Categories
Column

“กาดิซ” อุ่นแข้งดวลทีมพรีเมียร์ลีก ก่อนลาลีการีสตาร์ท

กาดิซ สโมสรจากลาลีกา สเปน เปิดสนามเอสตาดิโอ นูเอโว มิรันดิลลา เอาชนะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยอดทีมพรีเมียร์ลีก 4 – 2 ในเกมอุ่นเครื่องช่วงฟุตบอลโลก เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ปี 1955 จนถึงปัจจุบัน สนามเอสตาดิโอ นูเอโว มิรันดิลลา ได้ใช้จัดเกมอุ่นเครื่องพรี-ซีซั่น ในรายการ “ราม่อน เด การ์รันซ่า โทรฟี่” โดยเชิญสโมสรชื่อดังจากทั่วโลกมาแข่งขันด้วย

นี่เป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งกาดิซ และแมนฯ ยูไนเต็ด โดยก่อนหน้านี้ ผู้มาเยือนจากอังกฤษ เคยพบกับสโมสรจากสเปน ทั้งเกมกระชับมิตรช่วงซัมเมอร์นี้ 2 นัด และฟุตบอลถ้วยยุโรป อีก 2 นัด

เกมพรี-ซีซั่น 2022/23 ยูไนเต็ด แพ้แอตเลติโก้ มาดริด 0 – 1 และเสมอราโย บาเยกาโน่ 1 – 1 นอกจากนี้ พวกเขายังพบกับเรอัล โซเซียดัด ในยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ต่างฝ่ายต่างเอาชนะในเกมเยือนด้วยสกอร์ 1 – 0

เอริค เทน ฮาก กุนซือ “ปิศาจแดง” ลงคุมทีมเป็นนัดแรกโดยที่ไม่มีคริสเตียโน่ โรนัลโด้ อดีตดาวเตะเรอัล มาดริด แต่ยังมีนักเตะคนอื่น ๆ ได้แก่ มาร์ติน ดูบราฟก้า, อองโตนี่ มาร์กซิยาล, ดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค เป็นต้น

ขณะที่กาดิซ นำโดย 2 อดีตกองหน้าพรีเมียร์ลีก ทั้งอัลบาโร่ เนเกรโด้ ที่เคยค้าแข้งให้กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมคู่ปรับร่วมเมือง รวมถึงลูคัส เปเรซ ที่เคยลงเล่นให้กับอาร์เซน่อล และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด มีชื่อเป็นสำรอง

เจ้าถิ่นออกนำ 2 – 0 ภายใน 15 นาทีแรก จากคาร์ลอส การ์เซีย-ดาย และแอนโธนี่ โลซาโน่ ก่อนที่อองโตนี่ มาร์กซิยาล จะยิงตีไข่แตกให้แมนฯ ยูไนเต็ดไล่ตามมาเป็น 1 – 2 และจบครึ่งแรกด้วยสกอร์นี้

เริ่มครึ่งหลังได้เพียง 3 นาที แมนฯ ยูไนเต็ดตีเสมอเป็น 2 – 2 จากค็อบบี้ ไมนู มิดฟิลด์ดาวรุ่งวัย 17 ปี อย่างไรก็ตาม กาดิช มายิงเพิ่มอีก 2 ประตู จากรูเบน โซบริโน่ และปิดท้ายด้วยผลงานของโทมัส อลาร์คอน

เกมอุ่นเครื่องนัดต่อไปของกาดิซ คือการพบกับวูล์ฟแฮมตัน อีกหนึ่งทีมจากอังกฤษ ในช่วงกลางสัปดาห์หน้า ขณะที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะพบกับเรอัล เบติส ในวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคมนี้

Categories
Football Business

ราล์ฟ รังนิก กับการปฏิวัติเงียบบอร์ดบริหารฯ ความสำเร็จเบื้องหลังที่รอการพิสูจน์

บางทีตัวแปรสำคัญอันดับแรกที่ทำให้สโมสรฟุตบอลประสบความสำเร็จและผงาดอยู่แถวหน้าของวงการอาจไม่ใช่การเข้ามาของผู้จัดการทีมที่เก่งฉกาจ แต่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางบริหารของเจ้าของสโมสร

เหมือนกับที่ ลิเวอร์พูล ตัดสินใจยกเลิกวัฒนธรรม The Boot Room ที่นำความยิ่งใหญ่มาสู่แอนฟิลด์ระหว่างทศวรรษ 1960ถึงต้นทศวรรษ 1990 หรือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งขายสโมสรให้กับชาวต่างชาติอย่าง ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2007 ก่อนตกมาอยู่ในมือของ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน นักการเมืองและนักธุรกิจชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน รวมถึง โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ที่เทคโอเวอร์ เชลซี เมื่อปี 2003

ด้วยเหตุนี้ แฟนบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด  จึงเริ่มมีความหวังเล็กๆที่จะปีนกลับขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งนับตั้งแต่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ล้างมือในอ่างทองคำหลังจบซีซั่น 2012-13 แม้เจ้าของสโมสรยังคงเป็นตระกูลเกลเซอร์แห่งสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ มัลคอล์ม เกลเซอร์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในเดือนกันยายน 2003

ช่วง 8 ฤดูกาลในยุค โพสต์-เฟอร์กี้ ปีศาจแดงคว้าแชมป์มาครอง 3 รายการคือ ลีกคัพ, เอฟเอ คัพ และ ยูโรป้า ลีก แต่กับลีกระดับเทียร์หนึ่ง พวกเขาทำได้ดีที่สุดคือ รองแชมป์ พรีเมียร์ลีก 2 สมัย แถมเคยร่วงลงไปอยู่อันดับ 7 ในสมัย เดวิด มอยส์ และอันดับ 6 อีกสองครั้ง ส่วนซีซั่นปัจจุบัน พวกเขามีโอกาสรูดม่านด้วยอันดับ 6, 7 หรือกระทั่ง 8

เดวิด มอยส์ บุรุษผู้ถูกเลือก อาจเป็นความผิดพลาดเพราะฝีมือและบารมีไม่ถึง แต่กุนซือระดับ หลุยส์ ฟาน กัล และ โชเซ่ มูรินโญ่ กึ๋นคงไม่ใช่ข้ออ้าง แม้มีความพยายามคืนสู่จิตวิญญาณแห่งปีศาจแดงด้วยการมอบหมายงานให้ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ก็ยังล้มเหลว

เป้าถล่มย้ายจากผู้จัดการทีมสู่บอร์ดบริหาร

เป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงหลัง เสียงด่าทอของแฟนบอลเปลี่ยนทิศจากผู้จัดการทีมไปยังบอร์ดบริหารและเจ้าของทีม ถึงขั้นเคยมีการประท้วงขับไล่ในสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด จนแมตช์แดงเดือดต้องเลื่อนออกไป รวมทั้งสับแหลกการบริหารที่ผิดพลาด วางเป้าหมายผลกำไรทางธุรกิจเหนือความสำเร็จของทีมฟุตบอล เจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่มีความรู้ในกีฬาลูกหนัง การดื้อดึงซื้อนักเตะที่กุนซือไม่ได้ต้องการ การต่อสัญญานักเตะที่ไม่ใช้งานเพียงเพื่อเพิ่มมูลค่า การกระหายเงินจนเข้าร่วมก่อตั้ง ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก  เป็นต้น 

“ภัย” เริ่มขยับใกล้ตระกูลเกลเซอร์เข้ามาเรื่อยๆ จนมหาเศรษฐีจากเมืองลุงแซมต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่” เพื่อพา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คืนสู่ความยิ่งใหญ่ ซึ่งจะทำให้การธุรกิจของพวกเขากลับมาสงบสุขอีกครั้ง

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2021 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยกเลิกสัญญากับ โซลชาร์ ท่ามกลางการกดดันของแฟนๆและสื่อมวลชน แต่พลาดได้ตัว อันโตนิโอ คอนเต้ กุนซือมือดีที่เพิ่งตอบตกลงคุมทีม ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ ก่อนหน้าไม่กี่สัปดาห์ โดยมอบหมายให้ ไมเคิล คาร์ริก คุมทีมเพียง 3 นัด ก่อนสร้างเซอร์ไพรส์แต่งตั้ง ราล์ฟ รังนิก ปรามาจารย์ลูกหนังชาวเยอรมัน ทำหน้าที่จนจบซีซั่นก่อนนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาสโมสรเป็นเวลาสองปี

คงไม่มีใครแปลกใจหาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปล่อยให้คาร์ริกคุมทีมช่วงที่เหลือของซีซั่นเพื่อรอเจรจาช่วงซัมเมอร์กับเป้าหมายที่ตกเป็นข่าวอย่าง เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่, เบรนแดน ร็อดเจอร์ส, ซีเนอดีน ซีดาน หรือกระทั่งรังนิกเอง

เท็ดดี้ เชอริงแฮม อดีตศูนย์หน้าทีมปีศาจแดง ให้ความเห็น “คุณตัดสินใจปลดผู้จัดการทีม แล้วให้คาร์ริกทำหน้าที่ชั่วคราว แล้วแทนเขาด้วยผู้จัดการทีมชั่วคราวอีกคนหนึ่ง สำหรับผมแล้ว เป็นการกระทำที่น่าตกใจเอามากๆสำหรับสโมสรที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก”

“นั่นทำให้นักเตะขาดความมั่นใจและไร้ความต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักเตะคนไหนที่กำลังเจอช่วงเวลาที่เลวร้าย ก็เหมือนกับโดนทอดทิ้งไร้อนาคต เขารู้ดีว่านายใหญ่จะต้องไปภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า” 

“เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับสโมสรอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คุณต้องการให้ทุกคนมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับผมแล้ว มันวุ่นวายตั้งแต่บนลงล่าง นักเตะได้แค่เล่นไปในสนาม ผมคงรับมือกับสถานการณ์ไร้สาระแบบนี้ไม่ได้”

เหมือนอย่างที่เชอริงแฮมพูดไว้ รังนิกไม่สามารถใส่สไตล์ “เกเก้น เพรสซิ่ง” ให้กับลูกทีมใหม่ ผลงานในสนามก็ลุ่มๆดอนๆ ตกรอบ เอฟเอ คัพ และ แชมเปี้ยนส์ลีก อันดับบนตารางพรีเมียร์ลีกก็ไหลลงจนอาจได้เพียงโควต้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก สภาพทีมเหมือนเล่นให้ครบโปรแกรมเพื่อรอนายใหญ่คนใหม่เข้ามารับหน้าที่อย่างถาวร

รังนิกชี้ปัญหาที่ถูกมองข้ามผ่านเพรสคอนเฟอเรนซ์

แม้ผลแข่งอาจดูย่ำแย่ที่สุดในบรรดาผู้จัดการทีมยุคหลังเฟอร์กูสัน แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดของรังนิกกลับอยู่ที่การให้สัมภาษณ์หลังเกมและวาระต่างๆ

รังนิกมักอธิบายเหตุผลการทำอะไรไม่ทำอะไรระหว่างเกม 90 นาทีในเชิงเทคนิคและแทคติคอย่างเช่น ทำไมถึงเปลี่ยนตัวนักเตะคนนี้ออกส่งคนนั้นเข้า จุดไหนที่นักเตะไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ก่อนเกม พูดเหมือนเป็นคอมเมนเตเตอร์หรือครูที่กำลังสอนนักเรียนผ่านเกมแข่งขันจริงๆ

ท้ายซีซั่น รังนิกเริ่มให้สัมภาษณ์ไปไกลถึงโครงสร้างการบริหารทีม แนวทางการฝึกซ้อม การทำงานของทีมแพทย์ แนวคิดการซื้อขายนักเตะในตลาด คุณลักษณะนักเตะที่พึงมี ฯลฯ ไม่ใช่ความเห็นต่อภาพที่เกิดขึ้นบนสนามหญ้าเท่านั้น ยิ่งช่วงก่อนหน้าและหลัง เอริค เทน ฮาก ได้รับการประกาศเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ รังนิกแสดงวิสัยทัศน์ราวกับกำลังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ซีอีโอ หรือ ผู้บริหารสูงสุดที่จะเข้ามา “ปฏิวัติ” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

สื่อบางสำนักระบุว่า โครงการปรับปรุงสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ครั้งใหญ่เกิดขึ้นก็เพราะฝีปากของเดอะ โปรเฟสเซอร์ นั่นเอง

“เรด อาร์มี่” ทั่วโลกต่างซึมซับคำพูดช่วง 4-5 เดือนของรังนิกไว้ในสมองอย่างไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่เห็นด้วยถึงเวลาแล้วที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่เพียง “ไมเนอร์ เชนจ์” แต่ต้อง “ยกเครื่อง” ฐานรากของสโมสรเสียใหม่ ไม่ใช่เพียงจ้างผู้จัดการทีมระดับ เอ พลัส เข้ามาสร้างความสำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว พวกเขาพร้อมให้เวลา 3-4 ปี สำหรับ เทน ฮาก

ความคิดลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อาจมีแค่ด่าทอระบายอารมณ์กับสไตล์การทำงานของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด และบอร์ดบริหารบ้าง จนกระทั่งรังนิกเข้ามาจุดประกายและขายไอเดียนับตั้งแต่ย้ายเข้ามาทำงานในโอลด์ แทรฟฟอร์ด 

เปลี่ยนโครงสร้างฝ่ายปฏิบัติการรอการมาของเทน ฮาก

ล่าสุด รังนิกเซ็นสัญญาคุมทีมชาติออสเตรียโดยเชื่อมั่นว่าสามารถทำงานควบคู่กับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นไปได้หลังจากรังนิกได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาไปเรียบร้อยแล้ว แถมปูทางสะดวกให้กับการทำงานของเทน ฮาก ซึ่งเป็นบุคคลที่เขาออกแรงเชียร์เต็มที่แม้เป็นโปเช็ตติโน่ต่างหากที่บอร์ดบริหารต้องการตัว

มุมมองที่รังนิกพูดออกไปสร้างอิมแพ็คให้กับสโมสรจริงๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายอย่างนอกเหนือก่อนหน้านี้ที่วู้ดเวิร์ดประกาศอำลาเก้าอี้ซีอีโอหลังจบซีซั่น แมตต์ จัดจ์ มือขวาของเขา ก็ยุติบทบาทหัวหน้าฝ่ายพัฒนาองค์กรและหัวหน้าฝ่ายเจรจาซื้อขายนักเตะ หลังจากสโมสรมีคำสั่งปลดหัวหน้าแมวมอง 2 คน โดยมีข่าวลือว่า รังนิกได้แนะนำสโมสรให้ทาบทาม พอล มิทเชลล์ ผู้อำนวยการกีฬาของ โมนาโก เข้ามานั่งเก้าอี้แทนจัดจ์และมีบทบาทสำคัญในตลาดซื้อขายฤดูร้อนนี้

เพราะการแผ้วถางทางเดินเกือบครึ่งปีของรังนิก ทำให้บอร์ดบริหารจำใจเซย์เยสกับเงื่อนไขสุดท้ายของเทน ฮาก นั่นคืออำนาจเด็ดขาดในการซื้อขายนักเตะ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยหลังเฟอร์กูสันอำลาสโมสร อดีตกุนซืออย่างฟาน กัล และมูรินโญ่ ล้วนเคยแฉว่าฝ่ายบริหารไม่ได้ตอบสนองความต้องการของพวกเขา 

รอย คีน อดีตกัปตันทีมปีศาจแดง เห็นด้วยกับทิศทางที่เปลี่ยนแปลงในถิ่นเก่า

“เราเห็นตัวอย่างของ ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ได้รับประโยชน์มากขนาดไหนที่ผู้จัดการทีมมีอำนาจเต็มในทุกภาคส่วน สิ่งที่ผู้จัดการทีมต้องการคือ อำนาจและการควบคุมในสโมสร ทั้ง (เจอร์เก้น) คล็อปป์, เป๊ป (กวาร์ดิโอล่า) และ (โธมัส) ทูเคิล ต่างมีสิ่งนี้ ดังนั้นไม่ว่าใครเข้ามาคุมทีม สโมสรต้องหนุนหลังเขา ให้อำนาจและการควบคุมแก่เขา ให้เขามีส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อขายนักเตะ แต่ที่ผมได้ยินช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน มา การตัดสินใจซื้อขายผู้เล่นมาจากคนข้างบน”

ทั้งหมดนี้ แม้รังนิกอาจลัมเหลวกับตัวเลขบนสกอร์บอร์ดและแต้มสะสมในเกมพรีเมียร์ลีก แต่เขาได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงให้กับตระกูลเกลเซอร์และบอร์ดบริหาร จนอาจกล่าวได้ว่า เทน ฮาก มี “แต้มต่อ” ณ จุดสตาร์ท เหนือกว่า มอยส์, ฟาน กัล, มูรินโญ่ และโซลชาร์ พร้อมเวลาให้พิสูจน์ฝีมือ 2-3 ปี

และถ้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สามารถกลับไปยืนโดดเด่นที่แถวหน้าอีกครั้ง ก็จะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จที่เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงแนวคิดบริหารงานของเบื้องบน

Categories
Special Content

เป็นฮีโร่ก็ลำบาก : “มาร์คัส แรชฟอร์ด” ดอกเตอร์ที่ยังไม่ก้าวข้ามดาวรุ่ง

ภาพจำของมาร์คัส แรชฟอร์ด ดาวยิงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ผู้คนในอังกฤษและทั่วโลกนึกถึง คือนักสังคมสงเคราะห์ สะสมความดีมากเพียงพอ จนได้รับการประกาศเกียรติคุณ เพื่อตอบแทนความดีที่สร้างไว้

ตรงข้ามกับชีวิตนักฟุตบอล ที่ในเวลานี้ต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ด้วยผลงานที่ตกลงไปจากเมื่อก่อนอย่างน่าใจหาย และอาจถูกมองว่า เป็นนักเตะที่ไม่สามารถก้าวข้ามความเป็น “ดาวรุ่งตลอดกาล” ได้

ชีวิตของแรชฟอร์ดจากนักเตะดาวรุ่ง ที่ยังพุ่งไปไม่สุดทางเป็นอย่างไร ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

สุดยอดดาวรุ่งที่น่าจับตามอง

มาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดจากครอบครัวที่มีฐานะไม่ค่อยสู้ดีนักในเมืองแมนเชสเตอร์ เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 5 ขวบกับเฟล็ทเชอร์ มอสส์ เรนเจอร์ส สโมสรระดับท้องถิ่นที่ปั้นนักเตะชื่อดังมาแล้วหลายราย

ปี 2005 เจ้าหนูแรชฟอร์ดในวัย 7 ขวบ ได้รับความสนใจจากทีมยักษ์ใหญ่ทั้งแมนฯ ยูไนเต็ด, แมนฯ ซิตี้ รวมถึงลิเวอร์พูล และสุดท้ายเป็น “ปิศาจแดง” ที่ได้เซ็นสัญญาเข้าร่วมทีมเยาวชนไปในที่สุด

แรชฟอร์ด ใช้เวลาอยู่กับทีมเยาวชนยาวนานมากกว่า 10 ปี ก่อนที่จะได้ประเดิมสนามกับยูไนเต็ดเป็นครั้งแรก ในเกมยูฟ่า ยูโรป้า ลีก รอบ 32 ทีมสุดท้าย นัดสอง ที่เปิดบ้านพบกับมิดทิลแลนด์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016

ในแมตช์ดังกล่าว แรชฟอร์ดได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงแทนที่อองโตนี่ มาร์กซิยาล ที่ได้รับบาดเจ็บในช่วงวอร์มก่อนเริ่มเกม และกลายเป็นแมตช์แห่งความทรงจำของเขา เมื่อเหมาคนเดียว 2 ประตู ช่วยให้ทีมชนะ 5 – 1

ส่งผลให้แรชฟอร์ด ทุบสถิติเป็นนักเตะอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์สโมสร ที่ทำประตูได้ในฟุตบอลถ้วยยุโรป ด้วยวัย 18 ปี 117 วัน ก่อนที่สถิติของเขาจะถูกทำลายโดยเมสัน กรีนวูด เมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 (17 ปี 353 วัน)

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของมาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดขึ้นในฤดูกาล 2019/20 และ 2020/21 ที่ทำได้อย่างน้อย 20 ประตู รวมทุกรายการ 2 ฤดูกาลติดต่อกัน ก้าวขึ้นมาเป็นกองหน้าตัวความหวังในการจบสกอร์จนถึงปัจจุบัน

เด็กหนุ่มผู้เป็นฮีโร่ของอังกฤษ

เพราะเคยผ่านช่วงชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็ก ทำให้มาร์คัส แรชฟอร์ด มีความคิดริเริ่มที่จะช่วยเหลือผู้ที่ยากลำบากเหมือนกับตัวเอง จึงตัดสินใจที่จะรับบทบาทเป็นผู้ให้ และคืนอะไรกลับไปให้สังคมบ้าง

จุดเริ่มต้นการมีจิตสาธารณะของแรชฟอร์ด เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ด้วยการบริจาคอาหาร 1,200 กล่อง เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านในเมืองแมนเชสเตอร์

แต่ตัวเขาไม่รู้สึกพึงพอใจมากนัก เพราะคนที่เข้าถึงการช่วยเหลือยังน้อยเกินไป จึงต้องทุ่มเทกับกิจกรรมการกุศลมากกว่าเดิม โดยร่วมมือกับองค์กรการกุศลระดับประเทศ เข้ามาช่วยแจกจ่ายอาหารให้มากขึ้น

เข้าสู่ปี 2020 โควิด-19 ได้ระบาดหนักไปทั่วโลก รัฐบาลอังกฤษได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการระงับโครงการอาหารกลางวันฟรีแก่นักเรียน เป็นผลกระทบที่เกิดจาการสั่งปิดโรงเรียนในช่วงที่มีการล็อกดาวน์

จากการตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาล ช่วยให้แรชฟอร์ดทราบว่า มีเด็กนักเรียน 1.3 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ เขาจึงตัดสินใจเขียนจดหมายเปิดผนึก ส่งถึงรัฐบาลอังกฤษ ในเดือนมิถุนายน ปี 2020

หลังจากที่จดหมายเปิดผนึกถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ตัดสินใจสนับสนุนโครงการของแรชฟอร์ด และเครือข่ายอย่างเต็มที่ โดยทุ่มเงิน 400 ล้านปอนด์ช่วยเหลือเด็กยากไร้ทั่วประเทศ

สิ่งที่แรชฟอร์ดพยายามส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจรัฐ ได้รับรู้ถึงหัวใจของผู้คนทั้งประเทศ และเกิดอิมแพ็กต์อย่างเห็นได้ชัด จึงได้มีการตอบแทนคุณงามความดีครั้งสำคัญ ที่เขาและครอบครัวจะต้องจดจำไปตลอดชีวิต

เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับดาวเตะวัย 24 ปีรายนี้ และถือเป็นบุคคลที่อายุน้อยสุด ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์อีกด้วย

แรชฟอร์ด ถือเป็นคนที่ 3 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณขั้นสูงสุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ต่อจากเซอร์แมตต์ บัสบี้ และเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน 2 ตำนานผู้จัดการทีมของสโมสร

และอีกเพียง 1 เดือนหลังจากนั้น แรชฟอร์ด ก็ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE จากเจ้าชายวิลเลียมส์ เป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่เขาได้ทำให้กับประเทศบ้านเกิด มันยิ่งใหญ่เพียงใด

ความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสังคมของมาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดจากการลุกขึ้นเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมที่พบเจอ และสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น จนได้รับการยกย่องให้เป็นฮีโร่ของชาวอังกฤษทั้งชาติ

ฟอร์มการเล่นที่ไม่เหมือนเดิม

ชีวิตนอกสนามของมาร์คัส แรชฟอร์ด ได้สะสมคุณงามความดีไว้มากมาย จนได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ แต่ชีวิตในสนามของเขานั้น ถือว่ายังสอบไม่ผ่านในการที่จะก้าวจากสุดยอดดาวรุ่งสู่นักเตะเวิลด์คลาส

ผลงานของ ดร.แรชฟอร์ด ในฤดูกาล 2021/22 ทำได้เพียงแค่ 2 ประตู จาก 11 นัดที่ลงสนามในพรีเมียร์ลีก อีกทั้งยิงประตูไม่ได้เลย ใน 11 นัดหลังสุดที่ได้โอกาสลงเล่นนับรวมทุกรายการ

เกมล่าสุดที่แมนฯ ยูไนเต็ด เปิดบ้านเฉือนชนะแอสตัน วิลลา 1 – 0 ในเอฟเอ คัพ เมื่อคืนมันเดย์ไนท์ที่ผ่านมา เจ้าตัวถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องความทุ่มเทในสนาม โดยมีช็อตสำคัญที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ในโลกโซเชียล

ช็อตที่ว่านั้น เกิดขึ้นในนาทีที่ 73 จังหวะที่เมสัน กรีนวูด ยิงไปติดเซฟของเอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ นายทวารวิลลา รับบอลกระฉอกออกมา ทว่าแรชฟอร์ดกลับยืนเซ็งเฉยๆ ไม่วิ่งเข้าหาบอลเพื่อลุ้นประตูเสียอย่างนั้น

นั่นทำให้แรชฟอร์ด ถูกบรรดาเรด อาร์มี่ ตำหนิอย่างรุนแรง และถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นมืออาชีพ เพราะมีพฤติกรรมที่แสดงว่าไม่ตั้งใจเล่นให้กับสโมสร ทั้งๆ ที่รับค่าเหนื่อยสูงถึง 2 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์

ว่ากันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรชฟอร์ด มีฟอร์มการเล่นที่ดร็อปลงอย่างไม่น่าเชื่อในฤดูกาลนี้ เป็นเพราะปัญหาทั้งด้านสภาพจิตใจ และสภาพร่างกายที่ติดตัวมานานตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา

เรื่องสภาพจิตใจ แรชฟอร์ดคือหนึ่งในผู้ที่ยิงจุดโทษพลาด ทำให้อังกฤษแพ้อิตาลีในนัดชิงชนะเลิศ ยูโร 2020 แฟนบอลอังกฤษบางส่วนเลยไม่พอใจ ถึงขั้นทำลายภาพของเขาที่อยู่บนผนังในเมืองแมนเชสเตอร์

นอกจากนี้ เดลี่ เมล สื่อชื่อดังของอังกฤษยังระบุว่า เขาได้ติดต่อไปยังนักจิตวิทยาด้านกีฬา เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องสภาพจิตใจ ซึ่งนั่นถือเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ต้องพึ่งนักจิตวิทยาด้านกีฬามาช่วยเหลือด้านจิตใจ

ส่วนเรื่องสภาพร่างกายนั้น เจ้าตัวมีอาการบาดเจ็บหัวไหล่เรื้อรังมาตั้งแต่ฤดูกาลก่อน และเข้ารับการผ่าตัดหลังจบฟุตบอลยูโร เมื่อกลางปีที่แล้ว แต่ก็ฝืนกลับมาลงเล่นให้ยูไนเต็ดอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม

อีกสาเหตุหนึ่งที่ถือว่ามีส่วนอยู่ไม่น้อย ก็คือเรื่องของตำแหน่งการเล่นที่ยังไม่ชัดเจน นับตั้งแต่ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เนื่องจากสโมสรเปลี่ยนแปลงกุนซือบ่อย จึงมีความกังวลว่า เขาอาจจะไม่สามารถพัฒนาฝีเท้าได้อีก

เมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 สแตน คอลีมอร์ อดีตตำนานกองหน้าลิเวอร์พูลยุค ‘90 เคยให้ความเห็นว่า “หากแรชฟอร์ดยังไม่รู้ตำแหน่งถนัดของตัวเอง อีกไม่นานอาจจะเป็นเหมือนธีโอ วัลคอตต์ ที่เคยเป็นยอดดาวรุ่ง แต่ไปไม่สุด”

ที่สำคัญ สัญญาของแรชฟอร์ดกับยูไนเต็ด จะหมดลงหลังจบฤดูกาลหน้า น่าสนใจว่าเขาจะยังฝากอนาคตไว้ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด หรือจะไปหาความท้าทายใหม่กับสโมสรอื่น ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

ถึงแม้ว่ามาร์คัส แรชฟอร์ด จะเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษนอกสนามฟุตบอล แต่เรื่องราวในสนาม เขาต้องก้าวข้ามจากนักเตะดาวรุ่ง สู่นักเตะที่ประสบความสำเร็จในเกมลูกหนังให้ได้

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : TEAMtalk

อ้างอิง :

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10391695/What-wrong-Marcus-Rashford-amid-Manchester-United-struggles.html

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10390207/Manchester-United-Marcus-Rashford-struggles-mystery-Ralf-Rangnick-fans.html

https://www.theguardian.com/football/2022/jan/11/marcus-rashford-manchester-united-looks-out-of-form-and-cheer#_=_

#ไข่มุกดำ

#KMDAnalysis

#แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

Categories
Special Content

ห้องแต่งตัวที่ยุ่งเหยิง : “ราล์ฟ รังนิก” กับปัญหาใหญ่ของปิศาจแดง

เกมพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แพ้วูล์ฟแฮมป์ตันคาถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ดหนแรกในรอบ 42 ปี แถมเป็นการปราชัยนัดแรก ในยุคของกุนซือราล์ฟ รังนิก อีกด้วย

ประเด็นควันหลงที่จะหยิบมาพูดถึง คือสภาพปัญหาภายในห้องแต่งตัวของยูไนเต็ดที่เรื้อรังมานาน ถึงแม้จะเปลี่ยนเฮดโค้ชมาเป็นรังนิก ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “โปรเฟสเซอร์” ในวงการลูกหนังก็ตาม

แล้วปัญหาของ “ปิศาจแดง” คืออะไร ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เพราะเฮี้ยบมากไปจึงอยู่ไม่ได้

หลังจากเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ประกาศรีไทร์ ยุติอาชีพผู้จัดการทีมในปี 2013 แฟนบอลของแมนฯ ยูไนเต็ด รู้ดีว่าหลังจากนี้ทีมคงไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าจะห่างหายแชมป์พรีเมียร์ลีกนานเกือบ 1 ทศวรรษ

เดวิด มอยส์ กุนซือ “ผู้ถูกเลือก” ล้มเหลวแบบสุด ๆ คุมทีมยูไนเต็ดไม่เต็มฤดูกาลก็ต้องแยกทาง ต่อมาได้แต่งตั้งหลุยส์ ฟาน กัล อดีตนายใหญ่ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ มาคุมทัพหลังจากจบฟุตบอลโลก 2014

เมื่อฟาน กัล เข้ามาที่ยูไนเต็ด ก็เริ่มสร้างวีรกรรมความเฮี้ยบ ด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วสนามซ้อม เพื่อเกาะติดการซ้อมของนักเตะ อีกทั้งจัดระเบียบให้นักเตะรับประทานอาหารร่วมกันที่สนามซ้อมด้วย

นอกจากนี้ ฟาน กัล เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงจนล้นทะลัก ทำให้นักเตะในทีมออกอาการไม่พอใจ อีกทั้งแนวทางการทำทีมของเขา ไม่เป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลและบอร์ดบริหาร การตัดสินใจ “ปลด” จึงเกิดขึ้น

ถึงแม้ในฤดูกาลสุดท้ายของฟาน กัล จะพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพมาได้ แต่ไม่สามารถคว้าสิทธิ์ไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ทำให้ต้องแยกทางกับ “ปิศาจแดง” และโชเซ่ มูรินโญ่ กุนซือชาวโปรตุกีส ก็เข้ามารับช่วงต่อ

สไตล์การทำงานของมูรินโญ่ ก็เฮี้ยบไม่ต่างจากฟาน กัลเท่าใดนัก นี่อาจจะเป็นการ “หนีเสือปะจระเข้” ก็เป็นได้ ซึ่งปัญหาอย่างหนึ่งของมูรินโญ่ สมัยที่คุมทีมแมนฯ ยูไนเต็ด คือการสร้างบรรยากาศที่ย่ำแย่ภายในทีม 

อย่างเช่นกรณีของปอล ป็อกบา ที่กุนซือ “เดอะ สเปเชียล วัน” เคยปลดดาวเตะฝรั่งเศสออกจากกัปตันทีมระหว่างการฝึกซ้อม อีกทั้งกล่าวหานักเตะรายนี้ว่าเป็น “ไวรัส” ที่คอยบ่อนทำลายสโมสรอีกด้วย

ศึกวันแดงเดือดที่แมนฯ ยูไนเต็ด แพ้ลิเวอร์พูลแบบหมดสภาพ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2018 นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้บอร์ดบริหารของสโมสร ตัดสินใจไล่มูรินโญ่ ออกจากตำแหน่งกุนซือปิศาจแดงในที่สุด

ความสำเร็จของผู้จัดการทีมฟุตบอล ล้วนมีพื้นฐานจากระเบียบวินัยที่ไม่หย่อนยาน ทว่าทั้งฟาน กัล และมูรินโญ่ อยู่คุมแมนฯ ยูไนเต็ดได้ไม่นาน เพียงเพราะนักเตะบางคนต้องการล้มโค้ชที่ไม่ถูกจริตกันเท่านั้นเอง

ความใจดีที่เกินพอดีเลยพังพินาศ

หลังจากความวุ่นวายในยุคของโชเซ่ มูรินโญ่ แมนฯ ยูไนเต็ด ตัดสินใจแต่งตั้งโอเล่ กุนนาร์ โซลชา อดีตนักเตะที่ค้าแข้งในถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ดนาน 11 ปี และอดีตโค้ชทีมสำรองของสโมสร ทำหน้าที่กุนซือชั่วคราว

ซึ่งการเข้ามาของอดีตนักเตะเพชฌฆาตหน้าทารกนี่เอง เป็นการคืนความคึกคักให้กับปิศาจแดงอย่างไม่น่าเชื่อ ผลงานในช่วงแรกติดปีกแบบสุด ๆ ก่อนได้สัญญาคุมทีมถาวรในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2019

นับตั้งแต่วันแรกคุมทีม โซลชาทำทีมยูไนเต็ดพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จระดับคว้าโทรฟี่ แต่สิ่งที่โซลชาได้รับคำชื่นชม คือการอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เคยมีปัญหากับบอร์ดบริหารเลยแม้แต่น้อย

จุดเด่นของโซลชา คือความเป็นกันเองในห้องแต่งตัว ทำให้บรรดานักเตะในทีมต่างชื่นชอบนิสัยของโชลชา เมื่อเทียบกับ 2 กุนซือคนก่อนอย่างฟาน กัล กับมูรินโญ่ จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

แต่ทว่า ความใจดีและความเป็นกันเองที่มากเกินไป จนสูญเสียอำนาจการปกครอง ก็กลับมาทำร้ายตัวเขาเองอย่างเจ็บปวด โดยเฉพาะการคุมทีมใหญ่ที่อุดมไปด้วยนักเตะดาวดังอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด

อย่างเช่นกรณีที่โซลชา พยายามที่จะซื้อใจปอล ป็อกบา ที่มักทำตัวมีปัญหาบ่อย ๆ ให้ตั้งใจเล่นกับสโมสรมากขึ้น แต่กลับทำให้นักเตะคนอื่น ๆ ภายในทีมมองว่าโซลชา กำลังปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ปัญหาความไม่เข้าใจเรื่องแท็กติกในสนาม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเตะหมดศรัทธากับโซลชา จากที่เคยมีแต่รอยยิ้มในห้องแต่งตัว พอผลงานย่ำแย่ ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปจนกลายเป็นบรรยากาศอึมครึม

ยกตัวอย่างกรณีของดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค ที่แทบจะไม่ได้รับโอกาสลงสนามเลย หรือการส่งแฮร์รี่ แม็คไกวร์ ลงสนามเป็นตัวจริงทันที ในเกมที่แพ้เลสเตอร์เมื่อเดือนตุลาคม ทั้ง ๆ ที่เพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บ เป็นต้น

ความพ่ายแพ้ต่อวัตฟอร์ดแบบหมดสภาพถึง 1 – 4 ทำให้บอร์ดบริหารยูไนเต็ดตัดสินใจแยกทางกับโซลชาในที่สุด แสดงให้เห็นว่า สถานะนักเตะระดับตำนานผู้เป็นที่รักของ “เรด อาร์มี่” ก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย

รังนิกกำลังถูกท้าทายครั้งสำคัญ

เมื่อโอเล่ กุนนาร์ โซลชา ทำทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ไปไม่สุดทาง ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ราล์ฟ รังนิก กุนซือชาวเยอรมันวัย 63 ปี รับอาสาเข้ามาคุมทีมแบบขัดตาทัพจนกระทั่งจบฤดูกาลนี้

เมื่อมีกุนซือคนใหม่เข้ามา อาจจะเข้าทฤษฎี “บอลเปลี่ยนโค้ช” คือผลงานในช่วงแรกมักจะออกมาดี นัดแรกของรังนิก คือการเอาชนะคริสตัล พาเลซ 1 – 0 ชนิดที่ผู้เล่นทุ่มเทแบบสุด ๆ ไล่เพรสซิ่งแทบทุกจังหวะ

ทว่าหลังจากนั้น ฟอร์มการเล่นของบรรดานักเตะปิศาจแดง ค่อย ๆ ดร็อปลงอย่างน่าใจหาย คล้ายกับกำลังหมดแรงจูงใจ คาแร็กเตอร์ที่ยอดเยี่ยมในนัดที่ชนะพาเลซ เมื่อ 1 เดือนก่อน กำลังจะหายไปอีกแล้ว

ลุค ชอว์ ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งหลังเกมแพ้วูล์ฟส์ว่า “เรามีขุมกำลังที่เต็มไปด้วยคุณภาพชั้นยอด แต่บางครั้งคุณภาพเพียงอย่างเดียวมันก็ไม่มากพอ เราต้องมีความเอาจริงเอาจังและแรงมุ่งมั่นมากกว่านี้”

ย้อนกลับไปหลังเกมที่เสมอนิวคาสเซิล 1 – 1 เมื่อเดือนธันวาคม มีรายงานจากสื่อที่ระบุว่า บรรยากาศภายในทีมเริ่มมีการแบ่งพรรคพวก นักเตะหลายคนเริ่มไม่มีความสุข และเตรียมย้ายออกในเดือนมกราคมนี้

สไตล์การทำทีมของเจ้าพ่อ “เกเก้นเพรสซิ่ง” คือการวิ่ง ทำงานให้หนัก เสียบอลแล้วต้องกดดันเอาบอลคืนมา ขี้เกียจไม่ได้เลย แน่นอนว่านักเตะบางคนไม่ถูกจริต เพราะติดกับดักความสบายจนเคยตัว

หรืออาจมีนักเตะอายุน้อยบางคน ที่ได้รับค่าเหนื่อยเกินอายุและฝีเท้า ซึ่งกลายเป็นผลเสียโดยไม่รู้ตัว เพราะจะทำให้นักเตะเหล่านั้นคิดว่า ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนขวนขวายอะไร ก็มีเงินมหาศาลเข้ากระเป๋า

ฟาน กัล, มูรินโญ่ และโซลชา ล้วนถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะผลงานที่ล้มเหลว อย่างไรก็ตาม การที่มีนักเตะฝีเท้าดี แต่ทัศนคติแย่ ก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบกับความล้มเหลวเช่นเดียวกัน

การเข้ามาของราล์ฟ รังนิก คือการวางรากฐานให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเพื่ออนาคต และต้องหาวิธีจัดการกับนักเตะบางคนที่เข้ากันไม่ได้กับแนวทางของเขา แต่ก็รู้ดีว่ามันไม่ใช่งานที่ง่ายเลย

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Reuters

อ้างอิง :

#ไข่มุกดำ

#KMDStory

#ราล์ฟรังนิก

#แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

Categories
Football Business

8 ทศวรรษผู้ยิ่งใหญ่ : 8 พิมพ์เขียว “เซอร์อเล็กซ์” เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ

31 ธันวาคม 2021 เป็นวันที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตตำนานผู้จัดการทีมของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฉลองวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 80 ปี กับการทำงาน 27 ปี และความสำเร็จ 38 โทรฟี่ ที่ทำไว้กับ “ปิศาจแดง” จากวันแรกที่เข้ามาซ่อมและสร้างทีมจนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันสุดท้ายของการคุมทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ผู้คนทั่วโลก ต่างยกย่องสรรเสริญในความยอดเยี่ยมของยอดกุนซือเลือดสกอตรายนี้

และเนื่องในวาระพิเศษแบบนี้ ขอนำเสนอเรื่อง “พิมพ์เขียว” ของเซอร์อเล็กซ์ ในการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ 8 ข้อ ที่ถูกนำไปถ่ายทอดที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2012 มาฝากกัน

1. เริ่มต้นจากรากฐาน

สิ่งแรก ๆ ที่เซอร์อเล็กซ์ลงมือทำตั้งแต่เริ่มงานคุมยูไนเต็ด คือการสร้างรากฐานเพื่อให้เป็นแผนงานระยะยาวของสโมสร ทั้งการปรับโครงสร้างปลุกปั้นนักเตะเยาวชน และจ้างทีมแมวมองตระเวนออกค้นหานักเตะที่ฉายแววเก่งเข้ามา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “Class of 92” ที่มีทั้งเดวิด เบ็คแฮม, ไรอัน กิ๊กส์, พอล สโคลส์, แกรี่ เนวิลล์, นิคกี้ บัตต์ และฟิล เนวิลล์ขึ้นมาสร้างความสำเร็จ และต่อยอดความยิ่งใหญ่ที่ยาวนานตลอดช่วงยุคทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา

“ความคิดแรกของผู้จัดการทีมคนใหม่ 99% คือการทำทีมให้ชนะในเกม เพื่อความอยู่รอด ดังนั้นพวกเขาจึงนำผู้เล่นที่มีประสบการณ์เข้ามา มันคือเรื่องพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะเราอยู่ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยผลการแข่งขัน” “ในบางสโมสร ถ้าคุณแพ้สัก 3 นัด คุณโดนไล่ออกแล้ว แต่การชนะเกมเป็นเรื่องของผลงานระยะสั้น นัดต่อมาคุณอาจจะแพ้แล้วก็ได้ ส่วนการสร้างรากฐานจะทำให้เกิดความมั่นคงและสม่ำเสมอ”

2. กล้าที่จะสร้างทีมขึ้นใหม่

แม้จะยืนระยะประสบความสำเร็จอย่างยาวนาน แต่เซอร์เฟอร์กี้่ ก็ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาทีมขึ้นใหม่อยู่เรื่อย ๆ นั่นหมายถึง การบริหารที่จำเป็นต้องใช้ทักษะของการตัดสินใจในเรื่องของขุมกำลังภายในทีม

แน่นอนว่า เขายินดีที่จะแบกรับความเสี่ยงในการปั้นนักเตะรุ่นใหม่ขึ้นมา ทว่าก็ไม่ลังเลที่จะขายนักเตะในช่วงที่ยังเหลือระยะค้าแข้งระดับสูงอยู่ออกไป ก็สามารถทำเงินเข้าสโมสรได้เป็นกอบเป็นกำ

“ผมเชื่อว่าวงจรของทีมที่ประสบความสำเร็จจะอยู่ได้ไม่เกิน 4 ปี หลังจากนั้นมันต้องเปลี่ยน ฉะนั้นจึงพยายามมองภาพทีมล่วงหน้าไป 3 หรือ 4 ปีข้างหน้า และทำการตัดสินใจอย่างเหมาะสม”

“สิ่งที่ยากที่สุดคือปล่อยนักเตะที่เคยยอดเยี่ยมมาก ๆ ออกไป แต่หลักฐานทั้งหมดอยู่บนสนาม ถ้าคุณมองเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะแง่ลบ คุณก็ต้องถามตัวเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เช่นอีกสองปีข้างหน้า”

3. ตั้งมาตรฐานให้สูงเข้าไว้

สิ่งที่เซอร์อเล็กซ์เน้นย้ำมาโดยตลอด คือนอกจากการสร้างทักษะและเทคนิคเชิงฟุตบอลแล้ว ยังต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเตะสร้างสิ่งที่ดีกว่า และ “ไม่ยอมแพ้” ซึ่งก็มีความหมายเดียวกับการสร้างความเป็นผู้ชนะนั่นเอง

เขาได้ถ่ายทอดแนวคิดเหล่านี้ลงสู่นักเตะ และในช่วงเวลาหลายปีของการซึมซับ นักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด ก็มีธรรมชาติของการไม่ยอมรับต่อ “ความไม่พยายามสู้” ที่เกิดขึ้นในตัวเพื่อนร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็นดาวเด่นมาจากไหนก็ตาม

“ผมต้องยกระดับความคาดหวังของผู้เล่น พวกเขาต้องไม่ยอมแพ้ ผมพูดอยู่เสมอว่า การทำงานหนักตลอดชีวิตคือพรสวรรค์ แต่ผมคาดหวังมากกว่านั้นจากนักเตะชั้นนำ และพวกเขาก็ทำ พวกเขาพร้อมที่จะทำงานหนักขึ้นเสมอ”

“ซูเปอร์สตาร์ที่มีอีโก้อาจไม่ใช่ปัญหาอย่างที่ใคร ๆ คิด เพราะพวกเขามีความกระหายในชัยชนะอย่างแรงกล้า ความหมายคือพวกเขาพร้อมทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ พวกเขาตระหนักดีว่าการเป็นนักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ใช่เรื่องง่าย”

4. อย่าเสียอำนาจการปกครอง

หนึ่งในส่วนสำคัญของการสร้างมาตรฐานระดับสูง ก็คือการสร้างระเบียบวินัย เฟอร์กูสันไม่เกรงกลัวที่จะเนินการขั้นเด็ดขาดกับใครก็ตามที่ล่วงละเมิดกฎ ความผิดเล็ก ๆ อาจแค่ปรับเงิน แต่ถ้าหนักกว่านั้น ก็เชิญออกไปได้เลย

นักเตะดังทั้งยาป สตัม, เดวิด เบ็คแฮม, รอย คีน หรือแม้กระทั่งรุด ฟาน นิสเตอรอย ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เซอร์อเล็กซ์ ตอบสนองกับปัญหาเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่ปล่อยเวลาให้ล่าช้าจนสายเกินการณ์

“คุณอย่าเสียการปกครองเด็ดขาด โดยเฉพาะเมื่อคุณต้องจัดการกับนักเตะอาชีพ 30 คน ที่ล้วนแต่เป็นดาวดัง ถ้าใครบางคนต้องการทดสอบผม อยากท้าทายกฎเกณฑ์ของผม ก็มาเลย ผมพร้อมเสมอ” “ถ้าอยู่มาวันหนึ่ง ผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ถูกควบคุมโดยบรรดาผู้เล่น ยูไนเต็ดก็จะไม่เป็นยูไนเต็ดอย่างที่เรารรู้จักกันอีกต่อไป ผมก็บอกตัวเองไว้อยู่แล้วว่าจะไม่ปล่อยให้ใครมามีอำนาจเหนือผม นั่นคือสิ่งสำคัญ”

5. มีศิลปะในการสื่อสาร

เมื่อถึงเวลาที่ต้องพูดกับนักเตะในบางเรื่อง เซอร์อเล็กซ์จะกองอำนาจบารมีเอาไว้ข้าง ๆ แล้วพยายามสื่อความอย่างเข้าอกเข้าใจในตัวนักเตะ และจะทำเป็นการส่วนตัวเสมอ ไม่มีการตำหนินักเตะออกสื่อโดยเด็ดขาด

ในระหว่างการซ้อม เฟอร์กี้และผู้ช่วยของเขาจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างบรรยากาศในแง่บวก แม้ภาพจำของกุนซือชาวสกอตต์คือความเกรี้ยวกราดในช่วงพักครึ่งเวลาของแต่ละแมตช์ รวมถึงการประชุมทีมหลังจบเกมก็ตาม

“ไม่มีใครชอบโดนตำหนิ และมีไม่กี่คนที่จะดีขึ้นได้หลังโดนตำหนิ ดังนั้นผมจึงพยายามให้กำลังใจเต็มที่เมื่อผมทำได้ ในบางแง่ นักเตะก็เหมือนคนธรรมดา มันไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ยินคำชื่นชม ไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์คำพูดอะไร”

“แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ต้องชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดเมื่อนักเตะไม่อาจตอบสนองความคาดหวังได้ การตำหนิจะเป็นสิ่งสำคัญในตอนนั้น และผมจะทำมันหลังจบเกมทันที แต่จบแล้วคือจบกัน หลังจากนั้นคือการโฟกัสไปที่เกมหน้าเลย”

6. จงเตรียมพร้อมที่จะชนะ

คุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งสำหรับแมนฯ ยูไนเต็ดยุคเศอร์เฟอร์กี้ คือความตายยาก หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เฟอร์กี้ ไทม์” ใช้เวลาอึดใจสุดท้ายของการแข่งขันเปลี่ยนจากแพ้เป็นเสมอ จากเสมอเป็นชนะอยู่หลายเกม

ในการเก็บข้อมูลวิเคราะห์มากกว่า 10 ซีซั่น ยูไนเต็ดมีสถิติดีกว่าทีมอื่นในการคว้าชัยชนะ หากพวกเขาผ่านครึ่งแรกด้วยผลเสมอ หรือเข้าสู่ช่วง 15 นาทีสุดท้ายด้วยผลเสมอ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการเตรียมความพร้อมไว้ก่อนแล้ว

“ชัยชนะคือธรรมชาติของผม ผมได้กำหนดมาตรฐานของผมเอาไว้เป็น ผมคาดหวังถึงชัยชนะในทุกเกม ผมมั่นใจว่านักเตะทุกคนของผมเตรียมพร้อมกันมาแล้ว และพร้อมเสมอในการโชว์ฟอร์ม เพราะทุกสิ่งได้ตระเตรียมกันมาแล้วก่อนที่จะลงสนาม”

“พยายามมองแง่บวกและพร้อมรับความเสี่ยง นี่คือสไตล์ของเรา เราลงสนามไปเพื่อเอาชนะ เราพร้อมทำทุกอย่างใน 15 นาทีสุดท้าย คุณอาจจะโดนยิงเพิ่มจากเกมโต้กลับ แต่รสชาติของชัยชนะเมื่อคุณกำลังจะแพ้ คือความรู้สึกที่มหัศจรรย์มาก”

7. สังเกตการณ์อยู่ตลอดเวลา

แม้หน้าที่ในการคุมนักเตะกลางสนามซ้อมจะเป็นของผู้ช่วย แต่เซอร์อเล็กซ์ก็แทบไม่เคยขาดการซ้อม ในฐานะผู้สังเกตการณ์” ซึ่งเขามองว่าสิ่งนี้ช่วยให้สามารถประเมินฟอร์มการเล่นของนักเตะได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

“การสังเกตการณ์คือส่วนสุดท้ายในโครงสร้างการจัดการของผม มันไม่ได้ทำให้ผมสูญเสียการควบคุม การแสดงตนและความสามารถในการดูแลทีมของผมยังคงอยู่เสมอ และสิ่งที่คุณได้รับจากการเฝ้ามองก็มีคุณค่าอย่างเหลือเชื่อ”

“มันกลายเป็นส่วนสำคัญของทักษะการจัดการของผมไปแล้ว ความสามารถในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการมองเห็นสิ่งที่คุณไม่คาดหวังว่าจะได้เห็น”

8. อย่าหยุดที่จะปรับตัว

27 ปีของการทำงานกับแมนฯ ยูไนเต็ด โลกฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปหลายต่อหลายครั้ง การปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งยากกว่าสำหรับสโมสรที่รักษามาตรฐานสูงเอาไว้ร่วม 20 ปี

“มีเจ้าของทีม เงินทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา และนั่นก็นำมาซึ่งแรงกดดันมหาศาลสำหรับคนเป็นผู้จัดการทีม ผู้เล่นทุกวันนี้มีชีวิตท่ามกลางสปอตไลท์ และเปราะบางมากกว่านักเตะในยุคอดีต”

“ผมไม่สามารถอยู่นิ่งไม่ยอมปรับเปลี่ยนอะไรได้ เราเป็นสโมสรที่ต้องการความสำเร็จ และผมพร้อมพัฒนาในทุกสิ่ง ผมทำงานอย่างหนักในทุกวัน งานของผมคือการสร้างโอกาสที่ดีที่สุดเพื่อชัยชนะ นั่นคือสิ่งที่ผลักดันผมเสมอมา”

จากพิมพ์เขียวทั้ง 8 ข้อ สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต และการบริหารในองค์กรต่าง ๆ ในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การยึดติดความสำเร็จในอดีต คือสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง

นี่คือบทเรียนชีวิตของยอดคนอย่างเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สั่งสมประสบการณ์ชีวิตมาถึงอายุ 80 ปี และในตำแหน่งผู้จัดการทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการฟุตบอลอังกฤษ

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Daily Mail

อ้างอิง : https://hbr.org/2013/10/fergusons-formula

#ไข่มุกดำ
#KMDFeature
#KMDFootballBusiness
#เซอร์อเล็กซ์เฟอร์กูสัน
#แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด