Categories
Football Tactics

คลอปป์ถึงพอตเตอร์ : เขามีครบทุกอย่างที่ยอดโค้ชจะต้องมี เป็นนักคิดค้น และนักแสวงหา

คลอปป์ใช้คำว่า พอตเตอร์ มี all you need หรือมีครบ และเลือกคำได้สวยว่า innovator ที่ผมแปลว่า นักคิดค้น แทนนวัตกร และ advanturous ผมไม่ได้แปลว่า ผจญภัย แต่เลือกคำว่า แสวงหา (หนทางใหม่ ๆ ในการทำทีม)

คู่ควร และเหมาะสมครับกับ 2 เกมดี ๆ ผ่านแมนฯซิตี้ ที่ขนาดแพ้ 1-4 ยังได้รับชื่นชม และเกมนี้ที่ยันเสมอหงส์แดงได้ 2-2 ทั้งที่ตามหลัง 0-2 ในแอนฟิลด์

สิ่งที่ควรสังเกต คือ เฮนโด้ ไม่ได้ยืนตำแหน่ง “เบอร์ 6” สกรีนหน้าไลน์รับ (ไม่ได้บอกว่า ผิด นะครับ เพราะด้วยเหตุนี้ กัปตันเลยเติมรุก เล่นสามเหลี่ยม และสร้าง combination กับเพื่อนได้ รวมถึงยิง 1-0 ได้ – เคอร์ติส โจนส์ ยืนต่ำกว่าด้วยซ้ำ)

แต่ทว่า เกรแฮม พอตเตอร์ น่าจะทราบดีว่า ฟาบินโญ เจ็บ และเฮนโด จะเล่นอย่างไร ดังนั้นจึงส่ง เลอันโดร ทรอสซาร์ด ลงมาเป็น False 9 และเล่นหน้าแทน นีล โมเปย์

ทรอสซาร์ด ในภาพเรียกได้ว่า มีพื้นที่รับบอลระหว่างผู้เล่น (pocket) แบบสบาย ณ จุดที่ นาบี้ เกอิตา ยังอยู่ในสนาม

จะเห็นได้ว่า เลอันโดร ทรอสซาร์ด ดร็อปตัวลงเพิ่มจำนวน และสร้างโจทย์ให้เกมรับหงส์แดงซึ่งในภาพ อิบู โคนาเต ไม่ได้แย่กับการตัดสินใจตามลงประชิด แต่หากจะดีต้องไม่ให้ดาวเตะเบลเยียมพลิกเล่นได้ เพราะในภาพ ยาคุป โมเดอร์ กำลังวิ่งพาเทรนท์ ไปหาที่ว่างเพื่อรับบอลแล้ว

ปล.จะเห็นเช่นกันว่า เฮนเดอร์สัน ยังอยู่สูงกว่า อ๊อกซ์เลด และทำหน้าที่รุกขึ้นไปต่อสู้ เพื่อตัดเกมแดนบนที่นัดนี้เรามีคนแบบกัปตันในแดนกลางน้อยไป

นี่คือ ตำแหน่งคลาสสิค False 9 เพราะ เลอันโดร ทรอสซาร์ด ยืนทั้งระหว่างคู่เซนเตอร์ฮาล์ฟ อิบู และ VvD และยืนต่ำกว่าไลน์รับเล็กน้อย เรียกได้ว่า พร้อม และเชื้อเชิญให้มิดฟิลด์นกนางนวลประเคนบอลให้เหลือเกิน

ขณะที่จะเห็นว่า “ช่องวาง” ระหว่างไลน์รับ กับมิดฟิลด์นั้นมีซึ่งพอรับได้ แต่ปัญหา คือ ไบร์ทตันไม่ควรได้โอกาสออกบอลง่ายเกินไปสู่ False 9 ของพวกเขาเช่นกัน

ที่ว่างด้านหลังเทรนท์ที่ตอนนี้กลายเป็น อิบู รับผิดชอบแทนคือ ประเด็น และจะเห็นถึงความเสี่ยงเนื่องจากทั้ง เลอันโดร ทรอสซาร์ด, ยาคุป โมเดอร์ และมาร์ก กูกูเรยา พร้อมเติมพร้อม ๆ กัน ขณะที่หงส์แดงมีตัวพร้อมรับมือเพียงคนเดียว

ครึ่งหลังเกิดสถานการณ์ลักษณะนี้บ่อย หรือคือ กูกูเรยา ได้บอลแบบไม่มีตัวประกบ และผ่านให้ ทรอสซาร์ด ในพื้นที่หน้าไลน์ หรือ pocket ระหว่างผู้เล่นไปสร้างสรรค์เกมต่อ หรือทำประตูได้ (รับบอลจาก ลัลลานา หลุดไปยิง 2-2)

Categories
Football Tactics

Inverted Full-back

พอดีเห็น “อึน ๆ” กันจากเกม แอตเลติโก มาดริด – ลิเวอร์พูล นะครับ ผมซึ่งได้คุยหลังเกมกับโค้ชบ้านเราหลาย ๆ ท่านเป็นประจำหลังแมตช์ใหญ่ ๆ อยู่แล้วให้บังเอิญว่าได้รับสิ่งนี้จากอีกเกม คลับ บรู๊ก – แมนฯซิตี้ มาฝากจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ

เรื่อง Inverted Full-back หรือแบ็คหุบใน

แน่นอนครับ เจา กานเซโล หรือไคล์ วอล์คเกอร์ ภายใต้แท็คติกส์ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ใช้แท็คติกนี้เป็นประจำอยู่แล้ว จะว่าไป เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ก็ด้วยอ่ะนะครับในบางจังหวะของเกม

แบ็คหุบใน หรือ Inverted Full-back คืออะไร? ติดตามอ่านกันได้เลยครับ ง่าย ๆ 3 ภาพ หวังว่าคงจะชอบ และหวังใจว่าจะช่วยให้พวกเรา “เข้าใจ” The beautiful game มาก ๆ ยิ่งขึ้น และมีความสุขมากขึ้นกับการชมฟุตบอลนะครับ

เจา กานเซโล ในบทบาท Inverted Full Back วิ่งตัวเปล่าจากบริเวณที่หุบในเข้ามากลางสนามเข้าสู่กรอบเขตโทษโดย “ไทม์มิ่ง” อย่างยอดเยี่ยมกับบอลชิพตักโด่งหลังไลน์ของ ฟิล โฟเดน

ดาวเตะโปรตุกีส ยังเฟิร์สทัช “พักอก” ได้งดงาม และสะกิดบอลผ่านลอดขา ซิมง มิโญเลต์ เข้าประตูไป จบบทบาทพิเศษของฟูลแบ็คหุบในที่ทั้งช่วยเติมโดยโพสิชั่นนิ่งตัวเองเกมกลางสนาม และยังหาจังหวะขึ้นมาทำประตูได้อีกด้วย

ไคล์ วอล์คเกอร์ ก็เช่นเดียวกันที่อาศัยความรวดเร็วทั้งเคลื่อนที่ (วิ่ง) และรับบอลจากจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้อยู่ริมเส้นเหมือนแบ็คทั่วไป และหุบมาด้านในเสมือนมิดฟิลด์ ประสานงานกับเพื่อน และเลี้ยงบอลทะลวงเข้าสู่พื้นที่ half space ก่อนยิงประตูซึ่งไว้โอกาสหน้าจะมาพูดถึงเรื่องพื้นที่ Half Space กันครับ

แน่นอนว่า ใน Shape ปกติจะเห็นแมนฯซิตี้ในระบบ 4-3-3 ตามหน้ากระดาษสร้าง Shape ได้สวยขณะรุกได้คล้ายกับ 2-3-2-3 หรือจะเรียกว่า 2-3-5 ก็สุดแล้วแต่

อย่างไรก็ดีจะเห็นบทบาทในพื้นที่ระหว่างไลน์รับ และแดนกลางคู่แข่งของ “2” เควิน เดอ บรอย และแบร์นาโด ซิลวา ที่จะสนับสนุน “3” ตัวบนได้อย่างน่าสนใจ

แน่นอนเช่นกัน ในที่นี้ กานเซโล และวอล์คเกอร์ จะหุบในเข้ามาเสมือนอีกไลน์ยืนร่วมกับมิดฟิลด์ตัวรับแท้ ๆ โรดรี้ โดยมี ลาปอร์ต และดิอาส เป็น “2” สุดท้าย

***ที่น่าสนใจมาก ๆ คือ การยืนตรงกลางเหมือนมิดฟิลด์ และริมเส้นนั้น ใช้ทักษะ เทคนิค และความถนัดต่างกัน ทว่าทั้งวอล์คเกอร์ และกานเซโล สามารถยืน 2 พื้นที่ได้อย่างไม่เคอะเขิน และหาใช่ฟูลแบ็คทุกคนจะคิดหลบในเข้ามายืนได้อย่างสะดวกสบาย***

อย่างไรก็ดีจะเห็นบทบาทของ เอแดร์ซอน ที่สามารถ +1 กลายเป็น “3” ร่วมเซ็ตบอลแรกกับ ดิอาส และลาปอร์ต ได้เช่นกัน

การได้เห็นเชฟแบบนี้ และหากแฟนทีมที่บอลบาลานซ์ไม่สมดุล หรือไม่สม่ำเสมออย่าง แมนฯยูไนเต็ด ได้มาเห็น ท่านก็อาจจะพอมองได้ว่า จริง ๆ แล้ว หากยืนได้ดี มิดฟิลด์ตัวรับอาจไม่จำเป็น และไม่ใช่ทางออกเสมอไป

ฟุตบอลต้องรับ และรุกเป็นทีม มิดฟิลด์ทั้ง 6, 7, 8 คนที่ยูไนเต็ดมีอยู่ไม่ได้แย่ แต่แค่จะเล่นอย่างไรเท่านั้นเอง

สรุป: แมนฯซิตี้ ใช้ กานเซโล่ และวอล์คเกอร์ มาช่วยประคอง และดัน high line รุกสูงทำให้สะดวกเวลารุกแล้วพลาดแล้วจะได้ pressing คืน หรือเวลารุกที่จำนวนตัวผู้เล่นในแดนคู่แข่งก็จะมากเช่นกันครับ

วันหน้า ผมจะนำแท็คติกส์อะไรแบบนี้จากโค้ชบอลมาฝากกันอีก ช่วยไลค์ ช่วยแชร์ให้เกิดประโยชน์กับวงการก็จะเป็นพระคุณมากนะครับ• ลิงก์นี้เป็น Podcast ที่ผมเคยทำไว้กับอาจารย์ >>> https://www.facebook.com/watch/174800352574845/3001521610107874 ลองติดตามดูครับปล.ภาพ และคำอธิบายในภาพอาจไม่ชัดนัก เพราะเพิ่งทำนะครับ แต่ผมได้เขียนคำอธิบายไว้ใน caption แต่ละภาพเพิ่มเติมแล้ว

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

✍📷 อนันต์ อมรเกียรติ

Categories
Football Tactics

Prime Target Area (PTA)

ก่อนเกม “แดงเดือด” แมนฯ ยูไนเต็ด – ลิเวอร์พูล ภาคนี้ ผมมี “มิติ” การครอสส์บอล และจุดนัดพบที่เรียกว่า Prime Target Area (PTA) มาฝากนะครับ โดยต้องขอบคุณ “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ กับข้อมูลเหมือนเดิม

ก่อนอื่น คำถาม คือ ทำไมต้องโยนจากด้านข้าง หรือครอสส์บอลจากด้านข้างสนามเข้าสู่กรอบเขตโทษ?

คำตอบกำปั้นทุบดินที่สุด คือ หากเจาะเข้า “ไข่แดง” ตรงกลาง หรือที่เรียกว่า Zone 14 ซึ่งก็คือ บริเวณเซนเตอร์ฮาล์ฟ ทะลุผ่านหัวกะโหลกกรอบเขตโทษไม่ได้ หรือคือ เล่น “หน้าไลน์” ตรงกลางพื้นที่แนวรับไม่ได้ เพราะคู่แข่งนักษาอาณาเขตสำคัญนี้ได้ดี หรืออีกนัยคือ บีบให้เราต้องเล่นบอลจากพื้นที่ด้านข้าง

การเล่น หรือทำเกมรุกในส่วน Final Third แดนคู่แข่งจากด้านข้างจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่ต้องโยนจากด้านข้าง คือ แนวทางหนึ่งของการรุกจากบริเวณริมเส้น เช่น เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ โยนจากในภาพ คือ Deep area แบบที่เรานิยมเรียกว่า early cross (หากทำด้วยความรวดเร็วก่อนแนวรับจะตั้งกระบวนทาาได้ และทำด้วยจังหวะเวลาเหมาะสม) ก็เพราะพื้นที่ตรงกลางแนวรับนั้นแน่นหนา

ความแน่นหนา เกิดได้จากปัจจัย อาทิ กองหลังฝ่ายตรงข้ามรับแบบ compact ยืนเป็นรถบัส 2 ชั้น และเน้นรับพิเศษบริเวณไข่แดงตรงช่องว่างระหว่างเซนเตอร์แบ็ค หรือช่องระหว่างเซนเตอร์ฯ กับฟูลแบ็ค (Half space) หรือคือ Zone 14 ทั้งหมด ที่เห็นในภาพคือ central area

งานนี้ ฝ่ายรุก จึงต้องหันไปเจาะเกมจากด้านข้างแทน เทรนท์เอง ไม่ได้ถนัดพาบอลไปถึง Wide area และ Goal line area ได้ สุดท้ายก็ต้องรีบโยนจากจุด Deep area เป็นออฟชั่นหลักของตนเอง แต่หากมี จอร์แดน เฮนเดอร์สัน มาช่วยเกมรุกฝั่งขวา หลายครั้งจะเห็น เฮนโด้ สามารถไปได้ถึง Wide area แล้วโยน ได้ หรือจะให้เด็ดกว่านั้น โม ซาลาห์ หรือซาดิโอ มาเน ซึ่งมีความสามารถ และความเร็วในการลากกระชากกินตัวสามารถไปได้ถึง Goal line area ได้ และเด็ดกว่านั้น คือ ซาลาห์ ทำประตูกับแมนฯซิตี้ และวัตฟอร์ด ได้จากการเข้าไปดังกล่าว เป็น 2 ประตู talk of the town โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเข้ากลางด้วยซ้ำ

วกมาตอบคำถาม เมื่อเจาะตรงกลางไม่ได้ จึงต้องเจาะจากด้านข้าง และหากใช้แท็คติกส์การโยนเข้าไป การโยนก็ต้องครอสส์เข้าไปในเขตโทษไปสู่จุดที่เป็นประเด็นวันนี้ คือ PTA

PTA ตามนิยามของปรมาจารย์ลูกหนัง ชาร์ลส ฮิวจ์ส (Charles Huges – ลองเสิร์ชชื่อดูนะครับ) และที่โค้ชน้อย ร่วมทำสรุปมาเป็นภาพ และคำอธิบายประกอบก็คือ พื้นที่เข้าไปในกรอบ 6 หลาประมาณ 2 หลา (1.8 เมตร) และลากออกมาจากเส้นกรอบ 6 หลาจนถึงจุดโทษ หรือคืออีกประมาณ 6 หลา (5.3 เมตร) รวมเป็นยาว 8 หลา และกว้างเท่ากับความยาวกรอบ 6 หลา (ตามภาพ)

ครับ บริเวณ PTA คือ พื้นที่ที่ควรครอสส์ หรือทำเกมจากด้านข้างเข้าสู่กรอบเขตโทษ เพราะเป็นพื้นที่ระหว่างไลน์รับคู่แข่งกับผู้รักษาประตู

คำถาม คือ เทรนท์ หรือใคร ทีมใดก็แล้วแต่ โยนเข้าจุดดังกล่าวไหม? และหากเข้า ทำไมไม่เกิดประสิทธิภาพ

คำตอบมีได้หลากหลาย เช่น คู่แข่งรับต่ำ รับด้วยจำนวนมาก หรือนายทวารออกมากำกับจัดการได้ดี เฉพาะอย่างยิ่ง ลูกโยนจาก Deep area ที่ป้องกันได้ง่ายกว่า

นอกจากนี้ เทคนิคการครอสส์ก็สำคัญ ผมขอยกตัวอย่าง เดวิด เบคแคม หรือคอสตาส ซิมิกาส ที่โยนลักษณะ Whipped cross ซึ่งเร็ว แรง โค้ง แต่ไม่สูง ทำให้กองหลังตัวโตไม่มีประโยชน์ แต่นักเตะแนวรุกจะสามารถพุ่งเข้าชาร์จได้เลย

ไม่ได้บอกว่า เทรนท์ หรือคนอื่น ๆ ครอสส์ไม่ดี แต่การครอสส์ก็เหมือนการเปิดบอลที่มีหลายเทคนิค ฝากไว้เบา ๆ เป็นน้ำจิ้มก่อน “แดงเดือด” และประกอบการรับชมบอลให้สนุก มีความสุขนะครับ

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷✍อนันต์ อมรเกียรติ