Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : “พรีเมียร์ลีก” กับการแก้ปัญหาสภาพจิตใจนักเตะเยาวชน

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : “พรีเมียร์ลีก” กับการแก้ปัญหาสภาพจิตใจนักเตะเยาวชน

เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ ต่างมีความฝันที่จะเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ชีวิตที่สุขสบาย ร่ำรวยเงินทอง ชื่อเสียงที่รออยู่ข้างหน้า และภาคภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่พวกเขารัก 

แต่ในบางครั้ง “ความฝัน” กับ “ความจริง” มันไม่ไปด้วยกัน คนจำนวนมากไปไม่ถึงเป้าหมาย ต้องทำอาชีพในสายอื่น หรือบางคนไม่สามารถรับมือกับความผิดหวังได้ ถึงขั้นใช้ชีวิตเสเพล หรือทำร้ายตัวเอง

แล้วในวงการฟุตบอลอังกฤษ มีแนวทางในการแก้ปัญหานักเตะเหล่านี้อย่างไรบ้าง ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

กรณีศึกษาของวิสเท่น

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2020 ได้มีเหตุการณ์ที่ช็อกวงการฟุตบอลอังกฤษ เมื่อเจเรมี่ วิสเท่น อดีตนักเตะอคาเดมี่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น

ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้วิสเท่นเสียชีวิตนั้น มาจากภาวะโรคซึมเศร้า ไม่สามารถสลัดกับความผิดหวังได้ หลังถูกปล่อยตัวออกจากแมนฯ ซิตี้ อันเนื่องมาจากเขาไม่ได้รับสัญญานักเตะระดับอาชีพ

สำหรับวิสเท่น ได้ตัดสินใจเข้าสู่ทีมเยาวชนของ “เรือใบสีฟ้า” เมื่ออายุ 13 ปี ในช่วงแรกที่อยู่กับอคาเดมี่นั้น เขาสามารถฉายแววแก่งให้ทีมสต๊าฟฟ์ได้เห็น เรียกได้ว่าอนาคตที่สดใสรอเขาอยู่ในไม่ช้า

แต่เมื่อวิสเท่นอายุกำลังจะย่างเข้า 16 ปี กลับโชคร้ายสุดๆ เพราะก่อนที่ทางแมนฯ ซิตี้ จะประกาศรายชื่อนักเตะที่ได้รับสัญญาระดับอาชีพ เขามีอาการบาดเจ็บรบกวนบ่อยมาก จนฟอร์มการเล่นไม่สม่ำเสมอ

และท้ายที่สุด แมนฯ ซิตี้ ได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จึงตัดสินใจไม่ให้วิสเท่นไปต่อในฐานะนักเตะอาชีพ อย่างไรก็ตาม ทางซิตี้เองก็พยายามที่จะหาทีมระดับรองลงมาให้เขาได้ลงเล่นต่อไป

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปจนวิสเท่นอายุครบ 16 ปี กลับไม่มีสโมสรใดติดต่อให้ไปโชว์ฝีเท้าเลย ในที่สุดเขาต้องยุติความฝันในการเป็นนักฟุตบอล จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

หัวกะทิเท่านั้นที่จะอยู่รอด

ในอังกฤษ มีเด็กกว่า 1 ล้านคนที่เป็นนักฟุตบอลระดับเยาวชน แต่มีเพียง 1 พันคนเท่านั้นที่จะได้สัญญานักเตะอาชีพ เนื่องจากแต่ละสโมสรต้องคัดกรองอย่างเข้มข้น เพื่อเอาเฉพาะคนที่เจ๋งจริงๆ เท่านั้น

ตามกฎการพัฒนานักฟุตบอลระดับเยาวชนของพรีเมียร์ลีก ระบุให้สโมสรสมาชิกดึงตัวนักเตะเข้าอคาเดมี่ตามจำนวนที่กำหนดไว้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 250 คน ดังนี้

– กลุ่มที่ 1 รุ่นอายุไม่เกิน 9 ปี, 10 ปี, 11 ปี, 12 ปี, 13 ปี และ 14 ปี รุ่นละ 30 คน

– กลุ่มที่ 2 รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี และ 16 ปี รุ่นละ 20 คน

– กลุ่มที่ 3 รุ่นอายุระหว่าง 16-17 ปี 30 คน

ข้อมูลจากพรีเมียร์ลีกระบุว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของนักเตะในอคาเดมี่ทั้งหมด 4,109 คน ที่มีอายุระหว่าง 21 – 26 ปี ในปัจจุบัน ไม่ประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีก โดยในจำนวนนี้มี 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้สัญญานักเตะอาชีพ

ขณะที่เทรซีย์ เคราช์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักเตะเยาวชน 10,000 – 12,000 คน จะถูกปล่อยตัวออกจากอคาเดมี่  

พีท โลว์ ผู้ร่วมก่อตั้ง PlayersNet องค์กรที่ให้คำปรึกษาปัญหานักเตะระดับเยาวชน กล่าวว่า “เรากำลังขอร้องให้สโมสรต่าง ๆ ลดจำนวนนักเตะในอคาเดมี่ลง นักเตะเหล่านี้ถูกขังอยู่ในระบบ ไม่สามารถไปที่สโมสรอื่นได้อีก อย่างน้อยพวกเขาก็สบายใจได้มากขึ้น เมื่อรู้ว่าทำได้ไม่ดีพอ”

ขณะที่บ๊อบ บรูมเฮด เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตประจำสาธารณสุขของอังกฤษ (NHS) กล่าวว่า “นักเตะเยาวชนกำลังถูกคล้อยตามความคิดที่ว่า ต้องทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับฟุตบอล โดยที่ไม่มีแผนสองมารองรับ”

ทางออกสำหรับผู้ที่ถูกคัดออก

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเจเรมี่ วิสเท่น ทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษได้ตระหนักขึ้นมาว่า จะต้องมีทางออกสำหรับผู้ที่พลาดหวัง ไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ ให้มีความสุขกับในสิ่งที่พวกเขารักต่อไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คริสตัล พาเลซ ซึ่งเป็นสโมสรแรกในพรีเมียร์ลีก ที่คิดค้นโปรแกรมในการดูแลนักเตะเยาวชนที่ถูกตัดออกจากอคาเดมี่ โดยจะส่งต่อไปยังสโมสรที่อยู่ละแวกใกล้เคียง เป็นเวลา 3 ปี

สตีฟ แพริช ประธานสโมสรคริสตัล พาเลซ กล่าวว่า “นักเตะอย่างวิลฟรีด ซาฮา, อารอน วาน-บิสซาก้า และเจสัน พันชอน ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ไปต่อ แต่ผมได้ไปบอกแกรี่ อิสซอตต์ (โค้ชอคาเดมี่) ว่าให้เก็บพวกเขาไว้”

สำหรับพาเลซในปีนี้ ได้ปล่อยนักเตะออกจากอคาเดมี่ค่อนข้างน้อย โดยแบ่งเป็นอายุต่ำกว่า 18 ปี 3 คน และอายุต่ำกว่า 23 ปี อีก 4 คน แต่นักเตะเหล่านั้นก็ยังได้รับการดูแลจากอคาเดมี่ของสโมสรต่อไป

ประธานของพาเลซ กล่าวปิดท้ายว่า “เราพยายามที่จะทำให้อคาเดมี่ของเรา เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ยอดเยี่ยม และสามารถเปลี่ยนชีวิตนักเตะได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เป็นนักเตะอาชีพกับเราแล้วก็ตาม”

หรือทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็มีการสนับสนุน และให้คำปรึกษากับนักเตะที่ถูกคัดออก โดยเพิ่มที่ปรึกษาเป็น 5 คน รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการติดต่อสื่อสารกับนักเตะเหล่านี้ให้บ่อยขึ้นมากกว่าเดิมอีกเท่าตัว

จากปัญหานักเตะเยาวชนถูกคัดออกจากอคาเดมี่ เราได้บทเรียนสำคัญคือ การเรียนรู้วิธีรับมือกับความล้มเหลว และรู้จักหนทางในสายอาชีพอื่น เพราะอาจจะประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่านักฟุตบอลก็เป็นได้

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Soccer Bible

อ้างอิง :

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10520715/Premier-League-figures-failings-football-factories.html

– https://resources.premierleague.com/premierleague/document/2021/09/24/e3d1e717-fb0d-4e73-a504-db71ef93640a/PL_2021-22_Youth_Development_Rules_23.09.pdf

– https://www.soccerbible.com/news/2021/10/crystal-palace-unveil-brand-new-academy-facility/

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.