Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

พรีเมียร์ลีกกับปรากฎการณ์ Goal Explosion ในซีซั่น 2023-24

เกมพรีเมียร์ลีกนัดตกค้างเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2024 ที่วิทาลิตี สเตเดียม ลูตัน ทาวน์ ทีมเยือนที่อยู่เหนือโซนตกชั้น ขึ้นนำบอร์นมัธ 3-0 เมื่อจบครึ่งแรก แต่ครึ่งหลังเริ่มไปได้เพียง 5 นาที เจ้าบ้านก็ตีไข่แตก ตามด้วยประตูที่ 2-3 นาทีที่ 62 และ 64ก่อนแซงนำนาทีที่ 83 และเป็นฝ่ายชนะลูตัน 4-3 เป็นอีกหนึ่งนัดที่ถูกบันทึกฐานะ the greatest comebacks ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก

หากวางเงินข้างบอร์นมัธ 10 เหรียญสหรัฐระหว่างพักครึ่ง จะได้เงินตอบแทนถึง 150 เหรียญสหรัฐจากการแข่งขัน ซึ่งเป็นนัดแรกในรอบ 21 ปี ของพรีเมียร์ลีกที่ทีมพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะหลังตามอยู่ 0-3 เมื่อจบครึ่งแรก และยังเป็นครั้งที่ 5 เท่านั้นในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก

ขอบคุณภาพจาก  https://www.premierleague.com/news/3930809

4 ทีมที่ทำสำเร็จก่อนหน้านี้ได้แก่ ลีดส์ (ชนะดาร์บี ในเดือนพฤศจิกายน 1997), วิมเบิลดัน (ชนะเวสต์แฮม ในเดือนกันยายน 1998), แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (ชนะทอตแนม ฮอทสเปอร์ส ในเดือนกันยายน 2001) และวูลฟ์แฮมป์ตัน (ชนะเลสเตอร์ ในเดือนตุลาคม 2003)

ไรอัน โอ‘แฮนลอน นักข่าวของเว็บไซต์ ESPN.com ยกเกมระหว่างบอร์นมัธกับลูตันเป็นตัวอย่างเพื่อจะบอกว่า การทำสกอร์กันมากมายไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023-24 ยืนยันด้วยสถิติย้อนหลังกลับไป 15 ปีถึงซีซัน 2008-09

แนวโน้มพรีเมียร์ลีกยิง 200 ประตูเพิ่มจากซีซัน 2022-23

จากกราฟแสดงค่าการทำประตูเฉลี่ยต่อนัดในพรีเมียร์ลีกช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จำนวนค่อนข้างใกล้เคียงกันระหว่าง 1.24ประตู ถึง 1.43 ประตูต่อนัด ไม่สามารถเบรกหรือทะลุแนว 1.5 ประตูได้เลย จนกระทั่งซีซันนี้ (นับจนถึงก่อนเบรกฟุตบอลทีมชาติในเดือนมีนาคม 2024) พบว่าตัวเลขพุ่งถึง 1.63 ประตูต่อนัด 

เราสามารถมองปรากฏการณ์ Goal Explosion ได้อีกรูปแบบหนึ่งด้วยการคำนวณค่าเฉลี่ยตลอด 15 ซีซันที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับ 1.37 ประตูต่อนัด หรืออีกนัยหนึ่ง ทีมๆหนึ่งจะทำสกอร์ได้ 52 ประตูจากการลงสนาม 1 ซีซัน 38 นัด ดังนั้นซีซันปัจจุบันใช้ตัวเลข 1.63 ประตูมาคำนวณ ทีมๆหนึ่งจะทำสกอร์ได้ประมาณ 62 ประตูเมื่อแข่งครบโปรแกรม 38 นัด

เมื่อนำ 52 ลบจาก 62 จะได้ว่า ทีมๆหนึ่งสามารถทำสกอร์ในซีซันนี้ได้มากกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 10 ประตู และเมื่อพรีเมียร์ลีกมี 20 สโมสร เท่ากับว่าฤดูกาล 2023-24 แฟนบอลอังกฤษจะได้เห็นการทำประตูเพิ่มขึ้นถึง 200 ลูกทีเดียว!!! ลองนึกภาพว่ามันมากมายขนาดไหนหากนำจังหวะการทำสกอร์ทั้งหมดรวมเป็นวิดิโอไฮไลท์ 1 คลิป ซึ่งสามารถอธิบายให้เห็นภาพ Goal Explosion ได้ชัดเจนขึ้น

จริงหรือประตูเพิ่มเพราะสิงห์เชิ้ตดำเพิ่มเวลาทดเจ็บ

หนึ่งในเหตุผลที่จำนวนประตูในพรีเมียร์ลีกเพิ่มเป็นเพราะเวลาแข่งขันเพิ่มขึ้น หรือ More time equals more goalsเนื่องจากฟุตบอลลีกอังกฤษตัดสินใจทำตามฟีฟาในฤดูกาล 2023-24 หลังจากมีการทดลองเพิ่มเวลาให้กับช่วงทดเวลาเจ็บในศึกลูกหนังเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ 

ฮาวเวิร์ด เวบบ์ ประธานของคณะกรรมการผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพในอังกฤษ (PGMOL) เคยให้สัมภาษณ์ก่อนเปิดซีซันนี้ว่า เวลาที่เพิ่มขึ้นจะโฟกัสจากจังหวะการทำประตู การเปลี่ยนตัวผู้เล่น การให้ใบแดงและการลงโทษใดๆ ทุกอย่างยังเป็นไปเหมือนเดิมยกเว้นแทคติกถ่วงเวลาจะได้รับการเฝ้ามองแบบเข้มข้นขึ้น โดยซีซันที่แล้ว พรีเมียร์ลีกทดเวลาเจ็บประมาณ 8.5นาที แต่หากนำวิธีการใหม่เข้าไปใช้ ช่วงเวลาเจ็บซีซันที่แล้วน่าจะอยู่ที่ 11.5 นาที หรือเพิ่มขึ้นราว 3 นาที

ณ เวลาที่โอ’แฮนลอน เขียนบทความชิ้นนี้ พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2023-24 แข่งขันถึงแมตช์วีคที่ 28 ซึ่งพบว่า กรรมการได้เพิ่มเวลาพิเศษเข้าไปเฉลี่ย 11.9 นาทีต่อนัด ซึ่งถือได้ว่าเวบบ์ประมาณการได้ใกล้เคียงความจริงมาก

11.9 นาทีต่อเกมที่เพิ่มจากเวลาแข่งขันปกติ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยตลอด 15 ซีซันก่อนหน้านี้  เส้นกราฟที่สร้างจะเข้าข่าย Added-Time Explosion ได้เช่นกัน เพราะระหว่างซีซัน 2008-09 ถึง 2021-22 ค่าเฉลี่ยของเวลาทดเจ็บอยู่ในกรอบ 6-8 นาที ก่อนจะทะลุเพดานขึ้นไปเกือบ 9 นาทีในซีซัน 2022-23 ที่ผ่านมา และเฉียด 12 นาทีในซีซันปัจจุบันที่ยังแข่งไม่จบโปรแกรม

สถิติพรีเมียร์ลีกซีซันนี้ระบุว่า มีสกอร์เกิดขึ้นรวมแล้ว 119 ประตูระหว่างช่วงทดเวลาเจ็บของครึ่งแรกและครึ่งหลัง เทียบกับ 84 ประตูที่เกิดขึ้นเต็มซีซัน 2022-23 และมากกว่าค่าเฉลี่ยจาก 15 ซีซันที่ผ่านมา 16 ประตู โดยสถิติสูงสุดเท่ากับ 103 ประตู ซึ่งเกิดขึ้นในซีซัน 2016-17 และอย่าลืมว่าซีซันนี้ยังเหลือการแข่งขันเกือบ 100 นัด

ดูเหมือนเป็นความจริงที่ว่า More time equals more goals เพราะเทียบกับ 15 ซีซันก่อนหน้า การทดเวลาเจ็บซีซันนี้เพิ่มขึ้น 73% ขณะที่ค่าเฉลี่ยที่ประตูเกิดขึ้นระหว่างทดเวลาเจ็บยังเพิ่มจากนัดละ 0.11 ประตูเป็น 0.21 ประตู หรือประมาณ 90% ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล เคลีย์ นักวิเคราะห์เกม ได้แสดงความเห็นผ่านจดหมายข่าว Expecting Goals ของเขาว่า อย่างที่ทราบกัน ประตูไม่ได้เกิดขึ้นกระจายไป ณ เวลาต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน ประเมินอย่างหยาบๆ 56% ของประตูทั้งหมดเกิดขึ้นในครึ่งหลัง โดยความน่าจะเป็นของประตูจะเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อเริ่มคิกออฟครึ่งหลัง แต่ค่าจะทรงตัวเกือบตลอดเวลาที่ผ่านไป ก่อนขึ้นถึงค่าสูงสุดระหว่างการทดเวลาเจ็บ

นั่นจึงไม่แปลกเลยหากสรุปว่า เวลาที่เพิ่มขึ้นของครึ่งหลัง จะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ของการเกิดประตูหรือ Expecting Goals ในแต่ละนัด แต่คงไม่มีใครคาดหวังว่า เวลา 73% ที่เพิ่มขึ้นจาก 15 ซีซันก่อนหน้า จะส่งผลให้จำนวนประตูเพิ่มขึ้น 73% เช่นกัน

ไม่ใช่เพียงช่วงทดเวลาเจ็บ แต่สกอร์ยังเกิดเพิ่มขึ้นในเวลาแข่งขันปกติด้วย จากค่าเฉลี่ย 15 ซีซันก่อนหน้านี้คือนัดละ 1.26ประตู กลายเป็น 1.41 ประตูซีซันนี้ เทียบกับ 1.32 ประตูในซีซัน 2022-23 ถือว่าเพิ่มขึ้นพอสมควร นั่นเท่ากับว่าทีมๆหนึ่งสามารถทำสกอร์เพิ่ม 5.7 ประตูต่อซีซัน หรือ 114 ประตูเมื่อรวมทั้งพรีเมียร์ลีก

เมื่อเวลาแข่งปกติยังคงเป็น 90 นาที แล้วอะไรทำให้ประตูเพิ่มขึ้น สัญชาตญาณแรกของโอ’แฮนลอน บอกว่า “จุดโทษ”

เนื่องจาก VAR โฟกัสการฟาวล์ที่ถูกกรรมการมองข้ามหรือไม่เห็น VAR ย่อมทำให้การยิงจุดโทษเพิ่มขึ้น แต่สถิติก็ชี้ว่าผู้เล่นในพรีเมียร์ลีกยิงแม่นขึ้นเช่นกัน โดย 10 ซีซันนับจากปี 2008 มีเพียง 3 ซีซันที่ conversion rate สูงกว่า 80% ส่วนใหญ่อยู่แถวๆ 78% แต่ 5 ซีซันที่ผ่านมา มีการเบรก 80% เกิดขึ้น 3 ซีซัน ขณะที่ซีซันนี้ ผู้เล่นยิงลูกโทษสำเร็จ 88.5%

อย่างไรก็ตามแม้นักเตะพรีเมียร์ลีกจบสกอร์จาก 12 หลาด้วย conversion rate ที่ดีขึ้น แต่ความจริงแล้วในซีซันนี้ penalty goals เกิดขึ้นในเวลาแข่งปกติเพียงนัดละ 0.11 ประตูเท่านั้น เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 0.09 ประตู ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยจาก 15 ซีซันก่อนหน้านี้ นั่นหมายความว่า จุดโทษไม่ใช่ตัวแปรที่ทำให้พรีเมียร์มีประตูเพิ่มขึ้นมากมายอย่างมีนัยยะ

ถ้าตัดจุดโทษออกไป สัญชาตญาณที่ 2 ของโอ’แฮนลอนบอกว่าอาจเป็น “ลูกเซตพีช” พิจารณาจากสโมสรต่างๆเริ่มให้ความสำคัญกับโค้ชที่เชี่ยวชาญลูกตั้งเตะมากกว่า แต่สถิติปฏิเสธการสันนิษฐานข้อนี้เพราะความจริงแล้ว ประตูส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาจากโอเพน เพลย์

แทคติกเพรสสูงเพิ่มโอกาสรุกทำสกอร์ให้ทั้ง 2 ฝั่ง

นักข่าวของ ESPN.com ยกเครดิตให้กับ เยอร์เกน คลอปป์ และเป๊ป กวาร์ดิโอลา เป็นผู้ส่งอิทธิพลให้ทีมต่างๆในพรีเมียร์ลีกจ่ายบอลและเพรสซิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลที่ตามมาคือ เพรสซิ่งช่วยให้ทีมมีโอกาสทำประตูหลังจากแย่งบอลกลับมาครองบนพื้นที่ด้านบนหรือฝั่งของคู่แข่ง แต่อีกความเป็นไปได้หนึ่ง ทีมที่สามารถแก้เพรสได้แล้วสวนกลับอย่างรวดเร็ว ทะลวงผ่านแนวรับที่ดันตัวเองขึ้นสูง นำไปสู่การทำประตูเช่นกัน

พรีเมียร์ลีกซีซันนี้ จากความพยายามยิงลุ้นประตูทั้งหมดเป็นจำนวน shots ในเขตโทษถึง 67.1% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008เทียบกับ 59% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยช่วง 15 ซีซันก่อนหน้า อีกทั้งยังระยะการยิงเฉลี่ยยังใกล้โกล์มากที่สุดด้วย รวมถึงค่าเฉลี่ย xG ที่สูงขึ้นเช่นกัน

big chances หรือโอกาสทองที่จะเป็นประตู เป็นอีกสถิติที่เพิ่มขึ้นโดยมีผลจากประสิทธิภาพของเพรสซิ่งและการแก้เพรสซิ่งแล้วสวนกลับ แม้ข้อมูลอาจไม่มากนักเมื่อเทียบกับสถิติอื่นๆเพราะการรวบรวมสถิติ big chances เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2010 

พรีเมียร์ลีกซีซันนี้ ทีมๆหนึ่งสร้างโอกาสทองที่ไม่รวมจุดโทษ (non-penalty big chances) เฉลี่ยนัดละ 1.8 เทียบกับ 1.54 ในซีซันที่แล้ว ขณะที่ค่าเฉลี่ยจาก 12 ซีซันก่อนหน้าเท่ากับ 1.33 ซึ่งมองหยาบๆได้ว่า ซีซันนี้เกิด extra big chance ต่อนัดราว 0.5 ประตู

โอ’แฮนลอน ประมวลปรากฎการณ์ Goal Explosion ทั้งหมดและขมวดปมตบท้ายว่า “สถานการณ์พิเศษ” (extra situation) ที่เกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีกช่วง 1-2 ปีล่าสุด ต่างส่งผลต่อจำนวนประตู ไม่ว่าเป็นการเพิ่มเวลาของแต่ละครึ่ง รวมถึงประสิทธิภาพการเพรสซิ่งและครอบครองบอล ล้วนส่งผลกระทบต่อมิติต่างๆของเกมฟุตบอลตามทฤษฏี “ผีเสื้อขยับปีก” (Butterfly Effect) 

นั่นทำให้พรีเมียร์ลีกเป็นการแข่งขันฟุตบอลที่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับแฟนบอลทั่วโลก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ระดับอารมณ์ของผู้ชมจะขึ้นสู่จุดสูงเมื่อได้เห็นจังหวะเข้าทำประตูและการส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.