Categories
Football Business

บทเรียนของ ลิเวอร์พูล จากความผิดพลาดในโศกนาฎกรรม ESL

แม้จะไม่ใช่สโมสรแรกที่ถอนตัวจาก ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก – ESL แต่ ลิเวอร์พูล เป็นสโมสรที่ “ชัดเจน” ที่สุดในบรรดา 6 สโมสรพรีเมียร์ลีกกับแอ็คชั่น “ขอโทษ” ผ่าน VDO เจ้าของทีม จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ แถลงการณ์ยอมรับความผิด และขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น

“ผมต้องการจะขอโทษไปยังแฟนบอล และผู้สนับสนุนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลทุกคนต่อเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้นโดยต้นเหตุเพราะผมในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา”

“มันเกิดขึ้นโดยไม่มีการบอกกล่าว แต่สามารถได้พูดว่าโครงการที่เกิดขึ้นจะดำเนินไปไม่ได้เลย หากปราศจากการสนับสนุนของแฟนบอล ไม่มีใครเห็นต่างไปจากนั้น กว่า 48 ชั่วโมงที่เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันไม่อาจจะเป็นไปได้ เราได้ยินพวกคุณ และผมก็รับฟังพวกคุณ”

“ผมอยากจะขอโทษอีกครั้ง และขอรับผิดชอบต่อผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างไม่จำเป็นช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาแต่เพียงผู้เดียว นี่จะเป็นเรื่องที่ผมไม่มีวันลืม เพราะมันแสดงให้เห็นถึงพลังของแฟนบอลในวันนี้ และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต”

นี่เป็นคำขอโทษผ่านวิธีการที่ดีที่สุด แต่แฟนบอลเองจะมองว่า “จริงใจ” เพียงพอ หรือปล่อยผ่านได้เพียงใดนั้น คือ อีกเรื่องหนึ่ง

เพราะแฟนบอลก็คือ แฟนบอล ซึ่งเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษดังที่เราได้เห็นการต่อสู้ทุกรูปแบบ และมีส่วนไม่มากก็น้อยในการเป็น stakeholders หรือหนึ่งในผู้มีผลประโยชน์ร่วมกับทีมฟุตบอลในการขัดขวางการก่อกำเนิด ESL

-ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ เคยออกมากล่าวอะไรคล้าย ๆ กันแบบนี้มาก่อน ในเหตุการณ์หลังความพยายามจะขึ้นค่าตั๋วในเกมเหย้าสโมสร จากเดิม 59 ปอนด์ ไปเป็น 77 ปอนด์ ส่งผลให้แฟน ๆ ซูป้ายประท้วงในเกมกับ ซันเดอร์แลนด์ ก่อนวอล์กเอาต์ออกนอกสนามเมื่อเกมดำเนินมาถึงนาทีที่ 77 โดยหลังจากนั้น บอร์ดบริหารลิเวอร์พูล ได้แถลงการณ์ขอโทษแฟนบอล และยกเลิกแผนการขึ้นค่าตั๋วที่ว่า ในคราวนั้น จอห์น เฮนรี ก็ได้ออกมาพูดดังนี้

“เราเชื่อว่าเราได้แสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะรับฟังเสียงของแฟนบอลอย่างรอบคอบก่อนพิจารณาจุดยืนของเราใหม่ และดำเนินการทันที ความสัมพันธ์ที่เป็นเอกลักษณ์ และศักดิ์สิทธิ์ระหว่างสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล และบรรดาแฟนบอลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในความคิดของเรา มันแสดงถึงจังหวะการเต้นของหัวใจ ณ สโมสรฟุตบอลที่ไม่ธรรมดาแห่งนี้ ยิ่งกว่าปัจจัยอื่นใดความผูกพันอันนี้คือสิ่งที่ผลักดันให้เราทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในนามของสโมสรต่อไปในอนาคต”

ส่วนอีกครั้งเกิดขึ้นในปีที่แล้วในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่พวกเขาเตรียมจะออกประกาศพักงานลูกจ้างของสโมสรให้ไปรับเงินชดเชย 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากรัฐบาล (Government Job Retention Scheme สมทบทุน 80% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 2,500 ปอนด์ โดยสโมสรจะจ่ายที่เหลือ 20% ให้แรงงานสโมสรพวกเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในหน่วยต่าง ๆ ระหว่างที่ไม่มีเกมการแข่งขัน ในช่วงพักงาน หรือ furlough)

หลายทีมเข้าร่วม นิวคาสเซิล, สเปอร์ส, บอร์นมัธ และนอริช รวมถึงลิเวอร์พูล ที่กลายเป็นว่า หงส์แดงโดนถล่มหนักสุดโดยสโมสรจะจ่ายส่วนต่างที่เหลือให้ครบเต็มจำนวนเงินเดือน ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากการที่มีผลประกอบการมากถึง 533 ล้านปอนด์ในฤดูกาล 2018-19 ตัดสินใจเช่นนั้น จนในที่สุด FSG ก็ยอมถอย และออกมาขอโทษแฟนบอล

“เราเชื่อว่าเราได้ข้อสรุปที่ผิดพลาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการประกาศว่าเราตั้งใจที่จะขอเข้าแผนในการรักษางานจากการระบาดของไวรัสโคโรนา และพักงานสโมสรเนื่องจากการที่พรีเมียร์ลีกมีการพักการแข่ง และเราเสียใจต่อเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ความตั้งใจเดิมของเรา และยังเป็นสิ่งที่เราตั้งใจอยู่ในตอนนี้คือการปกป้องคนงานของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากการที่รายได้จะถูกลด หรือสูญเสียรายได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้”

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เราเห็นว่า ทำไมแฟนบอลจำนวนมาก ยัง “ฝังใจ” การกระทำในเชิงความรับผิดชอบ และทำเพื่อสังคมกับบอร์ดบริหารง่าย ๆ หลังจากเหตุการณ์ ESL จบลง เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาเคยกล่าวไปแล้วว่าจะ “รับฟัง” แฟนบอล แต่การตัดสินใจเข้าร่วมกับอีก 11 ทีมเพื่อก่อตั้งลีกใหม่คราวนี้ พวกเขาไม่ได้ฟังใคร เพราะแม้แต่ เยอร์เกน คล็อปป์ หรือ บิลลี โฮแกน (ซีอีโอ ของสโมสร) ก็ยังไม่รู้เรื่องด้วย (รายชื่อทั้งสองเป็นรายชื่อที่ถูกเอ่ยถึงเพื่อทำการขอโทษอย่างเป็นทางการจาก จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ ด้วย)

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟนบอลที่ยังมี “แผล” ฝังใจจะกลับมาตั้งคำถามถึงจอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ และ เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) อีกครั้ง เพราะการกระทำในครั้งนี้ นอกจากจะไม่ฟังเสียจากแฟนบอล และมองผลประโยชน์เป็นที่ตั้งแล้ว มันยังแสดงออกถึงความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมลูกหนัง และประวัติศาสตร์ของฟุตบอลอังกฤษ และหรือรวมไปถึงธรรมชาติของอุตสาหกรรมฟุตบอลไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดาผู้บริหารทีมจะตัดสินใจผิดพลาดเกี่ยวกับนโยบายสโมสรซึ่งมีให้เห็นบ่อย ๆ เช่น จากการเลือกซื้อนักเตะที่ผิดพลาด การเลือกกุนซือ หรือทีมงาน หรือการทำโปรเจคต์โน้นนี้นั้น

แต่นโยบายการบริหารทีมขั้นสูงสุดขนาดเปลี่ยนโครงสร้าง ปรับโมเดล ผ่านกระบวนการลับ ๆ และมีเบื้องหลังมากมาย ถ้าพลาดแล้ว นอกจากทำลายภาพลักษณ์สโมสร มันยังทำลายความรู้สึกของแฟนบอลอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี ความงดงามของโลกลูกหนังก็คือ การได้เห็นบรรดาแฟนบอลของ ลิเวอร์พูล และนักเตะ (เกิดกับทุก ๆ ทีมในข่าว) กลับยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อต้านแนวคิดของ ESL อย่างชัดเจน เรียกได้ว่าเป็นระดับหัวหอก หรือแกนนำ เฉพาะอย่างยิ่ง จอร์แดน เฮนเดอร์สัน ในฐานะกัปตันทีมของสโมสร ได้ติดต่อหาบรรดากับตันทีมอื่น ๆ ในพรีเมียร์ลีก เพื่อมานั่งพูดคุยเกี่ยวกับกรณีนี้

“เราไม่ชอบสิ่งนี้ และเราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น นี่คือจุดยืนร่วมกันสำหรับเรา สำหรับความมุ่งมั่นทุ่มเทของเราที่มีให้กับสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ และต่อแฟนบอลเป็นสิ่งที่แน่นอน และไม่มีเงื่อนไข” เฮนโด้ ทวีตลงโซเชียลมีเดีย พร้อมกับ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ และเจมส์ มิลเนอร์ ก่อนจะเป็นกระแสตามมาทั่วโลกซึ่งแน่นอนมีผลถึง stakeholders สำคัญอื่น ๆ เช่น สเปอนเซอร์ ที่เริ่มออกมาแสดงจุดยืนจะ “ผงะ” จาก ESL 

โดยทาง มิลลี เองก็ถูกถามหลังเกมที่เสมอกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด เกี่ยวกับประเด็นนีอีกครั้ง และเขาก็ไม่เลี่ยงที่จะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

“ผมไม่ชอบเลย และหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น” มิลเนอร์ตอบสกาย สปอร์ตส์ “ผมพูดได้แค่เฉพาะมุมมองของผมเอง ผมไม่ชอบ และหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ผมจินตนาการได้เลยว่าความเห็นจะออกมาเป็นอย่างไร และผมก็อาจจะเห็นด้วยกับหลาย ๆ ความเห็น”

ด้าน เยอร์เกน คล็อปป์ ก็เป็นคนแรก ๆ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นสวนทางกับ จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ แม้จะไม่สามารถพูดอะไรได้มากนักก็ตาม แต่ก็ถือว่า พูดไป “กลืนเลือด” ไปชัดเจน

“สิ่งหนึ่งที่ผมเข้าใจ และคนอื่น ๆ คิดว่าไม่ถูกต้อง คือ (ESL) มันไม่มีการแข่งขัน ผมชอบความจริงที่ว่า เวสต์แฮมฯ อาจได้เล่น แชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาลหน้า ซึ่งผมไม่ต้องการแบบนั้น เพราะผมต้องการให้พวกเราอยู่ที่นั่น แต่สิ่งที่ผมชอบคือพวกเขามีโอกาส” คล็อปป์ กล่าวก่อนเกมกับ ลีดส์

บรรดานักฟุตบอล และแฟนบอลของ ลิเวอร์พูล ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน หาใช่เพราไม่ได้ชอบเม็ดเงินที่จะได้จากการแข่งขัน หากแต่เข้าใจธรรมชาติ และวัฒนธรรมของฟุตบอลซึ่งยึดโยงกับคน “ทุกกลุ่ม” หาใช่เพียง “กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” เท่านั้น 

ดังนั้น คำขอโทษของ จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี ในฐานะเจ้าของทีมที่ออกมา อาจจะช่วยให้เหล่าแฟน ๆ เย็นลงได้บ้าง แต่แน่นอนว่า มันคนละเรื่องกับการ “ให้อภัย” หรือ “ไว้ใจ”

นี่จึงกลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญอีกครั้งที่ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี้ และเอาเข้าจริง ๆ แล้วก็คือ ผู้บริหารทุกสโมสรใหญ่ที่คิดมานานแล้ว หรือคิดมาตลอดจะ “ก่อการ” ตั้งแต่ยูโรเปี้ยน คัพ มายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มา G14 กระทั่งถึง ESL จะต้องเรียนรู้ สำเหนียก และใส่ใจให้มาก 

เพราะหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ถ้าจะมีความผิดพลาดอันเกิดมาจากการไม่ใส่ใจ ไม่รับฟัง หรือเห็นแก่ผลประโยชน์มากเกินไปซ้ำอีกล่ะก็ กระแสอาจกระหน่ำใส่ FSG และจอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ จนเกินกว่าจะรับไหวก็ได้

ที่สำคัญต้องอย่าลืมว่า เมื่อใดก็ตามที่แฟนบอลหันหลังให้ เมื่อนั้นต่อให้มีเงินมากมายเพียงใด ก็ไม่อาจซื้อความเชื่อใจกลับคืนมาได้

Categories
Football Business

มอง…การช่วยเหลือของ ‘พรีเมียร์ลีก’

หากพอจะจำกันผมเคยเขียนถึง “โปรเจคต์ Big Picture” ที่ “พรีเมียร์ลีก” วางแผนจะช่วย “ฟุตบอลลีก” จากพิษโควิด-19 เป็นเงินเบื้องต้น 250 ล้านปอนด์ และเป็นข่าวดังเมื่อเดือน ต.ค.แล้วต้องล้มพังพาบมาแล้วเพราะสโมสรสมาชิกปฏิเสธจะเดินตามแผนของ 2 ทีมตั้งต้น: ลิเวอร์พูล และแมนฯยูไนเต็ด

(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง “โปรเจคต์ Big Picture” นะครับ https://bit.ly/2Ic0LGk)

ครั้งนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พรีเมียร์ลีก และฟุตบอลลีกอังกฤษ (อีเอฟแอล) ได้เห็นชอบให้จัดสรรเงินกู้ 250 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือบรรดาสโมสรในลีกระดับล่าง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แบบไม่มี hidden agenda ใด ๆ กับการปรับโครงสร้างพรีเมียร์ลีก หรือจะยุบถ้วย คอมมิวนิตี้ ชิลด์, ลดจำนวนทีมในพรีเมียร์ลีก ฯลฯ

รวมความแล้วก็ต้องบอกครับ “ซะที!” หลังตั้งแต่เดือน มี.ค.ไม่ได้มีแฟนบอลเข้าสนามกระทั่งสุดสัปดาห์นี้ในบางสเตเดี้ยม และบางพื้นที่ของประเทศได้ถูกอนุมัติให้แฟนบอลส่วนหนึ่งเข้าชมได้ อันหมายถึง “รายได้” จากการเก็บค่าผ่านประตูนั้นหายไป และอื่น ๆ จาก แมตช์เดย์ เช่น ขายของที่ระลึก ฯลฯ ก็หายไปเพียบ

การช่วยเหลือครั้งนี้ของพรีเมียร์ลีกสู่ทีมในลีกรอง ๆ อย่างน้อยจึงช่วย “ต่อท่อ” อ๊อกซิเจนได้บ้างครับ—

โครงการนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ?

นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทุกสโมสรในอังกฤษ ขาดรายได้จากตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางอีเอฟแอล เคยปฏิเสธเงินช่วยเหลือ 50 ล้านปอนด์จากพรีเมียร์ลีกมาแล้ว เพราะมองว่ามันน้อยเกินไป (ต.ค.2020)

ต่อมาในเดือนเดียวกัน สโมสรยักษ์ใหญ่ในพรีเมียร์ลีก นำโดยลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 2 ทีมคู่ปรับตลอดกาล ได้มีแนวคิดปรับโครงสร้างฟุตบอลลีกอังกฤษ หรือ Project Big Picture

ซึ่งในแนวคิด Project Big Picture มีข้อเสนออยู่ข้อหนึ่ง คือ จะให้เงิน 250 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือทีมในลีกล่าง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ท้ายที่สุด พรีเมียร์ลีกไม่ตอบรับข้อเสนอนี้ เพราะกระแส “ต่อต้าน” นั้นแรงมาก• มาถึงเดือนพฤศจิกายน สโมสรในลีกวัน และลีกทู ได้ “ตกลงในหลักการ” เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากพรีเมียร์ลีก หลังจากได้รับข้อมูลว่า มีสโมสรสมาชิกของอีเอฟแอล ประมาณ 10 ทีม ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างนักเตะ

ถึงแม้จะมีการเริ่มต้นปลดล็อก ให้แฟนฟุตบอลเข้ามาชมเกมในสนาม ตามความเสี่ยงการแพร่ระบาดของแต่ละพื้นที่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ ทำให้แต่ละสโมสรยังคงไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายได้ในเร็ววัน

จนกระทั่งการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดบริหารของอีเอฟแอล และสโมสรสมาชิกพรีเมียร์ลีก ได้อนุมัติข้อตกลงการช่วยเหลือสโมสรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเงินกู้จำนวน 250 ล้านปอนด์ เสริมจากทางรัฐบาลอังกฤษ เตรียมช่วยเหลือเงินเพิ่มเติมอีก 300 ล้านปอนด์ (แต่ไม่ได้ให้กับฟุตบอลอาชีพชาย) ให้กับฟุตบอลหญิง, ฟุตบอลนอกลีกอาชีพ และกีฬาประเภทอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาด้วยเช่นเดียวกัน

เงินจำนวนนี้ จัดสรรอย่างไร ?

ทั้งพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล จะช่วยกันระดมทุน 250 ล้านปอนด์ เพื่อเป็นเงินกู้ โดยจะแบ่งให้ลีกแชมเปี้ยนชิพ 200 ล้านปอนด์ และลีกวัน รวมกับลีกทู อีก 50 ล้านปอนด์ ในส่วนของลีกแชมเปี้ยนชิพ จะแบ่งเงินให้ทั้ง 24 สโมสรเท่าๆ กัน หรือเฉลี่ยได้ทีมละ 8.33 ล้านปอนด์ เป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย และกำหนดชำระคืนภายในเดือนมิถุนายน 2024 สำหรับอีก 48 สโมสร ในลีกวัน และลีกทู เงินกู้จำนวน 50 ล้านปอนด์นี้ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 กอง

กองที่ 1 จำนวน 30 ล้านปอนด์ เป็นค่าชดเชยรายได้จากการไม่มีผู้เข้าชมการแข่งขันในฤดูกาล 2019-20 และ 2020-21 แบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วน- 24 ทีมในลีกวัน จะได้รับเงินกู้อย่างน้อยทีมละ 375,000 ปอนด์ (รวม 9 ล้านปอนด์)- 24 ทีมในลีกทู จะได้รับเงินกู้อย่างน้อยทีมละ 250,000 ปอนด์ (รวม 6 ล้านปอนด์)- เงินกู้อีก 15 ล้านปอนด์ที่เหลือ จะคำนวณจากส่วนแบ่งรายได้ของค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันที่หายไป

กองที่ 2 จำนวน 20 ล้านปอนด์ จะเก็บไว้สำหรับสโมสรที่ต้องการชดเชยค่าเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และกำหนดคุณสมบัติสำหรับสโมสรที่เข้าร่วมต่อไป

โดยบรรดาสโมสรในลีกล่างทั้ง 3 ลีก ที่ได้รับเงินกู้นั้น จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเรื่องการซื้อตัวผู้เล่น และการจ่ายค่าจ้างของผู้เล่นด้วย

ริค แพร์รี่ (อดีต CEO ลิเวอร์พูล และหัวโจกในการแอบชนดีล Big Picture ตั้งแต่ ค.ศ.2017) ประธานอีเอฟแอล หวังว่าโครงการดังกล่าว จะช่วยให้สโมสรเหล่านี้อยู่รอดได้ หลังจากได้รับผลกระทบทางการเงิน เพราะการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ที่กินเวลามานานหลายเดือน

ขณะที่ ริชาร์ด มาสเตอร์ส ประธานบริหารพรีเมียร์ลีก เผยว่ารู้สึกยินดีที่ลีกระดับสูงสุดของอังกฤษ ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสโมสรระดับลีกรองลงมา ไม่ให้ล้มละลาย อันเนื่องมาจากโควิด-19

ผมเขียนเรื่องนี้ทำไม?

นี่ก็เพราะ ขนาดลีกอาชีพแบบมาตรฐาน เช่น ลีกอังกฤษ ยังไม่ไหว ไปจะไม่รอด ในปีโควิด-19 รัฐบาลผู้ดีซึ่ง “กดดัน” พรีเมียร์ลีกซึ่งยังคงมีรายได้หลักอยู่จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทีวี จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะ 300 ล้านปอนด์ก็ไม่ได้ตกมาสู่ฟุตบอลอาชีพชาย ลีกรอง ๆ จึง “ควานหา” รายได้ยากเหลือเกินครับ และการได้เงินช่วยเหลือแม้จะให้ยืมในครั้งนี้จึงถือว่ามีค่าอย่างมากให้ต่อลมหายใจ

ในมุม Football Business ที่น่าสนใจ คือ อุตสาหกรรมอื่นจะไม่มีทางให้ “หยิบยืม” ช่วยเหลือกันแบบพรีเมียร์ลีก ช่วยเหลือทีมรองในลีกล่าง ๆ แบบนี้ เพราะมีแต่จะ “ถีบส่ง” คู่แข่งทั้งน้อยใหญ่ให้ร่วงจมธรณี และเจ๊งชัยกันไป เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดคนเดียว และครองความยิ่งใหญ่คนเดียว• แต่ฟุตบอลเตะกันเองดูกันเองไม่ได้ ฟุตบอลจำเป็นต้องมีคู่แข่ง มีลีก และต้องแข่งขันกันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อพอประมาณไม่ใช่ “ผูกขาด” แค่ไม่กี่ทีม หรือคาดเดาผลแข่งขันได้ง่าย การช่วยเหลือครั้งนี้จึงเกิดขึ้น และเป็นกรณีศึกษาสำคัญในปีลำบาก ๆ แบบนี้ และเป็นการช่วยเหลือที่ไม่เพียงต่อลมหายใจให้หลายทีม หรือ 10 ทีมโดยประมาณที่กำร่อแร่ (จริง ๆ คงมากกว่านั้นเยอะ) ทว่ายังเป็นการช่วยประคองไม่ให้ “ลีกรอง ๆ” ถึงขั้นล่มสลายอันจะมี “ปัญหา” อีกมากมายตามมาด้วยครับ#ไข่มุกดำ✍ และ #ทีมไข่มุกดำ เรียบเรียง

Categories
Football Business

6 เหตุผลที่เราหลงรัก “ฟุตบอล”

มันน่าจะต้องมี “เหตุผล” เป็นร้อยเป็นพัน หรือ “ไม่มี” เลยแม้แต่ข้อเดียว ที่ทำให้เรา แฟนบอล หลงรักฟุตบอล และเฝ้าติดตามทีมโปรด หรือข่าวคราวของ The most beautiful game เกมกีฬาที่สวยงามที่สุดในโลกชนิดนี้

สำหรับ “ขอบเขต” งานในวันนี้ ผมได้ศึกษา และวางโครงเรื่องจากหัวข้องานชื่อ The ‘peculiar’ economics of professional football leagues หรือลักษณะพิเศษทางเศรษฐศาสตร์ของฟุตบอลลีกอาชีพ นะครับคร่าว ๆ ผมได้สรุปจาก “หัวข้อ” เนื้อหาที่ได้เรียนมาจาก ศาสตราจารย์คริสตีน เอาจ์ตัน (Christine Oughton) อาจารย์ของผมที่ Birkbeck College เมื่อ 10 กว่าปีก่อนนะครับ และเขียนเรื่องนี้อยู่เรื่อย ๆ แต่ปรับรายละเอียดให้เหมาะสมกับ “บริบท” ตามช่วงเวลาที่เขียนนะครับ

ทั้ง 6 ข้อ “เหตุผล” ตรวจสอบแล้วว่า ยังคงเหมาะสมกับการ “อ้างอิง” ได้อยู่ และมีดังนี้ (ตรวจสอบคอร์สปริญญาโท Sports Management and The Business of Football – MSc. ได้ที่นี่นะครับ http://www.bbk.ac.uk/…/postgraduate/programmes/TMSSMBUF_C

1.)

1.) “ฟุตบอล” เป็นผลผลิตร่วมระหว่าง “ลีก” และ “สโมสรฟุตบอล” (Joint product) ที่ต้องอาศัยกัน และกัน เพราะฟุตบอลจะเตะกันเอง ดูกันเอง ทีมเดียวไม่ได้ ต้องมีคู่แข่งขันมาร่วมด้วย และมีการจัดการลีกที่ดี เป็นในทิศทางเดียวกันตามหลักเกณฑ์จากผู้ปกครองสูงสุด (ฟีฟ่า)

แต่ธุรกิจทั่วไปจะไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น และอาจจะเป็นการดีกว่า หากเราริเริ่มธุรกิจใหม่ได้ก่อน เนื่องจากจะไม่มีคู่แข่ง (Monopoly) อันสามารถกำหนดราคา หรือควบคุมกลไกการตลาดได้

ในแง่นี้ “พรีเมียร์ลีก” เป็นต้นแบบแรกเริ่มที่ทำได้ค่อนข้างดีนับจากแยกจาก “ดิวิชั่น 1” เดิม มาก่อตั้ง “พรีเมียร์ลีก” ในปี ค.ศ.1992
เพราะอย่างน้อย มันได้เห็นซึ่งความพยายามในการรวมตัว และร่วมมือกันค่อนข้างสูงระหว่างลีก และสมาชิก พอ ๆ กับการสร้างให้เกิดความเข้มข้นในการแข่งขันกัน (Competitiveness)

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และบริษัทไทย ลีก จำกัด ในฐานะองค์กรสูงสุดในด้านการบริหารจัดการฟุตบอลในประเทศไทยก็มีนโยบายด้านนี้ที่ชัดเจน และดีขึ้นสอดคล้องกับนโยบาย “ฟีฟ่า” พื้นฐานจะมาจากกฎ “คลับ ไลเซนซิ่ง” ที่จะเป็นเสมือนใบเบิกทางพื้นฐานของสโมสรสมาชิกที่จะปฏิบัติตามแตกต่างกันไปตามมาตรฐานของ T1, 2, 3 และ 4

การจัดการด้านต่าง ๆ ก็คัดสรรทีมงานมืออาชีพเข้ามาผ่านกระบวนการสากล เช่น pitching หรือเสนองานจนถูกคัดเลือก หรือประมูล เช่น Plan B กับการได้สิทธิ์เป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของสมาคมฯ และไทยลีก เป็นเวลา 3 ปีโดยเปิดซองชนะอีก 2-3 บริษัท เป็นต้น รวมถึง “ทุกด้าน” ของการบริหาร เช่น เทคนิค, ข้อมูลสถิติ, สื่อสารองค์กร, จัดการแข่งขัน, ฝ่ายผู้ตัดสิน ที่ถูกแบ่งแยกการทำงานไว้ชัดเจนร่วมกับสโมสรสมาชิก

2.) ธุรกิจฟุตบอลจะมีการกระจายรายได้ (Redistribution) ภายในลีก และระหว่างลีกใหญ่สู่ลีกเล็กรวมไปถึงทีมใหญ่รายได้ดีสู่ทีมเล็กรายได้น้อยเพื่อช่วยให้ลีก และทีมฟุตบอลแต่ละทีมมีความสมดุลกันมากที่สุด (Competitive Balance)

เพราะหาก “ช่องว่าง” ระหว่างลีกมีมากขึ้น หรือทีมเล็กนับวันยิ่งเล็กลงขณะที่ทีมใหญ่โตเอา ๆ โดยไม่ได้มีมาตรการใด ๆ ค้ำจุนเลย ที่สุดแล้วฟุตบอลก็จะดูไม่สนุก คาดเดาผลการแข่งขันได้ง่ายเนื่องจากความเหลื่อมล้ำที่มีมากอันจะนำมาซึ่งคนดูหนีหาย สปอนเซอร์ไม่สนใจ และสุดท้าย “เม็ดเงิน” ก็จะไม่ตกสู่ทั้งทีมเล็ก และทีมใหญ่ในลีก

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ธุรกิจฟุตบอลจำต้องอาศัยกุศโลบาย “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” ตามคอนเซ็ปต์ “ผลผลิตร่วม” (Joint products) ระหว่างลีก กับสโมสรฟุตบอล นั่นเองบ้านเราก็จะเห็นข่าวการมอบเงินให้สโมสรต่าง ๆ จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด หรือจะเรียกว่า เงินบำรุงสโมสรก็สุดแล้วแต่

โดยทะยอยจ่ายเป็นงวด ๆ ไปเท่า ๆ กัน หาใช่จ่ายให้แชมป์มากสุด หรือทีมบ๊วยน้อยสุดแต่ “ไทยลีก” ยังไม่มีการช่วยเหลือทีม “ตกชั้น” จาก T1 ไป T2 หรือที่ “พรีเมียร์ลีก” อังกฤษเรียกว่า “Parachute money” เพื่อไม่ให้ทีมตกชั้นต้องเจอภาวะ “เคยรวย” มา “ยากจน” ฉับพลันเกินไป (เนื่องจากรายได้ “ทุกทาง” เช่น ค่าตั๋ว, สปอนเซอร์, ลิขสิทธิ์ทีวี, ของที่ระลึก จะลดลงฮวบฮาบ)

ประเด็นแบบนี้เราจะไม่ได้เห็นในธุรกิจอื่น ๆ เป็นอันขาด เพราะธุรกิจทั่วไปมีแต่จะได้เห็น “ปลาใหญ่” กิน “ปลาน้อย” ปลาสร้อยจนสูญพันธุ์ซะมากกว่าจะคิดแม้จะแค่เจียดเงินมาช่วย “ศัตรู”

3.) แฟนบอล (ลูกค้า) จะมีดีกรีความซื่อสัตย์สูงชนิดไม่จำเป็นต้องมี “เหตุผล” เพราะมันเป็นความรัก + ผูกพันด้วยใจโดยไม่มี “ผลประโยชน์” แอบแฝง

ดังจะเห็นได้จาก แฟนบอลทีมหนึ่งจะไม่เปลี่ยนใจไปเชียร์อีกทีมหนึ่งแม้ทีมตัวเองจะไม่ประสบสำเร็จ หรือย่ำแย่เพียงใดก็ตามแต่หากฟุตบอลเป็นเสมือน “โปรดักต์” อื่น ๆ แฟนบอล (ลูกค้า) จะพร้อมเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ “ยี่ห้ออื่น” ที่ดีกว่า ถูกกว่า แพ็คเกจดูดีกว่า คุ้มค่ากว่าได้ทันที

และตลอดเวลาทว่ากับฟุตบอลนั้นไม่ใช่ “โปรโมชั่น” นั้นไม่จำเป็น หนำซ้ำความซื่อสัตย์ยังสามารถส่งผ่านไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เจนเนอเรชั่น ต่ออีกเจนเนอเรชั่นได้อีกด้วย

4.) ฟุตบอลเป็น “เกม” หรือเป็น “ธุรกิจ” ที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เพราะจะมีจุดมุ่งหมายพร้อม ๆ กัน 2 ประการ นั่นคือ ชนะในสนาม และ “ไม่แพ้” หรืออยู่ได้โดยไม่ขาดทุนนอกสนาม

อย่างไรก็ดีครับ “จุดมุ่งหมาย” 2 ประการนี้จะขัดแย้งกันเองโดยธรรมชาติ เพราะหากต้องการจะประสบความสำเร็จในสนาม สโมสรฟุตบอลก็ต้องใช้เงิน “ลงทุน” กับการซื้อตัวผู้เล่น หรือไม่ก็เป็นค่าเหนื่อยผู้เล่นที่ส่วนมากแล้วจะใช้เต็มจำนวนงบประมาณที่มีไม่นับการปรับปรุง “สาธารณูปโภค” ต่าง ๆ สำหรับทีม และแฟนบอล เช่น สนามซ้อม, ที่นั่งสนามแข่ง, ห้องน้ำ, สนามหญ้า ฯลฯ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเล่นทีม และเพื่ออรรถรสในการชมฟุตบอลของแฟน ๆ

ขยับจากนั้นอีกขั้นก็คือ หน้าที่เพื่อสังคม ดังจะได้เห็นกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibilities) ต่าง ๆ มากมาย และเป็น “ภาคบังคับ” ที่ต้องกระทำ โดยเฉพาะโปรแกรมเพื่อเยาวชน และชุมชนที่สโมสรฟุตบอลก่อตั้ง ที่สุดแล้ว “กำไร” อย่าว่าแต่จะไม่เหลือเลย การทำงบดุลไม่ให้ติด “ตัวแดง” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว

ฉะนั้นในทาง “อุดมคติ” ฟุตบอลจึงไม่ใช่ธุรกิจที่ผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะในฐานะนิติบุคคล หรือบริษัทมหาชนจะ “นั่งรอ” ผลกำไรปลายปีเฉกเช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ครับ

5.) ตลาดแรงงานนักฟุตบอลนั้นมีกฎระเบียบค่อนข้างละเอียดอ่อนกว่าธุรกิจอื่น ๆ และผู้เล่นชั้นดีจะมีอำนาจในการต่อรองเงินเดือน และการเลือกทีมสูงมาก ลองดูราคานักเตะไทยใน “ไทยลีก” ที่เหมือนมีเยอะ แต่จริง ๆ แล้วมีน้อยมาก (นักเตะดีจริง ๆ)

ฉะนั้นจึงได้เห็นว่า ราคาการย้ายทีม (ค่าตัว) และเงินเดือนรวมเป็นแพ็คเกจแต่ละครั้งจะสูงมากไม่ว่าจะภายใน หรือต่างประเทศ

กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์, ชนาธิป สรงกระสินธ์ ต้องมีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือจะธนบูรณ์ เกษารัตน์, ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ในการย้ายในประเทศระดับ 50 ล้านบาท เงินเดือนนักเตะทีมชาติชุดใหญ่คิดว่าเท่าไหร่? ในเวลาที่ “ตัวท็อป” ไม่ติดทีมชาติมี 2 แสนอัพ หรือสามแสนกว่าไปแล้ว

อลิสสัน เบคเกอร์ ย้ายไปลิเวอร์พูลในตำแหน่งผู้รักษาประตูที่ 67 ล้านปอนด์ ถามว่าแพง ก็แพง แต่ตำแหน่งนี้หาไม่มี หรือที่มีก็ “ไม่ขาย” ราคาที่หงส์แดงจ่าย หรือตัวอย่างบางนักเตะไทยข้างต้นจึง “สะท้อน” ว่า นักเตะชั้นดีสามารถมีอำนาจต่อรองราคาที่ต้องการได้เลือกทีมได้ด้วย เช่น ธิโบต์ คูร์ตัวส์ อยากจะไปเรอัล มาดริด ใครจะทำไม, โรนัลโด้ เบื่อแล้วกับเกือบ 10 ปีที่มาดริดขอไปกินมะกะโรนี ยูเวนตุส ค่าตัว 100 ล้านปอนด์ แต่แค่วันเดียวก็ขายเสื้อได้ 50 ล้านปอนด์แล้วกระมัง

ส่วนตลาดแรงงานก็แล้วแต่สถานการณ์ ทว่ากฎระเบียบปรับได้ตลอด (อ่านด้านล่างกฎนักเตะต่างชาติของไทย) และขึ้นตรงกับ “ฟีฟ่า” เช่น หากมีคดีฟ้องร้องใด อาทิ สัญญาไม่เป็นธรรม, ไม่จ่ายค่าเหนื่อย ฯลฯ ผู้เล่นสามารถส่งตรงให้หน่วยงานของ “ฟีฟ่า” พิจารณาได้เลยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายในประเทศนั้น ๆ และ “ฟีฟ่า” สามารถสั่งปรับเงิน, คะแนน ถึงขั้นระงับทีมไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันได้เลยโดยตรง

6.) ฟุตบอลเป็นเกมที่ควบคุมโดยกฎกติกาสากล ผสมผสานกับการบริหารโดยรัฐบาลลูกหนังหลายระดับตั้งแต่ระดับประเทศ, นานาชาติ, ทวีป และโลก คอยควบคุมดูแล, ปรับปรุง และแก้ไข เพื่อคุณภาพที่ดีของเกมพูดแล้วจะ “ยาวไหม” (555) เช่น ล่าสุดก็กับกฎนักเตะอาเซียน 3 คน, ต่างชาติ 3 คน และเอเชีย 1 คนของฟุตบอลลีกบ้านเราประเด็นคงไม่แตะว่า “เหมาะสม” หรือดีที่สุดไหม? แต่จะบอกว่า มันตอบโจทย์เรื่องการ “ปกครอง” เด็ดขาด และเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาลลูกหนังที่ไม่จำเป็นต้องอิงกฎหมายนานาชาติใด ๆ

ข้อสรุปดังกล่าว อาจใช้แค่ซีซั่นเดียว และปรับเปลี่ยนอีกก็ได้ตามกระบวนการของรัฐบาลลูกหนังไทย แต่ต้องสอดคล้อง และรับรองโดย “ฟีฟ่า”

โดยเรื่องเกี่ยวข้องกับ “ฟุตบอล” ทุกเรื่อง ฟีฟ่าจะมีหน่วยงานรองรับการทำงานเสมือนเป็น “รัฐบาลกลาง” ของลูกหนังโลก ที่มีอำนาจสิทธิ์ขาด

จุดนี้จึงมีทั้ง “ข้อดี” และไม่ดีได้เหมือนกัน เช่น อำนาจบางครั้งก็อาจก่อให้เกิดการคอรัปชั่นเพราะการ “ตัดสินใจ” ขึ้นอยู่กับกลุ่มคน หรือคณะทำงานภายในไม่กี่คน

แต่ข้อดี คือ การบริหารจัดการจะเป็นในทิศทางเดียวกัน และเบ็ดเสร็จจากส่วนกลาง-ทั้งหมดในวันนี้ มีเป้าหมายจะนำเสนอในด้านที่ “แตกต่าง” อีกมิติหนึ่งของกีฬา “ฟุตบอล” โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐศาสตร์ การบริหาร และจัดการกีฬาฟุตบอลโดยเฉพาะในส่วนการจัดการแข่งขันระดับลีก และบอลถ้วย รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทุกผู้มีผลประโยชน์ร่วม (stakeholders) เช่น แฟนบอล, นักเตะ, ผู้สนับสนุน, พันธมิตรหวังว่า เมื่อทราบ “ความต่าง” นี้ เรา ๆ ท่าน ๆ แฟนบอลจะหลงรักฟุตบอลมากยิ่งขึ้นนะครับ

Author : ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์