Categories
Football Business

GAMBOL X Liverpool FC : ปรากฎการณ์จับแบรนด์สโมสรฟุตบอลระดับโลกของแบรนด์รองเท้าลำลองไทย เพื่อต่อยอด และรักษาความเป็นเบอร์ 1 เอาไว้ยั้งยืนยง

(มี.ค.2565) สร้างกระแส และเกิดแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างไม่น้อยกับกลยุทธ์ทางการตลาดที่แกมโบล (GAMBOL) ผู้นำแบรนด์รองเท้าลำลองอันดับหนึ่งในประเทศไทย เปิดตัวการจับมือทางการค้าร่วมกันกับสโมสรฟุตบอลชื่อดังแห่งพรีเมียร์ลีก ลิเวอร์พูล ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพร้อมการทำการตลาดตามมาให้เป็นฮือฮาก่อนงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา 

แกมโบล ขยับครั้งแรก และเรียกความสนใจจากเหล่าแฟนพันธุ์แท้ หงส์แดง ลิเวอร์พูล ด้วยการเปิด พรีออเดอร์ คอลเลคชั่น GAMBOL Liverpool FC Limited Edition ลิขสิทธิ์แท้จากสโมสรเพียง 1,892 คู่ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 โดยได้รับความสนใจจากสาวก “หงส์แดง”เกินคาด เพราะรองเท้า Limited Edition ล็อตนี้ถูกจองขายหมดเกลี้ยงภายใน 30 นาทีเท่านั้น!

สำหรับการเปิดตัวเมื่อ 19 มี.ค.นั้น ถือว่าเป็นการใช้โอกาสได้ตรงจังหวะ เพราะกระแสความสำเร็จของทีมหงส์แดง กำลังมาแรง และมีโอกาสลุ้นถึง 4 แชมป์ในฤดูกาลเดียว อันส่งผลให้แบรนด์สินค้าที่ associate กับสโมสรลิเวอร์พูลได้รับความนิยม ตอบโจทย์ อันส่งผลสู่เป้าหมายเป็นยอดขายที่ดีได้

จากความสำเร็จของการพรีออเดอร์ที่ผ่านมา หากมองในมุมของการตลาด นี่คือโอกาสในการขยายตลาดต่อไปได้ และทำให้เห็นช่องทางจะผลิตรองเท้ารุ่นพิเศษแบบต่าง ๆ ออกมาอีก เพราะไม่ใช่แค่การเอาใจแฟนบอลของลิเวอร์พูล แต่ยังหมายรวมไปถึงผู้ที่ชื่นชอบรองเท้า ชอบดีไซน์ หรือชอบรองเท้ารูปแบบนี้ที่สามารถตอบโจทย์ตามไลฟ์สไตล์หลากหลายได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามก่อนจะมาเป็น GAMBOL X Liverpool FC ในวันนี้ เบื้องหลังต้องผ่านการทำงานหนัก และใช้เวลามากมายไม่น้อยเลยเดียว

“ที่มาที่ไปของคอลเลคชั่นนี้มาจากการที่มองเห็นถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปัจจุบัน ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ หันมาใส่ใจสุขภาพกัน และการออกกำลังกายกันมากขึ้น จึงใช้โอกาสตรงนี้ วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด เจาะกลุ่มไปทางกีฬาให้มากขึ้น โดยส่วนตัวชอบเรื่องกีฬาอยู่แล้ว และเป็นแฟนหงส์แดงอยู่แล้วด้วย ทำให้เกิดแนวคิดนี้ และเริ่มหาคอนเนคชั่น เพื่อประสานไปทางลิเวอร์พูล”

คุณนิติ กิจกำจาย ผู้อำนวยการ บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ แกมโบล กล่าว

นอกจากนี้คุณนิติ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทาง GAMBOL รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ถือลิขสิทธิ์ Official Licensee ของ สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล เอฟซี (Liverpool FC) และจะได้ทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลา 3 ปี (2022-2024) อันทำให้แกมโบลเป็นแบรนด์รองเท้าลำลองรายแรก และรายเดียวของประเทศไทย ที่จะได้ร่วมงานกับสโมสรฟุตบอลจากอังกฤษ”

ทั้งนี้ ด้วยความที่ GAMBOL Liverpool FC Limited Edition มีความโดดเด่น และตอกย้ำตัวตนของแฟนบอล “หงส์แดง” ด้วยลาย YNWA (You’ll Never Walk Alone) ซึ่งบอกถึงสปิริตได้อย่างชัดเจนผ่านความสำเร็จของการพรีออเดอร์ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงแน่นอนว่า จะมีการปล่อย GAMBOL Liverpool FC Special Collection ออกมาอีกหลายรุ่นเพื่อเอาใจแฟนคลับของสโมสรฟุตบอล รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบสวมใส่รองเท้าแตะ ชื่นชอบงานดีไซน์ โดยจะเป็นรูปแบบรองเท้าแตะแบบหนีบ และรองเท้ารัดสัน ซึ่งมีความแตกต่างกันที่ดีไชน์และลวดลายของแบบรองเท้า เพื่อให้ตอบโจทย์ตามไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของแฟนคลับสโมสรฟุตบอล

“ด้วยดีไซน์ของรองเท้าที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และใช้นวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัย จีโบลด์ เทคโนโลยี (G-Bold Technology) เอกสิทธิ์เฉพาะของแกมโบล (GAMBOL) ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้รองเท้า นุ่ม ทน เบา สวมใส่สบาย บวกกับชื่อเสียงความยิ่งใหญ่ของสโมสร Liverpool Fc ที่มีมาอย่างยาวนาน รวมเข้ากับกลุ่มแฟนคลับของสโมสรที่เหนียวแน่น จึงมั่นใจได้ว่าคอลเลคชั่น GAMBOL Liverpool FC Special Collection จะสามารถครองใจกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแน่นอนในทุกรุ่นที่ผลิตออกมา”

คุณนิติ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับรองเท้าแกมโบลรุ่นพิเศษที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ มีการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยดึงแก่นความเป็นสโมสรลิเวอร์พูล ให้มาเข้ากับแบรนด์ แกมโบล อย่างกลมกลืนที่สุดผ่านแนวคิดซึ่งเกิดจากการคำนึงถึงดีไซน์เสื้อสโมสรในปีที่ผ่านมาประยุกต์เข้ากับลวดลายของรองเท้าให้คงเอกลักษณ์ความเป็นหงส์แดง ในรูปแบบของแบรนด์แกมโบลซึ่งกว่าจะมาเป็น GAMBOL X Liverpool FC ต้องผ่านการดำเนินการที่ยาวนานถึง 7-8 เดือน เพื่อติดต่อสื่อสาร ออกแบบ ปรับปรุงงาน ก่อนจะได้รับอนุมัติจากสโมสรลิเวอร์พูลให้ทำการผลิตได้

ปรากฎการณ์ GAMBOL X Liverpool FC ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะอย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเปิดตัวรองเท้า GAMBOL Liverpool FC Special ถึง 4 รุ่น พร้อมแขกรับเชิญในแวดวงกีฬามากมายไม่เฉพาะแฟนบอลลิเวอร์พูล อย่าง “แจ็คกี้” อดิสรณ์ พึ่งยา หรือนิหน่า สุฐิตา ปัญญายงค์ เท่านั้น แต่เป็นแฟนปิศาจแดง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นำโดย “บอ.บู๋” บูรณิจน์ รัตนวิเชียร และ “พีชชี่” วรันทร สมกิจรุ่งโรจน์ ก็มาร่วมงานด้วยเช่นกันเพื่อเป็นสีสันไม่แบ่งแยกทีม

โดยเฟสแรก GAMBOL จะเปิดตัวสินค้าสู่ตลาดก่อน 2 รุ่น คือ รุ่น LEGENDS ไซส์ 36-46 ราคา 650.- กับ รุ่น SUPER SUB ไซส์ 36-46 ราคา 890.- เพื่อให้กลุ่มลูกค้าที่พลาดการสั่งซื้อเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ได้จองก่อน ซึ่งทั้ง 2 รุ่นที่จะปล่อยออกมานี้ จะเริ่มวางตลาดพร้อมกันในวันที่ 1 เม.ย. ที่จะถึงนี้

ขณะที่อีก 2 รุ่นถัดมา ในชื่อว่า RUSH และ HERO ไซส์ 36-44 จะเริ่มวางจำหน่ายช่วงไหน และราคาเท่าไหร่นั้น สามารถรอติดตามที่หน้าเฟสบุ๊คแฟนเพจ GAMBOL กันได้เลย

ส่วนช่องทางในการสั่งซื้อ แบบ Exclusive นั้นทางลูกค้าแฟนบอล และคุณลูกค้าทุก ๆ ท่านที่สนใจสามารถแวะชมได้ที่ Liverpool FC Official Store และ ช่องทางออนไลน์ GAMBOL Online Shop ตามขั้นตอนต่อไปนี้:

1. เลือกช่องทางในการเข้าสู่ระบบ

2. ระบุที่อยู่ที่ใช้ในการจัดส่งและบันทึกเพื่อไปหน้าถัดไป

3. เลือกช่องทางการจัดส่ง และการชำระเงินพร้อมระบุไซส์ในช่องเพิ่มเติม

4. ตรวจสอบรายละเอียดการชำระเงินยืนยันการสั่งซื้อ

5. แจ้งการโอนเงิน โดยแนบหลักฐานการโอนเงิน6. รอตรวจสอบการชำระเงิน คัดลอก URL เพื่อติดตามสถานะ หรือดูที่ GAMBOL Online Shop

เมื่อมองในเรื่องของแนวโน้มของสินค้าลิขสิทธิ์ลิเวอร์พูลในประเทศไทย ปัจจุบันมีร้านค้าอย่างเป็นทางการแล้วถึง 5 สาขา แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน มีแค่สาขาเดียวเท่านั้น ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของคนไทย ที่มีต่อลิเวอร์พูล และฟุตบอลอังกฤษได้เป็นอย่างดี 

สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ แฟนบอลที่แม้ไม่ใช่แฟนหงส์แดง ลิเวอร์พูล หากอยากให้แบรนด์ในไทยได้ลิขสิทธิ์ดี ๆ แบบนี้ อย่างแรกเลยคือ ต้องช่วยกันอุดหนุน ซื้อสินค้าลิขสิทธิ์แท้ เพราะตรงนี้จะมีผลต่อการได้รับการต่อสัญญาเรื่องลิขสิทธิ์ในอนาคต แต่นั้นก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะยังต้องพิจารณาไปถึงเรื่องความเป็นผู้นำ เป็นผู้ชำนาญการในด้านสินค้านั้น ๆ และความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจด้วย ที่จะเข้ามาเป็นข้อพิจารณาที่ทำให้ได้ลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตข้างหน้าที่จะมี Licensee สโมสรรักทีมอื่น กับแบรนด์ GAMBOL หรือแบรนด์สินค้าอื่น ๆ ได้เพิ่มเติมในอนาคต

สำหรับเรื่องแผนการตลาดเพิ่มเติมนับจากนี้ GAMBOL ยังคงเน้นการทำการตลาดภายในประเทศ แต่จะเป็นการเพิ่มช่องทางการขายให้มีมากขึ้น แต่ก็ไม่หยุดยั้งที่จะขยายการทำการตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเน้นไปที่ตลาด CLMV มากขึ้น 

งานนี้ คงต้องติดตามกันดูว่า GABMOL x Liverpool FC จะก้าวไปประสบความสำเร็จในท้ายที่สุดได้ขนาดไหน และเพียงใด หลังเปิดตัวเรียกกระแสพร้อม ๆ กับโอกาสลุ้น 4 แชมป์ Quadruple ของทีมลิเวอร์พูลได้ดีเหลือเกิน

เรื่อง: ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย

Categories
Football Business

ความเจ็บปวดที่สวยงาม : 117 ปี เชลซี กับอาณาจักร “โรมัน” ที่ใกล้ล่มสลาย

เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่สโมสรฟุตบอลเชลซี ก่อตั้งครบรอบ 117 ปี ซึ่งยุคสมัยที่ดีที่สุดของ “สิงห์บลูส์” คือยุคที่โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรตั้งแต่ปี 2003

แต่ทว่า วันครบรอบการก่อตั้งสโมสรในปีนี้ กลับเป็นวันที่อบราโมวิชต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษประกาศ “คว่ำบาตร” จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

เรื่องราวของเชลซี และยุคทองของเสี่ยหมีจากจุดเริ่มต้นถึงจุดสุดท้ายเป็นอย่างไร วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เส้นทางของเชลซีในศตวรรษแรก

กุส เมียร์ส นักธุรกิจชาวอังกฤษ ได้ลงทุนซื้อสนามกรีฑาสแตมฟอร์ด บริดจ์ โดยมีแผนที่จะเปลี่ยนเป็นสนามฟุตบอล จึงยื่นข้อเสนอให้สโมสรฟูแล่มที่ตั้งอยู่ใกล้กันมาเช่าสนามของตนเอง แต่ถูกปฏิเสธ

ดังนั้น เมียร์สจึงตัดสินใจก่อตั้งสโมสรฟุตบอลของตนเองขึ้นมา ใช้ชื่อว่า “เชลซี” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเขตฟูแล่ม เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 1905 โดยสถานที่ตั้งของสโมสรเป็นผับเก่า ชื่อว่า “เดอะ ไรซิ่ง ซัน ผับ”

อย่างไรก็ตาม เชลซีต้องใช้เวลานานถึง 50 ปี กว่าจะได้แชมป์รายการแรกของสโมสรคือ แชมป์ดิวิชั่น 1 ลีกสูงสุดในขณะนั้น เมื่อฤดูกาล 1954/55 ตามด้วยแชมป์แชริตี้ ชิลด์ ภายใต้การคุมทีมของเท็ด เดร็ก

แต่หลังจากนั้น เชลซีคว้าแชมป์เพิ่มมาได้เพียง 3 รายการ แล้วพอเข้าสู่ช่วงกลางยุค ’70 สโมสรจากลอนดอนทีมนี้ก็เข้าสู่ยุคตกต่ำ ตกชั้นจากลีกสูงสุด ไปใช้ชีวิตอยู่ในระดับดิวิชั่น 2 เป็นส่วนใหญ่

จนกระทั่งในปี 1982 เคน เบตส์ ได้เข้ามาซื้อกิจการของเชลซี ต่อจากทายาทของกุส เมียร์ส อดีตผู้ก่อตั้งสโมสร ด้วยราคาสุดถูกเพียงแค่ 1 ปอนด์เท่านั้น พร้อมทั้งแต่งตั้งแมทธิว ฮาร์ดิ้ง เป็นผู้อำนวยการสโมสรด้วย

ในช่วงต้นยุค ’90 เป็นช่วงที่ลีกสูงสุดเปลี่ยนผ่านจากดิวิชั่น 1 เป็น “พรีเมียร์ลีก” ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูสู่ยุคใหม่ของวงการฟุตบอลอังกฤษ บรรดานักฟุตบอลต่างชาติต่างหลั่งไหลเข้ามาอย่างคึกคัก

เบตส์ และฮาร์ดิ้ง ช่วยกันขับเคลื่อนเชลซีจากทีมท้ายตาราง สู่กลางตารางอย่างมั่นคง นักเตะต่างชาติได้เข้ามาสร้างชื่อในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ เช่น รุด กุลลิท, จิอันลูก้า วิอัลลี่, จิอันฟรังโก้ โซล่า และอีกมากมาย

ในปี 2003 เคน เบตส์ ประกาศขายกิจการของสโมสร ไปให้กับโรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ด้วยราคา 140 ล้านปอนด์ ความสำเร็จของเชลซีตลอดช่วงศตวรรษแรก คว้าแชมป์ได้ทั้งหมด 13 โทรฟี่

อาณาจักร “โรมัน” เขย่าพรีเมียร์ลีก

เส้นทางชีวิตของโรมัน อบราโมวิช ก่อนที่จะเข้ามาเทคโอเวอร์เชลซีนั้น เรียกได้ว่าเป็นคนที่สู้ชีวิตมาไม่น้อยเลยทีเดียว เขากำพร้าพ่อและแม่ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทางเดียวที่จะอยู่รอดคือต้องดิ้นรนหาเงิน

อบราโมวิช ได้เข้าโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือเหมือนเด็กทั่วๆ ไป แต่พออายุ 16 ปี เขาขอลาออกจากโรงเรียน เพราะมองว่าเรียนไปก็ไม่มีประโยชน์ และเริ่มมีรายได้จากการเป็นเซลล์ขายของเล่นที่ทำจากยาง

จากการได้เรียนรู้เรื่องการค้าขายนี่เอง ทำให้อบราโมวิชเข้าใจถึงคำว่า “คอนเน็คขั่น” ก็ได้ผันตัวไปทำธุรกิจใต้ดิน คือการขายน้ำมันเถื่อน โดยมีบอริส เบเรซอฟสกี้ นักการเมืองดังของรัสเซียในยุค ’90 อยู่เบื้องหลัง

ต่อมา อบราโมวิช และเบเรซอฟสกี้ ได้ซื้อกิจการ Sibneft บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของไซบีเรียในราคาไม่ถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และขายให้ Gazprom บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ได้กำไรกว่า 10 เท่า

จนกระทั่งในปี 2000 รัสเซียมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจครั้งสำคัญ เมื่อวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้อบราโมวิชมีอิทธิพลมากขึ้น และมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับปูตินตั้งแต่บัดนั้น

เมื่ออบราโมวิช เข้ามาครอบครองสโมสรเชลซี ในปี 2003 ถือเป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนวงการฟุตบอลอังกฤษเป็นอย่างมาก ท่ามกลางการจับตามองว่า เขาจะมาสร้างภัยอันตรายให้กับรัฐบาลเมืองผู้ดีหรือไม่

แม้ประวัติในอดีตของอบราโมวิชจะเป็นที่ถูกจับผิดอยู่ตลอดเวลา แต่เขามีวิสัยทัศน์ และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำเชลซีประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง จนกระทั่งสร้างยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดยุคหนึ่งของสโมสร

ในฤดูกาล 2004/05 แชมป์รายการแรกในยุคของเสี่ยหมี คือแชมป์ลีก คัพ และตามด้วยแชมป์พรีเมียร์ลีก ซึ่งถือเป็นการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบครึ่งศตวรรษ และฉลองครบรอบ 100 ปี ของสโมสรอีกด้วย

ขณะที่ถ้วยใหญ่สุดของยุโรปอย่างยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เชลซีผ่านเข้าชิงชนะเลิศครั้งแรกเมื่อปี 2008 ที่รัสเซีย ทว่าแพ้จุดโทษแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่หลังจากนั้นก็สมหวัง คว้าแชมป์ได้ 2 สมัย ในปี 2012 และ 2021

โรมัน อบราโมวิช ใช้เวลาเพียง 19 ปี พาเชลซีคว้าแชมป์ได้อย่างน้อย 21 รายการ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ผู้จัดการทีมมากถึง 14 คน แต่ถ้าวิธีการของเขามันได้ผลตามที่ต้องการ ก็คงจะไม่มีใครไปตำหนิได้อย่างแน่นอน

จบแบบเจ็บปวด จากลาอย่างยิ่งใหญ่

ในขณะที่โรมัน อบราโมวิช กำลังสร้างยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเชลซี จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขาก็มาถึง และไม่มีใครคาดคิดว่าจะนำไปสู่จุดจบถึงขั้นต้องออกจากสโมสรในที่สุด

ในปี 2018 อบราโมวิช มีปัญหาเรื่องการต่อวีซ่าเพื่อเข้าประเทศอังกฤษ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับวลาดิเมีย ปูติน ทำให้ต้องตั้งมาริน่า กรานอฟสกาย่า เข้ามาดูแลสโมสรแทน 

แต่อีก 3 ปีต่อมา เสี่ยหมีสามารถกลับเข้าเมืองผู้ดีได้อีกครั้ง ทว่าสถานการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นจนได้ เพราะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ได้ปะทุมากขึ้นจนกลายเป็นสงคราม

ก่อนหน้านี้ อบราโมวิชก็พยายามเอาตัวรอด ด้วยการประกาศขายสโมสรให้เร็วที่สุด แล้วนำเงินที่ได้ไปบริจาคให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน อีกทั้งหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมดก็จะไม่เรียกคืน แต่ก็ไม่เป็นผล

และล่าสุดเมื่อ 2 วันก่อน รัฐบาลอังกฤษประกาศคว่ำบาตร ส่งผลให้มหาเศรษฐีรัสเซีย 7 คนที่ถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนปูติน ถูกอายัดทรัพย์สินทั้งหมด ซึ่งรวมถึงอบราโมวิช เจ้าของสโมสรเชลซีด้วย

อย่างไรก็ตาม อบราโมวิชยังสามารถที่จะขายสโมสรได้ แต่มีเงื่อนไขว่า เขาจะไม่ได้รับเงินจากการขายสโมสรเลยแม้แต่ปอนด์เดียว โดยเงินจากการขายสโมสรทั้งหมดจะเข้าไปที่รัฐบาลอังกฤษ

ขณะที่สโมสรเชลซี ก็ได้รับผลกระทบที่ตามมาจากการคว่ำบาตรไปด้วย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

– ห้ามขายตั๋วเข้าชมการแข่งขันใหม่ ยกเว้นผู้ถือตั๋วปีของสโมสร ยังสามารถเข้าชมได้ตามปกติ

– ห้ามจำหน่ายสินค้าในเมกะสโตร์ของสโมสร และออนไลน์ ส่วนที่อื่นยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ

– ห้ามซื้อ-ขายผู้เล่น และต่อสัญญาฉบับใหม่ให้กับผู้เล่นของสโมสร

– ห้ามใช้เงินเกิน 500,000 ปอนด์ สำหรับการแข่งขันในประเทศอังกฤษ

– ห้ามใช้เงินเกิน 20,000 ปอนด์ สำหรับการเดินทางแข่งขันนอกประเทศอังกฤษ

– ทรี (Three) บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์ชื่อดังของอังกฤษ ขอระงับสัญญาเป็นสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อแข่งขันชั่วคราว

ถึงแม้ว่าโรมัน อบราโมวิช จะต้องยุติบทบาทกับเชลซีแบบไม่เต็มใจเท่าใดนัก แต่สิ่งที่ได้ลงมือทำมาตลอด 19 ปี ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เขาคือเจ้าของสโมสรที่ลงทุน และทุ่มเทจนทีมประสบความสำเร็จสูงสุดของโลกลูกหนังไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Football365

อ้างอิง :

– https://www.bbc.com/sport/football/60689645

– https://www.bbc.com/sport/football/60684038

– https://en.wikipedia.org/wiki/Chelsea_F.C.

Categories
Special Content

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : “พรีเมียร์ลีก” กับการแก้ปัญหาสภาพจิตใจนักเตะเยาวชน

เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ ต่างมีความฝันที่จะเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้ชีวิตที่สุขสบาย ร่ำรวยเงินทอง ชื่อเสียงที่รออยู่ข้างหน้า และภาคภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่พวกเขารัก 

แต่ในบางครั้ง “ความฝัน” กับ “ความจริง” มันไม่ไปด้วยกัน คนจำนวนมากไปไม่ถึงเป้าหมาย ต้องทำอาชีพในสายอื่น หรือบางคนไม่สามารถรับมือกับความผิดหวังได้ ถึงขั้นใช้ชีวิตเสเพล หรือทำร้ายตัวเอง

แล้วในวงการฟุตบอลอังกฤษ มีแนวทางในการแก้ปัญหานักเตะเหล่านี้อย่างไรบ้าง ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

กรณีศึกษาของวิสเท่น

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2020 ได้มีเหตุการณ์ที่ช็อกวงการฟุตบอลอังกฤษ เมื่อเจเรมี่ วิสเท่น อดีตนักเตะอคาเดมี่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น

ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้วิสเท่นเสียชีวิตนั้น มาจากภาวะโรคซึมเศร้า ไม่สามารถสลัดกับความผิดหวังได้ หลังถูกปล่อยตัวออกจากแมนฯ ซิตี้ อันเนื่องมาจากเขาไม่ได้รับสัญญานักเตะระดับอาชีพ

สำหรับวิสเท่น ได้ตัดสินใจเข้าสู่ทีมเยาวชนของ “เรือใบสีฟ้า” เมื่ออายุ 13 ปี ในช่วงแรกที่อยู่กับอคาเดมี่นั้น เขาสามารถฉายแววแก่งให้ทีมสต๊าฟฟ์ได้เห็น เรียกได้ว่าอนาคตที่สดใสรอเขาอยู่ในไม่ช้า

แต่เมื่อวิสเท่นอายุกำลังจะย่างเข้า 16 ปี กลับโชคร้ายสุดๆ เพราะก่อนที่ทางแมนฯ ซิตี้ จะประกาศรายชื่อนักเตะที่ได้รับสัญญาระดับอาชีพ เขามีอาการบาดเจ็บรบกวนบ่อยมาก จนฟอร์มการเล่นไม่สม่ำเสมอ

และท้ายที่สุด แมนฯ ซิตี้ ได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จึงตัดสินใจไม่ให้วิสเท่นไปต่อในฐานะนักเตะอาชีพ อย่างไรก็ตาม ทางซิตี้เองก็พยายามที่จะหาทีมระดับรองลงมาให้เขาได้ลงเล่นต่อไป

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปจนวิสเท่นอายุครบ 16 ปี กลับไม่มีสโมสรใดติดต่อให้ไปโชว์ฝีเท้าเลย ในที่สุดเขาต้องยุติความฝันในการเป็นนักฟุตบอล จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

หัวกะทิเท่านั้นที่จะอยู่รอด

ในอังกฤษ มีเด็กกว่า 1 ล้านคนที่เป็นนักฟุตบอลระดับเยาวชน แต่มีเพียง 1 พันคนเท่านั้นที่จะได้สัญญานักเตะอาชีพ เนื่องจากแต่ละสโมสรต้องคัดกรองอย่างเข้มข้น เพื่อเอาเฉพาะคนที่เจ๋งจริงๆ เท่านั้น

ตามกฎการพัฒนานักฟุตบอลระดับเยาวชนของพรีเมียร์ลีก ระบุให้สโมสรสมาชิกดึงตัวนักเตะเข้าอคาเดมี่ตามจำนวนที่กำหนดไว้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 250 คน ดังนี้

– กลุ่มที่ 1 รุ่นอายุไม่เกิน 9 ปี, 10 ปี, 11 ปี, 12 ปี, 13 ปี และ 14 ปี รุ่นละ 30 คน

– กลุ่มที่ 2 รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี และ 16 ปี รุ่นละ 20 คน

– กลุ่มที่ 3 รุ่นอายุระหว่าง 16-17 ปี 30 คน

ข้อมูลจากพรีเมียร์ลีกระบุว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของนักเตะในอคาเดมี่ทั้งหมด 4,109 คน ที่มีอายุระหว่าง 21 – 26 ปี ในปัจจุบัน ไม่ประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีก โดยในจำนวนนี้มี 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้สัญญานักเตะอาชีพ

ขณะที่เทรซีย์ เคราช์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักเตะเยาวชน 10,000 – 12,000 คน จะถูกปล่อยตัวออกจากอคาเดมี่  

พีท โลว์ ผู้ร่วมก่อตั้ง PlayersNet องค์กรที่ให้คำปรึกษาปัญหานักเตะระดับเยาวชน กล่าวว่า “เรากำลังขอร้องให้สโมสรต่าง ๆ ลดจำนวนนักเตะในอคาเดมี่ลง นักเตะเหล่านี้ถูกขังอยู่ในระบบ ไม่สามารถไปที่สโมสรอื่นได้อีก อย่างน้อยพวกเขาก็สบายใจได้มากขึ้น เมื่อรู้ว่าทำได้ไม่ดีพอ”

ขณะที่บ๊อบ บรูมเฮด เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตประจำสาธารณสุขของอังกฤษ (NHS) กล่าวว่า “นักเตะเยาวชนกำลังถูกคล้อยตามความคิดที่ว่า ต้องทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับฟุตบอล โดยที่ไม่มีแผนสองมารองรับ”

ทางออกสำหรับผู้ที่ถูกคัดออก

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเจเรมี่ วิสเท่น ทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษได้ตระหนักขึ้นมาว่า จะต้องมีทางออกสำหรับผู้ที่พลาดหวัง ไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ ให้มีความสุขกับในสิ่งที่พวกเขารักต่อไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คริสตัล พาเลซ ซึ่งเป็นสโมสรแรกในพรีเมียร์ลีก ที่คิดค้นโปรแกรมในการดูแลนักเตะเยาวชนที่ถูกตัดออกจากอคาเดมี่ โดยจะส่งต่อไปยังสโมสรที่อยู่ละแวกใกล้เคียง เป็นเวลา 3 ปี

สตีฟ แพริช ประธานสโมสรคริสตัล พาเลซ กล่าวว่า “นักเตะอย่างวิลฟรีด ซาฮา, อารอน วาน-บิสซาก้า และเจสัน พันชอน ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ไปต่อ แต่ผมได้ไปบอกแกรี่ อิสซอตต์ (โค้ชอคาเดมี่) ว่าให้เก็บพวกเขาไว้”

สำหรับพาเลซในปีนี้ ได้ปล่อยนักเตะออกจากอคาเดมี่ค่อนข้างน้อย โดยแบ่งเป็นอายุต่ำกว่า 18 ปี 3 คน และอายุต่ำกว่า 23 ปี อีก 4 คน แต่นักเตะเหล่านั้นก็ยังได้รับการดูแลจากอคาเดมี่ของสโมสรต่อไป

ประธานของพาเลซ กล่าวปิดท้ายว่า “เราพยายามที่จะทำให้อคาเดมี่ของเรา เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ยอดเยี่ยม และสามารถเปลี่ยนชีวิตนักเตะได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เป็นนักเตะอาชีพกับเราแล้วก็ตาม”

หรือทีมอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็มีการสนับสนุน และให้คำปรึกษากับนักเตะที่ถูกคัดออก โดยเพิ่มที่ปรึกษาเป็น 5 คน รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการติดต่อสื่อสารกับนักเตะเหล่านี้ให้บ่อยขึ้นมากกว่าเดิมอีกเท่าตัว

จากปัญหานักเตะเยาวชนถูกคัดออกจากอคาเดมี่ เราได้บทเรียนสำคัญคือ การเรียนรู้วิธีรับมือกับความล้มเหลว และรู้จักหนทางในสายอาชีพอื่น เพราะอาจจะประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่านักฟุตบอลก็เป็นได้

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Soccer Bible

อ้างอิง :

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10520715/Premier-League-figures-failings-football-factories.html

– https://resources.premierleague.com/premierleague/document/2021/09/24/e3d1e717-fb0d-4e73-a504-db71ef93640a/PL_2021-22_Youth_Development_Rules_23.09.pdf

– https://www.soccerbible.com/news/2021/10/crystal-palace-unveil-brand-new-academy-facility/

Categories
Special Content

ลีกฟุตบอลสีเขียว : “พรีเมียร์ลีก” กับแผนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ นอกจากจะมีหน้าที่จัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพแล้ว ยังเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญ และตระหนักถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นความท้าทายระยะยาวของสังคมโลก

ทั้ง 20 สโมสรต่างมีผลงานในการปฏิบัติตามแผนงานเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากน้อยแตกต่างกันออกไป โดยมีการจัดอันดับเหมือนกับตารางคะแนนในการแข่งขันฟุตบอลทั่วๆ ไป

แล้วสโมสรในลีกสูงสุดเมืองผู้ดี มีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

สเปอร์ส – ลิเวอร์พูล แชมป์ร่วมรักษ์โลกปี 2021

บีบีซี สำนักข่าวชื่อดังของอังกฤษ และ Sport Positive Summit ได้ร่วมกันจัดอันดับ 20 สโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก ที่ปฏิบัติตามมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

สำหรับเกณฑ์ที่ใช้พิจารณา มีทั้งหมด 11 ข้อด้วยกัน แต่ละข้อมีคะแนน 2 คะแนน และยังมีคะแนนโบนัสอีก 2 คะแนน ถ้าผ่านเกณฑ์มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ รวม 24 คะแนนเต็ม

ผลปรากฏว่า ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ และลิเวอร์พูล เป็นสโมสรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ประจำปี 2021 ที่ผ่านมา มี 23 คะแนนเท่ากัน โดยเฉพาะสเปอร์สนั้น ครองแชมป์มาแล้ว 3 ปีติดต่อกัน

บิลลี่ โฮแกน ซีอีโอลิเวอร์พูล กล่าวว่า “เรื่องสิ่งแวดล้อมคือเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกองค์กรต่างก็มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อชุมชน”

ขณะที่ดอนน่า-มาเรีย คัลเลน ผู้บริหารของสเปอร์ส ระบุว่า “การที่เราเป็นอันดับ 1 อีกครั้งในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความยอดเยี่ยมของสโมสร เราจะท้าทายตัวเองในการรักษาแชมป์ต่อไป”

“การที่สโมสรเข้าร่วมโครงการ UN Race to Zero ถือเป็นก้าวต่อไปที่สำคัญของเรา ซึ่งทำให้เรามีแนวทางที่ชัดเจน และเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษที่เราเตรียมพร้อมจะปฎิบัติตามอย่างแน่นอน”

ทีมในพรีเมียร์ลีก กับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อปีที่แล้ว ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ และลิเวอร์พูล ครองอันดับ 1 ร่วมกันในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในพรีเมียร์ลีก อย่างไรก็ตาม หลายๆ สโมสร ก็มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

เริ่มที่สเปอร์สกันก่อน พวกเขายืนหนึ่งเรื่องการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมายาวนาน จากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ 10:10 initiative และ Count Us In ที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ที่สำคัญกว่านั้น “ไก่เดือยทอง” ยังได้จัดการแข่งขันฟุตบอลที่ปลอดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นครั้งแรกของโลก ในเกมพรีเมียร์ลีก ที่เปิดบ้านแพ้เชลซี 0 – 3 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

และล่าสุด ทีมจากลอนดอนเหนือทีมนี้ เพิ่งเข้าร่วมโครงการ Race to Zero และได้ประกาศเป้าหมายว่า จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2030 และจะเป็นศูนย์ภายในปี 2040

สำหรับโครงการ Race to Zero ได้เปิดตัวครั้งแรกในการประชุม COP26 ที่ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากสเปอร์สแล้ว ยังมีลิเวอร์พูล, เซาธ์แธมป์ตัน และอาร์เซน่อลที่เข้าร่วมด้วย

นอกจากนี้ สเปอร์สใกล้ที่จะบรรลุเป้าหมายในการให้แฟนบอลใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางมาชมเกมในวันแข่งขันให้ไม่เกิน 23 เปอร์เซ็นต์ (14,250 คน) รวมถึงสร้างฟาร์มปลูกผักเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับเมนูอาหาร

มาดูที่ลิเวอร์พูลกันบ้าง ได้ทำการปลูกต้นไม้จำนวน 900 ต้น พร้อมไม้ประดับชนิดต่างๆ บริเวณอคาเดมี่ของสโมสร อีกทั้งยังปลูกผักสำหรับเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร และยังทำงานร่วมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์ในชุมชน

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.arsenal.com/news/renewable-energy-partnership-octopus-energy

สำหรับตัวอย่างการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของสโมสรอื่นๆ ในพรีเมียร์ลีก ที่น่าสนใจ :

อาร์เซน่อล – สโมสรแรกของพรีเมียร์ลีก ที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซนต์

เอฟเวอร์ตัน – จัดตั้งโครงการ “Everton for Change” เพื่อแบ่งปันไอเดียรักษ์โลกกับแฟนบอลของสโมสร

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ – มีเป้าหมายที่จะหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างถาวรภายในปี 2030

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด – ร่วมมือกับ Renewable Energy Group ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ไบรท์ตัน – ร่วมกับโครงการ “On the Ball” เพื่อมอบสินค้าปลอดพลาสติกให้กับแฟนบอล และนักฟุตบอลทีมหญิง

นอริช ซิตี้ – ปลูกผักเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร และพัฒนาแอปพลิเคชัน Player Nutrition ซึ่งเป็นเมนูอาหารจากพืชสำหรับนักฟุตบอล

แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย ก็เห็นจะเป็นเบรนท์ฟอร์ด ที่ออกมาประกาศว่า ในฤดูกาลหน้า จะยังคงใช้ชุดเหย้าเหมือนกับฤดูกาลนี้ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และช่วยให้แฟนบอลประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

หวังเริ่มนำร่องแคมเปญรักษ์โลกตั้งแต่ซีซั่นหน้า

ปัญหาสิ่งแวดล้อม, มลภาวะ และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง ทำให้สโมสรฟุตบอลระดับอาชีพทั้ง 92 สโมสร จาก 4 ดิวิชั่นของอังกฤษ ต้องให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทางพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล ได้ส่งเอกสารแผนงานเบื้องต้นกว่า 100 หน้า ไปยังสโมสรสมาชิก เพื่อเตรียมปรับรูปแบบการดำเนินงานของแต่ละสโมสร ตามแผนงานเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างเช่น นักฟุตบอลและพนักงานของสโมสรให้ปั่นจักรยานมาทำงาน หรือลดการเดินทางมายังสโมสรถ้าไม่จำเป็น ให้ประชุมออนไลน์แทน (ถ้าสามารถทำได้) เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์บนท้องถนน

รวมถึงให้พยายามใช้วัตถุดิบในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ทำจากพืช (Plant-base food) ในเมนูอาหาร แต่สามารถแต่งรสชาติ กลิ่น สีสันให้เหมือนผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้ และให้ใช้พลังงานหมุนเวียนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

โดยสโมสรสมาชิกทั้ง 92 สโมสร ต้องตอบกลับภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ และถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ ก็จะมีการกำหนดกรอบปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น คาดว่าจะสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ฤดูกาล 2022/23 เป็นต้นไป

ริชาร์ด มาสเตอร์ ประธานบริหารพรีเมียร์ลีก กล่าวว่า “แต่ละสโมสรได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และมีการรณรงค์เพื่อต่อยอดไปสู่แฟนฟุตบอล และชุมชนต่อไป”

ชัยชนะในการแข่งขันฟุตบอล เป็นวัฏจักรเพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่ง ไม่มีใครยิ่งใหญ่ค้ำฟ้าไปตลอดกาล แต่ชัยชนะในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม คือชัยชนะที่ยั่งยืน และจะเป็นชัยชนะร่วมกันของมวลมนุษยชาติ

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : empireofthekop.com

อ้างอิง : 

Categories
Football Business

บทเรียนของ ลิเวอร์พูล จากความผิดพลาดในโศกนาฎกรรม ESL

แม้จะไม่ใช่สโมสรแรกที่ถอนตัวจาก ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก – ESL แต่ ลิเวอร์พูล เป็นสโมสรที่ “ชัดเจน” ที่สุดในบรรดา 6 สโมสรพรีเมียร์ลีกกับแอ็คชั่น “ขอโทษ” ผ่าน VDO เจ้าของทีม จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ แถลงการณ์ยอมรับความผิด และขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น

“ผมต้องการจะขอโทษไปยังแฟนบอล และผู้สนับสนุนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลทุกคนต่อเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้นโดยต้นเหตุเพราะผมในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา”

“มันเกิดขึ้นโดยไม่มีการบอกกล่าว แต่สามารถได้พูดว่าโครงการที่เกิดขึ้นจะดำเนินไปไม่ได้เลย หากปราศจากการสนับสนุนของแฟนบอล ไม่มีใครเห็นต่างไปจากนั้น กว่า 48 ชั่วโมงที่เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันไม่อาจจะเป็นไปได้ เราได้ยินพวกคุณ และผมก็รับฟังพวกคุณ”

“ผมอยากจะขอโทษอีกครั้ง และขอรับผิดชอบต่อผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างไม่จำเป็นช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาแต่เพียงผู้เดียว นี่จะเป็นเรื่องที่ผมไม่มีวันลืม เพราะมันแสดงให้เห็นถึงพลังของแฟนบอลในวันนี้ และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต”

นี่เป็นคำขอโทษผ่านวิธีการที่ดีที่สุด แต่แฟนบอลเองจะมองว่า “จริงใจ” เพียงพอ หรือปล่อยผ่านได้เพียงใดนั้น คือ อีกเรื่องหนึ่ง

เพราะแฟนบอลก็คือ แฟนบอล ซึ่งเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษดังที่เราได้เห็นการต่อสู้ทุกรูปแบบ และมีส่วนไม่มากก็น้อยในการเป็น stakeholders หรือหนึ่งในผู้มีผลประโยชน์ร่วมกับทีมฟุตบอลในการขัดขวางการก่อกำเนิด ESL

-ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ เคยออกมากล่าวอะไรคล้าย ๆ กันแบบนี้มาก่อน ในเหตุการณ์หลังความพยายามจะขึ้นค่าตั๋วในเกมเหย้าสโมสร จากเดิม 59 ปอนด์ ไปเป็น 77 ปอนด์ ส่งผลให้แฟน ๆ ซูป้ายประท้วงในเกมกับ ซันเดอร์แลนด์ ก่อนวอล์กเอาต์ออกนอกสนามเมื่อเกมดำเนินมาถึงนาทีที่ 77 โดยหลังจากนั้น บอร์ดบริหารลิเวอร์พูล ได้แถลงการณ์ขอโทษแฟนบอล และยกเลิกแผนการขึ้นค่าตั๋วที่ว่า ในคราวนั้น จอห์น เฮนรี ก็ได้ออกมาพูดดังนี้

“เราเชื่อว่าเราได้แสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะรับฟังเสียงของแฟนบอลอย่างรอบคอบก่อนพิจารณาจุดยืนของเราใหม่ และดำเนินการทันที ความสัมพันธ์ที่เป็นเอกลักษณ์ และศักดิ์สิทธิ์ระหว่างสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล และบรรดาแฟนบอลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในความคิดของเรา มันแสดงถึงจังหวะการเต้นของหัวใจ ณ สโมสรฟุตบอลที่ไม่ธรรมดาแห่งนี้ ยิ่งกว่าปัจจัยอื่นใดความผูกพันอันนี้คือสิ่งที่ผลักดันให้เราทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในนามของสโมสรต่อไปในอนาคต”

ส่วนอีกครั้งเกิดขึ้นในปีที่แล้วในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่พวกเขาเตรียมจะออกประกาศพักงานลูกจ้างของสโมสรให้ไปรับเงินชดเชย 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากรัฐบาล (Government Job Retention Scheme สมทบทุน 80% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 2,500 ปอนด์ โดยสโมสรจะจ่ายที่เหลือ 20% ให้แรงงานสโมสรพวกเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในหน่วยต่าง ๆ ระหว่างที่ไม่มีเกมการแข่งขัน ในช่วงพักงาน หรือ furlough)

หลายทีมเข้าร่วม นิวคาสเซิล, สเปอร์ส, บอร์นมัธ และนอริช รวมถึงลิเวอร์พูล ที่กลายเป็นว่า หงส์แดงโดนถล่มหนักสุดโดยสโมสรจะจ่ายส่วนต่างที่เหลือให้ครบเต็มจำนวนเงินเดือน ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากการที่มีผลประกอบการมากถึง 533 ล้านปอนด์ในฤดูกาล 2018-19 ตัดสินใจเช่นนั้น จนในที่สุด FSG ก็ยอมถอย และออกมาขอโทษแฟนบอล

“เราเชื่อว่าเราได้ข้อสรุปที่ผิดพลาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการประกาศว่าเราตั้งใจที่จะขอเข้าแผนในการรักษางานจากการระบาดของไวรัสโคโรนา และพักงานสโมสรเนื่องจากการที่พรีเมียร์ลีกมีการพักการแข่ง และเราเสียใจต่อเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ความตั้งใจเดิมของเรา และยังเป็นสิ่งที่เราตั้งใจอยู่ในตอนนี้คือการปกป้องคนงานของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากการที่รายได้จะถูกลด หรือสูญเสียรายได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้”

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เราเห็นว่า ทำไมแฟนบอลจำนวนมาก ยัง “ฝังใจ” การกระทำในเชิงความรับผิดชอบ และทำเพื่อสังคมกับบอร์ดบริหารง่าย ๆ หลังจากเหตุการณ์ ESL จบลง เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาเคยกล่าวไปแล้วว่าจะ “รับฟัง” แฟนบอล แต่การตัดสินใจเข้าร่วมกับอีก 11 ทีมเพื่อก่อตั้งลีกใหม่คราวนี้ พวกเขาไม่ได้ฟังใคร เพราะแม้แต่ เยอร์เกน คล็อปป์ หรือ บิลลี โฮแกน (ซีอีโอ ของสโมสร) ก็ยังไม่รู้เรื่องด้วย (รายชื่อทั้งสองเป็นรายชื่อที่ถูกเอ่ยถึงเพื่อทำการขอโทษอย่างเป็นทางการจาก จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ ด้วย)

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟนบอลที่ยังมี “แผล” ฝังใจจะกลับมาตั้งคำถามถึงจอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ และ เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) อีกครั้ง เพราะการกระทำในครั้งนี้ นอกจากจะไม่ฟังเสียจากแฟนบอล และมองผลประโยชน์เป็นที่ตั้งแล้ว มันยังแสดงออกถึงความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมลูกหนัง และประวัติศาสตร์ของฟุตบอลอังกฤษ และหรือรวมไปถึงธรรมชาติของอุตสาหกรรมฟุตบอลไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดาผู้บริหารทีมจะตัดสินใจผิดพลาดเกี่ยวกับนโยบายสโมสรซึ่งมีให้เห็นบ่อย ๆ เช่น จากการเลือกซื้อนักเตะที่ผิดพลาด การเลือกกุนซือ หรือทีมงาน หรือการทำโปรเจคต์โน้นนี้นั้น

แต่นโยบายการบริหารทีมขั้นสูงสุดขนาดเปลี่ยนโครงสร้าง ปรับโมเดล ผ่านกระบวนการลับ ๆ และมีเบื้องหลังมากมาย ถ้าพลาดแล้ว นอกจากทำลายภาพลักษณ์สโมสร มันยังทำลายความรู้สึกของแฟนบอลอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี ความงดงามของโลกลูกหนังก็คือ การได้เห็นบรรดาแฟนบอลของ ลิเวอร์พูล และนักเตะ (เกิดกับทุก ๆ ทีมในข่าว) กลับยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อต้านแนวคิดของ ESL อย่างชัดเจน เรียกได้ว่าเป็นระดับหัวหอก หรือแกนนำ เฉพาะอย่างยิ่ง จอร์แดน เฮนเดอร์สัน ในฐานะกัปตันทีมของสโมสร ได้ติดต่อหาบรรดากับตันทีมอื่น ๆ ในพรีเมียร์ลีก เพื่อมานั่งพูดคุยเกี่ยวกับกรณีนี้

“เราไม่ชอบสิ่งนี้ และเราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น นี่คือจุดยืนร่วมกันสำหรับเรา สำหรับความมุ่งมั่นทุ่มเทของเราที่มีให้กับสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ และต่อแฟนบอลเป็นสิ่งที่แน่นอน และไม่มีเงื่อนไข” เฮนโด้ ทวีตลงโซเชียลมีเดีย พร้อมกับ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ และเจมส์ มิลเนอร์ ก่อนจะเป็นกระแสตามมาทั่วโลกซึ่งแน่นอนมีผลถึง stakeholders สำคัญอื่น ๆ เช่น สเปอนเซอร์ ที่เริ่มออกมาแสดงจุดยืนจะ “ผงะ” จาก ESL 

โดยทาง มิลลี เองก็ถูกถามหลังเกมที่เสมอกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด เกี่ยวกับประเด็นนีอีกครั้ง และเขาก็ไม่เลี่ยงที่จะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

“ผมไม่ชอบเลย และหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น” มิลเนอร์ตอบสกาย สปอร์ตส์ “ผมพูดได้แค่เฉพาะมุมมองของผมเอง ผมไม่ชอบ และหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ผมจินตนาการได้เลยว่าความเห็นจะออกมาเป็นอย่างไร และผมก็อาจจะเห็นด้วยกับหลาย ๆ ความเห็น”

ด้าน เยอร์เกน คล็อปป์ ก็เป็นคนแรก ๆ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นสวนทางกับ จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ แม้จะไม่สามารถพูดอะไรได้มากนักก็ตาม แต่ก็ถือว่า พูดไป “กลืนเลือด” ไปชัดเจน

“สิ่งหนึ่งที่ผมเข้าใจ และคนอื่น ๆ คิดว่าไม่ถูกต้อง คือ (ESL) มันไม่มีการแข่งขัน ผมชอบความจริงที่ว่า เวสต์แฮมฯ อาจได้เล่น แชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาลหน้า ซึ่งผมไม่ต้องการแบบนั้น เพราะผมต้องการให้พวกเราอยู่ที่นั่น แต่สิ่งที่ผมชอบคือพวกเขามีโอกาส” คล็อปป์ กล่าวก่อนเกมกับ ลีดส์

บรรดานักฟุตบอล และแฟนบอลของ ลิเวอร์พูล ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน หาใช่เพราไม่ได้ชอบเม็ดเงินที่จะได้จากการแข่งขัน หากแต่เข้าใจธรรมชาติ และวัฒนธรรมของฟุตบอลซึ่งยึดโยงกับคน “ทุกกลุ่ม” หาใช่เพียง “กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” เท่านั้น 

ดังนั้น คำขอโทษของ จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี ในฐานะเจ้าของทีมที่ออกมา อาจจะช่วยให้เหล่าแฟน ๆ เย็นลงได้บ้าง แต่แน่นอนว่า มันคนละเรื่องกับการ “ให้อภัย” หรือ “ไว้ใจ”

นี่จึงกลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญอีกครั้งที่ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี้ และเอาเข้าจริง ๆ แล้วก็คือ ผู้บริหารทุกสโมสรใหญ่ที่คิดมานานแล้ว หรือคิดมาตลอดจะ “ก่อการ” ตั้งแต่ยูโรเปี้ยน คัพ มายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มา G14 กระทั่งถึง ESL จะต้องเรียนรู้ สำเหนียก และใส่ใจให้มาก 

เพราะหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ถ้าจะมีความผิดพลาดอันเกิดมาจากการไม่ใส่ใจ ไม่รับฟัง หรือเห็นแก่ผลประโยชน์มากเกินไปซ้ำอีกล่ะก็ กระแสอาจกระหน่ำใส่ FSG และจอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ จนเกินกว่าจะรับไหวก็ได้

ที่สำคัญต้องอย่าลืมว่า เมื่อใดก็ตามที่แฟนบอลหันหลังให้ เมื่อนั้นต่อให้มีเงินมากมายเพียงใด ก็ไม่อาจซื้อความเชื่อใจกลับคืนมาได้

Categories
Football Business

มอง…การช่วยเหลือของ ‘พรีเมียร์ลีก’

หากพอจะจำกันผมเคยเขียนถึง “โปรเจคต์ Big Picture” ที่ “พรีเมียร์ลีก” วางแผนจะช่วย “ฟุตบอลลีก” จากพิษโควิด-19 เป็นเงินเบื้องต้น 250 ล้านปอนด์ และเป็นข่าวดังเมื่อเดือน ต.ค.แล้วต้องล้มพังพาบมาแล้วเพราะสโมสรสมาชิกปฏิเสธจะเดินตามแผนของ 2 ทีมตั้งต้น: ลิเวอร์พูล และแมนฯยูไนเต็ด

(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง “โปรเจคต์ Big Picture” นะครับ https://bit.ly/2Ic0LGk)

ครั้งนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พรีเมียร์ลีก และฟุตบอลลีกอังกฤษ (อีเอฟแอล) ได้เห็นชอบให้จัดสรรเงินกู้ 250 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือบรรดาสโมสรในลีกระดับล่าง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แบบไม่มี hidden agenda ใด ๆ กับการปรับโครงสร้างพรีเมียร์ลีก หรือจะยุบถ้วย คอมมิวนิตี้ ชิลด์, ลดจำนวนทีมในพรีเมียร์ลีก ฯลฯ

รวมความแล้วก็ต้องบอกครับ “ซะที!” หลังตั้งแต่เดือน มี.ค.ไม่ได้มีแฟนบอลเข้าสนามกระทั่งสุดสัปดาห์นี้ในบางสเตเดี้ยม และบางพื้นที่ของประเทศได้ถูกอนุมัติให้แฟนบอลส่วนหนึ่งเข้าชมได้ อันหมายถึง “รายได้” จากการเก็บค่าผ่านประตูนั้นหายไป และอื่น ๆ จาก แมตช์เดย์ เช่น ขายของที่ระลึก ฯลฯ ก็หายไปเพียบ

การช่วยเหลือครั้งนี้ของพรีเมียร์ลีกสู่ทีมในลีกรอง ๆ อย่างน้อยจึงช่วย “ต่อท่อ” อ๊อกซิเจนได้บ้างครับ—

โครงการนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ?

นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทุกสโมสรในอังกฤษ ขาดรายได้จากตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางอีเอฟแอล เคยปฏิเสธเงินช่วยเหลือ 50 ล้านปอนด์จากพรีเมียร์ลีกมาแล้ว เพราะมองว่ามันน้อยเกินไป (ต.ค.2020)

ต่อมาในเดือนเดียวกัน สโมสรยักษ์ใหญ่ในพรีเมียร์ลีก นำโดยลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 2 ทีมคู่ปรับตลอดกาล ได้มีแนวคิดปรับโครงสร้างฟุตบอลลีกอังกฤษ หรือ Project Big Picture

ซึ่งในแนวคิด Project Big Picture มีข้อเสนออยู่ข้อหนึ่ง คือ จะให้เงิน 250 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือทีมในลีกล่าง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ท้ายที่สุด พรีเมียร์ลีกไม่ตอบรับข้อเสนอนี้ เพราะกระแส “ต่อต้าน” นั้นแรงมาก• มาถึงเดือนพฤศจิกายน สโมสรในลีกวัน และลีกทู ได้ “ตกลงในหลักการ” เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากพรีเมียร์ลีก หลังจากได้รับข้อมูลว่า มีสโมสรสมาชิกของอีเอฟแอล ประมาณ 10 ทีม ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างนักเตะ

ถึงแม้จะมีการเริ่มต้นปลดล็อก ให้แฟนฟุตบอลเข้ามาชมเกมในสนาม ตามความเสี่ยงการแพร่ระบาดของแต่ละพื้นที่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ ทำให้แต่ละสโมสรยังคงไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายได้ในเร็ววัน

จนกระทั่งการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดบริหารของอีเอฟแอล และสโมสรสมาชิกพรีเมียร์ลีก ได้อนุมัติข้อตกลงการช่วยเหลือสโมสรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเงินกู้จำนวน 250 ล้านปอนด์ เสริมจากทางรัฐบาลอังกฤษ เตรียมช่วยเหลือเงินเพิ่มเติมอีก 300 ล้านปอนด์ (แต่ไม่ได้ให้กับฟุตบอลอาชีพชาย) ให้กับฟุตบอลหญิง, ฟุตบอลนอกลีกอาชีพ และกีฬาประเภทอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาด้วยเช่นเดียวกัน

เงินจำนวนนี้ จัดสรรอย่างไร ?

ทั้งพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล จะช่วยกันระดมทุน 250 ล้านปอนด์ เพื่อเป็นเงินกู้ โดยจะแบ่งให้ลีกแชมเปี้ยนชิพ 200 ล้านปอนด์ และลีกวัน รวมกับลีกทู อีก 50 ล้านปอนด์ ในส่วนของลีกแชมเปี้ยนชิพ จะแบ่งเงินให้ทั้ง 24 สโมสรเท่าๆ กัน หรือเฉลี่ยได้ทีมละ 8.33 ล้านปอนด์ เป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย และกำหนดชำระคืนภายในเดือนมิถุนายน 2024 สำหรับอีก 48 สโมสร ในลีกวัน และลีกทู เงินกู้จำนวน 50 ล้านปอนด์นี้ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 กอง

กองที่ 1 จำนวน 30 ล้านปอนด์ เป็นค่าชดเชยรายได้จากการไม่มีผู้เข้าชมการแข่งขันในฤดูกาล 2019-20 และ 2020-21 แบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วน- 24 ทีมในลีกวัน จะได้รับเงินกู้อย่างน้อยทีมละ 375,000 ปอนด์ (รวม 9 ล้านปอนด์)- 24 ทีมในลีกทู จะได้รับเงินกู้อย่างน้อยทีมละ 250,000 ปอนด์ (รวม 6 ล้านปอนด์)- เงินกู้อีก 15 ล้านปอนด์ที่เหลือ จะคำนวณจากส่วนแบ่งรายได้ของค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันที่หายไป

กองที่ 2 จำนวน 20 ล้านปอนด์ จะเก็บไว้สำหรับสโมสรที่ต้องการชดเชยค่าเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และกำหนดคุณสมบัติสำหรับสโมสรที่เข้าร่วมต่อไป

โดยบรรดาสโมสรในลีกล่างทั้ง 3 ลีก ที่ได้รับเงินกู้นั้น จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเรื่องการซื้อตัวผู้เล่น และการจ่ายค่าจ้างของผู้เล่นด้วย

ริค แพร์รี่ (อดีต CEO ลิเวอร์พูล และหัวโจกในการแอบชนดีล Big Picture ตั้งแต่ ค.ศ.2017) ประธานอีเอฟแอล หวังว่าโครงการดังกล่าว จะช่วยให้สโมสรเหล่านี้อยู่รอดได้ หลังจากได้รับผลกระทบทางการเงิน เพราะการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ที่กินเวลามานานหลายเดือน

ขณะที่ ริชาร์ด มาสเตอร์ส ประธานบริหารพรีเมียร์ลีก เผยว่ารู้สึกยินดีที่ลีกระดับสูงสุดของอังกฤษ ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสโมสรระดับลีกรองลงมา ไม่ให้ล้มละลาย อันเนื่องมาจากโควิด-19

ผมเขียนเรื่องนี้ทำไม?

นี่ก็เพราะ ขนาดลีกอาชีพแบบมาตรฐาน เช่น ลีกอังกฤษ ยังไม่ไหว ไปจะไม่รอด ในปีโควิด-19 รัฐบาลผู้ดีซึ่ง “กดดัน” พรีเมียร์ลีกซึ่งยังคงมีรายได้หลักอยู่จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทีวี จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะ 300 ล้านปอนด์ก็ไม่ได้ตกมาสู่ฟุตบอลอาชีพชาย ลีกรอง ๆ จึง “ควานหา” รายได้ยากเหลือเกินครับ และการได้เงินช่วยเหลือแม้จะให้ยืมในครั้งนี้จึงถือว่ามีค่าอย่างมากให้ต่อลมหายใจ

ในมุม Football Business ที่น่าสนใจ คือ อุตสาหกรรมอื่นจะไม่มีทางให้ “หยิบยืม” ช่วยเหลือกันแบบพรีเมียร์ลีก ช่วยเหลือทีมรองในลีกล่าง ๆ แบบนี้ เพราะมีแต่จะ “ถีบส่ง” คู่แข่งทั้งน้อยใหญ่ให้ร่วงจมธรณี และเจ๊งชัยกันไป เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดคนเดียว และครองความยิ่งใหญ่คนเดียว• แต่ฟุตบอลเตะกันเองดูกันเองไม่ได้ ฟุตบอลจำเป็นต้องมีคู่แข่ง มีลีก และต้องแข่งขันกันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อพอประมาณไม่ใช่ “ผูกขาด” แค่ไม่กี่ทีม หรือคาดเดาผลแข่งขันได้ง่าย การช่วยเหลือครั้งนี้จึงเกิดขึ้น และเป็นกรณีศึกษาสำคัญในปีลำบาก ๆ แบบนี้ และเป็นการช่วยเหลือที่ไม่เพียงต่อลมหายใจให้หลายทีม หรือ 10 ทีมโดยประมาณที่กำร่อแร่ (จริง ๆ คงมากกว่านั้นเยอะ) ทว่ายังเป็นการช่วยประคองไม่ให้ “ลีกรอง ๆ” ถึงขั้นล่มสลายอันจะมี “ปัญหา” อีกมากมายตามมาด้วยครับ#ไข่มุกดำ✍ และ #ทีมไข่มุกดำ เรียบเรียง