Khaimukdam Group

SPECIAL CONTENT

รู้จักที่มา “ฉายา” 20 สโมสรฟุตบอลในลาลีกา สเปน 2022/23

เมื่อพูดถึง “ฉายา” ในวงการฟุตบอล ก็เปรียบเสมือนชื่อเล่น ที่ใช้เรียกแทนชื่อจริงของสโมสรนั้น ๆ โดยในแต่ละสโมสร จะตั้งฉายาที่แตกต่างกันไป มีทั้งตั้งแบบเรียบง่าย หรือตั้งแบบแปลกประหลาดจนน่าตกใจ

เหตุผลในการตั้งฉายาของแต่ละสโมสรฟุตบอล ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะมาจากชื่อสถานที่ตั้ง, ชื่อบุคคลสำคัญ, สัญลักษณ์, ประวัติศาสตร์, ตำนานหรือความเชื่อในท้องถิ่น และอื่น ๆ อีกมากมาย

ลาลีกา จะพาไปทำความรู้จักกับฉายาของทั้ง 20 สโมสร ในลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ ฤดูกาล 2022/23ว่ามีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไรกันบ้าง

แอธเลติก บิลเบา : The Lions

ฉายา “The Lions” ของแอธเลติก บิลเบา มาจากชื่อของซาน มาเมส (San Mamés) นักบุญไบแซนไทน์ที่ถูกทรมานร่างกาย และกำลังจะกลายเป็นอาหารของสิงโต แต่ก็สามารถทำให้สิงโตเชื่อง และรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อได้สำเร็จ

แอตเลติโก มาดริด : The Mattress Makers หรือ The Indians

ฉายาแรก “Mattress Makers” หมายถึง สีแดง-ขาวจากวัสดุที่ใช้ปูที่นอนในสมัยก่อน อีกฉายาคือ “Indians” มีที่มาจากในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970s แอตเลติโก มาดริด นิยมดึงนักเตะจากอเมริกาใต้เข้าสู่ทีมหลายคน ซึ่งเป็นนักเตะผิวสี และไว้ผมยาว จนถูกแฟนบอลทีมคู่แข่งล้อเลียนว่าเป็นพวกอินเดียนแดง

โอซาซูน่า : The Rojillos (The Reds)

ฉายา “The Rojillos” ของโอซาซูน่า ในภาษาสเปน หมายถึง “The Reds” หรือ สีแดง ซึ่งมาจากสีพื้นหลังของธงแคว้นนาวาร์ (Navarre) ที่ตั้งของสโมสร นอกจากนี้ สีแดงยังปรากฎอยู่บนเสื้อแข่งขันชุดเหย้า และโลโก้ของสโมสรอีกด้วย

กาดิซ : The Yellow Submarine

มีฉายา “Yellow Submarine” เช่นเดียวกับบียาร์เรอัล แต่มีที่มาที่แตกต่างกัน โดยกาดิซได้รับฉายานี้ เพราะในช่วงปี 1980-1986 สถานะของสโมสรอยู่ในลีกดิวิชั่น 2 และลีกสูงสุด ขึ้น-ลงสลับกันไป คล้ายกับการเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำ

เอลเช่ : The Green Stripes

ในยุคแรก เสิ้อแข่งขันของเอลเช่มีสีขาวล้วน แต่ในปี 1926 ได้เพิ่มแถบสีเขียวแนวขวางไว้ส่วนบนของเสื้อ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากต้นปาล์ม ต้นไม้ที่นิยมปลูกกันมากในเมืองเอลเช่ จึงทำให้สโมสรฟุตบอลแห่งนี้ ได้รับฉายาว่า “Green Stripes”

บาร์เซโลน่า : The Culés

ในอดีต มีแฟนบอลบาร์เซโลน่าจำนวนหนึ่งที่อยู่ในสนาม “La Escopidora” สนามเหย้าแห่งแรกของสโมสรที่มีขนาดเล็กมาก นั่งเรียงกันเป็นแถวยาวด้านบนสุดของกำแพงบนอัฒจันทร์ ซึ่งคนที่เดินผ่านไปมาก็ได้เห็นแผ่นหลัง และก้นของพวกเขาเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของฉายา “Culés” ที่แปลว่า กลุ่มคนที่ชอบโชว์แผ่นหลัง

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/fcbarcelona

เกตาเฟ่ : The Dark Blues

ในยุคแรก สโมสรแห่งนี้ใช้ชื่อว่า “Club Getafe Deportivo” ใช้ชุดแข่งสีน้ำเงินเข้ม ก่อนถูกยุบทีมในปี 1982 และในปีต่อมา ได้ก่อตั้งสโมสรขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า “Getafe Club de Fútbol” ใช้ชุดแข่งสีน้ำเงินเข้มเช่นเดิม จึงได้ฉายาว่า “Dark Blues”

กิโรน่า : The White and Reds

ฉายา “White and Reds” หรือสีขาว-แดง มีที่มาจากสีของชุดแข่งชัน และโลโก้ของสโมสรที่มีลักษณะคล้ายหยดน้ำเรียงสลับกันสีละ 4 แถว สื่อถึงเมืองกิโรน่า จุดที่มีแม่น้ำ 4 สาย ไหลมาบรรจบกัน ซึ่งอยู่บนธง และตราประจำเมืองกิโรน่าด้วย

ราโย บาเยกาโน่ : The Red Sashes

ก่อนหน้านี้ เสื้อแข่งขันของราโย บาเยกาโน่ มีสีขาวล้วน จนกระทั่งในช่วงกลางทศวรรษที่ 1940s ได้เพิ่มแถบสีแดงทแยงพาดผ่าน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสโมสรฟุตบอลริเวอร์เพลท ในประเทศอาร์เจนติน่า จึงได้รับฉายาว่า “Red Sashes”

เซลต้า บีโก้ : The Sky Blues หรือ The Olívicos

ฉายา “Sky Blues” มาจากสีของท้องฟ้าที่อยู่บนเสื้อแข่งขัน ส่วนฉายา “Olívicos” ในภาษาสเปนหมายถึง Olive หรือต้นมะกอกที่ปลูกไว้ในโบสถ์แห่งหนึ่ง สื่อความหมายถึงสันติภาพและความสามัคคี ซึ่งอยู่บนธง และตราประจำเมืองบีโก้ด้วย

เอสปันญ่อล : The Parakeets

คำว่า “Parakeet” แปลตรงตัวว่า นกแก้ว มีที่มาจากฝูงนกแก้วที่มาทำรังบนต้นไม้รอบ ๆ สนาม Estadio de Sarriá ซึ่งเคยถูกใช้เป็นสนามเหย้าของเอสปันญ่อล ตั้งแต่ปี 1923 ถึง 1997 ก่อนจะย้ายมาใช้สนาม “อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม” ในปัจจุบัน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RCDEspanyol

เรอัล มายอร์ก้า : The Vermilions

ฉายาของเรอัล มายอร์ก้าคือ “Vermilion” ที่แปลว่า สีแดงสด ซึ่งเป็นสีชุดแข่งหลักของสโมสร เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1922 โดยก่อนหน้านั้นได้ใช้ชุดแข่งสีดำมาก่อน และสีแดงสด ยังเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ของสโมสรอีกด้วย

เรอัล เบติส : The Béticos หรือ The Green and Whites หรือ The Heliopolitanos

นอกจากฉายา “Béticos” ที่หมายถึงชื่อสโมสรเรอัล เบติสแล้ว ยังมีฉายา “Green and Whites” หรือสีเขียว-ขาว สีของชุดแข่งขัน และฉายา “Heliopolitanos” มีที่มาจากชื่อย่าน Heliópolis ย่านที่อยู่ในแคว้นอันดาลูเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสโมสร

เรอัล มาดริด : The Meringues หรือ The Vikings

ฉายาแรก “Meringues” มาจากชุดแข่งขันสีขาว ส่วนอีกฉายาคือ “Vikings” มาจากพาดหัวของหนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษ หลังจาก “โลส บลังโกส” คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ สมัยที่ 5 ติดต่อกันในปี 1960 ความว่า “เรอัล มาดริด ออกอาละวาดไปทั่วยุโรปเหมือนพวกไวกิ้ง ทำลายล้างทุกอย่างที่ขวางหน้า”

เรอัล โซเซียดัด : The Txuri-Urdin

ฉายาของเรอัล โซเซียดัด มาจากเพลงประจำสโมสร คำว่า “Txuri-Urdin” ในภาษาบาสก์หมายถึง “White and Blues” หรือสีขาว-น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีธงประจำเมืองซาน เซบาสเตียน ที่ตั้งของสโมสร และกลายเป็นสีชุดแข่งของสโมสรตั้งแต่ปี 1909

เรอัล บายาโดลิด : The Pucelanos (Pucela)

คำว่า “Pucela” สันนิษฐานว่ามีที่มาจาก Joan of Arc หญิงสาวที่ได้ต่อสู้ในสงครามร้อยปี ซึ่งเรียกตัวเองว่า “Maid of Orleans” ซึ่งคำว่า maid ในภาษาสเปนยุคโบราณ จะเรียกว่า pucela และถูกนำไปตั้งเป็นฉายาของบายาโดลิดในที่สุด

เซบีย่า : The Washbasins

คำว่า “Washbasin” แปลตรงตัวว่า อ่างล้างหน้า มีที่มาจากเสื้อแข่งของเซบีย่าในช่วงกลางทศวรรษที่1970s ซึ่งเป็นเสื้อสีขาวล้วน มีเส้นขอบสีแดงเล็ก ๆ ที่บริเวณแขนเสื้อ และบนปกคอเสื้อ มีลักษณะคล้ายกับอ่างล้างหน้าที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น

อัลเมเรีย : The Indálicos

ฉายา “Indálicos” มาจากสัญลักษณ์ Indalo เป็นภาพวาดลักษณะคล้ายกับมนุษย์ ถูกค้นพบในถ้ำลอสเลเตรอส (Los Letreros) ที่เมืองอัลเมเรีย ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก และสัญลักษณ์ดังกล่าว ก็อยู่ภายในโลโก้ของสโมสรด้วย

บาเลนเซีย : The Che

ฉายาในภาษาสเปนคือ “Los Che” ซึ่งเป็นคำอุทานที่ชาวเมืองบาเลนเซียใช้เรียกกัน มีลักษณะคล้ายกับการอุทาน “hey” ในภาษาอังกฤษ เป็นการแสดงออกถึงความเป็นชาวเมืองบาเลนเซียโดยเฉพาะ และกลายเป็นชื่อเรียกที่ติดปากในที่สุด

บียาร์เรอัล : The Yellow Submarine

มีฉายา “Yellow Submarine” เหมือนกับกาดิซ มีที่มาจากชื่อเพลง “Yellow Submarine” ของเดอะ บีทเทิลส์ วงดนตรีร็อกชื่อดังของอังกฤษ ที่เปิดตัวเมื่อปี 1966 และแฟนบอลได้นำเพลงของวงเดอะ บีทเทิลส์ มาเปิดให้ฟังในสนามนับแต่นั้นมา

ฉายาของสโมสรฟุตบอล ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ชื่อนั้นติดหู จดจำง่าย พร้อมกับเสริมความน่าเกรงขามเพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้ไปในตัวด้วย ถือเป็นสีสัน และช่วยเพิ่มอรรถรสในการติดตามเกมลูกหนังมากยิ่งขึ้น

Facebook
Twitter
Pinterest
Email

Comments are closed.