Categories
Football Business

นโยบาย “อายุน้อย สัญญายาว” ของเชลซี ในยุคท็อดด์ โบห์ลี่ย์

ตลาดซื้อขายนักเตะเดือนมกราคม ปี 2023 เริ่มมาได้เพียง 1 สัปดาห์ ก็มีข่าวที่น่าฮือฮาของ “เชลซี” หลังคว้าตัว เบอนัวต์ บาเดียชิล กองหลังดาวรุ่งวัยย่าง 22 ปี จากโมนาโก ด้วยค่าตัว 35 ล้านปอนด์

โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ บาเดียชิล ตกลงเซ็นสัญญายาวถึง 7 ปีครึ่ง หรือสิ้นสุดช่วงซัมเมอร์ปี 2030 ท่ามกลางคำถามที่ตามมาว่า คุ้มเสี่ยงหรือไม่ กับการที่สโมสรเลือกที่จะผูกมัดสัญญานักเตะยาวๆ แบบนี้

บาเดียชิล เป็นหนึ่งในนักเตะใหม่ “สิงห์บูลส์” ที่เซ็นสัญญามากกว่า 5 ปี ซึ่ง ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ เจ้าของทีม ได้นำแนวคิดเรื่องสัญญากีฬาอาชีพในสหรัฐอเมริกามาใช้ ไข่มุกดำ จะมาขยายประเด็นนี้ให้ฟัง

โมเดลอเมริกัน แก้ปัญหา FFP

โดยทั่วไปแล้ว สัญญาของนักฟุตบอลอาชีพในลีกอังกฤษ มักจะกำหนดระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี แต่เมื่อท็อดด์ โบห์ลี่ย์ เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรเชลซี ก็ได้วางนโยบายใหม่เรื่องสัญญาทั้งนักเตะใหม่ และนักเตะเก่า

นโยบายใหม่ของโบห์ลี่ย์ คือ “ให้ผู้เล่นที่อายุไม่เกิน 25 ปี ทำสัญญากัน 6 – 7 ปี” ซึ่งเป็นการนำแนวคิดเรื่องสัญญาระยะยาวของกีฬาอาชีพในสหรัฐอเมริกามาใช้ เพื่อรั้งนักเตะอายุน้อยฝีเท้าดีให้อยู่กับสโมสรไปนานๆ

ตลาดนักเตะเชลซี ในยุคของโบห์ลี่ย์ ได้คว้าตัวแข้งอายุต่ำกว่า 25 ปี และมอบสัญญายาว 6 – 7 ปี มาแล้ว 5 คน คือ มาร์ค คูคูเรย่า, คาร์นี่ย์ ชุควูเมก้า, เวสลี่ย์ โฟฟาน่า, เซซาเร่ คาซาเด และเบอนัวต์ บาเดียชิล คือรายล่าสุด

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

เมื่อรวมกับนักเตะรายอื่นๆ ในฝั่งขาเข้า ทำให้โบห์ลี่ย์ ใช้เงินรวม 2 รอบตลาด ทะลุ 300 ล้านปอนด์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งยอดใช้จ่ายที่มากขนาดนี้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP)

อย่างไรก็ตาม ฝั่งขาออกก็ได้ปล่อยนักเตะไปมากกว่า 10 ราย เพื่อปรับสมดุลของงบการเงิน โดยไม่ให้ขัดกับกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ อย่างเช่น ติโม แวร์เนอร์, เอเมอร์สัน, บิลลี่ กิลมัวร์ เป็นต้น

โมเดลสัญญาระยะยาวของโบห์ลี่ย์ ช่วยให้เชลซีลดต้นทุนในการเซ็นสัญญานักเตะใหม่ และต่อสัญญานักเตะเก่า ซึ่งอาจช่วยให้สโมสรใช้เงินซื้อนักเตะใหม่ได้มากขึ้น โดยไม่ผิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์

รู้ว่าเสี่ยง แต่เป็นผลดีกับนักเตะ

ก่อนที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์เชลซี ท็อดด์ โบห์ลี่ย์เคยมีประสบการณ์การบริหารทีมกีฬา ด้วยการเป็นหุ้นส่วนของสโมสรเบสบอลลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส ในลีก MLS เมื่อปี 2013 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ในยุคที่โบห์ลี่ย์เข้ามาบริหารลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส ได้พลิกฟื้นทีมจากความตกต่ำให้กลับมายิ่งใหญ่ ด้วยการคว้าแชมป์กลุ่มตะวันตก 8 ครั้ง, แชมป์เนชั่นแนล ลีก 3 ครั้ง และแชมป์เวิลด์ ซีรี่ส์ ในปี 2020

ดร. แดน พลัมลี่ย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน วิเคราะห์ว่า แม้แนวคิดสัญญาระยะยาวของเจ้าของทีมสิงห์บูลส์จะมีความเสี่ยง แต่ก็จะทำให้นักเตะลดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตการค้าแข้งในสโมสรได้ไม่น้อย

“สำหรับนักฟุตบอลดาวรุ่งแล้ว พวกเขาจะให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากที่สุด มันทำให้นักเตะอายุน้อยหลายๆ คน มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองในระยะเวลาที่นานขึ้น” ดร. พลัมลี่ย์ กล่าวกับ Football Insider

“ด้วยโมเดลสัญญานักกีฬาแบบอเมริกัน เป็นการชี้ให้เห็นถึงภูมิหลังของโบห์ลี่ ในกีฬาอเมริกัน เขาสามารถใช้กลยุทธ์นี้ ในการลงทุนเพื่อพัฒนานักเตะดาวรุ่ง ซึ่งเป็นผลดีอย่างแท้จริงสำหรับเชลซี”

“แต่สิ่งที่ต้องคิดสำหรับเชลซีคือ วงการฟุตบอลในยุคปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ คำถามคือ พวกเขาจะจัดการผลลัพธ์ระยะสั้น ให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวได้อย่างไร ?”

แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เห็นว่าดี

นโยบายที่ให้นักเตะอยู่กับสโมสรใดสโมสรหนึ่งในระยะยาว มีมุมบวกอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว กระนั้น ก็มีอีกมุมหนึ่งที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า การเสี่ยงเซ็นสัญญานักเตะยาวหลายปี อาจไม่ใด้เป็นเรื่องที่ดีเสมอไป

เมื่อเชลซี ประกาศคว้าตัวเบอนัวต์ บาเดียชิล ได้มีความเห็นส่วนหนึ่งของแฟนบอลบนโลกออนไลน์ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเซ็นสัญญานักเตะรายนี้ ในทำนองว่า “สัญญา 7 ปีครึ่ง มันบ้าเกินไปแล้ว”

ส่วนแฟนบอลทีมอื่นๆ อย่างเช่นแฟนบอลแอตเลติโก้ มาดริดรายหนึ่ง คอมเมนท์ว่า “ซาอูล นิเกซ เซ็นสัญญาใหม่นาน 9 ปี ตอนแรกยังเล่นดีอยู่เลย ตอนนี้เหลือสัญญาอีกถึง 3 ปีครึ่ง ยังต้องเจอกับความเสี่ยงต่อไป”

ด้านแฟนบอลเวสต์แฮม ยูไนเต็ดรายหนึ่ง เสริมว่า “เราเคยทำแบบนี้มาแล้วในอดีตกับแอนดี้ แคร์โรลล์ และวินสตัน รีด ทั้งคู่ต่อสัญญายาวคนละ 6 ปี แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่”

และไม่ใช่แค่ผู้เล่นเท่านั้น ยังมีผู้จัดการทีมอย่างอลัน พาร์ดิว เมื่อปี 2012 ที่ประกาศต่อสัญญาคุมทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ยาวถึง 8 ปี แต่อยู่ได้เพียง 2 ปี ก็ลาออกไปคุมทีมคริสตัล พาเลซ

การนำแนวคิดสไตล์อเมริกันของท็อดด์ โบห์ลี่ย์ จะพาเชลซีไปในทิศทางไหน และผลงานในสนามซีซั่นแรกของการเป็นเจ้าของทีมจะเป็นอย่างไร นี่คือคำถามที่แฟนบอลจะได้ทราบคำตอบในอีกไม่นานนี้

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11116957/New-Chelsea-owner-Todd-Boehly-looking-implement-style-contract-policy-club.html

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11603161/Chelseas-decision-hand-Benoit-Badiashile-seven-half-year-deal-called-absolutely-INSANE.html

– https://www.cityam.com/heres-why-chelsea-could-benefit-from-handing-33m-signing-badiashile-a-mammoth-seven-year-contract/

– https://www.footballinsider247.com/chelsea-stars-thrilled-as-seven-year-deal-on-the-cards-finance-guru/

– https://boardroom.tv/benoit-badiashile-chelsea-contract/

Categories
Special Content

“ราฮีม สเตอร์ลิ่ง” เลือกเขียนชีวประวัติบทที่ 3 กับ “เชลซี”

ด้วยวัย 27 ปี ราฮีม สเตอร์ลิ่ง กำลังเริ่มต้นประวัติบทใหม่ในช่วงพีคของอาชีพค้าแข้งกับ เชลซี หลังจากใช้เวลา 11 ปีร่วมกับ ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ นับเป็นนักเตะน้อยรายที่ได้เล่นเกมระดับซีเนียร์กับยักษ์ใหญ่พรีเมียร์ลีกถึงสามทีม โดยเฉพาะกับทีมเรือใบสีฟ้า ซึ่งเขากวาดเหรียญชนะเลิศระดับเมเจอร์มากมายยกเว้นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซึ่งพลาดให้ทีมสิงโตน้ำเงินคราม

ราฮีม สเตอร์ลิ่ง เป็นนักเตะใหม่รายที่สองของเชลซีในตลาดรอบนี้ถัดจาก เอ็ดดี้ บีช นายทวารจากเซาแธมป์ตัน แต่ถือเป็นสตาร์ใหญ่คนแรกในยุค ท็อดด์ โบห์ลีย์ เจ้าของสโมสรคนใหม่ชาวอเมริกัน เขาเซ็นสัญญาห้าปีบวกอ็อปชั่นปีที่หก รับค่าเหนื่อยเท่ากับที่ซิตี้จ่ายให้คือ 3 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์ ย้ายเข้าสแตมพอร์ด บริดจ์ ด้วยค่าตัว 47.5 ล้านปอนด์ (ยังไม่รวมแอดออน 2.5 ล้านปอนด์) เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับ 44 ล้านปอนด์ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อมาจากลิเวอร์พูลช่วงซัมเมอร์ปี 2015

หลังผ่านการตรวจสภาพร่างกาย สเตอร์ลิ่งเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปสมทบกับเพื่อนร่วมทีมใหม่ที่เก็บตัวปรีซีซั่นอยู่ในลอส แอนเจลีส โดยลูกทีมของโธมัส ทูเคิล มีคิวอุ่นเครื่องกับคลับ อเมริกา ในวันเสาร์ที่ 16กรกฎาคม, ชาร์ลอตต์ เอฟซี ในวันพุธที่ 20 ที่เมืองชาร์ลอตต์ และ อาร์เซนอล ในวันเสาร์ที่ 23

ก่อนเซ็นสัญญากับเชลซีไม่กี่วันเคยมีข่าวโคมลอยว่า ลิเวอร์พูลสนใจอยากได้อดีตปีกดาวรุ่งกลับไปเล่นในแอนฟิลด์อีกครั้ง ซึ่งกระแสถูกจุดและดับลงอย่างรวดเร็วเพราะสวนทางกับข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากเชลซีเป็นทีมเดียวที่เปิดโต๊ะเจรจากับทีมเรือใบสีฟ้าอย่างจริงจัง ส่วนลิเวอร์พูลก็จบภารกิจตลาดรอบนี้ไปแล้ว

แต่บางส่วนของข่าวนั่งเทียนเขียนช่วยเตือนความจำว่า สเตอร์ลิ่งไม่มีโทรฟี่ติดมือระหว่างชีวิตสี่ปีในแอนฟิลด์ แต่นั่นไม่ได้เป็นแรงจูงใจให้เขาต้องกลับไปไขว่คว้าความสำเร็จกับลิเวอร์พูล เพราะเท่าที่ผ่านมาก็มีความทรงจำที่ดีส่วนตัวมากพอสมควร

ชีวิตสองบทแรก 11 ปี กับ “ลิเวอร์พูล” และ “แมนฯซิตี้”

เด็กชายราฮีม แชคีลล์ สเตอร์ลิ่ง เกิดในประเทศจาเมกา และหลังจากคุณพ่อเสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรมสามปี คุณแม่คือ นาดีน คลาร์ก อดีตนักกรีฑาทีมชาติ ซึ่งสเตอร์ลิ่งเชื่อว่าสไตล์วิ่งของเขาเป็นดีเอ็นเอที่ตกทอดมาจากคุณแม่ ได้อพยพมาอยู่นีสเดน กรุงลอนดอน ขณะที่เขาอายุห้าขวบ

บนเส้นทางกีฬาฟุตบอล สเตอร์ลิ่งเล่นให้ทีมเยาวชนท้องถิ่น อัลฟา แอนด์ โอเมกา เป็นเวลาสี่ปีก่อนเซ็นสัญญากับ ควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส ตอนอายุสิบขวบ ลงสนามตำแหน่งปีก เขาได้รับความสนใจจากแมวมองของอะคาเดมี่ อาร์เซนอล, เชลซี, ฟูแลม, ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่เพราะคำแนะนำของคุณแม่ที่ไม่อยากให้เขาเลือกสโมสรละแวกเมืองหลวงเพื่อหลีกเลี่ยงเข้าไปพัวพันกับแก๊งค์อันธพาลท้องถิ่น นั่นจึงทำให้สเตอร์ลิ่ง ซึ่งขณะนั้นอายุ 16 ปี ย้ายไปอยู่กับ ลิเวอร์พูล ในเดือนกุมภาพันธ์ 2010 ด้วยค่าตัว 450,000 ปอนด์

ในปีนั้นเอง สเตอร์ลิ่งเริ่มไต่ระดับจากทีมเยาวชน ลงแข่งขันนัดแรกให้ลิเวอร์พูล ยู-18 ในดาร์บี้แมตช์กับเอฟเวอร์ตัน ส่วนเกมแรกในพรีเมียร์ อะคาเดมี่ ลีก เป็นนัดเสมอแอสตัน วิลล่า 2-2 เขายังทำได้ถึงห้าตุงในนัดถล่มเซาธ์เอนด์ 9-0 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2011

24 มีนาคม 2012 สเตอร์ลิ่งถูกโปรโมทขึ้นมาเล่นทีมซีเนียร์เป็นครั้งแรก ลงเป็นตัวสำรองในเกมพรีเมียร์ลีกกับวีแกน ตอนนั้นเขาอายุ 17 ปี 107 วัน เป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์สโมสร จนกระทั่งวันที่ 23 สิงหาคมปีเดียวกัน เขาเป็นตัวจริงนัดแรกในรอบคัดเลือกยูโรปา ลีก ซึ่งลิเวอร์พูลชนะ 1-0 ในบ้านของฮาร์ทส์ และอีกสามวันต่อมา ลงตัวจริงเกมพรีเมียร์ลีก เสมอแมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2-2 ในแอนฟิลด์

ด้วยฟอร์มเจิดจรัสเกินวัย ลิเวอร์พูลรีบจับสเตอร์ลิ่งต่อสัญญาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2012 และเขายังฉายแสงต่อไปการันตีด้วยตำแหน่งดาวรุ่งยอดเยี่ยมประจำปี 2014 และ 2015 ของลิเวอร์พูล และติดหนึ่งในหกที่ลุ้นรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีของ พีเอฟเอ ถึงสองปีติดต่อกัน

แต่ก็เป็นเพราะสัญญาใหม่ที่ทำให้สเตอร์ลิ่งยุติบทบาทกับลิเวอร์พูลโดยมีข่าวว่า เขาต้องการค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์จากรับอยู่เดิม 35,000 ปอนด์ และหลังจากปฏิเสธร่วมทัวร์ปรีซีซั่นปี 2015 ที่เอเชีย ตามด้วยขาดซ้อมสองวันเพราะป่วยซึ่งโดนตำหนิอย่างหนักผ่านสื่อจากอดีตนักเตะหงส์แดงอาทิ สตีเวน เจอร์ราร์ด, เจมี่ คาร์ราเกอร์ และแกรม ซูเนสส์ ปีกดาวรุ่งวัย 21 ปีหันไปเซ็นสัญญาห้าปีกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 ด้วยค่าตัว 44 ล้านปอนด์ยังไม่รวมแอดออนอีก 5 ล้านปอนด์ในอนาคต ทำให้เขาเป็นนักเตะอังกฤษที่ค่าตัวแพงที่สุดขณะนั้น สเตอร์ลิ่งอำลาแอนฟิลด์ด้วยผลงาน 129 นัด 23 ประตู

ไม่กี่เดือนต่อมา เยอร์เกน คล็อปป์ ก็เข้ามาคุมทีมหงส์แดงแทนแบรนเดน ร็อดเจอร์ส ขณะที่สเตอร์ลิ่งต้องรออีกหนึ่งปีเพื่อทำงานกับเป๊ป กวาร์ดิโอลา ทและกลายเป็นหนึ่งในนักเตะคู่บารมีของกุนซือชาวสเปน ร่วมกันนำความสำเร็จมาสู่ถิ่นเอติฮัด แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย, แชมป์ลีก คัพ 4 สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย และเฉียดเข้าใกล้แชมป์แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้เพียงเหรียญรองแชมป์เมื่อปี 2021 จากการปราชัยต่อเชลซี 0-1 ที่ปอร์โต ประเทศโปรตุเกส สเตอร์ลิ่งอำลาเอติฮัดด้วยสถิติ 339นัด 131 ประตู

ส่วนเกินที่ “แมนฯซิตี้” แต่ส่วนเติมที่ “เชลซี”

ซีซั่นสุดท้ายที่แมนเชสเตอร์ แม้สเตอร์ลิ่งยังได้เล่นเกือบห้าสิบนัดแต่ส่วนใหญ่เป็นตัวสำรอง บวกกับกวาร์ดิโอลาเริ่มถ่ายเลือดเก่าเสริมเลือดใหม่เช่นเดียวกับคล็อปป์ทำที่แอนฟิลด์ รวมถึงแผงหน้าที่ซื้อ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ และ จูเลี่ยน อัลวาเรซ สวนทางเดินกับ กาเบรียล เชซุส ที่ย้ายไปอยู่อาร์เซนอล และสเตอร์ลิ่งที่เหลือสัญญาหนึ่งปี

แต่ที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ สเตอร์ลิ่งคือแนวรุกความหวังใหม่ที่มีอายุเพียง 27 ปี โดยซีซั่นที่แล้ว เขาทำสกอร์เฉพาะเกมลีกได้ถึง 13 ประตูระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม เทียบกับ 15 ประตูที่ โรเมลู ลูกากู ทำให้เชลซีทั้งซีซั่นรวมทุกรายการ สเตอร์ลิ่งไม่ได้มีดีเพียงการส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย เขายังเพิ่มทางเลือกให้กับทูเคิลในการวางหมากเกมรุก เป็นกุญแจสำคัญอีกดอกที่จะช่วยแย่งแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สูสีขึ้นหลังตามหลังแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลิเวอร์พูล ทีมละเกือบยี่สิบคะแนนในฤดูที่แล้ว พร้อมเป้าหมายกลับไปครอบครองถ้วยบิ๊กเอียร์ ซึ่งเป็นโทรฟี่ที่สเตอร์ลิ่งไม่เคยสัมผัส

สเตอร์ลิ่งเล่นได้หลายหน้าที่ในแนวรุกทั้งปีก มิดฟิลด์ตัวรุก หรือหน้าต่ำ เขาถนัดตำแหน่งปีก เล่นได้ทั้งสองฝั่ง แม้ถนัดเท้าขวาแต่มักถูกมอบหมายให้อยู่ด้านซ้าย มีจุดเด่นตรงความเร็ว ความคล่องแคล่ว การเลี้ยงบอล จุดศูนย์ถ่วงต่ำ เป็นตัวทะลุทะลวงที่อันตราย

แม้มีส่วนสูงเพียง 5 ฟุต 7 นิ้ว เทียบกับลูกากู 6 ฟุต 3 นิ้ว แต่สเตอร์ลิ่งมีตัวท่อนบนใหญ่ ช่วยเรื่องการรักษาสมดุลย์ขณะเคลื่อนที่ได้มาก ซาบี เอร์นานเดซ ตำนานมิดฟิลด์บาร์เซโลน่า เคยกล่าวว่า สเตอร์ลิ่งมีดีมากพอที่จะเล่นในลา ลีกา เพียบพร้อมทั้งร่างกายและเทคนิค

กูรูลูกหนังเชื่อว่า สเตอร์ลิ่งจะเพิ่มมิติให้กับเกมรุกของเชลซีแม้ซีซั่นที่แล้ว ทูเคิลจะใช้บริการของ คริสเตียน พูลิซิช กับตำแหน่งกองหน้าริมเส้นด้านซ้าย แต่ปีกทีมชาติอังกฤษเล่นได้ครบเครื่องกว่าโดยเฉพาะจังหวะจบสกอร์ ซึ่งสเตอร์ลิ่งมักใช้เท้าขวาเลี้ยงบอลเข้าในเพื่อหาจังหวะยิงประตู 

สเตอร์ลิ่งเป็นตัวอันตรายในพื้นที่สุดท้าย สามารถใช้ความเร็ว ความคล่อง การคอนโทรลบอล และการมองหาโอกาส สร้างความปั่นป่วนให้กองหลังทั้งตรงกลางและริมสนามสองด้าน ซึ่งเขามักย้ายไปฝั่งขวาเหมือนอย่างที่กวาร์ดิโอล่าส่งตัวลงมาในพรีเมียร์ลีกนัดปิดฤดูกาลที่แล้วขณะที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตามแอสตัน วิลล่า 0-2 สเตอร์ลิ่งโยนบอลจากด้านขวา ข้ามหัวกองหลังทีมสิงห์ผงาดไปยังเสาสองให้ อิลคาย กุนโดกัน โขกตีไข่แตกเป็นประตูแรกจากสามประตูภายในเวลาห้านาที ให้ทีมเรือใบสีฟ้าแซงชนะ 3-2 ครองแชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยที่ 4 ในรอบห้าปี 

จึงเชื่อได้ว่า ไค ฮาแวร์ตซ์ ศูนย์หน้าเบอร์หนึ่งของเดอะ บลูส์ จะได้บอลที่หลากหลายระยะขึ้นในฤดูกาลใหม่จากสเตอร์ลิ่ง ซึ่งบางจังหวะสามารถวิ่งไปแทนตำแหน่งของฮาแวร์ตซ์ที่ถอยลงมาเป็นหน้าต่ำ เพื่อหาโอกาสสับไกด้วยตัวเอง

พูลิซิชเป็นนักเตะที่เก่งแน่นอน เพียงแต่สเตอร์ลิ่งเก่งกว่าในมุมความหลากหลาย ผลดีมหาศาลจึงตกเป็นของเชลซีที่มีสองสตาร์มากความสามารถและต่างพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อแย่งชิงตำแหน่งกัน ทูเคิลจึงมีอ็อปชั่นให้เลือกใช้ต่อกรกับคู่แข่งขันเพิ่มขึ้นทั้งเกมระดับทวีปและภายในประเทศอังกฤษ

“ทูเคิล” อาจปรับ 3-4-2-1 เป็น 4-3-3 รองรับ “สเตอร์ลิ่ง”

ข่าวดีในฤดูกาล 2022-23 เชลซีจะได้ เบน คีลเวลล์ วิงแบ็คและมิดฟิลด์ริมสนามฝั่งซ้ายกลับมาในสภาพสมบูรณ์หลังจากซีซั่นที่ผ่านมาใช้เวลาส่วนใหญ่รักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าที่ฉีกขาด โดยก่อนหน้านั้น คีลเวลล์และ รีช เจมส์ ซึ่งทำหน้าที่เดียวกันทางด้านขวา ร่วมกันสร้างความปั่นป่วนให้เกมรับของคู่ต่อสู้

ทูเคิลกำลังจะได้คีเวลล์กลับมาประจำการ แถมยังมีสเตอร์ลิ่งเสริมอันตรายให้กับเกมบุกด้านซ้ายเพิ่มขึ้นอีก การที่ทั้งสองอยู่ร่วมสโมสรยังส่งผลดีต่อทีมชาติอังกฤษของแกเร็ธ เซาธ์เกต เป็นอย่างมากในฟุตบอลโลกปลายปีนี้ที่กาต้าร์

ย้อนกลับไปยังเดือนมีนาคม 2021 ในแมตช์เวิลด์ คัพ 2022 รอบคัดเลือก คีลเวลล์เล่นแบ็คซ้ายในหมากเกม 4-3-3 สเตอร์ลิ่งยืนปีกซ้าย แถมได้ เมสัน เมาท์ เพื่อนร่วมสโมสร เป็นส่วนหนึ่งของสามประสามแดนกลางฝั่งซ้าย ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับทีมสิงโตน้ำเงินคราม

หมากเกมนี้ได้เห็นการผ่านบอลรูปสามเหลี่ยมแบบงามๆในจังหวะบุก คีลเวลล์เคลื่อนที่ใกล้ริมสนาม สเตอร์ลิ่งวิ่งล้ำไปข้างหน้าและสามารถหักตัดเข้าใน โดยมีเมาท์อยู่ต่ำลงมา สามารถเลือกจ่ายบอลให้ทั้งคีเวลล์หรือสเตอร์ลิ่ง ตัวคีลเวลล์เองก็มีโอกาสโอเวอร์แลปและอันเดอร์แลป ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในฟอร์แมท 3-4-2-1 ของทูเคิล 

เพลย์สามเหลี่ยมยังเกิดบริเวณหน้ากรอบเขตโทษ ซึ่งมีเมาท์เป็นหัวสามเหลี่ยม คีลเวลล์วิ่งไปทางซ้ายเพื่อรับบอลจากเมาท์ก่อนโยนเข้าไปในกรอบเขตโทษที่สเตอร์ลิ่งรอจังหวะเข้าชาร์จ

หรือเป็นจังหวะเล่นชิ่งระหว่างสองคน คีลเวลล์เคลื่อนตัวเข้าใน ส่งบอลฉีกไปทางซ้ายให้สเตอร์ลิ่งที่วิ่งขึ้นไปรอใกล้เส้นสนาม คีลเวลล์หลอกวิ่งตัดหลังตัวประกบสเตอร์ลิ่ง พร้อมลากกองหลังตามไป เหมือนต้องการขึ้นไปรับบอลแต่ความจริงเพื่อหลอกดึงกองหลัง เปิดโอกาสให้สเตอร์ลิ่งเห็นช่องเปิดและวิ่งตัดเข้าในเพื่อยิงเองหรือผ่านลูกไปที่หน้าประตู

ฤดูกาล 2022-23 แฟนบอลเชลซีอาจเห็นระบบ 3-4-2-1 เปลี่ยนไปเป็นแผงหลังแบ็คโฟร์มากขึ้น คีลเวลล์และเจมส์จะทำหน้าที่ฟูลแบ็คมากขึ้น ขณะที่สเตอร์ลิ่งจะได้แสดงความเป็นอัจฉริยะสร้างสรรค์เกมบุกจากปีกซ้ายมากขึ้นเหมือนช่วงที่กวาร์โอลาใช้งานเป็นตัวหลัก

ด้วยวัย 27 ปี กับสัญญาห้าปี บวกกับศักยภาพของสเตอร์ลิ่งที่เข้ามาเติมเต็มและสร้างสิ่งแปลกใหม่ให้กับเชลซี อนาคตของปีกซ้ายเชื้อสายจาเมกาในสโมสรยักษ์ใหญ่พรีเมียร์ลีกทีมที่ 3 จะเป็นเรื่องราวที่น่าติดตามไม่แพ้ช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมากับลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ซิตี้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)

Categories
Football Business

ความเจ็บปวดที่สวยงาม : 117 ปี เชลซี กับอาณาจักร “โรมัน” ที่ใกล้ล่มสลาย

เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่สโมสรฟุตบอลเชลซี ก่อตั้งครบรอบ 117 ปี ซึ่งยุคสมัยที่ดีที่สุดของ “สิงห์บลูส์” คือยุคที่โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรตั้งแต่ปี 2003

แต่ทว่า วันครบรอบการก่อตั้งสโมสรในปีนี้ กลับเป็นวันที่อบราโมวิชต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษประกาศ “คว่ำบาตร” จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

เรื่องราวของเชลซี และยุคทองของเสี่ยหมีจากจุดเริ่มต้นถึงจุดสุดท้ายเป็นอย่างไร วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เส้นทางของเชลซีในศตวรรษแรก

กุส เมียร์ส นักธุรกิจชาวอังกฤษ ได้ลงทุนซื้อสนามกรีฑาสแตมฟอร์ด บริดจ์ โดยมีแผนที่จะเปลี่ยนเป็นสนามฟุตบอล จึงยื่นข้อเสนอให้สโมสรฟูแล่มที่ตั้งอยู่ใกล้กันมาเช่าสนามของตนเอง แต่ถูกปฏิเสธ

ดังนั้น เมียร์สจึงตัดสินใจก่อตั้งสโมสรฟุตบอลของตนเองขึ้นมา ใช้ชื่อว่า “เชลซี” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเขตฟูแล่ม เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 1905 โดยสถานที่ตั้งของสโมสรเป็นผับเก่า ชื่อว่า “เดอะ ไรซิ่ง ซัน ผับ”

อย่างไรก็ตาม เชลซีต้องใช้เวลานานถึง 50 ปี กว่าจะได้แชมป์รายการแรกของสโมสรคือ แชมป์ดิวิชั่น 1 ลีกสูงสุดในขณะนั้น เมื่อฤดูกาล 1954/55 ตามด้วยแชมป์แชริตี้ ชิลด์ ภายใต้การคุมทีมของเท็ด เดร็ก

แต่หลังจากนั้น เชลซีคว้าแชมป์เพิ่มมาได้เพียง 3 รายการ แล้วพอเข้าสู่ช่วงกลางยุค ’70 สโมสรจากลอนดอนทีมนี้ก็เข้าสู่ยุคตกต่ำ ตกชั้นจากลีกสูงสุด ไปใช้ชีวิตอยู่ในระดับดิวิชั่น 2 เป็นส่วนใหญ่

จนกระทั่งในปี 1982 เคน เบตส์ ได้เข้ามาซื้อกิจการของเชลซี ต่อจากทายาทของกุส เมียร์ส อดีตผู้ก่อตั้งสโมสร ด้วยราคาสุดถูกเพียงแค่ 1 ปอนด์เท่านั้น พร้อมทั้งแต่งตั้งแมทธิว ฮาร์ดิ้ง เป็นผู้อำนวยการสโมสรด้วย

ในช่วงต้นยุค ’90 เป็นช่วงที่ลีกสูงสุดเปลี่ยนผ่านจากดิวิชั่น 1 เป็น “พรีเมียร์ลีก” ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูสู่ยุคใหม่ของวงการฟุตบอลอังกฤษ บรรดานักฟุตบอลต่างชาติต่างหลั่งไหลเข้ามาอย่างคึกคัก

เบตส์ และฮาร์ดิ้ง ช่วยกันขับเคลื่อนเชลซีจากทีมท้ายตาราง สู่กลางตารางอย่างมั่นคง นักเตะต่างชาติได้เข้ามาสร้างชื่อในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ เช่น รุด กุลลิท, จิอันลูก้า วิอัลลี่, จิอันฟรังโก้ โซล่า และอีกมากมาย

ในปี 2003 เคน เบตส์ ประกาศขายกิจการของสโมสร ไปให้กับโรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ด้วยราคา 140 ล้านปอนด์ ความสำเร็จของเชลซีตลอดช่วงศตวรรษแรก คว้าแชมป์ได้ทั้งหมด 13 โทรฟี่

อาณาจักร “โรมัน” เขย่าพรีเมียร์ลีก

เส้นทางชีวิตของโรมัน อบราโมวิช ก่อนที่จะเข้ามาเทคโอเวอร์เชลซีนั้น เรียกได้ว่าเป็นคนที่สู้ชีวิตมาไม่น้อยเลยทีเดียว เขากำพร้าพ่อและแม่ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทางเดียวที่จะอยู่รอดคือต้องดิ้นรนหาเงิน

อบราโมวิช ได้เข้าโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือเหมือนเด็กทั่วๆ ไป แต่พออายุ 16 ปี เขาขอลาออกจากโรงเรียน เพราะมองว่าเรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ และเริ่มมีรายได้จากการเป็นเซลล์ขายของเล่นที่ทำจากยาง

จากการได้เรียนรู้เรื่องการค้าขายนี่เอง ทำให้อบราโมวิชเข้าใจถึงคำว่า “คอนเน็คขั่น” ก็ได้ผันตัวไปทำธุรกิจใต้ดิน คือการขายน้ำมันเถื่อน โดยมีบอริส เบเรซอฟสกี้ นักการเมืองดังของรัสเซียในยุค ’90 อยู่เบื้องหลัง

ต่อมา อบราโมวิช และเบเรซอฟสกี้ ได้ซื้อกิจการ Sibneft บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของไซบีเรียในราคาไม่ถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และขายให้ Gazprom บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ได้กำไรกว่า 10 เท่า

จนกระทั่งในปี 2000 รัสเซียมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจครั้งสำคัญ เมื่อวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้อบราโมวิชมีอิทธิพลมากขึ้น และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับปูตินตั้งแต่บัดนั้น

เมื่ออบราโมวิช เข้ามาครอบครองสโมสรเชลซี ในปี 2003 ถือเป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนวงการฟุตบอลอังกฤษเป็นอย่างมาก ท่ามกลางการจับตามองว่า เขาจะมาสร้างภัยอันตรายให้กับรัฐบาลเมืองผู้ดีหรือไม่

แม้ประวัติในอดีตของอบราโมวิชจะเป็นที่ถูกจับผิดอยู่ตลอดเวลา แต่เขามีวิสัยทัศน์ และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำเชลซีประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง จนกระทั่งสร้างยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดยุคหนึ่งของสโมสร

ในฤดูกาล 2004/05 แชมป์รายการแรกในยุคของเสี่ยหมี คือแชมป์ลีก คัพ และตามด้วยแชมป์พรีเมียร์ลีก ซึ่งถือเป็นการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบครึ่งศตวรรษ และฉลองครบรอบ 100 ปี ของสโมสรอีกด้วย

ขณะที่ถ้วยใหญ่สุดของยุโรปอย่างยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เชลซีผ่านเข้าชิงชนะเลิศครั้งแรกเมื่อปี 2008 ที่รัสเซีย ทว่าแพ้จุดโทษแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่หลังจากนั้นก็สมหวัง คว้าแชมป์ได้ 2 สมัย ในปี 2012 และ 2021

โรมัน อบราโมวิช ใช้เวลาเพียง 19 ปี พาเชลซีคว้าแชมป์ได้อย่างน้อย 21 รายการ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ผู้จัดการทีมมากถึง 14 คน แต่ถ้าวิธีการของเขามันได้ผลตามที่ต้องการ ก็คงจะไม่มีใครไปตำหนิได้อย่างแน่นอน

จบแบบเจ็บปวด จากลาอย่างยิ่งใหญ่

ในขณะที่โรมัน อบราโมวิช กำลังสร้างยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเชลซี จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขาก็มาถึง และไม่มีใครคาดคิดว่าจะนำไปสู่จุดจบถึงขั้นต้องออกจากสโมสรในที่สุด

ในปี 2018 อบราโมวิช มีปัญหาเรื่องการต่อวีซ่าเพื่อเข้าประเทศอังกฤษ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับวลาดิเมีย ปูติน ทำให้ต้องตั้งมาริน่า กรานอฟสกาย่า เข้ามาดูแลสโมสรแทน 

แต่อีก 3 ปีต่อมา เสี่ยหมีสามารถกลับเข้าเมืองผู้ดีได้อีกครั้ง ทว่าสถานการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นจนได้ เพราะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ได้ปะทุมากขึ้นจนกลายเป็นสงคราม

ก่อนหน้านี้ อบราโมวิชก็พยายามเอาตัวรอด ด้วยการประกาศขายสโมสรให้เร็วที่สุด แล้วนำเงินที่ได้ไปบริจาคให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน อีกทั้งหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมดก็จะไม่เรียกคืน แต่ก็ไม่เป็นผล

และล่าสุดเมื่อ 2 วันก่อน รัฐบาลอังกฤษประกาศคว่ำบาตร ส่งผลให้มหาเศรษฐีรัสเซีย 7 คนที่ถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนปูติน ถูกอายัดทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งรวมถึงอบราโมวิช เจ้าของสโมสรเชลซีด้วย

อย่างไรก็ตาม อบราโมวิชยังสามารถที่จะขายสโมสรได้ แต่มีเงื่อนไขว่า เขาจะไม่ได้รับเงินจากการขายสโมสรเลยแม้แต่ปอนด์เดียว โดยเงินจากการขายสโมสรทั้งหมดจะเข้าไปที่รัฐบาลอังกฤษ

ขณะที่สโมสรเชลซี ก็ได้รับผลกระทบที่ตามมาจากการคว่ำบาตรไปด้วย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

– ห้ามขายตั๋วเข้าชมการแข่งขันใหม่ ยกเว้นผู้ถือตั๋วปีของสโมสร ยังสามารถเข้าชมได้ตามปกติ

– ห้ามจำหน่ายสินค้าในเมกะสโตร์ของสโมสร และออนไลน์ ส่วนที่อื่นยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ

– ห้ามซื้อ-ขายผู้เล่น และต่อสัญญาฉบับใหม่ให้กับผู้เล่นของสโมสร

– ห้ามใช้เงินเกิน 500,000 ปอนด์ สำหรับการแข่งขันในประเทศอังกฤษ

– ห้ามใช้เงินเกิน 20,000 ปอนด์ สำหรับการเดินทางแข่งขันนอกประเทศอังกฤษ

– ทรี (Three) บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์ชื่อดังของอังกฤษ ขอระงับสัญญาเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อแข่งขันชั่วคราว

ถึงแม้ว่าโรมัน อบราโมวิช จะต้องยุติบทบาทกับเชลซีแบบไม่เต็มใจเท่าใดนัก แต่สิ่งที่ได้ลงมือทำมาตลอด 19 ปี ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เขาคือเจ้าของสโมสรที่ลงทุน และทุ่มเทจนทีมประสบความสำเร็จสูงสุดของโลกลูกหนังไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Football365

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/60689645

– https://www.bbc.com/sport/football/60684038

– https://en.wikipedia.org/wiki/Chelsea_F.C.