Categories
Football Business

เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ บนแขนเสื้อข้างซ้ายในพรีเมียร์ลีก

พรีเมียร์ลีกเริ่มต้นฤดูกาล 2022-23 มีข่าวเซอร์ไพรส์เล็กๆ เมื่อ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ซึ่งเพิ่งขึ้นมาเล่นลีกสูงสุดของอังกฤษหลังจากว่างเว้นมานาน 23 ปี เป็นทีมเดียวที่นักเตะสวมเสื้อแข่งว่างเปล่าไม่มีโลโก้ผู้สนับสนุนบนหน้าอกและแขนเสื้อ ซึ่งหมายความว่า ทีมเจ้าป่าขาดรายได้ระดับหลักสิบล้านปอนด์ต่อปีอย่างน่าเสียดาย

เหตุผลไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนใดๆ เพียงแค่ฟอเรสต์ยังไม่สามารถตกลงต่อสัญญาใหม่กับ BOXT บริษัทผลิตอุปกรณ์และวางระบบความร้อน แอร์คอนดิชัน และการระบายอากาศ โดย BOXT แสดงความประสงค์ต้องการเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมเจ้าป่าต่อไปหลังหมดสัญญาฉบับเก่าที่มีระยะเวลาสองปี แต่ข้อเสนอหลายล้านปอนด์ของบริษัทถูกปฏิเสธ ซึ่งว่ากันว่า ฟอเรสต์ต้องการรายได้ประมาณ 7-10 ล้านปอนด์ต่อปี อย่างไรก็ตาม BOXT ได้หันไปจับมือเป็นสปอนเซอร์ให้กับเอฟเวอร์ตันเพื่อปะโลโก้ที่แขนเสื้อ

บนเสื้อแข่งมีพื้นที่สร้างรายได้ให้กับสโมสรอยู่สองตำแหน่งคือ หน้าอกกับแขนเสื้อข้างซ้าย ส่วนแขนเสื้อข้างขวาเป็นสัญลักษณ์พรีเมียร์ลีก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว สปอนเซอร์ที่แขนเสื้อมีมูลค่าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของสปอนเซอร์บนหน้าอก

ถ้าตัดฟอเรสต์ออกไป ทุกทีมในพรีเมียร์ลีกซีซั่นนี้มีโลโก้สินค้าสกรีนบนหน้าอกเสื้อ แต่มีอยู่หนึ่งทีมที่ยังไม่มีเงินไหลเข้าผ่านแขนเสื้อก็คือ แอสตัน วิลลา ซึ่งมี Cazoo บริษัทจำหน่ายรถยนต์ผ่านออนไลน์ เป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อเท่านั้น

ล่าสุด พรีเมียร์ลีกเพิ่งออกกฎใหม่ห้ามบริษัทที่ทำธุรกิจพนัน (แม้ถูกกฎหมาย) เป็นสปอนเซอร์ ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนให้กับแหล่งรายได้ของสโมสรอย่างแรงเพราะเป็นธุรกิจที่เข้ามาสนับสนุนเงินๆทองๆบนเสื้อแข่งมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งได้แก่Dafabet (บอร์นมัธ), HollywoodBets (เบรนท์ฟอร์ด), Stake.com (เอฟเวอร์ตันกับวัตฟอร์ด), W88 (ฟูแลม), SBOTOP (ลีดส์), Fun88 (นิวคาสเซิล), Sportsbet.io (เซาแธมป์ตัน) และ Betway (เวสต์แฮม) ซึ่งยกชื่อมาเฉพาะสปอนเซอร์หลักของเสื้อแข่งเท่านั้นยังไม่อ้างถึงแขนเสื้อ อย่างไรก็ตาม การแบนบริษัทรับพนันยังไม่มีผลอย่างน้อยสามปีนับจากปีนี้

กลุ่มสปอนเซอร์รายใหญ่รองจากธุรกิจพนันก็คือ ธุรกิจการเงินการธนาคาร อย่างเช่น  American Express (ไบรท์ตัน), Standard Chartered (ลิเวอร์พูล), AIA (ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์), AstroPay (วูลฟ์แฮมป์ตัน) และ FBS (เลสเตอร์) ขณะที่สายการบินของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้แก่ Emirates และ Etihad Airways ยังเดินหน้าสนับสนุนด้านการเงินให้กับสองสโมสรยักษ์ใหญ่ อาร์เซนอล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี

โลโก้บริษัทจำหน่ายรถยนต์ Cinch และ Cazoo อยู่บนหน้าอกเสื้อของคริสตัล พาเลซ และแอสตัน วิลลา ส่วน เชลซี และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้รับเงินสปอนเซอร์จาก Three และ Team Viewer ซึ่งทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี นั่นเท่ากับว่ายังไม่มีบริษัทชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาปิดดีลสโมสรพรีเมียร์ลีก

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา PlanetSport ได้เผยแพร่บทความเรื่อง The 11 biggest shirt sponsorship deals: Premier League dominates but Spain’s where the big money is. พบว่า อันดับท็อป-11 ของสโมสรที่โกยรายได้สปอนเซอร์เสื้อแข่งสูงที่สุดในโลกมาจากพรีเมียร์ลีกถึง 6 ทีม แต่ไม่ติดสามอันดับแรก ซึ่งนำโดย เรอัล มาดริด 70 ล้านยูโร ตามด้วยปารีส แซงต์-แยร์แมง 65 ล้านยูโร และบาร์เซโลนา 62.5 ล้านยูโร ซึ่งเป็นจำนวนเงินค่าเฉลี่ยต่อปีของสัญญา

สโมสรจากเมืองผู้ดีที่โกยรายได้มากที่สุดย่อมเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในช่วงทศวรรษนี้หนีไม่พ้น แมนเชสเตอร์ ซิตี 60 ล้านยูโร อยู่อันดับสี่ ขณะที่เพื่อนบ้าน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แม้ฟอร์มไม่ไฉไลบนสนามแต่ยังเป็นทีมเนื้อหอมในเชิงธุรกิจ ทีมปีศาจแดงรับไป 55 ล้านยูโร อยู่อันดับห้า

ส่วนอันดับรองลงไปได้แก่ อันดับหก บาเยิร์น มิวนิค 50 ล้านยูโร, อันดับเจ็ด อาร์เซนอล 46.6 ล้านยูโร และอันดับแปด (ร่วม) ซึ่งรับไป 45 ล้านยูโรเท่ากันคือ ยูเวนตุส, ลิเวอร์พูล, สเปอร์ส และเชลซี

ปฐมบทแห่งการขายพื้นที่โฆษณาบนเสื้อแข่งขัน

พลิกปูมประวัติศาสตร์สปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อแข่งสโมสรอังกฤษเกิดขึ้นเมื่อปี 1974 หรือ 48 ปีที่แล้ว โคเวนตรีเป็นทีมแรกและได้รับเงินจาก Talbot แบรนด์รถยนต์ดังในอดีต ก่อนเป็นที่แพร่หลายช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งมีสองเหตุการณ์ที่น่าบันทึกไว้คือเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 1980 การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ระหว่าง แอสตัน วิลลา และ ไบรท์ตัน ถูกยกเลิกเนื่องจากสองทีมปฏิเสธลงสนามหากไม่ได้สวมเสื้อแข่งที่ปะโลโก้สปอนเซอร์ และในเดือนมกราคม 1981 นิวคาสเซิล และ โบลตัน ถูกปรับ 1,000 ปอนด์โทษฐานสวมเสื้อที่มีโฆษณาปรากฎหราบนหน้าอกในการแข่งขันเอฟเอ คัพ

ก่อนหน้าโคเวนตรีเพียงปีเดียวคือ ปี 1973 สปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อแข่งกลายเป็นนวัตกรรมใหม่อย่างเป็นทางการในลีกระดับเมเจอร์ของยุโรปครั้งแรกที่บุนเดสลีกาเมื่อ ไอน์ทรัค บรันสวิก รับเงินจากบริษัทเครื่องดื่ม Jaegermeister เพื่อเอาโลโก้สโมสรออกไปแล้วแทนที่ด้วยสัญลักษณ์หัวกวางขนาดใหญ่ปะบนหน้าอก

สำหรับโลโก้โฆษณาบนแขนเสื้อ ได้รับอนุญาตจากพรีเมียร์ลีกให้ปรากฎบนแขนเสื้อข้างซ้ายครั้งแรกในฤดูกาล 2017-18หรือห้าปีที่แล้ว โดยกำหนดให้มีขนาดสูงสุด 100 ตารางเซนติเมตร ส่วนข้างขวายังเป็นโลโก้พรีเมียร์ลีก แต่กว่าที่มีกฎนี้ออกมา สโมสรต่างๆ ต้องออกแรงล็อบบีผู้บริหารพรีเมียร์ลีกอยู่หลายปี

ทางด้านยูฟ่าเริ่มกดปุ่มไฟเขียนให้สโมสรยุโรปหารายได้จากช่องทางเดียวกันในการแข่งขันแชมเปียนส์ ลีก, ยูโรปา คัพ และคอนเฟอเรนซ์ ลีก ตั้งแต่ฤดูกาล 2021-22 หรือเมื่อซีซั่นที่แล้วนี่เอง โดยมีรายละเอียดเหมือนกันคือ ติดโลโก้แขนซ้ายและมีขนาดมากที่สุด 100 ตารางเซนติเมอร์ รวมถึงส่วนสูงไม่เกิน 12 เซนติเมตร และต้องเป็นสปอนเซอร์ตัวเดียวกับที่ใช้ในฟุตบอลภายในประเทศ แต่ถ้าไม่มี สปอนเซอร์ต้องเป็นตัวเดียวกับที่สนับสนุนชุดแข่งขันอยู่เช่น หลังเสื้อ กางเกง

และต้องบันทึกไว้ว่า โอลิมปิก ลียง ซึ่งลงแข่งขันยูโรปา ลีก ฤดูกาลที่แล้ว เป็นสโมสรแรกที่มีสปอนเซอร์แขนเสื้อทั้งฟุตบอลภายในประเทศและบอลถ้วยยุโรป หลังจากเซ็นสัญญากับ MG Motor ค่ายผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ จนถึงปี 2024

แมนฯ ซิตี เซ็นสัญญาสปอนเซอร์แขนเสื้อเป็นทีมแรกในพรีเมียร์ลีก

ย้อนกลับมาที่พรีเมียร์ลีก ซึ่งเริ่มอนุญาตให้สโมสรขายโลโก้บนแขนเสื้อในซีซั่น 2017-18 เป็นปีแรก และก็เป็น แมนเชสเตอร์ ซิตี ที่ปิดดีลได้ก่อนใคร สมศักดิ์ศรีทีมที่ครองความยิ่งใหญ่ในลีกเมืองผู้ดีช่วงต้นทศวรรษ 2010 หลังการล้างมือในอ่างทองคำของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน โดยก่อนหน้านี้ ทีมเรือใบสีฟ้าเป็นแชมป์ 2 สมัย (2011–12, 2013–14) และรองแชมป์ 2 สมัย (2012–13, 2014–15)

ปลายเดือนมีนาคม 2017 แมนเชสเตอร์ ซิตี เซ็นสัญญากับ Nixen Tire บริษัทยางรถยนต์สัญชาติเกาหลี ก่อนปิดท้ายซีซั่น 2017-18 ด้วยแชมป์พรีเมียร์ลีก เป็นการเริ่มต้นยุคทองอย่างจริงจังเพราะช่วงห้าปี ทีมเรือใบสีฟ้าชนะเลิศพรีเมียร์ลีกถึง 4 สมัย มีเพียงฤดูกาล 2019-20 ที่โทรฟีตกอยู่ในมือของลิเวอร์พูล

เชื่อหรือไม่ว่าขณะที่ทีมเล็กทีมน้อยระดับกลางตารางและดิ้นรนหนีตกชั้นได้รับเสียงตอบรับจากสปอนเซอร์ แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง อาร์เซนอล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ กลับลงสนามในซีซั่น 2017-18 พร้อมด้วยโลโก้พรีเมียร์ลีกติดแขนเสื้อทั้งสองข้าง โดยทีมปืนใหญ่กับทีมไก่เดือยทองติดเงื่อนไขในสัญญากับสปอนเซอร์หลัก ขณะที่ทีมปีศาจแดงไม่มีการระบุเหตุผลที่ชัดเจนแต่เชื่อว่าคงตกลงตัวเลขเงินกันไม่ได้ พร้อมข่าวลือว่า ทีมปีศาจแดงได้เปิดโต๊ะเจรจากับ Tinder แอปพลิเคชั่นหาคู่

จนกระทั่งปีต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2018 ก่อนเปิดฤดูกาล 2018-19 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงออกข่าวเปิดตัวสปอนเซอร์บนแขนเสื้อรายแรกคือ Kohler บริษัทผลิตเครื่องใช้อุปกรณ์ในห้องน้ำห้องครัวสัญชาติอเมริกัน โดยตัวอักษร KOHLER อยู่บนแขนเสื้อนัดแรกในเกมอุ่นเครื่องกับ คลับ อเมริกา ที่เมืองฟินิกซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา แผ่นดินแม่ของบริษัท ในวันที่ 19กรกฎาคม 2018 ซึ่งวันนั้น นักเตะเรด อาร์มี่ ได้สวมเสื้อเหย้าดีไซน์ใหม่ของ Adidas อีกด้วย

แต่ซีซั่นปัจจุบัน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เปลี่ยนสปอนเซอร์แขนเสื้อเป็น DXC Technology บริษัทสัญชาติอเมริกันเช่นกัน โดยไม่มีการเปิดเผยตัวเลขรายได้ และถือเป็นก้าวแรกของ DXC ที่เข้ามาสร้างสายสัมพันธ์ในวงการลูกหนังหลังจากเซ็นสัญญาสนับสนุนการจัดมหกรรมกีฬา ปารีส เกมส์ 2024 ทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิก

มีบางทีมที่ปิดดีลหลังพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017-18 เริ่มไปแล้วระยะหนึ่งเช่น เบิร์นลีย์ เซ็นสัญญากับเกมมือถือ Golf Clashต้นเดือนตุลาคม 2017 และก่อนหน้านั้นกลางเดือนกันยายน เอฟเวอร์ตัน เรียกเสียงฮือฮาจากแฟนบอลเมื่อประกาศว่า พวกเขาจะติดโลโก้เกมสุดฮิตในยุคนั้นที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดตลอดกาลอย่าง Angry Birds บนแขนเสื้อแข่ง

การขายสปอนเซอร์บนแขนเสื้อในซีซั่นแรก สโมสรส่วนใหญ่ได้รับเงินเข้ากองคลังหลักแสนปลายๆหรือ 1-2 ล้านต่อปี ยกเว้นสโมสรระดับพี่เบิ้มที่นำโดย เชลซี ที่คาดว่าโกยจาก Alliance Tyres มากถึง 8 ล้านปอนด์ ตามมาติดๆด้วย แมนเชสเตอร์ ซิตี ที่รับจาก Nexen Tire 7 ล้านปอนด์ ส่วน ลิเวอร์พูล เซ็นสัญญา 5 ปี 25 ล้านปอนด์กับ Western Union ซึ่งยกเลิกสัญญาก่อนสองปี โดยมี Expedia เข้ามาแทนในปี 2020 และจะหมดสัญญาฤดูร้อนปีหน้า คาดว่าบริษัทธุรกิจท่องเที่ยวรายนี้จ่ายให้ทีมหงส์แดงปีละ 10 ล้านปอนด์

บิลลี โฮแกน ซีอีโอของลิเวอร์พูล ให้สัมภาษณ์ว่า สโมสรกับ Expedia กำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจาต่อสัญญา และก่อนหน้านี้ ทีมหงส์แดงเพิ่งขยายสัญญากับ Standard Chartered สปอนเซอร์หลักบนเสื้อออกไปอีกสี่ปีหลังจากจับมือเป็นพันธมิตรมายาวนานตั้งแต่ปี 2010 โดยเชื่อว่า บริษัทมหาชนด้านธุรกิจการเงินการธนาคารของอังกฤษยอมจ่ายสูงถึง 30 ล้านปอนด์ต่อปีเลยทีเดียว

สำหรับสโมสรและสปอนเซอร์แขนเสื้อในฤดูกาล 2017-18 ของทีมอื่นๆประกอบด้วย ไบรท์ตัน – JD, เวสต์ บรอมวิช – 12BET, เวสต์แฮม – MRF Tyres, นิวคาสเซิล – MRF Tyres, บอร์นมัธ – M88, สวอนซี – Barracuda Networks, สโต๊ค – First Eleven, เซาแธมป์ตัน – Virgin Media, เลสตอร์ – Siam Commercial Bank (ธนาคารไทยพาณิชย์), คริสตัล พาเลซ – Dongqiudi, ฮัดเดอรฟิลด – PURE Legal และ วัตฟอร์ด – 138 Bet

มาช้าดีกว่าไม่มา “สเปอร์ส” เพิ่งติดโลโก้สินค้าที่แขนเสื้อต้นปี 2021

อาร์เซนอล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และสเปอร์ส เป็นเพียงสามทีมในพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017-18 ที่ไม่ได้ขายโลโก้บนแขนเสื้อ แต่ซีซั่นต่อมา 2018-19 เหลือเพียงทีมไก่เดือยทองที่ยังติดโลโก้พรีเมียร์ลีกบนแขนเสื้อสองข้าง หลังจากทีมปืนใหญ่เซ็นสัญญากับ Rwanda Development Board ในเดือนพฤษภาคม 2018 เพื่อโปรโมทแคมเปญท่องเที่ยว Visit Rwanda ในซีซั่นแรกของยุคหลังอาร์แซน เวนเกอร์ และทีมปีศาจแดงเซ็นสัญญากับ KOHLER ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน

กว่าที่ทีมสเปอร์สจะขายสปอนเซอร์แขนเสื้อได้ก็ช้ากว่าทีมอื่นเกือบสี่ปี ซึ่ง ดาเนียล เลวี ประธานสโมสร เคยให้เหตุผลว่าสปอนเซอร์แขนเสื้ออาจจะไปลดมูลค่าของสัญญาสิทธิ์การตั้งชื่อสนามแข่งขัน ซึ่งสำหรับตัวเขาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แม้กระทั่งในเดือนกรกฎาคม 2019 ซึ่งสโมสรได้ต่อสัญญากับ AIA Group สปอนเซอร์หลักของเสื้อแข่ง ไปจนสิ้นสุดซีซั่น 2026-27 ซึ่งคาดว่ามีมูลค่ารวมสูงถึง 320 ล้านปอนด์ เลวีก็ยังไม่เอ่ยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับสปอนเซอร์แขนเสื้อ ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านการเงินประเมินว่า สเปอร์สขาดรายได้ส่วนนี้ไปถึง 10 ล้านปอนด์ต่อปี เมื่อเทียบกับคู่แข่งร่วมกรุงลอนดอนอย่างเชลซีและอาร์เซนอลที่รับเงินจาก Hyundai 5 ปี 50 ล้านปอนด์ และ Rwanda Development Board 3 ปี 30 ล้านปอนด์ ตามลำดับ

จนกระทั่งต้นเดือนมกราคม 2021 ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ได้จับมือกับ Cinch บริษัทจำหน่ายรถยนต์ทางออนไลน์ ซึ่งจะมาเป็นสปอนเซอร์แขนเสื้อรายแรกของสโมสรเป็นเวลาห้าปี โดยแฟนบอลได้เห็นโลโก้ Cinch เป็นครั้งแรกในการแข่งขันเอฟเอ คัพ กับ มารีน เอเอฟซี ในวันที่ 10 มกราคม 2021

แม้ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขเงินของสัญญาแต่เชื่อว่า Cinch คงจ่ายเงินเพื่อแลกสิทธิปรากฎโลโก้บนแขนเสื้อทีมไก่เดือยทองราวปีละ 10 ล้านปอนด์เช่นเดียวกับยักษ์ใหญ่ทีมอื่น ส่วนเหตุผลที่ฝ่ายบริหารของสโมสรตัดสินใจขายพื้นที่บนแขนเสื้อข้างซ้ายให้กับบริษัทจำหน่ายรถยนต์นั้น ผู้สันทัดกรณีฟันธงว่า ไม่มีความซับซ้อนใดๆเพียงเลวีเริ่มตระหนักว่า การเพิ่มช่องทางของรายได้จะช่วยลดช่องว่างทางบัญชีการเงินระหว่างสเปอร์สกับสโมสรชั้นนำของพรีเมียร์ลีกที่ดูเหมือนจะทิ้งห่างพวกเขาออกไปเรื่อยๆ

มีคำกล่าวหนึ่งที่คนในวงการฟุตบอลอาชีพคุ้นเคยดีคือ “เมื่อคุณมีเงิน คุณจะชนะ, คุณไม่สามารถชนะจนกว่าคุณมีเงิน, จากนั้นยิ่งคุณชนะ คุณยิ่งต้องมีเงินเพื่อรักษาชัยชนะนั้นไว้”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา

Categories
Football Business

สรุปการรับชม “พรีเมียร์ลีก” ฤดูกาลใหม่ 2022/23 ผ่าน 4 วิธีการหลักจาก “กลุ่มทรู”

ปีนี้เป็นปีที่สำคัญของคอบอล เพราะเป็นปี “ฟุตบอลโลก” ซึ่งจะทำการแข่งขันระหว่าง 21 พ.ย. ถึง 18 ธ.ค.2022 อันทำให้ฤดูกาลแข่งขันฟุตบอลลีกต่าง ๆ ยุโรปเริ่มเร็วกว่าปกติ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก็เช่นกันที่จะคิกออฟซีซั่นใหม่ 6 ส.ค. นี้ (พักเบรกให้เวิลด์คัพ 12 พ.ย.) โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ในประเทศไทยยังคงเป็นผู้เล่นตัวเก๋า “ทรูวิชั่นส์” ซึ่งครองการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในประเทศไทยมาแทบจะทุกยุคทุกสมัยทั้งทางตรง (ซื้อตรงผ่านพรีเมียร์ลีก) หรือทางอ้อม (ซื้อผ่านเจ้าของสิทธิ์ที่ได้สิทธิ์ตรงจากพรีเมียร์ลีกอีกทอดหนึ่ง)

โดยเมื่อ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์สยามพารากอน ทรู วิชั่นส์ เป็นเจ้าภาพของ “กลุ่มทรู” จัดแถลงข่าวอย่างยิ่งใหญ่เพื่อป่าวประกาศความมันส์ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ยิงสดต่อไปอีก 3 ฤดูกาลเต็ม ๆ 2022/23 – 2024/25 อย่างเป็นทางการในฐานะ Official Broadcaster 

นอกจากนี้ “กลุ่มทรู” ยังจัดหนักแพ็คเกจหลากหลายเพื่อตอบสนองการรับชมทุกช่องทางผ่านทุก Business Units ของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มทีวี (ทรู วิชั่นส์), สมาร์ตโฟน (ทรูมูฟ เอช), ทรูไอดี (ระบบอินเทอร์เน็ต – ทรู ออนไลน์) รวมถึงการสื่อสารถึงคอนเทนต์พรีเมียร์ลีกในรุปแบบสมัยใหม่ผ่าน โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์ม อย่าง เฟซบุ๊ก, ยูทูป, tiktok, IG ฯลฯ เพื่อให้แฟนฟุตบอลเข้าถึง และมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

รวมไปถึงในปีนี้จะมีกิจกรรมร่วมกับแฟนบอลผ่านเกมแฟนตาซี พรีเมียร์ลีก ที่มีคนเล่นทั่วโลกกว่า 9 ล้านคน มาเปิดลีกพิเศษสำหรับคนไทยอย่าง “ทรู วิชั่นส์ ลีก” ที่มีของรางวัลสุดพรีเมี่ยมให้ลุ้นทุกสัปดาห์อีกด้วย

ว่าแล้ว ไปรับชมโปรโมชั่นสำหรับรับชมพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ในแต่ละช่องทางของ “กลุ่มทรู” กันค่ะ:

1. ทรู วิชั่นส์ หรือกล่องทรู ดีที่สุด มีให้ดูครบถ้วนทุกอย่าง เหมาะสำหรับครอบครัว

– แพ็กเกจแพลตินัม เอชดี เริ่มต้นเพียง 2,155.15 บาท/เดือน ชมฟรี EPL 3 ฤดูกาล (2022/23 – 2024/25 

) และชมฟรี beIN SPORTS  2 ฤดูกาล (2022/23 – 2023/24) พร้อมรับ 1,000 True Point  และ True Black Card

– แพ็กเสริม ทรูพรีเมียร์ ฟุตบอล เอชดี พลัส (True Premier Football HD+) สมาชิกทรู วิชั่นส์ แพลตินัม ชมฟรีตลอด 3 ฤดูกาล สิ้นสุด 31 พฤษภาคม 2568 สมาชิกแพ็กอื่น ๆ พิเศษ ผูกเบอร์ทรูมูฟ เอช เพียง 299 บาทต่อเดือน (จากปกติ 399 บาท)

– แพ็กเสริม “EPL Season Pass” เหมาจ่ายตลอดฤดูกาล พิเศษสุด!! เฉพาะสมาชิกทรู วิชั่นส์ 1 ฤดูกาล เพียง 2,500.- บาท (จากปกติ 3,990 บาท )พร้อมชมฟรี beIN Sports 3 เดือน (90 วัน) หรือสมัคร 3 ฤดูกาล เพียง 7,000.- บาท (จากปกติ 11,970 บาท) สมัครด่วน!! วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2565 เท่านั้น

2. ทรูมูฟ เอช ดูบอลสด ผ่านมือถือ สะดวก สบาย ดูบอลได้ทุกที่ ทุกเวลา

– ดูฟรี! ครบ 380 แมตช์ ตลอดฤดูกาล เพียงเปิดเบอร์ใหม่ หรือย้ายค่าย แบบรายเดือน แพ็กเกจ 5G Ultra Max Speed 1,199 บาทต่อเดือน เล่นเน็ตไม่อั้น เต็มสปีด โทรฟรีไม่อั้นในเครือข่าย โทรนอกเครือข่าย 350 นาที Wi-Fi ฟรีไม่จำกัด

– แพ็กเกจเสริม ดูฟุตบอล ทรูพรีเมียร์ลีก ครบทุกแมตซ์ ตลอดฤดูกาล สำหรับลูกค้าทรูมูฟเอช แบบรายเดือนและเติมเงิน ราคา 2,700 บาท พิเศษ!ราคา Early Bird เพียง 2,200 บาทเท่านั้น เมื่อสมัครภายใน 31 ก.ค.นี้ 

– แพ็กเกจเสริมดูฟุตบอล ทรูพรีเมียร์ลีก พร้อมเน็ตดูทรูไอดีไม่อั้น แบบ 30 วัน ราคา 399บาท, แบบ 7 วัน ราคา 219 บาท

– สิทธิพิเศษ! ลูกค้าทรูมูฟ เอชทั้งแบบรายเดือน และเติมเงิน ทั้งลูกค้าใหม่ และลูกค้าปัจจุบัน ดูฟรี ทีมโปรด บนมือถือ ครบทุกแมตช์ ตลอดฤดูกาล (ก็คือ 38 นัดตามทีมโปรด) ผ่านแอปทรูไอดี กับแพ็กเกจทรูอันล็อก ลูกค้าทรูมูฟ เอช รับสิทธิ์ กด *555*56# โทรออก (และติดตามรายละเอียดการเลือกทีมโปรด ได้บนแอปทรูไอดี ส.ค. นี้) มาเป็นลูกค้าทรูมูฟเอชแบบเติมเงินง่ายๆ แค่เปิดซิมใหม่ “ซิมทรูไอดี” เพียง 49.- บาท หรือเปิดซิมรายเดือนแพ็กเกจ 299 บาทขึ้นไป

3. ทรูออนไลน์ ทางเลือกเพื่อการรับชมบนจอทีวี กับไลฟ์สไตล์แบบ OTT ยุคปัจจุบัน

– แพ็กเกจ True Gigatex Fiber 999 บาทต่อเดือน ดูฟรี สดครบทุกแมตช์ มาพร้อมเน็ตบ้านไฟเบอร์1000/500Mbps, ซิมทรูมูฟ เอช 15GB 60 นาที, อุปกรณ์เราเตอร์อัจฉริยะ และ อุปกรณ์กระจายสัญญาณ Gigatex Mesh WiFi, กล่องทรูไอดีทีวี พร้อมดูฟรี TrueID+ 24 เดือน (สำหรับลูกค้าทรูมูฟ เอช รับส่วนลด 200 บาท สมัครราคาพิเศษเพียง 799 บาทต่อเดือน)

– แพ็กเกจ True Gigatex Unlock TV เริ่มเพียง 599 บาทต่อเดือน ดูฟรีทีมโปรด สด ครบทุกแมตช์ ปลด
ล็อกทุกแมตช์ทีมโปรด ตลอดฤดูกาล (ฟรี! 38 นัดเกาะติดทีมรัก) และความบันเทิงทั้งหนังดัง ซีรีส์ฮิต อนิเมะ สารคดีดังระดับโลก คมชัดบนทีวี และดูได้ทุกที่ผ่านมือถือ พร้อมความเร็วเน็ตบ้าน 1000/300Mbps, กล่องทรูไอดีทีวี พร้อมซิมทรูมูฟ เอช 2 ซิม

4. ทรูไอดี เริ่มเพียง 179 บาทต่อวันเท่านั้น ไม่จำกัดค่ายก็รับชมได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และกล่องทรูไอดี ซึ่งแน่นอนว่า เป็นการเชื่อมต่อเพื่อรับชมโดยใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต ดังนั้นหากใช้กล่องทรูไอดี ควบคู่ไปกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทรูออนไลน์ แพ็คเกจต่าง ๆ (ตามข้อ 3 ข้างต้น) ก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ทว่าหากไม่สะดวกก็สามารถเลือกค่ายได้ตามต้องการ แต่ราคาค่าบริการจะแพงกว่านะคะ

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ภาพรวมช่วยให้เพื่อน ๆ คอบอลไปเสาะแสวงหาช่องทางเพื่อติดตาม และรับชมทีมโปรดผ่านลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลกได้ในรูปแบบวิธีตามถนัดของตัวเอง

อย่างไรก็ดี ในฐานะแฟนบอลผู้ชาญฉลาด (Smart Supporters) การเจาะศึกษาข้อมูลโปรโมชั่นที่ “กลุ่มทรู” มีอยู่มากมาย กับคอนเทนท์ที่มากมาย (มากกว่าแค่ พรีเมียร์ลีก แต่เป็นแทบทุกลีก และทุกประเภทกีฬาหลัก รวมถึงภาพยนตร์, สารคดี, การ์ตูน ฯลฯ) เพื่อตอบโจทย์การรับชมส่วนตัว หรือครอบครัว หรือที่พักอาศัย หรือตามไลฟ์สไตล์ คือ สิ่งที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุด และอรรถรสดีที่สุดในการติดตามพรีเมียร์ลีก เช่น การ unlock (ทรู ออนไลน์ หรือทรูมูฟ เอช) หรือ season pass ราคาพิเศษ 1 หรือ 3 ฤดูกาลรวด ไปจนถึง “เต็มแมกซ์” ไม่พลาดอะไรแน่นอนกับ ทรู วิชั่นส์ แพลตินัม เอชดี ที่จะได้รับชมความคมชัดในแมตช์ หรือคอนเทนท์พิเศษถึงระดับ 4K ด้วยซ้ำไป

สุดท้าย หวังว่า ข้อมูลครั้งนี้จะช่วยทุกคนได้บ้าง และแน่นอนว่า ขอให้สนุกที่สุดกับพรีเมียร์ลีก ซีซั่นใหม่ 2022/23 กันถ้วนหน้าค่ะ

📝ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย (แนน)

Categories
Football Business

“ลิเวอร์พูล” กับการไปต่ออีก 4 ปี ของ “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด”

ในช่วงปลายทศวรรษ 1970s ฟุตบอลอังกฤษได้เปิดรับให้มีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อแข่งขันของสโมสร ซึ่งลิเวอร์พูล ถือเป็นสโมสรแรก ๆ ที่นำร่อง และเป็นภาพจำในแต่ละยุคสมัย

ท่ามกลางความไม่แน่นอนในเรื่องสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อรายเดิมที่กำลังจะหมดสัญญา และมีการเจรจากับหลายราย แต่ในที่สุด “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” ยังอยู่กับลิเวอร์พูลไปอีก 4 ปี

เรื่องราวของ “หงส์แดง” กับสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กับการไปต่อของ “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” วันนี้ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

โลกฟุตบอลยุคเก่าถูกทำลายล้าง

24 มกราคม 1976 “เคทเทอริ่ง ทาวน์” สโมสรแรกในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดี ที่มีสปอนเซอร์บนเสื้อแข่ง โดยสวมเสื้อที่มีคำว่า “Kettering Tyres” ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจศูนย์บริการยางรถยนต์ อยู่บนหน้าอกลงแข่งขัน

แต่ทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ สั่งให้เคทเทอริ่ง ทาวน์ เอาสปอนเซอร์ “Kettering Tyres” ที่อยู่บนหน้าอกเสื้อออกไป เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีกฎที่อนุญาตให้ทีมฟุตบอลมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน

ทางเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็พยายามที่จะเลี่ยงบาลี เปลี่ยนเป็น “Kettering T” ที่มาจากคำว่า Town แต่ทางเอฟเอบอกว่า จะปรับเงิน 1,000 ปอนด์ ถ้ายังฝ่าฝืนกฏ สุดท้ายแล้วเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็ยอมเอาออกแต่โดยดี

หลังจากเคสของเคทเทอริ่ง ทาวน์ ผ่านไปไม่นาน ดาร์บี้ เคาน์ตี้ สโมสรในดิวิชั่น 1 กับโบลตัน วันเดอเรอร์ส ทีมระดับดิวิชั่น 2 ตัดสินใจทำหนังสือไปยังเอฟเอ เพื่อขอให้มีสปอนเซอร์ทางธุรกิจ ไปอยู่บนเสื้อแข่งขัน

ที่สุดแล้ว ในเดือนมิถุนายน 1977 เอฟเอจึงอนุมัติให้สโมสรฟุตบอลมีสปอนเซอร์อยู่บนเสื้อได้ แต่ได้เพิ่มเงื่อนไขว่า ถ้ามีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ห้ามสวมชุดแข่งที่มีสปอนเซอร์บนหน้าอกลงแข่งขันโดยเด็ดขาด

ซึ่งสโมสรแรกในลีกสูงสุดเมืองผู้ดี ที่ประเดิมสวมชุดแข่งขันที่มีสปอนเซอร์อยู่บนหน้าอก คือ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ในฤดูกาล 1977/78 โดยมี “SAAB” บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสวีเดน เป็นผู้สนับสนุน

ย้อนรอยสปอนเซอร์บนเสื้อ “หงส์แดง”

ลิเวอร์พูล ได้เริ่มสวมเสื้อที่มีสปอนเซอร์อยู่บนหน้าอก ลงแข่งขันในแมตช์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อปี 1979 ซึ่งรายชื่อแบรนด์สินค้าทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

👉 Hitachi (1979-1982) : บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของญี่ปุ่น สปอนเซอร์รายแรกที่อยู่บนหน้าอกเสื้อชุดแข่งของลิเวอร์พูล ในยุคที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างความรุ่งเรือง ช่วงปลายยุค 1970s ถึงต้นยุค 1980s

👉 Crown Paints (1982-1988) : บริษัทผลิตสีทาบ้านจากอังกฤษ เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อ ช่วงที่ลิเวอร์พูลยังครองความยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง ในปีแรกแยกเป็น 2 บรรทัด แต่หลังจากนั้นยุบเหลือบรรทัดเดียว

👉 Candy (1988-1992) : ไม่ได้เกี่ยวกับลูกอม แต่เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากอิตาลี อยู่บนหน้าอกเสื้อในช่วงที่ลิเวอร์พูล เข้าสู่ช่วงท้ายๆ ของความยิ่งใหญ่ในยุค “บูทรูม สต๊าฟฟ์” ก่อนที่จะเผชิญกับขาลง

👉  Carlsberg (1992-2010) : แบรนด์เครื่องดื่มจากประเทศเดนมาร์ก ถึงแม้ในช่วงเวลานั้น ลิเวอร์พูลได้ห่างหายแชมป์ลีกสูงสุดเป็นเวลานาน แต่สปอนเซอร์รายนี้ก็ยังจงรักภักดีกับสโมสรยาวนานถึง 18 ปี

👉 Standard Chartered (2010-ปัจจุบัน) : ธนาคารชื่อดังระดับโลก ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในยุคที่ลิเวอร์พูล ค่อย ๆ กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง โดยเฉพาะยุคของเจอร์เก้น คล็อปป์ ที่คว้าแชมป์รายการใหญ่ 6 โทรฟี่

สปอนเซอร์หน้าอกเสื้อแข่งขัน ถือเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวในแต่ละช่วงเวลาของสโมสรฟุตบอลนั้น ๆ ว่า ได้ผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง ซึ่งทั้งสปอนเซอร์และสโมสร ต่างก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ตัดสินใจต่อสัญญากับเจ้าเดิมอีก 4 ปี

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า ลิเวอร์พูลพยายามเจรจากับบริษัทคริปโตเคอเรนซี่ เพื่อมาเป็นสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อของสโมสรรายใหม่ แทนที่รายเดิมที่จะหมดสัญญาในปีหน้า

แต่ในที่สุด ยักษ์ใหญ่แห่งเมอร์ซีย์ไซด์ทีมนี้ ตัดสินใจต่อสัญญากับธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกไปอีก 4 ปี มีผลถึงปี 2027 คาดว่าได้รับเงินปีละ 50 ล้านปอนด์ รวมทั้งสิ้น 200 ล้านปอนด์

บิลล์ วินเทอร์ส ซีอีโอของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กล่าวว่า “ตอนที่เราเริ่มสนับสนุนลิเวอร์พูลมาตั้งแต่ปี 2010 นึกไม่ถึงเลยว่าลิเวอร์พูลจะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกันต่ออีก 4 ปี”

ขณะที่ บิลลี่ โฮแกน ซีอีโอของลิเวอร์พูล กล่าวว่า “การเข้ามาสนับสนุนของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จทั้งในและนอกสนามช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเราหวังว่าจะได้ร่วมกันสนับสนุนแฟน ๆ ต่อไป”

ส่วนประเด็นที่มีการเจรจากับบริษัทคริปโตเคอเรนซี่ ในการเป็นสปอนเซอร์ใหม่นั้น โฮแกนมองว่า วงการคริปโตเคอเรนซี่ ยังไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน และมีความเสี่ยงสูง จึงยังไม่ถึงเวลาที่จะเจรจาเรื่องนี้

“สำหรับคริปโตเคอเรนซี่แล้ว มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างกว้าง มีองค์ประกอบต่างๆ มากมาย ที่อยู่ในนั้น มันยังเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน ซึ่งตอนนี้กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก”

“ผมไม่ได้พูดว่า จะไม่สนใจอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี่ แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ใช่ตอนนี้ ถ้าในอนาคตได้พบกับพันธมิตรที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมนั้น ผมจะดูเรื่องนี้อย่างแน่นอน” โฮแกน กล่าวปิดท้าย

การมีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อ นอกจากจะเป็นการหารายได้เข้าสู่สโมสรแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยให้แฟนฟุตบอลจดจำ และกลายเป็นภาพที่ติดตาจนไม่สามารถลบเลือนออกจากความทรงจำของแฟนฟุตบอลได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://sportslens.com/news/on-this-day-jan-24/

https://www.liverpoolfc.com/news/history-liverpools-shirt-sponsors

https://theathletic.com/3422768/2022/07/14/liverpool-standard-chartered-crypto/

Categories
Football Business

เปิดเบื้องหลังชื่อสนามเหย้า 20 ทีมลาลีกา 2022/23

เหตุผลของการตั้งชื่อสนามฟุตบอลของแต่ละสโมสรนั้น ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะมาจากชื่อสถานที่ตั้ง, ชื่อบุคคลสำคัญ หรือมีเหตุผลอื่นๆ ที่แปลกประหลาด ทำเอาหลายคนคาดไม่ถึง

อย่างเช่นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บาร์เซโลน่า และอัลเมเรีย ได้เปลี่ยนแปลงชื่อสนามแข่งขัน เพื่อต้อนรับการแข่งขันลาลีกา 2022/23 ที่กำลังจะเริ่มขึ้น ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

สังเวียนแข้งของบาร์ซ่า เปลี่ยนชื่อเป็น “สปอติฟาย คัมป์ นู” ส่วนชื่อรังเหย้าใหม่ของอัลเมเรีย คือ “เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม” ซึ่งทั้ง 2 สโมสร ต่างเปลี่ยนชื่อด้วยเหตุผลเดียวกันคือเรื่อง “ธุรกิจ”

ลาลีกา ได้นำเรื่องราวเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่ของชื่อสนามเหย้าทั้ง 20 สโมสร ในการแข่งขันซีซั่นใหม่มาฝากกัน เพื่อเป็นเกร็ดความรู้สำหรับแฟน ๆ ลูกหนังลีกสเปน

Descripcion de la juada

อัลเมเรีย – เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม

สนามเหย้าของอัลเมเรีย เดิมมีชื่อว่า “เอสตาดิโอ เด ลอส ฆูเอกอส เมดิเตร์ราเนออส” สร้างขึ้นเมื่อปี 2004 เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติในปีต่อมา และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 เป็นต้นไป ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม” โดยมาจากชื่อของ “Power Horse” แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังจากประเทศออสเตรีย

แอธเลติก บิลเบา – ซาน มาเมส

“ซาน มาเมส” สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1913 ก่อนทุบทิ้งในปี 2010 จากนั้นได้สร้างสนามใหม่ทดแทน และเปิดใช้งานในปี 2013 หรือ 100 ปี หลังจากสร้างสนามแห่งแรก สำหรับชื่อของ “ซาน มาเมส” นั้น มีที่มาจากชื่อของ San Mamés (Saint Mammes) ซึ่งเป็นนักบุญไบแซนไทน์ และเป็นชื่อของโบสถ์ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสนามเหย้าของบิลเบา

แอตเลติโก มาดริด – เอสตาดิโอ เมโทรโปลิตาโน่

“เอสตาดิโอ เมโทรโปลิตาโน่” สร้างขึ้นเมื่อปี 1990 แต่ได้ถูกใช้เป็นสนามเหย้าของแอต. มาดริด มาตั้งแต่ปี 2017 แทนที่ บิเซนเต้ กัลเดร่อน รังเหย้าแห่งเดิม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ว่านต๋า เมโทรโปลิตาโน่” ตามชื่อของ Wanda กลุ่มทุนจากประเทศจีนที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ส่วนชื่อ “Metropolitano” คือชื่อสนามเหย้าแห่งแรกของสโมสร

บาร์เซโลน่า – สปอติฟาย คัมป์ นู

นี่คือครั้งแรกในรอบ 65 ปี ที่บาร์เซโลน่า ได้มีการเปลี่ยนชื่อสนามเหย้าจาก “คัมป์ นู” มาเป็น “สปอติฟาย คัมป์ นู” โดยชื่อ สปอติฟาย (Spotify) มาจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชื่อดังของประเทศสวีเดน ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ใหม่ให้กับสโมสร เพื่อนำเงินทุนไปดำเนินโครงการ Espai Barca ในการปรับปรุงสนามเหย้า และพื้นที่โดยรอบ

เรอัล เบติส – เอสตาดิโอ เบนิโต บียามาริน

ชื่อสนามเหย้าของเบติส มาจากชื่อของ “เบนิโต บียามาริน” อดีตประธานสโมสรที่ดำรงตำแหน่งในช่วงระหว่างปี 1955 – 1965 และเคยเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอสตาดิโอ มานูเอล รุยซ์ เด โลเปร่า” ตามชื่อของมานูเอล รุยซ์ เด โลเปร่า ที่เข้ามาเป็นประธานสโมสรในช่วงปี 1997 – 2010 แต่ในภายหลัง แฟนบอลของสโมสรได้ลงมติโหวตให้กลับไปใช้ชื่อเดิมอีกครั้ง

กาดิซ – เอสตาดิโอ นูเอโบ มิรันดิลย่า

เดิมมีชื่อว่า “เอสตาดิโอ ราม่อน เด การ์รันซ่า” เป็นชื่อของอดีตนายกเทศมนตรีเมืองกาดิซ ก่อนที่ในปี 2021 แฟนบอลของสโมสร ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนชื่อสนามเหย้าใหม่ ผลปรากฏว่า ชื่อที่ได้รับการโหวตมากที่สุด คือ “เอสตาดิโอ นูเอโบ มิรันดิลย่า” ซึ่งมาจาก “Mirandilla” ชื่อสโมสรในอดีต ก่อนเปลี่ยนเป็นกาดิซในปัจจุบัน

เซลต้า บีโก้ – อาบังก้า บาลาอิโดส

สนามเหย้าของเซลต้า บีโก้ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลากาเรส (Lagares) สร้างขึ้นเมื่อปี 1924 โดยบริษัท Stadium de Balaídos ซึ่งกลายมาเป็นชื่อสนามของสโมสรในเวลาต่อมา จนกระทั่งในปี 2018 ABANCA สถาบันการเงินของประเทศสเปน ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ทำให้ชื่อสนามในปัจจุบัน มีชื่อว่า “อาบังก้า บาลาอิโดส”

เอลเช่ – เอสตาดิโอ มาร์ติเนซ บาเยโร่

สนาม “เอสตาดิโอ มาร์ติเนซ บาเยโร่” มาจากชื่อของ มานูเอล มาร์ติเนซ บาเยโร่ อดีตประธานสโมสรเอลเช่ (ผู้ล่วงลับ) สร้างขึ้นในปี 1976 และถูกใช้ในการแข่งขันรายการใหญ่อย่างฟุตบอลโลก 1982 มาแล้ว นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกจากแฟนฟุตบอลลาลีกา ให้รับรางวัลสนามฟุตบอลที่ดีที่สุด ในฤดูกาล 2013/14

เอสปันญ่อล – อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม

สร้างขึ้นเมื่อปี 2009 เริ่มแรกใช้ชื่อว่า “เอสตาดี้ คอร์เนลล่า-เอล ปราต” เนื่องจากที่ตั้งของสนาม อยู่ระหว่างย่าน Cornellà  กับ El Prat ต่อมาเปลี่ยนเป็น “พาวเวอร์ เอท สเตเดี้ยม” (Power8 Stadium) จนกระทั่งในปี 2016 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม” ซึ่งมาจากตัวอักษร 4 ตัวแรกของชื่อสโมสร “RCD Espanyol”

เกตาเฟ่ – โคลิเซียม อัลฟอนโซ เปเรซ

สนาม “โคลิเซียม อัลฟอนโซ เปเรซ” มาจากชื่อของ อัลฟอนโซ เปเรซ อดีตกองหน้าทีมชาติสเปน ยุค 1990s ที่เกิด และเติบโตในย่านเกตาเฟ่ ชานกรุงมาดริด เขาเริ่มต้นจากการเป็นนักเตะเยาวชนของเกตาเฟ่ ต่อมาได้ลงเล่นกับทีมชุดใหญ่ของเรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า และเรอัล เบติส แต่ไม่เคยลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ของเกตาเฟ่เลยแม้แต่นัดเดียว

กิโรน่า – เอสตาดี้ มอนตีลีบี้

ที่ตั้งของสนาม อยู่ที่ย่าน Montilivi ในเมืองกิโรน่า ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นคาตาลัน และได้กลายมาเป็นชื่อสนาม “เอสตาดี้ มอนตีลีบี้” ในเวลาต่อมา สร้างขึ้นเมื่อปี 1968 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา สโมสรกิโรน่าได้ย้ายมาใช้สนามแห่งนี้ เป็นรังเหย้า แทนที่สนาม “เอสตาดิโอ วิสต้า อัลเอเกร” ที่ใช้งานมาเกือบ 50 ปี

เรอัล มายอร์ก้า – บิซิต มายอร์ก้า เอสตาดี้

สนามแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี 1999 เพื่อใช้จัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ที่ประเทศสเปน ภายใต้ชื่อ “เอสตาดิโอ เด ซอน โมอิกซ์” ก่อนที่สโมสรฟุตบอลเรอัล มายอร์ก้า จะมารับช่วงต่อ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 จึงมีการเปลี่ยนชื่อสนามเป็น “บิซิต มายอร์ก้า เอสตาดี้” โดยความร่วมมือของสภาเมืองมายอร์ก้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

เรอัล มาดริด – เอสตาดิโอ ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว

“ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว” เป็นชื่อของอดีตผู้เล่น, อดีตผู้จัดการทีม และอดีตประธานสโมสรของเรอัล มาดริด ความสำเร็จในยุคที่เขาเป็นประธานสโมสรตั้งแต่ปี 1943 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1978 คือแชมป์ลาลีกา 16 สมัย และแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 6 สมัย โดยชื่อของเขาได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสนามเหย้าของสโมสร ตั้งแต่ปี 1955 เป็นต้นมา

โอซาซูน่า – เอล ซาดาร์

สนาม “เอล ซาดาร์” ของโอซาซูน่า มาจากชื่อของแม่น้ำ “Sadar” ที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งของสโมสร แต่ในช่วงระหว่างปี 2005 – 2011 เคยถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เรย์โน เด นาวาร์ร่า” (Reyno de Navarra) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นนาวาร์ (Navarre) ดินแดนปกครองตนเองที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศสเปน

ราโย บาเยกาโน่ – เอสตาดิโอ เด บัลเยกาส

ชื่อสนามเหย้าของราโย บาเยกาโน่ มาจากชื่อ “Vallecas” ซึ่งเป็นย่านที่อยู่ในกรุงมาดริด สร้างขึ้นเมื่อปี 1972 และเคยเป็นสถานที่ที่ใช้จัดแสดงคอนเสิร์ตของวง Queen วงดนตรีร็อกชื่อดังจากอังกฤษ ในปี 1986 อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 สนามแห่งนี้เคยถูกระงับไม่ให้ใช้งานเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย

เรอัล โซเซียดัด – เรอาเล่ อารีน่า

ชื่อเดิมคือ “เอสตาดิโอ เด อาโนเอต้า” สร้างขึ้นเมื่อปี 1993 หลังจากทุบทิ้งสนามเหย้าเก่า ที่ใช้งานมานานกว่า 80 ปี จนกระทั่งในปี 2019 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เรอาเล่ อารีน่า” ซึ่งมาจากชื่อของ เรอาเล่ เซกูรอส (Reale Seguros) บริษัทประกันภัยของสเปน ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับโซเซียดัด

เซบีย่า – เอสตาดิโอ รามอน ซานเชซ ปิซฆวน

สนามแห่งนี้ มีที่มาจากชื่อของ “รามอน ซานเชซ ปิซฆวน” อดีตประธานสโมสรเซบีย่า ที่ดำรงตำแหน่งถึง 2 รอบ รอบแรกช่วงปี 1932 – 1941 และอีกรอบในปี 1948 – 1956 สนามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1958 หรือ 2 ปีหลังจากรามอน ซานเชซ ปิซฆวน เสียชีวิต และได้นำชื่อของเขามาตั้งเป็นชื่อสนามเหย้า เพื่อเป็นเกียรติให้กับเขา

บาเลนเซีย – เมสตาย่า

ชื่อรังเหย้าของบาเลนเซีย มาจากชื่อคลองเมสตาย่า (Mestalla) ที่ติดอยู่ทางด้านทิศใต้ของสนาม ในสมัยก่อนแฟนบอลต้องกระโดดข้ามคลองเพื่อไปที่สนาม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หลยุส์ คาสโนว่า” ตามชื่อของประธานสโมสรที่เข้ามาบริหารในช่วงปี 1969 ถึง 1994 แต่หลังจากนั้นก็กลับไปใช้ชื่อ “เมสตาย่า” ตามเดิม

เรอัล บายาโดลิด – เอสตาดิโอ โฆเซ่ โซรีย่า

ชื่อสนามเหย้าของเรอัล บายาโดลิด มาจากชื่อของ โฆเซ่ โซรีย่า อี โมรัล (José Zorrilla y Moral) กวีชาวเมืองบายาโดลิด ผู้มีผลงานการประพันธ์ไว้มากมาย จนได้รับรางวัลระดับประเทศ และเหรียญเชิดชูเกียรติในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา สนามแห่งนี้ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสังเวียนจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 1982 ที่สเปนเป็นเจ้าภาพ

บียาร์เรอัล – เอสตาดิโอ เด ลา เซรามิก้า

เดิมใช้ชื่อว่า “เอล มาดริกัล” และในปี 2017 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอสตาดิโอ เด ลา เซรามิก้า” สำหรับชื่อสนามในปัจจุบัน มีที่มาจากอุตสาหกรรมเซรามิค ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของท้องถิ่น รวมทั้งสนามเหย้าของบียาร์เรอัล ถูกตกแต่งด้วยเซรามิคสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ดูโดดเด่นสะดุดตาอีกด้วย

บริบทของฟุตบอล ไม่ได้มีเพียงแค่การแข่งขันในสนามเท่านั้น แต่ผูกติดกับประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนถึงตัวตนของสโมสรนั้นๆ ด้วย นี่คือสิ่งที่แฟนฟุตบอลต้องรู้จัก และเข้าใจความเป็นท้องถิ่นให้มากขึ้น

Categories
Football Business

พรี-ซีซั่น 2022 : เรื่องเงินๆ ทองๆ ของยักษ์ใหญ่ลีกยุโรป

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลามากว่า 2 ปี ทำให้สโมสรฟุตบอลชั้นนำจากยุโรป ต้องงดการเดินทางไปเตะอุ่นเครื่อง “พรี-ซีซั่น” ที่ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นตามลำดับ ดูเหมือนว่าบรรดาทีมลูกหนังยักษ์ใหญ่ ต่างมีแผนที่จะกลับมาเตะอุ่นเครื่องนอกยุโรป เพื่อหวังชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งการตะลอนทัวร์เพื่อเตะอุ่นเครื่องในปีนี้ มีเกม “บิ๊กแมตช์” ระดับโลก เกิดขึ้นถึง 2 แมตช์ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือศึก “แดงเดือด” ในประเทศไทย กับ “เอล กลาซิโก้” ที่สหรัฐอเมริกา

เกมพรี-ซีซั่นในต่างแดนของลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า หรืออื่น ๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อย่างไร วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เปิดตำนาน “แดงเดือด” นอกเมืองผู้ดี

ลิเวอร์พูล กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ว่าจะเจอกันที่ไหน ถือว่าเป็นแมตช์ที่ยิ่งใหญ่ สมกับเป็นคู่ปรับที่แย่งชิงความสำเร็จมาตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ 2 ทีมคู่ปรับตลอดกาล เคยพบกันนอกเกาะอังกฤษมาแล้ว 3 ครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 1983 ในเกมอุ่นเครื่อง “เทสติโมเนียล แมตช์” ให้บิลลี่ เดรนแนน เลขาธิการสมาคมฟุตบอลไอร์แลนด์ โดยจัดแข่งที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายชนะ 4 – 3

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2014 ในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพหรือ “ไอซีซี คัพ” ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศ ปิศาจแดง เอาชนะได้อีกครั้ง ด้วยสกอร์ 3 – 1

ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในปี 2018 ในรายการไอซีซี คัพ เช่นเดียวกัน ที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางผู้ชมกว่า 1 แสนคน คราวนี้เป็นฝ่ายหงส์แดง ที่ล้างแค้นได้สำเร็จ เอาชนะไป 4 – 1

สำหรับเกมพรี-ซีซั่น “แดงเดือด” ครั้งที่ 4 ศึกอุ่นเครื่องรายการพิเศษ “เดอะ แมตช์ แบงค็อก เซ็นจูรี่ คัพ 2022” ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เป็นการพบกันนอกเมืองผู้ดีครั้งแรกในประเทศไทย และทวีปเอเชีย

และหลังจากจบแมตช์ที่กรุงเทพมหานคร ลิเวอร์พูลจะเดินทางต่อไปที่สิงคโปร์, เยอรมัน และออสเตรีย ขณะที่ยูไนเต็ด จะไปต่อที่ออสเตรเลีย และนอร์เวย์ ก่อนที่จะกลับสู่ประเทศอังกฤษ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/manchesterunited

ย้อนรอย “เอล กลาซิโก้” ในต่างแดน

ทางด้านเรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า 2 ทีมยักษ์ใหญ่ของ ลาลีกา สเปน ก็เคยมีประวัติศาสตร์การพบกันในเกมอุ่นเครื่อง “พรี-ซีซั่น” นอกแดนกระทิงดุมาแล้ว 3 ครั้ง เท่ากับศึกแดงเดือดนอกอังกฤษ

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 1982 ในรายการพิเศษ “เวเนซูเอล่า คัพ” อุ่นเครื่องก่อนฟุตบอลโลก ที่ประเทศเวเนซูเอล่า รอบชิงอันดับ 3 เรอัล มาดริด เอาชนะไป 1 – 0 จากประตูชัยของบิเซนเต้ เดล บอสเก้

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2017 ในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพหรือ “ไอซีซี คัพ” ที่สนามฮาร์ด ร็อก สเตเดี้ยม รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เป็นบาร์เซโลน่า ที่เอาชนะด้วยสกอร์ 3 – 2

ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในรายการ “สแปนิช ซูเปอร์ คัพ” ที่ประเทศซาอุดีอารเบีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการพบกันในแมตช์อย่างเป็นทางการ ที่จัดขึ้นนอกประเทศสเปนอีกด้วย

เกมในรอบรองชนะเลิศ ที่สนามคิง ฟาฮัด อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดี้ยม ในกรุงริยาดห์ ผลปรากฏว่า “ราชันชุดขาว” ชนะ “เจ้าบุญทุ่ม” 3 – 2 หลังต่อเวลาพิเศษ เฟเดริโก้ บัลเบร์เด้ เป็นผู้ยิงประตูชัยในเกมนี้

และในครั้งที่ 4 ของ “เอล กลาซิโก้” นอกแผ่นดินสเปน จะมีขึ้นที่สนามแอลลีเจียนท์ สเตเดี้ยม ในลาส เวกัส สหรัฐอเมริกา วันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นการกลับมาอุ่นเครื่องที่อเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

EL CLÁSICO 2017 at Santiago Bernabéu
ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/fcbarcelona

ทีมบอลยุโรปได้อะไรจาก “พรี-ซีซั่น”

การเดินทางมาเตะอุ่นเครื่องในต่างประเทศ เป็นวิธีหนึ่งในการทำเงิน เพราะนอกจากจะได้ค่าจ้างแล้ว ยังได้ขยายฐานแฟนบอล ทำให้สโมสรเป็นที่รู้จักมากขึ้น ชนิดที่ไม่ต้องประเมินเลยว่าคุ้มค่าหรือไม่

เท่านั้นยังไม่พอ ได้สายสัมพันธ์กับบริษัทระดับชั้นนำในประเทศนั้น ๆ และมีโอกาสได้มาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรในอนาคตเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุผลเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทั้งสิ้น

หลายทีมในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะเน้นเไปที่ทวีปเอเชีย ส่วน 2 ยักษ์ใหญ่ลาลีกา สเปน อย่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า จะเน้นเจาะตลาดที่สหรัฐอเมริกา ผ่านรายการอุ่นเครื่องไอซีซี คัพ (ปัจจุบันยกเลิกแล้ว)

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือเกมอุ่นเครื่องไอซีซี คัพ เมื่อปี 2014 ระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับเรอัล มาดริด ที่มิชิแกน สเตเดี้ยม สร้างสถิติมีผู้เข้าชมการแข่งขันสูงสุดถึง 109,138 คน

แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด และยักษ์ใหญ่บางทีมในยุโรป ได้ค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 2 ล้านปอนด์ ต่อการจัดแข่งขันฟุตบอลพรี-ซีซั่นในต่างประเทศ 1 นัด

แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา ทั่วโลกมีข้อจำกัดในด้านการเดินทางข้ามประเทศ ทำให้ไม่สามารถจัดเกมพรี-ซีซั่นในต่างแดนได้ ส่งผลกระทบกับทีมฟุตบอลที่ต้องสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไป

มีรายงานว่า แมนฯ ยูไนเต็ด มีรายได้ในรอบปัญชีปี 2020-2021 (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2021) ลดลงเกือบ 50 ล้านปอนด์ จาก 279 ล้านปอนด์ เหลือ 232.2 ล้านปอนด์ จากผลกระทบโควิด-19

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สโมสรฟุตบอลในปัจจุบัน เป็น “ธุรกิจ” เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ ที่พร้อมจะหาเงินทุกทางที่สามารถทำได้ เพื่อนำผลประโยชน์เข้าสู่สโมสรให้ได้มากที่สุด

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/fcbarcelona

และมุมคนจ่ายสตางค์ คุ้มค่าแค่ไหน ?

การเชิญสโมสรฟุตบอลชื่อดังของยุโรป มาเตะอุ่นเครื่องในประเทศของตัวเอง ผู้ที่จ่ายเงินเป็นลำดับแรก คือ “เจ้าภาพจัดการแข่งขัน” ซึ่งต้องมีทุนหนามากพอในการจ้างทีมเหล่านี้มาแข่งขัน

กรณีของลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มาเตะอุ่นเครื่องในไทย แน่นอนว่า การจ้าง 2 สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ต้องใช้เงินมหาศาล แต่ก็มีการหารายได้มาจากเงินที่เสียไปเช่นเดียวกัน

ซึ่งคุณวินิจ เลิศรัตนชัย ในฐานะผู้จัด “แมตช์แห่งศตวรรษ” ก็ไม่ได้คาดหวังว่าการลงทุนในครั้งนี้จะต้องคืนทุน แต่ที่แน่ ๆ ขื่อของผู้บริหารเฟรชแอร์ เฟสติวัล ได้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ “แฟนบอล” ในฐานะลูกค้าคนสำคัญ ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินแบบไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะรู้ดีว่าโอกาสที่จะได้ดูทีมที่ตัวเองรัก นักเตะที่ตัวเองชอบ แบบไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ คงไม่ได้มีบ่อย ๆ

แต่ก็มีนักเตะระดับบิ๊กเนม หรือซูเปอร์สตาร์บางคน ก็เลือกที่จะไม่เดินทางมากับทีม หรือมาด้วยแต่ไม่ขอลงเล่น เพราะมองว่าการไปอุ่นเครื่องต่างแดน อาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายก่อนเปิดซีซั่นใหม่

ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีนักเตะระดับดาวดังลงสนามในเกมอุ่นเครื่อง แต่ชื่อ “แบรนด์” ของสโมสรระดับโลก ที่มาแข่งขันในประเทศของตัวเอง ยังไงก็ดึงดูดแฟนบอลให้เข้ามาชมแบบเต็มสนามได้ไม่ยาก

ซึ่งราคาบัตรเข้าชมการแข่งขัน แมตช์ “แดงเดือด” ในไทย ต่ำสุด 5,000 บาท สูงสุด 25,000 บาท ส่วนเกม “เอล กลาซิโก้” ที่อเมริกา ต่ำสุด 9,000 บาท สูงสุด 32,400 บาท โดยประมาณ (1 USD = 36 THB)

เกมอุ่นเครื่องพรี-ซีซั่นในต่างประเทศ ทีมฟุตบอลได้ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ส่วนผู้จัดและแฟนบอล ต่างก็คาดหวังว่า การแข่งขันจะมอบความสุขมาให้ โดยที่ไม่ต้องมาคิดเสียดายเงินที่จ่ายไปในภายหลัง

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3392107/2022/07/01/premier-league-preseason-fixture-revenue/

https://www.si.com/soccer/2022/06/10/soccer-champions-tour-real-madrid-barcelona-clasico-las-vegas

https://www.si.com/soccer/2020/07/02/la-liga-north-america-usa-market-tv-deal-barcelona-real-madrid-icc

https://www.sportingfree.com/football/how-much-money-do-clubs-make-during-pre-season/

https://www.totalsportal.com/football/how-much-do-football-clubs-earn-in-the-preseason-tours/

https://www.thenationalnews.com/business/football-s-preseason-season-is-a-major-money-spinner-for-some-1.616477

Categories
Football Business

เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของ “ลิเวอร์พูล” จากกรณีศึกษา “ไตโว อโวนิยี่”

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเล็ก ๆ ที่อาจไม่น่าสนใจสำหรับแฟนบอลอังกฤษส่วนใหญ่ยกเว้นสาวกเจ้าป่า น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ซึ่งกำลังใจจดจ่อกับประเด็นปรับปรุบขุมกำลังต้อนรับการกลับขึ้นมายังลีกสูงสุดนับจากตกชั้นดิวิชั่น 1 (เดิม) เมื่อปี 1999 หรืออาจรวมถึงเดอะ ค็อป บางส่วนที่คลิกอ่านเพราะสะดุดตาคำว่า ex-Liverpool striker บนพาดหัวข่าวหรือท่อนโปรยนำ

กองเชียร์ที่กำลังรอฟอเรสต์ปิดดีลสัญญายืมตัว ดีน เฮนเดอร์สัน ผู้รักษาประตูจอมหนึบของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งน่าจะช่วยให้ทีมมีโอกาสเสียประตูน้อยลง ต่างตื่นเต้นกับข่าวสโมสรสร้างสถิติซื้อผู้เล่นแพงที่สุดขึ้นมาใหม่ด้วยการทุ่มเงิน 17.5 ล้านปอนด์ คว้าตัว ไตโว อโวนิยี่ ศูนย์หน้าไนจีเรียวัย 24 ปีมาจากยูเนี่ยน เบอร์ลิน ทีมอันดับ 5 ในบุนเดสลีกา เพื่อทะลุทะลวงเกมรับท็อปคลาสของคู่แข่งร่วมลีก

อโวนิยี่เป็น “อดีต” สไตรคเกอร์ของลิเวอร์พูลและมีชื่อเป็นสมาชิกคนหนึ่งของแอนฟิลด์ยาวนานหกปี แต่เขาไม่เคยลงเล่นให้หงส์แดงสักนัดแม้กระทั่งเกมอุ่นเครื่องปรีซีซั่นก็ยังไม่มีโอกาส เพราะเกือบทันทีหลังซื้อตัวมาจาก อินพีเรียล ซอคเกอร์ อะคาเดมี่ ปลายเดือนสิงหาคม 2015 ลิเวอร์พูลได้ส่งเขาไปให้เอฟเอสเฟา แฟรงค์เฟิร์ต ยืมตัวในซีซั่น 2015-16

และเหมือนสัญญายืมตัวกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่อโวนิยี่ต้องเซ็นชื่อทุกซีซั่น เขาจึงกลายเป็นนักเตะพเนจรย้ายถิ่นทุกปี ไปให้เล่นให้ เอ็นอีซี ไนจ์เมเกน, รัวยา แล็กแซล มูครง, เคเอเอ เกนท์, ไมน์ซ 05 และ ยูเนี่ยน เบอร์ลิน ตามลำดับ

จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนของชีวิตอโวยินี่ เมื่อยูเนี่ยน เบอร์ลิน พอใจผลงานของศูนย์หน้าไนจีเรียระหว่างยืมตัวในซีซั่น 2020-21 จึงตัดสินใจซื้อขาดจากลิเวอร์พูลเป็นเงิน 6.5 ล้านปอนด์ ซึ่งอโวนิยี่ไม่ทำให้ต้นสังกัดผิดหวัง ช่วงสองปีที่ค้าแข้งในเมืองเบียร์ เขาทำผลงาน 25 ประตู 9 แอสซิสต์จาก 65 นัด ไม่มีเพื่อนร่วมทีมคนไหนทำสกอร์ได้มากเท่าเขาในช่วงเวลานั้น

ศึกลูกหนังบุนเดสลีกา ฤดูกาล 2021-22 ที่ผ่านมา อโวนิยี่ส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย 15 ประตูจาก 31 นัด แถมยังถูกเรียกตัวติดทีมชาติไนจีเรีย 4 นัด ทำ 1 ประตูนับตั้งแต่ประเดิมยูนิฟอร์มอินทรีมรกตในเดือนตุลาคม 2021 ซึ่งด้วยฟอร์มร้อนแรง เขาจึงถูกดึงให้เป็นชิ้นส่วนหนึ่งในการสร้างทีมของ สตีฟ คูเปอร์ กุนซือเวลส์วัย 42 ปี ด้วยค่าตัวที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์น็อตติงแฮม ฟอเรสต์

ฤดูกาลหน้า อโวนิยี่จะได้รับโอกาสพิสูจน์ตัวเองบนสังเวียนพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรก และแน่นอนจะได้เผชิญหน้ากับทีมเก่า ลิเวอร์พูล ในวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคมที่สนามซิตี้ กราวน์ เป็นนัดแรก

สไตล์การเล่นของอโวยินี่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ ราชิดี เยกินี่ ตำนานผู้ทำประตูรวมได้มากที่สุดตลอดกาลของไนจีเรีย ขณะที่ เยอร์เกน คล็อปป์ ก็เคยชื่นชมการยิงที่เฉียบคมและพละกำลังของศูนย์หน้าวัย 24 ปีจากกาฬทวีปรายนี้

“หงส์แดง” ทำเงินเฉียดแปดล้านปอนด์จากนักเตะที่ไม่เคยใช้งาน

หาก ไตโว อโวนิยี่ เป็นการลงทุนก็ถือว่าสร้างผลกำไรงามให้กับลิเวอร์พูลถึงแม้ไม่เคยถูกใช้งานในฐานะนักเตะเลยสักนัดเดียว เชื่อหรือไม่ว่า “เดอะ เรดส์” มีรายได้เข้ากองคลังเกือบ 8 ล้านปอนด์จากศูนย์หน้าไนจีเรียผู้นี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2010 ขณะอายุ 13 ปี อโวนิยี่ได้รับตำแหน่งเอ็มวีพีหรือผู้เล่นทรงคุณค่าของการแข่งขันฟุตบอลระดับเยาวชนรายการหนึ่งที่กรุงลอนดอน ซึ่งมี โคคา-โคลา เป็นสปอนเซอร์ บวกกับฟอร์มฉายแววจึงถูกเชิญเข้าร่วมฝึกซ้อมและลงแข่งขันให้กับ อินพีเรียล ซอคเกอร์ อะคาเดมี่

อีกห้าปีต่อมา อโวนิยี่เซ็นสัญญาอาชีพกับลิเวอร์พูลเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2015 หลังจากหงส์แดงเคาะราคาซื้อจากอิมพีเรียล ซอคเกอร์ อะคาเดมี่ เป็นเงินประมาณ 400,000 ปอนด์ แต่ถูกปล่อยให้ เอฟเอสเฟา แฟรงค์เฟิร์ต ยืมตัวทันที และคล้อยหลังไม่กี่เดือน เยอร์เกน คล็อปป์ ได้เข้ามาเริ่มงานผู้จัดการทีมในแอนฟิลด์

ตลอดหกฤดูกาล อโวนิยี่ต้องไปเล่นที่อื่นด้วยสัญญายืมตัวทั้งหมด 6 สโมสรไม่ซ้ำกัน ก่อนยูเนี่ยน เบอร์ลิน ขอซื้อขาดในราคา 6.5 ล้านปอนด์ ทำกำไรให้กับลิเวอร์พูลถึง 6.1 ล้านปอนด์ แต่ “ดิ ไอรอน วันส์” ใช้งานศูนย์หน้าไนจีเรียแค่ปีเดียวก็ขายต่อให้น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ 17.5 ล้านปอนด์ ฟันกำไรเหนาะ ๆ 11 ล้านปอนด์ แต่สโมสรต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปให้ลิเวอร์พูล

ส่วนหนึ่งในสัญญาเมื่อปี 2021 ระหว่างลิเวอร์พูลกับยูเนี่ยน เบอร์ลิน เป็นเงื่อนไขส่วนแบ่งการขายหรือ Sell-on Clause ทำให้สโมสรเมืองเบียร์ต้องแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าตัวที่ขายได้ให้กับทีมหงส์แดง ซึ่งเท่ากับ 1.75 ล้านปอนด์นั่นเอง

นั่นเท่ากับว่า ลิเวอร์พูลได้เงินจากอโวยินี่ทั้งทางตรงทางอ้อมรวมกัน 7.85 ล้านปอนด์ ซึ่งยังไม่รวมรายได้จากการปล่อยยืมให้กับ 6 สโมสรเข้าไปด้วย ลิเวอร์พูลสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อนักเตะดาวรุ่งแววดีที่ผ่านการพิสูจน์ผลงานแล้วได้หนึ่งคน หรือเก็บสะสมเพื่อเอาไปทุ่มซื้อ จู้ด เบลลิงแฮม มิดฟิลด์ว่าที่ซูเปอร์สตาร์ของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในตลาดซัมเมอร์รอบหน้าก็ยังได้

เงื่อนไข “เซลล์-ออน” แหล่งรายได้ส้มหล่นของเหล่าสโมสรเล็ก

เซลล์-ออน มักเป็นแหล่งรายได้ของสโมสรเล็ก ๆ จากการขายนักเตะที่พวกเขามองว่าน่าจะไปได้ไกลในอนาคต ตัวอย่างที่เกิดขึ้นประมาณสองปีที่แล้วกับ แมทท์ โดเฮอร์ตี้ ฟูลแบ็คชาวไอริช ซึ่งย้ายจากวูลฟ์แฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส ไปอยู่กับท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2020 ด้วยค่าตัวระหว่าง 18-21 ล้านปอนด์หลังจากเล่นให้กับวูลฟ์สยาวนานหนึ่งทศวรรษ ลงสนาม 260 นัด

วูลฟ์แฮมป์ตันค้นพบโดเฮอร์ตี้ระหว่างเตะอุ่นเครื่องปรีซีซั่นกับ โบฮีเมี่ยนส์ เอฟซี ทีมในลีกไอร์แลนด์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2010 แม้โดเฮอร์ตี้ไม่เคยเล่นทีมชุดใหญ่ของโบฮีเมี่ยนส์เลยสักนัด แต่ถูกเรียกตัวเข้ามาทดสอบฝีเท้าและได้เซ็นสัญญาสองปีกับทีมหมาป่า ซึ่งจ่ายค่าตัวให้ต้นสังกัดไปครั้งนั้น 75,000 ปอนด์

โดเฮอร์ตี้ย้ายไปค้าแข้งในพรีเมียร์ลีกกับวูลฟ์สและแฟนบอลโบฮีเมี่ยนส์อาจลืมชื่อเขาไปแล้วจนกระทั่งตกเป็นข่าวย้ายไปทีมสเปอร์สด้วยค่าตัว 18-21 ล้านปอนด์ เนื่องจากสัญญาเมื่อสิบปีที่แล้วระหว่างโบฮีเมี่ยนส์กับวูลฟ์สมีเงื่อนไขเซลล์-ออน 10เปอร์เซ็นต์รวมอยู่ด้วย ทำให้โบฮีเมี่ยนส์รับส่วนแบ่งไป 1.8-2.1 ล้านปอนด์ ซึ่งจำนวนอาจดูเล็กน้อยแต่มันคือรายได้ก้อนใหญ่มากของสโมสรไอริชแห่งนี้ที่มีแฟนบอลเป็นเจ้าของ และเมื่อปี 2016 มีรายได้รวมทั้งปีแค่ 945,000 ปอนด์ (ยังไม่หักหนี้สิน)

ยังมีสโมสรเล็กๆอีกหลายทีมที่ได้รับประโยชน์จากเงินส่วนแบ่งการขายอย่างเช่นเมื่อครั้ง อายเมริค ลาปอร์เต้ เซ็นเตอร์แบ็คชาวฝรั่งเศส ย้ายจากแอธเลติค บิลเบา ไปแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2018 ด้วยค่าตัว 57 ล้านปอนด์

ขณะอายุ 12 ปี ลาปอร์เต้เข้าร่วมทีมเยาวชนอะคาเดมี่ของ อาแฌ็ง ซึ่งแข่งขันในดิวิชั่น 8 ของลีกฝรั่งเศส และใช้เวลาที่นั้นนานสี่ปีก่อนย้ายไปอยู่กับอะคาเดมี่ของแอธเลติก บิลเบา เมื่อปี 2010 ด้วยวัย 16 ปี โดยอาแฌ็งจะได้รับส่วนแบ่ง 1เปอร์เซ็นต์ของการขยายลาปอร์เต้ในอนาคต

เซ็นเตอร์แบ็คดาวรุ่งจากเมืองน้ำหอมสามารถแจ้งเกิดได้สำเร็จบนแผ่นดินกระทิงดุ ลาปอร์เต้เล่นให้ทีมชุดใหญ่ของบิลเบาระหว่างปี 2012-2018 ลงสนาม 116 นัด ก่อนถูกแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อตัวไปในตลาดหน้าหนาวปี 2018 ด้วยราคา 57 ล้านปอนด์ ทำให้เงินเกือบหกแสนปอนด์ถูกโอนเข้าบัญชีของอาแฌ็ง ช่วยให้สโมสรรอดพ้นจากการล้มละลายได้

“หงส์แดง” ลุ้นรอรับเงินจาก “เซลล์-ออน” ในสัญญาอีกหลายราย

เซลล์-ออน ไม่ได้คำนวณจากเปอร์เซ็นต์ของเงินขายนักเตะเท่านั้น แต่อาจคิดจากผลกำไรได้อีกด้วยอย่างเช่น ดาร์วิน นูนเยซ กองหน้าดาวรุ่งทีมชาติอุรุกวัยที่เพิ่งย้ายไปอยู่ลิเวอร์พูลด้วยค่าตัวเมื่อรวมเงื่อนไขแอด-ออนแล้วตก 85 ล้านปอนด์ เคยมีเงื่อนไขเซลล์-ออนที่กำหนดว่า เบนฟิก้าต้องจ่าย 20 เปอร์เซ็นต์ของกำไรการขายให้กับ อัลเมเรีย ต้นสังกัดเก่าของนูนเยซในสเปนก่อนย้ายเข้าเบนฟิก้าเมื่อปี 2020 

สัญญาซื้อขายนักฟุตบอลก็คือเอกสารทางกฎหมายอย่างหนึ่งแต่มีเงื่อนไขผูกมัดหลายประเด็น แต่ข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าสื่อมักเป็นเพียงค่าตัว ค่าเหนื่อย และระยะเวลา ช่วงหลังๆจะพบอ็อปชั่นซื้อขาด, อ็อปชั่นต่อสัญญา และโบนัสแอด-ออน ซึ่งเป็นเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มตามผลงานของนักเตะหรือสโมสรใหม่ แต่ความจริงแล้วยังมีเงื่อนไขปลีกย่อยอื่นๆอีกดังเช่น เซลล์-ออน ที่ถูกหยิบมาพูดถึงจากกรณีของ ไตโว อโวนิยี่

ในอนาคต ลิเวอร์พูลอาจได้เงินส้มหล่นลักษณะนี้อีกเพื่อนำไปใช้จ่ายซื้อนักเตะใหม่เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บไล่ล่าแชมป์พรีเมียร์และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก สองเป้าหมายใหญ่ของสโมสร เพราะเท่าที่ได้รับการเปิดเผยยังมีอดีตผู้เล่นของลิเวอร์พูลมีพันธะเซลล์-ออนกับสโมสรที่ซื้อไปรวม 15 คนคือ

  • หลุยส์ อัลแบร์โต้ (ลาซิโอ) – 30 เปอร์เซ็นต์
  • แดนนี่ วอร์ด (เลสเตอร์) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • ไรอัน เคนท์ (เรนเจอร์ส) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • ราฟา คามาโช (สปอร์ติ้ง ลิสบอน) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • โดมินิค โซแลงเก้ (บอร์นมัธ) – 20 เปอร์เซ็นต์ จากกำไร
  • อัลแลน โรดริเกวส (แอตเลติโก ไมเนียโร)  – 10 เปอร์เซ็นต์
  • ไรอัน บริวสเตอร์ (เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด) – 15 เปอร์เซ็นต์
  • ไค-จานา ฮูเวอร์ (วูลฟ์แฮมป์ตัน) – 15 เปอร์เซ็นต์
  • โอวี่ อียาเรีย (เรดดิ้ง) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • เฮอร์บี เคน (บาร์สลีย์) – 15 เปอร์เซ็นต์
  • คามิล กราบารา (โคเปนเฮเกน) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • เลียม มิลลาร์ (บาเซิล) – 20 เปอร์เซ็นต์
  • แฮร์รี่ วิลสัน (ฟูแลม) – 15 เปอร์เซ็นต์
  • มาร์โก กรูซิช (ปอร์โต) – 10 เปอร์เซ็นต์

ในอดีต ลิเวอร์พูลเคยได้รับประโยชน์ทั้งจากส่วนแบ่งการขายและเงื่อนไขเซลล์-ออนหมดอายุมาแล้วกับกรณีของ ไอบ์, เซอร์ไก คานอส, แบรด สมิธ, ติอาโก อิลอรี, บ็อบบี้ ดันแคน และ มาริโอ บาโลเตลลี่

ลิเวอร์พูลยังมีช่องทางใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขเซลล์-ออนที่เคยทำไว้กับหลายทีม รวมถึงตัวอย่างที่ไม่ได้พบบ่อยกับการซื้อตัวกลับมาเช่น รายของแฮร์รี่ วิลสัน ปีกชาวเวลส์ ซึ่งฟูแลมเพิ่งซื้อขาดหลังประทับใจผลงานช่วงยืมตัว สมมุติว่าวันหนึ่ง ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ เจรจาขอซื้อจากฟูแลมที่ค่าตัว 25 ล้านปอนด์ ลิเวอร์พูลสามารถขอซื้อด้วยราคาหลังหักส่วนลด 15เปอร์เซ็นต์ หรือ 21.25 ล้านปอนด์ เพื่อเซ็นสัญญากับอดีตผู้เล่นที่ไม่เคยได้เล่นกับทีมเลยระหว่างมีสัญญาในแอนฟิลด์ระหว่างปี 2015-2022 เพราะถูกปล่อยยืมตลอดเหมือนกับอโวนิยี่ หรือถ้าไม่ต้องการตัวกลับ ลิเวอร์พูลก็ยังได้ส่วนแบ่ง 15เปอร์เซ็นต์เมื่อฟูแล่มขายให้สเปอร์ส

บางทีการซื้อขายนักเตะสักคนหนึ่งใช้เวลาเนิ่นนานเยิ่นเย้อไม่ใช่เพราะตกลงค่าตัวค่าเหนื่อยกันไม่ได้ แต่อาจเป็นเงื่อนไขเล็กๆน้อยๆที่แทรกอยู่ในสัญญาก็เป็นได้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา

Categories
Football Business

วิลเลียม สเปียร์แมน : ตัวละครลับ ช่วย “ลิเวอร์พูล” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก

#SSxKMD | 25 มิถุนายน 2020 การรอคอยอันแสนยาวนานของสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล สิ้นสุดลงเสียที เมื่อคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษเป็นสมัยที่ 19 และเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

เมื่อทีมฟุตบอลที่ตัวเองตามเชียร์ประสบความสำเร็จ ก็มักจะยกความดีความชอบให้นักเตะและโค้ช แต่ความจริงแล้วยังมีทีมงานหลังบ้านอีกจำนวนหนึ่ง คอยปิดทองหลังพระอยู่เบื้องหลัง

ซึ่งมีบุคคลหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” ที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินอาชีพนี้มาก่อน แต่นั่นคือฟันเฟืองสำคัญ ที่ทำให้หงส์แดงคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในวันนี้ เมื่อ 2 ปีก่อน

แล้ว “ข้อมูล” มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ลิเวอร์พูลกลับมายิ่งใหญ่ได้อย่างไร ? วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

ทำความรู้จัก “วิทยาศาสตร์ข้อมูล”

คำว่า “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” (Data Science) หมายถึงการนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาวิเคราะห์ตามกระบวนการตั้งสมมติฐาน ทดลอง และหาผลลัพธ์ที่กลั่นกรองออกมาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

โดยผู้ที่ทำอาชีพด้าน Data Science จะเรียกว่า “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” (Data Scientist) ซึ่งจะต้องมีองค์ความรู้หลากหลายแขนง ทั้งด้านคอมพิวเตอร์, คณิตศาสตร์/สถิติ และธุรกิจ

มีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2030 สายงาน Data Scientist ในอุตสาหกรรมกีฬา จะมีมูลค่าสูงถึง 1,850 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์จากปัจจุบัน ถึงแม้จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม

สำหรับวงการฟุตบอลในยุคสมัยใหม่ ก็ได้มีการออกแบบการจัดเก็บ “ข้อมูล” ที่ละเอียดและหลากหลายมากกว่าในอดีต ซึ่งใครก็ตามที่มีข้อมูลหรือเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำกว่า ก็แทบจะมีชัยไปมากกว่าครึ่งแล้ว

แต่การมีข้อมูลเยอะ ๆ มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่ได้นำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ให้ตกผลึก และผู้บริหารสูงสุด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่เปิดใจที่จะรับฟัง ทำให้ข้อมูลไม่ได้ถูกใช้งานจริง ๆ

สโมสรฟุตบอลในปัจจุบัน ต่างก็มีทีมวิเคราะห์ข้อมูลอยู่แล้ว แต่สำหรับลิเวอร์พูล ในยุคที่กลุ่มเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) เข้ามาบริหารทีม ได้นำข้อมูลมาใช้อย่างจริงจัง จนสร้างความแตกต่างที่โดดเด่น

วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหาร

เมื่อปี 2002 จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี่ ที่ในขณะนั้นเป็นเจ้าของทีมเบสบอล บอสตัน เรด ซ็อกซ์ เคยใช้เงิน 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ดึงตัวบิลลี่ บีน ผู้จัดการทีมเจ้าของคอนเซปต์ “Moneyball” ที่ใช้ข้อมูลในการสร้างทีมให้ยิ่งใหญ่

กระทั่งการเข้ามาซื้อสโมสรลิเวอร์พูลของกลุ่ม FSG จอห์น เฮนรี่ ไม่ได้แค่เข้ามากอบกู้ซากปรักหักพัง ที่เจ้าของทีมในอดีตทิ้งไว้เท่านั้น ยังได้นำแนวคิดเรื่อง “ข้อมูล” มาใช้บริหารทีม จนประสบความสำเร็จ

จอห์น เฮนรี่ ได้ดึงตัวเอียน เกรแฮม มารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิจัยข้อมูล และยังมีทีมงานที่อยู่ภายใต้แกรแฮมอีก 6 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ดร.วิลเลียม สเปียร์แมน ผู้จบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ ด้านอนุภาคพลังงานสูง

ดร. สเปียร์แมน เคยทำงานวิจัยเรื่องการวัดขนาดและความกว้างของสนามพลังฮิกส์ ที่องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) ก่อนที่ในปี 2015 จะได้มาเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลด้านกีฬาให้กับฮูเดิ้ล (Hudl) ที่สหรัฐอเมริกา

และที่ Hudl นี่เอง ที่ทำให้ดร. สเปียร์แมน ได้มีความสนใจในเรื่องราวของกีฬา “ฟุตบอล” ที่มีจังหวะการเล่นต่อเนื่อง และมองว่าข้อมูลที่ซับซ้อนในเกมลูกหนัง ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากเท่าใดนัก

กระทั่งในเดือนมีนาคม 2018 ดร. สเปียร์แมน ได้เข้ามาเป็นทีมงานในฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลของลิเวอร์พูล หน้าที่ของเขาคือ เก็บข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์การแข่งขันของผู้เล่นในสนาม และการสรรหาผู้เล่นใหม่

ดร. สเปียร์แมน ได้นำโมเดลจาก Hudl ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้ติดตามการเคลื่อนที่ของผู้เล่นทั้ง 22 คน และลูกฟุตบอล ด้วยการใช้กล้องที่ติดตั้งไว้รอบ ๆ สนาม จับภาพในอัตรา 25 เฟรมต่อวินาที

เครื่องมือดังกล่าว ทำให้สามารถประเมินระยะห่างระหว่างผู้เล่นกับลูกฟุตบอล และคำนวณเปอร์เซ็นต์การครองบอลที่แท้จริง ซึ่งเป็นประโยชน์กับแท็กติก “เกเก้นเพรสซิ่ง” ของเจอร์เก้น คล็อปป์

ตัวอย่างจากโมเดล Pitch Control

ตัวอย่างการใช้ “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” ของลิเวอร์พูล ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยดร.วิลเลียม สเปียร์แมน และ ดร.ทิม วาสเกตต์ ได้ร่วมกันอธิบายโมเดลการคุมพื้นที่ในขณะที่ครอบครองบอล หรือ Pitch Control

ดร. สเปียร์แมน ได้นิยาม Pitch Control ไว้ว่า “มันคือการที่ผู้เล่นคนหนึ่ง หรือเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ได้ควบคุมพื้นที่ในบริเวณหนึ่งของสนาม ดังนั้นต้องผ่านบอลในจุดที่ได้เปรียบ เพื่อรักษาการครองบอลของทีมไว้”

ส่วน ดร.วาสเกตต์ กล่าวเสริมว่า “เราได้วิเคราะห์การเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาช่องว่างที่ผู้เล่นสามารถแย่งพื้นที่จากอีกฝั่งไว้ได้ และจะส่งผลถึงโอกาสการทำประตู ณ จุดหนึ่งบนสนาม ในอีก 15 วินาทีข้างหน้า”

ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจากทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล จะถูกส่งไปให้เจอร์เก้น คล็อปป์ เพื่อใช้ประกอบในการฝึกซ้อม และการวางแท็กติก ควบคู่กับมันสมองในเกมลูกหนังที่ยอดเยี่ยมของกุนซือชาวเยอรมันวัย 55 ปี

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ อย่างเช่นในเกมที่ลิเวอร์พูล บุกชนะท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ 1 – 0 เมื่อเดือนมกราคม 2020 ลิเวอร์พูลยิงขึ้นนำก่อนตั้งแต่ครึ่งแรก พอถึงช่วงท้ายเกมสเปอร์พยายามจะตีเสมอให้ได้

แต่แล้ว ลิเวอร์พูลได้ใช้เทคนิคให้ผู้เล่นเอาต์ฟิลด์ทั้ง 10 คน ยืนแพ็คกันอยู่บริเวณกลางสนามด้วยระยะห่างกันไม่ถึง 20 หลา บีบให้สเปอร์ทำได้แค่ส่งบอลไปรอบ ๆ ไม่สามารถเจาะช่องเข้าไปได้จนจบการแข่งขัน

นอกจากนี้ ฟูลแบ็ก 2 ฝั่งทั้งแอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน (ซ้าย) และเทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาโนลด์ (ขวา) มีการส่งบอลข้ามฝากให้กันในเปอร์เซ็นต์ที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งก็มาจากโมเดล Pitch Control เช่นเดียวกัน

ความลับจากวิทยาศาสตร์ข้อมูล ที่ทรงพลังจนเห็นผลของจริงในสนาม มีส่วนช่วยให้ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2019/20 ต่อยอดจากแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เมื่อ 1 ซีซั่นก่อนหน้านั้น

“ข้อมูล” เบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ลิเวอร์พูล เป็นสโมสรแรก ๆ ของพรีเมียร์ลีก ที่เห็นความสำคัญของ “ข้อมูลขนาดใหญ่” ที่นำมากลั่นกรองจนตกผลึก และเป็นเบื้องหลังความสำเร็จกับแชมป์ 6 รายการ ในยุคของกุนซือเจอร์เก้น คล็อปป์

จาก Data Science สู่การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการวิเคราะห์ข้อมูล อย่างบริษัท Zone7 ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงเรื่องปัญหาการบาดเจ็บของผู้เล่นในทีม

และยังมีเครื่องมือจาก Neuro11 ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลการทำงานของสมองสำหรับนักเตะในการเล่นลูกนิ่ง เช่น ความเครียดในการเล่นจังหวะหนึ่ง, ท่าที่เหมาะสมที่สุดเมื่อต้องยิงฟรีคิก เตะมุม หรือจุดโทษ

เมื่อลิเวอร์พูลพิสูจน์ให้เห็นแล้วในช่วงปี 2019-2020 ทีมคู่แข่งสำคัญอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็ได้แต่งตั้งลอรี่ ชอว์ อดีตนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ มาเป็นทีมงานข้อมูลหลังบ้าน เมื่อช่วงต้นปี 2021

รวมถึงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุคที่เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใหม่ ก็เริ่มที่จะแสดงความก้าวหน้า ด้วยการดึงโดมินิค จอร์แดน มาเป็นผู้อำนวยการฝ่าย Data Scientist คนแรกของสโมสร เมื่อปลายปีที่แล้ว

จะเห็นได้ว่า ผู้ที่นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ก่อนคนอื่น จะเป็นผู้ที่ได้เปรียบ เพราะในโลกธุรกิจยุคสมัยใหม่ จะเป็น “ปลาเร็วกินปลาช้า” ไม่ใช่ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เหมือนในอดีตอีกต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.liverpoolfc.com/news/cern-lfc-weird-journey-william-spearman-liverpools-lead-data-scientist

– https://www.liverpool.com/liverpool-fc-news/features/liverpool-transfer-news-jurgen-klopp-17569689

– https://theathletic.com/2041669/2020/09/09/meet-william-spearman-liverpools-secret-weapon-15-seconds/

– https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/harvard-physicist-opens-up-role-22959333

– https://zone7.ai/how-physicists-are-taking-on-the-challenge-of-interpreting-football-data/

https://www.bbc.com/news/business-56164159

– https://medium.com/the-spekboom/how-math-and-data-science-made-liverpool-the-best-team-on-the-planet-a72d50b325

Categories
Football Business

ระเบิดศึก ครั้งแรก! ฟุตบอลทัวร์นาเม้นท์พิเศษ “LaLiga Futbol Cup” ชวนเตะบอล 7 คน พร้อมรับความสนุกและมิตรภาพแบบครอบครัวลาลีกา

คอบอลอย่างเราพลาดได้อย่างไร หยิบสตั๊ด รวมเพื่อน มาเตะบอลกัน! กับกิจกรรมดีบอกต่อ ที่เปิดโอกาสให้ร่วมสนุกกับการแข่งขันฟุตบอล ภายใต้งาน “LaLiga Futbol Cup by M88 2022” งานที่จะชวนทุกท่าน ที่ชื่นชอบในการเตะบอล ออกกำลังกาย รวมทีมมาร่วมสนุกไปด้วยกัน กับการแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนท์พิเศษ ที่เต็มไปด้วยความสนุกเเละมิตรภาพเเบบครอบครัว ลาลีกา เตะบอลมันส์ Fun ให้สุด !

ฟุตบอลทัวร์นาเมนท์พิเศษ ครั้งแรก โดยลาลีกาครั้งนี้ เป็นการแข่งขันแบบ 7 คน ส่งชื่อเพื่อนร่วมทีมได้ทั้งหมด 10 คน ไม่จำกัดอายุ เพียงแค่คุณพร้อมที่จะลุย ก็สามารถสมัครเข้ามาได้เลย เปิดรับสมัครเพียง 20 ทีมเท่านั้น !! 

ภายในงานจะมีเสื้อฟุตบอลสกรีนโลโก้ทีมใน ลาลีกา สเปน 20 สโมสรแจกให้ใส่เพื่อทำการแข่งขันฟรี! โดยทำการจับสลากหน้างานว่า แต่ละทีมจะได้เสื้อสกรีนโลโก้สโมสรอะไร และมีน้ำดื่มให้ฟรี ทีมละ 2 แพ็ค 24 ขวด ซึ่งทัวร์นาเมนท์นี้ มีถ้วยรางวัลให้สำหรับผู้ชนะเลิศอันดับ 1, 2 และ 3 รวมถึงรางวัลทีมแฟร์เพลย์ อวอร์ด และรางวัลนักเตะยอดเยี่ยม

นอกจากนี้ในงานยังมีอาหารให้ทานฟรีอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวร้อน ๆ ทานคล่องคอ หรือดับร้อนด้วยไอศกรีมโบราณ หอม หวาน เย็นชื่นใจ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีบูธกิจกรรมจาก M88 ที่พร้อมจะมอบความสุขให้กับทุกท่าน และกองเชียร์ผู้ติดตามได้ร่วมมันส์กันอีกด้วย

กติกาการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม

1. สแกน QR Code หรือ คลิกที่ลิงนี้ https://bit.ly/3bcpubH แล้วกรอกข้อมูลตามขั้นตอน

2. แจ้งชื่อ-นามสกุล เบอร์ติดต่อ และ E-mail 

3. ส่งภาพถ่ายที่แสดงความเป็น “ทีม” ของคุณ กับลาลีกาเข้ามาในแบบฟอร์ม

สำหรับการประกาศผลว่าทีมไหนจะได้เข้าร่วมกิจกรรม จะทำการประกาศใน วันที่ 30 มิถุนายน 2565 (เวลา 15.00-16.00 น.)  ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไป (หากไม่สามารถติดต่อได้เจ้าหน้าที่ขอสงวนสิทธิ์ให้กับผู้โชคดีทีมลำดับถัดไป)

หมายเหตุ : 

1. จำนวนทีมที่รับทั้งหมด 20 ทีม ทีมละ 10 คน

2. สมัครมาเป็นทีม โดยตัวแทนทีมลงทะเบียนครั้งเดียว แล้วใส่ชื่อสมาชิกในทีมได้เลย 10 คน

3. ค่ามัดจำทีม จำนวน  1,500 บาท สำหรับการลงทะเบียนเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์ **

** หากไม่ได้รับการคัดเลือกจะโอนกลับในวันที่ 1 ก.ค.2565 สำหรับทีมที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมแข่งขัน และมารายงานตัวในวันที่จัดแข่งขัน จะได้รับเงินคืน โดยจะโอนเงินคืนให้กับหัวหน้า หรือตัวแทนทีมในวันถัดไปหลังจบงาน (กรณีที่โดนใบแดงทางผู้จัดขออนุญาตยึดมัดจำ)

4. สำหรับทีมที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์นี้ ต้องทำการถ่ายรูป ผลตรวจ ATK คู่กับบัตรประจำตัวประชาชน มายื่น ณ จุดลงทะเบียนหน้างาน 

.

*กรุณาทำตามทุกขั้นตอน*

– ผลตรวจจะต้องเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) 

– ผลตรวจจะต้องทำการตรวจไม่เกิน 24 ชั่วโมงก่อนเข้างาน

สถานที่ : สนามฟุตบอล kpc soccer km.9 (สนามฟุตบอลในร่ม)

พิกัด : https://goo.gl/maps/H4qY5sSs3s8bSDKu9

วันที่ : 2 กรกฏาคม 2565 

เวลา : 09.00 – 17.00 น.

สุดท้ายนี้ อย่าลืม ! แอดไลน์ @khaimukdam กันไว้นะคะ เพื่อไม่ให้พลาดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ และสามารถเข้ามาพูดคุย สอบถามกันได้

แล้วเตรียมตัว เตรียมใจ ฟิตร่างกาย มาโชว์ฝีเท้ากับพวกเราได้เลย

Categories
Football Business

ราล์ฟ รังนิก กับการปฏิวัติเงียบบอร์ดบริหารฯ ความสำเร็จเบื้องหลังที่รอการพิสูจน์

บางทีตัวแปรสำคัญอันดับแรกที่ทำให้สโมสรฟุตบอลประสบความสำเร็จและผงาดอยู่แถวหน้าของวงการอาจไม่ใช่การเข้ามาของผู้จัดการทีมที่เก่งฉกาจ แต่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางบริหารของเจ้าของสโมสร

เหมือนกับที่ ลิเวอร์พูล ตัดสินใจยกเลิกวัฒนธรรม The Boot Room ที่นำความยิ่งใหญ่มาสู่แอนฟิลด์ระหว่างทศวรรษ 1960ถึงต้นทศวรรษ 1990 หรือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งขายสโมสรให้กับชาวต่างชาติอย่าง ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2007 ก่อนตกมาอยู่ในมือของ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน นักการเมืองและนักธุรกิจชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน รวมถึง โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ที่เทคโอเวอร์ เชลซี เมื่อปี 2003

ด้วยเหตุนี้ แฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด  จึงเริ่มมีความหวังเล็กๆที่จะปีนกลับขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งนับตั้งแต่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ล้างมือในอ่างทองคำหลังจบซีซั่น 2012-13 แม้เจ้าของสโมสรยังคงเป็นตระกูลเกลเซอร์แห่งสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ มัลคอล์ม เกลเซอร์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในเดือนกันยายน 2003

ช่วง 8 ฤดูกาลในยุค โพสต์-เฟอร์กี้ ปีศาจแดงคว้าแชมป์มาครอง 3 รายการคือ ลีกคัพ, เอฟเอ คัพ และ ยูโรป้า ลีก แต่กับลีกระดับเทียร์หนึ่ง พวกเขาทำได้ดีที่สุดคือ รองแชมป์ พรีเมียร์ลีก 2 สมัย แถมเคยร่วงลงไปอยู่อันดับ 7 ในสมัย เดวิด มอยส์ และอันดับ 6 อีกสองครั้ง ส่วนซีซั่นปัจจุบัน พวกเขามีโอกาสรูดม่านด้วยอันดับ 6, 7 หรือกระทั่ง 8

เดวิด มอยส์ บุรุษผู้ถูกเลือก อาจเป็นความผิดพลาดเพราะฝีมือและบารมีไม่ถึง แต่กุนซือระดับ หลุยส์ ฟาน กัล และ โชเซ่ มูรินโญ่ กึ๋นคงไม่ใช่ข้ออ้าง แม้มีความพยายามคืนสู่จิตวิญญาณแห่งปีศาจแดงด้วยการมอบหมายงานให้ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ก็ยังล้มเหลว

เป้าถล่มย้ายจากผู้จัดการทีมสู่บอร์ดบริหาร

เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงหลัง เสียงด่าทอของแฟนบอลเปลี่ยนทิศจากผู้จัดการทีมไปยังบอร์ดบริหารและเจ้าของทีม ถึงขั้นเคยมีการประท้วงขับไล่ในสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด จนแมตช์แดงเดือดต้องเลื่อนออกไป รวมทั้งสับแหลกการบริหารที่ผิดพลาด วางเป้าหมายผลกำไรทางธุรกิจเหนือความสำเร็จของทีมฟุตบอล เจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่มีความรู้ในกีฬาลูกหนัง การดื้อดึงซื้อนักเตะที่กุนซือไม่ได้ต้องการ การต่อสัญญานักเตะที่ไม่ใช้งานเพียงเพื่อเพิ่มมูลค่า การกระหายเงินจนเข้าร่วมก่อตั้ง ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก  เป็นต้น 

“ภัย” เริ่มขยับใกล้ตระกูลเกลเซอร์เข้ามาเรื่อยๆ จนมหาเศรษฐีจากเมืองลุงแซมต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” เพื่อพา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คืนสู่ความยิ่งใหญ่ ซึ่งจะทำให้การธุรกิจของพวกเขากลับมาสงบสุขอีกครั้ง

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2021 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยกเลิกสัญญากับ โซลชาร์ ท่ามกลางการกดดันของแฟนๆและสื่อมวลชน แต่พลาดได้ตัว อันโตนิโอ คอนเต้ กุนซือมือดีที่เพิ่งตอบตกลงคุมทีม ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ ก่อนหน้าไม่กี่สัปดาห์ โดยมอบหมายให้ ไมเคิล คาร์ริก คุมทีมเพียง 3 นัด ก่อนสร้างเซอร์ไพรส์แต่งตั้ง ราล์ฟ รังนิก ปรามาจารย์ลูกหนังชาวเยอรมัน ทำหน้าที่จนจบซีซั่นก่อนนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาสโมสรเป็นเวลาสองปี

คงไม่มีใครแปลกใจหาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปล่อยให้คาร์ริกคุมทีมช่วงที่เหลือของซีซั่นเพื่อรอเจรจาช่วงซัมเมอร์กับเป้าหมายที่ตกเป็นข่าวอย่าง เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่, เบรนแดน ร็อดเจอร์ส, ซีเนอดีน ซีดาน หรือกระทั่งรังนิกเอง

เท็ดดี้ เชอริงแฮม อดีตศูนย์หน้าทีมปีศาจแดง ให้ความเห็น “คุณตัดสินใจปลดผู้จัดการทีม แล้วให้คาร์ริกทำหน้าที่ชั่วคราว แล้วแทนเขาด้วยผู้จัดการทีมชั่วคราวอีกคนหนึ่ง สำหรับผมแล้ว เป็นการกระทำที่น่าตกใจเอามากๆสำหรับสโมสรที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก”

“นั่นทำให้นักเตะขาดความมั่นใจและไร้ความต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักเตะคนไหนที่กำลังเจอช่วงเวลาที่เลวร้าย ก็เหมือนกับโดนทอดทิ้งไร้อนาคต เขารู้ดีว่านายใหญ่จะต้องไปภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า” 

“เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับสโมสรอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คุณต้องการให้ทุกคนมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับผมแล้ว มันวุ่นวายตั้งแต่บนลงล่าง นักเตะได้แค่เล่นไปในสนาม ผมคงรับมือกับสถานการณ์ไร้สาระแบบนี้ไม่ได้”

เหมือนอย่างที่เชอริงแฮมพูดไว้ รังนิกไม่สามารถใส่สไตล์ “เกเก้น เพรสซิ่ง” ให้กับลูกทีมใหม่ ผลงานในสนามก็ลุ่มๆดอนๆ ตกรอบ เอฟเอ คัพ และ แชมเปี้ยนส์ลีก อันดับบนตารางพรีเมียร์ลีกก็ไหลลงจนอาจได้เพียงโควต้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก สภาพทีมเหมือนเล่นให้ครบโปรแกรมเพื่อรอนายใหญ่คนใหม่เข้ามารับหน้าที่อย่างถาวร

รังนิกชี้ปัญหาที่ถูกมองข้ามผ่านเพรสคอนเฟอเรนซ์

แม้ผลแข่งอาจดูย่ำแย่ที่สุดในบรรดาผู้จัดการทีมยุคหลังเฟอร์กูสัน แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดของรังนิกกลับอยู่ที่การให้สัมภาษณ์หลังเกมและวาระต่างๆ

รังนิกมักอธิบายเหตุผลการทำอะไรไม่ทำอะไรระหว่างเกม 90 นาทีในเชิงเทคนิคและแทคติคอย่างเช่น ทำไมถึงเปลี่ยนตัวนักเตะคนนี้ออกส่งคนนั้นเข้า จุดไหนที่นักเตะไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ก่อนเกม พูดเหมือนเป็นคอมเมนเตเตอร์หรือครูที่กำลังสอนนักเรียนผ่านเกมแข่งขันจริงๆ

ท้ายซีซั่น รังนิกเริ่มให้สัมภาษณ์ไปไกลถึงโครงสร้างการบริหารทีม แนวทางการฝึกซ้อม การทำงานของทีมแพทย์ แนวคิดการซื้อขายนักเตะในตลาด คุณลักษณะนักเตะที่พึงมี ฯลฯ ไม่ใช่ความเห็นต่อภาพที่เกิดขึ้นบนสนามหญ้าเท่านั้น ยิ่งช่วงก่อนหน้าและหลัง เอริค เทน ฮาก ได้รับการประกาศเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ รังนิกแสดงวิสัยทัศน์ราวกับกำลังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ซีอีโอ หรือ ผู้บริหารสูงสุดที่จะเข้ามา “ปฏิวัติ” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

สื่อบางสำนักระบุว่า โครงการปรับปรุงสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ครั้งใหญ่เกิดขึ้นก็เพราะฝีปากของเดอะ โปรเฟสเซอร์ นั่นเอง

“เรด อาร์มี่” ทั่วโลกต่างซึมซับคำพูดช่วง 4-5 เดือนของรังนิกไว้ในสมองอย่างไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่เห็นด้วยถึงเวลาแล้วที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่เพียง “ไมเนอร์ เชนจ์” แต่ต้อง “ยกเครื่อง” ฐานรากของสโมสรเสียใหม่ ไม่ใช่เพียงจ้างผู้จัดการทีมระดับ เอ พลัส เข้ามาสร้างความสำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว พวกเขาพร้อมให้เวลา 3-4 ปี สำหรับ เทน ฮาก

ความคิดลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อาจมีแค่ด่าทอระบายอารมณ์กับสไตล์การทำงานของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด และบอร์ดบริหารบ้าง จนกระทั่งรังนิกเข้ามาจุดประกายและขายไอเดียนับตั้งแต่ย้ายเข้ามาทำงานในโอลด์ แทรฟฟอร์ด 

เปลี่ยนโครงสร้างฝ่ายปฏิบัติการรอการมาของเทน ฮาก

ล่าสุด รังนิกเซ็นสัญญาคุมทีมชาติออสเตรียโดยเชื่อมั่นว่าสามารถทำงานควบคู่กับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นไปได้หลังจากรังนิกได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาไปเรียบร้อยแล้ว แถมปูทางสะดวกให้กับการทำงานของเทน ฮาก ซึ่งเป็นบุคคลที่เขาออกแรงเชียร์เต็มที่แม้เป็นโปเช็ตติโน่ต่างหากที่บอร์ดบริหารต้องการตัว

มุมมองที่รังนิกพูดออกไปสร้างอิมแพ็คให้กับสโมสรจริงๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายอย่างนอกเหนือก่อนหน้านี้ที่วู้ดเวิร์ดประกาศอำลาเก้าอี้ซีอีโอหลังจบซีซั่น แมตต์ จัดจ์ มือขวาของเขา ก็ยุติบทบาทหัวหน้าฝ่ายพัฒนาองค์กรและหัวหน้าฝ่ายเจรจาซื้อขายนักเตะ หลังจากสโมสรมีคำสั่งปลดหัวหน้าแมวมอง 2 คน โดยมีข่าวลือว่า รังนิกได้แนะนำสโมสรให้ทาบทาม พอล มิทเชลล์ ผู้อำนวยการกีฬาของ โมนาโก เข้ามานั่งเก้าอี้แทนจัดจ์และมีบทบาทสำคัญในตลาดซื้อขายฤดูร้อนนี้

เพราะการแผ้วถางทางเดินเกือบครึ่งปีของรังนิก ทำให้บอร์ดบริหารจำใจเซย์เยสกับเงื่อนไขสุดท้ายของเทน ฮาก นั่นคืออำนาจเด็ดขาดในการซื้อขายนักเตะ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยหลังเฟอร์กูสันอำลาสโมสร อดีตกุนซืออย่างฟาน กัล และมูรินโญ่ ล้วนเคยแฉว่าฝ่ายบริหารไม่ได้ตอบสนองความต้องการของพวกเขา 

รอย คีน อดีตกัปตันทีมปีศาจแดง เห็นด้วยกับทิศทางที่เปลี่ยนแปลงในถิ่นเก่า

“เราเห็นตัวอย่างของ ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ได้รับประโยชน์มากขนาดไหนที่ผู้จัดการทีมมีอำนาจเต็มในทุกภาคส่วน สิ่งที่ผู้จัดการทีมต้องการคือ อำนาจและการควบคุมในสโมสร ทั้ง (เจอร์เก้น) คล็อปป์, เป๊ป (กวาร์ดิโอล่า) และ (โธมัส) ทูเคิล ต่างมีสิ่งนี้ ดังนั้นไม่ว่าใครเข้ามาคุมทีม สโมสรต้องหนุนหลังเขา ให้อำนาจและการควบคุมแก่เขา ให้เขามีส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อขายนักเตะ แต่ที่ผมได้ยินช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน มา การตัดสินใจซื้อขายผู้เล่นมาจากคนข้างบน”

ทั้งหมดนี้ แม้รังนิกอาจลัมเหลวกับตัวเลขบนสกอร์บอร์ดและแต้มสะสมในเกมพรีเมียร์ลีก แต่เขาได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงให้กับตระกูลเกลเซอร์และบอร์ดบริหาร จนอาจกล่าวได้ว่า เทน ฮาก มี “แต้มต่อ” ณ จุดสตาร์ท เหนือกว่า มอยส์, ฟาน กัล, มูรินโญ่ และโซลชาร์ พร้อมเวลาให้พิสูจน์ฝีมือ 2-3 ปี

และถ้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สามารถกลับไปยืนโดดเด่นที่แถวหน้าอีกครั้ง ก็จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จที่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงแนวคิดบริหารงานของเบื้องบน

Categories
Football Business

กระเป๋าตุงแค่ไหน ? : เปิดตัวเลข 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก จ่ายเงินให้เอเยนต์นักเตะในรอบปี

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ ได้เปิดเผยยอดเงินของทั้ง 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก ที่ได้จ่ายให้เอเย่นต์นักฟุตบอลไปในช่วง 2 รอบตลาดนักเตะ ทั้งซัมเมอร์ 2021 และเดือนมกราคม 2022

ตัวเลขที่ได้รวบรวมในรอบล่าสุด นับตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ 2021 ถึง 31 มกราคม 2022 มียอดการซื้อขายนักเตะรวมกันทั้งสิ้น 1.44 พันล้านปอนด์ และเอเย่นต์ได้ส่วนแบ่ง 19 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นจำนวนเงิน 272.6 ล้านปอนด์

นับตั้งแต่มีการรวบรวมสถิติเป็นครั้งแรกในปี 2015 จะเห็นได้ว่าจำนวนเงินเข้ากระเป๋าเอเย่นต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี สำหรับยอดเงินในรอบปีนี้ เพิ่มขึ้นจากรอบปีที่แล้ว 4 แสนปอนด์ และเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย

แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเชลซี เฉพาะ 3 ทีมนี้ มียอดเงินที่ต้องจ่ายให้เอเย่นต์รวมกันถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด ขณะที่เบรนท์ฟอร์ด ที่เลื่อนชั้นขึ้นมาด้วยการเพลย์ออฟ จ่ายน้อยที่สุดแค่ 3.5 ล้านปอนด์

จำนวนเงินที่ทีมในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เสียให้บรรดาเอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนหลังสุด เป็นจำนวนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับ 5 ลีกใหญ่ของยุโรป ทั้งเซเรีย อา อิตาลี, บุนเดสลีกา เยอรมนี, ลาลีกา สเปน และลีกเอิง ฝรั่งเศส

ในปัจจุบันนี้ มีเอเย่นต์นักฟุตบอลมากกว่า 2,000 คน ที่ลงทะเบียนกับเอฟเอ เมื่อมีดีลย้ายสโมสร, ต่อสัญญา หรือยกเลิกสัญญา ก็จะได้รับส่วนแบ่งตามเปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่าพวกเขามักจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ

มิโน่ ไรโอล่า เอเย่นต์นักฟุตบอลระดับท็อปของวงการ ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 30 เมษายนที่ผ่านมา ได้อยู่เบื้องหลังนักเตะระดับโลกหลายคน อาทิ ปอล ป็อกบา รวมถึงเออร์ลิง ฮาแลนด์ ที่ตกเป็นข่าวย้ายทีมอย่างหนัก

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่า องค์กรลูกหนังอย่าง “ฟีฟ่า” เตรียมจะกำหนดเพดานการใช้จ่าย และออกมาตรการทางกฎหมายใหม่ๆ เพื่อต้องการขจัดปัญหาการกินเงินส่วนต่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับดีลการซื้อขายนักเตะ

ทั้ง 20 สโมสรในลีกสูงสุดของอังกฤษ มียอดการจ่ายเงินให้ “นายหน้าค้านักเตะ” ในช่วงปี 2021-2022เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย ดังต่อไปนี้

1. แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (35 ล้านปอนด์)

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คือทีมแชมป์จ่ายเงินให้เอเย่นต์มากที่สุดในรอบ 12 เดือนล่าสุด และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2017 ด้วยจำนวนเงิน 35 ล้านปอนด์ มากกว่ารอบปี 2020-2021 ที่จ่ายไป 30.1 ล้านปอนด์

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แมนฯ ซิตี้ ได้ซื้อนักเตะฝีเท้าดีเข้าสู่ทีมมากมาย เช่น ลีรอย ซาเน่, จอห์น สโตนส์, อิลคาย กุนโดกัน, กาเบรียล เชซุส, แบร์นาร์โด้ ซิลวา, ไคล์ วอล์คเกอร์, อายเมอริค ลาป็อกต์ เป็นต้น

แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซิตี้ ซื้อนักเตะบิ๊กเนมเพียงไม่กี่ราย เมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ ที่เป๊ป กวาร์ดิโอล่าเข้ามาคุมทีมใหม่ๆ แต่ด้วยจำนวนค่าตัวนักเตะที่สูง ทำให้พวกเขาต้องจ่ายเงินให้นายหน้ามากขึ้นตามไปด้วย

เหตุผลที่ “เรือใบสีฟ้า” ต้องจ่ายเงินให้เอเย่นต์ถึง 35 ล้านปอนด์ภายใน 1 ปี ไม่ใช่แค่การดึงตัวแจ็ค กริลิช เป็นค่าตัวสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการต่อสัญญาบรรดานักเตะในทีมด้วย

2. แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (29 ล้านปอนด์)

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือทีมที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ในเรื่องการเสียค่าใช้จ่ายให้เอเย่นต์นักเตะรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา เป็นจำนวนเงิน 29 ล้านปอนด์ น้อยกว่าช่วงปี 2020-2021 ที่มีตัวเลข 29.8 ล้านปอนด์

แน่นอนว่า ดีลใหญ่ที่สุดของยูไนเต็ด คือการกลับคืนสู่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ดของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ เมื่อช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีฮอร์เก้ เมนเดส จาก Gestifute International Limited เป็นนายหน้าคู่ใจของเขา

นอกจากนี้ ยังมีราฟาเอล วาราน แนวรับชาวฝรั่งเศส ที่มีอ็องโตนี่ พี่ชายของเขา อยู่เบื้องหลังการดึงตัวมาจากเรอัล มาดริด และดีลของเจดอน ซานโช่ ที่ย้ายมาจากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ด้วยค่าตัว 78 ล้านปอนด์

และเหตุผลอีกอย่างหนึ่ง ที่มีส่วนทำให้ยอดเงินที่จ่ายให้เอเย่นต์ค่อนข้างสูง คือการต่อสัญญานักเตะตัวหลักในทีม ทั้งฆวน มาต้า ที่ต่อสัญญาไปอีก 1 ปี จนจบซีซั่นนี้ และเอริค ไบญี่ ที่ขยายสัญญาจนถึงปี2024

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/manchesterunited

3. เชลซี (28.2 ล้านปอนด์)

เมื่อช่วงปี 2020-2021 เชลซีคือทีมอันดับ 1 ที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก (35.2 ล้านปอนด์) แต่ในรอบ 12 เดือนหลังสุดที่ผ่านมา พวกเขาอยู่อันดับที่ 3 ด้วยจำนวนเงิน 28.2 ล้านปอนด์

ในช่วงตลาดซื้อขายนักเตะ 2 รอบล่าสุด เชลซีมีดีลใหญ่เพียงแค่ 2 ดีลเท่านั้น คือโรเมลู ลูกากู ที่ย้ายมาจากอินเตอร์ มิลาน คืนสู่ทีมเก่า ด้วยค่าตัว 97.5 ล้านปอนด์ และยืมตัวซาอูล นิเกซ จากแอตเลติโก้ มาดริด

ดีลของลูกากู ทำให้เฟเดริโก้ ปาสโตเรลโล่ เอเย่นต์ส่วนตัวของดาวยิงทีมชาติเบลเยียม ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับโรมัน อบราโมวิช อดีตเจ้าของสโมสรมาอย่างยาวนาน ได้รับส่วนแบ่งไปค่อนข้างสูง

นับตั้งแต่ “เสี่ยหมี” เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรเมื่อปี 2003 ทำให้เชลซีเป็นทีมที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์มากที่สุดในยุโรป ส่วนการเสริมผู้เล่นในช่วงซัมเมอร์นี้ ขึ้นอยู่กับเจ้าของทีมคนใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อไป

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ChelseaFC

4. ลิเวอร์พูล (22.1 ล้านปอนด์)

อดีตทีมที่เคยครองตำแหน่งอันดับ 1 ในการเสียเงินให้เอเย่นต์ ถึง 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2018-2020 สำหรับในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ลิเวอร์พูล อยู่ในอันดับที่ 4 มียอดค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 22.1 ล้านปอนด์

ตัวเลข 22.1 ล้านปอนด์ของลิเวอร์พูล มาจากดีลใหญ่ถึง 2 ดีล ทั้งอิบราฮิม่า โกนาเต้ กองหลังค่าตัว 36 ล้านปอนด์ จากแอร์เบ ไลป์ซิก และหลุยส์ ดิอาซ ปีกชาวโคลอมเบียจากปอร์โต้ 50 ล้านปอนด์

ส่วนดีลย้ายออก “หงส์แดง” ก็ต้องจ่ายเงินให้เอเยนต์ของแฮร์รี่ วิลสัน ปีกขวาที่ย้ายไปฟูแล่ม, มาร์โก้ กรูยิช กองหลังชาวเซอร์เบียที่ย้ายไปปอร์โต้ และไทโว อโวนิยี่ ที่ย้ายไปยูนิโอน เบอร์ลิน

นอกจากนี้ ทีมของเจอร์เก้น คล็อปป์ ยังมีการต่อสัญญาใหม่กับนักเตะหลายราย อาทิ อลิสซอน เบ็คเกอร์, ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์, แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน, อาเดรียน, ควีวีน เคลเลเฮอร์ และนาธานเนียล ฟิลลิปส์

5. อาร์เซน่อล (18.7 ล้านปอนด์)

อาร์เซน่อล หมดเงินไป 18.7 ล้านปอนด์ กับค่าเอเย่นต์ในช่วง 12 เดือนหลังสุด ติดท็อป 5 ของพรีเยร์ลีก เป็นตัวเลขที่มากกว่าในช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์ทั้งหมด 16.5 ล้านปอนด์

ก่อนหน้านี้ อาร์เซน่อลไม่ค่อยพึ่งพาเอเย่นต์ชื่อดังที่มีอิทธิพลสูงมากเท่าใดนัก เอเย่นต์ส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็นเอเย่นต์ที่มีประวัติการซื้อขายนักเตะกับสโมสรน้อย ทำให้ค่าจ้างเอเย่นต์ยังไม่สูงมาก

แต่ในตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด “เดอะ กันเนอร์ส” คือทีมที่จ่ายเงินซื้อนักเตะถึง 149 ล้านยูโร มากที่สุดในลีก แลกกับนักเตะ 6 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากเป้าหมายของทีมสูงขึ้น

6. ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ (13.9 ล้านปอนด์)

สเปอร์ จ่ายเงินให้เอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนหลังสุดทั้งหมด 13.9 ล้านปอนด์ ต่ำสุดในกลุ่ม “บิ๊ก 6” พรีเมียร์ลีก และเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์ทั้งหมด 16.5 ล้านปอนด์

ถึงแม้ว่าสเปอร์ จะถูกเรียกว่าเป็น 1 ใน 6 สโมสรใหญ่ของพรีเมียร์ลีก แต่สถานะทางการเงินยังเป็นรองอีก 5 ทีมใหญ่ที่อยู่เหนือพวกเขา ยอดเงินที่จ่ายให้เอเย่นต์ในปีที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับทีมระดับกลางหลายๆ ทีม

การเสริมทัพของ “ไก่เดือยทอง” ในฤดูกาลนี้ จะเน้นไปที่นักเตะดาวรุ่งที่สามารถใช้งานได้หลายปี ซึ่งพวกเขาก็ทำผลงานได้ดี แต่ในฤดูกาลหน้า ความคาดหวังเรื่องผลงานของสโมสรจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

7. วัตฟอร์ด (12.6 ล้านปอนด์)

ทีมที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ของพรีเมียร์ลีกคือ วัตฟอร์ด คิดเป็นเงิน 12.6 ล้านปอนด์ ซึ่งมากกว่าเมื่อฤดูกาลก่อน ที่อยู่ในลีกแชมเปี้ยนชิพ โดยใช้ไปแค่ 2.1 ล้านปอนด์ หรือต่างกันถึง 6 เท่า

ฤดูกาลนี้ วัตฟอร์ดได้มีดีลต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งการเสริมนักเตะใหม่, ต่อสัญญา หรือย้ายออกจากทีม รวมกันทั้งหมด 31 คน แต่ถ้านับเฉพาะนักเตะที่ดึงเข้ามา พวกเขาได้เซ็นสัญญาไปทั้งหมด 24 คน

ซึ่งเอเย่นต์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตฟอร์ดมากที่สุด คือ อาร์เนาด์ บายาต ที่ได้รับความไว้วางใจจากจิโน่ ปอซโซ่ เจ้าของสโมสรชาวอิตาเลียน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังดีลสำคัญๆ หลายคน

8. เลสเตอร์ ซิตี้ (12 ล้านปอนด์)

เลสเตอร์ ซิตี้ จ่ายเงินให้กับเอเย่นต์ไป 12 ล้านปอนด์ ในรอบ 12 เดือนหลังสุด อยู่ในอันดับที่ 8 ส่วนตัวเลขช่วงระหว่างปี 2020-2021 ใช้เงินไป 12.5 ล้านปอนด์ น้อยกว่ากันแค่ 500,000 ปอนด์เท่านั้น

ตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา เลสเตอร์ใช้เงินไป 55 ล้านปอนด์ มากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร ได้นักเตะใหม่ อาทิ พัตสัน ดาก้า, บูบาการี่ ซูมาเร่, ยานนิค เวสเตอร์การ์ด, อเดโมล่า ลุคแมน และไรอัน เบอทรานด์

นอกจากนี้ ยังมีการต่อสัญญาฉบับใหม่กับนักเตะหลายคน เช่นแดนนี่ วอร์ด, ริคาร์โด้ เปเรยร่า, ฮาร์วี่ย์ บาร์นส์, เจมส์ จัสติน, มาร์ค อัลไบรท์ตัน และเอลดิน จาคูโปวิช

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/lcfc

9. วูล์ฟแฮมป์ตัน (11.9 ล้านปอนด์)

วูล์ฟแฮมป์ตัน จ่ายเงินค่าเอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนล่าสุด เป็นจำนวน 11.9 ล้านปอนด์ อยู่ในอันดับที่ 9 ของพรีเมียร์ลีก ซึ่งน้อยกว่าช่วงปี 2020-2021 ที่ติดอันดับ 8 ด้วยจำนวนเงิน 12.6 ล้านปอนด์

ในฤดูกาลนี้ วูล์ฟแฮมป์ตัน ได้เปลี่ยนกุนซือจากนูโน่ เอสปิริโต ซานโต มาเป็นบรูโน่ ลาจ ซึ่งยังคงนโยบาย “โปรตุกีส คอนเน็คชั่น” ดึงนักเตะที่เป็นลูกค้าของฮอร์เก้ เมนเดส เอเย่นต์ชื่อดังเข้าสู่ทีม

ดีลของเยอร์สัน มอสเกร่า กองหลังดาวรุ่งวัย 21 ปี ที่ย้ายมาจากแอตเลติโก นาซิอองนาล สโมสรในโคลัมเบีย มีการเปิดเผยว่า ฮวน ปาโบล อังเคล อดีตดาวยิงแอสตัน วิลล่า เป็นนายหน้าให้กับเขา

10. เอฟเวอร์ตัน (11.5 ล้านปอนด์)

รอบ 12 เดือนหลังสุด เอฟเวอร์ตัน จ่ายเงินให้กับเอเย่นต์ติดอันดับ “ท็อป เทน” ของพรีเมียร์ลีก คิดเป็นเงิน 11.5 ล้านปอนด์ ภายใต้สถานการณ์ที่สโมสรประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างหนักในเวลานี้

ตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด เอฟเวอร์ตันดึงตัวผู้เล่นใหม่เข้ามาไม่น้อย เช่น เดมาไร เกรย์, แอนดรอส ทาวน์เซ่น, ซาโลมอน รอนดอน, วิตาลี มิโคเลนโก้, นาธาน แพตเตอร์สัน ดอนนี่ ฟาน เดอ เบค, เดเล่ อัลลี่ เป็นต้น

ส่วนดีลย้ายออกที่สำคัญ เช่นการปล่อยฮาเมส โรดริเกวซ และเบอร์นาร์ด 2 นักเตะที่กินค่าเหนื่อยสูงสุดออกไป รวมถึงลูคัส ดีญ ที่มีนายหน้าคนดังอย่างเคีย จูรับเชี่ยน อยู่เบื้องหลังในการย้ายไปแอสตัน วิลล่า

11. ลีดส์ ยูไนเต็ด (11.4 ล้านปอนด์)

ลีดส์ ยูไนเต็ด มียอดการจ่ายเงินให้กับเอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนหลังสุด ทั้งหมด 11.4 ล้านปอนด์ อยู่ในอันดับที่ 11 ของพรีเมียร์ลีก มากกว่าช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่พวกเขาจ่ายไป 7 ล้านปอนด์

ตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ลีดส์ใช้เงินประมาณ 50 ล้านปอนด์ แลกกับ 3 นักเตะทีมใหญ่ ทั้งแดเนี่ยล เจมส์ จากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, จูเนียร์ เฟอร์โป จากบาร์เซโลน่า และแจ็ค แฮร์ริสัน จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้

นอกจากนี้ ยังต่อสัญญาให้กับนักเตะตัวหลัก เช่น อิลลัน เมสลิเย่ร์ (ขยายไปอีก 5 ปี), แพทริค แบมฟอร์ด, สจ๊วต ดัลลัส, อดัม ฟอร์ชอว์ และไทเลอร์ โรเบิร์ต รวมถึงนักเตะอคาเดมี่ และนักเตะที่ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่เป็นครั้งแรก

12. เวสต์แฮม ยูไนเต็ด (10.5 ล้านปอนด์)

เวสต์แฮม ยูไนเต็ด จ่ายเงินให้กับเอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนหลังสุด เป็นจำนวนเงิน 10.5 ล้านปอนด์ อยู่ในอันดับที่ 12 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากรอบปี 2020-2021 ที่เสียค่าใช้จ่ายให้เอเย่นต์ 9.7 ล้านปอนด์

การใช้จ่ายในตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด เวสต์แฮมได้นักเตะใหม่มา 5 คน ได้แก่ เคิร์ต ซูม่า, นิโกล่า วลาซิช, เคร็ก ดอว์สัน พร้อมยืมตัว 2 นักเตะทั้งอเล็กซ์ คราล และอัลฟองเซ่ อาเรโอล่า

การเซ็นสัญญานักเตะของ “เดอะ แฮมเมอร์ส” ในฤดูกาลนี้ ช่วยยกระดับผลงานได้ดี โดยในเวลานี้ มีลุ้นเล็กๆ ในการติดท็อป 4 พรีเมียร์ลีก และยังอยู่ในเส้นทางลุ้นแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก อีกด้วย

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/WestHam

13. แอสตัน วิลล่า (9.6 ล้านปอนด์)

แอสตัน วิลล่า เป็นทีมอันดับที่ 13 ของทีมที่จ่ายเงินให้กับเอเย่นต์มากที่สุดในพรีเมียร์ลีกในรอบ 12 เดือนล่าสุด ด้วยจำนวน 9.6 ล้านปอนด์ มากกว่าช่วงปี 2020-2021 ที่ใช้เงินไป 8.9 ล้านปอนด์

การขายแจ็ค กริลิช ไปให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยค่าตัว 100 ล้านปอนด์ เป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ ทำให้วิลล่า มีงบประมาณมหาศาลที่จะเสริมตัวผู้เล่นในตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด

ดีลของเอมิเลียโน่ บูเอนเดีย, ลีออน ไบลี่ย์, ลูคัส ดีญ และแดนนี่ อิงส์ เฉพาะ 4 คนนี้ มีค่าตัวรวมกันประมาณ 115 ล้านปอนด์ อีกทั้งยังยืมตัวฟิลิปเป้ คูตินโญ่ มาจากบาร์เซโลน่า ในช่วงเดือนมกราคมด้วย

14. คริสตัล พาเลซ (8.9 ล้านปอนด์)

คริสตัล พาเลซ จ่ายเงินไป 8.9 ล้านปอนด์ กับค่าเอเย่นต์ในช่วง 12 เดือนหลังสุด เป็นอันดับที่ 14 ของพรีเยร์ลีก เพิ่มขึ้นจากช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์ทั้งหมด 6.8 ล้านปอนด์

ในตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด พาเลซใช้เงินซื้อนักเตะไปไม่น้อยกว่า 60 ล้านปอนด์ เช่น ไมเคิล โอลิเซ่, โจอาคิม แอนเดอร์สัน, อ็อดซอนน์ เอดูอาร์, มาร์ค เกฮี, ฌอง ฟิลิปป์ มาเตต้า เป็นต้น

ส่วนนักเตะตัวเก๋าอย่างเจมส์ แม็คอาเธอร์ มิดฟิลด์วัย 34 ปี เพิ่งขยายสัญญาออกไป แต่จะไม่ได้เป็นการต่อสัญญาแบบระยะยาว ขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่า เขายังมีประโยชน์กับสโมสรหรือไม่

15. นอริช ซิตี้ (8.7 ล้านปอนด์)

นอริช ซิตี้ มียอดการจ่ายเงินให้กับเอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนหลังสุด ทั้งหมด 8.7 ล้านปอนด์ ซึ่งมากกว่าช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่อยู่ในลีกแชมเปี้ยนชิพ ได้จ่ายค่าเอเย่นต์ไป 6.8 ล้านปอนด์

สำหรับเงินที่ต้องจ่ายให้นายหน้าของนอริชนั้น มาจากการซื้อผู้เล่นเข้ามาถึง 11 คนในตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา รวมถึงการปล่อยตัวเอมิเลียโน่ บูเอนเดีย ไปให้แอสตัน วิลล่า ด้วยค่าตัว 33 ล้านปอนด์

นอกจากนี้ การยกเลิกสัญญากับนักเตะหลายคน และการเปลี่ยนแปลงกุนซือจากดาเนียล ฟาร์ก มาเป็นดีน สมิธ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ถูกนับรวมเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเอเย่นต์ด้วย

16. นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด (7.7 ล้านปอนด์)

นิวคาสเซิล ที่เพิ่งมีเจ้าของสโมสรรายใหม่ไปเมื่อเร็วๆ นี้ จ่ายเงินค่าเอเย่นต์ไปเพียง 7.7 ล้านปอนด์ น้อยกว่าช่วงระหว่างปี 2020-2021 ในยุคของไมค์ แอชลี่ย์ อดีตเจ้าของทีมคนก่อน ที่จ่ายไป 11.3 ล้านปอนด์

ในฤดูกาลนี้ นิวคาสเซิลเสริมนักเตะมา 5 คน ค่าตัวรวมกันประมาณ 92 ล้านปอนด์ แต่จะเน้นหนักไปที่ตลาดนักเตะเดือนมกราคม ประกอบด้วยคีแรน ทริปเปียร์, แดน เบิร์น, โจ วิลล็อค, คริส วูด และบรูโน่ กิมาไรส์

เป็นที่น่าแปลกใจว่า ซีซั่นนี้นิวคาสเซิลเสียเงินค่านายหน้าน้อยกว่าซีซั่นที่แล้ว แต่ด้วยความสามารถในการดึงนักเตะที่มากกว่าเดิมในอนาคต พวกเขามีแนวโน้มที่จะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายให้นายหน้าเพิ่มขึ้น

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/newcastleunited

17. ไบรท์ตัน (6.2 ล้านปอนด์)

ไบรท์ตัน ได้จ่ายเงินให้เอเย่นต์ไปทั้งหมด 6.2 ล้านปอนด์ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มากสุดเป็นอันดับที่ 17 ของพรีเมียร์ลีก น้อยลงจากช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่เสียค่าเอเย่นต์ไป 7.5 ล้านปอนด์

สมัยที่ไบรท์ตัน ยังอยู่ในลีกแชมเปี้ยนชิพ จ่ายเงินให้นายหน้านักเตะไม่ถึง 1 ล้านปอนด์ จนกระทั่งในฤดูกาล 2016/17 เป็นซีซั่นแรกที่พวกเขาจ่ายเงินแตะ 7 หลัก และได้เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกในซีซั่นถัดไป

ดีลใหญ่ของ “เดอะ ซีกัลส์” ในฤดูกาลนี้ ฝั่งขาเข้าคืออิน็อค เอ็มเวปู มาจากซัลซ์บวร์ก ราคา 20 ล้านปอนด์ ส่วนฝั่งขาออก คือการขายเบน ไวท์ เซ็นเตอร์แบ็กชาวอังกฤษไปให้อาร์เซน่อล ด้วยค่าตัวสูงถึง 50 ล้านปอนด์

18. เบิร์นลี่ย์ (6 ล้านปอนด์)

เบิร์นลีย์ อยู่ในอันดับ 18 ของทีมที่จ่ายเงินให้กับเอเย่นต์มากที่สุดในพรีเมียร์ลีก ในรอบ 12 เดือนล่าสุด คิดเป็นเงิน 6 ล้านปอนด์ ซึ่งสูงกว่าในช่วงระหว่างปี 2020-2021 ที่เสียเงินไป 4.5 ล้านปอนด์

“เดอะ คลาเร็ตส์” เสริมผู้เล่นเข้ามาหลายคน อาทิ วูท เวกฮอร์สต์, แม็กซ์เวล คอร์เน็ต, นาธาน คอลลินส์ และคอนเนอร์ โรเบิร์ตส์ พร้อมกับดึงนักเตะฟรีเอเย่นต์อย่างเวย์น เฮนเนสซีย์ และอารอน เลนน่อน

อย่างไรก็ตาม มีผู้เล่นในทีมชุดปัจจุบันอยู่ 10 คน ที่กำลังจะหมดสัญญาหลังจบฤดูกาลนี้ แต่จนถึงเวลานี้ ก็ยังไม่มีนักเตะคนใดตกลงต่อสัญญาใหม่เลย ส่วนแจ็ค คอร์ก และแอชลี่ย์ บาร์นส์ เหลือสัญญาอยู่ 1 ปีเท่านั้น

19. เซาธ์แธมป์ตัน (4.9 ล้านปอนด์)

เซาธ์แธมป์ตัน มียอดการจ่ายเงินให้กับเอเย่นต์ในรอบ 12 เดือนหลังสุด ทั้งหมด 4.9 ล้านปอนด์ มากกว่าเบรนท์ฟอร์ด เพียงทีมเดียวเท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงระหว่างปี 2020-2021 พวกเขาจ่ายไป 6.8 ล้านปอนด์

ดีลใหญ่สุดของ “เดอะ เซนส์” ในตลาดนักเตะ 2 รอบล่าสุด คือ อดัม อาร์มสตรอง ย้ายจากแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ส่วนขาออก ได้ปล่อยตัวแดนนี่ อิงส์ ไปให้แอสตัน วิลล่า และยานนิค เวสเตอร์การ์ด ไปให้เลสเตอร์ ซิตี้ 

ส่วนกรณีของอเล็กซ์ แม็คคาร์ธี่ย์ ผู้รักษาประตูมือ 1 ของทีม ที่กำลังจะหมดสัญญาหลังจบซีซั่นนี้ มีรายงานว่าเจ้าตัวกำลังจะตัดสินใจต่อสัญญาฉบับใหม่ออกไปอีก 3 ปี

20. เบรนท์ฟอร์ด (3.5 ล้านปอนด์)

เบรนท์ฟอร์ด ทีมที่เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดครั้งแรกในรอบ 74 ปี ใช้เงินซื้อนักเตะเพียง 30 ล้านปอนด์ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เป็นทีมที่จ่ายเงินให้เอเย่นต์น้อยที่สุดในพรีเมียร์ลีก ระหว่างปี 2021-2022

จำนวนเงิน 3.5 ล้านปอนด์ของเบรนฟอร์ด น้อยกว่า 2 ทีมที่เลื่อนชั้นมาด้วยกันทั้งวัตฟอร์ด (12.6 ล้านปอนด์) และนอริช ซิตี้ (8.7 ล้านปอนด์) อีกทั้งน้อยกว่าอันดับ 1 อย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ถึง 10 เท่า

ดีลใหญ่ที่สุดของเบรนท์ฟอร์ด คือดีลของคริสตอฟเฟอร์ เอเยอร์ เซ็นเตอร์แบ็กชาวนอร์เวย์ ย้ายจากกลาสโกว์ เซลติก ด้วยค่าตัว 13.5 ล้านปอนด์ เป็นสถิติสูงสุดของสโมสร ในช่วงซัมเมอร์ปี 2021

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : The Athletic

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3223559/2022/04/02/analysed-premier-league-spent-272m-agents-fees-transfers?source=user-shared-article

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10672961/Premier-League-clubs-spent-272MILLION-agents-fees-2021-22.html

https://www.thefa.com/football-rules-governance/policies/intermediaries/intermediaries-transactions