Categories
Football Business

ตลาดนักเตะพรีเมียร์ลีกหน้าหนาว 2023 ที่จ่ายหนักสุดในประวัติศาสตร์

การซื้อขายแลกเปลี่ยนนักฟุตบอลระหว่างสโมสร ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงทีมให้มีผลงานที่ดีขึ้น และเป็นสิ่งที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกจับตามอง ซึ่งระบบการซื้อขายผู้เล่น ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ฤดูกาล 2022/23 ถือเป็นวาระคอบรอบ 20 ปี “Transfer Window” หรือตลาดซื้อขายนักเตะแบบ 2 ช่วง คือฤดูร้อน (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) และฤดูหนาว (เดือนมกราคม ปีถัดไป) ที่ใช้กันในปัจจุบัน

เมื่อมาดูตลาดนักเตะวินเทอร์ของพรีเมียร์ลีก ปี 2023 ซึ่งปิดทำการไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 31มกราคมที่ผ่านมา สโมสรในลีกสูงสุดอังกฤษเกือบทุกสโมสร ได้มีการเสริมผู้เล่นใหม่ในรอบนี้อย่างคึกคัก

แม้ว่าตลาดนักเตะหน้าหนาว จะเปิดทำการแค่ 31 วัน แต่จำนวนเงินในการซื้อขายในตลาดนักเตะรอบนี้ สโมสรในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ใช้จ่ายรวมกันสูงถึง 815 ล้านปอนด์ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ตลาดนักเตะทั้ง 2 รอบ ของซีซั่นนี้ มียอดการใช้จ่ายรวมประมาณ 2.8 พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับยอดรวมตลอด 20 ปี ในการซื้อขายเฉพาะเดือนมกราคม ที่มีเกือบ 3 พันล้านปอนด์

สุดยอดบิ๊กดีลฤดูหนาว ที่รอพิสูจน์ความคุ้มค่า

เชลซี สร้างความฮือฮาในตลาดนักเตะหน้าหนาวปีนี้ ด้วยการเซ็นสัญญาเอ็นโช่ เฟอร์นานเดซ จากเบนฟิก้า ด้วยค่าตัว 105 ล้านปอนด์ แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร และวงการฟุตบอลอังกฤษ

เอ็นโซ่ เฟร์นานเดซ
ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนที่แล้ว “สิงห์บลูส์” ได้ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อคว้าตัวไคโล มูดริค กองหน้าดาวรุ่งยูเครนวัย 22 ปี ค่าตัวเบื้องต้น 62 ล้านปอนด์ บวกแอดออนอีก 27 ล้านปอนด์ รวม 89 ล้านปอนด์

นิวคาสเซิล เสริมความแกร่งด้วยแอนโธนี่ กอร์ดอน ปีกดาวรุ่งชาวอังกฤษวัย 21 ปี จากเอฟเวอร์ตัน ที่อาจมีค่าตัวสูงถึง 45 ล้านปอนด์ เพื่อหวังลุ้นโควตาไปยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

ลิเวอร์พูล ที่ผลงานตกลงไปอย่างไม่น่าเชื่อในซีซั่นนี้ ตกลงเซ็นสัญญากับโคดี้ กักโป กองหน้าทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ชุดฟุตบอลโลก ครั้งล่าสุด จากพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น ด้วยค่าตัวราว 44 ล้านปอนด์

อาร์เซน่อล ดึงตัวเลอันโดร ทรอสซาร์ กองหน้าทีมชาติเบลเยียมจากไบรท์ตัน ด้วยค่าตัว 21 ล้านปอนด์ พร้อมกับยาคุบ กีเวียร์ เซ็นเตอร์แบ็กโปแลนด์ จากสเปเซีย ในอิตาลี ค่าตัว 17.6 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/Arsenal

ส่วนทีมครึ่งล่างของตาราง ก็เสริมหนักไม่แพ้กัน อย่างเช่นลีดส์ ยูไนเต็ด ที่ดึงตัวจอร์จินิโอ รัทเทอร์ กองหน้าชาวฝรั่งเศสวัย 20 ปี จากฮอฟเฟ่นไฮม์ ด้วยค่าตัว 36 ล้านปอนด์ เป็นสถิติของสโมสร

บอร์นมัธ ดึงตัวดังโก้ อูอาตตารา กองหน้าบูร์กินาฟาโซจากลอริยองต์ ค่าตัวราว 20 ล้านปอนด์ ส่วนทางด้านเลสเตอร์ ซิตี้ จ่ายเงิน 17 ล้านปอนด์ ให้กับวิคตอร์ คริสเตียนเซ่น แบ็กซ้ายเดนมาร์ก จากโคเปนเฮเกน

เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ซื้อแดนนี่ อิงส์ กองหน้าชาวอังกฤษจากแอสตัน วิลล่า ค่าตัว 15 ล้านปอนด์ และในขณะเดียวกัน วิลล่าก็ดึงตัวจอน ดูแรน กองหน้าดาวรุ่งโคลอมเบียจากชิคาโก ไฟร์ ค่าตัว 18 ล้านปอนด์

รวมดีลในวันเดดไลน์ ที่วุ่นวายไม่ต่างจากอดีต

ถ้านับเฉพาะการซื้อขายที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของตลาดนักเตะรอบนี้ คือวันที่ 31 มกราคม 2023 จะพบว่ามีดีลที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว โดยมี 19 จาก 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก ที่มีการปิดดีลในวันตลาดวาย

ดีลของเอ็นโช่ เฟอร์นานเดซ กองกลางดาวรุ่งวัย 22 ปี ของทีมชาติอาร์เจนติน่า ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ย้ายจากเบนฟิกา ไปเชลซี คือหนึ่งในดีลที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของตลาดนักเตะเดือนมกราคมปีนี้

อีกดีลที่เซอร์ไพรส์ไม่แพ้กัน คือแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ตัดสินใจปล่อยเจา กานเซโล่ ไปให้บาเยิร์น มิวนิค ด้วยสัญญายืมตัวจนจบฤดูกาลนี้ ก่อนที่จะย้ายมาร่วมทีมอย่างถาวรในซัมเมอร์นี้ ค่าตัว 61 ล้านปอนด์

อาร์เซน่อล เสริมความแข็งแกร่งด้วยการซื้อจอร์จินโญ่ มิดฟิลด์อิตาลีจากเชลซี ค่าตัว 12 ล้านปอนด์ ในขณะที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขอยืมตัวมาร์เซล ซาบิตเซอร์ กองกลางชาวออสเตรียจากบาเยิร์น มิวนิค

ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ ประกาศเซ็นสัญญากับเปโดร ปอร์โร่ ฟูลแบ็กจากสปอร์ติ้ง ลิสบอน ด้วยสัญญายืมตัวจนจบฤดูกาลนี้ และมีออพชั่นซื้อขาดที่ 40 ล้านปอนด์ หวังช่วยทีมลุ้นท็อปโฟร์ในครึ่งซีซั่นหลัง

น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ยังเสริมต่อเนื่อง โดยคว้าตัวเฟลิเป้ กองหลังชาวบราซิลจากแอตเลติโก้ มาดริด, จอนโจ เชลวีย์ กองกลางจากนิวคาสเซิล รวมทั้งยืมตัวเคเลอร์ นาบาส ผู้รักษาประตูจากปารีส แซงต์-แชร์กแมง

เลสเตอร์ ซิตี้ ได้ดึงตัวแฮร์รี่ ซัตตาร์ กองหลังจากสโตค ซิตี้ ด้วยค่าตัวประมาณ 20 ล้านปอนด์ และคริสตัล พาเลซ ที่คว้าตัวนาอูอิรู อาฮามาด้า มิดฟิลด์ดาวรุ่งทีมชาติฝรั่งเศสจากสตุ๊ดการ์ท ค่าตัว 11 ล้านปอนด์

บอร์นมัธ เซ็นสัญญากับอิลเลีย ซาบาร์นยี่ เซ็นเตอร์แบ็กทีมชาติยูเครน ด้วยค่าตัว 24 ล้านปอนด์ และฮาเหม็ด ตราโอเร่ กองกลางไอเวอรี่โคสต์ ด้วยสัญญายืมตัวจนจบซีซั่น และย้ายอย่างถาวรช่วงซัมเมอร์ ค่าตัว 20 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/afcbournemouth

ปิดท้ายด้วย เซาแธมป์ตัน เสริมทัพหวังอยู่รอด ด้วยการคว้าตัวกามัลดีน ซูเลมานา ปีกชาวกานาจากแรนส์ ค่าตัว 22 ล้านปอนด์ เป็นสถิติของสโมสร และปอล โอนูอาชู กองหน้าชาวไนจีเรียจากเกงค์ 18.5 ล้านปอนด์

ครองแชมป์ลีกลูกหนัง ช็อปบ้าคลั่งที่สุดในโลก

จากข้อมูลของดีลอยด์ (Deloitte) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก ระบุว่า ยอดใช้จ่ายเฉพาะตลาดหน้าหนาวปีนี้ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (295 ล้านปอนด์)

ตัวเลข 815 ล้านปอนด์ เป็นการทุบสถิติเดิมที่ทำไว้เมื่อปี 2018 (430 ล้านปอนด์) เมื่อนำไปรวมกับช่วงซัมเมอร์ปีที่ผ่านมา ก็จะเป็น 2 เท่า ของยอดใช้จ่ายในตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ปี 2017 (1.4 พันล้านปอนด์)

และถ้านับเฉพาะวันปิดทำการซื้อขาย (31 มกราคม) สโมสรในพรีเมียร์ลีกใช้เงินรวมกันมากถึง 275 ล้านปอนด์ ทำลายสถิติเดิมของวันตลาดวายเมื่อปี 2018 ที่ทำไว้ 150 ล้านปอนด์ หรือเพิ่มขึ้น 83เปอร์เซ็นต์

เอฟเวอร์ตัน เป็นสโมสรเดียวในพรีเมียร์ลีก ที่ไม่เซ็นสัญญานักเตะใหม่ในตลาดซื้อขายรอบนี้เลยแม้แต่คนเดียว เนื่องจากกำลังเจอปัญหาทางการเงิน และอาจจะตัดสินใจขายสโมสรถ้ามีข้อเสนอที่เหมาะสม

พรีเมียร์ลีก เป็นลีกที่ใช้จ่ายในตลาดหน้าหนาวปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 79 เปอร์เซนต์ ของยอดรวมทั้ง 5 ลีกใหญ่ยุโรป ซึ่งสวนทางกับอีก 4 ลีกที่เหลือ ที่สัดส่วนลดลงไป 35 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรากฎการณ์ “ช็อปตลาดแตก” ของเชลซี ยุคที่ท็อดด์ โบห์ลี่ เข้ามาเป็นเจ้าของทีมในซีซั่นแรก ได้ใช้เงินไปมากกว่ายอดรวมของทุกสโมสรในบุนเดสลีกา, เซเรีย อา, ลาลีกา และลีก เอิง เสียอีก

ตลาดเดือนมกราคมปีนี้ เขลซีใช้เงินไปร่วม 300 ล้านปอนด์ คิดเป็นสัดส่วน 37 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเงินที่สโมสรพรีเมียร์ลีกใช้จ่ายทั้งหมด แลกกับนักเตะใหม่อายุน้อย 8 คน และเซ็นสัญญาในระยะยาวทั้งสิ้น

ในจำนวนนี้คือ เอ็นโช่ เฟอร์นานเดซ นักเตะค่าตัว 105 ล้านปอนด์ แพงสุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร และพรีเมียร์ลีก รวมทั้งจ่ายค่ายืมตัวเจา เฟลิกซ์ จากแอตเลติโก้ มาดริด เป็นเงินเกือบ 10 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

ยอดใช้จ่ายของ “สิงห์บลูส์” ในตลาดนักเตะฤดูหนาว แซงหน้าฤดูร้อนที่ใช้เงินไป 270 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นยอดใช้จ่ายในช่วงซัมเมอร์ที่สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเรอัล มาดริด ในปี (292 ล้านปอนด์) ในปี 2019

“ตลาดนักเตะเดือนมกราคมปีนี้ สโมสรในพรีเมียร์ลีกได้ใช้จ่ายมากที่สุดใน 5 ลีกใหญ่ยุโรป เป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันเกือบ 4 เท่า มันไม่เคยมากขนาดนี้มาก่อน” ทิม บริดจ์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจการกีฬาของ Deloitte กล่าว

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสโมสรในพรีเมียร์ลีกจะมีการลงทุนมหาศาลในการยกระดับทีม แต่ก็ยังให้ความสำคัญในเรื่องของความสมดุลที่ดีทั้งเรื่องของความสำเร็จในสนาม และความยั่งยืนทางการเงิน”

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.bbc.com/sport/football/64473758

– https://www.premierleague.com/news/2891053

Categories
Football Business

ไล่ผู้จัดการทีม งานง่ายของแฟนบอล มองเส้นทางสโมสรปิดจ็อบ ปล่อยกุนซือเก่า หากุนซือใหม่

Sacking Season เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกฤดูหรือช่วงเวลาปลดผู้จัดการทีมในพรีเมียร์ลีก มักเริ่มจากเดือนกันยายนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน บางปีอาจยาวไปถึงช่วงเปิดตลาดซื้อขายฤดูหนาวในเดือนมกราคม แต่โดยเฉลี่ยแล้ว กุนซือพรีเมียร์ลีกคนแรกจะตกงานหลังคุมทีมไปได้ 10.8 นัดของซีซัน

นับจากลีกสูงสุดของอังกฤษใช้ชื่อ “พรีเมียร์ลีก” ในฤดูกาล 1992-93 ผู้จัดการทีมคนแรกที่โดนไล่ออกคือ เอียน พอร์เตอร์ฟิลด์ ของเชลซี ซึ่งมีโอกาสคุมทีม 29 นัดก่อนพ้นตำแหน่งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1993 ส่วนกุนซือที่ตกเก้าอี้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ได้แก่ เคนนี เดลกลิช ซึ่งต้องเก็บข้าวของออกจากสโมสรนิวคาสเซิลในวันที่ 27 สิงหาคม 1998 หลังจากซีซัน 1998-99 เพิ่งเตะแค่สองนัด 

ซีซันปัจจุบันมีผู้จัดการรับใบแดงจากสโมสรไปแล้วห้าคน เริ่มจากสกอตต์ พาร์คเกอร์ ของบอร์นมัธเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2022 ตามด้วยโธมัส ทูเคิล ของเชลซีในเดือนกันยายน, บรูโน ลาเก ของวูลฟ์แฮมป์ตัน และสตีเวน เจอร์ราร์ด ของแอสตัน วิลลา ทั้งคู่ตกงานในเดือนตุลาคม และราล์ฟ ฮาเซนฮึทเทิล ของเซาแธมป์ตันในเดือนพฤศจิกายนก่อนพรีเมียร์ลีกพักเบรกให้เวิลด์คัพราวหนึ่งสัปดาห์

พรีเมียร์ลีกกลับมาเตะใหม่เกือบหนึ่งเดือนยังไม่มีสโมสรไหนเปลี่ยนม้ากลางศึก รวมถึงแกรห์ม พอตเตอร์ ที่มีข่าวว่าเก้าอี้ตำแหน่งร้อนผ่าวที่เชลซี ซึ่งล่าสุด สกายเบต บริษัทรับพนันในอังกฤษ ให้เป็นแค่เต็งสี่ที่จะถูกปลด โดยมีแฟรงค์ แลมพาร์ด (เอฟเวอร์ตัน) เป็นเต็งหนึ่ง ตามด้วยเดวิด มอยส์ (เวสต์แฮม) และแกรี โอนีล (บอร์นมัธ) ซึ่งเพิ่งรับงานแทนพาร์คเกอร์ไม่ถึงห้าเดือน

แม้ว่าจะพ้น Sacking Season ไปแล้ว แต่เหตุการณ์ไล่ออก “หลงฤดู” ยังเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะกับทีมที่เสี่ยงตกชั้น การหาผู้จัดการทีมใหม่มากู้วิกฤติช่วงครึ่งหลังของซีซันอาจเป็นคำตอบที่ใช่

สถานการณ์ไหนที่สโมสรเริ่มคิดปลดกุนซือใหญ่

เป็นเรื่องง่ายสำหรับแฟนบอลที่จะไล่ผู้จัดการทีมบนสื่อโซเชียลเพียงเพราะไม่พอใจผลแข่งขันไม่กี่นัด หรือแสดงอารมณ์ในสนามผ่านการตะโกนหรือทำป้าย แต่สำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นประธานสโมสร บอร์ดบริหาร ซีอีโอ หรือผู้อำนวยการฝ่ายกีฬา มีตรรกะความคิดและขั้นตอนปฏิบัติมากเยอะ ทั้งปลดผู้จัดการทีมคนเก่าและหาผู้จัดการทีมคนใหม่

ทอร์-คริสเตียน คาร์ลเซน แมวมองชาวนอร์เวเจียน อดีตซีอีโอและผู้อำนวยการด้านกีฬาของอาแอส โมนาโก สโมสรแถวหน้าของลีกเอิง ประเทศฝรั่งเศส เล่าเรื่องราวหลังฉากที่นำไปสู่หนึ่งในสิ่งที่ไม่อยากทำมากที่สุดในสายงานของเขา เริ่มจากเหตุผลของการไล่ผู้จัดการทีม (หรือหัวหน้าโค้ชสำหรับหลายประเทศ)

ผลแข่งขันที่ย่ำแย่เป็นแรงกระตุ้นพื้นฐานที่สุดของเรื่องนี้ แต่ยังมีเหตุผลอื่นด้วยอย่างเช่นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารสโมสรอย่างที่เกิดขึ้นกับทูเคิลหลังจากทอดด์ โบห์ลีย์ เทคโอเวอร์เชลซีจากโรมัน อับราโมวิช ได้ไม่นาน หรืออย่างกรณีที่บอร์นมัธไล่พาร์คเกอร์หลังจากเขาวิจารณ์สโมสรไม่สนับสนุนเรื่องเสริมนักเตะมากเพียงพอ

การดิ้นรนหนีตกชั้นก็เป็นแรงกระตุ้นที่ดี เช่นเดียวกับผลกระทบที่ส่งต่อรายได้เช่น ไม่ได้โควตาฟุตวอลสโมสรยุโรป หรือตกรอบแบ่งกลุ่มแชมเปียนส์ลีก โดยเฉพาะฟุตบอลยุคปัจจุบันที่กลายเป็นธุรกิจเต็มตัวเป็นแหล่งรายได้มหาศาล จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลทางการเงินเศรษฐกิจมีส่วนอย่างมากต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในสโมสร

ในมุมมองคนนอก ผู้อำนวยการกีฬามีบทบาทสำคัญแต่ความจริงแล้ว น้อยคนที่จะมีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาด แต่เป็นเจ้าของสโมสรหรือบอร์ดบริหารมากกว่าว่าจะทำอย่างไรกับความคิดเห็นของผู้อำนวยการกีฬา

สโมสรทำอะไรหลังมอบใบแดงแก่ผู้จัดการทีม

หลายครั้งการปลดก็ไม่ต้องรอให้ถึงฤดูกาลจบลง เพียงทีมโชว์ฟอร์มได้น่าผิดหวังดูไร้อนาคตแม้ไม่ตกชั้นหรืออยู่ครึ่งล่างของตารางอันดับ สโมสรอาจเริ่มมองหาทางปรับปรุงทีมสำหรับซีซันหน้าตั้งแต่ต้นกุมภาพันธ์หรือมีนาคม

ข่าวลือไล่ผู้จัดการทีมบนหน้าสื่อกับการต้องแยกทางกันจริงๆระหว่างสองฝ่ายเป็นอารมณ์ที่กดดัน อึดอัด และไม่สบายใจอย่างยิ่ง คาร์ลเซนเล่าขั้นตอนหลังมติของบอร์ดบริหารออกมาอย่างชัดเจนว่า ทีมงานด้านสื่อสารจะเป็นกลุ่มแรกที่รับรู้ข่าวนี้เพื่อร่างคำแถลงการณ์ที่เป็นมิตรและทำงานตามลำดับขั้นตอน แน่นอนต้องแจ้งเรื่องนี้แก่ตัวหลักๆของสโมสรก่อนข่าวถูกกดปุ่ม “ส่ง” ไปยังสื่อสำนักต่างๆ ไม่ใช่ปล่อยให้อ่านเจอเองในสื่อ

แล้วเมื่อใดที่ตัวละครสำคัญของเรื่องนี้จะรับรู้ข่าวนี้ อดีตซีอีโอและผู้อำนวยการกีฬาของโมนาโกบอกว่าสโมสรส่วนใหญ่มีลำดับเวลาที่เหมาะสมเพื่อแจ้งข่าวให้ผู้จัดการทีมทันทีที่มติการประชุมออกมาอยู่แล้ว แต่ก็เคยมีกรณีแปลกๆเกิดขึ้นเช่นกันอย่างส่งข้อความผ่านอีเมลหรือ WhatsApp หรือหากย้อนอดีตไปไกลๆ บางคนอ่านเจอจากประกาศบนบอร์ดสโมสร

น้อยครั้งที่ผู้จัดการทีมจะโดนปลดแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เกือบทั้งหมดต่างสัมผัสความน่าจะเป็นที่เกิดขึ้นล่วงหน้าอยู่แล้ว จึงค่อนข้างทำใจได้แม้จะมีความสะเทือนใจก็ตาม บางคนยอมรับได้ บางคนอาจโล่งใจด้วยซ้ำ แต่มักไม่มีคำพูดหลุดจากปากของพวกเขาจนกว่าจะได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัว ซึ่งงานหลักคือทำข้อตกลงกับผู้บริหารสูงสุดของสโมสร แน่นอนเป็นเรื่องผลประโยชน์ด้านเงินทอง

ทั้งนี้ขึ้นกับเงื่อนไขการเลิกจ้างที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งดูเหมือนควรเป็นเช่นนั้น แต่ความจริงคือไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้จัดการทีมทุกคน บางคนต้องพึ่งพาที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องเงินชดเชยหรือยืนกรานที่จะรับเงินส่วนที่เหลือของสัญญา

สำหรับตัวอย่างเงินชดเชย แมนฯยูไนเต็ดต้องจ่ายให้โชเซ มูรินโญ ประมาณ 15 ล้านปอนด์หลังไล่ออกในเดือนธันวาคม 2018 หรือก่อนหน้านั้นปีเดียวกัน เชลซีได้จ่ายเงินประมาณ 26 ล้านปอนด์ให้กับอันโตนิโอ คอนเต และทีมงานของเขา ควบคู่ไปกับค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย แน่นอนว่า รายจ่ายส่วนนี้ก็มีน้ำหนักไม่น้อยที่บอร์ดบริหารนำมาชั่งตวงวัดเพื่อตัดสินใจปลดหรือไม่ปลดผู้จัดการทีม

มีอีกประเด็นที่น่าสนใจเพราะแฟนบอลอาจเคยรับรู้จากหน้าสื่อว่า นักเตะมีอิทธิพลต่ออนาคตของนายใหญ่ตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้คาร์ลเซนตอบชัดเจนว่า ผู้เล่นไม่มีส่วนโดยตรงต่อการประเมินว่าผู้จัดการทีมจะอยู่หรือจะไป แต่มีผลทางอ้อมมากกว่าเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดการทีมกับนักฟุตบอลมักอยู่ในสายตาของผู้มีอำนาจ แต่ก็มีบางกรณีที่นักเตะหรือเอเยนต์ใกล้ชิดสนิทสนมกับบุคคลระดับบิ๊กในสโมสรที่สามารถนำไปสู่การปลดผู้จัดการทีม แต่เรื่องนี้มักอยู่ในสภาพคลุมเคลือไม่เคยมีความชัดเจน

ยุ่งยากซับซ้อนกว่าการปลดคือหาคนใหม่มาแทน


มาถึงขั้นตอนที่สำคัญยิ่งกว่าไล่คนเก่าออก คือหาคนใหม่มาแทนเพื่อพาทีมขึ้นไปสู่ระดับสูงขึ้น คำถามคือ ประธานสโมสร ซีอีโอ บอร์ดบริหาร หรือผู้อำนวยการกีฬา มีคนอยู่ในใจล่วงหน้าหรือไม่ คาร์ลเซนเฉลยว่าแน่นอนย่อมมีแต่ไม่ได้หมายความคนนั้นจะถูกเรียกเข้ามารับงานทันที แม้นักข่าวจะเชื่อเช่นนั้นก็ตามในบางกรณี แต่คาร์ลเซนให้ข้อมูลจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า มักมีใบสมัครส่งเข้ามายังสโมสรมากมายทั้งจากเอเยนต์หรือผู้จัดการทีมที่ว่างงานเอง เวลาเร็วที่สุดที่ตัวเขารู้คือหกนาทีหลังข่าวไล่ผู้จัดการทีมถูกประกาศออกไป

อย่างไรก็ตามสโมสรต่างตระหนักดีว่า การเร่งรีบให้ขั้นตอนนี้จบลงเท่ากับเพิ่มความกดดันและความเสี่ยง แม้ว่าสโมสรชั้นนำส่วนใหญ่มักจับตาผู้จัดการทีมที่น่าสนใจให้อยู่ในเรดาร์อยู่แล้วแม้ทีมยังไม่ตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงก็ตาม มันเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ เป็นการลดความเสี่ยงหรือเหตุปัจจัยอื่นๆเช่น ผู้จัดการทีมของพวกเขาอาจหันไปสนใจสโมสรที่ใหญ่กว่า รวยกว่า และดีกว่า การเตรียมพร้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น

โดยทั่วไป ซีอีโอหรือผู้อำนวยการกีฬาจะคัดกรองประวัติย่อหรือซีวี (curriculum vitae) จนเหลือผู้สมัครจำนวนน้อยที่สุดที่เข้าสู่ขั้นตอนสัมภาษณ์ก่อนคัดเลือกจนเหลือชอร์ตลิสต์ประมาณ 2-3 คนเพื่อนำเสนอต่อเจ้าของหรือคณะกรรมการบริหารของสโมสร แต่มีประธานสโมสรบางคนชอบลงลึกในรายละเอียด ต้องการขับเคลื่อนกระบวนการตั้งแต่แรกเริ่ม

การนัดสัมภาษณ์แบบไม่มีข้อผูกมัด ทีมงานต้องวางแผน ประสานงาน และจัดเตรียมอย่างพิถีพิถัน สถานที่ต้องเหมาะสำหรับการสัมภาษณ์หลายครั้งอย่างห้องสวีทหรือห้องประชุมในโรงแรม ซึ่งต้องทำให้มั่นใจว่าผู้สมัครจะไม่เจอกันเองบริเวณล็อบบี (แต่ยังมีเรื่องแบบนี้เกิดบ่อย) รวมถึงการดูแลเรื่องพาหนะและเส้นทางเดินทางที่แตกต่างกัน

ประเด็นการพูดคุยหลักๆ ผู้จัดการทีมที่พอมีประสบการณ์จะรู้ดีอยู่แล้ว สามารถเตรียมคำตอบล่วงหน้าได้อาทิ เงื่อนไขทางการเงิน แนวคิดด้านกลยุทธ์และแท็คติก แนวทางการฝึกสอนบริหารจัดการ เป็นต้น สิ่งสำคัญคือต้องสั้นแต่ชัดเจน ผู้จัดการทีมบางคนรับมือการสัมภาษณ์ได้ดี สร้างความประทับใจเมื่อแรกพบทั้งนิสัยใจคอความเป็นมิตร บรรยากาศการพูดคุยมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจไม่ใช่น้อย ทั้งนี้ผู้อำนวยการกีฬามักมีข้อมูลอ้างอิงพื้นฐานที่ผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดของผู้สมัครแต่ละคนดีอยู่แล้ว ตระหนักดีก่อนเรียกตัวว่าคนนั้นเหมาะกับสโมสรหรือไม่

การสนทนาแม้เพียงสั้นๆแต่ผู้อำนวยการกีฬาจะพยายามมองให้ออกว่า ผู้สมัครต้องการทำงานมากน้อยแค่ไหน มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษหรือไม่ในสนามฝึกซ้อมและการจัดการเกมโดยเฉพาะกับสโมสรแถวหน้า ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ มีโอกาสก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือได้รับการร่วมมือร่วมใจ การรับมือกับแรงกดดันมหาศาล สามารถเป็นหน้าตาของสโมสรเมื่ออยู่ต่อหน้าสื่อมวลชนและสาธารณชน เผชิญหน้ากับวัฒนธรรมการทำงานในสโมสรที่แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งความเก่งหลายภาษายังถูกนำมาพิจารณา

ผู้จัดการทีมบางคนโดยเฉพาะไฮ-โปรไฟล์ มักอยากนำสตาฟฟ์ที่คุ้นเคยเข้ามาทำงาน ซึ่งตรงนี้ ผู้อำนวยการกีฬาต้องพิจารณาว่ามีผลต่องบประมาณและทีมงานชุดปัจจุบันหรือไม่ หากมีโอกาสนำไปสู่ความวุ่นวายภายใน การตอบปฏิเสธเป็นทางเลือกอันดับหนึ่ง

คาร์ลเซนตบท้ายว่า ผู้สมัครที่สมบูรณ์แบบในเชิงอุดมคติไม่มีอยู่จริง การตัดสินใจจึงขึ้นอยู่กับการจัดลำดับความสำคัญ บวกข้อดีข้อเสียว่า สโมสรให้น้ำหนักปัจจัยข้อไหนมากน้อยกว่ากัน บางครั้งอาจจำเป็นต้องขอความเห็นจากแหล่งข้อมูลภายนอกที่เชื่อถือได้

หลังสิ้นสุดการสัมภาษณ์ ผู้อำนวยการกีฬาจะเสนอบทสรุปของการสัมภาษณ์ให้กับเจ้าของหรือบอร์ดบริหาร ซึ่งบางสโมสรอาจเชื่อมั่นในการตัดสินใจของผู้อำนวยการกีฬาและปล่อยให้ดำเนินการขั้นตอนต่อไปเอง แต่ปกติแล้วจะมีการนัดสัมภาษณ์รอบสุดท้ายอีกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปพูดคุยเรื่องอื่น รายละเอียดทางเทคนิคหรือแท็คติกเล็กๆน้อยๆ วิสัยทัศน์ในภาพรวมของสโมสร ความทะเยอทะยาน เป้าหมายร่วมกัน และการใช้จ่ายเงินในตลาดซื้อขาย

และเช่นเดียวกับการสัมภาษณ์ครั้งแรกๆ บรรยากาศในวงสนทนาครั้งสุดท้ายยังมีความสำคัญสูงสุด ผู้สมัครแม้เป็นตัวเต็งอันดับหนึ่งจำเป็นต้องทำให้เจ้าของและบอร์ดบริหารรู้สึกสบายใจ สัมผัสถึงความสัมพันธ์อันดีเมื่อต้องทำงานด้วยกัน

สโมสรเริ่มต้นช่วงฮันนีมูนครั้งใหม่กับผู้จัดการทีมใหม่

มาถึงจุดนี้สโมสรจะเหลือผู้สมัครเพียงคนเดียวหรือว่าที่ผู้จัดการทีมคนใหม่ ผู้อำนวยการกีฬาหรือซีอีโอจะติดต่อเอเยนต์ของผู้สมัครเพื่อคุยในรายละเอียด ส่วนใหญ่มีขึ้นที่โรงแรม ร้านอาหารหรู หรือสำนักงานของสโมสร การนัดหมายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาของสัญญาถูกกำหนดไว้แล้ว แต่ยังมีบางส่วนต้องหารือให้เข้าใจตรงกันเช่น เงินเดือน โบนัส ผลกระทบทางภาษี และผลประโยชน์ด้านอื่นอาทิ ที่พักอาศัย ยานพาหนะ

เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปร่วมกัน ทีมงานฝ่ายสื่อสารจะกลับเข้ามาอีกครั้งเพื่อรับช่วงต่อ ผู้จัดการทีมคนใหม่จะถูกพาไปแนะนำให้รู้จักกับเจ้าหน้าที่สโมสรฝ่ายต่างๆ ตามด้วยการประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการและการแถลงข่าวเบื้องต้น

แม้ผ่านช่วงที่ชลมุนฝุ่นตลบแต่คลุมเครือไปแล้ว ผู้อำนวยการกีฬายังต้องอยู่ใกล้ชิดคอยช่วยเหลือผู้มาใหม่ให้สามารถปรับตัวกับสโมสรได้ จากนั้นปล่อยให้ผู้จัดการทีมทำงานกับนักเตะของเขาก่อนจะกลับมาทำงานใกล้ชิดกันอีกครั้งในตลาดซื้อขายรอบถัดไป

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Football Business

นโยบาย “อายุน้อย สัญญายาว” ของเชลซี ในยุคท็อดด์ โบห์ลี่ย์

ตลาดซื้อขายนักเตะเดือนมกราคม ปี 2023 เริ่มมาได้เพียง 1 สัปดาห์ ก็มีข่าวที่น่าฮือฮาของ “เชลซี” หลังคว้าตัว เบอนัวต์ บาเดียชิล กองหลังดาวรุ่งวัยย่าง 22 ปี จากโมนาโก ด้วยค่าตัว 35 ล้านปอนด์

โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่ บาเดียชิล ตกลงเซ็นสัญญายาวถึง 7 ปีครึ่ง หรือสิ้นสุดช่วงซัมเมอร์ปี 2030 ท่ามกลางคำถามที่ตามมาว่า คุ้มเสี่ยงหรือไม่ กับการที่สโมสรเลือกที่จะผูกมัดสัญญานักเตะยาวๆ แบบนี้

บาเดียชิล เป็นหนึ่งในนักเตะใหม่ “สิงห์บูลส์” ที่เซ็นสัญญามากกว่า 5 ปี ซึ่ง ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ เจ้าของทีม ได้นำแนวคิดเรื่องสัญญากีฬาอาชีพในสหรัฐอเมริกามาใช้ ไข่มุกดำ จะมาขยายประเด็นนี้ให้ฟัง

โมเดลอเมริกัน แก้ปัญหา FFP

โดยทั่วไปแล้ว สัญญาของนักฟุตบอลอาชีพในลีกอังกฤษ มักจะกำหนดระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี แต่เมื่อท็อดด์ โบห์ลี่ย์ เข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรเชลซี ก็ได้วางนโยบายใหม่เรื่องสัญญาทั้งนักเตะใหม่ และนักเตะเก่า

นโยบายใหม่ของโบห์ลี่ย์ คือ “ให้ผู้เล่นที่อายุไม่เกิน 25 ปี ทำสัญญากัน 6 – 7 ปี” ซึ่งเป็นการนำแนวคิดเรื่องสัญญาระยะยาวของกีฬาอาชีพในสหรัฐอเมริกามาใช้ เพื่อรั้งนักเตะอายุน้อยฝีเท้าดีให้อยู่กับสโมสรไปนานๆ

ตลาดนักเตะเชลซี ในยุคของโบห์ลี่ย์ ได้คว้าตัวแข้งอายุต่ำกว่า 25 ปี และมอบสัญญายาว 6 – 7 ปี มาแล้ว 5 คน คือ มาร์ค คูคูเรย่า, คาร์นี่ย์ ชุควูเมก้า, เวสลี่ย์ โฟฟาน่า, เซซาเร่ คาซาเด และเบอนัวต์ บาเดียชิล คือรายล่าสุด

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

เมื่อรวมกับนักเตะรายอื่นๆ ในฝั่งขาเข้า ทำให้โบห์ลี่ย์ ใช้เงินรวม 2 รอบตลาด ทะลุ 300 ล้านปอนด์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งยอดใช้จ่ายที่มากขนาดนี้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP)

อย่างไรก็ตาม ฝั่งขาออกก็ได้ปล่อยนักเตะไปมากกว่า 10 ราย เพื่อปรับสมดุลของงบการเงิน โดยไม่ให้ขัดกับกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ อย่างเช่น ติโม แวร์เนอร์, เอเมอร์สัน, บิลลี่ กิลมัวร์ เป็นต้น

โมเดลสัญญาระยะยาวของโบห์ลี่ย์ ช่วยให้เชลซีลดต้นทุนในการเซ็นสัญญานักเตะใหม่ และต่อสัญญานักเตะเก่า ซึ่งอาจช่วยให้สโมสรใช้เงินซื้อนักเตะใหม่ได้มากขึ้น โดยไม่ผิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์

รู้ว่าเสี่ยง แต่เป็นผลดีกับนักเตะ

ก่อนที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์เชลซี ท็อดด์ โบห์ลี่ย์เคยมีประสบการณ์การบริหารทีมกีฬา ด้วยการเป็นหุ้นส่วนของสโมสรเบสบอลลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส ในลีก MLS เมื่อปี 2013 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ในยุคที่โบห์ลี่ย์เข้ามาบริหารลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส ได้พลิกฟื้นทีมจากความตกต่ำให้กลับมายิ่งใหญ่ ด้วยการคว้าแชมป์กลุ่มตะวันตก 8 ครั้ง, แชมป์เนชั่นแนล ลีก 3 ครั้ง และแชมป์เวิลด์ ซีรี่ส์ ในปี 2020

ดร. แดน พลัมลี่ย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน วิเคราะห์ว่า แม้แนวคิดสัญญาระยะยาวของเจ้าของทีมสิงห์บูลส์จะมีความเสี่ยง แต่ก็จะทำให้นักเตะลดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตการค้าแข้งในสโมสรได้ไม่น้อย

“สำหรับนักฟุตบอลดาวรุ่งแล้ว พวกเขาจะให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากที่สุด มันทำให้นักเตะอายุน้อยหลายๆ คน มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองในระยะเวลาที่นานขึ้น” ดร. พลัมลี่ย์ กล่าวกับ Football Insider

“ด้วยโมเดลสัญญานักกีฬาแบบอเมริกัน เป็นการชี้ให้เห็นถึงภูมิหลังของโบห์ลี่ ในกีฬาอเมริกัน เขาสามารถใช้กลยุทธ์นี้ ในการลงทุนเพื่อพัฒนานักเตะดาวรุ่ง ซึ่งเป็นผลดีอย่างแท้จริงสำหรับเชลซี”

“แต่สิ่งที่ต้องคิดสำหรับเชลซีคือ วงการฟุตบอลในยุคปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ คำถามคือ พวกเขาจะจัดการผลลัพธ์ระยะสั้น ให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวได้อย่างไร ?”

แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เห็นว่าดี

นโยบายที่ให้นักเตะอยู่กับสโมสรใดสโมสรหนึ่งในระยะยาว มีมุมบวกอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว กระนั้น ก็มีอีกมุมหนึ่งที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า การเสี่ยงเซ็นสัญญานักเตะยาวหลายปี อาจไม่ใด้เป็นเรื่องที่ดีเสมอไป

เมื่อเชลซี ประกาศคว้าตัวเบอนัวต์ บาเดียชิล ได้มีความเห็นส่วนหนึ่งของแฟนบอลบนโลกออนไลน์ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเซ็นสัญญานักเตะรายนี้ ในทำนองว่า “สัญญา 7 ปีครึ่ง มันบ้าเกินไปแล้ว”

ส่วนแฟนบอลทีมอื่นๆ อย่างเช่นแฟนบอลแอตเลติโก้ มาดริดรายหนึ่ง คอมเมนท์ว่า “ซาอูล นิเกซ เซ็นสัญญาใหม่นาน 9 ปี ตอนแรกยังเล่นดีอยู่เลย ตอนนี้เหลือสัญญาอีกถึง 3 ปีครึ่ง ยังต้องเจอกับความเสี่ยงต่อไป”

ด้านแฟนบอลเวสต์แฮม ยูไนเต็ดรายหนึ่ง เสริมว่า “เราเคยทำแบบนี้มาแล้วในอดีตกับแอนดี้ แคร์โรลล์ และวินสตัน รีด ทั้งคู่ต่อสัญญายาวคนละ 6 ปี แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่”

และไม่ใช่แค่ผู้เล่นเท่านั้น ยังมีผู้จัดการทีมอย่างอลัน พาร์ดิว เมื่อปี 2012 ที่ประกาศต่อสัญญาคุมทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ยาวถึง 8 ปี แต่อยู่ได้เพียง 2 ปี ก็ลาออกไปคุมทีมคริสตัล พาเลซ

การนำแนวคิดสไตล์อเมริกันของท็อดด์ โบห์ลี่ย์ จะพาเชลซีไปในทิศทางไหน และผลงานในสนามซีซั่นแรกของการเป็นเจ้าของทีมจะเป็นอย่างไร นี่คือคำถามที่แฟนบอลจะได้ทราบคำตอบในอีกไม่นานนี้

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11116957/New-Chelsea-owner-Todd-Boehly-looking-implement-style-contract-policy-club.html

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11603161/Chelseas-decision-hand-Benoit-Badiashile-seven-half-year-deal-called-absolutely-INSANE.html

– https://www.cityam.com/heres-why-chelsea-could-benefit-from-handing-33m-signing-badiashile-a-mammoth-seven-year-contract/

– https://www.footballinsider247.com/chelsea-stars-thrilled-as-seven-year-deal-on-the-cards-finance-guru/

– https://boardroom.tv/benoit-badiashile-chelsea-contract/

Categories
Football Business

ว่าด้วยเรื่อง “อาร์เซน่อล” กับการเงินที่ติดลบต่อเนื่อง

วันคริสต์มาส ในปี 2022 แฟนบอลอาร์เซน่อลคงจะมีความสุขไม่น้อย ที่ได้เห็นทีมรักนำเป็นจ่าฝูงพรีเมียร์ลีก ซึ่งต้องรอดูว่าหลังจากเบรกฟุตบอลโลก จะยังสานต่อความยอดเยี่ยมไว้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยักษ์ใหญ่จากนอร์ธ ลอนดอนทีมนี้ ได้ประกาศผลประกอบการรอบล่าสุด ประจำปีงบประมาณ 2021-22 พบว่าขาดทุน 45.5 ล้านปอนด์ ทำสถิติขาดทุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว

เรื่องราวเบื้องหลังการเงินของ “เดอะ กันเนอร์ส” ที่ผลประกอบการติดลบอย่างต่อเนื่องหลายปี จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

เปิดเบื้องหลังการเงิน “เดอะ กันเนอร์ส”

ปีงบประมาณ 2021-22 อาร์เซน่อลขาดทุน 45.5 ล้านปอนด์ เป็นการติดลบ 4 ปีติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 2018-19 (27.1 ล้านปอนด์), ปี 2019-20 (47.8 ล้านปอนด์) และปี 2020-21 (107.3 ล้านปอนด์)

ปี 2020-21 ที่อาร์เซน่อลขาดทุนระดับหลักร้อยล้านปอนด์ สาเหตุสำคัญคือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่สามารถเปิดให้แฟนบอลเข้าชมการแข่งขันในสนามได้ตามปกติ

ขณะที่ในปี 2021-22 อาร์เซน่อลไม่ได้เข้าร่วมฟุตบอลสโมสรยุโรปรายการใดๆ เลย เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี แต่ยอดขาดทุนลดลงอย่างมากจากงวดปี 2020-21 เพราะมีรายได้จากแมตช์เดย์มากขึ้น

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาร์เซน่อลมีปัญหาการเงิน คือการใช้เงินซื้อนักเตะไปมากกว่า 200 ล้านปอนด์ ใน 2 ซีซั่นหลังสุด รวมถึงการผ่องถ่ายนักเตะทั้งการขายขาดและปล่อยยืมตัว ทำได้ไม่ดีพอ และได้ราคาไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

ในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน อาร์เซน่อลได้กู้ยืมเงิน 70 ล้านปอนด์กับธนาคารในอังกฤษ รวมกับเงินที่ได้จากการรีไฟแนนซ์ จาก Kroenke Sports & Entertainment (KSE) ของสแตน โครเอ็นเก้ อีกประมาณ 32 ล้านปอนด์

สำหรับเงินกู้ยืมของอาร์เซน่อล จะนำไปปรับปรุงสนามเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม รังเหย้าของสโมสรครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่สร้างสนามมาเมื่อปี 2006 เช่น เพดานสนาม รวมถึงจุดทางเข้าสนามเพื่อให้แฟนบอลเข้าไปได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เงินที่โครเอ็นเก้ ในนามของ KSE ให้มานั้น ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่เป็นเงินกู้ที่มีระยะเวลาในการกู้นานขึ้น และอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่ากู้ธนาคาร ถือเป็นการพิสูจน์ฝีมือในการบริหารหนี้สินของอาร์เซน่อลได้เป็นอย่างดี

กลับสู่การพึ่งตัวเองเพื่อความยั่งยืน

เมื่อการเงินของอาร์เซน่อล ไม่ได้แข็งแกร่งมากเหมือนกับสโมสรยักษ์ใหญ่อื่นๆ ทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้พวกเขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน คือการกลับไปใช้วิธีพึ่งพาตัวเอง เหมือนที่เคยทำมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน

การไม่ได้เข้าร่วมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของอาร์เซน่อลหายไปอย่างมาก จึงต้องเปลี่ยนแปลงการบริหารสโมสร โดยวางแผนทางการเงินอย่างเข้มงวด

ประการแรก อาร์เซน่อลได้ลดจำนวนพนักงานของสโมสร ในฤดูกาล 2021/22 จาก 624 คน เหลือ 595 คน ช่วยประหยัดเงินได้ 34 ล้านปอนด์ และได้จ่ายค่าชดเชยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด 6.7 ล้านปอนด์

และอีกประการหนึ่ง คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างนักเตะทีมชายชุดใหญ่ของสโมสร โดยเน้นการลงทุนไปที่นักเตะอายุน้อย ค่าเหนื่อยไม่สูงเป็นหลัก เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการเงินที่แข็งแกร่งในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น การเสริมทีมในช่วงซัมเมอร์ปี 2021 อาร์เซน่อลใช้เงินไป 125.8 ล้านปอนด์ แลกกับนักเตะหลายคน เช่น เบน ไวท์, มาร์ติน โอเดการ์ด, อารอน แรมสแดล, ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ, อัลเบิร์ต ซามบี โลก็องก้า และนูโน่ ตาวาเรส

ถึงแม้กาเบรียล เชซุส ได้รับบาดเจ็บหนักต้องพักยาว ก็ยังสามารถซื้อผู้เล่นในตลาดเดือนมกราคมได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นการซื้อเพื่อใช้งานในระยะยาวจริงๆ ไม่ใช่ซื้อเพื่อเป็นตัวแทนของเชซุสเพียงชั่วคราว

เป็นที่รู้กันแล้วว่า อนาคตของอาร์เซน่อล ขึ้นอยู่กับการได้สิทธิ์ไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซึ่งพวกเขาตั้งเป้าที่จะไปให้ถึงจุดนั้น เพื่อแลกกับความมั่นคงทางการเงินของสโมสรในระยะยาว

“ถ้วยใหญ่ยุโรป” คือความหวัง

จากการที่อาร์เซน่อล ห่างหายจากการเข้าร่วมแข่งขันยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รายการที่เปรียบดั่งขุมทรัพย์ของทีมฟุตบอลมานาน 6 ปีติดต่อกัน ทำให้การเงินของสโมสรไม่คล่องตัวเท่าที่ควร

แน่นอนว่า การเข้าร่วมแชมเปี้ยนส์ ลีก คือเป้าหมายสำคัญที่ “ปืนใหญ่” จำเป็นต้องทำให้ได้เป็นอันดับแรก เพื่อช่วยแก้ไขเรื่องรายรับ และรายจ่ายของสโมสร ให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว

ถ้าทีมของมิเกล อาร์เตต้า สามารถคว้าโควตาไปแชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาล 2023/24 จะได้รับเงินรางวัลการันตี 13.48 ล้านปอนด์ และมีสิทธิ์ได้เงินเพิ่มอีก 2.4 ล้านปอนด์ ต่อการชนะในเกมรอบแบ่งกลุ่ม 1 นัด

และถ้าหากผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ถ้วยใหญ่ยุโรปได้ จะได้เงินเพิ่มอีก 8.2 ล้านปอนด์ อีกทั้งยังมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และรายได้ในแต่ละแมตช์เดย์ อย่างน้อยที่สุด อาร์เซน่อลจะได้รับเงินประมาณ 50 ล้านปอนด์

โดยกลุ่มแฟนบอลของอาร์เซน่อล ในนาม Arsenal Supporters’ Trust ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า ผลงานที่ยอดเยี่ยมในฤดูกาลนี้ น่าจะทำให้สโมสรที่พวกเขารัก กลับมามีผลประกอบการที่ดีขึ้นในเร็ววัน

“ด้วยนักเตะที่อายุยังน้อย และการกลับสู่ฟอร์มการเล่นที่ดีของทีม ทำให้รายได้ในสนามเพิ่มขึ้น ถือเป็นรากฐานที่ดีสำหรับอาร์เซน่อล ที่จะต่อยอดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้นเราต้องได้ไปแชมเปี้ยนส์ ลีก ในซีซั่นถัดไป เพื่อทำให้เรามั่นใจมากขึ้น”

คาดว่าผลประกอบการในปีงบประมาณ 2022-23 ที่จะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมปีหน้า อาร์เซน่อลจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น จากการได้เล่นถ้วยสโมสรยุโรป และปล่อยนักเตะค่าเหนื่อยแพงออกไปหลายคน

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3965749/2022/12/04/arsenal-45m-loss-january-gabriel-jesus/

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/champions-league-winner-prize-money-27910360

https://editorial.uefa.com/resources/0277-158b0bea495a-ba6c18158cd3-1000/20220704_circular_2022_47_en.pdf

Categories
Football Business

เมื่อ “ลาลีกา” เบรกฎหมายกีฬาฉบับใหม่ ที่หวังอุ้ม “ซูเปอร์ ลีก”

วงการฟุตบอลสเปนช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกว่ามีทั้งความผิดหวังและความวุ่นวาย นับตั้งแต่ตัวแทนจากลีกกระทิงดุ กระเด็นตกรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีกถึง 3 ทีม

ผลงานในสนามว่าย่ำแย่แล้ว นอกสนามก็ยังมีประเด็นขัดแย้งให้พูดถึง จากกรณีที่ลาลีกา ได้ตัดสินใจขวางร่างกฎหมายกีฬาฉบับใหม่ของรัฐบาล เพราะมองว่าเป็นการหนุน “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก”

แล้วร่างกฏหมายกีฬาฉบับใหม่ สร้างปัญหาให้กับวงการลูกหนังแดนกระทิงดุอย่างไร ? SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

จับตา “ซูเปอร์ ลีก” ขยับตัวครั้งใหม่ ?

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อเดือนเมษายน 2021 โปรเจ็กต์ “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก” ที่มี 12 สโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรปเป็นผู้ก่อการ ถูกต่อต้านอย่างหนักจากทั่วทุกสารทิศ ทำให้โปรเจ็กต์นี้ต้องถูกพับเก็บไป

หลาย ๆ สโมสร อย่างเช่น บิ๊ก 6 ของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ได้ถอนตัวออกไปแล้ว แต่ยังเหลือเรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า และยูเวนตุส 3 สโมสรที่ยังคงร่วมหัวจมท้ายกับซูเปอร์ ลีก จนถึงปัจจุบันนี้

จากบทเรียนครั้งใหญ่เมื่อ 18 เดือนก่อน ทำให้ 3 สโมสรผู้ร่วมจัดตั้งที่เหลืออยู่ ได้เคลื่อนไหวแบบสุขุม ประนีประนอม และรูปแบบการแข่งขันจะเป็นระบบเปิดมากขึ้น ตัดปัจจัยที่สุดโต่งออกไป

ซูเปอร์ ลีก กลับมาเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเบิร์นด์ ไรชาร์ท ซีอีโอของ A22 Sports Management เป็นหัวหอกคนสำคัญในการผลักดันโปรเจ็กต์นี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อตั้งซูเปอร์ ลีก มีคดีความที่ไปฟ้องร้องยูฟ่าว่า “ผูกขาดการแข่งขัน” ซึ่งคดีจะตัดสินกันในเดือนธันวาคมนี้ ถ้าฝั่งซูเปอร์ ลีก ชนะคดี ก็มีโอกาสสูง ที่โปรเจ็กต์นี้จะเกิดขึ้นจริง

ต้องรอดูว่า ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ในเวอร์ชั่นที่เป็นมิตรมากกว่าเดิมนั้น จะออกมารูปแบบไหน ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ขัดแย้งกับโปรแกรมฟุตบอลในประเทศ, ฟุตบอลสโมสรยุโรป และทีมชาติ

หลายสโมสรลาลีกาไม่เอา “ซูเปอร์ ลีก”

ความขัดแย้งกรณียูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก เริ่มมีมากขึ้น หลังจากเมื่อวันอังคารที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา รัฐสภาของสเปน ไฟเขียวผ่านร่างกฎหมายกีฬาฉบับใหม่ ที่จะควบคุมอุตสาหกรรมฟุตบอลในอนาคต

จากเรื่องดังกล่าว สร้างความไม่พอใจให้กับฆาเบียร์ เตบาส ประธานลาลีกา และสโมสรส่วนใหญ่ ซึ่ง 39 จากทั้งหมด 42 สโมสรสมาชิกของลาลีกา ได้แสดงพลังครั้งใหญ่กับการต่อต้านร่างกฎหมายใหม่

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สโมสรลาลีกาเกือบทุกสโมสร “ไม่เห็นด้วย” กับร่างกฎหมายกีฬาฉบับใหม่ เนื่องจากมองว่าเป็นการเปิดทางให้เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า เข้าร่วมยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ได้ง่ายขึ้น

รายงานจาก The Athletic อ้างว่า ถ้า 2 สโมสรยักษ์ใหญ่ของสเปน เข้าร่วมยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ได้สำเร็จ จะทำให้ลาลีกาสูญเสียเงินมหาศาล ประมาณเกือบ 9 พันล้านยูโร ในอีก 10 ปีข้างหน้า

และล่าสุด อีก 2 วันต่อมา (พฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม) ในการประชุมสโมสรสมาชิกลาลีกา เตบาส ได้ออกมาแสดงความพอใจกับ 39 สโมสร ที่ร่วมมือกันคัดค้านการแก้ไขกฎหมายกีฬาของรัฐบาลสเปน

นอกจากนี้ ยังประกาศว่า ถ้าหากยังเดินหน้าแก้ไขกฎหมายต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ที่จะให้งดการแข่งขันลาลีกาทั้ง 2 ดิวิชั่น เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อเป็นการประท้วงรัฐบาล ที่สนับสนุนโปรเจ็กต์ซูเปอร์ ลีก

โฆเซ่ คาสโตร ประธานสโมสรเซบีย่า กล่าวว่า “เราคือ 1 ใน 39 สโมสร ที่ไม่อาจยอมรับกฎหมายใหม่นี้ได้ เราไม่กลัวที่ตัดสินใจแบบนี้ แม้ว่าจะไปกระทบกับผลประโยขน์ของบางคนก็ตาม”

“เปเรซ VS เตบาส” คู่กัดที่สู้กันอีกยาว ?

ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ประธานสโมสรเรอัล มาดริด เป็นคนแรกที่ริเริ่มไอเดีย “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก” ที่นำสุดยอดทีมยักษ์ใหญ่ของยุโรปมาฟาดแข้ง และมีเงินรางวัลมหาศาลมาล่อใจ โดยไม่ง้อยูฟ่าอีกต่อไป

แต่ทว่า ผู้คนส่วนใหญ่ออกมาต่อต้านแนวคิดของเปเรซ ประมาณว่า ซูเปอร์ ลีก เกิดขึ้นมาจากความโลภและเห็นแก่ตัวของบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ โดยแทบไม่ให้ความเคารพกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเลย

ในปี 2013 ฆาเบียร์ เตบาส เข้ามารับตำแหน่งประธานลาลีกา ได้กำหนดนโยบายที่ให้มีการกระจายรายได้กับทุกสโมสรอย่างเป็นธรรม รวมถึงการออกกฎควบคุมการเงินและหนี้สิน ของแต่ละสโมสรด้วย

ก่อนหน้านี้ เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า คือทีมที่รับรายได้จากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์มากที่สุด แต่นโยบายของเตบาส ทำให้ทั้ง “ราชันชุดขาว” และ “เจ้าบุญทุ่ม” ต่างไม่พอใจที่ผลประโยชน์ส่วนนี้ลดลง

แน่นอนว่า ฝ่ายที่เสียประโยชน์อย่างเปเรซ มักจะงัดข้อกับเตบาสมาหลายครั้งกับประเด็นซูเปอร์ ลีก และพยายามพูดเหตุผลเพื่อโน้มน้าวให้บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ คล้อยตามความคิดของเขา

“กีฬาฟุตบอลที่เรารักกำลังป่วยหนัก มันสูญเสียความนิยมในระดับโลกไปแล้ว คนรุ่นใหม่สนใจฟุตบอลน้อยลงเรื่อย ๆ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้น ก่อนที่จะสายเกินไป” เปเรซ กล่าว

ขณะที่เตบาส ก็โต้กลับว่า “เปเรซคือคนที่แพ้ไม่เป็น เขาเชื่อว่าตัวเขายิ่งใหญ่ และพยายามทำทุกอย่างที่เขาคิด แต่เขาไม่รู้อะไรเลยว่า สิ่งที่เขาพูดถึง กำลังทำลายสโมสรอื่น ๆ ทั้งหมด รวมถึงเรอัล มาดริดด้วย”

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างลาลีกา กับยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก คงไม่จบลงง่ายๆ ตราบใดที่ทั้ง 2 ฝ่าย ยังเชื่อมั่นในจุดยืนอย่างหนักแน่น เพราะเป้าหมายของการต่อสู้ ล้วนต้องการอำนาจและผลประโยชน์ทั้งสิ้น

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :
– https://theathletic.com/3729937/2022/10/28/la-liga-super-league-sports-law/
– https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/european-super-league-relaunch-explained-28282561
– https://nationworldnews.com/spanish-football-avoids-strike-after-adjustment-in-sporting-law/
– https://en.wikipedia.org/wiki/Liga_Nacional_de_F%C3%BAtbol_Profesional

Categories
Football Business

โรนัลโด กับอัจฉริยะนอกสนามฟุตบอล สร้างพลิกโฉมหน้า บายาโดลิด-ครูไซโร

โรนัลโด ลุยซ์ นาซาริโอ เด ลิมา หรือ โรนัลโด เป็นชื่อที่ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณให้มากความ ไม่มีใครที่เป็นแฟนกีฬาลูกหนังแล้วไม่รู้จักอดีตซูเปอร์สตาร์กองหน้าทีมชาติบราซิลที่ค้าแข้งระหว่างปี 1993 ถึง 2011 กับครูไซโร, พีเอสวี ไอน์ดโฮเฟน, บาร์เซโลนา, อินเตอร์ มิลาน, เรอัล มาดริด, เอซี มิลาน และคอรินเธียนส์

R9 ลงสนามให้ทีมชาติบราซิล 98 นัด ทำไป 62 ประตู มากที่สุดเป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์ทีมชาติบราซิล โรนัลโดอยู่ในทีมชุดแชมป์โลกปี 1994 ขณะอายุเพียง 17 ปี และชนะเลิศอีกหนึ่งครั้งในปี 2002 เป็นหนึ่งในฟรอนท์ทรีในตำนานร่วมกับโรนัลดินโญและริวัลโด ส่วนแชมป์โคปา อเมริกา เขาได้เหรียญชนะเลิศ 2 สมัยในปี 1997 และ 1999 สำหรับเกียรติประวัติส่วนตัว โรนัลโดได้รางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีของฟีฟา 3 สมัยและบัลลงดอร์ 2 สมัย เขาแขวนสตั๊ดในปี 2011 เนื่องจากบาดเจ็บเรื้อรังโดยเฉพาะหัวเข่า

โรนัลโดเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีนักฟุตบอลด้วยรายได้มหาศาลจากอาชีพค้าแข้ง หนึ่งในนั้นคือการเซ็นสัญญาตลอดชีพมูลค่า 160 ล้านปอนด์กับไนกี บริษัทผลิตอุปกรณ์และชุดกีฬายักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ปัจจุบันบทบาทของโรนัลโดที่ปรากฏต่อสาธารณชนคือ นักธุรกิจและเจ้าของสโมสรฟุตบอลเรอัล บายาโดลิด และครูไซโร ซึ่งโรนัลโดได้พาทั้งสองทีมกลับขึ้นมาเล่นบนสังเวียนลีกสูงสุดของประเทศด้วยระยะเวลาห่างกันเพียงห้าเดือน

ความจริงแล้ว อดีตยอดดาวซัลโววัย 46 ปี เคยเป็นเจ้าของสโมสรทีมฟุตบอลหลังจากอำลาวงการเพียงสามปีเท่านั้นแม้เป็นการครอบครองหุ้นจำนวนน้อยของฟอร์ต เลาเดอร์เดล สไตรเกอร์ส ทีมในนอร์ธ อเมริกัน ซอคเกอร์ ลีก (เอ็นเอเอสแอล) ลีกลูกหนังอาชีพของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในขณะนั้น และเคยเป็นทีมเก่าช่วงทศวรรษ 1970 ของจอร์จ เบสต์ อดีตดาวดังของแมนฯยูไนเต็ด

เคยมีข่าวว่าโรนัลโดเตรียมกลับมาสวมสตั๊ดคืนสนามฟุตบอลร่วมกับทีมสไตรเกอร์สแต่มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง เขาเคยพาทีมไปทัวร์พรีซีซันที่ประเทศจีนด้วย แต่โปรเจกต์แรกของโรนัลโดต้องปิดฉากลงหลังจากลีกยุติการแข่งขันเมื่อปี 2016

แต่โรนัลโดยังไม่ละทิ้งความฝัน เขากลายเป็นเจ้าของเรอัล บายาโดลิด สโมสรในลาลีกา ลีกสูงสุดของสเปน หลังจากทุ่มเงิน 30 ล้านยูโรเพื่อซื้อหุ้นสโมสร 51 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 ก่อนเพิ่มเป็น 82 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 ทำให้เขามีอำนาจสูงสุดในการบริหารสโมสรและเริ่มต้นบายาโดลิดยุคโรนัลโดอย่างแท้จริง แต่โชคร้ายที่ “พูเซลานอส” ตกไปอยู่ดิวิชัน 2 ในฤดูกาล 2021-22

“ผมผ่านอะไรมามากมายเพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อสิ่งนี้ ฟุตบอลเป็นเรื่องของแพสชันล้วนๆ เราต้องการสร้างทีมที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นได้เพื่อลงแข่งขันพร้อมให้ข้อมูลการบริหารจัดการสโมสรด้วยความโปร่งใส”

ภายหลังบายาโดลิดเป็นรองแชมป์เซกุนดา ดิวิชัน ใช้เวลาเพียงปีเดียวกลับขึ้นมาอยู่ลีกสุงสุดอีกครั้งในฤดูกาล 2022-23 โรนัลโดได้ซื้อเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชัน 5 แจกให้กับนักเตะทุกคนเป็นรางวัลและสัญลักษณ์ของการขอบคุณ

ในเดือนธันวาคม 2021 โรนัลโดสั่งจ่ายเช็ค 70 ล้านยูโรเพื่อซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของครูไซโร ทีมแรกของเขาในฐานะนักฟุตบอลอาชีพ พร้อมประกาศสัญญาว่าจะนำครูไซโรกลับไปอยู่ในจุดที่สโมสรสมควรอยู่อีกครั้ง

เพียงเก้าเดือนหลังนั่งเก้าอี้เจ้าของสโมสร ครูไซโรผงาดครองแชมป์ คัมเปโอนาโต บราซิเลียโร เซเรีย บี ประจำปี 2022 ทำแต้มทิ้งห่างอันดับ 2 เกรมิโอ 15 คะแนน เป็นหนึ่งในสี่ทีมที่ถูกโปรโมทขึ้นไปเล่นในลีกสูงสุดประเทศบราซิล ตามหลังบายาโดลิดแค่ห้าเดือนเท่านั้น

โรนัลโดเปิดใจผ่านโซเชียลมีเดียว่า “ยังคงพูดไม่ออก พยายามดูดซับทุกเรื่องราวที่ผ่านเป็นประสบการณ์เข้ามาในช่วง 2-3 เดือน พวกเราคือ บลู เนชัน เอฟเอเอฟ ครูไซโร การขึ้นจากเซเรีย บี ได้รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์นับว่าเราประสบความสำเร็จไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยเวลาเก้าเดือนกับโปรเจกต์ก่อร่างสร้างสโมสรใหม่ นี่เป็นผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แล้ว”

⚽️ เรอัล บายาโดลิด แบรนด์โลกและสโมสรระดับสากล

แต่ก่อนประสบความสำเร็จกับบายาโดลิดและครูไซโร โรนัลโดเคยเจอความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจมาแล้ว ซึ่งเรื่องราวที่รับรู้โดยทั่วกันคือการก่อตั้ง 9ine บริษัทเอเยนซีโฆษณาที่โฟกัสด้านการตลาดกีฬาและบันเทิงเมื่อปี 2011 โดยบริษัทมีหน้าที่ดูแลบริหารภาพลักษณ์และผลประโยชน์ของนักกีฬาดังมากมายอย่างเช่น เนย์มาร์ (ฟุตบอล), ราฟาเอล นาดาล (เทนนิส), รูเบนส์ บาร์ริเชลโล (แข่งรถ), แอนเดอร์สัน ซิลวา (เอ็มเอ็มเอ), เปโดร บาร์รอส (สเก็ตบอร์ด), บรูนินโญ (วอลเลย์บอล) แต่โรนัลโดได้โบกมือลาเมื่อปี 2013 ก่อนที่บริษัทได้ปิดกิจการอีกสามปีให้หลัง 

อย่างไรก็ตาม โรนัลโดได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับ Octagon บริษัทเอเยนซีในประเทศบราซิลตั้งแต่ปี 2017 เนื่องจากมีความเชื่อว่าบราซิลมีศักยภาพและความฝันที่จะยกระดับกีฬาและบันเทิงทางด้านการตลาดขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง แต่ภายหลังไม่มีการเผยแพร่ความเคลื่อนไหวของโรนัลโดเกี่ยวกับเรื่องนี้สู่สาธารณชน อาจเป็นความน่าสนใจในฐานะผู้บริหารธุรกิจฟุตบอลได้เข้าปกคลุมพื้นที่สื่อไปทั้งหมดเพราะ R9 นับเป็นอดีตนักฟุตบอลอาชีพคนแรกที่เป็นเจ้าของสโมสรแถวหน้าของทวีปยุโรป

ย้อนกลับไปยังเดือนกันยายน 2018 โรนัลโดซื้อหุ้นของเรอัล บายาโดลิด 51 เปอร์เซ็นต์ รับตำแหน่งประธานสโมสรแทนคาร์ลอส ซัวเรซ ซึ่งทำหน้าที่มานาน 17 ปี ตำนานดาวซัลโวเข้ามาในเวลาที่เหมาะสมเพราะบายาโดลิดเพิ่งเลื่อนชั้นมาอยู่ลาลีกาหลังใช้เวลาสี่ปีกับเซกุนดา, วิกฤติทางการเงินคลี่คลายไประดับหนึ่ง, สโมสรไม่ได้มีประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่จนสร้างแรงกดดัน, สโมสรยังมีช่องทางเติบโตได้อีกมาก และบายาโดลิดตั้งอยู่ในพิกัดที่ดี ห่างจากกรุงมาดริดเพียงสองชั่วโมง

ช่วงที่บายาโดลิดตกไปอยู่ดิวิชันสองเมื่อปี 2014 สโมสรมีหนี้สินอยู่ราว 63 ล้านยูโรและได้รายรับเข้ามาเพียง 18 ล้านยูโร แต่ได้รับอานิสงส์จากกระบวนการฟื้นฟูสภาพทางกฎหมายที่ช่วยเหลือทีมฟุตบอลหลายแห่งในสเปน หลักการคือถ้าสโมสรชี้แจงได้ว่าไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ทันกำหนดเวลา จะได้รับการรีไฟแนนซ์ ลดหนี้สิน และขยายเวลาการชำระ ส่งผลให้เมื่อปี 2012 บายาโดลิดได้ขยายเวลาชำระหนี้ออกไปแปดปี และจ่ายหนี้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนจริง ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์ถูกยกเว้น สโมสรจึงรอดพ้นจากภาวะล้มละลายได้อย่างสบาย

นอกจากนี้ ลาลีกายังได้ปรับเปลี่ยนการกระจายรายได้จากลิขสิทธิ์โทรทัศน์ในปี 2015 ช่วยให้สโมสรเล็ก ๆ ได้รับเงินเป็นกอบเป็นกำแทนที่จะไหลเข้าสู่กองคลังของทีมใหญ่อย่างบาร์เซโลนาและเรอัล มาดริด บวกกับยูฟาได้ออกกฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ ควบคุมการใช้จ่ายเงินของสโมสรอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติในอนาคต ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาเหมาะเจาะและบายาโดลิดคืนสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งพร้อมกับการเข้ามาของโรนัลโด

ซีซันแรกของโรนัลโด บายาโดลิดจบลาลีกาด้วยอันดับ 16 เหนือโซนตกชั้นเพียง 4 คะแนนแต่ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายในสนาม ส่วนเรื่องนอกสนาม R9 โฟกัสไปที่การปรับโครงสร้างสโมสรผ่านไอเดียและคอนเน็คชันของตนเอง, พัฒนาบายาโดลิดให้เป็นแบรนด์ระดับโลกเป็นที่รู้จักมากขึ้น, พลักดันให้เป็นสโมสรระดับสากลผ่านการนำเสนอของสื่อสารมวลชน และสร้างความมั่นคงทางกีฬาด้วยผลการแข่งขันในสนาม ซึ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โรนัลโดต้องเพิ่มอำนาจบริหารผ่านหุ้นสโมสร และในเดือนเมษายน 2020 เขาครอบครองหุ้นรวม 82 เปอร์เซ็นต์

 โรนัลโดใช้เงินส่วนตัว 2.5 ล้านยูโรปรับโฉมสนามเหย้า เอสตาดิโอ โฆเซ โซร์ริลญา เพิ่มที่นั่งกว่า 500 ที่นั่งเพื่อให้แฟนบอลเข้ามาใกล้ชิดสนามแข่งมากขึ้นและรีโนเวทพื้นที่อื่น ๆ อย่างเช่นปรับปรุงโซนวีไอพีและทางเดินเชื่อมต่อภายใน

โรนัลโดยังสานต่อหลายเรื่องที่ถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงก่อนเขารับตำแหน่งได้แก่ ติดตั้งไวไฟฟรี, เพิ่มจอภาพขนาดใหญ่ และการปรับปรุงสนามฝึกซ้อม ซึ่งโรนัลโดมองว่าเป็นความสำคัญลำดับต้น ๆ สโมสรมีโครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก มี 2 เทรนนิงแคมป์และ 1 สเตเดียม แต่ยังขาดศูนย๋ฝึกซ้อมที่ทันสมัยโดยเบื้องต้น R9 ต้องการให้ภายในประกอบด้วยสนามฟุตบอล 12 สนาม, ยิมฟุตซอล 1 แห่ง และสนามฟุตซอลกับบาสเกตบอล

โรนัลโดพูดถึงสาเหตุที่นำฟุตซอลเข้ามาว่า “ผมมีความเชื่อว่าเด็ก ๆ ควรเริ่มจากฟุตซอลก่อนไปเล่นสนามฟุตบอล” ส่วนโครงการบาสเกตบอลเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2020 เมื่อโรนัลโดจับมือเป็นพันธมิตรกับ Ciudad da Valladolid สโมสรบาสเกตบอลในดิวิชันสอง ทั้งสองฝ่ายจะให้ความร่วมมือกันภายใต้ชื่อสโมสรว่า Real Valladolid Baloncesto (เรอัล บายาโดลิด บาสเกตบอล)

ปีที่สองของโรนัลโด ทีมจบซีซัน 2019-20 ด้วยอันดับ 13 เหนือโซนตกชั้น 6 คะแนน แถมโมฮัมเหม็ด ซาลิซู เซ็นเตอร์แบ็คชาวกานา ซึ่งเติบโตจากทีมเยาวชน โชว์ฟอร์มเข้าตาเซาแธมป์ตันที่จ่ายเงิน 12 ล้านยูโรเพื่อดึงซาลิซูไปเล่นในอังกฤษ ช่วยลดวิกฤติการเงินที่ถูกกระทบจากไวรัสโควิด อีกทั้ง R9 ยังเสริมขุมกำลังและสร้างสีสันให้ทีมด้วยการดึงผู้เล่นจากทวีปอเมริกาใต้เข้ามา

อย่างไรก็ตามในปีที่สามของโรนัลโด บายาโดลิดจบซีซัน 2020-21 ด้วยอันดับ 19 ร่วงไปอยู่เซกุนดาแต่ใช้เวลาเพียงปีเดียวกลับขึ้นสู่ลาลีกาในฐานะรองแชมป์ดิวิชันสอง ซีซัน 2021-22 และเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรนัลโดรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้หาก “พูเซลานอส” เลื่อนชั้นสำเร็จนั่นคือ เขากับภรรยาได้ขี่จักรยานไฟฟ้าระยะทาง 450 กิโลเมตรจากสนามของบายาโดลิดไปยัง ซานเตียโก เด คอมโพสเตลา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปนโดยใช้เวลาสี่วัน

⚽️ ครูไซโร ฟุตบอลบราซิลจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แพสชันเรื่องฟุตบอลยังไม่หยุดอยู่ที่บายาโดลิดเพราะในเดือนธันวาคม 2021 โรนัลโดได้ซื้อหุ้นในจำนวนมากพอที่จะเข้าบริหารสโมสรครูไซโร ซึ่งเขาเล่นสมัยเป็นวัยรุ่นช่วงต้นทศวรรษ 1990 ผ่านความช่วยเหลือของ Banco XP ธนาคารเพื่อการลงทุนในบราซิล โดยมีรายงานว่าโรนัลโดและ Tara Sports บริษัทของเขา ใช้เงิน 70 ล้านยูโรเพื่อเทคโอเวอร์ทีมเก่าที่กำลังลงแข่งขันเซเรีย บี เป็นฤดูกาลที่สอง และกำลังประสบปัญหาหลายเรื่อง

โรนัลโดถือเสื้อสีน้ำเงินของครูไซโรขณะเปิดใจผ่านคลิปวิดีโอหลังปิดดีลว่า “ผมดีใจมากที่จบขั้นตอนได้เสียที แต่เรายังมีงานหนักต้องทำรอออยู่อีกมาก ยังไม่ใช่เวลาเฉลิมฉลองอะไร เราจะทำงานอย่างหนักพร้อมความทะเยอะทยานที่จะทำให้ครูไซโรกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง”

ครูไซโรเป็นสโมสรเก่าแก่ของบราซิล ปัจจุบันมีอายุ 101 ปีแล้ว เป็นสโมสรที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ Minas Gerais โดยทีมRaposa หรือสุนัขจิ้งจอก เคยเป็นแชมป์เซเรีย เอ 4 สมัยในปี 1966, 2003, 2013, 2014, แชมป์เซเรีย บี ปี 2022 และแชมป์โคปา โด บราซิล 6 สมัยในปี 1993, 1996, 2000, 2003, 2017, 2018 โดยเฉพาะปี 2003 สามารถทำทริปเปิลแชมป์กวาดแชมป์แห่งรัฐ, แชมป์เซเรีย เอ และแชมป์บอลถ้วยในประเทศ ส่วนระดับทวีป เคยชนะเลิศโคปา ลิเบอร์ตาโดเรส เด อเมริกา ในปี 1976 และ 1997 ครูไซโรจึงเป็นทีมที่มีผลงานอยู่แถวหน้าในบราซิลช่วงรอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 21 และ 22

เมื่อปีที่แล้ว บราซิลได้ออกกฎหมายใหม่อนุญาตให้สโมสรมองหาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศได้ ซึ่งคาดการณ์ว่าภายในสองปี สโมสรที่เป็นของคนบราซิเลียนอย่างต่ำสิบทีมจะอยู่ในมือของนักลงทุนในรูปแบบบริษัท ครูไซโรถือเป็นดีลแรกที่เกิดจากกฎหมายใหม่ตามมาด้วยโบตาโฟโกและวาสโก ดา กามา ขณะที่เอสปอร์เต คลับ บาเฮีย ในดิวิชันสอง ใกล้ปิดดีลกับ ซิตี ฟุตบอล กรุ๊ป เจ้าของทีมแมนฯ ซิตี และอีกสิบสโมสร

โฆเซ เบเรนกัวร์ ซีอีโอของ Banco XP กล่าวว่า “นี่เป็นเพียงก้าวแรกของธุรกิจแนวใหม่สำหรับตลาดวาณิชธนกิจในบราซิล หนึ่งในประเทศยักษ์ใหญ่ของวงการฟุตบอล ไม่มีอะไรต้องสงสัยเลยว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์กีฬาของประเทศบราซิล เรามีสโมสรที่แข็งแกร่งพร้อมศักยภาพในการลงทุนระดับโลก ฟุตบอลบราซิลจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

หากสงสัยว่าโปรเจกต์อะไรบ้างที่โรนัลโดจะทำกับครูไซโร ซึ่งเขามีสถิติ 44 ประตูจาก 47 นัดรวมทุกรายการระหว่างปี 1993-1994 สามารถย้อนกลับไปอ่านมองไอเดียได้จากเรอัล บายาโดลิด แต่ตอนนี้ โรนัลโดทำสำเร็จไปแล้วหนึ่งเรื่องสำคัญคือใช้เวลาเก้าเดือนพาครูไซโรขึ้นมาเล่นลีกสูงสุด

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา

Categories
Football Business

โหมโรงศึก “ElClasico In Thailand 2022” เรอัล มาดริด ปะทะ บาร์เซโลน่า บันทึกความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญ และเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับศึก “เอลกลาสซิโก้”

ศึกฟุตบอลนัดสำคัญที่สุดนัดหนึ่งของโลกประจำปฏิทินสโมสรลูกหนังในแต่ละซีซั่น “เอลกลาสซิโก้” เรอัล มาดริด ปะทะบาร์เซโลน่า นัดแรกฤดูกาล 2022/23 จะอุบัติขึ้น ณ เวลา 9.15 pm วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2022 จากซานดิอาโก้ เบอร์นาบิว 

นี่จะเป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลเมืองไทยเช่นกันที่ ลาลีกา เตรียมจัดใหญ่ 2 อีเวนต์ติดต่อกัน: 1.กิจกรรม พรีแมตช์ 2 วัน 8-9 ต.ค.ที่จะมีไฮไลต์เป็น “ลาลีกา โทรฟี” ส่งตรงมาปรากฎโฉมถึงเมืองไทย ห้างยูเนียน มอลล์ และ 2.งานชมฟุตบอล ElClasico วันที่ 16 ต.ค.ในโดมกระจกยักษ์ Pearl Bangkok ใจกลางกรุงเทพมหานคร

ซึ่งใจความสำคัญของเกมฟุตบอลนัดนี้มีมากมาย และลึกหลายมิติ ควรค่าให้ศึกษา และสุดท้ายต่อยอดไปร่วมกิจกรรมทั้ง 2 งานกันได้ รับรองสตอรีทั้งใน และนอกสนาม น่าสนใจไม่แพ้กันเลยทีเดียว ติดตามเลย…

1.เรอัล มาดริด VS บาร์เซโลน่า 

2 เมืองที่ใหญ่ที่สุดของสเปน ซึ่งมีความแตกต่างทางด้านประวัติศาสตร์ การเมือง และอุดมการณ์ ถือเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ของชาวคาตาลัน ที่ต้องการปลดปล่อยตัวเองจากเมืองหลวงมาอย่างยาวนาน

ความขัดแย้งของทั้ง 2 เมือง ก็ได้ส่งต่อไปยังกีฬาฟุตบอลด้วย การพบกันระหว่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า สโมสรที่เป็นมหาอำนาจของแต่ละเมือง คือการพิสูจน์ว่า เมืองของตัวเองเหนือกว่าเมืองคู่ปรับ

การเกิดสงครามกลางเมืองในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930s และการก้าวขึ้นสู่อำนาจของนายพลฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการของสเปน ก็ยิ่งทำให้ทั้ง 2 สโมสร เพิ่มดีกรีความเกลียดชังมากขึ้นไปอีก

2.เราคือ “เอล กลาซิโก้”

สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่า ก่อตั้งเมื่อปี 1899 และอีก 3 ปีให้หลัง สโมสรฟุตบอลเรอัล มาดริด ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา ทั้งคู่ได้พบกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 เมษายน 1902 จบลงด้วยชัยชนะ 3 – 1 ของบาร์เซโลน่า

นับตั้งแต่ลาลีกา ลีกสูงสุดของประเทศสเปน ก่อตั้งขึ้นในฤดูกาล 1928/29 จนถึงปัจจุบัน เรอัล มาดริด จบซีซั่นเหนือกว่าคู่ปรับ 47 ครั้ง ขณะที่บาร์เซโลน่า จบซีซั่นเหนือกว่ายักษ์ใหญ่จากเมืองหลวง 44 ครั้ง

“เอล กลาซิโก้” มักจะมีประตูเกือบทุกครั้งที่พบกันในลาลีกา เคยยิงประตูรวมกันสูงสุดถึง 10 ประตูในแมตช์เดียว เมื่อปี 1935 (เรอัล มาดริด ชนะ 8 – 2) และปี 1943 (เสมอ 5 – 5) มีเพียง 9 ครั้งเท่านั้น ที่ไม่มีประตูเกิดขึ้น

3. มอง 10 ลำดับเหตุการณ์ “เอล กลาซิโก้” ในความทรงจำ

1929 – ครั้งแรกที่บาร์เซโลน่า พบกับเรอัล มาดริดในลาลีกา ที่สนามคัมป์ เด เลส คอร์ทส (Camp de Les Corts) เป็นเรอัล มาดริด ที่บุกไปชนะ 2 – 1 แต่บาร์เซโลน่า คือทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์ลีกสูงสุดของสเปน

1935 – เรอัล มาดริด สร้างสถิติชนะบาร์เซโลน่าขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์ลาลีกา ด้วยสกอร์ 8 – 2 และหลังจากนั้นไม่นาน ได้เกิดสงครามกลางเมืองในสเปน ทำให้ “เอล กลาซิโก้” เพิ่มความดุเดือดนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

1953 – เรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า มีประเด็นขัดแย้งในการคว้าตัวอัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่ โดยบาร์เซโลน่าอ้างว่าได้เซ็นสัญญาล่วงหน้าไปแล้ว แต่เป็นเรอัล มาดริด ที่ได้ตัวไปร่วมทีมแบบช็อกวงการฟุตบอล

1974 – โยฮันน์ ครัฟฟ์ เลือกไปค้าแข้งให้กับบาร์เซโลน่า แทนที่จะเป็นเรอัล มาดริด และทำผลงานได้อย่างสุดยอด ยิง 1 ประตู จ่าย 3 แอสซิสต์ ในเกมลาลีกา ที่บุกไปถล่มถึงถิ่นซานติอาโก้ เบอร์นาเบว 5 – 0

1983 – ดิเอโก้ มาราโดน่า เป็นนักเตะบาร์เซโลน่าคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ได้รับเกียรติจากแฟนบอลเรอัล มาดริด สโมสรคู่ปรับอันดับ 1 ในการลุกขึ้นยืนปรบมือทั้งสนาม หลังจากได้เห็นฝีเท้าอันสุดยอดในเกม “เอล กลาซิโก้”

1994 – โยฮันน์ ครัฟฟ์ โค้ชผู้วางรากฐานความยิ่งใหญ่ให้กับบาร์เซโลน่า พาทีมคว้าแชมป์ลาลีกา 4 สมัยติดต่อกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร แถมเอาชนะเรอัล มาดริด ใน “เอล กลาซิโก้” ได้ทั้ง 2 นัดที่พบกัน

2000 – เรอัล มาดริด สร้างปรากฏการณ์ช็อกวงการฟุตบอลอีกครั้ง ด้วยการคว้าตัว หลุยส์ ฟิโก้ นักเตะบาร์เซโลน่า สโมสรคู่ปรับตลอดกาลมาร่วมทีม และช่วยให้ราชันชุดขาวคว้าแชมป์ทั้งหมด 7 โทรฟี่

2009 – บาร์เซโลน่า เป็นสโมสรแรกของประเทศสเปน ที่คว้าแชมป์ 6 รายการ ภายในปีปฏิทินเดียวกัน ขณะที่เรอัล มาดริด เซ็นสัญญาคว้าตัวคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ด้วยค่าตัวเป็นสถิติโลกในเวลานั้น

2015 – บาร์เซโลน่า คว้าแชมป์ลาลีกา, โคปา เดล เรย์ และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ภายในฤดูกาลเดียว เป็นรอบที่ 2 กับ 3 ประสานกองหน้าที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งลิโอเนล เมสซี่, หลุยส์ ซัวเรซ และเนย์มาร์

2022 – สถิติการพบกันทั้งหมดเฉพาะในลาลีกา เรอัล มาดริด ชนะ 76 ครั้ง บาร์เซโลน่า ชนะ 73 ครั้ง และเสมอกัน 35 ครั้ง ส่วนจำนวนแชมป์ลีกสูงสุดของสเปน เรอัล มาดริด 35 สมัย และบาร์เซโลน่า 26 สมัย

4. ย้อน 5 เรื่องจริง “เอล กลาซิโก้” ที่คุณอาจไม่เคยรู้

4.1 สกอร์ 11-1 ชัยชนะขาดลอยที่สุดของราชันชุดขาว

เกม “เอล กลาซิโก้” ที่เอาชนะกันแบบขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นในเกมโคปา เดล เรย์ รอบรองชนะเลิศ นัดสอง เมื่อปี 1943 เรอัล มาดริด เปิดบ้านถล่มบาร์เซโลน่าถึง 11 – 1 ผ่านเข้าชิงชนะเลิศได้สำเร็จ แต่ชัยชนะในครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีอำนาจมืดจากนายพลฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการในเวลานั้น อยู่เบื้องหลังหรือไม่

4.2 เลาดรู๊ปผู้พี่ กับชัยชนะประวัติศาสตร์ใน “เอล กลาซิโก้”

ไมเคิล เลาดรู๊ป พี่ชายของไบรอัน เลาดรู๊ป เป็นนักเตะบาร์เซโลน่า ชุดที่เปิดบ้านถล่มเรอัล มาดริด 5 – 0 ใน “เอล กลาซิโก้” ฤดูกาล 1993/94 แต่ในฤดูกาลถัดมา กลับย้ายไปซบทีมคู่ปรับอันดับ 1 อย่าง “ราชันชุดขาว” และพาทีมถล่ม “เจ้าบุญทุ่ม” 5 – 0 ในบ้านเช่นเดียวกัน ถือเป็นนักเตะเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่สร้างสถิติเช่นนี้ได้

4.3 โลเปเตกี ไม่เคยลงเล่นใน “เอล กลาซิโก้” เลย

ฆูเลน โลเปเตกี อดีตผู้รักษาประตูระดับตำนานของลาลีกา เคยค้าแข้งให้กับทั้งเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า แต่ไม่เคยลงเฝ้าเสาในเกม “เอล กลาซิโก้” เลยแม้แต่นัดเดียว จนกระทั่งเข้ามาเป็นโค้ชให้กับ “ราชันชุดขาว” ก็ได้โอกาสคุมทีมดวลกับ “เจ้าบุญทุ่ม” เพียงครั้งเดียว ในนัดที่แพ้ 1 – 5 และถูกปลดจากตำแหน่งทันทีหลังจบเกมดังกล่าว

4.4 นักเตะ ยิงประตูให้ทั้ง 2 ทีมใน “เอล กลาซิโก้”

ในประวัติศาสตร์ของเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า มีนักเตะเพียง 4 คนเท่านั้น ที่ทำประตูในเกม “เอล กลาซิโก้” ให้กับทั้ง 2 สโมสร ได้แก่ โจเซป ซามีเทียร์, หลุยส์ เอ็นริเก้, หลุยส์ ฟิโก้ โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีนักเตะที่เคยไปค้าแข้งให้กับทั้ง 2 ทีมคู่ปรับตลอดกาลของวงการฟุตบอลสเปน ทั้งหมด 37 คน

4.5 ลืมความเกลียดชังชั่วคราว ด้วยการชื่นชมนักเตะคู่แข่ง

ไม่ว่าทั้งเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า จะเป็นคู่ปรับที่ดุเดือดมากขนาดไหน แต่ก็มีช่วงเวลาดีๆ ที่ให้ความเคารพ และให้เกียรตินักเตะฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอ โดยนักเตะที่ได้รับประสบการณ์แบบนี้ ได้แก่ ลอรี คันนิ่งแฮม อดีตดาวเตะ “ราชันชุดขาว” ยุค 1980s รวมถึงอดีตแข้ง “เจ้าบุญทุ่ม” ทั้งดิเอโก้ มาราโดน่า, โรนัลดินโญ่ และอันเดรียส อิเนียสต้า

5.คอบอลพร้อม! กิจกรรมพิเศษ โหมโรงก่อนเกม “ElClasico”

โชว์ถ้วย “ลาลีกา โทรฟี” 8-9 ต.ค. 2565 ชั้น G ศูนย์การค้า ยูเนี่ยน มอลล์ 

ลาลีกา ประเทศไทย จัดกิจกรรมพิเศษบนพื้นที่กว่า 300 ตร.ม ให้แฟนบอลสเปน เฉพาะอย่างยิ่ง เรอัล มาดริด และเอฟซี บาร์เซโลน่า โดยเฉพาะ ภายใต้ธีมงาน “ElClasico Expo powered by LaLiga Pass” นำถ้วย ออฟฟิเชียล ลาลีกา โทรฟี ส่งตรงจากสเปน มาให้แฟนบอลได้ยลโฉม ถ่ายรูป ไว้อวดโซเชียลถึงประเทศไทย พร้อมโอกาสสัมผัสประสบการณ์ LaLiga Pass แอพพลิเคชั่นที่จะทำให้คุณไม่พลาดทุกแมตช์บอลลีกสเปน รายการโชว์ประจำสัปดาห์ภาคภาษาไทย และคอนเทนท์พิเศษ เต็มอิ่ม 

พร้อมพบกับ 4 กูรูเบอร์ต้นบอลสเปน ประเทศไทย เจมส์ ลาลีกา, ลูกชิ้น เสพติดบอลสเปน, ขวัญ ลามาเซีย และ เบน บาร์ซ่า เข้าเส้น by แฟนพันธุ์แท้บาร์ซ่า ที่จะมาพูดคุยถึงเกมคู่บิ๊กแมตช์ หยุดโลก “บาร์เซโลน่า” ปะทะ “เรอัล มาดริด” รวมถึงที่มาที่ไปของการก้าวเข้าสู่ความเป็นคอบอลสเปน

เพิ่มเติมต้องขอขอบคุณสโมสรฟุตบอล บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ซึ่งส่งตัว อันเดรส ตูเญซ ดาวเตะต่างชาติที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งของไทยลีก และเป็นอดีตนักเตะเซลตา ในลีกลาลีกา สเปน มาร่วมพูดคุยประสบการณ์ส่วนตัวเกือบ 10 ปีในแดนกระทิงดุ

ภายในงานยังมีกิจกรรมอีก ไม่ว่าจะเป็น โซนเล่นเกม EA Sports FIFA game, เกมนั่งเตะฟุตบอล, เกมยิงประตูประลองความแม่นยำ, พร้อมแจกเสื้อฟุตบอลพร้อมลายเซ็นตำนานระดับ อิเกร์ คาซิญาส เสื้อทีเชิ้ตที่ระลึกศึก ElClásico ร่วมไปถึงกิจกรรมลุ้นรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย

และพลาดไม่ได้! LaLiga Pass Zone ให้แฟน ๆ ได้ทำความรู้จักกับแอพพลิเคชั่น หนึ่งเดียวของลาลีกา สเปน ที่พร้อมให้ดาวน์โหลดฟรี เพื่อรับชมรายการ LaLiga Pass Thailand หรือสมัครสมาชิกเพื่อชมสดทุกแมตช์ ลาลีกา ได้ทุกที่ ทุกเวลา

แล้วพบกันวันที่ 8-9 ตุลาคม 2565 ณ Union Co-Event Space ชั้น G ศูนย์การค้า ยูเนี่ยน มอลล์ ตั้งแต่เวลา 12.00 เป็นต้นไป 

เช่นกัน แมตช์เดย์ “เอลกลาสซิโก้” 16 ตุลาคม 2565 ตั้งแต่ 17.30 น.เป็นต้นไป ณ Pearl Bangkok ชมสดระบบ HD บนจอ LED ยักษ์ และมันส์ไปด้วยกัน

อ้างอิง :

https://populartimelines.com/timeline/El-Cl%C3%A1sico

https://supersport.com/football/spain/news/210409_Ten_landmarks_in_the_history_of_El_Clasico

https://sportsbrowser.net/best-el-clasico-moments/

https://veebrant.com/facts-about-el-clasico/

https://www.foottheball.com/football-top-10/el-clasico-controversial-incidents-top-10-barcelona-real-madrid/

https://durofy.com/el-clasico-timeline-dwelling-sporos

https://en.wikipedia.org/wiki/El_Cl%C3%A1sico

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_El_Cl%C3%A1sico_matches

https://en.as.com/en/2022/03/18/videos/1647616738_131452.html

https://www.sportskeeda.com/football/why-real-madrid-versus-fc-barcelona-is-known-as-el-clasico

https://www.sportskeeda.com/football/barcelona-real-madrid-5-most-controversial-moments-el-clasico-history

https://www.sportskeeda.com/slideshow/football-5-incredible-stories-real-madrid-barcelona-el-clasico

Categories
Football Business

อาณาจักรไร้พรมแดน : “มัลติ-คลับ” โมเดลที่กำลังเขย่าวงการลูกหนังเมืองผู้ดี ?

สโมสรฟุตบอล ถือเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนระดับมหาเศรษฐีอยากจะครอบครองไว้ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาจเพราะด้วยใจรักที่แท้จริง หวังมีชื่อเสียง กอบโกยผลประโชยน์ และอื่น ๆ

แต่ฟุตบอลในยุคสมัยใหม่นั้นไปไกลกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะมีเจ้าของสโมสรฟุตบอลบางกลุ่ม ได้ “ต่อยอด” โดยการสร้างเครือข่ายกับสโมสรฟุตบอลอื่น ๆ ครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก หรือ “มัลติ-คลับ”

แล้วโมเดล “มัลติ-คลับ” จะสร้างแรงสั่นทะเทือนกับวงการฟุตบอลอังกฤษได้มากน้อยเพียงใด ? SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

จุดเริ่มต้นมาจาก “เบร็กซิต”

แนวคิดที่เจ้าของสโมสรในพรีเมียร์ลีก หรือลีกระดับรองของอังกฤษ ในการซื้อทีมฟุตบอลได้มากกว่า 1 ทีม เริ่มขึ้นในปี 2016 หลังจากสหราชอาณาจักร ลงประชามติขอออกจากสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิต” (Brexit)

ซึ่งเบร็กซิต มีผลอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา ทำให้ลีกฟุตบอลในสหราชอาณาจักร ต้องอยู่ภายใต้ระบบการคิดคะแนนเพื่อได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงาน หรือ GBE (Governing Body Endorsement)

สำหรับเกณฑ์การคิดคะแนน GBE นั้น จะดูจาก 3 หัวข้อ ประกอบด้วย สถิติการลงเล่นทีมชาติทั้งชุดใหญ่และชุดเยาวชน, สถิติการลงเล่นกับสโมสรทั้งในลีกและถ้วยยุโรป และเกรดของสโมสรที่ขายนักเตะให้

นักเตะที่เป็นเป้าหมายการซื้อตัว จะต้องได้คะแนนอย่างน้อย 15 คะแนนขึ้นไป จึงจะได้รับอนุญาตให้เป็นนักเตะใหม่ในเมืองผู้ดี ซึ่งถ้าหากเคยลงเล่นกับสโมสรใหญ่ใน 5 ลีกหลักของยุโรป จะได้เปรียบกว่าคนอื่น

แต่ถ้าหากนักเตะเป้าหมายได้คะแนนอยู่ในช่วง 10 – 14 คะแนน สโมสรมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ และต้องสามารถชี้แจงเหตุผลต่อคณะกรรมการได้ว่า นักเตะคนนั้นได้คะแนนไม่ถึง 15 คะแนน เพราะสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้

จากผลกระทบของเบร็กซิต ทำให้เจ้าของสโมสรฟุตบอลในสหราชอาณาจักรบางกลุ่ม ได้ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการซื้อทีมฟุตบอลมากกว่า 1 แห่ง ทั้งในและนอกยุโรป และอาจฝากเลี้ยงนักเตะดาวรุ่งจนกว่าจะอายุครบ 18 ปี

“คอนเน็คชั่น” ของทีมในอังกฤษ 

ใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป มีเจ้าของสโมสรฟุตบอลจำนวนคิดเป็น 32.7 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด ที่ใช้โมเดลการซื้อทีมฟุตบอลสะสมไว้ในเครือข่ายของตัวเอง โดยมีการเชื่อมโยงกันมากถึง 91 ทีม จาก 5 ทวีปทั่วโลก

การซื้อทีมฟุตบอลสะสมไว้ในเครือข่ายของตัวเอง จะเป็นการนำโครงสร้างพื้นฐานจากสโมสรแม่ ที่พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ ไปแชร์ให้กับสโมสรลูก เสมือนกับการไปเปิดสาขาธุรกิจแฟรนไชส์ข้ามชาติ

โดยพรีเมียร์ลีก อังกฤษ มี 9 สโมสรที่ใช้โมเดลมัลติ-คลับ ได้แก่ อาร์เซน่อล, เบรนท์ฟอร์ด, ไบรท์ตัน, คริสตัล พาเลซ, เลสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์, เซาธ์แธมป์ตัน และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด

ขณะที่ดิวิชั่นรองลงมาที่อยู่ภายใต้ EFL มีทีมที่ใช้โมเดลมัลติ-คลับ รวมกัน 9 ทีม ได้แก่คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้, ควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, ซันเดอร์แลนด์, สวอนซี ซิตี้, วัตฟอร์ด, บาร์นสลี่ย์, อิปสวิช ทาวน์ และซัลฟอร์ด ซิตี้

สโมสรในพรีเมียร์ลีกที่มีพันธมิตรลูกหนังอยู่ในเครือข่ายของตัวเองมากที่สุด คือ แมนฯ ซิตี้ 10 ทีม ตามมาด้วยพาเลซ 8 ทีม ส่วนอีก 7 สโมสรที่เหลือ ต่างมีพันธมิตรสโมสรละ 1 ทีม รวมทั้งสิ้น 25 ทีม

ตัวอย่างจากแมนฯ ซิตี้ กับบริษัท City Football Group (CFG) ที่นอกจากจะมีเป้าหมายในการทำให้สโมสรนี้ครองความยิ่งใหญ่ในอังกฤษแล้ว ยังได้นำ “พิมพ์เขียว” ไปให้สโมสรอื่น ๆ ในเครือด้วย

วิธีการของ CFG คือ จะขอซื้อกิจการของสโมสรขนาดกลางหรือเล็ก ที่พิจารณาแล้วว่าสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ จากนั้นจะปรับภาพลักษณ์สโมสรเหล่านั้นให้เข้ากับตัวตนของแมนฯ ซิตี้ ตามความเหมาะสม

จุดเด่นของการสร้างคอนเน็คชั่นแบบนี้ คือ สโมสรฟุตบอลจะสามารถแบ่งปัน หมุนเวียนทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ร่วมกัน ภายในเครือข่ายเดียวกัน เป็นการเพิ่มศักยภาพทั้งด้านฟุตบอล และธุรกิจไปพร้อมกัน

โดย CFG มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับค้นหานักเตะอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งอาจส่งไปให้สโมสรลูกลงเล่นบนสนามแข่งขันจริงให้ได้มากที่สุด ถ้าฝีเท้าดี และอายุถึง 18 ปีเมื่อใด ก็เซ็นสัญญากับ “เรือใบสีฟ้า” ได้ทันที

และทีมฟุตบอลที่อยู่ภายใต้เครือข่าย CFG จะมีอำนาจในการตัดสินใจขายนักเตะเพื่อทำกำไรได้ ถึงแม้นักเตะจะไปไม่ถึงทีมชุดใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้ผ่านประสบการณ์จากสนามจริงมาแล้ว

ดาบสองคมของ “มัลติ-คลับ”

การสร้างอาณาจักรมัลติ-คลับ คือพลังที่มาพร้อมกับเม็ดเงินและโอกาสที่มากขึ้น อาจเป็นแนวทางที่ดีในปัจจุบันที่สโมสรอื่น ๆ อยากเลียนแบบบ้าง แต่อีกมุมหนึ่ง โมเดลนี้ก็อาจมีปัญหาที่ตามมาเช่นเดียวกัน

ประการแรก การที่สโมสรแม่ใช้แนวคิดแบบมัลติ-คลับ คือการดึงดูดสโมสรลูกให้เข้ามาเป็นพวกเดียวกันก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่า แต่ละสโมสรมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน และมีความเป็น “ท้องถิ่นนิยม” ที่สูงมาก

หากสโมสรแม่ไปปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างที่ไม่เข้าท่า หรือไม่ได้รับการยินยอมจากแฟนบอลของสโมสรท้องถิ่น อาจจะเกิดกระแสตีกลับ เปลี่ยนจากแรงสนับสนุน กลายเป็นแรงต่อต้านแบบคาดไม่ถึงก็เป็นได้

ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดของโมเดลฟุตบอลมัลติ-คลับ คือการรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ กับความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละสโมสรเอาไว้ เพื่อช่วยให้สโมสรในเครือเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น

อีกประการหนึ่ง โมเดลมัลติ-คลับ จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผลงานของสโมสรแม่ ถ้าช่วงเวลาหนึ่ง สโมสรแม่มาถึงช่วงไร้ความสำเร็จไปนาน ๆ อนาคตของสโมสรในเครือก็อาจจะไม่แน่นอนเช่นกัน

ไม่ว่าจะทำธุรกิจฟุตบอลแบบซิงเกิล-คลับ หรือมัลติ-คลับก็ตาม ต่างก็ต้องเจอกับปัญหา และอุปสรรคที่เข้ามาไม่ต่างกัน ซึ่งเจ้าของธุรกิจต้องใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ มาช่วยขับเคลื่อนวงการฟุตบอลอังกฤษให้เดินหน้าต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.cityfootballgroup.com/

https://theathletic.com/3135274/2022/02/19/does-owning-multiple-clubs-actually-work/

https://theathletic.com/3610992/2022/09/21/multi-club-ownership-boehly-chelsea-city-football-group/

– https://theathletic.com/3554783/2022/09/06/brexit-transfers-clubs-work-permit/

– https://www.theguardian.com/news/2017/dec/15/manchester-city-football-group-ferran-soriano

https://www.independent.co.uk/sport/football/premier-league/inside-city-football-group-manchester-city-s-network-of-clubs-new-york-melbourne-girona-a7934436.html

Categories
Football Business

LaLiga Pass Show Thailand : “เรือธง” จุดขายของลีกสเปนในประเทศไทย

ลาลีกา ซีซั่นใหม่ 2022/23 ในประเทศไทยมีสิ่งใหม่เป็น “เรือธง” (Flagship Product) จุดขายของลีกสเปนควบคู่ไปกับเกมการชิงชัยในสนาม นั่นคือ “LaLaiga Pass แอพพลิเคชั่น” ไว้สำหรับเกาะติดการถ่ายทอดสดเกมฟุตบอลลีกสเปนทุกคู่ในทุกสัปดาห์ และรายการสอดแทรกอีกมากมาย โดยมีพากษ์ไทยในแมตช์สำคัญ และรายการประจำทุกสัปดาห์ภาษาไทย LaLiga Pass Show Thailand ดำเนินรายการโดยกูรูลูกหนังสเปนที่ดีที่สุดสำหรับแฟน ๆ ลูกหนังกระทิงดุในบ้านเราโดยเฉพาะ

ทาง “ไข่มุกดำ” หรืออีกชื่อในนาม “KMD” รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการคัดเลือกจาก “ลาลีกา” ให้เป็นผู้ผลิตรายการ LaLigaPass Show Thailand ตลอดฤดูกาลนี้

รายการจะออกอากาศทุกวันศุกร์ เนื้อหาจะว่าด้วยการรีวิว และพรีวิวเกมการแข่งขัน โดยคัดประเด็นลึก ๆ สวย ๆ พร้อมเล่าข่าวที่เลือกสรรมาเฉพาะแฟนบอลสเปน แต่เป็นรสนิยมไทย ๆ

กูรูผู้ดำเนินรายการนำโดย เจมส์ ลาลีกา, ขวัญ ลามาเซีย, คุณลูกชิ้น จากเพจ เสพติดบอลสเปน, ทศพล รัตนะ, มายด์ จากเพจ FC Barcelona Thailand Fanclub, ทีมงาน SoccerSuck ฯลฯ สลับกันมานั่งพูดคุยเกี่ยวกับฟุตบอลสเปนแบบอัดแน่น เจาะลึกเบื้องหน้าเบื้องหลังกันแบบแตกต่าง

นอกจากนี้แอพ LaLiga Pass ยังถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้งหมดของ LaLiga Smartbank, สารคดี, คลิปและอีกมากมาย ฟรี! และกับค่าบริการ แพ็กเกจรายเดือนเพียง 99 บาท หรือ แพ็กเกจรายปี 799 บาท สำหรับชมสด หรือย้อนหลังแมตช์การแข่งขัน เรียกได้ว่าคุ้มค่ามาก ๆ สำหรับแฟนบอลสเปน

( ข้อมูลเพิ่มเติม LaLiga Pass: https://khaimukdam.com/football-business/laliga-pass/ )

ฝากติดตามชมรายการ LaLiga Pass Show ได้ทุกสัปดาห์ ทางแอพพลิเคชั่น “LaLiga Pass” นะคะ

👉 รับชมตัวอย่าง EP.4 ค่ะ : https://bit.ly/3Qg6B6s

🌐 สุดท้ายดาวน์โหลดเลยรับชมความสนุกที่นี่ได้เลย ฟรี! : https://bit.ly/3KZimxr

📝 ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย (แนน)

Categories
Football Business

ตลาดนักเตะซัมเมอร์ 2022 ที่บ้าคลั่งที่สุดในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดี

ตลาดซื้อขายนักเตะช่วงซัมเมอร์ปี 2022 ปิดทำการลงเรียบร้อย เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา สโมสรในพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2022/23 ได้มีการเสริมผู้เล่นใหม่เข้ามาครบทั้ง 20 ทีม

จำนวนเงินในการซื้อขายในตลาดนักเตะรอบนี้ ทุกสโมสรในลีกสูงสุดอังกฤษ ใช้จ่ายรวมกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 1.9 พันล้านปอนด์ ทุบสถิติเดิมในปี 2017 ที่ทำไว้ 1.4 พันล้านปอนด์

SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาสรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น รวมถึงตัวเลข สถิติที่น่าสนใจ ตลอดช่วงเวลาการซื้อขายของตลาดนักเตะซัมเมอร์ 2022 มาให้ฟังกันครับ

ภาพรวมของการซื้อขาย

การซื้อขายนักเตะในตลาดช่วงซัมเมอร์ 2022 เรียกได้ว่าคึกคักที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มา 2 ปี หลายสโมสรได้จ่ายเงินซื้อนักเตะทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เริ่มจากเชลซี ในยุคของท็อดด์ โบห์ลี่ เจ้าของทีมคนใหม่ ประเดิมการเข้ามาบริหารสโมสร ด้วยการจ่ายถึง 251 ล้านปอนด์ แลกกับนักเตะใหม่ 8 คน กลายเป็นทีมแชมป์ใช้เงินมากสุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก

ดีลใหญ่ ๆ ของเชลซี ยกตัวอย่างเช่น ราฮีม สเตอร์ริ่ง (จาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้), มาร์ค คูคูเรลล่า (จาก ไบรท์ตัน), เวสลี่ย์ โฟฟาน่า (จาก เลสเตอร์ ซิตี้), คาลิดู คูลิบาลี่ (จาก นาโปลี), ปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมยอง (จาก บาร์เซโลน่า)

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ChelseaFC

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของเอริค เทน ฮาก กุนซือคนใหม่ ก็จ่ายหนักเป็นสถิติสูงสุดของสโมสร นักเตะอย่างลิซานโดร มาติเนซ, ไทเรลล์ มาลาเซีย, คาเซมิโร่, และแอนโธนี่ 4 คนนี้ มีค่าตัวรวมกัน 214 ล้านปอนด์

แม้กระทั่งน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ทีมน้องใหม่ที่คัมแบ็กสู่พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี ใช้เงิน 145 ล้านปอนด์ แลกกับนักเตะใหม่ถึง 22 คน ทุบสถิติทีมที่เซ็นสัญญานักเตะจำนวนมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก

สโมสรที่ใช้เงินซื้อนักเตะเกิน 100 ล้านปอนด์ นอกจาก 3 ทีมที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเวสต์แฮม ยูไนเต็ด, ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, อาร์เซน่อล และวูล์ฟแฮมตัน วันเดอเรอร์ส

นอกจากนี้ ยังมีบรรดากองหน้าที่ย้ายทีมด้วยค่าตัวมหาศาล ทั้งดาร์วิน นูนเญซ (ไป ลิเวอร์พูล), เออร์ลิง ฮาลันด์ (ไป แมนฯ ซิตี้), กาเบรียล เชซุส (ไป อาร์เซน่อล), จานลูก้า สคามัคก้า (ไป เวสต์แฮม), อเล็กซานเดอร์ อิซัค (ไป นิวคาสเซิล)

ฝุ่นตลบในวันตลาดวาย

ถ้านับเฉพาะการซื้อขายที่เกิดขึ้นในวันสุดท้ายของตลาดนักเตะรอบนี้ คือวันที่ 1 กันยายน 2022 จะพบว่ามีดีลที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว โดยมี 14 จาก 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก ที่มีการปิดดีลในวันตลาดวาย

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/mancity

ยกตัวอย่างเช่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ดึงตัวมานูเอล อาคานจี กองหลังทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ จากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เซ็นสัญญา 5 ปี และจะได้ร่วมงานกับเออร์ลิง ฮาลันด์ อดีตเพื่อนร่วมทีม “เสือเหลือง” อีกครั้ง

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เร่งเครื่องปิดดีล 2 นักเตะในวันสุดท้าย คือ แอนโธนี่ ปีกทีมชาติบราซิล จากอาแจกซ์ อัมสเตอร์ดัม 82 ล้านปอนด์ และยืมตัวมาร์ติน ดูบราฟก้า ผู้รักษาประตูจากนิวคาสเซิ่ล จนจบฤดูกาลนี้

เชลซี ดึง 2 นักเตะเข้ามาในวันสุดท้าย ทั้งปิแอร์-เอเมอริค โอบาเมยอง จากบาร์เซโลน่า เซ็นสัญญา 2 ปี และเดนิส ซาคาเรีย มิดฟิลด์ทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์จากยูเวนตุส ด้วยสัญญายืมตัวเป็นเวลา 1 ฤดูกาล

ลิเวอร์พูล ที่ตามหานักเตะเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาในแดนกลาง ที่สุดแล้วได้ตัวอาร์ตูร์ เมโล่ มิดฟิลด์ทีมชาติบราซิลจากยูเวนตุส ด้วยสัญญายืมตัว 1 ฤดูกาล และมีออพชั่นซื้อขาดที่ 37.5 ล้านปอนด์

เอฟเวอร์ตัน ดึงตัวอิดริสซ่า เกย์ กองกลางทีมชาติเซเนกัล จากปารีส แซงต์-แชร์กแมง กลับถิ่นกูดิสัน พาร์คอีกครั้ง เซ็นสัญญา 2 ปี และเจมส์ การ์เนอร์ จากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เซ็นสัญญา 4 ปี

เลสเตอร์ ซิตี้ ที่เพิ่งขยับตัวจ่ายเงินซื้อนักเตะในตลาดรอบนี้เป็นทีมสุดท้าย ซึ่งดีลแรกของพวกเขา ก็เกิดขึ้นในวันสุดท้าย คือ เวาท์ ฟาส เซ็นเตอร์แบ็กชาวเบลเยียม จากแรงส์ ในลีกฝรั่งเศส เซ็นสัญญา 5 ปี

ส่วนดีลอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ที่ปิดดีลโลอิก บาด จากแรนส์ ในฝรั่งเศส ด้วยสัญญายืมตัว รวมถึงฟูแล่ม ที่ปิดดีลวิลเลี่ยน อดีตดาวเตะเชลซี และอาร์เซน่อล 

ลีกลูกหนังที่บ้าคลั่งที่สุด

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ คือลีกที่ใช้เงินมากที่สุดในตลาดซื้อขายนักเตะช่วงซัมเมอร์ ปี 2022 เมื่อเทียบกับ 5 ลีกใหญ่ยุโรป นอกจากนี้ ยังเป็นตัวเลขที่ทุบสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดีอีกด้วย

ตัวเลข 1.9 พันล้านปอนด์ ในตลาดรอบนี้ ทำลายสถิติเดิมจากช่วงเดียวกันเมื่อปี 2017 ที่มียอดใช้จ่าย 1.4 พันล้านปอนด์ และเพิ่มขึ้นจากตลาดนักเตะซัมเมอร์ปีที่แล้ว (2021) ถึง 67 เปอร์เซ็นต์ 

จากข้อมูลของดีลอยด์ (Deloitte) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก ระบุว่า ยอดใช้จ่ายเฉพาะซัมเมอร์ปีนี้ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากสถิติเดิมของยอดรวม 2 รอบตลาด เมื่อฤดูกาล 2017/18 คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลสำคัญของ Deloitte จากตลาดซื้อขายนักเตะซัมเมอร์ปี 2022 มีดังต่อไปนี้

– ใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป (อังกฤษ, เยอรมนี, อิตาลี, สเปน, ฝรั่งเศส) ใช้จ่ายรวมกัน 3.88 พันล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 52 เปอร์เซ็นต์ จากซัมเมอร์ปีที่แล้ว

– สโมสรพรีเมียร์ลีก ถือสัดส่วนถึง 49 เปอร์เซ็นต์ มากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์ปี 2008 และมากกว่าเซเรีย อา ของอิตาลีถึง 3 เท่า (646 ล้านปอนด์)

– สโมสรพรีเมียร์ลีก เซ็นสัญญานักเตะ 169 คน มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2021 (148 คน) และปี 2020 (132 คน)

– ยอดใช้จ่ายในการซื้อนักเตะสุทธิ (ส่วนต่างระหว่างซื้อและขาย) ของพรีเมียร์ลีกซีซั่นนี้ ทะลุ 1 พันล้านปอนด์เป็นครั้งแรก

– นักเตะที่ย้ายทีมแบบมีค่าตัว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 66 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับซัมเมอร์ปีที่แล้ว ที่มีสัดส่วน 45 เปอร์เซ็นต์

ทิม บริดจ์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจการกีฬาของ Deloitte กล่าวว่า “การใช้จ่ายในตลาดซัมเมอร์ปีนี้ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นว่า ทีมในพรีเมียร์ลีกมีความมั่นใจอย่างมาก เนื่องจากมีรายได้กลับเข้ามามากขึ้นหลังช่วงโควิด”

“พวกเขายินดีที่จะใช้เงินเป็นจำนวนมาก เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันที่สูงมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา อันเนื่องมาจากความกดดันที่สโมสรต่างๆ ได้กำหนดเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้น”

ไม่ว่านักเตะใหม่ที่เข้ามา จะมีค่าตัวมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การทำผลงานที่น่าประทับใจ และพาทีมประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินทุกปอนด์ที่ได้จ่ายไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/62758471

https://theathletic.com/3358933/2022/09/01/premier-league-transfer-news-summer-window/

https://www.premierleague.com/transfers/summer

– https://www.transfermarkt.com/premier-league/transfers/wettbewerb/GB1

https://www.sportingnews.com/uk/soccer/news/premier-league-transfer-spending-Haaland-Nunez-Richarlison-Jesus/l0rj2wd9arkzt7goqkkri6ps