Categories
Football Tactics

เมื่อต้องเจอ Anti-football

เรื่อง “แท็คติกส์” และรูปแบบวิธีการเล่นของเอฟเวอร์ตันในดาร์บี้แมตช์ครั้งที่ 240 ที่แอนฟิลด์จัดได้ว่า แฟรงค์ แลมพาร์ด วางแผนได้ดีถึง “ดีมาก” เพื่อเป้าหมาย คือ หยุดการทำประตูของลิเวอร์พูล และเก็บแต้มข้ามสแตนลีย์ ปาร์ค กลับรัง

เวลารับ คือ “รับต่ำ” เต็มรูปแบบฟอร์เมชั่น 4-5-1 และแพ็คแน่นมากบริเวณพื้นที่ “โซน 14” หรือหน้ากรอบเขต โดย 5 มิดฟิลด์ตัวริมเส้นจะคอยป้องกันการทำเกมด้านข้างของหงส์แดง

อีกทั้ง มิดฟิลด์ และแผงหลังจะ “ถอนตัว” กลับพื้นที่รับผิดชอบของตนเองทันทีอย่างเร็วที่เสียบอลขณะทำเกมรุกที่แน่นอนใช้การโต้กลับ หรือบอลยาวข้ามแนวรับ high line ของลิเวอร์พูล

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

โดยเฉพาะครึ่งหลังซึ่งเยอร์เกน คลอปป์ สั่งเด็ก ๆ เดินหน้าเต็มสูบ หรือฟูลแบ็คเติมเต็มที่พร้อมกัน 2 ฝั่ง และ 3 ตัวบนหุบใน เสมือนรุกแถวบน 5 ตัว พื้นที่ด้านหลังยิ่งว่างมากขึ้น และแอนโธนี กอร์ดอน เด็กนรกเอฟเวอร์ตัน หลุดทะลุมาป่วนหลายหนช่วงต้นครึ่งหลังก่อนจะเรียกใบเหลืองได้จาก เทรนท์ ซึ่งตัดฟาล์วดับเครื่องสไลด์

จิม เบกลิน อดีตแบ็คซ้ายลิเวอร์พูลซึ่งทำหน้าที่บรรยายเกมนี้ พูด “คีย์เวิร์ด” ไว้ 2 คำ คือ:

1. นี่คือ anti-football ปะทะกับ football อันเป็นคำที่ผมคิดเช่นกัน แต่คำว่า “anti-football” นั้นมีความหมายทั้ง เนกาทีฟ และเซนซิทีฟ มาก ๆ จนอาจกระทบกระเทือนความรู้สึกแฟนบอล

anti-football หลัก ๆ คือ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อ “หยุดยั้ง” ไม่ให้คู่แข่งเล่นฟุตบอลได้ หรือทำประตูได้ เช่น รับทั้งทีม, รับต่ำ, เล่นหนัก ดุดัน หรือต้องการ disrupt เกมฟุตบอล

2. การ disrupt ที่ว่ายังอาจนำมาซึ่งวิธีการ (ที่ไม่ผิด) แต่เป็นแท็คติกส์แบบ antic (อีกคำที่ เบกลิน กล่าวไว้) หรือบ้าบอ เช่น ถ่วงเวลา (จอร์แดน พิคฟอร์ด), แกล้งเจ็บ (ริชาร์ลิสัน), ล้มง่าย (กอร์ดอน)

เบกลิน ยังเอ่ยไว้ท้ายครึ่งแรกว่า เขานึกถึงทีมอย่าง แอตเลติโก มาดริด ซึ่งเป็นทีมยุโรป ไม่ใช่ทีมสไตล์อังกฤษที่ขึ้นชื่อเรื่องแนวทางการเล่นแบบนี้กับคู่แข่ง (ในเวที UCL หรือตอนเจอบาร์ซ่า, เรอัล มาดริด)

ส่วนผมเองก็จะนึกถึงบอลบ้านเราลีกรอง ๆ ที่ทีมเล็กมักจะทำใส่ทีมใหญ่เพื่อเอาแต้มทุกวิถีทาง

แต่ทั้งหลายทั้งปวง คือ ไม่คิดว่าจะได้เจอในเมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี้ เฉพาะอย่างยิ่งกุนซือแฟรงค์ แลมพาร์ด ซึ่งเป็นนักเตะเกมรุกมาทำทีม

ประตู 1-0 หลัง ดิวอค โอริกี้ และลุยซ์ ดิอาซ ลงมาไม่นาน จากการโขกเสาสองของ รบส.ตอกย้ำให้เห็นว่า บอสส์ เอาจริง และพร้อม “เสี่ยงสูง” เข้าแลกในครึ่งหลังเพิ่มเติมจากการให้แบ็คเติมหนักหน่วงทั้ง 2 ข้างแม้จะแลกด้วย “โอกาส” เปิดให้เอฟเวอร์ตัน โดยเฉพาะฝั่งซ้ายจากกอร์ดอน ดังที่เรียนไว้ข้างต้นก็ตาม

สุดท้าย แลมพ์เติม เดลี อัลลี, ซาโมมอน รอนดอน ลงมาหวังลุ้นประตูคืนจากแถวสองที่อัลลีทำได้ดี หรือลูกตั้งเตะจากรอนดอน

โดยรวมเกมนี้ ต้องชื่นชมสปิริตเพื่อนบ้าน(น่ารำคาญ) เอฟเวอร์ตัน ซึ่งมาเล่นอย่างตั้งใจ และหวังผล และโทษกันไม่ได้แม้จะดู “เกินเบอร์” ไปด้วยวิธีการ และแนวทาง antic ของ anti-football เต็มขั้นไปหน่อย

ทว่า อยู่ bottom three จะตกชั้นอยู่แล้ว ทุกวิธี ทุกวิถีทาง แลมพ์ต้องทำจนอดคิดไม่ได้ว่า “ทำไมทอฟฟี่ไม่เล่นแบบนี้ทุกนัด” หรือเล่นราวกับว่า นี่คือนัดสุดท้ายของฤดูกาลแบบนี้ทุก ๆ นัดโดยไม่ต้องรอจะมาเล่นกับลิเวอร์พูล

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

โอริกี้ ซัดประตูได้อีกครั้ง (ประตูที่ 6 ของตนเอง) ในดาร์บี้ 2-0 นาทีที่ 85 ตอกย้ำภาพว่าการจะเล่นกับฟุตบอลแบบนี้ต้อง “อดทน” และอดทนมาก ๆ ที่จะไม่ตะบะแตกพลาดเอง หรือลนลานจนทำประตูคู่แข่งไม่ได้

บอสส์เองกับการแก้เกมเริ่มจาก “เสี่ยงเพิ่ม” หลังพักครึ่ง และการเปลี่ยนตัวก็ถือว่า เจอการบ้านยากกว่าที่คิดไว้

สุดท้าย ฟุตบอลควรจะเป็นแบบนี้ครับ football จริง ๆ ยังไงก็ควรชนะ anti-football ไม่ว่าจะเป็นทีมใด หรือด้วยเหตุผลใด

ปล.เผื่อยังไม่ได้อ่านกันนะครับ >>> ถ้าเอฟเวอร์ตัน ตกชั้น การเงิน ฯลฯ จะเป็นอย่างไร? https://bit.ly/3K7IBiV

☕ ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷 : ESPN UK