม่า ที่ลงเล่นไปแค่ 7 นัดเท่านั้น

⚽️ 2 คู่ปรับแคว้นบาสก์ ขึ้นมาอยู่ในพื้นที่ UCL

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RealSociedadFutbol

เรอัล โซเซียดัด และแอธเลติก บิลเบา 2 สโมสรร่วมแคว้นบาสก์ ลุ้นโควตาแชมเปี้ยนส์ ลีก เต็มตัว อยู่ในอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ และมีคะแนนห่างกันเพียง 2 แต้ม (โซเซียดัด 26, บิลเบา 24)

อิมานอล อัลกูอาซิล ที่เพิ่งต่อสัญญาคุมทีมโซเซียดัดออกไปจนถึงปี 2025 ทำผลงานได้ดีอย่างเหลือเชื่อ แม้จะไม่มี 2 ดาวยิงตัวเก่ง มิเกล โอยาซาบัล และอูมาร์ ซาดิค ที่ต่างได้รับบาดเจ็บบริเวณเอ็นไขว้เข่า (ACL) ฉีกขาด ต้องพักยาวทั้งคู่

ขณะที่เอร์เนสโต บัลเบร์เด้ ที่กลับมาคุมบิลเบาเป็นรอบที่ 3 ออกสตาร์ทฤดูกาลนี้ได้ดีที่สุด นับตั้งแต่ฤดูกาล 2013/14 ฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยม ส่วนหนึ่งมาจาก 2 พี่น้อง อินากิ และนิโก้ วิลเลี่ยมส์ ที่ยิงรวมกัน 8 ประตู กับ 5 แอสซิสต์

และด้วยคะแนนของทั้งคู่ที่ห่างกันเพียง 2 แต้ม ทำให้เกม “บาสก์ ดาร์บี้” นัดแรกของซีซั่น ที่บ้านของโซเซียดัด ในวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2023 ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว

⚽️ “ราโยฯ” ผู้ไม่แพ้ยักษ์ใหญ่ในครึ่งซีซั่นแรก

อันโดนี่ อิราโอล่า กุนซือราโย บาเยกาโน่ ยังคงสร้างมาตรฐานช่วงเริ่มต้นฤดูกาลได้ดี เช่นเดียวกับเมื่อฤดูกาลที่แล้ว นักเตะอย่าง ฟลอร็อง เลอเฌอยูน, อัลบาโร่ การ์เซีย และอิซี่ ปาลาซอน ยิงไปแล้วคนละ 3 ประตู

จุดแข็งของบาเยกาโน่ในซีซั่นนี้ คือผลงานการพบกับทีมบิ๊ก 4 ที่ไม่แพ้ใครเลย บุกไปเยือนบาร์เซโลน่า, แอตเลติโก้ มาดริด และเซบีย่า เก็บได้ 5 คะแนน แถมยังเป็นทีมเดียวที่ชนะเรอัล มาดริด แชมป์เก่าจากซีซั่นที่แล้ว

ผลงานยามเล่นในบ้าน ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ช่วยให้บาเยกาโน่ มีแต้มตามหลังท็อปโฟร์แค่ 2 แต้มในเวลานี้ โดยมีสถิติชนะ 4 เสมอ 2 แพ้แค่นัดเดียว ให้กับเรอัล มายอร์ก้า ทีมที่ฟอร์มดีเช่นเดียวกัน

และที่สำคัญ “เดอะ เรด แซซ” กำลังจะได้ตัวราอูล เด โทมัส กองหน้าตัวเก่งชาวสเปน วัย 28 ปี จากเอสปันญ่อล มาเสริมความคมในเดือนมกราคมนี้ เพื่อหวังพาทีมบรรลุเป้าหมายเมื่อจบซีซั่น

⚽️  “เซบีย่า” หวังคืนฟอร์มในช่วงที่เหลือของซีซั่น

14 เกมแรกของเมื่อฤดูกาลที่แล้ว เซบีย่า มีแต้มตามหลังจ่าฝูงแค่ 4 แต้ม แต่ในช่วงเดียวกันของซีซั่นนี้ สถานการณ์กลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะพวกเขาอยู่ในโซนตกชั้น มีแค่ 11 คะแนนเท่านั้น

ด้วยผลงานการออกสตาร์ทซีซั่นที่ย่ำแย่ ทำให้กุนซือฆูเลน โลเปเตกี ถูกปลดออกจากตำแหน่ง จากนั้นได้แต่งตั้งฮอร์เก้ ซามเปาลี กลับมาคุมทีมอีกครั้ง นับตั้งแต่ปี 2017 เพื่อนำพาสโมสรพ้นจากวิกฤตให้ได้

อดีตเฮดโค้ชทีมชาติชิลี และอาร์เจนติน่า วัย 62 ปี มีงานให้ทำอีกมากในช่วงที่เหลือของซีซั่นนี้ ทั้งการหาผู้เล่นใหม่ในช่วงตลาดนักเตะเดือนมกราคม และการนำฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมกลับคืนมาให้เร็วที่สุด

⚽️ เอลเช่ เปลี่ยนโค้ชครั้งที่ 3 หวังหลุดอันดับบ๊วย

เอลเช่ ทีมอันดับสุดท้ายของตาราง มีการเปลี่ยนแปลงเฮดโค้ช โดยได้ปาโบล มาชิน ที่เข้ามารับตำแหน่งช่วงพักเบรกฟุตบอลโลก และเป็นกุนซือคนที่ 3 ในฤดูกาลนี้ ต่อจากฟรานซิสโก้ และฮอร์เก้ อัลมิรอน

ในเวลานี้ เอลเช่ เป็นทีมเดียวในลีกสูงสุดที่ยังไม่ชนะใคร มีแค่ 4 แต้ม ตามหลังโซนปลอดภัยถึง 8 คะแนน โดยมาชิน จะประเดิมคุมทีมในศึกลาลีกา เจองานหนักอย่างแอตเลติโก้ มาดริด วันที่ 29 ธันวาคมนี้

หลังผ่านไป 14 นัด นอกเหนือจากการลุ้นแชมป์ที่เข้มข้นแล้ว การลุ้นพื้นที่โควต้ายุโรป ก็สนุกไม่แพ้กัน เพราะคะแนนเบียดกันสูสีมาก รวมถึงการลุ้นหนีตกชั้น ทีมอันดับ 11 มีแต้มมากกว่าโซนสีแดงแค่ 8 แต้มเท่านั้น

ด้วยเส้นทางในฤดูกาลนี้ที่ยังเหลืออีกพอสมควร ทุกสถานการณ์บนตารางคะแนนล้วนน่าตื่นเต้นทั้งสิ้น ทำให้อันดับมีโอกาสเปลี่ยนแปลงแบบนัดต่อนัด หากพลาดติดกันหลาย ๆ เกม ก็มีสิทธิ์น้ำตาตกได้เช่นกัน

Categories
Column

10 นักเตะลาลีกา คว้าแชมป์โลก 2022 กับ “ฟ้า-ขาว”

นักฟุตบอลในลาลีกา สเปน 83 คน ที่มีชื่อติดทีมเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ต่างได้ร่วมกันสร้างสีสันให้กับแฟนบอลทั่วโลกตลอด 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ฟุตบอลโลก 2022 รอบชิงชนะเลิศ ที่เพิ่งจบลงไป ถือเป็นหนึ่งในแมตช์ที่น่าจดจำที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะเต็มไปด้วยคุณภาพ รวมถึงเหตุการณ์ดราม่าสุดระทึกตลอดทั้งเกม

ท้ายที่สุดเป็นทีมชาติอาร์เจนติน่า ที่ดวลจุดโทษเอาชนะทีมชาติฝรั่งเศส 4 – 2 หลังเสมอกัน 3 – 3 ใน 120 นาที คว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 3 ยุติการรอคอยโทรฟี่ฟุตบอลโลกไว้ที่ 36 ปี

⚽️ อาร์เจนติน่า กับ 10 ผู้เล่นจากลีกสเปน

ในบรรดาผู้เล่นอาร์เจนติน่า 10 คน ที่ค้าแข้งอยู่ในลาลีกา มีเพียง เกโรนิโม รุลลี ผู้รักษาประตูมือ 3 คนเดียวเท่านั้น ที่ไม่ได้ลงเล่นเลยในเวิลด์ คัพ ที่กาตาร์ ส่วนผู้เล่นคนอื่นๆ ต่างก็มีส่วนร่วมในความสำเร็จครั้งนี้

ยกตัวอย่างเช่น โรดริโก เด ปอล กองกลางจากแอตเลติโก มาดริด ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในแผงมิดฟิลด์ โดยเป็นผู้เปิดทางให้ลิโอเนล เมสซี่ เล่นเกมรุกได้อย่างอิสระ ซึ่งในนัดชิงชนะเลิศ เขาเรียกฟาวล์ได้มากถึง 6 ครั้ง

นาฮูเอล โมลินา แบ็กขวาเพื่อนร่วมสโมสรเดียวกับเด ปอล ที่ลงเล่นครบทุกนัด และยิง 1 ประตู ในเกมที่พบกับเนเธอร์เลนด์ ส่วนกอนซาโล่ มอนเทียล จากเซบีย่า ที่ลงเล่นเป็นตัวสำรองของโมลินาในตำแหน่งเดียวกัน

สำหรับกอนซาโล่ มอนเทียล แบ็กขวาวัย 26 ปี เขาคือผู้ยิงจุดโทษคนที่ 4 ให้กับ “ฟ้า-ขาว” ซึ่งถ้าหากยิงเข้า เกมจบทันที และเจ้าตัวได้ยิงไปทางซ้ายมือของตัวเองเข้าประตูไป โดยที่อูโก้ โยริส พุ่งผิดทาง คว้าแชมป์ในที่สุด

⚽️ รายชื่อผู้เล่นจากลาลีกา ที่อยู่ในทีมชาติอาร์เจนติน่า ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 2022

✅ แอตเลติโก้ มาดริด : นาฮูเอล โมลินา, โรดริโก เด ปอล, อังเคล กอร์เรอา

✅ เซบีย่า : กอนซาโล่ มอนเทรียล, มาร์กอส อาคูญา, อเลฮานโดร ปาปู โกเมซ

✅ เรอัล เบติส : เจอร์มัน เปซเซลล่า, กุยโด โรดริเกซ

✅ บียาร์เรอัล :  ฮวน ฟอยธ์, เกโรนิโม รุลลี

⚽️ 5 แข้งฝรั่งเศส รองแชมป์ที่น่าภาคภูมิใจ

น่าเสียดายสำหรับฝรั่งเศส ที่ไม่สามารถป้องกันแชมป์โลกได้สำเร็จ แต่อย่างน้อยที่สุดก็สู้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ฌูลส์ กุนเด้, อองตวน กรีซมันน์ ออเรเลียง ชูอาเมนี่ รวมถึงอุสมาน เดมเบเล่ ต่างออกสตาร์ตเป็นตัวจริงในนัดชิงชนะเลิศ และต้องไม่ลืมเอดูอาร์โด้ คามาวิงก้า ตัวสำรองที่ช่วยพลิกเกมในช่วงครึ่งหลัง แม้จะได้ลงเล่นในตำแหน่งแบ็กซ้ายที่ไม่ถนัดก็ตาม

⚽️ “โมดริช” ที่ 3 กับโครเอเชีย และ Bronze Ball

นักเตะลาลีกา ชุดคว้าที่ 3 กับทีมชาติโครเอเชีย ในเวิลด์คัพ ครั้งนี้ นำโดย ลูก้า โมดริช กัปตันทีมวัย 37 ปี ที่คว้ารางวัล Bronze Ball หรือนักเตะยอดเยี่ยมอันดับ 3 ประจำการแข่งขัน ร่วมด้วยอิโว กรูบิช, และอันเต้ บูดิเมียร์

⚽️ “โบโน & เอ็น-เนซีรี” ช่วยสร้างตำนานให้โมร็อกโก

โมร็อกโก สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแรกจากทวีปแอฟริกา ที่คว้าอันดับ 4 เวิลด์ คัพ ต้องให้เครดิตยาสซีน บูนู ผู้รักษาประตูจอมหนึบ, ยูสเซฟ เอ็น-เนซีรี กับ 2 ประตูในทัวร์นาเมนท์นี้, จาวาด เอล-ยามิค และเอเซ อเบเด้

สรุปผลงานของผู้เล่นจากลาลีกา มีนักเตะที่อยู่ใน 3 อันดับแรก ของฟุตบอลโลก ครั้งล่าสุด รวมทั้งสิ้น 18 คน มาจาก 7 สโมสร ประกอบด้วย เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า, แอตเลติโก้ มาดริด, เซบีย่า, เรอัล เบติส บียาร์เรอัล และโอซาซูน่า

เป็นอันว่า นักเตะทั้ง 83 คน จากลีกสูงสุดของสเปน ได้เสร็จสิ้นภารกิจในฟุตบอลโลก 2022 เป็นที่เรียบร้อย และจะกลับมาเตรียมความพร้อมสำหรับลาลีกา ที่จะกลับมารีสตาร์ทอีกครั้งในช่วงสุดสัปดาห์หน้า

Categories
Column

5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้ของ “เอ็นดริค” ว่าที่แข้งใหม่ราชันชุดขาว

ภาพจำในอดีตของเรอัล มาดริด คือการซื้อนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์มาร่วมทีม จนได้สมญานามว่า “กาลาติกอส” แต่ในระยะหลัง ๆ ได้เริ่มมองหานักเตะดาวรุ่งอายุน้อยฝีเท้าดีมากขึ้นเรื่อย ๆ

เรอัล มาดริด สโมสรในลาลีกา สเปน ประกาศคว้าตัว เอ็นดริค ดาวรุ่งชาวบราซิลวัย 16 ปี จากพัลไมรัส โดยเซ็นสัญญาล่วงหน้าเกือบ 2 ปี ก่อนย้ายทีมอย่างเป็นทางการในช่วงซัมเมอร์ปี 2024

ยักษ์ใหญ่จากเมืองหลวง มองเห็นถึงศักยภาพของเอ็นดริค จึงตัดสินใจลงทุนสำหรับดีลดังกล่าว และนี่คือ 5 เรื่องราวที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ของว่าที่สตาร์คนใหม่ “ราชันชุดขาว” รายนี้

⚽️ ได้ย้ายมาอยู่พัลไมรัส เพราะยูทูบ

เอ็นดริค เฟลิเป้ โมไรร่า เด ซูซ่า ไม่ได้เป็นที่จับตามองของทีมยักษ์ใหญ่ในตอนแรก แต่เมื่อพ่อของเขาได้แชร์คลิปทักษะการเล่นฟุตบอลของลูกชายบนยูทูบ แล้วไปเข้าตาแมวมองของพัลไมรัส ทางสโมสรจึงได้เสนอที่อยู่ให้ครอบครัวของเอ็นดริค ได้อาศัยในเซา เปาโล และช่วยพ่อของเขาหางานทำ ด้วยการเป็นพนักงานทำความสะอาด

⚽️ เคยมีสปอนเซอร์เป็นบริษัททันตกรรม

เอ็นดริค เคยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทด้านทันตกรรมแห่งหนึ่ง เนื่องจากพ่อของเขาประสบอุบัติเหตุ สูญเสียฟันไปหลายซี่ ทำให้ไม่สามารถทานอาหารแข็งได้ ต้องทานอาหารเหลวเท่านั้น และบริษัทดังกล่าวได้จ่ายค่ารักษาทางทันตกรรมให้ทั้งหมด ทำให้ครอบครัวของเขารู้สึกยินดีสำหรับการช่วยเหลือในครั้งนั้น

⚽️ ทุบสถิติอายุน้อยสุดกับพัลไมรัส

นับตั้งแต่เอ็นดริค ลงสนามให้กับทีมชุดใหญ่ของพัลไมรัส เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เขาได้สร้างสถิติใหม่ให้กับสโมสร โดยเป็นนักเตะอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ ที่ประเดิมลงเล่นนัดแรกให้กับทีมซีเนียร์ ด้วยวัย 16 ปี 2 เดือน และยังเป็นนักเตะอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ ที่ยิงประตูแรกให้กับทีมซีเนียร์ ด้วยวัย 16 ปี 3 เดือน 4 วัน

⚽️ แบกอายุ 4 ปี ติดทีมชาติชุดยู-20

เอ็นดริค ถูกเรียกติดทีมชาติบราซิล ในการแข่งขันฟุตบอลโคปา อเมริกา รุ่น ยู-20 ที่ประเทศโคลอมเบีย ระหว่างวันที่ 19 มกราคม ถึง 12 กุมภาพันธ์ 2023 นั่นหมายความว่า ต้องแบกอายุถึง 4 ปี ในการลงเล่นทัวร์นาเมนท์ดังกล่าว โดยเขาเคยประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ฟุตบอลรุ่น ยู-16 และเป็นดาวซัลโวด้วย

⚽️ มี “คริสเตียโน่ โรนัลโด” เป็นไอดอล

เมื่อคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ย้ายมาร่วมทีมเรอัล มาดริด ในปี 2009 เอ็นดริคมีอายุเพียง 3 ขวบเท่านั้น และเติบโตไปพร้อมกับการได้ชมความเก่งกาจของซูเปอร์สตาร์ชาวโปรตุเกส เขารู้สึกประทับใจกับผลงานของโรนัลโด้เป็นอย่างมาก จึงยกให้อดีตดาวเตะราชันชุดขาวรายนี้ เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดในการเล่นฟุตบอล

การที่เรอัล มาดริด ตัดสินใจซื้ออนาคต ในการเซ็นสัญญาล่วงหน้ากับเอ็นดริค ถือเป็นความเสี่ยงที่พวกเขาได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ต้องรอดูว่าการเสี่ยงในครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

Categories
Column

“กาดิซ” อุ่นแข้งดวลทีมพรีเมียร์ลีก ก่อนลาลีการีสตาร์ท

กาดิซ สโมสรจากลาลีกา สเปน เปิดสนามเอสตาดิโอ นูเอโว มิรันดิลลา เอาชนะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยอดทีมพรีเมียร์ลีก 4 – 2 ในเกมอุ่นเครื่องช่วงฟุตบอลโลก เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ปี 1955 จนถึงปัจจุบัน สนามเอสตาดิโอ นูเอโว มิรันดิลลา ได้ใช้จัดเกมอุ่นเครื่องพรี-ซีซั่น ในรายการ “ราม่อน เด การ์รันซ่า โทรฟี่” โดยเชิญสโมสรชื่อดังจากทั่วโลกมาแข่งขันด้วย

นี่เป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งกาดิซ และแมนฯ ยูไนเต็ด โดยก่อนหน้านี้ ผู้มาเยือนจากอังกฤษ เคยพบกับสโมสรจากสเปน ทั้งเกมกระชับมิตรช่วงซัมเมอร์นี้ 2 นัด และฟุตบอลถ้วยยุโรป อีก 2 นัด

เกมพรี-ซีซั่น 2022/23 ยูไนเต็ด แพ้แอตเลติโก้ มาดริด 0 – 1 และเสมอราโย บาเยกาโน่ 1 – 1 นอกจากนี้ พวกเขายังพบกับเรอัล โซเซียดัด ในยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ต่างฝ่ายต่างเอาชนะในเกมเยือนด้วยสกอร์ 1 – 0

เอริค เทน ฮาก กุนซือ “ปิศาจแดง” ลงคุมทีมเป็นนัดแรกโดยที่ไม่มีคริสเตียโน่ โรนัลโด้ อดีตดาวเตะเรอัล มาดริด แต่ยังมีนักเตะคนอื่น ๆ ได้แก่ มาร์ติน ดูบราฟก้า, อองโตนี่ มาร์กซิยาล, ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค เป็นต้น

ขณะที่กาดิซ นำโดย 2 อดีตกองหน้าพรีเมียร์ลีก ทั้งอัลบาโร่ เนเกรโด้ ที่เคยค้าแข้งให้กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมคู่ปรับร่วมเมือง รวมถึงลูคัส เปเรซ ที่เคยลงเล่นให้กับอาร์เซน่อล และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด มีชื่อเป็นสำรอง

เจ้าถิ่นออกนำ 2 – 0 ภายใน 15 นาทีแรก จากคาร์ลอส การ์เซีย-ดาย และแอนโธนี่ โลซาโน่ ก่อนที่อองโตนี่ มาร์กซิยาล จะยิงตีไข่แตกให้แมนฯ ยูไนเต็ดไล่ตามมาเป็น 1 – 2 และจบครึ่งแรกด้วยสกอร์นี้

เริ่มครึ่งหลังได้เพียง 3 นาที แมนฯ ยูไนเต็ดตีเสมอเป็น 2 – 2 จากค็อบบี้ ไมนู มิดฟิลด์ดาวรุ่งวัย 17 ปี อย่างไรก็ตาม กาดิช มายิงเพิ่มอีก 2 ประตู จากรูเบน โซบริโน่ และปิดท้ายด้วยผลงานของโทมัส อลาร์คอน

เกมอุ่นเครื่องนัดต่อไปของกาดิซ คือการพบกับวูล์ฟแฮมตัน อีกหนึ่งทีมจากอังกฤษ ในช่วงกลางสัปดาห์หน้า ขณะที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะพบกับเรอัล เบติส ในวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคมนี้

Categories
Column

สำรวจแข้งลาลีกา ที่ยังอยู่รอดใน “เวิลด์ คัพ 2022”

บรรดานักเตะที่มีโอกาสลงเล่นในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ต่างพร้อมที่จะโชว์ฝีเท้าอันน่าตื่นตาตื่นใจให้กับแฟนบอลทั่วโลกได้เห็น สมกับเป็นตัวแทนของทีมชาติ และลีกฟุตบอลของแต่ละประเทศด้วย

ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ได้ 8 ทีมสุดท้าย ที่ยังอยู่ในเส้นทางลุ้นแชมป์เป็นที่เรียบร้อย โดยลาลีกา สเปน เป็นลีกลูกหนังที่มีจำนวนผู้เล่นเหลืออยู่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 จาก 5 ลีกใหญ่ยุโรป

จาก 83 คนในรอบแรก เหลืออีกเกือบ 60 คน ในรอบที่สอง และหลังจากการแข่งขันในรอบ 16 ทีมสุดท้ายเสร็จสิ้นลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีนักเตะที่ยังอยู่ในการแข่งขันทั้งหมด 32 คน จาก 8 สโมสร

ลาลีกา เป็นลีกที่มีนักเตะเหลืออยู่ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเวิลด์ คัพ ปีนี้ มากสุดเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงแค่พรีเมียร์ลีก (64 คน) และมากกว่าอีก 3 ลีกใหญ่ยุโรปที่เหลือ (เซเรีย อา, ลีกเอิง, บุนเดสลีกา)

และถ้ามองในด้านการถูกคัดออกจากทัวร์นาเมท์ ลีกสเปนก็ยังครองอันดับ 2 ที่สูญเสียนักเตะจากการตกรอบน้อยที่สุด โดยคิดเป็น -61.4 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนนักเตะเดิมทั้งหมดก่อนเริ่มการแข่งขัน

โดยลีกที่เสียนักเตะน้อยที่สุด คือ พรีเมียร์ลีก (-52.2 เปอร์เซ็นต์) ส่วนอีก 3 ลีกใหญ่ยุโรปที่เหลือ ได้แก่เซเรีย อา (-63.9 เปอร์เซ็นต์), ลีก เอิง (-64.8 เปอร์เซ็นต์) และบุนเดสลีกา (-76.3 เปอร์เซ็นต์)

“เราภูมิใจที่ผู้เล่นชั้นนำมากมายจากลีกของเรา ยังอยู่ในการแข่งขันฟุตบอลโลกจนถึงช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นเช่นนี้ เรามั่นใจว่าสิ่งนี้จะคงอยู่ต่อไปจนจบการแข่งขัน” ฆาเบียร์ เตบาส ประธานลาลีกา กล่าว

สำหรับนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 2022 จะมีขึ้นที่สนามลูเซล สเตเดี้ยม ในวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม ต้องมาติดตามกันว่า จะมีนักเตะจากลาลีกา สเปน คว้าแชมป์กลับไปหรือไม่

⚽️ รายชื่อผู้เล่นจากลาลีกา ในฟุตบอลโลก 2022 รอบ 8 ทีมสุดท้าย

👉 โครเอเชีย : อิโว เกอร์บิช (แอตเลติโก มาดริด), ลูก้า โมดริช (เรอัล มาดริด), อันเต้ บูดิเมียร์ (โอซาซูน่า)

👉 บราซิล : เอแดร์ มิลิเตา (เรอัล มาดริด), อเล็กซ์ เตลเลส (เซบีย่า), วินิซิอุส จูเนียร์ (เรอัล มาดริด), ราฟินญา (บาร์เซโลน่า), โรดริโก (เรอัล มาดริด)

👉 เนเธอร์แลนด์ : แฟรงกี้ เดอ ยอง (บาร์เซโลน่า), เมมฟิส เดปาย (บาร์เซโลน่า)

👉 อาร์เจนตินา : เกโรนิโม รุลลี (บียาร์เรอัล), นาฮูเอล โมลินา (แอตเลติโก มาดริด), กอนซาโล่ มอนเทรียล (เซบีย่า), เจอร์มัน เปซเซลล่า (เรอัล เบติส), มาร์กอส อาคูญา (เซบีย่า), ฮวน ฟอยธ์ (บียาร์เรอัล), โรดริโก เด ปอล (แอตเลติโก มาดริด), กุยโด โรดริเกซ (เรอัล เบติส), อเลฮานโดร ปาปู โกเมซ (เซบีย่า), อังเคล กอร์เรอา (แอตเลติโก มาดริด)

👉 โมร็อกโก : ยาสซีน โบโน่ (เซบีย่า), จาวาด เอล-ยามิค (เรอัล บายาโดลิด), ยูสเซฟ เอ็น-เนซีรี (เซบีย่า), เอเซ อเบเด้ (โอซาซูน่า)

👉 โปรตุเกส : วิลเลียม คาร์วัลโญ่ (เรอัล เบติส), เจา เฟลิกซ์ (แอตเลติโก มาดริด)

👉 ฝรั่งเศส : ฌูลส์ กุนเด้ (บาร์เซโลน่า), เอดูอาร์โด้ คามาวิงก้า (เรอัล มาดริด), ออเรเลียง ชูอาเมนี่ (เรอัล มาดริด), อุสมาน เดมเบเล่ (บาร์เซโลน่า), อองตวน กรีซมันน์ (แอตเลติโก มาดริด), คาริม เบนเซม่า (เรอัล มาดริด)

Categories
Column

อเลฮานโดร บัลเด้ : แข้งดาวรุ่ง “กระทิงดุ” ลุยเวิลด์ คัพ 2022

ศูนย์ฝึกฟุตบอล “ลา มาเซีย” ตำนานอคาเดมี่ผู้สร้างสุดยอดนักเตะพรสวรรค์ให้กับบาร์เซโลน่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดได้ค้นพบดาวรุ่งดวงใหม่อีกดวงแล้ว นั่นคือ อเลฮานโดร บัลเด้

แบ็กซ้ายดาวรุ่งพุ่งแรงวัย 19 ปี ถูกเรียกติดทีมชาติสเปน ชุดสู้ศึกฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ แทนที่ของโฆเซ่ กาย่า แบ็กซ้ายกัปตันทีมบาเลนเซีย วัย 27 ปี ที่ถอนตัวออกไป เนื่องจากเจ็บที่ข้อเท้า

ถือเป็นหนึ่งในนักเตะดาวรุ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง หลังได้รับโอกาสลงสนามมากขึ้นในยุคของกุนซือซาบี้ เอร์นานเดซ จนก้าวสู่การได้รับโอกาสสำคัญของชีวิต ในการติดทีมชาติชุดใหญ่เป็นครั้งแรก

บัลเด้ เป็นชาวคาตาลันโดยกำเนิด และได้เข้ามาเรียนรู้วิชาลูกหนังกับศูนย์ฝึก “ลา มาเซีย” ของบาร์เซโลน่า ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ บ่มเพาะฝีเท้าจนได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ทีมสำรองของสโมสร ในปี 2020

ช่วงต้นฤดูกาล 2021/22 บัลเด้ได้โอกาสลงสนามกับทีมชุดใหญ่ของบาร์ซ่า ภายใต้การคุมทีมของโรนัลด์ คูมันอยู่ 3 นัด แต่เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บรบกวนอยู่ตลอด ทำให้สภาพความฟิตไม่เต็มที่

จนกระทั่งเข้าสู่ยุคของซาบี้ เอร์นานเดซ เทรนเนอร์คนปัจจุบัน บัลเด้ยังได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้า พักยาว 2 เดือน ทำให้ตลอดซีซั่นที่แล้ว เขาได้ลงสนามกับทีมชุดใหญ่รวมทุกรายการแค่ 7 นัดเท่านั้น

ก่อนเปิดฤดูกาล 2022/23 ซาบี้ ให้สัมภาษณ์ว่า “บัลเด้คือส่วนหนึ่งในแผนการทำทีม เพราะมีช่วงพรี-ซีซั่นที่ดีมาก แม้ตอนนี้อายุจะยังน้อย แต่เขาจะเป็นตัวแทนของฆอร์ดี้ อัลบาในอนาคตอย่างแน่นอน”

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/fcbarcelona

เกมลาลีกา นัดที่ 2 ของซีซั่นใหม่ บาร์เซโลน่า บุกไปเยือนเรอัล โซเซียดัด ซาบี้ตัดสินใจส่งบัลเด้ ลงเป็น 11 ตัวจริง ถึงแม้ว่าฆอร์ดี้ อัลบา แบ็กซ้ายตัวจริง จะฟิตสมบูรณ์พร้อมลงสนามก็ตาม

และเหตุการณ์สำคัญของเกมดังกล่าว เกิดขึ้นหลังเริ่มเกมแค่ 45 วินาทีแรก บัลเด้วิ่งตะลุยเข้ากรอบเขตโทษ ก่อนจ่ายบอลให้โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ สังหารเป็นประตูขึ้นนำ 1 – 0 ก่อนที่บาร์ซ่าจะชนะ 4 – 1

ต่อจากนั้น ในเกมนัดล่าสุด ที่ “เจ้าบุญทุ่ม” เปิดบ้านถล่มเรอัล บายาโดลิด 4 – 0 บัลเด้ได้ลงสนามครบ 90 นาทีเต็มเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนครึ่ง หรือนับตั้งแต่นัดที่พบกับเกตาเฟ่ เมื่อช่วงปลายซีซั่นที่แล้ว

ถึงแม้ว่าบัลเด้จะเจอปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวนมาตลอดฤดูกาล 2021/22 แต่อย่างน้อยที่สุด เจ้าตัวก็มีรายชื่อติด 60 คนสุดท้าย ที่ได้รับการเสนอชื่อลุ้นรางวัล “โกลเด้น บอย อวอร์ด” ในปีนี้

สำหรับรางวัลโกลเด้น บอย อวอร์ด จัดโดย “ตุ๊ดโต้สปอร์ต” สื่อกีฬาของอิตาลี เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักฟุตบอลอายุไม่เกิน 21 ปี ที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในลีกสูงสุดของยุโรป ในหนึ่งรอบปีปฏิทิน

และล่าสุด ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 นัดแรกของกลุ่ม E ที่สเปน ถล่มคอสตาริกา 7 – 0 เมื่อวันพุธที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บัลเด้ ถูกเปลี่ยนตัวลงมาแทนฆอร์ดี้ อัลบา ในนาทีที่ 64

เวลานี้ อเลฮานโดร บัลเด้ ยังคงเป็นตัวสำรองของฆอร์ดี้ อัลบา ไปก่อน และต้องทำงานหนักอีกมาก เพื่อเก็บประสบการณ์สำหรับการขึ้นมาเล่นให้กับทีมชุดใหญ่อย่างสม่ำเสมอในอนาคต

Categories
Column

“มายอร์ก้า – บาเยกาโน่” แจ็คผู้ฆ่ายักษ์แห่งลาลีกา

ความคลาสสิกอย่างหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอล คือ ทีมที่เป็นรอง สามารถพลิกล็อกเอาชนะทีมยักษ์ใหญ่ หรือทีมบิ๊กเนมได้ และในทุก ๆ ฤดูกาลของฟุตบอลลีก ก็จะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ

สำหรับลูกหนังลีกกระทิงดุ ในช่วงไม่กี่ปีหลัง มีความสูสีกันมากขึ้น ทีมขนาดกลางสามารถยกระดับสู้กับทีมกลุ่มบนได้ไม่เป็นรอง และมีโอกาสจะเกิดเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายได้ทุกเมื่อ

ฟุตบอลลาลีกา สเปน ฤดูกาล 2022/23 ผ่านไปแล้ว 14 นัด ก่อนหยุดพักเพื่อหลีกทางให้ฟุตบอลโลก ที่ประเทศกาตาร์ ประมาณ 1 เดือนครึ่ง และกลับมาแข่งขันอีกครั้งในช่วงส่งท้ายปี

นับตั้งแต่เปิดซีซั่น มีทีมที่อยู่นอกสายตาแต่ทำผลงานได้ดี นั่นคือราโย บาเยกาโน่ และเรอัล มายอร์ก้า ที่โชว์ฟอร์มได้ยอดเยี่ยมในช่วงหลัง ๆ จนมีแต้มขยับเข้าใกล้โซนลุ้นพื้นที่โควตายุโรป

เมื่อพิจารณาผลงานในช่วง 1 เดือนสุดท้าย ที่ลงเล่นทั้งหมด 6 นัด ก่อนพักเบรกช่วงเวิลด์ คัพ จะพบว่า บาเยกาโน่ กับมายอร์ก้า ได้สร้างเซอร์ไพรส์ เอาชนะทีมที่ชื่อชั้นเหนือกว่าอยู่หลายนัด

เริ่มจาก 6 นัดหลังสุดของราโย บาเยกาโน่ ชนะ 3 เสมอ 3 เก็บได้ 12 คะแนน ในจำนวนนี้คือการลัมยักษ์อย่างเรอัล มาดริด ด้วยสกอร์ 3 – 2, บุกไปชนะเซบีย่า 1 – 0 และบุกไปตีเสมอแอตเลติโก้ มาดริด 1 – 1

ก่อนหน้านี้ในนัดเปิดซีซั่น บุกไปยันเสมอบาร์เซโลน่า ถึงสปอติฟาย คัมป์ นู 0 – 0 นั่นหมายความว่าในครึ่งซีซั่นแรก บาเยกาโน่ ไม่แพ้ทีม “บิ๊ก 4” และเป็นทีมเดียวที่เอาชนะ “แชมป์เก่า” เมื่อซีซั่นที่แล้วได้

ผลงานยามเล่นในบ้าน ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ช่วยให้ “เดอะ เรด แซซ” มีแต้มตามหลังท็อปโฟร์แค่ 2 แต้มในเวลานี้ โดยมีสถิติชนะ 4 เสมอ 2 แพ้แค่นัดเดียว ให้กับเรอัล มายอร์ก้า ทีมที่ฟอร์มดีเช่นเดียวกัน

ทีมของกุนซืออันโดนี่ อิราโอล่า มีนักเตะที่โชว์ฟอร์มได้ดีหลายคน อาทิเช่น ฟลอร็อง เลอเฌอยูน เซ็นเตอร์แบ็กฝรั่งเศส, อัลบาโร่ การ์เซีย และอิซี่ ปาลาซอน 2 ปีกตัวเก่ง ทั้ง 3 คนนี้ ยิงไปแล้วคนละ 3 ประตู

ขณะที่ 6 นัดหลังสุดของเรอัล มายอร์ก้า เริ่มจากแพ้เซบีย่า กับเรอัล โซเซียดัด แต่อีก 4 นัดหลังจากนั้นไม่แพ้ใคร แถมโค่นทีมดังอย่างบาเลนเซีย ด้วยสกอร์ 2 – 1, ชนะบียาร์เรอัล 2 – 0 และชนะแอตฯ มาดริด 1 – 0

ปัจจัยที่ทำให้ “เดอะ เวอร์มิลเลียน” เก็บแต้มได้มาก จนขึ้นมาอยู่กลางตาราง คือแท็กติกของกุนซือฮาเวียร์ อากีร์เร่ ที่เล่นเกมรับเหนียวไว้ก่อน จนเสียไปเพียงแค่ 13 ประตู น้อยสุดเป็นอันดับที่ 4 ของลีก

นอกจากนี้ เกมรุกยังได้ทีเด็ดของเวดัด มูริกี ดาวยิงชาวโคโซโว วัย 28 ปี ที่ย้ายมาจากลาซิโอ เมื่อช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ยิงประตูติดต่อกันใน 5 นัดหลังสุด ซึ่งยอดรวมในเวลานี้ เขาทำได้ 8 ประตู

ราโย บาเยกาโน่ และเรอัล มายอร์ก้า หวังที่จะรักษาโมเมนตัมที่กำลังดีแบบนี้ไปเรื่อยๆ น่าสนใจว่า หลังจากหยุดพักเบรกฟุตบอลโลก ทั้ง 2 ทีมนี้ จะยังทำได้ยอดเยี่ยมเหมือนช่วงต้นฤดูกาลหรือไม่