Categories
Special Content

เป็นฮีโร่ก็ลำบาก : “มาร์คัส แรชฟอร์ด” ดอกเตอร์ที่ยังไม่ก้าวข้ามดาวรุ่ง

ภาพจำของมาร์คัส แรชฟอร์ด ดาวยิงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ผู้คนในอังกฤษและทั่วโลกนึกถึง คือนักสังคมสงเคราะห์ สะสมความดีมากเพียงพอ จนได้รับการประกาศเกียรติคุณ เพื่อตอบแทนความดีที่สร้างไว้

ตรงข้ามกับชีวิตนักฟุตบอล ที่ในเวลานี้ต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ด้วยผลงานที่ตกลงไปจากเมื่อก่อนอย่างน่าใจหาย และอาจถูกมองว่า เป็นนักเตะที่ไม่สามารถก้าวข้ามความเป็น “ดาวรุ่งตลอดกาล” ได้

ชีวิตของแรชฟอร์ดจากนักเตะดาวรุ่ง ที่ยังพุ่งไปไม่สุดทางเป็นอย่างไร ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

สุดยอดดาวรุ่งที่น่าจับตามอง

มาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดจากครอบครัวที่มีฐานะไม่ค่อยสู้ดีนักในเมืองแมนเชสเตอร์ เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 5 ขวบกับเฟล็ทเชอร์ มอสส์ เรนเจอร์ส สโมสรระดับท้องถิ่นที่ปั้นนักเตะชื่อดังมาแล้วหลายราย

ปี 2005 เจ้าหนูแรชฟอร์ดในวัย 7 ขวบ ได้รับความสนใจจากทีมยักษ์ใหญ่ทั้งแมนฯ ยูไนเต็ด, แมนฯ ซิตี้ รวมถึงลิเวอร์พูล และสุดท้ายเป็น “ปิศาจแดง” ที่ได้เซ็นสัญญาเข้าร่วมทีมเยาวชนไปในที่สุด

แรชฟอร์ด ใช้เวลาอยู่กับทีมเยาวชนยาวนานมากกว่า 10 ปี ก่อนที่จะได้ประเดิมสนามกับยูไนเต็ดเป็นครั้งแรก ในเกมยูฟ่า ยูโรป้า ลีก รอบ 32 ทีมสุดท้าย นัดสอง ที่เปิดบ้านพบกับมิดทิลแลนด์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016

ในแมตช์ดังกล่าว แรชฟอร์ดได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงแทนที่อองโตนี่ มาร์กซิยาล ที่ได้รับบาดเจ็บในช่วงวอร์มก่อนเริ่มเกม และกลายเป็นแมตช์แห่งความทรงจำของเขา เมื่อเหมาคนเดียว 2 ประตู ช่วยให้ทีมชนะ 5 – 1

ส่งผลให้แรชฟอร์ด ทุบสถิติเป็นนักเตะอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์สโมสร ที่ทำประตูได้ในฟุตบอลถ้วยยุโรป ด้วยวัย 18 ปี 117 วัน ก่อนที่สถิติของเขาจะถูกทำลายโดยเมสัน กรีนวูด เมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 (17 ปี 353 วัน)

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของมาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดขึ้นในฤดูกาล 2019/20 และ 2020/21 ที่ทำได้อย่างน้อย 20 ประตู รวมทุกรายการ 2 ฤดูกาลติดต่อกัน ก้าวขึ้นมาเป็นกองหน้าตัวความหวังในการจบสกอร์จนถึงปัจจุบัน

เด็กหนุ่มผู้เป็นฮีโร่ของอังกฤษ

เพราะเคยผ่านช่วงชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็ก ทำให้มาร์คัส แรชฟอร์ด มีความคิดริเริ่มที่จะช่วยเหลือผู้ที่ยากลำบากเหมือนกับตัวเอง จึงตัดสินใจที่จะรับบทบาทเป็นผู้ให้ และคืนอะไรกลับไปให้สังคมบ้าง

จุดเริ่มต้นการมีจิตสาธารณะของแรชฟอร์ด เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ด้วยการบริจาคอาหาร 1,200 กล่อง เพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านในเมืองแมนเชสเตอร์

แต่ตัวเขาไม่รู้สึกพึงพอใจมากนัก เพราะคนที่เข้าถึงการช่วยเหลือยังน้อยเกินไป จึงต้องทุ่มเทกับกิจกรรมการกุศลมากกว่าเดิม โดยร่วมมือกับองค์กรการกุศลระดับประเทศ เข้ามาช่วยแจกจ่ายอาหารให้มากขึ้น

เข้าสู่ปี 2020 โควิด-19 ได้ระบาดหนักไปทั่วโลก รัฐบาลอังกฤษได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการระงับโครงการอาหารกลางวันฟรีแก่นักเรียน เป็นผลกระทบที่เกิดจาการสั่งปิดโรงเรียนในช่วงที่มีการล็อกดาวน์

จากการตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาล ช่วยให้แรชฟอร์ดทราบว่า มีเด็กนักเรียน 1.3 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ เขาจึงตัดสินใจเขียนจดหมายเปิดผนึก ส่งถึงรัฐบาลอังกฤษ ในเดือนมิถุนายน ปี 2020

หลังจากที่จดหมายเปิดผนึกถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ตัดสินใจสนับสนุนโครงการของแรชฟอร์ด และเครือข่ายอย่างเต็มที่ โดยทุ่มเงิน 400 ล้านปอนด์ช่วยเหลือเด็กยากไร้ทั่วประเทศ

สิ่งที่แรชฟอร์ดพยายามส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจรัฐ ได้รับรู้ถึงหัวใจของผู้คนทั้งประเทศ และเกิดอิมแพ็กต์อย่างเห็นได้ชัด จึงได้มีการตอบแทนคุณงามความดีครั้งสำคัญ ที่เขาและครอบครัวจะต้องจดจำไปตลอดชีวิต

เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับดาวเตะวัย 24 ปีรายนี้ และถือเป็นบุคคลที่อายุน้อยสุด ที่ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์อีกด้วย

แรชฟอร์ด ถือเป็นคนที่ 3 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณขั้นสูงสุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ต่อจากเซอร์แมตต์ บัสบี้ และเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน 2 ตำนานผู้จัดการทีมของสโมสร

และอีกเพียง 1 เดือนหลังจากนั้น แรชฟอร์ด ก็ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE จากเจ้าชายวิลเลียมส์ เป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่เขาได้ทำให้กับประเทศบ้านเกิด มันยิ่งใหญ่เพียงใด

ความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสังคมของมาร์คัส แรชฟอร์ด เกิดจากการลุกขึ้นเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมที่พบเจอ และสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น จนได้รับการยกย่องให้เป็นฮีโร่ของชาวอังกฤษทั้งชาติ

ฟอร์มการเล่นที่ไม่เหมือนเดิม

ชีวิตนอกสนามของมาร์คัส แรชฟอร์ด ได้สะสมคุณงามความดีไว้มากมาย จนได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ แต่ชีวิตในสนามของเขานั้น ถือว่ายังสอบไม่ผ่านในการที่จะก้าวจากสุดยอดดาวรุ่งสู่นักเตะเวิลด์คลาส

ผลงานของ ดร.แรชฟอร์ด ในฤดูกาล 2021/22 ทำได้เพียงแค่ 2 ประตู จาก 11 นัดที่ลงสนามในพรีเมียร์ลีก อีกทั้งยิงประตูไม่ได้เลย ใน 11 นัดหลังสุดที่ได้โอกาสลงเล่นนับรวมทุกรายการ

เกมล่าสุดที่แมนฯ ยูไนเต็ด เปิดบ้านเฉือนชนะแอสตัน วิลลา 1 – 0 ในเอฟเอ คัพ เมื่อคืนมันเดย์ไนท์ที่ผ่านมา เจ้าตัวถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องความทุ่มเทในสนาม โดยมีช็อตสำคัญที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ในโลกโซเชียล

ช็อตที่ว่านั้น เกิดขึ้นในนาทีที่ 73 จังหวะที่เมสัน กรีนวูด ยิงไปติดเซฟของเอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ นายทวารวิลลา รับบอลกระฉอกออกมา ทว่าแรชฟอร์ดกลับยืนเซ็งเฉยๆ ไม่วิ่งเข้าหาบอลเพื่อลุ้นประตูเสียอย่างนั้น

นั่นทำให้แรชฟอร์ด ถูกบรรดาเรด อาร์มี่ ตำหนิอย่างรุนแรง และถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นมืออาชีพ เพราะมีพฤติกรรมที่แสดงว่าไม่ตั้งใจเล่นให้กับสโมสร ทั้งๆ ที่รับค่าเหนื่อยสูงถึง 2 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์

ว่ากันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้แรชฟอร์ด มีฟอร์มการเล่นที่ดร็อปลงอย่างไม่น่าเชื่อในฤดูกาลนี้ เป็นเพราะปัญหาทั้งด้านสภาพจิตใจ และสภาพร่างกายที่ติดตัวมานานตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา

เรื่องสภาพจิตใจ แรชฟอร์ดคือหนึ่งในผู้ที่ยิงจุดโทษพลาด ทำให้อังกฤษแพ้อิตาลีในนัดชิงชนะเลิศ ยูโร 2020 แฟนบอลอังกฤษบางส่วนเลยไม่พอใจ ถึงขั้นทำลายภาพของเขาที่อยู่บนผนังในเมืองแมนเชสเตอร์

นอกจากนี้ เดลี่ เมล สื่อชื่อดังของอังกฤษยังระบุว่า เขาได้ติดต่อไปยังนักจิตวิทยาด้านกีฬา เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องสภาพจิตใจ ซึ่งนั่นถือเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ต้องพึ่งนักจิตวิทยาด้านกีฬามาช่วยเหลือด้านจิตใจ

ส่วนเรื่องสภาพร่างกายนั้น เจ้าตัวมีอาการบาดเจ็บหัวไหล่เรื้อรังมาตั้งแต่ฤดูกาลก่อน และเข้ารับการผ่าตัดหลังจบฟุตบอลยูโร เมื่อกลางปีที่แล้ว แต่ก็ฝืนกลับมาลงเล่นให้ยูไนเต็ดอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม

อีกสาเหตุหนึ่งที่ถือว่ามีส่วนอยู่ไม่น้อย ก็คือเรื่องของตำแหน่งการเล่นที่ยังไม่ชัดเจน นับตั้งแต่ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เนื่องจากสโมสรเปลี่ยนแปลงกุนซือบ่อย จึงมีความกังวลว่า เขาอาจจะไม่สามารถพัฒนาฝีเท้าได้อีก

เมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 สแตน คอลีมอร์ อดีตตำนานกองหน้าลิเวอร์พูลยุค ‘90 เคยให้ความเห็นว่า “หากแรชฟอร์ดยังไม่รู้ตำแหน่งถนัดของตัวเอง อีกไม่นานอาจจะเป็นเหมือนธีโอ วัลคอตต์ ที่เคยเป็นยอดดาวรุ่ง แต่ไปไม่สุด”

ที่สำคัญ สัญญาของแรชฟอร์ดกับยูไนเต็ด จะหมดลงหลังจบฤดูกาลหน้า น่าสนใจว่าเขาจะยังฝากอนาคตไว้ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด หรือจะไปหาความท้าทายใหม่กับสโมสรอื่น ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

ถึงแม้ว่ามาร์คัส แรชฟอร์ด จะเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษนอกสนามฟุตบอล แต่เรื่องราวในสนาม เขาต้องก้าวข้ามจากนักเตะดาวรุ่ง สู่นักเตะที่ประสบความสำเร็จในเกมลูกหนังให้ได้

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : TEAMtalk

อ้างอิง :

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10391695/What-wrong-Marcus-Rashford-amid-Manchester-United-struggles.html

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10390207/Manchester-United-Marcus-Rashford-struggles-mystery-Ralf-Rangnick-fans.html

https://www.theguardian.com/football/2022/jan/11/marcus-rashford-manchester-united-looks-out-of-form-and-cheer#_=_

#ไข่มุกดำ

#KMDAnalysis

#แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

Categories
Special Content

ห้องแต่งตัวที่ยุ่งเหยิง : “ราล์ฟ รังนิก” กับปัญหาใหญ่ของปิศาจแดง

เกมพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แพ้วูล์ฟแฮมป์ตันคาถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ดหนแรกในรอบ 42 ปี แถมเป็นการปราชัยนัดแรก ในยุคของกุนซือราล์ฟ รังนิก อีกด้วย

ประเด็นควันหลงที่จะหยิบมาพูดถึง คือสภาพปัญหาภายในห้องแต่งตัวของยูไนเต็ดที่เรื้อรังมานาน ถึงแม้จะเปลี่ยนเฮดโค้ชมาเป็นรังนิก ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “โปรเฟสเซอร์” ในวงการลูกหนังก็ตาม

แล้วปัญหาของ “ปิศาจแดง” คืออะไร ? วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

เพราะเฮี้ยบมากไปจึงอยู่ไม่ได้

หลังจากเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ประกาศรีไทร์ ยุติอาชีพผู้จัดการทีมในปี 2013 แฟนบอลของแมนฯ ยูไนเต็ด รู้ดีว่าหลังจากนี้ทีมคงไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่ก็ไม่คิดว่าจะห่างหายแชมป์พรีเมียร์ลีกนานเกือบ 1 ทศวรรษ

เดวิด มอยส์ กุนซือ “ผู้ถูกเลือก” ล้มเหลวแบบสุด ๆ คุมทีมยูไนเต็ดไม่เต็มฤดูกาลก็ต้องแยกทาง ต่อมาได้แต่งตั้งหลุยส์ ฟาน กัล อดีตนายใหญ่ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ มาคุมทัพหลังจากจบฟุตบอลโลก 2014

เมื่อฟาน กัล เข้ามาที่ยูไนเต็ด ก็เริ่มสร้างวีรกรรมความเฮี้ยบ ด้วยการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วสนามซ้อม เพื่อเกาะติดการซ้อมของนักเตะ อีกทั้งจัดระเบียบให้นักเตะรับประทานอาหารร่วมกันที่สนามซ้อมด้วย

นอกจากนี้ ฟาน กัล เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงจนล้นทะลัก ทำให้นักเตะในทีมออกอาการไม่พอใจ อีกทั้งแนวทางการทำทีมของเขา ไม่เป็นที่ชื่นชอบของแฟนบอลและบอร์ดบริหาร การตัดสินใจ “ปลด” จึงเกิดขึ้น

ถึงแม้ในฤดูกาลสุดท้ายของฟาน กัล จะพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพมาได้ แต่ไม่สามารถคว้าสิทธิ์ไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ทำให้ต้องแยกทางกับ “ปิศาจแดง” และโชเซ่ มูรินโญ่ กุนซือชาวโปรตุกีส ก็เข้ามารับช่วงต่อ

สไตล์การทำงานของมูรินโญ่ ก็เฮี้ยบไม่ต่างจากฟาน กัลเท่าใดนัก นี่อาจจะเป็นการ “หนีเสือปะจระเข้” ก็เป็นได้ ซึ่งปัญหาอย่างหนึ่งของมูรินโญ่ สมัยที่คุมทีมแมนฯ ยูไนเต็ด คือการสร้างบรรยากาศที่ย่ำแย่ภายในทีม 

อย่างเช่นกรณีของปอล ป็อกบา ที่กุนซือ “เดอะ สเปเชียล วัน” เคยปลดดาวเตะฝรั่งเศสออกจากกัปตันทีมระหว่างการฝึกซ้อม อีกทั้งกล่าวหานักเตะรายนี้ว่าเป็น “ไวรัส” ที่คอยบ่อนทำลายสโมสรอีกด้วย

ศึกวันแดงเดือดที่แมนฯ ยูไนเต็ด แพ้ลิเวอร์พูลแบบหมดสภาพ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2018 นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้บอร์ดบริหารของสโมสร ตัดสินใจไล่มูรินโญ่ ออกจากตำแหน่งกุนซือปิศาจแดงในที่สุด

ความสำเร็จของผู้จัดการทีมฟุตบอล ล้วนมีพื้นฐานจากระเบียบวินัยที่ไม่หย่อนยาน ทว่าทั้งฟาน กัล และมูรินโญ่ อยู่คุมแมนฯ ยูไนเต็ดได้ไม่นาน เพียงเพราะนักเตะบางคนต้องการล้มโค้ชที่ไม่ถูกจริตกันเท่านั้นเอง

ความใจดีที่เกินพอดีเลยพังพินาศ

หลังจากความวุ่นวายในยุคของโชเซ่ มูรินโญ่ แมนฯ ยูไนเต็ด ตัดสินใจแต่งตั้งโอเล่ กุนนาร์ โซลชา อดีตนักเตะที่ค้าแข้งในถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ดนาน 11 ปี และอดีตโค้ชทีมสำรองของสโมสร ทำหน้าที่กุนซือชั่วคราว

ซึ่งการเข้ามาของอดีตนักเตะเพชฌฆาตหน้าทารกนี่เอง เป็นการคืนความคึกคักให้กับปิศาจแดงอย่างไม่น่าเชื่อ ผลงานในช่วงแรกติดปีกแบบสุด ๆ ก่อนได้สัญญาคุมทีมถาวรในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2019

นับตั้งแต่วันแรกคุมทีม โซลชาทำทีมยูไนเต็ดพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จระดับคว้าโทรฟี่ แต่สิ่งที่โซลชาได้รับคำชื่นชม คือการอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เคยมีปัญหากับบอร์ดบริหารเลยแม้แต่น้อย

จุดเด่นของโซลชา คือความเป็นกันเองในห้องแต่งตัว ทำให้บรรดานักเตะในทีมต่างชื่นชอบนิสัยของโชลชา เมื่อเทียบกับ 2 กุนซือคนก่อนอย่างฟาน กัล กับมูรินโญ่ จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

แต่ทว่า ความใจดีและความเป็นกันเองที่มากเกินไป จนสูญเสียอำนาจการปกครอง ก็กลับมาทำร้ายตัวเขาเองอย่างเจ็บปวด โดยเฉพาะการคุมทีมใหญ่ที่อุดมไปด้วยนักเตะดาวดังอย่างแมนฯ ยูไนเต็ด

อย่างเช่นกรณีที่โซลชา พยายามที่จะซื้อใจปอล ป็อกบา ที่มักทำตัวมีปัญหาบ่อย ๆ ให้ตั้งใจเล่นกับสโมสรมากขึ้น แต่กลับทำให้นักเตะคนอื่น ๆ ภายในทีมมองว่าโซลชา กำลังปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ปัญหาความไม่เข้าใจเรื่องแท็กติกในสนาม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเตะหมดศรัทธากับโซลชา จากที่เคยมีแต่รอยยิ้มในห้องแต่งตัว พอผลงานย่ำแย่ ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปจนกลายเป็นบรรยากาศอึมครึม

ยกตัวอย่างกรณีของดอนนี่ ฟาน เดอ เบ็ค ที่แทบจะไม่ได้รับโอกาสลงสนามเลย หรือการส่งแฮร์รี่ แม็คไกวร์ ลงสนามเป็นตัวจริงทันที ในเกมที่แพ้เลสเตอร์เมื่อเดือนตุลาคม ทั้ง ๆ ที่เพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บ เป็นต้น

ความพ่ายแพ้ต่อวัตฟอร์ดแบบหมดสภาพถึง 1 – 4 ทำให้บอร์ดบริหารยูไนเต็ดตัดสินใจแยกทางกับโซลชาในที่สุด แสดงให้เห็นว่า สถานะนักเตะระดับตำนานผู้เป็นที่รักของ “เรด อาร์มี่” ก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย

รังนิกกำลังถูกท้าทายครั้งสำคัญ

เมื่อโอเล่ กุนนาร์ โซลชา ทำทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ไปไม่สุดทาง ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ราล์ฟ รังนิก กุนซือชาวเยอรมันวัย 63 ปี รับอาสาเข้ามาคุมทีมแบบขัดตาทัพจนกระทั่งจบฤดูกาลนี้

เมื่อมีกุนซือคนใหม่เข้ามา อาจจะเข้าทฤษฎี “บอลเปลี่ยนโค้ช” คือผลงานในช่วงแรกมักจะออกมาดี นัดแรกของรังนิก คือการเอาชนะคริสตัล พาเลซ 1 – 0 ชนิดที่ผู้เล่นทุ่มเทแบบสุด ๆ ไล่เพรสซิ่งแทบทุกจังหวะ

ทว่าหลังจากนั้น ฟอร์มการเล่นของบรรดานักเตะปิศาจแดง ค่อย ๆ ดร็อปลงอย่างน่าใจหาย คล้ายกับกำลังหมดแรงจูงใจ คาแร็กเตอร์ที่ยอดเยี่ยมในนัดที่ชนะพาเลซ เมื่อ 1 เดือนก่อน กำลังจะหายไปอีกแล้ว

ลุค ชอว์ ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งหลังเกมแพ้วูล์ฟส์ว่า “เรามีขุมกำลังที่เต็มไปด้วยคุณภาพชั้นยอด แต่บางครั้งคุณภาพเพียงอย่างเดียวมันก็ไม่มากพอ เราต้องมีความเอาจริงเอาจังและแรงมุ่งมั่นมากกว่านี้”

ย้อนกลับไปหลังเกมที่เสมอนิวคาสเซิล 1 – 1 เมื่อเดือนธันวาคม มีรายงานจากสื่อที่ระบุว่า บรรยากาศภายในทีมเริ่มมีการแบ่งพรรคพวก นักเตะหลายคนเริ่มไม่มีความสุข และเตรียมย้ายออกในเดือนมกราคมนี้

สไตล์การทำทีมของเจ้าพ่อ “เกเก้นเพรสซิ่ง” คือการวิ่ง ทำงานให้หนัก เสียบอลแล้วต้องกดดันเอาบอลคืนมา ขี้เกียจไม่ได้เลย แน่นอนว่านักเตะบางคนไม่ถูกจริต เพราะติดกับดักความสบายจนเคยตัว

หรืออาจมีนักเตะอายุน้อยบางคน ที่ได้รับค่าเหนื่อยเกินอายุและฝีเท้า ซึ่งกลายเป็นผลเสียโดยไม่รู้ตัว เพราะจะทำให้นักเตะเหล่านั้นคิดว่า ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนขวนขวายอะไร ก็มีเงินมหาศาลเข้ากระเป๋า

ฟาน กัล, มูรินโญ่ และโซลชา ล้วนถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะผลงานที่ล้มเหลว อย่างไรก็ตาม การที่มีนักเตะฝีเท้าดี แต่ทัศนคติแย่ ก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบกับความล้มเหลวเช่นเดียวกัน

การเข้ามาของราล์ฟ รังนิก คือการวางรากฐานให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเพื่ออนาคต และต้องหาวิธีจัดการกับนักเตะบางคนที่เข้ากันไม่ได้กับแนวทางของเขา แต่ก็รู้ดีว่ามันไม่ใช่งานที่ง่ายเลย

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Reuters

อ้างอิง :

#ไข่มุกดำ

#KMDStory

#ราล์ฟรังนิก

#แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

Categories
Special Content

สะเทือนใจแห่งปี 2021 : “อิริคเซ่น-กุน” นาทีชีวิตที่เกือบเป็นโศกนาฏกรรม

ปี 2021 ที่กำลังจะผ่านไป มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย และอยู่ในความทรงจำของแฟนฟุตบอลทั่วโลก ทั้งเรื่องที่น่ายินดีจากความสำเร็จ และเรื่องที่น่าเศร้าที่คนในวงการลูกหนังต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่เหตุการณ์ที่ช็อกความรู้สึกและน่าสะเทือนใจของผู้คน เป็นเหตุการณ์ที่ดาวเตะดังทั้งคริสเตียน อิริคเซ่น และเซร์คิโอ กุน อเกวโร่ ที่เกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ทำให้อาชีพนักฟุตบอลถึงกับต้องสะดุด

วันนี้เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ 2 นักเตะในปีนี้ให้ฟังกันครับ

อันตรายที่ไร้สัญญาณเตือนภัย

ไม่น่าเชื่อว่าอาการหัวใจวายเฉียบพลัน จะเกิดขึ้นกับนักฟุตบอลอาชีพ ถึงแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ วิ่งได้ตลอด 90 นาที (หรือมากกว่านั้น) แต่กลับมีเคสนักเตะล้มลงด้วยอาการนี้ร่วมร้อยราย

ภาวะหัวใจหยุดเต้นฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest : SCA) คือภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้เพียงพอ เพราะมีปัญหาในระบบไฟฟ้าที่กำกับระบบจังหวะการเต้นของหัวใจ ความน่ากลัวของ SCA คือ เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน แล้วเวลาเกิดขึ้นจะมาแบบเฉียบพลัน ทำให้ไม่มีโอกาสเตรียมตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้อื่น

นักฟุตบอลที่มีโอกาสเกิดภาวะ SCA ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มที่มีความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่กำเนิด โดยความผิดปกติเกิดขึ้นใน 2 ส่วนหลัก ๆ คือ หัวใจหนาผิดปกติแต่กำเนิด และเส้นเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด

หัวใจหนาผิดปกติแต่กำเนิด คือการเหนี่ยวนำไฟฟ้าของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ จนนำไปสู่การทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ จะเกิดขึ้นได้ช่วงที่มีการออกกำลัง

ส่วนเส้นเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด คือการที่เลือดเดินช้ากว่าปกติ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ไม่พอ จนเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

บทเรียนจากอดีตที่ช่วยคนรุ่นหลัง

อาการหัวใจวายเฉียบพลัน ในอดีตถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็เลยไม่มีวิธีรับมือกับสถานการณ์นั้น แน่นอนว่าต้องแลกกับการสูญเสียชีวิตของนักฟุตบอล แต่ก็นำไปสู่การปฏิวัติครั้งสำคัญในวงการลูกหนัง

เคสแรกๆ ของกรณีหมดสติกลางสนามฟุตบอลแบบที่ไม่มีใครคาดคิด ก็จะนึกถึง มาร์ค-วิเวียน โฟเอ้ อดีตกองกลางทีมชาติแคเมอรูน ที่ลงเล่นฟุตบอลฟีฟ่า คอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ รอบรองชนะเลิศ เมื่อปี 2003

ในแมตช์ดังกล่าว อยู่ดี ๆ โฟเอ้ ก็ล้มลงกลางสนามแบบไปดื้อ ๆ โดยที่ไม่มีใครอยู่รอบข้างตัวเขาเลย ทีมแพทย์เข้ามาปั๊มหัวใจ ก่อนส่งโรงพยาบาล ใช้เวลากู้ชีพอยู่นานประมาณ 45 นาที แต่ไม่เป็นผล เสียชีวิตในที่สุด

จากเหตุการณ์ที่โฟเอ้เสียชีวิตคาสนาม นั่นทำให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตัดสินใจครั้งสำคัญ ยกเครื่องด้านการแพทย์ใหม่ทั้งหมด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในสนามฟุตบอลได้ตลอดเวลา

ในปี 2012 ก็มีเหตุการณ์ที่ฟาบริซ มูอัมบ้า กองกลางของโบลตัน วันเดอเรอร์ส ล้มลงบนพื้นสนาม ระหว่างเกมเอฟเอ คัพ รอบ 8 ทีมสุดท้าย ท่ามกลางความตกตะลึงของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และผู้ชมที่รับชมการถ่ายทอดสด ซึ่งในเคสนี้ ทุกคนที่อยู่ในสนาม ต่างทราบว่า มูอัมบ้าแสดงอาการว่าอาจเป็น SCA ทำให้บรรดาผู้เกี่ยวข้องข้างสนามตัดสินใจตอบสนองในทันที ซึ่งเจ้าตัวเป็นเจ้าชายนิทรานานถึง 78 นาที ก่อนที่จะรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์

หลังจากเผชิญเหตุการณ์นาทีชีวิตดังกล่าว มูอัมบ้า ตัดสินใจแขวนสตั๊ดทันที หลังจากได้รับคำแนะนำจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ว่า ร่างกายของเขาไม่อาจกลับมาเล่นฟุตบอลในระดับเดิมได้อีกแล้ว

มาถึงกรณีของคริสเตียน อิริคเซ่น ที่ล้มลงหมดสติ ระหว่างช่วยทีมชาติเดนมาร์ก ทำศึกยูโร 2020 นัดแรก ที่พบกับทีมชาติฟินแลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำเอาผู้คนทั่วโลกถึงกับช็อก และภาวนาไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นเหมือนในอดีต

นับเป็นความโชคดีของอิริคเซ่น ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากเดนมาร์ก ถือเป็นประเทศที่มีพื้นฐานการช่วยชีวิตแบบ CPR ที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เนื่องจากได้มีการปลูกฝังเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กเลยทีเดียว

โดยรัฐบาลเดนมาร์ก ได้บรรจุหลักสูตรการทำ CPR ให้กับประชาชนชาวเดนมาร์ก มาตั้งแต่ปี 2005 โดยเริ่มตั้งแต่เด็กระดับประถมศึกษา รวมถึงมีการบรรจุหลักสูตรการทำ CPR ให้กับผู้ที่จะสอบใบขับขี่อีกด้วย

ส่วนกรณีของกุน อเกวโร่ เกิดขึ้นในเกมลาลีกา สเปน ที่บาร์เซโลน่า ต้นสังกัดใหม่ที่ย้ายเข้ามาได้ไม่นาน เปิดบ้านพบกับอลาเบส เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม โดยมีอาการแน่นหน้าอก จนถูกเปลี่ยนตัวออกช่วงท้ายครึ่งแรก

เหตุการณ์ในปี 2003 ที่โฟเอ้จากไปอย่างไม่มีวันกลับนั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตนักฟุตบอล ให้รอดชีวิตจากภาวะ SCA ได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักฟุตบอลรุ่นหลัง ๆ ที่ได้รับบทเรียนจากอดีต

สุขภาพและชีวิตอาจต้องมาก่อน

ช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของกุน อเกวโร่ และอิริคเซ่นได้ผ่านไปแล้ว แต่การที่จะเล่นฟุตบอลต่อไปนั้น แน่นอนว่ามีความอันตราย การเลิกเล่นฟุตบอลคือการตัดสินใจที่เจ็บปวด แต่มันคือทางเลือกที่จะรักษาสุขภาพและชีวิตเอาไว้

กรณีของกุน อเกวโร่ ในเบื้องต้นมีการวินิจฉัยว่าต้องพักอย่างน้อย 3 เดือน แต่จากการตรวจเพิ่มเติมในเวลาต่อมา กลับพบว่าร้ายแรงกว่าที่คิด มีความเสี่ยงสูง ซึ่งแพทย์ได้เสนอทางเลือกว่าให้เลิกเล่นฟุตบอลอาชีพทันที

และในที่สุด อดีตดาวเตะแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และทีมชาติอาร์เจนติน่า ก็ตัดสินใจประกาศแขวนสตั๊ด ยุติเส้นทางนักเตะในวัย 33 ปี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา

กุน อเกวโร่ แถลงเปิดใจทั้งน้ำตาว่า “ผมตัดสินใจที่จะเลิกเล่นฟุตบอล มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างมาก แต่ผมทำเพื่อสุขภาพของตัวเอง

“ผมอยากบอกทุกคนว่า ผมพยายามทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว ผมมีความฝันในการเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่ตอน 5 ขวบ ผมมีความสุขกับอาชีพของตัวเอง”

“ผมอยากขอบคุณอินเดนเพนเดียนเต้, แอต. มาดริด, แมนฯ ซิตี้ และบาร์เซโลน่า ที่ดูแลผมมาอย่างดี รวมถึงทีมชาติอาร์เจนตินาที่ผมรักที่สุด ขอบคุณทุกคนจริง ๆ”

ส่วนรายของคริสเตียน อิริคเซ่น หลังจากเหตุการณ์สุดช็อกในฟุตบอลยูโร ก็ได้กลับมาลงซ้อมเรียกความฟิตเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 เดือน กับโอบี โอเดนเซ่ สโมสรในบ้านเกิดสมัยเป็นนักเตะเยาวชน

หลังจากกุน อเกวโร่ประกาศเลิกเล่นได้เพียง 2 วัน อิริคเซ่นก็ตัดสินใจแยกทางกับอินเตอร์ มิลานเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากขัดกับกฎของฟุตบอลลีกอิตาลี ที่ไม่อนุญาตให้นักเตะที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจลงสนาม

อนาคตของดาวเตะชาวเดนมาร์กวัย 29 ปีนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะไปเล่นให้กับสโมสรใด ส่วนเรื่องการแขวนสตั๊ดประกาศเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ ก็มีความเป็นไปได้ ถ้าแพทย์ยืนยันว่าคือทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเขา

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ คริสเตียน อิริคเซ่น และเซร์คิโอ กุน อเกวโร่ เป็นเครื่องเตือนใจอย่างดีว่า ความแน่นอนของชีวิตคือความไม่แน่นอน ความผิดพลาดคือบทเรียน และสุขภาพคือสิ่งที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด

ปี 2564 ที่กำลังจะจากไปในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ทีมงานเพจ “ไข่มุกดำ” ขออวยพรให้แฟนเพจทุกท่าน มีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ตลอดปีหน้า และตลอดไปครับ

สวัสดีปีใหม่ 2565 & Happy New Year 2022 ครับ

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง

Photo : Goodwordnews

อ้างอิง :

#ไข่มุกดำ

#KMDFeature

#คริสเตียนเอริคเซ่น

#เซร์คิโอกุนอเกวโร่

Categories
Special Content

แบรนด์ ชูสเตอร์ ตำนานขบถลูกหนังยอดอัจฉริยะ

หากจะกล่าวถึงทีมชาติเยอรมันตะวันตก ชุดที่ได้แชมป์ฟุตบอลยูโร เมื่อปี 1980 แล้วจะพบชื่อมิดฟิลด์คนหนึ่งที่สามารถแจ้งเกิดอย่างเต็มตัว ในการลงเล่นทัวร์นาเมนท์ใหญ่เป็นครั้งแรก เขาคนนั้นคือ แบรนด์ ชูสเตอร์

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จดังกล่าว คือการสัมผัสกับฟุตบอลรายการใหญ่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก่อนที่จะเลิกเล่นทีมชาติด้วยอายุที่ยังน้อย อีกทั้งมีประเด็นขัดแย้งกับทุกคนที่ร่วมงาน จนได้รับฉายาว่า “ขบถลูกหนัง” แล้วฉายา “ขบถลูกหนัง” ได้มาอย่างไร ? วันนี้ วันคล้ายวันเกิดของเขา 22 ธ.ค. เพจ “ไข่มุกดำ” จะมาขยายให้ฟังกันครับ

จากบ้านเกิด สู่การแจ้งเกิดกับทีมชาติ

แบรนด์ ชูสเตอร์ เกิดเมื่อ 22 ธันวาคม 1959 ที่เมืองเอาก์สบวร์ก ทางตอนใต้ของเยอรมันตะวันตก เริ่มเข้าสู่การเป็นนักฟุตบอลตั้งแต่อายุ 12 ขวบ กับทีมเยาวชนของฮัมเมอร์ชมิดท์ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กับเอาก์สบวร์ก เมื่ออายุ 16 ปี

ปี 1977 ชูสเตอร์ ถูกเรียกติดทีมชาติเยอรมันตะวันตก ชุดยู-18 และด้วยความที่ฉายแววเก่งเกินอายุ ทำให้ตกเป็นเป้าหมายของบรรดาสโมสรในบุนเดสลีกา และเป็นเอฟซี โคโลญจน์ ที่ได้ตัว “เทพบุตรผมบลอนด์” ไปร่วมทีมในปีถัดมา

ผลงาน 9 ประตู จาก 32 นัด ที่ลงเล่นให้กับโคโลญจน์ในลีกสูงสุด ฤดูกาล 1979/80 ทำให้ชูสเตอร์ได้โอกาสติดทีมอินทรีเหล็กชุดใหญ่ เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ปี 1980 ที่ประเทศอิตาลีเป็นเจ้าภาพ

สำหรับ “ยูโร 1980” นั้น (สมัยนั้น) มี 8 ทีมสุดท้ายเข้าร่วม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม แชมป์กลุ่ม เข้าชิงชนะเลิศ ส่วนรองแชมป์กลุ่ม ไปชิงอันดับ 3 ซึ่งเยอรมันตะวันตก ภายใต้การคุมทีมของจุ๊ปป์ แดร์วัลล์ ได้เข้าชิงชนะเลิศ ในฐานะแชมป์กลุ่ม 1

จาก 4 นัด ของเยอรมันตะวันตก ชูสเตอร์ได้ลงสนาม 2 นัด คือนัดที่ชนะเนเธอร์แลนด์ 3 – 2 ในรอบแรก และนัดที่ชนะเบลเยียม 2 – 1 ในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งทัวร์นาเมนท์ที่อิตาลีนี่เอง ถือเป็นการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวของเขา

นัดที่พบกับอัศวินสีส้ม เคลาส์ อัลลอฟส์ เหมาแฮตทริก ชูสเตอร์ทำ 1 แอสซิสต์ และนัดที่พบกับปิศาจแดงแห่งยุโรป ฮอร์ส ฮรูเบซ ยิงคนเดียว 2 ประตู ชูสเตอร์ก็ทำ 1 แอสซิสต์เช่นกัน พาอินทรีเหล็ก คว้าแชมป์ยุโรปสมัยที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่

ขบถลูกหนัง ผู้ไม่เคยสัมผัสฟุตบอลโลก

แบรนด์ ชูสเตอร์ กลับมาที่โคโลญจน์ในฐานะฮีโร่ของชาติ แต่การกลับมาครั้งนี้ เจ้าตัวไม่มีความสุขเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากภรรยาของเขาถูกคุกคามอย่างหนัก อีกทั้งไม่ลงรอยกับคาร์ล-ไฮนซ์ เฮเดอร์กอตต์ เทรนเนอร์คนใหม่ของ “แพะบ้า” อีกด้วย

ชูสเตอร์จึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า จะขอย้ายออกจากโคโลญจน์ และเป็นบาร์เซโลน่า ยักษ์ใหญ่แห่งลาลีกา สเปน ที่คว้าตัวไปร่วมทีม ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ถือเป็นการเปิดตำนาน “ขบถลูกหนัง” ในชีวิตของเขา

หลังจากจบซีซั่น 1980/81 ซีซั่นแรกของชูสเตอร์ในสีเสื้อบาร์ซ่า จุ๊ปป์ แดร์วัลล์ กุนซือทีมชาติเยอรมัน ประกาศเรียกตัวพอล ไบรท์เนอร์ นักเตะตัวเก๋า กลับคืนทีมชาติอีกครั้ง เพื่อเตรียมทีมลงเล่นเวิลด์ คัพ 1982 รอบคัดเลือก

นั่นทำให้ชูสเตอร์มีปัญหาขัดแย้งกับไบรท์เนอร์ รวมถึงคาร์ล ไฮนซ์ รุมมินิกเก้ เนื่องจากมองว่าทั้งคู่จะเข้ามามีอิทธิพลภายในทีม แดร์วัลล์ไม่มีทางเลือก จึงตัดชื่อชูสเตอร์ออกจากทีมในนัดที่จะพบกับฟินแลนด์ทันที

จากปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้เฮอร์มันน์ นอยแบร์เกอร์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน (เดแอฟเบ) ในขณะนั้น ได้พยายามเป็นกาวใจ ประสานรอยร้าวระหว่างชูสเตอร์ และคู่กรณีทุกฝ่าย แต่ก็ไม่เป็นผล

กระทั่งในเดือนธันวาคม ปี 1981 ชูสเตอร์ได้รับบาดเจ็บอย่างหนักจากการลงเล่นให้กับบาร์เซโลน่า หลังถูกอันโดนี่ กอยโกเชีย แข้งจอมโหดในตำนานของแอธเลติก บิลเบา เสียบสกัดรุนแรง พักยาวจนจบฤดูกาล

ถึงแม้ว่าชูสเตอร์จะหายจากอาการบาดเจ็บทันเวลา และมีโอกาสติดทีมไปลุยฟุตบอลโลกที่สเปน แต่โค้ชและเพื่อนร่วมทีมชาติเยอรมันบอกว่า ไม่จำเป็นต้องมีเขาก็สามารถคว้าแชมป์ได้ แต่ท้ายที่สุดเยอรมันก็แพ้อิตาลีในนัดชิงชนะเลิศ

นัดสุดท้ายของชูสเตอร์กับทีมชาติ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1984 ในเกมอุ่นเครื่องที่พบกับเบลเยียม และเจ้าตัวปฏิเสธช่วยทีมชาติในยูโร 1984 รอบสุดท้ายที่ฝรั่งเศส ซึ่งเยอรมันที่ปราศจากตัวเขา ก็ตกรอบแรกในฐานะแชมป์เก่า

หลังจากความล้มเหลวในยูโร 1984 ฟรานซ์ เบคเคนเบาวร์ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเทรนเนอร์ของเยอรมันคนใหม่ เพื่อเตรียมสู้ศึกเวิลด์ คัพ 1986 แต่ “ไกเซอร์ฟรานซ์” ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่เรียกตัวชูสเตอร์มาติดทีมชาติอีกต่อไป

นั่นเท่ากับว่า ชูสเตอร์ ต้องยุติการรับใช้ทีมชาติในวัยเพียงแค่ 24 ปีเท่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในมิดฟิลด์ที่ดีที่สุดของประเทศในยุคนั้น และเข้าทำเนียบนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ของวงการลูกหนัง ที่ไม่เคยลงเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย

ส่วนทีมอินทรีเหล็ก ที่ไร้เงาชูสเตอร์ ก็เข้าชิงชนะเลิศ 3 ครั้งติดต่อกันในรอบ 8 ปี ถึงแม้ว่าจะสุขสมหวัง ได้แชมป์เพียงแค่ครั้งเดียวในปี 1990 ที่อิตาลี แต่ก็ทำให้แฟนบอลเยอรมัน ลืมชื่อของเทพบุตรผมบลอนด์จอมขบถไปได้เลย

แข้งยอดอัจฉริยะ ผู้ก้าวข้ามความเกลียดชัง

แบรนด์ ชูสเตอร์ ค้าแข้งให้กับบาร์เซโลน่า 8 ปี คว้าแชมป์ 6 โทรฟี่ แต่เหตุการณ์หลังจากนั้น คือสิ่งที่ตอกย้ำในความเป็นขบถลูกหนังของเขา นั่นคือการย้ายไปค้าแข้งกับสโมสรที่เป็นคู่ปรับสำคัญทั้งในสเปน และเยอรมัน

หลังจากจบฤดูกาล 1987/88 ชูสเตอร์สร้างความประหลาดใจ ด้วยการย้ายไปเล่นให้เรอัล มาดริด ทีมคู่อริตลอดกาลชนิดที่ไม่มีใครคาดคิด ซึ่งภายหลังมีการเปิดเผยว่า เขามีเรื่องทะเลาะตั้งแต่เพื่อนร่วมทีม จนถึงประธานสโมสร

ทั้ง ๆ ที่มีหลายสโมสรให้ความสนใจคว้าตัวไปร่วมทีม แต่สาเหตุที่เจ้าตัวเลือกเรอัล มาดริด เพราะไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตในเมืองบาร์เซโลน่าที่มีแต่ปัญหามากมาย แต่ก็ไม่ต้องการให้ครอบครัวของเขาย้ายออกจากที่นั่น

2 ฤดูกาลกับ “ราชันชุดขาว” คว้าแชมป์ลาลีกา 2 สมัยซ้อน ทว่าหลังจากจบฤดูกาล 1989/90 เจ้าตัวมีปัญหากับประธานสโมสร จึงตัดสินใจยกเลิกสัญญา และย้ายไปอยู่กับทีมคู่ปรับร่วมเมืองอย่างแอตเลติโก้ มาดริด

3 ซีซั่นกับแอต. มาดริด คว้าแชมป์โคปา เดล เรย์ 2 สมัยซ้อน ส่วนในซีซั่นสุดท้าย เขาพลาดการลงสนามไปนานหลายเดือน เนื่องจากอาการบาดเจ็บ แต่มีข่าวว่าชูสเตอร์ปฏิเสธการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ ขอรักษาโดยวิธีธรรมชาติแทน

นั่นทำให้แอต. มาดริด ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ที่ชูสเตอร์สร้างประเด็นขัดแย้งขึ้นมา นั่นทำให้สโมสรไม่มีทางเลือก ดร็อปเขาเป็นตัวสำรอง และเมื่อจบฤดูกาล ชูสเตอร์ต้องอำลา “ตราหมี” และพาครอบครัวกลับเยอรมันทันที

ชูสเตอร์ เป็นเพียง 1 ใน 2 นักเตะในประวัติศาสตร์ของลีกสเปน ที่ลงเล่นกับ 3 สโมสรยักษ์ใหญ่ของประเทศ อีกคนหนึ่งคือมิเกล โซแลร์ ที่นอกจากค้าแข้งกับบิ๊ก 3 ลาลีกาแล้ว ยังเคยเล่นให้กับเอสปันญ่อลอีกด้วย

หลังจากใช้ชีวิตในลาลีกานานถึง 13 ปี ชูสเตอร์ก็กลับสู่บุนเดสลีกาอีกครั้ง กับไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ซึ่งก็เป็นทีมคู่ปรับในแถบไรน์ลันด์ (Rheinland) กับเอฟซี โคโลญจน์ สโมสรแรกของเขาในฐานะนักเตะอาชีพ

อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวก็ยังคงมีนิสัยหัวแข็งเช่นเดิม มีเรื่องขัดแย้งกับเอริค ริบเบ็ค เทรนเนอร์ของเลเวอร์คูเซ่นในเวลานั้น ก่อนที่ในปี 1996 ก็ย้ายไปค้าแข้งกับพูมาส ในเม็กซิโก แต่เล่นได้แค่ 9 นัด ก็ประกาศแขวนสตั๊ดในที่สุด

หลังจากเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ ชูสเตอร์ก็ผันตัวไปเป็นโค้ชให้กับหลายสโมสร รวมถึงโคโลญจน์ และเรอัล มาดริด ทีมเก่าสมัยเป็นนักเตะ แต่อายุงานในทุกทีมที่คุมนั้น เป็นช่วงสั้นๆ แค่ 1 – 2 ปีเท่านั้น ก่อนจะรีไทร์อาชีพโค้ชในปี 2019

นักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์บางคน มักจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง สร้างวีรกรรมความขัดแย้งไว้หลายครั้ง จนเกิดเรื่องวุ่นวาย แต่ด้วยพรสวรรค์ที่แสดงให้เห็นในสนาม ก็นับว่าเป็นสีสันอย่างหนึ่งที่โลกลูกหนังเคยมีมา

Author : จักรพันธ์ ภู่ทอง
ผู้สนับสนุนเนื้อหา: LaLiga

🙏อ้างอิง :
 http://soccernostalgia.blogspot.com/…/one-upon-time…
– http://www.midfielddynamo.com/players/profiles/schuster.htm

#ไข่มุกดำ

#แบรนด์ชูสเตอร์

#KMDLaLiga

Categories
Special Content

ทำไม “แดงเดือด” จึงเลื่อนแข่งขัน?

เกม “แดงเดือด” ในคืนวันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปท่ามกลางความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสนาม โอลด์ แทรฟฟอร์ด หลังมีแฟนบอลออกมาประท้วงเจ้าของทีม ‘ตระกูลเกลเซอร์’ จนเป็นเหตุทำให้มีเจ้าหน้าที่และบุคคลากรของสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่พยายามเข้าควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บ โดยในตอนแรก เกมทำท่าจะแค่ดีเลย์ออกไป แต่สุดท้ายก็ต้องทำการเลื่อนวันแข่งขันในที่สุด

รายงานจาก บีบีซี ระบุว่าแฟน ยูไนเต็ด หลายพันคนออกมาประท้วงก่อนจะบุกเข้าไปในสนามแต่ไม่ได้มีสถานการณ์รุนแรงบานปลาย มีเพียงเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ขณะที่มีแฟนบอลอีกกลุ่มหนึ่งไปปิดล้อมโรงแรม ลาวรีย์ เพื่อไม่ให้รถบัสของนักเตะออกจากโรงแรมมายังสนาม จนทำให้สุดท้ายแล้ว หลังการหารือกันระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, พรีเมียร์ลีก รวมไปถึงตำรวจในเมืองแมนเชสเตอร์ และสภาโอลด์ แทรฟฟอร์ด การตัดสินใจเลื่อนเกมนี้จึงเกิดขึ้น

นี่เป็นการประท้วงครั้งใหญ่ของแฟนบอลเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่วันเสาร์ที่แล้ว โดยก่อนหน้านี้มีการประท้วงที่หน้าสนาม และบุกเข้าไปในสนามซ้อม คาร์ริงตัน เมื่อวันพฤหัสบดี ซึ่งก่อนเกมก็คาดว่าจะมีการประท้วงอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครคิดว่าจะมีการบุกเข้าไปในสนาม และปิดล้อมโรงแรมจนรถบัสนักเตะออกมาไม่ได้

การเลื่อนเกมออกไปเป็นการตัดสินใจที่หลายฝ่ายมองว่าถูกต้องแล้ว แม้อาจจะไม่ถูกใจแฟนบอลทางบ้านอยู่บ้าง เพราะถึงจะมีการเคลียร์พื้นที่ในสนามเรียบร้อยแล้ว แต่กลุ่มผู้ประท้วงยังมีการรวมตัวกันอยู่ ซึ่งอาจจะส่งผลถึงความปลอดภัยของนักเตะ รวมถึงเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญการรวมตัวกันของแฟนบอลจำนวนมากยังละเมิดกฎเกี่ยวกับมาตรการด้านโควิด-19 ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่งถ้าหากปล่อยให้เกมแข่งขันกันดำเนินต่อไป อาจจะมีการรวมตัวของแฟนบอลมากขึ้น และเป็นระยะเวลาที่นานขึ้นได้

โดยกลุ่มผู้ประท้วงในครั้งนี้แสดงออกทางสัญลักษณ์ด้วยสีเขียวเหลือง ซึ่งเป็นสีเดิมของทีมสมัยยังเป็นสโมสร นิวตัน ฮีธ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารงานของตระกูลเกลเซอร์ จากการที่นำสโมสรเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ยูโรเปียน ซูเปอร์ ลีก (ESL) ซึ่งก่อนหน้านี้แฟนบอลก็ไม่พอใจที่ทีมไม่ประสบความสำเร็จมายาวนานภายใต้การบริหารงานของเจ้าของชาวอเมริกันอยู่แล้ว

แฟน “ปีศาจแดง” ที่ออกมาประท้วงเชื่อว่าตระกูลเกลเซอร์สนใจแค่เรื่องเงิน และไม่มีความรักต่อทีมของพวกเขา เนื่องจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นองค์กรที่ปลอดหนี้เมื่อทีมอยู่ในตลาดหุ้นก่อนที่เกลเซอร์จะซื้อสโมสร แต่ปัจจุบันทีมมีหนี้ถึง 455.5 ล้านปอนด์ ตามบัญชีล่าสุดของสโมสรซึ่งเปิดเผยเมื่อ 4 มีนาคม 2564

แฟนบอลแถลงการณ์ว่าพวกเขาไม่เหลือความไว้วางใจต่อเจ้าของทีม และ ปฏิเสธที่จะรับคำขอโทษของ โจเอล เกลเซอร์ ในฐานะประธานร่วมที่ออกมาก่อนหน้านี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้ทีม “ยอมรับ และส่งเสริมการตรวจสอบจากรัฐบาลต่อสถานะของทีม และเจ้าของ โดยให้แฟนบอลมีส่วนร่วม” อย่างจริงใจด้วย

#ไข่มุกดำ #ไข่มุกดำทีม

#แดงเดือด

#KMDHotIssue

#ManchesterUnited #Liverpool

Categories
Special Content

“พาราชูต เพย์เมนต์” ป้องกัน หรือสร้างปัญหากันแน่!?

เข้าใจคำว่า “เศรษฐีข้ามคืน” หรือ “ยาจกข้ามวัน” ไหมครับ? การขึ้นชั้นสู่พรีเมียร์ลีกก็ไม่ต่างจากบันไดขั้นสำคัญ สู่การได้รายรับเป็น “มหาเศรษฐี” ของสโมสรฟุตบอลจากลีก เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ขณะเดียวกันการตกชั้น จะไม่ต่างอะไรเลยกับการเป็น “ยาจก” ในบัดดล หากไม่เพราะพรีเมียร์ลีกได้สร้างโมเดลการจ่ายเงินช่วยเหลือทีมตกชั้นที่ชื่อ พาราชูต เพย์เมนต์ (Parachute Payment)

การขึ้นชั้นสู่พรีเมียร์ลีกก็ไม่ต่างจากบันไดขั้นสำคัญสู่การได้รายรับเป็น “มหาเศรษฐี” ของสโมสรฟุตบอลจากลีก เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ขณะเดียวกันการตกชั้น จะไม่ต่างอะไรเลยกับการเป็น “ยาจก” ในบัดดล หากไม่เพราะพรีเมียร์ลีกได้สร้างโมเดลการจ่ายเงินช่วยเหลือทีมตกชั้นที่ชื่อ พาราชูต เพย์เมนต์ (Parachute Payment) ที่ “พาราชูต” แปลว่า ร่มชูชีพ ทำให้คนกระโดดลงมาตกลงมาช้า และถึงพื้นดินอย่างปลอดภัยขึ้นมา นั่นคือ “กุศโลบาย” ในเบื้องต้นที่ตอนนี้ เฉพาะอย่างยิ่งยุคโควิด-19 บุกรุก เริ่มจะสร้างปัญหาให้เกิดหนักขึ้นกับทีมลีกรองที่ไม่ได้เงินก้อนนี้แล้ว และวันนี้ เราจะไปคุยกันถึงเรื่องนี้กันครับ:

พาราชูต เพย์เมนต์ หรือบ้างอาจจะเรียกว่า พาราชูต มันนี (Parachute Money) คือ เงินช่วยเหลือที่พรีเมียร์ลีกจะมอบให้กับ สโมสร 3 ทีมที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกเพื่อไม่ให้ทีมประสบภาวะ “ช็อกซีนีมาร์” ทางการเงินมากเกินไป เพราะการตกลงไปเล่นในลีกรอง เดอะ แชมเปียนชิพ ทำให้เสียรายได้ก้อนใหญ่จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่มีมูลค่าต่างกันมหาศาล

พรีเมียร์ลีกจึงไม่อยากให้ทีมเหล่านี้ “สภาพคล่อง” มีปัญหาเข้าตำรา จนข้ามคืน จึงกำหนดเงินก้อนแบ่งจ่าย 3 งวดใน 3 ฤดูกาลให้กับทีมที่ตกชั้นไปไว้ใช้ประคองตัวเสมือนติดร่ม “ชูชีพ” (Parachute) ให้ทีมที่ตกชั้นที่ไม่ต่างจากพลร่มกระโดดจากเฮลิคอปเตอร์ เงินถุง เงินถัง ชื่อ พรีเมียร์ลีก เพื่อให้การร่อนลงไปในลีกล่างบรรเทาการบาดเจ็บเงินก้อนนี้จึงถูกเรียกว่า “พาราชูต เพย์เมนต์”

ปัจจุบัน เงินก้อนดังกล่าวจะถูกมอบให้กับทีมที่ตกชั้นเป็นเวลา 3 ฤดูกาล (หากยังไม่สามารถขึ้นชั้นกลับมาได้) โดยจำนวนเงินจะคิดเป็นเปอร์เช็นต์อัตราส่วนเงินปันผลที่พรีเมียร์ลีก แบ่งให้กับสโมสรสมาชิกทั้ง 20 ทีมในแต่ละปี โดยทีมตกชั้นลงไปปีแรก จะได้ส่วนแบ่งอยู่ที่ 55% ของเงินที่พรีเมียร์ลีกแบ่งให้สโมสรสมาชิก ปีที่สองอยู่ที่ 45% และถ้าสโมสรที่ตกชั้นดังกล่าว อยู่ในพรีเมียร์ลีกมามากกว่า 1 ฤดูกาล พวกเขาจะได้ส่วนแบ่งในปีที่ 3 อีกราว 20% อีกด้วย

ยกตัวอย่าง แอสตัน วิลลา ตกชั้นในฤดูกาล 2015/16 พวกเขาจะได้รับเงิน พาราชูต เพย์เมนต์ ทันทีสำหรับฤดูกาล 2016/17, 2017/18 และ 2018/19 โดยในฤดูกาล 2016/17 พรีเมียร์ลีกแบ่งรายได้ให้แต่ละสโมสร 20 ทีม ๆ ละราว ๆ 74 ล้านปอนด์เศษ ทำให้ วิลลา ที่ได้รับพาราชูต เพย์เมนต์ 55% จะได้เงิน 40.9 ล้านปอนด์ ต่อมาฤดูกาล 2017/18 พรีเมียร์ลีกแบ่งรายได้ให้แต่ละสโมสรทีมละราว 75 ล้านปอนด์เศษ ทำให้ วิลลา รับพาราชูต เพย์เมนต์ 45% เป็นเงิน 34 ล้านปอนด์ และฤดูกาลที่ 3 ซีซั่น 2018/19 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่พวกเขาตกชั้น และเป็นปีสุดท้ายที่จะได้รับเงิน พรีเมียร์ลีกแบ่งรายได้ให้แต่ละสโมสรทีมละราว 77.5 ล้านปอนด์ ทำให้ วิลลา ที่ได้รับพาราชูต เพย์เมนต์ 20% ได้เงิน 15.5 ล้านปอนด์ เป็นต้น

(ทั้งนี้ รายรับสุดท้ายของแต่ละสโมสร 20 ทีมพรีเมียร์ลีกก็จะแตกต่างกันไปอีก ขึ้นกับจำนวนนัดที่ถูกถ่ายทอดสดออกอากาศที่ประเทศอังกฤษ และอันดับบนตารางคะแนน โดยตัวเลขรายได้ที่แบ่งนี้ คือ ค่าตรงกลางเท่า ๆ กันซึ่งถูกจัดสรรมา แต่ไม่ใช่ตัวเลขสุดท้ายที่จะถูกเกลี่ยเพิ่มอีกจากแมตช์ออกอากาศ และอันดับคะแนน)

อย่างไรก็ดี พาราชูต เพย์เมนต์ กลายประเด็นใน “อีกด้านของเหรียญ” มาตลอดตั้งแต่ตั้งแต่มีปัญหาโควิด-19 เกิดขึ้น เพราะทาง EFL เชื่อว่าเงินก้อนนี้เป็นประเด็นทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเกินไปในการแข่งขัน เดอะ แชมเปี้ยนชิพ

ทีมที่ตกชั้นจะใช้เงินก้อนนี้เพื่อเสริมทัพ หรือคงสภาพทีมระดับพรีเมียร์ลีกเอาไว้ และทำให้พวกเขามีศักยภาพจะแข่งขันเพื่อกลับสู่ลีกสูงสุดได้อย่างรวดเร็วต่างจากบรรดาสโมสรอื่น ๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ชุดตกชั้นในฤดูกาล 2015/16 ได้ใช้เงินตามสัญญาจำนวน 40.9 ล้านปอนด์ ในฤดูกาลถัดมา 2016/17 ไปเช็นสัญญากับนักเตะต่าง ๆ จนทำให้ทีมมีอัตราค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นถึง 8% และขาดทุน 55 ล้านปอนด์ ทว่าก็จบฤดูกาลด้วยการขึ้นชั้นสู่พรีเมียร์ลีก หรือที่ชัดเจนอีกทีมก็ นอริช ฤดูกาลล่าสุดของ แดเนียล ฟาร์ก ใช้เงินจำนวน 41.25 ล้านปอนด์ที่ได้รับจาก พาราชูต เพย์เมนต์ รั้งนักเตะหลายคนในทีมไว้ได้ ทำให้สภาพทีมแทบแข็งแรง รวมถึงวัตฟอร์ด ที่ขึ้นตามมาในอันดับรองแชมป์ก็ไม่ต่างกัน

นั่นเองทำให้เกิดปัญหาระลอกใหม่ระหว่างทั้ง 2 องค์กร: พรีเมียร์ลีก และอิงลิช ฟุตบอลลีก เพราะทั้งนอริช ซิตี้ และวัตฟอร์ด กลับขึ้นชั้นมาสู่พรีเมียร์ลีกอีกครั้งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาตามที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ทำให้ทั้ง 2 ทีมพึ่งพา พาราชูต เพย์เมนต์ แค่ซีซั่นเดียว พรีเมียร์ลีก จึงเล็งที่จะคืนเงินจำนวนนั้นให้ สโมสรต่าง ๆ ในพรีเมียร์ลีกโดยหารแบ่งเท่า ๆ กัน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ว่าพาราชูต เพย์เมนต์ เป็นการจ่ายเงินให้ทีมที่ตกชั้นติดต่อกัน 3 ฤดูกาล ดังนั้นเมื่อ “นกขมิ้น” และ แตนอาละวาด” ขึ้นชั้นได้ภายในปีเดียว เงินในฤดูกาลที่ 2 และ 3 ที่ต้องจ่ายรวม 83 ล้านปอนด์ ก็จะถูกหารให้ทีมในพรีเมียร์ลีกทั้ง 20 ทีม รวมถึง ลิเวอร์พูล ก็ได้รับอานิสงค์ตรงนี้ไปทีมละราว 4 ล้านปอนด์เศษ และทั้ง 20 ทีมในพรีเมียร์ลีก มีโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งมากกว่านี้ในกรณีที่ บอร์นมัธ ซึ่งเป็นอีกทีมที่ตกชั้นไปเมื่อปีก่อนกลับเข้าสู่พรีเมียร์ลีกได้ด้วย โดยตอนนี้ “เดอะ เชอร์รี่” อยู่ในพื้นที่เพลย์ออฟลุ้นเลื่อนชั้น ซึ่งถ้าพวกเขาทำได้สำเร็จ ยอดรวมของเงินที่จะต้องหารคืนสโมสรต่าง ๆ จะมีกว่า 100 ล้านปอนด์ และจะทำให้แต่ละสโมสรได้รับเงินกว่าทีมละ 5 ล้านปอนด์

อย่างไรก็ตาม ทาง อิงลิช ฟุตบอล ลีก หรือ EFL อยากจะมีส่วนแบ่งกับเงินโบนัสก้อนดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะพวกเขาเชื่อว่า เงินจำนวนนั้นน่าจะถูกเอามาใช้กับสโมสรรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าจะเอาไปคืนให้สโมสรระดับท็อปเทียร์ที่เงิน 4-5 ล้าน แทบไม่ได้มีผลอะไรกับพวกเขามากนัก ซึ่งทาง EFL ได้เดินเรื่องเพื่อขออนุมัติเงินจำนวน “หลายสิบล้านปอนด์” จากโบนัสดังกล่าวไปแล้ว แต่ทางพรีเมียร์ลีกยังไม่ได้มีการอนุมัติในเรื่องนี้

ก่อนหน้านี้ในเดือน พฤศจิกายน EFL ได้ยอมรับเงินจำนวน 50 ล้านปอนด์จากพรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นเงินที่พวกเขาอนุมัติเพื่อช่วยเหลือทาง อิงลิช ฟุตบอล ลีก และยังมีเงินที่ช่วยเหลือทีมในลีกวัน และลีกทู อีกจำนวน 30 ล้านปอนด์ ทั้งนี้เพราะ เงินก้อนดังกล่าวเมื่อถูกหารแบ่งให้สโมสรต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ EFL กลายเป็นเงินจำนวนที่ไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรได้มากนัก ทำให้ EFL พยายามเรียกร้องให้ พรีเมียร์ลีก ยกเลิกการจ่ายเงิน พาราชูต เพย์เมนต์ ให้สโมสรที่ตกชั้น และเอาเงินก้อนดังกล่าวมาเยียวยาสโมสรระดับล่างแทน

ล่าสุด ทางพรีเมียร์ลีก ยังไม่ได้มีการตอบรับข้อเสนอใด ๆ ต่อ EFL และมีแนวโน้มว่าจะเดินหน้าจ่ายเงินคืนให้สโมสรต่าง ๆ กลับไปเหมือนเดิม

ครับ คิดเห็นกันอย่างไรกับเงินของ “พรีเมียร์ลีก” กับก้อนที่ชื่อ พาราชูต เพย์เมนต์ และโมเดลในการจะกระจายออกไปใช้ (Redistribution) ให้เหมาะสมที่สุด?

#ไข่มุกดำ #ไข่มุกดำทีม

#KMDFeature

#parachutepayment

Categories
Special Content

สรุปสถานการณ์ “บิ๊กทีม” ถอนตัว ESL กับการล่มสลายอย่างรวดเร็ว?

แม้สถานการณ์ของ ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก (ESL) จะดูเหมือนเกมของบรรดาผู้บริหาร และเหล่าผู้นำทีม แต่ตัวแปรสำคัญที่สุดได้ถูกตอกย้ำอีกครั้งว่าเป็น แฟนบอล และเหล่านักเตะของพวกเขา โดยในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา กระแสต่อต้านจากแฟนบอลทั่วยุโรป โดยเฉพาะที่อังกฤษจะได้เห็นซัพพอร์ตเตอร์ของ ‘บิ๊ก 6’ ออกมาแสดงความผิดหวังต่อสโมสรอย่างชัดเจนผ่านทุกช่องทางตั้งแต่ประท้วงหน้าสนามไปถึงระบายผ่านโลกโซเชียลมีเดีย

ก่อนเกม ลีดส์ ยูไนเต็ด ณ เอลแลนด์ โรด พบ ลิเวอร์พูล บรรดาแฟนบอลออกมาต่อต้านการเข้าร่วมศึก ESL ของลิเวอร์พูลกันหนาตา มีป้ายแบนเนอร์ประท้วง และยังรวมไปถึงมีการเผาเสื้อแข่ง “หงส์แดง” อย่างชัดเจนด้วย

ล่าสุดวันต่อมา (เมื่อคืนวันอังคาร 20 เม.ย.) จอร์แดน เฮนเดอร์สัน กัปตันทีม ลิเวอร์พูล นัดประชุมบรรดากัปตันทีมในพรีเมียร์ลีก หารือเรื่อง ซูเปอร์ลีก โดยการพูดคุยครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่อีก 14 สโมสรในพรีเมียร์ลีกประชุมกันเพื่อคัดค้านการก่อตั้ง ESL ของ 6 สโมสรยักษ์ใหญ่ แต่ไม่ทันที่บรรดากัปตันทีมจะแสดงความเห็น หรือออกแถลงการณ์ใด ๆ นอกจากเฮนโด้ทวีตว่า เขาไม่ชอบ และไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ สถานการณ์ของ ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก ก็พลิกผันเสียก่อน

เริ่มจาก เชลซี รวบรวมเอกสารจะถอนตัว ตามด้วย แมนฯ ซิตี สถานการณ์ฝั่งเกาะอังกฤษเดือดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หน้าเสื่อของ ESL ดูแย่ลงตามลำดับ

สโมสรจากอังกฤษที่เหลือ อย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, อาร์เซนอล และ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ต้องเจอแรงกดดันในโซเชียลจากบรรดาแฟนบอลหนักกว่าเดิม และหลังจากนั้นไม่นานก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามมา

ทั้ง 4 สโมสรแถลงการณ์ร่วมกันในช่วงเวลาเกือบตี 5 ของประเทศไทย หรือตรงกับเกือบ 5 ทุ่มที่ลอนดอน ยืนยันจะออกจากการเป็นสมาชิกของ ESL เช่นกัน

“ผมอยากจะขอโทษต่อบรรดาแฟนบอล และผู้สนับสนุนสโมสรลิเวอร์พูล สำหรับความวุ่นวายที่ผมทำให้มันเกิดขึ้นตลอด 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา” จอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี กล่าว “ผมอยากขอโทษต่อ เยอร์เกน, บิลลี และต่อนักเตะทุกคนที่ทำงานหนักที่ลิเวอร์พูลเพื่อให้แฟนบอล ภาคภูมิใจ พวกเขาไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อความวุ่นวายนี้อย่างแน่นอน และความยากลำบากที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม นี่คือสิ่งที่เจ็บที่สุด พวกเขารักสโมสรของคุณ และทำงานเพื่อให้คุณภาคภูมิใจในทุก ๆ วัน”

ส่วนแลถงการณ์ของสโมสร อาร์เซนอล ระบุ “เราได้กระทำความผิดพลาดครั้งใหญ่ และเราเสียใจที่มันเป็นเช่นนั้น เรารู้ดีกว่ามันต้องใข้เวลาในการที่จะเรียกศรัทธาของพวกคุณกลับมาอีกครั้งหลัง หลังจากสิ่งที่เราพยายามทำลงไป”

การตัดสินใจของสโมสรในอังกฤษดอกนี้ ส่งผลให้สมาชิกของ ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก จากเดิมที่เคยมีถึง 12 ทีม เหลือเพียง 6 ทีมทันที และจากข่าวลือที่แว่วมาก่อนหน้านี้ว่าทั้ง แอตเลติโก มาดริด และ บาร์เซโลนา ก็จ่อจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของลีก นั่นจะทำให้สโมสรสมาชิก มีโอกาสเหลือเพียงแค่ 4 ทีม ได้แก่ เรอัล มาดริด, ยูเวนตุส, เอซี มิลาน และ อินเตอร์ มิลาน เท่านั้น

นั่นนำไปสู่ ฟลอเรนติโน เปเรซ ยกเลิกกำหนดการณ์การให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุในสเปนอย่างกระทันหัน โดยให้เหตุผลว่า ต้องการหารือกับสใมสรสมาชิกที่เหลือของ ESL ก่อน และในเวลาต่อมา เขาก็ประกาศทบทวนการจัดการแข่งขันรายการนี้ในเวลาต่อมา

“ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก เชื่อมั่นว่าสถานะปัจจุบันของฟุตบอลยุโรปควรจะมีการเปลี่ยนแปลง” แถลงการณ์ในนาม ESL ระบุ “ เรากำลังเสนอการแข่งขันรูปแบบใหม่ในยุโรปเนื่องจากระบบที่มีอยู่ไม่สามารถตอบโจทย์ได้จริง

“ข้อเสนอของเรามีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาวงการกีฬาไปพร้อม ๆ กับการสร้างทรัพยากร และความยั่งยืนให้กับโครงสร้างปิรามิดของฟุตบอลรวมถึงการช่วยเหลือ และเอาชนะปัญหาทางการเงินที่ชุมชนฟุตบอลทั้งหมดต่างต้องประสบพบเจอ อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสในช่วงที่ผ่านมา”

“แม้ว่าสโมสรจากอังกฤษจะมีการประกาศถอนตัว อันเป็นผลมาจากแรงกดดันที่พวกเขาได้รับ แต่เรายังยืนยันว่า ข้อเสนอของพวกเราสอดคล้องกับกฎหมายยุโรป และกฎระเบียบตามการพิจารณาของศาล ในการปกป้อง ซูเปอร์ลีก จากผลกระทบของบุคคลที่สาม”

“จากในสถานการณ์ปัจจุบัน เราต้องกลับมาพิจารณาถึงก้าวต่อไปที่เหมาะสมอีกครั้ง เรายังมีเป้าหมายไม่ต่างจากเดิมเสมอนั่นคือเพื่อที่จะนำประสบการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้มาให้กับแฟนบอล พร้อมกับความมั่นคงทางการเงินแก่ชุมชนฟุตบอลทั้งหมด”

แถลงการณ์ดังกล่าว เสมือนการยกธงขาวของยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก แต่เป็นการยอมแพ้โดยมีนัยยะว่า ยังรอโอกาสที่จะกลับมาเพื่อดำเนินการสร้างลีกแข่งขันของพวกเขาอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงบ่ายวันนี้ อินเตอร์ มิลาน ก็เป็นสโมสรล่าสุดที่ตัดสินใจลาออกจาก ESL เป็นที่เรียบร้อย นั่นน่าจะเป็นการตอกย้ำว่าฟุตบอลลีกใหม่รายการนี้น่าจะ “แท้ง” ตั้งแต่ยังไม่เกิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในเวลาต่อมาก็มีเสียงตอบรับจาก อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป ต่อสถานการณ์การลาออกจาก ESL ของบรรดาสโมสรต่าง ๆ โดยเขายืนยันว่า ยินดีที่จะให้บรรดาสโมสรต่าง ๆ ที่ออกจาก ESL กลับมาร่วมการแข่งขันในยุโรปตามเดิม

“เมื่อวานนี้ผมบอกว่าเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่ยอมรับผิด และสโมสรเหล่านี้ทำผิดพลาดครั้งใหญ่” เซเฟริน กล่าว “แต่ตอนนี้พวกเขากลับมาเหมือนเดิมแล้ว และผมรู้ว่าพวกเขามีหลายข้อเสนอที่อยากจะบอก ไม่เพียงแค่การแข่งขันของเรา แต่กับในเกมยุโรปด้วย”

“สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือเราต้องเดินหน้าต่อไป บนความเป็นหนึ่งเดียวกันที่จะทำให้ทุกคนสนุกกับเกมของเรา ก่อนที่จะก้าวต่อไปด้วยกัน”

คำพูดของ เซเฟริน ในการให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุดนี้ เปรียบเสมือนการยืนยันว่า การก่อกบฏครั้งนี้จบลงแล้ว สโมสรได้รับการอภัยโทษจากรัฐบาลลูกหนังยุโรป แต่แฟน ๆ ยังคงทำหน้าที่พิพากษาผู้บริหารแต่ละทีมกันอยู่

โดยไม่มีใครทราบว่า ลึก ๆ แล้ว ความไว้วางใจระหว่างกัน และความรู้รึกระหว่าง ยูฟา กับสโมสรชั้นนำได้ถูกทำลายไปแล้วแค่ไหน อย่างไร และจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อีกเมื่อไหร่

#ไข่มุกดำ #ไข่มุกดำทีม

#KMDFeature

#esl #EuropeanSuperLeague

Categories
Special Content

ปักธง “ElClasico” ในประเทศไทย

มาออกกองถ่ายกับพี่ตุ๊ก ๆ ปักธง ElClasico ลาลีกา และธงชาติไทย เก็บภาพ VDO ผ่านมุมมองสวย ๆ กับรถตุ๊ก ๆ ผ่านสถานที่สำคัญบ้านเรา เช่น วัดพระแก้ว, เสาชิงช้า ถ่ายทอดความเป็นไทยผ่านศึกนัดสำคัญ บาร์ซ่า - มาดริด ตี 2 เวลาบ้านเราคืน 10 เม.ย.นี้

28.03.2021 วันนี้ เพิ่มภาพเบื้องหลังให้ในโพสต์ 3 ใบ และเตรียมพบ VDO ตัวแรก 4 เม.ย.และตัวไฟนอล 8 เม.ย.นี้ครับ

#ไข่มุกดำ

#ลาลีกา

#KMDLaLiga

Categories
Special Content

“มาตรฐาน” ไทยลีก 2019

ฟุตบอลลีกสูงสุดของบ้านเรา “โตโยต้า ไทยลีก” หรือ “T1” ฤดูกาล 2019 เตรียมได้ฤกษ์ระเบิดฉากสุดสัปดาห์นี้เริ่มศุกร์ 22 ก.พ.แล้วนะครับ

ผมตั้งชื่อเรื่องแบบนี้ และมีคำว่า “มาตรฐาน” เพราะค่อนข้างมั่นใจจะได้เห็นคุณภาพฟุตบอลไทยที่ดีขึ้นในปีนี้ เพราะเชื่อว่าด้วยหลากหลาย “ปัจจัย” และสำคัญที่สุด คือ “เวลา”

ฤดูกาล 2019 น่าจะเป็นปีที่ “สุกงอม” กำลังดีของวงการฟุตบอลระดับสโมสรของเมืองไทยครับ 🙂

ในโซนหัวตาราง หรือ “ลุ้นแชมป์” การที่ บุรีรัมย์ ยอมปล่อย ดิโอโก้ หลุยส์ ซานโต ให้กับ ยะโฮร์ ดารุล ทักซิม นั่นเท่ากับเปิดช่อง “ความเสี่ยง” ในการป้องกันแชมป์ และช่วยขยับช่อง “โอกาส” ในการลุ้นแชมป์ให้เปิดกว้างมากขึ้น

แน่นอนครับว่า คุณเนวิน ชิดชอบ กล่าวมั่นใจว่า “ทุกครั้ง” ก็สามารถมีตัวแทนมาทำหน้าที่ได้โดยตลอด และในช่วงพรีซีซั่น ตัวแทนดาวเตะจากมาลี มาติโบ ไมก้า ก็ดูเหมือนว่าจะทำได้ดีไม่นับ เปโดร จูเนียร์ อีกคน

รวมกับนโยบาย “ปั้นเด็ก” และเก็บไว้ อย่าง ศุภชัย ใจเด็ด, สุภโชค สารชาติ, ศศลักษณ์ ไหประโคน, ศุภณัฎฐ์ เหมือนตา ฯลฯ ทำให้ซีซั่นนี้ จะเป็นปี “จุดเปลี่ยน” อีกครั้งของทีมได้ไม่ยาก

ถัดมาที่ต้องพุดถึง คือ ทรู แบงคอก ยูไนเต็ด กับความ “พร้อม” ซะขนาดนั้นด้วยการเสริมทัพนำโดย เนลสัน โบนีญ่า และทริสตอง โด กับพีระพัฒน์ โน๊ตชัยยา ความน่ากลัวจึงไม่ต้องพูดถึง และสโลแกน “The Time is now” ก็บ่งบอกแล้วว่า ท่านประธานสโมสรฯ คุณขจร เจียรวนนท์ เอาจริงเพียงใด

มาโน่ โพลกิ้ง ประกาศเช่นกันว่า นี่คือทัพนักเตะที่ดีที่สุด และสโมสรฯได้สนับสนุนให้ซื้อผู้เล่นในตำแหน่งที่ต้องการ

มาโน่ จะเจอบททดสอบที่ไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆ ในฤดูกาลนี้ ไม่ว่าจะเล่นระบบ “หลัง 3” หรือระบบใด

แต่การ “ตกรอบ” คัดเลือก AFC แชมเปี้ยนส์ ลีก ให้ฮานอย เอฟซี ถือเป็น “สัญญาณ” แจ้งเตือน

ทรู แบงคอกฯ ต้องมีลุ้นถึงนัดสุดท้ายของฤดูกาลเท่านั้น!

เอสซีจี เมืองทอง กับการเติมทัพแบบ “รูปธรรม” โดยเฉพาะตำแหน่งนายทวารเวียดนาม-รัสเซีย ดัง วาน ลัม และเซนเตอร์ฮาล์ฟ โอ บัน ช็อก กับตำแหน่งต่าง ๆ ที่ค่อนข้างดีอยู่แล้วทำให้ผู้อำนวยการสโมสร คุณรณฤทธิ์ ซื่อวาจา กล่าวอย่างมั่นใจว่า พร้อมลุ้นทุกแชมป์

แต่ประเด็น ผมอยากให้เกาะติดการทำงานของ “โค้ชเบ๊” ไพโรจน์ บวรรัตนดิลก เพราะนี่คือ โค้ช “โลว์โปรไฟล์” ที่ดึงสิ่งที่ดีที่สุดจากผู้เล่น และวางแท็คติกส์แบบ “มัธยัสถ์” ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง

แต่ “โค้ชเบ๊” จะเป็นอย่างไรกับทีมที่ใหญ่ขึ้น สตาร์มากขึ้น?

ส่วนตัวสอดแทรกก็หนีไม่พ้น การท่าเรือ เอฟซี ที่ยัง “เติมทีม” ไม่หยุด และได้ตัวอย่าง สุมัญญา กับโก ซุล กิ กลับไทยอีกหนมาเสริมแดนกลางให้แน่นปึ้ก และ “มาดามแป้ง” ก็ลั่นวาจาแล้วว่า ปีนี้ต้องมี “ถ้วย” ติดไม้ติดมือ

ทีมอย่าง สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ซึ่งเก่งฉกาจในการเล่นบอลถ้วย แต่ปีนี้ไม่มีกุนซือ อเล็กซานเดอร์ กามา และนายทวารฉัตรชัย บุตรพรหม แล้ว ทว่า “ทรัพยากร” ยังถือว่าเป็นหัวแถวทั้งตัวต่างชาติอย่าง บิล หรือตัวไทยที่ยังได้ขวัญใจผมเอง พีระพงษ์ พิชิตโชติรัตน์ มาเป็นกัปตันทีม

ชลบุรี เอฟซี ก็ไม่เคยลงทุนกับนักเตะต่างชาติมากเท่าปีนี้ที่นำโดย ลูเคียน อดีตดาวยิงจากพัทยา ยูไนเต็ด รวมถึงบรรดาดาวรุ่งก็ดูเหมือนจะ “พร้อม” กันมากขึ้นไล่ตั้งแต่ วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, สิทธิโชค ภาโส.

ทีมอื่น ๆ ก็ถือว่า มีหลายทีมที่ล้วนอยู่ในข่ายลุ้น “ท็อป 10” ได้สบาย อาทิ สุพรรณบุรี, ราชบุรี, ประจวบฯ รวมถึงน้องใหม่ พีทีที ระยอง ที่เติมทัพได้น่าสนใจ เพราะได้ วิคเตอร์ คาร์โดโซ่ ปราการหลังมาจากเชียงราย และเอมมานูเอล เจย์ โธมัส อดีตดาวรุ่ง อาร์เซนอล มายืนหัวหอก

การหั่นเหลือ 16 ทีม หรือเตะเพียง 30 นัดเท่านั้น คือ “เนื้อ ๆ” ไม่มีหนังจากจำนวนทีมที่น้อยลง และแมตช์ที่ควรจะมีความหมาย และมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และไทยลีก มองตรงนี้ และหวังว่า ปีนี้จะได้เห็นมาตรฐานดังกล่าว แม้จะมีเสียงแว่ว ๆ แล้วว่า ฤดูกาลหน้าอาจจะกลับไปสู่ระบบ 18 ทีมอีกครั้งก็ตาม

ด้วยจำนวนแมตช์ที่น้อยลง ระยะเวลาทำงานของกุนซือจึงต้องน้อยลงไปด้วย และผมเชื่อว่า ประมาณ 3 เกมแรก, 5 เกม, 7-10 เกมแรกจะได้เห็นการปลดโค้ชกันเรื่อย ๆ (จริง ๆ ปลดกันไปตั้งแต่ยังไม่เปิดฤดูกาลแล้ว เช่น โชเซ อัลเวส บอร์จีส กับเชียงราย)

เพราะ “เวลา” ไม่มีเหลือให้รอคอย ขณะที่การเตรียมทีมปีนี้ คือ 4 เดือน เพราะฉะนั้นข้ออ้างว่า “ไม่พร้อม” ก่อนเปิดฤดูกาลจึงไม่มี!

การนำ VAR (Video Assistant Referee) มาใช้เป็นลีกแรกในอาเซียน และกำเนิดระบบโควต้าต่างชาติ 3+1+3 (ต่างชาติ + เอเชีย + อาเซียน) = 7 Maximum นักเตะที่ไม่ใช่ไทย มองในมุมบวก คือ มาตรฐานที่ดีขึ้นของลีก

VAR ไม่ว่าจะ “สมบูรณ์” ระดับไหนในการนำมาใช้ แต่ก็จะช่วยยกระดับการตัดสิน เช่นเดียวกับ “โควต้าต่างชาติ” ที่ไม่จำเป็นต้องใช้จนครบ ทว่านี่คือ “ทางเลือก” ของแต่ละสโมสร (ส่วนใหญ่ก็เลือกใช้โควต้า อาเซียน กันเท่าที่จำเป็นเท่านั้น)

โควต้า อาเซียน อย่างน้อย ๆ ทำให้ “นักเตะไทย” ขยับตัว และต้องปรับตัวหนี หากไม่อยากถูกทิ้งไว้กลางทาง และทำให้ได้เห็นนักเตะไทย “บิ๊กเนม” ยอมลงไปเล่นลีกรองมากขึ้นกว่าทุกปี

ขณะที่ นักเตะไทยใน T1 ก็จะนิ่งเฉย หรือเรียกค่าตัวแพงเกินจริงไม่ได้ เพราะสโมสรฯมีโอกาสเลือกสรรผู้เล่นมากขึ้น

นักเตะต่างชาติก็เช่นกันที่ต้อง “เก่งจริง” จึงจะอยู่รอดในไทยลีก หาไม่แล้วก็ต้องลงไปเล่นลีกพระรอง หรือกลับบ้านเก่าไป

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมแข้ง “ดาวรุ่งไทย” ที่แต่ละสโมสรฯเห็นพ้องต้องกัน และมีนโยบายสนับสนุนมากขึ้นอันทำให้ทีมชาติชุด ยู-23 ปี หรือนักเตะในช่วงอายุประมาณนี้มีความน่าสนใจ และมีศักยภาพจะพัฒนาเป็น “เจนเนอเรชั่น” ที่ดีที่สุด มีตัวเลือกมากที่สุด และรอแค่เวลาฉายแววเท่านั้น

ยิ่งในทีมชาติได้ อเล็กซาเดอร์ กามา ไปคุมทีม ขณะที่ “ช่องทาง” การพัฒนายังสามารถต่อยอดไป “เจ ลีก” เหมือนรุ่นพี่ ๆ ที่กำลังทำได้ดี

ทั้งหลายทั้งปวงทำให้ผมเชื่อว่า ปีนี้จะเป็น “ปีทอง” สำหรับฟุตบอลไทยไม่เฉพาะ T1 นะครับ

ดูไทยลีกครบทุกแมตช์ และไม่พลาดบอลทุกลีกดัง ที่ทรูวิชั่นส์แพลทินัม หรือ โกลด์ สมัครวันนี้ ฟรีค่าประกันอุปกรณ์ทุกจุด พร้อมรับ 1,000 ทรูพ้อยท์ ตั้งแต่วันนี้ - 31 มี.ค. 2562

สมาชิกทรูวิชั่นส์ สมัครทรู ซูเปอร์ ซอคเกอร์ เพียง 199 บาท ใช้ทรูมูฟเอชกด *482*199*สมาร์ทการ์ด# โทรออก

หรือคุ้มยิ่งขึ้น! สมัครพร้อมบริการ ทรู ไฟเบอร์ 1Gbps ครบ! ทั้งเน็ตไฟเบอร์พร้อมดูรายการดัง สนใจคลิก https://bit.ly/2KR1zgA

เพิ่มเติม โทร. 02-700-8000 หรือ ทรูช้อป

#ไข่มุกดำ

#FootballThai

Categories
Special Content

มากกว่าภาพยนตร์สารคดีกีฬา

ผมเคยคุยกับ “พีชชี่” พีชชงพีชชี่ ว่า ฟิลลิ่งมีแฟนนั่งดูบอลด้วยกันมันคงจะดีนะ?

คำตอบก็ “ใช่” แม้จะเชียร์คนละทีม (พีชชี่ แมนฯยูฯ และแฟนนาง ลิเวอร์พูล) และมีการบลัฟกันพอหอมปากหอมคอ เหมือนเรากับเพื่อนในแกงค์ผู้ชายอ่ะนะ

แต่นางก็บอกว่า มีแฟนไม่ดูบอลก็ดีนะ เพราะหัวเรื่องที่คุยกันก็จะไม่มีฟุตบอล เป็นเรื่องอื่น ๆ เรื่องโน้นเรื่องนี้ไป

ก็เท่ากับว่า มีเรื่องให้คุยกันหลากหลาย เป็นสีสัน เป็นส่วนผสมของ “ความต่าง” ว่างั้น...

เมื่อวาน ตอนผม LIVE แฟนผมนั่งชมระหว่างนั่งแท็กซี่กลับ “โฮมออฟฟิศ & คอฟฟี่” ไข่มุกดำ craft coffee เธอก็เกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า “ทำไมต้องอินกันด้วยยามแมนฯยูฯแพ้ ลิเวอร์พูลแพ้ ฯลฯ? เพราะเราไม่ได้อยู่ประเทศอังกฤษซะหน่อย”

มันคือ คำถามปกติคำถามหนึ่งของคนไม่ดูบอล ไม่เข้าใจฟุตบอล ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นเพศใด

เต็มที่เธอก็จะถามว่า วันนี้ทีมของผม ลิเวอร์พูล เจอใคร? เก่งไหม? อันดับเท่าไหร่? แล้วก็อวยพร “ขอให้ชนะนะ!”

แต่ก็ไม่เคยอยากจะนั่งชม หรือสนใจอะไรใด ๆ อีก เว้นเสียแต่ว่า หากไม่ลืมก็จะมาถามว่า เมื่อคืนใครชนะ?

แน่นอน เธอไม่เข้าใจระบบแข่งขันแบบลีก แบบบอลถ้วย เกมยุโรป หรือพักเบรกทีมชาติ อย่างไม่ต้องสงสัย และคงยากจะอธิบาย

อย่างไรก็ดี ผมได้รับเชิญจาก “สหมงคลฟิล์ม” ให้ไปชมภาพยนตร์ The End of the Storm รอบสื่อเมื่อวันจันทร์ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาที่สยามพารากอน

ผมพาแฟนไปด้วย และนั่นน่าจะเป็น “ครั้งแรก” ที่เธอได้มีประสบการณ์นั่งชม “ฟุตบอล” แม้จะเป็นสารคดีฟุตบอลก็ตามทีเป็นเวลาร่วม 2 ชั่วโมง

ก็ถือเป็นการใช้เวลาร่วมกัน แม้ไม่ใช่นั่งดูเกมฟุตบอลที่บ้าน หรือไปที่สนามด้วยกันเป็นครั้งแรก

ผมถามเธอว่า รู้สึกอย่างไร? เข้าใจคนดูฟุตบอล? หรือเข้าใจทีมลิเวอร์พูลดีขึ้นไหม?

เอาจริง ๆ ความเข้าใจฟุตบอลของเธอก็ยังเหมือนเดิม แต่ความเข้าใจในทีมลิเวอร์พูล และเยอร์เกน คลอปป์ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนคนเดินเรื่อง (ถ่ายทำใหม่) นั่งเล่าผ่านฟุตเทจภาพซ้อม ภาพต่าง ๆ หรือมีแอนิเมชั่น มาสลับตอนหาภาพไม่ได้กับ subtitle ไทยที่แปลได้มันส์ดี เป็นภาษาบอล คือ ดีขึ้น

เพลง You’ll never walk alone ขับร้องโดย ลาล่า เดล เรย์ ศิลปินสาวระดับมีชื่อคัดเลือกชิงรางวัลแกรมมี จัดว่า “ซึ้ง” กินใจ สะกดคนดูได้ทั้งโรง

เรื่องราวฤดูกาลที่ผ่านมาที่ถูกถ่ายทอดภายใต้ชื่อหนัง The End of the Storm อันเป็นคำชุดหนึ่งในเพลง YNWA สามารถย้อนความทรงจำปีที่ผ่านมา ปี Covid Pandemic แต่ทีมฝ่าฟันทุกอุปสรรคจนได้แชมป์ที่รอคอย 30 ปีได้เป็นอย่างดีด้วยฝีมือของ อดัม บูลล์มอร์ โปรดิวเซอร์ซีรีส์ This is Football และเจอมส์ เออร์สคิน ผู้กำกับสารคดีเชิงกีฬาตัวท็อป

เรื่องจึงถูก “เล่าเรื่อง” อย่างดีจากคลอปป์ สลับด้วยเซอร์เคนนี ดัลกลิช ผู้นำพาทีมคว้าแชมป์สมัยสุดท้ายก่อนหน้านี้ 1989/90 และเป็นตัวแทนมอบโทรฟี พรีเมียร์ลีก ด้วยตนเองในสนามปิดแอนฟิลด์ แบบได้อรรถรสด้วยข้อมูลอินไซด์หลายมุม หลายประเด็น

คลอปป์ จะมีคำพูดสวย ๆ อยู่แล้ว ส่วนท่านเซอร์จะมาในแนวอารมณ์ดี มียิ้มมุมปาก แต่เปี่ยมล้นด้วยพลังงานขั้นสุดเหมือนเดิม

The End of the Storm ไม่ได้เล่าย้อนทุกเหตุการณ์สำคัญละเอียดนักระหว่างทาง 30 ปี แต่ก็มีบ้าง ทว่าเน้นไปที่ซีซั่นที่ผ่านมาเป็นหลักตลอด 99 นาที

ในเชิงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากภาพยนตร์ ยังไงเสีย เรื่องแรงบันดาลใจ ยังคงมีได้เสมอ แม้เวลา ณ ตอนนี้จะเลยผ่านจุดพีคของความเป็นแชมป์มาอีกครึ่งฤดูกาลใหม่ (แต่หนังฉายช่วงเดือน พ.ย.ที่อังกฤษ) มาสักพักแล้ว

นอกจากนี้ ผู้ชมยังได้รู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของ บอสส์ ในบางด้าน บางมุม ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกเหลามาเล่าเป็น story telling สำหรับสารคดีนี้โดยเฉพาะ

ดังนั้น สิ่งที่ทราบอยู่แล้วจะถูก “ตอกย้ำ” เป็นแรงบันดาลใจที่ดี ขณะที่สิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้ก็จะทำให้เรารู้จักคลอปป์ และบางด้าน บางมุม ของทีมมากยิ่งขึ้นได้อีก

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้อง “รีวิว” หรือตัดเกรด เหมือนเสื้อแข่งสโมสรที่ไม่ว่าจะออกแบบมาอย่างไร ยี่ห้อใด เราก็ชอบ และพร้อมจะสนับสนุน แม้ใจจะเห็นอยู่แล้วว่า เสื้อทีมอื่นอาจจะสวยกว่า

แต่เราก็จะซื้อเฉพาะเสื้อลิเวอร์พูล!!

ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นอีกครั้งของการแสดงออกอันเป็น “สัญลักษณ์” ของความเป็นแฟมิลี ความรัก ความผูกพัน ระหว่างสโมสร และแฟน ๆ

ในที่นี้ คือ แฟนบอลชาวไทย แบบที่ทีมอื่น ๆ ไม่มีโอกาสจะได้แสดงตน

สุดท้าย สำหรับคนที่แฟนไม่ดูบอล

นี่คือ “โอกาสเดียว” ที่คุณจะได้จับมือแฟนของคุณนั่งชมเรื่องราวทั้งใน และนอกสนามของทีมโปรดไปด้วยกัน

โดยหากคุณ “โชคดี” เหมือนผม แฟนคุณแม้จะ “ไม่เข้าใจ 100%” แต่เขาจะเปิดรับความรักในรูปแบบนี้ของคุณกับฟุตบอลอย่างแน่นอน

#TheEndOfTheStorm

#ไข่มุกดำ

#สหมงคลฟิล์ม

#KMDReview