Categories
Football Tactics

recap มุมมอง ของ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ กับเรื่องราว เมื่อ PEP แปลง (TRANSFORM) แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไปสู่ทีมฟุตบอลแห่งอนาคตกาล

บันทึกกว่า 7 หน้ากระดาษที่ส่งตรงมาจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ทีมชาติไทย ยู-23 ปี ถึงเรื่องราว เมื่อ PEP แปลง (TRANSFORM) แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไปสู่ทีมฟุตบอลแห่งอนาคตกาล บันทึกนี้เปี่ยมไปด้วย “คุณค่า” ที่น่าติดตาม ซึ่งทาง ไข่มุกดำ ก็พร้อมที่บอกต่อเรื่องราวนี้ ให้กับทุก ๆ คนได้อ่าน ในเว็ปไซต์กัน

Categories
Special Content

ทฤษฎีช้างตกต้นไม้ : ย้อนรอยทีมจ่าฝูงแพ้ภัยตัวเอง พลาดแชมป์แบบสุดช็อก

หลังเกมบิ๊กแมตช์พรีเมียร์ลีก ชี้ชะตาการลุ้นแชมป์ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เปิดบ้านถล่ม อาร์เซน่อล 4 – 1 ส่งผลให้ “แชมป์เก่า” ทำคะแนนไล่จี้เหลือ 2 แต้ม แถมเตะน้อยกว่าถึง 2 นัด

แม้โมเมนตัมในการลุ้นคว้าแชมป์จะเอียงไปทาง “เรือใบสีฟ้า” มากขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์ยังไม่ทิ้งห่างแบบขาดลอย “ปืนใหญ่” ก็มีหวังเล็ก ๆ ในการกลับมาคว้าโทรฟี่พรีเมียร์ลีกครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี

มีเรื่องโจ๊กจากแฟนบอลในต่างประเทศ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “อาร์เซน่อลที่อยู่ในอันดับ 1 ของตาราง เสมือนช้างที่อยู่บนต้นไม้ ไม่มีใครรู้ว่ามันปีนขึ้นไปได้อย่างไร แต่ทุกคนรู้ว่าสุดท้ายมันต้องตกลงมาอยู่ดี”

วลี “ช้างที่อยู่บนต้นไม้” คือการเปรียบเปรยถึงสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือสิ่งที่ผิดธรรมชาติ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป โลกแห่งความเป็นจริง ก็จะกระชากจากภวังค์ให้กลับมาอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าอีกครั้ง

ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์ของทีมที่กำลังอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง แต่พอพลาดท่าแพ้เกมสำคัญระหว่างฤดูกาล ให้กับคู่แข่งที่แย่งแชมป์แบบโดยตรง กลายเป็นจุดพลิกผันสู่ความผิดหวังในที่สุด

1989 : ลิเวอร์พูล 0 – 2 อาร์เซน่อล (26 พฤษภาคม)

ศึกลูกหนังดิวิชั่น 1 ลีกสูงสุดของอังกฤษในขณะนั้น เมื่อฤดูกาล 1988/89 ลิเวอร์พูล กับ อาร์เซน่อล คือคู่ชิงแชมป์ประจำซีซั่น และมีโปรแกรมพบกันเองในนัดสุดท้าย ซึ่ง “หงส์แดง” กุมความได้เปรียบอยู่

สถานการณ์ก่อนลงเตะนัดตัดสินแชมป์ที่แอนฟิลด์ ลิเวอร์พูลนำอันดับ 1 มี 76 คะแนน ผลต่างประตูได้-เสีย +39 โดยมีอาร์เซน่อล ตามมาติด ๆ ในอันดับ 2 มี 73 คะแนน ผลต่างประตูได้-เสีย +35

ที่สำคัญ ลิเวอร์พูลกำลังอยู่ในช่วงฟอร์มที่ดี 18 เกมหลังสุดในลีก ไม่แพ้ใคร และเสียประตูในบ้านเพียง 2 ลูก โยนความกดดันไปให้อาร์เซน่อล ที่ต้องชนะด้วยผลต่าง 2 ประตูขึ้นไป ถึงจะแซงคว้าแชมป์

ครึ่งแรกยังยิงกันไม่ได้ แต่เริ่มครึ่งหลังได้ไม่ถึง 10 นาที อลัน สมิธ โขกให้อาร์เซน่อลขึ้นนำก่อน 1 – 0 อย่างไรก็ตาม ถ้าจบด้วยสกอร์นี้ ลิเวอร์พูลยังเป็นฝ่ายที่ได้แชมป์ เพราะผลต่างประตูได้-เสียดีกว่า

เจ้าบ้านพยายามบุกหนักหวังตีเสมอให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังทำไม่สำเร็จ เคนนี่ ดัลกลิช กุนซือลิเวอร์พูล ตัดสินใจเคาะบอลไปมาเพื่อเผาเวลาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดฟ้าผ่ากลางแอนฟิลด์ขึ้นจนได้

ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ไมเคิล โธมัส ยิงประตู 2 – 0 ส่งอาร์เซน่อลคว้าแชมป์ลีกสูงสุดหนแรกในรอบ 18 ปี โดยมีแต้ม และผลต่างประตูได้เสียเท่ากัน แต่มีจำนวนประตูได้ที่มากกว่าลิเวอร์พูล (73 ต่อ 65)

1996 : นิวคาสเซิล 0 – 1 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (4 มีนาคม)

ฤดูกาล 1995/96 ลีกสูงสุดเมืองผู้ดี เปลี่ยนชื่อเป็น “พรีเมียร์ลีก” ได้ไม่นาน นิวคาสเซิล ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น จนทำแต้มทิ้งห่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไกลถึง 12 แต้มในเดือนมกราคม 1996

แต่หลังจากนั้น นิวคาสเซิลก็เริ่มฟอร์มแกว่ง จนถูกแมนฯ ยูไนเต็ด ไล่จี้เข้ามา และทั้ง 2 ทีม มีโปรแกรมพบกันเองที่เซนต์ เจมส์ปาร์ค ช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งก่อนลงสนาม “สาลิกาดง” นำอยู่ 4 แต้ม

นิวคาสเซิล มีโอกาสบุกมากกว่า แต่ยิงอย่างไรก็ไม่ผ่านมือปีเตอร์ ชไมเคิล นายทวารแมนฯ ยูไนเต็ด สุดท้ายแล้ว เอริค คันโตน่า พังประตูชัยให้ “ปิศาจแดง” บุกชนะ 1 – 0 ลดช่องว่างเหลือแค่แต้มเดียว

เมื่อระยะห่างแคบลงเรื่อย ๆ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กุนซือแมนฯ ยูไนเต็ด จัดการเปิดสงครามจิตวิทยา และสุดท้าย เควิน คีแกน ก็ตกหลุมพรางจนสูญเสียความมั่นใจ และเริ่มรับมือกับความกดดันไม่ไหว

ช่วงที่เหลือของซีซั่น สถานการณ์ลุ้นแชมป์ก็กลับตาลปัตร นิวคาสเซิล ชนะ 5 เสมอ 2 แพ้ 3 สุดท้ายถูกแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ชนะถึง 7 จาก 9 เกมสุดท้าย แซงคว้าแชมป์ด้วยการมีคะแนนมากกว่า 4 แต้ม

1998 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 0 – 1 อาร์เซน่อล (14 มีนาคม)

ฤดูกาล 1997/98 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หวังจะเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 3 ซีซั่นติดต่อกัน แต่สำหรับอาร์เซน่อล นี่คือครั้งแรกที่อาร์แซน เวนเกอร์ คุมทีมแบบเต็มซีซั่น

ช่วงกลางเดือนมีนาคม 1998 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นำเป็นจ่าฝูง มีแต้มนำอาร์เซน่อล 9 แต้ม แต่ทีมของกุนซืออาร์แซน เวนเกอร์ ลงเตะน้อยกว่าถึง 3 เกม และทั้ง 2 ทีม มีนัดปะทะกันที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด

เกมทำท่าว่าจะจบด้วยผลเสมอ แต่ในนาทีที่ 79 มาร์ค โอเวอร์มาร์ส วิ่งมาซัดด้วยขวาผ่านปีเตอร์ ชไมเคิล เป็นประตูชัยให้อาร์เซน่อล พร้อมกับลดช่องว่างเหลือ 6 แต้ม กับโปรแกรมที่ตกค้างในมือ 3 นัด

หลังบิ๊กแมตช์ที่โรงละคร “เดอะ กันเนอร์ส” กุมชะตากรรมไว้ในมือของตัวเองแล้ว โดยชนะถึง 8 จาก 10 เกมที่เหลือ ขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 5 จาก 7 เกมสุดท้าย แต่ไม่เพียงพอต่อการป้องกันแชมป์

อาร์เซน่อล การันตีตำแหน่งอันดับ 1 หลังถล่มเอฟเวอร์ตัน 4 – 0 เมื่อเหลือ 2 นัดสุดท้ายของฤดูกาล คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้เป็นครั้งแรกในยุคของเวนเกอร์ โดยเฉือน “ปิศาจแดง” เพียงแต้มเดียวเท่านั้น

2010 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 1 – 2 เชลซี (3 เมษายน)

หลังจากคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 3 ซีซั่นติดต่อกัน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2009/10 หวังที่จะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ชนิดที่ไม่มีทีมใดเคยทำมาก่อน ด้วยการคว้าแชมป์ต่อเนื่องเป็นซีซั่นที่ 4

และผู้ท้าชิงของพวกเขาคือ เชลซี ของกุนซือคาร์โล อันเชล็อตติ ที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม จนถึงแมตช์ที่ต้องพบกับทีมของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในเกมที่ 33 ของฤดูกาล ช่วงต้นเดือนเมษายน 2010

ก่อนเกมบิ๊กแมตช์ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด “ปิศาจแดง” อยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง มีคะแนนนำหน้าเชลซี 1 แต้ม ต้องการชัยชนะเพื่อทำแต้มทิ้งห่างออกไป และถือเป็นการล้างแค้นจากเกมนัดแรกที่บุกไปแพ้ 0 – 1

เชลซี ออกนำก่อน 2 ประตู จากโจ โคล และดิดิเยร์ ดร็อกบา แม้เฟเดริโก้ มาเคด้า จะยิงตีตื้นให้แมนฯ ยูไนเต็ด ไล่มาเป็น 1 – 2 แต่ “สิงห์บูลส์” ก็ยันสกอร์นี้ไว้ได้จนจบเกม แซงขึ้นจ่าฝูง เมื่อเหลือ 5 นัดสุดท้าย

ซึ่งโปรแกรมที่เหลือของทั้ง 2 ทีม ต่างฝ่ายต่างชนะทีมละ 4 เกมเท่ากัน ส่งผลให้เชลซี เป็นฝ่ายที่คว้าแชมป์ไปครองได้สำเร็จ ดับฝันแมนฯ ยูไนเต็ด ในการเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัยติดต่อกัน

2012 : แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1 – 0 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (30 เมษายน)

ฤดูกาล 2011/12 ช่วงต้นเดือนเมษายน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยืนอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง มีแต้มนำแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถึง 8 แต้ม เมื่อเหลืออีก 6 เกม ทำให้หลายคนมองว่า “ปิศาจแดง” น่าจะเข้าวินได้ไม่ยาก

ทว่า 3 นัดหลังจากนั้น แมนฯ ซิตี้ ชนะรวด สวนทางกับแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ออกอาการสะดุดครั้งใหญ่ เมื่อบุกไปแพ้วีแกน แบบพลิกล็อก 0 – 1 และถูกเอฟเวอร์ตันไล่ตามตีเสมอ 4 – 4 คาโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด

ก่อนเกมแมนเชสเตอร์ ดาร์บี้ ที่เอติฮัด สเตเดี้ยม ถิ่นของ “เรือใบสีฟ้า” ในวันสิ้นเดือนเมษายน 2012 ยูไนเต็ดมีแต้มนำซิตี้เพียง 3 แต้ม นั่นหมายความว่า ถ้า “ปิศาจแดง” แพ้ จะหล่นมาเป็นอันดับ 2 ทันที

ในช่วงทดเจ็บครึ่งแรก แว็งซองต์ กอมปานี ทำประตูชัยให้กับแมนฯ ซิตี้ เก็บ 3 คะแนนสำคัญ แซงแมนฯ ยูไนเต็ด ขึ้นนำเป็นจ่าฝูง มี 83 แต้มเท่ากัน แต่ผลต่างประตูได้-เสีย ดีกว่าอยู่ 8 ลูก เมื่อเหลืออีก 2 เกม

นัดรองสุดท้าย 2 ทีมเมืองแมนเชสเตอร์ ชนะทั้งคู่ ส่วนผลแข่งในเกมที่ 38 แมนฯ ยูไนเต็ด ที่แข่งจบไปก่อน บุกชนะซันเดอร์แลนด์ 1 – 0 ขณะที่แมนฯ ซิตี้ ยังเสมอกับควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส 2 – 2 ช่วงท้ายเกม

และนัดปิดซีซั่น คือหนึ่งในเหตุการณ์การคว้าแชมป์ที่ดราม่าที่สุดตลอดกาล กับประตูชัยของกุน อเกวโร่ นาทีที่ 93.20 ซึ่งเป็นโมเมนต์ที่ทำเอาแฟนๆ “เรด อาร์มี่” อยากจะลบออกจากความทรงจำเลยทีเดียว

2019 : แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2 – 1 ลิเวอร์พูล (3 มกราคม)

ฤดูกาล 2018/19 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลิเวอร์พูล เป็นคู่ชิงแชมป์พรีเมียร์ลีกที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ แฟนบอลของทั้ง 2 ทีม ต่างลุ้นกันนัดต่อนัด ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงนัดสุดท้ายของฤดูกาล

สิ้นปี 2018 ลิเวอร์พูล มีคะแนนนำแมนฯ ซิตี้ อยู่ 7 แต้ม หลังผ่านไป 20 เกม และเกมต่อมา คือเกมแรกของปี 2019 ทั้งคู่ต้องห้ำหั่นกันเอง ที่เอติฮัด สเตเดี้ยม ถือเป็นนัดสำคัญที่มีผลต่อการลุ้นแชมป์โดยตรง

ขณะที่ยังเสมอกันอยู่ 0 – 0 ในนาทีที่ 20 ซาดิโอ มาเน่ ดาวยิงลิเวอร์พูล ซัดบอลไปชนเสา จอห์น สโตนส์ แนวรับแมนฯ ซิตี้ สกัดบอลโดนเอแดร์ซอน นายทวารเพื่อนร่วมทีม ก่อนที่สโตนส์จะเคลียร์บอลออกจากเส้น ขาดเพียง 11 มิลลิเมตร จะข้ามเส้นประตู

ซึ่งนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แมนฯ ซิตี้ เก็บ 3 คะแนนสุดล้ำค่า ด้วยชัยชนะ 2 – 1 ลดช่องว่างลงมาเหลือ 4 แต้ม แถมเป็นการยัดเยียดความปราชัยนัดแรก และนัดเดียวตลอดทั้งฤดูกาลชองลิเวอร์พูลด้วย

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เก็บชัย 2 นัดติด ก่อนบุกไปแพ้นิวคาสเซิล 1 – 2 และหลังจากนั้น สร้างสถิติสุดโหด ชนะ 14 นัดติดต่อกัน ฮึดแซงคว้าแชมป์ได้แบบน่าเหลือเชื่อ โดยเฉือนลิเวอร์พูลแค่แต้มเดียว (98 ต่อ 97)

และในฤดูกาล 2022/23 ทีมของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก็มีโอกาสทำสถิติชนะ 14 นัดรวด เหมือนเมื่อ 4 ซีซั่นก่อน หลังจากชัยชนะในเกมกับอาร์เซน่อลเมื่อกลางสัปดาห์ พวกเขาเก็บชัยชนะมาแล้ว 7 นัดติดต่อกัน

อย่างไรก็ตาม จากลิสต์นี้ ทีมที่นำจ่าฝูงแต่วืดแชมป์เมื่อจบฤดูกาล สามารถกลับมายืนแป้นอันดับ 1 ทันทีในซีซั่นถัดมาได้ถึง 5 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการนำบทเรียนจากความผิดหวัง เป็นแรงขับสู่ความสำเร็จ

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-12010655/The-pivotal-title-deciders-Man-City-host-Arsenal-Premier-League.html

– https://thearsenalelephant.com/the-arsenal-elephant-blog/f/the-elephant-that-never-fell-from-the-tree

Categories
Special Content

ย้อนรอยความสูญเสีย : 33 ปี “ฮิลส์โบโร่” โศกนาฎกรรมลูกหนังที่ไม่มีวันลืมเลือน

หากจะกล่าวถึงเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลอังกฤษ หนึ่งในนั้นจะต้องเป็นเหตุการณ์ “ฮิลส์โบโร่” ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลเอฟเอ คัพ ในวันนี้เมื่อ 33 ปีก่อน

นี่คือความทรงจำอันเจ็บปวดของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น พร้อมทั้งได้เห็นการต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมของครอบครัวผู้สูญเสีย และบทเรียนที่ได้รับหลังจากความหายนะที่เกิดขึ้น

และในโอกาสที่ลิเวอร์พูล มีโปรแกรมเตะเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ พบกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในวันรุ่งขึ้น จึงถือโอกาสนี้นำเหตุการณ์ที่เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของสโมสรมาฝากกัน

เรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงบทสรุปเป็นอย่างไร ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

จุดเริ่มต้นแห่ง “หายนะ”

ข้ามเวลากลับไปในวันที่ 15 เมษายน 1989 การแข่งขันฟุตบอลเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ ระหว่าง ลิเวอร์พูล VS น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ที่สนามฮิลส์โบโร่ บ้านของสโมสรเชฟฟิลด์ เวนส์เดย์

การแข่งขันแมตช์ดังกล่าว มีแฟนบอลจำนวนมากที่ต้องการเข้าชม โดยเฉพาะฝั่งลิเวอร์พูล ที่เข้ามาแบบกระจุกอยู่ที่บริเวณทางเข้าสนาม และเป็นความโชคไม่ดี ที่การจัดการเกิดความผิดพลาด

ความผิดพลาดแรก คือการจัดโซนที่นั่งบนอัฒจันทร์ให้แฟนบอลแต่ละทีม แฟนลิเวอร์พูลที่มีจำนวนมากกว่า กลับต้องไปนั่งในโซนที่จุผู้ชมได้น้อยกว่า และแฟนฟอเรสต์ ไปนั่งในโซนที่จุผู้ชมได้มากกว่า

และความผิดพลาดที่สอง คือปล่อยให้ผู้ชมในบางโซนแออัดจนแน่นพื้นที่ ยิ่งใกล้เวลาแข่งขัน แฟนบอลด้านหลังต่างก็พยายามผลักดันแฟนบอลด้านหน้า เพื่อจะได้เข้าสนามเร็วขึ้น

ขณะที่แฟนบอลบางคนที่ไม่มีตั๋วเข้าชมก็ถูกกันอยู่ตรงทางเข้า เมื่อเจ้าหน้าที่สนามเห็นฝูงชนที่แออัด จึงได้ตัดสินใจเปิดอีกโซนหนึ่งที่ไม่มีช่องเช็คตั๋ว ทำให้แฟนบอลต่างแห่กันเข้าไปช่องทางนั้นกันหมด

เมื่อแฟนบอลจำนวนมากที่ถูกอัดอยู่ด้านหน้าทางเข้าเริ่มทนไม่ไหว ได้พยายามดิ้นรนหนีตายกันอลหม่าน บ้างก็ถูกอัดติดกับรั้วลูกกรง ขยับไปไหนไม่ได้ เหยียบกันตาย หายใจไม่ออก

เกมในสนามเพิ่งเริ่มได้ไม่นาน ท่ามกลางสถานการณ์ที่โกลาหลอย่างมาก จนในที่สุดแมตช์นี้ดำเนินได้ไปแค่ 6 นาที ต้องยกเลิกการแข่งขัน จังหวะที่ปีเตอร์ เบียร์ดสลีย์ ยิงชนคาน คือช็อตสุดท้ายของเกม

เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตทันทีในวันเกิดเหตุ 94 ราย แล้วเพิ่มเป็น 95 ในวันถัดมา และในปี 1993 แฟนบอลรายหนึ่ง ที่อาการโคม่า รักษาตัวมานานถึง 4 ปี ก็จบชีวิตลงเป็นรายที่ 96 บาดเจ็บกว่า 700 คน

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ได้สั่งให้ทุกสโมสรในลีกสูงสุด เปลี่ยนอัฒจันทร์ที่ให้แฟนบอลยืนชม ให้เป็นที่นั่งทั้งหมด และต้องรื้อรั้วเหล็กที่กั้นสนามออกทั้งหมดด้วย

เก้าอี้สีแดง 96 ตัว ภายในอัฒจันทร์สนามเวสต์บรอมฯ ได้ติดตั้ง เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สียชีวิตเหตุการณ์ฮิลล์สโบโรห์ ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

ถูกใส่ร้าย… ตายทั้งเป็น ?

หลังเกิดเหตุร้ายที่สนามฮิลส์โบโร่ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชนบางราย ที่แสดงถึงความ “ไร้จรรยาบรรณ” ด้วยการโยนความผิดให้แฟนบอลลิเวอร์พูลว่า คือตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าวขึ้น

ในวันรุ่งขึ้น “เดอะ ซัน” สื่อดังของอังกฤษ พาดหัวตัวโตว่า “The Truth” พร้อมด้วยข้อความกล่าวโทษ 96 ศพ ดังต่อไปนี้

“Some fans picked pockets of victims.

Some fans urinated on the brave cops.

Some fans beat up PC giving kiss of life.”

แปลเป็นไทย ความว่า… “นี่คือความจริง พวกเขาขโมยทรัพย์สินพวกเดียวกันเองที่บาดเจ็บ, ทำร้ายและปัสสาวะใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ, พยายามจะเปลื้องผ้าศพหญิงสาวที่ถูกเหยียบย่ำ

พอแฟนบอลหงส์แดง และชาวเมืองลิเวอร์พูลได้รับรู้การนำเสนอข่าวแบบนั้น แน่นอนว่าพวกเขาโกรธแค้นเป็นทวีคูณ ตัวเองเป็นผู้เสียหาย แล้วยังถูกยัดเยียดว่าเป็นฝ่ายผิดอีก

กระทั่งในปี 2012 แฟนบอลลิเวอร์พูล ที่รอคอยความยุติธรรมมาแล้ว 23 ปี ก็เริ่มมีความหวัง เมื่อมีรายงานฉบับหนึ่ง ความยาว 400 หน้า ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก

ใจความสำคัญ อยู่ที่หน้า 394 ความว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักการเมืองบางคน ได้โยนความผิดให้กับ 96 ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ว่าเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าทั้งหมด”

นั่นทำให้ นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องออกมาขอโทษแฟนบอลลิเวอร์พูล ที่ปล่อยเรื่องนี้ให้เงียบหายไป พร้อมทั้งไม่มีการสอบสวนหาความจริง

นายคาเมรอน ยังยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ละเลยหน้าที่ และปล่อยให้แฟนบอลเข้าไปเกินความจุ จนทำให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจในครั้งนี้

ขณะที่ “เดอะ ซัน” ที่ถึงแม้จะออกมาแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ชาวเมืองลิเวอร์พูล ปิดประตูล็อกตาย ไม่ต้อนรับสำนักข่าวแห่งนี้อีกตลอดไป

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

ความยุติธรรมที่กลับคืน

ครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ “ฮิลส์โบโร่” ได้เพียรพยายามต่อสู้เพื่อค้นหาความจริง และคืนความยุติธรรมให้กับผู้ล่วงลับทั้งหมด จนในที่สุดวันที่พวกเขารอคอยมาอย่างยาวนาน ก็มาถึงจนได้

เดือนเมษายน 2016 คณะลูกขุนในศาล ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ 7 ต่อ 2 ตัดสินให้ 96 ศพ ในเหตุการณ์ฮิลส์โบโร่ เป็นผู้บริสุทธิ์ สาเหตุเกิดจากความผิดพลาดของฝ่ายจัดการแข่งขัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ผลการตัดสินของศาล ทำให้แฟนบอลลิเวอร์พูล รวมไปถึงครอบครัวของผู้เสียชีวิต ต่างน้ำตาคลอยินดีที่พวกเขา “ปลดแอก” ได้เสียที หลังจากต้องต่อสู้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมมานานถึง 27 ปี

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2021 แอนดรูว์ เดอไวน์ แฟนบอลที่เข้าชมการแข่งขันที่ฮิลส์โบโร่ เสียชีวิตเป็นรายที่ 97 หลังจากได้รับบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง จนไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกเลยนับจากนั้น

ทำให้สโมสรลิเวอร์พูล ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อบริเวณนอกสนามจาก 96 Avenue เป็น 97 Avenue พร้อมทั้งเปลี่ยนตัวเลขที่บริเวณท้ายทอยของเสื้อจาก 96 เป็น 97 ตั้งแต่ฤดูกาล 2022-23 เป็นต้นไป

ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ มีโปรแกรมพบกับลิเวอร์พูล ในเอฟเอ คัพ รอบ 8 ทีมสุดท้าย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 33 ปี ที่ทั้งคู่พบกันในรายการนี้ นับตั้งแต่เหตุการณ์ฮิลส์โบโร่

โดยสนามซิตี้ กราวน์​ รังเหย้าของฟอเรสต์ ได้จัดการเว้นว่างที่นั่งเอาไว้ 97 ที่ เพื่อ​ให้ดวงวิญญาณของแฟนบอลทั้ง 97 คนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์หายนะที่ฮิลส์โบโร่ ได้มาร่วมนั่งชมเกมลูกหนังที่พวกเขารัก

โศกนาฎกรรม “ฮิลส์โบโร่” ที่เกิดขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด เป็นเหมือนแรงกระตุ้นที่ทำให้เกิดการจัดการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ และการรักษาความปลอดภัยในสนามที่เข้มงวดมากขึ้น

และอีกอย่างที่ต้องจารึกไว้คือ การไม่ยอมแพ้ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเป็นเวลาถึง 27 ปี ไม่ได้หมายถึงเพียงเพื่อคนที่จากไป แต่มันยังมีความหมายถึงคนที่ยังอยู่ด้วยเช่นกัน

You’ll Never Walk Alone…

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : BBC

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/news/uk-england-merseyside-58005871

https://www.bbc.com/news/uk-england-nottinghamshire-60812866