Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

ทนอดและอดทน : “พรีเมียร์ลีก” กับแนวทางช่วยเหลือแข้งมุสลิมช่วงเดือนรอมฎอน

ในทุกๆ ปี ชาวมุสลิมหลายล้านคนทั่วโลก จะมีช่วงเวลาที่ต้องปฏิบัติภารกิจถือศีลอดเป็นเวลา 29-30วัน หรือที่เรียกกันว่าเดือน “รอมฎอน” ที่ถือเป็น 1 ใน 5 หลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม

แน่นอนว่า ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกก็มีนักเตะที่เป็นชาวมุสลิมอยู่ไม่น้อย โปรแกรมการแข่งขันบางแมตช์ที่อยู่ในช่วงเดือนรอมฏอน ทำให้นักเตะเหล่านี้อาจจำเป็นต้องละศีลอดระหว่างเกม

แล้ววงการฟุตบอลอังกฤษ มีแนวทางการช่วยเหลือนักเตะเหล่านี้อย่างไร วันนี้ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

Eid Mubarak celebration- Calligraphy Stylish Lettering Ramadan Kareem Text with Mosque. Vector illustration.

ทำความรู้จักกับ “รอมฎอน”

คำว่า “รอมฏอน” หมายถึง เดือนที่ 9 ตามปฏิทินฮิจเราะห์ หรือปฏิทินทางจันทรคติของศาสนาอิสลาม ในภาษาไทยมักจะเรียกกันว่า “เดือนบวช” ถือเป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในรอบปีของชาวมุสลิมเลยทีเดียว

สาเหตุที่เดือนรอมฏอน คือเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในรอบปี เนื่องจากมีความเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานพระคัมภีร์อัลกุรอานลงมาให้แก่นบีมูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม เพื่อชี้นำทางให้ชาวมุสลิมทั่วโลก

ซึ่งข้อปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งในเดือนรอมฏอน คือการถือศีลอด ซึ่งไม่ใช่แค่การงดอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่รวมถึงการละเว้นข้อห้ามต่างๆ ในช่วงเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนถึงพระอาทิตย์ตกดิน 

สาระสำคัญของการถือศีลอดนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้ชาวมุสลิมได้ตระหนักถึงความยากลำบาก รู้จักอดทนอดกลั้น เรียนรู้การยับยั้งต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ทั้งความหิวโหย และความลุ่มหลงต่าง ๆ เป็นการฝึกจิตใจให้สูงขึ้น

การประกาศวันที่ 1 ของเดือนรอมฏอนในแต่ละปีนั้นไม่เหมือนกัน ผู้นำศาสนาของแต่ละท้องถิ่น จะกำหนดจากการสังเกตวันที่ปรากฎดวงจันทร์เสี้ยวเป็นครั้งแรกหลังจากคืนเดือนมืด และนับไปจนครบ 29-30 วัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เดือนรอมฏอนจะตรงกับช่วงฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ ทำให้ช่วงเวลากลางวันยาวนานขึ้น นั่นหมายความว่าในบางประเทศ อย่างเช่น นอร์เวย์ ต้องถือศีลอดนานถึงวันละ 20 ชั่วโมง 

สำหรับเดือนรอมฎอนในปี 2022 ของสหราชอาณาจักร จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม ถือศีลอดวันละ 15 ชั่วโมงครึ่ง ตั้งแต่ช่วงระหว่าง 04.00 – 05.00 น. จนถึงช่วงระหว่าง 19.30 – 20.30 น.

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/officialcpfc

ความท้าทายของนักฟุตบอล

การที่นักฟุตบอลอาชีพชาวมุสลิม ต้องงดเว้นจากการกินอาหารหรือดื่มช่วงเวลากลางวันเป็นเวลา 30 วัน ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับพวกเขา ในการรับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้

ในฤดูกาลที่แล้ว ได้มีข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการระหว่างกัปตันทีมของแต่ละสโมสร ที่จะอนุญาตให้พักช่วงสั้นๆ ในช่วงเวลาที่ลูกฟุตบอลออกจากสนาม เพื่อให้ผู้เล่นมุสลิมละศีลอดระหว่างแข่งขัน

เมื่อเดือนเมษายน 2021 เกมพรีเมียร์ลีกคู่ระหว่างเลสเตอร์ ซิตี้ กับคริสตัล พาเลซ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในนาทีที่ 35 ได้มีการหยุดเกมชั่วคราว เพื่อให้เวสลี่ย์ โฟฟาน่า และชีคคู คูยาเต้ ได้รับประทานอาหาร

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/lcfc

แมตช์ดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ ที่มีการพักเบรกชั่วคราวระหว่างแข่งขัน เพื่อให้นักเตะมุสลิมละศีลอดก่อนพระอาทิตย์ตกดินในช่วงเดือนรอมฏอน และมีอีกหลายแมตช์ที่ทำตาม

นักฟุตบอลชาวมุสลิม มีหน้าที่ต้องรักษามาตรฐานการเล่นที่ดี พร้อมกับการถือศีลอด แน่นอนว่าสิ่งนี้ส่งผลในด้านจิตใจด้วยเช่นกัน อย่างที่โคโล ตูเร่ เคยเผชิญกับความท้าทายนี้มาแล้วช่วงที่ค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก

อดีตเซ็นเตอร์แบ็กชาวไอเวอรี่ โคสต์ วัย 41 ปี ที่ปัจจุบันเป็นทีมงานสตาฟฟ์โค้ชให้กับเลสเตอร์ ซิตี้ กล่าวว่า “ผมคิดว่าการไม่ดื่มเครื่องดื่มใด ๆ เข้าไปในร่างกายของคุณนั้น เป็นเรื่องที่ยากที่สุดในฐานะนักฟุตบอลแล้ว”

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/lcfc

“ทันทีที่คุณเริ่มต้นถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ช่วง 1-2 วันแรก จนถึงสัปดาห์แรก มันเป็นอะไรที่ยากมาก ๆ แต่หลังจากนั้นร่างกายของคุณก็จะชินกับมัน และคุณจะไม่ได้เริ่มคิดถึงเรื่องการดื่มน้ำด้วยซ้ำ”

“ถ้าคุณไม่ทำตามหลักศาสนาอิสลามในเดือนรอมฎอน คุณจะรู้สึกว่าอ่อนแอ เพราะในทางจิตใจ คุณรู้สึกว่าไม่ได้เข้าถึงหลักคำสอนของพระอัลเลาะห์ และนั่นจะทำให้คุณเล่นฟุตบอลได้ไม่ดีเท่าที่ควร”

อุปสรรคใหญ่ที่สุดของนักเตะที่ต้องถือศีลอด คือการวางแผนเตรียมตัวที่ไม่ดีพอ แต่ถ้าหากมีการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม ถึงแม้จะต้องอดอาหารมากกว่า 10 ชั่วโมง ก็แทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเล่นฟุตบอลเลย

อาชีพกับความเชื่อ ต้องไปด้วยกัน

การที่นักฟุตบอลมุสลิมต้องถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน วงการฟุตบอลอังกฤษจึงได้หาแนวทางในการช่วยเหลือนักเตะเหล่านี้ เพื่อให้สามารถรักษาฟอร์มการเล่นที่ดี ควบคู่ไปกับความเชื่อตามหลักอิสลาม

Muslim Chaplains in Sport (MCS) เป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองจากพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โดยทำงานร่วมกับสโมสรฟุตบอลอาชีพทั้ง 92 แห่ง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมมุสลิม 

ขอบคุณภาพจาก : https://mcst.org.uk

MCS มีหน้าที่ให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้คำแนะนำกับสโมสรที่มีนักเตะมุสลิม เช่น การเลื่อนเวลาถือศีลอด เพื่อไม่ให้กระทบต่อฟอร์มการเล่นทั้งในการฝึกซ้อมและระหว่างการแข่งขัน

อิสมาอิล บัมจี ผู้ก่อตั้ง MCS กล่าวว่า “แม้ว่าจะไม่มีกฎเกณฑ์ของอิสลามสำหรับนักกีฬา แต่เราได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาได้รับการยกเว้นไม่ต้องถือศีลอด ถ้าต้องเดินทางไกลหรือเจ็บป่วย”

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐานในเดือนรอมฎอน สมาชิกขององค์กรผู้ตัดสินอาชีพอังกฤษ หรือ PGMOL ก็ได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปที่นำโดย Nujum Sports องค์กรที่คอยช่วยเหลือนักกีฬามุสลิมทั่วโลก

Nujum Sports ได้คิดค้นกฎบัตรนักกีฬามุสลิม และได้ส่งชุดของขวัญให้กับนักกีฬาชายและหญิงชาวมุสลิมมากถึง 270 คน รวมถึงนักฟุตบอลประมาณ 180 คนจากพรีเมียร์ลีก ไปจนถึงนอกลีกอาชีพ

โดยชุดของขวัญดังกล่าว ถูกเปิดตัวในงานอีเวนต์ที่กรุงลอนดอน เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งภายในชุดของขวัญประกอบด้วย ปฏิทิน, น้ำศักดิ์สิทธิ์ซัมซัม, เสื่อละหมาด และน้ำหอม

ทรอย ทาวน์เซนด์ หัวหน้าองค์กรการกุศลต่อต้านการเลือกปฏิบัติ หรือ “Kick It Out” กล่าวว่า “Nujum ทำได้ดีมากในการปลุกจิตสำนึกของชาวมุสลิมให้เข้าใจหลักศาสนา และสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญในเดือนรอมฎอน”

นักฟุตบอลอาชีพ ที่ถึงแม้จะต้องใช้ร่างกายอย่างหนัก แถมต้องเจอกับความยากลำบากตลอดระยะเวลา 30 วันในช่วงเดือนรอมฏอน แต่พวกเขาก็ไม่ยอมละทิ้งหน้าที่การเป็นศาสนิกชนที่ดี

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : BBC

อ้างอิง :

https://www.bbc.com/sport/football/60823257

https://www.bbc.com/news/explainers-56695447

– https://www.bbc.com/thai/international-60970014

– https://www.liverpoolfc.com/news/first-team/139212-how-we-prepare-players-for-ramadan

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.