Categories
Football Business

กระเป๋าตุงแค่ไหน ? : เปิดตัวเลข 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก จ่ายเงินให้เอเยนต์นักเตะในรอบปี

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ ได้เปิดเผยยอดเงินของทั้ง 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก ที่ได้จ่ายให้เอเย่นต์นักฟุตบอลไปในช่วง 2 รอบตลาดนักเตะ ทั้งซัมเมอร์ 2021 และเดือนมกราคม 2022

ตัวเลขที่ได้รวบรวมในรอบล่าสุด นับตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ 2021 ถึง 31 มกราคม 2022 มียอดการซื้อขายนักเตะรวมกันทั้งสิ้น 1.44 พันล้านปอนด์ และเอเย่นต์ได้ส่วนแบ่ง 19 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นจำนวนเงิน 272.6 ล้านปอนด์

นับตั้งแต่มีการรวบรวมสถิติเป็นครั้งแรกในปี 2015 จะเห็นได้ว่าจำนวนเงินเข้ากระเป๋าเอเย่นต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี สำหรับยอดเงินในรอบปีนี้ เพิ่มขึ้นจากรอบปีที่แล้ว 4 แสนปอนด์ และเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย

แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเชลซี เฉพาะ 3 ทีมนี้ มียอดเงินที่ต้องจ่ายให้เอเย่นต์รวมกันถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด ขณะที่เบรนท์ฟอร์ด ที่เลื่อนชั้นขึ้นมาด้วยการเพลย์ออฟ จ่ายน้อยที่สุดแค่ 3.5 ล้านปอนด์

จำนวนเงินที่ทีมในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เสียให้บรรดาเอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนหลังสุด เป็นจำนวนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับ 5 ลีกใหญ่ของยุโรป ทั้งเซเรีย อา อิตาลี, บุนเดสลีกา เยอรมนี, ลาลีกา สเปน และลีกเอิง ฝรั่งเศส

ในปัจจุบันนี้ มีเอเย่นต์นักฟุตบอลมากกว่า 2,000 คน ที่ลงทะเบียนกับเอฟเอ เมื่อมีดีลย้ายสโมสร, ต่อสัญญา หรือยกเลิกสัญญา ก็จะได้รับส่วนแบ่งตามเปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าพวกเขามักจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ

มิโน่ ไรโอล่า เอเย่นต์นักฟุตบอลระดับท็อปของวงการ ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 30 เมษายนที่ผ่านมา ได้อยู่เบื้องหลังนักเตะระดับโลกหลายคน อาทิ ปอล ป็อกบา รวมถึงเออร์ลิง ฮาแลนด์ ที่ตกเป็นข่าวย้ายทีมอย่างหนัก

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า องค์กรลูกหนังอย่าง “ฟีฟ่า” เตรียมจะกำหนดเพดานการใช้จ่าย และออกมาตรการทางกฎหมายใหม่ๆ เพื่อต้องการขจัดปัญหาการกินเงินส่วนต่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับดีลการซื้อขายนักเตะ

ทั้ง 20 สโมสรในลีกสูงสุดของอังกฤษ มียอดการจ่ายเงินให้ “นายหน้าค้านักเตะ” ในช่วงปี 2021-2022เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย ดังต่อไปนี้

1. แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (35 ล้านปอนด์)

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คือทีมแชมป์จ่ายเงินให้เอเย่นต์มากที่สุดในรอบ 12 เดือนล่าสุด และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2017 ด้วยจำนวนเงิน 35 ล้านปอนด์ มากกว่ารอบปี 2020-2021 ที่จ่ายไป 30.1 ล้านปอนด์

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แมนฯ ซิตี้ ได้ซื้อนักเตะฝีเท้าดีเข้าสู่ทีมมากมาย เช่น ลีรอย ซาเน่, จอห์น สโตนส์, อิลคาย กุนโดกัน, กาเบรียล เชซุส, แบร์นาร์โด้ ซิลวา, ไคล์ วอล์คเกอร์, อายเมอริค ลาป็อกต์ เป็นต้น

แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซิตี้ ซื้อนักเตะบิ๊กเนมเพียงไม่กี่ราย เมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ ที่เป๊ป กวาร์ดิโอล่าเข้ามาคุมทีมใหม่ๆ แต่ด้วยจำนวนค่าตัวนักเตะที่สูง ทำให้พวกเขาต้องจ่ายเงินให้นายหน้ามากขึ้นตามไปด้วย

เหตุผลที่ “เรือใบสีฟ้า” ต้องจ่ายเงินให้เอเย่นต์ถึง 35 ล้านปอนด์ภายใน 1 ปี ไม่ใช่แค่การดึงตัวแจ็ค กริลิช เป็นค่าตัวสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการต่อสัญญาบรรดานักเตะในทีมด้วย

2. แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (29 ล้านปอนด์)

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือทีมที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ในเรื่องการเสียค่าใช้จ่ายให้เอเย่นต์นักเตะรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา เป็นจำนวนเงิน 29 ล้านปอนด์ น้อยกว่าช่วงปี 2020-2021 ที่มีตัวเลข 29.8 ล้านปอนด์

แน่นอนว่า ดีลใหญ่ที่สุดของยูไนเต็ด คือการกลับคืนสู่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ดของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ เมื่อช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีฮอร์เก้ เมนเดส จาก Gestifute International Limited เป็นนายหน้าคู่ใจของเขา

นอกจากนี้ ยังมีราฟาเอล วาราน แนวรับชาวฝรั่งเศส ที่มีอ็องโตนี่ พี่ชายของเขา อยู่เบื้องหลังการดึงตัวมาจากเรอัล มาดริด และดีลของเจดอน ซานโช่ ที่ย้ายมาจากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ด้วยค่าตัว 78 ล้านปอนด์

และเหตุผลอีกอย่างหนึ่ง ที่มีส่วนทำให้ยอดเงินที่จ่ายให้เอเย่นต์ค่อนข้างสูง คือการต่อสัญญานักเตะตัวหลักในทีม ทั้งฆวน มาต้า ที่ต่อสัญญาไปอีก 1 ปี จนจบซีซั่นนี้ และเอริค ไบญี่ ที่ขยายสัญญาจนถึงปี2024

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/manchesterunited

3. เชลซี (28.2 ล้านปอนด์)

เมื่อช่วงปี 2020-2021 เชลซีคือทีมอันดับ 1 ที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก (35.2 ล้านปอนด์) แต่ในรอบ 12 เดือนหลังสุดที่ผ่านมา พวกเขาอยู่อันดับที่ 3 ด้วยจำนวนเงิน 28.2 ล้านปอนด์

ในช่วงตลาดซื้อขายนักเตะ 2 รอบล่าสุด เชลซีมีดีลใหญ่เพียงแค่ 2 ดีลเท่านั้น คือโรเมลู ลูกากู ที่ย้ายมาจากอินเตอร์ มิลาน คืนสู่ทีมเก่า ด้วยค่าตัว 97.5 ล้านปอนด์ และยืมตัวซาอูล นิเกซ จากแอตเลติโก้ มาดริด

ดีลของลูกากู ทำให้เฟเดริโก้ ปาสโตเรลโล่ เอเย่นต์ส่วนตัวของดาวยิงทีมชาติเบลเยียม ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับโรมัน อบราโมวิช อดีตเจ้าของสโมสรมาอย่างยาวนาน ได้รับส่วนแบ่งไปค่อนข้างสูง

นับตั้งแต่ “เสี่ยหมี” เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรเมื่อปี 2003 ทำให้เชลซีเป็นทีมที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์มากที่สุดในยุโรป ส่วนการเสริมผู้เล่นในช่วงซัมเมอร์นี้ ขึ้นอยู่กับเจ้าของทีมคนใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อไป

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ChelseaFC

4. ลิเวอร์พูล (22.1 ล้านปอนด์)

อดีตทีมที่เคยครองตำแหน่งอันดับ 1 ในการเสียเงินให้เอเย่นต์ ถึง 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2018-2020 สำหรับในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ลิเวอร์พูล อยู่ในอันดับที่ 4 มียอดค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 22.1 ล้านปอนด์

ตัวเลข 22.1 ล้านปอนด์ของลิเวอร์พูล มาจากดีลใหญ่ถึง 2 ดีล ทั้งอิบราฮิม่า โกนาเต้ กองหลังค่าตัว 36 ล้านปอนด์ จากแอร์เบ ไลป์ซิก และหลุยส์ ดิอาซ ปีกชาวโคลอมเบียจากปอร์โต้ 50 ล้านปอนด์

ส่วนดีลย้ายออก “หงส์แดง” ก็ต้องจ่ายเงินให้เอเยนต์ของแฮร์รี่ วิลสัน ปีกขวาที่ย้ายไปฟูแล่ม, มาร์โก้ กรูยิช กองหลังชาวเซอร์เบียที่ย้ายไปปอร์โต้ และไทโว อโวนิยี่ ที่ย้ายไปยูนิโอน เบอร์ลิน

นอกจากนี้ ทีมของเจอร์เก้น คล็อปป์ ยังมีการต่อสัญญาใหม่กับนักเตะหลายราย อาทิ อลิสซอน เบ็คเกอร์, ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์, แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน, อาเดรียน, ควีวีน เคลเลเฮอร์ และนาธานเนียล ฟิลลิปส์

5. อาร์เซน่อล (18.7 ล้านปอนด์)

อาร์เซน่อล หมดเงินไป 18.7 ล้านปอนด์ กับค่าเอเย่นต์ในช่วง 12 เดือนหลังสุด ติดท็อป 5 ของพรีเยร์ลีก เป็นตัวเลขที่มากกว่าในช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์ทั้งหมด 16.5 ล้านปอนด์

ก่อนหน้านี้ อาร์เซน่อลไม่ค่อยพึ่งพาเอเย่นต์ชื่อดังที่มีอิทธิพลสูงมากเท่าใดนัก เอเย่นต์ส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็นเอเย่นต์ที่มีประวัติการซื้อขายนักเตะกับสโมสรน้อย ทำให้ค่าจ้างเอเย่นต์ยังไม่สูงมาก

แต่ในตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด “เดอะ กันเนอร์ส” คือทีมที่จ่ายเงินซื้อนักเตะถึง 149 ล้านยูโร มากที่สุดในลีก แลกกับนักเตะ 6 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากเป้าหมายของทีมสูงขึ้น

6. ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ (13.9 ล้านปอนด์)

สเปอร์ จ่ายเงินให้เอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนหลังสุดทั้งหมด 13.9 ล้านปอนด์ ต่ำสุดในกลุ่ม “บิ๊ก 6” พรีเมียร์ลีก และเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์ทั้งหมด 16.5 ล้านปอนด์

ถึงแม้ว่าสเปอร์ จะถูกเรียกว่าเป็น 1 ใน 6 สโมสรใหญ่ของพรีเมียร์ลีก แต่สถานะทางการเงินยังเป็นรองอีก 5 ทีมใหญ่ที่อยู่เหนือพวกเขา ยอดเงินที่จ่ายให้เอเย่นต์ในปีที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับทีมระดับกลางหลายๆ ทีม

การเสริมทัพของ “ไก่เดือยทอง” ในฤดูกาลนี้ จะเน้นไปที่นักเตะดาวรุ่งที่สามารถใช้งานได้หลายปี ซึ่งพวกเขาก็ทำผลงานได้ดี แต่ในฤดูกาลหน้า ความคาดหวังเรื่องผลงานของสโมสรจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

7. วัตฟอร์ด (12.6 ล้านปอนด์)

ทีมที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ของพรีเมียร์ลีกคือ วัตฟอร์ด คิดเป็นเงิน 12.6 ล้านปอนด์ ซึ่งมากกว่าเมื่อฤดูกาลก่อน ที่อยู่ในลีกแชมเปี้ยนชิพ โดยใช้ไปแค่ 2.1 ล้านปอนด์ หรือต่างกันถึง 6 เท่า

ฤดูกาลนี้ วัตฟอร์ดได้มีดีลต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งการเสริมนักเตะใหม่, ต่อสัญญา หรือย้ายออกจากทีม รวมกันทั้งหมด 31 คน แต่ถ้านับเฉพาะนักเตะที่ดึงเข้ามา พวกเขาได้เซ็นสัญญาไปทั้งหมด 24 คน

ซึ่งเอเย่นต์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตฟอร์ดมากที่สุด คือ อาร์เนาด์ บายาต ที่ได้รับความไว้วางใจจากจิโน่ ปอซโซ่ เจ้าของสโมสรชาวอิตาเลียน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังดีลสำคัญๆ หลายคน

8. เลสเตอร์ ซิตี้ (12 ล้านปอนด์)

เลสเตอร์ ซิตี้ จ่ายเงินให้กับเอเย่นต์ไป 12 ล้านปอนด์ ในรอบ 12 เดือนหลังสุด อยู่ในอันดับที่ 8 ส่วนตัวเลขช่วงระหว่างปี 2020-2021 ใช้เงินไป 12.5 ล้านปอนด์ น้อยกว่ากันแค่ 500,000 ปอนด์เท่านั้น

ตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา เลสเตอร์ใช้เงินไป 55 ล้านปอนด์ มากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร ได้นักเตะใหม่ อาทิ พัตสัน ดาก้า, บูบาการี่ ซูมาเร่, ยานนิค เวสเตอร์การ์ด, อเดโมล่า ลุคแมน และไรอัน เบอทรานด์

นอกจากนี้ ยังมีการต่อสัญญาฉบับใหม่กับนักเตะหลายคน เช่นแดนนี่ วอร์ด, ริคาร์โด้ เปเรยร่า, ฮาร์วี่ย์ บาร์นส์, เจมส์ จัสติน, มาร์ค อัลไบรท์ตัน และเอลดิน จาคูโปวิช

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/lcfc

9. วูล์ฟแฮมป์ตัน (11.9 ล้านปอนด์)

วูล์ฟแฮมป์ตัน จ่ายเงินค่าเอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนล่าสุด เป็นจำนวน 11.9 ล้านปอนด์ อยู่ในอันดับที่ 9 ของพรีเมียร์ลีก ซึ่งน้อยกว่าช่วงปี 2020-2021 ที่ติดอันดับ 8 ด้วยจำนวนเงิน 12.6 ล้านปอนด์

ในฤดูกาลนี้ วูล์ฟแฮมป์ตัน ได้เปลี่ยนกุนซือจากนูโน่ เอสปิริโต ซานโต มาเป็นบรูโน่ ลาจ ซึ่งยังคงนโยบาย “โปรตุกีส คอนเน็คชั่น” ดึงนักเตะที่เป็นลูกค้าของฮอร์เก้ เมนเดส เอเย่นต์ชื่อดังเข้าสู่ทีม

ดีลของเยอร์สัน มอสเกร่า กองหลังดาวรุ่งวัย 21 ปี ที่ย้ายมาจากแอตเลติโก นาซิอองนาล สโมสรในโคลัมเบีย มีการเปิดเผยว่า ฮวน ปาโบล อังเคล อดีตดาวยิงแอสตัน วิลล่า เป็นนายหน้าให้กับเขา

10. เอฟเวอร์ตัน (11.5 ล้านปอนด์)

รอบ 12 เดือนหลังสุด เอฟเวอร์ตัน จ่ายเงินให้กับเอเย่นต์ติดอันดับ “ท็อป เทน” ของพรีเมียร์ลีก คิดเป็นเงิน 11.5 ล้านปอนด์ ภายใต้สถานการณ์ที่สโมสรประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างหนักในเวลานี้

ตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด เอฟเวอร์ตันดึงตัวผู้เล่นใหม่เข้ามาไม่น้อย เช่น เดมาไร เกรย์, แอนดรอส ทาวน์เซ่น, ซาโลมอน รอนดอน, วิตาลี มิโคเลนโก้, นาธาน แพตเตอร์สัน ดอนนี่ ฟาน เดอ เบค, เดเล่ อัลลี่ เป็นต้น

ส่วนดีลย้ายออกที่สำคัญ เช่นการปล่อยฮาเมส โรดริเกวซ และเบอร์นาร์ด 2 นักเตะที่กินค่าเหนื่อยสูงสุดออกไป รวมถึงลูคัส ดีญ ที่มีนายหน้าคนดังอย่างเคีย จูรับเชี่ยน อยู่เบื้องหลังในการย้ายไปแอสตัน วิลล่า

11. ลีดส์ ยูไนเต็ด (11.4 ล้านปอนด์)

ลีดส์ ยูไนเต็ด มียอดการจ่ายเงินให้กับเอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนหลังสุด ทั้งหมด 11.4 ล้านปอนด์ อยู่ในอันดับที่ 11 ของพรีเมียร์ลีก มากกว่าช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่พวกเขาจ่ายไป 7 ล้านปอนด์

ตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ลีดส์ใช้เงินประมาณ 50 ล้านปอนด์ แลกกับ 3 นักเตะทีมใหญ่ ทั้งแดเนี่ยล เจมส์ จากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, จูเนียร์ เฟอร์โป จากบาร์เซโลน่า และแจ็ค แฮร์ริสัน จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้

นอกจากนี้ ยังต่อสัญญาให้กับนักเตะตัวหลัก เช่น อิลลัน เมสลิเย่ร์ (ขยายไปอีก 5 ปี), แพทริค แบมฟอร์ด, สจ๊วต ดัลลัส, อดัม ฟอร์ชอว์ และไทเลอร์ โรเบิร์ต รวมถึงนักเตะอคาเดมี่ และนักเตะที่ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่เป็นครั้งแรก

12. เวสต์แฮม ยูไนเต็ด (10.5 ล้านปอนด์)

เวสต์แฮม ยูไนเต็ด จ่ายเงินให้กับเอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนหลังสุด เป็นจำนวนเงิน 10.5 ล้านปอนด์ อยู่ในอันดับที่ 12 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากรอบปี 2020-2021 ที่เสียค่าใช้จ่ายให้เอเย่นต์ 9.7 ล้านปอนด์

การใช้จ่ายในตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด เวสต์แฮมได้นักเตะใหม่มา 5 คน ได้แก่ เคิร์ต ซูม่า, นิโกล่า วลาซิช, เคร็ก ดอว์สัน พร้อมยืมตัว 2 นักเตะทั้งอเล็กซ์ คราล และอัลฟองเซ่ อาเรโอล่า

การเซ็นสัญญานักเตะของ “เดอะ แฮมเมอร์ส” ในฤดูกาลนี้ ช่วยยกระดับผลงานได้ดี โดยในเวลานี้ มีลุ้นเล็กๆ ในการติดท็อป 4 พรีเมียร์ลีก และยังอยู่ในเส้นทางลุ้นแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก อีกด้วย

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/WestHam

13. แอสตัน วิลล่า (9.6 ล้านปอนด์)

แอสตัน วิลล่า เป็นทีมอันดับที่ 13 ของทีมที่จ่ายเงินให้กับเอเย่นต์มากที่สุดในพรีเมียร์ลีกในรอบ 12 เดือนล่าสุด ด้วยจำนวน 9.6 ล้านปอนด์ มากกว่าช่วงปี 2020-2021 ที่ใช้เงินไป 8.9 ล้านปอนด์

การขายแจ็ค กริลิช ไปให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยค่าตัว 100 ล้านปอนด์ เป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ ทำให้วิลล่า มีงบประมาณมหาศาลที่จะเสริมตัวผู้เล่นในตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด

ดีลของเอมิเลียโน่ บูเอนเดีย, ลีออน ไบลี่ย์, ลูคัส ดีญ และแดนนี่ อิงส์ เฉพาะ 4 คนนี้ มีค่าตัวรวมกันประมาณ 115 ล้านปอนด์ อีกทั้งยังยืมตัวฟิลิปเป้ คูตินโญ่ มาจากบาร์เซโลน่า ในช่วงเดือนมกราคมด้วย

14. คริสตัล พาเลซ (8.9 ล้านปอนด์)

คริสตัล พาเลซ จ่ายเงินไป 8.9 ล้านปอนด์ กับค่าเอเย่นต์ในช่วง 12 เดือนหลังสุด เป็นอันดับที่ 14 ของพรีเยร์ลีก เพิ่มขึ้นจากช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์ทั้งหมด 6.8 ล้านปอนด์

ในตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด พาเลซใช้เงินซื้อนักเตะไปไม่น้อยกว่า 60 ล้านปอนด์ เช่น ไมเคิล โอลิเซ่, โจอาคิม แอนเดอร์สัน, อ็อดซอนน์ เอดูอาร์, มาร์ค เกฮี, ฌอง ฟิลิปป์ มาเตต้า เป็นต้น

ส่วนนักเตะตัวเก๋าอย่างเจมส์ แม็คอาเธอร์ มิดฟิลด์วัย 34 ปี เพิ่งขยายสัญญาออกไป แต่จะไม่ได้เป็นการต่อสัญญาแบบระยะยาว ขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่า เขายังมีประโยชน์กับสโมสรหรือไม่

15. นอริช ซิตี้ (8.7 ล้านปอนด์)

นอริช ซิตี้ มียอดการจ่ายเงินให้กับเอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนหลังสุด ทั้งหมด 8.7 ล้านปอนด์ ซึ่งมากกว่าช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่อยู่ในลีกแชมเปี้ยนชิพ ได้จ่ายค่าเอเย่นต์ไป 6.8 ล้านปอนด์

สำหรับเงินที่ต้องจ่ายให้นายหน้าของนอริชนั้น มาจากการซื้อผู้เล่นเข้ามาถึง 11 คนในตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา รวมถึงการปล่อยตัวเอมิเลียโน่ บูเอนเดีย ไปให้แอสตัน วิลล่า ด้วยค่าตัว 33 ล้านปอนด์

นอกจากนี้ การยกเลิกสัญญากับนักเตะหลายคน และการเปลี่ยนแปลงกุนซือจากดาเนียล ฟาร์ก มาเป็นดีน สมิธ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ถูกนับรวมเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเอเย่นต์ด้วย

16. นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด (7.7 ล้านปอนด์)

นิวคาสเซิล ที่เพิ่งมีเจ้าของสโมสรรายใหม่ไปเมื่อเร็วๆ นี้ จ่ายเงินค่าเอเย่นต์ไปเพียง 7.7 ล้านปอนด์ น้อยกว่าช่วงระหว่างปี 2020-2021 ในยุคของไมค์ แอชลี่ย์ อดีตเจ้าของทีมคนก่อน ที่จ่ายไป 11.3 ล้านปอนด์

ในฤดูกาลนี้ นิวคาสเซิลเสริมนักเตะมา 5 คน ค่าตัวรวมกันประมาณ 92 ล้านปอนด์ แต่จะเน้นหนักไปที่ตลาดนักเตะเดือนมกราคม ประกอบด้วยคีแรน ทริปเปียร์, แดน เบิร์น, โจ วิลล็อค, คริส วูด และบรูโน่ กิมาไรส์

เป็นที่น่าแปลกใจว่า ซีซั่นนี้นิวคาสเซิลเสียเงินค่านายหน้าน้อยกว่าซีซั่นที่แล้ว แต่ด้วยความสามารถในการดึงนักเตะที่มากกว่าเดิมในอนาคต พวกเขามีแนวโน้มที่จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายให้นายหน้าเพิ่มขึ้น

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/newcastleunited

17. ไบรท์ตัน (6.2 ล้านปอนด์)

ไบรท์ตัน ได้จ่ายเงินให้เอเย่นต์ไปทั้งหมด 6.2 ล้านปอนด์ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มากสุดเป็นอันดับที่ 17 ของพรีเมียร์ลีก น้อยลงจากช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่เสียค่าเอเย่นต์ไป 7.5 ล้านปอนด์

สมัยที่ไบรท์ตัน ยังอยู่ในลีกแชมเปี้ยนชิพ จ่ายเงินให้นายหน้านักเตะไม่ถึง 1 ล้านปอนด์ จนกระทั่งในฤดูกาล 2016/17 เป็นซีซั่นแรกที่พวกเขาจ่ายเงินแตะ 7 หลัก และได้เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกในซีซั่นถัดไป

ดีลใหญ่ของ “เดอะ ซีกัลส์” ในฤดูกาลนี้ ฝั่งขาเข้าคืออิน็อค เอ็มเวปู มาจากซัลซ์บวร์ก ราคา 20 ล้านปอนด์ ส่วนฝั่งขาออก คือการขายเบน ไวท์ เซ็นเตอร์แบ็กชาวอังกฤษไปให้อาร์เซน่อล ด้วยค่าตัวสูงถึง 50 ล้านปอนด์

18. เบิร์นลี่ย์ (6 ล้านปอนด์)

เบิร์นลีย์ อยู่ในอันดับ 18 ของทีมที่จ่ายเงินให้กับเอเย่นต์มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก ในรอบ 12 เดือนล่าสุด คิดเป็นเงิน 6 ล้านปอนด์ ซึ่งสูงกว่าในช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่เสียเงินไป 4.5 ล้านปอนด์

“เดอะ คลาเร็ตส์” เสริมผู้เล่นเข้ามาหลายคน อาทิ วูท เวกฮอร์สต์, แม็กซ์เวล คอร์เน็ต, นาธาน คอลลินส์ และคอนเนอร์ โรเบิร์ตส์ พร้อมกับดึงนักเตะฟรีเอเย่นต์อย่างเวย์น เฮนเนสซีย์ และอารอน เลนน่อน

อย่างไรก็ตาม มีผู้เล่นในทีมชุดปัจจุบันอยู่ 10 คน ที่กำลังจะหมดสัญญาหลังจบฤดูกาลนี้ แต่จนถึงเวลานี้ ก็ยังไม่มีนักเตะคนใดตกลงต่อสัญญาใหม่เลย ส่วนแจ็ค คอร์ก และแอชลี่ย์ บาร์นส์ เหลือสัญญาอยู่ 1 ปีเท่านั้น

19. เซาธ์แธมป์ตัน (4.9 ล้านปอนด์)

เซาธ์แธมป์ตัน มียอดการจ่ายเงินให้กับเอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนหลังสุด ทั้งหมด 4.9 ล้านปอนด์ มากกว่าเบรนท์ฟอร์ด เพียงทีมเดียวเท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงระหว่างปี 2020-2021 พวกเขาจ่ายไป 6.8 ล้านปอนด์

ดีลใหญ่สุดของ “เดอะ เซนส์” ในตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด คือ อดัม อาร์มสตรอง ย้ายจากแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ส่วนขาออก ได้ปล่อยตัวแดนนี่ อิงส์ ไปให้แอสตัน วิลล่า และยานนิค เวสเตอร์การ์ด ไปให้เลสเตอร์ ซิตี้ 

ส่วนกรณีของอเล็กซ์ แม็คคาร์ธี่ย์ ผู้รักษาประตูมือ 1 ของทีม ที่กำลังจะหมดสัญญาหลังจบซีซั่นนี้ มีรายงานว่าเจ้าตัวกำลังจะตัดสินใจต่อสัญญาฉบับใหม่ออกไปอีก 3 ปี

20. เบรนท์ฟอร์ด (3.5 ล้านปอนด์)

เบรนท์ฟอร์ด ทีมที่เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดครั้งแรกในรอบ 74 ปี ใช้เงินซื้อนักเตะเพียง 30 ล้านปอนด์ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เป็นทีมที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์น้อยที่สุดในพรีเมียร์ลีก ระหว่างปี 2021-2022

จำนวนเงิน 3.5 ล้านปอนด์ของเบรนฟอร์ด น้อยกว่า 2 ทีมที่เลื่อนชั้นมาด้วยกันทั้งวัตฟอร์ด (12.6 ล้านปอนด์) และนอริช ซิตี้ (8.7 ล้านปอนด์) อีกทั้งน้อยกว่าอันดับ 1 อย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ถึง 10 เท่า

ดีลใหญ่ที่สุดของเบรนท์ฟอร์ด คือดีลของคริสตอฟเฟอร์ เอเยอร์ เซ็นเตอร์แบ็กชาวนอร์เวย์ ย้ายจากกลาสโกว์ เซลติก ด้วยค่าตัว 13.5 ล้านปอนด์ เป็นสถิติสูงสุดของสโมสร ในช่วงซัมเมอร์ปี 2021

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : The Athletic

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3223559/2022/04/02/analysed-premier-league-spent-272m-agents-fees-transfers?source=user-shared-article

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10672961/Premier-League-clubs-spent-272MILLION-agents-fees-2021-22.html

https://www.thefa.com/football-rules-governance/policies/intermediaries/intermediaries-transactions

Categories
Special Content

วิเคราะห์หลังเกมหยุดโลก : แมนฯซิตี้ – ลิเวอร์พูล กับการท้าชิงแชมป์พรีเมียร์ลีกแห่งความคลาสสิก

หลังจากซูเปอร์บิ๊กแมตช์พรีเมียร์ลีก ที่เอดิฮัด สเตเดี้ยม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2 – 2 ลิเวอร์พูล เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ต้องเรียกว่าคือเกมคุณภาพ สมราคาผู้ท้าชิงแชมป์พรีเมียร์ลีกประจำฤดูกาลนี้

ย้อนกลับไปในนัดแรกที่แอนฟิลด์ ลิเวอร์พูล นำ 2 ครั้งไม่ชนะ ส่วนยกสองที่พบกันล่าสุด แมนฯ ซิตี้ นำ 2 ครั้งไม่ชนะเหมือนกัน เรียกได้ว่าแทบจะก็อปปี้กันมาเลยทีเดียว เพียงแค่กลับข้างกันเท่านั้น

วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาวิเคราะห์สิ่งที่ได้เห็นตลอด 90 นาที ของ 2 ทีมที่ดีที่สุดในพรีเมียร์ลีกกันครับ

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

“เรือใบ” ไม่ชนะแม้ครองเกมได้ดีกว่า

ระบบ 4-3-3 ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ใช้สามประสานแนวรุกอย่างฟิล โฟเด้น, กาเบรียล เชซุส และราฮีม สเตอร์ริ่ง ที่รับบทเป็น “False 9” หรือหน้าตัวหลอก เพื่อให้กองหลังคู่แข่งเปิดช่องว่างให้กลางตัวรุกโจมตี

ประตูขึ้นนำก่อน 1-0 ตั้งแต่ 5 นาทีแรก จุดเริ่มต้นจากจังหวะฟรีคิก แบร์นาโด้ ซิลวา เล่นเร็วโดยที่แนวป้องกันของลิเวอร์พูลยังไม่ทันได้ตั้งหลัก บอลมาถึงเควิน เดอ บรอยน์ หลอกฟาบินโญ่หนึ่งจังหวะ ก่อนซัดแฉลบโจแอล มาติป เข้าไป

เดอ บรอยน์ ในเกมล่าสุด แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเท วิ่งไม่มีหมดตลอดทั้งเกม ถึงแม้ว่าในช่วงต้นครึ่งหลังจะเงียบหายไปบ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว เดอ บรอยน์ คือ “The Best” ในเกมนี้

ประตูแซงขึ้นนำ 2 – 1 ของซิตี้ ต้องชมความฉลาดของกาเบรียล เชซุส ที่แอบอยู่ข้างหลังเทรนท์ หลังจากที่คานเซโล่ เปิดบอลข้ามไลน์แนวรับลิเวอร์พูล แล้วเชซุส ก็วิ่งแซง แล้วแปกระแทกคานตุงตาข่าย

ต้องชมเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่ถึงแม้จะไม่มีศูนย์หน้าตัวเป้า แต่การใช้แท็กติกครอสบอลยาวจากแดนหลัง แล้วให้นักเตะที่มีความเร็วสูง วิ่ง sprint สู้กับ “ไฮไลน์ ดีเฟนซ์” ของหงส์แดง ซึ่งทำได้แม่นยำเลยทีเดียว

ในช่วง 45 นาทีแรก ทีมของเป๊ป ครองบอลได้เหนือกว่า บีบให้ลิเวอร์พูลรับแล้วรอโต้อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ไม่สามารถเปลี่ยนโอกาสให้เป็นประตูเพิ่มเติมได้

ช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของซิตี้ คือช่วง 15 นาทีแรกของครึ่งหลัง โดยเฉพาะจังหวะเสียประตูตีเสมอ 2 – 2 ตั้งแต่ยังไม่ทันถึงนาที แนวรับเสียสมาธิ โดนโจมตีเร็ว แต่พอตั้งหลักได้ก็ค่อยๆ เล่นได้ดีขึ้น

ยังไม่นับอีก 2 จังหวะที่แมนฯ ซิตี้ น่าได้ประตูสุดๆ ทั้งลูกยิงของราฮีม สเตอร์ริ่ง แต่ถูก VAR ริบคืนอย่างฉิวเฉียด และนาทีสุดท้ายของช่วงทดเจ็บ ริยาด มาห์เรซ ยิงข้ามคาน ที่อาจจะเป็นประตูตัดสินชัยชนะได้เลย 

“หงส์แดง” เล่นไม่เนี้ยบแต่เฉียบขาด

ลิเวอร์พูล กับแผนการเล่น 4-3-3 เช่นเดียวกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แน่นอนว่าบทถนัดของเจอร์เก้น คล็อปป์ คือ การไล่ “เพรสซิ่ง” ตั้งแต่แดนบน เมื่อตัดบอลได้ ก็จะบุกจู่โจมอย่างรวดเร็ว

ช่วงเริ่มต้นเกมในครึ่งแรก ดูเหมือนว่าแผงแนวรับ 4 ตัวของหงส์แดง เกิดอาการประหม่า ตั้งตัวไม่ติด แต่คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ลูกทีมของคล็อปป์มี คือ รู้จักหาวิธียิงประตูได้แม้รูปเกมเป็นรอง

ประตูตีเสมอ 1 – 1 เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ แข้งจอมแอสซิสต์ จ่ายบอลให้ดิเอโก้ โจต้า สังหารเข้าไป แสดงให้เห็นว่า โจต้าคือนักเตะ “อัจฉริยะ” ในกรอบเขตโทษที่ดีที่สุดคนหนึ่งของพรีเมียร์ลีก

อีกจุดหนึ่งที่ลิเวอร์พูลมีปัญหา คือ “แดนกลาง” ทั้งฟาบินโญ, จอร์แดน เฮนเดอสัน และติอาโก อัลคันทาร่า เป็นรองแดนกลางแมนฯ ซิตี้ชัดเจน พอโดนโจมตี ตัดบอลไม่ได้ มักจะทำฟาวล์จนเสียใบเหลือง

ช่วงพักครึ่ง ดูเหมือนว่ากุนซือชาวเยอรมัน จะไปปลุกให้ลูกทีมเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และตอบสนองได้ยอดเยี่ยมหลังจากเสียประตูที่ 2 ในช่วง 10 นาทีท้ายของครึ่งแรก

เพียงแค่ 47 วินาทีของครึ่งหลัง ประตูไล่ตีเสมอ 2 – 2 ทีเด็ดของเฟอร์จิล ฟาน ไดค์ คือการครอสบอลยาวถึงแดนหน้า โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ เห็นซาดิโอ มาเน่ ขยับขึ้นไป แล้วแอสซิสต์ให้มาเน่ ซัดตุงตาข่าย

ตลอดช่วง 45 นาทีหลัง แนวรับของลิเวอร์พูลช่วยกันได้ดี ทำเอาเควิน เดอ บรอยน์ มิดฟิลด์แมนฯ ซิตี้ ถึงกับเล่นไม่ออก นอกจากนี้ยังช่วยประคองแผงมิดฟิลด์ เมื่อเสียบอลตรงกลาง ทำให้แนวรุกซิตี้ไม่มีโอกาสโจมตีมากนัก

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

มองไปข้างหน้ากับเส้นทางที่เหลือ

บทสรุปที่ได้จากเกมที่เอดิฮัด แมนเชสเตอร์ ซิตี้ อาจจะเสียดาย ที่ไม่สามารถเก็บชัยชนะได้ ขณะที่ลิเวอร์พูล 1 คะแนนที่ได้มา ด้วยรูปเกมที่ไม่ได้เหนือกว่า ก็ถือว่าน่าพอใจ เพราะยังคงตามหลังจ่าฝูง 1แต้มเท่าเดิม

และทั้ง 2 ทีม ยังต้องเจอกันอีกครั้งในเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ เสาร์ที่ 16 เมษายน แต่งวดนี้ต้องมีผู้ชนะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งทีมใดก็ตามที่เข้าชิงชนะเลิศ แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อโปรแกรมพรีเมียร์ลีกด้วย

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

โปรแกรมพรีเมียร์ลีก 7 นัดสุดท้ายของแมนเชสเตอร์ ซิตี้

– 20 เมษายน VS ไบรท์ตัน (เหย้า)

– 23 เมษายน VS วัตฟอร์ด (เหย้า)

– 30 เมษายน VS ลีดส์ (เยือน)

– 8 พฤษภาคม VS นิวคาสเซิล (เหย้า)

– 11 พฤษภาคม VS วูล์ฟแฮมตัน (เยือน)

– 15 พฤษภาคม VS เวสต์แฮม (เยือน)*

– 22 พฤษภาคม VS แอสตัน วิลล่า (เหย้า)

(* ถ้าแมนฯ ซิตี้ เข้าชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ จะเลื่อนไปแข่งวันที่ 17 หรือ 18 พฤษภาคม)

โปรแกรมพรีเมียร์ลีก 7 นัดสุดท้ายของลิเวอร์พูล

– 19 เมษายน VS แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (เหย้า)

– 24 เมษายน VS เอฟเวอร์ตัน (เหย้า)

– 30 เมษายน VS นิวคาสเซิล (เยือน)

– 7 พฤษภาคม VS สเปอร์ส (เหย้า)

– 10 พฤษภาคม VS แอสตัน วิลล่า (เยือน)

– 15 พฤษภาคม VS เซาธ์แธมป์ตัน (เยือน)*

– 22 พฤษภาคม VS วูล์ฟแฮมป์ตัน (เหย้า)

(* ถ้าลิเวอร์พูล เข้าชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ จะเลื่อนไปแข่งวันที่ 17 หรือ 18 พฤษภาคม)

เกมที่เหลือของซิตี้ ต้องเจอกับทีมหนีตาย 3 นัดติดต่อกันทั้งวัตฟอร์ด, ลีดส์ และนิวคาสเซิล ส่วนการเจอวูล์ฟแฮมตัน กับเวสต์แฮม ที่กำลังลุ้นไปถ้วยยุโรป ก็ไม่ใช่งานง่าย

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ขณะที่ฝั่งลิเวอร์พูล เริ่มจากการเจอทั้งแมนฯ ยูไนเต็ด และเอฟเวอร์ตัน ถึงแม้ว่าสภาพทีมของ 2 คู่ปรับสำคัญจะเละเทะขนาดไหน ก็ห้ามประมาทโดยเด็ดขาด และต้องไม่ลืมสเปอร์ส ที่ฟอร์มดีมากๆ ในช่วงหลัง

เมื่อเทียบโปรแกรมนัดที่เหลือของทั้ง 2 ทีม คนส่วนใหญ่มองว่าลิเวอร์พูล เจองานที่หนักกว่า ถ้าดูแค่ชื่อทีม แต่ถ้าจะเจาะลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว คู่แข่งหลายๆ ทีม ยังมีลุ้นเป้าหมายของตัวเองทั้งสิ้น

และที่สำคัญ แม้ “เรือใบ” จะนำจ่าฝูงอยู่ก็จริง แต่นำแค่แต้มเดียว แถมผู้ที่ตามไล่ล่า ไม่ใช่ใครที่ไหน “หงส์แดง” นั่นเอง ความกดดัน ความผิดพลาด หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อาจเกิดขึ้นได้

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : The Telegraph

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/61061827

– https://www.bbc.com/sport/football/61060907

– https://www.bbc.com/sport/football/60970965

– – https://www.telegraph.co.uk/football/2022/04/10/extraordinary-kevin-de-bruyne-peaking-just-right-time-man-citys/

– https://www.telegraph.co.uk/football/2022/04/10/manchester-city-vs-liverpool-player-ratings-kevin-de-bruyne/

– https://www.telegraph.co.uk/football/2022/04/10/manchester-city-vs-liverpool-live-score-premier-league-latest/

Categories
Special Content

ทนอดและอดทน : “พรีเมียร์ลีก” กับแนวทางช่วยเหลือแข้งมุสลิมช่วงเดือนรอมฎอน

ในทุกๆ ปี ชาวมุสลิมหลายล้านคนทั่วโลก จะมีช่วงเวลาที่ต้องปฏิบัติภารกิจถือศีลอดเป็นเวลา 29-30วัน หรือที่เรียกกันว่าเดือน “รอมฎอน” ที่ถือเป็น 1 ใน 5 หลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม

แน่นอนว่า ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกก็มีนักเตะที่เป็นชาวมุสลิมอยู่ไม่น้อย โปรแกรมการแข่งขันบางแมตช์ที่อยู่ในช่วงเดือนรอมฏอน ทำให้นักเตะเหล่านี้อาจจำเป็นต้องละศีลอดระหว่างเกม

แล้ววงการฟุตบอลอังกฤษ มีแนวทางการช่วยเหลือนักเตะเหล่านี้อย่างไร วันนี้ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

Eid Mubarak celebration- Calligraphy Stylish Lettering Ramadan Kareem Text with Mosque. Vector illustration.

ทำความรู้จักกับ “รอมฎอน”

คำว่า “รอมฏอน” หมายถึง เดือนที่ 9 ตามปฏิทินฮิจเราะห์ หรือปฏิทินทางจันทรคติของศาสนาอิสลาม ในภาษาไทยมักจะเรียกกันว่า “เดือนบวช” ถือเป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในรอบปีของชาวมุสลิมเลยทีเดียว

สาเหตุที่เดือนรอมฏอน คือเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในรอบปี เนื่องจากมีความเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานพระคัมภีร์อัลกุรอานลงมาให้แก่นบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม เพื่อชี้นำทางให้ชาวมุสลิมทั่วโลก

ซึ่งข้อปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งในเดือนรอมฏอน คือการถือศีลอด ซึ่งไม่ใช่แค่การงดอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่รวมถึงการละเว้นข้อห้ามต่างๆ ในช่วงเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนถึงพระอาทิตย์ตกดิน 

สาระสำคัญของการถือศีลอดนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้ชาวมุสลิมได้ตระหนักถึงความยากลำบาก รู้จักอดทนอดกลั้น เรียนรู้การยับยั้งต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ทั้งความหิวโหย และความลุ่มหลงต่าง ๆ เป็นการฝึกจิตใจให้สูงขึ้น

การประกาศวันที่ 1 ของเดือนรอมฏอนในแต่ละปีนั้นไม่เหมือนกัน ผู้นำศาสนาของแต่ละท้องถิ่น จะกำหนดจากการสังเกตวันที่ปรากฎดวงจันทร์เสี้ยวเป็นครั้งแรกหลังจากคืนเดือนมืด และนับไปจนครบ 29-30 วัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เดือนรอมฏอนจะตรงกับช่วงฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ ทำให้ช่วงเวลากลางวันยาวนานขึ้น นั่นหมายความว่าในบางประเทศ อย่างเช่น นอร์เวย์ ต้องถือศีลอดนานถึงวันละ 20 ชั่วโมง 

สำหรับเดือนรอมฎอนในปี 2022 ของสหราชอาณาจักร จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม ถือศีลอดวันละ 15 ชั่วโมงครึ่ง ตั้งแต่ช่วงระหว่าง 04.00 – 05.00 น. จนถึงช่วงระหว่าง 19.30 – 20.30 น.

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/officialcpfc

ความท้าทายของนักฟุตบอล

การที่นักฟุตบอลอาชีพชาวมุสลิม ต้องงดเว้นจากการกินอาหารหรือดื่มช่วงเวลากลางวันเป็นเวลา 30 วัน ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับพวกเขา ในการรับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้

ในฤดูกาลที่แล้ว ได้มีข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการระหว่างกัปตันทีมของแต่ละสโมสร ที่จะอนุญาตให้พักช่วงสั้นๆ ในช่วงเวลาที่ลูกฟุตบอลออกจากสนาม เพื่อให้ผู้เล่นมุสลิมละศีลอดระหว่างแข่งขัน

เมื่อเดือนเมษายน 2021 เกมพรีเมียร์ลีกคู่ระหว่างเลสเตอร์ ซิตี้ กับคริสตัล พาเลซ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในนาทีที่ 35 ได้มีการหยุดเกมชั่วคราว เพื่อให้เวสลี่ย์ โฟฟาน่า และชีคคู คูยาเต้ ได้รับประทานอาหาร

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/lcfc

แมตช์ดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ ที่มีการพักเบรกชั่วคราวระหว่างแข่งขัน เพื่อให้นักเตะมุสลิมละศีลอดก่อนพระอาทิตย์ตกดินในช่วงเดือนรอมฏอน และมีอีกหลายแมตช์ที่ทำตาม

นักฟุตบอลชาวมุสลิม มีหน้าที่ต้องรักษามาตรฐานการเล่นที่ดี พร้อมกับการถือศีลอด แน่นอนว่าสิ่งนี้ส่งผลในด้านจิตใจด้วยเช่นกัน อย่างที่โคโล ตูเร่ เคยเผชิญกับความท้าทายนี้มาแล้วช่วงที่ค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก

อดีตเซ็นเตอร์แบ็กชาวไอเวอรี่ โคสต์ วัย 41 ปี ที่ปัจจุบันเป็นทีมงานสตาฟฟ์โค้ชให้กับเลสเตอร์ ซิตี้ กล่าวว่า “ผมคิดว่าการไม่ดื่มเครื่องดื่มใด ๆ เข้าไปในร่างกายของคุณนั้น เป็นเรื่องที่ยากที่สุดในฐานะนักฟุตบอลแล้ว”

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/lcfc

“ทันทีที่คุณเริ่มต้นถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ช่วง 1-2 วันแรก จนถึงสัปดาห์แรก มันเป็นอะไรที่ยากมาก ๆ แต่หลังจากนั้นร่างกายของคุณก็จะชินกับมัน และคุณจะไม่ได้เริ่มคิดถึงเรื่องการดื่มน้ำด้วยซ้ำ”

“ถ้าคุณไม่ทำตามหลักศาสนาอิสลามในเดือนรอมฎอน คุณจะรู้สึกว่าอ่อนแอ เพราะในทางจิตใจ คุณรู้สึกว่าไม่ได้เข้าถึงหลักคำสอนของพระอัลเลาะห์ และนั่นจะทำให้คุณเล่นฟุตบอลได้ไม่ดีเท่าที่ควร”

อุปสรรคใหญ่ที่สุดของนักเตะที่ต้องถือศีลอด คือการวางแผนเตรียมตัวที่ไม่ดีพอ แต่ถ้าหากมีการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม ถึงแม้จะต้องอดอาหารมากกว่า 10 ชั่วโมง ก็แทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเล่นฟุตบอลเลย

อาชีพกับความเชื่อ ต้องไปด้วยกัน

การที่นักฟุตบอลมุสลิมต้องถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน วงการฟุตบอลอังกฤษจึงได้หาแนวทางในการช่วยเหลือนักเตะเหล่านี้ เพื่อให้สามารถรักษาฟอร์มการเล่นที่ดี ควบคู่ไปกับความเชื่อตามหลักอิสลาม

Muslim Chaplains in Sport (MCS) เป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองจากพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยทำงานร่วมกับสโมสรฟุตบอลอาชีพทั้ง 92 แห่ง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมมุสลิม 

ขอบคุณภาพจาก : https://mcst.org.uk

MCS มีหน้าที่ให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้คำแนะนำกับสโมสรที่มีนักเตะมุสลิม เช่น การเลื่อนเวลาถือศีลอด เพื่อไม่ให้กระทบต่อฟอร์มการเล่นทั้งในการฝึกซ้อมและระหว่างการแข่งขัน

อิสมาอิล บัมจี ผู้ก่อตั้ง MCS กล่าวว่า “แม้ว่าจะไม่มีกฎเกณฑ์ของอิสลามสำหรับนักกีฬา แต่เราได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาได้รับการยกเว้นไม่ต้องถือศีลอด ถ้าต้องเดินทางไกลหรือเจ็บป่วย”

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานในเดือนรอมฎอน สมาชิกขององค์กรผู้ตัดสินอาชีพอังกฤษ หรือ PGMOL ก็ได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปที่นำโดย Nujum Sports องค์กรที่คอยช่วยเหลือนักกีฬามุสลิมทั่วโลก

Nujum Sports ได้คิดค้นกฎบัตรนักกีฬามุสลิม และได้ส่งชุดของขวัญให้กับนักกีฬาชายและหญิงชาวมุสลิมมากถึง 270 คน รวมถึงนักฟุตบอลประมาณ 180 คนจากพรีเมียร์ลีก ไปจนถึงนอกลีกอาชีพ

โดยชุดของขวัญดังกล่าว ถูกเปิดตัวในงานอีเวนต์ที่กรุงลอนดอน เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งภายในชุดของขวัญประกอบด้วย ปฏิทิน, น้ำศักดิ์สิทธิ์ซัมซัม, เสื่อละหมาด และน้ำหอม

ทรอย ทาวน์เซนด์ หัวหน้าองค์กรการกุศลต่อต้านการเลือกปฏิบัติ หรือ “Kick It Out” กล่าวว่า “Nujum ทำได้ดีมากในการปลุกจิตสำนึกของชาวมุสลิมให้เข้าใจหลักศาสนา และสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญในเดือนรอมฎอน”

นักฟุตบอลอาชีพ ที่ถึงแม้จะต้องใช้ร่างกายอย่างหนัก แถมต้องเจอกับความยากลำบากตลอดระยะเวลา 30 วันในช่วงเดือนรอมฏอน แต่พวกเขาก็ไม่ยอมละทิ้งหน้าที่การเป็นศาสนิกชนที่ดี

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : BBC

อ้างอิง :

https://www.bbc.com/sport/football/60823257

https://www.bbc.com/news/explainers-56695447

– https://www.bbc.com/thai/international-60970014

– https://www.liverpoolfc.com/news/first-team/139212-how-we-prepare-players-for-ramadan

Categories
Special Content

เดิมพันสู่ประวัติศาสตร์ : “ลิเวอร์พูล” กับเส้นทางการลุ้น 4 แชมป์ทีมแรกของอังกฤษ

หลังจากที่ลิเวอร์พูล คว้าแชมป์คาราบาว คัพ โทรฟี่แรกของฤดูกาล 2021/22 เจอร์เก้น คล็อปป์ ออกมากล่าวถึงการลุ้น 4 แชมป์ในซีซั่นเดียวว่า “เป็นเรื่องยากที่จะทำได้ คงไม่ได้คิดบ้าๆ แบบนั้น”

แต่จนถึงเวลานี้ ลิเวอร์พูลก็ยังคงเป็นทีมเดียวที่มีโอกาสทำ “quadruple” ทีมแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ โดยจะต้องลงเล่นถึง 16 นัด ในช่วงเวลา 8 สัปดาห์ที่เหลืออยู่ของฤดูกาลนี้

แล้ว “หงส์แดง” จะต้องเจอกับความท้าทายอะไรบ้าง เพื่อลุ้นเหมา 4 โทรฟี่เป็นทีมแรกของเมืองผู้ดี วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายและวิเคราะห์ให้ฟังกันครับ

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

เปิดตำนานทีมผู้ดีลุ้น 4 แชมป์

นับตั้งแต่ฟุตบอลถ้วยลีก คัพ (ปัจจุบันคือคาราบาว คัพ) จัดการแข่งขันครั้งแรก เมื่อฤดูกาล 1960/61 นั่นหมายความว่า สโมสรฟุตบอลในประเทศอังกฤษ มีโอกาสลุ้นแชมป์ถึง 4 ถ้วย ภายในฤดูกาลเดียวกัน

ตลอดระยะเวลา 61 ซีซั่นที่ผ่านมา มี 15 สโมสร จากความพยายามรวมกัน 120 ครั้ง ที่ต้องการจะสร้างตำนานคว้า 4 ถ้วยในซีซั่นเดียว คือลีกสูงสุด, เอฟเอ คัพ, ลีก คัพ และยูโรเปี้ยน คัพ (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก)

เบิร์นลี่ย์ คือทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่มีโอกาสใกล้เคียงสุดกับการลุ้นคว้า 4 แชมป์ แต่ความฝันของพวกเขาจบสิ้นลงในวันที่ 15 มีนาคม 1961 หลังจากแพ้ฮัมบวร์ก ของเยอรมัน ตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายยูโรเปี้ยน คัพ

ทีมที่เข้าใกล้การลุ้นคว้า 4 แชมป์มากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ คือ เชลซี ในฤดูกาล 2006/07 โดยเส้นทางลุ้น 4 ถ้วย ได้หยุดลงในวันที่ 1 พฤษภาคม 2007 เพราะตกรอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก

รองลงมาคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซีซั่น 2008/09 ที่ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน แต่ก็ไม่สามารถเหมาครบ 4 แชมป์ หลังจากตกรอบรองชนะเลิศ เอฟเอ คัพ เมื่อ 19 เมษายน 2009

ขณะที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นทีมแรก และทีมเดียว ที่ได้ลุ้น 4 แชมป์แบบใกล้เคียงที่สุดถึง 2 ครั้ง แต่ก็ต้องฝันสลายในวันที่ 17 เมษายนเหมือนกัน (2018/19 ตกรอบ 8 ทีมแชมเปี้ยนส์ ลีก, 2020/21 ตกรอบรองชนะเลิศ เอฟเอ คัพ)

ส่วนในฤดูกาล 2019/20 ที่โปรแกรมการแข่งขันต้องล่าช้าออกไปเพราะโควิด-19 แมนฯ ซิตี้ ของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า มีลุ้นแชมป์ 4 รายการ ก่อนที่จะเสียแชมป์พรีเมียร์ลีกให้กับลิเวอร์พูล ในวันที่ 25 มิถุนายน 2020

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

16 นัด ใน 56 วัน ของลิเวอร์พูล

สถานการณ์ล่าสุดของลิเวอร์พูล นับตั้งแต่คว้าแชมป์ลีก คัพ พวกเขาอยู่อันดับ 2 ในพรีเมียร์ลีก ตามหลังจ่าฝูงแค่ 1 แต้ม และยังอยู่ในการแข่งขันเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบ 8 ทีมสุดท้าย

ผลงานดังกล่าว ถือเป็นการลุ้นแชมป์ 4 รายการที่ใกล้เคียงที่สุดเป็นอันดับที่ 5 (เป็นอย่างน้อย) ของฟุตบอลอังกฤษ และยังเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเจอร์เก้น คล็อปป์ นับตั้งแต่เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมในถิ่นแอนฟิลด์อีกด้วย

ในประวัติศาสตร์ของลิเวอร์พูล พวกเขาเคยคว้าแชมป์ 3 รายการในฤดูกาลเดียวกัน ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในฤดูกาล 1983/84 ยุคของกุนซือโจ เฟแกน ที่คว้าแชมป์ลีกสูงสุด, แชมป์ลีก คัพ และยูโรเปี้ยน คัพ 

และอีกครั้งในฤดูกาล 2000/01 แต่ไม่ถูกนับเป็น “quadruple” เนื่องจากไม่ได้ลงเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เชราร์ด อุลลิเย่ร์ พาหงส์แดงคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ, ลีก คัพ และยูฟ่า คัพ แต่ในพรีเมียร์ลีก ได้แค่อันดับ 3

ส่วนในฤดูกาลนี้ กับความหวังอีก 3 ถ้วยที่ยังมีลุ้น ทีมของกุนซือเจอร์เก้น คล็อปป์ จะต้องลงเตะทั้งหมด 16 นัด ในรอบ 56 วัน เริ่มต้นตั้งแต่เกมพรีเมียร์ลีก ที่เปิดบ้านพบกับวัตฟอร์ด ในวันเสาร์ที่ 2 เมษายนนี้

แล้วหลังจากนั้น ลิเวอร์พูลจะเข้าสู่ช่วงโปรแกรมสุดสำคัญ ด้วยนัดชี้ชะตาแชมป์พรีเมียร์ลีกกับแมนฯ ซิตี้ วันที่ 10 เมษายน อีกทั้งจะต้องพบกับเรือใบสีฟ้าอีกครั้ง ในเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ 16 เมษายน

เท่านั้นยังไม่พอ จะต้องทำศึก “แดงเดือด” กับแมนฯ ยูไนเต็ด 19 เมษายน และต่อเนื่องด้วยดาร์บี้แห่งเมอร์ซี่ย์ไซด์กับเอฟเวอร์ตัน 24 เมษายน เรียกได้ว่าต้องเจอกับคู่ปรับสำคัญถึง 4 นัด ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์

ยังไม่นับกรณีที่ลิเวอร์พูล เข้ารอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และผ่านเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ โปรแกรมพรีเมียร์ลีก ที่พบกับแอสตัน วิลล่า และเซาแธมป์ตัน จะต้องถูกเลื่อนไปแข่งขันช่วงกลางสัปดาห์ด้วย

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ส่วนในเอฟเอ คัพ ถ้าผ่านแมนฯ ซิตี้ ในรอบรองชนะเลิศ จะไปเจอเชลซี หรือคริสตัล พาเลซ ขณะที่แชมเปี้ยนส์ ลีก ถ้าผ่านเบนฟิกาในรอบ 8 ทีมสุดท้าย รอบตัดเชือกจะไปเจอบาเยิร์น มิวนิค หรือบียาร์เรอัล

แล้วถ้าลิเวอร์พูล ผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศถ้วยใหญ่ยุโรป ในวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคมนี้ จะมีโอกาสพบกับ 1 ใน 4 ทีมที่ล้วนแข็งแกร่งทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเชลซี, แมนฯ ซิตี้, เรอัล มาดริด และแอตเลติโก้ มาดริด

นั่นหมายความว่า ถ้าลิเวอร์พูลต้องการที่จะสร้างประวัติศาสตร์คว้า 4 แชมป์ในฤดูกาลนี้ ทีมของเจอร์เก้น คล็อปป์ จะลงเตะรวมทั้งหมด 63 เกม แน่นอนว่าเรื่องสภาพร่างกายคืออุปสรรคสำคัญสำหรับพวกเขา

ปัญหาการบาดเจ็บของผู้เล่น เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ที่ได้รับบาดเจ็บแฮมสตริง จนต้องถอนตัวจากทีมชาติอังกฤษช่วงฟีฟ่า เดย์ เมื่อเดือนที่แล้ว ยังต้องลุ้นว่าจะฟิตทันเจอแมนฯ ซิตี้ ในสัปดาห์หน้าหรือไม่

ส่วนการจัดการนักเตะที่จะลงสนาม ในช่วงเวลาที่ต้องลุ้นแชมป์อีก 3 รายการที่เหลือแบบนี้ ก็เป็นหน้าที่ของคล็อปป์ ที่จะต้องวางแผนให้เหมาะสมในแต่ละนัด และรับมือกับความกดดันที่เข้ามาให้ได้

การที่ลิเวอร์พูล จะประคองตัวเองให้ยังอยู่ในเส้นทางลุ้นแชมป์ 4 รายการ จนจบฤดูกาลนี้ ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของนักเตะ และโค้ชเท่านั้น แต่โชคชะตายังต้องเข้าข้างด้วย

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

แกร่งแค่ไหนก็ไม่เคยทำสำเร็จ

กว่า 6 ทศวรรษของการลุ้นแชมป์ 4 รายการในวงการฟุตบอลเมืองผู้ดี เคยมีทีมที่ได้รับการยกย่องว่า “ดีที่สุด” ในแต่ละยุคสมัย แต่ถึงแม้ว่าจะสมบูรณ์แบบขนาดไหน ก็ยังไม่มีทีมใดที่คว้าครบ 4 แชมป์ในซีซั่นเดียวได้เลย

เริ่มจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมแรกของอังกฤษที่ทำ “เทรบเบิล” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในฤดูกาล 1998/99 ทั้งพรีเมียร์ลีก, เอฟเอ คัพ และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก แต่ในถ้วยลีก คัพ ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย ในเดือนธันวาคม 1998

ต่อด้วยอาร์เซน่อล ชุดแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2003/04 ชนิดที่ “ไร้พ่าย” ทั้งซีซั่น แต่เส้นทางลุ้น 4 แชมป์ จบลงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2004 หลังจากถูกมิดเดิลสโบรช์ เขี่ยตกรอบรองชนะเลิศลีก คัพ

นอกจากนี้ “เดอะ กันเนอร์ส” ในฤดูกาล 2010/11 ก็เป็นอีกครั้งที่สโมสรจากลอนดอนเหนือทีมนี้ อยู่ในเส้นทางการลุ้นแชมป์ 4 รายการ แต่ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาจบซีซั่นแบบมือเปล่าอย่างน่าเสียดาย

ทีมของกุนซืออาร์แซน เวนเกอร์ นำเป็นจ่าฝูงพรีเมียร์ลีกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ แต่อีกแค่ 4 วันถัดมา แพ้พลิกล็อกให้กับเบอร์มิงแฮมในนัดชิงชนะเลิศลีก คัพ ทำให้ความฝันที่จะลุ้น 4 แชมป์ ต้องจบลง

หลังจากนั้น โมเมนตัมของอาร์เซน่อลก็เป็นไปในทิศทางที่แย่ลง ตกรอบถ้วยแชมเปี้ยนส์ ลีก และเอฟเอ คัพ ในช่วงเวลาห่างกันแค่ 5 วัน อีกทั้งชนะในพรีเมียร์ลีกได้แค่ 2 จาก 11 นัดสุดท้ายของซีซั่น จบแค่อันดับ 4

หรือแม้กระทั่งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมแรกที่ทำ 100 แต้มในพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017/18 และกวาด 3 แชมป์ในประเทศทีมแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ ในฤดูกาล 2018/19 ก็ไม่สามารถทำ “ควอดรูเพิล” ได้

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ลิเวอร์พูลจะคว้าแชมป์คาราบาว คัพ เพียงแค่รายการเดียวหลังจบฤดูกาลนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปากว่า เป็นฤดูกาลที่ประสบความสำเร็จอย่างที่เดอะ ค็อปคาดหวัง

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : BBC

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/60742994

– https://www.theguardian.com/football/2022/mar/01/jurgen-klopp-plays-down-talk-of-liverpool-winning-crazy-quadruple

– https://www.independent.co.uk/sport/football/jurgen-klopp-liverpool-squad-strongest-ever-b2037505.html

Categories
Football Business

ความเจ็บปวดที่สวยงาม : 117 ปี เชลซี กับอาณาจักร “โรมัน” ที่ใกล้ล่มสลาย

เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่สโมสรฟุตบอลเชลซี ก่อตั้งครบรอบ 117 ปี ซึ่งยุคสมัยที่ดีที่สุดของ “สิงห์บลูส์” คือยุคที่โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรตั้งแต่ปี 2003

แต่ทว่า วันครบรอบการก่อตั้งสโมสรในปีนี้ กลับเป็นวันที่อบราโมวิชต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษประกาศ “คว่ำบาตร” จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

เรื่องราวของเชลซี และยุคทองของเสี่ยหมีจากจุดเริ่มต้นถึงจุดสุดท้ายเป็นอย่างไร วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เส้นทางของเชลซีในศตวรรษแรก

กุส เมียร์ส นักธุรกิจชาวอังกฤษ ได้ลงทุนซื้อสนามกรีฑาสแตมฟอร์ด บริดจ์ โดยมีแผนที่จะเปลี่ยนเป็นสนามฟุตบอล จึงยื่นข้อเสนอให้สโมสรฟูแล่มที่ตั้งอยู่ใกล้กันมาเช่าสนามของตนเอง แต่ถูกปฏิเสธ

ดังนั้น เมียร์สจึงตัดสินใจก่อตั้งสโมสรฟุตบอลของตนเองขึ้นมา ใช้ชื่อว่า “เชลซี” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเขตฟูแล่ม เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 1905 โดยสถานที่ตั้งของสโมสรเป็นผับเก่า ชื่อว่า “เดอะ ไรซิ่ง ซัน ผับ”

อย่างไรก็ตาม เชลซีต้องใช้เวลานานถึง 50 ปี กว่าจะได้แชมป์รายการแรกของสโมสรคือ แชมป์ดิวิชั่น 1 ลีกสูงสุดในขณะนั้น เมื่อฤดูกาล 1954/55 ตามด้วยแชมป์แชริตี้ ชิลด์ ภายใต้การคุมทีมของเท็ด เดร็ก

แต่หลังจากนั้น เชลซีคว้าแชมป์เพิ่มมาได้เพียง 3 รายการ แล้วพอเข้าสู่ช่วงกลางยุค ’70 สโมสรจากลอนดอนทีมนี้ก็เข้าสู่ยุคตกต่ำ ตกชั้นจากลีกสูงสุด ไปใช้ชีวิตอยู่ในระดับดิวิชั่น 2 เป็นส่วนใหญ่

จนกระทั่งในปี 1982 เคน เบตส์ ได้เข้ามาซื้อกิจการของเชลซี ต่อจากทายาทของกุส เมียร์ส อดีตผู้ก่อตั้งสโมสร ด้วยราคาสุดถูกเพียงแค่ 1 ปอนด์เท่านั้น พร้อมทั้งแต่งตั้งแมทธิว ฮาร์ดิ้ง เป็นผู้อำนวยการสโมสรด้วย

ในช่วงต้นยุค ’90 เป็นช่วงที่ลีกสูงสุดเปลี่ยนผ่านจากดิวิชั่น 1 เป็น “พรีเมียร์ลีก” ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูสู่ยุคใหม่ของวงการฟุตบอลอังกฤษ บรรดานักฟุตบอลต่างชาติต่างหลั่งไหลเข้ามาอย่างคึกคัก

เบตส์ และฮาร์ดิ้ง ช่วยกันขับเคลื่อนเชลซีจากทีมท้ายตาราง สู่กลางตารางอย่างมั่นคง นักเตะต่างชาติได้เข้ามาสร้างชื่อในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ เช่น รุด กุลลิท, จิอันลูก้า วิอัลลี่, จิอันฟรังโก้ โซล่า และอีกมากมาย

ในปี 2003 เคน เบตส์ ประกาศขายกิจการของสโมสร ไปให้กับโรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ด้วยราคา 140 ล้านปอนด์ ความสำเร็จของเชลซีตลอดช่วงศตวรรษแรก คว้าแชมป์ได้ทั้งหมด 13 โทรฟี่

อาณาจักร “โรมัน” เขย่าพรีเมียร์ลีก

เส้นทางชีวิตของโรมัน อบราโมวิช ก่อนที่จะเข้ามาเทคโอเวอร์เชลซีนั้น เรียกได้ว่าเป็นคนที่สู้ชีวิตมาไม่น้อยเลยทีเดียว เขากำพร้าพ่อและแม่ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทางเดียวที่จะอยู่รอดคือต้องดิ้นรนหาเงิน

อบราโมวิช ได้เข้าโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือเหมือนเด็กทั่วๆ ไป แต่พออายุ 16 ปี เขาขอลาออกจากโรงเรียน เพราะมองว่าเรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ และเริ่มมีรายได้จากการเป็นเซลล์ขายของเล่นที่ทำจากยาง

จากการได้เรียนรู้เรื่องการค้าขายนี่เอง ทำให้อบราโมวิชเข้าใจถึงคำว่า “คอนเน็คขั่น” ก็ได้ผันตัวไปทำธุรกิจใต้ดิน คือการขายน้ำมันเถื่อน โดยมีบอริส เบเรซอฟสกี้ นักการเมืองดังของรัสเซียในยุค ’90 อยู่เบื้องหลัง

ต่อมา อบราโมวิช และเบเรซอฟสกี้ ได้ซื้อกิจการ Sibneft บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของไซบีเรียในราคาไม่ถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และขายให้ Gazprom บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ได้กำไรกว่า 10 เท่า

จนกระทั่งในปี 2000 รัสเซียมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจครั้งสำคัญ เมื่อวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้อบราโมวิชมีอิทธิพลมากขึ้น และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับปูตินตั้งแต่บัดนั้น

เมื่ออบราโมวิช เข้ามาครอบครองสโมสรเชลซี ในปี 2003 ถือเป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนวงการฟุตบอลอังกฤษเป็นอย่างมาก ท่ามกลางการจับตามองว่า เขาจะมาสร้างภัยอันตรายให้กับรัฐบาลเมืองผู้ดีหรือไม่

แม้ประวัติในอดีตของอบราโมวิชจะเป็นที่ถูกจับผิดอยู่ตลอดเวลา แต่เขามีวิสัยทัศน์ และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำเชลซีประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง จนกระทั่งสร้างยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดยุคหนึ่งของสโมสร

ในฤดูกาล 2004/05 แชมป์รายการแรกในยุคของเสี่ยหมี คือแชมป์ลีก คัพ และตามด้วยแชมป์พรีเมียร์ลีก ซึ่งถือเป็นการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบครึ่งศตวรรษ และฉลองครบรอบ 100 ปี ของสโมสรอีกด้วย

ขณะที่ถ้วยใหญ่สุดของยุโรปอย่างยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เชลซีผ่านเข้าชิงชนะเลิศครั้งแรกเมื่อปี 2008 ที่รัสเซีย ทว่าแพ้จุดโทษแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่หลังจากนั้นก็สมหวัง คว้าแชมป์ได้ 2 สมัย ในปี 2012 และ 2021

โรมัน อบราโมวิช ใช้เวลาเพียง 19 ปี พาเชลซีคว้าแชมป์ได้อย่างน้อย 21 รายการ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ผู้จัดการทีมมากถึง 14 คน แต่ถ้าวิธีการของเขามันได้ผลตามที่ต้องการ ก็คงจะไม่มีใครไปตำหนิได้อย่างแน่นอน

จบแบบเจ็บปวด จากลาอย่างยิ่งใหญ่

ในขณะที่โรมัน อบราโมวิช กำลังสร้างยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเชลซี จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขาก็มาถึง และไม่มีใครคาดคิดว่าจะนำไปสู่จุดจบถึงขั้นต้องออกจากสโมสรในที่สุด

ในปี 2018 อบราโมวิช มีปัญหาเรื่องการต่อวีซ่าเพื่อเข้าประเทศอังกฤษ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับวลาดิเมีย ปูติน ทำให้ต้องตั้งมาริน่า กรานอฟสกาย่า เข้ามาดูแลสโมสรแทน 

แต่อีก 3 ปีต่อมา เสี่ยหมีสามารถกลับเข้าเมืองผู้ดีได้อีกครั้ง ทว่าสถานการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นจนได้ เพราะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ได้ปะทุมากขึ้นจนกลายเป็นสงคราม

ก่อนหน้านี้ อบราโมวิชก็พยายามเอาตัวรอด ด้วยการประกาศขายสโมสรให้เร็วที่สุด แล้วนำเงินที่ได้ไปบริจาคให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน อีกทั้งหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมดก็จะไม่เรียกคืน แต่ก็ไม่เป็นผล

และล่าสุดเมื่อ 2 วันก่อน รัฐบาลอังกฤษประกาศคว่ำบาตร ส่งผลให้มหาเศรษฐีรัสเซีย 7 คนที่ถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนปูติน ถูกอายัดทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งรวมถึงอบราโมวิช เจ้าของสโมสรเชลซีด้วย

อย่างไรก็ตาม อบราโมวิชยังสามารถที่จะขายสโมสรได้ แต่มีเงื่อนไขว่า เขาจะไม่ได้รับเงินจากการขายสโมสรเลยแม้แต่ปอนด์เดียว โดยเงินจากการขายสโมสรทั้งหมดจะเข้าไปที่รัฐบาลอังกฤษ

ขณะที่สโมสรเชลซี ก็ได้รับผลกระทบที่ตามมาจากการคว่ำบาตรไปด้วย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

– ห้ามขายตั๋วเข้าชมการแข่งขันใหม่ ยกเว้นผู้ถือตั๋วปีของสโมสร ยังสามารถเข้าชมได้ตามปกติ

– ห้ามจำหน่ายสินค้าในเมกะสโตร์ของสโมสร และออนไลน์ ส่วนที่อื่นยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ

– ห้ามซื้อ-ขายผู้เล่น และต่อสัญญาฉบับใหม่ให้กับผู้เล่นของสโมสร

– ห้ามใช้เงินเกิน 500,000 ปอนด์ สำหรับการแข่งขันในประเทศอังกฤษ

– ห้ามใช้เงินเกิน 20,000 ปอนด์ สำหรับการเดินทางแข่งขันนอกประเทศอังกฤษ

– ทรี (Three) บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์ชื่อดังของอังกฤษ ขอระงับสัญญาเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อแข่งขันชั่วคราว

ถึงแม้ว่าโรมัน อบราโมวิช จะต้องยุติบทบาทกับเชลซีแบบไม่เต็มใจเท่าใดนัก แต่สิ่งที่ได้ลงมือทำมาตลอด 19 ปี ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เขาคือเจ้าของสโมสรที่ลงทุน และทุ่มเทจนทีมประสบความสำเร็จสูงสุดของโลกลูกหนังไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Football365

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/60689645

– https://www.bbc.com/sport/football/60684038

– https://en.wikipedia.org/wiki/Chelsea_F.C.

Categories
Special Content

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : “พรีเมียร์ลีก” กับการแก้ปัญหาสภาพจิตใจนักเตะเยาวชน

เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ ต่างมีความฝันที่จะเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ชีวิตที่สุขสบาย ร่ำรวยเงินทอง ชื่อเสียงที่รออยู่ข้างหน้า และภาคภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่พวกเขารัก 

แต่ในบางครั้ง “ความฝัน” กับ “ความจริง” มันไม่ไปด้วยกัน คนจำนวนมากไปไม่ถึงเป้าหมาย ต้องทำอาชีพในสายอื่น หรือบางคนไม่สามารถรับมือกับความผิดหวังได้ ถึงขั้นใช้ชีวิตเสเพล หรือทำร้ายตัวเอง

แล้วในวงการฟุตบอลอังกฤษ มีแนวทางในการแก้ปัญหานักเตะเหล่านี้อย่างไรบ้าง ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

กรณีศึกษาของวิสเท่น

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2020 ได้มีเหตุการณ์ที่ช็อกวงการฟุตบอลอังกฤษ เมื่อเจเรมี่ วิสเท่น อดีตนักเตะอคาเดมี่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น

ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้วิสเท่นเสียชีวิตนั้น มาจากภาวะโรคซึมเศร้า ไม่สามารถสลัดกับความผิดหวังได้ หลังถูกปล่อยตัวออกจากแมนฯ ซิตี้ อันเนื่องมาจากเขาไม่ได้รับสัญญานักเตะระดับอาชีพ

สำหรับวิสเท่น ได้ตัดสินใจเข้าสู่ทีมเยาวชนของ “เรือใบสีฟ้า” เมื่ออายุ 13 ปี ในช่วงแรกที่อยู่กับอคาเดมี่นั้น เขาสามารถฉายแววแก่งให้ทีมสต๊าฟฟ์ได้เห็น เรียกได้ว่าอนาคตที่สดใสรอเขาอยู่ในไม่ช้า

แต่เมื่อวิสเท่นอายุกำลังจะย่างเข้า 16 ปี กลับโชคร้ายสุดๆ เพราะก่อนที่ทางแมนฯ ซิตี้ จะประกาศรายชื่อนักเตะที่ได้รับสัญญาระดับอาชีพ เขามีอาการบาดเจ็บรบกวนบ่อยมาก จนฟอร์มการเล่นไม่สม่ำเสมอ

และท้ายที่สุด แมนฯ ซิตี้ ได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จึงตัดสินใจไม่ให้วิสเท่นไปต่อในฐานะนักเตะอาชีพ อย่างไรก็ตาม ทางซิตี้เองก็พยายามที่จะหาทีมระดับรองลงมาให้เขาได้ลงเล่นต่อไป

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปจนวิสเท่นอายุครบ 16 ปี กลับไม่มีสโมสรใดติดต่อให้ไปโชว์ฝีเท้าเลย ในที่สุดเขาต้องยุติความฝันในการเป็นนักฟุตบอล จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

หัวกะทิเท่านั้นที่จะอยู่รอด

ในอังกฤษ มีเด็กกว่า 1 ล้านคนที่เป็นนักฟุตบอลระดับเยาวชน แต่มีเพียง 1 พันคนเท่านั้นที่จะได้สัญญานักเตะอาชีพ เนื่องจากแต่ละสโมสรต้องคัดกรองอย่างเข้มข้น เพื่อเอาเฉพาะคนที่เจ๋งจริงๆ เท่านั้น

ตามกฎการพัฒนานักฟุตบอลระดับเยาวชนของพรีเมียร์ลีก ระบุให้สโมสรสมาชิกดึงตัวนักเตะเข้าอคาเดมี่ตามจำนวนที่กำหนดไว้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 250 คน ดังนี้

– กลุ่มที่ 1 รุ่นอายุไม่เกิน 9 ปี, 10 ปี, 11 ปี, 12 ปี, 13 ปี และ 14 ปี รุ่นละ 30 คน

– กลุ่มที่ 2 รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี และ 16 ปี รุ่นละ 20 คน

– กลุ่มที่ 3 รุ่นอายุระหว่าง 16-17 ปี 30 คน

ข้อมูลจากพรีเมียร์ลีกระบุว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของนักเตะในอคาเดมี่ทั้งหมด 4,109 คน ที่มีอายุระหว่าง 21 – 26 ปี ในปัจจุบัน ไม่ประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีก โดยในจำนวนนี้มี 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้สัญญานักเตะอาชีพ

ขณะที่เทรซีย์ เคราช์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักเตะเยาวชน 10,000 – 12,000 คน จะถูกปล่อยตัวออกจากอคาเดมี่  

พีท โลว์ ผู้ร่วมก่อตั้ง PlayersNet องค์กรที่ให้คำปรึกษาปัญหานักเตะระดับเยาวชน กล่าวว่า “เรากำลังขอร้องให้สโมสรต่าง ๆ ลดจำนวนนักเตะในอคาเดมี่ลง นักเตะเหล่านี้ถูกขังอยู่ในระบบ ไม่สามารถไปที่สโมสรอื่นได้อีก อย่างน้อยพวกเขาก็สบายใจได้มากขึ้น เมื่อรู้ว่าทำได้ไม่ดีพอ”

ขณะที่บ๊อบ บรูมเฮด เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตประจำสาธารณสุขของอังกฤษ (NHS) กล่าวว่า “นักเตะเยาวชนกำลังถูกคล้อยตามความคิดที่ว่า ต้องทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับฟุตบอล โดยที่ไม่มีแผนสองมารองรับ”

ทางออกสำหรับผู้ที่ถูกคัดออก

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเจเรมี่ วิสเท่น ทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษได้ตระหนักขึ้นมาว่า จะต้องมีทางออกสำหรับผู้ที่พลาดหวัง ไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ ให้มีความสุขกับในสิ่งที่พวกเขารักต่อไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คริสตัล พาเลซ ซึ่งเป็นสโมสรแรกในพรีเมียร์ลีก ที่คิดค้นโปรแกรมในการดูแลนักเตะเยาวชนที่ถูกตัดออกจากอคาเดมี่ โดยจะส่งต่อไปยังสโมสรที่อยู่ละแวกใกล้เคียง เป็นเวลา 3 ปี

สตีฟ แพริช ประธานสโมสรคริสตัล พาเลซ กล่าวว่า “นักเตะอย่างวิลฟรีด ซาฮา, อารอน วาน-บิสซาก้า และเจสัน พันชอน ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ไปต่อ แต่ผมได้ไปบอกแกรี่ อิสซอตต์ (โค้ชอคาเดมี่) ว่าให้เก็บพวกเขาไว้”

สำหรับพาเลซในปีนี้ ได้ปล่อยนักเตะออกจากอคาเดมี่ค่อนข้างน้อย โดยแบ่งเป็นอายุต่ำกว่า 18 ปี 3 คน และอายุต่ำกว่า 23 ปี อีก 4 คน แต่นักเตะเหล่านั้นก็ยังได้รับการดูแลจากอคาเดมี่ของสโมสรต่อไป

ประธานของพาเลซ กล่าวปิดท้ายว่า “เราพยายามที่จะทำให้อคาเดมี่ของเรา เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ยอดเยี่ยม และสามารถเปลี่ยนชีวิตนักเตะได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เป็นนักเตะอาชีพกับเราแล้วก็ตาม”

หรือทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็มีการสนับสนุน และให้คำปรึกษากับนักเตะที่ถูกคัดออก โดยเพิ่มที่ปรึกษาเป็น 5 คน รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการติดต่อสื่อสารกับนักเตะเหล่านี้ให้บ่อยขึ้นมากกว่าเดิมอีกเท่าตัว

จากปัญหานักเตะเยาวชนถูกคัดออกจากอคาเดมี่ เราได้บทเรียนสำคัญคือ การเรียนรู้วิธีรับมือกับความล้มเหลว และรู้จักหนทางในสายอาชีพอื่น เพราะอาจจะประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่านักฟุตบอลก็เป็นได้

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Soccer Bible

อ้างอิง :

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10520715/Premier-League-figures-failings-football-factories.html

– https://resources.premierleague.com/premierleague/document/2021/09/24/e3d1e717-fb0d-4e73-a504-db71ef93640a/PL_2021-22_Youth_Development_Rules_23.09.pdf

– https://www.soccerbible.com/news/2021/10/crystal-palace-unveil-brand-new-academy-facility/

Categories
Special Content

ลีกฟุตบอลสีเขียว : “พรีเมียร์ลีก” กับแผนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ นอกจากจะมีหน้าที่จัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพแล้ว ยังเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญ และตระหนักถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นความท้าทายระยะยาวของสังคมโลก

ทั้ง 20 สโมสรต่างมีผลงานในการปฏิบัติตามแผนงานเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากน้อยแตกต่างกันออกไป โดยมีการจัดอันดับเหมือนกับตารางคะแนนในการแข่งขันฟุตบอลทั่วๆ ไป

แล้วสโมสรในลีกสูงสุดเมืองผู้ดี มีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

สเปอร์ส – ลิเวอร์พูล แชมป์ร่วมรักษ์โลกปี 2021

บีบีซี สำนักข่าวชื่อดังของอังกฤษ และ Sport Positive Summit ได้ร่วมกันจัดอันดับ 20 สโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก ที่ปฏิบัติตามมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

สำหรับเกณฑ์ที่ใช้พิจารณา มีทั้งหมด 11 ข้อด้วยกัน แต่ละข้อมีคะแนน 2 คะแนน และยังมีคะแนนโบนัสอีก 2 คะแนน ถ้าผ่านเกณฑ์มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ รวม 24 คะแนนเต็ม

ผลปรากฏว่า ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ และลิเวอร์พูล เป็นสโมสรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ประจำปี 2021 ที่ผ่านมา มี 23 คะแนนเท่ากัน โดยเฉพาะสเปอร์สนั้น ครองแชมป์มาแล้ว 3 ปีติดต่อกัน

บิลลี่ โฮแกน ซีอีโอลิเวอร์พูล กล่าวว่า “เรื่องสิ่งแวดล้อมคือเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกองค์กรต่างก็มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อชุมชน”

ขณะที่ดอนน่า-มาเรีย คัลเลน ผู้บริหารของสเปอร์ส ระบุว่า “การที่เราเป็นอันดับ 1 อีกครั้งในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความยอดเยี่ยมของสโมสร เราจะท้าทายตัวเองในการรักษาแชมป์ต่อไป”

“การที่สโมสรเข้าร่วมโครงการ UN Race to Zero ถือเป็นก้าวต่อไปที่สำคัญของเรา ซึ่งทำให้เรามีแนวทางที่ชัดเจน และเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษที่เราเตรียมพร้อมจะปฎิบัติตามอย่างแน่นอน”

ทีมในพรีเมียร์ลีก กับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อปีที่แล้ว ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ และลิเวอร์พูล ครองอันดับ 1 ร่วมกันในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในพรีเมียร์ลีก อย่างไรก็ตาม หลายๆ สโมสร ก็มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

เริ่มที่สเปอร์สกันก่อน พวกเขายืนหนึ่งเรื่องการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมายาวนาน จากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ 10:10 initiative และ Count Us In ที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ที่สำคัญกว่านั้น “ไก่เดือยทอง” ยังได้จัดการแข่งขันฟุตบอลที่ปลอดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นครั้งแรกของโลก ในเกมพรีเมียร์ลีก ที่เปิดบ้านแพ้เชลซี 0 – 3 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

และล่าสุด ทีมจากลอนดอนเหนือทีมนี้ เพิ่งเข้าร่วมโครงการ Race to Zero และได้ประกาศเป้าหมายว่า จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2030 และจะเป็นศูนย์ภายในปี 2040

สำหรับโครงการ Race to Zero ได้เปิดตัวครั้งแรกในการประชุม COP26 ที่ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากสเปอร์สแล้ว ยังมีลิเวอร์พูล, เซาธ์แธมป์ตัน และอาร์เซน่อลที่เข้าร่วมด้วย

นอกจากนี้ สเปอร์สใกล้ที่จะบรรลุเป้าหมายในการให้แฟนบอลใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางมาชมเกมในวันแข่งขันให้ไม่เกิน 23 เปอร์เซ็นต์ (14,250 คน) รวมถึงสร้างฟาร์มปลูกผักเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับเมนูอาหาร

มาดูที่ลิเวอร์พูลกันบ้าง ได้ทำการปลูกต้นไม้จำนวน 900 ต้น พร้อมไม้ประดับชนิดต่างๆ บริเวณอคาเดมี่ของสโมสร อีกทั้งยังปลูกผักสำหรับเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร และยังทำงานร่วมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์ในชุมชน

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.arsenal.com/news/renewable-energy-partnership-octopus-energy

สำหรับตัวอย่างการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของสโมสรอื่นๆ ในพรีเมียร์ลีก ที่น่าสนใจ :

อาร์เซน่อล – สโมสรแรกของพรีเมียร์ลีก ที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซนต์

เอฟเวอร์ตัน – จัดตั้งโครงการ “Everton for Change” เพื่อแบ่งปันไอเดียรักษ์โลกกับแฟนบอลของสโมสร

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ – มีเป้าหมายที่จะหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างถาวรภายในปี 2030

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด – ร่วมมือกับ Renewable Energy Group ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ไบรท์ตัน – ร่วมกับโครงการ “On the Ball” เพื่อมอบสินค้าปลอดพลาสติกให้กับแฟนบอล และนักฟุตบอลทีมหญิง

นอริช ซิตี้ – ปลูกผักเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร และพัฒนาแอปพลิเคชัน Player Nutrition ซึ่งเป็นเมนูอาหารจากพืชสำหรับนักฟุตบอล

แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย ก็เห็นจะเป็นเบรนท์ฟอร์ด ที่ออกมาประกาศว่า ในฤดูกาลหน้า จะยังคงใช้ชุดเหย้าเหมือนกับฤดูกาลนี้ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และช่วยให้แฟนบอลประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

หวังเริ่มนำร่องแคมเปญรักษ์โลกตั้งแต่ซีซั่นหน้า

ปัญหาสิ่งแวดล้อม, มลภาวะ และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง ทำให้สโมสรฟุตบอลระดับอาชีพทั้ง 92 สโมสร จาก 4 ดิวิชั่นของอังกฤษ ต้องให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทางพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล ได้ส่งเอกสารแผนงานเบื้องต้นกว่า 100 หน้า ไปยังสโมสรสมาชิก เพื่อเตรียมปรับรูปแบบการดำเนินงานของแต่ละสโมสร ตามแผนงานเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างเช่น นักฟุตบอลและพนักงานของสโมสรให้ปั่นจักรยานมาทำงาน หรือลดการเดินทางมายังสโมสรถ้าไม่จำเป็น ให้ประชุมออนไลน์แทน (ถ้าสามารถทำได้) เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์บนท้องถนน

รวมถึงให้พยายามใช้วัตถุดิบในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ทำจากพืช (Plant-base food) ในเมนูอาหาร แต่สามารถแต่งรสชาติ กลิ่น สีสันให้เหมือนผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้ และให้ใช้พลังงานหมุนเวียนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

โดยสโมสรสมาชิกทั้ง 92 สโมสร ต้องตอบกลับภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ และถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ ก็จะมีการกำหนดกรอบปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น คาดว่าจะสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ฤดูกาล 2022/23 เป็นต้นไป

ริชาร์ด มาสเตอร์ ประธานบริหารพรีเมียร์ลีก กล่าวว่า “แต่ละสโมสรได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และมีการรณรงค์เพื่อต่อยอดไปสู่แฟนฟุตบอล และชุมชนต่อไป”

ชัยชนะในการแข่งขันฟุตบอล เป็นวัฏจักรเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่ง ไม่มีใครยิ่งใหญ่ค้ำฟ้าไปตลอดกาล แต่ชัยชนะในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม คือชัยชนะที่ยั่งยืน และจะเป็นชัยชนะร่วมกันของมวลมนุษยชาติ

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : empireofthekop.com

อ้างอิง : 

Categories
Football Business

บทเรียนของ ลิเวอร์พูล จากความผิดพลาดในโศกนาฎกรรม ESL

แม้จะไม่ใช่สโมสรแรกที่ถอนตัวจาก ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก – ESL แต่ ลิเวอร์พูล เป็นสโมสรที่ “ชัดเจน” ที่สุดในบรรดา 6 สโมสรพรีเมียร์ลีกกับแอ็คชั่น “ขอโทษ” ผ่าน VDO เจ้าของทีม จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ แถลงการณ์ยอมรับความผิด และขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น

“ผมต้องการจะขอโทษไปยังแฟนบอล และผู้สนับสนุนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลทุกคนต่อเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้นโดยต้นเหตุเพราะผมในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา”

“มันเกิดขึ้นโดยไม่มีการบอกกล่าว แต่สามารถได้พูดว่าโครงการที่เกิดขึ้นจะดำเนินไปไม่ได้เลย หากปราศจากการสนับสนุนของแฟนบอล ไม่มีใครเห็นต่างไปจากนั้น กว่า 48 ชั่วโมงที่เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันไม่อาจจะเป็นไปได้ เราได้ยินพวกคุณ และผมก็รับฟังพวกคุณ”

“ผมอยากจะขอโทษอีกครั้ง และขอรับผิดชอบต่อผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างไม่จำเป็นช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาแต่เพียงผู้เดียว นี่จะเป็นเรื่องที่ผมไม่มีวันลืม เพราะมันแสดงให้เห็นถึงพลังของแฟนบอลในวันนี้ และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต”

นี่เป็นคำขอโทษผ่านวิธีการที่ดีที่สุด แต่แฟนบอลเองจะมองว่า “จริงใจ” เพียงพอ หรือปล่อยผ่านได้เพียงใดนั้น คือ อีกเรื่องหนึ่ง

เพราะแฟนบอลก็คือ แฟนบอล ซึ่งเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษดังที่เราได้เห็นการต่อสู้ทุกรูปแบบ และมีส่วนไม่มากก็น้อยในการเป็น stakeholders หรือหนึ่งในผู้มีผลประโยชน์ร่วมกับทีมฟุตบอลในการขัดขวางการก่อกำเนิด ESL

-ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ เคยออกมากล่าวอะไรคล้าย ๆ กันแบบนี้มาก่อน ในเหตุการณ์หลังความพยายามจะขึ้นค่าตั๋วในเกมเหย้าสโมสร จากเดิม 59 ปอนด์ ไปเป็น 77 ปอนด์ ส่งผลให้แฟน ๆ ซูป้ายประท้วงในเกมกับ ซันเดอร์แลนด์ ก่อนวอล์กเอาต์ออกนอกสนามเมื่อเกมดำเนินมาถึงนาทีที่ 77 โดยหลังจากนั้น บอร์ดบริหารลิเวอร์พูล ได้แถลงการณ์ขอโทษแฟนบอล และยกเลิกแผนการขึ้นค่าตั๋วที่ว่า ในคราวนั้น จอห์น เฮนรี ก็ได้ออกมาพูดดังนี้

“เราเชื่อว่าเราได้แสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะรับฟังเสียงของแฟนบอลอย่างรอบคอบก่อนพิจารณาจุดยืนของเราใหม่ และดำเนินการทันที ความสัมพันธ์ที่เป็นเอกลักษณ์ และศักดิ์สิทธิ์ระหว่างสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล และบรรดาแฟนบอลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในความคิดของเรา มันแสดงถึงจังหวะการเต้นของหัวใจ ณ สโมสรฟุตบอลที่ไม่ธรรมดาแห่งนี้ ยิ่งกว่าปัจจัยอื่นใดความผูกพันอันนี้คือสิ่งที่ผลักดันให้เราทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในนามของสโมสรต่อไปในอนาคต”

ส่วนอีกครั้งเกิดขึ้นในปีที่แล้วในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่พวกเขาเตรียมจะออกประกาศพักงานลูกจ้างของสโมสรให้ไปรับเงินชดเชย 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากรัฐบาล (Government Job Retention Scheme สมทบทุน 80% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 2,500 ปอนด์ โดยสโมสรจะจ่ายที่เหลือ 20% ให้แรงงานสโมสรพวกเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในหน่วยต่าง ๆ ระหว่างที่ไม่มีเกมการแข่งขัน ในช่วงพักงาน หรือ furlough)

หลายทีมเข้าร่วม นิวคาสเซิล, สเปอร์ส, บอร์นมัธ และนอริช รวมถึงลิเวอร์พูล ที่กลายเป็นว่า หงส์แดงโดนถล่มหนักสุดโดยสโมสรจะจ่ายส่วนต่างที่เหลือให้ครบเต็มจำนวนเงินเดือน ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากการที่มีผลประกอบการมากถึง 533 ล้านปอนด์ในฤดูกาล 2018-19 ตัดสินใจเช่นนั้น จนในที่สุด FSG ก็ยอมถอย และออกมาขอโทษแฟนบอล

“เราเชื่อว่าเราได้ข้อสรุปที่ผิดพลาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการประกาศว่าเราตั้งใจที่จะขอเข้าแผนในการรักษางานจากการระบาดของไวรัสโคโรนา และพักงานสโมสรเนื่องจากการที่พรีเมียร์ลีกมีการพักการแข่ง และเราเสียใจต่อเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ความตั้งใจเดิมของเรา และยังเป็นสิ่งที่เราตั้งใจอยู่ในตอนนี้คือการปกป้องคนงานของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากการที่รายได้จะถูกลด หรือสูญเสียรายได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้”

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เราเห็นว่า ทำไมแฟนบอลจำนวนมาก ยัง “ฝังใจ” การกระทำในเชิงความรับผิดชอบ และทำเพื่อสังคมกับบอร์ดบริหารง่าย ๆ หลังจากเหตุการณ์ ESL จบลง เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาเคยกล่าวไปแล้วว่าจะ “รับฟัง” แฟนบอล แต่การตัดสินใจเข้าร่วมกับอีก 11 ทีมเพื่อก่อตั้งลีกใหม่คราวนี้ พวกเขาไม่ได้ฟังใคร เพราะแม้แต่ เยอร์เกน คล็อปป์ หรือ บิลลี โฮแกน (ซีอีโอ ของสโมสร) ก็ยังไม่รู้เรื่องด้วย (รายชื่อทั้งสองเป็นรายชื่อที่ถูกเอ่ยถึงเพื่อทำการขอโทษอย่างเป็นทางการจาก จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ ด้วย)

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟนบอลที่ยังมี “แผล” ฝังใจจะกลับมาตั้งคำถามถึงจอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ และ เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) อีกครั้ง เพราะการกระทำในครั้งนี้ นอกจากจะไม่ฟังเสียจากแฟนบอล และมองผลประโยชน์เป็นที่ตั้งแล้ว มันยังแสดงออกถึงความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมลูกหนัง และประวัติศาสตร์ของฟุตบอลอังกฤษ และหรือรวมไปถึงธรรมชาติของอุตสาหกรรมฟุตบอลไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดาผู้บริหารทีมจะตัดสินใจผิดพลาดเกี่ยวกับนโยบายสโมสรซึ่งมีให้เห็นบ่อย ๆ เช่น จากการเลือกซื้อนักเตะที่ผิดพลาด การเลือกกุนซือ หรือทีมงาน หรือการทำโปรเจคต์โน้นนี้นั้น

แต่นโยบายการบริหารทีมขั้นสูงสุดขนาดเปลี่ยนโครงสร้าง ปรับโมเดล ผ่านกระบวนการลับ ๆ และมีเบื้องหลังมากมาย ถ้าพลาดแล้ว นอกจากทำลายภาพลักษณ์สโมสร มันยังทำลายความรู้สึกของแฟนบอลอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี ความงดงามของโลกลูกหนังก็คือ การได้เห็นบรรดาแฟนบอลของ ลิเวอร์พูล และนักเตะ (เกิดกับทุก ๆ ทีมในข่าว) กลับยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อต้านแนวคิดของ ESL อย่างชัดเจน เรียกได้ว่าเป็นระดับหัวหอก หรือแกนนำ เฉพาะอย่างยิ่ง จอร์แดน เฮนเดอร์สัน ในฐานะกัปตันทีมของสโมสร ได้ติดต่อหาบรรดากับตันทีมอื่น ๆ ในพรีเมียร์ลีก เพื่อมานั่งพูดคุยเกี่ยวกับกรณีนี้

“เราไม่ชอบสิ่งนี้ และเราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น นี่คือจุดยืนร่วมกันสำหรับเรา สำหรับความมุ่งมั่นทุ่มเทของเราที่มีให้กับสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ และต่อแฟนบอลเป็นสิ่งที่แน่นอน และไม่มีเงื่อนไข” เฮนโด้ ทวีตลงโซเชียลมีเดีย พร้อมกับ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ และเจมส์ มิลเนอร์ ก่อนจะเป็นกระแสตามมาทั่วโลกซึ่งแน่นอนมีผลถึง stakeholders สำคัญอื่น ๆ เช่น สเปอนเซอร์ ที่เริ่มออกมาแสดงจุดยืนจะ “ผงะ” จาก ESL 

โดยทาง มิลลี เองก็ถูกถามหลังเกมที่เสมอกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด เกี่ยวกับประเด็นนีอีกครั้ง และเขาก็ไม่เลี่ยงที่จะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

“ผมไม่ชอบเลย และหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น” มิลเนอร์ตอบสกาย สปอร์ตส์ “ผมพูดได้แค่เฉพาะมุมมองของผมเอง ผมไม่ชอบ และหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ผมจินตนาการได้เลยว่าความเห็นจะออกมาเป็นอย่างไร และผมก็อาจจะเห็นด้วยกับหลาย ๆ ความเห็น”

ด้าน เยอร์เกน คล็อปป์ ก็เป็นคนแรก ๆ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นสวนทางกับ จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ แม้จะไม่สามารถพูดอะไรได้มากนักก็ตาม แต่ก็ถือว่า พูดไป “กลืนเลือด” ไปชัดเจน

“สิ่งหนึ่งที่ผมเข้าใจ และคนอื่น ๆ คิดว่าไม่ถูกต้อง คือ (ESL) มันไม่มีการแข่งขัน ผมชอบความจริงที่ว่า เวสต์แฮมฯ อาจได้เล่น แชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาลหน้า ซึ่งผมไม่ต้องการแบบนั้น เพราะผมต้องการให้พวกเราอยู่ที่นั่น แต่สิ่งที่ผมชอบคือพวกเขามีโอกาส” คล็อปป์ กล่าวก่อนเกมกับ ลีดส์

บรรดานักฟุตบอล และแฟนบอลของ ลิเวอร์พูล ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน หาใช่เพราไม่ได้ชอบเม็ดเงินที่จะได้จากการแข่งขัน หากแต่เข้าใจธรรมชาติ และวัฒนธรรมของฟุตบอลซึ่งยึดโยงกับคน “ทุกกลุ่ม” หาใช่เพียง “กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” เท่านั้น 

ดังนั้น คำขอโทษของ จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี ในฐานะเจ้าของทีมที่ออกมา อาจจะช่วยให้เหล่าแฟน ๆ เย็นลงได้บ้าง แต่แน่นอนว่า มันคนละเรื่องกับการ “ให้อภัย” หรือ “ไว้ใจ”

นี่จึงกลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญอีกครั้งที่ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี้ และเอาเข้าจริง ๆ แล้วก็คือ ผู้บริหารทุกสโมสรใหญ่ที่คิดมานานแล้ว หรือคิดมาตลอดจะ “ก่อการ” ตั้งแต่ยูโรเปี้ยน คัพ มายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มา G14 กระทั่งถึง ESL จะต้องเรียนรู้ สำเหนียก และใส่ใจให้มาก 

เพราะหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ถ้าจะมีความผิดพลาดอันเกิดมาจากการไม่ใส่ใจ ไม่รับฟัง หรือเห็นแก่ผลประโยชน์มากเกินไปซ้ำอีกล่ะก็ กระแสอาจกระหน่ำใส่ FSG และจอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ จนเกินกว่าจะรับไหวก็ได้

ที่สำคัญต้องอย่าลืมว่า เมื่อใดก็ตามที่แฟนบอลหันหลังให้ เมื่อนั้นต่อให้มีเงินมากมายเพียงใด ก็ไม่อาจซื้อความเชื่อใจกลับคืนมาได้

Categories
Football Business

มอง…การช่วยเหลือของ ‘พรีเมียร์ลีก’

หากพอจะจำกันผมเคยเขียนถึง “โปรเจคต์ Big Picture” ที่ “พรีเมียร์ลีก” วางแผนจะช่วย “ฟุตบอลลีก” จากพิษโควิด-19 เป็นเงินเบื้องต้น 250 ล้านปอนด์ และเป็นข่าวดังเมื่อเดือน ต.ค.แล้วต้องล้มพังพาบมาแล้วเพราะสโมสรสมาชิกปฏิเสธจะเดินตามแผนของ 2 ทีมตั้งต้น: ลิเวอร์พูล และแมนฯยูไนเต็ด

(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง “โปรเจคต์ Big Picture” นะครับ https://bit.ly/2Ic0LGk)

ครั้งนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พรีเมียร์ลีก และฟุตบอลลีกอังกฤษ (อีเอฟแอล) ได้เห็นชอบให้จัดสรรเงินกู้ 250 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือบรรดาสโมสรในลีกระดับล่าง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แบบไม่มี hidden agenda ใด ๆ กับการปรับโครงสร้างพรีเมียร์ลีก หรือจะยุบถ้วย คอมมิวนิตี้ ชิลด์, ลดจำนวนทีมในพรีเมียร์ลีก ฯลฯ

รวมความแล้วก็ต้องบอกครับ “ซะที!” หลังตั้งแต่เดือน มี.ค.ไม่ได้มีแฟนบอลเข้าสนามกระทั่งสุดสัปดาห์นี้ในบางสเตเดี้ยม และบางพื้นที่ของประเทศได้ถูกอนุมัติให้แฟนบอลส่วนหนึ่งเข้าชมได้ อันหมายถึง “รายได้” จากการเก็บค่าผ่านประตูนั้นหายไป และอื่น ๆ จาก แมตช์เดย์ เช่น ขายของที่ระลึก ฯลฯ ก็หายไปเพียบ

การช่วยเหลือครั้งนี้ของพรีเมียร์ลีกสู่ทีมในลีกรอง ๆ อย่างน้อยจึงช่วย “ต่อท่อ” อ๊อกซิเจนได้บ้างครับ—

โครงการนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ?

นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทุกสโมสรในอังกฤษ ขาดรายได้จากตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางอีเอฟแอล เคยปฏิเสธเงินช่วยเหลือ 50 ล้านปอนด์จากพรีเมียร์ลีกมาแล้ว เพราะมองว่ามันน้อยเกินไป (ต.ค.2020)

ต่อมาในเดือนเดียวกัน สโมสรยักษ์ใหญ่ในพรีเมียร์ลีก นำโดยลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 2 ทีมคู่ปรับตลอดกาล ได้มีแนวคิดปรับโครงสร้างฟุตบอลลีกอังกฤษ หรือ Project Big Picture

ซึ่งในแนวคิด Project Big Picture มีข้อเสนออยู่ข้อหนึ่ง คือ จะให้เงิน 250 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือทีมในลีกล่าง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ท้ายที่สุด พรีเมียร์ลีกไม่ตอบรับข้อเสนอนี้ เพราะกระแส “ต่อต้าน” นั้นแรงมาก• มาถึงเดือนพฤศจิกายน สโมสรในลีกวัน และลีกทู ได้ “ตกลงในหลักการ” เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากพรีเมียร์ลีก หลังจากได้รับข้อมูลว่า มีสโมสรสมาชิกของอีเอฟแอล ประมาณ 10 ทีม ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างนักเตะ

ถึงแม้จะมีการเริ่มต้นปลดล็อก ให้แฟนฟุตบอลเข้ามาชมเกมในสนาม ตามความเสี่ยงการแพร่ระบาดของแต่ละพื้นที่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ ทำให้แต่ละสโมสรยังคงไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายได้ในเร็ววัน

จนกระทั่งการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดบริหารของอีเอฟแอล และสโมสรสมาชิกพรีเมียร์ลีก ได้อนุมัติข้อตกลงการช่วยเหลือสโมสรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเงินกู้จำนวน 250 ล้านปอนด์ เสริมจากทางรัฐบาลอังกฤษ เตรียมช่วยเหลือเงินเพิ่มเติมอีก 300 ล้านปอนด์ (แต่ไม่ได้ให้กับฟุตบอลอาชีพชาย) ให้กับฟุตบอลหญิง, ฟุตบอลนอกลีกอาชีพ และกีฬาประเภทอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาด้วยเช่นเดียวกัน

เงินจำนวนนี้ จัดสรรอย่างไร ?

ทั้งพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล จะช่วยกันระดมทุน 250 ล้านปอนด์ เพื่อเป็นเงินกู้ โดยจะแบ่งให้ลีกแชมเปี้ยนชิพ 200 ล้านปอนด์ และลีกวัน รวมกับลีกทู อีก 50 ล้านปอนด์ ในส่วนของลีกแชมเปี้ยนชิพ จะแบ่งเงินให้ทั้ง 24 สโมสรเท่าๆ กัน หรือเฉลี่ยได้ทีมละ 8.33 ล้านปอนด์ เป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย และกำหนดชำระคืนภายในเดือนมิถุนายน 2024 สำหรับอีก 48 สโมสร ในลีกวัน และลีกทู เงินกู้จำนวน 50 ล้านปอนด์นี้ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 กอง

กองที่ 1 จำนวน 30 ล้านปอนด์ เป็นค่าชดเชยรายได้จากการไม่มีผู้เข้าชมการแข่งขันในฤดูกาล 2019-20 และ 2020-21 แบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วน- 24 ทีมในลีกวัน จะได้รับเงินกู้อย่างน้อยทีมละ 375,000 ปอนด์ (รวม 9 ล้านปอนด์)- 24 ทีมในลีกทู จะได้รับเงินกู้อย่างน้อยทีมละ 250,000 ปอนด์ (รวม 6 ล้านปอนด์)- เงินกู้อีก 15 ล้านปอนด์ที่เหลือ จะคำนวณจากส่วนแบ่งรายได้ของค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันที่หายไป

กองที่ 2 จำนวน 20 ล้านปอนด์ จะเก็บไว้สำหรับสโมสรที่ต้องการชดเชยค่าเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และกำหนดคุณสมบัติสำหรับสโมสรที่เข้าร่วมต่อไป

โดยบรรดาสโมสรในลีกล่างทั้ง 3 ลีก ที่ได้รับเงินกู้นั้น จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเรื่องการซื้อตัวผู้เล่น และการจ่ายค่าจ้างของผู้เล่นด้วย

ริค แพร์รี่ (อดีต CEO ลิเวอร์พูล และหัวโจกในการแอบชนดีล Big Picture ตั้งแต่ ค.ศ.2017) ประธานอีเอฟแอล หวังว่าโครงการดังกล่าว จะช่วยให้สโมสรเหล่านี้อยู่รอดได้ หลังจากได้รับผลกระทบทางการเงิน เพราะการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ที่กินเวลามานานหลายเดือน

ขณะที่ ริชาร์ด มาสเตอร์ส ประธานบริหารพรีเมียร์ลีก เผยว่ารู้สึกยินดีที่ลีกระดับสูงสุดของอังกฤษ ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสโมสรระดับลีกรองลงมา ไม่ให้ล้มละลาย อันเนื่องมาจากโควิด-19

ผมเขียนเรื่องนี้ทำไม?

นี่ก็เพราะ ขนาดลีกอาชีพแบบมาตรฐาน เช่น ลีกอังกฤษ ยังไม่ไหว ไปจะไม่รอด ในปีโควิด-19 รัฐบาลผู้ดีซึ่ง “กดดัน” พรีเมียร์ลีกซึ่งยังคงมีรายได้หลักอยู่จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทีวี จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะ 300 ล้านปอนด์ก็ไม่ได้ตกมาสู่ฟุตบอลอาชีพชาย ลีกรอง ๆ จึง “ควานหา” รายได้ยากเหลือเกินครับ และการได้เงินช่วยเหลือแม้จะให้ยืมในครั้งนี้จึงถือว่ามีค่าอย่างมากให้ต่อลมหายใจ

ในมุม Football Business ที่น่าสนใจ คือ อุตสาหกรรมอื่นจะไม่มีทางให้ “หยิบยืม” ช่วยเหลือกันแบบพรีเมียร์ลีก ช่วยเหลือทีมรองในลีกล่าง ๆ แบบนี้ เพราะมีแต่จะ “ถีบส่ง” คู่แข่งทั้งน้อยใหญ่ให้ร่วงจมธรณี และเจ๊งชัยกันไป เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดคนเดียว และครองความยิ่งใหญ่คนเดียว• แต่ฟุตบอลเตะกันเองดูกันเองไม่ได้ ฟุตบอลจำเป็นต้องมีคู่แข่ง มีลีก และต้องแข่งขันกันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อพอประมาณไม่ใช่ “ผูกขาด” แค่ไม่กี่ทีม หรือคาดเดาผลแข่งขันได้ง่าย การช่วยเหลือครั้งนี้จึงเกิดขึ้น และเป็นกรณีศึกษาสำคัญในปีลำบาก ๆ แบบนี้ และเป็นการช่วยเหลือที่ไม่เพียงต่อลมหายใจให้หลายทีม หรือ 10 ทีมโดยประมาณที่กำร่อแร่ (จริง ๆ คงมากกว่านั้นเยอะ) ทว่ายังเป็นการช่วยประคองไม่ให้ “ลีกรอง ๆ” ถึงขั้นล่มสลายอันจะมี “ปัญหา” อีกมากมายตามมาด้วยครับ#ไข่มุกดำ✍ และ #ทีมไข่มุกดำ เรียบเรียง