Categories
Football Tactics

เมื่อต้องเจอ Anti-football

เรื่อง “แท็คติกส์” และรูปแบบวิธีการเล่นของเอฟเวอร์ตันในดาร์บี้แมตช์ครั้งที่ 240 ที่แอนฟิลด์จัดได้ว่า แฟรงค์ แลมพาร์ด วางแผนได้ดีถึง “ดีมาก” เพื่อเป้าหมาย คือ หยุดการทำประตูของลิเวอร์พูล และเก็บแต้มข้ามสแตนลีย์ ปาร์ค กลับรัง

เวลารับ คือ “รับต่ำ” เต็มรูปแบบฟอร์เมชั่น 4-5-1 และแพ็คแน่นมากบริเวณพื้นที่ “โซน 14” หรือหน้ากรอบเขต โดย 5 มิดฟิลด์ตัวริมเส้นจะคอยป้องกันการทำเกมด้านข้างของหงส์แดง

อีกทั้ง มิดฟิลด์ และแผงหลังจะ “ถอนตัว” กลับพื้นที่รับผิดชอบของตนเองทันทีอย่างเร็วที่เสียบอลขณะทำเกมรุกที่แน่นอนใช้การโต้กลับ หรือบอลยาวข้ามแนวรับ high line ของลิเวอร์พูล

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

โดยเฉพาะครึ่งหลังซึ่งเยอร์เกน คลอปป์ สั่งเด็ก ๆ เดินหน้าเต็มสูบ หรือฟูลแบ็คเติมเต็มที่พร้อมกัน 2 ฝั่ง และ 3 ตัวบนหุบใน เสมือนรุกแถวบน 5 ตัว พื้นที่ด้านหลังยิ่งว่างมากขึ้น และแอนโธนี กอร์ดอน เด็กนรกเอฟเวอร์ตัน หลุดทะลุมาป่วนหลายหนช่วงต้นครึ่งหลังก่อนจะเรียกใบเหลืองได้จาก เทรนท์ ซึ่งตัดฟาล์วดับเครื่องสไลด์

จิม เบกลิน อดีตแบ็คซ้ายลิเวอร์พูลซึ่งทำหน้าที่บรรยายเกมนี้ พูด “คีย์เวิร์ด” ไว้ 2 คำ คือ:

1. นี่คือ anti-football ปะทะกับ football อันเป็นคำที่ผมคิดเช่นกัน แต่คำว่า “anti-football” นั้นมีความหมายทั้ง เนกาทีฟ และเซนซิทีฟ มาก ๆ จนอาจกระทบกระเทือนความรู้สึกแฟนบอล

anti-football หลัก ๆ คือ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อ “หยุดยั้ง” ไม่ให้คู่แข่งเล่นฟุตบอลได้ หรือทำประตูได้ เช่น รับทั้งทีม, รับต่ำ, เล่นหนัก ดุดัน หรือต้องการ disrupt เกมฟุตบอล

2. การ disrupt ที่ว่ายังอาจนำมาซึ่งวิธีการ (ที่ไม่ผิด) แต่เป็นแท็คติกส์แบบ antic (อีกคำที่ เบกลิน กล่าวไว้) หรือบ้าบอ เช่น ถ่วงเวลา (จอร์แดน พิคฟอร์ด), แกล้งเจ็บ (ริชาร์ลิสัน), ล้มง่าย (กอร์ดอน)

เบกลิน ยังเอ่ยไว้ท้ายครึ่งแรกว่า เขานึกถึงทีมอย่าง แอตเลติโก มาดริด ซึ่งเป็นทีมยุโรป ไม่ใช่ทีมสไตล์อังกฤษที่ขึ้นชื่อเรื่องแนวทางการเล่นแบบนี้กับคู่แข่ง (ในเวที UCL หรือตอนเจอบาร์ซ่า, เรอัล มาดริด)

ส่วนผมเองก็จะนึกถึงบอลบ้านเราลีกรอง ๆ ที่ทีมเล็กมักจะทำใส่ทีมใหญ่เพื่อเอาแต้มทุกวิถีทาง

แต่ทั้งหลายทั้งปวง คือ ไม่คิดว่าจะได้เจอในเมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี้ เฉพาะอย่างยิ่งกุนซือแฟรงค์ แลมพาร์ด ซึ่งเป็นนักเตะเกมรุกมาทำทีม

ประตู 1-0 หลัง ดิวอค โอริกี้ และลุยซ์ ดิอาซ ลงมาไม่นาน จากการโขกเสาสองของ รบส.ตอกย้ำให้เห็นว่า บอสส์ เอาจริง และพร้อม “เสี่ยงสูง” เข้าแลกในครึ่งหลังเพิ่มเติมจากการให้แบ็คเติมหนักหน่วงทั้ง 2 ข้างแม้จะแลกด้วย “โอกาส” เปิดให้เอฟเวอร์ตัน โดยเฉพาะฝั่งซ้ายจากกอร์ดอน ดังที่เรียนไว้ข้างต้นก็ตาม

สุดท้าย แลมพ์เติม เดลี อัลลี, ซาโมมอน รอนดอน ลงมาหวังลุ้นประตูคืนจากแถวสองที่อัลลีทำได้ดี หรือลูกตั้งเตะจากรอนดอน

โดยรวมเกมนี้ ต้องชื่นชมสปิริตเพื่อนบ้าน(น่ารำคาญ) เอฟเวอร์ตัน ซึ่งมาเล่นอย่างตั้งใจ และหวังผล และโทษกันไม่ได้แม้จะดู “เกินเบอร์” ไปด้วยวิธีการ และแนวทาง antic ของ anti-football เต็มขั้นไปหน่อย

ทว่า อยู่ bottom three จะตกชั้นอยู่แล้ว ทุกวิธี ทุกวิถีทาง แลมพ์ต้องทำจนอดคิดไม่ได้ว่า “ทำไมทอฟฟี่ไม่เล่นแบบนี้ทุกนัด” หรือเล่นราวกับว่า นี่คือนัดสุดท้ายของฤดูกาลแบบนี้ทุก ๆ นัดโดยไม่ต้องรอจะมาเล่นกับลิเวอร์พูล

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

โอริกี้ ซัดประตูได้อีกครั้ง (ประตูที่ 6 ของตนเอง) ในดาร์บี้ 2-0 นาทีที่ 85 ตอกย้ำภาพว่าการจะเล่นกับฟุตบอลแบบนี้ต้อง “อดทน” และอดทนมาก ๆ ที่จะไม่ตะบะแตกพลาดเอง หรือลนลานจนทำประตูคู่แข่งไม่ได้

บอสส์เองกับการแก้เกมเริ่มจาก “เสี่ยงเพิ่ม” หลังพักครึ่ง และการเปลี่ยนตัวก็ถือว่า เจอการบ้านยากกว่าที่คิดไว้

สุดท้าย ฟุตบอลควรจะเป็นแบบนี้ครับ football จริง ๆ ยังไงก็ควรชนะ anti-football ไม่ว่าจะเป็นทีมใด หรือด้วยเหตุผลใด

ปล.เผื่อยังไม่ได้อ่านกันนะครับ >>> ถ้าเอฟเวอร์ตัน ตกชั้น การเงิน ฯลฯ จะเป็นอย่างไร? https://bit.ly/3K7IBiV

☕ ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷 : ESPN UK

Categories
Football Tactics

วิเคราะห์ทุกมิติเกมหยุดโลก ลิเวอร์พูล – แมนฯซิตี้ เกมที่มอบทั้งความสุข และบทเรียนลูกหนังชั้นเลิศ ให้แฟนบอลทั่วโลกได้เสพชนิดหาได้ยากยิ่ง

โปรดใช้วิจารณญาณอย่างลึกซึ้งระหว่างอ่านบทความนี้นะครับ ผมไม่ได้มีเจตนาจะ “ชี้นำ” แต่อยากจะบาลานซ์ความคิด และนำเสนอมุมมองฟุตบอลจากเกมนัดหนึ่งที่ถึงตอนนี้ 72 ชั่วโมงหลังแมตช์ไปแล้ว เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ยังแอบ “อมยิ้ม” ถึงศึกลิเวอร์พูล 2 – 2 แมนฯซิตี้ จากแอนฟิลด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมากันอยู่

ความยาวบทความ 2,500 คำ ใช้เวลาอ่าน 10 นาที

  • อันดับแรก

ทำความเข้าใจก่อนว่า ลิเวอร์พูล ของเยอร์เกน คลอปป์ เป็น “บอลบุก” และเล่นด้วยความเข้มข้น หรือ intensity เกมที่สูง ประมาณว่า ชอบเดินหน้าฆ่ามัน หรือถอยหลังหกล้ม

หงส์แดงจะชอบ “เพรสซิ่ง” คู่ต่อสู้ขณะที่มีบอลด้วยรูปแบบวิธีหลากหลายทั้งทางตรง และทางอ้อม แต่ที่เห็นบ่อยหน่อย คือ ทำกันอย่างเป็นระบบ เป็น unit และร่วมด้วยช่วยกัน collective ตั้งแต่แดนบน

และจะมีการ “ไล่ล่า” (Chasing) คู่แข่งขันเพื่อแย่งบอลกลับคืน โดยส่วนใหญ่ก็นั่นแหละครับในแดนคู่แข่งตั้งแต่พวกเขาพยายามจะเปิดเกมรุก หรือหลังจากเราเสียการครองบอลแล้วเกิด transition จากรับเป็นรุก

การไล่ล่าจะทำด้วยการ “กดดัน” เข้าพื้นที่ที่คู่แข่งมีบอลด้วยตัวใกล้สุด และอาจจะเพิ่มจำนวนกลายเป็นไล่ล่า หรือเพรสซิ่งเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่ที่คู่แข่งมีบอล

ครั้นชนะ แย่งบอลได้ก็จะ transition จากรับเป็นรุกด้วยความรวดเร็วเข้าสู่แดนสุดท้าย หรือ Final Third ของคู่แข่งขัน

ทั้งนี้หากว่าแพ้ คู่แข่งแกะบอลออกมาได้ ลิเวอร์พูลจะอาศัยความสามารถเฉพาะตัวที่ยอดเยี่ยม และความรวดเร็วของคู่เซนเตอร์ฮาล์ฟคอย “เก็บกิน” 

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ดังนั้น มันจึงยากในระบบ Lone Striker หรือกองหน้าคนเดียวผ่านระบบหลักฟุตบอลในตอนนี้ไม่ว่าจะ 4-2-3-1, 4-5-1, 4-3-3, 3-4-3 จะเอาชนะ เวอร์จิล ฟานไดต์ หรือโจเอล มาติป ไปได้จากแค่บอลข้ามศรีษะไปหลังไลน์ที่ “รับสูง” แบบ high line

หรือเราก็จะมี อลิสซง เบคเกอร์ คอยอ่านเกมเสมือนเป็นเซนเตอร์ฯ คนที่ 3 คอยออกมาตัดบอลอีกด้วย นั้นคือ ในภาวะปกติ

แต่หากในภาวะไม่ปกติ เช่น เกมนี้กับซิตี้ หรือก่อนหน้านี้กับ เบรนท์ฟอร์ด ที่ยอดทีมลอนดอน ตะวันตก ใช้กองหน้าคู่ พักผ่อน เก็บบอล และประสานงานกันได้ดี “หน้าไลน์” เพราะตัวใหญ่ (อีวาน โทนีย์) เล่นกับบอลดี และรวดเร็ว ไบรอัน เอมบูโม เราก็ลำบากเหมือนกัน

ไม่นับ เฟส 2 จากการครองบอล และบุก โธมัส แฟรงค์ ยังใช้บอลโยนทะแยง (อันเป็นอีกจุดอ่อนของหงส์แดง) ครอสส์จากฝั่งซ้ายไปตก และรุมแบ็คขวา เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ เป็นต้น

(เกมกับเชลซี โรเมลู ลูคาคู และเพื่อน ๆ ก็ทำอะไรเราไม่ได้)

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

ส่วนเกมนี้ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ฉลาด ช่างคิด สมกับเป็นนักนวัตกรลูกหนัง ตามสไตล์ด้วยการอ่านเรื่อง “ความเร็ว” ของ ฟิล โฟเดน ว่าจะมีผลต่อ เจมส์ มิลเนอร์ มากกว่าจับ แจ็ค กรีลิช ไปยืนตามที่คาดการณ์ไว้

หรือเอาโฟเดน ไปยืนฝั่งขวาให้เผชิญหน้าแบ็คซ้าย แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน ที่เคยโดนโฟเดน “เผา” มาแล้วเมื่อ ก.พ.ชนะ 4-1 คาแอนฟิลด์

แต่กลับไปใช้ กาเบรียล เฆซุส ที่ก็มีความเร็วชน รบส. และโฟเดน ชน ท่านรอง โดยให้ กรีลิช ยืนเล่นช่องว่างระหว่างมิดฟิลด์ของเรา และไลน์รับ (อันเป็นอีก 1 จุดอ่อน) เป็นครั้งแรกตามหลังเพื่อน ๆ อย่าง แฟร์รัน ตอร์เรส, ราฮีม สเตอร์ลิง หรือแม้แต่ โฟเดน เองที่เคยลิ้มลองการเป็น False 9 มาแล้วทั้งสิ้น

นั่นคือ “ภาพกว้าง ๆ” และแผนเบื้องต้นที่เป๊ป คิดเอาไว้นะครับ

_ _ _

  • อันดับ 2

คงจะต้อง “ยอมรับ” นะครับว่า การคำนึงถึงคู่ต่อสู้ แล้วปรับแผนที่ไม่ใช่ปรับ “ตัวตน” เป๊ป เรียนรู้เยอะจากการเจอกับเรา และเจอกับคู่แข่งใน UCL กุนซือสแปนิช จึง “ปรับทีม” เสมอเพื่อสิ่งที่มองว่า ดีที่สุดสำหรับทีมตนเอง

หลายครั้งการปรับกลยุทธ์ และแท็คติกส์ ของเป๊ป ถึงกับถูกมองได้ว่า “มากไป” หรือ “คิดเยอะ” ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ใน UCL Final ที่แพ้เชลซี เพราะ (ว่ากันว่า) ไม่ส่งมิดฟิลด์ตัวรับแท้ ๆ ลง โดยมีเหตุผลว่า ต้องการ “คอนโทรล” มิดฟิลด์ และเอาชนะแดนกลางให้ได้ 100% และกดใส่เชลซี ที่จะต้องมารับเต็มตัว

แต่กับเกมนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีในอีกด้าน เพราะเป๊ปปรับแล้ว ทีมทำผลงานได้ดีตั้งแต่ประมาณนาทีที่ 15 ของครึ่งแรก จนจบ 45 นาทีแรก

และครึ่งหลัง แม้หงส์แดงจะ “be brave” (อ่านปาก คลอปป์ สิครับ “be brave” ในระหว่างเกมจากข้างสนาม) มากขึ้นจากที่แดนหน้าทั้ง 3 กรูลงมาช่วยเกมรับต่ำ หรือมิดฟิลด์เองก็ไม่กล้าดันขึ้นเพรสซิ่งในพื้นที่สูงกว่า เช่น ในแดนคู่แข่ง ตามสไตล์ถนัด หรือไม่กล้าเล่น “The Extra pass” อันเป็นคำที่ คลอปป์ อธิบายหลังเกมที่น่าจะหมายถึง กล้าเล่นบอล ที่แปลว่า กล้าส่ง กล้าครองบอล กล้าเลี้ยง หรือคือ ไม่รีบเตะทิ้งยาวออกไป แล้วก็จะโดนระลอกคลื่นสีฟ้าถาโถมกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ครึ่งหลังทำได้ดีขึ้นทันที

ประตู 1-0 แน่นอน “ตอบโจทย์” ทุกคีย์เวิร์ดของ คลอปป์ ไม้ว่าจะ be brave, the extra pass, compact (การเล่นแน่นร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น 3 เหลี่ยมในพื้นที่ต่าง ๆ)

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ประตู 2-1 ที่เคอร์ติส โจนส์ คงอายกับการได้ชื่อว่า assist เพราะ โม ซาลาห์ โซโล่ซะขนาดนั้น ก็เกิดจากความกล้า ความมั่นใจที่ยังมีอีกหลายเพลย์ “ฉายภาพ” นี้ออกมาในครึ่งหลังแม้จังหวะเหล่านั้นจะไม่ได้ประตู

หรือแม้กระทั่งท้ายเกมหลังเสมอ 2-2 หงส์แดงก็ยัง be brave กล้าลุยจนเกือบได้ประตูจาก ฟาบินโญ่ หรือแน่นอนเกือบเสียจากจังหวะวอลเลย์ของ เฆซุส ที่ไปโดนตัว รบส.บล็อกเอาไว้

กล่าวคือ คลอปป์ และเด็ก เลือกจะ “เล่นรับ” แบบนี้

หรือคือ ใช้แดนหน้า และกลาง “เพรส” เข้าหาคู่ต่อสู้ที่มีบอลทันทีอย่างรวดเร็ว

ลิเวอร์พูล ไม่ได้ “เลือกรับ” ด้วยการรีบ “ถอยร่น” มายืนแพ็คเกมรับระหว่างไลน์กลาง และหลังแบบ compact อย่างรวดเร็ว (อาจทำได้หลังแดนบนเพรสซิ่งไม่สำเร็จ เช่น ตามกฎ 6 วินาที หรือไม่ต้องเพรสเลย คือ ตัดสินใจถอยมากระชับพื้นที่เลยหลังเสียการครองบอล)

แต่รับแบบนั้น ไม่ใช่ลิเวอร์พูล และไม่ใช่คลอปป์

ไม่งั้น จะได้ยินคลอปป์พูดแบบนั้นหรือครับหลังเกมว่า ครึ่งแรกเราไม่กล้า เราไม่เพรสซิงในพื้นที่ในเวลาเหมาะสม และทำให้ได้เห็นซิตี้ ต่อบอลง่ายไปมา หรือเลือกเปิดทะแยง เปิดบอลยาวได้ง่ายที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่บอสส์เคยดูซิตี้มาหลายเกม (จริง ๆ คือ ดูนับครั้งไม่ถ้วนนั่นแหละ)

_ _ _

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC
  • อันดับ 3

ผมไม่ได้ “แก้ตัว” แทนจอร์แดน เฮนเดอร์สัน, เคอร์ติส โจนส์ หรือกระทั่ง ฟาบินโญ ในแดนกลางที่โดน “ทัวร์ลง” พอควร เช่น เฮนโด ไม่ช่วยมิลเนอร์, โจนส์ ตัดบอลไม่ได้ เล่นรับไม่ดี หรือฟาบินโญ่ ยืนห่างจากไลน์รับเกินไป ฯลฯ

ในโพสต์ LIVE กับพี่กบ Captain No.12 หรือโพสต์ Teaser ของโพสต์นี้ (https://www.facebook.com/khaimukdam/photos/a.174800505908163/4342449355809903/) ผมก็มีโอกาสได้พูดสิ่งเหล่านั้นไปเช่นกัน

ซึ่งแน่นอนว่า นั่นเป็นสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ เห็น และแบบที่ผมเคยเรียนไว้ต้องมาเห็นด้วยภาพนิ่งแบบ Freeze frame ด้วย เพราะดูไฮไลต์มองไม่ทันได้จับอะไร

หรือมาอ่านบทวิเคราะห์ อะไรต่อมิอะไรหลังเกมแล้วทำให้เห็นภาพว่า มันมี “ช่องห่าง” ระหว่างไลน์ที่ห่างเกินไปจริง ๆ (เกิน 7-8 หลา – อ้างอิง โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ)

ขณะที่มองไว ๆ คือ “ไลน์รับ” ยืนเรียงสวย 4 คนอยู่ในแนวเดียวกัน และระยะใกล้กันอยู่แล้ว แบบไม่น่ามีปัญหาอะไร

หรือ เดอ บรอย กับแบร์นาโด ซิลบา ยังสามารถแกะตัว แกะบอล ออกมาเปิดไปเล่นหลังฟูลแบ็คเราได้ก่อนจู่โจมแบบรวดเร็ว

(โดยเราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า ลิเวอร์พูล ไม่ได้เสียประตูจากการโดน “เจาะตรง” เข้าใจกลางเซนเตอร์ฮาล์ฟ หรือเข้าพื้น half spaces แต่จะโดนบอลทะแยงจากขวาไปซ้าย หรือเลี้ยงตัดจากขวาไปซ้ายเข้าทำลายพื้นที่บริเวณโซน 13 และ 16 ของมิลเนอร์ และโจ โก — นั่นแปลว่า งานป้องกันเบื้องต้น คือ ถูกต้องแล้ว แต่เราโดนบอลทะแยง และการเลี้ยง การเปิดบอลเร็วหน้าไลน์จากฝั่งขวา ไปฝั่งซ้ายบริเวณแบ็คขวาของเรา)

ประเด็นนี้ ผมไม่อยากใช้คำว่า “แหม…ก็บอสส์ ไม่ได้ลงมาวิ่งในสนาม จะรู้ได้อย่างไร?”

ครับ ด้วยความเคารพ นักบอลไทย บ่นแบบนั้นแน่ ๆ หากโค้ชสั่งให้ be brave และรุกลุย ลักษณะนี้ เพราะอะไร?

นี่คือ แมนฯซิตี้ และขอโทษ วอล์คเกอร์ กับการตีรถด่วนทางตรงยาว ๆ, กานเซโล กับบทบาทเพลย์เมคเกอร์ (แต่ขอโทษ เกมรับก็ห่วย ship หายจาก 2 จังหวะเบื้องต้นที่พลาดง่ายไปให้ ซาลาห์), แบร์นาโด ซิลวา แกะตัวจากการโดนรุมได้อย่างไร เช่น นาทีที่ 20 ครึ่งแรกเริ่มจาก เฮนโด พลาดเสียบอลแล้วรวมตัวกับเพื่อน 4-5 คนรวมถึง VvD กับภาพลงไปก้นจ้ำเบ้า หรือประตู 2-2 จากบอลทุ่มข้างสนามธรรมดาของกานเซโล ให้โฟเดน ต่อไปที่แบร์นาโด ที่สามารถครองบอล และแกะการเพรสซิงลิเวอร์พูลได้ โดยมี เดอ บรอย ที่ภาษาฟุตบอลเรียกว่า “ซื้อใจ” เพื่อน หรือคือ หากมรึงเก่งจริง มรึงหลุดได้ กรูก็หลุดยาว และพวกมันจะพินาศ

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

เฆซุส, โฟเดน และเดอ บรอย รวมกันแล้วสุด ๆ ครับ เฉพาะอย่างยิ่งหากดัน shape เกมรุกมาเข้าข่าย 2-3-5 และดันสูงขึ้นมาได้เมื่อไหร่ อย่าว่าแต่เราเลย ทุกทีมเหนื่อยหมด

เขียนถึงตรงนี้ แท้จริงแล้ว คลอปป์ แทนที่จะสั่ง be brave แต่สั่งแบบ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน หรือโธมัส ทูเคิล ว่า be cautious เราอาจได้ผลการแข่งขันอีกแบบ

เพราะหลัง เปแอสเช ออกนำเร็วแมนฯซิตี้ ในบ้านตัวเอง ปารีส แท้ ๆ พวกเขา “รับเต็ม” และรอโต้ให้ เอ็มบับเป, เนย์มาร์, เมสซี, ดิ มาเรีย เล่นกันแค่ 4 ตัว และแบ็ค เช่น ฮาคิมี เติมบ้าง ไรบ้าง แค่นี้ซิตี้ก็ยิงไม่ได้ และโดนอีกลูกจากเมสซี แพ้ 0-2 แต่นั่นไม่ใช่ลิเวอร์พูลไงครับ!

เหนือสิ่งอื่นใด เปแอสเช หากต้องบุกบ้าง ก็โดน แรนส์ ship หายไปเช่นกัน 0-2 หรือซิตี้ เจอทีมมารับจัด ๆ แล้วโต้เร็ว ๆ อย่างที่แพ้ สเปอร์ส หรือเจอแบบ เลสเตอร์, เชลซี ก็ไม่เคยเป็นอะไรที่ง่ายอยู่แล้ว ไม่นับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ดังนั้น อย่า “แปลกใจ” ที่สัมภาษณ์หลังเกม เป๊ปเองแทบจะลืมเรื่อง “ใบเหลือง 2 ใบ” ของเจมส์ มิลเนอร์ ไปเลย เพราะสบถแต่ The best league in the world ๆ 

คลอปป์ กับบทวิเคราะห์นำมาซึ่งบทความนี้ และบอกตรง ๆ ว่า บทสัมฯของคลอปป์ และการเล่นแบบ toe-to-toe ตามภาษามวย หรือเท้าชนเท้า ทำให้ผม และพวกเราได้ “เข้าใจ” ฟุตบอลขึ้นอีกมากทีเดียว

ครับ ไอ้ ship หาย (ครั้งที่ 3 แล้ว!) จะมีกี่ครั้งในโลกที่เราได้ยินโค้ชมา “ยอมรับ” ว่า ทำอะไรได้ดี ไม่ได้ดี ในครึ่งแรก หรือครึ่งหลัง หรือต้องการจะทำอะไร และทำได้ หรือทำไม่ได้ หลังจบเกมให้ชาวโลกได้ฟัง

แต่นี่คือ คลอปป์ และตัวเขาได้กระทำ และได้พูดในสิ่งเหล่านี้

_ _ _

  • อันดับสุดท้าย

(พูดแบบคนพอมีประสบการณ์นะ) หากผมเป็นเฮนโด และนักเตะลิเวอร์พูล สิ่งที่ผมจะมองตัวผมเองก่อน คือ หากบอสส์ให้ be brave ด้วยวิธีการเล่น และแท็คติกส์ ต่าง ๆ ผมจะต้องพิจารณา “หน้างาน” และอ่านสถานการณ์ให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน

คือ ผมจะพูดว่า หากโค้ช หรือผู้มีพระคุณสั่งให้ผมทำอะไร แล้วผมทราบว่า ผมจะ “ไปตาย” ผมจะทำทำไม?

ดังนั้น มิดฟิลด์ของเรา “กล้า” ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน พวกคุณต้องมองคน มองสถานการณ์รอบด้านด้วย เช่น การจะเข้ารุมแบร์นาโด แต่ด้านหลังแมร่งมี เดอ บรอย ยืนถือมีดดาบอยู่

คุณต้องประเมินสถานการณ์เองแล้ว ถูกไหม?

คือ เข้าได้ be brave ได้ แต่หากไม่ได้ (ห้าม commit เช่น สไลด์ล้มตัว หรือพรวด ฯลฯ หรือจะแลกก็ต้องฟาล์วเลย) ต้องทราบว่า ด้านหลังมรึงมีใคร แล้วต้องรีบถอนตัว หากปฏิบัติการแรกล้มเหลว

ไม่ใช่ เชียะอะไร เค้าสั่งให้กระโดดน้ำ พวกมรึงก็กระโดด แล้วจมลงไปโดยไม่ได้ดูเลยว่า “น้ำลึก” แค่ไหน? ห่างฝั่งแค่ไหน? มีห่วงยางหรือเปล่า? น้ำเย็นขนาดไหน?

หรือ มิลเนอร์ หรือโจ โก พวกคุณต้องรู้ว่า โฟเดน มันเร็วแค่ไหน?

การที่ยืนใกล้มาติป ถูกต้องแล้ว เพราะพื้นที่ “ตรงกลาง” โซน 14 คือ “ไข่แดง” ที่พวกคุณห้ามโดนเจาะ แต่หากคุณจะขยับมาใกล้แล้วไล่ตามคู่แข่งริมเส้นไม่ทัน (ผมไม่ได้หมายถึงในทุกจังหวะ หรือตอนโดน 2v1 นะ เช่น จังหวะใบเหลือง 1 v 1 มิลเนอร์ พลาดไปจริง เสียเหลี่ยมให้โฟเดน) มันก็ไม่ใช่

กล่าวคือ ผู้เล่น สามารถหารือกับโค้ชได้ คุยกันได้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหน มิดฟิลด์ลิเวอร์พูล ต้องรู้สถานการณ์รอบข้างดีกว่าในเกมนี้ และทรานซิชั่นเร็วกว่าในเกมนี้ และสื่อสารกับทั้งแดนบน เรื่องจะเพรสซิ่ง ไม่เพรสซิ่ง เพรสใคร ยังไง และต้องทำด้วยกัน รวมถึงกับแนวรับที่เขายืนจัดระเบียบได้ดีแล้ว แต่อาจยืนห่างไปให้ดีกว่านี้ว่าจะทำอย่างไร เช่น ให้เขาดันขึ้นมา หรือตัวเองสักคนไปยืนโคเวอร์ไว้หน้าคู่เซนเตอร์ฯ (มิลเนอร์ หรือโจ โก ก็จะได้ถ่างห่างออกไปหาโฟเดน ได้มากขึ้น เป็นต้น)

ทั้งหมด คือ การเรียนรู้ของทีม และของพวกเราไปด้วย “พร้อม ๆ กัน”

สุดท้าย ผมขอกล่าวอีกครั้งว่า ฟุตบอลแบบเกมนี้ทั้งก่อน, ระหว่างแข่ง และหลังเกม มันเป็นเกมที่ครบทุกอรรถรส ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ 

ผมต้องขอขอบคุณ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ, โค้ชนพ นพพร เอกศาสตรา, โค้ชแดง ทรงยศ กลิ่นศรีสุข, โค้ชใหม่ เจตนิพัทธ รัชตเฉลิมโรจน์ และโค้ชโจ ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น ที่ได้ร่วมสนทนาธรรมเกมนี้กับผม และก็พี่กบ Captain No.12 และแน่นอนพวกเราทุกคนในเพจแห่งนี้

That’s why we do love the beautiful game ครับ

☕ ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

Categories
Special Content

เป็นฮีโร่ก็ลำบาก : “มาร์คัส แรชฟอร์ด” ดอกเตอร์ที่ยังไม่ก้าวข้ามดาวรุ่ง

ภาพจำของมาร์คัส แรชฟอร์ด ดาวยิงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ผู้คนในอังกฤษและทั่วโลกนึกถึง คือนักสังคมสงเคราะห์ สะสมความดีมากเพียงพอ จนได้รับการประกาศเกียรติคุณ เพื่อตอบแทนความดีที่สร้างไว้

ตรงข้ามกับชีวิตนักฟุตบอล ที่ในเวลานี้ต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ด้วยผลงานที่ตกลงไปจากเมื่อก่อนอย่างน่าใจหาย และอาจถูกมองว่า เป็นนักเตะที่ไม่สามารถก้าวข้ามความเป็น “ดาวรุ่งตลอดกาล” ได้

ชีวิตของแรชฟอร์ดจากนักเตะดาวรุ่ง ที่ยังพุ่งไปไม่สุดทางเป็นอย่างไร ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

สุดยอดดาวรุ่งที่น่าจับตามอง

มาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดจากครอบครัวที่มีฐานะไม่ค่อยสู้ดีนักในเมืองแมนเชสเตอร์ เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 5 ขวบกับเฟล็ทเชอร์ มอสส์ เรนเจอร์ส สโมสรระดับท้องถิ่นที่ปั้นนักเตะชื่อดังมาแล้วหลายราย

ปี 2005 เจ้าหนูแรชฟอร์ดในวัย 7 ขวบ ได้รับความสนใจจากทีมยักษ์ใหญ่ทั้งแมนฯ ยูไนเต็ด, แมนฯ ซิตี้ รวมถึงลิเวอร์พูล และสุดท้ายเป็น “ปิศาจแดง” ที่ได้เซ็นสัญญาเข้าร่วมทีมเยาวชนไปในที่สุด

แรชฟอร์ด ใช้เวลาอยู่กับทีมเยาวชนยาวนานมากกว่า 10 ปี ก่อนที่จะได้ประเดิมสนามกับยูไนเต็ดเป็นครั้งแรก ในเกมยูฟ่า ยูโรป้า ลีก รอบ 32 ทีมสุดท้าย นัดสอง ที่เปิดบ้านพบกับมิดทิลแลนด์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016

ในแมตช์ดังกล่าว แรชฟอร์ดได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงแทนที่อองโตนี่ มาร์กซิยาล ที่ได้รับบาดเจ็บในช่วงวอร์มก่อนเริ่มเกม และกลายเป็นแมตช์แห่งความทรงจำของเขา เมื่อเหมาคนเดียว 2 ประตู ช่วยให้ทีมชนะ 5 – 1

ส่งผลให้แรชฟอร์ด ทุบสถิติเป็นนักเตะอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์สโมสร ที่ทำประตูได้ในฟุตบอลถ้วยยุโรป ด้วยวัย 18 ปี 117 วัน ก่อนที่สถิติของเขาจะถูกทำลายโดยเมสัน กรีนวูด เมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 (17 ปี 353 วัน)

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของมาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดขึ้นในฤดูกาล 2019/20 และ 2020/21 ที่ทำได้อย่างน้อย 20 ประตู รวมทุกรายการ 2 ฤดูกาลติดต่อกัน ก้าวขึ้นมาเป็นกองหน้าตัวความหวังในการจบสกอร์จนถึงปัจจุบัน

เด็กหนุ่มผู้เป็นฮีโร่ของอังกฤษ

เพราะเคยผ่านช่วงชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็ก ทำให้มาร์คัส แรชฟอร์ด มีความคิดริเริ่มที่จะช่วยเหลือผู้ที่ยากลำบากเหมือนกับตัวเอง จึงตัดสินใจที่จะรับบทบาทเป็นผู้ให้ และคืนอะไรกลับไปให้สังคมบ้าง

จุดเริ่มต้นการมีจิตสาธารณะของแรชฟอร์ด เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ด้วยการบริจาคอาหาร 1,200 กล่อง เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านในเมืองแมนเชสเตอร์

แต่ตัวเขาไม่รู้สึกพึงพอใจมากนัก เพราะคนที่เข้าถึงการช่วยเหลือยังน้อยเกินไป จึงต้องทุ่มเทกับกิจกรรมการกุศลมากกว่าเดิม โดยร่วมมือกับองค์กรการกุศลระดับประเทศ เข้ามาช่วยแจกจ่ายอาหารให้มากขึ้น

เข้าสู่ปี 2020 โควิด-19 ได้ระบาดหนักไปทั่วโลก รัฐบาลอังกฤษได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการระงับโครงการอาหารกลางวันฟรีแก่นักเรียน เป็นผลกระทบที่เกิดจาการสั่งปิดโรงเรียนในช่วงที่มีการล็อกดาวน์

จากการตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาล ช่วยให้แรชฟอร์ดทราบว่า มีเด็กนักเรียน 1.3 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ เขาจึงตัดสินใจเขียนจดหมายเปิดผนึก ส่งถึงรัฐบาลอังกฤษ ในเดือนมิถุนายน ปี 2020

หลังจากที่จดหมายเปิดผนึกถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ตัดสินใจสนับสนุนโครงการของแรชฟอร์ด และเครือข่ายอย่างเต็มที่ โดยทุ่มเงิน 400 ล้านปอนด์ช่วยเหลือเด็กยากไร้ทั่วประเทศ

สิ่งที่แรชฟอร์ดพยายามส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจรัฐ ได้รับรู้ถึงหัวใจของผู้คนทั้งประเทศ และเกิดอิมแพ็กต์อย่างเห็นได้ชัด จึงได้มีการตอบแทนคุณงามความดีครั้งสำคัญ ที่เขาและครอบครัวจะต้องจดจำไปตลอดชีวิต

เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับดาวเตะวัย 24 ปีรายนี้ และถือเป็นบุคคลที่อายุน้อยสุด ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์อีกด้วย

แรชฟอร์ด ถือเป็นคนที่ 3 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณขั้นสูงสุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ต่อจากเซอร์แมตต์ บัสบี้ และเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน 2 ตำนานผู้จัดการทีมของสโมสร

และอีกเพียง 1 เดือนหลังจากนั้น แรชฟอร์ด ก็ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE จากเจ้าชายวิลเลียมส์ เป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่เขาได้ทำให้กับประเทศบ้านเกิด มันยิ่งใหญ่เพียงใด

ความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสังคมของมาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดจากการลุกขึ้นเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมที่พบเจอ และสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น จนได้รับการยกย่องให้เป็นฮีโร่ของชาวอังกฤษทั้งชาติ

ฟอร์มการเล่นที่ไม่เหมือนเดิม

ชีวิตนอกสนามของมาร์คัส แรชฟอร์ด ได้สะสมคุณงามความดีไว้มากมาย จนได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ แต่ชีวิตในสนามของเขานั้น ถือว่ายังสอบไม่ผ่านในการที่จะก้าวจากสุดยอดดาวรุ่งสู่นักเตะเวิลด์คลาส

ผลงานของ ดร.แรชฟอร์ด ในฤดูกาล 2021/22 ทำได้เพียงแค่ 2 ประตู จาก 11 นัดที่ลงสนามในพรีเมียร์ลีก อีกทั้งยิงประตูไม่ได้เลย ใน 11 นัดหลังสุดที่ได้โอกาสลงเล่นนับรวมทุกรายการ

เกมล่าสุดที่แมนฯ ยูไนเต็ด เปิดบ้านเฉือนชนะแอสตัน วิลลา 1 – 0 ในเอฟเอ คัพ เมื่อคืนมันเดย์ไนท์ที่ผ่านมา เจ้าตัวถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องความทุ่มเทในสนาม โดยมีช็อตสำคัญที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ในโลกโซเชียล

ช็อตที่ว่านั้น เกิดขึ้นในนาทีที่ 73 จังหวะที่เมสัน กรีนวูด ยิงไปติดเซฟของเอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ นายทวารวิลลา รับบอลกระฉอกออกมา ทว่าแรชฟอร์ดกลับยืนเซ็งเฉยๆ ไม่วิ่งเข้าหาบอลเพื่อลุ้นประตูเสียอย่างนั้น

นั่นทำให้แรชฟอร์ด ถูกบรรดาเรด อาร์มี่ ตำหนิอย่างรุนแรง และถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นมืออาชีพ เพราะมีพฤติกรรมที่แสดงว่าไม่ตั้งใจเล่นให้กับสโมสร ทั้งๆ ที่รับค่าเหนื่อยสูงถึง 2 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์

ว่ากันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรชฟอร์ด มีฟอร์มการเล่นที่ดร็อปลงอย่างไม่น่าเชื่อในฤดูกาลนี้ เป็นเพราะปัญหาทั้งด้านสภาพจิตใจ และสภาพร่างกายที่ติดตัวมานานตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา

เรื่องสภาพจิตใจ แรชฟอร์ดคือหนึ่งในผู้ที่ยิงจุดโทษพลาด ทำให้อังกฤษแพ้อิตาลีในนัดชิงชนะเลิศ ยูโร 2020 แฟนบอลอังกฤษบางส่วนเลยไม่พอใจ ถึงขั้นทำลายภาพของเขาที่อยู่บนผนังในเมืองแมนเชสเตอร์

นอกจากนี้ เดลี่ เมล สื่อชื่อดังของอังกฤษยังระบุว่า เขาได้ติดต่อไปยังนักจิตวิทยาด้านกีฬา เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องสภาพจิตใจ ซึ่งนั่นถือเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ต้องพึ่งนักจิตวิทยาด้านกีฬามาช่วยเหลือด้านจิตใจ

ส่วนเรื่องสภาพร่างกายนั้น เจ้าตัวมีอาการบาดเจ็บหัวไหล่เรื้อรังมาตั้งแต่ฤดูกาลก่อน และเข้ารับการผ่าตัดหลังจบฟุตบอลยูโร เมื่อกลางปีที่แล้ว แต่ก็ฝืนกลับมาลงเล่นให้ยูไนเต็ดอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม

อีกสาเหตุหนึ่งที่ถือว่ามีส่วนอยู่ไม่น้อย ก็คือเรื่องของตำแหน่งการเล่นที่ยังไม่ชัดเจน นับตั้งแต่ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เนื่องจากสโมสรเปลี่ยนแปลงกุนซือบ่อย จึงมีความกังวลว่า เขาอาจจะไม่สามารถพัฒนาฝีเท้าได้อีก

เมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 สแตน คอลีมอร์ อดีตตำนานกองหน้าลิเวอร์พูลยุค ‘90 เคยให้ความเห็นว่า “หากแรชฟอร์ดยังไม่รู้ตำแหน่งถนัดของตัวเอง อีกไม่นานอาจจะเป็นเหมือนธีโอ วัลคอตต์ ที่เคยเป็นยอดดาวรุ่ง แต่ไปไม่สุด”

ที่สำคัญ สัญญาของแรชฟอร์ดกับยูไนเต็ด จะหมดลงหลังจบฤดูกาลหน้า น่าสนใจว่าเขาจะยังฝากอนาคตไว้ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด หรือจะไปหาความท้าทายใหม่กับสโมสรอื่น ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

ถึงแม้ว่ามาร์คัส แรชฟอร์ด จะเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษนอกสนามฟุตบอล แต่เรื่องราวในสนาม เขาต้องก้าวข้ามจากนักเตะดาวรุ่ง สู่นักเตะที่ประสบความสำเร็จในเกมลูกหนังให้ได้

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : TEAMtalk

อ้างอิง :

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10391695/What-wrong-Marcus-Rashford-amid-Manchester-United-struggles.html

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10390207/Manchester-United-Marcus-Rashford-struggles-mystery-Ralf-Rangnick-fans.html

https://www.theguardian.com/football/2022/jan/11/marcus-rashford-manchester-united-looks-out-of-form-and-cheer#_=_

#ไข่มุกดำ

#KMDAnalysis

#แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด