Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

ทฤษฎีช้างตกต้นไม้ : ย้อนรอยทีมจ่าฝูงแพ้ภัยตัวเอง พลาดแชมป์แบบสุดช็อก

ทฤษฎีช้างตกต้นไม้ : ย้อนรอยทีมจ่าฝูงแพ้ภัยตัวเอง พลาดแชมป์แบบสุดช็อก

หลังเกมบิ๊กแมตช์พรีเมียร์ลีก ชี้ชะตาการลุ้นแชมป์ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เปิดบ้านถล่ม อาร์เซน่อล 4 – 1 ส่งผลให้ “แชมป์เก่า” ทำคะแนนไล่จี้เหลือ 2 แต้ม แถมเตะน้อยกว่าถึง 2 นัด

แม้โมเมนตัมในการลุ้นคว้าแชมป์จะเอียงไปทาง “เรือใบสีฟ้า” มากขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์ยังไม่ทิ้งห่างแบบขาดลอย “ปืนใหญ่” ก็มีหวังเล็ก ๆ ในการกลับมาคว้าโทรฟี่พรีเมียร์ลีกครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี

มีเรื่องโจ๊กจากแฟนบอลในต่างประเทศ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “อาร์เซน่อลที่อยู่ในอันดับ 1 ของตาราง เสมือนช้างที่อยู่บนต้นไม้ ไม่มีใครรู้ว่ามันปีนขึ้นไปได้อย่างไร แต่ทุกคนรู้ว่าสุดท้ายมันต้องตกลงมาอยู่ดี”

วลี “ช้างที่อยู่บนต้นไม้” คือการเปรียบเปรยถึงสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือสิ่งที่ผิดธรรมชาติ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป โลกแห่งความเป็นจริง ก็จะกระชากจากภวังค์ให้กลับมาอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าอีกครั้ง

ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์ของทีมที่กำลังอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง แต่พอพลาดท่าแพ้เกมสำคัญระหว่างฤดูกาล ให้กับคู่แข่งที่แย่งแชมป์แบบโดยตรง กลายเป็นจุดพลิกผันสู่ความผิดหวังในที่สุด

1989 : ลิเวอร์พูล 0 – 2 อาร์เซน่อล (26 พฤษภาคม)

ศึกลูกหนังดิวิชั่น 1 ลีกสูงสุดของอังกฤษในขณะนั้น เมื่อฤดูกาล 1988/89 ลิเวอร์พูล กับ อาร์เซน่อล คือคู่ชิงแชมป์ประจำซีซั่น และมีโปรแกรมพบกันเองในนัดสุดท้าย ซึ่ง “หงส์แดง” กุมความได้เปรียบอยู่

สถานการณ์ก่อนลงเตะนัดตัดสินแชมป์ที่แอนฟิลด์ ลิเวอร์พูลนำอันดับ 1 มี 76 คะแนน ผลต่างประตูได้-เสีย +39 โดยมีอาร์เซน่อล ตามมาติด ๆ ในอันดับ 2 มี 73 คะแนน ผลต่างประตูได้-เสีย +35

ที่สำคัญ ลิเวอร์พูลกำลังอยู่ในช่วงฟอร์มที่ดี 18 เกมหลังสุดในลีก ไม่แพ้ใคร และเสียประตูในบ้านเพียง 2 ลูก โยนความกดดันไปให้อาร์เซน่อล ที่ต้องชนะด้วยผลต่าง 2 ประตูขึ้นไป ถึงจะแซงคว้าแชมป์

ครึ่งแรกยังยิงกันไม่ได้ แต่เริ่มครึ่งหลังได้ไม่ถึง 10 นาที อลัน สมิธ โขกให้อาร์เซน่อลขึ้นนำก่อน 1 – 0 อย่างไรก็ตาม ถ้าจบด้วยสกอร์นี้ ลิเวอร์พูลยังเป็นฝ่ายที่ได้แชมป์ เพราะผลต่างประตูได้-เสียดีกว่า

เจ้าบ้านพยายามบุกหนักหวังตีเสมอให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังทำไม่สำเร็จ เคนนี่ ดัลกลิช กุนซือลิเวอร์พูล ตัดสินใจเคาะบอลไปมาเพื่อเผาเวลาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดฟ้าผ่ากลางแอนฟิลด์ขึ้นจนได้

ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ไมเคิล โธมัส ยิงประตู 2 – 0 ส่งอาร์เซน่อลคว้าแชมป์ลีกสูงสุดหนแรกในรอบ 18 ปี โดยมีแต้ม และผลต่างประตูได้เสียเท่ากัน แต่มีจำนวนประตูได้ที่มากกว่าลิเวอร์พูล (73 ต่อ 65)

1996 : นิวคาสเซิล 0 – 1 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (4 มีนาคม)

ฤดูกาล 1995/96 ลีกสูงสุดเมืองผู้ดี เปลี่ยนชื่อเป็น “พรีเมียร์ลีก” ได้ไม่นาน นิวคาสเซิล ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น จนทำแต้มทิ้งห่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไกลถึง 12 แต้มในเดือนมกราคม 1996

แต่หลังจากนั้น นิวคาสเซิลก็เริ่มฟอร์มแกว่ง จนถูกแมนฯ ยูไนเต็ด ไล่จี้เข้ามา และทั้ง 2 ทีม มีโปรแกรมพบกันเองที่เซนต์ เจมส์ปาร์ค ช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งก่อนลงสนาม “สาลิกาดง” นำอยู่ 4 แต้ม

นิวคาสเซิล มีโอกาสบุกมากกว่า แต่ยิงอย่างไรก็ไม่ผ่านมือปีเตอร์ ชไมเคิล นายทวารแมนฯ ยูไนเต็ด สุดท้ายแล้ว เอริค คันโตน่า พังประตูชัยให้ “ปิศาจแดง” บุกชนะ 1 – 0 ลดช่องว่างเหลือแค่แต้มเดียว

เมื่อระยะห่างแคบลงเรื่อย ๆ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กุนซือแมนฯ ยูไนเต็ด จัดการเปิดสงครามจิตวิทยา และสุดท้าย เควิน คีแกน ก็ตกหลุมพรางจนสูญเสียความมั่นใจ และเริ่มรับมือกับความกดดันไม่ไหว

ช่วงที่เหลือของซีซั่น สถานการณ์ลุ้นแชมป์ก็กลับตาลปัตร นิวคาสเซิล ชนะ 5 เสมอ 2 แพ้ 3 สุดท้ายถูกแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ชนะถึง 7 จาก 9 เกมสุดท้าย แซงคว้าแชมป์ด้วยการมีคะแนนมากกว่า 4 แต้ม

1998 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 0 – 1 อาร์เซน่อล (14 มีนาคม)

ฤดูกาล 1997/98 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน หวังจะเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 3 ซีซั่นติดต่อกัน แต่สำหรับอาร์เซน่อล นี่คือครั้งแรกที่อาร์แซน เวนเกอร์ คุมทีมแบบเต็มซีซั่น

ช่วงกลางเดือนมีนาคม 1998 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นำเป็นจ่าฝูง มีแต้มนำอาร์เซน่อล 9 แต้ม แต่ทีมของกุนซืออาร์แซน เวนเกอร์ ลงเตะน้อยกว่าถึง 3 เกม และทั้ง 2 ทีม มีนัดปะทะกันที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด

เกมทำท่าว่าจะจบด้วยผลเสมอ แต่ในนาทีที่ 79 มาร์ค โอเวอร์มาร์ส วิ่งมาซัดด้วยขวาผ่านปีเตอร์ ชไมเคิล เป็นประตูชัยให้อาร์เซน่อล พร้อมกับลดช่องว่างเหลือ 6 แต้ม กับโปรแกรมที่ตกค้างในมือ 3 นัด

หลังบิ๊กแมตช์ที่โรงละคร “เดอะ กันเนอร์ส” กุมชะตากรรมไว้ในมือของตัวเองแล้ว โดยชนะถึง 8 จาก 10 เกมที่เหลือ ขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด ชนะ 5 จาก 7 เกมสุดท้าย แต่ไม่เพียงพอต่อการป้องกันแชมป์

อาร์เซน่อล การันตีตำแหน่งอันดับ 1 หลังถล่มเอฟเวอร์ตัน 4 – 0 เมื่อเหลือ 2 นัดสุดท้ายของฤดูกาล คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้เป็นครั้งแรกในยุคของเวนเกอร์ โดยเฉือน “ปิศาจแดง” เพียงแต้มเดียวเท่านั้น

2010 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 1 – 2 เชลซี (3 เมษายน)

หลังจากคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 3 ซีซั่นติดต่อกัน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2009/10 หวังที่จะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ชนิดที่ไม่มีทีมใดเคยทำมาก่อน ด้วยการคว้าแชมป์ต่อเนื่องเป็นซีซั่นที่ 4

และผู้ท้าชิงของพวกเขาคือ เชลซี ของกุนซือคาร์โล อันเชล็อตติ ที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม จนถึงแมตช์ที่ต้องพบกับทีมของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในเกมที่ 33 ของฤดูกาล ช่วงต้นเดือนเมษายน 2010

ก่อนเกมบิ๊กแมตช์ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด “ปิศาจแดง” อยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง มีคะแนนนำหน้าเชลซี 1 แต้ม ต้องการชัยชนะเพื่อทำแต้มทิ้งห่างออกไป และถือเป็นการล้างแค้นจากเกมนัดแรกที่บุกไปแพ้ 0 – 1

เชลซี ออกนำก่อน 2 ประตู จากโจ โคล และดิดิเยร์ ดร็อกบา แม้เฟเดริโก้ มาเคด้า จะยิงตีตื้นให้แมนฯ ยูไนเต็ด ไล่มาเป็น 1 – 2 แต่ “สิงห์บูลส์” ก็ยันสกอร์นี้ไว้ได้จนจบเกม แซงขึ้นจ่าฝูง เมื่อเหลือ 5 นัดสุดท้าย

ซึ่งโปรแกรมที่เหลือของทั้ง 2 ทีม ต่างฝ่ายต่างชนะทีมละ 4 เกมเท่ากัน ส่งผลให้เชลซี เป็นฝ่ายที่คว้าแชมป์ไปครองได้สำเร็จ ดับฝันแมนฯ ยูไนเต็ด ในการเป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัยติดต่อกัน

2012 : แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1 – 0 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (30 เมษายน)

ฤดูกาล 2011/12 ช่วงต้นเดือนเมษายน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยืนอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง มีแต้มนำแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถึง 8 แต้ม เมื่อเหลืออีก 6 เกม ทำให้หลายคนมองว่า “ปิศาจแดง” น่าจะเข้าวินได้ไม่ยาก

ทว่า 3 นัดหลังจากนั้น แมนฯ ซิตี้ ชนะรวด สวนทางกับแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ออกอาการสะดุดครั้งใหญ่ เมื่อบุกไปแพ้วีแกน แบบพลิกล็อก 0 – 1 และถูกเอฟเวอร์ตันไล่ตามตีเสมอ 4 – 4 คาโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด

ก่อนเกมแมนเชสเตอร์ ดาร์บี้ ที่เอติฮัด สเตเดี้ยม ถิ่นของ “เรือใบสีฟ้า” ในวันสิ้นเดือนเมษายน 2012 ยูไนเต็ดมีแต้มนำซิตี้เพียง 3 แต้ม นั่นหมายความว่า ถ้า “ปิศาจแดง” แพ้ จะหล่นมาเป็นอันดับ 2 ทันที

ในช่วงทดเจ็บครึ่งแรก แว็งซองต์ กอมปานี ทำประตูชัยให้กับแมนฯ ซิตี้ เก็บ 3 คะแนนสำคัญ แซงแมนฯ ยูไนเต็ด ขึ้นนำเป็นจ่าฝูง มี 83 แต้มเท่ากัน แต่ผลต่างประตูได้-เสีย ดีกว่าอยู่ 8 ลูก เมื่อเหลืออีก 2 เกม

นัดรองสุดท้าย 2 ทีมเมืองแมนเชสเตอร์ ชนะทั้งคู่ ส่วนผลแข่งในเกมที่ 38 แมนฯ ยูไนเต็ด ที่แข่งจบไปก่อน บุกชนะซันเดอร์แลนด์ 1 – 0 ขณะที่แมนฯ ซิตี้ ยังเสมอกับควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส 2 – 2 ช่วงท้ายเกม

และนัดปิดซีซั่น คือหนึ่งในเหตุการณ์การคว้าแชมป์ที่ดราม่าที่สุดตลอดกาล กับประตูชัยของกุน อเกวโร่ นาทีที่ 93.20 ซึ่งเป็นโมเมนต์ที่ทำเอาแฟนๆ “เรด อาร์มี่” อยากจะลบออกจากความทรงจำเลยทีเดียว

2019 : แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2 – 1 ลิเวอร์พูล (3 มกราคม)

ฤดูกาล 2018/19 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลิเวอร์พูล เป็นคู่ชิงแชมป์พรีเมียร์ลีกที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ แฟนบอลของทั้ง 2 ทีม ต่างลุ้นกันนัดต่อนัด ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงนัดสุดท้ายของฤดูกาล

สิ้นปี 2018 ลิเวอร์พูล มีคะแนนนำแมนฯ ซิตี้ อยู่ 7 แต้ม หลังผ่านไป 20 เกม และเกมต่อมา คือเกมแรกของปี 2019 ทั้งคู่ต้องห้ำหั่นกันเอง ที่เอติฮัด สเตเดี้ยม ถือเป็นนัดสำคัญที่มีผลต่อการลุ้นแชมป์โดยตรง

ขณะที่ยังเสมอกันอยู่ 0 – 0 ในนาทีที่ 20 ซาดิโอ มาเน่ ดาวยิงลิเวอร์พูล ซัดบอลไปชนเสา จอห์น สโตนส์ แนวรับแมนฯ ซิตี้ สกัดบอลโดนเอแดร์ซอน นายทวารเพื่อนร่วมทีม ก่อนที่สโตนส์จะเคลียร์บอลออกจากเส้น ขาดเพียง 11 มิลลิเมตร จะข้ามเส้นประตู

ซึ่งนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แมนฯ ซิตี้ เก็บ 3 คะแนนสุดล้ำค่า ด้วยชัยชนะ 2 – 1 ลดช่องว่างลงมาเหลือ 4 แต้ม แถมเป็นการยัดเยียดความปราชัยนัดแรก และนัดเดียวตลอดทั้งฤดูกาลชองลิเวอร์พูลด้วย

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เก็บชัย 2 นัดติด ก่อนบุกไปแพ้นิวคาสเซิล 1 – 2 และหลังจากนั้น สร้างสถิติสุดโหด ชนะ 14 นัดติดต่อกัน ฮึดแซงคว้าแชมป์ได้แบบน่าเหลือเชื่อ โดยเฉือนลิเวอร์พูลแค่แต้มเดียว (98 ต่อ 97)

และในฤดูกาล 2022/23 ทีมของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก็มีโอกาสทำสถิติชนะ 14 นัดรวด เหมือนเมื่อ 4 ซีซั่นก่อน หลังจากชัยชนะในเกมกับอาร์เซน่อลเมื่อกลางสัปดาห์ พวกเขาเก็บชัยชนะมาแล้ว 7 นัดติดต่อกัน

อย่างไรก็ตาม จากลิสต์นี้ ทีมที่นำจ่าฝูงแต่วืดแชมป์เมื่อจบฤดูกาล สามารถกลับมายืนแป้นอันดับ 1 ทันทีในซีซั่นถัดมาได้ถึง 5 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการนำบทเรียนจากความผิดหวัง เป็นแรงขับสู่ความสำเร็จ

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-12010655/The-pivotal-title-deciders-Man-City-host-Arsenal-Premier-League.html

– https://thearsenalelephant.com/the-arsenal-elephant-blog/f/the-elephant-that-never-fell-from-the-tree

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.