Categories
Football Business

ราล์ฟ รังนิก กับการปฏิวัติเงียบบอร์ดบริหารฯ ความสำเร็จเบื้องหลังที่รอการพิสูจน์

บางทีตัวแปรสำคัญอันดับแรกที่ทำให้สโมสรฟุตบอลประสบความสำเร็จและผงาดอยู่แถวหน้าของวงการอาจไม่ใช่การเข้ามาของผู้จัดการทีมที่เก่งฉกาจ แต่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางบริหารของเจ้าของสโมสร

เหมือนกับที่ ลิเวอร์พูล ตัดสินใจยกเลิกวัฒนธรรม The Boot Room ที่นำความยิ่งใหญ่มาสู่แอนฟิลด์ระหว่างทศวรรษ 1960ถึงต้นทศวรรษ 1990 หรือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งขายสโมสรให้กับชาวต่างชาติอย่าง ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2007 ก่อนตกมาอยู่ในมือของ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน นักการเมืองและนักธุรกิจชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน รวมถึง โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ที่เทคโอเวอร์ เชลซี เมื่อปี 2003

ด้วยเหตุนี้ แฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด  จึงเริ่มมีความหวังเล็กๆที่จะปีนกลับขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งนับตั้งแต่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ล้างมือในอ่างทองคำหลังจบซีซั่น 2012-13 แม้เจ้าของสโมสรยังคงเป็นตระกูลเกลเซอร์แห่งสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ มัลคอล์ม เกลเซอร์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในเดือนกันยายน 2003

ช่วง 8 ฤดูกาลในยุค โพสต์-เฟอร์กี้ ปีศาจแดงคว้าแชมป์มาครอง 3 รายการคือ ลีกคัพ, เอฟเอ คัพ และ ยูโรป้า ลีก แต่กับลีกระดับเทียร์หนึ่ง พวกเขาทำได้ดีที่สุดคือ รองแชมป์ พรีเมียร์ลีก 2 สมัย แถมเคยร่วงลงไปอยู่อันดับ 7 ในสมัย เดวิด มอยส์ และอันดับ 6 อีกสองครั้ง ส่วนซีซั่นปัจจุบัน พวกเขามีโอกาสรูดม่านด้วยอันดับ 6, 7 หรือกระทั่ง 8

เดวิด มอยส์ บุรุษผู้ถูกเลือก อาจเป็นความผิดพลาดเพราะฝีมือและบารมีไม่ถึง แต่กุนซือระดับ หลุยส์ ฟาน กัล และ โชเซ่ มูรินโญ่ กึ๋นคงไม่ใช่ข้ออ้าง แม้มีความพยายามคืนสู่จิตวิญญาณแห่งปีศาจแดงด้วยการมอบหมายงานให้ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ก็ยังล้มเหลว

เป้าถล่มย้ายจากผู้จัดการทีมสู่บอร์ดบริหาร

เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงหลัง เสียงด่าทอของแฟนบอลเปลี่ยนทิศจากผู้จัดการทีมไปยังบอร์ดบริหารและเจ้าของทีม ถึงขั้นเคยมีการประท้วงขับไล่ในสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด จนแมตช์แดงเดือดต้องเลื่อนออกไป รวมทั้งสับแหลกการบริหารที่ผิดพลาด วางเป้าหมายผลกำไรทางธุรกิจเหนือความสำเร็จของทีมฟุตบอล เจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่มีความรู้ในกีฬาลูกหนัง การดื้อดึงซื้อนักเตะที่กุนซือไม่ได้ต้องการ การต่อสัญญานักเตะที่ไม่ใช้งานเพียงเพื่อเพิ่มมูลค่า การกระหายเงินจนเข้าร่วมก่อตั้ง ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก  เป็นต้น 

“ภัย” เริ่มขยับใกล้ตระกูลเกลเซอร์เข้ามาเรื่อยๆ จนมหาเศรษฐีจากเมืองลุงแซมต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” เพื่อพา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คืนสู่ความยิ่งใหญ่ ซึ่งจะทำให้การธุรกิจของพวกเขากลับมาสงบสุขอีกครั้ง

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2021 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยกเลิกสัญญากับ โซลชาร์ ท่ามกลางการกดดันของแฟนๆและสื่อมวลชน แต่พลาดได้ตัว อันโตนิโอ คอนเต้ กุนซือมือดีที่เพิ่งตอบตกลงคุมทีม ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ ก่อนหน้าไม่กี่สัปดาห์ โดยมอบหมายให้ ไมเคิล คาร์ริก คุมทีมเพียง 3 นัด ก่อนสร้างเซอร์ไพรส์แต่งตั้ง ราล์ฟ รังนิก ปรามาจารย์ลูกหนังชาวเยอรมัน ทำหน้าที่จนจบซีซั่นก่อนนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาสโมสรเป็นเวลาสองปี

คงไม่มีใครแปลกใจหาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปล่อยให้คาร์ริกคุมทีมช่วงที่เหลือของซีซั่นเพื่อรอเจรจาช่วงซัมเมอร์กับเป้าหมายที่ตกเป็นข่าวอย่าง เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่, เบรนแดน ร็อดเจอร์ส, ซีเนอดีน ซีดาน หรือกระทั่งรังนิกเอง

เท็ดดี้ เชอริงแฮม อดีตศูนย์หน้าทีมปีศาจแดง ให้ความเห็น “คุณตัดสินใจปลดผู้จัดการทีม แล้วให้คาร์ริกทำหน้าที่ชั่วคราว แล้วแทนเขาด้วยผู้จัดการทีมชั่วคราวอีกคนหนึ่ง สำหรับผมแล้ว เป็นการกระทำที่น่าตกใจเอามากๆสำหรับสโมสรที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก”

“นั่นทำให้นักเตะขาดความมั่นใจและไร้ความต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักเตะคนไหนที่กำลังเจอช่วงเวลาที่เลวร้าย ก็เหมือนกับโดนทอดทิ้งไร้อนาคต เขารู้ดีว่านายใหญ่จะต้องไปภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า” 

“เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับสโมสรอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คุณต้องการให้ทุกคนมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับผมแล้ว มันวุ่นวายตั้งแต่บนลงล่าง นักเตะได้แค่เล่นไปในสนาม ผมคงรับมือกับสถานการณ์ไร้สาระแบบนี้ไม่ได้”

เหมือนอย่างที่เชอริงแฮมพูดไว้ รังนิกไม่สามารถใส่สไตล์ “เกเก้น เพรสซิ่ง” ให้กับลูกทีมใหม่ ผลงานในสนามก็ลุ่มๆดอนๆ ตกรอบ เอฟเอ คัพ และ แชมเปี้ยนส์ลีก อันดับบนตารางพรีเมียร์ลีกก็ไหลลงจนอาจได้เพียงโควต้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก สภาพทีมเหมือนเล่นให้ครบโปรแกรมเพื่อรอนายใหญ่คนใหม่เข้ามารับหน้าที่อย่างถาวร

รังนิกชี้ปัญหาที่ถูกมองข้ามผ่านเพรสคอนเฟอเรนซ์

แม้ผลแข่งอาจดูย่ำแย่ที่สุดในบรรดาผู้จัดการทีมยุคหลังเฟอร์กูสัน แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดของรังนิกกลับอยู่ที่การให้สัมภาษณ์หลังเกมและวาระต่างๆ

รังนิกมักอธิบายเหตุผลการทำอะไรไม่ทำอะไรระหว่างเกม 90 นาทีในเชิงเทคนิคและแทคติคอย่างเช่น ทำไมถึงเปลี่ยนตัวนักเตะคนนี้ออกส่งคนนั้นเข้า จุดไหนที่นักเตะไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ก่อนเกม พูดเหมือนเป็นคอมเมนเตเตอร์หรือครูที่กำลังสอนนักเรียนผ่านเกมแข่งขันจริงๆ

ท้ายซีซั่น รังนิกเริ่มให้สัมภาษณ์ไปไกลถึงโครงสร้างการบริหารทีม แนวทางการฝึกซ้อม การทำงานของทีมแพทย์ แนวคิดการซื้อขายนักเตะในตลาด คุณลักษณะนักเตะที่พึงมี ฯลฯ ไม่ใช่ความเห็นต่อภาพที่เกิดขึ้นบนสนามหญ้าเท่านั้น ยิ่งช่วงก่อนหน้าและหลัง เอริค เทน ฮาก ได้รับการประกาศเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ รังนิกแสดงวิสัยทัศน์ราวกับกำลังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ซีอีโอ หรือ ผู้บริหารสูงสุดที่จะเข้ามา “ปฏิวัติ” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

สื่อบางสำนักระบุว่า โครงการปรับปรุงสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ครั้งใหญ่เกิดขึ้นก็เพราะฝีปากของเดอะ โปรเฟสเซอร์ นั่นเอง

“เรด อาร์มี่” ทั่วโลกต่างซึมซับคำพูดช่วง 4-5 เดือนของรังนิกไว้ในสมองอย่างไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่เห็นด้วยถึงเวลาแล้วที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่เพียง “ไมเนอร์ เชนจ์” แต่ต้อง “ยกเครื่อง” ฐานรากของสโมสรเสียใหม่ ไม่ใช่เพียงจ้างผู้จัดการทีมระดับ เอ พลัส เข้ามาสร้างความสำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว พวกเขาพร้อมให้เวลา 3-4 ปี สำหรับ เทน ฮาก

ความคิดลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อาจมีแค่ด่าทอระบายอารมณ์กับสไตล์การทำงานของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด และบอร์ดบริหารบ้าง จนกระทั่งรังนิกเข้ามาจุดประกายและขายไอเดียนับตั้งแต่ย้ายเข้ามาทำงานในโอลด์ แทรฟฟอร์ด 

เปลี่ยนโครงสร้างฝ่ายปฏิบัติการรอการมาของเทน ฮาก

ล่าสุด รังนิกเซ็นสัญญาคุมทีมชาติออสเตรียโดยเชื่อมั่นว่าสามารถทำงานควบคู่กับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นไปได้หลังจากรังนิกได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาไปเรียบร้อยแล้ว แถมปูทางสะดวกให้กับการทำงานของเทน ฮาก ซึ่งเป็นบุคคลที่เขาออกแรงเชียร์เต็มที่แม้เป็นโปเช็ตติโน่ต่างหากที่บอร์ดบริหารต้องการตัว

มุมมองที่รังนิกพูดออกไปสร้างอิมแพ็คให้กับสโมสรจริงๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายอย่างนอกเหนือก่อนหน้านี้ที่วู้ดเวิร์ดประกาศอำลาเก้าอี้ซีอีโอหลังจบซีซั่น แมตต์ จัดจ์ มือขวาของเขา ก็ยุติบทบาทหัวหน้าฝ่ายพัฒนาองค์กรและหัวหน้าฝ่ายเจรจาซื้อขายนักเตะ หลังจากสโมสรมีคำสั่งปลดหัวหน้าแมวมอง 2 คน โดยมีข่าวลือว่า รังนิกได้แนะนำสโมสรให้ทาบทาม พอล มิทเชลล์ ผู้อำนวยการกีฬาของ โมนาโก เข้ามานั่งเก้าอี้แทนจัดจ์และมีบทบาทสำคัญในตลาดซื้อขายฤดูร้อนนี้

เพราะการแผ้วถางทางเดินเกือบครึ่งปีของรังนิก ทำให้บอร์ดบริหารจำใจเซย์เยสกับเงื่อนไขสุดท้ายของเทน ฮาก นั่นคืออำนาจเด็ดขาดในการซื้อขายนักเตะ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยหลังเฟอร์กูสันอำลาสโมสร อดีตกุนซืออย่างฟาน กัล และมูรินโญ่ ล้วนเคยแฉว่าฝ่ายบริหารไม่ได้ตอบสนองความต้องการของพวกเขา 

รอย คีน อดีตกัปตันทีมปีศาจแดง เห็นด้วยกับทิศทางที่เปลี่ยนแปลงในถิ่นเก่า

“เราเห็นตัวอย่างของ ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ได้รับประโยชน์มากขนาดไหนที่ผู้จัดการทีมมีอำนาจเต็มในทุกภาคส่วน สิ่งที่ผู้จัดการทีมต้องการคือ อำนาจและการควบคุมในสโมสร ทั้ง (เจอร์เก้น) คล็อปป์, เป๊ป (กวาร์ดิโอล่า) และ (โธมัส) ทูเคิล ต่างมีสิ่งนี้ ดังนั้นไม่ว่าใครเข้ามาคุมทีม สโมสรต้องหนุนหลังเขา ให้อำนาจและการควบคุมแก่เขา ให้เขามีส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อขายนักเตะ แต่ที่ผมได้ยินช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน มา การตัดสินใจซื้อขายผู้เล่นมาจากคนข้างบน”

ทั้งหมดนี้ แม้รังนิกอาจลัมเหลวกับตัวเลขบนสกอร์บอร์ดและแต้มสะสมในเกมพรีเมียร์ลีก แต่เขาได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงให้กับตระกูลเกลเซอร์และบอร์ดบริหาร จนอาจกล่าวได้ว่า เทน ฮาก มี “แต้มต่อ” ณ จุดสตาร์ท เหนือกว่า มอยส์, ฟาน กัล, มูรินโญ่ และโซลชาร์ พร้อมเวลาให้พิสูจน์ฝีมือ 2-3 ปี

และถ้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สามารถกลับไปยืนโดดเด่นที่แถวหน้าอีกครั้ง ก็จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จที่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงแนวคิดบริหารงานของเบื้องบน