Categories
Football Tactics

กั๊กโป เกิดใหม่ในร่างนักเตะเบอร์ 9 กับตัวช่วยที่มากกว่าพรสวรรค์-พรแสวง

ลิเวอร์พูลประสบความสำเร็จในการเลือกสรรนักเตะใหม่เข้ามาในตลาดเดือนมกราคม 2 ปีติดต่อกัน ปี 2022 คือ ลุยซ์ ดิอาซ ค่าตัว 37 ล้านปอนด์จากทีมปอร์โต (บวกแอด-ออน 12 ล้านปอนด์) ปีกซ้ายทีมชาติโคลอมเบียปรับตัวกับลีกใหม่อย่างรวดเร็ว มีส่วนสำคัญขับเคลื่อนฟอร์มทีมหงส์แดงจนคว้า 2 แชมป์ 2 รองแชมป์ ด้วยสถิติ 26 นัด 6 ประตูรวมทุกรายการ แต่โชคร้ายซีซันต่อมา ดิอาซใช้เวลาส่วนใหญ่รักษาอาการบาดเจ็บจนลงสนามรวมแค่ 21 นัด แต่ยังทำได้ 5ประตู

ตลาดนัดปีนี้ ลิเวอร์พูลให้อภัยหน้าเค้กเปรียบเทียบแมนฯยูไนเต็ดจ่ายเงินราว 37 ทดสอบให้พีเอสวี ไอน์ดโฮเฟน (บวกแอด-ออน 3 ความต้องการ) เพื่อซื้อโคดีกั๊กโปซึ่งใกล้  จะ  เซ็น สัญญากับทีมปีศาจแดงปี๊ทิ้งไว้ให้เล่นกับเพื่อนใหม่ดีกว่าจะได้ช่วยทีมหงส์แดงฟอร์มแรงช่วงท้ายไต่อันดับพรีเมียร์ลีกจนมีลุ้นโควตาแชมเปียนส์ลีกโดยดิอาซเล่น 26 นัดที่ 7 ประตูรวมทุกรายการ

สำหรับกั๊กโปแล้ว สิ่งที่เกินคาดทั้งแฟนบอลและสื่อมวลชนคือ แทนที่เยอร์เกน คลอปป์ จะส่งกั๊กโปเล่นแนวรุกฝั่งซ้าย ตำแหน่งประจำที่พีเอสวี แทนดิอาซและดีโอโก โซตา ที่บาดเจ็บพร้อมกัน แต่กลับมอบหมายกั๊กโปยืนศูนย์หน้า ส่วนปีกซ้ายเป็นดาร์วิน นูนเญซ ซึ่งกูรูลูกหนังเคยเชื่อว่า ลิเวอร์พูลยอมทุ่มให้เบนฟิกาสูงถึง 64 ล้านปอนด์ (บวกแอด-ออน 21ล้านปอนด์) เพื่อมายืนตำแหน่งเบอร์ 9 เหมือนเออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ ของแมนฯซิตี

ช่วงครึ่งแรกของซีซัน 2022-23 ก่อนย้ายมาเมอร์ซีย์ไซด์ กั๊กโปทำผลงานในเอเรดิวิซีของเนเธอร์แลนด์ 9 ประตู 12 แอสซิสต์จากการเล่น 14 นัด และเป็นปีกซ้ายเบอร์ 1 ของเฮดโค้ช รุด ฟาน นิสเตลรอย และจากสถิติทั้งหมด 159 นัดรวมทุกรายการ (55 ประตู 50 แอสซิสต์) ในสีเสื้อพีเอสวีตั้งแต่เล่นให้ทีมชุดใหญ่นัดแรกต้นปี 2018 เว็บไซต์ transfermarkt ระบุว่า กั๊กโปเล่นปีกซ้ายถึง 118 นัด รองลงมาคือ ศูนย์หน้า 15 นัด และปีกขวา 14 นัด ส่วนอีกนัดเป็นมิดฟิลด์ตัวรุก

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คลอปป์จะทำให้ผู้คนมากมายเซอร์ไพรส์ที่ใช้งานกั๊กโปเป็นกองหน้าตัวเป้า ไม่ใช่ตำแหน่งที่เป็นภาพจำอย่างปีกซ้าย โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ดิอาซกับโซตาไม่สมบูรณ์พร้อมกัน แถมนูนเญซก็ถูกคาดหวังมาเป็นศูนย์หน้าตัวหลักอีก … แม้แต่ กั๊กโปเองก็ยอมรับว่าคิดไม่ถึงเช่นกัน

เมินคำแนะนำว่าเหมาะกับสไตรเกอร์มากกว่าปีก

หลังฤดูกาล 2022-23 ปิดฉากลง กั๊กโปให้สัมภาษณ์สื่อว่า คลอปป์โน้มน้าวให้เขาเชื่อว่าตำแหน่งที่ดีสำหรับเขามากที่สุดคือ STRIKER ไม่ใช่ปีก และตอนนี้เขาก็มีความสุขและสนุกกับตำแหน่งกองหน้าตัวเป้าที่ลิเวอร์พูล การย้ายจากปีกซ้ายมายืนเบอร์ 9 เป็นสิ่งเพลิดเพลินด้วยซ้ำ คอมเมนเตเตอร์หลายคนมองว่าเมื่อโรแบร์โต ฟีร์มิโน ย้ายออกจากแอนฟิลด์ กั๊กโปจะเป็นตัวแทน false nine ของฟีร์มิโนอย่างแน่นอน

กั๊กโปเซ็นสัญญา 5 ปีครึ่งกับลิเวอร์พูลเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2022 หรือ 4 วันก่อนตลาดฤดูหนาวเปิดอย่างเป็นทางการ สร้างรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์สโมสรพีเอสวี เขาปรากฏตัวในสนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2023 เป็นเอฟเอ คัพ รอบ 3 ที่เสมอวูลฟ์แฮมป์ตัน 2-2 กั๊กโปยืนตำแหน่งปีกซ้ายที่คุ้นเคย ส่วนศูนย์หน้าคือนูนเญซ นัดต่อมาเป็นเกมพรีเมียร์ลีก วันที่ 14 มกราคม ลิเวอร์พูลชนะไบรท์ตัน 3-0 คลอปป์ปรับหมากเกม  ย้ายกั๊กโปยืนศูนย์หน้า ปีกซ้ายเป็นหน้าที่ของอเล็กซ์ ออกซ์เลด-แชมเบอร์เลน แม้กั๊กโปทำประตูไม่ได้ช่วง 6 นัดแรกแต่เขาไม่คิดว่ามีผลมาจากการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง

กั๊กโปส่งลูกหนังซุกตาข่ายให้ลิเวอร์พูลได้สำเร็จ เป็นสกอร์นำร่องก่อนชนะเอฟเวอร์ตัน ทีมเพื่อนบ้าน 2-0 ในบอลลีกวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ประตูที่ 2 ตามมาอีก 5 วันในแมตช์ชนะนิวคาสเซิล 2-0 อีกทั้งยังทำ 2 ประตูเมื่อวันที่ 5 มีนาคม กับเกมหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในซีซันนี้ ลิเวอร์พูลเปิดบ้านถล่มแมนฯยูไนเต็ดราบคาบ 7-0 และยังมีเกมที่กั๊กโปทำ 2 แอสซิสต์อีกด้วยคือวันที่ 30 เมษายน จ่ายให้ดิอาซทำประตูขึ้นนำสเปอร์ส 2-0 ก่อนที่โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ สังหารจุดโทษให้สกอร์ห่างเป็น 3-0 เมื่อกั๊กโปโดนทำฟาวล์ในเขตโทษ แม้สเปอร์สตีเสมอ 3-3 แต่โซตาทำประตูชัยให้เจ้าถิ่นในนาทีที่ 90+4

สตาร์ทีมชาติเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า “คลอปป์โน้มน้าวว่ากองหน้าเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมกับผมมากที่สุด แน่นอนเป็นช่วงเวลาลำบากเมื่อครั้งมาถึงลิเวอร์พูลใหม่ๆ คลอปป์พูดชัดเจนว่าต้องการอะไรจากผม แต่ช่วงเริ่มต้น ก็ต้องใช้เวลาปรับตัวให้คุ้นชินเป็นธรรมดา แต่อยากบอกว่า ผมสนุกที่ได้เล่นตำแหน่งนี้ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา”

แม้ใช้เวลาเกือบทั้งหมดทำหน้าที่แนวรุกริมเส้นบนสังเวียนเอเรดิวิซี แต่กับทีมชาติเนเธอร์แลนด์ เป็นเรื่องปกติถ้ากั๊กโปถูกวางเป็นศูนย์หน้า อย่างเช่นเวิลด์คัพที่กาตาร์ หลุยส์ ฟาน กัล ให้กั๊กโปยืนตำแหน่งเบอร์ 9 ในนัดเสมอเอกวาดอร์ 1-1, ชนะกาตาร์ 2-0 และชนะสหรัฐอเมริกา 3-1 ส่วนนัดเปิดสนามที่ชนะเซเนกัล 0-2 และแมตช์รอบ 8 ทีมสุดท้ายที่แพ้ดวลจุดโทษต่ออาร์เจนตินา กั๊กโปรับบทมิดฟิลด์ตัวรุก โดยฟุตบอลโลก กั๊กโปเป็นตัวจริงทั้ง 5 นัด ทำได้ 3 ประตู

กั๊กโปเล่าว่า “กัส ฮิดดิงค์ เป็นคนแรกที่แนะนำว่า ผมควรเป็นสไตรเกอร์หรือไม่ก็ false nine มีช่วงหนึ่งเขาเป็นบอร์ดบริหารและเคยเห็นผมเล่น แต่ผมไม่เชื่อหรอกนะ ต่อมาเป็นโรเจอร์ ชมิดท์ ที่พูดแบบเดียวกันตอนที่คุมทีมพีเอสวี แต่ผมยังใจแข็งเหมือนเดิมเพราะรู้สึกดีกับปีกซ้ายมากกว่า”

“แต่จุดเปลี่ยนคือเวิลด์คัพ 2022 ผมต้องเล่นบริเวณพื้นที่กลางสนามมากขึ้น และกลายเป็นงานถาวรเกือบตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา มันโอเคแล้วนะ ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ทุกอย่างดีขึ้นเรื่อยๆกับการเล่นตำแหน่งนี้ให้สโมสรเช่นเดียวกับทีมชาติ”

2 นัดล่าสุดกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในรายการเนชันส์ ลีก รอบรองชนะเลิศ (แพ้โครเอเชีย) และนัดชิงอันดับ 3 (แพ้อิตาลี) โรนัลด์ คูมัน กุนซือคนใหม่ของเนเธอร์แลนด์ ใช้บริการกั๊กโปเป็นศูนย์หน้าแทนเมมฟิส เดปาย ที่บาดเจ็บน่อง

ดูเหมือนเส้นทางของกั๊กโปทั้งระดับสโมสรและทีมชาติได้มาบรรจบกันที่ “สไตรเกอร์” ทำให้เขาสามารถทุ่มเทสมาธิได้เต็มที่กับทักษะเครื่องจักรล่าประตู ซึ่งที่ผ่านมา แนวรุกดัตช์ไม่ได้มีเพียงสตาฟฟ์โค้ชสโมสรและทีมชาติที่เข้ามาช่วยพัฒนาฝีเท้า แต่ยังมีทีมงานส่วนตัวด้วย

จ้างทีมงานโค้ชแทคติกส่วนตัวเพื่ออัปเกรดฝีเท้า

ถ้าพิจารณาสไตล์การเล่นที่ผ่านมา กั๊กโปก็เป็นแนวรุกริมเส้นที่กึ่งๆกองหน้าอยู่แล้ว เขาเป็นปีกซ้ายที่ถนัดเท้าขวา บ่อยครั้งจะตัดเข้าในและเคลื่อนที่โจมตีฝ่ายตรงข้ามบนพื้นที่กลางสนาม ใช้ความเร็วและการเลี้ยงบอลที่คล่องแคล่วเพื่อ “กิน” กองหลังคู่แข่งจนกระทั่งเจอช่องว่างและโอกาสที่จะซัดบอลเพื่อทำประตู

ย้อนกลับยังเวิลด์ คัพ 2022 นัดแรกของรอบแรก กลุ่ม เอ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุในกาตาร์ เนเธอร์แลนด์ยังเสมอเซเนกัล 0-0 ดูเหมือนไม่สามารถหาช่องว่างของแนวรับเพื่อเจาะเข้าไปทำสกอร์ นักเตะเสื้อขาวยืนแพ็คแน่นบริเวณกรอบเขตโทษ 

เหลือเวลาราว 6 นาที แฟรงกี เดอ ยอง โยนยาวไปหน้าประตู กั๊กโปวิ่งทะยานจากปีกขวา ทะลวงกองหลังเซเนกัล 2 คนที่มองบอลที่กำลังลอยเข้ามา กั๊กโปกระโดดโฉบโหม่งตัดหน้านายทวารเอดูอาร์ เมนดี ที่กระโดดหวังชกบอลแต่พลาด กั๊กโปโหม่งให้เนเธอร์แลนด์นำ 1-0 ก่อนชนะไปในที่สุด 2-0 เก็บ 3 แต้มแรกตุนได้สำเร็จ

ประตูปลดล็อคคลายความกดดันให้ทีมอัศวินสีส้มมีที่มาที่ไปจากเหตุการณ์ประมาณครึ่งปีก่อนหน้าฟุตบอลโลก ชายผู้สอนทริกการเล่นให้กั๊กโปผ่านการรีเพลย์คลิปวิดิโอทีละขั้นตอน เปิดเผยว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากบาสเกตบอล

โลแรน วีรีลิงค์ โค้ชด้านแทคติกของกั๊กโป ให้สัมภาษณ์กับอีเอสพีเอ็นว่า “นั่นเป็นแผนการวิ่งที่พวกเราทำงานร่วมกัน เขาวิ่งไปด้านหลังในจังหวะกองหลังขยับขึ้นหน้า เป็นหนึ่งในแผนการวิ่งที่ผมเรียนรู้จากสมัยเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพ เรามีรูปแบบที่แตกต่างกัน 6 อย่างของการวิ่งเข้าไปในกรอบเขตโทษ”

“ซิดนีย์ พี่ชายของกั๊กโป ส่งข้อความมาถึงผม (หลังเนเธอร์แลนด์ชนะเซเนกัล) บอกว่า ‘โลแรน นั่นเป็นประตูของคุณ’ กั๊กโปคงไม่วิ่งลักษณะนั้นถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผม เขาคงมองไม่เห็นดีเฟนซีพไลน์ที่ขยับขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้เขาวิ่งตัดหลังคู่แข่ง”

ที่กาตาร์ กั๊กโปเดินหน้าทำสกอร์ต่อไปใน 2 นัดที่เหลือของรอบแรก (เอกวาดอร์และกาตาร์) ก่อนสิ้นสุดเส้นทางที่รอบก่อนรองชนะเลิศเมื่อพ่ายต่ออาร์เจนตินา

เป็นความปกติของฟุตบอลสมัยใหม่ที่นักเตะจะว่าจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวเพื่อยกระดับตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น รวดเร็วขึ้น และเฉียบคมขึ้น กั๊กโปเป็นหนึ่งในนักฟุตบอล 200 คน ที่ทำงานร่วมกับวีรีลิงค์ด้วยความหวังให้ตัวเองเป็นนักเตะที่เก่งขึ้น อดีตครูพละชาวดัตช์ได้เข้ามาช่วยให้นักฟุตบอลมีคู่มือแผนการเล่นเฉพาะตัวเหมือนกับกั๊กโป ซึ่งนำไปสร้างความได้เปรียบหรือความแปลกใจให้กับคู่ต่อสู้บนสนามหญ้า

ปรารถนาเป็นหนึ่งในนักเตะ 1% ที่ยืนบนยอดพิระมิด

ซิดนีย์ กั๊กโป รู้ดีว่าน้องชายของเขาต้องการข้อมูลเชิงลึกมากกว่าเพื่อนร่วมอาชีพทั่วไป จึงแนะนำโคดีให้รู้จักวีรีลิงค์ก่อนลีกเนเธอร์แลนด์เปิดฤดูกาล 2021-22 แม้ความได้เปรียบจากส่วนสูง 6 ฟุต 3 นิ้ว ก็สร้างความหวั่นไหวให้กองหลังได้แล้ว กั๊กโปยังมีอันตรายจากความเร็ว การครองบอล และทักษะด้านเทคนิคในการสร้างแผนเข้าโจมตีฝ่ายตรงข้าม

กั๊กโปมีพ่อเชื้อสายกานาที่เกิดในโตโก แม่เป็นชาวดัตช์ เขาเกิดในไอน์ดโฮเฟน เริ่มเข้าศึกษาศาสตร์ลูกหนังในอะคาเดมีของ พีเอสวี ไอน์ดโฮเฟน เมื่อปี 2007 ตอนอายุเพียง 8 ขวบ กั๊กโปผ่านโปรแกรมเยาวชนทุกระดับของสโมสร และเริ่มเข้าไปอยู่ใน ยอง พีเอสวี ซึ่งเป็นทีมสำรองของพีเอสวี ไอน์ดโฮเฟน ในซีซัน 2016-17 แต่ยังใช้เวลาส่วนใหญ่กับทีม ยู-19กั๊กโปประเดิมทีมชุดใหญ่ของพีเอสวีเมื่อถูกส่งลงสนามช่วงทดเวลาเจ็บของแมตช์ชนะเฟเยนูร์ด 3-1 เมื่อวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2018

แม้พรสวรรค์บวกกับพรแสวงที่เพิ่มเติมขึ้นขณะอยู่ในระบบของพีเอสวีจะทำให้กั๊กโปไปได้ไกลกว่านักเตะรุ่นเดียวกันส่วนใหญ่ แต่กั๊กโปต้องการมากกว่านั้น แค่ดียังไม่พอ เขากระหายที่จะเป็นนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ เป็นนักฟุตบอลส่วนน้อย 1เปอร์เซ็นต์ที่ยืนอยู่บนยอดพีระมิด นั่นจึงทำให้เขาตกลงใจทำงานกับวีรีลิงค์

หลังทำการรีวิวการเล่นของกั๊กโป วีรีลิงค์ได้ข้อสรุปว่า กั๊กโปจำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพและการเคลื่อนที่ในโซน final third พวกเขาประชุมสุมหัวคิดร่วมกัน กั๊กโปต้องเล่นฟุตบอลด้วยมันสมองมากขึ้น คิดคำนวณให้มากขึ้นในแต่ละครั้งที่จะขยับตัวหรือทำอะไรสักอย่าง แทนการตั้งหน้าตั้งตาวิ่งหรือดวลตัวต่อตัวกับคู่แข่งบ่อยเกินไป กั๊กโปควรสงวนพลังงานเพื่อเอาไปใช้ในช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตาย

“กั๊กโปเป็นนักเตะที่ชอบเวลาลูกบอลอยู่กับเท้า แต่ผมบอกว่า ถ้าเขาต้องการเล่นฟุตบอลให้ได้ถึงระดับท็อป เขาจำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่านี้ และมีคำตอบไว้หลายแบบสำหรับสถานการณ์ต่างๆในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น คุณต้องสร้างมุมและตำแหน่งที่แตกต่างกันเวลาเผชิญหน้ากรอบประตู มันเป็นสิ่งที่ผมเรียนรู้จากบาสเกตบอล ทุกครั้งที่ได้ลูก คุณต้องพร้อมที่จะชู้ตลูกออกไปเสมอ นั่นจึงเป็นการสร้างอันตราย”

“ที่พีเอสวี เขาดูนิ่งเกินไปและมักปักหลักยืนแทนที่จะเคลื่อนที่ไปรอบๆ ดังนั้นเราจึงต้องวางแผนงานว่า เขาจะวางสรีระอย่างไรก่อนจะรับบอล(ที่ส่งมาให้)หรือออกวิ่ง เรายังต้องวางแผนเรื่องการเฝ้ามองพื้นที่ว่างไม่ว่าจะมีบอลอยู่กับตัวหรือไม่ เพราะนั่นจะทำให้เขามองเห็นช่องว่างที่สามารถวิ่งทะลวงเข้าไป”

3 ซีซันก่อนหน้าทำงานกับวีรีลิงค์ กั๊กโปมีสถิติรวมทุกรายการคือ 19 นัด 2 ประตูในซีซัน 2018-19, 39 นัด 8 ประตูในซีซัน 2019-20 และ 29 นัด 11 ประตูในซีซัน 2020-21 ส่วนซีซัน 2021-22 เฉพาะในเอเรดิวิซี กั๊กโปทำได้ 12 ประตูจาก 27 นัด และ 21 ประตูจาก 47 นัดรวมทุกรายการ

กั๊กโปอำลาลีกเนเธอร์แลนด์เมื่อซีซัน 2022-23 ผ่านไปราวครึ่งทาง เขาครองอันดับ 1 ของเอเรดิวิซีทั้งจำนวนสกอร์ (9ประตู) และแอสซิสต์ (12 ครั้ง) จากการลงสนาม 14 นัด มีเพียง ดูซาน ทาดิช (อาแจ็กซ์) และ วาคลาฟ เชร์นี (ทเวนเต) ที่ทำประตูได้มากกว่ากั๊กโปเมื่อจบโปรแกรมแข่งขัน แต่ทั้งสองเล่นมากกว่ากั๊กโปคนละ 14 นัด

เปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองก่อนแล้วเพื่อนจะเปลี่ยนตาม

วีรีลิงค์อธิบายถึงการทำงานร่วมกับกั๊กโปว่า ทีมงานได้เตรียมวิดีโอกว่าร้อยคลิปที่ได้จาก WyScout แพลตฟอร์มฟุตบอลอาชีพที่บรรดาเอเยนต์ แมวมอง ผู้เล่น สื่อมวลชน และกรรมการใช้งานอย่างแพร่หลาย พวกเขาโฟกัสไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนที่ของร่างกายและศีรษะของแนวรุกดัตช์เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับลูกฟุตบอล, การครองบอลของเพื่อนร่วมทีม และตำแหน่งของตัวประกบ จากนั้นจะถูกวางโปรแกรมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์หลายรูปแบบและนำไปสร้างผลกระทบเชิงลบต่อคู่แข่ง ประตูแรกของกั๊กโปช่วงปลายครึ่งแรกที่ทำให้ลิเวอร์พูลนำ 2-0 ก่อนชนะแมนฯยูไนเต็ดถล่มทลาย 7-0 ในเดือนมีนาคม เป็นตัวอย่างที่ดี

เพลย์เริ่มที่อลิสซง เบคเกอร์ เตะบอลยาวไปยังแดนแมนฯยูไนเต็ดให้ แอนดี โรเบิร์ตสัน ที่อยู่ใกล้ริมสนามฝั่งซ้าย กั๊กโปฉีกตัวเองจากแถววงกลมกลางสนามไปริมสนาม แต่เขาไม่ได้ขอบอลจากแบ็คซ้ายร่วมทีม แต่หวังสร้างพื้นที่ว่างตรงกลาง ซึ่งโรเบิร์ตสันตอบสนองด้วยการตัดเข้าในทันที 

มาถึงตรงนี้ กั๊กโปเห็นเฟรด นักเตะแมนฯยูไนเต็ด ที่อยู่ใกล้เขามากที่สุด กำลังมองไปที่บอล นั่นเป็นตัวกระตุ้นให้กั๊กโปนึกถึง backdoor run ที่ได้มาจากทีมงานของวีรีลิงค์ เขาจึงวิ่งตัดเข้าในด้านหลังของเฟรด ซึ่งเซเสียจังหวะ ขณะเดียวกันโรเบิร์ตสันจ่ายบอลทะลุกลุ่มผู้เล่นไปที่มุมกรอบเขตโทษ ส่วนกั๊กโปก็วิ่งเข้ามารับแบบเหมาะเจาะ

ราฟาเอล เวราน ปรี่เข้ามาขวาง กั๊กโปหักหลบเปลี่ยนทิศทางทำให้ปราการหลังเฟรนซ์เสียหลัก เป็นการเพิ่มพื้นที่ว่างด้านหน้า เขาแตะบอลหนึ่งจังหวะก่อนสับไกด้วยเท้าขวา ลูกพุ่งเข้าประตูทางเสาไกล ซึ่งวีรีลิงค์กล่าวเพิ่มว่า ลูกเล่นนี้ กั๊กโปเรียนรู้จากคลิปการสอนของเขาที่ชื่อว่า Clear depth-run – backdoor side

กั๊กโปและ สเตฟาน เดอ ฟรีจ์ ปราการหลังทีมชาติเนเธอร์แลนด์ เป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงที่วีรีลิงค์สามารถเปิดเผยชื่อได้ วีรีลิงค์ยังมีลูกค้าระดับดาราอีกหลายคนที่ได้ประโยชน์จากหลักสูตรของเขา แต่ปรารถนาจะเก็บการทำงานเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างลับๆ

วีรีลิงค์มีแผนขยายธุรกิจของบริษัท แทคทาไลซ์ (Tactalyse) ไปยังสหรัฐอเมริกาก่อนถึงฟุตบอลโลก 2026 ซึ่งเขามั่นใจว่าเป็นโอกาสที่ดีเพราะคนอเมริกันพร้อมลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอาชีพตัวเอง ต่างกับยุโรปที่เห็นว่าบริการเหล่านี้เป็นเรื่องเกินความจำเป็น ส่วนที่สหรัฐอเมริกา การจ่ายเงินให้เทรนนิงส่วนตัวเป็นเรื่องปกติมาก

แม้เป็นช่วงปิดซีซัน แต่นักฟุตบอลปัจจุบันนี้มักวางแผนซ้อมส่วนตัวระหว่างฤดูร้อนเพื่อรับประกันว่าพวกเขาจะเข้าค่ายเก็บตัวพรี-ซีซันในสภาพร่างกายที่ดี หรือบางคนที่เพิ่งผ่านซีซันที่เลวร้าย ฤดูร้อนเป็นเวลาเหมาะสมที่จะประเมินประสิทธิภาพของตัวเอง และตั้งคำถามว่า มีอะไรที่ตัวเขาทำได้เพื่อช่วยเหลือทีม

วีรีลิงค์เสนอมุมมองว่า “นักเตะหลายคนชอบบ่นเพื่อนร่วมทีมที่ไม่ยอมส่งบอลมาให้ บางทีเพื่อนอาจมองไม่เห็นคุณก็ได้เลยไม่ผ่านบอลมา ข้อแนะนำของผมคือ ถ้าคุณเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง คุณจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเพื่อนได้ ผลกระทบที่ส่งไปจากคนๆเดียวนั้นใหญ่กว่าที่คิด”

กั๊กโปและแทคทาไลซ์ทำงานร่วมกันตลอดซัมเมอร์เพื่อให้มั่นใจว่าเพื่อนร่วมทีมลิเวอร์พูลเห็นเขากำลังวิ่งตัดหลังฝ่ายตรงข้ามหรือกองหลังที่จับตามองบอล จากนั้นเมื่อเขาหลุดเข้าไปดวลตัวต่อตัวกับนายประตูหรือกองหลังคนสุดท้าย เขาต้องพร้อมที่จะโป้งปิดบัญชีด้วยความเฉียบคม สำหรับวีรีลิงค์แล้ว แทคติกของทีมมักถูกตีค่าเกินจริง แต่เป็นกลยุทธเฉพาะบุคคลของตัวนักเตะต่างหากที่สร้างความแตกต่างให้กับเกมลูกหนัง

“เราสามารถคุยเรื่องระบบการเล่นของทีมได้ยาวเป็นชั่วโมงๆ แต่ท้ายสุดแล้ว เป็นนักเตะที่สามารถทำบางอย่างได้สมบูรณ์แบบต่างหากที่จะเป็นตัวตัดสินเกม” บอสใหญ่แห่งแทคทาไลซ์กล่าวทิ้งท้าย

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Football Tactics

recap มุมมอง ของ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ กับเรื่องราว เมื่อ PEP แปลง (TRANSFORM) แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไปสู่ทีมฟุตบอลแห่งอนาคตกาล

บันทึกกว่า 7 หน้ากระดาษที่ส่งตรงมาจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ทีมชาติไทย ยู-23 ปี ถึงเรื่องราว เมื่อ PEP แปลง (TRANSFORM) แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไปสู่ทีมฟุตบอลแห่งอนาคตกาล บันทึกนี้เปี่ยมไปด้วย “คุณค่า” ที่น่าติดตาม ซึ่งทาง ไข่มุกดำ ก็พร้อมที่บอกต่อเรื่องราวนี้ ให้กับทุก ๆ คนได้อ่าน ในเว็ปไซต์กัน

Categories
Football Tactics

เปิด Scrapbook โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ ถึง เออร์ลิง ฮาลันด์ และแมนฯซิตี้ของเป๊ป

จบจากแมตช์กดไลป์ซิก 7-0 ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในศึก UCL และได้เห็น เออร์ลิง ฮาลันด์ ซัลโว 5 ประตูภายใน 60 นาที ทางทีม KMD Content ได้รับโทรศัพท์ และสมุดบันทึก 7 หน้ากระดาษเขียนด้วยลายมือจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ทีมชาติไทย ยู-23 ปี

อาจารย์ได้ฝากให้ถอดรหัสพิมพ์ออกมา อย่างไรก็ดี ด้วย “คุณค่า” ของภาษาที่แท้จริง และงานเขียนมือ ที่หาได้ไม่ง่ายแล้วในยุคดิจิตอลแบบปัจจุบัน ทางทีมงานจึงคิดว่า จะนำเสนอในรูปแบบเว็ปไซต์ และนำกระดาษทั้ง 7 แผ่นมาเรียงร้อยให้กับทุก ๆ คนได้ค่อย ๆ แกะอ่านแบบใช้เวลากันจะดีกว่า

โดยทางทีมได้สรุปหัวข้อแต่ละแผ่นโน้ตบุ๊คเอาไว้ให้ เพื่อให้ recap มุมมองได้ง่ายขึ้น และโอกาสเหมาะที่สุดที่จะเผยแพร่เรื่องราวนี้คงหนีไม่พ้นหลังการสังหารแฮตทริก ที่ 6 ในฤดูกาลนี้ และสร้างยอดรวมทุก ๆ ถ้วยเป็น 42 ประตูหลังปราบเบิร์นลีย์ได้สำเร็จ 6-0 ในศึกเอฟเอ คัพ รอบ 8 ทีมที่ผ่านมาของเจ้าตัวฉายาที่สื่อขนานนามให้เป็น “ไอ้ปิศาจ” เออร์ลิง ฮาลันด์

แผ่น 1: 

ทฤษฎีความคิดนอกกรอบ (Lateral Thinking) และ 4 วาระการเล่น (Phase of Play) คือ อะไร? รวมถึงการแตะถึงการที่ เป๊ป มีนักเตะประเภท technical skill ดี ๆ รวมกับ mindset ที่เยี่ยมของผู้เล่นจนนำสู่การเล่นที่ประสบความสำเร็จ

แผ่น 2:

 ทำความรู้จักนักเตะประเภท Hybrid Working และระบบ 4:1:4:1 หรือ 4:5:1 ก่อนปรับเป็น “แบ็คทรี” ในระหว่างการเล่น

แผ่น 3:

การสร้างความได้เปรียบเรื่องตัวผู้เล่น (Numerical Superior) ให้เกิดขึ้น และการปรับฟอร์เมชั่นยามรุก เพื่อสร้างการยืนตำแหน่งแบบพิเศษ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้ตัวเอง และกดดันให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นลำบากตามหลักการของ Positional Play ผ่าน Style of Play ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ยังปิดกั้นเกมรุกของคู่แข่ง (ไม่ให้โต้กลับ) ได้อีกด้วย

แผ่น 4:

พูดถึงการให้ 3 เซนเตอร์ฮาล์ฟ (ดิอาซ, อาเก้, อคานจี) สร้างเกม ออกบอลแรก พาบอลขึ้นไปเอง (พร้อมกันอีกต่างหาก) อันสะท้อนผ่านตัวเลขการเปิดบอลสูงสุดของทีมใน 3 อันดับแรก และติดท็อป 5 ระยะการเคลื่อนที่ทั้ง 3 คน

แผ่น 5:

เปิดมุมมองให้ร่วมกันคิดว่า บทบาทพิเศษในเกมรุกของ 3 เซนเตอร์ฯ เกิดขึ้นเพราะสถานการณ์ หรือเป็นแท็คติกส์ที่ได้วางมารวมถึงการแตะเรื่องระบบอสมมาตรที่เกิดขึ้น (Asymetrical Formation) ด้วกการใช้แบ็คหุบใน (Inverted Full Back) และปีกหุบใน (Inverted Winger) ทำงานร่วมกับ Playmaker

แผ่น 6:

ข้อมูลเชิงสถิติที่ตอกย้ำผลงานที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ได้เห็น โดยทั้ง 5 ประตูของ ฮาลันด์ เกิดจาก 1 จุดโทษ และที่เหลือ 4 ประตูเกิดจากการยืนถูกที่ถูกเวลาซึ่งไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญ

แผ่น 7:

เหตุผลในมุมของเป๊ป ผ่านอาจารย์ โค้ชน้อย ว่าทำไมจึงเปลี่ยน ฮาลันด์ ออกตั้งแต่นาทีที่ 62 เท่านั้น และปิดโอกาสการทำ “ดับเบิ้ล แฮตทริก” ในเกมเดียวกัน

เรื่อง : โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ (ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ทีมชาติไทย ยู-23 ปี)

เรียบเรียง : KMD Content Team

Categories
Football Tactics

ปิดซีรีส์แรก 10 Episodes : The Tactics รายการพูดคุยคอนเทนท์เชิงเทคนิค และแท็คติกส์ฟุตบอลทั้งพื้นฐาน และสมัยใหม่ เพื่อคนรักฟุตบอลขั้นลึกซึ้ง

รายการ The Tactics : รักฟุตบอล เข้าใจฟุตบอล ซีรีส์เริ่มต้น เดินทางมาครบ 10 Episodes แล้ว และขอมัดรวมทั้งหมดมาให้ได้ติดตามรับชมกัน หรือหากใครใคร่จะรับชมอีกครั้งแบบรวดเดียว 10 Episode สามารถรับชมที่นี่ได้เลย

แนะนำว่า ต้องชม ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น!

ก่อนอื่นใด ขอเท้าความสักเล็กน้อยว่า รายการนี้ ถูกต่อยอดมาจากเมนู Football Tactics >> https://khaimukdam.com/football-tactics/ ในเว็บไซต์ ไข่มุกดำ และอีกหลายโพสต์วิเคราะห์ฟุตบอลในเพจไข่มุกดำ ซึ่งได้ผลิตมุมมองฟุตบอลแบบเจาะลึก แตกต่าง แต่เข้าใจได้ง่าย และไม่มีถูกผิด ให้เกิดขึ้นเพื่อเพื่อน ๆ ได้นำองค์ความรู้ไปต่อยอดฟุตบอลของตนเองไม่ว่า รับชม, เตะกับเพื่อน, แข่งขัน หรือในเชิง Coaching

รายการนี้ ได้รับเกียรติจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ (ที่ปรึกษาด้านเทคนิคทีมชาติไทย ยู-23 ปี) ร่วมดำเนินรายการกับ “ท็อป ไข่มุกดำ” ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์ มาพูดคุย และถ่ายทอดมุมมองฟุตบอล แยกเป็น 10 หัวข้อสำหรับซีรีส์เริ่มต้นนี้

The Tactics น่าจะเป็นหนึ่งในแหล่งความรู้ชั้นดีให้กับเพื่อน ๆ ได้ หวังว่าบรรดาเหล่าแฟนบอล คนรักฟุตบอล จะสามารถนำไปปรับใช้ได้ แม้กระทั่งโค้ช หรือตัวผู้เล่นเองก็สามารถศึกษาไว้ได้ เพราะเมื่อถึงเวลาจริง ๆ สิ่งเหล่านี้มันก็หนีไม่พ้นที่จะนำไปปรับใช้ในสนาม

สำหรับภาพรวมทั้ง 10 EP. มีอะไรให้ติดตาม นำไปใช้ได้บ้าง ตามนี้เลย

EP.1 หลักพื้นฐาน 4 ข้อในการจับประเด็นมองฟุตบอล

EP นี้เพื่อน ๆ จะได้สนุกไปกับ “พื้นฐาน” ในการติดตามฟุตบอลไม่ว่าจะในฐานะใด: โค้ช, ผู้เล่น, แฟนบอลทุกระดับ การรุก, การรับ, transition (รับเป็นรุก และรุกเป็นรับ) รวมถึง ลูกตั้งเตะ ผ่านสนามฟุตบอลที่แบ่งให้เป็น 4 โซนหลัก และ 18 โซนย่อย

เพื่อน ๆ จะได้เรียนรู้การเล่นเกมรุกว่า Direct หรือแบบ Indirect ต่างกันอย่างไร และสมัยนี้ฟุตบอลเล่นรับกันอย่างไร เรื่องทรานซิชั่นส์ไม่ต้องพูดถึง สนุกแน่ ๆ รวมถึงลูกตั้งเตะ เช่น คอร์เนอร์ ควรป้องกันด้วยผู้เล่นเฝ้า 2 เสาหรือไม่

EP.2 Positional Play คือ อะไร และมีความสำคัญอย่างไร

EP.2 จะพูดถึงหัวข้อสำคัญที่สุดของฟุตบอลยุคปัจจุบันหัวข้อหนึ่ง อย่าง Positional Play ซึ่งก็คือ การสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง หรือการพยายามเข้าทำลายเกมรับของคู่ต่อสู้ทุกรูปแบบ ผ่าน 3หลักการเบื้องต้น ได้แก่

1. สร้างความได้เปรียบในเรื่องจำนวนผู้เล่นในพื้นที่แดนรุกระหว่างบุก และครอบครองบอล

2. เลือกพื้นที่ดังกล่าว ตามแผนการที่ตระเตรียม และซ้อมมา

3. ด้วยคุณภาพผู้เล่นที่เหนือกว่าจะทำให้การสร้างสถานการณ์ในข้อ 1 และ 2 เกิดขึ้น และเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมหลัก ๆ ของ Positional Play ในส่วนของรายละเอียดเจาะลึกลงไป ตามกันต่อในคลิปนี้ได้เลย

EP.3 False 9

นี่น่าจะเป็นอีก EP ที่ทุก ๆ คนรอคอย ซึ่งพูดถึงหัวข้อที่เป็นแท็คติกส์สำคัญ ที่สอดแทรกอยู่ในกลยุทธ์การเล่น Postional Play ที่ได้นำเสนอไปใน EP ที่ผ่านมา คือ False 9 และ False 10

สำหรับผู้เล่น False 9 นั้น มักจะเป็นผู้เล่นที่มีทักษะการครองบอลที่ดี มีความพริ้วในการเคลื่อนตัวหาพื้นที่ และมี vision ที่เฉียบขาดในการถ่ายบอลให้ผู้เล่นคนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการดึงกองหลังออกจากลายเพื่อให้เกิดความสับสนในการเลือกตัวประกบและเกิดช่องว่างให้เพื่อนเข้าทำ

EP.4 INVERTED WINGERS / FULL BACK

แท็คติกส์สำคัญอีก 1 ชิ้นที่ถูกบรรจงสร้างสรรค์ขึ้นมาในโลกลูกหนังเพื่อที่จะสร้างสมดุลย์ให้กับ shape การเล่น โดยเฉพาะเกมรุก (เพิ่มจำนวนผู้เล่น, ไลน์การเล่น) บริเวณแดนกลาง และแน่นอน หากทำได้สมบูรณ์ เกมรับก็จะง่าย ทรานซิชั่นส์ก็ดี เพราะจะ allow ให้ผู้เล่นสามารถช่วงชิงบอลคืนกลับมา (Counter Pressing) ได้ทันท่วงที เพราะแต่ละคนยืนไม่ห่างกัน และไลน์ในการเล่นก็มี “ระยะ” ที่เหมาะสม

Inverted ทั้งฟูลแบ็ค และปีก (Wingers) มีหลายตัวอย่างใน EP นี้ที่ไม่อยากให้พลาดเพื่อต่อยอดความเข้าใจจาก 3 EP ที่ผ่านมา

EP.5 รู้จัก PLAYMAKER สมัยใหม่ในโลกฟุตบอล

Playmaker หรือ ตัวทำเกม หรือนักเตะผู้สร้างสรรค์เกม ในช่วงเวลาหนึ่ง (ในอดีต) จะหมายถึงคนที่ใส่เสื้อเบอร์ 10 แต่อย่างที่ทราบกันว่า เบอร์ 10 มันมีได้แค่คนเดียว เพราะฉะนั้นในปัจจุบันนี้ ถ้าผู้เล่นคนอื่น ๆ สามารถยกระดับการเล่น และแนวทางการเล่นของตนเองขึ้นมา ทีมก็จะมี “เพลย์เมคเกอร์” ได้หลากหลายตำแหน่ง และมีความสามารถโดยรวมที่มากขึ้น ทำให้ทีมยิ่งได้เปรียบคู่แข่งขัน

เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึง Playmaker ต่อไป ก็ไม่ใช่แค่ผู้เล่นเบอร์ 10 หรือมิดฟิลด์เพียงตำแหน่งเดียว แต่หมายถึง ทุกตำแหน่งที่มีความสามารถ เป็นได้ตั้งแต่ตำแหน่งผู้รักษาประตู, ฟูลแบ็ค, เซนเตอร์ฮาล์ฟ (คิดถึงใครกันบ้างครับ?), มิดฟิลด์ตัวรับ (แบบ deep lying playmaker) เรื่อยไปจนถึงกองหน้า (False 9) ที่เก่งฉกาจในการสร้างสรรค์โอกาส และการทำเกมได้อย่างยอดเยี่ยม

EP.6 มิดฟิลด์คู่ (Double Pivot) ทำหน้าที่อย่างไร?

Double Pivot หรือ มิดฟิลด์คู่ ซึ่งถูกพัฒนาและถูกใช้มาเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว เป็นต้นแบบต้นฉบับอย่างหนึ่งที่ทีมต่าง ๆ ได้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนที่บาร์เซโลนาสมัยแรก ๆ จะมี บุสเกตส์ กับ ชาบี เอร์นานเดซ เป็นมิดฟิลด์คู่ ซึ่งบทบาทของทั้งสองคน ก็รับหน้าที่แตกต่างกันไปในเกม พูดง่าย ๆ ก็คือ หากคนหนึ่งเล่นเกมรับ 30% เกมรุก 70% อีกคนก็จะเล่นกลับกัน เป็นเกมรับ 70% เกมรุก 30%

แน่นอนว่า เราจะได้เห็นบทบาทของ Double Pivot มากขึ้น ในฟุตบอลปัจจุบันนี้ ซึ่งในความหลากหลายของฟอร์เมชั่นในแต่ละทีม อาจยังไม่สามารถจะกำหนดชัดได้ว่าจะต้องยืนด้วยระบบ 4-3-3 เนื่องจากทุกการเล่นจะต้องถูกปรับให้สอดคล้องกับคู่ต่อสู้เสมอ และผู้เล่นที่มักจะถูกเลือกใช้กันก็คือ ผู้เล่นที่เล่นได้หลายตำแหน่ง มีความหลากหลายในการเล่น ยกเว้นคู่เซ็นเตอร์ กับประตู 3 คนเท่านั้น ที่บทบาทนั้นควรจะไม่เปลี่ยนไปมาก นอกนั้นถูกเปลี่ยนได้หมดเลย มันถึงจะควบคุมคู่ต่อสู้ได้

EP.7 Lone Striker (กองหน้าตัวเป้า)

“Lone Striker” หรือ กองหน้าตัวเป้า หนึ่งในกุญแจสำคัญของการเล่น ซึ่งผู้เล่นที่ดีในตำแหน่งนี้ ควรจะต้องมีคุณสมบัติเพียบพร้อม ทั้งเรื่องรูปร่างที่ได้เปรียบ สูงใหญ่ มีความคล่องตัวและความเร็วสูง ยิงประตูที่เฉียบคม วิ่งเข้าไปทำประตูในพื้นที่ PTA หรือ วิ่งทะแยงตัดหลังไลน์ได้ มี first touch ที่ดี หรืออาจจะต้องมีจุดแข็งเรื่องลูกกลางอากาศ และที่สำคัญมาก ๆ คือต้องมีสัญชาติญาณในการยิงประตู ในทุกรูปแบบ

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วศูนย์หน้าตัวเป้า ที่มีความเพียบพร้อมนั้น มักจะมีค่าตัวแพงมาก ๆ ในปัจจุบัน ผู้เล่นตำแหน่งนี้ ที่มีประสิทธิภาพ ก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คาริม เบนเซม่า, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้, แฮร์รี เคน, ​เออร์ลิ่ง ฮาลันด์, ดาร์วิน นูนเญซ, โรเมลู ลูกากู, อเล็กซานดาร์ มิโตรวิช ฯลฯ

EP.8 พื้นที่ PTA (Prime Target Area)

EP นี้ พูดถึงเรื่องของ “มิติ” การครอสส์บอล และจุดนัดพบที่เรียกว่า Prime Target Area (PTA) ตามนิยามของปรมาจารย์ลูกหนัง ชาร์ลส ฮิวจ์ส (Charles Huges) และที่โค้ชน้อย ร่วมทำสรุปมาคุยกันวันนี้ และคำอธิบายประกอบก็คือ พื้นที่เข้าไปในกรอบ 6 หลาประมาณ 2 หลา (1.8 เมตร) และลากออกมาจากเส้นกรอบ 6 หลาจนถึงจุดโทษ หรือคืออีกประมาณ 6 หลา (5.3 เมตร) รวมเป็นยาว 8 หลา และกว้างเท่ากับความยาวกรอบ 6 หลา

บริเวณ PTA คือ พื้นที่ที่ควรครอสส์ หรือทำเกมจากด้านข้างเข้าสู่กรอบเขตโทษ เพราะเป็นพื้นที่ระหว่างไลน์รับคู่แข่งกับผู้รักษาประตู

คำถาม คือ เทรนท์ หรือใคร ทีมใดก็แล้วแต่ โยนเข้าจุดดังกล่าวไหม? และหากเข้า ทำไมไม่เกิดประสิทธิภาพ

คำตอบมีได้หลากหลาย เช่น คู่แข่งรับต่ำ รับด้วยจำนวนมาก หรือนายทวารออกมากำกับจัดการได้ดี เฉพาะอย่างยิ่ง ลูกโยนจาก Deep area ที่ป้องกันได้ง่ายกว่า

EP.9 พื้นที่ Half Spaces

พื้นที่ Half Spaces ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุดในสนาม เป็นช่องลากยาวจะอยู่ระหว่างแนวฟูลแบ็คกับเซ็นเตอร์ฯ จึงเหมาะแก่การเข้าทำเมื่อทีมเป็นฝ่ายรุก

โดยในฟุตบอลสมัยใหม่ ทีมใหญ่ ๆ หลายทีมในต่างประเทศ มักจะให้นักเตะที่เป็นตัวทำเกมมาอยู่ในตำแหน่งนี้ และต้องเป็นนักเตะที่มีความสามารถมากพอที่จะเล่นในพื้นที่แคบ ๆ ได้ด้วย เหตุผลเพราะโซนนี้สามารถจ่ายบอลได้ทุกทิศทาง

EP.10 วิธีการเจาะแนวรับฝั่งตรงข้าม

วิธีการเจาะแนวรับฝั่งตรงข้าม ซึ่งก็หนีไม่พ้นในเรื่องของ Positional Play โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นPositional Play ในแดนคู่ต่อสู้ ในขณะที่เรากำลังเตรียมการใช้คน 8 คนทั้งหมดรุกเข้าไป

โดยการเคลื่อนที่ของผู้เล่นทั้งหมดนี้ จะทำให้คู่ต่อสู่แนวรับทั้งหมดไม่มั่นคง ซึ่งเราก็ใช้วิธีการต่าง ๆ ที่เคยพูดมาใน EP ก่อนหน้านี้ทั้งหมด คือ การเคลื่อนที่ของ Inverted Full-back เข้ามา 2 คน แล้วเอาผู้เล่น Inverted Winger เข้ามาอีก 2 คน แล้วให้มีคนวิ่ง False 9 ลงมาตรงกลาง ส่วนฝั่งซ้ายขวา ก็ให้คนวิ่ง False 10 และ False 8

ถ้าสมมติในกรณีนี้ เราเข้าไปสู่พื้นที่เกือบจะสุดท้าย แบบทะลุทะลวง เพราะฉะนั้นการทำในลักษณะนี้พร้อม ๆ กันหรือเกือบจะพร้อมกัน แนวรับฝั่งตรงข้ามแตกแน่นอน

อย่างไรก็ดี ทีมผู้จัดทำหวังว่ารายการนี้จะให้ประโยชน์กับทุก ๆ คนได้ไม่มากก็น้อย โดยไม่ได้มีผู้สนับสนุนรายการใด ๆ ก็จะมีเพียงเพื่อน ๆ นี่แหละ ที่เป็นกำลังใจ คอยติดตาม และพูดคุยกัน และในอนาคต รายการ The Tactics จะมีซีรีส์ภาคต่ออย่างไร รอติดตามกันได้เลย

📝 ภาวินีย์ สูญสิ้นภัย (แนน)

Categories
Football Tactics

ผ่าแท็กติก “อาร์เซน่อล” กับการเริ่มต้นซีซั่นที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์

อาร์เซน่อล ออกสตาร์ท 10 เกมแรกของพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2022/23 ด้วยผลงานที่สุดยอด ชนะ 9 และแพ้ 1 นำเป็นจ่าฝูงของตาราง เป็นสถิติที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรมา 136 ปี

ส่วนในยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ก็เก็บชัยชนะทั้ง 4 เกม โดยเกมล่าสุดเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เปิดบ้านชนะพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น 1 – 0 และจะพบกับยอดทีมจากเนเธอร์แสนด์ทีมนี้อีกครั้งในสัปดาห์หน้า

SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาอธิบายถึงเหตุผลในเชิง “แท็กติก” ที่ทำให้ทีมของมิเกล อาร์เตต้า สร้างสถิติการเริ่มต้นซีซั่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ของ “เดอะ กันเนอร์ส”

⚽️ เกมรับที่ดูดี และมีประสิทธิภาพ

ก่อนที่พรีเมียร์ลีกจะทำการแข่งขันในสุดสัปดาห์นี้ อาร์เซน่อล เสียไป 10 ประตู จาก 10 นัด น้อยสุดเป็นอันดับ 2 ร่วมกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี ซึ่งเป็นรองนิวคาสเซิล (9 ประตู) เพียงทีมเดียวเท่านั้น

2 นัดหลังสุดที่พบกับลิเวอร์พูล และลีดส์ ยูไนเต็ด แผงแนวรับของอาร์เซน่อล ประกอบด้วยฟูลแบ็ก 2 ข้าง ทาเคฮิโร่ โทมิยาสุ (ซ้าย), เบน ไวท์ (ขวา) และเซ็นเตอร์แบ็ก วิลเลี่ยม ซาลีบา คู่กับกาเบรียล มากัลเญส

โดยเฉพาะนัดที่เปิดบ้านชนะลิเวอร์พูล 3 – 2 แบ็กซ้ายอย่างโทมิยาสุ สามารถจัดการโมฮัมเหม็ด ซาลาห์ จนแทบจะไม่มีส่วนร่วมกับเกม และทำให้ดาวเตะอียิปต์ถูกเปลี่ยนตัวออกในช่วง 20 นาทีสุดท้าย

ส่วนคู่เซ็นเตอร์แบ็กทั้งซาลีบา และมากัลเญส ที่ต่างสไตล์แต่เข้ากันได้อย่างลงตัว มีความแข็งแกร่ง ดุดัน ครองบอลได้ดีและสามารถดันขึ้นไปช่วยทำเกมรุกได้ แต่มากัลเญสดูเหมือนจะครบเครื่องกว่า

แท็กติก “ไฮไลน์ ดีเฟนซ์” ของอาร์เตต้า ได้ผลดีเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นเกมที่แพ้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพียงเกมเดียวเท่านั้น ที่แนวรับเสียสมาธิแค่ไม่กี่วินาที เปิดช่องให้ “ปิศาจแดง” ฉวยโอกาสพังประตูจนได้

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/Arsenal

⚽️ เริ่มต้นเกมได้ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

จาก 14 เกมรวมทุกรายการ มีถึง 10 เกมที่อาร์เซน่อล ไม่เสียประตู แถมยิงประตูขึ้นนำคู่แข่งก่อนภายใน 30 นาทีแรกของการแข่งขัน อีกทั้งยังรักษาสกอร์นำได้นานที่สุดในพรีเมียร์ลีก คิดเป็น 59 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด

มิเกล อาร์เตต้า กุนซือเดอะ กันเนอร์ส กล่าวว่า “โค้ชทุกคนต้องการเห็นทีมทำประตูตั้งแต่นาทีแรก แน่นอนว่ามันคงไม่เกิดขึ้นทุกนัด แต่เป้าหมายของเราคือพาบอลบุกไปข้างหน้าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”

นอกจากนี้ การที่อาร์เตต้าได้แต่งตั้งมาร์ติน โอเดการ์ด มิดฟิลด์เลือดนอร์เวย์ เป็นกัปตันทีมคนใหม่ ทำให้แนวทางของทีมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งกรานิต ซาก้า อดีตกัปตันทีม ก็ข่วยหนุนหลังอย่างเต็มที่

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือเกมที่พบกับท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา อาร์เซน่อล ผ่านบอลจากแผงหลังอย่างรวดเร็ว ระหว่างเบน ไวท์ โทมัส ปาร์เตย์, มาร์ติน โอเดการ์ด และกาเบรียล เชซุส

อาร์เซน่อล ขึงเกมรุกกดดันในแดนของคู่แข่งอยู่พักใหญ่ ทำให้สเปอร์เสียฟาวล์บริเวณกลางสนาม ก่อนที่ปาร์เตย์จะยิงขึ้นนำตั้งแต่ 20 นาทีแรก แม้จะเสียประตูตีเสมอจากจุดโทษ แต่ก็กลับมาเอาชนะได้

⚽️ สร้างโอกาสทำประตูได้มากขึ้น

การเซ็นสัญญากาเบรียล เชซุส จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้แนวทางการเล่นเกมรุกของอาร์เซน่อล เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด และช่วยให้แนวรุกคนอื่น ๆ สร้างโอกาสลุ้นประตูได้มากขึ้น

เชซุส เข้ามาเพิ่มความคล่องตัว และสร้างความอันตรายในเกมบุกของอาร์เซน่อลได้ดีกว่าอเล็กซองดร์ ลากาแซตต์ ดาวยิงคนเก่า โดยอดีตดาวเตะแมนฯ ซิตี้ รับบอลจากเพื่อนร่วมทีมได้ถึง 91 ครั้ง มากที่สุดในลีก

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/Arsenal

บูกาโย่ ซาก้า กับกาเบรียล มาร์ติเนลลี่ มีโอกาสซัดประตูภายในกรอบเขตโทษถึง 20 ครั้ง (มากที่สุดเท่ากับโมฮัมเหม็ด ซาลาห์) และมาร์ติน โอเดการ์ด อาจโผล่ขึ้นมาระหว่างไลน์เพื่อสอดบอลเข้าไปด้านหลัง

ขณะที่กรานิต ซาก้า หลังจากเล่นในตำแหน่งกลางตัวรับที่ไม่ถนัดมานาน ก็ได้รับบทบาทใหม่ที่มีส่วนช่วยในการขึ้นเกมรุกมากขึ้น และมักจะสอดเข้าไปในกรอบเขตโทษพร้อมยิงประตูได้ตลอดเวลา

จากข้อมูลชอง fbref.com ระบุว่า แนวรุก 4 จาก 5 คนของอาร์เซน่อล ติดอันดับนักเตะที่มีส่วนในการสร้างโอกาสเพื่อทำประตู (Shot-Creating Actions : SCA) ในพรีเมียร์ลีกมากที่สุด 10 อันดับแรก

ซาก้า กับมาร์ติเนลลี่ มีส่วนร่วม 38 ครั้งเท่ากัน อยู่อันดับ 3, เชซุส 36 ครั้ง อยู่อันดับ 8 ร่วม และชาก้า35 ครั้ง อยู่อันดับ 10 ร่วม ขณะที่โอเดการ์ด ทำได้ 32 ครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือว่าใกล้เคียงกันมาก

⚽️ พร้อมลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกหรือยัง ?

อีกสิ่งหนึ่งที่อาร์เซน่อล ทำผลงานได้ดีสม่ำเสมอขนาดนี้ คือนับตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้ว จนถึงตอนนี้ มิเกล อาร์เตต้า ใช้ผู้เล่น 11 ตัวจริงหน้าเดิมถึง 11 นัด มากที่สุดเมื่อเทียบกับทีมอื่นๆ ในพรีเมียร์ลีก

ภาพรวมฟอร์มการเล่นนับตั้งแต่เปิดซีซั่น ตำแหน่งที่อาร์เซน่อลพัฒนาขึ้นมามากในฤดูกาลนี้ คือฟูลแบ็กทั้ง 2 ข้าง รวมถึงแนวรุกที่เล่นได้อย่างลื่นไหล ขณะที่แดนกลางแม้จะไม่โดดเด่นมากนัก แต่ถือว่ายังทำได้ดี

โดยอาร์เซน่อล มีค่าเฉลี่ยความเป็นไปได้ที่จะมีประตูเกิดขึ้นต่อเกม (Expect Goal : xG) อยู่ที่ 1.0 หมายความว่า 1 นัด การันตี 1 ประตู ซึ่งดีสุดเป็นอันดับ 2 รองจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีค่า xG ต่อเกมอยู่ที่ 1.4

ในประวัติศาสตร์ 30 ปี ของพรีเมียร์ลีก ทีมที่ทำสถิติชนะ 9 จาก 10 นัดแรก เคยเกิดขึ้นทั้งหมด 5 ครั้ง และคว้าแชมป์เมื่อจบซีซั่นได้ 4 ครั้ง คือ เชลซี (2005/06), แมนฯ ซิตี้ (2011/12, 2017/18) และลิเวอร์พูล (2019/20)

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/Arsenal

อย่างไรก็ตาม 10 นัดแรกของซีซั่นที่แล้ว แมนฯ ซิตี้ ตามหลังเชลซี จ่าฝูงในขณะนั้นอยู่ 5 แต้ม แต่ก็แซงคว้าแชมป์ในบั้นปลาย เฉือนชนะลิเวอร์พูลแค่แต้มเดียว ส่วน “สิงห์บูลส์” ได้แค่ที่ 3 และมีแต้มน้อยกว่าถึง 19 แต้ม

ส่วนเกมที่อาร์เซน่อล จะดวลกับทีมของเป๊ป กวาร์ดิโอล่านั้น เดิมทีต้องลงเตะเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจาก “เดอะ กันเนอร์ส” ติดโปรแกรมยูโรป้า ลีก กว่าจะได้เจอกันต้องรอถึงช่วงหลังปีใหม่

เป้าหมายแรกของอาร์เซน่อลที่ต้องทำให้ได้ก่อน คือการกลับเข้าร่วมแชมเปี้ยนส์ ลีก ส่วนเรื่องลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก คงต้องยืนระยะให้ได้แบบยาว ๆ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ชั้นดีว่ามิเกล อาร์เตต้า เจ๋งจริงหรือไม่

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3704476/2022/10/20/arsenal-arteta-data-tactics-analysis/

https://theathletic.com/3638949/2022/09/30/arsenal-tottenham-tactical-preview/

https://theathletic.com/3633401/2022/09/28/arsenal-control-mikel-arteta-passes-request/

https://theathletic.com/3555797/2022/09/01/arsenal-villa-gabriel-martinelli-responding/

https://theathletic.com/3527556/2022/08/24/arsenal-press-jesus-martinelli-saka/

https://theathletic.com/3524139/2022/08/21/zinchenko-arsenal-xhaka/

https://fbref.com/en/squads/18bb7c10/Arsenal-Stats

Categories
Football Tactics

เรียนรู้จากสุดยอดโค้ช : แรงบันดาลใจของ “ซาคคี่” ที่อาจช่วย “คล็อปป์” คืนชีพลิเวอร์พูล

เจอร์เก้น คล็อปป์ ที่กำลังจะครบรอบ 7 ปี ในการคุมทีมลิเวอร์พูล ทำผลงานช่วงออกสตาร์ทฤดูกาลนี้ได้แบบกระท่อนกระแท่น ทำเอาแฟนๆ หงส์แดง ผิดหวังไม่น้อยเลยทีเดียว

เชื่อว่ากุนซือชาวเยอรมัน ขวัญใจ “เดอะ ค็อป” ได้ใช้ช่วงหยุดพักที่ยาวนานถึง 2 สัปดาห์กว่าๆ ทบทวนถึงความพังพินาศที่เกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูกาล และพร้อมที่จะสู้กันใหม่กับซีซั่นที่ไม่ปกติ

หลังกลับมาจากพักเบรกโปรแกรมทีมชาติ ลิเวอร์พูลจะเข้าสู่ช่วงโปรแกรมหฤโหด เพราะต้องลงเตะถึง 13 นัด ในช่วงเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน ก่อนหลีกทางให้ฟุตบอลโลกที่กาตาร์

บางที คล็อปป์อาจจะต้องศึกษาแนวทางของอาร์ริโก้ ซาคคี่ อดีตตำนานโค้ชผู้ยิ่งใหญ่ของเอซี มิลาน ซึ่งทาง SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาขยายประเด็นนี้ให้ฟังกันครับ

วิธีคิดของซาคคี่ พลิกจากดำดิ่งสู่ยิ่งใหญ่

“ถ้าทีมฟุตบอลทีมหนึ่งไม่มีอะไรบางอย่าง เช่นการเพรสซิ่ง และการเคลื่อนที่ ศักยภาพจะหายไปครึ่งหนึ่ง ทีมที่ผมเคยเป็นโค้ช ก็ต่อสู้เพื่อชัยชนะ พวกเขาประสบความสำเร็จมาตลอดเมื่อมีแคแร็กเตอร์ที่ชัดเจนและดุดัน”

“พวกเราไม่มีความสุข เพราะความมุ่งมั่นที่ลดลงอย่างชัดเจน พวกเรากำลังละเลยอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเพรสซิ่ง, การหาช่อง และความเร็ว พวกเราต้องทบทวนเกี่ยวกับความคิดของเราใหม่อีกครั้ง”

“พวกเราไม่มีความหนักแน่น หย่อนยาน และเต็มไปด้วยความกลัว ตอนนี้พวกเราคือปืนที่หละหลวม มีนักเตะเพียงไม่กี่คนที่พยายามเคลื่อนไหวสู้กับนักเตะคนอื่น ๆ ความวุ่นวายกำลังครอบงำพวกเขาอยู่”

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือคำพูดของอาร์ริโก้ ซาคคี่ อดีตผู้จัดการทีมเอซี มิลาน ชุดคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 2 สมัยติดต่อกัน ที่ได้บอกเล่าผ่านหนังสือ The Immortals หรือชื่อภาษาไทยคือ “ตำนานไม่มีวันตาย”

ซาคคี่ ถือเป็นกุนซือผู้ริเริ่มแนวคิด “เพรสซิ่ง ฟุตบอล” ที่เข้ามาปฏิวัติวงการลูกหนังอิตาลีในช่วงปลายทศวรรษ 1980s ด้วยสไตล์การเล่นที่ใช้พละกำลังสูง ไล่กดดันคู่แข่งตั้งแต่แดนหน้า และต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา

ในฤดูกาล 1987/88 ซาคคี่เข้ามาเป็นเทรนเนอร์ให้กับมิลาน และคว้าแชมป์สคูเด็ตโต้ตั้งแต่ซีซั่นแรกที่คุมทีม แล้วในซีซั่นถัดมา ออกสตาร์ท 5 นัดแรกแบบไร้พ่าย แต่ในเวลาต่อมา ทีมต้องเจอกับช่วง “ดำดิ่ง” สุดๆ

เพราะอีก 7 นัดหลังจากนั้น “รอสโซเนรี่” ชนะแค่เกมเดียว แพ้ไปถึง 4 เกม ให้กับอตาลันต้า, นาโปลี, อินเตอร์ และเชเชน่า ซึ่งซาคคี่ ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ในเรื่องของสมาธิ พวกเราไม่ได้อยู่กับมันเลย”

ทำให้ซาคคี่ ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้ลูกทีมฝึกซ้อมเข้มข้นกว่าเดิม เช่น การซ้อมครองบอลในพื้นที่ขนาด 35 x 35 เมตร เป็นเวลา 15 นาที และการเข้าสกัดบอลจากผู้เล่น 4 คน นับจำนวนครั้งต่อนาที

หลังจากนั้น ผลงานของมิลานก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไร้พ่าย 22 เกมติดต่อกันในลีก แม้จะได้แค่อันดับ 3 แต่พวกเขาปิดซีซั่นอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ และป้องกันแชมป์ได้อีกครั้งในซีซั่นถัดมา

เก่งกาจมาจากไหน ก็ต้องเจอความมืดมน

อาร์ริโก้ ซาคคี่ คือสุดยอดผู้จัดการทีมฟุตบอลที่เจอร์เก้น คล็อปป์ ยกให้เป็น “ไอดอล” และนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำทีมลิเวอร์พูลให้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ฤดูกาล 2018/19 เป็นต้นมา ที่คล็อปป์ได้แชมป์รายการแรกกับลิเวอร์พูล เขามีสถิติการคุมทีมในพรีเมียร์ลีกนับจนถึงปัจจุบันไปแล้ว 158 นัด ชนะ 112 เสมอ 30 และแพ้แค่ 16 นัดเท่านั้น

คล็อปป์ พาลิเวอร์พูลคว้าแชมป์รายการใหญ่ครบทุกรายการ โดยเฉพาะเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นสโมสรแรกของอังกฤษ ที่ใกล้เคียงกับการลุ้น “ควอดรูเพิล” ลงเล่นครบทุกนัดทั้ง 4 ถ้วย

อดีตเฮดโค้ชปีศาจแดง-ดำ วัย 75 ปี กล่าวว่า “ลิเวอร์พูลคือทีมมหัศจรรย์ คือทีมที่แท้จริงที่ไม่มีซูเปอร์สตาร์ ทีมหนึ่งมีนักเตะ 1 คน ทำเพื่ออีก 11 คน แต่ทีมอื่น มีนักเตะ 11 คน ที่ต่างเล่นเพื่อตัวเอง”

“ผมคิดว่ามีนักเตะประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเคลื่อนที่ไปพร้อมกันเวลามีบอล หากเปรียบเป็นวงออร์เคสตร้า พวกเขาก็บรรเลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ และมีจังหวะเวลาที่เหมาะสมเสมอ”

อย่างไรก็ตาม คล็อปป์ ก็เหมือนกับสุดยอดผู้จัดการทีมที่ยิ่งใหญ่ในตำนานคนอื่นๆ ที่ต้องเจอช่วงเวลามืดมนเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นเมื่อ 2 ฤดูกาลก่อน ที่เจอวิกฤตแนวรับตัวหลักบาดเจ็บยกแผง

กุนซือชาวเยอรมัน สร้างสถิติอันเลวร้ายที่ไม่น่าจดจำ แพ้ในบ้าน 6 นัดติด แถมอันดับร่วงลงไปอยู่กลางตาราง แต่ด้วยจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ ทำให้ทีมฮึดสู้จนคว้าตั๋วไปแชมเปี้ยนส์ ลีก ได้แบบฉิวเฉียด

13 เกมก่อนเวิลด์ คัพ ได้เวลาฟื้นหรือยัง ?

ถึงแม้เจอร์เก้น คล็อปป์ เคยวิจารณ์เรื่องโปรแกรมทีมชาติที่มาคั่นเกมระดับสโมสรว่า “ไร้สาระ” แต่ช่วงเวลาที่ได้หยุดพักไปนานถึงครึ่งเดือน เชื่อว่ายอดกุนซือวัย 55 ปี คงจะได้รับประโยชน์ไปไม่น้อยเลย

เริ่มจากสถานการณ์อาการบาดเจ็บของนักเตะในทีมเริ่มที่จะดีขึ้นตามลำดับ อีกทั้งนักเตะที่รับใช้ทีมชาติในช่วง “ฟีฟ่า เดย์” ที่ผ่านมา ต่างโชว์ฟอร์มได้ดี และพร้อมสำหรับการลงเตะ 13 นัด ก่อนฟุตบอลโลก

ช่วงโปรแกรมหฤโหดของ “หงส์แดง” เริ่มจากเดือนตุลาคม พรีเมียร์ลีก 6 เกม ในการพบกับไบรท์ตัน ต่อด้วยศึกใหญ่ 2 นัดติด ทั้งอาร์เซน่อล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากนั้นพบกับเวสต์แฮม, ฟอเรสต์ และลีดส์

ส่วนในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก จะพบกับกลาสโกว์ เรนเจอร์ส 2 นัดติด ต้องเก็บ 6 แต้มเต็มสถานเดียว เพราะส่งผลถึงเกมที่จะบุกไปเยือนอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ช่วงปลายเดือน ซึ่งมีผลโดยตรงกับการลุ้นเข้ารอบ

เดือนพฤศจิกายน เปิดบ้านพบนาโปลี ที่อาจจะเป็นเกมตัดสินว่าจะได้เข้ารอบน็อกเอาต์ยูซีแอลหรือไม่ จากนั้นเจอศึกหนักกับสเปอร์สในพรีเมียร์ลีก, คาราบาว คัพ กับดาร์บี้ เคาน์ตี้ และปิดท้ายกับเซาธ์แธมป์ตันในลีก

ซึ่งสถานการณ์ของลิเวอร์พูลในเวลานี้ ถ้าให้มองในด้านบวก คือการมองเห็นจุดบกพร่องตั้งแต่ตอนต้นซีซั่น ยังมีเวลาอีกมากให้แก้ไข ซึ่งแฟนๆ ลิเวอร์พูลต่างหวังว่า นี่คือโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3583294/2022/09/12/jurgen-klopp-liverpool-ac-milan/

https://theathletic.com/3640643/2022/09/29/liverpool-schedule-world-cup/

https://punditarena.com/football/matt-gault/jurgen-klopp-arrigo-sacchi-influence/

https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/arrigo-sacchi-liverpool-milan-22009281

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10145959/Jurgen-Klopps-Liverpool-perfect-without-real-superstars-says-Sacchi.html

https://www.si.com/soccer/liverpool/interviews/a-masterpiece-ac-milan-legend-arrigo-sacchi-on-jurgen-klopps-liverpool

https://en.wikipedia.org/wiki/1988%E2%80%9389_A.C._Milan_season

Categories
Football Tactics

“ทุ่มบอล” อาวุธลับที่มองไม่เห็นของ “ลิเวอร์พูล” ยุคนายหัวคล็อปป์

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ลิเวอร์พูลกลับมาฝึกซ้อมที่แอ็กซ่า เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ หลังจบคิวอุ่นเครื่องสองนัดที่อาเซียน ก่อนจะเดินทางต่อไปเก็บตัวปรีซีซั่นที่เยอรมนีและออสเตรีย มีข่าวเล็กๆบนหน้าสื่อไม่กี่สำนักที่ลงข่าวลิเวอร์พูลต่อสัญญาอีกหนึ่งปีกับ โธมัส กรอนเนมาร์ค โค้ชชาวเดนมาร์กวัย 46 ปี เจ้าของสถิติโลกทุ่มบอลไกลระยะ 51.33 เมตร

ซีซั่น 2022-23 เป็นปีที่ 5 ที่กรอนเนมาร์คทำงานให้กับลิเวอร์พูลในตำแหน่ง “โธรว์-อิน โค้ช” ที่รับผิดชอบการทุ่มบอลเขาทำงานแบบพาร์ทไทม์จึงไม่มีชื่ออยู่ในสตาฟฟ์โค้ช แต่ภารกิจของอดีตนักกรีฑาและบ๊อบสเลด (เลื่อนน้ำแข็ง) ทีมชาติเดนมาร์กเปรียบเสมือนปิดทองหลังพระในความสำเร็จของทีมหงส์แดงยุคเยอร์เกน คล็อปป์

ถ้าอยากรู้ว่าผลงานของกรอนเนมาร์คเป็นอย่างไรบนสนามแข่งขัน ให้สังเกตการทุ่มบอลของศิษย์เอกสามคนได้แก่ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, แอนดี้ โรเบิร์ตสัน และ โจ โกเมซ

เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่นักเตะลิเวอร์พูล 15 คนกำลังฝึกซ้อม นักข่าวเห็นกรอนเนมาร์คยืนอยู่กับคล็อปป์และดร.อันเดรียส ชลัมแบร์เกอร์ หัวหน้าฝ่ายฟื้นฟูสมรรถภาพ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมากรอนเนมาร์คได้ทวีตยืนยันว่าเขาได้เซ็นสัญญาหนึ่งปีกับลิเวอร์พูล

“ผมภูมิใจที่จะบอกว่าได้ต่อสัญญากับลิเวอร์พูลอีกหนึ่งปีเป็นซีซั่นที่ห้าในฐานะโค้ชทุ่มบอล รวมถึงสโมสรฟุตบอลอาชีพอีกสามทีม ผมเริ่มทึ่งกับการทุ่มบอลหลังได้เห็นญาติๆที่เป็นพี่ใหญ่ของผมทุ่มบอลไกลช่วงกลางทศวรรษ 1980”

กรอนเนมาร์คไม่ได้ระบุชื่ออีกสามทีมที่เขาต่อสัญญาแต่ที่ผ่านมา เขาทำงานฟรีแลนซ์ให้กับ อาแจ็กซ์, ไลป์ซิก, เกนท์, แอตแลนตา ยูไนเต็ด และมิดทีลแลนด์

 “คล็อปป์” ยังงงเมื่อรู้ว่าโลกลูกหนังมีอาชีพโค้ชทุ่มบอล

โธมัส กรอนเนมาร์ค เริ่มเข้ามาทำงานในแอนฟิลด์เมื่อเดือนกันยายน 2018 เยอร์เกน คล็อปป์ ซึ่งขณะนั้นคุมทีมหงส์แดงมาแล้วสามซีซั่นเต็ม เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ด้วยความสัตย์จริง ผมไม่เคยได้ยินอะไรเกี่ยวกับโค้ชทุ่มบอลมาก่อน แต่พอรู้เรื่องราวของโธมัส ผมคิดทันทีว่าต้องเจอตัวเขาให้ได้ ซึ่งหลังได้คุยกันแล้ว มันร้อยเปอร์เซ็นต์เลยที่ผมต้องจ้างเขาให้มาทำงานกัน”

ทางด้านกรอนเนมาร์คเล่าถึงเหตุการณ์สี่ปีที่แล้วว่า “เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ผมได้รับข้อความเสียง พอเปิดฟังในรถจึงรู้ว่าเป็นเยอร์เกน คล็อปป์ ผมถึงกับทรุดจมที่นั่งเมื่อได้ยินเสียงเขา”

“คล็อปป์บอกว่า สโมสรมีช่วงเวลาที่ดีในซีซั่น 2017-18 อันดับสี่พรีเมียร์ลีกและเข้าชิงแชมเปี้ยนส์ลีก (แพ้เรอัล มาดริด 1-3) แต่พวกเขาเสียบอลจากการทุ่มบ่อยมาก ตอนนั้นผมรับงานทีมอาชีพแปดแห่งทั่วโลก ส่วนใหญ่อยากได้การทุ่มไกล แต่ลิเวอร์พูลกับอาแจ็กซ์ชัดเจนว่าทุ่มไกลไม่ใช่แนวทางของพวกเขา ผมจึงโฟกัสเรื่องทุ่มบอลเร็วและฉลาดซึ่งเป็นเทคนิคที่ผมเริ่มทำงานประมาณปี 2007 ประเด็นหลักอยู่ที่การครองบอล เราจะรักษาบอลอย่างไรเมื่อต้องทุ่มบอลขณะถูกกดดัน เราจะสร้างโอกาสและทำประตูอย่างไรจากสถานการณ์ทุ่มบอล”

ถึงแม้กรอนเนมาร์คเป็นเจ้าของสถิติโลกทุ่มบอลไกลแต่ คล็อปป์บอกว่าระยะทางไม่ใช่เหตุผลหลักที่เขาสนใจโค้ชเมืองโคนมรายนี้

“หลังจากโธมัสเข้ามา การทุ่มบอลของเราได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ไม่ใช่อย่างที่คนส่วนใหญ่คิดกันว่าเป็นเรื่องทุ่มบอลให้ไปไกลๆ ตอนนี้เรามีการทุ่มบอลที่แตกต่างกัน 18 วิธี แน่นอนเราต้องการครองบอลต่อหลังการทุ่มซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ มันไม่สมเหตุสมผลเลยถ้าทุ่มบอลไปแล้ว สถานการณ์จะเป็นแบบ 50-50 (โอกาสครองบอลต่อ) ซึ่งตรงนี้แหละที่พัฒนาการส่งผลอย่างมาก”

เมื่อราวกว่าสิบปีที่แล้ว รอรี่ เดแล็ป มิดฟิลด์ชาวไอริส ซึ่งเล่นให้ทีมสโต๊คระหว่างปี 2007 – 2013 รวมถึงปี 2006 ที่ถูกยืมตัวมาจากซันเดอร์แลนด์ เป็นผู้เล่นที่ขึ้นชื่อเรื่องการทุ่มบอลได้ไกล ซึ่งความสามารถพิเศษนี้มีส่วนช่วยให้ทีมช่างปั้นหม้อขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีก แต่กรอนเนมาร์คยืนยันว่า เขาไม่ได้เข้ามาทำงานที่แอนฟิลด์เพื่อเปลี่ยนให้ลิเวอร์พูลเป็นแบบสโต๊ค

กรอนเนมาร์คเชื่อมั่นว่าเขาสามารถช่วยลิเวอร์พูลให้มีแต้มต่อพิเศษเพิ่มขึ้นจากการทุ่มบอลซึ่งเฉลี่ยแล้วตกนัดละประมาณ40-50 ครั้ง โค้ชวัย 46 ปี ไม่ได้สอนเพียงเทคนิค “การทุ่มบอลไกล” เท่านั้น แต่รวมถึง “การทุ่มบอลเร็ว” เพื่อนำไปสู่เคาน์เตอร์-แอทแท็ค และ “การทุ่มบอลฉลาด” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาการครองบอลขณะตกอยู่ในสภาพกดดัน

เทคนิคหลักของกรอนเนมาร์คเปรียบเสมือนสามขาหยั่งของ Marginal Gains ซึ่งเป็นทฤษฏีว่าด้วยการปรับปรุงหรือสร้างความสำเร็จเพียงเล็กน้อยแต่เมื่อเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอก็สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้

“ทักษะนี้สามารถช่วยนำไปสู่การทำสกอร์ แม้กระทั่งช่วยรักษาชีวิตของทีม ผมให้ความสนใจทุกแง่มุม ไม่ใช่เพียงเทคนิคการขว้าง แต่ยังรับบอลอย่างไร วิ่งไปตามทิศทางที่ถูกต้องและสร้างความได้เปรียบ การยืนตำแหน่ง และการสร้างพื้นที่ว่าง”

กรอนเนมาร์คเล่าถึงช่วงที่เริ่มต้นทำงานกับลิเวอร์พูลเมื่อปี 2018 ว่า โจ โกเมซ เป็นผลผลิตที่ออกดอกออกผลคนแรกของเขาที่แอนฟิลด์ เซ็นเตอร์แบ็คชาวอังกฤษเพิ่งย้ายมาจากชาร์ลตันเมื่อสามปีก่อนหน้านี้

“ถ้าเป็นกองหลังคู่แข่งขัน ผมคงไม่อยากอยู่บริเวณพื้นที่ที่โกเมซจะทุ่มเข้าไปหรอก หรือว่ากันตามจริงหากต้องแข่งกับลิเวอร์พูล ผมก็ไม่อยากให้บอลออกนอกสนาม (เพื่อให้ลิเวอร์พูลเป็นฝ่ายทุ่ม) ผมไม่ได้หมายถึงลิเวอร์พูลต้องทุ่มบอลไกลทุกครั้งที่มีโอกาสหรอกนะ แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่าเมื่อไรพวกเขาจะทำมัน”

เอียน ไรท์ อดีตศูนย์หน้าอาร์เซนอล เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเห็นโจ โกเมซ ทุ่มบอลสวยๆให้ลิเวอร์พูล ซึ่งผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อน ดูเหมือนกรอนเนมาร์คคงสอนอะไรบางอย่างให้กับเขา ต้องยอมรับเลยว่าลิเวอร์พูลได้รับประโยชน์จากเรื่องนั้น”

“เทคนิคทุ่มบอล” สร้างประโยชน์ให้ทีมฟุตบอลมากกว่าใครคาดคิด

ก่อนหน้ารับงานที่แอนฟิลด์เมื่อปี 2018 โธมัส กรอนเนมาร์ค เคยเป็นโค้ชทุ่มบอลให้กับ เอฟซี มิดทีลแลนด์ และ เอซี ฮอร์เซนส์ สองสโมสรหัวแถวของลีกเดนมาร์ก โดยซีซั่น 2017-18 มิดทีลแลนด์เพิ่งครองแชมป์เดนิส ซูเปอร์ลีกา สมัยที่สอง ส่วนฮอร์เซนส์ทำ 10 ประตูจากการทุ่มไกลในซีซั่นเดียวกัน ขณะที่ อันเดรียส พูลเซ่น แบ็คซ้ายชาวเดนส์ ซึ่งย้ายจากมิดทีลแลนด์ไปเล่นให้โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค ในปี 2018 เพิ่มระยะการทุ่มจาก 25 เมตรเป็น 37.9 เมตรหลังได้รับการเทรนจากกรอนเนมาร์ค

“มีคนมากมายที่คิดว่างานผมเป็นเรื่องแค่ทุ่มไกล มิดทีลแลนด์ทำได้มากถึง 35 ประตูในสี่ซีซั่นจากเทคนิคนั้น คุณทำได้ถ้ามีทีมที่ใช่หรือเหมาะกับการทุ่มไกล แต่หลายทีมต้องการความรู้ของผมเพียงเรื่องทุ่มไกล ผมสัมผัสความรู้สึกนั้นได้”

บางทีสกอร์เกิดจากการทุ่มบอลเร็วและฉลาดจริงหรือไม่ เป็นสถานการณ์ที่ระบุชัดเจนได้ยาก แต่กรอนเนมาร์คยังมั่นใจว่า ทักษะทุ่มบอลมีอิทธิพลกับเกมลูกหนังอย่างแน่นอนเพราะมันช่วยให้เกมลื่นไหลและรวดเร็วขึ้น รวมถึงสร้างความสนุกสนานให้กับแฟนบอล

“นอกจากนี้ถ้าครองบอลได้มากขึ้น คุณก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน เช่นเดียวกับลูกเซต-พีชอย่างการเตะมุมและฟรีคิก มันสามารถสร้างความกดดันให้กับทีมคู่แข่งได้เช่นกัน”

อีกด้านหนึ่ง การทุ่มบอลผิดพลาดก็มีผลมากกว่าที่คาดคิด กรอนเนมาร์คกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “หลายทีมที่เล่นสไตล์โททัล ฟุตบอล อาจเสียบอลเมื่อโดนกดดันขณะทุ่มบอลเข้าสนาม เกมหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากคือนัดชิงชนะเลิศแชมเปียนส์ ลีก ปี 2011 ระหว่างบาร์เซโลนากับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด”

“บาร์เซโลนาเล่นฟุตบอลสไตล์ติกี-ตากา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แทบไม่ได้ครองบอลเลยช่วงต้นการแข่งขัน บาร์เซโลนาเป็นฝ่ายนำ 1-0 (เปโดร นาทีที่ 27) แต่แล้ว เอริก อาบีดาล (แบ็คซ้าย) ต้องทุ่มบอลใกล้กรอบเขตโทษตัวเอง เขาทุ่มสั้นด้วยเทคนิคที่แย่ ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้บอลและอีกห้าวินาทีต่อมา สกอร์ก็เป็น 1-1 (รูนีย์ นาทีที่ 34)” (หมายเหตุ : บาร์เซโลนาเป็นฝ่ายชนะ 3-1)

“ตามปกติจะมีการทุ่มบอลระหว่าง 30-50 ครั้งต่อนัด หากโค้ชคนไหนพูดว่าทีมเขาไม่เห็นต้องทำอะไรกับมันเป็นพิเศษเลย ผมมองว่าเขาเป็นโค้ชที่ขาดความทะเยอทะยานนะ”

“ทุ่มบอล” เป็นเทคนิคพิเศษที่มีความสำคัญต่อฟูลแบ็คและปีก

โธมัส กรอนเนมาร์ค เปิดเผยว่า การทุ่มบอลไกลมีเทคนิคอยู่ 25-30 ลักษณะ เขาจะใช้วิดีโอเพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาผู้เล่น ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะทุ่มได้ไกลขึ้น 4-8 เมตร นั่นเท่ากับขยายพื้นที่ครอบคลุมถึงสองเท่า

“ลักษณะการทุ่มบอลไกลที่ดี อย่างแรกแน่นอนต้องเป็นระยะทาง แต่ความเร็วและทิศทางพุ่งเป็นแนวราบก็มีความสำคัญเช่นกัน มีหลายทีมที่มีผู้เล่นที่สามารถทุ่มบอลได้ไกลๆ แต่ถ้าสูงเกินไปก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามป้องกันหรือแย่งได้ง่ายขึ้นด้วย ถ้ามองลูกทุ่มที่ดี คุณจะเห็นมันวิ่งไปได้ไกล มีทิศทางเป็นแนวราบ และพุ่งออกไปอย่างแรง”

กรอนเนมาร์คระบุว่า การทุ่มบอลนับเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เล่นตำแหน่งฟูลแบ็ค

“เป็นเรื่องสำคัญที่แบ็คซ้ายขวาต้องมีความสามารถทุ่มบอลไกล มีความจริงข้อหนึ่งที่ชี้ว่าหากต้องทุ่มบอลภายใต้สถานการณ์กดดัน พวกเขามีโอกาสเสียบอลถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นฟูลแบ็คจำเป็นต้องสามารถทุ่มบอลให้ไกลจากแดนตัวเอง ผลของมันไม่ได้มีแค่รักษาการครอบครองบอลแต่ยังสามารถเคาน์เตอร์แอทแท็คอีกด้วย”

อดีตนักเลื่อนน้ำแข็งทีมชาติเดนมาร์กให้ความเห็นว่า ถ้าเป็นไปได้ผู้เล่นทุกคนควรมีทักษะทุ่มบอลที่ถูกต้อง เพียงแต่ฟูลแบ็คเป็นตำแหน่งที่มีความจำเป็นสูงสุด รองลงมาคือผู้เล่นปีก

“การซ้อมมื้อแรก ผมจะเทรนแบ็คซ้ายขวา 6-10 คน เริ่มจากเซสชั่นพื้นฐาน การเคลื่อนตัว และบันทึกวิดีโอ จากนั้นเป็นการสอนเทคนิคบางอย่าง ผมจะพิจารณานักเตะด้วยสายตาและวิเคราะห์จากวิดีโอ ผมต้องการเห็นตำแหน่งการวางเท้า ระยะระหว่างเท้า การเคลื่อนไหวของเอว หัวไหล่ และการวิ่ง”

แม้กูรูยังมองข้ามความเสียหายจากการทุ่มบอลผิดพลาด

โธมัส กรอนเนมาร์ค เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นอาชีพพิเศษนี้ว่า “ผมเริ่มต้นเมื่อปี 2004 ใครๆก็หัวเราะไอเดียการเป็นโค้ชทุ่มบอลของผม มันคงดูประหลาดเกินไปนั่นแหละที่มีคนลุ่มหลงการทุ่มบอล”

“ฟุตบอลกำเนิดขึ้นมาสัก 140 ปี ตอนนี้ผมอายุสี่สิบกว่าแล้วและแทบไม่เคยได้ยินใครพูดคุยเรื่องทุ่มบอลอย่างเป็นกิจลักษณะ คุณดูบอลทางทีวีและคงเคยเห็นทีมที่เสียบอลจากการทุ่ม มันเกิดขึ้นบ่อยแต่คอมเมนเตเตอร์กลับไม่พูดอะไร แต่ถ้าหลังจากนั้นไม่กี่วินาที นักเตะเกิดจ่ายบอลพลาด พวกเขาจะพูดว่า ‘โอ้! นั่นจ่ายบอลแย่นะ’ และถ้าคนนั้นทำพลาดอีก ก็จะถูกมองว่าวันนี้เขาเล่นไม่ดี แต่ถ้าผิดซ้ำครั้งที่สาม จะโดนวิจารณ์ว่าควรถูกเปลี่ยนตัวออก นี่แหละวัฒนธรรมฟุตบอล ซึ่งมุมมองของผมว่ามันแปลกอย่างสิ้นเชิง”

เชื่อว่าหลังอ่านบทความนี้จบลง คุณจะสังเกตการทุ่มบอลในสนามละเอียดลึกซึ้งขึ้น และเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการทุ่มบอลอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับแฟนบอลลิเวอร์พูลที่จะรอดูการทุ่มบอลของอเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์, โรเบิร์ตสัน และโกเมซเป็นพิเศษ

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)

Categories
Football Tactics

“แฮร์รี เคน” Lone Striker เบอร์ 9 + เบอร์ 10

ยังจำกันได้ไหม กับเรื่องราวที่ทำให้ทั่วโลกแซ่ซ้องถึง แฮร์รี เคน กับผลงานสุดฤทธิ์สุดเดชสุดลิ่มทิ่มประตูแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไป 2 ดอกชนิดกูรู อาทิ แกรี่ ลินิเกอร์, อลัน เชียเรอร์, แกรี่ เนวิลล์, คริส ซัตตัน ฯลฯ สดุดี ฟอร์มเจ๋งสุดในฤดูกาลนี้ หรือตัวจบสกอร์ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก บลา บลา

ขณะที่หัวหอกลักษณะใกล้กันสไตล์ Lone Striker หรือหน้าเป้าแบบเป็น target man ในราคาหลัก 100 ล้านปอนด์เหมือนกัน โรเมลู ลูคาคู ทำสถิติไม่น่าจดจำ

จับบอล 7 ครั้ง (1 ครั้ง คือ การเขี่ยบอลเริ่มเกมครึ่งแรก! – 2 หนยิงเข้ากรอบ คือ ล้ำหน้า!!) ทั้งแมตช์ 90 + 5 นาที เป็นสถิติต่ำสุดนับจาก Opta เคยจับมาตั้งแต่ ค.ศ.2003 (เคน สัมผัสบอล 37 ครั้งทั้งที่สเปอร์สครองบอลไม่ถึง 30%)

ทั้งคู่อายุ 28 ปีเหมือนกัน เคนอ่อนเดือนกว่า 2 เดือนด้วยซ้ำ แต่สถานการณ์ต่างกันลิบลับ

ครับ ผมคงไม่พูดว่า ลูคาคู ต้องการความรัก ความเข้าใจ หรือการปฏิบัติแบบใดเป็นพิเศษเหมือนที่สื่อชอบวิเคราะห์กัน หรือเพื่อนร่วมทีม เฉพาะอย่างยิ่ง แอนโทนี โรดิเกอร์ ในเกมที่ผ่านมาที่มีหลายจังหวะผ่านให้ได้ แต่ไม่ผ่าน ควรจะเล่นอย่างไรกับหัวหอกเบลเยียม

ตรงกันข้าม หากขยับเป็นส่ง หรืออย่างน้อยมีคนรู้ใจ เช่น ซอน เฮือง-มิน ชีวิตของ เคน จึงดีขึ้นมาก และนัดนี้กับการไหลช่องเปิดให้ยิง 1 หน และอีก 1 หน เอแดร์ซอน ใช้เท้าซูเปอร์เซฟไว้ได้ทำให้สถิติการทำประตูรวมกันของ ซอน + เคน = 26 ประตูเทียบเท่า แลมพาร์ด + ดรอกบา ไปแล้ว (ถัดมา คือ อองรี + ปิแรส และ กุน + ดาวิด ซิลบา = 29)

เรื่องนี้สำคัญนะครับ กองหน้าโดยเฉพาะ Lone Striker จำเป็นต้องมีใครสักคน หรือมากกว่า 1 คนที่มีความสามารถมากพอจะ deliver บอลดี ๆ เข้ากรอบเขตโทษให้ได้

หลายครั้งในเกมนี้ ต้องยอมรับเช่นกันว่า ลูคาคู ตีรถเปล่า แต่น้อยครั้ง ไม่ว่าจะเกมนี้ หรือเกมไหน หากเคน ขยับรับรองว่า ซอน จะต้องให้ หรือเพื่อนคนอื่น ๆ ก็พร้อมจ่ายให้ โรนัลโด้ ก็จะมี บรูโน แฟร์นันเดซ คอยทำหน้าที่ซัพพอร์ตดังกล่าวเพื่อตอบสนองมูฟเมนต์สวย ๆ

หรืออีกตัวอย่าง หากทีมขาดการเปิดแบบ เฮนโด้ ทิ่มให้ ดิอาซ ยิง 3-1 แล้วเราจะมีแนวรุกดี ๆ ทำไม? หรือในที่นี้คือ เราจะมีกองหน้าตัวเป้า (Lone Striker) ทำไม?

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เคนมี และลูคาคู ไม่มีในเกมนี้ หรือไม่มีในสเปคการเล่นส่วนตัวก็คือ ความสามารถในการเป็นเบอร์ 9 และเบอร์ 10 ได้ในคนเดียวกัน

การดร็อปตัวลงมาเหมือนเบอร์ 10 หรือคือ False 9 ของเคน คือ ดีมากในเกมนี้ เช่น ประตู 1-0 ซึ่งดร็อปมารับบอลแล้วเปิดจังหวะเดียวให้ ซอน หลุดกับดักล้ำหน้าตรงกลางสนามของ รูเบน ดิอาซ ก่อนไปไหลให้ คูลูเชฟสกี้ แปนิ่ม ๆ เข้าไป 1-0

หลายจังหวะในเกมก็เป็นเช่นนั้นที่การดร็อปตัวลงมาพื้นที่ว่างระหว่างไลน์ทำให้เขาสามารถสร้างบทบาท False 9 หรือเพลย์เมคเกอร์ เบอร์ 10 ขึ้นมาได้ทั้งเชื่อม และ switching เปลี่ยนฝั่งได้ทั้งเท้าซ้าย และขวา

เหนือสิ่งใด วิธีการนี้จะทำได้ดีหากมีตัวพุ่งที่มีความเร็ว เช่น ซอน, เอเมอร์สัน รอยัล หรือไรอัน เซสเซยอง (2 ตัวหลังยังสอบไม่ผ่านทั้งคู่ แต่มีความเร็ว) ส่วนคูลูเชฟสกี้ ยังช้าไปกับเกมในพรีเมียร์ลีก แม้จะยิงได้ 1 จ่าย 1 ก็ตามที

จริง ๆ แล้วมันก็คล้ายกับบทบาท บ๊อบบี้ เฟียร์มิโน ที่ดร็อปตัวลงมาเชื่อมเกมแล้วจะมี ซาลาห์ กับมาเน่ เป็นตัวพุ่ง

แต่แค่บ๊อบบี้ คือ False 9 หรือเอียงมาทางเบอร์ 10 มากไป หรือก็คือ ยิงประตูได้ให้เหมือนเบอร์ 9 น้อยไป

ในเกมนี้ สิ่งที่เคน แตกต่างจาก เคน ที่เงียบเชียบในหลายเกมกับสเปอร์สซีซั่นนี้ หรือหลายนัดที่จะว่าไปแล้วเขาโดนวิจารณ์ก็คือ:

พอดร็อปแล้วยังหาจังหวะ และอ่านเกมด้วยสัญชาตญาณพุ่งเข้ากรอบเขตโทษเพื่อทำประตู เช่น ประตู 2-1 ชัดเจนที่สุด

ทั้งนี้หากเป็นแมตช์อื่น ๆ เคน จะเหมือนกับทิ้งตำแหน่ง และยืนในจุดที่ไม่มีโอกาสทำประตูได้ หรือขาดมูฟเมนต์ต่อเนื่องเหมือนเกมนี้ (ยืนนอกกรอบเขตโทษห่างไกล – เชื่อมอย่างเดียว แต่ไม่ไปต่อ!)

คงจะเพราะด้วยแรงจูงใจ ปัญหาภายในแคมป์ไก่ และอนาคตตัวเองกับทีม หรืออื่น ๆ ประกอบกัน

ทว่า เคน at his very best ต้องแบบนี้กับทีมที่ตกเป็นข่าวจะซื้อเขาซัมเมอร์ที่ผ่านมา คือ เบอร์ 9 + เบอร์ 10 ในคนเดียวกัน

ส่วนลูคาคู ผมคงพูดอะไรได้ไม่มากไปกว่า ให้ใช้สตั๊ดพูดแทนปาก และก้มหน้าก้มตาทำงานหนักต่อไป

สุดท้ายกับบทบาท Lone Striker ที่โลกยุคปัจจุบันไม่ได้มีเยอะนะ (วันก่อนก็เพิ่งเห็น เอดิน เชโก้ กับอินเตอร์ฯ นัดชนหงส์แดง) ยังไงพวกเขาก็มีคุณประโยชน์ และสำคัญต่อทีม

และเป็นอีกออฟชั่นที่มียังไงก็ดีกว่าไม่มี ผมเชื่อว่า หากเป๊ป ซึ่งปีนี้ไม่มีกองหน้าแท้ ๆ ในซีซั่นนี้จากการขาดหายไปของ กุน อเกวโร หรือเยอร์เกน คลอปป์ ที่อาจจะไม่นิยมกองหน้าแบบ “ตัวเป้า” หา Lone Striker ดี ๆ ได้สักตัว เช่น เออร์ลิง ฮาแลนด์ พวกเขาก็ต้องรับไว้แน่

ทั้งนี้แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยน ฟุตบอลก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรหรอกครับ แค่วิธีการอาจจะปรับไปบ้าง กองหน้าตัวเป้า หรือ Lone Striker หากปรับตัวได้สมบูรณ์ เช่น แฮร์รี เคน (ในเกมนี้) มันคือ ความพิเศษที่หาชมได้ยากจริง ๆ ครับ

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

Categories
Football Tactics

เมื่อต้องเจอ Anti-football

เรื่อง “แท็คติกส์” และรูปแบบวิธีการเล่นของเอฟเวอร์ตันในดาร์บี้แมตช์ครั้งที่ 240 ที่แอนฟิลด์จัดได้ว่า แฟรงค์ แลมพาร์ด วางแผนได้ดีถึง “ดีมาก” เพื่อเป้าหมาย คือ หยุดการทำประตูของลิเวอร์พูล และเก็บแต้มข้ามสแตนลีย์ ปาร์ค กลับรัง

เวลารับ คือ “รับต่ำ” เต็มรูปแบบฟอร์เมชั่น 4-5-1 และแพ็คแน่นมากบริเวณพื้นที่ “โซน 14” หรือหน้ากรอบเขต โดย 5 มิดฟิลด์ตัวริมเส้นจะคอยป้องกันการทำเกมด้านข้างของหงส์แดง

อีกทั้ง มิดฟิลด์ และแผงหลังจะ “ถอนตัว” กลับพื้นที่รับผิดชอบของตนเองทันทีอย่างเร็วที่เสียบอลขณะทำเกมรุกที่แน่นอนใช้การโต้กลับ หรือบอลยาวข้ามแนวรับ high line ของลิเวอร์พูล

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

โดยเฉพาะครึ่งหลังซึ่งเยอร์เกน คลอปป์ สั่งเด็ก ๆ เดินหน้าเต็มสูบ หรือฟูลแบ็คเติมเต็มที่พร้อมกัน 2 ฝั่ง และ 3 ตัวบนหุบใน เสมือนรุกแถวบน 5 ตัว พื้นที่ด้านหลังยิ่งว่างมากขึ้น และแอนโธนี กอร์ดอน เด็กนรกเอฟเวอร์ตัน หลุดทะลุมาป่วนหลายหนช่วงต้นครึ่งหลังก่อนจะเรียกใบเหลืองได้จาก เทรนท์ ซึ่งตัดฟาล์วดับเครื่องสไลด์

จิม เบกลิน อดีตแบ็คซ้ายลิเวอร์พูลซึ่งทำหน้าที่บรรยายเกมนี้ พูด “คีย์เวิร์ด” ไว้ 2 คำ คือ:

1. นี่คือ anti-football ปะทะกับ football อันเป็นคำที่ผมคิดเช่นกัน แต่คำว่า “anti-football” นั้นมีความหมายทั้ง เนกาทีฟ และเซนซิทีฟ มาก ๆ จนอาจกระทบกระเทือนความรู้สึกแฟนบอล

anti-football หลัก ๆ คือ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อ “หยุดยั้ง” ไม่ให้คู่แข่งเล่นฟุตบอลได้ หรือทำประตูได้ เช่น รับทั้งทีม, รับต่ำ, เล่นหนัก ดุดัน หรือต้องการ disrupt เกมฟุตบอล

2. การ disrupt ที่ว่ายังอาจนำมาซึ่งวิธีการ (ที่ไม่ผิด) แต่เป็นแท็คติกส์แบบ antic (อีกคำที่ เบกลิน กล่าวไว้) หรือบ้าบอ เช่น ถ่วงเวลา (จอร์แดน พิคฟอร์ด), แกล้งเจ็บ (ริชาร์ลิสัน), ล้มง่าย (กอร์ดอน)

เบกลิน ยังเอ่ยไว้ท้ายครึ่งแรกว่า เขานึกถึงทีมอย่าง แอตเลติโก มาดริด ซึ่งเป็นทีมยุโรป ไม่ใช่ทีมสไตล์อังกฤษที่ขึ้นชื่อเรื่องแนวทางการเล่นแบบนี้กับคู่แข่ง (ในเวที UCL หรือตอนเจอบาร์ซ่า, เรอัล มาดริด)

ส่วนผมเองก็จะนึกถึงบอลบ้านเราลีกรอง ๆ ที่ทีมเล็กมักจะทำใส่ทีมใหญ่เพื่อเอาแต้มทุกวิถีทาง

แต่ทั้งหลายทั้งปวง คือ ไม่คิดว่าจะได้เจอในเมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี้ เฉพาะอย่างยิ่งกุนซือแฟรงค์ แลมพาร์ด ซึ่งเป็นนักเตะเกมรุกมาทำทีม

ประตู 1-0 หลัง ดิวอค โอริกี้ และลุยซ์ ดิอาซ ลงมาไม่นาน จากการโขกเสาสองของ รบส.ตอกย้ำให้เห็นว่า บอสส์ เอาจริง และพร้อม “เสี่ยงสูง” เข้าแลกในครึ่งหลังเพิ่มเติมจากการให้แบ็คเติมหนักหน่วงทั้ง 2 ข้างแม้จะแลกด้วย “โอกาส” เปิดให้เอฟเวอร์ตัน โดยเฉพาะฝั่งซ้ายจากกอร์ดอน ดังที่เรียนไว้ข้างต้นก็ตาม

สุดท้าย แลมพ์เติม เดลี อัลลี, ซาโมมอน รอนดอน ลงมาหวังลุ้นประตูคืนจากแถวสองที่อัลลีทำได้ดี หรือลูกตั้งเตะจากรอนดอน

โดยรวมเกมนี้ ต้องชื่นชมสปิริตเพื่อนบ้าน(น่ารำคาญ) เอฟเวอร์ตัน ซึ่งมาเล่นอย่างตั้งใจ และหวังผล และโทษกันไม่ได้แม้จะดู “เกินเบอร์” ไปด้วยวิธีการ และแนวทาง antic ของ anti-football เต็มขั้นไปหน่อย

ทว่า อยู่ bottom three จะตกชั้นอยู่แล้ว ทุกวิธี ทุกวิถีทาง แลมพ์ต้องทำจนอดคิดไม่ได้ว่า “ทำไมทอฟฟี่ไม่เล่นแบบนี้ทุกนัด” หรือเล่นราวกับว่า นี่คือนัดสุดท้ายของฤดูกาลแบบนี้ทุก ๆ นัดโดยไม่ต้องรอจะมาเล่นกับลิเวอร์พูล

ขอบคุณภาพ : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC/

โอริกี้ ซัดประตูได้อีกครั้ง (ประตูที่ 6 ของตนเอง) ในดาร์บี้ 2-0 นาทีที่ 85 ตอกย้ำภาพว่าการจะเล่นกับฟุตบอลแบบนี้ต้อง “อดทน” และอดทนมาก ๆ ที่จะไม่ตะบะแตกพลาดเอง หรือลนลานจนทำประตูคู่แข่งไม่ได้

บอสส์เองกับการแก้เกมเริ่มจาก “เสี่ยงเพิ่ม” หลังพักครึ่ง และการเปลี่ยนตัวก็ถือว่า เจอการบ้านยากกว่าที่คิดไว้

สุดท้าย ฟุตบอลควรจะเป็นแบบนี้ครับ football จริง ๆ ยังไงก็ควรชนะ anti-football ไม่ว่าจะเป็นทีมใด หรือด้วยเหตุผลใด

ปล.เผื่อยังไม่ได้อ่านกันนะครับ >>> ถ้าเอฟเวอร์ตัน ตกชั้น การเงิน ฯลฯ จะเป็นอย่างไร? https://bit.ly/3K7IBiV

☕ ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

📷 : ESPN UK

Categories
Football Tactics

วิเคราะห์ทุกมิติเกมหยุดโลก ลิเวอร์พูล – แมนฯซิตี้ เกมที่มอบทั้งความสุข และบทเรียนลูกหนังชั้นเลิศ ให้แฟนบอลทั่วโลกได้เสพชนิดหาได้ยากยิ่ง

โปรดใช้วิจารณญาณอย่างลึกซึ้งระหว่างอ่านบทความนี้นะครับ ผมไม่ได้มีเจตนาจะ “ชี้นำ” แต่อยากจะบาลานซ์ความคิด และนำเสนอมุมมองฟุตบอลจากเกมนัดหนึ่งที่ถึงตอนนี้ 72 ชั่วโมงหลังแมตช์ไปแล้ว เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ยังแอบ “อมยิ้ม” ถึงศึกลิเวอร์พูล 2 – 2 แมนฯซิตี้ จากแอนฟิลด์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมากันอยู่

ความยาวบทความ 2,500 คำ ใช้เวลาอ่าน 10 นาที

  • อันดับแรก

ทำความเข้าใจก่อนว่า ลิเวอร์พูล ของเยอร์เกน คลอปป์ เป็น “บอลบุก” และเล่นด้วยความเข้มข้น หรือ intensity เกมที่สูง ประมาณว่า ชอบเดินหน้าฆ่ามัน หรือถอยหลังหกล้ม

หงส์แดงจะชอบ “เพรสซิ่ง” คู่ต่อสู้ขณะที่มีบอลด้วยรูปแบบวิธีหลากหลายทั้งทางตรง และทางอ้อม แต่ที่เห็นบ่อยหน่อย คือ ทำกันอย่างเป็นระบบ เป็น unit และร่วมด้วยช่วยกัน collective ตั้งแต่แดนบน

และจะมีการ “ไล่ล่า” (Chasing) คู่แข่งขันเพื่อแย่งบอลกลับคืน โดยส่วนใหญ่ก็นั่นแหละครับในแดนคู่แข่งตั้งแต่พวกเขาพยายามจะเปิดเกมรุก หรือหลังจากเราเสียการครองบอลแล้วเกิด transition จากรับเป็นรุก

การไล่ล่าจะทำด้วยการ “กดดัน” เข้าพื้นที่ที่คู่แข่งมีบอลด้วยตัวใกล้สุด และอาจจะเพิ่มจำนวนกลายเป็นไล่ล่า หรือเพรสซิ่งเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่ที่คู่แข่งมีบอล

ครั้นชนะ แย่งบอลได้ก็จะ transition จากรับเป็นรุกด้วยความรวดเร็วเข้าสู่แดนสุดท้าย หรือ Final Third ของคู่แข่งขัน

ทั้งนี้หากว่าแพ้ คู่แข่งแกะบอลออกมาได้ ลิเวอร์พูลจะอาศัยความสามารถเฉพาะตัวที่ยอดเยี่ยม และความรวดเร็วของคู่เซนเตอร์ฮาล์ฟคอย “เก็บกิน” 

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ดังนั้น มันจึงยากในระบบ Lone Striker หรือกองหน้าคนเดียวผ่านระบบหลักฟุตบอลในตอนนี้ไม่ว่าจะ 4-2-3-1, 4-5-1, 4-3-3, 3-4-3 จะเอาชนะ เวอร์จิล ฟานไดต์ หรือโจเอล มาติป ไปได้จากแค่บอลข้ามศรีษะไปหลังไลน์ที่ “รับสูง” แบบ high line

หรือเราก็จะมี อลิสซง เบคเกอร์ คอยอ่านเกมเสมือนเป็นเซนเตอร์ฯ คนที่ 3 คอยออกมาตัดบอลอีกด้วย นั้นคือ ในภาวะปกติ

แต่หากในภาวะไม่ปกติ เช่น เกมนี้กับซิตี้ หรือก่อนหน้านี้กับ เบรนท์ฟอร์ด ที่ยอดทีมลอนดอน ตะวันตก ใช้กองหน้าคู่ พักผ่อน เก็บบอล และประสานงานกันได้ดี “หน้าไลน์” เพราะตัวใหญ่ (อีวาน โทนีย์) เล่นกับบอลดี และรวดเร็ว ไบรอัน เอมบูโม เราก็ลำบากเหมือนกัน

ไม่นับ เฟส 2 จากการครองบอล และบุก โธมัส แฟรงค์ ยังใช้บอลโยนทะแยง (อันเป็นอีกจุดอ่อนของหงส์แดง) ครอสส์จากฝั่งซ้ายไปตก และรุมแบ็คขวา เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ เป็นต้น

(เกมกับเชลซี โรเมลู ลูคาคู และเพื่อน ๆ ก็ทำอะไรเราไม่ได้)

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

ส่วนเกมนี้ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ฉลาด ช่างคิด สมกับเป็นนักนวัตกรลูกหนัง ตามสไตล์ด้วยการอ่านเรื่อง “ความเร็ว” ของ ฟิล โฟเดน ว่าจะมีผลต่อ เจมส์ มิลเนอร์ มากกว่าจับ แจ็ค กรีลิช ไปยืนตามที่คาดการณ์ไว้

หรือเอาโฟเดน ไปยืนฝั่งขวาให้เผชิญหน้าแบ็คซ้าย แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน ที่เคยโดนโฟเดน “เผา” มาแล้วเมื่อ ก.พ.ชนะ 4-1 คาแอนฟิลด์

แต่กลับไปใช้ กาเบรียล เฆซุส ที่ก็มีความเร็วชน รบส. และโฟเดน ชน ท่านรอง โดยให้ กรีลิช ยืนเล่นช่องว่างระหว่างมิดฟิลด์ของเรา และไลน์รับ (อันเป็นอีก 1 จุดอ่อน) เป็นครั้งแรกตามหลังเพื่อน ๆ อย่าง แฟร์รัน ตอร์เรส, ราฮีม สเตอร์ลิง หรือแม้แต่ โฟเดน เองที่เคยลิ้มลองการเป็น False 9 มาแล้วทั้งสิ้น

นั่นคือ “ภาพกว้าง ๆ” และแผนเบื้องต้นที่เป๊ป คิดเอาไว้นะครับ

_ _ _

  • อันดับ 2

คงจะต้อง “ยอมรับ” นะครับว่า การคำนึงถึงคู่ต่อสู้ แล้วปรับแผนที่ไม่ใช่ปรับ “ตัวตน” เป๊ป เรียนรู้เยอะจากการเจอกับเรา และเจอกับคู่แข่งใน UCL กุนซือสแปนิช จึง “ปรับทีม” เสมอเพื่อสิ่งที่มองว่า ดีที่สุดสำหรับทีมตนเอง

หลายครั้งการปรับกลยุทธ์ และแท็คติกส์ ของเป๊ป ถึงกับถูกมองได้ว่า “มากไป” หรือ “คิดเยอะ” ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ใน UCL Final ที่แพ้เชลซี เพราะ (ว่ากันว่า) ไม่ส่งมิดฟิลด์ตัวรับแท้ ๆ ลง โดยมีเหตุผลว่า ต้องการ “คอนโทรล” มิดฟิลด์ และเอาชนะแดนกลางให้ได้ 100% และกดใส่เชลซี ที่จะต้องมารับเต็มตัว

แต่กับเกมนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีในอีกด้าน เพราะเป๊ปปรับแล้ว ทีมทำผลงานได้ดีตั้งแต่ประมาณนาทีที่ 15 ของครึ่งแรก จนจบ 45 นาทีแรก

และครึ่งหลัง แม้หงส์แดงจะ “be brave” (อ่านปาก คลอปป์ สิครับ “be brave” ในระหว่างเกมจากข้างสนาม) มากขึ้นจากที่แดนหน้าทั้ง 3 กรูลงมาช่วยเกมรับต่ำ หรือมิดฟิลด์เองก็ไม่กล้าดันขึ้นเพรสซิ่งในพื้นที่สูงกว่า เช่น ในแดนคู่แข่ง ตามสไตล์ถนัด หรือไม่กล้าเล่น “The Extra pass” อันเป็นคำที่ คลอปป์ อธิบายหลังเกมที่น่าจะหมายถึง กล้าเล่นบอล ที่แปลว่า กล้าส่ง กล้าครองบอล กล้าเลี้ยง หรือคือ ไม่รีบเตะทิ้งยาวออกไป แล้วก็จะโดนระลอกคลื่นสีฟ้าถาโถมกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ครึ่งหลังทำได้ดีขึ้นทันที

ประตู 1-0 แน่นอน “ตอบโจทย์” ทุกคีย์เวิร์ดของ คลอปป์ ไม้ว่าจะ be brave, the extra pass, compact (การเล่นแน่นร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น 3 เหลี่ยมในพื้นที่ต่าง ๆ)

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ประตู 2-1 ที่เคอร์ติส โจนส์ คงอายกับการได้ชื่อว่า assist เพราะ โม ซาลาห์ โซโล่ซะขนาดนั้น ก็เกิดจากความกล้า ความมั่นใจที่ยังมีอีกหลายเพลย์ “ฉายภาพ” นี้ออกมาในครึ่งหลังแม้จังหวะเหล่านั้นจะไม่ได้ประตู

หรือแม้กระทั่งท้ายเกมหลังเสมอ 2-2 หงส์แดงก็ยัง be brave กล้าลุยจนเกือบได้ประตูจาก ฟาบินโญ่ หรือแน่นอนเกือบเสียจากจังหวะวอลเลย์ของ เฆซุส ที่ไปโดนตัว รบส.บล็อกเอาไว้

กล่าวคือ คลอปป์ และเด็ก เลือกจะ “เล่นรับ” แบบนี้

หรือคือ ใช้แดนหน้า และกลาง “เพรส” เข้าหาคู่ต่อสู้ที่มีบอลทันทีอย่างรวดเร็ว

ลิเวอร์พูล ไม่ได้ “เลือกรับ” ด้วยการรีบ “ถอยร่น” มายืนแพ็คเกมรับระหว่างไลน์กลาง และหลังแบบ compact อย่างรวดเร็ว (อาจทำได้หลังแดนบนเพรสซิ่งไม่สำเร็จ เช่น ตามกฎ 6 วินาที หรือไม่ต้องเพรสเลย คือ ตัดสินใจถอยมากระชับพื้นที่เลยหลังเสียการครองบอล)

แต่รับแบบนั้น ไม่ใช่ลิเวอร์พูล และไม่ใช่คลอปป์

ไม่งั้น จะได้ยินคลอปป์พูดแบบนั้นหรือครับหลังเกมว่า ครึ่งแรกเราไม่กล้า เราไม่เพรสซิงในพื้นที่ในเวลาเหมาะสม และทำให้ได้เห็นซิตี้ ต่อบอลง่ายไปมา หรือเลือกเปิดทะแยง เปิดบอลยาวได้ง่ายที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่บอสส์เคยดูซิตี้มาหลายเกม (จริง ๆ คือ ดูนับครั้งไม่ถ้วนนั่นแหละ)

_ _ _

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/ThailandLiverpoolFC
  • อันดับ 3

ผมไม่ได้ “แก้ตัว” แทนจอร์แดน เฮนเดอร์สัน, เคอร์ติส โจนส์ หรือกระทั่ง ฟาบินโญ ในแดนกลางที่โดน “ทัวร์ลง” พอควร เช่น เฮนโด ไม่ช่วยมิลเนอร์, โจนส์ ตัดบอลไม่ได้ เล่นรับไม่ดี หรือฟาบินโญ่ ยืนห่างจากไลน์รับเกินไป ฯลฯ

ในโพสต์ LIVE กับพี่กบ Captain No.12 หรือโพสต์ Teaser ของโพสต์นี้ (https://www.facebook.com/khaimukdam/photos/a.174800505908163/4342449355809903/) ผมก็มีโอกาสได้พูดสิ่งเหล่านั้นไปเช่นกัน

ซึ่งแน่นอนว่า นั่นเป็นสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ เห็น และแบบที่ผมเคยเรียนไว้ต้องมาเห็นด้วยภาพนิ่งแบบ Freeze frame ด้วย เพราะดูไฮไลต์มองไม่ทันได้จับอะไร

หรือมาอ่านบทวิเคราะห์ อะไรต่อมิอะไรหลังเกมแล้วทำให้เห็นภาพว่า มันมี “ช่องห่าง” ระหว่างไลน์ที่ห่างเกินไปจริง ๆ (เกิน 7-8 หลา – อ้างอิง โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ)

ขณะที่มองไว ๆ คือ “ไลน์รับ” ยืนเรียงสวย 4 คนอยู่ในแนวเดียวกัน และระยะใกล้กันอยู่แล้ว แบบไม่น่ามีปัญหาอะไร

หรือ เดอ บรอย กับแบร์นาโด ซิลบา ยังสามารถแกะตัว แกะบอล ออกมาเปิดไปเล่นหลังฟูลแบ็คเราได้ก่อนจู่โจมแบบรวดเร็ว

(โดยเราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า ลิเวอร์พูล ไม่ได้เสียประตูจากการโดน “เจาะตรง” เข้าใจกลางเซนเตอร์ฮาล์ฟ หรือเข้าพื้น half spaces แต่จะโดนบอลทะแยงจากขวาไปซ้าย หรือเลี้ยงตัดจากขวาไปซ้ายเข้าทำลายพื้นที่บริเวณโซน 13 และ 16 ของมิลเนอร์ และโจ โก — นั่นแปลว่า งานป้องกันเบื้องต้น คือ ถูกต้องแล้ว แต่เราโดนบอลทะแยง และการเลี้ยง การเปิดบอลเร็วหน้าไลน์จากฝั่งขวา ไปฝั่งซ้ายบริเวณแบ็คขวาของเรา)

ประเด็นนี้ ผมไม่อยากใช้คำว่า “แหม…ก็บอสส์ ไม่ได้ลงมาวิ่งในสนาม จะรู้ได้อย่างไร?”

ครับ ด้วยความเคารพ นักบอลไทย บ่นแบบนั้นแน่ ๆ หากโค้ชสั่งให้ be brave และรุกลุย ลักษณะนี้ เพราะอะไร?

นี่คือ แมนฯซิตี้ และขอโทษ วอล์คเกอร์ กับการตีรถด่วนทางตรงยาว ๆ, กานเซโล กับบทบาทเพลย์เมคเกอร์ (แต่ขอโทษ เกมรับก็ห่วย ship หายจาก 2 จังหวะเบื้องต้นที่พลาดง่ายไปให้ ซาลาห์), แบร์นาโด ซิลวา แกะตัวจากการโดนรุมได้อย่างไร เช่น นาทีที่ 20 ครึ่งแรกเริ่มจาก เฮนโด พลาดเสียบอลแล้วรวมตัวกับเพื่อน 4-5 คนรวมถึง VvD กับภาพลงไปก้นจ้ำเบ้า หรือประตู 2-2 จากบอลทุ่มข้างสนามธรรมดาของกานเซโล ให้โฟเดน ต่อไปที่แบร์นาโด ที่สามารถครองบอล และแกะการเพรสซิงลิเวอร์พูลได้ โดยมี เดอ บรอย ที่ภาษาฟุตบอลเรียกว่า “ซื้อใจ” เพื่อน หรือคือ หากมรึงเก่งจริง มรึงหลุดได้ กรูก็หลุดยาว และพวกมันจะพินาศ

ขอบคุณภาพจาก : https://web.facebook.com/mancity

เฆซุส, โฟเดน และเดอ บรอย รวมกันแล้วสุด ๆ ครับ เฉพาะอย่างยิ่งหากดัน shape เกมรุกมาเข้าข่าย 2-3-5 และดันสูงขึ้นมาได้เมื่อไหร่ อย่าว่าแต่เราเลย ทุกทีมเหนื่อยหมด

เขียนถึงตรงนี้ แท้จริงแล้ว คลอปป์ แทนที่จะสั่ง be brave แต่สั่งแบบ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน หรือโธมัส ทูเคิล ว่า be cautious เราอาจได้ผลการแข่งขันอีกแบบ

เพราะหลัง เปแอสเช ออกนำเร็วแมนฯซิตี้ ในบ้านตัวเอง ปารีส แท้ ๆ พวกเขา “รับเต็ม” และรอโต้ให้ เอ็มบับเป, เนย์มาร์, เมสซี, ดิ มาเรีย เล่นกันแค่ 4 ตัว และแบ็ค เช่น ฮาคิมี เติมบ้าง ไรบ้าง แค่นี้ซิตี้ก็ยิงไม่ได้ และโดนอีกลูกจากเมสซี แพ้ 0-2 แต่นั่นไม่ใช่ลิเวอร์พูลไงครับ!

เหนือสิ่งอื่นใด เปแอสเช หากต้องบุกบ้าง ก็โดน แรนส์ ship หายไปเช่นกัน 0-2 หรือซิตี้ เจอทีมมารับจัด ๆ แล้วโต้เร็ว ๆ อย่างที่แพ้ สเปอร์ส หรือเจอแบบ เลสเตอร์, เชลซี ก็ไม่เคยเป็นอะไรที่ง่ายอยู่แล้ว ไม่นับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ดังนั้น อย่า “แปลกใจ” ที่สัมภาษณ์หลังเกม เป๊ปเองแทบจะลืมเรื่อง “ใบเหลือง 2 ใบ” ของเจมส์ มิลเนอร์ ไปเลย เพราะสบถแต่ The best league in the world ๆ 

คลอปป์ กับบทวิเคราะห์นำมาซึ่งบทความนี้ และบอกตรง ๆ ว่า บทสัมฯของคลอปป์ และการเล่นแบบ toe-to-toe ตามภาษามวย หรือเท้าชนเท้า ทำให้ผม และพวกเราได้ “เข้าใจ” ฟุตบอลขึ้นอีกมากทีเดียว

ครับ ไอ้ ship หาย (ครั้งที่ 3 แล้ว!) จะมีกี่ครั้งในโลกที่เราได้ยินโค้ชมา “ยอมรับ” ว่า ทำอะไรได้ดี ไม่ได้ดี ในครึ่งแรก หรือครึ่งหลัง หรือต้องการจะทำอะไร และทำได้ หรือทำไม่ได้ หลังจบเกมให้ชาวโลกได้ฟัง

แต่นี่คือ คลอปป์ และตัวเขาได้กระทำ และได้พูดในสิ่งเหล่านี้

_ _ _

  • อันดับสุดท้าย

(พูดแบบคนพอมีประสบการณ์นะ) หากผมเป็นเฮนโด และนักเตะลิเวอร์พูล สิ่งที่ผมจะมองตัวผมเองก่อน คือ หากบอสส์ให้ be brave ด้วยวิธีการเล่น และแท็คติกส์ ต่าง ๆ ผมจะต้องพิจารณา “หน้างาน” และอ่านสถานการณ์ให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน

คือ ผมจะพูดว่า หากโค้ช หรือผู้มีพระคุณสั่งให้ผมทำอะไร แล้วผมทราบว่า ผมจะ “ไปตาย” ผมจะทำทำไม?

ดังนั้น มิดฟิลด์ของเรา “กล้า” ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน พวกคุณต้องมองคน มองสถานการณ์รอบด้านด้วย เช่น การจะเข้ารุมแบร์นาโด แต่ด้านหลังแมร่งมี เดอ บรอย ยืนถือมีดดาบอยู่

คุณต้องประเมินสถานการณ์เองแล้ว ถูกไหม?

คือ เข้าได้ be brave ได้ แต่หากไม่ได้ (ห้าม commit เช่น สไลด์ล้มตัว หรือพรวด ฯลฯ หรือจะแลกก็ต้องฟาล์วเลย) ต้องทราบว่า ด้านหลังมรึงมีใคร แล้วต้องรีบถอนตัว หากปฏิบัติการแรกล้มเหลว

ไม่ใช่ เชียะอะไร เค้าสั่งให้กระโดดน้ำ พวกมรึงก็กระโดด แล้วจมลงไปโดยไม่ได้ดูเลยว่า “น้ำลึก” แค่ไหน? ห่างฝั่งแค่ไหน? มีห่วงยางหรือเปล่า? น้ำเย็นขนาดไหน?

หรือ มิลเนอร์ หรือโจ โก พวกคุณต้องรู้ว่า โฟเดน มันเร็วแค่ไหน?

การที่ยืนใกล้มาติป ถูกต้องแล้ว เพราะพื้นที่ “ตรงกลาง” โซน 14 คือ “ไข่แดง” ที่พวกคุณห้ามโดนเจาะ แต่หากคุณจะขยับมาใกล้แล้วไล่ตามคู่แข่งริมเส้นไม่ทัน (ผมไม่ได้หมายถึงในทุกจังหวะ หรือตอนโดน 2v1 นะ เช่น จังหวะใบเหลือง 1 v 1 มิลเนอร์ พลาดไปจริง เสียเหลี่ยมให้โฟเดน) มันก็ไม่ใช่

กล่าวคือ ผู้เล่น สามารถหารือกับโค้ชได้ คุยกันได้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหน มิดฟิลด์ลิเวอร์พูล ต้องรู้สถานการณ์รอบข้างดีกว่าในเกมนี้ และทรานซิชั่นเร็วกว่าในเกมนี้ และสื่อสารกับทั้งแดนบน เรื่องจะเพรสซิ่ง ไม่เพรสซิ่ง เพรสใคร ยังไง และต้องทำด้วยกัน รวมถึงกับแนวรับที่เขายืนจัดระเบียบได้ดีแล้ว แต่อาจยืนห่างไปให้ดีกว่านี้ว่าจะทำอย่างไร เช่น ให้เขาดันขึ้นมา หรือตัวเองสักคนไปยืนโคเวอร์ไว้หน้าคู่เซนเตอร์ฯ (มิลเนอร์ หรือโจ โก ก็จะได้ถ่างห่างออกไปหาโฟเดน ได้มากขึ้น เป็นต้น)

ทั้งหมด คือ การเรียนรู้ของทีม และของพวกเราไปด้วย “พร้อม ๆ กัน”

สุดท้าย ผมขอกล่าวอีกครั้งว่า ฟุตบอลแบบเกมนี้ทั้งก่อน, ระหว่างแข่ง และหลังเกม มันเป็นเกมที่ครบทุกอรรถรส ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ 

ผมต้องขอขอบคุณ โค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ, โค้ชนพ นพพร เอกศาสตรา, โค้ชแดง ทรงยศ กลิ่นศรีสุข, โค้ชใหม่ เจตนิพัทธ รัชตเฉลิมโรจน์ และโค้ชโจ ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น ที่ได้ร่วมสนทนาธรรมเกมนี้กับผม และก็พี่กบ Captain No.12 และแน่นอนพวกเราทุกคนในเพจแห่งนี้

That’s why we do love the beautiful game ครับ

☕ ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์