Categories
Football Business

ไบรท์ตัน โมเดล เบื้องหลังการบินสูงของเจ้านกนางนวล

ในยุคที่หลายสโมสรต้องดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับกฎการเงินของพรีเมียร์ลีก แต่วันอังคารที่ 2 เมษายน 2024 ที่ผ่านมา “ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน” สามารถประกาศผลกำไรประจำปีก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ลีกสูงสุดของอังกฤษ

ไบรท์ตันได้ประกาศตัวเลขผลกำไรหลังหักภาษีแล้วสำหรับซีซัน 2022-23 เป็นเงิน 122.8 ล้านปอนด์ กระโดดจาก 24.1 ล้านปอนด์สำหรับซีซัน 2021-22 ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้เงินเป็นกอบเป็นกำจากการขายดาวดังของทีมอย่าง อเล็กซิส แมค อัลลิสเตอร์, อีฟส์ บิสซูมา, เลอันโดร ทรอสซาร์ และ มาร์ค กูกูเรยา รวมถึงได้รับเงินจากเชลซีที่ดึงตัวแกรห์ม พอตเตอร์ ไปคุมทีมเมื่อกันยายน 2022

แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมการขาย มอยเซส ไกเซโด และ โรเบิร์ต ซานเชซ ซึ่งย้ายไปเชลซีด้วยค่าตัว 115 และ 25 ล้านปอนด์ตามลำดับในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว เนื่องจากตัวเลขรายได้ถูกบันทึกสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2023

กระนั้นซีซันนี้ “เดอะ ซีกัลส์” ทำผลงานพรีเมียร์ลีกดร็อปลง กำลังลุ้นให้ติดท็อป-10 หลังจากซีซันที่แล้วจบด้วยอันดับ 6 ได้เล่นบอลถ้วยสโมสรยุโรป (ยูโรปา ลีก) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 123 ปีของสโมสร แต่ประเด็นที่นำเสนอไม่ใช่เรื่องในสนาม

โกยกำไรมหาศาลเพราะพอตเตอร์และขายนักเตะ

ทอตแนม ฮอตสเปอร์ เป็นเจ้าสถิติสูงสุดเดิม 113 ล้านปอนด์ ซึ่งทำไว้เมื่อซีซัน 2017-18 โดยแหล่งเงินหลักที่เพิ่มพูนขึ้นของ “เดอะ ลิลลีไวท์ส” มาจากรายได้เชิงพาณิชย์, ค่าเข้าชมนัดเหย้าที่เวมบลีย์ สเตเดียม ขณะที่สนามใหม่กำลังก่อสร้าง และเงินจากแชมเปียนส์ ลีก เมื่อเข้าถึงรอบน็อกเอาท์ แต่ไบรท์ตันมีแหล่งรายได้หลักผ่าต่างกัน

เริ่มจากเงินที่ขายผู้เล่น แมค อัลลิสเตอร์ไปลิเวอร์พูล, บิสซูมาไปสเปอร์ส, ทรอสซาร์ไปอาร์เซนอล และกูกูเรยาไปเชลซี ทั้งสี่สร้างกำไรรวมกันให้ไบรท์ตัน 121.4 ล้านปอนด์ สโมสรยังได้เงินชดเชยราว 21 ล้านปอนด์เมื่อเสียพอตเตอร์ให้ “เดอะ บลูส์” ขณะที่รายรับจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากซีซันก่อนหน้า 126.2 ล้าปอนด์เป็น 155.2 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/articles/c98eg8pq43jo

พอล บาร์เบอร์ ซีอีโอของสโมสร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ESPN ว่า ไบรท์ตันไม่ได้อยู่ในจุดที่จะสร้างรายได้เหมือนทีมใหญ่ๆ สนามเอเมกซ์มีความจุเพียง 32K เทียบกับ 75K ของแมนฯยูไนเต็ด และ 60K ของสเปอร์สกับอาร์เซนอล นั่นทำให้สโมสรต้องมองหาแหล่งรายได้ด้วยรูปแบบอื่นเช่น สปอนเซอร์, การเพิ่มคุณค่าแบรนดิ้ง, จำหน่ายสินค้าที่ระลึก ฯลฯ แต่สิ่งที่ไบรท์ตันให้น้ำหนักเป็นพิเศษคือโมเดล player-trading ด้วยการใช้อะคาเดมีพัฒนานักเตะแววดีมีอนาคตจากท้องถิ่น ผสมผสานกับแหล่งอื่นๆจากต่างประเทศที่ไม่มีสโมสรไหนให้ความสนใจนัก นั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้ “ไบรท์ตันตกปลาในบ่อคนเดียว”

ตัวอย่างเช่น ไบรท์ตันเซ็นสัญญากับแมค อัลลิสเตอร์ เมื่อครั้งเป็นผู้เล่นอาร์เจนติโนส จูเนียร์ส ในปี 2019 ด้วยราคาเพียง 7ล้านปอนด์ แต่ทำกำไร 48 ล้านปอนด์จากการขายให้ลิเวอร์พูลในปี 2023 ด้วยราคา 55 ล้านปอนด์ หรือรายที่ไม่ได้อยู่ในผลประกอบการซีซัน 2022-23 คือ ไกเซโด ซึ่งซื้อจากอินดิเพนเดียนเต เดล วัลเล แค่ 4.5 ล้านปอนด์ในปี 2021 แต่ฟันกำไรเละถึง 110.5 ล้านอีก 2 ปีต่อมาหลังจากเชลซียอมทุ่มเงิน 115 ล้านปอนด์คว้าตัวไป

เจมส์ ออลลีย์ นักข่าวอาวุโสของ ESPN FC ให้ความเห็นว่า ไบรท์ตันดำเนินนโยบายซื้อผู้เล่นอายุน้อยด้วยต้นทุนต่ำ นำมาพัฒนาเป็นเวลาหลายปี และสามารถปล่อยขายในราคาน่าทึ่ง โดยสามารถย้อนกลยุทธ์นี้กลับไปยังปี 2017 เมื่อครั้งเพิ่งขึ้นมาเล่นพรีเมียร์ลีกในฐานะรองแชมป์แชมเปียนชิพ ซีซัน 2016-17 เป็นการคัมแบ็คสู่ลีกสูงสุดนับจากปี 1983

จากเดิมที่เคยเซ็นสัญญากับผู้เล่นอายุมากในอังกฤษเป็นหลัก ไบรท์ตันเปลี่ยนแนวทางไปซื้อนักเตะอายุน้อยลงจากตลาดเกิดใหม่ในต่างประเทศ โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์ Transfermarkt “เดอะ ซีกัลส์” ใช้เงินสุทธิ 171 ล้านปอนด์ขณะพยายามหลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในพรีเมียร์ลีก และปรับเปลี่ยนสไตล์ฟุตบอลไปเน้นการครองบอลมากขึ้นแบบสโมสรชั้นนำยุคใหม่ ซึ่งเห็นอย่างเป็นรูปธรรมช่วงพอตเตอร์ (2019 – 2022) และโรแบร์โต เด แซร์บี (2022 –  ปัจจุบัน) เป็นผู้จัดการทีม

แม้ช่วงแรกดูเหมือนไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีในการสร้างผลกำไรให้ไบรท์ตัน แต่เวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีความชัดเจนแล้วว่าเป็นรูปแบบที่ได้ผล

จุดหักเหเมื่อเซียนโป๊กเกอร์เทคโอเวอร์สโมสร

นอกจากนี้ ออลลีย์ยังส่องลำแสงสปอตไลท์ไปยัง โทนี บลูม เจ้าของสโมสรวัย 54 ปี เจ้าของฉายา “The Lizard” ผู้เกิดในเมืองไบรท์ตัน เป็นเซียนไพ่โป๊กเกอร์ระดับอาชีพที่ผันตัวเองมาเป็นเจ้าพ่อวงการพนัน ซึ่งใช้การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และหุ้นเอกชนส่งตัวเองกลายเป็นมหาเศรษฐี

บลูมซื้อหุ้นไบรท์ตันสูงถึง 75% เมื่อปี 2009 และปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย 406.5 ล้านปอนด์ให้สโมสรนำไปใช้บริหารโดยปีนี้เพิ่งเป็นครั้งแรกที่ไบรท์ตันสามารถจ่ายหนี้คืนให้เจ้าของสโมสรได้ ซึ่งเป็นเงิน 32.2 ล้านปอนด์ ไม่เพียงไม่คิดดอกเบี้ยและไม่กำหนดระยะเวลาใช้หนี้ บลูมยังไม่มีข้อกำหนดเบื้องต้นเกี่ยวกับจำนวนผู้เล่นหรือตัวเลขเงินในการซื้อขายแต่ละตลาด

คีแรน แมคไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการลูกหนัง ให้สัมภาษณ์กับ ESPN ว่า โทนี บลูม เป็นทรัพย์สินก้อนใหญ่ที่สุดของไบรท์ตัน ทุกคนที่เคยทำงานด้วยจะตระหนักดีว่าบลูมมีวิสัยทัศน์มากเพียงใด เขาจึงเป็นคนที่เข้าใจถึงคุณค่าและผลประโยชน์ของการลงทุนระยะยาว “สิ่งสำคัญคือ หนึ่ง บลูมเป็นแฟนบอลของสโมสร และสอง เขาเป็นทั้งอัจฉริยะและมหาเศรษฐี”

บริษัทพนัน/บริการข้อมูลอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

ก่อนหน้าเทคโอเวอร์ “เดอะ ซีกัลส์” บลูมยังก่อตั้ง Starlizard บริษัทรับพนันกีฬาเมื่อปี 2006 ซึ่งเวลาต่อมาได้เติบโตขึ้นมาเป็นฐานข้อมูลขนาดยักษ์ที่บรรจุข้อมูลนักฟุตบอลหลายพันคนทั่วโลก

เดวิด เวียร์ ผู้อำนวยการเทคนิคของไบรท์ตัน พูดถึงสตาร์ลิซาร์ดว่า ตัวเขาไม่รู้ตัวเลขของฐานข้อมูลแน่ชัดแต่เชื่อมั่นมันครอบคลุมนักเตะเกือบทั้งหมดที่เล่นระดับอาชีพในทุกลีกทั่วโลก และเช่นกัน เขาไม่รู้อัลกอรึธึมของสตาร์ลิซาร์ดทำงานอย่างไรในการแยกแยะจัดหมวดหมู่ผู้เล่นเพราะมันเป็นความลับ

เวียร์อธิบายต่อว่า มันเป็นเพียงตัวกรองที่ช่วยให้สโมสรสามารถเห็นตัวผู้เล่นที่มีความสามารถตามต้องการตั้งแต่เนิ่นๆ สิ่งสำคัญคือ output ซึ่งช่วยให้สโมสรสามารถทำงานกับกลุ่มผู้เล่นที่มีจำนวนไม่มากนัก

ขอบคุณภาพจาก  https://www.starlizardintegrity.com/

กลุ่มนักเตะที่ได้รับการคัดเลือกผ่านอัลกอรึธึมของสตาร์ลิซาร์ดไม่ได้เริ่มต้นที่ภูมิศาสตร์แต่เป็นตำแหน่งการเล่น  แมวมองจะได้รับรายชื่อที่ต้องคอยเฝ้าจับตามองและส่งรายงานผลกลับไปยังสโมสร โดยใช้สีไฟสัญญาณจราจรเป็นตัวจำแนกว่าเป้าหมายคนไหนเข้ากับระบบของไบรท์ตันมากน้อยเพียงใด

บาร์เบอร์ ซีอีโอของไบรท์ตัน ขยายความส่วนนี้ว่า โดยภาพรวมทุกอย่างเริ่มต้นจากตำแหน่งการเล่น ไม่ใช่มองหานักเตะแววดีแต่ไม่เป็นที่ต้องการของสโมสร โดยจะโฟกัสนักเตะตามตำแหน่งที่ต้องการจริงๆ แมวมองจะตรวจสอบข้อมูล โปรไฟล์ และบุคลิกภาพส่วนตัว จากนั้นโค้ชจะเป็นผู้เลือก จัดอันดับว่าใครเป็นตัวเลือกแรกและคนสุดท้าย สโมสรจะไม่นำเข้านักเตะที่โค้ชไม่ต้องการหรือมองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะจะเป็นการเสียเงินไปเปล่าๆหากได้มาแล้วไม่ได้เล่นหรือถูกใช้งาน

แต่ก็มีสถานการณ์ที่สโมสรลงทุนเพื่ออนาคต และโค้ชชุดใหญ่ยังไม่ต้องการ ก็สามารถใช้สิทธิ “คัดค้าน” ซึ่งผู้เล่นจะถูกปล่อยยืม 1-2 ปี เมื่อพร้อมกลับมาร่วมทีมชุดใหญ่ ก็มีโอกาสไม่น้อยที่หัวหน้าโค้ชจะให้ความสนใจกับพวกเขา

บาร์เบอร์กล่าวต่อว่า โมเดลของไบรท์ตันคือ ใช้แมวมองจำนวนน้อย แต่เน้นหนักด้านวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุตัวผู้เล่นที่คุณสมบัติเหมาะสมและตรงกับสิ่งที่โค้ชร้องขอมากที่สุด แมวมองต้องพร้อมเดินทางไปทุกที่ที่เป้าหมายเล่นอยู่ และไม่จำเป็นต้องเป็นตลาดยอดนิยมของฟุตบอลสมัยใหม่ก็ได้อย่างอาร์เจนตินา, บราซิล, สเปน หรืออิตาลี เพราะสำหรับไบรท์ตันแล้วอาจเป็นเอกัวดอร์, ปารากวัย, เบลเยียม หรือชาติเล็กๆในลีกยุโรป

แมคไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการลูกหนัง ให้มุมมองว่า รูปแบบการทำงานดังกล่าวทำให้ไบรท์ตันต้องทำงานด้วยความฉลาดขึ้นและทำการบ้านหนักขึ้น อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าฟุตบอลเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันและลอกเลียนแบบสูง สโมสรอื่นๆจะสังเกตเห็นความสำเร็จของไบรทัตัน และพยายามมองหานักเตะแววดีที่ดิบเพื่อนำมาขัดเกลาด้วยโมเดลการทำงานที่เหมือนไบรท์ตัน แถมบ่อยครั้งสโมสรเหล่านั้นอยู่ในฐานะที่จะเสนอค่าจ้างที่สูงกว่า แม้ไม่สามารถนำเสนอเส้นทางพัฒนาฝีเท้าในแบบที่ไบรท์ตันมีก็ตาม

Succession planning ยืดเวลาความสำเร็จของไบรท์ตันโมเดล

อย่างไรก็ตาม สโมสรฟุตบอลไม่ใช่บริษัทเอกชนที่แสวงหาผลกำไรจากการซื้อมาขายไป แต่ความสำเร็จและความบันเทิงที่มอบให้กับแฟนบอลมีความสำคัญไม่แพ้กัน แล้วไบรท์ตันมีแนวคิดอย่างไรที่จะรักษามาตรฐานฟอร์มการเล่นบนสนามแข่งขันได้หลังจากเสียผู้เล่นสำคัญคนแล้วคนเล่า

ซีอีโอสโมสรเป็นผู้ให้คำตอบนี้ว่า “การวางแผนสืบทอดตำแหน่ง” (Succession planning) เป็นกุญแจดอกสำคัญ

บาร์เบอร์ล่าว่า บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว เขามีเอกสารเพียงฉบับเดียว ซึ่งบรรจุรายชื่อของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตำแหน่งสำคัญๆในสโมสร เจ้าของสโมสรเคยบอกว่า การแต่งตั้งตำแหน่งหรือการตัดสินใจครั้งสำคัญของเขามีเพียงเรื่องเดียวคือ ไล่หัวหน้าโค้ชออก ซึ่งเขาจะเป็นคนรับผิดชอบเอง “ส่วนอีก 25 ตำแหน่งรองลงมาอยู่ในความรับผิดชอบของผม”

ไบรท์ตันใช้การวางแผนสืบทอดตำแหน่งกับผู้เล่นด้วย บาร์เบอร์ขยายความว่า มีการจัดทำแผนผังนักเตะชุดใหญ่ 25 คน และมีนักเตะชุด ยู-21 อยู่ข้างล่าง ถ้าเสียกูกูเรายา แล้วใครจะมาแทน … เปร์บิส เอสตูปิญญัน, ถ้าเสียทรอสซาร์ ทีมมีคาโอรุ มิโตมะ รองรับ ถ้าเสียบอสซูมา ทีมมีไกเซโด ถ้าเสียไกเซโด ทีมมีคาร์ลอส บาเลบา

Succession planning เป็นแนวคิดที่ไบรท์ตันกระจายใช้ทุกภาคส่วนของสโมสร ซึ่งซีอีโอ “เดอะ ซีกัลส์” มองว่ามันไม่ได้สลับซับซ้อนยุ่งยากเหมือนแผนการสร้างจรวด แล้วก็ไม่ได้เลอเลิศถึงขั้นได้รับรางวัลโนเบล มันเป็นเพียงแผนทางธุรกิจธรรมดาๆ องค์กรหรือหน่วยงานดีๆนอกวงการฟุตบอลต่างใช้มัน แต่พอกับแวดวงฟุตบอล กลับไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา ซึ่งบาร์เบอร์ยอมรับว่าเขาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร

แมคไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการลูกหนัง ให้ทรรรศนะถึงความต่อเนื่องของทีมฟุตบอลหลังสูญเสียผู้เล่นดีๆไป โมเดลของไบรท์ตันก็เป็นการกระทำซ้ำแนวทางของสโมสรอื่นๆเช่นกัน อย่างเช่นเซาแธมป์ตันเมื่อ 1 ทศวรรษที่แล้ว ทีมนักบุญมีแกเรธ เบล, อดัม ลัลลานา, เวอร์จิล ฟาน ไดค์ และคนอื่นๆ ซึ่งย้ายไปเล่นให้ทีมอื่น 

แต่เซาแธมป์ตันปล่อยนักเตะพรสวรรค์ออกไปแล้วไม่สามารถแทนที่ด้วยนักเตะระดับเดียวกันภายในช่วงเวลาหนึ่ง ในที่สุด “เดอะ เซนต์ส” ก็ต้องตกชั้นในปี 2023 อย่างไรก็ตามแมคไกวร์มองว่า สิ่งที่ไบรท์ตันแตกต่างจากเซาแธมป์ตันคือ โทนี บลูม และประโยนชน์ที่ได้รับจากสตาร์ลิซาร์ด ซึ่งเป็นบริการภายในของสโมสร หากรูปแบบนี้ยังดำเนินต่อไป อาจทำให้ไบรท์ตันได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว ถึงกระนั้นไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้จะไม่มีจุดสิ้นสุด

ผลกระทบหลังเสียแมค อัลลิสเตอร์และไกเซโด

เวลาจะเป็นตัวเฉลบคำตอบ เช่นเดียวกับไบรท์ตันตัดสินใจขายแมค อัลลิสเตอร์ และไกเซโดออกไปเมื่อฤดูร้อน 2023 ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลย มันทำให้ทีมของเด แซร์บี อ่อนแอลง ไม่สามารถซ้ำรอยความสำเร็จในฤดูกาล 2022-23 ได้ ผลงานเป็นตัวชี้ชัด

บาร์เบอร์ให้เหตุผลถึงเรื่องนี้ว่า “การขาย ณ เวลาที่เหมาะสมต้องอาศัยความกล้าหาญระดับหนึ่ง บางครั้งมันก็ง่าย ซัมเมอร์ที่แล้วเป็นตัวอย่างที่ดี ไกเซโดและแมค อัลลิสเตอร์ เป็นผู้เล่นสำคัญที่ช่วยให้ไบรท์ตันจบอันดับ 6 และผ่านเข้าไปเล่นยูโรปา ลีก นั่นส่งให้มูลค่าของนักเตะ ณ เวลานั้นพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ความสนใจจากทีมอื่นๆก็เช่นกัน ดังนั้นเราจึงตัดสินใจกระทำการลงไป”

มองไปยังซัมเมอร์ปีนี้ บิ๊กทีมกำลังให้ความสนใจผลผลิตของไบรท์ตันอย่างกองหน้า อีวาน เฟอร์กูสัน และกองกลาง บาเลบา ซึ่งอย่างน้อยก็มีจำนวนเพียง 2 คน ขณะที่เด แซร์บี ตกเป็นข่าวเชื่อมโยงกับบาเยิร์นและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รวมถึงเป็นบุคคลหนึ่งที่อาจคุมทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี ต่อจากเป๊ป กวาร์ดิโอลา แต่กระนั้น “เดอะ ซีกัลส์” ยังมั่นใจว่าโค้ชมือดีชาวอิตาเลียนยังจะทำงานให้สโมสรต่ออีกระยะหนึ่ง ซีซันหน้าเป็นอย่างน้อย

ขณะเดียวกัน อะคาเดมีพยายามรักษามาตรฐานการทำงานในการส่งต่อความหวังอย่างเฟอร์กูสัน, กองหลัง แจค ฮินเชลวูด, กองหน้า มาร์ก มาโฮนีย์, กองกลาง คาเมรอน พีปิออน และกองหลัง โอเดลูกา ออฟฟิอาห์ ซึ่งล้วนแต่ได้รับการโปรโมทขึ้นไปเล่นให้ทีมซีเนียร์แล้ว รวมถึงเบน ไวท์ อดีตผลผลิตของไบรท์ตัน เป็นกำลังสำคัญของอาร์เซนอลตอนนี้

เวียร์ ผู้อำนวยการเทคนิคของไบรท์ตัน ให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายว่า “ทีมชุดใหญ่พัฒนาตัวอย่างไปอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นอะคาเดมีจะต้องไล่ตามรุ่นพี่ๆให้ทัน การดูแลช่องว่างระหว่างทั้งสองถือเป็นงานท้าทาย  เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกที่วิเศษเหลือเชื่อ เราต่างลงเรือลำเดียวกัน และเปี่ยมด้วยความทะเยอะทะยานสู่สิ่งนั้นไ นั่นทำให้ผมเชื่อว่า บางสิ่งจะเกิดขึ้นในที่สุดผ่านกระบวนการออสโมซิส

หมายเหตุ : ออสโมซิส (osmosis) เป็นกระบวนการแพร่โมเลกุลของเหลวหรือน้ำผ่านเยื่อเลือกผ่าน จากบริเวณที่มีความเข้มข้นของน้ำมาก ไปยังบริเวณที่มีความเข้มข้นของน้ำน้อย และกระจายไปจนกว่าโมเลกุลของน้ำจะเท่ากัน ออสโมซิสก่อให้เกิดพลังงาน และสามารถสร้างแรงได้

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Football Business

เปิดแหล่งขุมทรัพย์ 24 เจ้าของทีมลีกแชมเปี้ยนชิพ 2023/24

  • สัญชาติของเจ้าของทีม มาจาก 12 สัญชาติ อังกฤษมีจำนวนมากที่สุด 9 ทีม ตามด้วยสหรัฐอเมริกา 7 ทีม
  • ประเภทการถือหุ้น ทีมที่เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว และทีมที่เป็นเจ้าของร่วม (แบ่งเปอร์เซ็นต์การถือหุ้น) มีอย่างละ 12 ทีม
  • ในซีซั่นปัจจุบัน มี 5 ทีมที่ไม่เคยสัมผัสเวทีพรีเมียร์ลีก คือ บริสตอล ซิตี้, มิลล์วอลล์, พลีมัธ, เปรสตัน และร็อตเตอร์แฮม

เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ลีกระดับที่ 2 ของระบบพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ แม้ระดับการแข่งขันจะเป็นรายการรองจากพรีเมียร์ลีก แต่นี่คือลีกลูกหนังที่สู้กันอย่างเข้มข้น และไม่สามารถคาดเดาผลการแข่งขันได้เลย

การขึ้นสู่จุดสุงสุดของพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ คือสิ่งที่หลายๆ ทีม ต้องการจะเอื้อมให้ถึง แต่การจะไปถึงเป้าหมายนั้น ต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจของทุกคนในสโมสร รวมถึงทุนทรัพย์ที่เจ้าของสโมสรได้ลงทุนไป

เมื่อพูดถึงการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในลีกแชมเปี้ยนชิพ มีแนวโน้มไปในทางเดียวกับพรีเมียร์ลีก กล่าวคือนักธุรกิจท้องถิ่น ถูกแทนที่ด้วยนายทุนจากต่างชาติมากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา, มาเลเซีย, ไทย เป็นต้น

มีบางสโมสร ที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องเงินทุนที่มีไม่อั้น ซึ่งมากกว่าเจ้าของสโมสรหลายสโมสรในพรีเมียร์ลีกด้วยซ้ำ และยินดีที่จะจ่ายเงินก้อนโตต่อเนื่องทุกปี เพื่อแลกกับผลตอบแทนมหาศาลจากการได้เลื่อนชั้น

แหล่งเงินทุนของเจ้าของทีมลูกหนัง ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ซึ่งหลายๆ คน อาจยังไม่เคยรู้มาก่อน และต่อไปนี้คือเบื้องหลังขุมทรัพย์ของทั้ง 24 สโมสร ในการแข่งขันลีกรองเมืองผู้ดี ฤดูกาล 2023/24

เบอร์มิงแฮม ซิตี้ – บริษัทด้านการลงทุน

ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ในปัจจุบัน คือ Birmingham Sports Holdings ที่เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรต่อจากคาร์สัน หยาง นักธุรกิจชาวฮ่องกง ที่ถูกศาลตัดสินให้มีความผิดในคดีฟอกเงิน จนต้องยุติบทบาทการเป็นเจ้าของทีม

ในเวลาต่อมา ทอม วากเนอร์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้ง Shelby Companies Limited เข้ามาซื้อหุ้นเป็นจำนวน 45.6 เปอร์เซนต์ ได้สิทธิ์บริหารสโมสรอย่างเต็มรูปแบบ และมีทอม เบรดี้ ยอดตำนานควอเตอร์แบ็ก NFL เป็นหุ้นส่วนด้วย

วากเนอร์ เคยทำงานที่ Goldman Sachs ธนาคารชื่อดังระดับโลก ก่อนจะมาก่อตั้ง Shelby Companies Limited ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Knighthead Capital Management ทำธุรกิจด้านการลงทุน และดูแลสินทรัพย์ของเบอร์มิงแฮม ซิตี้

ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ “เดอะ บูลส์” เพิ่งแต่งตั้งเวย์น รูนีย์ อดีตตำนานดาวยิงพรีเมียร์ลีก และทีมชาติอังกฤษ เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ เพื่อเป้าหมายพาทีมกลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลหน้าทันที หลังจากห่างหายไปนานถึง 13 ปี

แบล็กเบิร์น โรเวอร์ส – ฟาร์มเลี้ยงไก่ และวัคซีนสำหรับไก่

อดีตแชมป์พรีเมียร์ลีก เมื่อซีซั่น 1994/95 ปัจจุบันบริหารงานโดย Venkateshwara Hatcheries Groupของตระกูลราโอ จากอินเดีย เข้ามาซื้อกิจการของแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ต่อจากครอบครัวของแจ็ค วอล์คเกอร์ เมื่อปี 2010

แหล่งเงินทุนของราโอ แฟมิลี่ มาจากธุรกิจค้าไก่, อาหารแปรรูปจากไก่ รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคในไก่ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย มีการขยายกิจการไปในหลายๆ ทวีปทั่วโลก อีกทั้งยังมีรายได้เพิ่มเติมจากการทำธุรกิจผลิตเครื่องจักรอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การบริหารสโมสรของครอบครัวราโอ สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนบอลแบล็คเบิร์นเป็นอย่างมาก ถึงขั้นสร้างตำนานด้วยการขว้างไก่สดลงมาในสนามเพื่อประท้วงเจ้าของทีม ในเกมที่พบกับวีแกน เมื่อปี 2012

หลังตกชั้นจากลีกสูงสุดเมื่อฤดูกาล 2011/12 “เดอะ ริเวอไซเดอร์ส” ไม่เคยกลับมาอยู่บนยอดพีระมิดอีกเลย แม้กระทั่งเพลย์ออฟเพื่อลุ้นเลื่อนชั้น พวกเขาก็ไม่เคยสัมผัสแม้แต่ครั้งเดียว แถมเคยลงลึกไปสู่ลีกดิวิชั่น 3 เมื่อ 6 ปีก่อน

บริสตอล ซิตี้ – บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน

เจ้าของทีมบริสตอล ซิตี้ คนปัจจุบันคือ สตีเฟ่น แลนสดาวน์ นักธุรกิจชาวเมืองบริสตอล และผู้บริหาร Hargreaves Lansdown เข้ามาเทคโอเวอร์เมื่อปี 2007 และจอน แลนสดาวน์ ลูกชายของเขา ดำรงตำแหน่งประธานสโมสร

ในเดือนเมษายน 2009 สตีเฟ่นขายหุ้น 4.7 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท Hargreaves Lansdown เพื่อเป็นทุนในการสร้างสนามใหม่ของ “เดอะ โรบินส์” ชื่อว่า Ashton Gate ปัจจุบันนี้เขาอาศัยอยู่ในเกิร์นซีย์ ในหมู่เกาะแชนแนลส์ 

แหล่งทำเงินของครอบครัวแลนสดาวน์ มาจากการก่อตั้ง Hargreaves Lansdown บริษัทการจัดการกองทุนและการวางแผนภาษี เมื่อปี 1981 ก่อนที่สตีเฟ่นจะลาออกในปี 2012 เพื่อมาเปิดบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ

สตีเฟ่น แลนสดาวน์ เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีไม่กี่คนในลีกแชมเปี้ยนชิพ จากการจัดอันดับของ Sunday Times Rich List ระบุว่าเขาร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 152 ของสหราชอาณาจักร โดยมีสินทรัพย์สุทธิ 1.18 พันล้านปอนด์

คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ – เจ้าของแฟรนไชส์, อสังหาริมทรัพย์, โรงแรม และโทรคมนาคม

เมื่อปี 2010 วินเซนต์ ตัน มหาเศรษฐีขาวมาเลเซีย ในนามของ Berjaya Group ได้เข้าซื้อหุ้นของคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ เป็นจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นค่อยๆ ซื้อหุ้นจากรายย่อย จนถึง 51 เปอร์เซ็นต์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของสโมสร

เงินทุนของวินเซนต์ ตัน มีที่มาจากการเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งแมคโดนัลด์, สตาร์บักส์, เซเว่น อีเลฟเว่น และร้านหนังสือในมาเลเซีย อีกทั้งก่อตั้งบริษัท Berjaya Corporation เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์, โรงแรม และโทรคมนาคม

นอกจากลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ด และบริษัทโฮลดิ้งแล้ว วินเซนต์ ตัน ยังเป็นเจ้าของเอฟเค ซาราเยโว สโมสรฟุตบอลในลีกสูงสุดของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา รวมถึงลอส แอนเจลิส เอฟซี ในเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ของสหรัฐอเมริกา

ในยุคที่วินเซนต์ ตัน เป็นเจ้าของทีม “เดอะ บลูเบิร์ดส์” เคยได้ขึ้นไปอยู่ในพรีเมียร์ลีกแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือฤดูกาล 2013/14 และ 2018/19 ขณะที่เมื่อฤดูกาลที่แล้ว พวกเขาจบในอันดับที่ 21 รอดพ้นการตกชั้นสู่ลีก วัน อย่างหวุดหวิด

โคเวนทรี ซิตี้ – น้ำมันพืช และอาหารสัตว์

เมื่อเดือนมกราคม 2023 ที่ผ่านมา โคเวนทรี ซิตี้ ได้เจ้าของทีมรายใหม่ หลังจากดั๊ก คิง นักธุรกิจชาวอังกฤษ เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรต่อจากกองทุนเอสไอเอสยู (SISU) ที่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากแฟนบอลของสโมสร

แหล่งทำเงินของคิง มาจาก Yelo Enterprises ที่เขาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตรในอังกฤษ มีผลิตภัณฑ์หลักคือน้ำมันพืชจากเรพซีด (คาโนลา) รวมถึงอาหารสัตว์

ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา โคเวนทรีประสบปัญหาเรื่องสนามเหย้าบ่อยครั้ง เนื่องจากมีข้อพิพาททางกฎหมายกับเจ้าของสนาม รวมถึงถูกใช้จัดแข่งรักบี้คอมมอนเวลธ์ เกมส์ จึงต้องย้ายไปเล่นที่นอร์ทแธมป์ตัน และเบอร์มิงแฮม

สำหรับ “เดอะ สกายบลูส์” เป็นหนึ่งในสโมสรผู้ร่วมก่อตั้งพรีเมียร์ลีก ก่อนที่จะตกชั้นในซีซั่น 2000/01 โดยเมื่อซีซั่นที่แล้ว พวกเขาเกือบคัมแบ็กสู่ลีกสูงสุด แต่พ่ายให้กับลูตัน ทาวน์ ในเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

ฮัดเดอร์ฟิสด์ ทาวน์ – สุขภาพและเวชกรรม, บริษัทร่วมลงทุน และทีมกีฬา

ฮัดเดอร์ฟิสด์ ทาวน์ คือทีมล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสร หลังจากเควิน นาเกิล นักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาเทคโอเวอร์ต่อจากดีน ฮอยล์ นักธุรกิจชาวอังกฤษ เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา

แหล่งทำเงินของนาเกิล มาจากธุรกิจด้านดูแลสุขภาพและเวชกรรม โดยเริ่มจากการก่อตั้ง HMN Health Services เมื่อปี 1999 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา จะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Envision Pharmaceutical Holdings

นอกจากนี้ นาเกิลยังก่อตั้งบริษัทร่วมลงทุนในธุรกิจสุขภาพและอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง เช่น The Nagle Company, Moneta Ventures และ Jaguar Ventures อีกทั้งยังเป็นเจ้าของ Sacramento Republic FCทีมฟุตบอลในลีกรองของอเมริกา

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของ “เดอะ เทอร์ริเออส์” คือการได้เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2017/18 แต่ตกชั้นในฤดูกาลต่อมา ซึ่งแฟนๆ ของสโมสรต่างคาดหวังถึงยุคสมัยของนาเกิล ในการพาทีมคัมแบ็กสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

ฮัลล์ ซิตี้ – สื่อโทรทัศน์ และสตรีมมิ่ง

หลังจากอาสเซ็ม อัลลาม มหาเศรษฐีชาวอียิปต์ เสียชีวิตเมื่อเดือนธันวาคม 2022 และครอบครัวของอัลลามตัดสินใจไม่ไปต่อ ฮาคาน อิลคาลี่ เจ้าพ่อธุรกิจทีวีจากตุรกี ได้กลายเป็นเจ้าของทีมรายใหม่ของฮัลล์ ซิตี้

อิลคาลี่ สร้างรายได้จากสื่อโทรทัศน์ในตุรกี ผู้เป็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังรายการดัง เช่น Deal or No Deal, Fear Factor, Survivor และ MasterChef นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของฟรีทีวีช่อง TV8 และ Exxenบริษัทผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง

นอกจากนี้ อิลคาลี่เป็นผู้ถือหุ้นของฟอร์ทูน่า ซิททาร์ด สโมสรฟุตบอลในเนเธอร์แลนด์ และล่าสุดได้เข้าไปซื้อหุ้นของเชลบอร์น ทีมลูกหนังในไอร์แลนด์ ที่มีเดเมียน ดัฟฟ์ อดีตปีกชื่อดังของพรีเมียร์ลีก เป็นผู้จัดการทีม

หนล่าสุดที่ “เดอะ ไทเกอร์ส” อยู่ในพรีเมียร์ลีก คือฤดูกาล 2016/17 แถมเคยร่วงลงไปไกลถึงระดับดิวิชั่น 3 เมื่อซีซั่น 2020/21 การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในครั้งนี้ จะทำให้แฟนบอลของสโมสรมีความหวังมากขึ้น

อิปสวิช ทาวน์ – กองทุนบำเหน็จบำนาญ

แบรตต์ จอห์นสัน, เบิร์ก บาร์เคย์ และมาร์ค เดตเมอร์ บอร์ดบริหารของ Phoenix Rising ทีมฟุตบอลในลีกรองของอเมริกา ได้เข้ามาเทคโอเวอร์อิปสวิช ทาวน์ ต่อจากมาร์คัส อีแวนส์ นักธุรกิจชาวอังกฤษ เมื่อเดือนเมษายน 2021

แหล่งเงินทุนที่มาเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับสโมสร คือ Gamechanger 2020 กลุ่มการลงทุนจากรัฐโอไฮโอ ซึ่งดูแลกองทุนบำเหน็จบำนาญรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มจากซื้อหุ้นบางส่วน ก่อนที่จะเป็นเจ้าของทีมแบบเด็ดขาด

ผลงานดีที่สุดในยุคพรีเมียร์ลีกของอิปสวิช ทาวน์ คือการจบในอันดับที่ 5 เมื่อฤดูกาล 2000/01 แต่ฤดูกาลถัดมาทรุดลงแบบไม่น่าเชื่อ ตกชั้นหลังจบในอันดับที่ 18 และจนถึงเวลานี้ก็ไม่เคยกลับคืนสู่ยอดพีระมิดอีกเลย

อย่างไรก็ตาม หาก “เดอะ แทร็กเตอร์ บอยส์” ภายใต้การคุมทีมของคีแรน แม็คเคนน่า กุนซือผู้พาทีมจบอันดับที่ 2 ในลีกวัน เมื่อซีซั่นที่แล้ว มีความสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสที่จะยุติช่วงเวลาที่ห่างหายจากลีกสูงสุดในซีซั่นนี้

ลีดส์ ยูไนเต็ด – บริษัทด้านการลงทุน และทีมกีฬา

มาเรีย เดนิเซ่ เดบาร์โตโล่ ยอร์ค นักธุรกิจสุภาพสตรีขาวอเมริกัน ในนามของกลุ่ม 49ers Enterprises บรรลุดีลซื้อกิจการของลีดส์ ยูไนเต็ด จากอันเดรีย ราดริซซานี่ เจ้าสัวชาวอิตาลี เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา

เมื่อปี 2018 49ers Enterprises เข้ามาซื้อหุ้นลีดส์จำนวน 15 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ในปี 2021 จะเพื่มสัดส่วนเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่ราดริซซานี่ตกลงขายหุ้นทั้งหมดที่เหลือ และกลายเป็นเจ้าของสโมสรรายใหม่ในที่สุด

แหล่งเงินทุนของ 49ers Enterprises มาจากการก่อตั้ง DeBartolo Corporation บริษัทที่ลงทุนในกิจการที่ไม่ใช่กีฬา และเป็นเจ้าของซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนน์เนอร์ส ทีมดังในศึกอเมริกันฟุตบอล (NFL) ของสหรัฐอเมริกา

ในฤดูกาล 2020/21 “เดอะ พีค็อกส์” ได้รีเทิร์นสู่พรีเมียร์ลีกอีกครั้ง หลังห่างหายไป 16 ปี แต่อยู่ได้เพียง 3 ฤดูกาล ก็กระเด็นตกชั้นแบบน่าผิดหวัง ทำให้ในฤดูกาลนี้ พวกเขาหวังที่จะแก้ตัวเพื่อกลับมาอยู่ในลีกสูงสุดให้ได้

เลสเตอร์ ซิตี้ – สินค้าดิวตี้ ฟรี

วิชัย ศรีวัฒนประภา และครอบครัว ในนามของกลุ่มบริษัท King Power ประเทศไทย เข้ามาซื้อกิจการของเลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2010 ต่อจากมิลาน แมนดาริช มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย ด้วยมูลค่า 39 ล้านปอนด์

แหล่งรายได้หลักของตระกูลศรีวัฒนประภา มาจากสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน (Duty Free) นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในภาคส่วนอื่นๆ เช่น โรงแรม, การบิน และยังเป็นเจ้าของสโมสร OH Leuven ในลีกสูงสุดของเบลเยียม

ภายใต้การบริหารงานของครอบครัวนักธุรกิจชาวไทย ได้สร้างตำนานเทพนิยายคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบช็อกโลก เมื่อปี 2016 แต่อีก 2 ปีต่อมา วิชัยเสียชีวิตจากเหตุโศกนาฏกรรมเฮลิคอปเตอร์ตกนอกสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม

ในเวลาต่อมา อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายของวิชัย ก็ได้สานต่องานของคุณพ่อ และสร้างความสำเร็จเพิ่มเติมจากการคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ เมื่อปี 2021 ส่วนในซีซั่นปัจจุบัน “เดอะ ฟ็อกซ์” ตั้งเป้ากลับคืนสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง

มิดเดิลสโบรช์ – ขนส่งของเหลว, ก๊าซ, ผงแป้ง และโรงแรม

สตีฟ กิ๊บสัน เจ้าสัวชาวอังกฤษ ได้เข้ามาเป็นบอร์ดบริหารของมิดเดิลสโบรช์ สโมสรในบ้านเกิดตั้งแต่ปี 1986 พร้อมกับการซื้อหุ้นส่วนน้อย จากนั้นในปี 1994 เพิ่มสัดส่วนเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นเจ้าของทีมรายใหม่ในที่สุด

กิ๊บสัน ติดอยู่ใน 500 อันดับแรกนักธุรกิจรวยที่สุดของ Sunday Times Rich List เขาทำเงินจากการก่อตั้งบริษัท Bulkhaul Limited เมื่อปี 1981 ขนส่งของเหลว, ก๊าซ รวมถึงผงแป้ง และเป็นเจ้าของโรงแรม Rockliffe Hall

ในฤดูกาล 2008/09 มิดเดิลสโบรช์ถูกหยุดสถิติสถานะทีมระดับพรีเมียร์ลีกไว้ที่ 11 ฤดูกาลติดต่อกัน หลังจากนั้นพวกเขากลับขึ้นมายอดพีระมิดลีกเมืองผู้ดีได้แค่ครั้งเดียว จาก 15 ฤดูกาลหลังสุด ในซีซั่น 2016/17

ส่วนเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ไมเคิล คาร์ริก เข้ามาคุมทีม “เดอะ โบโร่” ช่วงปลายเดือนตุลาคม ไต่จากท้ายตาราง ขึ้นมาจบในอันดับที่ 4 คว้าสิทธิ์ลุ้นเลื่อนชั้น ก่อนจะแพ้โคเวนทรี ในเกมเพลย์ออฟ รอบรองชนะเลิศ

มิลล์วอลล์ – การลงทุนในหุ้นนอกตลาด

จอห์น เบริลสัน มหาเศรษฐีจากสหรัฐอเมริกา ในนามของ Chestnut Hill Ventures ร่วมกับริชาร์ด สมิธ ลูกเขยของเขา เข้ามาเทคโอเวอร์มิลล์วอลล์ ในปี 2007 และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 93 เปอร์เซ็นต์

สำหรับ Chestnut Hill Ventures แหล่งทำเงินของเบริลสัน เป็นบริษัทร่วมลงทุนสัญชาติอเมริกัน มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มุ่งเน้นลงทุนในหุ้นที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ เช่น การเงิน, สื่อ และโทรคมนาคม

เบริลสัน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2023 ด้วยวัย 70 ปี และทายาทของครอบครัวเบริลสัน ได้เข้ามาสานต่อการบริหาร “เดอะ ไลออนส์” แต่ก็ไม่ปิดโอกาสที่จะขายสโมสรให้กับนักลงทุนที่สนใจ

ตลอด 16 ปีของเบริลสัน แฟมิลี่ ในการเป็นเจ้าของสโมสร ผลงานของทีมสิงโตแห่งลอนดอน ขึ้น-ลงระหว่างเดอะ แชมเปี้ยนชิพ กับลีก วัน สลับกันเป็นช่วงๆ ส่วนการแข่งขันเมื่อฤดูกาลที่แล้ว จบในอันดับที่ 8 ของตาราง

นอริช ซิตี้ – หนังสือตำราอาหาร

ผู้ถือหุ้นหลักของนอริช ซิตี้ในปัจจุบัน ประกอบด้วยคู่สามี-ภรรยาอย่างไมเคิล วินน์-โจนส์ กับเดเลีย สมิธ มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 53 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมาร์ค แอตตานาสโอ นักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่ซื้อหุ้น 18 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2022

วินน์-โจนส์ ได้นำประสบการณ์ในการเป็นเชฟทางโทรทัศน์ของสมิธ มาเขียน ตีพิมพ์ และจำหน่ายหนังสือสอนทำอาหาร ที่ขายดีเป็นเวลากว่า 20 ปี ขณะที่แอตตานาสโอ เป็นเจ้าของทีม Milwaukee Brewers ในเมเจอร์ลีกเบสบอล

นอริช คือหนึ่งในสโมสรผู้ก่อตั้งพรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาล 1992/93 ก่อนตกชั้นรอบแรกในอีก 3 ปีต่อมา หลังจากนั้นพวกเขาก็ใช้ชีวิตอยู่ในลีกรองเสียเป็นส่วนใหญ่ และเคยตกต่ำถึงขั้นลงไปอยู่ในลีก วัน เมื่อฤดูกาล 2009/10 

ถ้านับเฉพาะ 5 ฤดูกาลหลังสุด “เดอะ คานารีส์” ขึ้นลงระหว่างพรีเมียร์ลีก กับลีกแชมเปี้ยนชิพ สลับกันไป ส่วนผลงานฤดูกาลที่แล้ว จบแค่อันดับที่ 13 ถ้าจะหวังลุ้นเลื่อนชั้นในซีซั่นนี้ คงต้องพยายามให้มากขึ้นกว่าเดิม

พลีมัธ อาร์ไกล์ – บริษัทการจัดการกองทุน

เมื่อปี 2019 ไซม่อน ฮัลเลียตต์ ได้สิทธิ์ในการบริหารสโมสรพลีมัธ อาร์ไกล์ หลังเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 97 เปอร์เซ็นต์ ก่อนขายหุ้น 20 เปอร์เซนต์ให้ Argyle Green LLC บริษัทการจัดการกองทุนของอเมริกา เมื่อปี 2020

สำหรับกลุ่ม Argyle Green LLC มีไมเคิล มินค์เบิร์ก เป็นผู้จัดการกองทุน นอกจากนี้ยังมีจอน เฮิร์สท์ ผู้บริหารลีกบาสเกตบอล NBA รวมถึงวิคเตอร์ เฮดแมน อดีตนักกีฬาฮอกกี้ NHL ของอเมริกา ดีกรีแชมป์ออล สตาร์ 4 สมัย

ฮัลเลียตต์ เป็นขาวเมืองพลีมัธโดยกำเนิด แต่ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุยังน้อย และสร้างรายได้จากการก่อตั้ง Harding Loevner บริษัทการจัดการกองทุนในรัฐนิวเจอร์ซีย์ จนได้รับสัญชาติอเมริกัน

ผลงานของ “เดอะ พิลกริมส์” เมื่อฤดูกาลที่แล้ว คว้าแชมป์ลีก วัน ด้วยคะแนนทะลุ 100 แต้ม ได้กลับสู่ลีกแชมเปี้ยนชิพเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี แต่ยังต้องรอเวลาสั่งสมความแข็งแกร่งก่อนลุ้นขึ้นพรีเมียร์ลีกในอนาคตต่อไป

เปรสตัน นอร์ทเอนด์ – ที่ดินเชิงพาณิชย์, ผับ และโรงแรม

เทรเวอร์ เฮมมิ่งส์ นักธุรกิจที่เกิดในกรุงลอนดอน แต่ไปเติบโตที่แลงคาเชียร์ ได้ซื้อกิจการของเปรสตัน นอร์ทเอนด์ ในปี 2010 ก่อนที่จะเสียชีวิตในวัย 86 ปี เมื่อปี 2021 ปัจจุบันนี้ เคร็ก ลูกชายของเขาเข้ามาบริหารงานแทน

แหล่งความมั่งคั่งหลักของครอบครัวเฮมมิ่งส์ มาจาก Northern Trust บริษัททำธุรกิจที่ดินเชิงพาณิชย์ พื้นที่กว่า 5,000 เอเคอร์ ทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งในปัจจุบันมีร้านค้า และสำนักงานมาเช่าพื้นที่แล้วกว่า 183 เอเคอร์

นอกจากนี้ Northern Trust ยังได้เข้าไปลงทุนใน Trust Inns บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสถานบันเทิง ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยแห่งในสหราชอาณาจักร และ Classic Lodges บริษัทที่ทำธุรกิจโรงแรม มีทั้งหมด 12สาขา ทั่วยูเค 

ในศตวรรษที่ 21 (นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา) “เดอะ ลิลลี่ไวส์” เคยเข้าชิงชนะเลิศ เกมเพลย์ออฟลุ้นเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 2 ครั้ง และจบลงด้วยความผิดหวังทั้งหมด ซึ่งพวกเขาก็หวังที่จะปลดล็อกให้ได้ในซีซั่นนี้

ควีนส์พาร์ค เรนเจอร์ส – บริษัทผลิตเหล็ก, ขนส่ง และบริษัทโฮลดิ้ง

ผู้ถือหุ้นหลักของควีนส์พาร์ค เรนเจอร์สในปัจจุบัน คือรูเบน เกนานาลิงแกม เจ้าสัวชาวมาเลเซีย และลาคซมี มิททาล มหาเศรษฐีชาวอินเดีย ซึ่งนำอามิต พาเทีย ลูกเขยของมิททาล เข้ามาเป็นประธานสโมสรตั้งแต่ปี 2018

เกนานาลิงแกม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของควีนส์พาร์ค สร้างรายได้จากธุรกิจในมาเลเซีย ทั้ง Westports Malaysia บริษัทที่ทำธุรกิจท่าเรือขนส่งสินค้ารายใหญ่ และ Total Soccer Growth บริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนด้านกีฬา

ขณะที่มิททาล ทำรายได้จากการก่อตั้ง ArcelorMittal บริษัทผลิตเหล็กในประเทศลักเซมเบิร์ก และเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 1.6 หมื่นล้านปอนด์ รวยสุดเป็นอันดับที่ 6 จากการจัดอันดับของ Sunday Times Rich List

แต่ความมั่งคั่งของเกนานาลิงแกม และมิททาล ไม่อาจช่วยให้ “คิวพีอาร์” กลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกได้เลย นับตั้งแต่ตกชั้นเมื่อซีซั่น 2014/15 สมัยที่โทนี่ เฟอร์นานเดส ผู้ก่อตั้งสายการบิน AirAsia ยังเป็นเจ้าของสโมสร

ร็อตเตอร์แฮม ยูไนเต็ด – อุปกรณ์ให้แสงสว่าง

เมื่อปี 2008 โทนี่ สจ๊วต และโจน สจ๊วต นักธุรกิจชาวอังกฤษ ได้ช่วยให้ร็อตเตอร์แฮม ยูไนเต็ด หลุดพ้นจากการถูกควบคุมกิจการ ด้วยการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร พร้อมกับถือหุ้นจำนวน 49 และ 46 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

โทนี่ สจ๊วต เริ่มต้นจากการเป็นช่างไฟฟ้าฝึกหัด ก่อนจะสร้างรายได้จากการก่อตั้ง ASD Lighting บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ให้แสงสว่างในเมืองร็อตเตอร์แฮม มีผลิตภัณฑ์หลักคือ หลอดไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้าน, สำนักงาน และถนน

ในยุคการบริหารของ 2 นักธุรกิจเมืองผู้ดี ร็อตเตอร์แฮมเริ่มต้นจากระดับลีก ทู หรือ ดิวิชั่น 4 ใช้เวลานานถึง 5 ฤดูกาล เลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 3 ตามมาด้วยการเลื่อนชั้นสู่ลีกระดับที่ 2 ด้วยการชนะเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

ผลงาน 7 ฤดูกาลหลังสุดของ “เดอะ มิลเลอร์ส” คือโย-โย่ คลับ ขึ้นลงสลับกันระหว่างลีกแชมเปี้ยนชิพ กับลีก วัน มาโดยตลอด ซึ่งเมื่อฤดูกาลที่แล้ว พวกเขาต้องลุ้นหนีตกชั้นจนถึงช่วงท้ายของซีซั่น ก่อนเอาตัวรอดได้สำเร็จ

เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ – อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง

เดชพล จันศิริ ประธานกรรมการบริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเทคโอเวอร์เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ เมื่อปี 2015 ต่อจากมิลาน แมนดาริช มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย ด้วยมูลค่า 37.5 ล้านปอนด์

แหล่งรายได้หลักของกลุ่มไทยยูเนี่ยน คือธุรกิจผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลก โรงงานของบริษัทตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีผลิตภัณฑ์อย่างเช่น ปลาทูน่ากระป๋อง, อาหารทะเลแปรรูป

เชฟฯ เวนส์เดย์ ในยุคของเดชพล จันศิริ แพ้เพลย์ออฟเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกมาแล้ว 2 ครั้ง แถมหล่นไปเล่นลีก วัน (ดิวิชั่น 3) อยู่ 2 ฤดูกาล ก่อนจะได้กลับคืนสู่ลีกแชมเปี้ยนชิพอีกครั้งในฤดูกาลนี้ หลังชนะเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

แต่การออกสตาร์ทซีซั่นนี้ของ “เดอะ เอาส์” ทำได้อย่างน่าผิดหวัง ส่งผลให้แฟนบอลกลุ่มหนึ่งของสโมสรได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้หัวเรือใหญ่ไทยยูเนี่ยน ออกมาประกาศไม่ให้เงินเพื่อสนับสนุนสโมสรอีกต่อไป

เซาแธมป์ตัน – เคเบิลทีวี และรายการโทรทัศน์

ทีมอันดับสุดท้ายของพรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาลที่แล้ว ปัจจุบันบริหารงานโดย ดราแกน โซลัค นักธุรกิจชาวเซอร์เบีย ที่ได้เข้ามาซื้อกิจการของสโมสรเซาแธมป์ตัน ต่อจากเกา จื้อเฉิง นักธุรกิจชาวจีน เมื่อเดือนมกราคม2022

โซลัค เข้าไปลงทุนใน Sport Republic บริษัทด้านการลงทุนในกรุงลอนดอน กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยสัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ และแคทเธอรีน่า เลียบเฮอร์ นักธุรกิจสุภาพสตรีชาวสวิตเซอร์แลนด์ ถือหุ้นอีก 20 เปอร์เซนต์

รายได้หลักของโซลัค มาจากการขายลิขสิทธิ์รายการทีวีและภาพยนตร์ ต่อมาได้เปิดตัวธุรกิจเคเบิลทีวีในเซอร์เบีย และจากนั้นได้ก่อตั้ง United Group บริษัทผู้ขายลิขสิทธิ์รายการทีวีในหลายประเทศแถบยุโรปตะวันออก

สำหรับ “เดอะ เซนต์ส” เคยอยู่ในพรีเมียร์ลีก 24 ฤดูกาล มากที่สุดในบรรดาสมาชิก 24 ทีมของลีกแชมเปี้ยนชิพ ซีซั่นนี้ แน่นอนว่า รุสเซลล์ มาร์ติน ผู้จัดการทีม ขอตั้งเป้าหมายพาทีมเลื่อนชั้นกลับมาภายในซีซั่นเดียว

สโตค ซิตี้ – บริษัทรับพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย

ครอบครัวของปีเตอร์ โคตส์ มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ผู้ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 16 จากการจัดอันดับของ Sunday Times Rich List ซึ่งมีสินทรัพย์สุทธิ 8.8 พันล้านปอนด์ ได้เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรสโตค ซิตี้ เมื่อปี 2006

เงินทุนของปีเตอร์ โคตส์ มาจาก Bet365 บริษัทรับพนันออนไลน์ถูกกฎหมาย ซึ่งก่อตั้งโดยเดนิส ลูกสาวของเขา เมื่อปี 2000 เพราะมองเห็นโอกาสที่ว่าอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนโลกของการพนัน ซึ่งก็เป็นจริงตามที่คาดไว้

ช่วงเวลาที่โคตส์ แฟมิลี่ เข้ามาครอบครองสโตค ซิตี้ พวกเขาได้เลื่อนขั้นสู่พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร เมื่อฤดูกาล 2008/09 และรักษาสถานะบนยอดพีระมิด 10 ฤดูกาลติดต่อกัน จนถึงฤดูกาล 2017/18

หลังตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก “เดอะ พอตเตอร์ส” ไม่เคยกลับมาอยู่ในลีกสูงสุดอีกเลย จบซีซั่นในลีกรองระหว่างอันดับที่ 14, 15 และ 16 มาโดยตลอด แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ในการต่อสู้เพื่อกลับมาอยู่บนยอดพีระมิดในสักวันหนึ่ง

ซันเดอร์แลนด์ – การเกษตร และอาหารแปรรูป

คีริล หลุยส์-เดรย์ฟุส นักธุรกิจชาวฝรั่งเศสเชื้อสายสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาซื้อหุ้นส่วนน้อยของซันเดอร์แลนด์เมื่อปี 2021 ด้วยวัยเพียง 24 ปี ปัจจุบันกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 64 เปอร์เซ็นต์

สำหรับแหล่งรายได้ของหลุยส์-เดรย์ฟุส มาจากการสืบทอดกิจการของ Louis-Dreyfus Group ทำธุรกิจการเกษตร และอาหารแปรรูปรายใหญ่ของฝรั่งเศส โดยมีมาการิต้า คุณแม่ของคีริล ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท

ซันเดอร์แลนด์ เคยทำสถิติอยู่ในพรีเมียร์ลีก 10 ฤดูกาลติดต่อกัน ตั้งแต่ฤดูกาล 2007/08 จนถึงฤดูกาล 2016/17 และเคยดำดิ่งลงไปอยู่ในลีกวัน นานถึง 4 ปี ก่อนที่ในซีซั่น 2021/22 ชนะเพลย์ออฟคัมแบ็กลีกแชมเปี้ยนชิพ

ส่วนผลงานเมื่อฤดูกาลที่แล้ว “เดอะ แบล็กแคตส์” จบในอันดับที่ 6 แต่พลาดการเลื่อนชั้น หลังแพ้ลูตัน ทาวน์ ในเกมเพลย์ออฟ รอบรองชนะเลิศ ซึ่งในฤดูกาลนี้พวกเขาขอทุ่มสุดตัว เพื่อกลับสู่ลีกสูงสุดอีกครั้งให้ได้

สวอนซี ซิตี้ – เอเย่นต์นักกีฬา และทีมกีฬา

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 สติเฟ่น แคปเลน และเจสัน เลวีน 2 นักธุรกิจชาวอเมริกัน ซื้อหุ้นสวอนซี ซิตี้ จำนวน 68 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมี Swansea City Supporters Trust ที่ถือหุ้นอยู่ 21 เปอร์เซ็นต์

แคปเลน มีรายได้จากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Oaktree Capital Management บริษัทจัดการสินทรัพย์ระดับโลกในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทของเขา ยังได้เข้าไปซื้อหุ้นส่วนน้อยของเมมฟิส กริซลี่ส์ ทีมบาสเกตบอล NBA ด้วย

ทางด้านเลวีน มีเงินทุนจากกการเปิดบริษัทเอเย่นต์กีฬา ซึ่งดูแลนักกีฬาในวงการอเมริกันเกมส์หลายคน พร้อมกับเป็นเจ้าของ DC United ทีมฟุตบอลในศึกเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ (MLS) ของอเมริกา ร่วมกับแคปเลน

สำหรับ “เดอะ สวอน” เคยอยู่ในพรีเมียร์ลีก 7 ฤดูกาลติดต่อกัน ตั้งแต่ฤดูกาล 2011/12 ถึง 2017/18 หลังจากนั้น พวกเขาเคยเฉียดเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดในซีซั่น 2020/21 แต่แพ้เบรนท์ฟอร์ด ในเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ

วัตฟอร์ด – เครื่องมือไฟฟ้า และทีมฟุตบอล

ครอบครัวปอซโซ่ เจ้าสัวจากประเทศอิตาลี ได้เข้ามาเทคโอเวอร์วัตฟอร์ด ต่อจากลอเรนซ์ บาสซินี่ นักธุรกิจชาวอังกฤษ เมื่อช่วงซัมเมอร์ปี 2012 โดยจิโน่ ปอซโซ่ ลูกชายของจามเปาโล ปอซโซ่ รับหน้าที่เป็นเจ้าของสโมสร

จามเปาโล ปอซโซ่ เริ่มต้นสร้างรายได้จากการก่อตั้ง Freud บริษัทผลิตโลหะและวิศวกรรมเครื่องกลในอิตาลี เมื่อปี 1960 ก่อนจะควบรวมกิจการกับ Bosch บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องมือไฟฟ้าของเยอรมนี ตั้งแต่ปี 2008

ต่อมา ปอซโซ่ แฟมิลี่ ได้หันมาลงทุนในสโมสรฟุตบอล โดยก่อนที่จะมาซื้อวัตฟอร์ด ได้ซื้ออูดิเนเซ่ ในอิตาลี เมื่อปี 1986 และกรานาด้า ในสเปน เมื่อปี 2009 แต่ในภายหลังได้ขายกิจการของอูดิเนเซ่ และกรานาด้าไปแล้ว

ในยุคที่จิโน่ ปอซโซ่ เป็นเจ้าของ “เดอะ ฮอร์เนตส์” เคยโลดแล่นอยู่ในพรีเมียร์ลีก 6 ฤดูกาล แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมไม่น้อยกว่า 10 คนก็ตาม ซึ่งหนล่าสุดที่พวกเชาได้เล่นในลีกสูงสุด คือฤดูกาล 2020/21

เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน – การออกแบบและก่อสร้าง

เมื่อปี 2016 ไล่ กั๋วฉวน มหาเศรษฐีจากประเทศจีน ได้เข้ามาซื้อกิจการของเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน สโมสรระดับพรีเมียร์ลีกในเวลานั้น ต่อจากเจเรมี่ เพียร์ซ นักธุรกิจชาวอังกฤษ ด้วยมูลค่าราว 175 ล้านปอนด์

แหล่งทำรายได้ของไล่ กั๋วฉวน มาจากการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Palm Eco Town Development บริษัทด้านการออกแบบและก่อสร้าง ก่อนที่อีกไม่กี่ปีต่อมา จีนได้เกิดภาวะฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ตลอด 7 ปี ภายใต้นายทุนจากแดนมังกร มีประเด็นที่ถูกวิจารณ์อยู่หลายเรื่อง แถมผลงานในสนามก็น่าผิดหวัง ตกชั้นในซีซั่น 2017/18 แม้จะกลับขึ้นพรีเมียร์ลีกในซีซั่น 2020/21 แต่อยู่ได้แค่ซีซั่นเดียวก็กลับสู่ลีกรองอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม “เดอะ แบ็กกีส์” อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของทีมในอีกไม่ช้า หลังมีข่าวว่า โมฮัมเหม็ด เอลกาชาชี่ นักธุรกิจชาวอียิปต์ กำลังเจรจาซื้อหุ้นบางส่วน ก่อนจะเทคโอเวอร์เต็มรูปแบบในอนาคต

ทั้ง 24 สโมสรในลีกแชมเปี้ยนชิพ ต่างอยู่ห่างจากยอดบนสุดของพีระมิดฟุตบอลอังกฤษเพียงก้าวเดียวเท่านั้น การเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก คือขุมทรัพย์ที่จะทำให้การเงินสโมสรมีความมั่นคงไปอีกหลายปี

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://theathletic.com/4667669/2023/07/17/championship-owners-money/

– https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_owners_of_English_football_clubs

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Premier_League_clubs

– https://en.wikipedia.org/wiki/Sunday_Times_Rich_List_2023

Categories
Football Business

การกลับมาของ “ฟีฟ่า เอเย่นต์” เพื่อจัดระเบียบนายหน้าลูกหนังครั้งใหม่

  • รายได้ต่อปีของเอเย่นต์ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษในปัจจุบัน อยู่ระหว่าง 2 หมื่นปอนด์ ถึง 26.8 ล้านปอนด์
  • ฟีฟ่า กลับมาใช้กฎระเบียบการสอบใบอนุญาตเอย่นต์ฟุตบอลอีกครั้ง หลังยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2015
  • ในปัจจุบัน ผู้ที่ผ่านการสอบทั้ง 2 รอบ ในปี 2023 และผู้ที่มีใบอนุญาตเดิม มีประมาณ 4,500 คน

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 เป็นต้นไป สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้นำระบบ “FIFA Agent” กลับมาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อการจัดระเบียบเอเย่นต์ในวงการฟุตบอลที่เข้มงวดมากขึ้น

โดยผู้ที่สอบผ่านตามกฎ FIFA Agent Regulations ที่มีการปรับปรุงใหม่ จะได้รับใบอนุญาตให้ทำหน้าที่ตัวแทนของนักฟุตบอล รวมถึงผู้ฝึกสอน และสโมสรฟุตบอล ในการทำธุรกรรมต่างๆ ระหว่างประเทศ

วงการฟุตบอลในปัจจุบันที่มีความเป็นธุรกิจมากขึ้น และด้วยเม็ดเงินที่เพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การแข่งขันที่เข้มข้นกว่าเดิม จึงเป็นที่มาของอาชีพ “เอเย่นต์” ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับอาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล

หลายๆ คน ที่ได้เข้ามาทำอาชีพนายหน้าในวงการกีฬา อาจได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง “เจอร์รี่ แม็คไกวร์” ที่ทอม ครูซ พระเอกของเรื่อง รับบทเป็นเอเย่นต์นักกีฬาผู้มีความทะเยอทะยาน

ซูเปอร์เอเย่นต์ในวงการฟุตบอล ที่มีอิทธิพลอย่างมาก เช่น ฮอร์เก้ เมนเดส หรือมิโน่ ไรโอล่า (ผู้ล่วงลับ) ถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบรรดาเอเย่นต์ในปัจจุบัน และผู้ที่ต้องการจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในอนาคต

กว่าจะมาเป็น “นายหน้าค้านักเตะ”

ในวงการฟุตบอล เอเย่นต์ คือตัวแทนหรือคนกลางที่เป็นที่ปรึกษา และรับผิดชอบในด้านต่างๆ ของนักฟุตบอล หรือผู้ฝึกสอน เช่น การเจรจาสัญญา, การดูแลสิทธิประโยชน์, การดูแลภาพลักษณ์ เป็นต้น

คุณสมบัติที่สำคัญของเอเย่นต์ฟุตบอล จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย, การจัดการธุรกิจฟุตบอลทั้งในและนอกสนาม รวมถึงสายสัมพันธ์กับนักฟุตบอลคนอื่น ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัว, สื่อมวลชน ฯลฯ

การเป็นเอเย่นต์ฟุตบอล อาจเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเอเย่นต์ให้ผ่าน หรือจะจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจากฟีฟ่า โดยที่ผู้ก่อตั้งบริษัทไม่จำเป็นต้องสอบใบอนุญาตเอเย่นต์ก็ได้

รายได้ของเอเย่นต์ฟุตบอล จะขึ้นอยู่กับจำนวนนักฟุตบอลที่เป็นลูกค้าประจำตัว รวมถึงชื่อเสียงของนักฟุตบอลแต่ละคน ถ้าหากเป็นนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ ก็มีโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งมหาศาลเลยทีเดียว

ขอบคุณภาพ : https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6

ตามกฎของฟีฟ่า เอเย่นต์จะได้ส่วนแบ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการเซ็นสัญญา แต่ก็มีบ้างที่มาจากค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนที่ตกลงกับสโมสร แต่โดยรวมแล้วต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสัญญาทั้งหมดต่อปี

อ้างอิงจากข้อมูลในเว็บไซต์ของ Sports Management Worldwide ระบุว่า เอเย่นต์ของนักเตะในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 2 หมื่นปอนด์ แต่เอเยนต์บางคนอาจมีรายได้สูงถึง 26.8ล้านปอนด์

ฤดูกาล 2022/23 ทั้ง 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก ได้จ่ายเงินให้ “นายหน้าค้านักเตะ” รวมกัน 318.2 ล้านปอนด์ โดยทีมที่เสียเงินมากที่สุดคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (51.5 ล้านปอนด์) และทีมที่เสียเงินน้อยที่สุดคือ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ (4.3 ล้านปอนด์)

ในปัจจุบันนี้ มีเอเย่นต์นักฟุตบอลมากกว่า 2,000 คน ที่ลงทะเบียนกับเอฟเอ เมื่อมีดีลย้ายสโมสร, ต่อสัญญา หรือยกเลิกสัญญา แต่จากนี้ไป ผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตเอเย่นต์ต้องเข้ารับการสอบตามกฎระเบียบใหม่ของฟีฟ่า

จากระบบคนกลาง กลับสู่ระบบสอบ

ในอดีต ฟีฟ่าเคยมีการจัดสอบเอเยนต์นักฟุตบอลมาก่อน แต่ได้ยกเลิกไปในปี 2015 และนำระบบคนกลาง (Intermediaries) มาใช้แทน เนื่องจากพบปัญหาสำคัญในระบบเอเยนต์นักฟุตบอล 3 ประการ ได้แก่

– ความไม่มีประสิทธิภาพในการออกใบอนุญาตฟีฟ่า เอเย่นต์ ของสมาคมฟุตบอลในหลาย ๆ ประเทศ

– การโยกย้ายนักฟุตบอลที่กระทำโดยฟีฟ่า เอเย่นต์ มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้

– ความไม่ชัดเจนในเรื่องข้อบังคับระหว่างคนที่ทำหน้าที่เอเย่นต์ของนักฟุตบอล กับตัวแทนของสโมสรต่าง ๆ

สำหรับ “ระบบคนกลาง” มีเป้าหมายในการสร้างความโปร่งใส โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้ จะต้องลงทะเบียนกับฟีฟ่า และมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรกับสโมสร หรือนักฟุตบอลที่ตนเองเกี่ยวข้อง

ส่วนค่าตอบแทนของคนกลาง ฟีฟ่าแนะนำว่า ให้เรียกได้ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสัญญา หรือค่าจ้าง แต่ก็สามารถเรียกค่าตอบแทนเท่าที่ต้องการ และต้องเปิดเผยค่าตอบแทนที่ได้รับจากสัญญาให้ฟีฟ่าทราบด้วย

แต่ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ระบบคนกลางมีการกอบโกยผลประโยชน์อย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้ฟีฟ่าตัดสินใจยกเครื่องอาชีพเอเย่นต์เสียใหม่ ด้วยการกลับมาใช้ระบบจัดสอบฟีฟ่า เอเยนต์อีกครั้งในรอบ 8 ปี

ผู้ที่มีใบอนุญาตจากฟีฟ่าเท่านั้น ที่จะสามารถทำหน้าที่เอเย่นต์ได้ ทำให้สมาชิกในครอบครัวของนักฟุตบอล ที่เคยเป็นเอเย่นต์จากระบบคนกลาง จำเป็นจะต้องสอบฟีฟ่า เอเย่นต์ให้ผ่านตามกฎระเบียบใหม่ด้วย

เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เมื่อฟีฟ่ามีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่สำหรับผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนเจรจาในวงการฟุตบอล โดยใช้วิธีการสอบเพื่อให้ได้รับใบอนุญาต จึงไม่ใช่เรื่องง่ายของหลาย ๆ คน ที่ต้องการจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในวงการลูกหนัง

วิธีการเตรียมตัวสอบ ยกตัวอย่างเช่น ดาวน์โหลดคู่มือการเป็นเอเย่นต์นักฟุตบอลที่มีความหนาประมาณ 500 หน้าจากเว็บไซต์มาศึกษาเอง หรือการเปิดติวสอบทั้ง Online และ On-site คิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมง เป็นต้น

ในวันสอบ ผู้เข้าสอบจะต้องทำข้อสอบในรูปแบบปรนัย หรือมีตัวเลือก ตามชุดข้อสอบที่ระบบสุ่มเลือกมาให้แต่ละคน จำนวน 20 ข้อ ภายในเวลา 1 ชั่วโมง และต้องตอบถูกอย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15 ข้อ จึงจะถือว่าสอบผ่าน

สำหรับในการสอบครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน 2023 มีผู้สมัครเข้ามาในระบบ 6,586 คน จาก 138 สมาคมฟุตบอลทั่วโลก ในจำนวนนี้ เข้ามาทำการสอบ 3,800 คน และสอบผ่าน 1,962 คน (คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์)

และการสอบครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน 2023 มีผู้สมัครเข้ามาในระบบ 10,383 คน จาก 157 สมาคมฟุตบอลทั่วโลก ซึ่งนับจนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจากการสอบทั้ง 2 รอบ และผู้ที่มีใบอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว รวมกันไม่น้อยกว่า 4,500 คน

ผู้ที่สอบไม่ผ่าน ก็สามารถสอบใหม่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนกว่าจะสอบผ่าน เพียงแต่ไม่ได้จัดสอบบ่อยๆ ในแต่ละปี ซึ่งพวกเขาต้องเตรียมตัวให้ดีกว่าเดิม เพราะคนที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ ต้องเป็นคนที่เจ๋งจริง ๆ เท่านั้น

ขอบคุณภาพ : https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6

เตรียมตัวให้พร้อม ก่อนลุยสนามสอบ

หลังจากการสอบ FIFA Football Agent Examination ในปี 2023 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และยังมีอีกหลายคนที่สนใจจะเข้าสู่อาชีพเอเย่นต์ในวงการฟุตบอล ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ก่อนเข้าสู่ห้องสอบ

สำหรับปี 2024 ก็จะมีการเปิดรับสมัคร และสอบ 2 ครั้งเช่นเดิม ครั้งที่ 1 รับสมัครระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม (สอบประมาณเดือนพฤษภาคม) ส่วนครั้งที่ 2 รับสมัครระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน (สอบประมาณเดือนพฤศจิกายน)

เมื่อถึงช่วงเวลาที่เปิดรับสมัคร ให้สมัครผ่านเว็บไซต์ agents.fifa.com และจะแจ้งรายละเอียดในการสอบให้ทราบอีกครั้งผ่านอีเมลของผู้สมัครสอบ และระบบ FIFA Agent Platform ส่วนภาษาที่ใช้สอบ มีให้เลือกระหว่างอังกฤษ, สเปน หรือ ฝรั่งเศส

คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครสอบเพื่อขอใบอนุญาตการเป็นเอเย่นต์ฟุตบอลตามระเบียบของ FIFA (Eligibility Requirement)

a) คุณสมบัติ ณ วันที่ยื่นใบสมัคร

– กรอกใบสมัครตามความจริงอย่างครบถ้วนทุกประการ

– ไม่เคยได้รับโทษในคดีอาญา

– ไม่เคยถูกลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมกีฬาจากองค์กรกีฬาใดเป็นเวลามากกว่า 2 ปี อันเนื่องมาจากละเมิดกฎระเบียบและจริยธรรมทางวิชาชีพ

– ไม่เป็นพนักงานของ FIFA, สหพันธ์ฟุตบอลของทวีป, สมาคมกีฬาฟุตบอลของประเทศต่างๆ, ฟุตบอลลีก, สโมสรฟุตบอล รวมถึง องค์กรใดๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานข้างต้นทั้งทางตรงและทางอ้อม

– ไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ สโมสร, อคาเดมี และ ฟุตบอลลีก

b) ไม่เคยตรวจพบว่าทำหน้าที่เอเยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมาก่อนยื่นใบสมัคร

c) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือ กรรมการบริษัทขององค์กรที่ถูกฟ้องล้มละลาย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

d) ไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์หรือส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันกีฬาทุกชนิดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา 

ผู้ที่สอบผ่าน จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตเป็นจำนวนเงิน 600 ฟรังก์สวิส (คิดเป็นเงินไทย ประมาณ 24,000บาท) ภายใน 90 วัน หลังจากสอบผ่าน และเป็นค่าใช้จ่ายแบบรายปี เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ก็สามารถทำงานได้ทันที

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เอเย่นต์คือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฟุตบอลให้เดินหน้าต่อไป อีกทั้งเป็นช่องทางสำหรับผู้มีความฝันที่ต้องการจะทำงานในวงการฟุตบอล เพื่อกอบโกยรายได้มหาศาลจากอาชีพนี้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://thaipublica.org/2016/04/tpl-10/

https://fathailand.org/news-detail/w0Jv6

– https://theathletic.com/4420448/2023/04/19/agents-exams-fifa/

https://www.thefa.com/news/2023/mar/31/publication-of-payments-and-transactions-310323

– https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11987207/Agents-futures-line-sit-FIFA-exam-fears-80-cent-fail.html

https://digitalhub.fifa.com/m/1e7b741fa0fae779/original/FIFA-Football-Agent-Regulations.pdf

https://digitalhub.fifa.com/m/1c21b25b00c6dec8/original/FIFA-Football-Agent-Exam-Study-Materials.pdf

Categories
Football Business

เมื่อ “ลิเวอร์พูล” จับมือพาร์ทเนอร์ใหม่ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน

นับตั้งแต่กลุ่มเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (FSG) เข้ามาซื้อกิจการของลิเวอร์พูล เมื่อปี 2010 ในช่วงที่สโมสรเกือบจะล้มละลาย แต่ด้วยการบริหารที่ชาญฉลาด ทำให้สถานการณ์ทางการเงินดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ลิเวอร์พูลสูญเสียรายได้ราว 100 ล้านปอนด์ แถมมีการลงทุนเพื่อพัฒนาสโมสรในเรื่องที่จำเป็นอยู่หลายเรื่อง ทำให้พวกเขาต้องการหาเงินทุนเพิ่มเติม

ล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา หงส์แดงได้รับข่าวดี เมื่อตกลงขายหุ้นส่วนน้อยให้กับไดนาสตี้ อิควิตี้ (Dynasty Equity) บริษัทลงทุนด้านกีฬาระดับโลก ซึ่งมีมูลค่าอยู่ระหว่าง 82-164 ล้านปอนด์

หากคำนวณจากมูลค่าของลิเวอร์พูล อ้างอิงจากการประเมินของ Forbes ซึ่งอยู่ที่ 4.3 พันล้านปอนด์ (5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) พบว่าหุ้นส่วนน้อยคิดเป็น 2 – 4 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าสโมสรในปัจจุบัน

ส่องสถานะการเงินลิเวอร์พูล

เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา Company House เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทในอังกฤษ ได้เผยแพร่เอกสารงบการเงินของ 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก รอบปีบัญชี 2021/22 สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2022

ลิเวอร์พูล มีรายได้รวมทั้งสิ้น 594.3 ล้านปอนด์ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยแบ่งเป็นรายได้จากสื่อ 260.8 ล้านปอนด์, รายได้เชิงพาณิชย์ 246.7 ล้านปอนด์ และรายได้จากแมตช์เดย์ 86.8 ล้านปอนด์

รายได้รวมของฤดูกาล 2021/22 เพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 2020/21 ถึง 107 ล้านปอนด์ ส่วนหนึ่งมาจากการที่แฟนบอลสามารถกลับเข้าชมเกมในสนามได้ตลอดทั้งซีซั่น หลังจากต้องแข่งขันแบบปิดสนามในซีซั่นก่อนหน้า

ขณะที่ต้นทุนขาย, ค่าใช้จ่ายในการบริหาร และดอกเบี้ยจ่าย มียอดรวมทั้งหมด 615.8 ล้านปอนด์ ซึ่งเมื่อรวมกับผลประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับทั้งในและนอกสนาม ทำให้เหลือกำไรก่อนหักภาษี 7.5 ล้านปอนด์

ในส่วนของการจ้างงานภายในสโมสร ลิเวอร์พูลมีพนักงานประจำ 1,005 คน แบ่งเป็นพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล 713 คน, ผู้เล่น ผู้จัดการทีม สต๊าฟโค้ช 225 คน และเจ้าหน้าที่สนามดูแลสนามอีก 67 คน

ด้านพนักงานพาร์ท-ไทม์ ซึ่งมักจะทำงานเฉพาะวันที่มีการแข่งขัน มีทั้งหมด 1,930 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 2020/21 ที่มีเพียง 945 คน หรือคิดเป็น 51 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากไม่มีการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด-19

แต่การเพิ่มขึ้นของพนักงาน ก็ส่งผลถึงค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยลิเวอร์พูล ได้จ่ายค่าจ้างรวมกัน 366 ล้านปอนด์ เมื่อมาคำนวณสัดส่วนของค่าจ้างเมื่อเทียบกับรายได้ จะคิดเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้

มีการคาดการณ์ว่า ในรอบปีบัญชี 2022/23 ที่จะประกาศในช่วงต้นปี 2024 ค่าจ้างของลิเวอร์พูล จะเพิ่มขึ้นจากฤดูกาลก่อนหน้าราว 50 ล้านปอนด์ สวนทางกับรายได้รวมที่ลดลง จากผลงานในสนามที่ล้มเหลว

แม้ว่าในซีซั่น 2023/24 สนามแอนฟิลด์มีความจุมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ผลงานในสนามของลิเวอร์พูล 2.0 มีทิศทางที่ดีขึ้นมากกว่าซีซั่นที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด

เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่การเงินของลิเวอร์พูลจะกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง คือการได้สิทธิ์ไปยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาลหน้า ซึ่งมีการเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันใหม่ ที่จะมีรายได้เข้าสู่สโมสรมากขึ้นกว่าเดิม

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ทำความรู้จัก “ไดนาสตี้ อิควิตี้” 

สำหรับประวัติของไดนาสตี้ อิควิตี้ เป็นบริษัทด้านการลงทุนในกีฬาระดับโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกาถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2022 โดยมีโจนาธาน เนลสัน และดอน คอร์นเวลล์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

เนลสัน มีประสบการณ์การบริหารงานมาไม่น้อยกว่า 35 ปี เป็นผู้ก่อตั้ง Providence Equity Partners ที่ได้ลงทุนกับ Yankees Entertainment and Sports Network (YES) และยังทำงานร่วมกับเมจอร์ลีก ซอคเกอร์ด้วย

ทางด้านคอร์นเวลล์ อดีตหัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจของ Morgan Stanley บริษัทการเงินระดับโลก และมีประสบการณ์ในการทำข้อตกลงด้านกีฬาหลายประเภทในสหรัฐอเมริกา เช่น อเมริกันฟุตบอล, บาสเก็ตบอล และอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีเดวิด กินส์เบิร์ก รองประธานของเฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป (เอฟเอสจี) ที่เคยช่วยวิเคราะห์การหาเงินทุน เพื่อเจรจาการเทคโอเวอร์สโมสรลิเวอร์พูล เมื่อปี 2010 มาเป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้กับไดนาสตี้ อิควิตี้

ในเว็บไซต์ของไดนาสตี้ อิควิตี้ ได้อธิบายถึงแนวทางการดำเนินงาน ภายใต้เสาหลัก 4 ประการ ได้แก่

– ความซื่อสัตย์ : สร้างความร่วมมือที่ยั่งยืน โดยรักษาไว้ซึ่งความซื่อสัตย์, ความไว้วางใจ อีกทั้งมีความเคารพในทุกด้านของกระบวนการ และการโต้ตอบกับปัญหา

– ความรอบคอบ : ลงทุนด้วยความรอบคอบ เน้นวินัยในด้านการประกันความเสี่ยง, เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ, การวิเคราะห์ที่เข้มงวด, และการตัดสินใจที่ชาญฉลาด

– ความหลากหลาย : นำประสบการณ์และภูมิหลังที่หลากหลาย มาสู่การลงทุนด้านกีฬา ทำให้สามารถประเมินโอกาสและสถานการณ์จากมุมมองที่หลากหลาย

– การทำงานเป็นทีม : เชื่อว่าผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นได้ เมื่อยอมรับในจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการ และแนวทางการดำเนินกิจการที่เน้นการทำงานเป็นทีม

หลังจากบรรลุข้อตกลงในการร่วมทุน เนลสัน เปิดเผยว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นพันธมิตรกับเอฟเอสจี และสนับสนุนเกียรติประวัติอันน่าทึ่งของลิเวอร์พูล เพื่อเป็นการต่อยอดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างเรากับสโมสร”

ขณะที่คอร์นเวลล์ กล่าวเสริมว่า “ลิเวอร์พูลคือหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่โดดเด่นที่สุดในโลก ซึ่งมีฐานแฟนบอลทั่วโลกที่หลงใหลในสโมสร เราจะทำงานร่วมกับเอฟเอสจี เพื่อโอกาสในการเติบโตที่ยิ่งใหญ่สำหรับอนาคต”

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC

ไม่ได้ใช้ซื้อนักเตะและขายทีม

ก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2022 มีข่าวลือว่า เฟนเวย์ สปอร์ต กรุ๊ป จะพิจารณาหานักลงทุนรายใหม่เพื่อเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร แต่ผ่านไป 3 เดือน เอฟเอสจีแถลงว่าเป็นเพียงการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เท่านั้น

การสูญเสียรายได้ในช่วงโควิด-19 ระบาด คือเหตุผลที่ไดนาสตี้ อิควิตี้ ได้เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนรายใหม่ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้สิน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อนักเตะใหม่ และไม่ใช่การส่งสัญญาณสู่การขายสโมสร

จากรายงานงบการเงินของ Company House ในรอบปีบัญชีล่าสุด (2021/22) ระบุว่า ลิเวอร์พูลมีหนี้สินจากสถาบันการเงิน 87.1 ล้านปอนด์ ลดลงจากรอบปีบัญชี 2020/21 ที่มีหนี้สิน 126.9 ล้านปอนด์

อย่างไรก็ตาม เงินจำนวน 50 ล้านปอนด์ ที่ใช้ในการสร้างเคิร์กบี้ สนามซ้อมแห่งใหม่ รวมถึง 12 ล้านปอนด์ ที่ซื้อเมลวูด สนามซ้อมเดิมเพื่อให้ทีมฟุตบอลหญิงได้ใช้งานนั้น ไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในหนี้สินแต่อย่างใด

ส่วนการซื้อผู้เล่นใหม่ในตลาดนักเตะช่วงซัมเมอร์ ปี 2023 ทีมของเจอร์เก้น คลอปป์ ใช้เงินไป 145 ล้านปอนด์ กับมิดฟิลด์ใหม่ 4 คน คือ โดมินิค โซบอสซไล, อเล็กซิส แม็คอลิสเตอร์, ไรอัน กราเวนเบิร์ช และวาตารุ เอ็นโด

ปัจจุบันนี้ ลิเวอร์พูลมีภาระค่าใช้จ่ายราว 80 ล้านปอนด์ ในการขยายอัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์ โร้ด ซึ่งเดิมทีจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม แต่ต้องล่าช้าออกไปเพราะ Buckingham Group บริษัทคู่สัญญาเกิดล้มละลาย

ไมค์ กอร์ดอน ประธานของเอฟเอสจี ยังคงยึดมั่นกับการมีส่วนร่วมในการบริหารลิเวอร์พูลเหมือนที่เคยเป็นมากว่า 13 ปี พร้อมมองว่า ไดนาสตี้ อิควิตี้ คือพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสมกับการเข้ามาร่วมลงทุนในระยะยาว

“คำมั่นสัญญาในระยะยาวของเรากับลิเวอร์พูล ยังคงเหมือนเดิม เราพูดอยู่เสมอว่า หากมีหุ้นส่วนที่เหมาะสมสำหรับสโมสร เราก็จะตามหาโอกาสเพื่อความคล่องตัวทางการเงินในระยะยาว และการเติบโตในอนาคต”

“เราเฝ้ารอที่จะสร้างความสัมพันธ์อันยาวนานกับไดนาสตี้ อิควิตี้ เพื่อเสริมสร้างสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และรักษาความทะเยอทะยานเพื่อสร้างความสำเร็จทั้งในและนอกสนาม” กอร์ดอน กล่าวปิดท้าย

แม้แฟนบอลบางส่วนจะผิดหวังที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสร แต่การปลดภาระหนี้สิน ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ลิเวอร์พูลมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง และความสำเร็จในสนามที่จะเดินหน้าต่อไป

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://theathletic.com/4909947/2023/09/28/liverpool-investment-explained-fsg-dynasty-equity/

– https://www.telegraph.co.uk/football/2023/09/28/liverpool-us-investment-dynasty-equity-jurgen-klopp/

https://www.liverpoolecho.co.uk/sport/football/football-news/who-dynasty-equity-fsg-sell-27804761

https://find-and-update.company-information.service.gov.uk/company/00035668/filing-history

https://swissramble.substack.com/p/liverpool-finances-202122

– https://find-and-update.company-information.service.gov.uk/company/00035668/filing-history

Categories
Football Business

ยุคโมเดิร์นฟุตบอลที่สถิติท่วมล้น สถิติไหนคัดกรองยอดนักเตะแม่นที่สุด

โลกฟุตบอลยุคปัจจุบันเอ่อล้นไปด้วยข้อมูลสถิติที่เกิดจาก data point จำนวนหลายล้านต่อแมตช์ การสัมผัสบอลแต่ละครั้งและทุกการเคลื่อนไหวของนักฟุตบอลได้รับการจดบันทึก พรีเมียร์ลีกเป็นหนึ่งในสมรภูมิลูกหนังระดับอาชีพที่เป็นผู้นำด้านสถิติ เป็นลีกหนึ่งที่เก็บรวบรวมข้อมูลมากที่สุดในโลก

ดิวิชัน 1 ประเทศอังกฤษ เปลี่ยนชื่อเป็นพรีเมียร์ชิพ (ก่อนมาเป็นพรีเมียร์ลีก) ในฤดูกาล 1992-93 สถิติยุคนั้นถือว่าน้อยมากและเป็นสถิติพื้นฐานอย่างเช่น ใครทำประตู ใครเป็นคนแอสซิสต์ และใครได้รับใบเหลืองใบแดง ยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ฟอร์มการเล่นส่วนบุคคลหรือทีม ไม่มีสถานีโทรทัศน์ช่องไหนสนใจสถิติเชิงลึกดังเช่นปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงมาถึงในซีซัน 1997-98 หรืออีก 5 ปีต่อมาเมื่อ Opta ได้เซ็นสัญญาเป็นบริษัทเก็บรวบรวมสถิติเชิงประสิทธิภาพของนักฟุตบอลให้กับพรีเมียร์ลีกอย่างเป็นทางการ โดย Opta บริษัทสัญชาติอังกฤษ เพิ่งก่อตั้งในปี 1996 สร้างชื่อเสียงขึ้นมาจากเป็นพันธมิตรของช่อง Sky Sports ในการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกทางโทรทัศน์ตั้งแต่ซีซั่น 1996-97

สถิติยุคแรกค่อนข้างเรียบง่ายพื้น ๆ จนกระทั่งซีซั่น 2006-07 Opta เริ่มเก็บรวบรวบสถิติหลากหลายและมีจำนวนเพิ่มขึ้น อาทิ key passes, tackle success, shooting accuracy สำหรับนักเตะ และ passes per match, errors leading to a goal, goals from counter attacks สำหรับทีม เป็นต้น

ตั้งแต่ซีซัน 2021-22 พรีเมียร์ลีกได้ร่วมงานกับ Oracle บริษัทเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่จากอเมริกา ซึ่งให้บริการเมตริกชั้นสูง รวมถึงระบบยอดนิยมอย่าง Momentum Tracker ส่งผลให้พรีเมียร์ลีกมีข้อมูลสถิติที่สลับซับซ้อนกว่าลีกหลายประเทศที่ยังคงใช้เพียง event data เหมือน Opta เช่น การจ่าย การโหม่ง การเซฟ โดย Oracle ใช้เมตริกและโมเดลที่ซับซ้อนนำไปวัดปริมาณส่วนต่าง ๆ ของเกมการแข่งขัน จนได้ข้อมูลที่มีความลึกซึ้ง สามารถนำไปต่อยอดวิเคราะห์เกมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ Opta เซ็นสัญญาเป็นพาร์ทเนอร์ของพรีเมียร์ลีกในปี 1997 แต่สโมสรต่างๆยังต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติของตัวเอง หนึ่งในยุคบุกเบิกคือ โบลตัน วันเดอเรอร์ส ยุคแซม อัลลาร์ไดซ์ ซึ่งคุมทีมทรอตเตอร์สระหว่างปี 1999 – 2007 โดยอัลลาร์ไดซ์เห็นประโยชน์ของข้อมูลสถิติในวงการกีฬาเมื่อครั้งเล่นฟุตบอลให้ทีมแทมปา เบย์ ราวดีส์ ที่อเมริการาวปี 1983 เขานำไปไอเดียมาใช้เพื่อพัฒนาการเล่นของนักเตะโบลตัน อัลลาร์ไดซ์ถึงขนาดสร้างสถานที่ที่เรียกว่า War Room ซึ่งเขาและสตาฟฟ์โค้ชใช้เป็นออฟฟิศเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลบนจอขนาดใหญ่ ซึ่งถูกใช้เพื่อวางแผนกลยุทธ์การเล่นอีกด้วย

สโมสรแรกที่ลงทุนด้านข้อมูลสถิติอย่างจริงจังได้แก่ ลิเวอร์พูล หลังจากเฟนเวย์ สปอร์ตส์ กรุ๊ป บริษัทกีฬาข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน เข้ามาเทคโอเวอร์เมื่อปี 2010 เนื่องจากเฟนเวย์ฯ ตระหนักถึงศักยภาพของการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติจากการเป็นเจ้าของทีมเบสบอล บอสตัน เรด ซอกซ์ ซึ่งความจริงแล้ว data analysis เป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากสำหรับกีฬาเมืองลุงแซม

นับจากปี 2010 แผนกข้อมูลเป็นหน่วยงานที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีบทบาทสำคัญต่อความก้าวหน้าของสโมสรพรีเมียร์ลีก ได้ถูกใช้งานตั้งแต่การเลือกสรรผู้เล่นไปจนถึงการวางแท็คติก ข้อมูลเชิงลึกที่ถูกสร้างขึ้นมาส่งผลกระทบและสร้างสีสันให้กับเกมลูกหนังเป็นอย่างมาก

สถิติเว็บพรีเมียร์ลีก 4 กลุ่มใหญ่ 40 หมวดย่อย

ในส่วนของการรวบรวม event data ระหว่างการแข่งขันพรีเมียร์ลีกแต่ละนัด Opta ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Stats Perform ใช้ทีมงานทั้งหมด 3 คน เจ้าหน้าที่ 2 คนมีหน้าที่ดูวิดีโอฟุตเตจและบันทึกข้อมูลทุกครั้งเมื่อเกิดการสัมผัสลูกบอล นักเตะคนไหนเข้ามาเกี่ยวข้อง และเกิดตรงตำแหน่งไหนของสนาม เจ้าหน้าที่คนที่ 3 เป็นผู้ควบคุมคุณภาพหรือ QC กรอกกลับวิดีโอฟุตเตจเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ถูกต้อง ทั้งนี้ live-match data จะถูกนำไปตรวจสอบอีกครั้งหลังการแข่งขันเพื่อให้มั่นใจว่าถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์

อ้างอิงจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพรีเมียร์ลีก ในหมวด stats แบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ ได้แก่ สถิติทั่วไป, สถิติเกมบุก, สถิติเกมรับ และสถิติผู้รักษาประตู ซึ่งแต่ละประเภทจะมีแยกย่อยลงไปประกอบด้วย

GENERAL : Goals, Assists. Appearances. Minutes Played, Yellow Cards, Red Cards. Substituted On. Substituted Off

ATTACK : Shots, Shots On Target, Hit Woodwork, Goals From Header, Goals From Penalty, Goals From Freekick, Offsides, Touches, Passes, Through Balls, Crosses, Corners Taken

DEFENCE : Interceptions. Blocks, Tackles, Last Man Tackles, Clearances, Headed Clearances, Aerial Battles Won, Own Goals, Errors Leading To Goal, Penalties Conceded, Aerial Battles Lost

GOALKEEPER : Clean Sheets, Goals Conceded, Saves, Penalties Saved, Punches, High Claims, Sweeper Clearances, Throw Outs, Goal Kicks

จากสถิติข้างบนเป็นเพียง event data ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ๆ ด้วยสายตามนุษย์ ยังมีมากมายขนาดนี้ ไหนจะมีสถิติที่เกิดจากการคำนวณ และสถิติได้จากระบบเมตริกและโมเดลที่ซับซ้อน จนหลายคนอาจตั้งคำถามในใจว่า คิดวิเคราะห์ให้มันยุ่งยากวุ่นวายเกินไปหรือเปล่าเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ฟอร์มการเล่นของตัวนักเตะและทีมว่าดีหรือแย่เพียงใด

ดังนั้น จึงมีผู้คิดแบบสุดขั้วอย่าง ไรอัน โอ’แฮนลอน นักข่าวของอีเอสพีเอ็น ดอท คอม สื่อกีฬาระดับโลกจากอเมริกา ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าต้องเลือกใช้ตัวเลขสถิติเพียงชนิดเดียวเพื่อจัดทีมฟุตบอลรวมดาราจากการแข่งขันยูฟา แชมเปียนส์ ลีก และลีกท็อป-5 ของยุโรป (พรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา, กัลโช เซเรีย อา, ลา ลีกา, ลีกเอิง) ประจำฤดูกาล 2022-23 ที่เพิ่งจบไป สถิติไหนจะจัดทีม Best XI ได้ดีหรือใกล้เคียงกับสุดยอดทีมในโลกแห่งความเป็นจริงมากที่สุด ทั้งนี้เป็นการจัดทีมด้วยแผนการเล่น 4-3-3 และจัดเฉพาะผู้เล่นเอาท์ฟิลด์ ไม่รวมผู้รักษาประตูที่มีการบันทึกสถิติเฉพาะตัว ต่างจากผู้เล่น 10ตำแหน่งที่เหลือ

SHOTS คัดกรองฟอร์มนักเตะแม่นกว่า GOALS

ฟุตบอลตัดสินแพ้ชนะกันที่จำนวนประตู โอ’แฮนลอนจึงเลือก GOALS เป็นสถิติเดี่ยวในการฟอร์มทีมรวมดาราชุดแรก นักเตะแต่ละตำแหน่งในระบบ 4-3-3 จะคัดเลือกจากผู้เล่นที่ทำสกอร์รวมมากที่สุดในฟุตบอลลีกและแชมเปียนส์ ลีกฤดูกาลที่แล้ว

ศูนย์หน้า : เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ (แมนฯซิตี)

ปีกซ้าย : คีลิยัน เอ็มบัปเป (เปแอสเช)

ปีกขวา : โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ (ลิเวอร์พูล)

มิดฟิลด์กลาง : มาร์ติน โอเดการ์ด (อาร์เซนอล)

มิดฟิลด์กลาง : จูด เบลลิ่งแฮม (ดอร์ทมุนด์)

มิดฟิลด์ตัวรับ : ปาสกาล กรอสส์ (ไบรท์ตัน)

แบ็คซ้าย : ราฟาเอล เกร์เรโร (ดอร์ทมุนด์)

เซ็นเตอร์แบ็ค : ชานเซล เอ็มเบมบา (มาร์กเซย์)

เซ็นเตอร์แบ็ค : เอแดร์ มิลิเตา (เรอัล มาดริด)

แบ็คขวา : สเตฟาน พอสช์ (โบโลญา)

พิจารณารายชื่อ Best XI ที่เลือกจากสถิติการทำประตู โอ’แฮนลอนมองว่าไม่เลวนัก แต่มีบางจุดที่ไม่เห็นด้วย คำว่าเบสต์ใช้ได้กับฮาลันด์และซาลาห์ รวมถึงโอเดการ์ดและเบลลิ่งแฮม แต่เอ็มบัปเปยังไม่ใช่ถ้าหมายถึงซีซั่นที่แล้ว ทีมนี้อาจทำสกอร์ได้เยอะแต่อาจเสียประตูไม่น้อย ฟอร์มของกรอสส์ไม่ค่อยได้รับคำชมเท่าไร เช่นเดียวกับเกร์เรโร เอ็มเบมบาก็ไม่ใกล้เคียงคำว่าเบสต์ไม่ว่าเป็นสายตาใคร มิลิเตาอาจโอเค แต่แฟนบอลนอกลีกอิตาลีเคยได้ยินชื่อพอสช์บ้างไหม

ขอบคุณภาพจาก  https://www.premierleague.com/news/3486228

กูรูจากเว็บไซต์อีเอสพีเอ็น มองว่า GOALS ยังไม่สามารถจัดทีมรวมดาราได้ใกล้เคียงความจริง โดยเฉพาะแนวรับ ประตูที่ทำได้แปรเปลี่ยนได้แต่ละซีซั่น และสถิติยังรวมประตูจากจุดโทษด้วย ดังนั้นโอ’แฮนลอนจึงลองเปลี่ยนตัวคัดกรองที่ 2 เป็น SHOTS หรือจำนวนรวมของลูกยิงและลูกโหม่งที่พุ่งไปยังกรอบประตู ใครทำได้มากที่สุดของแต่ละตำแหน่งจะเข้าไปอยู่ในทีมรวมดารา

ศูนย์หน้า : ฮาลันด์

ปีกซ้าย : เอ็มบัปเป

ปีกขวา : ซาลาห์

มิดฟิลด์กลาง : โอเดการ์ด

มิดฟิลด์กลาง : บรูโน แฟร์นันเดส (แมนฯยูไนเต็ด)

มิดฟิลด์ตัวรับ : โรดรี (แมนฯซิตี)

แบ็คซ้าย : เตโอ แอร์กน็องเดซ  (เอซี มิลาน)

เซ็นเตอร์แบ็ค : ฟาเบียน ชาร์ (นิวคาสเซิล)

เซ็นเตอร์แบ็ค : คอนสแตนตินอส มาฟโรปานอส (สตุ๊ตการ์ท)

แบ็คขวา : เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ (ลิเวอร์พูล)

เมื่อผลการคัดเลือกด้วยการยิงหรือโหม่งเข้ากรอบออกมา โอ’แฮนลอนมองว่าพัฒนาตัวผู้เล่นดีขึ้น กองหน้ายอดเยี่ยม มิดฟิลด์ดีทีเดียวแม้ขัดใจชื่อของแฟร์นันเดสที่เขารู้สึกว่ายังไม่ถึงขั้นดีมาก ต่างกับโรดรีที่เป็นมิดฟิลด์ตัวรับที่อยู่อันดับสูงสุดของ “เอฟซี 100” ซึ่งเป็นการจัดแรงกิ้งนักเตะของอีเอสพีเอ็น 

ฟูลแบ็คสองฝั่งมีฝีเท้าระดับเวิลด์คลาสในสายตาของโอ’แฮนลอน ชาร์เป็นแกนหลักของหนึ่งในทีมที่มีเกมรับดีที่สุดในพรีเมียร์ลีกซีซันที่ผ่านมา ส่วนมาฟโรปานอสเป็นเซ็นเตอร์แบ็คที่ดีพอใช้ แต่เล่นให้ทีมครึ่งล่างของบุนเดสลีกา และเคยถูกอาร์เซนอลปล่อยหลังลงตัวจริงบอลลีกแค่ 3 นัด แต่ความจริงแล้ว จำนวนการยิงไม่สามารถประเมินคุณค่าที่แท้จริงของเซ็นเตอร์แบ็คอยู่แล้ว

PASSING เป็นสถิติที่มีนัยยะสำคัญทั้งเกมบุกและรับ

ข้างต้นเป็นสถิติในส่วนของเกมบุก ซึ่งเห็นได้ชัดว่า SHOTS เป็นตัวคัดกรองที่ดีกว่า GOALS แต่ยังไม่สามารถจัดผู้เล่นได้สมเหตุสมผลอยู่ดีแม้ดึงมิดฟิลด์ตัวรับดีที่สุดติดทีมเข้ามาได้ แต่กลับได้แผงหลังที่อ่อนยวบ โอ’แฮนลอนจึงเปลี่ยนมาใช้PASSING เป็นเงื่อนไขบ้างเพราะเป็นคุณสมบัติสำคัญของทั้งผู้เล่นเกมรุกเกมรับ แต่ตัดตัวเลขในส่วนของแอสซิสต์ออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงการให้น้ำหนักกับผู้เล่นเกมบุก

ศูนย์หน้า : อองตวน กรีซมันน์ (แอตฯมาดริด)

ปีกซ้าย : แจ็ค กรีลีช (แมนฯซิตี)

ปีกขวา : ลิโอเนล เมสซี (เปแอสเช)

มิดฟิลด์กลาง : เควิน เดอ บรอยน์ (แมนฯซิตี)

มิดฟิลด์กลาง : บรูโน แฟร์นันเดส

มิดฟิลด์ตัวรับ : โยซัว คิมมิช (บาเยิร์น)

แบ็คซ้าย : คริสเตียโน บิรากี  (ฟิออเรนตินา)

เซ็นเตอร์แบ็ค : อเลสซานโดร บาสโตนี (อินเตอร์ มิลาน)

เซ็นเตอร์แบ็ค : ดาวิด อลาบา (เรอัล มาดริด)

แบ็คขวา : คีแรน ทริปเปียร์ (นิวคาสเซิล)

โอ’แฮนลอนให้ความเห็นถึง Best XI ทีมที่ 3 ว่า อาจดูแปลก ๆ ไปบ้างสำหรับฟรอนท์ไลน์ แต่ทั้งสามมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างเกมรุกน่าสะพรึงกลัว แผงมิดฟิลด์อาจเน้นความปลอดภัยมากเกินไปแทนที่จะสร้างสรรค์เกมรุกหรือดอดขึ้นไปลุ้นทำประตู แต่เดอ บรอยน์ และแฟร์นันเดส น่าจะช่วยให้บาเยิร์นอุ่นใจกว่าเมื่อเทียบกับสองคนที่อยู่ข้างหน้าคิมมิชในเกมสโมสร

ขอบคุณภาพจาก  https://www.bbc.com/sport/football/63200405

สำหรับแบ็คไลน์ โอ’แฮนลอนมองว่า บิรากีอาจไม่ใช่แบ็คซ้ายดีที่สุดในโลกแต่ไม่ใช่แบ็คซ้ายที่แย่เช่นกัน อย่างน้อยมีประสบการณ์ตัวจริงเกือบ 250 นัดในเซเรีย อา บาสโตนีกับอลาบาเป็นการจับคู่ปราการหลังที่เวิร์ก ทริปเปียร์เพิ่งผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตแบ็คขวาของตัวเอง

PASSING ช่วยให้การจัดทีมมีสมดุลขึ้น แต่โอ’แฮนลอนอยากปรับเงื่อนไขที่เน้นเกมรับขึ้นมาอีกเล็กน้อย ตัวกรองที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างผลงานโจมตีกับการแย่งบอลคืนมา ซึ่งได้แก่ TACKLES + INTERCEPTIONS และผลลัพธ์ที่ได้คือ

ศูนย์หน้า : กรีซมันน์

ปีกซ้าย : จาค็อบ แรมเซย์ (แอสตัน วิลลา)

ปีกขวา : เฟลิเป อันแดร์สัน (ลาซิโอ)

มิดฟิลด์กลาง : วาล็องแต็ง รงชีเยร์ (มาร์กเซย์)

มิดฟิลด์กลาง : มอร์เทน ฮูลมันด์ (เลชเช)

มิดฟิลด์ตัวรับ : ชูเอา ปาลินญา (ฟูแลม)

แบ็คซ้าย : แมลแว็ง บาร์  (นีซ)

เซ็นเตอร์แบ็ค : อันเดร จิรอตโต (นองต์ส)

เซ็นเตอร์แบ็ค : เลโอนาร์โด บาเลร์ดี (มาร์กเซย์)

แบ็คขวา : โมฮาเหม็ด ยูซซุฟ (อฌักซิโอ)

หลังทราบรายชื่อทีมรวมดาราเวอร์ชันที่ 4 ซึ่งมีกรีซมันน์คนเดียวที่มาจาก 3 ทีมแรก ที่เหลือเป็นหน้าใหม่และครึ่งหนึ่งมาจากลีกเอิง นั่นทำให้กูรูอีเอสพีเอ็น ดอท คอม ถึงกับอุทานว่า I, uh, yeah, no.

MINUTES PLAYED ถ้าฟอร์มดี โค้ชย่อมเลือกใช้งานบ่อย

บางคนอาจมองข้ามความจริงข้อหนึ่งไป ถึงสถิติจะถูกบันทึกในฐานะผลงานของคนๆเดียว แต่เพื่อนร่วมทีมมีส่วนทำให้ event data เหล่านั้นเกิดขึ้น ทุกการยิงหรือโหม่งเพื่อหวังประตู จะมาจากการผ่านหรือเหตุการณ์สักอย่างที่ทำให้ลูกบอลเดินทางมาถึง ทุกการผ่านบอลล้วนมีต้นทางมาจากการผ่านบอลก่อนหน้าหรือไม่ก็เทิร์นโอเวอร์หรือฟาวล์ ไม่มีแทคเกิลหรืออินเตอร์เซปท์เกิดขึ้นหากเพื่อนร่วมทีมไม่เสียบอลแล้วจากนั้นมีใครสักคนของทีมคู่แข่งเห็นโอกาสที่จะเข้าไปแย่งบอลหรือเสียบสกัด

เกือบทุกสถิติมีลักษณะเช่นนั้น หนึ่งในข้อยกเว้นคือ จำนวนนาทีที่ลงสนาม ซึ่งหากไม่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพความฟิต ตัวเลขที่เกิดขึ้นมาจากวิจารณญาณของผู้จัดการทีมหรือหัวหน้าโค้ช ซึ่งเห็นนักเตะทุกครั้งที่สนามฝึกซ้อม มีนักวิเคราะห์เกมคนหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าคุณดีพอ ผู้จัดการทีมก็จะใช้งานคุณบ่อยเอง” และแน่นอนว่า MINUTES PLAYED จึงเป็นสถิติที่รวบรวมสถิติอื่น ๆ ไว้ด้วยกัน

แต่ซีซั่นที่แล้วมีฟุตบอลโลกที่กาตาร์คั่นกลางฤดูแข่งขัน อาจส่งผลต่อเวลารวมของนักเตะฝีเท้าเยี่ยม ๆ ดังนั้นโอ’แฮนลอนจึงเพิ่มเงื่อนไขพิเศษเข้าไปเล็กน้อยด้วยการใช้สถิติของ 2 ซีซันที่ผ่านมาแทนซีซันเดียว

ศูนย์หน้า : แฮร์รี เคน (สเปอร์ส)

ปีกซ้าย : วินิซีอุส จูเนียร์ (เรอัล มาดริด)

ปีกขวา : ซาลาห์

มิดฟิลด์กลาง : ดาเนียล ปาเรโฆ (บีญาร์เรอัล)

มิดฟิลด์กลาง : นิโกโล บาเรลลา (อินเตอร์ มิลาน)

มิดฟิลด์ตัวรับ : โรดรี

แบ็คซ้าย : เตโอ แอร์กน็องเดซ 

เซ็นเตอร์แบ็ค : ฟาน ไดจ์ค

เซ็นเตอร์แบ็ค : เอแดร์ มิลิเตา

แบ็คขวา : เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์

6 คนมาจากทีมรวมดาราชุดก่อน ๆ เคนกับวินิซีอุสที่เข้ามาใหม่ในแผงหน้า ไม่มีใครกล้าค้านว่าทั้งคู่เป็นนักเตะเวิลด์คลาส ปาเรโฆกับบาเรลลาเป็นคู่มิดฟิลด์เบอร์ 8 ที่โค้ชคนไหนก็น่าจะพอใจ ดังนั้นเวลารวมในสนาม ซึ่งผ่านการคิดวิเคราะห์ของบุคคลผู้อยู่ใกล้ชิดนักเตะมากที่สุด จึงเป็นตัวเลือกสมเหตุสมผลหากจะอ้างอิงสถิติเพียงข้อเดียวเพื่อนำมาสร้างทีมรวมดารา

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Football Business

ส่องเบื้องหลังท่อน้ำเลี้ยง 20 เจ้าของทีมพรีเมียร์ลีก 2023/24

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดีลอยท์ (Deloitte) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก เปิดเผยว่า พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เป็นลีกฟุตบอลที่โดดเด่นในเรื่องการเงิน โดย 11 จาก 20 สโมสร ติดอันดับทีมกีฬาที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลก

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของแต่ละสโมสร ไม่ใช่ผู้เล่น หรือผู้จัดการทีม แต่เป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า “เจ้าของสโมสร” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของสโมสรในระยะยาว

ความเข้าใจในธุรกิจฟุตบอล และความหลงใหลในสโมสรที่ครอบครอง คือคุณสมบัติที่เจ้าของสโมสรพึงมี แต่ก็มีบางสโมสรที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องเงินทุนที่มีมหาศาล แม้จะจ่ายเงินก้อนโตต่อเนื่องทุกปีก็ตาม

แหล่งเงินทุนของเจ้าของทีมลูกหนัง ก็มีที่มาแตกต่างกันออกไป ซึ่งหลาย ๆ คน อาจยังไม่เคยรู้มาก่อน และนี่คือเบื้องหลัง “ท่อน้ำเลี้ยง” ของทั้ง 20 สโมสรในการแข่งขันลีกสูงสุดเมืองผู้ดี ฤดูกาล 2023/24

อาร์เซน่อล – ครอบครัวมหาเศรษฐี, อสังหาริมทรัพย์ และปศุสัตว์

รองแชมป์พรีเมียร์ลีก ซีซั่นที่แล้ว ปัจจุบันบริหารงานโดยกลุ่ม Kroenke Sports & Entertainment (KSE) นำโดยสแตน โครเอนเก้ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ที่เข้ามาเทคโอเวอร์อาร์เซน่อล ตั้งแต่ปี 2007

โครเอนเก้ สมรสกับแอน วอลตัน สมาชิกครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดของสหรัฐฯ เป็นทายาทของเจ้าของวอลมาร์ท (Walmart) บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ระดับโลก และมีสินทรัพย์มากกว่า 12 พันล้านปอนด์

แหล่งเงินทุนของโครเอนเก้ มาจากการก่อตั้ง THF Realty ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์, ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน รวมถึงเป็นเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาอีกด้วย

เจ้าสัววัย 75 ปี ยังเป็นเจ้าของทีมกีฬาในสหรัฐฯ หลายทีม ได้แก่ ลอส แอนเจลลิส แรมส์ (อเมริกันฟุตบอล), โคโลราโด้ ราปิดส์(เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์), โคโลราโด้ อวาลันเช่ (ฮอกกี้) และเดนเวอร์ นักเกตส์ ที่เพิ่งคว้าแชมป์บาสเกตบอล NBA ในปีนี้

แอสตัน วิลล่า – ปุ๋ยไนโตรเจน และอสังหาริมทรัพย์

แอสตัน วิลล่า สโมสรดังจากย่านมิดแลนด์ บริหารงานโดยบริษัท NSWE ซึ่งมีนาสเซฟ ซาวิริส และเวส อีเดนส์ เป็นเจ้าของร่วมกัน ทั้งคู่ได้ซื้อกิจการของสโมสรต่อจากโทนี่ เซีย นักธุรกิจชาวจีน เมื่อปี 2018

ซาวิริส เป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดแห่งอียิปต์ ปัจจุบันเป็นผู้บริหารของ Orascom Construction บริษัทผู้ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนรายใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนี้ยังซื้อหุ้นสโมสรนิว ยอร์ก นิกส์ (บาสเกตบอล NBA) และสโมสรนิว ยอร์ก เรนเจอร์ส (ฮฮกกี้ NHL)

ด้านอีเดนส์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ปล่อยเงินกู้ อีกทั้งได้ซื้อหุ้นของ Morrisons เครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของอังกฤษ และเป็นเจ้าของทีมมิลวอล์คกี้ บัคส์ ซึ่งคว้าแชมป์บาสเกตบอล NBA ในปี 2021

ความมั่งคั่งของเจ้าของทีมวิลล่า ซาวิริส มีสินทรัพย์ 5 พันล้านปอนด์ จากการจัดอันดับของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ในขณะที่อีเดนส์ มีสินทรัพย์ 0.86 พันล้านปอนด์ จากการจัดอันดับของฟอร์บส์ (Forbes)

เบรนท์ฟอร์ด – บริษัทรับพนันถูกกฎหมาย

นับตั้งแต่เบรนท์ฟอร์ดเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2021/22 พวกเขาเอาตัวรอดอยู่ในลีกสูงสุดแบบสบาย ๆ 2 ซีซั่นติดต่อกันแล้ว ซึ่งนักพนันอย่างแมทธิว เบนแฮม คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสโมสรนี้

หลังลาออกจาก Premier Bet บริษัทของโทนี่ บลูม (เจ้าของทีมไบรท์ตันในปัจจุบัน) เบนแฮมได้ตั้งบริษัทพนันของตัวเอง ในชื่อ SmartOdds จากนั้นได้ไปซื้อกิจการของ Matchbook ซึ่งเป็นบริษัทพนันเช่นเดียวกัน

จุดเริ่มต้นสู่การเป็นเจ้าของ “เดอะ บีส์” เกิดขึ้นในปี 2006 จากการเป็นนายทุนลับให้ Bees United กลุ่มแฟนบอลของสโมสร ซื้อทีมและชำระหนี้จากรอน โนเดส เข้ามาถือหุ้น และบริหารเต็มตัวตั้งแต่ปี 2012

การบริหารของเบนแฮม ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดนักเตะ ซื้อมาถูก ขายออกไปแพงอยู่หลายดีล เช่น โอนลี่ วัตกิ้นส์, ซาอิด เบนราห์มา เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นเจ้าของทีมมิดทิลแลนด์ ในลีกเดนมาร์ก

ไบรท์ตัน – บริษัทรับพนันถูกกฎหมาย

ไบรท์ตัน สโมสรที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์เข้าร่วมฟุตบอลยุโรปเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ก่อตั้งมา 122 ปี ต้องยกเครดิตให้กับโทนี่ บลูม เซียนพนันที่ได้วางรากฐาน และสู้กับทีมยักษ์ใหญ่เงินทุนหนาแบบน่าเหลือเชื่อ

บลูม ได้เปิดตัว Premier Bet บริษัทแรกที่ทำธุรกิจด้านการพนัน ซึ่งมีพนักงานคนสำคัญคือ แมทธิว เบนแฮม เจ้าของทีมเบรนฟอร์ดในปัจจุบัน ก่อนจะเปลี่ยนสถานะจากเจ้านาย-ลูกน้อง มาเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ

ต่อมาในปี 2006 บลูมแยกไปเปิดบริษัทด้านการพนันที่ชื่อว่า Starlizard บทบาทของเขาคือเป็นที่ปรึกษา และวิเคราะห์ให้กับลูกค้า เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจเลือกเดิมพันที่ได้เปรียบที่สุด และสามารถทำเงินได้

ด้วยความที่บลูม เกิดและเติบโตที่ไบรท์ตัน และเป็นแฟนบอลของไบรท์ตันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก อีก 3 ปีต่อมา เขาตัดสินใจทุ่มเงิน 93 ล้านปอนด์ ซื้อหุ้นของ “เดอะ ซีกัลส์” สมัยที่ยังอยู่ในระดับลีก วัน (ดิวิชั่น 3)

บอร์นมัธ – ประกันภัย, สื่อบันเทิง, สนามกอล์ฟ และโรงแรม

เมื่อปลายปี 2022 บอร์นมัธ คือทีมล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของทีมรายใหม่ โดย บิลล์ โฟลี่ย์ นักธุรกิจชาวอเมริกัน ได้ซื้อสโมสรต่อจากมักซิม เดมิน นักธุรกิจชาวรัสเซีย ด้วยราคาประมาณ 120 ล้านปอนด์

โฟลี่ย์ ดำรงตำแหน่งประธานของ Fidelity National Financial บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ในฟลอริด้า ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งติดอันดับบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500 Companies

นอกจากจะลงทุนด้านสื่อบันเทิง, สนามกอล์ฟ และโรงแรมแล้ว โฟลี่ย์ ยังเป็นเจ้าของทีมเวกัส โกลเด้น ไนท์ส ที่เพิ่งคว้าแชมป์ลีกฮอกกี้ NHL เมื่อเร็วๆ นี้ อีกทั้งยังได้ซื้อหุ้นของสโมสรลอริยองต์ ในลีกเอิง ฝรั่งเศส

แม้ “เดอะ เชอรี่ส์” จะอยู่รอดปลอดภัยในลีกสูงสุด เมื่อซีซั่นที่ผ่านมา แต่โฟลี่ย์ ตัดสินใจปลดแกรี่ โอนีล ออกจากตำแหน่งกุนซือ และแต่งตั้งอันโดนี่ อิราโอล่า เฮดโค้ชชาวสเปน เพื่อเป้าหมายไปเล่นฟุตบอลยุโรป

เบิร์นลีย์ – บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินในสหรัฐอเมริกา

แชมป์ลีกแชมเปี้ยนชิพ จากฤดูกาลที่แล้ว ปัจจุบันบริหารงานโดย ALK Capital กลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกา นำโดย อลัน เพซ ที่เข้ามาซื้อกิจการของสโมสร ในเดือนธันวาคม 2020 ในราคา 150 ล้านปอนด์

สำหรับ ALK Capital ตั้งอยู่ในนิว ยอร์ก เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินให้กับลูกค้ารายใหญ่อย่างเลห์แมน บราเธอร์ส และซิติ กรุ๊ป และตัวของอลัน เพซ ก็เคยบริหารทีมเรียล ซอลต์ เลค ในเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์อยู่ 2 ปี

ช่วงที่เบิร์นลี่ย์ยังอยู่ในพรีเมียร์ลีก ใช้เงินลงทุนไปไม่น้อย อีกทั้งยังต้องกู้เงินจากธนาคารเป็นจำนวน 65 ล้านปอนด์ และเมื่อพวกเขาตกชั้นจากลีกสูงสุดในซีซั่น 2021/22 การเงินของสโมสรก็ได้รับผลกระทบ

แต่ด้วยมันสมองที่ชาญฉลาดของแว็งซองต์ กอมปานี ผู้จัดการทีม “เดอะ คลาเร็ตส์” ก็ช่วยให้สโมสรเอาตัวรอดจากวิกฤต พาทีมคัมแบ็กสู่พรีเมียร์ลีก ส่งผลถึงการเงินที่กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในที่สุด

เชลซี – บริษัทจัดการสินทรัพย์

ท็อดด์ โบห์ลี่ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เข้ามาเทกโอเวอร์เชลซีเมื่อปี 2022 หลังจากโรมัน อบราโมวิช นักธุรกิจชาวรัสเซีย ถูกบังคับให้ขายสโมสร เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษประกาศคว่ำบาตร กรณีรัสเซียบุกยูเครน

โบห์ลี่ มีหุ้นส่วนรายสำคัญที่มาร่วมลงทุน คือ Clearlake Capital บริษัทด้านการลงทุนที่ตั้งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีบีฮ์ดาด เอ็กห์เบลี่ เป็นผู้บริหารของบริษัท มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับ Clearlake Capital มีลูกค้ารายสำคัญที่ได้เข้าไปดูแลสินทรัพย์ นั่นคือ กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ หรือ PIF ของซาอุดีอารเบีย ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่ไปเทคโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด คู่แข่งร่วมพรีเมียร์ลีก

นอกจากจะเป็นเจ้าของทีมเชลซีแล้ว โบห์ลี่ยังเป็นเจ้าของทีมกีฬาในอเมริกา คือ ลอส แอนเจลิส ดอดเจอร์ส ในเมเจอร์ลีก เบสบอล รวมทั้งถือหุ้นในลอส แอนเจลิส เลเกอร์ส ทีมบาสเกตบอลชื่อดังของ NBAด้วย

คริสตัล พาเลซ – บริษัทจัดการการลงทุน, อสังหาริมทรัพย์, สื่อและบันเทิง

เจ้าของทีมคริสตัล พาเลซ ในปัจจุบัน มีทั้งหมด 4 คน เริ่มจาก สตีฟ แพริช นักธุรกิจชาวอังกฤษ อดีตผู้ก่อตั้ง TAG Worldwide บริษัทสื่อโฆษณา และเป็นแกนนำในการซื้อสโมสร “ปราสาทเรือนแก้ว” เมื่อปี 2010

จอร์ช ฮาริส ผู้ก่อตั้ง Apollo Global Management บริษัทจัดการการลงทุนในหุ้นภาคเอกชน และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และยังเป็นเจ้าของทีมฮอกกี้ นิว เจอร์ซีย์ เดวิลส์ และทีมบาสเกตบอล NBA ฟิลาเดลเฟีย เซเว่นตี้ซิกเซอร์ส 

เดวิด บลิทเซอร์ เคยอยู่ใน Blackstone Group บริษัทจัดการการลงทุนเช่นเดียวกับ Apollo Global Management นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของทีมนิว เจอร์ซีย์ เดวิลส์ และฟิลาเดลเฟีย เซเว่นตี้ซิกเซอร์ส ร่วมกับฮาริสอีกด้วย

ปิดท้ายที่จอห์น เท็กซ์เตอร์ เคยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทสื่อและบันเทิง และเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลโบตาโฟโก้ ในบราซิล, อาร์ดับเบิ้ลยูดี โมเลนบีค ในเบลเยียม และล่าสุดคือโอลิมปิก ลียง ในฝรั่งเศส

เอฟเวอร์ตัน – เหมืองแร่ และโทรคมนาคม

ฟาฮัด โมชิริ นักธุรกิจชาวอังกฤษเชื้อสายอิหร่าน เข้ามาเทกโอเวอร์เอฟเวอร์ตันเมื่อปี 2016 ด้วยความทะเยอทะยานที่ต้องการเห็นสโมสรประสบความสำเร็จ แต่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา คือการลงทุนที่สูญเปล่า

โมชิริ ได้รู้จักกับอลิเซอร์ อุสมานอฟ มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย เจ้าของ USM Holdings บริษัทที่ลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ และโทรคมนาคม โดยนั่งในตำแหน่งประธานบริษัท พร้อมได้รับหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ USM ยังถือลิขสิทธิ์สนามซ้อมฟินซ์ ฟาร์ม ของเอฟเวอร์ตัน แต่ในปี 2022 อุสมานอฟ ถูกรัฐบาลอังกฤษสั่งอายัดทรัพย์สิน หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน และถูกบีบให้ถอนการสนับสนุนออกไป

สถานการณ์ของเอฟเวอร์ตันในเวลานี้ กำลังมองหาเงินทุนที่จะเข้ามาช่วยเหลือสโมสร เพื่อสานต่อโครงการสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ อีกทั้งต่อสู้เพื่ออยู่รอดในพรีเมียร์ลีก และกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ (FFP) 

ฟูแล่ม – ชิ้นส่วนยานยนต์

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2013 ซาฮิด ข่าน นักธุรกิจอเมริกันเชื้อสายปากีสถาน ได้เจรจาเทคโอเวอร์ฟูแล่ม ต่อจากโมฮาเหม็ด อัล ฟาเยด มหาเศรษฐีชาวอียิปต์ ปัจจุบันให้โทนี่ ข่าน ลูกชายของเขาบริหารงานแทน

แหล่งทำเงินของซาฮิด ข่าน คือการเป็นเจ้าของ Flex-N-Gate บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของอเมริกา ที่ซื้อกิจการต่อจากอดีตเจ้านายของตัวเองเมื่อปี 1980 ปัจจุบันนี้บริษัทของเขามีโรงงานอยู่ 69 แห่งทั่วโลก

นอกจากจะทำธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว ซาฮิด ข่าน ยังเป็นเจ้าของทีมแจ็คสันวิลล์ จากัวร์ ในอเมริกันฟุตบอล (NFL) และเป็นเจ้าของร่วมในสมาคมมวยปล้ำ All Elite Wresting (AEW) ร่วมกับโทนี่ ลูกชายของเขา

ในปี 2018 ซาฮิด ข่าน เคยตกเป็นข่าวฮือฮา ด้วยการยื่นข้อเสนอเพื่อซื้อสนามเวมบลีย์ มูลค่า 600 ล้านปอนด์ แต่ภายหลังเจ้าตัวขอถอนข้อเสนอออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดกระแสต่อต้านจากแฟนบอล

ลิเวอร์พูล – สิ่อโทรทัศน์, ถั่วเหลือง และเจ้าของหนังสือพิมพ์

Fenway Sports Group (FSG) นำโดยจอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี่ และ ทอม เวอร์เนอร์ ซื้อสโมสรลิเวอร์พูล ด้วยมูลค่า 300 ล้านปอนด์ ในปี 2010 ปัจจุบันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากความสำเร็จทั้งในและนอกสนาม

เวอร์เนอร์ ทำธุรกิจสื่อโทรทัศน์ เคยผลิตรายการที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น The Cosby Show, 3rd Rock From The Sun และ That 70s Show อีกทั้งเคยเป็นเจ้าของทีมซาน ดิเอโก้ พาเดรส ในเมจอร์ลีก เบสบอล (MLB)

ส่วนเฮนรี่ ครอบครัวของเขาทำไร่ถั่วเหลือง, ก่อตั้ง JW Henry & Co ทำระบบ Mechanical tradingรวมถึงเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ Boston Globe ที่มีลินดา พิซซูติ ภรรยาของจอห์น ดับเบิ้ลยู เฮนรี่ เป็นกรรมการผู้จัดการ

ปัจจุบัน FSG เป็นเจ้าของทีมบอสตัน เรด ซอกซ์ ในเมจอร์ลีก เบสบอล (MLB) โดยเมื่อปลายปี 2022 เคยตกเป็นข่าวว่าจะขายสโมสรลิเวอร์พูล แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนเป็นการหาผู้ร่วมทุนแทน

ลูตัน ทาวน์ – แฟนบอลของสโมสร

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/LutonTown

ในฤดูกาลใหม่ที่จะถึงนี้ ลูตัน ทาวน์ คือสโมสรลำดับที่ 51 ของอังกฤษ ที่จะได้สัมผัสบรรยากาศลีกสูงสุดในยุค “พรีเมียร์ลีก” แต่ก่อนที่จะมาถึงจุดสุดยอดปิระมิด พวกเขาเคยตกลงไปเล่นนอกลีกอาชีพเมื่อ 14 ปีที่แล้ว

ช่วงกลางฤดูกาล 2007/08 แฟนบอลกลุ่มหนึ่งของสโมสรที่มีกำลังทรัพย์ ประกาศก่อตั้งบริษัท Luton Town 2020 จำกัด โดยถือหุ้นในบริษัท 50,000 หุ้น และมีสิทธิ์ที่จะยับยั้งการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของสโมสร

ก่อนเริ่มต้นซีซั่นต่อมา (2008/09) “เดอะ แฮตเตอร์ส” ทีมในลีก ทู (ดิวิชั่น 4) ในเวลานั้น ถูกตรวจพบความผิดปกติทางการเงินย้อนหลังหลายปี จากอดีตเจ้าของทีมคนก่อนๆ ทำให้ถูกตัด 30 แต้ม และตกชั้นหลังจบซีซั่น

การที่ไม่มีนายทุนเข้ามาซื้อสโมสร ทำให้ลูตัน ทาวน์ มีข้อจำกัดทางด้านการเงิน เพราะค่าใช้จ่ายในการบริหารทีมจะสูงกว่าตอนที่อยู่ในลีกแชมเปี้ยนชิพ แต่ก็มีบางทีมที่แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถเอาตัวรอดในพรีเมียร์ลีกได้

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ – บริษัทน้ำมัน, การขนส่ง, และการท่องเที่ยว

เมื่อปี 2008 ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นายาน สมาชิกราชวงศ์อาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเจ้าของ Abu Dhabi United Group ทุ่มเงิน 200 ล้านปอนด์ เข้าเทกโอเวอร์สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้

แหล่งรายได้หลักของชีค มานซูร์ คือ บริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี (Abu Dhabi National Oil Company : ADNOC) ทำธุรกิจผลิตน้ำมันดิบ แต่ก็มีการลงทุนในแหล่งอื่น ๆ เช่น ธุรกิจการขนส่ง และธุรกิจการท่องเที่ยว

ต่อมาในปี 2013 แมนฯ ซิตี้ ได้ก่อตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ในชื่อ City Football Group (CFG) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นคือ Abu Dhabi United Group (81 เปอร์เซนต์), Silver Lake (18 เปอร์เซนต์) และ CITIC Group (1 เปอร์เซนต์)

งานหลักของ CFG คือการไปซื้อกิจการของสโมสรฟุตบอลขนาดกลางหรือเล็ก ด้วยโมเดล “มัลติ-คลับ” เพื่อแบ่งปัน หมุนเวียนทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ร่วมกัน ปัจจุบันมีพันธมิตรกับ 12 สโมสร จากทุกทวีปทั่วโลก

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด – อสังหาริมทรัพย์ และศูนย์การค้าในสหรัฐอเมริกา

ในเวลานี้ เกลเซอร์ แฟมิลี่ ยังคงเป็นเจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ครอบครองมาตั้งแต่ปี 2005 ยกเว้นจะมีการตัดสินใจขายสโมสรไปให้ชีค ยาสซิม หรือเซอร์จิม แรดคลิฟฟ์ ซึ่งยืดเยื้อมาแล้วหลายเดือน

มัลคอล์ม เกลเซอร์ เป็นแกนนำในการเทคโอเวอร์สโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด เคยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ แต่หลังจากเสียชีวิตในอีก 9 ปีต่อมา บรรดาลูก ๆ ของเขาก็เข้ามาบริหารสโมสรต่อจากคุณพ่อ

ธุรกิจอื่นๆ ที่ทำเงินให้ครอบครัวเกลเซอร์ คือการเป็นเจ้าของพื้นที่ศูนย์การค้าระดับพรีเมียมที่มีมากกว่า 6.7 ล้านตารางฟุตทั่วสหรัฐฯ และยังเป็นเจ้าของทีมแทมป้าเบย์ บัคคาเนียร์ ในอเมริกันฟุตบอล NFL

ตลอด 18 ปี ในการบริหารของเกลเซอร์ แฟมิลี่ ไม่เป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ ปีศาจแดง เพราะมองว่าไม่เคยลงทุนกับสโมสรเลย อีกทั้งมีประเด็นการเข้าร่วมยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก จนเกิดการประท้วงอย่างรุนแรง

นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด – บริษัทน้ำมัน, ลีกฟุตบอล

เมื่อเดือนตุลาคม 2021 กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ หรือ PIF จากซาอุดีอารเบีย ประกาศเทกโอเวอร์นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด จากไมค์ แอชลี่ย์ ที่ครอบครองสโมสรมานานถึง 14 ปี ด้วยมูลค่า 300 ล้านปอนด์

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/newcastleunited

โดยบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่กองทุน PIF คือ ยาซีร์ อัล รูมายัน และมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอารเบีย เป็นกองทุนที่สนับสนุนหลายโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

รายได้มหาศาลของกองทุน PIF มาจากแหล่งน้ำมันดิบสำรองขนาดใหญ่ลำดับต้น ๆ ของโลก แต่ในอนาคตน้ำมันย่อมมีวันหมด กองทุนนี้จึงต้องหารายได้ทางอื่นเพิ่ม เช่น การลงทุนในต่างประเทศ, ดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น

นอกจากนี้ กองทุน PIF ยังได้เข้าไปถือหุ้น 4 สโมสรฟุตบอลในซาอุ โปร ลีก ได้แก่ อัล นาสเซอร์ ทีมของคริสเตียโน่ โรนัลโด้, อัล อิตติฮัด ทีมของคาริม เบนเซม่า, อัล อาห์ลี และอัล ฮิลาล สโมสรละ 75 เปอร์เซนต์

น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ – เรือบรรทุกน้ำมัน และเรือคอนเทนเนอร์

ในช่วงกลางปี 2017 เอวานเจลอส มารินาคิส นักธุรกิจชาวกรีซ เข้าซื้อสโมสรน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ จากตระกูลอัล-ฮาซาวี มหาเศรษฐีชาวคูเวต โดยเมื่อซีซั่นที่แล้ว ได้กลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี

รายได้หลักของมารินาคิส มาจากการก่อตั้ง Capital Maritime & Trading บริษัทที่ทำกิจการเรือบรรทุกน้ำมัน และเรือคอนเทนเนอร์หลายสิบลำ รวมถึงอยู่ในวงการสื่อ ด้วยการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์หลายช่อง

นอกจากนี้ มารินาคิสได้เข้าสู่การเมือง โดยเป็นสมาชิกสภาเมืองปิเรอุส เมืองในเขตชานกรุงเอเธนส์ และได้ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือปิเรอุส ให้เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นจุดหมายปลายทางของเรือสำราญ

นอกจากจะบริหารทีม “เจ้าป่า” แล้ว มารินาคิส ยังได้ซื้อโอลิมเปียกอส สโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในลีกบ้านเกิด ตั้งแต่ปี 2010 โดยยุคที่เขาเป็นเจ้าของสโมสร คว้าแชมป์ซูเปอร์ลีก 7 ซีซั่นติดต่อกัน

เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด – บริษัทผลิตกระดาษชำระ

ปี 2013 อับดุลลาห์ บิน มูซาอัด บิน อับดุลาซิซ อัล ซาอัด เข้ามาซื้อหุ้นเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด 50 เปอร์เซ็นต์ จากเควิน แมคเคบ ก่อนที่อีก 5 ปีต่อมา เจ้าชายจากซาอุดีอารเบีย ได้ควบคุมกิจการของสโมสรแบบเต็มตัว

รายได้ของเจ้าชายอับดุลลาห์ มาจากบริษัทผลิตกระดาษในซาอุดีอารเบีย, ที่มีผลิตภัณฑ์อย่างกระดาษชำระ, ม้วนกระดาษชำระ และผ้ากันเปื้อน ซึ่งจะนำสินค้าเหล่านี้ไปขายทั่วตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ

นอกจากจะครอบครอง “ดาบคู่” แล้ว เจ้าชายอับดุลลาห์ ยังเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลอย่างแบร์ช็อต ในลีกเบลเยียม, เกราล่า ยูไนเต็ด ในลีกอินเดีย, อัล-ฮิลาล ยูไนเต็ด ในลีกยูเออี และชาโตรูซ์ ในลีกฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม เจ้าชายอับดุลลาห์ มีความต้องการที่จะขายสโมสร แม้ว่าเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ดจะได้เลื่อนชั้นกลับมาเล่นในพรีเมียร์ลีกก็ตาม ซึ่งโดซี่ เอ็มโมบูโอซี่ นักธุรกิจชาวไนจีเรีย เคยยื่นข้อเสนอมาแล้ว แต่ไม่เป็นผล

ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ – นักค้าสกุลเงิน, ซอฟท์แวร์ และความบันเทิง

ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/TottenhamHotspur

เจ้าของทีมท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ คนปัจจุบัน คือ โจ ลูอิส นักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้ง ENIC Group บริษัทด้านการลงทุน ที่เข้ามาซื้อหุ้นจำนวน 27 เปอร์เซ็นต์ จากเจ้าของเดิมอย่างเซอร์อลัน ชูการ์ ตั้งแต่ปี 1991

วันที่ 16 กันยายน ปีถัดมา เกิดเหตุการณ์ Black Wednesday หรือวิกฤตค่าเงินปอนด์ในสหราชอาณาจักรที่อ่อนค่าลง จนต้องถอนตัวจากกลไกอัตราแลกเปลี่ยนของยุโรป (ERM) ลูอิส ในฐานะนักค้าสกุลเงิน ทำเงินได้ประมาณ 1 พันล้านปอนด์

ENIC Group ได้ลงทุนกับทีมฟุตบอลหลายสโมสร เช่น สลาเวีย ปราก ของเช็ก, เรนเจอร์ส ของสกอตแลนด์ และเออีเค เอเธนส์ ของกรีซ อีกทั้งยังลงทุนในด้านธุรกิจซอฟท์แวร์, ความบันเทิง และธุรกิจอื่น ๆ

ปี 2001 แดเนียล เลวี่ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสโมสร และในปี 2007 ลูอิสได้ซื้อหุ้นจากชูการ์ที่เหลืออยู่ 12 เปอร์เซ็นต์ ก่อนครอบครองสเปอร์สแบบเบ็ดเสร็จ ปัจจุบัน ENIC Group ถือหุ้นอยู่ที่ 85 เปอร์เซ็นต์

เวสต์แฮม ยูไนเต็ด – นิตยสารเรท R และอสังหาริมทรัพย์

ปี 2010 เดวิด โกลด์ และเดวิด ซัลลิแวน ร่วมกันเทกโอเวอร์เวสต์แฮม ยูไนเต็ด หลังจากขายสโมสรเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ที่ครองมาตั้งแต่ปี 1993 ให้กับคาร์สัน หยาง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง เมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้น

รายได้ของโกลด์ ได้จากธุรกิจที่เกี่ยวกับนิตยสารสำหรับผู้ใหญ่ (Restricted) อย่างเช่น Sunday Sport แท็บลอยด์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการนำเสนอภาพโป๊เปลือย ส่วนซัลลิแวนมีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เดือนพฤศจิกายน 2021 แดเนียล เครตินสกี้ นักธุรกิจชาวเช็ก เจ้าของ EPH บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศ ซื้อหุ้นของเวสต์แฮม 27 เปอร์เซ็นต์ พร้อมดึงนักเตะร่วมชาติ 3 คน คือ โธมัส ซูเซ็ค, วลาดิเมียร์ คูฟาล และอเล็กซ์ คราล

เดวิด โกลด์ เสียชีวิตเมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วยวัย 86 ปี ทำให้หุ้นจำนวน 25.1 เปอร์เซ็นต์ ตกเป็นของทายาทของเขา โดยเดวิด ซัลลิแวน ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นสูงสุดที่ 38.8 เปอร์เซ็นต์ และมีนักลงทุนรายอื่น ๆ อีก 9.1 เปอร์เซนต์

วูล์ฟแฮมตัน – แฟชั่น, ยา, ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์

ในปี 2016 โฟซุน อินเตอร์เนชั่นแนล กลุ่มทุนจากประเทศจีน นำโดยกั๋ว กวงชาง ได้เข้ามาซื้อกิจการของวูล์ฟแฮมป์ตัน ทีมลีกแชมเปี้ยนชิพ (ในขณะนั้น) ต่อจากสตีฟ มอร์แกน ด้วยมูลค่าราว 30 ล้านปอนด์

โฟซุน อินเตอร์เนชั่นแนล มีรายได้จากธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร, แฟชั่น, ค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเป็นผู้พัฒนาและทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในนามของโฟซุน ฟาร์มาซูติคอล เมื่อ 3 ปีก่อน

นับตั้งแต่เทคโอเวอร์วูล์ฟแฮมตัน โฟซุน กรุ๊ป ได้ทุ่มเงินให้กับทีมชุดใหญ่ และมีความทะเยอทะยานอย่างสูงที่จะเปลี่ยนสโมสรดังจากย่านเวสต์ มิดแลนด์ ให้เป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ในด้านแฟชั่น, อีสปอร์ต และอื่น ๆ

เดือนตุลาคม 2021 โฟซุนฯ ขายหุ้นบางส่วนให้กับ PEAK6 บริษัทจัดการการลงทุนของสหรัฐอเมริกา และมีข่าวลือว่ากำลังมองหาผู้ร่วมลงทุนใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้วูล์ฟแฮมตันสามารถสู้กับทีมอื่น ๆ ในพรีเมียร์ลีก 

เรียบเรียง : จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://theathletic.com/4545002/2023/07/16/premier-league-owners-money/

Categories
Football Business

ซาอุดิ โปร ลีก ของเล่นหรือเมกะโปรเจกต์ของมหาเศรษฐี

ย้อนกลับไปวันที่ 30 ธันวาคม 2022 มีรายงานข่าวใหญ่ อัล-นาสเซอร์ สโมสรชั้นนำของซาอุดิ อาระเบีย ปิดดีลสัญญากับ คริสเตียโน โรนัลโด ซึ่งก่อนหน้านั้นหนึ่งเดือนเศษเพิ่งแยกทางกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดว่า เจ้าของบัลลงดอร์ 5 สมัย จะเป็นคนเปิดทำนบให้สตาร์ลูกหนังไหลทะลักเข้าสู่ ซาอุดิ โปรเฟสชันแนล ลีก

เดอะ การ์เดียน สื่อคุณภาพของอังกฤษ ระบุว่า โรนัลโด ซึ่งเซ็นสัญญากับอัล-นาสเซอร์ ถึงปี 2025 ได้รับการันตีค่าเหนื่อยขั้นต่ำปีละ 90 ล้านยูโร แต่เมื่อรวมผลประโยชน์จากสปอนเซอร์และการตลาด จะหนุนตัวเลขขึ้นไปแตะหลัก 200 ล้านยูโรต่อปี ว่ากันว่าเขายังได้โบนัสเซ็นสัญญาฉบับนี้ราว 100 ล้านยูโร

ช่วงนั้น เหล่าคอมเมนเตเตอร์ของสื่อต่างๆมองการย้ายถิ่นค้าแข้งไปตะวันออกกลางของโรนัลโดว่า ตัวเขายังไม่คิดแขวนสตั๊ดแต่ไม่ได้รับความสนใจจากทีมใหญ่ในยุโรป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรียกค่าเหนื่อยที่สูงเกินไปสำหรับนักเตะที่อายุย่าง38 ปี ขณะที่อัล-นาสเซอร์พร้อมทุ่มไม่อั้น โรนัลโดจึงปฏิเสธข้อเสนอของสปอร์ติง แคนซัส ซิตี ในลีกสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นอีกทีมที่ยื่นข้อเสนออย่างจริงจัง

โรนัลโดพาอัล-นาสเซอร์สัมผัสได้เพียงตำแหน่งรองแชมป์ รอชน์ ซาอุดิ ลีก (Roshn Saudi League หรือ RSL) มี 67คะแนนจาก 30 นัด ตามหลัง อัล-อิตติฮัด 5 คะแนน แต่คล้อยหลังไม่นานหลังจากซีซัน 2022-23 ปิดฉากปลายเดือนพฤษภาคม ซาอุดิ โปร ลีก ที่ควรเงียบสงบเพราะเพิ่งเข้าสู่ช่วงออฟ-ซีซัน กลับสร้างความครึกโครมบนหน้าสื่อฟุตบอลทั่วโลกเมื่อมีข่าวหลายสโมสรใน RSL พยายามทุ่มเงินดึงนักเตะดังๆเข้าทีม หนึ่งในนั้นคือ อัล-ฮิลาล ซึ่งรั้งอันดับ 3 ตามหลังอัล-นาสเซอร์ 8 คะแนน

มีรายงานว่า อัล-ฮิลาล เสนอเงินให้ ลิโอเนล เมสซี ก้อนมหาศาลถึง 400 ล้านยูโร เพื่อบรรลุเป้าหมายให้เจ้าของบัลลงดอร์ 7 สมัย พาทีมระเบิดศึกดาร์บีแมตช์กรุงริยาดห์กับโรนัลโด แต่เมสซี ซึ่งเป็นฟรีเอเยนต์หลังหมดสัญญากับปารีส แซงต์-แยร์กแมง ปฏิเสธข้อเสนอของอัล-ฮิลาล แต่เลือกไปค้าแข้งในเมเจอร์ ลีก ซอคเกอร์ (MLS) กับทีมอินเตอร์ ไมอามี ของเดวิด เบคแฮม

หลังอกหักจากเมสซี อัล-ฮิลาล เบนเป้าหมายไปยัง เนย์มาร์ จูเนียร์ สตาร์กองหน้าวัย 31 ปีของทีมชาติบราซิล ซึ่งประสบปัญหาบาดเจ็บเกือบตลอดซีซันที่ผ่านมา และมีแนวโน้มอยากย้ายออกจากปารีส แซงต์-แยร์กแมง ในตลาดซัมเมอร์ปีนี้ แต่เชื่อว่า เนย์มาร์ยังอยากค้าแข้งในยุโรป

สตาร์หลั่งไหลเข้าซาอุดิตามหลังโรนัลโด

ซาอุดิ โปร ลีก กลายเป็นลีกเนื้อหอมที่สื่อลูกหนังชั้นนำให้ความสนใจทันทีเมื่อ คาริม เบนเซมา เจ้าของรางวัลบัลลงดอร์คนล่าสุด ย้ายไปเล่นให้อัล-อิตติฮัด แบบฟรีค่าตัวและเซ็นสัญญา 2 ปี มูลค่า 400 ล้านยูโรเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2023 โดยแชมป์ลีกซาอุดิได้จัดพิธีเปิดตัวเบนเซมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ขณะเดียวกันกองหน้าฝรั่งเศสวัย 35 ได้ปิดฉากชีวิตค้าแข้งกับเรอัล มาดริด ด้วยโทรฟีความสำเร็จ 24 ใบระหว่างปี 2009–2023 รวมถึงแชมป์ลา ลีกา 4 สมัย และแชมป์แชมเปียนส์ ลีก 5 สมัย 

ทั้งโรนัลโดและเบนเซมา รวมถึงเมสซี 3 ดาวเตะเวิลด์คลาสมีจุดร่วมกันคือเป็นฟรีเอเยนต์ ซึ่งสโมสรได้ไปฟรีๆ จึงโฟกัสเฉพาะค่าเหนื่อย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ เอ็นโกโล กองเต มิดฟิลด์ตัวรับวัย 32 ปี อำลาชีวิต 7 ปีในสแตมฟอร์ด บริดจ์ เพื่อไปเล่นกับเพื่อนทีมชาติ เบนเซมา ที่อัล-อิตติฮัด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นักเตะดีกรีแชมป์โลก 2018 เซ็นสัญญา 4 ปี รับเงินตกปีละ 86 ล้านยูโร

3 วันต่อมา ความเชื่อว่า ซาอุดิ โปร ลีก เป็นขุมทองเฉพาะสตาร์ใกล้ปลดระวาง ไม่เป็นความจริงเสียแล้วเมื่อ รูเบน เนเวสกัปตันทีมวูลฟ์แฮมป์ตัน เซ็นสัญญา 3 ปีกับอัล-ฮิลาล ส่วนทีมหมาป่ารับค่าตัวไป 55 ล้านยูโร โดยเนเวสมีอายุเพียง 26 ปี เล่นให้ทีมชาติโปรตุเกสกว่า 40 นัด และได้รับความสนใจจากทีมใหญ่พรีเมียร์ลีก แถมก่อนย้ายมาค้าแข้งในเอเชียตะวันตก เนเวสเกือบได้ร่วมทีมบาร์เซโลนา แต่ปิดดีลไม่ลงเพราะบาร์ซาติดขัดเรื่องไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์

วันที่ 25 มิถุนายน เชลซี ซึ่งเร่งโละนักเตะเพื่อลดค่าใช้จ่าย ตัดสินใจขาย คาลิดู คูลิบาลี เซ็นเตอร์แบ็ควัย 32 ปี ทีมชาติเซเนกัล ให้อัล-ฮิลาล ในราคาเพียง 20 ล้านยูโร ลดลงครึ่งหนึ่งของค่าตัวที่จ่ายให้นาโปลีในตลาดซัมเมอร์ปีที่แล้ว โดยคูลิบาลี ซึ่งเซ็นสัญญา 3 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า เขาเป็นมุสลิม การมาอยู่ซาอุดิจึงเป็นไอเดียที่ดีสำหรับตัวเขาและครอบครัว สโมสรจะเปิดโอกาสให้เขาลงสนามมากๆเพื่อเตรียมตัวร่วมแอฟริกัน คัพ เขายังหวังจะครองแชมป์ลีกซาอุดิและอาเชียน แชมเปียนส์ ลีก

เอดูอาร์โด เมนดี เพื่อนร่วมทีมเชลซีและเซเนกัล ย้ายตามคูลิบาลีมาเล่นในซาอุดิเช่นกัน แต่เลือกเฝ้าประตูให้กับอัล-อาห์ลี ด้วยสัญญา 3 ปี นั่นเท่ากับเมนดีจะได้ดวลดาร์บีแมตช์เมืองจิดดาห์กับทีมอัล-อิตติฮัดของกองเต ส่วนเชลซีรับค่าตัวของนายทวารวัย 31 ปี เป็นเงินราว 18 ล้านยูโร

อัล-อาห์ลี ยังตกลงเซ็นสัญญาถึงปี 2026 กับ โรแบร์โต ฟีร์มีโน ยอดกองหน้าวัย 31 ปี ซึ่งเพิ่งหมดสัญญากับลิเวอร์พูล โบกมือลาแอนฟิลด์ที่ใช้ชีวิตนาน 8 ปี มีสถิติ 111 ประตู 79 แอสซิสต์รวมทุกรายการ ร่วมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกและแชมเปียนส์ ลีก รายการละ 1 สมัย

สตาร์นักบอลข้างต้นเป็นเพียง done deals เท่านั้นยังมีอีกหลายคนที่ตอบปฏิเสธไปแล้วหรือกำลังต่อรองบนโต๊ะเจรจาอยู่ แน่นอนว่าจะมีรายชื่อใหม่ๆผุดขึ้นบนรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยจนกระทั่งตลาดซัมเมอร์บนทวีปยุโรปปิดทำการในวันที่ 1 กันยายน แต่เชื่อได้ว่า ซาอุดิ โปร ลีก ยังจะเป็นเหมืองทองคำให้กับนักเตะทั่วโลกไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ส่วนนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงของเจ้าของสโมสร, ซาอุดิ โปร ลีก และประเทศซาอุดิ อาระเบีย

อาจได้เห็นเคนหรือฮาลันด์ในตะวันออกลาง

a flash in the pan เป็นสำนวนในภาษาอังกฤษ มีความหมายว่า “สิ่งที่ให้ความหวังในตอนต้น แต่ต่อมากลายเป็นความผิดหวัง” หรือ “ความสำเร็จชั่วประเดี๋ยว” ซึ่งกลายเป็นประเด็นให้สื่อมวลชนและกูรูในวงการฟุตบอลถกเถียงกัน

ไซนีส ซูเปอร์ ลีก (Chinese Super League หรือ CSL) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2004 หรือเกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว เป็นกรณีศึกษา ลีกแดนมังกรดึงดูดนักเตะฝีเท้าดีมีชื่อเสียงเข้ามาหลายคนอย่างเช่น ออสการ์ แนวรุกทีมชาติบราซิล ซึ่งย้ายจากเชลซีในตลาดฤดูหนาวปี 2017 มาเล่นให้ เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี (ปัจจุบันคือ เซี่ยงไฮ้ พอร์ต) ด้วยค่าตัว 70 ล้านยูโร ซึ่งถือว่าสูงสุดในทวีปเอเชียขณะนั้น ออสการ์เซ็นสัญญา 4 ปี รับค่าเหนื่อยปีละประมาณ 24 ล้านยูโร

ตลาดซัมเมอร์ปี 2019 เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี ยังคว้าตัว มาร์โก อาร์เนาโตวิช กองหน้าทีมชาติออสเตรีย ซึ่งขณะนั้นเป็นดาวดังของเวสต์แฮม ยูไนเต็ด เพิ่งครองตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดซีซัน 2018-19 ของสโมสร ความจริงแล้วเซี่ยงไฮ้เจรจาขอซื้ออาร์เนาโตวิชตั้งแต่ต้นปี 2019 ก่อนสมหวังในที่สุดที่ราคา 26 ล้านยูโร

เบื้องหลังการก่อตั้งไชนีส ซูเปอร์ ลีก เป็นความต้องการโดยตรงของประธานาธิบดี ซึ่งปรารถนาจะให้ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลก มีทีมชาติที่ดีและลีกภายในประเทศที่ดี แต่ภายหลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนเปลี่ยนแปลงนโยบาย พวกเขาไม่ต้องการเห็นเงินจำนวนมหาศาลในประเทศไหลเข้าสู่กระเป๋าชาวต่างชาติและทวีปยุโรป จึงกำหนดกฎเหล็กเพื่อขวางไม่ให้นักเตะต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาค้าแข้งในประเทศจีน

คาเวห์ โซลเฮคอล หัวหน้านักข่าวของสกาย สปอร์ตส์ นิวส์ ให้ความเห็นถึงซาอุดิ โปร ลีก ว่า เขาเชื่อมั่นประเทศซาอุดิ อาระเบีย มองเรื่องนี้เป็นแผนงานระยะยาว แถมพวกเขามีเงินมากกว่า และดูเหมือนจะมีความมุ่งมั่นจริงจังมากกว่าด้วย โดยสกาย สปอร์ตส์ นิวส์ ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าววงในว่า ภายในเวลา 5 ปี พวกเขาต้องการให้นักเตะ 100 คนที่เก่งที่สุดในโลก เข้ามาเล่นในซาอุดิ โปร ลีก

โรนัลโดถูกดึงเข้ามานำร่องเป็นรายแรก ซาอุดิยังพยายามโน้มน้าวเมสซีด้วยค่าเหนื่อยจำนวนมหาศาล และยังได้เนเวส ยอดมิดฟิลด์ที่อายุเพิ่งเข้าช่วงพีคของอาชีพค้าแข้ง อีกทั้งเชื่อว่าจะมีนักเตะเชลซีอีกหลายคนตามกองเต, คูลิบาลี และเมนดี มายังตะวันออกกลาง โซลเฮคอลกล่าวด้วยว่า เขาไม่แปลกใจเลยหากสโมสรซาอุดิจะล็อกเป้าหมายไปที่ซูเปอร์สตาร์ระดับ แฮร์รี เคน หรือ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์

โมฮัมเหม็ด ฮัมดี ผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลตะวันออกกลาง ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการของทีมอัล-จาซีรา ในลีกสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เชื่อมั่นว่า ซาอุดิ โปร ลีก สามารถดึงผู้เล่นตัวท็อปเข้ามาได้อย่างไม่ลำบากนัก

“พวกเขามีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ สามารถเป็นเจ้าภาพเวิลด์คัพ ซึ่งเราเห็นสิ่งที่เกิดกับกาตาร์ไปแล้วว่าเป็นอีเวนท์ที่น่าทึ่งขนาดไหน แผนระยะยาวจะสามารถดึงดูดลิขสิทธิ์โทรทัศน์ สื่อมวลชน สปอนเซอร์ และนักท่องเที่ยว เข้ามายังประเทศได้มากมาย ตอนนี้ไม่ใช่แค่นักเตะใกล้ปลดระวาง แต่คุณได้เห็นผู้เล่นหนุ่มๆก้าวเท้าเข้ามายังซาอุดิ โปร ลีก อีกด้วย”

การลงทุนใน RSL เพื่อเศรษฐกิจชาติที่ยั่งยืน

หัวหน้านักข่าวของสกาย สปอร์ตส์ นิวส์ เสนอมุมมองถึงสาเหตุที่ซาอุดิ อาระเบีย เริ่มทุ่มเงินดึงนักบอลต่างชาติมาเล่นลีกในประเทศภายในเวลาเพียงครึ่งปีนับจากอัล-นาสเซอร์เซ็นสัญญากับโรนัลโดว่า พวกเขาต้องการขยายเศรษฐกิจให้เติบโตเพื่อเป็นหลักประกันสถานะการเงินในอนาคต เพราะที่ผ่านมา รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายน้ำมัน ซึ่งแน่นอน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีวันหมด และมนุษย์พยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพึ่งพาน้ำมันน้อยลง 

ด้วยเหตุนี้ ซาอุดิ อาระเบีย จึงเบนเข็มไปยังธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่นๆผ่านกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Public Investment Fund หรือ PIF) ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยสินทรัพย์รวมโดยประมาณอย่างน้อย 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยกองทุนตั้งขึ้นเมื่อปี 1971 มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนกองทุนในนามของรัฐบาลซาอุดิ อาระเบีย ตัวอย่างในวงการฟุตบอลคือ การเข้าซื้อกิจการ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด สโมสรในพรีเมียร์ลีก

โซลเฮคอลระบุว่า ซาอุดิ อาระเบีย มั่นใจว่ากีฬาสามารถเจริญเติบโตได้สูงโดยเฉพาะฟุตบอลลีก พวกเขาต้องการสร้างธุรกิจและอุตสาหกรรมสันทนาการและบันเทิงของตัวเอง เนื่องจากฟุตบอลได้รับความนิยมอย่างมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ในหมู่ประชากรอายุต่ำกว่า 40 ปี และในเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ ซาอุดิ อาระเบีย ยังเปิดสนามได้สวยล้มอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นแชมป์ในท้ายที่สุด ด้วยสกอร์ 2-1 นอกจากกีฬา พวกเขายังหวังขยายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศด้วย

โซลเฮคอลเสริมด้วยว่า ชนชั้นปกครองซาอุดิ อาระเบีย สัมผัสรับรู้ถึงความสนใจของประชาชนและมีแนวคิดว่า แทนที่จะให้คนชาติอื่นนำเงินออกจากกระเป๋าของคนรักกีฬา ทำไมไม่ทำเสียเองและเก็บเงินเหล่านั้นไว้ในอาณาเขตของตนเอง อีกทั้งยังทำให้คนทั่วโลกรู้จักซาอุดิ อาระเบีย และใช้จ่ายเงินสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วย

ซาอุดิ โปร ลีก ครั้งที่ 48 คิกออฟสิงหาคมนี้

ซาอุดิ โปรเฟสชันแนล ลีก เป็นลีกฟุตบอลอาชีพระดับเทียร์ 1 ของซาอุดิ อาระเบีย หรือรู้จักอีกชื่อหนึ่งคือ รอชน์ ซาอุดิ ลีกซึ่งตั้งตามชื่อสปอนเซอร์คือ รอชน์ บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเซ็นสัญญาสนับสนุน 5 ปีในเดือนสิงหาคม 2022

สหพันธ์ฟุตบอลซาอุดิ อาระเบีย (Saudi Arabia Football Federation หรือ SAFF) จัดการแข่งขันครั้งแรกในซีซัน 1976-77 หรือเกือบครึ่งศตวรรษที่แล้ว ระยะแรกเป็นทัวร์นาเมนท์แบบพบกันหมด (round-robin) เหมือนระบบฟุตบอลลีกทั่วโลก จนกระทั่งซีซัน 1990-91 สหพันธ์ฯตัดสินใจรวมฟุตบอลลีกกับคิงส์คัพไว้ด้วยกัน โดยหลังจบการแข่งขันฤดูปกติ ทีมที่ติด 4 อันดับแรกของตารางลีก จะผ่านเข้าไปเล่นรอบรองชนะเลิศของ Golden Box เพื่อคัดทีมชนะไปเจอกันในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งซีซันแรกของระบบนี้ อัล-ชาบับ ชนะ อัล-นาสเซอร์ 1-0 ก่อนกลับมาใช้ระบบฟุตบอลลีกตั้งแต่ซีซัน 2007-08 จนทุกวันนี้

นับตั้งแต่จัดครั้งแรกในซีซัน 1976-77 อัล-ฮิลาล ประสบความสำเร็จ ชนะเลิศซาอุดิ โปร ลีก มากได้ถึง 18 สมัย และเป็นรองแชมป์ 15 สมัย รองลงก็ได้แก่ อัล-อิตติฮัด แชมป์ 9 สมัย รองแชมป์ 8 สมัย และ อัล-นาสเซอร์ แชมป์ 9 สมัย รองแชมป์ 7 สมัย

แต่ถ้าจัดทำเนียบแชมป์ตามเมือง สโมสรลูกหนังในเมืองหลวง กรุงริยาดห์ คว้าถ้วยรางวัลรวมกัน 33 ครั้ง แบ่งเป็น อัล-ฮิลาล 18 ครั้ง, อัล-นาสเซอร์ 9 ครั้ง และ อัล-ชาบับ 6 ครั้ง ตามมาห่างๆคือ เมืองเจดดาห์ 13 ครั้ง แบ่งเป็น อัล-อิตติฮัด 9สมัย กับ อัล-อาห์ลี 4 สมัย

ขอบคุณภาพจาก  https://saudigazette.com.sa/article/632978

รอชน์ ซาอุดิ ลีก ซีซัน 2023-24 จะจัดแข่งขันตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2023 ถึงเดือนพฤษภาคม 2024 เป็นศึกลูกหนังลีกสูงสุดครั้งที่ 48 ของประเทศ โดยครั้งนี้ สหพันธ์ฯเพิ่มจำนวนสโมสรเป็น 18 ทีมจากเดิม 16 ทีมในซีซันที่แล้ว ส่วนแชมป์เก่าคือ อัล-อิตติฮัด ขณะที่ 4 ทีมน้องใหม่ที่ขึ้นมาจากดิวิชั่น 1 ได้แก่ อัล-อาห์ลี, อัล-ฮาเซม, Al-Okhdood และ อัล-ริยาดห์

สหพันธ์ฯกำหนดให้แต่ละสโมสรลงทะเบียนนักเตะต่างชาติได้ 8 คน ซึ่งด้วยจำนวนที่มากขนาดนี้ เชื่อได้เลยว่า นักเตะแถวหน้าทั้งฝีเท้าและชื่อเสียงจะพาเหรดตบเท้าเข้าสู่ซาอุดิ โปร ลีก อีกหลายคนก่อนที่ตลาดจะปิดทำการ และจะเป็นลีกที่ถูกแฟนบอลทั่วโลกเฝ้าจับตาเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพียงอัล-นาสเซอร์ ที่มีโรนัลโด ทีมเดียวอย่างฤดูกาลที่ผ่านมา

เรียบเรียง : ฐปน วันชูเพลา (Senior Football Writer) 

Categories
Football Business

เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียว ? : เมื่อ “พรีเมียร์ลีก” เริ่มเป็นที่น่าจับตามอง ของกุนซือเลือดกระทิง

การถือกำเนิดของพรีเมียร์ลีก เมื่อปี 1992 คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการฟุตบอลอังกฤษ เพราะเป็นการเปิดประตูให้เม็ดเงิน ผู้เล่น และผู้จัดการทีมจากต่างชาติ ได้หลั่งไหลเข้ามาในเมืองผู้ดีมากขึ้น

ตลอดเวลากว่า 30 ปี ของพรีเมียร์ลีก ได้มีโค้ชต่างชาติหลายๆ คน ก้าวเข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนาความสนุกเร้าใจ และสร้างความสำเร็จให้เป็นที่ยอมรับ จนทำให้ลูกหนังเมืองผู้ดีได้รับความนิยมไปทั่วโลก

โดยเฉพาะบรรดากุนซือสัญชาติ “สเปน” ที่ได้เข้ามาคุมทีมในพรีเมียร์ลีกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลังๆ นั้น มีเหตุผลมาจากเรื่องเงินเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ? ติดตามไปพร้อมกันได้ที่ ไข่มุกดำ x SoccerSuck

ราฟา เบนิเตซ ผู้เปิดตำนานโค้ชสเปนในลีกผู้ดี

ผู้จัดการทีมชาวสเปนคนแรกในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ คือ ราฟาเอล เบนิเตซ ที่เข้ามาคุมทีมลิเวอร์พูล ในฤดูกาล 2004/05 และสร้างปาฏิหาริย์ด้วยการชนะเอซี มิลาน คว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นโทรฟี่แรก

ตามมาด้วยแชมป์ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ, แชมป์เอฟเอ คัพ, แชมป์คอมมูนิตี้ ชิลด์ และเกือบพา “หงส์แดง” คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2008/09 ก่อนที่ในซีซั่นถัดมา จบเพียงแค่อันดับที่ 7 จนถูกปลดออกจากตำแหน่ง

หลังจากนั้น ราฟาก็ได้รับงานคุมสโมสรในพรีเมียร์ลีกอีก 3 ทีม คือ เชลซี ช่วยทีมคว้าแชมป์ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก ต่อด้วยการพานิวคาสเซิล เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฐานะแชมป์ลีกแชมเปี้ยนชิพ และปิดท้ายที่เอฟเวอร์ตัน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/ChelseaFC

ราฟา เบนิเตซ ถือเป็นผู้ที่ปูทางให้กับโค้ชชาวสเปนคนอื่นๆ ในเวลาต่อมา ยังมีอีก 5 เทรนเนอร์เลือดกระทิง ที่ได้เข้ามาพิสูจน์ฝีมือในลีกยอดนิยมอย่างพรีเมียร์ลีก ในช่วงกลางยุค 2000s ถึงกลางยุค 2010s ดังนี้

– ฆวนเด้ รามอส (ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์) : เข้ามาคุมทีมไก่เดือยทองในฤดูกาล 2007/08 และคว้าแชมป์ลีก คัพ ซึ่งนั่นคือแชมป์รายการล่าสุดของสโมสร ก่อนจะถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนธันวาคม ปี 2008

– โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ (วีแกน / เอฟเวอร์ตัน) : รับงานกับวีแกนในพรีเมียร์ลีกเมื่อปี 2009 และสร้างเทพนิยายคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ปี 2013 แม้จะตกชั้นจากลีกสูงสุด ก่อนจะย้ายไปคุมทีมเอฟเวอร์ตัน จนถึงปี 2016

– เปเป้ เมล (เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน) : เข้ามารับงานในเดือนมกราคม 2014 เซ็นสัญญา 18 เดือน พา “เดอะ แบ็กกี้ส์” ได้ที่ 17 รอดตกชั้นหวุดหวิด แต่การทำทีมชนะแค่ 3 จาก 17 เกม เขาจึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง

– กิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส (วัตฟอร์ด) : เปิดประสบการณ์คุมทีมบนเวทีพรีเมียร์ลีกกับ “เดอะ ฮอร์เน็ตส์” เมื่อฤดูกาล 2015/16 ก่อนแยกทางหลังจบซีซั่น แล้วกลับมารับงานอีกครั้งในปี 2019 แต่อยู่ได้เพียง 3เดือน ก็ถูกปลด

– ไอตอร์ การันก้า (มิดเดิลสโบรช์) : กุนซือผู้พา “เดอะ โบโร่” เลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2016/17 และได้ยืมตัวอัลบาโร่ เนเกรโด้ กองหน้าเพื่อนร่วมชาติ ช่วยยิงได้ถึง 10 ประตู แต่ไม่สามารถช่วยให้ทีมรอดตกชั้น

ช่วงทศวรรษแรก กับกุนซือชาวสเปน 6 คน ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลว จนกระทั่งการมาของชายที่ชื่อ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่เข้ามาเปลี่ยนวงการฟุตบอลอังกฤษ และสร้างความยิ่งใหญ่ที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้

ปรากฏการณ์ความสำเร็จของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า

คนที่ติดตามฟุตบอลอังกฤษมายาวนาน จะทราบดีว่า สไตล์การเล่นของฟุตบอลอังกฤษขนานแท้ คือเน้นการโยนบอลยาว แล้วอาศัยความแข็งแกร่ง ในการดวลลูกกลางอากาศ หรือเสียบสกัดคู่แข่งแบบถึงลูกถึงคน

ขอบคุณภาพ https://www.facebook.com/mancity

แต่การมาถึงของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลูกหนังเมืองผู้ดี ด้วยแท็กติกการเล่นบอลสั้น ขึ้นเกมรุกจากแดนหลัง แทนที่จะใช้ลูกโด่ง แย่งบอลวัดดวงเหมือนในอดีต

โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้รักษาประตู เป๊ปตัดสินใจลดบทบาทของโจ ฮาร์ท ไปเป็นตัวสำรอง โดยให้เหตุผลว่า อดีตนายทวารทีมชาติอังกฤษรายนี้ ไม่ใช่สเปกที่ตัวเองต้องการ เพราะออกบอลสั้นด้วยเท้าไม่เก่ง

ทำให้อดีตกุนซือบาร์เซโลน่า และบาเยิร์น มิวนิค ตัดสินใจดึงตัวเคลาดิโอ บราโว่ มาแทน แต่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับแท็กติกได้ จึงซื้อตัวเอแดร์ซอน มาร่วมทีม และกลายเป็นตัวหลักจนถึงปัจจุบันนี้

ก่อนที่เป๊ปจะเข้ามาคุมทีมแมนฯ ซิตี้ ผู้รักษาประตูพรีเมียร์ลีก มีสัดส่วนการเล่นบอลยาวมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วง 7 ปีหลังสุด ลดลงเหลือ 63 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนี่คือนายทวารสมัยใหม่ตามแนวคิดของเขา

เมื่อการเล่นบอลยาวจากผู้รักษาประตูลดลง ทำให้ค่าเฉลี่ยการผ่านบอลจากแดนหลัง ในช่วง 7 ปี หลังสุด เพิ่มขึ้นเป็น 912 ครั้งต่อเกม เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่เป๊ปเข้ามาทำงานในอังกฤษ มีค่าเฉลี่ย 869 ครั้งต่อเกม

วิธีการของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ได้แสดงให้แฟนบอลทั่วโลกเห็นถึงความยอดเยี่ยม ด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 4 สมัย และแชมป์รายการอื่นๆ รวม 11 โทรฟี่ ขาดเพียงแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่ยังต้องตามหาต่อไป

ใครจะเชื่อว่า ฟุตบอลที่เน้นการต่อบอลสั้น ที่หลายคนมองว่ามีความเสี่ยงต่อการผิดพลาดถึงขั้นเสียประตู จะได้รับความนิยมมากขึ้น หลายๆ ทีมในลีกรองของอังกฤษ และในยุโรป เริ่มเปลี่ยนมาเอาอย่างแมนฯ ซิตี้

แต่ถ้ามีใครสักคนบอกว่า แมนฯ ซิตี้ ยิ่งใหญ่แบบทุกวันนี้ได้เพราะเงินล้วนๆ มันไม่เป็นเช่นนั้นเลย เพราะ 5 ฤดูกาลหลังสุด เรือใบสีฟ้า ไม่เคยครองอันดับ 1 ทีมที่ใช้เงินซื้อนักเตะมากที่สุดในลีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ต่อจากเป๊ป ก็มีกุนซือเลือดสแปนิชตามมาเรื่อยๆ

หลังจากที่สุดยอดกุนซืออย่างเป๊ป กวาร์ดิโอล่า เข้ามาเขย่าพรีเมียร์ลีก ในช่วงเวลาแค่ 7 ปีหลังสุด ก็ได้มีโค้ชชาวสเปน เข้ามาคุมทีมในลีกสูงสุดของอังกฤษอีก 6 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เท่ากับช่วงระหว่างปี 2004-2015

นอกเหนือจากเป๊ปแล้ว ยังมีกุนซือจากแดนกระทิงดุที่รับงานอยู่ในปัจจุบันอีก 5 คน ประกอบด้วย มิเกล อาร์เตต้า (อาร์เซน่อล), อูไน เอเมรี่ (แอสตัน วิลล่า), ฆูเลน โลเปเตกี (วูล์ฟส์แฮมป์ตัน), รูเบน เซลเลส (เซาแธมป์ตัน) และฆาบี้ กราเซีย (ลีดส์ ยูไนเต็ด)

ความจริงยังมีซิสโก้ มูนญอซ โค้ชอิมพอร์ตจากสเปนอีกหนึ่งคน ที่เคยรับงานคุมทีมในพรีเมียร์ลีกกับวัตฟอร์ด ในช่วงเดือนตุลาคม 2020 ถึงกันยายน 2021 แต่ถูกปลดออกไป เนื่องจากทำผลงานได้ย่ำแย่ ชนะแค่ 2 จาก 7 นัดแรกของฤดูกาล 2021/22

นั่นแสดงให้เห็นว่า โค้ชฟุตบอลเลือดสแปนิช เริ่มที่จะมองลีกอังกฤษเป็นเป้าหมายต่อไปในการสร้างชื่อเสียง และค่าจ้างที่มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากทีมในพรีเมียร์ลีกหลายทีม ได้มีการลงทุนในสโมสรอย่างเต็มที่

เมื่อเร็วๆ นี้ ดีลอยด์ (Deloitte) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก ได้มีการจัดอันดับสโมสรฟุตบอลที่ทำเงินเข้ามามากที่สุด (Deloitte Football Money League) ประจำปี 2023 โดยวัดจากรายรับในฤดูกาล 2021/22

ปรากฏว่า ใน 30 อันดับแรก มีทีมจากพรีเมียร์ลีก ติดเข้ามาถึง 16 ทีม ซึ่งแตกต่างจากลาลีกา สเปน ที่มีเพียง 5 ทีมเท่านั้น ถือเป็นครั้งแรกที่สโมสรในลีกสูงสุดอังกฤษติดอันดับเกินครึ่งหนึ่ง นับตั้งแต่มีการจัดอันดับมา 26 ปี

ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้พรีเมียร์ลีก เป็นที่น่าสนใจของผู้จัดการทีมฟุตบอลชาวสเปนมากขึ้น คือคุณภาพของผู้เล่น การเคลื่อนที่เป็นจังหวะเร็ว เกมที่มีความเข้มข้นสูง และบรรยากาศการเชียร์ของแฟนบอลที่คึกคัก

การที่ผู้จัดการทีมฟุตบอลสัญชาติสเปน เข้ามาแสวงหาความท้าทายบนแผ่นดินอังกฤษมากกว่าในอดีต เป็นข้อพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า พรีเมียร์ลีกกำลังจะไปอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าลาลีกาในอีกไม่นานนี้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/03/03/why-spaniards-dream-managing-england-not-just-money/

https://theathletic.com/3327242/2022/05/24/guardiola-premier-league-change/

https://thegodofsports.com/how-pep-guardiola-transformed-man-city-into-a-giant/

https://sport360.com/article/football/english-premier-league/283343/how-spanish-managers-have-fared-in-the-premier-league-as-unai-emery-takes-the-reins-at-arsenal

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Premier_League_managers

https://www2.deloitte.com/uk/en/pages/sports-business-group/articles/deloitte-football-money-league.html

Categories
Football Business

เมื่อรัฐบาลอังกฤษตั้ง “องค์กรอิสระ” ดูแลความยั่งยืนลูกหนังเมืองผู้ดี

เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา วงการฟุตบอลอังกฤษมีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เมื่อรัฐบาลสหราชอาณาจักร ไฟเขียวประกาศจัดตั้งองค์กรอิสระ ในการกำกับดูแลเกมลูกหนังของประเทศ

ตลอดช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา แฟนฟุตบอลอังกฤษได้ทำงานร่วมกับรัฐบาล ในการรวบรวมความคิดเห็น และกลั่นกรองเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเกมลูกหนังเมืองผู้ดีเสียใหม่

ไข่มุกดำ x SoccerSuck จะมาขยายให้ฟังถึงรายละเอียดของการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ ที่มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงฟุตบอลอังกฤษครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนต่อไป

“สมุดปกขาว” นำไปสู่การปฏิรูป

จุดเริ่มต้นการปฏิรูปฟุตบอลของประเทศอังกฤษครั้งนี้ เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2021 เมื่อเทรซีย์ เคราช์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อว่า “Review of Football Governance”

เบื้องหลังของรายงานฉบับดังกล่าว มาจากแฟนฟุตบอลและรัฐบาลที่ต่างเห็นตรงกันว่า ต้องหาวิธีการที่จะมีการควบคุมการบริหารงานของทีมฟุตบอล ไม่ให้ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งกระทบต่อส่วนรวม

ข้อเสนอแนะการยกเครื่องที่ตกผลึกแล้ว ได้รวมอยู่ในสมุดปกขาว (White Paper) เรื่อง “A Sustainable Future – Reforming Club Football Governance” ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ซึ่งหนึ่งในเนื้อหาสำคัญของเอกสารสมุดปกขาว อยู่ที่การผลักดันให้รัฐบาล จัดตั้ง “ผู้ควบคุมกิจการด้านฟุตบอล” (Football regulator) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่มีอำนาจควบคุมดูแลลูกหนังในประเทศ

วัตถุประสงค์หลักของ Football regulator ได้กำหนดกฎเหล็กไว้ 5 ข้อ ได้แก่ ป้องกันความล้มเหลวด้านการเงินของสโมสรฟุตบอล, กำหนดคุณสมบัติเจ้าของทีมและผู้บริหารที่เข้มงวดขึ้น, หยุดแนวคิดการเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์ที่ไม่ชอบธรรม, ให้อำนาจแฟนบอลในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของสโมสร และการจัดสรรเงินที่ยุติธรรมตามลำดับขั้นแบบพิระมิด

“การปฎิรูปครั้งใหม่ แฟนบอลคือหัวใจสำคัญในการปกป้องรากฐานที่ยาวนานของวงการฟุตบอลในประเทศ และส่งต่อเกมฟุตบอลที่สวยงามให้กับคนรุ่นหลังสืบไป” ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุ

ด้านลูซี่ เฟรเซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬาของอังกฤษ กล่าวว่า “สมุดปกขาวฉบับนี้ แสดงถึงการปฎิรูปกีฬาฟุตบอลที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ซึ่งมีมานานกว่า 165 ปี”

กรณีศึกษาของบิวรี่ และแม็คเคิลฟิลด์ ทาวน์

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นฤดูกาล 2019/20 บิวรี่ สโมสรในลีก วัน (ดิวิชั่น 3) ถูกขับออกจากลีกอาชีพของอังกฤษ หลังจากไม่สามารถหากลุ่มทุนมาเทคโอเวอร์ เพื่อเคลียร์หนี้สิน 2.7 ล้านปอนด์ ได้ทันตามกำหนดเวลา

สาเหตุสำคัญที่บิวรี่หลุดออกจากลีกอาชีพ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายนักเตะ และพนักงานของสโมสร นับเป็นสโมสรแรกในรอบ 27 ปี ที่ต้องพบกับจุดจบดังกล่าว ปิดฉาก 134 ปี ที่โลดแล่นอยู่ในลีกฟุตบอลระดับอาชีพ

อีกทีมหนึ่งที่ประสบกับชะตากรรมเดียวกัน คือแม็คเคิลฟิลด์ ทาวน์ ที่อยู่ในเนชั่นแนล ลีก (ดิวิชั่น 5) เมื่อฤดูกาล 2020/21 แต่ยังไม่ทันเปิดซีซั่น สโมสรถูกศาลสั่งให้ล้มละลาย จนต้องเริ่มใหม่ที่ดิวิชั่นต่ำสุดในซีซั่นถัดไป

อย่างไรก็ตาม ก็มีบางสโมสรที่โชคดี ยังรักษาสถานภาพทีมระดับอาชีพไว้ได้ เช่น ดาร์บี้ เคาน์ตี้ และโบลตัน วันเดอเรอร์ส แต่ต้องแลกด้วยการถูกตัดแต้มอยู่หลายครั้ง ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการบริหารที่ผิดพลาด

ซึ่งหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่จากรัฐบาล จะมีการสร้างระบบออกใบอนุญาต เพื่อบังคับให้สโมสรต่าง ๆ แสดงรูปแบบทางธุรกิจที่ยั่งยืน เพื่อช่วยป้องกันความล้มเหลวด้านการเงิน ซ้ำรอยเหมือนที่เคยเกิดกับหลายสโมสร

ทดสอบนายทุนเมื่อมีการเทคโอเวอร์

ตัวอย่างจากการซื้อสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เมื่อเดือนตุลาคม 2021 แอมเนสตี้ แถลงประณามกลุ่มทุนจากซาอุดีอารเบีย ที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่สุดท้ายก็เทคโอเวอร์เป็นผลสำเร็จ

เช่นเดียวกับการยื่นข้อเสนอซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของมหาเศรษฐีจากกาตาร์ ที่ทำให้เกิดความกังวลกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

ส่วนกรณีของโรมัน อับราโมวิช เจ้าของทีมเชลซี ที่ถูกรัฐบาลอังกฤษประกาศคว่ำบาตร จากกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน จนถูกบังคับขายสโมสรในเดือนมีนาคม 2022 และท็อดด์ โบห์ลี่ กลายเป็นเจ้าของทีมคนใหม่

โดยหน่วยงานอิสระของรัฐบาล จะมีกระบวนการกำหนดคุณสมบัติเจ้าของทีมและผู้บริหารที่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพื่อพิสูจน์หลักประกันว่า เจ้าของทีมและผู้บริหารมีความตั้งใจที่จะลงทุนในสโมสรจริง ๆ

ขอบคุณภาพ https://web.facebook.com/ChelseaFC

ดับฝันกบฏที่เป็นภัยต่อฟุตบอลอังกฤษ

จากการก่อตั้ง “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก” ในเดือนเมษายน 2021 สโมสรบิ๊ก 6 พรีเมียร์ลีก ได้ตัดสินใจเข้าร่วมทัวร์นาเมนท์ดังกล่าว จนเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง และพวกเขาก็ยอมถอนตัวออกมาในที่สุด

แม้จะออกมายอมรับความผิดพลาด แต่บรรดาแฟนบอลต้องการทำให้แน่ใจว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก จึงเรียกร้องให้มีการออกกฎเพื่อหยุดสโมสรที่พยายามจะทำลายพีระมิดฟุตบอลอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ได้คืนชีพอีกครั้ง กับรูปแบบใหม่ โดยตั้งเป้ามี 60 – 80 ทีมเข้าร่วม แบ่งออกเป็น 4 ดิวิชั่น มีเลื่อนชั้น-ตกชั้น แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่ามีสโมสรใดเข้าร่วมบ้าง

การถือกำเนิดของ “องค์กรอิสระ” จากรัฐบาลอังกฤษ จะมีอำนาจในการหยุดความพยายามของสโมสรในอังกฤษ เข้าร่วมการแข่งขันในทัวร์นาเมนท์ใดๆ ที่เป็นผลเสียต่อเกมฟุตบอลในประเทศ

ป้องกันการเปลี่ยนแปลงรากเหง้าที่ไม่เข้าท่า

เมื่อปี 2012 กรณีของวินเซนต์ ตัน เจ้าของสโมสรคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ จัดการเปลี่ยนสีเสื้อทีมเหย้าจากสีน้ำเงิน เป็นสีแดง และเปลี่ยนโลโก้จากนก เป็นมังกร ตามความเชื่อแบบเอเชีย จนถูกแฟนบอลตำหนิอย่างรุนแรง

ผ่านไป 3 ปี วินเซนต์ ตัน ทานกระแสต่อต้านจากแฟนบอลไม่ไหว จนต้องกลับสู่สิ่งเดิมทั้งเสื้อ และโลโก้ ซึ่งเจ้าตัวรู้สึกได้ว่าบรรยากาศภายในสโมสรกลับมาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แฟนบอลกลับมาสนับสนุนทีมเต็มที่

หรือกรณีของฮัลล์ ซิตี้ ในปี 2013 อัสเซม อัลลัม เจ้าของทีม พยายามเปลี่ยนชื่อสโมสรใหม่เป็น “ฮัลล์ ซิตี้ ไทเกอร์ส” แต่ถูกสมาคมฟุตบอลอังกฤษปฏิเสธคำขอ ทำให้ตัวเขาตัดสินใจขายสโมสรในปีถัดมา

สำหรับหน่วยงานอิสระที่จัดตั้งใหม่ จะมอบอำนาจให้แฟนบอลในการยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของสโมสร ถ้าไม่ได้รับความยินยอม ทั้งการเปลี่ยนชื่อสโมสร, โลโก้ของสโมสร, สีประจำสโมสร และอื่นๆ

การกระจายเงินทุนอย่างเป็นธรรม

ประเด็นเรื่องการเงินระหว่างพรีเมียร์ลีก กับลีกแชมเปี้ยนชิพ ที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดข้อตกลงในการลดช่องว่างตรงนี้ ด้วยการจัดสรรเงินที่ยุติธรรม เพื่อให้ทีมระดับล่าง ๆ ได้ประโยชน์มากขึ้น

ริค แพร์รี่ ประธานอีเอฟแอล (EFL) ต้องการส่วนแบ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้จากการออกอากาศรวมกับพรีเมียร์ลีก อีกทั้งขอให้ยกเลิกกฎการจ่ายเงินแบบชูชีพ (Parachute Payment) สำหรับทีมที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก

“พรีเมียร์ลีกฤดูกาลแรก (1992/93) ช่องว่างระหว่างพรีเมียร์ลีกกับลีกรองอยู่ที่ 11 ล้านปอนด์ ความเหลื่อมล้ำมันกว้างขึ้นตลอดเวลา จุดประสงค์ของเราคือการทำให้สโมสรมีความยั่งยืนในระยะยาว” อดีตซีอีโอของลิเวอร์พูล กล่าว 

จนถึงเวลานี้ การเจรจาระหว่างพรีเมียร์ลีก และอีเอฟแอล ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งหากยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงนี้ได้ ทางเลือกสุดท้ายที่จะใช้คือ ให้หน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล เข้ามาแทรกแซงเพื่อแก้ไขปัญหา

ปฏิกิริยาจากผู้คนในแวดวงลูกหนัง

จากการที่รัฐบาลอังกฤษ เปิดทางให้มีการตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อควบคุมดูแลฟุตบอลในประเทศ ก็ได้มีปฏิกิริยาจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตามมามากมาย และนี่คือส่วนหนึ่งของความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

ริชาร์ด มาสเตอร์ส (ประธานพรีเมียร์ลีก) : “เรารู้สึกชื่นชมในความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปกป้องวงการฟุตบอลอังกฤษ แต่กฎระเบียบของรัฐบาล จะต้องไม่ทำลายการแข่งขัน หรือความสามารถในการดึงดูดเงินลงทุน”

สตีฟ แพริช (เจ้าของร่วมคริสตัล พาเลซ) : “มันเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อังกฤษจะเป็นประเทศแรกของโลกที่ฟุตบอลถูกควบคุมโดยรัฐบาล แน่อนว่าสมุดปกขาวเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจมีปีศาจซ่อนอยู่”

เดวิด ซัลลิแวน (ประธานสโมสรเวสต์แฮม ยูไนเต็ด) : “ผมคิดว่าเป็นความพยายามโปรโมตผลงานของรัฐบาลมากกว่า รัฐบาลนี้แย่มากที่มาจัดการทุกอย่าง ผมไม่ยอมรับการแทรกแซงของรัฐบาล”

องค์กรควบคุมฟุตบอลของรัฐบาลอังกฤษ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2024 คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นความตั้งใจที่จะปกป้อง รักษาวัฒนธรรมฟุตบอลที่ดีงามไว้ให้คงอยู่ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

– https://www.gov.uk/government/publications/fan-led-review-of-football-governance-securing-the-games-future/fan-led-review-of-football-governance-securing-the-games-future

– https://www.gov.uk/government/publications/a-sustainable-future-reforming-club-football-governance/a-sustainable-future-reforming-club-football-governance

– https://researchbriefings.files.parliament.uk/documents/CBP-9255/CBP-9255.pdf

– https://theathletic.com/4245991/2023/02/24/explained-white-paper-regulation-epl-efl/

https://www.telegraph.co.uk/football/2023/02/22/football-regulator-should-not-have-needed-game-has-blame/

Categories
Football Business

ลาลีกา กับการก้าวไปอีกขั้น ด้วยโมเดลวิเคราะห์ข้อมูล

วงการฟุตบอลในยุคปัจจุบัน ได้นำ “วิทยาศาสตร์” ที่มีความละเอียด และลึกซึ้ง มาช่วยในการกลั่นกรองให้ได้ข้อมูลเชิงลึก และสามารถสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้ ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ

การใช้วิทยาศาสตร์ เข้ามาประยุกต์กับข้อมูลที่เกิดขึ้นในสนามฟุตบอล นอกจากจะช่วยสร้างความสำเร็จให้กับทีมฟุตบอลแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด และยกระดับลีกฟุตบอลขึ้นไปอีกขั้น

ลาลีกา ลีกฟุตบอลของสเปน ได้วางรากฐานสำหรับโลกยุคใหม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเก็บข้อมูล และพัฒนาโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อขับเคลื่อนลูกหนังแดนกระทิงดุสู่อนาคต

LaLiga Tech ก้าวแรกสู่การยกระดับลีกสเปน

การวิเคราะห์ข้อมูล กำลังกลายเป็นรากฐานสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอลตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งลีกชั้นนำอย่างลาลีกา ก็ได้นำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุง และพัฒนาวงการลูกหนังสเปน

นับตั้งแต่ฆาเบียร์ เตบาส เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานลาลีกา เมื่อปี 2013 ได้มียุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์

โดยเริ่มต้นจากการเพิ่มแผนก “ลาลีกา เทค” (LaLiga Tech) มีทีมงานเริ่มแรกเพียง 8 คน และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งแยกตัวออกไปเป็นบริษัท ลาลีกา เทค จำกัด ในปี 2021 ปัจจุบันทีทีมงานมากกว่า 150 คน

ภารกิจสำคัญของลาลีกา เทค คือการสร้างพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่ ไว้ใช้รองรับข้อมูลดิบที่จะไหลเข้ามาด้วยปริมาณมหาศาล และทุกสโมสรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์จากแหล่งเดียวกันได้

“ก่อนหน้านี้ เราไม่เคยเห็นความสำคัญของข้อมูลเลย จึงไม่เข้าใจว่าข้อมูลคือสินทรัพย์ที่มีค่า ทำให้เราได้คิดหาทางที่จะจัดการกับข้อมูลที่มากมายเหล่านี้” กิลเยร์โม่ รอลดาน หัวหน้าแผนกสถาปัตยกรรม กล่าว

“ตอนนี้เราได้สร้างที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Lakehouse) ขึ้นมา สามารถทำสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ให้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก พลังของข้อมูลช่วยมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับแฟน ๆ ที่ติดตามการแข่งขัน”

ด้านราฟาเอล ซามบราโน่ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ข้อมูล เปิดเผยว่า “ประโยชน์หลักของการขับเคลื่อนฟุตบอลด้วยข้อมูล คือช่วยให้เราได้เข้าใจพฤติกรรมของแฟนฟุตบอลที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต”

“สำหรับแฟน ๆ บางคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่หันไปดูฟุตบอลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลแทน แต่ด้วยพลังของข้อมูล ช่วยให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับพวกเขาได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกีฬาอื่น ๆ ด้วย”

ขณะที่ทอม วูดส์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารกลยุทธ์ กล่าวว่า “ลาลีกา เทค กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทุกสิ่งที่ได้สร้างขึ้น กำลังเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมกีฬา ทำให้เราได้ตระหนักมากขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล”

“เราจำเป็นต้องมีสโมสรที่ก้าวหน้ามากกว่า 2-3 สโมสร และมีระดับที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้การแข่งขันมีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้วงการฟุตบอลเติบโต” วูดส์ ปิดท้าย

Mediacoach เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลตัวแรก

ก่อนที่ลูกหนังลีกแดนกระทิงดุ ฤดูกาล 2022/23 จะเริ่มขึ้น ได้มีการจัดประชุมในหัวข้อ “การวิเคราะห์ข้อมูลฟุตบอลขั้นสูง” โดยลาลีกา ร่วมกับ Sport Data Campus, มีเดียโค้ช (Mediacoach) และลาลีกา เทค

สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือการนำเสนอความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากฤดูกาล 2021/22 รวมถึงแง่มุมต่างๆ ของงานวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรมฟุตบอล และเปิดตัวเครื่องมือใหม่ที่จะใช้ในฤดูกาลนี้

เมื่อซีซั่นที่แล้ว ลาลีกา เทค ได้เปิดตัว Mediacoach แพลตฟอร์มวิเคราะห์การเล่นแบบเรียลไทม์ ทั้งการเคลื่อนที่ของผู้เล่นและลูกฟุตบอล เสร็จแล้วส่งผลออกมา เพื่อนำไปวิเคราะห์ในช่วงพักครึ่ง และหลังจบเกม

ข้อมูลจาก Mediacoach เป็นข้อมูลที่ใช้ติดตามการเคลื่อนที่ระหว่างแข่งขัน โดยมีการติดตั้งกล้องไว้รอบสนามทั้งหมด 19 ตัว จับภาพผู้เล่น, ผู้ตัดสิน และลูกฟุตบอล ในอัตรา 25 เฟรมต่อวินาที

โดยรายละเอียดต่างๆ ที่ Mediacoach ได้ทำการวิเคราะห์ออกมา อย่างเช่น ผู้เล่นวิ่งเยอะแค่ไหน, ผู้เล่นจ่ายบอลสำเร็จ/พลาดกี่ครั้ง รวมไปถึงการตรวจจับความผิดพลาดของผู้เล่นเป็นรายบุคคลด้วย

ริคาร์โด เรสต้า ผู้อำนวยการของ Mediacoach กล่าวว่า “Mediacoach เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี ทุกสโมสรจาก 2 ดิวิชั่นของลาลีกา สามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกันทั้งหมดได้”

นอกเหนือจากข้อมูลด้านแท็กติก Mediacoach ยังมีประโยชน์สำหรับทีมงานสตาฟฟ์โค้ช ในการประเมินสภาพร่างกายของผู้เล่น และประเมินโอกาสที่จะตรวจพบความผิดปกติใด ๆ ทุกช่วงเวลาได้ทันที

ฟาบิโอ เนวาโด้ นักวิเคราะห์ทางเทคนิคของ Mediacoach กล่าวว่า “หากมีนักเตะที่เพิ่งกลับมาจากอาการบาดเจ็บเป็นเวลานานๆ บางทีอาจจะส่งลงเล่นช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย แต่ไม่อยากให้ทำแบบนั้น มันฝืนเกินไป”

“ข้อมูลจากแพลตฟอร์มของเรา สามารถตรวจสอบข้อมูลแบบนาทีต่อนาที ช่วยลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บของนักเตะ อีกทั้งช่วยให้นักเตะลงเล่นได้ใกล้เคียงกับประสิทธิภาพสูงสุดที่เคยมี”

ขณะที่ซิลเวสเตอร์ จอส ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Mediacoach เสริมว่า “ข้อมูล และกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล คือสิ่งที่สำคัญในวงการฟุตบอล เทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โอกาสจะมีเข้ามาอย่างไม่รู้จบ”

Beyond Stats ช่วยเพิ่มพลังข้อมูลด้วย 24 ตัวชี้วัดใหม่

ทีมงานส่วนหนึ่งของลาลีกา เทค เป็นทีมงานที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล เช่น โค้ช, นักวิเคราะห์ฟุตบอล, นักพัฒนาโปรแกรม, วิศวกรข้อมูล (Data Engineer) รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist)

เมื่อเดือนมกราคม ปี 2022 ลาลีกาได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลก เพื่อช่วยทำสถิติ และข้อมูลต่าง ๆ ในการแข่งขัน ภายใต้โปรเจค “Beyond Stats” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ต่อยอดมาจาก Mediacoach

การทำงานของ Beyond Stats จะประมวลผลข้อมูลในรูปแบบ Cloud Platform ด้วยเครื่องมือของไมโครซอฟท์ อย่าง Microsoft Azure ซึ่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning)

ซึ่งในเฟสแรกของ Beyond Stats ได้มีการสร้างโมเดล Goal Probability ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้สำหรับบอกค่าความน่าจะเป็นในการทำประตู เมื่อมีการรีเพลย์ภาพจังหวะการลุ้นยิงประตูระหว่างถ่ายทอดสด ซึ่งใช้เวลาประมวลผลแค่ 30 วินาทีเท่านั้น

ต่อมาในซีซั่น 2022/23 Beyond Stats ได้เพิ่มตัวชี้วัดใหม่ขึ้นมาอีก 24 ตัว ในด้านสมรรถภาพทางกาย, การป้องกันประตู, การเคลื่อนที่, การผ่านบอล, การยืนตำแหน่ง, การเพรสซิ่ง, การเลี้ยงบอล และการครองบอล

ทีมงานของลาลีกา ได้นำข้อมูลต่างๆ เข้ามาประมวลผ่านอัลกอริทึมที่กำหนดไว้ และแสดงผลลัพธ์ออกมา สำหรับตัวอย่างของตัวชี้วัดที่เพิ่มเติมขึ้นมาใน Beyond Stats มีดังนี้

– การผ่านบอลพร้อมถูกกดดันแบบประกบคู่ (Double pressure passes) คือ จำนวนการผ่านบอลระหว่างเพื่อนร่วมทีม 2 คน ที่ต่างคนต่างมีผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเข้ามากดดันด้วย เช่น ระยะทางที่เปลี่ยนแปลงของกองหลัง (เมื่อเข้ามากดดัน ระยะทางจะลดลง 50 เปอร์เซ็นต์) รวมถึงทิศทางและความเร็วของการโจมตี (ด้วยความเร็วสูงถึง 21 กม./ชม.) สำหรับการผ่านบอลแบบนี้ จะนับจำนวนก็ต่อเมื่อ มีผู้เล่นคู่แช่งเข้ามากดดันผู้จ่ายบอล และผู้รับบอล ภายในระยะ 3 เมตร

– การตั้งกำแพง (Walls) คือ ตรวจจับการผ่านบอลแบบรูปสามเหลี่ยม ของเพื่อนร่วมทีม 2 คน พร้อมกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม 1 คน ตำแหน่งของผู้เล่นจะถูกคำนวณทีละเฟรม โดยนับจำนวนเฉพาะการผ่านบอลไปยังผู้เล่นที่ใช้เวลาไม่เกิน 12 เฟรม (0.5 วินาที) แล้วผ่านบอลคืนให้เพื่อนร่วมทีมคนเดิมในทิศทางที่ต่างกัน ให้เป็นลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม

– การวิ่ง (Runs) คือ การติดตามระยะทาง และความเร็วในการวิ่งของผู้เล่น ผ่านกล้องที่ติดตั้งบริเวณรอบสนาม โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ปกติ, ยาว, ช้าแบบสั้น และเร็ว จะนับจำนวนเฉพาะการวิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อวิ่งจากครึ่งสนามมาถึงกรอบเขตโทษฝ่ายตรงข้าม อย่างน้อย 3 วินาที และวิ่งด้วยระยะทางอย่างน้อย 10 เมตร จากนั้นจบด้วยการยิงประตูภายใน 10 วินาที หลังจากหยุดวิ่ง

– การแย่งบอลคืนในช่วงเวลาที่ได้เปรียบ (recoveries in advantage) คือ การบุกไปยังกรอบเขตโทษของฝ่ายตรงข้าม เมื่อเพื่อนร่วมทีมมีจำนวนมากกว่าคู่แข่ง หลังแย่งบอลจากผู้เล่นคู่แข่งกลับคืนมา

โลกธุรกิจยุคใหม่ “ข้อมูล” คือสินทรัพย์ที่มีความสำคัญอย่างมาก หากได้นำมาวิเคราะห์จนเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ และนำข้อมูลมาใช้งานอย่างจริงจัง จะทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจแบบคาดไม่ถึงได้

เรียบเรียง: จักรพันธ์ ภู่ทอง

อ้างอิง :

https://laligatech.com/who-is-laliga-tech

– https://www.laliga.com/en-GB/beyondstats

– https://www.laliga.com/en-GB/news/laliga-paves-the-way-for-the-future-of-bi-and-analytics-in-football-thanks-to-mediacoach-and-the-beyond-stats-project

https://www.laliga.com/en-GB/news/laliga-takes-pioneering-step-by-adding-advanced-near-real-time-goal-probability-graphics-to-its-broadcasts-thanks-to-microsoft-technology

– https://www.laliga.com/en-GB/news/laliga-transforms-marketing-strategy-thanks-to-microsoft-and-the-potential-of-hundreds-of-terabytes-of-data

https://www.sportbusiness.com/2021/07/laligas-mediacoach-harnessing-the-power-of-match-data/

https://newsletter.laliga.es/global-futbol/laliga-mediacoach-clubs-compete-using-data