Categories
Football Tactics

สรุป 4 วิธี การดูฟุตบอลขั้นพื้นฐานอย่างเข้าใจ

หัวข้อนี้เป็น 1 ในหัวข้อ Football Tactics ที่ผมให้น้ำหนักค่อนข้างมาก และมองว่าเป็น “เทมเพลท” สำคัญสำหรับทุก ๆ คนในการจับประเด็นเพื่อดูบอลในเชิงวิเคราะห์เกมการแข่งขันที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาทักษะการอ่านเกมให้ได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคตได้อีกด้วย

ข้อมูลครั้งนี้ ผม “เรียบเรียง” มาจากเนื้อหาโดย “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ อดีตกุนซือทีมชาติไทย, สโมสรธนาคารกรุงเทพ, ผู้อำนวยการอคาเดมี สโมสรพัฒนา เอฟซี ฯลฯ ในอดีต ที่ได้เขียนบันทึกไว้ด้วยลายมือท่านเองมาฝากกันครับ

“โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ อดีตกุนซือทีมชาติไทย, สโมสรธนาคารกรุงเทพ, ผู้อำนวยการอคาเดมี สโมสรพัฒนา เอฟซี ฯล

โดยท่านอาจารย์ได้เรียบเรียงองค์ความรู้ไว้ 4 ข้อสำหรับการดูฟุตบอลเบื้องต้นให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ไว้ดังนี้ :

1. ดูการเล่นเกมรุก

ข้อนี้ไม่ได้แปลว่า ได้บุก ได้ยิง ได้เลี้ยง ได้ส่ง ได้ครองบอลมากมาย ได้ฟรีคิก ฯลฯ เท่านั้น แต่โดยหลัก ๆ ที่ต้องดูแบบพื้นฐานประกอบด้วย : 

1.1 รูปแบบการรุก เช่น ถนัดเล่นลูกสั้น หรือยาว, ชอบเจาะตรงกลาง หรือริมเส้น, ค่อย ๆ สร้างเกม หรือเล่นเร็วทางลึกไปข้างหน้าทันที, มีโต้กลับ (เคาน์เตอร์แอทแทค) ด้วยไหม

1.2 การประสานงานของตำแหน่งต่าง ๆ เป็นอย่างไร ประมาณว่า มีชิ่งหนึ่งสอง, มีการเล่นสามเหลี่ยม/สี่เหลี่ยม หรือการทดแทนตำแหน่งกันหรือไม่ การวิ่งตัวเปล่า การวิ่งทะลุช่อง หรือใช้รูปแบบใดบ้างในการเคลื่อนบอลไปข้างหน้า

1.3 การเคลื่อนที่ของผู้สำคัญ เช่น เพลย์เมคเกอร์ หรือกองหน้า ว่ามีบทบาทอย่างไรในเกม อยู่ตรงไหนของสนาม มีแท็คติกส์อะไร เช่น False 9, Inverted Full Back, การใช้พื้นที่ half space ฯลฯ

1.4 เริ่มสร้างเกมรุกแบบไหน ตั้งแต่ผู้รักษาประตูแล้วค่อย ๆ บิ้วท์บอลแรกมาที่กองหลังขึ้นไปกองกลาง หรือกองหน้า หรือยาวไดเร็กต์จากหลังไปหน้าเลย ทำกันเร็ว หรือช้า, มีการเปลี่ยนสปีดหรือไม่ มีใครรวดเร็ว ทักษะดี เลี้ยงกินตัว หรือ 1 ต่อ 1 ได้ดีไหม

1.5 วางกำลังในแต่ละแดน หลัง กลาง หน้า อย่างไร? กี่คน? ระบบอะไร? และใช้ผู้เล่นรุกกี่คน? เคลื่อนตัวข้ามสู่แดนฝั่งตรงข้ามกี่คน? และไลน์รับสุดท้ายอยู่บริเวณใดของสนามขณะรุก

2. ดูการเล่นเกมรับ

เช่นกัน ไม่ใช่ว่า ดูแค่รับเหนียวแน่น สกัดเก่ง สไลด์แม่น โหม่งไกล เพราะพูดแบบนี้ก็จะง่ายไปหน่อย ทั้งนี้หลัก ๆ ที่ต้องมองคือ :

2.1 รับแบบคุมโซน (ดูแลพื้นที่) หรือประกบแมน ทู แมน (คุมคน)

2.2 มีการเช็คไลน์ออฟไซด์หรือไม่

2.3 มีการเพรสซิ่งไหม หรือหากมีต้องดุว่า เริ่มเพรสซิ่งตั้งแต่เมื่อไหร่ เช่น ตั้งแต่แดนหน้าเลยโดยกองหน้า หรือปล่อยมาเพรสซิ่งในแดนกลาง หรือค่อยมาไล่ในแดนหลัง และทำตลอดเวลา หรือเน้นบริเวณใดเป็นพิเศษไหม

2.4 ยืนรับต่ำขนาดไหน เช่น รับที่เส้นเขตโทษ 18 หลา หรือขยับมาเส้น 35 หลา (ระหว่างกลางสนาม และเส้นเขตโทษตัวเอง) และที่ว่างระหว่างไลน์กองกลัง กองกลาง และกองหน้า “สมดุล” หรือเท่ากันหรือไม่ และยังต้องพิจารณาด้วยว่า มีจำนวนผู้เล่นที่อยู่หน้าบอล หรือหลังบอลกี่คนในเวลาตั้งรับ

2.5 การคืนตำแหน่ง หรือรักษาสมดุลตำแหน่งเป็นอย่างไร ทำได้เร็ว หรือช้า ไม่ว่าจะเจอคู่แข่งใช้การรุกแบบใดก็ตามจากข้อ 1 

3. การเปลี่ยนจากรับเป็นรุก หรือรุกเป็นรับ (Transitional Play)

จากรับเป็นรุกหลัก ๆ ก็เพื่อจะทำการเคาน์เตอร์แอทแทค โดยต้องดูว่า บอลแย่งได้แล้วส่งให้ใครคนแรก, บอลสองไปหาใคร, ใครเป็นตัวเป้า ใครเป็นตัวพักบอล ใครเป็นตัวที่มีความเร็วสูงสุด

ทำกันเร็วไหม เพราะการโต้กลับที่สมบูรณ์ เช่น ประตู 4-1 โดยคิเลียน เอ็มบับเป้ ยิงให้ฝรั่งเศสออกนำอาร์เจนติน่าใช้เวลาประมาณ 10 วินาทีอันเป็นเวลาเฉลี่ยของการทำเคาน์เตอร์แอทแทคที่ดี หรือ 9.8 วิ.ประตูที่เบลเยียมยิงดับฝัน 3-2 ทีมชาติญี่ปุ่นตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายในวินาทีสุดท้าย (ผมเขียนครั้งแรก ขณะมีบอลโลก 2018) นอกจากนี้ก็ต้องมองว่า ใครเป็นผู้เล่นสำคัญซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นที่มีความเร็ว จากรุกเป็นรับ หรือก็คือหลังจากบุกแล้วเสียการครองบอล สิ่งที่ต้องมองคือ เสียบอลแล้วมีการเพรสซิ่งเอาบอลคืนทันที หรือไม่เพรสซิ่ง แต่ใช้วิธีรีบคืนตัวกลับมาเล่นรับในตำแหน่งตัวเอง

ที่สำคัญ คือ หากไม่เพรสจะสามารถกลับมาเล่นรับในตำแหน่งได้ทันเวลาหรือไม่ เพราะแน่นอนว่า หากทำได้ไม่ดี โอกาสโดนโต้กลับจนเสียประตูย่อมเกิดขึ้นได้

4. ลูกตั้งเตะต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็นไดเร็กต์ฟรีคิก คือ ยิงได้เลยในระยะหวังผล หรือจุดโทษ (ที่ต้องศึกษาวิธียิงของมือสังหาร หรือวิธีรับของนายทวาร) หรือโดยอ้อม เช่น อาจจะผ่านลูกเตะมุม ลูกเปิดกินเปล่าจากระยะไกลเข้ากรอบเขตโทษ

สิ่งที่ต้องมองคือ ใครเป็นผู้เล่นหลักในกรอบเขตโทษ, ใครคนเปิดฟรีคิกประจำ ถนัดเท้าใด และใช้เทคนิคการเปิดแบบใด รูปแบบการป้องกัน และโจมตี, ลักษณะการประกบเป็นคุมพื้นที่ หรือคุมคน

การสื่อสารในกรอบเขตโทษเป็นอย่างไร ผุ้รักษาประตูถนัดกับการออกมาตัดลูกกลางอากาศแค่ไหน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า แม้จะสามารถทำการรุก หรือรับ หรือมีฝึกจังหวะ Transition ได้ดีแล้ว แต่หากไม่เก่งฉกาจ และเชี่ยวชาญในลูกตั้งเตะ การเสียประตูโดยไม่จำเป็นก็จะเกิดขึ้นอย่างน่าเสียดาย

ในทางกลับกัน โอกาสทำประตูมากมายก็เกิดขึ้นจากลูกตั้งเตะนี่เอง

ครับ ทั้งหมดนี้ 4 หัวข้อ: รุก, รับ, รุกเป็นรับ/รับเป็นรุก และลูกฟรีคิกต่าง ๆ คือ 4 ประเด็นหลักที่สามารถใช้วิเคราะห์รูปแบบวิธีการเล่น วิธีคิดทำให้อ่านกลยุทธ์ กลวิธี รวมถึงแบบแผนการเล่นของคู่แข่ง หรือใช้วิเคราะห์ทีมตัวเองด้วยก็ได้

โดยในเกมฟุตบอลปัจจุบัน การ “แมวมอง” (Scouting) คู่แข่งขันแล้วประเมินความสามารถ เจาะวิเคราะห์วิธีการเล่น วิธีคิดของฝั่งตรงข้ามออกได้ คือ สิ่งสำคัญ เหมือนรู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

ฟุตบอลสมัยใหม่จึงมีอาชีพ นักวิเคราะห์แมตช์แข่งขัน และเท่าที่ทราบมา ลีกไทยเราเอง บรรดาทีมชั้นนำน่าจะมีบุคคลากรตำแหน่งนี้กันทั้งสิ้นในทีมใหญ่ ๆ แต่ส่วนใหญ่อาจจะเป็นชาวต่างชาติ บุคคลในตำแหน่งนี้ที่อาจเรียกว่าเป็นฝ่าย “เทคนิค” ของทีมที่จะช่วยแบ่งเบาภาระโค้ชตัวจริงได้มาก

เพราะลำพังโค้ชคนเดียวไม่สามารถทำหน้าที่ทุกอย่างโดยลำพังได้แล้วในฟุตบอลอาชีพที่เป็นมาตรฐานสูงแบบปัจจุบัน หลายทีมอาจใช้ทีมสตาฟฟ์ค่าตัวถูกกว่า แต่ต้องอาศัยเครื่องมือ เครื่องวัดอื่น ๆ มาช่วย เช่น อัดวิดีโอ ไว้ศึกษาวิเคราะห์แต่ละเกม แล้วขึ้นหน้าจอให้ผู้เล่นดู หรือซื้อบริการข้อมูลสำเร็จรูปในการวิเคราะห์เกมนัดต่อนัดมาประกอบการวางแผนการเล่นในทุกนัด

แต่หากเป็นทีมที่พร้อมจริง ๆ แต่ละนัดผู้ที่ทำหน้าที่นี้จะมองออกอย่างเร็วภายใน 15 นาที และเตรียมวิดีโอไว้เปิดให้ผู้เล่น กับโค้ชได้แก้เกมทันควันระหว่างพักครึ่งเวลาได้เลย

รายละเอียดจริง ๆ ของมืออาชีพจะมีเยอะกว่านี้มาก แต่เบื้องต้น 4 ข้อในวันนี้ คือ อย่างน้อย “พื้นฐาน” การมองฟุตบอลแบบพอจะมี “ครู” และหลักการพื้นฐานให้จับได้บ้างในการชมเกมฟุตบอล 90 นาทีในแต่ละนัดที่ผมหวังว่าจะช่วยยกระดับอรรถรสการชมฟุตบอลของทุก ๆ คนได้นะครับ

(ปรับปรุงข้อมูลจากเพจช้างศึก 6 ก.ค.2018)

ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

Categories
Football Business

เปลี่ยนสโมสรฟุตบอลให้เป็น “แบรนด์”

จากงาน Marketing Workshop ให้กับสโมสรไทยลีก 1 และ 2 โดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ บริษัท แพลน บี อีเลฟเว่น เมื่อกลางเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมามี 1 หัวข้อน่าสนใจจากวิทยากรผู้ทรงคุณาวุฒิรับเชิญ คุณแดน ศรมณี Global Brand Lead จากแอพลิเคชั่น LINE (ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอดีเอ ดิจิทัล ประเทศไทย จำกัด ผู้นำในการให้บริการการตลาดดิจิทัลครบวงจร) เรื่อง “เปลี่ยนสโมสรฟุตบอลให้เป็นแบรนด์”

ทำไม? มันมีความหมายลึกซึ้งอย่างไร? และนำไปสู่ความสำคัญต่อฟุตบอลไทยอย่างไร? วันนี้ผมขอหยิบเนื้อหาจาก The Stadium Magazine ฉบับเดือน ก.พ.2019 ที่ผมได้เรียบเรียงไว้มาฝากครับ

ต้นทางฟุตบอล, ผมเอง, คุณแดน ศรมณี และคุณนก LFCTHs

1. อันดับของทีมมีขึ้นมีลง แต่สโมสรฟุตบอลจะอยู่ในใจเสมอ

อธิบายความได้ว่า “แชมป์” มีได้แค่ทีมเดียว และไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า แต่สโมสรฟุตบอลจะสามารถยึดเหนี่ยว และตราตรึงใจแฟนบอลตลอดไปได้

ข้อนี้หมายรวมถึง การ “ตั้งจุดประสงค์” ของทีม และเล่าเรื่องสื่อสารทีมไม่ว่าจะในเชิงการตลาด หรือเนื้อหาในสนามของทีมทั่วไปอันนำมาซึ่งวิธีปฏิบัติ และเกิดผลลัพธ์ในใจแฟนบอล

หากตั้งเป้าเพียงแค่ “ต้องชนะ” หรือ “ต้องแชมป์” แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ความเชื่อที่แฟนบอลได้รับการ “ถ่ายทอด” ก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ เช่น ไม่เข้าสนาม สนับสนุนน้อยลง เพราะทีมมีผลงานในสนามไม่ดี

แต่หาก สโมสรฟุตบอลมีการสร้าง “แบรนด์” และวางโพสิชั่นด้านอื่น ๆ เช่น การตอบแทนสังคมผ่านกิจกรรมชุมชน, รูปแบบ และสไตล์การเล่นสนุกสนาน มีความสุข น่าประทับใจ โดยให้แฟน ๆ มี “ส่วนร่วม” ไปด้วย

ผลการแข่งขันก็จะเป็น “โบนัส” (หากทำได้ดี) เพราะเป้าหมายหลักต่าง ๆ ได้ประสบความสำเร็จแล้วผ่านการสื่อสารที่มีการวางแผนเอาไว้ตามเป้าประสงค์

2. การ Branding สโมสรฟุตบอล (ของคุณ)

หากเป็นทั่วไป ชื่อเสียงของแบรนด์ (Brand Reputation) จะมาจากผลการแข่งขัน (Result) แต่ในเชิงกีฬา หรือฟุตบอล มันต้องสื่อสารผ่านการเล่าเรื่อง (Story) เช่น ลิเวอร์พูล กับตำนานแชมป์ยุโรป 6 สมัย หรือตำนานของทีม อาทิ “คิงเคนนี่” เคนนี่ ดัลกลิช, สตีเวน เจอร์ราร์ด ที่มีการเล่าถึงผ่านของที่ระลึกในเมกะสโตร์ หรือพิพิธภัณฑ์สโมสรอย่างต่อเนื่อง

หาใช่พูดถึง ผลการแข่งขันที่ไม่เคยได้แชมป์ลีกสูงสุดมากเกือบ 30 ปี (ก่อนหน้าซีซั่น 2019/20) ที่หากมองในแง่นั้น ผลงาน (Result) คงไม่อาจพาลิเวอร์พูลมาสู่จุดนี้ที่มาได้เพราะ Story ได้ถูกสื่อสารอย่างงดงาม และต่อเนื่อง

ลำดับถัดมา คือ อัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) จากภาพเรียบ ๆ ไม่มีอะไร (Format) ให้เป็น “ภาพลักษณ์” ที่ดี (Image) ของสโมสรแบบมี “ตัวตน” ชัดเจนทั้งใน และนอกสนามไม่ว่าจะผ่านการ “ใช้สี” เช่น เขียวขาว – กลาสโกว์ เซลติก, ดำขาว – ยูเวนตุส, นิวคาสเซิล, ม่วง – ฟิออเรนติน่า หรือโลโก้ รูปร่าง รูปทรงต่าง ๆ ที่คน “จดจำ”

Realistic soccer jersey, t-shirt of Juventus, uniform template for football

หรือในสนาม เช่น รูปแบบวิธีการเล่น โหดเหมือนอุรุกวัย, สวยงามเหมือน แซมบา บราซิล, บาร์เซโลน่า, แมนเชสเตอร์ ซิตี้

สุดท้าย คือ ตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning) ที่ต้องเข้าถึง “แก่น” หรือ essence ที่แท้จริงของสโมสรเพื่อเค้นเอา DNA หรือตัวตนที่แท้จริงให้เจอ ไม่ใช่แค่การวางตำแหน่งธรรมดา ๆ

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดภาพชัดเจน เช่น สโมสร คือ ทีมท้องถิ่นนิยมของคนในจังหวัด เช่น สุโขทัย (ทีมเดียว), ชลบุรี หรือระยอง (หลายทีมในจังหวัด) กับกลุ่มเป้าหมายซึ่งคือ แฟนบอลกลุ่มไหน

หรือบุรีรัมย์ โมเดล กับการขยายฐานแฟนบอลมากกว่าในจังหวัด เช่น เห็นสื่อสารผ่านบิลบอร์ดในกทม. และมีช็อปของที่ระลึกอยู่สยามสแควร์ และอื่น ๆ ที่ทำมากกว่าแค่ภายในจังหวัด

เพื่อจะได้สื่อสารถึงพวกเขาได้แม่นยำ และทำในสิ่งที่แฟนบอลกลุ่มเป้าหมายต้องการมากกว่า สโมสรต้องการ

3. การทำแผนการตลาด (Marketing Plan)

การตลาดในนิยามของสโมสรฟุตบอลอาจจะเป็นแค่ “ขา” สปอนเซอร์ หรือการหาผู้สนับสนุนเพื่อสร้างรายได้เป็นหลักอย่างไรก็ดีในเชิงฟุตบอลแล้ว รายได้หลักมาได้อย่างน้อย 4 ช่องทางอันประกอบด้วย

1) การขายตั๋วเข้าชมเกมการแข่งขัน

2) การขายของที่ระลึก

3) รายได้จากสปอนเซอร์

และ 4) รายได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด

หรือ (อาจจะ) 5) การซื้อมาขายไปของนักเตะ

ฉะนั้น “แผนการตลาด” จะต้องครอบคลุมทุกหัวข้อดังกล่าวผ่านวัตถุประสงค์ อันนำมาซึ่งกลยุทธ์ และกลวิธี แบบถูกต้องแม่นยำ เฉพาะอย่างยิ่งผ่านการสื่อสารการตลาดที่ปัจจุบันสโมสรมี “ช่องทาง” ของตัวเองผ่านโลกดิจิตอลหลากหลาย

แต่การสื่อสารจะทำได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และกระจายออกไปอย่างมีประสิทธิภาพถึงแฟนบอลผู้รับปลายทางได้แบบตรงเวลาหรือไม่ ทั้งหมดต้องอาศัยการตั้งโจทย์การตลาดที่แม่นยำ เช่น อย่างที่เรียนไว้ข้างต้น จะสร้าง “แชมป์” หรือสร้างทีม “ในใจ”

ตามด้วยเลือกช่องทางการสื่อสารของสโมสร และใช้เต็มประสิทธิภาพ หรือมีพันธมิตร เช่น สื่อท้องถิ่นต่าง ๆ ร่วมด้วยช่วยกัน หรือแม้แต่กลุ่มยิบย่อยแฟนบอลด้วยกันเองเพื่อการมีส่วนร่วม กลุ่มเป้าหมายต้องปักหมุดให้แม่น เช่น ปัจจุบันมีมากน้อยแค่ไหน?, เป็นใคร/อาชีพ/เพศ/อายุ/ฯลฯ? และสามารถเปลี่ยนให้เป็นแฟนพันธุ์แท้ได้ไหม? หรือจะสร้างกลุ่มเป้าหมายใหม่ และเทิร์นให้กลายเป็นแฟนบอลที่มากขึ้นได้ไหม? อย่างไร?

ทั้งหมดต้องทำผ่านกระบวนการทำงานด้านการตลาดซึ่งสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ, บริษัทไทยลีก จำกัด และบริษัท แพลนบี จำกัด (มหาชน) พร้อมจะสนับสนุน และจะมีกิจกรรม workshop ร่วมกันกับเหล่าสมาชิกทีมต่าง ๆ อยู่เสมอ

ผมขอ “ทิ้งท้าย” ไว้ว่า ฟุตบอลไม่มีสูตรสำเร็จในสนาม หาไม่แล้วทุกทีมก็เป็น “แชมป์” ได้หมด เช่นกัน เรื่องการบริหารจัดการ “นอกสนาม” เช่นในเชิงการตลาด และสร้างแบรนด์ก็ไม่มี “โมเดล” สำเร็จรูปเหมือนบะหมี่ฉีกซองใส่น้ำร้อน

หาไม่แล้วทุกทีมก็คงมีบัญชีงบดุล “ตัวดำ” แถมยังเหลือเงินไว้จับจ่ายซื้อนักเตะดี ๆ และทำอะไรเพื่อแฟนบอล กับชุมชนได้ดีเยี่ยมเหมือนกันหมด

นักการการตลาดด้านกีฬา (ฟุตบอล) จึงไม่ต่างอะไรกับ “ยอดโค้ช” นั่นเองครับ

The Stadium Magazine (February 2019)

✍ : ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

#ไข่มุกดำ

#KMDFootballBusiness

#TheStadiumMagazine

#เปลี่ยนสโมสรฟุตบอลให้เป็นแบรนด์

Categories
Football Tactics

ทุกมิติกับบทบาทของกองหน้า “False 9”

ก่อนจะพักเบรกทีมชาติ “ฟีฟ่าเดย์” รอบนี้ มีคำพูดหนึ่งที่ยังก้องติดหูผมอยู่ก็คือ เควิน เดอ บรอย พูดเกี่ยวกับเกมบุกชนะ 2-0 ของแมนฯซิตี้เหนือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในโอลด์ แทรฟฟอร์ด ทำนองว่า เป๊ป กวาร์ดิโลนา ไม่แน่ใจทีมปิศาจแดงจะมาไม้ไหน เล่นแบบใด ก็เลยไม่ได้เตรียมการอะไรพิเศษในการรับมือ

แต่ผมก็เชื่อว่า ลึก ๆ ในการเปลี่ยนไป เปลี่ยนมาของ โอเล กุนนาร์ โซลชา มันไม่ได้มีอะไรใหม่ หรือเกินความคาดหมาย แต่มันแค่ ไม่มีอะไรแน่นอนเท่านั้นเองในรูปแบบการเล่นไม่กี่แบบ และยิ่งน้อยรูปแบบเข้าไปอีกหากจะมองว่า รูปแบบไหนทำงานได้เวิร์กกับทีมชุดนี้

สุดท้าย แมนฯยูฯ ใช้ระบบ “แบ็คทรี” เหมือนที่ชนะสเปอร์ส แต่ต่างตรงไม่มี ราฟาเอล วาราน ซึ่งเป็น “คาแรกเตอร์” สำคัญที่สุดของผู้เล่นตำแหน่งนี้ เนื่องจากอ่านเกมดี (ทำให้ตัดสินใจได้ดี) มีความเร็ว และออกบอลด้วยเท้าได้

แมนฯซิตี้ ปรับทั้ง “หน้างาน” และก่อนเกมหลังทราบแผนการนี้ได้ดีมากด้วยการใช้บริการแท็คติกส์ False 9 แบร์นาโด ซิลวา ขนาบด้วย ฟิล โฟเดน และกาเบรียล เฆซุส

ประเด็น คือ โซลชา ใช้เซนเตอร์ฮาล์ฟ 3 คน: บาญี่-ลินเดอเลิฟ-แม็คไกวร์ เรียงจากขวาไปซ้าย แต่ปรากฎว่า ทั้ง 3 หน่อไม่มีกองหน้าให้ประกบเนื่องจาก ซิลวา ไม่ได้ยืนแบบ “Lone Striker” หรือกองหน้าตัวเป้า ขณะที่โฟเดน และเฆซุส ก็ไม่ได้หุบในเข้ามาหาพื้น Half Space ที่ควบคุมโดย บาญี่ และแม็คไกวร์

มันจึงไม่ต่างอะไรกับการที่ทีมปิศาจแดง “พ่ายแพ้” ตั้งแต่ยังไม่เตะด้วยแท็คติกส์ 3 เซนเตอร์ฯเสียฟรี ไม่มีตัวประกบ หรือไม่ได้ถูกวางแผนมาว่า จะยอมเสียใครสัก 1 ใน 3 เซนเตอร์ฯเพื่อตาม ซิลวา

ขณะที่วิงก์แบ็ค ฟาน บิสซากา และชอว์ ที่ควรจะต้องเติมก็โดนขึงไว้โดยโฟเดน กับเฆซุส

ดังนั้นแดนกลาง 3 คน: แฟร์นันเดซ-แม็คโทฯ-เฟรด จึงโดนรุมกระจายสิครับโดยอย่างน้อย 3 มิดฟิลด์ซิตี้พ่วงด้วย แบ็คหุบใน (Inverted Full Back) ทั้งกานเซโล กับวอล์คเกอร์

รวมแล้ว ทุกพื้นที่ในแดนปิศาจแดงถูก overload โดยนักเตะแมนฯซิตี้ทุกหย่อมหญ้า

สุดท้ายทันทีในครึ่งหลัง เจดอน ซานโช ก็ต้องลงมาแทน เอริค บาญี่ และทัพปิศาจแดงปรับเป็น “แบ็คโฟร์” อันแสดงให้เห็นว่า สูตรที่ใช้ได้ดีกับสเปอร์ส ใช้อะไรไม่ได้เลยกับแมนฯซิตี้

ด้วยเพราะ “บทบาท” หรือ job description ของนักเตะกองหน้า False 9 ที่จะเล่นบนพื้นที่ระหว่าง “ไลน์รับ” (ในที่นี้ คือ “แบ็คทรี” แมนฯยูฯ กับ 2 ฟูลแบ็คที่โดนกดจนกลายเป็น “แบ็คไฟว์”) กับ “ไลน์มิดฟิลด์” อันเป็นอาณาเขตต้องห้ามกว้างประมาณ 8-10 หลาทำให้มิดฟิลด์ไม่กล้าทิ้งพื้นที่ตัวเองลงไปประกบ ขณะที่เซนเตอร์ฯ ก็ไม่กล้าหนีตำแหน่งทำให้ไลน์รับยืนเพี้ยนจากเพื่อนเช่นกันไม่ว่าจะแบ็คโฟร์ หรือแบ็คทรี

แบร์นาโด ซิลวา ได้แมน ออฟ เดอะ แมตช์ ครับเกมนี้จากหลายสำนัก

ทีนี้ ผมได้ให้ทีมเรียบเรียงบทบาทเรื่อง False 9 ที่มีการแปลเป็นไทยไว้บ้างว่า “กองหน้าตัวหลอก” แต่ผมไม่ชินนักจาก coachesvoice และโค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ เอาไว้มาฝากกันพอสังเขป เป็นอีกหนึ่งคอนเทนท์ Football Tactics จากทางเพจนะครับ ลองไปติดตามกันครับ

อะไรคือ False 9

False 9 คือ กองหน้าตัวกลางที่เคลื่อนตัวต่ำลงเพื่อเข้าหาบอลจากตำแหน่งที่อยู่สูงกว่าในแดนบน (แนวรุก) และเป็นการเคลื่อนตัวลงต่ำเพื่อรับบอลตรงกลางแบบนี้บ่อยครั้ง โดยจุดประสงค์หลักของการเคลื่อนตัว คือ การหนีเซนเตอร์แบ็คเข้ารับบอลในพื้นที่ว่างระหว่างไลน์ และในการทำเช่นนั้น ก็เพื่อดึงผู้เล่นฝั่งตรงข้ามอาจจะเซนเตอร์แบ็ค หรือมิดฟิลด์ออกจากตำแหน่ง และปั่นป่วนการเล่นเกมรับของคู่ต่อสู้ รวมถึงสร้างประโยชน์ให้ทีมตัวเองจากการกระทำนั้น

คำว่า False 9 มาจากไหน?

เชื่อกันว่าตำแหน่ง False 9 ถูกใช้ครั้งแรกโดยสโมสรโครินเธียนส์ (ไม่ใช่สโมสรบราซิลนะครับ แต่เป็นทีมสมัครเล่นที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นของเกาะอังกฤษ) ในช่วงปลายทศวรรษ 1890 ตอนนั้น จีโอ สมิธ กองหน้าตัวเป้า (ชาวอังกฤษ) มักจะออกบอลทะลุให้ปีก และช่วยสร้างโอกาสให้ปีก หรือตัวริมเส้นมีบทบาทเข้าทำมากขึ้น นั่นจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการเล่นของกองหน้าจากการยืนในตำแหน่งที่สูงที่สุดไว้ก่อนเป็นมีบทบาทช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมในแนวรุกมากขึ้น

ตัวอย่างเพิ่มเติม ได้แก่ ริเวอร์เพลท ในทศวรรษ 1920 ซึ่งกองหน้าตัวเป้าทำหน้าที่เป็น “ผู้ควบคุมเกม” ในแดนหน้า 5 คนในขณะนั้น ในช่วงทศวรรษที่ 1930s มัตธิอัส ซินเดอลาร์ ถูกใช้เป็นศูนย์หน้าที่ “ดร็อปตัวเอง” ลงต่ำในทีมชาติออสเตรีย ต่อมา นันเดอร์ ไฮเด็กกูติ และ ปีเตอร์ ปาโทลาส ถูกใช้ในลักษณะเดียวกันกับทีมฮังการีที่มีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษ 1950s

อย่างไรก็ตาม ‘ฟอลต์ ไนน์’ เป็นคำที่ใช้ในยุคปัจจุบันเท่านั้น แนวความคิดคือกองหน้าอาจมีหมายเลข 9 อยู่บนหลังเสื้อก็จริง แต่กลับย้ายตัวเองไปเล่นอยู่ในตำแหน่งเหมือนไม่มีกองหน้าที่แท้จริงอยู่ตรงนั้น นั่นคือพื้นที่ที่มักจะไม่พบหมายเลข 9 (พื้นที่ระหว่างไลน์)

ความรับผิดชอบในการเล่น ‘ฟอลต์ ไนน์’ คืออะไร?

ความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับ False 9 คือ การเคลื่อนตัวออกจากเซ็นเตอร์แบ็คฝั่งตรงข้ามเพื่อรับบอลระหว่างแนวรับ กับมิดฟิลด์ ทั้งในช่วงที่ครองบอลต่อเนื่อง หรือระหว่างทีมครอบครองเกม หรือเป็นตัวเชื่อมไปยังกองหน้าระหว่างการโต้กลับ (Transition จากไม่มีบอล หรือรับ เป็นรุก) การเคลื่อนที่ไปสู่ตำแหน่งที่ต่ำกว่านั้นอาจทำให้กองหลังของฝ่ายตรงข้ามมีปัญหาว่าจะตามไปประกบ หรือปล่อยให้พวกเขาอยู่ในช่องว่างนั้นต่อไป ดังนั้น หากผู้เล่นในตำแหน่ง False 9 ทำเกมได้ในจังหวะที่ถูกต้องก็อาจทำให้เกิดความหายนะในเกมรับฝั่งตรงข้ามได้ เพราะเขามักจะฟรีจากการโดนประกบนั่นเอง

False 9 ระดับท็อป จำเป็นต้องมีความตื่นตัวเป็นพิเศษ และมีความสามารถในการสแกนพื้นที่ว่างระหว่างไลน์ หรืออาจจะ pocket (พื้นที่ระหว่างผู้เล่นด้วยกัน) ในสนาม ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจะรู้ว่าต้องสัมผัสบอลครั้งแรกที่ไหนเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนเพรสซิ่งจากฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากด้านหลัง สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ว่างได้อย่างสะดวกสบายเพื่อเชื่อมต่อบอลทำเกมกับเพื่อนร่วมทีมได้สะดวกโยธิน• นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ ผู้เล่น False 9 ที่จะทำงานได้หลากหลาย และมีทักษะในการครองบอล เช่น การเลี้ยงเปลี่ยนทิศทาง หลอกล่ออย่างรวดเร็ว ทักษะการไปกับบอลที่ยอดเยี่ยม และต้องมีทักษะการจบสกอร์ด้วย

False 9 นั้นแตกต่างจากศูนย์หน้าจริง ๆ แบบดั้งเดิมในเวลาที่ทีมครอบครองบอล แต่ขณะไม่มีบอล หรือเล่นเกมรับ False 9 และศูนย์หน้าแบบดั้งเดิมนั้นทำหน้าที่คล้ายกัน

ยามรับ คือการต้อง เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง หรือกดดันเพื่อแย่งชิงบอลกลับมาด้วยการเสมือนเพิ่มจำนวนผู้เล่นมิดฟิลด์เพื่อ overload ให้ทีมมีประสิทธิภาพในการเพรสซิ่งดีขึ้น และช่วยบีบให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นบอลได้เฉพาะด้านกว้าง

หรือต้องเป็นฝ่ายตั้งรับค่อนข้างเยอะ False 9 (เช่น เลอันโดร ทรอสซาร์ด ในเกมกับไบร์ทตัน กับลิเวอร์พูล) ยังสามารถช่วยสกรีนไม่ให้บอลจ่ายไปถึงมิดฟิลด์ หรือคอยทำหน้ากดดันเซนเตอร์แบ็คที่จะออกบอลแรก ได้ด้วย

ใครคือตัวอย่าง False 9 ที่ดีที่สุดบ้าง?

ลิโอเนล เมสซี

ลิโอเนล เมสซี ถูกใช้อย่างโด่งดังในฐานะ False 9 สมัยการคุมบาร์เซโลนาของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา เนื่องมาจากความสามารถของเขาในการรับ-จ่ายบอล ระหว่างพื้นที่แดนกลาง และแดนหลังฝั่งตรงข้าม เขาสามารถพลิกตัว และแทงทะลุ รวมถึงการไปกับบอลด้วยการเลี้ยงบอลอันยอดเยี่ยม เมสซีเก่งฉกาจในการรับบอลแบบ ฮาล์ฟเทิร์น นั่นทำให้เขาสามารถสร้างตัวตนในพื้นที่ด้วยการถอยตัวเองลงมาต่ำแล้วพลิก และสามารถพาบอลจี้ไปที่เซ็นเตอร์แบ็คได้ อีกทางหนึ่ง ถ้าเขาถูกตามด้วย 1 ในเซ็นเตอร์แบ็ค เขาก็เลี้ยงบอลหนีความกดดัน และมองหาปีกซึ่งมักจะอยู่ในแนวหน้าที่ขึ้นไปทดแทนตำแหน่งหมายเลข 9 ที่ว่างลงไปได้ ปีกเหล่านี้ออกสตาร์ทในตำแหน่งริมเส้นเสมอ ก่อนจะวิ่งเข้าไปในพื้นที่ว่างระหว่างกองหลังเพื่อทำเกมบุก

เชส ฟาเบรกาส

เชส ฟาเบรกาส ได้ถูกใช้เป็น False 9 กับบาร์เซโลนาภายใต้การคุมทีมของ ตาตา มาร์ติโน และในทีมสเปน ชุดคว้าแชมป์ ยูโร 2012 ภายใต้ บิเซนเต เดล บอสเก โดยฟาเบรกาสถูกใช้เป็นส่วนใหญ่ เพราะความสามารถในการเล่นบอลภายใต้ความกดดันในพื้นที่ระหว่างไลน์ อีกทั้งตำแหน่งของฟาเบรกาสยังทำให้กองกลางฝ่ายตรงข้ามมักจะตามมาประกบ หรือพยายามสกัดกั้นการจ่ายบอลให้เขาจนเกิดช่องว่างให้เพื่อนร่วมทีมอย่าง เซร์คิโอ บุสเกสต์, ชาบี เอร์นานเดซ และ อันเดรียส อิเนียสตา – ทั้งในระดับสโมสร และประเทศ – เล่นได้ง่ายขึ้น คอนโทรลเกมได้เนียนขึ้น โดยเฉพาะการเจาะเข้าแดนสุดท้ายคู่แข่ง

คาริม เบนเซมา

คาริม เบนเซมา ได้แสดงให้เห็นคุณลักษณะของ ฟอลต์ ไนน์ ในบางครั้งตลอดอาชีพค้าแข้งของเขาที่เรอัล มาดริด แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การคุมทีมของ ซีเนอดีน ซีดาน การดร็อปตัวไปยังตำแหน่งด้านข้าง เปิดโอกาสให้นักเตะอย่าง คริสเตียโน โรนัลโด หรือแกเร็ธ เบล ได้พุ่งไปรับบอลบนในพื้นที่ที่สูงกว่าเพื่อเข้าทำได้อย่างตื่นตาตื่นใจบ่อยครั้ง

ใครอีกบ้างที่เป็นตัวอย่างของ False 9?

แฮร์รี เคน ภายใต้การคุมทีมของ โชเซ มูรินโญ่ แห่ง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และภายใต้ แกเร็ธ เซาธ์เกต แห่งทีมชาติอังกฤษ

โรแบร์โต ฟีร์มิโน ที่เล่นให้ ลิเวอร์พูล ภายใต้ เจอร์เกน คล็อปป์

ฟรานเชสโก ต็อตติ เล่นให้กับ อาแอส โรมา ภายใต้การคุมทีมของ ลูเซียโน สปัลเล็ตติ

คาร์ลอส เตเบซ เล่นให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทีมของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

ไมเคิล เลาดรูป ภายใต้การทำทีมของ โยฮันน์ ครอยฟ์ ที่บาร์เซโลนา

โยฮันน์ ครอยฟ์ ภายใต้การทำทีมของ ไรนุส มิเชล ที่ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม

ราฮีม สเตอร์ลิง, แฟร์รัน ตอร์เรส, แบร์นาร์โด ซิลวา, เควิน เดอ บรอยน์ และ อิลกาย กุนโดกัน ฯลฯ ล้วนเล่นบทบาทนี้ให้กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ภายใต้ เป๊ป กวาร์ดิโอลา

ประโยชน์ของการเล่น False 9 คืออะไร?

การดร็อปตัวลงของ False 9 จะช่วยสร้างพื้นที่ในแนวรับฝ่ายตรงข้ามให้เกิดขึ้น เพราะหากเซนเตอร์ฮาล์ฟตามมาเพรส พื้นที่ก็จะเกิดขึ้นด้านหลังให้เพื่อนร่วมทีมของเรา โดยปกติแล้วก็จะเป็นกองหน้าริมเส้น หรือมิดฟิลด์ตัวรุก ที่จะวิ่งพุ่งเข้าไป

หรือถ้าฟูลแบ็คหุบเข้ามา เพราะเซนเตอร์ฯ ตาม False 9 ไป พื้นด้านข้างก็จะว่างให้มิดฟิลด์ หรือกองหน้าตัวริมเส้นได้เล่นโดยง่าย

หรือหากไม่มีใครตามมา กองหน้า False 9 ก็จะจับบอล ครองบอล และเล่นกับบอลได้โดยง่ายในพื้นที่ระหว่างไลน์นั้น

หรือมิดฟิลด์ดร็อปตัวลงไปช่วยประกบ False 9 ผู้เล่นมิดฟิลด์ของเราก็จะเข้าไปครอบครองแดนกลางฝ่ายตรงข้ามได้ รวมความแล้ว หากมีนักเตะที่เข้าอกเข้าใจในหน้าที่นี้ False 9 จะมีคุณประโยชน์ในหลากหลายมิติการเล่นที่ยากจะป้องกัน

อะไรคือข้อเสียในการเล่น ฟอลต์ ไนน์?

การเล่น False 9 จำเป็นต้องมีกองหน้าคนทำหน้าที่นี้ที่ครองบอลได้อย่างดีเยี่ยม และไปกับบอลได้ดีภายใต้ความกดดันระหว่างพื้นที่แนวรับ และแนวมิดฟิลด์คู่แข่ง หากปราศจาก (ความเข้าใจ และความสามารถ) นั้น False 9 ก็จะไร้ประโยชน์ นอกจากนี้ การมี False 9 หมายความว่าจะไม่มีการโจมตีหลังไลน์รับของฝ่ายตรงข้ามทันทีจากตรงกลาง ดังนั้น กองหลังฝั่งตรงข้ามอาจจะมีความกดดันที่ลดลง

นอกจากนี้การดร็อปตัวของ False 9 ยังอาจทำให้ เชนเตอร์แบค ฝั่งตรงข้ามมีงานที่เบาลงตามไปด้วย เพราะบอลครอสส์จากด้านข้างเข้าตรงกลางจะไม่มีหน้าเป้าเข้าทำโดยตรง (เช่น เฟียร์มิโน ดังนั้นจึงต้องชมเชยว่า โชตา แก้ปัญหานี้ได้ดี)

และหากฝ่ายตรงข้ามตั้งกองหลังไว้สามคน พวกเขามักจะสามารถจัดการพื้นที่ตรงกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับ False 9 เพราะกองหลังคนใดคนหนึ่งจะตามไปประกบได้โดยทิ้งอีก 2 คนไว้แบบไม่เสียหาย (ยกเว้น เคส แมนฯยูไนเต็ด 0 – 2 แมนฯซิตี้ ที่ผ่านมา!!!)

เรียบเรียง: ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์ และสมศักดิ์ จันทวิชชประภา

ข้อมูล: อนันต์ อมรเกียรติ และ Coachesvoice

Categories
Column

การกลับมายืนตรงข้าม ลิเวอร์พูล ของ ราฟา เบนิเตซ

In Brief: ฟุตบอลเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เหมือนใคร หากผงซักฟอกชนิดหนึ่งลดราคา คุณลูกค้าอาจจะซื้อ เพราะถูกกว่ายี่ห้อประจำที่ขายราคาเต็ม และคุณภาพใกล้เคียงกัน ทว่ากับเสื้อบอลคู่แข่ง ต่อให้ลดราคาลง คุณอาจไม่ซื้อ เพราะความภักดีกับสโมสรรักทำให้ย้ายค่ายไม่ได้ แม้จะต้องจ่ายราคาเต็มก็ตาม

การตัดสินใจไปคุมทีมเอฟเวอร์ตัน ของราฟาเอล เบนิเตซ ไม่ใช่สิ่งผิด หากแต่มันได้ “ตอกย้ำ” อีกครั้งถึงระดับความเข้าใจการบริหารจัดการทีมฟุตบอลของเจ้าของ และทีมผู้บริหารที่หากมีความเข้าใจสักนิด ดีลนี้จะไม่มีทางบังเกิดขึ้น และ “ราฟา” ก็จะไม่มีโอกาสใน 100 ปีที่จะต้องตัดสินใจไปคุม หรือไม่คุมทีมเอฟเวอร์ตันจากที่เขาเคยมีป้ายแปะชื่อว่าเคยทำทีมลิเวอร์พูลมาก่อน

ไม่ใช่แค่เรื่องคอนเนกชั่น แต่เป็น “รายละเอียด” อื่น ๆ เช่น แนวทางการทำทีมสอดคล้องกับวัฒนธรรมของทีมหรือไม่? บุคคลิก คาแร็กเตอร์ ส่วนตัวที่ต่อไปจะก้าวมา represent สโมสรซึ่งเป็น club ระดับโลกสู่สายตาชาวโลก

ภายใต้บทสัมภาษณ์ของ “ราฟา” ด้านล่าง ยังมีส่วนที่ “ราฟา” เองก็ไม่เข้าใจธรรมชาติที่แตกต่างของฟุตบอลหรือไม่? จากการที่แตะเฉพาะคีย์คำพูดสำคัญเมื่อ ค.ศ.2007 ว่าเอฟเวอร์ตันเป็นทีมเล็ก บลา บลา แต่สิ่งที่ “ราฟา” ควรต้องพูดให้มากกว่านี้ (หรือพูดแล้ว ใครเจอช่วยหามาสนับสนุนได้ในคอมเมนท์) ก็คือ เขาไม่ได้รู้สึกอย่างไรเลยหรือกับการจะมาสร้าง (อีกทีม) ของเมืองลิเวอร์พูล ให้ประสบความสำเร็จที่แม้ไม่อาจเทียบเคียงทีมเก่า หงส์แดง ได้ แต่ทว่าจะมีความพยายาม มุ่งมั่น เต็มที่จะทำให้ดีที่สุด

สุดท้าย “จุดยืน” ของเพจอาจจะอนุรักษ์นิยมเล็กน้อย แต่หากเลือกได้ก็ขอยืนยันว่า ดีลนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นหากเราเป็น ราฟาเอล เบนิเตซ

เช่นกัน ยืนยันอีกครั้ง ราฟา ไม่ได้ผิด เพราะไม่ได้ไปฆ่าใครตาย แต่ในบริบทฟุตบอล มันก็มีมุมมองแบบ Old School แบบที่ทางเพจเลือกมองเช่นเดียวกัน

ขอให้โชคดีครับ “ราฟา” เสมือนเรายินดีด้วยเมื่อคนรักเราไปมีความสุขกับความรักใหม่ และในมุมกลับกัน หาก “ราฟา” ไม่ประสบความสำเร็จ และจากเอฟเวอร์ตันไปคุมทีมอื่น เราก็จะยินดีไม่แพ้กัน และขอให้ประสบความสำเร็จต่อ ๆ ไป

Story: หลังจาก แชมป์ เอฟเอ คัพ, คอมมิวนิตี ชิลด์, ยูฟา ซูเปอร์ คัพ และ ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก ที่ราฟาเอล เบนิเตซ เคยฝากความสำเร็จเอาไว้กับ ลิเวอร์พูล การต้องมาเห็นกุนซือสแปนิชคุมทีมในถิ่น กูดิสัน ปาร์ก อาจจะไม่ใช่เรื่องที่แฟน ‘หงส์แดง’ คุ้นเคยสักเท่าไหร่ แต่ในทางตรงกันข้าม มันก็ย่อมไม่ใช่ภาพที่แฟนบอลเอฟเวอร์ตันคุ้นชินเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นคำว่า ‘ทีมเล็ก’ ยังเป็นแผลที่แฟน ท็อฟฟี บางคนยากจะลืมลงได้ง่าย ๆ

อย่างไรก็ตาม ราฟา เบนิเตซ ก็ยืนยันว่าเขาเองไม่มีอะไรต้องกลัว และเรื่องราวในอดีตทั้งหมดจัถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลาถ้าสามารถสร้างความสำเร็จเป็นตำนานบทใหม่ให้กับแฟนเอเวอร์โตเนียนได้ แต่ถึงอย่างนั้น นายใหญ่ชาวสเปนก็ออกมายอมรับความผิดพลาดที่เคยพูดไม่ดี และสร้างความเจ็บช้ำให้กับแฟนบอลทีมสีน้ำเงินแห่งเมอร์ซีย์ไซด์เอาไว้ในปี 2007 กับคำว่า ‘ทีมเล็ก’ ตั้งแต่สมัยที่เขายังคุมทีม ลิเวอร์พูล อยู่

คำถามแรก ๆ ในฐานะกุนซือเอฟเวอร์ตันที่ ราฟา ต้องตอบเมื่อสัปดาห์เข้ารับตำแหน่งคือคำถามที่ว่า ‘การมารับงานในครั้งนี้คุ้มค่าหรือไม่กับการถูกประนามจากแฟนบอล’ โดยนายใหญ่ชาวสเปนยังมองเรื่องนี้ในเชิงบวกว่า “ผมมั่นใจเมื่อตัดสินใจตอบตกลง หรือแม้กระทั่งเมื่อตัดสินใจเริ่มพูด มันเป็นโอกาสที่ดีและสำหรับผม ความท้าทายไม่ใช่สิ่งที่ผมกลัว ตรงกันข้าม ผมต้องการที่จะเอาชนะมัน ผมต้องการที่จะทำมันให้ออกมาดี ถึงตรงนี้คุณจะพูดหรือจะทำล่ะ ผมชอบทำมากกว่า และมารอดูว่าเราจะทำได้หรือไม่”

ครอบครัวของ ราฟา ยังอยู่ที่เมืองลิเวอร์พูลมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2010 ที่เขาออกไปรับงานกับ อินเตอร์ มิลาน ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้เขาสามารถยืนยันได้ว่าคนในเมืองส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนเขาเป็นอย่างดี

“พูดตามตรง เอฟเวอร์โตเนียน รอบตัวผมค่อนข้างมีความสุข และให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี” เบนิเตซ กล่าว “แม้แต่แฟนบอลลิเวอร์พูล พวกเขาก็ให้การยอมรับ มันจึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับผมที่จะได้กลับมาสู่พรีเมียร์ลีก เพื่อทำอะไรบางอย่างที่ผมเคยทำได้ดีให้เรียบร้อย”

ถึงจะมีคำยืนยันจากเจ้าตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนการเซ็นสัญญากับ เอฟเวอร์ตัน จะเกิดขึ้น ข้อความความต่อต้านจำนวนไม่น้อยก็ไปปรากฎที่สนาม กูดิสัน ปาร์ค เพื่อบอกกับสโมสรว่าแฟนบอลไม่แฮปปีกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และที่หนักข้อหน่อยก็เป็นข้อความข่มขู่ซึ่งเขียนไว้ว่า “เรารู้ว่าคุณอยู่ที่ไหน จงอย่าเซ็นสัญญา” ซึ่งถูกทิ้งไว้ใกล้ ๆ กับบ้านของเขาที่ย่าน เวียร์รอล แต่ เบนิเตซ ยังมองว่าข้อความเหล่านั้นมาจากคนกลุ่มน้อยมากกว่า

“เมื่อพูดถึงป้ายข้อความ เราอาจจะพูดถึงคนแค่ 1 ถึง 2 คน คุณไม่มีทางรู้แน่นอน ดังนั้นผมคิดว่ามันดีกว่าที่จะคิดเกี่ยวกับข้อดีและวิธีที่คนจำนวนมากแสดงออกถึงการสนับสนุนให้ผมทำผลงานออกมาได้ดี” กุนซือวัย 61 ปี กล่าว แต่กระนั่นเขาก็รู้ดีว่าต้นเหตุความไม่พอใจที่เกิดขึ้นมาตากคำพูดของเขาในปี 2007 ซึ่งเจ้าตัวก็ออกมายอมรับความผิดพลาดในคราวนั้นพร้อมกับอธิบายมุมมองของตัวเอง

“มันเป็นเรื่องเมื่อนานมาแล้ว คุณจำเป็นต้องต่อสู้เพื่อสโมสร และนั่นคือสิ่งที่ผมจะทำในตอนนี้ด้วย ถ้าคุณเป็นผู้จัดการทีม คุณต้องปกป้องสโมสรของคุณในทุกบริบท ซึ่งในตอนนี้ผมก็จะสู้เพื่อเอฟเวอร์ตัน” เบนิเตซ กล่าว 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเจอกับปฏิกิริยาต่อต้านที่รุนแรง แต่ ราฟา เบนิเตซ ก็ไม่ใช่กุนซือคนแรกที่เจอกับกระแสต่อต้านจากแฟนบอล เพราะที่ผ่านมาก็มีกุนซือนับสิบคนที่เคยคุมทีมใดทีมหนึ่งก่อนย้ายไปคุมทีมอริร่วมเมือง อาทิ จอร์จ แกรแฮม เทรนเนอร์ที่เคยพาอาร์เซนอลคว้าแชมป์ลีก 2 สมัย แต่กลับไปรับงานคุมทีม ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ แถมพา ‘ไก่เดือยทอง’ 

คว้าแชมป์ ลีก คัพ หรือ ไบรอัน คลัฟ กุนซือ ดาร์บี เคาน์ตี กับ น็อตติงแฮม ฟอร์เรสต์ ในยุค 70 ที่มีงานอดิเรกอย่างการด่า ลีดส์ ยูไนเต็ด แต่สุดท้ายกลับตัดสินใจเข้ารับงานกับ “ยูงทอง” ซึ่งสร้างความเดือดดาลให้กับแฟนบอลเป็นอย่างมาก ขณะที่ผู้เล่นของ ลีดส์ ก็ไม่ให้กับเขาสักเท่าไหร่ นำมาสู่ผลงานอันอย่างย่ำแย่ของทีม และโดนไล่ออกหลังจากคุมทีมไปแค่ 44 วัน

ในยุคหลังเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กันนี้กับเกิดขึ้นไม่มาก แม้จะเคยมีกุนซือที่เคยคุมทีมซึ่งเป็นอริกันแล้วไปคุมทีมฝรั่งตรงข้าม อาทิ โชเซ มูรินโญ ที่เคยคุม เชลซี ก่อนข้ามฟากไปคุม ท็อตแนม แต่ในกรณีนี้อาจจะพออธิบายได้ว่าช่วงเวลาระหว่างที่นายใหญ่ชาวโปรตุกีสคุมทีมทั้ง 2 ถูกคั่นด้วยการไปรับงานกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทำให้แฟนบอลอาจจะมองข้ามเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นไปได้บ้าง 

ขณะที่เหตุการณ์ที่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรงจากแฟนบอลกลับไปเกิดขึ้นในอิตาลี เมื่อตอนที่ เมาริซิโอ ซาร์รี ตัดสินใจไปรับงานกับ ยูเวนตุส เนื่องจากในอดีต กุนซือ ‘สิงห์อมควัน’ รายนี้เคยแจกนิ้วกล้างใส่แฟนบอล ‘ม้าลาย’ แม้ว่าสุดท้ายเขาจะคุมยูเวนตุส คว้าแชมป์เซเรียอา ได้ ก็ยังไม่สามารถซื้อใจแฟนบอลคืนมา และต้องออกจากทีมไปหลังคุมทีมได้แค่ปีเดียวเท่านั้น

ถึงตรงนี้อาจจะพอจะสรุปใด ๆ วัดกันที่ความสำเร็จ แม้ในตอนแรกแฟนบอลอาจจะเกลียดขี้หน้าและไม่พอใจ แต่ถ้าทำทีมประสบความสำเร็จ และมีผลงานที่ดี แฟนบอลก็อาจจะพร้อมหลับตาข้างหนึ่งและไม่พูดถึงเรื่องราวในอดีต ไม่ใช่ว่าลืม หากแต่พร้อมจะดื่มด่ำกับความสุขที่กุนซือคนนั้นบัลดาลให้มากกว่า และเมื่อไรก็ตามที่ผลงานไม่ดี ร้อยราวในอดีตก็พร้อมจะถูกขุดขึ้นมาพูดอีกครั้งอย่างไม่ต้องสงสัย และมันจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าความสำเร็จและความจริงใจของกุนซือคนนั้น ๆ จะเอาชนะใจแฟนบอลได้จริง ๆ 

ขอบคุณภาพจากทวิตเตอร์@Everton

Categories
Column

เรื่องจากแรงบัลดาลใจได้เห็นการเล่นของ โดมินิก โซบอสซ์ไล

ย้อนความไปเกม คืนวันศุกร์ 20 ส.ค.ผมมีโอกาสคัฟเวอร์เกมระหว่าง RB Leipzig vs. Stuttgart (นั่งชมเกมนี่แหละ แต่ตั้งใจหน่อย) และสะดุดกับนักเตะรายหนึ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากเทรนเนอร์ เจสซี่ มาร์ช เป็นอย่างมากจนแอบฉงน และถึงกับมอบหมายบทบาทสำคัญในทีมให้ทั้ง ๆ ที่อายุเพิ่งจะ 20 ปีเท่านั้น 

คำถาม “ทำไม” ดังขึ้นในหัวทันที พร้อมกับสเต็ปตามมาว่า อยากหาคำตอบ จนเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้ครับ

โดมินิก โซบอสซ์ไล มิดฟิลด์วันเดอร์คิดชาวฮังการี คือ ดาวเตะหนุ่มแห่งพารากราฟแรก โดยเจ้าตัวเป็นหนึ่งในผลิตผลที่ได้รับการฟูมฟัก ปลุกปั้น และเติบโตขึ้นในอาณาจักรฟุตบอลแฟรนไชส์สไตล์เร้ดบูลล์ 

สายการผลิตที่เห็นนักเตะอย่าง เออร์ริ่ง ฮาลันด์, ดาโยต์ อูปาเมกาโน่, ติโม แวร์เนอร์, นาบี เกอิต้า หรือแม้แต่ ซาดิโอ มาเน่ เจิดจรัสฉายแสงอยู่ในสโมสรใหญ่ ๆ ในลีกดังของยุโรป คือเหล่ารุ่นพี่ของ โซบอสซ์ไล

เร้ดบูลล์อีกแล้วหรือ? … หลายๆ คนอาจจะนึกในใจ (เหมือนผม)

บ้างอาจจะอยากให้สโมสรที่ตัวเองเชียร์ไปซื้อแมวมองเร้ดบูลล์มาซะเลย 555

ทำนั้นไม่ง่ายเหมือนพูดครับ เพราะการจะทำให้ได้ผลผลิตจากกระบวนอย่างเร้ดบูลล์ จำเป็นต้องมีความชัดเจนในโครงสร้างนโยบายการทำทีม เป้าหมาย และความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งของเจ้าของสโมสร และทีมบริหาร 

ภายใต้สโลแกนของเร้ดบูลล์ที่ว่า “เราจะติดปีกให้คุณ” หรือ “Red bull gives you wings” … อันเป็นที่มาของกลยุทธ์หลัก และแนวทางปฏิบัติของสโมสรที่ใช้ดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด 

ผมใช้คำว่า “ธุรกิจ” เพราะเร้ดบูลล์มองการทำทีมฟุตบอลเป็นธุรกิจชัดเจน ซื้อถูก ขายแพง สร้างมูลค่า สร้างกำไร (และอาจจะขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังได้เพิ่มปีละ 2 ล้านกระป๋อง! 😅) 

งานแมวมอง (Scouting) จึงเป็นแก่น หรือหัวใจที่คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายก็ว่าได้ เพราะคำว่า “Scouting” มีที่มามาจากการทหารที่ต้องส่งหน่วยลาดตระเวนไปสอดส่องพื้นที่เวลาไปสู้รบตบมือโจมตีฝ่ายตรงข้าม หรือแม้กระทั่งไปตั้งหลักถิ่นฐานระหว่างสงครามก็ต้องมีสมรภูมิที่ดี ไม่เสียเปรียบ

ภูมิประเทศบริเวณไหนที่มีจุดอ่อนก็อาจจะต้องวางกำลังป้องกันแน่นหนาหน่อย ไม่งั้นอาจจะโดนลอบโจมตีได้ 

ไม่ต่างกับงานแมวมองที่ต้องส่งคน ส่งเจ้าหน้าที่ไปคอยสอดส่องเฝ้ามองนักเตะที่มีแวว และ “พยายามเซ็นสัญญามาให้ได้ก่อนคู่แข่ง และหากเป็นไปได้ในช่วงอายุที่น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” นี่คือหนึ่งในหลักการของเร้ดบูลล์ ซาลส์บวร์ก 

ปัจจุบันมีฐานข้อมูล วีดิโอคลิปเป็นหมื่นเป็นแสน และคอมพิวเตอร์ช่วยในการบันทึก และประมวลผลขีดความสามารถ และช่วยกลั่นกรองนักเตะตามเกณฑ์ชี้วัดต่าง ๆ ที่กำหนดได้ 

การที่แมวมองของทีมชั้นนำไปดูนักเตะในสนามนั่นหมายความว่าเป้าหมายนั้นผ่านการคัดกรองมาแล้วส่วนหนึ่ง 

เร้ดบูลล์เปรียบเทียบการเฟ้นหานักเตะเหมือนถนนสามเลน

เลนขวาที่รถวิ่งช้าสุด (รถยุโรปพวงมาลัยซ้าย) สำหรับนักเตะท้องถิ่น เลนนี้คุณทำงานได้มาก และสร้างความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว แถมไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ แต่บางครั้งคุณติดรถบรรทุกที่วิ่งช้า ซึ่งก็เหมือนกับความจำกัดของจำนวนนักเตะที่มีพรสวรรค์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ดังนั้นบางครั้งคุณจำเป็นต้องแซงข้ามเลน 

เลนกลางเป็นเลนส์ของนักเตะภาคพื้นยุโรปที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป (ตามกฏหมายของสหภาพยุโรป) แต่มันก็มีความเสี่ยงที่นักเตะเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะคนสำคัญ หรือกลายมาเป็นนักเตะอาชีพได้ ซึ่งบรรดาสโมสรชั้นนำในยุโรปอาจจะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงตรงนั้นมาก แต่เร้ดบูลล์มองมันเป็นโอกาส และความท้าทาย 

เลนเร็วเป็นพื้นที่ของนักเตะระดับ international ที่สามารถเข้ามายกระดับของทีมได้ทันที มีอายุระหว่าง18-23 ปี (แต่บางเคสที่พิเศษจริง ๆ ก็มีข้อยกเว้นได้ เช่น หากเห็นว่านักเตะคนนั้นมีคุณภาพที่จะสามารถเข้ามาช่วยประคับประครองนักเตะดาวรุ่งในทีมได้ เป็นต้น) 

เหมือนไม่ยาก แต่ไม่ง่าย ขั้นตอนการมองหานักเตะเริ่มขึ้นก่อนหน้าการเซ็นสัญญาหลายปี (เฉลี่ย 3 ปี) ทุกครั้งเริ่มต้นที่คำถามว่าเราต้องการผู้เล่นที่มีโพรไฟล์แบบไหนในแต่ละตำแหน่ง? เป็นคำถามที่ Sporting Director และทีมโค้ชชิ่งสต๊าฟฟ์เป็นผู้ให้คำตอบ พวกเขามีไอเดียที่ชัดเจนในรูปแบบปรัชญาฟุตบอลที่ต้องการเล่น และลักษณะของนักเตะที่เข้ากัน 

หลักใหญ่ใจความอยู่ที่
• มีสไตล์การเล่นที่มุ่งมั่น
• สามารถเล่นเกมทรานส์ซิชั่นได้อย่างรวดเร็ว
• มีความเเข็งแกร่งด้านจิตใจ 

ราล์ฟ รังนิค ได้รับการแต่งตั้งจากเร้ดบูลล์เข้ามาดำรงตำแหน่ง Director of Football เมื่อปี 2012 เพื่อปฏิรูป ปรับรากฐาน และวางระบบของสโมสรด้านที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล 

Ralf Rangnick (RB Leipzig, Trainer, head coach); Porträt, Einzelbild

ถามว่ารังนิคต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง? คำตอบที่รังนิคบอกกับดีทริช เมเทสซิทซ์ เจ้าของเร้ดบูลล์ คือ แทบจะทุกอย่าง! 

รังนิคได้งบมาสร้างทีม เพื่อเป้าหมายพาไลป์ซิกเลื่อนชั้นจากระดับ 4 ของปิระมิดฟุตบอลเยอรมันจากตอนที่เร้ดบูลล์ซื้อทีมมาเมื่อปี 2009 ให้ขึ้นมาเล่นในระดับสูงสุดของประเทศให้ได้ภายใน 8 ปี … หมายความว่ารังนิคเหลือเวลาอีกแค่ 5 ปี ที่จะทำให้สำเร็จ 

แผนของรังนิคจึงไม่มีอะไรซับซ้อน … “ทำอย่างไรก็ได้ให้ประสบความสำเร็จสูงสุดในระยะเวลาอันสั้นที่สุด” 

ด้วยปรัชญาฟุตบอลที่รังนิคยึดมั่น ประกอบกับการทำงานอย่างหนัก ที่ต้องการห็นการพัฒนาที่ดีขึ้นตลอดเวลาจากทุกภาคส่วน และการมีทีมงานที่มีเป้าหมายและยึดมั่นวิถีเดียวกันทำให้ อาร์เบ ไลป์ซิก ก้าวขึ้นมายืนอยู่บนเวทีบันเดสลีกาได้อย่างเต็มภาคภูมิ 

ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จบนสนามฟุตบอลเท่านั้น เร้ดบูลล์ยังทำกำไรมหาศาลจากนโยบาลซื้อถูกขายแพง เเละเหมือนว่าพวกเขาจะมีนักเตะขึ้นมาทดแทนกันได้อย่างไม่ขาดสาย แม้ว่าจะต้องเสียนักเตะตัวหลักออกจากทีมแทบทุกฤดูกาล 

โยฮันเนส สปอร์ส ผู้เคยร่วมงานกับรังนิคสมัยฮอฟเฟ่นไฮม์ และต่อมาที่ไลป์ซิกในฐานะหัวหน้าทีมแมวมอง กล่าวว่า 

“กุญแจสำคัญของนักเตะดาวรุ่งในช่วงอายุ 17-20 ปี คือการได้ลงเล่นเกมอย่างสม่ำเสมอในระดับที่สูงพอแก่การพัฒนา แต่ไม่สูงจนเกินไป” 

ฮาลันด์ สมัยที่เล่นให้กับซาลซ์บูร์ก คือตัวอย่างที่ดี ออสเตรียคือเวทีที่ดีที่จะให้เขาลองผิดลองถูก เรียนรู้และพัฒนา สิ่งสำคัญคือ 

“ฮาลันด์รู้ว่าหากเขาทำผิดพลาดในเกม เขาจะได้รับโอกาสอีกครั้งในเกมถัดไป (เพื่อทำให้ถูกต้อง)” สำหรับทีมใหญ่ในเวทีระดับสูงสุด มันไม่ใช่เรื่องง่าย 

เร้ดบูลล์เติบโตอย่างรวดเร็ว และแข็งแกร่งแบบนี้ก็ไม่ได้มีแต่คนชื่นชมเสมอไป 

และเขียนมาตั้งยาวแต่ไม่มีสักประโยคที่พูดถึงแฟนบอล 

ใช่ครับ! เร้ดบูลล์ไม่ได้เป็นที่รักของแฟนบอลในเยอรมันเท่าไหร่นักเนื่องจากเป็นสโมสรที่ค่อนข้างใหม่ แถมมีภาพความเป็นสโมสรนักลงทุนอย่างชัดเจนด้วยเจ้าของคนเดียวทำธุรกิจเบ็ดเสร็จ ขณะที่ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีในเยอรมัน สโมสรจะมีโครงสร้างแบบ “50+1” 

ผมไม่คิดว่าเร้ดบูลล์จะแคร์กับเรื่องนี้มากนัก ตราบใดที่โมเดลทางธุรกิจของพวกเขายังสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง อย่างที่รังนิคพูดถึงปรัชญาฟุตบอลของเขาว่า 

“ฟุตบอลเป็นเรื่องของการต่อสู้กันของไอเดียที่หลากหลายแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือไอเดียที่เรายึดมั่น” 

ปล. รู้หรือไม่: ถึงแม้ว่า ไลป์ซิก จะเป็นเมืองที่ค่อนข้างโมเดิร์น มีคนรุ่นใหม่อาศัยอยู่เยอะเพราะมีมหาวิทยาลัยอยู่มาก แต่คนเหล่านี้มักจะมาจากต่างเมือง และซัพพอร์ตสโมสรบ้านเกิด

Categories
Football Business

บทเรียนของ ลิเวอร์พูล จากความผิดพลาดในโศกนาฎกรรม ESL

แม้จะไม่ใช่สโมสรแรกที่ถอนตัวจาก ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก – ESL แต่ ลิเวอร์พูล เป็นสโมสรที่ “ชัดเจน” ที่สุดในบรรดา 6 สโมสรพรีเมียร์ลีกกับแอ็คชั่น “ขอโทษ” ผ่าน VDO เจ้าของทีม จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ แถลงการณ์ยอมรับความผิด และขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น

“ผมต้องการจะขอโทษไปยังแฟนบอล และผู้สนับสนุนสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลทุกคนต่อเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้นโดยต้นเหตุเพราะผมในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา”

“มันเกิดขึ้นโดยไม่มีการบอกกล่าว แต่สามารถได้พูดว่าโครงการที่เกิดขึ้นจะดำเนินไปไม่ได้เลย หากปราศจากการสนับสนุนของแฟนบอล ไม่มีใครเห็นต่างไปจากนั้น กว่า 48 ชั่วโมงที่เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่ามันไม่อาจจะเป็นไปได้ เราได้ยินพวกคุณ และผมก็รับฟังพวกคุณ”

“ผมอยากจะขอโทษอีกครั้ง และขอรับผิดชอบต่อผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างไม่จำเป็นช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาแต่เพียงผู้เดียว นี่จะเป็นเรื่องที่ผมไม่มีวันลืม เพราะมันแสดงให้เห็นถึงพลังของแฟนบอลในวันนี้ และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต”

นี่เป็นคำขอโทษผ่านวิธีการที่ดีที่สุด แต่แฟนบอลเองจะมองว่า “จริงใจ” เพียงพอ หรือปล่อยผ่านได้เพียงใดนั้น คือ อีกเรื่องหนึ่ง

เพราะแฟนบอลก็คือ แฟนบอล ซึ่งเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษดังที่เราได้เห็นการต่อสู้ทุกรูปแบบ และมีส่วนไม่มากก็น้อยในการเป็น stakeholders หรือหนึ่งในผู้มีผลประโยชน์ร่วมกับทีมฟุตบอลในการขัดขวางการก่อกำเนิด ESL

-ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ เคยออกมากล่าวอะไรคล้าย ๆ กันแบบนี้มาก่อน ในเหตุการณ์หลังความพยายามจะขึ้นค่าตั๋วในเกมเหย้าสโมสร จากเดิม 59 ปอนด์ ไปเป็น 77 ปอนด์ ส่งผลให้แฟน ๆ ซูป้ายประท้วงในเกมกับ ซันเดอร์แลนด์ ก่อนวอล์กเอาต์ออกนอกสนามเมื่อเกมดำเนินมาถึงนาทีที่ 77 โดยหลังจากนั้น บอร์ดบริหารลิเวอร์พูล ได้แถลงการณ์ขอโทษแฟนบอล และยกเลิกแผนการขึ้นค่าตั๋วที่ว่า ในคราวนั้น จอห์น เฮนรี ก็ได้ออกมาพูดดังนี้

“เราเชื่อว่าเราได้แสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่จะรับฟังเสียงของแฟนบอลอย่างรอบคอบก่อนพิจารณาจุดยืนของเราใหม่ และดำเนินการทันที ความสัมพันธ์ที่เป็นเอกลักษณ์ และศักดิ์สิทธิ์ระหว่างสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล และบรรดาแฟนบอลเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในความคิดของเรา มันแสดงถึงจังหวะการเต้นของหัวใจ ณ สโมสรฟุตบอลที่ไม่ธรรมดาแห่งนี้ ยิ่งกว่าปัจจัยอื่นใดความผูกพันอันนี้คือสิ่งที่ผลักดันให้เราทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในนามของสโมสรต่อไปในอนาคต”

ส่วนอีกครั้งเกิดขึ้นในปีที่แล้วในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่พวกเขาเตรียมจะออกประกาศพักงานลูกจ้างของสโมสรให้ไปรับเงินชดเชย 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากรัฐบาล (Government Job Retention Scheme สมทบทุน 80% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 2,500 ปอนด์ โดยสโมสรจะจ่ายที่เหลือ 20% ให้แรงงานสโมสรพวกเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในหน่วยต่าง ๆ ระหว่างที่ไม่มีเกมการแข่งขัน ในช่วงพักงาน หรือ furlough)

หลายทีมเข้าร่วม นิวคาสเซิล, สเปอร์ส, บอร์นมัธ และนอริช รวมถึงลิเวอร์พูล ที่กลายเป็นว่า หงส์แดงโดนถล่มหนักสุดโดยสโมสรจะจ่ายส่วนต่างที่เหลือให้ครบเต็มจำนวนเงินเดือน ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากการที่มีผลประกอบการมากถึง 533 ล้านปอนด์ในฤดูกาล 2018-19 ตัดสินใจเช่นนั้น จนในที่สุด FSG ก็ยอมถอย และออกมาขอโทษแฟนบอล

“เราเชื่อว่าเราได้ข้อสรุปที่ผิดพลาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการประกาศว่าเราตั้งใจที่จะขอเข้าแผนในการรักษางานจากการระบาดของไวรัสโคโรนา และพักงานสโมสรเนื่องจากการที่พรีเมียร์ลีกมีการพักการแข่ง และเราเสียใจต่อเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ความตั้งใจเดิมของเรา และยังเป็นสิ่งที่เราตั้งใจอยู่ในตอนนี้คือการปกป้องคนงานของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากการที่รายได้จะถูกลด หรือสูญเสียรายได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้”

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เราเห็นว่า ทำไมแฟนบอลจำนวนมาก ยัง “ฝังใจ” การกระทำในเชิงความรับผิดชอบ และทำเพื่อสังคมกับบอร์ดบริหารง่าย ๆ หลังจากเหตุการณ์ ESL จบลง เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาเคยกล่าวไปแล้วว่าจะ “รับฟัง” แฟนบอล แต่การตัดสินใจเข้าร่วมกับอีก 11 ทีมเพื่อก่อตั้งลีกใหม่คราวนี้ พวกเขาไม่ได้ฟังใคร เพราะแม้แต่ เยอร์เกน คล็อปป์ หรือ บิลลี โฮแกน (ซีอีโอ ของสโมสร) ก็ยังไม่รู้เรื่องด้วย (รายชื่อทั้งสองเป็นรายชื่อที่ถูกเอ่ยถึงเพื่อทำการขอโทษอย่างเป็นทางการจาก จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ ด้วย)

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟนบอลที่ยังมี “แผล” ฝังใจจะกลับมาตั้งคำถามถึงจอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ และ เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) อีกครั้ง เพราะการกระทำในครั้งนี้ นอกจากจะไม่ฟังเสียจากแฟนบอล และมองผลประโยชน์เป็นที่ตั้งแล้ว มันยังแสดงออกถึงความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมลูกหนัง และประวัติศาสตร์ของฟุตบอลอังกฤษ และหรือรวมไปถึงธรรมชาติของอุตสาหกรรมฟุตบอลไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดาผู้บริหารทีมจะตัดสินใจผิดพลาดเกี่ยวกับนโยบายสโมสรซึ่งมีให้เห็นบ่อย ๆ เช่น จากการเลือกซื้อนักเตะที่ผิดพลาด การเลือกกุนซือ หรือทีมงาน หรือการทำโปรเจคต์โน้นนี้นั้น

แต่นโยบายการบริหารทีมขั้นสูงสุดขนาดเปลี่ยนโครงสร้าง ปรับโมเดล ผ่านกระบวนการลับ ๆ และมีเบื้องหลังมากมาย ถ้าพลาดแล้ว นอกจากทำลายภาพลักษณ์สโมสร มันยังทำลายความรู้สึกของแฟนบอลอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี ความงดงามของโลกลูกหนังก็คือ การได้เห็นบรรดาแฟนบอลของ ลิเวอร์พูล และนักเตะ (เกิดกับทุก ๆ ทีมในข่าว) กลับยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อต้านแนวคิดของ ESL อย่างชัดเจน เรียกได้ว่าเป็นระดับหัวหอก หรือแกนนำ เฉพาะอย่างยิ่ง จอร์แดน เฮนเดอร์สัน ในฐานะกัปตันทีมของสโมสร ได้ติดต่อหาบรรดากับตันทีมอื่น ๆ ในพรีเมียร์ลีก เพื่อมานั่งพูดคุยเกี่ยวกับกรณีนี้

“เราไม่ชอบสิ่งนี้ และเราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น นี่คือจุดยืนร่วมกันสำหรับเรา สำหรับความมุ่งมั่นทุ่มเทของเราที่มีให้กับสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ และต่อแฟนบอลเป็นสิ่งที่แน่นอน และไม่มีเงื่อนไข” เฮนโด้ ทวีตลงโซเชียลมีเดีย พร้อมกับ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ และเจมส์ มิลเนอร์ ก่อนจะเป็นกระแสตามมาทั่วโลกซึ่งแน่นอนมีผลถึง stakeholders สำคัญอื่น ๆ เช่น สเปอนเซอร์ ที่เริ่มออกมาแสดงจุดยืนจะ “ผงะ” จาก ESL 

โดยทาง มิลลี เองก็ถูกถามหลังเกมที่เสมอกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด เกี่ยวกับประเด็นนีอีกครั้ง และเขาก็ไม่เลี่ยงที่จะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

“ผมไม่ชอบเลย และหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น” มิลเนอร์ตอบสกาย สปอร์ตส์ “ผมพูดได้แค่เฉพาะมุมมองของผมเอง ผมไม่ชอบ และหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ผมจินตนาการได้เลยว่าความเห็นจะออกมาเป็นอย่างไร และผมก็อาจจะเห็นด้วยกับหลาย ๆ ความเห็น”

ด้าน เยอร์เกน คล็อปป์ ก็เป็นคนแรก ๆ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นสวนทางกับ จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ แม้จะไม่สามารถพูดอะไรได้มากนักก็ตาม แต่ก็ถือว่า พูดไป “กลืนเลือด” ไปชัดเจน

“สิ่งหนึ่งที่ผมเข้าใจ และคนอื่น ๆ คิดว่าไม่ถูกต้อง คือ (ESL) มันไม่มีการแข่งขัน ผมชอบความจริงที่ว่า เวสต์แฮมฯ อาจได้เล่น แชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาลหน้า ซึ่งผมไม่ต้องการแบบนั้น เพราะผมต้องการให้พวกเราอยู่ที่นั่น แต่สิ่งที่ผมชอบคือพวกเขามีโอกาส” คล็อปป์ กล่าวก่อนเกมกับ ลีดส์

บรรดานักฟุตบอล และแฟนบอลของ ลิเวอร์พูล ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน หาใช่เพราไม่ได้ชอบเม็ดเงินที่จะได้จากการแข่งขัน หากแต่เข้าใจธรรมชาติ และวัฒนธรรมของฟุตบอลซึ่งยึดโยงกับคน “ทุกกลุ่ม” หาใช่เพียง “กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” เท่านั้น 

ดังนั้น คำขอโทษของ จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี ในฐานะเจ้าของทีมที่ออกมา อาจจะช่วยให้เหล่าแฟน ๆ เย็นลงได้บ้าง แต่แน่นอนว่า มันคนละเรื่องกับการ “ให้อภัย” หรือ “ไว้ใจ”

นี่จึงกลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญอีกครั้งที่ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี้ และเอาเข้าจริง ๆ แล้วก็คือ ผู้บริหารทุกสโมสรใหญ่ที่คิดมานานแล้ว หรือคิดมาตลอดจะ “ก่อการ” ตั้งแต่ยูโรเปี้ยน คัพ มายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก มา G14 กระทั่งถึง ESL จะต้องเรียนรู้ สำเหนียก และใส่ใจให้มาก 

เพราะหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ถ้าจะมีความผิดพลาดอันเกิดมาจากการไม่ใส่ใจ ไม่รับฟัง หรือเห็นแก่ผลประโยชน์มากเกินไปซ้ำอีกล่ะก็ กระแสอาจกระหน่ำใส่ FSG และจอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี้ จนเกินกว่าจะรับไหวก็ได้

ที่สำคัญต้องอย่าลืมว่า เมื่อใดก็ตามที่แฟนบอลหันหลังให้ เมื่อนั้นต่อให้มีเงินมากมายเพียงใด ก็ไม่อาจซื้อความเชื่อใจกลับคืนมาได้

Categories
Football Business

มอง…การช่วยเหลือของ ‘พรีเมียร์ลีก’

หากพอจะจำกันผมเคยเขียนถึง “โปรเจคต์ Big Picture” ที่ “พรีเมียร์ลีก” วางแผนจะช่วย “ฟุตบอลลีก” จากพิษโควิด-19 เป็นเงินเบื้องต้น 250 ล้านปอนด์ และเป็นข่าวดังเมื่อเดือน ต.ค.แล้วต้องล้มพังพาบมาแล้วเพราะสโมสรสมาชิกปฏิเสธจะเดินตามแผนของ 2 ทีมตั้งต้น: ลิเวอร์พูล และแมนฯยูไนเต็ด

(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง “โปรเจคต์ Big Picture” นะครับ https://bit.ly/2Ic0LGk)

ครั้งนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พรีเมียร์ลีก และฟุตบอลลีกอังกฤษ (อีเอฟแอล) ได้เห็นชอบให้จัดสรรเงินกู้ 250 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือบรรดาสโมสรในลีกระดับล่าง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แบบไม่มี hidden agenda ใด ๆ กับการปรับโครงสร้างพรีเมียร์ลีก หรือจะยุบถ้วย คอมมิวนิตี้ ชิลด์, ลดจำนวนทีมในพรีเมียร์ลีก ฯลฯ

รวมความแล้วก็ต้องบอกครับ “ซะที!” หลังตั้งแต่เดือน มี.ค.ไม่ได้มีแฟนบอลเข้าสนามกระทั่งสุดสัปดาห์นี้ในบางสเตเดี้ยม และบางพื้นที่ของประเทศได้ถูกอนุมัติให้แฟนบอลส่วนหนึ่งเข้าชมได้ อันหมายถึง “รายได้” จากการเก็บค่าผ่านประตูนั้นหายไป และอื่น ๆ จาก แมตช์เดย์ เช่น ขายของที่ระลึก ฯลฯ ก็หายไปเพียบ

การช่วยเหลือครั้งนี้ของพรีเมียร์ลีกสู่ทีมในลีกรอง ๆ อย่างน้อยจึงช่วย “ต่อท่อ” อ๊อกซิเจนได้บ้างครับ—

โครงการนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ?

นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทุกสโมสรในอังกฤษ ขาดรายได้จากตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางอีเอฟแอล เคยปฏิเสธเงินช่วยเหลือ 50 ล้านปอนด์จากพรีเมียร์ลีกมาแล้ว เพราะมองว่ามันน้อยเกินไป (ต.ค.2020)

ต่อมาในเดือนเดียวกัน สโมสรยักษ์ใหญ่ในพรีเมียร์ลีก นำโดยลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 2 ทีมคู่ปรับตลอดกาล ได้มีแนวคิดปรับโครงสร้างฟุตบอลลีกอังกฤษ หรือ Project Big Picture

ซึ่งในแนวคิด Project Big Picture มีข้อเสนออยู่ข้อหนึ่ง คือ จะให้เงิน 250 ล้านปอนด์ เพื่อช่วยเหลือทีมในลีกล่าง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ท้ายที่สุด พรีเมียร์ลีกไม่ตอบรับข้อเสนอนี้ เพราะกระแส “ต่อต้าน” นั้นแรงมาก• มาถึงเดือนพฤศจิกายน สโมสรในลีกวัน และลีกทู ได้ “ตกลงในหลักการ” เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากพรีเมียร์ลีก หลังจากได้รับข้อมูลว่า มีสโมสรสมาชิกของอีเอฟแอล ประมาณ 10 ทีม ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างนักเตะ

ถึงแม้จะมีการเริ่มต้นปลดล็อก ให้แฟนฟุตบอลเข้ามาชมเกมในสนาม ตามความเสี่ยงการแพร่ระบาดของแต่ละพื้นที่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ ทำให้แต่ละสโมสรยังคงไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายได้ในเร็ววัน

จนกระทั่งการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดบริหารของอีเอฟแอล และสโมสรสมาชิกพรีเมียร์ลีก ได้อนุมัติข้อตกลงการช่วยเหลือสโมสรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเงินกู้จำนวน 250 ล้านปอนด์ เสริมจากทางรัฐบาลอังกฤษ เตรียมช่วยเหลือเงินเพิ่มเติมอีก 300 ล้านปอนด์ (แต่ไม่ได้ให้กับฟุตบอลอาชีพชาย) ให้กับฟุตบอลหญิง, ฟุตบอลนอกลีกอาชีพ และกีฬาประเภทอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาด้วยเช่นเดียวกัน

เงินจำนวนนี้ จัดสรรอย่างไร ?

ทั้งพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล จะช่วยกันระดมทุน 250 ล้านปอนด์ เพื่อเป็นเงินกู้ โดยจะแบ่งให้ลีกแชมเปี้ยนชิพ 200 ล้านปอนด์ และลีกวัน รวมกับลีกทู อีก 50 ล้านปอนด์ ในส่วนของลีกแชมเปี้ยนชิพ จะแบ่งเงินให้ทั้ง 24 สโมสรเท่าๆ กัน หรือเฉลี่ยได้ทีมละ 8.33 ล้านปอนด์ เป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย และกำหนดชำระคืนภายในเดือนมิถุนายน 2024 สำหรับอีก 48 สโมสร ในลีกวัน และลีกทู เงินกู้จำนวน 50 ล้านปอนด์นี้ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 กอง

กองที่ 1 จำนวน 30 ล้านปอนด์ เป็นค่าชดเชยรายได้จากการไม่มีผู้เข้าชมการแข่งขันในฤดูกาล 2019-20 และ 2020-21 แบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วน- 24 ทีมในลีกวัน จะได้รับเงินกู้อย่างน้อยทีมละ 375,000 ปอนด์ (รวม 9 ล้านปอนด์)- 24 ทีมในลีกทู จะได้รับเงินกู้อย่างน้อยทีมละ 250,000 ปอนด์ (รวม 6 ล้านปอนด์)- เงินกู้อีก 15 ล้านปอนด์ที่เหลือ จะคำนวณจากส่วนแบ่งรายได้ของค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันที่หายไป

กองที่ 2 จำนวน 20 ล้านปอนด์ จะเก็บไว้สำหรับสโมสรที่ต้องการชดเชยค่าเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และกำหนดคุณสมบัติสำหรับสโมสรที่เข้าร่วมต่อไป

โดยบรรดาสโมสรในลีกล่างทั้ง 3 ลีก ที่ได้รับเงินกู้นั้น จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดเรื่องการซื้อตัวผู้เล่น และการจ่ายค่าจ้างของผู้เล่นด้วย

ริค แพร์รี่ (อดีต CEO ลิเวอร์พูล และหัวโจกในการแอบชนดีล Big Picture ตั้งแต่ ค.ศ.2017) ประธานอีเอฟแอล หวังว่าโครงการดังกล่าว จะช่วยให้สโมสรเหล่านี้อยู่รอดได้ หลังจากได้รับผลกระทบทางการเงิน เพราะการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ที่กินเวลามานานหลายเดือน

ขณะที่ ริชาร์ด มาสเตอร์ส ประธานบริหารพรีเมียร์ลีก เผยว่ารู้สึกยินดีที่ลีกระดับสูงสุดของอังกฤษ ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสโมสรระดับลีกรองลงมา ไม่ให้ล้มละลาย อันเนื่องมาจากโควิด-19

ผมเขียนเรื่องนี้ทำไม?

นี่ก็เพราะ ขนาดลีกอาชีพแบบมาตรฐาน เช่น ลีกอังกฤษ ยังไม่ไหว ไปจะไม่รอด ในปีโควิด-19 รัฐบาลผู้ดีซึ่ง “กดดัน” พรีเมียร์ลีกซึ่งยังคงมีรายได้หลักอยู่จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทีวี จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะ 300 ล้านปอนด์ก็ไม่ได้ตกมาสู่ฟุตบอลอาชีพชาย ลีกรอง ๆ จึง “ควานหา” รายได้ยากเหลือเกินครับ และการได้เงินช่วยเหลือแม้จะให้ยืมในครั้งนี้จึงถือว่ามีค่าอย่างมากให้ต่อลมหายใจ

ในมุม Football Business ที่น่าสนใจ คือ อุตสาหกรรมอื่นจะไม่มีทางให้ “หยิบยืม” ช่วยเหลือกันแบบพรีเมียร์ลีก ช่วยเหลือทีมรองในลีกล่าง ๆ แบบนี้ เพราะมีแต่จะ “ถีบส่ง” คู่แข่งทั้งน้อยใหญ่ให้ร่วงจมธรณี และเจ๊งชัยกันไป เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดคนเดียว และครองความยิ่งใหญ่คนเดียว• แต่ฟุตบอลเตะกันเองดูกันเองไม่ได้ ฟุตบอลจำเป็นต้องมีคู่แข่ง มีลีก และต้องแข่งขันกันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อพอประมาณไม่ใช่ “ผูกขาด” แค่ไม่กี่ทีม หรือคาดเดาผลแข่งขันได้ง่าย การช่วยเหลือครั้งนี้จึงเกิดขึ้น และเป็นกรณีศึกษาสำคัญในปีลำบาก ๆ แบบนี้ และเป็นการช่วยเหลือที่ไม่เพียงต่อลมหายใจให้หลายทีม หรือ 10 ทีมโดยประมาณที่กำร่อแร่ (จริง ๆ คงมากกว่านั้นเยอะ) ทว่ายังเป็นการช่วยประคองไม่ให้ “ลีกรอง ๆ” ถึงขั้นล่มสลายอันจะมี “ปัญหา” อีกมากมายตามมาด้วยครับ#ไข่มุกดำ✍ และ #ทีมไข่มุกดำ เรียบเรียง

Categories
Football Business

6 เหตุผลที่เราหลงรัก “ฟุตบอล”

มันน่าจะต้องมี “เหตุผล” เป็นร้อยเป็นพัน หรือ “ไม่มี” เลยแม้แต่ข้อเดียว ที่ทำให้เรา แฟนบอล หลงรักฟุตบอล และเฝ้าติดตามทีมโปรด หรือข่าวคราวของ The most beautiful game เกมกีฬาที่สวยงามที่สุดในโลกชนิดนี้

สำหรับ “ขอบเขต” งานในวันนี้ ผมได้ศึกษา และวางโครงเรื่องจากหัวข้องานชื่อ The ‘peculiar’ economics of professional football leagues หรือลักษณะพิเศษทางเศรษฐศาสตร์ของฟุตบอลลีกอาชีพ นะครับคร่าว ๆ ผมได้สรุปจาก “หัวข้อ” เนื้อหาที่ได้เรียนมาจาก ศาสตราจารย์คริสตีน เอาจ์ตัน (Christine Oughton) อาจารย์ของผมที่ Birkbeck College เมื่อ 10 กว่าปีก่อนนะครับ และเขียนเรื่องนี้อยู่เรื่อย ๆ แต่ปรับรายละเอียดให้เหมาะสมกับ “บริบท” ตามช่วงเวลาที่เขียนนะครับ

ทั้ง 6 ข้อ “เหตุผล” ตรวจสอบแล้วว่า ยังคงเหมาะสมกับการ “อ้างอิง” ได้อยู่ และมีดังนี้ (ตรวจสอบคอร์สปริญญาโท Sports Management and The Business of Football – MSc. ได้ที่นี่นะครับ http://www.bbk.ac.uk/…/postgraduate/programmes/TMSSMBUF_C

1.)

1.) “ฟุตบอล” เป็นผลผลิตร่วมระหว่าง “ลีก” และ “สโมสรฟุตบอล” (Joint product) ที่ต้องอาศัยกัน และกัน เพราะฟุตบอลจะเตะกันเอง ดูกันเอง ทีมเดียวไม่ได้ ต้องมีคู่แข่งขันมาร่วมด้วย และมีการจัดการลีกที่ดี เป็นในทิศทางเดียวกันตามหลักเกณฑ์จากผู้ปกครองสูงสุด (ฟีฟ่า)

แต่ธุรกิจทั่วไปจะไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น และอาจจะเป็นการดีกว่า หากเราริเริ่มธุรกิจใหม่ได้ก่อน เนื่องจากจะไม่มีคู่แข่ง (Monopoly) อันสามารถกำหนดราคา หรือควบคุมกลไกการตลาดได้

ในแง่นี้ “พรีเมียร์ลีก” เป็นต้นแบบแรกเริ่มที่ทำได้ค่อนข้างดีนับจากแยกจาก “ดิวิชั่น 1” เดิม มาก่อตั้ง “พรีเมียร์ลีก” ในปี ค.ศ.1992
เพราะอย่างน้อย มันได้เห็นซึ่งความพยายามในการรวมตัว และร่วมมือกันค่อนข้างสูงระหว่างลีก และสมาชิก พอ ๆ กับการสร้างให้เกิดความเข้มข้นในการแข่งขันกัน (Competitiveness)

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และบริษัทไทย ลีก จำกัด ในฐานะองค์กรสูงสุดในด้านการบริหารจัดการฟุตบอลในประเทศไทยก็มีนโยบายด้านนี้ที่ชัดเจน และดีขึ้นสอดคล้องกับนโยบาย “ฟีฟ่า” พื้นฐานจะมาจากกฎ “คลับ ไลเซนซิ่ง” ที่จะเป็นเสมือนใบเบิกทางพื้นฐานของสโมสรสมาชิกที่จะปฏิบัติตามแตกต่างกันไปตามมาตรฐานของ T1, 2, 3 และ 4

การจัดการด้านต่าง ๆ ก็คัดสรรทีมงานมืออาชีพเข้ามาผ่านกระบวนการสากล เช่น pitching หรือเสนองานจนถูกคัดเลือก หรือประมูล เช่น Plan B กับการได้สิทธิ์เป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของสมาคมฯ และไทยลีก เป็นเวลา 3 ปีโดยเปิดซองชนะอีก 2-3 บริษัท เป็นต้น รวมถึง “ทุกด้าน” ของการบริหาร เช่น เทคนิค, ข้อมูลสถิติ, สื่อสารองค์กร, จัดการแข่งขัน, ฝ่ายผู้ตัดสิน ที่ถูกแบ่งแยกการทำงานไว้ชัดเจนร่วมกับสโมสรสมาชิก

2.) ธุรกิจฟุตบอลจะมีการกระจายรายได้ (Redistribution) ภายในลีก และระหว่างลีกใหญ่สู่ลีกเล็กรวมไปถึงทีมใหญ่รายได้ดีสู่ทีมเล็กรายได้น้อยเพื่อช่วยให้ลีก และทีมฟุตบอลแต่ละทีมมีความสมดุลกันมากที่สุด (Competitive Balance)

เพราะหาก “ช่องว่าง” ระหว่างลีกมีมากขึ้น หรือทีมเล็กนับวันยิ่งเล็กลงขณะที่ทีมใหญ่โตเอา ๆ โดยไม่ได้มีมาตรการใด ๆ ค้ำจุนเลย ที่สุดแล้วฟุตบอลก็จะดูไม่สนุก คาดเดาผลการแข่งขันได้ง่ายเนื่องจากความเหลื่อมล้ำที่มีมากอันจะนำมาซึ่งคนดูหนีหาย สปอนเซอร์ไม่สนใจ และสุดท้าย “เม็ดเงิน” ก็จะไม่ตกสู่ทั้งทีมเล็ก และทีมใหญ่ในลีก

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ธุรกิจฟุตบอลจำต้องอาศัยกุศโลบาย “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” ตามคอนเซ็ปต์ “ผลผลิตร่วม” (Joint products) ระหว่างลีก กับสโมสรฟุตบอล นั่นเองบ้านเราก็จะเห็นข่าวการมอบเงินให้สโมสรต่าง ๆ จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด หรือจะเรียกว่า เงินบำรุงสโมสรก็สุดแล้วแต่

โดยทะยอยจ่ายเป็นงวด ๆ ไปเท่า ๆ กัน หาใช่จ่ายให้แชมป์มากสุด หรือทีมบ๊วยน้อยสุดแต่ “ไทยลีก” ยังไม่มีการช่วยเหลือทีม “ตกชั้น” จาก T1 ไป T2 หรือที่ “พรีเมียร์ลีก” อังกฤษเรียกว่า “Parachute money” เพื่อไม่ให้ทีมตกชั้นต้องเจอภาวะ “เคยรวย” มา “ยากจน” ฉับพลันเกินไป (เนื่องจากรายได้ “ทุกทาง” เช่น ค่าตั๋ว, สปอนเซอร์, ลิขสิทธิ์ทีวี, ของที่ระลึก จะลดลงฮวบฮาบ)

ประเด็นแบบนี้เราจะไม่ได้เห็นในธุรกิจอื่น ๆ เป็นอันขาด เพราะธุรกิจทั่วไปมีแต่จะได้เห็น “ปลาใหญ่” กิน “ปลาน้อย” ปลาสร้อยจนสูญพันธุ์ซะมากกว่าจะคิดแม้จะแค่เจียดเงินมาช่วย “ศัตรู”

3.) แฟนบอล (ลูกค้า) จะมีดีกรีความซื่อสัตย์สูงชนิดไม่จำเป็นต้องมี “เหตุผล” เพราะมันเป็นความรัก + ผูกพันด้วยใจโดยไม่มี “ผลประโยชน์” แอบแฝง

ดังจะเห็นได้จาก แฟนบอลทีมหนึ่งจะไม่เปลี่ยนใจไปเชียร์อีกทีมหนึ่งแม้ทีมตัวเองจะไม่ประสบสำเร็จ หรือย่ำแย่เพียงใดก็ตามแต่หากฟุตบอลเป็นเสมือน “โปรดักต์” อื่น ๆ แฟนบอล (ลูกค้า) จะพร้อมเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ “ยี่ห้ออื่น” ที่ดีกว่า ถูกกว่า แพ็คเกจดูดีกว่า คุ้มค่ากว่าได้ทันที

และตลอดเวลาทว่ากับฟุตบอลนั้นไม่ใช่ “โปรโมชั่น” นั้นไม่จำเป็น หนำซ้ำความซื่อสัตย์ยังสามารถส่งผ่านไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เจนเนอเรชั่น ต่ออีกเจนเนอเรชั่นได้อีกด้วย

4.) ฟุตบอลเป็น “เกม” หรือเป็น “ธุรกิจ” ที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เพราะจะมีจุดมุ่งหมายพร้อม ๆ กัน 2 ประการ นั่นคือ ชนะในสนาม และ “ไม่แพ้” หรืออยู่ได้โดยไม่ขาดทุนนอกสนาม

อย่างไรก็ดีครับ “จุดมุ่งหมาย” 2 ประการนี้จะขัดแย้งกันเองโดยธรรมชาติ เพราะหากต้องการจะประสบความสำเร็จในสนาม สโมสรฟุตบอลก็ต้องใช้เงิน “ลงทุน” กับการซื้อตัวผู้เล่น หรือไม่ก็เป็นค่าเหนื่อยผู้เล่นที่ส่วนมากแล้วจะใช้เต็มจำนวนงบประมาณที่มีไม่นับการปรับปรุง “สาธารณูปโภค” ต่าง ๆ สำหรับทีม และแฟนบอล เช่น สนามซ้อม, ที่นั่งสนามแข่ง, ห้องน้ำ, สนามหญ้า ฯลฯ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเล่นทีม และเพื่ออรรถรสในการชมฟุตบอลของแฟน ๆ

ขยับจากนั้นอีกขั้นก็คือ หน้าที่เพื่อสังคม ดังจะได้เห็นกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibilities) ต่าง ๆ มากมาย และเป็น “ภาคบังคับ” ที่ต้องกระทำ โดยเฉพาะโปรแกรมเพื่อเยาวชน และชุมชนที่สโมสรฟุตบอลก่อตั้ง ที่สุดแล้ว “กำไร” อย่าว่าแต่จะไม่เหลือเลย การทำงบดุลไม่ให้ติด “ตัวแดง” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว

ฉะนั้นในทาง “อุดมคติ” ฟุตบอลจึงไม่ใช่ธุรกิจที่ผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะในฐานะนิติบุคคล หรือบริษัทมหาชนจะ “นั่งรอ” ผลกำไรปลายปีเฉกเช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ครับ

5.) ตลาดแรงงานนักฟุตบอลนั้นมีกฎระเบียบค่อนข้างละเอียดอ่อนกว่าธุรกิจอื่น ๆ และผู้เล่นชั้นดีจะมีอำนาจในการต่อรองเงินเดือน และการเลือกทีมสูงมาก ลองดูราคานักเตะไทยใน “ไทยลีก” ที่เหมือนมีเยอะ แต่จริง ๆ แล้วมีน้อยมาก (นักเตะดีจริง ๆ)

ฉะนั้นจึงได้เห็นว่า ราคาการย้ายทีม (ค่าตัว) และเงินเดือนรวมเป็นแพ็คเกจแต่ละครั้งจะสูงมากไม่ว่าจะภายใน หรือต่างประเทศ

กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์, ชนาธิป สรงกระสินธ์ ต้องมีไม่ต่ำกว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือจะธนบูรณ์ เกษารัตน์, ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ในการย้ายในประเทศระดับ 50 ล้านบาท เงินเดือนนักเตะทีมชาติชุดใหญ่คิดว่าเท่าไหร่? ในเวลาที่ “ตัวท็อป” ไม่ติดทีมชาติมี 2 แสนอัพ หรือสามแสนกว่าไปแล้ว

อลิสสัน เบคเกอร์ ย้ายไปลิเวอร์พูลในตำแหน่งผู้รักษาประตูที่ 67 ล้านปอนด์ ถามว่าแพง ก็แพง แต่ตำแหน่งนี้หาไม่มี หรือที่มีก็ “ไม่ขาย” ราคาที่หงส์แดงจ่าย หรือตัวอย่างบางนักเตะไทยข้างต้นจึง “สะท้อน” ว่า นักเตะชั้นดีสามารถมีอำนาจต่อรองราคาที่ต้องการได้เลือกทีมได้ด้วย เช่น ธิโบต์ คูร์ตัวส์ อยากจะไปเรอัล มาดริด ใครจะทำไม, โรนัลโด้ เบื่อแล้วกับเกือบ 10 ปีที่มาดริดขอไปกินมะกะโรนี ยูเวนตุส ค่าตัว 100 ล้านปอนด์ แต่แค่วันเดียวก็ขายเสื้อได้ 50 ล้านปอนด์แล้วกระมัง

ส่วนตลาดแรงงานก็แล้วแต่สถานการณ์ ทว่ากฎระเบียบปรับได้ตลอด (อ่านด้านล่างกฎนักเตะต่างชาติของไทย) และขึ้นตรงกับ “ฟีฟ่า” เช่น หากมีคดีฟ้องร้องใด อาทิ สัญญาไม่เป็นธรรม, ไม่จ่ายค่าเหนื่อย ฯลฯ ผู้เล่นสามารถส่งตรงให้หน่วยงานของ “ฟีฟ่า” พิจารณาได้เลยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายในประเทศนั้น ๆ และ “ฟีฟ่า” สามารถสั่งปรับเงิน, คะแนน ถึงขั้นระงับทีมไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันได้เลยโดยตรง

6.) ฟุตบอลเป็นเกมที่ควบคุมโดยกฎกติกาสากล ผสมผสานกับการบริหารโดยรัฐบาลลูกหนังหลายระดับตั้งแต่ระดับประเทศ, นานาชาติ, ทวีป และโลก คอยควบคุมดูแล, ปรับปรุง และแก้ไข เพื่อคุณภาพที่ดีของเกมพูดแล้วจะ “ยาวไหม” (555) เช่น ล่าสุดก็กับกฎนักเตะอาเซียน 3 คน, ต่างชาติ 3 คน และเอเชีย 1 คนของฟุตบอลลีกบ้านเราประเด็นคงไม่แตะว่า “เหมาะสม” หรือดีที่สุดไหม? แต่จะบอกว่า มันตอบโจทย์เรื่องการ “ปกครอง” เด็ดขาด และเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาลลูกหนังที่ไม่จำเป็นต้องอิงกฎหมายนานาชาติใด ๆ

ข้อสรุปดังกล่าว อาจใช้แค่ซีซั่นเดียว และปรับเปลี่ยนอีกก็ได้ตามกระบวนการของรัฐบาลลูกหนังไทย แต่ต้องสอดคล้อง และรับรองโดย “ฟีฟ่า”

โดยเรื่องเกี่ยวข้องกับ “ฟุตบอล” ทุกเรื่อง ฟีฟ่าจะมีหน่วยงานรองรับการทำงานเสมือนเป็น “รัฐบาลกลาง” ของลูกหนังโลก ที่มีอำนาจสิทธิ์ขาด

จุดนี้จึงมีทั้ง “ข้อดี” และไม่ดีได้เหมือนกัน เช่น อำนาจบางครั้งก็อาจก่อให้เกิดการคอรัปชั่นเพราะการ “ตัดสินใจ” ขึ้นอยู่กับกลุ่มคน หรือคณะทำงานภายในไม่กี่คน

แต่ข้อดี คือ การบริหารจัดการจะเป็นในทิศทางเดียวกัน และเบ็ดเสร็จจากส่วนกลาง-ทั้งหมดในวันนี้ มีเป้าหมายจะนำเสนอในด้านที่ “แตกต่าง” อีกมิติหนึ่งของกีฬา “ฟุตบอล” โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐศาสตร์ การบริหาร และจัดการกีฬาฟุตบอลโดยเฉพาะในส่วนการจัดการแข่งขันระดับลีก และบอลถ้วย รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทุกผู้มีผลประโยชน์ร่วม (stakeholders) เช่น แฟนบอล, นักเตะ, ผู้สนับสนุน, พันธมิตรหวังว่า เมื่อทราบ “ความต่าง” นี้ เรา ๆ ท่าน ๆ แฟนบอลจะหลงรักฟุตบอลมากยิ่งขึ้นนะครับ

Author : ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

Categories
Football Tactics

คลอปป์ถึงพอตเตอร์ : เขามีครบทุกอย่างที่ยอดโค้ชจะต้องมี เป็นนักคิดค้น และนักแสวงหา

คลอปป์ใช้คำว่า พอตเตอร์ มี all you need หรือมีครบ และเลือกคำได้สวยว่า innovator ที่ผมแปลว่า นักคิดค้น แทนนวัตกร และ advanturous ผมไม่ได้แปลว่า ผจญภัย แต่เลือกคำว่า แสวงหา (หนทางใหม่ ๆ ในการทำทีม)

คู่ควร และเหมาะสมครับกับ 2 เกมดี ๆ ผ่านแมนฯซิตี้ ที่ขนาดแพ้ 1-4 ยังได้รับชื่นชม และเกมนี้ที่ยันเสมอหงส์แดงได้ 2-2 ทั้งที่ตามหลัง 0-2 ในแอนฟิลด์

สิ่งที่ควรสังเกต คือ เฮนโด้ ไม่ได้ยืนตำแหน่ง “เบอร์ 6” สกรีนหน้าไลน์รับ (ไม่ได้บอกว่า ผิด นะครับ เพราะด้วยเหตุนี้ กัปตันเลยเติมรุก เล่นสามเหลี่ยม และสร้าง combination กับเพื่อนได้ รวมถึงยิง 1-0 ได้ – เคอร์ติส โจนส์ ยืนต่ำกว่าด้วยซ้ำ)

แต่ทว่า เกรแฮม พอตเตอร์ น่าจะทราบดีว่า ฟาบินโญ เจ็บ และเฮนโด จะเล่นอย่างไร ดังนั้นจึงส่ง เลอันโดร ทรอสซาร์ด ลงมาเป็น False 9 และเล่นหน้าแทน นีล โมเปย์

ทรอสซาร์ด ในภาพเรียกได้ว่า มีพื้นที่รับบอลระหว่างผู้เล่น (pocket) แบบสบาย ณ จุดที่ นาบี้ เกอิตา ยังอยู่ในสนาม

จะเห็นได้ว่า เลอันโดร ทรอสซาร์ด ดร็อปตัวลงเพิ่มจำนวน และสร้างโจทย์ให้เกมรับหงส์แดงซึ่งในภาพ อิบู โคนาเต ไม่ได้แย่กับการตัดสินใจตามลงประชิด แต่หากจะดีต้องไม่ให้ดาวเตะเบลเยียมพลิกเล่นได้ เพราะในภาพ ยาคุป โมเดอร์ กำลังวิ่งพาเทรนท์ ไปหาที่ว่างเพื่อรับบอลแล้ว

ปล.จะเห็นเช่นกันว่า เฮนเดอร์สัน ยังอยู่สูงกว่า อ๊อกซ์เลด และทำหน้าที่รุกขึ้นไปต่อสู้ เพื่อตัดเกมแดนบนที่นัดนี้เรามีคนแบบกัปตันในแดนกลางน้อยไป

นี่คือ ตำแหน่งคลาสสิค False 9 เพราะ เลอันโดร ทรอสซาร์ด ยืนทั้งระหว่างคู่เซนเตอร์ฮาล์ฟ อิบู และ VvD และยืนต่ำกว่าไลน์รับเล็กน้อย เรียกได้ว่า พร้อม และเชื้อเชิญให้มิดฟิลด์นกนางนวลประเคนบอลให้เหลือเกิน

ขณะที่จะเห็นว่า “ช่องวาง” ระหว่างไลน์รับ กับมิดฟิลด์นั้นมีซึ่งพอรับได้ แต่ปัญหา คือ ไบร์ทตันไม่ควรได้โอกาสออกบอลง่ายเกินไปสู่ False 9 ของพวกเขาเช่นกัน

ที่ว่างด้านหลังเทรนท์ที่ตอนนี้กลายเป็น อิบู รับผิดชอบแทนคือ ประเด็น และจะเห็นถึงความเสี่ยงเนื่องจากทั้ง เลอันโดร ทรอสซาร์ด, ยาคุป โมเดอร์ และมาร์ก กูกูเรยา พร้อมเติมพร้อม ๆ กัน ขณะที่หงส์แดงมีตัวพร้อมรับมือเพียงคนเดียว

ครึ่งหลังเกิดสถานการณ์ลักษณะนี้บ่อย หรือคือ กูกูเรยา ได้บอลแบบไม่มีตัวประกบ และผ่านให้ ทรอสซาร์ด ในพื้นที่หน้าไลน์ หรือ pocket ระหว่างผู้เล่นไปสร้างสรรค์เกมต่อ หรือทำประตูได้ (รับบอลจาก ลัลลานา หลุดไปยิง 2-2)

Categories
Football Tactics

Inverted Full-back

พอดีเห็น “อึน ๆ” กันจากเกม แอตเลติโก มาดริด – ลิเวอร์พูล นะครับ ผมซึ่งได้คุยหลังเกมกับโค้ชบ้านเราหลาย ๆ ท่านเป็นประจำหลังแมตช์ใหญ่ ๆ อยู่แล้วให้บังเอิญว่าได้รับสิ่งนี้จากอีกเกม คลับ บรู๊ก – แมนฯซิตี้ มาฝากจาก “โค้ชน้อย” อนันต์ อมรเกียรติ

เรื่อง Inverted Full-back หรือแบ็คหุบใน

แน่นอนครับ เจา กานเซโล หรือไคล์ วอล์คเกอร์ ภายใต้แท็คติกส์ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ใช้แท็คติกนี้เป็นประจำอยู่แล้ว จะว่าไป เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ก็ด้วยอ่ะนะครับในบางจังหวะของเกม

แบ็คหุบใน หรือ Inverted Full-back คืออะไร? ติดตามอ่านกันได้เลยครับ ง่าย ๆ 3 ภาพ หวังว่าคงจะชอบ และหวังใจว่าจะช่วยให้พวกเรา “เข้าใจ” The beautiful game มาก ๆ ยิ่งขึ้น และมีความสุขมากขึ้นกับการชมฟุตบอลนะครับ

เจา กานเซโล ในบทบาท Inverted Full Back วิ่งตัวเปล่าจากบริเวณที่หุบในเข้ามากลางสนามเข้าสู่กรอบเขตโทษโดย “ไทม์มิ่ง” อย่างยอดเยี่ยมกับบอลชิพตักโด่งหลังไลน์ของ ฟิล โฟเดน

ดาวเตะโปรตุกีส ยังเฟิร์สทัช “พักอก” ได้งดงาม และสะกิดบอลผ่านลอดขา ซิมง มิโญเลต์ เข้าประตูไป จบบทบาทพิเศษของฟูลแบ็คหุบในที่ทั้งช่วยเติมโดยโพสิชั่นนิ่งตัวเองเกมกลางสนาม และยังหาจังหวะขึ้นมาทำประตูได้อีกด้วย

ไคล์ วอล์คเกอร์ ก็เช่นเดียวกันที่อาศัยความรวดเร็วทั้งเคลื่อนที่ (วิ่ง) และรับบอลจากจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้อยู่ริมเส้นเหมือนแบ็คทั่วไป และหุบมาด้านในเสมือนมิดฟิลด์ ประสานงานกับเพื่อน และเลี้ยงบอลทะลวงเข้าสู่พื้นที่ half space ก่อนยิงประตูซึ่งไว้โอกาสหน้าจะมาพูดถึงเรื่องพื้นที่ Half Space กันครับ

แน่นอนว่า ใน Shape ปกติจะเห็นแมนฯซิตี้ในระบบ 4-3-3 ตามหน้ากระดาษสร้าง Shape ได้สวยขณะรุกได้คล้ายกับ 2-3-2-3 หรือจะเรียกว่า 2-3-5 ก็สุดแล้วแต่

อย่างไรก็ดีจะเห็นบทบาทในพื้นที่ระหว่างไลน์รับ และแดนกลางคู่แข่งของ “2” เควิน เดอ บรอย และแบร์นาโด ซิลวา ที่จะสนับสนุน “3” ตัวบนได้อย่างน่าสนใจ

แน่นอนเช่นกัน ในที่นี้ กานเซโล และวอล์คเกอร์ จะหุบในเข้ามาเสมือนอีกไลน์ยืนร่วมกับมิดฟิลด์ตัวรับแท้ ๆ โรดรี้ โดยมี ลาปอร์ต และดิอาส เป็น “2” สุดท้าย

***ที่น่าสนใจมาก ๆ คือ การยืนตรงกลางเหมือนมิดฟิลด์ และริมเส้นนั้น ใช้ทักษะ เทคนิค และความถนัดต่างกัน ทว่าทั้งวอล์คเกอร์ และกานเซโล สามารถยืน 2 พื้นที่ได้อย่างไม่เคอะเขิน และหาใช่ฟูลแบ็คทุกคนจะคิดหลบในเข้ามายืนได้อย่างสะดวกสบาย***

อย่างไรก็ดีจะเห็นบทบาทของ เอแดร์ซอน ที่สามารถ +1 กลายเป็น “3” ร่วมเซ็ตบอลแรกกับ ดิอาส และลาปอร์ต ได้เช่นกัน

การได้เห็นเชฟแบบนี้ และหากแฟนทีมที่บอลบาลานซ์ไม่สมดุล หรือไม่สม่ำเสมออย่าง แมนฯยูไนเต็ด ได้มาเห็น ท่านก็อาจจะพอมองได้ว่า จริง ๆ แล้ว หากยืนได้ดี มิดฟิลด์ตัวรับอาจไม่จำเป็น และไม่ใช่ทางออกเสมอไป

ฟุตบอลต้องรับ และรุกเป็นทีม มิดฟิลด์ทั้ง 6, 7, 8 คนที่ยูไนเต็ดมีอยู่ไม่ได้แย่ แต่แค่จะเล่นอย่างไรเท่านั้นเอง

สรุป: แมนฯซิตี้ ใช้ กานเซโล่ และวอล์คเกอร์ มาช่วยประคอง และดัน high line รุกสูงทำให้สะดวกเวลารุกแล้วพลาดแล้วจะได้ pressing คืน หรือเวลารุกที่จำนวนตัวผู้เล่นในแดนคู่แข่งก็จะมากเช่นกันครับ

วันหน้า ผมจะนำแท็คติกส์อะไรแบบนี้จากโค้ชบอลมาฝากกันอีก ช่วยไลค์ ช่วยแชร์ให้เกิดประโยชน์กับวงการก็จะเป็นพระคุณมากนะครับ• ลิงก์นี้เป็น Podcast ที่ผมเคยทำไว้กับอาจารย์ >>> https://www.facebook.com/watch/174800352574845/3001521610107874 ลองติดตามดูครับปล.ภาพ และคำอธิบายในภาพอาจไม่ชัดนัก เพราะเพิ่งทำนะครับ แต่ผมได้เขียนคำอธิบายไว้ใน caption แต่ละภาพเพิ่มเติมแล้ว

☕ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์

✍📷 อนันต์ อมรเกียรติ