Categories
Football Business

ส่อง “สปอนเซอร์บนชื่อสนาม” ในลีกลูกหนังสเปน

การนำชื่อขององค์กรทางธุรกิจ ไปปรากฏอยู่ในชื่อสนามแข่งขันของทีมกีฬา มีจุดเริ่มต้นจากวงการกีฬาอเมริกันเกมส์ ในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่โมเดลดังกล่าว จะเข้าสู่วงการฟุตบอลยุโรปในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม การนำชื่อแบรนด์สินค้าไปผูกติดกับชื่อสนามฟุตบอล ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากสนามฟุตบอล ถือเป็นวัฒนธรรม ที่ยึดโยงกับชุมชน และแฟนลูกหนังมายาวนานหลายสิบปี

แต่วงการฟุตบอลในยุคสมัยใหม่ ที่กลายเป็นธุรกิจแบบเต็มตัว หลาย ๆ สโมสรเริ่มมองหาวิธีใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น นอกเหนือจากรายได้ในวันแข่งขัน และค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

ในฤดูกาล 2022/23 มี 3 สโมสรจากลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ (LaLiga Santander) ที่มีการนำชื่อสปอนเซอร์ทางธุรกิจ มารวมอยู่ในชื่อสนามเหย้า ได้แก่ บาร์เซโลน่า, แอตเลติโก มาดริด และอัลเมเรีย

นอกจากนี้ ยังมีสโมสรอีบิซ่า จากลีกดิวิชั่น 2 (LaLiga SmartBank) ที่เปลี่ยนชื่อรังเหย้าเป็น “พาลาเดียม แคน มิสเซส” ตามชื่อของ Palladium แบรนด์ธุรกิจโรงแรมจากเกาะอีบิซ่า ในสเปน เป็นเวลา 3 ฤดูกาล

ก่อนหน้านี้ เคยมีสโมสรในลาลีกา ที่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อสนามตามสปอนเซอร์มาแล้ว อย่างเช่น เซลต้า บีโก้ ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “อาบังก้า บาลาอิโดส” ตามชื่อของ Abanca บริษัทการเงินของสเปน

หรือกรณีของเรอัล โซเซียดัด ที่มีชื่อสนามว่า “เรอาเล่ อารีน่า” มาจาก Reale Seguros บริษัทประกันภัยของสเปน รวมถึงเรอัล มายอร์ก้า ที่เปลี่ยนชื่อเป็น “บิซิต มายอร์ก้า เอสตาดี้” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

บาร์เซโลน่า : สปอติฟาย คัมป์ นู

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บาร์เซโลน่า ได้บรรลุข้อตกลงกับ Spotify แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชื่อดังจากประเทศสวีเดน ในการเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสร เซ็นสัญญาระยะยาวถึง 12 ปี หรือสิ้นสุดในปี 2034

ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบาร์ซ่า ที่จะใช้ชื่อสปอนเซอร์รวมกับชื่อสนาม นั่นคือ “สปอติฟาย คัมป์ นู” โดยจะนำเงินทุนไปดำเนินโครงการ Espai Barca ในการปรับปรุงสนามแข่งขัน และพื้นที่โดยรอบ

โจน ลาปอร์ต้า ประธานสโมสร “เจ้าบุญทุ่ม” เปิดเผยว่า “นี่คือดีลครั้งประวัติศาสตร์ของเรา ความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้แฟน ๆ ใกล้ชิดกับสโมสรมากยิ่งขึ้น ด้วยการผสมผสานระหว่างความบันเทิงกับฟุตบอล”

แอตเลติโก มาดริด : ซิบิตาส เมโทรโปลิตาโน่

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แอตเลติโก มาดริด ได้มีสปอนเซอร์รายใหม่เข้ามาสนับสนุน คือ Cívitas บริษัทด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังในประเทศสเปน เซ็นสัญญาเป็นระยะเวลา 10 ปี

ทำให้สนามแข่งขันของแอต. มาดริด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ซิบิตาส เมโทรโปลิตาโน่” ตามชื่อของผู้สนับสนุนใหม่ พร้อมกับการดำเนินโครงการสร้างศูนย์ฝึกซ้อมแห่งใหม่ รวมถึงรังเหย้าของทีมสำรอง ความจุ 6,000 ที่นั่ง

อเลฮานโดร อยาล่า ประธานของ “ซิบิตาส” กล่าวว่า “เราจะร่วมมือกับแอตเลติโก มาดริด ในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับผู้คน ทั้งด้านสุขภาพ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม”

อัลเมเรีย : เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม

อัลเมเรีย ทีมน้องใหม่ที่ได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุด ในฤดูกาลนี้ ได้เปลี่ยนชื่อสนามเหย้าเป็น “เพาเวอร์ ฮอร์ส สเตเดี้ยม” โดยมาจากชื่อของ “Power Horse” แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังจากประเทศออสเตรีย

โมฮัมเหม็ด เอล อาสซี่ ซีอีโอของ “เดอะ อินดาลิกอส” กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่เพาเวอร์ ฮอร์ส ได้ให้ความไว้วางใจในการเข้ามาสนับสนุนสโมสร เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยอดเยี่ยมนับจากนี้ไป”

การนำชื่อแบรนด์สินค้า ไปอยู่บนชื่อสนามฟุตบอล ถือเป็นทางออกแบบ “วิน-วิน” เพราะแบรนด์สินค้า จะได้พื้นที่ประชาสัมพันธ์ธุรกิจของตัวเอง ขณะที่ทีมกีฬาก็จะได้เงินไปลงทุนต่อยอดตามที่ต้องการ

แม้ว่า การขายลิขสิทธิ์ชื่อสนาม อาจจะกระทบถึงความรู้สึกของแฟนบอลอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับทีมฟุตบอลแล้ว ก็อาจจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด ในการนำเงินเข้ามาบริหารสโมสรให้อยู่รอดต่อไป

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/udalmeriasad
Categories
Special Content

นิโก้ กอนซาเลซ : มิดฟิลด์ดาวรุ่ง กับการพิสูจน์ตัวเองครั้งใหม่ที่บาเลนเซีย

นิโก้ กอนซาเลซ ถือเป็นนักเตะดาวรุ่งพุ่งแรงของบาร์เซโลน่า ถูกดันขึ้นมาตั้งแต่ยุคของโรนัลด์ คูมัน และได้กลายมาเป็นผู้เล่นคนสำคัญมาอย่างต่อเนื่องจนถึงยุคของอย่างซาบี้ เอร์นานเดซ กุนซือคนปัจจุบัน

ทว่า “เจ้าบุญทุ่ม” ได้ตัดสินใจปล่อยตัวมิดฟิลด์ดาวรุ่งชาวสเปนวัย 20 ปีรายนี้ ไปให้บาเลนเซีย คู่แข่งร่วมลาลีกา ยืมตัวไปใช้งานจนจบฤดูกาล 2022/23 แม้ว่าจะเพิ่งต่อสัญญาฉบับใหม่ออกไปจนถึงปี 2026 ก็ตาม

ประวัติส่วนตัวของนิโก้ เป็นลูกชายแท้ ๆ ของ ฟราน กอนซาเลซ อดีตกัปตันทีมเดปอร์ติโบ ลา คอรุนญ่า ชุดคว้าแชมป์ลีกสูงสุด เมื่อซีซั่น 1999/2000 รวมทั้งแชมป์โคปา เดล เรย์ 2 สมัย และสแปนิช ซูเปอร์ คัพ 3 สมัย

ความฝันของนิโก้ คือการคว้าแชมป์ลาลีกาตามรอยคุณพ่อของเขา ซึ่งเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า “คุณพ่อดูแลผมอยู่ตลอดเวลา ประสบการณ์ในระดับสูงของคุณพ่อ สามารถช่วยผมได้”

เส้นทางนักฟุตบอลของนิโก้ เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 7 ขวบ กับทีมเยาวชนของมอนตาเนรอส และอีก 4 ปีต่อมา ก็ได้เข้าสู่ “ลา มาเซีย” ศูนย์ฝึกของบาร์เซโลน่า เขาเติบโตอย่างรวดเร็วจนได้ลงเล่นกับทีมสำรองครั้งแรกในวัย 17 ปี

ฟอร์มการเล่นที่โดดเด่นกับทีมสำรอง ทำให้ โรนัลด์ คูมัน เทรนเนอร์ของบาร์ซ่าในเวลานั้น ตัดสินใจดันนิโก้ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่แบบเต็มตัว และได้ลงสนามเป็นนัดแรก ในเกมเปิดฤดูกาล 2021/22 ที่เอาชนะเรอัล โซเซียดัด 4 – 2

เมื่อซีซั่นที่แล้ว บาร์เซโลน่าได้มองถึงนโยบายระยะยาว โดยได้ใช้งานผู้เล่นดาวรุ่งมากขึ้น เพื่อพาสโมสรกลับคืนสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้ง ทำให้พวกเขาคือทีมที่มีอายุเฉลี่ยของนักเตะน้อยที่สุดเป็นอันดับ 3 ของลาลีกา

ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงกุนซือจากคูมัน มาเป็น ซาบี้ เอร์นานเดซ อดีดตำนานมิดฟิลด์ของเจ้าบุญทุ่ม แต่นิโก้ก็ยังเป็นผู้เล่นคนสำคัญมาโดยตลอด ซึ่งเจ้าตัวลงเล่นไปทั้งหมด 37 นัดรวมทุกรายการ ทำได้ 2 ประตู

สไตล์การเล่นของนิโก้ เป็นนักเตะที่มีวิสัยทัศน์ในการอ่านเกมพื้นที่บริเวณกลางสนาม เล่นได้หลากหลายตำแหน่งในแผงกองกลาง ทั้งมิดฟิลด์ตัวรับที่คอยคุมจังหวะของเกม หรือมิดฟิลด์ตัวรุกที่ขึ้นไปโจมตีแนวรับคู่แข่ง

สโมสรยักษ์ใหญ่จากคาตาลัน ยังคงมั่นใจในศักยภาพของนิโก้ ที่จะสามารถพัฒนาฝีเท้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต จึงตัดสินใจขยายสัญญาฉบับใหม่ อยู่โยงในถิ่นสปอติฟาย คัมป์ นู ต่อไปจนถึงปี 2026

แต่ทางบาร์ซ่า ต้องการให้นิโก้สั่งสมประสบการณ์การค้าแข้งในลีกระดับสูงสุดให้มากขึ้น ด้วยการปล่อยให้ บาเลนเซีย ของเจนนาโร่ กัตตูโซ่ เฮดโค้ชคนใหม่ชาวอิตาเลียน ยืมตัวไปใช้งานจนจบซีซั่นนี้ โดยไม่มีออปชั่นซื้อขาด

นิโก้ ได้โอกาสลงสนามให้กับบาเลนเซียในลาลีกา ฤดูกาลใหม่ ในฐานะตัวสำรองทั้ง 2 นัด รวมทั้งสิ้น 44 นาที เริ่มจากเกมเปิดซีซั่นที่เปิดบ้านชนะกิโรน่า 1 – 0 และนัดล่าสุดที่บุกไปแพ้แอธเลติก บิลเบา 0 – 1

สำหรับบาเลนเซีย ในฤดูกาลใหม่ ยังคงเน้นไปที่การสร้างทีมด้วยนักเตะดาวรุ่งเป็นหลัก ต่อเนื่องจากฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งในเวลานี้ “โลส เช” เป็นทีมที่มีอายุเฉลี่ยของนักเตะน้อยที่สุดในลาลีกา เพียง 23.4 ปีเท่านั้น

นักเตะดาวรุ่งของบาเลนเซียในซีซั่นนี้ อาทิเช่น อูโก้ ดูโร่, ซามูเอล ลิโน่, ยูนุส มูซ่าห์, เธียร์รี่ คอร์เรอา, อูโก้ กิลลามอน และจอร์จี้ มามาร์ดาชวิลี่ ซึ่งนิโก้ กอนซาเลซ ก็พร้อมแล้วกับโอกาสครั้งใหม่ในถิ่นเมสตาย่า

Categories
Our Work

สนุกมากกว่าเดิม! “ลาลีกา” จัดเต็มให้แฟนบอลไทยลุ้นตลอดซีซั่น เกาะติดเกมลูกหนังผ่านแอพ LaLiga Pass

“ลาลีกา” จัดเต็มซีซั่น 2022/23 ให้แฟนบอลไทยลุ้นสนุกมากกว่าเดิม จาก 380 แมตช์ตลอดฤดูกาลผ่าน  “LaLiga Pass” เทคโนโลยีการถ่ายทอดสดที่ทันสมัยสุดในโลก อีกทั้งมีการพัฒนาด้านคอนเทนท์ที่ทำให้แฟนลูกหนังในประเทศไทยได้ใกล้ชิดลีกกระทิงดุมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2022 ณ ร้านอาหาร Reunion ชั้น 5 ตึก D.O.M. ปากซอยวิภาวดี 20 “ลาลีกา ประเทศไทย” ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวฟุตบอล ลาลีกา สเปน ฤดูกาลใหม่ 2022-23 ผ่านเทคโนโลยีการถ่ายทอดสดอันทันสมัยที่สุดในโลก พร้อมเชิญสื่อกีฬาร่วมพูดคุยแบบเรียบง่ายและกันเอง ภายใต้อีเวนท์ “WHAT HAPPENS IN LALIGA STAYS WITH YOU”

โดย มร.จอร์โจ ปอมปิลิ รอสซี ตัวแทน ลาลีกา ประเทศไทย กล่าวว่า “ฟุตบอลลาลีกา สเปน ฤดูกาล 2022/23 เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้วกับความตื่นเต้นครั้งใหม่ที่อุดมไปด้วยนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ และการแข่งขันที่เข้มข้นกว่าทุก ๆ ฤดูกาลที่ผ่านมา ผ่านเทคโนโลยีการถ่ายทอดสดที่ทันสมัยที่สุดในโลก จาก 380 แมตช์ตลอดฤดูกาล มีเกมสำคัญให้แฟน ๆ ได้ติดตาม ทั้ง “มาดริดดาร์บี้” (เรอัล มาดริด – แอตเลติโก มาดริด), “เอล กลาซิโก้” (เรอัล มาดริด – บาร์เซโลน่า) รวมถึงดาร์บี้แมตช์อื่น ๆ เช่น ดาร์บี้แห่งคาตาลัน (บาร์เซโลน่า – เอสปันญ่อล), ดาร์บี้แห่งบาสก์ (เรอัล โซเซียดัด – แอธเลติก บิลเบา) และดาร์บี้แห่งอันดาลูเซีย (เรอัล เบติส – เซบีย่า)”

“ลาลีกา ยังเป็นผู้นําในการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลสําหรับแฟน ๆ ในประเทศไทย คือการเปิดตัว LaLiga Pass ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่ถ่ายทอดสดฟุตบอล LaLiga Santander และ LaLiga SmartBank ครบทุกแมตช์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ, เว็บไซต์ และสมาร์ททีวี 

โดยแฟนฟุตบอลชาวไทยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดครบทุกแมตช์ ผ่านทางแอพลิเคชั่น LaLiga Pass และมีการบรรยายเป็นภาษาไทยด้วยในบางแมตช์ โดยสามารถสมัครสมาชิกแบบรายเดือน หรือทั้งฤดูกาล ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่น True Money บนโทรศัพท์มือถือทั้งระบบ iOS และ Android” 

“สำหรับคอนเทนท์ใหม่ ที่จะมีอยู่ใน LaLiga Pass นับจากนี้ มีทั้งรายการสั้น, สารคดี และแมตช์ลาลีกาสุดคลาสสิก ที่สามารถรับชมได้ฟรี นอกจากนี้ ยังมีคอนเทนท์ที่จัดทำขึ้นเฉพาะในประเทศไทย กับรายการใหม่ “LaLiga Pass Show” วิเคราะห์เจาะลึกลาลีกาในทุกสัปดาห์ โดย 3 กูรูฟุตบอลสเปนชาวไทย ขวัญ ลามาเซีย, เจมส์ ลาลีกา และลูกชิ้น เสพติดบอลสเปน”

สำหรับลาลีกา ในฤดูกาลนี้ ได้รับการคาดหมายว่า จะเป็นการแข่งขันที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรอบหลายทศวรรษ นำโดยเรอัล มาดริด ที่ตั้งเป้าจะป้องกันแชมป์ให้ได้อีกครั้ง และผู้ท้าชิงตลอดกาลอย่างบาร์เซโลน่า ของซาบี เอร์นานเดซ ที่มีความทะเยอทะยาน หวังทวงความยิ่งใหญ่กลับคืน รวมถึงแอตเลติโก มาดริดและเซบีย่า ที่พร้อมสอดแทรกลุ้นแชมป์เช่นเดียวกัน

ส่วนทีมระดับรองลงมา อย่างเช่น เรอัล เบติส เจ้าของแชมป์โคปา เดล เรย์ จากซีซั่นที่แล้ว, เรอัล โซเซียดัด, บียาร์เรอัล และบาเลนเซีย ยักษ์หลับที่ห่างหายจากความสำเร็จไปนาน ซึ่งพวกเขาพร้อมที่จะยกระดับทีมให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา รวมถึง 3 ทีมน้องใหม่ ได้แก่ อัลเมเรีย, เรอัล บายาโดลิด และกิโรน่า ที่อาจสร้างเซอร์ไพรส์ชนิดที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้

ก่อนเริ่มต้นฤดูกาลนี้ ลาลีกาได้มีผู้เล่นดาวดังเข้ามาใหม่หลายราย อาทิเช่น ออเรเลียง ชูอาเมนี่, อันโตนิโอ รูดิเกอร์, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้, อักเซล วิตเซล เป็นต้น สมทบกับหน้าเก่าทั้งคาริม เบนเซม่า, เปดรี้, เจา เฟลิกซ์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีบรรดานักเตะดาวรุ่งอายุน้อยที่น่าจับตามอง เช่น กาบี้, เอดูอาร์โด้ คามาวิงก้า, นิโก้ วิลเลี่ยมส์, อเล็กซานเดอร์ อิซัค ฯลฯ

ในส่วนของสิทธิประโยชน์นอกสนาม ลาลีกาได้บรรลุข้อตกลงขายหุ้นให้กับ CVC มูลค่ากว่า 2 พันล้านยูโร เงินจำนวนนี้ จะถูกกระจายไปให้ทั้ง 44 สโมสรที่อยู่ภายใต้การดูแลของลาลีกา ทั้งดิวิชั่น 1 (LaLiga Santander) และดิวิชั่น 2 (LaLiga SmartBank) ในฤดูกาล 2022/23

ขณะที่สปอนเซอร์ Banco Santander จะเป็นสปอนเซอร์ชื่อการแข่งขันเป็นฤดูกาลสุดท้าย ขณะที่ Mahou San Miguel และ TVM ร่วมกับ PUMA, EA Sports, Microsoft, BKT, Sorare, Socios.com และ Dapper จะเป็นสปอนเซอร์หลักอย่างเป็นทางการ ส่วนผู้สนับสนุนลาลีกาในประเทศไทย ได้แก่ M88

LaLiga Pass พัฒนาขึ้นโดย LaLiga Tech ซึ่งเป็นบริษัทย่อยด้านเทคโนโลยีของลาลีกาโดยเฉพาะ โดยจะนำเสนอการแข่งขันลาลีกาทั้งแบบสด และดูย้อนหลังครบทุกแมตช์ ในรูปแบบ OTT สามารถเลือกรับชมได้ตามความต้องการ ทุกที่ ทุกเวลา นอกจากนี้ยังมีไฮไลท์การแข่งขัน, บทสัมภาษณ์สุดพิเศษ และเนื้อหาอื่น ๆ ที่มานำเสนอทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือ 24/7

มร.อัลเฟรโด้ แบร์เมโจ้ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธิ์ดิจิทัลของลาลีกา กล่าวเสริมว่า “เรามีความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในการนำเสนอบริการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ให้กับแฟน ๆ ของเรา เพื่อให้เพลิดเพลินกับประสบการณ์อันยอดเยี่ยมที่ได้รับจาก LaLiga Pass การเพิ่มคอนเทนท์เป็นภาษาท้องถิ่น และอุปกรณ์ที่รองรับมากขึ้น เป็นเพียงบางส่วนที่เรากำลังทำขึ้นมาสำหรับฤดูกาลใหม่เพื่อทำให้แฟนลูกหนังในประเทศไทยได้ใกล้ชิดลีกกระทิงดุมากขึ้น”

LaLiga Pass ยังเป็นตัวแทนของรูปแบบธุรกิจใหม่ ที่จะปรับปรุงประสบการณ์ของแฟน ๆ ที่ติดตามลาลีกาจากทั่วโลก และช่วยดึงดูดแฟนบอลหน้าใหม่ให้มากขึ้น รวมถึงการนำเสนอเทคโนโลยีที่สามารถใช้ประโยชน์จากบริษัทอื่น ๆ ผ่าน LaLiga Tech

สุดท้ายดาวน์โหลดเลยรับชมความสนุกที่นี่ได้เลย : https://bit.ly/3KZimxr

Categories
Column

“เมสซี่ x ซัวเรซ” : เราและนาย..เพื่อนกันตลอดกาล

แม้ตัวห่างไกลแต่หัวใจยังใกล้ชิด อีกหนึ่งเรื่องราวมิตรภาพดีๆที่เพิ่งเกิดขึ้นระหว่างสองยอดกองหน้าเวิลด์คลาส “ลิโอเนล เมสซี่” กับ “หลุยส์ ซัวเรซ” ซึ่งเริ่มสร้างสายใยความผูกพันช่วงเป็นนักเตะร่วมค่ายบาร์เซโลน่าระหว่างปี 2014 – 2020  เมื่อเมสซี่ไม่เพียงอัดคลิปร่วมแสดงความยินดีที่ซัวเรซกลับคืนสู่รากเหง้าของอาชีพค้าแข้งกับสโมสรนาซิอองนาล แต่ยังให้ยืมเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวพาเพื่อนรักเดินทางไปยังประเทศอุรุกวัยอีกด้วย

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองผูกพันขนาดไหนเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2020 เมสซี่ขอขื้นบัญชีย้ายทีมขณะเหลือสัญญากับบาร์โซลน่าอีกหนึ่งปี เหตุผลลึกๆแล้วเขาไม่พอใจที่สโมสรขายซัวเรซไปให้แอตเลติโก มาดริด ในราคาแค่หกล้านยูโร แถมโรนัลด์ คูมัน ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีม พูดจาตัดเยื่อใยไม่ให้เกียรติเพื่อนรักของเขา แม้ท้ายที่สุดเมสซี่ยอมเล่นให้บาร์ซ่าแต่นั่นเพราะไม่อยากมีคดีความ

เป็นที่ทราบผ่านหน้าข่าวว่า เมสซี่และซัวเรซรวมถึงภรรยาและลูกๆของทั้งสองมักหาโอกาสไปท่องเที่ยวพักผ่อนด้วยกันช่วงไม่มีแข่งฟุตบอล แม้ซัวเรซเคยให้สัมภาษณ์ เอล ปาอิส หนังสือพิมพ์ในอุรุกวัยว่า “เอ็นเอสเอ็น” ฟรอนท์ทรีจากอเมริกาใต้ของบาร์เซโลน่า ตัวเขา เมสซี่ และ เนย์มาร์ สนิทกันทั้งในและนอกสนาม แต่แหล่งข่าววงระบุว่าเมสซี่เป็นเพื่อนสนิทที่สุดในบาร์เซโลน่าของซัวเรซ

“พวกเรามีเรื่องให้หัวเราะกันได้เสมอ เราหัวเราะทั้งในและนอกสนาม เนย์เป็นคนสนุก ลีโอก็ด้วยแม้ผู้คนจะไม่ค่อยมองเขาในลักษณะนั้นนัก ความสัมพันธ์นี้ส่งผลดีและช่วยเหลือพวกเรา”

“ลีโอมีลูกคนหนึ่งที่แก่กว่าเบนญ่าของผม และอีกคนก็อ่อนกว่าเดลฟี่ ลูกๆชอบเล่นด้วยกัน ผมกับลีโออายุใกล้กัน เราชอบเล่าเรื่องกระจุกกระจิกเล็กๆน้อยๆสมัยเป็นวัยรุ่น พ่อแม่ญาติๆก็เข้ากันได้ดี”

แม้ต้องแยกจากกันเมื่อซัวเรซย้ายไปอยู่แอตเลติโก มาดริด ทั้งสองยังติดต่อกัน สตาร์ทีมชาติอุรุกวัยเปิดใจกับ มาร์ก้า สื่อใหญ่ประเทศสเปน ช่วงปลายปี 2020 ว่า “เราคุยกันเยอะนะแต่ด้วยความสัตย์จริง เราคุยเรื่องชีวิตทั่วๆไป” 

“เมื่อไม่นานมานี้เป็นวันเกิดลูกคนหนึ่งของผม ของเขาด้วย เราคุยเรื่องชีวิตทั่วๆไป ไวรัสโควิด นู้นนั้นนี้ แต่คุยเรื่องฟุตบอลน้อยมากๆ พูดนิดหน่อยถึงการทำประตูที่พลาดหรือระบบแทคติกการเล่น ว่ากันตามจริงเราห่วงสิ่งที่อาจเกิดกับครอบครัวมากกว่าความเป็นไปของฟุตบอล”

ย้อนกลับไปปลายเดือนตุลาคม 2021 ซึ่งตอนนั้น เมสซี่ได้ย้ายไปค้าแข้งที่ปารีส แซงต์ แยร์กแมง หลังหมดสัญญากับบาร์เซโลน่า เดอะ มิร์เรอร์ สื่อแท็บลอยด์ชั้นนำของอังกฤษ รายงานว่าสองเพื่อนซี้ลาตินอเมริกันมีแผนเล่นด้วยกันอีกครั้งก่อนแขวนสตั๊ด

ช่วงฤดูร้อนปี 2023 หลังจบซีซั่น 2022-23 เมสซี่จะหมดสัญญากับเปแอสเช ตอนนั้นเมสซี่อายุ 36 ปีแล้ว ส่วนซัวเรซแก่กว่าหกเดือน ทั้งสองคงเริ่มมองหาสถานที่เพื่อปิดฉากชีวิตนักเตะอาชีพ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่เป้าหมายจะอยู่ที่สหรัฐอเมริกา โดย อินเตอร์ ไมอามี่ ซึ่ง เดวิด เบ็คแฮม เป็นเจ้าของสโมสร(ร่วม) มีความสนใจที่จะเซ็นสัญญาแพ็คคู่เพื่อให้เมสซี่และซัวเรซวิ่งเคียงบ่าเคียงไหล่บนฟลอร์หญ้าระดับอาชีพเป็นครั้งสุดท้าย

“เมสซี” ให้ยืมเจ็ตพา “ซัวเรซ” และครอบครัวกลับอุรุกวัย

ฤดูกาล 2022-23 เมสซี่ยังคงร่วมไล่ล่าความสำเร็จกับปารีส แซงต์ แยร์กแมง ซึ่งมุ่งมั่นครองแชมป์แชมเปี้ยนส์ ลีก ส่วนซัวเรซแยกทางกับแอตเลติโก มาดริด หลังหมดสัญญาสองปีที่เซ็นไว้ ดาวยิงวัย 35 ปี ซึ่งน่าจะลงสังเวียน เวิลด์คัพ เป็นครั้งสุดท้ายช่วงปลายปีนี้ ปฏิเสธข้อเสนอจาก แอลเอ เอฟซี ในเมเจอร์ ซอคเกอร์ ลีก แต่เลือกเดินทางกลับบ้านเกิด ประเทศอุรุกวัย เพื่อค้าแข้งกับ นาซิอองนาล ซึ่งเขาเคยค้าแข้งระหว่างปี 2005 – 2006 ก่อนเดินทางข้ามทวีปไปสร้างชื่อเสียงกับ โกรนิงเก้น, อาแจ็กซ์, ลิเวอร์พูล, บาร์เซโลน่า และ แอตเลติโก มาดริด

นาซิอองนาล เตรียมจัดงานเปิดตัวและต้อนรับการคืนสู่เหย้าของซัวเรซอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกิจกรรมเฉลิมฉลองความยาวร่วมสามชั่วโมงที่ กรัน ปาร์เก้ เซ็นทรัล สนามของสโมสร เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (31 ก.ค.2022)

ซัวเรซเดินทางจากแผ่นดินใหญ่ทวีปยุโรปมาถึงสนามบินนานาชาติที่คาร์ราสโก้ กรุงมอนเตวิเดโอ้ โดยมีโฮเซ่ ฟูเอ็นเตส ประธานสโมสร ให้การต้อนรับ ก่อนเดินทางตรงไปยังสนามที่มีแฟนบอลรออยู่ร่วมห้าหมื่นคน

ก่อนเริ่มงาน ซัวเรซเซลฟี่อัพขึ้นอินสตาแกรม เป็นภาพตัวเขาชูนิ้วโป้งให้กับเสื้อหมายเลข 9 ของเขาที่แขวนเป็นแถวอยู่ในห้องพักนักกีฬา พร้อมบรรยายความรู้สึกว่า การต้อนรับช่างเหลือเชื่อและไม่มีวันลืม ส่วนภรรยาก็ไม่น้อยหน้า โพสต์คลิปแฟนบอลที่ยืนให้การต้อนรับริมถนนระหว่างสนามบินถึงสนามแข่ง และรุมล้อมรถของซัวเรซด้วยความตื่นเต้นที่ได้ใกล้ชิดไอดอลของตัวเอง

ซัวเรซ พร้อมด้วยภรรยา โซเฟีย บัลบี้ และลูกทั้งสาม เดลฟิน่า เบนจามิน และเลาตาโร่ เดินทางมาลงสนามบินด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวมูลค่า 12 ล้านปอนด์ของเมสซี่ ซึ่งมีเบอร์ 10 อยู่ที่หางเครื่อง และแต่ละขั้นบันไดเป็นชื่อภรรยา แอนโตเนล่า รวมถึงลูกสามคน ติอาโก้ คีโร่ และมาเตโอ้

เครื่องบินเจ็ตสุดหรูสร้างโดยบริษัทแห่งหนึ่งในอาร์เจนตินา ออกแบบเพื่อให้ครอบครัวเมสซี่ใช้งานโดยเฉพาะ ประกอบด้วยห้องครัว สองห้องน้ำ และเก้าอี้ 16 ที่นั่ง ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเตียงนอน 8 เตียง

นอกจากส่งเครื่องบินเจ็ตมาอำนวยความสะดวกแก่การเดินทางของเพื่อน เมสซี่ยังอัดคลิปร่วมแสดงความยินดีซึ่งถูกเปิดภายในงานด้วย ขณะที่เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ 7 สมัย พักผ่อนอยู่ในแมนชั่นที่ค่าพักตกสัปดาห์ละ 250,000 ปอนด์ บนเกาะส่วนตัวทางชายฝั่งทะเลด้านเหนือของเกาะอีบิซ่า ประเทศสเปน

เมสซี่ ซึ่งเล่นกับซัวเรซที่บาร์เซโลน่านานหกปี กล่าวว่า “ฉันขอส่งกอดและอวยพรให้นายโชคดีกับช่วงเวลาใหม่ในอาชีพนักฟุตบอล นายรู้ดีว่าฉันรักนายมากแค่ไหน ฉันจะติดตามนาซิอองนาลจากที่นี่ พวกเราแฟนบอลทีมนีเวลล์มีความทรงจำไม่ค่อยดีกับพวกนาซิอองนาลเท่าไหร่ แต่นายก็รู้ ฉันห่วงใยนายและพร้อมไปที่นั่นเสมอเมื่อนายต้องการ หวังว่าเราจะได้เจอกันเร็วๆนี้ บาย!”

“เมสซี่” ขอย้ายออกบาร์ซ่าหลังไม่พอใจ “ซัวเรซ” ถูกโละไร้เยื่อใย

เหตุการณ์ที่เป็นประจักษ์พยานอย่างชัดเจนถึงความรักและความห่วงใยของเมสซี่ที่มีต่อซัวเรซ หนีไม่พ้นช่วงที่กองหน้าทีมชาติอุรุกวัย ซึ่งทำสกอร์ให้บาร์เซโลน่ารวม 198 ประตู ถูกขายให้แอตเลติโก มาดริด หลังจากคูมันเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมประมาณหนึ่งเดือน

ซัวเรซยอมรับว่าไม่พอใจคูมันปฏิบัติต่อเขาแบบไม่ให้เกียรติด้วยการคุยผ่านโทรศัพท์แค่ 40 วินาที ครั้งหนึ่งเขาเคยเล่าเรื่องนี้กับนักข่าวดัง เจอราร์ด โรเมโร่ ผ่านวิดีโอสตรีมมิ่ง ทวิตซ์ ว่า

“คูมันโทรศัพท์บอกผมโดยใช้เวลาเพียง 40 วินาที ซึ่งไม่ใช่วิธีที่สมควรใช้บอกลานักเตะระดับตำนาน เรื่องแรก เขาบอกว่าผมไม่อยู่ในแผนงานของเขา จากนั้นบอกว่า ถ้าไม่จัดการสัญญาให้เรียบร้อย ผมจะถูกลดบทบาท เขาไร้ซึ่งบุคลิกภาพที่ดีที่จะถ่ายทอดให้ชัดเจนว่าเขาไม่ต้องการผมหรือว่าสโมสรไม่ต้องการผมกันแน่”

ต่อจากนั้น ซัวเรซยังระบุด้วยว่า เมสซี่พยายามที่จะไปจากสโมสรหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

“ผมคุยเรื่องนี้กับโซเฟีย (ภรรยา) และลีโอหลังวางหูจากคูมัน มันเป็นวันเวลาที่ยากลำบากเมื่อมองจากทุกสิ่งที่ผมทุ่มเทให้สโมสร เมสซี่ทำเรื่องขอย้ายทีม ส่วนผมก็โดนให้ออก เป็นช่วงเวลาที่แย่มากสำหรับครอบครัวของเราสองคน”

เมื่อเพื่อนโดนทำร้าย ก็เหมือนตัวเองโดนทำให้บาดเจ็บด้วยเช่นกัน นั่นคือสิ่งที่เพื่อนอย่างเมสซี่แสดงปฏิกิริยาออกต่อคูมันและบาร์เซโลน่า

Categories
Special Content

ทำเนียบดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาล ของ 20 สโมสรลาลีกา 2022/23

“การทำประตู” ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์คลาสสิกที่เกิดขึ้นในการแข่งขันฟุตบอล และมีนักเตะบางคน ที่สร้างความมหัศจรรย์ ด้วยการยิงประตูเป็นกอบเป็นกำ จนถูกยกย่องให้เป็น “ตำนาน” ของสโมสรนั้น ๆ

ในประวัติศาสตร์ของลาลีกา สเปน ตลอด 91 ฤดูกาลที่ผ่านมา มีนักเตะทีทำประตูได้มากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วยลิโอเนล เมสซี่,  คริสเตียโน่ โรนัลโด้, เทลโม ซาร์ร่า, อูโก้ ซานเชซ และราอูล กอนซาเลซ

นอกจากดาวซัลโวประจำการแข่งขันแล้ว ยังมีนักเตะที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำประตูได้มากที่สุดของแต่ละสโมสรด้วย และนี่คือรายชื่อดาวยิงสูงสุดตลอดกาล ของทั้ง 20 ทีม ในลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ ซีซั่น 2022/23

แอธเลติก บิลเบา : เทลโม ซาร์ร่า (251 ประตู)

เทลโม ซาร์ร่า อดีตเจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของลาลีกา 251 ประตู จาก 277 นัดกับบิลเบา และชื่อของเขา ถูกนำไปตั้งเป็นรางวัล “ซาร์ร่า โทรฟี่” ที่มอบให้กับดาวซัลโวชาวสเปนในแต่ละซีซั่น

แอตเลติโก มาดริด : อาเดรียน อเสคูเดโร่ (150 ประตู)

อาเดรียน อเสคูเดโร่ เคยค้าแข้งให้กับแอต.มาดริด ในช่วงทศวรรษที่ 1940s ถึง 1950s และทำไปได้ถึง 150 ประตู จากการลงเล่น 287 นัด เฉพาะในลีกสูงสุด และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครที่ทำลายสถิตินี้ได้

โอซาซูน่า : ซาบิโน่ อันโดเนกุย (57 ประตู)

ซาบิโน่ อันโดเนกุย ลงเล่นให้กับโอซาซูน่ามามากกว่า 10 ฤดูกาล ในช่วงทศวรรษที่ 1950s ถึง 1960s ยิงได้ 57 ประตู จาก 131 นัด ในลาลีกา และสถิติดาวซัลโวตลอดกาลของเขา ก็ยังคงอยู่จนถึงตอนนี้

กาดิซ : มากิโก้ กอนซาเลซ (41 ประตู)

ช่วงที่ค้าแข้งกับกาดิซ มากิโก้ กอนซาเลซ ทำได้ 41 ประตู จาก 149 นัดในลาลีกา ทำให้สหพันธ์ประวัติศาสตร์และสถิติฟุตบอลนานาชาติ (IFFHS) ยกให้เป็นผู้เล่นชาวเอล ซัลวาดอร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา

เอลเช่ : ฮวน อังเคล โรเมโร่ อิซาซี่ (79 ประตู)

ฮวน อังเคล โรเมโร่ อิซาซี่ อดีตกองหน้าชาวปารากวัยของเอลเช่ ในช่วงทศวรรษที่ 1960s ถึง 1970sยังคงเป็นเจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของสโมสรแห่งนี้ ด้วยผลงาน 79 ประตู จาก 183 นัดในลาลีกา

บาร์เซโลน่า : ลิโอเนล เมสซี่ (474 ประตู)

เจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของบาร์เซโลน่า คงเป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกจากลิโอเนล เมสซี่ ซูเปอร์สตาร์ชาวอาร์เจนติน่า ลงเล่นตั้งแต่ปี 2004 – 2021 ถล่มตาข่ายได้ถึง 474 ลูก จาก 520 นัดเฉพาะในลีก

เกตาเฟ่ : มานู เดล โมราล (37 ประตู)

มานู เดล โมราล อดีตกองหน้าชาวสเปน ลงเล่นให้กับเกตาเฟ่ ตั้งแต่ซีซั่น 2006/07 ถึง 2010/11 ทำได้ 37 ประตู จาก 159 ในลาลีกา ซึ่งเขายังคงเป็นเจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของสโมสรจนถึงตอนนี้

กิโรน่า : คริสเตียน ซตูอานี่ (40 ประตู)

คริสเตียน ซตูอานี่ แม้จะเคยเล่นในลีกสูงสุดเพียงแค่ 2 ฤดูกาล แต่ยิงไปถึง 40 ประตู จาก 65 นัด และในฤดูกาลนี้ ก็หวังจะทำประตูเพิ่มอีก เพื่อครองสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของสโมสรนี้ไว้ให้นานที่สุด

ราโย บาเยกาโน่ : อัลแบร์โต้ บูเอโน่ (28 ประตู)

อัลแบร์โต้ บูเอโน่ อดีตแข้งอคาเดมี่ของเรอัล มาดริด เคยค้าแข้งอยู่กับราโย บาเยกาโน่ 2 ซีซั่น ทำได้ 28 ประตู จาก 73 นัดในลีกสูงสุด ซึ่งทำให้เขาเป็นเจ้าของสถิติดาวซัลโวสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรนี้

เซลต้า บีโก้ : ยาโก้ อัสปาส (133 ประตู)

8 ฤดูกาลในลาลีกาของยาโก้ อัสปาส กับเซลต้า บีโก้ ยิงได้ 133 ประตู จากการลงเล่น 269 นัด และแน่นอนว่า เขายังมีโอกาสเพิ่มสถิติไปได้เรื่อย ๆ ตราบใดที่สโมสรของเขา ยังคงโลดแล่นอยู่บนเวทีลีกสูงสุด

เอสปันญ่อล : ราอูล ตามูโด้ (130 ประตู)

ราอูล ตามูโด้ ตำนานกองหน้าชาวสเปน ช่วงปลายทศวรรษที่ 1990s ถึง 2000s ลงเล่นกับเอสปันญ่อล13 ฤดูกาล ทำได้ 130 ประตู จาก 340 นัด เฉพาะในลาลีกา ยึดอันดับ 1 ดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของสโมสร

เรอัล มายอร์ก้า : ซามูเอล เอโต้ (54 ประตู)

ก่อนที่จะโด่งดังกับบาร์เซโลน่า ซามูเอล เอโต้ กองหน้าชาวแคเมอรูน เป็นนักเตะเจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดอันดับ 1 ในประวัติศาสตร์ของเรอัล มายอร์ก้า ด้วยผลงาน 54 ประตู จาก 133 นัดในลีกสูงสุดของสเปน

เรอัล เบติส : โปลี่ รินคอน (78 ประตู)

โปลี่ รินคอน อดีตกองหน้าเรอัล เบติส ในช่วงทศวรรษที่ 1980s ลงเล่น 8 ฤดูกาล ยิงได้ 78 ประตู จาก 223 นัดในลาลีกา และยังคงเป็นเจ้าของสถิติผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลในประวัติศาสตร์สโมสร จนถึงปัจจุบันนี้

เรอัล มาดริด : คริสเตียโน่ โรนัลโด้ (311 ประตู)

คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ซูเปอร์สตาร์ชาวโปรตุเกส ผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของเรอัล มาดริดไปตลอดกาล ด้วยการระเบิดตาข่าย 311 ประตู จาก 292 เกมในลาลีกา ขึ้นแท่นดาวยิงสูงสุดอันดับ 1 ของสโมสรเรียบร้อย

เรอัล โซเซียดัด : เฆซุส มาเรีย ซาทรูสเตกี (133 ประตู)

เฆซุส มาเรีย ซาทรูสเตกี ตำนานกองหน้าของเรอัล โซเซียดัด ในช่วงทศวรรษที่ 1970s ถึง 1980s เขาคือเจ้าของสถิติอันดับ 1 ดาวซัลโวตลอดกาลของสโมสรแห่งนี้ ด้วยการยิง 133 ประตู จาก 297 นัด เฉพาะในลาลีกา

เรอัล บายาโดลิด : อลัน ปีเตอร์แนค (55 ประตู)

อลัน ปีเตอร์แนค กองหน้าชาวโครเอเชีย ลงเล่นให้กับเรอัล บายาโดลิด ตั้งแต่ฤดูกาล 1995/96 ถึง 1999/2000 ทำได้ 55 ประตู จาก 153 นัด ในลีกสูงสุด และยังครองตำแหน่งดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของสโมสรจนถึงปัจจุบัน

เซบีย่า : ฆวน อาร์ซ่า (181 ประตู)

ฆวน อาร์ซ่า สุดยอดดาวยิงของเซบีย่า ในช่วงทศวรรษที่ 1940s ถึง 1950s ลงเล่นให้กับเซบีย่าตั้งแต่อายุ 20 ปี ยิงได้ 181 ประตู จาก 347 นัด กลายเป็นเจ้าของสถิติดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของสโมสร จนถึงปัจจุบันนี้

อัลเมเรีย : อัลบาโร่ เนเกรโด้ (32 ประตู)

อัลบาโร่ เนเกรโด้ ดาวยิงเลือดมาดริด เคยค้าแข้งกับอัลเมเรีย สมัยที่ทีมอยู่ในลีกสูงสุด 2 ฤดูกาล และเขาคือเจ้าของสถิติผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลของสโมสรอยู่ในเวลานี้ โดยยิงไป 32 ประตู จาก 70 นัด

บาเลนเซีย : มุนโด้ (186 ประตู)

มุนโด้ อดีตตำนานนักเตะบาเลนเซีย ในช่วงทศวรรษที่ 1940s ถึง 1950s ยิงได้ถึง 186 ประตู จากการลงเล่น 208 นัด เฉพาะในลีกสูงสุด และครองอันดับ 1 ดาวยิงสูงสุดตลอดกาลของสโมสร จนถึงปัจจุบันนี้

บียาร์เรอัล : เคราร์ด โมเรโน่ (65 ประตู)

เคราร์ด โมเรโน่ กองหน้าเลือดคาตาลัน ลงเล่นกับบียาร์เรอัลเฉพาะในลีกสูงสุดมาแล้ว 5 ฤดูกาล ยิงได้ 65 ประตู จาก 146 นัด และยังคงเป็นหนึ่งในความหวังการทำประตูให้กับสโมสรแห่งนี้ เพื่อเพิ่มสถิติต่อไป

สำหรับลาลีกา สเปน 2022/23 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า มีนักเตะเพียง 3 คนเท่านั้น ที่ยังลงเล่นให้กับสโมสรปัจจุบัน คือ คริสเตียน ซตูอานี่, ยาโก้ อัสปาส และเคราร์ด โมเรโน่

ในวงการฟุตบอล นอกจากจะวัดความสำเร็จของทีมแล้ว ความสำเร็จส่วนบุคคลก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะเป็นตัวชี้วัดที่บอกถึงระดับความสามารถ และมูลค่าของนักฟุตบอลคนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

Categories
Special Content

“ฌูลส์ กุนเด้” แนวรับคนใหม่บาร์ซ่า กับ 5 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้

ชื่อของ “ฌูลส์ กุนเด้” เป็นที่พูดถึงมากขึ้น หลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในเกมรับของเซบีย่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ ต่างหมายปองที่จะล่าลายเซ็นของปราการหลังรายนี้มาให้ได้

โดยเฉพาะเชลซี เป็นทีมที่มีข่าวให้ความสนใจดาวเตะวัย 23 ปี มากที่สุด เพื่อหวังที่จะเข้ามาแทนที่ของอันโตนิโอ รูดิเกอร์ ที่ตัดสินใจย้ายไปเรอัล มาดริด แต่เป็นบาร์เซโลน่า ที่ยื่นข้อเสนอเข้ามาอย่างจริงจัง

ในที่สุด ก็เป็นเจ้าบุญทุ่มแห่งสเปน ที่ปาดหน้าคว้าเซ็นเตอร์แบ็กทีมชาติฝรั่งเศส ไปร่วมทีมด้วยค่าตัว 50 ล้านยูโร บวกกับแอด-ออนอีกประมาณ 5-10 ล้านยูโร กลายเป็นนักเตะใหม่คนที่ 6 ในช่วงซัมเมอร์นี้

ตลอด 3 ฤดูกาลกับเซบีย่า ในยุคของกุนซือฆูเลน โลเปเตกี กุนเด้ได้แสดงให้เห็นถึงความคงเส้นคงวาที่ดีในการเล่นเกมรับ เสียรวม 97 ประตู น้อยสุดเป็นอันดับ 3 รองจากเรอัล มาดริด และแอตเลติโก้ มาดริด

กุนเด้ ต้องการที่จะย้ายไปสปอติฟาย คัมป์ นู แทนที่จะเป็นสแตมฟอร์ด บริดจ์ เพราะมองว่ามีความทะเยอทะยานมากกว่า และนี่คือ 5 เรื่องราวของเขา ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/jkeey4

เติบโตกับอคาเดมี่ของบอร์กโดซ์

เมื่อปี 2013 กุนเด้ในวัย 15 ปี ได้เริ่มต้นฝึกวิชาฟุตบอลกับทีมเยาวชนของบอร์กโดซ์ ในฝรั่งเศส จากนั้นได้เลื่อนขึ้นสู่ทีมสำรอง ก่อนที่จะได้ลงสนามกับทีมชุดใหญ่ 70 นัด รวมทุกรายการ ตลอด 2 ซีซั่นกับบอร์กโดซ์

เคยเล่นตำแหน่งแบ็คขวามาก่อน

ในช่วงแรกที่อยู่กับบอร์กโดซ์ กุนเด้เล่นในตำแหน่งฟูลแบ็กฝั่งขวา แต่ในเวลาต่อมา กุสตาโว โปเยต์ กุนซือของทีมในเวลานั้น ขอให้เขาไปเล่นเซ็นเตอร์แบ็ก ซึ่งก็ทำได้ยอดเยี่ยม และกลายเป็นตำแหน่งการเล่นหลักในปัจจุบัน

อดีตเพื่อนร่วมทีมของชูอาเมนี่

กุนเด้ เคยเป็นเพื่อนร่วมสโมสรเดียวกับออเรเลียง ชูอาเมนี่ ตั้งแต่อยู่กับทีมเยาวชนของบอร์กโดซ์ และเมื่อชูอาเมนี่ย้ายไปเรอัล มาดริด ในซัมเมอร์นี้ นั่นหมายความว่า ทั้งคู่จะมีโอกาสพบกันในศึก “เอล กลาซิโก้” ซีซั่นนี้

เหตุผลที่สวมเสื้อหมายเลข 12

สมัยที่อยู่กับเซบีย่า กุนเด้เลือกสวมเสื้อหมายเลข 12 เพราะเป็นวันเกิดของเขา และได้แรงบันดาลใจจากเฟเดริก กานูเต้ ตำนานดาวยิงชาวมาลีที่เคยสร้างชื่อในถิ่นรามอน ซานเชซ ปิซฆวน ซึ่งสวมเสื้อหมายเลข 12

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/jkeey4

แฟนพันธุ์แท้บาสเกตบอล NBA

กุนเด้ เป็นผู้ที่หลงใหลในกีฬาบาสเก็ตบอลเป็นอย่างมาก และเคยไปชมการแข่งขัน NBA ที่สหรัฐอเมริกามาแล้ว โดยเขาเป็นแฟนคลับของอัลเลน ไอเวอร์สัน ตำนานนักยัดห่วงชื่อดัง เนื่องจากชื่นชอบในทรงผมสุดเท่

ถึงแม้ว่ากุนเด้จะมีส่วนสูงแค่ 179 เซนติเมตร แต่มีสไตล์การเล่นที่ครบเครื่อง ทั้งความแข็งแกร่ง ยืนตำแหน่งได้ดี อ่านเกมได้ยอดเยี่ยม เข้าถึงบอลเร็ว เอาชนะในการดวลตัวต่อตัวได้บ่อยๆ แถมเล่นบอลได้ดีทั้ง 2 เท้า

บาร์เซโลน่า ดึงตัวฌูลส์ กุนเด้มาเสริมทัพ เพื่อหวังเพิ่มศักยภาพเกมรับของบาร์เซโลน่าให้ดีขึ้นกว่าเดิม และคาดว่าจะเป็นตัวแทนที่ดีของเคราร์ด ปิเก้ ที่เตรียมนับถอยหลังอาชีพค้าแข้งในอีกไม่นานนี้

Categories
Special Content

รู้จักที่มา “ฉายา” 20 สโมสรฟุตบอลในลาลีกา สเปน 2022/23

เมื่อพูดถึง “ฉายา” ในวงการฟุตบอล ก็เปรียบเสมือนชื่อเล่น ที่ใช้เรียกแทนชื่อจริงของสโมสรนั้น ๆ โดยในแต่ละสโมสร จะตั้งฉายาที่แตกต่างกันไป มีทั้งตั้งแบบเรียบง่าย หรือตั้งแบบแปลกประหลาดจนน่าตกใจ

เหตุผลในการตั้งฉายาของแต่ละสโมสรฟุตบอล ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะมาจากชื่อสถานที่ตั้ง, ชื่อบุคคลสำคัญ, สัญลักษณ์, ประวัติศาสตร์, ตำนานหรือความเชื่อในท้องถิ่น และอื่น ๆ อีกมากมาย

ลาลีกา จะพาไปทำความรู้จักกับฉายาของทั้ง 20 สโมสร ในลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ ฤดูกาล 2022/23ว่ามีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไรกันบ้าง

แอธเลติก บิลเบา : The Lions

ฉายา “The Lions” ของแอธเลติก บิลเบา มาจากชื่อของซาน มาเมส (San Mamés) นักบุญไบแซนไทน์ที่ถูกทรมานร่างกาย และกำลังจะกลายเป็นอาหารของสิงโต แต่ก็สามารถทำให้สิงโตเชื่อง และรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อได้สำเร็จ

แอตเลติโก มาดริด : The Mattress Makers หรือ The Indians

ฉายาแรก “Mattress Makers” หมายถึง สีแดง-ขาวจากวัสดุที่ใช้ปูที่นอนในสมัยก่อน อีกฉายาคือ “Indians” มีที่มาจากในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970s แอตเลติโก มาดริด นิยมดึงนักเตะจากอเมริกาใต้เข้าสู่ทีมหลายคน ซึ่งเป็นนักเตะผิวสี และไว้ผมยาว จนถูกแฟนบอลทีมคู่แข่งล้อเลียนว่าเป็นพวกอินเดียนแดง

โอซาซูน่า : The Rojillos (The Reds)

ฉายา “The Rojillos” ของโอซาซูน่า ในภาษาสเปน หมายถึง “The Reds” หรือ สีแดง ซึ่งมาจากสีพื้นหลังของธงแคว้นนาวาร์ (Navarre) ที่ตั้งของสโมสร นอกจากนี้ สีแดงยังปรากฎอยู่บนเสื้อแข่งขันชุดเหย้า และโลโก้ของสโมสรอีกด้วย

กาดิซ : The Yellow Submarine

มีฉายา “Yellow Submarine” เช่นเดียวกับบียาร์เรอัล แต่มีที่มาที่แตกต่างกัน โดยกาดิซได้รับฉายานี้ เพราะในช่วงปี 1980-1986 สถานะของสโมสรอยู่ในลีกดิวิชั่น 2 และลีกสูงสุด ขึ้น-ลงสลับกันไป คล้ายกับการเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำ

เอลเช่ : The Green Stripes

ในยุคแรก เสิ้อแข่งขันของเอลเช่มีสีขาวล้วน แต่ในปี 1926 ได้เพิ่มแถบสีเขียวแนวขวางไว้ส่วนบนของเสื้อ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากต้นปาล์ม ต้นไม้ที่นิยมปลูกกันมากในเมืองเอลเช่ จึงทำให้สโมสรฟุตบอลแห่งนี้ ได้รับฉายาว่า “Green Stripes”

บาร์เซโลน่า : The Culés

ในอดีต มีแฟนบอลบาร์เซโลน่าจำนวนหนึ่งที่อยู่ในสนาม “La Escopidora” สนามเหย้าแห่งแรกของสโมสรที่มีขนาดเล็กมาก นั่งเรียงกันเป็นแถวยาวด้านบนสุดของกำแพงบนอัฒจันทร์ ซึ่งคนที่เดินผ่านไปมาก็ได้เห็นแผ่นหลัง และก้นของพวกเขาเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของฉายา “Culés” ที่แปลว่า กลุ่มคนที่ชอบโชว์แผ่นหลัง

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/fcbarcelona

เกตาเฟ่ : The Dark Blues

ในยุคแรก สโมสรแห่งนี้ใช้ชื่อว่า “Club Getafe Deportivo” ใช้ชุดแข่งสีน้ำเงินเข้ม ก่อนถูกยุบทีมในปี 1982 และในปีต่อมา ได้ก่อตั้งสโมสรขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า “Getafe Club de Fútbol” ใช้ชุดแข่งสีน้ำเงินเข้มเช่นเดิม จึงได้ฉายาว่า “Dark Blues”

กิโรน่า : The White and Reds

ฉายา “White and Reds” หรือสีขาว-แดง มีที่มาจากสีของชุดแข่งชัน และโลโก้ของสโมสรที่มีลักษณะคล้ายหยดน้ำเรียงสลับกันสีละ 4 แถว สื่อถึงเมืองกิโรน่า จุดที่มีแม่น้ำ 4 สาย ไหลมาบรรจบกัน ซึ่งอยู่บนธง และตราประจำเมืองกิโรน่าด้วย

ราโย บาเยกาโน่ : The Red Sashes

ก่อนหน้านี้ เสื้อแข่งขันของราโย บาเยกาโน่ มีสีขาวล้วน จนกระทั่งในช่วงกลางทศวรรษที่ 1940s ได้เพิ่มแถบสีแดงทแยงพาดผ่าน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสโมสรฟุตบอลริเวอร์เพลท ในประเทศอาร์เจนติน่า จึงได้รับฉายาว่า “Red Sashes”

เซลต้า บีโก้ : The Sky Blues หรือ The Olívicos

ฉายา “Sky Blues” มาจากสีของท้องฟ้าที่อยู่บนเสื้อแข่งขัน ส่วนฉายา “Olívicos” ในภาษาสเปนหมายถึง Olive หรือต้นมะกอกที่ปลูกไว้ในโบสถ์แห่งหนึ่ง สื่อความหมายถึงสันติภาพและความสามัคคี ซึ่งอยู่บนธง และตราประจำเมืองบีโก้ด้วย

เอสปันญ่อล : The Parakeets

คำว่า “Parakeet” แปลตรงตัวว่า นกแก้ว มีที่มาจากฝูงนกแก้วที่มาทำรังบนต้นไม้รอบ ๆ สนาม Estadio de Sarriá ซึ่งเคยถูกใช้เป็นสนามเหย้าของเอสปันญ่อล ตั้งแต่ปี 1923 ถึง 1997 ก่อนจะย้ายมาใช้สนาม “อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม” ในปัจจุบัน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RCDEspanyol

เรอัล มายอร์ก้า : The Vermilions

ฉายาของเรอัล มายอร์ก้าคือ “Vermilion” ที่แปลว่า สีแดงสด ซึ่งเป็นสีชุดแข่งหลักของสโมสร เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1922 โดยก่อนหน้านั้นได้ใช้ชุดแข่งสีดำมาก่อน และสีแดงสด ยังเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ของสโมสรอีกด้วย

เรอัล เบติส : The Béticos หรือ The Green and Whites หรือ The Heliopolitanos

นอกจากฉายา “Béticos” ที่หมายถึงชื่อสโมสรเรอัล เบติสแล้ว ยังมีฉายา “Green and Whites” หรือสีเขียว-ขาว สีของชุดแข่งขัน และฉายา “Heliopolitanos” มีที่มาจากชื่อย่าน Heliópolis ย่านที่อยู่ในแคว้นอันดาลูเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสโมสร

เรอัล มาดริด : The Meringues หรือ The Vikings

ฉายาแรก “Meringues” มาจากชุดแข่งขันสีขาว ส่วนอีกฉายาคือ “Vikings” มาจากพาดหัวของหนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษ หลังจาก “โลส บลังโกส” คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ สมัยที่ 5 ติดต่อกันในปี 1960 ความว่า “เรอัล มาดริด ออกอาละวาดไปทั่วยุโรปเหมือนพวกไวกิ้ง ทำลายล้างทุกอย่างที่ขวางหน้า”

เรอัล โซเซียดัด : The Txuri-Urdin

ฉายาของเรอัล โซเซียดัด มาจากเพลงประจำสโมสร คำว่า “Txuri-Urdin” ในภาษาบาสก์หมายถึง “White and Blues” หรือสีขาว-น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีธงประจำเมืองซาน เซบาสเตียน ที่ตั้งของสโมสร และกลายเป็นสีชุดแข่งของสโมสรตั้งแต่ปี 1909

เรอัล บายาโดลิด : The Pucelanos (Pucela)

คำว่า “Pucela” สันนิษฐานว่ามีที่มาจาก Joan of Arc หญิงสาวที่ได้ต่อสู้ในสงครามร้อยปี ซึ่งเรียกตัวเองว่า “Maid of Orleans” ซึ่งคำว่า maid ในภาษาสเปนยุคโบราณ จะเรียกว่า pucela และถูกนำไปตั้งเป็นฉายาของบายาโดลิดในที่สุด

เซบีย่า : The Washbasins

คำว่า “Washbasin” แปลตรงตัวว่า อ่างล้างหน้า มีที่มาจากเสื้อแข่งของเซบีย่าในช่วงกลางทศวรรษที่1970s ซึ่งเป็นเสื้อสีขาวล้วน มีเส้นขอบสีแดงเล็ก ๆ ที่บริเวณแขนเสื้อ และบนปกคอเสื้อ มีลักษณะคล้ายกับอ่างล้างหน้าที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น

อัลเมเรีย : The Indálicos

ฉายา “Indálicos” มาจากสัญลักษณ์ Indalo เป็นภาพวาดลักษณะคล้ายกับมนุษย์ ถูกค้นพบในถ้ำลอสเลเตรอส (Los Letreros) ที่เมืองอัลเมเรีย ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก และสัญลักษณ์ดังกล่าว ก็อยู่ภายในโลโก้ของสโมสรด้วย

บาเลนเซีย : The Che

ฉายาในภาษาสเปนคือ “Los Che” ซึ่งเป็นคำอุทานที่ชาวเมืองบาเลนเซียใช้เรียกกัน มีลักษณะคล้ายกับการอุทาน “hey” ในภาษาอังกฤษ เป็นการแสดงออกถึงความเป็นชาวเมืองบาเลนเซียโดยเฉพาะ และกลายเป็นชื่อเรียกที่ติดปากในที่สุด

บียาร์เรอัล : The Yellow Submarine

มีฉายา “Yellow Submarine” เหมือนกับกาดิซ มีที่มาจากชื่อเพลง “Yellow Submarine” ของเดอะ บีทเทิลส์ วงดนตรีร็อกชื่อดังของอังกฤษ ที่เปิดตัวเมื่อปี 1966 และแฟนบอลได้นำเพลงของวงเดอะ บีทเทิลส์ มาเปิดให้ฟังในสนามนับแต่นั้นมา

ฉายาของสโมสรฟุตบอล ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ชื่อนั้นติดหู จดจำง่าย พร้อมกับเสริมความน่าเกรงขามเพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้ไปในตัวด้วย ถือเป็นสีสัน และช่วยเพิ่มอรรถรสในการติดตามเกมลูกหนังมากยิ่งขึ้น

Categories
Special Content

แนะนำ 20 กุนซือลาลีกา ซีซั่น 2022/23

ผู้ฝึกสอน หรือโค้ช ถือเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอล เพราะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ในการหลอมรวมนักเตะแต่ละคนที่มีสไตล์ที่แตกต่างกัน ให้ทำงานด้วยกันเป็นทีม เพื่อนำไปสู่ชัยชนะ

ศึกลูกหนัง ลาลีกา สเปน ฤดูกาล 2022/23 จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคมนี้ กุนซือของทุกสโมสร กำลังเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อสู้กับศึกหนักที่รออยู่ตลอด 9 เดือน

สำหรับในซีซั่นใหม่ มีกุนซือชาวสเปน 14 คน ที่ต้องมาดวลกึ๋นกับกุนซือชาวต่างชาติอีก 6 คน และนี่คือภาพรวมของโค้ชทั้ง 20 ทีม ที่แฟน ๆ ลูกหนังลีกกระทิงดุ ต่างรอดูผลงานของพวกเขาเหล่านี้

โค้ชที่ผ่านประสบการณ์ระดับสูง

ในบรรดา 20 สโมสรของลาลีกา ซีซั่นใหม่ มีผู้จัดการทีมบางคน ที่ผ่านประสบการณ์ทั้งในสเปน และยุโรป เริ่มจากคาร์โล อันเชล็อตติ เทรนเนอร์เรอัล มาดริด แชมป์เก่าลาลีกา และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก จากซีซั่นที่แล้ว

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RealMadrid

เทรนเนอร์ชาวอิตาเลียนวัย 63 ปี กับประสบการณ์คุมทีมคว้าแชมป์ 23 โทรฟี่ (7 โทรฟี่ กับเรอัล มาดริด) และเป็นโค้ชที่มีอายุมากสุดเป็นอันดับ 2 เท่ากับฮาเวียร์ อากีร์เร่ กุนซือชาวเม็กซิกันของเรอัล มายอร์ก้า

ส่วนกุนซือที่มีอายุมากที่สุดในลาลีกา คือ มานูเอล เปเยกรินี่ วัย 68 ปี ที่เคยคว้าแชมป์ 3 โทรฟี่ กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในอังกฤษ และล่าสุดเพิ่งพาเรอัล เบติส คว้าแชมป์โคปา เดล เรย์ เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี

และอีกคนที่มีโปรไฟล์น่าสนใจ คือ อูไน เอเมรี่ กุนซือวัย 50 ปี แม้อายุจะยังน้อย แต่ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขา คือการคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ได้ถึง 4 ครั้ง (3 ครั้งกับเซบีย่า และ 1 ครั้งกับบียาร์เรอัล)

โค้ชที่มีอายุงานยาวนานที่สุด

ดิเอโก้ ซิเมโอเน่ เป็นโค้ชที่มีอายุงานในลาลีกายาวนานที่สุด โดยได้มาคุมทีมแอตเลติโก้ มาดริด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2011 จนถึงปัจจุบันนี้ เทรนเนอร์ชาวอาร์เจนไตน์ อยู่กับ “ตราหมี” มาแล้ว 10 ปี 7 เดือน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/AtleticodeMadrid

อันดับ 2 เป็นของยาโกบา อาราซาเต้ ที่พาโอซาซูน่า เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดตั้งแต่ซีซั่นแรกที่คุมทีม และจบอันดับกลางตารางมา 3 ซีซั่นติดต่อกัน ซึ่งในซีซั่นนี้ จะเป็นซีซั่นที่ 5 ในการทำงานของเขา

ตามมาด้วย อิมานอล อัลกูอาซิล ที่คุมเรอัล โซเซียดัด มาแล้ว 3 ฤดูกาลครึ่ง และเคยพาทีมคว้าแชมป์โคปา เดล เรย์ ฤดูกาล 2019/20 เป็นการได้แชมป์ระดับเมเจอร์ครั้งแรกในรอบ 34 ปี ของสโมสร

ฆูเลน โลเปเตกี มาเป็นอันดับ 4 กับระยะเวลา 3 ฤดูกาลที่คุมทีมเซบีย่า ผลงานเด่นคือการคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ฤดูกาล 2019/20 และจบซีซั่นในอันดับท็อปโฟร์มาแล้ว 3 ซีซั่นติดต่อกัน

รอดตายเพราะเปลี่ยนโค้ชระหว่างซีซั่น

ฤดูกาลที่แล้ว มีกุนซือ 4 คน ที่เข้ามาคุมทีมระหว่างซีซั่น และช่วยให้ทีมรอดตกชั้น เริ่มจากเอลเช่ ที่อยู่อันดับ 18 ในเดือนพฤศจิกายน พอเปลี่ยนโค้ชมาเป็นฟรานซิสโก้ โรดริเกซ ก็ไม่เคยอยู่ในโซนสีแดงอีกเลย

เกตาเฟ่ ทีมที่ออกสตาร์ทซีซั่น 7 นัดแรก ไม่มีคะแนนเลย จนต้องเปลี่ยนกุนซือมาเป็นกิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส ในช่วงต้นเดือนตุลาคม หลังจากนั้นผลงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จบซีซั่นในอันดับที่ 15 ของตาราง

เรอัล มายอร์ก้า ครึ่งซีซั่นแรกดูเหมือนไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่พอช่วงครึ่งซีซั่นหลัง ฟอร์มหลุดแบบไม่น่าเชื่อ จนร่วงลงไปอยู่โซนตกชั้น ทำให้ฮาเวียร์ อากีร์เร่ เข้ามารับช่วงต่อใน 9 นัดสุดท้าย และเอาตัวรอดได้ในที่สุด

กาดิซ ก็เป็นอีกทีมที่อยู่ในโซนสีแดงช่วงครึ่งซีซั่นแรก และในเดือนมกราคม เซร์คิโอ กอนซาเลซ ก็ได้เข้ามากู้สถานการณ์ของทีม โดยต้องดิ้นรนหนีตายจนถึงนัดสุดท้าย ก่อนจบในอันดับที่ 17 รอดตกชั้นแบบฉิวเฉียด

เปลี่ยนกุนซือใหม่ก่อนเริ่มต้นซีซั่น

ลาลีกา ในซีซั่นใหม่ มี 3 สโมสร ที่มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งเฮดโค้ช เริ่มที่เอสปันญ่อล ได้แต่งตั้งดิเอโก้ มาร์ติเนซ อดีตโค้ชกรานาด้า ในช่วงปี 2018 – 2021 เข้ามารับหน้าที่แทนหลุยส์ บลังโก้ โค้ชรักษาการ

บาเลนเซีย ได้ตัดสินใจปลดโฆเซ่ บอร์ดัลอาส ออกจากตำแหน่งหลังจบซีซั่น และเลือกเจนนาโร่ กัตตูโซ่ อดีตเทรนเนอร์ของเอซี มิลาน และนาโปลี มาเป็นกุนซือคนใหม่ หวังลุ้นโควตาไปฟุตบอลยุโรปให้ได้

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/valenciacf.en

ปิดท้ายที่แอธเลติก บิลเบา มาร์เชลิโน่ ประกาศลาออกเมื่อจบซีซั่นที่ผ่านมา หลังล้มเหลวในการคว้าตั๋วไปฟุตบอลยุโรป และได้โค้ชคนใหม่แต่หน้าเก่าอย่างเออร์เนสโต้ บัลเบร์เด้ ที่กลับมาคุมทีมเดิมเป็นรอบที่ 3 แล้ว

โค้ชที่น่าจับตามองในซีซั่นใหม่

เริ่มจากซาบี้ เอร์นานเดซ เทรนเนอร์บาร์เซโลน่า ที่ใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือน พลิกสถานการณ์ของทีมจากอันดับที่ 9 สู่อันดับที่ 2 และซีซั่นใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น จะเป็นการคุมทีมแบบเต็มซีซั่นเป็นครั้งแรกของเขา

คนต่อมา อันโดนี่ อิราโอล่า กุนซือของราโย บาเยกาโน่ ที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมในฐานะทีมน้องใหม่จากซีซั่นก่อน และได้รับประสบการณ์อันล้ำค่า ในการที่จะปรับปรุงผลงานสำหรับซีซั่นใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อีกคนที่น่าจับตาไม่แพ้กัน คือ เอดูอาร์โด กูเดต์ โค้ชของเซลต้า บีโก้ ที่มีสไตล์การเล่นเกมรุกบุกแหลกแบบไม่กลัวใคร และความหวังอันดับ 1 ในการทำประตูให้กับทีม ก็ยังคงเป็นยาโก้ อัสปาส เช่นเดิม

3 กุนซือทีมน้องใหม่ลาลีกา

สำหรับผู้จัดการทีมของ 3 สโมสรที่เลื่อนชั้นขึ้นมาสู่เวทีลีกสูงสุด ซีซั่นใหม่ เริ่มจากรูบี้ กุนซืออัลเมเรีย ที่เคยมีประสบการณ์อันเลวร้าย หลังไม่สามารถพาสปอร์ติ้ง กิฆอน รอดพ้นจากการตกชั้น เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ปาเชต้า ก็เคยเจอชะตากรรมเดียวกันกับรูบี้ หลังทำทีมอูเอสก้า ตกชั้นจากลีกสูงสุด เมื่อฤดูกาล 2020/21 และคงต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อหวังพาเรอัล บายาโดลิด อยู่เหนือโซนสีแดงหลังจบซีซั่นให้ได้

คนสุดท้ายคือมิเกล ซานเชซ มูนญอซ โค้ชของกิโรน่า ที่เคยพาราโย บาเยกาโน่ และอูเอสก้า เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดในฐานะแชมป์ลีกรองมาแล้ว แต่ภารกิจเอาตัวรอดในลาลีกา ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของเขา

แม้ว่าโค้ชแต่ละคน จะมีองค์ความรู้ที่แตกต่างกัน แต่โค้ชทุกคนก็พยายามที่จะพัฒนาทีมของตัวเองให้ไปสู่เป้าหมาย ซึ่งผลงานของโค้ชแต่ละคน จะบอกถึงระดับความสามารถและมูลค่าได้ดีที่สุด

รายชื่อผู้จัดการทีมในลาลีกา สเปน ประจำฤดูกาล 2022/23

👉 อัลเมเรีย – รูบี้

👉 แอธเลติก บิลเบา – เออร์เนสโต้ บัลเบร์เด้

👉 แอตเลติโก มาดริด – ดิเอโก้ ซิเมโอเน่

👉 บาร์เซโลน่า – ซาบี้ เอร์นานเดซ

👉 กาดิซ – เซร์คิโอ กอนซาเลซ

👉 เซลต้า บีโก้ – เอดูอาร์โด กูเดต์

👉 เอลเช่ – ฟรานซิสโก้ โรดริเกซ

👉 เอสปันญ่อล – ดิเอโก มาร์ติเนซ

👉 เกตาเฟ่ – กิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส

👉 กิโรน่า – มิเกล ซานเชซ มูนญอซ

👉 โอซาซูน่า – ยาโกบา อาราซาเต้

👉 ราโย บาเยกาโน่ – อันโดนี่ อิราโอล่า

👉 เรอัล มายอร์ก้า – ฮาเวียร์ อากีร์เร่

👉 เรอัล เบติส – มานูเอล เปเยกรินี่

👉 เรอัล มาดริด – คาร์โล อันเชล็อตติ

👉 เรอัล โซเซียดัด – อิมานอล อัลกูอาซิล

👉 เรอัล บายาโดลิด – ปาเชต้า

👉 เซบีย่า – ฆูเลน โลเปเตกี

👉 บาเลนเซีย – เจนนาโร่ กัตตูโซ่

👉 บียาร์เรอัล – อูไน เอเมรี่

Categories
Special Content

“เลวานดอฟสกี้” ดาวยิงคนใหม่บาร์ซ่า กับ 5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดกองหน้าจอมถล่มประตูที่โดดเด่นและดีที่สุดในศตวรรษที่ 21 การันตีด้วยผลงาน 8 ฤดูกาลกับบาเยิร์น มิวนิค 344 ประตู จาก 375 นัด และคว้าแชมป์ 19 โทรฟี่

แต่ทว่า ดาวยิงทีมชาติโปแลนด์รายนี้ ได้ออกมาประกาศว่า ไม่ขออยู่ค้าแข้งกับบาเยิร์นต่อไป ทั้ง ๆ ที่ยังเหลือสัญญาอยู่อีก 1 ปี ซึ่งทางยักษ์ใหญ่แห่งมิวนิค ก็พยายามที่จะรั้งตัวเขาอย่างสุดความสามารถแล้ว

และในที่สุด เจ้าของรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของฟีฟ่า 2 สมัยซ้อน ตัดสินใจลงจากหลังเสือใต้ที่บาวาเรีย มาเป็นนักเตะคนใหม่ของบาร์เซโลน่าเป็นที่เรียบร้อย ด้วยค่าตัว 45 ล้านยูโร เซ็นสัญญา 4 ปี

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

เลวานดอฟสกี้ เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 8 ขวบ กับทีมเยาวชนของปาร์ติซาน เลซโน่ และวาร์โซเวีย วอร์ซอ ก่อนที่ในปี 2005 จะได้เซ็นสัญญาในระดับอาชีพกับเดลต้า วอร์ซอ, และลีเกีย วอร์ซอ ทีมสำรอง

ปีถัดมา เลวานดอฟสกี้ ย้ายไปค้าแข้งกับซนิคซ์ พรูสซ์คอฟ ลงเล่น 59 นัด ยิง 36 ประตู และอีก 2 ปีให้หลัง ได้ย้ายไปค้าแข้งกับเลช พอซนาน ก็ยังรักษามาตรฐานการจบสกอร์ได้ดี ลงเล่น 58 นัด ยิง 32ประตู

ต่อมาในปี 2010 เลวานดอฟสกี้ ได้เริ่มต้นหาประสบการณ์ค้าแข้งนอกประเทศบ้านเกิด กับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรชั้นนำในบุนเดสลีกา เยอรมนี ที่จ่ายเงินค่าตัว 4.5 ล้านยูโร ให้กับเลซ พอซนาน

ตลอด 4 ปี ของเลวานดอฟสกี้กับดอร์ทมุนด์ ยิงได้ 103 ประตู จากการลงสนาม 187 นัด คว้าแชมป์ได้ 5 รายการ ก่อนที่จะย้ายมาค้าแข้งกับทีมคู่ปรับอันดับ 1 อย่างบาเยิร์น มิวนิค แบบไม่มีค่าตัวในปี 2014

เดือนกันยายน ปี 2015 เลวานดอฟสกี้ ได้สร้างสถิติที่ใครยากจะเทียบได้ ด้วยการยิงคนเดียว 5 ประตู ภายในเวลา 9 นาที เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ลีกสูงสุดเยอรมัน พาบาเยิร์น แซงเอาชนะโวล์ฟบวร์ก 5 – 1

และอีกสถิติหนึ่งที่สำคัญ เกิดขึ้นในซีซั่น 2020/21 เลวานดอฟสกี้ ทำประตูในบุนเดสลีกาได้ 41 ประตู ทุบสถิติเดิมของแกร์ด มุลเลอร์ อดีตตำนานดาวยิงเสือใต้ ที่ทำไว้ 40 ประตู ในซีซั่น 1971/72

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

ในส่วนของการรับใช้ทีมชาติ เลวานดอฟสกี้ ลงเล่นให้กับโปแลนด์มาตั้งแต่ปี 2008 เป็นเจ้าของสถิติอันดับ 1 ตลอดกาล ทั้งการลงสนามมากที่สุด 132 นัด และเป็นดาวซัลโวสูงสุด โดยยิงไป 76 ประตู

เลวานดอฟสกี้ ปิดฉากกับบาเยิร์นอย่างเป็นทางการ พร้อมที่จะเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่กับบาร์ซ่า และนี่คือ 5 เรื่องราวของเขา ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

เป็นครอบครัวนักกีฬาแบบยกบ้าน

ครอบครัวของโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ถือเป็นครอบครัวนักกีฬาอย่างแท้จริง เริ่มจากคุณพ่อคริสตอฟ เป็นอดีตแชมป์ยูโด, คุณแม่อีโวน่า เป็นนักวอลเลย์บอล, มิลีน่า น้องสาว เป็นนักวอลเลย์บอลทีมชาติโปแลนด์รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี แม้กระทั่งแอนนา เลวานดอฟสก้า ภรรยาของเขา เป็นอดีตนักคาราเต้ดีกรีเหรียญทองแดง ในการแข่งขันชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2009

 ไม่ได้ไปอังกฤษ เพราะภัยธรรมชาติ

เมื่อปี 2010 เลวานดอฟสกี้ มีแผนที่จะเดินทางไปที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเยี่ยมชมสโมสรแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส และอาจจะตัดสินใจเซ็นสัญญาค้าแข้งกับ “กุหลาบไฟ” แต่ไม่สามารถเดินทางได้ เนื่องจากเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศไอซ์แลนด์ เป็นอุปสรรคในเส้นทางการบินของยุโรปเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทำให้โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้ตัวเขาไปร่วมทีมในที่สุด

เคยยิง “ราชันชุดขาว” คนเดียว 4 ประตู

เลวานดอฟสกี้ เป็นนักเตะที่รู้จักคุ้นเคยกับเรอัล มาดริดเป็นอย่างดี เพราะได้เผชิญหน้าในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ถึง 8 นัดด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพบกันในรอบรองชนะเลิศ นัดแรก ฤดูกาล 2012/13 เขายิงคนเดียว 4 ประตู ในเกมที่ดอร์ทมุนด์ เปิดบ้านชนะ 4 – 1 ถึงแม้ในนัดสอง “เสือเหลือง” จะบุกไปแพ้ 0 – 2 แต่ยังได้ผ่านเข้าชิงชนะเลิศ ด้วยสกอร์รวม 4 – 3

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

เป็นนักเตะที่ดูแลตัวเองได้ดีเยี่ยม

ซีซั่นสุดท้ายกับบาเยิร์น มิวนิค เลวานดอฟสกี้ ในวัยย่างเข้า 34 ปี ลงเล่น 46 นัด ยิงได้ 50 ประตู ฆาบี มาร์ติเนซ อดีตเพื่อนร่วมทีมของเลวานดอฟสกี้ สมัยที่ค้าแข้งกับ “เสือใต้” เปิดเผยว่า “ในช่วงพรี-ซีซั่น ผมพยายามนำขนมที่เอามาจากสเปน ไปให้เลวานดอฟสกี้ทาน แต่เขาปฎิเสธมาตลอด แม้กระทั่งการเลือกท่านอนหลับ เพื่อรักษาสภาพร่างกายที่ดีไว้”

ชื่นชอบ “ฟอร์มูล่า วัน” ตั้งแต่ยังเด็ก

นอกจากความสนใจในกีฬาฟุตบอลแล้ว เลวานดอฟสกี้ ยังติดตามกีฬาที่เกี่ยวกับความเร็วอย่างฟอร์มูล่า วัน และมีโอกาสได้ไปชมการแข่งขันที่โมนาโก กรังปรีซ์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเจ้าตัวให้สัมภาษณ์ว่า “ผมติดตามฟอร์มูล่า วัน มาตั้งแต่เด็ก และผมยังจดจำมิชาเอล ชูมัคเกอร์ ได้เสมอ สิ่งที่เขาประสบความสำเร็จ มันเป็นอะไรที่เหลือเชื่อจริง ๆ”

บาร์เซโลน่า ได้อาวุธหนักอย่างเลวานดอฟสกี้มาเสริมแนวรุก วัดความคมกับคาริม เบนเซม่า ดาวเตะเรอัล มาดริด เชื่อว่าศึก “เอล กลาซิโก้” ในซีซั่น 2022/23 จะเพิ่มดีกรีความเดือดมากขึ้นอย่างแน่นอน

Categories
Special Content

ที่มาโลโก้ 20 สโมสรลาลีกา ฤดูกาล 2022/23

ตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ของสโมสรฟุตบอล ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ส่งผลถึงการรับรู้ และการจดจำของแฟนลูกหนัง อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในระยะยาว นับว่าเป็นผลดีต่อสโมสรต่อไป

การออกแบบโลโก้ทีมฟุตบอลที่ดี ไม่ใช่แค่มีความสวยงามเท่านั้น แต่ต้องโดดเด่น สะดุดตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และที่สำคัญต้องสามารถสื่อสารคอนเซปท์ สะท้อนถึงตัวตนของแบรนด์ได้อย่างชัดเจนด้วย

และนี่คือเรื่องราวเบื้องหลังการออกแบบ และความหมายของตราประจำสโมสรทั้ง 20 ทีม ในลีกสูงสุดของสเปน ซีซั่นใหม่

อัลเมเรีย

ตราของสโมสร มีโครงสร้างที่เรียบง่าย ประกอบด้วยพื้นหลังแถบสีขาว-แดง หมายถึงสีประจำสโมสร พร้อมกับลูกฟุตบอลที่อยู่บนพื้นหลัง และตัวอักษร U กับ D ที่ย่อมาจาก “Unión Deportiva”

นอกจากนี้ ยังมีสัญลักษณ์ “Indalo” ที่อยู่ตรงกลางระหว่างตัวอักษร U กับ D มีลักษณะคล้ายกับมนุษย์ที่ถูกค้นพบในถ้ำ Los Letreros ในเมืองอัลเมเรีย นำมาดัดแปลง และผสมรวมอยู่ในโลโก้อย่างลงตัว

แอธเลติก บิลเบา

เป็นรูปทรงคล้ายโล่สามเหลี่ยม ภาพที่อยู่ในสามเหลี่ยมด้านใน คือสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น ได้แก่ โบสถ์แอนโธนี่, สะพานแอนโธนี่, หมาป่า, ต้นโอ๊กเกร์นิกา และไม้กางเขน ส่วนแถบขาว-แดง มาจากสีธงของแคว้นบาสก์

สำหรับชื่อสโมสรที่อยู่ล้อมรอบโล่นั้น เริ่มแรกใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Athletic Club” แต่ถูกบังคับให้เปลี่ยนเป็นภาษาสเปน คือ “Athlétic de Bilbao” ก่อนกลับไปใช้ชื่อเดิม หลังจากนายพลฟรังโก้หมดอำนาจ

แอตเลติโก มาดริด

ก่อตั้งโดยชาวบาสก์ที่อาศัยอยู่ในกรุงมาดริด ใช้ตราสโมสรคล้ายกับแอธเลติก บิลเบา ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ตราสโมสรในแบบของตัวเอง โดยมีลักษณะเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม และเพิ่มสีน้ำเงิน ร่วมกับแถบขาว-แดง 

สัญลักษณ์ที่อยู่ในตราสโมสร ประกอบด้วยหมี กับต้นสตรอเบอรี่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงมาดริด รวมทั้งมีดาว 7 ดวงอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงแคว้นทั้ง 7 ที่อยู่ในกรุงมาดริด

บาร์เซโลน่า

ในปี 1910 โยอัน กัมเปร์ ผู้ก่อตั้งสโมสร ได้จัดการประกวดตราสโมสรขึ้นมาใหม่ ซึ่งตราสโมสรที่ชนะการประกวด มีลักษณะคล้ายกับที่ใช้ในปัจจุบัน โดยได้ผ่านการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อยอยู่หลายครั้ง 

ตราสโมสรประกอบด้วย 3 ส่วน มุมบนซ้าย คือไม้กางเขนสีแดงบนพื้นสีขาว หมายถึงนักบุญจอร์จ นักบุญองค์อุปถัมภ์ของแคว้นคาตาลัน, มุมบนขวา คือสีธงของแคว้นคาตาลัน และครึ่งล่าง คือสีประจำสโมสร และลูกฟุตบอลสีเหลือง

เรอัล เบติส

ตราสัญลักษณ์ประกอบด้วย แถบสีขาว-เขียว มาจากสีของธงของแคว้นอันดาลูเซีย อยู่ภายในรูปสามเหลี่ยมหลับหัว พร้อมทั้งตัวอักษร BB ในวงกลมตรงกลาง ย่อมาจากคำว่า Betis Balompié

ส่วนมงกุฎที่อยู่ด้านบน มาจากการอุปถัมภ์ของกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 8 แต่ในช่วงปี 1931-1940 ได้มีการนำมงกุฎออกไป เนื่องจากอยู่ภายใต้การปกครองของนายพลฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการในเวลานั้น

กาดิซ

ตราสโมสรเป็นรูปสามเหลี่ยมกลับหัวสีเหลือง-น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ด้านในมีเทพเจ้าเฮอร์คิวลิส และสิงโต 2 ตัว ขนาบข้างด้วยเสาหิน 2 เสา ผูกด้วยแผ่นผ้าที่มีคำขวัญประจำชาติสเปน “Plvs Vltra”

ส่วนมงกุฎที่อยู่ด้านบนของตราสโมสร ไม่ใช่มงกุฎของกษัตริย์ เหมือนกับสโมสรที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เรอัล” (Real) แต่เป็นมงกุฎของดยุค เนื่องจากในอดีต เมืองกาดิซเคยถูกปกครองโดยดยุคตั้งแต่ศตวรรษที่ 15

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rccelta

เซลต้า บีโก้

ลักษณะของตราสโมสร เป็นรูปกากบาทสีแดงปลายแหลม หมายถึงไม้กางเชนของนักบุญซานติอาโก้ และมีโล่สีฟ้า ซึ่งมาจากสีบนธงประจำแคว้นกาลีเซีย บนโล่มีตัวอักษร CC ซึ่งย่อมาจาก “Club Celta”

ส่วนมงกุฎที่อยู่เหนือโล่สีฟ้า มาจากการอุปถัมภ์ของกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 โดยชื่อสโมสรมีชื่อเต็มว่า “Real Club Celta de Vigo” แต่ได้มีการเอามงกุฎออกไป ในยุคที่นายพลฟรังโก้ปกครองอยู่

เอลเช่

ตราของสโมสร มาจากส่วนหนึ่งของตราประจำเมืองเอลเช่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนบนเป็นรูปผู้หญิงในชุดโรมัน ถือใบปาล์มสีทอง มีที่มาจากเมืองเอลเช่ เป็นเมืองที่นิยมปลูกต้นปาล์มเป็นจำนวนมาก

ส่วนตรงกลางเป็นรูปประตูเมืองเอลเช่ และส่วนล่างเป็นรูปแท่นโรมัน ล้อมรอบด้วยตัวอักษร C I I A ซึ่งย่อมาจาก Colonia Iulia Illice Augusta ตำนานดาบของจักรพรรดิโรมันออกัสตัส

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/RCDEspanyol

เอสปันญ่อล

ตราสัญลักษณ์ของสโมสรในปัจจุบัน เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2005 ประกอบด้วยวงกลมด้านนอกสีแดง มีชื่อสโมสรตัวอักษรสีเหลืองกำกับ และวงกลมด้านใน มีแถบสีขาว-น้ำเงิน สีประจำสโมสร 

ส่วนมงกุฎที่ประดับอยู่ด้านบน ได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 ได้ให้การอุปถัมภ์สโมสร โดยชื่อเต็มของสโมสรในภาษาคาตาลัน คือ Reial Club Deportiu Espanyol de Barcelona

เกตาเฟ่

ตราสัญลักษณ์ของสโมสรในปัจจุบัน ประกอบด้วยวงแหวนสีน้ำเงินที่มีการไล่ระดับความเข้มขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้รู้สึกเหมือนมีการเคลื่อนไหว มีเส้นขอบสีเงิน และมีลูกฟุตบอลอยู่ด้านบน

ด้านใน เป็นตราประจำเมืองเกตาเฟ่ ฝั่งซ้ายคือไม้กางเขนแบบละติน มีรูปหัวใจอยู่บนกางเขน ที่สื่อถึงหัวใจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู ส่วนฝั่งขวาเป็นพื้นหลังสีเขียวมีรูปเครื่องบิน สื่อถึงฐานทัพอากาศ

กิโรน่า

ตราสัญลักษณ์ใหม่ของสโมสร เน้นไปที่สีขาว-แดง ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ส่วนรูปสี่เหลี่ยมที่อยู่ด้านในวงกลม มีแถบสีเหลือง-แดง ซึ่งเป็นสีธงประจำแคว้นคาตาลัน และรูปที่อยู่ด้านในสี่เหลี่ยม มีลักษณะคล้ายหยดน้ำเรียงสลับกันสีละ 4 แถว เป็นตัวแทนของเมืองกิโรน่า ซึ่งเป็นจุดที่มีแม่น้ำ 4 สาย ไหลมาบรรจบกัน

เรอัล มายอร์ก้า

มงกุฎที่ประดับอยู่ด้านบน ได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 ได้ให้การอุปถัมภ์สโมสรโดยชื่อเต็มของสโมสร คือ Real Club Deportivo Mallorca และฉายาของพวกเขาคือ “Vermilion” ที่แปลว่า สีแดงสด ซึ่งเป็นสีประจำทีม และเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ของสโมสรอีกด้วย

เรอัล มาดริด

ตัวอักษร 3 ตัว MCF ที่อยู่ด้านในของตราสโมสร ย่อมาจาก Madrid Club de Fútbol ก่อนที่กษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 จะเข้ามาให้การอุปถัมภ์สโมสร จึงเพิ่มคำว่า “เรอัล” (Real) นำหน้าชื่อสโมสร พร้อมกับมงกุฎที่ประดับไว้ด้านบนของตราสโมสร ส่วนพื้นหลังมีสีขาว ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร คาดด้วยแถบสีน้ำเงินเพื่อความสวยงาม

โอซาซูน่า

ตราสโมสรมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมกลับหัว แบ่งเป็นพื้นสีแดงและสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร มงกุฎที่อยู่ด้านบน และตรงกลางที่เป็นพื้นสีขาวล้อมรอบด้วยโซ่สีทอง มาจากตราของแคว้นนาวาร์ ส่วนรูปสิงโตด้านใน เป็นตัวแทนของคำว่า “Osasuna” ซึ่งในภาษาบาสก์แปลว่า “สุขภาพ” หรือสามารถสื่อถึง “ความแข็งแกร่ง” ได้ด้วย

ราโย บาเยกาโน่

ตราสโมสรเป็นพื้นสีขาว ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ด้านในประกอบด้วยตราประจำแคว้นบาเยกาส ย่านชนชั้นแรงงานในกรุงมาดริด ตามด้วยสายฟ้าสีแดงทแยงพาดผ่าน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสโมสรฟุตบอลริเวอร์เพลท ในประเทศอาร์เจนติน่า และตัวอักษร 3 ตัว RVM ย่อมาจากชื่อเต็มของสโมสรคือ “Rayo Vallecano de Madrid”

เรอัล โซเซียดัด

ส่วนประกอบของตราสโมสร ได้แก่ ธงประจำเมืองซาน เซบาสเตียน (สีน้ำเงิน-ขาว) บนธงมีตัวอักษร SS ซึ่งย่อมาจากชื่อเมืองที่ตั้งของสโมสร (San Sebastián) และมงกุฎที่ประดับอยู่บนลูกฟุตบอล ได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 ได้ให้การอุปถัมภ์สโมสร จึงเพิ่มคำว่า “เรอัล” (Real)นำหน้าชื่อสโมสร

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/sevillafc.eng

เซบีย่า

ตราสโมสรประกอบไปด้วย 3 ส่วน มุมบนซ้าย คือตราประจำเมืองเซบิลล์ เป็นรูปของกษัตริย์เฟอร์ดินานที่ 3 แห่งอาณาจักรกาสติย่า ขนาบข้างด้วยอัครมุขนายกอิสิดอร์และนักบุญเลอันเดร์, มุมบนขวา คือตัวอักษร SFC ย่อมาจากชื่อสโมสร และครึ่งล่างมีแถบสีขาว-แดง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสีธงของกษัตริย์เฟอร์ดินานที่ 3

บาเลนเซีย

สิ่งที่อยู่ในตราสโมสร ได้แก่ สีธงประจำแคว้นบาเลนเซีย (เหลือง-แดง-น้ำเงิน), และค้างคาว ที่มาจากตำนานของกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอารากอน ที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแคว้นบาเลนเซียจนได้รับชัยชนะ จากนั้นได้มีค้างคาวตัวหนึ่งบินลงมาขณะเดินเข้าเมือง ซึ่งมองว่าเป็นการให้พร และกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองตั้งแต่นั้นมา

เรอัล บายาโดลิด

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตราสโมสรใหม่ให้เรียบง่ายกว่าเดิม โดยตราสโมสรประกอบด้วย สีเหลือง-แดง สื่อถึงเปลวเพลิง เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเมืองบายาโดลิด เมื่อปี 1561, สีม่วง-ขาว มาจากสีประจำสโมสร ส่วนมงกุฎที่อยู่ด้านบน แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับราชสำนัก

บียาร์เรอัล

ตราสโมสรในปัจจุบัน ถูกใช้เป็นครั้งแรก เมื่อปี 1966 ประกอบด้วย สีน้ำเงิน มาจากการย้อมเสื้อสีขาว เพื่อสวมใส่คู่กับกางเกงสีดำ ชุดแข่งในอดีต, สีเหลือง-แดง มาจากสีธงของแคว้นบาเลนเซีย และมงกุฎที่อยู่ด้านบน คือต้นกำเนิดราชวงศ์ของเมือง ซึ่งก่อตั้งโดยกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอารากอน เมื่อปี 1274

ตราประจำสโมสรฟุตบอล ถ้าดีไซน์ออกมาแล้วช่วยสร้างการรับรู้ที่ดีให้กับแฟนบอล จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจต่อความเป็นท้องถิ่นนิยมของตนเอง และช่วยสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นต่อทีมฟุตบอลด้วย