Categories
Football Business

พรี-ซีซั่น 2022 : เรื่องเงินๆ ทองๆ ของยักษ์ใหญ่ลีกยุโรป

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลามากว่า 2 ปี ทำให้สโมสรฟุตบอลชั้นนำจากยุโรป ต้องงดการเดินทางไปเตะอุ่นเครื่อง “พรี-ซีซั่น” ที่ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นตามลำดับ ดูเหมือนว่าบรรดาทีมลูกหนังยักษ์ใหญ่ ต่างมีแผนที่จะกลับมาเตะอุ่นเครื่องนอกยุโรป เพื่อหวังชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งการตะลอนทัวร์เพื่อเตะอุ่นเครื่องในปีนี้ มีเกม “บิ๊กแมตช์” ระดับโลก เกิดขึ้นถึง 2 แมตช์ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือศึก “แดงเดือด” ในประเทศไทย กับ “เอล กลาซิโก้” ที่สหรัฐอเมริกา

เกมพรี-ซีซั่นในต่างแดนของลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า หรืออื่น ๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อย่างไร วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เปิดตำนาน “แดงเดือด” นอกเมืองผู้ดี

ลิเวอร์พูล กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ว่าจะเจอกันที่ไหน ถือว่าเป็นแมตช์ที่ยิ่งใหญ่ สมกับเป็นคู่ปรับที่แย่งชิงความสำเร็จมาตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ 2 ทีมคู่ปรับตลอดกาล เคยพบกันนอกเกาะอังกฤษมาแล้ว 3 ครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 1983 ในเกมอุ่นเครื่อง “เทสติโมเนียล แมตช์” ให้บิลลี่ เดรนแนน เลขาธิการสมาคมฟุตบอลไอร์แลนด์ โดยจัดแข่งที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายชนะ 4 – 3

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2014 ในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพหรือ “ไอซีซี คัพ” ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศ ปิศาจแดง เอาชนะได้อีกครั้ง ด้วยสกอร์ 3 – 1

ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในปี 2018 ในรายการไอซีซี คัพ เช่นเดียวกัน ที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางผู้ชมกว่า 1 แสนคน คราวนี้เป็นฝ่ายหงส์แดง ที่ล้างแค้นได้สำเร็จ เอาชนะไป 4 – 1

สำหรับเกมพรี-ซีซั่น “แดงเดือด” ครั้งที่ 4 ศึกอุ่นเครื่องรายการพิเศษ “เดอะ แมตช์ แบงค็อก เซ็นจูรี่ คัพ 2022” ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เป็นการพบกันนอกเมืองผู้ดีครั้งแรกในประเทศไทย และทวีปเอเชีย

และหลังจากจบแมตช์ที่กรุงเทพมหานคร ลิเวอร์พูลจะเดินทางต่อไปที่สิงคโปร์, เยอรมัน และออสเตรีย ขณะที่ยูไนเต็ด จะไปต่อที่ออสเตรเลีย และนอร์เวย์ ก่อนที่จะกลับสู่ประเทศอังกฤษ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/manchesterunited

ย้อนรอย “เอล กลาซิโก้” ในต่างแดน

ทางด้านเรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า 2 ทีมยักษ์ใหญ่ของ ลาลีกา สเปน ก็เคยมีประวัติศาสตร์การพบกันในเกมอุ่นเครื่อง “พรี-ซีซั่น” นอกแดนกระทิงดุมาแล้ว 3 ครั้ง เท่ากับศึกแดงเดือดนอกอังกฤษ

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 1982 ในรายการพิเศษ “เวเนซูเอล่า คัพ” อุ่นเครื่องก่อนฟุตบอลโลก ที่ประเทศเวเนซูเอล่า รอบชิงอันดับ 3 เรอัล มาดริด เอาชนะไป 1 – 0 จากประตูชัยของบิเซนเต้ เดล บอสเก้

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2017 ในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพหรือ “ไอซีซี คัพ” ที่สนามฮาร์ด ร็อก สเตเดี้ยม รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เป็นบาร์เซโลน่า ที่เอาชนะด้วยสกอร์ 3 – 2

ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในรายการ “สแปนิช ซูเปอร์ คัพ” ที่ประเทศซาอุดีอารเบีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการพบกันในแมตช์อย่างเป็นทางการ ที่จัดขึ้นนอกประเทศสเปนอีกด้วย

เกมในรอบรองชนะเลิศ ที่สนามคิง ฟาฮัด อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดี้ยม ในกรุงริยาดห์ ผลปรากฏว่า “ราชันชุดขาว” ชนะ “เจ้าบุญทุ่ม” 3 – 2 หลังต่อเวลาพิเศษ เฟเดริโก้ บัลเบร์เด้ เป็นผู้ยิงประตูชัยในเกมนี้

และในครั้งที่ 4 ของ “เอล กลาซิโก้” นอกแผ่นดินสเปน จะมีขึ้นที่สนามแอลลีเจียนท์ สเตเดี้ยม ในลาส เวกัส สหรัฐอเมริกา วันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นการกลับมาอุ่นเครื่องที่อเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

EL CLÁSICO 2017 at Santiago Bernabéu
ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/fcbarcelona

ทีมบอลยุโรปได้อะไรจาก “พรี-ซีซั่น”

การเดินทางมาเตะอุ่นเครื่องในต่างประเทศ เป็นวิธีหนึ่งในการทำเงิน เพราะนอกจากจะได้ค่าจ้างแล้ว ยังได้ขยายฐานแฟนบอล ทำให้สโมสรเป็นที่รู้จักมากขึ้น ชนิดที่ไม่ต้องประเมินเลยว่าคุ้มค่าหรือไม่

เท่านั้นยังไม่พอ ได้สายสัมพันธ์กับบริษัทระดับชั้นนำในประเทศนั้น ๆ และมีโอกาสได้มาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรในอนาคตเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุผลเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทั้งสิ้น

หลายทีมในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะเน้นเไปที่ทวีปเอเชีย ส่วน 2 ยักษ์ใหญ่ลาลีกา สเปน อย่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า จะเน้นเจาะตลาดที่สหรัฐอเมริกา ผ่านรายการอุ่นเครื่องไอซีซี คัพ (ปัจจุบันยกเลิกแล้ว)

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือเกมอุ่นเครื่องไอซีซี คัพ เมื่อปี 2014 ระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับเรอัล มาดริด ที่มิชิแกน สเตเดี้ยม สร้างสถิติมีผู้เข้าชมการแข่งขันสูงสุดถึง 109,138 คน

แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด และยักษ์ใหญ่บางทีมในยุโรป ได้ค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 2 ล้านปอนด์ ต่อการจัดแข่งขันฟุตบอลพรี-ซีซั่นในต่างประเทศ 1 นัด

แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา ทั่วโลกมีข้อจำกัดในด้านการเดินทางข้ามประเทศ ทำให้ไม่สามารถจัดเกมพรี-ซีซั่นในต่างแดนได้ ส่งผลกระทบกับทีมฟุตบอลที่ต้องสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไป

มีรายงานว่า แมนฯ ยูไนเต็ด มีรายได้ในรอบปัญชีปี 2020-2021 (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2021) ลดลงเกือบ 50 ล้านปอนด์ จาก 279 ล้านปอนด์ เหลือ 232.2 ล้านปอนด์ จากผลกระทบโควิด-19

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สโมสรฟุตบอลในปัจจุบัน เป็น “ธุรกิจ” เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ ที่พร้อมจะหาเงินทุกทางที่สามารถทำได้ เพื่อนำผลประโยชน์เข้าสู่สโมสรให้ได้มากที่สุด

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/fcbarcelona

และมุมคนจ่ายสตางค์ คุ้มค่าแค่ไหน ?

การเชิญสโมสรฟุตบอลชื่อดังของยุโรป มาเตะอุ่นเครื่องในประเทศของตัวเอง ผู้ที่จ่ายเงินเป็นลำดับแรก คือ “เจ้าภาพจัดการแข่งขัน” ซึ่งต้องมีทุนหนามากพอในการจ้างทีมเหล่านี้มาแข่งขัน

กรณีของลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มาเตะอุ่นเครื่องในไทย แน่นอนว่า การจ้าง 2 สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ต้องใช้เงินมหาศาล แต่ก็มีการหารายได้มาจากเงินที่เสียไปเช่นเดียวกัน

ซึ่งคุณวินิจ เลิศรัตนชัย ในฐานะผู้จัด “แมตช์แห่งศตวรรษ” ก็ไม่ได้คาดหวังว่าการลงทุนในครั้งนี้จะต้องคืนทุน แต่ที่แน่ ๆ ขื่อของผู้บริหารเฟรชแอร์ เฟสติวัล ได้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ “แฟนบอล” ในฐานะลูกค้าคนสำคัญ ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินแบบไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะรู้ดีว่าโอกาสที่จะได้ดูทีมที่ตัวเองรัก นักเตะที่ตัวเองชอบ แบบไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ คงไม่ได้มีบ่อย ๆ

แต่ก็มีนักเตะระดับบิ๊กเนม หรือซูเปอร์สตาร์บางคน ก็เลือกที่จะไม่เดินทางมากับทีม หรือมาด้วยแต่ไม่ขอลงเล่น เพราะมองว่าการไปอุ่นเครื่องต่างแดน อาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายก่อนเปิดซีซั่นใหม่

ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีนักเตะระดับดาวดังลงสนามในเกมอุ่นเครื่อง แต่ชื่อ “แบรนด์” ของสโมสรระดับโลก ที่มาแข่งขันในประเทศของตัวเอง ยังไงก็ดึงดูดแฟนบอลให้เข้ามาชมแบบเต็มสนามได้ไม่ยาก

ซึ่งราคาบัตรเข้าชมการแข่งขัน แมตช์ “แดงเดือด” ในไทย ต่ำสุด 5,000 บาท สูงสุด 25,000 บาท ส่วนเกม “เอล กลาซิโก้” ที่อเมริกา ต่ำสุด 9,000 บาท สูงสุด 32,400 บาท โดยประมาณ (1 USD = 36 THB)

เกมอุ่นเครื่องพรี-ซีซั่นในต่างประเทศ ทีมฟุตบอลได้ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ส่วนผู้จัดและแฟนบอล ต่างก็คาดหวังว่า การแข่งขันจะมอบความสุขมาให้ โดยที่ไม่ต้องมาคิดเสียดายเงินที่จ่ายไปในภายหลัง

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3392107/2022/07/01/premier-league-preseason-fixture-revenue/

https://www.si.com/soccer/2022/06/10/soccer-champions-tour-real-madrid-barcelona-clasico-las-vegas

https://www.si.com/soccer/2020/07/02/la-liga-north-america-usa-market-tv-deal-barcelona-real-madrid-icc

https://www.sportingfree.com/football/how-much-money-do-clubs-make-during-pre-season/

https://www.totalsportal.com/football/how-much-do-football-clubs-earn-in-the-preseason-tours/

https://www.thenationalnews.com/business/football-s-preseason-season-is-a-major-money-spinner-for-some-1.616477