Categories
Special Content

จากเด็กติดพ่อที่หายใจเป็นฟุตบอล สู่ฉายา “เดอะ เน็กซ์ ปุสกัส” ของโซบอสไล

โดมินิก โซบอสไล (Dominik Szoboszlai) เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่คนที่ 2 ของลิเวอร์พูลในตลาดซัมเมอร์ปี 2023 ด้วยค่าตัว 60 ล้านปอนด์ แพงเป็นอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์สโมสร รองจากดาร์วิน นูนเญซ 85.36 ล้านปอนด์, เวอร์กิล ฟาน ไดจ์ค 75 ล้านปอนด์ และอลิสซง เบคเกอร์ 65 ล้านปอนด์

แม้อายุเพิ่ง 22 ปี แต่โซบอสไลมีดีกรีเป็นถึงกัปตันทีมชาติฮังการีโดยสวมปลอกแขน C นัดแรกกลางเดือนพฤศจิกายน 2022 เป็นแมตช์อุ่นเครื่องเสมอลักเซมเบิร์ก 2-2 และก่อนบอลยูโร 2024 รอบคัดเลือกในเดือนกันยายน 2023 โซบอสไลเล่นให้ทีมชาติ 32 นัด ทำ 7 ประตู 

ลิเวอร์พูลยังได้มอบเสื้อเบอร์ 8 ให้กับโซบอสไล ซึ่งเป็นหมายเลขที่ตำนานนักเตะ สตีเวน เจอร์ราร์ด ครอบครองยาวนานตั้งแต่ปี 2004 ถึง 2015 ก่อนว่างเว้น 3 ปี และถูกส่งต่อให้ นาบี กิเอตา ในปี 2018 จนกระทั่งมิดฟิลด์ทีมชาติกินีออกจากทีมเมื่อหมดสัญญากับสโมสรกลางปี 2023 นอกจากนี้ “สตีวี จี” ยังเป็น 1 ใน 2 นักเตะไอดอลวัยเด็กของโซบอสไล อีกคนคือ คริสเตียโน โรนัลโด

เจสซี มาร์ช อดีตผู้จัดการทีมลีดส์ ยูไนเต็ด ซึ่งเคยเป็นนายใหญ่ของโซบอสไลที่เรด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก เคยเปรียบเปรยอดีตลูกทีมชาวฮังกาเรียนว่า “โมเดิร์น-เดย์ เดวิด เบคแฮม” เพราะยามใดที่บอลอยู่เท้าขวา โซบอสไลสามารถส่งไปที่ไหนก็ได้ตามใจปรารถนา ด้วยความแม่นยำและความเร็วที่เหลือเชื่อ ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้คำว่า “สมัยใหม่” เนื่องจากโซบอสไลเคลื่อนที่มากกว่าและคล่องตัวมากกว่าเมื่อเทียบกับการเล่นฟุตบอลครั้งอดีต

มาร์ชยังเล่าด้วยว่า ช่วงพักผ่อนกับครอบครัวที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เขาเห็นใบหน้าโซบอสไลปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโซบอสไลดังขนาดไหนในบ้านเกิด ว่ากันว่าโซบอสไลเป็นความหวังและความภูมิใจของชาวฮังกาเรียนจนได้รับสมญานามว่า “เดอะ เน็กซ์ ปุสกัส” ซึ่งหมายถึง เฟเรนซ์ ปุสกัส ตำนานนักเตะผู้ยิ่งใหญ่ที่ทำ 83 ประตูจากการติดทีมชาติฮังการี 84 นัด

โซบอสไลถือว่าเติบโตบนถนนลูกหนังอาชีพอย่างรวดเร็ว ลงเตะให้ทีมชาติฮังการีชุดใหญ่นัดแรกตอนอายุ 19 ปี หลังจากเคยถูกเรียกตัวร่วมฝึกซ้อมตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี ส่วนระดับเยาวชน เขาเล่นให้ 10 นัดให้ทีมชาติ ยู-17, 5 นัดให้ทีมชาติ ยู-19 และ 8 นัดให้ทีมชาติ ยู-21

ขอบคุณภาพจาก  https://www.hungarianconservative.com/articles/opinion/dominik_szoboszlai_country_image_nonpolitics_historical_success/

เกียรติประวัติระดับสโมสร ที่เรด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก ครองแชมป์ ออสเตรียน บุนเดสลีกา 4 สมัยติดต่อกันในซีซัน 2017–18, 2018–19, 2019–20, 2020–21 ครองแชมป์ออสเตรียน คัพ 3 สมัยติดต่อกันในซีซัน 2018–19, 2019–20, 2020–21 และที่แอร์เบ ไลป์ซิก ชนะเลิศเดเอฟเบ โพคาล 2 สมัยติดต่อกันในซีซัน 2021–22, 2022–23

เริ่มออกผจญภัยในโลกฟุตบอลอันกว้างใหญ่ในวัย 16 ปี

ด้วยวัย 22 ปี โซบอสไลถือว่ามีฝีเท้าทักษะความสามารถเหนือมาตรฐานเฉลี่ยของนักเตะอายุใกล้เคียงกัน เล่นได้หลายตำแหน่งทั้ง บ็อกซ์-ทู-บ็อกซ์ มิดฟิลด์, มิดฟิลด์ตัวขวา และมิดฟิลด์ตัวรุก ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และสะสมประสบการณ์กีฬาลูกหนังตั้งแต่อายุยังน้อยร่วมกับ ซอลซ์ โซบอสไล คุณพ่อของเขาที่เคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เรื่องราวของ 2 พ่อลูกโซบอสไลมีแง่มุมที่น่าสนใจไม่น้อย แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวของซอลซ์และโดมินิก ขอใช้เนื้อที่ช่วงต้นบทความนี้ไปกับประวัติโดยย่อของโซบอสไลผู้ลูกกันก่อน

โดมินิก โซบอสไล เกิดวันที่ 25 ตุลาคม 2000 ที่เมืองซีแกชแฟแฮร์วาร์ (Székesfehérvár) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี ลงไปทางใต้ประมาณ 40 ไมล์ ชีวิตนักฟุตบอลเติบโตผ่านระบบเยาวชนของ วิดีโอตัน (2006–2007), โฟนิกซ์ โกลด์ (2007-2015), เอ็มทีเค บูดาเปสต์ (2015-2016) และ ลีฟแฟร์ริง (2016-2017) ซึ่งเป็นทีมสำรองของ เรด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก ในดิวิชัน 2 ประเทศออสเตรีย 

โซบอสไลได้เลื่อนขึ้นไปร่วมทีมชุดใหญ่ของ ลีฟแฟร์ริง ซึ่งแข่งขันอยู่ในลีกา 2 ประเทศออสเตรีย ซีซัน 2017-18 ประเดิมลงสนามในเดือนกรกฎาคม 2017 และจบซีซันด้วยสถิติ 33 นัด 10 ประตู แต่ปลายซีซัน มิดฟิลด์ดาวรุ่งได้รับโอกาสจากซัลซ์บวร์ ลงสัมผัสเกมออสเตรียน บุนเดสลีกา 1 นัด ถูกเปลี่ยนลงไปนาทีที่ 57 ของแมตช์กับออสเตรียน เวียนนา วันที่ 27พฤษภาคม 2018

ซีซัน 2018-19 โซบอสไลยังเล่นควบ 2 ทีม สถิติเฉพาะบอลลีก ลีฟแฟร์ริง 9 นัด 6 ประตู และซัลซ์บวร์ก 16 นัด 3 ประตู ซึ่งประตูแรกเกิดขึ้นในแมตช์กับแวคเกอร์ อินส์บรุค วันที่ 17 มีนาคม 2019 

ซีซัน 2019-20 โซบอสไลกลายเป็นตัวหลักของซัลซ์บวร์ก เล่นบอลลีก 27 นัดจากทั้งหมด 32 นัด ทำ 9 ประตู 14 แอสซิสต์ อีกทั้งได้ประเดิมสนามแชมเปียนส์ ลีก เป็นครั้งแรก ทำ 1 ประตูจาก 5 นัด และยังได้เตะรอบน็อคเอาท์ ยูโรปา ลีก อีก 2 นัด ที่สำคัญเขาได้รับตำแหน่งนักฟุตบอลยอดเยี่ยมประจำฤดูกาลของออสเตรียน บุนเดสลีกา

ซีซัน 2020-21 โซบอสไลอยู่กับทีมซัลซ์บวร์กได้ครึ่งฤดูกาล ก่อนมีข่าวเซ็นสัญญา 4 ปีครึ่งกับ แอร์เบ ไลป์ซิก เมื่อวันที่ 17ธันวาคม 2020 ด้วยค่าตัว 20 ล้านยูโร สร้างสถิติเป็นนักเตะฮังกาเรียนค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่โชคร้ายได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถลงสนามให้ Die Roten Bullen แม้แต่นัดเดียว

โซบอสไลเปิดตัวในยูนิฟอร์มไลป์ซิกนัดแรกเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2021 เป็นการแข่งขันเดเอฟเบ โพคาล กับเอสเฟา ซานด์เฮาเซน เขาถูกเปลี่ยนตัวลงมานาทีที่ 78 และทำประตูแรกได้อีก 3 นาทีถัดมา โดย 2 ซีซัน โซบอสไลเล่นให้ไลป์ซิกรวมทุกรายการ 45 นัด 10 ประตูใน ซีซัน 2021-22 และ 46 นัด 10 ประตูใน ซีซัน 2022-23 พร้อมคว้าแชมป์เยอรมัน คัพ ทั้ง 2 ปี ก่อนย้ายไปร่วมทีม ลิเวอร์พูล ในเดือนกรกฎาคม 2023 ด้วยค่าฉีกสัญญา 70 ล้านยูโร

มีรายงานว่า ลิเวอร์พูลใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์จบดีลนี้ เริ่มต้นเปิดโต๊ะเจรจากับ มัตยาส เอสเตอร์ฮาซี ตัวแทนของโซบอสไลในวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2023 ก่อนเงื่อนไขฉีกสัญญาหมดอายุที่เยอรมนีเพียง 5 วัน และได้ข้อสรุปในวันศุกร์ ทำให้โซบอสไลต้องยกเลิกโปรแกรมวันหยุดพักผ่อนที่โครเอเชียก่อนกำหนด 

โซบอสไลเล่าว่า “พวกเรากำลังสนุกสนานกัน แต่จู่ๆเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น เอเยนต์ของผมแจ้งว่า ตอนนี้นายต้องหยุดกิจกรรมบันเทิงเริงรมย์ ต้องดูแลตัวเองดีๆ เพราะนายต้องย้ายสโมสรแล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก แค่ 2-3 วันเท่านั้นเอง แต่ผมสัมผัสได้ตั้งแต่วันแรกแล้ว ผู้จัดการ (เยอร์เกน คลอปป์) โทรคุยกับผม ซึ่งนั่นเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายแล้วว่า โอเค ผมต้องการไปอยู่กับลิเวอร์พูล จากนั้นเอเยนต์ก็คุยกับสโมสร แล้ว 2 สโมสรก็คุยกัน”

โซบอสไลให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาถึงเป้าหมายว่า “ผมคิดว่าทุกคนในพรีเมียร์ลีกที่มีโอกาสชนะ พวกเขาต่างปรารถนาคว้าชัยชนะเสมอ พวกเราต่างคิดเหมือนๆกัน ผมก็คิดเหมือนกัน ผมเป็นคนประเภทนั้น คนที่ชอบชนะ ผมจะทำทุกอย่างเพื่อทีม ถ้าถามว่าผมต้องการครองแชมป์พรีเมียร์ลีกไหม แน่นอน ผมต้องการชนะเลิศ เช่นเดียวกับยูโรปา ลีก และเอฟเอ คัพ ผมต้องการแชมป์ ทุกอย่างที่เราสามารถทำได้ในปีนี้ ผมต้องการชนะทุกสิ่งเพราะไม่มีใครมาถามคุณหรอกว่า รู้สึกอย่างไรที่ได้อันดับ 2”

อายุ 3 ขวบ พ่อจับหัดเลี้ยงบอลหลบขวดพลาสติก

ตอนที่โซบอลไลเกิด คุณพ่อ (ซอลท์) อายุ 23 ปี คุณแม่ (ซาเนตต์) อายุเพิ่ง 19 ปี ซอลท์เริ่มหัดลูกชายเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ให้เลี้ยงบอลหลบขวดพลาสติกที่วางอยู่บนพื้นภายในบ้านเพราะไม่มีสวนหรือสนามหญ้า

“ถ้าขวดมีน้ำเต็ม มันค่อนข้างง่ายกว่า ถ้าขวดล้ม ผมก็ต้องเริ่มต้นเลี้ยงลูกใหม่ ผมเลี้ยงไปเรื่อยๆจนกว่ามันจะไม่ล้ม ผมทุ่มเทความพยายามจนกระทั่งการเลี้ยงสมบูรณ์แบบ พ่อยังให้ผมเล่นบอลขณะมือกำลูกกอล์ฟด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าผมไม่ทำฟาวล์ด้วยการใช้มือไปดึงเสื้อใคร พ่อไม่อยากให้ผมเติบโตด้วยนิสัยชอบทำฟาวล์ พ่อชอบให้ทำอะไรเพี้ยนๆแบบนั้นแหละ”

โซบอสไลเปิดเผยว่า คริสเตียโน โรนัลด์ และ สตีเวน เจอร์ราร์ด เป็นไอดอลหรือแบบอย่างในเรื่องความทุ่มเททำงานและแพสชันฟุตบอล “แต่พ่อเป็นแรงบันดาลมีอิทธิพลยิ่งใหญ่ต่อตัวผมมากที่สุด เราแทบจะทำทุกอย่างด้วยกัน คนเกือบ 90เปอร์เซ็นต์อาจเติบโตด้วยการอยู่กับแม่ แต่ผมอยู่กับพ่อทั้งวัน ผมเจอแม่แค่ตอนเช้า จากนั้นก็ไปขลุกอยู่กับพ่อ”

“ผมฝึกซ้อมกับพ่อมายาวนานมาก เขาเป็นโค้ชของผม สิ่งที่เรียนรู้เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องเทคนิคและการยิง จนกระทั่งย้ายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเรด บูลล์ ทั้งที่ซัลซ์บวร์กและไลป์ซิก ผมจึงได้เรียนรู้การเล่นกับลูกบอล แล้วก็เรื่องระบบ ทำให้ผมรู้จักยืนตำแหน่งเบอร์ 8 เบอร์ 10 บางทีครั้งก็เบอร์ 6 ผมเพียงพยายามเรียนรู้ทุกอย่างจากตรงนั้น แต่ชีวิตช่วงแรกค่อนข้างยากที่ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีเพื่อนฝูง ผมมีแฟนแล้วตอนนั้น ผมพูดภาษาไม่ได้ทั้งอังกฤษหรือเยอรมัน” โซบอสไลย้อนอดีตเมื่อครั้งต้องออกจากประเทศบ้านเกิดขณะอายุเพียง 16 ปี

มาอ่านเรื่องราวที่เล่าจากปากของซอลท์ โซบอสไล ซึ่งเคยเล่นฟุตบอลอาชีพลีกล่างในตำแหน่งหน้าต่ำ กันบ้าง “ทันทีที่โดมินิกเดินได้ ผมก็ให้ลูกบอลกับเขา เขามักมาดูผมแข่งขันด้วย เหมือนเขาจะสนุกกับมันนะ”

ประมาณปี 2007 ตอนโดมินิกอายุ 7 ขวบ หลังถูกวิดีโอตันปล่อยออกจากทีม ซอลท์ได้ร่วมก่อตั้งสถานบันสอนฟุตบอลที่ชื่อว่า โฟนิกซ์ โกลด์ ซึ่งที่นี่ โดมินิกมีโอกาสร่วมฝึกซ้อมทุกวัน “ถ้าไม่อยู่ที่โรงเรียน โดมินิกก็จะอยู่ที่สนามซ้อม” ขณะที่โดมินิกเล่าถึงชีวิตวัยเด็กว่า “ผมจำไม่ได้นะว่าเคยมีตัวต่อเลโกหรือตุ๊กตาหรือเปล่า สิ่งที่ผมสนใจมีอย่างเดียวคือ ลูกฟุตบอล”

โซบอสไลเป็นคนที่ชอบรอยสัก มีรอยสักมากมายทั้งภาพและตัวอักษรบนเรือนร่าง รวมถึงประโยคของเจอร์ราร์ดที่เขาชื่นชอบ “Talent is a blessing from God, but without incredible will and humility, it is worthless.” เขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงรอยสักว่า “ตอนนั้นผมยังเป็นวัยรุ่นและชอบรอยสักข้อความ ผมจึงใช้มันเป็นเดิมพันกับพ่อ พ่อก็โอเคแล้วพูดว่า ลูกไปหาประโยคที่ต้องการมา ซึ่งผมตอบกลับทันทีว่า ผมมีอยู่แล้ว เรามาคุยเรื่องพนันกันเลยดีกว่า

เดิมพันครั้งนั้นเกี่ยวกับการทดสอบการวิ่งช่วงที่โดมินิกอยู่ในอะคาเดมีของซัลซ์บวร์ก ซอลท์บอกว่าเขายินดีจ่ายค่าสักให้หากโดมินิกทำลายสถิติการวิ่ง ซึ่งโซบอสไลคนลูกทำสำเร็จแล้วได้รอยสักสมใจนึก 

“เราพนันกันเล็กๆน้อยๆตลอดเวลา ผมเป็นคนชอบรถยนต์ พ่อจะพูดบ่อยๆว่า ลูกจะเอารถอะไรก็ได้อย่างที่ต้องการ แต่อันดับแรก ลูกต้องประสบความสำเร็จอะไรก่อน ผมเข้าทีมไลป์ซิก ผมก็ได้รถ พอผมย้ายไปลิเวอร์พูล ผมก็ได้รถอีก”

ซอลท์บอกว่า โดมินิกเหมือนเกิดมาเพื่อทำการแข่งขัน “บางครั้ง เขาก็เพียงท้าผมวิ่งแข่ง ว่าใครไปถึงประตูบ้านก่อนกัน แต่ผมไม่เคยปล่อยให้เขาชนะหรอกนะ เขายังเคยซ้อมเตะลูกฟรีคิกทุกวัน วันละ 100 หรือ 200 ครั้ง ความปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆไม่เคยหมดไปจากเขาเลย”

เห็นได้ชัดว่า โซบอสไลใช้ชีวิตร่วมกับฟุตบอลตลอด สำหรับเขาในวัยเด็ก ลูกบอลคือออกซิเจน บ้านคือสนามฟุตบอล โซบอสไลเคยให้สัมภาษณ์กับ เนมเซติ สปอร์ต ว่า เขาไม่เคยใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป ขณะที่เด็กคนอื่นไปโรงหนัง เขาอยู่สนามฟุตบอล

อะคาเดมีที่วิธีสอนแหวกแนว ยิ่งเทคนิคดี ยิ่งเล่นบอลสนุก

ซีแกชแฟแฮร์วาร์ อยู่ห่างจากกรุงบูดาเปสต์ประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยโรงงานบริษัทใหญ่อย่างฟอร์ดและไอบีเอ็ม จนกระทั่งทศวรรษ 1980 เมืองนี้กลายเป็นที่รู้จักของแฟนบอลเมื่อสโมสรท้องถิ่น วิดีโอตัน เข้าไปเล่นรอบชิงชนะเลิศยูฟา คัพ แพ้ต่อเรอัล มาดริด ด้วยสกอร์รวม 1-3 ในเดือนพฤษภาคม 1985

วิดีโอตัน ซึ่งปัจจุบันคือ โมล แฟแฮร์วาร์ เอฟซี สโมสรใน NB I ลีกสูงสุดของฮังการี กลายเป็นหนึ่งในทีมยักษ์ใหญ่ของประเทศ หนึ่งในแฟนบอลคือ วิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีประเทศฮังการี ซึ่งช่วยสนับสนุนให้สโมสรก่อตั้งอะคาเดมีที่ผลิตนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีเข้าสู่ระบบ

สำหรับซอลท์ เขาได้ก่อตั้ง โฟนิกซ์ โกลด์ ซึ่งเป็นทั้งสโมสรและอะคาเดมีฟุตบอลในเมืองซีแกชแฟแฮร์วาร์ โรงยิมตั้งอยู่ท่ามกลางเขตโรงงานที่เต็มไปด้วยอาคารสภาพทรุดโทรมถ้ามองจากภายนอก ข้างในมีสนามฟุตบอลหญ้าเทียม 7 คน 2สนาม ที่นี่เป็นที่ที่โดมินิกใช้ชีวิตวัยเด็กเป็นส่วนใหญ่

รูปแบบการฝึกสอนของโฟนิกซ์ โกลด์ แตกต่างจากอะคาเดมีทั่วไป ซึ่งได้รับการสร้างสรรค์และพัฒนาโดยซอลท์และโค้ชกลุ่มเล็กๆ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่สมัยนั้น นั่นคือโฟกัสไปที่เทคนิค ซึ่งเป็นสิ่งที่โดมินิกคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก

ที่โฟนิกซ์ โกลด์ สตาฟฟ์โค้ชเริ่มสอนเด็กๆตั้งแต่อายุยังน้อยและสอนกลุ่มเล็กๆด้วยไอเดียที่ค่อนข้างแปลกเช่น แทนสวมเสื้อเอี๊ยม พวกเขาให้เด็กคาดเฮดแบนด์ที่ศีรษะเพื่อบังคับให้เงยหน้าขึ้นมอง หรือให้กำลูกกอล์ฟไว้ในมือเพื่อไม่ให้ดึงเสื้อซึ่งกันและกัน เป็นทริกเล็กๆเพื่อสร้างนิสัยที่ดีสำหรับนักฟุตบอล

ซอลท์ให้สัมภาษณ์ว่า “ความมุ่งมั่นของเราอยู่ที่การเรียนรู้ทักษะทางเทคนิค ปรัญชาของเราคือ เมื่อมีทักษะทางเทคนิคที่ดี ก็จะมีความสนุกมากขึ้นเวลาลงเล่นฟุตบอล

โฟนิกซ์ โกลด์ ไม่เพียงสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการลูกหนังฮังการีแทบจะทันทีแต่ยังประสบความสำเร็จด้วย ทีมฟุตบอลรุ่นอายุเดียวกับโดมินิกครองแชมป์ คอร์เดียล คัพ ในปี 2011 และ 2013 หลังจากผ่านคู่แข่งที่มีชื่อเสียงอย่าง บาเยิร์น มิวนิก, นอริช ซิตี, เอฟซี บาเซิล และเรด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก

บรรดาแมวมองพากันให้ความสนใจเด็กๆของโฟนิกซ์ โกลด์ หลายคนถูกดึงตัวเข้าร่วมอะคาเดมีของสโมสรใหญ่ต่างประเทศ หลายคนเล่นอยู่ในลีกสูงสุดของฮังการีตอนนี้ ขณะที่โดมินิก ซึ่งได้รับฉายาว่า the small one หรือ “ตัวเล็ก” มักเล่นอยู่ในรุ่นอายุที่สูงกว่าเสมอแต่ทำผลงานได้โดดเด่น เขามีโอกาสไปทดสอบฝีเท้าที่อิตาลีและเนเธอร์แลนด์ แต่ท้ายที่สุดเป็นออสเตรีย

ซอลท์เล่าว่า “ซัลซ์บวร์กเห็นเขาขณะเล่นให้ทีมชาติรุ่น ยู-15 นัดหนึ่ง ตอนนั้นเขาอายุเพิ่ง 15 ปี จึงไม่สามารถเซ็นสัญญาได้” ซัลซ์บวร์กเฝ้าติดตามพัฒนาการและเชิญโดมินิกไปทดสอบฝีเท้าอยู่หลายครั้งจนกระทั่งอายุ 16 ปี กฎระเบียบจึงอนุญาตให้ซัลซ์บวร์กนำเขาเข้าสู่สโมสรได้ โดยโดมินิกถูกส่งตัวไปอยู่กับลีฟแฟร์ริงเป็นอันดับแรก

ลงซ้อมมื้อแรกที่ซัลซ์บวร์ก ทำคู่แข่งเลือดกลบปาก

ที่โฟนิกซ์ โกลด์ โดมินิกแทบไม่เคยเจอการท้าทายหรือการแข่งขันระดับที่เข้มข้นเลย แต่สถานการณ์ต่างไปเมื่อมาอยู่ซัลซ์บวร์ก ซึ่งในการซ้อมครั้งแรก สตาฟฟ์โค้ชจับจ้องว่าโดมินิกเป็นอย่างไรเมื่อเผชิญหน้ากับเพื่อนร่วมทีมใหม่ เขาเจอการต้อนรับแบบดุดันถึงขั้นเสื้อเอี๊ยมฉีกขาด แต่เด็กใหม่จากฮังการีไม่เบือนหน้าหนี การซ้อมวันนั้นจบลงด้วยคู่แข่งของโดมินิกออกจากสนามในสภาพปากเลือดไหล สร้างความพึ่งพอใจให้เหล่าโค้ช

คริสตอฟ ฟรอยด์ ผู้อำนวยการกีฬาของซัลซ์บวร์ก ยังจำเมื่อครั้งโดมินิกมาถึงสโมสรใหม่ๆได้ “เขามาอยู่เรด บูลล์ ซัลซ์บวร์ก ตอนเป็นหนุ่มน้อยมากๆ แต่เต็มไปด้วยทักษะความสามารถและความเชื่อมั่นในตัวเอง แต่ยังมีเรื่องต้องเรียนรู้อีกมากในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ดังนั้นการไปเล่นให้ลีฟแฟร์ริงจึงช่วยโดมินิกได้มากทั้งสกิลและสภาพจิตใจจนกลายเป็นนักฟุตบอลอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้”

ช่วงแค่ 2-3 เดือนที่อยู่กับซัลซ์บวร์ก โดมินิกทำผลงานได้ประทับใจในการลงแข่งขัน อัล คาสส์ อินเตอร์เนชันแนล คัพ ซึ่งเป็นฟุตบอลเยาวชนอายุไม่เกิน 17 ปี ที่กรุงดาฮา ประเทศกาตาร์ ที่มีสโมสรชั้นนำรุ่น ยู-17 จากทั่วโลกลงประชันฝีเท้า โดมินิกทำให้ผู้พบเห็นฮือฮาจากการยิงระยะไกล ส่วนที่ลีฟแฟร์ริง โดมินิกเพลิดเพลินกับการทำสกอร์ ลงแข่งขันยูฟา ยูธ ลีก และเลื่อนขึ้นมาเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของสโมสร ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนเขาอายุ 18 ปี

โดมินิก โซบอสไล ยังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จากซัลซ์บวร์ก สู่ไลป์ซิก และลิเวอร์พูลในปัจจุบัน ด้วยวัยที่จะครบ 23 ปีบริบูรณ์ในเดือนตุลาคม 2023 สตาร์ฮังกาเรียน ผู้ได้รับฉายาว่า “เดอะ เน็กซ์ ปุสกัส” ยังสามารถพัฒนาความสามารถไปได้อีกไกล พร้อมสร้างเรื่องราวชีวิตในฐานะซูเปอร์สตาร์ลูกหนังได้อีกมาก นี่เป็นเพียงช่วงต้นของชีวิตค้าแข้งเท่านั้น

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ดาบิด รายา นายทวารสำรองอาร์เซนอล sweeper keeper ที่รอวันฉายแสง

ผู้รักษาประตูชั้นดี 2 คน จะอยู่ร่วมทีมเดียวกันได้หรือไม่? เรื่องนี้ต้องรอพิสูจน์หลังล่าสุด อาร์เซนอล โดย มิเกล อาร์เตตา ให้โอกาสครั้งแรกแก่ ดาวิด รายา เป็นตัวจริงในเกมบุกชนะเอฟเวอร์ตัน 1-0 ซูเปอร์ซันเดย์ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา

อาร์เตตา มีแผนอะไรในใจ? อลัน เชียเรอร์ อดีตตำนานลูกหนังก็ตั้งคำถามเช่นกันว่า “จะเวิร์กไหม? เสือ 2 ตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน และจะทำงานร่วมกันอย่างไร? สลับกันเล่นแบบไหน?”

ก่อนจะไปค้นคำตอบซึ่งต้องรอเวลาคลี่คลาย บทความนี้จะพามาทำความรู้จักผู้รักษาประตูยุคปัจจุบันในแบบเบื้องต้นกันก่อน

sweeper keeper หนึ่งใน 3 ประเภทหลักของผู้รักษาประตู ถูกนำมาอ้างถึงอย่างแพร่หลายเป็นพิเศษในซีซั่นนี้หลัง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จ่ายเงินราว 51 ล้านยูโร (43.8 ล้านปอนด์) ยังไม่รวมแอด-ออนส์ 4 ล้านยูโร (3.4 ล้านปอนด์) ซื้อ อองเดร โอนานา มาจากอินเตอร์ มิลาน เพื่อรับตำแหน่งนายทวารมือ 1 แทนดาบิด เด เคอา ซึ่งเพิ่งหมดสัญญาหลังยืนเฝ้าประตูให้ทีมปีศาจแดงนาน 12 ปี

เด เคอา เป็นนายด่านประเภท shot stopper ระดับโลกที่มีช็อตป้องกันประตูที่เหลือเชื่อให้เห็นบ่อยครั้งแต่เขาไม่ใช่ sweeper keeper อย่างที่เอริก เทน ฮาก ต้องการ เนื่องจากกุนซือดัตช์ต้องการให้ผู้รักษาประตูของเขามีส่วนบิลด์อัพการเล่น สามารถจ่ายบอลหรือเลี้ยงบอลออกไปนอกกรอบเขตโทษด้วยตัวเองประหนึ่งเป็นนักเตะเอาท์ฟิลด์คนที่ 11 รวมถึงอ่านเกมขาด ออกไปตัดเกมรุกของคู่แข่งขัน ทำหน้าที่สวีปเปอร์อยู่ด้านหลังของแบ็คโฟร์

ผู้รักษาประตูอีกประเภทคือ ball playing keeper ซึ่งไม่เพียงปกป้องการเสียประตู แต่มีทักษะขว้างหรือเตะบอลได้ไกลและแม่นยำแม้ไม่ถึงขั้นพาบอลออกไปบิลด์อัพเพลย์เองเหมือน sweeper keeper โดย อลิสซอน เบคเกอร์ ของลิเวอร์พูล และ เอแดร์ซอน ของแมนเชสเตอร์ ซิตี เป็นตัวอย่างของนายทวารยอดฝีมือประเภทนี้

ขณะที่ผู้รักษาประตูที่จ่ายบอลเฉลี่ยมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 ปรากฎเป็นชื่อของ ดาบิด รายา จากทีมเบรนท์ฟอร์ด

ฤดูกาลที่แล้ว รายาลงเล่นให้เบรนท์ฟอร์ด 38 นัด ผ่านบอลรวม 1,475 ครั้ง ส่วนอันดับที่เหลือของท็อป-5 ได้แก่ เอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ (แอสตัน วิลลา) 36 นัด 1,248 ครั้ง เฉลี่ย 34.7 ครั้ง, อลิสซอน เบคเกอร์ (ลิเวอร์พูล) 37 นัด 1,239 ครั้ง เฉลี่ย 33.5 ครั้ง, แบร์นด์ เลโน (ฟูแลม) 36 นัด 1,205 ครั้ง เฉลี่ย 33.5 ครั้ง และ เจสัน สตีล (ไบรท์ตัน) 15 นัด 490 ครั้ง เฉลี่ย 32.7 ครั้ง

แม้ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังแต่รายาเป็นผู้รักษาประตูที่ใช้เท้าได้โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งในพรีเมียร์ลีก นายด่านสเปนวัย 27ปี มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจทีเดียว เล่นอยู่นอกลีกในซีซัน 2014-15 ก่อนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญช่วยแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส เลื่อนชั้นจากลีกวันขึ้นมาแชมเปียนชิพ, พาเบรนท์ฟอร์ดเลื่อนชั้นจากแชมเปียนชิพขึ้นมาพรีเมียร์ลีก และในตลาดซัมเมอร์ที่ผ่านมา อาร์เซนอลจ่ายเงิน 3 ล้านปอนด์ ยืมตัวรายาพร้อมออปชั่นซื้อขาด 27 ล้านปอนด์ เพื่อมาเป็นตัวสำรองของ แอรอน แรมส์เดล นับเป็นนักเตะใหม่รายที่ 4 ของอาร์เซนอล ต่อจาก เดแคลน ไรซ์ มิดฟิลด์ตัวรับทีมชาติอังกฤษ, ไค ฮาแวร์ตซ์ กองหน้าทีมชาติเยอรมนี และ เยอร์เรียน ทิมเบอร์ กองหลังสารพัดประโยชน์ทีมชาติเนเธอร์แลนด์

สะสมทักษะใช้เท้าบนสนามฟุตซอล

ดาบิด รายา มาร์ติน เกิดวันที่ 15 กันยายน 1995 ที่นครบาร์เซโลนา และเติบโตในเมืองปัลเลจา (Pallejà) เขาเคยเล่นฟุตซอลทั้งผู้รักษาประตูและตำแหน่งเอาท์ฟิลด์ก่อนเข้าอะคาเดมีของ ยูอี คอร์เนลลา ทีมฟุตบอลสเปนระดับเทียร์ 3 จุดเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่ออาชีพค้าแข้งเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2012 เมื่อรายาเดินทางไปใช้ชีวิตในอังกฤษหลังได้รับทุนการศึกษาจาก แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส

สองปีต่อมา การย้ายเข้าสู่ถิ่นอีวู้ด พาร์ค ของฮูโก แฟร์นานเดซ ส่งผลให้เกิดข้อตกลงระหว่าง 2 สโมสร ให้สิทธิ์นักเตะของคอร์เนลลาทดสอบฝีเท้ากับแบล็คเบิร์น ว่ากันว่ารายา ซึ่งตอนนั้นกำลังเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในอะคาเดมีสโมสร “สอบผ่าน” เพียงครั้งเดียวและได้เซ็นสัญญานักฟุตบอลอาชีพเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2014

สตีเวน เดรนช์ ซึ่งตอนนั้นทำหน้าที่เพลเยอร์-โค้ชอยู่ในทีมผู้ฝึกสอน เห็นพัฒนาการของรายาจากระดับเยาวชนถึงทีมชุดใหญ่ ให้สัมภาษณ์กับสกาย สปอร์ตส์ ว่า แม้เคลื่อนไหวได้ดีรอบกรอบเขตโทษเหมือนผู้รักษาประตูจากสเปน แต่ทักษะที่ทำให้รายาโดดเด่นคือ เทคนิค, การหยุดลูกยิง และความสามารถเชิงกีฬา นอกจากนี้รายายังเล่นฟุตซอลมามากที่สเปน เขาจึงใช้เท้าได้อย่างคล่องแคล่ว สโมสรตระหนักดีถึงจุดแข็งดังกล่าว จึงมีการเล่นฟุตบอลกอล์ฟและเฮดเทนนิสระหว่างฝึกซ้อม

เดรนช์ นายด่านวัย 37 ปีของทีมคอร์ลีย์ในเนชันแนล ลีก นอร์ธ กล่าวเสริมว่า “การเล่นฟุตบอลด้วยเท้าทำให้ผมเล่นฟุตบอลมาถึงตอนนี้ สำหรับฟุตบอลสมัยใหม่แล้ว ผู้รักษาประตูที่ใช้เท้าได้ดีเป็นเช็คพอยต์ลำดับแรกๆที่โค้ชมองหา เซฟลูกได้ดีไหม ตัดลูกครอสได้ดีไหม ใช้เท้าเล่นบอลได้ดีไหม ล้วนเป็นคุณสมบัติที่สำคัญ”

“การผ่านบอลของดาบิดถือเป็นข้อได้เปรียบ ยิ่งมาเล่นให้เบรนท์ฟอร์ดที่มีสไตล์บอลเหมาะกับเขามาก แต่ความจริงแล้ว ดาบิดสามารถเล่นให้ทีมไหนก็ได้ในท็อปลีกของยุโรป เขาเป็นเสมือนผู้เล่นเอาท์ฟิลด์คนที่ 11 ของทีม” และตอนนี้ นายทวารวัย 27 ปี ได้รับโอกาสจากอาร์เซนอล หนึ่งในทีมเต็งแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023-24

เพิ่มพูนประสบการณ์กับสโมสรนอกลีก

ครึ่งแรกของฤดูกาล 2014-15 แบล็คเบิร์นส่งรายาให้ เซาธ์พอร์ต สโมสรนอกลีกในคอนเฟอเรนซ์ พรีเมียร์ ยืมใช้งานเป็นเวลา 4 เดือน เขามีโอกาสลงสนามทีมชุดใหญ่ 24 นัดรวมทุกรายการ 

ขอบคุณภาพจาก  https://southportfc.net/david-raya-martin-good-luck-tonight/

มีความเชื่อว่า ฟุตบอลนอกลีกสามารถเป็นสนามฝึกซ้อมที่ยอดเยี่ยมสำหรับนักเตะอายุน้อย ซึ่งรายาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่าความเชื่อนี้เป็นความจริงแม้ต้องเล่นให้ทีมที่อยู่ก้นตารางของลีกระดับเทียร์ 6 

แกรี บราบิน ผู้จัดการทีมเซาธ์พอร์ตขณะนั้น ย้อนอดีตไปยังช่วงกลางปี 2014 ว่า รายาเป็นเพียงผู้รักษาประตูหนุ่มจากแบล็คเบิร์น ผู้คนต่างสงสัยว่าเขาจะมีประสบการณ์เพียงพอรับมือสถานการณ์หนีตกชั้นหรือเปล่า นักเตะคนนั้นต้องมีแคแรกเตอร์ที่แข็งแกร่งมาก

“สถานการณ์ตอนนั้น ทีมอยู่อันดับรั้งท้ายของลีก เพิ่งเซ็นสัญญากับผู้จัดการทีมใหม่ ทุกคนคอตกและหวั่นวิตกว่าอะไรจะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไป แต่นั่นไม่ใช่ดาบิด เขามีบุคลิกภาพที่เหลือเชื่อเอามากๆ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งถูกส่งต่อและหล่อเลี้ยงไปยังนักเตะคนอื่นในทีม ทำให้ทีมมีสปิริตที่ยอดเยี่ยมจริงๆ”

“และเป็นการใช้เท้าของดาบิดที่ทำให้ผมประทับใจมากที่สุด เซาธ์พอร์ตเป็นทีมที่เล่นบอลบนพื้นดินมากกว่าทีมอื่นๆในระดับเดียวกัน นั่นจึงทำให้ทีมขึ้นมาจากท้ายตารางถึง 4 อันดับภายในเวลาอันรวดเร็ว ความเก่งของเขามีส่วนสำคัญอย่างแน่นอน ทีมรู้สึกปลอดภัยเมื่อมีเขาอยู่ข้างหลัง ไม่ใช่แค่ป้องกันการเสียประตู แต่ยังทำหน้าที่เริ่มต้นเพลย์ให้เราอีกด้วย ดาบิดจึงเป็นสารตั้งต้นของเราที่นำไปสู่ความสำเร็จ”

นายทวารใช้เท้าที่มีมือเหมือนพลั่ว

รายากลับต้นสังกัดหลังหมดสัญญายืมตัวกับเซาธ์พอร์ต นายด่านหนุ่มมีโอกาสลงสนามให้แบล็คเบิร์นเพียง 2 นัดในแชมเปียนชิพ ซีซัน 2014-15 แต่ยังได้รับเสนอสัญญาใหม่ 3 ปีในเดือนเมษายน 2015 อย่างไรก็ตาม รายาลงเล่นรวม 13 นัดเท่านั้นในซีซัน 2015-16 และ 2016-17 โดยเป็นตัวสำรองของเจสัน สตีล

ชอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/48894390

แบล็คเบิร์นตกไปอยู่ลีกวัน ซีซัน 2017-18 สตีลย้ายไปอยู่ทีมซันเดอร์แลนด์ รายาจึงเลื่อนขึ้นมาเป็นนายทวารมือ 1 และพลาดบอลลีกเพียงนัดเดียวจากทั้งหมด 46 นัด ช่วยทีมกุหลาบไฟคว้ารองแชมป์ลีกวัน ใช้เวลาแค่ปีเดียวกลับไปอยู่แชมเปียนชิพอีกครั้ง

“เดอะ ริเวอร์ไซเดอร์ส” จบลีกเทียร์ 2 ซีซัน 2018-19 ด้วยอันดับ 15 รายายังเป็นนายทวารมือ 1 ของทีม เล่นบอลลีก 41นัดจากทั้งหมด 46 นัด อย่างไรก็ตาม รายาอำลาถิ่นอีวู้ดในเดือนกรกฎาคม 2019 ด้วยสถิติลงสนาม 108 นัดรวมทุกรายการ

รายาอาจได้รับคำชมเรื่องการใช้เท้าและปฏิกิริยาตอบสนองที่รวดเร็วราวกับแมว แต่มีอีกหนึ่งคุณลักษณะที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนักคือ ขนาดมือที่ใหญ่ ซึ่ง สตีเวน เดรนช์ เปรียบเปรยว่า รายามีมือเหมือนพลั่ว!!!

รายามีส่วนสูงเพียง 6 ฟุตบอลแต่อดีตโค้ชที่แบล็คเบิร์นมองเห็นอีกด้านหนึ่ง “ดาบิดไม่ใช่ผู้รักษาประตูที่มีความสูง 6 ฟุต 4นิ้ว หรือ 6 ฟุต 5 นิ้ว เขาต้องต่อสู้กับทัศนคติพวกนี้มาตลอด ซึ่งเขาทดแทนด้วยการเพิ่มเติมเรื่องสปริงตัว พละกำลัง และทักษะทางกีฬา รวมถึงการเคลื่อนที่รอบๆกรอบเขตโทษและวิธีการเล่นด้วยเท้า สิ่งเหล่านี้ทำให้ดาบิดกลายเป็นนักฟุตบอลที่ครบเครื่อง”

“พวกคุณน่าจะเคยเห็นการเซฟของดาบิดมาบ้าง เขาสามารถเซฟบอลที่ห่างจากตัวเขา 2-3 หลาได้อย่างสบายเพราะเคลื่อนไหวได้เร็วมาก ความคล่องตัวบวกพละกำลังช่วยให้เขาครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขึ้น ทำให้การเซฟยากๆกลายเป็นเรื่องง่ายไปเลย”

ภาพ sweeper keeper ชัดเจนที่เบรนท์ฟอร์ด

หลังจากเป็นนายด่านตัวจริงของแบล็คเบิร์น 2 ปี รายาได้เซ็นสัญญา 4 ปี กับ เบรนท์ฟอร์ด เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2019ค่าตัวไม่เปิดเผยแต่มีรายงานว่าน่าจะอยู่ที่ 3 ล้านปอนด์ 

รายาทำผลงานได้โดดเด่นระหว่างครึ่งแรกของซีซัน 2019-20 ในลีกแชมเปียนชิพ ได้รับเสนอชื่อลุ้นตำแหน่งผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมแห่งปีในงาน ลอนดอน ฟุตบอล อะวอร์ดส์ ประจำปี 2020 รายายังเก็บคลีนชีทในบอลลีกเทียร์ 2 ซีซันแรกกับ “เดอะ บีส์” รวม 16 นัด และครองรางวัลถุงมือทองคำของอีเอฟแอล ร่วมกับ บาร์ตอซ เบียลคาวสกี ขณะที่เบรนท์ฟอร์ดพลาดโอกาสเลื่อนชั้นเนื่องจากแพ้ฟูแลม ทีมร่วมลอนดอนตะวันตก 1-2 ในนัดชิงชนะเลิศ แชมเปียนชิพ เพลย์ออฟ ปี 2020

ฤดูกาล 2020-21 รายาทำคลีนชีทได้ 17 นัด พร้อมพาเบรนท์ฟอร์ดขึ้นไปเล่นพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จหลังจากชนะสวอนซี ซิตี 2-0 ในนัดชิงขนะเลิศ แชมเปียนชิพ เพลย์ออฟ ปี 2021 เขาได้รับสัญญาใหม่ยาว 4 ปีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2020 หลังจากมีปัญหาบาดเจ็บและประเด็นย้ายทีมทำให้พลาดลงสนามช่วงพรี-ซีซันและต้นซีซัน นอกจากนี้รายาพัฒนาทักษะนายทวารสไตล์ sweeper keeper ให้เห็นเด่นชัด มีสถิติพาสบอลมากกว่าผู้รักษาประตูทุกคนในแชมเปียนชิพฤดูกาลนั้นกว่า 300 ครั้ง

รายาสัมผัสชัยชนะพรีเมียร์ลีกนัดแรกในการแข่งขันกับอาร์เซนอลเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2021 และได้สักตัวเลข 13/08/21 ไว้ที่ต้นคอเพื่อเป็นอนุสรณ์ ก่อนโชคร้ายบาดเจ็บเอ็นไขว้หลังเข่าเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2021 จากแมตช์กับเลสเตอร์ ซิตี ใช้เวลากว่า 3 เดือนเพื่อกลับมาเฝ้าประตูให้เบรนท์ฟอร์ดอีกครั้งในรอบ 4 เอฟเอ คัพ ที่แพ้ต่อเอฟเวอร์ตัน 1-4 ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 รายาลงเล่นพรีเมียร์ลีกทั้งสิ้น 24 นัด และเบรนท์ฟอร์ดจบซีซัน 2021-22 ด้วยอันดับ 13

ฤดูกาลที่ 2 ในพรีเมียร์ลีก รายาลงสนามครบ 38 นัด และเคยถูกเสนอชื่อลุ้นรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของพรีเมียร์ลีกประจำเดือนมกราคม 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่เบรนท์ฟอร์ดไม่แพ้ทีมไหนจนไต่อันดับขึ้นไปอยู่โซนช่วงชิงโควตาฟุตบอลสโมสรยุโรป แต่ช่วงนี้เช่นกันที่รายาปฏิเสธต่อสัญญาใหม่กับ “เดอะ บีส์” ซึ่งปิดฉากซีซัน 2022-23 ด้วยอันดับ 9 มีแต้มสะสมตามหลังแอสตัน วิลลา ที่ได้ไปเล่นยูฟา คอนเฟอเรนซ์ ลีก เพียง 2 คะแนน

ในส่วนของการรับใช้ชาติ รายามีชื่อร่วมทีมชาติสเปนที่มีคิวเตะอุ่นเครื่อง 2 นัดในเดือนมีนาคม 2022 ประเดิมลงเป็นตัวจริงในแมตช์ชนะอัลบาเนีย 2-1 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม แต่นั่งอยู่ข้างสนามในแมตช์ต่อมา เขายังมีชื่อติดทีมชาติสเปนที่ทำการแข่งขัน ยูฟา เนชันส์ ลีก ประจำปี 2022-23 ซึ่งทีมกระทิงดุครองแชมป์ในบั้นปลาย และเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ ซึ่งสเปนไปได้ไกลเพียงรอบ 16 ทีมสุดท้าย โดยระหว่างนี้ รายาได้สัมผัมเกมเพียงครั้งเดียวเมื่อถูกเปลี่ยนตัวลงสนามครึ่งหลังของเกมอุ่นเครื่องก่อนฟุตบอลโลกกับจอร์แดน

ศักดิ์ศรีที่สูงกว่านายด่านสำรองอาร์เซนอล

วันที่ 15 สิงหาคม 2023 อาร์เซนอล เซ็นสัญญยืมตัวนายทวารวัย 27 ปี เป็นเวลา 1 ซีซันด้วยค่าตัว 3 ล้านปอนด์พร้อมออปชั่นซื้อขาด 27 ล้านปอนด์ และภายใต้เงื่อนไขยืมตัว รายาได้ต่อสัญญากับเบรนท์ฟอร์ดอีก 2 ปี รวมถึงออปชั่นเพิ่มอีก 12 เดือน

แอรอน แรมส์เดล เป็นผู้รักษาประตูมือ 1 ของอาร์เซนอลตลอด 2 ซีซันที่ผ่านมานับตั้งแต่ย้ายจากเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2021 เขาไม่ได้เฝ้าประตูในเกมพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2021-22 เพียง 4 นัด และลงสนามทั้ง 38 นัดในซีซันที่ผ่านมา ซึ่งอาร์เซนอลเป็นรองแชมป์ลีกสูงสุด

มิเกล อาร์เตตา ให้สัมภาษณ์ว่าการเข้ามาของรายาเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้การแข่งขันอยู่ในระดับสูง “เราไม่มีทางเลือกอื่น มีความแตกต่างกว้างมากระหว่างผู้เล่นเทียร์ 1 กับเทียร์ 2 อย่างที่นักข่าวเปรียบเปรย เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร โชคร้ายที่ตอนนี้เราไม่มีนักเตะที่มีฝีมือยอดเยี่ยมจากอะคาเดมีให้ดึงขึ้นมาใช้งาน”

“ถ้ามองไปที่สโมสรอื่น พวกเขามีผู้รักษาประตูที่เก่งมาก 2 คนอยู่ในทีม บางทียอมจ่ายเงิน 60 ล้านปอนด์ 80 ล้านปอนด์ 85ล้านปอนด์ เพื่อซื้อผู้รักษาประตู นั่นมันหมายถึงอะไรล่ะ ผมมีความสุขมากกับทีมที่กำลังสร้างขึ้น เราพยายามสร้างกลุ่มผู้เล่นที่ดีขึ้นเรื่อยๆ”

มีข้อมูลที่น่าสนใจ ตัวแทนของรายาคือ เจาเม มูเนลล์ ชาวสเปน ซึ่งทำหน้าที่เอเยนต์ให้ อินากิ คานา โค้ชผู้รักษาประตูของอาร์เซนอลด้วย รายากับคานาเคยทำงานด้วยกันที่เบรนท์ฟอร์ด และเมื่อปี 2020 อาร์เซนอลเคยติดต่อขอซื้อรายาถึง 4 ครั้ง ก่อนลงเอยด้วยการคว้าตัวแรมส์เดลอีก 12 เดือนต่อมา ดังนั้นการตัดสินใจยืมตัวรายาของอาร์เตตาคงไม่ใช่เพียงมองหานายทวารสำรองธรรมดาแน่นอน

เอดู ผู้อำนวยการกีฬาของอาร์เซนอล กล่าวต้อนรับรายาว่า “ดาบิดเป็นผู้รักษาประตูที่มีคุณภาพระดับท็อป เขาทำผลงานระดับสูงอย่างสม่ำเสมอในพรีเมียร์ลีกกับเบรนท์ฟอร์ด การเข้ามาของดาบิดจะเพิ่มคุณภาพให้กับทีมของเรา เพื่อให้เราโชว์ฟอร์มในระดับสูงได้ทุกรายการที่ร่วมแข่งขัน”

ย้อนกลับไปเกมพรีเมียร์ลีกเดือนกันยายน 2012 หลังจากลิเวอร์พูลเสมอ 3-3 ที่เบรนท์ฟอร์ด คอมมูนิตี สเตเดียม เยอร์เกน คลอปป์ พูดถึงรายาว่า ผู้รักษาประตูของเบรนท์ฟอร์ดสามารถสวมเสื้อหมายเลข 10 ได้เลย เขาผ่านบอลได้เหลือเชื่อหลายครั้ง

ไม่ว่าอนาคตในทีมอาร์เซนอลของรายาเป็นเช่นไร แต่ด้วยเทรนด์ sweeper keeper ที่กำลังมาแรงในฟุตบอลยุคใหม่ รายาในวัยเพียง 27 ปี จึงเป็นผู้รักษาประตูที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เชื่อว่าถ้าไม่ได้รับโอกาสจากอาร์เซนอล นายด่านเมืองกระทิงดุผู้นี้จะกลายเป็นสินค้าเนื้อหอมในตลาดซัมเมอร์ปีหน้าอย่างแน่นอน … จำชื่อของเขาไว้ให้ดี “ดาบิด รายา”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ที่มาของตราสัญลักษณ์, ฉายา และชื่อสนามเหย้า 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก 2023/24

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สโมสรฟุตบอล เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกีฬาที่บ่งบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย ซึ่งแต่ละสโมสรล้วนมีเบื้องหลังความเป็นมาแตกต่างกัน ซึ่งแฟนฟุตบอลทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้

เพราะบริบทของฟุตบอล ไม่ได้มีเพียงการแข่งขันในสนามเท่านั้น แต่ผูกติดกับประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนถึงตัวตนของสโมสรฟุตบอลแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ฉายา, ตราสัญลักษณ์ หรือแม้กระทั่งชื่อสนามแข่งขัน

เริ่มจากฉายา ก็เปรียบเสมือนชื่อเล่น ที่ใช้เรียกแทนชื่อจริงของสโมสรฟุตบอลนั้นๆ เพื่อให้จดจำง่าย พร้อมกับข่มขวัญคู่ต่อสู้ไปในตัวด้วย ถือเป็นสีสัน และช่วยเพิ่มอรรถรสในการติดตามการแข่งขันมากขึ้น

ต่อด้วยโลโก้ ที่สโมสรได้ออกแบบขึ้นมา ไม่ได้มีแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ต้องโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งส่งผลถึงการรับรู้ และการจดจำของแฟนลูกหนัง อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในระยะยาว

อีกทั้งแต่ละสโมสร ก็มีสนามเหย้าที่ได้ตั้งชื่อขึ้นมาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะมาจากชื่อสถานที่ตั้ง, ชื่อบุคคลสำคัญ, ประวัติศาสตร์, ธุรกิจ หรือเหตุผลอื่นๆ ที่แปลกประหลาด ทำเอาหลายคนคาดไม่ถึง

ต่อไปนี้คือเบื้องหลังที่หลายคนอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับฉายา, โลโก้ และสนามเหย้าทั้ง 20 สโมสร ในการแข่งขันพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023/24 ที่นำมาฝากกัน เพื่อเป็นเกร็ดความรู้สำหรับแฟน ๆ ลูกหนังอังกฤษ

อาร์เซน่อล

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Arsenal

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน เป็นรูปทรงคล้ายโล่สามเหลี่ยม พื้นสีแดง มีขอบเล็กๆ สีขาว และสีน้ำเงินเข้ม หมายถึงสีประจำสโมสร ตรงกลางมีชื่อสโมสร (Arsenal) และรูปปืนใหญ่ สะท้อนถึงสโมสรที่ทรงพลังและมีอิทธิพล

– ฉายา : “The Gunners” หมายถึง ปืนใหญ่ เหตุผลที่ได้รับฉายานี้ ก็เพราะว่า ก่อนที่สโมสรจะย้ายมาอยู่ในกรุงลอนดอน เดิมทีเคยอยู่ในย่าน “โบโร่ ออฟ วูลวิช” ซึ่งเป็นย่านของกลุ่มคนงานผลิตปืนใหญ่เพื่อส่งให้กองทัพของสหราชอาณาจักร

– สนามเหย้า : สังเวียนลูกหนังที่ชื่อว่า “เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม” สร้างขึ้นเมื่อปี 2004 และเปิดใช้งานครั้งแรกในอีก 2 ปีต่อมา โดยชื่อสนามมีที่มาจาก Emirates บริษัทสายการบินแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สปอนเซอร์หลักของสโมสร

แอสตัน วิลล่า

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/avfcofficial

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ใหม่ล่าสุด กลับไปใช้แบบวงแหวนเหมือนช่วงยุค 1980-1990 มีสีเลือดหมู และสีฟ้า สื่อถึงสีประจำสโมสร มีชื่อสโมสร (Aston Villa) และปีที่ก่อตั้ง (1874) ตัวหนังสือสีเหลือง ตรงกลางมีรูปสิงโตหันหน้าไปทางขวา และมีรูปดาวห้าแฉก 1 ดวง อยู่ในระดับเดียวกับสายตาของสิงโต สื่อถึงการคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ เมื่อปี 1982

– ฉายา : ฉายาแรก “The Lions” หมายถึง สิงโตที่อยู่ในธง Royal Standard ของสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของจอร์จ แรมซีย์ และวิลเลียม แม็กเกรเกอร์ 2 ผู้ก่อตั้งสโมสร อีกฉายาคือ “The Villans” ที่สื่อถึงสโมสรแอสตัน วิลล่า

– สนามเหย้า : ชื่อสนามเหย้าที่แท้จริงคือ Aston Lower Grounds แต่ถูกมองว่าสื่อความหมายไปในทางลบ จึงได้เรียกชื่อใหม่ว่า “วิลล่า พาร์ค” (Villa Park) มาจากชื่อของ Aston Hall ที่ตั้งของสนามในปัจจุบัน ซึ่งเคยถูกใช้เป็นสวนสนุกมาก่อน

บอร์นมัธ

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นรูปทรงคล้ายโล่สามเหลี่ยม พื้นสีแดงเชอร์รี่ และมีแถบสีดำ 2 แถบอยู่ด้านขวา สื่อถึงสีประจำสโมสร ด้านบนมีชื่อสโมสร (AFC Bournemouth) สีขาว ตรงกลางมีรูปผู้ชาย และมีลูกฟุตบอลอยู่เหนือศีรษะ ซึ่งผู้ชายที่อยู่ในโลโก้ของสโมสร คือ ดิกกี้ ดอว์เซตต์ ตำนานดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของบอร์นมัธ ทำได้ 79 ประตู

– ฉายา : ที่มาของฉายา “The Cherries” มีความเป็นไปได้อยู่ 2 ทาง คือมาจากสีประจำสโมสร ที่เป็นโทนสีแดงเชอร์รี่ หรือมาจากในสมัยก่อนมีสวนเชอรืรี่ที่อยู่ติดกับสนามเหย้าของสโมสร ซึ่งไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เหตุผลใดคือเหตุผลที่แท้จริง

– สนามเหย้า : เดิมมีชื่อว่าดีน คอร์ต (Dean Court) เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 1910 ต่อมาในปี 2015 Vitality บริษัทด้านประกันสุขภาพของอังกฤษ ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสร และเปลี่ยนชื่อสนามเป็น “ไวตาลิตี้ สเตเดี้ยม”

เบรนฟอร์ด

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ที่ใช้ในปัจจุบัน ประกอบด้วยวงแหวนสีแดง มีชื่อเต็มของสโมสร (Brentford Football Club) แบ่งเป็นด้านบนและด้านล่าง และปีที่ก่อตั้ง (1889) พื้นหลังมีสีขาว ตรงกลางมีรูปผึ้ง สื่อถึงสีและสัญลักษณ์ประจำสโมสร

– ฉายา : “The Bees” ที่หมายถึง ผึ้ง แต่จริงๆ แล้วมีที่มาจากนักเรียนของ Borough Road College ที่ร้องเพลงประจำสถาบัน ชื่อว่า “Buck up Bs” แต่สื่อท้องถิ่นเข้าใจผิดว่าเป็นชื่อเพลง “Buck up Bees” และกลายเป็นฉายาของทีมในที่สุด

– สนามเหย้า : เดิมใช้ชื่อว่า เบรนท์ฟอร์ด คอมมูนิตี้ สเตเดี้ยม ต่อมาในปี 2022 Grey Technologgy(Gtech) บริษัทด้านเทคโนโลยีของอังกฤษ ได้สนับสนุนสโมสรมาครบ 10 ปี จึงเปลี่ยนชื่อสนามเหย้ามาเป็น “จีเทค คอมมูนิตี้ สเตเดี้ยม”

ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/officialbhafc

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นวงแหวนสีขาว มีชื่อเต็มของสโมสร (Brighton & Hove Albion) ส่วนตรงกลางเป็นพื้นสีน้ำเงิน และมีรูปนกนางนวลหันหน้าไปทางขวา สื่อถึงเมืองแห่งชายทะเล เป็นที่อยู่อาศัยของนกนางนวล และมีความตั้งใจที่จะพัฒนาเพื่ออนาคต

– ฉายา : “The Seagulls” มาจากแนวคิดของแฟนบอลไบรท์ตันกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามจะตอบโต้ “The Eagles” ของคริสตัล พาเลซ ทีมคู่ปรับของพวกเขา และโลโก้ของสโมสรก็เปลี่ยนจากปลาโลมา เป็นนกนางนวล นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

– สนามเหย้า : เอเม็กซ์ สเตเดี้ยม (Amex stadium) โดย “Amex” ย่อมาจาก American Expressบริษัทด้านการเงินของสหรัฐอเมริกา แต่ในฤดูกาล 2023/24 ชื่อรังเหย้าได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อเต็มคือ “อเมริกัน เอ็กซ์เพรส สเตเดี้ยม”

เบิร์นลี่ย์

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน มีพื้นสีแดงอมม่วง มาจากตราประจำเมืองเบิร์นลี่ย์ ด้านบนมีรูปนกกระสา สื่อถึงตระกูล Starkie ตระกูลที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมือง นกตัวนี้ยืนอยู่บนเนินเขาและต้นฝ้าย สื่อถึงเมืองที่นิยมปลูกต้นฝ้าย 

ถัดลงมา มีผึ้ง 2 ตัว เป็นตัวแทนของการทำงานหนัก ตรงกลางมีรูปมือ สื่อถึงคำขวัญประจำเมือง “Hold to the truth” (จงยึดมั่นในความจริง) ส่วนด้านล่างสุด มีสิงโต ซึ่งเป็นตัวแทนของราชวงศ์ อยู่ภายในบั้ง ที่สื่อถึงแม่น้ำบรูนที่ไหลผ่านเมืองนี้

– ฉายา : “The Clarets” แปลว่า สีแดงอมม่วง ซึ่งเป็นสีชุดแข่งหลักของสโมสร เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1911 โดยได้แรงบันดาลใจจากชุดแข่งของแอสตัน วิลล่า ที่คว้าแชมป์ลีกเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้น และยังเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในโลโก้ของสโมสรอีกด้วย

– สนามเหย้า : ชื่อของ “เทิร์ฟ มัวร์” มาจากคำที่ประกอบกัน 2 คำ คือคำว่า Turf ที่แปลว่า สนามหญ้า และคำว่า Moor ซึ่งหมายถึง ที่โล่งแจ้ง เนื่องจากในสมัยก่อน พื้นที่ของสนามแห่งนี้เป็นที่ดินเปล่า ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ

เชลซี

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ChelseaFC

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นวงแหวนสีน้ำเงิน แสดงถึงตราประจำเขตเชลซี ต่อด้วยรูปลูกฟุตบอลสีแดง แสดงถึงความมุ่งมั่นในกีฬาฟุตบอล และดอกกุหลาบสีแดง สื่อถึงราชวงศ์แลงคาสเตอร์

ด้านในมีรูปสิงโตถือไม้เท้าสีน้ำเงิน ได้แรงบันดาลใจมาจากแขนเสื้อของเอิร์ล คาโดแกน (เอิร์ล คือระดับชั้นของขุนนางในสมัยก่อน) ซึ่งเป็นประธานสโมสรเชลซีในยุค 1950s สื่อถึงความรู้ และความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า

– ฉายา : ฉายาแรก “The Blues” หมายถึงสีประจำสโมสร คือ สีน้ำเงิน อีกฉายาหนึ่งคือ “The Pensioners” ที่แปลว่า ผู้เกษียณอายุ เนื่องจากในอดีต มีทหารผ่านศึกที่ผ่านสงครามโลก มารับเงินบำนาญในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับสโมสรเชลซี

– สนามเหย้า : ชื่อสนามเหย้าของสโมสร มีที่มาจากการนำชื่อลำธาร Stanford Creek กับชื่อสะพานอีก 2 แห่ง Sanford Bridge และ Stanbridge มารวมกันเป็น สแตนฟอร์ด บริดจ์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “สแตมฟอร์ด บริดจ์” ในปัจจุบัน

คริสตัล พาเลซ

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน ด้านบนเป็นรูปนกอินทรีสีน้ำเงิน อยู่เหนือลูกฟุตบอลสีแดง สื่อถึงสีประจำสโมสร ส่วนด้านล่างเป็นรูปอาคารกระจกขนาดใหญ่ลายเส้นสีเทา เพื่อใช้จัดงานนิทรรศการ (The Great Exhibition) เมื่อปี 1851 ส่วนตัวเลข 1861 คือปีที่มีการก่อตั้งทีมสมัครเล่นของคริสตัล พาเลซ (ทีมชุดใหญ่ก่อตั้งในปี 1905)

– ฉายา : “The Eagles” หรือ นกอินทรี มีที่มาจากฉายาของเบนฟิก้า สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ในประเทศโปรตุเกส ซึ่งมัลคอล์ม อัลลิสัน ผู้จัดการทีมในช่วงกลางยุค 1970s ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสโมสรดังกล่าว จึงได้นำฉายานี้มาใช้

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “เซลเฮิสต์ พาร์ค” มาจากชื่อย่าน “Selhurst” ในแถบชานกรุงลอนดอน อยู่ห่างจากใจกลางเมืองหลวงประมาณ 9 ไมล์ สำหรับรังเหย้าของสโมสร ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของย่านนี้ เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 1924

เอฟเวอร์ตัน

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Everton

– ตราสัญลักษณ์ : พื้นของโลโก้ มีสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร บนโลโก้มีรูปหอคอยที่ชื่อว่า “พรินซ์ รูเพิร์ต ทาวเวอร์” ซึ่งในอดีตเคยถูกใช้เป็นสถานที่คุมขังนักโทษ และพวงหรีดที่ขนาบข้าง ก็ถือเป็นการไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตในหอคอยนี้ ส่วนด้านล่างมีคำขวัญเป็นภาษาละติน “Nil satis nisi optimum” ที่แปลว่า ไม่มีอะไรต้องกลัว เราจะทำแต่สิ่งที่ดีที่สุด

– ฉายา : ฉายาแรก “The Blues” หมายถึงสีประจำสโมสร คือ สีน้ำเงิน อีกฉายาหนึ่งคือ “The Toffees” มีที่มาจากเจ้าของร้านขายลูกอมที่ชื่อ มา บูแชล (Ma Bushell) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการแจกลูกอมให้กับแฟนบอลก่อนที่จะเข้าชมเกมในสนาม

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “กูดิสัน พาร์ค” มาจากชื่อของ จอร์จ วิลเลียม กูดิสัน (George William Goodison) วิศวกรโยธาผู้วางระบบระบายน้ำเสีย สนามแห่งนี้เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 1892 และกำลังจะกลายเป็นอดีตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ฟูแล่ม

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสร มีโครงสร้างที่เรียบง่าย เป็นรูปทรงคล้ายโล่สามเหลี่ยม ประกอบด้วยสีขาว 1 ส่วน และสีดำ 2 ส่วน สื่อถึงสีประจำสโมสร ตรงกลางบนพื้นสีขาว มีตัวอักษร FFC สีแดง ที่ย่อมาจาก Fulham Football Club

– ฉายา : “The Cottagers” ที่แปลว่า ผู้อาศัยอยู่ในกระท่อม เนื่องจากในช่วงศตวรรษที่ 19 มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายคน เข้ามาอาศัยอยู่ในกระท่อมของวิลเลียม คราเวจ แต่กระท่อมหลังนี้ได้ถูกไฟไหม้จนเสียหายทั้งหมดในปี 1888

– สนามเหย้า : ที่มาของชื่อสนาม “คราเวน คอทเทจ” ต้องย้อนไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 วิลเลียม คราเวน ขุนนางลำดับที่ 6 ของยุคบารอน ได้สร้างกระท่อมที่มีป่าล้อมรอบ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว คือรังเหย้าของสโมสรในปัจจุบัน

ลิเวอร์พูล

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

– ตราสัญลักษณ์ : ด้านบนสุดเป็นซุ้มประตู Shankly Gates หน้าทางเข้าสนามแอนฟิลด์ พร้อมกับคำขวัญประจำสโมสร “You’ll never walk alone” ส่วนสัตว์ที่อยู่บนโลโก้ คือนกไลเวอร์เบิร์ด (Liver bird) สัญลักษณ์ของเมืองลิเวอร์พูล ซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่มีอยู่จริง ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง มีเปลวไฟ สื่อถึงการไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ฮิลส์โบโร่ เมื่อปี 1989

– ฉายา : “The Reds” หมายถึงสีแดง มาจากสีของเสื้อแข่งขันที่เริ่มใช้ครั้งแรก หลังก่อตั้งสโมสรเพียง 4 ปี ก่อนที่ในปี 1964 ยุคที่บิล แชงคลีย์ เป็นผู้จัดการทีม ได้ตัดสินใจให้ผู้เล่นสวมชุดแข่งขันสีแดงทั้งเสื้อและกางเกงเป็นครั้งแรก

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “แอนฟิลด์” (Anfield) มีที่มาจากชื่อของ Annefield ย่านเก่าแก่ที่อยู่ชานเมืองนิวรอสส์ เคาน์ตี้ ในเว็กซ์ฟอร์ด ประเทศไอร์แลนด์ และชาวไอริชได้หลั่งไหลย้ายมาตั้งถิ่นฐานในเมืองลิเวอร์พูลตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต

ลูตัน ทาวน์

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสร ด้านบนสุดเป็นรูปหมวก สื่อถึงอุตสาหหรรมที่สำคัญของเมือง ส่วนด้านล่างมาจากตราประจำเมืองลูตัน ตรงกลางมีรูปผึ้งที่อยู่บนไม้กางเขน เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการทำงานอย่างหนัก

นอกจากนี้ยังมีลัญลักษณ์อีก 4 อย่าง ประกอบด้วย มัดข้าวสาลี สื่อถึงอุตสาหกรรมการถักทอด้วยฟาง, รังผึ้ง คือตัวแทนของการถักทอด้วยฟาง, ดอกกุหลาบ สื่อถึงตระกูลเนเปียร์ (Napier) ผู้นำอุตสาหกรรมการถักทอด้วยฟางเข้ามาในเมือง  และดอกธิสเซิล คือสัญลักษณ์ของชาวสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตระกูลเนเปียร์

– ฉายา : “The Hatters” แปลว่า ช่างทำหมวก เนื่องจากเมืองลูตัน เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมของการผลิตหมวก ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่แพร่หลายมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และสินค้าสำคัญของเมืองนี้ ก็คือหมวกที่ทำจากฟางนั่นเอง

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “เคนิลเวิร์ธ โรด” มีที่มาจากชื่อถนน Kenilworth ที่เป็นจุดปลายทางอีกฟากหนึ่งของสนามเหย้า แต่ที่ตั้งของสโมสร อยู่ที่ถนนเมเปิล (Maple) ได้ชื่อว่าเป็นสนามที่เล็กที่สุดในบรรดา 20 ทีม ของซีซั่น 2023/24

แมนเชสเตอร์ ซิตี้

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/mancity

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นวงแหวนสีขาว ด้านในมีลักษณะคล้ายโล่ ครึ่งบนของโล่เป็นรูปเรือ สื่อถึงสัญลักษณ์ของเมืองแมนเชสเตอร์ ส่วนครึ่งล่างของโล่ มีรูปดอกกุหลาบสีแดง สื่อถึงราชวงศ์แลงคาสเตอร์ และพื้นหลังสีฟ้าเข้ม มีแถบสีฟ้าอ่อนอยู่ 3 แถบ หมายถึงแม่น้ำ 3 สายที่ไหลผ่าน คือ แม่น้ำไอร์เวลล์, แม่น้ำเมดล็อก และแม่น้ำอิรค์

– ฉายา : “The Citizens” มีที่มาจากการเปรียบเทียบฐานแฟนบอลในเมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีจำนวนที่มากกว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรืออีกนัยหนึ่งคือ “เรือใบสีฟ้า” มีความเป็นท้องถิ่นมากกว่าทีมคู่ปรับร่วมเมืองนั่นเอง

– สนามเหย้า : ชื่อสนามเหย้าอย่างเป็นทางการคือ “ซิตี้ ออฟ แมนเชสเตอร์ สเตเดี้ยม” แต่มีอีกชื่อหนึ่งคือ “เอติฮัด สเตเดี้ยม” ที่มาจาก Etihad บริษัทสายการบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สปอนเซอร์หลักของสโมสร

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ในปัจจุบัน มีเพียง 2 สีหลัก คือสีเหลือง และสีแดง ด้านนอกมีชื่อสโมสร Manchester United ขนาบด้วยลูกฟุตบอล 2 ลูก ด้านในมีลักษณะคล้ายโล่ ครึ่งบนของโล่เป็นรูปเรือ สื่อถึงสัญลักษณ์ของเมืองแมนเชสเตอร์ ส่วนด้านล่างเป็นรูปปิศาจถือสามง่าม ซึ่งนำมาไว้ในโลโก้เป็นครั้งแรกในช่วงยุค 1970s

– ฉายา : “The Red devils” หรือ ปิศาจแดง มีที่มาจากฉายาของทีมรักบี้ซัลฟอร์ด เรด (Salford Red) ที่เคยโด่งดังในอดีต ทำให้ในปี 1973 เซอร์ แมตต์ บัสบี้ ผู้จัดการทีมในขณะนั้น ได้นำมาเป็นฉายาเพื่อใช้ข่มขวัญทีมคู่แข่ง

– สนามเหย้า : สังเวียนลูกหนัง “โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด” อยู่ที่ย่าน Trafford ในเกรเทอร์ แมนเชสเตอร์ มีที่มาจากในสมัยก่อน มีครอบครัวตระกูล de Trafford อาศัยอยู่ใน Old Trafford Hall ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งสนามแข่งขันของสโมสร

นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสร ดัดแปลงมาจากตราประจำเมืองนิวคาสเซิล ด้านบนประกอบด้วยสิงโต สื่อถึงราชวงศ์ของอังกฤษ, ปราสาท สื่อถึงป้อมปราการของกษัตริย์นอร์แมน และธงที่อยู่บนยอดปราสาท คือธงของโบสถ์เซนต์ จอร์จ

ส่วนด้านล่าง มีม้าน้ำ 2 ตัว ทางซ้ายและขวา สื่อถึงความผูกพันระหว่างเมืองกับทะเล เพราะเป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลเป็นจำนวนมาก ตรงกลางมีโล่ลายทางสีขาว-ดำ หมายถึง สีประจำสโมสร

– ฉายา : “The Magpies” คือนกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะของลำตัวเป็นลายทางสีขาว-ดำ คล้ายกับเสื้อแข่งขันชุดเหย้าของสโมสร ซึ่งในอดีตเคยเชื่อกันว่า มีนกชนิดนี้หลายตัว บินมาทำรังบริเวณสนามแข่งขันของสโมสร

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “เซนต์ เจมส์ พาร์ค” มาจากชื่อของโรงพยาบาล และโบสถ์เซนต์ เจมส์ (St. James) ที่สร้างมาตั้งแต่ยุคอดีต ตั้งอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์แฮนค็อก ก่อนจะนำไปใช้ตั้งชื่อรังเหย้าของสโมสร ที่เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 1892

น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน มีลายเส้นสีแดง ซึ่งหมายถึงสีประจำสโมสร เป็นรูปต้นโอ๊คที่อยู่ในป่าเชอร์วูด ด้านล่างมีเส้นหยัก 3 เส้น สื่อถึงแม่น้ำเทรนท์ (Trenr River) ที่ไหลผ่านเมือง ส่วนด้านบนมีดาว 2 ดวง สื่อถึงการคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 1979 และ 1980

– ฉายา : ฉายาแรก “Forest” มาจากที่ตั้งของสโมสรในปัจจุบัน เคยเป็นพื้นที่ป่ามาก่อน และอีกฉายาหนึ่งคือ “The Reds” ซึ่งมาจากชื่อของจูเซ็ปเป้ การิบัลดี้ นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพชาวอิตาลี ที่มักจะสวมเสื้อสีแดงเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “ซิตี้ กราวน์” มีที่มาจากเหตุการณ์สำคัญในปี 1898 สโมสรได้ย้ายรังเหย้าจาก Town Ground เป็น City Ground เพื่อเฉลิมฉลองในวาระที่น็อตติ้งแฮม ได้รับการยกฐานะให้เป็น “เมือง” เมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้น

เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสร มีลักษณะเป็นวงแหวนสีแดง ด้านในเป็นพื้นสีดำ มีดอกกุหลาบสีขาว สื่อถึงราชวงศ์ยอร์ค และดาบคู่สีขาว สื่อถึงสัญลักษณ์ของสโมสร ซึ่งสีทั้ง 3 สีที่อยู่บนโลโก้ ก็อยู่ในชุดแข่งขันของสโมสรด้วย

– ฉายา : “The Blades” แปลว่า ดาบคู่ เนื่องจากเมืองเชฟฟิลด์ เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่แพร่หลายมาตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ นำไปใช้ผลิตสินค้าที่สำคัญ นั่นคือมีด และดาบ

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “บรามอลล์ เลน” มีที่มาจากตระกูลบรามอลล์ (Bramall family) ซึ่งเป็นครอบครัวที่ทำธุรกิจผลิตตะไบ และเครื่องมือแกะสลัก อีกทั้งยังเป็นเจ้าของ The Ole White House ซึ่งปัจจุบันเป็นผับที่ตั้งอยู่ชั้นบนของสนาม

ทอตแน่ม ฮอตสเปอร์

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/TottenhamHotspur

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ในปัจจุบัน เป็นรูปไก่ตัวผู้มีเดือยแหลมอยู่ข้างหลังเท้ากำลังเหยียบลูกฟุตบอล สื่อถึงเซอร์ เฮนรี่ เพอร์ซีย์ (Sir Henry Percy) ขุนนางผู้ปกครองนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ ในช่วงศตวรรษที่ 14 ซึ่งชื่นชอบกีฬาชนไก่เป็นอย่างมาก

– ฉายา : “The Lilywhites” หมายถึง สีขาว มาจากสีของเสื้อแข่งขันที่เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1898 โดยได้แรงบันดาลใจจากสโมสรเปรสตัน นอร์ทเอนด์ ที่สวมชุดแข่งสีขาว และสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ลีกสูงสุดแบบไร้พ่ายในฤดูกาล 1888/89

– สนามเหย้า : ชื่อสนามแข่งขันในปัจจุบันคือ “ทอตแน่ม ฮอทสเปอร์ สเตเดี้ยม” ซึ่งสร้างขึ้นใหม่แทนที่ไวท์ ฮาร์ท เลน บางคนอาจเรียกว่า “นิว ไวท์ ฮาร์ท เลน” แต่ในอนาคตอาจมีการขายสิทธิ์ชื่อสนามให้กับสปอนเซอร์ทางธุรกิจ

เวสต์แฮม ยูไนเต็ด

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน เป็นรูปทรงคล้ายโล่สามเหลี่ยม มีขอบสีฟ้า และพื้นสีแดงอมม่วง ซึ่งสื่อถึงสีประจำสโมสร ตรงกลางมีรูปค้อนคู่ไขว้กัน เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมต่อเรือที่เฟื่องฟูในสมัยก่อน

– ฉายา : ฉายาแรก “The Irons” มาจากชื่อของสโมสรในยุคเริ่มก่อตั้ง คือ Thames Ironworks FCและอีกฉายาคือ “The Hammers” หรือ ค้อน เนื่องจากในอดีต ผู้คนจะได้ยินเสียงค้อนทุบดังไปทั่วบริเวณอู่ต่อเรือเป็นประจำ

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “ลอนดอน สเตเดี้ยม” เดิมใช้ชื่อว่า โอลิมปิก สเตเดี้ยม ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2012 ของสหราชอาณาจักร ปัจจุบันกลายเป็นรังเหย้าของสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส

– ตราสัญลักษณ์ : โลโก้ของสโมสรในปัจจุบัน ใช้ 2 สีหลัก คือสีเหลือง-ดำ ซึ่งหมายถึงสีประจำสโมสร มีโครงสร้างเป็นกรอบรูปหกเหลี่ยมสีดำ ข้างในมีพื้นสีเหลือง และรูปหมาป่าสีดำ ซึ่งมีส่วนของสีขาวแทรกอยู่ หมายถึงดวงตาของหมาป่า

– ฉายา : “Wolves” ย่อมาจากชื่อเต็มของเมือง Wolverhampton ซึ่งพ้องกับคำว่า wolves ที่แปลว่า ฝูงหมาป่า และได้นำหมาป่ามาอยู่ในโลโก้ของสโมสรตั้งแต่ปี 1979 และฉายา “The Wanderrers” มาจากชื่อทีมในอดีต คือ Wanderrers FC

– สนามเหย้า : ชื่อสนาม “โมลินิวซ์ สเตเดี้ยม” มีที่มาจากชื่อของ Benjamin Molineux นักธุรกิจที่เข้ามาอาศัยในเมืองวูล์ฟแฮมป์ตันตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 และได้ซื้อที่ดินซึ่งกลายมาเป็นที่ตั้งรังเหย้าของสโมสรในปัจจุบัน

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

Categories
Special Content

ดีแคลน ไรซ์ นักเตะอิงลิชค่าตัวแพงที่สุดในพรีเมียร์ลีก

ตลาดนักเตะซัมเมอร์ปีนี้ มีดีลที่เรียกเสียงฮือฮาเกิดขึ้น เมื่ออาร์เซน่อล ยอมทุ่มเงินทุบสถิติสโมสร 100 ล้านปอนด์ (แอดออน 5 ล้านปอนด์) ดึงตัวดีแคลน ไรซ์ กองกลางทีมชาติอังกฤษจากเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

มิดฟิลด์ตัวรับอนาคตไกลวัย 24 ปี รายนี้ กลายเป็นแข้งเลือดผู้ดีที่มีค่าตัวแพงที่สุดในพรีเมียร์ลีก แซงหน้าแจ็ค กรีลิช ที่ย้ายจากแอสตัน วิลล่า มาอยู่กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยค่าตัว 100 ล้านปอนด์ เมื่อปี 2021

ไรซ์ เป็นนักเตะรายที่ 3 ของอาร์เซนอล ที่เสริมทัพในช่วงหน้าร้อนปี 2023 ใช้เงินไปร่วม 200 ล้านปอนด์ ต่อจาก ไค ฮาแวตซ์ จากเชลซี 65 ล้านปอนด์ และยูเลี่ยน ทิมเบอร์ จากอาแจกซ์ 34 ล้านปอนด์

ถูกเชลซีปล่อยตัวจากอดาเดมี่

ดีแคลน ไรซ์ เกิดเมื่อ 14 มกราคม 1999 ที่คิงสตัน อัพอน เทมส์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน เริ่มต้นเส้นทางลูกหนังด้วยการเข้าไปอยู่ในทีมเยาวชนของเชลซี เมื่อปี 2006 ขณะอายุได้ 7 ขวบ

ช่วงเวลาที่เจ้าหนูไรซ์ได้เข้ามาอยู่กับอคาเดมี่ของเชลซี เป็นช่วงที่โรมัน อับราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เพิ่งเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรได้ไม่นาน และมีโชเซ่ มูรินโญ่ รับหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมชุดซีเนียร์

อย่างไรก็ตาม ในปี 2013 หลังจากที่ไรซ์อยู่กับอคาเดมี่ของเชลซีนานถึง 7 ปี เขาได้รับแจ้งมาว่าต้องออกไปจากสโมสร ทำให้รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพต่อไป

ไรซ์ ให้สัมภาษณ์กับ Sky Sports ว่า “ผมต้องเอาชนะความผิดหวังครั้งใหญ่ หลังเชลซีปล่อยตัวออกจากอคาเดมี่ ผมฝึกซ้อมเป็นประจำทุกวัน แล้วมีคนมาบอกว่าผมไม่ได้ไปต่อกับที่นี่ มันน่าตกใจอย่างมาก”

“ผมรู้ดีว่ามันยาก แต่ตอนเด็กผมอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ไม่มีอะไรมาหยุดความฝันของผมได้ ผมมีแรงผลักดันและอยากจะทำงานให้หนักที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมต้องย้ายออกจากบ้าน และเริ่มต้นชีวิตใหม่”

สถานีต่อไปของไรซ์คือ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ทีมคู่แข่งร่วมเมืองหลวง โดยอยู่ในทีมเยาวชนเป็นเวลา 2 ปี ก่อนก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ตำนานบทใหม่ของเขากับสโมสรจากลอนดอนฝั่งตะวันออก กำลังจะเริ่มต้นขึ้น

ช่วงเวลาที่ดีกับเดอะ แฮมเมอร์ส

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/WestHam

เมื่ออายุได้ 16 ปี ดีแคลน ไรซ์ ได้รับสัญญาเป็นนักเตะอาชีพกับเวสต์แฮม ยูไนเต็ด โดยเล่นกับทีมชุดสำรองอยู่ 1 ซีซั่น ก่อนที่จะได้ลงเล่นในทีมชุดใหญ่ครั้งแรกในซีซั่น 2016/17 ฐานะตัวสำรองในเกมที่พบกับเบิร์นลี่ย์

ฤดูกาล 2017/18 และ 2018/19 ไรซ์ได้ลงเล่นสม่ำเสมอ ภายใต้กุนซือ 3 คน ทั้งสลาเวน บิลิช, เดวิด มอยส์ และมานูเอล เปเยกรินี่ ฟอร์มการเล่นยังไม่โดดเด่นมากนัก ผลงานของทีมจบในอันดับ 13 และ 10 ตามลำดับ

จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2019 เวสต์แฮม ตัดสินใจปลดเปเยกรินี่ ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม และได้แต่งตั้งเดวิด มอยส์ กลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิมอีกครั้ง และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของสโมสรอย่างแท้จริง

การคัมแบ็กของกุนซือชาวสกอตแลนด์ ช่วยให้เกมรับของเวสต์แฮมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งปลุกศักยภาพของไรซ์ ให้ฉายแววเก่งมากขึ้นเรื่อยๆ จนพาทีมขุนค้อนทำอันดับไปเล่นฟุตบอลยุโรป 2 ฤดูกาลติดต่อกัน

และในฤดูกาล 2022/23 คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของไรซ์ ในการเป็นกัปตันทีมผู้พาเดอะ แฮมเมอร์ส คว้าแชมป์ยุโรปใบเล็กสุดอย่าง คอนเฟอเรนซ์ ลีก ซึ่งถือเป็นการได้ชูโทรฟี่เป็นรายการแรกในรอบ 43 ปีของสโมสร

“เขา (เดวิด มอยส์) เข้ามาช่วยทีมเราถึงสองครั้ง จากนั้นก็ได้ไปฟุตบอลถ้วยยุโรป 2 ปีติดต่อกัน และตอนนี้ก็คว้าแชมป์ได้แล้ว เขาคือผู้จัดการทีมที่ดีที่สุดตลอดกาลของเวสต์แฮม” ไรซ์ กล่าวกับ BT Sport

ผลงานของไรซ์ ตลอดเวลา 7 ฤดูกาลที่อยู่กับทีมซีเนียร์ของเวสต์แฮม ยิงได้ 15 ประตู 13 แอสซิสต์ จากการลงสนาม 245 นัด รวมทุกรายการ ปิดตำนานอย่างยิ่งใหญ่ ก่อนที่จะเป็นนักเตะใหม่ของอาร์เซน่อลในที่สุด

อาร์เตต้า จะใช้งานไรซ์อย่างไร

มิเกล อาร์เตต้า เฮดโค้ชอาร์เซน่อล ได้ลั่นวาจาไว้ว่า ต้องการตัวดีแคลน ไรซ์ มาให้ได้ แม้จะมีแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ร่วมแจมแย่งตัวด้วย แต่เป็นเดอะ กันเนอร์ส ที่กัดฟันยอมทุ่มเงินมหาศาลแตะหลัก 100 ล้านปอนด์

การมาของไรซ์ สิ่งแรกที่อาร์เตต้าจะได้รับอย่างแน่นอนคือ “ความเป็นผู้นำ” เพราะเขารับหน้าที่กัปตันทีมตั้งแต่อยู่ในทีมสำรองของเวสต์แฮม ก่อนจะเป็นกัปตันทีมชุดใหญ่เต็มตัวแทนมาร์ค โนเบิ้ล ที่ประกาศเลิกเล่น

ตำแหน่งการเล่นหลักของไรซ์คือ “มิดฟิลด์ตัวรับ” ยืนต่ำสุดในแดนกลางทั้งระดับสโมสรและทีมชาติ ซึ่งมีโอกาสค่อนข้างสูงในการเข้ามาเสียบแทนโธมัส ปาร์เตย์ ที่เล่นในตำแหน่งนี้ได้ดีมาเกือบตลอดซีซั่นที่แล้ว

สถิติจากฤดูกาล 2022/23 ไรซ์ มีสถิติการตัดบอลจากคู่แข่ง (Interceptions) 63 ครั้ง มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก เหนือกว่าปาร์เตย์ นักเตะอาร์เซน่อลที่ตัดบอลมากที่สุดในทีม 28 ครั้ง หรือแตกต่างกันมากกว่า 2 เท่า

ส่วนสถิติอื่นๆ ในเกมรับ อย่างเช่น แย่งบอลกลับคืน (Possesion won) มากที่สุด 334 ครั้ง, ถูกคู่แข่งเลี้ยงผ่านน้อยที่สุด เฉลี่ย 0.6 ครั้งต่อเกม อีกทั้งชนะการดวลตัวต่อตัว 58.3 เปอร์เซ็นต์ ติดท็อป 5 ของพรีเมียร์ลีก

อย่างไรก็ตาม อาร์เซน่อลคือทีมที่เน้นเกมรุกเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากสมัยอยู่กับเวสต์แฮม ทำให้ไรซ์ต้องเพิ่มสกิลมากขึ้น จากเดิมที่เป็นโฮลดิ้ง มิดฟิลด์ มาเป็นแบบ “บ็อกซ์ ทู บ็อกซ์” และจังหวะการเล่นเร็วขึ้นกว่าเดิม

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/Arsenal

ซึ่งในจุดนี้ ตัวของไรซ์เองก็พัฒนามากขึ้นในฤดูกาลที่แล้ว เพราะเขาสัมผัสบอลในพื้นที่สุดท้าย (Final-third) เฉลี่ย 12.4 ครั้ง ต่อเกม และยิงได้ 4 ประตูในพรีเมียร์ลีก มากที่สุดต่อซีซั่น นับตั้งแต่เล่นในระดับอาชีพ

ด้านการจ่ายบอล ไรซ์ทำได้ 2,083 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการจ่ายบอลขึ้นด้านหน้า 51 ครั้ง สะท้อนว่า ไรซ์นิยมการจ่ายบอลออกด้านข้างมากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์กับบูกาโย่ ซาก้า และกาเบรียล มาร์ติเนลลี่

อาร์เซน่อล ละเมิดกฎ FFP หรือไม่

การซื้อนักเตะของอาร์เซน่อล ถ้านับเฉพาะช่วงซัมเมอร์ 3 รอบล่าสุด (2021-2023) ใช้เงินไปแล้วกว่า500 ล้านปอนด์ คำถามที่ตามมาก็คือ “เดอะ กันเนอร์ส” กำลังสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดกฎไฟแนนเชี่ยล แฟร์เพลย์ หรือไม่

สำหรับกฎ FFP ของยูฟ่าที่มีการปรับปรุงใหม่ จะกำหนดเพดานของแต่ละสโมสร ในการใช้เงินจ่ายค่าตัวนักเตะ, ค่าจ้าง และค่าเอเย่นต์ เป็นเปอร์เซนต์ของรายได้ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่ฤดูกาล 2022/23 ที่ผ่านมา

เมื่อซีซั่นที่แล้ว ทุกสโมสรในยุโรป สามารถใช้เงินได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในซีซั่นปัจจุบัน (2023/24) จะลดเหลือ 90 เปอร์เซ็นต์, ซีซั่น 2024/25 เหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ และซีซั่น 2025/26 เป็นต้นไป เหลือ 70เปอร์เซ็นต์

กฎ FFP เวอร์ชั่น 2.0 ยอมให้สโมสรขาดทุนเพิ่มจากเดิม 30 ล้านยูโร เป็น 60 ล้านยูโร ในรอบ 3 ปี ส่วนสโมสรในอังกฤษ จะอยู่ภายใต้กฎ P&S ของพรีเมียร์ลีก ที่ยอมให้ติดลบได้สูงสุด 105 ล้านปอนด์ ในรอบ 3 ปี ด้วยเช่นกัน

ในรอบปีบัญชี 2021/22 ระบุว่า อาร์เซน่อลขาดทุน 45.5 ล้านปอนด์ เป็นการติดลบ 4 ปีติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 2018-19 (27.1 ล้านปอนด์), ปี 2019-20 (47.8 ล้านปอนด์) และปี 2020-21 (107.3 ล้านปอนด์)

อย่างไรก็ตาม อาร์เซน่อลได้ประเมินรายรับตลอดซีซั่น 2022/23 คาดว่าน่าจะสูงถึง 419 ล้านปอนด์ ส่วนหนึ่งจากการกลับคืนสู่เวทียูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก, รายได้จากการถ่ายทอดสด รวมถึงรายได้จากแมตช์เดย์ที่มากขึ้น

คีแรน แม็กไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินฟุตบอล และผู้เขียนหนังสือ The Price Of Football วิเคราะห์ว่า “ผมไม่กังวลเกี่ยวกับการเงินของอาร์เซน่อลเลย แม้จะใช้เงินมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ซีซั่นที่แล้วก็มีรายได้เข้ามามาก”

“ถ้าดูจากค่าจ้างในปี 2022 อาร์เซน่อลจ่ายไปแค่ 58 เปอร์เซนต์ และสิ่งที่ผมได้เห็นตลอดช่วง 5-6 ฤดูกาลที่ผ่านมาคือ พวกเขาสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างดี แม้ว่าช่วงนั้นจะไม่เคยเข้าร่วมแชมเปี้ยนส์ ลีก เลยก็ตาม”

เมื่อฤดูกาลที่แล้ว อาร์เซน่อลเบียดกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้มาตลอดทาง ก่อนแผ่วลงช่วงท้ายซีซั่น การมาของดีแคลน ไรซ์ ในซีซั่นใหม่ พวกเขาย่อมหวังถึงการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกที่ห่างหายไปนานถึง 2 ทศวรรษ

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/4652018/2023/07/15/declan-rice-arsenal-arteta-deal/

https://theathletic.com/4631250/2023/06/27/arsenal-rice-transfers-ffp/

https://theathletic.com/4646911/2023/06/29/why-declan-rice-transfer-is-vital-to-artetas-arsenal/

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-8258103/Declan-Rice-shocked-Chelsea-release-days-hinted-transfer-move.html

– https://www.premierleague.com/news/3572110

Categories
Special Content

วิวัฒนาการของฟูลแบ็ค สู่เทรนด์ที่มาแรงในฟุตบอลสมัยใหม่

แกรี เนวิลล์ กับ เจมี คาร์ราเกอร์ ตำนานกองหลังร่วมทศวรรษ 1990-2010 ซึ่งตอนนี้เลิกปะทะแข้งหันมาปะทะฝีปากกันในฐานะกูรูลูกหนังของค่ายสกาย สปอร์ตส์ เคยคุยกันขำๆว่า ฟุตบอลอาจใกล้หมดยุคฟูลแบ็คที่เล่นแต่เกมรับแล้ว และไม่แค่นั้น อดีตเซ็นเตอร์แบ็คลิเวอร์พูลวัย 45 ยังเอ่ยแซวอดีตฟูลแบ็คแมนฯยูไนเต็ดที่มีอายุมากกว่า 3 ปีว่า เด็กสมัยนี้คงไม่มีใครฝันอยากเดินตามรอยสตั๊ดแกรี เนวิลล์ กันแล้ว

คาริม ชาฮีน นักวิเคราะห์เกมอิสระของสื่อโททัล ฟุตบอล อนาไลซิส เคยให้ทรรศนะว่า ฟูลแบ็คน่าจะเป็นตำแหน่งในสนามฟุตบอลที่มีสีสันน้อยที่สุด อดีตกาลเคยมีผู้นิยามฟูลแบ็คแบบเหน็บแนมว่า เป็นนักฟุตบอลที่ไม่แข็งแกร่งสำหรับเซ็นเตอร์แบ็ค และไม่มีทักษะเพียงพอจะเล่นตำแหน่งปีก

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ถูกวิวัฒนาการไปมากตั้งแต่รอยต่อของศตวรรษที่ 20-21 หลายตำแหน่งได้รับการปรับแต่งและถูกเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผู้รักษาประตูที่เล่นสวีปเปอร์, เซ็นเตอร์แบ็คที่บิลด์อัพเกม, ปีกตัดเข้าใน และฟอลส์ ไนน์ แต่ฟูลแบ็คยังทำหน้าที่เดิมๆเป็นส่วนใหญ่จนกระทั่งหนึ่งทศวรรษหลังจึงพบเห็นวิวัฒนาการอย่างมีนัยยะ และกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงในโมเดิร์นฟุตบอล

ชาฮีนพลิกปูมประวัติศาสตร์เล่าเพิ่มเติมว่า งานหลักของฟูลแบ็คคือเกมรับ สนับสนุนเซ็นเตอร์แบ็ค รักษาพื้นที่ป้องกันให้แคบที่สุด และคอยขวางไม่ให้ปีกฝ่ายตรงข้ามครอสบอลไปยังกรอบเขตโทษ ฮาเวียร์ ซาเนตติ และ เปาโล มัลดินี เป็นตัวอย่างของดีเฟนซีพ ฟูลแบ็ค ระดับโลก

ความจริงแล้ว โมเดิร์น ฟูลแบ็ค ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเพราะย้อนไปต้นทศวรรษ 1950 ฌาลมา ซานโตส และ นิลตัน ซานโตส ซึ่งไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกัน เคยลุยเปิดเกมบุกให้ทีมชาติบราซิลได้อย่างน่าทึ่งในเวิลด์คัพ 1958 หรือคู่ฟูลแบ็คแซมบาที่ยังอยู่ในความรับรู้ของแฟนบอลสมัยนี้คือ คาฟู กับ โรแบร์โต คาร์ลอส จากเวิลด์คัพ 2002 แต่ฟูลแบ็คเริ่มมีวิวัฒนาการให้เห็นเด่นชัดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันกลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญของกลยุทธ์เกมรุก จนอาจเป็นผู้เล่นที่มีการเคลื่อนที่และถูกใช้งานสารพัดประโยชน์มากที่สุดบนสนามฟุตบอล

ประจักษ์พยานคือ ค่าตัวฟูลแบ็คเริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าจัดอันดับท็อป-10 เฉพาะดีลธุรกิจที่ทำตั้งแต่ปี 2016 ลูคัส เอร์นานเดซเป็นฟูลแบ็คราคาแพงที่สุดในโลกตอนนี้คือ 80 ล้านยูโรตอนที่บาเยิร์น มิวนิก ซื้อจากแอตเลติโก มาดริด เมื่อปี 2019 ตามด้วย มาร์ค กูกูเรยา ซึ่งเชลซีเพิ่งทุ่มเงิน 70.1 ยูโร ซื้อจากไบรท์ตันในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว และ อาชราฟ ฮาคิมี 66.5 ล้านยูโร ที่ปารีส แซงต์-แยร์กแมง ซื้อเมื่อปี 2021 จากอินเตอร์ มิลาน โดยก่อนหน้านั้น ปี 2020 ทีมเนรัซซูรีเพิ่งซื้อฮาคิมีจากเรอัล มาดริด ที่ตัวเลข 43 ล้านยูโร รั้งอันดับ 10 ของตารางค่าตัว คือปีเดียว อินเตอร์ฯทำกำไรถึง 23,5 ล้านยูโร

อาร์เซนอลซื้อเซ็นเตอร์เพื่อเล่นฟูลแบ็ค

ตลาดซัมเมอร์รอบนี้ อาร์เซนอลได้ซื้อ เยอร์เรียน ทิมเบอร์ ปราการหลังทีมชาติเนเธอร์แลนด์จากอาแจ็กซ์ด้วยราคา 40 ล้านปอนด์ หลังจากได้ ไค ฮาเวิร์ทซ์ แนวรุกทีมชาติเยอรมนีของเชลซี มูลค่า 65 ล้านปอนด์ และถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด มิเกล อาร์เตตา จะได้ลูกทีมใหม่คนที่ 3 ที่ค่าตัวสูงลิ่ว 105 ล้านปอนด์คือ ดีแคลน ไรซ์ มิดฟิลด์ทีมชาติอังกฤษจากเวสต์แฮม ถือเป็นการลงทุนเสริมขุมกำลังครั้งสำคัญของอาร์เซนอลที่ฟอร์มแผ่วปลายซีซันที่แล้ว ปล่อยให้แชมป์พรีเมียร์ลีกตกเป็นของแมนฯซิตี

ทิมเบอร์ กองหลังดาวรุ่งดัตช์ เคยตกเป็นข่าวแรงในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้วเพราะเป็นเป้าหมายเบอร์แรกๆของ เอริก เทน ฮาก ที่เพิ่งอำลาอาแจ็กซ์มาคุมทีมแมนฯยูไนเต็ด แต่ทิมเบอร์เลือกค้าแข้งในลีกแดนกังหันลมต่ออีกหนึ่งปี

แม้อายุเพียง 22 ปีแต่ทิมเบอร์ลงสนามให้อาแจ็กซ์มาแล้วกว่า 200 นัด ถูกยกย่องเป็นกองหลังที่น่าจับตามอง เพียบพร้อมทั้งความแข็งแกร่งและความสุขุมเกินวัย แถมยังจ่ายบอลมากที่สุดในเอเรอดีวีซี ฤดูกาล 2022-23 ทั้งที่ยืนตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็คตัวขวา

กูรูลูกหนังมองว่า การผ่านบอลเป็นทักษะอันดับ 1 ที่อาร์เซนอลพิจารณาดึงทิมเบอร์เข้าเอมิเรตส์ สเตเดียม โดยอ้างอิงจากสถิติด้าน passing ในลีกเนเธอร์แลนด์ซีซันที่แล้ว ทิมเบอร์สัมผัสบอลรวม 3,129 ครั้ง, จ่ายบอลคอมพลีท 2,501 ครั้ง และจ่ายบอลขึ้นหน้า 902 ครั้ง ซึ่งทั้งสามหมวด ทิมเบอร์ทำได้มากกว่าใครในเอเรอดีวีซี เขายังจ่ายบอลคอมพลีทในพื้นที่ final third 544 ครั้ง สูงเป็นอันดับ 9 และมีความแม่นยำการจ่ายบอล 92 เปอร์เซ็นต์ หรืออันดับ 14 ของลีก

แต่ประเด็นที่น่าสนใจตามมุมมองของนักวิเคราะห์เกม ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่า อาร์เตตาต้องการใช้งานทิมเบอร์ในตำแหน่งแบ็คขวาของระบบ 4-3-3 Attacking แม้ตลอดซีซันที่ผ่านมา ทิมเบอร์เป็นแบ็คขวาตัวจริงเพียงนัดเดียวคือฟุตบอลยุโรป รอบคัดเลือก เนเธอร์แลนด์แพ้ฝรั่งเศส 0-4

จากข้อมูลของ transfermarkt เฉพาะบอลลีกซีซันที่แล้ว จากการลงสนาม 34 นัด 3,034 นาที ทำ 2 ประตู 2 แอสซิสต์ ทิมเบอร์ยืนเซ็นเตอร์แบ็คทุกนัด หรือดูสถิตินับตั้งแต่ขึ้นชุดใหญ่อาแจ็กซ์ ทิมเบอร์เล่นทั้งหมด 85 นัด ยืนเป็นแบ็คขวา 10 นัดเท่านั้น นั่นเท่ากับว่า ตำแหน่งถนัดของเขาคือเซ็นเตอร์แบ็คที่สามารถย้ายไปเล่นแบ็คขวาได้

เพราะอะไร อาร์เตตาจึงมีไอเดียย้ายทิมเบอร์ไปอยู่ตำแหน่งขวาสุดของแบ็คโฟร์ เบื้องหลังคงหนีไม่พ้นเทรนด์ในพรีเมียร์ลีกที่เกิดจากวิวัฒนาการของฟูลแบ็ค

สามแท็คติกที่ฟูลแบ็คยุคใหม่ร่วมลุยเกมบุก

อดัม เบท คอมเมเตเตอร์ที่ทำงานให้กับสกาย สปอร์ตส์ ให้ความเห็นว่า พรีเมียร์ลีกมีการเปลี่ยนแปลงทางแท็คติกหรือกลยุทธ์การวางหมากเกมลูกหนังไปอย่างรวดเร็ว บทบาทของฟูลแบ็คหลากหลายและซับซ้อนขึ้น ความรับผิดชอบไปไกลกว่าโมเดิร์น ฟูลแบ็ค ที่รับผิดชอบเกมรับและรุกด้านข้างสนามอย่างไม่กี่ทศวรรษที่แล้ว เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ และ แอนดี โรเบิร์ตสัน ของลิเวอร์พูล ถือเป็นแบบอย่างของฟูลแบ็คแห่งอนาคต

ชาฮีนจากโททัล ฟุตบอล อนาไลซิส ได้ใช้แท็คติกการขึ้นเกมเป็นตัวแบ่งประเภทของฟูลแบ็คไว้ 3 รูปแบบหลักได้แก่ Overlapping full-back, Inverted full-back และ Wing-back

วิงแบ็คน่าจะเป็นลักษณะที่แฟนบอลคุ้นเคยยาวนาน มักใช้กับระบบกองหลัง 3 คนหรือ 3-5-2 ผู้เล่นมีทักษะของฟูลแบ็คและปีกผสมผสานกัน เน้นการบุก และตัดทอนงานเกมรับ เคยได้รับความนิยมสูงสุดในลีกท็อป-5 ของยุโรปโดยเฉพาะซีซัน 2020-21 มี 10 ทีมที่ใช้วิงแบ็คในกัลโช เซเรีย อา, 10 ทีมในบุนเดสลีกา, 7 ทีมในลีก เอิง, 5 ทีมในลา ลีกา และ 5 ทีมในพรีเมียร์ลีก

ฟูลแบ็คหุบในหรือฟูลแบ็คกลับด้าน แฟนบอลเห็นบ่อยในช่วงหลังๆ เป็นฟูลแบ็คที่ขยับเข้าด้านในของสนามเวลาขึ้นเกม ช่วยเพิ่มจำนวนผู้เล่นแดนกลาง เปิดโอกาสให้มิดฟิลด์คนอื่นกำหนดจังหวะเกมบุกในโซน half-space หรือระหว่างไลน์ อีกทั้งยังดึงคู่แข่งเข้ามาประกบ ช่วยให้ปีกร่วมทีมได้ดวลตัวต่อตัวกับคู่แข่ง ฟูลแบ็คสไตล์นี้จะต้องเก่งเรื่องการเล่นในพื้นที่แคบและครองบอลจ่ายบอลได้ดีอเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ และ โรเบิร์ตสัน เป็นตัวอย่างที่ซาฮีนยกให้เป็นไอดอลที่ใครที่ต้องการเล่นหรือเรียนรู้เกี่ยวกับโอเวอร์แลป ฟูลแบ็ค ซึ่งวิ่งอ้อมหลังเพื่อนร่วมทีมไปยังพื้นที่ว่างเพื่อรับบอลหรือทำเกมรุกต่อ หรืออันเดอร์แลป วิ่งอ้อมหลังผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามก็ได้ นักเตะต้องมีความฟิตสูง มีความเร็วและคล่องตัวที่จะทรานซิชันเกมบุกเกมรับ

เยอร์เกน คลอปป์ ได้พัฒนาอเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ เป็นฟูลแบ็คจอมบุกแถวหน้าของยุโรป จุดแข็งคือระยะและวิสัยทัศน์การจ่ายบอล ครอสลูกจากด้านข้าง และการเตะลูกเซตพีซ เขาได้รับการยกย่องจากบทบาทโอเวอร์แลป ฟูลแบ็ค ก่อนถูกคลอปป์ใช้งานที่ซับซ้อนขึ้นอย่างฟูลแบ็คหุบในและงานไฮบริดที่ขึ้นไปเป็น double pivot ยืนมิดฟิลด์คู่กับฟาบินโญในระบบ 3-2-2-3 ช่วงท้ายฤดูกาล 2022-23 ที่ผ่านมา

ความเก่งฉกาจของการจ่ายบอลของสองแบ็คลิเวอร์พูล ยืนยันได้จากอันดับแอสซิสต์ของกองหลังพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่ซีซัน 2018-19 อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์และโรเบิร์ตสันนำโด่งด้วยจำนวน 53 และ 48 ครั้ง อันดับ 3 คือ ลูกาส์ ดีญ 22 ครั้ง, อันดับ 4 เซซาร์ อัซปิลิกวยตา และ เบน ชิลเวลล์ 15 ครั้งเท่ากัน

ทิมเบอร์ ตัวอย่างล่าสุดของฟูลแบ็คสายเทคนิค

เบทจากสกาย สปอร์ตส์ ให้ทรรศนะว่า การปรับอเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ขึ้นไปเล่นมิดฟิลด์ เป็นเสมือนภาพสะท้อนของ โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก แบ็คซ้ายทีมอาร์เซนอล ซึ่งตามปกติยืนตำแหน่งมิดฟิลด์ให้ทีมชาติยูเครน ขณะที่แมนฯซิตีก็ใช้นักเตะหลายคนทำงานไฮบริด

ฟิลลิป ลาห์ม อดีตนักเตะทีมชาติเยอรมัน ซึ่งถูกบันทึกว่าเป็นผู้บุกเบิกฟูลแบ็คหุบใน ให้สัมภาษณ์กับสกาย สปอร์ตส์ ว่า “ช่วง 10 ปีหลังสุด ฟูลแบ็คเป็นผู้เล่นที่มีทักษะเชิงกีฬาสูงและสภาพร่างกายที่แข็งแกร่ง แต่ตอนนี้ผมคิดว่ามันเปลี่ยนไปตรงที่มีเทคนิคมากขึ้น”

วิวัฒนาการของฟูลแบ็คที่ขยับขึ้นไปเล่นกองกลาง ไม่เพียงเปลี่ยนชุดทักษะพื้นฐานเพื่อรองรับหน้าที่รับผิดชอบแบบไฮบริดตามใบสั่งของหัวหน้าโค้ช แต่ยังส่งกระทบไปถึงนักเตะตำแหน่งอื่นด้วยเช่นเดียวกับกรณีทิมเบอร์ ซึ่งอาร์เตตาอาจปรับให้ย้ายมาเล่นฟูลแบ็คและขึ้นไปเติมมิดฟิลด์ยามทีมเป็นฝ่ายครองบอล หรือที่ลิเวอร์พูล โรเบิร์ตสันต้องขยับเข้าในและมีพื้นที่แดนหลังให้รับผิดชอบมากขึ้นเป็นระบบเซ็นเตอร์แบ็ค 3 คน แต่การปรับตัวไม่ได้สร้างปัญหาให้กับกัปตันทีมชาติสกอตแลนด์วัย 29 ปี ซึ่งไม่ต้องขึ้นไปครอสบอลมากหรือวิ่งขึ้นลงตลอด 90 นาทีเหมือนเมื่อก่อน

เนวิลล์ อดีตกัปตันทีมแมนฯยูไนเต็ด กล่าวถึงแมนฯซิตี ซึ่งชนะเลิศพรีเมียร์ลีก 5 สมัยในรอบ 6 ปีหลังสุดว่า เป๊ป กวาร์ดิโอลา มีฟูลแบ็คที่เล่นเกมรุกได้เหลือเชื่อเป็นเวลาหลายปี พวกเขาสามารถขึ้นไปเล่นแดนกลางหรือทะยานไปข้างหน้าจากบริเวณริมสนาม จนตอนนี้แท็คติกกลายเป็นกระแสไปแล้ว

ในฐานะอดีตผู้ช่วยของกวาร์ดิโอลา จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นอาร์เตตาใช้ไอเดียที่คล้ายคลึงกันหลายอย่างเช่น เบน ไวท์ ซึ่งเคยเล่นเซ็นเตอร์แบ็คให้ไบรท์ตันและช่วงแรกที่ย้ายมาอาร์เซนอล แต่ซีซัน 2022-23 อาร์เตตาเปลี่ยนให้เล่นแบ็คขวา และสามารถหุบเข้าในฟอร์มเซ็นเตอร์แบ็ค 3 คนเพื่อรักษาสมดุลให้แผงหลังของทีมขณะที่ซินเชนโกขึ้นไปร่วมไลน์ของมิดฟิลด์ และบ่อยครั้งที่ได้เห็นไวท์ขึ้นไปโอเวอร์แลปในแดนหน้ากับบูกาโย ซากา

แต่อีกด้านหนึ่ง แผงหลังของอาร์เซนอลทำผิดพลาดให้คู่แข่งมีโอกาสส่องประตูมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก หรือมีจำนวนมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับอีก 3 ในทีมอันดับท็อป-4 บนตารางลีก นั่นเนื่องจากพวกเขาครองบอลหละหลวมและเปิดช่องว่างในจังหวะทรานซิชันระหว่างเกมรุกและรับ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่อาร์เตตาต้องเร่งแก้ไข

นักวิเคราะห์หลายสื่อเชื่อว่า ทิมเบอร์น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวของอาร์เตตาได้ด้วยความครบเครื่องรอบจัด สามารถย้ายจากแบ็คขวามายืนเป็นเซ็นเตอร์แบ็คตัวที่ 3 หรือแม้กระทั่งขึ้นไปเล่นเป็นมิดฟิลด์เอง โดยสกาย สปอร์ตส์ ได้คาดหมายแผงหลังแบ็คโฟร์ระบบ 4-3-3 ของอาร์เซนอลในซีซัน 2023-24 ดังนี้ ทิมเบอร์, ซาลิบา, กาเบรียล และ ซินเชนโก

ทิมเบอร์จึงเป็นตัวอย่างล่าสุดที่มีความสำคัญอย่างมากในการแสดงถึงวิวัฒนาการครั้งใหญ่ของฟูลแบ็คสมัยใหม่ ซึ่งกลายเป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพลต่อกลยุทธ์การโจมตีและสร้างสีสันให้กับเกมลูกหนังยุคปัจจุบันมากที่สุด

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ซานโดร โตนาลี นักเตะอิตาเลียนค่าตัวแพงที่สุดในโลก

พรีเมียร์ลีกเป็นลีกอันดับ 1 ของโลกในแง่ความนิยม แม้กระทั่งตัวนักเตะเองก็กระหายที่จะสัมผัสบรรยากาศลีกลูกหนังเทียร์ 1 เมืองผู้ดี จึงไม่แปลกที่จะมีนักบอลจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามายังประเทศอังกฤษ ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ transfermarkt ระบุว่า จากนักเตะทั้งหมด 592 คนในซีซัน 2022-23 ที่ผ่านมา เป็นผู้เล่นต่างชาติถึง 405 คน คิดเป็น 68.4 เปอร์เซ็นต์

มากที่สุดคือ บราซิล 36 คน ตามด้วยสเปน 34 คน, ฝรั่งเศส 33 คน, โปรตุเกส 28 คน และสกอตแลนด์ 23 คน ขณะที่นักเตะจากอีก 2 ลีกบิ๊ก-5 ยุโรป บุนเดสลีกาและกัลโช เซเรีย อา กลับไม่ค่อยข้ามทะเลจากแผ่นดินใหญ่มาค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก ซึ่ง transfermarkt ระบุจำนวนไว้ว่า เยอรมนี 12 คน ส่วนอิตาลีเพียง 5 คนเท่านั้นโดย จอร์จินโญ ลงสนามลีกมากที่สุดรวม 32 นัดให้กับเชลซีและอาร์เซนอล

ใครที่ติดตามพรีเมียร์ลีกมานาน จะทราบดีว่านักเตะอิตาเลียนเข้ามาเล่นในอังกฤษน้อยมากตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งน้อยรายที่ประสบความสำเร็จ ว่ากันว่าเป็นเพราะพวกเขามีแนวคิด one-club player หากเติบโตจากทีมเยาวชนสโมสรไหน ก็มักจะเล่นให้สโมสรนั้นจนกระทั่งปลายอาชีพค้าแข้ง อีกเหตุผลคือสไตล์นักเตะเมืองมะกะโรนีไม่เหมาะกับลีกอังกฤษ

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเกินความคาดหมายอย่างมากเมื่อตลาดซัมเมอร์รอบนี้ มีการทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาลของค่าตัวนักบอลอิตาเลียนเมื่อ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ยอมทุ่มเงิน 55 ล้านปอนด์เพื่อซื้อ ซานโดร โตนาลี มิดฟิลด์วัย 23 ปีจากเอซี มิลานพร้อมเซ็นสัญญา 5 ปี เป็นลูกทีมใหม่คนแรกในตลาดรอบนี้ของกุนซือเอ็ดดี ฮาว ซึ่งกำลังเสริมทัพเพื่อลุยศึกลูกหนังยูฟา แชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาล 2023-24

สำหรับรายชื่อนักเตะอิตาเลียนค่าตัวแพงที่สุดในโลก 10 อันดับแรก (หน่วยเงินยูโร : คนที่ตัวเลขเงินกลมๆเท่ากันแต่มีอันดับสูงกว่าเพราะมีจำนวนเงินหลักแสนมากกว่า) ซึ่งจะเห็นว่า 7 อันดับเป็นการซื้อขายระหว่างสโมสรใหญ่ในเซเรีย อา แต่ 2 อันดับแรกก็เป็นการทุ่มเงินซื้อของสโมสรอังกฤษ

1 – 64 ล้านยูโร ซานโดร โตนาลี จากเอซี มิลาน ไปนิวคาสเซิล ปี 2023

2 – 57 ล้านูโร จอร์จินโญ จากนาโปลี ไปเชลซี ปี 2018

3 – 53 ล้านยูโร จิอันลุยจิฟ บุฟฟอน จากปาร์มา ไปยูเวนตุส ปี 2001

4 – 46 ล้านยูโร คริสเตียน วิเอรี จากลาซิโอ ไปอินเตอร์ มิลาน ปี 1999

5 – 43 ล้านยูโร เฟเดริโก คิเอซา จากฟิออเรนตินา ไปยูเวนตุส ปี 2020

6 – 42 ล้านยูโร ลีโอนาร์โด โบนุชชี จากยูเวนตุส ไปเอซี มิลาน ปี 2017

7 – 40 ล้านยูโร เฟเดริโก แบร์นาเดสชี จากฟิออเรนตินา ไปยูเวนตุส ปี 2017

8 – 38 ล้านยูโร มัตติอา คัลดารา จากยูเวนตุส ไปเอซี มิลาน ปี 2018

9 – 36 ล้านยูโร ฟิลิปโป อินซากี จากยูเวนตุส ไปเอซี มิลาน ปี 2001

10 – 36 ล้านยูโร จานลูกา สกามัคคา จากซาสซูโอโล ไปเวสต์ แฮม ปี 2022

สานฝันวัยเด็ก แต่เล่นให้มิลานแค่ 3 ปี

โตนาลีช่วยมิลานครองตำแหน่งสคูเดตโต ฤดูกาล 2021-22 และมีส่วนพาทีมเข้าถึงรอบรองชนะเลิศแชมเปียนส์ ลีก ซีซันที่ผ่านมา โตนาลียังเป็นหนึ่งในขุนพลทีมชาติอิตาลีที่ลงแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติทวีปยุโรป รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี ประจำปี 2023

โตนาลีเป็นชาวซันตันเจโล เมืองเล็กๆของจังหวัดโลดี ในแคว้นลอมบาร์ดี ตอนเหนือของอิตาลี เรียนรู้ศาสตร์ลูกหนังผ่านระบบเยาวชนของ ปิอาเซนซา (2009-2012) และ เบรสชา (2012-2017) ก่อนประเดิมสนามอาชีพในเซเรีย เบ ขณะอายุ 17ปี ลงเป็นตัวสำรองของแมตช์เยือน เบรสชาแพ้อเวลลิโน 1-2 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2017

เบรสชาเลื่อนชั้นขึ้นลีกสูงสุดในฤดูกาล 2018-19 แต่ตกลงมาอยู่เซเรีย เอ อีกครั้งในซีซันถัดมา ซึ่งระหว่างนี้ โตนาลีได้เล่นให้ทีมชาติอิตาลีครั้งแรก ถูกส่งลงมาระหว่างแมตช์กับลิกเตนสไตล์ในเดือนตุลาคม 2019 ล่าสุดเล่นทีมชุดใหญ่ไปแล้ว 14นัด

เบรสชาปล่อยโตนาลีให้ เอซี มิลาน ยืมใช้งานในตลาดซัมเมอร์ปี 2020 ด้วยมูลค่า 10 ล้านยูโร และออปชันซื้อขาดราคา 15 ล้านยูโร และโบนัสอีก 10 ล้านยูโร เขาจบซีซัน 2020-21 ในสีเสื้อแดงดำด้วยสถิติลงสนาม 37 นัดรวมทุกราย เป็นตัวจริง 23 นัด นั่นทำให้ทีมรอสโซเนรีตัดสินใจซื้อขาดและเซ็นสัญญา 5 ปีกับโตนาลี ซึ่งยอมลดค่าเหนื่อยเพื่อสานฝันในวันเด็กที่ต้องการเป็นผู้เล่นมิลานท่ามกลางเสียงชื่นชมของแฟนบอลบนโลกโซเซียลมีเดีย

เพียงเต็มซีซันปีแรก โตนาลีก็เป็นผู้เล่นมิลานชุดแชมป์เซเรีย อา ซีซัน 2021-22 ลงสนามตัวจริง 31 นัด ตัวสำรอง 5 นัด รวม 2.606 นาที มีสถิติ 5 ประตู 3 แอสซิสต์ ส่วนซีซันล่าสุด มิลานจบอันดับ 4 โตนาลีเป็นตัวจริง 30 นัด ตัวสำรอง 4 นัด 2.717 นาที ทำ 2 ประตู 7 แอสซิสต์ โดยตลอด 3 ปี โตนาลีลงสนามให้มิลาน 130 นัดรวมทุกรายการ ทำ 7 ประตู 13แอสซิสต์

สำหรับสถิติส่วนตัวอื่นๆในเซเรีย อา ซีซัน 2022-23 ของโตนาลี 34 นัด, สร้างโอกาส 62 ครั้ง, ผ่านบอล 1,403 ครั้ง, แอสซิสต์ 7 ครั้ง, แทคเกิล 64 ครั้ง และฟาวล์ 35 ครั้ง

แฮร์รี เด โคเซโม นักวิเคราะห์เกมของสื่อใหญ่ บีบีซี สปอร์ต ให้ความเห็นถึงดีลผู้เล่นอิตาเลียนที่แพงที่สุดในโลกว่า เอ็ดดี ฮาว ตระหนักดีถึงสถานการณ์ตึงเครียดที่เผชิญช่วงท้ายซีซัน 2022-23 ในการเบียดแย่งอันดับท็อป-4 พรีเมียร์ลีก นั่นทำให้การซื้อผู้เล่นใหม่ในตลาดซัมเมอร์รอบนี้ต้องกระทำอย่างถี่ถ้วนและละเอียด โดยเฉพาะการต้องลงรอบคัดเลือก แชมเปียนส์ ลีก การอัปเกรดขุมกำลังของนิวคาสเซิลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด แต่ดุลซื้อขายที่เจ้าของสโมสรใหม่จากซาอุดิ อาระเบีย ที่กระทำไปใน 3 ตลาดที่ผ่านมา ทำให้การลงทุนนักเตะครั้งนี้ต้องใช้ความระมัดระวังสูงเพื่อไม่ให้ละเมิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์

เด โคเซโม มีมุมมองว่า โตนาลีสามารถเล่นได้ทั้งถอยลงลึกและเดินขึ้นหน้าในแดนกลาง ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระการสร้างสรรค์เกมให้บรูโน กีมาเรส ในช่วงเวลาสำคัญเช่นท้ายซีซันที่ผ่านมา ฟอร์มของกีมาเรสไม่ลื่นไหลเหมือนเดิมเพราะอาการบาดเจ็บข้อเท้า ดังนั้นแม้โตนาลีไม่ใช่เป้าหมายต้นๆแต่นิวคาสเซิลกลับถูกระตุกให้เดินหน้ากางโต๊ะเจรจาเมื่อทราบข่าวว่า มิดฟิลด์วัย 23 ปี ถูกตั้งราคาขายที่อยู่ในงบประมาณสโมสร โดยเดิมที นิวคาสเซิลอยากได้โฮลดิงมิดฟิลด์ขนานแท้

กูรูแห่งบีบีซี สปอร์ต ตบท้ายว่า ความสามารถทางกีฬาที่ดีเยี่ยมและการเล่นได้หลากหลายหน้าที่เป็น 2 เงื่อนไขสำคัญที่ฮาวมองหาในนักเตะใหม่ของเขา และโตนาลีมีพร้อมทั้งสองข้อ มั่นใจได้ว่าโตนาลีสามารถเพิ่มมิติใหม่ให้กับมิดฟิลด์ของนิวคาสเซิลได้อย่างแน่นอน

ขณะที่ แอนโธนี กอร์ดอน กองหน้าทีมนิวคาสเซิล กล่าวถึงเพื่อนร่วมทีมใหม่ว่า “ผมรู้จักเขาตั้งแต่ยุคแรกๆที่เบรสชา ผมยังจำภาพเขาที่เห็นจากคลิปก่อนย้ายมามิลาน เขาเป็นหนึ่งในมิดฟิลด์ตัวท็อปของโลกแน่นอน ผมรอวันที่จะลงสนามร่วมกับเขา”

นิวคาสเซิลจะใช้ประโยชน์อย่างไรจากโตนาลี

เบน กราวน์ดส นักวิเคราะห์เกมของสกาย สปอร์ตส์ ให้ความเห็นว่า นิวคาสเซิลคาดหวังโตนาลีจะนำแพสชันมาสู่ยูนิฟอร์มลายดำขาว ค่าตัวระหว่างสองสโมสรเป็นตัวเลขที่ช็อกมากอย่างที่หนังสือพิมพ์ กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต ระบุ และเป็นตัวเลขที่มิลานไม่สามารถปฏิเสธได้

กราวน์ดส์ ยังกล่าวถึงรูปแบบความเป็นไปได้ในการใช้งานของนิวคาสเซิล เขาเชื่อว่าฮาวคงไฟเขียวให้กีมาเรสขยับขึ้นบนได้มากขึ้นเมื่อโตนาลีย้ายเข้าถิ่นเซ็นต์เจมส์ ปาร์ค แต่โตนาลีไม่ใช่มิดฟิลด์ตัวรับโดยเนื้อแท้ ดังนั้นอย่าเพิ่งคาดหวังเห็นโตนาลีปักหลักอยู่หน้าแนวรับ

ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า นิวคาสเซิลเริ่มประสบปัญหาเมื่อ ฌอน ลองสตาฟฟ์ บาดเจ็บ กีมาเรสต้องถอยลงมาเล่นลึกระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมที่เป็นเวลาที่ยาวนานทีเดียว แถมตอนนั้นฮาวมีมิดฟิลด์ที่พอไว้ใจใช้งานได้เพียง 4 คน ส่งผลให้แพ้ลิเวอร์พูลและอาร์เซนอลในแมตช์เหย้า จนมีสิทธิตกแทร็คลุ้นโควตาแชมเปียนส์ ลีก โดยนิวคาสเซิลชนะนัดเดียวจาก 8นัดที่แข่งกับทีมท็อป-5 ของพรีเมียร์ลีก

ซีซันที่ผ่านมา สเตฟาโน ปิโอลี เฮดโค้ชของรอสโซเนรีให้โตนาลียืนตำแหน่งเบอร์ 6 ของระบบ 4-2-3-1 ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้กีมาเรสเล่นบนพื้นที่สูงขึ้นของสนาม โตนาลีครบเครื่องทักษะทั้งการใช้เท้าสองข้างและครองบอลเหนียว กูรูจากสกาย สปอร์ตส์ มั่นใจว่าโตนาลีจะเข้ามาช่วยยกระดับนิวคาสเซิล ซึ่งเป็นทีมที่จ่ายบอลแม่นยำอันดับ 12 ของพรีเมียร์ลีก

7 นักเตะอิตาเลียนยอดเยี่ยมในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก

แม้นักฟุตบอลไม่ใช่สินค้านำเข้ายอดนิยมที่เดินทางจากอิตาลีมาสู่อังกฤษ แต่ส่วนใหญ่ที่ถูกซื้อเข้ามาล้วนการันตีฝีเท้าไม่ธรรมดา ซึ่งมีทั้งประสบความสำเร็จและความล้มเหลว ฟอร์ซา อิตาเลียน ฟุตบอล สื่อกีฬาลูกหนังชั้นนำเมืองมะกะโรนี ได้จัดเสนอชื่อ 7 นักเตะอิตาเลียนยอดเยี่ยมตลอดกาลที่ค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก (ไม่ได้เรียงอันดับ)

จิอันฟรังโก โซลา (เชลซี)

โซลาเล่นให้เชลซีระหว่างปี 1996 ถึง 2003 เป็นเวลา 7 ปีที่ทำให้แฟนบอลจดจำเขาในฐานะหนึ่งในนักเตะอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่ที่ลงสังเวียนพรีเมียร์ลีก ไม่ว่าจะเป็นการครองบอลที่เหนือชั้นและการฉีกแผงแนวรับเข้าทำสกอร์ ซึ่งรวมแล้วเกินกว่า 50ประตูเฉพาะบอลลีก โซลาจึงเป็นโปสเตอร์บอยยอดนิยมของแฟนบอลเชลซีในทศวรรษ 1990-2000 เขายังช่วยให้ต้นสังก้ดครองโทรฟี 6 ใบ

เบนิโต คาร์โบเน่ (เว้นสเดย์, วิลลา, แบรดฟอร์ด, ดาร์บี, มิดเดิลสโบรห์)

คาร์โบเนเล่นในอังกฤษระหว่างปี 1996 ถึง 2002 ให้หลายสโมสร ระหว่าง 6 ซีซันในพรีเมียร์ลีก เขาทำสกอร์ทะลุหลัก 40ประตู โดดเด่นในฐานะทีมเพลย์และทักษะจบสกอร์ ช่วงชีวิตที่ดีเกิดขณะสวมเสื้อเว้นสเดย์และแบรดฟอร์ด โดยเฉพาะการเป็นคู่หูกองหน้าระดับตำนานเคียงข้างเปาโล ดี คานิโอ เขาเป็นนักเตะที่ทำประตูได้สม่ำเสมอ เป็นคีย์แมนที่พาวิลลาเข้ารอบชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ปี 2000

โรแบร์โต ดี มัตติโอ (เชลซี)

มัตติโอเกิดในสวิตเซอร์แลนด์แต่เลือกเล่นให้ทีมชาติอิตาลี ลงสนามรวม 34 นัดให้ทีมอัซซูรี เขาเป็นนักเตะเชลซีระหว่างปี 1996 ถึง 2001 เป็นผู้เล่นสำคัญทั้งเกมบุกและเกมรับ แต่ช่วงที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุดอาจเป็นสมัยทำงานผู้จัดการทีมเชลซี ซึ่งครองดับเบิลแชมป์ แชมเปียนส์ ลีก และเอฟเอ คัพ เมื่อปี 2012 อีกทั้งยังชนะเลิศ คัพ วินเนอร์ส คัพ ปี 1998 สมัยเป็นผู้เล่นด้วย

มาสซิโม มัคคาโรเน (มิดเดิลสโบรห์)

มัคคาโรเนเล่นให้มิดเดิลสโบรห์ระหว่างปี 2002 ถึง 2007 แม้เข้าร่วมลีกแบบนักเตะโนเนม แต่ทักษะกองหน้าที่ยอดเยี่ยมทำให้เขาช่วยให้เดอะ โบโร ขึ้นมาถึงยุคทองในประวัติศาสตร์สโมสรต้นทศวรรษ 2000 โดยเฉพาะตอนที่สตีฟ แม็คลาเรน เป็นผู้จัดการทีม มัคคาโรเนได้เล่นร่วมกับสตาร์หลายคนอาทิ วิดูกา, ฮาสเซลแบงค์ และโรเคมแบค ร่วมกันพาทีมตะลุยถึงนัดชิงชนะเลิศ ยูฟา คัพ ปี 2006 มัคคาโรเนอำลาพรีเมียร์ลีกในปี 2007 พร้อมสถิติ 80 นัด 18 ประตู

ฟรานเชสโก บายาโน (ดาร์บี)

บายาโนเล่นให้ดาร์บีระหว่างปี 1997 ถึง 1999 เคยถูกรับเลือกให้เป็นนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของสโมสรประจำปี 1998 เขาเล่นให้ทีมแกะเขาเหล็ก 64 นัดรวมทุกรายการ เป็นขวัญใจของแฟนบอลระหว่างดาร์บียังอยู่บนสังเวียนลีกสูงสุด สาเหตุที่ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในนักเตะอิตาเลียนยอดเยี่ยมในพรีเมียร์ลีกเพราะการทำสกอร์ดีๆให้เห็นหลายประตู

เปาโล ดี คานิโอ (เว้นสเดย์, เวสต์แฮม, ชาร์ลตัน)

ดี คานิโอ เล่นในพรีเมียร์ลีกระหว่างปี 1997 ถึง 2004 เป็นนักเตะที่โดนแฟนบอลทั้งรักและเกลียดพอๆกัน เป็นตัวละครบนสนามหญ้าที่ทำให้เกิดใบแดง การต่อสู้ ความผันแปร และสกอร์ ซึ่งถ้านับเฉพาะพรีเมียร์ลีก ดี คานิโอ ส่งลูกหนังซุกก้นตาข่ายรวม 73 ครั้ง ไม่ว่าคุณจะเกลียดหรือรัก เขาต้องถูกคุณใส่ชื่อไว้ในลิสต์นี้แน่นอน

จิอันลูกา วิอัลลี (เชลซี)

วิอัลลีผู้วายชนม์เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาด้วยวัย 58 ปี เล่นให้เดอะ บลูส์ ระหว่างปี 1996 ถึง 1999 ก่อนแขวนสตั๊ดหลังซีซัน 1998-99 เพื่อโฟกัสตำแหน่งผู้จัดการทีมที่รับหลังจาก รุด กุลลิท ถูกไล่ออกเดือนกุมภาพันธ์ 1998 ตอนนั้นเขามีอายุเพียง 33 ปี ในส่วนฐานะผู้เล่น วิอัลลีทำ 11  ประตูรวมทุกรายแรกในซีซันแรกกับเชลซี กลายเป็นขวัญใจของแฟนบอลทันที ก่อนเพิ่มเป็น 19 ประตูในซีซันต่อมา หากนับเฉพาะช่วงที่เป็นเพลเยอร์-แมเนเจอร์ เขายังทำได้รวม 29 ประตู แน่นอนเมื่อเอ่ยชื่อวิอัลลี ต้องนึกถึง “ประตู” เขายังได้แชมป์คัพ วินเนอร์ส คัพ, เอฟเอ คัพ และลีก คัพ

ทายาทปีร์โล ผู้มีกัตตูโซเป็นต้นแบบ

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งเติบโตในซันตันเจโล เมืองเล็กๆที่มีประชากรราว 13,000 คน โตนาลีก็เหมือนชาวเมืองส่วนใหญ่ที่เชียร์ทีมมิลาน สำหรับเด็กๆวัยเดียวกัน ฟุตบอลคือกิจกรรมสนุกสนาน แต่โตนาลีต่างออกไป เขาเหมือนเป็น masochist จะไม่ยินดีต่อเกมการแข่งขันจนกว่าจะได้รับความเจ็บปวดเพื่อไปสู่ชัยชนะ

โตนาลีกลายเป็นที่สนใจจากแฟนบอลทั่วอิตาลีเมื่อครั้งลงสนามให้เบรสชา ถูกยกย่องให้เป็นทายาทของ อันเดรีย ปีร์โลมิดฟิลด์ระดับตำนานที่เคยเป็นนักเตะมิลานระหว่างปี 2001 – 2011 และยูเวนตุสระหว่างปี 2011 – 2015 แต่ “ศิลปินลูกหนัง” ปีร์โล ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้คุมทีมซามพ์โดเรียในซีเรีย เบ เคยให้สัมภาษณ์ถึงโตนาลีว่า “ในฐานะนักเตะ เขาไม่ได้ดูเหมือนผมเลย เขาเป็นผู้เล่นที่สมบูรณ์แบบกว่าทั้งเกมรับและเกมบุก”

ความจริงแล้ว ไอดอลของโตนาลีคือ เจนนาโร กัตตูโซ เพื่อนร่วมทีมมิลานของปีร์โลในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับ

ในหนังสั้นเรื่อง Sandro Tonali – A Rossonero dream come true เปิดเผยว่า แก้วกระเบื้องที่พรินต์ภาพกัตตูโซเป็นหนึ่งในของสะสมที่มีคุณค่าของโตนาลี เมื่อครั้งแม่ของเขาทำแตกโดยบังเอิญ โตนาลีบรรจงใช้กาวติดแต่ละชิ้นส่วนที่แตกจนประกอบกลับเป็นแก้วตามเดิม

เช่นเดียวกับกัตตูโซ โตนาลีมีสไตล์การเล่นที่สู้ไม่ถอย มีจิตวิญญาณแห่งการเสียสละเพื่อทีม และความสามารถในการครอบคลุมพื้นที่ เขายังเป็นนักเตะที่ใส่ใจเกมลูกหนังอย่างจริงจัง มีเรื่องเล่าวว่าก่อนแมตช์แชมเปียนส์ ลีก รอบรองชนะเลิศที่ผ่านมากับอินเตอร์ มิลาน โตนาลีขังตัวเองจากโลกภายนอก เคร่งครัดการควบคุมอาหาร ฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ งานด้านประชาสัมพันธ์ถูกปรับเปลี่ยนกำหนดการ ไม่เล่นโซเชียลมีเดีย ไม่จัดงานฉลองวันเกิด มีเพียงเค้กชิ้นเล็กๆกับเทียนเล่มเดียวพอเป็นพิธี เนื่องจากโตนาลีมีงานต้องทำและมีการแข่งขันต้องเล่น

เมื่อนำค่าตัวที่เป็นสถิติใหม่ของอิตาลี และฝีเท้าทักษะที่หลากหลายครบเครื่องรอบจัดในตำแหน่งมิดฟิลด์ มารวมกับใบหน้าหล่อเข้มสไตล์หนุ่มอิตาเลียนกับคาแรกเตอร์ที่จริงจังเหนือนักบอลอาชีพทั่วโลก เชื่อได้เลยว่า ซานโดร โตนาลี มิดฟิลด์วัย 23 ปี ในสีเสื้อลายดำขาวของนิวคาสเซิล ต้องเป็นสีสันที่จัดจ้านของพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2023-24 อย่างแน่นอน

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ไกเซโด มิดฟิลด์ครบเครื่องรอบจัด ซีซันเดียวราคาพุ่ง 70-80 ล้านปอนด์

กว่า 3 ปีที่แล้ว มอยเซส ไกเซโด เล่นอยู่ในลีกเซเรีย เอ ของเอกวาดอร์ กับสโมสร อินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล และยังเป็นผู้เล่นโนเนมของแฟนบอลทั่วโลก แต่ตอนนี้ เขากลายเป็นที่หมายปองของอาร์เซนอลและเชลซีด้วยค่าตัวแพงลิ่วถึง 70-80 ล้านปอนด์ในฐานะมิดฟิลด์ดาวรุ่งพุ่งแรงที่จะอายุเพียง 22 ปีในวันที่ 2 พฤศจิกายน

ไกเซโด ซึ่งย้ายมาอยู่ ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน ต้นปี 2021 ด้วยราคาเพียง 4.5 ล้านปอนด์ เพิ่งแจ้งเกิดจริงๆในพรีเมียร์ลีกเพียงปีเดียวคือฤดูกาล 2022-23 หลังจากปล่อยให้ เบียร์ช็อต วีเอ สโมสรเบลเยียม ยืมใช้งานครึ่งแรกของซีซัน 2021-22 ก่อนทีมนกนางนวลเรียกกลับเนื่องจากขาดแคลนมิดฟิลด์ช่วงครึ่งหลัง

อาร์เซนอลเคยพยายามเจรจาขอซื้อไกเซโดในตลาดเดือนมกราคมที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เคยมีข่าวสนใจมิดฟิลด์ทีมชาติเอกวาดอร์ด้วยเช่นกัน ขณะที่เชลซีเข้ามามีเอี่ยวด้วยเพื่อเป็นตัวแทนของ เอ็นโกโล กองเต้ ที่เพิ่งย้ายไปเล่นในลีกซาอุดิ อาระเบีย กับทีมอัลอิตติฮาด โดยถ้าซื้อขายจริงที่ 80 ล้านปอนด์จะทำให้ไกเซโดเป็นมิดฟิลด์ค่าตัวแพงที่สุดอันดับ 6 ในประวัติศาสตร์โลกลูกหนัง นั่นเท่ากับไบรท์ตันทำกำไรเกือบ 20 เท่า

ทำไมไกเซโดที่เพิ่งมีตัวตนในพรีเมียร์ลีกแค่ซีซันเดียว กลายเป็นกองกลางรูปทองเนื้อหอมที่ถูกตั้งราคาไว้สูงลิ่ว

ไกเซโดเป็นนักเตะสำคัญลำดับต้นๆของทีมไบรท์ตันที่จบพรีเมียร์ลีกด้วยอันดับ 6 สูงสุดในประวัติศาสตร์สโมสร และได้สิทธิ์เล่นยูโรปา ลีก ซึ่งเป็นสังเวียนยุโรปครั้งแรก มีเพียง ปาสกาล กรอสส์ และ ลูอิส ดังค์ เท่านั้นที่เล่นบอลลีกมากกว่าเขาในทีมนกนางนวล

พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 ไกเซโดลงสนามรวม 3,140 นาที เป็นตัวจริง 34 นัด สำรอง 3 นัด มีแค่นัดเดียวที่ไม่มีชื่ออยู่ในทีมคือ เกมแพ้อาร์เซนอล 2-4 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2022 ซึ่งเป็นนัดที่ 2 ที่พรีเมียร์ลีกกลับมาแข่งขันต่อหลังเบรกฟุตบอลโลก ส่วนเกม 5 วันก่อนหน้านั้นที่ชนะเซาแธมป์ตัน 3-1 ไกเซโดลงเต็มแมตช์

หลักๆแล้วทั้ง แกรห์ม พอตเตอร์ และ โรแบร์โต เด แซร์บี ซึ่งเข้ามาคุมทีมไบรท์ตันกลางกันยายน 2022 วางไกเซโดเป็น double pivot บนกระดานหมากเกม เคียงข้างกรอสส์หรือไม่ก็ อเล็กซิส แม็ค อัลลิสเตอร์ ทั้งสองรับบทสร้างสรรค์เกมยามครองบอล ส่วนไกเซโดเน้นเกมรับเป็นตัว defensive ball-winner แถมท้ายซีซันยังเคยถูกย้ายไปยืนแบ็คขวา รวมถึงเกมสำคัญที่เฉือนแมนฯยูไนเต็ด 1-0 ต้นเดือนพฤษภาคม

อ้างอิงจากข้อมูลเว็บไซต์ transfermarkt กับแผนการเล่น 4-2-3-1 ซึ่งไกเซโดยืนฝั่งขวาของคู่มิดฟิลด์ เขาเล่นตำแหน่ง defensive midfield 27 นัด รวมถึงเกมที่เขาทำ 1 ประตู 1 แอสซิสต์ในซีซันที่ผ่านมา, central midfield 4 นัด และ right-back 3 นัด 

ทางด้านเว็บไซต์ theanalyst ระบุอย่างชัดเจนจากเวลาในการยืนตำแหน่งนั้นๆ DM 61%, CM 30% และ RB 8% เท่ากับเป็นการยืนยันว่า ไกเซโดได้รับมอบหมายงานป้องกันเป็นหลัก รับผิดชอบเกมรับอยู่ด้านหน้าแบ็คโฟร์ คอยสกัดกั้นและแย่งบอลกลับคืน

ดีกรีแชมป์สโมสรทวีปอเมริกาใต้ รุ่น ยู-20

ไกเซโดมีชื่อเต็มว่า Moisés Isaac Caicedo Corozo เกิดวันที่ 2 พฤศจิกายน 2001 ที่เมืองซานโต โดมิงโก ประเทศเอกวาดอร์ เข้าร่วมอะคาเดมีของสโมสรอินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล ตอนอายุ 13 ปี ก่อนได้รับการเลื่อนชั้นร่วมทีมชุดใหญ่ในปี 2019 และลงสนามนัดแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2019 ซึ่งทีมชนะแอลดียู ควิโต 1-0 เป็นเกมลีกเซเรีย อา โดยระหว่างปี 2019 – 2020 ไกเซโดเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของอินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล ในบอลลีก 25 นัด ทำ 4 ประตู อีกทั้งยังมีส่วนพาทีมเยาวชนของสโมสรชนะเลิศรายการ โกปา ลิเบอร์ตาโดเรส รุ่น ยู-20 เมื่อปี 2020 อีกด้วย

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ไกเซโดเซ็นสัญญากับไบรท์ตันเป็นระยะเวลา 4 ปีครึ่ง ส่วนค่าตัวไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการแต่เชื่อว่า อินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล ได้รับเงิน 4.5 ล้านปอนด์ และวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ไบรท์ตันใส่ชื่อดาวรุ่งจากเอกวาดอร์ในเกมเอฟเอ คัพ ซึ่งทีมนกนางนวลแพ้ 0-1 ในบ้านของเลสเตอร์ ซิตี แต่ไม่ได้ถูกส่งลงสนาม

ซีซัน 2020-21 จบลงโดยไกเซโดไม่ได้เล่นให้ไบรท์ตันเลย จนกระทั่งซีซันถัดมา วันที่ 24 สิงหาคม 2021 เขามีโอกาสประเดิมสนามครั้งแรก แถมเป็นตัวจริงในเกมอีเอฟแอล คัพ รอบ 2 ที่บ้านของคาร์ดิฟฟ์ ซิตี ไกเซโดเป็นคนแอสซิสต์ให้แอนดี เซคคีรี ทำสกอร์นำร่องก่อนไบรท์ตันกำชัย 2-0 แต่วันที่ 31 สิงหาคม วันสุดท้ายของตลาดซัมเมอร์ ทีมนกนางนวลไฟเขียวส่งไกเซโดให้เบียร์ช็อต วีเอ ทีมในลีกสูงสุดของเบลเยียม ยืมใช้งาน 1 ฤดูกาลเต็ม และเพียงนัดที่ 7 เขาก็ทำประตูแรกในนาทีที่ 90+2 ตอกตะปูปิดฝาโลงให้ต้นสังกัดชนะเก็งค์ 2-0 เก็บ 3 คะแนนในบ้าน

สัญญายืมตัวของเบียร์ซ็อตถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2022 เนื่องจากไบรท์ตันประสบปัญหาขาดแคลนผู้เล่นมิดฟิลด์ โดยที่ผ่านมา ไกเซโดเล่นบอลลีกให้เบียร์ช็อต 12 นัด ทำ 1 ประตู

3 วันต่อมา ไกเซโดเป็นผู้เล่นสำรองที่ไม่ได้ใช้งานในเกมบอลลีกเสมอคริสตัล พาเลซ 1-1 แต่เขาก็ไม่ต้องรอนาน พอตเตอร์ส่งไกเซโดแทนโซลลี มาร์ช นาทีที่ 61 ของเกมเอฟเอ คัพ รอบ 4 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งไบรท์ตันแพ้ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ 1-3

ไกเซโดได้สัมผัสสังเวียนพรีเมียร์ลีกครั้งแรกในวันที่ 9 เมษายน ไม่เพียงเป็นตัวจริงแต่ยังแอสซิสต์ให้อีน็อค เอ็มเวปู ทำประตูนาทีที่ 66 ก่อนไบรท์ตันชนะ 2-1 ในบ้านของอาร์เซนอล ส่วนประตูแรกในสีเสื้อไบรท์ตันเกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม ไกเซโดซัดระยะ 25 หลา นำร่องนาทีที่ 15 ของแมตช์ถลุงแมนฯยูไนเต็ด 4-0 เขาจบซีซัน 2021-22 ด้วยสถิติพรีเมียร์ลีก 8 นัด 664 นาที 1 ประตู 1 แอสซิสต์

ปักหลักอย่างมั่นคงเมื่อซีซัน 2022-23 คิกออฟ

ไกเซโดถูกโปรโมทขึ้นมาเป็นตัวหลักของไบรท์ตันทันทีที่พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 เปิดฉาก พอตเตอร์ส่งมิดฟิลด์ดาวรุ่งเป็นตัวจริงใน 6 เกมแรก เล่นครบแมตช์ 5 นัด มีเพียงนัดแพ้ฟูแลมที่ถูกเปลี่ยนออกนาทีที่ 79 และเขายังทำ 1 ประตูในเกมต้อนเลสเตอร์ 5-2 ซึ่งเป็นการทำงานนัดสุดท้ายของพอตเตอร์ก่อนย้ายไปเป็นผู้จัดการทีมเชลซี

เด แซร์บี กุนซือคนใหม่ชาวอิตาเลียน ยังไว้ใจความสามารถของไกเซโด ใส่ชื่อเป็นตัวจริงในนัดแรกของการคุมทีมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2022 ซึ่งไบรท์ตันเสมอลิเวอร์พูล 3-3 ที่แอนฟิลด์ กราฟชีวิตถัดจากนั้นของไกเซโดก็เป็นขาขึ้นจนได้รับความสนใจจากอาร์เซนอลที่กำลังไล่ล่าแชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยแรกในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ

มีรายงานระหว่างตลาดเดือนมกราคม 2023 ว่า ไกเซโดเซ็นสัญญากับบริษัทเอเยนต์นักฟุตบอลแห่งหนึ่ง และในวันที่ 27มกราคม ตัวแทนของเขาได้ออกแถลงการณ์ว่า ไกเซโดต้องการย้ายออกจากทีมไบรท์ตัน และตัวเขายังโพสต์ข้อความบนอินสตาแกรมว่า “ผมเป็นน้องคนสุดท้องของครอบครัวยากจนที่ต้องเลี้ยงดูลูกๆ 10 คนในซานตา โดมิงโก ผมมีความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของเอกวาดอร์ ผมขอขอบคุณแฟนๆอัลเบียน พวกคุณจะอยู่ในหัวใจของผมเสมอ

ไม่เพียงอาร์เซนอล ไกเซโดยังมีข่าวโยงกับลิเวอร์พูลและเชลซี แต่ไบรท์ตันปฏิเสธที่จะขายมิดฟิลด์ดาวรุ่งที่ยังเหลือสัญญาถึงกลางปี 2025 พร้อมสั่งให้ไกเซโดพักผ่อนจนกว่าตลาดฤดูหนาวจะสิ้นสุดลง เขากลับมาฝึกซ้อมในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และได้ลงสนามอีก 3 วันต่อมา ถูกเปลี่ยนลงมานาทีที่ 57 ของนัดชนะบอร์นมัธ 1-0 ขณะที่เด แซร์บี ได้ขอร้องแฟนบอลไม่ให้ตำหนิหรือว่าร้ายลูกทีมของเขา

วันที่ 3 มีนาคม ไบรท์ตันได้ขยายสัญญาไกเซโดออกไปจนถึงฤดูร้อนปี 2027 พร้อมออปชันต่อสัญญาเพิ่ม 1 ปี ไกเซโดจบฤดูกาลด้วยสถิติ 43 นัด 1 ประตูรวมทุกรายการ และยังได้รับตำแหน่งรองผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปีของไบรท์ตันจากการโหวตของผู้ใช้งาน บีบีซี สปอร์ต โดยอันดับ 1 ตกเป็นของแม็ค อัลลิสเตอร์ คู่หูมิดฟิลด์ของเขา

แล้วแต่โค้ช เบอร์ 8 ก็รัก เบอร์ 6 ก็ได้

แม้ตอนนี้ถูกเด แซร์บี ใช้งานมิดฟิลด์เบอร์ 6 แต่ มิเกล แองเกิล รามิเรซ ผู้จัดการทีมสปอร์ติง กิฆอน ในลีกสเปน ซึ่งเคยเป็นอดีตโค้ชของไกเซโดที่อินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล ให้สัมภาษณ์ว่า ความจริงแล้วไกเซโดชอบเล่นตำแหน่งมิดฟิลด์เบอร์ 8(รุก) มากกว่าเบอร์ 6 (รับ) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ไบรท์ตันแสดงให้เห็นว่า ไกเซโดมีทักษะหลากหลาย เป็นนักเตะสารพัดประโยชน์ และมีความสามารถสูงในการปรับตัว

ช่วงต้นซีซัน 2022-23 พอตเตอร์ใช้งานไกเซโดเป็นมิดฟิลด์เบอร์ 8 ตัวซ้าย ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับที่เล่นให้เบียร์ซ็อตและครึ่งหลังของซีซันก่อนหน้า แต่เมื่อเด แซร์บี คุมทีมนกนางนวล เขาดึงไกเซโดถอยลงมาเป็นฐานของมิดฟิลด์หรือตำแหน่งเบอร์ 6 บางครั้งยังปรับเป็นแบ็คขวา

กุนซือทีมกิฆอนย้อนอดีตสมัยคุมทีมอินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล ว่า ไกเซโดผ่านระบบพัฒนานักเตะของอะคาเดมีกับบทบาทเบอร์ 6 แต่พอถูกดึงขึ้นทีมชุดใหญ่ เขาดันให้ไกเซโดไปแดนหน้ามากขึ้นในฐานะเบอร์ 8

“ตอนนั้นเรามี คริสเตียน เปลเลราโน อยู่ในทีมชุดใหญ่ เขาเป็นนักเตะเบอร์ 6 ที่ฝีเท้าเหลือเชื่อและเข้าใจเกมเอามากๆ เปรียบเสมือนกับโค้ชที่อยู่ในสนามนั่นแหละ เขามีส่วนช่วยมอยเซสเข้าใจเกมมากขึ้นและพัฒนาทักษะความสามารถ”

“อย่างไรก็ดี เรายังอยากใช้งานเปลเลราโมเป็นนักเตะเบอร์ 6 ดังนั้นถ้าเราต้องการให้มอยเซสอยู่ในทีม เขาจำเป็นต้องเล่นตำแหน่งเบอร์ 8 ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี เขามีอิมแพ็คกับเกมอย่างมาก ช่วยทีมได้ดีมากในฐานะมิดฟิลด์ตัวรุกเพราะเขาสามารถทำประตู จ่ายบอลสุดท้าย และเข้าไปอยู่ในกรอบเขตโทษของฝ่ายตรงข้าม”

“ต่อมา มอยเซสเริ่มเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งได้ดีขึ้นแม้เป็นงานยากเหมือนกัน เนื่องจากเขาต้องเล่นระหว่างไลน์ มีพื้นที่น้อยลง มีเวลาน้อยลง แถมจำเป็นต้องปรับร่างกายก่อนเข้าไปรับบอล มีข้อมูลมากมายที่ต้องเรียนรู้”

รามิเรซเชื่อว่า การที่เล่นได้ดีกับหลายหน้าที่ในแดนกลางเป็นสาเหตุสำคัญที่ไกเซโดได้รับความสนใจจากทีมใหญ่อย่างอาร์เซนอล, เขลซี, ลิเวอร์พูล และแมนฯยูไนเต็ด พร้อมค่าตัวที่ถูกประเมินไว้สูงถึง 70-80 ล้านปอนด์

รามิเรซเข้าใจดีที่ไบรท์ตันปฏิเสธเงินก้อนโตจากอาร์เซนอลในตลาดเดือนมกราคมเพราะไกเซโดมีความสำคัญกับทีมมาก ซึ่งเรื่องแบบเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นที่อินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล

ที่เอกวาดอร์ แม้อยู่ในช่วงวัยรุ่นแต่ไกเซโดมีฝีเท้าสูงเกินอายุ เขามีส่วนสำคัญช่วยให้ทีม ยู-20 ของอินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล ครองแชมป์โกปา ลิเบอร์ตาโดเรสเมื่อปี 2020 ที่ปารากวัย

“มอยเซสมีความสำคัญอย่างมากต่อทีมชุดใหญ่ของเรา แต่ยังเป็นผู้เล่นคีย์แมนของรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปีด้วย ตอนนั้นเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์หรือราว 10 วันที่เขาเล่นให้ทีม ยู=20 แล้วต้องนั่งเครื่องบินกลับเมืองกีโตเพื่อเล่นให้เราในลีกเอกวาดอร์ ก่อนกลับไปเตะลิเบอร์ตาโดเรสต่อ มันเป็นอะไรที่บ้าชัดๆ”

ไกเซโดยังโชว์ฟอร์มเจิดจรัสในลิเบอร์ตาโดเรสระดับซีเนียร์ ซึ่งเปรียบกับแชมเปียนส์ ลีก ของทวีปอเมริกาใต้ “มอยเซสเริ่มเป็นที่รู้จักของทั่วโลก สโมสรใหญ่หลายแห่งส่งทีมเจรจาเดินทางมาพูดคุยกับเขาและสโมสร” รามิเรซกล่าว แล้วก็เป็นไบรท์ตันที่พาดาวรุ่งเอกวาดอร์ออกไปจากแผ่นดินบ้านเกิด

สร้างอิมแพ็คให้ไบรท์ตันทั้งยามบุกและรับ

จากผู้เล่นโนเนมช่วงครึ่งหลังซีซันกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักซีซัน 2022-23 ของไบรท์ตัน ลงตัวจริง 34 จาก 38 นัดพรีเมียร์ลีก สถิติบ่งชี้ว่าไกเซโดมีอิทธิพลทั้งจังหวะที่มีบอลไม่มีบอลของไบรท์ตัน จุดเด่นมากที่สุดหนีไม่พ้นการแย่งบอลไม่ว่าจะเป็นความปราดเปรียว การเข้าปะทะ และตื่นตัวต่ออันตราย ไกเซโดรั้งอันดับ 2 หมวดแทคเกิล (100 ครั้ง) และอินเตอร์เซปท์ (56 ครั้ง) ตามหลังชูเอา ปาลินญา (ฟูแลม) และดีแคลน ไรซ์ (เวสต์แฮม) ตามลำดับ นอกจากนี้มีเพียงไรซ์กับโรดรี (แมนฯซิตี) ที่เหนือเขาในการครองบอลในโซน middle third (142 ครั้ง)

ไกเซโดยังมีอิมแพ็คต่อการขึ้นเกมหรือบิลด์-อัพของทีมนกนางนวลด้วย เขาสัมผัสบอลรวม 2,735 ครั้ง สูงเป็นอันดับ 8 ของพรีเมียร์ลีก และจ่ายบอลเข้าเป้า 1,961 ครั้ง อยู่อันดับ 6 ตามหลังปิแอร์-เอมิล ฮอยเบิร์ก (สเปอร์ส), กาเบรียล มากัลเญส (อาร์เซนอล), เวอร์กิล ฟาน ไดจ์ค (ลิเวอร์พูล), โรดรี และดังค์ เพื่อนร่วมทีม

ในส่วนความแม่นยำการผ่านบอล เรตติงของโกเซโดสูงถึง 89 เปอร์เซ็นต์ และตัวเลขจะยิ่งดูน่าพอใจเป็นทวีคูณถ้าพิจารณาว่า เขาต้องจ่ายบอลในสถานการณ์กดดัน 780 ครั้ง ซึ่งมีเพียงโรดรีและบรูโน กีมาไรส์ (นิวคาสเซิล) ที่มีจำนวนครั้งมากกว่าสตาร์ทีมไบรท์ตัน โดยนิค ไรท์ นักวิเคราะห์เกมของสกาย สปอร์ตส์ มองว่า ทักษะการครองบอลและจ่ายบอลภายใต้ความกดดันเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ค่าตัวของไกเซโดแพงลิ่ว

รามิเรซพูดถึงประเด็นนี้ว่า “ท้ายที่สุดแล้ว นี่เป็นตลาดที่จะบอกได้ว่าคุณเก่งแค่ไหน เมื่อสโมสรหนึ่งแจ้งราคาเสนอซื้อออกมา ตัวเลขจะบ่งบอกระดับฝีเท้าของคุณ และมอยเซสก็อยู่ในระดับนั้น (ค่าตัว 70-80 ล้านปอนด์) และนี่เป็นความจริง”

สำหรับทีมชาติเอกวาดอร์ ไกเซโดเปิดตัวในฐานะตัวจริงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2020 ขณะอายุย่าง 19 ปี เป็นเวิลด์คัพ รอบคัดเลือก ที่แพ้อาร์เจนตินา 0-1 และเพียงนัดที่ 2 อีก 4 วันต่อมา ก็ทำประตูแรกในนามทีมชาติได้จากแมตช์ชนะอุรุกวัย 4-2 เป็นผู้เล่นคนแรกที่เกิดในศตวรรษที่ 21 ที่ทำสกอร์ได้ในฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนอเมริกันใต้

ไกเซโดมีชื่ออยู่ใน 26 ขุนพลลุยเวิลด์คัพที่กาตาร์ ลงสนามเป็นตัวจริงและเล่นเต็มแมตช์ทั้ง 3 นัดของรอบแรก กลุ่ม เอ ซึ่งแพ้เจ้าภาพ 0-2, เสมอเนเธอร์แลนด์ 1-1 และแพ้เซเนกัล 1-2 ซึ่งไกเซโดทำสกอร์ตีเสมอนาทีที่ 67 ถ้ารักษาสกอร์ได้จะทำให้เอกวาดอร์ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่คาลิดู คูลิบาลีย์ ยิงประตูชัยให้เซเนกัลอีก 3 นาทีต่อมา ดับฝันของเอกวาดอร์ แต่กระนั้นไกเซโดได้รับการบันทึกว่า เป็นนักเตะทีมชาติเอกวาดอร์อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ทำสกอร์ในเวิลด์คัพ และล่าสุดเขาเล่น 32 นัด ทำ 3 ประตูให้ทีมชาติ

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ : ปิดตำนาน “เดอะ คิง เมกเกอร์” ชายผู้ทรงอิทธิพลแห่งอิตาลี

ข่าวการเสียชีวิตของซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลี, อดีตเจ้าของสโมสรเอซี มิลาน และมอนซ่า วัย 86 ปี เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2023 ถือเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของชาวอิตาเลียน

การสวมหมวก 2 ใบ ในฐานะเจ้าของทีมฟุตบอล พ่วงด้วยนายกรัฐมนตรี แบร์ลุสโคนี่ได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดของยอดปิรามิด และเป็นผู้กำหนดแนวทางให้กับผู้นำคนต่อไป หรือ “เดอะ คิง เมกเกอร์” ด้วยกันทั้งคู่

ต่อไปนี้คือเรื่องราวของแบร์ลุสโคนี่ ทั้งในสนามฟุตบอล และสนามการเมือง กับการบริหารจัดการที่สร้างแรงกระเพื่อมในด้านบวกและด้านลบ กับทั้ง 2 วงการ จนถูกยกให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งอิตาลี

ลูกชายนายธนาคาร สู่การเป็นนักธุรกิจ

ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ เกิดในปี 1936 ที่มิลาน เป็นลูกชายของนายธนาคาร เมื่อเติบโตสู่วัยหนุ่ม เขาค้นพบว่าเป็นผู้ที่รักการเอ็นเตอร์เทน เพราะเป็นนักร้องบนเรือสำราญ และเป็นนักดนตรีในตำแหน่งดับเบิลเบส

ในเวลาต่อมา ชีวิตของแบร์ลุสโคนี่ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นนักธุรกิจ โดยเริ่มจากเปิดบริษัท Miano Due บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่มีโครงการหลักคือการสร้างอพาร์ทเมนท์กว่า 4,000 แห่ง ทางฝั่งตะวันออกของเมืองมิลาน

จากนั้น แบร์ลุสโคนี่ก็ได้มาทำธุรกิจด้านสื่อเป็นครั้งแรก กับบริษัท TeleMilano เคเบิลทีวีระดับท้องถิ่น และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ก่อนที่จะสร้าง Canale 5 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์เอกชนแห่งแรกของอิตาลี

ต่อมาในปี 1978 แบร์ลุสโคนี่ได้ก่อตั้งบริษัท Fininvest ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ถือหุ้นในบริษัทลูกที่มีทั้งกิจการสื่อสิ่งพิมพ์, ทีวี, โรงละคร รวมถึงเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ปัจจุบันบริหารงานโดยมารีน่า ลูกสาวคนโตของเขา

บริษัท Fininvest ของแบร์ลุสโคนี่ มีสถานีโทรทัศน์ในเครือ 3 ช่อง คือ Canale 5, Italia 1 และ Rete 4 ซึ่งมีเนื้อหาที่เน้นรายการบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบ ฉีกไปจากสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล จนสร้างรายได้ถล่มทลาย

และแล้ว โชคชะตาของแบร์ลุสโคนี่ ก็ได้เจอกับสโมสรฟุตบอลที่ชื่อว่า เอซี มิลาน ซึ่งเขาก็ไม่ทิ้งโอกาสทองครั้งนี้ ตัดสินใจซื้อกิจการทีมลูกหนังระดับตำนานของประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ มาไว้ในครอบครอง

การเข้าสู่วงการฟุตบอลของซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ คือการประกาศตัวว่า เขาคือผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมือง และพร้อมเป็นฮีโร่ที่จะเข้ามากอบกู้ สร้างยุคสมัยใหม่กับเอซี มิลาน ในการกลับมาเป็นยอดทีมของอิตาลี และยุโรป

ผู้กอบกู้รอสโซเนรี่ กลับมายิ่งใหญ่ในยุโรป

เอซี มิลาน หนึ่งในสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ของวงการฟุตบอลอิตาลี แต่มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ที่พวกเขาต้องเจอกับฝันร้าย นั่นคือช่วงต้นทศวรรษที่ 1980s ที่พัวพันคดีล้มบอล “โตโตเนโร่” จนถูกปรับตกชั้นไปเซเรีย บี

ในช่วงปี 1980-1986 เอซี มิลาน เป็นเพียงทีมที่มีผลงานระดับกลางตาราง แถมการบริหารงานของประธานสโมสร ไม่ว่าจะเป็นเฟลิเซ่ โคลอมโบ หรือคนต่อมาอย่างจูเซ็ปเป้ ฟารีน่า ที่มีปัญหาเรื่องทุจริต และหนี้สิน

จนกระทั่งช่วงซัมเมอร์ของปี 1986 สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มาถึง เมื่อซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ ได้เข้ามาขอซื้อทีมเอซี มิลาน ด้วยการจ่ายเงิน 40 ล้านลีร์ (สกุลเงินของอิตาลีในสมัยก่อน) และล้างหนี้สินให้ทั้งหมด

ฤดูกาล 1986/87 คือฤดูกาลแรกของมิลาน ภายใต้การบริหารของแบร์ลุสโคนี่ ดำเนินไปอย่างขรุขระ จบในอันดับที่ 5 แต่ในซีซั่นถัดมา การได้อาร์ริโก้ ซาคคี่ กุนซือผู้ริเริ่มแนวคิด “เพรสซิ่ง ฟุตบอล” ทีมก็เข้าที่มากขึ้น

เพรสซิ่ง ฟุตบอล คือการปฏิวัติวงการลูกหนังอิตาลีครั้งสำคัญ ด้วยสไตล์การเล่นที่ใช้พละกำลังสูง ไล่กดดันคู่แข่งตั้งแต่แดนหน้า และต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา ซาคคี่ ช่วยให้มิลานคว้าสคูเด็ตโต้ตั้งแต่ซีซั่นแรกที่คุมทีม

หลังจากนั้น เอซี มิลาน ก็ปิดทศวรรษ 1980s ด้วยการคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 2 สมัยติดต่อกัน ในปี 1989 และ 1990 พร้อมกำเนิดตำนานแข้ง 3 ทหารเสือดัตช์ รุด กุลลิท, แฟรงค์ ไรจ์การ์ด และมาร์โก ฟาน บาสเท่น

ช่วงระหว่างปี 1991-1993 มิลานสร้างสถิติไร้พ่ายในเซเรีย อา 58 นัดติดต่อกัน ซึ่งนับรวม invincible season ไร้พ่ายทั้ง 34 นัด ตลอดฤดูกาล 1991/92 ต่อด้วยการกลับมาคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อีกครั้งในปี 1994

ตามมาด้วยยุค 2000s รอสโซเนรี่ยังคว้าแชมป์ยูซีแอลเพิ่มอีก 2 สมัย ที่มีคาร์โล อันเชล็อตติ เป็นเฮดโค้ช ในปี 2003 ที่ชนะจุดโทษยูเวนตุส คู่ปรับร่วมลีก และปี 2007 ที่มีคีย์แมนสำคัญอย่างกาก้า กับฟิลิปโป้ อินซากี้

ถ้วยรางวัลของเอซี มิลาน ในยุคที่ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ เป็นเจ้าของทีม มีทั้งแชมป์สคูเด็ตโต้ 8 สมัย, แชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 5 สมัย และแชมป์รายการอื่นๆ รวมทั้งหมด 28 โทรฟี่ ครองความยิ่งใหญ่นานมากกว่า 20 ปี

เป็นผู้นำในสนามฟุตบอล และสนามการเมือง

ในปี 1994 หลังก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของสโมสรของเอซี มิลานได้ 8 ปี ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ ตัดสินใจเข้าสู่แวดวงการเมือง เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอิตาลี ในสังกัดพรรคฟอร์ซ่า อิตาเลีย ที่ก่อตั้งได้แค่ 2 เดือน

แบร์ลุสโคนี่ ได้ชูนโยบายต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมประกาศว่า ถ้าเขาได้เป็นรัฐบาล จะสร้างงานเพิ่มขึ้น 1 ล้านตำแหน่ง และเขาก็ชนะการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีอิตาลีเป็นสมัยแรก ดำรงตำแหน่งจนถึงปี 1996

และอีก 5 ปีต่อมา แบร์ลุสโคนี่จะได้รับเลือกกลับสู่ตำแหน่งเดิมอีกครั้ง จนถึงปี 2006 ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นสมัยที่ 3 ในปี 2008 ทำให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิตาลี

แต่หลังจากที่ได้เป็นนายกฯ รอบ 3 แบร์ลุสโคนี่ตกเป็นข่าวฉาวเรื่องบูลลี่นักการเมืองดัง เช่น เคยเหยียดสีผิวบารัค โอบาม่า ผู้นำสหรัฐฯ, ล้อเลียนแองเกลาร์ แมร์เคิล ผู้นำเยอรมัน ว่าก้นใหญ่ ไม่ขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย เป็นต้น

จนกระทั่งในปี 2011 อิตาลีประสบปัญหาวิกฤติการเงินครั้งร้ายแรง เพราะหนี้สาธารณะสูงกว่า 113 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจเสียหายมาก จนต้องขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และไอเอ็มเอฟ

อีก 2 ปีต่อมา แบร์ลุสโคนี่ ถูกศาลตัดสินให้มีความผิดฐานฉ้อโกงภาษี จนต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้เขาได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำประเทศถึง 3 สมัย แต่ก็ต้องหลุดจากอำนาจ เพราะพฤติกรรมส่วนตัว

และการเมืองในอิตาลี ก็ส่งผลกระทบโดยตรงกับเอซี มิลานด้วย ต้องขายนักเตะตัวหลักออกไปหลายคน เมื่อคุณภาพของทีมลดลง ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ถึงขั้นห่างหายจากเวทีแชมเปี้ยนส์ ลีก ไปนานหลายปี

ตลอดช่วงเวลาที่ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ เป็นเจ้าของทีมเอซี มิลาน ก็เป็นที่รักของแฟนๆ รอสโซเนรี่ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มักจะเข้าไปล้วงลูกผู้จัดการทีมในการซื้อขายนักเตะอยู่บ่อยๆ ซึ่งในยุคของเขา ใช้โค้ชไปถึง21 คน

พามอนซ่าสู่ลีกสูงสุด ก่อนลาจากชั่วนิรันดร์

ปี 2017 ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ ตัดสินใจลงหลังเสือ ยุติการเป็นเจ้าของสโมสรเอซี มิลานเป็นที่เรียบร้อย ปิดตำนาน 31 ปี ที่เขาครอบครองสโมสรแห่งนี้ ทิ้งความยิ่งใหญ่ให้แฟนๆ “ปีศาจแดง-ดำ” ทุกคนได้จดจำ

ด้วยปัญหาเรื่องหนี้สิน และการลงทุนที่สูญเปล่าจากผลงานที่ล้มเหลว จนไม่สามารถอัดฉีดเงินเพื่อพาเอซี มิลาน กลับสู่ความยิ่งใหญ่ ที่สุดแล้ว แบร์ลุสโคนี่ ก็ขายสโมสรให้กับกลุ่มทุนจากจีนด้วยราคา 740 ล้านยูโร

และในปีต่อมา แบร์ลุสโคนี่ ได้เข้ามาซื้อสโมสรมอนซ่า ที่ในขณะนั้นยังอยู่ในระดับเซเรีย ซี หรือดิวิชั่น 3พร้อมดึงอาเดรียโน่ กัลเลียนี่ มือขวาคนเดิมที่รู้ใจสมัยอยู่กับเอซี มิลาน มาดำรงตำแหน่งบอร์ดบริหารของสโมสร

ท่อน้ำเลี้ยงของแบร์ลุสโคนี่ที่คอยหนุนหลัง รวมถึงประสบการณ์ซื้อขายนักเตะที่เหลือล้นของกัลเลียนี่ มอนซ่าใช้เวลา 2 ฤดูกาล เลื่อนชั้นขึ้นสู่เซเรีย บี นั่นหมายความว่า เหลืออีกเพียงขั้นเดียวเท่านั้น จะไปถึงลีกสูงสุด

ฤดูกาล 2020/21 มอนซ่า จบอันดับที่ 3 ในซีซั่นปกติของลีกรอง แต่แพ้เพลย์ออฟเลื่อนชั้น และในซีซั่นถัดมา จบในอันดับที่ 4 ได้สิทธิ์ลุ้นเพลย์ออฟเลื่อนชั้นอีกครั้ง โดยในรอบรองชนะเลิศ ชนะเบรสชา สกอร์รวม 4 – 2

มอนซ่า เข้ารอบชิงชนะเลิศ ไปพบกับปิซ่า โดยในนัดแรก มอนซ่าเปิดบ้านชนะได้ก่อน 2 – 1 ส่วนในนัดสองที่บ้านของปิซ่า ต้องเล่นถึงช่วงต่อเวลาพิเศษ และเป็นมอนซ่าที่ย้ำแค้นได้อีกครั้ง ด้วยการเอาชนะ 4 – 3

ทำให้สกอร์รวม 2 นัด มอนซ่า ชนะ 6 – 4 ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่เซเรีย อา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร ภารกิจของแบร์ลุสโคนี่ ในการพาสโมสรเล็กๆ จากแคว้นลอมบาเดีย ขึ้นสู่ลีกสูงสุดสำเร็จโดยใช้เวลา 4 ปี

ผลงานของมอนซ่า ในเซเรีย อา ฤดูกาล 2022/23 ที่เพิ่งจบไป พวกเขาทำได้ดีเลยทีเดียว จบในอันดับที่ 11 ของตาราง ประเดิมการลงเล่นลีกสูงสุดครั้งแรกได้น่าประทับใจ ก่อนที่แบร์ลุสโคนี่จะจากไปตลอดกาล

เส้นทางชีวิตของซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ มีทั้งด้านขาวและด้านดำ เฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไป แต่ช่วงเวลาที่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำทั้งด้านการเมืองและฟุตบอล ชายคนนี้คือผู้สร้างอิมแพกต์ให้กับอิตาลีแบบไร้ข้อโต้แย้ง

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.nytimes.com/2023/06/12/world/europe/silvio-berlusconi-italy.html

https://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-politics/silvio-berlusconi-ap-milan-ac-milan-italian-b2355824.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Silvio_Berlusconi

Categories
Special Content

บทสรุปพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 4-2-3-1, เบอร์ 9, ปีกขวาเท้าซ้าย

การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2022-23 ปิดฉากบริบูรณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ซิตี ครองแชมป์ 3 สมัยติดต่อกันและเป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 6 ปี อันดับ 2 คือ อาร์เซนอล ซึ่งยังไม่สามารถคว้าแชมป์นับจากซีซัน 2003-04 เซาแธมป์ตัน, ลีดส์ ยูไนเต็ด และเลสเตอร์ ซิตี ลงไปเล่นแชมเปียนชิพ ขณะที่เบิร์นลีย์ ซึ่งชนะเลิศแชมเปียนชิพด้วยแต้มสะสมสูงถึง 101 คะแนน, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และลูตัน ทาวน์ เป็น 3 ทีมน้องใหม่ของพรีเมียร์ลีกซีซันหน้า

สำหรับสิทธิ์เล่นฟุตบอลสโมสรยุโรปฤดูกาล 2023-24 แมนฯซิตี, อาร์เซนอล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ได้เล่นแชมเปียนส์ ลีก, ลิเวอร์พูลกับไบรท์ตัน เล่นยูโรปา ลีก และแอสตัน วิลลา เล่นคอนเฟอเรนซ์ ลีก

นอกเหนือผลแข่งขัน 380 นัดตลอดซีซัน และอันดับตารางคะแนน ศึกลูกหนังลีกสูงสุดเมืองผู้ดียังเกิดเหตุการณ์น่าสนใจมากมายในช่วงประมาณ 10 เดือนที่ยาวกว่าปกติเพราะมีการแข่งขันเวิลด์คัพ 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 20พฤศจิกายนถึง 18 ธันวาคม โดยเว็บไซต์ khaimukdam ได้คัดเลือกบางเรื่องราว นำมาถ่ายทอดและบันทึกไว้ ณ โอกาสนี้

เปลี่ยนผู้จัดการทีมระหว่างซีซันมากที่สุด

พรีเมียร์ลีกมี 20 ทีมแต่ซีซันนี้มีผู้จัดการทีมที่ปฏิบัติหน้าที่มากถึง 39 คน ซึ่งตัวเลขนี้รวมถึงผู้จัดการชั่วคราวและรักษาการที่คุมทีมอย่างน้อย 1 นัด โดยตลอดซีซันมีการเปลี่ยนแปลงนายใหญ่ 14 ครั้ง รวมถึง 3 สโมสรที่ไล่กุนซือออก 2 คนคือ เชลซี (โธมัส ทูเคิล, แกรห์ม พอตเตอร์), ลีดส์ (เจสซี มาร์ช, ซาบี กราเซีย) และเซาแธมป์ตัน (ราล์ฟ ฮาเซนฮึทเทิล, นาธาน โจนส์) นั่นทำให้มีผู้จัดการเพียง 9 คนเท่านั้นที่คุมทีมลงสนามครบ 38 นัด

ความจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงกุนซือ 14 ครั้งเป็นการไล่ออก 13 ครั้งเนื่องจากพอตเตอร์กับไบรท์ตันแยกทางด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย พอตเตอร์ไปทำงานแทนทูเคิลในเดือนกันยายนที่เชลซีก่อนโดนไล่ออกในเดือนเมษายน แฟรงค์ แลมพาร์ด รับคุมทีมชั่วคราวจนกระทั่งจบซีซัน เช่นเดียวกับ รอย ฮอดจ์สัน (คริสตัล พาเลซ) กับ ไรอัน เมสัน (ทอตแนม ฮอตสเปอร์) เป็นอีก 2 คนที่เซ็นสัญญาระยะสั้น

ไม่ว่า 14 ครั้งของการเปลี่ยนตัวกุนซือหรือ 13 คนที่ถูกบอร์ดบริหารสั่งปลด ถือว่าเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก เริ่มจาก สกอตต์ ปาร์คเกอร์ (บอร์นมัธ) ปลายเดือนสิงหาคม ตามด้วยทูเคิล (เชลซี), บรูโน ลาเก (วูลฟ์แฮมป์ตัน), สตีเวน เจอร์ราร์ด (วิลลา), ฮาเซนฮึทเทิล (เซาแธมป์ตัน), แลมพาร์ด (เอฟเวอร์ตัน), มาร์ช (ลีดส์), โจนส์ (เซาแธมป์ตัน), ปาทริก วิเอรา (พาเลซ), อันโตนิโอ คอนเต (สเปอร์ส), รอดเจอร์ส (เลสเตอร์), พอตเตอร์ (เชลซี) และกราเซีย (ลีดส์) ซึ่งถูกปลดเป็นรายสุดท้ายต้นเดือนพฤษภาคม

เป็นที่น่าสังเกตว่า การเปลี่ยนผู้จัดการไม่ได้ช่วยให้เซาแธมป์ตัน, ลีดส์ และเลสเตอร์ หนีการตกชั้นพ้น ขณะที่เชลซีจบซีซันด้วยอันดับ 12 ต่ำกว่าตอนปลดพอตเตอร์อันดับเดียว ส่วนวิลลา, พาเลซ, เอฟเวอร์ตัน, บอร์นมัธ และวูลฟ์ส มีผลงานดีขึ้นหลังเปลี่ยนผู้จัดการ โดย 3 จาก 5 ทีมลงมือทำก่อนสิ้นเดือนตุลาคม โดยเฉพาะสิงห์ผงาดแห่งเมืองเบอร์มิงแฮม เป็นทีมที่มีผลงานพัฒนาแบบก้าวกระโดดมากที่สุด

สิงโตวิลลาผงาดเพราะกับดักล้ำหน้าของเอเมรี

แอสตัน วิลลา เป็นทีมสร้างเซอร์ไพรส์สุดๆ เพราะหากย้อนไปเดือนตุลาคมเมื่อปลดสตีเวน เจอร์ราร์ด “เดอะ ไลออนส์” ชนะ 2 จาก 11 นัดแรก หล่นไปอยู่อันดับ 16 เหนือโซนตกชั้นแค่แต้มเดียว ก่อนเซ็นสัญญากับ อูไน เอเมรี โดยยอมจ่ายค่าเสียหายให้บีญาร์เรอัล 6 ล้านยูโร

กุนซือสแปนิชวัย 51 ทำให้สิงโตวิลลา “ผงาด” สมฉายา ชนะ 12 จาก 18 นัด ทะยานขึ้นมาอยู่อันดับ 6 หลังถลุงนิวคาสเซิล 3-0 กลางเดือนเมษายน คว้าชัยพรีเมียร์ลีก 5 นัดติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับจากปี 1998 แม้ผ่วปลายแต่ก็ประครองตัวจบด้วยอันดับ 7 ได้ไปเล่นคอนเฟอเรนซ์ ลีก ฤดูหน้า

นับจากโดนอาร์เซนอลถลุง 2-4 กลางเดือนกุมภาพันธ์ วิลลาเสียเพียง 8 ประตูจากการลงสนาม 15 นัดสุดท้าย ไม่มีนัดไหนเสีย 2 ประตู เอเมรีเสริมใยเหล็กเกมรับจนแข็งแกร่งขึ้นผิดตา เป็นปัจจัยสำคัญของการคว้าสิทธิ์เล่นบอลถ้วยยุโรป คู่เซ็นเตอร์แบ็ค ไทโรน มิงส์ และ เอซรี คอนซา พัฒนาฝีเท้าและแคแร็กเตอร์มาไกลจากยุคกุนซือ “สตีวี จี” มิงส์เพิ่งถูกแกเรธ เซาธ์เกต เรียกตัวกลับเข้าทีมชาติอีกครั้งหลังจากเล่นให้อังกฤษครั้งหลังสุดในเดือนมีนาคม 2022 

หัวใจของการวางหมากเกมรับของเอเมรีอยู่ที่กับดักเช็คล้ำหน้า มิงส์และคอนซาประสานงานอย่างรู้ใจ หากคู่ต่อสู้จะฝ่าด่านไปได้จะต้องจ่ายบอลและวิ่งตัดหลังชนิดสมบูรณ์แบบ แต่หากไม่โดนไลน์แมนยกธงล้ำหน้า ก็จะต้องเผชิญหน้ากับความเหนียบหนึบของ เอมิเลียโน มาร์ติเนซ ยอดผู้รักษาประตูทีมชาติอาร์เจนตินาดีกรีแชมป์โลก

นับตั้งแต่เอเมรีเป็นผู้จัดการทีม วิลลาทำให้ฝ่ายตรงข้ามล้ำหน้า 102 ครั้ง ซึ่งเทียบกับอันดับ 2 ลิเวอร์พูลแล้วพบว่ามากกว่า 34 ครั้ง โดยทีมหงส์แดงได้รับฉายาว่า “เดอะ ออฟไซด์ คิง” จากการ “ยืนหนึ่ง” ตลอด 3 ซีซันก่อนหน้านี้ แต่ซีซันนี้ มงกุฎตกเป็นของวิลลา

เชลซีกับปีที่วุ่นวายและตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ซีซัน 2022-23 น่าจะเป็นช่วงอยากลืมของเชลซีและแฟนบอล “เดอะ บูลส์” จบด้วยอันดับ 12 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ซีซัน1995-96 ที่พวกเขาหล่นลงมาอยู่ครึ่งล่างของตารางพรีเมียร์ลีก แต่นั่นเป็นหน้าฉาก ด้านหลังยังมีความวุ่นวายมากกว่านั้นเยอะ

นับตั้งแต่มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ทอดด์ โบห์ลีย์ เทคโอเวอร์สโมสรในเดือนพฤษภาคม 2022 เชลซีจ่ายเงินราว 583 ล้านปอนด์ไปกับกลุ่มนักฟุตบอลและผู้จัดการทีม 4 คน (รวมกุนซือชั่วคราว) เฉพาะตลาดนักเตะเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็ทะลุหลัก 300 ล้านปอนด์ ซึ่งส่วนหนึ่งคือ 107 ล้านปอนด์เป็นค่าตัวทำลายสถิติสหราชอาณาจักรที่ซื้อ เอ็นโซ แฟร์นานเดซ มาจากเบนฟิกา และ 62 ล้านปอนด์เพื่อซื้อ มิไคโล มูดริค จากชัคตาร์ โดเน็ตส์ค

ส่วนตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว โบห์ลีย์ก็ลงทุนยกเครื่องขุมกำลังใหม่ให้โธมัส ทูเคิล ไปเบ็ดเสร็จ 270 ล้านปอนด์ แต่ต้นกันยายน เชลซีต้องปลดกุนซือเยอรมันแล้วดึงแกรห์ม พอตเตอร์ มาคุมทีมแทนด้วยสัญญา 5 ปี พร้อมจ่ายค่าชดเชย 21 ล้านปอนด์ให้ไบรท์ตันที่สูญเสียพอตเตอร์และทีมงาน

7 เดือนต่อมา พอตเตอร์ถูกไล่ออก เชลซีมอบหมายผู้ช่วยของเขา บรูโน ซัลตอร์ ทำหน้าที่แทน 1 นัด ก่อนดึงแฟรงค์ แลมพาร์ด ซึ่งเคยคุมทีมเชลซี 1 ปีครึ่งก่อนถูกปลดเดือนมกราคม 2021 กลับมารับหน้าที่ผู้จัดการอีกครั้ง รอบนี้แลมพาร์ดมีผลงานชนะนัดเดียวจาก 11 นัดสุดท้ายของซีซัน ส่วนทูเคิลรูดม่านกับบาเยิร์น มิวนิก ด้วยโล่แชมป์บุนเดสลีกา ขณะที่เชลซีประกาศแต่งตั้ง เมาริซิโอ โปเช็ตติโน เป็นนายใหญ่คนใหม่ของสแตมฟอร์ด บริดจ์ โดยจะเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม

เป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียวว่าตลาดซัมเมอร์กลางปีนี้ ยอดกุนซืออาร์เจนไตน์วัย 51 จะถ่ายเทนักเตะที่ล้นทีมราว 30 คนออกไปอย่างไร และใครจะมาเป็นนักเตะใหม่เพื่อลบล้างฝันร้ายให้กับกองเชียร์สิงโตน้ำเงินคราม

4-2-3-1 แผนยอดนิยม 4-4-2 ใช้น้อยลงเรื่อยๆ

ระบบการเล่นยังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดถึงและแสดงความคิดเห็นเสมอในหมู่สื่อมวลชน กูรูลูกหนัง และแฟนบอล แม้ความจริงแล้ว แต่ละทีมไม่มีแผนตายตัว ระหว่าง 90 นาทีสามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ หรือแม้กระทั่งต่างกันในจังหวะมีบอล (บุก) หรือไม่มีบอล (รับ) ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือลิเวอร์พูลช่วงปลายซีซัน ซึ่งเปลี่ยนจาก 4-3-3 เมื่อเริ่มต้นเป็น 3-4-3 (หรือ 3-2-2-3) ขณะมีบอลโดยเทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ดันตัวเองจากแบ็คขวาขึ้นไปยืนมิดฟิลด์แบบ double pivot คู่กับฟาบินโญ

สกาย สปอร์ตส์ สื่อกีฬาชั้นนำของอังกฤษ ได้เก็บสถิติ starting formations ทุกนัดของพรีเมียร์ลีกซีซันนี้และได้ข้อสรุปว่า 4-2-3-1 เป็นฟอร์แมทที่ถูกใช้บ่อยที่สุดคือ 261 ครั้ง รองลงมาได้แก่ 4-3-3 จำนวน 222 ครั้ง, 3-4-2-1 จำนวน 64ครั้ง และ 4-4-2 (Classic) จำนวน 62 ครั้ง ตามมาห่างๆคือ 3-5-2 จำนวน 23 ครั้ง และ 4-1-4-1 จำนวน 22 ครั้ง

ข้อมูลที่น่าสนใจคือมี 13 ทีมที่เริ่มต้นเกมด้วยแผนคลาสสิค 4-4-2 ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างสูงช่วงกลางทศวรรษ 2000 โดยสกาย สปอร์ตส์ เริ่มบันทึกสถิติ starting formations ตั้งแต่ซีซัน 2006-07 ซึ่งมีการใช้ฟอร์แมท 4-4-2 มากถึง 498 ครั้ง ตามมาห่างๆด้วย 4-5-1 เพียง 71 ครั้ง และ 4-3-3 จำนวน 63 ครั้ง

4-4-2 ยังคง “ยืนหนึ่ง” อีก 5 ปีแต่จำนวนก็ลดลงเรื่อยๆจนกระทั่งลงมาที่ 251 ครั้งในซีซัน 2011-12 ก่อนเสียตำแหน่งให้ 4-2-3-1 ในซีซัน 2012-13 ที่จำนวน 335 ครั้ง เพิ่มจาก 125 ครั้งในซีซันก่อนหน้านี้ ส่วนซีซัน 2012-13 ตัวเลขของ 4-4-2 ลงมาเหลือเพียง 91 ครั้ง นับจากนั้นเป็นต้นมา 4-2-3-1 ก็เป็นหมากเกมที่ได้รับความนิยมสูงสุดในพรีเมียร์ลีก

สกาย สปอร์ตส์ ให้ข้อสังเกตว่า 4-2-3-1 เริ่มได้รับโมเมนตัมจากกุนซือลีกเมืองผู้ดีอย่างมีนัยยะตั้งแต่ซีซัน 2009-10 ขณะที่กระแส 4-3-3 เริ่มเข้ามาในปีต่อมา ส่วน 62 ครั้งของ 4-4-2 ในซีซันนี้เป็นสถิติต่ำที่สุดนับตั้งแต่ซีซัน 2006-07 ซึ่งสาเหตุมาจากผู้จัดการปรับใช้กลยุทธ์หมากเกมหลากหลายซับซ้อนขึ้นโดยเฉพาะหน้าที่ไฮบริดอย่าง inverted full-back และ inverted winger 

อีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้คือ เบิร์นลีย์กับเซาแธมป์ตัน สองทีมที่เป็นตัวหลักของ 4-4-2 ช่วงที่ผ่านมา โดยเบิร์นลีย์ลงไปอยู่แชมเปียนชิพพร้อมการจากไปของแซม ไดซ์ ส่วนเซาแธมป์ตันก็เล่นรูปแบบที่ต่างไปตามกุนซือ 3 คนในซีซันนี้

แต่ต้องบันทึกไว้เช่นกันว่า ทีมครึ่งบนตารางไม่ได้เพิกเฉยต่อ 4-4-2 ระบบที่หลายคนมองว่าตกยุคเช่น วิลลาใช้ 15 ครั้ง ไบรท์ตัน 3 ครั้ง ลิเวอร์พูล 2 ครั้ง และสเปอร์ส 2 ครั้ง แม้แต่แมนฯซิตียังใช้หนึ่งโอกาส

การถล่มประตูของเบอร์ 9 เหนือแนวรุกริมเส้น

แมนฯซิตีชนะเลิศพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2021-22 ด้วยนักเตะตำแหน่ง false No 9 แต่ไม่เป็นความลับใดๆว่า เป๊ป กวาร์ดิโอลา ต้องการศูนย์หน้าหมายเลข 9 เมื่อพยายามเจรจาซื้อแฮร์รี เคน ดาวยิงทีมชาติอังกฤษในตลาดซัมเมอร์ปี 2021  แต่ต้องล้มโต๊ะเจรจาเพราะโดนสเปอร์สโก่งราคาถึง 100 ล้านปอนด์ ทีมเรือใบสีฟ้ามาสมหวังกลางปีที่แล้วเมื่อจ่ายเงินแค่ 51ล้านปอนด์ให้โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เพื่อแลกกับเออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ศูนย์หน้าดาวรุ่งทีมชาตินอร์เวย์

ขอบคุณภาพจาก  https://www.premierleague.com/news/3486228

ด้วยวัยเพียง 22 ปี และปีแรกในพรีเมียร์ลีก ฮาลันด์กระหน่ำสกอร์สูงถึง 36 ประตู ทำลายสถิติสูงสุด 34 ประตู ซึ่งอลัน เชียเรอร์ และแอนดี โคล สร้างไว้เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ตามมาห่างๆด้วย 30 ประตู เคน (สเปอร์ส), 20 ประตู อีวาน โทนีย์ (เบรนท์ฟอร์ด), 19 ประตู โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ (ลิเวอร์พูล) และ 18 ประตู คัลลัม วิลสัน (นิวคาสเซิล)

สำหรับเคน แม้สเปอร์สจะทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่เขายังกระซวกตาข่ายถึง 30 ประตู เท่ากับสถิติสูงสุดส่วนตัวในซีซัน 2017-18 และพัฒนาจากซีซันที่แล้ว ซึ่งทำได้เพียง 17 ประตู รั้งอันดับ 4 บนตารางดาวซัลโวพรีเมียร์ลีก 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ท็อป-5 ซีซันนี้เป็นนักเตะหมายเลข 9 ถึง 4 คนยกเว้นซาลาห์ที่ยืนฝั่งขวาของแนวรุกฟรอนท์ทรีให้ลิเวอร์พูล ต่างกับซีซันที่แล้ว ซน ฮึง-มิน (สเปอร์ส) และซาลาห์ ซึ่งครองรางวัลรองเท้าทองคำด้วยจำนวน 23 ประตูเท่ากัน และอันดับ 5 ซาดิโอ มาเน (ลิเวอร์พูล) 16 ประตูต่างเป็นแนวรุกริมเส้น ยกเว้นอันดับ 3-4 คริสเตียโน โรนัลโด (แมนฯยูไนเต็ด) 18ประตูกับเคน 17 ประตู ที่ยืนตำแหน่งศูนย์หน้าตัวเป้า 

หรือถ้าชายตามอง 5 อันดับถัดมาในซีซันที่แล้วมีเพียงอันดับ 6 (ร่วม) เจมี วาร์ดี (เลสเตอร์) ที่รับบทบาทหัวหอก ส่วนเควิน เดอ บรอยน์ (แมนฯซิตี) กับ ดีโอโก โซตา (ลิเวอร์พูล) ซึ่งทำ 15 ประตูเท่าเวอร์ดี รวมถึงอันดับ 9 วิลฟรีด ซาฮา (พาเลซ) 14 ประตู และอันดับ 10 ราฮีม สเตอร์ลิ่ง (แมนฯซิตี) 13 ประตู ต่างไม่ใช่ศูนย์หน้าเบอร์ 9

ซาลาห์จุดประกายปีกขวาเท้าซ้ายเป็นเทรนด์ฮิต

โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ ปีกเท้าซ้ายดาวดัง ลากเลื้อยทำเกมรุกฝั่งขวาให้ลิเวอร์พูลตลอด 5 ซีซันล่าสุด คู่หูเท้าซ้ายของแมนฯซิตี ริยาด มาห์เรซ และ แบร์นาโด ซิลวา ต่างรับผิดชอบฟากขวาของสนาม บูกาโย ซากา ซึ่งเป็นอีกคนที่ถนัดเท้าซ้ายและเป็นคีย์แมนในความสำเร็จของอาร์เซนอลซีซันนี้ ก็สร้างอันตรายจากเกมรุกด้านขวา

ปีกขวาเท้าซ้ายจึงเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในพรีเมียร์ลีกชนิดไม่อาจปฏิเสธได้ กล่าวได้ว่าเกือบทุกทีมบนครึ่งบนของตารางอันดับต่างใช้แทคติกนี้อย่างเช่น อันโตนี ของแมนฯยูไนเต็ด, มิเกล อัลมิรอน ของนิวคาสเซิล และไบรอัน เอ็มเบวโม ของเบรนท์ฟอร์ด ขณะที่เชลซีแม้จบด้วยอันดับ 12 แต่ตั้งแต่ปลายเมษายนได้ให้โอกาส โนนี มาดูเอเก ดาวรุ่งวัย 21 ปี ลงตัวจริงตำแหน่งปีกขวา เช่นเดียวกับ จาร์รอด โบเวน ของเวสต์แฮม และแฮร์รี วิลสัน ของฟูแลม

ต่อคำถามว่า “ทำไม” สามารถใช้ shot map ของซาลาห์ในพรีเมียร์ลีกซีซันนี้มาอธิบาย โดยแนวรุกทีมชาติอียิปต์กลับมาสร้างอันตรายให้คู่แข่งอีกครั้งจากบทบาท wide forward ซึ่งการตัดเข้าในทำให้ซาลาห์มีพื้นที่มากขึ้นในการยิงประตู แถมยังสามารถทะลวงไปถึงพื้นที่ตรงกลางได้มากขึ้น

“เป๊ป คอนเนคชัน” จุดไฟสมรภูมิพรีเมียร์ลีกเดือด

ขณะที่เป๊ป กวาร์ดิโอลา มอบถ้วยรางวัลพรีเมียร์ลีกแก่แมนฯซิตีเป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 6 ปี มองไปทีมอันดับ 2-3 อาร์เซนอลกับแมนฯยูไนเต็ด ซึ่งถูกคาดหมายจะเขย่าบัลลังก์ทีมเรือใบสีฟ้าให้สั่นคลอนซีซันหน้า กุนซือของสองทีมมีความเชื่อมโยงกับกวาร์ดิโอลา

มิเกล อาร์เตตา เคยทำงานกว่า 3 ปีกับกวาร์ดิโอวาในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการทีมในแมนเชสเตอร์ ก่อนย้ายมารับตำแหน่งใหญ่ของอาร์เซนอล และซีซันนี้ เขาเกือบพาทีมปืนใหญ่ครองแชมป์สมัยแรกนับจากยุคแชมป์ไร้พ่ายในซีซัน 2003-04 ส่วนเอริก เทน ฮาก ซึ่งใช้เวลาไม่ถึงปี พาแมนฯยูไนเต็ดกลับไปเล่นแชมเปียนส์ลีกอีกครั้ง ก็เคยคุมทีมบีของบาเยิร์น มิวนิก ช่วงที่กวาร์ดิโอลาเป็นเฮดโค้ชชุดใหญ่ 

แม้แต่ โรแบร์โต เด แซร์บี ซึ่งช่วยให้ไบรท์ตันได้ลงสังเวียนทวีปยุโรปเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ก็ยอมรับว่ากวาร์ดิโอลาเป็นแรงบันดาลใจให้เขามุ่งมั่นกับอาชีพโค้ช ขณะที่ แว็งซ็องต์ ก็องปานี ซึ่งเพิ่งพาเบิร์นลีย์ขึ้นสู่ลีกสูงสุดในฐานะแชมป์แชมเปียนชิพ ก็เคยสวมปลอกแขนกัปตันทีมแมนฯซิตีในยุคกวาร์ดิโอลา

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

สตีฟ คูเปอร์ ผู้บันดาล 2 ปี 2 ปาฎิหาริย์แก่ฟอเรสต์

วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม 2023 เป็นหนึ่งในวันสำคัญของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2022-23 เพราะการแข่งขันที่ซิตี กราวน์ ซึ่งน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ เฉือนชนะอาร์เซนอล 1-0 จากประตูนาทีที่ 19 ของ ไตโว อโวนิยี โดยทีมเจ้าป่าครองบอลเพียง 18% เป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำที่สุดสำหรับทีมชนะในเกมพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่ซีซัน 2003-04

นัดนี้นัดเดียวทำให้เกิด 3 เรื่องสำคัญคือ  1. อาร์เซนอลหมดโอกาสครองแชมป์ลีกสูงสุดสมัยแรกในรอบเกือบ 2 ทศวรรษนับตั้งแต่ชนะเลิศซีซัน 2003-04 แบบไร้พ่าย  2. แมนเชสเตอร์ ซิตี ครองแชมป์สมัยที่ 5 ในรอบ 6 ปี  3. ฟอเรสต์รอดพ้นจากการกลับไปอยู่แชมเปียนชิพหลังจากได้สิทธิ์เลื่อนชั้นพรีเมียร์ลีกโดยชนะฮัดเดอร์ฟิลด์ 1-0 นัดชิงชนะเลิศเพลย์-ออฟ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2022

พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 ถ้าไม่นับอันดับ 18 จากนัดเปิดสนามที่แพ้ 0-2 ในบ้านของนิวคาสเซิล “เดอะ เรดส์” เริ่มหล่นมาอยู่โซนตกชั้นตั้งแต่นัดที่ 6 ต้นเดือนกันยายนเมื่อแพ้บอร์นมัธ 2-3 ที่ซิตี กราวน์ ฟอเรสต์รั้งอันดับรองบ๊วยและวนเวียนอยู่ 3อันดับท้ายตารางจนปฏิทินเข้าสู่ปี 2023 จึงผุดขึ้นมาหายใจหายคอเหนือโซนสีแดงได้ตั้งแต่ออกไปเฉือนเซาแธมป์ตัน 1-0เมื่อวันที่ 4 มกราคม ขยับขึ้นมาอันดับ 15

แม้ติดทีมเต็งตกชั้นจากราคาต่อรองของบริษัทรับพนันแต่ฟอเรสต์ยังประคองตัวไม่ลงไปอยู่เขตอันตรายนาน 3 เดือน จนกระทั่งวันที่ 8 เมษายน แพ้แอสตัน วิลลา 0-2 (เยือน) ซึ่งเป็นความปราชัยบอลลีกนัดที่ 6 จาก 9 นัดล่าสุด ตกมาอยู่อันดับ 18

ฟอเรสต์ไม่มีแต้มเพิ่มต่ออีก 2 นัด แพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 0-2 (เหย้า) และแพ้ลิเวอร์พูล 2-3 (เยือน) ก่อนเถือไบรท์ตัน 3-1 (เหย้า) เมื่อวันที่ 29 เมษายน ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 17 ก่อนหล่นไปอยู่อันดับ 3 จากท้ายตารางอีกครั้งเมื่อแพ้เบรนท์ฟอร์ด 1-2 (เยือน)

เหมือนนักเตะฟอเรสต์งัดพลังสำรองขึ้นมาใช้ถูกที่ถูกเวลา เฉือนเซาแธมป์ตัน 4-3 (เหย้า), เสมอเชลซี 2-2 (เยือน) และชนะอาร์เซนอล 1-0 (เหย้า) เก็บเพิ่ม 7 แต้มจาก 3 นัด ได้รับการต่ออายุจากพรีเมียร์ลีกแม้ยังเหลือนัดปิดซีซันกับคริสตัล พาเลซ (เยือน) ในวันที่ 26 พฤษภาคม

สำหรับผลงานบอลถ้วย ฟอเรสต์สิ้นสุดเส้นทางเอฟเอ คัพ แค่ลงเตะนัดแรก แพ้แบล็คพูล 1-4 ในการแข่งขันรอบ 3 ส่วนอีเอฟแอล หรือ คาราบาว คัพ ทีมเจ้าป่าไปไกลถึงรอบรองชนะเลิศและแพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยสกอร์รวม 0-5

ปาฏิหาริย์จากความศรัทธาและเชื่อมั่น

ความสำเร็จของ สตีฟ คูเปอร์ และลูกทีมฟอเรสต์ ทำให้ซีซันนี้เป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกที่ 3 ทีมน้องใหม่ไม่กลับลงไปเล่นแชมเปียนชิพ กุนซือวัย 43 เปิดใจว่าเขาไม่เคยสูญเสียความศรัทธาและความเชื่อมั่นที่มีต่อนักเตะของเขาแม้กระทั่งช่วงวิกฤติ 2 ครั้งคือ 2 เดือนจากกลางสิงหาคมถึงกลางตุลาคมที่ฟอเรสต์ไม่ได้สัมผัสชัยชนะสักนัด และกว่า 2 เดือนครึ่งจากวันที่ 5 กุมภาพันธ์ถึง 26 เมษายน ซึ่งได้มาแค่ 3 แต้มจาก 11 นัด และหล่นไปอยู่ตำแหน่งรองบ๊วยขณะเหลือ 6 เกม

แต่อดีตผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ ยู-17 ชุดแชมป์โลก ไม่ยอมแพ้ พาฟอเรสต์ขึ้นมาจากโซนสีแดงได้สำเร็จ จึงไม่แปลกใจเลยเมื่อบรรยากาศในซิตี กราวน์ หลังชนะอาร์เซนอล ทั้งเจ้าของสโมสร บอร์ดบริหาร นักเตะ ทีมงานโค้ช สตาฟฟ์ฝ่ายต่างๆ และแฟนบอล จึงร่วมฉลองราวกับครองแชมป์ยูโรเปียน คัพ

คูเปอร์เปิดใจว่า “ไม่มีสักครั้งเลยที่ผมจะไม่รู้สึกศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวนักเตะของผม มันมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก เราผ่าน 2เดือนครึ่งโดยไม่ชนะใคร นี่เป็นปีที่ 4 ของผมในการคุมทีมชุดใหญ่ ผมรู้ดีว่ายังต้องสัมผัสประสบการณ์ความพ่ายแพ้มากกว่านี้ แต่ผมจำเป็นต้องซึมซับและผ่านเวลาที่ยากลำบากไปให้ได้ ผมคงต้องใช้เวลาอีกนานก่อนกลายเป็นผู้จัดการทีมที่เหมาะสม แต่ถ้าต้องแสดงให้เห็นว่าผมจริงจังกับการบริหารจัดการสโมสรแห่งนี้มากแค่ไหน ผมต้องทำให้เห็นในช่วงเวลาที่สาหัสสากรรจ์ด้วยเช่นกัน”

ทางด้าน อีวานเจลอส มารินาคิส เจ้าของสโมสรชาวกรีซ ยอมรับว่ามีความสุขมากที่ตัดสินใจสนับสนุนคูเปอร์ให้คุมทีมฟอเรสต์ต่อไป ทั้งนี้ต้นเดือนเมษายน แม้ฟอเรสต์โชว์ฟอร์มได้ย่ำแย่สุ่มเสี่ยงตกชั้นแต่มารินาคิสกล่าวกับนักข่าวว่า เขายังศรัทธาคูเปอร์แต่ผลแข่งขันและการเล่นจะต้องปรับปรุงอย่างรวดเร็ว

“เมื่อเทียบกับทีมอื่นๆ คงไม่มีทีมไหนสมควรเปลี่ยนสตาฟฟ์โค้ชมากไปกว่าฟอเรสต์อีกแล้ว แต่มันเป็นการตัดสินใจที่ซีเรียสมากๆหากต้องเปลี่ยนโค้ช ซึ่งหมายความว่าคุณต้องหาคนที่ดีกว่ามาทำงานแทน และเขายังต้องว่างตอนนั้นด้วย”

“ผมมองตัวเองว่าได้ให้การสนับสนุนเขามากเท่าที่ทำได้ และใช่ นั่นเป็นการตัดสินใจที่ฉลาด แต่ยอมรับว่ามีหลายครั้งที่ผมก็รู้สึกเห็นด้วยและเห็นต่างเหมือนกัน”

อนึ่งพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 มีผู้จัดการถูกไล่ออกทั้งสิ้น 12 คนหลังจากเบรนแดน รอดเจอร์ส (เลสเตอร์) และแกรห์ม พอตเตอร์ (เชลซี) ตกงานวันเดียวกัน (2 เม.ย.) เป็นการทำลายสถิติสูงสุดเดิม 10 คน ที่เคยเกิดขึ้นห้าซีซัน (1994-95, 2008-09, 2013-14, 2017-18, 2021-22) ทั้งนี้ไม่นับกุนซือชั่วคราวและที่แยกทางกับสโมสรแบบสมัครใจทั้งสองฝ่าย โดยต้นเมษายนที่ผ่านมา คูเปอร์และเดวิด มอยส์ (เวสต์แฮม) ยังถูกมองว่าน่าจะเป็นกุนซือลำดับที่ 13 ที่จะตกงานปลายซีซัน

พาทีมชาติอังกฤษครองแชมป์โลก ยู-17

สตีฟ คูเปอร์ เป็นชาวเวลส์ เกิดวันที่ 10 ธันวาคม 1979 ที่เมืองพอนตีพริดด์ ประเทศเวลส์ เป็นบุตรชายของคีธ คูเปอร์ อดีตผู้ตัดสินฟุตบอล คูเปอร์ ซึ่งสมัยเด็กเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล เล่นตำแหน่งกองหลังแต่ไม่มีประวัติในฐานะนักฟุตบอลให้พูดถึงนัก ปลายทศวรรษ 1990 เคยร่วมทีมเร็กซ์แฮมแต่ไม่มีโอกาสลงสนาม ก่อนย้ายไปอยู่กับสโมสรในเวลส์ ฟุตบอล ลีก อย่าง Total Network Solutions, Rhyl, Bangor City และ Portmadog ระหว่างปี 1999 ถึง 2003 โดยบังกอร์ ซิตี เป็นทีมที่คูเปอร์ได้เล่นมากที่สุดแต่ก็แค่ 57 นัดบอลลีก มีผลงาน 3 ประตู และโมเมนต์ที่น่าจดจำคือลงเตะยูฟา คัพ กับ FK Sartid Smederevo เมื่อปี 2002

ช่วงอยู่เร็กซ์แฮมในปี 1998 – 1999 ไบรอัน ฟลินน์ ผู้จัดการทีมขณะนั้น แนะนำให้คูเปอร์ ซึ่งอายุแค่ 19-20 ปี เบนเข็มชีวิตไปเป็นโค้ช  ประวัติระบุว่า คูเปอร์เริ่มร่ำเรียนวิชาโค้ชตามระบบขณะยังมีอาชีพค้าแข้งจนได้รับเลือกเข้าไปทำงานในอะคาเดมีของเร็กซ์แฮม เขายังได้รับยูฟา โปร ไลเซนซ์ ขณะอายุแค่ 27 ปี

หลังใช้เวลาหลายปีกับเร็กซ์แฮม สโมสรได้โปรโมทคูเปอร์ขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาเยาวชน ก่อนย้ายไปทำงานในสตาฟฟ์โค้ชทีมเยาวชนลิเวอร์พูลในเดือนกันยายน 2008 ช่วงแรกได้รับมอบหมายให้คุมทีม ยู-12

18 กรกฏาคม 2011 คูเปอร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการอะคาเดมีของลิเวอร์พูล และคุมทีม ยู-18 ในซีซัน 2012-13 ซึ่งสามารถตะลุยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ เอฟเอ ยูธ คัพ แต่แพ้ต่อเซลซี

10 ตุลาคม 2014 สมาคมฟุตบอลอังกฤษแต่งตั้งคูเปอร์เป็นผู้จัดการทีมชาติ ยู-16 ก่อนขยับไปคุมรุ่น ยู-17 ในเดือนกรกฎาคม 2015 มีโอกาสร่วมงานกับเจดอน ซานโช, ฟิล โฟเดน และคัลลัม ฮัดสัน-โอดอย คูเปอร์พาทีมเยาวชนสิงโตคำรามผ่านเข้าชิงแชมป์แห่งชาติทวีปยุโรป ยู-17 เมื่อปี 2017 แต่ได้เพียงรองแชมป์เมื่อแพ้ดวลจุดโทษสเปน 1-4 หลังจากเสมอกัน 2-2 ก่อนประสบความสำเร็จสูงสุด ครองแชมป์โลก ยู-17 ในเดือนตุลาคม 2017 โดยรอบตัดเชือก อังกฤษชนะบราซิล 3-1 ส่วนรอบชิง อังกฤษชนะสเปน 5-2

คูเปอร์ยังคุมทีม ยู-17 ของอังกฤษต่อไป โดยผลงานศึกลูกหนังยูโร 2018 ในฐานะแชมป์เก่า อังกฤษแพ้ดวลจุดโทษเนเธอร์แลนด์ในรอบรองชนะเลิศ ส่วนปี 2019 ไม่ผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศแม้ชนะสวีเดน 3-1 ในนัดสุดท้ายรอบแบ่งกลุ่ม เขาพ้นตำแหน่งกลางปี 2019 มีผลงานคุมทีมอังกฤษ ยู-17 รวม 66 นัด ชนะ 45 นัด เสมอ 11 นัด แพ้ 10 นัด

เริ่มคุมทีมซีเนียร์ระดับสโมสรกลางปี 2019

13 มิถุนายน 2019 คูเปอร์เซ็นสัญญา 3 ปี เป็นผู้จัดการของ สวอนซี ซิตี ทีมในแชมเปียนชิพ ออกสตาร์ทงานกุนซือระดับสโมสรได้สวยงาม รับรางวัลผู้จัดการยอดเยี่ยมประจำเดือนสิงหาคม 2019 ของแชมเปียนชิพ โดย “เดอะ สวอนส์” ทีมลูกหนังเวลส์ ไม่แพ้ใครในการออกสตาร์ทซีซัน 2019-20 ยืนแป้นจ่าฝูงของลีก เก็บมาได้ 16 คะแนนจาก 6 นัด เป็นการเริ่มต้นฤดูใหม่ที่เยี่ยมที่สุดในรอบ 41 ปีของสโมสร

การระบาดของไวรัสโควิดทำให้แชมเปียนชิพพักแข่งขันชั่วคราว สวอนซีอยู่อันดับ 11 ของตาราง มีแต้มต่ำกว่าโซนเพลย์ออฟ 3 คะแนน จากนั้นบอลลีกกลับมาเตะและนัดสุดท้าย สวอนซีชนะเรดดิง 4-1 ทะยานขึ้นอันดับ 6 เบียดชนะฟอเรสต์ด้วยผลต่างประตู คว้าตั๋วเพลย์ออฟใบสุดท้าย แต่ทีมหงส์ขาวแพ้เบรนท์ฟอร์ดด้วยสกอร์รวม 2-3 ในรอบรองชนะเลิศ

ซีซันที่สอง 2020-21 คูเปอร์พาสวอนซีเล่นเพลย์ออฟอีกครั้งขณะยังเหลือคิวเตะ 2 นัดแม้โดนวิจารณ์เรื่องสไตล์การเล่นและฟอร์มที่กระท่อนกระแท่น สวอนซีจบด้วยอันดับ 4 แต่นัดชิงชนะเลิศแพ้เบรนท์ฟอร์ด 0-2 คูเปอร์และสโมสรประกาศแยกทางกันในเดือนกรกฎาคม 2021

21 กันยายน 2021 งานใหม่ของคูเปอร์ยังอยู่ในแชมเปียนชิพ เขาเซ็นสัญญาเป็นผู้จัดการทีมฟอเรสต์แทนคริส ฮิวจ์ตัน ที่ได้แต้มเดียวจาก 7 นัดแรกและรั้งอันดับบ๊วยของตาราง

คูเปอร์ลงมือปรับปรุงรูปแบบการเล่นของฟอเรสต์ทันที กระตุ้นให้นักเตะมีความมั่นใจมากขึ้นยามครองบอลและเพิ่มเปอร์เซ็นต์ในการบุก เขายังมีอิทธิพลต่อสภาพจิตใจให้มีทีมเวิร์คเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมปลูกฝังแนวคิด “big club mentality” เน้นย้ำประวัติศาสตร์ของฟอเรสต์ที่เคยครองความยิ่งใหญ่โดยเฉพาะปลายทศวรรษ 1970 ซึ่งฟอเรสต์ชนะเลิศดิวิชัน 1 ซีซัน 1977-78 ตามด้วยแชมป์ยูโรเปียน คัพ 2 สมัยติดต่อกัน

ฟอเรสต์จบซีซันด้วยอันดับ 4 และเฉือนฮัดเดอร์ฟิลด์ 1-0 นัดชิงชนะเลิศเพลย์ออฟ วันที่ 29 พฤษภาคม 2022 กลับขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่รั้งอันดับ 20 ในซีซัน 1998-99 ซึ่งระหว่างนี้ ฟอเรสต์เคยลงไปอยู่เทียร์ 3 หรือลีกวัน 3 ฤดูกาล ฟอเรสต์ตอบแทนคูเปอร์ในเดือนตุลาคมด้วยการขยายสัญญาจนถึงปี 2005

รวมหลายหัวใจเป็นหนึ่งเดียวที่น็อตติงแฮม

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้กุนซือผู้มีประสบการณ์คุมสโมสรไม่ถึง 4 ปีเต็ม พาฟอเรสต์ผ่านวิกฤติรุนแรงได้ราวกับผู้จัดการทีมมากประสบการณ์ หนึ่งในทักษะที่คูเปอร์แสดงออกมาได้ชัดเจนคือ “จิตวิทยา”

ตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว บอร์ดบริหารสนับสนุนคูเปอร์สำหรับการคืนสู่พรีเมียร์ลีกในรอบ 23 ปี ด้วยการเซ็นสัญญานักเตะใหม่ถึง 22 คน บวกอีก 7 คนในตลาดเดือนมกราคม ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องดีแต่อีกด้านหนึ่งทำให้ขุมกำลังฟอเรสต์เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากเทียบกับซีซันก่อนในแชมเปียนชิพ จำนวนนักเตะมากมายจากหลายเชื้อชาติและต่างลีก แต่คูเปอร์ใช้เวลาอันสั้นสร้างอัตลักษณ์ จิตวิญญาณ และวัฒนธรรมขึ้นมาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเหมือนฟอเรสต์เป็นทีมที่ร่วมหัวจมท้ายมานาน

หลายคนแสดงถึงพัฒนาการตลอดซีซัน ไตโว อโวนิยี ซึ่งช่วง 2-3 เดือนแรกดูเหมือนก้อนคาร์บอนที่ยังไม่ได้เจียระไนเป็นเพชร เป็นเจ้าของประตูสำคัญในชัยชนะเหนืออาร์เซนอล ซึ่งเป็น 5 ประตูจาก 3 นัดล่าสุด, สามฮีโรจากซีซันที่แล้ว เบรนแนน จอห์นสัน, ไรอัน เยตส์ และโจ วอร์รัลล์ ต่างพิสูจน์ตัวเองว่าสมควรอยู่ในพรีเมียร์ลีก, มอร์แกน กิบส์-ไวท์ เป้าหมายเบอร์ 1 ของคูเปอร์ในตลาดกลางปีที่แล้ว สมควรได้รับตำแหน่งนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของฟอเรสต์และถึงเวลาสำหรับทีมชาติอังกฤษ

ขณะที่เอฟเวอร์ตัน, ลีดส์ และเลสเตอร์ ต่างเจอวิกฤติทั้งในและนอกสนาม แต่บรรยากาศที่ซิตี กราวน์ กลับสงบเงียบราวกับอยู่กลางตารางอันดับ แฟนบอลไม่เคยสงสัยความทุ่มเทมุ่งมั่นของนักเตะและการสนับสนุนจากบอร์ดบริหาร

“เดอะ เรดส์” ได้รับกำลังใจจากแรงเชียร์ที่น่าทึ่งเสมอของแฟนบอลทั้งเกมเหย้าและเยือน สังเกตจากความทุ่มเทเกินร้อยในแมตช์กับบิ๊กทีมอย่างเสมอแมนฯซิตี 1-1 (เหย้า), แพ้ลิเวอร์พูล 2-3 (เยือน) และแน่นอน ชนะอาร์เซนอล 1-0 (เหย้า) สิ่งเดียวกันพวกเขาได้มอบให้ระหว่างช่วงเวลาที่เลวร้ายเช่น แพ้เลสเตอร์ -0-4 (เยือน) ยังมีเสียงตะโกนเรียกชื่อคูเปอร์เพื่อให้กำลังใจ และแทบไม่มีเสียงโห่ไล่ให้ได้ยินจากอัฒจันทร์ช่วงฟอเรสต์แพ้ 4 นัดรวดหรือไร้ชัยชนะติดต่อกัน 11 นัด

หนึ่งในเวทมนตร์ของคูเปอร์เห็นได้จากสนามฝึกซ้อม ซึ่งนักเตะและสตาฟฟ์โค้ชรวมหัวใจเป็นหนึ่งเดียว คูเปอร์ให้ความสำคัญกับการสื่อสารและสนับสนุนให้ผู้เล่นแสดงความคิดเห็นออกมา ซึ่งเป็นหนึ่งใน “พฤติกรรมประจำวัน” ของทีมขณะฝึกซ้อม ไม่สำคัญว่าพวกเขาเป็นใครมาจากไหนแต่ทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ดีน เฮนเดอร์สัน ผู้รักษาประตูที่บาดเจ็บ และสตีฟ คุ๊ก กองหลังที่หลุดจากรายชื่อ 25 นักเตะ ยังร่วมเดินทางไปให้กำลังใจเพื่อนๆในแมตช์เยือน

คูเปอร์ไม่ยอมให้ใครมาทำลายจิตวิญญาณของทีม เราจึงเห็นมุมเด็ดขาดจากกุนซือเวลส์ ตัวอย่างเช่น จอนโจ เชลวีย์ กองกลางที่ถูกตัดชื่อออกจากแมตช์เดย์หลังมีปฏิกิริยาแย่ๆไม่ได้อยู่ในทีมที่ไปเยือนแอนฟิลด์ หรืออนาคตของอดีตแนวรุกแมนฯยูไนเต็ด เจสซี ลินการ์ด หายวับไปหลังแสดงอาการไม่ทุ่มเทในครึ่งแรกของแมตช์เยือนที่แพ้ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์

ความละเอียดอ่อนของคูเปอร์ยังพบเห็นกับบุคคลนอกสโมสรด้วย เขาเชิญอดีตผู้เล่นชุดแชมป์ยูโรเปียน คัพ อย่างเช่น จอห์น แม็คโกเวิร์น และแกร์รี เบอร์เทิลส์ มาเยี่ยมชมการฝึกซ้อมบ่อยครั้ง หรือในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ลีห์ วู้ด นักมวยดังที่เป็นแฟนทีมฟอเรสต์ เสียเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฟเธอร์เวทของสมาคมมวยโลก (WBA) คูเปอร์ได้เชิญมาที่ออฟฟิศของเขาเพื่อให้กำลังใจใน 2-3 วันต่อมา

กำลังใจล้นและเสียงโห่เบาบางในซิตี กราวน์

ซิตี กราวน์ สนามความจุ 30,332 คน ซึ่งเปิดใช้มาตั้งแต่ปี 1898 มีส่วนสำคัญต่อการต่ออายุพรีเมียร์ลีกเพราะก่อนหน้าเตะปิดท้ายในบ้านของพาเลซ จากทั้งหมด 37 คะแนนที่ฟอเรสต์เก็บได้ เป็นแมตช์เหย้าถึง 30 คะแนน แต่ละนัดให้บรรยากาศเหมือนจัดอีเวนท์ไม่ใช่เกมฟุตบอล ทำให้หวนรำลึกถึงยุคทองของสโมสรที่ผงาดเหนือทวีปยุโรป โดยเฉพาะแมตช์กลางคืนที่แสงไฟสะท้อนขึ้นมาจากแม่น้ำเทรนท์

น้ำหนึ่งใจเดียวกันที่คูเปอร์สร้างขึ้นมาแสดงให้เห็นอีกครั้งที่ซิตี กราวน์ วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม ลินการ์ด ซึ่งลงตัวจริงบอลลีกแค่ 12 นัด และไม่อยู่ในรายชื่อตัวสำรองนัดนี้ด้วยซ้ำ ลงไปโชว์แดนซ์สเต็ปกับแซร์จ ออริเยร์ ก่อนเข้าไปสวมกอดจอห์นสัน และถ่ายรูปกับเพื่อนร่วมทีม

เฮนเดอร์สัน นายทวารที่ยืมมาจากแมนฯยูไนเต็ด เดินโขยกเขยกด้วยไม้เท้า โบกไม้โบกมือให้กองเชียร์, ฌูเลียง เบียงโกเน ซึ่งแทบไม่ได้ลงสนามเพราะบาดเจ็บ เข้ามาดีใจในห้องพักนักกีฬา, คุ๊ก ซึ่งอาจตัดสินใจอำลาฟอเรสต์หลังหลุดจากรายชื่อ 25 ผู้เล่นของทีม ยังเข้ามาสวมกอดคูเปอร์, เคย์เลอร์ นาวาส นายทวารมือ 2 ซึ่งได้เล่นบอลลีก 17 นัดเพราะเฮนเดอร์สันบาดเจ็บ ถ่ายรูปกับก๊วนผู้รักษาประตูและโค้ช แดนนี อัลค็อก, เรแนน โรดี ซึ่งยืมตัวจากแอตเลติโก มาดริด และลงตัวจริงบอลลีก 25 นัด ถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความปลาบปลื้ม

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/65660335

ฟอเรสต์ใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษเพื่อขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกและได้รับรู้ว่า การเลื่อนชั้นว่ายากแล้ว แต่ที่ยากกว่าคือรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัยจากการตกชั้น คูเปอร์ ซึ่งเพิ่งมีประสบการณ์คุมทีมซีเนียร์ระดับสโมสรเมื่อกลางปี 2019 อาจไม่ได้รับรางวัลผู้จัดการยอดเยี่ยมแห่งปี แต่การจบพรีเมียร์ลีกซีซันแรกด้วยอันดับ 16 เป็นความสำเร็จใหญ่หลวงที่มองข้ามไม่ได้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)