Categories
Special Content

รู้จักที่มา “ฉายา” 20 สโมสรฟุตบอลในลาลีกา สเปน 2022/23

เมื่อพูดถึง “ฉายา” ในวงการฟุตบอล ก็เปรียบเสมือนชื่อเล่น ที่ใช้เรียกแทนชื่อจริงของสโมสรนั้น ๆ โดยในแต่ละสโมสร จะตั้งฉายาที่แตกต่างกันไป มีทั้งตั้งแบบเรียบง่าย หรือตั้งแบบแปลกประหลาดจนน่าตกใจ

เหตุผลในการตั้งฉายาของแต่ละสโมสรฟุตบอล ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะมาจากชื่อสถานที่ตั้ง, ชื่อบุคคลสำคัญ, สัญลักษณ์, ประวัติศาสตร์, ตำนานหรือความเชื่อในท้องถิ่น และอื่น ๆ อีกมากมาย

ลาลีกา จะพาไปทำความรู้จักกับฉายาของทั้ง 20 สโมสร ในลีกสูงสุดแดนกระทิงดุ ฤดูกาล 2022/23ว่ามีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไรกันบ้าง

แอธเลติก บิลเบา : The Lions

ฉายา “The Lions” ของแอธเลติก บิลเบา มาจากชื่อของซาน มาเมส (San Mamés) นักบุญไบแซนไทน์ที่ถูกทรมานร่างกาย และกำลังจะกลายเป็นอาหารของสิงโต แต่ก็สามารถทำให้สิงโตเชื่อง และรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อได้สำเร็จ

แอตเลติโก มาดริด : The Mattress Makers หรือ The Indians

ฉายาแรก “Mattress Makers” หมายถึง สีแดง-ขาวจากวัสดุที่ใช้ปูที่นอนในสมัยก่อน อีกฉายาคือ “Indians” มีที่มาจากในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970s แอตเลติโก มาดริด นิยมดึงนักเตะจากอเมริกาใต้เข้าสู่ทีมหลายคน ซึ่งเป็นนักเตะผิวสี และไว้ผมยาว จนถูกแฟนบอลทีมคู่แข่งล้อเลียนว่าเป็นพวกอินเดียนแดง

โอซาซูน่า : The Rojillos (The Reds)

ฉายา “The Rojillos” ของโอซาซูน่า ในภาษาสเปน หมายถึง “The Reds” หรือ สีแดง ซึ่งมาจากสีพื้นหลังของธงแคว้นนาวาร์ (Navarre) ที่ตั้งของสโมสร นอกจากนี้ สีแดงยังปรากฎอยู่บนเสื้อแข่งขันชุดเหย้า และโลโก้ของสโมสรอีกด้วย

กาดิซ : The Yellow Submarine

มีฉายา “Yellow Submarine” เช่นเดียวกับบียาร์เรอัล แต่มีที่มาที่แตกต่างกัน โดยกาดิซได้รับฉายานี้ เพราะในช่วงปี 1980-1986 สถานะของสโมสรอยู่ในลีกดิวิชั่น 2 และลีกสูงสุด ขึ้น-ลงสลับกันไป คล้ายกับการเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำ

เอลเช่ : The Green Stripes

ในยุคแรก เสิ้อแข่งขันของเอลเช่มีสีขาวล้วน แต่ในปี 1926 ได้เพิ่มแถบสีเขียวแนวขวางไว้ส่วนบนของเสื้อ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากต้นปาล์ม ต้นไม้ที่นิยมปลูกกันมากในเมืองเอลเช่ จึงทำให้สโมสรฟุตบอลแห่งนี้ ได้รับฉายาว่า “Green Stripes”

บาร์เซโลน่า : The Culés

ในอดีต มีแฟนบอลบาร์เซโลน่าจำนวนหนึ่งที่อยู่ในสนาม “La Escopidora” สนามเหย้าแห่งแรกของสโมสรที่มีขนาดเล็กมาก นั่งเรียงกันเป็นแถวยาวด้านบนสุดของกำแพงบนอัฒจันทร์ ซึ่งคนที่เดินผ่านไปมาก็ได้เห็นแผ่นหลัง และก้นของพวกเขาเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของฉายา “Culés” ที่แปลว่า กลุ่มคนที่ชอบโชว์แผ่นหลัง

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/fcbarcelona

เกตาเฟ่ : The Dark Blues

ในยุคแรก สโมสรแห่งนี้ใช้ชื่อว่า “Club Getafe Deportivo” ใช้ชุดแข่งสีน้ำเงินเข้ม ก่อนถูกยุบทีมในปี 1982 และในปีต่อมา ได้ก่อตั้งสโมสรขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า “Getafe Club de Fútbol” ใช้ชุดแข่งสีน้ำเงินเข้มเช่นเดิม จึงได้ฉายาว่า “Dark Blues”

กิโรน่า : The White and Reds

ฉายา “White and Reds” หรือสีขาว-แดง มีที่มาจากสีของชุดแข่งชัน และโลโก้ของสโมสรที่มีลักษณะคล้ายหยดน้ำเรียงสลับกันสีละ 4 แถว สื่อถึงเมืองกิโรน่า จุดที่มีแม่น้ำ 4 สาย ไหลมาบรรจบกัน ซึ่งอยู่บนธง และตราประจำเมืองกิโรน่าด้วย

ราโย บาเยกาโน่ : The Red Sashes

ก่อนหน้านี้ เสื้อแข่งขันของราโย บาเยกาโน่ มีสีขาวล้วน จนกระทั่งในช่วงกลางทศวรรษที่ 1940s ได้เพิ่มแถบสีแดงทแยงพาดผ่าน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสโมสรฟุตบอลริเวอร์เพลท ในประเทศอาร์เจนติน่า จึงได้รับฉายาว่า “Red Sashes”

เซลต้า บีโก้ : The Sky Blues หรือ The Olívicos

ฉายา “Sky Blues” มาจากสีของท้องฟ้าที่อยู่บนเสื้อแข่งขัน ส่วนฉายา “Olívicos” ในภาษาสเปนหมายถึง Olive หรือต้นมะกอกที่ปลูกไว้ในโบสถ์แห่งหนึ่ง สื่อความหมายถึงสันติภาพและความสามัคคี ซึ่งอยู่บนธง และตราประจำเมืองบีโก้ด้วย

เอสปันญ่อล : The Parakeets

คำว่า “Parakeet” แปลตรงตัวว่า นกแก้ว มีที่มาจากฝูงนกแก้วที่มาทำรังบนต้นไม้รอบ ๆ สนาม Estadio de Sarriá ซึ่งเคยถูกใช้เป็นสนามเหย้าของเอสปันญ่อล ตั้งแต่ปี 1923 ถึง 1997 ก่อนจะย้ายมาใช้สนาม “อาร์ซีดีอี สเตเดี้ยม” ในปัจจุบัน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RCDEspanyol

เรอัล มายอร์ก้า : The Vermilions

ฉายาของเรอัล มายอร์ก้าคือ “Vermilion” ที่แปลว่า สีแดงสด ซึ่งเป็นสีชุดแข่งหลักของสโมสร เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1922 โดยก่อนหน้านั้นได้ใช้ชุดแข่งสีดำมาก่อน และสีแดงสด ยังเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ของสโมสรอีกด้วย

เรอัล เบติส : The Béticos หรือ The Green and Whites หรือ The Heliopolitanos

นอกจากฉายา “Béticos” ที่หมายถึงชื่อสโมสรเรอัล เบติสแล้ว ยังมีฉายา “Green and Whites” หรือสีเขียว-ขาว สีของชุดแข่งขัน และฉายา “Heliopolitanos” มีที่มาจากชื่อย่าน Heliópolis ย่านที่อยู่ในแคว้นอันดาลูเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสโมสร

เรอัล มาดริด : The Meringues หรือ The Vikings

ฉายาแรก “Meringues” มาจากชุดแข่งขันสีขาว ส่วนอีกฉายาคือ “Vikings” มาจากพาดหัวของหนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษ หลังจาก “โลส บลังโกส” คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ สมัยที่ 5 ติดต่อกันในปี 1960 ความว่า “เรอัล มาดริด ออกอาละวาดไปทั่วยุโรปเหมือนพวกไวกิ้ง ทำลายล้างทุกอย่างที่ขวางหน้า”

เรอัล โซเซียดัด : The Txuri-Urdin

ฉายาของเรอัล โซเซียดัด มาจากเพลงประจำสโมสร คำว่า “Txuri-Urdin” ในภาษาบาสก์หมายถึง “White and Blues” หรือสีขาว-น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีธงประจำเมืองซาน เซบาสเตียน ที่ตั้งของสโมสร และกลายเป็นสีชุดแข่งของสโมสรตั้งแต่ปี 1909

เรอัล บายาโดลิด : The Pucelanos (Pucela)

คำว่า “Pucela” สันนิษฐานว่ามีที่มาจาก Joan of Arc หญิงสาวที่ได้ต่อสู้ในสงครามร้อยปี ซึ่งเรียกตัวเองว่า “Maid of Orleans” ซึ่งคำว่า maid ในภาษาสเปนยุคโบราณ จะเรียกว่า pucela และถูกนำไปตั้งเป็นฉายาของบายาโดลิดในที่สุด

เซบีย่า : The Washbasins

คำว่า “Washbasin” แปลตรงตัวว่า อ่างล้างหน้า มีที่มาจากเสื้อแข่งของเซบีย่าในช่วงกลางทศวรรษที่1970s ซึ่งเป็นเสื้อสีขาวล้วน มีเส้นขอบสีแดงเล็ก ๆ ที่บริเวณแขนเสื้อ และบนปกคอเสื้อ มีลักษณะคล้ายกับอ่างล้างหน้าที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น

อัลเมเรีย : The Indálicos

ฉายา “Indálicos” มาจากสัญลักษณ์ Indalo เป็นภาพวาดลักษณะคล้ายกับมนุษย์ ถูกค้นพบในถ้ำลอสเลเตรอส (Los Letreros) ที่เมืองอัลเมเรีย ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก และสัญลักษณ์ดังกล่าว ก็อยู่ภายในโลโก้ของสโมสรด้วย

บาเลนเซีย : The Che

ฉายาในภาษาสเปนคือ “Los Che” ซึ่งเป็นคำอุทานที่ชาวเมืองบาเลนเซียใช้เรียกกัน มีลักษณะคล้ายกับการอุทาน “hey” ในภาษาอังกฤษ เป็นการแสดงออกถึงความเป็นชาวเมืองบาเลนเซียโดยเฉพาะ และกลายเป็นชื่อเรียกที่ติดปากในที่สุด

บียาร์เรอัล : The Yellow Submarine

มีฉายา “Yellow Submarine” เหมือนกับกาดิซ มีที่มาจากชื่อเพลง “Yellow Submarine” ของเดอะ บีทเทิลส์ วงดนตรีร็อกชื่อดังของอังกฤษ ที่เปิดตัวเมื่อปี 1966 และแฟนบอลได้นำเพลงของวงเดอะ บีทเทิลส์ มาเปิดให้ฟังในสนามนับแต่นั้นมา

ฉายาของสโมสรฟุตบอล ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ชื่อนั้นติดหู จดจำง่าย พร้อมกับเสริมความน่าเกรงขามเพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้ไปในตัวด้วย ถือเป็นสีสัน และช่วยเพิ่มอรรถรสในการติดตามเกมลูกหนังมากยิ่งขึ้น

Categories
Special Content

เออร์ลิง ฮาแลนด์ : ลูกชาวสวนผู้เดินตามรอยพ่อที่ “แมนฯ ซิตี้”

เออร์ลิง ฮาแลนด์ กองหน้าวัย 22 ปี ย้ายจากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มาร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยค่าตัว 51 ล้านปอนด์ เซ็นสัญญา 5 ปี รับค่าเหนื่อย 375,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

ล่าสุด ดาวยิงชาวนอร์เวย์รายนี้ ได้โอกาสลงสนามเป็นตัวจริงให้กับ “เรือใบสีฟ้า” ในเกมอุ่นเครื่องพรี-ซีซั่น ที่สหรัฐอเมริกา โดยเฉือนเอาชนะบาเยิร์น มิวนิค 1 – 0 เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา

ประตูชัยในเกมนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ 12 นาทีแรก และฮาแลนด์ก็เป็นผู้สังหารเข้าไป ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี หลังจากดาร์วิน นูนเญซ เพิ่งยิงคนเดียว 4 ประตูให้กับลิเวอร์พูล เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

การมาของฮาแลนด์ และนูนเญซ สร้างความตื่นเต้นให้กับฟุตบอลอังกฤษเป็นอย่างมาก ที่อยากจะเห็นฟอร์มของดาวยิงวัยรุ่นทั้ง 2 คนนี้ โดยเริ่มต้นจากศึก “คอมมูนิตี้ ชิลด์” วันเสาร์นี้

วันนี้ ไข่มุกดำ x SoccerSuck จะมาเล่าเรื่องราวของดาวเตะหมายเลข 9 กับเส้นทางสู่การเป็นนักเตะแมนฯ ซิตี้ ตามรอยคุณพ่ออัลฟ์-อิงเก้ มาให้ฟังกันครับ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/mancity

เกิดในครอบครัวนักกีฬา และเกษตรกร

เออร์ลิง ฮาแลนด์ เกิดที่เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ เป็นลูกชายของคุณพ่ออัลฟ์-อิงเก้ ฮาแลนด์ ที่เคยค้าแข้งกับ 3 สโมสรพรีเมียร์ลีก ทั้งน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์, ลีดส์ ยูไนเต็ด และแมนเชสเตอร์ ซิตี้

ส่วนคุณแม่ของเขา ก็เคยเป็นอดีตนักกรีฑาที่มีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษ 1990s โดยเคยลงแข่งขันในประเภทสัตตกรีฑา ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ต้องใช้ความพยายาม และความทรหดเป็นอย่างมาก

เมื่อฮาแลนด์อายุได้ 3 ขวบ คุณพ่ออัลฟ์-อิงเก้ ตัดสินใจยุติชีวิตค้าแข้งในเมืองผู้ดี พร้อมพาครอบครัวกลับบ้านเกิดที่เมืองไบรน์ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรม

ฮาแลนด์เริ่มต้นเส้นทางลูกหนังในวัย 5 ขวบ หลังจากเข้ามาเป็นนักเตะเยาวชนกับสโมสรไบรน์ ซึ่งตัวเขามีฝีเท้า พรสวรรค์ และรูปร่างสูงใหญ่ โดดเด่นกว่าเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน

หลังจากใช้เวลาอยู่กับอคาเดมี่นานถึง 11 ปี ในปี 2016 ฮาแลนด์ในวัย 16 ปี ก็ได้ประเดิมลงสนามกับทีมชุดใหญ่ของไบรน์เป็นนัดแรก โดยเริ่มเล่นในตำแหน่งปีก ก่อนถูกโยกมาเล่นกองหน้าตัวเป้า

กระทั่งปีต่อมา โอเล่ กุนนาร์ โซลชา อดีตตำนานกองหน้าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่รับงานผู้จัดการทีมโมลด์ในเวลานั้น ได้เห็นฝีเท้าที่ยอดเยี่ยมของฮาแลนด์ จึงได้ดึงตัวเขามาปลุกปั้นต่อ

ซึ่งแมตช์ที่สร้างชื่อให้กับฮาแลนด์ คือเกมที่โมลด์ บุกไปถล่มบรานน์ถึงถิ่น 4 – 0 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 เจ้าตัวเหมาทั้ง 4 ประตูในครึ่งแรก โดยใช้เวลาเพียงแค่ 17 นาทีเท่านั้น

ค่าเฉลี่ยนัดละ 1 ลูกในลีกออสเตรีย และเยอรมัน

หลังผ่านการพิสูจน์ตัวเองในลีกนอร์เวย์กับไบรน์ และโมลด์ เออร์ลิง ฮาแลนด์ก็ได้ไปค้าแข้งในลีกที่ใหญ่กว่าเดิม เพื่อโอกาสสร้างชื่อในการเป็นหนึ่งในสุดยอดดาวยิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกลูกหนัง

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/FCRedBullSalzburg

เดือนมกราคม 2019 ซัลซ์บวร์ก ทีมดังในบุนเดสลีกา ออสเตรีย จ่ายเงินให้โมลด์ 8 ล้านยูโร ในการดึงฮาแลนด์มาร่วมทีม และได้สร้างประวัติศาสตร์ไว้มากมายในถิ่นเรดบูลล์ อารีน่า

ตลอด 1 ปี กับซัลซ์บวร์ก ฮาแลนด์ ลงเล่น 27 นัดรวมทุกรายการ ทำได้ 29 ประตู หนึ่งในนั้นคือการยิงประตูลิเวอร์พูลที่แอนฟิลด์ ในเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม เมื่อเดือนตุลาคม 2019

และการลงเล่นถ้วยใหญ่สุดของยุโรปนี่เอง ฮาแลนด์ได้สร้างสถิติขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นนักเตะคนที่ 6 ในประวัติศาสตร์ ที่ยิงประตูในรายการแชมเปี้ยนส์ ลีก 5 นัดติดต่อกัน

จากนั้นในเดือนมกราคม ปีถัดมา โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรยักษ์ใหญ่จากบุนเดสลีกา เยอรมัน ตัดสินใจทุ่มเงิน 20 ล้านยูโร เพื่อเป็นค่าตัวของฮาแลนด์ ท่ามกลางความสนใจจากหลายทีมในยุโรป

นัดแรกของฮาแลนด์ ในสีเสื้อของ “เสือเหลือง” ถูกเปลี่ยนลงมาเป็นตัวสำรอง และทำแฮตทริกได้ทันที โดยใช้เวลาเพียงแค่ 34 นาทีเท่านั้น ในเกมที่บุกไปเอาชนะเอาก์สบวร์กถึงถิ่น 5 – 3

2 ซีซั่นครึ่งในถิ่นซิกนัล อิดูน่า พาร์ค ฮาแลนด์ได้ตอบแทนความคุ้มค่าให้กับดอร์ทมุนด์ ด้วยการเป็นตัวผลิตสกอร์เป็นกอบเป็นกำเช่นเดียวกับตอนเล่นให้ซัลซ์บวร์ก โดยทำได้ 86 ประตู จากการลงสนาม 89 นัด

ผลงานของฮาแลนด์ กับทั้งซัลซ์บวร์ก และดอร์ทมุนด์ ยิงได้ 115 ประตู จาก 116 นัด คิดแบบง่าย ๆ คือ การันตี 1 ประตูทุกนัด ด้วยสถิติสุดโหดแบบนี้ ทำให้แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตัดสินใจดึงตัวไปร่วมทีมในที่สุด

บทบาทในเกมรุกของแมนฯ ซิตี้ จะเป็นอย่างไร ?

เออร์ลิง ฮาแลนด์ เลือกวันที่ 12 มิถุนายน เป็นวันเปิดตัวนักเตะใหม่กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่อัลฟ์-อิงเก้  คุณพ่อของเขา เปิดตัวกับเรือใบสีฟ้า หลังย้ายจากลีดส์ ยูไนเต็ด เมื่อ 22 ปีก่อน

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/mancity

การเข้ามาของฮาแลนด์ ถือเป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในตำแหน่งกองหน้าตัวเป้า หลังจากหมดยุคของเซร์คิโอ กุน อเกวโร่ และไม่แน่ว่า อาจจะทำได้ดีกว่าอดีตดาวยิงชาวอาร์เจนไตน์ก็เป็นได้

สไตล์การเล่นของฮาแลนด์ มักจะเป็นกองหน้ารอจบสกอร์ในเขตโทษ มากกว่าช่วยเพื่อนร่วมทีมขึ้นเกม ซึ่งจะต่างจากแฮร์รี่ เคน กองหน้าสเปอร์ส ที่แมนฯ ซิตี้เคยตามจีบอย่างหนัก แต่สุดท้ายก็พลาดหวัง

สำหรับแท็กติกที่เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กุนซือสมองเพชรของซิตี้ ที่คาดว่าน่าจะนำมาใช้ เพื่อรองรับการมาถึงของดาวยิงทีมชาตินอร์เวย์ วัย 22 ปี รายนี้ มีความเป็นไปได้ทั้ง 4-3-3, 4-2-3-1 หรือ 4-4-2

แผน 4-3-3 สูตรถนัดของเป๊ป ฮาแลนด์จะเป็นกองหน้าตัวกลาง ยืนสูงกว่าด้านข้างทั้งริยาดห์ มาเรซ และฟิล โฟเด้น ส่วนแผงมิดฟิลด์ เควิน เดอ บรอยน์ จะทำหน้าที่คอยปั้นเกม

ส่วนแผน 4-2-3-1 แน่นอนว่าฮาแลนด์ยืนหน้าตัวเป้าแบบเดี่ยว ๆ ส่วนมิดฟิลด์ที่จะขึ้นเกมรุก อาจจะให้เดอ บรอยน์ หรือโฟเด้น รับบทเป็นเพลย์เมกเกอร์ ทำเกมอยู่ด้านหลังฮาแลนด์

ขณะที่แผน 4-4-2 ที่หลายคนอาจปรามาสว่า “ตกยุค” แต่เป๊ปอาจจะหยิบนำมาใช้ได้เช่นกัน ฮาแลนด์จะยืนเป็นกองหน้าคู่ ซึ่งจับคู่ได้ทั้งโฟเด้น, มาเรซ หรือกองหน้าตัวใหม่อย่างยูเลี่ยน อัลวาเรซ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/mancity

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แมนฯ ซิตี้อาจจะมีความกังวลในตัวฮาแลนด์ คืออาการบาดเจ็บที่เริ่มจะบ่อยขึ้นในระยะหลังอย่างเห็นได้ชัด โดย 2 ฤดูกาลหลังสุดกับดอร์ทมุนด์ เขาพลาดลงสนามรวมกันถึง 26 นัด

การมาของเออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ ทำให้เกมรุกของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ น่ากลัวขึ้นอีกระดับ และหลังจากลิเวอร์พูลได้ตัวดาร์วิน นูนเญซ น่าสนใจว่าพรีเมียร์ลีก ฤดูกาลใหม่ จะเพิ่มดีกรีความเดือดอย่างมากเลยทีเดียว

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://lifebogger.com/erling-braut-haaland-childhood-story-plus-untold-biography-facts/

https://theathletic.com/3279312/2022/05/11/erling-haaland-boy-from-bryne-who-didnt-like-school-or-losing-but-loves-scoring-and-kebab-pizza/

– https://theathletic.com/3368776/2022/06/17/haaland-de-bruyne-foden-grealish/

– https://www.skysports.com/football/news/11679/12609616/erling-haaland-to-man-city-why-striker-role-in-pep-guardiolas-team-suits-norwegians-temperament-and-skill-set

Categories
Special Content

แนะนำ 20 กุนซือลาลีกา ซีซั่น 2022/23

ผู้ฝึกสอน หรือโค้ช ถือเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอล เพราะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ในการหลอมรวมนักเตะแต่ละคนที่มีสไตล์ที่แตกต่างกัน ให้ทำงานด้วยกันเป็นทีม เพื่อนำไปสู่ชัยชนะ

ศึกลูกหนัง ลาลีกา สเปน ฤดูกาล 2022/23 จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคมนี้ กุนซือของทุกสโมสร กำลังเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อสู้กับศึกหนักที่รออยู่ตลอด 9 เดือน

สำหรับในซีซั่นใหม่ มีกุนซือชาวสเปน 14 คน ที่ต้องมาดวลกึ๋นกับกุนซือชาวต่างชาติอีก 6 คน และนี่คือภาพรวมของโค้ชทั้ง 20 ทีม ที่แฟน ๆ ลูกหนังลีกกระทิงดุ ต่างรอดูผลงานของพวกเขาเหล่านี้

โค้ชที่ผ่านประสบการณ์ระดับสูง

ในบรรดา 20 สโมสรของลาลีกา ซีซั่นใหม่ มีผู้จัดการทีมบางคน ที่ผ่านประสบการณ์ทั้งในสเปน และยุโรป เริ่มจากคาร์โล อันเชล็อตติ เทรนเนอร์เรอัล มาดริด แชมป์เก่าลาลีกา และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก จากซีซั่นที่แล้ว

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/RealMadrid

เทรนเนอร์ชาวอิตาเลียนวัย 63 ปี กับประสบการณ์คุมทีมคว้าแชมป์ 23 โทรฟี่ (7 โทรฟี่ กับเรอัล มาดริด) และเป็นโค้ชที่มีอายุมากสุดเป็นอันดับ 2 เท่ากับฮาเวียร์ อากีร์เร่ กุนซือชาวเม็กซิกันของเรอัล มายอร์ก้า

ส่วนกุนซือที่มีอายุมากที่สุดในลาลีกา คือ มานูเอล เปเยกรินี่ วัย 68 ปี ที่เคยคว้าแชมป์ 3 โทรฟี่ กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในอังกฤษ และล่าสุดเพิ่งพาเรอัล เบติส คว้าแชมป์โคปา เดล เรย์ เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี

และอีกคนที่มีโปรไฟล์น่าสนใจ คือ อูไน เอเมรี่ กุนซือวัย 50 ปี แม้อายุจะยังน้อย แต่ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขา คือการคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ได้ถึง 4 ครั้ง (3 ครั้งกับเซบีย่า และ 1 ครั้งกับบียาร์เรอัล)

โค้ชที่มีอายุงานยาวนานที่สุด

ดิเอโก้ ซิเมโอเน่ เป็นโค้ชที่มีอายุงานในลาลีกายาวนานที่สุด โดยได้มาคุมทีมแอตเลติโก้ มาดริด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2011 จนถึงปัจจุบันนี้ เทรนเนอร์ชาวอาร์เจนไตน์ อยู่กับ “ตราหมี” มาแล้ว 10 ปี 7 เดือน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/AtleticodeMadrid

อันดับ 2 เป็นของยาโกบา อาราซาเต้ ที่พาโอซาซูน่า เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดตั้งแต่ซีซั่นแรกที่คุมทีม และจบอันดับกลางตารางมา 3 ซีซั่นติดต่อกัน ซึ่งในซีซั่นนี้ จะเป็นซีซั่นที่ 5 ในการทำงานของเขา

ตามมาด้วย อิมานอล อัลกูอาซิล ที่คุมเรอัล โซเซียดัด มาแล้ว 3 ฤดูกาลครึ่ง และเคยพาทีมคว้าแชมป์โคปา เดล เรย์ ฤดูกาล 2019/20 เป็นการได้แชมป์ระดับเมเจอร์ครั้งแรกในรอบ 34 ปี ของสโมสร

ฆูเลน โลเปเตกี มาเป็นอันดับ 4 กับระยะเวลา 3 ฤดูกาลที่คุมทีมเซบีย่า ผลงานเด่นคือการคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ฤดูกาล 2019/20 และจบซีซั่นในอันดับท็อปโฟร์มาแล้ว 3 ซีซั่นติดต่อกัน

รอดตายเพราะเปลี่ยนโค้ชระหว่างซีซั่น

ฤดูกาลที่แล้ว มีกุนซือ 4 คน ที่เข้ามาคุมทีมระหว่างซีซั่น และช่วยให้ทีมรอดตกชั้น เริ่มจากเอลเช่ ที่อยู่อันดับ 18 ในเดือนพฤศจิกายน พอเปลี่ยนโค้ชมาเป็นฟรานซิสโก้ โรดริเกซ ก็ไม่เคยอยู่ในโซนสีแดงอีกเลย

เกตาเฟ่ ทีมที่ออกสตาร์ทซีซั่น 7 นัดแรก ไม่มีคะแนนเลย จนต้องเปลี่ยนกุนซือมาเป็นกิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส ในช่วงต้นเดือนตุลาคม หลังจากนั้นผลงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จบซีซั่นในอันดับที่ 15 ของตาราง

เรอัล มายอร์ก้า ครึ่งซีซั่นแรกดูเหมือนไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่พอช่วงครึ่งซีซั่นหลัง ฟอร์มหลุดแบบไม่น่าเชื่อ จนร่วงลงไปอยู่โซนตกชั้น ทำให้ฮาเวียร์ อากีร์เร่ เข้ามารับช่วงต่อใน 9 นัดสุดท้าย และเอาตัวรอดได้ในที่สุด

กาดิซ ก็เป็นอีกทีมที่อยู่ในโซนสีแดงช่วงครึ่งซีซั่นแรก และในเดือนมกราคม เซร์คิโอ กอนซาเลซ ก็ได้เข้ามากู้สถานการณ์ของทีม โดยต้องดิ้นรนหนีตายจนถึงนัดสุดท้าย ก่อนจบในอันดับที่ 17 รอดตกชั้นแบบฉิวเฉียด

เปลี่ยนกุนซือใหม่ก่อนเริ่มต้นซีซั่น

ลาลีกา ในซีซั่นใหม่ มี 3 สโมสร ที่มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งเฮดโค้ช เริ่มที่เอสปันญ่อล ได้แต่งตั้งดิเอโก้ มาร์ติเนซ อดีตโค้ชกรานาด้า ในช่วงปี 2018 – 2021 เข้ามารับหน้าที่แทนหลุยส์ บลังโก้ โค้ชรักษาการ

บาเลนเซีย ได้ตัดสินใจปลดโฆเซ่ บอร์ดัลอาส ออกจากตำแหน่งหลังจบซีซั่น และเลือกเจนนาโร่ กัตตูโซ่ อดีตเทรนเนอร์ของเอซี มิลาน และนาโปลี มาเป็นกุนซือคนใหม่ หวังลุ้นโควตาไปฟุตบอลยุโรปให้ได้

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/valenciacf.en

ปิดท้ายที่แอธเลติก บิลเบา มาร์เชลิโน่ ประกาศลาออกเมื่อจบซีซั่นที่ผ่านมา หลังล้มเหลวในการคว้าตั๋วไปฟุตบอลยุโรป และได้โค้ชคนใหม่แต่หน้าเก่าอย่างเออร์เนสโต้ บัลเบร์เด้ ที่กลับมาคุมทีมเดิมเป็นรอบที่ 3 แล้ว

โค้ชที่น่าจับตามองในซีซั่นใหม่

เริ่มจากซาบี้ เอร์นานเดซ เทรนเนอร์บาร์เซโลน่า ที่ใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือน พลิกสถานการณ์ของทีมจากอันดับที่ 9 สู่อันดับที่ 2 และซีซั่นใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น จะเป็นการคุมทีมแบบเต็มซีซั่นเป็นครั้งแรกของเขา

คนต่อมา อันโดนี่ อิราโอล่า กุนซือของราโย บาเยกาโน่ ที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมในฐานะทีมน้องใหม่จากซีซั่นก่อน และได้รับประสบการณ์อันล้ำค่า ในการที่จะปรับปรุงผลงานสำหรับซีซั่นใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อีกคนที่น่าจับตาไม่แพ้กัน คือ เอดูอาร์โด กูเดต์ โค้ชของเซลต้า บีโก้ ที่มีสไตล์การเล่นเกมรุกบุกแหลกแบบไม่กลัวใคร และความหวังอันดับ 1 ในการทำประตูให้กับทีม ก็ยังคงเป็นยาโก้ อัสปาส เช่นเดิม

3 กุนซือทีมน้องใหม่ลาลีกา

สำหรับผู้จัดการทีมของ 3 สโมสรที่เลื่อนชั้นขึ้นมาสู่เวทีลีกสูงสุด ซีซั่นใหม่ เริ่มจากรูบี้ กุนซืออัลเมเรีย ที่เคยมีประสบการณ์อันเลวร้าย หลังไม่สามารถพาสปอร์ติ้ง กิฆอน รอดพ้นจากการตกชั้น เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ปาเชต้า ก็เคยเจอชะตากรรมเดียวกันกับรูบี้ หลังทำทีมอูเอสก้า ตกชั้นจากลีกสูงสุด เมื่อฤดูกาล 2020/21 และคงต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อหวังพาเรอัล บายาโดลิด อยู่เหนือโซนสีแดงหลังจบซีซั่นให้ได้

คนสุดท้ายคือมิเกล ซานเชซ มูนญอซ โค้ชของกิโรน่า ที่เคยพาราโย บาเยกาโน่ และอูเอสก้า เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดในฐานะแชมป์ลีกรองมาแล้ว แต่ภารกิจเอาตัวรอดในลาลีกา ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของเขา

แม้ว่าโค้ชแต่ละคน จะมีองค์ความรู้ที่แตกต่างกัน แต่โค้ชทุกคนก็พยายามที่จะพัฒนาทีมของตัวเองให้ไปสู่เป้าหมาย ซึ่งผลงานของโค้ชแต่ละคน จะบอกถึงระดับความสามารถและมูลค่าได้ดีที่สุด

รายชื่อผู้จัดการทีมในลาลีกา สเปน ประจำฤดูกาล 2022/23

👉 อัลเมเรีย – รูบี้

👉 แอธเลติก บิลเบา – เออร์เนสโต้ บัลเบร์เด้

👉 แอตเลติโก มาดริด – ดิเอโก้ ซิเมโอเน่

👉 บาร์เซโลน่า – ซาบี้ เอร์นานเดซ

👉 กาดิซ – เซร์คิโอ กอนซาเลซ

👉 เซลต้า บีโก้ – เอดูอาร์โด กูเดต์

👉 เอลเช่ – ฟรานซิสโก้ โรดริเกซ

👉 เอสปันญ่อล – ดิเอโก มาร์ติเนซ

👉 เกตาเฟ่ – กิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส

👉 กิโรน่า – มิเกล ซานเชซ มูนญอซ

👉 โอซาซูน่า – ยาโกบา อาราซาเต้

👉 ราโย บาเยกาโน่ – อันโดนี่ อิราโอล่า

👉 เรอัล มายอร์ก้า – ฮาเวียร์ อากีร์เร่

👉 เรอัล เบติส – มานูเอล เปเยกรินี่

👉 เรอัล มาดริด – คาร์โล อันเชล็อตติ

👉 เรอัล โซเซียดัด – อิมานอล อัลกูอาซิล

👉 เรอัล บายาโดลิด – ปาเชต้า

👉 เซบีย่า – ฆูเลน โลเปเตกี

👉 บาเลนเซีย – เจนนาโร่ กัตตูโซ่

👉 บียาร์เรอัล – อูไน เอเมรี่

Categories
Special Content

ดาร์วิน นูนเญซ : จากเด็กยากจน สู่แข้งค่าตัวแพงสุดของลิเวอร์พูลที่ยังต้องต่อสู้กับคำครหา

ดาร์วิน นูนเญซ กองหน้าวัย 23 ปี ย้ายจากเบนฟิก้า มาร่วมทีมลิเวอร์พูล ด้วยค่าฉีกสัญญา 64 ล้านปอนด์ บวกกับแอด-ออน อีก 21 ล้านปอนด์ รวมเป็น 85 ล้านปอนด์ 

แต่กว่าจะเป็นนักเตะค่าตัวแพงสุดในประวัติศาสตร์ของ “หงส์แดง” นูนเญซต้องต่อสู้กับชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็ก แถมเคยได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก จนเกือบต้องเลิกเล่นฟุตบอลมาแล้ว

และล่าสุด เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ดาวยิงชาวอุรุกวัยได้โอกาสโชว์ฝีเท้าในเกมอุ่นเครื่อง นัดที่บุกไปถล่มแอร์แบ ไลป์ซิก 5 – 0 โดยเจ้าตัวถูกเปลี่ยนลงมาในครึ่งหลัง และยิงคนเดียว 4 ประตูลบคำปรามาสก่อนหน้านี้ที่ลงเตะพรีซีซั่นให้หงส์แดงแล้วฟอร์มยังไม่เข้าตาไปได้

“นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วในหยุดแว่วเสียงวิจารณ์ต่าง ๆ มันเป็นคืนที่เพอร์เฟคต์สำหรับเขา” เยอร์เก้น คลอปป์ กล่าวถึงลูกทีมเบอร์ 27

ฉะนั้นหลังกด 4 ประตูแรก และซัดแฮทตริกใน 12 นาทีได้สำเร็จ SoccerSuck x ไข่มุกดำ จะมาเล่าเรื่องเส้นทางสู่การเป็นนักฟุตบอลของนูนเญซ ก่อนที่ศึก “คอมมูนิตี ชิลด์” จะมาถึงในสัปดาห์หน้า ให้ฟังกันครับ

ครอบครัวที่แสนลำเค็ญ และเคยคิดเลิกเล่นฟุตบอล

ดาร์วิน นูนเญซ เกิดที่เมืองอาร์ติกาส ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอุรุกวัย ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ติดแม่น้ำ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ต้องเฝ้าระวังทรัพย์สินที่อาจจะสูญหายได้ทุกเวลา

ชีวิตในวัยเด็กของดาร์วิน ต้องเผชิญกับความลำเค็ญอย่างมาก เนื่องจากมีฐานะยากจน คุณพ่อเป็นคนงานก่อสร้าง ส่วนคุณแม่ต้องเดินเก็บขวดขายแลกเงิน เพื่อนำมาเลี้ยงดูตัวเขา และจูเนียร์ พี่ชายของเขา

สิ่งเดียวที่จะขับเคลื่อนชีวิตของดาร์วิน และครอบครัว ให้หลุดพ้นจากความยากลำบากคือ “ฟุตบอล” เมื่ออายุ 6 ขวบ ได้เข้ามาเป็นนักเตะเยาวชน ใช้เวลาฝึกฝนทักษะกีฬาลูกหนังจนเป็นที่ยอมรับของอคาเดมี่

ปี 2013 ดาร์วินในวัย 14 ปี ได้เข้าสู่ทีมเยาวชนของเพนารอล สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งเมืองหลวงพร้อมกับพี่ชาย แต่เกิดอาการคิดถึงครอบครัวที่อาร์ติกาส จึงขออนุญาตกับทางสโมสร กลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน 1 ปี

ปีต่อมา ดาร์วินกลับไปที่เพนารอลอีกครั้ง แต่ชีวิตการค้าแข้งของเขา เกือบหยุดชะงัก เนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่เอ็นหัวเข่าและบริเวณสะบ้า พักยาวเกือบ 2 ปี จนเจ้าตัวคิดอยากจะเลิกเป็นนักฟุตบอลเลยทีเดียว

เดือนพฤศจิกายน 2017 ดาร์วินได้ประเดิมลงสนามนัดแรกกับทีมชุดใหญ่ของเพนารอล แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เขาได้รับบาดเจ็บเอ็นหัวเข่าจุดเดิมเป็นครั้งที่ 2 พักนาน 7 เดือน ก่อนกลับมาลงสนามได้อีกครั้ง

ตลอด 2 ปี ในทีมชุดใหญ่ของเพนารอล ดาร์วินต้องเจอกับอุปสรรคทั้งร่างกายและจิตใจ แต่จูเนียร์ พี่ชายของเขา คือผู้เสียสละที่แท้จริง ด้วยการเปิดทางให้น้องชายได้ไปต่อในเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพ

สู่เส้นทางค้าแข้งที่ยุโรป ก่อนเข้าตาเจอร์เก้น คล็อปป์ 

ดาร์วิน นูนเญซ เติบโตในครอบครัวที่ยากลำบาก แต่ด้วยความเป็นนักสู้ ฝ่าฟันกับอุปสรรคต่างๆ อีกทั้งแสดงความสามารถออกมาให้ทุกคนเห็น จนได้รับโอกาสในการไปเล่นฟุตบอลอาชีพที่ต่างแดน

ปี 2019 อัลเมเรีย สโมสรระดับลีกดิวิชั่น 2 ของสเปนในเวลานั้น จ่ายเงิน 6 ล้านยูโร ให้กับเพนารอล เพื่อเป็นค่าตัวในการย้ายไปค้าแข้งในลีกยุโรปเป็นครั้งแรก โดยได้รับค่าจ้างที่ไม่ได้สูงมากนัก

1 ฤดูกาลกับอัลเมเรีย นูนเญซปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว จากตำแหน่งเพลย์เมกเกอร์ แล้วเปลี่ยนมาเป็นกองหน้า ทำได้ 16 ประตู จาก 30 นัด กลายเป็นดาวยิงสูงสุดของสโมสรในซีซั่น 2019/20

ต่อมาในซีซั่น 2020/21 นูนเญซได้รับโอกาสครั้งสำคัญ ในการย้ายไปค้าแข้งกับทีมที่ใหญ่ขึ้นอย่างเบนฟิกา สโมสรดังในลีกโปรตุเกส ด้วยค่าตัว 24 ล้านยูโร และมีโอกาสลงเล่นในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก

ฤดูกาลแรกที่อยู่กับ “เหยี่ยวลิสบอน” นูนเญซมีอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าอยู่บ้าง แต่ด้วยหัวจิตหัวใจที่ไม่เคยยอมแพ้ เจ้าตัวก็ยังทำผลงานได้ดี ยิงได้ 16 ประตู จากการลงสนาม 44 นัด รวมทุกรายการ

จนกระทั่งในฤดูกาล 2021/22 ลิเวอร์พูล มีโปรแกรมพบกับเบนฟิก้า ในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบ 8 ทีมสุดท้าย ถึงแม้ว่าทีมของนูนเญซจะแพ้ด้วยสกอร์รวม 4 – 6 แต่เจ้าตัวทำประตูได้ทั้ง 2 นัดที่พบกัน

ฟอร์มการเล่นที่โดดเด่นของนูนเญซ เรียกได้ว่าสร้างความประทับใจให้กับเจอร์เก้น คล็อปป์ กุนซือชาวเยอรมันของ “หงส์แดง” ที่ได้มาเห็นด้วยตาตัวเอง และมักจะชื่นชอบนักเตะสไตล์ “นักสู้” อยู่แล้วด้วย

ซีซั่นที่ 2 ของนูนเญซ ก้าวกระโดดกว่าซีซั่นแรกอย่างชัดเจน ยิงไป 32 ประตู จาก 41 นัดรวมทุกรายการ ฟอร์มการเล่นที่จัดจ้านด้วยอายุที่ยังน้อย ทำให้บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ ต่างจ้องที่จะล่าตัวมาให้ได้

เหตุใดลิเวอร์พูลถึงต้องจ่ายเงินเป็นสถิติสโมสร ?

สำหรับที่มาที่ไปของค่าตัว 85 ล้านปอนด์ ที่ลิเวอร์พูลจ่ายไปนั้น ข้อแรกคือ “กลไกตลาด” เนื่องจากดาร์วิน นูนเญซ ได้รับความสนใจจากทีมยักษ์ใหญ่เป็นอย่างมาก ทั้งลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และอื่นๆ

เมื่อพูดถึงลีกโปรตุเกส สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงคือ เป็นลีกที่บ่มเพาะนักเตะฝีเท้าดี แล้วส่งออกไปยังลีกยักษ์ใหญ่มาแล้วหลายราย โดยเฉพาะ 3 สโมสรชื่อดัง ได้แก่ เบนฟิก้า, ปอร์โต้ และสปอร์ติ้ง สิสบอน

สโมสรเหล่านี้ ได้รับทั้งชื่อเสียง และเครดิต ในการทำกำไรจากการขายนักเตะอย่างมหาศาล แม้จะต้องเสียนักเตะออกไปคนแล้วคนเล่า แต่กลับยิ่งตั้งใจค้นหา และสร้างดาวดวงใหม่ประดับวงการอยู่เสมอ

นอกเหนือจากเหตุผลเรื่องความต้องการแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งคือ “ของดีที่อยู่ในตัว” ถึงแม้ว่านูนเญซ จะมีรูปร่างสูงใหญ่ แต่มีความเร็วจัดจ้าน สร้างความลำบากใจให้แนวรับฝ่ายตรงข้ามได้แน่นอน

ที่สำคัญ นูนเญซยังเป็นนักเตะที่สามารถเล่นได้ทุกพื้นที่ในเกมรุก โดยเฉพาะฝั่งซ้าย และสามารถเข้าได้กับหลายแท็กติก ไม่ว่าจะเป็น 3-4-3, 4-4-2 หรือ 4-2-3-1 โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลงานของเขา

เท่านั้นยังไม่พอ นูนเญซไม่ได้จำกัดตัวเองในการเล่นแค่ตำแหน่งกองหน้าเท่านั้น ยังเล่นในตำแหน่งกลางตัวรุก หรือปีกซ้าย แถมเล่นเกมโต้กลับได้ดี โดยเฉพาะในเกมถ้วยยุโรปที่ต้องเจอกับทีมยักษ์ใหญ่

จากผลงานในอดีต สถิติที่การันตีถึงความยอดเยี่ยม ครบเครื่องทั้งในและนอกเขตโทษ และด้วยวัยเพียงแค่ 23 ปี ถ้าลิเวอร์พูลต้องการจะจ่ายเงินชนิดที่ไม่เกรงใจการคลังของสโมสร ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่น่าลอง

อย่างไรก็ตาม แฟนฟุตบอลหลายๆ คน ได้ออกมาตั้งคำถามที่ว่า การที่ลิเวอร์พูลกล้าที่จะทุ่มเงินมหาศาลระดับ 85 ล้านปอนด์ กับนักเตะดาวรุ่งที่เพิ่งแจ้งเกิดกับลีกโปรตุเกสได้ไม่นาน มันเสี่ยงเกินไปหรือไม่

เรื่องราวของ ดาร์วิน นูนเญซ ถือเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนสู้ชีวิต เพื่ออนาคตที่สุขสบาย และเขากำลังจะเริ่มต้นพิสูจน์ตัวเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าค่าตัว 85 ล้านปอนด์ ไม่แพงเกินไปเลยสำหรับลิเวอร์พูล

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://theathletic.com/3362218/2022/06/14/darwin-nunez-liverpool-klopp-scouting/

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10915553/Liverpool-Darwin-Nunez-QUIT-football-17-Montevideo-hes-85m-star.html

https://www.telegraph.co.uk/football/2022/06/08/liverpool-want-make-darwin-nunez-record-signing/

https://www.marca.com/en/football/liverpool/2022/06/13/62a71591e2704ee6258b4567.html

https://lifebogger.com/darwin-nunez-childhood-biography-untold-story-facts/

Categories
Special Content

“เลวานดอฟสกี้” ดาวยิงคนใหม่บาร์ซ่า กับ 5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดกองหน้าจอมถล่มประตูที่โดดเด่นและดีที่สุดในศตวรรษที่ 21 การันตีด้วยผลงาน 8 ฤดูกาลกับบาเยิร์น มิวนิค 344 ประตู จาก 375 นัด และคว้าแชมป์ 19 โทรฟี่

แต่ทว่า ดาวยิงทีมชาติโปแลนด์รายนี้ ได้ออกมาประกาศว่า ไม่ขออยู่ค้าแข้งกับบาเยิร์นต่อไป ทั้ง ๆ ที่ยังเหลือสัญญาอยู่อีก 1 ปี ซึ่งทางยักษ์ใหญ่แห่งมิวนิค ก็พยายามที่จะรั้งตัวเขาอย่างสุดความสามารถแล้ว

และในที่สุด เจ้าของรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของฟีฟ่า 2 สมัยซ้อน ตัดสินใจลงจากหลังเสือใต้ที่บาวาเรีย มาเป็นนักเตะคนใหม่ของบาร์เซโลน่าเป็นที่เรียบร้อย ด้วยค่าตัว 45 ล้านยูโร เซ็นสัญญา 4 ปี

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

เลวานดอฟสกี้ เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 8 ขวบ กับทีมเยาวชนของปาร์ติซาน เลซโน่ และวาร์โซเวีย วอร์ซอ ก่อนที่ในปี 2005 จะได้เซ็นสัญญาในระดับอาชีพกับเดลต้า วอร์ซอ, และลีเกีย วอร์ซอ ทีมสำรอง

ปีถัดมา เลวานดอฟสกี้ ย้ายไปค้าแข้งกับซนิคซ์ พรูสซ์คอฟ ลงเล่น 59 นัด ยิง 36 ประตู และอีก 2 ปีให้หลัง ได้ย้ายไปค้าแข้งกับเลช พอซนาน ก็ยังรักษามาตรฐานการจบสกอร์ได้ดี ลงเล่น 58 นัด ยิง 32ประตู

ต่อมาในปี 2010 เลวานดอฟสกี้ ได้เริ่มต้นหาประสบการณ์ค้าแข้งนอกประเทศบ้านเกิด กับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรชั้นนำในบุนเดสลีกา เยอรมนี ที่จ่ายเงินค่าตัว 4.5 ล้านยูโร ให้กับเลซ พอซนาน

ตลอด 4 ปี ของเลวานดอฟสกี้กับดอร์ทมุนด์ ยิงได้ 103 ประตู จากการลงสนาม 187 นัด คว้าแชมป์ได้ 5 รายการ ก่อนที่จะย้ายมาค้าแข้งกับทีมคู่ปรับอันดับ 1 อย่างบาเยิร์น มิวนิค แบบไม่มีค่าตัวในปี 2014

เดือนกันยายน ปี 2015 เลวานดอฟสกี้ ได้สร้างสถิติที่ใครยากจะเทียบได้ ด้วยการยิงคนเดียว 5 ประตู ภายในเวลา 9 นาที เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ลีกสูงสุดเยอรมัน พาบาเยิร์น แซงเอาชนะโวล์ฟบวร์ก 5 – 1

และอีกสถิติหนึ่งที่สำคัญ เกิดขึ้นในซีซั่น 2020/21 เลวานดอฟสกี้ ทำประตูในบุนเดสลีกาได้ 41 ประตู ทุบสถิติเดิมของแกร์ด มุลเลอร์ อดีตตำนานดาวยิงเสือใต้ ที่ทำไว้ 40 ประตู ในซีซั่น 1971/72

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

ในส่วนของการรับใช้ทีมชาติ เลวานดอฟสกี้ ลงเล่นให้กับโปแลนด์มาตั้งแต่ปี 2008 เป็นเจ้าของสถิติอันดับ 1 ตลอดกาล ทั้งการลงสนามมากที่สุด 132 นัด และเป็นดาวซัลโวสูงสุด โดยยิงไป 76 ประตู

เลวานดอฟสกี้ ปิดฉากกับบาเยิร์นอย่างเป็นทางการ พร้อมที่จะเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่กับบาร์ซ่า และนี่คือ 5 เรื่องราวของเขา ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

เป็นครอบครัวนักกีฬาแบบยกบ้าน

ครอบครัวของโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ถือเป็นครอบครัวนักกีฬาอย่างแท้จริง เริ่มจากคุณพ่อคริสตอฟ เป็นอดีตแชมป์ยูโด, คุณแม่อีโวน่า เป็นนักวอลเลย์บอล, มิลีน่า น้องสาว เป็นนักวอลเลย์บอลทีมชาติโปแลนด์รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี แม้กระทั่งแอนนา เลวานดอฟสก้า ภรรยาของเขา เป็นอดีตนักคาราเต้ดีกรีเหรียญทองแดง ในการแข่งขันชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2009

 ไม่ได้ไปอังกฤษ เพราะภัยธรรมชาติ

เมื่อปี 2010 เลวานดอฟสกี้ มีแผนที่จะเดินทางไปที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเยี่ยมชมสโมสรแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส และอาจจะตัดสินใจเซ็นสัญญาค้าแข้งกับ “กุหลาบไฟ” แต่ไม่สามารถเดินทางได้ เนื่องจากเกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศไอซ์แลนด์ เป็นอุปสรรคในเส้นทางการบินของยุโรปเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ทำให้โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้ตัวเขาไปร่วมทีมในที่สุด

เคยยิง “ราชันชุดขาว” คนเดียว 4 ประตู

เลวานดอฟสกี้ เป็นนักเตะที่รู้จักคุ้นเคยกับเรอัล มาดริดเป็นอย่างดี เพราะได้เผชิญหน้าในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ถึง 8 นัดด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพบกันในรอบรองชนะเลิศ นัดแรก ฤดูกาล 2012/13 เขายิงคนเดียว 4 ประตู ในเกมที่ดอร์ทมุนด์ เปิดบ้านชนะ 4 – 1 ถึงแม้ในนัดสอง “เสือเหลือง” จะบุกไปแพ้ 0 – 2 แต่ยังได้ผ่านเข้าชิงชนะเลิศ ด้วยสกอร์รวม 4 – 3

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rl9official

เป็นนักเตะที่ดูแลตัวเองได้ดีเยี่ยม

ซีซั่นสุดท้ายกับบาเยิร์น มิวนิค เลวานดอฟสกี้ ในวัยย่างเข้า 34 ปี ลงเล่น 46 นัด ยิงได้ 50 ประตู ฆาบี มาร์ติเนซ อดีตเพื่อนร่วมทีมของเลวานดอฟสกี้ สมัยที่ค้าแข้งกับ “เสือใต้” เปิดเผยว่า “ในช่วงพรี-ซีซั่น ผมพยายามนำขนมที่เอามาจากสเปน ไปให้เลวานดอฟสกี้ทาน แต่เขาปฎิเสธมาตลอด แม้กระทั่งการเลือกท่านอนหลับ เพื่อรักษาสภาพร่างกายที่ดีไว้”

ชื่นชอบ “ฟอร์มูล่า วัน” ตั้งแต่ยังเด็ก

นอกจากความสนใจในกีฬาฟุตบอลแล้ว เลวานดอฟสกี้ ยังติดตามกีฬาที่เกี่ยวกับความเร็วอย่างฟอร์มูล่า วัน และมีโอกาสได้ไปชมการแข่งขันที่โมนาโก กรังปรีซ์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเจ้าตัวให้สัมภาษณ์ว่า “ผมติดตามฟอร์มูล่า วัน มาตั้งแต่เด็ก และผมยังจดจำมิชาเอล ชูมัคเกอร์ ได้เสมอ สิ่งที่เขาประสบความสำเร็จ มันเป็นอะไรที่เหลือเชื่อจริง ๆ”

บาร์เซโลน่า ได้อาวุธหนักอย่างเลวานดอฟสกี้มาเสริมแนวรุก วัดความคมกับคาริม เบนเซม่า ดาวเตะเรอัล มาดริด เชื่อว่าศึก “เอล กลาซิโก้” ในซีซั่น 2022/23 จะเพิ่มดีกรีความเดือดมากขึ้นอย่างแน่นอน

Categories
Special Content

ที่มาโลโก้ 20 สโมสรลาลีกา ฤดูกาล 2022/23

ตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ของสโมสรฟุตบอล ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ส่งผลถึงการรับรู้ และการจดจำของแฟนลูกหนัง อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในระยะยาว นับว่าเป็นผลดีต่อสโมสรต่อไป

การออกแบบโลโก้ทีมฟุตบอลที่ดี ไม่ใช่แค่มีความสวยงามเท่านั้น แต่ต้องโดดเด่น สะดุดตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และที่สำคัญต้องสามารถสื่อสารคอนเซปท์ สะท้อนถึงตัวตนของแบรนด์ได้อย่างชัดเจนด้วย

และนี่คือเรื่องราวเบื้องหลังการออกแบบ และความหมายของตราประจำสโมสรทั้ง 20 ทีม ในลีกสูงสุดของสเปน ซีซั่นใหม่

อัลเมเรีย

ตราของสโมสร มีโครงสร้างที่เรียบง่าย ประกอบด้วยพื้นหลังแถบสีขาว-แดง หมายถึงสีประจำสโมสร พร้อมกับลูกฟุตบอลที่อยู่บนพื้นหลัง และตัวอักษร U กับ D ที่ย่อมาจาก “Unión Deportiva”

นอกจากนี้ ยังมีสัญลักษณ์ “Indalo” ที่อยู่ตรงกลางระหว่างตัวอักษร U กับ D มีลักษณะคล้ายกับมนุษย์ที่ถูกค้นพบในถ้ำ Los Letreros ในเมืองอัลเมเรีย นำมาดัดแปลง และผสมรวมอยู่ในโลโก้อย่างลงตัว

แอธเลติก บิลเบา

เป็นรูปทรงคล้ายโล่สามเหลี่ยม ภาพที่อยู่ในสามเหลี่ยมด้านใน คือสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น ได้แก่ โบสถ์แอนโธนี่, สะพานแอนโธนี่, หมาป่า, ต้นโอ๊กเกร์นิกา และไม้กางเขน ส่วนแถบขาว-แดง มาจากสีธงของแคว้นบาสก์

สำหรับชื่อสโมสรที่อยู่ล้อมรอบโล่นั้น เริ่มแรกใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Athletic Club” แต่ถูกบังคับให้เปลี่ยนเป็นภาษาสเปน คือ “Athlétic de Bilbao” ก่อนกลับไปใช้ชื่อเดิม หลังจากนายพลฟรังโก้หมดอำนาจ

แอตเลติโก มาดริด

ก่อตั้งโดยชาวบาสก์ที่อาศัยอยู่ในกรุงมาดริด ใช้ตราสโมสรคล้ายกับแอธเลติก บิลเบา ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ตราสโมสรในแบบของตัวเอง โดยมีลักษณะเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม และเพิ่มสีน้ำเงิน ร่วมกับแถบขาว-แดง 

สัญลักษณ์ที่อยู่ในตราสโมสร ประกอบด้วยหมี กับต้นสตรอเบอรี่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงมาดริด รวมทั้งมีดาว 7 ดวงอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมสีน้ำเงิน ซึ่งหมายถึงแคว้นทั้ง 7 ที่อยู่ในกรุงมาดริด

บาร์เซโลน่า

ในปี 1910 โยอัน กัมเปร์ ผู้ก่อตั้งสโมสร ได้จัดการประกวดตราสโมสรขึ้นมาใหม่ ซึ่งตราสโมสรที่ชนะการประกวด มีลักษณะคล้ายกับที่ใช้ในปัจจุบัน โดยได้ผ่านการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อยอยู่หลายครั้ง 

ตราสโมสรประกอบด้วย 3 ส่วน มุมบนซ้าย คือไม้กางเขนสีแดงบนพื้นสีขาว หมายถึงนักบุญจอร์จ นักบุญองค์อุปถัมภ์ของแคว้นคาตาลัน, มุมบนขวา คือสีธงของแคว้นคาตาลัน และครึ่งล่าง คือสีประจำสโมสร และลูกฟุตบอลสีเหลือง

เรอัล เบติส

ตราสัญลักษณ์ประกอบด้วย แถบสีขาว-เขียว มาจากสีของธงของแคว้นอันดาลูเซีย อยู่ภายในรูปสามเหลี่ยมหลับหัว พร้อมทั้งตัวอักษร BB ในวงกลมตรงกลาง ย่อมาจากคำว่า Betis Balompié

ส่วนมงกุฎที่อยู่ด้านบน มาจากการอุปถัมภ์ของกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 8 แต่ในช่วงปี 1931-1940 ได้มีการนำมงกุฎออกไป เนื่องจากอยู่ภายใต้การปกครองของนายพลฟรังโก้ ผู้นำเผด็จการในเวลานั้น

กาดิซ

ตราสโมสรเป็นรูปสามเหลี่ยมกลับหัวสีเหลือง-น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ด้านในมีเทพเจ้าเฮอร์คิวลิส และสิงโต 2 ตัว ขนาบข้างด้วยเสาหิน 2 เสา ผูกด้วยแผ่นผ้าที่มีคำขวัญประจำชาติสเปน “Plvs Vltra”

ส่วนมงกุฎที่อยู่ด้านบนของตราสโมสร ไม่ใช่มงกุฎของกษัตริย์ เหมือนกับสโมสรที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เรอัล” (Real) แต่เป็นมงกุฎของดยุค เนื่องจากในอดีต เมืองกาดิซเคยถูกปกครองโดยดยุคตั้งแต่ศตวรรษที่ 15

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/rccelta

เซลต้า บีโก้

ลักษณะของตราสโมสร เป็นรูปกากบาทสีแดงปลายแหลม หมายถึงไม้กางเชนของนักบุญซานติอาโก้ และมีโล่สีฟ้า ซึ่งมาจากสีบนธงประจำแคว้นกาลีเซีย บนโล่มีตัวอักษร CC ซึ่งย่อมาจาก “Club Celta”

ส่วนมงกุฎที่อยู่เหนือโล่สีฟ้า มาจากการอุปถัมภ์ของกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 โดยชื่อสโมสรมีชื่อเต็มว่า “Real Club Celta de Vigo” แต่ได้มีการเอามงกุฎออกไป ในยุคที่นายพลฟรังโก้ปกครองอยู่

เอลเช่

ตราของสโมสร มาจากส่วนหนึ่งของตราประจำเมืองเอลเช่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนบนเป็นรูปผู้หญิงในชุดโรมัน ถือใบปาล์มสีทอง มีที่มาจากเมืองเอลเช่ เป็นเมืองที่นิยมปลูกต้นปาล์มเป็นจำนวนมาก

ส่วนตรงกลางเป็นรูปประตูเมืองเอลเช่ และส่วนล่างเป็นรูปแท่นโรมัน ล้อมรอบด้วยตัวอักษร C I I A ซึ่งย่อมาจาก Colonia Iulia Illice Augusta ตำนานดาบของจักรพรรดิโรมันออกัสตัส

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/RCDEspanyol

เอสปันญ่อล

ตราสัญลักษณ์ของสโมสรในปัจจุบัน เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2005 ประกอบด้วยวงกลมด้านนอกสีแดง มีชื่อสโมสรตัวอักษรสีเหลืองกำกับ และวงกลมด้านใน มีแถบสีขาว-น้ำเงิน สีประจำสโมสร 

ส่วนมงกุฎที่ประดับอยู่ด้านบน ได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 ได้ให้การอุปถัมภ์สโมสร โดยชื่อเต็มของสโมสรในภาษาคาตาลัน คือ Reial Club Deportiu Espanyol de Barcelona

เกตาเฟ่

ตราสัญลักษณ์ของสโมสรในปัจจุบัน ประกอบด้วยวงแหวนสีน้ำเงินที่มีการไล่ระดับความเข้มขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้รู้สึกเหมือนมีการเคลื่อนไหว มีเส้นขอบสีเงิน และมีลูกฟุตบอลอยู่ด้านบน

ด้านใน เป็นตราประจำเมืองเกตาเฟ่ ฝั่งซ้ายคือไม้กางเขนแบบละติน มีรูปหัวใจอยู่บนกางเขน ที่สื่อถึงหัวใจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู ส่วนฝั่งขวาเป็นพื้นหลังสีเขียวมีรูปเครื่องบิน สื่อถึงฐานทัพอากาศ

กิโรน่า

ตราสัญลักษณ์ใหม่ของสโมสร เน้นไปที่สีขาว-แดง ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ส่วนรูปสี่เหลี่ยมที่อยู่ด้านในวงกลม มีแถบสีเหลือง-แดง ซึ่งเป็นสีธงประจำแคว้นคาตาลัน และรูปที่อยู่ด้านในสี่เหลี่ยม มีลักษณะคล้ายหยดน้ำเรียงสลับกันสีละ 4 แถว เป็นตัวแทนของเมืองกิโรน่า ซึ่งเป็นจุดที่มีแม่น้ำ 4 สาย ไหลมาบรรจบกัน

เรอัล มายอร์ก้า

มงกุฎที่ประดับอยู่ด้านบน ได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 ได้ให้การอุปถัมภ์สโมสรโดยชื่อเต็มของสโมสร คือ Real Club Deportivo Mallorca และฉายาของพวกเขาคือ “Vermilion” ที่แปลว่า สีแดงสด ซึ่งเป็นสีประจำทีม และเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ของสโมสรอีกด้วย

เรอัล มาดริด

ตัวอักษร 3 ตัว MCF ที่อยู่ด้านในของตราสโมสร ย่อมาจาก Madrid Club de Fútbol ก่อนที่กษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 จะเข้ามาให้การอุปถัมภ์สโมสร จึงเพิ่มคำว่า “เรอัล” (Real) นำหน้าชื่อสโมสร พร้อมกับมงกุฎที่ประดับไว้ด้านบนของตราสโมสร ส่วนพื้นหลังมีสีขาว ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร คาดด้วยแถบสีน้ำเงินเพื่อความสวยงาม

โอซาซูน่า

ตราสโมสรมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยมกลับหัว แบ่งเป็นพื้นสีแดงและสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร มงกุฎที่อยู่ด้านบน และตรงกลางที่เป็นพื้นสีขาวล้อมรอบด้วยโซ่สีทอง มาจากตราของแคว้นนาวาร์ ส่วนรูปสิงโตด้านใน เป็นตัวแทนของคำว่า “Osasuna” ซึ่งในภาษาบาสก์แปลว่า “สุขภาพ” หรือสามารถสื่อถึง “ความแข็งแกร่ง” ได้ด้วย

ราโย บาเยกาโน่

ตราสโมสรเป็นพื้นสีขาว ซึ่งเป็นสีประจำสโมสร ด้านในประกอบด้วยตราประจำแคว้นบาเยกาส ย่านชนชั้นแรงงานในกรุงมาดริด ตามด้วยสายฟ้าสีแดงทแยงพาดผ่าน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสโมสรฟุตบอลริเวอร์เพลท ในประเทศอาร์เจนติน่า และตัวอักษร 3 ตัว RVM ย่อมาจากชื่อเต็มของสโมสรคือ “Rayo Vallecano de Madrid”

เรอัล โซเซียดัด

ส่วนประกอบของตราสโมสร ได้แก่ ธงประจำเมืองซาน เซบาสเตียน (สีน้ำเงิน-ขาว) บนธงมีตัวอักษร SS ซึ่งย่อมาจากชื่อเมืองที่ตั้งของสโมสร (San Sebastián) และมงกุฎที่ประดับอยู่บนลูกฟุตบอล ได้ถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากกษัตริย์อัลฟรอนโซ่ที่ 13 ได้ให้การอุปถัมภ์สโมสร จึงเพิ่มคำว่า “เรอัล” (Real)นำหน้าชื่อสโมสร

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/sevillafc.eng

เซบีย่า

ตราสโมสรประกอบไปด้วย 3 ส่วน มุมบนซ้าย คือตราประจำเมืองเซบิลล์ เป็นรูปของกษัตริย์เฟอร์ดินานที่ 3 แห่งอาณาจักรกาสติย่า ขนาบข้างด้วยอัครมุขนายกอิสิดอร์และนักบุญเลอันเดร์, มุมบนขวา คือตัวอักษร SFC ย่อมาจากชื่อสโมสร และครึ่งล่างมีแถบสีขาว-แดง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสีธงของกษัตริย์เฟอร์ดินานที่ 3

บาเลนเซีย

สิ่งที่อยู่ในตราสโมสร ได้แก่ สีธงประจำแคว้นบาเลนเซีย (เหลือง-แดง-น้ำเงิน), และค้างคาว ที่มาจากตำนานของกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอารากอน ที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแคว้นบาเลนเซียจนได้รับชัยชนะ จากนั้นได้มีค้างคาวตัวหนึ่งบินลงมาขณะเดินเข้าเมือง ซึ่งมองว่าเป็นการให้พร และกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองตั้งแต่นั้นมา

เรอัล บายาโดลิด

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตราสโมสรใหม่ให้เรียบง่ายกว่าเดิม โดยตราสโมสรประกอบด้วย สีเหลือง-แดง สื่อถึงเปลวเพลิง เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเมืองบายาโดลิด เมื่อปี 1561, สีม่วง-ขาว มาจากสีประจำสโมสร ส่วนมงกุฎที่อยู่ด้านบน แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับราชสำนัก

บียาร์เรอัล

ตราสโมสรในปัจจุบัน ถูกใช้เป็นครั้งแรก เมื่อปี 1966 ประกอบด้วย สีน้ำเงิน มาจากการย้อมเสื้อสีขาว เพื่อสวมใส่คู่กับกางเกงสีดำ ชุดแข่งในอดีต, สีเหลือง-แดง มาจากสีธงของแคว้นบาเลนเซีย และมงกุฎที่อยู่ด้านบน คือต้นกำเนิดราชวงศ์ของเมือง ซึ่งก่อตั้งโดยกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอารากอน เมื่อปี 1274

ตราประจำสโมสรฟุตบอล ถ้าดีไซน์ออกมาแล้วช่วยสร้างการรับรู้ที่ดีให้กับแฟนบอล จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจต่อความเป็นท้องถิ่นนิยมของตนเอง และช่วยสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นต่อทีมฟุตบอลด้วย

Categories
Special Content

“ราฮีม สเตอร์ลิ่ง” เลือกเขียนชีวประวัติบทที่ 3 กับ “เชลซี”

ด้วยวัย 27 ปี ราฮีม สเตอร์ลิ่ง กำลังเริ่มต้นประวัติบทใหม่ในช่วงพีคของอาชีพค้าแข้งกับ เชลซี หลังจากใช้เวลา 11 ปีร่วมกับ ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ นับเป็นนักเตะน้อยรายที่ได้เล่นเกมระดับซีเนียร์กับยักษ์ใหญ่พรีเมียร์ลีกถึงสามทีม โดยเฉพาะกับทีมเรือใบสีฟ้า ซึ่งเขากวาดเหรียญชนะเลิศระดับเมเจอร์มากมายยกเว้นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ซึ่งพลาดให้ทีมสิงโตน้ำเงินคราม

ราฮีม สเตอร์ลิ่ง เป็นนักเตะใหม่รายที่สองของเชลซีในตลาดรอบนี้ถัดจาก เอ็ดดี้ บีช นายทวารจากเซาแธมป์ตัน แต่ถือเป็นสตาร์ใหญ่คนแรกในยุค ท็อดด์ โบห์ลีย์ เจ้าของสโมสรคนใหม่ชาวอเมริกัน เขาเซ็นสัญญาห้าปีบวกอ็อปชั่นปีที่หก รับค่าเหนื่อยเท่ากับที่ซิตี้จ่ายให้คือ 3 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์ ย้ายเข้าสแตมพอร์ด บริดจ์ ด้วยค่าตัว 47.5 ล้านปอนด์ (ยังไม่รวมแอดออน 2.5 ล้านปอนด์) เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับ 44 ล้านปอนด์ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซื้อมาจากลิเวอร์พูลช่วงซัมเมอร์ปี 2015

หลังผ่านการตรวจสภาพร่างกาย สเตอร์ลิ่งเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปสมทบกับเพื่อนร่วมทีมใหม่ที่เก็บตัวปรีซีซั่นอยู่ในลอส แอนเจลีส โดยลูกทีมของโธมัส ทูเคิล มีคิวอุ่นเครื่องกับคลับ อเมริกา ในวันเสาร์ที่ 16กรกฎาคม, ชาร์ลอตต์ เอฟซี ในวันพุธที่ 20 ที่เมืองชาร์ลอตต์ และ อาร์เซนอล ในวันเสาร์ที่ 23

ก่อนเซ็นสัญญากับเชลซีไม่กี่วันเคยมีข่าวโคมลอยว่า ลิเวอร์พูลสนใจอยากได้อดีตปีกดาวรุ่งกลับไปเล่นในแอนฟิลด์อีกครั้ง ซึ่งกระแสถูกจุดและดับลงอย่างรวดเร็วเพราะสวนทางกับข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากเชลซีเป็นทีมเดียวที่เปิดโต๊ะเจรจากับทีมเรือใบสีฟ้าอย่างจริงจัง ส่วนลิเวอร์พูลก็จบภารกิจตลาดรอบนี้ไปแล้ว

แต่บางส่วนของข่าวนั่งเทียนเขียนช่วยเตือนความจำว่า สเตอร์ลิ่งไม่มีโทรฟี่ติดมือระหว่างชีวิตสี่ปีในแอนฟิลด์ แต่นั่นไม่ได้เป็นแรงจูงใจให้เขาต้องกลับไปไขว่คว้าความสำเร็จกับลิเวอร์พูล เพราะเท่าที่ผ่านมาก็มีความทรงจำที่ดีส่วนตัวมากพอสมควร

ชีวิตสองบทแรก 11 ปี กับ “ลิเวอร์พูล” และ “แมนฯซิตี้”

เด็กชายราฮีม แชคีลล์ สเตอร์ลิ่ง เกิดในประเทศจาเมกา และหลังจากคุณพ่อเสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรมสามปี คุณแม่คือ นาดีน คลาร์ก อดีตนักกรีฑาทีมชาติ ซึ่งสเตอร์ลิ่งเชื่อว่าสไตล์วิ่งของเขาเป็นดีเอ็นเอที่ตกทอดมาจากคุณแม่ ได้อพยพมาอยู่นีสเดน กรุงลอนดอน ขณะที่เขาอายุห้าขวบ

บนเส้นทางกีฬาฟุตบอล สเตอร์ลิ่งเล่นให้ทีมเยาวชนท้องถิ่น อัลฟา แอนด์ โอเมกา เป็นเวลาสี่ปีก่อนเซ็นสัญญากับ ควีนสปาร์ค เรนเจอร์ส ตอนอายุสิบขวบ ลงสนามตำแหน่งปีก เขาได้รับความสนใจจากแมวมองของอะคาเดมี่ อาร์เซนอล, เชลซี, ฟูแลม, ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่เพราะคำแนะนำของคุณแม่ที่ไม่อยากให้เขาเลือกสโมสรละแวกเมืองหลวงเพื่อหลีกเลี่ยงเข้าไปพัวพันกับแก๊งค์อันธพาลท้องถิ่น นั่นจึงทำให้สเตอร์ลิ่ง ซึ่งขณะนั้นอายุ 16 ปี ย้ายไปอยู่กับ ลิเวอร์พูล ในเดือนกุมภาพันธ์ 2010 ด้วยค่าตัว 450,000 ปอนด์

ในปีนั้นเอง สเตอร์ลิ่งเริ่มไต่ระดับจากทีมเยาวชน ลงแข่งขันนัดแรกให้ลิเวอร์พูล ยู-18 ในดาร์บี้แมตช์กับเอฟเวอร์ตัน ส่วนเกมแรกในพรีเมียร์ อะคาเดมี่ ลีก เป็นนัดเสมอแอสตัน วิลล่า 2-2 เขายังทำได้ถึงห้าตุงในนัดถล่มเซาธ์เอนด์ 9-0 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2011

24 มีนาคม 2012 สเตอร์ลิ่งถูกโปรโมทขึ้นมาเล่นทีมซีเนียร์เป็นครั้งแรก ลงเป็นตัวสำรองในเกมพรีเมียร์ลีกกับวีแกน ตอนนั้นเขาอายุ 17 ปี 107 วัน เป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์สโมสร จนกระทั่งวันที่ 23 สิงหาคมปีเดียวกัน เขาเป็นตัวจริงนัดแรกในรอบคัดเลือกยูโรปา ลีก ซึ่งลิเวอร์พูลชนะ 1-0 ในบ้านของฮาร์ทส์ และอีกสามวันต่อมา ลงตัวจริงเกมพรีเมียร์ลีก เสมอแมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2-2 ในแอนฟิลด์

ด้วยฟอร์มเจิดจรัสเกินวัย ลิเวอร์พูลรีบจับสเตอร์ลิ่งต่อสัญญาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2012 และเขายังฉายแสงต่อไปการันตีด้วยตำแหน่งดาวรุ่งยอดเยี่ยมประจำปี 2014 และ 2015 ของลิเวอร์พูล และติดหนึ่งในหกที่ลุ้นรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีของ พีเอฟเอ ถึงสองปีติดต่อกัน

แต่ก็เป็นเพราะสัญญาใหม่ที่ทำให้สเตอร์ลิ่งยุติบทบาทกับลิเวอร์พูลโดยมีข่าวว่า เขาต้องการค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์จากรับอยู่เดิม 35,000 ปอนด์ และหลังจากปฏิเสธร่วมทัวร์ปรีซีซั่นปี 2015 ที่เอเชีย ตามด้วยขาดซ้อมสองวันเพราะป่วยซึ่งโดนตำหนิอย่างหนักผ่านสื่อจากอดีตนักเตะหงส์แดงอาทิ สตีเวน เจอร์ราร์ด, เจมี่ คาร์ราเกอร์ และแกรม ซูเนสส์ ปีกดาวรุ่งวัย 21 ปีหันไปเซ็นสัญญาห้าปีกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 ด้วยค่าตัว 44 ล้านปอนด์ยังไม่รวมแอดออนอีก 5 ล้านปอนด์ในอนาคต ทำให้เขาเป็นนักเตะอังกฤษที่ค่าตัวแพงที่สุดขณะนั้น สเตอร์ลิ่งอำลาแอนฟิลด์ด้วยผลงาน 129 นัด 23 ประตู

ไม่กี่เดือนต่อมา เยอร์เกน คล็อปป์ ก็เข้ามาคุมทีมหงส์แดงแทนแบรนเดน ร็อดเจอร์ส ขณะที่สเตอร์ลิ่งต้องรออีกหนึ่งปีเพื่อทำงานกับเป๊ป กวาร์ดิโอลา ทและกลายเป็นหนึ่งในนักเตะคู่บารมีของกุนซือชาวสเปน ร่วมกันนำความสำเร็จมาสู่ถิ่นเอติฮัด แชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย, แชมป์ลีก คัพ 4 สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย และเฉียดเข้าใกล้แชมป์แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้เพียงเหรียญรองแชมป์เมื่อปี 2021 จากการปราชัยต่อเชลซี 0-1 ที่ปอร์โต ประเทศโปรตุเกส สเตอร์ลิ่งอำลาเอติฮัดด้วยสถิติ 339นัด 131 ประตู

ส่วนเกินที่ “แมนฯซิตี้” แต่ส่วนเติมที่ “เชลซี”

ซีซั่นสุดท้ายที่แมนเชสเตอร์ แม้สเตอร์ลิ่งยังได้เล่นเกือบห้าสิบนัดแต่ส่วนใหญ่เป็นตัวสำรอง บวกกับกวาร์ดิโอลาเริ่มถ่ายเลือดเก่าเสริมเลือดใหม่เช่นเดียวกับคล็อปป์ทำที่แอนฟิลด์ รวมถึงแผงหน้าที่ซื้อ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ และ จูเลี่ยน อัลวาเรซ สวนทางเดินกับ กาเบรียล เชซุส ที่ย้ายไปอยู่อาร์เซนอล และสเตอร์ลิ่งที่เหลือสัญญาหนึ่งปี

แต่ที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ สเตอร์ลิ่งคือแนวรุกความหวังใหม่ที่มีอายุเพียง 27 ปี โดยซีซั่นที่แล้ว เขาทำสกอร์เฉพาะเกมลีกได้ถึง 13 ประตูระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม เทียบกับ 15 ประตูที่ โรเมลู ลูกากู ทำให้เชลซีทั้งซีซั่นรวมทุกรายการ สเตอร์ลิ่งไม่ได้มีดีเพียงการส่งลูกหนังซุกก้นตาข่าย เขายังเพิ่มทางเลือกให้กับทูเคิลในการวางหมากเกมรุก เป็นกุญแจสำคัญอีกดอกที่จะช่วยแย่งแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สูสีขึ้นหลังตามหลังแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลิเวอร์พูล ทีมละเกือบยี่สิบคะแนนในฤดูที่แล้ว พร้อมเป้าหมายกลับไปครอบครองถ้วยบิ๊กเอียร์ ซึ่งเป็นโทรฟี่ที่สเตอร์ลิ่งไม่เคยสัมผัส

สเตอร์ลิ่งเล่นได้หลายหน้าที่ในแนวรุกทั้งปีก มิดฟิลด์ตัวรุก หรือหน้าต่ำ เขาถนัดตำแหน่งปีก เล่นได้ทั้งสองฝั่ง แม้ถนัดเท้าขวาแต่มักถูกมอบหมายให้อยู่ด้านซ้าย มีจุดเด่นตรงความเร็ว ความคล่องแคล่ว การเลี้ยงบอล จุดศูนย์ถ่วงต่ำ เป็นตัวทะลุทะลวงที่อันตราย

แม้มีส่วนสูงเพียง 5 ฟุต 7 นิ้ว เทียบกับลูกากู 6 ฟุต 3 นิ้ว แต่สเตอร์ลิ่งมีตัวท่อนบนใหญ่ ช่วยเรื่องการรักษาสมดุลย์ขณะเคลื่อนที่ได้มาก ซาบี เอร์นานเดซ ตำนานมิดฟิลด์บาร์เซโลน่า เคยกล่าวว่า สเตอร์ลิ่งมีดีมากพอที่จะเล่นในลา ลีกา เพียบพร้อมทั้งร่างกายและเทคนิค

กูรูลูกหนังเชื่อว่า สเตอร์ลิ่งจะเพิ่มมิติให้กับเกมรุกของเชลซีแม้ซีซั่นที่แล้ว ทูเคิลจะใช้บริการของ คริสเตียน พูลิซิช กับตำแหน่งกองหน้าริมเส้นด้านซ้าย แต่ปีกทีมชาติอังกฤษเล่นได้ครบเครื่องกว่าโดยเฉพาะจังหวะจบสกอร์ ซึ่งสเตอร์ลิ่งมักใช้เท้าขวาเลี้ยงบอลเข้าในเพื่อหาจังหวะยิงประตู 

สเตอร์ลิ่งเป็นตัวอันตรายในพื้นที่สุดท้าย สามารถใช้ความเร็ว ความคล่อง การคอนโทรลบอล และการมองหาโอกาส สร้างความปั่นป่วนให้กองหลังทั้งตรงกลางและริมสนามสองด้าน ซึ่งเขามักย้ายไปฝั่งขวาเหมือนอย่างที่กวาร์ดิโอล่าส่งตัวลงมาในพรีเมียร์ลีกนัดปิดฤดูกาลที่แล้วขณะที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ตามแอสตัน วิลล่า 0-2 สเตอร์ลิ่งโยนบอลจากด้านขวา ข้ามหัวกองหลังทีมสิงห์ผงาดไปยังเสาสองให้ อิลคาย กุนโดกัน โขกตีไข่แตกเป็นประตูแรกจากสามประตูภายในเวลาห้านาที ให้ทีมเรือใบสีฟ้าแซงชนะ 3-2 ครองแชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยที่ 4 ในรอบห้าปี 

จึงเชื่อได้ว่า ไค ฮาแวร์ตซ์ ศูนย์หน้าเบอร์หนึ่งของเดอะ บลูส์ จะได้บอลที่หลากหลายระยะขึ้นในฤดูกาลใหม่จากสเตอร์ลิ่ง ซึ่งบางจังหวะสามารถวิ่งไปแทนตำแหน่งของฮาแวร์ตซ์ที่ถอยลงมาเป็นหน้าต่ำ เพื่อหาโอกาสสับไกด้วยตัวเอง

พูลิซิชเป็นนักเตะที่เก่งแน่นอน เพียงแต่สเตอร์ลิ่งเก่งกว่าในมุมความหลากหลาย ผลดีมหาศาลจึงตกเป็นของเชลซีที่มีสองสตาร์มากความสามารถและต่างพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อแย่งชิงตำแหน่งกัน ทูเคิลจึงมีอ็อปชั่นให้เลือกใช้ต่อกรกับคู่แข่งขันเพิ่มขึ้นทั้งเกมระดับทวีปและภายในประเทศอังกฤษ

“ทูเคิล” อาจปรับ 3-4-2-1 เป็น 4-3-3 รองรับ “สเตอร์ลิ่ง”

ข่าวดีในฤดูกาล 2022-23 เชลซีจะได้ เบน คีลเวลล์ วิงแบ็คและมิดฟิลด์ริมสนามฝั่งซ้ายกลับมาในสภาพสมบูรณ์หลังจากซีซั่นที่ผ่านมาใช้เวลาส่วนใหญ่รักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าที่ฉีกขาด โดยก่อนหน้านั้น คีลเวลล์และ รีช เจมส์ ซึ่งทำหน้าที่เดียวกันทางด้านขวา ร่วมกันสร้างความปั่นป่วนให้เกมรับของคู่ต่อสู้

ทูเคิลกำลังจะได้คีเวลล์กลับมาประจำการ แถมยังมีสเตอร์ลิ่งเสริมอันตรายให้กับเกมบุกด้านซ้ายเพิ่มขึ้นอีก การที่ทั้งสองอยู่ร่วมสโมสรยังส่งผลดีต่อทีมชาติอังกฤษของแกเร็ธ เซาธ์เกต เป็นอย่างมากในฟุตบอลโลกปลายปีนี้ที่กาต้าร์

ย้อนกลับไปยังเดือนมีนาคม 2021 ในแมตช์เวิลด์ คัพ 2022 รอบคัดเลือก คีลเวลล์เล่นแบ็คซ้ายในหมากเกม 4-3-3 สเตอร์ลิ่งยืนปีกซ้าย แถมได้ เมสัน เมาท์ เพื่อนร่วมสโมสร เป็นส่วนหนึ่งของสามประสามแดนกลางฝั่งซ้าย ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับทีมสิงโตน้ำเงินคราม

หมากเกมนี้ได้เห็นการผ่านบอลรูปสามเหลี่ยมแบบงามๆในจังหวะบุก คีลเวลล์เคลื่อนที่ใกล้ริมสนาม สเตอร์ลิ่งวิ่งล้ำไปข้างหน้าและสามารถหักตัดเข้าใน โดยมีเมาท์อยู่ต่ำลงมา สามารถเลือกจ่ายบอลให้ทั้งคีเวลล์หรือสเตอร์ลิ่ง ตัวคีลเวลล์เองก็มีโอกาสโอเวอร์แลปและอันเดอร์แลป ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในฟอร์แมท 3-4-2-1 ของทูเคิล 

เพลย์สามเหลี่ยมยังเกิดบริเวณหน้ากรอบเขตโทษ ซึ่งมีเมาท์เป็นหัวสามเหลี่ยม คีลเวลล์วิ่งไปทางซ้ายเพื่อรับบอลจากเมาท์ก่อนโยนเข้าไปในกรอบเขตโทษที่สเตอร์ลิ่งรอจังหวะเข้าชาร์จ

หรือเป็นจังหวะเล่นชิ่งระหว่างสองคน คีลเวลล์เคลื่อนตัวเข้าใน ส่งบอลฉีกไปทางซ้ายให้สเตอร์ลิ่งที่วิ่งขึ้นไปรอใกล้เส้นสนาม คีลเวลล์หลอกวิ่งตัดหลังตัวประกบสเตอร์ลิ่ง พร้อมลากกองหลังตามไป เหมือนต้องการขึ้นไปรับบอลแต่ความจริงเพื่อหลอกดึงกองหลัง เปิดโอกาสให้สเตอร์ลิ่งเห็นช่องเปิดและวิ่งตัดเข้าในเพื่อยิงเองหรือผ่านลูกไปที่หน้าประตู

ฤดูกาล 2022-23 แฟนบอลเชลซีอาจเห็นระบบ 3-4-2-1 เปลี่ยนไปเป็นแผงหลังแบ็คโฟร์มากขึ้น คีลเวลล์และเจมส์จะทำหน้าที่ฟูลแบ็คมากขึ้น ขณะที่สเตอร์ลิ่งจะได้แสดงความเป็นอัจฉริยะสร้างสรรค์เกมบุกจากปีกซ้ายมากขึ้นเหมือนช่วงที่กวาร์โอลาใช้งานเป็นตัวหลัก

ด้วยวัย 27 ปี กับสัญญาห้าปี บวกกับศักยภาพของสเตอร์ลิ่งที่เข้ามาเติมเต็มและสร้างสิ่งแปลกใหม่ให้กับเชลซี อนาคตของปีกซ้ายเชื้อสายจาเมกาในสโมสรยักษ์ใหญ่พรีเมียร์ลีกทีมที่ 3 จะเป็นเรื่องราวที่น่าติดตามไม่แพ้ช่วงเวลา 11 ปีที่ผ่านมากับลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ซิตี้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)

Categories
Special Content

อักเซล วิตเซล : มิดฟิลด์ใหม่วัยเก๋า “ตราหมี” กับ 5 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้

อักเซล วิตเซล เป็น 1 ในมิดฟิลด์ประสบการณ์สูง ที่ผ่านการค้าแข้งในหลายประเทศ แต่เขาตัดสินใจแยกทางกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ หลังหมดสัญญา 4 ปี เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในที่สุด แอตเลติโก มาดริด ก็ได้จัดการสอยตัววิตเซล กองกลางทีมชาติเบลเยียม มาร่วมทีมแบบไม่มีค่าตัว และกลายเป็นผู้เล่นใหม่คนแรกของ “ตราหมี” ในช่วงตลาดนักเตะซัมเมอร์ปีนี้

วิตเซล เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 6 ขวบ กับทีมเยาวชนของอาร์อาร์ซี ว็อตเท่ม, ซีเอส วิเซ่ จนได้เข้าสู่อคาเดมี่ของสตองดาร์ด ลีแอซ สโมสรชื่อดังในบ้านเกิดของเขา เมื่อปี 1999

หลังจากใช้เวลาอยู่กับอคาเดมี่ของลีแอชนานถึง 7 ปี วิตเซลก็ก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ของลีแอชได้สำเร็จ และระเบิดฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมในตำแหน่งปีก ก่อนที่จะย้ายมาเล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวกลาง

ตลอด 5 ปี ที่วิตเซลค้าแข้งกับลีแอช ลงเล่น 194 นัด ยิง 45 ประตู กับ 18 แอสซิสต์ พาทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเบลเยียม 2 สมัยติดต่อกัน, แชมป์เบลเยียม คัพ 1 สมัย และแชมป์ซูเปอร์คัพ 2 สมัยติดต่อกัน

ต่อมาในปี 2011 วิตเซลได้หาประสบการณ์ค้าแข้งนอกประเทศบ้านเกิด เริ่มจากเบนฟิก้า ยักษ์ใหญ่ลีกโปรตุเกส, เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ทีมดังลีกรัสเซีย และเทียนจิน ฉวนเจียน สโมสรในประเทศจีน

จนกระทั่งในปี 2018 วิตเซลได้ย้ายมาค้าแข้งกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งบุนเดสลีกา เยอรมัน เซ็นสัญญา 4 ปี ในช่วง 2 ฤดูกาลแรกกับ “เสือเหลือง” เจ้าตัวได้ลงเล่นอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม 2021 วิตเซลได้รับบาดเจ็บเอ็นร้อยหวายฉีก ต้องพักยาวจนจบซีซั่น2020/21 และมีความกังวลว่า เขาอาจจะฟื้นตัวไม่ทันสำหรับการช่วยทีมชาติเบลเยียม สู้ศึกฟุตบอลยูโร 2020

ซึ่งเป็นความโชคดีของวิตเซล ที่สามารถเรียกความฟิตกลับมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ และได้ลงสนามในฟุตบอลยูโร เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว ทั้งหมด 4 นัด ช่วยให้ “ปีศาจแดงแห่งยุโรป” ผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย

สำหรับฤดูกาล 2021/22 ที่ผ่านมา วิตเซลก็กลับมาลงเล่นอย่างสม่ำเสมออีกครั้ง แต่หลังจากจบซีซั่น เขาตัดสินใจไม่อยู่กับดอร์ทมุนด์ต่อไป จึงเลือกที่จะย้ายไปหาความท้าทายใหม่ๆ กับ แอต. มาดริด ในที่สุด

ในส่วนของการรับใช้ทีมชาติเบลเยียมนั้น ดาวเตะวัย 33 ปี ลงสนามไปแล้วถึง 124 นัด มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากยาน แฟร์ตองเก้น (139 นัด) และเคยผ่านประสบการณ์ฟุตบอลโลก และฟุตบอลยูโร อย่างละ 2 สมัย

ด้วยคุณภาพ และประสบการณ์ที่ผ่านเกมระดับสูงมากว่า 600 นัด อักเซล วิตเซล อาจเป็นดีลที่ตอบโจทย์สำหรับแอต. มาดริด ก็เป็นได้ และนี่คือ 5 เรื่องราวของเขา ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

ในวัยเด็ก เคยเล่นฟุตซอลมาก่อน

ก่อนที่จะมาเล่นฟุตบอล วิตเซลในวัยเด็ก ได้ใช้เวลาไปกับการเล่นฟุตซอลโดยส่วนใหญ่ เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากเธียร์รี่ คุณพ่อของเขา ที่เคยเป็นอดีตนักฟุตซอลในระดับลีกดิวิชั่น 1 ของเบลเยียม แต่ท้ายที่สุดแล้ว คุณพ่อได้แนะนำให้ลูกชายเลือกฟุตบอล เพราะมองเห็นอนาคตที่ดีกว่า

มีออพชั่นเลือกเล่นให้กับทีมชาติฝรั่งเศสได้

คุณพ่อเธียร์รี่ เป็นชาวเกาะมาร์ตินีก เกาะทางตะวันออกของทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของประเทศฝรั่งเศส ทำให้อักเซล สามารถเลือกเล่นให้กับทีมชาติฝรั่งเศส ตามสัญชาติของคุณพ่อได้ แต่อักเซลตัดสินใจเลือกเล่นให้กับทีมชาติเบลเยียม ตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน

สังหารจุดโทษ พาทีมคว้าแชมป์ลีก

ในนัดสุดท้ายของลีกสูงสุดเบลเยียม ฤดูกาล 2008/09 สตองดาร์ด ลีแอซ บุกไปชนะเกนท์ 1 – 0 จากจุดโทษของวิตเซล ทำให้มีแต้มเท่ากับอันเดอร์เลชท์ ต้องตัดสินทีมแชมป์ด้วยการเตะเพลย์ออฟแบบเหย้า-เยือน และเกมในเลกสองที่บ้านของลีแอซ วิตเซลก็เป็นฮีโร่อีกครั้ง ด้วยการสังหารลูกโทษเช่นเดิม พาทีมชนะ 1 – 0 และคว้าแชมป์ไปครอง ด้วยสกอร์รวม 2 – 1

เคยถูกขู่ฆ่า เพราะย่ำใส่คู่แข่งจนเจ็บหนัก

วันที่ 30 สิงหาคม 2009 วิตเซลในวัย 20 ปี ลงเล่นให้กับสตองดาร์ด ลีแอซ ในเกมที่บุกไปเยือนอันเดอร์เลชท์ คู่ปรับตลอดกาลของพวกเขา และถูกไล่ออกจากสนาม เพราะไปย่ำใส่ข้อเท้าของมาร์ซิน วาซิเลวสกี้ อดีตเซ็นเตอร์แบ็กทีมชาติโปแลนด์จนขาหัก ทำให้แฟนบอลเจ้าบ้าน และแฟนบอลชาวโปแลนด์โกรธแค้นเจ้าตัวอย่างหนัก ถึงขั้นขู่ฆ่าเอาชีวิตเลยทีเดียว

สวมเสื้อเบอร์ 28 กับทุกสโมสรที่เคยค้าแข้ง

ตลอดชีวิตการเป็นนักฟุตบอลระดับอาชีพ กับสตองดาร์ด ลีแอซ, เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก, เทียนจิน ฉวนเจียน และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ วิตเซลได้สวมเสื้อหมายเลข 28 ครบทุกสโมสรที่เคยค้าแข้ง แต่สำหรับแอตเลติโก้ มาดริด คงจะเป็นเรื่องยากลำบากพอสมควร ในการสวมเสื้อเบอร์นี้

การเข้ามาของวิตเซล ทำให้ดิเอโก้ ซิเมโอเน่ มีตัวเลือกเพิ่มในแดนกลางอีก 1 คน ซึ่งในตอนนี้มีทั้งเอคเตอร์ เอร์เรร่า, เชฟเฟ่ กงด็อกเบีย, โรดริโก้ เดอ ปอล, ซาอูล นีเกซ และโกเก้ ที่เป็นมิดฟิลด์ธรรมชาติ

อักเซล วิตเซล เป็นกองกลางจอมเทคนิค เล่นได้หลากหลายตำแหน่งในแผงมิดฟิลด์ และรักษาสมดุลในแดนกลางเหมือนที่เคยทำไว้กับดอร์ทมุนด์ ถือเป็นหนึ่งในนักเตะที่น่าจับตามอง ในซีซั่นใหม่ที่จะถึงนี้

Categories
Special Content

ส่องสถิติการครองบอลในลาลีกา ฤดูกาล 2021/22

การครองบอล คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่นอกเหนือจากการผ่านบอลและทีมเวิร์ก เพราะเป็นการสร้างทางเลือกเพื่อทำให้ฝั่งตัวเองได้เปรียบ ถือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างยิ่ง ในการเอาชนะฝั่งตรงข้าม

และเมื่อพูดถึงสไตล์การเล่นที่เป็นจุดเด่นมาช้านานของลาลีกา สเปน คือการครองบอลให้มากที่สุด และเน้นความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะ ในความพยายามที่จะหาช่องในการเข้าทำประตูให้ได้มากที่สุด

Mediacoach และ Microsoft ได้เปิดเผยข้อมูลการครองบอลของทีมและผู้เล่น ไล่ตั้งแต่แผงมิดฟิลด์ฝั่งตรงข้าม, แนวรับฝั่งตรงข้าม จนนำไปสู่การลุ้นยิงประตู ในการแข่งขันตลอดซีซั่น 2021/22 ที่ผ่านมา

ครองบอลเพื่อทำลายแผงมิดฟิลด์คู่แข่ง

อันดับแรก เริ่มที่การครองบอลในการหาทางเจาะแนวกองกลางฝ่ายตรงข้าม เพื่อขยายพื้นที่ในการพาบอลเข้าไปสู่แนวรับต่อไป โดยเรอัล มาดริด, เซลต้า บีโก้ และบาร์เซโลน่า คือ 3 ทีมที่มีสถิติในการครองบอลส่วนนี้ดีที่สุด

ขณะที่นักเตะที่มีสถิติครองบอลเพื่อเจาะมิดฟิลด์คู่แข่งดีที่สุด 5 อันดับแรก มีนักเตะเซลต้า บีโก้ ติดมา 2 คน คือ เนสตอร์ อเราโฆ่ กับฆาเวียร์ กาลัน ส่วนที่เหลือประกอบด้วยฟราน การ์เซ๊ย (ราโย บาเยกาโน่), เฟเดริโก้ บัลเบร์เด้ (เรอัล มาดริด) และโยฮัน โมจิก้า (เอลเช่)

ครองบอลเพื่อทำลายแนวรับคู่แข่ง

เมื่อฝ่ายบุกได้ทะลวงผ่านบริเวณกลางสนามไปแล้ว ก็ต้องหาทางเจาะกองหลังคู่แข่ง เพื่อเปิดพื้นที่ และพาบอลเข้ากรอบเขตโทษของฝ่ายรับให้มากขึ้น โดยทีมที่ทำได้ดีที่สุด 3 อันดับแรก คือบาร์เซโลน่า, กาดิซ และเอสปันญ่อล

ในส่วนของ 5 อันดับนักเตะที่ครองบอลเพื่อเจาะแนวรับได้ดีที่สุด ได้แก่ อาเดรีย เปโดรซ่า (เอสปันญ่อล), อีวาน อเลโฆ่ (กาดิซ), หลุยส์ ริโอฆา (อลาเบส), วินิซิอุส จูเนียร์ (เรอัล มาดริด) และโยฮัน โมจิก้า (เอลเช่) เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีนักเตะบาร์เซโลน่าคนใด ติดอยู่ในท็อป 5 เลย

ครองบอลที่นำไปสู่โอกาสการทำประตู

ปิดท้ายด้วยการครองบอลเพื่อสร้างโอกาสให้เพื่อนร่วมทีมลุ้นยิงประตู อาจมีการผ่านบอลเพียง 1 – 2 จังหวะ ก่อนจบด้วยความพยายามที่จะส่งบอลเข้าไปในตาข่าย ซึ่งเรอัล มาดริด, เรอัล เบติส และบียาร์เรอัล คือทีมที่ติดท็อป 3 ในส่วนนี้

สำหรับนักเตะที่มีสถิติครองบอลเพื่อนำไปสู่โอกาสในการยิงประตูมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย วินิซิอุส จูเนียร์ (เรอัล มาดริด), นาบิล เฟคีร์ (เรอัล เบติส), หลุยส์ ริโอฆา (อลาเบส), อุสมาน เดมเบเล่ (บาร์เซโลน่า) และยาโก้ อัสปาส (เซลต้า บีโก้)

ความสำคัญของการครองบอล ไม่ได้มีแค่การควบคุมหรือบังคับบอล เพื่อไม่ให้ถูกคู่แข่งแย่งไปเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างโอกาสในการทำประตู ที่อาจจะเป็นตัวตัดสินผลการแข่งขันก็เป็นได้

ส่วนในฤดูกาล 2022/23 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะมีทีมใดหรือนักเตะคนไหน ติดอยู่ในลิสต์การครองบอลที่ดีที่สุดกันบ้าง หลังจบซีซั่นช่วงกลางปีหน้า คงจะได้ทราบกันอย่างแน่นอน

Categories
Special Content

คืนเสรีภาพ “ยืนเชียร์” ให้แฟนบอลอังกฤษหลังแบนเกือบสามสิบปี

แฟนบอลพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพของอังกฤษกำลังจะได้รับไฟเขียวให้กลับมายืนเชียร์อีกครั้งหลังโดนแบนเกือบสามทศวรรษซึ่งมีผลมาจากรัฐบาลอังกฤษสั่งให้สนามฟุตบอลทุกแห่งระดับเทียร์ 1-2 ปรับเป็นอัฒจันทร์สำหรับนั่งอย่างเดียวเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยโศกนาฏกรรมที่ฮิลล์สโบโรห์เมื่อปี 1989 ที่พรากชีวิตแฟนบอลลิเวอร์พูลไปถึง 97 คน

กฎหมายที่ระบุให้สโมสรพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพปรับปรุงอัฒจันทร์ให้เป็นแบบนั่งชมทั้งสนาม (All-seater Stadium) เริ่มมีผลบังคับใช้ครั้งแรกในฤดูกาล 1994-95 หลังได้รับการพิจารณาสาเหตุของโศกนาฏกรรมฮิลล์สโบโรห์จาก “เทย์ลอร์ รีพอร์ต” ซึ่งเป็นรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการที่รับผิดชอบโดย ลอร์ดจัสติน เทย์เลอร์ ที่ออกมาเผยแพร่ในเดือนมกราคม 1990

เกือบสามทศรรษที่อัฒจันทร์โซน “ยืนดูบอล” โดนแบนแต่ไม่ได้หมายความว่าแฟนบอลจะนั่งเชียร์ก้นติดเก้าอี้ตลอดแมตช์การแข่งขันเพราะบางช่วงที่เกมบนฟลอร์หญ้าสู้กันดุเดือดคู่คี่สูสี กองเชียร์ก็อดใจไม่ไหวต้องลุกขึ้นมากำหมัดชูแขนตะโกนเชียร์ตะเบงเสียงร้องเพลงเป็นระยะๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำได้เพียงจับตามองอย่างเฝ้าระวัง ไม่กระทำการใดๆหากสถานการณ์ยังไม่ส่อแววเกิดอันตราย

แต่เชื่อว่าภายในอนาคต เกมลูกหนังพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพจะได้รับอนุญาตให้แฟนๆยืนดูอย่างถูกกฎหมายในโซนsafe standing ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอัฒจันทร์สนามที่ได้รับการปรับปรุงให้ดูบอลอย่างปลอดภัย

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นสืบเนื่องจากผลลัพธ์ที่น่าพอใจทั้งความปลอดภัยและความสนุกสนานขณะเชียร์บอลผ่านโครงการทดลอง เซฟ สแตนดิ้ง เมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งนำร่องโดยสี่สโมสรยักษ์ใหญ่พรีเมียร์ลีก แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี และ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ รวมถึง คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ อีกหนึ่งทีมจากแชมเปี้ยนชิพ ไม่รวมลิเวอร์พูลที่ลงมือทดลองกับสนามแอนฟิลด์ไปแล้ว

ทั้งห้าทีมได้ปรับปรุงพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นโซน “ยืนอย่างปลอดภัย” ก่อนประเดิมการใช้งานนัดแรกเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการโควิด-19ได้รับการผ่อนปรน เป็นการแข่งขันที่สนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ระหว่าง เชลซี กับ ลิเวอร์พูล ซึ่งเสมอกันไป  2-2 ตามด้วยวันต่อมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้อนรับ วูลฟ์แฮมป์ตัน ที่สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด

อะไรคือ “เซฟ สแตนดิ้ง” กับความสำเร็จของโครงการยืนเชียร์ปลอดภัย

โซนยืนเชียร์ปลอดภัยหรือ Safe Standing เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้แฟนบอลยืนดูการแข่งขันได้ตลอดทั้งแมตช์ อัฒจันทร์ส่วนนี้ได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่นั่งแบบ Rail Seat คือมีเก้าอี้พับได้ให้แฟนบอลเลือกกางนั่งหรือพับเก็บเวลายืนเชียร์ก็ได้ โดยล็อคติดกับราวโลหะที่สูงระดับเอวเพื่อให้แฟนบอลยืนพิงได้สะดวกสบาย โครงที่นั่งถูกติดตั้งแบบถาวรและมีระยะห่างเท่ากับที่นั่งมาตรฐาน เฟรมเชื่อมต่อกันเพื่อสร้างรางที่มีความแข็งแรงสูงตลอดความยาวของแต่ละแถว

สโมสรแรกในสหราชอาณาจักรที่ได้ทำ Rail Seat ขึ้นได้แก่ กลาสโกว์ เซลติก ยักษ์ใหญ่ของสกอตแลนด์ ซึ่งเริ่มใช้งานพื้นที่เซฟสแตนดิ้ง ความจุ 2,600 ที่นั่งภายในสนามเซลติก พาร์ค เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 ขณะที่พื้นที่อื่นๆยังเป็นแบบนั่งดูตามปกติ

Rail Seat อาจยังไม่แพร่หลายในประเทศอังกฤษ ต่างกับประเทศเยอรมนีซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของสโมสรในบุนเดสลีกาได้จัดสรรพื้นที่เซฟสแตนดิ้งแล้ว รวมถึงโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่ทำจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งผู้คนเรียกชื่อมันว่า Yellow Wall หรือกำแพงสีเหลือง

เจค โคเฮน แฟนบอลทีมเชลซี ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 2 มกราคมปีที่แล้วว่า “ผมดีใจที่เชลซีได้เป็นทีมนำร่อง ผมตื่นเต้นที่ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอัฒจันทร์เชดเอนด์ และแมทธิว ฮาร์ดดิ้ง ชั้นล่าง การยืนเชียร์บอลเป็นบรรยากาศที่ยิ่งใหญ่ ไม่ต้องสงสัยเลยโซนเซฟสแตนดิ้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยและประสบการณ์ที่ดีในแมตช์เดย์”

ทางด้าน มาร์ติน เคลาเก้ ประธานร่วมของ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ซัพพอร์ตเตอร์ส ทรัสต์ เปิดเผยว่า แฟนบอลทีมสเปอร์สให้การสนับสนุนอย่างล้มหลามเป็นเวลาหลายปีนับตั้งแต่แนวคิดนี้เริ่มถูกพลักดัน โดยจากรายงานประจำปีระบุว่ามีผู้เห็นด้วยสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้จากความจุ 62,850 คนของท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดี้ยม ถูกจัดสรรให้เป็นเซฟสแตนดิ้ง 5,000 คนสำหรับเซาธ์สแตนด์ชั้นล่าง บวกชั้นบน 1,442 คน และเซ็คชั่นทีมเยือนอีก 3,000 คน

หน่วยงานด้านความปลอดภัยของสนามกีฬาได้ตีพิมพ์รายงานผลการทดลองเบื้องต้นไว้ว่า การนั่งชมในโซนยืนดูไม่ถูกบดบังวิสัยทัศน์ของการมองเห็นเกมในสนาม, การดีใจหลังเกิดการทำประตูมีความปลอดภัย แฟนบอลไม่เคลื่อนไหวไปข้างหน้าหรือถอยหลังที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดอันตราย, ราวกั้นช่วยให้แฟนบอลเดินบนอัฒจันทร์อย่างมีระเบียบ แม้กระทั่งคนที่เข้าสนามหลังเกมเริ่มไปแล้วยังสามารถเดินไปยังที่นั่งได้รวดเร็ว, ราวกั้นช่วยจัดแฟนบอลเป็นกลุ่มเป็นก้อนทำให้เจ้าหน้าที่สนามเฝ้าจับตาได้ง่าย

ในส่วนรายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมาธิการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลให้รับผิดชอบโครงการหลังดำเนินการทดลองเซฟสแตนดิ้งเป็นระยะเวลาหนึ่งปีครึ่ง ค่อนข้างออกไปทางบวกสำหรับแฟนบอลทั้งด้านปลอดภัยและประสบการณ์การชมที่ดีขึ้น ซึ่งคาดว่ารัฐมนตรีกระทรวงกีฬา ไนเจล ฮัดเดิลสตัน จะแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่สนามเหย้าของท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ซึ่งเขาเคยเดินทางมาชมการแข่งขันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งสเปอร์สเฉือนชนะเบิร์นลีย์ 1-0

แหล่งข่าววงในของรัฐบาลเปิดเผยว่า “เราอยู่เคียงข้างแฟนบอลเสมอ และตั้งใจที่จะทำตามสัญญาในการนำการยืนดูบอลอย่างปลอดภัยไปยังสนามฟุตบอล และพัฒนาประสบการณ์ที่วิเศษสุดของการดูบอลให้กับพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพ”

“รัฐบาลไม่เคยประนีประนอมหากเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เราจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสโมสรฟุตบอล กลุ่มแฟนบอล และเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อส่งมอบ ‘เซฟ สแตนดิ้ง’ ซึ่งเราตระหนักดีว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ”

ดูเหมือนว่าในอนาคตอันใกล้ แฟนบอลทุกสนามแข่งขันของสองลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษจะได้กลับมาสัมผัสบรรยากาศการเชียร์ที่ตื้นเต้นเร้าใจในอารมณ์ที่คอลูกหนังเมื่อกว่าสามสิบปีก่อนคุ้นเคยอีกครั้ง นั่นคือ “การยืนลุ้นบอลตลอดแมตช์”

“เยลโล่ วอลล์” ของดอร์ทมุนด์ สุดยอดบรรยากาศยืนเชียร์บอลยุคใหม่

“เซฟ สแตนดิ้ง” ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับหลายประเทศในยุโรป รวมถึงสหรัฐอมริกาและออสเตรเลีย แต่หากใครต้องการสัมผัสบรรยากาศการยืนเชียร์บอล(แบบปลอดภัย)ที่สุดยอดที่สุดในโลกต้องเป็นที่สนาม “เวสท์ฟาเลินชตาดิโยน” ความจุ 81,365 คนของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์

ใครที่มีโอกาสสัมผัส “กำแพงเหลือง” (Yellow Wall) หรืออัฒจันทร์ฝั่งเซาธ์แบงค์ของกองเชียร์ดอร์ทมุนด์ คงอดขนลุกขนชันไม่ได้กับภาพแฟนบอลกว่า 24,000 คนที่ยืนตะโกนร้องเพลงเชียร์บนพื้นที่ที่เปรียบเสมือนระเบียงที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปพร้อมด้วยทะเลธงสีเหลืองดำ

รูเบน ดรัคเกอร์ หนึ่งในแฟนบอลดอร์ทมุนด์ผู้ถือตั๋วปีโซนกำแพงเหลืองที่สนนราคาไม่ถึง 200 ปอนด์ กล่าวว่า “เดอะ วอลล์ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากเพราะแสดงถึงการเชื่อมโยงระหว่างแฟนบอลเกือบ 25,000 คนที่ยืนเคียงข้างกันแบบไหล่ชนไหล่ อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนผสมที่บ้าคลั่งของคนกลุ่มหนึ่ง”

“แฟนบอลทุกเพศทุกวัยสามารถเข้ามาเชียร์บอลตรงนี้ได้ จะมาคนเดียวหรือมาทั้งครอบครัว ผู้ชายผู้หญิง คนรายได้ต่ำหรือสูง ตอนแรกพวกเขาอาจเข้าสนามเพราะการชักชวนของคุณพ่อ พี่ชาย หรือเพื่อนฝูง แต่เมื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของเดอะวอลล์ มันก็เสมือนสายใยที่เชื่อมโยงกับคนอื่นๆผ่านทางร่างกายที่ใกล้ชิด เป็นการมอบประสบการณ์ใหม่ที่เหลือเชื่อให้แก่พวกเขา”

ฟลอเรียน โธมัส แฟนบอลทีมเสือเหลืองวัย 31 ปี ซึ่งซื้อตั๋วปีมาตั้งแต่ซีซั่น 2008-09 สมัยที่ เยอร์เกน คล็อปป์ เพิ่งก้าวขึ้นคุมทีมดอร์ทมุนด์ เล่าให้ฟังว่า “ผมยังจำครั้งแรกที่ไปดูการแข่งขันกับพ่อตอนอายุสิบสอง เราได้ที่นั่งฝังเวสต์สแตนด์ ประตูอยู่ขวามือผม มีผู้คนเต็มไปหมดและอยู่ชิดกันมาก บรรยากาศแบบนั้นสถานที่แบบนั้น ไม่มีอะไรเหมือนแล้ว”

“ผมเคยพาเพื่อนจากอังกฤษไปดูเกมหนึ่งของเรา พวกเขาตื่นตาตื่นใจเพราะมันต่างจากประสบการณ์ในพรีเมียร์ลีก ช่วงโควิดระบาดผมไม่ได้ไปดูแมตช์เหย้าเลยเพราะคนน้อย มันไม่เหมือนเดิมหากปราศจากเยลโล่วอลล์ที่อัดแน่นและไม่มีพวกแฟนบอลอัลตร้า ผมรู้ดีว่าเพื่อนๆก็คิดอย่างเดียวกัน”

“ถึงเป็นตั๋วยืนและคุณไปอยู่ตรงไหนก็ได้(ภายในเซ็คชั่นที่กำหนด) แต่แฟนบอลมักยืนตรงที่ประจำ มันแปลกมากที่ผู้คนหลากหลายแตกต่างมารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนสโมสร พวกเขาไม่มีความสัมพันธ์กันนอกสนามบอลแต่กลับร้องเพลงร่วมกันกระโดดกอดกัน”

“ผมเจอผู้คนใหม่ๆในสนามที่อยากบอกเลยว่าเราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน แต่ต่างคนต่างรู้เรื่องชีวิตนอกสนามกันน้อยมาก นี่เป็นสถานที่เดียวที่พวกเรามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน”

“การยืนดูบอลสร้างความแตกต่างให้ผมในเรื่องของสาเหตุที่เข้ามาดูเกมในสนาม ผมยืนเพื่อสนับสนุนสโมสร บางครั้งก็ไม่ได้ยืนอยู่ในจุดที่เห็นเกมสนามชัดเจนนัก บางครั้งก็มีธงบัง มีหัวมีแขนบังสายตา แต่ผมยอมรับมันได้ มันเป็นเรื่องของความใกล้ชิดซึ่งเอื้ออำนวยให้ร่วมตะโกนร้องเพลงตะโกนเชียร์เป็นธรรมชาติ”

“บอกตามตรง ผมไม่ชอบดูการแข่งขันของดอร์ทมุนด์ในสนามหากไม่ได้อยู่ในเซ็คชั่นยืน แต่มีอยู่ 2-3 ครั้งที่เป็นแบบนั้น ซึ่งผมรู้สึกทำผิดพลาดมาก”

ถึงเวลาต้อง “มูฟ ออน” จากโศกนาฏกรรมที่ฮิลล์สโบโรห์

แนวคิดที่อยากให้แฟนบอลในพรีเมียร์ลีกและแชมเปี้ยนชิพกลับไปยืนเชียร์บอลเริ่มก่อตัวอย่างช้าๆ จนกระทั่งเกิดเป็นรูปธรรมช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2019 เมื่อทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรมแรงงานต่างให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะดำเนินการเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของนโยบาย “เซฟ สแตนดิ้ง” จนกระทั่งวันที่ 22 กันยายน 2020 ไนเจล ฮัดเดิลสตัน รัฐมนตรีกระทรวงกีฬา ได้ประกาศอนุญาตให้ห้าสโมสรจัดทำโซนยืนดูบอลอย่างถูกกฎหมายขึ้น

แม้การทดลองของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี, ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ และคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ จะประสบความสำเร็จในระดับน่าพอใจ แต่ยังมีขั้นตอนสำคัญในการแก้ไขกฎหมาย รวมถึงแต่ละสโมสรต้องลงทุนปรับปรุงสภาพสนามเพื่อให้ตรงกับข้อระเบียบของเซฟ สแตนดิ้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าที่แฟนบอลอังกฤษในสองดิวิชั่นแรกจะได้กลับไปสัมผัสยืนเชียร์กันทั่วทุกสนาม

มาร์กาเรต แอสพินอลล์ ซึ่งสูญเสียลูกชายเจมส์จากเหตุการณ์ในสนามฮิลล์สโบโรห์ ให้ความคิดเห็นว่า “มุมมองของฉันเปลี่ยนไปจากเมื่อ 2-3 ปีก่อน”

“ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฉันหวังว่าเราได้เรียนรู้จากบทเรียนครั้งนั้น แฟนบอลจะต้องไม่ถูกกระทำเหมือนยุค 1970และ 1980 ที่ถูกต้อนเหมือนวัวควายอยู่ในคอก ทุกสิ่งเปลี่ยนไปและถึงเวลาที่เราต้องก้าวไปข้างหน้าเสียที มีแฟนบอลรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่ชอบยืนดูการแข่งขัน แต่ยังจำเป็นที่จะต้องจัดสรรที่นั่งให้กับทุกคน”

“เราต้องดำเนินการเรื่องนี้ไปอย่างช้าๆ ต้องมั่นใจเรื่องความปลอดภัยและเห็นความก้าวหน้าเกิดขึ้นอย่างชัดเจน สิ่งสำคัญที่สุดคือแฟนบอลและความปลอดภัยของพวกเขา ตราบใดที่มันยังถูกตระหนัก ฉันก็โอเคกับมัน”

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Editor)