Categories
Football Tactics

ทุกมิติกับบทบาทของกองหน้า “False 9”

ก่อนจะพักเบรกทีมชาติ “ฟีฟ่าเดย์” รอบนี้ มีคำพูดหนึ่งที่ยังก้องติดหูผมอยู่ก็คือ เควิน เดอ บรอย พูดเกี่ยวกับเกมบุกชนะ 2-0 ของแมนฯซิตี้เหนือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในโอลด์ แทรฟฟอร์ด ทำนองว่า เป๊ป กวาร์ดิโลนา ไม่แน่ใจทีมปิศาจแดงจะมาไม้ไหน เล่นแบบใด ก็เลยไม่ได้เตรียมการอะไรพิเศษในการรับมือ

แต่ผมก็เชื่อว่า ลึก ๆ ในการเปลี่ยนไป เปลี่ยนมาของ โอเล กุนนาร์ โซลชา มันไม่ได้มีอะไรใหม่ หรือเกินความคาดหมาย แต่มันแค่ ไม่มีอะไรแน่นอนเท่านั้นเองในรูปแบบการเล่นไม่กี่แบบ และยิ่งน้อยรูปแบบเข้าไปอีกหากจะมองว่า รูปแบบไหนทำงานได้เวิร์กกับทีมชุดนี้

สุดท้าย แมนฯยูฯ ใช้ระบบ “แบ็คทรี” เหมือนที่ชนะสเปอร์ส แต่ต่างตรงไม่มี ราฟาเอล วาราน ซึ่งเป็น “คาแรกเตอร์” สำคัญที่สุดของผู้เล่นตำแหน่งนี้ เนื่องจากอ่านเกมดี (ทำให้ตัดสินใจได้ดี) มีความเร็ว และออกบอลด้วยเท้าได้

แมนฯซิตี้ ปรับทั้ง “หน้างาน” และก่อนเกมหลังทราบแผนการนี้ได้ดีมากด้วยการใช้บริการแท็คติกส์ False 9 แบร์นาโด ซิลวา ขนาบด้วย ฟิล โฟเดน และกาเบรียล เฆซุส

ประเด็น คือ โซลชา ใช้เซนเตอร์ฮาล์ฟ 3 คน: บาญี่-ลินเดอเลิฟ-แม็คไกวร์ เรียงจากขวาไปซ้าย แต่ปรากฎว่า ทั้ง 3 หน่อไม่มีกองหน้าให้ประกบเนื่องจาก ซิลวา ไม่ได้ยืนแบบ “Lone Striker” หรือกองหน้าตัวเป้า ขณะที่โฟเดน และเฆซุส ก็ไม่ได้หุบในเข้ามาหาพื้น Half Space ที่ควบคุมโดย บาญี่ และแม็คไกวร์

มันจึงไม่ต่างอะไรกับการที่ทีมปิศาจแดง “พ่ายแพ้” ตั้งแต่ยังไม่เตะด้วยแท็คติกส์ 3 เซนเตอร์ฯเสียฟรี ไม่มีตัวประกบ หรือไม่ได้ถูกวางแผนมาว่า จะยอมเสียใครสัก 1 ใน 3 เซนเตอร์ฯเพื่อตาม ซิลวา

ขณะที่วิงก์แบ็ค ฟาน บิสซากา และชอว์ ที่ควรจะต้องเติมก็โดนขึงไว้โดยโฟเดน กับเฆซุส

ดังนั้นแดนกลาง 3 คน: แฟร์นันเดซ-แม็คโทฯ-เฟรด จึงโดนรุมกระจายสิครับโดยอย่างน้อย 3 มิดฟิลด์ซิตี้พ่วงด้วย แบ็คหุบใน (Inverted Full Back) ทั้งกานเซโล กับวอล์คเกอร์

รวมแล้ว ทุกพื้นที่ในแดนปิศาจแดงถูก overload โดยนักเตะแมนฯซิตี้ทุกหย่อมหญ้า

สุดท้ายทันทีในครึ่งหลัง เจดอน ซานโช ก็ต้องลงมาแทน เอริค บาญี่ และทัพปิศาจแดงปรับเป็น “แบ็คโฟร์” อันแสดงให้เห็นว่า สูตรที่ใช้ได้ดีกับสเปอร์ส ใช้อะไรไม่ได้เลยกับแมนฯซิตี้

ด้วยเพราะ “บทบาท” หรือ job description ของนักเตะกองหน้า False 9 ที่จะเล่นบนพื้นที่ระหว่าง “ไลน์รับ” (ในที่นี้ คือ “แบ็คทรี” แมนฯยูฯ กับ 2 ฟูลแบ็คที่โดนกดจนกลายเป็น “แบ็คไฟว์”) กับ “ไลน์มิดฟิลด์” อันเป็นอาณาเขตต้องห้ามกว้างประมาณ 8-10 หลาทำให้มิดฟิลด์ไม่กล้าทิ้งพื้นที่ตัวเองลงไปประกบ ขณะที่เซนเตอร์ฯ ก็ไม่กล้าหนีตำแหน่งทำให้ไลน์รับยืนเพี้ยนจากเพื่อนเช่นกันไม่ว่าจะแบ็คโฟร์ หรือแบ็คทรี

แบร์นาโด ซิลวา ได้แมน ออฟ เดอะ แมตช์ ครับเกมนี้จากหลายสำนัก

ทีนี้ ผมได้ให้ทีมเรียบเรียงบทบาทเรื่อง False 9 ที่มีการแปลเป็นไทยไว้บ้างว่า “กองหน้าตัวหลอก” แต่ผมไม่ชินนักจาก coachesvoice และโค้ชน้อย อนันต์ อมรเกียรติ เอาไว้มาฝากกันพอสังเขป เป็นอีกหนึ่งคอนเทนท์ Football Tactics จากทางเพจนะครับ ลองไปติดตามกันครับ

อะไรคือ False 9

False 9 คือ กองหน้าตัวกลางที่เคลื่อนตัวต่ำลงเพื่อเข้าหาบอลจากตำแหน่งที่อยู่สูงกว่าในแดนบน (แนวรุก) และเป็นการเคลื่อนตัวลงต่ำเพื่อรับบอลตรงกลางแบบนี้บ่อยครั้ง โดยจุดประสงค์หลักของการเคลื่อนตัว คือ การหนีเซนเตอร์แบ็คเข้ารับบอลในพื้นที่ว่างระหว่างไลน์ และในการทำเช่นนั้น ก็เพื่อดึงผู้เล่นฝั่งตรงข้ามอาจจะเซนเตอร์แบ็ค หรือมิดฟิลด์ออกจากตำแหน่ง และปั่นป่วนการเล่นเกมรับของคู่ต่อสู้ รวมถึงสร้างประโยชน์ให้ทีมตัวเองจากการกระทำนั้น

คำว่า False 9 มาจากไหน?

เชื่อกันว่าตำแหน่ง False 9 ถูกใช้ครั้งแรกโดยสโมสรโครินเธียนส์ (ไม่ใช่สโมสรบราซิลนะครับ แต่เป็นทีมสมัครเล่นที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นของเกาะอังกฤษ) ในช่วงปลายทศวรรษ 1890 ตอนนั้น จีโอ สมิธ กองหน้าตัวเป้า (ชาวอังกฤษ) มักจะออกบอลทะลุให้ปีก และช่วยสร้างโอกาสให้ปีก หรือตัวริมเส้นมีบทบาทเข้าทำมากขึ้น นั่นจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการเล่นของกองหน้าจากการยืนในตำแหน่งที่สูงที่สุดไว้ก่อนเป็นมีบทบาทช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมในแนวรุกมากขึ้น

ตัวอย่างเพิ่มเติม ได้แก่ ริเวอร์เพลท ในทศวรรษ 1920 ซึ่งกองหน้าตัวเป้าทำหน้าที่เป็น “ผู้ควบคุมเกม” ในแดนหน้า 5 คนในขณะนั้น ในช่วงทศวรรษที่ 1930s มัตธิอัส ซินเดอลาร์ ถูกใช้เป็นศูนย์หน้าที่ “ดร็อปตัวเอง” ลงต่ำในทีมชาติออสเตรีย ต่อมา นันเดอร์ ไฮเด็กกูติ และ ปีเตอร์ ปาโทลาส ถูกใช้ในลักษณะเดียวกันกับทีมฮังการีที่มีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษ 1950s

อย่างไรก็ตาม ‘ฟอลต์ ไนน์’ เป็นคำที่ใช้ในยุคปัจจุบันเท่านั้น แนวความคิดคือกองหน้าอาจมีหมายเลข 9 อยู่บนหลังเสื้อก็จริง แต่กลับย้ายตัวเองไปเล่นอยู่ในตำแหน่งเหมือนไม่มีกองหน้าที่แท้จริงอยู่ตรงนั้น นั่นคือพื้นที่ที่มักจะไม่พบหมายเลข 9 (พื้นที่ระหว่างไลน์)

ความรับผิดชอบในการเล่น ‘ฟอลต์ ไนน์’ คืออะไร?

ความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับ False 9 คือ การเคลื่อนตัวออกจากเซ็นเตอร์แบ็คฝั่งตรงข้ามเพื่อรับบอลระหว่างแนวรับ กับมิดฟิลด์ ทั้งในช่วงที่ครองบอลต่อเนื่อง หรือระหว่างทีมครอบครองเกม หรือเป็นตัวเชื่อมไปยังกองหน้าระหว่างการโต้กลับ (Transition จากไม่มีบอล หรือรับ เป็นรุก) การเคลื่อนที่ไปสู่ตำแหน่งที่ต่ำกว่านั้นอาจทำให้กองหลังของฝ่ายตรงข้ามมีปัญหาว่าจะตามไปประกบ หรือปล่อยให้พวกเขาอยู่ในช่องว่างนั้นต่อไป ดังนั้น หากผู้เล่นในตำแหน่ง False 9 ทำเกมได้ในจังหวะที่ถูกต้องก็อาจทำให้เกิดความหายนะในเกมรับฝั่งตรงข้ามได้ เพราะเขามักจะฟรีจากการโดนประกบนั่นเอง

False 9 ระดับท็อป จำเป็นต้องมีความตื่นตัวเป็นพิเศษ และมีความสามารถในการสแกนพื้นที่ว่างระหว่างไลน์ หรืออาจจะ pocket (พื้นที่ระหว่างผู้เล่นด้วยกัน) ในสนาม ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจะรู้ว่าต้องสัมผัสบอลครั้งแรกที่ไหนเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนเพรสซิ่งจากฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากด้านหลัง สิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ว่างได้อย่างสะดวกสบายเพื่อเชื่อมต่อบอลทำเกมกับเพื่อนร่วมทีมได้สะดวกโยธิน• นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ ผู้เล่น False 9 ที่จะทำงานได้หลากหลาย และมีทักษะในการครองบอล เช่น การเลี้ยงเปลี่ยนทิศทาง หลอกล่ออย่างรวดเร็ว ทักษะการไปกับบอลที่ยอดเยี่ยม และต้องมีทักษะการจบสกอร์ด้วย

False 9 นั้นแตกต่างจากศูนย์หน้าจริง ๆ แบบดั้งเดิมในเวลาที่ทีมครอบครองบอล แต่ขณะไม่มีบอล หรือเล่นเกมรับ False 9 และศูนย์หน้าแบบดั้งเดิมนั้นทำหน้าที่คล้ายกัน

ยามรับ คือการต้อง เคาน์เตอร์ เพรสซิ่ง หรือกดดันเพื่อแย่งชิงบอลกลับมาด้วยการเสมือนเพิ่มจำนวนผู้เล่นมิดฟิลด์เพื่อ overload ให้ทีมมีประสิทธิภาพในการเพรสซิ่งดีขึ้น และช่วยบีบให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นบอลได้เฉพาะด้านกว้าง

หรือต้องเป็นฝ่ายตั้งรับค่อนข้างเยอะ False 9 (เช่น เลอันโดร ทรอสซาร์ด ในเกมกับไบร์ทตัน กับลิเวอร์พูล) ยังสามารถช่วยสกรีนไม่ให้บอลจ่ายไปถึงมิดฟิลด์ หรือคอยทำหน้ากดดันเซนเตอร์แบ็คที่จะออกบอลแรก ได้ด้วย

ใครคือตัวอย่าง False 9 ที่ดีที่สุดบ้าง?

ลิโอเนล เมสซี

ลิโอเนล เมสซี ถูกใช้อย่างโด่งดังในฐานะ False 9 สมัยการคุมบาร์เซโลนาของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา เนื่องมาจากความสามารถของเขาในการรับ-จ่ายบอล ระหว่างพื้นที่แดนกลาง และแดนหลังฝั่งตรงข้าม เขาสามารถพลิกตัว และแทงทะลุ รวมถึงการไปกับบอลด้วยการเลี้ยงบอลอันยอดเยี่ยม เมสซีเก่งฉกาจในการรับบอลแบบ ฮาล์ฟเทิร์น นั่นทำให้เขาสามารถสร้างตัวตนในพื้นที่ด้วยการถอยตัวเองลงมาต่ำแล้วพลิก และสามารถพาบอลจี้ไปที่เซ็นเตอร์แบ็คได้ อีกทางหนึ่ง ถ้าเขาถูกตามด้วย 1 ในเซ็นเตอร์แบ็ค เขาก็เลี้ยงบอลหนีความกดดัน และมองหาปีกซึ่งมักจะอยู่ในแนวหน้าที่ขึ้นไปทดแทนตำแหน่งหมายเลข 9 ที่ว่างลงไปได้ ปีกเหล่านี้ออกสตาร์ทในตำแหน่งริมเส้นเสมอ ก่อนจะวิ่งเข้าไปในพื้นที่ว่างระหว่างกองหลังเพื่อทำเกมบุก

เชส ฟาเบรกาส

เชส ฟาเบรกาส ได้ถูกใช้เป็น False 9 กับบาร์เซโลนาภายใต้การคุมทีมของ ตาตา มาร์ติโน และในทีมสเปน ชุดคว้าแชมป์ ยูโร 2012 ภายใต้ บิเซนเต เดล บอสเก โดยฟาเบรกาสถูกใช้เป็นส่วนใหญ่ เพราะความสามารถในการเล่นบอลภายใต้ความกดดันในพื้นที่ระหว่างไลน์ อีกทั้งตำแหน่งของฟาเบรกาสยังทำให้กองกลางฝ่ายตรงข้ามมักจะตามมาประกบ หรือพยายามสกัดกั้นการจ่ายบอลให้เขาจนเกิดช่องว่างให้เพื่อนร่วมทีมอย่าง เซร์คิโอ บุสเกสต์, ชาบี เอร์นานเดซ และ อันเดรียส อิเนียสตา – ทั้งในระดับสโมสร และประเทศ – เล่นได้ง่ายขึ้น คอนโทรลเกมได้เนียนขึ้น โดยเฉพาะการเจาะเข้าแดนสุดท้ายคู่แข่ง

คาริม เบนเซมา

คาริม เบนเซมา ได้แสดงให้เห็นคุณลักษณะของ ฟอลต์ ไนน์ ในบางครั้งตลอดอาชีพค้าแข้งของเขาที่เรอัล มาดริด แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การคุมทีมของ ซีเนอดีน ซีดาน การดร็อปตัวไปยังตำแหน่งด้านข้าง เปิดโอกาสให้นักเตะอย่าง คริสเตียโน โรนัลโด หรือแกเร็ธ เบล ได้พุ่งไปรับบอลบนในพื้นที่ที่สูงกว่าเพื่อเข้าทำได้อย่างตื่นตาตื่นใจบ่อยครั้ง

ใครอีกบ้างที่เป็นตัวอย่างของ False 9?

แฮร์รี เคน ภายใต้การคุมทีมของ โชเซ มูรินโญ่ แห่ง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และภายใต้ แกเร็ธ เซาธ์เกต แห่งทีมชาติอังกฤษ

โรแบร์โต ฟีร์มิโน ที่เล่นให้ ลิเวอร์พูล ภายใต้ เจอร์เกน คล็อปป์

ฟรานเชสโก ต็อตติ เล่นให้กับ อาแอส โรมา ภายใต้การคุมทีมของ ลูเซียโน สปัลเล็ตติ

คาร์ลอส เตเบซ เล่นให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทีมของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

ไมเคิล เลาดรูป ภายใต้การทำทีมของ โยฮันน์ ครอยฟ์ ที่บาร์เซโลนา

โยฮันน์ ครอยฟ์ ภายใต้การทำทีมของ ไรนุส มิเชล ที่ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม

ราฮีม สเตอร์ลิง, แฟร์รัน ตอร์เรส, แบร์นาร์โด ซิลวา, เควิน เดอ บรอยน์ และ อิลกาย กุนโดกัน ฯลฯ ล้วนเล่นบทบาทนี้ให้กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ภายใต้ เป๊ป กวาร์ดิโอลา

ประโยชน์ของการเล่น False 9 คืออะไร?

การดร็อปตัวลงของ False 9 จะช่วยสร้างพื้นที่ในแนวรับฝ่ายตรงข้ามให้เกิดขึ้น เพราะหากเซนเตอร์ฮาล์ฟตามมาเพรส พื้นที่ก็จะเกิดขึ้นด้านหลังให้เพื่อนร่วมทีมของเรา โดยปกติแล้วก็จะเป็นกองหน้าริมเส้น หรือมิดฟิลด์ตัวรุก ที่จะวิ่งพุ่งเข้าไป

หรือถ้าฟูลแบ็คหุบเข้ามา เพราะเซนเตอร์ฯ ตาม False 9 ไป พื้นด้านข้างก็จะว่างให้มิดฟิลด์ หรือกองหน้าตัวริมเส้นได้เล่นโดยง่าย

หรือหากไม่มีใครตามมา กองหน้า False 9 ก็จะจับบอล ครองบอล และเล่นกับบอลได้โดยง่ายในพื้นที่ระหว่างไลน์นั้น

หรือมิดฟิลด์ดร็อปตัวลงไปช่วยประกบ False 9 ผู้เล่นมิดฟิลด์ของเราก็จะเข้าไปครอบครองแดนกลางฝ่ายตรงข้ามได้ รวมความแล้ว หากมีนักเตะที่เข้าอกเข้าใจในหน้าที่นี้ False 9 จะมีคุณประโยชน์ในหลากหลายมิติการเล่นที่ยากจะป้องกัน

อะไรคือข้อเสียในการเล่น ฟอลต์ ไนน์?

การเล่น False 9 จำเป็นต้องมีกองหน้าคนทำหน้าที่นี้ที่ครองบอลได้อย่างดีเยี่ยม และไปกับบอลได้ดีภายใต้ความกดดันระหว่างพื้นที่แนวรับ และแนวมิดฟิลด์คู่แข่ง หากปราศจาก (ความเข้าใจ และความสามารถ) นั้น False 9 ก็จะไร้ประโยชน์ นอกจากนี้ การมี False 9 หมายความว่าจะไม่มีการโจมตีหลังไลน์รับของฝ่ายตรงข้ามทันทีจากตรงกลาง ดังนั้น กองหลังฝั่งตรงข้ามอาจจะมีความกดดันที่ลดลง

นอกจากนี้การดร็อปตัวของ False 9 ยังอาจทำให้ เชนเตอร์แบค ฝั่งตรงข้ามมีงานที่เบาลงตามไปด้วย เพราะบอลครอสส์จากด้านข้างเข้าตรงกลางจะไม่มีหน้าเป้าเข้าทำโดยตรง (เช่น เฟียร์มิโน ดังนั้นจึงต้องชมเชยว่า โชตา แก้ปัญหานี้ได้ดี)

และหากฝ่ายตรงข้ามตั้งกองหลังไว้สามคน พวกเขามักจะสามารถจัดการพื้นที่ตรงกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับ False 9 เพราะกองหลังคนใดคนหนึ่งจะตามไปประกบได้โดยทิ้งอีก 2 คนไว้แบบไม่เสียหาย (ยกเว้น เคส แมนฯยูไนเต็ด 0 – 2 แมนฯซิตี้ ที่ผ่านมา!!!)

เรียบเรียง: ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์ และสมศักดิ์ จันทวิชชประภา

ข้อมูล: อนันต์ อมรเกียรติ และ Coachesvoice