Categories
Special Content

ดาบิด รายา นายทวารสำรองอาร์เซนอล sweeper keeper ที่รอวันฉายแสง

ผู้รักษาประตูชั้นดี 2 คน จะอยู่ร่วมทีมเดียวกันได้หรือไม่? เรื่องนี้ต้องรอพิสูจน์หลังล่าสุด อาร์เซนอล โดย มิเกล อาร์เตตา ให้โอกาสครั้งแรกแก่ ดาวิด รายา เป็นตัวจริงในเกมบุกชนะเอฟเวอร์ตัน 1-0 ซูเปอร์ซันเดย์ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา

อาร์เตตา มีแผนอะไรในใจ? อลัน เชียเรอร์ อดีตตำนานลูกหนังก็ตั้งคำถามเช่นกันว่า “จะเวิร์กไหม? เสือ 2 ตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน และจะทำงานร่วมกันอย่างไร? สลับกันเล่นแบบไหน?”

ก่อนจะไปค้นคำตอบซึ่งต้องรอเวลาคลี่คลาย บทความนี้จะพามาทำความรู้จักผู้รักษาประตูยุคปัจจุบันในแบบเบื้องต้นกันก่อน

sweeper keeper หนึ่งใน 3 ประเภทหลักของผู้รักษาประตู ถูกนำมาอ้างถึงอย่างแพร่หลายเป็นพิเศษในซีซั่นนี้หลัง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จ่ายเงินราว 51 ล้านยูโร (43.8 ล้านปอนด์) ยังไม่รวมแอด-ออนส์ 4 ล้านยูโร (3.4 ล้านปอนด์) ซื้อ อองเดร โอนานา มาจากอินเตอร์ มิลาน เพื่อรับตำแหน่งนายทวารมือ 1 แทนดาบิด เด เคอา ซึ่งเพิ่งหมดสัญญาหลังยืนเฝ้าประตูให้ทีมปีศาจแดงนาน 12 ปี

เด เคอา เป็นนายด่านประเภท shot stopper ระดับโลกที่มีช็อตป้องกันประตูที่เหลือเชื่อให้เห็นบ่อยครั้งแต่เขาไม่ใช่ sweeper keeper อย่างที่เอริก เทน ฮาก ต้องการ เนื่องจากกุนซือดัตช์ต้องการให้ผู้รักษาประตูของเขามีส่วนบิลด์อัพการเล่น สามารถจ่ายบอลหรือเลี้ยงบอลออกไปนอกกรอบเขตโทษด้วยตัวเองประหนึ่งเป็นนักเตะเอาท์ฟิลด์คนที่ 11 รวมถึงอ่านเกมขาด ออกไปตัดเกมรุกของคู่แข่งขัน ทำหน้าที่สวีปเปอร์อยู่ด้านหลังของแบ็คโฟร์

ผู้รักษาประตูอีกประเภทคือ ball playing keeper ซึ่งไม่เพียงปกป้องการเสียประตู แต่มีทักษะขว้างหรือเตะบอลได้ไกลและแม่นยำแม้ไม่ถึงขั้นพาบอลออกไปบิลด์อัพเพลย์เองเหมือน sweeper keeper โดย อลิสซอน เบคเกอร์ ของลิเวอร์พูล และ เอแดร์ซอน ของแมนเชสเตอร์ ซิตี เป็นตัวอย่างของนายทวารยอดฝีมือประเภทนี้

ขณะที่ผู้รักษาประตูที่จ่ายบอลเฉลี่ยมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2022-23 ปรากฎเป็นชื่อของ ดาบิด รายา จากทีมเบรนท์ฟอร์ด

ฤดูกาลที่แล้ว รายาลงเล่นให้เบรนท์ฟอร์ด 38 นัด ผ่านบอลรวม 1,475 ครั้ง ส่วนอันดับที่เหลือของท็อป-5 ได้แก่ เอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ (แอสตัน วิลลา) 36 นัด 1,248 ครั้ง เฉลี่ย 34.7 ครั้ง, อลิสซอน เบคเกอร์ (ลิเวอร์พูล) 37 นัด 1,239 ครั้ง เฉลี่ย 33.5 ครั้ง, แบร์นด์ เลโน (ฟูแลม) 36 นัด 1,205 ครั้ง เฉลี่ย 33.5 ครั้ง และ เจสัน สตีล (ไบรท์ตัน) 15 นัด 490 ครั้ง เฉลี่ย 32.7 ครั้ง

แม้ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังแต่รายาเป็นผู้รักษาประตูที่ใช้เท้าได้โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งในพรีเมียร์ลีก นายด่านสเปนวัย 27ปี มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจทีเดียว เล่นอยู่นอกลีกในซีซัน 2014-15 ก่อนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญช่วยแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส เลื่อนชั้นจากลีกวันขึ้นมาแชมเปียนชิพ, พาเบรนท์ฟอร์ดเลื่อนชั้นจากแชมเปียนชิพขึ้นมาพรีเมียร์ลีก และในตลาดซัมเมอร์ที่ผ่านมา อาร์เซนอลจ่ายเงิน 3 ล้านปอนด์ ยืมตัวรายาพร้อมออปชั่นซื้อขาด 27 ล้านปอนด์ เพื่อมาเป็นตัวสำรองของ แอรอน แรมส์เดล นับเป็นนักเตะใหม่รายที่ 4 ของอาร์เซนอล ต่อจาก เดแคลน ไรซ์ มิดฟิลด์ตัวรับทีมชาติอังกฤษ, ไค ฮาแวร์ตซ์ กองหน้าทีมชาติเยอรมนี และ เยอร์เรียน ทิมเบอร์ กองหลังสารพัดประโยชน์ทีมชาติเนเธอร์แลนด์

สะสมทักษะใช้เท้าบนสนามฟุตซอล

ดาบิด รายา มาร์ติน เกิดวันที่ 15 กันยายน 1995 ที่นครบาร์เซโลนา และเติบโตในเมืองปัลเลจา (Pallejà) เขาเคยเล่นฟุตซอลทั้งผู้รักษาประตูและตำแหน่งเอาท์ฟิลด์ก่อนเข้าอะคาเดมีของ ยูอี คอร์เนลลา ทีมฟุตบอลสเปนระดับเทียร์ 3 จุดเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่ออาชีพค้าแข้งเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2012 เมื่อรายาเดินทางไปใช้ชีวิตในอังกฤษหลังได้รับทุนการศึกษาจาก แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส

สองปีต่อมา การย้ายเข้าสู่ถิ่นอีวู้ด พาร์ค ของฮูโก แฟร์นานเดซ ส่งผลให้เกิดข้อตกลงระหว่าง 2 สโมสร ให้สิทธิ์นักเตะของคอร์เนลลาทดสอบฝีเท้ากับแบล็คเบิร์น ว่ากันว่ารายา ซึ่งตอนนั้นกำลังเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในอะคาเดมีสโมสร “สอบผ่าน” เพียงครั้งเดียวและได้เซ็นสัญญานักฟุตบอลอาชีพเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2014

สตีเวน เดรนช์ ซึ่งตอนนั้นทำหน้าที่เพลเยอร์-โค้ชอยู่ในทีมผู้ฝึกสอน เห็นพัฒนาการของรายาจากระดับเยาวชนถึงทีมชุดใหญ่ ให้สัมภาษณ์กับสกาย สปอร์ตส์ ว่า แม้เคลื่อนไหวได้ดีรอบกรอบเขตโทษเหมือนผู้รักษาประตูจากสเปน แต่ทักษะที่ทำให้รายาโดดเด่นคือ เทคนิค, การหยุดลูกยิง และความสามารถเชิงกีฬา นอกจากนี้รายายังเล่นฟุตซอลมามากที่สเปน เขาจึงใช้เท้าได้อย่างคล่องแคล่ว สโมสรตระหนักดีถึงจุดแข็งดังกล่าว จึงมีการเล่นฟุตบอลกอล์ฟและเฮดเทนนิสระหว่างฝึกซ้อม

เดรนช์ นายด่านวัย 37 ปีของทีมคอร์ลีย์ในเนชันแนล ลีก นอร์ธ กล่าวเสริมว่า “การเล่นฟุตบอลด้วยเท้าทำให้ผมเล่นฟุตบอลมาถึงตอนนี้ สำหรับฟุตบอลสมัยใหม่แล้ว ผู้รักษาประตูที่ใช้เท้าได้ดีเป็นเช็คพอยต์ลำดับแรกๆที่โค้ชมองหา เซฟลูกได้ดีไหม ตัดลูกครอสได้ดีไหม ใช้เท้าเล่นบอลได้ดีไหม ล้วนเป็นคุณสมบัติที่สำคัญ”

“การผ่านบอลของดาบิดถือเป็นข้อได้เปรียบ ยิ่งมาเล่นให้เบรนท์ฟอร์ดที่มีสไตล์บอลเหมาะกับเขามาก แต่ความจริงแล้ว ดาบิดสามารถเล่นให้ทีมไหนก็ได้ในท็อปลีกของยุโรป เขาเป็นเสมือนผู้เล่นเอาท์ฟิลด์คนที่ 11 ของทีม” และตอนนี้ นายทวารวัย 27 ปี ได้รับโอกาสจากอาร์เซนอล หนึ่งในทีมเต็งแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023-24

เพิ่มพูนประสบการณ์กับสโมสรนอกลีก

ครึ่งแรกของฤดูกาล 2014-15 แบล็คเบิร์นส่งรายาให้ เซาธ์พอร์ต สโมสรนอกลีกในคอนเฟอเรนซ์ พรีเมียร์ ยืมใช้งานเป็นเวลา 4 เดือน เขามีโอกาสลงสนามทีมชุดใหญ่ 24 นัดรวมทุกรายการ 

ขอบคุณภาพจาก  https://southportfc.net/david-raya-martin-good-luck-tonight/

มีความเชื่อว่า ฟุตบอลนอกลีกสามารถเป็นสนามฝึกซ้อมที่ยอดเยี่ยมสำหรับนักเตะอายุน้อย ซึ่งรายาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่าความเชื่อนี้เป็นความจริงแม้ต้องเล่นให้ทีมที่อยู่ก้นตารางของลีกระดับเทียร์ 6 

แกรี บราบิน ผู้จัดการทีมเซาธ์พอร์ตขณะนั้น ย้อนอดีตไปยังช่วงกลางปี 2014 ว่า รายาเป็นเพียงผู้รักษาประตูหนุ่มจากแบล็คเบิร์น ผู้คนต่างสงสัยว่าเขาจะมีประสบการณ์เพียงพอรับมือสถานการณ์หนีตกชั้นหรือเปล่า นักเตะคนนั้นต้องมีแคแรกเตอร์ที่แข็งแกร่งมาก

“สถานการณ์ตอนนั้น ทีมอยู่อันดับรั้งท้ายของลีก เพิ่งเซ็นสัญญากับผู้จัดการทีมใหม่ ทุกคนคอตกและหวั่นวิตกว่าอะไรจะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อไป แต่นั่นไม่ใช่ดาบิด เขามีบุคลิกภาพที่เหลือเชื่อเอามากๆ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งถูกส่งต่อและหล่อเลี้ยงไปยังนักเตะคนอื่นในทีม ทำให้ทีมมีสปิริตที่ยอดเยี่ยมจริงๆ”

“และเป็นการใช้เท้าของดาบิดที่ทำให้ผมประทับใจมากที่สุด เซาธ์พอร์ตเป็นทีมที่เล่นบอลบนพื้นดินมากกว่าทีมอื่นๆในระดับเดียวกัน นั่นจึงทำให้ทีมขึ้นมาจากท้ายตารางถึง 4 อันดับภายในเวลาอันรวดเร็ว ความเก่งของเขามีส่วนสำคัญอย่างแน่นอน ทีมรู้สึกปลอดภัยเมื่อมีเขาอยู่ข้างหลัง ไม่ใช่แค่ป้องกันการเสียประตู แต่ยังทำหน้าที่เริ่มต้นเพลย์ให้เราอีกด้วย ดาบิดจึงเป็นสารตั้งต้นของเราที่นำไปสู่ความสำเร็จ”

นายทวารใช้เท้าที่มีมือเหมือนพลั่ว

รายากลับต้นสังกัดหลังหมดสัญญายืมตัวกับเซาธ์พอร์ต นายด่านหนุ่มมีโอกาสลงสนามให้แบล็คเบิร์นเพียง 2 นัดในแชมเปียนชิพ ซีซัน 2014-15 แต่ยังได้รับเสนอสัญญาใหม่ 3 ปีในเดือนเมษายน 2015 อย่างไรก็ตาม รายาลงเล่นรวม 13 นัดเท่านั้นในซีซัน 2015-16 และ 2016-17 โดยเป็นตัวสำรองของเจสัน สตีล

ชอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/48894390

แบล็คเบิร์นตกไปอยู่ลีกวัน ซีซัน 2017-18 สตีลย้ายไปอยู่ทีมซันเดอร์แลนด์ รายาจึงเลื่อนขึ้นมาเป็นนายทวารมือ 1 และพลาดบอลลีกเพียงนัดเดียวจากทั้งหมด 46 นัด ช่วยทีมกุหลาบไฟคว้ารองแชมป์ลีกวัน ใช้เวลาแค่ปีเดียวกลับไปอยู่แชมเปียนชิพอีกครั้ง

“เดอะ ริเวอร์ไซเดอร์ส” จบลีกเทียร์ 2 ซีซัน 2018-19 ด้วยอันดับ 15 รายายังเป็นนายทวารมือ 1 ของทีม เล่นบอลลีก 41นัดจากทั้งหมด 46 นัด อย่างไรก็ตาม รายาอำลาถิ่นอีวู้ดในเดือนกรกฎาคม 2019 ด้วยสถิติลงสนาม 108 นัดรวมทุกรายการ

รายาอาจได้รับคำชมเรื่องการใช้เท้าและปฏิกิริยาตอบสนองที่รวดเร็วราวกับแมว แต่มีอีกหนึ่งคุณลักษณะที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนักคือ ขนาดมือที่ใหญ่ ซึ่ง สตีเวน เดรนช์ เปรียบเปรยว่า รายามีมือเหมือนพลั่ว!!!

รายามีส่วนสูงเพียง 6 ฟุตบอลแต่อดีตโค้ชที่แบล็คเบิร์นมองเห็นอีกด้านหนึ่ง “ดาบิดไม่ใช่ผู้รักษาประตูที่มีความสูง 6 ฟุต 4นิ้ว หรือ 6 ฟุต 5 นิ้ว เขาต้องต่อสู้กับทัศนคติพวกนี้มาตลอด ซึ่งเขาทดแทนด้วยการเพิ่มเติมเรื่องสปริงตัว พละกำลัง และทักษะทางกีฬา รวมถึงการเคลื่อนที่รอบๆกรอบเขตโทษและวิธีการเล่นด้วยเท้า สิ่งเหล่านี้ทำให้ดาบิดกลายเป็นนักฟุตบอลที่ครบเครื่อง”

“พวกคุณน่าจะเคยเห็นการเซฟของดาบิดมาบ้าง เขาสามารถเซฟบอลที่ห่างจากตัวเขา 2-3 หลาได้อย่างสบายเพราะเคลื่อนไหวได้เร็วมาก ความคล่องตัวบวกพละกำลังช่วยให้เขาครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขึ้น ทำให้การเซฟยากๆกลายเป็นเรื่องง่ายไปเลย”

ภาพ sweeper keeper ชัดเจนที่เบรนท์ฟอร์ด

หลังจากเป็นนายด่านตัวจริงของแบล็คเบิร์น 2 ปี รายาได้เซ็นสัญญา 4 ปี กับ เบรนท์ฟอร์ด เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2019ค่าตัวไม่เปิดเผยแต่มีรายงานว่าน่าจะอยู่ที่ 3 ล้านปอนด์ 

รายาทำผลงานได้โดดเด่นระหว่างครึ่งแรกของซีซัน 2019-20 ในลีกแชมเปียนชิพ ได้รับเสนอชื่อลุ้นตำแหน่งผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมแห่งปีในงาน ลอนดอน ฟุตบอล อะวอร์ดส์ ประจำปี 2020 รายายังเก็บคลีนชีทในบอลลีกเทียร์ 2 ซีซันแรกกับ “เดอะ บีส์” รวม 16 นัด และครองรางวัลถุงมือทองคำของอีเอฟแอล ร่วมกับ บาร์ตอซ เบียลคาวสกี ขณะที่เบรนท์ฟอร์ดพลาดโอกาสเลื่อนชั้นเนื่องจากแพ้ฟูแลม ทีมร่วมลอนดอนตะวันตก 1-2 ในนัดชิงชนะเลิศ แชมเปียนชิพ เพลย์ออฟ ปี 2020

ฤดูกาล 2020-21 รายาทำคลีนชีทได้ 17 นัด พร้อมพาเบรนท์ฟอร์ดขึ้นไปเล่นพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จหลังจากชนะสวอนซี ซิตี 2-0 ในนัดชิงขนะเลิศ แชมเปียนชิพ เพลย์ออฟ ปี 2021 เขาได้รับสัญญาใหม่ยาว 4 ปีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2020 หลังจากมีปัญหาบาดเจ็บและประเด็นย้ายทีมทำให้พลาดลงสนามช่วงพรี-ซีซันและต้นซีซัน นอกจากนี้รายาพัฒนาทักษะนายทวารสไตล์ sweeper keeper ให้เห็นเด่นชัด มีสถิติพาสบอลมากกว่าผู้รักษาประตูทุกคนในแชมเปียนชิพฤดูกาลนั้นกว่า 300 ครั้ง

รายาสัมผัสชัยชนะพรีเมียร์ลีกนัดแรกในการแข่งขันกับอาร์เซนอลเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2021 และได้สักตัวเลข 13/08/21 ไว้ที่ต้นคอเพื่อเป็นอนุสรณ์ ก่อนโชคร้ายบาดเจ็บเอ็นไขว้หลังเข่าเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2021 จากแมตช์กับเลสเตอร์ ซิตี ใช้เวลากว่า 3 เดือนเพื่อกลับมาเฝ้าประตูให้เบรนท์ฟอร์ดอีกครั้งในรอบ 4 เอฟเอ คัพ ที่แพ้ต่อเอฟเวอร์ตัน 1-4 ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 รายาลงเล่นพรีเมียร์ลีกทั้งสิ้น 24 นัด และเบรนท์ฟอร์ดจบซีซัน 2021-22 ด้วยอันดับ 13

ฤดูกาลที่ 2 ในพรีเมียร์ลีก รายาลงสนามครบ 38 นัด และเคยถูกเสนอชื่อลุ้นรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของพรีเมียร์ลีกประจำเดือนมกราคม 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่เบรนท์ฟอร์ดไม่แพ้ทีมไหนจนไต่อันดับขึ้นไปอยู่โซนช่วงชิงโควตาฟุตบอลสโมสรยุโรป แต่ช่วงนี้เช่นกันที่รายาปฏิเสธต่อสัญญาใหม่กับ “เดอะ บีส์” ซึ่งปิดฉากซีซัน 2022-23 ด้วยอันดับ 9 มีแต้มสะสมตามหลังแอสตัน วิลลา ที่ได้ไปเล่นยูฟา คอนเฟอเรนซ์ ลีก เพียง 2 คะแนน

ในส่วนของการรับใช้ชาติ รายามีชื่อร่วมทีมชาติสเปนที่มีคิวเตะอุ่นเครื่อง 2 นัดในเดือนมีนาคม 2022 ประเดิมลงเป็นตัวจริงในแมตช์ชนะอัลบาเนีย 2-1 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม แต่นั่งอยู่ข้างสนามในแมตช์ต่อมา เขายังมีชื่อติดทีมชาติสเปนที่ทำการแข่งขัน ยูฟา เนชันส์ ลีก ประจำปี 2022-23 ซึ่งทีมกระทิงดุครองแชมป์ในบั้นปลาย และเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ ซึ่งสเปนไปได้ไกลเพียงรอบ 16 ทีมสุดท้าย โดยระหว่างนี้ รายาได้สัมผัมเกมเพียงครั้งเดียวเมื่อถูกเปลี่ยนตัวลงสนามครึ่งหลังของเกมอุ่นเครื่องก่อนฟุตบอลโลกกับจอร์แดน

ศักดิ์ศรีที่สูงกว่านายด่านสำรองอาร์เซนอล

วันที่ 15 สิงหาคม 2023 อาร์เซนอล เซ็นสัญญยืมตัวนายทวารวัย 27 ปี เป็นเวลา 1 ซีซันด้วยค่าตัว 3 ล้านปอนด์พร้อมออปชั่นซื้อขาด 27 ล้านปอนด์ และภายใต้เงื่อนไขยืมตัว รายาได้ต่อสัญญากับเบรนท์ฟอร์ดอีก 2 ปี รวมถึงออปชั่นเพิ่มอีก 12 เดือน

แอรอน แรมส์เดล เป็นผู้รักษาประตูมือ 1 ของอาร์เซนอลตลอด 2 ซีซันที่ผ่านมานับตั้งแต่ย้ายจากเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2021 เขาไม่ได้เฝ้าประตูในเกมพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2021-22 เพียง 4 นัด และลงสนามทั้ง 38 นัดในซีซันที่ผ่านมา ซึ่งอาร์เซนอลเป็นรองแชมป์ลีกสูงสุด

มิเกล อาร์เตตา ให้สัมภาษณ์ว่าการเข้ามาของรายาเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้การแข่งขันอยู่ในระดับสูง “เราไม่มีทางเลือกอื่น มีความแตกต่างกว้างมากระหว่างผู้เล่นเทียร์ 1 กับเทียร์ 2 อย่างที่นักข่าวเปรียบเปรย เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร โชคร้ายที่ตอนนี้เราไม่มีนักเตะที่มีฝีมือยอดเยี่ยมจากอะคาเดมีให้ดึงขึ้นมาใช้งาน”

“ถ้ามองไปที่สโมสรอื่น พวกเขามีผู้รักษาประตูที่เก่งมาก 2 คนอยู่ในทีม บางทียอมจ่ายเงิน 60 ล้านปอนด์ 80 ล้านปอนด์ 85ล้านปอนด์ เพื่อซื้อผู้รักษาประตู นั่นมันหมายถึงอะไรล่ะ ผมมีความสุขมากกับทีมที่กำลังสร้างขึ้น เราพยายามสร้างกลุ่มผู้เล่นที่ดีขึ้นเรื่อยๆ”

มีข้อมูลที่น่าสนใจ ตัวแทนของรายาคือ เจาเม มูเนลล์ ชาวสเปน ซึ่งทำหน้าที่เอเยนต์ให้ อินากิ คานา โค้ชผู้รักษาประตูของอาร์เซนอลด้วย รายากับคานาเคยทำงานด้วยกันที่เบรนท์ฟอร์ด และเมื่อปี 2020 อาร์เซนอลเคยติดต่อขอซื้อรายาถึง 4 ครั้ง ก่อนลงเอยด้วยการคว้าตัวแรมส์เดลอีก 12 เดือนต่อมา ดังนั้นการตัดสินใจยืมตัวรายาของอาร์เตตาคงไม่ใช่เพียงมองหานายทวารสำรองธรรมดาแน่นอน

เอดู ผู้อำนวยการกีฬาของอาร์เซนอล กล่าวต้อนรับรายาว่า “ดาบิดเป็นผู้รักษาประตูที่มีคุณภาพระดับท็อป เขาทำผลงานระดับสูงอย่างสม่ำเสมอในพรีเมียร์ลีกกับเบรนท์ฟอร์ด การเข้ามาของดาบิดจะเพิ่มคุณภาพให้กับทีมของเรา เพื่อให้เราโชว์ฟอร์มในระดับสูงได้ทุกรายการที่ร่วมแข่งขัน”

ย้อนกลับไปเกมพรีเมียร์ลีกเดือนกันยายน 2012 หลังจากลิเวอร์พูลเสมอ 3-3 ที่เบรนท์ฟอร์ด คอมมูนิตี สเตเดียม เยอร์เกน คลอปป์ พูดถึงรายาว่า ผู้รักษาประตูของเบรนท์ฟอร์ดสามารถสวมเสื้อหมายเลข 10 ได้เลย เขาผ่านบอลได้เหลือเชื่อหลายครั้ง

ไม่ว่าอนาคตในทีมอาร์เซนอลของรายาเป็นเช่นไร แต่ด้วยเทรนด์ sweeper keeper ที่กำลังมาแรงในฟุตบอลยุคใหม่ รายาในวัยเพียง 27 ปี จึงเป็นผู้รักษาประตูที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก เชื่อว่าถ้าไม่ได้รับโอกาสจากอาร์เซนอล นายด่านเมืองกระทิงดุผู้นี้จะกลายเป็นสินค้าเนื้อหอมในตลาดซัมเมอร์ปีหน้าอย่างแน่นอน … จำชื่อของเขาไว้ให้ดี “ดาบิด รายา”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Football Business

ว่าด้วยเรื่อง “อาร์เซน่อล” กับการเงินที่ติดลบต่อเนื่อง

วันคริสต์มาส ในปี 2022 แฟนบอลอาร์เซน่อลคงจะมีความสุขไม่น้อย ที่ได้เห็นทีมรักนำเป็นจ่าฝูงพรีเมียร์ลีก ซึ่งต้องรอดูว่าหลังจากเบรกฟุตบอลโลก จะยังสานต่อความยอดเยี่ยมไว้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยักษ์ใหญ่จากนอร์ธ ลอนดอนทีมนี้ ได้ประกาศผลประกอบการรอบล่าสุด ประจำปีงบประมาณ 2021-22 พบว่าขาดทุน 45.5 ล้านปอนด์ ทำสถิติขาดทุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว

เรื่องราวเบื้องหลังการเงินของ “เดอะ กันเนอร์ส” ที่ผลประกอบการติดลบอย่างต่อเนื่องหลายปี จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

เปิดเบื้องหลังการเงิน “เดอะ กันเนอร์ส”

ปีงบประมาณ 2021-22 อาร์เซน่อลขาดทุน 45.5 ล้านปอนด์ เป็นการติดลบ 4 ปีติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 2018-19 (27.1 ล้านปอนด์), ปี 2019-20 (47.8 ล้านปอนด์) และปี 2020-21 (107.3 ล้านปอนด์)

ปี 2020-21 ที่อาร์เซน่อลขาดทุนระดับหลักร้อยล้านปอนด์ สาเหตุสำคัญคือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่สามารถเปิดให้แฟนบอลเข้าชมการแข่งขันในสนามได้ตามปกติ

ขณะที่ในปี 2021-22 อาร์เซน่อลไม่ได้เข้าร่วมฟุตบอลสโมสรยุโรปรายการใดๆ เลย เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี แต่ยอดขาดทุนลดลงอย่างมากจากงวดปี 2020-21 เพราะมีรายได้จากแมตช์เดย์มากขึ้น

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาร์เซน่อลมีปัญหาการเงิน คือการใช้เงินซื้อนักเตะไปมากกว่า 200 ล้านปอนด์ ใน 2 ซีซั่นหลังสุด รวมถึงการผ่องถ่ายนักเตะทั้งการขายขาดและปล่อยยืมตัว ทำได้ไม่ดีพอ และได้ราคาไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

ในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน อาร์เซน่อลได้กู้ยืมเงิน 70 ล้านปอนด์กับธนาคารในอังกฤษ รวมกับเงินที่ได้จากการรีไฟแนนซ์ จาก Kroenke Sports & Entertainment (KSE) ของสแตน โครเอ็นเก้ อีกประมาณ 32 ล้านปอนด์

สำหรับเงินกู้ยืมของอาร์เซน่อล จะนำไปปรับปรุงสนามเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม รังเหย้าของสโมสรครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่สร้างสนามมาเมื่อปี 2006 เช่น เพดานสนาม รวมถึงจุดทางเข้าสนามเพื่อให้แฟนบอลเข้าไปได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เงินที่โครเอ็นเก้ ในนามของ KSE ให้มานั้น ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่เป็นเงินกู้ที่มีระยะเวลาในการกู้นานขึ้น และอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่ากู้ธนาคาร ถือเป็นการพิสูจน์ฝีมือในการบริหารหนี้สินของอาร์เซน่อลได้เป็นอย่างดี

กลับสู่การพึ่งตัวเองเพื่อความยั่งยืน

เมื่อการเงินของอาร์เซน่อล ไม่ได้แข็งแกร่งมากเหมือนกับสโมสรยักษ์ใหญ่อื่นๆ ทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้พวกเขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน คือการกลับไปใช้วิธีพึ่งพาตัวเอง เหมือนที่เคยทำมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน

การไม่ได้เข้าร่วมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของอาร์เซน่อลหายไปอย่างมาก จึงต้องเปลี่ยนแปลงการบริหารสโมสร โดยวางแผนทางการเงินอย่างเข้มงวด

ประการแรก อาร์เซน่อลได้ลดจำนวนพนักงานของสโมสร ในฤดูกาล 2021/22 จาก 624 คน เหลือ 595 คน ช่วยประหยัดเงินได้ 34 ล้านปอนด์ และได้จ่ายค่าชดเชยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด 6.7 ล้านปอนด์

และอีกประการหนึ่ง คือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างนักเตะทีมชายชุดใหญ่ของสโมสร โดยเน้นการลงทุนไปที่นักเตะอายุน้อย ค่าเหนื่อยไม่สูงเป็นหลัก เพื่อเป็นรากฐานสำหรับการเงินที่แข็งแกร่งในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น การเสริมทีมในช่วงซัมเมอร์ปี 2021 อาร์เซน่อลใช้เงินไป 125.8 ล้านปอนด์ แลกกับนักเตะหลายคน เช่น เบน ไวท์, มาร์ติน โอเดการ์ด, อารอน แรมสแดล, ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ, อัลเบิร์ต ซามบี โลก็องก้า และนูโน่ ตาวาเรส

ถึงแม้กาเบรียล เชซุส ได้รับบาดเจ็บหนักต้องพักยาว ก็ยังสามารถซื้อผู้เล่นในตลาดเดือนมกราคมได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นการซื้อเพื่อใช้งานในระยะยาวจริงๆ ไม่ใช่ซื้อเพื่อเป็นตัวแทนของเชซุสเพียงชั่วคราว

เป็นที่รู้กันแล้วว่า อนาคตของอาร์เซน่อล ขึ้นอยู่กับการได้สิทธิ์ไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซึ่งพวกเขาตั้งเป้าที่จะไปให้ถึงจุดนั้น เพื่อแลกกับความมั่นคงทางการเงินของสโมสรในระยะยาว

“ถ้วยใหญ่ยุโรป” คือความหวัง

จากการที่อาร์เซน่อล ห่างหายจากการเข้าร่วมแข่งขันยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รายการที่เปรียบดั่งขุมทรัพย์ของทีมฟุตบอลมานาน 6 ปีติดต่อกัน ทำให้การเงินของสโมสรไม่คล่องตัวเท่าที่ควร

แน่นอนว่า การเข้าร่วมแชมเปี้ยนส์ ลีก คือเป้าหมายสำคัญที่ “ปืนใหญ่” จำเป็นต้องทำให้ได้เป็นอันดับแรก เพื่อช่วยแก้ไขเรื่องรายรับ และรายจ่ายของสโมสร ให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว

ถ้าทีมของมิเกล อาร์เตต้า สามารถคว้าโควตาไปแชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาล 2023/24 จะได้รับเงินรางวัลการันตี 13.48 ล้านปอนด์ และมีสิทธิ์ได้เงินเพิ่มอีก 2.4 ล้านปอนด์ ต่อการชนะในเกมรอบแบ่งกลุ่ม 1 นัด

และถ้าหากผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ถ้วยใหญ่ยุโรปได้ จะได้เงินเพิ่มอีก 8.2 ล้านปอนด์ อีกทั้งยังมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และรายได้ในแต่ละแมตช์เดย์ อย่างน้อยที่สุด อาร์เซน่อลจะได้รับเงินประมาณ 50 ล้านปอนด์

โดยกลุ่มแฟนบอลของอาร์เซน่อล ในนาม Arsenal Supporters’ Trust ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า ผลงานที่ยอดเยี่ยมในฤดูกาลนี้ น่าจะทำให้สโมสรที่พวกเขารัก กลับมามีผลประกอบการที่ดีขึ้นในเร็ววัน

“ด้วยนักเตะที่อายุยังน้อย และการกลับสู่ฟอร์มการเล่นที่ดีของทีม ทำให้รายได้ในสนามเพิ่มขึ้น ถือเป็นรากฐานที่ดีสำหรับอาร์เซน่อล ที่จะต่อยอดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้นเราต้องได้ไปแชมเปี้ยนส์ ลีก ในซีซั่นถัดไป เพื่อทำให้เรามั่นใจมากขึ้น”

คาดว่าผลประกอบการในปีงบประมาณ 2022-23 ที่จะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมปีหน้า อาร์เซน่อลจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น จากการได้เล่นถ้วยสโมสรยุโรป และปล่อยนักเตะค่าเหนื่อยแพงออกไปหลายคน

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3965749/2022/12/04/arsenal-45m-loss-january-gabriel-jesus/

https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/champions-league-winner-prize-money-27910360

https://editorial.uefa.com/resources/0277-158b0bea495a-ba6c18158cd3-1000/20220704_circular_2022_47_en.pdf