Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

ความลับที่ไม่ลับ : ฟุตบอลอังกฤษ กับการเปิดรับความหลากหลายทางเพศ

#SSxKMD | ในเดือนมิถุนายนของทุกปี กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จะออกมาเฉลิมฉลองและรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกกันว่า “Pride month”

ถ้าจะโฟกัสเฉพาะวงการฟุตบอล มีนักเตะระดับอาชีพเพียงไม่กี่คน ที่ตัดสินใจก้าวข้ามความเงียบ ด้วยการประกาศตัวเองว่า เป็นชาวสีรุ้ง หรือ LGBTQ+ ในยุคที่สังคมปัจจุบันเปิดกว้างมากกว่าในอดีต

แล้วลูกหนังเมืองผู้ดี มีส่วนเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศได้อย่างไร ? วันนี้ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

ทำความรู้จักกับ “Pride month”

Pride month หมายถึง เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ โดยจะมีการจัดกิจกรรมเดินขบวนพาเหรด รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ตลอดเดือนมิถุนายนของทุกปี

สาเหตุที่ Pride month เกิดขึ้นในมิถุนายนนั้น เนื่องจากเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลที่ “สโตนวอลล์ อินน์” (Stonewall Inn) ซึ่งเป็นบาร์เกย์ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1969

ในช่วงเวลานั้น การรักร่วมเพศ หรือการแต่งตัวที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม สโตนวอลล์ อินน์ จึงถือเป็นบาร์เกย์เพียงไม่กี่แห่ง ที่เปิดกว้างสำหรับคนรักร่วมเพศ

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปตรวจค้น และทำการควบคุมตัวกลุ่มคนรักร่วมเพศในบาร์เกย์แห่งนี้ ทำให้กลุ่มคนรักร่วมเพศ แสดงการต่อต้านเจ้าหน้าที่ และเกิดการปะทะกัน จนลุกลามกลายเป็นจลาจลอยู่หลายวัน

1 ปีต่อมา หลังจากเหตุการณ์ที่สโตนวอลล์ อินน์ ผู้คนในสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นครั้งแรก และกลายเป็นต้นแบบของ Pride month ในปัจจุบัน

ในส่วนของวงการฟุตบอล พรีเมียร์ลีก ลีกสูงสุดของอังกฤษ ได้สนับสนุนแคมเปญรณรงค์ต่อต้านการเหยียดบุคคลที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ มาตั้งแต่ปี 2016 โดยทั้ง 20 สโมสรต่างก็ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี

แต่ละทีมได้แสดงสัญลักษณ์ความหลากหลายทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนสีพื้นหลังบนสื่อโซเชี่ยลมีเดียเป็นสีรุ้ง, กัปตันทีมสวมปลอกแขนสีรุ้ง หรือผูกเชือกรองเท้าสตั๊ดสีรุ้งในวันแข่งขัน เป็นต้น

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/Everton/

ตัวอย่างจากฟาชานู และฮิตเซิลสแปร์เกอร์

หลายคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ฟุตบอลเป็นเรื่องของชายชาตรีเท่านั้น แต่นักเตะอย่างจัสติน ฟาชานู และโธมัส ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ กลับตัดสินใจเปิดเผยตัวเองว่าเป็นกลุ่มชายรักชาย หรือ “เกย์” (Gay)

ฟาชานู อดีตกองหน้ายุค 1980s ถือเป็นนักเตะระดับอาชีพชาวอังกฤษคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ออกมาประกาศว่าเป็นเกย์ เขาเคยค้าแข้งกับหลายสโมสรในอังกฤษทั้งระดับดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2

แต่จุดเปลี่ยนของฟาชานู เกิดขึ้นในปี 1990 เมื่อ “เดอะ ซัน” แท็บลอยด์จอมแฉเมืองผู้ดี พาดหัวหน้าหนึ่งว่า “นักเตะค่าตัว 1 ล้านปอนด์ ยอมรับแล้ว ผมเป็นเกย์” สร้างความตกตะลึงไปทั้งวงการลูกหนัง

ในช่วงยุค 1980s ถึง 1990s รสนิยมความหลากหลายทางเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับ ฟาชานูพยายามที่จะปกปิดไว้ไม่ให้ใครรู้ว่าตัวเองไปเที่ยวที่บาร์เกย์ แต่ภายหลังก็ออกมายอมรับกับความจริงในที่สุด

ฟาชานู ประกาศแขวนสตั๊ดในปี 1997 และในเดือนพฤษภาคม ปีต่อมา อดีตนักเตะผิวสีคนแรกของลีกอังกฤษที่มีค่าตัวถึง 1 ล้านปอนด์ ก็ตัดสินใจจบชีวิตด้วยการแขวนคอตัวเอง จากไปในวัยเพียง 37 ปี

ขณะที่ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติเยอรมัน เคยค้าแข้งกับ 3 สโมสรในพรีเมียร์ลีกกับแอสตัน วิลล่า, เวสต์แฮม ยูไนเต็ด และเอฟเวอร์ตัน ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกีฬาของสตุ๊ตการ์ท ในบุนเดสลีกา

หลังจากประกาศแขวนสตั๊ดเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพได้ไม่นาน ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อเดือนมกราคม 2014 โดยเปิดใจถึงเรื่องของรสนิยมชายรักชาย ที่เก็บเป็นความลับมานานหลายปี

“มันเป็นช่วงเวลาที่ยากและยาวนาน ในการคิดและทบทวนเรื่องที่อยากจะบอกกับทุกคน หลังจากประกาศว่าตัวตนที่แท้จริงคือการมีความรักกับผู้ชาย ผมคิดว่าชีวิตของผมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นนะ”

“ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว คนที่ยังไม่ได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงให้คนอื่นๆ รู้ มันเป็นอะไรที่เจ็บปวด คุณจะเป็นเพศอะไรไม่สำคัญ แต่ขอให้กล้าที่จะบอกว่า เราไม่ยอมรับการเหยียดเพศ”

แข้งเกย์เลือดผู้ดีคนแรกรอบ 32 ปี

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจค แดเนียลส์ กองหน้าดาวรุ่งวัย 17 ปี จากสโมสรแบล็คพูล ในลีกแชมเปี้ยนชิพ เป็นนักเตะอาชีพชาวอังกฤษคนแรกนับตั้งแต่จัสติน ฟาชานู เมื่อ 32 ปีก่อน ที่ออกมาประกาศตัวว่าเป็นเกย์

แดเนียลส์ เพิ่งได้ประเดิมลงสนามให้กับทีมชุดใหญ่ของแบล็คพูลเป็นนัดแรก ในเกมนัดปิดซีซั่นที่พบกับปีเตอร์โบโร่ โดยเจ้าตัวถูกเปลี่ยนลงมาเป็นตัวสำรองในช่วง 10 นาทีสุดท้าย ซึ่งทีมของเขา จบอันดับที่ 16

ข้อความของแดเนียลส์ ที่ระบุไว้บนเว็บไซต์ของ “เดอะ ซีไซเดอร์ส” ความว่า “เรื่องนอกสนามผมต้องปิดบังมาตลอดว่าผมเป็นใครกันแน่ ผมรู้อยู่แล้วว่าเป็นเกย์ และผมก็พร้อมแล้วที่จะเปิดเผยเรื่องนี้เสียที”

“แต่การจะมาถึงจุดนี้ได้ ผมได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำจากครอบครัว เอเย่นต์ และองค์กร Stonewall อีกทั้งกำลังใจจากเพื่อนร่วมทีมแบล็กพูล ที่ยอมรับการตัดสินใจในการเปิดเผยตัวตนของผม”

“คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวตนของคุณ เพียงเพื่อให้เข้ากับคนอื่น ขอแค่ให้คุณเป็นตัวของตัวเองและมีความสุข นี่แหละคือสิ่งสำคัญที่สุด”

การออกมาเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของแดเนียลส์ วงการฟุตบอลอังกฤษได้ออกมาชื่นชมในความกล้าหาญ แทบทุกสโมสรรวมถึงนักฟุตบอลหลายๆ คน ต่างส่งกำลังใจให้กับดาวรุ่งวัย 17 ปีรายนี้

ทางด้านพรีเมียร์ลีก ก็ออกมาแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เราขอสนับสนุนเจค และเชื่อว่าเกมฟุตบอลเป็นของทุกคน นี่คือเหตุผลที่เราต่อต้านการเหยียดเพศ รวมถึงให้การสนับสนุนกลุ่มคนที่เป็น LGBTQ+”

การที่นักฟุตบอลเริ่มกล้าที่จะเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเอง ช่วยส่งแรงกระเพื่อมต่อสังคม ทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษและทั่วโลก เปิดใจยอมรับนักเตะที่อยู่ในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยในการพิสูจน์กับบทดสอบที่ยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างความเข้าใจ และยอมรับรสนิยมทางเพศที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3313956/2022/05/16/jake-daniels-blackpool/

https://theathletic.com/2991105/2021/12/03/how-to-be-an-ally-for-lgbt-community-in-football/

https://theathletic.com/1561229/2020/01/26/thomas-hitzlsperger-stuttgart-villa-everton-west-ham/

https://www.premierleague.com/news/511487

https://www.blackpoolfc.co.uk/news/2022/may/16/a-message-from-jake-daniels/

https://www.bbc.co.uk/newsround/52872693

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.