Categories
Special Content

เออร์ลิง ฮาแลนด์ : ลูกชาวสวนผู้เดินตามรอยพ่อที่ “แมนฯ ซิตี้”

เออร์ลิง ฮาแลนด์ กองหน้าวัย 22 ปี ย้ายจากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มาร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยค่าตัว 51 ล้านปอนด์ เซ็นสัญญา 5 ปี รับค่าเหนื่อย 375,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

ล่าสุด ดาวยิงชาวนอร์เวย์รายนี้ ได้โอกาสลงสนามเป็นตัวจริงให้กับ “เรือใบสีฟ้า” ในเกมอุ่นเครื่องพรี-ซีซั่น ที่สหรัฐอเมริกา โดยเฉือนเอาชนะบาเยิร์น มิวนิค 1 – 0 เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา

ประตูชัยในเกมนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ 12 นาทีแรก และฮาแลนด์ก็เป็นผู้สังหารเข้าไป ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี หลังจากดาร์วิน นูนเญซ เพิ่งยิงคนเดียว 4 ประตูให้กับลิเวอร์พูล เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

การมาของฮาแลนด์ และนูนเญซ สร้างความตื่นเต้นให้กับฟุตบอลอังกฤษเป็นอย่างมาก ที่อยากจะเห็นฟอร์มของดาวยิงวัยรุ่นทั้ง 2 คนนี้ โดยเริ่มต้นจากศึก “คอมมูนิตี้ ชิลด์” วันเสาร์นี้

วันนี้ ไข่มุกดำ x SoccerSuck จะมาเล่าเรื่องราวของดาวเตะหมายเลข 9 กับเส้นทางสู่การเป็นนักเตะแมนฯ ซิตี้ ตามรอยคุณพ่ออัลฟ์-อิงเก้ มาให้ฟังกันครับ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/mancity

เกิดในครอบครัวนักกีฬา และเกษตรกร

เออร์ลิง ฮาแลนด์ เกิดที่เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ เป็นลูกชายของคุณพ่ออัลฟ์-อิงเก้ ฮาแลนด์ ที่เคยค้าแข้งกับ 3 สโมสรพรีเมียร์ลีก ทั้งน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์, ลีดส์ ยูไนเต็ด และแมนเชสเตอร์ ซิตี้

ส่วนคุณแม่ของเขา ก็เคยเป็นอดีตนักกรีฑาที่มีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษ 1990s โดยเคยลงแข่งขันในประเภทสัตตกรีฑา ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ต้องใช้ความพยายาม และความทรหดเป็นอย่างมาก

เมื่อฮาแลนด์อายุได้ 3 ขวบ คุณพ่ออัลฟ์-อิงเก้ ตัดสินใจยุติชีวิตค้าแข้งในเมืองผู้ดี พร้อมพาครอบครัวกลับบ้านเกิดที่เมืองไบรน์ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรม

ฮาแลนด์เริ่มต้นเส้นทางลูกหนังในวัย 5 ขวบ หลังจากเข้ามาเป็นนักเตะเยาวชนกับสโมสรไบรน์ ซึ่งตัวเขามีฝีเท้า พรสวรรค์ และรูปร่างสูงใหญ่ โดดเด่นกว่าเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน

หลังจากใช้เวลาอยู่กับอคาเดมี่นานถึง 11 ปี ในปี 2016 ฮาแลนด์ในวัย 16 ปี ก็ได้ประเดิมลงสนามกับทีมชุดใหญ่ของไบรน์เป็นนัดแรก โดยเริ่มเล่นในตำแหน่งปีก ก่อนถูกโยกมาเล่นกองหน้าตัวเป้า

กระทั่งปีต่อมา โอเล่ กุนนาร์ โซลชา อดีตตำนานกองหน้าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่รับงานผู้จัดการทีมโมลด์ในเวลานั้น ได้เห็นฝีเท้าที่ยอดเยี่ยมของฮาแลนด์ จึงได้ดึงตัวเขามาปลุกปั้นต่อ

ซึ่งแมตช์ที่สร้างชื่อให้กับฮาแลนด์ คือเกมที่โมลด์ บุกไปถล่มบรานน์ถึงถิ่น 4 – 0 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 เจ้าตัวเหมาทั้ง 4 ประตูในครึ่งแรก โดยใช้เวลาเพียงแค่ 17 นาทีเท่านั้น

ค่าเฉลี่ยนัดละ 1 ลูกในลีกออสเตรีย และเยอรมัน

หลังผ่านการพิสูจน์ตัวเองในลีกนอร์เวย์กับไบรน์ และโมลด์ เออร์ลิง ฮาแลนด์ก็ได้ไปค้าแข้งในลีกที่ใหญ่กว่าเดิม เพื่อโอกาสสร้างชื่อในการเป็นหนึ่งในสุดยอดดาวยิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกลูกหนัง

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/FCRedBullSalzburg

เดือนมกราคม 2019 ซัลซ์บวร์ก ทีมดังในบุนเดสลีกา ออสเตรีย จ่ายเงินให้โมลด์ 8 ล้านยูโร ในการดึงฮาแลนด์มาร่วมทีม และได้สร้างประวัติศาสตร์ไว้มากมายในถิ่นเรดบูลล์ อารีน่า

ตลอด 1 ปี กับซัลซ์บวร์ก ฮาแลนด์ ลงเล่น 27 นัดรวมทุกรายการ ทำได้ 29 ประตู หนึ่งในนั้นคือการยิงประตูลิเวอร์พูลที่แอนฟิลด์ ในเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม เมื่อเดือนตุลาคม 2019

และการลงเล่นถ้วยใหญ่สุดของยุโรปนี่เอง ฮาแลนด์ได้สร้างสถิติขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นนักเตะคนที่ 6 ในประวัติศาสตร์ ที่ยิงประตูในรายการแชมเปี้ยนส์ ลีก 5 นัดติดต่อกัน

จากนั้นในเดือนมกราคม ปีถัดมา โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรยักษ์ใหญ่จากบุนเดสลีกา เยอรมัน ตัดสินใจทุ่มเงิน 20 ล้านยูโร เพื่อเป็นค่าตัวของฮาแลนด์ ท่ามกลางความสนใจจากหลายทีมในยุโรป

นัดแรกของฮาแลนด์ ในสีเสื้อของ “เสือเหลือง” ถูกเปลี่ยนลงมาเป็นตัวสำรอง และทำแฮตทริกได้ทันที โดยใช้เวลาเพียงแค่ 34 นาทีเท่านั้น ในเกมที่บุกไปเอาชนะเอาก์สบวร์กถึงถิ่น 5 – 3

2 ซีซั่นครึ่งในถิ่นซิกนัล อิดูน่า พาร์ค ฮาแลนด์ได้ตอบแทนความคุ้มค่าให้กับดอร์ทมุนด์ ด้วยการเป็นตัวผลิตสกอร์เป็นกอบเป็นกำเช่นเดียวกับตอนเล่นให้ซัลซ์บวร์ก โดยทำได้ 86 ประตู จากการลงสนาม 89 นัด

ผลงานของฮาแลนด์ กับทั้งซัลซ์บวร์ก และดอร์ทมุนด์ ยิงได้ 115 ประตู จาก 116 นัด คิดแบบง่าย ๆ คือ การันตี 1 ประตูทุกนัด ด้วยสถิติสุดโหดแบบนี้ ทำให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตัดสินใจดึงตัวไปร่วมทีมในที่สุด

บทบาทในเกมรุกของแมนฯ ซิตี้ จะเป็นอย่างไร ?

เออร์ลิง ฮาแลนด์ เลือกวันที่ 12 มิถุนายน เป็นวันเปิดตัวนักเตะใหม่กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่อัลฟ์-อิงเก้  คุณพ่อของเขา เปิดตัวกับเรือใบสีฟ้า หลังย้ายจากลีดส์ ยูไนเต็ด เมื่อ 22 ปีก่อน

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/mancity

การเข้ามาของฮาแลนด์ ถือเป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในตำแหน่งกองหน้าตัวเป้า หลังจากหมดยุคของเซร์คิโอ กุน อเกวโร่ และไม่แน่ว่า อาจจะทำได้ดีกว่าอดีตดาวยิงชาวอาร์เจนไตน์ก็เป็นได้

สไตล์การเล่นของฮาแลนด์ มักจะเป็นกองหน้ารอจบสกอร์ในเขตโทษ มากกว่าช่วยเพื่อนร่วมทีมขึ้นเกม ซึ่งจะต่างจากแฮร์รี่ เคน กองหน้าสเปอร์ส ที่แมนฯ ซิตี้เคยตามจีบอย่างหนัก แต่สุดท้ายก็พลาดหวัง

สำหรับแท็กติกที่เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กุนซือสมองเพชรของซิตี้ ที่คาดว่าน่าจะนำมาใช้ เพื่อรองรับการมาถึงของดาวยิงทีมชาตินอร์เวย์ วัย 22 ปี รายนี้ มีความเป็นไปได้ทั้ง 4-3-3, 4-2-3-1 หรือ 4-4-2

แผน 4-3-3 สูตรถนัดของเป๊ป ฮาแลนด์จะเป็นกองหน้าตัวกลาง ยืนสูงกว่าด้านข้างทั้งริยาดห์ มาเรซ และฟิล โฟเด้น ส่วนแผงมิดฟิลด์ เควิน เดอ บรอยน์ จะทำหน้าที่คอยปั้นเกม

ส่วนแผน 4-2-3-1 แน่นอนว่าฮาแลนด์ยืนหน้าตัวเป้าแบบเดี่ยว ๆ ส่วนมิดฟิลด์ที่จะขึ้นเกมรุก อาจจะให้เดอ บรอยน์ หรือโฟเด้น รับบทเป็นเพลย์เมกเกอร์ ทำเกมอยู่ด้านหลังฮาแลนด์

ขณะที่แผน 4-4-2 ที่หลายคนอาจปรามาสว่า “ตกยุค” แต่เป๊ปอาจจะหยิบนำมาใช้ได้เช่นกัน ฮาแลนด์จะยืนเป็นกองหน้าคู่ ซึ่งจับคู่ได้ทั้งโฟเด้น, มาเรซ หรือกองหน้าตัวใหม่อย่างยูเลี่ยน อัลวาเรซ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/mancity

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แมนฯ ซิตี้อาจจะมีความกังวลในตัวฮาแลนด์ คืออาการบาดเจ็บที่เริ่มจะบ่อยขึ้นในระยะหลังอย่างเห็นได้ชัด โดย 2 ฤดูกาลหลังสุดกับดอร์ทมุนด์ เขาพลาดลงสนามรวมกันถึง 26 นัด

การมาของเออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ ทำให้เกมรุกของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ น่ากลัวขึ้นอีกระดับ และหลังจากลิเวอร์พูลได้ตัวดาร์วิน นูนเญซ น่าสนใจว่าพรีเมียร์ลีก ฤดูกาลใหม่ จะเพิ่มดีกรีความเดือดอย่างมากเลยทีเดียว

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://lifebogger.com/erling-braut-haaland-childhood-story-plus-untold-biography-facts/

https://theathletic.com/3279312/2022/05/11/erling-haaland-boy-from-bryne-who-didnt-like-school-or-losing-but-loves-scoring-and-kebab-pizza/

– https://theathletic.com/3368776/2022/06/17/haaland-de-bruyne-foden-grealish/

– https://www.skysports.com/football/news/11679/12609616/erling-haaland-to-man-city-why-striker-role-in-pep-guardiolas-team-suits-norwegians-temperament-and-skill-set

Categories
Special Content

แนะนำ 20 กุนซือลาลีกา ซีซั่น 2022/23

ผู้ฝึกสอน หรือโค้ช ถือเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอล เพราะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ในการหลอมรวมนักเตะแต่ละคนที่มีสไตล์ที่แตกต่างกัน ให้ทำงานด้วยกันเป็นทีม เพื่อนำไปสู่ชัยชนะ

ศึกลูกหนัง ลาลีกา สเปน ฤดูกาล 2022/23 จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคมนี้ กุนซือของทุกสโมสร กำลังเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อสู้กับศึกหนักที่รออยู่ตลอด 9 เดือน

สำหรับในซีซั่นใหม่ มีกุนซือชาวสเปน 14 คน ที่ต้องมาดวลกึ๋นกับกุนซือชาวต่างชาติอีก 6 คน และนี่คือภาพรวมของโค้ชทั้ง 20 ทีม ที่แฟน ๆ ลูกหนังลีกกระทิงดุ ต่างรอดูผลงานของพวกเขาเหล่านี้

โค้ชที่ผ่านประสบการณ์ระดับสูง

ในบรรดา 20 สโมสรของลาลีกา ซีซั่นใหม่ มีผู้จัดการทีมบางคน ที่ผ่านประสบการณ์ทั้งในสเปน และยุโรป เริ่มจากคาร์โล อันเชล็อตติ เทรนเนอร์เรอัล มาดริด แชมป์เก่าลาลีกา และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก จากซีซั่นที่แล้ว

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RealMadrid

เทรนเนอร์ชาวอิตาเลียนวัย 63 ปี กับประสบการณ์คุมทีมคว้าแชมป์ 23 โทรฟี่ (7 โทรฟี่ กับเรอัล มาดริด) และเป็นโค้ชที่มีอายุมากสุดเป็นอันดับ 2 เท่ากับฮาเวียร์ อากีร์เร่ กุนซือชาวเม็กซิกันของเรอัล มายอร์ก้า

ส่วนกุนซือที่มีอายุมากที่สุดในลาลีกา คือ มานูเอล เปเยกรินี่ วัย 68 ปี ที่เคยคว้าแชมป์ 3 โทรฟี่ กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในอังกฤษ และล่าสุดเพิ่งพาเรอัล เบติส คว้าแชมป์โคปา เดล เรย์ เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี

และอีกคนที่มีโปรไฟล์น่าสนใจ คือ อูไน เอเมรี่ กุนซือวัย 50 ปี แม้อายุจะยังน้อย แต่ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขา คือการคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ได้ถึง 4 ครั้ง (3 ครั้งกับเซบีย่า และ 1 ครั้งกับบียาร์เรอัล)

โค้ชที่มีอายุงานยาวนานที่สุด

ดิเอโก้ ซิเมโอเน่ เป็นโค้ชที่มีอายุงานในลาลีกายาวนานที่สุด โดยได้มาคุมทีมแอตเลติโก้ มาดริด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2011 จนถึงปัจจุบันนี้ เทรนเนอร์ชาวอาร์เจนไตน์ อยู่กับ “ตราหมี” มาแล้ว 10 ปี 7 เดือน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/AtleticodeMadrid

อันดับ 2 เป็นของยาโกบา อาราซาเต้ ที่พาโอซาซูน่า เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดตั้งแต่ซีซั่นแรกที่คุมทีม และจบอันดับกลางตารางมา 3 ซีซั่นติดต่อกัน ซึ่งในซีซั่นนี้ จะเป็นซีซั่นที่ 5 ในการทำงานของเขา

ตามมาด้วย อิมานอล อัลกูอาซิล ที่คุมเรอัล โซเซียดัด มาแล้ว 3 ฤดูกาลครึ่ง และเคยพาทีมคว้าแชมป์โคปา เดล เรย์ ฤดูกาล 2019/20 เป็นการได้แชมป์ระดับเมเจอร์ครั้งแรกในรอบ 34 ปี ของสโมสร

ฆูเลน โลเปเตกี มาเป็นอันดับ 4 กับระยะเวลา 3 ฤดูกาลที่คุมทีมเซบีย่า ผลงานเด่นคือการคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ฤดูกาล 2019/20 และจบซีซั่นในอันดับท็อปโฟร์มาแล้ว 3 ซีซั่นติดต่อกัน

รอดตายเพราะเปลี่ยนโค้ชระหว่างซีซั่น

ฤดูกาลที่แล้ว มีกุนซือ 4 คน ที่เข้ามาคุมทีมระหว่างซีซั่น และช่วยให้ทีมรอดตกชั้น เริ่มจากเอลเช่ ที่อยู่อันดับ 18 ในเดือนพฤศจิกายน พอเปลี่ยนโค้ชมาเป็นฟรานซิสโก้ โรดริเกซ ก็ไม่เคยอยู่ในโซนสีแดงอีกเลย

เกตาเฟ่ ทีมที่ออกสตาร์ทซีซั่น 7 นัดแรก ไม่มีคะแนนเลย จนต้องเปลี่ยนกุนซือมาเป็นกิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส ในช่วงต้นเดือนตุลาคม หลังจากนั้นผลงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จบซีซั่นในอันดับที่ 15 ของตาราง

เรอัล มายอร์ก้า ครึ่งซีซั่นแรกดูเหมือนไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่พอช่วงครึ่งซีซั่นหลัง ฟอร์มหลุดแบบไม่น่าเชื่อ จนร่วงลงไปอยู่โซนตกชั้น ทำให้ฮาเวียร์ อากีร์เร่ เข้ามารับช่วงต่อใน 9 นัดสุดท้าย และเอาตัวรอดได้ในที่สุด

กาดิซ ก็เป็นอีกทีมที่อยู่ในโซนสีแดงช่วงครึ่งซีซั่นแรก และในเดือนมกราคม เซร์คิโอ กอนซาเลซ ก็ได้เข้ามากู้สถานการณ์ของทีม โดยต้องดิ้นรนหนีตายจนถึงนัดสุดท้าย ก่อนจบในอันดับที่ 17 รอดตกชั้นแบบฉิวเฉียด

เปลี่ยนกุนซือใหม่ก่อนเริ่มต้นซีซั่น

ลาลีกา ในซีซั่นใหม่ มี 3 สโมสร ที่มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งเฮดโค้ช เริ่มที่เอสปันญ่อล ได้แต่งตั้งดิเอโก้ มาร์ติเนซ อดีตโค้ชกรานาด้า ในช่วงปี 2018 – 2021 เข้ามารับหน้าที่แทนหลุยส์ บลังโก้ โค้ชรักษาการ

บาเลนเซีย ได้ตัดสินใจปลดโฆเซ่ บอร์ดัลอาส ออกจากตำแหน่งหลังจบซีซั่น และเลือกเจนนาโร่ กัตตูโซ่ อดีตเทรนเนอร์ของเอซี มิลาน และนาโปลี มาเป็นกุนซือคนใหม่ หวังลุ้นโควตาไปฟุตบอลยุโรปให้ได้

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/valenciacf.en

ปิดท้ายที่แอธเลติก บิลเบา มาร์เชลิโน่ ประกาศลาออกเมื่อจบซีซั่นที่ผ่านมา หลังล้มเหลวในการคว้าตั๋วไปฟุตบอลยุโรป และได้โค้ชคนใหม่แต่หน้าเก่าอย่างเออร์เนสโต้ บัลเบร์เด้ ที่กลับมาคุมทีมเดิมเป็นรอบที่ 3 แล้ว

โค้ชที่น่าจับตามองในซีซั่นใหม่

เริ่มจากซาบี้ เอร์นานเดซ เทรนเนอร์บาร์เซโลน่า ที่ใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือน พลิกสถานการณ์ของทีมจากอันดับที่ 9 สู่อันดับที่ 2 และซีซั่นใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น จะเป็นการคุมทีมแบบเต็มซีซั่นเป็นครั้งแรกของเขา

คนต่อมา อันโดนี่ อิราโอล่า กุนซือของราโย บาเยกาโน่ ที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมในฐานะทีมน้องใหม่จากซีซั่นก่อน และได้รับประสบการณ์อันล้ำค่า ในการที่จะปรับปรุงผลงานสำหรับซีซั่นใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อีกคนที่น่าจับตาไม่แพ้กัน คือ เอดูอาร์โด กูเดต์ โค้ชของเซลต้า บีโก้ ที่มีสไตล์การเล่นเกมรุกบุกแหลกแบบไม่กลัวใคร และความหวังอันดับ 1 ในการทำประตูให้กับทีม ก็ยังคงเป็นยาโก้ อัสปาส เช่นเดิม

3 กุนซือทีมน้องใหม่ลาลีกา

สำหรับผู้จัดการทีมของ 3 สโมสรที่เลื่อนชั้นขึ้นมาสู่เวทีลีกสูงสุด ซีซั่นใหม่ เริ่มจากรูบี้ กุนซืออัลเมเรีย ที่เคยมีประสบการณ์อันเลวร้าย หลังไม่สามารถพาสปอร์ติ้ง กิฆอน รอดพ้นจากการตกชั้น เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ปาเชต้า ก็เคยเจอชะตากรรมเดียวกันกับรูบี้ หลังทำทีมอูเอสก้า ตกชั้นจากลีกสูงสุด เมื่อฤดูกาล 2020/21 และคงต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อหวังพาเรอัล บายาโดลิด อยู่เหนือโซนสีแดงหลังจบซีซั่นให้ได้

คนสุดท้ายคือมิเกล ซานเชซ มูนญอซ โค้ชของกิโรน่า ที่เคยพาราโย บาเยกาโน่ และอูเอสก้า เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดในฐานะแชมป์ลีกรองมาแล้ว แต่ภารกิจเอาตัวรอดในลาลีกา ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของเขา

แม้ว่าโค้ชแต่ละคน จะมีองค์ความรู้ที่แตกต่างกัน แต่โค้ชทุกคนก็พยายามที่จะพัฒนาทีมของตัวเองให้ไปสู่เป้าหมาย ซึ่งผลงานของโค้ชแต่ละคน จะบอกถึงระดับความสามารถและมูลค่าได้ดีที่สุด

รายชื่อผู้จัดการทีมในลาลีกา สเปน ประจำฤดูกาล 2022/23

👉 อัลเมเรีย – รูบี้

👉 แอธเลติก บิลเบา – เออร์เนสโต้ บัลเบร์เด้

👉 แอตเลติโก มาดริด – ดิเอโก้ ซิเมโอเน่

👉 บาร์เซโลน่า – ซาบี้ เอร์นานเดซ

👉 กาดิซ – เซร์คิโอ กอนซาเลซ

👉 เซลต้า บีโก้ – เอดูอาร์โด กูเดต์

👉 เอลเช่ – ฟรานซิสโก้ โรดริเกซ

👉 เอสปันญ่อล – ดิเอโก มาร์ติเนซ

👉 เกตาเฟ่ – กิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส

👉 กิโรน่า – มิเกล ซานเชซ มูนญอซ

👉 โอซาซูน่า – ยาโกบา อาราซาเต้

👉 ราโย บาเยกาโน่ – อันโดนี่ อิราโอล่า

👉 เรอัล มายอร์ก้า – ฮาเวียร์ อากีร์เร่

👉 เรอัล เบติส – มานูเอล เปเยกรินี่

👉 เรอัล มาดริด – คาร์โล อันเชล็อตติ

👉 เรอัล โซเซียดัด – อิมานอล อัลกูอาซิล

👉 เรอัล บายาโดลิด – ปาเชต้า

👉 เซบีย่า – ฆูเลน โลเปเตกี

👉 บาเลนเซีย – เจนนาโร่ กัตตูโซ่

👉 บียาร์เรอัล – อูไน เอเมรี่

Categories
Special Content

ดาร์วิน นูนเญซ : จากเด็กยากจน สู่แข้งค่าตัวแพงสุดของลิเวอร์พูลที่ยังต้องต่อสู้กับคำครหา

ดาร์วิน นูนเญซ กองหน้าวัย 23 ปี ย้ายจากเบนฟิก้า มาร่วมทีมลิเวอร์พูล ด้วยค่าฉีกสัญญา 64 ล้านปอนด์ บวกกับแอด-ออน อีก 21 ล้านปอนด์ รวมเป็น 85 ล้านปอนด์ 

แต่กว่าจะเป็นนักเตะค่าตัวแพงสุดในประวัติศาสตร์ของ “หงส์แดง” นูนเญซต้องต่อสู้กับชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็ก แถมเคยได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก จนเกือบต้องเลิกเล่นฟุตบอลมาแล้ว

และล่าสุด เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ดาวยิงชาวอุรุกวัยได้โอกาสโชว์ฝีเท้าในเกมอุ่นเครื่อง นัดที่บุกไปถล่มแอร์แบ ไลป์ซิก 5 – 0 โดยเจ้าตัวถูกเปลี่ยนลงมาในครึ่งหลัง และยิงคนเดียว 4 ประตูลบคำปรามาสก่อนหน้านี้ที่ลงเตะพรีซีซั่นให้หงส์แดงแล้วฟอร์มยังไม่เข้าตาไปได้

“นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วในหยุดแว่วเสียงวิจารณ์ต่าง ๆ มันเป็นคืนที่เพอร์เฟคต์สำหรับเขา” เยอร์เก้น คลอปป์ กล่าวถึงลูกทีมเบอร์ 27

ฉะนั้นหลังกด 4 ประตูแรก และซัดแฮทตริกใน 12 นาทีได้สำเร็จ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาเล่าเรื่องเส้นทางสู่การเป็นนักฟุตบอลของนูนเญซ ก่อนที่ศึก “คอมมูนิตี ชิลด์” จะมาถึงในสัปดาห์หน้า ให้ฟังกันครับ

ครอบครัวที่แสนลำเค็ญ และเคยคิดเลิกเล่นฟุตบอล

ดาร์วิน นูนเญซ เกิดที่เมืองอาร์ติกาส ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอุรุกวัย ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ติดแม่น้ำ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ต้องเฝ้าระวังทรัพย์สินที่อาจจะสูญหายได้ทุกเวลา

ชีวิตในวัยเด็กของดาร์วิน ต้องเผชิญกับความลำเค็ญอย่างมาก เนื่องจากมีฐานะยากจน คุณพ่อเป็นคนงานก่อสร้าง ส่วนคุณแม่ต้องเดินเก็บขวดขายแลกเงิน เพื่อนำมาเลี้ยงดูตัวเขา และจูเนียร์ พี่ชายของเขา

สิ่งเดียวที่จะขับเคลื่อนชีวิตของดาร์วิน และครอบครัว ให้หลุดพ้นจากความยากลำบากคือ “ฟุตบอล” เมื่ออายุ 6 ขวบ ได้เข้ามาเป็นนักเตะเยาวชน ใช้เวลาฝึกฝนทักษะกีฬาลูกหนังจนเป็นที่ยอมรับของอคาเดมี่

ปี 2013 ดาร์วินในวัย 14 ปี ได้เข้าสู่ทีมเยาวชนของเพนารอล สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งเมืองหลวงพร้อมกับพี่ชาย แต่เกิดอาการคิดถึงครอบครัวที่อาร์ติกาส จึงขออนุญาตกับทางสโมสร กลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน 1 ปี

ปีต่อมา ดาร์วินกลับไปที่เพนารอลอีกครั้ง แต่ชีวิตการค้าแข้งของเขา เกือบหยุดชะงัก เนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่เอ็นหัวเข่าและบริเวณสะบ้า พักยาวเกือบ 2 ปี จนเจ้าตัวคิดอยากจะเลิกเป็นนักฟุตบอลเลยทีเดียว

เดือนพฤศจิกายน 2017 ดาร์วินได้ประเดิมลงสนามนัดแรกกับทีมชุดใหญ่ของเพนารอล แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เขาได้รับบาดเจ็บเอ็นหัวเข่าจุดเดิมเป็นครั้งที่ 2 พักนาน 7 เดือน ก่อนกลับมาลงสนามได้อีกครั้ง

ตลอด 2 ปี ในทีมชุดใหญ่ของเพนารอล ดาร์วินต้องเจอกับอุปสรรคทั้งร่างกายและจิตใจ แต่จูเนียร์ พี่ชายของเขา คือผู้เสียสละที่แท้จริง ด้วยการเปิดทางให้น้องชายได้ไปต่อในเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพ

สู่เส้นทางค้าแข้งที่ยุโรป ก่อนเข้าตาเจอร์เก้น คล็อปป์ 

ดาร์วิน นูนเญซ เติบโตในครอบครัวที่ยากลำบาก แต่ด้วยความเป็นนักสู้ ฝ่าฟันกับอุปสรรคต่างๆ อีกทั้งแสดงความสามารถออกมาให้ทุกคนเห็น จนได้รับโอกาสในการไปเล่นฟุตบอลอาชีพที่ต่างแดน

ปี 2019 อัลเมเรีย สโมสรระดับลีกดิวิชั่น 2 ของสเปนในเวลานั้น จ่ายเงิน 6 ล้านยูโร ให้กับเพนารอล เพื่อเป็นค่าตัวในการย้ายไปค้าแข้งในลีกยุโรปเป็นครั้งแรก โดยได้รับค่าจ้างที่ไม่ได้สูงมากนัก

1 ฤดูกาลกับอัลเมเรีย นูนเญซปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว จากตำแหน่งเพลย์เมกเกอร์ แล้วเปลี่ยนมาเป็นกองหน้า ทำได้ 16 ประตู จาก 30 นัด กลายเป็นดาวยิงสูงสุดของสโมสรในซีซั่น 2019/20

ต่อมาในซีซั่น 2020/21 นูนเญซได้รับโอกาสครั้งสำคัญ ในการย้ายไปค้าแข้งกับทีมที่ใหญ่ขึ้นอย่างเบนฟิกา สโมสรดังในลีกโปรตุเกส ด้วยค่าตัว 24 ล้านยูโร และมีโอกาสลงเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก

ฤดูกาลแรกที่อยู่กับ “เหยี่ยวลิสบอน” นูนเญซมีอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าอยู่บ้าง แต่ด้วยหัวจิตหัวใจที่ไม่เคยยอมแพ้ เจ้าตัวก็ยังทำผลงานได้ดี ยิงได้ 16 ประตู จากการลงสนาม 44 นัด รวมทุกรายการ

จนกระทั่งในฤดูกาล 2021/22 ลิเวอร์พูล มีโปรแกรมพบกับเบนฟิก้า ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบ 8 ทีมสุดท้าย ถึงแม้ว่าทีมของนูนเญซจะแพ้ด้วยสกอร์รวม 4 – 6 แต่เจ้าตัวทำประตูได้ทั้ง 2 นัดที่พบกัน

ฟอร์มการเล่นที่โดดเด่นของนูนเญซ เรียกได้ว่าสร้างความประทับใจให้กับเจอร์เก้น คล็อปป์ กุนซือชาวเยอรมันของ “หงส์แดง” ที่ได้มาเห็นด้วยตาตัวเอง และมักจะชื่นชอบนักเตะสไตล์ “นักสู้” อยู่แล้วด้วย

ซีซั่นที่ 2 ของนูนเญซ ก้าวกระโดดกว่าซีซั่นแรกอย่างชัดเจน ยิงไป 32 ประตู จาก 41 นัดรวมทุกรายการ ฟอร์มการเล่นที่จัดจ้านด้วยอายุที่ยังน้อย ทำให้บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ ต่างจ้องที่จะล่าตัวมาให้ได้

เหตุใดลิเวอร์พูลถึงต้องจ่ายเงินเป็นสถิติสโมสร ?

สำหรับที่มาที่ไปของค่าตัว 85 ล้านปอนด์ ที่ลิเวอร์พูลจ่ายไปนั้น ข้อแรกคือ “กลไกตลาด” เนื่องจากดาร์วิน นูนเญซ ได้รับความสนใจจากทีมยักษ์ใหญ่เป็นอย่างมาก ทั้งลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และอื่นๆ

เมื่อพูดถึงลีกโปรตุเกส สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงคือ เป็นลีกที่บ่มเพาะนักเตะฝีเท้าดี แล้วส่งออกไปยังลีกยักษ์ใหญ่มาแล้วหลายราย โดยเฉพาะ 3 สโมสรชื่อดัง ได้แก่ เบนฟิก้า, ปอร์โต้ และสปอร์ติ้ง สิสบอน

สโมสรเหล่านี้ ได้รับทั้งชื่อเสียง และเครดิต ในการทำกำไรจากการขายนักเตะอย่างมหาศาล แม้จะต้องเสียนักเตะออกไปคนแล้วคนเล่า แต่กลับยิ่งตั้งใจค้นหา และสร้างดาวดวงใหม่ประดับวงการอยู่เสมอ

นอกเหนือจากเหตุผลเรื่องความต้องการแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งคือ “ของดีที่อยู่ในตัว” ถึงแม้ว่านูนเญซ จะมีรูปร่างสูงใหญ่ แต่มีความเร็วจัดจ้าน สร้างความลำบากใจให้แนวรับฝ่ายตรงข้ามได้แน่นอน

ที่สำคัญ นูนเญซยังเป็นนักเตะที่สามารถเล่นได้ทุกพื้นที่ในเกมรุก โดยเฉพาะฝั่งซ้าย และสามารถเข้าได้กับหลายแท็กติก ไม่ว่าจะเป็น 3-4-3, 4-4-2 หรือ 4-2-3-1 โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลงานของเขา

เท่านั้นยังไม่พอ นูนเญซไม่ได้จำกัดตัวเองในการเล่นแค่ตำแหน่งกองหน้าเท่านั้น ยังเล่นในตำแหน่งกลางตัวรุก หรือปีกซ้าย แถมเล่นเกมโต้กลับได้ดี โดยเฉพาะในเกมถ้วยยุโรปที่ต้องเจอกับทีมยักษ์ใหญ่

จากผลงานในอดีต สถิติที่การันตีถึงความยอดเยี่ยม ครบเครื่องทั้งในและนอกเขตโทษ และด้วยวัยเพียงแค่ 23 ปี ถ้าลิเวอร์พูลต้องการจะจ่ายเงินชนิดที่ไม่เกรงใจการคลังของสโมสร ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่น่าลอง

อย่างไรก็ตาม แฟนฟุตบอลหลายๆ คน ได้ออกมาตั้งคำถามที่ว่า การที่ลิเวอร์พูลกล้าที่จะทุ่มเงินมหาศาลระดับ 85 ล้านปอนด์ กับนักเตะดาวรุ่งที่เพิ่งแจ้งเกิดกับลีกโปรตุเกสได้ไม่นาน มันเสี่ยงเกินไปหรือไม่

เรื่องราวของ ดาร์วิน นูนเญซ ถือเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนสู้ชีวิต เพื่ออนาคตที่สุขสบาย และเขากำลังจะเริ่มต้นพิสูจน์ตัวเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าค่าตัว 85 ล้านปอนด์ ไม่แพงเกินไปเลยสำหรับลิเวอร์พูล

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3362218/2022/06/14/darwin-nunez-liverpool-klopp-scouting/

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10915553/Liverpool-Darwin-Nunez-QUIT-football-17-Montevideo-hes-85m-star.html

https://www.telegraph.co.uk/football/2022/06/08/liverpool-want-make-darwin-nunez-record-signing/

https://www.marca.com/en/football/liverpool/2022/06/13/62a71591e2704ee6258b4567.html

https://lifebogger.com/darwin-nunez-childhood-biography-untold-story-facts/

Categories
Football Tactics

“ทุ่มบอล” อาวุธลับที่มองไม่เห็นของ “ลิเวอร์พูล” ยุคนายหัวคล็อปป์

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ลิเวอร์พูลกลับมาฝึกซ้อมที่แอ็กซ่า เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ หลังจบคิวอุ่นเครื่องสองนัดที่อาเซียน ก่อนจะเดินทางต่อไปเก็บตัวปรีซีซั่นที่เยอรมนีและออสเตรีย มีข่าวเล็กๆบนหน้าสื่อไม่กี่สำนักที่ลงข่าวลิเวอร์พูลต่อสัญญาอีกหนึ่งปีกับ โธมัส กรอนเนมาร์ค โค้ชชาวเดนมาร์กวัย 46 ปี เจ้าของสถิติโลกทุ่มบอลไกลระยะ 51.33 เมตร

ซีซั่น 2022-23 เป็นปีที่ 5 ที่กรอนเนมาร์คทำงานให้กับลิเวอร์พูลในตำแหน่ง “โธรว์-อิน โค้ช” ที่รับผิดชอบการทุ่มบอลเขาทำงานแบบพาร์ทไทม์จึงไม่มีชื่ออยู่ในสตาฟฟ์โค้ช แต่ภารกิจของอดีตนักกรีฑาและบ๊อบสเลด (เลื่อนน้ำแข็ง) ทีมชาติเดนมาร์กเปรียบเสมือนปิดทองหลังพระในความสำเร็จของทีมหงส์แดงยุคเยอร์เกน คล็อปป์

ถ้าอยากรู้ว่าผลงานของกรอนเนมาร์คเป็นอย่างไรบนสนามแข่งขัน ให้สังเกตการทุ่มบอลของศิษย์เอกสามคนได้แก่ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, แอนดี้ โรเบิร์ตสัน และ โจ โกเมซ

เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่นักเตะลิเวอร์พูล 15 คนกำลังฝึกซ้อม นักข่าวเห็นกรอนเนมาร์คยืนอยู่กับคล็อปป์และดร.อันเดรียส ชลัมแบร์เกอร์ หัวหน้าฝ่ายฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมากรอนเนมาร์คได้ทวีตยืนยันว่าเขาได้เซ็นสัญญาหนึ่งปีกับลิเวอร์พูล

“ผมภูมิใจที่จะบอกว่าได้ต่อสัญญากับลิเวอร์พูลอีกหนึ่งปีเป็นซีซั่นที่ห้าในฐานะโค้ชทุ่มบอล รวมถึงสโมสรฟุตบอลอาชีพอีกสามทีม ผมเริ่มทึ่งกับการทุ่มบอลหลังได้เห็นญาติๆที่เป็นพี่ใหญ่ของผมทุ่มบอลไกลช่วงกลางทศวรรษ 1980”

กรอนเนมาร์คไม่ได้ระบุชื่ออีกสามทีมที่เขาต่อสัญญาแต่ที่ผ่านมา เขาทำงานฟรีแลนซ์ให้กับ อาแจ็กซ์, ไลป์ซิก, เกนท์, แอตแลนตา ยูไนเต็ด และมิดทีลแลนด์

 “คล็อปป์” ยังงงเมื่อรู้ว่าโลกลูกหนังมีอาชีพโค้ชทุ่มบอล

โธมัส กรอนเนมาร์ค เริ่มเข้ามาทำงานในแอนฟิลด์เมื่อเดือนกันยายน 2018 เยอร์เกน คล็อปป์ ซึ่งขณะนั้นคุมทีมหงส์แดงมาแล้วสามซีซั่นเต็ม เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ด้วยความสัตย์จริง ผมไม่เคยได้ยินอะไรเกี่ยวกับโค้ชทุ่มบอลมาก่อน แต่พอรู้เรื่องราวของโธมัส ผมคิดทันทีว่าต้องเจอตัวเขาให้ได้ ซึ่งหลังได้คุยกันแล้ว มันร้อยเปอร์เซ็นต์เลยที่ผมต้องจ้างเขาให้มาทำงานกัน”

ทางด้านกรอนเนมาร์คเล่าถึงเหตุการณ์สี่ปีที่แล้วว่า “เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ผมได้รับข้อความเสียง พอเปิดฟังในรถจึงรู้ว่าเป็นเยอร์เกน คล็อปป์ ผมถึงกับทรุดจมที่นั่งเมื่อได้ยินเสียงเขา”

“คล็อปป์บอกว่า สโมสรมีช่วงเวลาที่ดีในซีซั่น 2017-18 อันดับสี่พรีเมียร์ลีกและเข้าชิงแชมเปี้ยนส์ลีก (แพ้เรอัล มาดริด 1-3) แต่พวกเขาเสียบอลจากการทุ่มบ่อยมาก ตอนนั้นผมรับงานทีมอาชีพแปดแห่งทั่วโลก ส่วนใหญ่อยากได้การทุ่มไกล แต่ลิเวอร์พูลกับอาแจ็กซ์ชัดเจนว่าทุ่มไกลไม่ใช่แนวทางของพวกเขา ผมจึงโฟกัสเรื่องทุ่มบอลเร็วและฉลาดซึ่งเป็นเทคนิคที่ผมเริ่มทำงานประมาณปี 2007 ประเด็นหลักอยู่ที่การครองบอล เราจะรักษาบอลอย่างไรเมื่อต้องทุ่มบอลขณะถูกกดดัน เราจะสร้างโอกาสและทำประตูอย่างไรจากสถานการณ์ทุ่มบอล”

ถึงแม้กรอนเนมาร์คเป็นเจ้าของสถิติโลกทุ่มบอลไกลแต่ คล็อปป์บอกว่าระยะทางไม่ใช่เหตุผลหลักที่เขาสนใจโค้ชเมืองโคนมรายนี้

“หลังจากโธมัสเข้ามา การทุ่มบอลของเราได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ไม่ใช่อย่างที่คนส่วนใหญ่คิดกันว่าเป็นเรื่องทุ่มบอลให้ไปไกลๆ ตอนนี้เรามีการทุ่มบอลที่แตกต่างกัน 18 วิธี แน่นอนเราต้องการครองบอลต่อหลังการทุ่มซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ มันไม่สมเหตุสมผลเลยถ้าทุ่มบอลไปแล้ว สถานการณ์จะเป็นแบบ 50-50 (โอกาสครองบอลต่อ) ซึ่งตรงนี้แหละที่พัฒนาการส่งผลอย่างมาก”

เมื่อราวกว่าสิบปีที่แล้ว รอรี่ เดแล็ป มิดฟิลด์ชาวไอริส ซึ่งเล่นให้ทีมสโต๊คระหว่างปี 2007 – 2013 รวมถึงปี 2006 ที่ถูกยืมตัวมาจากซันเดอร์แลนด์ เป็นผู้เล่นที่ขึ้นชื่อเรื่องการทุ่มบอลได้ไกล ซึ่งความสามารถพิเศษนี้มีส่วนช่วยให้ทีมช่างปั้นหม้อขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีก แต่กรอนเนมาร์คยืนยันว่า เขาไม่ได้เข้ามาทำงานที่แอนฟิลด์เพื่อเปลี่ยนให้ลิเวอร์พูลเป็นแบบสโต๊ค

กรอนเนมาร์คเชื่อมั่นว่าเขาสามารถช่วยลิเวอร์พูลให้มีแต้มต่อพิเศษเพิ่มขึ้นจากการทุ่มบอลซึ่งเฉลี่ยแล้วตกนัดละประมาณ40-50 ครั้ง โค้ชวัย 46 ปี ไม่ได้สอนเพียงเทคนิค “การทุ่มบอลไกล” เท่านั้น แต่รวมถึง “การทุ่มบอลเร็ว” เพื่อนำไปสู่เคาน์เตอร์-แอทแท็ค และ “การทุ่มบอลฉลาด” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาการครองบอลขณะตกอยู่ในสภาพกดดัน

เทคนิคหลักของกรอนเนมาร์คเปรียบเสมือนสามขาหยั่งของ Marginal Gains ซึ่งเป็นทฤษฏีว่าด้วยการปรับปรุงหรือสร้างความสำเร็จเพียงเล็กน้อยแต่เมื่อเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอก็สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้

“ทักษะนี้สามารถช่วยนำไปสู่การทำสกอร์ แม้กระทั่งช่วยรักษาชีวิตของทีม ผมให้ความสนใจทุกแง่มุม ไม่ใช่เพียงเทคนิคการขว้าง แต่ยังรับบอลอย่างไร วิ่งไปตามทิศทางที่ถูกต้องและสร้างความได้เปรียบ การยืนตำแหน่ง และการสร้างพื้นที่ว่าง”

กรอนเนมาร์คเล่าถึงช่วงที่เริ่มต้นทำงานกับลิเวอร์พูลเมื่อปี 2018 ว่า โจ โกเมซ เป็นผลผลิตที่ออกดอกออกผลคนแรกของเขาที่แอนฟิลด์ เซ็นเตอร์แบ็คชาวอังกฤษเพิ่งย้ายมาจากชาร์ลตันเมื่อสามปีก่อนหน้านี้

“ถ้าเป็นกองหลังคู่แข่งขัน ผมคงไม่อยากอยู่บริเวณพื้นที่ที่โกเมซจะทุ่มเข้าไปหรอก หรือว่ากันตามจริงหากต้องแข่งกับลิเวอร์พูล ผมก็ไม่อยากให้บอลออกนอกสนาม (เพื่อให้ลิเวอร์พูลเป็นฝ่ายทุ่ม) ผมไม่ได้หมายถึงลิเวอร์พูลต้องทุ่มบอลไกลทุกครั้งที่มีโอกาสหรอกนะ แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่าเมื่อไรพวกเขาจะทำมัน”

เอียน ไรท์ อดีตศูนย์หน้าอาร์เซนอล เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเห็นโจ โกเมซ ทุ่มบอลสวยๆให้ลิเวอร์พูล ซึ่งผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อน ดูเหมือนกรอนเนมาร์คคงสอนอะไรบางอย่างให้กับเขา ต้องยอมรับเลยว่าลิเวอร์พูลได้รับประโยชน์จากเรื่องนั้น”

“เทคนิคทุ่มบอล” สร้างประโยชน์ให้ทีมฟุตบอลมากกว่าใครคาดคิด

ก่อนหน้ารับงานที่แอนฟิลด์เมื่อปี 2018 โธมัส กรอนเนมาร์ค เคยเป็นโค้ชทุ่มบอลให้กับ เอฟซี มิดทีลแลนด์ และ เอซี ฮอร์เซนส์ สองสโมสรหัวแถวของลีกเดนมาร์ก โดยซีซั่น 2017-18 มิดทีลแลนด์เพิ่งครองแชมป์เดนิส ซูเปอร์ลีกา สมัยที่สอง ส่วนฮอร์เซนส์ทำ 10 ประตูจากการทุ่มไกลในซีซั่นเดียวกัน ขณะที่ อันเดรียส พูลเซ่น แบ็คซ้ายชาวเดนส์ ซึ่งย้ายจากมิดทีลแลนด์ไปเล่นให้โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค ในปี 2018 เพิ่มระยะการทุ่มจาก 25 เมตรเป็น 37.9 เมตรหลังได้รับการเทรนจากกรอนเนมาร์ค

“มีคนมากมายที่คิดว่างานผมเป็นเรื่องแค่ทุ่มไกล มิดทีลแลนด์ทำได้มากถึง 35 ประตูในสี่ซีซั่นจากเทคนิคนั้น คุณทำได้ถ้ามีทีมที่ใช่หรือเหมาะกับการทุ่มไกล แต่หลายทีมต้องการความรู้ของผมเพียงเรื่องทุ่มไกล ผมสัมผัสความรู้สึกนั้นได้”

บางทีสกอร์เกิดจากการทุ่มบอลเร็วและฉลาดจริงหรือไม่ เป็นสถานการณ์ที่ระบุชัดเจนได้ยาก แต่กรอนเนมาร์คยังมั่นใจว่า ทักษะทุ่มบอลมีอิทธิพลกับเกมลูกหนังอย่างแน่นอนเพราะมันช่วยให้เกมลื่นไหลและรวดเร็วขึ้น รวมถึงสร้างความสนุกสนานให้กับแฟนบอล

“นอกจากนี้ถ้าครองบอลได้มากขึ้น คุณก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน เช่นเดียวกับลูกเซต-พีชอย่างการเตะมุมและฟรีคิก มันสามารถสร้างความกดดันให้กับทีมคู่แข่งได้เช่นกัน”

อีกด้านหนึ่ง การทุ่มบอลผิดพลาดก็มีผลมากกว่าที่คาดคิด กรอนเนมาร์คกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “หลายทีมที่เล่นสไตล์โททัล ฟุตบอล อาจเสียบอลเมื่อโดนกดดันขณะทุ่มบอลเข้าสนาม เกมหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากคือนัดชิงชนะเลิศแชมเปียนส์ ลีก ปี 2011 ระหว่างบาร์เซโลนากับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด”

“บาร์เซโลนาเล่นฟุตบอลสไตล์ติกี-ตากา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แทบไม่ได้ครองบอลเลยช่วงต้นการแข่งขัน บาร์เซโลนาเป็นฝ่ายนำ 1-0 (เปโดร นาทีที่ 27) แต่แล้ว เอริก อาบีดาล (แบ็คซ้าย) ต้องทุ่มบอลใกล้กรอบเขตโทษตัวเอง เขาทุ่มสั้นด้วยเทคนิคที่แย่ ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้บอลและอีกห้าวินาทีต่อมา สกอร์ก็เป็น 1-1 (รูนีย์ นาทีที่ 34)” (หมายเหตุ : บาร์เซโลนาเป็นฝ่ายชนะ 3-1)

“ตามปกติจะมีการทุ่มบอลระหว่าง 30-50 ครั้งต่อนัด หากโค้ชคนไหนพูดว่าทีมเขาไม่เห็นต้องทำอะไรกับมันเป็นพิเศษเลย ผมมองว่าเขาเป็นโค้ชที่ขาดความทะเยอทะยานนะ”

“ทุ่มบอล” เป็นเทคนิคพิเศษที่มีความสำคัญต่อฟูลแบ็คและปีก

โธมัส กรอนเนมาร์ค เปิดเผยว่า การทุ่มบอลไกลมีเทคนิคอยู่ 25-30 ลักษณะ เขาจะใช้วิดีโอเพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาผู้เล่น ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะทุ่มได้ไกลขึ้น 4-8 เมตร นั่นเท่ากับขยายพื้นที่ครอบคลุมถึงสองเท่า

“ลักษณะการทุ่มบอลไกลที่ดี อย่างแรกแน่นอนต้องเป็นระยะทาง แต่ความเร็วและทิศทางพุ่งเป็นแนวราบก็มีความสำคัญเช่นกัน มีหลายทีมที่มีผู้เล่นที่สามารถทุ่มบอลได้ไกลๆ แต่ถ้าสูงเกินไปก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามป้องกันหรือแย่งได้ง่ายขึ้นด้วย ถ้ามองลูกทุ่มที่ดี คุณจะเห็นมันวิ่งไปได้ไกล มีทิศทางเป็นแนวราบ และพุ่งออกไปอย่างแรง”

กรอนเนมาร์คระบุว่า การทุ่มบอลนับเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เล่นตำแหน่งฟูลแบ็ค

“เป็นเรื่องสำคัญที่แบ็คซ้ายขวาต้องมีความสามารถทุ่มบอลไกล มีความจริงข้อหนึ่งที่ชี้ว่าหากต้องทุ่มบอลภายใต้สถานการณ์กดดัน พวกเขามีโอกาสเสียบอลถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นฟูลแบ็คจำเป็นต้องสามารถทุ่มบอลให้ไกลจากแดนตัวเอง ผลของมันไม่ได้มีแค่รักษาการครอบครองบอลแต่ยังสามารถเคาน์เตอร์แอทแท็คอีกด้วย”

อดีตนักเลื่อนน้ำแข็งทีมชาติเดนมาร์กให้ความเห็นว่า ถ้าเป็นไปได้ผู้เล่นทุกคนควรมีทักษะทุ่มบอลที่ถูกต้อง เพียงแต่ฟูลแบ็คเป็นตำแหน่งที่มีความจำเป็นสูงสุด รองลงมาคือผู้เล่นปีก

“การซ้อมมื้อแรก ผมจะเทรนแบ็คซ้ายขวา 6-10 คน เริ่มจากเซสชั่นพื้นฐาน การเคลื่อนตัว และบันทึกวิดีโอ จากนั้นเป็นการสอนเทคนิคบางอย่าง ผมจะพิจารณานักเตะด้วยสายตาและวิเคราะห์จากวิดีโอ ผมต้องการเห็นตำแหน่งการวางเท้า ระยะระหว่างเท้า การเคลื่อนไหวของเอว หัวไหล่ และการวิ่ง”

แม้กูรูยังมองข้ามความเสียหายจากการทุ่มบอลผิดพลาด

โธมัส กรอนเนมาร์ค เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นอาชีพพิเศษนี้ว่า “ผมเริ่มต้นเมื่อปี 2004 ใครๆก็หัวเราะไอเดียการเป็นโค้ชทุ่มบอลของผม มันคงดูประหลาดเกินไปนั่นแหละที่มีคนลุ่มหลงการทุ่มบอล”

“ฟุตบอลกำเนิดขึ้นมาสัก 140 ปี ตอนนี้ผมอายุสี่สิบกว่าแล้วและแทบไม่เคยได้ยินใครพูดคุยเรื่องทุ่มบอลอย่างเป็นกิจลักษณะ คุณดูบอลทางทีวีและคงเคยเห็นทีมที่เสียบอลจากการทุ่ม มันเกิดขึ้นบ่อยแต่คอมเมนเตเตอร์กลับไม่พูดอะไร แต่ถ้าหลังจากนั้นไม่กี่วินาที นักเตะเกิดจ่ายบอลพลาด พวกเขาจะพูดว่า ‘โอ้! นั่นจ่ายบอลแย่นะ’ และถ้าคนนั้นทำพลาดอีก ก็จะถูกมองว่าวันนี้เขาเล่นไม่ดี แต่ถ้าผิดซ้ำครั้งที่สาม จะโดนวิจารณ์ว่าควรถูกเปลี่ยนตัวออก นี่แหละวัฒนธรรมฟุตบอล ซึ่งมุมมองของผมว่ามันแปลกอย่างสิ้นเชิง”

เชื่อว่าหลังอ่านบทความนี้จบลง คุณจะสังเกตการทุ่มบอลในสนามละเอียดลึกซึ้งขึ้น และเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการทุ่มบอลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับแฟนบอลลิเวอร์พูลที่จะรอดูการทุ่มบอลของอเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, โรเบิร์ตสัน และโกเมซเป็นพิเศษ

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)

Categories
Special Content

“เลวานดอฟสกี้” ดาวยิงคนใหม่บาร์ซ่า กับ 5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดกองหน้าจอมถล่มประตูที่โดดเด่นและดีที่สุดในศตวรรษที่ 21 การันตีด้วยผลงาน 8 ฤดูกาลกับบาเยิร์น มิวนิค 344 ประตู จาก 375 นัด และคว้าแชมป์ 19 โทรฟี่

แต่ทว่า ดาวยิงทีมชาติโปแลนด์รายนี้ ได้ออกมาประกาศว่า ไม่ขออยู่ค้าแข้งกับบาเยิร์นต่อไป ทั้ง ๆ ที่ยังเหลือสัญญาอยู่อีก 1 ปี ซึ่งทางยักษ์ใหญ่แห่งมิวนิค ก็พยายามที่จะรั้งตัวเขาอย่างสุดความสามารถแล้ว

และในที่สุด เจ้าของรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของฟีฟ่า 2 สมัยซ้อน ตัดสินใจลงจากหลังเสือใต้ที่บาวาเรีย มาเป็นนักเตะคนใหม่ของบาร์เซโลน่าเป็นที่เรียบร้อย ด้วยค่าตัว 45 ล้านยูโร เซ็นสัญญา 4 ปี

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

เลวานดอฟสกี้ เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 8 ขวบ กับทีมเยาวชนของปาร์ติซาน เลซโน่ และวาร์โซเวีย วอร์ซอ ก่อนที่ในปี 2005 จะได้เซ็นสัญญาในระดับอาชีพกับเดลต้า วอร์ซอ, และลีเกีย วอร์ซอ ทีมสำรอง

ปีถัดมา เลวานดอฟสกี้ ย้ายไปค้าแข้งกับซนิคซ์ พรูสซ์คอฟ ลงเล่น 59 นัด ยิง 36 ประตู และอีก 2 ปีให้หลัง ได้ย้ายไปค้าแข้งกับเลช พอซนาน ก็ยังรักษามาตรฐานการจบสกอร์ได้ดี ลงเล่น 58 นัด ยิง 32ประตู

ต่อมาในปี 2010 เลวานดอฟสกี้ ได้เริ่มต้นหาประสบการณ์ค้าแข้งนอกประเทศบ้านเกิด กับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรชั้นนำในบุนเดสลีกา เยอรมนี ที่จ่ายเงินค่าตัว 4.5 ล้านยูโร ให้กับเลซ พอซนาน

ตลอด 4 ปี ของเลวานดอฟสกี้กับดอร์ทมุนด์ ยิงได้ 103 ประตู จากการลงสนาม 187 นัด คว้าแชมป์ได้ 5 รายการ ก่อนที่จะย้ายมาค้าแข้งกับทีมคู่ปรับอันดับ 1 อย่างบาเยิร์น มิวนิค แบบไม่มีค่าตัวในปี 2014

เดือนกันยายน ปี 2015 เลวานดอฟสกี้ ได้สร้างสถิติที่ใครยากจะเทียบได้ ด้วยการยิงคนเดียว 5 ประตู ภายในเวลา 9 นาที เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ลีกสูงสุดเยอรมัน พาบาเยิร์น แซงเอาชนะโวล์ฟบวร์ก 5 – 1

และอีกสถิติหนึ่งที่สำคัญ เกิดขึ้นในซีซั่น 2020/21 เลวานดอฟสกี้ ทำประตูในบุนเดสลีกาได้ 41 ประตู ทุบสถิติเดิมของแกร์ด มุลเลอร์ อดีตตำนานดาวยิงเสือใต้ ที่ทำไว้ 40 ประตู ในซีซั่น 1971/72

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

ในส่วนของการรับใช้ทีมชาติ เลวานดอฟสกี้ ลงเล่นให้กับโปแลนด์มาตั้งแต่ปี 2008 เป็นเจ้าของสถิติอันดับ 1 ตลอดกาล ทั้งการลงสนามมากที่สุด 132 นัด และเป็นดาวซัลโวสูงสุด โดยยิงไป 76 ประตู

เลวานดอฟสกี้ ปิดฉากกับบาเยิร์นอย่างเป็นทางการ พร้อมที่จะเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่กับบาร์ซ่า และนี่คือ 5 เรื่องราวของเขา ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

เป็นครอบครัวนักกีฬาแบบยกบ้าน

ครอบครัวของโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ถือเป็นครอบครัวนักกีฬาอย่างแท้จริง เริ่มจากคุณพ่อคริสตอฟ เป็นอดีตแชมป์ยูโด, คุณแม่อีโวน่า เป็นนักวอลเลย์บอล, มิลีน่า น้องสาว เป็นนักวอลเลย์บอลทีมชาติโปแลนด์รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี แม้กระทั่งแอนนา เลวานดอฟสก้า ภรรยาของเขา เป็นอดีตนักคาราเต้ดีกรีเหรียญทองแดง ในการแข่งขันชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2009

 ไม่ได้ไปอังกฤษ เพราะภัยธรรมชาติ

เมื่อปี 2010 เลวานดอฟสกี้ มีแผนที่จะเดินทางไปที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเยี่ยมชมสโมสรแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส และอาจจะตัดสินใจเซ็นสัญญาค้าแข้งกับ “กุหลาบไฟ” แต่ไม่สามารถเดินทางได้ เนื่องจากเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศไอซ์แลนด์ เป็นอุปสรรคในเส้นทางการบินของยุโรปเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทำให้โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้ตัวเขาไปร่วมทีมในที่สุด

เคยยิง “ราชันชุดขาว” คนเดียว 4 ประตู

เลวานดอฟสกี้ เป็นนักเตะที่รู้จักคุ้นเคยกับเรอัล มาดริดเป็นอย่างดี เพราะได้เผชิญหน้าในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ถึง 8 นัดด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพบกันในรอบรองชนะเลิศ นัดแรก ฤดูกาล 2012/13 เขายิงคนเดียว 4 ประตู ในเกมที่ดอร์ทมุนด์ เปิดบ้านชนะ 4 – 1 ถึงแม้ในนัดสอง “เสือเหลือง” จะบุกไปแพ้ 0 – 2 แต่ยังได้ผ่านเข้าชิงชนะเลิศ ด้วยสกอร์รวม 4 – 3

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

เป็นนักเตะที่ดูแลตัวเองได้ดีเยี่ยม

ซีซั่นสุดท้ายกับบาเยิร์น มิวนิค เลวานดอฟสกี้ ในวัยย่างเข้า 34 ปี ลงเล่น 46 นัด ยิงได้ 50 ประตู ฆาบี มาร์ติเนซ อดีตเพื่อนร่วมทีมของเลวานดอฟสกี้ สมัยที่ค้าแข้งกับ “เสือใต้” เปิดเผยว่า “ในช่วงพรี-ซีซั่น ผมพยายามนำขนมที่เอามาจากสเปน ไปให้เลวานดอฟสกี้ทาน แต่เขาปฎิเสธมาตลอด แม้กระทั่งการเลือกท่านอนหลับ เพื่อรักษาสภาพร่างกายที่ดีไว้”

ชื่นชอบ “ฟอร์มูล่า วัน” ตั้งแต่ยังเด็ก

นอกจากความสนใจในกีฬาฟุตบอลแล้ว เลวานดอฟสกี้ ยังติดตามกีฬาที่เกี่ยวกับความเร็วอย่างฟอร์มูล่า วัน และมีโอกาสได้ไปชมการแข่งขันที่โมนาโก กรังปรีซ์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเจ้าตัวให้สัมภาษณ์ว่า “ผมติดตามฟอร์มูล่า วัน มาตั้งแต่เด็ก และผมยังจดจำมิชาเอล ชูมัคเกอร์ ได้เสมอ สิ่งที่เขาประสบความสำเร็จ มันเป็นอะไรที่เหลือเชื่อจริง ๆ”

บาร์เซโลน่า ได้อาวุธหนักอย่างเลวานดอฟสกี้มาเสริมแนวรุก วัดความคมกับคาริม เบนเซม่า ดาวเตะเรอัล มาดริด เชื่อว่าศึก “เอล กลาซิโก้” ในซีซั่น 2022/23 จะเพิ่มดีกรีความเดือดมากขึ้นอย่างแน่นอน

Categories
Special Content

ที่มาโลโก้ 20 สโมสรลาลีกา ฤดูกาล 2022/23

ตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ของสโมสรฟุตบอล ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ส่งผลถึงการรับรู้ และการจดจำของแฟนลูกหนัง อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในระยะยาว นับว่าเป็นผลดีต่อสโมสรต่อไป

การออกแบบโลโก้ทีมฟุตบอลที่ดี ไม่ใช่แค่มีความสวยงามเท่านั้น แต่ต้องโดดเด่น สะดุดตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และที่สำคัญต้องสามารถสื่อสารคอนเซปท์ สะท้อนถึงตัวตนของแบรนด์ได้อย่างชัดเจนด้วย

และนี่คือเรื่องราวเบื้องหลังการออกแบบ และความหมายของตราประจำสโมสรทั้ง 20 ทีม ในลีกสูงสุดของสเปน ซีซั่นใหม่

อัลเมเรีย

ตราของสโมสร มีโครงสร้างที่เรียบง่าย ประกอบด้วยพื้นหลังแถบสีขาว-แดง หมายถึงสีประจำสโมสร พร้อมกับลูกฟุตบอลที่อยู่บนพื้นหลัง และตัวอักษร U กับ D ที่ย่อมาจาก “Unión Deportiva”

นอกจากนี้ ยังมีสัญลักษณ์ “Indalo” ที่อยู่ตรงกลางระหว่างตัวอักษร U กับ D มีลักษณะคล้ายกับมนุษย์ที่ถูกค้นพบในถ้ำ Los Letreros ในเมืองอัลเมเรีย นำมาดัดแปลง และผสมรวมอยู่ในโลโก้อย่างลงตัว

แอธเลติก บิลเบา

เป็นรูปทรงคล้ายโล่สามเหลี่ยม ภาพที่อยู่ในสามเหลี่ยมด้านใน คือสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น ได้แก่ โบสถ์แอนโธนี่, สะพานแอนโธนี่, หมาป่า, ต้นโอ๊กเกร์นิกา และไม้กางเขน ส่วนแถบขาว-แดง มาจากสีธงของแคว้นบาสก์

สำหรับชื่อสโมสรที่อยู่ล้อมรอบโล่นั้น เริ่มแรกใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Athletic Club” แต่ถูกบังคับให้เปลี่ยนเป็นภาษาสเปน คือ “Athlétic de Bilbao” ก่อนกลับไปใช้ชื่อเดิม หลังจากนายพลฟรังโก้หมดอำนาจ

แอตเลติโก มาดริด

ก่อตั้งโดยชาวบาสก์ที่อาศัยอยู่ในกรุงมาดริด ใช้ตราสโมสรคล้ายกับแอธเลติก บิลเบา ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ตราสโมสรในแบบของตัวเอง โดยมีลักษณะเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม และเพิ่มสีน้ำเงิน ร่วมกับแถบขาว-แดง 

สัญลักษณ์ที่อยู่ในตราสโมสร ประกอบด้วยหมี กับต้นสตรอเบอรี่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงมาดริด รวมทั้งมีดาว 7 ดวงอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงแคว้นทั้ง 7 ที่อยู่ในกรุงมาดริด

บาร์เซโลน่า

ในปี 1910 โยอัน กัมเปร์ ผู้ก่อตั้งสโมสร ได้จัดการประกวดตราสโมสรขึ้นมาใหม่ ซึ่งตราสโมสรที่ชนะการประกวด มีลักษณะคล้ายกับที่ใช้ในปัจจุบัน โดยได้ผ่านการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อยอยู่หลายครั้ง 

ตราสโมสรประกอบด้วย 3 ส่วน มุมบนซ้าย คือไม้กางเขนสีแดงบนพื้นสีขาว หมายถึงนักบุญจอร์จ นักบุญองค์อุปถัมภ์ของแคว้นคาตาลัน, มุมบนขวา คือสีธงของแคว้นคาตาลัน และครึ่งล่าง คือสีประจำสโมสร และลูกฟุตบอลสีเหลือง

เรอัล เบติส

ตราสัญลักษณ์ประกอบด้วย แถบสีขาว-เขียว มาจากสีของธงของแคว้นอันดาลูเซีย อยู่ภายในรูปสามเหลี่ยมหลับหัว พร้อมทั้งตัวอักษร BB ในวงกลมตรงกลาง ย่อมาจากคำว่า Betis Balompié

ส่วนมงกุฎที่อยู่ด้านบน มาจากการอุปถัมภ์ของกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 8 แต่ในช่วงปี 1931-1940 ได้มีการนำมงกุฎออกไป เนื่องจากอยู่ภายใต้การปกครองของนายพลฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการในเวลานั้น

กาดิซ

ตราสโมสรเป็นรูปสามเหลี่ยมกลับหัวสีเหลือง-น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ด้านในมีเทพเจ้าเฮอร์คิวลิส และสิงโต 2 ตัว ขนาบข้างด้วยเสาหิน 2 เสา ผูกด้วยแผ่นผ้าที่มีคำขวัญประจำชาติสเปน “Plvs Vltra”

ส่วนมงกุฎที่อยู่ด้านบนของตราสโมสร ไม่ใช่มงกุฎของกษัตริย์ เหมือนกับสโมสรที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เรอัล” (Real) แต่เป็นมงกุฎของดยุค เนื่องจากในอดีต เมืองกาดิซเคยถูกปกครองโดยดยุคตั้งแต่ศตวรรษที่ 15

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rccelta

เซลต้า บีโก้

ลักษณะของตราสโมสร เป็นรูปกากบาทสีแดงปลายแหลม หมายถึงไม้กางเชนของนักบุญซานติอาโก้ และมีโล่สีฟ้า ซึ่งมาจากสีบนธงประจำแคว้นกาลีเซีย บนโล่มีตัวอักษร CC ซึ่งย่อมาจาก “Club Celta”

ส่วนมงกุฎที่อยู่เหนือโล่สีฟ้า มาจากการอุปถัมภ์ของกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 โดยชื่อสโมสรมีชื่อเต็มว่า “Real Club Celta de Vigo” แต่ได้มีการเอามงกุฎออกไป ในยุคที่นายพลฟรังโก้ปกครองอยู่

เอลเช่

ตราของสโมสร มาจากส่วนหนึ่งของตราประจำเมืองเอลเช่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนบนเป็นรูปผู้หญิงในชุดโรมัน ถือใบปาล์มสีทอง มีที่มาจากเมืองเอลเช่ เป็นเมืองที่นิยมปลูกต้นปาล์มเป็นจำนวนมาก

ส่วนตรงกลางเป็นรูปประตูเมืองเอลเช่ และส่วนล่างเป็นรูปแท่นโรมัน ล้อมรอบด้วยตัวอักษร C I I A ซึ่งย่อมาจาก Colonia Iulia Illice Augusta ตำนานดาบของจักรพรรดิโรมันออกัสตัส

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/RCDEspanyol

เอสปันญ่อล

ตราสัญลักษณ์ของสโมสรในปัจจุบัน เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2005 ประกอบด้วยวงกลมด้านนอกสีแดง มีชื่อสโมสรตัวอักษรสีเหลืองกำกับ และวงกลมด้านใน มีแถบสีขาว-น้ำเงิน สีประจำสโมสร 

ส่วนมงกุฎที่ประดับอยู่ด้านบน ได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 ได้ให้การอุปถัมภ์สโมสร โดยชื่อเต็มของสโมสรในภาษาคาตาลัน คือ Reial Club Deportiu Espanyol de Barcelona

เกตาเฟ่

ตราสัญลักษณ์ของสโมสรในปัจจุบัน ประกอบด้วยวงแหวนสีน้ำเงินที่มีการไล่ระดับความเข้มขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้รู้สึกเหมือนมีการเคลื่อนไหว มีเส้นขอบสีเงิน และมีลูกฟุตบอลอยู่ด้านบน

ด้านใน เป็นตราประจำเมืองเกตาเฟ่ ฝั่งซ้ายคือไม้กางเขนแบบละติน มีรูปหัวใจอยู่บนกางเขน ที่สื่อถึงหัวใจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู ส่วนฝั่งขวาเป็นพื้นหลังสีเขียวมีรูปเครื่องบิน สื่อถึงฐานทัพอากาศ

กิโรน่า

ตราสัญลักษณ์ใหม่ของสโมสร เน้นไปที่สีขาว-แดง ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ส่วนรูปสี่เหลี่ยมที่อยู่ด้านในวงกลม มีแถบสีเหลือง-แดง ซึ่งเป็นสีธงประจำแคว้นคาตาลัน และรูปที่อยู่ด้านในสี่เหลี่ยม มีลักษณะคล้ายหยดน้ำเรียงสลับกันสีละ 4 แถว เป็นตัวแทนของเมืองกิโรน่า ซึ่งเป็นจุดที่มีแม่น้ำ 4 สาย ไหลมาบรรจบกัน

เรอัล มายอร์ก้า

มงกุฎที่ประดับอยู่ด้านบน ได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 ได้ให้การอุปถัมภ์สโมสรโดยชื่อเต็มของสโมสร คือ Real Club Deportivo Mallorca และฉายาของพวกเขาคือ “Vermilion” ที่แปลว่า สีแดงสด ซึ่งเป็นสีประจำทีม และเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ของสโมสรอีกด้วย

เรอัล มาดริด

ตัวอักษร 3 ตัว MCF ที่อยู่ด้านในของตราสโมสร ย่อมาจาก Madrid Club de Fútbol ก่อนที่กษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 จะเข้ามาให้การอุปถัมภ์สโมสร จึงเพิ่มคำว่า “เรอัล” (Real) นำหน้าชื่อสโมสร พร้อมกับมงกุฎที่ประดับไว้ด้านบนของตราสโมสร ส่วนพื้นหลังมีสีขาว ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร คาดด้วยแถบสีน้ำเงินเพื่อความสวยงาม

โอซาซูน่า

ตราสโมสรมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมกลับหัว แบ่งเป็นพื้นสีแดงและสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร มงกุฎที่อยู่ด้านบน และตรงกลางที่เป็นพื้นสีขาวล้อมรอบด้วยโซ่สีทอง มาจากตราของแคว้นนาวาร์ ส่วนรูปสิงโตด้านใน เป็นตัวแทนของคำว่า “Osasuna” ซึ่งในภาษาบาสก์แปลว่า “สุขภาพ” หรือสามารถสื่อถึง “ความแข็งแกร่ง” ได้ด้วย

ราโย บาเยกาโน่

ตราสโมสรเป็นพื้นสีขาว ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ด้านในประกอบด้วยตราประจำแคว้นบาเยกาส ย่านชนชั้นแรงงานในกรุงมาดริด ตามด้วยสายฟ้าสีแดงทแยงพาดผ่าน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสโมสรฟุตบอลริเวอร์เพลท ในประเทศอาร์เจนติน่า และตัวอักษร 3 ตัว RVM ย่อมาจากชื่อเต็มของสโมสรคือ “Rayo Vallecano de Madrid”

เรอัล โซเซียดัด

ส่วนประกอบของตราสโมสร ได้แก่ ธงประจำเมืองซาน เซบาสเตียน (สีน้ำเงิน-ขาว) บนธงมีตัวอักษร SS ซึ่งย่อมาจากชื่อเมืองที่ตั้งของสโมสร (San Sebastián) และมงกุฎที่ประดับอยู่บนลูกฟุตบอล ได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 ได้ให้การอุปถัมภ์สโมสร จึงเพิ่มคำว่า “เรอัล” (Real)นำหน้าชื่อสโมสร

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/sevillafc.eng

เซบีย่า

ตราสโมสรประกอบไปด้วย 3 ส่วน มุมบนซ้าย คือตราประจำเมืองเซบิลล์ เป็นรูปของกษัตริย์เฟอร์ดินานที่ 3 แห่งอาณาจักรกาสติย่า ขนาบข้างด้วยอัครมุขนายกอิสิดอร์และนักบุญเลอันเดร์, มุมบนขวา คือตัวอักษร SFC ย่อมาจากชื่อสโมสร และครึ่งล่างมีแถบสีขาว-แดง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสีธงของกษัตริย์เฟอร์ดินานที่ 3

บาเลนเซีย

สิ่งที่อยู่ในตราสโมสร ได้แก่ สีธงประจำแคว้นบาเลนเซีย (เหลือง-แดง-น้ำเงิน), และค้างคาว ที่มาจากตำนานของกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอารากอน ที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแคว้นบาเลนเซียจนได้รับชัยชนะ จากนั้นได้มีค้างคาวตัวหนึ่งบินลงมาขณะเดินเข้าเมือง ซึ่งมองว่าเป็นการให้พร และกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองตั้งแต่นั้นมา

เรอัล บายาโดลิด

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตราสโมสรใหม่ให้เรียบง่ายกว่าเดิม โดยตราสโมสรประกอบด้วย สีเหลือง-แดง สื่อถึงเปลวเพลิง เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเมืองบายาโดลิด เมื่อปี 1561, สีม่วง-ขาว มาจากสีประจำสโมสร ส่วนมงกุฎที่อยู่ด้านบน แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับราชสำนัก

บียาร์เรอัล

ตราสโมสรในปัจจุบัน ถูกใช้เป็นครั้งแรก เมื่อปี 1966 ประกอบด้วย สีน้ำเงิน มาจากการย้อมเสื้อสีขาว เพื่อสวมใส่คู่กับกางเกงสีดำ ชุดแข่งในอดีต, สีเหลือง-แดง มาจากสีธงของแคว้นบาเลนเซีย และมงกุฎที่อยู่ด้านบน คือต้นกำเนิดราชวงศ์ของเมือง ซึ่งก่อตั้งโดยกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอารากอน เมื่อปี 1274

ตราประจำสโมสรฟุตบอล ถ้าดีไซน์ออกมาแล้วช่วยสร้างการรับรู้ที่ดีให้กับแฟนบอล จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจต่อความเป็นท้องถิ่นนิยมของตนเอง และช่วยสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นต่อทีมฟุตบอลด้วย

Categories
Football Business

“ลิเวอร์พูล” กับการไปต่ออีก 4 ปี ของ “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด”

ในช่วงปลายทศวรรษ 1970s ฟุตบอลอังกฤษได้เปิดรับให้มีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อแข่งขันของสโมสร ซึ่งลิเวอร์พูล ถือเป็นสโมสรแรก ๆ ที่นำร่อง และเป็นภาพจำในแต่ละยุคสมัย

ท่ามกลางความไม่แน่นอนในเรื่องสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อรายเดิมที่กำลังจะหมดสัญญา และมีการเจรจากับหลายราย แต่ในที่สุด “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” ยังอยู่กับลิเวอร์พูลไปอีก 4 ปี

เรื่องราวของ “หงส์แดง” กับสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กับการไปต่อของ “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” วันนี้ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

โลกฟุตบอลยุคเก่าถูกทำลายล้าง

24 มกราคม 1976 “เคทเทอริ่ง ทาวน์” สโมสรแรกในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดี ที่มีสปอนเซอร์บนเสื้อแข่ง โดยสวมเสื้อที่มีคำว่า “Kettering Tyres” ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจศูนย์บริการยางรถยนต์ อยู่บนหน้าอกลงแข่งขัน

แต่ทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ สั่งให้เคทเทอริ่ง ทาวน์ เอาสปอนเซอร์ “Kettering Tyres” ที่อยู่บนหน้าอกเสื้อออกไป เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีกฎที่อนุญาตให้ทีมฟุตบอลมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน

ทางเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็พยายามที่จะเลี่ยงบาลี เปลี่ยนเป็น “Kettering T” ที่มาจากคำว่า Town แต่ทางเอฟเอบอกว่า จะปรับเงิน 1,000 ปอนด์ ถ้ายังฝ่าฝืนกฏ สุดท้ายแล้วเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็ยอมเอาออกแต่โดยดี

หลังจากเคสของเคทเทอริ่ง ทาวน์ ผ่านไปไม่นาน ดาร์บี้ เคาน์ตี้ สโมสรในดิวิชั่น 1 กับโบลตัน วันเดอเรอร์ส ทีมระดับดิวิชั่น 2 ตัดสินใจทำหนังสือไปยังเอฟเอ เพื่อขอให้มีสปอนเซอร์ทางธุรกิจ ไปอยู่บนเสื้อแข่งขัน

ที่สุดแล้ว ในเดือนมิถุนายน 1977 เอฟเอจึงอนุมัติให้สโมสรฟุตบอลมีสปอนเซอร์อยู่บนเสื้อได้ แต่ได้เพิ่มเงื่อนไขว่า ถ้ามีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ห้ามสวมชุดแข่งที่มีสปอนเซอร์บนหน้าอกลงแข่งขันโดยเด็ดขาด

ซึ่งสโมสรแรกในลีกสูงสุดเมืองผู้ดี ที่ประเดิมสวมชุดแข่งขันที่มีสปอนเซอร์อยู่บนหน้าอก คือ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ในฤดูกาล 1977/78 โดยมี “SAAB” บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสวีเดน เป็นผู้สนับสนุน

ย้อนรอยสปอนเซอร์บนเสื้อ “หงส์แดง”

ลิเวอร์พูล ได้เริ่มสวมเสื้อที่มีสปอนเซอร์อยู่บนหน้าอก ลงแข่งขันในแมตช์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อปี 1979 ซึ่งรายชื่อแบรนด์สินค้าทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

👉 Hitachi (1979-1982) : บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของญี่ปุ่น สปอนเซอร์รายแรกที่อยู่บนหน้าอกเสื้อชุดแข่งของลิเวอร์พูล ในยุคที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างความรุ่งเรือง ช่วงปลายยุค 1970s ถึงต้นยุค 1980s

👉 Crown Paints (1982-1988) : บริษัทผลิตสีทาบ้านจากอังกฤษ เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อ ช่วงที่ลิเวอร์พูลยังครองความยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง ในปีแรกแยกเป็น 2 บรรทัด แต่หลังจากนั้นยุบเหลือบรรทัดเดียว

👉 Candy (1988-1992) : ไม่ได้เกี่ยวกับลูกอม แต่เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากอิตาลี อยู่บนหน้าอกเสื้อในช่วงที่ลิเวอร์พูล เข้าสู่ช่วงท้ายๆ ของความยิ่งใหญ่ในยุค “บูทรูม สต๊าฟฟ์” ก่อนที่จะเผชิญกับขาลง

👉  Carlsberg (1992-2010) : แบรนด์เครื่องดื่มจากประเทศเดนมาร์ก ถึงแม้ในช่วงเวลานั้น ลิเวอร์พูลได้ห่างหายแชมป์ลีกสูงสุดเป็นเวลานาน แต่สปอนเซอร์รายนี้ก็ยังจงรักภักดีกับสโมสรยาวนานถึง 18 ปี

👉 Standard Chartered (2010-ปัจจุบัน) : ธนาคารชื่อดังระดับโลก ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในยุคที่ลิเวอร์พูล ค่อย ๆ กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง โดยเฉพาะยุคของเจอร์เก้น คล็อปป์ ที่คว้าแชมป์รายการใหญ่ 6 โทรฟี่

สปอนเซอร์หน้าอกเสื้อแข่งขัน ถือเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวในแต่ละช่วงเวลาของสโมสรฟุตบอลนั้น ๆ ว่า ได้ผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง ซึ่งทั้งสปอนเซอร์และสโมสร ต่างก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ตัดสินใจต่อสัญญากับเจ้าเดิมอีก 4 ปี

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า ลิเวอร์พูลพยายามเจรจากับบริษัทคริปโตเคอเรนซี่ เพื่อมาเป็นสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อของสโมสรรายใหม่ แทนที่รายเดิมที่จะหมดสัญญาในปีหน้า

แต่ในที่สุด ยักษ์ใหญ่แห่งเมอร์ซีย์ไซด์ทีมนี้ ตัดสินใจต่อสัญญากับธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกไปอีก 4 ปี มีผลถึงปี 2027 คาดว่าได้รับเงินปีละ 50 ล้านปอนด์ รวมทั้งสิ้น 200 ล้านปอนด์

บิลล์ วินเทอร์ส ซีอีโอของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กล่าวว่า “ตอนที่เราเริ่มสนับสนุนลิเวอร์พูลมาตั้งแต่ปี 2010 นึกไม่ถึงเลยว่าลิเวอร์พูลจะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกันต่ออีก 4 ปี”

ขณะที่ บิลลี่ โฮแกน ซีอีโอของลิเวอร์พูล กล่าวว่า “การเข้ามาสนับสนุนของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จทั้งในและนอกสนามช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเราหวังว่าจะได้ร่วมกันสนับสนุนแฟน ๆ ต่อไป”

ส่วนประเด็นที่มีการเจรจากับบริษัทคริปโตเคอเรนซี่ ในการเป็นสปอนเซอร์ใหม่นั้น โฮแกนมองว่า วงการคริปโตเคอเรนซี่ ยังไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน และมีความเสี่ยงสูง จึงยังไม่ถึงเวลาที่จะเจรจาเรื่องนี้

“สำหรับคริปโตเคอเรนซี่แล้ว มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างกว้าง มีองค์ประกอบต่างๆ มากมาย ที่อยู่ในนั้น มันยังเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน ซึ่งตอนนี้กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก”

“ผมไม่ได้พูดว่า จะไม่สนใจอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี่ แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ใช่ตอนนี้ ถ้าในอนาคตได้พบกับพันธมิตรที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมนั้น ผมจะดูเรื่องนี้อย่างแน่นอน” โฮแกน กล่าวปิดท้าย

การมีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อ นอกจากจะเป็นการหารายได้เข้าสู่สโมสรแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยให้แฟนฟุตบอลจดจำ และกลายเป็นภาพที่ติดตาจนไม่สามารถลบเลือนออกจากความทรงจำของแฟนฟุตบอลได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://sportslens.com/news/on-this-day-jan-24/

https://www.liverpoolfc.com/news/history-liverpools-shirt-sponsors

https://theathletic.com/3422768/2022/07/14/liverpool-standard-chartered-crypto/

Categories
Special Content

“ราฮีม สเตอร์ลิ่ง” เลือกเขียนชีวประวัติบทที่ 3 กับ “เชลซี”

ด้วยวัย 27 ปี ราฮีม สเตอร์ลิ่ง กำลังเริ่มต้นประวัติบทใหม่ในช่วงพีคของอาชีพค้าแข้งกับ เชลซี หลังจากใช้เวลา 11 ปีร่วมกับ ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ นับเป็นนักเตะน้อยรายที่ได้เล่นเกมระดับซีเนียร์กับยักษ์ใหญ่พรีเมียร์ลีกถึงสามทีม โดยเฉพาะกับทีมเรือใบสีฟ้า ซึ่งเขากวาดเหรียญชนะเลิศระดับเมเจอร์มากมายยกเว้นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซึ่งพลาดให้ทีมสิงโตน้ำเงินคราม

ราฮีม สเตอร์ลิ่ง เป็นนักเตะใหม่รายที่สองของเชลซีในตลาดรอบนี้ถัดจาก เอ็ดดี้ บีช นายทวารจากเซาแธมป์ตัน แต่ถือเป็นสตาร์ใหญ่คนแรกในยุค ท็อดด์ โบห์ลีย์ เจ้าของสโมสรคนใหม่ชาวอเมริกัน เขาเซ็นสัญญาห้าปีบวกอ็อปชั่นปีที่หก รับค่าเหนื่อยเท่ากับที่ซิตี้จ่ายให้คือ 3 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์ ย้ายเข้าสแตมพอร์ด บริดจ์ ด้วยค่าตัว 47.5 ล้านปอนด์ (ยังไม่รวมแอดออน 2.5 ล้านปอนด์) เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับ 44 ล้านปอนด์ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อมาจากลิเวอร์พูลช่วงซัมเมอร์ปี 2015

หลังผ่านการตรวจสภาพร่างกาย สเตอร์ลิ่งเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปสมทบกับเพื่อนร่วมทีมใหม่ที่เก็บตัวปรีซีซั่นอยู่ในลอส แอนเจลีส โดยลูกทีมของโธมัส ทูเคิล มีคิวอุ่นเครื่องกับคลับ อเมริกา ในวันเสาร์ที่ 16กรกฎาคม, ชาร์ลอตต์ เอฟซี ในวันพุธที่ 20 ที่เมืองชาร์ลอตต์ และ อาร์เซนอล ในวันเสาร์ที่ 23

ก่อนเซ็นสัญญากับเชลซีไม่กี่วันเคยมีข่าวโคมลอยว่า ลิเวอร์พูลสนใจอยากได้อดีตปีกดาวรุ่งกลับไปเล่นในแอนฟิลด์อีกครั้ง ซึ่งกระแสถูกจุดและดับลงอย่างรวดเร็วเพราะสวนทางกับข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากเชลซีเป็นทีมเดียวที่เปิดโต๊ะเจรจากับทีมเรือใบสีฟ้าอย่างจริงจัง ส่วนลิเวอร์พูลก็จบภารกิจตลาดรอบนี้ไปแล้ว

แต่บางส่วนของข่าวนั่งเทียนเขียนช่วยเตือนความจำว่า สเตอร์ลิ่งไม่มีโทรฟี่ติดมือระหว่างชีวิตสี่ปีในแอนฟิลด์ แต่นั่นไม่ได้เป็นแรงจูงใจให้เขาต้องกลับไปไขว่คว้าความสำเร็จกับลิเวอร์พูล เพราะเท่าที่ผ่านมาก็มีความทรงจำที่ดีส่วนตัวมากพอสมควร

ชีวิตสองบทแรก 11 ปี กับ “ลิเวอร์พูล” และ “แมนฯซิตี้”

เด็กชายราฮีม แชคีลล์ สเตอร์ลิ่ง เกิดในประเทศจาเมกา และหลังจากคุณพ่อเสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรมสามปี คุณแม่คือ นาดีน คลาร์ก อดีตนักกรีฑาทีมชาติ ซึ่งสเตอร์ลิ่งเชื่อว่าสไตล์วิ่งของเขาเป็นดีเอ็นเอที่ตกทอดมาจากคุณแม่ ได้อพยพมาอยู่นีสเดน กรุงลอนดอน ขณะที่เขาอายุห้าขวบ

บนเส้นทางกีฬาฟุตบอล สเตอร์ลิ่งเล่นให้ทีมเยาวชนท้องถิ่น อัลฟา แอนด์ โอเมกา เป็นเวลาสี่ปีก่อนเซ็นสัญญากับ ควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส ตอนอายุสิบขวบ ลงสนามตำแหน่งปีก เขาได้รับความสนใจจากแมวมองของอะคาเดมี่ อาร์เซนอล, เชลซี, ฟูแลม, ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่เพราะคำแนะนำของคุณแม่ที่ไม่อยากให้เขาเลือกสโมสรละแวกเมืองหลวงเพื่อหลีกเลี่ยงเข้าไปพัวพันกับแก๊งค์อันธพาลท้องถิ่น นั่นจึงทำให้สเตอร์ลิ่ง ซึ่งขณะนั้นอายุ 16 ปี ย้ายไปอยู่กับ ลิเวอร์พูล ในเดือนกุมภาพันธ์ 2010 ด้วยค่าตัว 450,000 ปอนด์

ในปีนั้นเอง สเตอร์ลิ่งเริ่มไต่ระดับจากทีมเยาวชน ลงแข่งขันนัดแรกให้ลิเวอร์พูล ยู-18 ในดาร์บี้แมตช์กับเอฟเวอร์ตัน ส่วนเกมแรกในพรีเมียร์ อะคาเดมี่ ลีก เป็นนัดเสมอแอสตัน วิลล่า 2-2 เขายังทำได้ถึงห้าตุงในนัดถล่มเซาธ์เอนด์ 9-0 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2011

24 มีนาคม 2012 สเตอร์ลิ่งถูกโปรโมทขึ้นมาเล่นทีมซีเนียร์เป็นครั้งแรก ลงเป็นตัวสำรองในเกมพรีเมียร์ลีกกับวีแกน ตอนนั้นเขาอายุ 17 ปี 107 วัน เป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์สโมสร จนกระทั่งวันที่ 23 สิงหาคมปีเดียวกัน เขาเป็นตัวจริงนัดแรกในรอบคัดเลือกยูโรปา ลีก ซึ่งลิเวอร์พูลชนะ 1-0 ในบ้านของฮาร์ทส์ และอีกสามวันต่อมา ลงตัวจริงเกมพรีเมียร์ลีก เสมอแมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2-2 ในแอนฟิลด์

ด้วยฟอร์มเจิดจรัสเกินวัย ลิเวอร์พูลรีบจับสเตอร์ลิ่งต่อสัญญาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2012 และเขายังฉายแสงต่อไปการันตีด้วยตำแหน่งดาวรุ่งยอดเยี่ยมประจำปี 2014 และ 2015 ของลิเวอร์พูล และติดหนึ่งในหกที่ลุ้นรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีของ พีเอฟเอ ถึงสองปีติดต่อกัน

แต่ก็เป็นเพราะสัญญาใหม่ที่ทำให้สเตอร์ลิ่งยุติบทบาทกับลิเวอร์พูลโดยมีข่าวว่า เขาต้องการค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์จากรับอยู่เดิม 35,000 ปอนด์ และหลังจากปฏิเสธร่วมทัวร์ปรีซีซั่นปี 2015 ที่เอเชีย ตามด้วยขาดซ้อมสองวันเพราะป่วยซึ่งโดนตำหนิอย่างหนักผ่านสื่อจากอดีตนักเตะหงส์แดงอาทิ สตีเวน เจอร์ราร์ด, เจมี่ คาร์ราเกอร์ และแกรม ซูเนสส์ ปีกดาวรุ่งวัย 21 ปีหันไปเซ็นสัญญาห้าปีกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 ด้วยค่าตัว 44 ล้านปอนด์ยังไม่รวมแอดออนอีก 5 ล้านปอนด์ในอนาคต ทำให้เขาเป็นนักเตะอังกฤษที่ค่าตัวแพงที่สุดขณะนั้น สเตอร์ลิ่งอำลาแอนฟิลด์ด้วยผลงาน 129 นัด 23 ประตู

ไม่กี่เดือนต่อมา เยอร์เกน คล็อปป์ ก็เข้ามาคุมทีมหงส์แดงแทนแบรนเดน ร็อดเจอร์ส ขณะที่สเตอร์ลิ่งต้องรออีกหนึ่งปีเพื่อทำงานกับเป๊ป กวาร์ดิโอลา ทและกลายเป็นหนึ่งในนักเตะคู่บารมีของกุนซือชาวสเปน ร่วมกันนำความสำเร็จมาสู่ถิ่นเอติฮัด แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย, แชมป์ลีก คัพ 4 สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย และเฉียดเข้าใกล้แชมป์แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้เพียงเหรียญรองแชมป์เมื่อปี 2021 จากการปราชัยต่อเชลซี 0-1 ที่ปอร์โต ประเทศโปรตุเกส สเตอร์ลิ่งอำลาเอติฮัดด้วยสถิติ 339นัด 131 ประตู

ส่วนเกินที่ “แมนฯซิตี้” แต่ส่วนเติมที่ “เชลซี”

ซีซั่นสุดท้ายที่แมนเชสเตอร์ แม้สเตอร์ลิ่งยังได้เล่นเกือบห้าสิบนัดแต่ส่วนใหญ่เป็นตัวสำรอง บวกกับกวาร์ดิโอลาเริ่มถ่ายเลือดเก่าเสริมเลือดใหม่เช่นเดียวกับคล็อปป์ทำที่แอนฟิลด์ รวมถึงแผงหน้าที่ซื้อ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ และ จูเลี่ยน อัลวาเรซ สวนทางเดินกับ กาเบรียล เชซุส ที่ย้ายไปอยู่อาร์เซนอล และสเตอร์ลิ่งที่เหลือสัญญาหนึ่งปี

แต่ที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ สเตอร์ลิ่งคือแนวรุกความหวังใหม่ที่มีอายุเพียง 27 ปี โดยซีซั่นที่แล้ว เขาทำสกอร์เฉพาะเกมลีกได้ถึง 13 ประตูระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม เทียบกับ 15 ประตูที่ โรเมลู ลูกากู ทำให้เชลซีทั้งซีซั่นรวมทุกรายการ สเตอร์ลิ่งไม่ได้มีดีเพียงการส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย เขายังเพิ่มทางเลือกให้กับทูเคิลในการวางหมากเกมรุก เป็นกุญแจสำคัญอีกดอกที่จะช่วยแย่งแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สูสีขึ้นหลังตามหลังแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลิเวอร์พูล ทีมละเกือบยี่สิบคะแนนในฤดูที่แล้ว พร้อมเป้าหมายกลับไปครอบครองถ้วยบิ๊กเอียร์ ซึ่งเป็นโทรฟี่ที่สเตอร์ลิ่งไม่เคยสัมผัส

สเตอร์ลิ่งเล่นได้หลายหน้าที่ในแนวรุกทั้งปีก มิดฟิลด์ตัวรุก หรือหน้าต่ำ เขาถนัดตำแหน่งปีก เล่นได้ทั้งสองฝั่ง แม้ถนัดเท้าขวาแต่มักถูกมอบหมายให้อยู่ด้านซ้าย มีจุดเด่นตรงความเร็ว ความคล่องแคล่ว การเลี้ยงบอล จุดศูนย์ถ่วงต่ำ เป็นตัวทะลุทะลวงที่อันตราย

แม้มีส่วนสูงเพียง 5 ฟุต 7 นิ้ว เทียบกับลูกากู 6 ฟุต 3 นิ้ว แต่สเตอร์ลิ่งมีตัวท่อนบนใหญ่ ช่วยเรื่องการรักษาสมดุลย์ขณะเคลื่อนที่ได้มาก ซาบี เอร์นานเดซ ตำนานมิดฟิลด์บาร์เซโลน่า เคยกล่าวว่า สเตอร์ลิ่งมีดีมากพอที่จะเล่นในลา ลีกา เพียบพร้อมทั้งร่างกายและเทคนิค

กูรูลูกหนังเชื่อว่า สเตอร์ลิ่งจะเพิ่มมิติให้กับเกมรุกของเชลซีแม้ซีซั่นที่แล้ว ทูเคิลจะใช้บริการของ คริสเตียน พูลิซิช กับตำแหน่งกองหน้าริมเส้นด้านซ้าย แต่ปีกทีมชาติอังกฤษเล่นได้ครบเครื่องกว่าโดยเฉพาะจังหวะจบสกอร์ ซึ่งสเตอร์ลิ่งมักใช้เท้าขวาเลี้ยงบอลเข้าในเพื่อหาจังหวะยิงประตู 

สเตอร์ลิ่งเป็นตัวอันตรายในพื้นที่สุดท้าย สามารถใช้ความเร็ว ความคล่อง การคอนโทรลบอล และการมองหาโอกาส สร้างความปั่นป่วนให้กองหลังทั้งตรงกลางและริมสนามสองด้าน ซึ่งเขามักย้ายไปฝั่งขวาเหมือนอย่างที่กวาร์ดิโอล่าส่งตัวลงมาในพรีเมียร์ลีกนัดปิดฤดูกาลที่แล้วขณะที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตามแอสตัน วิลล่า 0-2 สเตอร์ลิ่งโยนบอลจากด้านขวา ข้ามหัวกองหลังทีมสิงห์ผงาดไปยังเสาสองให้ อิลคาย กุนโดกัน โขกตีไข่แตกเป็นประตูแรกจากสามประตูภายในเวลาห้านาที ให้ทีมเรือใบสีฟ้าแซงชนะ 3-2 ครองแชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยที่ 4 ในรอบห้าปี 

จึงเชื่อได้ว่า ไค ฮาแวร์ตซ์ ศูนย์หน้าเบอร์หนึ่งของเดอะ บลูส์ จะได้บอลที่หลากหลายระยะขึ้นในฤดูกาลใหม่จากสเตอร์ลิ่ง ซึ่งบางจังหวะสามารถวิ่งไปแทนตำแหน่งของฮาแวร์ตซ์ที่ถอยลงมาเป็นหน้าต่ำ เพื่อหาโอกาสสับไกด้วยตัวเอง

พูลิซิชเป็นนักเตะที่เก่งแน่นอน เพียงแต่สเตอร์ลิ่งเก่งกว่าในมุมความหลากหลาย ผลดีมหาศาลจึงตกเป็นของเชลซีที่มีสองสตาร์มากความสามารถและต่างพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อแย่งชิงตำแหน่งกัน ทูเคิลจึงมีอ็อปชั่นให้เลือกใช้ต่อกรกับคู่แข่งขันเพิ่มขึ้นทั้งเกมระดับทวีปและภายในประเทศอังกฤษ

“ทูเคิล” อาจปรับ 3-4-2-1 เป็น 4-3-3 รองรับ “สเตอร์ลิ่ง”

ข่าวดีในฤดูกาล 2022-23 เชลซีจะได้ เบน คีลเวลล์ วิงแบ็คและมิดฟิลด์ริมสนามฝั่งซ้ายกลับมาในสภาพสมบูรณ์หลังจากซีซั่นที่ผ่านมาใช้เวลาส่วนใหญ่รักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าที่ฉีกขาด โดยก่อนหน้านั้น คีลเวลล์และ รีช เจมส์ ซึ่งทำหน้าที่เดียวกันทางด้านขวา ร่วมกันสร้างความปั่นป่วนให้เกมรับของคู่ต่อสู้

ทูเคิลกำลังจะได้คีเวลล์กลับมาประจำการ แถมยังมีสเตอร์ลิ่งเสริมอันตรายให้กับเกมบุกด้านซ้ายเพิ่มขึ้นอีก การที่ทั้งสองอยู่ร่วมสโมสรยังส่งผลดีต่อทีมชาติอังกฤษของแกเร็ธ เซาธ์เกต เป็นอย่างมากในฟุตบอลโลกปลายปีนี้ที่กาต้าร์

ย้อนกลับไปยังเดือนมีนาคม 2021 ในแมตช์เวิลด์ คัพ 2022 รอบคัดเลือก คีลเวลล์เล่นแบ็คซ้ายในหมากเกม 4-3-3 สเตอร์ลิ่งยืนปีกซ้าย แถมได้ เมสัน เมาท์ เพื่อนร่วมสโมสร เป็นส่วนหนึ่งของสามประสามแดนกลางฝั่งซ้าย ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับทีมสิงโตน้ำเงินคราม

หมากเกมนี้ได้เห็นการผ่านบอลรูปสามเหลี่ยมแบบงามๆในจังหวะบุก คีลเวลล์เคลื่อนที่ใกล้ริมสนาม สเตอร์ลิ่งวิ่งล้ำไปข้างหน้าและสามารถหักตัดเข้าใน โดยมีเมาท์อยู่ต่ำลงมา สามารถเลือกจ่ายบอลให้ทั้งคีเวลล์หรือสเตอร์ลิ่ง ตัวคีลเวลล์เองก็มีโอกาสโอเวอร์แลปและอันเดอร์แลป ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในฟอร์แมท 3-4-2-1 ของทูเคิล 

เพลย์สามเหลี่ยมยังเกิดบริเวณหน้ากรอบเขตโทษ ซึ่งมีเมาท์เป็นหัวสามเหลี่ยม คีลเวลล์วิ่งไปทางซ้ายเพื่อรับบอลจากเมาท์ก่อนโยนเข้าไปในกรอบเขตโทษที่สเตอร์ลิ่งรอจังหวะเข้าชาร์จ

หรือเป็นจังหวะเล่นชิ่งระหว่างสองคน คีลเวลล์เคลื่อนตัวเข้าใน ส่งบอลฉีกไปทางซ้ายให้สเตอร์ลิ่งที่วิ่งขึ้นไปรอใกล้เส้นสนาม คีลเวลล์หลอกวิ่งตัดหลังตัวประกบสเตอร์ลิ่ง พร้อมลากกองหลังตามไป เหมือนต้องการขึ้นไปรับบอลแต่ความจริงเพื่อหลอกดึงกองหลัง เปิดโอกาสให้สเตอร์ลิ่งเห็นช่องเปิดและวิ่งตัดเข้าในเพื่อยิงเองหรือผ่านลูกไปที่หน้าประตู

ฤดูกาล 2022-23 แฟนบอลเชลซีอาจเห็นระบบ 3-4-2-1 เปลี่ยนไปเป็นแผงหลังแบ็คโฟร์มากขึ้น คีลเวลล์และเจมส์จะทำหน้าที่ฟูลแบ็คมากขึ้น ขณะที่สเตอร์ลิ่งจะได้แสดงความเป็นอัจฉริยะสร้างสรรค์เกมบุกจากปีกซ้ายมากขึ้นเหมือนช่วงที่กวาร์โอลาใช้งานเป็นตัวหลัก

ด้วยวัย 27 ปี กับสัญญาห้าปี บวกกับศักยภาพของสเตอร์ลิ่งที่เข้ามาเติมเต็มและสร้างสิ่งแปลกใหม่ให้กับเชลซี อนาคตของปีกซ้ายเชื้อสายจาเมกาในสโมสรยักษ์ใหญ่พรีเมียร์ลีกทีมที่ 3 จะเป็นเรื่องราวที่น่าติดตามไม่แพ้ช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมากับลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ซิตี้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)

Categories
Football Business

เปิดเบื้องหลังชื่อสนามเหย้า 20 ทีมลาลีกา 2022/23

เหตุผลของการตั้งชื่อสนามฟุตบอลของแต่ละสโมสรนั้น ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะมาจากชื่อสถานที่ตั้ง, ชื่อบุคคลสำคัญ หรือมีเหตุผลอื่นๆ ที่แปลกประหลาด ทำเอาหลายคนคาดไม่ถึง

อย่างเช่นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บาร์เซโลน่า และอัลเมเรีย ได้เปลี่ยนแปลงชื่อสนามแข่งขัน เพื่อต้อนรับการแข่งขันลาลีกา 2022/23 ที่กำลังจะเริ่มขึ้น ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

สังเวียนแข้งของบาร์ซ่า เปลี่ยนชื่อเป็น “สปอติฟาย คัมป์ นู” ส่วนชื่อรังเหย้าใหม่ของอัลเมเรีย คือ “เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม” ซึ่งทั้ง 2 สโมสร ต่างเปลี่ยนชื่อด้วยเหตุผลเดียวกันคือเรื่อง “ธุรกิจ”

ลาลีกา ได้นำเรื่องราวเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่ของชื่อสนามเหย้าทั้ง 20 สโมสร ในการแข่งขันซีซั่นใหม่มาฝากกัน เพื่อเป็นเกร็ดความรู้สำหรับแฟน ๆ ลูกหนังลีกสเปน

Descripcion de la juada

อัลเมเรีย – เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม

สนามเหย้าของอัลเมเรีย เดิมมีชื่อว่า “เอสตาดิโอ เด ลอส ฆูเอกอส เมดิเตร์ราเนออส” สร้างขึ้นเมื่อปี 2004 เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติในปีต่อมา และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 เป็นต้นไป ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม” โดยมาจากชื่อของ “Power Horse” แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังจากประเทศออสเตรีย

แอธเลติก บิลเบา – ซาน มาเมส

“ซาน มาเมส” สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1913 ก่อนทุบทิ้งในปี 2010 จากนั้นได้สร้างสนามใหม่ทดแทน และเปิดใช้งานในปี 2013 หรือ 100 ปี หลังจากสร้างสนามแห่งแรก สำหรับชื่อของ “ซาน มาเมส” นั้น มีที่มาจากชื่อของ San Mamés (Saint Mammes) ซึ่งเป็นนักบุญไบแซนไทน์ และเป็นชื่อของโบสถ์ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสนามเหย้าของบิลเบา

แอตเลติโก มาดริด – เอสตาดิโอ เมโทรโปลิตาโน่

“เอสตาดิโอ เมโทรโปลิตาโน่” สร้างขึ้นเมื่อปี 1990 แต่ได้ถูกใช้เป็นสนามเหย้าของแอต. มาดริด มาตั้งแต่ปี 2017 แทนที่ บิเซนเต้ กัลเดร่อน รังเหย้าแห่งเดิม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ว่านต๋า เมโทรโปลิตาโน่” ตามชื่อของ Wanda กลุ่มทุนจากประเทศจีนที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ส่วนชื่อ “Metropolitano” คือชื่อสนามเหย้าแห่งแรกของสโมสร

บาร์เซโลน่า – สปอติฟาย คัมป์ นู

นี่คือครั้งแรกในรอบ 65 ปี ที่บาร์เซโลน่า ได้มีการเปลี่ยนชื่อสนามเหย้าจาก “คัมป์ นู” มาเป็น “สปอติฟาย คัมป์ นู” โดยชื่อ สปอติฟาย (Spotify) มาจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชื่อดังของประเทศสวีเดน ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ใหม่ให้กับสโมสร เพื่อนำเงินทุนไปดำเนินโครงการ Espai Barca ในการปรับปรุงสนามเหย้า และพื้นที่โดยรอบ

เรอัล เบติส – เอสตาดิโอ เบนิโต บียามาริน

ชื่อสนามเหย้าของเบติส มาจากชื่อของ “เบนิโต บียามาริน” อดีตประธานสโมสรที่ดำรงตำแหน่งในช่วงระหว่างปี 1955 – 1965 และเคยเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอสตาดิโอ มานูเอล รุยซ์ เด โลเปร่า” ตามชื่อของมานูเอล รุยซ์ เด โลเปร่า ที่เข้ามาเป็นประธานสโมสรในช่วงปี 1997 – 2010 แต่ในภายหลัง แฟนบอลของสโมสรได้ลงมติโหวตให้กลับไปใช้ชื่อเดิมอีกครั้ง

กาดิซ – เอสตาดิโอ นูเอโบ มิรันดิลย่า

เดิมมีชื่อว่า “เอสตาดิโอ ราม่อน เด การ์รันซ่า” เป็นชื่อของอดีตนายกเทศมนตรีเมืองกาดิซ ก่อนที่ในปี 2021 แฟนบอลของสโมสร ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนชื่อสนามเหย้าใหม่ ผลปรากฏว่า ชื่อที่ได้รับการโหวตมากที่สุด คือ “เอสตาดิโอ นูเอโบ มิรันดิลย่า” ซึ่งมาจาก “Mirandilla” ชื่อสโมสรในอดีต ก่อนเปลี่ยนเป็นกาดิซในปัจจุบัน

เซลต้า บีโก้ – อาบังก้า บาลาอิโดส

สนามเหย้าของเซลต้า บีโก้ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลากาเรส (Lagares) สร้างขึ้นเมื่อปี 1924 โดยบริษัท Stadium de Balaídos ซึ่งกลายมาเป็นชื่อสนามของสโมสรในเวลาต่อมา จนกระทั่งในปี 2018 ABANCA สถาบันการเงินของประเทศสเปน ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ทำให้ชื่อสนามในปัจจุบัน มีชื่อว่า “อาบังก้า บาลาอิโดส”

เอลเช่ – เอสตาดิโอ มาร์ติเนซ บาเยโร่

สนาม “เอสตาดิโอ มาร์ติเนซ บาเยโร่” มาจากชื่อของ มานูเอล มาร์ติเนซ บาเยโร่ อดีตประธานสโมสรเอลเช่ (ผู้ล่วงลับ) สร้างขึ้นในปี 1976 และถูกใช้ในการแข่งขันรายการใหญ่อย่างฟุตบอลโลก 1982 มาแล้ว นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกจากแฟนฟุตบอลลาลีกา ให้รับรางวัลสนามฟุตบอลที่ดีที่สุด ในฤดูกาล 2013/14

เอสปันญ่อล – อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม

สร้างขึ้นเมื่อปี 2009 เริ่มแรกใช้ชื่อว่า “เอสตาดี้ คอร์เนลล่า-เอล ปราต” เนื่องจากที่ตั้งของสนาม อยู่ระหว่างย่าน Cornellà  กับ El Prat ต่อมาเปลี่ยนเป็น “พาวเวอร์ เอท สเตเดี้ยม” (Power8 Stadium) จนกระทั่งในปี 2016 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม” ซึ่งมาจากตัวอักษร 4 ตัวแรกของชื่อสโมสร “RCD Espanyol”

เกตาเฟ่ – โคลิเซียม อัลฟอนโซ เปเรซ

สนาม “โคลิเซียม อัลฟอนโซ เปเรซ” มาจากชื่อของ อัลฟอนโซ เปเรซ อดีตกองหน้าทีมชาติสเปน ยุค 1990s ที่เกิด และเติบโตในย่านเกตาเฟ่ ชานกรุงมาดริด เขาเริ่มต้นจากการเป็นนักเตะเยาวชนของเกตาเฟ่ ต่อมาได้ลงเล่นกับทีมชุดใหญ่ของเรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า และเรอัล เบติส แต่ไม่เคยลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ของเกตาเฟ่เลยแม้แต่นัดเดียว

กิโรน่า – เอสตาดี้ มอนตีลีบี้

ที่ตั้งของสนาม อยู่ที่ย่าน Montilivi ในเมืองกิโรน่า ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นคาตาลัน และได้กลายมาเป็นชื่อสนาม “เอสตาดี้ มอนตีลีบี้” ในเวลาต่อมา สร้างขึ้นเมื่อปี 1968 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา สโมสรกิโรน่าได้ย้ายมาใช้สนามแห่งนี้ เป็นรังเหย้า แทนที่สนาม “เอสตาดิโอ วิสต้า อัลเอเกร” ที่ใช้งานมาเกือบ 50 ปี

เรอัล มายอร์ก้า – บิซิต มายอร์ก้า เอสตาดี้

สนามแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี 1999 เพื่อใช้จัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ที่ประเทศสเปน ภายใต้ชื่อ “เอสตาดิโอ เด ซอน โมอิกซ์” ก่อนที่สโมสรฟุตบอลเรอัล มายอร์ก้า จะมารับช่วงต่อ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 จึงมีการเปลี่ยนชื่อสนามเป็น “บิซิต มายอร์ก้า เอสตาดี้” โดยความร่วมมือของสภาเมืองมายอร์ก้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

เรอัล มาดริด – เอสตาดิโอ ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว

“ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว” เป็นชื่อของอดีตผู้เล่น, อดีตผู้จัดการทีม และอดีตประธานสโมสรของเรอัล มาดริด ความสำเร็จในยุคที่เขาเป็นประธานสโมสรตั้งแต่ปี 1943 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1978 คือแชมป์ลาลีกา 16 สมัย และแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 6 สมัย โดยชื่อของเขาได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสนามเหย้าของสโมสร ตั้งแต่ปี 1955 เป็นต้นมา

โอซาซูน่า – เอล ซาดาร์

สนาม “เอล ซาดาร์” ของโอซาซูน่า มาจากชื่อของแม่น้ำ “Sadar” ที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งของสโมสร แต่ในช่วงระหว่างปี 2005 – 2011 เคยถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เรย์โน เด นาวาร์ร่า” (Reyno de Navarra) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นนาวาร์ (Navarre) ดินแดนปกครองตนเองที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศสเปน

ราโย บาเยกาโน่ – เอสตาดิโอ เด บัลเยกาส

ชื่อสนามเหย้าของราโย บาเยกาโน่ มาจากชื่อ “Vallecas” ซึ่งเป็นย่านที่อยู่ในกรุงมาดริด สร้างขึ้นเมื่อปี 1972 และเคยเป็นสถานที่ที่ใช้จัดแสดงคอนเสิร์ตของวง Queen วงดนตรีร็อกชื่อดังจากอังกฤษ ในปี 1986 อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 สนามแห่งนี้เคยถูกระงับไม่ให้ใช้งานเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย

เรอัล โซเซียดัด – เรอาเล่ อารีน่า

ชื่อเดิมคือ “เอสตาดิโอ เด อาโนเอต้า” สร้างขึ้นเมื่อปี 1993 หลังจากทุบทิ้งสนามเหย้าเก่า ที่ใช้งานมานานกว่า 80 ปี จนกระทั่งในปี 2019 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เรอาเล่ อารีน่า” ซึ่งมาจากชื่อของ เรอาเล่ เซกูรอส (Reale Seguros) บริษัทประกันภัยของสเปน ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับโซเซียดัด

เซบีย่า – เอสตาดิโอ รามอน ซานเชซ ปิซฆวน

สนามแห่งนี้ มีที่มาจากชื่อของ “รามอน ซานเชซ ปิซฆวน” อดีตประธานสโมสรเซบีย่า ที่ดำรงตำแหน่งถึง 2 รอบ รอบแรกช่วงปี 1932 – 1941 และอีกรอบในปี 1948 – 1956 สนามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1958 หรือ 2 ปีหลังจากรามอน ซานเชซ ปิซฆวน เสียชีวิต และได้นำชื่อของเขามาตั้งเป็นชื่อสนามเหย้า เพื่อเป็นเกียรติให้กับเขา

บาเลนเซีย – เมสตาย่า

ชื่อรังเหย้าของบาเลนเซีย มาจากชื่อคลองเมสตาย่า (Mestalla) ที่ติดอยู่ทางด้านทิศใต้ของสนาม ในสมัยก่อนแฟนบอลต้องกระโดดข้ามคลองเพื่อไปที่สนาม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หลยุส์ คาสโนว่า” ตามชื่อของประธานสโมสรที่เข้ามาบริหารในช่วงปี 1969 ถึง 1994 แต่หลังจากนั้นก็กลับไปใช้ชื่อ “เมสตาย่า” ตามเดิม

เรอัล บายาโดลิด – เอสตาดิโอ โฆเซ่ โซรีย่า

ชื่อสนามเหย้าของเรอัล บายาโดลิด มาจากชื่อของ โฆเซ่ โซรีย่า อี โมรัล (José Zorrilla y Moral) กวีชาวเมืองบายาโดลิด ผู้มีผลงานการประพันธ์ไว้มากมาย จนได้รับรางวัลระดับประเทศ และเหรียญเชิดชูเกียรติในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา สนามแห่งนี้ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสังเวียนจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 1982 ที่สเปนเป็นเจ้าภาพ

บียาร์เรอัล – เอสตาดิโอ เด ลา เซรามิก้า

เดิมใช้ชื่อว่า “เอล มาดริกัล” และในปี 2017 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอสตาดิโอ เด ลา เซรามิก้า” สำหรับชื่อสนามในปัจจุบัน มีที่มาจากอุตสาหกรรมเซรามิค ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของท้องถิ่น รวมทั้งสนามเหย้าของบียาร์เรอัล ถูกตกแต่งด้วยเซรามิคสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ดูโดดเด่นสะดุดตาอีกด้วย

บริบทของฟุตบอล ไม่ได้มีเพียงแค่การแข่งขันในสนามเท่านั้น แต่ผูกติดกับประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนถึงตัวตนของสโมสรนั้นๆ ด้วย นี่คือสิ่งที่แฟนฟุตบอลต้องรู้จัก และเข้าใจความเป็นท้องถิ่นให้มากขึ้น

Categories
Football Business

พรี-ซีซั่น 2022 : เรื่องเงินๆ ทองๆ ของยักษ์ใหญ่ลีกยุโรป

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลามากว่า 2 ปี ทำให้สโมสรฟุตบอลชั้นนำจากยุโรป ต้องงดการเดินทางไปเตะอุ่นเครื่อง “พรี-ซีซั่น” ที่ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นตามลำดับ ดูเหมือนว่าบรรดาทีมลูกหนังยักษ์ใหญ่ ต่างมีแผนที่จะกลับมาเตะอุ่นเครื่องนอกยุโรป เพื่อหวังชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งการตะลอนทัวร์เพื่อเตะอุ่นเครื่องในปีนี้ มีเกม “บิ๊กแมตช์” ระดับโลก เกิดขึ้นถึง 2 แมตช์ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือศึก “แดงเดือด” ในประเทศไทย กับ “เอล กลาซิโก้” ที่สหรัฐอเมริกา

เกมพรี-ซีซั่นในต่างแดนของลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า หรืออื่น ๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อย่างไร วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เปิดตำนาน “แดงเดือด” นอกเมืองผู้ดี

ลิเวอร์พูล กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ว่าจะเจอกันที่ไหน ถือว่าเป็นแมตช์ที่ยิ่งใหญ่ สมกับเป็นคู่ปรับที่แย่งชิงความสำเร็จมาตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ 2 ทีมคู่ปรับตลอดกาล เคยพบกันนอกเกาะอังกฤษมาแล้ว 3 ครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 1983 ในเกมอุ่นเครื่อง “เทสติโมเนียล แมตช์” ให้บิลลี่ เดรนแนน เลขาธิการสมาคมฟุตบอลไอร์แลนด์ โดยจัดแข่งที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายชนะ 4 – 3

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2014 ในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพหรือ “ไอซีซี คัพ” ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศ ปิศาจแดง เอาชนะได้อีกครั้ง ด้วยสกอร์ 3 – 1

ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในปี 2018 ในรายการไอซีซี คัพ เช่นเดียวกัน ที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางผู้ชมกว่า 1 แสนคน คราวนี้เป็นฝ่ายหงส์แดง ที่ล้างแค้นได้สำเร็จ เอาชนะไป 4 – 1

สำหรับเกมพรี-ซีซั่น “แดงเดือด” ครั้งที่ 4 ศึกอุ่นเครื่องรายการพิเศษ “เดอะ แมตช์ แบงค็อก เซ็นจูรี่ คัพ 2022” ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เป็นการพบกันนอกเมืองผู้ดีครั้งแรกในประเทศไทย และทวีปเอเชีย

และหลังจากจบแมตช์ที่กรุงเทพมหานคร ลิเวอร์พูลจะเดินทางต่อไปที่สิงคโปร์, เยอรมัน และออสเตรีย ขณะที่ยูไนเต็ด จะไปต่อที่ออสเตรเลีย และนอร์เวย์ ก่อนที่จะกลับสู่ประเทศอังกฤษ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/manchesterunited

ย้อนรอย “เอล กลาซิโก้” ในต่างแดน

ทางด้านเรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า 2 ทีมยักษ์ใหญ่ของ ลาลีกา สเปน ก็เคยมีประวัติศาสตร์การพบกันในเกมอุ่นเครื่อง “พรี-ซีซั่น” นอกแดนกระทิงดุมาแล้ว 3 ครั้ง เท่ากับศึกแดงเดือดนอกอังกฤษ

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 1982 ในรายการพิเศษ “เวเนซูเอล่า คัพ” อุ่นเครื่องก่อนฟุตบอลโลก ที่ประเทศเวเนซูเอล่า รอบชิงอันดับ 3 เรอัล มาดริด เอาชนะไป 1 – 0 จากประตูชัยของบิเซนเต้ เดล บอสเก้

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2017 ในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพหรือ “ไอซีซี คัพ” ที่สนามฮาร์ด ร็อก สเตเดี้ยม รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เป็นบาร์เซโลน่า ที่เอาชนะด้วยสกอร์ 3 – 2

ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในรายการ “สแปนิช ซูเปอร์ คัพ” ที่ประเทศซาอุดีอารเบีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการพบกันในแมตช์อย่างเป็นทางการ ที่จัดขึ้นนอกประเทศสเปนอีกด้วย

เกมในรอบรองชนะเลิศ ที่สนามคิง ฟาฮัด อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดี้ยม ในกรุงริยาดห์ ผลปรากฏว่า “ราชันชุดขาว” ชนะ “เจ้าบุญทุ่ม” 3 – 2 หลังต่อเวลาพิเศษ เฟเดริโก้ บัลเบร์เด้ เป็นผู้ยิงประตูชัยในเกมนี้

และในครั้งที่ 4 ของ “เอล กลาซิโก้” นอกแผ่นดินสเปน จะมีขึ้นที่สนามแอลลีเจียนท์ สเตเดี้ยม ในลาส เวกัส สหรัฐอเมริกา วันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นการกลับมาอุ่นเครื่องที่อเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

EL CLÁSICO 2017 at Santiago Bernabéu
ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/fcbarcelona

ทีมบอลยุโรปได้อะไรจาก “พรี-ซีซั่น”

การเดินทางมาเตะอุ่นเครื่องในต่างประเทศ เป็นวิธีหนึ่งในการทำเงิน เพราะนอกจากจะได้ค่าจ้างแล้ว ยังได้ขยายฐานแฟนบอล ทำให้สโมสรเป็นที่รู้จักมากขึ้น ชนิดที่ไม่ต้องประเมินเลยว่าคุ้มค่าหรือไม่

เท่านั้นยังไม่พอ ได้สายสัมพันธ์กับบริษัทระดับชั้นนำในประเทศนั้น ๆ และมีโอกาสได้มาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรในอนาคตเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุผลเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทั้งสิ้น

หลายทีมในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะเน้นเไปที่ทวีปเอเชีย ส่วน 2 ยักษ์ใหญ่ลาลีกา สเปน อย่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า จะเน้นเจาะตลาดที่สหรัฐอเมริกา ผ่านรายการอุ่นเครื่องไอซีซี คัพ (ปัจจุบันยกเลิกแล้ว)

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือเกมอุ่นเครื่องไอซีซี คัพ เมื่อปี 2014 ระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับเรอัล มาดริด ที่มิชิแกน สเตเดี้ยม สร้างสถิติมีผู้เข้าชมการแข่งขันสูงสุดถึง 109,138 คน

แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด และยักษ์ใหญ่บางทีมในยุโรป ได้ค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 2 ล้านปอนด์ ต่อการจัดแข่งขันฟุตบอลพรี-ซีซั่นในต่างประเทศ 1 นัด

แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา ทั่วโลกมีข้อจำกัดในด้านการเดินทางข้ามประเทศ ทำให้ไม่สามารถจัดเกมพรี-ซีซั่นในต่างแดนได้ ส่งผลกระทบกับทีมฟุตบอลที่ต้องสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไป

มีรายงานว่า แมนฯ ยูไนเต็ด มีรายได้ในรอบปัญชีปี 2020-2021 (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2021) ลดลงเกือบ 50 ล้านปอนด์ จาก 279 ล้านปอนด์ เหลือ 232.2 ล้านปอนด์ จากผลกระทบโควิด-19

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สโมสรฟุตบอลในปัจจุบัน เป็น “ธุรกิจ” เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ ที่พร้อมจะหาเงินทุกทางที่สามารถทำได้ เพื่อนำผลประโยชน์เข้าสู่สโมสรให้ได้มากที่สุด

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/fcbarcelona

และมุมคนจ่ายสตางค์ คุ้มค่าแค่ไหน ?

การเชิญสโมสรฟุตบอลชื่อดังของยุโรป มาเตะอุ่นเครื่องในประเทศของตัวเอง ผู้ที่จ่ายเงินเป็นลำดับแรก คือ “เจ้าภาพจัดการแข่งขัน” ซึ่งต้องมีทุนหนามากพอในการจ้างทีมเหล่านี้มาแข่งขัน

กรณีของลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มาเตะอุ่นเครื่องในไทย แน่นอนว่า การจ้าง 2 สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ต้องใช้เงินมหาศาล แต่ก็มีการหารายได้มาจากเงินที่เสียไปเช่นเดียวกัน

ซึ่งคุณวินิจ เลิศรัตนชัย ในฐานะผู้จัด “แมตช์แห่งศตวรรษ” ก็ไม่ได้คาดหวังว่าการลงทุนในครั้งนี้จะต้องคืนทุน แต่ที่แน่ ๆ ขื่อของผู้บริหารเฟรชแอร์ เฟสติวัล ได้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ “แฟนบอล” ในฐานะลูกค้าคนสำคัญ ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินแบบไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะรู้ดีว่าโอกาสที่จะได้ดูทีมที่ตัวเองรัก นักเตะที่ตัวเองชอบ แบบไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ คงไม่ได้มีบ่อย ๆ

แต่ก็มีนักเตะระดับบิ๊กเนม หรือซูเปอร์สตาร์บางคน ก็เลือกที่จะไม่เดินทางมากับทีม หรือมาด้วยแต่ไม่ขอลงเล่น เพราะมองว่าการไปอุ่นเครื่องต่างแดน อาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายก่อนเปิดซีซั่นใหม่

ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีนักเตะระดับดาวดังลงสนามในเกมอุ่นเครื่อง แต่ชื่อ “แบรนด์” ของสโมสรระดับโลก ที่มาแข่งขันในประเทศของตัวเอง ยังไงก็ดึงดูดแฟนบอลให้เข้ามาชมแบบเต็มสนามได้ไม่ยาก

ซึ่งราคาบัตรเข้าชมการแข่งขัน แมตช์ “แดงเดือด” ในไทย ต่ำสุด 5,000 บาท สูงสุด 25,000 บาท ส่วนเกม “เอล กลาซิโก้” ที่อเมริกา ต่ำสุด 9,000 บาท สูงสุด 32,400 บาท โดยประมาณ (1 USD = 36 THB)

เกมอุ่นเครื่องพรี-ซีซั่นในต่างประเทศ ทีมฟุตบอลได้ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ส่วนผู้จัดและแฟนบอล ต่างก็คาดหวังว่า การแข่งขันจะมอบความสุขมาให้ โดยที่ไม่ต้องมาคิดเสียดายเงินที่จ่ายไปในภายหลัง

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3392107/2022/07/01/premier-league-preseason-fixture-revenue/

https://www.si.com/soccer/2022/06/10/soccer-champions-tour-real-madrid-barcelona-clasico-las-vegas

https://www.si.com/soccer/2020/07/02/la-liga-north-america-usa-market-tv-deal-barcelona-real-madrid-icc

https://www.sportingfree.com/football/how-much-money-do-clubs-make-during-pre-season/

https://www.totalsportal.com/football/how-much-do-football-clubs-earn-in-the-preseason-tours/

https://www.thenationalnews.com/business/football-s-preseason-season-is-a-major-money-spinner-for-some-1.616477