Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

ห้องแต่งตัวที่ยุ่งเหยิง : “ราล์ฟ รังนิก” กับปัญหาใหญ่ของปิศาจแดง

ราล์ฟ รังนิก

เกมพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แพ้วูล์ฟแฮมป์ตันคาถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ดหนแรกในรอบ 42 ปี แถมเป็นการปราชัยนัดแรก ในยุคของกุนซือราล์ฟ รังนิก อีกด้วย

ประเด็นควันหลงที่จะหยิบมาพูดถึง คือสภาพปัญหาภายในห้องแต่งตัวของยูไนเต็ดที่เรื้อรังมานาน ถึงแม้จะเปลี่ยนเฮดโค้ชมาเป็นรังนิก ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “โปรเฟสเซอร์” ในวงการลูกหนังก็ตาม

แล้วปัญหาของ “ปิศาจแดง” คืออะไร ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เพราะเฮี้ยบมากไปจึงอยู่ไม่ได้

หลังจากเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ประกาศรีไทร์ ยุติอาชีพผู้จัดการทีมในปี 2013 แฟนบอลของแมนฯ ยูไนเต็ด รู้ดีว่าหลังจากนี้ทีมคงไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าจะห่างหายแชมป์พรีเมียร์ลีกนานเกือบ 1 ทศวรรษ

เดวิด มอยส์ กุนซือ “ผู้ถูกเลือก” ล้มเหลวแบบสุด ๆ คุมทีมยูไนเต็ดไม่เต็มฤดูกาลก็ต้องแยกทาง ต่อมาได้แต่งตั้งหลุยส์ ฟาน กัล อดีตนายใหญ่ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ มาคุมทัพหลังจากจบฟุตบอลโลก 2014

เมื่อฟาน กัล เข้ามาที่ยูไนเต็ด ก็เริ่มสร้างวีรกรรมความเฮี้ยบ ด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วสนามซ้อม เพื่อเกาะติดการซ้อมของนักเตะ อีกทั้งจัดระเบียบให้นักเตะรับประทานอาหารร่วมกันที่สนามซ้อมด้วย

นอกจากนี้ ฟาน กัล เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงจนล้นทะลัก ทำให้นักเตะในทีมออกอาการไม่พอใจ อีกทั้งแนวทางการทำทีมของเขา ไม่เป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลและบอร์ดบริหาร การตัดสินใจ “ปลด” จึงเกิดขึ้น

ถึงแม้ในฤดูกาลสุดท้ายของฟาน กัล จะพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพมาได้ แต่ไม่สามารถคว้าสิทธิ์ไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ทำให้ต้องแยกทางกับ “ปิศาจแดง” และโชเซ่ มูรินโญ่ กุนซือชาวโปรตุกีส ก็เข้ามารับช่วงต่อ

สไตล์การทำงานของมูรินโญ่ ก็เฮี้ยบไม่ต่างจากฟาน กัลเท่าใดนัก นี่อาจจะเป็นการ “หนีเสือปะจระเข้” ก็เป็นได้ ซึ่งปัญหาอย่างหนึ่งของมูรินโญ่ สมัยที่คุมทีมแมนฯ ยูไนเต็ด คือการสร้างบรรยากาศที่ย่ำแย่ภายในทีม 

อย่างเช่นกรณีของปอล ป็อกบา ที่กุนซือ “เดอะ สเปเชียล วัน” เคยปลดดาวเตะฝรั่งเศสออกจากกัปตันทีมระหว่างการฝึกซ้อม อีกทั้งกล่าวหานักเตะรายนี้ว่าเป็น “ไวรัส” ที่คอยบ่อนทำลายสโมสรอีกด้วย

ศึกวันแดงเดือดที่แมนฯ ยูไนเต็ด แพ้ลิเวอร์พูลแบบหมดสภาพ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2018 นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้บอร์ดบริหารของสโมสร ตัดสินใจไล่มูรินโญ่ ออกจากตำแหน่งกุนซือปิศาจแดงในที่สุด

ความสำเร็จของผู้จัดการทีมฟุตบอล ล้วนมีพื้นฐานจากระเบียบวินัยที่ไม่หย่อนยาน ทว่าทั้งฟาน กัล และมูรินโญ่ อยู่คุมแมนฯ ยูไนเต็ดได้ไม่นาน เพียงเพราะนักเตะบางคนต้องการล้มโค้ชที่ไม่ถูกจริตกันเท่านั้นเอง

ความใจดีที่เกินพอดีเลยพังพินาศ

หลังจากความวุ่นวายในยุคของโชเซ่ มูรินโญ่ แมนฯ ยูไนเต็ด ตัดสินใจแต่งตั้งโอเล่ กุนนาร์ โซลชา อดีตนักเตะที่ค้าแข้งในถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ดนาน 11 ปี และอดีตโค้ชทีมสำรองของสโมสร ทำหน้าที่กุนซือชั่วคราว

ซึ่งการเข้ามาของอดีตนักเตะเพชฌฆาตหน้าทารกนี่เอง เป็นการคืนความคึกคักให้กับปิศาจแดงอย่างไม่น่าเชื่อ ผลงานในช่วงแรกติดปีกแบบสุด ๆ ก่อนได้สัญญาคุมทีมถาวรในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2019

นับตั้งแต่วันแรกคุมทีม โซลชาทำทีมยูไนเต็ดพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จระดับคว้าโทรฟี่ แต่สิ่งที่โซลชาได้รับคำชื่นชม คือการอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เคยมีปัญหากับบอร์ดบริหารเลยแม้แต่น้อย

จุดเด่นของโซลชา คือความเป็นกันเองในห้องแต่งตัว ทำให้บรรดานักเตะในทีมต่างชื่นชอบนิสัยของโชลชา เมื่อเทียบกับ 2 กุนซือคนก่อนอย่างฟาน กัล กับมูรินโญ่ จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

แต่ทว่า ความใจดีและความเป็นกันเองที่มากเกินไป จนสูญเสียอำนาจการปกครอง ก็กลับมาทำร้ายตัวเขาเองอย่างเจ็บปวด โดยเฉพาะการคุมทีมใหญ่ที่อุดมไปด้วยนักเตะดาวดังอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด

อย่างเช่นกรณีที่โซลชา พยายามที่จะซื้อใจปอล ป็อกบา ที่มักทำตัวมีปัญหาบ่อย ๆ ให้ตั้งใจเล่นกับสโมสรมากขึ้น แต่กลับทำให้นักเตะคนอื่น ๆ ภายในทีมมองว่าโซลชา กำลังปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ปัญหาความไม่เข้าใจเรื่องแท็กติกในสนาม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเตะหมดศรัทธากับโซลชา จากที่เคยมีแต่รอยยิ้มในห้องแต่งตัว พอผลงานย่ำแย่ ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปจนกลายเป็นบรรยากาศอึมครึม

ยกตัวอย่างกรณีของดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค ที่แทบจะไม่ได้รับโอกาสลงสนามเลย หรือการส่งแฮร์รี่ แม็คไกวร์ ลงสนามเป็นตัวจริงทันที ในเกมที่แพ้เลสเตอร์เมื่อเดือนตุลาคม ทั้ง ๆ ที่เพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บ เป็นต้น

ความพ่ายแพ้ต่อวัตฟอร์ดแบบหมดสภาพถึง 1 – 4 ทำให้บอร์ดบริหารยูไนเต็ดตัดสินใจแยกทางกับโซลชาในที่สุด แสดงให้เห็นว่า สถานะนักเตะระดับตำนานผู้เป็นที่รักของ “เรด อาร์มี่” ก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย

รังนิกกำลังถูกท้าทายครั้งสำคัญ

เมื่อโอเล่ กุนนาร์ โซลชา ทำทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ไปไม่สุดทาง ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ราล์ฟ รังนิก กุนซือชาวเยอรมันวัย 63 ปี รับอาสาเข้ามาคุมทีมแบบขัดตาทัพจนกระทั่งจบฤดูกาลนี้

เมื่อมีกุนซือคนใหม่เข้ามา อาจจะเข้าทฤษฎี “บอลเปลี่ยนโค้ช” คือผลงานในช่วงแรกมักจะออกมาดี นัดแรกของรังนิก คือการเอาชนะคริสตัล พาเลซ 1 – 0 ชนิดที่ผู้เล่นทุ่มเทแบบสุด ๆ ไล่เพรสซิ่งแทบทุกจังหวะ

ทว่าหลังจากนั้น ฟอร์มการเล่นของบรรดานักเตะปิศาจแดง ค่อย ๆ ดร็อปลงอย่างน่าใจหาย คล้ายกับกำลังหมดแรงจูงใจ คาแร็กเตอร์ที่ยอดเยี่ยมในนัดที่ชนะพาเลซ เมื่อ 1 เดือนก่อน กำลังจะหายไปอีกแล้ว

ลุค ชอว์ ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งหลังเกมแพ้วูล์ฟส์ว่า “เรามีขุมกำลังที่เต็มไปด้วยคุณภาพชั้นยอด แต่บางครั้งคุณภาพเพียงอย่างเดียวมันก็ไม่มากพอ เราต้องมีความเอาจริงเอาจังและแรงมุ่งมั่นมากกว่านี้”

ย้อนกลับไปหลังเกมที่เสมอนิวคาสเซิล 1 – 1 เมื่อเดือนธันวาคม มีรายงานจากสื่อที่ระบุว่า บรรยากาศภายในทีมเริ่มมีการแบ่งพรรคพวก นักเตะหลายคนเริ่มไม่มีความสุข และเตรียมย้ายออกในเดือนมกราคมนี้

สไตล์การทำทีมของเจ้าพ่อ “เกเก้นเพรสซิ่ง” คือการวิ่ง ทำงานให้หนัก เสียบอลแล้วต้องกดดันเอาบอลคืนมา ขี้เกียจไม่ได้เลย แน่นอนว่านักเตะบางคนไม่ถูกจริต เพราะติดกับดักความสบายจนเคยตัว

หรืออาจมีนักเตะอายุน้อยบางคน ที่ได้รับค่าเหนื่อยเกินอายุและฝีเท้า ซึ่งกลายเป็นผลเสียโดยไม่รู้ตัว เพราะจะทำให้นักเตะเหล่านั้นคิดว่า ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนขวนขวายอะไร ก็มีเงินมหาศาลเข้ากระเป๋า

ฟาน กัล, มูรินโญ่ และโซลชา ล้วนถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะผลงานที่ล้มเหลว อย่างไรก็ตาม การที่มีนักเตะฝีเท้าดี แต่ทัศนคติแย่ ก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบกับความล้มเหลวเช่นเดียวกัน

การเข้ามาของราล์ฟ รังนิก คือการวางรากฐานให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเพื่ออนาคต และต้องหาวิธีจัดการกับนักเตะบางคนที่เข้ากันไม่ได้กับแนวทางของเขา แต่ก็รู้ดีว่ามันไม่ใช่งานที่ง่ายเลย

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Reuters

อ้างอิง :

#ไข่มุกดำ

#KMDStory

#ราล์ฟรังนิก

#แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.