Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

หรือว่า “ผู้จัดการทีม” เป็นต้นเหตุ บราซิลยังรอคอยแชมป์โลกสมัยที่ 6

หลังตีเตพ้นตำแหน่งเมื่อจบเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ ทีมชาติบราซิลใช้บริการของกุนซือรักษาการไป 2 คนคือ รามอน เมเนเซส (3 นัด ช่วงกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2023) และ แฟร์นานโด ดินิซ (6 นัด ช่วงกรกฎาคม 2023 ถึง มกราคม 2024) ระหว่างรอ คาร์โล อันเซลอตติ ตอบรับข้อเสนอ แต่ท้ายสุดไม่เป็นดังหวัง ยอดกุนซืออิตาเลียนวัย 64  ปี ต่อสัญญาคุมทีมเรอัล มาดริด ไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2026

นั่นทำให้สมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลเบนเข็มไปดึง โดริวัล จูเนียร์ มาจากสโมสรเซา เปาโล ทั้งที่เฮดโค้ชวัย 61 ปี เพิ่งเข้าทำงานให้สโมสรเป็นรอบ 2 เมื่อเดือนเมษายน 2023 โดยประกาศแต่งตั้งโดริวัลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

จากโปรแกรมแข่งขันของอดีตแชมป์โลก 5 สมัย โดริวัลจะคุมทีมบราซิลอุ่นเครื่อง 4 นัดกับอังกฤษ, สเปน, เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา ก่อนเข้าร่วมโคปา อเมริกา หรือศึกลูกหนังชิงแชมป์แห่งชาติทวีปอเมริกาใต้ ครั้งที่ 48 ระหว่างวันที่ 20มิถุนายน ถึง 14 กรกฎาคม 2024 ที่สหรัฐอเมริกา

หลังจบโคปา อเมริกา โดริวัลยังมีภารกิจสำคัญคือ เวิลด์คัพ 2026 รอบคัดเลือก โซนอเมริกาใต้ ซึ่งยังเหลืออีก 12 นัด ที่จบโปรแกรมในเดือนกันยายน 2025 แต่บราซิลทำผลงาน 6 นัดแรกต่ำกว่ามาตรฐาน ชนะ 2 นัด เสมอ 1 นัด และแพ้ถึง 3นัด มีเพียง 7 คะแนน รั้งอันดับ 6 ตามหลังจ่าฝูง อาร์เจนตินา 8 คะแนน

อย่างไรก็ตามด้วยชื่อชั้นและเกรดฝีเท้าของนักเตะ บวกการแข่งขันที่ยังเหลือ 12 นัด โดริวัลน่าจะพาบราซิลไต่ขึ้นไปอันดับสูงๆ ไม่ถึงขั้นต้องพึ่งอันดับ 6 ซึ่งเป็นโควตาสุดท้ายของตั๋วอัตโนมัติไปบอลโลก หรืออันดับ 7 ซึ่งต้องแข่งขันเพลย์ออฟกับทีมชาติจากทวีปอื่น

แม้บราซิลเป็นอดีตแชมป์โลก 5 สมัย แต่ว่างเว้นยาวนานกว่า 2 ทศวรรษนับตั้งแต่ชนะเยอรมนี 2-0 นัดชิงชนะเลิศเวิลด์คัพ 2002 ที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นยุคทองของ 3 ประสาน โรนัลโด-ริวัลโด-โรนัลดินโญ รวมถึงตำนานวิงแบ็ค คาฟู-โรแบร์โต คาร์ลอส ทั้งที่บราซิลไม่เคยขาดแคลนนักเตะฝีเท้าระดับซูเปอร์สตาร์ แม้แต่ขุนพลชุดบอลโลกแต่ละสมัยก็แข็งแกร่งเป็นหนึ่งในทีมเต็งแชมป์อันดับต้นๆ

บางทีจุดอ่อนที่ไม่สามารถพา Seleção Canarinha หรือ Canary Squad (ทีมนกคีรีบูน) ไปถึงฝั่งฝันคือ “ผู้จัดการทีม”เพราะนับตั้งแต่ ลุยซ์ เฟลิเป สโคลารี นำถ้วยฟีฟา เวิลด์ คัพ มาสู่มาตุภูมิ บราซิลใช้ผู้จัดการทีมถึง 11 คน รวมรักษาการ และโดริวัลเป็นคนที่ 12 ในรอบ 22 ปี แม้กระทั่งดึงสโคลารีกลับมาคุมทีมรอบที่ 2 ระหว่างกุมภาพันธ์ 2013 ถึงกรกฎาคม 2014

ผลงานของผู้จัดการทีมระหว่าง 2 ทศวรรษล่าสุดที่นำขุนพลแซมบาสู่สมรภูมิบอลโลกได้แก่ คาร์ลอส อัลแบร์โต เปเรยรารอบ 8 ทีมสุดท้าย ปี 2006 ทั้งที่เคยพาทีมชนะเลิศเวิลด์คัพ 1994, ดุงกา รอบ 8 ทีมสุดท้าย ปี 2010, สโคลารี อันดับ 4ปี 2014 และ ตีเต รอบ 8 ทีมสุดท้าย ปี 2018 และ 2022

จะเห็นได้ว่า ฟุตบอลโลก 5 ครั้งหลังสุด บราซิลตกรอบก่อนรองชนะเลิศถึง 4 ครั้ง และผลงานดีที่สุดคือ อันดับ 4 ซึ่งแพ้เนเธอร์แลนด์ 0-3 ในแมตช์ชิงอันดับ 3

กาเบรียล มาร์กอตติ นักข่าวอาวุโสของ ESPN FC เขียนบทวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจถึงสาเหตุว่า ทำไมผู้จัดการทีมชาวบราซิลไม่ประสบความสำเร็จเทียบเท่านักฟุตบอลบราซิล

สโมสรลีกบิ๊ก 5 ยุโรปเมินโค้ชอินพอร์ตจากบราซิล

มาร์กอตติเริ่มต้นด้วยการอธิบายให้เห็นภาพใหญ่ของโค้ชบราซิล … ตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติบราซิลเป็นงานโค้ชงานที่ 26 ของโดริวัลภายในเวลา 22 ปี คิดเป็นค่าเฉลี่ยทำงานแต่ละแห่งไม่ถึง 1 ปีเต็ม แต่โดริวัลก็ไม่ได้แปลกแยกไปจากเพื่อนร่วมชาติที่ทำงานอาชีพโค้ชฟุตบอล

ดินิซ ซึ่งคุมทีมฟลูมิเนนเซก่อนเข้ารักษาการผู้จัดการทีมชาติบราซิลในเดือนกรกฎาคม 2023 ก็ทำงาน 17 แห่งในช่วง 13ปี ขณะที่กุนซือคนก่อนหน้า เมเนเซส ทำงาน 11 แห่งในช่วง 10 ปี แม้กระทั่งตีเต ซึ่งนำทัพ Seleção Canarinha สู่เวิลด์คัพ 2 สมัย เป็นโค้ชทีมชาติบราซิลที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 6 ปี 3 เดือน ก็ยังคุมทีม 17 แห่งในช่วง 25 ปี ก่อนได้รับสัญญาจากสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิล

แน่นอน สมาพันธ์ฯย่อมมองหาตัวเลือกที่ดีที่สุดเพื่อคุมทีมชาติบราซิลที่มีเกียรติประวัติอดีตแชมป์โลก 5 สมัย แต่บางทีอาจเป็น best available ณ ช่วงเวลานั้นที่อยู่ระหว่างคำว่า good กับ great เพราะข้อจำกัดคือ โค้ชดีๆมักติดอยู่กับงานที่กำลังทำ สโมสรจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาโค้ชคนนั้นไว้ ถึงไม่ได้คุมทีมชาติและถูกต้นสังกัดไล่ออกในเวลาต่อมา โค้ชบราซิลไม่ลำบากที่จะหางานใหม่ในระดับใกล้เคียงกัน

วงจรชีวิตของโค้ชบราซิลแตกต่างจากยุโรป การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติ อย่างโดริวัล ระยะคุมทีมนานที่สุดคือไม่ถึง 2 ปีที่ซานโตส ระหว่างกรกฎาคม 2015 ถึงมิถุนายน 2017 เขาเข้ามารับงานกลางฤดูกาล พาซานโตสขึ้นอันดับ 7 และจบอันดับ 3 ในปีต่อมา ก่อนโดนปลดฟ้าผ่าหลังปี 2017 เล่นไปได้เพียง 4 นัด นั่นเป็น 1 จาก 2 ครั้งที่โดริวัลทำงานนานกว่า 1 ปี

เห็นได้ชัดว่า วัฒนธรรมของโค้ชบราซิลแตกต่างจากยุโรปและส่วนใหญ่ของโลก ซึ่งเชื่อว่าโค้ชต้องการเวลาสร้างทีม พัฒนานักเตะ และติดตั้งแนวคิดสไตล์การเล่น แต่โค้ชในเมืองกาแฟไม่ได้มีประสบการณ์เช่นนั้น และถูกมองว่าคงไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมทำทีมในยุโรป

ดังนั้นโค้ชบราซิลน้อยรายมากที่ทำงานใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป สโคลารีไม่ประสบความสำเร็จกับเชลซีในซีซัน 2008-09, วานเดอร์ไล ลักเซมบูร์โก คุมทีมเรอัล มาดริด ไม่ถึง 12 เดือนเมื่อปี 2005, ริคาร์โด โกเมซ มีช่วงเวลาไม่นานนักที่บอร์กโดซ์และโมนาโก, เลโอนาร์โด โค้ชให้กับเอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน ระหว่างปี 2009 ถึง 2011 และติอาโก มอตตา คุมทีมโบโลญญาตั้งแต่กันยายน 2022 ถึงปัจจุบัน

ในโปรไฟล์ต้องใส่เครื่องหมายดอกจันไว้หลังชื่อนั้นๆ สโคลารีได้รับความสนใจจากยุโรปหลังพาบราซิลชนะเลิศเวิลด์คัพ 2002 เริ่มจากสมาคมฟุตบอลโปรตุเกสตามด้วยเชลซี, เลโอนาร์โดเบนเข็มทิศไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการหลังทำหน้าที่โค้ชเพียง 2 ปี, มอตตาเล่นให้บาร์เซโลนาขณะอายุ 17 และประสบความสำเร็จกับอาชีพค้าแข้งในสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เคยเล่นให้ทีมชาติอิตาลี และได้รับโค้ชไลเซนซ์ที่ยุโรป

ดูแล้วเป็นเรื่องไม่สมเหตุผลในแง่ความกว้างใหญ่มหาศาลของบราซิล เพียงภาคเหนือก็มีประชากรกว่า 200 ล้านคน มากกว่า 4 ประเทศอดีตแชมป์โลกรวมกันคือ เยอรมนี อาร์เจนตินา อิตาลี และอุรุกวัย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บราซิลผลิตนักฟุตบอลเพื่อส่งออกได้มากมาย จากการศึกษาพบว่ามีนักฟุตบอล 14,405 คนที่เล่นอยู่ในลีกนอกประเทศบ้านเกิดของตัวเอง 135 ลีกทั่วโลก ซึ่งจำนวน 1,289 คนมาจากบราซิล เป็นส่วนสัด 1 ต่อ 11 ทีเดียว

เป็นใครอาจสันนิษฐานต่อว่า ในเมื่อเป็นประเทศที่ผลิตนักเตะเปี่ยมพรสวรรค์ได้มากผ่านองค์ความรู้และประเพณี บราซิลจึงควรผลิตโค้ชระดับท็อปได้มากเช่นกัน ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นตรรกะที่ผิด

และจากการที่นักข่าวอาวุโสของ ESPN FC ได้พูดคุยกับนักข่าว ผู้บริหาร เอเยนต์ และโค้ชที่เคยทำงานในบราซิล ได้พบความจริงคือ ฟุตบอลบราซิลเป็นโลกที่แตกต่าง และไม่ได้สัมพันธ์เพียงยุโรปแต่รวมถึงชาติอื่นในทวีปอเมริกาใต้ด้วย โดยมีหลายตัวแปรที่ทำให้โค้ชบราซิลไม่ได้รับการยกย่องเหมือนนักฟุตบอลร่วมชาติ

แนวคิด “จ้างแล้วไล่ออก” เหนี่ยวรั้งพัฒนาการของโค้ชบราซิล

ข้อสำคัญคือ สโมสรบราซิลมีแนวคิด “hire-and-fire” หรือ “จ้างแล้วไล่ออก” เนื่องจากหมกหมุ่นอยู่กับผลลัพธ์ระยะสั้น ตัวอย่างเห็นได้ชัดจากโดริวัล สโมสรสามารถปลดโค้ชออกหลังผลแข่งแย่ไม่กี่นัด บ่อยครั้งสโมสรจึงเซ็นสัญญาแค่ระยะสั้น แม้มีข้อดีเอื้อต่อสภาพคล่องในการปรับเปลี่ยน แต่ถ้าโค้ชเกิดทำผลงานได้ดี ก็อาจถูกสโมสรอื่นแย่งตัวไปง่ายเช่นกัน

เบื้องหลังแนวคิด “จ้างแล้วไล่ออก” มาจากทีมส่วนใหญ่ในบราซิลใช้ระบบเลือกตั้งประธานสโมสรและบอร์ดบริหาร (ต่างกับยุโรปที่กลุ่มหรือบริษัทเจ้าของพิจารณาแต่งตั้งเอง) จึงต้องอาศัยคะแนนนิยมจากแฟนบอล ผลแข่งขันย่ำแย่ไม่กี่นัดสามารถดึงเสียงโหวตไปให้กับคู่แข่งขัน แม้บราซิลออกกฎหมายใหม่เมื่อปี 2021 เปิดประตูให้แหล่งเงินทุนต่างประเทศเข้ามาครอบครองสโมสร แต่ยังมีจำนวนน้อยนิดได้แก่ วาสโก ดา กามา, โบตาโฟโก, มิไนโร และครูไซโร

ขอบคุณภาพจาก  https://en.as.com/en/2017/12/15/soccer/1513337545_179071.html

ขอบคุณภาพจาก  https://en.as.com/en/2017/12/15/soccer/1513337545_179071.html

เทียบกับสโมสรยุโรปที่เจ้าของทีมคือเจ้าของเงินลงทุน จึงอาจอดทนกับโค้ชได้นานเพราะการไล่ออกหมายถึงเสียค่าชดเชยหรือต้องจ่ายค่าจ้างต่อทั้งที่มีโค้ชใหม่เข้ามาทำงานแทน แต่ที่บราซิล ประธานสโมสรและบอร์ดบริหาร ซึ่งได้รับเลือกจากฐานแฟนบอล ไม่ได้ใช้เงินตัวเองในการทำทีมฟุตบอล พวกเขาเป็นเพียงบุคลากรที่ถูกว่าจ้างและบริหารทีมฟุตบอลด้วยทรัพย์สินของสโมสร

แนวคิด “จ้างแล้วไล่ออก” ที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกของคะแนนเสียง สามารถสะท้อนผ่านตัวอย่างของเรนาโต เกาโช ซึ่งเข้าๆออกๆตำแหน่งโค้ชของเกรมิโอเป็นรอบที่ 4 ขณะนี้ และยังมีอีก 4 รอบที่ฟลูมิเนนเซ แม้กระทั่ง 1 ครั้งกับฟลาเมงโก ทีมคู่อริของฟลูมิเนนเซ ส่วนโดริวัลก็คุมทีมฟลาเมงโก 3 รอบ และเซา เปาโล กับซานโตส ทีมละ 2 รอบ เป็นความแตกต่างชัดเจนเทียบกับวงจรชีวิตโค้ชในยุโรป

ในเมื่ออาชีพไม่มีความมั่นคง จึงไม่มีเหตุผลเลยที่โค้ชต้องเสี่ยงกับวิสัยทัศน์สร้างทีมระยะยาว ทำไมต้องทำเมื่อผลแย่ๆไม่กี่นัดสามารถส่งให้ตกงาน การใส่ไอเดียใหม่ๆและพัฒนานักเตะหนุ่มๆล้วนต้องอาศัยเวลาที่ไม่เคยมีสำหรับโค้ชบราซิล ซึ่งคนอื่นไม่สามารถตัดสินว่าผิดหรือถูกเพราะเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนยุโรป ซึ่งเอื้อให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์กับงานแทคติกและนวัตกรรมมากกว่า

ไลเซนส์-ภาษา-เหยียดเชื้อชาติ เป็นอุปสรรคขวางในทวีปยุโรป

นอกเหนือลักษณะโครงสร้างการบริหารของสโมสรบราซิล ยังมีตัวแปรเล็กๆน้อยๆที่มีผลต่อพัฒนาของผู้มีอาชีพโค้ช

เริ่มจากค่านิยมของยุโรปที่มีต่อโค้ชอิมพอร์ตจากเมืองกาแฟ สโมสรที่เล่นในแชมเปียนส์ ลีก ไม่สนใจว่าจ้างโค้ชบราซิลแล้ว (อาจยกเว้นหากบราซิลชนะเลิศเวิลด์คัพ 2026) โค้ชที่มีรีซูเมกับทีมระดับบิ๊กในบราซิลอาจได้งานจากสโมสรกลางตารางค่อนไปทางด้านล่างของลีกบิ๊ก 5 ยุโรป (ถ้าพาทีมรอดตกชั้นได้ อาจมีสโมสรที่ใหญ่ขึ้นหันมามอง)

ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าโค้ชบราซิลออกจากบ้านเกิด พวกเขามีโอกาสมากกว่าที่ตะวันออกกลางหรือเอเชียเช่น สโคลารี ซึ่งเพิ่งอำลามิไนโร สถานที่ทำงานแห่งที่ 31 ในรอบ 42 ปี เคยคุมทีมในซาอุดิ อาระเบีย, คูเวต, ญี่ปุ่น, อุซเบกีสถาน และจีน

สโมสรยุโรปไม่ยอมรับไลเซนส์ที่ออกในบราซิล โค้ชที่ได้รับการพิจารณาจึงมักมีความสำเร็จให้จับต้องได้ระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นช่วงเล่นฟุตบอลก็ได้ดังตัวอย่างที่ยกข้างต้น แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่โค้ชหนุ่มไฟแรงจากบราซิลจะค่อยๆไต่เต้าจากฐานของโค้ชพีรามิดในยุโรป ดังนั้นโค้ชบราซิลบางส่วนจึงเดินทางไปร่ำเรียนโค้ชคอร์สในต่างประเทศ อาร์เจนตินาเป็นตัวเลือกหนึ่ง บางคนอาจเป็นโค้ชหลังเลิกเล่นฟุตบอลในยุโรป

ภาษาเป็นอุปสรรคหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เชื่อ โปรตุกีสเป็นภาษาหลักที่ใช้ในบราซิล เชื่อหรือไม่โค้ชบราซิลแทบพูดภาษาอังกฤษหรือสแปนิชไม่ได้เลย เหตุผลคือบราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาต่างชาติ ดังนั้นลำพังหาโค้ชบราซิลที่ผลงานดีๆยังยาก สโมสรยุโรปยิ่งไม่อยากเสียเงินเพิ่มด้วยการจ้างล่าม

โปรตุเกสน่าจะเป็นเป้าหมายที่ดีสำหรับโค้ชบราซิล แต่กลับเป็นนักฟุตบอลที่แห่แหนไปค้าแข้งในลีกแดนฝอยทอง ส่วนโค้ชนั้นแทบนับนิ้วได้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แถมยิ่งเป็นไปได้ยากเพราะตอนนี้โปรตุเกสผลิตโค้ชเก่งๆมากขึ้นเรื่อยๆ 

ปิดท้ายด้วยผลสำรวจจากสโมสร 96 ทีมที่แข่งขันในลีกบิ๊ก 5 ของยุโรป พบว่ามีผู้จัดการทีมที่ไม่ใช่คนยุโรปแค่ 8 คนเท่านั้น จึงแทบไม่มีโอกาสเลยสำหรับโค้ชต่างทวีป และน้อยมากถึงมากที่สุดสำหรับโค้ชบราซิล

3 คนเป็นอดีตนักบอลที่เล่นอย่างยาวนานในยุโรปและไม่เคยออกไปจากพื้นแผ่นดินใหญ่หลังแขวนสตั๊ดได้แก่ ติอาโก มอตตา ของโบโลญญา, เมาริซิโอ โปเชตติโน ของเชลซี และ เปลเลกริโน มาตาราซโซ ของฮอฟเฟนไฮม์, 2 คนเป็นผู้จัดการทีมที่มีผลงานเข้าตาในฟุตบอลโลกได้แก่ อังเก ปอสเตโคกลู ของสเปอร์ส และ ฮาเวียร์ อากีร์เร ของมายอร์กา, อีก 2 คนคือ ดีเอโก ซีเมโอน ของแอตเลติโก มาดริด กับ เมาริซิโอ เปลเลกริโน ของคาดีซ ต่างเคยเล่นในยุโรปเป็นเวลาหลายปีและพิสูจน์ฝีมือคุมทีมในอาร์เจนตินา ก่อนกลับมาใช้ชีวิตในยุโรป ส่วน มานูเอล เปลเลกรินี ของเบตีส เป็นคนเดียวที่ไม่เคยค้าแข้งในยุโรป และไม่เคยคุมทีมชาติหรือกระทั่งสโมสรในลีกบิ๊ก 5 ยุโรป

ปูมประวัติศาสตร์ทีมชาติบราซิล มีผู้จัดการทีมทั้งหมด 84 คน (กลุ่มสตาฟฟ์โค้ชนับเป็น 1 เช่น รูเบน ซัลเลส และซัลวิโอ ลาเกรกา ซึ่งร่วมกันคุมบราซิลเตะแมตช์ทางการนัดแรกในปี 1914 เป็นเกมกระชับมิตรกับสโมสร เอ็กซ์เซเตอร์ ซิตี) พบว่าไม่ใช่ชาวบราซิลเพียง 3 คน คือ รามอน พลาเตโร (อุรุกวัย) ที่คุมทีมกับโจอาคิม กิมาเรส เมื่อปี 1925, โฮเรกา (โปรตุเกส) ที่คุมทีมกับฟลาวิโอ คอสตา เมื่อปี 1944 และ ฟิลโป นูเญซ (อาร์เจนตินา) ซึ่งคุมทีมแค่นัดเดียวในเดือนกันยายน 1965 

แต่ละคนมีช่วงเวลาสั้นมากกับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติบราซิล และนับจากนูเญซนานเกือบ 60 ปีที่สมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลไม่เคยเซ็นสัญญากับโค้ชต่างชาติ แม้กระทั่งความพยายามล่าสุดที่จะปฏิวัติครั้งใหญ่ด้วยการดึงกุนซือระดับโลกอย่างอันเซลอตติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Seleção Canarinha ชูถ้วยฟีฟา เวิลด์คัพ สมัยที่ 6 ยังล้มเหลว

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.