Categories
Football Business

8 ทศวรรษผู้ยิ่งใหญ่ : 8 พิมพ์เขียว “เซอร์อเล็กซ์” เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ

31 ธันวาคม 2021 เป็นวันที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตตำนานผู้จัดการทีมของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฉลองวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 80 ปี กับการทำงาน 27 ปี และความสำเร็จ 38 โทรฟี่ ที่ทำไว้กับ “ปิศาจแดง” จากวันแรกที่เข้ามาซ่อมและสร้างทีมจนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันสุดท้ายของการคุมทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ผู้คนทั่วโลก ต่างยกย่องสรรเสริญในความยอดเยี่ยมของยอดกุนซือเลือดสกอตรายนี้

และเนื่องในวาระพิเศษแบบนี้ ขอนำเสนอเรื่อง “พิมพ์เขียว” ของเซอร์อเล็กซ์ ในการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ 8 ข้อ ที่ถูกนำไปถ่ายทอดที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2012 มาฝากกัน

1. เริ่มต้นจากรากฐาน

สิ่งแรก ๆ ที่เซอร์อเล็กซ์ลงมือทำตั้งแต่เริ่มงานคุมยูไนเต็ด คือการสร้างรากฐานเพื่อให้เป็นแผนงานระยะยาวของสโมสร ทั้งการปรับโครงสร้างปลุกปั้นนักเตะเยาวชน และจ้างทีมแมวมองตระเวนออกค้นหานักเตะที่ฉายแววเก่งเข้ามา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “Class of 92” ที่มีทั้งเดวิด เบ็คแฮม, ไรอัน กิ๊กส์, พอล สโคลส์, แกรี่ เนวิลล์, นิคกี้ บัตต์ และฟิล เนวิลล์ขึ้นมาสร้างความสำเร็จ และต่อยอดความยิ่งใหญ่ที่ยาวนานตลอดช่วงยุคทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา

“ความคิดแรกของผู้จัดการทีมคนใหม่ 99% คือการทำทีมให้ชนะในเกม เพื่อความอยู่รอด ดังนั้นพวกเขาจึงนำผู้เล่นที่มีประสบการณ์เข้ามา มันคือเรื่องพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะเราอยู่ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยผลการแข่งขัน” “ในบางสโมสร ถ้าคุณแพ้สัก 3 นัด คุณโดนไล่ออกแล้ว แต่การชนะเกมเป็นเรื่องของผลงานระยะสั้น นัดต่อมาคุณอาจจะแพ้แล้วก็ได้ ส่วนการสร้างรากฐานจะทำให้เกิดความมั่นคงและสม่ำเสมอ”

2. กล้าที่จะสร้างทีมขึ้นใหม่

แม้จะยืนระยะประสบความสำเร็จอย่างยาวนาน แต่เซอร์เฟอร์กี้่ ก็ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาทีมขึ้นใหม่อยู่เรื่อย ๆ นั่นหมายถึง การบริหารที่จำเป็นต้องใช้ทักษะของการตัดสินใจในเรื่องของขุมกำลังภายในทีม

แน่นอนว่า เขายินดีที่จะแบกรับความเสี่ยงในการปั้นนักเตะรุ่นใหม่ขึ้นมา ทว่าก็ไม่ลังเลที่จะขายนักเตะในช่วงที่ยังเหลือระยะค้าแข้งระดับสูงอยู่ออกไป ก็สามารถทำเงินเข้าสโมสรได้เป็นกอบเป็นกำ

“ผมเชื่อว่าวงจรของทีมที่ประสบความสำเร็จจะอยู่ได้ไม่เกิน 4 ปี หลังจากนั้นมันต้องเปลี่ยน ฉะนั้นจึงพยายามมองภาพทีมล่วงหน้าไป 3 หรือ 4 ปีข้างหน้า และทำการตัดสินใจอย่างเหมาะสม”

“สิ่งที่ยากที่สุดคือปล่อยนักเตะที่เคยยอดเยี่ยมมาก ๆ ออกไป แต่หลักฐานทั้งหมดอยู่บนสนาม ถ้าคุณมองเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะแง่ลบ คุณก็ต้องถามตัวเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เช่นอีกสองปีข้างหน้า”

3. ตั้งมาตรฐานให้สูงเข้าไว้

สิ่งที่เซอร์อเล็กซ์เน้นย้ำมาโดยตลอด คือนอกจากการสร้างทักษะและเทคนิคเชิงฟุตบอลแล้ว ยังต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเตะสร้างสิ่งที่ดีกว่า และ “ไม่ยอมแพ้” ซึ่งก็มีความหมายเดียวกับการสร้างความเป็นผู้ชนะนั่นเอง

เขาได้ถ่ายทอดแนวคิดเหล่านี้ลงสู่นักเตะ และในช่วงเวลาหลายปีของการซึมซับ นักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด ก็มีธรรมชาติของการไม่ยอมรับต่อ “ความไม่พยายามสู้” ที่เกิดขึ้นในตัวเพื่อนร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็นดาวเด่นมาจากไหนก็ตาม

“ผมต้องยกระดับความคาดหวังของผู้เล่น พวกเขาต้องไม่ยอมแพ้ ผมพูดอยู่เสมอว่า การทำงานหนักตลอดชีวิตคือพรสวรรค์ แต่ผมคาดหวังมากกว่านั้นจากนักเตะชั้นนำ และพวกเขาก็ทำ พวกเขาพร้อมที่จะทำงานหนักขึ้นเสมอ”

“ซูเปอร์สตาร์ที่มีอีโก้อาจไม่ใช่ปัญหาอย่างที่ใคร ๆ คิด เพราะพวกเขามีความกระหายในชัยชนะอย่างแรงกล้า ความหมายคือพวกเขาพร้อมทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ พวกเขาตระหนักดีว่าการเป็นนักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ใช่เรื่องง่าย”

4. อย่าเสียอำนาจการปกครอง

หนึ่งในส่วนสำคัญของการสร้างมาตรฐานระดับสูง ก็คือการสร้างระเบียบวินัย เฟอร์กูสันไม่เกรงกลัวที่จะเนินการขั้นเด็ดขาดกับใครก็ตามที่ล่วงละเมิดกฎ ความผิดเล็ก ๆ อาจแค่ปรับเงิน แต่ถ้าหนักกว่านั้น ก็เชิญออกไปได้เลย

นักเตะดังทั้งยาป สตัม, เดวิด เบ็คแฮม, รอย คีน หรือแม้กระทั่งรุด ฟาน นิสเตอรอย ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เซอร์อเล็กซ์ ตอบสนองกับปัญหาเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่ปล่อยเวลาให้ล่าช้าจนสายเกินการณ์

“คุณอย่าเสียการปกครองเด็ดขาด โดยเฉพาะเมื่อคุณต้องจัดการกับนักเตะอาชีพ 30 คน ที่ล้วนแต่เป็นดาวดัง ถ้าใครบางคนต้องการทดสอบผม อยากท้าทายกฎเกณฑ์ของผม ก็มาเลย ผมพร้อมเสมอ” “ถ้าอยู่มาวันหนึ่ง ผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ถูกควบคุมโดยบรรดาผู้เล่น ยูไนเต็ดก็จะไม่เป็นยูไนเต็ดอย่างที่เรารรู้จักกันอีกต่อไป ผมก็บอกตัวเองไว้อยู่แล้วว่าจะไม่ปล่อยให้ใครมามีอำนาจเหนือผม นั่นคือสิ่งสำคัญ”

5. มีศิลปะในการสื่อสาร

เมื่อถึงเวลาที่ต้องพูดกับนักเตะในบางเรื่อง เซอร์อเล็กซ์จะกองอำนาจบารมีเอาไว้ข้าง ๆ แล้วพยายามสื่อความอย่างเข้าอกเข้าใจในตัวนักเตะ และจะทำเป็นการส่วนตัวเสมอ ไม่มีการตำหนินักเตะออกสื่อโดยเด็ดขาด

ในระหว่างการซ้อม เฟอร์กี้และผู้ช่วยของเขาจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างบรรยากาศในแง่บวก แม้ภาพจำของกุนซือชาวสกอตต์คือความเกรี้ยวกราดในช่วงพักครึ่งเวลาของแต่ละแมตช์ รวมถึงการประชุมทีมหลังจบเกมก็ตาม

“ไม่มีใครชอบโดนตำหนิ และมีไม่กี่คนที่จะดีขึ้นได้หลังโดนตำหนิ ดังนั้นผมจึงพยายามให้กำลังใจเต็มที่เมื่อผมทำได้ ในบางแง่ นักเตะก็เหมือนคนธรรมดา มันไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ยินคำชื่นชม ไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์คำพูดอะไร”

“แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ต้องชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดเมื่อนักเตะไม่อาจตอบสนองความคาดหวังได้ การตำหนิจะเป็นสิ่งสำคัญในตอนนั้น และผมจะทำมันหลังจบเกมทันที แต่จบแล้วคือจบกัน หลังจากนั้นคือการโฟกัสไปที่เกมหน้าเลย”

6. จงเตรียมพร้อมที่จะชนะ

คุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งสำหรับแมนฯ ยูไนเต็ดยุคเศอร์เฟอร์กี้ คือความตายยาก หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เฟอร์กี้ ไทม์” ใช้เวลาอึดใจสุดท้ายของการแข่งขันเปลี่ยนจากแพ้เป็นเสมอ จากเสมอเป็นชนะอยู่หลายเกม

ในการเก็บข้อมูลวิเคราะห์มากกว่า 10 ซีซั่น ยูไนเต็ดมีสถิติดีกว่าทีมอื่นในการคว้าชัยชนะ หากพวกเขาผ่านครึ่งแรกด้วยผลเสมอ หรือเข้าสู่ช่วง 15 นาทีสุดท้ายด้วยผลเสมอ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการเตรียมความพร้อมไว้ก่อนแล้ว

“ชัยชนะคือธรรมชาติของผม ผมได้กำหนดมาตรฐานของผมเอาไว้เป็น ผมคาดหวังถึงชัยชนะในทุกเกม ผมมั่นใจว่านักเตะทุกคนของผมเตรียมพร้อมกันมาแล้ว และพร้อมเสมอในการโชว์ฟอร์ม เพราะทุกสิ่งได้ตระเตรียมกันมาแล้วก่อนที่จะลงสนาม”

“พยายามมองแง่บวกและพร้อมรับความเสี่ยง นี่คือสไตล์ของเรา เราลงสนามไปเพื่อเอาชนะ เราพร้อมทำทุกอย่างใน 15 นาทีสุดท้าย คุณอาจจะโดนยิงเพิ่มจากเกมโต้กลับ แต่รสชาติของชัยชนะเมื่อคุณกำลังจะแพ้ คือความรู้สึกที่มหัศจรรย์มาก”

7. สังเกตการณ์อยู่ตลอดเวลา

แม้หน้าที่ในการคุมนักเตะกลางสนามซ้อมจะเป็นของผู้ช่วย แต่เซอร์อเล็กซ์ก็แทบไม่เคยขาดการซ้อม ในฐานะผู้สังเกตการณ์” ซึ่งเขามองว่าสิ่งนี้ช่วยให้สามารถประเมินฟอร์มการเล่นของนักเตะได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

“การสังเกตการณ์คือส่วนสุดท้ายในโครงสร้างการจัดการของผม มันไม่ได้ทำให้ผมสูญเสียการควบคุม การแสดงตนและความสามารถในการดูแลทีมของผมยังคงอยู่เสมอ และสิ่งที่คุณได้รับจากการเฝ้ามองก็มีคุณค่าอย่างเหลือเชื่อ”

“มันกลายเป็นส่วนสำคัญของทักษะการจัดการของผมไปแล้ว ความสามารถในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการมองเห็นสิ่งที่คุณไม่คาดหวังว่าจะได้เห็น”

8. อย่าหยุดที่จะปรับตัว

27 ปีของการทำงานกับแมนฯ ยูไนเต็ด โลกฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปหลายต่อหลายครั้ง การปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งยากกว่าสำหรับสโมสรที่รักษามาตรฐานสูงเอาไว้ร่วม 20 ปี

“มีเจ้าของทีม เงินทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา และนั่นก็นำมาซึ่งแรงกดดันมหาศาลสำหรับคนเป็นผู้จัดการทีม ผู้เล่นทุกวันนี้มีชีวิตท่ามกลางสปอตไลท์ และเปราะบางมากกว่านักเตะในยุคอดีต”

“ผมไม่สามารถอยู่นิ่งไม่ยอมปรับเปลี่ยนอะไรได้ เราเป็นสโมสรที่ต้องการความสำเร็จ และผมพร้อมพัฒนาในทุกสิ่ง ผมทำงานอย่างหนักในทุกวัน งานของผมคือการสร้างโอกาสที่ดีที่สุดเพื่อชัยชนะ นั่นคือสิ่งที่ผลักดันผมเสมอมา”

จากพิมพ์เขียวทั้ง 8 ข้อ สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต และการบริหารในองค์กรต่าง ๆ ในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การยึดติดความสำเร็จในอดีต คือสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง

นี่คือบทเรียนชีวิตของยอดคนอย่างเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สั่งสมประสบการณ์ชีวิตมาถึงอายุ 80 ปี และในตำแหน่งผู้จัดการทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการฟุตบอลอังกฤษ

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Daily Mail

อ้างอิง : https://hbr.org/2013/10/fergusons-formula

#ไข่มุกดำ
#KMDFeature
#KMDFootballBusiness
#เซอร์อเล็กซ์เฟอร์กูสัน
#แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด