ย้อนความไปเกม คืนวันศุกร์ 20 ส.ค.ผมมีโอกาสคัฟเวอร์เกมระหว่าง RB Leipzig vs. Stuttgart (นั่งชมเกมนี่แหละ แต่ตั้งใจหน่อย) และสะดุดกับนักเตะรายหนึ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากเทรนเนอร์ เจสซี่ มาร์ช เป็นอย่างมากจนแอบฉงน และถึงกับมอบหมายบทบาทสำคัญในทีมให้ทั้ง ๆ ที่อายุเพิ่งจะ 20 ปีเท่านั้น
คำถาม “ทำไม” ดังขึ้นในหัวทันที พร้อมกับสเต็ปตามมาว่า อยากหาคำตอบ จนเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้ครับ
โดมินิก โซบอสซ์ไล มิดฟิลด์วันเดอร์คิดชาวฮังการี คือ ดาวเตะหนุ่มแห่งพารากราฟแรก โดยเจ้าตัวเป็นหนึ่งในผลิตผลที่ได้รับการฟูมฟัก ปลุกปั้น และเติบโตขึ้นในอาณาจักรฟุตบอลแฟรนไชส์สไตล์เร้ดบูลล์
สายการผลิตที่เห็นนักเตะอย่าง เออร์ริ่ง ฮาลันด์, ดาโยต์ อูปาเมกาโน่, ติโม แวร์เนอร์, นาบี เกอิต้า หรือแม้แต่ ซาดิโอ มาเน่ เจิดจรัสฉายแสงอยู่ในสโมสรใหญ่ ๆ ในลีกดังของยุโรป คือเหล่ารุ่นพี่ของ โซบอสซ์ไล
เร้ดบูลล์อีกแล้วหรือ? … หลายๆ คนอาจจะนึกในใจ (เหมือนผม)
บ้างอาจจะอยากให้สโมสรที่ตัวเองเชียร์ไปซื้อแมวมองเร้ดบูลล์มาซะเลย 555
ทำนั้นไม่ง่ายเหมือนพูดครับ เพราะการจะทำให้ได้ผลผลิตจากกระบวนอย่างเร้ดบูลล์ จำเป็นต้องมีความชัดเจนในโครงสร้างนโยบายการทำทีม เป้าหมาย และความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งของเจ้าของสโมสร และทีมบริหาร
ภายใต้สโลแกนของเร้ดบูลล์ที่ว่า “เราจะติดปีกให้คุณ” หรือ “Red bull gives you wings” … อันเป็นที่มาของกลยุทธ์หลัก และแนวทางปฏิบัติของสโมสรที่ใช้ดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด
ผมใช้คำว่า “ธุรกิจ” เพราะเร้ดบูลล์มองการทำทีมฟุตบอลเป็นธุรกิจชัดเจน ซื้อถูก ขายแพง สร้างมูลค่า สร้างกำไร (และอาจจะขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังได้เพิ่มปีละ 2 ล้านกระป๋อง! 😅)
งานแมวมอง (Scouting) จึงเป็นแก่น หรือหัวใจที่คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายก็ว่าได้ เพราะคำว่า “Scouting” มีที่มามาจากการทหารที่ต้องส่งหน่วยลาดตระเวนไปสอดส่องพื้นที่เวลาไปสู้รบตบมือโจมตีฝ่ายตรงข้าม หรือแม้กระทั่งไปตั้งหลักถิ่นฐานระหว่างสงครามก็ต้องมีสมรภูมิที่ดี ไม่เสียเปรียบ
ภูมิประเทศบริเวณไหนที่มีจุดอ่อนก็อาจจะต้องวางกำลังป้องกันแน่นหนาหน่อย ไม่งั้นอาจจะโดนลอบโจมตีได้
ไม่ต่างกับงานแมวมองที่ต้องส่งคน ส่งเจ้าหน้าที่ไปคอยสอดส่องเฝ้ามองนักเตะที่มีแวว และ “พยายามเซ็นสัญญามาให้ได้ก่อนคู่แข่ง และหากเป็นไปได้ในช่วงอายุที่น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” นี่คือหนึ่งในหลักการของเร้ดบูลล์ ซาลส์บวร์ก
ปัจจุบันมีฐานข้อมูล วีดิโอคลิปเป็นหมื่นเป็นแสน และคอมพิวเตอร์ช่วยในการบันทึก และประมวลผลขีดความสามารถ และช่วยกลั่นกรองนักเตะตามเกณฑ์ชี้วัดต่าง ๆ ที่กำหนดได้
การที่แมวมองของทีมชั้นนำไปดูนักเตะในสนามนั่นหมายความว่าเป้าหมายนั้นผ่านการคัดกรองมาแล้วส่วนหนึ่ง
เร้ดบูลล์เปรียบเทียบการเฟ้นหานักเตะเหมือนถนนสามเลน
เลนขวาที่รถวิ่งช้าสุด (รถยุโรปพวงมาลัยซ้าย) สำหรับนักเตะท้องถิ่น เลนนี้คุณทำงานได้มาก และสร้างความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว แถมไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ แต่บางครั้งคุณติดรถบรรทุกที่วิ่งช้า ซึ่งก็เหมือนกับความจำกัดของจำนวนนักเตะที่มีพรสวรรค์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ดังนั้นบางครั้งคุณจำเป็นต้องแซงข้ามเลน
เลนกลางเป็นเลนส์ของนักเตะภาคพื้นยุโรปที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป (ตามกฏหมายของสหภาพยุโรป) แต่มันก็มีความเสี่ยงที่นักเตะเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะคนสำคัญ หรือกลายมาเป็นนักเตะอาชีพได้ ซึ่งบรรดาสโมสรชั้นนำในยุโรปอาจจะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงตรงนั้นมาก แต่เร้ดบูลล์มองมันเป็นโอกาส และความท้าทาย
เลนเร็วเป็นพื้นที่ของนักเตะระดับ international ที่สามารถเข้ามายกระดับของทีมได้ทันที มีอายุระหว่าง18-23 ปี (แต่บางเคสที่พิเศษจริง ๆ ก็มีข้อยกเว้นได้ เช่น หากเห็นว่านักเตะคนนั้นมีคุณภาพที่จะสามารถเข้ามาช่วยประคับประครองนักเตะดาวรุ่งในทีมได้ เป็นต้น)
เหมือนไม่ยาก แต่ไม่ง่าย ขั้นตอนการมองหานักเตะเริ่มขึ้นก่อนหน้าการเซ็นสัญญาหลายปี (เฉลี่ย 3 ปี) ทุกครั้งเริ่มต้นที่คำถามว่าเราต้องการผู้เล่นที่มีโพรไฟล์แบบไหนในแต่ละตำแหน่ง? เป็นคำถามที่ Sporting Director และทีมโค้ชชิ่งสต๊าฟฟ์เป็นผู้ให้คำตอบ พวกเขามีไอเดียที่ชัดเจนในรูปแบบปรัชญาฟุตบอลที่ต้องการเล่น และลักษณะของนักเตะที่เข้ากัน
หลักใหญ่ใจความอยู่ที่
• มีสไตล์การเล่นที่มุ่งมั่น
• สามารถเล่นเกมทรานส์ซิชั่นได้อย่างรวดเร็ว
• มีความเเข็งแกร่งด้านจิตใจ
ราล์ฟ รังนิค ได้รับการแต่งตั้งจากเร้ดบูลล์เข้ามาดำรงตำแหน่ง Director of Football เมื่อปี 2012 เพื่อปฏิรูป ปรับรากฐาน และวางระบบของสโมสรด้านที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล
ถามว่ารังนิคต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง? คำตอบที่รังนิคบอกกับดีทริช เมเทสซิทซ์ เจ้าของเร้ดบูลล์ คือ แทบจะทุกอย่าง!
รังนิคได้งบมาสร้างทีม เพื่อเป้าหมายพาไลป์ซิกเลื่อนชั้นจากระดับ 4 ของปิระมิดฟุตบอลเยอรมันจากตอนที่เร้ดบูลล์ซื้อทีมมาเมื่อปี 2009 ให้ขึ้นมาเล่นในระดับสูงสุดของประเทศให้ได้ภายใน 8 ปี … หมายความว่ารังนิคเหลือเวลาอีกแค่ 5 ปี ที่จะทำให้สำเร็จ
แผนของรังนิคจึงไม่มีอะไรซับซ้อน … “ทำอย่างไรก็ได้ให้ประสบความสำเร็จสูงสุดในระยะเวลาอันสั้นที่สุด”
ด้วยปรัชญาฟุตบอลที่รังนิคยึดมั่น ประกอบกับการทำงานอย่างหนัก ที่ต้องการห็นการพัฒนาที่ดีขึ้นตลอดเวลาจากทุกภาคส่วน และการมีทีมงานที่มีเป้าหมายและยึดมั่นวิถีเดียวกันทำให้ อาร์เบ ไลป์ซิก ก้าวขึ้นมายืนอยู่บนเวทีบันเดสลีกาได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จบนสนามฟุตบอลเท่านั้น เร้ดบูลล์ยังทำกำไรมหาศาลจากนโยบาลซื้อถูกขายแพง เเละเหมือนว่าพวกเขาจะมีนักเตะขึ้นมาทดแทนกันได้อย่างไม่ขาดสาย แม้ว่าจะต้องเสียนักเตะตัวหลักออกจากทีมแทบทุกฤดูกาล
โยฮันเนส สปอร์ส ผู้เคยร่วมงานกับรังนิคสมัยฮอฟเฟ่นไฮม์ และต่อมาที่ไลป์ซิกในฐานะหัวหน้าทีมแมวมอง กล่าวว่า
“กุญแจสำคัญของนักเตะดาวรุ่งในช่วงอายุ 17-20 ปี คือการได้ลงเล่นเกมอย่างสม่ำเสมอในระดับที่สูงพอแก่การพัฒนา แต่ไม่สูงจนเกินไป”
ฮาลันด์ สมัยที่เล่นให้กับซาลซ์บูร์ก คือตัวอย่างที่ดี ออสเตรียคือเวทีที่ดีที่จะให้เขาลองผิดลองถูก เรียนรู้และพัฒนา สิ่งสำคัญคือ
“ฮาลันด์รู้ว่าหากเขาทำผิดพลาดในเกม เขาจะได้รับโอกาสอีกครั้งในเกมถัดไป (เพื่อทำให้ถูกต้อง)” สำหรับทีมใหญ่ในเวทีระดับสูงสุด มันไม่ใช่เรื่องง่าย
เร้ดบูลล์เติบโตอย่างรวดเร็ว และแข็งแกร่งแบบนี้ก็ไม่ได้มีแต่คนชื่นชมเสมอไป
และเขียนมาตั้งยาวแต่ไม่มีสักประโยคที่พูดถึงแฟนบอล
ใช่ครับ! เร้ดบูลล์ไม่ได้เป็นที่รักของแฟนบอลในเยอรมันเท่าไหร่นักเนื่องจากเป็นสโมสรที่ค่อนข้างใหม่ แถมมีภาพความเป็นสโมสรนักลงทุนอย่างชัดเจนด้วยเจ้าของคนเดียวทำธุรกิจเบ็ดเสร็จ ขณะที่ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีในเยอรมัน สโมสรจะมีโครงสร้างแบบ “50+1”
ผมไม่คิดว่าเร้ดบูลล์จะแคร์กับเรื่องนี้มากนัก ตราบใดที่โมเดลทางธุรกิจของพวกเขายังสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง อย่างที่รังนิคพูดถึงปรัชญาฟุตบอลของเขาว่า
“ฟุตบอลเป็นเรื่องของการต่อสู้กันของไอเดียที่หลากหลายแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือไอเดียที่เรายึดมั่น”
ปล. รู้หรือไม่: ถึงแม้ว่า ไลป์ซิก จะเป็นเมืองที่ค่อนข้างโมเดิร์น มีคนรุ่นใหม่อาศัยอยู่เยอะเพราะมีมหาวิทยาลัยอยู่มาก แต่คนเหล่านี้มักจะมาจากต่างเมือง และซัพพอร์ตสโมสรบ้านเกิด