Categories
Football Business

“ลิเวอร์พูล” กับการไปต่ออีก 4 ปี ของ “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด”

ในช่วงปลายทศวรรษ 1970s ฟุตบอลอังกฤษได้เปิดรับให้มีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อแข่งขันของสโมสร ซึ่งลิเวอร์พูล ถือเป็นสโมสรแรก ๆ ที่นำร่อง และเป็นภาพจำในแต่ละยุคสมัย

ท่ามกลางความไม่แน่นอนในเรื่องสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อรายเดิมที่กำลังจะหมดสัญญา และมีการเจรจากับหลายราย แต่ในที่สุด “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” ยังอยู่กับลิเวอร์พูลไปอีก 4 ปี

เรื่องราวของ “หงส์แดง” กับสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กับการไปต่อของ “สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด” วันนี้ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

โลกฟุตบอลยุคเก่าถูกทำลายล้าง

24 มกราคม 1976 “เคทเทอริ่ง ทาวน์” สโมสรแรกในประวัติศาสตร์ลูกหนังเมืองผู้ดี ที่มีสปอนเซอร์บนเสื้อแข่ง โดยสวมเสื้อที่มีคำว่า “Kettering Tyres” ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจศูนย์บริการยางรถยนต์ อยู่บนหน้าอกลงแข่งขัน

แต่ทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ สั่งให้เคทเทอริ่ง ทาวน์ เอาสปอนเซอร์ “Kettering Tyres” ที่อยู่บนหน้าอกเสื้อออกไป เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีกฎที่อนุญาตให้ทีมฟุตบอลมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน

ทางเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็พยายามที่จะเลี่ยงบาลี เปลี่ยนเป็น “Kettering T” ที่มาจากคำว่า Town แต่ทางเอฟเอบอกว่า จะปรับเงิน 1,000 ปอนด์ ถ้ายังฝ่าฝืนกฏ สุดท้ายแล้วเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็ยอมเอาออกแต่โดยดี

หลังจากเคสของเคทเทอริ่ง ทาวน์ ผ่านไปไม่นาน ดาร์บี้ เคาน์ตี้ สโมสรในดิวิชั่น 1 กับโบลตัน วันเดอเรอร์ส ทีมระดับดิวิชั่น 2 ตัดสินใจทำหนังสือไปยังเอฟเอ เพื่อขอให้มีสปอนเซอร์ทางธุรกิจ ไปอยู่บนเสื้อแข่งขัน

ที่สุดแล้ว ในเดือนมิถุนายน 1977 เอฟเอจึงอนุมัติให้สโมสรฟุตบอลมีสปอนเซอร์อยู่บนเสื้อได้ แต่ได้เพิ่มเงื่อนไขว่า ถ้ามีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ห้ามสวมชุดแข่งที่มีสปอนเซอร์บนหน้าอกลงแข่งขันโดยเด็ดขาด

ซึ่งสโมสรแรกในลีกสูงสุดเมืองผู้ดี ที่ประเดิมสวมชุดแข่งขันที่มีสปอนเซอร์อยู่บนหน้าอก คือ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ในฤดูกาล 1977/78 โดยมี “SAAB” บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสวีเดน เป็นผู้สนับสนุน

ย้อนรอยสปอนเซอร์บนเสื้อ “หงส์แดง”

ลิเวอร์พูล ได้เริ่มสวมเสื้อที่มีสปอนเซอร์อยู่บนหน้าอก ลงแข่งขันในแมตช์อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อปี 1979 ซึ่งรายชื่อแบรนด์สินค้าทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

👉 Hitachi (1979-1982) : บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของญี่ปุ่น สปอนเซอร์รายแรกที่อยู่บนหน้าอกเสื้อชุดแข่งของลิเวอร์พูล ในยุคที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างความรุ่งเรือง ช่วงปลายยุค 1970s ถึงต้นยุค 1980s

👉 Crown Paints (1982-1988) : บริษัทผลิตสีทาบ้านจากอังกฤษ เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อ ช่วงที่ลิเวอร์พูลยังครองความยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง ในปีแรกแยกเป็น 2 บรรทัด แต่หลังจากนั้นยุบเหลือบรรทัดเดียว

👉 Candy (1988-1992) : ไม่ได้เกี่ยวกับลูกอม แต่เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากอิตาลี อยู่บนหน้าอกเสื้อในช่วงที่ลิเวอร์พูล เข้าสู่ช่วงท้ายๆ ของความยิ่งใหญ่ในยุค “บูทรูม สต๊าฟฟ์” ก่อนที่จะเผชิญกับขาลง

👉  Carlsberg (1992-2010) : แบรนด์เครื่องดื่มจากประเทศเดนมาร์ก ถึงแม้ในช่วงเวลานั้น ลิเวอร์พูลได้ห่างหายแชมป์ลีกสูงสุดเป็นเวลานาน แต่สปอนเซอร์รายนี้ก็ยังจงรักภักดีกับสโมสรยาวนานถึง 18 ปี

👉 Standard Chartered (2010-ปัจจุบัน) : ธนาคารชื่อดังระดับโลก ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในยุคที่ลิเวอร์พูล ค่อย ๆ กลับคืนสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง โดยเฉพาะยุคของเจอร์เก้น คล็อปป์ ที่คว้าแชมป์รายการใหญ่ 6 โทรฟี่

สปอนเซอร์หน้าอกเสื้อแข่งขัน ถือเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวในแต่ละช่วงเวลาของสโมสรฟุตบอลนั้น ๆ ว่า ได้ผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง ซึ่งทั้งสปอนเซอร์และสโมสร ต่างก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ตัดสินใจต่อสัญญากับเจ้าเดิมอีก 4 ปี

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า ลิเวอร์พูลพยายามเจรจากับบริษัทคริปโตเคอเรนซี่ เพื่อมาเป็นสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อของสโมสรรายใหม่ แทนที่รายเดิมที่จะหมดสัญญาในปีหน้า

แต่ในที่สุด ยักษ์ใหญ่แห่งเมอร์ซีย์ไซด์ทีมนี้ ตัดสินใจต่อสัญญากับธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกไปอีก 4 ปี มีผลถึงปี 2027 คาดว่าได้รับเงินปีละ 50 ล้านปอนด์ รวมทั้งสิ้น 200 ล้านปอนด์

บิลล์ วินเทอร์ส ซีอีโอของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กล่าวว่า “ตอนที่เราเริ่มสนับสนุนลิเวอร์พูลมาตั้งแต่ปี 2010 นึกไม่ถึงเลยว่าลิเวอร์พูลจะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกันต่ออีก 4 ปี”

ขณะที่ บิลลี่ โฮแกน ซีอีโอของลิเวอร์พูล กล่าวว่า “การเข้ามาสนับสนุนของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จทั้งในและนอกสนามช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเราหวังว่าจะได้ร่วมกันสนับสนุนแฟน ๆ ต่อไป”

ส่วนประเด็นที่มีการเจรจากับบริษัทคริปโตเคอเรนซี่ ในการเป็นสปอนเซอร์ใหม่นั้น โฮแกนมองว่า วงการคริปโตเคอเรนซี่ ยังไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน และมีความเสี่ยงสูง จึงยังไม่ถึงเวลาที่จะเจรจาเรื่องนี้

“สำหรับคริปโตเคอเรนซี่แล้ว มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างกว้าง มีองค์ประกอบต่างๆ มากมาย ที่อยู่ในนั้น มันยังเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน ซึ่งตอนนี้กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก”

“ผมไม่ได้พูดว่า จะไม่สนใจอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี่ แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ใช่ตอนนี้ ถ้าในอนาคตได้พบกับพันธมิตรที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมนั้น ผมจะดูเรื่องนี้อย่างแน่นอน” โฮแกน กล่าวปิดท้าย

การมีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อ นอกจากจะเป็นการหารายได้เข้าสู่สโมสรแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยให้แฟนฟุตบอลจดจำ และกลายเป็นภาพที่ติดตาจนไม่สามารถลบเลือนออกจากความทรงจำของแฟนฟุตบอลได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://sportslens.com/news/on-this-day-jan-24/

https://www.liverpoolfc.com/news/history-liverpools-shirt-sponsors

https://theathletic.com/3422768/2022/07/14/liverpool-standard-chartered-crypto/

Categories
Football Business

เปิดเบื้องหลังชื่อสนามเหย้า 20 ทีมลาลีกา 2022/23

เหตุผลของการตั้งชื่อสนามฟุตบอลของแต่ละสโมสรนั้น ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะมาจากชื่อสถานที่ตั้ง, ชื่อบุคคลสำคัญ หรือมีเหตุผลอื่นๆ ที่แปลกประหลาด ทำเอาหลายคนคาดไม่ถึง

อย่างเช่นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บาร์เซโลน่า และอัลเมเรีย ได้เปลี่ยนแปลงชื่อสนามแข่งขัน เพื่อต้อนรับการแข่งขันลาลีกา 2022/23 ที่กำลังจะเริ่มขึ้น ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

สังเวียนแข้งของบาร์ซ่า เปลี่ยนชื่อเป็น “สปอติฟาย คัมป์ นู” ส่วนชื่อรังเหย้าใหม่ของอัลเมเรีย คือ “เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม” ซึ่งทั้ง 2 สโมสร ต่างเปลี่ยนชื่อด้วยเหตุผลเดียวกันคือเรื่อง “ธุรกิจ”

ลาลีกา ได้นำเรื่องราวเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่ของชื่อสนามเหย้าทั้ง 20 สโมสร ในการแข่งขันซีซั่นใหม่มาฝากกัน เพื่อเป็นเกร็ดความรู้สำหรับแฟน ๆ ลูกหนังลีกสเปน

Descripcion de la juada

อัลเมเรีย – เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม

สนามเหย้าของอัลเมเรีย เดิมมีชื่อว่า “เอสตาดิโอ เด ลอส ฆูเอกอส เมดิเตร์ราเนออส” สร้างขึ้นเมื่อปี 2004 เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติในปีต่อมา และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 เป็นต้นไป ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม” โดยมาจากชื่อของ “Power Horse” แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังจากประเทศออสเตรีย

แอธเลติก บิลเบา – ซาน มาเมส

“ซาน มาเมส” สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1913 ก่อนทุบทิ้งในปี 2010 จากนั้นได้สร้างสนามใหม่ทดแทน และเปิดใช้งานในปี 2013 หรือ 100 ปี หลังจากสร้างสนามแห่งแรก สำหรับชื่อของ “ซาน มาเมส” นั้น มีที่มาจากชื่อของ San Mamés (Saint Mammes) ซึ่งเป็นนักบุญไบแซนไทน์ และเป็นชื่อของโบสถ์ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสนามเหย้าของบิลเบา

แอตเลติโก มาดริด – เอสตาดิโอ เมโทรโปลิตาโน่

“เอสตาดิโอ เมโทรโปลิตาโน่” สร้างขึ้นเมื่อปี 1990 แต่ได้ถูกใช้เป็นสนามเหย้าของแอต. มาดริด มาตั้งแต่ปี 2017 แทนที่ บิเซนเต้ กัลเดร่อน รังเหย้าแห่งเดิม พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ว่านต๋า เมโทรโปลิตาโน่” ตามชื่อของ Wanda กลุ่มทุนจากประเทศจีนที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ส่วนชื่อ “Metropolitano” คือชื่อสนามเหย้าแห่งแรกของสโมสร

บาร์เซโลน่า – สปอติฟาย คัมป์ นู

นี่คือครั้งแรกในรอบ 65 ปี ที่บาร์เซโลน่า ได้มีการเปลี่ยนชื่อสนามเหย้าจาก “คัมป์ นู” มาเป็น “สปอติฟาย คัมป์ นู” โดยชื่อ สปอติฟาย (Spotify) มาจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชื่อดังของประเทศสวีเดน ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ใหม่ให้กับสโมสร เพื่อนำเงินทุนไปดำเนินโครงการ Espai Barca ในการปรับปรุงสนามเหย้า และพื้นที่โดยรอบ

เรอัล เบติส – เอสตาดิโอ เบนิโต บียามาริน

ชื่อสนามเหย้าของเบติส มาจากชื่อของ “เบนิโต บียามาริน” อดีตประธานสโมสรที่ดำรงตำแหน่งในช่วงระหว่างปี 1955 – 1965 และเคยเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอสตาดิโอ มานูเอล รุยซ์ เด โลเปร่า” ตามชื่อของมานูเอล รุยซ์ เด โลเปร่า ที่เข้ามาเป็นประธานสโมสรในช่วงปี 1997 – 2010 แต่ในภายหลัง แฟนบอลของสโมสรได้ลงมติโหวตให้กลับไปใช้ชื่อเดิมอีกครั้ง

กาดิซ – เอสตาดิโอ นูเอโบ มิรันดิลย่า

เดิมมีชื่อว่า “เอสตาดิโอ ราม่อน เด การ์รันซ่า” เป็นชื่อของอดีตนายกเทศมนตรีเมืองกาดิซ ก่อนที่ในปี 2021 แฟนบอลของสโมสร ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนชื่อสนามเหย้าใหม่ ผลปรากฏว่า ชื่อที่ได้รับการโหวตมากที่สุด คือ “เอสตาดิโอ นูเอโบ มิรันดิลย่า” ซึ่งมาจาก “Mirandilla” ชื่อสโมสรในอดีต ก่อนเปลี่ยนเป็นกาดิซในปัจจุบัน

เซลต้า บีโก้ – อาบังก้า บาลาอิโดส

สนามเหย้าของเซลต้า บีโก้ ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลากาเรส (Lagares) สร้างขึ้นเมื่อปี 1924 โดยบริษัท Stadium de Balaídos ซึ่งกลายมาเป็นชื่อสนามของสโมสรในเวลาต่อมา จนกระทั่งในปี 2018 ABANCA สถาบันการเงินของประเทศสเปน ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ทำให้ชื่อสนามในปัจจุบัน มีชื่อว่า “อาบังก้า บาลาอิโดส”

เอลเช่ – เอสตาดิโอ มาร์ติเนซ บาเยโร่

สนาม “เอสตาดิโอ มาร์ติเนซ บาเยโร่” มาจากชื่อของ มานูเอล มาร์ติเนซ บาเยโร่ อดีตประธานสโมสรเอลเช่ (ผู้ล่วงลับ) สร้างขึ้นในปี 1976 และถูกใช้ในการแข่งขันรายการใหญ่อย่างฟุตบอลโลก 1982 มาแล้ว นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกจากแฟนฟุตบอลลาลีกา ให้รับรางวัลสนามฟุตบอลที่ดีที่สุด ในฤดูกาล 2013/14

เอสปันญ่อล – อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม

สร้างขึ้นเมื่อปี 2009 เริ่มแรกใช้ชื่อว่า “เอสตาดี้ คอร์เนลล่า-เอล ปราต” เนื่องจากที่ตั้งของสนาม อยู่ระหว่างย่าน Cornellà  กับ El Prat ต่อมาเปลี่ยนเป็น “พาวเวอร์ เอท สเตเดี้ยม” (Power8 Stadium) จนกระทั่งในปี 2016 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม” ซึ่งมาจากตัวอักษร 4 ตัวแรกของชื่อสโมสร “RCD Espanyol”

เกตาเฟ่ – โคลิเซียม อัลฟอนโซ เปเรซ

สนาม “โคลิเซียม อัลฟอนโซ เปเรซ” มาจากชื่อของ อัลฟอนโซ เปเรซ อดีตกองหน้าทีมชาติสเปน ยุค 1990s ที่เกิด และเติบโตในย่านเกตาเฟ่ ชานกรุงมาดริด เขาเริ่มต้นจากการเป็นนักเตะเยาวชนของเกตาเฟ่ ต่อมาได้ลงเล่นกับทีมชุดใหญ่ของเรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า และเรอัล เบติส แต่ไม่เคยลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ของเกตาเฟ่เลยแม้แต่นัดเดียว

กิโรน่า – เอสตาดี้ มอนตีลีบี้

ที่ตั้งของสนาม อยู่ที่ย่าน Montilivi ในเมืองกิโรน่า ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นคาตาลัน และได้กลายมาเป็นชื่อสนาม “เอสตาดี้ มอนตีลีบี้” ในเวลาต่อมา สร้างขึ้นเมื่อปี 1968 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา สโมสรกิโรน่าได้ย้ายมาใช้สนามแห่งนี้ เป็นรังเหย้า แทนที่สนาม “เอสตาดิโอ วิสต้า อัลเอเกร” ที่ใช้งานมาเกือบ 50 ปี

เรอัล มายอร์ก้า – บิซิต มายอร์ก้า เอสตาดี้

สนามแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี 1999 เพื่อใช้จัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ที่ประเทศสเปน ภายใต้ชื่อ “เอสตาดิโอ เด ซอน โมอิกซ์” ก่อนที่สโมสรฟุตบอลเรอัล มายอร์ก้า จะมารับช่วงต่อ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 จึงมีการเปลี่ยนชื่อสนามเป็น “บิซิต มายอร์ก้า เอสตาดี้” โดยความร่วมมือของสภาเมืองมายอร์ก้า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

เรอัล มาดริด – เอสตาดิโอ ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว

“ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว” เป็นชื่อของอดีตผู้เล่น, อดีตผู้จัดการทีม และอดีตประธานสโมสรของเรอัล มาดริด ความสำเร็จในยุคที่เขาเป็นประธานสโมสรตั้งแต่ปี 1943 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1978 คือแชมป์ลาลีกา 16 สมัย และแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 6 สมัย โดยชื่อของเขาได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อสนามเหย้าของสโมสร ตั้งแต่ปี 1955 เป็นต้นมา

โอซาซูน่า – เอล ซาดาร์

สนาม “เอล ซาดาร์” ของโอซาซูน่า มาจากชื่อของแม่น้ำ “Sadar” ที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งของสโมสร แต่ในช่วงระหว่างปี 2005 – 2011 เคยถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เรย์โน เด นาวาร์ร่า” (Reyno de Navarra) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นนาวาร์ (Navarre) ดินแดนปกครองตนเองที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศสเปน

ราโย บาเยกาโน่ – เอสตาดิโอ เด บัลเยกาส

ชื่อสนามเหย้าของราโย บาเยกาโน่ มาจากชื่อ “Vallecas” ซึ่งเป็นย่านที่อยู่ในกรุงมาดริด สร้างขึ้นเมื่อปี 1972 และเคยเป็นสถานที่ที่ใช้จัดแสดงคอนเสิร์ตของวง Queen วงดนตรีร็อกชื่อดังจากอังกฤษ ในปี 1986 อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 สนามแห่งนี้เคยถูกระงับไม่ให้ใช้งานเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย

เรอัล โซเซียดัด – เรอาเล่ อารีน่า

ชื่อเดิมคือ “เอสตาดิโอ เด อาโนเอต้า” สร้างขึ้นเมื่อปี 1993 หลังจากทุบทิ้งสนามเหย้าเก่า ที่ใช้งานมานานกว่า 80 ปี จนกระทั่งในปี 2019 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เรอาเล่ อารีน่า” ซึ่งมาจากชื่อของ เรอาเล่ เซกูรอส (Reale Seguros) บริษัทประกันภัยของสเปน ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับโซเซียดัด

เซบีย่า – เอสตาดิโอ รามอน ซานเชซ ปิซฆวน

สนามแห่งนี้ มีที่มาจากชื่อของ “รามอน ซานเชซ ปิซฆวน” อดีตประธานสโมสรเซบีย่า ที่ดำรงตำแหน่งถึง 2 รอบ รอบแรกช่วงปี 1932 – 1941 และอีกรอบในปี 1948 – 1956 สนามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1958 หรือ 2 ปีหลังจากรามอน ซานเชซ ปิซฆวน เสียชีวิต และได้นำชื่อของเขามาตั้งเป็นชื่อสนามเหย้า เพื่อเป็นเกียรติให้กับเขา

บาเลนเซีย – เมสตาย่า

ชื่อรังเหย้าของบาเลนเซีย มาจากชื่อคลองเมสตาย่า (Mestalla) ที่ติดอยู่ทางด้านทิศใต้ของสนาม ในสมัยก่อนแฟนบอลต้องกระโดดข้ามคลองเพื่อไปที่สนาม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หลยุส์ คาสโนว่า” ตามชื่อของประธานสโมสรที่เข้ามาบริหารในช่วงปี 1969 ถึง 1994 แต่หลังจากนั้นก็กลับไปใช้ชื่อ “เมสตาย่า” ตามเดิม

เรอัล บายาโดลิด – เอสตาดิโอ โฆเซ่ โซรีย่า

ชื่อสนามเหย้าของเรอัล บายาโดลิด มาจากชื่อของ โฆเซ่ โซรีย่า อี โมรัล (José Zorrilla y Moral) กวีชาวเมืองบายาโดลิด ผู้มีผลงานการประพันธ์ไว้มากมาย จนได้รับรางวัลระดับประเทศ และเหรียญเชิดชูเกียรติในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา สนามแห่งนี้ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสังเวียนจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 1982 ที่สเปนเป็นเจ้าภาพ

บียาร์เรอัล – เอสตาดิโอ เด ลา เซรามิก้า

เดิมใช้ชื่อว่า “เอล มาดริกัล” และในปี 2017 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอสตาดิโอ เด ลา เซรามิก้า” สำหรับชื่อสนามในปัจจุบัน มีที่มาจากอุตสาหกรรมเซรามิค ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของท้องถิ่น รวมทั้งสนามเหย้าของบียาร์เรอัล ถูกตกแต่งด้วยเซรามิคสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ดูโดดเด่นสะดุดตาอีกด้วย

บริบทของฟุตบอล ไม่ได้มีเพียงแค่การแข่งขันในสนามเท่านั้น แต่ผูกติดกับประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนถึงตัวตนของสโมสรนั้นๆ ด้วย นี่คือสิ่งที่แฟนฟุตบอลต้องรู้จัก และเข้าใจความเป็นท้องถิ่นให้มากขึ้น

Categories
Football Business

พรี-ซีซั่น 2022 : เรื่องเงินๆ ทองๆ ของยักษ์ใหญ่ลีกยุโรป

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลามากว่า 2 ปี ทำให้สโมสรฟุตบอลชั้นนำจากยุโรป ต้องงดการเดินทางไปเตะอุ่นเครื่อง “พรี-ซีซั่น” ที่ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว

ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้นตามลำดับ ดูเหมือนว่าบรรดาทีมลูกหนังยักษ์ใหญ่ ต่างมีแผนที่จะกลับมาเตะอุ่นเครื่องนอกยุโรป เพื่อหวังชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งการตะลอนทัวร์เพื่อเตะอุ่นเครื่องในปีนี้ มีเกม “บิ๊กแมตช์” ระดับโลก เกิดขึ้นถึง 2 แมตช์ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือศึก “แดงเดือด” ในประเทศไทย กับ “เอล กลาซิโก้” ที่สหรัฐอเมริกา

เกมพรี-ซีซั่นในต่างแดนของลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า หรืออื่น ๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อย่างไร วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เปิดตำนาน “แดงเดือด” นอกเมืองผู้ดี

ลิเวอร์พูล กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ว่าจะเจอกันที่ไหน ถือว่าเป็นแมตช์ที่ยิ่งใหญ่ สมกับเป็นคู่ปรับที่แย่งชิงความสำเร็จมาตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้ 2 ทีมคู่ปรับตลอดกาล เคยพบกันนอกเกาะอังกฤษมาแล้ว 3 ครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 1983 ในเกมอุ่นเครื่อง “เทสติโมเนียล แมตช์” ให้บิลลี่ เดรนแนน เลขาธิการสมาคมฟุตบอลไอร์แลนด์ โดยจัดแข่งที่ประเทศไอร์แลนด์เหนือ แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายชนะ 4 – 3

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2014 ในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพหรือ “ไอซีซี คัพ” ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศ ปิศาจแดง เอาชนะได้อีกครั้ง ด้วยสกอร์ 3 – 1

ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในปี 2018 ในรายการไอซีซี คัพ เช่นเดียวกัน ที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางผู้ชมกว่า 1 แสนคน คราวนี้เป็นฝ่ายหงส์แดง ที่ล้างแค้นได้สำเร็จ เอาชนะไป 4 – 1

สำหรับเกมพรี-ซีซั่น “แดงเดือด” ครั้งที่ 4 ศึกอุ่นเครื่องรายการพิเศษ “เดอะ แมตช์ แบงค็อก เซ็นจูรี่ คัพ 2022” ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ เป็นการพบกันนอกเมืองผู้ดีครั้งแรกในประเทศไทย และทวีปเอเชีย

และหลังจากจบแมตช์ที่กรุงเทพมหานคร ลิเวอร์พูลจะเดินทางต่อไปที่สิงคโปร์, เยอรมัน และออสเตรีย ขณะที่ยูไนเต็ด จะไปต่อที่ออสเตรเลีย และนอร์เวย์ ก่อนที่จะกลับสู่ประเทศอังกฤษ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/manchesterunited

ย้อนรอย “เอล กลาซิโก้” ในต่างแดน

ทางด้านเรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า 2 ทีมยักษ์ใหญ่ของ ลาลีกา สเปน ก็เคยมีประวัติศาสตร์การพบกันในเกมอุ่นเครื่อง “พรี-ซีซั่น” นอกแดนกระทิงดุมาแล้ว 3 ครั้ง เท่ากับศึกแดงเดือดนอกอังกฤษ

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 1982 ในรายการพิเศษ “เวเนซูเอล่า คัพ” อุ่นเครื่องก่อนฟุตบอลโลก ที่ประเทศเวเนซูเอล่า รอบชิงอันดับ 3 เรอัล มาดริด เอาชนะไป 1 – 0 จากประตูชัยของบิเซนเต้ เดล บอสเก้

ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2017 ในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล แชมเปี้ยนส์ คัพหรือ “ไอซีซี คัพ” ที่สนามฮาร์ด ร็อก สเตเดี้ยม รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เป็นบาร์เซโลน่า ที่เอาชนะด้วยสกอร์ 3 – 2

ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในรายการ “สแปนิช ซูเปอร์ คัพ” ที่ประเทศซาอุดีอารเบีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการพบกันในแมตช์อย่างเป็นทางการ ที่จัดขึ้นนอกประเทศสเปนอีกด้วย

เกมในรอบรองชนะเลิศ ที่สนามคิง ฟาฮัด อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดี้ยม ในกรุงริยาดห์ ผลปรากฏว่า “ราชันชุดขาว” ชนะ “เจ้าบุญทุ่ม” 3 – 2 หลังต่อเวลาพิเศษ เฟเดริโก้ บัลเบร์เด้ เป็นผู้ยิงประตูชัยในเกมนี้

และในครั้งที่ 4 ของ “เอล กลาซิโก้” นอกแผ่นดินสเปน จะมีขึ้นที่สนามแอลลีเจียนท์ สเตเดี้ยม ในลาส เวกัส สหรัฐอเมริกา วันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ถือเป็นการกลับมาอุ่นเครื่องที่อเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

EL CLÁSICO 2017 at Santiago Bernabéu
ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/fcbarcelona

ทีมบอลยุโรปได้อะไรจาก “พรี-ซีซั่น”

การเดินทางมาเตะอุ่นเครื่องในต่างประเทศ เป็นวิธีหนึ่งในการทำเงิน เพราะนอกจากจะได้ค่าจ้างแล้ว ยังได้ขยายฐานแฟนบอล ทำให้สโมสรเป็นที่รู้จักมากขึ้น ชนิดที่ไม่ต้องประเมินเลยว่าคุ้มค่าหรือไม่

เท่านั้นยังไม่พอ ได้สายสัมพันธ์กับบริษัทระดับชั้นนำในประเทศนั้น ๆ และมีโอกาสได้มาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรในอนาคตเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุผลเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทั้งสิ้น

หลายทีมในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะเน้นเไปที่ทวีปเอเชีย ส่วน 2 ยักษ์ใหญ่ลาลีกา สเปน อย่างเรอัล มาดริด และบาร์เซโลน่า จะเน้นเจาะตลาดที่สหรัฐอเมริกา ผ่านรายการอุ่นเครื่องไอซีซี คัพ (ปัจจุบันยกเลิกแล้ว)

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือเกมอุ่นเครื่องไอซีซี คัพ เมื่อปี 2014 ระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับเรอัล มาดริด ที่มิชิแกน สเตเดี้ยม สร้างสถิติมีผู้เข้าชมการแข่งขันสูงสุดถึง 109,138 คน

แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด และยักษ์ใหญ่บางทีมในยุโรป ได้ค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 2 ล้านปอนด์ ต่อการจัดแข่งขันฟุตบอลพรี-ซีซั่นในต่างประเทศ 1 นัด

แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา ทั่วโลกมีข้อจำกัดในด้านการเดินทางข้ามประเทศ ทำให้ไม่สามารถจัดเกมพรี-ซีซั่นในต่างแดนได้ ส่งผลกระทบกับทีมฟุตบอลที่ต้องสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไป

มีรายงานว่า แมนฯ ยูไนเต็ด มีรายได้ในรอบปัญชีปี 2020-2021 (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2021) ลดลงเกือบ 50 ล้านปอนด์ จาก 279 ล้านปอนด์ เหลือ 232.2 ล้านปอนด์ จากผลกระทบโควิด-19

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สโมสรฟุตบอลในปัจจุบัน เป็น “ธุรกิจ” เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะบรรดาทีมยักษ์ใหญ่ ที่พร้อมจะหาเงินทุกทางที่สามารถทำได้ เพื่อนำผลประโยชน์เข้าสู่สโมสรให้ได้มากที่สุด

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/fcbarcelona

และมุมคนจ่ายสตางค์ คุ้มค่าแค่ไหน ?

การเชิญสโมสรฟุตบอลชื่อดังของยุโรป มาเตะอุ่นเครื่องในประเทศของตัวเอง ผู้ที่จ่ายเงินเป็นลำดับแรก คือ “เจ้าภาพจัดการแข่งขัน” ซึ่งต้องมีทุนหนามากพอในการจ้างทีมเหล่านี้มาแข่งขัน

กรณีของลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มาเตะอุ่นเครื่องในไทย แน่นอนว่า การจ้าง 2 สโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ต้องใช้เงินมหาศาล แต่ก็มีการหารายได้มาจากเงินที่เสียไปเช่นเดียวกัน

ซึ่งคุณวินิจ เลิศรัตนชัย ในฐานะผู้จัด “แมตช์แห่งศตวรรษ” ก็ไม่ได้คาดหวังว่าการลงทุนในครั้งนี้จะต้องคืนทุน แต่ที่แน่ ๆ ขื่อของผู้บริหารเฟรชแอร์ เฟสติวัล ได้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ “แฟนบอล” ในฐานะลูกค้าคนสำคัญ ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินแบบไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะรู้ดีว่าโอกาสที่จะได้ดูทีมที่ตัวเองรัก นักเตะที่ตัวเองชอบ แบบไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ คงไม่ได้มีบ่อย ๆ

แต่ก็มีนักเตะระดับบิ๊กเนม หรือซูเปอร์สตาร์บางคน ก็เลือกที่จะไม่เดินทางมากับทีม หรือมาด้วยแต่ไม่ขอลงเล่น เพราะมองว่าการไปอุ่นเครื่องต่างแดน อาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายก่อนเปิดซีซั่นใหม่

ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีนักเตะระดับดาวดังลงสนามในเกมอุ่นเครื่อง แต่ชื่อ “แบรนด์” ของสโมสรระดับโลก ที่มาแข่งขันในประเทศของตัวเอง ยังไงก็ดึงดูดแฟนบอลให้เข้ามาชมแบบเต็มสนามได้ไม่ยาก

ซึ่งราคาบัตรเข้าชมการแข่งขัน แมตช์ “แดงเดือด” ในไทย ต่ำสุด 5,000 บาท สูงสุด 25,000 บาท ส่วนเกม “เอล กลาซิโก้” ที่อเมริกา ต่ำสุด 9,000 บาท สูงสุด 32,400 บาท โดยประมาณ (1 USD = 36 THB)

เกมอุ่นเครื่องพรี-ซีซั่นในต่างประเทศ ทีมฟุตบอลได้ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ส่วนผู้จัดและแฟนบอล ต่างก็คาดหวังว่า การแข่งขันจะมอบความสุขมาให้ โดยที่ไม่ต้องมาคิดเสียดายเงินที่จ่ายไปในภายหลัง

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3392107/2022/07/01/premier-league-preseason-fixture-revenue/

https://www.si.com/soccer/2022/06/10/soccer-champions-tour-real-madrid-barcelona-clasico-las-vegas

https://www.si.com/soccer/2020/07/02/la-liga-north-america-usa-market-tv-deal-barcelona-real-madrid-icc

https://www.sportingfree.com/football/how-much-money-do-clubs-make-during-pre-season/

https://www.totalsportal.com/football/how-much-do-football-clubs-earn-in-the-preseason-tours/

https://www.thenationalnews.com/business/football-s-preseason-season-is-a-major-money-spinner-for-some-1.616477

Categories
Special Content

อักเซล วิตเซล : มิดฟิลด์ใหม่วัยเก๋า “ตราหมี” กับ 5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้

อักเซล วิตเซล เป็น 1 ในมิดฟิลด์ประสบการณ์สูง ที่ผ่านการค้าแข้งในหลายประเทศ แต่เขาตัดสินใจแยกทางกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ หลังหมดสัญญา 4 ปี เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในที่สุด แอตเลติโก มาดริด ก็ได้จัดการสอยตัววิตเซล กองกลางทีมชาติเบลเยียม มาร่วมทีมแบบไม่มีค่าตัว และกลายเป็นผู้เล่นใหม่คนแรกของ “ตราหมี” ในช่วงตลาดนักเตะซัมเมอร์ปีนี้

วิตเซล เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 6 ขวบ กับทีมเยาวชนของอาร์อาร์ซี ว็อตเท่ม, ซีเอส วิเซ่ จนได้เข้าสู่อคาเดมี่ของสตองดาร์ด ลีแอซ สโมสรชื่อดังในบ้านเกิดของเขา เมื่อปี 1999

หลังจากใช้เวลาอยู่กับอคาเดมี่ของลีแอชนานถึง 7 ปี วิตเซลก็ก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ของลีแอชได้สำเร็จ และระเบิดฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมในตำแหน่งปีก ก่อนที่จะย้ายมาเล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวกลาง

ตลอด 5 ปี ที่วิตเซลค้าแข้งกับลีแอช ลงเล่น 194 นัด ยิง 45 ประตู กับ 18 แอสซิสต์ พาทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเบลเยียม 2 สมัยติดต่อกัน, แชมป์เบลเยียม คัพ 1 สมัย และแชมป์ซูเปอร์คัพ 2 สมัยติดต่อกัน

ต่อมาในปี 2011 วิตเซลได้หาประสบการณ์ค้าแข้งนอกประเทศบ้านเกิด เริ่มจากเบนฟิก้า ยักษ์ใหญ่ลีกโปรตุเกส, เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ทีมดังลีกรัสเซีย และเทียนจิน ฉวนเจียน สโมสรในประเทศจีน

จนกระทั่งในปี 2018 วิตเซลได้ย้ายมาค้าแข้งกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งบุนเดสลีกา เยอรมัน เซ็นสัญญา 4 ปี ในช่วง 2 ฤดูกาลแรกกับ “เสือเหลือง” เจ้าตัวได้ลงเล่นอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม 2021 วิตเซลได้รับบาดเจ็บเอ็นร้อยหวายฉีก ต้องพักยาวจนจบซีซั่น2020/21 และมีความกังวลว่า เขาอาจจะฟื้นตัวไม่ทันสำหรับการช่วยทีมชาติเบลเยียม สู้ศึกฟุตบอลยูโร 2020

ซึ่งเป็นความโชคดีของวิตเซล ที่สามารถเรียกความฟิตกลับมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ และได้ลงสนามในฟุตบอลยูโร เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว ทั้งหมด 4 นัด ช่วยให้ “ปีศาจแดงแห่งยุโรป” ผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย

สำหรับฤดูกาล 2021/22 ที่ผ่านมา วิตเซลก็กลับมาลงเล่นอย่างสม่ำเสมออีกครั้ง แต่หลังจากจบซีซั่น เขาตัดสินใจไม่อยู่กับดอร์ทมุนด์ต่อไป จึงเลือกที่จะย้ายไปหาความท้าทายใหม่ๆ กับ แอต. มาดริด ในที่สุด

ในส่วนของการรับใช้ทีมชาติเบลเยียมนั้น ดาวเตะวัย 33 ปี ลงสนามไปแล้วถึง 124 นัด มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากยาน แฟร์ตองเก้น (139 นัด) และเคยผ่านประสบการณ์ฟุตบอลโลก และฟุตบอลยูโร อย่างละ 2 สมัย

ด้วยคุณภาพ และประสบการณ์ที่ผ่านเกมระดับสูงมากว่า 600 นัด อักเซล วิตเซล อาจเป็นดีลที่ตอบโจทย์สำหรับแอต. มาดริด ก็เป็นได้ และนี่คือ 5 เรื่องราวของเขา ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

ในวัยเด็ก เคยเล่นฟุตซอลมาก่อน

ก่อนที่จะมาเล่นฟุตบอล วิตเซลในวัยเด็ก ได้ใช้เวลาไปกับการเล่นฟุตซอลโดยส่วนใหญ่ เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากเธียร์รี่ คุณพ่อของเขา ที่เคยเป็นอดีตนักฟุตซอลในระดับลีกดิวิชั่น 1 ของเบลเยียม แต่ท้ายที่สุดแล้ว คุณพ่อได้แนะนำให้ลูกชายเลือกฟุตบอล เพราะมองเห็นอนาคตที่ดีกว่า

มีออพชั่นเลือกเล่นให้กับทีมชาติฝรั่งเศสได้

คุณพ่อเธียร์รี่ เป็นชาวเกาะมาร์ตินีก เกาะทางตะวันออกของทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของประเทศฝรั่งเศส ทำให้อักเซล สามารถเลือกเล่นให้กับทีมชาติฝรั่งเศส ตามสัญชาติของคุณพ่อได้ แต่อักเซลตัดสินใจเลือกเล่นให้กับทีมชาติเบลเยียม ตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน

สังหารจุดโทษ พาทีมคว้าแชมป์ลีก

ในนัดสุดท้ายของลีกสูงสุดเบลเยียม ฤดูกาล 2008/09 สตองดาร์ด ลีแอซ บุกไปชนะเกนท์ 1 – 0 จากจุดโทษของวิตเซล ทำให้มีแต้มเท่ากับอันเดอร์เลชท์ ต้องตัดสินทีมแชมป์ด้วยการเตะเพลย์ออฟแบบเหย้า-เยือน และเกมในเลกสองที่บ้านของลีแอซ วิตเซลก็เป็นฮีโร่อีกครั้ง ด้วยการสังหารลูกโทษเช่นเดิม พาทีมชนะ 1 – 0 และคว้าแชมป์ไปครอง ด้วยสกอร์รวม 2 – 1

เคยถูกขู่ฆ่า เพราะย่ำใส่คู่แข่งจนเจ็บหนัก

วันที่ 30 สิงหาคม 2009 วิตเซลในวัย 20 ปี ลงเล่นให้กับสตองดาร์ด ลีแอซ ในเกมที่บุกไปเยือนอันเดอร์เลชท์ คู่ปรับตลอดกาลของพวกเขา และถูกไล่ออกจากสนาม เพราะไปย่ำใส่ข้อเท้าของมาร์ซิน วาซิเลวสกี้ อดีตเซ็นเตอร์แบ็กทีมชาติโปแลนด์จนขาหัก ทำให้แฟนบอลเจ้าบ้าน และแฟนบอลชาวโปแลนด์โกรธแค้นเจ้าตัวอย่างหนัก ถึงขั้นขู่ฆ่าเอาชีวิตเลยทีเดียว

สวมเสื้อเบอร์ 28 กับทุกสโมสรที่เคยค้าแข้ง

ตลอดชีวิตการเป็นนักฟุตบอลระดับอาชีพ กับสตองดาร์ด ลีแอซ, เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก, เทียนจิน ฉวนเจียน และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ วิตเซลได้สวมเสื้อหมายเลข 28 ครบทุกสโมสรที่เคยค้าแข้ง แต่สำหรับแอตเลติโก้ มาดริด คงจะเป็นเรื่องยากลำบากพอสมควร ในการสวมเสื้อเบอร์นี้

การเข้ามาของวิตเซล ทำให้ดิเอโก้ ซิเมโอเน่ มีตัวเลือกเพิ่มในแดนกลางอีก 1 คน ซึ่งในตอนนี้มีทั้งเอคเตอร์ เอร์เรร่า, เชฟเฟ่ กงด็อกเบีย, โรดริโก้ เดอ ปอล, ซาอูล นีเกซ และโกเก้ ที่เป็นมิดฟิลด์ธรรมชาติ

อักเซล วิตเซล เป็นกองกลางจอมเทคนิค เล่นได้หลากหลายตำแหน่งในแผงมิดฟิลด์ และรักษาสมดุลในแดนกลางเหมือนที่เคยทำไว้กับดอร์ทมุนด์ ถือเป็นหนึ่งในนักเตะที่น่าจับตามอง ในซีซั่นใหม่ที่จะถึงนี้

Categories
Special Content

ส่องสถิติการครองบอลในลาลีกา ฤดูกาล 2021/22

การครองบอล คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่นอกเหนือจากการผ่านบอลและทีมเวิร์ก เพราะเป็นการสร้างทางเลือกเพื่อทำให้ฝั่งตัวเองได้เปรียบ ถือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างยิ่ง ในการเอาชนะฝั่งตรงข้าม

และเมื่อพูดถึงสไตล์การเล่นที่เป็นจุดเด่นมาช้านานของลาลีกา สเปน คือการครองบอลให้มากที่สุด และเน้นความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะ ในความพยายามที่จะหาช่องในการเข้าทำประตูให้ได้มากที่สุด

Mediacoach และ Microsoft ได้เปิดเผยข้อมูลการครองบอลของทีมและผู้เล่น ไล่ตั้งแต่แผงมิดฟิลด์ฝั่งตรงข้าม, แนวรับฝั่งตรงข้าม จนนำไปสู่การลุ้นยิงประตู ในการแข่งขันตลอดซีซั่น 2021/22 ที่ผ่านมา

ครองบอลเพื่อทำลายแผงมิดฟิลด์คู่แข่ง

อันดับแรก เริ่มที่การครองบอลในการหาทางเจาะแนวกองกลางฝ่ายตรงข้าม เพื่อขยายพื้นที่ในการพาบอลเข้าไปสู่แนวรับต่อไป โดยเรอัล มาดริด, เซลต้า บีโก้ และบาร์เซโลน่า คือ 3 ทีมที่มีสถิติในการครองบอลส่วนนี้ดีที่สุด

ขณะที่นักเตะที่มีสถิติครองบอลเพื่อเจาะมิดฟิลด์คู่แข่งดีที่สุด 5 อันดับแรก มีนักเตะเซลต้า บีโก้ ติดมา 2 คน คือ เนสตอร์ อเราโฆ่ กับฆาเวียร์ กาลัน ส่วนที่เหลือประกอบด้วยฟราน การ์เซ๊ย (ราโย บาเยกาโน่), เฟเดริโก้ บัลเบร์เด้ (เรอัล มาดริด) และโยฮัน โมจิก้า (เอลเช่)

ครองบอลเพื่อทำลายแนวรับคู่แข่ง

เมื่อฝ่ายบุกได้ทะลวงผ่านบริเวณกลางสนามไปแล้ว ก็ต้องหาทางเจาะกองหลังคู่แข่ง เพื่อเปิดพื้นที่ และพาบอลเข้ากรอบเขตโทษของฝ่ายรับให้มากขึ้น โดยทีมที่ทำได้ดีที่สุด 3 อันดับแรก คือบาร์เซโลน่า, กาดิซ และเอสปันญ่อล

ในส่วนของ 5 อันดับนักเตะที่ครองบอลเพื่อเจาะแนวรับได้ดีที่สุด ได้แก่ อาเดรีย เปโดรซ่า (เอสปันญ่อล), อีวาน อเลโฆ่ (กาดิซ), หลุยส์ ริโอฆา (อลาเบส), วินิซิอุส จูเนียร์ (เรอัล มาดริด) และโยฮัน โมจิก้า (เอลเช่) เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีนักเตะบาร์เซโลน่าคนใด ติดอยู่ในท็อป 5 เลย

ครองบอลที่นำไปสู่โอกาสการทำประตู

ปิดท้ายด้วยการครองบอลเพื่อสร้างโอกาสให้เพื่อนร่วมทีมลุ้นยิงประตู อาจมีการผ่านบอลเพียง 1 – 2 จังหวะ ก่อนจบด้วยความพยายามที่จะส่งบอลเข้าไปในตาข่าย ซึ่งเรอัล มาดริด, เรอัล เบติส และบียาร์เรอัล คือทีมที่ติดท็อป 3 ในส่วนนี้

สำหรับนักเตะที่มีสถิติครองบอลเพื่อนำไปสู่โอกาสในการยิงประตูมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย วินิซิอุส จูเนียร์ (เรอัล มาดริด), นาบิล เฟคีร์ (เรอัล เบติส), หลุยส์ ริโอฆา (อลาเบส), อุสมาน เดมเบเล่ (บาร์เซโลน่า) และยาโก้ อัสปาส (เซลต้า บีโก้)

ความสำคัญของการครองบอล ไม่ได้มีแค่การควบคุมหรือบังคับบอล เพื่อไม่ให้ถูกคู่แข่งแย่งไปเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างโอกาสในการทำประตู ที่อาจจะเป็นตัวตัดสินผลการแข่งขันก็เป็นได้

ส่วนในฤดูกาล 2022/23 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะมีทีมใดหรือนักเตะคนไหน ติดอยู่ในลิสต์การครองบอลที่ดีที่สุดกันบ้าง หลังจบซีซั่นช่วงกลางปีหน้า คงจะได้ทราบกันอย่างแน่นอน

Categories
Special Content

เจย์ สเปียริ่ง : นักเตะลิเวอร์พูล ที่ตามรอยโมเดลคืนสู่ทีมเก่าปั้นเยาวชน

1 กรกฎาคม 2022 ถือเป็นวันแรกของ 3 นักเตะใหม่ลิเวอร์พูล ทั้งฟาบิโอ คาร์วัลโญ่, ดาร์วิน นูนเญซ และคาลวิน แรมซี่ย์ ที่ได้ย้ายเข้าสู่ถิ่นแอนฟิลด์อย่างเป็นทางการ

แต่สำหรับนักเตะอย่างเจย์ สเปียริ่ง ที่ “เดอะ ค็อป” บางคน อาจจะลืมเชื่อเขาไปแล้ว เขาเคยลงเล่นให้กับลิเวอร์พูลชุดใหญ่ 55 นัด และตอนนี้ได้คัมแบ็กคืนสู่ทีมเก่าอีกครั้งในรอบ 9 ปี

มิดฟิลด์วัย 33 ปี กับบทบาทใหม่ในการประคองนักเตะรุ่นน้อง ที่ใช้แนวทางเดียวกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมคู่ปรับของพวกเขา วันนี้ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

⚽️ เลือดเมอร์ซีย์ไซด์ขนานแท้

เจย์ สเปียริ่ง เกิดที่วอลลาซีย์ ในย่านเมอร์ซี่ย์ไซด์ เข้าสู่เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 9 ขวบ กับอคาเดมี่ของลิเวอร์พูล ต่อมาได้เป็นกัปตันทีมลิเวอร์พูล ชุด U-18 ที่คว้าแชมป์เอฟเอ ยูธ คัพ เมื่อปี 2007

ในฤดูกาล 2008/09 สเปียริ่งได้ก้าวขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ของ “หงส์แดง” ในยุคที่ราฟาเอล เบนิเตซ เป็นผู้จัดการทีม ได้ลงเล่นไป 2 นัด ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่พบกับพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น และเรอัล มาดริด

จนกระทั่งในฤดูกาล 2011/12 ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ลีก คัพ แต่สเปียริ่งมีชื่อเป็นเพียงแค่ตัวสำรอง ขณะที่นัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ เขาลงเล่นเป็นตัวจริง อยู่ในสนาม 54 นาที ก่อนที่ทีมจะแพ้เชลซี 1 – 2

5 ฤดูกาลในถิ่นแอนฟิลด์ สเปียริ่งลงเล่นทั้งหมด 55 นัด นอกจากนี้ เลสเตอร์ ซิตี้ และโบลตัน วันเดอเรอร์ส ได้ยืมตัวไปใช้งานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่โบลตันจะดึงตัวไปร่วมทีมอย่างถาวร ในปี 2013

ช่วงที่สเปียริ่งอยู่กับโบลตัน เคยถูกแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ยืมตัวไปใช้งานช่วงสั้น ๆ เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนที่ในปี 2017 เขาย้ายไปร่วมทีมแบล็คพูล ค้าแข้งอยู่ 3 ฤดูกาล จึงแยกทางจากถิ่นบลูมฟิลด์ โร้ด

สโมสรสุดท้ายของสเปียริ่ง ในฐานะนักเตะระดับซีเนียร์คือ ทรานเมียร์ โรเวอร์ส ในลีกทู (ดิวิชั่น 4) เป็นทีมจากย่านเมอร์ซี่ย์ไซด์ เช่นเดียวกับลิเวอร์พูล และเอฟเวอร์ตัน ก่อนที่จะอำลาทีมหลังจบซีซั่น 2021/22

⚽️ ก็อปปี้ต้นแบบจาก “ปีศาจแดง”

ลิเวอร์พูลดึงตัวสเปียริ่งกลับมาร่วมงานอีกครั้ง เพื่อใช้ประสบการณ์ในการดูแลนักเตะรุ่นน้อง สู่เป้าหมายหลักในการเป็นโค้ชอคาเดมี่แบบเต็มตัว ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับพอล แม็คเชน ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

แม็คเชน เป็นอดีตนักเตะอคาเดมี่ของแมนฯ ยูไนเต็ด เคยพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ ยูธ คัพ เมื่อปี 2003 จากนั้นในปีต่อมา ได้มีชื่ออยู่ในทีมชุดใหญ่ ก่อนอำลาทีมในปี 2006 โดยที่ไม่เคยลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่เลย

หลังออกจากโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด อดีตเซ็นเตอร์แบ็ก “ปิศาจแดง” ก็พเนจรไปค้าแข้งกับอีกหลายสโมสรในอังกฤษ ก่อนจะกลายเป็นนักเตะฟรีเอเย่นต์ เมื่อหมดสัญญากับรอชเดล ในลีก วัน หลังจบซีซั่น 2020/21

กระทั่งในเดือนกรกฎาคม 2021 แม็คเชน ในวัย 35 ปี ได้กลับสู่แมนฯ ยูไนเต็ด ทีมเก่าอีกครั้ง แต่การคัมแบ็กในครั้งนี้ เขาได้ลงสนามในชุด U-23 ของสโมสร ในฐานะ 1 ใน 3 นักเตะอายุเกินที่อนุญาตให้ลงสนามได้

แม็คเชน ลงเล่นกับแมนฯ ยูไนเต็ด U-23 ทั้งหมด 6 นัด ควบคู่กับการเป็นโค้ชในทีมชุดเดียวกัน ก่อนที่จะแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการหลังจบซีซั่นที่ผ่านมา และตอนนี้เขาได้ทำหน้าที่โค้ช U-23 แบบเต็มเวลาแล้ว

นิค ค็อกซ์ หัวหน้าอคาเดมี่ของยูไนเต็ด ให้เหตุผลถึงการดึงตัวแม็คเชนว่า “บทบาทใหม่นี้ เราได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และเพิ่มการสนับสนุนอีกระดับหนึ่งให้กับผู้เล่นของเรา ในการช่วยเหลือเยาวชนสู่ทีมชุดใหญ่”

“เราเชื่อว่า พอลมีคุณสมบัติที่ดีพอสำหรับงานนี้ เพื่อผลักดันเด็ก ๆ สู่ระดับสูงสุด ในฐานะที่เขาเคยเป็นนักเตะในอคาเดมี่ เขารู้จักสโมสรในทุกมิติ และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็ก ๆ ได้ตลอดเวลา”

นอกเหนือจากแมนฯ ยูไนเต็ด ก็ยังมีสโมสรอื่น ๆ ที่เคยใช้โมเดลแบบเดียวกันนี้ เช่น ไบรท์ตัน ที่เซ็นสัญญาแอนดรูว์ ครอฟส์ เมื่ออายุ 35 ปี และเซาธ์แธมป์ตัน ที่ดึงตัวโอลลี่ แลงคาเชียร์ เมื่ออายุ 32 ปี

⚽️ บทบาทใหม่ในอคาเดมี่ “หงส์แดง”

การกลับสู่ลิเวอร์พูลเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี เจย์ สเปียริ่ง จะรับหน้าที่โค้ชในเคิร์กบี้ อคาเดมี่ ให้กับทีมชุด U-18 ควบคู่กับการเป็น 1 ในโควตานักเตะอายุเกินสำหรับทีมชุด U-21 ที่มีแบร์รี่ ลิวทัส เป็นผู้จัดการทีม

สำหรับฟุตบอลลีกเยาวชน รุ่น U-21 มีกฎข้อหนึ่งที่ระบุไว้ว่า สโมสรจะได้รับอนุญาตให้ส่งนักเตะอายุเกินลงสนามได้ นัดละ 5 คน (จากเดิม 3 คน) และมีผู้รักษาประตูอายุเกินได้อีก 1 คน ในกรณีจำเป็น

อเล็กซ์ อิงเกิลโธร์ป ผู้จัดการของเคิร์กบี้ อคาเดมี่ กล่าวว่า “เจย์จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับนักเตะเยาวชนของเรา และประสบการณ์ของเขาที่เคยลงเล่นทั้ง 4 ดิวิชั่นในระดับอาชีพ จะช่วยได้ไม่น้อยเลย”

“ถ้าเขาสามารถดึงศักยภาพทุกอย่างออกมา แล้วถ่ายทอดให้บรรดานักเตะดาวรุ่งได้ ผมคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาจะเป็นโค้ชที่ดีได้จริง ๆ ผมคิดว่าเจย์คือคนที่ใช่กับสโมสรที่ใช่ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว”

ขณะที่สเปียริ่ง ให้สัมภาษณ์กับ The Athletic ว่า “มันน่าเหลือเชื่อมากที่ได้กลับมาลิเวอร์พูลอีกครั้ง และตอนนี้ผมกำลังเริ่มต้นบทบาทใหม่ ในการช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตสู่ทีมชุดใหญ่ในอีกไม่นานนี้”

“ผมใช้เวลาคิดอยู่นาน และมั่นใจว่าคืองานในฝันของผม รู้สึกดีใจที่อิงเกิลโธร์ปและสโมสรเชื่อมั่นในตัวผม และจะตอบแทนความไว้ใจที่มีให้กัน ผมคิดว่านี่คือการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตของผมเลยทีเดียว”

นักเตะเยาวชนชุด U-18 ที่สเปียริ่งจะมีโอกาสดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น สเตฟาน บาจเซติก นักเตะนอกสหราชอาณาจักรคนสุดท้ายที่ได้เซ็นสัญญามาร่วมทีม, เบน ดัค, เทรนต์ โคน-โดเฮอร์ตี้, บ็อบบี้ คลาร์ก ฯลฯ

ส่วนนักเตะชุด U-18 ที่ลงเล่นในลีกเยาวชนเมื่อฤดูกาล 2021/22 และมีโอกาสขยับขึ้นสู่ชุด U-21 ในฤดูกาลใหม่ เช่น โอคลีย์ คันโนนิเออร์, จาเรลล์ ควานซาห์, ลุค แชมเบอร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ได้มีแข้งดาวรุ่งบางส่วน ที่ได้รับโอกาสลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของเจอร์เก้น คล็อปป์แล้ว อาทิ ไคเค กอร์ดอน, ไทเลอร์ มอร์ตัน, โอเว่น เบ็ค, แม็กซ์ โวล์ทแมน, ฮาร์วีย์ แบลร์, เมลคามู ฟราเอนดอร์ฟ เป็นต้น

ในเวลานี้ ลิเวอร์พูลมีดาวรุ่งที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์อยู่มากมาย และเจย์ สเปียริ่ง กำลังจะเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ที่น่าตื่นเต้น ในการเชื่อมต่อกับนักเตะรุ่นใหม่ สู่รุ่นใหญ่ในอนาคตต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3389548/2022/06/30/jay-spearing-liverpool-coach/

– https://www.liverpoolfc.com/news/jay-spearing-makes-return-liverpool-u18s-coach

https://www.liverpoolworld.uk/sport/football/liverpool/liverpool-copying-innovative-manchester-united-transfer-trick-to-help-next-generation-of-stars-3737500

https://www.manutd.com/en/news/detail/man-utd-announce-paul-mcshane-signing-in-innovative-player-coach-role

https://www.goal.com/en/news/why-35-year-old-journeyman-paul-mcshane-man-utd-u23s/6xmkhib8886s18867zyrnpdoa

Categories
Football Business

วิลเลียม สเปียร์แมน : ตัวละครลับ ช่วย “ลิเวอร์พูล” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก

#SSxKMD | 25 มิถุนายน 2020 การรอคอยอันแสนยาวนานของสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล สิ้นสุดลงเสียที เมื่อคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษเป็นสมัยที่ 19 และเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

เมื่อทีมฟุตบอลที่ตัวเองตามเชียร์ประสบความสำเร็จ ก็มักจะยกความดีความชอบให้นักเตะและโค้ช แต่ความจริงแล้วยังมีทีมงานหลังบ้านอีกจำนวนหนึ่ง คอยปิดทองหลังพระอยู่เบื้องหลัง

ซึ่งมีบุคคลหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” ที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินอาชีพนี้มาก่อน แต่นั่นคือฟันเฟืองสำคัญ ที่ทำให้หงส์แดงคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในวันนี้ เมื่อ 2 ปีก่อน

แล้ว “ข้อมูล” มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ลิเวอร์พูลกลับมายิ่งใหญ่ได้อย่างไร ? วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

ทำความรู้จัก “วิทยาศาสตร์ข้อมูล”

คำว่า “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” (Data Science) หมายถึงการนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาวิเคราะห์ตามกระบวนการตั้งสมมติฐาน ทดลอง และหาผลลัพธ์ที่กลั่นกรองออกมาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

โดยผู้ที่ทำอาชีพด้าน Data Science จะเรียกว่า “นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล” (Data Scientist) ซึ่งจะต้องมีองค์ความรู้หลากหลายแขนง ทั้งด้านคอมพิวเตอร์, คณิตศาสตร์/สถิติ และธุรกิจ

มีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2030 สายงาน Data Scientist ในอุตสาหกรรมกีฬา จะมีมูลค่าสูงถึง 1,850 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์จากปัจจุบัน ถึงแม้จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม

สำหรับวงการฟุตบอลในยุคสมัยใหม่ ก็ได้มีการออกแบบการจัดเก็บ “ข้อมูล” ที่ละเอียดและหลากหลายมากกว่าในอดีต ซึ่งใครก็ตามที่มีข้อมูลหรือเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำกว่า ก็แทบจะมีชัยไปมากกว่าครึ่งแล้ว

แต่การมีข้อมูลเยอะ ๆ มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่ได้นำมาผ่านกระบวนการวิเคราะห์ให้ตกผลึก และผู้บริหารสูงสุด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่เปิดใจที่จะรับฟัง ทำให้ข้อมูลไม่ได้ถูกใช้งานจริง ๆ

สโมสรฟุตบอลในปัจจุบัน ต่างก็มีทีมวิเคราะห์ข้อมูลอยู่แล้ว แต่สำหรับลิเวอร์พูล ในยุคที่กลุ่มเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) เข้ามาบริหารทีม ได้นำข้อมูลมาใช้อย่างจริงจัง จนสร้างความแตกต่างที่โดดเด่น

วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหาร

เมื่อปี 2002 จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี่ ที่ในขณะนั้นเป็นเจ้าของทีมเบสบอล บอสตัน เรด ซ็อกซ์ เคยใช้เงิน 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ดึงตัวบิลลี่ บีน ผู้จัดการทีมเจ้าของคอนเซปต์ “Moneyball” ที่ใช้ข้อมูลในการสร้างทีมให้ยิ่งใหญ่

กระทั่งการเข้ามาซื้อสโมสรลิเวอร์พูลของกลุ่ม FSG จอห์น เฮนรี่ ไม่ได้แค่เข้ามากอบกู้ซากปรักหักพัง ที่เจ้าของทีมในอดีตทิ้งไว้เท่านั้น ยังได้นำแนวคิดเรื่อง “ข้อมูล” มาใช้บริหารทีม จนประสบความสำเร็จ

จอห์น เฮนรี่ ได้ดึงตัวเอียน เกรแฮม มารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิจัยข้อมูล และยังมีทีมงานที่อยู่ภายใต้แกรแฮมอีก 6 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ดร.วิลเลียม สเปียร์แมน ผู้จบปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ ด้านอนุภาคพลังงานสูง

ดร. สเปียร์แมน เคยทำงานวิจัยเรื่องการวัดขนาดและความกว้างของสนามพลังฮิกส์ ที่องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) ก่อนที่ในปี 2015 จะได้มาเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลด้านกีฬาให้กับฮูเดิ้ล (Hudl) ที่สหรัฐอเมริกา

และที่ Hudl นี่เอง ที่ทำให้ดร. สเปียร์แมน ได้มีความสนใจในเรื่องราวของกีฬา “ฟุตบอล” ที่มีจังหวะการเล่นต่อเนื่อง และมองว่าข้อมูลที่ซับซ้อนในเกมลูกหนัง ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากเท่าใดนัก

กระทั่งในเดือนมีนาคม 2018 ดร. สเปียร์แมน ได้เข้ามาเป็นทีมงานในฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลของลิเวอร์พูล หน้าที่ของเขาคือ เก็บข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์การแข่งขันของผู้เล่นในสนาม และการสรรหาผู้เล่นใหม่

ดร. สเปียร์แมน ได้นำโมเดลจาก Hudl ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้ติดตามการเคลื่อนที่ของผู้เล่นทั้ง 22 คน และลูกฟุตบอล ด้วยการใช้กล้องที่ติดตั้งไว้รอบ ๆ สนาม จับภาพในอัตรา 25 เฟรมต่อวินาที

เครื่องมือดังกล่าว ทำให้สามารถประเมินระยะห่างระหว่างผู้เล่นกับลูกฟุตบอล และคำนวณเปอร์เซ็นต์การครองบอลที่แท้จริง ซึ่งเป็นประโยชน์กับแท็กติก “เกเก้นเพรสซิ่ง” ของเจอร์เก้น คล็อปป์

ตัวอย่างจากโมเดล Pitch Control

ตัวอย่างการใช้ “วิทยาศาสตร์ข้อมูล” ของลิเวอร์พูล ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยดร.วิลเลียม สเปียร์แมน และ ดร.ทิม วาสเกตต์ ได้ร่วมกันอธิบายโมเดลการคุมพื้นที่ในขณะที่ครอบครองบอล หรือ Pitch Control

ดร. สเปียร์แมน ได้นิยาม Pitch Control ไว้ว่า “มันคือการที่ผู้เล่นคนหนึ่ง หรือเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ได้ควบคุมพื้นที่ในบริเวณหนึ่งของสนาม ดังนั้นต้องผ่านบอลในจุดที่ได้เปรียบ เพื่อรักษาการครองบอลของทีมไว้”

ส่วน ดร.วาสเกตต์ กล่าวเสริมว่า “เราได้วิเคราะห์การเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาช่องว่างที่ผู้เล่นสามารถแย่งพื้นที่จากอีกฝั่งไว้ได้ และจะส่งผลถึงโอกาสการทำประตู ณ จุดหนึ่งบนสนาม ในอีก 15 วินาทีข้างหน้า”

ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจากทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล จะถูกส่งไปให้เจอร์เก้น คล็อปป์ เพื่อใช้ประกอบในการฝึกซ้อม และการวางแท็กติก ควบคู่กับมันสมองในเกมลูกหนังที่ยอดเยี่ยมของกุนซือชาวเยอรมันวัย 55 ปี

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ อย่างเช่นในเกมที่ลิเวอร์พูล บุกชนะท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ 1 – 0 เมื่อเดือนมกราคม 2020 ลิเวอร์พูลยิงขึ้นนำก่อนตั้งแต่ครึ่งแรก พอถึงช่วงท้ายเกมสเปอร์พยายามจะตีเสมอให้ได้

แต่แล้ว ลิเวอร์พูลได้ใช้เทคนิคให้ผู้เล่นเอาต์ฟิลด์ทั้ง 10 คน ยืนแพ็คกันอยู่บริเวณกลางสนามด้วยระยะห่างกันไม่ถึง 20 หลา บีบให้สเปอร์ทำได้แค่ส่งบอลไปรอบ ๆ ไม่สามารถเจาะช่องเข้าไปได้จนจบการแข่งขัน

นอกจากนี้ ฟูลแบ็ก 2 ฝั่งทั้งแอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน (ซ้าย) และเทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาโนลด์ (ขวา) มีการส่งบอลข้ามฝากให้กันในเปอร์เซ็นต์ที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งก็มาจากโมเดล Pitch Control เช่นเดียวกัน

ความลับจากวิทยาศาสตร์ข้อมูล ที่ทรงพลังจนเห็นผลของจริงในสนาม มีส่วนช่วยให้ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2019/20 ต่อยอดจากแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เมื่อ 1 ซีซั่นก่อนหน้านั้น

“ข้อมูล” เบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ลิเวอร์พูล เป็นสโมสรแรก ๆ ของพรีเมียร์ลีก ที่เห็นความสำคัญของ “ข้อมูลขนาดใหญ่” ที่นำมากลั่นกรองจนตกผลึก และเป็นเบื้องหลังความสำเร็จกับแชมป์ 6 รายการ ในยุคของกุนซือเจอร์เก้น คล็อปป์

จาก Data Science สู่การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการวิเคราะห์ข้อมูล อย่างบริษัท Zone7 ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงเรื่องปัญหาการบาดเจ็บของผู้เล่นในทีม

และยังมีเครื่องมือจาก Neuro11 ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลการทำงานของสมองสำหรับนักเตะในการเล่นลูกนิ่ง เช่น ความเครียดในการเล่นจังหวะหนึ่ง, ท่าที่เหมาะสมที่สุดเมื่อต้องยิงฟรีคิก เตะมุม หรือจุดโทษ

เมื่อลิเวอร์พูลพิสูจน์ให้เห็นแล้วในช่วงปี 2019-2020 ทีมคู่แข่งสำคัญอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็ได้แต่งตั้งลอรี่ ชอว์ อดีตนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ มาเป็นทีมงานข้อมูลหลังบ้าน เมื่อช่วงต้นปี 2021

รวมถึงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุคที่เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใหม่ ก็เริ่มที่จะแสดงความก้าวหน้า ด้วยการดึงโดมินิค จอร์แดน มาเป็นผู้อำนวยการฝ่าย Data Scientist คนแรกของสโมสร เมื่อปลายปีที่แล้ว

จะเห็นได้ว่า ผู้ที่นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ก่อนคนอื่น จะเป็นผู้ที่ได้เปรียบ เพราะในโลกธุรกิจยุคสมัยใหม่ จะเป็น “ปลาเร็วกินปลาช้า” ไม่ใช่ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เหมือนในอดีตอีกต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.liverpoolfc.com/news/cern-lfc-weird-journey-william-spearman-liverpools-lead-data-scientist

– https://www.liverpool.com/liverpool-fc-news/features/liverpool-transfer-news-jurgen-klopp-17569689

– https://theathletic.com/2041669/2020/09/09/meet-william-spearman-liverpools-secret-weapon-15-seconds/

– https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/harvard-physicist-opens-up-role-22959333

– https://zone7.ai/how-physicists-are-taking-on-the-challenge-of-interpreting-football-data/

https://www.bbc.com/news/business-56164159

– https://medium.com/the-spekboom/how-math-and-data-science-made-liverpool-the-best-team-on-the-planet-a72d50b325

Categories
Special Content

ความลับที่ไม่ลับ : ฟุตบอลอังกฤษ กับการเปิดรับความหลากหลายทางเพศ

#SSxKMD | ในเดือนมิถุนายนของทุกปี กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จะออกมาเฉลิมฉลองและรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกกันว่า “Pride month”

ถ้าจะโฟกัสเฉพาะวงการฟุตบอล มีนักเตะระดับอาชีพเพียงไม่กี่คน ที่ตัดสินใจก้าวข้ามความเงียบ ด้วยการประกาศตัวเองว่า เป็นชาวสีรุ้ง หรือ LGBTQ+ ในยุคที่สังคมปัจจุบันเปิดกว้างมากกว่าในอดีต

แล้วลูกหนังเมืองผู้ดี มีส่วนเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศได้อย่างไร ? วันนี้ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายให้ฟังกันครับ

ทำความรู้จักกับ “Pride month”

Pride month หมายถึง เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ โดยจะมีการจัดกิจกรรมเดินขบวนพาเหรด รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ตลอดเดือนมิถุนายนของทุกปี

สาเหตุที่ Pride month เกิดขึ้นในมิถุนายนนั้น เนื่องจากเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลที่ “สโตนวอลล์ อินน์” (Stonewall Inn) ซึ่งเป็นบาร์เกย์ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1969

ในช่วงเวลานั้น การรักร่วมเพศ หรือการแต่งตัวที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม สโตนวอลล์ อินน์ จึงถือเป็นบาร์เกย์เพียงไม่กี่แห่ง ที่เปิดกว้างสำหรับคนรักร่วมเพศ

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปตรวจค้น และทำการควบคุมตัวกลุ่มคนรักร่วมเพศในบาร์เกย์แห่งนี้ ทำให้กลุ่มคนรักร่วมเพศ แสดงการต่อต้านเจ้าหน้าที่ และเกิดการปะทะกัน จนลุกลามกลายเป็นจลาจลอยู่หลายวัน

1 ปีต่อมา หลังจากเหตุการณ์ที่สโตนวอลล์ อินน์ ผู้คนในสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นครั้งแรก และกลายเป็นต้นแบบของ Pride month ในปัจจุบัน

ในส่วนของวงการฟุตบอล พรีเมียร์ลีก ลีกสูงสุดของอังกฤษ ได้สนับสนุนแคมเปญรณรงค์ต่อต้านการเหยียดบุคคลที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ มาตั้งแต่ปี 2016 โดยทั้ง 20 สโมสรต่างก็ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี

แต่ละทีมได้แสดงสัญลักษณ์ความหลากหลายทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนสีพื้นหลังบนสื่อโซเชี่ยลมีเดียเป็นสีรุ้ง, กัปตันทีมสวมปลอกแขนสีรุ้ง หรือผูกเชือกรองเท้าสตั๊ดสีรุ้งในวันแข่งขัน เป็นต้น

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/Everton/

ตัวอย่างจากฟาชานู และฮิตเซิลสแปร์เกอร์

หลายคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ฟุตบอลเป็นเรื่องของชายชาตรีเท่านั้น แต่นักเตะอย่างจัสติน ฟาชานู และโธมัส ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ กลับตัดสินใจเปิดเผยตัวเองว่าเป็นกลุ่มชายรักชาย หรือ “เกย์” (Gay)

ฟาชานู อดีตกองหน้ายุค 1980s ถือเป็นนักเตะระดับอาชีพชาวอังกฤษคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ออกมาประกาศว่าเป็นเกย์ เขาเคยค้าแข้งกับหลายสโมสรในอังกฤษทั้งระดับดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2

แต่จุดเปลี่ยนของฟาชานู เกิดขึ้นในปี 1990 เมื่อ “เดอะ ซัน” แท็บลอยด์จอมแฉเมืองผู้ดี พาดหัวหน้าหนึ่งว่า “นักเตะค่าตัว 1 ล้านปอนด์ ยอมรับแล้ว ผมเป็นเกย์” สร้างความตกตะลึงไปทั้งวงการลูกหนัง

ในช่วงยุค 1980s ถึง 1990s รสนิยมความหลากหลายทางเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับ ฟาชานูพยายามที่จะปกปิดไว้ไม่ให้ใครรู้ว่าตัวเองไปเที่ยวที่บาร์เกย์ แต่ภายหลังก็ออกมายอมรับกับความจริงในที่สุด

ฟาชานู ประกาศแขวนสตั๊ดในปี 1997 และในเดือนพฤษภาคม ปีต่อมา อดีตนักเตะผิวสีคนแรกของลีกอังกฤษที่มีค่าตัวถึง 1 ล้านปอนด์ ก็ตัดสินใจจบชีวิตด้วยการแขวนคอตัวเอง จากไปในวัยเพียง 37 ปี

ขณะที่ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติเยอรมัน เคยค้าแข้งกับ 3 สโมสรในพรีเมียร์ลีกกับแอสตัน วิลล่า, เวสต์แฮม ยูไนเต็ด และเอฟเวอร์ตัน ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกีฬาของสตุ๊ตการ์ท ในบุนเดสลีกา

หลังจากประกาศแขวนสตั๊ดเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพได้ไม่นาน ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อเดือนมกราคม 2014 โดยเปิดใจถึงเรื่องของรสนิยมชายรักชาย ที่เก็บเป็นความลับมานานหลายปี

“มันเป็นช่วงเวลาที่ยากและยาวนาน ในการคิดและทบทวนเรื่องที่อยากจะบอกกับทุกคน หลังจากประกาศว่าตัวตนที่แท้จริงคือการมีความรักกับผู้ชาย ผมคิดว่าชีวิตของผมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นนะ”

“ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว คนที่ยังไม่ได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงให้คนอื่นๆ รู้ มันเป็นอะไรที่เจ็บปวด คุณจะเป็นเพศอะไรไม่สำคัญ แต่ขอให้กล้าที่จะบอกว่า เราไม่ยอมรับการเหยียดเพศ”

แข้งเกย์เลือดผู้ดีคนแรกรอบ 32 ปี

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจค แดเนียลส์ กองหน้าดาวรุ่งวัย 17 ปี จากสโมสรแบล็คพูล ในลีกแชมเปี้ยนชิพ เป็นนักเตะอาชีพชาวอังกฤษคนแรกนับตั้งแต่จัสติน ฟาชานู เมื่อ 32 ปีก่อน ที่ออกมาประกาศตัวว่าเป็นเกย์

แดเนียลส์ เพิ่งได้ประเดิมลงสนามให้กับทีมชุดใหญ่ของแบล็คพูลเป็นนัดแรก ในเกมนัดปิดซีซั่นที่พบกับปีเตอร์โบโร่ โดยเจ้าตัวถูกเปลี่ยนลงมาเป็นตัวสำรองในช่วง 10 นาทีสุดท้าย ซึ่งทีมของเขา จบอันดับที่ 16

ข้อความของแดเนียลส์ ที่ระบุไว้บนเว็บไซต์ของ “เดอะ ซีไซเดอร์ส” ความว่า “เรื่องนอกสนามผมต้องปิดบังมาตลอดว่าผมเป็นใครกันแน่ ผมรู้อยู่แล้วว่าเป็นเกย์ และผมก็พร้อมแล้วที่จะเปิดเผยเรื่องนี้เสียที”

“แต่การจะมาถึงจุดนี้ได้ ผมได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำจากครอบครัว เอเย่นต์ และองค์กร Stonewall อีกทั้งกำลังใจจากเพื่อนร่วมทีมแบล็กพูล ที่ยอมรับการตัดสินใจในการเปิดเผยตัวตนของผม”

“คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวตนของคุณ เพียงเพื่อให้เข้ากับคนอื่น ขอแค่ให้คุณเป็นตัวของตัวเองและมีความสุข นี่แหละคือสิ่งสำคัญที่สุด”

การออกมาเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของแดเนียลส์ วงการฟุตบอลอังกฤษได้ออกมาชื่นชมในความกล้าหาญ แทบทุกสโมสรรวมถึงนักฟุตบอลหลายๆ คน ต่างส่งกำลังใจให้กับดาวรุ่งวัย 17 ปีรายนี้

ทางด้านพรีเมียร์ลีก ก็ออกมาแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เราขอสนับสนุนเจค และเชื่อว่าเกมฟุตบอลเป็นของทุกคน นี่คือเหตุผลที่เราต่อต้านการเหยียดเพศ รวมถึงให้การสนับสนุนกลุ่มคนที่เป็น LGBTQ+”

การที่นักฟุตบอลเริ่มกล้าที่จะเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเอง ช่วยส่งแรงกระเพื่อมต่อสังคม ทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษและทั่วโลก เปิดใจยอมรับนักเตะที่อยู่ในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยในการพิสูจน์กับบทดสอบที่ยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างความเข้าใจ และยอมรับรสนิยมทางเพศที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3313956/2022/05/16/jake-daniels-blackpool/

https://theathletic.com/2991105/2021/12/03/how-to-be-an-ally-for-lgbt-community-in-football/

https://theathletic.com/1561229/2020/01/26/thomas-hitzlsperger-stuttgart-villa-everton-west-ham/

https://www.premierleague.com/news/511487

https://www.blackpoolfc.co.uk/news/2022/may/16/a-message-from-jake-daniels/

https://www.bbc.co.uk/newsround/52872693

Categories
Special Content

เคล็ดลับลุ้น 4 แชมป์ : เจาะเบื้องหลัง “ลิเวอร์พูล” ลงเล่น 63 นัดในซีซั่นเดียว

#SSxKMD | ลิเวอร์พูล ในฤดูกาล 2021/22 ที่ผ่านมา ถือเป็นฤดูกาลที่ลงเล่นครบทุกนัดทั้ง 4 รายการที่ลงแข่งขัน รวมทั้งสิ้น 63 เกม แพ้แค่ 4 เกม ได้มา 2 แชมป์ คือคาราบาว คัพ และเอฟเอ คัพ

แฟนๆ “เดอะ ค็อป” อาจจะน่าเสียดายที่พลาด 2 ถ้วยที่ใหญ่ที่สุดทั้งพรีเมียร์ลีก และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในสัปดาห์สุดท้ายของซีซั่น แต่การได้ลุ้นถึงจนถึงนัดสุดท้ายทุกถ้วย ก็ถือว่าน่าประทับใจ

เหตุผลสำคัญที่ “หงส์แดง” มาถึงจุดนี้ได้ คือการที่นักเตะภายในทีมแทบจะไม่มีปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวน ทำให้สามารถประคับประคองทีมจนเกือบสร้างประวัติศาสตร์ทำ “ควอดรูเพิล”

วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ จะนำเบื้องหลังซีซั่นที่เหลือเชื่อที่สุดในประวัติศาสตร์ของลิเวอร์พูล มาขยายให้ฟังกันครับ

หลังบ้านมีปัญหาเมื่อซีซั่นที่แล้ว

ลิเวอร์พูล คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2019/20 แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักเตะได้รับผลกระทบเรื่องสภาพร่างกายจากการล็อกดาวน์พักซีซั่นชั่วคราว รวมถึงการลงเล่นอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งเข้าสู่ฤดูกาล 2020/21 ลิเวอร์พูลต้องเจอกับซีซั่นที่เจ็บปวด หลังจากสูญเสียนักเตะในเกมรับหลายคนจากอาการบาดเจ็บตั้งแต่ช่วงต้นซีซั่น จนส่งผลกระทบต่อผลงานของทีมอย่างหนัก

เริ่มจากเฟอร์กิล ฟาน ไดค์ ตามมาด้วยโจ เกเมซ ที่ต้องปิดซีซั่นตั้งแต่เดือนตุลาคม และพฤศจิกายนตามลำดับ โจเอล มาติป ก็เจ็บตามไปในเดือนมกราคม หลังฝืนลงเล่นหลายนัดในช่วงครึ่งซีซั่นแรก

เจอร์เก้น คล็อปป์ กุนซือลิเวอร์พูล ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการนำฟาบินโญ่ ที่เล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับ มาเล่นในตำแหน่งเซ็นเตอร์แบ็กแทนฟาน ไดค์ อาจจะทำได้ไม่ดีเท่า แต่ก็ยังพอไปได้

อย่างไรก็ตาม มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ฟาบินโญ่บาดเจ็บ คล็อปป์ได้สลับคู่เซนเตอร์แบ็กถึง 16 คู่ นักเตะอย่างจอร์แดน เฮนเดอร์สัน, รีห์ส วิลเลี่ยมส์ และแน็ต ฟิลลิปส์ ล้วนต้องมาเล่นเซ็นเตอร์แบ็กจำเป็น

วิกฤตอาการบาดเจ็บของนักเตะเกมรับในซีซั่น 2020/21 คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลิเวอร์พูลไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดๆ ได้เลย ซึ่งคล็อปป์ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว

แก้ปัญหาด้วย “ปัญญาประดิษฐ์”

จากปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อซีซั่นก่อน ลิเวอร์พูลได้นำเทคโนโลยีที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ซึ่งหมายถึงการสร้าง “สมองเทียม” ที่สามารถประมวลผล และวิเคราะห์ได้คล้ายกับสมองของมนุษย์

ก่อนที่ฤดูกาล 2021/22 จะเริ่มขึ้น ลิเวอร์พูลได้ว่าจ้างบริษัท “โซนเซเว่น” (Zone7) จากแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงเรื่องปัญหาการบาดเจ็บของผู้เล่นภายในทีม

การทำงานของ Zone7 เป็น AI ที่นำข้อมูลทุกอย่างรวบรวมเป็น “Big Data” มาเข้ากระบวนการอัลกอริทึมที่ได้ออกแบบไว้ จากนั้นจะวิเคราะห์ ก่อนส่งให้ผู้จัดการทีมและสต๊าฟฟ์ที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา

ตัวอย่างของ “ข้อมูล” ในกีฬาฟุตบอล อาทิเช่น ข้อมูลส่วนตัวผู้เล่น, ข้อมูลในสนามซ้อมและแข่งขันจริง, ความแข็งแกร่งของร่างกาย, ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ, ระดับความเครียด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม AI ของ Zone7 ต้องใช้เวลาพัฒนาอย่างยาวนาน กว่าที่จะวิเคราะห์ออกมาได้อย่างแม่นยำ ในปัจจุบันนี้ Zone7 สามารถตรวจจับอาการบาดเจ็บได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ล่วงหน้า 7 วัน ก่อนบาดเจ็บจริง

ทาล บราวน์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Zone7 กล่าวว่า “โลกของฟุตบอลเต็มไปด้วยข้อมูล ถ้าสามารถหาประโยชน์จากข้อมูลที่มีได้ จะได้เปรียบในการแข่งขัน และตอนนี้ข้อมูลได้ถูกนำมาใช้ประเมินนักเตะแล้ว”

“AI ของเรา ช่วยจำลองสถานการณ์ที่เหมาะสมที่สุดของผู้เล่น ทำให้ผู้เล่นยังรักษาฟอร์มการเล่นที่ดีไว้ได้นานที่สุด และลดความเสี่ยงให้มากที่สุด บางครั้งความเสี่ยงอาจจะหมายถึงการลดภาระในการทำงานลงก็ได้”

“มนุษย์” คือนักวางแผนที่ดีที่สุด

ถึงแม้ว่า ลิเวอร์พูลจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย แต่การวางแผนเพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ยังขึ้นอยู่กับเจอร์เก้น คล็อปป์ และทีมงานเหมือนเดิม ไม่สามารถแทนที่มนุษย์ 100 เปอร์เซนต์ในเวลานี้

ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ AI ของ Zone7 ทำให้กุนซือชาวเยอรมัน ตัดสินใจทดลอง “โรเตชั่น” ผู้เล่นตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นซีซั่น ซึ่งโดยสถิติ ลิเวอร์พูลจะมีการหมุนเวียนผู้เล่นเฉลี่ย 4 ตำแหน่งในแต่ละนัด

ความสามารถของ Zone7 ร่วมกับการตัดสินใจของเจอร์เก้น คล็อปป์ และทีมงาน ทำให้ลิเวอร์พูลสามารถลดจำนวนวันบาดเจ็บของผู้เล่นทั้งระยะสั้น และระยะยาวลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลจาก Premier Injuries ระบุว่า ลิเวอร์พูลในฤดูกาล 2020/21 มีจำนวนวันที่ผู้เล่นในทีมบาดเจ็บรวมกัน 1,513 วัน และในฤดูกาล 2021/22 ลดลงเหลือ 1,008 วัน หรือลดลงคิดเป็น 33 เปอร์เซ็นต์

ในส่วนของผู้เล่นที่บาดเจ็บระยะยาวมากกว่า 9 วัน (Days lost from substantial injuries) ในฤดูกาลล่าสุด ก็ลดลงเมื่อเทียบกับฤดูกาลก่อนเช่นกัน จาก 1,409 วัน เหลือ 841 วัน หรือลดลง 40 เปอร์เซ็นต์

โค้ชคนอื่นๆ มักจะไม่นิยมหมุนเวียนนักเตะช่วง 1 – 2 เดือนแรกของซีซั่น แต่คล็อปป์กล้าทำ และกลายเป็นผลดีในช่วงครึ่งซีซั่นหลัง ลิเวอร์พูลสามารถโรเตชั่นผู้เล่น สำหรับการลงเตะสัปดาห์ละ 2 นัด แบบไม่มีปัญหา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือในเกมพรีเมียร์ลีก นัดที่ลิเวอร์พูลบุกไปชนะเซาธ์แธมป์ตัน 2 – 1 ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม คล็อปป์โรเตชั่นผู้เล่น 9 ตำแหน่ง หลังจากชนะจุดโทษเชลซีในเอฟเอ คัพ เมื่อ 3 วันก่อนหน้านั้น

เบื้องหลังของลิเวอร์พูล กับฤดูกาลที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ คือการมองเห็นคุณค่าจากเทคโนโลยี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หัวจิตหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ของนักเตะ ตลอดเส้นทางการลุ้นแชมป์ในทุกรายการ

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3321871/2022/05/25/liverpool-63-matches-van-dijk/

– https://www.telegraph.co.uk/football/2022/05/18/revealed-silicon-valley-algorithm-helping-liverpool-cope-history/

– https://zone7.ai/

Categories
Special Content

ทอม เวอร์เนอร์ : ไม่มีใครอยากคิดถึงวันที่ “คล็อปป์” อำลาลิเวอร์พูล

เหลืออีกเพียงไม่กี่ชั่วโมง ลิเวอร์พูล จะทำศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบชิงชนะเลิศ กับเรอัล มาดริด ซึ่งเป็นการลุ้นแชมป์ที่ 3 ของฤดูกาลนี้ และเข้าชิงชนะเลิศถ้วยใหญ่ยุโรปเป็นครั้งที่ 3 จาก 5 ซีซั่นหลังสุด 

นับตั้งแต่กลุ่มแฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) เข้ามาซื้อกิจการของลิเวอร์พูล เมื่อเกือบ 12 ปีก่อน ในช่วงที่สโมสรเกือบจะล้มละลาย แต่ด้วยการบริหารที่ชาญฉลาด ทำให้สถานการณ์ทางการเงินดีขึ้นเรื่อยๆ

และการเข้ามาของเจอร์เก้น คล็อปป์ กุนซือชาวเยอรมัน คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สโมสรกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง คว้าแชมป์มาแล้ว 6 รายการ แถมยังตกลงต่อสัญญาอยู่คุมทีมต่อไป จนถึงปี 2026

วันนี้ SoccerSuckไข่มุกดำ ได้นำบทสัมภาษณ์ของทอม เวอร์เนอร์ ประธานสโมสรลิเวอร์พูล มาฝากกัน เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อย ก่อนเกมนัดสำคัญในคืนวันเสาร์นี้

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

การเดินทางเกือบ 12 ปี นับตั้งแต่เข้ามาบริหารสโมสร

เกมแรกของลิเวอร์พูล ภายใต้การบริหารของกลุ่ม FSG คือเกมบุกไปแพ้เอฟเวอร์ตัน ที่กูดิสัน พาร์ค 0 – 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2010 สถานการณ์ในตอนนั้น พวกเขาอยู่ในอันดับรองสุดท้ายของตารางคะแนน

ผ่านไปเกือบ 12 ปี ลิเวอร์พูลในฤดูกาล 2021/22 กลายเป็นทีมที่ลุ้นแชมป์ 4 รายการ แบบใกล้เคียงที่สุดในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลอังกฤษ ถึงแม้จะไม่เกิดขึ้นจริงๆ แต่พวกเขามาได้ไกลมากๆ แล้ว

เวอร์เนอร์ ได้เปิดใจถึงการเข้ามาบริหารสโมสรแห่งนี้ว่า “ตอนที่เราซื้อสโมสรลิเวอร์พูล เราพยายามคิดให้ออกว่า ในช่วง 5 – 10 ปีต่อจากนี้ จะอยู่ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีกได้กี่ปี ? เราจะติดท็อปโฟร์ได้กี่ปี ?”

“แต่ในตอนนี้ การเข้าชิงแชมเปี้ยนส์ ลีก 3 จาก 5 ปีหลังสุด มันน่าทึ่งมาก เราไม่เคยคิดมาก่อนเลย ไม่ว่าผลการแข่งขันที่ปารีสจะเป็นอย่างไร มันคือฤดูกาลที่พิเศษสุดๆ ของสโมสร เวลามันเป็นเครื่องพิสูจน์แล้ว”

เกมพรีเมียร์ลีก นัดสุดท้ายของซีซั่น ลิเวอร์พูล เอาชนะวูล์ฟแฮมป์ตัน 3 – 1 แต่ไม่เพียงพอที่จะแซงแมนฯ ซิตี้คว้าแชมป์ เนื่องจากทีมของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า พลิกเอาชนะแอสตัน วิลล่า 3 – 2 ทั้งๆ ที่ถูกนำก่อนถึง 2 ประตู

เวอร์เนอร์ กล่าวเสริมว่า “ตอนที่วิลล่ายิงประตูได้ ผมคิดว่าเรามีโอกาสคว้าแชมป์ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ทีมได้ลุ้นจนถึงนัดสุดท้าย คือความสำเร็จที่สุดยอดแล้ว เราได้แชมป์มาแล้ว 2 รายการ และกำลังจะลุ้นแชมป์ที่ 3”

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ความเหลื่อมล้ำทางการเงิน คืออุปสรรคสำคัญ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้กลุ่ม FSG รู้สึกผิดหวัง นับตั้งแต่เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร คือการที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คู่แข่งสำคัญที่แย่งความสำเร็จในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่ถูกลงโทษจากกรณีละเมิดกฏไฟแนนเชี่ยล แฟร์เพลย์

ข้อมูลจาก CIES Football Observatory เปิดเผยว่า ในรอบ 10 ปีหลังสุด แมนฯ ซิตี้ใช้เงินไป 1.5 พันล้านปอนด์ ซื้อขายผู้เล่นสุทธิ 842 ล้านปอนด์ ขณะที่ลิเวอร์พูล แม้จะใช้เงินไป 965 ล้านปอนด์ แต่ซื้อขายสุทธิแค่ 297 ล้านปอนด์เท่านั้น

เวอร์เนอร์ กล่าวว่า “แน่นอนว่าพวกเขา (แมนฯ ซิตี้) มีกำลังการเงินมากกว่าเรา เรากำลังแข่งขันในลีกที่ยากมาก แต่สิ่งที่เราแสดงให้เห็นมาตลอดนับตั้งแต่เข้ามาเมื่อ 12 ปีก่อน คือเราใช้จ่ายเงินอย่างยุติธรรม”

เมื่อเดือนที่แล้ว ยูฟ่าได้อนุมัติกฎควบคุมการเงินใหม่ โดยให้ทุกสโมสรขาดทุนไม่เกิน 60 ล้านยูโร ใน 3 ปีหลังสุด และให้ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ของสโมสร โดยจะเริ่มใช้กฎใหม่นี้ในปี 2024

เวอร์เนอร์ กล่าวต่อว่า “ผมหวังว่าพรีเมียร์ลีกจะยังทำตามเจตนารมณ์ของกฎ FFP ทุกสโมสรต้องถูกควบคุม เพราะจะช่วยให้ทุกสโมสร ไม่ใช่แค่ลิเวอร์พูลเท่านั้น แข่งขันภายใต้ระบบที่ยุติธรรม และมีความยั่งยืน”

“มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราในการปฎิบัติตามกฎระเบียบ ไม่ว่าใครจะมีการลงทุนมหาศาลแค่ไหน แต่ถ้าทุกสโมสรอยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน เราก็ยินดี ไม่มีปัญหาอะไร”

ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ แม้ไม่มีเงินมหาศาล

ลิเวอร์พูลในฤดูกาล 2021/22 คือฤดูกาลที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร ถึงแม้จะไม่มีกลุ่มทุนเงินหนาอยู่เบื้องหลัง แต่การบริหารการเงิน และทรัพยากรภายในทีมที่ชาญฉลาด ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

เวอร์เนอร์ กล่าวว่า “แน่นอนว่าในปีนี้ เราพิสูจน์ให้เห็นแล้ว เรามีผู้ช่วยผู้จัดการทีมที่ดีอย่างเป๊ป ลินเดอร์ส และมีหัวหน้าฝ่ายโภชนาการที่ยอดเยี่ยมอย่างโมนา เนมเมอร์ และบรรดานักเตะอยากเล่นให้กับลิเวอร์พูล”

“ตอนที่เราเข้ามาบริหารใหม่ๆ เรามีความท้าทายที่จะเซ็นสัญญากับผู้เล่น 2 – 3 คน แต่จริงๆ แล้วเราเสียนักเตะออกจากทีมไป เพราะพวกเขารู้สึกว่าลิเวอร์พูลไม่ใช่สโมสรที่จะฝากอนาคตอะไรได้”

“เราต้องใช้ความพยายามอย่างมากเลย แต่เมื่อลองมองย้อนกลับไป ก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งกับความมุ่งมั่นของเราในการตั้งหลักกันใหม่ ผลงานในสนามดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และการเงินก็ดีขึ้นมาก”

“ตอนนี้เรามีความแข็งแกร่งทั้งในและนอกสนาม สิ่งที่เราพยายามสร้างมาอย่างหนัก มันกำลังออกดอกออกผลแบบเงียบๆ และสามารถแข่งขันกับใครก็ได้แล้ว”

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของฝ่ายเทคนิคหลังจบซีซั่น

หลังจากจบเกมชิงดำแชมเปี้ยนส์ ลีก ที่พบกับเรอัล มาดริด ในวันเสาร์นี้ ลิเวอร์พูลจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในฝ่ายเทคนิค ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ จะสิ้นสุดหน้าที่ผู้อำนวยการกีฬาของสโมสร

เอ็ดเวิร์ดส์ อยู่กับลิเวอร์พูลมาตั้งแต่ปี 2011 เริ่มงานจากตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ ต่อมาได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค และก้าวสู่ผู้อำนวยการกีฬาในปี 2016

ผลงานที่เป็นภาพจำของเอ็ดเวิร์ดส์ คือการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังดีลสำคัญๆ ที่มีส่วนในการสร้างยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ อาทิเช่น โมฮัมเหม็ด ซาล่าห์, ซาดิโอ มาเน่, โรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่, อลิสซง เบ็คเกอร์, เฟอร์กิล ฟาน ไดค์ เป็นต้น

และผู้ที่จะก้าวเข้ามารับหน้าที่นี้แทน คือ จูเลี่ยน วอร์ด ผู้ช่วยผู้อำนวยการกีฬา ซึ่งเวอร์เนอร์เชื่อว่า วอร์ดจะเป็นตัวแทนที่ยอดเยี่ยมสำหรับตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาคนใหม่ของหงส์แดง

“ผมได้ดูจูเลี่ยนตอนที่นำหลุยส์ ดิอาซ มาร่วมทีมเมื่อเดือนมกราคม เขามีส่วนมากๆ ในการเปลี่ยนใจหลุยส์ ที่กำลังตัดสินใจย้ายไปอยู่กับท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ จนมาสร้างความแตกต่างให้กับลิเวอร์พูล”

คล็อปป์ กับผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญในการต่อสัญญาใหม่

เมื่อเดือนที่แล้ว มีข่าวหนึ่งที่ทำให้สโมสรน่ากังวลใจ คืออนาคตของเจอร์เก้น คล็อปป์ กุนซือคนเก่ง เนื่องจากเหลือสัญญาคุมทีมอีกแค่ 2 ปี พร้อมกับเตรียมหาผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเกลี้ยกล่อมให้คล็อปป์ยอมอยู่กับลิเวอร์พูลต่อไป คืออุลล่า แซนด์ร็อค ภรรยาของเขา โดยเวอร์เนอร์ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง พร้อมยอมรับว่าไม่มีใครอยากเห็นคล็อปป์อำลาทีม

“ผมต้องให้เครดิตอูลล่าเลย เธอมีส่วนอย่างมากในการแนะนำให้เจอร์เก้นอยู่กับลิเวอร์พูลต่อไป ไมค์ กอร์ดอน คุยกับเขาทุกวัน และพยายามแจ้งความคืบหน้ามาโดยตลอดว่า เขากำลังพิจารณาเรื่องต่อสัญญาใหม่”

“และเมื่อเขาตัดสินใจอยู่ต่อ ผมรู้สึกโล่งทีเดียว เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อที่เขาอยู่กับสโมสรไปอีก 2 – 3 ปี ผมดีใจมากๆ เพราะคงไม่มีใครอยากนึกภาพในวันที่เขาไม่ได้เป็นผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลแล้ว”

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

อนาคต “ซาล่าห์-มาเน่” จะอยู่กับลิเวอร์พูลต่อไปหรือไม่ ?

ลิเวอร์พูล ได้ผู้เล่นใหม่มาเสริมทัพเป็นคนแรกในตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์นี้ คือ ฟาบิโอ คาร์วัลโญ่ กองหน้าดาวรุ่งวัย 19 ปี จากฟูแล่ม ซึ่งจะย้ายเข้าสู่ถิ่นแอนฟิลด์อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

แต่สำหรับ 2 ดาวยิงคนสำคัญ ทั้งโมฮัมเหม็ด ซาล่าห์ และซาดิโอ มาเน่ กำลังจะหมดสัญญาในช่วงกลางปีหน้า ทางสโมสรจะเจรจากับเอเย่นต์ของนักเตะอีกครั้ง หลังจบเกมแชมเปี้ยนส์ ลีก ในวันเสาร์นี้

“ผมจะไม่เปิดเผยว่า นักเตะกับเอเย่นต์คุยอะไรกันบ้าง แต่เราได้อธิบายความปรารถนาของเราแล้วว่า พวกเขาจะยังอยู่กับสโมสรนี้ต่อไป เรื่องนี้ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของจูเลี่ยน”

“ตอนนี้เรากำลังจะได้แข่งขันกับสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากสโมสรหนึ่ง หลังจากเกมที่ปารีสจบลง เราจะกลับไปคุยกันถึงอนาคตของพวกเขา” เวอร์เนอร์ กล่าวปิดท้าย

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

#SoccerSuck #SS #ไข่มุกดำ #ลิเวอร์พูล #แชมเปี้ยนส์ลีก #คล็อปป์ #ทอมเวอร์เนอร์

อ้างอิง :

– https://theathletic.com/3330723/2022/05/25/liverpool-chairman-tom-werner-jurgen-klopp/