Categories
Football Business

เปิดเบื้องหลังชื่อสนามเหย้า 20 ทีมลาลีกา 2022/23

เหตุผลของการตั้งชื่อสนามฟุตบอลของแต่ละสโมสรนั้น ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะมาจากชื่อสถานที่ตั้ง, ชื่อบุคคลสำคัญ หรือมีเหตุผลอื่นๆ ที่แปลกประหลาด ทำเอาหลายคนคาดไม่ถึง

อย่างเช่นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บาร์เซโลน่า และอัลเมเรีย ได้เปลี่ยนแปลงชื่อสนามแข่งขัน เพื่อต้อนรับการแข่งขันลาลีกา 2022/23 ที่กำลังจะเริ่มขึ้น ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

สังเวียนแข้งของบาร์ซ่า เปลี่ยนชื่อเป็น “สปอติฟาย คัมป์ นู” ส่วนชื่อรังเหย้าใหม่ของอัลเมเรีย คือ “เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม” ซึ่งทั้ง 2 สโมสร ต่างเปลี่ยนชื่อด้วยเหตุผลเดียวกันคือเรื่อง “ธุรกิจ”

ลาลีกา ได้นำเรื่องราวเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่ของชื่อสนามเหย้าทั้ง 20 สโมสร ในการแข่งขันซีซั่นใหม่มาฝากกัน เพื่อเป็นเกร็ดความรู้สำหรับแฟน ๆ ลูกหนังลีกสเปน

Descripcion de la juada

อัลเมเรีย – เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม

สนามเหย้าของอัลเมเรีย เดิมมีชื่อว่า “เอสตาดิโอ เด ลอส ฆูเอกอส เมดิเตร์ราเนออส” สร้างขึ้นเมื่อปี 2004 เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติในปีต่อมา และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 เป็นต้นไป ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม” โดยมาจากชื่อของ “Power Horse” แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังจากประเทศออสเตรีย

แอธเลติก บิลเบา – ซาน มาเมส

“ซาน มาเมส” สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1913 ก่อนทุบทิ้งในปี 2010 จากนั้นได้สร้างสนามใหม่ทดแทน และเปิดใช้งานในปี 2013 หรือ 100 ปี หลังจากสร้างสนามแห่งแรก สำหรับชื่อของ “ซาน มาเมส” นั้น มีที่มาจากชื่อของ San Mamés (Saint Mammes) ซึ่งเป็นนักบุญไบแซนไทน์ และเป็นชื่อของโบสถ์ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสนามเหย้าของบิลเบา

แอตเลติโก มาดริด – เอสตาดิโอ เมโทรโปลิตาโน่

“เอสตาดิโอ เมโทรโปลิตาโน่” สร้างขึ้นเมื่อปี 1990 แต่ได้ถูกใช้เป็นสนามเหย้าของแอต. มาดริด มาตั้งแต่ปี 2017 แทนที่ บิเซนเต้ กัลเดร่อน รังเหย้าแห่งเดิม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ว่านต๋า เมโทรโปลิตาโน่” ตามชื่อของ Wanda กลุ่มทุนจากประเทศจีนที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ส่วนชื่อ “Metropolitano” คือชื่อสนามเหย้าแห่งแรกของสโมสร

บาร์เซโลน่า – สปอติฟาย คัมป์ นู

นี่คือครั้งแรกในรอบ 65 ปี ที่บาร์เซโลน่า ได้มีการเปลี่ยนชื่อสนามเหย้าจาก “คัมป์ นู” มาเป็น “สปอติฟาย คัมป์ นู” โดยชื่อ สปอติฟาย (Spotify) มาจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชื่อดังของประเทศสวีเดน ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ใหม่ให้กับสโมสร เพื่อนำเงินทุนไปดำเนินโครงการ Espai Barca ในการปรับปรุงสนามเหย้า และพื้นที่โดยรอบ

เรอัล เบติส – เอสตาดิโอ เบนิโต บียามาริน

ชื่อสนามเหย้าของเบติส มาจากชื่อของ “เบนิโต บียามาริน” อดีตประธานสโมสรที่ดำรงตำแหน่งในช่วงระหว่างปี 1955 – 1965 และเคยเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอสตาดิโอ มานูเอล รุยซ์ เด โลเปร่า” ตามชื่อของมานูเอล รุยซ์ เด โลเปร่า ที่เข้ามาเป็นประธานสโมสรในช่วงปี 1997 – 2010 แต่ในภายหลัง แฟนบอลของสโมสรได้ลงมติโหวตให้กลับไปใช้ชื่อเดิมอีกครั้ง

กาดิซ – เอสตาดิโอ นูเอโบ มิรันดิลย่า

เดิมมีชื่อว่า “เอสตาดิโอ ราม่อน เด การ์รันซ่า” เป็นชื่อของอดีตนายกเทศมนตรีเมืองกาดิซ ก่อนที่ในปี 2021 แฟนบอลของสโมสร ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนชื่อสนามเหย้าใหม่ ผลปรากฏว่า ชื่อที่ได้รับการโหวตมากที่สุด คือ “เอสตาดิโอ นูเอโบ มิรันดิลย่า” ซึ่งมาจาก “Mirandilla” ชื่อสโมสรในอดีต ก่อนเปลี่ยนเป็นกาดิซในปัจจุบัน

เซลต้า บีโก้ – อาบังก้า บาลาอิโดส

สนามเหย้าของเซลต้า บีโก้ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลากาเรส (Lagares) สร้างขึ้นเมื่อปี 1924 โดยบริษัท Stadium de Balaídos ซึ่งกลายมาเป็นชื่อสนามของสโมสรในเวลาต่อมา จนกระทั่งในปี 2018 ABANCA สถาบันการเงินของประเทศสเปน ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ทำให้ชื่อสนามในปัจจุบัน มีชื่อว่า “อาบังก้า บาลาอิโดส”

เอลเช่ – เอสตาดิโอ มาร์ติเนซ บาเยโร่

สนาม “เอสตาดิโอ มาร์ติเนซ บาเยโร่” มาจากชื่อของ มานูเอล มาร์ติเนซ บาเยโร่ อดีตประธานสโมสรเอลเช่ (ผู้ล่วงลับ) สร้างขึ้นในปี 1976 และถูกใช้ในการแข่งขันรายการใหญ่อย่างฟุตบอลโลก 1982 มาแล้ว นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกจากแฟนฟุตบอลลาลีกา ให้รับรางวัลสนามฟุตบอลที่ดีที่สุด ในฤดูกาล 2013/14

เอสปันญ่อล – อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม

สร้างขึ้นเมื่อปี 2009 เริ่มแรกใช้ชื่อว่า “เอสตาดี้ คอร์เนลล่า-เอล ปราต” เนื่องจากที่ตั้งของสนาม อยู่ระหว่างย่าน Cornellà  กับ El Prat ต่อมาเปลี่ยนเป็น “พาวเวอร์ เอท สเตเดี้ยม” (Power8 Stadium) จนกระทั่งในปี 2016 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม” ซึ่งมาจากตัวอักษร 4 ตัวแรกของชื่อสโมสร “RCD Espanyol”

เกตาเฟ่ – โคลิเซียม อัลฟอนโซ เปเรซ

สนาม “โคลิเซียม อัลฟอนโซ เปเรซ” มาจากชื่อของ อัลฟอนโซ เปเรซ อดีตกองหน้าทีมชาติสเปน ยุค 1990s ที่เกิด และเติบโตในย่านเกตาเฟ่ ชานกรุงมาดริด เขาเริ่มต้นจากการเป็นนักเตะเยาวชนของเกตาเฟ่ ต่อมาได้ลงเล่นกับทีมชุดใหญ่ของเรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า และเรอัล เบติส แต่ไม่เคยลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ของเกตาเฟ่เลยแม้แต่นัดเดียว

กิโรน่า – เอสตาดี้ มอนตีลีบี้

ที่ตั้งของสนาม อยู่ที่ย่าน Montilivi ในเมืองกิโรน่า ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นคาตาลัน และได้กลายมาเป็นชื่อสนาม “เอสตาดี้ มอนตีลีบี้” ในเวลาต่อมา สร้างขึ้นเมื่อปี 1968 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา สโมสรกิโรน่าได้ย้ายมาใช้สนามแห่งนี้ เป็นรังเหย้า แทนที่สนาม “เอสตาดิโอ วิสต้า อัลเอเกร” ที่ใช้งานมาเกือบ 50 ปี

เรอัล มายอร์ก้า – บิซิต มายอร์ก้า เอสตาดี้

สนามแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี 1999 เพื่อใช้จัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ที่ประเทศสเปน ภายใต้ชื่อ “เอสตาดิโอ เด ซอน โมอิกซ์” ก่อนที่สโมสรฟุตบอลเรอัล มายอร์ก้า จะมารับช่วงต่อ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 จึงมีการเปลี่ยนชื่อสนามเป็น “บิซิต มายอร์ก้า เอสตาดี้” โดยความร่วมมือของสภาเมืองมายอร์ก้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

เรอัล มาดริด – เอสตาดิโอ ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว

“ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว” เป็นชื่อของอดีตผู้เล่น, อดีตผู้จัดการทีม และอดีตประธานสโมสรของเรอัล มาดริด ความสำเร็จในยุคที่เขาเป็นประธานสโมสรตั้งแต่ปี 1943 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1978 คือแชมป์ลาลีกา 16 สมัย และแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 6 สมัย โดยชื่อของเขาได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสนามเหย้าของสโมสร ตั้งแต่ปี 1955 เป็นต้นมา

โอซาซูน่า – เอล ซาดาร์

สนาม “เอล ซาดาร์” ของโอซาซูน่า มาจากชื่อของแม่น้ำ “Sadar” ที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งของสโมสร แต่ในช่วงระหว่างปี 2005 – 2011 เคยถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เรย์โน เด นาวาร์ร่า” (Reyno de Navarra) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นนาวาร์ (Navarre) ดินแดนปกครองตนเองที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศสเปน

ราโย บาเยกาโน่ – เอสตาดิโอ เด บัลเยกาส

ชื่อสนามเหย้าของราโย บาเยกาโน่ มาจากชื่อ “Vallecas” ซึ่งเป็นย่านที่อยู่ในกรุงมาดริด สร้างขึ้นเมื่อปี 1972 และเคยเป็นสถานที่ที่ใช้จัดแสดงคอนเสิร์ตของวง Queen วงดนตรีร็อกชื่อดังจากอังกฤษ ในปี 1986 อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 สนามแห่งนี้เคยถูกระงับไม่ให้ใช้งานเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย

เรอัล โซเซียดัด – เรอาเล่ อารีน่า

ชื่อเดิมคือ “เอสตาดิโอ เด อาโนเอต้า” สร้างขึ้นเมื่อปี 1993 หลังจากทุบทิ้งสนามเหย้าเก่า ที่ใช้งานมานานกว่า 80 ปี จนกระทั่งในปี 2019 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เรอาเล่ อารีน่า” ซึ่งมาจากชื่อของ เรอาเล่ เซกูรอส (Reale Seguros) บริษัทประกันภัยของสเปน ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับโซเซียดัด

เซบีย่า – เอสตาดิโอ รามอน ซานเชซ ปิซฆวน

สนามแห่งนี้ มีที่มาจากชื่อของ “รามอน ซานเชซ ปิซฆวน” อดีตประธานสโมสรเซบีย่า ที่ดำรงตำแหน่งถึง 2 รอบ รอบแรกช่วงปี 1932 – 1941 และอีกรอบในปี 1948 – 1956 สนามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1958 หรือ 2 ปีหลังจากรามอน ซานเชซ ปิซฆวน เสียชีวิต และได้นำชื่อของเขามาตั้งเป็นชื่อสนามเหย้า เพื่อเป็นเกียรติให้กับเขา

บาเลนเซีย – เมสตาย่า

ชื่อรังเหย้าของบาเลนเซีย มาจากชื่อคลองเมสตาย่า (Mestalla) ที่ติดอยู่ทางด้านทิศใต้ของสนาม ในสมัยก่อนแฟนบอลต้องกระโดดข้ามคลองเพื่อไปที่สนาม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หลยุส์ คาสโนว่า” ตามชื่อของประธานสโมสรที่เข้ามาบริหารในช่วงปี 1969 ถึง 1994 แต่หลังจากนั้นก็กลับไปใช้ชื่อ “เมสตาย่า” ตามเดิม

เรอัล บายาโดลิด – เอสตาดิโอ โฆเซ่ โซรีย่า

ชื่อสนามเหย้าของเรอัล บายาโดลิด มาจากชื่อของ โฆเซ่ โซรีย่า อี โมรัล (José Zorrilla y Moral) กวีชาวเมืองบายาโดลิด ผู้มีผลงานการประพันธ์ไว้มากมาย จนได้รับรางวัลระดับประเทศ และเหรียญเชิดชูเกียรติในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา สนามแห่งนี้ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสังเวียนจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 1982 ที่สเปนเป็นเจ้าภาพ

บียาร์เรอัล – เอสตาดิโอ เด ลา เซรามิก้า

เดิมใช้ชื่อว่า “เอล มาดริกัล” และในปี 2017 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอสตาดิโอ เด ลา เซรามิก้า” สำหรับชื่อสนามในปัจจุบัน มีที่มาจากอุตสาหกรรมเซรามิค ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของท้องถิ่น รวมทั้งสนามเหย้าของบียาร์เรอัล ถูกตกแต่งด้วยเซรามิคสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ดูโดดเด่นสะดุดตาอีกด้วย

บริบทของฟุตบอล ไม่ได้มีเพียงแค่การแข่งขันในสนามเท่านั้น แต่ผูกติดกับประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนถึงตัวตนของสโมสรนั้นๆ ด้วย นี่คือสิ่งที่แฟนฟุตบอลต้องรู้จัก และเข้าใจความเป็นท้องถิ่นให้มากขึ้น