Categories
Football Business

ดิจิทัลเปลี่ยนโลกฟุตบอล : “พรีเมียร์ลีก” กับการเปิดประมูลสิทธิ์ NFT

เมื่อกระแสของโลก “ดิจิทัล” กำลังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับโลกมนุษย์อีกสเต็ปหนึ่งผ่านสกุลเงิน และสินทรัพย์ในรูปแบบดิจิตัล วงการฟุตบอลก็เช่นกัน หากสังเกตดี ๆ เราจะเริ่มเห็นการนำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็น และน่าจะเป็นสินทรัพย์จับต้องได้เกี่ยวกับฟุตบอลมาแปลงให้เป็น “สินทรัพย์ดิจิตอล” เพื่อเพิ่มมูลค่ากันมากขึ้น

ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก็มีแผนที่จะเข้าสู่โลกดิจิทัลนี้ โดยเตรียมเปิดประมูลเพื่อขายลิขสิทธิ์ในการผลิตสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ NFT ซึ่งผู้ชนะการประมูลจะได้สิทธิ์เป็นเวลา 4 ปีด้วยกัน

แล้วสินทรัพย์ดิจิทัล จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการลูกหนังเมืองผู้ดีอย่างไร ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

NFT คืออะไร ?

NFT ย่อมาจากคำว่า Non-fungible tokens หมายถึง สินทรัพย์ที่ถูกแปลงไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) ที่ใช้กับสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี

ลักษณะเด่นของ NFT นั้น จะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีผู้ถือครองได้แค่คนเดียว และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำ หรือคัดลอกได้ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่า ใครคือเจ้าของตัวจริง

ซึ่งข้อดีของ NFT คือ สามารถซื้อ-ขาย หรือโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่ต้องมีคนกลาง แถมมีความปลอดภัย เพราะทุกกิจกรรมหรือธุรกรรมที่เกิดขึ้นจะถูกบันทึกไว้ทั้งหมด สามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้

ระบบของ NFT ทำให้สินทรัพย์ หรือของสะสมที่มีมูลค่า สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ง่ายดายมากขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ จนเกิดโอกาสในการทำเงินได้อีกด้วย

สินทรัพย์ดิจิทัลประเภท NFT ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้สร้างงาน และขายงานได้ หากงานนั้นๆ ถูกตาต้องใจผู้ที่ต้องการจะครอบครอง ถือเป็นการเปิดพื้นที่ในการแสดงผลงานของตัวเองได้มากขึ้น

วงการฟุตบอลช่วยขับเคลื่อน NFT

ในช่วงแรกของ NFT นั้น ใช้เฉพาะในกลุ่มเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น เช่นศิลปะ, เพลง หรือเกม แต่เมื่อความนิยมแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เข้าสู่แวดวงกีฬา และแน่นอนว่า “ฟุตบอล” คือหนึ่งในนั้น

ล่าสุด ลีกสูงสุดของอังกฤษ ได้เปิดให้ประมูลสิทธิ์ NFT ซึ่งในเวลานี้ มีผู้สนใจ 4 ราย ได้แก่ Sorare, Candy Digital, Dapper Labs และ ConsenSys มูลค่าอยู่ระหว่าง 220 – 434 ล้านปอนด์

จากนั้น ผู้เข้าประมูลทั้ง 4 ราย จะต้องนำเสนอรายละเอียดให้กับ 20 สโมสรสมาชิกพรีเมียร์ลีกในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ สำหรับผู้ชนะในการประมูล จะได้รับสิทธิ์ NFT เป็นเวลา 4 ปี

ในส่วนของนักฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงสุดใน NFT คือการ์ดสะสมหายาก Sorare ของเออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ ที่ถูกประมูลไปด้วยราคา 5 แสนปอนด์ ทำลายสถิติการ์ดของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่ทำไว้ 3 แสนปอนด์ อย่างราบคาบ

ซึ่งการ์ดสะสมของ Sorare เป็นหนึ่งในคอลเล็กชันที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยสิ่งที่แตกต่างจากการ์ดแบบเก่าคือ การ์ด Sorare สามารถนำไปใช้กับเกมฟุตบอลแฟนตาซีได้ด้วย

หรือตำนานนักฟุตบอลอย่างจอห์น เทอร์รี่ อดีตกัปตันทีมชาติอังกฤษและเชลซี ก็ได้ปล่อยผลงาน NFT คอลเล็กชัน “Ape Kids Club” เป็นภาพลิงสีน้ำเงินสวมปลอกแขนกัปตันทีม พร้อมกับถ้วยแชมป์หลายใบอย่างไรก็ตาม เทอร์รี่อาจถูกทางพรีเมียร์ลีก และสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) สอบสวนว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ หากมีการละเมิดจริงก็จะดำเนินคดีต่อไป

การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง

การลงทุนใน NFT ก็เหมือนกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ คือมีความเสี่ยง ที่มีผลลัพธ์ทั้งด้านบวกและลบ แต่การลงทุนบางประเภทที่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับอย่างชัดเจน ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้

เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว Sorare แพลตฟอร์มดิจิทัลฟุตบอลของฝรั่งเศส หนึ่งในผู้เข้าประมูล NFT กับทางพรีเมียร์ลีก ถูกหน่วยงานด้านตรวจสอบการพนันสอบสวนว่า เข้ามาทำธุรกิจในอังกฤษโดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยหน่วยงานด้านตรวจสอบการพนัน ได้กล่าวว่า “เราพบว่า Sorare ได้เข้ามาให้บริการในสหราชอาณาจักร แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของเรา เราขอเตือนแฟนฟุตบอลให้หลีกเลี่ยงการลงทุนแบบนี้”

ขณะที่โฆษกของ Sorare กล่าวว่า “เป็นเรื่องปกติที่จะมีการตรวจสอบแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นใหม่ และจะทำเพื่อผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ เราจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เข้ามาสอบสวนอย่างเต็มที่”

“Sorare ได้เป็นพันธมิตรกับสโมสรฟุตบอลอย่างน้อย 230 สโมสร รวมถึงลีกสำคัญๆ หลายลีกของยุโรป เพื่อเสนอสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ NFT ในรูปแบบของการ์ด และมีเกมฟุตบอลแฟนตาซีให้เล่นฟรี”

“แพลตฟอร์มของเราก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างคอนเน็คชั่นที่ดีระหว่างสโมสรกับแฟนบอลในรูปแบบดิจิทัล เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การบริการหรือการส่งเสริมการขายของเรา ไม่เกี่ยวข้องกับการพนันอย่างแน่นอน”

ความเสี่ยงของ NFT อีกอย่างที่สำคัญคือ การสูญหายของสินทรัพย์ แต่จะเป็นการสูญหายในเชิงเทคนิค เช่นในกรณีที่เราลืมรหัสผ่าน/กุญแจ จนไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ หรือแพลตฟอร์มนั้นเกิดปิดตัวลงกะทันหัน

แม้ว่าโอกาสและแนวโน้มของ NFT จะเป็นไปในทางที่เติบโตขึ้นอย่างน่าตื่นเต้น แต่ก็ควรตระหนักไว้ว่า NFT มีความผันผวนได้เช่นกัน ดังนั้นการศึกษาเพิ่มเติมองค์ความรู้ในด้านนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญก่อนที่จะคิดลงทุน และสะสมสินทรัพย์ดิจิตอล ที่ตอนนี้กระแสกำลังเริ่มแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงข้อมูลข่าวสารก็ถาโถมเข้ามาอย่างมาก 

ทั้งนี้ก็เหมือนกับการลงทุนทุกชนิดที่มีความเสี่ยง เพราะยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า NFT จะพัฒนาไปสู่ตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลเพียงใด และเปรียบเทียบกับการลงทุนในสกุลเงินดิจิตอลได้เพียงไหน แต่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ NFT ก็ถือเป็นการลงทุนในยุคดิจิทัลที่ต้องจับตามองในอนาคตต่อไป

เฉพาะอย่างยิ่ง NFT ได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมกีฬา และฟุตบอลอย่างเต็มตัวแล้ว

หมายเหตุ: สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง NFT ติดต่อ mkt.khaimukdam@gmail.com ทางไข่มุกดำ ร่วมกับพาร์ตเนอร์ EAST NFT สร้างสรรค์สินทรัพย์ดิจิตอล นักกีฬามีชื่อเสียง อยู่หลายรายในเวลานี้

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : NFT News Pro

อ้างอิง : 

– https://www.dailymail.co.uk/sport/sportsnews/article-10525031/Gambling-Commission-probes-French-company-four-bidders-Premier-Leagues-NFT-licence.html

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10464499/Erling-Haaland-NFT-trading-card-sells-500-000-SMASHING-previous-Cristiano-Ronaldo-record.html

– https://theathletic.com/2634415/2021/06/07/nfts-the-future-of-football-or-a-massive-con/

– https://theathletic.com/3142145/2022/02/22/players-odd-spremier-league-clubs-cashing-in-nfts/

– https://theathletic.com/3054372/2022/01/11/why-footballers-are-spending-thousands-on-cartoon-monkeys/

– https://theathletic.com/news/chelsea-looking-into-john-terry-promoted-nfts-that-use-club-assets-and-intellectual-property/ULpvNNPB7SHy/

– https://techstory.in/premier-league-to-fix-nft-deal-worth-up-to-590-million/

– https://www.ledgerinsights.com/premier-league-nft-football-rights-worth-up-to-590-million/

– https://bitcoinaddict.org/2021/05/14/the-nft-bible-part-1-what-is-nft/

Categories
Special Content

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : “พรีเมียร์ลีก” กับการแก้ปัญหาสภาพจิตใจนักเตะเยาวชน

เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ ต่างมีความฝันที่จะเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ชีวิตที่สุขสบาย ร่ำรวยเงินทอง ชื่อเสียงที่รออยู่ข้างหน้า และภาคภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่พวกเขารัก 

แต่ในบางครั้ง “ความฝัน” กับ “ความจริง” มันไม่ไปด้วยกัน คนจำนวนมากไปไม่ถึงเป้าหมาย ต้องทำอาชีพในสายอื่น หรือบางคนไม่สามารถรับมือกับความผิดหวังได้ ถึงขั้นใช้ชีวิตเสเพล หรือทำร้ายตัวเอง

แล้วในวงการฟุตบอลอังกฤษ มีแนวทางในการแก้ปัญหานักเตะเหล่านี้อย่างไรบ้าง ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

กรณีศึกษาของวิสเท่น

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2020 ได้มีเหตุการณ์ที่ช็อกวงการฟุตบอลอังกฤษ เมื่อเจเรมี่ วิสเท่น อดีตนักเตะอคาเดมี่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น

ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้วิสเท่นเสียชีวิตนั้น มาจากภาวะโรคซึมเศร้า ไม่สามารถสลัดกับความผิดหวังได้ หลังถูกปล่อยตัวออกจากแมนฯ ซิตี้ อันเนื่องมาจากเขาไม่ได้รับสัญญานักเตะระดับอาชีพ

สำหรับวิสเท่น ได้ตัดสินใจเข้าสู่ทีมเยาวชนของ “เรือใบสีฟ้า” เมื่ออายุ 13 ปี ในช่วงแรกที่อยู่กับอคาเดมี่นั้น เขาสามารถฉายแววแก่งให้ทีมสต๊าฟฟ์ได้เห็น เรียกได้ว่าอนาคตที่สดใสรอเขาอยู่ในไม่ช้า

แต่เมื่อวิสเท่นอายุกำลังจะย่างเข้า 16 ปี กลับโชคร้ายสุดๆ เพราะก่อนที่ทางแมนฯ ซิตี้ จะประกาศรายชื่อนักเตะที่ได้รับสัญญาระดับอาชีพ เขามีอาการบาดเจ็บรบกวนบ่อยมาก จนฟอร์มการเล่นไม่สม่ำเสมอ

และท้ายที่สุด แมนฯ ซิตี้ ได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จึงตัดสินใจไม่ให้วิสเท่นไปต่อในฐานะนักเตะอาชีพ อย่างไรก็ตาม ทางซิตี้เองก็พยายามที่จะหาทีมระดับรองลงมาให้เขาได้ลงเล่นต่อไป

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปจนวิสเท่นอายุครบ 16 ปี กลับไม่มีสโมสรใดติดต่อให้ไปโชว์ฝีเท้าเลย ในที่สุดเขาต้องยุติความฝันในการเป็นนักฟุตบอล จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

หัวกะทิเท่านั้นที่จะอยู่รอด

ในอังกฤษ มีเด็กกว่า 1 ล้านคนที่เป็นนักฟุตบอลระดับเยาวชน แต่มีเพียง 1 พันคนเท่านั้นที่จะได้สัญญานักเตะอาชีพ เนื่องจากแต่ละสโมสรต้องคัดกรองอย่างเข้มข้น เพื่อเอาเฉพาะคนที่เจ๋งจริงๆ เท่านั้น

ตามกฎการพัฒนานักฟุตบอลระดับเยาวชนของพรีเมียร์ลีก ระบุให้สโมสรสมาชิกดึงตัวนักเตะเข้าอคาเดมี่ตามจำนวนที่กำหนดไว้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 250 คน ดังนี้

– กลุ่มที่ 1 รุ่นอายุไม่เกิน 9 ปี, 10 ปี, 11 ปี, 12 ปี, 13 ปี และ 14 ปี รุ่นละ 30 คน

– กลุ่มที่ 2 รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี และ 16 ปี รุ่นละ 20 คน

– กลุ่มที่ 3 รุ่นอายุระหว่าง 16-17 ปี 30 คน

ข้อมูลจากพรีเมียร์ลีกระบุว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของนักเตะในอคาเดมี่ทั้งหมด 4,109 คน ที่มีอายุระหว่าง 21 – 26 ปี ในปัจจุบัน ไม่ประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีก โดยในจำนวนนี้มี 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้สัญญานักเตะอาชีพ

ขณะที่เทรซีย์ เคราช์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักเตะเยาวชน 10,000 – 12,000 คน จะถูกปล่อยตัวออกจากอคาเดมี่  

พีท โลว์ ผู้ร่วมก่อตั้ง PlayersNet องค์กรที่ให้คำปรึกษาปัญหานักเตะระดับเยาวชน กล่าวว่า “เรากำลังขอร้องให้สโมสรต่าง ๆ ลดจำนวนนักเตะในอคาเดมี่ลง นักเตะเหล่านี้ถูกขังอยู่ในระบบ ไม่สามารถไปที่สโมสรอื่นได้อีก อย่างน้อยพวกเขาก็สบายใจได้มากขึ้น เมื่อรู้ว่าทำได้ไม่ดีพอ”

ขณะที่บ๊อบ บรูมเฮด เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตประจำสาธารณสุขของอังกฤษ (NHS) กล่าวว่า “นักเตะเยาวชนกำลังถูกคล้อยตามความคิดที่ว่า ต้องทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับฟุตบอล โดยที่ไม่มีแผนสองมารองรับ”

ทางออกสำหรับผู้ที่ถูกคัดออก

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเจเรมี่ วิสเท่น ทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษได้ตระหนักขึ้นมาว่า จะต้องมีทางออกสำหรับผู้ที่พลาดหวัง ไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ ให้มีความสุขกับในสิ่งที่พวกเขารักต่อไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คริสตัล พาเลซ ซึ่งเป็นสโมสรแรกในพรีเมียร์ลีก ที่คิดค้นโปรแกรมในการดูแลนักเตะเยาวชนที่ถูกตัดออกจากอคาเดมี่ โดยจะส่งต่อไปยังสโมสรที่อยู่ละแวกใกล้เคียง เป็นเวลา 3 ปี

สตีฟ แพริช ประธานสโมสรคริสตัล พาเลซ กล่าวว่า “นักเตะอย่างวิลฟรีด ซาฮา, อารอน วาน-บิสซาก้า และเจสัน พันชอน ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ไปต่อ แต่ผมได้ไปบอกแกรี่ อิสซอตต์ (โค้ชอคาเดมี่) ว่าให้เก็บพวกเขาไว้”

สำหรับพาเลซในปีนี้ ได้ปล่อยนักเตะออกจากอคาเดมี่ค่อนข้างน้อย โดยแบ่งเป็นอายุต่ำกว่า 18 ปี 3 คน และอายุต่ำกว่า 23 ปี อีก 4 คน แต่นักเตะเหล่านั้นก็ยังได้รับการดูแลจากอคาเดมี่ของสโมสรต่อไป

ประธานของพาเลซ กล่าวปิดท้ายว่า “เราพยายามที่จะทำให้อคาเดมี่ของเรา เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ยอดเยี่ยม และสามารถเปลี่ยนชีวิตนักเตะได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เป็นนักเตะอาชีพกับเราแล้วก็ตาม”

หรือทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็มีการสนับสนุน และให้คำปรึกษากับนักเตะที่ถูกคัดออก โดยเพิ่มที่ปรึกษาเป็น 5 คน รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการติดต่อสื่อสารกับนักเตะเหล่านี้ให้บ่อยขึ้นมากกว่าเดิมอีกเท่าตัว

จากปัญหานักเตะเยาวชนถูกคัดออกจากอคาเดมี่ เราได้บทเรียนสำคัญคือ การเรียนรู้วิธีรับมือกับความล้มเหลว และรู้จักหนทางในสายอาชีพอื่น เพราะอาจจะประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่านักฟุตบอลก็เป็นได้

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Soccer Bible

อ้างอิง :

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10520715/Premier-League-figures-failings-football-factories.html

– https://resources.premierleague.com/premierleague/document/2021/09/24/e3d1e717-fb0d-4e73-a504-db71ef93640a/PL_2021-22_Youth_Development_Rules_23.09.pdf

– https://www.soccerbible.com/news/2021/10/crystal-palace-unveil-brand-new-academy-facility/

Categories
Special Content

ลีกฟุตบอลสีเขียว : “พรีเมียร์ลีก” กับแผนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ นอกจากจะมีหน้าที่จัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพแล้ว ยังเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญ และตระหนักถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นความท้าทายระยะยาวของสังคมโลก

ทั้ง 20 สโมสรต่างมีผลงานในการปฏิบัติตามแผนงานเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากน้อยแตกต่างกันออกไป โดยมีการจัดอันดับเหมือนกับตารางคะแนนในการแข่งขันฟุตบอลทั่วๆ ไป

แล้วสโมสรในลีกสูงสุดเมืองผู้ดี มีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

สเปอร์ส – ลิเวอร์พูล แชมป์ร่วมรักษ์โลกปี 2021

บีบีซี สำนักข่าวชื่อดังของอังกฤษ และ Sport Positive Summit ได้ร่วมกันจัดอันดับ 20 สโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก ที่ปฏิบัติตามมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

สำหรับเกณฑ์ที่ใช้พิจารณา มีทั้งหมด 11 ข้อด้วยกัน แต่ละข้อมีคะแนน 2 คะแนน และยังมีคะแนนโบนัสอีก 2 คะแนน ถ้าผ่านเกณฑ์มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ รวม 24 คะแนนเต็ม

ผลปรากฏว่า ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ และลิเวอร์พูล เป็นสโมสรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ประจำปี 2021 ที่ผ่านมา มี 23 คะแนนเท่ากัน โดยเฉพาะสเปอร์สนั้น ครองแชมป์มาแล้ว 3 ปีติดต่อกัน

บิลลี่ โฮแกน ซีอีโอลิเวอร์พูล กล่าวว่า “เรื่องสิ่งแวดล้อมคือเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกองค์กรต่างก็มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อชุมชน”

ขณะที่ดอนน่า-มาเรีย คัลเลน ผู้บริหารของสเปอร์ส ระบุว่า “การที่เราเป็นอันดับ 1 อีกครั้งในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความยอดเยี่ยมของสโมสร เราจะท้าทายตัวเองในการรักษาแชมป์ต่อไป”

“การที่สโมสรเข้าร่วมโครงการ UN Race to Zero ถือเป็นก้าวต่อไปที่สำคัญของเรา ซึ่งทำให้เรามีแนวทางที่ชัดเจน และเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษที่เราเตรียมพร้อมจะปฎิบัติตามอย่างแน่นอน”

ทีมในพรีเมียร์ลีก กับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อปีที่แล้ว ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ และลิเวอร์พูล ครองอันดับ 1 ร่วมกันในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในพรีเมียร์ลีก อย่างไรก็ตาม หลายๆ สโมสร ก็มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

เริ่มที่สเปอร์สกันก่อน พวกเขายืนหนึ่งเรื่องการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมายาวนาน จากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ 10:10 initiative และ Count Us In ที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ที่สำคัญกว่านั้น “ไก่เดือยทอง” ยังได้จัดการแข่งขันฟุตบอลที่ปลอดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นครั้งแรกของโลก ในเกมพรีเมียร์ลีก ที่เปิดบ้านแพ้เชลซี 0 – 3 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

และล่าสุด ทีมจากลอนดอนเหนือทีมนี้ เพิ่งเข้าร่วมโครงการ Race to Zero และได้ประกาศเป้าหมายว่า จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2030 และจะเป็นศูนย์ภายในปี 2040

สำหรับโครงการ Race to Zero ได้เปิดตัวครั้งแรกในการประชุม COP26 ที่ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากสเปอร์สแล้ว ยังมีลิเวอร์พูล, เซาธ์แธมป์ตัน และอาร์เซน่อลที่เข้าร่วมด้วย

นอกจากนี้ สเปอร์สใกล้ที่จะบรรลุเป้าหมายในการให้แฟนบอลใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางมาชมเกมในวันแข่งขันให้ไม่เกิน 23 เปอร์เซ็นต์ (14,250 คน) รวมถึงสร้างฟาร์มปลูกผักเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับเมนูอาหาร

มาดูที่ลิเวอร์พูลกันบ้าง ได้ทำการปลูกต้นไม้จำนวน 900 ต้น พร้อมไม้ประดับชนิดต่างๆ บริเวณอคาเดมี่ของสโมสร อีกทั้งยังปลูกผักสำหรับเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร และยังทำงานร่วมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์ในชุมชน

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.arsenal.com/news/renewable-energy-partnership-octopus-energy

สำหรับตัวอย่างการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของสโมสรอื่นๆ ในพรีเมียร์ลีก ที่น่าสนใจ :

อาร์เซน่อล – สโมสรแรกของพรีเมียร์ลีก ที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซนต์

เอฟเวอร์ตัน – จัดตั้งโครงการ “Everton for Change” เพื่อแบ่งปันไอเดียรักษ์โลกกับแฟนบอลของสโมสร

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ – มีเป้าหมายที่จะหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างถาวรภายในปี 2030

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด – ร่วมมือกับ Renewable Energy Group ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ไบรท์ตัน – ร่วมกับโครงการ “On the Ball” เพื่อมอบสินค้าปลอดพลาสติกให้กับแฟนบอล และนักฟุตบอลทีมหญิง

นอริช ซิตี้ – ปลูกผักเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร และพัฒนาแอปพลิเคชัน Player Nutrition ซึ่งเป็นเมนูอาหารจากพืชสำหรับนักฟุตบอล

แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย ก็เห็นจะเป็นเบรนท์ฟอร์ด ที่ออกมาประกาศว่า ในฤดูกาลหน้า จะยังคงใช้ชุดเหย้าเหมือนกับฤดูกาลนี้ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และช่วยให้แฟนบอลประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

หวังเริ่มนำร่องแคมเปญรักษ์โลกตั้งแต่ซีซั่นหน้า

ปัญหาสิ่งแวดล้อม, มลภาวะ และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง ทำให้สโมสรฟุตบอลระดับอาชีพทั้ง 92 สโมสร จาก 4 ดิวิชั่นของอังกฤษ ต้องให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทางพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล ได้ส่งเอกสารแผนงานเบื้องต้นกว่า 100 หน้า ไปยังสโมสรสมาชิก เพื่อเตรียมปรับรูปแบบการดำเนินงานของแต่ละสโมสร ตามแผนงานเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างเช่น นักฟุตบอลและพนักงานของสโมสรให้ปั่นจักรยานมาทำงาน หรือลดการเดินทางมายังสโมสรถ้าไม่จำเป็น ให้ประชุมออนไลน์แทน (ถ้าสามารถทำได้) เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์บนท้องถนน

รวมถึงให้พยายามใช้วัตถุดิบในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ทำจากพืช (Plant-base food) ในเมนูอาหาร แต่สามารถแต่งรสชาติ กลิ่น สีสันให้เหมือนผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้ และให้ใช้พลังงานหมุนเวียนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

โดยสโมสรสมาชิกทั้ง 92 สโมสร ต้องตอบกลับภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ และถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ ก็จะมีการกำหนดกรอบปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น คาดว่าจะสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ฤดูกาล 2022/23 เป็นต้นไป

ริชาร์ด มาสเตอร์ ประธานบริหารพรีเมียร์ลีก กล่าวว่า “แต่ละสโมสรได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และมีการรณรงค์เพื่อต่อยอดไปสู่แฟนฟุตบอล และชุมชนต่อไป”

ชัยชนะในการแข่งขันฟุตบอล เป็นวัฏจักรเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่ง ไม่มีใครยิ่งใหญ่ค้ำฟ้าไปตลอดกาล แต่ชัยชนะในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม คือชัยชนะที่ยั่งยืน และจะเป็นชัยชนะร่วมกันของมวลมนุษยชาติ

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : empireofthekop.com

อ้างอิง : 

Categories
Special Content

แรงน้อยแต่ใจใหญ่ : “หลุยส์ ดิอาซ” นักเตะผอมแห้งสู่ดาวดวงใหม่ของลิเวอร์พูล

หลุยส์ ดิอาซ ปีกทีมชาติโคลัมเบียวัย 25 ปี ประเดิมลงสนามนัดแรกให้กับลิเวอร์พูลเป็นที่เรียบร้อย โดยถูกเปลี่ยนลงมาเป็นสำรองในเกมเอฟเอ คัพ ที่เอาชนะคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ 3 – 1 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่กว่าจะถึงวันนี้ ดิอาซต้องต่อสู้กับรูปร่างที่ผอมแห้ง เนื่องจากในวัยเด็กมีภาวะขาดสารอาหาร แต่สามารถพิสูจน์ตัวเอง จนกลายเป็นนักเตะที่ได้ร่วมงานกับหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกได้สำเร็จ

แล้วเส้นทางสู่การเป็นนักฟุตบอลของดิอาซเป็นอย่างไร ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เติบโตในเมืองที่แร้นแค้น

หลุยส์ ดิอาซ เกิดที่เมืองบาร์รานกาส ที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของโคลัมเบีย ติดชายแดนเวเนซูเอลา ครอบครัวของเขาเป็นชนเผ่าวายู ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

ชีวิตในวัยเด็กของดิอาซต้องเผชิญกับความแร้นแค้น เพราะในพื้นที่นั้นถือเป็นพื้นที่ที่เกิดภาวะขาดแคลนสารอาหารในอันดับต้น ๆ ของประเทศ มีเด็ก ๆ เสียชีวิตจากภาวะดังกล่าวหลายพันคน.ซึ่งสาเหตุที่เมืองบาร์รานกาส เป็นเมืองที่ยากไร้ด้านอาหาร เนื่องจากมีเหมืองถ่านหินเซร์เรโอน ที่ปล่อยมลพิษออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เด็ก ๆ ที่อาศัยในย่านนั้นได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นั่นทำให้ดิอาซมีร่างกายที่ผอมแห้ง เนื่องจากขาดสารอาหาร แต่กลับได้เข้าสู่เส้นทางนักเตะแบบคาดไม่ถึง เพราะไปเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชนเผ่าพื้นเมือง เมื่อปี 2015 ขณะมีอายุ 17 ปี

และถือเป็นความโชคดีของดิอาซ ที่ฟอร์มการเล่นของเขาไปเข้าตาคาร์ลอส วัลเดอร์ราม่า สุดยอดดาวเตะตำนานหัวฟู ทีมชาติโคลัมเบีย ที่ได้เข้ามาชมการแข่งขันในทัวร์นาเมนท์ดังกล่าวด้วย

ถึงแม้ว่าศึกลูกหนังชนเผ่าในครั้งนั้น โคลัมเบีย ทีมของดิอาซ จะแพ้ปารากวัยในนัดชิงชนะเลิศ แต่ถือเป็นใบเบิกทางครั้งสำคัญในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล

เส้นทางในระดับอาชีพ

ไม่น่าเชื่อว่า จากเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหาร และแทบจะไม่ค่อยได้ออกจากหมู่บ้าน แต่หลุยส์ ดิอาซ ก็ฝ่าฟันกับอุปสรรคต่างๆ อีกทั้งแสดงความสามารถออกมาให้ทุกคนเห็น จนได้มาเป็นนักฟุตบอลอาชีพสมความตั้งใจ

สโมสรแรกของดิอาซในระดับอาชีพคือ บาร์รานกีย่า ทีมระดับดิวิชั่น 2 ของโคลัมเบีย แต่สิ่งที่เขาต้องทำเป็นอย่างแรกคือ เข้าโปรแกรมเพิ่มน้ำหนักขึ้นอีก 10 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถรับมือการปะทะกับนักเตะทีมคู่แข่ง

เมื่อร่างกายค่อยๆ เข้าที่ ดิอาซก็โชว์ฟอร์มอย่างโดดเด่น ลงเล่น 34 นัด ทำได้ 3 ประตู จนได้รับโอกาสให้ไปค้าแข้งกับสโมสรที่ใหญ่ขึ้นอย่างแอตเลติโก จูเนียร์ ทีมในลีกสูงสุดอีก 2 ปี ลงเล่น 67 นัด ทำได้ 15 ประตู

ด้วยฝีเท้าที่จัดจ้านของดิอาซ ทำให้เจ้าตัวได้รับความสนใจจากหลายสโมสรในยุโรป และเป็นปอร์โต้ ยักษ์ใหญ่แห่งลีกโปรตุเกส ที่ได้ตัวมาร่วมทีมด้วยค่าตัวเพียงแค่ 7 ล้านยูโร เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019

2 ฤดูกาลครึ่งกับปอร์โต้ ดิอาซโชว์ฟอร์มได้อย่างร้อนแรง ทำได้ 41 ประตู 20 แอสซิสต์ จากการลงสนาม 125 นัดรวมทุกรายการ ทำให้เขาตกเป็นเป้าหมายของหลายทีมยักษ์ใหญ่ในระดับท็อปลีกของยุโรป

ส่วนผลงานกับทีมชาติโคลัมเบีย ลงเล่น 33 นัด ยิง 7 ประตู ผลงานสร้างชื่อคือโคปา อเมริกา ปี 2021 ที่ยิงได้ 4 ประตู ครองตำแหน่งดาวซัลโวประจำรายการร่วมกับลิโอเนล เมสซี่ ซูเปอร์สตาร์ทีมชาติอาร์เจนติน่า

สไตล์การเล่นของดิอาซ เป็นปีกที่เล่นได้ดีทั้งเท้าซ้ายและขวา มีความคล่องตัวสูง พาบอลทะลุทะลวงเจาะเกมรับคู่แข่ง อีกทั้งสามารถทำประตูได้ในทุกระยะ และกลายเป็นนักเตะใหม่ของลิเวอร์พูลในปัจจุบัน

ยินดีต้อนรับสู่อังกฤษ

เจอร์เก้น คล็อปป์ นำลิเวอร์พูลพบกับปอร์โต้ ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม ฤดูกาลนี้ และประทับใจฟอร์มการเล่นของหลุยส์ ดิอาซ จึงตัดสินใจดึงตัวมาในช่วงตลาดนักเตะเดือนมกราคมที่ผ่านมา ด้วยค่าตัว 37 ล้านปอนด์

แต่สำหรับแฟนบอลของปอร์โต้แล้ว ด้วยศักยภาพของเขาที่มีอยู่เต็มเปี่ยม มันควรจะได้ค่าตัวที่มากกว่านี้ ซึ่งยูริโก้ โกเมส อดีตตำนานนักเตะปอร์โต้ ถึงกับออกมาบอกว่า “ลิเวอร์พูลซื้อดิอาซไปในราคาที่ถูกแบบเหลือเชื่อ”

ในที่สุด โอกาสของดิอาซในการลงเล่นกับลิเวอร์พูลเป็นครั้งแรกก็มาถึง ในเกมเอฟเอ คัพ รอบ 4 ที่เปิดบ้านพบกับคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยถูกเปลี่ยนตัวลงมาแทนเคอร์ติส โจนส์ ในนาทีที่ 58

และเพียงแค่นัดแรก ดาวเตะชาวโคลัมเบียคนแรกในประวัติศาสตร์สโมสร ก็แสดงถึงความมุ่งมั่นออกมาให้เห็น ด้วยการวิ่งหาช่องจนมีส่วนร่วมกับประตู 2 – 0 ของทาคุมิ มินามิโนะ ในนาทีที่ 68 หรือ 10 นาทีหลังจากได้ลงสนาม

อย่างไรก็ตาม ช่วงท้ายเกม ดิอาซขึ้นแย่งโหม่งกับกองหลังคาร์ดิฟฟ์ แล้วจังหวะที่ลงพื้นนั้น ถูกนักเตะคู่แข่งย่ำที่ต้นขา แต่โชคดีที่ไม่เจ็บมาก ทำเอาเจอร์เก้น คล็อปป์ ถึงกับกล่าวติดตลกว่า “ยินดีต้อนรับสู่ประเทศอังกฤษ !”

เรื่องราวของหลุยส์ ดิอาซ ถือเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนที่มีอุปสรรคด้านร่างกาย แต่มีความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอล และเขาได้เริ่มต้นการเรียนรู้สำหรับการต่อสู้กับหนึ่งในลีกฟุตบอลที่โหดหินอย่างพรีเมียร์ลีกแล้ว

✍ : จักรพันธ์ ภู่ทอง

📷 : 101 Great Goals

อ้างอิง : https://www.telegraph.co.uk/…/luis-diaz-went…/

#ไข่มุกดำ

#KMDFeature

#Liverpool

#หลุยส์ดิอาซ

Categories
Special Content

เป็นฮีโร่ก็ลำบาก : “มาร์คัส แรชฟอร์ด” ดอกเตอร์ที่ยังไม่ก้าวข้ามดาวรุ่ง

ภาพจำของมาร์คัส แรชฟอร์ด ดาวยิงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ผู้คนในอังกฤษและทั่วโลกนึกถึง คือนักสังคมสงเคราะห์ สะสมความดีมากเพียงพอ จนได้รับการประกาศเกียรติคุณ เพื่อตอบแทนความดีที่สร้างไว้

ตรงข้ามกับชีวิตนักฟุตบอล ที่ในเวลานี้ต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ด้วยผลงานที่ตกลงไปจากเมื่อก่อนอย่างน่าใจหาย และอาจถูกมองว่า เป็นนักเตะที่ไม่สามารถก้าวข้ามความเป็น “ดาวรุ่งตลอดกาล” ได้

ชีวิตของแรชฟอร์ดจากนักเตะดาวรุ่ง ที่ยังพุ่งไปไม่สุดทางเป็นอย่างไร ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

สุดยอดดาวรุ่งที่น่าจับตามอง

มาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดจากครอบครัวที่มีฐานะไม่ค่อยสู้ดีนักในเมืองแมนเชสเตอร์ เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 5 ขวบกับเฟล็ทเชอร์ มอสส์ เรนเจอร์ส สโมสรระดับท้องถิ่นที่ปั้นนักเตะชื่อดังมาแล้วหลายราย

ปี 2005 เจ้าหนูแรชฟอร์ดในวัย 7 ขวบ ได้รับความสนใจจากทีมยักษ์ใหญ่ทั้งแมนฯ ยูไนเต็ด, แมนฯ ซิตี้ รวมถึงลิเวอร์พูล และสุดท้ายเป็น “ปิศาจแดง” ที่ได้เซ็นสัญญาเข้าร่วมทีมเยาวชนไปในที่สุด

แรชฟอร์ด ใช้เวลาอยู่กับทีมเยาวชนยาวนานมากกว่า 10 ปี ก่อนที่จะได้ประเดิมสนามกับยูไนเต็ดเป็นครั้งแรก ในเกมยูฟ่า ยูโรป้า ลีก รอบ 32 ทีมสุดท้าย นัดสอง ที่เปิดบ้านพบกับมิดทิลแลนด์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016

ในแมตช์ดังกล่าว แรชฟอร์ดได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงแทนที่อองโตนี่ มาร์กซิยาล ที่ได้รับบาดเจ็บในช่วงวอร์มก่อนเริ่มเกม และกลายเป็นแมตช์แห่งความทรงจำของเขา เมื่อเหมาคนเดียว 2 ประตู ช่วยให้ทีมชนะ 5 – 1

ส่งผลให้แรชฟอร์ด ทุบสถิติเป็นนักเตะอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์สโมสร ที่ทำประตูได้ในฟุตบอลถ้วยยุโรป ด้วยวัย 18 ปี 117 วัน ก่อนที่สถิติของเขาจะถูกทำลายโดยเมสัน กรีนวูด เมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 (17 ปี 353 วัน)

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของมาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดขึ้นในฤดูกาล 2019/20 และ 2020/21 ที่ทำได้อย่างน้อย 20 ประตู รวมทุกรายการ 2 ฤดูกาลติดต่อกัน ก้าวขึ้นมาเป็นกองหน้าตัวความหวังในการจบสกอร์จนถึงปัจจุบัน

เด็กหนุ่มผู้เป็นฮีโร่ของอังกฤษ

เพราะเคยผ่านช่วงชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็ก ทำให้มาร์คัส แรชฟอร์ด มีความคิดริเริ่มที่จะช่วยเหลือผู้ที่ยากลำบากเหมือนกับตัวเอง จึงตัดสินใจที่จะรับบทบาทเป็นผู้ให้ และคืนอะไรกลับไปให้สังคมบ้าง

จุดเริ่มต้นการมีจิตสาธารณะของแรชฟอร์ด เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ด้วยการบริจาคอาหาร 1,200 กล่อง เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านในเมืองแมนเชสเตอร์

แต่ตัวเขาไม่รู้สึกพึงพอใจมากนัก เพราะคนที่เข้าถึงการช่วยเหลือยังน้อยเกินไป จึงต้องทุ่มเทกับกิจกรรมการกุศลมากกว่าเดิม โดยร่วมมือกับองค์กรการกุศลระดับประเทศ เข้ามาช่วยแจกจ่ายอาหารให้มากขึ้น

เข้าสู่ปี 2020 โควิด-19 ได้ระบาดหนักไปทั่วโลก รัฐบาลอังกฤษได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการระงับโครงการอาหารกลางวันฟรีแก่นักเรียน เป็นผลกระทบที่เกิดจาการสั่งปิดโรงเรียนในช่วงที่มีการล็อกดาวน์

จากการตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาล ช่วยให้แรชฟอร์ดทราบว่า มีเด็กนักเรียน 1.3 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ เขาจึงตัดสินใจเขียนจดหมายเปิดผนึก ส่งถึงรัฐบาลอังกฤษ ในเดือนมิถุนายน ปี 2020

หลังจากที่จดหมายเปิดผนึกถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ตัดสินใจสนับสนุนโครงการของแรชฟอร์ด และเครือข่ายอย่างเต็มที่ โดยทุ่มเงิน 400 ล้านปอนด์ช่วยเหลือเด็กยากไร้ทั่วประเทศ

สิ่งที่แรชฟอร์ดพยายามส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจรัฐ ได้รับรู้ถึงหัวใจของผู้คนทั้งประเทศ และเกิดอิมแพ็กต์อย่างเห็นได้ชัด จึงได้มีการตอบแทนคุณงามความดีครั้งสำคัญ ที่เขาและครอบครัวจะต้องจดจำไปตลอดชีวิต

เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับดาวเตะวัย 24 ปีรายนี้ และถือเป็นบุคคลที่อายุน้อยสุด ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์อีกด้วย

แรชฟอร์ด ถือเป็นคนที่ 3 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณขั้นสูงสุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ต่อจากเซอร์แมตต์ บัสบี้ และเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน 2 ตำนานผู้จัดการทีมของสโมสร

และอีกเพียง 1 เดือนหลังจากนั้น แรชฟอร์ด ก็ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE จากเจ้าชายวิลเลียมส์ เป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่เขาได้ทำให้กับประเทศบ้านเกิด มันยิ่งใหญ่เพียงใด

ความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสังคมของมาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดจากการลุกขึ้นเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมที่พบเจอ และสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น จนได้รับการยกย่องให้เป็นฮีโร่ของชาวอังกฤษทั้งชาติ

ฟอร์มการเล่นที่ไม่เหมือนเดิม

ชีวิตนอกสนามของมาร์คัส แรชฟอร์ด ได้สะสมคุณงามความดีไว้มากมาย จนได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ แต่ชีวิตในสนามของเขานั้น ถือว่ายังสอบไม่ผ่านในการที่จะก้าวจากสุดยอดดาวรุ่งสู่นักเตะเวิลด์คลาส

ผลงานของ ดร.แรชฟอร์ด ในฤดูกาล 2021/22 ทำได้เพียงแค่ 2 ประตู จาก 11 นัดที่ลงสนามในพรีเมียร์ลีก อีกทั้งยิงประตูไม่ได้เลย ใน 11 นัดหลังสุดที่ได้โอกาสลงเล่นนับรวมทุกรายการ

เกมล่าสุดที่แมนฯ ยูไนเต็ด เปิดบ้านเฉือนชนะแอสตัน วิลลา 1 – 0 ในเอฟเอ คัพ เมื่อคืนมันเดย์ไนท์ที่ผ่านมา เจ้าตัวถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องความทุ่มเทในสนาม โดยมีช็อตสำคัญที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ในโลกโซเชียล

ช็อตที่ว่านั้น เกิดขึ้นในนาทีที่ 73 จังหวะที่เมสัน กรีนวูด ยิงไปติดเซฟของเอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ นายทวารวิลลา รับบอลกระฉอกออกมา ทว่าแรชฟอร์ดกลับยืนเซ็งเฉยๆ ไม่วิ่งเข้าหาบอลเพื่อลุ้นประตูเสียอย่างนั้น

นั่นทำให้แรชฟอร์ด ถูกบรรดาเรด อาร์มี่ ตำหนิอย่างรุนแรง และถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นมืออาชีพ เพราะมีพฤติกรรมที่แสดงว่าไม่ตั้งใจเล่นให้กับสโมสร ทั้งๆ ที่รับค่าเหนื่อยสูงถึง 2 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์

ว่ากันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรชฟอร์ด มีฟอร์มการเล่นที่ดร็อปลงอย่างไม่น่าเชื่อในฤดูกาลนี้ เป็นเพราะปัญหาทั้งด้านสภาพจิตใจ และสภาพร่างกายที่ติดตัวมานานตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา

เรื่องสภาพจิตใจ แรชฟอร์ดคือหนึ่งในผู้ที่ยิงจุดโทษพลาด ทำให้อังกฤษแพ้อิตาลีในนัดชิงชนะเลิศ ยูโร 2020 แฟนบอลอังกฤษบางส่วนเลยไม่พอใจ ถึงขั้นทำลายภาพของเขาที่อยู่บนผนังในเมืองแมนเชสเตอร์

นอกจากนี้ เดลี่ เมล สื่อชื่อดังของอังกฤษยังระบุว่า เขาได้ติดต่อไปยังนักจิตวิทยาด้านกีฬา เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องสภาพจิตใจ ซึ่งนั่นถือเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ต้องพึ่งนักจิตวิทยาด้านกีฬามาช่วยเหลือด้านจิตใจ

ส่วนเรื่องสภาพร่างกายนั้น เจ้าตัวมีอาการบาดเจ็บหัวไหล่เรื้อรังมาตั้งแต่ฤดูกาลก่อน และเข้ารับการผ่าตัดหลังจบฟุตบอลยูโร เมื่อกลางปีที่แล้ว แต่ก็ฝืนกลับมาลงเล่นให้ยูไนเต็ดอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม

อีกสาเหตุหนึ่งที่ถือว่ามีส่วนอยู่ไม่น้อย ก็คือเรื่องของตำแหน่งการเล่นที่ยังไม่ชัดเจน นับตั้งแต่ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เนื่องจากสโมสรเปลี่ยนแปลงกุนซือบ่อย จึงมีความกังวลว่า เขาอาจจะไม่สามารถพัฒนาฝีเท้าได้อีก

เมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 สแตน คอลีมอร์ อดีตตำนานกองหน้าลิเวอร์พูลยุค ‘90 เคยให้ความเห็นว่า “หากแรชฟอร์ดยังไม่รู้ตำแหน่งถนัดของตัวเอง อีกไม่นานอาจจะเป็นเหมือนธีโอ วัลคอตต์ ที่เคยเป็นยอดดาวรุ่ง แต่ไปไม่สุด”

ที่สำคัญ สัญญาของแรชฟอร์ดกับยูไนเต็ด จะหมดลงหลังจบฤดูกาลหน้า น่าสนใจว่าเขาจะยังฝากอนาคตไว้ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด หรือจะไปหาความท้าทายใหม่กับสโมสรอื่น ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

ถึงแม้ว่ามาร์คัส แรชฟอร์ด จะเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษนอกสนามฟุตบอล แต่เรื่องราวในสนาม เขาต้องก้าวข้ามจากนักเตะดาวรุ่ง สู่นักเตะที่ประสบความสำเร็จในเกมลูกหนังให้ได้

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : TEAMtalk

อ้างอิง :

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10391695/What-wrong-Marcus-Rashford-amid-Manchester-United-struggles.html

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10390207/Manchester-United-Marcus-Rashford-struggles-mystery-Ralf-Rangnick-fans.html

https://www.theguardian.com/football/2022/jan/11/marcus-rashford-manchester-united-looks-out-of-form-and-cheer#_=_

#ไข่มุกดำ

#KMDAnalysis

#แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

Categories
Special Content

ห้องแต่งตัวที่ยุ่งเหยิง : “ราล์ฟ รังนิก” กับปัญหาใหญ่ของปิศาจแดง

เกมพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แพ้วูล์ฟแฮมป์ตันคาถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ดหนแรกในรอบ 42 ปี แถมเป็นการปราชัยนัดแรก ในยุคของกุนซือราล์ฟ รังนิก อีกด้วย

ประเด็นควันหลงที่จะหยิบมาพูดถึง คือสภาพปัญหาภายในห้องแต่งตัวของยูไนเต็ดที่เรื้อรังมานาน ถึงแม้จะเปลี่ยนเฮดโค้ชมาเป็นรังนิก ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “โปรเฟสเซอร์” ในวงการลูกหนังก็ตาม

แล้วปัญหาของ “ปิศาจแดง” คืออะไร ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เพราะเฮี้ยบมากไปจึงอยู่ไม่ได้

หลังจากเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ประกาศรีไทร์ ยุติอาชีพผู้จัดการทีมในปี 2013 แฟนบอลของแมนฯ ยูไนเต็ด รู้ดีว่าหลังจากนี้ทีมคงไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าจะห่างหายแชมป์พรีเมียร์ลีกนานเกือบ 1 ทศวรรษ

เดวิด มอยส์ กุนซือ “ผู้ถูกเลือก” ล้มเหลวแบบสุด ๆ คุมทีมยูไนเต็ดไม่เต็มฤดูกาลก็ต้องแยกทาง ต่อมาได้แต่งตั้งหลุยส์ ฟาน กัล อดีตนายใหญ่ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ มาคุมทัพหลังจากจบฟุตบอลโลก 2014

เมื่อฟาน กัล เข้ามาที่ยูไนเต็ด ก็เริ่มสร้างวีรกรรมความเฮี้ยบ ด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วสนามซ้อม เพื่อเกาะติดการซ้อมของนักเตะ อีกทั้งจัดระเบียบให้นักเตะรับประทานอาหารร่วมกันที่สนามซ้อมด้วย

นอกจากนี้ ฟาน กัล เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงจนล้นทะลัก ทำให้นักเตะในทีมออกอาการไม่พอใจ อีกทั้งแนวทางการทำทีมของเขา ไม่เป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลและบอร์ดบริหาร การตัดสินใจ “ปลด” จึงเกิดขึ้น

ถึงแม้ในฤดูกาลสุดท้ายของฟาน กัล จะพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพมาได้ แต่ไม่สามารถคว้าสิทธิ์ไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ทำให้ต้องแยกทางกับ “ปิศาจแดง” และโชเซ่ มูรินโญ่ กุนซือชาวโปรตุกีส ก็เข้ามารับช่วงต่อ

สไตล์การทำงานของมูรินโญ่ ก็เฮี้ยบไม่ต่างจากฟาน กัลเท่าใดนัก นี่อาจจะเป็นการ “หนีเสือปะจระเข้” ก็เป็นได้ ซึ่งปัญหาอย่างหนึ่งของมูรินโญ่ สมัยที่คุมทีมแมนฯ ยูไนเต็ด คือการสร้างบรรยากาศที่ย่ำแย่ภายในทีม 

อย่างเช่นกรณีของปอล ป็อกบา ที่กุนซือ “เดอะ สเปเชียล วัน” เคยปลดดาวเตะฝรั่งเศสออกจากกัปตันทีมระหว่างการฝึกซ้อม อีกทั้งกล่าวหานักเตะรายนี้ว่าเป็น “ไวรัส” ที่คอยบ่อนทำลายสโมสรอีกด้วย

ศึกวันแดงเดือดที่แมนฯ ยูไนเต็ด แพ้ลิเวอร์พูลแบบหมดสภาพ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2018 นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้บอร์ดบริหารของสโมสร ตัดสินใจไล่มูรินโญ่ ออกจากตำแหน่งกุนซือปิศาจแดงในที่สุด

ความสำเร็จของผู้จัดการทีมฟุตบอล ล้วนมีพื้นฐานจากระเบียบวินัยที่ไม่หย่อนยาน ทว่าทั้งฟาน กัล และมูรินโญ่ อยู่คุมแมนฯ ยูไนเต็ดได้ไม่นาน เพียงเพราะนักเตะบางคนต้องการล้มโค้ชที่ไม่ถูกจริตกันเท่านั้นเอง

ความใจดีที่เกินพอดีเลยพังพินาศ

หลังจากความวุ่นวายในยุคของโชเซ่ มูรินโญ่ แมนฯ ยูไนเต็ด ตัดสินใจแต่งตั้งโอเล่ กุนนาร์ โซลชา อดีตนักเตะที่ค้าแข้งในถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ดนาน 11 ปี และอดีตโค้ชทีมสำรองของสโมสร ทำหน้าที่กุนซือชั่วคราว

ซึ่งการเข้ามาของอดีตนักเตะเพชฌฆาตหน้าทารกนี่เอง เป็นการคืนความคึกคักให้กับปิศาจแดงอย่างไม่น่าเชื่อ ผลงานในช่วงแรกติดปีกแบบสุด ๆ ก่อนได้สัญญาคุมทีมถาวรในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2019

นับตั้งแต่วันแรกคุมทีม โซลชาทำทีมยูไนเต็ดพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จระดับคว้าโทรฟี่ แต่สิ่งที่โซลชาได้รับคำชื่นชม คือการอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เคยมีปัญหากับบอร์ดบริหารเลยแม้แต่น้อย

จุดเด่นของโซลชา คือความเป็นกันเองในห้องแต่งตัว ทำให้บรรดานักเตะในทีมต่างชื่นชอบนิสัยของโชลชา เมื่อเทียบกับ 2 กุนซือคนก่อนอย่างฟาน กัล กับมูรินโญ่ จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

แต่ทว่า ความใจดีและความเป็นกันเองที่มากเกินไป จนสูญเสียอำนาจการปกครอง ก็กลับมาทำร้ายตัวเขาเองอย่างเจ็บปวด โดยเฉพาะการคุมทีมใหญ่ที่อุดมไปด้วยนักเตะดาวดังอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด

อย่างเช่นกรณีที่โซลชา พยายามที่จะซื้อใจปอล ป็อกบา ที่มักทำตัวมีปัญหาบ่อย ๆ ให้ตั้งใจเล่นกับสโมสรมากขึ้น แต่กลับทำให้นักเตะคนอื่น ๆ ภายในทีมมองว่าโซลชา กำลังปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ปัญหาความไม่เข้าใจเรื่องแท็กติกในสนาม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเตะหมดศรัทธากับโซลชา จากที่เคยมีแต่รอยยิ้มในห้องแต่งตัว พอผลงานย่ำแย่ ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปจนกลายเป็นบรรยากาศอึมครึม

ยกตัวอย่างกรณีของดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค ที่แทบจะไม่ได้รับโอกาสลงสนามเลย หรือการส่งแฮร์รี่ แม็คไกวร์ ลงสนามเป็นตัวจริงทันที ในเกมที่แพ้เลสเตอร์เมื่อเดือนตุลาคม ทั้ง ๆ ที่เพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บ เป็นต้น

ความพ่ายแพ้ต่อวัตฟอร์ดแบบหมดสภาพถึง 1 – 4 ทำให้บอร์ดบริหารยูไนเต็ดตัดสินใจแยกทางกับโซลชาในที่สุด แสดงให้เห็นว่า สถานะนักเตะระดับตำนานผู้เป็นที่รักของ “เรด อาร์มี่” ก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย

รังนิกกำลังถูกท้าทายครั้งสำคัญ

เมื่อโอเล่ กุนนาร์ โซลชา ทำทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ไปไม่สุดทาง ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ราล์ฟ รังนิก กุนซือชาวเยอรมันวัย 63 ปี รับอาสาเข้ามาคุมทีมแบบขัดตาทัพจนกระทั่งจบฤดูกาลนี้

เมื่อมีกุนซือคนใหม่เข้ามา อาจจะเข้าทฤษฎี “บอลเปลี่ยนโค้ช” คือผลงานในช่วงแรกมักจะออกมาดี นัดแรกของรังนิก คือการเอาชนะคริสตัล พาเลซ 1 – 0 ชนิดที่ผู้เล่นทุ่มเทแบบสุด ๆ ไล่เพรสซิ่งแทบทุกจังหวะ

ทว่าหลังจากนั้น ฟอร์มการเล่นของบรรดานักเตะปิศาจแดง ค่อย ๆ ดร็อปลงอย่างน่าใจหาย คล้ายกับกำลังหมดแรงจูงใจ คาแร็กเตอร์ที่ยอดเยี่ยมในนัดที่ชนะพาเลซ เมื่อ 1 เดือนก่อน กำลังจะหายไปอีกแล้ว

ลุค ชอว์ ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งหลังเกมแพ้วูล์ฟส์ว่า “เรามีขุมกำลังที่เต็มไปด้วยคุณภาพชั้นยอด แต่บางครั้งคุณภาพเพียงอย่างเดียวมันก็ไม่มากพอ เราต้องมีความเอาจริงเอาจังและแรงมุ่งมั่นมากกว่านี้”

ย้อนกลับไปหลังเกมที่เสมอนิวคาสเซิล 1 – 1 เมื่อเดือนธันวาคม มีรายงานจากสื่อที่ระบุว่า บรรยากาศภายในทีมเริ่มมีการแบ่งพรรคพวก นักเตะหลายคนเริ่มไม่มีความสุข และเตรียมย้ายออกในเดือนมกราคมนี้

สไตล์การทำทีมของเจ้าพ่อ “เกเก้นเพรสซิ่ง” คือการวิ่ง ทำงานให้หนัก เสียบอลแล้วต้องกดดันเอาบอลคืนมา ขี้เกียจไม่ได้เลย แน่นอนว่านักเตะบางคนไม่ถูกจริต เพราะติดกับดักความสบายจนเคยตัว

หรืออาจมีนักเตะอายุน้อยบางคน ที่ได้รับค่าเหนื่อยเกินอายุและฝีเท้า ซึ่งกลายเป็นผลเสียโดยไม่รู้ตัว เพราะจะทำให้นักเตะเหล่านั้นคิดว่า ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนขวนขวายอะไร ก็มีเงินมหาศาลเข้ากระเป๋า

ฟาน กัล, มูรินโญ่ และโซลชา ล้วนถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะผลงานที่ล้มเหลว อย่างไรก็ตาม การที่มีนักเตะฝีเท้าดี แต่ทัศนคติแย่ ก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบกับความล้มเหลวเช่นเดียวกัน

การเข้ามาของราล์ฟ รังนิก คือการวางรากฐานให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเพื่ออนาคต และต้องหาวิธีจัดการกับนักเตะบางคนที่เข้ากันไม่ได้กับแนวทางของเขา แต่ก็รู้ดีว่ามันไม่ใช่งานที่ง่ายเลย

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Reuters

อ้างอิง :

#ไข่มุกดำ

#KMDStory

#ราล์ฟรังนิก

#แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

Categories
Football Business

8 ทศวรรษผู้ยิ่งใหญ่ : 8 พิมพ์เขียว “เซอร์อเล็กซ์” เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ

31 ธันวาคม 2021 เป็นวันที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตตำนานผู้จัดการทีมของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฉลองวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 80 ปี กับการทำงาน 27 ปี และความสำเร็จ 38 โทรฟี่ ที่ทำไว้กับ “ปิศาจแดง” จากวันแรกที่เข้ามาซ่อมและสร้างทีมจนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันสุดท้ายของการคุมทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ผู้คนทั่วโลก ต่างยกย่องสรรเสริญในความยอดเยี่ยมของยอดกุนซือเลือดสกอตรายนี้

และเนื่องในวาระพิเศษแบบนี้ ขอนำเสนอเรื่อง “พิมพ์เขียว” ของเซอร์อเล็กซ์ ในการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ 8 ข้อ ที่ถูกนำไปถ่ายทอดที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2012 มาฝากกัน

1. เริ่มต้นจากรากฐาน

สิ่งแรก ๆ ที่เซอร์อเล็กซ์ลงมือทำตั้งแต่เริ่มงานคุมยูไนเต็ด คือการสร้างรากฐานเพื่อให้เป็นแผนงานระยะยาวของสโมสร ทั้งการปรับโครงสร้างปลุกปั้นนักเตะเยาวชน และจ้างทีมแมวมองตระเวนออกค้นหานักเตะที่ฉายแววเก่งเข้ามา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “Class of 92” ที่มีทั้งเดวิด เบ็คแฮม, ไรอัน กิ๊กส์, พอล สโคลส์, แกรี่ เนวิลล์, นิคกี้ บัตต์ และฟิล เนวิลล์ขึ้นมาสร้างความสำเร็จ และต่อยอดความยิ่งใหญ่ที่ยาวนานตลอดช่วงยุคทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา

“ความคิดแรกของผู้จัดการทีมคนใหม่ 99% คือการทำทีมให้ชนะในเกม เพื่อความอยู่รอด ดังนั้นพวกเขาจึงนำผู้เล่นที่มีประสบการณ์เข้ามา มันคือเรื่องพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะเราอยู่ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยผลการแข่งขัน” “ในบางสโมสร ถ้าคุณแพ้สัก 3 นัด คุณโดนไล่ออกแล้ว แต่การชนะเกมเป็นเรื่องของผลงานระยะสั้น นัดต่อมาคุณอาจจะแพ้แล้วก็ได้ ส่วนการสร้างรากฐานจะทำให้เกิดความมั่นคงและสม่ำเสมอ”

2. กล้าที่จะสร้างทีมขึ้นใหม่

แม้จะยืนระยะประสบความสำเร็จอย่างยาวนาน แต่เซอร์เฟอร์กี้่ ก็ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาทีมขึ้นใหม่อยู่เรื่อย ๆ นั่นหมายถึง การบริหารที่จำเป็นต้องใช้ทักษะของการตัดสินใจในเรื่องของขุมกำลังภายในทีม

แน่นอนว่า เขายินดีที่จะแบกรับความเสี่ยงในการปั้นนักเตะรุ่นใหม่ขึ้นมา ทว่าก็ไม่ลังเลที่จะขายนักเตะในช่วงที่ยังเหลือระยะค้าแข้งระดับสูงอยู่ออกไป ก็สามารถทำเงินเข้าสโมสรได้เป็นกอบเป็นกำ

“ผมเชื่อว่าวงจรของทีมที่ประสบความสำเร็จจะอยู่ได้ไม่เกิน 4 ปี หลังจากนั้นมันต้องเปลี่ยน ฉะนั้นจึงพยายามมองภาพทีมล่วงหน้าไป 3 หรือ 4 ปีข้างหน้า และทำการตัดสินใจอย่างเหมาะสม”

“สิ่งที่ยากที่สุดคือปล่อยนักเตะที่เคยยอดเยี่ยมมาก ๆ ออกไป แต่หลักฐานทั้งหมดอยู่บนสนาม ถ้าคุณมองเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะแง่ลบ คุณก็ต้องถามตัวเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เช่นอีกสองปีข้างหน้า”

3. ตั้งมาตรฐานให้สูงเข้าไว้

สิ่งที่เซอร์อเล็กซ์เน้นย้ำมาโดยตลอด คือนอกจากการสร้างทักษะและเทคนิคเชิงฟุตบอลแล้ว ยังต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเตะสร้างสิ่งที่ดีกว่า และ “ไม่ยอมแพ้” ซึ่งก็มีความหมายเดียวกับการสร้างความเป็นผู้ชนะนั่นเอง

เขาได้ถ่ายทอดแนวคิดเหล่านี้ลงสู่นักเตะ และในช่วงเวลาหลายปีของการซึมซับ นักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด ก็มีธรรมชาติของการไม่ยอมรับต่อ “ความไม่พยายามสู้” ที่เกิดขึ้นในตัวเพื่อนร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็นดาวเด่นมาจากไหนก็ตาม

“ผมต้องยกระดับความคาดหวังของผู้เล่น พวกเขาต้องไม่ยอมแพ้ ผมพูดอยู่เสมอว่า การทำงานหนักตลอดชีวิตคือพรสวรรค์ แต่ผมคาดหวังมากกว่านั้นจากนักเตะชั้นนำ และพวกเขาก็ทำ พวกเขาพร้อมที่จะทำงานหนักขึ้นเสมอ”

“ซูเปอร์สตาร์ที่มีอีโก้อาจไม่ใช่ปัญหาอย่างที่ใคร ๆ คิด เพราะพวกเขามีความกระหายในชัยชนะอย่างแรงกล้า ความหมายคือพวกเขาพร้อมทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ พวกเขาตระหนักดีว่าการเป็นนักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ใช่เรื่องง่าย”

4. อย่าเสียอำนาจการปกครอง

หนึ่งในส่วนสำคัญของการสร้างมาตรฐานระดับสูง ก็คือการสร้างระเบียบวินัย เฟอร์กูสันไม่เกรงกลัวที่จะเนินการขั้นเด็ดขาดกับใครก็ตามที่ล่วงละเมิดกฎ ความผิดเล็ก ๆ อาจแค่ปรับเงิน แต่ถ้าหนักกว่านั้น ก็เชิญออกไปได้เลย

นักเตะดังทั้งยาป สตัม, เดวิด เบ็คแฮม, รอย คีน หรือแม้กระทั่งรุด ฟาน นิสเตอรอย ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เซอร์อเล็กซ์ ตอบสนองกับปัญหาเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่ปล่อยเวลาให้ล่าช้าจนสายเกินการณ์

“คุณอย่าเสียการปกครองเด็ดขาด โดยเฉพาะเมื่อคุณต้องจัดการกับนักเตะอาชีพ 30 คน ที่ล้วนแต่เป็นดาวดัง ถ้าใครบางคนต้องการทดสอบผม อยากท้าทายกฎเกณฑ์ของผม ก็มาเลย ผมพร้อมเสมอ” “ถ้าอยู่มาวันหนึ่ง ผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ถูกควบคุมโดยบรรดาผู้เล่น ยูไนเต็ดก็จะไม่เป็นยูไนเต็ดอย่างที่เรารรู้จักกันอีกต่อไป ผมก็บอกตัวเองไว้อยู่แล้วว่าจะไม่ปล่อยให้ใครมามีอำนาจเหนือผม นั่นคือสิ่งสำคัญ”

5. มีศิลปะในการสื่อสาร

เมื่อถึงเวลาที่ต้องพูดกับนักเตะในบางเรื่อง เซอร์อเล็กซ์จะกองอำนาจบารมีเอาไว้ข้าง ๆ แล้วพยายามสื่อความอย่างเข้าอกเข้าใจในตัวนักเตะ และจะทำเป็นการส่วนตัวเสมอ ไม่มีการตำหนินักเตะออกสื่อโดยเด็ดขาด

ในระหว่างการซ้อม เฟอร์กี้และผู้ช่วยของเขาจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างบรรยากาศในแง่บวก แม้ภาพจำของกุนซือชาวสกอตต์คือความเกรี้ยวกราดในช่วงพักครึ่งเวลาของแต่ละแมตช์ รวมถึงการประชุมทีมหลังจบเกมก็ตาม

“ไม่มีใครชอบโดนตำหนิ และมีไม่กี่คนที่จะดีขึ้นได้หลังโดนตำหนิ ดังนั้นผมจึงพยายามให้กำลังใจเต็มที่เมื่อผมทำได้ ในบางแง่ นักเตะก็เหมือนคนธรรมดา มันไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ยินคำชื่นชม ไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์คำพูดอะไร”

“แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ต้องชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดเมื่อนักเตะไม่อาจตอบสนองความคาดหวังได้ การตำหนิจะเป็นสิ่งสำคัญในตอนนั้น และผมจะทำมันหลังจบเกมทันที แต่จบแล้วคือจบกัน หลังจากนั้นคือการโฟกัสไปที่เกมหน้าเลย”

6. จงเตรียมพร้อมที่จะชนะ

คุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งสำหรับแมนฯ ยูไนเต็ดยุคเศอร์เฟอร์กี้ คือความตายยาก หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เฟอร์กี้ ไทม์” ใช้เวลาอึดใจสุดท้ายของการแข่งขันเปลี่ยนจากแพ้เป็นเสมอ จากเสมอเป็นชนะอยู่หลายเกม

ในการเก็บข้อมูลวิเคราะห์มากกว่า 10 ซีซั่น ยูไนเต็ดมีสถิติดีกว่าทีมอื่นในการคว้าชัยชนะ หากพวกเขาผ่านครึ่งแรกด้วยผลเสมอ หรือเข้าสู่ช่วง 15 นาทีสุดท้ายด้วยผลเสมอ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการเตรียมความพร้อมไว้ก่อนแล้ว

“ชัยชนะคือธรรมชาติของผม ผมได้กำหนดมาตรฐานของผมเอาไว้เป็น ผมคาดหวังถึงชัยชนะในทุกเกม ผมมั่นใจว่านักเตะทุกคนของผมเตรียมพร้อมกันมาแล้ว และพร้อมเสมอในการโชว์ฟอร์ม เพราะทุกสิ่งได้ตระเตรียมกันมาแล้วก่อนที่จะลงสนาม”

“พยายามมองแง่บวกและพร้อมรับความเสี่ยง นี่คือสไตล์ของเรา เราลงสนามไปเพื่อเอาชนะ เราพร้อมทำทุกอย่างใน 15 นาทีสุดท้าย คุณอาจจะโดนยิงเพิ่มจากเกมโต้กลับ แต่รสชาติของชัยชนะเมื่อคุณกำลังจะแพ้ คือความรู้สึกที่มหัศจรรย์มาก”

7. สังเกตการณ์อยู่ตลอดเวลา

แม้หน้าที่ในการคุมนักเตะกลางสนามซ้อมจะเป็นของผู้ช่วย แต่เซอร์อเล็กซ์ก็แทบไม่เคยขาดการซ้อม ในฐานะผู้สังเกตการณ์” ซึ่งเขามองว่าสิ่งนี้ช่วยให้สามารถประเมินฟอร์มการเล่นของนักเตะได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

“การสังเกตการณ์คือส่วนสุดท้ายในโครงสร้างการจัดการของผม มันไม่ได้ทำให้ผมสูญเสียการควบคุม การแสดงตนและความสามารถในการดูแลทีมของผมยังคงอยู่เสมอ และสิ่งที่คุณได้รับจากการเฝ้ามองก็มีคุณค่าอย่างเหลือเชื่อ”

“มันกลายเป็นส่วนสำคัญของทักษะการจัดการของผมไปแล้ว ความสามารถในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการมองเห็นสิ่งที่คุณไม่คาดหวังว่าจะได้เห็น”

8. อย่าหยุดที่จะปรับตัว

27 ปีของการทำงานกับแมนฯ ยูไนเต็ด โลกฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปหลายต่อหลายครั้ง การปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งยากกว่าสำหรับสโมสรที่รักษามาตรฐานสูงเอาไว้ร่วม 20 ปี

“มีเจ้าของทีม เงินทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา และนั่นก็นำมาซึ่งแรงกดดันมหาศาลสำหรับคนเป็นผู้จัดการทีม ผู้เล่นทุกวันนี้มีชีวิตท่ามกลางสปอตไลท์ และเปราะบางมากกว่านักเตะในยุคอดีต”

“ผมไม่สามารถอยู่นิ่งไม่ยอมปรับเปลี่ยนอะไรได้ เราเป็นสโมสรที่ต้องการความสำเร็จ และผมพร้อมพัฒนาในทุกสิ่ง ผมทำงานอย่างหนักในทุกวัน งานของผมคือการสร้างโอกาสที่ดีที่สุดเพื่อชัยชนะ นั่นคือสิ่งที่ผลักดันผมเสมอมา”

จากพิมพ์เขียวทั้ง 8 ข้อ สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต และการบริหารในองค์กรต่าง ๆ ในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การยึดติดความสำเร็จในอดีต คือสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง

นี่คือบทเรียนชีวิตของยอดคนอย่างเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สั่งสมประสบการณ์ชีวิตมาถึงอายุ 80 ปี และในตำแหน่งผู้จัดการทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการฟุตบอลอังกฤษ

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Daily Mail

อ้างอิง : https://hbr.org/2013/10/fergusons-formula

#ไข่มุกดำ
#KMDFeature
#KMDFootballBusiness
#เซอร์อเล็กซ์เฟอร์กูสัน
#แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

Categories
Special Content

สะเทือนใจแห่งปี 2021 : “อิริคเซ่น-กุน” นาทีชีวิตที่เกือบเป็นโศกนาฏกรรม

ปี 2021 ที่กำลังจะผ่านไป มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย และอยู่ในความทรงจำของแฟนฟุตบอลทั่วโลก ทั้งเรื่องที่น่ายินดีจากความสำเร็จ และเรื่องที่น่าเศร้าที่คนในวงการลูกหนังต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่เหตุการณ์ที่ช็อกความรู้สึกและน่าสะเทือนใจของผู้คน เป็นเหตุการณ์ที่ดาวเตะดังทั้งคริสเตียน อิริคเซ่น และเซร์คิโอ กุน อเกวโร่ ที่เกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ทำให้อาชีพนักฟุตบอลถึงกับต้องสะดุด

วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ 2 นักเตะในปีนี้ให้ฟังกันครับ

อันตรายที่ไร้สัญญาณเตือนภัย

ไม่น่าเชื่อว่าอาการหัวใจวายเฉียบพลัน จะเกิดขึ้นกับนักฟุตบอลอาชีพ ถึงแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ วิ่งได้ตลอด 90 นาที (หรือมากกว่านั้น) แต่กลับมีเคสนักเตะล้มลงด้วยอาการนี้ร่วมร้อยราย

ภาวะหัวใจหยุดเต้นฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest : SCA) คือภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้เพียงพอ เพราะมีปัญหาในระบบไฟฟ้าที่กำกับระบบจังหวะการเต้นของหัวใจ ความน่ากลัวของ SCA คือ เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน แล้วเวลาเกิดขึ้นจะมาแบบเฉียบพลัน ทำให้ไม่มีโอกาสเตรียมตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้อื่น

นักฟุตบอลที่มีโอกาสเกิดภาวะ SCA ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มที่มีความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่กำเนิด โดยความผิดปกติเกิดขึ้นใน 2 ส่วนหลัก ๆ คือ หัวใจหนาผิดปกติแต่กำเนิด และเส้นเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด

หัวใจหนาผิดปกติแต่กำเนิด คือการเหนี่ยวนำไฟฟ้าของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ จนนำไปสู่การทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ จะเกิดขึ้นได้ช่วงที่มีการออกกำลัง

ส่วนเส้นเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด คือการที่เลือดเดินช้ากว่าปกติ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ไม่พอ จนเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

บทเรียนจากอดีตที่ช่วยคนรุ่นหลัง

อาการหัวใจวายเฉียบพลัน ในอดีตถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็เลยไม่มีวิธีรับมือกับสถานการณ์นั้น แน่นอนว่าต้องแลกกับการสูญเสียชีวิตของนักฟุตบอล แต่ก็นำไปสู่การปฏิวัติครั้งสำคัญในวงการลูกหนัง

เคสแรกๆ ของกรณีหมดสติกลางสนามฟุตบอลแบบที่ไม่มีใครคาดคิด ก็จะนึกถึง มาร์ค-วิเวียน โฟเอ้ อดีตกองกลางทีมชาติแคเมอรูน ที่ลงเล่นฟุตบอลฟีฟ่า คอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ รอบรองชนะเลิศ เมื่อปี 2003

ในแมตช์ดังกล่าว อยู่ดี ๆ โฟเอ้ ก็ล้มลงกลางสนามแบบไปดื้อ ๆ โดยที่ไม่มีใครอยู่รอบข้างตัวเขาเลย ทีมแพทย์เข้ามาปั๊มหัวใจ ก่อนส่งโรงพยาบาล ใช้เวลากู้ชีพอยู่นานประมาณ 45 นาที แต่ไม่เป็นผล เสียชีวิตในที่สุด

จากเหตุการณ์ที่โฟเอ้เสียชีวิตคาสนาม นั่นทำให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตัดสินใจครั้งสำคัญ ยกเครื่องด้านการแพทย์ใหม่ทั้งหมด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในสนามฟุตบอลได้ตลอดเวลา

ในปี 2012 ก็มีเหตุการณ์ที่ฟาบริซ มูอัมบ้า กองกลางของโบลตัน วันเดอเรอร์ส ล้มลงบนพื้นสนาม ระหว่างเกมเอฟเอ คัพ รอบ 8 ทีมสุดท้าย ท่ามกลางความตกตะลึงของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และผู้ชมที่รับชมการถ่ายทอดสด ซึ่งในเคสนี้ ทุกคนที่อยู่ในสนาม ต่างทราบว่า มูอัมบ้าแสดงอาการว่าอาจเป็น SCA ทำให้บรรดาผู้เกี่ยวข้องข้างสนามตัดสินใจตอบสนองในทันที ซึ่งเจ้าตัวเป็นเจ้าชายนิทรานานถึง 78 นาที ก่อนที่จะรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์

หลังจากเผชิญเหตุการณ์นาทีชีวิตดังกล่าว มูอัมบ้า ตัดสินใจแขวนสตั๊ดทันที หลังจากได้รับคำแนะนำจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ว่า ร่างกายของเขาไม่อาจกลับมาเล่นฟุตบอลในระดับเดิมได้อีกแล้ว

มาถึงกรณีของคริสเตียน อิริคเซ่น ที่ล้มลงหมดสติ ระหว่างช่วยทีมชาติเดนมาร์ก ทำศึกยูโร 2020 นัดแรก ที่พบกับทีมชาติฟินแลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำเอาผู้คนทั่วโลกถึงกับช็อก และภาวนาไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นเหมือนในอดีต

นับเป็นความโชคดีของอิริคเซ่น ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากเดนมาร์ก ถือเป็นประเทศที่มีพื้นฐานการช่วยชีวิตแบบ CPR ที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เนื่องจากได้มีการปลูกฝังเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กเลยทีเดียว

โดยรัฐบาลเดนมาร์ก ได้บรรจุหลักสูตรการทำ CPR ให้กับประชาชนชาวเดนมาร์ก มาตั้งแต่ปี 2005 โดยเริ่มตั้งแต่เด็กระดับประถมศึกษา รวมถึงมีการบรรจุหลักสูตรการทำ CPR ให้กับผู้ที่จะสอบใบขับขี่อีกด้วย

ส่วนกรณีของกุน อเกวโร่ เกิดขึ้นในเกมลาลีกา สเปน ที่บาร์เซโลน่า ต้นสังกัดใหม่ที่ย้ายเข้ามาได้ไม่นาน เปิดบ้านพบกับอลาเบส เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม โดยมีอาการแน่นหน้าอก จนถูกเปลี่ยนตัวออกช่วงท้ายครึ่งแรก

เหตุการณ์ในปี 2003 ที่โฟเอ้จากไปอย่างไม่มีวันกลับนั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตนักฟุตบอล ให้รอดชีวิตจากภาวะ SCA ได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักฟุตบอลรุ่นหลัง ๆ ที่ได้รับบทเรียนจากอดีต

สุขภาพและชีวิตอาจต้องมาก่อน

ช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของกุน อเกวโร่ และอิริคเซ่นได้ผ่านไปแล้ว แต่การที่จะเล่นฟุตบอลต่อไปนั้น แน่นอนว่ามีความอันตราย การเลิกเล่นฟุตบอลคือการตัดสินใจที่เจ็บปวด แต่มันคือทางเลือกที่จะรักษาสุขภาพและชีวิตเอาไว้

กรณีของกุน อเกวโร่ ในเบื้องต้นมีการวินิจฉัยว่าต้องพักอย่างน้อย 3 เดือน แต่จากการตรวจเพิ่มเติมในเวลาต่อมา กลับพบว่าร้ายแรงกว่าที่คิด มีความเสี่ยงสูง ซึ่งแพทย์ได้เสนอทางเลือกว่าให้เลิกเล่นฟุตบอลอาชีพทันที

และในที่สุด อดีตดาวเตะแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และทีมชาติอาร์เจนติน่า ก็ตัดสินใจประกาศแขวนสตั๊ด ยุติเส้นทางนักเตะในวัย 33 ปี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา

กุน อเกวโร่ แถลงเปิดใจทั้งน้ำตาว่า “ผมตัดสินใจที่จะเลิกเล่นฟุตบอล มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างมาก แต่ผมทำเพื่อสุขภาพของตัวเอง

“ผมอยากบอกทุกคนว่า ผมพยายามทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว ผมมีความฝันในการเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่ตอน 5 ขวบ ผมมีความสุขกับอาชีพของตัวเอง”

“ผมอยากขอบคุณอินเดนเพนเดียนเต้, แอต. มาดริด, แมนฯ ซิตี้ และบาร์เซโลน่า ที่ดูแลผมมาอย่างดี รวมถึงทีมชาติอาร์เจนตินาที่ผมรักที่สุด ขอบคุณทุกคนจริง ๆ”

ส่วนรายของคริสเตียน อิริคเซ่น หลังจากเหตุการณ์สุดช็อกในฟุตบอลยูโร ก็ได้กลับมาลงซ้อมเรียกความฟิตเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 เดือน กับโอบี โอเดนเซ่ สโมสรในบ้านเกิดสมัยเป็นนักเตะเยาวชน

หลังจากกุน อเกวโร่ประกาศเลิกเล่นได้เพียง 2 วัน อิริคเซ่นก็ตัดสินใจแยกทางกับอินเตอร์ มิลานเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากขัดกับกฎของฟุตบอลลีกอิตาลี ที่ไม่อนุญาตให้นักเตะที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจลงสนาม

อนาคตของดาวเตะชาวเดนมาร์กวัย 29 ปีนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะไปเล่นให้กับสโมสรใด ส่วนเรื่องการแขวนสตั๊ดประกาศเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ ก็มีความเป็นไปได้ ถ้าแพทย์ยืนยันว่าคือทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเขา

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ คริสเตียน อิริคเซ่น และเซร์คิโอ กุน อเกวโร่ เป็นเครื่องเตือนใจอย่างดีว่า ความแน่นอนของชีวิตคือความไม่แน่นอน ความผิดพลาดคือบทเรียน และสุขภาพคือสิ่งที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด

ปี 2564 ที่กำลังจะจากไปในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ทีมงานเพจ “ไข่มุกดำ” ขออวยพรให้แฟนเพจทุกท่าน มีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ตลอดปีหน้า และตลอดไปครับ

สวัสดีปีใหม่ 2565 & Happy New Year 2022 ครับ

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Goodwordnews

อ้างอิง :

#ไข่มุกดำ

#KMDFeature

#คริสเตียนเอริคเซ่น

#เซร์คิโอกุนอเกวโร่

Categories
Special Content

แบรนด์ ชูสเตอร์ ตำนานขบถลูกหนังยอดอัจฉริยะ

หากจะกล่าวถึงทีมชาติเยอรมันตะวันตก ชุดที่ได้แชมป์ฟุตบอลยูโร เมื่อปี 1980 แล้วจะพบชื่อมิดฟิลด์คนหนึ่งที่สามารถแจ้งเกิดอย่างเต็มตัว ในการลงเล่นทัวร์นาเมนท์ใหญ่เป็นครั้งแรก เขาคนนั้นคือ แบรนด์ ชูสเตอร์

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จดังกล่าว คือการสัมผัสกับฟุตบอลรายการใหญ่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก่อนที่จะเลิกเล่นทีมชาติด้วยอายุที่ยังน้อย อีกทั้งมีประเด็นขัดแย้งกับทุกคนที่ร่วมงาน จนได้รับฉายาว่า “ขบถลูกหนัง” แล้วฉายา “ขบถลูกหนัง” ได้มาอย่างไร ? วันนี้ วันคล้ายวันเกิดของเขา 22 ธ.ค. เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

จากบ้านเกิด สู่การแจ้งเกิดกับทีมชาติ

แบรนด์ ชูสเตอร์ เกิดเมื่อ 22 ธันวาคม 1959 ที่เมืองเอาก์สบวร์ก ทางตอนใต้ของเยอรมันตะวันตก เริ่มเข้าสู่การเป็นนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 12 ขวบ กับทีมเยาวชนของฮัมเมอร์ชมิดท์ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กับเอาก์สบวร์ก เมื่ออายุ 16 ปี

ปี 1977 ชูสเตอร์ ถูกเรียกติดทีมชาติเยอรมันตะวันตก ชุดยู-18 และด้วยความที่ฉายแววเก่งเกินอายุ ทำให้ตกเป็นเป้าหมายของบรรดาสโมสรในบุนเดสลีกา และเป็นเอฟซี โคโลญจน์ ที่ได้ตัว “เทพบุตรผมบลอนด์” ไปร่วมทีมในปีถัดมา

ผลงาน 9 ประตู จาก 32 นัด ที่ลงเล่นให้กับโคโลญจน์ในลีกสูงสุด ฤดูกาล 1979/80 ทำให้ชูสเตอร์ได้โอกาสติดทีมอินทรีเหล็กชุดใหญ่ เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ปี 1980 ที่ประเทศอิตาลีเป็นเจ้าภาพ

สำหรับ “ยูโร 1980” นั้น (สมัยนั้น) มี 8 ทีมสุดท้ายเข้าร่วม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม แชมป์กลุ่ม เข้าชิงชนะเลิศ ส่วนรองแชมป์กลุ่ม ไปชิงอันดับ 3 ซึ่งเยอรมันตะวันตก ภายใต้การคุมทีมของจุ๊ปป์ แดร์วัลล์ ได้เข้าชิงชนะเลิศ ในฐานะแชมป์กลุ่ม 1

จาก 4 นัด ของเยอรมันตะวันตก ชูสเตอร์ได้ลงสนาม 2 นัด คือนัดที่ชนะเนเธอร์แลนด์ 3 – 2 ในรอบแรก และนัดที่ชนะเบลเยียม 2 – 1 ในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งทัวร์นาเมนท์ที่อิตาลีนี่เอง ถือเป็นการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวของเขา

นัดที่พบกับอัศวินสีส้ม เคลาส์ อัลลอฟส์ เหมาแฮตทริก ชูสเตอร์ทำ 1 แอสซิสต์ และนัดที่พบกับปิศาจแดงแห่งยุโรป ฮอร์ส ฮรูเบซ ยิงคนเดียว 2 ประตู ชูสเตอร์ก็ทำ 1 แอสซิสต์เช่นกัน พาอินทรีเหล็ก คว้าแชมป์ยุโรปสมัยที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่

ขบถลูกหนัง ผู้ไม่เคยสัมผัสฟุตบอลโลก

แบรนด์ ชูสเตอร์ กลับมาที่โคโลญจน์ในฐานะฮีโร่ของชาติ แต่การกลับมาครั้งนี้ เจ้าตัวไม่มีความสุขเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากภรรยาของเขาถูกคุกคามอย่างหนัก อีกทั้งไม่ลงรอยกับคาร์ล-ไฮนซ์ เฮเดอร์กอตต์ เทรนเนอร์คนใหม่ของ “แพะบ้า” อีกด้วย

ชูสเตอร์จึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า จะขอย้ายออกจากโคโลญจน์ และเป็นบาร์เซโลน่า ยักษ์ใหญ่แห่งลาลีกา สเปน ที่คว้าตัวไปร่วมทีม ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ถือเป็นการเปิดตำนาน “ขบถลูกหนัง” ในชีวิตของเขา

หลังจากจบซีซั่น 1980/81 ซีซั่นแรกของชูสเตอร์ในสีเสื้อบาร์ซ่า จุ๊ปป์ แดร์วัลล์ กุนซือทีมชาติเยอรมัน ประกาศเรียกตัวพอล ไบรท์เนอร์ นักเตะตัวเก๋า กลับคืนทีมชาติอีกครั้ง เพื่อเตรียมทีมลงเล่นเวิลด์ คัพ 1982 รอบคัดเลือก

นั่นทำให้ชูสเตอร์มีปัญหาขัดแย้งกับไบรท์เนอร์ รวมถึงคาร์ล ไฮนซ์ รุมมินิกเก้ เนื่องจากมองว่าทั้งคู่จะเข้ามามีอิทธิพลภายในทีม แดร์วัลล์ไม่มีทางเลือก จึงตัดชื่อชูสเตอร์ออกจากทีมในนัดที่จะพบกับฟินแลนด์ทันที

จากปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้เฮอร์มันน์ นอยแบร์เกอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน (เดแอฟเบ) ในขณะนั้น ได้พยายามเป็นกาวใจ ประสานรอยร้าวระหว่างชูสเตอร์ และคู่กรณีทุกฝ่าย แต่ก็ไม่เป็นผล

กระทั่งในเดือนธันวาคม ปี 1981 ชูสเตอร์ได้รับบาดเจ็บอย่างหนักจากการลงเล่นให้กับบาร์เซโลน่า หลังถูกอันโดนี่ กอยโกเชีย แข้งจอมโหดในตำนานของแอธเลติก บิลเบา เสียบสกัดรุนแรง พักยาวจนจบฤดูกาล

ถึงแม้ว่าชูสเตอร์จะหายจากอาการบาดเจ็บทันเวลา และมีโอกาสติดทีมไปลุยฟุตบอลโลกที่สเปน แต่โค้ชและเพื่อนร่วมทีมชาติเยอรมันบอกว่า ไม่จำเป็นต้องมีเขาก็สามารถคว้าแชมป์ได้ แต่ท้ายที่สุดเยอรมันก็แพ้อิตาลีในนัดชิงชนะเลิศ

นัดสุดท้ายของชูสเตอร์กับทีมชาติ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1984 ในเกมอุ่นเครื่องที่พบกับเบลเยียม และเจ้าตัวปฏิเสธช่วยทีมชาติในยูโร 1984 รอบสุดท้ายที่ฝรั่งเศส ซึ่งเยอรมันที่ปราศจากตัวเขา ก็ตกรอบแรกในฐานะแชมป์เก่า

หลังจากความล้มเหลวในยูโร 1984 ฟรานซ์ เบคเคนเบาวร์ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเทรนเนอร์ของเยอรมันคนใหม่ เพื่อเตรียมสู้ศึกเวิลด์ คัพ 1986 แต่ “ไกเซอร์ฟรานซ์” ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่เรียกตัวชูสเตอร์มาติดทีมชาติอีกต่อไป

นั่นเท่ากับว่า ชูสเตอร์ ต้องยุติการรับใช้ทีมชาติในวัยเพียงแค่ 24 ปีเท่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในมิดฟิลด์ที่ดีที่สุดของประเทศในยุคนั้น และเข้าทำเนียบนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ของวงการลูกหนัง ที่ไม่เคยลงเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย

ส่วนทีมอินทรีเหล็ก ที่ไร้เงาชูสเตอร์ ก็เข้าชิงชนะเลิศ 3 ครั้งติดต่อกันในรอบ 8 ปี ถึงแม้ว่าจะสุขสมหวัง ได้แชมป์เพียงแค่ครั้งเดียวในปี 1990 ที่อิตาลี แต่ก็ทำให้แฟนบอลเยอรมัน ลืมชื่อของเทพบุตรผมบลอนด์จอมขบถไปได้เลย

แข้งยอดอัจฉริยะ ผู้ก้าวข้ามความเกลียดชัง

แบรนด์ ชูสเตอร์ ค้าแข้งให้กับบาร์เซโลน่า 8 ปี คว้าแชมป์ 6 โทรฟี่ แต่เหตุการณ์หลังจากนั้น คือสิ่งที่ตอกย้ำในความเป็นขบถลูกหนังของเขา นั่นคือการย้ายไปค้าแข้งกับสโมสรที่เป็นคู่ปรับสำคัญทั้งในสเปน และเยอรมัน

หลังจากจบฤดูกาล 1987/88 ชูสเตอร์สร้างความประหลาดใจ ด้วยการย้ายไปเล่นให้เรอัล มาดริด ทีมคู่อริตลอดกาลชนิดที่ไม่มีใครคาดคิด ซึ่งภายหลังมีการเปิดเผยว่า เขามีเรื่องทะเลาะตั้งแต่เพื่อนร่วมทีม จนถึงประธานสโมสร

ทั้ง ๆ ที่มีหลายสโมสรให้ความสนใจคว้าตัวไปร่วมทีม แต่สาเหตุที่เจ้าตัวเลือกเรอัล มาดริด เพราะไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตในเมืองบาร์เซโลน่าที่มีแต่ปัญหามากมาย แต่ก็ไม่ต้องการให้ครอบครัวของเขาย้ายออกจากที่นั่น

2 ฤดูกาลกับ “ราชันชุดขาว” คว้าแชมป์ลาลีกา 2 สมัยซ้อน ทว่าหลังจากจบฤดูกาล 1989/90 เจ้าตัวมีปัญหากับประธานสโมสร จึงตัดสินใจยกเลิกสัญญา และย้ายไปอยู่กับทีมคู่ปรับร่วมเมืองอย่างแอตเลติโก้ มาดริด

3 ซีซั่นกับแอต. มาดริด คว้าแชมป์โคปา เดล เรย์ 2 สมัยซ้อน ส่วนในซีซั่นสุดท้าย เขาพลาดการลงสนามไปนานหลายเดือน เนื่องจากอาการบาดเจ็บ แต่มีข่าวว่าชูสเตอร์ปฏิเสธการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ ขอรักษาโดยวิธีธรรมชาติแทน

นั่นทำให้แอต. มาดริด ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ที่ชูสเตอร์สร้างประเด็นขัดแย้งขึ้นมา นั่นทำให้สโมสรไม่มีทางเลือก ดร็อปเขาเป็นตัวสำรอง และเมื่อจบฤดูกาล ชูสเตอร์ต้องอำลา “ตราหมี” และพาครอบครัวกลับเยอรมันทันที

ชูสเตอร์ เป็นเพียง 1 ใน 2 นักเตะในประวัติศาสตร์ของลีกสเปน ที่ลงเล่นกับ 3 สโมสรยักษ์ใหญ่ของประเทศ อีกคนหนึ่งคือมิเกล โซแลร์ ที่นอกจากค้าแข้งกับบิ๊ก 3 ลาลีกาแล้ว ยังเคยเล่นให้กับเอสปันญ่อลอีกด้วย

หลังจากใช้ชีวิตในลาลีกานานถึง 13 ปี ชูสเตอร์ก็กลับสู่บุนเดสลีกาอีกครั้ง กับไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ซึ่งก็เป็นทีมคู่ปรับในแถบไรน์ลันด์ (Rheinland) กับเอฟซี โคโลญจน์ สโมสรแรกของเขาในฐานะนักเตะอาชีพ

อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวก็ยังคงมีนิสัยหัวแข็งเช่นเดิม มีเรื่องขัดแย้งกับเอริค ริบเบ็ค เทรนเนอร์ของเลเวอร์คูเซ่นในเวลานั้น ก่อนที่ในปี 1996 ก็ย้ายไปค้าแข้งกับพูมาส ในเม็กซิโก แต่เล่นได้แค่ 9 นัด ก็ประกาศแขวนสตั๊ดในที่สุด

หลังจากเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ ชูสเตอร์ก็ผันตัวไปเป็นโค้ชให้กับหลายสโมสร รวมถึงโคโลญจน์ และเรอัล มาดริด ทีมเก่าสมัยเป็นนักเตะ แต่อายุงานในทุกทีมที่คุมนั้น เป็นช่วงสั้นๆ แค่ 1 – 2 ปีเท่านั้น ก่อนจะรีไทร์อาชีพโค้ชในปี 2019

นักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์บางคน มักจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง สร้างวีรกรรมความขัดแย้งไว้หลายครั้ง จนเกิดเรื่องวุ่นวาย แต่ด้วยพรสวรรค์ที่แสดงให้เห็นในสนาม ก็นับว่าเป็นสีสันอย่างหนึ่งที่โลกลูกหนังเคยมีมา

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง
ผู้สนับสนุนเนื้อหา: LaLiga

🙏อ้างอิง :
 http://soccernostalgia.blogspot.com/…/one-upon-time…
– http://www.midfielddynamo.com/players/profiles/schuster.htm

#ไข่มุกดำ

#แบรนด์ชูสเตอร์

#KMDLaLiga