Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

อุดมการณ์ที่แตกต่าง : เรอัล มาดริด – บาร์เซโลน่า คู่อริที่เป็นมากกว่าเกมฟุตบอล

อุดมการณ์ที่แตกต่าง : เรอัล มาดริด - บาร์เซโลน่า คู่อริที่เป็นมากกว่าเกมฟุตบอล

มาดริด และบาร์เซโลน่า 2 เมืองที่ใหญ่ที่สุดของสเปน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ และความขัดแย้งนั้น ก็ได้ส่งต่อสู่เกมฟุตบอล ที่ดวลบนสนามหญ้ามานานกว่า 100 ปี

การพบกันของ 2 สโมสรลูกหนังที่ดีที่สุดในสเปน และอาจจะดีที่สุดในโลก ระหว่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ถูกเรียกว่า “เอล กลาซิโก้” (El Clásico) เจอกันครั้งใดก็สัมผัสได้ถึงความคลาสสิก

แมตช์นี้ มีความหมายมากกว่าเกมฟุตบอลธรรมดา ๆ เพราะเป็นการต่อสู้ของ 2 เมืองใหญ่ ที่มีความแตกต่างกันทั้งเรื่องเชื้อชาติ และอุดมการณ์ทางการเมืองจากประวัติศาสตร์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

“ราชันชุดขาว” ถูกมองว่าเป็นทีมของฝ่ายอำนาจนิยม ส่วน “เจ้าบุญทุ่ม” คือตัวแทนแห่งเสรีนิยม ที่ต้องการปลดแอกจากเมืองหลวง ทำให้ตกเป็นเป้าหมายในการเล่นงานจากรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง

ซึ่งก่อนที่ทั้ง 2 ทีม จะเผชิญหน้ากันในวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคมนี้ ก็มีประเด็นของบาร์เซโลน่า ที่ถูกลาลีกากล่าวหาว่าติดสินบนกรรมการ และเรอัล มาดริด อริตัวแสบ ก็ไม่พลาดที่จะร่วมฟ้องร้องด้วย

“เอล กลาซิโก้” ซีซั่นนี้ ชิ้ทิศทางลุ้นแชมป์

ก่อนการต่อสู้ในยกสอง ที่สปอติฟาย คัมป์ นู สถิติการพบกันในลาลีกา เรอัล มาดริด ชนะ 77 ครั้ง บาร์เซโลน่า ชนะ 73 ครั้ง และเสมอกัน 35 ครั้ง ส่วนจำนวนแชมป์ลีกสูงสุด เรอัล มาดริด 35 สมัย และบาร์เซโลน่า 26 สมัย

สถานการณ์ล่าสุดของการลุ้นแชมป์ลาลีกา 2022/23 บาร์เซโลน่า นำเป็นจ่าฝูง มี 65 คะแนน นำห่างเรอัล มาดริด ทีมอันดับที่ 2 อยู่ 9 แต้ม ผลแข่ง “เอล กลาซิโก้” ครั้งที่ 186 ในลีก จะเป็นตัวชี้ทิศทางการลุ้นแชมป์ของทั้ง 2 ทีม

การจัดอันดับคะแนนในลาลีกา ถ้ามีทีมที่คะแนนเท่ากัน (2 ทีมหรือมากกว่า) จะพิจารณาผลการแข่งขันที่ในแมตช์ที่พบกันเอง (เฮด-ทู-เฮด) เป็นลำดับแรก ซึ่งการใช้กฎเฮด-ทู-เฮดนั้น จะมีผลหลังจากจบฤดูกาลเรียบร้อยแล้ว

การดู “เฮด-ทู-เฮด” ของลีกสเปน จะไม่มีการนับประตูทีมเยือน (อเวย์โกล) ถ้าเฮด-ทู-เฮด เท่ากัน ให้ข้ามไปพิจารณาที่ประตูได้-เสียนับรวมทั้งซีซั่น ซึ่งแมตช์แรกที่ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว เป็นราชันชุดขาว เอาชนะ 3 – 1

ความเป็นไปได้ของผลการแข่งขันในสุดสัปดาห์นี้ ถ้าเรอัล มาดริด เก็บชัยได้ จะจี้บาร์เซโลน่าเหลือ 6 แต้ม และผลงาน “เฮด-ทู-เฮด” ดีกว่า หรือผลเสมอ ก็ตามหลังบาร์เซโลน่า 9 แต้มเท่าเดิม แต่ “เฮด-ทู-เฮด” ยังเหนือกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากบาร์เซโลน่า เป็นฝ่ายชนะ ต้องแยกออกเป็น 3 กรณี ดังต่อไปนี้

– ชนะด้วยผลต่าง 1 ประตู : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม แต่ผลงานเฮด-ทู-เฮด เรอัล มาดริด ยังได้เปรียบ

– ชนะด้วยผลต่าง 2 ประตู : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม ผลงานเฮด-ทู-เฮด เท่ากับเรอัล มาดริด ต้องไปวัดที่ประตูได้-เสีย โดยในตอนนี้ “เจ้าบุญทุ่ม” ได้ 47 เสีย 8 (ผลต่าง +39) ส่วน “ราชันชุดขาว” ได้ 50 เสีย 19 (ผลต่าง +31)

– ชนะด้วยผลต่าง 3 ประตู หรือมากกว่า : บาร์เซโลน่า นำห่าง 12 แต้ม แถมผลงานเฮด-ทู-เฮด เหนือกว่าเรอัล มาดริด อีกด้วย

เริ่มต้นจากการเป็นมิตร

ก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงมาดริด และเมืองบาร์เซโลน่าจะเป็นศัตรูกันแบบในปัจจุบันนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นมิตรที่ดี เกื้อหนุนกันมาก่อน อาจจะมีการแข่งขันกันบ้างในบางเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งรุนแรง

ในอดีต แคว้นคาตาลุญญ่า คือส่วนหนึ่งของอาณาจักรอารากอน มีเมืองบาร์เซโลน่าเป็นเมืองท่าสำคัญ มีภาษาเป็นของตัวเอง เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสถาปัตยกรรม

ส่วนอาณาจักรกาสติลญ่า ที่มีเมืองมาดริดเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุด เป็นศูนย์กลางในด้านการเมืองการปกครอง มีจุดเด่นในด้านประวัติศาสตร์ มีมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งรวมผลงานศิลปะ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1469 เมื่อเจ้าชายเฟอร์ดินันด์ที่ 2 แห่งอารากอน ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอิซาเบลลา แห่งกาสติลญ่า ทำให้เกิดการผนวกระหว่าง 2 อาณาจักรใหญ่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิสเปน

จักรวรรดิสเปน คือการหลอมรวมอานาจักรต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งหลังจากจักรวรรดิสเปนเกิดขึ้น เมืองบาร์เซโลน่าเจริญขึ้นมากจากการค้าขายทางเรือ ส่วนเมืองมาดริดค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเมืองหลวงในปี 1561

รอยร้าวเล็ก ๆ ที่ใหญ่ขึ้น

แม้ 2 อาณาจักรใหญ่จะรวมกันเป็นสเปนแล้ว การปกครองก็ยังเป็นอิสระต่อกัน ความสัมพันธ์ระหว่างมาดริด และบาร์เซโลน่า ดูเหมือนจะราบรื่น แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นความแตกแยกระหว่างสองเมือง

เหตุการณ์ที่ว่านั้นก็คือ สงครามชิงบัลลังก์ราชวงศ์ ในปี 1714 คาตาลุญญ่าเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ ทำให้ถูกริบสิทธิและอำนาจการปกครองของตัวเอง รวมถึงภาษา วัฒนธรรมของแคว้น ก็ถูกอำนาจของสเปนกดทับไว้

ต่อมาในปี 1808 สงครามคาบสมุทร ที่เกี่ยวเนื่องไปถึงสงครามนโปเลียน เมื่อกองทัพของจักรวรรดิฝรั่งเศส นำโดยจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต ได้ถอนกำลังจากโปรตุเกส และเข้าโจมตีเมืองบาร์เซโลน่า ของสเปนแทน

ทว่าในช่วงเวลาของสงครามคาบสมุทรนั้น สเปนกำลังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้ทหารนับแสนนายไม่สามารถทำอะไรได้ ปล่อยให้จักรวรรดิฝรั่งเศสยึดเมืองบาร์เซโลน่า และส่งคนเข้ามาปกครองสเปนในที่สุด

แม้ในภายหลัง สเปนจะได้เมืองบาร์เซโลน่ากลับคืนมา แต่ความรู้สึกของชาวคาตาลัน ที่ถูกทอดทิ้งจากการต่อสู้กับจักรวรรดิฝรั่งเศส ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายในจิตใจให้คนในเมืองนี้ไปแล้ว

ชิงความเป็นหนึ่งด้วยเกมลูกหนัง

ความขัดแย้งของทั้ง 2 เมือง ก็ได้ส่งต่อไปยังกีฬาฟุตบอลด้วย การก่อตั้งสโมสรเรอัล มาดริด กับบาร์เซโลน่า ที่เป็นตัวแทนของ อุดมการณ์ ซึ่งผลงานในสนาม คือการพิสูจน์ว่าเมืองของตัวเองเหนือกว่าอีกเมืองหนึ่ง

สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่า ก่อตั้งเมื่อปี 1899 และอีก 3 ปีให้หลัง สโมสรฟุตบอลเรอัล มาดริด ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ทั้งคู่ได้พบกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 เมษายน 1902 จบลงด้วยชัยชนะ 3 – 1 ของบาร์เซโลน่า

หลายคนเข้าใจว่า เมืองบาร์เซโลน่าถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียวมาตลอด จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะในบางครั้ง กรุงมาดริดก็เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเทียบเหตุการณ์และความรุนแรงแล้ว ฝ่ายบาร์เซโลน่าโดนหนักกว่ามาก

เหตุการณ์ที่ทำให้ฝ่ายมาดริดโกรธแค้น มีอยู่ 2 เหตุการณ์หลัก ๆ คือเหตุการณ์ที่นักเตะเรอัล มาดริดรายหนึ่ง ถูกลอบสังหารในคาตาลุญญ่า เมื่อปี 1916 แต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า เป็นฝีมือของชาวคาตาลันหรือไม่

อีกเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นในนัดชิงชนะเลิศ โคปา เดล เรย์ เมื่อปี 1930 ที่เรอัล มาดริด แพ้ให้กับแอธเลติก บิลเบา ซึ่งต้นเหตุมาจากผู้ตัดสินในนัดดังกล่าว เป็นชาวคาตาลัน ที่ทำหน้าที่ตัดสินแบบค้านสายตา

แตกหักเพราะสงครามกลางเมือง

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของนายพลฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการของสเปน จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองในช่วงปี 1936-1939 ก็ยิ่งทำให้เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า ไม่มีวันที่จะญาติดีกันอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

นายพลฟรังโก้ เข้ามาปกครองสเปนตั้งแต่ปี 1936 นิยมแนวคิดแบบขวาจัด ต้องการสร้างสเปนให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งแน่นอนว่า ฝ่ายบาร์เซโลน่าต่อต้านอย่างหนัก เพราะเป็นการลดทอนอัตลักษณ์ของคาตาลุญญ่า

ความคับแค้นของบาร์เซโลน่า ที่มีต่อเรอัล มาดริด เริ่มจากโฆเซป ซูโยล ประธานสโมสรบาร์เซโลนา และสมาชิกของพรรคการเมืองเสรีนิยมแห่งคาตาโลเนียในขณะนั้น ถูกฝ่ายของนายพลฟรังโก้ลอบสังหาร

เท่านั้นยังไม่พอ นายพลจอมฟาสซิสต์รายนี้ ได้จัดการเอาธงคาตาลันออกจากโลโก้ของบาร์ซ่า เปลี่ยนชื่อสโมสรเป็นภาษาสเปน สั่งห้ามพูดภาษาคาตาลัน และส่งคนของตัวเองเข้าไปควบคุมสโมสรแบบเบ็ดเสร็จ

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RealMadrid

สงครามกลางเมืองของสเปน เกิดจากทหารที่เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลฝ่ายซ้าย นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนเผด็จการ กับผู้สนับสนุนเสรีนิยม ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของนายพลฟรังโก้ ในปี 1939

และในปี 1943 เกมโคปา เดล เรย์ ที่เรอัล มาดริด เปิดบ้านถล่มบาร์เซโลน่า 11 – 1 สร้างสถิติชนะขาดลอยที่สุดใน “เอล กลาซิโก้” แต่ชัยชนะในครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีอำนาจมืดจากนายพลฟรังโก้อยู่เบื้องหลัง

ตำนานชิงตัว “ดิ สเตฟาโน่ – ฟิโก้”

นอกจากการแข่งขันในสนามแล้ว ยังมีเหตุการณ์การแย่งชิงนักเตะฝ่ายตรงข้ามที่ถูกเล่าขานระดับตำนาน คือกรณีของอัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ และหลุยส์ ฟิโก้ ซึ่งเป็นเรอัล มาดริด ที่กระทำกับบาร์เซโลน่าถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก เมื่อปี 1953 บาร์เซโลน่า เป็นฝ่ายที่ทาบทามตัว ดิ สเตฟาโน่ ก่อน โดยอ้างว่าได้เซ็นสัญญาล่วงหน้าไปแล้ว แต่เรอัล มาดริด ได้อาศัยช่องว่างด้วยการอ้างกฎอีกฉบับหนึ่ง ที่อาจเป็นอำนาจมืดจากนายพลฟรังโก้

กฎของฟุตบอลลีกสเปนในเวลานั้น คือ การซื้อผู้เล่นต่างชาติ ต้องมีลายเซ็นจากสโมสรต้นสังกัดที่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าเท่านั้น แต่รัฐบาลสเปน กลับออกกฎใหม่โดยให้มีลายเซ็นจากสโมสรต้นสังกัดที่แท้จริง แม้จะไม่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าก็ตาม

ยื้อกันไปยื้อกันมา ทำให้ฟุตบอลลีกสเปน ตัดสินใจให้ทั้ง 2 ทีม สลับกันใช้งาน ดิ สเตฟาโน่ ตลอดเวลา 4 ฤดูกาล และหลังจากนั้น เป็นราชันชุดขาว ที่ได้ตัวไปร่วมทีมอย่างถาวร และกลายเป็นตำนานในถิ่นซานติอาโก้ เบอร์นาเบวในที่สุด

ต่อมาในปี 2000 เรอัล มาดริด สร้างปรากฏการณ์ช็อกวงการฟุตบอลอีกครั้ง ด้วยการดึงตัว หลุยส์ ฟิโก้ นักเตะบาร์เซโลน่า สโมสรคู่ปรับตลอดกาล หลังจากฟลอเรนติโน่ เปเรซ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสโมสร

อันที่จริง เปเรซได้วางแผนฉกฟิโก้ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งประธานของเรอัล มาดริดแล้ว โดยเดิมพันผ่านเอเย่นต์ส่วนตัวของดาวเตะโปรตุกีสรายนี้ว่า ถ้าตัวเขาแพ้เลือกตั้ง ยินดีจ่ายเงินให้ 4 ล้านยูโร แต่ถ้าชนะ ต้องย้ายมาค้าแข้งกับ “โลส บลังโกส” ทันที

ซึ่งเปเรซก็ชนะการเลือกตั้งจริงๆ และได้ตัวฟิโก้มาร่วมทีมสมใจอยาก เรียกว่าเป็นการตบหน้าบาร์เซโลน่าครั้งใหญ่ ทำเอาแฟนๆ อาซุลกราน่าโกรธแค้น ถึงขั้นสาปส่งฟิโก้ว่าเป็น “จูดาส” หรือคนทรยศ เหยียบเมืองบาร์เซโลน่าไม่ได้อีกต่อไป

ถึงอย่างไรก็ขาดกันไม่ได้อยู่ดี

หลังหมดยุคนายพลฟรังโก้ สเปนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในปี 1983 จังหวัดมาดริดได้แยกออกจากแคว้นกาสติย่า จัดตั้งเป็น “แคว้นมาดริด”

แต่จากความขัดแย้งที่สะสมมานานตั้งแต่สมัยนายพลฟรังโก้เรืองอำนาจ ความพยายามของคาตาลุญญ่าที่ต้องการจะแยกตัวออกจากรัฐบาลกลางก็ไม่มีทางสิ้นสุด เพราะพวกเขาคือคาตาลัน ไม่ใช่ชาวสเปน

กระแสการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน รุนแรงขึ้นในการลงประชามติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2017 มีชาวคาตาลันประมาณ 2 ล้านคน ไปลงคะแนนโหวต ผลที่ออกมาคือ เสียงส่วนใหญ่ประมาณ 90% สนับสนุนให้คาตาลุญญ่าเป็นเอกราช

แน่นอนว่าการทำเช่นนี้ ผิดกฎหมายรัฐบาลกลางสเปน ทำให้สเปนส่งเจ้าหน้าที่มายึด และทำลายคูหาที่ใช้ในการลงประชามติ รวมถึงสลายผู้คนที่รวมตัวกันในบริเวณนั้น จนเกิดการปะทะขึ้นกลายเป็นเหตุรุนแรง

อีก 26 วันต่อมา (27 ตุลาคม 2017) แกนนำที่เคลื่อนไหวการแยกตัวเป็นอิสระจากสเปน ได้อ่านคำประกาศอิสรภาพในการเป็นเอกราชของคาตาลุญญ่า แต่ก็ถูกรัฐบาลกลางสเปนตอบโต้ด้วยการยึดอำนาจการปกครองจากคาตาลันทันที

มีการวิเคราะห์ว่า การแยกตัวของคาตาลุญญ่าออกจากสเปน อาจจะส่งผลกระทบต่อลาลีกาไม่น้อย เพราะรู้ดีว่าบาร์เซโลน่า และเรอัล มาดริด คือแม่เหล็กที่ช่วยดึงดูดผลประโยชน์มหาศาลให้กับวงการฟุตบอลสเปน

แม้บาร์เซโลน่า จะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต่อต้านมาดริด และอาจถึงเวลาที่ต้องแยกจากกัน แต่การที่ศึกเอล กลาซิโก้ ยังมีเสน่ห์ที่น่าติดตามเช่นนี้ ลาลีกาก็อาจจะรู้สึกดีกว่าก็ได้ที่ทั้งคู่ยังได้พบกันต่อไป

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.the101.world/the-rivalry-ep-1/

https://www.barcablaugranes.com/2017/4/21/15381184/the-transfers-of-figo-and-di-stefano

https://en.wikipedia.org/wiki/2017_Catalan_independence_referendum

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.