Categories
Our Work

“ลาลีกา” ต้อนรับฤดูกาลใหม่ จัดมีตติ้งสื่อ, อินฟลูเอนเซอร์ สายกีฬา  เตะบอลกระชับมิตร คิกสตาร์ทสัญญาณความพร้อมซีซั่น 2024/25 สู่แฟนบอลไทยอย่างเป็นทางการ

“ลาลีกา ปะเทศไทย” จัดงานเปิดฤดูกาล 2024/25 ดูบอลมันส์ต่อเนื่องกับ บีอิน สปอร์ตส์ พร้อมเชิญสื่อ อินฟลูเอนเซอร์ และพาร์ทเนอร์ร่วมพบปะพูดคุยกัน ปิดท้ายความสนุกด้วยสีสันจากฟุตบอลเกมกระชับมิตร ระหว่างผู้บริหาร, อินฟลูเอนเซอร์ และสื่อมวลชน พร้อมร่วมรับประทานอาหารเย็น ต่อยอดมิตรภาพระหว่าง ลาลีกา ซึ่งมีสาขาในประเทศไทย ร่วมกับสื่อ และอินฟลูเอนเซอร์สายกีฬาของไทย” 

ลาลีกา ประเทศไทย จัดกิจกรรมเปิดฤดูกาลใหม่ 2024/25 งานอีเวนท์ที่จัดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ติดต่อกัน ฤดูกาลนี้มาในคอนเซ็ปต์พร้อมส่งต่อความสนุกสนาน สุดมันส์ ให้กับแฟนลาลีกาในไทย และทั่วโลก ผ่าน “บีอีน สปอร์ต” แพลตฟอร์มที่ได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดต่อไปอีก 3 ฤดูกาล ในเอเชียแปซิฟิก 

โดยงานเปิดฤดูกาลในประเทศไทย ถูกจัดขึ้น เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ สนาม Super Star Arena ลาดพร้าว 80 ประกอบด้วย พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ นำโดย Ari Football และ TikTok, อินฟลูเอนเซอร์ และสื่อมวลชนสายกีฬามากมาย มาร่วมจอยกันผ่านกิจกรรมเตะฟุตบอลกระชับมิตร ปิดท้ายด้วยงานเลี้ยงสังสรรค์แบบอบอุ่น และเป็นกันเองภายใต้การออร์กาไนซ์จัดงานโดยทีม “ไข่มุกดำ” KMD Sport Services

ทัพอินฟลูเอนเซอร์ถูกเชิญมามากมาย นำโดย เจมส์ ลาลีกา, จีโน่ เดอะสแน็ต, สีซอ ธีรเทพ, ขวัญ ลามาเซีย, พีชชงพีชชี่, ดูบอลกับแนท, Top4Thailand, มายด์ เปี๊ยกบางใหญ่, ทีมขอบสนาม, เพจ Real Madrid Thailand Fanclub, เพจ Real Betis Thailand แฟนคลับ เพจ เรอัล เบติส, Thai Football World, คิดไซด์โค้ง และเพื่อน ๆ สื่ออีกมากมาย 

พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริหารจาก Ari Football และ Tiktok ประเทศไทยที่นำทีม TikTokers รุ่นใหม่มาแรงมาร่วมแจม อาทิ Bluemoon, Opalallin, โจ้ เต็มข้อ, เฟรนไม่รู้เรื่อง, Baggiopac และคนอื่น ๆ อีกมามาย เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

สำหรับการรับชมฟุตบอลลาลีกาทาง บีอิน มีเดีย กรุ๊ป ได้บรรลุข้อตกลงการถ่ายทอดสดฟุตบอลลาลีกา สเปน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผ่านทางบีอิน สปอร์ตส์ (beIN SPORTS) ต่อเนื่องอีก 3 ฤดูกาล เริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2024/25 ไปจนถึงฤดูกาล 2026/27

นอกจากนี้ ลาลีกา และ beIN ได้ร่วมกันทำข้อตกลงเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ในทุกรูปแบบ เช่น การบล็อกเว็ปไซต์ที่ลักลอบดึงสัญญาณการถ่ายทอดสดแบบผิดกฎหมาย (โมร็อคโค) หรือการปิดบริการ IPTV ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ (บาห์เรน) รวมถึงมาตรการป้องกันร่วมกันกับผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย

โดยทีมงานด้านการป้องกรันการละเมิดสิทธิ์ของลาลีกา และบีอิน จะทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อแบ่งปันข้อมูล และต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อสร้างกฎระเบียบลิขสิทธิ์ใหม่เพื่อรับมือกับการละเมิดลิขสิทธิ์ที่พัฒนาขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ทาง beIN ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสดลาลีกาในเอเชียแปซิฟิกมาตั้งแต่ปี 2015 ครอบคลุมถึง 11 ประเทศในภูมิภาค ได้แก่ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, มาเลเซีย, บรูไน, อินโดนีเซีย, ติมอร์-เลสเต, ฟิลิปปินส์, ลาว, กัมพูชา และไทย

โดย ยูสเซฟ อัล-โอบาอิดลี ซีอีโอของบีอิน มีเดีย กรุ๊ป กล่าวว่า “เรามีความยินดีที่ได้ขยายสัญญากับลาลีกาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะพันธมิตรระยะยาวของลาลีกา เราภูมิใจที่ได้ช่วยให้ฟุตบอลสเปนเป็นที่รู้จักผ่านการถ่ายทอดสดออกไปทั่วโลก ข้อตกลงครั้งสำคัญนี้ ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงแผนงานของเรา ในการส่งมอบการเติบโตของลาลีกาในฐานะสื่อชั้นนำระดับโลก”

ด้าน ฆาเบียร์ เตบาส ประธานลาลีกา กล่าวว่า “ที่ลาลีกา เรามองหาพันธมิตรที่ดีที่สุด เพื่อส่งมอบฟุตบอลสเปนให้กับแฟนบอลทั่วโลก ความสัมพันธ์ของเรากับบีอิน คือสิ่งสำคัญที่ทำให้แน่ใจว่า ผู้คนในเอเชียแปซิฟิกจะสามารถเพลิดเพลินกับการแข่งขันที่ไม่เหมือนใคร เรามั่นใจว่าฤดูกาลใหม่จะเป็นฤดูกาลที่ไม่มีใครเทียบได้สำหรับแฟนๆ ของเราทั่วทั้งภูมิภาค”

ปิดท้ายที่ อิวาน โกดิน่า กรรมการผู้จัดการลาลีกา ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “การลงนามในครั้งนี้ คือก้าวสำคัญสำหรับเอเชียแปซิฟิก เพราะแสดงถึงความมุ่งมั่นของทั้งลาลีกา และบีอิน ในการนำฟุตบอลสเปนใกล้ชิดกับแฟนๆ ในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ชมได้สนุกไปกับนักเตะชื่อดังของแต่ละสโมสร ด้วยการถ่ายทอดสดที่ดีที่สุด”

สำหรับลาลีกา ฤดูกาล 2024/25 จะเป็นฤดูกาลที่น่าตื้นเต้น และสนุกสนานกว่าหลาย ๆ ฤดูกาลที่ผ่านมา โดยเรอัล มาดริด แชมป์เก่า จะต้องรับมือกับผู้ท้าชิงตลอดกาลอย่างบาร์เซโลน่า หรือจะเป็นแอตเลติโก มาดริด ที่พร้อมสอดแทรกลุ้นแชมป์ และจีโรน่า ที่ลุ้นสร้างเซอร์ไพรส์อีกครั้ง

นอกจากนี้ ลาลีกายังเป็นลีกที่อุดมไปด้วยนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์อย่างวินิซิอุส จูเนียร์, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้, อองตวน กรีซมันน์ และอื่น ๆ รวมถึงดาวรุ่งที่มีพรสวรรค์ระดับโลก เช่น คิลิยัน เอ็มบัปเป้, จู๊ด เบลลิงแฮม, ลามีน ยามาล, นิโก้ วิลเลียมส์, มาร์ติน ซูบีเมนดี้ เป็นต้น

แฟน ๆ เตรียมรับชมทุกเกมสำคัญ ที่มาพร้อมกับความสนุกสนาม และตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็น “เอล กลาซิโก้” (เรอัล มาดริด – บาร์เซโลน่า), “มาดริด ดาร์บี้” (เรอัล มาดริด – แอตเลติโก มาดริด), “คาตาลัน ดาร์บี้” (บาร์เซโลน่า – เอสปันญ่อล), “บาสก์ ดาร์บี้” (เรอัล โซเซียดัด – แอธเลติก บิลเบา) และ “อันดาลูเซีย ดาร์บี้” (เซบีย่า – เรอัล เบติส)

สำหรับแฟน ๆ ลูกหนังลีกสเปนในประเทศไทย แน่นอนว่า ลาลีกา พร้อมที่จะ สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างเช่นทุกปีให้ อาทิเช่น กิจกรรมดูบอลร่วมกันในแมตช์พิเศษ เป็นต้น และแน่นอนว่า สามารถรับชมเกมการแข่งขันได้ทั้งทางทีวีผ่าน beIN SPORTS ทางทรู วิชั่นส์, แอปพลิเคชั่น ทรู วิชั่นส์ นาว และทรูไอดี รวมทั้ง AIS Play, AIS Playbox และทางแอปพลิเคชั่น beIN SPORTS CONNECT

สุดท้าย KMD Sport Services ขอขอบคุณ ลาลีกา, TikTok, Ari Football, สนาม Super Star Arena และเพื่อน ๆ สื่อทุกคนที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานเปิดฤดูกาลใหม่ ลาลีกา 2024/25 พร้อมกับเตรียมติดตาม และเป็นกำลังใจให้งานครั้งต่อ ๆ ไปของ KMD ด้วยนะคะ

ดูภาพเพิ่มเติมได้ที่ : https://drive.google.com/drive/folders/18SSSegfSzfIYwNQ8HYCKP9McDKFbiNbi?usp=sharing

เรื่องโดย: ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย, วิรตา แซ่เอี่ยว

Categories
Our Work

สุดยิ่งใหญ่! BDMS Academy Cup 2024 ทัวร์นาเม้นท์ฟุตบอล U12 ที่มากกว่าคำว่า “การแข่งขัน” 

ปิดฉากลงอย่างสุดมันส์และสมศักดิ์ศรี กับรายการพิเศษ “BDMS Academy Cup 2024″การแข่งขันฟุตบอล 7 คน รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ณ สนามฟุตบอล Super Star Arena ซอยลาดพร้าว 80 ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพด้านกีฬาฟุตบอล พร้อมชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท

ทัวร์นาเม้นท์นี้จัดขึ้นโดย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ร่วมกับ PPTV HD 36 และทีมเทคนิคจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ (FA Thailand)

และแน่นอว่า พอพูดถึงฟุตบอลเยาวชน ปัจจุบันได้รับการสนใจเป็นอย่างมาก และมีความหลากหลายในแง่มุมต่าง ๆ แต่จุดประสงค์หลัก ๆ คงหนีไม่พ้น การเป็นเวทีให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพ มุ่งผลักดันให้ต่อยอดไปต่อ พร้อมปูทางสู่การเป็นนักเตะอาชีพในอนาคต

ซึ่งทัวร์นาเม้นท์การแข่งขันฟุตบอลเยาวชน มีขึ้นมากมาย แต่การแข่งขันฟุตบอล รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี รายการนี้ ต้องบอกว่าพิเศษกว่ารายการอื่น ๆ เนื่องจากผลงานของเยาวชนแต่ละทีม ที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ จะถูกเก็บคะแนนเข้าฐานข้อมูล เพื่อต่อยอดสู่เส้นทางทีมชาติของแข้งเยาวชน พร้อมเฟ้นหานักเตะฝีเท้าเยี่ยมที่มีแววเข้าตา จำนวน 15 คน โดยทีมเทคนิคจาก FA THAILAND ที่ส่งเจ้าหน้าที่มาเฝ้าจับตามอง และให้คะแนนนักเตะเยาวชนทุกคน เพื่อไปร่วมเก็บประสบการณ์เยือนแคมป์ฝึกซ้อมทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี อีกด้วย

ทัวร์นาเม้นท์นี้ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันอาทิตย์ ตลอด 4 สัปดาห์ของเดือนมิถุนายน ประกอบด้วย วันที่ 9, 16, 23 และ 30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยแบ่งการแข่งขันรอบแรกออกเป็นสัปดาห์ละ 12 ทีม รวม 36 ทีม เพื่อเฟ้นหา 4 ทีมที่ดีที่สุดของแต่ละกลุ่มที่จะผ่านเข้ารอบไปดวลแข้งกันต่อในรอบ Final Round เพื่อหาแชมป์เพียงหนึ่งเดียว

โดยทีมอันดับ 1 และ 2 ในแต่ละสัปดาห์ จะลงสนามชิงชัยในดิวิชั่น 1 ส่วนทีมอันดับ 3 และ 4 จะไปแข่งในดิวิชัน 2 ของการแข่งขันสัปดาห์สุดท้าย

การแข่งขันรายการนี้ มีกฎกติกาที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากการแข่งขันอื่น ๆ อาทิเช่น การดำเนินการแข่งขัน ที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ควอเตอร์ ควอเตอร์ละ 7 นาที และมีการพักระหว่างควอเตอร์ไม่เกิน 3 นาที โดยผู้เล่นที่ทำการลงทะเบียนทั้งหมดของแต่ละทีมที่มาในวันแข่งขันจริงต้องมีอย่างน้อย 15 คนขึ้นไป และจะต้องได้ลงเล่นครบทุกคน อย่างน้อยคนละ 1 ควอเตอร์ ในแต่ละแมตช์การแข่งขัน

ไม่เพียงแค่เรื่องกฎ กติกาในสนาม แต่ทัวร์นาเม้นท์นี้ ทีมที่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน ต้องมีคุณสมบัติในการเป็นทีมที่เป็นสโมสรสมาชิกของทางสมาคมฟุตบอลฯ (Academy Licensing) หรือ เป็นทีมที่ขึ้นทะเบียนอคาเดมี่กับทางสมาคมฯ อีกด้วย แล้วสำหรับทีมฟุตบอลหรืออคาเดมี่ ที่สนใจสมัคร Academy Licensing สามารถสอบถามและอ่านเพิ่มเติมที่นี่ได้เลย https://bit.ly/3Le60lG

ในส่วนของการแข่งขันฟุตบอล “BDMS Academy Cup 2024” รอบ Final Round เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบมาในดิวิชั่น 1 ประกอบด้วย พัทยา ยูไนเต็ด, มณีสุข อะคาเดมี่, งอบแดง กำแพงเพชร, Sc coaching, PT Prachuap FC และสโมสร สอ.รฝ. เอฟซี ส่วนดิวิชั่น 2 ประกอบด้วย

Lepus FC, หนองบัวพิชญ เอฟซี, การท่าเรือ เอฟซี, Khaichon FC, ราชบุรี เอฟซี และไร่ขวัญใจอุเทน FC

ในสัปดาห์นี้ ก่อนถึงบทสรุปแชมป์ กองเชียร์ในสนาม และเหล่าเยาวชนนักเตะ ก็ได้สนุกไปกับแมตช์สุดพิเศษ ที่เป็นการประชันฝีเท้าของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์สายฟุตบอล ปะทะทีมผู้สื่อข่าวกีฬาชื่อดัง ร่วมด้วยทีมเทคนิคจาก FA Thailand ที่มาโชว์ฝีเท้า นำทัพโดย “โค้ชจุ่น” อนุรักษ์ ศรีเกิด (อดีตโค้ชทีมชาติไทย), “ป๊อป” วีระพล เต็มโชติโกศล (Sport Corner), ภานุวัฒน์ ใจยิ้ม (ต้องซุย), ปาล์ม (3 บาท 5 บาท), ตัวแทนจาก Ari, เบน (บาร์ซ่าเข้าเส้น), ตูเต้ (ตูดูบอลไทย), เรเซอร์เบนซ์, ขอบสนาม, เจมส์ (ลาลีกา) “ ฯลฯ

ก่อนที่การแข่งขันอันดุเดือดจะได้บทสรุปอย่างยิ่งใหญ่ โดย “พัทยา ยูไนเต็ด” ครองตำแหน่งแชมป์ดิวิชั่น 1 ประจำทัวร์นาเม้นท์นี้ไปอย่างสมศักดิ์ศรี คว้าเงินรางวัล 40,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล เหรียญรางวัล และประกาศณียบัตร ส่วนรองแชมป์ดิวิชั่น 1 ตกเป็นของ “มณีสุข อะคาเดมี่” ได้รับเงินรางวัล 25,000 บาท 

และต้องบอกว่าทั้ง 2 ทีมนี้ เป็นทีมคู่รักคู่แค้น ที่ดวลกันมาตั้งแต่รอบชิงแชมป์ประจำสัปดาห์แรก รอบแบ่งกลุ่มในสัปดาห์ไฟนอล และรอบตัดสินแชมป์รายการนี้อีกด้วย ซึ่ง พัทยา ยูไนเต็ด ก็สามารถเอาชนะไปได้หมดทั้ง 3 ครั้งที่พบกัน 

ขณะที่ ดิวิชั่น 2 ทีมฟอร์มแกร่งอย่าง “หนองบัวพิชญ์ เอฟซี” เปิดเกมถล่มใส่รองแชมป์ “การท่าเรือ เอฟซี” เอาชนะไปถึง 5-0 คว้าเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมถ้วยแชมป์ เหรียญรางวัล และประกาศณียบัตรดิวิชั่น 2 ส่วนทีมรองแชมป์รับเงินรางวัล 10,000 บาท

ถือเป็นการจบทัวร์นาเม้นท์ที่เชื่อว่า ทุก ๆ คนถูกใจ และมีความสุขกันอย่างแน่นอน เพราะเวทีนี้ เปิดโอกาสให้กับน้อง ๆ เยาวชน ได้มีพื้นที่แสดงศักยภาพกันอย่างเต็มที่ เชื่อว่าทัวร์นาเม้นท์นี้ กำลังเป็นที่ถูกจับมองจากหลาย ๆ ภาคส่วน ที่พร้อมจะสนับสนุนเยาวชนไทยในการฟาดแข้งครั้งต่อไป และหวังว่าเราจะกลับมาพบกันอีกในเร็ว ๆ นี้

ดูภาพเพิ่มเติมที่นี่ได้เลย : https://drive.google.com/drive/folders/1KWf9rm54r5lpQM-bZwdwa9TCTqgVeU1-?usp=share_link

📝 ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย (แนน)

Categories
Special Content

พรีเมียร์ลีก ซีซัน 2023-24 กับบทสรุปหลากหลายประเด็น

พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023-24 ได้ปิดฉากอย่างสมบูรณ์หลังจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เฉือนชนะแมนเชสเตอร์ ซิตี 2-1 ครองแชมป์เอฟเอ คัพ เป็นสมัยที่ 13 ในประวัติศาสตร์สโมสร ขณะที่แมนฯซิตี ชนะเลิศพรีเมียร์ลีกเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน และลิเวอร์พูละครองแชมป์อีเอฟแอล คัพ

ในส่วนของโควตาฟุตบอลสโมสรยุโรป ทีมท็อป 4 แมนฯซิตี, อาร์เซนอล, ลิเวอร์พูล และแอสตัน วิลลา ได้ไปแข่งขันแชมเปียนส์ ลีก, ทีมอันดับ 5 ทอตแนม ฮอตสเปอร์ และแชมป์เอฟเอ คัพ แมนฯยูไนเต็ด ได้ไปเล่นยูโรปา ลีก ส่วนทีมอันดับ 6เชลซี จากที่ควรได้สิทธิยูโรปา ลีก แต่เพราะ “เรด เดวิลส์” ได้ชูถ้วยใบเก่าแก่อายุกว่า 150 ปีของเมืองผู้ดี “เดอะ บลูส์” จึงต้องลงสนามรอบเพลย์ออฟของคอนเฟอเรนซ์ ลีก แทน

ภายหลังศึกลูกหนังเทียร์ 1 ของอังกฤษ รูดม่านลง Sky Sports สื่อกีฬาคุณภาพเมืองผู้ดี ได้ประมวลเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2023-24 ในหลายหลายประเด็น ซึ่งทีมงานไข่มุกดำได้คัดเลือกบางหัวข้อ นำมาแปลและเรียบเรียงนำเสนอต่อคอลูกหนังบ้านเราดังต่อไปนี้

ประตูมากขึ้น ผู้เล่นอังกฤษทำสกอร์สูงขึ้น

นับตั้งแต่ซีซัน 2020-21 การทำประตูในพรีเมียร์ลีกเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 ปีติดต่อกัน นับจากค่าเฉลี่ย 2.69 ประตูต่อนัด เพิ่มเป็น 2.82 ประตูในซีซัน 2021-22, 2.85 ประตูในซีซัน 2022-23 และ 3.28 ประตูในซีซัน 2023-24 แต่ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือ ฤดูกาลที่เพิ่งจบไปเพิ่มขึ้นจากซีซันก่อนหน้าถึง 15%

ตัวแปรที่น่าให้ความสำคัญคือ ค่าเฉลี่ยการเกิดสกอร์ต่อนัดยังสูงกว่าช่วงก่อนฤดูกาล 1995-96 ซึ่งมีจำนวนสโมสร 22 ทีม รวมการแข่งขันทั้งโปรแกรม 420 นัดต่อซีซัน ก่อนลดจำนวนเหลือ 20 ทีมหรือ 380 นัดต่อซีซัน โดยซีซัน 2023-24 แฟนบอลได้เห็นบอลวิ่งซุกก้นตาข่ายรวมแล้ว 1,246 ครั้ง ช่างเป็นลีกที่น่าตื่นเต้นเร้าใจจริงๆ

Sky Sports ยังโฟกัสผู้เล่นอังกฤษเป็นพิเศษ แม้รางวัลรองเท้าทองคำยังตกเป็นของ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ดาวซัลโวทีมชาตินอร์เวย์ของแมนฯซิตี เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันด้วยตัวเลข 31 นัด 27 ประตู แต่อันดับท็อป 10 ซีซันนี้มีนักเตะเมืองผู้ดีติดเข้ามาถึง 6 คน นำโดย โคล พาลเมอร์ (เชลซี, 34 นัด 22 ประตู) รั้งอันดับ 2 ตามด้วยอันดับ 4 (ร่วม) 19 ประตู มี 3 คนเท่ากันคือ โดมินิค โซลันกี (บอร์นมัธ, 38 นัด), โอลลี วัตกินส์ (วิลลา, 37 นัด), ฟิล โฟลเดน นักฟุตบอลแห่งปีของ FWA (แมนฯซิตี, 35 นัด) และอันดับ 9 (ร่วม) 16 ประตู มี 2 คนเท่ากันคือ บูกาโย ซากา (อาร์เซนอล, 35 นัด) กับ จาร์รอด โบเวน (เวสต์แฮม, 36 นัด)

ถือเป็นปีทองของวัตกินส์กับพาลเมอร์ก็ว่าได้จนได้รับเลือกจากแกเรธ เซาธ์เกต ใส่ไว้ในรายชื่อทีมชาติอังกฤษ 33 คนแรกของชุดยูโร 2024 โดยกองหน้าวิลลาทำแอสซิสต์ได้ 13 ครั้ง สูงเป็นอันดับ 1 ในพรีเมียร์ลีก พาลเมอร์ตามเป็นอันดับ 2แบบติดๆ 11 ครั้ง

Sky Sports ยังรายงานว่า นักเตะอังกฤษในพรีเมียร์ลีกทำสกอร์รวมกันซีซันนี้ 369 ประตู เป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ซึ่งหากดูข้อมูลตั้งแต่ซีซัน 1995-96 ซึ่งมีตัวเลขสูงถึง 597 ประตู จากนั้นก็ค่อยๆลดจำนวนลงเรื่อยๆจนต่ำระดับหลัก 400 ตั้งแต่ซีซัน 2001-02 คือ 392 ประตู

ตัวเลขยังอยู่โซน 300 จนกระทั่งซีซัน 2012-13 หลุดลงไปที่ 296 ประตู และขยับขึ้นมาเป็น 325 ประตูในซีซัน 2013-14ก่อนกลับลงไปสู่หลัก 200 ติดต่อกัน 5 ฤดูกาล และฟื้นขึ้นหลัก 300 ติดต่อกัน 5 ฤดูกาล ก่อนมาพีคสุดที่ซีซัน 2023-24 คือ 369 ประตู

Sky Sports ให้ข้อสังเกตว่า นักเตะท้องถิ่นผลิตสกอร์ได้เป็นกอบเป็นกำขนาดนี้ทั้งที่มีเวลาอยู่ในสนามหรือ game-time รวมกัน 224,730 นาที ซึ่งเกือบเป็นตัวเลขน้อยที่สุดนับตั้งแต่ซีซัน 1998-99 สำหรับลีกที่ประกอบด้วยนักเตะต่างชาติเก่งๆมากมายที่เข้ามาสร้างสีสันบนเกาะอังกฤษ จนดูเหมือนบดบังราศีของนักเตะท้องถิ่น สิ่งที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับวงการลูกหนังอังกฤษ

โควตาตัวสำรอง 5 คน ส่งผลอย่างไร

เริ่มที่ 2022-23 พรีเมียร์ลีกอนุญาตให้แต่ละทีมเปลี่ยนผู้เล่นได้นัดละ 5 คน หลังจากโดนตั้งคำถามเรื่องสวัสดิภาพการทำงานและความอ่อนล้าทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เล่นอยู่หลายปี ผลลัพธ์ของกฎใหม่นี้ทำให้เกมสนุกสนานขึ้นเพราะเอื้ออำนวยให้ผู้จัดการทีมได้ส่งนักเตะลงมาเพื่อแก้เกมปรับเปลี่ยนแทคติก อีกทั้งยังได้ความสดใหม่จากผู้เล่นม้านั่งสำรอง

กฎดังกล่าวทำให้จำนวนตัวสำรองที่ลงสนามสูงขึ้นอย่างมีนัยยะใน 2 ปีล่าสุดคือ 2,985 คนในซีซัน 2022-23 และ 3,024 คนในซีซัน 2023-24 มากที่สุดนับตั้งแต่ซีซัน 2010-11 ซึ่งมีการเปลี่ยนตัวผู้เล่นเพียง 1,995 คนเท่านั้นพรีเมียร์ลีกซีซัน 2023-24 ที่ผ่านมา ไบรท์ตันเป็นทีมที่ใช้โควตาดังกล่าวมากที่สุดคือ 176 คน ส่วนอันดับ 2 (ร่วม) มี 4 ทีมที่ใช้ผู้เล่นสำรอง 170 คนเท่ากันคือ เบรนท์ฟอร์ด, บอร์นมัธ, สเปอร์ส และฟูแลม ตามด้วยอันดับ 5 ลิเวอร์พูล 166 คน โดยเวสต์แฮมกับแมนฯซิตีเปลี่ยนผู้เล่นน้อยที่สุดคือ 109 คน และ 115 คน ตามลำดับ

การส่งตัวสำรองลงมายังช่วยให้เปลี่ยนโมเมนตัมโดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีอิทธิพลต่อการแข่งขันมากที่สุดคือท้ายเกม ซึ่งสถิติระบุว่า พรีเมียร์ลีกซีซันล่าสุดเกิดการทำประตูหลังนาทีที่ 75 รวมแล้ว 307 ประตู โดย 25 นาทีสุดท้ายของเวลาแข่งขันปกติบวกทดเวลา ยังเป็นช่วงที่ผู้จัดการทีมเปลี่ยนตัวผู้เล่นมากที่สุดด้วย

Sky Sports เสริมข้อมูลที่น่าสนใจคือ ลิเวอร์พูล ทีมอันดับ 3 ของพรีเมียร์ลีก ทำสกอร์ได้ถึง 27 ประตูระหว่างนาทีที่ 76 ถึง 90+ นำโด่งอันดับ 2 “แชมป์” แมนฯซิตี ซึ่งทำได้ 21 ประตู ขณะที่ “รองแชมป์” อาร์เซนอล ก็ทำผลงานไม่น้อยหน้าคือ 20ประตูเท่ากับลูตันและนิวคาสเซิล

Comeback Wins ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากหลุม

นอกเหนือการเกิดสกอร์ท้ายเกมแล้ว การพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะหลังเสียประตูก่อน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างสีสันความเร้าใจให้กับแฟนบอล ซึ่งซีซัน 2023-24 เกิดเหตุการณ์ comeback wins ทั้งสิ้น 63 นัด เป็นสถิติสูงสุดใหม่ของพรีเมียร์ลีก อย่างเช่น 2 กันยายน 2023 สเปอร์สชนะเบิร์นลีย์ 5-2 และ 27 เมษายน 2024 นิวคาสเซิลชนะเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด 5-1

Comeback Kings เป็นคุณสมบัติหรือตำแหน่งที่ควรคู่กับแคแรกเตอร์ของแมนฯซิตี แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัยติดต่อกัน ทีมเรือใบสีฟ้าสามารถเปลี่ยนจากแพ้เป็นชนะได้ 7 นัดเท่ากับลิเวอร์พูลและสเปอร์ส ขณะที่รองแชมป์ 2 สมัยซ้อนอย่างอาร์เซนอล กลับทำได้แค่ 3 นัด รวมถึงนัดปิดซีซันที่เฉือนชนะเอฟเวอร์ตัน 2-1 นั่นมองได้ว่า ทีมปืนใหญ่แทบไม่ตกอยู่ในสถานการณ์สกอร์เป็นรองระหว่างฤดูการแข่งขัน

พรีเมียร์ลีก ลีกที่รวดเร็วที่สุดในโลกลูกหนัง

ไม่เพียงการทำประตูเยอะๆ การเกิดสกอร์ท้ายเกม และการพลิกกลับไปมาของตัวเลขบนสกอร์บอร์ด ความเร็วของเกมยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความนิยมแก่พรีเมียร์ลีก ซึ่งมีแฟนบอลทั่วโลกติดตามมากที่สุด

รายงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาของ Football Observatory ช่วยยืนยันว่า พรีเมียร์ลีกเป็นลีกที่มีความเร็วที่สุดในโลก โดยอ้างอิงจากดัชนีการให้คะแนน ลีกสูงสุดเมืองผู้ดีได้รับคะแนนเต็ม 100 ทั้งการวิ่งเต็มฝีเท้าหรือด้วยความเร็วสูงสุด (sprints), ความเร็ว (speed) และความเร่งหรืออัตราการเปลี่ยนแปลงความเร็ว (accelerations)

ขอบคุณภาพจาก  https://x.com/goal/status/1175975415174848514/photo/1

ลีกที่มีความเร็วสูงเป็นอันดับ 2 คือ แชมเปียนชิพ หรือเทียร์ 2 ของอังกฤษ มีค่าดัชนีเฉลี่ย 85.5 แบ่งเป็น sprints 84, speed 79 และ accelerations 100 ตามด้วย กัลโช เซเรีย อา อิตาลี มีค่าดัชนีเฉลี่ย 75.1 แบ่งเป็น sprints 81, speed 80 และ accelerations 73 ส่วนลีกท็อป 5 ของยุโรปที่เหลืออีก 3 ลีกได้แก่ ลีกเอิง ฝรั่งเศส อยู่อันดับ 8 (เทียบกับลีกเดอซ์หรือระดับเทียร์ 2 อยู่อันดับ 6), ลา ลีกา สเปน อยู่อันดับ 10 และบุนเดสลีกา เยอรมนี อยู่อันดับ 15

รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า พรีเมียร์ลีกซีซันที่จบไปมีค่าเฉลี่ยของการวิ่งเต็มฝีเท้า 139.63 ครั้งต่อนัด สูงที่สุดนับตั้งแต่สถิตินี้ถูกบันทึกในซีซัน 2020-21 แต่ความจริงแล้ว averaging sprints ก็เพิ่มขึ้นทุกปีตลอดระยะเวลา 4 ปีคือ 127.44 ครั้ง, 129.4 ครั้ง, 133.68 ครั้ง และ 139.63 ครั้ง ตามลำดับ

Sky Sports ให้ความเห็นเสริมว่า การทำประตูที่เพิ่มขึ้น บวกกับความเร็วของการเล่น แสดงให้เห็นว่าสโมสรในพรีเมียร์ลีกยกระดับ risk and reward หรืออัตราความเสี่ยงต่อผลตอบแทนให้สูงขึ้น ด้วยการดันนักเตะขึ้นไปโจมตีบนพื้นที่สูงขึ้น ขณะที่กองหลังก็เตรียมพร้อมที่จะใช้ความรวดเร็วรุกโต้กลับหรือเคาน์เตอร์แอทแทคเมื่อแย่งบอลมาจากฝ่ายตรงข้าม ตัวอย่างในการแข่งขันกับเบรนท์ฟอร์ดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มิกกี ฟาน เดอ เวน เซ็นเตอร์แบ็คของสเปอร์ส เคยใช้ความเร็วเฉลี่ย 37.38 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถือเป็น top speed ของพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2023-24

พรีเมียร์ลีกลดอายุเฉลี่ยนักเตะตัวจริง

อีกเรื่องหนึ่งที่ซีซัน 2023-24 สร้างความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีกนั่นคือ อายุเฉลี่ยของนักเตะตัวจริงลดลงเหลือ 26.74 ปี หรือ 26 ปี 269 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ซีซัน 2010-11 ที่ตัวเลขเฉลี่ยต่ำกว่า 27 ปี โดยระหว่าง 13 ปีก่อนหน้านี้ ตัวเลขอายุเฉลี่ยน้อยที่สุดของผู้เล่น 11 คนแรกคือ 27.05 ปี ซึ่งเคยเกิดขึ้นในซีซัน 2019-20 และ 2020-21 ขณะที่ซีซัน 2022-23 ก็มีอายุเฉลี่ยต่ำเช่นกันคือ 27.08 ปี

ทีมที่มีอายุเฉลี่ยผู้เล่นตัวจริงน้อยที่สุดในพรีเมียร์ลีกซีซันล่าสุดคือ เชลซี 24.64 ปี หรือ 24 ปี 233 วัน ซึ่งเป็นสถิติน้อยที่สุดอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก นอกจาก “เดอะ บลูส์” มีอีก 3 ทีมที่อายุเฉลี่ยตัวจริงน้อยกว่า 26 ปีได้แก่ ทีมอันดับรองบ๊วยของลีก เบิร์นลีย์ 24.68 ปี ซึ่งมากกว่าเชลซีเพียง 10 วันเท่านั้น ตามด้วยอาร์เซนอล 25.43 ปี และสเปอร์ส 25.53 ปี ขณะที่ทีมที่อายุเฉลี่ยมากที่สุด 2 อันดับแรกคือ ฟูแลม 28.87 ปี และเวสต์แฮม 28.82 ปี ซึ่งเป็น 2 สโมสรที่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่า 28 ปี

นักฟุตบอลบาดเจ็บระนาวจนเป็นสถิติใหม่

ผู้เล่นบาดเจ็บเป็นสถิติอีกหมวดที่เกิด new all-time high ของพรีเมียร์ลีก ทั้ง 20 สโมสรมีจำนวนวันที่นักเตะของตัวเองลงแข่งไม่ได้เนื่องจากบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 25,886 วัน เป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่เว็บไซต์ Premier Injuries ได้บันทึกสถิตินี้ในฤดูกาล 2020-21 ซึ่งเท่ากับ 18,405 วัน ตามด้วย 19,475 วันในซีซัน 2021-22 และ 21,163 วันในซีซัน 2022-23

ในมุมมองของสโมสร นิวคาสเซิลเป็นทีมที่ไม่สามารถใช้งานผู้เล่นเพราะบาดเจ็บรวมเป็นจำนวนวันมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก รองลงมาได้แก่ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และเชลซี

สโมสรช็อปปิงถล่มทลาย 2 ตลาดซัมเมอร์ติด

มาถึงเรื่องการลงทุนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แต่ละทีมในพรีเมียร์ลีก ถ้ามองเพียงตลาดซัมเมอร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทีมมากกว่าตลาดฤดูหนาว กลางปี 2023 หรือตลาดซัมเมอร์ครั้งหลังสุด สโมสรเทียร์ 1 อังกฤษใช้เงินซื้อผู้เล่นรวมกันสูงถึง 2.44 พันล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากตัวเลข 2.14 พันล้านปอนด์ในปี 2022 โดย 7 ปีก่อนหน้านี้ 20 สโมสรจับจ่ายใช้สอยประมาณ 1.20 – 1.30 พันล้านปอนด์ ยกเว้นปี 2017 ที่ตัวเลขพุ่งถึง 1.49 พันล้านปอนด์ และลดลงเหลือ 1.12 พันล้านปอนด์ในปี 2021

แน่นอนอย่างที่ทราบถ้วนกันผ่านสื่อมวลชน ตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว เชลซีทุ่มเงินลงไปถึง 434.5 ล้านปอนด์ และเมื่อรวมกับตลาดกลางปี 2022 ตัวเลขพุ่งสูงทะลุ 1 พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทอดด์ โบห์ลีย์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรแห่งกรุงลอนดอน

Sky Sports ยังชี้ให้เห็นว่า มิดฟิลด์เป็นตำแหน่งผู้เล่นที่สโมสรพรีเมียร์ลีกให้ความสนใจเสริมแกร่งมากที่สุดในตลาดซัมเมอร์ปี 2023 เชลซีสร้างสถิติใหม่ของสหราชอาณาจักรด้วยค่าทุ่มเงิน 115 ล้านปอนด์ ซื้อมอยเซส ไกเซโด มาจากไบรท์ตัน ทั้งที่ตลาดเดือนมกราคมปีเดียวกันเพิ่งได้ เอ็นโซ เฟร์นานเดซ มาจากเบนฟิกาด้วยค่าตัว 106.8 ล้านปอนด์

สำหรับตลาดฤดูร้อนรอบล่าสุด นอกจากไกเซโด ผู้เล่นที่ค่าตัวสูงสุดติดท็อป 5 อีก 4 คนได้แก่ เดแคลน ไรซ์ 105 ล้านปอนด์ จากเวสต์แฮมไปอาร์เซนอล, ยอสโก กวาร์ดิโอล 77.6 ล้านปอนด์ จากไลป์ซิกไปแมนฯซิตี, ราสมุส ฮอยลุนด์ 72 ล้านปอนด์ จากอตาลันตาไปแมนฯยูไนเต็ด และ ไค ฮาแวร์ตซ์ 65 ล้านปอนด์ จากเชลซีไปอาร์เซนอล

เก้าอี้เหนียว ผู้จัดการทีมส่วนใหญ่ทำหน้าที่ครบเทอม

ทิ้งท้ายด้วยเรื่องของผู้จัดการทีม เป็นสถิติต่ำที่สุดนับตั้งแต่ดิวิชัน 1 เปลี่ยนชื่อเป็นพรีเมียร์ลีก ซึ่งมีการเปลี่ยนผู้จัดการทีมถาวรก่อนหน้าและระหว่างฤดูกาลแข่งขันเพียงแค่ 4 คน เทียบเท่าที่เคยเกิดขึ้นในซีซัน 2005-06

วันที่ 9 สิงหาคม 2023 หรือ 2 วันก่อนซีซัน 2023-24 คิกออฟ วูลฟ์แฮมป์ตันได้แต่งตั้งแกรี โอ’นีล เป็นผู้จัดการทีมแทนจูเลน โลเปเตกี ซึ่งพ้นตำแหน่งเพราะมีปัญหาขัดแย้งกับบอร์ดบริหาร และระหว่างซีซัน พรีเมียร์ลีกมีการเปลี่ยนผู้จัดการทีมถาวร 3คนคือ พอล เฮคกิงบอตทอม ทีมเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, สตีฟ คูเปอร์ ทีมนอตติงแฮม ฟอเรสต์ และรอย ฮอดจ์สัน ทีมคริสตัล พาเลซ ซึ่งยื่นใบลาออกเองเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ

นอกจากนี้ เยอร์เกน คลอปป์ ทีมลิเวอร์พูล, โรแบร์โต เด แซร์บี ทีมเชลซี และเดวิด มอยส์ ทีมเวสต์แฮม ได้ยุติบทบาทผู้จัดการทีมหลังปฏิบัติหน้าที่จนถึงนัดปิดซีซัน

สำหรับพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2024-25 จะเริ่มทำการแข่งขันวันที่ 17 สิงหาคม 2024 จนถึง 25 พฤษภาคม 2025 เป็นการแข่งขันครั้งที่ 33 ในชื่อนี้ และเป็นครั้งที่ 126 ในฐานะลีกฟุตบอลเทียร์ 1 ของอังกฤษ โดยโปรแกรมแข่งขันแบ่งเป็นแมตช์สุดสัปดาห์ 33 นัด, แมตช์กลางสัปดาห์ 4 นัด และแมตช์วันหยุดธนาคาร 1 นัด

ในส่วนของการซื้อขายผู้เล่น ตลาดฤดูร้อนของพรีเมียร์ลีกจะเปิดทำการตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2024 จนถึง 5 ทุ่มของวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2024 ตามเวลาท้องถิ่น ส่วนตลาดฤดูหนาวจะมีขึ้นตั้งแต่วันพุธที่ 1 มกราคม 2025 จนถึง 5 ทุ่มของวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2025 

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Our Work

อพอลโล ไทร์ส จับมือ แมนฯ ยูไนเต็ด จัดโครงการ United We Play 2024 เฟ้นหาเยาวชนไทยไปติวฝีเท้าที่อังกฤษ

วันที่ 4-5 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่สนามฟุตบอล TCFC พระราม 9 อพอลโล ไทร์ส ผู้ผลิตยางรถยนต์ชั้นนำระดับโลก จับมือพันธมิตร สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เปิดโครงการ United We Play ครั้งที่ 2 ในประเทศไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยได้เดินตามความฝันด้านฟุตบอลได้ไกลกว่าเดิม ซึ่งกิจกรรมนี้ถูกจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4-5 พฤษภาคม 2567 โดยแบ่งการแข่งขันเป็น 2 รุ่นอายุ คือ รุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี และ 16 ปี

โดยโครงการ United We Play เป็นความร่วมมือของอพอลโล ไทร์ส และ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่เปิดเวทีให้นักเตะเยาวชนจากภูมิภาคต่าง ๆ มาแสดงความสามารถ เพื่อเฟ้นหาเยาวชนฝีเท้าดี เข้าร่วมอบรมคอร์สฝึกฝีเท้ากับ Manchester United Soccer School และได้สัมผัสกับเหล่าตำนานนักเตะของสโมสรถึงประเทศอังกฤษ

สำหรับกิจกรรม United We Play ในปี 2024 จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มีเยาวชนที่ได้เข้าร่วมมาแล้วมากกว่า 24,000 คน จากจุดเริ่มต้นที่อินเดีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เนปาล และประเทศไทย ที่จัดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน มีผู้เข้าร่วมกว่า 800 คน 

โครงการนี้มุ่งเฟ้นหาเยาวชนฝีเท้าดี คน ที่เข้าตาทีมโค้ชจาก Manchester United Soccer School เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทย ในการได้รับโอกาสสุดพิเศษ ไปฝึกซ้อมที่อินเดียกับนักเตะชุดปัจจุบันของทีมปิศาจแดง ก่อนจะถูกคัดเหลือ คนเข้าร่วมการฝึกซ้อมกับอคาเดมี่ของแมนฯ ยูไนเต็ด และกระทบไหล่กับสุดยอดนักเตะระดับตำนานของสโมสร เช่นเดียวกับเลียม ชินทาโด จากสโมสรพีเอฟเอ อคาเดมี่ ที่ได้รับประสบการณ์แบบนี้จากปีที่แล้ว

โดย มร. มานิช มหาราช Business Head – ASEAN บริษัท อพอลโล ไทร์ส (ประเทศไทย)กล่าวถึงงานนี้ว่า “ในนามของ Apollo Tyres ปีนี้เราได้นำความคิดริเริ่มนี้ไปสู่อีกระดับหนึ่ง โดยมีทีม 48 ทีมและเด็ก ๆ มากกว่า 800  คนเข้าร่วมใน 2 วันสำหรับทัวร์นาเมนต์กระชับมิตรและการฝึกซ้อมภายใต้หัวหน้าโค้ชของ MUSS Mr. Robin van der Laan และ Mr. Nick Pearce เรายินดีต้อนรับและขอขอบคุณที่สละเวลาและเดินทางจากโอลด์ แทรฟอร์ด สู่กรุงเทพฯ เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

Apollo Tyres ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกีฬาในหมู่เด็ก ๆ ทั่วโลก ประสบความสำเร็จอย่างมากในโครงการริเริ่มนี้ ในประเทศไทย เรากำลังทำงานด้วยวิสัยทัศน์เดียวกัน และหวังว่าในอนาคตอาจมีเด็กที่สามารถเป็นหนึ่งในดาวเด่นของพรีเมียร์ลีกอังกฤษในอนาคต หรือจะได้เล่นในทีมชาติสักวันหนึ่ง

เรามุ่งมั่นที่จะรับผิดชอบต่อสังคมของเราและจะพยายามทำและเติบโตตามความคิดริเริ่มนี้ทุกปี อย่างไรก็ตาม อพอลโล  ยังต้องการการสนับสนุนจากคุณในเวลาเดียวกันเพื่อให้ยังคงเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของเรา และเพื่อสร้างการรับรู้ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับยางรถยนต์ อพอลโล ซึ่งเป็นหนึ่งในคลาสที่ดีที่สุดในโลก

ซึ่ง 2 เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจากทีมสต๊าฟโค้ชของ แมนฯยูไนเต็ด ได้แก่ อาเรียน โบเซ และชนสรณ์ ไชยธรรม ที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยได้รับโอกาสสุดพิเศษ ในการไปเยี่ยมชมสนามโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด รวมถึงเข้าร่วมฝึกซ้อมกับอคาเดมี่ของ แมนฯ ยูไนเต็ด และกระทบไหล่สุดยอดนักเตะระดับตำนานของสโมสร

เจตนารมณ์ของอพอลโล ไทร์ส และแมนฯ ยูไนเต็ด ในโครงการ United We Play คือการมอบโอกาสให้นักเตะเยาวชนได้เข้าถึงมาตรฐานระดับโลกเพื่อเสริมศักยภาพด้านฟุตบอล กับทีมงานอคาเดมี่มืออาชีพของสโมสร ที่ได้สร้างนักเตะระดับโลกมาแล้วมากมาย

📝 ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย (แนน)

ดูภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่ : https://drive.google.com/drive/folders/1MPgonxfbi4weDXPTtIGgRN11yrsZCZwD?usp=share_link

Categories
Football Business

ไบรท์ตัน โมเดล เบื้องหลังการบินสูงของเจ้านกนางนวล

ในยุคที่หลายสโมสรต้องดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับกฎการเงินของพรีเมียร์ลีก แต่วันอังคารที่ 2 เมษายน 2024 ที่ผ่านมา “ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน” สามารถประกาศผลกำไรประจำปีก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ลีกสูงสุดของอังกฤษ

ไบรท์ตันได้ประกาศตัวเลขผลกำไรหลังหักภาษีแล้วสำหรับซีซัน 2022-23 เป็นเงิน 122.8 ล้านปอนด์ กระโดดจาก 24.1 ล้านปอนด์สำหรับซีซัน 2021-22 ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้เงินเป็นกอบเป็นกำจากการขายดาวดังของทีมอย่าง อเล็กซิส แมค อัลลิสเตอร์, อีฟส์ บิสซูมา, เลอันโดร ทรอสซาร์ และ มาร์ค กูกูเรยา รวมถึงได้รับเงินจากเชลซีที่ดึงตัวแกรห์ม พอตเตอร์ ไปคุมทีมเมื่อกันยายน 2022

แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมการขาย มอยเซส ไกเซโด และ โรเบิร์ต ซานเชซ ซึ่งย้ายไปเชลซีด้วยค่าตัว 115 และ 25 ล้านปอนด์ตามลำดับในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว เนื่องจากตัวเลขรายได้ถูกบันทึกสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2023

กระนั้นซีซันนี้ “เดอะ ซีกัลส์” ทำผลงานพรีเมียร์ลีกดร็อปลง กำลังลุ้นให้ติดท็อป-10 หลังจากซีซันที่แล้วจบด้วยอันดับ 6 ได้เล่นบอลถ้วยสโมสรยุโรป (ยูโรปา ลีก) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 123 ปีของสโมสร แต่ประเด็นที่นำเสนอไม่ใช่เรื่องในสนาม

โกยกำไรมหาศาลเพราะพอตเตอร์และขายนักเตะ

ทอตแนม ฮอตสเปอร์ เป็นเจ้าสถิติสูงสุดเดิม 113 ล้านปอนด์ ซึ่งทำไว้เมื่อซีซัน 2017-18 โดยแหล่งเงินหลักที่เพิ่มพูนขึ้นของ “เดอะ ลิลลีไวท์ส” มาจากรายได้เชิงพาณิชย์, ค่าเข้าชมนัดเหย้าที่เวมบลีย์ สเตเดียม ขณะที่สนามใหม่กำลังก่อสร้าง และเงินจากแชมเปียนส์ ลีก เมื่อเข้าถึงรอบน็อกเอาท์ แต่ไบรท์ตันมีแหล่งรายได้หลักผ่าต่างกัน

เริ่มจากเงินที่ขายผู้เล่น แมค อัลลิสเตอร์ไปลิเวอร์พูล, บิสซูมาไปสเปอร์ส, ทรอสซาร์ไปอาร์เซนอล และกูกูเรยาไปเชลซี ทั้งสี่สร้างกำไรรวมกันให้ไบรท์ตัน 121.4 ล้านปอนด์ สโมสรยังได้เงินชดเชยราว 21 ล้านปอนด์เมื่อเสียพอตเตอร์ให้ “เดอะ บลูส์” ขณะที่รายรับจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากซีซันก่อนหน้า 126.2 ล้าปอนด์เป็น 155.2 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/articles/c98eg8pq43jo

พอล บาร์เบอร์ ซีอีโอของสโมสร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ESPN ว่า ไบรท์ตันไม่ได้อยู่ในจุดที่จะสร้างรายได้เหมือนทีมใหญ่ๆ สนามเอเมกซ์มีความจุเพียง 32K เทียบกับ 75K ของแมนฯยูไนเต็ด และ 60K ของสเปอร์สกับอาร์เซนอล นั่นทำให้สโมสรต้องมองหาแหล่งรายได้ด้วยรูปแบบอื่นเช่น สปอนเซอร์, การเพิ่มคุณค่าแบรนดิ้ง, จำหน่ายสินค้าที่ระลึก ฯลฯ แต่สิ่งที่ไบรท์ตันให้น้ำหนักเป็นพิเศษคือโมเดล player-trading ด้วยการใช้อะคาเดมีพัฒนานักเตะแววดีมีอนาคตจากท้องถิ่น ผสมผสานกับแหล่งอื่นๆจากต่างประเทศที่ไม่มีสโมสรไหนให้ความสนใจนัก นั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้ “ไบรท์ตันตกปลาในบ่อคนเดียว”

ตัวอย่างเช่น ไบรท์ตันเซ็นสัญญากับแมค อัลลิสเตอร์ เมื่อครั้งเป็นผู้เล่นอาร์เจนติโนส จูเนียร์ส ในปี 2019 ด้วยราคาเพียง 7ล้านปอนด์ แต่ทำกำไร 48 ล้านปอนด์จากการขายให้ลิเวอร์พูลในปี 2023 ด้วยราคา 55 ล้านปอนด์ หรือรายที่ไม่ได้อยู่ในผลประกอบการซีซัน 2022-23 คือ ไกเซโด ซึ่งซื้อจากอินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล แค่ 4.5 ล้านปอนด์ในปี 2021 แต่ฟันกำไรเละถึง 110.5 ล้านอีก 2 ปีต่อมาหลังจากเชลซียอมทุ่มเงิน 115 ล้านปอนด์คว้าตัวไป

เจมส์ ออลลีย์ นักข่าวอาวุโสของ ESPN FC ให้ความเห็นว่า ไบรท์ตันดำเนินนโยบายซื้อผู้เล่นอายุน้อยด้วยต้นทุนต่ำ นำมาพัฒนาเป็นเวลาหลายปี และสามารถปล่อยขายในราคาน่าทึ่ง โดยสามารถย้อนกลยุทธ์นี้กลับไปยังปี 2017 เมื่อครั้งเพิ่งขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกในฐานะรองแชมป์แชมเปียนชิพ ซีซัน 2016-17 เป็นการคัมแบ็คสู่ลีกสูงสุดนับจากปี 1983

จากเดิมที่เคยเซ็นสัญญากับผู้เล่นอายุมากในอังกฤษเป็นหลัก ไบรท์ตันเปลี่ยนแนวทางไปซื้อนักเตะอายุน้อยลงจากตลาดเกิดใหม่ในต่างประเทศ โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ Transfermarkt “เดอะ ซีกัลส์” ใช้เงินสุทธิ 171 ล้านปอนด์ขณะพยายามหลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในพรีเมียร์ลีก และปรับเปลี่ยนสไตล์ฟุตบอลไปเน้นการครองบอลมากขึ้นแบบสโมสรชั้นนำยุคใหม่ ซึ่งเห็นอย่างเป็นรูปธรรมช่วงพอตเตอร์ (2019 – 2022) และโรแบร์โต เด แซร์บี (2022 –  ปัจจุบัน) เป็นผู้จัดการทีม

แม้ช่วงแรกดูเหมือนไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีในการสร้างผลกำไรให้ไบรท์ตัน แต่เวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีความชัดเจนแล้วว่าเป็นรูปแบบที่ได้ผล

จุดหักเหเมื่อเซียนโป๊กเกอร์เทคโอเวอร์สโมสร

นอกจากนี้ ออลลีย์ยังส่องลำแสงสปอตไลท์ไปยัง โทนี บลูม เจ้าของสโมสรวัย 54 ปี เจ้าของฉายา “The Lizard” ผู้เกิดในเมืองไบรท์ตัน เป็นเซียนไพ่โป๊กเกอร์ระดับอาชีพที่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าพ่อวงการพนัน ซึ่งใช้การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และหุ้นเอกชนส่งตัวเองกลายเป็นมหาเศรษฐี

บลูมซื้อหุ้นไบรท์ตันสูงถึง 75% เมื่อปี 2009 และปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย 406.5 ล้านปอนด์ให้สโมสรนำไปใช้บริหารโดยปีนี้เพิ่งเป็นครั้งแรกที่ไบรท์ตันสามารถจ่ายหนี้คืนให้เจ้าของสโมสรได้ ซึ่งเป็นเงิน 32.2 ล้านปอนด์ ไม่เพียงไม่คิดดอกเบี้ยและไม่กำหนดระยะเวลาใช้หนี้ บลูมยังไม่มีข้อกำหนดเบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนผู้เล่นหรือตัวเลขเงินในการซื้อขายแต่ละตลาด

คีแรน แมคไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการลูกหนัง ให้สัมภาษณ์กับ ESPN ว่า โทนี บลูม เป็นทรัพย์สินก้อนใหญ่ที่สุดของไบรท์ตัน ทุกคนที่เคยทำงานด้วยจะตระหนักดีว่าบลูมมีวิสัยทัศน์มากเพียงใด เขาจึงเป็นคนที่เข้าใจถึงคุณค่าและผลประโยชน์ของการลงทุนระยะยาว “สิ่งสำคัญคือ หนึ่ง บลูมเป็นแฟนบอลของสโมสร และสอง เขาเป็นทั้งอัจฉริยะและมหาเศรษฐี”

บริษัทพนัน/บริการข้อมูลอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

ก่อนหน้าเทคโอเวอร์ “เดอะ ซีกัลส์” บลูมยังก่อตั้ง Starlizard บริษัทรับพนันกีฬาเมื่อปี 2006 ซึ่งเวลาต่อมาได้เติบโตขึ้นมาเป็นฐานข้อมูลขนาดยักษ์ที่บรรจุข้อมูลนักฟุตบอลหลายพันคนทั่วโลก

เดวิด เวียร์ ผู้อำนวยการเทคนิคของไบรท์ตัน พูดถึงสตาร์ลิซาร์ดว่า ตัวเขาไม่รู้ตัวเลขของฐานข้อมูลแน่ชัดแต่เชื่อมั่นมันครอบคลุมนักเตะเกือบทั้งหมดที่เล่นระดับอาชีพในทุกลีกทั่วโลก และเช่นกัน เขาไม่รู้อัลกอรึธึมของสตาร์ลิซาร์ดทำงานอย่างไรในการแยกแยะจัดหมวดหมู่ผู้เล่นเพราะมันเป็นความลับ

เวียร์อธิบายต่อว่า มันเป็นเพียงตัวกรองที่ช่วยให้สโมสรสามารถเห็นตัวผู้เล่นที่มีความสามารถตามต้องการตั้งแต่เนิ่นๆ สิ่งสำคัญคือ output ซึ่งช่วยให้สโมสรสามารถทำงานกับกลุ่มผู้เล่นที่มีจำนวนไม่มากนัก

ขอบคุณภาพจาก  https://www.starlizardintegrity.com/

กลุ่มนักเตะที่ได้รับการคัดเลือกผ่านอัลกอรึธึมของสตาร์ลิซาร์ดไม่ได้เริ่มต้นที่ภูมิศาสตร์แต่เป็นตำแหน่งการเล่น  แมวมองจะได้รับรายชื่อที่ต้องคอยเฝ้าจับตามองและส่งรายงานผลกลับไปยังสโมสร โดยใช้สีไฟสัญญาณจราจรเป็นตัวจำแนกว่าเป้าหมายคนไหนเข้ากับระบบของไบรท์ตันมากน้อยเพียงใด

บาร์เบอร์ ซีอีโอของไบรท์ตัน ขยายความส่วนนี้ว่า โดยภาพรวมทุกอย่างเริ่มต้นจากตำแหน่งการเล่น ไม่ใช่มองหานักเตะแววดีแต่ไม่เป็นที่ต้องการของสโมสร โดยจะโฟกัสนักเตะตามตำแหน่งที่ต้องการจริงๆ แมวมองจะตรวจสอบข้อมูล โปรไฟล์ และบุคลิกภาพส่วนตัว จากนั้นโค้ชจะเป็นผู้เลือก จัดอันดับว่าใครเป็นตัวเลือกแรกและคนสุดท้าย สโมสรจะไม่นำเข้านักเตะที่โค้ชไม่ต้องการหรือมองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะจะเป็นการเสียเงินไปเปล่าๆหากได้มาแล้วไม่ได้เล่นหรือถูกใช้งาน

แต่ก็มีสถานการณ์ที่สโมสรลงทุนเพื่ออนาคต และโค้ชชุดใหญ่ยังไม่ต้องการ ก็สามารถใช้สิทธิ “คัดค้าน” ซึ่งผู้เล่นจะถูกปล่อยยืม 1-2 ปี เมื่อพร้อมกลับมาร่วมทีมชุดใหญ่ ก็มีโอกาสไม่น้อยที่หัวหน้าโค้ชจะให้ความสนใจกับพวกเขา

บาร์เบอร์กล่าวต่อว่า โมเดลของไบรท์ตันคือ ใช้แมวมองจำนวนน้อย แต่เน้นหนักด้านวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุตัวผู้เล่นที่คุณสมบัติเหมาะสมและตรงกับสิ่งที่โค้ชร้องขอมากที่สุด แมวมองต้องพร้อมเดินทางไปทุกที่ที่เป้าหมายเล่นอยู่ และไม่จำเป็นต้องเป็นตลาดยอดนิยมของฟุตบอลสมัยใหม่ก็ได้อย่างอาร์เจนตินา, บราซิล, สเปน หรืออิตาลี เพราะสำหรับไบรท์ตันแล้วอาจเป็นเอกัวดอร์, ปารากวัย, เบลเยียม หรือชาติเล็กๆในลีกยุโรป

แมคไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการลูกหนัง ให้มุมมองว่า รูปแบบการทำงานดังกล่าวทำให้ไบรท์ตันต้องทำงานด้วยความฉลาดขึ้นและทำการบ้านหนักขึ้น อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าฟุตบอลเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันและลอกเลียนแบบสูง สโมสรอื่นๆจะสังเกตเห็นความสำเร็จของไบรทัตัน และพยายามมองหานักเตะแววดีที่ดิบเพื่อนำมาขัดเกลาด้วยโมเดลการทำงานที่เหมือนไบรท์ตัน แถมบ่อยครั้งสโมสรเหล่านั้นอยู่ในฐานะที่จะเสนอค่าจ้างที่สูงกว่า แม้ไม่สามารถนำเสนอเส้นทางพัฒนาฝีเท้าในแบบที่ไบรท์ตันมีก็ตาม

Succession planning ยืดเวลาความสำเร็จของไบรท์ตันโมเดล

อย่างไรก็ตาม สโมสรฟุตบอลไม่ใช่บริษัทเอกชนที่แสวงหาผลกำไรจากการซื้อมาขายไป แต่ความสำเร็จและความบันเทิงที่มอบให้กับแฟนบอลมีความสำคัญไม่แพ้กัน แล้วไบรท์ตันมีแนวคิดอย่างไรที่จะรักษามาตรฐานฟอร์มการเล่นบนสนามแข่งขันได้หลังจากเสียผู้เล่นสำคัญคนแล้วคนเล่า

ซีอีโอสโมสรเป็นผู้ให้คำตอบนี้ว่า “การวางแผนสืบทอดตำแหน่ง” (Succession planning) เป็นกุญแจดอกสำคัญ

บาร์เบอร์ล่าว่า บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว เขามีเอกสารเพียงฉบับเดียว ซึ่งบรรจุรายชื่อของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตำแหน่งสำคัญๆในสโมสร เจ้าของสโมสรเคยบอกว่า การแต่งตั้งตำแหน่งหรือการตัดสินใจครั้งสำคัญของเขามีเพียงเรื่องเดียวคือ ไล่หัวหน้าโค้ชออก ซึ่งเขาจะเป็นคนรับผิดชอบเอง “ส่วนอีก 25 ตำแหน่งรองลงมาอยู่ในความรับผิดชอบของผม”

ไบรท์ตันใช้การวางแผนสืบทอดตำแหน่งกับผู้เล่นด้วย บาร์เบอร์ขยายความว่า มีการจัดทำแผนผังนักเตะชุดใหญ่ 25 คน และมีนักเตะชุด ยู-21 อยู่ข้างล่าง ถ้าเสียกูกูเรายา แล้วใครจะมาแทน … เปร์บิส เอสตูปิญญัน, ถ้าเสียทรอสซาร์ ทีมมีคาโอรุ มิโตมะ รองรับ ถ้าเสียบอสซูมา ทีมมีไกเซโด ถ้าเสียไกเซโด ทีมมีคาร์ลอส บาเลบา

Succession planning เป็นแนวคิดที่ไบรท์ตันกระจายใช้ทุกภาคส่วนของสโมสร ซึ่งซีอีโอ “เดอะ ซีกัลส์” มองว่ามันไม่ได้สลับซับซ้อนยุ่งยากเหมือนแผนการสร้างจรวด แล้วก็ไม่ได้เลอเลิศถึงขั้นได้รับรางวัลโนเบล มันเป็นเพียงแผนทางธุรกิจธรรมดาๆ องค์กรหรือหน่วยงานดีๆนอกวงการฟุตบอลต่างใช้มัน แต่พอกับแวดวงฟุตบอล กลับไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา ซึ่งบาร์เบอร์ยอมรับว่าเขาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร

แมคไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการลูกหนัง ให้ทรรรศนะถึงความต่อเนื่องของทีมฟุตบอลหลังสูญเสียผู้เล่นดีๆไป โมเดลของไบรท์ตันก็เป็นการกระทำซ้ำแนวทางของสโมสรอื่นๆเช่นกัน อย่างเช่นเซาแธมป์ตันเมื่อ 1 ทศวรรษที่แล้ว ทีมนักบุญมีแกเรธ เบล, อดัม ลัลลานา, เวอร์จิล ฟาน ไดค์ และคนอื่นๆ ซึ่งย้ายไปเล่นให้ทีมอื่น 

แต่เซาแธมป์ตันปล่อยนักเตะพรสวรรค์ออกไปแล้วไม่สามารถแทนที่ด้วยนักเตะระดับเดียวกันภายในช่วงเวลาหนึ่ง ในที่สุด “เดอะ เซนต์ส” ก็ต้องตกชั้นในปี 2023 อย่างไรก็ตามแมคไกวร์มองว่า สิ่งที่ไบรท์ตันแตกต่างจากเซาแธมป์ตันคือ โทนี บลูม และประโยนชน์ที่ได้รับจากสตาร์ลิซาร์ด ซึ่งเป็นบริการภายในของสโมสร หากรูปแบบนี้ยังดำเนินต่อไป อาจทำให้ไบรท์ตันได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว ถึงกระนั้นไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้จะไม่มีจุดสิ้นสุด

ผลกระทบหลังเสียแมค อัลลิสเตอร์และไกเซโด

เวลาจะเป็นตัวเฉลบคำตอบ เช่นเดียวกับไบรท์ตันตัดสินใจขายแมค อัลลิสเตอร์ และไกเซโดออกไปเมื่อฤดูร้อน 2023 ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลย มันทำให้ทีมของเด แซร์บี อ่อนแอลง ไม่สามารถซ้ำรอยความสำเร็จในฤดูกาล 2022-23 ได้ ผลงานเป็นตัวชี้ชัด

บาร์เบอร์ให้เหตุผลถึงเรื่องนี้ว่า “การขาย ณ เวลาที่เหมาะสมต้องอาศัยความกล้าหาญระดับหนึ่ง บางครั้งมันก็ง่าย ซัมเมอร์ที่แล้วเป็นตัวอย่างที่ดี ไกเซโดและแมค อัลลิสเตอร์ เป็นผู้เล่นสำคัญที่ช่วยให้ไบรท์ตันจบอันดับ 6 และผ่านเข้าไปเล่นยูโรปา ลีก นั่นส่งให้มูลค่าของนักเตะ ณ เวลานั้นพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ความสนใจจากทีมอื่นๆก็เช่นกัน ดังนั้นเราจึงตัดสินใจกระทำการลงไป”

มองไปยังซัมเมอร์ปีนี้ บิ๊กทีมกำลังให้ความสนใจผลผลิตของไบรท์ตันอย่างกองหน้า อีวาน เฟอร์กูสัน และกองกลาง บาเลบา ซึ่งอย่างน้อยก็มีจำนวนเพียง 2 คน ขณะที่เด แซร์บี ตกเป็นข่าวเชื่อมโยงกับบาเยิร์นและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รวมถึงเป็นบุคคลหนึ่งที่อาจคุมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี ต่อจากเป๊ป กวาร์ดิโอลา แต่กระนั้น “เดอะ ซีกัลส์” ยังมั่นใจว่าโค้ชมือดีชาวอิตาเลียนยังจะทำงานให้สโมสรต่ออีกระยะหนึ่ง ซีซันหน้าเป็นอย่างน้อย

ขณะเดียวกัน อะคาเดมีพยายามรักษามาตรฐานการทำงานในการส่งต่อความหวังอย่างเฟอร์กูสัน, กองหลัง แจค ฮินเชลวูด, กองหน้า มาร์ก มาโฮนีย์, กองกลาง คาเมรอน พีปิออน และกองหลัง โอเดลูกา ออฟฟิอาห์ ซึ่งล้วนแต่ได้รับการโปรโมทขึ้นไปเล่นให้ทีมซีเนียร์แล้ว รวมถึงเบน ไวท์ อดีตผลผลิตของไบรท์ตัน เป็นกำลังสำคัญของอาร์เซนอลตอนนี้

เวียร์ ผู้อำนวยการเทคนิคของไบรท์ตัน ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายว่า “ทีมชุดใหญ่พัฒนาตัวอย่างไปอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นอะคาเดมีจะต้องไล่ตามรุ่นพี่ๆให้ทัน การดูแลช่องว่างระหว่างทั้งสองถือเป็นงานท้าทาย  เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกที่วิเศษเหลือเชื่อ เราต่างลงเรือลำเดียวกัน และเปี่ยมด้วยความทะเยอะทะยานสู่สิ่งนั้นไ นั่นทำให้ผมเชื่อว่า บางสิ่งจะเกิดขึ้นในที่สุดผ่านกระบวนการออสโมซิส

หมายเหตุ : ออสโมซิส (osmosis) เป็นกระบวนการแพร่โมเลกุลของเหลวหรือน้ำผ่านเยื่อเลือกผ่าน จากบริเวณที่มีความเข้มข้นของน้ำมาก ไปยังบริเวณที่มีความเข้มข้นของน้ำน้อย และกระจายไปจนกว่าโมเลกุลของน้ำจะเท่ากัน ออสโมซิสก่อให้เกิดพลังงาน และสามารถสร้างแรงได้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Our Work

LALIGA x TikTok จัดงานทอล์ค “LALIGA Extra Time” เปิดมุมมองคอนเทนท์ และอุตสาหกรรมกีฬา

ครั้งแรก!! กับงานทอล์ค “LALIGA Extra Time – TikTok : Unlocking next-level opportunities for the sports industry in Thailand” ที่ทาง ลาลีกา ลีกฟุตบอลชั้นนำของประเทศสเปน ร่วมกับ TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นชั้นนำระดับโลก จัดอีเวนท์แบบเอ๊กซ์คลูซีฟขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ สำนักงานใหญ่ TikTok อาคาร พาร์ค สีลม เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 วัตถุประสงค์เพื่อ แบ่งปันองค์ความรู้ ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ นักการตลาด ผู้บริหารในวงการฟุตบอล ร่วมกับครีเอเตอร์ผู้ผลิตคอนเทนต์สายฟุตบอล งานนี้มีผู้ร่วมงานรวมกว่า 100 คน – จัดงานโดยทีม “ไข่มุกดำ” ในพาร์ต SportServices

บรรยากาศก่อนเริ่มการเสวนาบนเวที มีครีเอเตอร์ สื่อมวลชน และผู้ร่วมงาน แวะเวียนมาถ่ายภาพ ทำคอนเทนต์กับเสื้อฟุตบอลลาลีกา โลโก้ TikTok และจุดเช็คอินต่าง ๆ ที่นำมาประกอบเป็นส่วนหนึ่งในงาน มีจังหวะได้ Networking พูดคุยพบปะกันพอหอมปากหอมคอตามประสาคนกีฬา โดยผู้ร่วมงานจะได้รับของที่ระลึกจาก ลาลีกา และ TikTok ครบครัน ก่อนเปิดเวทีเสวนาโดยพิธีกร คุณแนท แห่งเพจ ดูบอลกับแนท ทำหน้าที่ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

การเสวนา ภายใต้หัวข้อ “โอกาสในการยกระดับอุตสาหกรรมกีฬาในประเทศไทย” โดยมีผู้เชี่ยวชาญในวงการฟุตบอลมาร่วมเสวนา นำโดย “คุณนาธาร รัตนนาคินทร์” หัวหน้าแผนกความสัมพันธ์ต่างประเทศ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย, “อิวาน โกดิน่า”ตัวแทนจากลาลีกา เอเชีย, “คุณณมน ติงศภัทิย์” Sports & Gaming Operations Lead, TikTok, ตัวแทนสโมสรแอตเลติโก้ มาดริด, ตัวแทนสโมสรบาร์เซโลน่า, “คุณชัชวาล การุณยะวนิช” จากอีเอ สปอร์ตส์, “คุณชาลี สมุทรโคจร” จากคาราบาว กรุ๊ป, “คุณวัลลภ ตรีฤกษ์งาม” จาก ซูซูกิ ประเทศไทย รวมถึงครีเอเตอร์ด้านฟุตบอลชื่อดังอย่าง เกมส์ ขอบสนามปาม วาทะลูกหนัง และอื่น ๆ ร่วมการเสวนา

โดย คุณ อิวาน โกดิน่า กรรมการผู้จัดการ LALIGA ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ได้กล่าวว่า “หลัง 7 ปีที่นี่ ลาลีกา ตระหนักดีถึงพลังของฟุตบอลที่มีมากในประเทศไทยไม่ต่างจากที่สเปน ยิ่งด้วยการจับมือกันกับพันธมิตรอย่าง TikTok ร่วมกับทุกหน่วยงานสำคัญที่มีอิทธิพลสูงในอุตสาหกรรมกีฬา LALIGA EXTRA TIME จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างฐานรากที่จะตอกย้ำความเจริญก้าวหน้าของอนาคตฟุตบอลในประเทศไทย นำโดยโปรเจคต์ที่ถูกพูดถึงไม่ว่าจะเป็น LALIGA ยูธ ทัวร์นาเมนท์ และ TikTok Sports Hub หรืองานโดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ล้วนยืนยันในสิ่งที่ผมกำลังพูดถึงนี้เป็นอย่างดี”

ขณะที่ทางด้าน นายณมน ติงศภัทิย์ Sports & Gaming Operations Lead, TikTok เผยว่า “จุดเริ่มต้นของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่าง TikTok และ LILAGA ก่อตัวขึ้นท่ามกลางการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของคอมมูนิตี้กีฬาบนแพลตฟอร์ม TikTok โดยมีการรับชมคอนเทนต์กีฬาบนแพลตฟอร์มในปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 95% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลซึ่งถือเป็นกีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งของคนไทย สะท้อนได้จากจำนวนการรับชมคอนเทนต์กีฬาฟุตบอลบนแพลตฟอร์มอย่าง #TikTokบอลไทย และ #TikTokบอลนอก ซึ่งมียอดวิวกว่า 340 ล้านวิว และ 2 พันล้านวิวตามลำดับในช่วงปีที่ผ่านมา เราเล็งเห็นถึงศักยภาพคอมมูนิตี้กีฬาฟุตบอลบนแพลตฟอร์มจึงริเริ่มความร่วมมือกับ LALIGA เพื่อสนับสนุนวงการฟุตบอล เพราะเราเชื่อว่าทุกวันนี้ขอบเขตของวงการกีฬาไม่ได้ถูกจำกัดความถึงแค่ นักกีฬา สโมสร และสมาคมกีฬาเท่านั้น แต่กำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของวงการกีฬามาโดยตลอดนั้นก็คือ ‘แฟนกีฬา’ และ ‘เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์สายกีฬา’ ที่ช่วยสร้างความครึกครื้นให้กีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมท่วมท้นอย่างทุกวันนี้ เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่จุดประกายความร่วมมือนี้ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงอยากขอบคุณครีเอเตอร์และผู้ใช้ชาวไทยที่ร่วมกันสร้างคอมมูนิตี้กีฬาที่แข็งแกร่ง ตลอดจนพาร์ทเนอร์คนสำคัญอย่าง LALIGA ที่ร่วมปลดล็อกโอกาสสู่ประสบการณ์จริงนอกแพลตฟอร์ม”

สำหรับเนื้อหาของการเสวนาในช่วงแรก ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของการติดตามคอนเทนต์กีฬา จากมุมมองของ LALIGA และ TikTok รวมถึงมุมมองของสื่อที่ถูกยกให้เป็นสุดยอดครีเอเตอร์ด้านกีฬาแห่งปี อย่าง ขอบสนาม และวาทะลูกหนัง ซึ่งทั้งคู่จะได้มีส่วนร่วมในโครงการ LALIGA Adventure ที่จะได้โอกาสเดินทางไปประเทศสเปน เพื่อสัมผัสบรรยากาศของการแข่งขันฟุตบอลลาลีกา, เข้าเยี่ยมชมสโมสรต่างๆ ในลาลีกา ตลอดจนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวสเปน

ทางด้าน ไจเม่ โอยาบาเมีย ตัวแทนจากสโมสรแอตเลติโก้ มาดริด ได้นำเสนอเกี่ยวกับโครงการ “Atleti Creaters Club” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ทั่วโลก ได้แชร์มุมมองเรื่องฟุตบอลของตัวเอง กับหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียงที่สุดของสเปน

ส่วนการเสวนาในช่วงที่ 2 ได้กล่าวถึงพลังของกีฬาเพื่อการสร้างแบรนด์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การวางกลยุทธ์ในการใช้กีฬาเพื่อทำการตลาด และเปิดเผยเรื่องราวความสำเร็จในระดับโลก จากตัวแทนของอีเอ สปอร์ตส์, คาราบาว กรุ๊ป และซูซูกิ 

นอกจากนี้ มร. จอร์โจ ปอมปิลิ รอสซี ตัวแทนลาลีกาประจำประเทศไทย ได้ประกาศจัดการแข่งขัน LALIGA Youth Tournament รายการการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะเริ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้

งานนี้อิ่มเอม ตลอดเวลากว่า 2 ชั่วโมง และทางทีม KMD ยินดีเป็นอย่างสูงที่ได้รับโอกาสร่วมจัดงานนี้ให้เจ้าภาพหลักทั้ง 2 ราย: LaLiga และ TikTok

หวังว่าจะมีอีเวนท์ดี ๆ แบบนี้มาฝากกันอีกในอนาคต รวมถึงเพื่อน ๆ หรือผู้ใหญ่ใจดี สามารถทัก KMD เพื่อให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งการจัดงานแบบนี้ได้เสมอนะคะ

รับชมภาพเพิ่มเติมที่นี่ได้เลยค่ะ https://drive.google.com/drive/u/2/folders/1saaRDUvBz0ePsmsTdcxG7IXUJoz8WaTN

Categories
Special Content

22 ปีของเลเวอร์คูเซน กับการลบล้างภาพ NEVERKUSEN

วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2024 ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน ชนะเลิศบุนเดสลีกาสมัยแรกในประวัติศาสตร์สโมสรที่ยาวนานเกือบ 120 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร วันที่ 1 กรกฎาคม 1904 โดยมีสารตั้งต้นจาก Wilhelm Hauschild เขียนจดหมายที่มีลายเซ็นของเพื่อนร่วมงาน 170 คน ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 1903 เพื่อขอการสนับสนุนในการก่อตั้งทีมกีฬาจากบริษัท Friedrich Bayer and Co. (ชื่อขณะนั้น หรือ Bayer AG ในปัจจุบัน) ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเคมีและยา ในเมืองเลเวอร์คูเซน ประเทศเยอรมนี

ในวันแห่งประวัติศาสตร์สโมสร เลเวอร์คูเซนถล่มทีมเยือน แวร์เดอร์ เบรเมน 5-0 คว้าแชมป์ลีกสูงสุดเมืองเบียร์แม้ฤดูกาล 2023-24 ยังเหลือการแข่งขันอีก 5 นัด แต่เพราะมีแต้มสะสม 79 คะแนน มากกว่ารองจ่าฝูง บาเยิร์น มิวนิก 16 คะแนน

นี่ถือเป็นผลงานที่เหลือเชื่อภายในเวลา 1 ปีครึ่งของ ชาบี อลอนโซ ซึ่งเพิ่งเข้ามาคุมทีมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2022 ขณะที่เลเวอร์คูเซนรั้งอันดับ 2 จากท้ายตารางบุนเดสลีกา ก่อนพาทีมจบซีซัน 2022-23 ด้วยอันดับ 6 และได้สิทธิเล่นยูโรปา ลีก รอบแบ่งกลุ่ม

เป็นเรื่องดีสำหรับฟุตบอลเยอรมนีที่การครองแชมป์ติดต่อกันยาวนานของบาเยิร์นมาถึงจุดสิ้นสุดเสียที” แฟนบอลเบรเมนคนหนึ่งที่สวมเสื้อที่มีชื่อของเคลาดิโอ ปีซาร์โร พิมพ์อยู่ด้านหลังเปิดใจกับนักข่าว

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/68812971

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ชนะเลิศบุนเดสลีกาซีซัน 2011-12 ซึ่งนับจากนั้น บาเยิร์นครอบครองบัลลังก์ติดต่อกันถึง 11 ปี ซึ่งระหว่างนี้ หลายสโมสรผลัดเปลี่ยนขึ้นมาท้าทายไม่ว่าจะทีมแข็งแกร่งอย่างดอร์ทมุนด์, แอร์เบ ไลป์ซิก, เลเวอร์คูเซน หรือทีมที่มีประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่และมีแฟนบอลสนับสนุนระดับบิ๊กอย่าง ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต, โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค หรือทีมที่มีเรื่องเล่าไม่มากนักอย่างอูนิโอน เบอร์ลิน, ไฟรบวร์ก, ฮอฟเฟนไฮม์ แต่ก็ไม่มีใครล้มยักษ์ใหญ่แห่งแคว้นบาวาเรียได้จนกระทั่งอลอนโซและลูกทีม Die Werkself (หรือ factory 11) ร่วมกันทำลายเป้าหมาย “12 ปีซ้อน” ของ Die Bayern ได้สำเร็จ

เลเวอร์คูเซนยังแชมป์ใหม่ป้ายแดงของบิ๊ก 5 ลีกของยุโรป นับตั้งแต่เลสเตอร์ ซิตี ซึ่งได้รับราคาต่อรอง 500-1 ชนะเลิศพรีเมียร์ลีก ซีซัน 2015-16 และไม่เพียงเป็นแชมป์บุนเดสลีกาสมัยแรกของสโมสร ทีมห้างขายยายังลบล้างฉายา “Neverkusen” ลงได้อีกด้วย

11 วันขยี้ฝันทริปเปิลแชมป์กับฉายา Neverkusen

แม้ก่อนหน้านี้ เลเวอร์คูเซนไม่เคยนั่งบัลลังก์ลีกสูงสุดเมืองเบียร์ แต่สังเวียนระดับทวีป พวกเขาเคยครองแชมป์ยูฟา คัพ (หรือยูโรปา ลีก) ซีซัน 1987-88 และรองแชมป์แชมเปียนส์ ลีก ซีซัน 2001-02 ส่วนภายในประเทศ Die Werkself เคยเป็นแชมป์เดเอฟเบ โพคาล ซีซัน 1992-93 และรองแชมป์อีก 3 สมัย รวมถึงครั้งหลังสุด ซีซัน 2019–20 พวกเขายังชนะเลิศบุนเดสลีกา 2 นอร์ธ ซีซัน 1978–79 และเลื่อนชั้นขึ้นมาแข่งขันสนามบุนเดสลีกาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ส่วนบุนเดสลีกา เลเวอร์คูเซนทำได้ดีที่สุดเพียง “รองแชมป์” ในซีซัน 1996–97, 1998–99, 1999–2000, 2001–02 และ 2010–11 รวม 5 ครั้งระหว่าง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้โดนล้อเลียน แปลงชื่อสโมสรจาก Leverkusenกลายเป็น Neverkusen (หรือ Visekusen ในภาษาเยอรมัน) เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อโลกเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียม วันที่ 20 พฤษภาคม 2000 เลเวอร์คูเซนต้องการเพียงเสมอในบ้านของทีมกลางตาราง อุนเตอร์ฮัคคิงก์ ในเกมสุดท้ายของซีซันเพื่อครอบครองถาดแชมป์ Die Meisterschale แต่ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ 0-2 หนึ่งประตูที่เสียเกิดจากการทำลูกเข้าประตูตัวเองของมิชาเอล บัลลัค ซึ่งต่อมากลายเป็นตำนานมิดฟิลด์ทีมชาติเยอรมนี ส่งให้บาเยิร์นเข้าป้ายวินเนอร์ มี 73 คะแนนเท่ากับเลเวอร์คูเซนแต่ประตูได้เสียเหนือกว่า 7 ลูก

ฉายา Neverkusen เกิดขึ้นอีก 2 ปีต่อมาในซีซัน 2001-02 เลเวอร์คูเซนประกอบด้วยสตาร์นักเตะอย่าง บัลลัค, ลูซิโอ, เซ โรแบร์โต, แบรนด์ ชไนเดอร์, อูล์ฟ เคียร์สเทน และดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ พวกเขากำลังลุ้น “ทริปเปิล แชมป์” แต่ความฝันพังมลายเพียงเวลา 11 วัน

ขอบคุณภาพจาก  https://twitter.com/BTLvid/status/1623058080446423041/photo/1

Die Schwarzroten (หรือ The Black and Reds) นำ 5 คะแนนก่อนเข้าสู่ 3 นัดสุดท้าย แต่กลับแพ้เบรเมน 1-2 (เหย้า) และแพ้เนิร์นแบร์ก 0-1 (เยือน) ก่อนปิดท้ายด้วยชนะแฮร์ธา เบอร์ลิน 2-1 (เหย้า) ทำให้ถาดแชมป์ตกเป็นของดอร์ทมุนด์ที่เหนือกว่าแค่ 1 คะแนน ขณะที่เลเวอร์คูเซนมีประตูได้เสียดีกว่าถึง 10 ลูก

แค่นั้นยังไม่พอ เลเวอร์คูเซนยังแพ้ชาลเก 04 ด้วยสกอร์ 2-4 ในนัดชิงเดเอฟเบ โพคาล และแพ้เรอัล มาดริด 1-2 ในนัดชิงแชมเปียนส์ ลีก จากประตูชัยที่สวยระดับตำนานของซีเนอดีน ซีดาน ทั้งที่รอบก่อนๆ สามารถผ่านทีมแข็งๆอย่างบาร์เซโลนา, ยูเวนตุส, ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาได้

เหตุผลที่ความอาภัพอับโชคของ Neverkusen มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับผู้ถูกถามเป็นใคร แต่บัลลัคเชื่อว่ามาจากสภาพจิตใจที่ไม่สามารถรับมือกับแรงกดดันได้ ขณะที่โธมัส เบอร์ดาริช กองหน้าชาวเยอรมัน พูดถึง 11 วันนั้นว่าเป็นช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุดในชีวิตนักฟุตบอลอาชีพ

แต่ 22 ปีต่อมา อลอนโซและลูกทีมในฤดูกาล 2023-24 สามารถเปลี่ยนฉายา Neverkusen ให้กลายเป็น Winnerkusen และยังเดินบนเส้นทาง “ทริปเปิล แชมป์” โดยจะชิงแชมป์เดเอฟเบ โพคาล กับไกเซอร์สเลาเทิร์น คู่แข่งเทียร์ 2 วันที่ 25 พฤษภาคม 2024 ขณะที่ยูโรปา ลีก พวกเขาผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศและพบกับโรมา

อลอนโซเป็นคนที่ใช่แม้อ่อนประสบการณ์โค้ช

ในวันแห่งประวัติศาสตร์สโมสร 6 ชั่วโมงก่อนคิกออฟกับเบรเมน บาร์ใกล้ไบอารีนาคลาคล่ำไปด้วยแฟนบอลเจ้าถิ่น พลุสีแดงถูกจุดส่งควันอบอวลไปทั่วบริเวณ ป้ายชื่อถนนที่เลี้ยวเข้าสู่สนามเหย้าของเลเวอร์คูเซนถูกแฟนบอลใช้ป้ายสติกเกอร์ที่พิมพ์ว่า Xabi-Alonso-Allee.” มาปิดทับเพื่อเป็นเกียรติแก่กุนซือสเปนวัย 42 ปี ซึ่งผ่านประสบการณ์เพียงโค้ชเรอัล โซเซียดาด ทีม บี ระหว่างปี 2019 – 2022 ก่อนรับงานทีมห้างขายยา

ย้อนกลับไปซีซัน 2021-22 เคราร์โด เซโอเน พาเลเวอร์คูเซนจบด้วยอันดับ 3 หลังจาก 5 ซีซันก่อนหน้าขึ้นถึงอันดับ 4ครั้งเดียว นั่นทำให้เกิดความหวังสูงกับซีซัน 2022-23 แต่เหตุการณ์ต่างราวหน้ามือหลังมือ กุนซือชาวสวิสพาทีมชนะ 2 นัด เสมอ 2 นัด แพ้ 8 นัดจาก 12 เกมแรกรวมทุกรายการ แถมพ่ายต่อเอลเวอร์สเบิร์ก ทีมดิวิชัน 3 ในเดเอฟเบ โพคาล รอบแรก และแพ้ 3 จาก 4 นัดแรกของแชมเปียนส์ ลีก สโมสรปลดเซโอเนพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2022 ขณะทีมอยู่อันดับรองโหล่ของบุนเดสลีกา

ไซมอน โรลเฟส อดีตมิดฟิลด์เลเวอร์คูเซน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกีฬาของสโมสร ให้สัมภาษณ์ว่า “มันน่าแปลกใจมากทั้งที่เราเก็บนักเตะดีๆไว้ได้หมด จบอันดับ 3 ซีซันที่แล้ว เล่นได้ดีมากๆด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเราทำได้ถึง 80 ประตู มากที่สุดในประวัติศาสตร์เลย แต่จู่ๆเราก็ออกสตาร์ทได้ย่ำแย่”

“จากการวิเคราะห์ได้ข้อสรุปว่า เราจะหลุดพ้นสถานการณ์แย่นี้ได้อย่างไร เรารู้สึกว่าโค้ชคงไม่เวิร์กเหมือนเดิมแล้ว นั่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

และวันเดียวกับที่เซโอเนจากไป สโมสรประกาศแต่งตั้งอลอนโซเป็นเทรนเนอร์คนใหม่ ซึ่งหลายคนมองว่า การให้โค้ชที่ไม่มีประสบการณ์คุมทีมชุดใหญ่เลยเป็นความเสี่ยง แต่โรลเฟสเฝ้ามองอลอนโซอย่างใกล้ชิดระยะเวลาหนึ่งแล้ว และหลังผ่านขั้นตอนสัมภาษณ์ เขาก็มั่นใจว่า อลอนโซเป็นคนที่ใช่

“เรามีข้อมูลดีๆเกี่ยวกับเขาอยู่ในมือแล้ว การพูดคุยกันช่วยยืนยันในสิ่งที่ผมคิด เราวิเคราะห์สไตล์การเล่นและการทำทีมของเขา อะไรบ้างที่สามารถคาดหวังได้ มันจะเข้ากับนักเตะที่มีอยู่อย่างไร รวมถึงบุคลิกภาพ”

“เขาสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่นี่ เราเป็นสโมสรที่สามารถสนับสนุนเขา เราเป็นสโมสรที่ดีมีเสถียรภาพ มีสตาฟโค้ชที่ดีคอยช่วยเหลือเขาได้ เป็นกลุ่มคนที่ดีมากๆ ต่อมาก็เป็นตำแหน่งของผม ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับเขา ผมพร้อมสนับสนุนเขาเต็มที่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ”

แต่แมตช์แรกที่อลอนโซคุมทีม เลเวอร์คูเซนแพ้ชาลเกยับ 0-4 ตามด้วยปราชัยต่อปอร์โตและแฟรงค์เฟิร์ตด้วยสกอร์รวม 1-8 โดย 7 นัดแรกรวมทุกรายการ (บุนเดสลีกากับแชมเปียนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม) ทีมของอลอนโซเก็บมาได้เพียง 6คะแนนเท่านั้น 

ผู้อำนวยการกีฬาย้อนความรู้สึกตอนนั้นว่า “1 เดือนแรก มันเป็นช่วงเวลาที่หนาหนัก แต่ข้อดีคือช่วยให้เราเรียนรู้และรู้จักกันดีขึ้น ช่วยให้เราตระหนักว่าควรทำงานด้วยกันอย่างไร”

ทุกอย่างดีขึ้นเมื่อถลุงทีมอันดับ 4 ซีซันนั้น อูนิโอน เบอร์ลิน 5-0 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2022 โดยถ้วยสโมสรยุโรปที่ตกลงไปเล่นยูโรปา ลีก เลเวอร์คูเซนเอาชนะโมนาโก, เฟเรนซ์วารอส และยูเนียน แซงต์ กิลลัวส์ ผ่านเข้าถึงรอบรองขนะเลิศและแพ้โรมา ส่วนบุนเดสลีกา อลอนโซดันทีมจากอันดับ 17 ขึ้นมาปิดซีซันด้วยอันดับ 6 และจบซีซันต่อมาด้วยถาดแชมป์ทั้งที่ยังเหลือโปรแกรม 5 นัด

เหตุปัจจัย 4 ข้อ สู่ความสำเร็จของทีมห้างขายยา

ESPN สื่อใหญ่ในอเมริกา ได้วิเคราะห์รากฐานสำคัญ 4 ข้อที่ส่งให้เลเวอร์คูเซนไปสู่ความสำเร็จเหนือความคาดหมาย

ข้อ 1 เป็นการขาย ไค ฮาแวร์ตซ์ ให้เชลซีเมื่อปี 2020 ด้วยค่าตัวถึง 70 ล้านยูโร ซึ่งถูกนำมาลงทุนต่อได้อย่างสุดคุ้ม ขณะที่นักเตะจากยุคเดียวกันอย่าง โยนาธาน ทาห์ และเอเซเกล ปาลาซิออส ยังมีบทบาทสำคัญกับทีมจนถึงตอนนี้

ข้อ 2 ต้องมอบเครดิตมากมายให้กับ ไซมอน โรลเฟส สำหรับผลงานในตลาดซัมเมอร์ที่ผ่านมาเช่น อเล็กซ์ กรีมัลโด,กรานิต ชากา, โยนาส ฮอฟมันน์, เนธาน เทลลา และวิคเตอร์ โบนิเฟซ ทุกคนต่างให้ผลลัพธ์เชิงบวกแก่เลเวอร์คูเซนในฤดูกาลนี้

ข้อ 3 ฟลอเรียน เวิร์ตซ์ เป็นอัญมณีเม็ดสำคัญของเลเวอร์คูเซนนับตั้งแต่เลื่อนชั้นจากทีม ยู-17 ขึ้นมาเล่นให้ชุดใหญ่ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2020 ในเกมเยือนที่เบรเมน ทำลายสถิตินักเตะอายุน้อยที่สุดของสโมสรที่เล่นบุนเดสลีกาของฮาแวร์ตซ์ ที่ 17 ปี 15 วัน และต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน ก็ทำประตูแรกให้ทีมห้างขายยาและเป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดที่ทำสกอร์ได้ในประวัติศาสตร์บุนเดสลีกาที่ 17 ปี 34 วัน จากเกมเหย้าที่แพ้บาเยิร์น 2-4 ประตูเกิดขึ้นนาทีที่ 89

ข้อ 4 แน่นอนย่อมเป็น ชาบี อลอนโซ ซึ่งหลายคนเห็นตรงกันว่าสโมสรโขคดีมากที่ได้ตัวตำนานมิดฟิลด์ ซึ่งเล่นให้ทีมชาติสเปนถึง 114 นัด และเคยร่วมบิ๊กทีมอย่างลิเวอร์พูล, เรอัล มาดริด และบาเยิร์น

ลูกัส ฮราเด็ตสกี นายทวารทีมชาติฟินแลนด์ ซึ่งร่วมทีมมาตั้งแต่ปี 2018 เปิดใจกับ ESPN ว่า “ผมเคยคิดว่ารถไฟแล่นออกไปแล้วเสียอีก แต่พอเราได้โค้ชและการเสริมผู้เล่นจากตลาด นั่นทำให้ผมเกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาอีกครั้ง”

เลเวอร์คูเซนยังจะประสบความสำเร็จอีกได้ไหม

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การเฉลิมฉลองของเลเวอร์คูเซนย่อมมีวันสุดสิ้น คำถามคือ Die Werkself จะไปได้ไกลกว่าซีซัน 2023-24 ไหม หรือเป็นเพียงซินเดอเรลลาผู้เลอโฉมก่อนเวลาเที่ยงคืน

บิล คอนเนลลี นักข่าว ESPN มองว่าขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยบางข้อ เริ่มจากเวิร์ตซ์ ซึ่งถูกตีราคาไว้สูงถึง 100 ล้านยูโร แม้แนวรุกดาวรุ่งวัย 20 ปี ยังมีสัญญากับสโมสรถึงกลางปี 2027 และน่าจะเป็นเป้าหมายเนื้อหอมในตลาดซัมเมอร์ปีหน้า ถ้าเลเวอร์คูเซนจะรักษาความสำเร็จได้นานๆ ควรรักษาเวิร์ตซ์ให้ได้

สถิติรวมทุกรายการซีซันนี้ สิ้นสุดที่แมตช์กับเบรเมน เวิร์ตซ์ลงสนาม 42 นัด ทำ 17 ประตู สูงเป็นอันดับ 2 ของทีม และ 18แอสซิสต์ มากที่สุดในทีม แต่เหนือกว่านั้น เวิร์ตซ์พาบอลเข้าไปยังโซน final third ถึง 426 ครั้งทั้งการจ่ายบอลและเลี้ยงบอลแบบ progressive เป็นตัวเลขที่เหนือกว่าเพื่อนทุกคน ทิ้งห่างอันดับ 2-3 เจเรมี ฟริมปง 304 ครั้ง และกรีมัลโด 250ครั้ง

แม้มีปัญหาเอ็นไขว้หน้าเข่า ถูกจำกัดด้วยจำนวนการลงสนาม แต่ค่าเฉลี่ยต่อ 90 นาทีกลับดีขึ้นอย่างเหลือเชื่อ 12.2 ครั้งในซีซันนี้เทียบกับ 6.8 ครั้ง ซีซันที่แล้ว และ 7.5 ครั้ง ซีซัน 2021-22 

แม้เวิร์ตซ์ยังจะอยู่ในทีมป้องกันแชมป์บุนเดสลีกา แต่เลเวอร์คูเซนจะสามารถรักษาขุนพลสำคัญไว้ครบไหมในซีซัน 2024-25 อย่างเช่น ชากา, กรีมัลโด, ฮอฟมันน์, โรเบิร์ต อันดริช รวมถึงนักเตะที่อยู่กับทีมยาวนานอย่างทาห์และฮราเด็ตสกี ขณะที่มีข่าวออกมาว่า สโมสรพรีเมียร์ลีกให้ความสนใจอย่างจริงจังกับเอ็ดมงด์ ทัปโซบ และฟริมบง แต่คอนเนลลีเชื่อว่า ปกติแล้วสโมสรมักไม่หวั่นหากเสียสตาร์ไปสัก 1-2 คน แล้วก็จ่ายเงินน้อยกว่าไปซื้อผู้เล่นที่มีความแตกต่างไม่มากนัก

แต่ตัวแปรที่สำคัญสูงสุดคือ อลอนโซ ซึ่งตัดสินใจสานต่อโปรเจ็คท์ที่เลเวอร์คูเซน ไม่ย้ายไปคุมทีมลิเวอร์พูลหรือบาเยิร์น อย่างน้อยก็ซีซัน 2024-25 คงต้องติดตามต่อไปว่า อลอนโซจะทำได้เหมือนเยอร์เกน คลอปป์ ไหม ซึ่งนำแชมป์บุนเดสลีกามาให้ดอร์ทมุนด์ 2 ปีติดต่อกันในซีซัน 2010-11 และ 2011-12 

อย่างไรก็ตาม เลเวอร์คูเซนจะทำให้เป็นจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับบาเยิร์นไม่ใช่น้อย แม้ทีมเสือใต้จะเพลี่ยงพล้ำเสียถาดแชมป์ที่รักษาไว้นาน 11 ปี แต่บาเยิร์นยังเป็นบาเยิร์น ซึ่งล่าสุดล้มอาร์เซนอล ผ่านเข้าไปตัดเชือก แชมเปียนส์ ลีก กับเรอัล มาดริด รวมถึงดอร์ทมุน์กับไลป์ซิก ซึ่งเพียรพยายามล้มบัลลังก์ของบาเยิร์น แม้กระทั่งอาจมีทีมที่สร้างปาฏิหาริย์เหลือเชื่อปรากฎขึ้นอย่างซตุ๊ตการ์ท ซึ่งอยู่อันดับ 3 ตอนนี้ทั้งที่ซีซันที่แล้ว จบอันดับ 16 แต่สามารถต่ออายุบุนเดสลีกาได้ด้วยการชนะฮัมบวร์ก จากลีก 2 ในแมตช์เพลย์ออฟ

ทั้งหมดนี้ทำให้การแย่งถาดแชมป์ Die Meisterschale มีความสนุกสนานขึ้นในรอบหลายๆปีสำหรับแฟนบอลบุนเดสลีกาที่ไม่ใช่กองเชียร์บาเยิร์น

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

ติอาโก มอตตา กับปรัชญาลูกหนังล้ำสมัยที่ซ่อนอยู่ใน 2-7-2

ติอาโก มอตตา เทรนเนอร์ชาวบราซิลวัยเพียง 41 ปี เป็นหนึ่งในผู้จัดการทีมฟุตบอลคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองแม้ยังไม่เคยพาทีมประสบความสำเร็จใดๆ ผลงานดีที่สุดเพียงพาโบโลญญาจบซีซันด้วยเลขตัวเดียวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นมาเล่นกัลโช เซเรียอา ฤดูกาล 2015–16 และตอนนี้กำลังพารอสโซบลู (ทีมแดงน้ำเงิน) ลุ้นโควตาทัวร์นาเมนท์ยุโรป

ยิ่งกว่านั้น มอตตาเคยตกเป็นข่าวดังในสื่อฟุตบอลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 มอตตา ซึ่งเพิ่งแขวนสตั๊ดราวครึ่งปีก่อนหน้า ให้สัมภาษณ์กับสื่อยักษ์อิตาลี ลา กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต ขณะรับตำแหน่งโค้ชใหม่ของทีมปารีส แซงต์-แยร์กแมง รุ่นยู-19 ว่า เขาต้องการปฏิวัติฟุตบอลผ่านรูปแบบการเล่น 4-3-3 ด้วยการตีความใหม่เป็น 2-7-2 (ซึ่งบทความนี้จะขยายความและวิเคราะห์ทางแทคติกภายหลัง)

ต้นเมษายนที่ผ่านมามีรายงานว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สนใจที่จะดึงมอตตามาคุมทีมแทนเอริก เทน ฮาก เพราะพอใจผลงานและรูปแบบการเล่นนับตั้งแต่เป็นเทรนเนอร์ให้โบโลญญาในเดือนกันยายน 2022 มอตตาพารอสโซบลูจบซีซันแรกด้วยอันดับ 9 และมีลุ้นจบซีซันนี้ด้วยท็อป-4 

นอกจากแมนฯยูไนเต็ด ยูเวนตุสเป็นอีกทีมที่ต้องการอดีตมิดฟิลด์ทีมชาติบราซิล/อิตาลี ซึ่งกำลังจะหมดสัญญากับโบโลญญาหลังซีซันนี้จบลง ดาริโอ คาโนวี เอเยนต์ของมอตตาเคยกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า มอตตาปรารถนาจะคุมทีมลงแข่งแชมเปียนส์ ลีก สักวันหนึ่ง ซึ่งนั่นทำให้โอกาสของแมนฯยูไนเต็ดเป็นไปได้น้อยกว่ายูเวนตุส อย่างไรก็ตาม “เรด เดวิลส์” ยังมีข่าวเชื่อมโยงกับแกรห์ม พอตเตอร์ และแกเรธ เซาธ์เกต ในฐานะผู้จัดการทีมใหม่ด้วย แม้กระทั่งเทน ฮาก จะทำหน้าที่ต่อไปเป็นปีที่ 3 ยังไม่สามารถขีดทิ้งได้

มิดฟิลด์สารพัดประโยชน์ ชาญฉลาดเชิงเทคนิค

มอตตาเกิดวันที่ 28 สิงหาคม 1982 ที่เซา เบอร์นาโด ดู คัมโป ในรัฐเซา เปาโล ประเทศบราซิล ย้ายจากคลับ แอตเลติโก ยูเวนตุส ทีมลูกหนังในเซา เปาโล มาอยู่บาร์เซโลนาเมื่อปี 1999 ขณะอายุ 17 ปี แต่เริ่มกับทีมชุด บี มีสถิติ 12 ประตูจาก 84 นัดเฉพาะบอลลีก ก่อนถูกโปรโมทขึ้นชุดใหญ่ในปี 2001

มอตตาค้าแข้งที่บาร์เซโลนาระหว่างปี 2001 – 2007  ทำ 9 ประตูจาก 139 นัดรวมทุกรายการ โชคร้ายที่บาดเจ็บเป็นระยะๆ รวมถึงเอ็นเข่าซ้ายจากเกมกับเซบีญา วันที่ 11 กันยายน 2004 ต้องพักรักษาตัวถึง 7 เดือน นอกจากนี้ยังเคยตกเป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อจากยูฟา คัพ รอบ 4 นัดแรก วันที่ 11 มีนาคม 2004 ซึ่งบาร์เซโลนาแพ้ 0-1 ในบ้านเซลติก เมื่อเขาและโรเบิร์ต ดักลาส นายทวารเจ้าบ้าน ได้รับใบแดงจากเหตุทะเลาะวิวาทในอุโมงค์ขณะพักครึ่ง

หลังถอดยูนิฟอร์มบาร์ซา มอตตาย้ายไปเล่นให้อัตเลติโก มาดริด ซีซัน 2007-08 และเจนัว ซีซัน 2008-09 ตามด้วยอีก 2 ซีซันครึ่งกับอินเตอร์ มิลาน ก่อนย้ายไปอยู่ปารีส แซงต์-แยร์กแมง ด้วยค่าตัวประมาณ 10 ล้านยูโรในตลาดฤดูหนาวปี 2012 มอตตาเล่นให้เปแอสเช 6 ซีซันครึ่ง ทำ 12 ประตูจาก 232 นัดรวมทุกรายการ และคว้าแชมป์กับยักษ์ใหญ่แห่งปารีสถึง 19รายการ รวมถึงแชมป์ลีกเอิง 5 สมัย ก่อนแขวนสตั๊ดหลังจบซีซัน 2017-18 และผันตัวเองไปเป็นโค้ช ยู-19 ของสโมสร

ตลอดอาชีพค้าแข้ง มอตตาชนะเลิศถึง 27 รายการ รวมถึงแชมป์ลา ลีกา 2 สมัยซ้อน และชนะเลิศแชมเปียนส์ ลีก ปี 2006 กับบาร์เซโลนา และอยู่ในทีมอินเตอร์ มิลาน ชุดทริปเปิล แชมป์ ซีซัน 2009-10 (เซเรีย อา, โคปปา อิตาเลีย และแชมเปียนส์ ลีก)

สำหรับทีมชาติ มอตตาเคยเล่นให้ทีมบราซิล ยู-17 และ ยู-23 ก่อนติดชุดใหญ่ไปแข่งขันคอนคาเคฟ โกลด์ คัพ ปี 2003 ซึ่งได้ลงสำรอง 2 นัดกับเม็กซิโกและฮอนดูรัสในรอบแบ่งกลุ่มรวมเพียง 71 นาที 

หลายปีต่อมา มีข่าวระบุว่ามอตตาอาจถูกทีมชาติอิตาลีเรียกตัวและอาจได้ไปเล่นเวิลด์คัพ 2010 เนื่องจากเขาถือ 2 สัญชาติ (dual nationality)  โดยปู่ของเขาเป็นชาวอิตาเลียนเนื่องจากปู่ทวดย้ายถิ่นฐานจาก Polesella ในอิตาลีมาอยู่ทวีปอเมริกาใต้ช่วงต้นทศวรรษ 1900

มอตตาเล่นให้อิตาลีนัดแรก วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2011 ถูกเปลี่ยนลงมานาทีที่ 63 ของเกมกระชับมิตรที่เสมอเยอรมนี 1-1 รวมแล้วเขาแข่งขันให้ทีมอัซซูรี 30 นัด ทำ 1 ประตูระหว่างปี 2011 – 2016 และได้รับเหรียญรองแชมป์ยูโร 2012 รวมถึงติดทีมชาติไปแข่งเวิลด์ คัพ 2014

สไตล์การเล่นของมอตตาเป็นประเด็นน่าสนใจเพราะอาจส่งผลต่อแนวคิดในฐานะเทรนเนอร์ มอตตาได้รับนิยามว่าเป็น combative player หรือนักเตะแนวนักสู้พันธุ์ดุ เล่นได้ทั้ง defensive midfielder และ central midfielder แต่ความจริงเล่นได้หลากหลายหน้าที่ในกองกลางด้วยความเฉลียวฉลาดเชิงเทคนิคและสารพัดประโยชน์

กับทีมชาติอิตาลี โค้ชเซซาเร ปรานเดลลี ให้เล่นเป็น deep-lying playmaker หรือ attacking midfielder เพราะมองว่ามอตต้าสามารถจ่ายบอลเพื่อเซตจังหวะการเล่นในแดนกลางได้ดี หรือในยูโร 2012 มอตตาทำหน้าที่ใหม่เป็น false attacking midfielder ในฟอร์เมชัน 4–3–1–2 ของปรานเดลลี บทบาทของเขาเปรียบเสมือน metodista ในภาษาอิตาเลียนหรือเซ็นเตอร์ฮาล์ฟนั่นเอง เนื่องจากเป็นตัวควบคุมการเล่นในกองกลางและช่วยเหลือแนวรับของทีม

แม้ได้รับเสียงชื่นชมเรื่องแทคเกิล, การอ่านเกม และคุณสมบัติเกมรับอย่างเช่น ball winner แต่จุดเด่นที่สุดของมอตตาเป็นการคอนโทรลบอล, เทคนิค, วิสัยทัศน์ และระยะการจ่ายบอล อีกทั้งมอตตายังมีสรีระแข็งแกร่ง, ลูกโหม่งดี และสามารถวิ่งตัดหลังเข้าไปในเขตโทษ จึงเป็นตัวโจมตีทางอากาศที่อันตราย รวมถึงการซัดบอลจากระยะไกล แต่มักโดนวิจารณ์เรื่องความก้าวร้าวในสนามและขาดความเร็ว

ประกาศปฏิวัติฟุตบอลแม้ยังไม่มีโปร ไลเซนซ์

ปารีส แซงต์-แยร์กแมงให้มอตตาคุมทีมยู-19 หลังแขวนสตั๊ดไม่กี่เดือน มอตตาสมัครเข้าเรียนคอร์สยูฟา โปร ไลเซนซ์ ที่ Centro Tecnico Federale di Coverciano ในเดือนสิงหาคม 2019 และได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2020 แต่ระหว่างนั้นในเดือนตุลาคม 2019 เจนัว ซึ่งรั้งอันดับรองบ๊วยของเซเรีย อา ได้แต่งตั้งมอตตาเป็นผู้จัดการทีมแทนออเรลิโอ อันเดรียสโซลี แต่ไล่ออกอย่างรวดเร็วปลายธันวาคมหลังคุมทีมเพียง 10 นัด เจนัวชนะ 2 นัด เสมอ 3 นัด แพ้ 5 นัด

กรกฎาคม 2021 มอตตาได้รับตำแหน่งผู้จัดการทีมของสเปเซียแทนวินเซนโซ อิตาเลียโน ซึ่งลาออกไปคุมทีมฟิออเรนตินา เขาทำงานเต็มซีซัน มีผลงานชนะ 11 นัด เสมอ 6 นัด แพ้ 23 นัด, เคยได้รับรางวัลเทรนเนอร์ยอดเยี่ยมของเซเรีย อา ประจำเดือนมกราคม 2022 เมื่อสเปเซียชนะ 3 นัดรวด และท้ายสุดช่วยให้ทีมรอดตกชั้นหวุดหวิด 

มอตตาตกลงยกเลิกสัญญากับสเปเซีย วันที่ 28 มิถุนายน 2022 ก่อนรับตำแหน่งผู้จัดการทีมโบโลญญา วันที่ 12 กันยายน 2022 แทนซินิซา มิไฮจ์โลวิช สามารถพาทีมรอซโซบลูจบซีซันด้วยอันดับ 9 เป็นเลขตัวเดียวครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นมาเล่นเซเรียอา ฤดูกาล 2015–16 และยังได้รางวัลเทรนเนอร์ยอดเยี่ยมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2023

มอตตาเป็นหนึ่งในเทรนเนอร์คลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองจากไอเดียการทำทีม เคยเรียกเสียงฮือฮาเมื่อให้สัมภาษณ์กับลา กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต ในเดือนพฤศจิกายน 2018 ทั้งที่เพิ่งรับงานโค้ชครั้งแรกในชีวิตกับทีมยู-19 ของเปแอสเช และยังไม่ได้ยูฟา โปร ไลเซนซ์ ด้วยซ้ำ เมื่อเขาประกาศว่ามีเป้าหมายปฏิวัติฟุตบอลผ่านรูปแบบการเล่น 4-3-3 ด้วยการตีความใหม่เป็น 2-7-2

“ความคิดของผมคือ เล่นเกมบุก คอนโทรลเกมได้ ไฮ-เพรสซิ่ง และเต็มไปด้วยการเคลื่อนที่ทั้งขณะมีและไม่มีบอล ผมต้องการให้ลูกทีมที่กำลังครองบอลมีวิธีแก้เกมอยู่ในหัว 3-4 รูปแบบเสมอ พร้อมทั้งมีเพื่อนร่วมทีม 2 คนอยู่ใกล้ๆเพื่อช่วยเหลือ”

“ผมไม่ชอบตัวเลขในสนาม (ฟอร์เมชันต่างๆ) เพราะมันหลอกคุณได้ บางทีทีมสามารถเปิดเกมรุกได้สุดๆด้วยระบบการเล่น 5–3–2 และสามารถตั้งรับได้เหนียวแน่นจาก 4–3–3 ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับคุณภาพของนักฟุตบอล”

“ผมมีแมตช์หนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ที่ฟูลแบ็ค 2 คนลงเอยด้วยการเล่นตำแหน่งเบอร์ 9 และ 10 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมไม่ชอบนักเตะอย่างซามูเอลและคิเอลลินีที่เป็นกองหลังธรรมชาติ ถ้าอย่างนั้นมันควรเป็นฟอร์เมชัน 2–7–2 หรือเปล่า ผู้รักษาประตูถูกนับเป็นหนึ่งในกองกลาง 7 คน สำหรับผมแล้ว กองหน้าคือกองหลังคนแรก และผู้รักษาประตูเป็นกองหน้าคนแรก ผู้รักษาประตูเป็นคนเริ่มการเล่นด้วยเท้า กองหน้าเป็นคนแรกที่เข้ากดดันเพื่อแย่งบอลกลับคืนมา”

ตีความปรัชญาฟุตบอลของมอตตาผ่านฟอร์เมชัน 2-7-2

โทนี โรเบิร์ตสัน นักข่าวดิจิตอลของ The Sun อธิบายปรัชญาฟุตบอลของกุนซือวัย 41 ปีว่า ตัวเลข 2-7-2 ดูแปลกเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะมอตตามองผู้รักษาประตูเป็นเหมือนผู้เล่นมิดฟิลด์คนหนึ่งของเขา

แต่ความจริงแล้ว มอตตาอ่านแผนผัง 2-7-2 จากข้างสนามด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่จากกรอบประตูของทีมตัวเองไปยังฝั่งตรงข้ามเหมือนมุมมองปกติ ดังนั้นตัวเลข 2 จึงเป็นแบ็คขวาและปีกขวา กับแบ็คซ้ายกับปีกซ้าย โดยกองกลาง 7 คนประกอบด้วยผู้รักษาประตู, เซ็นเตอร์แบ็ค 2 คน, ดีเฟนซีพ มิดฟิลด์, เซ็นทรัล มิดฟิลด์ 2 คน และศูนย์หน้า

โรเบิร์ตสันสรุปว่า อีกนัยหนึ่ง 2-7-2 สำหรับมอตตาก็เป็นฟอร์เมชันปกติของ 4-3-3 หรือ 4-2-3-1 นั่นเอง หากวิเคราะห์จากรูปแบบการเล่นซีซันนี้ของโบโลญญา เห็นได้ชัดตรงกับปรัชญาข้อหนึ่งที่มอตตาพูดไว้เมื่อปี 2018 คือ โดดเด่นเรื่องการครองบอล รอสโซบลูจ่ายบอลแม่นยำสูงถึง 85.2% มากเป็นอันดับ 2 ของเซเรีย อา ณ ต้นเดือนเมษายน 2024 

การบิลด์อัพเพลย์ของโบโลญญาเริ่มที่ 1-3-2-5 แต่สามารถปรับเปลี่ยนเป็น 2-3-5 ตามด้วยอะไรที่คล้ายกับ 4-3-3 ซึ่งมิดฟิลด์เบอร์ 8 สองคนจะออกด้านข้างเพื่อสนับสนุนปีกและฟูลแบ็ค แต่โบโลญญามีจำนวนครอสบอลเข้ากรอบเขตโทษอยู่อันดับท้ายๆของลีกเมืองมะกะโรนี มอตตาชอบให้ลูกทีมเล่นกับพื้นที่ว่างและสร้างสรรค์จากตำแหน่งการยืนที่แคบๆ ซึ่งจะเห็นจากกองหน้าอย่างโจชัว ซีร์กเซ ถอยลงไปในพื้นที่ว่างเพื่อช่วยลำเลียงบอลจาก box midfield ของทีม

สำหรับเกมรับ โบโลญญาจะใช้แทคติกไฮ-เพรส ก่อนปรับรูปแบบเป็น 4-1-4-1 mid-block นั่นทำให้ทีมของโบโลญญามีสไตล์การเล่นที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนและทำให้คู่แข่งงุนงงสับสนได้

วิเคราะห์รูปแบบการเล่นที่สลับซับซ้อนของทีมโบโลญญา

เว็บไซต์ The Football Analyst ได้จัดทำบทความวิเคราะห์แทคติกของมอตตาไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มจากการสร้างเกมที่แบ่งออกเป็น low build-up และ high build-up

มอตตาจะวางฟอร์เมชัน 4-2-5 สำหรับ low build-up โดยให้เซ็นเตอร์แบ็ค 2 คนยืนด้านข้าง ผู้รักษาประตูจะยืนบริเวณเสาข้างหนึ่ง อีกข้างมีผู้เล่นคนหนึ่ง โดยมีผู้เล่นอีก 2 คนอยู่ด้านหน้า ทำให้ฟอร์มตัวเป็น box-midfield ตรงกลางบริเวณกรอบเขตโทษ บ่อยครั้งมิดฟิลด์ตัวรุกจะถอยลงมาร่วมด้วยเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เล่นที่สามารถร่วมช่วยกันแก้เพรสของฝ่ายตรงข้าม

ส่วน high build-up รูปแบบจะเปลี่ยนเป็น 1-3-2-5 คล้ายกับ low build-up ต่างกันเพียงผู้รักษาประตูยืนหน้าโกล์คนเดียวเหมือนปกติ เซ็นเตอร์แบ็ค 2 คนกับผู้เล่นอีก 1 คนดันตัวขึ้นไปข้างหน้า 

อย่างไรก็ตาม โบโลญญาของมอตตามักโรเตชันรูปแบบบิลด์อัพเพื่อสร้างความสับสนให้คู่แข่งขัน หรือปรับตัวเองไปตามฟอร์เมชันของฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้จำนวนผู้เล่นมีความได้เปรียบตามพื้นที่หรือโซนต่างๆ หวังผลในการทำลายเกมรับและเข้าไปทำประตูได้มากขึ้น แต่การปรับเปลี่ยนที่ใช้บ่อยที่สุดเป็นการดันเซ็นเตอร์แบ็คคนหนึ่งขึ้นไปยังกองกลางเป็นรูปแบบ 1-2-3-5 

สำหรับการเข้าโจมตี โบโลญญาเป็นทีมหนึ่งที่ยอดเยี่ยมในพื้นที่ final third มักสร้างโอกาสได้เสมอ หลักๆคือโจมตีพื้นที่ว่างของคู่แข่งระหว่างเซ็นเตอร์แบ็คกับฟูลแบ็คหรือ half-space นั่นเอง ลูกทีมของมอตตามักโจมตีบริเวณด้านข้างของสนามด้วยการโอเวอร์แลปของผู้เล่นมิดฟิลด์

นอกเหนือโจมตี half-space แล้ว มอตตายังมีแทคติกเกมบุกอีกอย่างที่เป็นเอกลักษณ์คือผู้เล่นในแดนกลางให้มีจำนวนเหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งปกติมักวางผู้เล่น 4 คนเพื่อต่อกรกับ box-midfield ของรอสโซบลู โดยมอตตาจะแก้เกมด้วยการให้กองหน้าถอยลงมา สร้างความได้เปรียบในจำนวนผู้เล่นกองกลาง และมักจะประสบความสำเร็จในการทำลายแนวรับของคู่แข่ง ซึ่งเป็นไปได้ที่เซ็นเตอร์แบ็คจะตามไปประกบกองหน้า นั่นเป็นโอกาสให้โบโลญญาเข้าไปทะลวงพื้นที่ว่างที่อยู่ข้างหลัง

The Football Analyst มองว่าการเล่นของโบโลญญาเป็นไปในลักษณะที่มอตตาเคยให้สัมภาษณ์ปลายปี 2018 คือ เล่นเกมบุก คอนโทรลเกมได้ ไฮ-เพรสซิ่ง และเต็มไปด้วยการเคลื่อนที่ทั้งขณะมีหรือไม่มีบอล ส่วนใหญ่จะทำเช่นนั้นไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะใช้รูปแบบไหนมาต่อกร หลักการสำคัญข้อหนึ่งที่มอตตาทำได้สำเร็จคือ สร้างความไหลเวียนภายในระบบของทีมผ่านinterchanges และ rotations หลายรูปแบบ

ตัวอย่างเช่น มอตตาต้องการให้เซ็นเตอร์แบ็คของโฮลดิ้งมิดฟิลด์โรเตทและเปลี่ยนตำแหน่งกันเพื่อทำให้ฝ่ายตรงข้ามสับสน บ่อยครั้งที่มิดฟิลด์ตัวรับถอยลงเพื่อลากกองกลางคู่แข่งขันตามมา ซึ่งจะเปิดพื้นที่ว่างตรงกลาง เซ็นเตอร์แบ็คจะวิ่งเข้าไปใน open space นั้นเพื่อรับบอลและลำเลียงขึ้นไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การเล่นลักษณะนี้ได้ต้องอาศัยทักษะเชิงแทคติกและเทคนิคจากนักเตะเป็นอันมาก การไหลเวียนภายในระบบจะสร้างไดนามิกใหม่และหลากหลายให้กับเกมบุกของโบโลญญา อีกทั้งยังช่วยเพิ่มทางออกใหม่ๆในการเอาชนะเพรสซิ่งของทีมคู่แข่งด้วย

ในส่วนของเกมรับก็ไม่แตกต่างจากบิลด์อัพและเกมบุก โบโลญญาจะมีทั้ง high press และ low press ทีมของมอตตาจะดูดุดันแม้ทั้งจังหวะไม่มีบอลเช่น high press มอตตาต้องการให้นักเตะตามประกบคู่แข่งแบบ man-to-man และเข้าเพรสซิ่งอย่างเข้มข้น ทีมรอสโซบลูมักจะแย่งบอลได้บริเวณพื้นที่ด้านบนของสนามเสมอ แน่นอนบ่อยครั้งที่พวกเขาได้ประตูจากไฮเพรส

สำหรับ low press โบโลญญาจะปรับฟอร์เมชันเป็น 1-4-5-1 สร้าง mid-block เพื่อปิดพื้นที่บริเวณกลางสนาม บีบให้คู่แข่งออกบอลไปด้านข้าง มอตตาต้องการให้ลูกทีมประกบมิดฟิลด์ฝ่ายตรงข้ามแบบ man-mark อย่างไรก็ตามโบโลญญามีเกมรับที่ไดนามิกสูง แปรเปลี่ยนไปตามการเล่นของคู่แข่ง นอกจาก 1-4-5-1 ยังอาจเป็น 1-4-1-4-1 หรือ 1-4-2-3-1 ได้อีกด้วย

2-7-2 อาจเป็นการจิกกัดด้วยอารมณ์ขันของโค้ชหัวก้าวหน้า

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ transfermarkt ในการแข่งขันฤดูกาล 2023-24 ฟอร์เมชันที่โบโลญญาใช้เป็นหลักคือ 4-2-3-1รองลงมาคือ 4-1-4-1 บางครั้งเป็น 4-3-3 Attacking ซึ่งก็ตรงอย่างที่มอตตาพยายามสื่อปรัชญาฟุตบอลของเขากับลา กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต เมื่อกว่า 5 ปีที่แล้วว่า เขาเพียงต้องการตีความฟอร์เมชันให้แตกต่างจากลักษณะเดิมๆที่ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะการเล่นที่แท้จริงเลย เขาจึงอ่านฟอร์เมชันด้วยวิธีใหม่คือจากด้านข้างของสนาม ซึ่งเมื่อเวลาผ่านเลยจนถึงตอนนี้ 2-7-2 อาจเป็นเพียงอารมณ์ขันเชิงจิกกัดตามประสาโค้ชใหม่ไฟแรงที่มีความเป็นศิลปินซุกซ่อนอยู่

เราสามารถมองอีกมุมหนึ่งได้ว่า แนวคิดที่ให้สัมภาษณ์ปลายปี 2018 ถือเป็นไอเดียหัวก้าวหน้าเพราะทุกวันนี้ ไฮเพรสซิ่ง, การให้ความสำคัญกับเปอร์เซ็นต์การครองบอล, โรเตชันและทรานซิชันตำแหน่งระหว่างผู้เล่น ถือเป็นแทคติกปกติและได้รับความนิยมในหมู่สโมสรชั้นนำไปแล้ว

ดังที่ The Football Analyst ได้สรุปบทวิเคราะห์แทคติกของโบโลญญาว่า เห็นได้ชัดมอตตามีกลยุทธ์ที่ซับซ้อน ซึ่งสามารถยกให้เป็นวิวัฒนาการของปรัชญาฟุตบอลก็ไม่ผิดความจริงนัก สร้างสรรค์ให้เกิดรูปแบบการเล่นใหม่ๆที่ทันสมัยและมีชีวิตชีวา นำไปสู่เกมฟุตบอลที่สวยงามมอบแก่ผู้ชม

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

พรีเมียร์ลีกกับปรากฎการณ์ Goal Explosion ในซีซั่น 2023-24

เกมพรีเมียร์ลีกนัดตกค้างเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2024 ที่วิทาลิตี สเตเดียม ลูตัน ทาวน์ ทีมเยือนที่อยู่เหนือโซนตกชั้น ขึ้นนำบอร์นมัธ 3-0 เมื่อจบครึ่งแรก แต่ครึ่งหลังเริ่มไปได้เพียง 5 นาที เจ้าบ้านก็ตีไข่แตก ตามด้วยประตูที่ 2-3 นาทีที่ 62 และ 64ก่อนแซงนำนาทีที่ 83 และเป็นฝ่ายชนะลูตัน 4-3 เป็นอีกหนึ่งนัดที่ถูกบันทึกฐานะ the greatest comebacks ในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก

หากวางเงินข้างบอร์นมัธ 10 เหรียญสหรัฐระหว่างพักครึ่ง จะได้เงินตอบแทนถึง 150 เหรียญสหรัฐจากการแข่งขัน ซึ่งเป็นนัดแรกในรอบ 21 ปี ของพรีเมียร์ลีกที่ทีมพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะหลังตามอยู่ 0-3 เมื่อจบครึ่งแรก และยังเป็นครั้งที่ 5 เท่านั้นในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก

ขอบคุณภาพจาก  https://www.premierleague.com/news/3930809

4 ทีมที่ทำสำเร็จก่อนหน้านี้ได้แก่ ลีดส์ (ชนะดาร์บี ในเดือนพฤศจิกายน 1997), วิมเบิลดัน (ชนะเวสต์แฮม ในเดือนกันยายน 1998), แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (ชนะทอตแนม ฮอทสเปอร์ส ในเดือนกันยายน 2001) และวูลฟ์แฮมป์ตัน (ชนะเลสเตอร์ ในเดือนตุลาคม 2003)

ไรอัน โอ‘แฮนลอน นักข่าวของเว็บไซต์ ESPN.com ยกเกมระหว่างบอร์นมัธกับลูตันเป็นตัวอย่างเพื่อจะบอกว่า การทำสกอร์กันมากมายไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2023-24 ยืนยันด้วยสถิติย้อนหลังกลับไป 15 ปีถึงซีซัน 2008-09

แนวโน้มพรีเมียร์ลีกยิง 200 ประตูเพิ่มจากซีซัน 2022-23

จากกราฟแสดงค่าการทำประตูเฉลี่ยต่อนัดในพรีเมียร์ลีกช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จำนวนค่อนข้างใกล้เคียงกันระหว่าง 1.24ประตู ถึง 1.43 ประตูต่อนัด ไม่สามารถเบรกหรือทะลุแนว 1.5 ประตูได้เลย จนกระทั่งซีซันนี้ (นับจนถึงก่อนเบรกฟุตบอลทีมชาติในเดือนมีนาคม 2024) พบว่าตัวเลขพุ่งถึง 1.63 ประตูต่อนัด 

เราสามารถมองปรากฏการณ์ Goal Explosion ได้อีกรูปแบบหนึ่งด้วยการคำนวณค่าเฉลี่ยตลอด 15 ซีซันที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับ 1.37 ประตูต่อนัด หรืออีกนัยหนึ่ง ทีมๆหนึ่งจะทำสกอร์ได้ 52 ประตูจากการลงสนาม 1 ซีซัน 38 นัด ดังนั้นซีซันปัจจุบันใช้ตัวเลข 1.63 ประตูมาคำนวณ ทีมๆหนึ่งจะทำสกอร์ได้ประมาณ 62 ประตูเมื่อแข่งครบโปรแกรม 38 นัด

เมื่อนำ 52 ลบจาก 62 จะได้ว่า ทีมๆหนึ่งสามารถทำสกอร์ในซีซันนี้ได้มากกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 10 ประตู และเมื่อพรีเมียร์ลีกมี 20 สโมสร เท่ากับว่าฤดูกาล 2023-24 แฟนบอลอังกฤษจะได้เห็นการทำประตูเพิ่มขึ้นถึง 200 ลูกทีเดียว!!! ลองนึกภาพว่ามันมากมายขนาดไหนหากนำจังหวะการทำสกอร์ทั้งหมดรวมเป็นวิดิโอไฮไลท์ 1 คลิป ซึ่งสามารถอธิบายให้เห็นภาพ Goal Explosion ได้ชัดเจนขึ้น

จริงหรือประตูเพิ่มเพราะสิงห์เชิ้ตดำเพิ่มเวลาทดเจ็บ

หนึ่งในเหตุผลที่จำนวนประตูในพรีเมียร์ลีกเพิ่มเป็นเพราะเวลาแข่งขันเพิ่มขึ้น หรือ More time equals more goalsเนื่องจากฟุตบอลลีกอังกฤษตัดสินใจทำตามฟีฟาในฤดูกาล 2023-24 หลังจากมีการทดลองเพิ่มเวลาให้กับช่วงทดเวลาเจ็บในศึกลูกหนังเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ 

ฮาวเวิร์ด เวบบ์ ประธานของคณะกรรมการผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพในอังกฤษ (PGMOL) เคยให้สัมภาษณ์ก่อนเปิดซีซันนี้ว่า เวลาที่เพิ่มขึ้นจะโฟกัสจากจังหวะการทำประตู การเปลี่ยนตัวผู้เล่น การให้ใบแดงและการลงโทษใดๆ ทุกอย่างยังเป็นไปเหมือนเดิมยกเว้นแทคติกถ่วงเวลาจะได้รับการเฝ้ามองแบบเข้มข้นขึ้น โดยซีซันที่แล้ว พรีเมียร์ลีกทดเวลาเจ็บประมาณ 8.5นาที แต่หากนำวิธีการใหม่เข้าไปใช้ ช่วงเวลาเจ็บซีซันที่แล้วน่าจะอยู่ที่ 11.5 นาที หรือเพิ่มขึ้นราว 3 นาที

ณ เวลาที่โอ’แฮนลอน เขียนบทความชิ้นนี้ พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2023-24 แข่งขันถึงแมตช์วีคที่ 28 ซึ่งพบว่า กรรมการได้เพิ่มเวลาพิเศษเข้าไปเฉลี่ย 11.9 นาทีต่อนัด ซึ่งถือได้ว่าเวบบ์ประมาณการได้ใกล้เคียงความจริงมาก

11.9 นาทีต่อเกมที่เพิ่มจากเวลาแข่งขันปกติ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยตลอด 15 ซีซันก่อนหน้านี้  เส้นกราฟที่สร้างจะเข้าข่าย Added-Time Explosion ได้เช่นกัน เพราะระหว่างซีซัน 2008-09 ถึง 2021-22 ค่าเฉลี่ยของเวลาทดเจ็บอยู่ในกรอบ 6-8 นาที ก่อนจะทะลุเพดานขึ้นไปเกือบ 9 นาทีในซีซัน 2022-23 ที่ผ่านมา และเฉียด 12 นาทีในซีซันปัจจุบันที่ยังแข่งไม่จบโปรแกรม

สถิติพรีเมียร์ลีกซีซันนี้ระบุว่า มีสกอร์เกิดขึ้นรวมแล้ว 119 ประตูระหว่างช่วงทดเวลาเจ็บของครึ่งแรกและครึ่งหลัง เทียบกับ 84 ประตูที่เกิดขึ้นเต็มซีซัน 2022-23 และมากกว่าค่าเฉลี่ยจาก 15 ซีซันที่ผ่านมา 16 ประตู โดยสถิติสูงสุดเท่ากับ 103 ประตู ซึ่งเกิดขึ้นในซีซัน 2016-17 และอย่าลืมว่าซีซันนี้ยังเหลือการแข่งขันเกือบ 100 นัด

ดูเหมือนเป็นความจริงที่ว่า More time equals more goals เพราะเทียบกับ 15 ซีซันก่อนหน้า การทดเวลาเจ็บซีซันนี้เพิ่มขึ้น 73% ขณะที่ค่าเฉลี่ยที่ประตูเกิดขึ้นระหว่างทดเวลาเจ็บยังเพิ่มจากนัดละ 0.11 ประตูเป็น 0.21 ประตู หรือประมาณ 90% ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล เคลีย์ นักวิเคราะห์เกม ได้แสดงความเห็นผ่านจดหมายข่าว Expecting Goals ของเขาว่า อย่างที่ทราบกัน ประตูไม่ได้เกิดขึ้นกระจายไป ณ เวลาต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน ประเมินอย่างหยาบๆ 56% ของประตูทั้งหมดเกิดขึ้นในครึ่งหลัง โดยความน่าจะเป็นของประตูจะเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อเริ่มคิกออฟครึ่งหลัง แต่ค่าจะทรงตัวเกือบตลอดเวลาที่ผ่านไป ก่อนขึ้นถึงค่าสูงสุดระหว่างการทดเวลาเจ็บ

นั่นจึงไม่แปลกเลยหากสรุปว่า เวลาที่เพิ่มขึ้นของครึ่งหลัง จะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ของการเกิดประตูหรือ Expecting Goals ในแต่ละนัด แต่คงไม่มีใครคาดหวังว่า เวลา 73% ที่เพิ่มขึ้นจาก 15 ซีซันก่อนหน้า จะส่งผลให้จำนวนประตูเพิ่มขึ้น 73% เช่นกัน

ไม่ใช่เพียงช่วงทดเวลาเจ็บ แต่สกอร์ยังเกิดเพิ่มขึ้นในเวลาแข่งขันปกติด้วย จากค่าเฉลี่ย 15 ซีซันก่อนหน้านี้คือนัดละ 1.26ประตู กลายเป็น 1.41 ประตูซีซันนี้ เทียบกับ 1.32 ประตูในซีซัน 2022-23 ถือว่าเพิ่มขึ้นพอสมควร นั่นเท่ากับว่าทีมๆหนึ่งสามารถทำสกอร์เพิ่ม 5.7 ประตูต่อซีซัน หรือ 114 ประตูเมื่อรวมทั้งพรีเมียร์ลีก

เมื่อเวลาแข่งปกติยังคงเป็น 90 นาที แล้วอะไรทำให้ประตูเพิ่มขึ้น สัญชาตญาณแรกของโอ’แฮนลอน บอกว่า “จุดโทษ”

เนื่องจาก VAR โฟกัสการฟาวล์ที่ถูกกรรมการมองข้ามหรือไม่เห็น VAR ย่อมทำให้การยิงจุดโทษเพิ่มขึ้น แต่สถิติก็ชี้ว่าผู้เล่นในพรีเมียร์ลีกยิงแม่นขึ้นเช่นกัน โดย 10 ซีซันนับจากปี 2008 มีเพียง 3 ซีซันที่ conversion rate สูงกว่า 80% ส่วนใหญ่อยู่แถวๆ 78% แต่ 5 ซีซันที่ผ่านมา มีการเบรก 80% เกิดขึ้น 3 ซีซัน ขณะที่ซีซันนี้ ผู้เล่นยิงลูกโทษสำเร็จ 88.5%

อย่างไรก็ตามแม้นักเตะพรีเมียร์ลีกจบสกอร์จาก 12 หลาด้วย conversion rate ที่ดีขึ้น แต่ความจริงแล้วในซีซันนี้ penalty goals เกิดขึ้นในเวลาแข่งปกติเพียงนัดละ 0.11 ประตูเท่านั้น เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 0.09 ประตู ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยจาก 15 ซีซันก่อนหน้านี้ นั่นหมายความว่า จุดโทษไม่ใช่ตัวแปรที่ทำให้พรีเมียร์มีประตูเพิ่มขึ้นมากมายอย่างมีนัยยะ

ถ้าตัดจุดโทษออกไป สัญชาตญาณที่ 2 ของโอ’แฮนลอนบอกว่าอาจเป็น “ลูกเซตพีช” พิจารณาจากสโมสรต่างๆเริ่มให้ความสำคัญกับโค้ชที่เชี่ยวชาญลูกตั้งเตะมากกว่า แต่สถิติปฏิเสธการสันนิษฐานข้อนี้เพราะความจริงแล้ว ประตูส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาจากโอเพน เพลย์

แทคติกเพรสสูงเพิ่มโอกาสรุกทำสกอร์ให้ทั้ง 2 ฝั่ง

นักข่าวของ ESPN.com ยกเครดิตให้กับ เยอร์เกน คลอปป์ และเป๊ป กวาร์ดิโอลา เป็นผู้ส่งอิทธิพลให้ทีมต่างๆในพรีเมียร์ลีกจ่ายบอลและเพรสซิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลที่ตามมาคือ เพรสซิ่งช่วยให้ทีมมีโอกาสทำประตูหลังจากแย่งบอลกลับมาครองบนพื้นที่ด้านบนหรือฝั่งของคู่แข่ง แต่อีกความเป็นไปได้หนึ่ง ทีมที่สามารถแก้เพรสได้แล้วสวนกลับอย่างรวดเร็ว ทะลวงผ่านแนวรับที่ดันตัวเองขึ้นสูง นำไปสู่การทำประตูเช่นกัน

พรีเมียร์ลีกซีซันนี้ จากความพยายามยิงลุ้นประตูทั้งหมดเป็นจำนวน shots ในเขตโทษถึง 67.1% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008เทียบกับ 59% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยช่วง 15 ซีซันก่อนหน้า อีกทั้งยังระยะการยิงเฉลี่ยยังใกล้โกล์มากที่สุดด้วย รวมถึงค่าเฉลี่ย xG ที่สูงขึ้นเช่นกัน

big chances หรือโอกาสทองที่จะเป็นประตู เป็นอีกสถิติที่เพิ่มขึ้นโดยมีผลจากประสิทธิภาพของเพรสซิ่งและการแก้เพรสซิ่งแล้วสวนกลับ แม้ข้อมูลอาจไม่มากนักเมื่อเทียบกับสถิติอื่นๆเพราะการรวบรวมสถิติ big chances เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2010 

พรีเมียร์ลีกซีซันนี้ ทีมๆหนึ่งสร้างโอกาสทองที่ไม่รวมจุดโทษ (non-penalty big chances) เฉลี่ยนัดละ 1.8 เทียบกับ 1.54 ในซีซันที่แล้ว ขณะที่ค่าเฉลี่ยจาก 12 ซีซันก่อนหน้าเท่ากับ 1.33 ซึ่งมองหยาบๆได้ว่า ซีซันนี้เกิด extra big chance ต่อนัดราว 0.5 ประตู

โอ’แฮนลอน ประมวลปรากฎการณ์ Goal Explosion ทั้งหมดและขมวดปมตบท้ายว่า “สถานการณ์พิเศษ” (extra situation) ที่เกิดขึ้นในพรีเมียร์ลีกช่วง 1-2 ปีล่าสุด ต่างส่งผลต่อจำนวนประตู ไม่ว่าเป็นการเพิ่มเวลาของแต่ละครึ่ง รวมถึงประสิทธิภาพการเพรสซิ่งและครอบครองบอล ล้วนส่งผลกระทบต่อมิติต่างๆของเกมฟุตบอลตามทฤษฏี “ผีเสื้อขยับปีก” (Butterfly Effect) 

นั่นทำให้พรีเมียร์ลีกเป็นการแข่งขันฟุตบอลที่สร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับแฟนบอลทั่วโลก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ระดับอารมณ์ของผู้ชมจะขึ้นสู่จุดสูงเมื่อได้เห็นจังหวะเข้าทำประตูและการส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Special Content

หรือว่า “ผู้จัดการทีม” เป็นต้นเหตุ บราซิลยังรอคอยแชมป์โลกสมัยที่ 6

หลังตีเตพ้นตำแหน่งเมื่อจบเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ ทีมชาติบราซิลใช้บริการของกุนซือรักษาการไป 2 คนคือ รามอน เมเนเซส (3 นัด ช่วงกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2023) และ แฟร์นานโด ดินิซ (6 นัด ช่วงกรกฎาคม 2023 ถึง มกราคม 2024) ระหว่างรอ คาร์โล อันเซลอตติ ตอบรับข้อเสนอ แต่ท้ายสุดไม่เป็นดังหวัง ยอดกุนซืออิตาเลียนวัย 64  ปี ต่อสัญญาคุมทีมเรอัล มาดริด ไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2026

นั่นทำให้สมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลเบนเข็มไปดึง โดริวัล จูเนียร์ มาจากสโมสรเซา เปาโล ทั้งที่เฮดโค้ชวัย 61 ปี เพิ่งเข้าทำงานให้สโมสรเป็นรอบ 2 เมื่อเดือนเมษายน 2023 โดยประกาศแต่งตั้งโดริวัลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา

จากโปรแกรมแข่งขันของอดีตแชมป์โลก 5 สมัย โดริวัลจะคุมทีมบราซิลอุ่นเครื่อง 4 นัดกับอังกฤษ, สเปน, เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา ก่อนเข้าร่วมโคปา อเมริกา หรือศึกลูกหนังชิงแชมป์แห่งชาติทวีปอเมริกาใต้ ครั้งที่ 48 ระหว่างวันที่ 20มิถุนายน ถึง 14 กรกฎาคม 2024 ที่สหรัฐอเมริกา

หลังจบโคปา อเมริกา โดริวัลยังมีภารกิจสำคัญคือ เวิลด์คัพ 2026 รอบคัดเลือก โซนอเมริกาใต้ ซึ่งยังเหลืออีก 12 นัด ที่จบโปรแกรมในเดือนกันยายน 2025 แต่บราซิลทำผลงาน 6 นัดแรกต่ำกว่ามาตรฐาน ชนะ 2 นัด เสมอ 1 นัด และแพ้ถึง 3นัด มีเพียง 7 คะแนน รั้งอันดับ 6 ตามหลังจ่าฝูง อาร์เจนตินา 8 คะแนน

อย่างไรก็ตามด้วยชื่อชั้นและเกรดฝีเท้าของนักเตะ บวกการแข่งขันที่ยังเหลือ 12 นัด โดริวัลน่าจะพาบราซิลไต่ขึ้นไปอันดับสูงๆ ไม่ถึงขั้นต้องพึ่งอันดับ 6 ซึ่งเป็นโควตาสุดท้ายของตั๋วอัตโนมัติไปบอลโลก หรืออันดับ 7 ซึ่งต้องแข่งขันเพลย์ออฟกับทีมชาติจากทวีปอื่น

แม้บราซิลเป็นอดีตแชมป์โลก 5 สมัย แต่ว่างเว้นยาวนานกว่า 2 ทศวรรษนับตั้งแต่ชนะเยอรมนี 2-0 นัดชิงชนะเลิศเวิลด์คัพ 2002 ที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นยุคทองของ 3 ประสาน โรนัลโด-ริวัลโด-โรนัลดินโญ รวมถึงตำนานวิงแบ็ค คาฟู-โรแบร์โต คาร์ลอส ทั้งที่บราซิลไม่เคยขาดแคลนนักเตะฝีเท้าระดับซูเปอร์สตาร์ แม้แต่ขุนพลชุดบอลโลกแต่ละสมัยก็แข็งแกร่งเป็นหนึ่งในทีมเต็งแชมป์อันดับต้นๆ

บางทีจุดอ่อนที่ไม่สามารถพา Seleção Canarinha หรือ Canary Squad (ทีมนกคีรีบูน) ไปถึงฝั่งฝันคือ “ผู้จัดการทีม”เพราะนับตั้งแต่ ลุยซ์ เฟลิเป สโคลารี นำถ้วยฟีฟา เวิลด์ คัพ มาสู่มาตุภูมิ บราซิลใช้ผู้จัดการทีมถึง 11 คน รวมรักษาการ และโดริวัลเป็นคนที่ 12 ในรอบ 22 ปี แม้กระทั่งดึงสโคลารีกลับมาคุมทีมรอบที่ 2 ระหว่างกุมภาพันธ์ 2013 ถึงกรกฎาคม 2014

ผลงานของผู้จัดการทีมระหว่าง 2 ทศวรรษล่าสุดที่นำขุนพลแซมบาสู่สมรภูมิบอลโลกได้แก่ คาร์ลอส อัลแบร์โต เปเรยรารอบ 8 ทีมสุดท้าย ปี 2006 ทั้งที่เคยพาทีมชนะเลิศเวิลด์คัพ 1994, ดุงกา รอบ 8 ทีมสุดท้าย ปี 2010, สโคลารี อันดับ 4ปี 2014 และ ตีเต รอบ 8 ทีมสุดท้าย ปี 2018 และ 2022

จะเห็นได้ว่า ฟุตบอลโลก 5 ครั้งหลังสุด บราซิลตกรอบก่อนรองชนะเลิศถึง 4 ครั้ง และผลงานดีที่สุดคือ อันดับ 4 ซึ่งแพ้เนเธอร์แลนด์ 0-3 ในแมตช์ชิงอันดับ 3

กาเบรียล มาร์กอตติ นักข่าวอาวุโสของ ESPN FC เขียนบทวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจถึงสาเหตุว่า ทำไมผู้จัดการทีมชาวบราซิลไม่ประสบความสำเร็จเทียบเท่านักฟุตบอลบราซิล

สโมสรลีกบิ๊ก 5 ยุโรปเมินโค้ชอินพอร์ตจากบราซิล

มาร์กอตติเริ่มต้นด้วยการอธิบายให้เห็นภาพใหญ่ของโค้ชบราซิล … ตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติบราซิลเป็นงานโค้ชงานที่ 26 ของโดริวัลภายในเวลา 22 ปี คิดเป็นค่าเฉลี่ยทำงานแต่ละแห่งไม่ถึง 1 ปีเต็ม แต่โดริวัลก็ไม่ได้แปลกแยกไปจากเพื่อนร่วมชาติที่ทำงานอาชีพโค้ชฟุตบอล

ดินิซ ซึ่งคุมทีมฟลูมิเนนเซก่อนเข้ารักษาการผู้จัดการทีมชาติบราซิลในเดือนกรกฎาคม 2023 ก็ทำงาน 17 แห่งในช่วง 13ปี ขณะที่กุนซือคนก่อนหน้า เมเนเซส ทำงาน 11 แห่งในช่วง 10 ปี แม้กระทั่งตีเต ซึ่งนำทัพ Seleção Canarinha สู่เวิลด์คัพ 2 สมัย เป็นโค้ชทีมชาติบราซิลที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 6 ปี 3 เดือน ก็ยังคุมทีม 17 แห่งในช่วง 25 ปี ก่อนได้รับสัญญาจากสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิล

แน่นอน สมาพันธ์ฯย่อมมองหาตัวเลือกที่ดีที่สุดเพื่อคุมทีมชาติบราซิลที่มีเกียรติประวัติอดีตแชมป์โลก 5 สมัย แต่บางทีอาจเป็น best available ณ ช่วงเวลานั้นที่อยู่ระหว่างคำว่า good กับ great เพราะข้อจำกัดคือ โค้ชดีๆมักติดอยู่กับงานที่กำลังทำ สโมสรจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาโค้ชคนนั้นไว้ ถึงไม่ได้คุมทีมชาติและถูกต้นสังกัดไล่ออกในเวลาต่อมา โค้ชบราซิลไม่ลำบากที่จะหางานใหม่ในระดับใกล้เคียงกัน

วงจรชีวิตของโค้ชบราซิลแตกต่างจากยุโรป การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติ อย่างโดริวัล ระยะคุมทีมนานที่สุดคือไม่ถึง 2 ปีที่ซานโตส ระหว่างกรกฎาคม 2015 ถึงมิถุนายน 2017 เขาเข้ามารับงานกลางฤดูกาล พาซานโตสขึ้นอันดับ 7 และจบอันดับ 3 ในปีต่อมา ก่อนโดนปลดฟ้าผ่าหลังปี 2017 เล่นไปได้เพียง 4 นัด นั่นเป็น 1 จาก 2 ครั้งที่โดริวัลทำงานนานกว่า 1 ปี

เห็นได้ชัดว่า วัฒนธรรมของโค้ชบราซิลแตกต่างจากยุโรปและส่วนใหญ่ของโลก ซึ่งเชื่อว่าโค้ชต้องการเวลาสร้างทีม พัฒนานักเตะ และติดตั้งแนวคิดสไตล์การเล่น แต่โค้ชในเมืองกาแฟไม่ได้มีประสบการณ์เช่นนั้น และถูกมองว่าคงไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมทำทีมในยุโรป

ดังนั้นโค้ชบราซิลน้อยรายมากที่ทำงานใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป สโคลารีไม่ประสบความสำเร็จกับเชลซีในซีซัน 2008-09, วานเดอร์ไล ลักเซมบูร์โก คุมทีมเรอัล มาดริด ไม่ถึง 12 เดือนเมื่อปี 2005, ริคาร์โด โกเมซ มีช่วงเวลาไม่นานนักที่บอร์กโดซ์และโมนาโก, เลโอนาร์โด โค้ชให้กับเอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน ระหว่างปี 2009 ถึง 2011 และติอาโก มอตตา คุมทีมโบโลญญาตั้งแต่กันยายน 2022 ถึงปัจจุบัน

ในโปรไฟล์ต้องใส่เครื่องหมายดอกจันไว้หลังชื่อนั้นๆ สโคลารีได้รับความสนใจจากยุโรปหลังพาบราซิลชนะเลิศเวิลด์คัพ 2002 เริ่มจากสมาคมฟุตบอลโปรตุเกสตามด้วยเชลซี, เลโอนาร์โดเบนเข็มทิศไปรับตำแหน่งผู้อำนวยการหลังทำหน้าที่โค้ชเพียง 2 ปี, มอตตาเล่นให้บาร์เซโลนาขณะอายุ 17 และประสบความสำเร็จกับอาชีพค้าแข้งในสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เคยเล่นให้ทีมชาติอิตาลี และได้รับโค้ชไลเซนซ์ที่ยุโรป

ดูแล้วเป็นเรื่องไม่สมเหตุผลในแง่ความกว้างใหญ่มหาศาลของบราซิล เพียงภาคเหนือก็มีประชากรกว่า 200 ล้านคน มากกว่า 4 ประเทศอดีตแชมป์โลกรวมกันคือ เยอรมนี อาร์เจนตินา อิตาลี และอุรุกวัย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บราซิลผลิตนักฟุตบอลเพื่อส่งออกได้มากมาย จากการศึกษาพบว่ามีนักฟุตบอล 14,405 คนที่เล่นอยู่ในลีกนอกประเทศบ้านเกิดของตัวเอง 135 ลีกทั่วโลก ซึ่งจำนวน 1,289 คนมาจากบราซิล เป็นส่วนสัด 1 ต่อ 11 ทีเดียว

เป็นใครอาจสันนิษฐานต่อว่า ในเมื่อเป็นประเทศที่ผลิตนักเตะเปี่ยมพรสวรรค์ได้มากผ่านองค์ความรู้และประเพณี บราซิลจึงควรผลิตโค้ชระดับท็อปได้มากเช่นกัน ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นตรรกะที่ผิด

และจากการที่นักข่าวอาวุโสของ ESPN FC ได้พูดคุยกับนักข่าว ผู้บริหาร เอเยนต์ และโค้ชที่เคยทำงานในบราซิล ได้พบความจริงคือ ฟุตบอลบราซิลเป็นโลกที่แตกต่าง และไม่ได้สัมพันธ์เพียงยุโรปแต่รวมถึงชาติอื่นในทวีปอเมริกาใต้ด้วย โดยมีหลายตัวแปรที่ทำให้โค้ชบราซิลไม่ได้รับการยกย่องเหมือนนักฟุตบอลร่วมชาติ

แนวคิด “จ้างแล้วไล่ออก” เหนี่ยวรั้งพัฒนาการของโค้ชบราซิล

ข้อสำคัญคือ สโมสรบราซิลมีแนวคิด “hire-and-fire” หรือ “จ้างแล้วไล่ออก” เนื่องจากหมกหมุ่นอยู่กับผลลัพธ์ระยะสั้น ตัวอย่างเห็นได้ชัดจากโดริวัล สโมสรสามารถปลดโค้ชออกหลังผลแข่งแย่ไม่กี่นัด บ่อยครั้งสโมสรจึงเซ็นสัญญาแค่ระยะสั้น แม้มีข้อดีเอื้อต่อสภาพคล่องในการปรับเปลี่ยน แต่ถ้าโค้ชเกิดทำผลงานได้ดี ก็อาจถูกสโมสรอื่นแย่งตัวไปง่ายเช่นกัน

เบื้องหลังแนวคิด “จ้างแล้วไล่ออก” มาจากทีมส่วนใหญ่ในบราซิลใช้ระบบเลือกตั้งประธานสโมสรและบอร์ดบริหาร (ต่างกับยุโรปที่กลุ่มหรือบริษัทเจ้าของพิจารณาแต่งตั้งเอง) จึงต้องอาศัยคะแนนนิยมจากแฟนบอล ผลแข่งขันย่ำแย่ไม่กี่นัดสามารถดึงเสียงโหวตไปให้กับคู่แข่งขัน แม้บราซิลออกกฎหมายใหม่เมื่อปี 2021 เปิดประตูให้แหล่งเงินทุนต่างประเทศเข้ามาครอบครองสโมสร แต่ยังมีจำนวนน้อยนิดได้แก่ วาสโก ดา กามา, โบตาโฟโก, มิไนโร และครูไซโร

ขอบคุณภาพจาก  https://en.as.com/en/2017/12/15/soccer/1513337545_179071.html

ขอบคุณภาพจาก  https://en.as.com/en/2017/12/15/soccer/1513337545_179071.html

เทียบกับสโมสรยุโรปที่เจ้าของทีมคือเจ้าของเงินลงทุน จึงอาจอดทนกับโค้ชได้นานเพราะการไล่ออกหมายถึงเสียค่าชดเชยหรือต้องจ่ายค่าจ้างต่อทั้งที่มีโค้ชใหม่เข้ามาทำงานแทน แต่ที่บราซิล ประธานสโมสรและบอร์ดบริหาร ซึ่งได้รับเลือกจากฐานแฟนบอล ไม่ได้ใช้เงินตัวเองในการทำทีมฟุตบอล พวกเขาเป็นเพียงบุคลากรที่ถูกว่าจ้างและบริหารทีมฟุตบอลด้วยทรัพย์สินของสโมสร

แนวคิด “จ้างแล้วไล่ออก” ที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกของคะแนนเสียง สามารถสะท้อนผ่านตัวอย่างของเรนาโต เกาโช ซึ่งเข้าๆออกๆตำแหน่งโค้ชของเกรมิโอเป็นรอบที่ 4 ขณะนี้ และยังมีอีก 4 รอบที่ฟลูมิเนนเซ แม้กระทั่ง 1 ครั้งกับฟลาเมงโก ทีมคู่อริของฟลูมิเนนเซ ส่วนโดริวัลก็คุมทีมฟลาเมงโก 3 รอบ และเซา เปาโล กับซานโตส ทีมละ 2 รอบ เป็นความแตกต่างชัดเจนเทียบกับวงจรชีวิตโค้ชในยุโรป

ในเมื่ออาชีพไม่มีความมั่นคง จึงไม่มีเหตุผลเลยที่โค้ชต้องเสี่ยงกับวิสัยทัศน์สร้างทีมระยะยาว ทำไมต้องทำเมื่อผลแย่ๆไม่กี่นัดสามารถส่งให้ตกงาน การใส่ไอเดียใหม่ๆและพัฒนานักเตะหนุ่มๆล้วนต้องอาศัยเวลาที่ไม่เคยมีสำหรับโค้ชบราซิล ซึ่งคนอื่นไม่สามารถตัดสินว่าผิดหรือถูกเพราะเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนยุโรป ซึ่งเอื้อให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์กับงานแทคติกและนวัตกรรมมากกว่า

ไลเซนส์-ภาษา-เหยียดเชื้อชาติ เป็นอุปสรรคขวางในทวีปยุโรป

นอกเหนือลักษณะโครงสร้างการบริหารของสโมสรบราซิล ยังมีตัวแปรเล็กๆน้อยๆที่มีผลต่อพัฒนาของผู้มีอาชีพโค้ช

เริ่มจากค่านิยมของยุโรปที่มีต่อโค้ชอิมพอร์ตจากเมืองกาแฟ สโมสรที่เล่นในแชมเปียนส์ ลีก ไม่สนใจว่าจ้างโค้ชบราซิลแล้ว (อาจยกเว้นหากบราซิลชนะเลิศเวิลด์คัพ 2026) โค้ชที่มีรีซูเมกับทีมระดับบิ๊กในบราซิลอาจได้งานจากสโมสรกลางตารางค่อนไปทางด้านล่างของลีกบิ๊ก 5 ยุโรป (ถ้าพาทีมรอดตกชั้นได้ อาจมีสโมสรที่ใหญ่ขึ้นหันมามอง)

ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าโค้ชบราซิลออกจากบ้านเกิด พวกเขามีโอกาสมากกว่าที่ตะวันออกกลางหรือเอเชียเช่น สโคลารี ซึ่งเพิ่งอำลามิไนโร สถานที่ทำงานแห่งที่ 31 ในรอบ 42 ปี เคยคุมทีมในซาอุดิ อาระเบีย, คูเวต, ญี่ปุ่น, อุซเบกีสถาน และจีน

สโมสรยุโรปไม่ยอมรับไลเซนส์ที่ออกในบราซิล โค้ชที่ได้รับการพิจารณาจึงมักมีความสำเร็จให้จับต้องได้ระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นช่วงเล่นฟุตบอลก็ได้ดังตัวอย่างที่ยกข้างต้น แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่โค้ชหนุ่มไฟแรงจากบราซิลจะค่อยๆไต่เต้าจากฐานของโค้ชพีรามิดในยุโรป ดังนั้นโค้ชบราซิลบางส่วนจึงเดินทางไปร่ำเรียนโค้ชคอร์สในต่างประเทศ อาร์เจนตินาเป็นตัวเลือกหนึ่ง บางคนอาจเป็นโค้ชหลังเลิกเล่นฟุตบอลในยุโรป

ภาษาเป็นอุปสรรคหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เชื่อ โปรตุกีสเป็นภาษาหลักที่ใช้ในบราซิล เชื่อหรือไม่โค้ชบราซิลแทบพูดภาษาอังกฤษหรือสแปนิชไม่ได้เลย เหตุผลคือบราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาต่างชาติ ดังนั้นลำพังหาโค้ชบราซิลที่ผลงานดีๆยังยาก สโมสรยุโรปยิ่งไม่อยากเสียเงินเพิ่มด้วยการจ้างล่าม

โปรตุเกสน่าจะเป็นเป้าหมายที่ดีสำหรับโค้ชบราซิล แต่กลับเป็นนักฟุตบอลที่แห่แหนไปค้าแข้งในลีกแดนฝอยทอง ส่วนโค้ชนั้นแทบนับนิ้วได้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แถมยิ่งเป็นไปได้ยากเพราะตอนนี้โปรตุเกสผลิตโค้ชเก่งๆมากขึ้นเรื่อยๆ 

ปิดท้ายด้วยผลสำรวจจากสโมสร 96 ทีมที่แข่งขันในลีกบิ๊ก 5 ของยุโรป พบว่ามีผู้จัดการทีมที่ไม่ใช่คนยุโรปแค่ 8 คนเท่านั้น จึงแทบไม่มีโอกาสเลยสำหรับโค้ชต่างทวีป และน้อยมากถึงมากที่สุดสำหรับโค้ชบราซิล

3 คนเป็นอดีตนักบอลที่เล่นอย่างยาวนานในยุโรปและไม่เคยออกไปจากพื้นแผ่นดินใหญ่หลังแขวนสตั๊ดได้แก่ ติอาโก มอตตา ของโบโลญญา, เมาริซิโอ โปเชตติโน ของเชลซี และ เปลเลกริโน มาตาราซโซ ของฮอฟเฟนไฮม์, 2 คนเป็นผู้จัดการทีมที่มีผลงานเข้าตาในฟุตบอลโลกได้แก่ อังเก ปอสเตโคกลู ของสเปอร์ส และ ฮาเวียร์ อากีร์เร ของมายอร์กา, อีก 2 คนคือ ดีเอโก ซีเมโอน ของแอตเลติโก มาดริด กับ เมาริซิโอ เปลเลกริโน ของคาดีซ ต่างเคยเล่นในยุโรปเป็นเวลาหลายปีและพิสูจน์ฝีมือคุมทีมในอาร์เจนตินา ก่อนกลับมาใช้ชีวิตในยุโรป ส่วน มานูเอล เปลเลกรินี ของเบตีส เป็นคนเดียวที่ไม่เคยค้าแข้งในยุโรป และไม่เคยคุมทีมชาติหรือกระทั่งสโมสรในลีกบิ๊ก 5 ยุโรป

ปูมประวัติศาสตร์ทีมชาติบราซิล มีผู้จัดการทีมทั้งหมด 84 คน (กลุ่มสตาฟฟ์โค้ชนับเป็น 1 เช่น รูเบน ซัลเลส และซัลวิโอ ลาเกรกา ซึ่งร่วมกันคุมบราซิลเตะแมตช์ทางการนัดแรกในปี 1914 เป็นเกมกระชับมิตรกับสโมสร เอ็กซ์เซเตอร์ ซิตี) พบว่าไม่ใช่ชาวบราซิลเพียง 3 คน คือ รามอน พลาเตโร (อุรุกวัย) ที่คุมทีมกับโจอาคิม กิมาเรส เมื่อปี 1925, โฮเรกา (โปรตุเกส) ที่คุมทีมกับฟลาวิโอ คอสตา เมื่อปี 1944 และ ฟิลโป นูเญซ (อาร์เจนตินา) ซึ่งคุมทีมแค่นัดเดียวในเดือนกันยายน 1965 

แต่ละคนมีช่วงเวลาสั้นมากกับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติบราซิล และนับจากนูเญซนานเกือบ 60 ปีที่สมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลไม่เคยเซ็นสัญญากับโค้ชต่างชาติ แม้กระทั่งความพยายามล่าสุดที่จะปฏิวัติครั้งใหญ่ด้วยการดึงกุนซือระดับโลกอย่างอันเซลอตติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Seleção Canarinha ชูถ้วยฟีฟา เวิลด์คัพ สมัยที่ 6 ยังล้มเหลว

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer)