Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

พรีวิว ลิเวอร์พูล เอฟเอ คัพ ไฟนอล 2022: ย้อนรอยความกล้าหาญ เจอร์รี่ เบิร์น ตำนานฮาร์ดแมน หงส์แดง 117 นาทีไหปลาร้าหัก คว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ สมัยแรกที่เฝ้ารอ 73 ปี

Everybody loves a hardman” ว่ากันว่านักเตะสไตล์ฮาร์ดแมนชนะใจแฟนบอลเสมอ พวกเขาแสดงออกผ่านร่างกาย เล่นบอลเข้าบอลด้วยพลังเกินร้อยไม่หวั่นกระดูกหัก อยู่ในสนามพร้อมสภาพกล้ามเนื้อปูดหนังฉีกเลือดชะโลม วิ่งพล่านประหนึ่งรับยาม้าก่อนคิกออฟ พวกเขาแสดงออกผ่านจิตวิญญาณ ทุ่มเททั้งกายทั้งใจตั้งแต่วินาทีแรก ไม่รู้จักคำว่ายอมแพ้ยกธงขาวจนเสียงนกหวีดสุดท้ายดังขึ้น

แม้วงการลูกหนังคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเตะมากขึ้น แต่บ่อยครั้งที่ยังเห็นนักฟุตบอลฝืนวิ่งในสภาพทั้งที่บาดเจ็บ มีเลือดไหลออกมาจากผ้าที่พันไว้ แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปกว่าครึ่งศตวรรษ ภาพพวกนี้คือความปกติที่เกิดขึ้นบนสนามหญ้าเพราะยุคนั้นมีนักเตะต้องเล่นต่อทั้งที่กระดูกหักหรือร้าวให้เห็นบ่อยครั้ง

ยุคสมัยไร้ผู้เล่นสำรองให้เปลี่ยนตัว

เชื่อหรือไม่ว่าช่วง 11 ปี ระหว่างกลางทศวรรษ 1950 – 1960 มีถึง 5 ครั้งของนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ของอังกฤษ ที่นักเตะอย่างน้อยหนึ่งคนต้องเล่นต่อทั้งที่กระดูกชิ้นใดชิ้นหนึ่งแตกร้าวระหว่างเกม ค่าเฉลี่ยปีเว้นปี สาเหตุเนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีกฎการเปลี่ยนตัวผู้เล่น อีกนัยหนึ่งคือแต่ละทีมต้องใช้ผู้เล่น 11 คนเท่าที่ส่งรายชื่อก่อนเกม ไม่มีผู้เล่นสำรองเพื่อเปลี่ยนตัวระหว่างการแข่งขัน

ฟุตบอลลีกเมืองผู้ดีเพิ่งให้เปลี่ยนนักเตะลงแทนคนที่บาดเจ็บในฤดูกาล 1965-66 คนแรกคือ คีธ พีค็อก ของชาร์ลตัน ที่ลงมาแทนนายทวารร่วมทีมเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 1965 หลังเกมเริ่มไปแค่ 11 นาที 

ขณะที่ เอฟเอ คัพ ออกกฎนี้ตามมาในซีซั่น 1967-68 ทำให้เกิดหนึ่งในเรื่องราวยอดตำนานฮาร์ดแมนขึ้นใน เอฟเอ คัพ รอบชิงชนะเลิศ ปี 1965 ซึ่งเป็นครั้งที่ลิเวอร์พูลครองแชมป์รายการนี้เป็นสมัยแรกในประวัติศาสตร์หลังจากรอคอยยาวนานถึง 73 ปี  โดย เจอร์รี่ เบิร์น แบ็คซ้ายทีมหงส์แดง ต้องฝืนทนความเจ็บปวดอยู่ในสนามเพราะกระดูกไหปลาร้าหักเกือบ 120 นาที แถมเก็บอาการไม่ให้คู่แข่งรู้อีกด้วย 

ขอบคุณภาพจาก : https://www.pinterest.es/pin/496592296409986126/

แชมป์ เอฟเอ คัพ ที่เฝ้ารอคอยถึง 73 ปี

แม้ลิเวอร์พูลกวาดแชมป์ ดิวิชั่น 1 มาแล้ว 6 สมัย รวมถึงซีซั่นก่อนหน้านี้ (1963–64) แต่กับบอลถ้วย (ตอนนั้นยังไม่มีลีกคัพ) พวกเขายังไม่สามารถนำ เอฟเอ คัพ มาประดับตู้โชว์ได้เลยหลังจากทำได้ดีที่สุดเพียงรองแชมป์เมื่อแพ้ เบิร์นลีย์ ปี 1914 และ อาร์เซนอล ปี 1950 ตรงข้ามกับเพื่อนบ้าน เอฟเวอร์ตัน ที่ชนะเลิศมาแล้วในปี 1906 และ 1933 ส่วนลีกสูงสุด ท็อฟฟี่สีน้ำเงินครอบครองแชมป์ในจำนวนเท่ากัน รวมถึงครั้งหลังสุด ฤดูกาล 1962–63 ก่อนเสียตำแหน่งให้ลิเวอร์พูลในซีซั่นถัดมา

ลิเวอร์พูลจึงหมายมั่นปั่นมือกับนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ที่สนามเวมบลีย์ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 1965 เพื่อลดช่องว่างกับคู่อริแห่งเมอร์ซี่ย์ไซด์ แต่คู่แข่งขันคือทีมพลังหนุ่ม ลีดส์ ยูไนเต็ด ของยอดกุนซือ ดอน เรวี่ ที่ฟอร์มกำลังร้อนแรง

มีเกร็ดเล็กน้อยก่อนคิกออฟเมื่อพระราชินีเสด็จมายังสนามเวมบลีย์พร้อมทรงแต่งชุดสีแดง แฟนหงส์แดงพากันตะโกนลั่นสนามว่า “Ee aye addio, the Queen’s wearing red!” (นัดนั้น ลิเวอร์พูลสวมเสื้อแดงกางเกงแดง ลีดส์ใส่ชุดขาวล้วน)

เกมเริ่มไปเพียงสามนาทีก็เกิดเหตุปะทะรุนแรงบริเวณหน้าประตูฝั่งลิเวอร์พูล บ็อบบี้ คอลลินส์ กองกลางที่สูงเพียง 5 ฟุต 3 นิ้ว แต่โดดเด่นด้วยสไตล์ถึงลูกถึงคน ซึ่งเคยเล่นให้เอฟเวอร์ตันระหว่างปี 1958 – 1962 ปราดเข้าแย่งบอล เท้าขวาปะทะหน้าแข้งของ เจอร์รี่ เบิร์น อย่างจัง กรรมการไม่รีรอมอบใบเหลืองให้คอลลินส์

บ็อบ เพรสลีย์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นผู้ช่วยของ บิล แชงคลีย์ ผู้จัดการทีม รีบลงไปดูอาการของไบรน์ที่นอนอยู่บนสนามในสภาพเหมือนไม่บาดเจ็บหนักหนา แต่มุมมองจากข้างสนามของเพรสลีย์ที่ได้รับใบประกาศนักกายภาพบำบัด เขามีลางสังหรณ์ว่า เหตุร้ายเกิดกับแบ็คซ้ายรายนี้แล้ว

กระดูกไหปลาร้าหักตั้งแต่นาทีที่ 3

เพรสลีย์เขียนไว้ในหนังสือ My 50 Golden Reds ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1990 ว่า “ผมรู้ทันทีว่าเกิดเรื่องร้ายแรงกับ เจอร์รี่ เบิร์น แน่นอน ด้วยประสบการณ์หลายปีสอนให้ผมแยกแยะระหว่างผู้เล่นที่นอนบนสนามเพื่อพักกับเพราะบาดเจ็บได้ ทันทีที่เข้าถึงตัวเจอร์รี่ ผมมั่นใจว่าสิ่งที่คิดข้างสนามนั้นถูกต้อง แกร์รี่ไหปลาร้าหัก แต่เขารู้ดีว่าไม่มีทางที่ลิเวอร์พูลจะเอาชนะลีดส์ด้วยผู้เล่นสิบคน”

“ปฏิกิริยาแรกที่ผมควรทำตอนนั้นคือ โบกมือไปที่ข้างสนามเพื่อร้องขอเปลหาม แต่เจอร์รี่มองมาที่ผมด้วยสายตาวิงวอน ‘อย่าบอกใคร’ ผมพูดกลับไปว่า ‘นายรู้ใช่ไหมว่ากระดูกหัก’ แน่นอนแกร์รี่รู้แต่เขายืนยันที่จะเล่นต่อตลอด 87 นาทีที่เหลือ หรืออาจต้องบวกเพิ่มอีกครึ่งชั่วโมงหากเกมต้องต่อเวลา”

“เขาเอ่ยกับผมอย่างท้าทายว่า ‘ผมทำได้แน่’ และเขาก็ทำได้จริงๆ เป็นหนึ่งความห้าวหาญที่ผมประจักษ์ด้วยสายตาตัวเองในเวมบลีย์”

ความลับที่ห้ามฝั่งลีดส์ระแคะระคายเด็ดขาด

“ผมกลับไปนั่งข้างสนามแล้วบอกแชงคลีย์และทุกคนว่า เจอร์รี่กระดูกไหปลาร้าหัก แต่ไม่มีใครเชื่อผมเลยสักคนจนกระทั่งแพทย์ยืนยันนั่นแหละ พวกเขาจึงเชื่อ ส่วนฝั่งทีมลีดส์ ผมสาบานจะเก็บเป็นความลับไม่ให้ใครรู้ทั้งสตาฟฟ์โค้ชหรือนักเตะ เราหลอกพวกเขาด้วยการพูดเอะอะโวยวายเรื่องที่เจอร์รี่โดนอัดหน้าแข้งเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ”

ทางด้านไบรน์กล่าวถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า “ตอนแรกผมห่วงหน้าแข้งมากกว่าเพราะบ็อบบี้ คอลลินส์ เข้าบอลหนักและถลกหนังหน้าแข้งผม ถ้าเป็นสมัยนี้คงเป็นใบแดง ส่วนผมคงโดนหามออกนอกสนามไปแล้ว แต่สมัยนั้นยังไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่น ผมไม่ได้ตระหนักว่าจะเกิดเรื่องเสียหายตามมาอย่างไรแต่ยอมรับว่ามันเจ็บมาก”

“บ็อบ เพรสลีย์ ตรวจอาการผมอีกครั้งช่วงพักครึ่งและยืนยันว่าอะไรเกิดขึ้น ทั้งเขาและบิล แชงคลีย์ ต่างแปลกใจว่าผมทนเล่นต่อได้อย่างไร แต่ผมยืนยันต้องการเล่นต่อ บ็อบเอาสำลีกับเทปมายึดไหปลาร้าแล้วผมก็ลงสนามไปพร้อมกับคนอื่น”

ทำแอสซิสต์ในสภาพไหปลาร้าหัก

ทั้งสองฝ่ายต้องดวลสตั๊ดท่ามกลางฝนและไม่สามารถส่งลูกหนังซุกก้นตาข่ายได้ นั่นหมายความว่าไบรน์ต้องข่มความเจ็บปวดเพิ่มอีก 30 นาที แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อแบ็คซ้ายผู้เติบโตในย่านสกอตแลนด์โร้ดของเมืองลิเวอร์พูลได้บอลจาก วิลลี่ สตีเว่น ก่อนโยนจากฝั่งซ้ายไปให้ โรเจอร์ ฮันท์ ทำสกอร์ขึ้นนำในนาทีที่ 93 ฮันท์ถูกแวดล้อมด้วยทีมเมทที่ร่วมแสดงความยินดีรวมถึงไบรน์ที่โอบกอดด้วยแขนข้างเดียว

เพียงเจ็ดนาทีต่อมา บิลลี่ เบรมเมอร์ ซัดฮาล์ฟวอลเลย์ลูกพุ่งเสียบมุมบนสุดปัญญาที่ ทอมมี่ ลอว์เรนซ์ ป้องกันได้ สกอร์เป็น 1-1 อย่างไรก็ตาม เอียน เซ็นต์จอห์น ปิดโอกาสไม่ให้แมตช์ยืดเยื้อถึงนัดรีเพลย์หลังจากโขกบอลระยะเผาขนเข้าไปในนาทีที่117 ทำให้ลิเวอร์พูลเฉือนชนะลีดส์ 2-1

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

แชงคลีย์ยอมรับว่าแชมป์ เอฟเอ คัพ สมัยแรก เป็นชัยชนะที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตคุมทีมลิเวอร์พูลของเขา และไม่เคยสงสัยเลยที่จะระบุฮีโร่ตัวจริงของเกมนี้

“มันเกิดจากความกล้าหาญของ เจอร์รี่ เบิร์น เขาควรรับเหรียญรางวัลทั้งหมดไปคนเดียว ไม่มีใครอีกแล้วที่จะทำได้แบบเขา หนุ่มคนนี้ต้องเล่นร่วมหนึ่งชั่วโมงครึ่งทั้งที่กระดูกไหปลาร้าหัก”

“เราเห็นตอนพักครึ่งแล้ว กระดูกไหปลาร้าเขาหักชัดเจน แพทย์ประจำทีมพยายามจัดให้มันเข้าที่แต่ไม่สำเร็จ เราทำได้เพียงซ่อนไม่ให้ลีดส์รับรู้ นี่เป็นตัวอย่างของเกมจิตวิทยาที่ช่วยให้เราชนะรายการนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร แกร์รี่คือวีรบุรุษและเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่”

โบกมืออำลาวงการด้วยวัยเพียง 30 ปี

ไบรน์รักษาอาการบาดเจ็บและหายทันลงสนามฤดูกาลต่อมา (1965-66) ซึ่งลิเวอร์พูลจบซีซั่นด้วยแชมป์ ดิวิชั่น 1 สมัยที่สองในรอบสามปี โดยไบรน์มีสถิติลงสนาม 53 นัดรวมทุกรายการ และมีโอกาสโชว์ธาตุทรหดอีกครั้งเมื่อต้องเล่นทั้งที่กระดูกข้อศอกเคลื่อนในการแข่งขัน ยูโรเปี้ยน คัพวินเนอร์ส คัพ รอบรองชนะเลิศ นัดแรก กับ กลาสโกว์ เซลติก ที่สนามปาร์คเฮด

“ผมต้องกลับเข้าห้องพักนักกีฬาเพื่อให้แพทย์ของทีมจับกระดูกแขนให้กลับเข้าที่ มันปวดระยำเลยและผมต้องออกจากสนามก่อนจบเกมสิบนาที แขนของผมดำคล้ำตั้งแต่ข้อมือถึงหัวไหล่ ผมยังจำแชงคลีย์ทำท่าประหลาดใจเมื่อผมบอกว่าพร้อมที่จะเล่นบอลลีกกับสโต๊คในวันเสาร์”

อย่างไรก็ตาม ไบรน์ต้องแขวนสตั๊ดเร็วกว่าวัยอันควรเนื่องจากบาดเจ็บหัวเข่าหลังฟุตบอลโลก 1966 รอบสุดท้าย และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เขาสิ้นสุดอาชีพค้าแข้งในปี 1969 ขณะวัยเพียง 30 ปี เขายอมรับว่าไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้เหมือนปกตินับจากนั้น

ปิดฉากตำนานเจ้าของฉายา The Crunch

ปีต่อมา สโมสรจัดเทสติโมเนียลแมตช์ให้กับเบิร์นเป็นกรณีพิเศษ ทำให้เขาประหลาดใจมากที่ได้รับเกียรติครั้งนี้ “คืนนั้นฝนตกที่แอนฟิลด์ ผมคิดว่าคงไม่มีใครมาแน่ แต่กลับมีแฟนบอลถึง 42,000 คนเข้ามา พวกเขาตะโกนเรียก The Crunch (ฉายาของไบรน์)”

เบิร์นมีโอกาสทำงานในสตาฟฟ์โค้ชที่แอนฟิลด์ระยะหนึ่งก่อนลาออกเนื่องจากเป็นโรคอัลไซเมอร์ เขาเสียชีวิตด้วยวัย 77 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 2015

ขอบคุณภาพจาก : https://www.skysports.com/football/news/11669/10081959/liverpool-legend-gerry-byrne-passes-away-at-the-age-of-77

วันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ลิเวอร์พูล จะลงแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ กับ เชลซี หากทำสำเร็จจะเป็นแชมป์สมัยที่ 8 ของหงส์แดง กับถ้วยใบนี้ที่เคยต้องรอคอยนานถึง 73 ปี กับแมตช์ระดับตำนานของชายที่ชื่อว่า แกร์รี่ ไบรน์ ผู้ไม่เพียงกัดฟันต่อสู้ในสภาพกระดูกไหปลาร้าหักเกือบ 120 นาที แต่ยังเป็นคนทำแอสซิสต์ประตูนำร่องให้กับลิเวอร์พูลด้วย

อ้างอิง : https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/never-nutmeg-him-think-you-23794612

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.